[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
02 ธันวาคม 2567 21:12:30 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี -ตามรอยอารยธรรมบ้านผือ ตอนที่ 2  (อ่าน 8160 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 04 มกราคม 2558 09:10:07 »

.

ในอดีตเมื่อราว ๒,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ดินแดนส่วนหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน เป็นที่ก่อกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ในสมัยโบราณ
ที่สร้างสรรปฏิมากรรมอันล้ำค่าจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีตามอยู่ตามธรรมชาติ  
กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ยังปรากฏร่องรอยทางโบราณคดี  
อันยากจะหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทน  ควรค่าแก่การศึกษาพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
จึงสมควรร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานและป่าเขาบริเวณนี้ไว้สืบไป




อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
PHU PHRA BAT HISTORICAL PARK
บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เรื่อง-ภาพ : kimlehg

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ”   ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๓,๔๓๐ ไร่   อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นอกจากจะมีธรรมชาติอันสวยงาม ยังปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว ๒,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว  จากการสำรวจพบร่องรอยการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย หรือศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง

แหล่งโบราณคดีนี้ ถูกผูกเป็นเรื่องราวในนิทานพื้นบ้าน ‘นางอุสากับท้าวบารส’  นิทานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนในภาคอีสานและในประเทศลาว ซึ่งได้เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน  เพิงหินที่มีลักษณะแปลกต่างๆ ได้รับการตั้งชื่อตามตำนานนิทาน เช่น กู่นางอุสา (หรือหอนางอุสา)  คอกม้าท้าวบารส วัดพ่อตา วัดลูกเขย  ซึ่งสภาพทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ในเรื่องเล่าล้วนสอดคล้องกับนิทานดังกล่าวอย่างน่าประหลาด  ชาวบ้านจึงเชื่อว่านิทานพื้นบ้านของตนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต ไม่ใช่นิยายที่ผูกขึ้นอย่างลอยๆ

ใต้เพิงผาอีกหลายสิบแห่ง ยังพบภาพเขียนสีที่มีคุณค่าทางศิลปะและโบราณคดีอย่างยิ่ง  หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าในอดีตดินแดนแถบนี้เป็นที่เกิดของอารยธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่งของโลก จะหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทนอีกไม่ได้ หากมิได้รับการดูแล สงวนรักษา คงจะถูกทำลายไปโดยคนที่ไม่รู้คุณค่าหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จึงควรที่จะจัดให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีผู้รับผิดชอบดูแลรักษาอย่างจริงจัง  

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน ๓,๔๓๐ ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานภูพระบาท ไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๔  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕









บ่อน้ำธรรมชาติ มีความลึก ๘๐ เซนติเมตร น้ำบ่อนี้ไม่แห้งมีน้ำขังตลอดปี
ด้านหลังคือ หอนางอุสา หรือกู่นางอุสา ต้นเค้าของตำนานพื้นบ้าน เรื่อง นางอุสากับท้าวบารส


.





วัดพ่อตา
“วัดพ่อตา” เป็นเพิงหินที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
และประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา โดยการสกัดหินก้อนล่างให้เป็นห้องโล่ง
อยู่รอบแกนหินที่เหลือไว้รองรับเพิงหลังคาด้านบน บนพื้นห้องใต้แนวขอบชายคา
พบร่องรอยการเจาะหลุมกลมหลายหลุม สันนิษฐานว่าเป็นที่ปักเสาไม้
เพื่อช่วยค้ำยันก้อนหินที่เป็นเพิงหลังคา หรือเป็นเสาไม้โครงสร้างที่ใช้ยึดผนังห้องที่ทำด้วยไม้



ร่องรอยคล้ายพระพุทธรูป ปรากฎที่ผนังแกนหิน

ที่ผนังแกนหินบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีร่องรอยการระบายด้วยสีแดง และเว้นพื้นที่บางส่วนไว้
ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ายพระพุทธรูป
สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีพระพุทธรูปสลักหินประดิษฐานไว้โดยรอบแกนหิน
และมีการระบายสีแดงบนผนังด้านหลังโดยไว้บริเวณที่องค์พระพุทธรูปบังอยู่
แต่ปัจจุบันพระพุทธรูปได้ถูกเคลื่อนย้ายและแตกหักไปเป็นส่วนใหญ่
ยังมีชิ้นส่วนเหลืออยู่จำนวนหนึ่งแต่ไม่สมบูรณ์








บริเวณนี้ สันนิษฐานว่าเป็นที่บำเพ็ญเพียรวิปัสสนามาแต่โบราณกาล

ถัดไปทางทิศใต้มีเพิงหินขนาดเล็กเรียกว่า “โบสถ์วัดพ่อตา” หรือ “ถ้ำพระวัดพ่อตา
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ๓ องค์ ซึ่งสร้างโดยชาวบ้านท้องถิ่น
ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาดูแล เพิงหินนี้มีร่องรอยการเจาะสกัดหินก้อนล่างเป็นคูหามาแต่เดิม
คงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือบำเพ็ญเพียรวิปัสสนามาแต่สมัยโบราณ
แต่ผนังด้านนอกได้ถูกต่อเติมขึ้นในภายหลัง

นิทาน อุสา-บารส เล่าถึงวัดพ่อตาว่า เป็นสถานที่ซึ่งท้าวกงพานสร้างขึ้น
เพื่อแข่งขันกับท้าวบารสที่สร้างวัดลูกเขย ท้าวกงพานพ่ายแพ้
ในกลอุบายของฝ่ายท้าวบารส จึงสร้างวัดไม่สำเร็จ




พระพุทธรูปยืนองค์ในสุด (ซึ่งอาจเป็นพระโพธิสัตว์)
มีร่องรอยการสลักหิน ตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นผ้าโจงกระเบนสั้น ในแบบศิลปะเขมร


ถ้ำพระ
“ถ้ำพระ” เป็นเพิงหินธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่
ประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ตั้งแต่ช่วงที่รับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรโบราณ

ในปัจจุบันเพิงหินหลังคาได้หักพังลง เผยให้เป็นประติมากรรมสลักหินที่แกนแท่งหิน
ด้านในของถ้ำพระทางด้านทิศตะวันตก สลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งภายในซุ้ม
จำนวน ๒ ซุ้ม แต่เหลือพระพุทธรูปในซุ้มใหญ่เพียงซุ้มเดียว
ด้านบนเป็นแถวพระพุทธรูปยืนเรียงกันอยู่ ด้านทิศเหนือของแกนและส่วนผนังห้อง
ด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่งอีกหลายองค์
แต่ชำรุดแตกหักไปมากแล้ว พระพุทธรูปยืนองค์ในสุด (ซึ่งอาจเป็นพระโพธิสัตว์)
มีร่องรอยการสลักหิน ตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นผ้าโจงกระเบนสั้นในแบบศิลปะเขมร
ถัดจากองค์พระยืนเข้าไปด้านในสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ ๑ องค์
แต่ส่วนของพระเศียรถูกเพิงหินด้านบนพังทับชำรุดไปแล้ว

ด้านนอกของเพิงหินพบร่องรอยหลุมเสา สันนิษฐานว่าเดิมอาจมีการเสริมหลังคาเครื่องไม้
ออกมาด้านนอก และมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ ปัจจุบันยังเห็นได้อยู่ ๖ ทิศ



บริเวณคอกม้าท้าวบารสและคอกม้าน้อย

บริเวณคอกม้าท้าวบารสนี้มีก้อนหินตั้งซ้อนกันโดยธรรมชาติ
รอบๆ บริเวณยังคงปรากฏเสมาหินทรายขนาดใหญ่ล้มนอนอยู่กระจัดกระจาย
ระหว่างหินก้อนบนและล่างมีช่องว่างเป็นโพรงที่ถูกมนุษย์ดัดแปลงโดยสกัดฝาผนังให้ลึกเข้าไป
สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรมทางพุทธศาสนาของคนโบราณมาก่อน 
ชาวบ้านเชื่อกันว่าท้าวบารสได้ผูกม้าไว้ที่เพิงหินนี้ ก่อนไปพบนางอุสา แต่จากหลักฐาน
ทำให้สรุปได้ว่าบริเวณนี้คงเป็นเขตศาสนสถาน หรือใช้เป็นที่พักอาศัยของคนหรือพระสงฆ์
คงไม่ใช่คอกม้าโบราณตามจินตนาการของนิทานพื้นบ้านอย่างแน่นอน





บ่อน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค เกิดจากการสกัดหินเป็นรูปสี่เหลี่ยม
มีความลึก (ถ้าจำไม่ผิดมากกว่า 10 เมตร)





ลักษณะของหินบนภูพระบาท มีสีสันต่างๆ เช่น แดง น้ำตาล เหลือง ฯลฯ
คนโบราณใช้วาดรูปต่างๆ ปรากฎอยู่ทั่วไปตามผนังเพิงหินในอุทยานประวัติศาสตร์


ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานประวัติศาสตร์ท่านนี้เป็นอย่างสูงค่ะ
ที่กรุณานำชมสถานที่และให้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและการนำมาเผยแพร่


มีเวลาเข้าไปเที่ยวชม กรุณาไปกับผู้นำทางท่านนี้ค่ะ
(ทราบว่าอุทยานมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ฯ เพียง 2 ท่าน)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มกราคม 2558 18:33:54 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 มกราคม 2558 18:31:39 »

.


กู่นางอุสามีรูปลักษณ์คล้ายหอคอย ตั้งอยู่บนลานหินกว้างใหญ่ มองเห็นแต่ไกล
ลักษณะโครงสร้างเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกันโดยธรรมชาติ หินก้อนบนยื่นล้ำออกมา ใช้เป็นหลังคา
ใต้หลังคาถูกมนุษย์สกัดหินทำเป็นห้องขนาดเล็ก ด้านข้างโดยรอบเอาหินมาก่อเป็นกำแพงอัดด้วยดินเหนียว
มีหน้าต่างขนาดเล็ก มีประตูทางเข้าออก โดยใช้บันไดพาดสำหรับขึ้นลง  ชาวบ้านเชื่อกันว่า ‘กู่นางอุสา’
เคยเป็นที่อยู่อาศัยของนางอุสาขณะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ กับฤๅษีจันทา


นิทานพื้นบ้านเรื่องนางอุสา
ที่มา : หนังสือร่องรอยจากอดีต โดย สุมิตร ปิติพัฒน์
ผู้พิมพ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๐

นางอุสาเป็นธิดาของเจ้าเมืองพาน ชื่อพญากงพานและนางแสงเดือน เมื่อนางเจริญวัยพอที่จะได้รับการศึกษาแล้ว พญากงพานได้นำนางไปฝากกับฤๅษีจันทาแต่เพียงลำพัง เพื่อเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ บิดานางได้สร้างหอคอยสูงให้อยู่เพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายในป่า  นางอุสาได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับฤๅษีจันทาเป็นเวลาหลายปี จนนางเติบใหญ่อยู่ในวัยสาวอายุได้ ๑๖ ปี นางมีผิวพรรณผ่องใสและรูปร่างอ่อนช้อยงดงามยิ่ง หากผู้ใดพบเห็นก็จะหลงใหลในรูปโฉมของนาง ดังคำกลอนอีสานที่ผูกไว้ว่า
     “อุสาน้อยงามยิ่งสมจิตร
     ผิดชนเหยียบพื้นดินเดินพื้น
     ไผผู้มืนตาพอเห็นพระนางดิ้นด่าวดั่น
     แม้นพระจันทร์อยู่บนฟ้ากะรองเจ้าเทื่อสาม
     งามหยดย้อยเสียงจาเว่าอ่อนหวาน
     น่าสะออนวาดเจ้างามซ้อยดังอรุณ”

คำแปล
ไผ=ใคร  มืนตา=ลืมตา  พ้อ=พบเห็น  กะรอง=ก็เป็นรอง  เทื่อสาม=สามเท่า  จาเว่า=พูดจา  น่าสะออน=น่ารัก  วาด=ท่าที กริยา  ช้อย=อ่อนช้อย

นางอุสาอยู่ในป่ากับฤๅษีเพียงผู้เดียวไม่ค่อยได้พบปะกับผู้คนจึงรู้สึกเหงาและว้าเหว่ ประกอบกับอยู่ในวัยสาวพอที่จะมีคู่ครองได้ จึงอยากมีคู่ไว้แอบอิง มาวันหนึ่งนางได้ไปเก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยและเขียนเป็นกลอนภาษาอีสานเสี่ยงทายลงบนกลีบดอกไม้อย่างวิจิตรบรรจงว่า
     “จากที่เคหังห่องหอดินถิ่นน้องอยู่
     เทิงภูพานย่านกว้างดอยด้าวแดนไพร
     ในหทัยของน้องคงอยากมีสองซ้อนตู
     อยู่ผู้เดียวอ้ายภายนี้จึงแต่งสาส์น
     ข้าขอวานพระอินทร์เจ้าเอาสาส์นนำส่ง
     จุดประสงค์ผู้เคยได้กล่อมกลิ้งซ้อนฮ่วมมา
     อย่าสิคาขัดข้องตามนทีให้เถิงที่
     คันบุญมีขออ้ายได้ฟังฟ้าวสาวก้าวฮอดเฮียม”

คำแปล
เคหัง=ที่พัก  ห่อ=ห้อง  ย่าน=สถานที่  สองซ้อนตู=มีคู่สอง  อย่าสิคา=อย่าได้ติดขัด  เถิงที่=ถึงที่  คัน=ถ้า  ฟ้าว=รีบ ฮอด=มาถึง



นางอุสาได้นำพวงมาลัยใส่ลงในกระทง ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปหงส์อย่างสวยงาม แล้วนำกระทงลอยไปตามลำธารที่ไหลผ่านหอคอย พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้กระทงนี้ลอยไปพบกับเนื้อคู่ โดยหวังว่าเมื่อเขาได้อ่านสาส์นนี้แล้วก็จะเดินทางติดตามหานาง กระทงอธิฐานได้ลอยไปตามกระแสน้ำจากลำธารลงไปยังแม่น้ำโขง และลอยไปถึงเมืองพะโค ซึ่งมีท้าวมาลัยและนางคำเขื่อนแก้วเป็นผู้ครองเมือง ขณะนั้นท้าวบารสลูกเจ้าเมืองพะโคกำลังอาบน้ำอยู่แม่น้ำโขงพอดี กระทงอธิษฐานได้ลอยมาวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวท้าวบารส ทำให้ท้าวบารสเกิดความสงสัยจึงนำกระทงนั้นมาดู และได้พบสาส์นเสี่ยงรักของนางอุสา ท้าวบารสบังเกิดความเห็นใจและใคร่ที่จะได้พบนางอย่างมาก จึงได้ขออนุญาตจากบิดาและมารดาออกเสาะแสวงหานาง ท้าวบารสขี่ม้าออกเดินทางไปยังเทือกเขาภูพานอันเป็นที่พำนักของนางอุสา เมื่อเข้ามาใกล้บริเวณหอนางอุสาในตอนพลบค่ำก็ได้ยินเสียงร้องเพลงชมเดือนหงายของนางอุสา ท้าวบารสจึงผูกม้าไว้ที่เพิงหินแห่งหนึ่ง และเดินตามเสียงนั้นไปจนกระทั่งถึงตัวนาง ก็เกิดความรักใคร่หลงใหลในรูปโฉมของนาง หลังจากได้ซักไซร้และไต่ถามความกันจนเข้าใจกันดีแล้ว ต่างได้ตกลงปลงใจที่จะเป็นคู่ครองของกันและกัน ทั้งคู่จึงแต่งงานกันโดยลำพังไม่ได้ปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ พญากงพานได้ทราบข่าวการแต่งงานของตนกับท้าวบารส ก็บังเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงพยายามทัดทานและขัดขวาง แต่นางอุสาก็มิได้เชื่อฟัง พญากงพานจึงได้แต่แค้นใจและคิดหาทางกำจัดลูกเขยเสีย พญากงพานจึงท้าลูกเขยให้สร้างวัดแข่งกันแต่ต้องสร้างให้เสร็จภายในครึ่งคืน โดยเริ่มลงมือสร้างหลังพระอาทิตย์ตกดินและให้เสร็จก่อนดาวเพชรหรือดาวประกายพฤกษ์ขึ้น หากใครสร้างเสร็จไม่ทันถือว่าแพ้พนัน จะถูกตัดศีรษะ ท้าวบารสยอมรับการท้าของพ่อตา ในการก่อสร้างวัดนั้น คู่แข่งขันพร้อมด้วยบริวารของแต่ละฝ่ายได้ลงมือสร้างทันทีหลังพระอาทิตย์ตก แต่ฝ่ายท้าวบารสมีบริวารน้อยกว่าเกรงว่าจะแพ้พนัน จึงได้ออกอุบายให้บริวารจุดเทียนขึ้นผูกติดกับปลายไม้บนยอดเขาก่อนดาวเพชรขึ้น เพื่อลวงให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าดาวเพชรขึ้นแล้วจะได้หยุดสร้างวัด ด้วยความไม่รู้เท่าทันอุบายของลูกเขย พญากงพานจึงสั่งให้หยุดการก่อสร้างวัดของตน ส่วนท้าวบารสยังคงสร้างวัดต่อไปจนเสร็จ จึงเป็นผู้ชนะการแข่งขันสร้างวัด พญากงพานเสียรู้ท้าวบารส จึงถูกท้าวบารสตัดศีรษะตามสัญญา ต่อจากนั้นท้าวบารสและนางอุสาจึงได้ครอบครองเมืองพานและอยู่กินด้วยความสุขสืบมาจวบจนสิ้นอายุขัย

นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ได้ให้คติสอนใจว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นค่านิยมของชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเรื่องการใช้สติปัญญาและความเฉลียวฉลาด เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ การใฝ่หาความรู้และวิทยาการ การมีความรักและเลือกคู่ครองแบบเสรี ฯลฯ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากค่านิยมของคนไทยในภาคอื่นๆ ชาวบ้านแถบนี้มีความนิยมนิทานเรื่องนี้มาก และได้เรียกชื่อสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงวัดพระพุทธบาทบัวบก





เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานผู้โพสต์ มีความสูง 185 เซนติเมตร
ยืนข้างเสมาที่สกัดจากหินในบริเวณเทือกเขาภูพาน และมีอยู่จำนวนมาก


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 08 มกราคม 2558 18:45:31 »

.

ตำนานนิทานพื้นบ้านเรื่อง นางอุสาท้าวบารส
พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม



ภาพจาก : นิตยสารกรมศิลปากร

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "อุสา-บารส"

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "อุสา-บารส" เป็นนิทานที่ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอามาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้องรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชน

            มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่บริเวณภูพระบาทชื่อ เมืองพาน มีท้าวกงพานเป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้ไปขอนางอุสา (เป็นผู้เกิดมาจากดอกบัวบนเทือกเขา และพระฤๅษีจันทาผู้เป็นอาจารย์ของท้าวกงพานได้นำมาเลี้ยงไว้) มาเป็นราชธิดา นางอุสาเป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ และมีกลิ่นกายหอมกรุ่น เมื่อเติบใหญ่ได้มีเจ้าชายหลายเมืองมาสู่ขอ แต่ท้าวกงพานไม่ยินยอมยกให้ผู้ใด และด้วยความหวงแหนจึงได้สร้างตำหนักเป็นหอสูงไว้บนภูเขา เพื่อให้นางอุสาอยู่อาศัยขณะเรียนวิชากับฤๅษีจันทาผู้เป็นอาจารย์
             วันหนึ่งนางอุสาไปเล่นน้ำที่ลำธารใกล้ตำหนัก นางได้เก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์และลอยน้ำไปพร้อมเสี่ยงทายหาคู่ พวงมาลัยได้ลอยไปจนถึงเมืองปะโคเวียงงัวที่มีท้าวบารสเป็นโอรสของเจ้าเมือง ท้าวบารสเก็บพวงมาลัยได้จึงออกตามหาเจ้าของจนถึงเขตเมืองพาน
             ท้าวบารสและบริวารได้ขี่ม้าจนถึงหินก้อนหนึ่ง ม้าก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระองค์จึงหยุดพักม้าไว้ ส่วนบริวารก็แยกไปผูกม้าที่หินอีกก้อนหนึ่ง ท้าวบารสได้เดินเที่ยวป่าพบนางอุสาที่กำลังอาบน้ำอยู่ และรู้ว่าเป็นเจ้าของพวงมาลัยทั้งคู่เกิดความรักและลักลอบได้เสียกันโดยที่ท้าวกงพานไม่รู้ ต่อมาท้าวกงพานทราบเรื่อง ก็ทรงพิโรธจะประหารท้าวบารส แต่เสนาอำมาตย์ห้ามไว้เพราะเกรงฤทธิ์เดชพระราชบิดาของท้าวบารส ท้าวกงพานจึงคิดอุบายให้แข่งขันสร้างวัดในหนึ่งวันให้แล้วเสร็จ
             โดยเริ่มนับตั้งแต่เช้าจนดาวประกายพรึก (ดาวเพ็ก) ขึ้น ผู้ใดสร้างไม่เสร็จต้องถูกตัดเศียร ท้าวกงพานได้เกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากมาสร้างวัดที่เมืองกงพาน ส่วนท้าวบารสมีบริวารเพียงเล็กน้อยที่มาด้วยจึงสร้างได้ช้ากว่า พี่เลี้ยงนางอุสาจึงคิดหาวิธีช่วยโดยให้ท้าวบารสนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้ใหญ่ในเวลาดึก ฝ่ายพวกเมืองพานมองเห็นคิดว่าดาวขึ้นแล้วจึงหยุดสร้างวัด ส่วนท้าวบารสก็ได้เร่งสร้างวัดของตนเองจนแล้วเสร็จ เมื่อเป็นดังนี้ท้าวกงพานจึงเป็นฝ่ายแพ้ และถูกตัดเศียรสิ้นชีพไป
            ต่อมาท้าวบารสได้พานางอุสากลับเมืองปะโค แต่เนื่องจากท้าวบารสมีชายาอยู่แล้วจึงถูกชายาเหล่านั้นกลั่นแกล้ง โดยไปสมคบกับโหราจารย์ให้ทำทายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ต้องออกเดินป่าผู้เดียวเป็นเวลาหนึ่งปี จึงจะพ้นเคราะห์ ท้าวบารสก็ออกเดินป่า ทิ้งนางอุสาไว้ที่เมืองปะโค นางอุสาถูกทำร้ายและกลั่นแกล้งจึงหนีกลับไปเมืองพานและล้มเจ็บด้วยความตรอมใจ เมื่อท้าวบารสกลับถึงเมืองและทราบข่าวก็รีบออกเดินทางไปยังเมืองพาน แต่พบว่านางอุสาสิ้นใจแล้ว จึงฝังศพนางไว้ที่หินก้อนหนึ่ง ส่วนพระองค์ก็ตรอมใจตายตามกันไป เหล่าบริวารจึงฝังศพท้าวบารสเอาไว้เคียงข้างกับศพนางอุสา

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 กุมภาพันธ์ 2558 16:21:04 »

.


Mckaforce คนขวามือ สวมเสื้อเขียว

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม ให้ไทยนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 'อุทยานแห่งชาติภูพระบาท' เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลก ในปี ๒๕๕๙ เผยเข้าหลักเกณฑ์ถึง ๔ ข้อ กำหนดพิจารณารอบแรกปลายปีนี้ และไปตัดสินกลางปีหน้า...

เมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ การที่ประเทศไทยจะนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จ.อุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกในปี ๒๕๕๙ ตามที่ วธ.เสนอ

ดังนั้น ขั้นตอนจากนี้ไป กรมศิลปากรจะส่งเอกสาร การบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไปยังคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก จากนั้นคณะกรรมการ ๑ ใน ๕ คนจะเดินทางมาตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อประเมินว่าเอกสารที่ไทยจัดส่งไปกับสถานที่จริงมีความสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งหากเอกสารมีความสมบูรณ์ก็เข้าสู่กระบวนการต่อไป แต่หากไม่สมบูรณ์ไทยจะต้องทำเอกสารเพิ่มเติม ก่อนเข้าสู่การพิจารณารอบแรกของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน ธ.ค. ๒๕๕๘ และพิจารณารอบสองในเดือน มี.ค.๒๕๕๙ จากนั้นจะประกาศผลว่าจะเป็นมรดกโลกหรือไม่ ในเดือน มิ.ย.๒๕๕๙

พร้อมกันนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการจัดทำเอกสารเสนอเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของการนำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจ และมีข้อซักถามถึงผลดี ผลเสียของการนำเสนอภูพระบาทเป็นมรดกโลก ซึ่งตนชี้แจงว่า หากได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก จะมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน โดยเฉพาะการสร้างเกียรติภูมิของประเทศไทย ความภูมิใจในชาติ และเป็นที่ยอมรับในนานาชาติมากขึ้น รวมถึงจะเกิดผลดีที่ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศ การสร้างงานในชุมชน เช่น สุโขทัย ที่มีการลงทุน มีการเดินทางท่องเที่ยวจากหลักพัน เป็นหลักล้าน จนถึงปัจจุบันเป็นหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ ในกรณีในภาวะที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ที่จะมีผลต่อโบราณสถาน ทางยูเนสโกก็จะรณรงค์ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงน้ำท่วมก็ได้เงินช่วยเหลือจากทั่วโลกด้วย

"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเข้าหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน ๔ ข้อ คือ หลักเกณฑ์ที่ ๓.เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม หลากหลายรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ปรากฏอยู่เพียงภาพเขียนสีและโบราณวัตถุ หลักเกณฑ์ที่ ๔.เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้าง อาทิ เพิงหิน แท่งหิน ลานหิน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภูพระบาท หลักเกณฑ์ที่ ๕.เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม อาทิ ภูพระบาทเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากมาย มีความโดดเด่น ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

และหลักเกณฑ์ที่ ๖. มีความคิด หรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส และพระกึดพระพาน อันมีต้นกำเนิดจากเรื่อง พระอนิรุทธ์ และนางอุสา ในมหากาพย์มหาภารตะ อีกทั้งตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานอุรังคธาตุ ล้วนแต่เป็นที่รู้จักดี และมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรดกในภูพระบาท"


แหล่งที่มาข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.362 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 26 พฤศจิกายน 2567 10:07:13