[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 18:26:10 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)  (อ่าน 4551 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 06 มิถุนายน 2558 11:40:00 »

.
https://lh4.googleusercontent.com/-X-MXg7SJlkg/TXJSWP2h1VI/AAAAAAAAAN0/pg4LWZnNSF4/s1600/payoto_1.jpg
ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (บทนำ)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

• บวชอย่างไร พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จะได้บุญมาก
การที่ท่านทั้งหลายได้เข้ามาขอบรรพชาครั้งนี้ ก็ด้วยมีใจศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีความตั้งใจเป็นกุศลเรียกว่ามีฉันทะ ในการที่จะศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  นอกจากจะเป็นไปด้วยศรัทธาของท่านทั้งหลายเองแล้ว ก็พร้อมด้วยความสนับสนุนจากบิดามารดาและท่านผู้ใหญ่ผู้มีความรักความเมตตา ท่านเหล่านั้นมีความปรารถนาดี ก็อยากให้ลูกหลานได้มาอุปสมบทในพระศาสนา ซึ่งมีความหมายทั้งในแง่ของวัฒนธรรมประเพณี มีความหมายในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่บุพการีกับบุตรของตน เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่าการ “บวชเรียน”

การบวชเรียนนี้ ได้กลายเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทย แสดงถึงการที่พระพุทธศาสนาได้ฝังรากลึกลงไปประดิษฐานมั่นคงในประเทศไทยนี้

การบวชมีความหมายสำคัญ คู่กับการเรียน เราจึงเรียกว่า”บวชเรียน” คือ บวชเพื่อเรียน แล้วการบวชก็เป็นการเรียน

• ความมุ่งหมายของการบวช
เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มกันตั้งแต่บัดนี้เลย คือพอมาขอบรรพชาก็เริ่มเรียนทันที โดยที่ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจความหมายและความมุ่งหมายของการบวช

ที่จริงจุดหมายของการบวชมีอยู่แล้วในคำขอบวช คือในคำขอบวชแบบ “อุกาสะ” อยู่ที่คำว่า “สัพพทุกข-นิสสรณนิพพาน-สัจฉิกรณัตถายะ” (เพื่อประจักษ์แจ้งนิพพานที่ปลอดพ้นจากปวงทุกข์) นี่เป็นจุดหมายสูงสุดรวบยอด ต้องพูดกันยาว บวชแล้วจะได้เรียนกันจริงจัง

• ในที่นี้ จะพูดถึงความมุ่งหมายรองที่สืบเนื่องและพ่วงมาซึ่งพอสรุปได้ ๔ อย่างคือ
ข้อที่ ๑ บวชเพื่อทำหน้าที่ของพุทธบริษัท
ประการแรก การบวชนี้เป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน คือ เรานับถือกันว่า เราทุกคนที่อยู่ในพุทธบริษัท มีหน้าที่จะช่วยกันรักษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะว่าพระพุทธศาสนานั้นดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้สังคมของเรามีศีลธรรม มีความร่มเย็นเป็นสุข เราจึงเห็นคุณค่าเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา เราจึงนับถือพระพุทธศาสนา อยากให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคงยืนยาน

ในการรักษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนานั้น เราอาจจะทำนั่นทำนี่ สร้างโน่นสร้างนี่ อุปถัมภ์บำรุงต่างๆ อยู่ข้างนอก เช่น ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เป็นต้น  แต่นั่นก็ยังไม่เต็มตัว ไม่เต็มที่ ทีนี้ถ้าเราเข้ามาบวช เราก็ได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยตัวเอง ให้พระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในเนื้อในตัวของเราเลย ด้วยการเล่าเรียน ทรงจำ รู้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติ

เมื่อไรพระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา โดยเราประพฤติปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าเราเอาชีวิตของเรารักษาพระศาสนาไว้ ตราบใดที่ชีวิตของเราอยู่ พระพุทธศาสนาก็อยู่ด้วย เพราะว่าพระพุทธศาสนานั้นกลายเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา ด้วยการรู้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติ แล้วยังสามารถนำไปแนะนำสั่งสอนบอกเล่าชี้แจงแก่ผู้อื่นด้วย

พร้อมกันนี้ การที่ท่านทั้งหลายเข้ามาบวช และได้เล่าเรียนปฏิบัตินั้น ก็ได้มาอยู่ในสงฆ์ หรือเข้ามาร่วมสังฆะ ซึ่งเป็นสถาบันที่รักษาพระศาสนาไว้ ตราบใดที่ยังมีสงฆ์ พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่ เพราะว่าสงฆ์นี้แม้จะเป็นสมมติสงฆ์ ก็นับเนื่องโยงเข้าไปถึงพระรัตนตรัย เป็นสื่อ เป็นองค์แทน ที่จะดูแลโอบอุ้ม อย่างน้อยห่อหุ้มพระศาสนาไว้

เพราะฉะนั้น การที่ท่านทั้งหลายเข้ามาบวชอย่างนี้ จึงเป็นการทำหน้าที่ในนามของพุทธบริษัท ในการรักษาสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นบุญเป็นกุศลสำคัญประการที่หนึ่ง
 ข่าวสด : ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๒)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ข้อที่ ๒ บวชเพื่อทำหน้าที่ของคนไทย
การบวชนี้ มีความหมายว่าเป็นการทำหน้าที่ของคนไทย หรือกุลบุตรชาวไทย ทำไมจึงว่าเป็นการทำหน้าที่ของคนไทย ก็เพราะเราถือว่าพระพุทธศาสนานี้เป็นสมบัติของชาติไทย เป็นมรดกที่บรรพบุรุษไทยได้อุตส่าห์รักษาสืบต่อกันมา เราในฐานะที่เป็นคนไทย จึงมีหน้าที่รักษามรดกนั้นไว้

ตัวพระพุทธศาสนาเองก็เป็นสมบัติที่ล้ำค่าอยู่แล้ว เพราะว่ามีคำสอนที่เป็นสัจธรรม เป็นอมตะ เป็นสิ่งที่มีค่าอยู่ในตัวเอง นอกจากนั้น พระพุทธศาสนายังเป็นบ่อเกิด เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยของเรา ตั้งแต่ภาษาที่ใช้สื่อสาร มีภาษาพระ มีคำที่มาจากภาษาบาลี และสันสกฤต ซึ่งเรานำเข้ามาใช้ในภาษาไทยมากมาย แล้วก็ออกมาทางวัฒนธรรมด้านวัตถุ เช่น ศิลปกรรมหลากหลายทำให้ชนชาติไทยเรานี้เจริญด้วยวัฒนธรรม มีอารยธรรม เราจึงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นสมบัติสำคัญของชาติ ที่เราจะต้องช่วยกันรักษาไว้ อีกทั้งเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่เราสามารถนำมาใช้พัฒนาอัจฉริยภาพของประเทศชาติต่อไปในระยะยาว

ดังนั้น การที่ท่านทั้งหลายมาบวชนี้ จึงเป็นการทำหน้าที่ข้อนี้ด้วย คือทำหน้าที่ของคนไทยใน การรักษาพระพุทธศาสนาที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไว้

ข้อที่ ๓ บวชเพื่อฉลองพระคุณของพ่อแม่
การบวชมีความหมายแคบเข้ามา โดยมีความผูกพันกับบุพการี ถือกันว่าการบวชเป็นการตอบแทนพระคุณของบิดา มารดา  คุณพ่อคุณแม่นั้นรักลูกมาก อยากให้ลูกเป็น คนดี มีความสุขความเจริญ ลูกก็ถือว่าพ่อแม่มีพระคุณมาก จึงมีหลักธรรมคำสอนให้กตัญญูกตเวทีให้ตอบแทนพระคุณของท่าน

ทำไมจึงถือว่าการบวชนี้เป็นการตอบแทนพระคุณ ก็อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า พ่อแม่นั้นฝากความสุขความทุกข์ไว้กับลูกเป็นอย่างมาก ถ้าลูกมีความสุขความเจริญ ประพฤติดี พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย ถ้าลูกประพฤติไม่ดี เป็นที่หนักใจ พ่อแม่นั้นแหละจะเป็นคนที่ทุกข์ที่สุด ในเมื่อพ่อแม่ฝากสุขและทุกข์ไว้กับลูกอย่างนี้ ลูกที่ดีก็ต้องพยายามทำให้พ่อแม่มีความสุข มีความสบายใจ ไม่หนักใจกับเรา ได้มองเห็นเราด้วยความปลื้มใจ และมีความหวัง

การที่พ่อแม่จะมีความสุขมีความหวังอย่างนี้ได้ ก็ด้วยเห็นลูกอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าลูกเป็นคนดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทำหน้าที่การงาน มีความขยันหมั่นเพียร มีคุณธรรม เจริญก้าวหน้า มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข ถ้าพ่อแม่เห็นลูกดีงามมีความสุขความเจริญอย่างนี้ พ่อแม่ก็มีความสุข ลูกไม่ต้องทำอะไรก็ตอบแทนพระคุณพ่อแม่อยู่แล้วในตัว ทีนี้ก็เลยจะขอขยายความว่า การตอบแทนพระคุณพ่อแม่ อาจสรุปได้ ๓ อย่าง
๑. เลี้ยงท่านทางกาย เช่น เลี้ยงด้วยอาหาร ด้วยปัจจัย ๔ ยามท่านชราแก่เฒ่าลงเราอาจดูแลท่านในเรื่องวัตถุ สิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ แต่ระหว่างที่ท่านยังแข็งแรง ท่านเป็นฝ่ายเลี้ยงเรา ท่านเลี้ยงเราก่อน ซึ่งกลายเป็นว่ากว่าจะได้ตอบแทนท่าน เราต้องรออีกนาน แถมไม่แน่เสีย ด้วย จึงมีวิธีตอบแทนพระคุณท่านในข้อต่อไป ซึ่งทำได้ทันที ไม่ต้องรอ

๒. เลี้ยงทางใจ เลี้ยงใจนี้เป็นการเลี้ยงที่สำคัญ เลี้ยงใจก็คือช่วยให้ใจของท่านสบาย มีความสุข ให้ท่านเห็นลูกแล้วได้ปลื้มใจ อย่างน้อยก็ไม่หนักใจ อย่างที่พูดเมื่อกี้ที่ว่า ถ้าเราประพฤติตัวดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจทำการงาน มีความสุขความเจริญ นั่นก็เป็นการเลี้ยงใจพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่มีความสุข ชื่นใจ ปลื้มใจ ตลอดเวลา

๓. ลูกตอบแทนพระคุณอย่างสูงสุดแก่พ่อแม่ ด้วยการให้สิ่งที่ประเสริฐแก่ชีวิตของท่าน พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า ถึงลูกจะเอาพ่อแม่มาขึ้นบ่าประคบ ประหงมเลี้ยงดูตลอดชีวิตอย่างดีที่สุด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนพระคุณของท่าน แต่ลูกคนใด ถ้าพ่อแม่เป็นคนไม่มีศรัทธา ทำให้ท่านมีศรัทธาได้ พ่อแม่ไม่มีศีลทำให้ท่านหันมาประพฤติปฏิบัติชอบ มีศีลได้ พ่อแม่ไม่มีจาคะ ไม่มีความเสียสละ ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่บำเพ็ญประโยชน์ ลูกก็ทำให้พ่อแม่มี จาคะเป็นคนเสียสละบำเพ็ญประโยชน์ได้ พ่อแม่ไม่มีปัญญา ลูกก็ช่วยหาทางเกื้อหนุนให้ท่านมีปัญญา ขึ้นได้ เช่น มีปัญญารู้ธรรมะ เข้าใจหลักพระศาสนา รู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิต โดยน้อมนำท่านอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยวิธีที่เหมาะสม อย่างนี้ถือว่าเป็นการตอบแทนพระคุณอย่างสูง
 ข่าวสด : ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๓)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่า อะไรเล่าจะมีค่าเท่ากับธรรม เกิดมาทั้งที ถ้าชีวิตนี้ได้ธรรมอย่างที่ว่า ได้ศรัทธา ได้ศีล ได้สุตะ ได้จาคะ ได้ปัญญา ก็กลายเป็นชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เมื่อช่วยให้ท่านได้ธรรม จึงเท่ากับว่าได้ให้สิ่งประเสริฐ ซึ่งมีคุณค่าสูงสุดแก่พ่อแม่

การที่ลูกบวชนี้ นอกจากเลี้ยงใจพ่อแม่แล้ว ก็โน้มนำให้พ่อแม่เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนา เราถือกันว่า การที่ลูกบวชนั้น ทำให้พ่อแม่ได้เป็นศาสนทายาท หรือได้เป็นญาติของพระศาสนา อันนี้มีเรื่องสืบต่อมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

นี่หมายถึงพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งดินแดนสุวรรณภูมิของเราด้วย พระเจ้าอโศกได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามากมาย สร้างวัดถึง ๘๔,๐๐๐ วัด ทั่วดินแดนชมพูทวีปที่กว้างใหญ่ คือ ในอินเดีย ซึ่งสมัยนั้นใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ใหญ่กว่าอินเดียสมัยนี้

พระเจ้าอโศกนั้น เมื่อได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามากมาย วันหนึ่งก็เลยได้ถามพระมหาเถระ ชื่อโมคคัลลีบุตรติสสะเถระว่า ที่โยมได้อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนามามากมายนี้ โยมก็อยากจะได้เป็นญาติของพระศาสนา ได้เป็นศาสนทายาท แล้วที่โยมทำมามากมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า สละทุนทรัพย์มหาศาลนี้ โยมได้เป็นญาติของพระศาสนาหรือยัง ได้เป็นศาสนทายาทหรือยัง พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระตอบว่า "ยัง"

ลองคิดดู พระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อได้ทรงสดับคำของพระเถระ คงจะพระทัยท้อลงไปทีเดียว แต่พระเจ้าอโศกก็ไม่ได้ทรงท้อถอย พระองค์ตรัสถามต่อไปว่า อ้าว! แล้วทำอย่างไรโยมถึงจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนทายาท

พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ซึ่งเป็นประธานพระสงฆ์สมัยนั้น ก็ได้ตอบแก่พระเจ้าอโศกมหาราชว่า ถ้าหากท่านผู้ใดได้มีบุตรธิดาเข้าไปบวชในพระศาสนา ท่านผู้นั้นแหละได้ชื่อว่าเป็นศาสนทายาท

พระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทรงพิจารณาแล้วทรงปรึกษาพระโอรสพระธิดาว่า มีใครพร้อมใจจะบวชบ้างไหม ก็พอดีมีพระโอรสและพระธิดาที่อยากจะบวชอยู่แล้ว รอขอพระบรมราชานุญาตอยู่ คือเจ้าชายมหินทะ กับเจ้าหญิงสังฆมิตตา ทั้งสองท่านก็เลยได้โอกาส ก็อาสาสมัครขอบวชในพระศาสนา  จึงเป็นอันว่า ได้มีพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชเข้ามาบรรพชาอุปสมบท คือ เจ้าชายมหินทะ มาเป็นพระมหินทะเถระ เป็นพระภิกษุ ส่วนพระราชธิดาชื่อสังฆมิตตา ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุณี ชื่อว่า พระสังฆมิตตาเถรี แล้วทั้งสองท่านนี้ก็ได้มาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา หรือในศรีลังกาปัจจุบัน

พระมหินทะเถระได้นำคณะพระสงฆ์มาประดิษฐานพระพุทธศาสนา เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ลังกาทวีป แล้วพระสังฆมิตตาเถรีก็เข้ามาตั้งภิกษุณีสงฆ์ พร้อมทั้งนำเอากิ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้มาประดิษฐานให้แก่ชาวลังกาทวีป ต้นโพธิ์ต้นนี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ มีอายุ ๒,๓๐๐ กว่าปี แก่มาก ต้องใช้ไม้ที่ประดับอย่างดีแล้ว มาค้ำมายันไว้ อยู่ที่เมืองอนุราธปุระ พระนครหลวงเก่าในอดีตกาลของศรีลังกา

ในหนังสือตำราใหญ่ๆ มีฝรั่งเขียนบันทึกไว้ว่า ต้นโพธิ์ที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งมาจากพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ต้นนี้ เป็น ต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่มีอายุน่าจะยาวนานที่สุดของโลก

อันนี้เป็นตำนาน เป็นเรื่องเก่า แต่ไม่ใช่แค่เป็นตำนาน เป็นประวัติศาสตร์แล้ว เราก็เลยมีประเพณีกันมาว่า ให้ลูกบวชได้แล้ว จะได้เป็นศาสนทายาท  การได้เป็นศาสนทายาทนี้ เรามองกัน เพลินๆ ไปในแง่ของคติที่สืบกันมา แต่ความหมายที่สำคัญก็คือ เมื่อลูกบวช พ่อแม่ก็ได้ใกล้ชิดพระศาสนา

ก่อนนี้เคยมีภารกิจมากมายวุ่นวาย ไม่มีเวลาไปวัด อย่าว่าแต่ไปวัดเลย บางทีไม่มีเวลาจะคิดถึงวัดเลย แต่พอลูกบวช เพราะความที่รักลูก ตอนนี้แหละใจตามลูกไปแล้ว ใจไปอยู่ที่วัดแล้ว เมื่อใจไปอยู่กับลูก ก็ไปอยู่กับพระด้วย เพราะตอนนี้ลูกกับพระเป็นคนเดียวกัน คิดถึงลูก ก็คือคิดถึงพระ

พอคิดถึงพระ ใจก็ตามพระไปอยู่ที่วัด วันนี้ เวลานี้ พระท่านกำลังทำอะไรหรือจะทำอะไรหนอ ท่านกำลังจะไป บิณฑบาต เดี๋ยวเราก็จะได้ตักบาตรหรือว่าพระท่านไปทำวัตรสวดมนต์ พระท่านทำกิจวัตรอันโน้นอันนี้ โยมก็นึกถึงอยู่เรื่อย ใจก็เลยมาอยู่ที่วัด
 ข่าวสด : ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘



อัฐบริขารและเครื่องใช้สอยงานอุปสมบทภิกษุ วัดธาตุหลวงใต้ เวียงจันทน์ ประเทศลาว

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๔)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

พอใจมาอยู่กับวัด ใจนั้นก็น้อมมาหาธรรมะเข้ามาในบุญกุศลโดยแทบไม่รู้ตัว เดี๋ยวตัวเองก็ได้ตักบาตรบ้าง ได้มาวัดถวายภัตตาหารบ้าง ได้ใกล้ชิดพระสงฆ์ ได้มารับบรรยากาศของวัด ได้ฟังธรรม เลยบางทีเพราะบวชลูกนี่แหละ ก็เลยได้เกิดความสนใจใฝ่ธรรม ได้รับสมบัติของพระพุทธศาสนา ลูกก็เลยกลายเป็นสื่อที่ช่วยโน้มนำพ่อแม่เข้ามาหาธรรม ได้ธรรมะ

นี่ละก็คือทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เป็นศาสนทายาท

แต่ก่อนนี้มีประเพณีว่า เวลาลูกบวช จะต้องจัดให้ลูกไปเทศน์ให้โยมพ่อโยมแม่และญาติพี่น้องฟังสักครั้งหนึ่ง ลูกก็จะได้เตรียมตัว ค้นคว้าเต็มที่ เอาธรรมะไปแสดง โยมพ่อโยมแม่ก็ได้ชวนเพื่อนบ้านญาติมิตรมาฟังธรรมกัน นี้ก็เป็นวิธีการที่จะทำให้โยมและญาติพี่น้องปู่ย่าตายายได้เข้ามาใกล้ชิดพระศาสนา  ฉะนั้น ในโอกาสที่บวชนี้ ก็ได้ทำหน้าที่ต่อโยมพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ปู่ย่าตายาย เป็นต้นด้วย ถ้ามีความตั้งใจดี ก็พยายามโน้มนำให้ท่านเข้ามาใกล้ชิดพระศาสนา ให้มีจิตใจโน้มมาทางธรรม ให้ได้เรียนรู้เข้าใจพระศาสนาเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นการตอบแทนพระคุณที่สำคัญ ให้ท่านได้สิ่งที่มีค่าสูงสุด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อันนี้ก็เรียกว่าทำให้โยมได้เป็นญาติของพระศาสนา คือได้ใกล้ชิด เข้ามาอยู่ในวงในของพระศาสนาเลย

แล้วข้อสำคัญก็คือว่า แต่ละเวลาที่บวชอยู่นี้ ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี โยมพ่อโยมแม่ โยมปู่ย่าตายายได้เห็น ได้นึกขึ้นมา ก็มีความปลื้มปีติตลอดเวลา เห็นลูกหลานห่มจีวรมาบิณฑบาต ได้ตักบาตรแล้ว ก็ปลื้มใจ มีความสุข มาวัดก็มีความสุข  ก็ขอให้ตั้งใจว่า ที่เรามาบวชนี้ บวชเพื่อโยมด้วย ถ้าตั้งใจอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องคิดว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้โยมได้บุญมากที่สุด ให้โยมได้ความสุข ให้โยมได้ความปลื้มใจมากที่สุด ตลอดจนคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ญาติพี่น้องทุกคนเลย ถ้าได้ตั้งใจให้แก่ท่านอย่างนี้แล้ว การบวชก็จะเกิดผลดีแก่ตนเองด้วย เป็นบุญเป็นกุศลทั้งสองฝ่าย นี่เป็นวัตถุประสงค์ และความหมายข้อที่สาม เอาละทีนี้ก็ต่อไป

ข้อที่ ๔ บวชเพื่อจะได้ฝึกศึกษา ได้พัฒนาตนเอง
คราวนี้แคบเข้ามาอีก ก็มีถึงตัวเอง ในข้อที่สี่นี้ การบวชก็คือ เป็นการได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ได้ฝึกตนในพระธรรมวินัย

การที่ท่านทั้งหลายมาบวชนี้ มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับสละเวลาส่วนหนึ่งให้แก่พระศาสนา อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ เราทำหน้าที่พุทธบริษัท โดยให้เวลาแก่พระศาสนา มารักษาพระศาสนา แต่ที่จริงนั้น มองอีกทีหนึ่ง ก็คือการมาให้โอกาสแก่ตัวเอง คือให้โอกาสแก่ตัวเองที่จะมาฝึกฝนตนในทางศีล ในทางสมาธิ ในทางจิตใจและในทางปัญญา โดยเรียนรู้คำสอนของพระศาสนา ได้ศึกษาปฏิบัติต่างๆ รวมความว่าเป็นเวลาดีที่สุดที่จะฝึกตน เป็นอันว่า ในที่สุดก็มารวมที่ตนเอง ในการได้มีโอกาสเรียนรู้ฝึกตนในพระธรรมวินัย

ทีนี้ ถ้าทำหน้าที่ในข้อที่สี่ คือทำหน้าที่ต่อตนเองนี้ได้แล้ว ก็จะได้ความหมายและวัตถุประสงค์สามข้อต้นไปเองด้วย เพราะว่าสามข้อต้นนั้น ในที่สุดก็มารวมอยู่ที่ข้อสี่นี้เอง คือ ว่าตามความจริงนั้น เราทำให้แก่ตัวเองคนเดียวนี่แหละ ในที่สุด ผลก็ได้แก่ทุกข้อพร้อมไปด้วยกันทั้งหมดเลย ตลอดจนเชื่อมไปถึงจุดหมายสูงสุดที่ว่าข้างต้นด้วย

พอตัวเองตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี ได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นพระดี มีความรู้ธรรมวินัยแล้ว ในเวลานั้นเอง ข้อที่หนึ่ง ก็ได้ทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนในการรักษาพระศาสนาไปเองด้วยในตัว ข้อที่สอง ก็ได้ทำหน้าที่ของคนไทยในการรักษามรดกของชาติไปเองด้วยในตัว ข้อที่สาม การทำหน้าที่ต่อโยมพ่อแม่ปู่ย่าตายายบุพการีก็ได้ไปด้วยในตัว เพราะการที่เราเป็นพระดี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี อย่างที่ว่าแล้ว ก็ทำให้โยมได้ปลื้มใจ มีปีติ มีความสุข โยมก็ได้ทำบุญได้พัฒนากุศลไปด้วย และตัวเองก็เจริญก้าวหน้าไปในทางสู่จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ในที่สุดก็มารวมที่ข้อสี่นี่แหละ ก็เลยมาลงที่ข้อบวชเรียนนี่เอง
 ข่าวสด : ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๕)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

เมื่อตัวเราจะบวชเรียน ก็ควรให้ได้ประโยชน์ครบถ้วนตามความหมายและความมุ่งหมายของการบวชทั้ง ๔ ข้อนั้น ตอนนี้เราจะบวช เราก็ต้องรู้เข้าใจในความมุ่งหมายให้ชัด เมื่อเราเข้าใจความมุ่งหมายชัดดีแล้ว เราก็ตั้งใจได้มั่นแน่วถูกทาง พอตั้งใจถูกแน่ว การบวชก็จะได้ผลดี คือมีเป้าหมายมีวัตถุประสงค์แล้ว ก็ทำให้เกิดความตั้งใจจริง และการประพฤติปฏิบัติก็จะจริงจังตรงเป้าและเกิดผลสมบูรณ์ เป็นความสำเร็จ เพราะฉะนั้นจึงขอให้เข้าใจตระหนักในความมุ่งหมายของการบวชทั้ง ๔ ประการนี้

• ความหมายของการบวช
ตอนนี้จะย้อนมาเรียนรู้เข้าใจเรื่องความหมายของตัวการบวชเอง ในที่นี้ได้พูดเรื่องความมุ่งหมายของการบวชไปแล้ว ก่อนมาอธิบายความหมายของการบวช นี่เป็นการพูดไปตามลำดับความเกี่ยวข้องใกล้ตัว พร้อมทั้งความยากง่ายและความน่าสนใจ

• ประเพณีบวชเรียนสืบมาแต่สุโขทัย
ว่าถึงการบวชเรียนของเรานี้ เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมานาน อย่างที่กล่าวแล้วว่าคนไทยเรามีประเพณีนี้ เท่ากับเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาแน่นแฟ้นอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เรามีประเพณีบวชเรียนที่คนไทยทุกหมู่เหล่า เข้ามาบวชเหมือนกันหมด ตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงลูกชาวบ้าน ประเพณีการบวชนี้จึงเป็นเครื่องประสานให้คนไทยทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การบวชเรียนที่เรามีอยู่นี้ เข้าใจว่าเป็นประเพณีที่สืบต่อมาจากองค์พระมหากษัตริย์ เพราะว่าตามประวัติศาสตร์เท่าที่เราทราบนั้น การที่มีโยมเข้าไปบวชพระชั่วคราวนี้ เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ตามเรื่องที่มีมาว่า พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงศึกษาธรรมแตกฉานแล้ว คราวหนึ่งทรงมีพระราชศรัทธามาก ก็เลยเสด็จออกผนวช ที่วัดอรัญญิก ในกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๔

ทีนี้ เรื่องที่พระเจ้าลิไทจะผนวชนี้ ก็มีเรื่องสืบมาอีกว่า พระองค์ได้ทรงระลึกถึงพระมหาธรรมราชาในกาลก่อน คือพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง มีเรื่องว่าพระเจ้าอโศกมหาราชก็เคยทรงผนวช แม้ว่าอันนี้เป็นเรื่องที่ยังตีความกันอยู่ แต่รวมแล้ว คนไทยเรามีประเพณีนี้โดยสืบเนื่องโยงไปสัมพันธ์กับเรื่องของพระเจ้าอโศกมหาราชด้วย

เรื่องก็คือว่า ในศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้เขียนไว้มากมายนั้น มีศิลาจารึกฉบับหนึ่ง ("ศิลาจารึกฉบับน้อย จารึกฉบับเหนือ" ในหนังสือ จารึกอโศก : รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย, พ.ศ.๒๕๕๒ หน้า ๑๒๕) บอกข้อความว่า

"...นับเป็นเวลานานกว่าสองปีครึ่งแล้ว ที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่กระนั้นข้าฯ ก็มิได้ทำความพากเพียรจริงจังเลย และนับเป็นเวลาได้อีก ๑ ปีเศษแล้ว ที่ข้าฯ ได้เข้าสู่สงฆ์ และได้ทำความพากเพียรอย่างจริงจัง..."

ในศิลาจารึกฉบับนี้ ข้อความที่ว่า "เข้าสู่สงฆ์" เป็นคำที่ทำให้ต้องตีความ เพราะไม่บ่งชัดลงไปว่าได้อุปสมบท แต่ทีนี้ข้างต้นมีคำว่า "ข้าฯ ได้เป็นอุบาสกมาสองปีครึ่งแล้ว" ยังไม่ได้เพียรจริงจัง เมื่อเข้ามาสู่สงฆ์แล้ว จึงได้เอาจริงเอาจัง เอ... ถ้าเป็นอุบาสกอยู่แล้ว มาเข้าสงฆ์ ก็ต้องบวชสิ ก็เลยตีความกันว่าทรงผนวช แต่บางท่านก็ยังไม่ยอมรับ

แต่เอาละ ก็เป็นอันว่ามีศิลาจารึกบอกความไว้อย่างนี้ เราก็ฟังกันไว้ อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าพระเจ้าอโศกนี้ทรงเลื่อมใสศรัทธามาก  ที่ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้เข้าสู่สงฆ์นี้ก็เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐ คือ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘ แล้วก็ยกทัพไปเที่ยวรุกรานตีเมืองโน้นเมืองนี้ จนถึงปีที่ ๘ ก็ไปตีแคว้นกลิงคะ ทำให้คนล้มตายเป็นแสน พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงสลดพระทัย แล้วก็มาเลื่อมใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงมาเป็นอุบาสก

นับจากปี ๒๑๘ ทำสงครามอีก ๘ ปี จึงมานับถือพุทธศาสนา ก็เข้าไป พ.ศ. ๒๒๖ แล้วเป็นอุบาสกสองปีครึ่ง ก็ปี ๒๒๘ ครึ่ง แล้วมาเข้าสู่สงฆ์อีกปีเศษ ก็ได้ประมาณ พ.ศ. ๒๓๐ ที่ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงเข้าสู่สงฆ์อย่างที่กล่าวมาแล้ว

อันนี้ก็อาจจะเป็นคติที่ทำให้เกิดประเพณีการบวช ซึ่งมาเริ่มต้นจากองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศไทย คือ พระมหาธรรมราชาลิไท

ทีนี้ ต่อมาในสมัยอยุธยา พระเจ้าบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นมหาราชอีกองค์หนึ่ง ก็ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ถึงกับสละราชสมบัติออกผนวชชั่วคราว ๘ เดือน ที่วัดจุฬามณี แล้วก็ทรงให้พระราชโอรส พระราชนัดดามาบวชเณรอีก อันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของประเพณีบวชเรียนในประเทศไทย  
 ข่าวสด : ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๖)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ต่อแต่นั้น ตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์มาจนถึงชาวบ้านทั่วไป ก็พากันถือประเพณีบวชเรียนสืบมา อย่างในหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙

พวกเราที่มาบวชนี้ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของคนไทยอย่างที่กล่าวมาแล้ว เป็นเรื่องที่มีความหมายสำคัญอยู่ในวัฒนธรรมประเพณี แต่ก็ต้องอย่างที่ว่าแล้ว ข้อสำคัญอยู่ที่ตัวท่านเอง ที่ว่าในที่สุดก็เป็นการทำหน้าที่ต่อตัวเอง ในการที่ได้ศึกษา คือบวชเรียนนี่แหละ

• บรรพชาออกมาจากบ้าน เข้าวัดบวชในพระธรรมวินัย
ทีนี้ก็มาศึกษาความหมายของคำว่าบวชกันนิดหนึ่ง คำว่า "บวช" นี้มาจากคำบาลีคือ "ปวช" (อ่านว่า ปะ-วะ-ชะ) เมื่อมาเป็นคำไทย ก็แผลง ป เป็น บ จึงเป็น บวช

"บวช" นี้ก็คำเดียวกับ "บรรพชา" นั่นเอง นี่เป็นเรื่องของภาษาบาลีและสันสกฤตในที่นี้จะไม่แยกแยะลงไปในรายละเอียด เอาสาระกันตรงที่ว่า "บวช" นี้มีความหมายว่า "เว้น" "ปลีกตัวออกไป" (เว้นรอบ,ไปได้ทั่ว) เว้น หรือปลีกตัวออกไปจากอะไร

๑. เว้นว่างจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศล หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ที่จะชักจูงจิตใจไปในทางที่ไม่ดี ปลีกตัวออกมาจากสิ่งเสียหาย เช่นว่า ถ้าสังคมมีอบายมุขมาก มีสิ่งชั่วร้ายมาก การบวชก็เป็นการเว้น การละ การสละ การปลีกตัวออกมาจากสิ่งเหล่านั้น ห่างไกลออกไปจากความเสื่อมเสียเศร้าหมอง ในขั้นพื้นฐาน
๒. ปลีกตัว เว้น ละ ออกมา จากความสับสนวุ่นวาย อย่างในสังคมสมัยนี้ มีผู้คนจอแจพลุกพล่าน ไม่มีความสงบ เราก็สละ ละเว้นออกมาจากความวุ่นวายนั้น มาอยู่กับบรรยากาศที่วิเวกสงบสงัด ทั้งสงัดกายและสงัดใจ โน้มจิตไปสู่ความวิเวกที่จะได้ปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ เช่น ทำสมาธิ ให้ได้ผลยิ่งขึ้น
๓. เว้น ปลีกตัวออกมา จากเครื่องพะรุงพะรังห่วงกังวลทั้งหลาย เช่น บรรดาวัตถุสิ่งของในครอบครอง ที่มีที่เกิดขึ้นมา ผ่านเวลานาน ได้สะสมไว้มากมาย พอบวชก็ละเว้นสละมันไปเสียที ทำตัวให้โล่งให้โปร่งให้เบา พร้อมที่จะดำเนินไปในวิถีของความเป็นอิสระเสรี

ทีนี้เมื่อเว้นเมื่อปลีกตัวออกมาให้โปร่งโล่งอย่างนี้ ก็ต้องทำใจให้โปร่งโล่งตามด้วยอย่าไปห่วงกังวล

ในการบวชนี้ ข้อสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ต้องทำตัวเองให้เป็นอิสระ มีจิตใจที่รู้สึกปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระจากบรรดาบาปอกุศล

แต่ความเป็นอิสระนี้ มิใช่เพื่อจะได้ไปทำอะไรตามชอบใจ ความเป็นอิสระ ความปลอดโปร่งโล่งเบานี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสแก่ชีวิต ตอนนี้เราให้โอกาสแก่ชีวิตของเรา แต่ก่อนนี้ มัววุ่นวายกับเรื่องสารพัดแต่ละวันๆ ไม่มีโอกาสที่จะให้เวลาแก่ชีวิต ตอนนี้เราให้โอกาสแก่ชีวิตที่จะฝึกฝนตนในพระธรรมวินัย ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เวลาแก่ชีวิตที่จะได้ศึกษา ได้มาฝึกฝนตนเอง ได้มาพัฒนาชีวิตให้เจริญในกุศล จนเกิดมีปัญญาที่ทำให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

ที่ว่ามานี้เป็นความหมายของบรรพชา การบรรพชาทำให้เราเป็นอิสระ ทำให้เราได้โอกาส เรามีโอกาสแล้ว เราก็มาศึกษา ทั้งเล่าเรียนและปฏิบัติ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นหลักแห่งพระธรรมวินัย เพื่อจะได้ลุถึงซึ่งความเป็น อิสระที่แท้จริง ก็จะสมกับที่เรียกว่าเป็นการบวชเรียน การที่บรรพชามาบวชเรียนก็คืออย่างนี้

• เมื่อบรรพชาได้บวชเณรแล้ว จะบวชพระก็ต่อด้วยอุปสมบท
ในสมัยแรกของพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาใหม่ๆ การบวชมีอย่างเดียว มีขั้นตอนเดียว คือพอบวชเข้ามา ก็เป็นพระภิกษุไปเลย บุคคลที่ออกมาจากบ้าน ซึ่งท่านรับให้บวชเข้ามาในสงฆ์ล้วนเป็นผู้พร้อมดีแล้วที่จะเป็นบรรพชิต ผู้มีชีวิตแห่งบรรพชา

ต่อมามีพระอยู่กันมาก สังฆะขยายใหญ่โตขึ้น พระที่บวชตรงจากพระพุทธเจ้าก็มีพระที่พระสาวกบวชให้ก็มาก ผู้ที่บวชพร้อมกันดีแล้ว ก็มีผู้ที่บวชมาทั้งที่ยังไม่พร้อมดี ก็มาก ทำให้ต้องมีระเบียบวินัยกำกับมากขึ้นๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงจัดสรรระบบของสังฆะด้วยวินัยบัญญัติ มีการจัดลำดับขั้นตอนต่างๆ ให้วิถีชีวิตมีระบบระเบียบมากขึ้น

ว่าตามพระวินัยที่ยุติแล้ว การบวชในปัจจุบันนี้ แบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน คือ บวชเณรอย่างหนึ่ง บวชพระอย่างหนึ่ง บวชเณร (พูดให้เต็มว่า บวชเป็นสามเณร) เรียกว่า "บรรพชา" ดังที่ผู้จะบวชซึ่งนั่งพร้อมกันอยู่นี้ ได้กล่าวคำขอบวชเมื่อกี้ว่า "ปัพพัชชัง เทถะ เม ภันเต" (แปลว่า "ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บรรพชา แก่ข้าพเจ้า") นี่หมายถึงให้การบวชเป็นสามเณร  
 ข่าวสด : ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กรกฎาคม 2558 14:25:18 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 มิถุนายน 2558 11:48:46 »

.


'บาตร' หนึ่งในบริขาร ๘ สำหรับดำรงเพศบรรชิต
งานอุปสมบทภิกษุ ณ วัดธาตุหลวงใต้ เวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๗)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

ทีนี้เมื่อบวชเป็นเณรแล้ว ได้บรรพชาแล้ว ท่านทั้งหลายยังไม่พอใจ ยังประสงค์จะบวชให้สมบูรณ์เป็นพระภิกษุ ก็ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน เช่นว่า มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เป็นต้น เมื่อมีคุณสมบัติพร้อมก็ถือว่ามีสิทธิ์สมัครขอบวชเป็นพระภิกษุได้ การขอบวชเป็นพระภิกษุนี้ เรียกว่าขอ "อุปสมบท" เมื่อสงฆ์ยอมรับก็เป็นอันได้อุปสมบท คือได้บวชเป็นพระภิกษุ

เป็นอันว่า การบวชในปัจจุบันนี้ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ บวชเป็นสามเณรเรียกว่า "บรรพชา" แล้วบวชเป็นพระภิกษุเรียกว่า "อุปสมบท"

สำหรับท่านที่จะบวชพระ (บวชเป็นพระภิกษุ ด้วยการอุปสมบท) ก็ต้องผ่านการบวชเณร (บวชเป็นสามเณร ด้วยการบรรพชา) ก่อน การบวชเณรคือบรรพชา จึงเป็นขั้นตอนในเบื้องต้น จากนั้นเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ต่อไป

เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็อยู่ในวัด มีวิถีชีวิตของพระเณร การเป็นพระเป็นเณร ก็คือการที่จะเจริญงอกงามในการเรียน อย่างที่บอกเรื่อยมาว่าบวชเรียนนั่นแหละ

ทีนี้ก็ต้องรู้ว่า ที่มาบวชแล้วจะเรียนนั้น เรียนอะไร และจะเรียนได้อย่างไร มีระบบการศึกษาเป็นอย่างไร จะได้ใครมานำพาให้เดินหน้าก้าวไปในการเรียน

พระรัตนตรัย เป็นดวงแก้วสูงค่าอย่างไร

ข้อที่ว่าจะเรียนอะไรนั้น รอสักนิด เริ่มแรก ขอให้รู้หลักที่เราจะต้องอาศัยในการที่จะเดินหน้าก้าวไปในการเรียนนั้น ที่สำคัญก็คือตัวหลักการและระบบการศึกษาของเรานั่นเอง เราจะต้องรู้เข้าใจหลักการและมองเห็นระบบของการศึกษา ที่เราจะก้าวเข้าไปใช้หรืออาศัยในการเดินหน้าพัฒนาชีวิตของตัว

ถ้าพูดสั้นๆ ก็บอกว่า การบวชเรียนนั้น เป็นการก้าวไปในการศึกษาเพื่อพัฒนาตนตามวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา ในระบบแห่งไตรสรณะของพระรัตนตรัย

พอพูดว่าหลักการ พูดถึงระบบ ก็ทำให้รู้สึกว่ายาก หรือชักจะงง เพราะเหมือนเป็นคำที่ดิ้นได้ ไม่ว่าไตรสิกขา หรือพระรัตนตรัย หรือไตรสรณะก็เป็นหลักทั้งนั้น และทั้ง ๓ หลักนั้นก็เป็นระบบที่ครบอยู่ในตัว แล้วไตรสิกขาก็เป็นระบบย่อยอยู่ในพระรัตนตรัย ที่เป็นระบบใหญ่ซึ่งครอบคลุม เจอคำว่าหลักตรงนี้ ระบบตรงโน้น ก็เลยจะงง

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ไม่ต้องงง ตอนแรกฟังไว้ เดี๋ยวพอได้เรียนรู้เข้าใจความจริง และมองเห็นคุณค่า ซาบซึ้งใจ ซาบซึ้งในปัญญา พอมองเห็นทางใหญ่น้อยที่โยงกันหมดศรัทธาก็มา แล้วเกิดกำลังเรี่ยวแรงที่จะเดินไป ก็จะรู้กับตัวเองว่า พระรัตนตรัยนั้นเป็นสรณะ เป็นเครื่องนำทาง เป็นหลักยึดถือให้แก่เรา ที่จะพาเราให้เดินหน้าไปในพระพุทธศาสนา ให้ก้าวหน้าไปในไตรสิกขา เจริญงอกงามในพระธรรมวินัย เหมือนกับว่าเราจะได้โดยสารพระรัตนตรัยนำพาเราไป

พอรู้ชัดเจน และใจเอาแล้ว จะพูดคำว่าหลัก ว่าระบบ ไม่ว่าคำไหนมา มองเห็นเชื่อมโยงส่งถึงกันไปหมด ก็ไม่ยุ่งยากอะไรแล้ว

เริ่มแรกก็มารู้จักพระรัตนตรัย ที่เรานับถือเป็นสรณะ อย่างที่ได้รับเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า "พุทธํ....ธมฺมํ....สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ" ให้พอรู้เข้าใจความหมายของพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และมองเห็นเหตุผลว่าทำไมจึงนับถือพระรัตนตรัยนั้นเป็นสรณะ แล้วก็จะได้รู้ด้วยว่าเราจะอาศัยท่านนำทางพาเราไปกับท่านได้อย่างไร

ก็มาดูกันตั้งแต่ความหมายของถ้อยคำ ตอนแรก คำว่า "รัตนตรัย" ก็คือ รัตนะ 3 อย่าง รัตนะ ก็คือสิ่งที่มีค่า หรือของดีมีคุณค่าสูง ที่สุดรักสุดถนอมสุดเชิดชูนับถืออย่างยิ่ง

แก้วในที่นี้ ไม่ใช้แก้วภาชนะอย่างแก้วน้ำ แต่หมายถึงแก้วเพชรนิลจินดานี้ ที่แท้แล้วก็เป็นของมีค่าโดยสมมติ โดยเรายึดถือกัน ตกลงกันว่าสดสวยงดงามอย่างนั้นอย่างนี้ มีราคาเท่านั้นเท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงมันมีค่าไม่แท้ เพราะว่ามันไม่ก่อเกิดผลส่งให้แก่ชีวิตของเราอย่างแท้จริง ไม่ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามได้จริง ไม่ทำให้ชีวิตประเสริฐเลิศดีขึ้นมาได้ ไม่ทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป แม้แต่กินก็ไม่ได้

ลองดูสิ เราลงเรือไปในทะเล แล้วเกิดเรือล่มไปติดเกาะ เรามีเพชรตั้งเต็มกระสอบก็กินไม่ได้เลย สู้ข้าวจานเดียวก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น พวกเพชรนิลจินดาอะไรต่างๆ ที่ว่ามีค่าโดยสมมตินิยมกันไปเท่านั้นเอง ไม่มีค่าอะไรแท้จริงเลย สิ่งที่มีค่าแท้จริง ก็ต้องทำให้ชีวิตของเราดีงามประเสริฐขึ้นได้ ทีนี้อะไรเล่าจะมีค่าแท้จริงอย่างนั้น
 ข่าวสด : ๘ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๘)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ทีนี้ดวงแก้วทั้งสาม คือพระรัตนตรัยนี้เป็นแหล่งที่รวมของบรรดาคุณค่าความดีงาม ก็แล คุณค่าความดีงามที่สำคัญนั้นมี ๒ อย่าง คือ ปัญญา กับ ปุญญัง

ปัญญา คือความรู้เข้าใจ ปุญญัง ก็คือความดี เรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่าบุญ ความรู้และความดีงามนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าแท้จริง

ดูง่ายๆ ทรัพย์สินเงินทอง จนถึงรัตนะภายนอกที่ว่ามีค่านี้เป็นภาระ เราต้องเก็บต้องถือต้องแบกต้องหาม ต้องเก็บต้องรักษา ต้องห่วงต้องกังวล แต่ทรัพย์ภายใน คือ ความรู้ความดีงามนี้ไม่ต้องหิ้วไม่ต้องถือ อยู่ในตัวเรา เราไปไหนมันก็ไปเอง ไม่ต้องห่วงไม่ต้องหวง แล้วทรัพย์สินเงินทองของมีค่าข้างนอกนั้น โจรลักได้ แต่ความรู้ความดีงามนี้ไม่มีใครลักไปได้   ยิ่งกว่านั้น ทรัพย์ภายนอกยิ่งใช้ยิ่งหมดยิ่งใช้ยิ่งเปลือง มีแสนหนึ่งใช้ห้าหมื่นเหลือห้าหมื่น ใช้อีกสองหมื่นห้าเหลือสองหมื่นห้า ใช้ไปใช้มาเหลือศูนย์ คือหมด แต่ทรัพย์ภายใน คือความรู้และความดีงามนี้ใช้เท่าไรก็ไม่หมด แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่ม

ความรู้นั้น เราใช้มัน เอาไปสอนเอาไปบอกคนอื่น เราก็ยิ่งรู้ชัด ยิ่งชำนาญยิ่งแจ่มแจ้งมากขึ้น ความดีงามก็เหมือนกัน เราทำอีกเมื่อไรความดีงามนั้นก็ยิ่งมากขึ้น ชีวิตของเราก็ยิ่งดีขึ้น เป็นอันว่าสิ่งมีค่าแท้จริงคือทรัพย์ภายในนี้ใช้ไม่หมดยิ่งใช้ยิ่งเพิ่ม

แล้วข้อสำคัญที่สุดก็คือ ทรัพย์ภายนอกทำชีวิตของเราให้ดีงามประเสริฐไม่ได้ และทำให้เรามีความสุขแท้จริงก็ไม่ได้ ส่วนปัญญาคือความรู้และปุญญังคือความดีงาม บุญกุศล ทำให้เรามีชีวิตดีงามประเสริฐแท้จริง จนในที่สุดพ้นจากทุกข์ได้จริงด้วย

เพราะฉะนั้น คนที่ฉลาดจริงอยู่ที่ทรัพย์ภายในซึ่งเป็นเนื้อเป็นตัวแท้ๆ ของชีวิตอย่างที่ว่าแล้วคือจะต้องสร้างเสริมสะสมทรัพย์ภายใน ต้องเอาจริงเอาจังตรงนี้

บอกแล้วว่า ถึงจะมีทรัพย์ภายนอกมากมายเท่าไรก็ไม่มั่นคงและไม่ใช่ของแท้ ถ้าไม่มีทรัพย์ภายใน ไม่มีความรู้ ไม่มีความดี ทรัพย์ภายนอกนั้นยิ่งใช้ยิ่งหมดไป ที่มีอยู่ก็ใช้หมดหายหมด ที่ไม่มีก็หาเพิ่มไม่ได้ เพราะไม่มีความดี ไม่มีปัญญาที่จะสร้างจะหาทรัพย์นั้น

ตรงข้ามกับคนที่มีทรัพย์ภายใน มีปัญญามีความรู้และมีความดี เช่นมีความขยันหมั่นเพียร ทรัพย์ภายนอกที่มีอยู่แล้วก็รักษาไว้ได้ และทำให้เพิ่มขึ้นด้วย ทรัพย์ภายนอกที่ยังไม่มี ก็ทำให้มีขึ้นได้ ทรัพย์ภายนอกหมดหรือหายไป ก็สร้างขึ้นใหม่ได้อีก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์" คนมีปัญญาถึงไม่มีทรัพย์ก็หาทรัพย์ได้ ทรัพย์ที่มีอยู่ก็ทำให้เพิ่มขึ้นได้ และรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่คนมีทรัพย์ ไม่มีปัญญา แม้แต่ทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว ก็รักษาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทรัพย์ภายในจึงสำคัญที่สุด

ทรัพย์ที่มีค่าที่สุด เรียกว่ารัตนะ และทรัพย์ภายในที่มีค่าที่สูงสุด ก็คือรัตนะ ๓ ที่เรียกว่าพระรัตนตรัยนี่แหละ เพราะเป็นทั้งทรัพย์ภายในที่มีค่า และเป็นแหล่งที่รวมไว้เป็นที่อำนวยให้ซึ่งปวงทรัพย์ภายใน ทั้งปุญญัง และปัญญา

พระรัตนตรัยเป็นแหล่งรวมไว้และอำนวยให้ ทั้งปุญญังและปัญญาอย่างไรก็ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ว่ากันต่อไป

ทรัพย์ที่มีค่าที่สุด เรียกว่ารัตนะ และทรัพย์ภายในที่มีค่าที่สูงสุด ก็คือรัตนะ ๓ ที่เรียกว่าพระรัตนตรัยนี่แหละ เพราะเป็นทั้งทรัพย์ภายในที่มีค่าและเป็นแหล่งที่รวมไว้เป็นที่อำนวยให้ซึ่งปวงทรัพย์ภายใน ทั้งปุญญังและปัญญา

พระรัตนตรัยเป็นแหล่งรวมไว้ และอำนวยให้ทั้งปุญญังและปัญญาอย่างไรก็ค่อยๆ ดู ค่อยๆ ว่ากันต่อไป

พระรัตนตรัย เป็นสรณะให้แก่เราอย่างไร

ดังที่ว่าแล้ว ที่มาบวชนี้พอเริ่มต้นก็ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เรียกว่า ไตรสรณคมน์ หรือ ไตรสรณาคมน์ คือนับถือพระรัตนตรัย เป็นไตรสรณะ เราแปลเป็นไทยว่า ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก (จะเรียกสั้นๆ ว่า สรณคมน์ หรือ สรณาคมน์ ก็ได้)

ก็เลยขอบอกความหมายของถ้อยคำสำคัญแทรกไว้พอเป็นความรู้แบบผ่านๆ

สำหรับคำว่าพระรัตนตรัยนั้น ทราบกันแล้วว่าคือ รัตนะ ๓ หรือดวงแก้ว ๓ ประการ(รัตน-แก้ว-ตรัย-สาม; เขียนอีกอย่างก็เป็น ไตรรัตน์= ไตร-สาม+รัตน์-แก้ว) และก็ได้อธิบายเรื่องแก้วในฐานะสิ่งมีค่าสูง ผ่านไปแล้ว
 ข่าวสด : ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๙)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ส่วน "สรณะ" ตามปกติและโดยทั่วไปก็แปลกันว่า "ที่พึ่ง" และเพราะมี ๓ อย่าง ก็เป็น ไตรสรณะ จะแปลง่ายๆ ว่า ที่ระลึก หรือที่คิดถึง ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในที่นี้บอกให้ทราบเพิ่มเติมไว้พอประดับความรู้ว่า คำว่า "สรณะ" นี้ในคัมภีร์ชั้นอธิบายความหมาย (อรรถกถา เป็นต้น) นิยมแปล ๒ แบบ

แบบแรก โดยวิเคราะห์ศัพท์ แปลว่า กำจัด คือกำจัดภัย ขจัดความกลัว กำจัดทุกข์ บำราศทุคติ เช่น โดยพาไปในประโยชน์ และกันออกไปจากสิ่งเสียหายไม่เป็นประโยชน์

อีกแบบหนึ่ง โดยแสดงไวพจน์ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พำนัก เป็นหลักที่ตั้งตัว เป็นที่คุ้มกันให้พ้นภัย เป็นคติ เป็นที่หมาย เป็นที่ให้ลุจุดหมายหรือสำเร็จความมุ่งหมายโดยกันออกไปซึ่งสิ่งเสียหายไร้ประโยชน์ กันจากบาปจากทุกข์ และให้สัมฤทธิ์ประโยชน์หรือความมุ่งหมาย

บอกแล้วว่า อันนี้ฟังไว้แค่ประกอบหรือประดับความรู้ ยังไม่ต้องคิดพิจารณามากมาย และไม่ต้องลงลึกอย่างนักภาษา

ในที่นี้ มาดูอย่างพื้นๆ ว่าพระรัตนตรัยเป็นสรณะให้แก่เราอย่างไร จะมองในแง่เป็นหลักยึดถือ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นที่ช่วยแก้ปัญหา เป็นที่บำราศทุกข์ เป็นเครื่องช่วยให้พ้นภัย ก็ได้ทั้งนั้น คลุมได้ทั้งหมด ถ้าพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านก็บอกว่าท่านมาช่วยเรา ก็มาดูกันว่าท่านมาช่วยเราอย่างไร

พระรัตนตรัยมิใช่มาช่วยแบบดลบันดาลให้ พระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมการดลบันดาล ท่านไม่ให้หวังผลจากการดลบันดาล แต่ท่านให้ใช้เรี่ยวแรงทำการให้ตรงกับเหตุปัจจัย ท่านช่วยให้เรามีปัญญารู้เหตุปัจจัย แล้วเราก็จะได้จัดการทำการให้ตรงเหตุปัจจัย

ทีนี้ก็มาดูความหมายของพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะของเราอย่างไร
๑.พระพุทธเจ้า เป็นหลักอัครบุคคล หลักนี้บอกว่า ก่อนนั้น แต่เดิมพระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์อย่างเรา แต่เพราะฝึกฝนพระองค์เอง อย่างที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมี พระองค์เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เสียสละ มีความตั้งใจมั่นคงแน่วแน่ในการฝึกตนที่จะทำความดีงาม สร้างเสริมเพิ่มพูนคุณสมบัติที่เป็นปุญญังทุกอย่าง ทุกประการ จนกระทั่งมีปัญญาตรัสรู้ ได้เป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงเป็นหลักที่ระลึกซึ่งเตือนใจเราว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ มนุษย์นี้จะดีจะประเสริฐจะเลิศได้ด้วยการฝึก แม้แต่จะฝึกจนเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ เรานี้ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง จะต้องฝึกตัวให้ดีมีชีวิตดีงามสูงสุดให้ได้

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ที่อยู่ไดด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาแล้วแทบไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนรู้อะไร เดี๋ยวมันก็เดินได้ กินได้ หาอาหารให้ตัวมันเองได้ แล้วมันก็อยู่ไปตามเรื่องของมัน

แต่คนเรานี่ทุกอย่าง จะกิน จะนอน จะนั่ง จะดื่ม จะขับถ่าย จะพูด จะเดิน แม้แต่จะนอน แค่เรื่องง่ายๆ นี้ ต้องฝึกต้องเรียนทั้งนั้น ถ้าไม่ฝึกไม่เรียนแล้ว ไม่เป็นเลย อยู่ไม่รอด เพราะฉะนั้น จึงเป็นสัตว์ที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก

อย่างไรก็ดี ที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกจึงอยู่ได้ แต่สัตว์ชนิดอื่นไม่ต้องฝึกก็อยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณนั้น ยังไม่จบ ต้องพูดต่อไปอีกว่า มนุษย์ไม่ใช่แค่เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ด้วย จึงมิใช่แค่ว่าต้องฝึกจึงอยู่ได้ แต่มนุษย์นั้นฝึกได้ จนกระทั่งไม่ว่าต้องการจะเป็นอะไร จะทำอะไรก็ฝึกให้ทำให้เป็นอย่างนั้นต่างจากมนุษย์ที่อยู่ไม่ได้ด้วยสัญชาตญาณ แต่ฝึกให้เก่งให้ดีเลิศประเสริฐแค่ไหนก็ได้ จนมีชีวิตที่อยู่ดีด้วยปัญญา

จริงอยู่ มีสัตว์บางชนิดที่ฝึกได้บ้าง อย่างช้าง ลิง สุนัข เป็นต้น แต่สัตว์เหล่านั้นไม่ใช่ฝึกตัวเอง ต้องอาศัยมนุษย์ฝึกให้ และฝึกได้ในขอบเขตหนึ่งที่จำกัด เช่น ลิงฝึกให้ขึ้นเก็บมะพร้าวได้ เล่นละครลิงได้ ช้างฝึกให้ลากซุง ให้ทำอะไรได้หลายอย่าง รวมทั้งละครสัตว์ สุนัขฝึกได้แสนเก่ง ทำอะไรได้มากมาย แต่ก็อย่างที่ว่า ต้องคนฝึกให้ และฝึกได้ในวิสัยที่จำกัด ต่างจากคนที่ฝึกตนเองได้ และฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น จนเลิศล้ำเหนือเทพเทวา

คนที่ฝึกดีแล้วนั้น เป็นนักปราชญ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักเทคโนโลยี เป็นนักประดิษฐ์ เป็นนักคิดนักทำต่างๆ สร้างวัฒนธรรม สร้างอารยธรรม จนกระทั่งเป็นมหาบุรุษก็มี ดังที่ว่า แม้ถึงเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ ความดีพิเศษของมนุษย์นี้สำเร็จได้ด้วยการฝึก
 ข่าวสด : ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๐)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เป็นอันว่า คนเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และฝึกได้ จะให้เก่งให้ดีเลิศประเสริฐสูงเยี่ยมอย่างไร ก็ฝึกได้ฝึกเอา อยู่ที่ฝึก คือ เรียน เรียนรู้ ศึกษา ฝึก หัด พัฒนา ถ้าไม่ฝึก ไม่ศึกษาแล้ว คนที่แย่ที่สุดยิ่งกว่าสัตว์ชนิดใดอื่น เพราะว่าไม่ฝึกไม่เรียนรู้แล้ว แม้แต่แค่มีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้ ต้องตาย ไม่รอด ส่วนสัตว์พวกอื่นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ นับว่าเก่ง แต่แล้วตลอดทั้งชีวิตก็อยู่แค่สัญชาตญาณนั่นแหละ เอาดีอะไรอีกไม่ได้

ท่านจึงสอนกันมาโดยย้ำนักย้ำหนาว่า การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ แสนยาก เป็นโอกาสที่ต้องไม่ให้พลาดไปเสีย เกิดมาแล้วต้องมีชีวิตที่ประเสริฐ ดีงามล้ำเลิศให้ได้

เพราะฉะนั้น ผู้บวช และทุกคนใช้หลักสรณะที่ ๑ นี้ โดยนับถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง เราตั้งพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบว่า พระพุทธเจ้าในกาลก่อนตอนเริ่มแรกทรงเป็นมนุษย์ที่ฝึกศึกษาพัฒนาพระองค์เองอย่างต่อเนื่องจริงจัง ถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นพระโพธิสัตว์โดยทรงเพียรพัฒนาคุณสมบัติสำคัญๆ ที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมี ได้ทรงฝึกพระองค์จนบรรลุโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้า เรานี้ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐอย่างที่ควรจะเป็นได้เต็มศักยภาพ ก็ด้วยการฝึก เราต้องฝึกเอา ถ้าเราไม่ถอยไม่ยอมหยุดในการฝึกแล้ว ก็จะสัมฤทธิผลที่มุ่งหมาย แล้วเราก็ฝึกศึกษาเรื่อยไป

การถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะเครื่องระลึกเตือนใจดังกล่าวมานี้ ทำให้เรามีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ว่า เรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ มีศักยภาพที่จะเป็นอย่างพระองค์ได้แล้วก็มีกำลังใจที่จะฝึกตนอย่างจริงจัง โดยถือพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง ที่จะฝึกตนให้มีคุณสมบัติความดีงามอย่างที่ได้ทรงสอน พร้อมกันนั้นก็เกิดมีจิตสำนึกต่อหน้าที่ของมนุษย์ในการที่จะต้องฝึกตนนั้น ซึ่งจะทำให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนฝึกฝนอย่างเต็มที่ โดยไม่ปล่อยตัวให้ตกไปในความประมาท

นอกจากนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาชาวบ้าน ในการฝึกนี้ เราได้เปรียบมาก ได้เปรียบอะไร? พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เริ่มต้น ต้องทรงค้นพบเอง พระองค์ต้องลองผิดลองถูก เพียรพยายามลำบากหนักหนากว่าจะสำเร็จจบการฝึก พอสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ประมวลประสบการณ์ของพระองค์ที่ได้บรรลุธรรมนั้น นำมาเล่าไว้และวางเป็นหลักให้เรา เราก็ได้บทเรียนสำเร็จรูป นี่คือง่ายกว่าพระพุทธเจ้าเยอะแยะ เมื่อได้เปรียบถึงอย่างนี้ บทเรียนก็มีการฝึกก็ง่ายขึ้นมามากมายอย่างนี้แล้ว เราก็ต้องรีบใช้ให้เป็นประโยชน์ และทำให้สำเร็จเมื่อเราถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกอย่างนี้แล้ว เราก็พร้อมใจที่จะเริ่มต้นและมั่นใจมีกำลังใจที่จะก้าวไปในการฝึกฝน

แต่การที่เราจะฝึกฝนพัฒนาตนได้สำเร็จก้าวหน้าไปด้วยดีนี้ ในขั้นตอนของการปฏิบัติ เราจะต้องทำอะไรบ้าง และจะทำอย่างไร ตอนนี้แหละก็มาถึงพระรัตนตรัยข้อที่สอง นี่คือ สรณะที่ 1 คือพระพุทธเจ้า นำเราต่อไปยังสรณะที่ 2 คือพระธรรม

๒.พระธรรม เป็นหลักคำสอน หลักนี้ชี้ถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดเผย แสดง ประกาศ หรือทรงเทศนาแก่เรา ดังที่ว่า เมื่อเรามาถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงนำเราต่อไปถึงข้อที่สอง คือพระธรรมนี้

ความหมายก็คือ พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ระลึกรู้ต่อไปว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี จนเป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสูงสุดอย่างนี้ สำเร็จได้ก็เพราะตรัสรู้ธรรม พระองค์เมื่อปฏิบัติตามธรรม รู้แจ้งธรรม คือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน เมื่อพระองค์ได้ทรงค้นพบความจริงนี้ด้วยปัญญาของพระองค์แล้ว ก็ทรงนำมาสั่งสอนเปิดเผยแก่พวกเรา

การที่เราจะมีชีวิตดีงาม ตามอย่างพระพุทธเจ้าได้ เราก็ต้องรู้เข้าใจธรรมและนำธรรมมาปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามธรรมนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประมวลนำมาจัดแสดงบอกแจ้งแก่พวกเราแล้ว พอเรารู้เข้าใจธรรม ปฏิบัติถูกชีวิตของเราก็ดีงาม พัฒนาจนเป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้

พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่ก็ตาม ธรรม คือความจริงก็มีอยู่ตามธรรมดาของมันอย่างนั้น ธรรมนี้ก็คือความจริงที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ

ถ้าเราไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไม่ถูกต้อง พอเราเจออะไร เราไม่รู้ มืดตื้อติดตัน ก็เกิดปัญหา เป็นความทุกข์ทันที และเมื่อไม่รู้ก็ปฏิบัติไม่ถูก ก็เกิดความขัดข้อง บีบคั้น อึดอัด ติดตัน เป็นปัญหา ทุกข์ก็มา อิสรภาพก็ไม่มี
  ข่าวสด : ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๑)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
แต่พอเรารู้ความจริง คือรู้ธรรม รู้อะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร เพราะอันใด จะทำอย่างไร เราก็โล่งเป็นอิสระไปขั้นหนึ่งตั้งแต่ต้นแล้ว และพอรู้อย่างนั้นแล้ว เราไม่ติดขัดก็ปฏิบัติได้ถูก ทำได้สำเร็จ ทำได้ดี ชีวิตของเราก็ดีงาม เราก็โปร่งโล่ง ปลอดปัญหา ปราศจากทุกข์ เป็นอิสระ 

เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นองค์ธรรมหรือคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง ปัญญาก็คือความรู้ถึงธรรม ถึงความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตามที่มันเป็นของมัน

อย่างที่ว่าแล้ว พอรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายก็ปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้เป็นไปได้ตามนั้น เช่นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เราต้องการผลอย่างนี้ จะต้องทำเหตุปัจจัยอะไร เมื่อศึกษาแล้วรู้และทำให้ถูกต้องตรงตามเหตุปัจจัย เรียกว่าทำถูกต้องตามธรรม ผลก็เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามนั้น

เป็นอันว่า พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เป็นการเตือนใจเราให้ระลึกและมองเห็นต่อไปถึงพระธรรม จึงบอกว่าพระพุทธเจ้านำเราต่อไปสู่พระธรรม เป็นการตรัสสอนบอกว่า เธอจะฝึกตนได้สำเร็จ จะเป็นผู้ประเสริฐมีปุญญังและปัญญา แก้ปัญหา ดับทุกข์ เป็นอิสระได้จริงนั้น ก็ต้องรู้ธรรม ปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรม

นี่คือ เรามาถึงธรรม ธรรมก็มาเป็นหลักยึดเหนี่ยวที่ใส่ใจคำนึงนึกของเรา เป็นข้อที่จะต้องเรียนรู้ ศึกษาให้หยั่งเห็นเข้าใจ ปฏิบัติให้ถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไป ยิ่งรู้ธรรมเท่าไร เราก็ยิ่งทำได้ถูกต้อง ยิ่งสำเร็จ ยิ่งดี ยิ่งมีความสุขความเจริญงอกงาม และยิ่งมีความเป็นอิสระมากขึ้น

๓. พระสงฆ์ เป็นหลักชุมชนประเสริฐ หลักนี้ชี้ถึงชุมชนซึ่งเป็นแหล่งที่ศึกษาสืบทอดธรรมจากพระพุทธเจ้า แผ่ขยายออกไป และนำธรรมส่งต่อให้กันมาจนถึงเรา โดยเป็นชุมชนของบุคคลที่ได้ฝึกตน เป็นอริยชน เป็นนาบุญ เป็นชุมนุมแห่งกัลยาณมิตร ที่เป็นแบบอย่างแก่สังคม ซึ่งอยู่กันด้วยเมตตากรุณา ช่วยแนะนำสั่งสอนผู้รุ่นหลังตามมา เกื้อหนุนในการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เจริญงอกงาม พัฒนาในทางแห่งพระพุทธจริยา และรักษาถ่ายทอดสืบต่อเผยแผ่ธรรมของพระพุทธเจ้าแก่ชาวโลก ผ่านกาลยาวนาน และขยายกว้างออกไป

เสริมความว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว และมีธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้แล้ว ทีนี้คนที่อยู่ห่างไกลออกไป และคนรุ่นหลังอย่างพวกเรา จะมีโอกาสได้รู้เข้าใจได้ปฏิบัติและเจริญงอกงามในธรรมนั้นได้อย่างไร พูดสั้นๆ ว่า ธรรมะจะมาถึงเราได้อย่างไร

ธรรมาถึงเราได้ ขั้นแรกก็เป็นธรรมดาว่าเริ่มต้นจากพระพุทธเจ้า ทีนี้ เมื่อไม่ใช่เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ก็ต้องมีคนรับสืบทอดธรรมมาจากพระพุทธเจ้า ช่วยนำมาให้เราเวลานี้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระธรรมที่พระองค์ทรงสอนนั้นมาถึงเราได้ก็ด้วยอาศัยพระสงฆ์นำต่อๆ กันมา ดังนั้น พระสงฆ์จึงเป็นหมู่ชนที่รักษาสืบทอดธรรมของพระพุทธเจ้า

ในเรื่องนี้ ก็มีความหมายลึกลงไปซ้อนอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่งว่า พระสงฆ์ก็คือพระทั้งหมด ซึ่งบวชต่อๆ กันมาจากพระพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้ว ก็เข้ามาอยู่ในชุมชนสงฆ์นี้ อยู่ร่วมกันในวัดวาอาราม อาศัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะ เช่น สงบสงัด มีวินัยอยู่ด้วยกันในระเบียบก็ศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติ โดยมีพระสงฆ์รุ่นเก่ารุ่นก่อน ตั้งแต่อุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดจนเพื่อนสหธรรมิก เป็นกัลยาณมิตร มีเมตตากรุณาช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแนะนำสั่งสอนกัน ก็ช่วยเกื้อหนุนกันในการปฏิบัติให้เจริญก้าวหน้า และบรรดาพระสงฆ์ก็ให้ธรรมแก่ประชาชนที่มาวัดบ้าง ออกไปให้ธรรมข้างนอกในสังคมทั่วไปบ้าง

จะเห็นได้ว่าการบวชมาศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติ และแนะนำสั่งสอนให้ธรรมกันในหมู่พุทธบริษัท และแก่ประชาชนมาอย่างนี้ เมื่อตั้งใจทำให้ดีให้แท้ให้ถูกต้อง ก็เป็นการดำรงรักษาสืบทอดธรรมอย่างเป็นไปเองอยู่ในตัว ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ก็อยู่คู่มากับพระสงฆ์ ยิ่งกว่านั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า  "ดูก่อนอานนท์! ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป"

ตามพุทธพจน์นี้ เมื่อพระสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติสั่งสอนวินัยกันถูกต้องดีพระสงฆ์ยังมี พระธรรมก็อยู่ด้วย กับทั้งพระศาสดาที่แทนองค์พระพุทธเจ้า ครบทั้งมวล
  ข่าวสด : ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘


pct.40-40
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กรกฎาคม 2558 14:28:48 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2558 15:29:14 »

.

ปะรำเครื่องใช้และบริขาร ๘ สำหรับดำรงเพศบรรชิต
งานอุปสมบทภิกษุ ณ วัดธาตุหลวงใต้ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
* เป็น ประเพณีของชาวลาว ว่า ผู้ที่จะเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
หากเป็นสามเณรให้ตั้ง (เตรียม) เครื่องพิธีภายในเขตพุทธาวาสหรือในวัด  
หากเป็นชาวบ้านให้ตั้ง (เตรียม) เครื่องพิธีได้เฉพาะภายในบ้านเรือนของตนเท่านั้น


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๒)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
นอกจากนี้ พระสงฆ์ที่ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติสั่งสอนธรรมวินัยกันมานั้น ท่านมีความรับผิดชอบ จะทำทุกอย่างให้ถูกให้ตรงให้เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแสดงไว้ ท่านจึงเอาจริงเอาจังกับการรักษาคำสั่งสอนหรือพระธรรมวินัยนั้นให้แน่นอนมั่นใจ ก็จัดวางระบบการสาธยายทรงจำไว้ เมื่อถึงยุคจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร ก็จัดการเก็บรักษาพระไตรปิฎกกันจริงจังทั้งของหลวงของราษฎร์ แม้ตามวัดที่กระจายอยู่ทั่วๆ ไป ก็ตั้งหอไตรขึ้นไว้คู่วัดต่างๆ และมีการสังคายนาสอบทานกันมาเป็นงานใหญ่ของบ้านเมือง

หันมาดูตัวเราแต่ละคนๆ นี้ เมื่อออกจากบ้านเข้ามาบวชก็ได้เข้าร่วมสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของสงฆ์ด้วย ตอนแรกก็เป็นสมาชิกของภิกษุสงฆ์หรือสมมติสงฆ์ ต่อจากนั้นเมื่อศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเจริญก้าวหน้าในอริยมรรคา ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ก็เข้าร่วมสาวกสงฆ์ที่เป็นอริยสงฆ์ นี่คือบรรลุจุดหมาย ซึ่งในที่สุดทุกคนควรเข้าร่วมอริยสาวกสงฆ์นี้ อันจะทำให้พระรัตนตรัยที่เป็นสรณะดำรงอยู่ครบสมบูรณ์

สังฆะก็คือสังคมของอริยชน อารยชน คนผู้เจริญที่แท้ เป็นสังคมดีงามที่เป็นอุดมคติ เมื่อตัวเราผู้บวชปฏิบัติถูกต้องตามที่กล่าวมานี้ได้เป็นส่วนร่วมหรือสมาชิกของสังฆะนั้นแท้จริง เราก็ได้ร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามที่เป็นสังคมของอริยชน คนผู้เจริญจริงที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน อยู่กันด้วยความดีงามในพระธรรมวินัย มีความสงบสุข

เรามีหน้าที่ต้องร่วมสร้างสังฆะนี้ ถ้ายังไม่เข้าร่วมสังฆะ ก็ช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูสังฆะนั้น แต่อย่างน้อยก็ขอให้ได้อาศัยสังฆะนี้ ช่วยทำให้เราเจริญงอกงามในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

นี่คือพระรัตนตรัย เป็นอันว่าครบ ๓ ประการ  
 ข่าวสด : ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๓)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
กรรมฐานที่ว่าตรงเรื่องกันนั้น เป็นกรรมฐานที่แสนจะง่ายไม่ต้องคิดอะไรมากเลย คือพอคิดถึงคนก็มองเป็นผมขนเล็บฟันหนังไปเลย ความจริงก็เป็นอย่างนั้นไม่ว่าใครคนไหนตัวตนตามที่มองเห็นกัน ก็แค่ผมขนเล็บฟันหนังเท่านั้นเอง ท่านเรียกว่า มูลกรรมฐาน

แปลว่า กรรมฐานชั้นมูล หรือ กรรมฐานเบื้องต้น

พอนึกถึงใครคนหนึ่ง ว่า "ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง" ก็หมดแล้ว จบเท่านั้น พอนึกถึงคนไหนอีกคน ก็ "ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง" จบ คนเราเห็นกันแค่ผมขนเล็บฟันหนังเท่านั้น พอบอกว่าผมขนเล็บฟันหนัง ก็ตัดตอนจบไปเลย

ทีนี้ กรรมฐานเบื้องต้น หรือกรรมฐานชั้นมูลนี้ มี ๕ ข้อ ท่านให้ว่าเป็นภาษาบาลี ซึ่งยิ่งช่วยให้ตัดความคิดฟุ้งซ่านออกไป

ผม ว่า "เกสา", ขน ว่า "โลมา", เล็บ ว่า "นขา",ฟัน ว่า "ทันตา", หนัง ว่า "ตโจ"

นี่ว่าไปตามลำดับ เกสา โลมา นขา (อ่าน-นะขา) ทันตา ตโจ (อ่าน-ตะโจ) แต่บางทีว่าไปๆ คล่องปาก ใจไปอื่นเสียแล้ว ปากคล่อง ใจไม่อยู่ ท่านก็เลยว่าย้อนลำดับสลับบ้าง ให้ว่ายากขึ้น จะได้ตั้งใจ เมื่อว่าย้อนกลับ ก็เป็น ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา

ตอนนี้ก็ให้ฝึกว่า โดยว่าตามก่อน ตอนแรก ว่าตามลำดับ เรียกว่า โดยอนุโลม เป็น "เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ" ต่อนั้นก็ว่าย้อนลำดับ เรียกว่า โดยปฏิโลม เป็น "ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา" จำง่ายแค่นี้เอง เรียกว่า มูลกรรมฐาน คือ งานง่ายๆ ที่ให้ใจทำ

เวลาอยู่ว่างๆ ไม่มีกิจวัตร ไม่มีงานอื่นทำ ก็อาจจะนั่งว่าในใจ ถึงแม่ไม่ได้นึกถึงใคร ก็มองแค่เป็นผมขนเล็บฟันหนัง จบเท่านั้น ก็เอาเป็นเครื่องฝึกใจในเบื้องต้น ใช้ประโยชน์ก่อนที่จะเล่าเรียนอื่นต่อไป

บัดนี้ ถือว่า นาคพร้อมแล้วที่จะได้รับการบรรพชา ก็จะมอบผ้ากาสาวพัสตร์ให้ไปครองมา

ตอนที่ ๒ ออกจากบ้าน พ้นเขตคาม สู่อาราม แดนรมณีย์

บัดนี้นาคก็ได้รับสรณาคมน์ และทศศีลคือศีล ๑๐ สำเร็จการบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว แต่ยังประสงค์จะอุปสมบท เพื่อให้เป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ต่อไป จึงได้เข้ามากล่าวคำขอนิสัย ขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์

ในเบื้องต้นนี้ ก็จะต้องทำความเข้าใจถึงความหมายของการขอนิสัย และความสัมพันธ์ที่เป็นอุปัชฌาย์แก่ผู้ขอบวช

บวชแล้ว ถือนิสัย เป็นนิสิต เข้าสู่ชีวิตแห่งการศึกษา

คำว่า "นิสัย" (บาลีว่า "นิสฺสัย" บางท่านพอใจเรียกเต็มตามคำเดิมว่า "นิสสัย" เพราะไม่อยากให้สับสนกับนิสัย ที่แปลว่าความประพฤติเคยชิน) แปลว่า ที่อาศัย หมายความว่า ท่านทั้งหลายได้เข้ามาขออาศัยข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้าเป็นที่อาศัยหรือเป็นที่พึ่งพา

เป็นที่พึ่งพาอย่างไร ก็คือพึ่งพาในการที่จะศึกษาชาเล่าเรียนปฏิบัติพระธรรมวินัยต่อไป เพราะว่าผู้ที่บวชใหม่ยังไม่มีความรู้เข้าใจพระธรรมวินัยพอที่จะปกครองตนเองได้จึงต้องอาศัยพระที่ได้เรียนรู้ธรรมวินัยมาแล้ว เคยมีชีวิตอยู่ในภิกษุภาวะมาก่อน ช่วยบอกเล่าอธิบายคำสอนเบื้องต้น ให้รู้จักวิธีครองตนและแนะนำในการที่จะศึกษาเล่าเรียนพระที่เป็น อุปัชฌาย์ ท่านทั้งหลายก็มาขอให้ข้าพเจ้าเป็นอุปัชฌาย์

อุปัชฌาย์ แปลว่า ผู้คอยเพ่งดูอยู่ ผู้เพ่งพินิจ หรือผู้คอยดูอยู่ใกล้ๆ หมายความว่าคอยเอาใจใส่ดูแล ดูแลอะไร มองในแง่หนึ่งคล้ายๆ ปกครอง แต่ที่จริงยังไม่ตรงความหมายที่แท้ ปกครองเป็นเพียงความหมายประกอบเท่านั้น

ความหมายที่แท้คือ อุปัชฌาย์เป็นผู้คอยเอาใจใส่ดูแล เพื่อให้ท่านทั้งหลายมีความเป็นอยู่และการประพฤติปฏิบัติ อันจะเอื้ออำนวยให้มีการศึกษาสำเร็จตามความมุ่งหมาย ที่จะเป็นพระที่ดี รู้เข้าใจหลักพระธรรมวินัยพอที่จะดูแลปกครองตัวเองได้ มีศีล มีจิต มีปัญญา เป็นทุนพื้นฐานพอที่จะเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยต่อไป

ดังนั้น พระอุปัชฌาย์จึงมีหน้าที่ต่อท่าน โดยเป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอนขั้นพื้นฐานและฝึกให้ได้เรียนรู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่จะเจริญในไตรสิกขาต่อไป

บัดนี้ ท่านทั้งหลายได้เข้ามาขอนิสัย คือขอที่พึ่งพาอาศัย ขอให้ข้าพเจ้าให้นิสัยคือให้ความพึ่งพิงแก่ท่าน ด้วยการเป็น อุปัชฌาย์ โดยบอกว่า "อุปัชฌาโย เม ภันเต โหหิ" (ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของกระผม)  
 ข่าวสด : ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๔)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เมื่อข้าพเจ้ารับ ท่านทั้งหลายก็กล่าวว่า "อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร" บอกว่า ในบัดนี้ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านพระเถระเป็นภาระของกระผม หมายความว่า ต่อแต่นี้ไป เมื่อข้าพเจ้ารับเป็นอุปัชฌาย์แล้ว ข้าพเจ้าก็เป็นภาระของท่านทั้งหลาย

เป็นภาระอย่างไร คือเป็นความรับผิดชอบที่ท่านทั้งหลายจะต้องเอาใจใส่ คอยสดับฟังคำแนะนำสั่งสอน ให้ความสำคัญไม่ปล่อยปละละเลย คอยดูว่าอุปัชฌาย์จะมีอะไรแนะนำบอกกล่าว เอาใจใส่ คอยสำเหนียก

พร้อมกันนั้น เพื่อให้เป็นการศึกษาจริงจัง เป็นชีวิตแห่งการศึกษา มีการเรียนด้วยชีวิตและการเรียนเป็นชีวิตอย่างแท้จริง ท่านก็ให้มีข้อวัตรปฏิบัติต่อกัน ที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกันในฐานะเป็นนิสัย คือผู้เป็นที่อยู่อิงอาศัยกับเป็นนิสิต คือผู้อยู่พึ่งพิงอยู่ด้วยกันเหมือนเป็นพ่อลูก จะได้เรียนไม่เฉพาะฟังคำสั่งสอนเท่านั้น แต่เรียนด้วยวิถีชีวิตด้วย คือ เรียนทั้งความเป็นอยู่เป็นไป เรียนกิริยามารยาททุกอย่าง เรียนการทำกิจกรรมนานาหลากหลายเรียนกันในชีวิตจริง และเรียนด้วยชีวิตจริง เรียนกันตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งไปนอนหลับ

เมื่อท่านทั้งหลายกล่าวแสดงความเต็มใจรับผิดชอบ ต่อข้าพเจ้าที่เป็นอุปัชฌาย์โดยบอกว่าอุปัชฌาย์เป็นภาระของท่าน ที่ท่านจะเอาใจใส่แล้ว ท่านก็กล่าวต่อไปว่า "อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร" แปลว่า แม้กระผมก็เป็นภาระของท่านพระเถระด้วย

นี่หมายความว่า ทุกท่านที่มาขอนิสัยอยู่นี้ ก็จะเป็นภาระของข้าพเจ้า ที่เป็นอุปัชฌาย์ด้วย คือ อุปัชฌาย์ก็จะต้องมีความรับผิดชอบที่จะเอาใจใส่คอยดูแลว่า ท่านที่มาขอนิสัยอยู่ด้วยนี้ มีอะไรขาดตกบกพร่อง ในทางความเป็นอยู่ก็ดี ในการศึกษาก็ดี มีอะไรที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง มีอะไรที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็จะต้องเอาใจใส่ถือเป็นภาระในความรับผิดชอบ (ตามที่ว่านี้ ชัดว่าแต่เดิมอุปัชฌาย์มีนิสิตได้รุ่นละไม่มาก)

โดยนัยนี้ ทั้งสองฝ่ายก็มีภาระรับผิดชอบต่อกัน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์ในทางการศึกษา ท่านก็เลยให้ชื่อไว้เรียกเป็นคู่กัน โดยที่ว่า ต่อไปนี้ ท่านทั้งหลายที่มาบวชได้ชื่อที่คู่กับอุปัชฌาย์ ว่าท่านทั้งหลายเป็นสัทธิวิหาริก

"อุปัชฌาย์" แปลว่า ผู้ใส่ใจคอยดูแลอย่างที่ว่าแล้ว ส่วน "สัทธิหาริก" แปลว่า ผู้อยู่ด้วย นี่ก็แปลง่ายๆ หมายความว่า มาอยู่ด้วยกับอุปัชฌาย์ จะได้ให้อุปัชฌาย์เป็นที่พึ่งที่อาศัยในทางการศึกษาต่อไป แล้วก็เป็นธรรมดาว่า ในการดูแลนั้น มีการปกครองพ่วงเข้ามา โดยที่การปกครองนั้นเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นเครื่องมือของการศึกษานั่นเอง

มีพุทธบัญญัติวางไว้ต่อไปว่า พระภิกษุบวชใหม่ต้องเล่าเรียนไปจนกว่าจะปกครองตนเองได้ ท่านให้เวลา ๕ ปี ถ้ายังไม่สึก ยังไม่ไปไหนเสียก็ต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เล่าเรียนศึกษาไปตลอดเวลา ๕ ปี ได้แค่นี้ ตามปกติก็ถือว่าเพียงที่จะปกครองตนเองได้แล้ว ก็พ้นนิสัย ได้เป็นนิสัยมุตตกะ (หรือเขียนอย่างเต็มเป็น นิสสัยมุตตกะ จะเรียกสั้นๆ ก็ได้ว่า นิสัยมุตก์ แปลว่า ผู้พ้นนิสัย)

อย่างไรก็ดี แม้เมื่ออยู่กับอุปัชฌาย์ได้ศึกษาครบ ๕ ปีแล้ว ถ้ายังปกครองตัวไม่ได้อุปัชฌาย์ก็ต้องให้ถือนิสัยอยู่ต่อไป ยังไม่เป็นนิสัยมุตก์ จนกว่าจะปกครองตัวได้

แล้วก็มีพุทธบัญญัติอีกด้านหนึ่งว่า ผู้ที่บวชแล้วซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกนี้ ถ้าอยู่กับอุปัชฌาย์ยังไม่ครบ ๕ ปี ยังไม่พ้นนิสัย เกิดมีเหตุให้อุปัชฌาย์มีอันเป็นไป เช่นถึงมรณภาพไปเสีย หรือตัวผู้บวชเองมีเหตุจำเป็นต้องจากอุปัชฌาย์ไปอยู่ห่างไกล ผู้ที่บวชแล้วซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกนี้ ก็จะต้องถือนิสัยเพื่อมีที่อาศัยให้การศึกษาต่อไปจนครบ ๕ ปี

เพราะฉะนั้น ถ้าอุปัชฌาย์ไม่อยู่หรืออยู่กับอุปัชฌาย์ไม่ได้ก็จะต้องหาพระภิกษุที่มีคุณสมบัติในระดับใกล้เคียงกับพระอุปัชฌาย์ คือ เป็นพระเถระบวชมาแล้วอย่างน้อย ๑๐ พรรษา มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ แล้วไปขอนิสัยกับท่านผู้นั้น

เมื่อไปขอนิสัย ให้ท่านผู้นั้นทำหน้าที่แทนอุปัชฌาย์ ตอนนี้ไม่เรียกว่าอุปัชฌาย์แต่เรียกว่า อาจารย์ ก็ไปขอนิสัยอยู่กับอาจารย์ โดยวางจิตดังกับบิดากับบุตร

ตัวเองได้ชื่อใหม่ ก่อนนี้อยู่กับอุปัชฌาย์ เรียกว่าสัทธิหาริก แต่พอไปอยู่กับอาจารย์เรียกว่า อันเตวาสิก แปลว่า ผู้อยู่ในสำนัก และก็อยู่ในต่อไปจนครบ ๕ ปี ที่จะปกครองตนเองได้ถ้ายังมีคุณสมบัติไม่พอก็ถือนิสัยต่อไป ทำนองเดียวกับที่พูดแล้วในเรื่องอุปัชฌาย์  
 ข่าวสด : ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๕)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ที่เล่ามานี้เป็นหลักทางพระวินัย เป็นเรื่องของการที่จะให้ชีวิตเจริญงอกงามในการศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญา ดังได้บอกแล้วว่า การบวชนี้เป็นการบวชเรียน ชีวิตตั้งแต่นี้ไปเป็นชีวิตแห่งการศึกษาไปโดยตลอด

ถ้าศึกษาถูกทาง แค่ชั้นประถม ก็ไม่จมอยู่กับปัญหาการพัฒนาไม่ยั่งยืน

ดังได้บอกแล้วว่า ชีวิตพระนี้ต้องฝึกฝนต้องศึกษาตลอดไป ทีนี้ถ้าศึกษาได้ดี ปฏิบัติก้าวหน้า ก็ได้เป็นอริยบุคคลหรืออริยชน คือคนผู้เจริญที่แท้ เริ่มด้วยชั้นต้นๆ เรียกว่า เสขะ หรือ เสกขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา หรือยังศึกษา

เสขะ หรือ เสกขะ มาจากคำว่า สิกขา (รูปบาลีของ "ศึกษา" ที่มาจากสันสกฤต) คือ การศึกษา จะให้เป็นคน ก็แปลง อิ เป็น เอ และทำ อา ให้สั้นเข้าเป็น อะ ก็เป็น เสกขะ ทางหลักภาษาอนุญาตให้เอาตัวสะกดคือ กฺ ออกได้ (จะช่วยให้อ่านสะดวก ขึ้นด้วย) จึงเป็น เสขะ คือผู้ศึกษา หรือคนที่ยังศึกษา

พูดให้ลึกลงไป เสขะ คือผู้ศึกษา หรือคนที่ยังศึกษา ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามี ท่านเหล่านี้ เป็นอริยบุคคลหรืออริยชน ที่ยังไม่พ้นความเป็นนักศึกษา ยังต้องศึกษาอยู่ จนกระทั่งเมื่อใดเป็นพระอรหันต์ จึงเป็น อเสขะ หรือ อเสกขะ จึงเป็นผู้จบการศึกษา ไม่ต้องศึกษา จบการฝึก

เพราะฉะนั้น ในชีวิตของพระนี้ ตราบใดยังเป็นพระภิกษุก็ต้องศึกษาในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขาเรื่อยไป ท่านกำชับว่าพระภิกษุแม้จะมีพรรษาตั้ง ๗๐-๘๐ อายุตั้ง ๑๐๐ ปีแล้ว ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องศึกษาต่อไป ยังไม่จบ หยุดไม่ได้

แท้จริงนั้น ไม่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ที่ต้องศึกษาเรื่อยไปจนกว่าจะเป็นอเสขะทุกคนทีเดียว เมื่อเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา ก็ต้องศึกษาตลอดเวลาจนกว่าจะจบไตรสิกขาจนเป็นอเสขะ

ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตแห่งการศึกษา ยิ่งในพระธรรมวินัยซึ่งบ่งบอกความเอาจริงเอาจังกับเนื้อหาสาระนับแต่บวชเข้ามา อย่างที่ได้บอกแล้วว่าคือบวชเรียน พอบวชเสร็จเดี๋ยวก็จะย้ำ จะเน้นโดยจะต้องบอกไตรสิกขาอีก คือบอกให้รู้ว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ชีวิตของท่านอยู่ในการศึกษาตามระบบไตรสิกขาตลอดไปจนตาย หรือจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

สิกขานั้น แปลว่าเรียนนั่นเอง เรานิยมใช้รูปคำที่มาจากภาษาสันสกฤตเป็น "ศึกษา" จะแปลอย่างไทยนิยมสมัยนี้ว่าเรียนรู้ก็ได้ แปลง่ายๆ จะว่าฝึกหรือฝึกฝน หรือ หัด หรือพัฒนา ได้ทั้งนั้น เรียนรู้-ศึกษา-ฝึก-หัด-พัฒนา คือความหมายของสิกขาทั้งสิ้น

เมื่อท่านรู้อย่างนี้แล้วว่า ชีวิตของท่านต้องสิกขา ก็มาทำความเข้าใจเรื่องสิกขากันหน่อยว่า ต่อแต่นี้ไปทำอย่างไรชีวิตของเราจึงจะเดินหน้าก้าวไปในไตรสิกขา

สิกขาหรือศึกษาที่แปลง่ายๆ ว่าการฝึกนั้น คือทำชีวิตของตนให้เจริญดีงอกงามยิ่งขึ้น ดังได้บอกแต่ต้นว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วก็ทำไม่ได้ ไม่เป็น เอาดีไม่ได้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกไม่เรียนรู้ ก็ไม่ประเสริฐ จะแย่ที่สุดคืออยู่ก็ไม่รอด แต่ฝึกแล้วจะเก่งจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้

ที่ย้ำไว้ก็เพื่อเอาการฝึกนี้เป็นหัวใจ ถือเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ทีนี้จะเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาอะไรบ้าง ก็บอกว่าคนเรานี้มี ๓ แดนที่จะต้องฝึกศึกษาพัฒนาขึ้นไป คือ แดนสัมพันธ์ภายนอก(ศีล) แดนจิตใจ(สมาธิ) และแดนปัญญา(ปัญญา) เรียกรวมกันว่า ไตรสิกขา

แดนที่ ๑ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งของและคน

ชีวิตของเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราเป็นอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและมีการติดต่อสัมพันธ์กับภายนอก ด้วยการใช้หูตาจมูกลิ้นกายใจ รับรู้ดูฟัง เป็นต้น แล้วก็สัมพันธ์ด้วยการเสพบริโภคโดยใช้สอยปัจจัย ๔ และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จนกระทั่งเทคโนโลยีที่เป็นของเด่นในปัจจุบัน นั่นเป็นการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยดำเนินชีวิตเป็นอยู่ในสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นมีการติดต่อพูดจาสื่อสาร และทำอะไรๆ ต่อกันกับหรือเกี่ยวข้องกระทบต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย

ที่ว่ามานั้นเป็นการพูดแยกแยะจัดหมู่จัดประเภทให้มองเห็นรู้เข้าใจอะไรต่างๆ ชัดเจนขึ้น แต่ในการมีชีวิตเป็นอยู่จริงๆ นั้น การสัมพันธ์ทำการต่างๆ เกี่ยวข้องโยงต่อถึงสิ่งทั้งหลายโดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้างทั่วไปทั้งหมด  
 ข่าวสด : ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๖)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
เรามีศีลเพื่อเป็นหลักในการทำต่อกันและสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหลายนั้น ให้เป็นไปด้วยดี ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อความเสียหาย แต่ให้เป็นการเกื้อกูลกลมกลืนเป็นต้น ให้มีการเป็นอยู่ที่ดี พร้อมไปกับได้ฝึกฝนพัฒนาตัวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณสมบัติในตัวเพิ่มขึ้นที่จะช่วยให้พร้อมและสามารถทำอะไรๆ ที่เหนือหรือสูงขึ้นไปอีก จะว่าเพื่อมีชีวิตที่เป็นเลิศหรือสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปก็ได้

เมื่อจัดแยกประเภทความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ก็วางศีลที่เป็นหลักในการสัมพันธ์และฝึกหรือพัฒนาความสัมพันธ์ออกไปเป็นศีล ๕ หมวด ดังจะพูดพอให้รู้เป็นเค้าเป็นแนวไว้

ศีลหมวดที่ ๑ อันนี้สอดคล้องกับที่พูดและเข้าใจกันอยู่ทั่วไปว่าคนเป็นสัตว์สังคม พระก็อยู่ร่วมรวมกันเป็นสังฆะ ที่เราแปลว่า สงฆ์ คนที่อยู่ร่วมรวมกันเป็นสังคมก็ต้องมีกฎกติกา อย่างสังคมใหญ่ระดับประเทศก็ต้องมีกฎหมายใหญ่น้อยมากมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา และต้องมีระบบวิธีในการบังคับใช้ เช่นลงโทษผู้ทำผิด ฝ่าฝืน ละเมิด

พระภิกษุทั้งหลายนอกจากต้องขึ้นต่อกฎหมายของประเทศที่ตนอาศัยอยู่ในฐานะที่เขาถือว่าเป็นพลเมืองของเขาแล้วก็มีกฎหมายจำเพาะสำหรับชุมชนหรือสังคม คือสังฆะของตนอีกชั้นหนึ่งตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้สำหรับสังฆะที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นนั้น กฎหมายนั้นเรียกกว้างๆ ตามภาษาพระว่าวินัย

ทีนี้ วินัยหรือกฎหมายของพระก็มีมาก ก็ต้องเริ่มที่บทบัญญัติหรือวินัยบัญญัติหลักใหญ่ที่ตั้งไว้เป็นแกนกลาง วินัยบัญญัติหลักใหญ่แกนกลางนี้มีชื่อเรียกว่า ปาติโมกข์ (ปาฏิโมกข์ ก็ใช้) มีบท บัญญัติ ๒๒๗ ข้อ เรียกว่า สิกขาบท (ข้อศึกษา) ๒๒๗ แต่มักเรียกกันรวบรัดเป็นภาษาชาวบ้านว่าศีล ๒๒๗ (พึงสังเกตว่า ท่านเรียกว่า "สิกขาบท" คือข้อศึกษาเพราะมองว่าเป็นเครื่องฝึกพระไม่มองแค่ให้เป็นข้อบังคับ)

นอกจากสิกขาบท ๒๒๗ ข้อที่อยู่ในปาติโมกข์แล้วยังมีข้อกฎหมายหรือวินัยบัญญัติหมวดต่างๆ สำหรับพระภิกษุอีกมากมายยิ่งกว่าในปาติโมกข์นั้น เรียกกว้างๆ ว่า สิกขาบทนอกปาติโมกข์

๒๒๗ นั้น ซึ่งกำหนดว่าภิกษุจะเป็นอยู่อย่างไร จะทำอะไรเลี้ยงชีวิต ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าละเมิดจะเป็นความผิดสถานไหน มีโทษอย่างไร ตามระบบการบังคับใช้ที่ได้วางไว้

ว่าโดยหลักการทั่วไป เทียบเหมือนว่าจะถือเอา ศีล ๕ เป็นปาติโมกข์ของชาวบ้านทั่วไปหรือจะว่าเป็นปาติโมกข์ของพลโลกก็ได้

แต่ศีล ๕ นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นหลักความประพฤติให้คนรู้เข้าใจผลดีผลร้ายมองเห็นเหตุผลแล้วตกลงใจถือหรือสมัครใจขอรับเอาไปปฏิบัติเอง เป็นการศึกษาของประชาชนซึ่งเขาจะได้รับผลดีหรือผลร้ายโดยเป็นไปตามเหตุผลของกฎธรรมชาติ ไม่ได้ทรง บัญญัติเป็นวินัยหรือกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ทางสังคมเพราะคนทั่วไปนั้นไม่ได้มอบตนให้เข้าอยู่ในความกำหนดของพระองค์ มิใช่อย่างที่เหล่าภิกษุได้แจ้งสมัครเข้าไปอยู่ใต้กติกาในสังฆะ

ในสังคมของชาวบ้านนั้น เมื่อเข้าใจหลักศีล ๕ ที่ท่านแสดงไว้เป็นหลักใหญ่แล้ว ผู้ฉลาดจะนำไปตกลงบัญญัติวางลงเป็นวินัยเป็นกฎหมายข้อบังคับที่มีข้อจำแนกแยกย่อยละเอียดลงไปเพื่อกำกับชุมชนหรือสังคมของตนในระดับต่างๆ โดยมีระบบการบังคับใช้ เช่นลงโทษผู้ละเมิดต่างๆ เป็นรายละเอียดลงไปก็ได้

ดังจะเห็นว่ากฎหมายอย่างของประเทศไทยนี้เองที่มีข้อบัญญัติมากมายละเอียดยิบนั้น ส่วนมากก็เหมือนกับเป็นข้อแยกย่อยของศีล ๕ นั้นเอง ที่ซอยออกไปในแง่ด้านระดับต่างๆ ในระบบของการบังคับใช้ทางสังคม

แม้ในพระปาติโมกข์ของภิกษุสงฆ์ ก็มองเห็นระบบนี้ได้ทำนองว่า ศีล ๕ นี้เองเป็นแกนของศีล ๒๒๗ (ลึกๆ คือมุ่งศีลที่เป็นองค์มรรค) เช่นว่า ในหลักศีล ๕ ข้อที่ ๑ ว่า เว้นจากการปลดปลงชีวิต ถือกันกว้างๆ ว่า ไม่ว่าจะฆ่าสัตว์คนไหนตัวใดก็ผิดศีลข้อแรกนี้

แล้วทีนี้ ไปสำรวจในพระปาติโมกข์ก็จะพบว่าการปลดปลงชีวิตมีบัญญัติแยกย่อยออกไปในระดับต่างๆ โดยมีความผิดและการลงโทษต่างกันออกไป เช่น ฆ่ามนุษย์เป็นความผิดสถานหนักที่สุด เรียกว่าปาราชิก ถึงขาดจากความเป็นภิกษุ ทีนี้ฆ่ามนุษย์นั่นแหละลงมือพยายามฆ่าแต่เขาไม่ตาย ถึงกระนั้น ก็ไม่พ้นผิด จะมีโทษลดหลั่นลงมา เช่น เป็นโทษที่เรียกว่าถุลลัจจัย ซึ่งต้องเป็นข้อพิจารณาตามระดับความผิด หรือถ้าปลงชีวิตสัตว์ดิรัจฉานถึงจะตายก็เป็นโทษเบาลงมาในขั้นที่เรียกว่าปาจิตตีย์
 ข่าวสด : ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๗)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
แม้จะไม่ฆ่าโดยตรง แต่รู้อยู่ว่าน้ำมีตัวสัตว์ บริโภคน้ำนั้นหรือรดน้ำนั้นลงไปบนดินบนหญ้าก็ต้องปาจิตตีย์ หรือมิได้ฆ่าเพียงเบียดเบียนทำให้เขาเดือดร้อนเจ็บช้ำลำบาก ดังที่ว่า ภิกษุโกรธเคืองภิกษุอื่นฉุดคร่าไล่ออกจากกุฏิสงฆ์ก็ต้องปาจิตตีย์ หรือไม่ถึงกับฆ่าสัตว์ แต่ทำลายพืชก็ต้องปาจิตตีย์ได้อีก

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในหลักศีล ๕ ข้อที่ ๒ ว่าเว้นจากการพูดเท็จ นี่ก็กว้าง ทีนี้ดูในพระปาติโมกข์ พูดเท็จจำแนกความผิดออกไปหลายระดับ ภิกษุพูดเท็จโดยอวดคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตนเป็นความผิดถึงที่สุดคือปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ ทีนี้รองลงมาภิกษุโกรธเคืองหาเรื่องโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องอาบัติหนักมากในขั้นสังฆาทิเสส ภิกษุอีกรูปหนึ่งพูดเท็จในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไป ก็มีความผิด ต้องอาบัติแต่ในขั้นปาจิตตีย์ ถึงจะไม่พูดปด แต่พูดไม่ดี ไปด่าภิกษุอื่น ต้องปาจิตตีย์ บางทีไม่ใช่ถึงขั้นทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นชัดออกมาแต่ไปในบ้านญาติโยม ตัวเป็นภิกษุพูดเอะอะเสียงดังก็เป็นความผิด แม้จะเบาสักหน่อย นี่คือเป็นการฝึกให้เจริญงอกงามในการศึกษาฯลฯ


ในที่นี้ไม่ต้องพูดยืดยาว บวชแล้ว เรื่องนี้จะได้เรียนรายละเอียดกันโดยตรง เอาเป็นว่าศีลหมวดที่ ๑ นี้ เป็นการเคารพวินัย ฝึกในการรักษาหลักเกณฑ์กฎกติกาในการมีชีวิตเป็นพระที่อยู่ร่วมกันในชุมชนสังฆะ เรียกว่า ปาติโมกขสังวรศีล แปลว่า ศีลคือการสำรวมในปาติโมกข์

ศีลหมวดที่ ๒ เป็นการฝึกให้รู้จักใช้เครื่องมือหรือช่องทางติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้ได้ผลดี เกิดประโยชน์เป็นการศึกษาทำให้ชีวิตพัฒนาดียิ่งขึ้น

ในการติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนี้ เรามีประตูทาง ช่องทาง หรือทวาร สำหรับติดต่อ ๒ ชุด คือ
ชุดที่ ๑ ผัสสทวาร คือ ช่องทางรับรู้ มี ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ชุดที่ ๒ กรรมทวาร คือ ช่องทางทำกรรมทำการ มี ๓ ได้แก่ กาย วาจา ใจ

ชุดที่หนึ่ง คือ ตา หู เป็นต้น ซึ่งนิยมเรียกสั้นๆ ว่า "อินทรีย์" ใช้ติดต่อสัมพันธ์โดย ดู ฟัง ดม ลิ้ม แตะต้อง รับทราบ ให้ได้เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึก รู้ทราบ

ส่วนชุดที่สอง คือ กาย วาจา ใจ ใช้สัมพันธ์ด้วยการกระทำ โดยทางกาย ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใช้มือใช้เท้าทำการต่างๆ ทางวาจา ก็พูด แล้วทางใจ ก็ตรึกนึกคิดจำนงจงใจ

พูดง่ายๆ ว่าสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคมนั้นเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งในสายรับเข้าและในสายแสดงออก เป็นแดนของรูปธรรมซึ่งอยู่ล้อมรอบทั่วไป เป็นพื้นฐานรองรับชีวิตและรองรับอีก ๒ แดนของการศึกษาซึ่งเราจะต้องรู้จักสัมพันธ์เกี่ยวข้องรู้จักจัดรู้จักใช้

หลักการศึกษาพัฒนาในแดนนี้ก็คือ ใช้ชีวิตของเราที่ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ไม่ก่อการเบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งมนุษย์ทั้งธรรมชาติและบรรดาวัตถุโดยไม่เบียดเบียนตนเองด้วย แต่พยายามให้เกื้อกูลต่อกัน ให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อมทั้งเพื่อนมนุษย์และสิ่งทั้งหลายทุกอย่าง และเกื้อกูลต่อชีวิตของตนเองให้ได้ให้เป็นประโยชน์โดยไม่เสื่อมเสียหาย ให้พัฒนาขึ้นไปในสภาพที่ดีที่เกื้อกูลอย่างยั่งยืน

การเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยใช้กรรมทวาร ซึ่งเป็นภาคแสดงออกและทำการต่างๆ ด้วยการกระทำ พูด คิด นั้น เป็นเรื่องใหญ่มาก และพอนึกเห็นได้ง่ายว่าเป็นเรื่องใหญ่อย่างไรมีการฝึกมากตั้งแต่ในศีลหมวดแรก จะเรียนกันต่อไปเรื่อยๆ ในที่นี้ไม่เจาะจงพูดถึง

ด้านที่ท่านเน้นย้ำอย่างยิ่งในตอนต้น คือการติดต่อสัมพันธ์ด้วยผัสสทวาร หรือด้วยอินทรีย์ คือ ใช้ตาดู หูฟัง เป็นต้น และท่านมุ่งพิเศษที่ อินทรีย์ ๕ อย่างแรก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะอันนี้เป็นจุดเริ่มหรือที่ตั้งต้นของการเรียนรู้ ต้องฝึกต้องศึกษาตรงนี้กันให้ดี เรียกว่า ถ้าเริ่มต้นดีที่นี่แล้ว ก็มีหวังมากว่าการฝึกการศึกษาจะก้าวหน้าไปอย่างดี

เพื่อไม่ให้ยืดยาวนัก ขอบอกสั้นๆ ว่า เมื่อมีการรับรู้ด้วยอินทรีย์ ตาดู-เห็น หูฟัง-ได้ยิน เป็นต้นนั้น จะเกิดมีอาการ ๒ อย่างคือ
ก) ความรู้สึก ว่า ชอบใจ ไม่ชอบใจ (ภาษาเก่าว่า ยินดี ยินร้าย) เป็นต้น
ข) ความรู้ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นไปเป็นมาอย่างไร เป็นต้น

พูดรวบรัดว่าถ้าอยู่แค่ความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจ ก็ไม่ได้เรียนรู้ ม่ได้ศึกษา แถมอาจเตลิดไปกับความรู้สึกนั้น เช่น ขัดใจ วุ่นวายใจ ทุกข์เพราะสิ่งที่ไม่ชอบ หรือติดเพลินลุ่มหลงไปกับสิ่งที่ชอบ แล้วอาจจะเกิดปัญหาเรื่องราวขยายไปกันใหญ่  
 ข่าวสด : ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5376


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2558 15:53:54 »

.
http://www.sookjaipic.com/images_upload/61722064680523_11.JPG
ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๘)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
แต่ถ้าไปทางความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร เพราะอะไร ฯลฯ ก็จะได้เรียนรู้ เป็นการศึกษานำไปสู่การสืบค้นเป็นต้น ให้รู้ไปถึงเหตุปัจจัยเป็นต้น ความรู้ก็จะตามกันมา ขยายกว้างขวางออกไปก็ก้าวหน้าไปในการศึกษา

ตรงนี้แหละเป็นจุดเริ่มสำคัญ ท่านจึงให้ฝึกการเรียนรู้ ให้การรับรู้เป็นการศึกษา คือ รับรู้ ดู ฟัง โดยมีสติกำกับ ให้มุ่งไปที่ความรู้เป็นหลักไม่ให้เตลิดไปกับความรู้สึกที่ชอบใจ ม่ชอบใจ หรือชอบ-ชัง เป็นต้น และให้ความรู้มาคุมมาปรับความรู้สึกได้

ถ้ารับรู้แล้วความรู้สึกเด่นขึ้นมาก็มีสติทันไม่ถูกความรู้สึกนั้นลากจูงไปให้กลายเป็นทาสของมัน แต่ผกผันหันเอาความรู้สึกนั้นเป็นสื่อนำไปสู่ความรู้ เช่นเอามันเป็นจุดกำหนด หรือเป็นจุดสังเกตเพื่อตั้งคำถามที่จะหาความรู้ เราก็จะได้ศึกษาไม่เสียท่ามัน

เป็นอันว่าจะดูจะฟังอะไรอย่างไรก็ให้ได้ความรู้ ไม่ให้เกิดโทษ ดูฟังแล้วไม่ใช่ได้แค่เพียงลุ่มหลง ไม่ใช่ติดพันอยู่กับชอบใจไม่ชอบใจ แต่ดูฟังแล้วให้ได้ความรู้ ได้ประโยชน์เอามาใช้แก้ปัญหา เอามาใช้พัฒนาชีวิตของตน เอามาใช้สร้างสรรค์ทำการต่างๆ ได้

ถ้าดูฟังลิ้มดมเป็นต้นแล้วได้ความรู้ได้ประโยชน์ก็เรียกว่ามีศีล ถ้าดูฟังลิ้มดมเป็นต้นแล้วติดอยู่กับความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจได้แต่ลุ่มหลงมัวเมา เกิดโทษ ก็ไม่มีศีล

การมีสติทัน คุมได้ รู้จักใช้ตาดูหูฟังเป็นต้น สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องได้ผลดี นี้เป็นศีลหมวดที่หนึ่งทีเดียว และเป็นศีลในการศึกษาเริ่มแรกด้วย เรียกว่า อินทรียสังวรศีล แปลว่า ศีลคือการสำรวมอินทรีย์ อาจจะแปลให้ง่ายขึ้นว่า ศีลข้อรู้จักใช้อินทรีย์

ขอทำความเข้าใจเพิ่มอีกหน่อย ที่พูดข้างต้นว่าไม่ควรปล่อยตัวไปตามความรู้สึกแต่ให้ไปทางความรู้นั้น ไม่ใช่หมายความว่า ความรู้สึกไม่ดีไปทั้งหมดหรือว่าท่านไม่ให้มีความรู้สึกเสียเลยมิใช่อย่างนั้น ความรู้สึกที่ดีนี้สำคัญ เป็นกุศล เป็นคุณธรรมใหญ่ทีเดียว

ความรู้สึกที่ว่าเป็นปัญหานั้น คือความรู้สึกที่เป็นไปแค่ตามแต่ผัสสะกระตุ้น เช่น พอเห็น พอได้ยิน ถ้าถูกใจ ก็ชอบใจ ไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบใจ แล้วก็ปรุงแต่งเตลิดเพริดไปกับความยินดียินร้าย ชอบหรือชังนั้น ไหลเพลินไปในโมหะ อย่างนี้เป็นอกุศล เกิดปัญหา

ทีนี้ในเวลาที่รับผัสสะนั้นถ้ามีสติ มีปัญญาครองใจอยู่ ใจก็จะไม่เตลิดไปตามความรู้สึกแค่ชอบชัง เช่น เมื่อพบเห็นคน หรือได้ยินเสียงคนพูด ใจมองเขาอย่างเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ มีสุขมีทุกข์ มีพื้นเพเป็นมาต่างๆ กัน ก็จะมีความเข้าใจ เห็นใจ รัก หรือสงสารตามแต่สถานการณ์ เกิดเมตตากรุณา มีไมตรีที่เป็นคุณธรรมพื้นฐานต่อเพื่อนมนุษย์

นั่นเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและธรรมชาติก็ทำนองเดียวกัน เมื่อไปในถิ่นสถานที่มีสิ่งทั้งหลายอยู่เป็นระเบียบเรียบร้อย สงบ สะอาด ปลอดภัย แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่สบายแก่ชีวิต ปัญญาที่ละเอียดละเมียดละไมเหมือนแฝงอยู่ก็จะทราบซึ้งในสภาพที่เกื้อกูลต่อชีวิต จิตใจก็จะซาบซึ้งมีความสุขชื่นจิตอิ่มใจร่าเริงสดใสปลอดโปร่งโล่งเบา สืบเนื่องจากการได้สัมผัสสภาพที่ดีงามเกื้อกูลนั้น

ความรู้สึกสงบ เอิบอิ่ม ชื่นบาน โปร่งโล่ง สดใสอย่างนี้เป็นกุศล เป็นภาวะจิตใจที่ดีอันพึงให้มีอยู่เสมอเป็นประจำ แล้วสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและธรรมชาตินี่แหละเป็นที่รองรับชีวิตของเราซึ่งเราต้องอยู่ด้วย ต้องพึ่งพาอาศัยตลอดเวลา จึงเป็นแหล่งหลักแหล่งสำคัญที่จะนำให้เรามีสภาพจิตอันดีซึ่งมีความรู้สึกที่เป็นกุศล ดังที่ว่านั้นหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นประเพณีทางธรรมตลอดมาให้พระสงฆ์เอาใจใส่ที่จะมีที่อยู่และอยู่ในถิ่นที่ เช่น อาราม ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและธรรมชาติ อันจะเกื้อหนุนให้เกิดความรู้สึก สงบ เอิบอิ่ม ชื่นบาน โปร่งโล่ง สดใส เป็นกุศลดังว่านี้ ที่ท่านใช้คำเรียกสั้นๆ ว่าเป็น "รมณีย์"

ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ มีเหตุการณ์ที่ตรัสไว้เป็นข้อสำคัญซึ่งจารึกไว้ในหลายพระสูตรในพระไตรปิฎก คือการที่ทรงตัดสินพระทัยเลือกอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร ดังที่ทรงแสดงเหตุผลในการทรงเลือกไว้ว่า

"ภาคพื้นภูมิสถานถิ่นนี้ เป็นรมณีย์ (ที่รื่นรมย์) จริงหนอ (รมณีโย วต) มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส เย็นชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ ทั้งโคจรคาม ก็มีอยู่โดยรอบ เป็นสถานที่เหมาะจริงหนอที่จะบำเพ็ญเพียร สำหรับกุลบุตรผู้ต้องการทำความเพียร"
  ข่าวสด : ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๑๙)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแลได้นั่งลงแล้ว ณ ที่นั้น โดยตกลงใจว่า "ที่นี่ละเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร"

พุทธพจน์นี้ควรระลึกไว้เป็นจุดกำหนดพิเศษทีเดียว แม้เมื่อพระสงฆ์จะต้อนรับพระผู้แสวงธรรม จะต้อนรับพระอาคันตุกะ หรือต้อนรับท่านที่มาขอเข้าอยู่ภาวนา ก็แสดงความพร้อมด้วยการบอกว่า ที่นั้นเป็นรมณีย์ ดังที่พระสารีบุตรกล่าวกะพระอานนท์ตามเรื่องว่า

ท่านพระสารีบุตร ได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

"ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้า มาดีแล้ว ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันนี้ เป็นรมณีย์ (ที่รื่นรมย์) ราตรีแจ่มกระจ่าง ต้นสาละผลิดอกบานสะพรั่งเต็มต้นหมดทั้งป่า ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว ดุจดังกลิ่นทิพย์ก็ปานฉะนั้น..."

เมื่อญาติโยมจะนิมนต์พระให้อยู่จำพรรษาที่วัดซึ่งตนอุปถัมภ์บำรุงก็กล่าวให้ทราบว่าวัดนั้นเป็นรมณีย์ ดังตัวอย่างที่จิตตคฤหบดีนิมนต์พระอิสิทัตต์ ดังนี้

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอิสิทัตต์จงชื่นชมอัมพฏกวัน อันเป็นรมณีย์ (ที่รื่นรมย์) ใกล้ป่าราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

การดูแลรักษาวัดให้สะอาดเรียบร้อยเป็นหน้าที่สำคัญของพระสงฆ์ ดังเห็นได้ชัดในพุทธบัญญัติทั้งหลายทั่วไป ที่จัดไว้เป็นกิจจำเพาะก็มาก อย่างพวกวัตรต่างๆ เช่น เสนาสนวัตร และที่ปรากฏเด่นเห็นได้ง่ายในเมืองไทยเรานี้ เหมือนเป็นสัญลักษณ์ ก็คือการกวาดลานวัดที่ได้จัดวางไว้ให้พระสงฆ์ปฏิบัติเป็นกิจวัตรสืบต่อกันมาแต่โบราณ

ที่ว่ากวาดลานวัดเป็นสัญลักษณ์ของงานดูแลรักษาวัดให้เป็นรมณีย์นั้น คือมิใช่แค่กวาดลานวัดให้สะอาด แต่การกวาดนั้นเป็นตัวอย่างที่จะเตือนใจพระสงฆ์ให้เอาใจใส่ทำกิจทั้งหลายในการดูแลรักษาจัดวัด จัดเสนาสนะ สิ่งของ บริเวณวัดให้สะอาดเรียบร้อยมีธรรมชาติร่มรื่นชื่นใจ ให้วัดเป็นสถานรมณีย์ที่รื่นรมย์ ที่จะโน้มนำจิตใจของพระเณรและประชาชนให้สงบ สดใสชื่นบาน น้อมไปในกุศล ควรเป็นที่แสวงธรรมบำเพ็ญเพียร

พอญาติโยมชาวบ้านเข้ามาถึงวัด ก็ได้สัมผัสบรรยากาศที่สงบร่มรื่น น่าชื่นชมเป็นรมณีย์ มีต้นไม้ดอกบ้าง ไม้ผลบ้าง ไม้ใบบ้าง แผ่กิ่งก้านออกไปชวนให้แหงนมองผ่อนพักสบายสายตา และให้ร่มเงา มีแสงแดดส่องสว่างสดใส ถ้าร้อนไปก็ได้อาศัยเข้ายืนผ่อนนั่งพักให้หายหรือคลายร้อนลงไป ยิ่งได้สายลมโชยพัดรำพายมาก็ยิ่งสดชื่นฟื้นกำลังวังชา

มองทางไหนก็เห็นแต่ความสะอาด ไม่เพียงบนพื้นถนนบริเวณวัดที่ได้กวาดไว้ แต่อะไรๆ รอบตัวสะอาดไปทั่ว ทั้งอากาศที่สูดโล่งสบาย ท้องฟ้าที่แจ่มใสไร้หมอกควัน ในแม่น้ำ สระ คลอง ลำธาร ก็มีน้ำสะอาดเย็นใส ได้เดินดูได้เคลื่อนไหวเปลี่ยนย้ายอิริยาบถไปท่ามกลางความปลอดโปร่งโล่งเบาทั้งกายและใจ

ความสดชื่น เบิกบาน สบาย ผ่อนคลาย สงบเบา ที่มาพร้อมกับความเจริญอินทรีย์ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นภาวะจิตที่เรียกว่าเป็นกุศลธรรม อันเป็นพื้นฐานที่จะนำหรือทำจิตให้พร้อมเพื่อการเจริญภาวนาทั้งสมาธิและต่อไปสู่ปัญญา

ยิ่งได้เห็นได้พบปะพระสงฆ์ในวัดห่มผ้าครองจีวรสะอาดเรียบร้อย มีอาการสำรวมอินทรีย์ทั้งตา หู การเคลื่อนไหว ย่าง เยื้อง ยืน นั่ง เดิน จะเอ่ยวาจาแสดงออกถึงการที่ได้ฝึกอบรมมาดี มีวินัย เจริญในศีล จิตใจสงบ มีความรู้ที่ได้เล่าเรียนพอจะเผื่อแผ่ธรรมแก่ทายกทายิกา น่าเลื่อมใส ทั้งคนวัด คนถิ่น ผู้ช่วยงานวัด และบรรดาผู้มาวัด ก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลร่วมมือกันด้วยดี โดยสามัคคี มีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ่งทำให้เจริญศรัทธา

รวมทั้งหมดนี้เป็นสภาพรมณีย์ ที่ทำให้ทั้งชาวถิ่นชนใน ทุกๆ คน และญาติโยมประชาชนที่เดินทางมาพากันเจริญกุศลงอกงามในธรรมยิ่งขึ้นไป

สภาพรมณีย์ที่พึงปองของอินทรีย์สังวร อันสัมพันธ์เสริมกันกับการเจริญอินทรีย์ดังว่านี้ ขอให้เน้นย้ำความสำคัญกันไว้ เมื่อวัดเป็นรมณีย์แล้วแม้แต่พระจะออกเดินไปบิณฑบาตทุกเช้าในแต่ละวัน ก็สำรวมอินทรีย์ได้ง่าย และตัวพระเองก็ทำวัดให้ยิ่งเป็นรมณีย์
  ข่าวสด : ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘

ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๒๐)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การสำรวมฝึกอินทรีย์ รู้จักใช้อินทรีย์ เจริญอินทรีย์นี้เป็นข้อปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกของการศึกษาในพระธรรมวินัย คือ พอตั้งตัวไว้มั่นดีในพระปาติโมกข์ที่ท่านจัดให้ว่ามีศีลแล้ว ก้าวหน้าสู่จิตตภาวนาหรือสมาธิ โดยมีอินทรีย์สังวรนี้เป็นห่วงเชื่อมข้อแรก ท่านจึงจัดอินทรียสังวรศีล เป็นศีลหมวดที่ ๒ ต่อจาก ปาติโมกขสังวรศีล

อย่างที่ว่าแล้ว เมื่อวัดเป็นรมณีย์ ก็เกื้อหนุนการสำรวมและเจริญอินทรีย์ ช่วยน้อมนำจิตใจของทุกคนทั้งพระเณรและคนวัด ทั้งญาติโยมประชาชนที่มาวัดให้รู้สึกสดชื่น ผ่องใส เบิกบาน โล่งเบา ผ่อนคลาย สงบสบาย ง่ายที่จะเกิดปราโมทย์ จนถึงปัสสัทธิและความสุข เป็นจิตกุศลนุ่มนวลเข้าในทางที่จะเป็นสมาธิ เจริญจิตตภาวนาได้ง่าย จึงควรเอาใจใส่ทำวัดให้เป็นรมณีย์ ดังที่ได้ว่าข้างต้น

ขอให้นึกถึงชื่อของวัดเองด้วย เราใช้ชื่อไทยจนบางทีลืมนึกถึงชื่อเดิมจากคำบาลี แม้ในภาษาบาลี วัดก็มีคำเรียกหลายอย่าง แต่เอาคำแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ "อาราม"

ให้ดูว่าเมื่อจะเกิดวัดขึ้นนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระมีวัดอยู่ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า "อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ" (ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม, วินย.๔/๖๓/๗๑) และวัดแรกก็คือ วัดเวฬุวัน ได้แก่ป่าไผ่ หรือสวนไผ่ อันเป็นพระราชอุทยาน ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวาย

ทีนี้ วัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดและเป็นที่ตรัสพระสูตร ทรงแสดงธรรมเทศนามากที่สุดด้วย ก็คือวัดพระเชตวัน วัดนี้จึงมีชื่อปรากฏในพระไตรปิฎกมากที่สุด หรือบ่อยที่สุด คือพบเห็นได้ทั่วไปหมด

คำเรียกชื่อวัดพระเชตวัน ในพระสูตรทั้งหลายในพระไตรปิฎก เหมือนกันหมด ว่า "เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม" (ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี, ถ้าเป็นประธานของประโยค ก็ว่า "เชตวนํ อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราโม") คำอื่นอย่าง เชตวันวิหาร หรือเชตวันมหาวิหาร เป็นต้น ไม่มี (เป็นคำที่ใช้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา)

"วัน" คือ วนะ ได้แก่ ป่า หรือสวน และ "อาราม" ก็คือ สวน

แล้วก็ให้ทราบด้วยว่า คำว่า วัด คือ "อาราม" กับ "รมณีย์" นั้นมาจากรากศัพท์เดียวกัน คือ "รม" ซึ่งแปลว่า ชื่นชม, รื่นรมย์, ยินดี

นี่ก็เท่ากับบอกว่า ถ้าจะให้วัดมีความหมายตรงตามชื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็ต้องทำวัดให้เป็นอาราม (แปลตามรากศัพท์ว่า ที่ซึ่งทั้งพระและประชาชนพากันมาชื่นชมยินดี) โดยทำอารามให้สมเป็นรมณีย์ (ที่น่าชื่นชมยินดี หรือที่รื่นรมย์) ให้ อินทรีย์ ได้มาเจอ รมณีย์ แล้วก็ให้อินทรีย์ได้อยู่กับรมณีย์เสมอตลอดไป

เป็นอันว่า ทั้งถ้อยคำ ทั้งเรื่องที่เป็นมาเดิม และหลักการทางธรรม สอดคล้องลงกันหมด

คำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องการรับรู้ ดู ฟัง ลิ้ม ดม สัมผัส ด้วยอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้โดยให้รู้จักใช้ มีสติคุมได้ ให้สังวร ให้ฝึกอินทรีย์ ให้เจริญพัฒนาอินทรีย์ เรื่องอินทรียสังวร อินทรียภาวนา มีกระจายอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎกมากมายอย่างยิ่ง

ในเมืองไทยก็มีร่องรอยพอให้เห็นว่า ธรรมข้ออินทรียสังวรนี้เคยมีการใส่ใจปฏิบัติกันจริงจังจนกลมกลืนเข้าในวิถีชีวิตชนิดเคยชินเป็นไปเอง แต่กลับเป็นเรื่องที่เหมือนว่าในเมืองไทยปัจจุบันละเลยกันอย่างยิ่ง โดยคงจะค่อยๆ เลือนรางจางหายไปโดยไม่รู้ตัว

ถึงเวลาที่ควรตื่นตระหนัก หันไปเอาใจใส่ นำมาใช้ และศึกษาปฏิบัติกันให้เห็นผลจริงจัง ฟื้นวิถีชีวิตด้านดีที่เลือนรางจางหายไปนั้น ให้นำประโยชน์ที่พึงได้กลับคืนมา

อันนี้เป็นหลักทั่วไปของการศึกษา การพัฒนาคน พัฒนาสังคม ไม่ใช่สำหรับพระเท่านั้น แต่พระพึงเป็นผู้ทำให้เห็นตัวอย่าง จึงควรตั้งใจกันว่าจะต้องทำวัดให้เป็นรมณีย์สมที่จะเป็นอาราม สงบงาม สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ร่มรื่น น่าชื่นชม ควรแก่ความเป็นที่แสวงธรรมบำเพ็ญเพียรให้ได้ และนี่เป็นหลักการเบื้องต้นทีเดียวที่จะชี้ว่าการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ดี และจะก้าวต่อไปได้อย่างน่าไว้วางใจหรือไม่

พร้อมกันนั้น พระสงฆ์และผู้นำชุมชนพึงยกหลักสำคัญที่ละเลยหลงลืมกันไปนี้ขึ้นมาชี้แนะชาวบ้านให้ดูแลรักษาทำบ้านเรือนชุมชนถิ่นของตนให้เป็นรมณีย์ โดยให้รู้ตระหนักว่า นี่เป็นการพัฒนาพื้นฐาน ที่จะรองรับการพัฒนาอย่างอื่นให้มีได้เป็นได้จริง 
  ข่าวสด : ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๒๑)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ต้องย้ำกันให้หนักแน่นว่า ถ้าจะให้การพัฒนาทุกอย่างยั่งยืนก็ต้องพัฒนาสภาพรมณีย์ไว้ให้อยู่เป็นฐาน พึงถือการทำสิ่งแวดล้อมให้เป็นรมณีย์นี้ เป็นหลักปฏิบัติสำคัญเคียงกับศีล ๕ ที่เป็นดังปาติโมกข์ของชาวบ้าน

สำหรับพระสงฆ์ เรื่องอารามยังไม่หมดแค่นี้ คือ พระสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีชีวิตอยู่กับอารามทั้งหมดเลยทีเดียวก็ว่าได้ไม่เฉพาะอยู่ในอารามคือวัดที่เป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกทางกายฝ่ายวัตถุเท่านั้น แต่ให้ชีวิตด้านในคือการศึกษาปฏิบัติทั้งหมด ก็มีอารามด้วย เป็นอารามทางนามธรรม

บอกย่อๆ ว่า เมื่ออยู่ในวัดอันเป็นอารามที่รื่นรมย์น่าชื่นชมยินดีด้านนอกแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระมีที่อยู่ประจำด้านในอีก ๒ อาราม คือ ปหานาราม และ ภาวนาราม

ไขความนิดหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าตรัส อาราม ๒ คือ ภาวนาราม และปหานารามไว้ในหลักที่พระอริยปฏิบัติสืบสายกันมา เรียกว่าอริยวงศ์ ใจความว่าพระสงฆ์พึงสันโดษฃ ไม่มัวหมกมุ่นวุ่นวายฃ อยู่กับเรื่องจีวร อาหาร และที่อยู่อาศัย แต่เอาเรี่ยวแรงเวลาไปอยู่ ไปไว้ ที่ปหานาราม (ปหาน-อาราม) คือมีการกำจัดลดเลิกละอกุศล เป็นที่มาชื่นชมยินดี และที่ภาวนาราม (ภาวนา-อาราม) คือมีการเพิ่มพูนพัฒนาเจริญกุศล เป็นที่มาชื่นชมยินดี มี ๒ อารามเท่านี้ ชีวิตพระสงฆ์ก็สมบูรณ์ รวมการศึกษาปฏิบัติอยู่ในนี้หมด

อาราม ๒ นี้ จะขยายกว้างออกไปเป็นชุดอาราม ๖ ก็ได้ มีตรัสไว้ แต่พูดมาก็มากมายแล้ว พอเท่านี้ก่อน

เอาเป็นว่า ท่านทั้งหลายเมื่อได้บวชแล้ว เข้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมของวัด ก็มาร่วมในการทำอารามให้เป็นรมณีย์ การปฏิบัติในการบวชเรียนก็จะเริ่มก้าวไปและปรากฏขึ้นมาทันที

ต่อไป ศีลหมวดที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องอาชีพ เป็นธรรมดาว่าทุกคนที่อยู่ในโลกต้องเลี้ยงชีวิต ต้องมีทางที่จะมีชีวิตเป็นอยู่ ให้อยู่รอด ให้อยู่ดี โดยต้องหาเลี้ยงชีพ หรือเรียกง่ายๆ ว่าต้องหากิน การหาเลี้ยงชีพจึงเป็นเรื่องหลักเรื่องใหญ่ในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ เมื่อไม่จัดการให้ดี ก็เป็นที่มาสำคัญของความทุกข์ความเดือดร้อนและการแย่งชิงเบียดเบียนกันแล้วก็มัวยุ่งนัวเนีย พาให้ก้าวต่อขึ้นไปในความดีงามและการพัฒนาที่สูงขึ้นไปไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องมีหลักปฏิบัติในเรื่องการหาเลี้ยงชีพนั้น ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานคือขั้นศีล โดยให้คนหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ไม่เบียดเบียนกัน เรียกว่ามีสัมมาอาชีวะ หรือเรียกให้สั้นว่าสัมมาชีพ แปลง่ายๆ ว่า เลี้ยงชีพชอบหรือหาเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ถูกต้อง

สำหรับพระสงฆ์ก็มีหลักปฏิบัติในเรื่องนี้ ที่มีลักษณะเฉพาะของตน จัดเป็นศีลหมวดหนึ่ง ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล แปลว่า ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ

สัมมาชีพของญาติโยมคฤหัสถ์ไม่ใช่หัวข้ออันจะพูดในที่นี้ แต่เมื่อเอ่ยพาดพิงแล้วก็เห็นว่าควรบอกไว้คร่าวๆ พอเห็นแนว

ในขั้นสามัญหรือขั้นพื้นฐาน สัมมาชีพ ได้แก่ อาชีพที่สุจริต ไม่ก่อการเบียดเบียน อย่างน้อยไม่ผิดกฎหมาย (กฎหมายคุมได้ แค่ภายนอก คุมจิตใจไม่ได้ เช่น อาจคิดหลบคิดเลี่ยง หาแง่ให้ตัวได้ แค่กฎหมายจึงไม่แน่ไม่พอ จะเป็นศีลแท้จริง ต้องคุมถึงในใจ คือให้มีเจตนาสุจริต ไม่คิดทำอะไรที่ผิด คิดมุ่งไปแต่ว่าจะทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์)

หลักธรรมประกอบเพื่อให้การหาเลี้ยงชีพได้ผลสมความหมาย ความมุ่งหมาย คือ ชุดที่ ๑ ขยันหมั่นเพียรทำงานโดยไม่ประมาทและฉลาดคิดการด้วยปัญญา, รู้จักเก็บรักษา, คบหากัลยาณมิตร, เลี้ยงชีวิตแต่พอดีไม่ฟุ่มเฟือยไม่ฝืดเคือง; ข้อเน้นคือ ต้องให้รายได้เหนือรายจ่าย

ชุดที่ ๒ จัดสรรทรัพย์ (วางแผนการเงิน หรือจัดทำงบประมาณ) ๔ ส่วน ว่าคร่าวๆ คือ ใช้จ่าย (เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวพ่อแม่และคนที่ควรดูแลบำรุง ทำบุญบำเพ็ญประโยชน์) ๑ ส่วน เป็นทุนประกอบการงาน ๒ ส่วน เก็บไว้เป็นประกันคราวจำเป็น ๑ ส่วน

มีชุดย่อยชุดพิเศษเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์อีก ๒-๓ ชุด ต้องข้ามไปก่อน

ในขั้นต่อขึ้นสู่จิตตปัญญาภาวนา ให้ได้ฝึกศึกษาพัฒนาจิตใจและปัญญาไปด้วย โดย
- ศึกษาให้มั่นแน่ถึงความหมายและความมุ่งหมายของงานอาชีพของตน จะเป็นครูอาจารย์ แพทย์ ตำรวจ หรืออะไรๆ ก็รู้เข้าใจ ว่าอาชีพนั้นมีขึ้นไว้เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาสร้างสรรค์พัฒนาอย่างใดแก่ชีวิตและสังคม (คุณค่าแท้) และพยายามทำให้ได้ผลอย่างนั้น (มิใช่มุ่งเอาแต่ผลได้แก่ตน ซึ่งที่จริงเป็นคุณค่าพ่วงพลอย)
  ข่าวสด : ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๒๒)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
พลังงานและกาลเวลาครึ่งค่อนหรือเกือบทั้งชีวิตของคนส่วนใหญ่อยู่กับอาชีวะคือการหาเลี้ยงชีพ เช่นทำงานวันละ ๘ ชั่วโมง (ยังไม่นับกิจที่เนื่องกับงานนั้นเช่นการเดินทาง) ดังนั้น ถ้าจะเอาดีจากชีวิตนี้ให้ได้มากที่สุดก็ใช้อาชีวะเป็นโอกาสและเป็นเวทีที่ฝึกศึกษาพัฒนาตน ซึ่งถ้าเข้าใจและตั้งใจจะได้เต็มที่ เช่น ฝึกความสัมพันธ์ทางสังคมในการพูดจาสื่อสาร ฝึกกิริยามารยาท การช่วยเหลือร่วมมือ ฝึกจิตใจในการพากเพียรทำงาน ขยัน อดทน ความมีน้ำใจ มีเมตตา ฝึกสติ-สมาธิ ฝึกความผ่อนคลาย ร่าเริง สดชื่น พัฒนาปัญญาตั้งแต่รู้เข้าใจงานของตน เท่าทันสถานการณ์ ทักษะในการแก้ปัญหา การคิดริเริ่ม ปรับปรุง พัฒนา ฯลฯ

- ในข้อหลังข้างบน ด้านการพัฒนาจิตใจ ขอแยกออกมาย้ำเป็นพิเศษ คือ การพัฒนาความสุข จะต้องฝึกศึกษาให้มีความสุขพร้อมอยู่ในการทำงาน เพราะถ้าในเวลาทำงานไม่มีความสุขก็คือมีทุกข์ไปครึ่งค่อนชีวิตแล้ว ข้อนี้พึงฝึกให้ได้แล้วการฝึกอื่นๆ ก็จะง่ายขึ้นด้วย

เรื่องอาชีพของคฤหัสถ์ญาติโยม ว่าจะพูดน้อยๆ แต่ชักจะยาว ควรหยุดแค่นี้ก่อน

หันมาทางพระเณร การดำเนินชีวิตถูกต้องของพระสงฆ์ คือการทำหน้าที่ของพระเป็นสัมมาอาชีวะอยู่เองในตัว เป็นการรักษาธรรมไว้ให้แก่โลก เมื่อพระดำรงตนในธรรมในวินัย สั่งสอนให้ชาวโลกมีธรรม รักษาธรรมไว้ให้แก่โลก ประชาชนรู้ว่าธรรมเป็นสิ่งจำเป็นถ้าไม่มีธรรม ชีวิตก็อยู่ไม่ดี สังคมก็อยู่ไม่ได้ ก็จะต้องเกื้อหนุนแก่ผู้ที่รักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ต้องรักษาพระไว้ให้อยู่คู่สังคม

เมื่อประชาชนรู้เข้าใจเห็นคุณของพระสงฆ์ก็มีศรัทธา แล้วก็อุปถัมภ์บำรุง โดยถวายปัจจัยสี่ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัช ที่เห็นชัดประจำวันคือบิณฑบาตได้แก่อาหาร ของที่ถวายนั้นเป็นอันว่าถวายด้วยศรัทธา

ที่ว่าถวายด้วยศรัทธานั้น คือเขาถวายหรือจัดมาเลี้ยงเอง เช่น พระเดินไปเพื่อบิณฑบาต ก็เดินไปอย่างสำรวมอินทรีย์ โดยมีอาการสงบ ญาติโยมรู้เข้าใจความต้องการเมื่อมีศรัทธาหรือเห็นแก่พระศาสนา ปรารถนาจะช่วยดำรงธรรมก็นำของบิณฑบาตมาถวาย พระไม่มีสิทธิ์ไปออกปากขอเขา

มีพุทธบัญญัติไว้ ถ้าภิกษุไม่อาพาธ ไม่เจ็บไข้ ไปบอกชาวบ้าน ขออาหารเพื่อตนฉัน ถ้าเขาไม่ใช่ญาติ หรือไม่ได้ปวารณาคือบอกเปิดโอกาสไว้ ต้องอาบัติ มีความผิด ขอจีวร ก็ทำนองเดียวกัน เว้นแต่หาย ถูกไฟไหม้ ถูกโจรลักไป เป็นต้น

รวมความว่า เมื่อญาติโยมเลื่อมใสศรัทธาโดยรู้เข้าใจเห็นคุณค่าประโยชน์จึงบำรุงด้วยปัจจัยสี่ เช่น ถวายภัตตาหาร ในขอบเขตที่พระจะฉันจะใช้ได้ ก็พูดรวมๆ ว่า พระมีอาชีวะที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นศีลอีกหมวดหนึ่งของพระภิกษุ 
  ข่าวสด : ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๘


ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม (๒๓)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
นี่พูดกันคร่าวๆ ที่จริง มีพุทธบัญญัติมากมายเกี่ยวกับอาชีวะของพระสงฆ์ที่จะให้ท่านสันโดษ ทำตัวให้ประชาชนเลี้ยงง่าย ไม่แสวงหาลาภในทางไม่สมควร ซึ่งอย่างแรง ถือเป็นมิจฉาชีพ ให้พระสงฆ์เป็นอยู่ง่าย มุ่งบำเพ็ญกิจหน้าที่ของตนในการเจริญไตรสิกขาและเผยแผ่ธรรมให้คนศึกษาพัฒนาในกุศลเพื่อประโยชน์สุขของตัวประชาชนเอง


มีพุทธพจน์ตรัสสอนพระไว้ให้ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางหมู่ชนในโลกนี้เหมือนอย่างแมลงผึ้ง แมลงผึ้งนั้น ขยัน บินไปตามหมู่ไม้ ไปเก็บน้ำหวานและเกสรดอกไม้

ท่านสอนคติว่า ผึ้งนั้นไปเก็บเอาน้ำหวานโดยไม่ทำดอกไม้ให้ชอกช้ำ แม้แต่สีและกลิ่นก็ไม่เสียหาย ข้อนี้ฉันใด พระภิกษุก็พึงเที่ยวไปในหมู่ชาวโลกฉันนั้น คือเป็นอยู่จาริกไปในโลก โดยไม่ทำให้ประชาชนชอกช้ำ ไม่ว่าด้านวัตถุ ทรัพย์สินเงินทอง หรือด้านจิตใจเริ่มแต่ศรัทธา แต่ไปบำรุงชีวิตจิตใจของเขา ให้เจริญธรรมพัฒนากุศลมีความสุขยิ่งขึ้นไป

นี้คือเหมือนกับแมลงผึ้งที่ไปเอาน้ำหวาน แต่กลายเป็นการไปช่วยให้ดอกไม้เจริญงอกงามแพร่พันธุ์ดียิ่งขึ้นไปอีก ตามพุทธพจน์ในพระคาถานั้น มุนีคือพระสงฆ์ที่ดีนี้ก็อยู่ในโลกเหมือนอย่างนั้น ท่านทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย มีชีวิตที่ขึ้นต่อวัตถุน้อย เอาวัตถุมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษาสั่งสอนธรรม ก็เลยนำประชาชนให้ยิ่งเจริญพัฒนา

เป็นอันว่า พระสงฆ์ที่ดี มีอาชีวะบริสุทธิ์ โดยเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย บริโภคปัจจัยสี่ที่เขาถวายด้วยศรัทธา ไม่แสวงหาลาภในทางที่ไม่ควร ดำรงตนในการทำหน้าที่เจริญไตรสิกขาและสั่งสอนธรรมทั้งให้ตนเองงอกงามในธรรมวินัยและให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ในศีลข้อนี้จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ปัจจัยสี่อันเป็นลาภที่จะเสพบริโภคนั้น พระได้มาอย่างไร ดังนั้น การแสวงหาปัจจัยสี่หรือการแสวงหาลาภจึงเป็นตัวตัดสินว่า อาชีวะของพระนั้นบริสุทธิ์หรือไม่ ท่านจึงให้หลักว่า อาชีวปาริสุทธิศีลนี้เป็นศีลซึ่งดูความบริสุทธิ์ด้วยการแสวงหา (ภาษาพระเรียกว่า ปริเยฏฐสุทธิ)

ยิ่งกว่านั้น แม้จะได้ปัจจัยสี่มาด้วยดีโดยถูกต้องแล้ว สุจริตและบริสุทธิ์ไปขั้นหนึ่งแล้ว ก็ยังไม่จบ เมื่อได้ปัจจัยสี่มาแล้ว พอจะเสพบริโภค พระสงฆ์จะต้องฉันต้องใช้ปัจจัยสี่เหล่านั้นด้วยปัญญาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการเสพบริโภคปัจจัยสี่อย่างนั้นๆ อีกด้วย จึงยังมีศีลอีกหมวดหนึ่งต่อไป

ทีนี้ ก็ผ่านต่อมาถึงศีลหมวดที่ ๔แต่ได้พูดเรื่องของศีลหมวดก่อนๆ ไปยืดยาวมาก ถึงตอนนี้ต้องรวบรัดพูดพอได้เค้า แม้จะเป็นเรื่องสำคัญมากในการศึกษา

ศีลหมวดที่ ๔ เป็นการฝึกให้รู้จักสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในด้านการกินอยู่เสพบริโภคใช้สอยสิ่งของเครื่องใช้ พูดอย่างภาษาพระว่า การเสพปัจจัย ๔ ตั้งแต่การกินอาหาร ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ให้กินเป็น บริโภคเป็น กินพอดี บริโภคพอดี ที่จะได้ผลดีตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของการเสพบริโภคสิ่งนั้นๆ

บางทีพวกเราสมัยนี้หลายคนก็มองว่าคนไทยสมัยก่อนโดยเฉพาะในชนบทหรือบ้านนอกห่างไกลการศึกษา คงไม่ค่อยรู้อะไร ทำอะไรไม่ถูก นี่ก็อาจจะจริงอยู่บ้าง แต่มองอีกทีในหลายอย่าง คนโบราณเหล่านั้นก็ทำอะไรได้ถูกต้องดีกว่าคนสมัยนี้ไม่น้อย

คนสมัยก่อนนั้น ถึงจะห่างไกลแหล่งความรู้ แต่พิธีกรรมและกิจกรรมมากมายที่สืบกันมาเป็นประเพณี แม้หลายอย่างจะเหลือแค่รูปแบบแต่นั่นก็เป็นวิธีการที่จะโดยรู้ตัวก็ตามไม่รู้ตัวก็ตาม ได้ช่วยให้ชาวบ้านสมัยก่อนนั้นปฏิบัติตามหลักพระศาสนากันมาได้โดยหลายแห่งก็ได้อย่างดี

ที่ว่านั้น อย่างน้อยก็เหลือเค้ารูปไว้ให้คนรุ่นหลังนี้ บางคนที่คิดเอาจริง มีโอกาสยกหรือจับขึ้นมารื้อฟื้นหรือชำระสะสาง ถ้ารูปแบบและประเพณีไม่มีนั่นสิ อาจจะหมดทั้งของจริงและหมดทั้งโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมา

ศีลหมวดต่างๆ นี้ เป็นรูปร่างของพระสงฆ์ที่ปรากฏแก่ชาวบ้านหรือทำให้สังคมรู้จักว่านี่เป็นพระสงฆ์ เรื่องนี้คนสมัยก่อนไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็มีรูปแบบและประเพณีที่เขาบอกสืบกันมาไม่ว่าคนที่รู้เข้าใจสาระดี หรือคนที่ไม่รู้เข้าใจก็ตาม ต่างก็เอาจริงเอาจังถือเป็นสำคัญหรือสำคัญยิ่ง

ศีลหมวดที่ ๔ ที่กำลังจะพูดก็เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ สมัยก่อนโน้น ในแต่ละปีบ้านไหนมีบุตรที่อายุครบบวช พอหมดหน้านา เดือนสี่เดือนห้า บิดามารดาก็พาบุตรคนนั้นถือดอกไม้ธูปเทียนไปวัด นำไปกราบหลวงพ่อขอฝากลูกให้อยู่วัดเพื่อเตรียมตัวบวช

พอมาอยู่วัด กว่าจะได้บวชรออีกเป็นเดือนๆ ระหว่างนั้นก็พร้อมกับหมู่พวกที่จะบวชในรุ่นที่จะจำพรรษานั้น ทำกิจวัตรต่างๆ ฝึกหัดกิริยามารยาท โดยเฉพาะท่องคำขานนาคและบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ตามพระเณรไปทำวัตรสวดมนต์ ฟังคำสอนของหลวงพ่อ ตอนกลางคืนบางทีก็ผลัดกันทีละหลายๆ คน ไปบีบนวดหลวงพ่อ ได้ฟังท่านเล่าเรื่องเก่าๆ และพวกนิทาน รวมทั้งแนะนำสั่งสอนไปตามสมควร

ในบรรดาบทสวดมนต์นั้น ที่เน้นมากอย่างหนึ่ง คือ บท "ปฏิสังขา-โย" หรือบทพิจารณาปัจจัยสี่ คือ คำพิจารณาที่จะใช้สอยเสพบริโภคปัจจัยสี่นั้นๆ แต่ละอย่าง โดยให้รู้เข้าใจและกินใช้ให้ถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริง จึงมี ๔ บท สำหรับปัจจัยสี่แต่ละอย่าง และเพราะคำพิจารณาทั้งสี่บทนั้น ขึ้นต้นว่า "ปฏิสังขา โยนิโส...." ก็เลยเรียกกันง่ายๆ ตามสะดวกปากว่า "ปฏิสังขา-โย"

หลวงพ่อ รวมทั้งพระเก่า ก็บอกเน้นแก่คนเตรียมบวชและแก่พระใหม่ว่า ก่อนจะฉันจะใช้ปัจจัยสี่ต้องพิจารณาก่อนตามบทพิจารณาที่ให้ท่องไว้นั้น แต่บางที หรือไม่น้อยหรือแม้แต่ส่วนมาก ก็สวดหรือว่าบทบาลีที่ท่องไว้นั้น ว่าไปตามถ้อยคำโดยไม่ได้คิดพิจารณาหรือนึกถึงความหมายอะไร ก็เลยเป็นแค่รูปแบบ (แต่ก็คือยังมีเครื่องช่วยเตือนสติรออยู่ในตัว ที่บางทีอาจจะนึกขึ้นมาได้ หรือที่คนอื่นจะปลุกให้ได้ ดีกว่าไม่มีอะไรเลย)
  ข่าวสด : ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘


pct.40-40
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความจริงแห่งชีวิต โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตฺโต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2302 กระทู้ล่าสุด 02 พฤษภาคม 2554 09:17:49
โดย 時々๛कभी कभी๛
กาลานุกรมโดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตฺโต
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2126 กระทู้ล่าสุด 17 กรกฎาคม 2554 11:38:54
โดย 時々๛कभी कभी๛
ความรักในทางพุทธศาสนา โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
▄︻┻┳═一 2 3139 กระทู้ล่าสุด 29 ตุลาคม 2563 18:52:33
โดย ฉงน ฉงาย
ทำไมเทวดาอยากเกิดเป็นมนุษย์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ธรรมะจากพระอาจารย์
หมีงงในพงหญ้า 0 2296 กระทู้ล่าสุด 12 มิถุนายน 2555 14:11:33
โดย หมีงงในพงหญ้า
พุทธพจน์เกี่ยวกับไตรลักษณ์ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Kimleng 2 4128 กระทู้ล่าสุด 04 พฤษภาคม 2558 12:26:39
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.021 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 01 มกราคม 2567 08:10:23