[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 12:17:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พลิกแฟ้ม จดหมายเหตุ  (อ่าน 2050 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 มิถุนายน 2560 14:47:09 »






หลักเมืองกรุงเทพมหานคร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริจะสร้างพระนครแห่งใหม่ที่บางกอก ซึ่งคือ กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันนั้น  จำเป็นต้องยกเสาหลักเมือง นัยเดียวกับการจะสร้างบ้านหลังใหม่ต้องยกเสาเอก จะสร้างอาคารที่ทำการต้องทำพิธีวางศิลาฤกษ์  จึงมีรับสั่งให้โหรฯ ไปเสาะหาชัยภูมิอันเหมาะสมที่จะสร้างเสาหลักเมือง เมื่อได้แล้วจึงโปรดฯ ให้ขุดหลุมลึก แล้วให้คำนวณหาพระฤกษ์ว่าจะเสด็จฯ มายกเสาหลักเมือง (ซึ่งหมายถึงเป็นฤกษ์สร้างกรุงเทพฯ)

และพระฤกษ์ฝังเสาหลักเมืองที่โหรฯ ได้ผูกถวาย คือวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ เวลา ๖.๕๔ นาฬิกา  แล้วเสด็จฯ มาที่หลุมหลักเมืองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖  เสาหลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์เป็นไม้ชัยพฤกษ์ ฝังลงไปในดิน ลึก ๗๙ นิ้ว โผล่ขึ้นมาจากผิวดิน ๑๐๘ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๙.๕ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๙.๕ นิ้ว ปลายเสาเป็นหัวเม็ด ทรงมัณฑ์ บรรจุดวงชะตากรุงรัตนโกสินทร์ แล้วทรงตั้งชื่อเมืองว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์* มหินทรา อยุธยามหาดิลก ภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร

*รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนเป็น “อมรรัตนโกสินทร์"





คำปรารภประกาศสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ประกาศปรารภสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย
พุทธศักราช ๒๔๘๒

--------------------------

ด้วยรัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรึกษาลงมติให้สร้างอนุสสาวรีย์ "ประชาธิปไตย"
ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ตำบลที่ถนนราชดำเนินผ่านถนนดินสอ เพื่อเป็นที่ระลึกอันยั่งยืน
ถึงการที่ชาติไทย ได้มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ยังผลให้เจริญรุ่งเรือง
เป็นศรีสวัสดิวัฒนาการ ลุสุรทินที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ ตรงกับจันทรคตินิยม
วันเสาร์ขึ้น ๘ ค่ำ บูรพาษาฒมาส ปีเถาะ จุลศักราช ๑๓๐๑ ระวางศุภมงคลฤกษ์
เวลา ๙ นาฬิกา ๑๖ นาที ถึง ๙ นาฬิกา ๕๗ นาที นายกรัฐมนตรีได้วางศิลาฤกษ์
สร้างอนุสสาวรีย์ "ประชาธิปไตย" ณ ที่นี้ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป
มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย
สังข์แตร และเครื่องดุริยางค์  ทหารทำความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงชาติ
ได้จารึกคำปรารภนี้ บรรจุไว้ในศิลาฤกษ์ แต่ณวันที่ ๒๔ มิถุนาน พุทธศักราช ๒๔๘๒
ขอให้อนุสาวรีย์ "ประชาธิปไตย" เป็นสิริมังคลานุสรณ์ จิรฐิติถาวรสืบไป


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : s-media-cache-ak0.pinimg.com  

คุณูปการแห่งนกกระจอก

แผ่นดินจีนยุคท่านประธานเหมาเจ๋อตุง ประกาศนโยบาย ทุบกำแพงเพื่อกรรมกร ฆ่านกกระจอกเพื่อชาวนา มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เรียกไปคุยว่า “พระอาทิตย์ใกล้ตกดินสวยเป็นที่สุด แต่ไม่นานมันก็ต้องลาลับขอบฟ้า”

บอกนัย โลกใหม่แห่งสายพานการผลิตได้เข้ามาแทนที่ โลกสวยรวยอารยธรรมศักดินาแล้ว
 
และแล้วนักวิชาการที่คัดค้าน ก็ถูกกำจัดทิ้ง กำแพงเมืองปักกิ่ง ที่ตั้งตระหง่านมาแต่โบราณ ก็ถูกทุบทำลาย เอาก้อนอิฐมาสร้างถนนวงแหวน สร้างโรงงาน และบ้านพักกรรมกร

ปล่องไฟโรงงานผุดขึ้นทั้งแผ่นดิน

เอาใจกรรมกร ก็ต้องเอาใจชาวนา ในเมื่อชาวนาทั้งผองคือพี่น้องกัน ปี ค.ศ.๑๙๕๘ ประธานเหมาเริ่มนโยบาย ไร่นาจะต้องปราศจากศัตรูพืช นกกระจอกจะต้องหมดไป

วิธีกำจัดนกกระจอก เริ่มด้วยการทำให้มันเหนื่อยตาย ชาวจีนทั้งประเทศนัดเวลาออกมาตีเกราะ เคาะไม้ โบกธง

ส่งเสียงดัง เขย่าต้นไม้ ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้นกกระจอกอยู่บนกิ่งไม้หรือบนพื้นดินได้มันจึงต้องบินวนอยู่บนฟ้าหลายชั่วโมง จนพวกมันหมดแรงบิน ตกลงมาตาย

รัฐบาลตั้งใจนับได้ถึง ๑๙๖ ล้านตัว นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้นกกระจอกดูกระจอกสมชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

เมื่อปริมาณนกกระจอกลดลง ศัตรูพืชพันธุ์อื่น อย่างตั๊กแตน ก็ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่นักวิชาการคัดค้าน จีนยังยากจนมาก จึงประสบปัญหาหนัก

ผลผลิตลดลงมหาศาล เป็นส่วนสำคัญของทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ผู้คนอดตายหลายสิบล้านคนกว่าจะรู้ว่า นโยบายไล่นกกระจอกผิดพลาดอย่างมหันต์ ทำลายสิ่งแวดล้อมใหญ่หลวง

ก็สายเกินไปแล้วมาถึงวันนี้ วันนี้มีคนเริ่มโหยหาอดีต...เมืองจีนที่เคยมีกำแพงใหญ่ มีพระราชวังสวยงาม บ้านใคร...ที่เคยใช้ก้อนอิฐกำแพงเมือง...ถูกเรียกร้องให้รื้อเอามา...คืน

จะเอามาเป็นบทเรียน หรือเอามาเป็นอนุสรณ์ดูต่างหน้า ก็ไม่รู้ได้

ก้อนอิฐบางก้อน อาจจะสอน...เหมือนในหนังสือเรียนชั้นประถมรุ่นผม...วิชาธรรมชาติวิทยา มีภาพมนุษย์ถ้ำ ผู้ชายลากกระบองดุ้นใหญ่ บทเรียนนั้นเริ่มต้นว่า แต่ก่อนคนเรายังโง่


ข้อมูล : คอลัมน์ชักธงรบ โดยกิเลน ประลองเชิง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
 




พิธีศพของเจ้าเมืองเมืองมั่วะ ในเวียดนาม

พิธีศพของคำบุนอวาย เจ้าเมืองมั่วะ ในเวียดนาม (ภาพถ่ายจากภาพที่ครอบครัวคำบุนอวายสะสมไว้)

คำบุนอวาย เป็นเจ้าเมืองเมืองมั่วะ และเป็นผู้บัญชาการทหารของเมืองไตในยุคฝรั่งเศสปกครอง ครั้งนั้นชาวไตเรียกคำบุนอวายว่า "ปัว" แปลว่ากษัตริย์ งานศพของเขาจึงใหญ่โตเป็นพิเศษ

งานศพของคนไต โดยวิธีการดั้งเดิมจะฝังศพไว้ในป่าช้า แล้วสร้างเรือนเล็กขนาดพอๆ กับคนตายคร่อมที่ฝังศพ แล้ววางข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวให้คนตายนำไปใช้ในเมืองฟ้า ข้างๆ เรือนจะมีเสา เรียกว่า "กอจาวฟ้า" สิ่งที่ใช้ติดเสาที่สำคัญๆ คือเสื้อผ้า ข้างบนปลายเสาติดร่ม ยอดสุดติดหุ่นรูปนก เรียกว่า "ม้าปีก" สำหรับขี่ขึ้นเมืองฟ้า

สำหรับชนชั้นสูงระดับเจ้าเมือง งานศพจะใหญ่โต เสาที่เห็นในภาพจึงเป็นเพียงส่วนเดียวขององค์ประกอบของงานศพ ในภาพจะไม่เห็นเรือน แต่จากภาพที่มีเรือนผีของคำบุนอวายจะมีขนาดใหญ่เกือบเท่าเรือนคนพักจริงๆ ศพคำบุนอวายถูกตั้งไว้บนเรือน

เมื่อประกอบพิธีต่างๆ เช่น การอ่านเอกสาร "เล่าความเมือง" และเอกสาร "สารส่ง" ซึ่งอาจจะใช้เวลานานเกินกว่า ๑ วัน จึงเคลื่อนศพไปเผา แล้วมีพิธีเก็บกระดูกนำไปฝังที่ "ปอมมิ่งเมือง" ซึ่งเป็นสุสานเก็บกระดูกบนเขาในเมือง

ส่วนคนสามัญ เสาจะทำด้วยไม้ไผ่ (ไม่ได้สูงใหญ่เหมือนในภาพ) ศพ เรือน และข้าวของทั้งหมดจะถูกทิ้งไว้อย่างนั้นจนพังไปเอง แล้วอาจมีการขุดศพมาเผาอีกครั้ง

(ภาพและคำอธิบายโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร)


ที่มา : "งานศพ (๑๐) ส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้า ตามเส้นทางโยกย้ายของบรรพชนไทยดำ" โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๘๓ ฉบับที่ ๑๙๒๓ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐




จอมขมังเวทย์ รัสปูติน

ราชวงศ์โรมานอฟ มีอิทธิพลสูงสุดในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงออกแนวหน้าบัญชากองทัพรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ ๒ และที่สุดก็เป็นผู้หนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญให้ราชวงศ์ล่มสลายจากการปฏิวัติประชาชน

กริกอรี รัสปูติน เกิดในหมู่บ้านชาวนาในไซบีเรียเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๖๙ ประวัติเล่าว่า เขาไม่สนใจการศึกษา ตามสภาพแวดล้อมที่ผู้คนในหมู่บ้านส่วนมากเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ เขาเป็นชาวนา ดื่มเหล้าหนัก เสเพลเรื่องผู้หญิง

มีข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม บทความโดย พล อิฏฐารมณ์ เขียนไว้ว่า วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๐๑๖ ถือเป็น วันครบรอบ ๑๐๐ ปี การจากไปของ กริกอรี รัสปูติน ผู้วิเศษ แห่งราชสำนักโรมานอฟ เนื่องจากเขาเสียชีวิตจากการลอบสังหาร ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๑๙๑๖

คำว่า “รัสปูติน” ในภาษารัสเซีย แปลว่า จอมตัณหา ชื่อจริงๆ คือ กริกอรี เยฟิโมวิช โนวิก (Grigory Yefimovich Novykh)

เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี เขาเข้าหานิกายคลีสตี (Khlysty) ซึ่งเชื่อในการทรมานตัวเองและแสดงศรัทธาต่อพระเจ้าด้วยพิธีกรรมที่โน้มนำจิตเข้าสู่ภวังค์ แต่รัสปูตินไปไกลกว่านั้น เขาเสนอว่า คนจะเข้าใกล้พระเจ้าได้มากที่สุดเมื่อคนๆ นั้นรู้สึกได้ถึง “การปราศจากกิเลสตัณหาอันศักดิ์สิทธิ์” และคนที่จะเข้าถึงภาวะ ดังกล่าวได้ก็จะต้องผ่านการร่วมเพศแบบมาราธอนจนหมดความกระหายทางเพศไปเอง

รัสปูตินเข้าสู่ราชสำนักของรัสเซียได้ ส่วนหนึ่งเพราะราชสำนักสมัยนั้นนิยมชมชอบเรื่องไสยศาสตร์

ชื่อเสียงของรัสปูติน ที่ว่ากันว่า หากใครเพียงได้รับสัมผัสลูบไล้จากเขาก็จะทำให้หายจากการป่วยไข้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อมกุฎราชกุมารอเล็กซี รัชทายาทของซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารินาอเล็กซานดรา ซึ่งป่วยด้วยอาการเลือดไหลไม่หยุด อาการกำเริบขึ้นมา ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มียาที่ได้ผลดี รัสปูตินจึงถูกซารินาอเล็กซานดราเรียกไปเข้าเฝ้า และได้มีโอกาสสร้างความประทับใจต่อพระพักตร์ ด้วยการทำให้รัชทายาทพ้นจากความเจ็บปวดได้สำเร็จ (ว่ากันว่าน่าจะใช้การสะกดจิต)

เขากลายเป็นที่โปรดปราน เป็นผู้มีอิทธิพลสูงต่อราชสำนักและรัฐ แม้จะมีผู้ถวายฎีการ้องเรียนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องขี้เมาและมักมากในกาม ชอบฉวยโอกาสสมสู่กับหญิง ที่มาพัวพันไม่เลือกหน้า แต่ด้วยความรักต่อพระชายา และพระโอรส ซาร์นิโคลัสทรงเลือกที่จะเพิกเฉย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซาร์นิโคลัสเสด็จไปร่วมทัพในแนวหน้าในปี ๑๙๑๕ ซารินาอเล็กซานดราเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่พระนางมอบหมายให้รัสปูติน ในฐานะที่ปรึกษา เป็นผู้ดูแลกิจการของรัฐแทน

รัสปูตินซึ่งเป็นที่เกลียดชังของทั้งสมาชิกราชวงศ์และชนชั้นสูงหลายรายอยู่ก่อนแล้ว และเคยถูกลอบสังหารมาแล้วหลายครั้ง การที่ได้โอกาสเข้ามาก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองโดยตรง จึงยิ่งทำให้ความเกลียดชังต่อตัวเขาหนักหนายิ่งขึ้น

เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yussoupov) พระสวามี ในพระนัดดาของพระเจ้าซาร์ ทรงเป็นผู้นำการวางแผนลอบสังหารรัสปูตินด้วยพระองค์เอง เพื่อยุติความฉาวโฉ่ของราชสำนัก

พระองค์เชิญรัสปูตินมาเฝ้าในคืนวันที่ ๓๐ ธันวาคม ทรงต้อนรับด้วยเค้กและไวน์ใส่ยาพิษ รัสปูตินเพลิดเพลินกับอาหารและไวน์ โดยที่พิษไม่ได้ทำให้เขาเจ็บป่วยประการใด เจ้าชายเฟลิกซ์ จึงคว้าปืนยิงเข้าใส่ รัสปูตินกรีดร้องและดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด แต่ยังไม่ยอมทิ้งชีวิต เขาพยายามเข้าทำร้ายเจ้าชายเฟลิกซ์ ก่อนที่หลายคนซึ่งซุ่มอยู่ที่ชั้นบนจะวิ่งลงมา หนึ่งในผู้วางแผน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นวลาดิเมียร์ พูริชเควิช (Vladimir Purishkevich) ผู้นำฝ่ายขวาของรัฐสภารัสเซีย กระหน่ำยิงเข้าใส่รัสปูตินหลายนัด และนัดหนึ่งเข้าที่ศีรษะพอดี

ดร.สตานิลัส ลาโซเวิร์ต (Dr.Stanislaus Lazovert) หมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแผนการได้เข้าไปดูร่างของรัสปูตินที่ล้มกองอยู่ และประกาศว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

จากนั้นพวกเขาได้ห่อร่างของรัสปูติน พาไปยังแม่น้ำเนวาที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง เอาร่างที่ห่อไว้ของรัสปูตินยัดลงไปในโพรงน้ำแข็ง

เมื่อภายหลังมีการค้นพบห่อร่างของเขา ปรากฏว่าเขาน่าจะยังมีชีวิต ขณะที่ถูกโยนลงน้ำและพยายามดิ้นรนให้พ้นจากใต้ผืนน้ำแข็ง แต่ไม่สำเร็จ จึงจมน้ำตาย




คดีมโนสาเร่

จากบทความของราชบัณฑิตยสถานระบุว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ แปลศัพท์ “มโนสาเร่” ว่า เรื่องเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม เช่น เรื่องมโนสาเร่, เรียกคดีอันมีทุนทรัพย์หรือค่าเช่าจำนวนเล็กน้อย ซึ่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎหมาย ว่า คดีมโนสาเร่

คำ มโนสาเร่ นี้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับเก่าเขียนเป็น “มะโนสาเร่ห” หรือเขียนเป็น “มโนสาเร่ห” ก็มี คำนี้เป็นคำไทยที่บัญญัติขึ้น หมายถึงประเภทของคดีที่ไม่ค่อยมีความสำคัญ รวมๆ น่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า miscellaneous cases

ทั้งนี้ คำว่ามโนสาเร่ ปรากฏเป็นคำในกฎหมายเด่นชัดตั้งแต่ครั้งปฏิรูปการปกครอง การศาล และกฎหมาย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เมื่อไทยรับระบบกฎหมายของฝ่ายตะวันตกมาใช้ ก็ได้จัดระบบศาลและการคดีเหมือนดังของตะวันตก

เฉพาะคดีเล็กๆ หรือคดีมโนสาเร่นั้น ตั้งศาลพิเศษประกอบด้วยผู้พิพากษานายเดียวเป็นองค์คณะตัดสินชี้ขาดไว้ชำระเหมือนดังของตะวันตก ศาลเหล่านี้ในกรุงเทพฯ เรียกว่า ศาลโปริสภา ส่วนในหัวเมืองเรียกว่า ศาลแขวง จากนั้นศาลโปริสภาในกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนเป็นศาลแขวง ดังปรากฏอยู่กระทั่งทุกวันนี้

ต่อมาจำนวนศาลแขวงไม่เพียงพอ ทางการจึงได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดด้วย เวลานี้ราษฎรได้รับความสะดวกในการเป็นความเล็กๆ น้อยๆ ทั่วประเทศ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีอาญาเล็กๆ น้อยๆ ที่ขึ้นศาลแขวงไม่มีชื่อเรียกว่าคดีมโนสาเร่ เหมือนดังสมัยเริ่มปฏิรูปการปกครอง ในทางปฏิบัตินักกฎหมายไม่เรียกคดีมโนสาเร่ แต่เรียกคดีศาลแขวง หรือคดีเล็กๆ น้อยๆ ตามสภาพของคดี ส่วนคดีแพ่งนั้นยังคงมีชื่อมโนสาเร่อยู่จนปัจจุบัน

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๘๙ ได้กำหนดความหมายของคดีมโนสาเร่ไว้ว่า หมายถึงคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓ แสนบาท หรือคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่า ผู้อาศัย ผู้ละเมิดบุกรุกเข้ามาในที่ดินอสังหาริมทรัพย์ มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท โดยคดีมโนสาเร่ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษา และอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ส่วนคดีขับไล่แม้จะเป็นคดีมโนสาเร่ก็ต้องอาศัย ผู้พิพากษาครบองค์คณะและอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดเพราะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์

การดำเนินคดีมโนสาเร่แตกต่างจากคดีแพ่งสามัญ กล่าวคือ โจทก์สามารถยื่นฟ้องเป็นหนังสือหรือแถลงด้วยวาจาก็ได้ และเสียค่าขึ้นศาลมากที่สุดเพียง ๑,๐๐๐ บาท เมื่อโจทก์ฟ้องแล้ว ศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาเพื่อให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน โดยจำเลยไม่ต้องยื่นคำให้การภายใน ๑๕ วันอย่างคดีแพ่งสามัญ และหากจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนก็ไม่ขาดนัดยื่นคำให้การในการสืบพยาน ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร และให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยานก่อน เสร็จแล้วจึงให้ตัวความหรือทนายความซักถามเพิ่มเติม โดยคำเบิกความพยานจะบันทึกแต่โดยย่อก็ได้ จากนั้นศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาด้วยวาจาก็ได้ ทั้งนี้ การพิจารณาคดีมโนสาเร่นี้นำไปใช้กับคดีไม่มีข้อยุ่งยากด้วย

ตัวอย่างคดีมโนสาเร่ ดร.ภิรัชญา วีระสุโข นิติกรประจำกองนิติการ บ.วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เผยแพร่ไว้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/231763 ว่ามีอาทิ คดีฟ้องขอให้จำเลยโอนขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย คดีเพิกถอนนิติกรรมเพราะเจตนาลวง คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้เพราะเหตุประพฤติเนรคุณ คดีทายาทฟ้องขอให้ทำลายพินัยกรรมโดยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม คดีโจทก์ฟ้องจำเลยกระทำละเมิดโดยการทำลายและปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวได้และเกิดความเสียหายแก่โจทก์คิดเป็นจำนวนค่าเสียหายได้ คดีฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม เป็นต้น  





พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ หรือ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต (Phuket Mining Museum) เปลี่ยนชื่อมาจาก พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งอยู่บนถนนเหมืองท่อสูง (ถนนสายกะทู้-เกาะแก้ว) หมู่ ๕ ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ๘๓๑๒๐

ความเป็นมาย้อนไปช่วงเวลาหลังประสบภัยสึนามิ (เหตุเกิด ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗) จังหวัดภูเก็ตได้มอบหมายให้เทศบาลตำบลกะทู้ ดำเนินการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในปี ๒๕๔๙ บนพื้นที่ ๔๐๐ ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกก่อนเลิกกิจการไปในปี ๒๕๐๐ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะชิโนโปรตุกีส เอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต ผสมผสานกับลายปูนปั้นกลมกลืนงดงาม เป็นที่มาของชื่อ “อังมอเหลานายหัวเหมือง” แปลว่า “ตึกของนายหัวเหมืองผมแดง”

อาคารขนาดความสูง ๑ ชั้นครึ่ง แต่พื้นที่กว้างขวาง แบ่งนิทรรศการออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก คือภายนอกอาคาร จัดแสดงเครื่องจักรกลในการทำเหมืองแร่ อาทิ รางเหมือง โงหัด หน้าผาเหมือง ขุมเหมือง และเครื่องมือ/อุปกรณ์

ส่วนที่ ๒ ภายในอาคารอังมอเหลา นำเสนอนิทรรศการ “เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง” ให้ความรู้ถึงประวัติความเป็นมาของการทำเหมืองแร่ดีบุก และวิถีชีวิตชาวเหมือง มีห้องแสดงนิทรรศการในอังมอเหลา โดยจัดเป็นห้องต่างๆ เหมือนเดินเข้าไปภายในตึก แต่ละห้องมีชื่อเรียกคล้องจอง ดังนี้

๑.โปท้องหง่อก่ากี่ เปิดตัวด้วยโปท้อง หรือรถสองแถว ยานพาหนะคู่เมืองภูเก็ตมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เสมือนการเดินทางสู่ตึกของนายหัวเหมืองผมแดง

๒.ชินวิถี เป็นส่วนรับแขกของอังมอเหลา มีโต๊ะมุกเป็นที่นั่งรับน้ำชาจากเจ้าของบ้าน มีฉากลับแลลวดลายต้นและดอกโบตั๋น

๓.อัญมณี นายหัวเหมืองจัดแสดงสมบัติของนายหัวเหมืองที่เก็บสะสมไว้ เช่น ดวงตราไปรษณียากรดวงแรกของประเทศไทย แหวนทองหัวแหวนเพชรภูเก็จ (ภูเก็ต เปลี่ยนชื่อมาจาก ภูเก็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒) ประดับดีบุก เงินตราของไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เครื่องมือมนุษย์โบราณ

นอกจากนี้ นายหัวเหมืองยังสะสมซากบรรพชีวิน และสะเก็ดดาว อุกกาบาต ให้ชมกัน รวมถึงวัตถุมงคลต่างๆ โดยสรรพวัตถุอันเป็นทรัพย์สินของนายหัวเหมืองเหล่านี้ได้มาจากการทำเหมือง เช่น ทองคำมาจากเหมืองทอง ดีบุกมาจากเหมืองแร่ดีบุก เป็นต้น

๔.เรืองดารากร นำเสนอเรื่องราวของระบบสุริยจักรวาล กำเนิดโลก กำเนิดแร่ กำเนิดชีวิต กำเนิดคน คนใช้ไฟ คนใช้แร่ และมีลูกโลกจำลองให้เห็นเส้นทางอพยพของชาวจีนจากมณฑลฮกเกี้ยนเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ รอนแรมผ่านทะเลจีนใต้ สิงคโปร์ มะละกา ปีนัง เข้าสู่อ่าวภูเก็ตมาเป็นกุลีในเหมือง

๕.สายแร่แห่งชีวิต จัดแสดงเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ได้แก่ เหมืองแล่น เหมืองครา เหมืองปล่องหรือเหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด

๖.นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ แสดงขั้นตอนการถลุงแร่ ผลิตภัณฑ์การแปรรูปจากดีบุก ห้องนี้ให้ทดลองฝึกปฏิบัติการแปรรูปแร่ด้วย

๗.ฉลาดนาวาชีวิต ฉายภาพเรือสำเภาจีน บรรพชนเสื่อผืนหมอนใบ การย้ายถิ่นฐาน การติดต่อค้าขาย

๘.ลิขิตปรัชญ์สืบสาน สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงโชคสู้ชีวิตที่เกาะภูเก็ต

๙.บันซ้านบางเหนียว ย้อนวิถีชีวิตชาวจีนในยุคเหมืองแร่รุ่งเรือง ประกอบด้วยตลาด ร้านขนมจีน ร้านขายของชำ ร้านโกปี เตี้ยม ร้านแป๊ะอ๊านต๋อง หรือร้านขายยาจีน ร้านจักสาน ศาลเจ้า

๑๐.เก่วเกี้ยวในทู คือภาคบันเทิง ทั้ง อ๊าม งิ้ว หนังตะลุง

๑๑.หลงผิดเสพ ให้เห็นทั้งกระบอกสูบฝิ่น หมอนฝิ่น หุ่นสูบฝิ่น

๑๒.เทพาภรณ์ ว่าด้วยเรื่องการเย็บแพรพรรณ และผ้าปาเต๊ะ

๑๓.คฤหปตานินท์ เส้นทางสร้างฐานะ

๑๔.บาบ๋าสินสมรส หรือการแต่งงานวัฒนธรรมบาบ๋า

๑๕.ฉายาบทนฤมิต ห้องถ่ายภาพ โฟโต้เฮาส์

๑๖.ภาพกิจปฐมเหตุ จัดแสดงเอกสารเกี่ยวกับนามสกุลที่ขอตั้งในมณฑลภูเก็จ จดหมายเหตุภาพ จดหมายเหตุลายลักษณ์ สมุดข่อยอักขระขอม ภาพเหตุการณ์สึนามิจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล และ

๑๗.วรรณวิเศษปัญญภูมิ ห้องสมุดและศูนย์ไอซีที มีข้อมูลเหมืองแร่ แผนที่การทำเหมืองแร่ หนังสือพิมพ์ สารานุกรมวัฒนธรรม และวรรณกรรมภาคใต้ ให้ศึกษาเรียนรู้
  





หอศิลป์

ได้ความรู้จาก ศ.วิโชค มุกดามณี ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ว่า หอศิลป์จัดแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
   ๑.หอศิลป์แห่งชาติ (National Art Gallery) ได้แก่ หอศิลป์ที่อยู่ในการควบคุมดูแล บริหารจัดการโดยรัฐบาล เป็นหอศิลป์หลักที่มีความสำคัญระดับชาติ
   ๒.หอศิลป์ประจำจังหวัด (Provincial Art Gallery) ได้แก่ หอศิลป์ที่อยู่ในการควบคุมดูแล บริหารจัดการโดยหน่วยงานระดับจังหวัด หรือส่วนราชการในระดับท้องถิ่น
   ๓.หอศิลป์ในมหาวิทยาลัย (University Art Gallery) ได้แก่ หอศิลป์ที่อยู่ในการควบคุมดูแล บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา และ
   ๔.หอศิลป์เอกชน (Private Art Gallery) ได้แก่ หอศิลป์ที่อยู่ในการควบคุมดูแลบริหารจัดการโดยบุคคล สมาคม องค์กร หรือบริษัทเอกชน

สำหรับประวัติหอศิลป์ในประเทศไทยที่มีการจัดแสดงผลงานภาพเขียนของช่างศิลป์ไทย เกิดขึ้นจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเลือกสรรเรื่องในพระราชพงศาวดารและโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนที่มีฝีมือเขียนภาพประกอบ โดยทรงออกแบบกรอบกระจกภาพทั้งหมด และมีโคลงบอกเรื่องพระราชพงศาวดารที่ตรงกับภาพติดไว้ทุกกรอบ ภาพขนาดใหญ่ใช้โคลงประกอบ ๖ บท ภาพขนาดกลางและขนาดเล็กใช้โคลงประกอบ ๔ บท โคลงที่แต่งอาจทรงพระราชนิพนธ์ หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สันทัดบทกลอนแต่งถวาย

ภาพเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารมี ๙๒ ภาพ โดยมีโคลงประกอบ ๓๗๖ บท แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดับพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนชม เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพไปประดับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และภาพบางส่วนส่งไปประดับ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี ทั้งเสด็จฯ ทรงเปิดอาคารใหม่ของโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” เปิดสอนเกี่ยวกับงานช่างศิลป์แห่งแรกของไทย และให้การศึกษาด้านศิลปวิทยาการหลายสาขา ทั้งศิลปหัตถกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม และใน พ.ศ.๒๔๖๐ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดภาพเขียน ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน มีการประมูลภาพจากการจัดแสดงได้เงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาทเศษ ส่งไปสมทบซื้อเรือรบหลวงพระร่วง การประกวดภาพเขียน ครั้งที่ ๒ จัดขึ้นในพ.ศ.๒๔๖๓ ณ พระราชวังบางปะอิน และการประกวดภาพเขียน ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นในปีเดียวกัน ณ โรงละครวังพญาไท กรุงเทพฯ

พ.ศ.๒๔๗๗ หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ร่วมกันก่อตั้ง “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” ในปี ๒๔๘๐ ซึ่งในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีเดียวกันและปี ๒๔๘๑ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ มีการนำผลงานศิลปะของนักเรียนไปจัดแสดงที่ร้านของกรมศิลปากร กระทั่งการจัดแสดงผลงานศิลปะย้ายไปที่สนามเสือป่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ครั้งนั้นได้จัดทำห้องโถงแสดงผลงานศิลปะ เป็นห้องที่มีเพดานสูง บรรยากาศโอ่อ่า นับเป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นเฉพาะกิจครั้งแรก ต่อมาโรงเรียนศิลปากรแผนกช่างได้ยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ใน พ.ศ.๒๔๘๖  

ล่วงถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี ๒๔๘๗ มีการแสดงผลงานศิลปะที่หอศิลป์เฉพาะกิจ โดยกลุ่มศิลปินชื่อว่า กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน รวมตัวกันนำผลงานศิลปะในแนวทางอิสระไปจัดแสดงที่ห้องแสดงภาพศาลาเฉลิมกรุง โดยจัดขึ้น ๒ ครั้ง ผลงานที่นำมาจัดแสดงมีทั้งภาพจิตรกรรม ภาพโปสเตอร์ ภาพออกแบบโฆษณา ภาพสีถ่าน ภาพถ่าย เป็นต้น

พ.ศ.๒๔๙๒ ศาสตราจารย์ศิลป์เสนอแนะให้กรมศิลปากรจัดงานศิลปกรรมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศมีความก้าวหน้าและเกิดความเคลื่อนไหวงานด้านศิลปะ รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในงานศิลปะสมัยใหม่ การจัดงานในครั้งนั้น ศิลปินไทยที่มีความสามารถในสาขาศิลปะต่างๆ ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน และจัดแสดงผลงานร่วมกันในเวลาต่อมาเป็นประจำทุกปี นับเป็นการบุกเบิกงานศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ห้องแสดงผลงานศิลปะ หรือ “หอศิลป์” ในยุคแรกๆ นั้นใช้ห้องเรียนหรือโรงไม้เป็นสถานที่ดำเนินงานศิลปกรรมแห่งชาติ ต่อมาก็ปรับเปลี่ยนสถานที่ไปหลายแห่ง เช่น หอศิลป์ตรงข้ามอนุสาวรีย์ทหารอาสา (อาคารเก่าของกระทรวงคมนาคม) หอศิลป์กรมศิลปากร หอสมุดแห่งชาติ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปถนนเจ้าฟ้า หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ปี ๒๕๐๔ มีนักธุรกิจเปิด “บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์” เป็น หอศิลป์ของเอกชนแห่งแรกที่จัดแสดงและจำหน่ายผลงานอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ ปีเดียวกัน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เปิด “ห้องศิลปนิทรรศมารศี” ณ วังสวนผักกาด ตามด้วย ร.ต.อ. สุวิทย์ ตุลยายน เปิด “บางกะปิ แกลเลอรี่” ซอยอโศก จวบจนช่วงปี ๒๕๐๙-๒๕๑๑ กลุ่มศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานศิลปะแบบนามธรรมรวมตัวกันเปิด “หอศิลปะปทุมวัน” และ “แกลเลอรี่ ๒๐” ขึ้น ในย่านศูนย์การค้าราชประสงค์ และ พ.ศ.๒๕๑๖ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ จัดสร้าง “หอศิลปะเมฆพยัพ” ที่ซอยอรรถการประสิทธิ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าช่วงปี ๒๕๐๔-๒๕๑๖ มีหอศิลป์เกิดขึ้นหลายแห่ง มีจุดมุ่งหมายจำหน่ายผลงานมากกว่าดำเนินการตามมาตรฐานสากล

ภายหลังจากศาสตราจารย์ศิลป์ถึงแก่กรรมในปี ๒๕๐๕ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดตั้ง “มูลนิธิหอศิลป พีระศรี” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ ต่อมาได้รวบรวมเงินทุนจากการบริจาคและการจำหน่ายผลงานศิลปกรรม รวมทั้งเงินอุดหนุนของรัฐบาล ใน พ.ศ.๒๕๑๖ รวมทั้งสิ้น ๓ ล้านบาท นำมาจัดสร้าง “หอศิลป พีระศรี” ขึ้นบนที่ดินของ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ ในซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทรใต้ หอศิลป์ แห่งนี้ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ก็ปิดกิจการลง

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามผลักดันให้เกิดหอศิลป์ขึ้นอีกหลายแห่ง บางแห่งประสบความสำเร็จ บางแห่งต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เป็นระยะเวลานาน และหลายแห่งที่เปิดขึ้นมาแต่ก็ต้องปิดไป หากพิจารณาโดยสรุป สามารถแบ่งกลุ่มของหอศิลป์ได้ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ หอศิลป์ของรัฐ เช่น หอศิลป์แห่งชาติ หอศิลป์ประจำจังหวัดและภูมิภาค หอศิลป์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, กลุ่มที่ ๒ หอศิลป์ของสถาบัน บริษัท และองค์กรเอกชน เช่น หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอศิลป์กรุงไทย หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของธนาคารกรุงเทพ หอศิลป์ธนาคารไทยพาณิชย์ หอศิลป์ตาดูของบริษัทยนตรกิจ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล และกลุ่มที่ ๓ หอศิลป์ของเอกชนกลุ่มย่อยหรือของบุคคล เช่น หอศิลป์ริมน่าน สมบัติแกลเลอรี่ นัมเบอร์วันแกลเลอรี่ อาร์ตเทอรี่แกลเลอรี่ เอ็มแกลเลอรี่ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล แกลเลอรี่ปาณิศา



จากคอลัมน์รู้ไปโม้ด หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กันยายน 2560 17:52:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 กันยายน 2560 17:22:47 »




เก๋งจีน

เก๋งจีน ไว้ว่า เก๋ง คืออาคารรูปทรงจีนที่ปะปนอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยมาตั้งแต่โบราณ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานหมายถึง เรือนหรือตึกที่มีรูปหลังคาแบบศาลาจีน ก่อด้วยอิฐหรือปูน ไม่ได้สร้างด้วยไม้ทั้งหมด

อาจสันนิษฐานได้ว่า เก๋งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนซึ่งแปลว่าบ้านหรือเรือน ลักษณะของเก๋งแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์หลักของการสร้างเพื่อประโยชน์ใช้สอย ได้แก่ เก๋งที่มีลักษณะเป็นห้องที่มีรั้วรอบขอบชิด มีทางเปิดปิดสําหรับเข้าออก ใช้เป็นศาสนสถาน เช่น อุโบสถ วิหาร หรือหอสําหรับประดิษฐานปูชนียวัตถุหรือพระพุทธรูป เป็นต้น

อีกลักษณะหนึ่งเป็นเก๋งทรงศาลาปล่อยโล่ง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พัก หรือใช้ประโยชน์ เช่น ศาลารายที่อยู่รอบพระอุโบสถ วิหารหรือพระสถูปเจดีย์ในสถาปัตยกรรมไทย นิยมสร้างเก๋งทั้งในเขตพระราชฐานที่ประทับและในวัด เก๋งในเขตพระราชฐานมีทั้งลักษณะอาคารรโหฐาน หรือศาลา

เช่น พระตําหนักสวนกุหลาบ ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ส่วนเก๋งที่สร้างในบริเวณวัดมักสร้างเพื่อใช้เป็นวิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ หอไตร หอระฆัง หรือศาลาท่าน้ำ เช่น เก๋งรอบพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐารามที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ กุฏิหลังคาทรงเก๋งจํานวน ๙ หลังที่วัดบพิตรพิมุข ศาลาท่านํ้าหลังคาเก๋งจํานวน ๖ หลังที่วัดอรุณราชวราราม ศาลาท่าน้ำเก๋งจีนวัดราชโอรสาราม เก๋งจีนหน้าพระวิหารหลวงของวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น

วิวัฒนาการของเก๋งในสถาปัตยกรรมไทย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเริ่มติดต่อการค้าสําเภากับจีน แต่ทุกวันนี้ไม่สามารถพบร่องรอยของเก๋งที่สร้างในสมัยอยุธยาได้อีก เพราะถูกทําลายไปเมื่อคราวศึกสงครามในสมัยธนบุรี นอกจากที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดให้สร้างไว้ เป็นพระตําหนักเก๋งคู่ สร้างที่ริมประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าพระราช วังเดิม ทรงใช้เป็นพระวิหารที่บรรทม

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชนิยมในศิลปะจีน โปรดให้สร้างเก๋งจีนขึ้นเป็น จํานวนมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างเก๋งนารายณ์เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานช่าง และโปรดให้สร้างประตูทางเข้าออกในเขตพระราชฐานชั้นในเป็นหลังคาทรงเก๋งอีก ๓ ประตู คือ ประตูมังกรเล่นลม ประตูกลมเกลาตรู และประตูชมพู่ไพที

ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมบริเวณด้านทิศตะวันออกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นสถานที่สําหรับพระสงฆ์เรียนพระปริยัติธรรม (ถูกรื้อไปในสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อปฏิสังขรณ์วัดในโอกาสสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี) และโปรดให้สร้างเก๋งจีนหลังใหญ่ ๒ หลังที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หลังแรกสร้างด้านทิศตะวันตก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับการติดต่อค้าขายสําเภาระหว่างจีนกับสยาม หลังที่สองสร้างด้านทิศใต้ ใช้สําหรับให้พระราชโอรสเรียนหนังสือในวัยพระเยาว์ และสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดให้ช่างฝีมือชาวจีนสร้างพระที่นั่งเวหาศน์จํารูญในพระราชวังบางปะอินเป็นพระที่นั่งทรงเก๋ง

แม้ว่าเก๋งจะเป็นอาคารก่อตึกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมของจีน แต่จะพบว่าอาคารทรงเก๋งได้เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมของไทยอย่างกลมกลืน แสดงถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีนที่มีอย่างยาวนานจนเกิดเป็นงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับงานศิลปะประเพณีไทยได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม


จากคอลัมน์ รู้ไมโม้ด หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 กันยายน 2560 17:54:55 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กันยายน 2560 18:09:58 »



ลายคราม

จากบทความเรื่อง เครื่องลายคราม เรียบเรียงโดย ธนสรณ์ โสตถิโสภา นักวิทยาศาสตร์ ๖ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการว่า

เครื่องลายคราม หมายถึงเครื่องภาชนะกระเบื้องหรือเครื่องถ้วยชามเนื้อขาว ชนิดที่เขียนลายเป็นสีคราม มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ซึ่งเรียกว่าเครื่องกังไส สำหรับราชอาณาจักรไทย ย้อนไปในปี พ.ศ.๑๘๓๗ มีช่างจีนเข้ามาผลิตเครื่องลายครามขายจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งยังส่งไปขายยังประเทศใกล้เคียงด้วย

เครื่องลายครามในความรู้สึกของคนไทยถือเป็นของเก่ามีค่าที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย จวบจนปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยม เครื่องลายครามที่นิยมกันในทุกวันนี้พัฒนามาจากเครื่องลายครามฝีมือช่างจีนสมัยราชวงศ์เหม็งที่ผลิตมากในช่วงปี พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๖

ลายที่เขียนมี ๒ แบบ แบบที่ ๑ ลายที่ต่างประเทศส่งตัวอย่างให้ เช่น ลายเทพพนม ลายนรสิงห์ของไทย เป็นต้น และแบบที่ ๒ เป็นลายที่นักปราชญ์ของจีนคิดผูกลายขึ้นเพื่อแสดงถึงความมีสวัสดิมงคล สีที่ใช้เขียนเป็นสีครามชนิดดีจากประเทศอิตาลี สวยงดงามและคงทนถาวร

สีครามหรือสีนํ้าเงินที่ใช้สำหรับเขียนเครื่องลายครามนี้ ได้จากสารโคบอลต์ออกไซด์ (cobalt oxide) นำมาเขียนบนเครื่องปั้นดินเผา โดยผลิตภัณฑ์จะถูกเผาเป็น ๓ ระยะ ระยะแรก การเผาแบบเติมออกซิเจนจนถึงอุณหภูมิ ๙,๕๐๐ องศาเซลเซียส ระยะที่สอง การเผาโดยวิธีลดออกซิเจนจนอุณหภูมิถึง ๑๒,๐๐๐ องศาเซลเซียส และระยะที่สาม การเผาแบบเติมออกซิเจนจนถึงจุดสุกตัวของนํ้ายาเคลือบ

สำหรับการค้นพบเครื่องลายครามในราชอาณาจักรไทย มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ในอดีตนั้นดินแดนนี้เคยมีความสัมพันธ์ทางการค้า การเมือง และนโยบายดำเนินการทางการทูตกับราชสำนักจีน เพราะนอกจากเครื่องลายครามจะเป็นสินค้าที่นิยมกัน เครื่องลายครามยังเป็นเครื่องราชบรรณาการที่สำคัญอย่างหนึ่งด้วย

โดยค้นพบเครื่องลายครามสมัยต่างๆ ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซุ่ง ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์เซ็ง กระจายอยู่ในทุกภาคของราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวนมาก ปะปนกับศิลปะวัตถุอื่นในชั้นดินต่างๆ รวมถึงบนผิวดิน ซึ่งมักเป็นแหล่งที่เคยเป็นเมืองหรือชุมชนมาก่อน เช่น แหล่งโบราณคดีของทวารวดี พบเศษเครื่องลายครามสมัยราชวงศ์ถังและสมัยราชวงศ์ซุ่ง คล้ายกับแหล่งโบราณคดีของลพบุรี

ส่วนแหล่งอื่นๆ เช่น แหล่งโบราณคดีของศรีวิชัย เครื่องลายครามพบอยู่ในลำนํ้าเก่า เช่น คลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือที่แหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากบันทึกจดหมายเหตุ กล่าวถึงความสำคัญของราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีว่า เป็นศูนย์กลางทางการค้าทั้งในสมัยราชวงศ์เหม็งและราชวงศ์เซ็งตอนต้น มีเครื่องลายครามเป็นสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์เซ็งตอนต้น สัมพันธไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชสำนักจีนเป็นไปด้วยดี มีการส่งทูตตอบแทนกันอย่างเป็นทางการรวม ๒๔ ครั้ง จนกระทั่งถึงตอนกลางรัชกาลพระเจ้าเฉียนหลง ราว พ.ศ.๒๓๐๙ จึงหยุดชะงักลง

ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมเครื่องลายครามกันตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บรรดาขุนนางและคหบดีหาซื้อหรือสั่งทำพิเศษจากโรงงานในจีน ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีเครื่องชุดชาลายครามที่สั่งผลิตในจีนเป็นพิเศษเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๐ ลวดลายชุดชานี้ตกแต่งด้วยพระปรมาภิไธยย่อ โดยนำมาประดิษฐ์เป็นลวดลายให้คล้ายตัวหนังสือจีน





ลายรดน้ำ

สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อธิบายว่า ลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ด้านตกแต่งอย่างหนึ่งที่มีรูปแบบและการทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ จัดเป็นงานช่างศิลป์ที่รวมอยู่ใน “ช่างรัก” อันเป็นช่างหมู่หนึ่งในบรรดาช่างหลวง หรือช่างประจำราชสำนัก ซึ่งเรียกกันว่า “ช่างสิบหมู่”

ลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ให้ปรากฏเป็นลายทองด้วยวิธีปิดทองแล้วเอาน้ำรด จัดเป็นงานประณีตศิลป์สำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับ สูงสุดคือเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนาตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ตกแต่งตั้งแต่สิ่งของที่มีขนาดเล็กขึ้นไปจนถึงประดับตกแต่งผนังห้องที่มีขนาดใหญ่ หมายถึง ตกแต่งตั้งแต่เนื้อที่ไม่กี่ตารางนิ้วไปจนถึงเนื้อที่หลายร้อยตารางฟุตให้วิจิตรงดงาม

การเขียนลวดลายหรือรูปภาพประเภทลายรดน้ำนี้ คงจะมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย โดยรับมาจากจีนผู้เป็นชาติแรกที่รู้จักการใช้รัก รวมถึงได้รับการถ่ายทอดกรรมวิธีทำลายรดน้ำ งานประเภทลายรดน้ำคงแพร่หลายและเป็นที่นิยมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา และต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏศิลปะโบราณวัตถุ ได้แก่ ตู้พระธรรม เครื่องใช้สอย หีบต่างๆ ไม้ประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า โตก ตะลุ่ม ฝา บานตู้ ฉากลับแล ฝาผนัง บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น

ลักษณะพิเศษของลายรดน้ำอยู่ที่กรรมวิธีการเขียนผิดแผกแตกต่างจากงานจิตรกรรมทั่วไปที่ใช้สีหลายสี หรือแม้แต่งานจิตรกรรมประเภทเอกรงค์ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเขียนลายรดน้ำใช้น้ำยาหรดาลเขียนบนพื้นซึ่งทาด้วยยางที่ได้จากต้นรัก เมื่อเขียนเสร็จแล้วจึงเช็ดรัก ปิดทอง แล้วเอาน้ำรด น้ำยาหรดาลที่เขียน เมื่อถูกน้ำก็จะหลุดออก ส่วนที่เป็นลวดลายทองก็ติดอยู่ ทำให้ลวดลายหรือรูปภาพที่ปรากฏหลังการรดน้ำเป็นสีทองเพียงสีเดียว บนพื้นสีดำหรือสีแดง ซึ่งพื้นหรือวัสดุนั้นจะต้องทาด้วยยางรัก ๒-๓ ครั้งเสียก่อนจะลงมือเขียนด้วยน้ำยาหรดาล

ยังมีข้อมูลจากสถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ว่า งานศิลปะลายรดน้ำมีเอกลักษณ์ที่เป็นภาพที่ใช้สีแค่ ๒ สี ได้แก่ สีทองของทองคำ และสีดำของยางรัก ทั้งนี้ สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “ลายรดน้ำ คือ งานจิตรกรรมไทยแขนงหนึ่ง ได้รับช่วงถ่ายทอดความรู้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวิธีการที่ช่างเขียนได้คิดทำไว้ช้านานแล้ว ลายรดน้ำประกอบด้วยการลงรัก เขียนลายด้วยน้ำยาหรดาลและปิดทองรดน้ำ”

ส่วนใหญ่จะพบงานลายรดน้ำเขียนบนพื้นไม้ ที่พบมากคือลายรดน้ำประดับภายนอกของตู้พระไตรปิฎก ซึ่งบางครั้งเรียกว่าตู้ลายทอง หีบไม้ลับแล บานประตู บานหน้าต่าง และที่น่าสนใจคือ ภาพลายรดน้ำขนาดใหญ่ ตกแต่งผนังด้านนอกของอาคารไม้ ซึ่งมักเป็นพระตำหนักของกษัตริย์มาก่อน ได้แก่ หอเขียนวังสวนผักกาด และตำหนักไม้ที่วัดไทร เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกให้รู้ได้ว่าในสังคมไทยเริ่มทำลายรดน้ำเมื่อใด ทั้งนี้ งานศิลปะลายรดน้ำส่วนใหญ่ที่พบเป็นงานในสมัยอยุธยาตอนต้น ปลาย และต้นรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑-๔)

ลายรดน้ำเป็นงานประณีตศิลป์ที่งดงาม ดังที่ ศ.ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ตู้ลายรดน้ำ ว่า “บรรดาศิลปะประยุกต์ที่คนไทยในสมัยโบราณสร้างขึ้นไว้ มีอยู่ประเภทหนึ่ง (ส่วนมาก) ทำลวดลายเป็นภาพปิดด้วยบนแผ่นทองคำเปลวบนพื้นรักสีดำ งานศิลปะประเภทนี้มีความสำคัญมากสำหรับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ของชาวบ้าน และเครื่องใช้ในพระศาสนา…งานช่างรักประเภทนี้ เราเรียกว่า “ลายรดน้ำ” (หมายถึงการทำงานสำเร็จในชั้นสุดท้ายด้วยการเอาน้ำรด) ได้เจริญสูงสุดในสมัยอยุธยา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒ จนถึงตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓…”

น. ณ ปากน้ำ ศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยได้กล่าวถึงลายรดน้ำว่า “ลายรดน้ำปิดทองหรือลายไทยของเราเป็นวิสุทธิศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งสำแดงออกด้วยน้ำหนักช่องไฟและเส้นอันงามแสดงอารมณ์ ความรู้ต่างๆ แม้จะมีเพียงแค่สีทองของตัวลายกับสีดำ”


จากคอลัมน์ รู้ไมโม้ด หนังสือพิมพ์ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.799 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 มีนาคม 2567 06:24:00