[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 03:09:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร  (อ่าน 1199 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2561 16:08:14 »



พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (๑)

มีบทความเรื่อง พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไร โดยพระภิกษุรูปหนึ่งในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓

หลังจากข้อเขียนลงพิมพ์ มีเสียงท้วงติงจากผู้รู้มากมายทำให้เจ้าของบทความเข้าใจผิดว่า นักวิชาการไทยใจแคบ ไม่ยอมรับฟังทรรศนะใหม่ๆ

โดยตั้งคำถามท้าทายว่า “จริยธรรมของนักวิชาการไทยหายไปไหน” อะไรทำนองนั้น

ความจริงผู้เขียนบทความนี้เข้าใจผิด ที่คนเขาท้วงติงนั้นมิได้เกี่ยวกับทรรศนะหรือข้อคิดเห็นทางวิชาการ เพราะเท่าที่แสดงออกมาก็มิได้มีแนวคิดอะไรใหม่ นอกเหนือจากที่รู้ๆ กันอยู่

พูดอีกนัยหนึ่ง ข้อมูลที่เขียนบทความอ้างมาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าก็ล้วนเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วไปทราบกันอยู่

แต่เขาท้วงติง “ท่าที” และ “ถ้อยคำ” ที่ผู้เขียนบทความใช้มากกว่า

คือใช้ท่าทีของคนนอกศาสนา ใช้ถ้อยคำแสดงความไม่เคารพต่อพระรัตนตรัย และพระอรหันต์ทั้งหลายผู้สังคายนาพระธรรมวินัย เช่น เรียกพระพุทธเจ้าว่า “สิทธัตถะโครตมะ” อันเป็นถ้อยคำที่เดียรถีร์เรียกพระพุทธเจ้า กล่าวหาว่าพระอรหันต์ผู้สังคายนาพระธรรมวินัยว่า “ฟั่นเฟือน”

ข้าพเจ้าได้ท้วงติงในเรื่องดังกล่าวแล้วในที่อื่น ในที่นี้จะไม่พูดถึงอีก จะชี้แจงเฉพาะประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนเข้าใจคลาดเคลื่อน เพื่อความเข้าใจถูกต้องร่วมกัน

ขอยกมาอภิปรายเป็นประเด็นๆ ดังนี้ครับ

๑.การนิพานของพระสารีบุตร

ผู้เขียนกล่าวว่า พระสูตรแห่งอื่นพูดว่าพระสารีบุตรนิพพานก่อนแล้ว ทำไมจึงมีปรากฏการณ์โผล่มาถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้าอีก หรือว่า “ผู้เรียบเรียงพระสูตรนี้เกิดฟั่นเฟือน”

คำพูดนี้หลวงพี่เล่นแรง ชาวพุทธจึงท้วงติง ขอให้พิจารณาดังนี้ครับ

พระสูตรแห่งอื่นที่ว่านี้ คงหมายถึง จุนทสูตร (สํ.ส.๑๙/๗๓๓-๗๔๐) ที่เล่าถึงพระจุนทะกับพระอานนท์นำบาตรจีวรของพระสารีบุตร หลังจากเล่านิพพานที่บ้านเกิด เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวัน กราบทูลว่าพระสารีบุตรสิ้นสุดไปแล้วทำให้มืดแปดด้าน พระพุทธองค์ตรัสเตือนว่า สารีบุตรตายไป สารีบุตรเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ไปด้วยหรือ จึงต้องเสียอกเสียใจ อะไรทำนองนั้น

พระสูตรนี้ก็มิได้บอกวันเวลาว่า พระสารีบุตรนิพพานเมื่อใด รู้แต่ก่อนว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

ที่น่าสังเกตก็คือระบุสถานที่ที่พระเถระทั้งสองไปเฝ้าพระพุทธเจ้าคือพระเชตวัน เมืองสาวัตถี

พิเคราะห์ตามพระสูตร พระสารีบุตรพบพระพุทธเจ้าในช่วงที่เสด็จออกจากราชคฤห์ใหม่ๆ ผ่านนาลันทา (คงหลังพรรษาที่๔๔) หลังจากนั้นมหาปรินิพพานสูตรไม่พูดถึงพระสารีบุตรอีกเลย แสดงว่าพระสารีบุตรนิพพานหลังจากนั้นไม่นาน

แต่เมื่อใดล่ะ?

ถึงแม้มหาปรินิพพานสูตรไม่พูดถึง แต่ก็มีจุนทสูตรที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนิพพานของพระสารีบุตร

นอกจากนี้ อรรถกถา สุมังคลวิลาสินี้ (ภาค ๒ หน้า ๑๕๑-๑๕๖) ยังได้ให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นว่า หลังจากออกพรรษาที่เวฬุคามแล้ว พระพุทธเจ้าได้เสด็จนิวัติไปเมืองสาวัตถี และราชคฤห์อีกครั้ง

ขอคัดพระบาลีมาดังนี้ ภควา กิร วุฏฐวสฺโส เวฬุวคามกา นิกฺขมิตฺวา สาวตฺถึ คมิสฺสามีติ อาคตมคุเคเนว ปฏินิวตฺตนฺโต อนุปุพฺเพน สาวตฺถึ ปตฺวา เชตวนํ ปาววิสิ = นัยว่า พระผู้มีพระภาคออกพรรษาแล้ว ทรงดำริว่าจะเสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถีจึงเสด็จกลับไปตามทางที่เสด็จมาแล้วนั้นแล ถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ เสด็จเข้าไปยังวัดเชตะวันแล้ว

ณ ที่นั้นเอง พระสารีบุตรได้ไปกราบทูลลานิพพาน ท่านพร้อมพระจุนทะน้องชายไปยังบ้านเกิด เทศนาโปรดโยมมารดาของท่าน และนิพพาน ณ ห้องนอนเดิมของท่าน พระจุนทะได้เผาศพพระพี่ชาย แล้วถือเอาพระธาตุ บาตร และจีวรของท่านกลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังได้กล่าวไว้แล้ว

พระพุทธองค์รับสั่งให้ก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระอัครสาวกแล้ว จากนั้นก็เสด็จจากสาวัตถีไปยังราชคฤห์อีกพร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ณ คราวนี้เองพระมหาโมคคัลลานะได้นิพพาน หลังจากให้ก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะให้ประชาชนสักการบูชาแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จมุ่งตรงไปยังฝั่งคงคาถึงหมู่บ้านอุกกเวละ (หรือ อุกกเจละ) ออกจากอุกกเวละแล้ว จึงเสด็จไปยังเมืองเวสาลีอีกครั้ง

พระบาลีตรงนี้ว่า ภควาปิ ภิกฺขุสงฺฆปริวุโต ราชคหํอคมาสิ ตตฺถ คตกาเล มหาโมคฺคลฺลาโน ปรินิพฺพายิ ภควา ตสฺสาปิ ธาตุโย คเหตฺวา เจติยํ กาเรตฺวาราชคหโต นิกฺขมิตฺวา อนุปุพฺเพน คงฺคาภิมฺโข คนฺตฺวา อุกฺกเวลํ อคมาสิ…อุกฺกเวลโตนิกฺขมิตฺวา เวสาลี อคมาสิ + พระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จต่อไปยังเมืองราชคฤห์ เมื่อเสด็จไปถึง พระมหาโมคคัลลานะก็นิพพาน พระองค์ทรงก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุของท่านแล้ว เสด็จมุ่งตรงไปยังแม่น้ำคงคา ถึงหมู่บ้านอุกกเวละออกจากอุกกเวละแล้วเสด็จไปยังเมืองเวสาลี

(โปรดสังเกตว่า เมื่อประทับ ณ หมู่บ้านอุกกเวละนี้เองทรงทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์ที่ตามเสด็จพากันนิ่งเงียบ จึงทรงปรารภขึ้นว่า พอสิ้นพระอัครสาวกทั้งสองแล้ว บริษัทนี้ดูว่างเปล่าชอบกล)

จากนั้นเสด็จไปยังปาวาลเจดีย์ (ณ ที่นี้ทรงปลงอายุสังขารว่า อีก ๓ เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน) – กูฏาคารป่ามหาวัน – ภัณฑคาม – หัตถีคาม – อัมพคาม ชัมพุคาม – โภคนคร แล้วเข้าเขตเมืองปาวา เสวน สูกรมัททวะของนายจุนทะเสด็จต่อไปยังกุสินารา โดยผ่านแม่น้ำกกุธา เลียบฝั่งน้ำหิรัญวดี

เสด็จถึงสาลวโนทยาน พระอุทยานหลวงของเหล่ามัลลกษัตริย์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่นั้น

แฟ้มภาพ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน จากวัดในนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว (AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

พระสูตรและอรรถกถาบรรยายเส้นทางพุทธดำเนินละเอียดออกอย่างนี้ คนเขียนบทความนี้ยัง “เบลอร์” พูดมาได้อย่างไรว่า “แต่ความในมหาปรินิพพานสูตรระบุไว้ชัดเจนว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ คือประมาณเดือน ๑๑-๑๒ หรืออาจล่วงเลยได้ถึงเดือน ๑ ของปีจันทรคติต่อมา” ไม่เห็นมีตรงไหนระบุ “ชัดเจน” อย่างนั้นมีแต่บอกว่าหลังจากออกพรรษาแล้วเสด็จไปไหนต่อไหนอีกมากมายหลายแห่ง กว่าจะถึงเมืองกุสินาราก็กินเวลาหลายเดือนไฉนไยสรุปดื้อๆ ว่าออกพรรษาแล้วก็ปรินิพพานทันที

ที่กล่าวมาข้างตนนั้น สรุปได้ว่า
๑. พระสารีพระบุตรพบพระพุทธเจ้าสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อเสด็จผ่านไปยังนาลันทาใหม่ๆ ครั้งที่สอง เมื่อท่านจะปรินิพพานได้ไปทูลลาพระองค์ที่พระเชตวันเมืองสาวัตถี (หลังพรรษาที่ ๔๕ ของพระพุทธองค์)
๒. ระยะเวลานิพพานของพระสารีบุตรคงประมาณสี่ห้าเดือนก่อนปรินิพพานข้อนี้ สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของ ดร.มาลาเสเกรา ว่า “พระสารีบุตรนิพพานสามสี่เดือนก่อนพระพุทธเจ้า” (Dictionary of Pail Proper Names เล่ม ๒ หน้า ๑๑๑๕)
๓. หลังจากได้รับข่าวพระสารีบุตรนิพพานแล้วพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถี กลับไปยังเมืองราชคฤห์อีกครั้ง จากราชคฤห์จึงไปยังเวสาลีอีกเป็นครั้งที่สองข้อมูลจากแห่งต่าง ๆ สอดคล้องกัน เพียงแต่บันทึกไว้ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง
ถ้าประมวลมาไม่ครบ มีสิทธิ์สับสนได้


ที่มา : บทความพิเศษ "พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (๑)" โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๕ วันที่ ๑๓-๑๙ เมษายน ๒๕๖๑



พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร
๒.เกี่ยวกับสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ผู้เขียนบทความไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ นอกเมืองกุสินารา ในวันเพ็ญเดือน ๖ ตามที่คัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวถึงไว้ทั่วไป

เหตุผลที่นำมาอ้าง น่าจะหนักแน่นและมีความเป็นไปได้ทางหลักวิชาการ แต่กลับเป็นข้อสมมติฐาน หรือคาดเดาอย่างเลื่อนลอย เช่น

(๑) พระอานนท์เมื่อรู้แน่ว่าพระพุทธองค์จะปรินิพพานก็โศกเศร้า ยืนเหนี่ยว “กลอนหัวสิงห์” กลอนประตูทำด้วยหัวสิงห์อย่างดี ไม่น่าจะอยู่ในป่า ควรจะอยู่ที่อาคารใหญ่โตในเมือง ว่าอย่างนั้น

รู้ได้อย่างไรว่า สาลวโนทยาน เป็นเพียงป่าธรรมดาข้อความก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น อุทยานหลวงขอมัลลกษัตริย์ ย่อมมีอาคารที่พักเข้าสร้างไว้รองรับแขกและเป็นที่ประทับพักผ่อนของเหล่ามัลลกษัตริย์ และประชาชนทั่วไป

กลอนที่พระอานนท์เกาะยืนร้องไห้นี้เป็นกลอนกุฏิ หรือ กระท่อมอยู่ใกล้ต้นรังทั้งคู่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ (พระบาลีใช้คำศัพท์ว่า วิหาร คือที่พำนักของภิกษุ)

และที่ว่าเป็น “กลอนหัวสิงห์” นั้นก็เข้าใจผิด ภาษาบาลีว่า “กปิสิสํ” ท่านแปลว่า “ไม้สลักเพชร” (ตามศัพท์แปลว่า “หัวลิง”) ตรงนี้พระอรรถกถาจารย์ไขว่าได้แก่ “อคฺคฬรุกฺขํ” คือ ไม้หรือท่อนไม้ขัดประตู กระท่อมทั่วไปก็ต้องมีประตู แล้วก็มีไม้ที่ขัดเป็นดาล

ความจริงก็คือว่า พระอานนท์เข้าไปในกระท่อมแล้ว ปิดประตูขัดดาล แล้วก็เกาะดาลประตูร้องไห้ทำไมลูกดาลอย่างนี้จะมีไม่ได้เล่า

พระคุณเจ้าไปแปลว่ากลอนหัวสิงห์ แล้วคิดว่ากลอนที่สลักเสลาเป็นรูปสัตว์งดงามนี้น่าจะอยู่ที่คฤหัสถ์มากกว่าอยู่ในป่า คิดมากไปเอง

(๒) บอกต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้า “ป่วยหนัก” ปานนั้นไม่น่าจะรักษาตัวตามมีตามเกิดในป่า พระสงฆ์น่าจะหามพระองค์ไปให้นายแพทย์รักษาในเมือง

นี้ก็คิดแบบคนสมัยปัจจุบัน ในโลกปัจจุบัน ที่มีโรงพยาบาล หรือสถานที่รักษามากมาย

ในสมัยพุทธกาลนั้น การสาธารณสุขคงไม่ทันสมัยเหมือนปัจจุบันนี้ดอกครับ ถึงจะมีที่รักษาพยาบาลทันสมัยพระพุทธองค์ก็คงไม่ประสงค์จะให้สาวกต้องลำบากโดยไม่จำเป็น

เพราะถึงอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนด พระองค์ก็จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่ดี

อาการป่วยทางร่างกายนั้น ถึงจะกำเริบหรือไม่กำเริบอย่างใด พระองค์ก็ทรงบรรเทาได้ด้วยพลังสมาธิ ไม่ทำให้พระองค์ปรินิพพานได้

คำถามที่ว่า “พระพุทธองค์ปรินิพพานด้วยโรคอะไร” เป็นการตั้งคำถามผิดพระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร หรือด้วยการเสวยพระกระยาหารชนิดไหนหากปรินิพพานด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ซึ่งทรงกำหนดวันเวลาไว้ล่วงหน้าแล้ว

เพราะเอาความรู้สึกของอดีตนายแพทย์สมัยนี้มาวัดว่าพระพุทธเจ้า “ป่วย” ต้องได้รับการรักษาในเมืองโดยนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

จึงไม่เชื่อพระคำภีร์ที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานในพระราชอุทยานนอกเมือง

(๓) อ้างว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เหล่ามัลลกษัตริย์ดำริจะเคลื่อนพระศพออกจากเมืองไปทางทิศใต้ นี้แสดงว่าปรินิพพานในเมือง นี่ก็แปลผิด

พระบาลีมีว่า อถโข สตฺตมมิปิ ทิวสํ โกสินารกานํ มลฺลานํ เอตทโหสิ มยํ ภควโต สรีรํ นจูเจหิ คีเตหิ วาทิเตหิ มาเลหิ คนฺเธหิ สกฺกโรนฺตา ครุกโรนฺตา มาเนนฺตา ปูเขนฺตา ทกฺขิเณน ทกฺขิณํ นครสฺส ภควโต สรีรํ ฌาเปสฺสามาตี = ครั้งนั้นแล เหล่ามัลลกษตัริย์แห่งเมืองกุสินาราคิดว่า พวกตนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา พระพุทธสรีระด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีด้วยดอกไม้และของหอมอัญเชิญพระพุทธสรีระไปทางทิศใต้ ยังด้านทิศใต้ของพระนคร จัดถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ นอกเมืองด้านทิศใต้พระนคร

แปลไม่ดีอาจแปลว่า อัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปในเมืองทางด้านทิศใต้ พระอรรถกถาจารย์กลัวว่าเราจะแปลผิด ท่านขยายให้ฟังในอรรถกถาว่า พาหิเรน พาหิรนฺติ อนฺโตนครํ อปฺปวเสตฺวา พาหิเรเนว นครสฺส พาหิรปสฺสํ หริตฺวา = คำว่า “พาหิเรน พาหิรํ” หมายถึง ไม่ต้องอัญเชิญพระพุทธสรีระเข้าไปภายในพระนคร หากนำไปข้างนอก เลียบข้างนอกพระนครนั้นเอง (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๒๐๔)

เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์อัญเชิญพระพุทธสรีระไปตามที่ตนดำริ ก็ไม่สามารถยกขึ้นได้จึงเรียนถามพระอนุรุทธเถระ พระเถระเจ้าได้ถวายวิสัชนาว่า เหล่าเทวาต้องการให้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปทางด้านทิศเหนือ เข้าพระนครทางประตูด้านทิศเหนือ จนไปถึงใจกลางพระนครแล้ว ออกทางประตูเมืองด้านทิศตะวันออก ไปยังมกุฎพันธนเจดีย์ดังกล่าว

ข้อความจากพระสูตรชัดเจนครับ ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานนอกพระนคร ทีแรกเหล่ามัลลกษัตริย์จะอัญเชิญพระพุทธสรีระไปถวายพระเพลิงนอกเมือง ทางทิศใต้แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอัญเชิญเข้าเมืองทิศเหนือกลางใจเมืองแล้ว อัญเชิญออกนอกเมืองทางทิศตะวันออกแล้วถวายพระเพลิงมกุฎพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง

ที่ผู้เขียนบอกว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานในเมืองกุสินารานั้น เพราะแปลบาลีไม่แตก จึงเดาเอาครับ

เกี่ยวกับวันเวลาปรินิพพาน ผู้เขียนฟันธงว่า ไม่ใช่วันเพ็ญเดือน ๖ เหตุผลของผู้เขียนก็คือ “แต่ความในมหาปรินิพพานสูตรระบุไว้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ คือ ประมาณเดือน ๑๑-๑- หรือล่วงเลยไปถึงเดือน ๑ ของจันทรคติต่อมา” ซึ่งเป็นฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ร่วงตอนปลาย ที่ต้นสาละในป่าสลัดใบหมดแล้ว ดอกสาละที่บานสะพรั่งหล่นบูชาพระพุทธองค์นั้น เป็นดอกสาละที่ผลิดอกนอกฤดูกาล (อกาละ)

ก็ไม่ทราบว่า ตรงไหนของมหาปรินิพพานสูตรที่บอกว่า “ระบุชัดเจน” ว่าปรินิพพานหลังออกพรรษาใหม่ๆ พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่เวฬุวคาม ซึ่งอยู่ในเขตเมืองไพศาลี ออกพรรษาแล้ว อรรถกถาบอกเราว่า พระองค์เสด็จนิวัติพระนครสาวัตถี พระสารีบุตรไปทูลลาที่นั่น เพื่อไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน หลังจากนั้นก็เสด็จไปเมืองราชคฤหัสถ์อีก

เสด็จกลับจากราชคฤหัสถ์มายังเมืองเวสาลีอีกครั้งประทับที่ปาวาลเจดีย์ ตรงนี้เองที่ทรงปลงอายุสังขาร (ว่าอีกสามเดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน) จากนั้นก็เสด็จไปตามลำดับ คือ ป่ามหาวัน – ภัณพคาม – หัตถิคาม – อัมพคาม – โภนคร – จากนั้นก็เสด็จเข้าสู่เขตเมืองปาวา – จากเขตเมืองปาวาจึงเสด็จเข้ายังกุสินารา

ผ่านตั้งหลายสถานที่ ซึ่งต้องกินเวลาไม่น้อย เพราะทรงประชวรด้วย ย่อมต้องพักผ่อน ณ สถานที่ต่างๆ แห่งละนานพอสมควร

ตามหลักฐานนี้ก็แสดงว่า
๑.หลังออกพรรษากลางเดือน ๑๑ ก็เสด็จไปสาวัตถีและราชคฤห์ คงระหว่างกลางเดือน ๑๑ ถึงเดือน ๒ (เดือนยี่) พอเดือน ๓ คงเสด็จมาประทับที่ปาวาลเจดีย์แล้ว การปลงอายุสังขารก็คงเป็นเดือน ๓ แน่นอน เพราะทรงระบุไว้ว่าอีก ๓เดือนข้างหน้า (ตกเดือน ๖ พอดี) จะปรินิพพาน
๒.วันปรินิพพานคือวันเพ็ญเดือน ๖ ตามพระบาลีบันทึกไว้แน่นอน
๓.ไม่มีทางเป็นอื่น วันเวลานี้เชื่อถือกันทั่วโลกพระพุทธศาสนามานานไม่มีใครสงสัย

เดือน ๖ อาจมิใช่เดือนที่ต้นสาละผลิตดอกออกผลตามปติจึงเป็น “อกาล” (นอกฤดูกาลผลิตดอกออกผล) ที่ต้นสาละผลิตดอกบานสะพรั่งเพื่อบูชาพระพุทธองค์นั้น เป็นด้วยพุทธานุภาพ และ “อกาล” ที่กล่าวถึง มิจำเป็นจะต้องเป็นเดือน ๑๑-๑๒ หลังออกพรรษาใหม่ๆ

แต่หมายถึงเดือน ๖ ดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์แทบทุกเล่มเมื่อไม่มีหลักฐานและเหตุผลที่หนักแน่นกว่านี้ เหตุใดจึง “ฟันธง” ส่งเดช ไม่ทราบได้

และที่อ้างฤดูใบไม้ร่วงใบไม้ผลินั้น ดูออกจะเลอะเทอะเพราะอินเดียมีแค่สามฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว เท่านั้น


ที่มา : บทความพิเศษ "พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (๒) เกี่ยวกับสถานที่ปรินิพพาน”   โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๖ วันที่ ๒๐-๒๖ เมษายน ๒๕๖๑





พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร
๓.เกี่ยวกับสูกรมัททวะ

สูกรมัททะวะคืออะไร

ผู้เขียนมิได้ชี้ชัดว่าคืออะไร เพียงแต่นำทรรศนะของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์มาอ้างว่า “เป็นเห็ดชนิดหนึ่ง เนื่องมากจากรากศัพท์ว่า สุกร ได้แก่ หมู และ มัททวะ แปลว่าอ่อนหรือนิ่ม เมื่อนำมาสมาสกันทำให้ได้ความว่า นิ่มสำหรับหมู คือเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่หมูชอบ เพราะความนิ่มของมัน การตีความในลักษณะนี้เข้าได้กับทิฐิของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สายจีน ซึ่งเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นมังสวิรัติ”

ผู้เขียนสรุปว่า “ไม่ว่าสูกรมัททวะนี้จะเป็นอะไรก็ตาม ก็คงไม่ใช่สาเหตุของการป่วยโดยตรง แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ที่ทำให้โรคที่สะสมกันมานานและเคยกำเริบมาครั้งหนึ่งแล้วปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”

ผู้เขียนบอกว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยการเสวยสูกรมัททวะ แต่ปรินิพพานด้วยโรคประจำตัวของพระองค์ ซึ่งคืออะไรแน่ ผู้เขียนก็ใช้ความรู้ทางการแพทย์วิเคราะห์ยืดยาวข้อสรุปก็ไม่เห็นหนีไปจากที่ชาวพุทธทั่วไปได้รู้กันอยู่แล้ว

ชาวพุทธทั่วไปรู้กันแล้วว่า สูกรมัททวะคืออะไร หรือพูดให้ถูกก็น่าจะเป็นอะไร และไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็มิใช่สาเหตุทำให้ปรินิพพาน

ชาวพุทธรู้กันอยู่แล้วว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระโรคประจำคือ “ปักขันทิกาพาธ” (ถ่ายเป็นโลหิต) ปักขันทิกาพาธจะเรียกด้วยภาษาแพทย์สมัยนี้ว่าอย่างไรก็ตาม อาการก็คือมีการตกเลือดอย่างมาก ปรากฏว่าพระพุทธองค์ทรงประชวรด้วยพระโรคนี้เป็นครั้งคราว บางครั้งก็อาการสาหัส ถึงกับบรรยายไว้ว่า “ภาชนะหนึ่งเข้า ภาชนะหนึ่งออก” แต่พระโรคนี้ก็มิใช่สาเหตุให้ปรินิพพาน

เพราะการปรินิพพานทรงกำหนดไว้ก่อนแล้วว่า เมื่อใดที่ไหน ด้วยอาการอย่างไร โรคประจำตัวเป็นเพียงโรคประจำสังขาร ทุกขเวทนาถ้ามีมาก พระองค์ก็ทรงระงับได้ด้วยกำลังสมาธิ

แม้ทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานตามวันเวลาที่ตรัสบอกไว้ ถ้าพระองค์จะยืดเวลาออกไปอีกเป็นชั่วกัป ก็ย่อมทำได้ นี้แสดงว่าถ้าจะทรงใช้พลังสมาธิแล้ว พระองค์ก็จะอยู่ได้เป็นกัปโรคภัยอะไรจะมาทำให้สิ้นพระชนม์หามีไม่

ถึงตรงนี้ก็เห็นต้องบอกว่า ผู้เขียนบทความ ข้อมูลไม่แม่น เมื่อข้อมูลไม่แม่นก็นำไปสู่การสันนิษฐานผิดๆ ที่พระพุทธองค์ว่าถ้าพระองค์จะยืดพระชนมายุไปอีกตลอดกัปก็ย่อมได้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญอิทธิบาทสมบูรณ์เต็มที่แล้ว

ผู้เขียนบทความไปตีความว่าหมายถึง กาลเวลาอันยาวนานมากเป็นกัปเป็นกัลป์

ที่จริงคำว่า “กัป” ในที่นี้คือ “อายุกัป” (life span, กำหนด อายุของมนุษย์ ทั่วไปในยุคนี้ก็ประมาณ ๑-๑๐๐ ปี ที่ว่าพระองค์สามารถยืดพระชนมายุออกไปจนอยู่ได้ถึงหนึ่งกัป ก็คือพระองค์พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา แล้วจะยืดออกไปอีกให้เต็มอายุกัป ก็จะมีพระชนมายุถึง ๑๐๐ ปี)

ชาวพุทธทั่วไปรู้กันแล้วว่า พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธแต่พระองค์ทรงดับสนิทด้วย “อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

การตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยโรคอะไรนั้น จึงเป็นการถามไม่ถูก ไม่ตรงประเด็น เมื่อถามไม่ตรงประเด็น ก็ป่วยการจะทราบคำตอบ ถึงจะพยายามหาคำตอบมาอธิบายมากมาย ก็ไม่มีน้ำหนักจะรับฟัง นอกจากจะ “รู้ไว้ใช่ว่า” หรือฟังไปตามมารยาทเท่านั้น

ไหนๆ ก็จะ “รู้ไว้ใช่ว่า” แล้วก็ขอให้สำเนียกทรรศนะที่โบราณาจารย์ท่านแสดงไว้เกี่ยวกับสูกรมัททนะไว้บ้างก็จะดี
 
ในอรรถกถา สุมังคลวิลาสินี (ภาค ๒ หน้า ๑๗๒) ท่านให้ความหมายไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เนื้อสุกรอ่อน (นาติรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ ตํกิร มุทุญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ)
๒. ข้างหุงด้วยนมโคอย่างดี (มุทุโอทรสฺส ปญฺจโครสยูส ปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามํ)
๓. สมุนไพรชนิดหนึ่ง (สูกรทฺทวํ นาม รสายวิธิ ตฺ ปนรสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺ ยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตํ)

ข้อความแวดล้อมในมหาปรินิพานสูตร บอกว่า
(๑) นายจุนทะเตรียม ขาทนียะ โภชนียะ (ของเคี้ยวของฉัน) เพียงพอ และเตรียม สูกรมัททวะ เพียงพอ
(๒) นายจุนทะเตรียมอาหารนั้นทั้งคืน
(๓) นายจุนทะถวายของเคี้ยว ของฉันแก่พระสงฆ์ถวายสูกรมัททวะแก่พระองค์
(๔) พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่ย่อยสูกรมัททวะนี้ได้แล้วให้นำเอาที่เหลือจากที่เสวยไปฝังดินเสีย

ข้อความแวดล้อมนี้ นำไปสู่การสันนิษฐานว่า สูกรมัททวะน่าจะได้แก่อะไร
(๑)ถ้าเป็นเนื้อสุกรอ่อน ไม่น่าจะต้องเตรียมนานปานนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องย่อยยาก ใครกินก็ย่อมจะย่อยได้และไม่น่าสงวนไว้ให้พระพุทธเจ้าเท่านั้นเสวย พระรูปอื่นก็ควรได้รับถวายด้วย เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะไม่น่าจะเป็นเนื้อสุกรอ่อน
(๒) ถ้าเป็นข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี ก็ยิ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการย่อย ไม่น่าจะเสียเวลาปรุงนาน และพระรูปอื่นก็ควรได้รับฉันด้วย สูกรมัททวะจึงไม่น่าจะเป็นข้างหุงด้วยนมโค
(๓) ถ้าเป็นสมุนไพร หรือยาอย่างใดอย่างหนึ่ง มีแหตุผลที่น่าเป็นไปได้ เพราะนายจุนทะรู้ว่า พระพุทธองค์ทรงประชวรจึงเตรียมยาไว้ให้เฉพาะ ยานั้นคงต้องใช้เวลาปรุงนานกว่าจะสกัดตัวยาออกมาได้ปริมาณตามที่ต้องการ และตรัสว่าไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่ย่อยได้นั้นก็จริง เพราะการจะกินยาสมุนไพรโบราณ เขาต้องคูณธาตุอ่อนแก่ไม่เท่ากัน

พระองค์ทรงหมายความว่า ปริมาณที่พระองค์เสวยนั้น ถ้าเป็นคนอื่นคงไม่สามารถย่อยได้ ที่รับสั่งให้เอาที่เหลือไปฝัง ก็เพราะว่าคนอื่นไม่ป่วยก็ไม่จำเป็นต้องกินอยู่แล้ว

พิเคราะห์ตามความแวดล้อมนี้สูกรมัททวะน่าจะเป็นประเภทที่ (๓) ส่วนจะเป็นสมุนไพรชนิดไหน จะเป็นเห็ด หรืออะไร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม สูกรมัททวะ ก็มิใช่สาเหตุให้ปรินิพพาน เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์เป็นการ “ดับสนิทด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” ดังกล่าวแล้ว อนุปาทิเสสนิพพานคืออะไร ดับสนิทอย่างไร เป็นหน้าที่ของชาวพุทธพึงศึกษาทำความเข้าใจ

ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่ควรกำแหงสำแดงทิฐิชี้ผิดชี้ถูก


ที่มา : บทความพิเศษ "พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (๓) เกี่ยวกับสูกรมัททวะ"  โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๗ วันที่ ๒๗ เมษายน – ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤษภาคม 2561 16:10:28 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2561 16:11:17 »


พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (จบ)
๔.พระพุทธเจ้าทรงแนะวัสสการพราหมณ์ ให้โจมตีเมืองเวสาลีจริงหรือ

ถึงบทความนี้จะไม่ยืนยันทรรศนะนี้ชัดเจน แต่จากน้ำเสียงที่พูดว่า “น่าประหลาดใจว่า ทรงแนะนำวัสสการพราหมณ์ทางอ้อม ผ่านทางการสนทนากับพระอานนท์ให้วัสสการพราหมณ์ได้ยิน” ทำให้ทราบว่า ผู้เขียนเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้พระเจ้าอชาตศัตรูโจมตีเมืองเวสาลีของกษัตริย์ลิจฉวี พูดอีกนัยหนึ่งว่า แนะนำให้ทำสงครามโดยบอกใบ้ให้ฝ่ายมคธไปทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี

ข้าพเจ้าเห็นว่า นี้เป็นเรื่องของการตีความจากบริบทที่มีอยู่

ใครมีคำตอบ หรือข้อสรุปอะไรอยู่ในใจไว้ก่อนแล้ว การตีความก็จะโน้มเอียงไปทางนั้น

ถ้ามีข้อสรุปในใจอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงมีความสนิทชิดเชื้อกับกษัตริย์แห่งมคธรัฐตั้งแต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นต้นมา จึงมีแนวโน้มเข้าข้างฝ่ายมคธรัฐ เมื่อมีการรบกันก็อยากให้ฝ่ายมคธรัฐเป็นฝ่ายชนะ ก็อาจตีความออกมาพระพุทธเจ้าอยู่ข้างฝ่ายมคธรัฐ ทรงบอกใบ้ให้วัสสการพราหมณ์ไปทำลายความสามัคคีของฝ่ายกษัตริย์ลิจฉวี

แต่ถ้ามีข้อสรุปในใจว่า พระพุทธองค์ทรงคุ้นเคยกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีมากและทรงรักและเป็นห่วงเมืองเวสาลีมาก แม้ขณะจะจากครั้งสุดท้าย ยังทรงเอี้ยวพระกายไปมองในท่า “นาคาวโลก” ตรัสกับพระอานนท์ว่า เป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่จะเห็นเมืองนี้อีก

พระพุทธองค์ทรงชอบระบบการปกครองแบบสามัคคีธรรมของพวกกษัตริย์ลิจฉวี เพราะเป็นระบบเดียวกับเหล่าศากยะ

ไม่อยากให้ระบบการปกครองนั้นเสื่อมสลาย จึงตรัสเปรยกับพระอานนท์ ทำนองบอกใบ้ให้ล่วงรู้ไปถึงเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ว่าให้สามัคคีไว้ดังที่เคยมา อย่าให้แตกสามัคคี จะตกเป็นเหยื่อของกษัตริย์แห่งมคธรัฐ ก็อาจจะตีความว่า พระพุทธเจ้าทรงเข้าข้างเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ตาม นับว่าไม่รู้ซึ้งถึงพระคุณทั้งสามของพระพุทธองค์ ไม่รู้อุดมการณ์ของพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงมีอุดมการณ์เพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ตั้งแต่ทุกข์ระดับพื้นฐานจนถึงทุกข์ระดับสุดยอด คือ ทุกข์ในสังสารวัฏ (การเวียนเกิดเวียนตายในชาติภพต่างๆ หาที่สุดมิได้) ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ก็เพื่อ “ชนสรรพสัตว์ออกจากสังสสารทุกข์” นี้เท่านั้น

เมื่อส่งสาวก ๖๐ ปี รุ่นแรกออกไปเผยแผ่คำสอน ก็ตรัสย้ำถึงอุดมการณ์ว่าให้จาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เมื่อพระองค์มีอุดมการณ์อย่างนี้มีพระมหากรุณาใหญ่หลวงปานนี้ พระองค์ย่อมจะไม่มีอคติ เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง

หากทรงมุ่งหวังให้สรรพสัตว์ทุกรูปนาม มีความสุข พ้นทุกข์ ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

นี่คือความเป็นจริง

การไปดึงพระพุทธองค์ให้เข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นกิเลสของคนคนนั้นเอง วัสสการพราหมณ์มีเป้าหมายในใจแล้วว่า จะไปหา “เบาะแส” หรือ “แนวทาง” ที่จะตีเมืองเวสาลีให้ได้เหมือนคนบ้าหวย มีเป้าหมายจะหาตัวเลขอยู่ในใจแล้ว

เมื่อไปหาพระพุทธเจ้า จึงเลียบเคียงถามหยั่งท่าทีว่า พระเจ้าอชาตศัตรูปรารถนาจะยกทัพไปทำลายแคว้นวัชชี จักคัดพวกวัชชีที่มีฤทธิ์มาก พระองค์จะอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่วัสสการพราหมณ์ ดุจคนถามหวยว่างวดหน้าจะออกเลขอะไร พระท่านมิได้ตอบ ฉันใดฉันนั้น พระองค์ทรงหันไปตรัสกับพระอานนท์ถึงเรื่องที่เป็น “ธรรมะ” หรือความจริงที่เป็นสากล

ตรัสถามพระอานนท์ว่า เคยได้ยินไหมว่าพวกเจ้าลิจฉวีเขาหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก ไม่บัญญัติกฎระเบียบโดยพลการ ไม่ยกเลิกข้อบัญญัติโดยพลการ เคารพนับถือบูชาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ ไม่ฉุดคร่าสตรีหรือกุมารี เคารพสักการบูชาเจดีย์ ให้อารักขาคุ้มครองอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย

พระอานนท์กราบทูลว่าเคยได้ยิน พระองค์จึงตรัสต่อไปว่า ตราบใดที่เหล่ากษัตริย์ลิจฉวียังมั่นในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้ พึงหวังแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย

เป็นการตรัส “ธรรมะ” คือความจริงว่า ไม่ว่าถ้าใครมีธรรมะครบทั้ง ๗ ข้อนี้ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม เป็นการแสดงธรรมเป็นกลางๆ ไม่เห็นมีตรงไหนที่สนับสนุนให้พราหมณ์ไปทำลายสามัคคีกษัตริย์ลิจฉวี วัสสการพราหมณ์ต่างหากที่มีเป้าหมายในใจไว้แล้ว พอได้ยินพระพุทธดำรัสดังนี้ก็ “ตีปริศนา” ออกมาทันที่ว่า “อ้อ มันต้องทำให้แตกสามัคคี”

ดุจดังคนบ้าหวยไปถามพระว่า งวดหน้าเลขอะไร พระไม่ตอบ แต่เทศน์สอนว่า คนเราถ้าอยากรวยไม่ควรสนใจการพนัน ควรปฏิบัติธรรมอันเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี ๔ ประการ คือ หนึ่ง สอง” ฯลฯ

พระทรงแสดงธรรมแท้ๆ เจ้าคนบ้าหวยมันไปตีว่า “อ้อ พระท่านให้เลข ๔ งวดหน้า ๔๐ แน่นอน” ถามว่า ผิดที่พระหรือที่คนบ้าหวย ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าสมมติว่าจะเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้า “เข้าข้าง” ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจริงๆ (สมมติว่าคิดพิเรนทร์ปานนั้น) แทนที่จะเข้าข้างอชาตศัตรู กลับเข้าข้างกษัตริย์ลิจฉวีด้วยซ้ำ

ในพระสูตรนี้แหละเล่าต่อมาว่า หลังจากนั้น พระพุทธองค์เรียกประชุมสงฆ์ทันที เรื่องวัสสการพราหมณ์เข้าเฝ้า แล้วพระองค์ตรัสสอน อปริหานิยธรรม (ธรรมที่ไม่ทำให้เสื่อม) สำหรับภิกษุสงฆ์ ๖-๖ นัย

การเคลื่อนไหวถึงขั้นประชุมสงฆ์ แล้วตรัสสอนเน้นให้สงฆ์สามัคคี คงมิใช่เรื่องเล็กๆ เงียบๆ เสียงย่อมดังไปถึงแคว้นวัชชี เท่ากับเตือนเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ที่พระองค์ทรงรักและผูกพันมากว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น ให้รักษาอปิรหานิยธรรมที่เคยมีไว้ให้ดี แล้วจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้รุกราน

ตีความอย่างนี้ได้ไหมครับ ได้แน่นอน ถ้าเราเอา “กิเลส” ส่วนตัวของเราไปตัดสินพระจริยาวัตรของพระพุทธองค์

ถ้าเราลืมว่า พระพุทธองค์ทรงรักเมตตาสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าทัดเทียมกัน ด้วยพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง ไม่ต้องการให้ใครเบียดเบียนกันแม้แต่น้อย

ถ้าเราเป็นเหมือนคนบ้าหวย มีเป้าในใจแล้ว พยายามตีอะไรเป็นตัวเลขหมด

แต่ความผิดอยู่ที่เราครับ ไม่ได้อยู่ที่พระท่าน

การเกณฑ์ให้พระพุทธองค์เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะฝ่ายมคธรัฐผู้รุกรานหรือฝ่ายวัชชีผู้รุกราน ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่บังควรทั้งสิ้น

จึง “น่าประหลาด” ที่พระคุณเจ้าผู้เขียนบทความ กล้าตีความว่า พระพุทธเจ้าทรงแนะให้วัสสการพราหมณ์วางแผนทำลายพวกวัชชี

ประหลาดที่ศิษย์ตถาคตกล้ากล่าวหาพระศาสดาของตน


ที่มา : บทความพิเศษ "พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร (จบ) พระพุทธเจ้าทรงแนะวัสสการพราหมณ์ ให้โจมตีเมืองเวสาลีจริงหรือ?"  โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๘ วันที่ ๔-๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.674 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 18 มีนาคม 2567 14:26:11