[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:14:40 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ญาณสังวรธรรม (เทศนาพิเศษ) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  (อ่าน 12282 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 09 มกราคม 2562 16:12:53 »



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

อปริหานิยธรรมกถา*

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯลฯ
สตฺต โว ลิจฺฉวี อปริหานิเย ธมฺเม เทเสสฺสามีติ ฯ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชชนา พระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแด่พระราชกุศลทักษิณานุปทาน ในเบื้องต้นแห่งพระราชพิธีฉัตรมงคล เฉลิมพระราชสมบัติสิริรัชพรรษาปีนี้ ด้วยว่า วันนี้ใกล้จะถึงพระราชพิธีฉัตรมงคล เฉลิมพระราชสมบัติสิริรัชพรรษาตามโบราณราชประเพณี สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระกตัญญูกตเวทิตาคุณอันประเสริฐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชกุศลทักษิณานุปทานเป็นเบื้องต้น ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ เจ้าพนักงานผู้เตรียมการได้เชิญพระโกศพระบรมอัฐสมเด็จพระบรมราชบูรพการีขึ้นประดิษฐานเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิประดิษฐานในพระที่นั่งบุษบกมาลา ประกอบด้วยเครื่องบรมอิสริยราชูปโภคพร้อมสรรพ  ครั้นแล้ว สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ทรงพระราชอุทิศถวายส่วนพระราชกุศลทั้งนี้เพื่อเป็นผลสัมฤทธิ์พระราชหิตสุข แด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี ความสัมฤทธิ์ผลนี้ พึงมีโดยฐานนิยมสมตามพระพุทธานุสาสนีที่ตรัสไว้ว่า

อยญฺจ โข ทกฺขิณา ทินฺนา     สงฺฆมฺหิ สุปติฏฺฐิตา
ทีฆรตฺตํ หิตายสฺส ฐานโส อุปกปฺปติ

แปลความว่า ทักษิณาที่ให้แล้ว ตั้งอยู่ดีแล้วในสงฆ์นี้แล สำเร็จเพื่อเกื้อกูลแก่ผู้ที่ละไปนั้น โดยฐานะตลอดกาลนาน ดังนี้

สมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ ได้ทรงเป็นพระราชบูรพการี ผู้ทรงมหันตคุณูปการ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เพราะได้ทรงประดิษฐาน ได้ทรงดำรงพระมหาเศวตฉัตรและพระบรมราชวงศ์ โดยสันตติสืบต่อมาโดยลำดับ จึงทรงเป็นพระบรมราชบูรพการี ที่พึงถวายความเคารพของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงดำรงพระมหาเศวตฉัตรเถลิงมไหศวริยราชสมบัติในปัจจุบัน

อนึ่ง สมเด็จพระบรมราชบูรพการีผู้ทรงปกครองประเทศชาติในอดีตสืบมาโดยลำดับนั้น ชื่อว่าได้ทรงเป็นพระราชบูรพการีของประเทศชาติ โดยส่วนรวม เพราะได้ทรงเป็นองค์พระประมุข กอบกู้ประเทศชาติ ดำรงประเทศชาติ เกื้อกูลประเทศชาติให้เจริญ ได้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ ได้ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และเป็นมิ่งขวัญของอาณาประชาราษฎร์ ประชาราษฎรชาวไทยทั้งชาติในปัจจุบันผู้เกิดมามีประเทศชาติเป็นที่รวมกันอยู่เป็นสุขโดยอิสระเสรี มีศาสนาเป็นที่นับถือ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์ก็เพราะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในรัชสมัยนั้นๆ ได้ทรงปกป้องรักษาไว้  ฉะนั้น จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นพระราชบูรพการีที่พึงเคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทั้งชาติ

อันชาวไทยนั้น เมื่อตั้งชาติขึ้นเป็นหลักฐาน ก็มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขผู้ปกครองโดยลำดับมา เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลกและพระพุทธศาสนาแผ่มาถึง ก็ได้รับพระพุทธศาสนาเป็นที่นับถือโดยมั่นคงสืบมา ชาติ พระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนาจึงเป็นไตรรงค์คือองค์ ๓ ที่เป็นนิมิตคือเครื่องหมายของความเป็นคนไทย หรือ ประชาชาติไทยโยสมบูรณ์ทุกกาลสมัย แม้ในทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อทรงปรารภถึงประชุมชนหรือรัฐก็ได้ตรัสไว้ว่า ราชา มุขํ มนุสฺสสานํ พระราชาเป็นประมุขของหมู่มนุษย์  ราชา รฏฺฐสฺส ปญฺญาณํ พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ และในอัคคัญญสูตร ได้ตรัสอธิบายอรรถของคำว่า “ราชา” ไว้ว่า ธมฺเมน ปเรสํ รญฺเชติ แปลว่า ยังชนทั้งหลายอื่นให้ยินดีชื่นบานโดยธรรม ดังนี้

พระราชาเป็นที่ยินดีชื่นบานเป็นมิ่งขวัญของหมู่ชนอย่างไร มีตรัสแสดงอธิบายไว้ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ด้วยทรงปรารภถึงพระราชาผู้จักพรรดิโดยความว่า ข้ออัศจรรย์ในพระราชาผู้จักรพรรดิคือ ถ้าขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัทเข้าเฝ้า บริษัทนั้นๆ ก็มีใจยินดีด้วยการได้เฝ้าได้เห็น ถ้ามีพระราชดำรัสตรัสด้วย ก็มีใจยินด้วยพระราชดำรัส ถ้าทรงนิ่ง ก็ไม่อิ่ม คือพากันกระหาย อยากจะได้สดับพระราชดำรัสอีก ดังนี้

ส่วนข้อว่า “โดยธรรม” ในคำว่า “ให้ยินดืชื่นบานโดยธรรม” นั้น จะถวายวิสัชชนาด้วยยกธรรมหมวดหนึ่ง เรียกว่าอปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญโดยส่วนเดียว พระบรมศาสดาตรัสแสดงแก่เจ้าลิจฉวี จึงเรียกว่า ลิจฉวีอปริหานิยธรรม  มี ๗ ข้อ และตรัสแสดงแก่ภิกษุ จึงเรียกว่าภิกขุอปริหานิยธรรม มี ๗ ข้อเท่ากัน  ลิจฉวีอปริหานิยธรรม สำหรับคฤหัสถ์ ภิกขุอปริหานิยธรรม สำหรับบรรพชิต มีข้อความแห่งธรรมแหล่านี้คล้ายคลึงกันโดยมาก ต่างแต่บางข้อบางประการตามความเหมาะสมแก่ภาวะของคฤหัสถ์และบรรพชิตเท่านั้น  ดังจะยกลิจฉวีอปริหานิยธรรมขึ้นเป็นที่ตั้ง และนำภิกขุอปริหานิยธรรมเข้าเทียบตามลำดับข้อ ตามพระบาลีบทอุทเทศว่า สตฺต โว ลิจฺฉวี อปริหานิเย ธมฺเม เทเสสฺสามิ ตํ สุณาถ สาธุกํ มนสิกโรถ เป็นอาทิ แปลความว่า ดูกร ลิจฉวีทั้งหลาย ตถาคตจักแสดงธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อมแก่พระองค์ทั้งหลาย จงทรงสดับธรรมนั้น ทำไว้ในพระทัยให้ดี ดังนี้แล้ว ตรัสต่อไปทีละข้อดังนี้

ข้อหนึ่ง ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายหมั่นประชุมกันเนืองๆ มากด้วยการประชุมกัน ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียว ไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุก็มีความเช่นเดียวกัน ข้อนี้มีเหตุผลเห็นได้ชัดว่า กิจการของหมู่ชนจำต้องมีการประชุมหารือตกลงกันโดยรอบคอบถูกต้องและโดยสามัคคีเอกภาพ จึงจะเกิดตบะคือความเพียรที่รวมกำลังกันทำกิจกรรมนั้น ให้บังเกิดความสำเร็จเผล็ดประโยชน์ได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหมั่นประชุมปรึกษาหารือ และทำความตกลงโดยสามัคคีธรรม

ข้อสอง ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายเมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิกและพร้อมเพรียงกันทำกรณียะ คือกิจที่พึงทำของวัชชี ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียวไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุก็มีความเช่นเดียวกัน แม้ข้อนี้ก็มีเหตุผลเห็นได้ชัด เพราะตรัสเน้นถึงความสามัคคีไม่วิวาทแตกแยกกันในเวลาประชุม ในเวลาเลิกประชุม และในเวลาปฏิบัติงานอันเป็นกรณียะคือกิจที่พึงทำหรือหน้าที่ ผู้มีหน้าที่อย่างใด ก็ปฏิบัติหน้าที่นั้นของตนด้วยดี แม้จะต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน ก็ได้ชื่อว่าทำโดยพร้อมเพรียงกัน เพราะรวมอยู่ในส่วนอันเดียวกัน

ข้อสาม ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้ ถือประพฤติวัชชีธรรมของเก่าตามที่บัญญัติไว้ ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียว ไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายก็มีความเช่นเดียวกันว่า ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้ทรงบัญญัติ ไม่ถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้ ถือประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้ แม้ข้อนี้มีเหตุผลที่พึงพิจารณาว่า หมายถึงไม่บัญญัติไม่ถอนโดยผิดธรรม เช่นโดยพลการหรือโดยอคติ บัญญัติเก่าที่ดีอยู่แล้ว เหมาะสมอยู่แล้วก็ลงตัวอยู่แล้ว ก็ถือประพฤติตาม ไม่ใช่ว่าของเก่าแล้วจะต้องเลิกเสีย ต้องบัญญัติขึ้นใหม่ ถ้าบัญญัติขึ้นใหม่ไม่ดี เลิกถอนบัญญัติเก่าที่ดีอยู่แล้ว ก็จะเป็นไปเพื่อความเสื่อม ส่วนภิกษุบริษัทพึงเคารพปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้แล้วโดยแท้

ข้อสี่ ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายทำความเคารพนับถือบูชาท่านผู้ใหญ่ เชื่อฟังถ้อยคำของท่านผู้ใหญ่เหล่านั้น ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียวไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุก็มีความเช่นเดียวกันว่า ทำความเคารพนับถือบูชาภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู คือรู้ราตรี หมายถึงผ่านวันคืนมานาน บวชนาน เป็นสังฆมิตร สังคมปริณายก เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน แม้ข้อนี้มีเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่า ในทุกหมู่ จำต้องมีความเคารพนับถือผู้ใหญ่ผู้เป็นหัวหน้าในหมู่ จำต้องเห็นความสำคัญในอันที่ฟังคำของผู้ใหญ่ผู้เป็นหัวหน้า ถ้าขาดธรรมข้อนี้เสีย คือ ไม่มีที่จะเคารพ ไม่มีที่จะเชื่อฟังกัน ก็จะหมดหลักยึดเหนี่ยวของหมู่ ต่างคนต่างทำ หมดความสามัคคี จะเกิดความเสื่อม วิบัติโดยแท้  ฉะนั้น จึงต้องมีผู้ใหญ่มีหัวหน้าโดยลำดับชั้น เป็นที่เคารพนับถือเชื่อฟัง จึงจะมีความเจริญสวัสดี

ข้อห้า ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายไม่ข่มขืนบังคับกุลสตรีกุลกุมารีให้อยู่ ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียว ไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายมีข้อความว่า ไม่ลุอำนาจแห่งตัณหาอันเป็นเหตุให้มีภพชาติใหม่ที่เกิดขึ้เน แม้ข้อนี้ก็มีเหตุผลที่เห็นได้ชัด

ข้อหก ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายจักสักการะเคารพนับถือซึ่งเจดีย์แห่งวัชชีทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก ทำพลีกรรมอันประกอบด้วยธรรมที่เคยให้ทำแล้วแก่เจดีย์เหล่านั้น ไม่ให้เสื่อม ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียวไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า ยินดีในเสนาสนะป่า แม้ข้อนี้ก็มีเหตุผลที่พึงเห็นได้ชัดว่า วัตถุหรือสถานเป็นที่เคารพนับถือบูชาของชาวบ้านชาวเมือง อันเรียกว่าเจดีย์เป็นสิ่งที่พึ่งนับถือในทางที่ชอบถูกต้อง ซึ่งจะให้เกิดประโยชน์เป็นที่บำรุงจิตใจของคน และอาจให้เกิดประโยชน์หลายอย่างอันพึงได้จากความเชื่อถือในทางที่เป็นประโยชน์ และข้อนี้ย่อมแสดงว่าพระพุทธศาสนามิได้สอนให้ทำลายวัตถุหรือสถานที่คนเขานับถือกันมาว่าเป็นเจดีย์ของหมู่ชน เช่นในเรื่องนี้ พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไม่ให้ทำลายเจดีย์ของบ้านเมืองที่เคยนับถือกันมาเก่าก่อนแล้วมานับถือพระองค์ กลับสอนให้นับถือบำรุงเจดีย์เหล่านั้นอย่างที่เคยทำมาด้วยพลีที่เป็นธรรม

ข้อเจ็ด ตราบใดที่วัชชีทั้งหลายจักจัดแจงการอารักขาป้องกันคุ้มครองในพระอรหันต์ทั้งหลาย ตั้งใจอยู่ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังไม่มา ขอให้มาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นผาสุก ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียวไม่มีเสื่อม ส่วนที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายมีข้อความคล้ายคลึงกันว่า ตั้งสติเฉพาะตนว่า ทำไฉน ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันซึ่งมีศีลเป็นที่รัก ผู้ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วก็ขอให้อยู่ผาสุก แม้ข้อนี้ก็มีเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่า การจัดอารักขาในผู้ประพฤติธรรมที่บริสุทธิ์ ย่อมเป็นกิจที่ควรทำ และพึงหมายถึงการอารักขาในศาสนาที่ดีทั้งหลายด้วย แต่ก็ต้องศึกษาใหรู้จักธรรมในศาสนานั้นๆ โดยถูกต้องด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าผู้ประพฤติธรรมที่บริสุทธิ์ตลอดถึงที่เรียกพระอรหันต์นั้นพึงมีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกให้อารักขาโดยถูกต้อง และที่ตรัสแก่ภิกษุย่อมถือเอาความที่เป็นกลางๆ ได้ว่า ความตั้งใจหวังจะได้มีคนดีเข้ามานั้นย่อมเป็นการดี เพราะเมื่อมีคนดีๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันมาก ก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญแน่นอน

ในท้ายพระสูตรนี้ ได้ตรัสสรุปว่า ตราบใดที่อปริหานิยธรรม ๗ ข้อเหล่านี้จักตั้งอยู่ในวัชชีทั้งหลาย จักตั้งอยู่ในภิกษุทั้งหลาย และวัชชีทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจักปรากฏอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ข้อเหล่านี้ ตราบนั้นก็หวังความเจริญได้ฝ่ายเดียว ไม่มีเสื่อม ดังนี้

สมเด็จพระบรมราชบูรพการีโดยลำดับรัชสมัย ได้ทรงยังให้เกิดความยินดีชื่นบานโดยธรรม คือ โดยอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้ จึงทรงปกป้องไทยรัฐสีมาให้พ้นความเสื่อมพิบัติ ให้เจริญพัฒนาสถาพรโดยลำดับ ปรากฏพระราชกัลยาณเกียรติเป็นรัฐเจดีย์ยืนอยู่คู่ชาติ

สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงพระราชปรารภอภิลักขิตมงคลกาล แห่งพระราชพิธีฉัตรมงคลเฉลิมพระราชสมบัติสิริรัชพรรษา จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมบูรพการีโดยพระราชคารวการด้วยกำลังพระกตัญญูกตเวทิตาคุณ ชื่อว่าได้ทรงสักการะเคารพบูชาอุดมเจดีย์แห่งชาติ ตามนัยแห่งอปริหานิยธรรมสูตร พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติทั้งปวงนี้ย่อมเป็นเครื่องกางกั้นสรรพพิบัติอนิฏฐผล อำนวยสรรพสมบัติอิฏฐผล ทั้งเป็นเครื่องอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมด้วยพระบรมราไชศวรรยาธิปัติให้สถิตสถาพรเกษมสวัสดี

ขออำนาจพระราชกุศลทักณิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมพิตรพระราชสมภารเจ้าได้ทรงบำเพ็ญให้ตั้งอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์ และทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบูรพการีทั้งนี้ จงสัมฤทธิ์เป็นพระราชหิตสุขวิบากสมบัติ แด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการี สมตามพระบรมราชอุทิศถวายโดยฐานนิยมทุกประการ

อนึ่ง ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย อานุภาพพระราชกุศลบารมีบุญญาธิการ และอานุภาพแห่งสมเด็จพระบรมราชบูรพการี จงอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา ให้ทรงพระเจริญด้วยสรรพสิริสวัสดิ์พิพิธพรมงคล แผ่พระบรมโพธิสมภารบารมีเป็นฉัตรอันใหญ่ไพศาลเป็นที่ร่มเย็นทั่วไทยรัฐสีมาอาณาเขต

รับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในอปริหานิยธรรมกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ยุติด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร. 


*ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในพระราชพิธีทักษิณานุปทาน  เบื้องต้นพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 17 มกราคม 2562 16:07:46 »

.



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

สัจจธรรมกถา

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ  โส สุจิ โส จ พฺรหมฺมโณติ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระราชกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบำเพ็ญน้อมอุทิศส่วนพระราชกุศลถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาปชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยาม ในสุรทินตรงกับวันเสด็จสวรรคต ดังที่ได้ทรงเคยบำเพ็ญเป็นการประจำปี เป็นการทรงแสดงพระราชประวัติและความกตัญญูกตเวที อันสถิตมั่นอยู่ในพระราชหฤทัย ตามควรแก่กิจและโอกาสอันเวียนมาถึงฯ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาปชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยามพระองค์นั้น ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ปรากฏตามพระราชประวัติว่าพระองค์ได้เสด็จอุบัติในขัตติราชสกุลอันมหาศาล เป็นที่นับถือเคารพในหมู่ชน ดังพระพุทธภาษิตว่า ขตฺติโย เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ เย โคตฺตปฺปฏิสาริโน แปลว่า กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐในหมู่ชนผู้นับถือโคตรคือชาติสกุล ก็แลความเกิดในสกุลสูง ท่านแสดงว่าเป็นผลแห่งบุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในกาลก่อน และบุพเพกตปุญญานิ นอกจากเป็นเหตุให้เกิดในสกุลสูงแล้ว ยังเป็นนิสสัยบารมี คือเป็นพื้นฉลาด พื้นดีรวมเรียกว่าพื้นดี  ท่านผู้มีพื้นดีมาแล้ว อาจอบรมให้ดียิ่งขึ้นได้โดยง่าย ตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่มีพื้นดีมาก่อน แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าทรงพระคุณอันประเสริฐเป็นประการแรก

อนึ่ง ได้ทรงศึกษาอบรมในศิลปะ พาหุสัจจะ สีลาทิคุณ และถึงรัฐาภิปาลโนบายและอื่นๆ อันควรที่ขัตติยราชกุมารพึงศึกษาอบรมเป็นอย่างดีทุกประการ จึงทรงฉลาดสามารถ ทั้งทรงตั้งอยู่ในธรรมตามฐานะอันควรสม่ำเสมอมา แม้เพราะเหตุนี้จึงชื่อว่า ทรงพระคุณอันประเสริฐ

อนึ่ง เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าก็ได้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเมตตา พระกรุณาดั่งบิดาปกครองบุตร ทรงตั้งอยู่ในราชธรรมจรรยาของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดแก่ประชาราษฎร์เป็นที่ตั้ง ทรงดำเนินไปตามควรแก่การณ์ คือเหตุที่ยังให้ทำอันเรียกว่าการณวสิกะ ผู้ดำเนินไปตามอำนาจการณ์ แต่ก็เพื่อผลเช่นนั้น ฉะนั้น การณ์ใดอันเป็นเหตุให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อยสวัสดีแก่ประชาราษฎร์อันเรียกว่าประเทศชาติโดยส่วนรวม แม้จะต้องมีการเสียสละความสุขส่วนพระองค์ก็ทรงปฏิบัติการนั้นเป็นประชาพลีหรือชาติพลี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างบริสุทธิ์ในประชาราษฎร์ทั่วไป ดังปรากฏในพระราชประวัติมาโดยลำดับ ทั้งทรงรักษาธรรมคือความถูกต้องไว้โดยมั่นคง แม้จะต้องทรงสละสิ่งใดๆ ก็ตาม อนุวัตรพระพุทธศาสนสุภาษิตที่แสดงไว้ว่า


จเช  ธนํ  องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ  จเช  ชีวิตํ  รกฺขมาโน
องฺคํ  ธนํ  ชีวิตญฺจาปิ  สพฺพํ
จเช  นโร  ธมฺมมนุสฺสรนฺโต
แปลว่า นรชนพึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งสิ้น แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่า ทรงพระคุณอันประเสริฐ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาปชาธิปกฯ ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ แม้โดยนับที่ได้ถวายวิสัชชนาเพียงบางประการนี้ เพราะทรงประพฤติธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งจักเลือกถวายวิสัชชนาในกถามรรคนี้ ๒ ข้อ คือสัจจะกับธรรม ตามพระพุทธภาษิตบทอุทเทศว่า

ยมฺหิ  สจฺจญฺจ  ธมฺโม  จ   โส  สุจิ  โส  จ  พฺราหฺมโณ
แปลว่า สัจจะและธรรมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นผู้สะอาด เป็นคนดี,

พระพุทธภาษิตนียกรรม ๒ ข้อ คือ สัจจะและธรรม ว่าเป็นเครื่องทำให้บุคคลผู้ที่มีอยู่ ให้เป็นคนสะอาด เป็นคนดี ธรรม ๒ ข้อนี้เป็นไปในกรรมบ้าง เป็นไปในปรมัตถ์บ้าง

ที่เป็นไปในกรรมนั้น  สัจจะ แปลว่าภาวะที่ติดต่อสืบเนื่องกัน อันเป็นลักษณะของความเพียร, แปลตามลักษณะว่าความทำจริง ประกอบด้วยวิริยะ (เพียร) ขันติ (อดทน) อธิษฐาน (กำหนดแน่ ตั้งประณิธานมั่น มุ่งมั่น)  รวมกัน ธรรมแปลว่าภาวะหรือสภาวะที่ทรงไว้ หมายถึงส่วนที่ดีที่ชอบที่ทรงภาวะหรือสภาวะของตนเองไว้ และทรงรักษาบุคคลไว้ไม่ให้ตกต่ำ  ดังบทว่า ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี แปลว่า ธรรมมีปกติทรงรักษาผู้ประพฤติธรรมนั้น มิให้ตกไปในโลกที่ชั่ว ส่วนที่ชั่วที่ผิดตรงกันข้ามเรียกว่าอธรรม

แสดงเป็นกลางๆ สัจจะให้สำเร็จเป็นกรรมคือการงานที่ทำทุกอย่าง เพราะต้องทำจริง การงานจึงสำเร็จจริง และเมื่อประกอบด้วยธรรม ก็เป็นกุศลกรรม สุจริตกรรม เมื่อประกอบด้วยอธรรมก็เป็นอกุศลกรรม ทุจริตกรรม ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อคนตั้งอยู่ในธรรม จะทำอะไรก็เป็นกุศลสุจริต เรียกว่ามีสัตย์มีธรรม แต่เมื่อตั้งอยู่ในอธรรม จะทำอะไรก็เป็นอกุศลทุจริต เรียกว่ามีอสัตย์อธรรม โดยที่แท้ก็เป็นสัจจะ แต่ประกอบด้วยอธรรมจึงพลอยถูกเรียกเป็นอสัตย์

ธรรมและอธรรมทั้ง ๒ มีวิบากคือผลไม่เสมอกันดังพระพุทธภาษิตว่า  


น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ       อุโภ สมวิปากิโน
อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ
แปลว่า ธรรมและอธรรมทั้ง ๒ หามีวิบากเสมอกันไม่ อธรรมนำไปสู่นิรยะ, ธรรมนำไปสู่สุคติ และมีพระพุทธภาษิตตรัสยกธรรมว่า

นิรยํ  ปาปกมฺมนฺตา     ปุญฺญกฺมมา  จ  สุคตึ
แปลว่า ผู้มีกรรมชั่ว ไปสู่นิรยะ, ผู้มีกรรมบุญไปสู่สุคติ  พระพุทธภาษิตทั้ง ๒ นี้ มีอรรถ (เนื้อความ) อย่างเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะผู้ทำกรรมนั้นๆ

กมฺมสฺสโก มีกรรมเป็นของตน คือเป็นเจ้าของกรรมที่ทำเองตั้งแต่เมื่อทำฯ

กมฺมทายาโท เป็นทายาทผู้รับผลที่พึงเผล็ดให้ของกรรม คือกรรมของตนนั้นเผล็ดผลใดให้เมื่อใด ก็ต้องรับผลนั้นเมื่อนั้นฯ

กมฺมโยนิ  มีกรรมเป็นกำเนิด คือเป็นเหตุก่อเกิดผลเช่นให้เป็นคนดี เพราะกรรมดี ให้เป็นคนชั่วเพราะกรรมชั่วตั้งแต่เมื่อทำฯ

กมฺมพนฺธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือเป็นเหมือนญาติผู้ห้อมล้อมให้สุขทุกข์สืบเนื่องไป หรือเป็นพันธุ์ คือเป็นเหตุแห่งผลสืบเนื่องไปดังสายสกุลวงศ์

กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นที่อาศัยไป คือไปกับกรรมไม่ว่างเว้น บุคคลไปในที่ใดๆ ก็มิใช่ไปโดยลำพัง แต่ไปกับกรรม มีกรรมเป็นคติไปและก็ปรากฏเช่นนั้น จนถึงเมื่อมีผู้มาก็เรียกทักกันด้วยกรรม เช่นว่า ข้าราชการ พ่อค้า หมอ พระเณร อุบาสก อุบาสิกา เจ้านาย ตลอดไปถึงพระราชาพระราชินีเสด็จ ในทางตรงกันข้ามก็เรียกทักกันว่า โจรผู้ร้าย ผู้ทุจริตมา นี้ก็เรียกกรรมที่บุคคลมาหรือไปด้วยนั่นเอง ถ้าเป็นคนแปลกหน้า ยังไม่รู้จัก ก็คอยสังเกตก่อนว่า เขาเป็นคนดีหรือร้าย มาดีหรือร้าย นี้ก็สังเกตกรรม ถ้าเป็นคนดี มาดี ก็ต้อนรับดังคำว่า สวาคตะ มาดี คือขอเชิญ ถ้าเป็นคนมาร้ายก็ไม่ต้อนรับ ดังคำว่า ทุราคตะ มาร้าย คือให้ไปเสียฯ

ผู้มีสัจจะและธรรม ประกอบกุศลสุจริตกรรม ย่อมเป็นคนสะอาด เพราะมีกรรมทางกายวาจาใจสะอาด เป็นคนดีที่พึงยกย่องนับถือบูชาและต้อนรับ เพราะเป็นผู้มีอหิงสา ไม่เบียดเบียน มีสัญญมะ สำรวมระวังป้องกันชั่วร้าย  มีทมะ ฝึก ปราบ แก้ไขชั่วร้ายให้เป็นดีเป็นคุณ จึงเป็นผู้ที่ไม่ตาย เพราะธรรมเหล่านี้ ดังพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ขยายข้อธรรมออกไปอีกว่า


ยมฺหิ  สจฺจญฺจ  ธมฺโม  จ     อหึสา  สญฺญโ  ทโม
เอตทริยา  เสวนฺติ เอตํ  โลเก  อนามตํ
แปลว่า สัจจะ ธรรม อหิงสา สัญญมะ ทมะ มีในผู้ใด ท่านผู้ประเสริฐย่อมคบคนผู้นั้น นี้เป็นธรรมที่ไม่ตายในโลกฯ

อนึ่ง ที่เป็นไปในปรมัตถ์นั้น สัจจะแปลว่า ภาวะหรือสภาวะที่มีที่เป็นอยู่ ได้แก่ ความจริง ธรรมก็แปลเหมือนในข้อต้น แต่หมายถึงภาวะหรือสภาพที่เป็นธรรมฐิติ (ตั้งอยู่ตามธรรมดา)  ธรรมนิยม (กำหนดตามธรรมดา) กลางๆ ทั่วไป ทั้ง ๒ นี้ จึงมีอรรถเป็นอย่างเดียวกัน เรียกรวมว่า สัจจธรรม   สัจจธรรมในทางโลกธาตุ ได้แก่ หลักธรรมชาติธรรมดาของโลกธาตุทั่วๆ ไป  ในทางธรรม ได้แก่หลักธรรมทั้งหลาย เช่น หลักธรรม หลักอริยสัจจ์ ผู้ศึกษาให้รู้สัจจธรรมเหล่านี้ ละส่วนที่ควรละ อบรมส่วนที่ควรอบรมโดยชอบ ย่อมเป็นผู้สะอาดเป็นผู้ดีตามขั้นๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาปชาธิปกฯ ได้ทรงตั้งอยู่ในสัจจะและธรรมอันเป็นกรณี ทรงตระหนักในหลักกรรม เป็นต้น อันเป็นสัจจธรรมแต่ละอย่าง จึงไม่ทรงหรือฟุบไปตามอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ที่เกิดขึ้นตามคราว ทรงรักษาหลักกรรมไว้โดยมั่น แม้ด้วยจาคธรรมอย่างสูง พระราชปฏิบัติใหญ่น้อยจึงประกอบด้วยอหิงสา (ไม่เบียดเบียน)  สัญญมะ (สำรวมระวังป้องกัน)  ทมะ (ฝึกข่มบำบัด)  ส่อให้เห็นพระมหากรุณาธิคุณอันแผ่ไปในอาณาประชาราษฎร์โดยส่วนรวม

สฺวาคตํ  เต  มหาราช  อโถ  เต  อทุราคตํ
พระมหาราชเจ้า เชิญพระองค์เสด็จมาประทับเป็นที่สักการะเคารพตลอดนิรันดรสมัย

ขออำนาจพระราชกุศลบุญราศีทักษิณานุปทานที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าได้ทรงบำเพ็ญน้อมอุทิศถวายพระราชกุศลทั้งนี้ จงสัมฤทธิ์ พระราชสิริสวัสดิอิฐวิบุลผลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาปชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยาม สมตามพระราชประณิธานุทิศโดยฐานะทุกประการ

ถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา พอสมควรแก่เวลา ด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพรฯ



ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๕
ขุ. ชา. อสีติ./๑๔๗





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

จิตตภาวนากถา*

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ
องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ
จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโตติ.

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมีอนุรูปพระราชกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบำเพ็ญน้อมอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยาม ในสุรทินตรงกับวันเสด็จสวรรคต ดังที่ได้ทรงเคยบำเพ็ญเป็นการประจำปี เป็นการทรงแสดงพระราชปกติวัตร และความกตัญญูกตเวทิอันสถิตมั่นอยู่ในพระราชหฤทัย ตามควรแก่กิจและโอกาสอันเวียนมาถึง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยามพระองค์นั้น ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ปรากฏตามพระราชประวัติว่า พระองค์ได้เสด็จอุบัติในขัตติยราชสกุลอันมหาศาล เป็นที่เคารพนับถือในหมู่ชน ดังพระพุทธภาษิตว่า

ขตฺติโย เสฏฺโฐ ชเนตสฺมึ     เย โคตฺตปฏิสาริโน
แปลว่า กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐในหมู่ชนผู้นับถือโคตรคือชาติสกุล.

ก็แล ความเกิดในสกุลสูง ท่านแสดงว่าเป็นผลแห่งปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในกาลก่อน และบุพเพกตปุญญุตานี้ นอกจากเป็นเหตุให้เกิดในสกุลสูงแล้ว ยังเป็นนิสสัยบารมี คือเป็นพื้นฉลาด พื้นดี รวมเรียกว่าพื้นดี ท่านผู้มีพื้นดีมาแล้ว อาจอบรมให้ดียิ่งขึ้นได้โดยง่าย ตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่มีพื้นดีมาก่อน แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นประการแรก

อนึ่ง ได้ทรงศึกษาอบรมในศิลปะ พาหุสัจจะ สีลาทิคุณ ตลอดถึงรัฐาภิปาลโนบาย และอื่นๆ อันควรที่ขัตติยราชกุมารพึงศึกษาอบรมเป็นอย่างดี จึงทรงฉลาดสามารถ ทั้งทรงตั้งอยู่ในธรรมตามฐานะอันควรสม่ำเสมอมา แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่า ทรงพระคุณอันประเสริฐ

อนึ่ง เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ก็ได้ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเมตตา พระกรุณาดั่งบิดาปกครองบุตร ทรงตั้งอยู่ในราชธรรมจรรยาของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ทรงมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดแก่ประชาราษฎรเป็นที่ตั้ง ทรงดำเนินไปตามควรแก่การณ์ คือเหตุที่ยังให้ทำอันเรียกว่า การณวสิกะ ผู้ดำเนินไปตามอำนาจการณ์ แต่ก็เพื่อผลเช่นนั้น ฉะนั้น การณ์ใดอันเป็นเหตุให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อยสวัสดีแก่ประชาราษฎรอันเรียกว่าประเทศชาติโดยส่วนรวม แม้จะต้องมีการเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ก็ทรงปฏิบัติการนั้นเป็นประชาพลี หรือชาติพลีด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างบริสุทธิ์ในประชาราษฎรทั่วไป ดังปรากฏในพระราชประวัติมาโดยลำดับ ทั้งทรงรักษาธรรมคือความถูกต้องไว้โดยมั่นคง แม้จะต้องทรงสละสิ่งใดๆ ก็ตาม อนุวัตรพระพุทธศาสนสุภาษิตที่แสดงไว้ว่า:-


จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ    จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต

แปลว่า นรชนพึงสละทรัพย์เพราะอวัยวะที่ดี พึงสละอวัยวะรักษาชีวิต เมื่อระลึกถึงธรรมพึงสละอวัยวะ ทรัพย์และแม้ชีวิตทั้งสิ้น แม้เพราะเหตุนี้ จึงชื่อว่าทรงพระคุณอันประเสริฐ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าสยาม ทรงเป็นผู้ทรงพระคุณทั้งปวงอันประเสริฐ เพราะทรงพระบารมีอันทรงอบรมมาดีแล้ว ทรงมีพระราชศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย ทรงอบรมพระองค์มาเป็นอันดีในพระธรรมแห่งพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยปริยายหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสสอนวิธีอบรมจิต ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเป็นหลักไว้ว่า “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอบรมสมาธิ  สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ  ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมรู้ตามเป็นจริงและได้มีพระบาลีแสดงอธิบายไว้ว่า คือ ย่อมรู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้  ความดับของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอย่างนี้” ดังนี้  ฉะนั้น การทำสมาธิ จึงเป็นกิจที่ควรอบรมปฏิบัติ เพราะสมาธิย่อมเป็นบาทของปัญญา คือเป็นฐานที่จะให้เกิดปัญญาขึ้น.

อันที่จริง สมาธิจิตคือจิตที่ตั้งมั่นย่อมเป็นภาวะที่ทุกๆ คนได้เคยมีอยู่ในการทำกิจการทั้งปวง น้อยบ้าง มากบ้าง เพราะจะต้องมีความตั้งใจในสิ่งที่ทำ เมื่อมีความตั้งใจในสิ่งที่ทำแน่วแน่ก็เรียกว่า มีจิตเป็นสมาธิอยู่ในสิ่งนั้น จึงทำให้การทำกิจการต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยดี แต่ว่าจิตที่มีสมาธิดังกล่าวนี้ เป็นจิตสามัญ ส่วนการทำสมาธิที่เป็นการปฏิบัติธรรมะนั้น มุ่งถึงการทำสมาธิเพื่อสงบนิวรณ์ในใจ  ฉะนั้น จึงจำที่จะต้องกำหนดให้รู้จักนิวรณ์ และให้รู้จักการปฏิบัติเพื่อสงบนิวรณ์ของจิต จิตใจนี้ย่อมมีความกลัดกลุ้มไม่สบายเพราะมีเรื่องต่างๆ เข้ามาพัวพัน สิ่งที่มาทำให้จิตกลัดกลุ้มไม่สบายนี้แหละ รวมเรียกว่า นิวรณ์ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องที่ชอบใจพอใจมาทำให้กลัดกลุ้มไม่สบาย บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่ชอบใจไม่พอใจ และบางทีก็เป็นเรื่องที่ซึมเซาอันทำให้จิตหดหู่ท้อแท้ บางทีก็เป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านหรือว่าบังเกิดความรำคาญ บางทีก็เป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจลังเลสงสัย เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจกลัดกลุ้มไม่สบายทั้งนั้น ซึ่งเกิดจากอารมณ์คือเรื่องต่างๆ และเมื่อมีเรื่องที่ทำให้นิวรณ์ในจิตเหล่านี้บังเกิดขึ้น ก็จะต้องแก้ไขกันตามเหตุที่ควรจะแก้ อันเป็นเรื่องของการงานภายนอกนั้นอย่างหนึ่ง แก้ที่ใจเองเพื่อที่จะทำให้จิตใจมีความสงบตั้งมั่นนั้นอีกอย่างหนึ่ง สำหรับการแก้ที่ทำการงานภายนอกนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งทุกคนจะต้องทำกันแก้กันไปตามควรแก่เหตุการณ์ต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น

แต่ว่าการทำสมาธินี้มุ่งที่การแก้จิตใจ คือการทำความสงบให้แก่ใจ ก็เพราะว่าความกลัดกลุ้มไม่สบายใจนั้นเป็นสิ่งที่มีแต่โทษ ทั้งเป็นเครื่องกำบังปัญญาไม่ให้เกิดขึ้น จึงสู้ทำให้จิตใจมีความสงบตั้งมั่นไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดปัญญาที่จะคิดแก้ไขเหตุการณ์ทั้งภายนอกได้ด้วย และแม้จะแก้ไม่ได้ก็จะมีปัญญาที่ปลงตกเพราะเห็นในกรรมและผลของกรรม และเห็นในความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย  ฉะนั้น การทำสมาธิจิตเพื่อระงับนิวรณ์อันทำให้เกิดความกลัดกลุ้มไม่สบายดั่งนี้ จึงเป็นเรื่องที่สมควร ทั้งเมื่อหัดทำอยู่เสมอจนจิตใจได้ความสงบจากนิวรณ์ คือเรื่องกลัดกลุ้มเหล่านั้นก็จะได้ความสุขโสมนัส

ก็แหละ วิธีปฏิบัติสำหรับเพื่อจะระงับนิวรณ์นั้นก็คือ การปฏิบัติทำกรรมฐานดังเช่นการทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ดังที่ได้มีแสดงไว้ในหมวดการกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น และถ้าหากว่าการกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้นยังรวมใจไม่ได้ ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาช่วย เช่นกำหนดพิจารณาถึงกรรมและผลของกรรม เพราะทุกคนก็ย่อมทำกรรมที่ดีบ้างไม่ดีบ้างไว้ และเมื่อถึงคราวที่กรรมนั้นจะให้ผลก็จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้ปลงลงไปในกรรมและผลของกรรม  อีกอย่างหนึ่ง กำหนดพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย เพราะสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับ สิ่งนั้นแม้จะชอบสักเท่าไรก็จะต้องดับไป จากไปในที่สุด สิ่งนั้นแม้จะชอบสักเท่าไร เมื่อถึงคราวที่จะเกิดก็จะเกิดให้ประสบ และในที่สุดถึงไม่ทำอะไรก็จะต้องดับไปจากไปอีกเหมือนกัน ชีวิตของบุคคลก็เป็นสิ่งที่มีเกิดมีดับอยู่เสมอ ปลงให้เป็นความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายดั่งนี้เป็นการใช้ปัญญา เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเข้ามาก็จะทำจิตใจให้สงบจากความฟุ้งซ่านและเมื่อจิตใจมีความสงบ จึงรวมใจเข้ามาทำสมาธิเช่นอานาปานสติ สติกำหนดลมเข้าออกก็จะช่วยให้ได้สมาธิง่ายขึ้น.

เมื่อได้สมาธิคือจิตใจรวมเข้ามา สงบจากนิวรณ์เข้าแล้ว ก็อาศัยสมาธินี้อบรมปัญญาคือความรู้ ปัญญาคือความรู้นี้ก็มุ่งดูให้รู้เบญจขันธ์ ความเกิดความดับของเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นปัญญาคือความรู้ในทางที่จะดับเดือดร้อน ก็เพราะว่าอันสมมุติบัญญัติในสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่ทุกๆ คนยึดมั่นถือมั่น ก็ตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้ รวมเข้ามาก็คืออยู่ในอัตภาพตัวตนอันนี้ อัตภาพคือตัวตนนี้เป็นสมมุติบัญญัติ และเมื่อไม่รู้เท่าทันในสมมุติบัญญัติก็มีตัวเราของเราอยากได้อยากดีและโผล่ออกไปรับเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้างอยู่เป็นอันมาก การที่จะรู้เท่าทันในสมมุติบัญญัติอันนี้ ก็ต้องค้นหาลงไปในสมมุติบัญญัติอันนี้ว่า มีอะไรบ้าง ดูที่ภายนอกคือที่ร่างกายอันนี้ ก็จะเห็นแต่รูปคือ รูปกาย มีลักษณะต่างๆ กัน สูงต่ำ ดำขาว มีวัยต่างๆ กัน  แต่ว่าเมื่อสรุปปลงลงแล้วก็ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ถือกำเนิดเกิดขึ้นในครรภ์มารดา เริ่มต้นแต่กลละ แล้วก็เติบใหญ่ขึ้นด้วยอาศัยอาหารก็เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นแหละเป็นอุปถัมภ์พอกพูน แล้วก็เจริญเติบโตขึ้นจนคลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้วก็เติบใหญ่ขึ้น  ในที่สุดรูปกายอันนี้ก็เสื่อมโทรมแก่เฒ่าแตกสลาย ธาตุทั้งหลายที่มารวมเข้าก็แยกกันไป ส่วนที่แข้นแข็งคือ ธาตุดิน ก็เป็นดินไป ส่วนที่เอิบอาบที่เป็นธาตุน้ำก็เหือดแห้งไป ส่วนที่อบอุ่นคือเป็นธาตุไฟก็ดับหายไป ส่วนที่พัดไหวคือธาตุลม ก็ดับไปหมดไป พรากไปในที่สุดก็เป็นความว่าง คือ เป็นธาตุอากาศไปทั้งหมด รูปขันธ์หรือรูปกายอันนี้ หรือกองรูปอันนี้ ธาตุกองเข้ามาและเมื่อแยกออกไปในที่สุดก็หมดไปสิ้นไปดับไป จึงไม่มีอะไรเป็นตัวเรา ของเรา เหลืออยู่ที่รูปกายอันนี้

คราวนี้ในส่วนใจก็แยกออกไปดู เวทนา คือตัวสุข ตัวทุกข์ หรือตัวกลางๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ที่เสวยอยู่ ก็เป็นสิ่งที่เกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  สัญญา คือความจำหมายก็เหมือนกันเป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่เสมอ  สังขารคือความคิดปรุงหรือปรุงคิดก็เป็นสิ่งที่เกิดดับอยู่เสมอ วิญญาณคือตัวความรู้สึกเห็นรูป ได้ยินเสียง เป็นก็เกิดดับอยู่เสมอ เมื่อแยกดูอาการของจิตใจดั่งนี้แล้วว่า เป็นสิ่งที่เกิดดับจึงไม่มีความเป็นตัวตนเราเขาอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอันนี้ หัดพิจารณาดูให้รู้จักหน้าตาของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ อาศัยสติกำหนดดูอยู่ก็ย่อมจะรู้จะเห็นในความเกิดในความดับของกองทั้ง ๕ นี้ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ความรู้ที่เข้าถึงความเกิดความดับก็ย่อมจะประจักษ์ในความจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ อันหมายถึงว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ  ทุกๆ สิ่งที่เกิดดับเรียกว่าเป็นทุกข์ คือว่าสิ่งที่เกิดดับนั้นเป็นทุกข์เอง คือเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ลักษณะที่ดำรงอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป นี้แหละเรียกว่าตัวทุกข์  ทุกๆ สิ่งที่เกิดดับจึงเป็นตัวทุกข์ และสิ่งนั้นเป็นตัวทุกข์เอง เมื่อบุคคลพิจารณาดูจนเห็นในสิ่งที่เป็นตัวทุกข์นี้ อันได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งรวมกันเข้าเป็นตัวสมมุติว่าเป็นอัตภาพหรือกายใจทั้งสิ้นนี้ ก็ย่อมจะเกิดความรู้ประจักษ์ตามที่ภาษิตว่า “นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ” คือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกสิ่งก็ย่อมไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นตัวทุกข์และสิ่งที่ดับก็ย่อมไม่พ้นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นตัวทุกข์  เพราะฉะนั้น “ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ”  เมื่อมีความรู้เห็นดั่งนี้ ผู้รู้ผู้เห็นนั้นจึงไม่เป็นทุกข์ แต่ว่าสิ่งที่เห็นเป็นทุกข์เองอยู่ตามสภาพหรือตามธรรมดา แต่ผู้รู้ผู้เห็นไม่เป็นทุกข์ ผู้รู้ผู้เห็นนี้เองเป็นผู้อยู่เหนือทุกข์ ไม่ประกอบไปกับทุกข์

เพราะฉะนั้น ปัญญาคือความรู้ที่กำหนดดูเข้ามาให้รู้อัตภาพหรือกายใจทั้งสิ้นนี้หรือที่แยกออกเป็นกองทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นข้อสำคัญซึ่งจะมีขึ้นได้ก็อาศัยการทำจิตใจให้มีสมาธิ ชำระจิตจากนิวรณ์เสียก่อน ถ้าจิตยังมีนิวรณ์อยู่มาก ก็เห็นไม่ได้ และเมื่อเห็นไม่ได้ก็อยู่กับทุกข์  เมื่ออยู่กับทุกข์จึงเป็นทุกข์ ก็เหมือนอย่างกองไฟ ถ้าอยู่กับไฟก็ร้อน แต่ถ้าไม่อยู่กับไฟเป็นผู้อยู่เหนือหรือยืนดูกองไฟอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับไฟก็ไม่ร้อน  ฉะนั้น การทำสมาธิและการอบรมปัญญาในทางพระพุทธศาสนา จึงเป็น เอโก มคฺโค คือเป็นทางอันเดียวที่จะดับความทุกข์ร้อนของใจได้ และเมื่อได้ฝึกหัดปฏิบัติอยู่ก็ย่อมจะดับทุกข์ร้อนของใจได้ แม้ในเรื่องสามัญทั่วๆ ไป กล่าวคือเมื่อมีเรื่องอะไรเข้ามาทำให้กลัดกลุ้มใจทุกข์ร้อนก็เข้าห้องพักคือสมาธิอันเป็นห้องพักของใจ ทำใจกำหนดดูความจริงของสังขารทั้งหลาย จิตใจก็จะมีความปลอดโปร่งสว่างแจ่มใส และเมื่อได้เข้าห้องพักคือสมาธิและอบรมปัญญาบำรุงจิตใจให้มีความสงบแก่กล้าขึ้น เมื่อจะออกไปต่อสู้กับโลกเกี่ยวกับเรื่องอะไรต่ออะไรซึ่งเป็นเรื่องเดือดร้อน ก็ย่อมจะเป็นผู้เข้มแข็ง และจะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาในอันที่จะได้ใช้ความคิดอ่านได้แจ่มใสขึ้น เผชิญกับเหตุการณ์ทั้งหลายได้มากขึ้น เมื่อทุกข์ร้อนเข้ามาก็เข้าห้องหลบภัย คือสมาธิและปัญญา  เพราะฉะนั้น การปฏิบัติในทางสมาธิและปัญญานี้ จึงเป็นกิจที่ควรทำ

แต่ว่าในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องมีข้อที่เป็นอุปการะ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เข้ามาปฏิบัติแล้วจะให้ใช้รับผลทันที ดั่งนี้ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ จะต้องมีข้อที่เป็นอุปการะอันเป็นขึ้นเตรียมเป็นต้นว่า อบรมจิตใจให้มีหิริมีโอตตัปปะ คือมีความละอายใจต่อความชั่ว เกรงกลัวต่อความชั่ว ประพฤติทางกายวาจาใจให้บริสุทธิ์สะอาด ประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์สะอาด มีสติที่จะสำรวมใจในเวลาที่เผชิญกับอารมณ์ทั้งหลายทางตาหูเป็นต้น รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร และไม่เห็นแก่หลับนอนจนเกินไป ประกอบความเพียรในการที่จะทำให้ตื่นอยู่ตามสมควร หัดทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวในอิริยาบถทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอิริยาบถใหญ่และทั้งที่เป็นอิริยาบถน้อย และข้อสำคัญก็ปฏิบัติในทางที่จะชำระจิตใจจากนิวรณ์ เมื่อได้ปฏิบัติในข้อที่เป็นอุปการะ หรือเป็นขั้นเตรียมเหล่านี้พอสมควรแล้ว การทำสมาธิจิตที่สะดวกขึ้น การอบรมปัญญาคือความรู้ก็สะดวกขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอบรมพระราชหฤทัยมาเป็นอันดีในทางพระธรรมในพระพุทธศาสนา แม้โดยนัยที่ถวายวิสัชนามา จึงทรงดำรงพระองค์อยู่ด้วยดีในราชธรรมจริยา และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยนานัปการ ทรงปฏิบัติในทางแห่งสันติซึ่งให้เกิดผลตามพระพุทธภาษิตว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขยิ่งไปกว่าสันติคือความสงบไม่มี” ด้วยประการฉะนี้

ขออำนาจพระราชกุศลทักษิณานุปการที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบำเพ็ญน้อมถวายพระราชกุศลทั้งปวงนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ผลิตพระราชหิตสุขสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมดั่งพระราชหฤทัยน้อมอุทิศ

ถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในจิตตภาวนากถา สนองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธฯ กรุงเทพมหานคร วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 มกราคม 2562 15:49:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 21 มกราคม 2562 16:23:52 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ปิยกรณธรรมกถา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ     ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ
อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ตญฺชโน กุรุเต ปิยนฺติ


บัดนี้ จักถวายวิสัชชนาปิยกรณธรรมกถา ประดับพระปัญญาบารมี เพิ่มพูนพระราชกุศลราศีส่วนทักษิณานุปทาน ซึ่งคณะราชินีและนักเรียนเก่าราชินี มีหม่อมเจ้าวงศ์ทิพยสุดา เทวกุล พระอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีบน (บางกระบือ) และทรงเป็นผู้จัดการโรงเรียนราชินีทั้งสอง พร้อมทั้งหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล พระอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินี ตำบลปากคลองตลาด ทรงเป็นประธานแห่งคณะทักณิณานุปทานปตานี ได้พร้อมกันบำเพ็ญอุทิศถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดีตอัฏฐรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์ ด้วยความเคารพและจงรักภักดี

ในการนี้ พระบรมวงศบพิตรก็ได้เสด็จมาประทับเป็นประธานแห่งคณะราชินีสมาคม อันประกอบด้วยขัตติยานีผู้สูงศักดิ์และกุลสตรีทุกชั้นทุกวัย ตลอดถึงยุวดีกุมาริกาผู้กำลังเล่นอักขรสมัย เป็นกัลยาณีสันนิบาตอันยากที่จะมี เป็นอันได้ทรงยังกุศลสมาคมนี้ให้ถึงความบริบูรณ์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดีตรัฏฐมรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์นั้น ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้พระประมุขแห่งชาติ ทรงดำรงอยู่ในฐานเป็นบุพพการีเป็นที่ร่มเกล้าแห่งประชาราษฎร์ เพราะปฏิบัติราชกิจน้อยใหญ่แห่งคณะอมาตยมนตรีทั้งปวง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแห่งประชาราษฎร์ ย่อมอาศัยพระบารมีและเป็นไปในพระปรมาภิไธย คณะราชินีและนักเรียนเก่าราชินีเมื่อได้ระลึกถึงพระราชบูรพคุณูปการที่มีแก่ตนในฐานะที่เป็นประชาชนราษฎรผู้อาศัยร่มพระบารมีและพร้อมกันบำเพ็ญกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ ชื่อว่าได้ประกาศความกตัญญูกตเวทีพร้อมทั้งถวายความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ของตนตามควรแก่ฐานะและสมัย

อนึ่ง โรงเรียนราชินีมีประวัติเนื่องด้วยสมเด็จพระขัตติยานีผู้ใหญ่แห่งราชสกุลหลายพระองค์ ตั้งต้นแต่ประทานดำเนินก่อตั้งและประทานพระอุปถัมภ์ให้เป็นมาคณะราชินีและนักเรียนเก่าราชินี เมื่อระลึกเช่นนี้และน้อมเข้ามาว่าพระคุณูปถัมภ์นั้นๆ ย่อมเนื่องมาถึงตนผู้ได้อาศัยโรงเรียนนั้นเล่าเรียนศึกษา จึงพร้อมกันบำเพ็ญกุศลถวายอดีตอัฏฐมรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์ ผู้ทรงสืบขั้นพระราชกุลวงศ์มา ชื่อว่าได้ประกาศความกตัญญูกตเวทีพร้อมทั้งถวายความจงรักภักดีสืบขึ้นไปถึงพระองค์ผู้ประทานกำเนิดก่อตั้งและประทานพระอุปถัมภ์อีกส่วนหนึ่ง

คณะราชินีและนักเรียนเก่าราชินี ผู้อันความกตัญญูกตเวทีพร้อมทั้งความจงรักภักดีเตือนให้เกิดคุณอุตสาหะ ในอันบำเพ็ญทักณิณานุปทานถวายพระราชกุศลปรารภเหตุดังถวายวิสัชชนาโดยประการ ชื่อว่าได้บำเพ็ญกรณียะ คือกิจที่ควรทำ นำให้เกิดประโยชน์อีกหลายประการ มีอาทิคือ ได้บำเพ็ญทาน ได้สมาทานศีล ได้ฟังสวดมนต์และฟังธรรม อันเป็นเครื่องอบรมภาวนา ได้แสดงสามัคคีคือความพร้อมเพรียงกันในทางที่ชอบเป็นธรรมสามัคคี ได้มาประชุมพบกันเป็นการเพิ่มพูนไมตรีและสามัคคีรสให้ยิ่งขึ้น ประโยชน์เหล่านี้ล้วนแต่อันความกตัญญูกตเวทีพร้อมทั้งความจงรักภักดีนำให้เกิดให้เจริญ สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสสรรเสริญไว้ว่า


โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ      กตตฺโถ อนุพุชฺฌติ
อตฺถา ตสฺส ปวฑฺฒนฺติ เย โหนฺติ อภิปตฺถิตา

แปลความว่า ผู้ใดอันทำคุณงามทำประโยชน์ให้ในกาลก่อนย่อมรู้ถึงคุณของท่าน ประโยชน์ทั้งหลายที่ปรารถนาย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดีตอัฏฐมรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์ ได้ทรงประกอบด้วยพระคุณลักษณาดิศัยพิเศษ เป็นเหตุนำให้ทรงเป็นที่เคารพรักของพสกนิกรทั่วไป ตลอดถึงชนชาวต่างประเทศได้เคยเข้าเฝ้าหรือแม้เพียงเคยเฝ้าชมพระบารมี เมื่อกำลังเสด็จประทับทรงศึกษาอยู่ ณ ไพรัชประเทศอันห่างไกลประชาราษฎรทั้งหลายต่างก็หวังกาลเป็นที่เสด็จมา และหวังให้ทรงถึงความสำเร็จแห่งพระราชศิลปวิทยาทั้งทรงพระสำราญ ต่างก็คอยกาลเช่นนั้นอยู่ จนถึงเมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตรกลับสู่ประเทศทั้งในครั้งแรก ทั้งในครั้งหลังที่ถูกประชาราษฎทั้งหลายผู้คอยเวลาอยู่เป็นเวลาแรมปี ต่างก็พากันโสมนัสยินดีรื่นเริงเบิกบาน ดุจกสิกรชาวนาผู้คอยฝนต่างก็ยินดีชื่นบานเมื่อฝนตกลงมา ยังข้าวกล้าที่แห้งเหี่ยวคอยน้ำอยู่ให้กลับสดชื่นเขียวชอุ่มทั่วเกษตรมณฑลนั้น และต่างก็พากันเฝ้าชมพระบารมีตั้งแต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตรกลับถึงพระนคร และในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินยังสถานต่างๆ ก็พากันไปคอยเฝ้าชมพระบารมี ต้องการเห็นพระองค์ ต้องการได้ยินพระสุรเสียง เมื่อได้เฝ้าเพียงห่างๆ แล้ว ก็ต้องการเฝ้าในระยะใกล้ ให้ได้เห็นได้ยินได้ใกล้ชิดโดยไม่อิ่มไม่เบื่อ ไม่อยากให้เสด็จคลาดพ้นคลองแห่งสายตา ความปรากฏขึ้นแห่งพระองค์จึงเป็นการหลั่งโปรยความชื่นบานยินดี ทวีความรักเคารพและความจงรักภักดีในพระองค์ จึงทรงเป็นที่เคารพ เป็นพระปิยมหากษัตริย์แห่งปวงประชาราษฎร์และเป็นที่หวังว่าจะเสด็จสถิตย์อยู่เป็นที่พึ่งร่มเย็นตลอดจิรกาล แต่ความหวังนั้นก็พลันสิ้น เพราะพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้เสด็จสวรรคตล่วงอัฏฐมรัชชกาล ยังความเศร้าโศกปิยะวิปโยคทุกข์อย่างใหญ่ให้เป็นไปในหมู่ประชาชนผู้จงรักภักดีทั่วไป เคยได้เห็นพระองค์ ได้ยินพระสุรเสียงเมื่อเฝ้าชมพระบารมี ก็จักไม่ได้เห็น ได้ยินได้ชมอีกต่อไป มฤตยุราชผู้มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ได้พรากพระองค์ไปเสียแล้ว แสดงให้เห็นแจ้งชัดในคติธรรมดาตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า


อนิมิตฺตมนญฺญาตํ     มจฺจานํ อิธ ชีวิตํ
กสิรญฺจ ปริตฺตญฺจ     ตญฺจ ทุกฺเขน สํยุตฺตํ

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายผู้ต้องตายในโลกนี้ ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ใครๆ ไม่รู้กำหนด ทั้งคับแคบเล็กน้อย และประกอบด้วยทุกข์

ทหรา จ มหนฺตา จ     เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ    สพฺเพ มจฺจุปรายนา

ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ทั้งผู้โง่ ผู้ฉลาด ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายเป็นเบื้องหน้าทั้งหมด

น สนฺติ ปุตฺตา ตาณาย     น ปิตา นปิ พนฺธวา
อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส นตฺถิ ญาตีสุ ตาณตา

ไม่มีบุตร ไม่มีบิดา ไม่มีเผ่าพันธุ์พวกพ้องจะช่วยต้านทาน เมื่อผู้จะต้องตายถูกความตายผู้ทำที่สุดชีวิตครอบงำแล้ว การช่วยป้องกันต้านทานไม่มีในญาติทั้งหลาย

คติธรรมดาแห่งชีวิตตามกระแสพระพุทธภาษิตนี้ ย่อมปรากฏให้ได้เห็นได้ยินอยู่เสมอ แต่เมื่อไม่พิจารณาให้ตระหนักชัดแก่ใจ ก็ยอ่มระเริงยินดีเพลิดเพลินอยู่ ไม่พิจารณาหาธรรมอันจะเป็นที่พึ่งอันยั่งยืน เมื่อร่างกายต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงชำรุดทรุดโทรมด้วยอำนาจชราจนถึงแตกสลายด้วยอำนาจมรณะ จึงกระสับกระส่ายเดือดร้อนวุ่นวาย และหาทางแก้ไขเพื่อมิให้ต้องแก่ต้องตาย แต่ก็ได้เพียงตบแต่งทำนุบำรุงชั่วครั้งคราวพอเป็นเครื่องย้อมตาย้อมใจให้ยื่นบานยินดี ความชื่นบานยินดีด้วยเครื่องย้อมตาย้อมใจนี้มีมากเพียงใด ก็จักต้องร้องไห้เศร้าโศกเสียใจมากเพียงนั้น  เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสสอนพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อวักกลิผู้ติดใจในพระรูปกายของพระองค์และเที่ยวตามดูอยู่ว่า ประโยชน์อะไรด้วยกายเน่านี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นก็เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม แม้จะจับชายผ้าสังฆาฏิของเราอยู่ ก็หาเห็นเราไม่ดังนี้  เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาให้ตระหนักในคติของชีวิต บรรเทาความติดหมกมุ่นอยู่เพียงกาย แล้วพิจารณาแสวงหาธรรมต่อไป

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระองค์นั้น ได้ทรงเป็นที่รักเคารพของประชาชน เพราะทรงประกอบด้วยธรรม อันทำให้เป็นที่รักเคารพ ตามพระพุทธภาษิตที่ยกไว้ ณ เบื้องต้น ว่า


สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ     ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ
อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ตญฺชโน กุรุเต ปิยํ

แปลความว่า ประชาชนย่อมทำท่านผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและทัศนะ ตั้งอยู่ในธรรม มีสัจจะวาจา ทำการงานของตนนั้นให้เป็นที่รัก ดังนี้ มีอธิบายโดยสังเขปว่า

ถึงพร้อมด้วยศีล คือมีความประพฤติดีไม่บกพร่อง เพราะงดเวลาจากโทษอันพึงครหา และตั้งอยู่ในข้อวัตตปฏิบัติวาจามรรยาทอันดี มีที่ไปที่เที่ยวอันสมควร คุณข้อนี้ย่อมทำให้งามด้วยความประพฤติ ให้ไม่มีเวรต่อใครๆ ทั้งให้มีมรรยาทอันน่าเลื่อมใสชมชื่น จึงเป็นปิยกรณธรรมประการหนึ่ง

ถึงพร้อมด้วยทัศนะ คือ ทัศนะชอบ ประกอบด้วยปัญญาปรีชาฉลาดสามารถ พิจารณาหยั่งเห็นเหตุผลตามเป็นจริง คุณข้อนี้ย่อมทำให้เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมในทางเสื่อมทางเจริญ และในอุบายวิธีหลีกทางเสื่อมไปสู่ทางเจริญ นำให้เกิดสวัสดิผล จึงเป็นปิยกรรมประการหนึ่ง

ทั้ง ๒ ข้อนี้ กล่าวรวมกันว่า ถึงพร้อมด้วยศีลและทัศนะ แสดงว่ามีความประพฤติและความเห็นถูกชอบทั้ง ๒ ไม่บกพร่อง

ตั้งอยู่ในธรรม คือ ประกอบด้วยธรรมอันเป็นอากรบ่อเกิดแห่งคุณสาร คุณข้อนี้นำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข จึงเป็นปิยกรณธรรมประการหนึ่ง

มีสัจจะวาจา คือพูดอย่างใดทำอย่างนั้น และพูดมีสัจจะ คือจริงตามความเป็นจริง คุณข้อนี้นำให้รักษาสัจจะตามที่พูด และพูดมีสัจจะ จึงเป็นปิยกรณธรรมประการหนึ่ง

ทั้ง ๒ ข้อนี้ เนื่องด้วยทัศนะ คือเมื่อถึงพร้อมด้วยทัศนะ ก็หยั่งเห็นธรรมจึงตั้งอยู่ในธรรม และพูดจริงตามธรรม

ทำการงานของตน คือการงานใดเป็นกรณียะ คือหน้าที่ของตน ก็เพียรทำการงานนั้นจนสำเร็จ คุณข้อนี้เป็นเหตุให้นำพาในกรณียะ คือหน้าที่อันพึงทำ นำให้เกิดประโยชน์สุข จึงเป็นปิยกรณธรรมอีกประการหนึ่ง

ท่านผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านี้มีศิลและทัศนะเป็นต้น ย่อมเป็นที่รักเคารพของประชาชน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดีตอัฏฐมรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์ ได้ทรงปริบริบูรณ์ด้วยพระราชจริยาวัตรอันงดงาม มีพระปัญญาปรีชาฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ ทรงดำรงอยู่ในธรรมแห่งพระมหากษัตราธิบดีมีทศพิธราชธรรมเป็นอาทิ มีพระราชดำรัสไพเราะด้วยพระวาจาสัตย์ และทรงประกอบพระราชกรณียะโดยอนุรูป เป็นต้นว่าทรงศึกษาศิลปวิทยาก้าวหน้าไปด้วยดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตรกลับสู่ประเทศ แม้มีกำหนดจะประทับอยู่ไม่นานก็ทรงรับพระราชภาระ ในฐานะองค์พระประมุขแห่งชาติ ทรงปฏิบัติพระราชภาระให้ดำเนินไปโดยธรรม ด้วยมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นให้เกิดเจริญและความสุขแก่ประชาราษฎรทั่วไป และได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาราษฎร์โดยกาล เป็นทางให้ทรงทราบความเป็นไปแห่งประชาราษฎร เนื่องด้วย...และสุขทุกข์เป็นต้นโดยใกล้ชิด ยังความสนิทให้เกิดในหมู่ประชาชน ชื่อว่าได้ทรงปฏิบัติกรณียะอันควรแก่พระราชาธิบดี ได้ในข้อที่ว่า อตฺตโน กมฺมกุพฺพานํ ทำการงานของตน ทรงประกอบด้วยปิยกรณธรรม แม้โดยประการที่ถวายวิสัชชนามาฉะนี้ ตญฺชโน กุรุเต ปิยํ ประชาชนจึงทำพระองค์ให้เป็นที่รักเคารพด้วยประการฉะนี้

พสกนิกรทั้งสตรีบุรุษผู้มีความรักเคารพพร้อมทั้งจงรักภักดีในพระองค์แม้ผู้เสด็จสวรรคตละไปแล้ว เมื่อพิจารณาพบปิยกรณธรรมอันมีในพระองค์ตามพระโอวาทานุสาสนีของพระพุทธเจ้า และยังปิยกรณธรรมนี้ให้มีในตน ย่อมชื่อว่าได้ถวายความรักเคารพโดยธรรม จะยังปิยกรณธรรมให้มีขึ้นได้ ก็ด้วยการยังตนให้ถึงพร้อมด้วยศีล คือความประพฤติดี และทัศนะคือความเห็นที่ถูกชอบ ให้ตั้งอยู่ในธรรม กล่าวคำสัตย์จริง และทำการงานอันเป็นกรณียคือหน้าที่ของตนโดยชอบ เมื่อมีหน้าที่เป็นนักเรียนก็ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาด้วยดี เมื่อมีหน้าที่ทำการงานอันใด หรือมีภารธุระอันใดมาถึงเข้าหรือการอันใดควรทำ ก็ตั้งใจทำ เอาเป็นภารธุระนำพาให้สำเร็จโดยชอบ พร้อมทั้งถวายความจงรักภักดีในสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าได้ทรงทราบด้วยพระญาณวิถีทางใดทางหนึ่ง ก็จักทรงยินดีอนุโมทนา

ขออำนาจกุศลราศีทักษิณานุปทานที่คณะราชินีและนักเรียนเก่าราชินีได้พร้อมกันบำเพ็ญกุศลสามัคคี อุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดีตอัฏฐมรัชชกาลในพระบรมโกฏฐ์ จงสัมฤทธิ์อิฏฐวิบากวิบุลมนุญผล แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระองค์นั้น โดยควรแก่คติภพวิสัยตลอดกาลนาน

ในอวสานแห่งเทศนานี้ คณะสงฆ์ทั้ง ๔ จักได้รับประทานสวดคาถาธรรมบรรยายโดยสรภัญญวิธีเพื่อเพิ่มพูนอัปปบาทธรรมสืบต่อไป

รับประทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในปิยกรณธรรมกถา พอสมควรแก่เวลาก็ยุติลงด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร.



ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในงานประจำปี โรงเรียนราชินี
ได้ในข้อว่า สีลทสฺสนสมฺปนฺนํ  ถึงพร้อมด้วยศีลและทัสสนะ
ได้ในข้อว่า ธมฺมฏฺฐํ สจฺจวาทินํ  ตั้งอยู่ในธรรม มีวาจาสัตย์.





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สาราทานกถา* 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ปญฺจหิ ภิกฺขเว วฑฺฒีหิ วฑฺฒมานา อริยสาวิกา อริยาย วฑฺฒติ สาราทายินี จ โหติ วราทายินี จ กายสฺสาติ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนาในสาราทานกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญ ทรงมีพระราชปรารภ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ซึ่งสิ้นพระชนมาบรรจบครบ ๗ วัน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้มีหมายกำหนดการพระราชกุศลทั้งนี้แล้วทั้ง ๒ พระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญอุทิศพระราชทาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ตามวิธีทักษิณานุปทานในพระพุทธศานา เป็นการทรงแสดงสักการะสัมมานะในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์นั้น ตามพระราชธรรมจริยา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ได้ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง ทรงบริบูรณ์ด้วยพระวุฒิสมบัติ กล่าวคือ พระชาติวุฒิ พระคุณวุฒิ และพระวัยวุฒิ ทั้ง ๓ ประการ จึงทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือยกย่องของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ไปแม้ในพระปัจฉิมวัย แต่ก็เห็นกันว่า ถ้ายังไม่มีพระอาการประชวรร้ายมาตัดรอน ก็อาจเจริญพระชนมายุสืบไปได้อีก จึงเป็นที่ทรงสลดพระราชหฤทัย เป็นที่ทรงพระอาลัยเสียดาย และเป็นที่อาลัยเสียดายทั่วกัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ได้เสด็จประสูติในขัตติยราชสกุลอันอุดม ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าสยาม ได้ทรงรับการอบรมเป็นอย่างดี สมเด็จพระราชกุมารีผู้สูงศักดิ์ เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงตั้งพระทัยปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถเจ้าโดยใกล้ชิด เป็นที่สนิทเสน่หาโปรดปรานของสมเด็จพระบรมชนกนาถเจ้าและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จนถึงเมื่อคราวโสกันต์ สมเด็จพระบรมชนกนาถเจ้าได้โปรดพระราชทานให้ทรงพระเกี้ยวองค์ที่เคยทรงมาเมื่อทรงโสกันต์ เป็นการทรงแสดงพระมหากรุณาเป็นพิเศษ และโปรดให้ตามเสด็จประพาสต่างประเทศใกล้เคียงหลายครั้ง เมื่อเจริญพระชนมายุ ก็ได้วางพระองค์โดยเหมาะสมโดยลำดับ นับแต่ในฐานะพระเจ้าลูกเธอ จนถึงในฐานะพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อเกิดมีพระราชกรณียกิจส่วนที่พึงทรงช่วย หรือเมื่อเกิดมีกิจที่พึงทรงจัด ทรงทำได้เพื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกรัชกาลโดยลำดับมา โดยเฉพาะกิจที่เป็นไปเพื่อสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ก็ได้ทรงถือเป็นพระธุระสำคัญขวนขวายจัดทำด้วยความตั้งพระทัยและด้วยความจงรักภักดี นอกจากนี้ ได้ทรงเป็นพระธุระช่วยในกิจการของพระประยูรญาติผู้ใหญ่ และทรงมีพระเมตตากรุณาอุปการะค้ำจุนพระประยูรญาติผู้น้อยตลอดถึงบุคคลชั้นผู้น้อย เป็นที่เคารพรักของพระบรมวงศานุวงศ์และสามัญชนทั่วไป

ในส่วนที่เกี่ยวแก่ประชาชนในชาติบ้านเมือง ทรงสนพระทัยในกิจการของสภากาชาดและกองอาสากาชาด ได้ทรงเป็นสมาชิกพิเศษสภากาชาดไทย ได้ทรงสร้างอนุสรณถาวรวัตถุ ทรงร่วมสร้างและประทานสิ่งต่างๆ ไว้หลายอย่าง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นต้นว่า ทรงสร้างตึกชุ่ม อุทิศส่วนกุศลท่านเจ้าจอมมารดา ทรงสร้างตึกอาทร ประทานเครื่องมือห้องผ่าตัด อุทิศพระกุศลแด่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี, ประทานเครื่องใช้ในการศึกษาของโรงเรียนพยาบาล, ทรงบำรุงสโมสรอาสากาชาด และกองอาสากาชาดเป็นประจำ, ทรงร่วมบริจาคสร้างตึกเอกซเรย์ ด้วยทุนที่เป็นส่วนพระมรดก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอันภันตรีปชา และเมื่อคณะศิษย์และผู้เคารพนับถือได้พร้อมกันสร้างตึกสามัคคีพยาบาล เป็นอนุสรณวัตถุในสมัยประชวรแห่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ก็ได้ทรงถือเป็นพระธุระอย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ

ในด้านการศึกษา ได้ประทานพระอุปถัมภ์เพื่อการศึกษาแก่พระประยูรญาติผู้น้อยและข้าหลวงมหาดเล็กเป็นจำนวนมาก

ในทางพระพุทธศาสนา ได้ทรงมีพระศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญบุญกิริยา คือการทำบุญเป็นส่วนทานมัย สำเร็จด้วยทานบ้าง ศีลมัย สำเร็จด้วยศีลบ้าง ภาวนามัย สำเร็จด้วยภาวนาบ้าง ในบุญเขตแห่งพระพุทธศาสนาโดยลำดับมา  ในส่วนทานบุญ มีเป็นต้นว่า ได้ทรงสร้างศาลาและสระน้ำวัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร, ทรงสร้างศาลาท่าน้ำวัดเครือวัลย์, ทรงสร้างกุฏิสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหาร, ทรงอุปถัมภ์ให้อุปสมบทพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี รวมจำนวนไม่น้อยกว่า ๖๔ รูป แลถวายนิตยภัตพระภิกษุที่ทรงอุปถัมภ์ให้อุปสมบทตลอดมา, ทรงอุปการะพระภิกษุที่ขาดแคลน และถวายการรักษาพยาบาลแก่พระภิกษุอาพาธ, ทรงบริจาคตั้งทุนไว้ในมหามกุฏราชวิทยาลัย นอกจากนี้ได้ทรงบริจาคอุปถัมภ์บำรุงในกิจและโอกาสต่างๆ โดยลำดับมา

อนึ่ง เมื่อมีพระชนมายุเจริญยิ่งขึ้นแล้ว ได้เสด็จมาทรงธรรมที่วัดในวันธรรมสวนะเป็นนิตย์ แสดงพระองค์เป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้ทรงเจริญด้วยศรัทธา และบุญสมบัติอื่นๆ ยิ่งขึ้น ได้ทรงปฏิบัติพระองค์สม่ำเสมอมาตราบถึงกาละในอวสาน จึงชื่อว่าได้ทรงถือสาระแก่นสาร ถือวระส่วนประเสริฐของพระกายได้ตามพระพุทธภาษิตบทอุทเทศว่า ปญฺจหิ ภิกขเว วฑฺฒีหิ วทฺฒมานา อริยสาวิกา เป็นต้น แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวิกาเมื่อเจริญด้วยวัฑฒิ คือธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๕ ประการ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเครื่องเจริญอย่างประเสริฐ ย่อมถือสาระแก่นสาร ถือวระส่วนประเสริฐของกายไว้ได้, ธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๕ ประการ คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ปัญญา ๑  ดังนี้

บุคคลผู้เกิดมาย่อมมีกายก่อเกิดขึ้นมาเรียกว่า ชาติ ความเกิด, เมื่อเกิดกายขึ้นมาแล้ว ก็แปรไปโดยลำดับ เรียกว่า ชรา ความแก่, ในที่สุดก็แตกสลาย เรียกว่า มรณะ ความตาย  กายนี้ จึงมิใช่สาระแก่นสาร, มิใช่วระส่วนประเสริฐ แต่เมื่อกายยังไม่ทรุดโทรมแตกสลาย บุคคลอาจอาศัยกายประกอบกรรมดี เรียกว่ากุศล หรือบุญบ้าง  ประกอบกรรมชั่ว เรียว่าอกุศล หรือบาปบ้าง กรรมทั้ง ๒ นี้เป็นส่วนที่ยังเหลืออยู่ใน เมื่อกายสลายไป, แต่ถ้าเป็นอกุศลหรือบาป ก็ไม่เป็นสาระแก่นสาร, ไม่เป็นวระส่วนประเสริฐ เพราะไม่เป็นเครื่องเกื้อกูลให้เกิดสุขที่ถาวรและดีจริง เมื่อเป็นกุศลและบุญ จึงชื่อว่าเป็นสาระแก่นสาร เป็นวระส่วนประเสริฐ เพราะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้เกิดสุขที่ถาวรและดีจริง, ในพระพุทธภาษิตนี้ ตรัสเรียกกุศลหรือบุญนั้นว่าอริยวัฑฒิ ธรรมเป็นเครื่องเจริญอย่างประเสริฐ ทรงจำแนกไว้ ๕ ประการคือ   


         
          ศรัทธา      เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อด้วยปัญญา
          ศีล ประพฤติงดเว้นจากโทษผิดตามศรัทธา
          สุตะ      สดับคือดูสำเหนียก หรือฟังสำเหนียกเป็นทางเจริญปัญญา
          จาคะ สละบริจาคเพื่อเฉลี่ยสุข และเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งกว่า
          ปัญญา        รู้จริง รู้ถูกต้องในเหตุผลตลอดถึงรู้วิธีปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จ

ธรรม ๕ ประการนี้ เมื่อเป็นไปโดยชอบในโลก ย่อมเป็นเหตุให้เจริญในโลก เมื่อเป็นไปโดยชอบในธรรม ย่อมเป็นเหตุให้เจริญในธรรม, แต่ที่ชื่อว่าเจริญอย่างประเสริฐ ตรัสหมายถึงเจริญในธรรมเป็นสำคัญ คือมีศรัทธาตั้งมั่น มีศีลบริสุทธิ์ มีธุระเป็นเหตุเจริญปัญญา มีจาคะสละสิ่งที่ควรสละ มีปัญญา รู้จริงในธรรมตามภูมิตามชั้น ธรรมเหล่านี้เป็นสาระแก่นสาร เป็นวระส่วนประเสริฐ เมื่อบุคคลอาศัยกายปฏิบัติให้เกิดมีขึ้น จึงชื่อว่าได้ถือสาระแก่นสาร ถือวระส่วนประเสริฐของกายไว้ได้ ด้วยประการฉะนี้. 


*   ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา สัตตมวารที่ ๑ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๑


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 มกราคม 2562 15:51:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 29 มกราคม 2562 15:55:10 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

อนาตุรจิตตกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อาตุรสฺมิมฺปิ เม กาเย      จิตฺตํ น เหสฺสตาตุรํ
เอวํ สิกฺขามิ พุทฺธสฺส สาสนานุคตึ กรนฺติ ฯ

บัดนี้ จักถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ในอนาตุรจิตตกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระกุศลทักษิณานุปทาน ที่พระวรวงศ์บพิตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ทรงบำเพ็ญที่พระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ในสัตตมวารที่ ๒ ทรงอุทิศส่วนพระกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ตามวิธีในพระพุทธศาสนา การทรงบำเพ็ญพระกุศลทั้งนี้ เป็นไปด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม และพระคารวะอย่างยิ่งในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ผู้ทรงเป็นพระอัยยิกาในพระองค์ เป็นการทรงบูชาพระองค์ท่านผู้เสด็จละไปแล้ว ต้องตามพระพุทธานุโมทนาภาษิตว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต ญาติธรรมนี้นั้นอันพระองค์แสดงแล้ว เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา การบูชาอันโอฬารเพื่อผู้ละไปแล้วทั้งหลาย อันพระองค์ทรงทำแล้ว และบทท้ายว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ จ กตํ อนปฺปกํ แลบุญไม่น้อยอันพระองค์ทรงทำแล้ว เพราะการทรงบำเพ็ญพระกุศลทั้งนี้ ชื่อว่าเป็นบุญกิริยาสำเร็จด้วยทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้างดังนี้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ได้ทรงเป็นพระบรมวงศ์เธอผู้ใหญ่ ผู้เจริญพระชนมายุยืนยาว ประกอบด้วยพระรัตตัญญูภาพอย่างยิ่ง เพราะได้ทรงรับตำแหน่งเป็นอธิบดีบัญชาการรักษาพระราชวังฝ่ายใน ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ในรัชกาลที่ ๗ โดยลำดับ  ปรากฏในประกาศว่า ได้ทรงปฏิบัติราชการโดยซื่อตรง ประกอบด้วยพระวิริยะอุตสาหะสามารถให้ราชการทั้งปวงในหน้าที่เรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยตลอดมาทุกรัชกาล ดังที่ปรากฏว่า ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ เพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้ทรงบังคับบัญชาราชการฝ่ายในมากขึ้นโดยลำดับ ในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในทั่วทั้งพระราชนิเวศสถาน ในรัชกาลต่อมาก็โปรดให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีราชการฝ่ายในเช่นเดียวกัน ได้ทรงรับราชการฝ่ายใน ในตำแหน่งราชการโดยเรียบร้อย ทรงปฏิบัติราชการด้วยความโอบอ้อมอารี ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นที่นับถือทั่วไปทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้า นอกจากนี้ยังได้ทรงปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณในการส่วนพระองค์ ดังเช่นทรงเป็นพระอภิบาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา แต่ทรงพระเยาว์ตราบเท่าเสด็จทิวงคต  ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์รับสั่งว่า “น้าพร” อยู่เสมอ ทั้งได้ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการช่างต่างๆ ดังเช่นที่เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าเสด็จสวรรคต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตน์ฯ เฝ้าอยู่ข้างพระแท่นทรงใช้ผ้าซับน้ำพระเนตร เนื่องจากทรงพระกรรณแสงจนเปียกพับเป็นรูปสัตว์ ทรงใช้หินอ่อนแกะเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทรงเป็นช่างดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง และได้ทรงมีฝีพระโอษฐ์ในทางวรรณคดี ทรงแต่งกาพย์โคลงต่างๆ โดยพระอัธยาศัย ได้ทรงบริจาค ทรงสงเคราะห์อนุเคราะห์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลในพระพุทธศาสนาตามกาล กล่าวโดยเฉพาะได้ทรงมีพระเมตตากรุณาในพระวรวงศ์บพิตรในพระประยูรญาติตลอดถึงในบริวารชน ดังที่ประจักษ์อยู่ในพระหฤทัย กล่าวโดยสรุป พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นได้ทรงประกอบด้วยพระวุฒิสมบัติทั้งสามประการ คือ ชาติวุฒิ ความเจริญด้วยพระชาติ  เพราะทรงอุบัติในขัตติราชสกุลอันสูงศักดิ์  คุณวุฒิ ความเจริญด้วยพระคุณ เพราะทรงประกอบด้วยพระคุณเกื้อกูลแก่พระองค์ด้วยแก่ผู้อื่นด้วยและวัยวุฒิ ความเจริญด้วยพระวัย เพราะมีพระชนมายุยืนนานกว่าเจ้านายที่มีพระชนม์ยืนยาวทั้งหลายในพระบรมราชวงศ์จักรีที่ได้เคยมีมาแล้ว

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นแม้จะทรงประกอบด้วยวุฒิสมบัติเพียงไร ก็ต้องเสด็จละโลกนี้ไปในที่สุดตามคติธรรมดา เพราะมีพระกายเป็นสังขารซึ่งมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความแก่โดยลำดับ มีพยาธิความเจ็บในระหว่างๆ จนถึงมรณะความตายเป็นที่สุด โดยมากมักจะตายภายในร้อยปี แม้จะเกินไปก็ต้องตายเพราะชราโดยแท้ ไม่มีใครผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ตาย เหตุฉะนี้พระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนไว้ว่า อปฺปํ วต ชีวิตํ อิทํ ชีวิตนี้หนอ  โอรํ วสฺสสตาปิ มิยฺยติ ย่อมตายแม้ภายในร้อยปี (โดยมาก) โย เจปิ อติจฺจ ชีวติ แม้ถ้าผู้ใดเป็นอยู่เกินขึ้นไป อถ โข โส ชรสาปิ มิยฺยติ ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้

อนึ่ง เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องเสวยเวทนาต่างๆ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เมื่อร่างกายมีสัปปายะ (สบาย) ก็ปรากฏว่ามีสุข เมื่อร่างกายขาดสัปปายะ เพราะชราบ้าง พยาธิบ้าง ก็ปรากฏทุกข์โดยมาก  มีเรื่องเล่าในขันธสังยุตต์ว่า ได้มีคฤหบดีผู้เป็นบิดาของกุลมาณพผู้แก่เฒ่า ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่าตนเป็นคนแก่ มีร่างกายอาดูรเดือดร้อนกระสับกระส่าย จึงขอให้พระองค์ทรงประทานพระโอวาทอนุสาสน์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานพระโอวาทโดยความว่ากายนี้อาดูรเป็นของแตกง่ายดังฟองไก่เป็นเพียงหนังหุ้มห่อรัดไว้ ผู้บริหารรักษากายนี้อยู่จะพึงปฏิญญาว่า กายนี้ไม่มีโรคแม้สักครู่หนึ่งได้อย่างไร นอกจากความเป็นผู้เขลา  เพราะฉะนั้น พึงศึกษาอย่างนี้ว่าเมื่อกายของตนอาดูรอยู่ จิตต์จะไม่อาดูรอยู่ จิตต์จะไม่อาดูรดังนี้  ท่านพระสารีบุตรได้อธิบายพระพุทธโอวาทนี้แก่คฤหบดีนั้นโดยความว่า ปุถุชนผู้ไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นแน่นอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (อันรวมเรียกว่าขันธ์ ๕) เป็นตน หรือตนมีขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ มีในตน หรือตนมีในขันธ์ ๕ เป็นผู้สันนิษฐานมั่นว่า เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ และว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเราดังนี้ ครั้นขันธ์ ๕ เหล่านั้นแปรปรวนไป ความแห้งใจ คร่ำครวญ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ ก็เกิดแก่ผู้นั้น อย่างนี้แล บุคคลมีกายกระวนกระวายด้วย มีจิตต์กระวนกระวายด้วย  ส่วนว่าพระอริยสาวกผู้ฉลาดได้รับแนะนำดีในธรรมของสัตบุรุษ มิได้เป็นผู้สันนิษฐานมั่นว่า เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ  และว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเราดังนี้  ครั้นขันธ์ ๕ เหล่านั้นแปรปรวนไป ความแห้งใจ คร่ำครวญ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจก็ไม่เกิดแก่ท่าน อย่างนี้แล บุคคลแม้มีกายกระวนกระวาย แต่จิตต์มิได้กระวนกระวาย ดังนี้

ประมวลความแห่งพระมหาเถราธิบายนี้ว่า ผู้ที่มีจิตต์ยึดถือเกี่ยวเกาะกังวลอยู่ในกาย ย่อมเป็นผู้อาดูรทุกข์ทั้งกายทั้งจิตต์ ส่วนผู้ที่มีจิตต์ไม่ยึดถือเกี่ยวเกาะกังวลอยู่ในกาย เมื่อกายต้องอาดูรทุกข์ไปตามธรรมดาเพราะชราบ้าง เพราะพยาธิบ้าง ย่อมเป็นจิตต์ไม่อาดูรทุกข์ มีจิตต์สงบปกติ  สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยามได้ทรงกำหนดความแห่งพระพุทธโอวาทในพระสูตรนี้ ทรงพระราชนิพนธ์คาถาในพระราชดำรัสทรงลาพระสงฆ์ในเวลาใกล้จะเสด็จสวรรคตว่า


         อาตุรสฺมิมฺปิ เม กาเย      จิตฺตํ น เหสฺสตารุรํ
         เอวํ สิกฺขามิ พุทฺธสฺส สาสนานุคตึ กรํ

แปลโดยความว่า “เมื่อกายของข้าพเจ้าแม้อาดูร จิตจักไม่อาดูร” ข้าพเจ้าศึกษาอยู่อย่างนี้ทำความไปตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังนี้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ได้ทรงเป็นพุทธศาสนิกา ทรงประกอบด้วยพระวุฒิสมบัติรัตตัญญูภาพ ได้ทรงประสบพบผ่านคติธรรมดามาโดยลำดับทั้งภายในภายนอก ปรากฏว่าได้รับรักษาพระหฤทัยไว้ด้วยดี และพระวุฒิสมบัตินั้นๆ ในส่วนที่เป็นกุศลบารมีย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันทั้งในภายหน้า

ขออำนวยกุศลราศีทักษิณานุปทาน ที่พระวรวงศ์บพิตรได้ทรงบำเพ็ญให้ตั้งอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์ และทรงอุทิศถวายทั้งนี้ จงเป็นผลลัพธ์สัมฤทธิ์เป็นไปเพื่ออิฏฐวิบากมนุญผลแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินีโดยฐานยิยม

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา ในอนาตุรจิตตกถา ยุติด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพรฯ

*  ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ถวาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี  วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๑





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ปัจฉิมโอวาทกถา* 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติ

บัดนี้ จักถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาโดยศราทรพรตธรรมบรรยาย ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแด่พระกุศลทักษิณานุปทาน ที่พระวรวงศ์บพิตรผู้ทรงเป็นพระนัดดา ได้พร้อมกันทรงบำเพ็ญถวายส่วนพระกุศลทั้งปวง แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี พระอัยยิกา ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งกำหนดวันพรุ่งนี้ พระกุศลทักษิณานี้ได้ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปโดยศราทรพรตวิธีในพระพุทธศาสนา ด้วยกำลังพระศรัทธาในกุศลวัตรตามพระพุทธภาษิตว่า

อยญฺจ โข ทกฺขิณา ทินฺนา      สงฺฆมฺหิ สุปติฏฺฐิตา
ทีฆรตฺตํ หิตายสฺส ฐานโส อุปกปฺปติ
แปลความว่า ก็ทักษิณาที่บุคคลให้แล้ว ตั้งอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์นี้แล ย่อมสำเร็จเพื่อเกื้อกูลแก่ผู้ละไปแล้วนั้นโดยฐานะตลอดกาลนาน

พระกุศลวัตรอันสัมปยุต (ประกอบ) ด้วยพระศรัทธาทั้งนี้ ย่อมเกิดจากพระกตัญญูกตเวทิภาพ พร้อมด้วยพระคารวะอย่างยิ่ง ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น เหมือนอย่างพฤกษชาติเกิดจากพื้นพสุธา แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงปรารภธรรมที่เป็นพื้นฐานของสาธุชน ได้ตรัสไว้ว่า


ภูมิ เว สาธุรูปานํ                   กตญฺญูกตเวทิตา
แปลว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นภูมิของสาธุชน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ได้ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ เจริญพระชนมายุยืนยาว มีพระลักษณาการเป็นสง่าเรียบร้อย ประกอบด้วยพระกรุณาธิคุณ ยังให้เกิดความเคารพยำเกรงพร้อมทั้งความจงรักภักดี แก่ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าแหนพึ่งพระบารมี และทรงประกอบด้วยพระรัตตัญญูภาพอย่างยิ่ง เพราะได้ทรงประสบทราบเหตุการณ์ต่างๆ มาตลอดมานาน ทั้งทรงศึกษาสำเหนียกรอบรู้ขนบธรรมเนียมราชประเพณี โดยเฉพาะที่ใช้กันในพระบรมมหาราชวังฝ่ายในเป็นอย่างเยี่ยม  ด้วยเหตุที่ทรงประกอบด้วยพระคุณสมบัติทั้งปวงอันเหมาะสมเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีบัญชาการรักษาพระราชวังฝ่ายใน ได้ทรงปฏิบัติราชการตำแหน่งนี้ด้วยดีโดยตลอด ปรากฏในประกาศว่าได้ทรงปฏิบัติราชการโดยซื่อตรง ประกอบด้วยพระวิริยะอุตสาหะสามารถให้ราชการทั้งปวงในหน้าที่เรียบร้อยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยตลอดมาทุกรัชกาลดังที่ปรากฏว่า ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ เพิ่มอำนาจและหน้าที่ให้ทรงบังคับบัญชาราชการฝ่ายในมากขึ้นโดยลำดับ ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้ทรงเป็นอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายในทั่วทั้งพระราชนิเวศนสถาน ในรัชกาลที่ ๗ ต่อมาได้โปรดให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี ราชการฝ่ายในเช่นเดียวกัน ได้ทรงรับราชการฝ่ายในในตำแหน่งราชการโดยเรียบร้อยตลอด ๓ รัชกาล ทรงปฏิบัติราชการด้วยความโอบอ้อมอารี ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นที่นับถือทั่วไปทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้า  นอกจากนี้ ยังได้ทรงปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณในการส่วนพระองค์ดังเช่นทรงพระอภิบาล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบเท่าเสด็จทิวงคต ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นรับสั่งว่า “น้าพร” อยู่เสมอ  ทั้งได้ทรงมีฝีพระหัตถ์ในการช่างต่างๆ ดังเช่นเมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าเสด็จสวรรคต ได้ประทับเฝ้าอยู่ข้างพระแท่น ทรงใช้ผ้าซับน้ำพระเนตรเนื่องจากทรงพระกันแสงจนเปียกชุ่ม พับเป็นรูปสัตว์ ทรงใช้หินอ่อนแกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทรงเป็นช่างดอกไม้สดและดอกไม้แห้ง และได้ทรงมีฝีพระโอษฐ์ในการวรรณคดี ทรงแต่งกาพย์โคลงต่างๆ โดยพระอัธยาศัย และปรากฏโดยเฉพาะว่า ได้ทรงปฏิบัติต่อสมเด็จพระอัครราชเทวี พระเชฏฐภคินี เหมือนอย่างได้พลีพระองค์ ทรงทำกิจธุระถวายทุกอย่างด้วยความจงรักภักดี และได้ทรงมีพระเมตตากรุณาในสมเด็จพระราชโอรสพระราชธิดา ในสมเด็จพระอัครราชเทวีพระองค์นั้น และสืบมาถึงในพระนัดดาเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ปรากฏแก่การณ์ และประจักษ์อยู่ในพระหฤทัยแห่งพระวรวงศ์บพิตรแล้ว แม้ในราชตระกูลสายอื่น ก็ได้ทรงคุ้นเคยและประทานพระเมตตากรุณาตามกิจและโอกาส ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ และในฐานที่ทรงเป็นอธิบดีบัญชาราชการฝ่ายใน  นอกจากนี้ ก็ได้ประทานพระเมตตากรุณาแก่อันโตชนและพาหิรชนตามควรแก่โอกาสนั้นๆ และได้ทรงบริจาคสงเคราะห์อนุเคราะห์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลในพระพุทธศาสนาตามสมัย  กล่าวโดยสรุป พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ได้ทรงประกอบด้วยพระวุฒิสมบัติทั้ง ๓ ประการ คือ พระชาติวุฒิ ความเจริญด้วยพระชาติ เพราะทรงอุบัติในขัตติยราชสกุลอันสูงศักดิ์ พระคุณวุฒิความเจริญด้วยพระคุณเพราะทรงประกอบด้วยพระคุณเกื้อกูลแก่พระองค์และแก่ผู้อื่น พระวัยวุฒิความเจริญด้วยพระวัย เพราะมีพระชนมายุยืนนานกว่าเจ้านายที่มีพระชันษายืนทั้งหลายในพระบรมราชวงศ์จักรีที่ได้เคยมีมา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น แม้ทรงประกอบด้วยพระวุฒิสมบัติเพียงไร แม้เป็นที่ปรารถนาให้มีพระชนม์ยืนนานต่อไปอีกเพียงไร เมื่อถึงกาลที่สุด ก็ต้องเสด็จละโลกนี้ไปตามคติธรรมดา เพราะทุกๆ คนผู้เกิดมา มีกายเป็นสังขาร ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนแตกสลายในที่สุด  ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนไว้เป็นปัจฉิมพุทธพจน์ว่า หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว  ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เรา (ตถาคต) ขอเตือนเธอทั้งหลาย วยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ดังนี้

สังขาร คือรูปนามทุกสิ่งบรรดามีในโลก เรียกว่า สังขาร เพราะล้วนเป็นสิ่งที่มีปัจจัยคือเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งปรุงแต่งผสมให้มีให้เป็นขึ้น และประกอบด้วยสังขตลักษณะ คือลักษณะของสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ๓ ประการ คือ อปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดปรากฏ ๑  วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมปรากฏ ๑  ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ๑ สิ่งใดมีลักษณะดังกล่าว สิ่งนั้นชื่อว่า สังขาร จำแนกออกโดยทั่วไปเป็น ๒ คือ อุปาทินนกสังขาร  สังขารที่มีใจครอง เช่น ร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ ๑  อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง เช่น บ้านเรือนและวัตถุต่างๆ ตลอดถึงร่างกายที่ปราศจากชีวิต ๑  สังขารเหล่านี้มีทั้งหมดมีกำหนดกาลเวลาของอายุ นับตั้งแต่เกิดจนถึงดับ  เวลาของอายุนั้นคือเวลาของวัย คือความเสื่อมของสังขารที่เป็นมาโดยลำดับ ดังที่กำหนดเรียกอย่างรวมๆ เป็นตอนๆ ว่า ปฐมวัย (วัยต้น)  มัชฌิมวัย (วัยกลาง)  ปัจฉิมวัย (วัยปลาย) คือเสื่อมในตอนต้น เสื่อมในตอนกลาง เสื่อมในที่สุดเพราะสังขาร มีเกิดเป็นเบื้องต้น มีดับเป็นเบื้องปลาย  ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงในขั้นแรกแม้จะเห็นกันว่าเป็นความเจริญเติบโตก็ชื่อว่าวัย คือ เป็นความเสื่อมในขั้นต้น เพราะเป็นการตั้งต้นเสื่อม  เมื่อมีการตั้งต้นเสื่อมจึงมีเสื่อมในตอนกลางจนถึงที่สุด  สังขารทั้งปวงมีวัยเสื่อมประจำอยู่ ลดเวลาของอายุข้างหน้าให้น้อยลงเป็นลำดับ  สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสเตือนไว้ว่า วยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท รีบขวนขวายประกอบประโยชน์กิจทั้งปวงให้สำเร็จ เพราะบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นวัยของสังขารย่อมเป็นผู้ประมาท ปล่อยใจให้ระเริงอยู่ปราศจากสติรักษาใจรักษาตน เป็นเหตุให้ไม่ทำการที่ควรทำ ทำการที่ไม่ควรทำ จึงต้องประสบความเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ ส่วนบุคคลผู้พิจารณาเห็นวัยของสังขารย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทอย่างนั้น มีสติรักษาตนเป็นเหตุให้เว้นจากการที่ไม่ควรทำ รีบเร่งทำการที่ควรทำเพื่อให้ทันกับวัย หรือกาลเวลาของอายุของชีวิต สมดังพระพุทธภาษิตตรัสเตือน ไว้ว่ อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปี ควรรีบทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ทีเดียว  โก ชญฺญา มรณํ สุเว ใครเล่าพึงรู้ว่าพรุ่งนี้จะตาย  ฉะนั้น บุคคลผู้ที่พิจารณาเห็นวัยของสังขาร จึงอาจทำความไม่ประมาทให้บริบูรณ์ และอาจบำเพ็ญประโยชน์กิจให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ดังที่ตรัสเตือนไว้ในที่สุดว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ เธอทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดดังนี้  ประโยชน์ชนกิจที่พึงบำเพ็ญนั้นเป็นไปทางคดีโลกก็มี เป็นไปในทางคดีธรรมก็มี อีกอย่างหนึ่งเป็นทิฏฐธรรมิกัตถะ ประโยชน์ปัจจุบันก็มี  สัมปรายิกกัตถะ ประโยชน์ภายหน้าก็มี  ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งก็มี  บุคคลผู้ไม่ประมาทปรารถนาประโยขน์ชนกิจใดๆ ย่อมสามารถยังประโยชน์กิจนั้นๆ ให้สำเร็จได้ กล่าวโดยธรรมบรรยายหนึ่งผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญด้วยศรัทธา ความเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ คือ ความประพฤติเรียบร้อยดีงาม สุตะ การสดับสำเหนียกศึกษา  จาคะ การสละให้  ปัญญา ความรู้บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ จึงชื่อว่าเป็นผู้ถือสาระคือแก่นสารของกายที่ต้องเสื่อมไปนี้ไว้ได้ ดังคาถาประพันธ์พุทธภาษิตที่ตรัสยกสตรีภาพเป็นที่ตั้งว่า
                    สทฺธาย สีเลน จ ยา ปวฑฺฒติ
                    ปญฺญาย จาเคน สุเตน จูภยํ
                    สา ตาทิสี สีลวตี อุปาสิกา
                    อาทิยติ สารมิเธว อตฺตโน
แปลความว่า สตรีใดเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา  สตรีนั้นเป็นอุบาสิกามีศีลเช่นนั้น ย่อมถือสาระของตนไว้ได้ในโลกนี้ทีเดียวแล

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ได้ทรงประกอบด้วยพระอัปปมาทธรรม จึงทรงสามารถบำเพ็ญประโยชน์กิจอันเป็นพระกรณียะทั้งปวงให้สำเร็จ และทรงเจริญด้วยพระศรัทธาเป็นต้นอันเป็นสารธรรม จึงชื่อว่าได้ทรงถือสาระของพระวรกายที่ต้องสลายไปไว้ได้ และมีฐานะที่จะพึงเป็นไปได้ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงถึงคติของบุคคลผู้ทำบุญไว้แล้วว่า อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ บันเทิงในโลกนี้ละไปแล้ว ย่อมบันเทิง ดังนี้

แม้พระวรวงศ์บพิตร ทรงอาศัยพระอัปปมาทธรรม ทรงบำเพ็ญพระกุศลศราทรพรตอุทิศถวาย ชื่อว่าได้ทรงทำกิจที่ควรทำ ดังพระพุทธภาษิตว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต ญาติธรรมนี้นั้น พระองค์ทรงแสดงแล้ว เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา การบูชาเพื่อสละไปแล้วอันโอฬาร พระองค์ทรงทำแล้วด้วยประการฉะนี้

ขออำนวยพระกุศลศราทรพรตพิธี ทักษิณานุปทานที่พระวรวงศ์บพิตรทั้งหลายพร้อมทั้งพระยูรญาติ ได้ทรงบำเพ็ญให้สถิตอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์ และทรงอุทิศถวายนั้นนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ เป็นไปเพื่ออิฏฐวิบากมนุญผลแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี โดยฐานนิยม

ในที่สุดพระธรรมเทศนา พระราชาคณะสงฆ์ จักรับประทานสวดศราทรพรตธรรมบรรยาย เพื่อเพิ่มพูนพระอัปปมาทธรรมแห่งสมาคม โดยอนุรูปแก่กาลสมัย

ถวายวิสัชชนา พระธรรมเทศนา ยุติด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร

* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ศราทธพรตธรรมเทศนา ในงานพระราชทานเพลิง พระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ณ วังสวนผักกาด วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 กันยายน 2562 14:15:02 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 06 กุมภาพันธ์ 2562 16:48:02 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ธัมมัฏฐกถา* 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ        เยนตฺถํ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺฑิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร
ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจตีติ

บัดนี้ จักถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแก่การบำเพ็ญกุศลที่ระลึกวันรพี ที่เนติบัณฑิตสภา ประกอบด้วยสมาชิกศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถือ มีท่านนายกเนติบัณฑิตสภาเป็นประธาน พร้อมด้วยพระประยูรญาติได้มีสามานฉันท์พร้อมใจกันบำเพ็ญเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงได้รับยกย่องนับถือว่าเป็นพระบิดาแห่งนักกฎหมายไทย การกำหนดบำเพ็ญกุศลที่ระลึกวันรพีเป็นประจำปีดังนี้ เป็นการแสดงความกตัญญูรู้พระคุณ และความกตเวทีตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่านตามควรแก่สมัย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงความสามัคคีและแสดงความนับถือระลึกถึงในท่านผู้ทำความดีมาแล้ว เป็นอันชื่อว่า ได้นับถือในความดี อันเป็นคุณธรรมสำคัญของหมู่ชน จึงชื่อว่าได้นับถือธรรมด้วย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ปรากฏว่า ได้ทรงบำเพ็ญความดีมามาก ดังที่ปรากฏแล้วในพระประวัติ แสดงพอเป็นคุณานุสสติโดยย่อ คือเมื่อได้ทรงศึกษาสำเร็จปริญญาในทางกฎหมายของอังกฤษแล้ว ได้เสด็จกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งที่มีความสำคัญแก่ประเทศชาติในระยะริเริ่มหัวเลี้ยวหัวต่อในทางกฎหมาย ด้วยความรู้และความสามารและวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้ทรงเลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยรวดเร็ว ด้วยความจำเป็นและสมควร เมื่อแรกเสด็จเข้ามาทรงรับราชการในตำแหน่งราชเลขานุการ ต่อมาทรงเป็นข้าหลวงพิเศษจัดตั้งศาลในมณฑลกรุงเก่าเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการร่างกฎหมาย เป็นกรมการตรวจตัดสินความฎีกา ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก และโดยทรงสอนด้วยพระองค์เอง จึงทรงได้รับยกย่องนับถือว่าเป็นปฐมาจารย์แห่งนักกฎหมายไทยในปัจจุบัน ทรงเป็นกรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล ทรงร่วมจัดราชการฝ่ายการราชทัณฑ์ ตั้งกองพิมพ์ลายมือ ร่วมจัดการการจดทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกระทรวงยุติธรรม ได้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราช ยกร่างกฎหมายออกโฉนดที่ดินฉบับที่ ๑ ร่วมจัดการการชลประทานในระยะแรก นอกจากนี้ยังได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอื่นๆ อีกเป็นมาก ทรงเป็นตัวอย่างของนักเรียนนอก ที่ออกไปเรียนสำเร็จแล้ว กลับมาทำประโยชน์แก่ประเทศชาติของตนให้เกิดขึ้นได้มากนักพระองค์หนึ่ง

การกฎหมายไทยในสมัยก่อนนั้น เมื่ออ่านพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บางตอนจะเห็นได้ว่า เก่าแก่มาแต่โบราณกาล เพราะได้ต้นแบบมาจากตำรามนูสารของมัชฌิมประเทศ และได้มีประกาศบทพระอัยการเพิ่มเติมเป็นคราวๆ จึงซับซ้อนสับสนและไม่เพียงพอที่จะใช้ในปัจจุบัน ซึ่งต้องคบค้ากับทางตะวันตกมากขึ้น จนถึงได้มีศาลกงสุลขึ้น  ฉะนั้น จึงมีพะราชดำริให้มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นการใหญ่ ประจวบเวลาที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น ได้ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทางกฎหมายเสด็จกลับเข้ามา เป็นกำลังใหญ่ในการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นใหม่ทั้งตัวบททั้งบุคคล ทั้งวิธีปฏิบัติและอื่นๆ ให้สมบูรณ์ เนื่องมาจากงานของพระองค์ท่านซึ่งได้ดำเนินกันสืบต่อมา ประเทศชาติจึงได้รับความเป็นใหญ่ทางศาล ในที่สุดและโรงเรียนกฎหมายที่ทรงเริ่มตั้งขึ้น ต่อมาก็ได้รับยกขึ้นเป็นโรงเรียนหลวงและเติบโตขึ้นจนถึงเป็นมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน จึงสมแก่การที่ได้รับยกย่องนับถือว่าเป็นพระบิดาแห่งนักกฎหมายไทย

การให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนนั้น นอกจากอาศัยตัวบทกฎหมายที่บัญญัติโดยธรรม ยังต้องอาศัยบุคคลผู้มีหน้าที่ใช้ตัวบทนั้นตั้งอยู่ในธรรมด้วย แม้ตัวบทจะบกพร่องไปบ้างหรือยังไม่มีตัวบท ถ้าบุคคลมีธรรม ก็สามารถจะให้ความเป็นธรรมโดยยุติ (สมควร) ได้ เพราะตัวบทนั้นเอง บุคคลก็เป็นผู้ตั้งขึ้นและจะต้องแก้ไขกันไปเป็นคราวๆ ฉะนั้น เมื่อบุคคลตั้งอยู่ในธรรมะ ก็สามารถที่จะสร้างตัวบทที่เป็นธรรมและใช้ตัวบทให้เป็นธรรมไปด้วย

ในทางพระพุทธศาสนา ปรากฏในพระธรรมบทว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงปรารภวินิจฉัยอำมาตย์ จึงตรัสแสดงลักษณะของบุคคลผู้วินิจฉัยความตามบทพระบาลีที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้น แปลความว่า บุคคล (ผู้วินิจฉัยความ) หาชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่ชี้ขาดความด้วยคำชี้ขาดที่เป็นมุสาวาทไม่ ส่วนบุคคลใดเป็นบัณฑิตพิจารณาข้อที่เป็นจริงและข้อที่ไม่เป็นจริงทั้งสองจึงชี้ขาดบุคคลอื่นด้วยคำชี้ขาดที่ไม่เป็นมุสาวาทโดยธรรม  โดยสมควร บุคคลนั้น เป็นผู้ทรงปัญญาชอบอันธรรมะคุ้มครอง จึงเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีอธิบายว่า ผู้ที่ชี้ขาดความด้วยคำชี้ขาดที่เป็นมุสาวาท คือกล่าวเท็จเพราะความลำเอียงด้วยอคติทั้ง ๔ ได้แก่ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความชอบ โทสาคติลำเอียงเพราะความชัง โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว ความชอบ ความชัง และความกลัวเป็นเหตุทำคำชี้ขาดโดยผิดธรรม โดยไม่สมควรแก่ความผิดถูกทั้งรู้อยู่ จึงเป็นมุสาวาททั้งรู้ (สัมปชานมุสาวาท) ส่วนความหลงเป็นเหตุให้นำคำชี้ขาดเป็นมุสาวาทโดยไม่รู้ อาจเป็นเพราะมักง่าย เพราะไม่พิจารณาข้อที่เป็นจริงและเท็จให้ประจักษ์ก่อนก็ได้ เช่นนี้ไม่เรียกว่าตั้งอยู่ในธรรม ส่วนผู้ที่พิจารณาจนประจักษ์ถึงข้อที่เป็นจริงและที่ไม่เป็นจริงทั้งสอง ไม่มักง่ายผลุนผลัน ไม่ลุอำนาจอคติ ยึดถือธรรมะเป็นหลัก คือธรรมสำหรับวินิจฉัย ชั่งดูว่าจะสมควรชี้ขาดว่าใครผิดถูกอย่างไรจึงชี้ขาดลงไป ชื่อว่าเป็นผู้ทรงปัญญาชอบ อันธรรมะคุ้มครอง หมายถึงว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยเป็นผู้ซื่อสัตย์ สุจริตด้วย จึงเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดังนี้

ตามพระพุทธภาษิตที่อธิบายแต่ใจความโดยสังเขปนี้ แม้เป็นภาษิตของพระพุทธศาสนา แต่ก็อาจเป็นประโยชน์แก่ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อความยุติธรรมโดยทั่วไป กล่าวโดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่ผู้อื่น เมื่อชี้ขาดความไปแล้ว ก็ย่อมถือว่าเป็นยุติ (เหมาะ ชอบ) ในชั้นหนึ่งๆ จนถึงชั้นเด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าไม่ตั้งอยู่ในธรรม บุคคลอื่นทั้งสองฝ่ายก็จำต้องรับปฏิบัติโดยไม่เหมาะไม่ชอบ เรียกว่า ไม่ยุติธรรม แต่ถ้าตั้งอยู่ในธรรม บุคคลอื่นทั้งสองฝ่ายก็ย่อมได้รับความเป็นธรรมตามสมควรแก่ผิดถูกของตนๆ เรียกว่าได้รับความยุติธรรมทุกฝ่าย ผู้ตั้งอยู่ในธรรมเท่านั้น จึงเป็นผู้ยังความยุติธรรมให้สถิตอยู่ได้ ชื่อว่าเป็นที่สถิตยุติธรรม หรือเรียกตามพระพุทธภาษิตนี้ว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นที่อุ่นใจของปวงชน ผู้หวังพึ่งความยุติธรรมโดยทั่วกัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงมีส่วนสำคัญในการปรับปรุงสร้างสรรค์ตัวบทกฎหมายให้บริบูรณ์ และสร้างบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวแก่กฎหมายให้มีทั้งความรู้ ความฉลาด ทั้งความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จนเป็นที่เพียงพอสมกับเป็นที่สถิตยุติธรรม เป็นหลักฐานมั่นคงของประเทศชาติ เพราะพระองค์เองได้ทรงตั้งอยู่ในธรรมตามนัยพระพุทธภาษิตนี้

ขออำนาจกองการกุศลที่เนติบัณฑิตยสภาได้บำเพ็ญในวันที่ระลึกวันระพี และตั้งใจอุทิศส่วนกุศลถวายทั้งนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์เพื่อมนุญผลสุขสมบัติ แด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ โดยฐานะ

ถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนาในธัมมัฏฐกถา ยุติด้วยเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร



*ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ในการบำเพ็ญกุศลที่ระลึกวันรพี ของเนติบัณฑิตยสภา วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๕





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ธรรมาธรรมกถา* 
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ       อุโภ สมวิปากิโน
อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตินฺติ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในธรรมาธรรมกถา ในการที่เนติบัณฑิตยสภา บำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ซึ่งเรียกว่า วันรพี ตามทางพระพุทธศาสนา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗

เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ท่านได้ทรงเข้าศึกษาวิชาภาษาไทยเป็นครั้งแรก ในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และทรงเข้าศึกษาต่อในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เปรียญ  และได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษขั้นต้นในสำนักครูรามสามิ ต่อมาเมื่อโรงเรียนสวนกุหลาบได้ก่อตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์หนึ่งในจำนวน ๔ พระองค์ ที่ทรงเรียนรวมกันเป็นพิเศษต่างหากจากนักเรียนอื่นในโรงเรียนแห่งนั้น โดยมีมหาปั้นสุขุม (เจ้าพระยายมราช) เป็นครูผู้สอน ได้ทรงศึกษาอยู่เป็นเวลา ๑ ปี

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ได้ทรงเข้าพิธีโสกันต์พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธออีก ๓ พระองค์ แล้วจึงผนวชเป็นสามเณรพร้อมกัน โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นพระอุปัชฌายะ ทำพิธี ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วจึงเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในความกำกับอบรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเสด็จจากวัดมกุฏกษัตริยารามไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นการชั่วคราวเพื่อการนี้

ในปีรุ่งขึ้น พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ได้เสด็จไปกรุงลอนดอนพร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธออีก ๓ พระองค์ เพื่อทรงศึกษาภาษาอังกฤษ เสด็จไปในความดูแลของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ และได้เสด็จกลับเมืองไทยชั่วคราวในปี พ.ศ.๒๔๓๐ เพื่อเสด็จเยี่ยมบ้านเมือง และประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ๑๐ เดือน จึงเสด็จไปยุโรปครั้งที่ ๒ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมในกรุงลอนดอน ๓ ปี สำเร็จแล้วทรงเข้าศึกษาวิชากฎหมายในวิทยาลัยไครสต์เชิช มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จบหลักสูตรชั้นปริญญาจนสอบไล่ได้ บี.เอ. ทางกฎหมายแล้วจึงเสด็จกลับเมืองไทย

พระประวัติต่อจากนี้ไปล้วนเป็นพระประวัติที่แสดงถึงการอุทิศพระองค์ให้แก่งานราชการตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นงานในทางกฎหมายโดยตลอด น้อยนักที่จะมีบุคคลใดได้กระทำงานในด้านกฎหมายได้มากมายกว้างขวางและยาวนานเหมือนพระองค์ท่าน ได้ทรงปฏิบัติงานทั้งทางธุรการ คือทรงเป็นสภานายกในกองข้าหลวงพิเศษจัดตั้งศาล เพื่อจัดการตั้งศาลยุติธรรมสำหรับพิจารณาคดีขึ้นในหัวเมืองให้ดีขึ้นกว่ากาลก่อน และทำการสะสางคดีความที่ค้างชำระอยู่ในศาลหัวเมืองให้หมดไป ได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ มีพระชนมายุได้ ๒๒ พรรษา ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่ก็เป็นเพราะได้ปรากฏพระปรีชาสามารถเป็นที่นิยมยกย่องทั่วไปในหมู่ประชาชนมาก่อนแล้ว ในทางนิติบัญญัติก็ได้ทรงเป็นประธานกรรมการร่างกฎหมายตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่ ต่อมาได้ทรงเป็นกรรมการตรวจร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ และตรวจร่างประกาศการออกโฉนดที่ดิน และทรงยกร่างกฎหมายออกโฉนดที่ดินฉบับที่ ๓ ในทางตุลาการก็ได้ทรงเป็นกรรมการตรวจตัดสินความฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ ในทางด้านการศึกษาวิชากฎหมายก็ได้ทรงริเริ่มตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เพื่อสั่งสอนวิชากฎหมาย โดยพระองค์ท่านทรงเป็นพระอาจารย์ประทานคำสอนและจัดทำตำราโดยพระองค์เองทุกลักษณะวิชา จนพวกนักเรียนรุ่นแรกสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และช่วยแบ่งเบาสอนรุ่นหลังๆ ต่อไป จนโรงเรียนกฎหมายได้คลี่คลายมาเป็นมหาวิทยาลัยกฎหมายเป็นปึกแผ่นในปัจจุบัน ทั้งยังได้ทรงจัดพิมพ์กฎหมายตรา ๓ ดวงขึ้นเป็นสองเล่ม โดยทรงเขียนคำอธิบายเพิ่มเติม และได้จัดทำอุทาหรณ์และคำอธิบายตัวบทกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ เป็นความสะดวกอย่างยิ่งแก่การศึกษาและการแปลกฎหมายลักษณะนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากมายแก่ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้ทรงเป็นกรรมการตรวจตำแหน่งพนักงานในรัฐบาล กรรมการจัดราชการฝ่ายการราชทัณฑ์ นำวิธีการพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องโทษมาใช้ และยังได้ทรงร่วมจัดการในเรื่องทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดิน การจดทะเบียนที่ดินและการออกโฉนด และได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงมีส่วนร่วมจัดการการชลประทานในระยะแรก เพื่อประโยชน์ในการกสิกรรมด้วย

ได้ทรงเกี่ยวข้องกับกฎหมายมาโดยตลอด ทรงเป็นผู้แผ้วถางและวางรากฐานวิชากฎหมายในประเทศไทย จึงเหมาะสมกับสมญานามที่พระองค์ท่านได้รับว่า ทรงเป็นพระบิดาและองค์ปฐมาจารย์ของนักนิติศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวโดยย่อ ได้ทรงปฏิบัติทุกอย่างเพื่อให้การปกครองเป็นไปโดยธรรม ให้มีการชี้ขาดว่าถูกหรือผิดโดยยุติธรรม ในการพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาก็ได้ทรงแสดงคำสั่งสอนชี้ความดีความชั่ว พร้อมทั้งผลที่ต่างกันโดยธรรม สมดังพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นว่า น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ เป็นอาทิ แปลความว่า ธรรมและอธรรม หามีวิบากคือผลเสมอกันไม่ อธรรมย่อมนำไปสู่นิรยะ ส่วนธรรมย่อมให้ถึงสุคติ ดั่งนี้

พระพุทธภาษิตนี้แสดงถึงธรรมะและอธรรมเป็นส่วนเหตุ และแสดงถึง นิรยะ กับ สุคติ เป็นส่วนผล  กล่าวคือ ธรรมะเป็นเหตุให้ถึงสุคติ ส่วนอธรรมเป็นเหตุให้ถึงนิรยะดั่งนี้ จึงควรทำความเข้าใจในพระพุทธภาษิตนี้ในทางที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัมมาปฏิบัติ จะกล่าวถึงส่วนเหตุก่อน อันได้แก่ธรรมะ กับ อธรรม ในที่นี้ ธรรมมะได้แก่ คุณ คือความเกื้อกูลหรือความดี ส่วนอธรรม ก็หมายถึงโทษที่ไม่เกื้อกูลที่ก่อให้เกิดทุกข์หรือความชั่ว ตามที่กล่าวมานี้ย่อมเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว แต่ข้อที่สมควรหยิบยกขึ้นพิจารณาก็คือ อะไรเป็นคุณหรือความดีที่เรียกว่า ธรรมะ อะไรเป็นโทษหรือความชั่วอันเรียกว่า อธรรม

ในข้อนี้ก็พึงคำนึงถึงตัวคุณคือความดี หรือตัวโทษคือความชั่ว อันสิ่งที่เรียกว่าเป็นคุณหรือความดีนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดความสุข  ส่วนสิ่งที่เป็นโทษหรือความชั่วนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ก่อโทษทุกข์ให้บังเกิดขึ้น บุคคลทุกๆ คนย่อมต้องการความสุข รังเกียจความทุกข์ ฉะนั้น เมื่อมีใครมาก่อความสุขให้ก็เข้าใจว่าผู้นั้นเป็นผู้มีคุณ เช่น มารดา บิดา ก่อความสุขให้แก่บุตรธิดา ผู้มีเมตตากรุณาก่อความสุขให้แก่บุคคลนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เรียกผู้ก่อความสุขให้นั้นว่ามีคุณ การกระทำของผู้มีคุณนั้นก็เรียกว่าเป็นคุณหรือความดี แต่ความชั่วนั้นตรงกันข้าม เมื่อมีใครมาก่อโทษทุกข์ให้ก็เรียกผู้นั้นว่าเป็นผู้ก่อโทษสร้างทุกข์ และทุกๆ คนเมื่อได้โทษทุกข์จากผู้ใด ก็จะต้องเข้าใจว่าผู้นั้นเป็นผู้สร้างโทษทุกข์ และถ้าเรียกอย่างแรงก็ต้องเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่ดี และการกระทำของผู้ที่ก่อโทษทุกข์ให้นั้นก็เรียกว่า อธรรม หรือ ความชั่ว ความเข้าใจกันว่าอะไรเป็นธรรมะ อะไรเป็นอธรรมย่อมมีอยู่โดยปรกติดั่งนี้ แม้บุคคลทุกๆ คนจะต้องการความสุขและเกลียดความทุกข์ดังกล่าวนี้ก็ตาม แต่ถึงเช่นนั้น ก็ยังมีไปก่อโทษทุกข์ให้แก่บุคคลอื่นโดยไม่ได้นึกเอาใจเขามาใส่ใจตน ไม่ได้นึกเทียบเคียงว่าคนต้องการสุขเกลียดทุกข์ฉันใด บุคคลอื่นสัตว์อื่นก็ต้องการสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น  เพราะฉะนั้น จึงมีการเบียดเบียนกันและกันบังเกิดอยู่ในโลก ผู้ที่ทำความเบียดเบียนเขานั้นย่อมไม่ต้องการให้ใครมาเบียดเบียนตนเองเลย เพราะตนเองต้องการสุขเกลียดทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้ว  เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงแสดงให้บุคคลเว้นอธรรมและประพฤติธรรมก็ด้วยได้ทรงสั่งสอนให้มีความคิดเปรียบเทียบดั่งที่พระพุทธภาษิตแสดงไว้ เป็นต้นว่า บุคคลอื่น สัตว์อื่นมีความรักชีวิตต้องการสุขไม่ต้องการทุกข์ฉันใด ตนเองก็รักชีวิตของตน ต้องการสุขไม่ต้องการทุกข์ฉันนั้น  เพราะฉะนั้น ก็ไม่พึงประทุษร้ายชีวิตของเขา ไม่พึงก่อทุกข์แก่เขาฉันนั้น

การแสดงว่าอะไรเป็นธรรมะ อะไรเป็นอธรรมในทางพระพุทธศาสนา พิจารณาดูแล้วก็อาศัยหลักแห่งคุณและโทษ และอาศัยหลักการพิจารณาเปรียบเทียบดังที่กล่าวมาแล้ว และบุคคลผู้ทีประพฤติธรรม อันเรียกว่า ธรรมจารี ทางพระพุทธศาสนานั้นก็ย่อมมีความประพฤติเว้นจากการก่อโทษทุกข์ให้แก่เขา แต่สร้างคุณขึ้นเกื้อกูลให้แก่เขา ดั่งที่กล่าวมานี้ จึงได้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น สมจารี แปลว่าผู้ประพฤติสมควรหรือผู้ประพฤติสม่ำเสมอ อันหมายถึงว่าเสมอกันระหว่างตนและผู้อื่นด้วยหลักการเปรียบเทียบดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เช่นว่า เขาก็ต้องการสุขเกลียดทุกข์เหมือนกับตน ตนก็ต้องการสุขเกลียดทุกข์เหมือนกับเขา ตกว่าทั้งตนและเขานั้นเป็นผู้เสมอกันในการต้องการสุขเกลียดทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ประพฤติแก่ตนฉันใด ก็สมควรประพฤติแก่เขาฉันนั้น เช่นว่า ประพฤติแก่ตนไม่ก่อโทษให้แก่ตน ก่อความสุขให้แก่ตน ก็พึงเว้นโทษก่อสุขให้แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกัน ความประพฤติดั่งนี้ จึงเรียกว่า สมจารี ผู้สม่ำเสมอหรือผู้ประพฤติสมควรและสมจารีนี้แหละก็เรียกธรรมจารี ผู้ประพฤติธรรม เพราะที่จะชื่อว่าผู้ประพฤติธรรมนั้นก็ต้องมีความประพฤติเว้นโทษทำสิ่งที่เป็นคุณด้วย มีการเปรียบเทียบกันระหว่างตนและผู้อื่นดังที่กล่าวมา

ฉะนั้น ความประพฤติธรรมในพระพุทธศาสนาจึงกล่าวได้ว่าเป็นความประพฤติที่เป็นยุติธรรม พระพุทธเจ้าแสดงศีลก็อาศัยหลักธรรมดังที่กล่าวมานี้ เป็นต้นว่า เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เว้นจากการประพฤติผิดประเพณีในทางกาม เว้นจากการพูดเท็จหลอกลวง ทุกๆ คนนั้นย่อมมีความรักสงวนทรัพย์สมบัติเชื้อสายวงศ์ตระกูลและความจริง ไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายชีวิต ทำร้ายทรัพย์สมบัติ ทำร้ายเชื้อสายวงศ์ตระกูล และมาหลอกลวง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สมควรที่จะเว้นจากการประพฤติเช่นนั้นแก่บุคคลอื่นด้วย พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงบัญญัติศีลลงไปว่า เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลัก เป็นต้น  ฉะนั้น หลักแห่งการบัญญัติศีลของพระพุทธเจ้าจึงเป็นหลักที่เป็นสมธรรมจริยาหรือว่าหลักยุติธรรมโดยแท้ ยังส่องถึงน้ำพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าที่มีความยุติธรรมในสัตว์ทุกถ้วนหน้า ดังเช่นในข้อเว้นจากการฆ่า ก็แสดงถึงว่าสัตว์มีปราณ คือมีชีวิตโดยทั่วไปทั้งที่เป็นมนุษย์และทั้งที่เป็นเดรัจฉาน ก็เป็นวัตถุที่ควรเว้นจากการฆ่าทั้งหมดจากศีลข้อหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่าสัตว์ทุกหมู่เหล่า แม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ย่อมมีความรักชีวิต ไม่ต้องการจะตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น จึงเป็นสิ่งที่พึงเว้นจากการฆ่า การบัญญัติศีลของพระพุทธเจ้าจึงเป็นการบัญญัติอย่างยุติธรรมแก่สัตว์ทุกหมู่เหล่าถ้วนหน้า ไม่ได้เว้นไว้ให้แก่ความเห็นแก่ตัวของบุคคล เช่นเมื่อต้องการที่จะบริโภค ก็แสดงผ่อนลงมาด้วยอ้างเหตุที่จะพึงยกเว้นในข้อผ่อนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์เป็นผู้บัญญัติเอา เป็นผู้ว่าเอา ซึ่งถ้าจะให้สัตว์ที่จะถูกฆ่านั้นเป็นผู้บัญญัติ ก็คงจะไม่บัญญัติอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอันเรียกว่า สมจริยา หรือว่าดังที่เรียกในบัดนี้ว่า ยุติธรรมนั้น ก็อาศัยหลักความจริงตามเหตุและผลตามที่ทุกๆ คนรู้สึกต้องการและไม่ต้องการอยู่นี้เอง ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติฝืนธรรมชาติธรรมดา ฝืนเหตุฝืนผล แต่ว่าเป็นไปตามเหตุผลที่เหมาะสม แต่ในการที่บุคคลจะมองเห็นเหตุผลและรับปฏิบัติในเรื่องนี้ได้นั้น ก็จะต้องพึงเป็นผู้ที่ปฏิบัติอบรมจิตใจให้ปราศจากอคติ  อคตินั้นได้แก่ความลำเอียง ความลำเอียงนั้นก็มีความชัดอยู่ในตัวแล้วว่าคือความไม่เที่ยงธรรม หมายความว่าไม่ดำรงอยู่ตามหลักธรรมดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ว่าได้เอียงไปจากความเที่ยงธรรม ความลำเอียงด้วยอำนาจแห่งความชอบเรียกว่า ฉันทาคติ ความลำเอียงด้วยอำนาจของความชัง เรียกว่า โทสาคติ ความลำเอียงด้วยอำนาจของความหลง เรียกว่า โมหาคติ ความลำเอียงด้วยอำนาจของความกลัว เรียก ภยาคติ

ความลำเอียงดังกล่าวมานี้ย่อมมีแก่บุคคลที่ยังมีความชอบความชัง เป็นต้น  เพราะฉะนั้นบุคคลทั่วไป จึงไม่สามารถที่จะประพฤติธรรมรักษาความยุติธรรมตามหลักที่กล่าวมานั้นได้ ดังจะพึงเห็นได้ว่าแม้แต่เพียงศีลห้า ก็ยากที่จะรักษาได้เป็นนิจ เพราะยังมีความชอบความชังอันเป็นเหตุให้ลำเอียงอยู่ ความชอบนั้นก็เป็นความชอบในตน ในพวกของตน ในผู้ที่ทำให้คนชอบใจด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่ถ้าตรงกันข้ามก็เป็นความชัง ในผู้ที่ไม่ใช่ตน ไม่ใช่พวกของตน ไม่ทำให้ตนชอบใจ แต่ว่าทำให้เกิดความขัดใจขึ้น ความขัดใจนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไปขัดอะไรอื่น คือว่าขัดกับความชอบแห่งจิตใจของตนนั่นเอง เรียกว่าความขัดใจ ความชอบแห่งใจของตนนั้นจึงเป็นพื้น เมื่อไปขัดกับความชอบเข้าก็เรียกว่าความขัดใจ ก็ทำให้เกิดความลำเอียง

ความหลงนั้น ก็หมายถึงว่าความที่ถือเอาผิด บางทีเพราะไม่รู้ แต่เข้าใจว่ารู้ บางทีก็เพราะว่าเข้าใจไม่ถูกต้อง เข้าใจผิดพลาดก็มักจะเกิดจากการที่ไม่สอบสวนให้ถ่องแท้เสียก่อน เชื่อลงไปก่อนที่จะสอบสวนให้รู้ ทำความเข้าใจลงไปเสียก่อน ตัดสินใจลงไปเสียก่อนที่จะพิจารณาให้รอบคอบ เหล่านี้ก็เป็นตัวความหลงทั้งนั้น และเมื่อเป็นความหลงขึ้นก็มักไม่รู้ว่าตนหลง ก็มักจะเข้าใจว่าตนรู้ ความจริงไม่รู้ อันนี้แหละเป็นข้อร้ายมาก เพราะฉะนั้น ถ้ามีสติที่รู้ตัวอยู่และใช้ปัญญาที่จะพิจารณาให้ถ่องแท้ในสิ่งทั้งหลายแล้ว ความหลงที่จะบังเกิดขึ้นให้ลำเอียงนั้นก็ยากเข้า

ความกลัวนั้น ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว เมื่อความกลัวบังเกิดขึ้นก็ทำให้ใจลำเอียงไปได้เพราะความกลัว

ความชอบ ความชัง ความหลง ดังกล่าวมานี้ เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง เมื่อเกิดความลำเอียงขึ้นแล้วก็รักษาธรรมะไว้ไม่ได้  ฉะนั้น ในการที่จะประพฤติธรรมได้ก็ต้องอบรมจิตใจให้พ้นจากความลำเอียง และอบรมให้มีพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บังเกิดขึ้นแผ่ให้กว้างขวางออกไป เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะสามารถประพฤติธรรมะให้เป็นธรรมจารี ให้เป็น สมจารี หรือว่าให้เป็นความยุติธรรมขึ้นได้ในบุคคลทั้งหลาย ในเรื่องทั้งหลาย ธรรมะที่เป็นส่วนคุณดังที่กล่าวมานี้เป็นเหตุให้บรรลุถึงสุคติ คือทางไปที่ดี อันจะพึงเห็นได้ในปัจจุบันนี้เอง ทางดำเนินไปของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ของผู้ที่มีธรรมะอยู่ย่อมเป็นทางที่ชอบ จะทำให้อะไรทางกายก็ดี เป็นสุจริต ทางวาจาเป็นสุจริต ทางใจก็เป็นสุจริต และเมื่อเป็นเช่นนี้ คติ คือทางไปที่เนื่องกัน ก็เป็นคติที่ดี เป็นคติที่มีความสุข มีความปลอดโปร่ง มีความพ้นภัย แม้ตนจะไม่รู้ ไม่เห็นในคติที่จะพึงไปดังกล่าว เพราะไม่รู้อนาคต แม้ในชาตินี้ แต่ก็พึงมั่นใจได้ว่า คติที่จะพึงได้พึงถึงแม้ในปัจจุบันนั้น ก็เป็นคติที่ดี ไม่เป็นคติที่ชั่ว

ส่วนอธรรมอันตรงกันข้ามก็ให้ผลเป็น นิรยะ คือที่ไร้ความเจริญ เพราะว่าจิตใจที่มีอธรรมก็เป็นจิตใจที่ไม่เจริญอยู่แล้ว คติที่ไปของกาย วาจา ใจ ก็เป็นคติที่ไร้ความเจริญ และคติที่จะพึงไปสืบต่อไปแม้ในชาตินี้ก็เป็นคติที่ไร้ความเจริญ แม้ตนเองจะมองมุ่งถึงความเจริญ แต่ก็เป็นความมุ่งเท่านั้น เพราะความจริงในอนาคตนั้นทุกๆ คนสามัญย่อมไม่รู้แต่ว่าเมื่อประพฤติธรรมแล้วก็จำต้องหวัง ทุคติ คือคติที่ไม่ดีอันเป็นนิรยะ คือที่ไร้ความเจริญดังกล่าวมานั้น บุคคลเมื่อมีศรัทธาคือความเชื่อในหลักธรรมะของพระพุทธเจ้าอันประกอบด้วยเหตุผลดังเช่นที่กล่าวมานี้ก็เป็นผู้ที่มีความอุ่นใจ สบายใจในปัจจุบัน ในอนาคต และคนสามัญทุกๆ คนนั้นไม่รู้อนาคตในวันนี้เอง ชั่วโมงหน้าจะเป็นอย่างไร วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรหารู้ไม่ การที่คิดว่าจะทำนั่นทำนี่ จะไปนั่นจะไปนี่ต่างๆ นั้นเป็นความกำหนดคิด เป็นความตั้งใจเอาไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าทุกๆ คนนี้มีความประมาท เผลอ เพลินกันอยู่มาก  ฉะนั้น หากได้ตั้งใจประพฤติธรรมะให้เป็นธรรมจารี สมจารี รักษาความยุติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีความสุขในปัจจุบันว่าได้ประพฤติดีแล้ว แม้จะไม่รู้อนาคต แต่ว่าก็เท่ากับว่าได้รับคำทำนายจากพระพุทธเจ้าไว้แล้วว่าจะต้องไปดี เวลานี้ทำดี เวลาต่อไปก็จะต้องทำดี วันนี้ทำดี พรุ่งนี้ก็จะต้องไปดี เท่ากับว่าได้รับพุทธพยากรณ์ไว้แล้ว ซึ่งพุทธพยากรณ์ของพระพุทธเจ้านี้เป็นสัจจะคือความจริงที่ยิ่งกว่าคำของหมอดูใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งกว่าพิพากษาวินิจฉัยของใครทั้งสิ้น แต่บุคคลก็มักจะไม่คำนึงถึง เพราะฉะนั้น เมื่อมาคำนึงถึงกันแล้วไปปลูกศรัทธาปสาทะไว้ในพระพุทธศาสนา ตั้งใจประพฤติธรรมตามพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะมีความสุขทั้งในปัจจุบันและทั้งในต่อไป มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้ 



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ในวันรพี ที่เนติบัณฑิตสภา วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 07 กุมภาพันธ์ 2562 16:29:06 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ขันธสัมนสนกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ยโต ยโต สมฺมสติ       ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ
ลภตี ปีติปาโมชฺชํ อมตนฺตํ วิชานตนฺติ.

บัดนี้ ถึงสัตตมวารที่ ๒ นับแต่วันสิ้นพระชนม์แห่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต  ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระชายา จึงได้บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายด้วยความเคารพจงรักภักดี ตามวิธีทักษิณานุปทานในพระพุทธศาสนา และมีความจำนงให้อาราธนาพระภิกษุวัดบวรนิเวศวิหารที่มาเฝ้าชมหอไตร เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๐๒ มาในพิธีบำเพ็ญกุศลทั้งหมด เพราะในวันนั้นพระภิกษุที่ได้รู้จักคุ้นเคยตั้งแต่สมัยที่ทรงผนวชโดยมาก ได้มีโอกาสมาเฝ้าโดยพร้อมเพรียงกัน และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์นั้นก็ได้ทรงต้อนรับและประทานคำชี้แจงภาพต่างๆ ในหอไตรด้วยความชื่นบานแจ่มใสตลอดเวลา แต่ถัดมาอีกเพียงวันเดียว ก็สิ้นพระชนม์ในห้องของพระองค์ ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่าคงสิ้นพระชนม์เวลาประมาณ ๒๒ นาฬิกาของวันอังคารดังข่าวที่แจ้งอยู่แล้ว เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ และนำให้คิดปรารภมรณสติ ระลึกถึงความตายที่พึงมีแก่สัตว์โลกถ้วนหน้า

อนึ่ง พระภิกษุที่ประจำอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหารในสมัยทรงผนวช ย่อมระลึกได้ถึงพระองค์ท่านในระหว่างที่ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฏาคม ๒๔๙๐ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์นั้น ได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อเสร็จพิธีทรงอุปสมบทแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นำส่งเสด็จถึงวัดบวรนิเวศวิหาร  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จล่วงหน้ามาทรงคอยรับที่พระอุโบสถ แล้วทรงนำเสด็จขึ้นพระตำหนักทรงพรตห้องมุมทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ประทับตลอดเวลาที่ทรงผนวช ในระหว่างที่ทรงผนวช ได้ทรงปฏิบัติกิจของนวกภิกษุทุกอย่างเหมือนอย่างนวกภิกษุรูปอื่นๆ ในตอนเช้าโปรดเสด็จออกทรงบิณฑบาตเป็นนิตย์ และได้ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ โดยสม่ำเสมอ คือเวลา ๘ นาฬิกา ลงโบสถ์ทำวัตรเช้า เวลา ๙ นาฬิกาเข้าโรงเรียน เวลา ๑๖ นาฬิกาฟังพระโอวาทสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เวลา ๑๗ นาฬิกาทำวัตรเย็นในพระอุโบสถ และระหว่างพรรษากาล ทางโรงเรียนได้ออกกระทู้ธรรมให้นวกภิกษุไปแต่ง และนำมาอ่านในที่ประชุมกรรมทุกวันโกนรวม ๑๐ ครั้ง  การเข้าโรงเรียนและการแต่งกระทู้ไปอ่าน แม้จะทรงได้รับประทานพระอนุญาตจากสมเด็จฯ พระอุปัชฌายะให้เว้นได้ ก็ไม่ทรงยอมเว้น ได้ทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และทรงวางพระองค์ดีเป็นที่รักเป็นที่นับถือของพระเก่าและพระใหม่ทั่วไป ในพรรษากาลนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้เสด็จลงประทานพระโอวาทด้วยพระองค์เองโดยตลอด ได้มีนวกภิกษุจดบันทึกไว้ด้วยชวเลขแล้วคัดลอกถวายทรงแก้แล้ว ขอประทานพระอนุญาตพิมพ์เป็นอนุสรณ์ สำหรับนวกภิกษุศกนั้น ด้วยพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์นั้น พระโอวาทนี้ต่อมาได้พิมพ์ขึ้นแพร่หลายใช้เป็นคู่มือของนักศึกษาและปฏิบัติทั่วไป เมื่อออกพรรษาแล้วได้เสด็จไปประทับแรมที่พระปฐมเจดีย์คืนหนึ่ง เพื่อทรงทำวัตรสวดมนต์ บูชาและทำประทักษิณพระปฐมเจดีย์ตาพระราชนิยมแห่งสมเด็จพระไอยกาธิราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เสด็จทอดพระเนตรตึกด้วย

อนึ่ง ได้เสด็จแทนพระองค์ฯ ขึ้นไปทรงถวายผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

พระกรณียกิจบางอย่างในขณะทรงผนวชเหล่านี้แสดงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ท่าน แม้เมื่อลาผนวชแล้ว ก็ได้เสด็จมาทรงธรรมในวันธรรมสวนะอยู่เนืองๆ ปรากฏว่าสนพระหฤทัยในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในปรมัตถธรรมคือเรื่องขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า กายนี้ แยกออกเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ส่วนที่เรียกร้องกันว่าอย่างโน้นอย่างนี้ก็เป็นเพียงสมมติบัญญัติ และคนทั่วไปก็ยึดถือสิ่งที่สมมติบัญญัติเหล่านี้ว่าเป็นตัวตนเราเขา  พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้แยกสิ่งที่ยึดถือนี้ออกเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ หรือจะเรียกว่าสอนให้แยกธาตุก็ได้ แต่ให้พิจารณาให้เห็นเกิดดับของสภาวะเหล่านี้ เมื่อพิจารณาแยกธาตุออกไป ได้แลเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นธรรมคือความจริง เมื่อเห็นธรรมก็ย่อมจะได้ปีติปราโมชในธรรม สิ่งที่เห็นคือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นสิ่งเกิดดับ หรือมีเกิดมีตาย ส่วนที่ผู้ที่พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ถอนความยึดถือว่าเป็นตัวตนเสียได้ ย่อมเป็นผู้รู้ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ แต่ไม่ใช่เป็นตัวขันธ์ อายตนะ ธาตุ จึงเป็นผู้ไม่ตาย  ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ ดังที่ยกไว้เป็นบทอุทเทศ ณ เบื้องต้นแปลความว่า ในกาลใดๆ ย่อมเห็นความเกิดและความดับของขันธ์ทั้งหลาย ในกาลนั้นๆ ย่อมได้ปีติปราโมช นั้นเป็นอมตะ ของผู้รู้แจ้งทั้งหลายดังนี้

ปรมัตถธรรมนี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา ไม่มีในศาสนาอื่นๆ เมื่อได้ศึกษาให้เข้าใจในหลักปรมัตถธรรมให้ทั่วถึง จึงจะชื่อว่าได้รู้จักพระพุทธศาสนา แม้โดยปริยัติ

พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้บุคคลเข้าถึงธรรมคือความจริงดังกล่าวด้วยวิธีต่างๆ กัน แต่ทุกๆ วิธีทรงสอนให้เห็นความจริงโดยตลอด ไม่ให้ดูครึ่งๆ กลางๆ ไม่ให้ดูในทางดีหรือทางร้ายผิดจากความจริง ไม่ได้ทรงปฏิเสธวัยที่สดชื่น ไม่ได้ทรงติรูปสมบัติ แต่ทรงสอนให้พิจารณาดูให้เห็นความจริงของวัย ของรูป ทั้งขณะแห่งรูปสมบัติ ทั้งขณะแห่งรูปวิบัติโดยตลอด ดังเรื่องที่เล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า พระกนิษฐภคินีของพระพุทธเจ้า ซึ่งประสูติแด่พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระน้านาง มีพระนามว่า รูปนันทา ทรงพระสิริโฉมเป็นเลิศ เมื่อเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีแล้ว ไม่กล้าไปเฝ้าฟังธรรม เพราะเกรงว่าพระพุทธเจ้าจะเทศน์ติรูป ต่อมาอดพระหฤทัยอยู่ไม่ได้ ต้องเสด็จไปฟังธรรม พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมด้วยวิธีใช้หนามบ่งหนาม คือทรงแสดงรูปนินิต ให้เห็นผู้ที่อยู่ในวัยตั้งแต่ต้นเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ คือตั้งแต่อายุ ๑๖ อายุ ๒๐ เพิ่มขึ้นเรื่อยไป จนเป็นคนแก่และแก่หง่อมจนถึงเป็นศพในที่สุด เมื่อพระรูปนันทาได้เห็นรูปที่เปลี่ยนมาโดยลำดับเช่นนั้น ก็ยินดีชื่นชมในตอนแรกแล้วก็หน่ายไปโดยลำดับในที่สุด พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสโอวาท แปลความว่า “ดูก่อนนันทา เธอจงดูกายที่เน่าไม่สะอาดเดือดร้อน ที่ไหลเข้าไหลออกอยู่ ที่คนเขลาปรารถนานัก กายนี้ฉันใด กายนั้นก็ฉันนั้น กายนั้นฉันใด กายนี้ก็ฉันนั้น เธอจงดูธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของว่างเปล่าจากตัวตน อย่ามาสู่โลกอีก เธอสำรอกความพอใจในภพแล้ว จักเป็นผู้สงบระงับไป” ดังนี้  การเห็นธรรมคือความจริงในรูปหรือพูดรวมว่าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ อย่างน้อย ย่อมเป็นเหตุให้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งสภาวะเหล่านี้ สามารถตั้งตนไว้ชอบได้ในสถานทั้งปวง.

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้ทรงสนพระทัยศึกษาพระพุทธศาสนา เจริญพระปัญญาในธรรมคือความจริง จึงเป็นฐานะที่จะทรงปีติปราโมชในธรรมตามควรแก่พระปัญญาบารมี

ขออำนาจกุศลทักษิณานุปทานที่ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้บำเพ็ญอุทิศถวายทั้งนี้จงสัมฤทธิ์สุขสมบัติแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต โดยฐานะ

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ พระสงฆ์ ๔ รูปจักได้สวดคาถาธรรมบรรยายโดยสรภัญวิธีเพิ่มพูนอัปมาทธรรมสืบต่อไป

แสดงพระธรรมเทศนายุติด้วยประการฉะนี้



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๒
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 11 กุมภาพันธ์ 2562 16:12:14 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

สังคหกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ทานฺญจ เปยฺยวชฺชญฺจ        อตฺถจริยา จ ยา อิธ
สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ ตตฺถ ตตฺถ ยถารหนฺติ


บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาปรารภอาโรคยทานตามที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคพึงรังเกียจ และวันนี้เป็นวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบโบราณ แม้ในบัดนี้จะมิได้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว แต่ก็ยังถือเป็นประเพณีหยุดงานทำบุญทานต่างๆ และไปรดน้ำแสดงคารวะผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ พร้อมด้วยการรื่นเริงชื่นบาน การฟังเทศน์ในวันเช่นนี้ก็เป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า ภาวนามัย บุญกิริยา แปลว่า การทำบุญที่สำเร็จด้วยภาวนา คือ การอบรมจิตใจและปัญญา เพราะว่าวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญนั้น มี ๓ อย่าง ได้แก่ ทาน ๑ ศีล ๑ ภาวนา ๑ ที่สูงกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ ผู้ที่ต้องการจะทำบุญให้สมบูรนณ์จึงทำทั้ง ๓ อย่าง ได้แก่ ให้ทานด้วย รักษาศีลด้วย ทำภาวนาคืออบรมจิตใจให้สงบตั้งมั่นและอบรมปัญญาด้วย

การฟังธรรมเป็นการทำบุญข้อที่ ๓ นี้ เป็นบุญที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่าทานศีล ละเอียดประณีตอย่างไร ควรทราบความหมายของคำว่าบุญก่อน บุญมี ๒ อย่างคือ บุญโดยเหตุ ได้แก่การกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดสุข คือ การกระทำที่เป็นการชำระฟอกล้างมณทินโทษต่างๆ บุญส่วนผล ได้แก่ความสุข ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่าบุญเป็นชื่อแห่งความสุข”  ทานเป็นเครื่องชำระความตระหนี่และความโลภ เป็นบุญส่วนเหตุให้เกิดความสุข เพราะจิตใจบริสุทธิ์จากความตระหนี่และความโลภ ศีลเป็นเครื่องชำระโทสะ เป็นบุญส่วนเหตุให้เกิดความสุข เพราะจิตใจบริสุทธิ์จากโทสะ  ภาวนาเป็นเครื่องชำระอารมณ์และกิเลสที่กั้นขัดขวางใจและเป็นเครื่องกำจัดความหลงรู้ผิดเห็นผิดถือผิด เป็นบุญส่วนให้เกิดสุข เพราะจิตใจบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองดังกล่าวและความหลง, ข้อสำคัญของบุญอยู่ที่ความบริสุทธิ์ใจ การทำที่ดีชอบอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อความบริสุทธิ์ ได้ความบริสุทธิ์ขึ้นเมื่อใดก็เป็นบุญขึ้นเมื่อนั้น การฟังธรรมเป็นเหตุให้ได้รับความบริสุทธิ์ใจได้มาก เพราะเป็นเหตุให้ได้ปัญญาในธรรม และนำให้เกิดการปฏิบัติในทานศีลอีกด้วย ดังในเทศนากัณฑ์นี้ปรารภอาโรคยาทานตามสมควรแก่วันสงเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุชักนำให้ปฏิบัติในทานอีกได้

เรื่องโรคภัยต่างๆ นั้น ได้มีแสดงเป็นพระพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง จะยกมากล่าวในที่นี้ ๒ แห่ง คือ แห่งหนึ่ง ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้ อีกแห่งหนึ่งว่า โรคมี ๓ ชนิด คือ
๑.โรคบางอย่างรักษาก็หายไม่รักษาก็หาย
๒.โรคบางอย่างจะรักษาหรือไม่รักษาก็ไม่หาย
๓.โรคบางอย่างรักษาไม่หาย ต่อเมื่อรักษาจึงหาย

ผู้ที่ดูแต่แห่งแรกก็อาจเพิกเฉยต่อการที่จะเอาใจใส่เยียวยาแก้ไขโรค หรืออาจจะกล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยให้เป็นโรคไปเพราะเป็นธรรมดา ต่อเมื่ออ่านไปจนถึงแห่งที่สองจึงจะเห็นว่าท่านสอนวางหลักไว้บริบูรณ์ รวมความว่า เมื่อโรคเกิดขึ้นก็ต้องรักษาเยียวยาไว้ จึงจะตั้งอยู่ในฐานเป็นผู้ไม่ประมาท

พระบรมศาสดาทรงปรารภภิกษุอาพาธตรัสสั่งไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายมารดาก็ดี บิดาก็ดี ของเธอทั้งหลายไม่มี ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ภิกษุใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเรา ขอให้ภิกษุนั้นพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้าอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ของผู้ไข้มีอยู่ ให้เธอพยาบาลกัน กว่าจะหายหรือสิ้นชีพ ถ้าไม่มี ให้ผู้ร่วมอุปัชฌายะ ร่วมอาจารย์พยาบาล ถ้าภิกษุไข้เป็นผู้จรมาตัวคนเดียว ให้สงฆ์พยาบาล”  ในการพยาบาลนั้นก็จำต้องมีหมอมียาและมีอุปกรณ์ต่างๆ  ในครั้งพุทธกาล หมอชีวกโกมารภัจนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงประจำราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์ได้เป็นหมอถวายการเยียวยาพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ในคราวอาพาธ การปฏิบัติดังนี้มิใช่ควรทำแต่ในหมู่สงฆ์เท่านั้น แต่ควรทำในหมู่ชนทั่วไป เพราะเมื่อคนใดคนหนึ่งป่วยไข้ลงก็จะต้องมีผู้ให้การรักษาพยาบาล ถ้าคนป่วยเจ็บป่วยน้อย ก็อาจช่วยตนเองได้ด้วยแสวงหายามาใช้เอง, ถ้าเจ็บป่วยมากไม่อาจช่วยตนเองได้ก็ต้องมีหมอมีพยาบาล และถ้าเป็นโรคร้ายแรงเรื้อรังติดต่อ ก็ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ต้องแยกไปอยู่ต่างหาก คนเจ็บป่วยต้องเสวยทุกขเวทนาเองแล้ว บางโรคยังเป็นที่รังเกียจของหมู่ชนอีกด้วย คนป่วยทุกคนจึงต้องการความช่วยเหลือ ถ้ามีมารดาหรือมีบุตรธิดา บุคคลเหล่านี้ก็จะขวนขวายพยาบาลรักษา. ถ้าไม่มี ผู้ใกล้ชิดก็จะช่วยกัน ถ้าไม่มีอีก คนทั้งหลายก็ควรจะช่วยกัน เทียบเท่าภิกษุไข้ผู้จรมาผู้เดียวที่ตรัสให้สงฆ์พยาบาล รวมความว่าคนป่วยนั้นจะต้องมีคนอื่นช่วย ถ้าไม่ใช่มารดาบิดาญาติสาโลหิต ก็เป็นบุคคลส่วนรวม คนป่วยจึงเป็นผู้ควรแก่ความกรุณาโดยแท้

เหตุฉะนี้คนทั้งหลายผู้มีเมตตากรุณาจึงได้ช่วยรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย แม้มิใช่ญาติเป็นส่วนเฉพาะตนบ้าง รวมกันช่วยบ้าง แม้พระมหากษัตริย์และรัฐบาลก็ได้ตั้งโรงพยาบาลเป็นที่รักษาพยาบาลคนเจ็บป่วยเป็นส่วนกลาง, แต่คนป่วยด้วยโรคต่างๆ มีจำนวนมาก หากคนทั้งปวงได้ร่วมกันช่วยสงเคราะห์อีกทางหนึ่งก็จะทำให้การพยาบาลรักษาเพียงพอยิ่งขึ้น

คนป่วยด้วยโรคอย่างอื่นจะยกไว้ก่อน จะกล่าวเฉพาะโรคเรื้อน เพราะวันนี้เป็นวันสงเคราะห์คนป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคนี้มีความร้ายแรงน่ารังเกียจอย่างไรย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่ เมื่อก่อนนี้มักจะได้เห็นคนป่วยด้วยโรคนี้เที่ยวเดินอยู่ตามถนนบ่อยๆ แต่บัดนี้จะไม่ได้เห็น เพราะได้มีสถานที่ไปรวมอยู่กับการรักษาพยาบาล ที่ได้ตั้งขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ด้วยความกรุณาของรัฐบาลและด้วยการบริจาคสงเคราะห์ของประชาชนผู้มีเมตตากรุณาทั้งปวง แม้ทางมหาเถรสมาคมก็ได้พิจารณาเห็นความสมควรที่คณะสงฆ์จะได้แผ่เมตตาจิตและดำเนินการอนุเคราะห์ เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่อีกมาก ยังมีความจำเป็นในด้านการช่วยสงเคราะห์ จึงให้กรมการศาสนาแจ้งขอความอุปถัมภ์ไปยังเจ้าอาวาสต่างๆ ขอให้จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาในวันสงกรานต์ ๑ กัณฑ์ แล้วรวบรวมส่งไปสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน เหมือนอย่างที่ได้ปฏิบัติมาแล้วในปีก่อนๆ และผู้ประสงค์ร่วมการกุศลสงเคราะห์  ทั้งนี้ ก็อาจส่งตรงไปยังมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.) วัดมกุฏกษัตริยาราม

การที่ทางคณะสงฆ์และผู้มีเมตตาจิตทั้งหลายได้จัดการสงเคราะห์ขึ้นทั้งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติอนุวัตรพระพุทธปฏิปทาและพระพุทธศาสโนวาท พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จไปถวายการรักษาพระพุทธบิดาเมื่อประชวรและได้เคยเสด็จไปทรงพยาบาลภิกษุไข้ผู้เป็นแผลเน่าเปื่อยไปทั้งกาย ที่เรียกว่าพระปูติคัตตะ แปลว่า พระกายเน่า มีเรื่องเขียนเล่าไว้ว่า ท่านถูกทอดทิ้งให้นอนซมอยู่แต่ผู้เดียว พวกศิษย์พากันหมดหวังที่จะรักษา และพากันรังเกียจ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงหยั่งทราบด้วยพระญาณได้เสด็จไปเพื่อจะทรงพยาบาล พวกภิกษุเห็นก็พากันไปช่วยจัดทำเองตามพระพุทธาณัติ ได้โปรดให้อาบน้ำท่านด้วยน้ำอุ่นเปลี่ยนผ้าเก่าออกซักตากแดดแห้งแล้วให้นุ่งห่มด้วยผ้าที่ซักแล้ว ท่านก็มีจิตใจสบาย พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับยืนเบื้องศีรษะของท่าน ประทานพระธรรมโอวาทว่า อจิรํ วตยํ กาโย เป็นต้น แปลว่า “ไม่นานหนอ กายนี้จักปราศจากวิญญาณ ถูกทิ้งให้นอนถมทับแผ่นดินเหมือนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์” ท่านฟังพระธรรมบทนี้บรรลุผลที่สุดแล้วก็ปรินิพพาน.  มีเล่าบุพพกรรมของท่านไว้ว่า เมื่อท่านเป็นพรานนก ได้จับนกมาหักกระดูกขากระดูกปีกรอเวลาที่จะฆ่าขายเป็นอันมาก เพราะกลัวจะบินหนีไป จะฆ่าเสียทั้งหมดขายไม่หมดก็จะเน่าเสีย จึงส่งผลให้เป็นโรคกายเน่ากระดูกผุแตก แต่ท่านได้ทำความดีมีอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ มีชายคนหนึ่งเป็นคนกำพร้าขัดสนทั้งเป็นโรคเรื้อน ได้เดินผ่านไปยังพระเวฬุวัน เห็นหมู่ชนเป็นอันมากกำลังนั่งสงบเฝ้าแวดล้อมพระพุทธองค์อยู่ จึงเดินตรงเข้าไปหมายใจจะขอเศษอาหารเขาบริโภค ครั้นเข้าไปถึงเห็นเขากำลังนั่งสงบฟังเทศน์กันอยู่ จึงเข้าไปเฝ้าแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ชายผู้นี้ชื่อว่าสุปปพุทธะ เมื่อกลับออกไปจากพระเวฬุวันได้ถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิดถึงแก่กรรม มีเล่าบุพพกรรมของชายเป็นโรคเรื้อนคนนี้ไว้ว่าเมื่อครั้งเขาเป็นบุตรเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นั้น ได้เห็นพระปัจจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกบิณฑบาตในเมือง เกิดความคิดดูหมิ่นเหยียดหยามขึ้นว่า “คนโรคเรื้อน” ถ่มเขฬะแสดงความรังเกียจแล้วเดินให้ท่านหลีกไปทางซ้ายของตน เป็นการแสดงความดูหมิ่นไม่เคารพ จึงส่งผลให้เป็นโรคเรื้อน ได้มีพระพุทธอุทานปรารภเรื่องของชายเป็นโรคเรื้อนแปลความว่า”เมื่อความบากบั่นพยายามมีอยู่ บัณฑิตพึงเว้นบาปทั้งหลายในชีวโลก เหมือนคนมีจักษุเว้นทางที่ไม่เรียบร้อยนั้น”

อีกเรื่องหนึ่งเล่าถึงพระกนิฏฐภคินีของพระอนุรุทธะ มีนามว่าโรหิณี ประชวรด้วยโรคผิวหนัง ท่านแสดงบุพพกรรมว่าเพราะแรงโกรธของริษยา โปรยสิ่งที่เป็นพิษคันลงที่ร่างกายของสตรีผู้ร่วมสามี เมื่อได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้ละโกรธมานะแล้ว มีจิตใจแช่มชื่นสิ้นกรรม ก็หายจากโรคนั้น

ตามเรื่องที่เล่ามาเหล่านี้แสดงถึงกรรมที่บุคคลทำไว้ว่ามีส่วนสำคัญที่ให้เกิดโรคร้ายเช่นโรคที่พึงรังเกียจจนถึงในพระวินัยก็มีห้ามมิให้อุปสมบทนี้ กรรมอดีตที่ทำไว้แล้วก็เป็นอันทำแล้ว แต่ท่านก็แสดงว่าพึงละกรรมชั่วที่ไว้แล้วได้ด้วยกุศล ดังพระธรรมบทหนึ่งแปลความว่า “บุคคลใดละกรรมชั่วที่ทำไว้แล้วด้วยกุศล บุคคลนั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่างเหมือนพระจันทร์พ้นจากหมอกฉันนั้น”  ฉะนั้น หน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือระมัดระวังกรรมปัจจุบัน ซึ่งทุกๆ คนสามารถจะควบคุมกรรมปัจจุบันของตนได้, พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ในปหานภาวนาสูตร เก็บความรวมกันว่า “ท่านทั้งหลายจงละอกุศล จงทำกุศล ท่านทั้งหลายอาจเพื่อจะละอกุศลอาจเพื่อจะทำบุญ ถ้าท่านทั้งหลายไม่อาจ เราก็จะไม่สอนดังนั้น อนึ่ง ถ้าการละอกุศล การทำกุศล จะพึงเป็นไปเพื่อโทษทุกข์ เราก็จะไม่สอนให้ท่านทั้งหลายละอกุศลให้ทำกุศล แต่เพราะการละอกุศลทำกุศลเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข เราจึงสอนให้ท่านทั้งหลายละอกุศล ทำกุศล”  ดังนี้ การควบคุมระมัดระวังกรรมปัจจุบันหมายถึงการควบคุมจิตใจด้วย เพราะจิตใจเป็นต้นเดิมของกรรม ถ้าจิตใจไม่ดี เช่นประกอบด้วยความโกรธพยาบาท ความริษยา ความดูหมิ่นท่าน ดังเรื่องที่เล่ามาข้างต้นนั้น ก็เป็นเหตุก่อเจตนาทำกรรมที่ชั่วร้าย แต่ถ้าจิตใจดีเช่นประกอบด้วยเมตตากรุณา ก็เป็นเหตุให้ก่อเจตนาทำกรรมที่ดีที่ชอบ ดังเช่นทำการสงเคราะห์ต่างๆ  ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสสอนให้แผ่เมตตาพรหมวิหารธรรมมีเมตตาเป็นต้นออกไปทั้งโดยเจาะจงทั้งโดยไม่เจาะจง ดังที่ตรัสสอนไว้ในเมตตสูตรว่า เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ พึงอบรมใจมีเมตตาไม่มีประมาณในโลกทั้งสิ้น”

เมตตากล่าวโดยย่อ คือ ความมีจิตปรารถนาให้เป็นสุข ตรงกันข้ามกับโทสะ เมตตาจึงเป็นเครื่องยับยั้งห้ามกันจิตจากโทสะ ก่อเจตนากรรมที่เป็นการสงเคราะห์กัน ๔ ประการ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญฺจ เป็นต้น  แปลความว่า “ทาน ๑  วาจาเป็นที่รัก ๑  ความประพฤติประโยชน์ ๑  ความมีตนสม่ำเสมอในธรรมทั้งหลายในบุคคลนั้นๆ ตามสมควร ๑  ธรรม ๔ ประการเหล่านี้เป็นสังคหะเครื่องสงเคราะห์ คือยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ในโลก เหมือนอย่างเพลาแห่งรถที่วิ่งไปอยู่ฉันนั้น” มีอธิบายโดยสังเขปว่า

ทาน การให้ การบริจาค ท่านสรรเสริญการเลือกให้ เป็นกุศลทาน หรือสัปปุริสทาน (ทานของคนดี) ดังเช่นที่แสดงกาลทานไว้ ๕ ประการ คือ
๑.การให้แก่คนผู้มาถึง
๒.การให้แก่คนที่เตรียมตัวจะไป
๓.การให้แก่คนป่วยเจ็บ
๔.การให้ในเวลาที่เกิดขาดแคลนอาหาร
๕.การให้ในเวลาได้ผลไม้ใหม่

อนึ่ง การแสดงธรรมให้ฟังก็เรียกว่าทาน คือ ธรรมทาน  ท่านแสดงว่า ธรรมทานเป็นเลิศแห่งทานทั้งหลาย

วาจาเป็นที่รัก หมายถึงพูดถ้อยคำที่สุภาพไพเราะหูจับใจ ด้วยจิตใจที่มุ่งดี, ท่านแสดงว่าบรรดาวาจาเป็นที่รักทั้งหลาย วาจาที่แสดงธรรมบ่อยๆ แก่ผู้มีความต้องการและเงี่ยโสตตั้งใจสดับเป็นเลิศ

ความประพฤติประโยชน์ หรือ อรรถจริยาคือทำให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ปราศจากโทษ ท่านแสดงว่า บรรดาความประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย การทำผู้ที่ไม่มีศรัทธา ทุศีล มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม ให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ การสละ บริจาค และปัญญา เป็นความประพฤติประโยชน์ที่เลิศ

ความมีตนสม่ำเสมอ หรือ สมานัตตตา หมายถึง ความวางตนสม่ำเสมอ ไม่กระด้าง ตามสมควร ท่านแสดงว่า พระอริยบุคคลชั้นเดียวกันมีตนสม่ำเสมอกัน เป็นความมีตนสม่ำเสมอที่เลิศ โดยนัยนี้ ความมีตนสม่ำเสมอ จึงต้องพิจารณาดูตนว่ามีภาวะเกี่ยวด้วยวุฒิต่างๆ เป็นต้นสม่ำเสมอกับผู้ใดก็ชื่อว่ามีตนสม่ำเสมอกับผู้นั้นได้, โดยอธิบายดังนี้ จึงเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดว่า มารดาบิดากับบุตรธิดาจะต้องมีตนสม่ำเสมอกัน หรือใครๆ จะต้องสม่ำเสมอกันไปหมด เพราะท่านหมายถึงเสมอกันสำหรับผู้ที่มีภาวะเสมอกัน จึงเป็นอันสอนว่า ผู้ใดมีคุณธรรมเป็นต้นต่ำกว่า เมื่อปรารถนาจะให้ตนเองขึ้นไปเสมอกับผู้ที่สูงกว่า ผู้นั้นก็ต้องทำความดีให้มากขึ้น เมื่อความดีมากขึ้นเท่ากันแล้วก็เสมอกันขึ้นเอง ถ้าอยากจะไปเสมอกับคนที่สูงกว่าด้วยความดีเป็นต้น โดยไม่ทำความดีของตนให้สูงขึ้น ความอยากเช่นนี้ ก็เป็นกิเลส ไม่ใช่สมานัตตตา

ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเครื่องสงเคราะห์ ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันและกันไว้ได้ในโลก เหมือนอย่างเพลาของรถที่แล่นไปฉันนั้น และธรรมเหล่านี้เป็นกุศลกรรมที่เกิดจากเมตตา ฉะนั้น จึงสมควรที่จะอบรมเมตตาจิตและแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณในทิศทั้งปวง ผู้อื่นที่ได้รับเมตตาจิตก็จะมีความสุข ผู้มีเมตตาจิตเองก็จะมีความสุข, ท่านจึงแสดงอานิสงส์ของเมตตาภาวนาไว้ว่า “หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันเห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟยาพิษหรือศาสตราไม่กล้ำกราย, จิตของผู้มีเมตตาตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว ผิวหน้าผ่องใส ไม่หลงทำกาลกิริยา เมื่อยังไม่บรรลุถึงธรรมที่ยิ่งขึ้นย่อมเข้าถึงพรหมโลก” มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในวันสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๙
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2562 16:17:12 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

อาโรคยกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนนฺติ

บัดนี้จักแสดงพระธรรมเทศนา ในอาโรคยกถา ว่าด้วยความไม่มีโรค ซึ่งเป็นลาภอย่างยิ่งตามหลักธรรมที่พึงปฏิบัติ และวันนี้เป็นสงกรานต์ในทเศกาลสงกรานต์ซึ่งประชาชนชาวไทยได้ถือเป็นเทศกาลรื่นเริง บำเพ็ญกุศล และแสดงคารวะผู้ใหญ่ตามประเพณีนิยมมาแต่โบราณกาล แม้ว่านิยายเกี่ยวแก่วันสงกรานต์จะไม่เป็นที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน แต่ประเพณีที่เคยทำกันมาในวันสงกรานต์หลายอย่ายังเป็นสิ่งที่ดีงาม จึงยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ ดังจะพึงเห็นได้เช่นการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา บังสุกุลอัฐิ สรงน้ำและรดน้ำ รวมความเข้าแล้ว ก็อาจจะหยิบยกสิ่งดีงามอันสำคัญขึ้นกล่าวได้เช่นว่า การบริจาคทรานในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง อันทำจิตใจให้สดชื่นรื่นเริง ทั้งเป็นการอุปถัมภ์พระศาสนาด้วย การบังสุกุลอัฐิเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีในท่านบุพการีผู้ล่วงไปแล้ว ทำให้จิตใจระลึกถึงพระคุณของท่านซึ่งเนื่องมาถึงตน ถ้าไม่มีอัฐิเหล่านั้น อัฐิในสังขารที่เป็นอยู่บัดนี้ก็มีขึ้นไม่ได้  ฉะนั้น อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หากได้ระลึกถึงพระคุณท่านและทำอะไรเพื่อท่านบ้าง ก็ย่อมเป็นมงคลแก่ตนเอง ความกตัญญูกตเวทีเป็นหลักธรรมสำคัญของคนดีทั้งปวง ใครที่ไม่นับถือธรรมข้อนี้หรือถ้อยในธรรมข้อนี้ ย่อมเท่ากับไม่นับถือตนเอง หรือว่าถ้อยในความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้การแสดงคารวะต่อท่านผู้ใหญ่ย่อมส่องถึงผู้แสดงเองว่าเป็นผู้มีอุปจายนธรรม ได้แก่ ธรรมคือความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ผู้เจริญ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเหตุเจริญธรรม ๔ ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุข พล ดังที่พระสงฆ์สวดอนุโมทนาอยู่เป็นประจำ ความคารวะท่านผู้ควรคารวะนี้เป็นหลักยึดเหนี่ยวหมู่ชนหรือที่เรียกว่าสังคมอย่างสำคัญ เพราะทำให้ผู้ใหญ่เกิดความเมตตาในผู้น้อย และผู้น้อยก็แสดงว่ามีความนับถือในผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดความเรียบร้อยและความสุขในหมู่ชน ตั้งต้นแต่ในครอบครัวหนึ่งขึ้นไป ผลที่ดีงามเหล่านี้เกิดจากประเพณีที่ดีงามที่มีในเทศกาลทั้งปวง ไม่ว่าเทศกาลเหล่านั้นจะมีประวัติปรัมปรามาอย่างไร นับว่าเป็นความฉลาดอย่างยิ่งของบรรพชนซึ่งได้สอดแทรกสิ่งที่งามต่างๆ ไว้ เนื่องจากเทศกาลเช่นนี้เป็นเทศกาลบำเพ็ญกุศลอยู่ตามประเพณีนิยมแล้ว ทางมหาเถรสมาคมจึงได้ลงมติให้วัดทุกวัดทั่วพระราชอาณาจักร จักให้มีพระธรรมเทศนาในเทศกาลวันสงกรานต์ เรียกว่า “วันสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน” เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคร้ายนี้ สำหรับส่วนกลางก็ได้จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งจะแสดงตามพระพุทธภาษิตบทอุเทศ ณ เบื้องต้น แปลว่า “ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง” หรือแปลโดยความว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง”

ลาภคือสิ่งที่ได้มา อันหมายถึงสิ่งที่ปรารถนาหรือสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นต้นว่า ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดถึงบุตรภริยา และสิ่งอื่นต่างๆ ทุกๆ คนต้องการลาภมาทำไม ก็เพราะลาภเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดความสุขแก่ตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นเมื่อได้ลาภคือเงินทองก็สามารถจับจ่ายซื้อหาสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ทั้งที่เป็นเครื่องบำรุงความสุขทั้งปวง ทั้งจะใช้ทำอะไรอันเป็นวิสัยของเงินทองก็ทำได้ แต่ถ้าตนเองอันหมายถึงร่างกายของตนมีโรคไข้เจ็บก็ไม่อาจที่จะบริโภคลาภได้ แต่ต้องรักษาตนเองให้หายจากโรค ถ้าเป็นโรคที่ทำให้ทุพพลภาพ ก็ไม่สามารถที่จะทำกิจการอะไร ต้องใช้ลาภเก่าไปอย่างเดียว ลาภใหม่ก็ไม่เกิด  ฉะนั้น สิ่งที่พึงต้องการเป็นอันดับแรกของคนก็คือความไม่มีโรค อันหมายถึงร่างกายมีสุขภาพอนามัย ปราศจากโรคที่ทำให้ทุรพลไร้สมรรถภาพ เป็นเหตุให้สามารถทำการงาน สามารถบริโภคใช้สอยลาภต่างๆ ที่ได้มาให้เกิดความสุข ความไม่มีโรคของร่างกายจึงเป็นลาภอย่างยิ่ง

ในบัดนี้คนมีความรู้ในวิธีการป้องกันรักษาอนามัย รู้วิธีบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ดีขึ้นมากและได้มีโรงพยาบาล มีสถานสงเคราะห์คนไข้เจ็บต่างๆ ทั้งผู้มีใจกรุณาก็ได้พากันบริจาคเพื่อสงเคราะห์ แต่ก็พึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนจะพึงรักษาตนด้วยตนเองอยู่ทุกวัน ไม่ควรจะคิดว่ามีแพทย์มีโรงพยาบาลอยู่พร้อม หรือมียาที่ดีๆ เป็นอะไรขึ้นก็ไม่เป็นอะไร พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรม เพื่อปฏิบัติรักษาตนให้มีอนามัยไว้หลายข้อ เช่น สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพโดยชอบ อันหมายถึงในทางสุจริต และในทางที่ชอบด้วยสุขลักษณะ คือแม้ว่าจะในทางสุจริต ก็มิใช่ว่าจะหักโหมจนเกินกำลังหรือวิธีที่ก่อโรคให้เกิดแก่ร่างกาย สมชีวิตา ความดำรงชีวิตสม่ำเสมอ อันหมายถึงการใช้จ่ายทรัพย์ที่ได้มาพอสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้เบียดกรอนัก ทั้งหมายถึงการจัดให้มีการบริโภค การทำงาน การพัก อันรวมเรียกว่าการดำรงหรือดำเนินชีวิตเหมาะสมสม่ำเสมอ โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้ประมาณในการบริโภคอันหมายถึงความรู้จักมาตรา คือประมาณในคุณภาพในปริมาณเป็นต้นของอาหาร นอกจากนี้ยังได้สอนให้เว้นจากอบายมุขต่างๆ เช่น เป็นนักเลงสุรา นักเลงหญิง นักเที่ยวกลางคืน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นเครื่องก่อโรคให้เกิดแก่ร่างกาย หลักธรรมเหล่านี้เป็นธรรมเครื่องรักษาตนรักษาร่างกายให้มีผาสุก เมื่อทุกคนได้ใส่ใจรับไปปฏิบัติ ก็จะเห็นผลว่าจะมีผาสุกแก่ร่างกายตลอดถึงแก่ทรัพย์ จะมีความผาสุกในการครองชีวิต

แต่ทางพระพุทธศานามิได้หยุดอยู่เพียงความไม่มีโรคทางกายเท่านั้น ได้มุ่งสอนถึงความไม่มีโรคทางใจเป็นข้อสำคัญ ในมาคัณฑิยสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปริพาชกชื่อว่ามาคัณฑิยะ มีความย่อในบางตอนว่า คนที่มีจิตใจดิ้นรนทะยานอยาก ปรารถนากระหายอยู่ในสิ่งต่างๆ ก็ย่อมดิ้นรนใจไปในสิ่งเหล่านั้น เมื่อได้มาปฏิบัติอบรมจิตใจให้สงบความอยากความกระหายเสียได้ ก็ย่อมไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก่อนแต่นั้นได้มีความปรารถนาต้องการเป็นอันมาก เปรียบเหมือนตนเป็นโรคเรื้อนมีร่างกายเป็นแผลแตกไปทั่ว มีความเจ็บคันไปทั้งตัว จึงต้องไปย่างกายที่หลุมถ่านเพลิงอันร้อน ต่อมาญาติก็นำเขาไปหาหมอให้รักษาบำบัด หมอจึงทำยาให้ เขาใช้ยาจนหายจากโรคได้ แม้เขาจะได้เห็นคนเป็นโรคเรื้อนอื่นๆ พากันย่างกายที่ถ่านเพลิงอันร้อน แต่เขาก็หาปรารถนาจะไปย่างกายที่ไฟอีกไม่ อันที่จริงในขณะที่เขาเป็นโรคเรื้อนอยู่หรือในขณะที่เขาหายโรคแล้ว ไฟถ่านเพลิงก็คงร้อนให้เกิดทุกข์เหมือนกันนั่นเอง ตัวเขาเองต่างหากที่มีความรู้สึกต่างกัน ในขณะที่เป็นโรค ก็โรคนั้นเองทำให้ต้องการไฟ วิ่งไปหาไฟ ให้ไฟลนตนเอง และรู้สึกว่าเป็นสุข เมื่อหายโรคแล้ว ก็ไม่ต้องการวิ่งไปหาไฟให้ไฟลน และได้พบความสุขอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นความสุขอันแท้จริง พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า แปลความว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง บรรดาทางทั้งหลายที่ให้ถึงอมตธรรม ทางมีองค์ ๘ ประการ เป็นทางเกษมสวัสดี”  ฝ่ายมาคัณฑิยะปริพพาชกได้ฟังพระพุทธอุทานนี้แล้ว ได้กราบทูลว่า น่าแปลกที่พระพุทธอุทานนี้ไปสมกันตรงกันกับภาษิตของท่านบูรพาจารย์ปริพพาชก ซึ่งได้กล่าวว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ว่าดังนี้แล้ว ได้ถูกายของตนด้วยมือ กราบทูลว่า นี้แหละคือความไม่มีโรค นี้แหละคือนิพพาน เพราะว่าตนไม่มีโรคอะไรเบียดเบียนมีสุขอยู่ ณ บัดนี้ ตามคำของมาคัณฑิยะนี้แสดงว่า มาคัณฑิยะมีความเข้าใจเพียงว่า ความไม่มีโรคที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอุทาน เป็นความไม่มีโรคทางกาย และข้อนี้เองคือนิพพาน ซึ่งตนก็มีอยู่แล้วในเวลานั้น ตามที่เคยฟังและเคยเข้าใจในบทธรรมเช่นเดียวกันนี้จากบูรพาจารย์ของตน

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอบรมต่อไปโดยความว่า คนตาบอดไม่เห็นอะไรเลย ได้ฟังคนตาดีพูดว่า ผ้าขาวก็แสวงหาผ้าขาว ได้มีคนผู้หนึ่งนำผ้าเปื้อนเปรอะมาลวงให้ว่าเป็นผ้าขาวสะอาด เขารับมานุ่งห่มแล้วดีใจพูดอวดใครๆ ว่าผ้าขาวสะอาดทั้งที่ไม่รู้ไม่เห็นเอง เพียงแต่เชื่อคนตาดีที่เขามาลวงเท่านั้น มีอุปมาฉันใด คนที่ไม่มีปัญญาก็ฉันนั้น ไม่รู้ไม่เห็นความไม่มีโรค และนิพพาน ก็พูดว่าไปเช่นนั้นเอง ร่างกายนี้เป็นรังโรค มาคัณฑิยะยังมาชี้เอาว่าเป็นความไม่มีโรคเป็นนิพพาน มาคัณฑิยะได้ฟังดังนั้นก็กลับได้สำนึก จึงกราบทูลขอให้ทรงตรัสบอก พระองค์ตรัสว่า ก็เหมือนอย่างคนตาบอดที่ญาติมิตรนำไปขอให้หมอรักษา ถ้าหมอรักษาเท่าไรก็ไม่หาย หมอก็เหนื่อยเปล่า ลำบากเปล่า ฉันใด ถ้าทรงตรัสบอก มาคัณฑิยะก็ไม่เข้าใจ ก็จะทรงเหนื่อยเปล่าฉันนั้น มาคัณฑิยะได้กราบทูลขอให้ตรัสบอกอีก แสดงว่ามีความตั้งใจจะรับพระธรรมจริง จึงได้ตรัสอบรมต่อไปมีความว่า คนตาบอดที่เขานำผ้าเปื้อนไปลวงให้ใช้ว่าเป็นผ้าขาวสะอาดนั้น ครั้นได้หมอรักษาหายแล้ว ก็ได้ทราบว่า ได้ถูกคนนี้ลวงมาเสียนาน ฉันใด มาคัณฑิยะก็ฉันนั้น ถ้าพึงรู้ความไม่มีโรคพึงเห็นนิพพาน พร้อมกับความเกิดขึ้นแห่งปัญญาจักษุนั้น ก็จะละความติดด้วยความพอใจยินดีในกองความยึดถือทั้งหลายได้ และจะพึงได้ความคิดความรู้ขึ้นว่า “ได้ถูกจิตนี้ลวงมาช้านาน” มาคัณฑิยะได้กราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมโดยที่คนจะหายจากความบอด พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติดังนี้ ข้อหนึ่ง คนสัปบุรุษ คือ คนดี  ข้อสอง ฟังธรรมของสัปบุรุษ  ข้อสาม ปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรมตามที่ได้ฟังแล้ว และเมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ จักรู้จักเห็นได้เองว่า เหล่านี้เป็นโรค เป็นฝี เป็นศรเสียบ ซึ่งได้ดับไปในที่นี้

พระสูตรนี้มุ่งแสดงความไม่มีโรคทางจิตใจ คือจิตใจสงบจากความดิ้นกระหายปรารถนา  ฉะนั้น จึงจับความได้ว่า โรคทางจิตก็คือ ความดิ้นรนกระหายปรารถนา ซึ่งเรียกว่าเป็นกิเลสในใจนั้นเอง ความไม่มีโรคทางจิตใจที่สมบูรณ์ก็คือ ความที่มีจิตใจสงบระงับจากความกระหายปรารถนาทั้งหมด แต่เมื่อจะแสดงโดยสามัญสำหรับเป็นข้อปฏิบัติทั่วไปก็คือ เพียงแต่ความสงบจิตใจได้จากความดิ้นรนปรารถนาในทางที่ผิด เช่น ในทางทุจริตต่างๆ นี้ เป็นความไม่มีโรคทางจิตใจที่พึงต้องการในที่ทั่วไป ในกาลทั่วไป ถ้าโรคทางจิตข้อนี้ยังรักษาไม่ได้ ก็ยากที่จะห้ามการแสวงหาในทางที่ผิดต่างๆ ยากที่จะห้ามทุจริตและความเดือดร้อนเสื่อมโทรมที่เกิดจากทุจริต หมอที่จะพึงรักษาให้หายโรคกิเลสทางจิตใจนี้ ก็คือพระพุทธเจ้า และยาสำหรับรักษาก็คือพระธรรมในพระพุทธศาสนา นอกจากธรรมะโอสถนี้แล้ว ไม่มียาที่จะรักษาให้หายโรคกิเลสนี้ได้เลย ในที่นี้ จะแสดงธรรมะโอสถสักข้อหนึ่ง คือ สันโดษ

สันโดษ ได้แก่ ความอิ่ม ความพอ ตรงกันข้ามกับความอยากที่ไม่อิ่มไม่พอซึ่งเป็นโรคกิเลสทางจิตใจข้อสำคัญ เพราะความอยากชนิดนี้เองเป็นตัวโรค (เครื่องเสียดแทง) เป็นฝีกลัดหนองอยู่ในใจ ความศรเสียบใจ และจิตใจเช่นนี้เองเป็นเครื่องลวงบุคคลให้เข้าใจผิด เพราะเมื่อมีโรคเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บุคคลก็กลายเป็นผู้บอด ซึ่งมีจิตของตนเองหลอกให้เห็นให้คิดไปต่างๆ ในทางที่ผิด จนกว่าจะได้ความคิดซึ่งเป็นตัวสติปัญญาขึ้น ตาสว่างขึ้น ด้วยอาศัยธรรมคือสันโดษ ความอิ่ม ความพอ ฉะนั้น เมื่อความอยากจะได้ในทางที่ผิดเกิดขึ้น หากรู้สึกว่าตนไม่สบายขึ้นแล้วก็ใช้สันโดษ พยายามคิดว่าอิ่มเสียที พอเสียที ให้หลายๆ ครั้ง พร้อมทั้งพิจารณาถึงความแก่เจ็บตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิต ถึงความดีความชั่วบุญบาป ซึ่งเป็นกรรมติดตนอยู่เนืองๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ สันโดษก็จะเกิดซึมซาบในจิตใจได้ ยาแก้โรคทางร่างกายเมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว ยาเข้าไปซึมซาบในร่างกาย จึงจะบำบัดโรคได้ฉันใด ยาธรรมก็ฉันนั้น เมื่อได้อบรมให้ซึมซาบเข้าไปในจิตใจได้ จึงจะบำบัดกิเลสในจิตได้ เบื้องต้นก็ต้องพยายามใช้ ทั้งแม้ไม่อยากจะใช้ เพราะจิตซึ่งเป็นผู้ลวงนั้นจะคอยลวงนำไปในทางที่ผิด เหมือนอย่างคนเป็นโรคเรื้อน ที่โรคนำให้วิ่งไปหากองไฟ แต่เมื่อได้พยายามปฏิบัติตามหลักสามข้อของพระพุทธเจ้าดังที่ได้กล่าวแล้ว คือ คบคนดี ฟังธรรมหรือคำแนะนำของคนดีและปฏิบัติตาม ก็จักกลับได้สติปัญญาของตนขึ้น สันโดษก็จะเกิดซึมซาบในจิต ทำให้จิตใจเกิดสว่างไสวขึ้น มองเห็นความจริง เห็นบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์

แต่ก็มีปัญหาที่คนไม่น้อยข้องใจว่า สันโดษ เป็นเครื่องถ่วงความเจริญก้าวหน้า เพราะเมื่อพากันอิ่มหรือพอเสียแล้ว ก็ไม่คิดจะทำความเจริญก้าวหน้าอะไรกันต่อไป จึงควรทำความเข้าใจเรื่องสันโดษให้ดีว่า สันโดษ เป็นคนละเรื่องกับปัญหาดังกล่าว เครื่องถ่วงความเจริญคือความเกียจคร้าน ไม่ขวนขวายคิดอ่านทำการงานให้ก้าวหน้า ยังมีเครื่องทำลายความเจริญคือความริษยา ความประพฤติตนในทางอบายมุขต่างๆ นอกจากนี้ ก็คือความทุจริตทั้งปวง ทางพระพุทธศาสนาได้มีธรรมสำหรับแก้ เช่น ความเพียรใช้แก้ความเกียจคร้าน ความเว้นอบายมุข ใช้แก้ความเสื่อมเสียเพราะอบายมุข และสันโดษใช้แก้ความโลภหรือความปรารถนาที่เป็นเหตุให้ทำทุจริต ธรรมมีหลายข้อที่จะพึงใช้แก้เหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้ เหมือนอย่างยาหลายขนานสำหรับแก้โรคหลายอย่าง ถ้าใช้ยาผิดจะไปโทษยาก็ไม่ถูก ยาดีอยู่แล้วก็ต้องใช้ให้ถูกด้วย และจะต้องรู้โรคสมุฏฐาน รู้จักใช้ยา การใช้ธรรมก็เช่นเดียวกัน คนที่เกียจคร้านอยู่แล้ว ไปใช้สันโดษเข้าอีกในกิจที่ควรทำ ก็เลยไม่ทำอะไร เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคง่วงนอนอยู่แล้ว ไปใช้ยานอนหลับเข้าไปอีกก็เลยหลับเสียไปเลย  ฉะนั้น ในฐานะเช่นนี้ต้องใช้ความเพียร พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า ไม่สันโดษในกุศล คือในการทำความดี เพราะคนเรามีความดีที่จะต้องทำอีกมาก  ฉะนั้นก็อย่าเพ่อพอเสียในความดีที่ทำ หรือมีอยู่แล้ว ต้องทำต่อไป แต่เมื่อได้รับผลต่างๆ เช่นลาภยศ ก็ให้มีสันโดษ คือให้มีความยินดีพอใจตามที่ได้ พระอาจารย์ได้ขยายความออกไปเป็นสามคือ ยถาลาภสันโดษ ความยินดีตามที่ได้ ยถาพลสันโดษ ความยินดีตามกำลัง ยถาสารุปสันโดษ ความยินดีตามสมควร ขอบเขตของสันโดษตามที่กล่าวนี้เข้าใจได้ง่ายอยู่แล้วว่า มีเหตุผลสมควร ถ้ากลับความกันเสียก็ยิ่งเห็นได้ง่าย เช่น ความไม่ยินดีตามได้ อันหมายถึงความปรารถนาเกินกว่าส่วนที่พึ่งได้ ความไม่ยินดีตามกำลัง อันหมายถึงความปรารถนาเกินกำลัง ความไม่ยินดีตามสมควร อันหมายถึงความปรารถนาเกินสมควร หรือในทางที่ไม่สมควร ดังนี้ ย่อมนำให้ประพฤติผิด เช่น ทำเกินกำลัง ทำไม่สมควร หรือทำทุจริต เพราะความปรารถนากระหาย ในฐานะเช่นนี้ ต้องใช้สันโดษแก้ คือฝึกทำใจให้รู้จักอิ่มรู้จักพอในลาภยศที่ได้มาตามควรแก่กำลัง และความสมควรของตน หากจะปรารถนาผลให้ยิ่งขึ้นไป ก็ให้ทำความเพียรประกอบเหตุในทางที่ชอบ เพิ่มกำลังให้มากขึ้น ปรับปรุงความเหมาะสม หรือรูปของการงานให้ดีขึ้น อันนับเข้าในข้อว่า สารุปปะ คือ สมรูป หรือสมควรนั้นเอง แม้เช่นนั้นก็ต้องมีขอบเขต จะปล่อยไปตามความปรารถนาต้องการหาได้ไม่ ต้องมีความรู้จักอิ่มรู้จักพอ ซึ่งเป็นตัวสันโดษ

สันโดษนี้เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะทำให้จิตใจได้รู้จักกับความมั่งมี จิตใจที่ขาดสันโดษ ประกอบด้วยความปรารถนากระหายในสิ่งต่างๆ ย่อมรู้สึกว่าขาดแคลนอยู่เสมอ แม้จะได้ภูเขาที่เป็นทองทั้งลูก เขาก็คงขาดแคลนอยู่นั่นเอง ท่านจึงมีแสดงว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาคือความอยากไม่มี” จึงไม่มีโอกาสได้รู้จักกับความมั่งมี รู้จักแต่ความยากจนขาดแคลน มีทรัพย์มากเท่าไรก็เหมือนไม่มี ทรัพย์เหล่านั้นมีค่าเท่าเชื้อสำหรับสุมกองไฟ คือความอยากเท่านั้น ใส่เชื้อให้ไฟมากเท่าไร ไฟก็กองโตขึ้นเท่านั้น ฉันใด ใส่เชื้อคือสิ่งต่างๆ ให้ตัณหาเท่าไร ความอยากก็กองโตขึ้นเท่านั้นฉันนั้น  ต่อเมื่อสันโดษคือความอิ่มความพอขึ้นจึงจะเกิดความมั่งมีและความสุข ฉะนั้น สันโดษนั้นเองจึงเป็นตัวทรัพย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ใครมีสันโดษก็รู้สึกว่าพอ ว่าอิ่ม นี้คือความมั่งมีและเป็นความสุข

สันโดษเป็นธรรมแก้โรคกิเลสในจิตใจ ทำให้มีความไม่มีโรคทางจิตใจซึ่งเป็นลาภอย่างยิ่ง และทำให้มีทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะมีความอิ่มความพอ สมด้วยพระพุทธภาษิตบทอุทเทศ ณ เบื้องต้น แปลความว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในวันสงเคราะห์ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อน ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 01 มีนาคม 2562 16:30:28 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

สันติกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
สนฺติมคฺคเมว พฺรูหยาติ
 

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาในสันติกถา ปรารภการฉลอง “วันกาชาดโลก” ซึ่งกำหนดในวันนี้ตามควรแก่โอกาส จะได้เริ่มต้นเรื่องที่เป็นปรารภเหตุแห่งพระธรรมเทศนาคือเรื่องกาชาดก่อน

คนไทยเราส่วนมากคงจะได้ยินคำว่า”กาชาด” หรือ “สภากาชาดไทย” และอาจจะมีความรู้สึกรวมๆ ว่า เป็นฝ่ายบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ จริงอย่างนั้น กาชาดเป็นสภาการกุศลที่เริ่มตั้งขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์อันเกิดจากภัยสงครามโดยไม่เลือกว่าฝ่ายไหน บรรเทาทุกข์อันเกิดจากภัยอื่นต่างๆ โดยไม่เลือกว่าประเทศไหน ทั้งเพื่อป้องกันโรคภัยด้วย และกาชาดได้มีอยู่ทั่วไปแทบทุกประเทศในโลก ถือสัญญาข้อตกลงปฏิบัติในทางเดียวกัน ปฏิบัติงานประสานกัน แม้แต่ละประเทศจะมีสภากาชาดของตน เช่น ประเทศไทยมีสภากาชาดไทย แยกกันแต่ละประเทศ แต่ก็มีที่รวมเพื่อประสานกันปฏิบัติกุศลกิจอันนี้ให้สัมฤทธิ์ผลแก่มนุษยชาติ กว้างขวางทั่วถึงยิ่งขึ้น  ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า โดยส่วนรวม กาชาดเป็นสภาการกุศลของโลกสำหรับชาวโลกทั้งปวง  โดยส่วนแยก กาชาดของแต่ละเทศเป็นสภาการกุศลสำหรับชาติหรือของประชาชนทั่วไป และเป็นอุปกรณ์อันหนึ่งแห่งรัฐบาลสำหรับบำรุงประโยชน์สุขแก่ประชาชน.

ตามโลกประวัติ การสงครามได้เกิดขึ้นในโลกเป็นระยะๆ มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เป็นสงครามย่อยบ้าง สงครามใหญ่บ้าง ในสงครามแต่ละครั้งก็ต้องมีทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตาย สำหรับผู้ที่บาดเจ็บนั้นมีไม่น้อยที่ถูกทอดทิ้งให้นอนทนทุกข์ทรมานอยู่ในสนาม เพราะทั้งสองฝ่ายก็มุ่งที่จะทำสงครามกันมากกว่าที่จะสนใจมาคอยเก็บคนเจ็บป่วยไปรักษา คนอื่นที่เป็นกลางจะมีใจกรุณาสงสารสักเท่าไรก้ไม่อาจจะเข้าไปช่วยได้ คนผู้บาดเจ็บก็ต้องนอนทรมานอยู่อย่างนั้น บางทีเพื่อนกันทนสงสารอยู่ไม่ไหวจึงทำให้สิ้นชีวิตไปเสียเลย ซึ่งมิใช่เป็นวิธีช่วยที่ถูก บางทีฝ่ายศัตรูผู้โหดร้ายก็ฉวยโอกาสทำทารุณร้ายกาจแก่คนเจ็บซึ่งไม่สามารถจะต่อสู้ได้แล้วยิ่งขึ้น ภาพของคนที่บาดเจ็บในสงคราม จะต้องปรากฏแก่ตาของหมู่คนที่เป็นคู่สงครามทั้งผู้ใหญ่ทั้งผู้น้อยมาแล้ว บรรดาคนเหล่านั้นก็น่าจะมีผู้ที่มีจิตใจประกอบด้วยกรุณา ฉะนั้น เมื่อมีบุคคลผู้หนึ่งเขียนเสนอความเห็นขึ้นว่า ทุกๆ ชาติควรคิดอ่านจัดตั้งสมาคมการกุศลสำหรับช่วยผู้บาดเจ็บในสงครามขึ้น ไม่เฉพาะแต่ช่วยพวกฝ่ายตนเท่านั้น มีหน้าที่ช่วยทั่วไปทั้งพวกข้าศึกด้วย กับแนะนำว่าควรจะมีการประชุมนานาประเทศปรึกษาการเรื่องนี้ จึงได้มีประมุขของประเทศและบุคคลผู้บริหารประเทศต่างๆ บังเกิดความสนใจแก่กล้า เป็นเหตุให้มีการเรียกประชุมกันจัดตั้งสภาการกุศลนี้ขึ้น ท่านผู้เขียนเสนอความเห็นขึ้นนี้เป็นชาวสวิส อยู่ที่เมืองเจนีวา ชื่ออังรีดูนังต์ ได้ไปเห็นภาพที่น่ากรุณาในการรบใหญ่ที่หมู่บ้านซอลเฟริโน่ในประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๐๒ จึงได้เขียนความเห็นเสนอให้ชื่อว่า “ที่ระลึกแห่งการรบที่ซอลเฟริโน” ยังผลให้การกาชาดอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกจากการประชุมที่เจนีวาประเทศสวิส เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๐๖  คำว่า “กาชาด” ว่าย่อมาจากคำว่า “กากบาทชาด” คือเครื่องหมายตีนกาสีแดง ใช้เป็นชื่อของสภาการกุศลนี้ ซึ่งมีเครื่องหมายกาชาดดังกล่าวบนพื้นขาวกลับกันกับธงประจำชาติของสวิส เพื่อให้เกียรติแก่ชาวสวิส เพราะชาวสวิสได้เริ่มคิดทำความตกลงระหว่างประเทศที่เมืองเจนีวา ในเรื่องการรักษาพยาบาลทหารบาดเจ็บในสงครามนี้ขึ้น แต่ก็มีชาติอื่นบางชาติใช้เครื่องหมายอย่างอื่น

กิจการกาชาดได้มีการปรับปรุงให้อำนวยประโยชน์กว้างขวางมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อมีสภากาชาดประจำชาติขึ้นแล้ว ก็มีกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเป็นคนกลาง และเดิมกิจการกาชาดมุ่งทางแก้คือบรรเทาทุกข์ในเวลามีสงคราม ต่อมาขยายกิจการในการบรรเทาทุกข์บำรุงสุขในเวลาสันติ ว่างสงคราม เพราะในเวลาหลังสงครามแต่ละครั้งมักมีโรคภัยและทุกข์ภัยอย่างอื่นๆ เกิดขึ้นมาก ทั้งขยายกิจการในทางป้องกันโรคภัยที่เบียดเบียนมนุษย์ที่อาจป้องกันได้ จึงได้มีสันนิบาตสภากาชาดขึ้นและได้มีสากลกาชาดเป็นที่รวม.

กิจการกาชาดในประเทศไทย เริ่มด้วยมีสภาอุณาโลมแดงในรัชกาลที่ ๕ ต่อมามีโรงพยาบาลของกาชาด เริ่มด้วยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในรัชกาลที่ ๖ และได้ขยายกิจการออกไปโดยลำดับ แยกออกเป็นกองดังนี้

กองบรรเทาทุกข์และอนามัย มีหน้าที่ทำการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับภัยอันตรายทั้งในเวลาสงคราม ทั้งในเวลาสงบศึก ทำการตรวจรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บแก่ประชาชนทั่วไปไม่เลือกชาติศาสนา และทำหน้าที่ในทางกำจัดโรคเรื้อรังบางชนิดที่เกิดอยู่ชุกชุมแก่ประชาชน ด้วยการแก้และแนะนำการสุขาภิบาลอนามัยป้องกันโรคเหล่านั้น

กองวิทยาศาสตร์ ทำการแก้พิษสุนัขบ้า พิษงูร้าย ทำการตรวจค้นหาเชื้อโรคทำยาป้องกันโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคไข้ทรพิษ กาฬโรค อหิวาตกโรค เป็นต้น

กองอนุกาชาด อบรมเด็กทั้งหลายให้มีคุณธรรมประการต่าง ๆ และวิธีการอุทิศตนเป็นแรงงานโดยเฉพาะ เพื่อการพิทักษ์อนามัยของตนและของผู้อื่น และการบำเพ็ญความดีอบรมสันดานให้บริบูรณ์ด้วยกรุณาอนุเคราะห์ต่อชาติตนเองและชาติอื่นๆ ทั่วโลก

กองอาสากาชาด รับสมัครผู้มีใจกุศลทั้งชายหญิงเข้ามาเป็นสมาชิกช่วยทำการอาสาสงเคราะห์ผู้ประสบทุกข์ภัยไข้เจ็บ เป็นกำลังแก่สภากาชาดในเวลาฉุกเฉินหรือเวลามีสาธารณภัย เพราะเจ้าหน้าที่ประจำมีไม่เพียงพอ

สภากาชาดไทยได้มีกิจการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน ขยายออกไปมากดังกล่าวในกองต่างๆ นั้น ทั้งนี้ด้วยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ ด้วยอุปการะของรัฐบาล และด้วยการบริจาคช่วยของประชาชนทั้งปวงตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งในรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน กับทั้งด้วยความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานทั้งหลายตั้งแต่ต้นมา ในชั้นต้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา ตั้งแต่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี  ต่อมาๆ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกา ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา ทุกพระองค์ได้ทรงขวนขวายอุดหนุนส่งเสริมสภากาชาดไทยให้เจริญ สามารถดำเนินกิจการบรรเทาทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนให้ยิ่งขึ้นดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

การปฏิบัติกิจการกุศลแห่งสภากาชาด มีขอบเขตที่กว้างใหญ่ดังเช่นที่กล่าวมา จึงจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ทางที่จะได้ทุนทรัพย์มาใช้ทางหนึ่งก็คือประชาชนร่วมกันบริจาคช่วยสภากาชาด แม้ได้มีผู้มีศรัทธาบริจาคช่วยมาโดยลำดับ ทำให้สภากาชาดขยายกิจการได้มากขึ้น แม้เช่นนั้น ถ้าประชาชนได้ร่วมกันบริจาคช่วยมีจำนวนมากขึ้นอีก ก็จะทำให้ปฏิบัติกิจการกุศลได้มากยิ่งขึ้น  ฉะนั้น สันนิบาตสภากาชาดจึงได้กำหนดขอสมานฉันท์จากสภากาชาดประจำชาติต่างๆ ทั่วโลก ให้จัดการฉลอง “วันกาชาดโลก” เพื่อส่งเสริมศานติอันเป็นหลักการอย่างหนึ่งของกาชาด ในวันที่ ๘ นี้ อันตรงกับวันเกิดของผู้เสนอความเห็นเป็นการริเริ่มงานกาชาด มีความประสงค์ที่จะให้จัดให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นได้ยินได้ทราบกิตติคุณของสภากาชาด เพื่อที่จะได้มีศรัทธาช่วยอุดหนุนส่งเสริมสภาการกุศลของโลกนี้อย่างไม่มีเครื่องกีดกั้นขัดขวาง กล่าวคือเพื่อให้คนทั้งปวงเข้าถึงสภากาชาด ช่วยอุดหนุนส่งเสริมโดยพร้อมเพรียงกัน ความประสงค์จัดฉลองดังนี้เป็นความประสงค์ที่เป็นกุศลควรอนุโมทนา จะปรารภยกอันใดอันหนึ่งขึ้นก็สมควรส่งเสริม แม้พระพุทธภาษิตก็มีว่า “พึงเป็นผู้ไม่ตระหนี่ ปรารภเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เป็นอารมณ์ให้ทาน”

อันการส่งเสริมการกุศลชื่อว่าเป็นการส่งเสริมสันติโดยแท้ เพราะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเรื่องที่เป็นเหตุปรารภให้เกิดกาชาดขึ้น โลกนี้เมื่อว่างสงครามก็กล่าวว่ามีสันติ ขณะที่มีสงครามก็กล่าวว่าไม่มีสันติ  ในสมัยพุทธกาล ปรากฏว่าได้มีสงครามหรือเกือบจะเกิดสงครามในรัฐที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาหลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งโกศลรัฐ ทรงการรบกับพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งมคธรัฐ ด้วยเหตุที่แย่งกาสิกคามกัน พระเจ้าปเสนทิทรงรบแพ้ถึงสามครั้ง ทรงโทมนัสพระหฤทัย พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบตรัสว่า “ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ ผู้สงบระงับและทั้งชนะทั้งแพ้ย่อมอยู่เป็นสุข” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระญาติสองฝ่ายคือฝ่ายสากิยะแห่งนครกบิลพัสดุ์ และฝ่ายโกลิยะแห่งนครโกลิยะเกือบจะรบกัน เพราะเหตุที่แย่งน้ำกันทำนา พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงห้ามพระญาติทั้งสองฝ่าย ได้ตรัสเป็นพระธรรมบทว่า “ในคนทั้งหลายที่มีเวรกัน ฝ่ายเราไม่มีเวรต่อใคร มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวรกัน ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่สงบ ในคนทั้งหลายที่อาดูร ฝ่ายเราไม่อาดูรมีชีวิตเป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้อาดูร ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่อาดูรอยู่สงบ ในชนทั้งหลายที่อาดูร ฝ่ายเราไม่วิ่งวุ่น มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้วิ่งวุ่น ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่วิ่งวุ่นอยู่สงบ” ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสอุทานปรารภการสงครามนี้แสดงว่าไม่มีสันติแก่ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะในสงคราม  ฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ปฏิบัติในทางสันติ ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “สนฺติมคฺคเมว พฺรูหย จงพูนทางแห่งสันติ นั่นแล” ดังนี้

สันติคือความสงบ กล่าวโดยบุคคลส่วนรวม คือคนทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่เป็นปกติสุข ไม่มีเวรต่อกัน ไม่อาดูร ไม่วิ่งวุ่น เพราะมีปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตเพียงพอทั่วถึง ด้วยเหตุที่มีความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพการงาน มีพลานามัย และต่างเคารพในกฎหมายและศีลธรรม ประกอบทั้งมีระเบียบการปกครองที่ดีเป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข และเพื่อความสงบเรียบร้อยตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ดังนี้ เป็นต้น กล่าวโดยส่วนบุคคล แต่ละบุคคลปฏิบัติตนอยู่ในทางแห่งสันติ รักษาความสงบเรียบร้อยทางกายทางวาจาทางใจของตน หมายความว่า ไม่ประกอบกรรมที่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือดร้อน พระพุทธศาสนามุ่งสอนให้แต่ละบุคคลปฏิบัติตนอยู่ในทางสันติโดยไตรทวารคือทางกายวาจาใจเช่นนี้ ดังที่ตรัสไว้แปลความว่า “ใจของผู้นั้นเป็นทวารสงบ วาจาและกายกรรมก็ย่อมสงบ” แต่ความสงบทางใจย่อมเป็นทางสำคัญ เพราะถ้าใจสงบ ทางกายวาจาก็สงบ ถ้าใจไม่สงบ เพราะอาดูรวิ่งวุ่นอยู่ด้วยโลภโกรธหลง หรือยกขึ้นแต่ข้อเดียวว่าด้วยความอยากใหญ่ กายวาจาก็ไม่สงบ เกิดเป็นความเบียดเบียนให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนขึ้น  ในนิทานชาดกเรื่องกามนิต แปลว่า อันความปรารถนานำไป เล่าถึงพระราชาองค์หนึ่งในอดีตกาลนานไกลทรงปรารถนาจะได้ครอบครองเมืองอื่นๆ อีกสามเมือง แต่ก็ไม่อาจจะทรงได้ ก็ทรงโทมนัสหฤทัยอย่างยิ่งถึงกับประชวรหนัก ได้มีท่านแพทย์พิเศษมาถวายโอวาทให้ทรงสงบความปรารถนาเสีย ก็ทรงได้สติและปัญญาในความจริง สงบความปรารถนาใหม่นั้นเสียได้ จึงหายประชวร ทั้งนี้ เพราะโรคบางอย่างเท่านั้นย่อมเยียวยาแก้ไขได้ด้วยยาของหมอ เช่น ถูกงูกัดก็ให้ยางู ถูกอมนุษย์สิงก็ใช้วิธีขับไล่ แต่ใครจะทำยาแก้โรคที่ถูกความปรารถนานำไปได้ ก็คนที่ปล่อยกรรมที่ขาวสะอาดคือความดีเสียแล้วจะเยียวยาแก้ไขได้อย่างไร นอกจากธรรมะโอสถ ยาคือธรรมเท่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ทรมานในโลก แม้ที่เกิดจากสงครามและได้ทรงแสดงเพื่อแก้ให้ถึงต้นเหตุไว้แล้ว คือให้ปฏิบัติในสันติมรรคจนถึงสงบทางจิตใจ โดยสงบความปรารถนาใหญ่ลงเสีย ทำความปรารถนาให้เล็กลงให้น้อยลงตามความพอเหมาะพอควร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้สามารถบริจาคเพื่อกิจการกุศลสาธารณประโยชน์เผื่อแผ่ความสุขออกไปได้อีกมาก ทั้งจะทำให้อาชญากรรมน้อยลง ดังนั้น แทนที่จะทุมเทไปมากในการรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากอาชญากรรมของคนด้วยกันเอง ก็จะได้ใช้ไปในการป้องกันโรคและในการบำรุงสุขอย่างอื่นได้อีกมาก

สภากาชาดเป็นสภาการกุศลของโลก ที่ช่วยคนทั้งปวงโดยไม่เลือกชาติเลือกฝ่ายทั้งในเวลาปกติทั้งในเวลาสงคราม จึงเป็นสภาแห่งสันติ ที่ไม่คำนึงถึงทั้งฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ ดังพระพุทธภาษิตว่า “ผู้สงบระงับละทั้งชนะทั้งแพ้” และได้รักษาอยู่อย่างมั่นคงในทางแห่งสันติ ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มุ่งปฏิบัติช่วยทุกข์บำรุงสุขแก่คนทุกฝ่าย จึงสมควรที่จะมีสมานฉันท์ช่วยกันอุดหนุนส่งเสริมโดยทั่วไป ทุกๆ คนผู้ปฏิบัติอุดหนุนส่งเสริมในทางนี้ชื่อว่าเป็นผู้พูนทางแห่งสันติ ตามนัยพระพุทธภาษิตว่า “จงพูนทางแห่งสันตินั่นแล” มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในวันกาชาดโลก ทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 15 มีนาคม 2562 11:15:01 »


ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
วิทยุธรรมเทศนา  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
สนฺติมคฺคเมว พฺรูหยาติ

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาที่ปรารภวันกาชาดโลก ด้วยวันที่ ๘ พฤษภาคมนี้ สันนิบาตสภากาชาดได้ขอร้องให้สภากาชาดทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองวันกาชาดโลก สภากาชาดไทยได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลองวันกาชาดโลก และชักชวนให้ประชาชนสนใจในกาชาด ดังคำขวัญวันกาชาดโลกสำหรับปีนี้ว่า “กาชาดเกี่ยวกับทุกคน ทุกคนเกี่ยวกับกาชาด” และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าใจในอุดมคติของกาชาด และหัวข้อจุดประสงค์ของสันนิบาตสภากาชาดตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงด้วยเป็นพิเศษ

อันที่จริง พระพุทธศาสนาย่อมแสดงธรรมส่งเสริมการทำความดีของมนุษย์ชาติทุกถ้วนหน้า เช่น หลักศีลห้า หาได้สอนว่าให้เว้นการฆ่าการลักเฉพาะแต่ผู้นับถือศาสนาเดียวกันเท่านั้นไม่ แต่ได้สอนให้เว้นในบุคคลทั่วไป ทั้งยังคุ้มครองไปในสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายด้วย จึงเป็นหลักศีลหลักธรรมที่คุ้มครองไปในสัตว์โลกทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อหลักคติของกาชาดกับจุดประสงค์ของสันนิบาตสภากาชาด ดำเนินไปในหลักของศีลธรรมในพระพุทธศาสนา จึงสมควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมข้อนี้ จะพึงเห็นได้จากหลักการกาชาด ๗ ข้อ คือ :-

มนุษยธรรม กาชาดเกิดขึ้นมาจากความปรารถนาที่จะนำความช่วยเหลือโดยมิเลือกปฏิบัติมาสู่ผู้บาดเจ็บในสนามรบ กาชาดเพียรพยายามทั้งในฐานะทางระหว่างประเทศ และในระดับชาติ เพื่อป้องกันและบรรเทาทุกข์ทรมานของมนุษย์ไม่ว่าจะพบได้ในที่ใด ความมุ่งประสงค์ของกาชาดได้แก่การคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการประกันความเคารพนับถือต่อมนุษยชน กาชาดส่งเสริมความเข้าใจ มิตรภาพ ความร่วมมือระหว่างกัน และสันติภาพยั่งยืนระหว่างประชากรทั้งมวล

ความไม่ลำเอียง กาชาดไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อถือทางศาสนา ชั้น วรรณะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง กาชาดเพียรพยายามอย่างเดียวที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมาน โดยให้การปฏิบัติลำดับแรกต่อกรณีความทุกข์ยากที่เร่งด่วนที่สุด

ความเป็นกลาง เพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจสืบต่อไปจากทุกฝ่าย กาชาดไม่อาจเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการสู้รบ หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าในเวลาใดในการขัดแย้ง ซึ่งมีลักษณะทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา หรือลัทธินิยม

ความเป็นอิสระ กาชาดเป็นอิสระ สภากาชาดแห่งชาติแม้จะมีส่วนช่วยเหลือในบริการด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลของตน และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายของประเทศของตน จะต้องธำรงความเป็นอิสระอยู่เสมอไป เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามหลักการกาชาดได้ทุกเวลา

บริการอาสาสมัคร กาชาดเป็นองค์การอาสาสมัครในการบรรเทาทุกข์ โดยไม่มีความปรารถนาประโยชน์ในประการใดๆ

ความเป็นเอกภาพ ในประเทศหนึ่งพึงมีกาชาดได้เพียงแห่งเดียว สภากาชาดต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป สภากาชาดต้องปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม ตลอดทั่วดินแดนของตน

ความเป็นสากล กาชาดเป็นสถาบันสากล ซึ่งสภากาชาดทั้งมวลที่สังกัดอยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน และมีส่วนความรับผิดชอบและหน้าที่เท่าเทียมกัน ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

หลักการกาชาด ๗ ข้อนี้ สภาประศาสนการแห่งสันนิบาตสภากาชาดได้ลงมติรับรองในปี ๒๕๐๔ ต่อมาก็ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมใหญ่อีก ๒ ครั้ง และให้มีพิธีอ่านหลักการนี้ในการเปิดประชุมกาชาดระหว่างประเทศทุกครั้ง

ได้มีอนุสัญญาเจนีวา จำนวน ๔ ฉบับ ในปี ๒๔๙๒ มีหลักการมูลฐานสำคัญ ๓ ประการ คือ มนุษยธรรม ความเสมอภาค และความไม่ลำเอียง มีบทบัญญัติที่ทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุด เกี่ยวกับการคุ้มครองมนุษยชนในกรณีเกิดการขัดแย้งทางอาวุธ

ผู้เสนอความดำรินี้เป็นต้นเหตุให้เกิดกาชาดขึ้นในยุโรป ชื่อ อังรี ดูนังต์ ชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๓๗๑  ได้ไปเห็นภาพอันสยดสยองในสงครามครั้งหนึ่ง ซึ่งทหารจำนวนมากล้มตายและบาดเจ็บเกลื่อนกลาดทั่วสนามรบโดยไม่มีผู้พยาบาลรักษา จึงได้เขียนบันทึกความทรงจำเป็นหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง และแสดงความคิดว่า “จะเป็นไปไม่ได้หรือ ที่จะตั้งองค์การอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในยามสงคราม” เนื่องด้วยความคิดนี้จึงได้เกิดมีคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ดังที่ได้ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หน้าที่สำคัญของคณะกรรมการนี้ คือดูแลให้มีการเคารพนับถือปฏิบัติ ทั้งชี้แจงเผยแพร่อนุสัญญาเจนีวา ธำรงรักษาหลักการกาชาด ๗ ข้อ ดังที่กล่าวมาแล้วเป็นต้น ต่อมา ภายหลังการสงบศึกของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีสันนิบาตสภากาชาดขึ้น คือ สหพันธ์ของบรรดาสภากาชาดทั่วโลก ทำหน้าที่ทั่วไป เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่สภากาชาดในการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม กล่าวโดยย่อ สันนิบาตทำหน้าที่ติดต่อกับสภากาชาดต่างๆ ร่วมมือกับบรรดาสภากาชาดในกิจการต่างๆ กล่าวโดยเฉพาะคือการอนามัย ร่วมมือกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทำหน้าที่แทนบรรดาสภากาชาดในระดับระหว่างประเทศและเป็นโฆษก ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งและการพัฒนาสภากาชาดในทุกประเทศ ดูแลความเป็นไปและคุ้มครองผลประโยชน์ของสภากาชาด จัดการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติแห่งชาติ หรือระหว่างประเทศ ความรับผิดชอบใหญ่และสำคัญมากของสันนิบาต คือ การบรรเทาทุกข์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติหรือระหว่างประเทศทุกส่วนของโลก เป็นอันว่าสภากาชาดได้ขยายให้มีการปฏิบัติในยามสงบด้วย ซึ่งนอกจากในคราวเกิดภัยธรรมชาติแล้ว ยังเน้นหนักในการอนามัย ในการนี้ได้มีสภาประศาสนการ คือ สมัชชาใหญ่ของสันนิบาตสภากาชาดเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดของสันนิบาต และได้มีคณะกรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่บางอย่างของสภาประศาสนการ ในระหว่างที่สภานั้นไม่มีการประชุม

ส่วนสภากาชาดไทยเป็นสภาการกุศลอาสาสงเคราะห์ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พุทธศักราช ๒๔๖๑ มีวัตถุประสงค์ คือ ช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บ ในเวลาสงครามและในยามสงบ กับทั้งทำการบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง ความจริงสภากาชาดไทยก็ได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ ในรัชกาลที่ ๕ คือ สภาอุณาโลมแดง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้เป็นของสภากาชาดสยามเมื่อปี ๒๔๕๗ ชื่อสภาอุณาโลมแดง จึงเปลี่ยนเป็น สภากาชาดสยาม แล้วเปลี่ยนเป็น สภากาชาดไทย ตามชื่อประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสันนิบาตสภากาชาด ในปี ๒๔๖๓-๒๔๖๔ โดยลำดับ สภากาชาดไทยอยู่ในความควบคุมทั่วไปของคณะกรรมการสภากาชาด บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา และยังมีกรรมการเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรง มีอุปนายกผู้อำนวยการเป็นประธาน

กิจการของสภากาชาดไทย แบ่งออกเป็น
๑. สำนักงานกลาง
๒. กองบรรเทาทุกข์และอนามัย
๓. กองวิทยาศาสตร์
๔. กองอนุกาชาด
๕. กองอาสาสมัคร
๖. ศูนย์บริการโลหิต

กับได้มีเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งได้ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๐๔ มีวัตถุประสงค์ คือ สะสมทุนและเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อการสาธารณกุศลสงเคราะห์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบภัยในท้องที่แต่ละจังหวัดได้อย่างใกล้ชิดทันท่วงที ในขั้นต้น และเพื่อร่วมมือกับสภากาชาดในการนี้ในยามสงครามและยามสงบอีก ตามวัตถุประสงค์ของสภากาชาด

การปฏิบัติกิจการกุศลแห่งสภากาชาดมีขอบเขตที่กว้างใหญ่ ดังเช่นที่กล่าวมา จึงจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์มาก ทางที่จะได้ทุนทรัพย์มาใช้ทางหนึ่งก็คือประชาชนร่วมกันบริจาคช่วยสภากาชาด แม้ได้มีผู้มีศรัทธาบริจาคช่วยมาโดยลำดับ ทำให้สภากาชาดขยายกิจการได้มากขึ้น แม้เช่นนั้น ถ้าประชาชนได้ร่วมกันบริจาคช่วยมีจำนวนมากขึ้นอีก ก็จะทำให้ปฏิบัติกิจการกุศลได้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้น สันนิบาตสภากาชาดจึงได้กำหนดขอสมานฉันท์จากสภากาชาดประจำชาติต่างๆ ทั่วโลก ให้จัดการฉลอง “วันกาชาดโลก” เพื่อส่งเสริมสันติ อันเป็นหลักการอย่างหนึ่งของกาชาด ในวันที่ ๘ นี้ อันตรงกับวันเกิดของผู้เสนอความเห็นเป็นการริเริ่มงานกาชาด มีความประสงค์ที่จะให้จัดให้คนส่วนใหญ่ได้เห็นได้ยินได้ทราบกิตติคุณของสภากาชาด เพื่อที่จะได้มีศรัทธาช่วยอุดหนุนส่งเสริมสภาการกุศลของโลกนี้อย่างไม่มีเครื่องกีดกั้นขัดขวาง กล่าวคือเพื่อให้คนทั้งปวงเข้าถึงสภากาชาด ช่วยอุดหนุนส่งเสริมโดยพร้อมเพรียงกัน ความประสงค์จัดฉลองดังนี้เป็นความประสงค์ที่เป็นกุศลควรอนุโมทนา จะปรารภยกวันใดวันหนึ่งขึ้นก็สมควรส่งเสริม แม้พระพุทธภาษิตก็มีว่า “พึงเป็นผู้ไม่ตระหนี่ ปรารภเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เป็นอารมณ์ให้ทาน”

อันการส่งเสริมการกุศลชื่อว่าเป็นการส่งเสริมสันติโดยแท้ เพราะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเรื่องที่เป็นเหตุปรารภให้เกิดกาชาดขึ้น โลกนี้เมื่อว่างสงครามก็กล่าวว่ามีสันติ ขณะที่มีสงครามก็กล่าวว่าไม่มีสันติ ในสมัยพุทธกาล ปรากฏว่าได้มีสงครามหรือเกือบจะเกิดสงครามในรัฐที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาหลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโศลแห่งโกศลรัฐ ทรงทำการรบกับพระเจ้าอชาติศัตรูแห่งมคธรัฐ ด้วยเหตุที่แย่งกาสิกคามกัน พระเจ้าปเสนทิทรงรบแพ้ถึงสามครั้ง ทรงผอมโทมนัสพระหฤทัย พระพุทธเจ้าได้ทรงทราบตรัสว่า “ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ ผู้สงบระงับละทั้งชนะทั้งแพ้ย่อมอยู่เป็นสุข” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระญาติสองฝ่ายคือฝ่ายสากิยะแห่งนครกบิลพัสดุ์ และฝ่ายโกลิยะแห่งนครโกลิยะเกือบจะรบกัน เพราะเหตุที่แย่งน้ำกันทำนา พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงห้ามพระญาติทั้งสองฝ่าย ได้ตรัสเป็นพระธรรมบทว่า “ในคนทั้งหลายที่มีเวรกัน ฝ่ายเราไม่มีเวรต่อใครมีชีวิตเป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวรกัน ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่สงบ ในคนทั้งหลายที่อาดูร ฝ่ายเราไม่อาดูรมีชีวิตเป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้อาดูร ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่อาดูรอยู่สงบ ในชนทั้งหลายที่วิ่งวุ่น ฝ่ายเราไม่วิ่งวุ่นมีชีวิตอยู่เป็นสุขดีหนอ ในหมู่มนุษย์ผู้อาดูร ฝ่ายเราเป็นผู้ไม่วิ่งวุ่นอยู่สงบ” ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสอุทานปรารภการสงครามนี้แสดงว่าไม่มีสันติแก่ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะในสงคราม  ฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ปฏิบัติในทางสันติ ดังพระพุทธภาษิตว่า “สนฺติมคฺคเมว พฺรูหย จงพูนทางแห่งสันติ นั่นแล” ดังนี้

สันติคือความสงบ กล่าวโดยบุคคลส่วนรวม คือคนทั้งปวงดำรงชีวิตอยู่เป็นปกติสุข ไม่มีเวรต่อกัน ไม่อาดูร ไม่วิ่งวุ่น เพราะมีปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตเพียงพอทั่วถึงด้วย เหตุที่มีความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพการงาน มีพลานามัย และต่างเคารพในกฎหมายและศีลธรรม ประกอบทั้งมีระเบียบการปกครองที่ดีเป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและเพื่อความสงบเรียบร้อยตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่ดังนี้เป็นต้น กล่าวโดยส่วนบุคคล แต่ละบุคคลปฏิบัติตนอยู่ในทางแห่งสันติ รักษาความสงบเรียบร้อยทางกายทางวาจาทางใจของตน หมายความว่า ไม่ประกอบกรรมที่เบียดเบียนตนและคนอื่นให้เดือดร้อน พระพุทธศาสนามุ่งสอนให้แต่ละบุคคลปฏิบัติตนอยู่ในทางสันติโดยไตรทวารคือทางกายวาจาใจเช่นนี้ ดังที่ตรัสไว้แปลความว่า “ใจของผู้นั้นเป็นทวารสงบวาจาและกายกรรมก็ย่อมสงบ” แต่ความสงบทางใจย่อมเป็นทางสำคัญ เพราะถ้าใจสงบ ทางกายวาจาก็สงบ ถ้าใจไม่สงบเพราะอาดูรวิ่งวุ่นอยู่ด้วยโลภโกรธหลง หรือยกขึ้นแต่ข้อเดียวว่าด้วยความอยากใหญ่ กายวาจาก็ไม่สงบ เกิดเป็นความเบียดเบียนให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนขึ้น ในนิทานชาดกเรื่องกามนิต แปลว่า อันความปรารถนานำไป เล่าถึงพระราชาองค์หนึ่งในอดีตกาลนานโดยทรงปรารถนาจะได้ครอบครองเมืองอื่นๆ อีกสามเมือง แต่ก็ไม่อาจจะทรงได้ ก็ทรงโทมนัสหฤทัยอย่างยิ่งถึงกับประชวรหนัก ได้มีท่านแพทย์พิเศษมาถวายโอวาทให้ทรงสงบความปรารถนาเสีย ก็ทรงได้สติและปัญญาในความจริง สงบความปรารถนาใหญ่นั้นเสียได้ จึงหายประชวร ทั้งนี้เพราะโรคบางอย่างเท่านั้นย่อมเยียวยา แก้ไขได้ด้วยยาของหมอ เช่นถูกงูกัดก็ให้ยางู ถูกอมนุษย์สิงก็ใช้วิธีขับไล่ แต่ใครจะทำยาแก้โรคใจที่ถูกความปรารนานำไปได้ ก็คนที่ปล่อยกรรมที่ขาวสะอาดคือความดีเสียแล้วจะเยียวยาแก้ไขได้อย่างไร นอกจากธรรมะโอสถคือยาธรรมเท่านั้น พระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ทรมานในโลกแม้ที่เกิดจากสงครามและได้ทรงแสดงธรรมเพื่อแก้ให้ถึงต้นเหตุไว้แล้ว คือให้ปฏิบัติในสันติมรรคจนถึงสงบทางจิตใจ โดยสงบความปรารถนาใหญ่ลงเสีย ทำความปรารถนาให้เล็กลงให้น้อยลงตามความพอเหมาะพอควร เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้สามารถบริจาคเพื่อกิจการกุศลสาธารณประโยชน์เผื่อแผ่ความสุขออกไปได้อีกมาก ทั้งจะทำให้อาชญากรรมน้อยลง ดังนั้นแทนที่จะทุ่มเทไปมากในการรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากอาชญากรรมของคนด้วยกันเอง ก็จะได้ใช้ไปในการป้องกันโรคและในการบำรุงสุขอย่างอื่นได้อีกมาก

สภากาชาดเป็นสภาการกุศลของโลกที่ช่วยคนทั้งปวงโดยไม่เลือกชาติเลือกฝ่ายทั้งในเวลาปกติทั้งในเวลาสงคราม จึงเป็นสภาแห่งสันติ ที่ไม่คำนึงถึงทั้งฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ ดังพระพุทธภาษิตว่า “ผู้สงบระงับละทั้งชนะทั้งแพ้” และได้รักษาอยู่อย่างมั่นคงในทางแห่งสันติ ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งฝ่ายใดหนึ่งมุ่งปฏิบัติช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่คนทุกฝ่าย จึงสมควรที่จะมีสมานฉันท์ช่วยกันอุดหนุนส่งเสริมโดยทั่วไป ทุกๆ คนผู้ปฏิบัติอุดหนุนส่งเสริมในทางนี้ชื่อว่า เป็นผู้พูนทางแห่งสันติ ตามนัยพระพุทธภาษิตว่า “จงพูนทางแห่งสันตินั่นแล” มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในวันกาชาดโลก ทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 09 เมษายน 2562 18:57:17 »


ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
วิทยุธรรมเทศนา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
โย สหสฺสํ สหสฺเสน             สงฺคาเม มานุเส ชิเน
เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ     ส เว สงฺคามชุตฺตโมติ.

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนาตามสมควรแก่วันธรรมสวนะที่เวียนมาถึงเข้าและแก่วันกาชาดโลก เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ให้กำเนิดการกาชาด  ฉะนั้น ในวันที่ ๘ พฤษภาคมนี้ สภากาชาดไทยจึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลองวันกาชาดโลก และชักชวนให้ประชาชนสนใจในกาชาด และจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงด้วยเป็นพิเศษ

อันที่จริงพระพุทธศาสนาย่อมแสดงธรรมส่งเสริมการทำความดีของมนุษยชาติทุกถ้วนหน้าเช่นหลักศีล ทั้งยังคุ้มครองไปในสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายด้วย จึงเป็นหลักศีลหลักธรรมที่คุ้มครองไปในสัตว์โลกทั้งหมด  ฉะนั้น เมื่อหลักคติของกาชาด กับจุดประสงค์ของสันนิบาตสภากาชาด ดำเนินไปในหลักของศีลธรรมในพระพุทธศาสนา จึงสมควรที่จะสนับสนุนส่งเสริม ข้อนี้ จะพึงเห็นได้จากหลักการกาชาด ๗ ข้อ คือ :-

มนุษยธรรม กาชาดเกิดขึ้นมาจากความปรารถนาที่จะนำความช่วยเหลือโลก มิเลือกปฏิบัติมาสู่ผู้บาดเจ็บในสนามรบ กาชาดเพียรพยายามทั้งในฐานะทางระหว่างประเทศและในระดับชาติ เพื่อป้องกันและบรรเทาทุกข์ทรมานของมนุษย์ไม่ว่าจะพบได้ในที่ใด ความมุ่งประสงค์ของกาชาดได้แก่การคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการประกันความเคารพนับถือต่อมนุษยชน กาชาดส่งเสริมความเข้าใจ มิตรภาพ ความร่วมมือระหว่างกัน และสันติภาพยั่งยืนระหว่างประชากรทั้งมวล

ความไม่ลำเอียง กาชาดไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ความเชื่อถือทางศาสนา ชั้น วรรณะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง กาชาดเพียรพยายามอย่างเดียวที่จะบรรเทาความทุกข์ทรมาน โดยให้การปฏิบัติลำดับแรกต่อกรณีความทุกข์ยากที่เร่งด่วนที่สุด

ความเป็นกลาง เพื่อที่จะได้รับความไว้วางใจสืบต่อไปจากทุกฝ่าย กาชาดไม่อาจเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในการสู้รบ หรือเกี่ยวข้องไม่ว่าในเวลาใดในการขัดแย้ง ซึ่งมีลักษณะทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา หรือลัทธินิยม

ความเป็นอิสระ กาชาดเป็นอิสระ สภากาชาดแห่งชาติแม้จะมีส่วนช่วยเหลือในการบริการด้านมนุษยธรรมของรัฐบาลของตน และอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายของประเทศของตน จะต้องธำรงความเป็นอิสระอยู่เสมอไป เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามหลักการกาชาดได้ทุกเวลา

บริการอาสาสมัคร กาชาดเป็นองค์การอาสาสมัครในการบรรเทาทุกข์ โดยไม่มีความปรารถนาประโยชน์ในการใดๆ

ความเป็นเอกภาพ ในประเทศหนึ่งพึงมีสภากาชาดได้เพียงแห่งเดียว สภากาชาดต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป สภากาชาดต้องปฏิบัติงานด้วยมนุษยธรรม ตลอดทั่วดินแดนของตน

ความเป็นสากล กาชาดเป็นสถาบันสากล ซึ่งสภากาชาดทั้งมวลที่สังกัดอยู่มีฐานะเท่าเทียมกัน และมีส่วนความรับผิดชอบและหน้าที่เท่าเทียมกัน ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

หลักการกาชาด ๗ ข้อนี้ สภาประศาสนการแห่งสันนิบาตสภากาชาดได้ลงมติรับรองในปี ๒๕๐๔ ต่อมาก็ได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมใหญ่อีก ๒ ครั้ง และให้มีพิธีอ่านหลักการนี้ในการเปิดประชุมกาชาดระหว่างประเทศทุกครั้ง

ได้มีอนุสัญญาเจนีวา จำนวน ๔ ฉบับ ในปี ๒๔๙๒ มีหลักการมูลฐานสำคัญ ๓ ประการคือ มนุษยธรรม ความเสมอภาค และความไม่ลำเอียง มีบทบัญญัติทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุด เกี่ยวกับการคุ้มครองมนุษยชนในกรณีเกิดการขัดแย้งทางอาวุธ

ผู้เสนอความดำรินี้เป็นต้นเหตุให้เกิดกาชาดขึ้นในยุโรป ชื่อ อังรี ดูนังต์ ชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๓๗๑ ได้ไปเห็นภาพอันสยดสยองในสงครามครั้งหนึ่ง ซึ่งทหารจำนวนมากล้มตายและบาดเจ็บเกลื่อนกลาดทั่วสนามรบโดยไม่มีผู้พยาบาลรักษา จึงได้เขียนบันทึกความทรงจำเป็นหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งและแสดงความคิดว่า “จะเป็นไปไม่ได้หรือ ที่จะตั้งองค์การอาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในยามสงคราม” เนื่องด้วยความคิดนี้ จึงได้เกิดมี่คณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อการบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ดังที่ได้ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ หน้าที่สำคัญของคณะกรรมการนี้ คือดูแลให้มีการเคารพนับถือปฏิบัติ ทั้งชี้แจงเผยแพร่อนุสัญญาเจนีวา ธำรงรักษาหลักการกาชาด ๗ ข้อ ดังกล่าวแล้วเป็นต้น  ต่อมา ภายหลังการสงบศึกของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีสันนิบาตกาชาดขึ้นคือ สหพันธ์ของบรรดาสภากาชาดทั่วโลก ทำหน้าที่ทั่วไป เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่สภากาชาดในการปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม กล่าวโดยย่อ สันนิบาตทำหน้าที่ติดต่อกับสภากาชาดต่างๆ ร่วมมือกับบรรดาสภากาชาดในกิจการต่างๆ กล่าวโดยเฉพาะคือ การอนามัย ร่วมมือกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทำหน้าที่แทนบรรดาสภากาชาดในระดับระหว่างประเทศ และเป็นโฆษกส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งและการพัฒนาสภากาชาดในทุกประเทศ ดูแลความเป็นไปและคุ้มครองผลประโยชน์ของสภากาชาด จัดการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติแห่งชาติ หรือระหว่างประเทศ ความรับผิดชอบใหญ่และสำคัญมากของสันนิบาต คือ การบรรเทาทุกข์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ หรือระหว่างประเทศทุกส่วนของโลก เป็นอันว่า สภากาชาดได้ขยายให้มีการปฏิบัติในยามสงบด้วย ซึ่งนอกจากในคราวเกิดภัยธรรมชาติแล้ว ยังเน้นหนักในการอนามัย ในการนี้ได้มีสภาประศาสนการคือ สมัชชาใหญ่ของสันนิบาติสภากาชาดเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดของสันนิบาต และได้มีคณะกรรมการบริหาร ปฏิบัติหน้าที่บางอย่างของสภาประศาสนการในระหว่างที่สภานั้นไม่มีการประชุม

ส่วนสภากาชาดไทยเป็นสภาการกุศลอาสาสงเคราะห์ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พุทธศักราช ๒๔๖๑ มีวัตถุประสงค์ คือ ช่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บในเวลาสงครามและในยามสงบ กับทั้งทำการบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ ยึดหลักมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง ความจริงสภากาชาดไทยได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ ในรัชกาลที่ ๕ คือ สภาอุณาโลมแดง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้เป็นของสภากาชาดสยาม เมื่อปี ๒๔๕๗ ชื่อสภาอุณาโลมแดง จึงเปลี่ยนเป็น สภากาชาดสยาม แล้วเปลี่ยนเป็นสภากาชาดไทยตามชื่อประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและสันนิบาตสภากาชาด ในปี ๒๔๖๓-๒๔๖๔ โดยลำดับ สภากาชาดไทยอยู่ในความควบคุมทั่วไปของคณะกรรมการสภากาชาด บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกา และยังมีกรรมการเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรง มีอุปนายกผู้อำนวยการเป็นประธาน

กิจการของสภากาชาดไทย แบ่งออกเป็น
๑. สำนักงานกลาง
๒. กองบรรเทาทุกข์และอนามัย
๓. กองวิทยาศาสตร์
๔. กองอนุกาชาด
๕. กองอาสาสมัคร
๖. ศูนย์บริการโลหิต

กับได้มีเหล่ากาชาดจังหวัด ซึ่งได้ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๐๔ มีวัตถุประสงค์ คือ สะสมทุนและเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อการสาธารณกุศลสงเคราะห์ ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในท้องที่แต่จังหวัดได้อย่างใกล้ชิดกันทันท่วงที ในชั้นต้น และเพื่อร่วมมือกับสภากาชาดในการนี้ในยามสงครามและยามสงบอีก ตามวัตถุประสงค์ของสภากาชาด

เรื่องของสภากาชาดดังที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ มีการสงครามเป็นมูลเหตุ ฉะนั้น จะยกพระพุทธภาษิตที่ตรัสถึงสงคราม มาแสดงตามพระคาถาธรรมบทอุทเทศว่า “โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน  บุคคลใด พึงชนะกองทัพมนุษย์ในสงครามตั้งพัน ด้วยพัน  เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ  ส่วนบุคคลใดพึงชนะตนผู้เดียว  สเว สงฺคาม ชุตฺตโม  บุคคลนั้นแลเป็นผู้สูงสุดแห่งผู้ชนะในสงครามนั้น”  ดังนี้ พระพุทธภาษิตนี้ ตรัสปรารภสงครามภายนอกอย่างหนึ่ง สงครามภายในอย่างหนึ่ง  สงครามภายนอกนั้น คือ สงครามในหมู่มนุษย์ที่กองทัพทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายเข้าต่อสู้ประหัตประหารกันอันเกิดมีอยู่ในโลก  สงครามภายในนั้น คือ การรบเอาชนะตนเอง หรือเอาชนะจิตใจของตนเอง

ว่าถึงสงครามย่อมเป็นการแสดงออกอย่างรุนแรงของกิเลสกองโทสะ กิเลสกองนี้ในเบื้องต้นก็เกิดจากปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งกัน ก่อให้เกิดความโกรธ คือ ความขัดใจขึ้นเคียดและโทสะ คือความเดือดพลุ่งพล่าน ขัดเคืองแรงออกมาก็เป็นพยาบาท ซึ่งในภาษาธรรมะก็หมายความว่า จิตวิปริตวิบัติ คือมุ่งร้ายออกไป หมายความว่า มุ่งที่จะทำร้ายบุคคลอื่นให้วิบัติเสียหายทางทรัพย์สิน ทางอวัยวะร่างกาย ตลอดถึงชีวิต เมื่อกิเลสกองนี้ใหญ่โตขึ้น ความมุ่งหมายทำลายเช่นนั้นก็แผ่กว้างออกไป คือ ไม่ใช่แก่บุคคลเดียว แต่แก่บุคคลทั้งหมู่ตั้งแต่หมู่เล็กจนถึงหมู่ใหญ่ และกิเลสกองนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดกรรมของมนุษย์ขึ้นอย่างหนึ่ง คือ สงคราม ซึ่งหมู่มนุษย์ทำสงครามกันตั้งแต่กลุ่มเล็กจนถึงกลุ่มใหญ่ กรรมอันนี้ก็เป็นกรรมของบุคคลกลุ่มเล็กจนถึงกลุ่มใหญ่ซึ่งมีอำนาจทำลายล้างทรัพย์สินอวัยวะร่างกายและชีวิตอย่างใหญ่โต

การชนะสงครามภายนอกนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งประเสริฐ เพราะเป็นการชนะด้วยการทำลายล้าง ก่อให้เกิดเวร คือความผูกโกรธเพื่อจองล้างจองผลาญกันสืบต่อไปอีก  ดังที่มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า ชยํ เวรํ ปสวติ ผู้ชนะย่อมประสบเวร  ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต ผู้แพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความแพ้ ความชนะในสงครามจึงเป็นการก่อเวร เพื่อที่จะสนองเวรกันต่อไป ไม่ใช่เป็นการชนะเด็ดขาด  ฉะนั้น จึงได้ตรัสถือเอาความว่า “ผู้ใดพึงชนะกองทัพมนุษย์ในสงครามตั้งพันด้วยพัน ความชนะของผู้นั้นไม่ประเสริฐ” ดังนี้

ส่วนการชนะภายใน คือ เอาชนะตนเอง หรือชนะจิตใจของตนเองนั้น ก็หมายความว่า เอาชนะกิเลสในจิตใจของตนเอง เมื่อเอาชนะกิเลสในจิตใจของตนเองได้ ก็ชื่อว่า ชนะตนเองหรือชนะจิตใจของตนเอง แต่การที่จะเอาชนะกิเลสดั่งนี้ ก็ต้องทำสงครามเหมือนกัน คือ ต้องทำการต่อสู้กับกิเลสในใจ ด้วยว่ากิเลสในใจนี้เป็นมาร คือ เป็นผู้ฆ่าผู้ทำลายล้าง หรือเป็นข้าศึกที่มีอยู่ในจิตใจ แต่เป็นข้าศึกชนิดที่ตนเองรักษาเอาไว้ เช่น ตัณหา ความอยาก หรือความดิ้นรนทะยานอยาก ต่างโดยเป็นกามตัณหา ความดิ้นรนไปในอารมณ์ที่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนไปในภพ  ความดิ้นรนไปในความเป็นนั่น เป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่  ตัณหา คือ ความดิ้นรนนี้ มีตัณหานุสัย คือ ความอยากที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในจิต และเมื่อได้มีอารมณ์ต่างๆ มากระทบจิตใจ ตัณหานุสัยนี้ก็ฟุ้งขึ้น เป็นตัณหาที่เป็นชั้นนิวรณ์ คือ เป็นความดิ้นรนทะยานอยากไปในอารมณ์ต่างๆ นั้น จึงปรากฏกิเลสที่สืบเนื่องกัน คือ โลภะ ความโลภอยากได้บ้าง  โทสะ ความขัดเคืองบ้าง  โมหะ ความหลง คือความไม่รู้บ้าง  กิเลสเหล่านี้ก็ปรากฏขึ้นอาศัยกระแสของตัณหา คือความดิ้นรนนี้แหละ กล่าวคือ ความดิ้นรนทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนา ย่อมเป็นที่อาศัยเกิดโลภะ ความโลภ อยากได้ในอารมณ์เหล่านั้น แต่ครั้นไม่ได้รับอารมณ์เช่นนั้นก็เกิดโทสะ คือความขัดเคือง และแม้ไม่ได้รับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของโทสะ เมื่อได้รับอารมณ์ทั่วๆ ไปที่รู้สึกว่า ไม่ใช่ให้เกิดความโลภอยากได้หรือความขัดเคืองอะไร แต่ก็ยังติดอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นด้วยความไม่รู้ คือ ไม่รู้ในความเกิดความดับ ไม่รู้ในคุณในโทษ ไม่รู้ในทางที่จะนำจิตใจออกไป ตนเองอาจรู้สึกเหมือนอย่างเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ แต่ก็เฉยด้วยความไม่รู้ดังกล่าว มีความติดอยู่ในความเฉยนั้น ดั่งนี้เป็นตัวโมหะ ที่เรียกว่า ความหลง  โมหะคือความหลงนี้ย่อมเป็นไปในอารมณ์ที่มีลักษณะดังกล่าวนั้นด้วย มีอยู่เป็นภาคพื้นด้วย

กิเลสดังกล่าวนี้ย่อมมีอยู่ในจิตใจ เรียกว่าบุคคลยังรักษาเอาไว้ จะเรียกว่าเพราะโมหะคือความหลงเพราะขาดปัญญาที่จะรู้จักว่าเป็นตัวกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ดั่งนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้น กิเลสจึงมีอำนาจครอบงำใจ เพราะนอกจากที่จะรักษาไว้แล้ว ยังชุบเลี้ยงให้กำลังกิเลสอีกด้วย ทั้งยอมตนเป็นทาสของกิเลส ดังที่เรียกว่า ตณฺหาทาโส เป็นทาสของตัณหา เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่มีสงครามคือการต่อสู้กับกิเลส เพราะเป็นทาสของกิเลสเต็มตัวเสียแล้ว บุคคลที่จะทำสงครามต่อสู้กับกิเลสนั้นก็จะต้องเริ่มมีสติ ความระลึกได้ มีปัญญา ความรู้ ว่าตนเองเป็นทาสของกิเลสและต้องการจะให้ตนเป็นอิสระ หรือมีเสรีภาพจากกิเลส เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ต้องรวบรวมพล คือ กำลัง ซึ่งได้แก่ธรรมที่เป็นพละ คือกำลัง ๕ ประการ คือ
๑. ศรัทธา ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อ ได้แก่ เชื่อต่อความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนถึงคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
๒. วิริยะ ความเพียร ละบาป บำเพ็ญกุศล
๓. สติ ความระลึกได้
๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น และ
๕. ปัญญา ความรู้จักบาป บุญคุณโทษ

ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ จนถึงความรู้ในสัจธรรม  ธรรมะที่เป็นตัวความจริง เมื่อมีพละคือธรรมที่เป็นกำลังทั้ง ๕ ประการนี้ ก็ย่อมมีกำลังที่จะต่อสู้กับกิเลสในใจ อันได้แก่ตัณหา หรือ โลภะ โทสะ โมหะ นั้น  ในการต่อสู้นั้น จิตใจก็จะต้องมีความลำบาก ต้องเป็นทุกข์ เป็นสงครามในจิตใจ แต่เมื่อมีขันติ ความอดทนไม่ละความเพียร สั่งสมธรรมะที่เป็นกำลังเหล่านี้ให้ทวีมากขึ้น ในที่สุดก็จะสามารถทำสงครามคือรบเอาชนะกิเลสในจิตใจของตนเองได้ ธรรมะเหล่านี้ก็เป็นอินทรีย์คือ เป็นใหญ่ครองจิตใจแทนกิเลส จิตใจที่มีธรรมะเป็นอินทรีย์ครองอยู่ ย่อมเป็นจิตใจที่เป็นอิสรเสรี และมีความสุขตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูง ความชนะตนเองดังกล่าวนี้ คือชนะกิเลสในจิตใจของตนเองผู้เดียว ย่อมประเสริฐกว่าการชนะในสงครามทั้งสิ้น เพราะเป็นความชนะที่เป็นความชนะภัยชนะเวรทั้งสิ้น ทำให้เกิดความสงบความสุขแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วย  เพราะฉะนั้น หน้าที่ของบุคคลทุกๆ คน จึงอยู่ที่การจะเอาชนะตนเองแต่ผู้เดียวนี้แหละ  หมายความว่าเอาชนะกิเลสในใจของตนเอง ด้วยการสร้างเสริมธรรมะที่เป็นกำลังจนมีกำลังเหนือกิเลส กิเลสก็สงบไปจากจิตใจ ธรรมะก็จะเข้าครองใจแทน ทำให้มีความสุขสงบอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสว่า “ส่วนผู้ใดพึงชนะตนผู้เดียว ผู้นั้นแลเป็นผู้สูงสุดแห่งผู้ชนะในสงครามนั้น” มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในวันธรรมสวนะ ทางวิทยุกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 17 เมษายน 2562 15:31:22 »


ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
อนุตตรธรรมเทศนา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ธมฺเม จ เย อริยปฺปเวทิเต รตา             อนุตฺตรา เต วจสา มนสา กมฺมุนา จ
เต สนฺติโสรจฺจสมาธิสณฺฐิตา     สุตสฺส ปญฺญาย จ สารมชฺฌคูติ ฯ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนา พระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมีอนุรูปแด่พระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลพระราชทานเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ ในสัตตมวารสมัย แด่วาระถึงมรณภาพ

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์นั้น เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในสังฆมณฑล ได้ปฏิบัติกิจที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และแก่วงการศึกษาของประเทศชาติไว้เป็นอันมาก ในทางพระศาสนา ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในคณะสงฆ์มาด้วยดี เป็นต้นว่า ในฐานะเป็นเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาสชั่วคราว ในฐานะเจ้าคณะแขวงบางแขวง เจ้าคณะมณฑลพิษณุโลก และเจ้าคณะจังหวัดธนบุรี ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม สมัยต่อมาในฐานะสมาชิกสังฆสภาและสังฆมนตรี ว่าการองค์การสาธารณูปการฯ ในด้านการศึกษาแห่งคณะสงฆ์ ได้เคยเป็นครูสอนมูลกัจจายนะ เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงมณฑลพิษณุโลกและได้อุปถัมภ์การศึกษาในทางต่างๆ ในวงการศึกษาของประเทศชาติได้เคยเป็นครูสอนหนังสือไทย เป็นครูใหญ่โรงเรียนอุดมพิทยายน วัดอนงคาราม ในตอนหลังได้เป็นผู้อุปการะโรงเรียนชายหญิงหลายโรงเรียน นอกจากนี้ท่านได้ทำการพิเศษอีกหลายอย่าง ประการสำคัญที่ควรยกย่องเป็นพิเศษ คือท่านได้เป็นผู้กำกับการพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี อันเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง ท่านได้ดูแลจัดปรับปรุงให้งดงามเป็นระเบียบเรียบร้อยและเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้มีการจัดปฏิสังขรณ์ก่อสร้างมณฑปพระพุทธบาทขึ้นใหม่ ในคราวยกยอดมณฑปพระพุทธบาท สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ได้พระราชทานพระมหากรุณา เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธียกยอด เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์อันพึงจารึกไว้ในประวัติพระพุทธบาท และก็พึงจารึกไว้ในประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ผู้กำกับการพระพุทธบาทด้วย

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ประกอบประโยชน์กิจทั้งแก่พระศาสนา ทั้งแก่ประเทศชาติ มีอาทิ ดังถวายวิสัชนามา จึงได้รับพระราชทานการยกย่องด้วยสมณศักดิ์สูงขึ้นโดยลำดับ จนถึงได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป

กล่าวโดยย่อ ท่านชื่อว่าเป็นผู้เจริญโดยชาติ เพราะเมื่อเข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ชื่อว่าได้เกิดโดยอริยชาติ ตามนัยองคุลิมาลสูตร เป็นผู้เจริญโดยคุณ เพราะได้ปฏิบัติเกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น เป็นผู้เจริญโดยวัย เพราะได้มีอายุยืนนานฯ

กล่าวตามหลักธรรม ความเจริญทั้ง ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพนับถือ ยิ่งเจริญก็ยิ่งเพิ่มความเคารพนับถือ แต่ความเจริญทั้งหมดนี้ย่อมมีความเจริญด้วยคุณเป็นข้อสำคัญ คุณจะเจริญก็ด้วยเจริญธรรมที่เป็นคุณ ตั้งต้นแต่ยินดีในธรรมเป็นต้น ต้องตามพระพุทธนิพนธ์ภาษิต ที่ยกขึ้นไว้เป็นบทอุเทศว่า ธมฺเม จ เย อริยปฺปเวทิเต รตา เป็นต้น แปลความว่า บุคคลผู้ยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศไว้แล้ว มีความประพฤติดีเยี่ยมด้วยกาย วาจา ใจ ดำรงมั่นอยู่ในสันติ (ความสงบ) โสรัจจะ (ความเสงี่ยม) และสมาธิ (ความตั้งใจมั่น) ย่อมบรรลุถึงแก่นสารแห่งสุตะ (การสดับ) และปัญญาดังนี้

ตามพุทธภาษิตนี้ พระอริยเจ้าคือบุคคลผู้ประเสริฐ พระอริยเจ้าในพระพุทธศาสนาหมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้พระธรรมจริง ได้เป็นผู้บริสุทธิ์จริง และได้มีพระมหากรุณาแก่สัตว์โลกจริง  ฉะนั้น ธรรมที่พระองค์ได้ทรงประกาศ จึงเป็นธรรมที่จะยังผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้รู้จริงและบริสุทธิ์จริง ธรรมเหล่านี้ย่อมประมวลลงในกองศีลบ้าง กองสมาธิบ้าง กองปัญญาบ้าง กองวิมุตติคือ ความหลุดพ้น บ้าง  รวมเรียกว่าเป็นอริยธรรมหรืออารยธรรม บุคคลผู้ยินดีในอริยธรรมดังกล่าว ย่อมมีฉันทะความพอใจและมีความเพียรเพื่อปฏิบัติในอริยธรรมนั้น ในชั้นแรกย่อมสมาทานปฏิบัติในศีล คือมีความตั้งใจคิดงดเว้นจากความประพฤติละเมิดผิดทางกายและวาจา ดังที่เรียกว่า มีศีลห้า ศีลแปด เป็นต้น  ศีลนี้ชื่อว่าความประพฤติเยี่ยม เพราะไม่มีความประพฤติอย่างอื่นจะเยี่ยมไปกว่าศีล  ฉะนั้น ผู้มีศีล จึงชื่อว่ามีความประพฤติเยี่ยมด้วย กาย วาจา ใจ

บุคคลจะรักษาศีลไว้ได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยสันติ โสรัจจะ และสมาธิ สันติคือความสงบ ได้แก่ความสงบ โลภ โกรธ หลง อย่างหนึ่ง  ความสงบทุกข์เดือดร้อนอย่างหนึ่ง  สันติข้อแรกเป็นเหตุ สันติข้อหลังเป็นผล แต่สันติจะมีก็ต้องอาศัยโสรัจจะ คือความเสงี่ยม หมายถึงมีขันติ ความอดทนต่ออารมณ์เครื่องยั่วเย้าต่างๆ รักษาอาการทางกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดีงาม  โสรัจจะจะมีได้ก็ต้องอาศัยสมาธิ คือความตั้งใจมั่นอยู่ในธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ผู้ประกอบด้วยธรรมทั้ง ๓ ข้อนี้อย่างมั่นคง ชื่อว่าดำรงมั่นอยู่ในสันติ (ความสงบ) โสรัจจะ (ความเสงี่ยม) และสมาธิ (ความตั้งใจมั่น)

บุคคลจะมีศีลตลอดจนถึงมีใจตั้งมั่นอยู่ในธรรม ก็ต้องมีการสดับธรรมอันเรียกว่า สุตะ เพื่อให้รู้ธรรมตามที่พระอริยเจ้าได้ประกาศไว้ และพึงมีปัญญา เพื่อพิจารณาให้รู้จริงเห็นจริงในอริยธรรมนั้น เพื่อผลคือวิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ในที่สุด วิมุตตินี้เป็นสาระแก่นสารแห่งความปฏิบัติธรรม ตั้งแต่ข้อต้นๆ มาโดยลำดับจนถึงข้อสุดท้าย ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในอริยธรรม โดยทำให้บริบูรณ์ตั้งแต่ต้นมาจนถึงสุตะและปัญญา จนได้ประสพวิมุตติตามภูมิชั้น ชื่อว่าย่อมบรรลุถึงแก่นสารแห่งสุตะและปัญญาต้องด้วยประการฉะนี้

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้เป็นผู้ยินดีในอริยธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้มีความพอใจมีความเพียรปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย เป็นผู้มั่งคั่งยั่งยืนอยู่ในพระธรรมวินัยโดยไม่เสื่อมเลย จนถึงอวสานสมัยแห่งชนม์ชีพ จึงชื่อว่าเป็นผู้เจริญด้วยคุณเป็นเครื่องอุดหนุนให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญโดยชาติ และเป็นผู้เจริญโดยวัย มีนัยดังที่ได้รับพระราชทานถวายวิสัชนามา

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ทั้งนี้ ชื่อว่าได้ทรงแสดงพระราชธรรมจรรยา ในข้ออปจายนธรรม อันจะทำให้เกิดศุภผล ต้องตามพระพุทธนิพนธ์พุทธภาษิตว่า


เย วุฑฺฒมปจายนฺติ      นรา ธมฺมสฺส โกวิทา
ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ ปาสํสา สมฺปราโย จ สุคฺคติ

แปลความว่า นรชนเหล่าใดผู้ฉลาดรู้ธรรม ย่อมประพฤติอ่อนน้อมนับถือบุคคลผู้เจริญ นรชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตพึงสรรเสริญในปัจจุบันบัดนี้ แลจักเป็นผู้มีคติคือทางไปอันดี เป็นที่ไปในอนาคต ภายหน้าดังนี้ฯ

ขออำนาจพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญ เพื่อทรงอุทิศส่วนพระราชกุศลพระราชทาน  ทั้งนี้ จงสัมฤทธิ์อิฏฐวิบากมนุญผล แด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมาเถระ สมตามพระบรมราชูทิศโดยฐานะนิยมฯ

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ พระสงฆ์ทั้ง ๔ รูปจักได้รับพระราชทานสวดคาถามธรรมบรรยายโดยสรภัญญวิธี เพื่อเพิ่มพูนอัปปมาทธรรมสืบต่อไป

รับพระราชทานถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร


คาถาธรรมบรรยาย

เย วุฑฺฒมปจายนฺติ นรา ธมฺมสฺส โกวิทา
ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ ปาสํสา      สมฺปราโย จ สุคฺคติ
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข      เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข      เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข      เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา

ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา
ยโต ขยํ ปจฺจยานํ อเวทิ
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา
อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส
วธูปยํ ติฏฺฐติ มารเสนํ
สูโรว โอภาสยมนฺตลิกฺขนฺติ

เอตฺตกานมฺปิ ปาฐานํ   อตฺถํ ยตฺวา ยถารหํ
ปฏิปชฺเชถ เมธาวี      ปตฺตํ สนฺตึว เจตโสติ


* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภนคณาภรณ์ ในการพระราชกุศลทักษิณานุสรณ์ศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม กรุงเทพมหานคร ในสัตตมวารแรก วันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 เมษายน 2562 15:38:18 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 10 พฤษภาคม 2562 14:28:29 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
ปุญญมิตตกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
สหาโย อตฺถชาตสฺส            โหติ มิตฺตํ ปุนปฺปุนํ
สยํ กตานิ ปุญฺญานิ      ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกนฺติ.

บัดนี้ จักถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแก่พระกุศลราศีส่วนทักษิณานุปทาน ที่พระเจ้าบรมวงศ์บพิตรได้ทรงบำเพ็ญ เพื่ออุทิศกัลปนาผลวิบูลวิบากสมบัติ สนองพระเดชพระคุณ แด่ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิมผู้ล่วงลับไป ตามฐานนิยมที่พึงทรงทำในอวสานสมัย

ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิมผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ปรากฏว่า เป็นผู้ประกอบด้วยคุณสารหลายประการ ซึ่งล้วนควรหยิบยกขึ้นมาถวายวิสัชนา ในกถามรรคนี้ จะเลือกถวายวิสัชนาโดยประการ เพื่อเฉลิมพระกตัญญุตาและกตเวทิตาคุณ เพื่อพูลพระมาตุคุณานุสสติให้เจริญยิ่งขึ้น

แท้จริง ท่านเจ้าจอมมารดานั้น ได้บำเพ็ญกรณียอนุรูปแก่หน้าที่อันเป็นภารธุระของท่านเป็นลำดับมาด้วยดี ในฐานที่เป็นเจ้าจอมมารดา ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ควรทำแก่พระโอรสและพระธิดาบริบูรณ์ตามวารสมัย จะถวายวิสัชนาให้ทรงระลึกตามแนวพระพุทธศาสโนวาท

มารดาและบิดาที่ดี ก่อนแต่มีบุตรธิดา ย่อมปรารถนาใฝ่ฝันถึง คิดเตรียมรักเตรียมเอ็นดูเตรียมทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง เมื่อรู้ว่าจะมีบุตรธิดา ก็อิ่มเอิบแลตั้งตาตั้งใจคอย ทั้งเตรียมสิ่งของไว้สำหรับบริหารเลี้ยงรักษา พร้อมทั้งกิจการที่จะยกย่องเชิดชูบุตรธิดาให้ได้ดีมีความสุขความเจริญในภายภาคหน้า เมื่อได้บุตรธิดาสมใจหวังแล้วความรักและเจตนาดีทั้งสิ้นของท่านก็มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่ในบุตรธิดา เฝ้าแต่ถนอมเพียงดวงใจ ใฝ่คิดที่จะเห็นบุตรธิดาเติบใหญ่โดยไร้โรคและสมบูรณ์พูนสุข ไม่ปรารถนาให้ต้องแม้ลมแรงและแสงแดดที่แผดร้อน เพราะเกรงไปว่าจะอ่อนเพลียเสียกำลังถึงเจ็บไข้ ในคราวเจ็บป่วยก็ขวนขวายหาแพทย์มารักษาพยาบาล บางคราวก็นิ่งอยู่ไม่ได้ ต้องเข้าช่วยพยาบาลด้วยตนเอง และหวังใจคล้ายกับทุกขเวทนานั้นๆ บังเกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง หรือบางทีท่านก็รู้สึกเป็นทุกข์ไปยิ่งกว่าเสียอีก ในคราวที่บุตรธิดาได้ทุกข์ มารดาบิดาผู้มีความรักเต็มเปี่ยมยอมอาจพลีได้ทุกๆ อย่าง เพื่อแลกทุกข์ของบุตรธิดา ในคราวที่ท่านเจ็บป่วยเสวยทุกขเวทนา แม้อย่างหนัก ก็ดูเสมือนว่าท่านความเอาใจใส่ห่วงใยในตัวของท่านเองน้อยกว่าในบุตรธิดา ในสมัยเช่นนั้น โอสถวิเศษที่เป็นเหตุชูใจของท่านให้แช่มชื่นแลหมดห่วง ก็คือความสุขของบุตรธิดา ทั้งนี้เพราะเหตุว่าความสุขของบุตรธิดาเป็นพรที่ท่านปรารถนาใฝ่ถึงอย่างยิ่ง แลเป็นพรข้อเดียวที่เพียงพอแก่ท่าน อนึ่งในคราวปกติ เมื่อท่านได้อาหารหรือของที่ดีที่แปลกมาย่อมมีจิตประหวัดไปถึงบุตรธิดาด้วยเสมอ ในบางคราว ท่านคิดไปให้บุตรธิดาก่อนที่คิดจะบริโภคใช้สอยเองอีก ทั้งนี้เป็นด้วยอำนาจความรักที่เป็นไปอย่างยิ่งยวดและบริสุทธิ์สะอาด ไม่จืดจางกลับกลายในบุตรธิดา

เมื่อบุตรธิดาเจริญวัยขึ้นแล้ว นับแต่รู้เดียงสาเป็นต้นไป ท่านย่อมประกอบกรณียหน้าที่อันมารดาบิดาที่ดีพึงปฏิบัติต่อบุตรธิดาตามสมควรแก่สมัย โดยนัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ คือ
๑. ห้ามปรามพร่ำว่ามิให้กระทำความชั่ว
๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อุดหนุนให้ได้ศึกษาศิลปวิทยาที่สมควรแก่ตระกูลวงศ์
๔. สืบเสาะถึงผู้ที่จะมาเป็นภรรยาสามี เลือกให้ได้คู่ที่ควรมาร่วมสุขทุกข์แลร่วมวงศ์ดำรงตระกูล
๕. เกื้อหนุนการดำรงชีพด้วยมอบให้ครอบครองทรัพย์สมบัติเหมาะสมัย

รวมความว่ามารดาบิดาย่อมเป็นผู้อุปการะต่อบุตรธิดาทุกประการและทุกทางที่พึงทำได้ โดยมิอิ่มมิเบื่อหน่าย และเป็นผู้อุปการะก่อนใครๆ หมด จึงเป็นบุพการี บุพการินี ผู้ทำอุปการะก่อนแก่บุตรธิดา ก่อนแต่ผู้อื่น ทั้งทีหลังผู้อื่น ในระหว่างที่ลมปรารถนาของท่านยังไม่หยุดลง ท่านไม่ยอมให้เลย เพราะฉะนั้นความอุปการะต่อบุตรธิดา จึงไม่มีผู้ใดได้กระทำก่อนท่านและยากที่จะหาผู้ใดได้กระทำทีหลังท่าน ทั้งนี้เพราะท่านมีพรหมวิหารธรรมเกี่ยวอยู่ในบุตรธิดา กล่าวคือ มีเมตตาไมตรีรักสนิทเสน่หาซาบซึ้ง มีกรุณาหวั่นๆ ถึงบุตรธิดา ด้วยความปรารถนาทั้งขวนขวายป้องกันและปลดเปลื้องทุกข์เดือดร้อนแสวงและส่งเสริมสุขให้ แลช่วยรักษาไว้ให้ยืนยง มีมุทิตาชื่นใจ สุขสมบัติของบุตรธิดา ด้วยความสำคัญในสุขสมบัติของบุตรธิดาว่าดุจโอสถหอมอันชูกำลัง มีอุเบกขาหักใจหรือบังคับใจให้สงบเฉยไว้ได้ ด้วยความเข้าเพ่งพินิจให้รู้เท่าทันทัศนคติของธรรมดาในสมัยที่บุตรธิดาประสบทุกข์อันเหลือวิสัยที่จะขวนขวายแก้ไข แม้ในสมัยที่บุตรธิดาเจริญด้วยวัยและหน้าที่การงาน มีสติรอบคอบพอรักษาตัวเองให้เป็นสุข นับว่าตั้งตนได้ในโลกนี้ ก็ควรที่ท่านจะมีอุเบกขาวางใจคอยดูอยู่เฉยๆ ไม่ต้องขวนขวายด้วยประการใดๆ อีก อนึ่งในสมัยที่ท่านใกล้จะถึงมรณะละโลกนี้ไป ไม่เป็นวิสัยที่ท่านจะขวนขวายประกอบอุปการะกิจอีกต่อไปได้ ก็ควรที่ท่านจะมีอุเบกขาปลดกังวลห่วงใย ทำใจให้สงบ เพื่อจะได้ไม่หลงทำกาละดังคำที่เรียกว่า “หลับตาตาย” ทั้งนี้ต้องอาศัยการพิจารณาให้รู้เท่าทัน คติของธรรมดาในข้อที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตนเป็นอาทิ พรหมวิหารธรรมดั่งถวายวิสัชนามาฉะนี้ แต่ละประการย่อมมีอยู่ในมารดาบิดาพิเศษกว่าผู้อื่น  เพราะฉะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสไว้ (ในสหพรหมสูตรในติกังคุตตร) ว่า


พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร        ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ   ปชาย อนุกมฺปกา 
แปลความว่า มารดาบิดาอันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นพรหมของบุตร
เป็นบุพพาจารย์ของบุตร เป็นอาหุเนยยะ ผู้ควรของที่นำมาคำนับบูชาของบุตร เป็นผู้อนุเคราะห์บุตร ดังนี้

อุปการคุณแห่งมารดาบิดาที่ถวายวิสัชนามาตามนัยพระบรมพุทโธวาทนี้ จะมีปรากฏอยู่ในท่านเจ้าจอมมารดานั้นโดยสถานใดเพียงใด ย่อมประจักษ์ชัดอยู่ในพระหฤทัยของพระเจ้าบรมวงศบพิตร เกินวิสัยที่จะถวายวิสัชนาให้บริบูรณ์สิ้นเชิงได้  อนึ่ง ท่านเป็นรัตตัญญูบุคคลดำรงชนมายุยืนนาน เป็นเหตุให้เห็นโลกและธรรมโดยเหตุผลประจักษ์ได้ดี ทั้งเป็นโอกาสให้พระโอรสและพระธิดาได้ทรงปฏิการเต็มที่สมพระหฤทัยได้ทรงปฏิการโดยสถานไร จะถวายวิสัชนาตามนัยที่มีมาในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ทรงระลึกสำเร็จเป็นพระอนุสติในมาตุอุปัฏฐาน เป็นเหตุเจริญพระปิติในปฏิการธรรมยิ่งขึ้น

บุตรธิดาที่ดีย่อมตั้งตนอยู่ในโอวาทของมารดาบิดา ไม่ดื้อกระด้าง ทำตนเป็นคนรักดี เมื่อถึงสมัยที่พึงศึกษา ก็ตั้งใจศึกษาศิลปวิทยา บากบั่นให้สำเร็จผลเป็นที่ชื่นชมของมารดาบิดา ไม่ยอมให้ความเกียจคร้านเหลวไหลเข้าครอบงำทำให้เสียการเรียน ปลูกนิสัยให้เป็นคนรักเรียน ตั้งใจประพฤติตามขนบธรรมเนียมหรือประเพณีที่ดีงามอันนิยมปฏิบัติกันมาในตระกูล ตลอดถึงในชุมชม ไม่ดูแคลนล่วงล้ำและไม่ประพฤติตนให้เป็นคนผ่าเผ่าพงศ์พันธุ์ ปลูกนิสัยให้เป็นคนรักธรรมเนียมประเพณีรักสกุลวงศ์ให้ได้ชื่อว่ามีเชื้อไม่เสียแถว แลรู้จักรักษาทรัพย์สิ่งของให้เรียบร้อยและมิให้สูญเสียโดยไร้เหตุ  ข้อนี้ ก็จะเป็นศรีที่หลั่งมาแห่งโภคสมบัติ บุตรธิดาจะประพฤติได้ดังนี้ย่อมเนื่องมาจากความอบรม และแนะนำกล่อมเกลาแห่งมารดาบิดาแลท่านผู้หวังดีทั้งหลาย จำเดิมแต่รู้เดียงสาเป็นลำดับมานี้เป็นที่บุตรธิดาพึงประพฤติ เพื่อให้เหมาะกับความเป็นผู้รับอุปการกิจจากมารดาบิดา และทุกประการล้วนเป็นประโยชน์แก่ตัวบุตรธิดาเอง ในส่วนที่ควรกระทำแก่ท่านเล่า บุตรธิดาแม้ยังเล็กอยู่ก็อาจทำได้บ้างด้วยการขวนขวายทำกิจการช่วยท่านตามกำลังสามารถ ไม่หลบหลีกห่างเหินเฉยเมย ทอดความคุ้นเคยใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านให้สมกับที่ท่านมีใจจดจ่อถึง เมื่อเติบใหญ่มีความสามารถพอที่จะปฏิการตอบแทนท่านได้เต็มที่แล้ว ก็ตอบแทนคุณท่านโดยนัยที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ คือ

๑.  ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบสนอง ไม่ทอดทิ้งให้ท่านต้องได้รับความลำบากเดือดร้อนในความเป็นอยู่
๒. ทำกิจธุระของท่าน คอยแลดูอยู่ช่วย ไม่ปล่อยปละละเลยอย่างดีที่สุด ถึงไม่ยอมให้ท่านต้องลงมือทำ
๓. ดำรงวงศ์ตระกูลให้รุ่งเรืองแลยั่งยืน
๔. ปฏิบัติตนให้สมควรเป็นผู้รับทรัพย์มรดก ด้วยความหลีกหลบฝ่าฝืนอบายมุข คือปากทางแห่งความเสื่อม
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศไปให้ท่าน

อีกนัยหนึ่ง บุตรธิดาที่ดี เมื่อได้กระทำปฏิการกิจโดยนัยที่ถวายวิสัชนามาฉะนี้แล้ว ย่อมใส่ใจในคุณงามความดี อันเป็นสาระสำคัญของมารดาบิดา เมื่อเห็นท่านยังยินดีอยู่ในทางผิด ก็พยายามคิดหาทางให้ท่านละเสีย แลขวนขวายให้ท่านตั้งอยู่ในทางดี เมื่อท่านพอใจดังนี้แล้ว ก็ส่งเสริมและหาโอกาสให้ท่านได้ประพฤติดีมากและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ผู้ใหญ่โดยมากย่อมถือมั่นอยู่ในทิฏฐิความเห็นของตน และมีมานะถือตนว่าเป็นผู้ใหญ่ได้เห็นโลกมาก่อน เพราะฉะนั้น บุตรธิดาผู้ปรารถนาจะให้มารดาบิดาละทางผิด ประพฤติแต่ทางดี จึงควรใช้อุบายวิธีให้แยบคาย มิฉะนั้นจะกลายเป็นโทษ เป็นต้นว่า เมื่อจะพยายามด้วยการพูดแนะนำ ก็ควรรอหาโอกาสที่เหมาะ เมื่อได้โอกาสแล้วก็ยังไม่ควรพูดตรงๆ ก่อน ควรพูดอ้อมด้วยคำอันอ่อนหวานแต่สะกิดใจ พอให้ท่านรู้สึกตัว บุตรธิดาผู้ทำให้มารดาบิดาละชั่วประพฤติดีได้ ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณมารดาบิดาด้วยการตอบแทนอย่างสูง สมด้วยพระพุทธภาษิต (ในมาตุปิตุคุณสูตร ในทุกนิปาตังคุตตร) โดยความว่า “ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ถนอมเลี้ยงดู (และแสดงโลกนี้แก่บุตร บุคคลใดแลทำมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา) ให้สมาทาน ตั้งมั่น ดำรงอยู่ในความถึงพร้อมด้วยศรัทธา, ...ผู้ทุศีลในความถึงพร้อมด้วยศีล.. ผู้มีความตระหนี่ ในความถึงพร้อมด้วยการบริจาค,...ผู้ทรามปัญญา...ในความถึงพร้อมด้วยปัญญา, ด้วยเหตุมีประมาณเพียงนี้แล บุคคลนั้นชื่อว่าได้กระทำเสร็จ ได้กระทำตอบเสร็จ แก่มารดาบิดาดังนี้

รวมความว่า มารดาบิดาเป็นผู้มีชีวิตเนื่องด้วยบุตรธิดาฉันใด บุตรธิดาพึงมีชีวิตเนื่องด้วยท่านเป็นการปฏิการฉันนั้น บุตรธิดาผู้ประกอบด้วยปฏิการกิจดังชื่อว่ากตัญญู ผู้รู้อุปการะอันท่านได้ทำแล้ว กตเวที ผู้ประกาศอุปการะ อันท่านทำแล้วให้ปรากฏ ย่อมประสบผลอันเป็นอุดมมงคลทั้งในโลกนี้แลโลกหน้า สมด้วยพระพุทธภาษิต (ในมงคลสูตร) ว่า


มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ             เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
แปลความว่า การบำรุงมารดาบิดา เป็นมงคลเหตุให้ถึงความเจริญอันอุดม ดังนี้ 

ปัจโจปการตามนัยพระบรมพุทโธวาทที่ถวายวิสัชนามาฉะนี้ เมื่อทรงอนุสสรถึงโดยลำดับไป พระก็กตัญญูและกตเวทิตาธรรม ย่อมปรากฏในพระองค์ไพศาลเกินโวหารที่จะถวายพรรณนา ข้อนี้ ย่อมเป็นศุภนิมิตมิ่งขวัญ เป็นภูมิแห่งความดีประจำพระองค์ ตรงตามธรรมภาษิตว่า 

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ  กตญฺญูกตเวทิตา
ภูมิ เว สาธุรูปานํ          กตญฺญูกตเวทิตา
แปลความว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นนิมิตเครื่องหมาย เป็นภูมิชั้นของคนดี ดังนี้ 

อนึ่ง เพื่อประดับพระปัญญา เพื่อพูลพระอุสสเทวิริยะในสาธุกรรม อันเป็นอากรบ่อเกิดแห่งบารมีธรรมยิ่งขึ้น จะถวายวิสัชนาบุญญกถา ตามนัยพระพุทธภาษิตคาถาที่ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นต่อไป

คำว่าบุญนี้ ประกอบขึ้นด้วยธาตุชำระฟอกล้าง เพราะเหตุนี้ จึงอ้างได้ว่าสภาพใดบริสุทธิ์สะอาด สภาพนั้นเป็นบุญ โดยตรงบุญเกิดขึ้นที่จิต และสิ่งสมเนื่องสนิทเป็นบารมีอยู่ในจิต ติดเป็นสันดาน เครื่องสืบต่อผลไปภพภายหน้า สมด้วยพระบาลีพุทธภาษิตคู่กับบาปว่า 


อุโภ ปุญฺญญฺจ ปาปญฺจ       ยํ มจฺโจ กุรุเต อิธ
ตํ หิ ตสฺส สกํ โหติ    ตญฺจ อาทาย คจฺฉติ 
ตญฺจสฺส อนุคํ โหติ  ฉายา ว อนุปายินี

แปลความว่า บุญแลบาปทั้งสอง ผู้จำต้องตายทำอย่างใดไว้ในโลกนี้ บุญบาปอย่างนั้นเป็นของผู้นั้น
ผู้นั้นพาบุญบาปอย่างนั้นไป บุญบาปอย่างนั้นตามติดผู้นั้นไปดุจเงาทอดตามตัวไปฉันนั้น ดังนี้

บุญเกิดทางไตรทวาร คือกาย วาจา และมนัสคือใจ อาศัยกรรมคือการกระทำอันดีงาม บริสุทธิ์ เป็นสุจริต เป็นกุศล กรรมคือการกระทำอันดีงามเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุโดยนัยหนึ่ง ท่านแสดงบุญกิริยาวัตถุไว้ ๓ ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา จะถวายวิสัชนาโดยย่อเป็นลำดับไป

ทานที่เป็นบุญกิริยาวัตถุโดยตรง คือการให้ การสละ เพื่อกำจัดโลภะความโลภตลอดถึงมัจฉริยะความตระหนี่ โดยนัยนี้ สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ หรือ โลภะเข้าจับอยู่ในสิ่งใด การสละให้สิ่งนั้น จัดเป็นทาน เมื่อแสดงโดยอามิสผลที่พึงได้รับ ทานที่นับว่าจะอำนวยผลอันไพบูลย์ต้องประกอบด้วยเจตนาสมบัติ ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือมีเจตนาดีก่อนแต่ให้ กำลังให้ แลให้แล้ว วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือวัตถุนั้นๆ เป็นของไม่ต้องห้ามทางศีลธรรมและแสวงหาได้มาโดยสุจริต มีจำนวนส่วนสิ่งพอเหมาะสมัยและความต้องการ ตามฐานของผู้ให้ ปฏิกาหกสมบัติ ถึงพร้อมด้วยผู้รับ คือผู้รับทานเป็นผู้สมควรเพื่อรับอนุเคราะห์และเพื่อรับบูชาอย่างสูง เป็นพระอริยทักขิเณยยบุคคล สมบัติทั้งสามประการนี้เมื่อย่อหย่อน ผลก็อ่อนลงพอสมควรแก่กัน

ศีลที่เป็นบุญกิริยาวัตถุโดยตรง ได้แก่เจตนาวิรัติงดเว้นจากความชั่วตามองค์สิกขาบทที่ท่านบัญญัติไว้ เพื่อกำจัดโทสะ ความประทุษร้ายอันเป็นเหตุก่อภัยเวรนี้ เนื่องด้วยความตั้งใจรักษาดั่งที่พุทธศาสนิกสมาทานรักษากันอยู่ กล่าวโดยความเป็นศีลแท้ ศีลสิกขาบทที่รักษาได้ถึงคุ้นสนิท จนจิตเชื่องไม่พยศวิปริตคิดล่วงละเมิด ภายในไม่เกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อภายนอก กายวาจาจิตเป็นปกติราบรื่นเรียบร้อยถึงกันหมด จัดเป็นศีลแท้ ผู้มีศีลย่อมปรากฏเป็นผู้มีการงานวาจาและอาชีพอันชอบชื่อว่าเป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์ ย่อมได้รับความปลอดภัยเป็นผล เมื่อกล่าวโดยความที่ศีลเป็นเครื่องกำจัดโทสะ ผู้มีศีลย่อมได้รับผลคือความงามด้วยประการทั้งปวง

ภาวนา ได้แก่ความปฏิบัติอบรมให้สมาจิตและปัญญาเกิดขึ้น ความปฏิบัติอบรมให้เกิดสมาธิเรียกว่าสมถภาวนา ได้แก่ความปฏิบัติหัดจิตให้แน่วแน่ ด้วยการบังคับจิตให้คิดไปในอารมณ์อันเดียว มีให้คิดไปในพระพุทธคุณเป็นอาทิ สมถภาวนานี้เป็นเครื่องปราบนิวรณ์ธรรม กามฉันท์เป็นต้นให้สงบราบคาบ ส่วนการปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญาเรียกว่าวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ความปฏิบัติหัดคิดค้นให้เห็นจริงตามหลักอนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ที่ท่านผู้รู้ได้วางไว้แล้ว วิปัสสนาภาวนานี้เป็นเครื่องเปิดเครื่องหุ้มห่อจิตให้มืดมิดคือโมหะออกจากจิต เผยจิตให้เห็นสัจธรรมคือความจริงตามกำลังวิปัสสนา ปัญญาที่ให้สำเร็จกิจแม้ในทางโลกก็ต้องอาศัยหลักภาวนาทั้งสองนี้ดุจเดียวกัน สมถภาวนาย่อมให้ความมั่นคงเด็ดเดี่ยวเฉียบขาด วิปัสสนาภาวนาย่อมไหวพริบแลความฉลาดเฉียบแหลมตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงอย่างสูงสุด

ผู้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุดังถวายวิสัชนามาฉะนี้ เรียกว่า “ผู้ทำบุญ” ผู้ทำบุญย่อมเป็นผู้มีกรรมอันบริสุทธิ์สะอาดปราศจากโทษ จึงเป็นคนบริสุทธิ์สะอาด ย่อมได้รับความบันเทิงในที่ทั้งปวง และเมื่อพิจารณาเห็นกรรมอันบริสุทธิ์สะอาดหมดจดเป็นบุญของตน ย่อมบังเกิดความบันเทิงอิ่มใจยิ่งขึ้น สมด้วยคาถาประพันธ์พุทธภาษิตว่า 


อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ      กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ   ทิสฺวา กมฺมวิสุทธิมตฺตโน 
แปลความว่า ผู้มีบุญอันกระทำไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมบันเทิง ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
ผู้นั้นเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตน ย่อมบันเทิงแล้วบันเทิงเล่ายิ่งขึ้นๆ ดังนี้

บุญให้ความสุขแช่มชื่นตราบเท่าถึงสิ้นชีวิต ผู้ทำบุญจึงชื่อว่า บันเทิงในโลกนี้ ผลบุญย่อมเป็นกัลยาณมิตร ติดตามเป็นเงาตามตัวไปคอยต้อนรับผู้ทำบุญด้วยสุขสมบัติดุจญาติมิตรผู้คอยอยู่ เห็นญาติมิตรที่รักสนิทผู้จากไปกลับมา ก็ยินดีปรีดาต้อนรับด้วยสุขสมบัติ มีข้าว น้ำ ที่อยู่อาศัยเป็นต้นฉันนั้น สมด้วยคาถาประพันธ์พุทธภาษิตว่า

จิรปฺปาวาสึ ปุริสํ                ทูรโต โสตฺถิมาคตํ
ญาติ มิตฺตา สุหชฺชา จ   อภินนฺทนฺติ อาคตํ 
ตเถว กตปุญฺญมฺปิ   อสฺมา โลกา ปรํ คตํ 
อภินนฺทนฺติ ปุญฺญานิ   ปิยํ ญาตีว อาคตํ 
แปลความว่า ญาติมิตรแลเพื่อนผู้หวังดี ย่อมบันเทิงยินดีต้อนรับบุรุษสตรีผู้จากไปนานไกล (และ) ถึงความสวัสดีกลับมา
ฉันใด บุญทั้งหลายย่อมยินดีต้อนรับผู้ทำบุญไว้แล้ว ซึ่งคลาดแคล้วจากโลกนี้ไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า ดุจญาติยินดีต้อนรับญาติที่สนิทเสน่หาผู้กลับมาถึงฉันนั้น

อนึ่ง เมื่อความต้องการจะประกอบธุรกิจใดๆ เกิดขึ้น ย่อมจำปรารถนาสหายมาเป็นมิตรในงาน ธุรการนั้นๆ จึงจะสำเร็จไปได้ตามประสงค์ ฉันใด บุญที่ทำไว้ก็ฉันนั้น คือบุญย่อมเป็นมิตรคอยสนับสนุนสนองสุขสมบัติอันเป็นที่ปรารถนาต้องการดุจมีผู้ศักดิ์สิทธิ์คอยดลบันดาลให้เป็นไปในสัมปรายภพ ข้อนี้เป็นบุญญานุภาพอันน่าเห็นเป็นอัศจรรย์ ต้องตามคาถาประพันธ์พุทธภาษิตว่า 

สหาโย อตฺถชาตสฺส         โหติ มิตฺตํ ปุนปฺปุนํ 
สยํ กตานิ ปุญฺญานิ   ตํ มิตฺตํ สมฺปรายิกํ 
แปลความว่า ทุกครั้งไป สหายเป็นมิตรในงาน ของผู้เกิดความต้องการประกอบธุรกิจ
บุญที่ทำไว้เองก็เช่นเดียวกัน คือบุญนั้นเป็นมิตรติดตามไป อำนวยสุขสมบัติให้ในสัมปรายภพดังนี้

บุญอย่างสูงที่ปรากฏเป็นอริยมรรค จักชำระฟอกล้างบาปอกุศล กิเลสธรรมให้หมดไป เป็นเหตุอำนวยให้บรรลุถึงนิพพานสมบัติ ได้ในพระบาลีพุทธภาษิตที่ตรัสย่อผลแห่งบุญว่า 

มานุสฺสิกา จ สมฺปตฺติ  เทวโลเกจ ยา รติ
ยา จ นิพฺพานสมฺปตฺติ   สพฺพเมเตน ลพฺภติ 
แปลความว่า มนุสสสมบัติ ๑  ฤดีสมบัติในเทวโลก ๑  นิพพานสมบัติ ๑  ทั้งหมดหาได้ด้วยบุญ ฉันนี้

ผลแห่งบุญมีนิทัสสนนัยที่ถวายวิสัชนา แม้ทุกๆ ส่วนล้วนประมวลลงในความสุข เพราะเหตุนี้ สมเด็จพระบรมสุคต จึงทรงสรุปบุญโดยผลให้ย่นย่อที่สุดตรัสไว้ว่า สุขสฺเสตํ อธิวจนํ แปลความว่า คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข ดังนี้

ท่านเจ้าจอมมารดาผู้ถึงอสัญกรรมล่วงลับไปแล้วนั้น ปรากฏว่าเป็นผู้ทำบุญไว้มาก หากพิจารณาดูตามนัยพระพุทธภาษิตที่ถวายวิสัชนามา แม้ในข้อที่ว่า “ผู้มีบุญอันกระทำไว้แล้ว ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง”  ดังนี้ สัมปรายภพของท่านย่อมควรเห็นเป็นที่น่าอุ่นพระทัยของพระโอรสและพระธิดา แลควรเห็นเป็นที่น่าอุ่นใจของประยูรญาติตลอดถึงบริวารทั้งหลาย

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอผลพระกุศลราศีทักษิณานุปทานกิจที่พระเจ้าบรมวงศ์บพิตรได้ทรงบำเพ็ญ เพื่ออุทิศกัลปนาผลวิบากสมบัติแก่ท่านเจ้าจอมมารดาทับทิม จงสัมฤทธิ์สุขสวัสดิพิพัฒนผลอันไพศาลแด่ท่านเจ้าจอมมารดานั้น แลท่านเจ้าจอมมารดานั้น ผู้มีทิพยวิถีทางใดทางหนึ่งให้ทราบได้ จงอนุโมทนาส่วนพระกุศลที่ทรงบำเพ็ญ เพื่อสำเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัยบุญกิริยา แล้วเสวยสุขผลสมพระเจตนาประสงค์ตามฐานนิยมทุกประการ

ถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ยุติลงด้วยใจความอรรถาธิบายและเวลา เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภนคณาภรณ์ ในงานศพเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ ๕

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2562 16:14:52 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
วิทยุธรรมเทศนา วิสาขเทศนา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
วิสาขปุณฺณมายํ ว             ชาโต อนฺติมชาติยา
ปตฺโต จ อภิสมฺโพธิ     อโถปิ ปรินิพฺพุโตติ ฯ

บัดนี้ จักแสดงวิสาขเทศนา เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อเจริญศรัทธาและสัมมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันวิสาขปุณณมี ที่เวียนมาถึงเข้า ณ บัดนี้

ด้วยว่า วันนี้เป็นวันจันทร์เต็มดวง ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อว่า วิสาขา อันเรียกว่าวิสาขปุณณมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระบรมศาสดา ได้เสด็จประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันวิสาขปุณณมี เช่นวันนี้ ดังที่แสดงไว้แล้วในพุทธประวัติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ล่วงมาได้ ๒๕๐๓ ปี บริบูรณ์ในวันนี้แล้ว แม้เช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ไร้พระศาสดา ยังมีพระศาสดาแทนพระองค์อยู่ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระอานนท์เถระ ในสมัยใกล้พระปรินิพพาน แปลความว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงไป ฉันนั้น แม้ในบัดนี้และต่อไป พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ยังมีพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาของตน เมื่อเคารพปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ชื่อว่า เคารพปฏิบัติในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา ก็ชื่อว่า ดำรงอยู่ในผู้ที่เคารพปฏิบัติ ดังกล่าวทุกๆ คน

วัตถุที่พึงเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนานั้น คือรัตนะทั้งสาม ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าเป็นพระรัตนะเพราะมีพระสรีระกายและพระจิต เป็นที่สถิตแห่งพระคุณทั้งปวง ประมวลลงในพระปัญญาคุณ (คุณ คือความตรัสรู้จริง) พระวิสุทธิคุณ (คุณ คือ บริสุทธิ์จริง) พระกรุณาคุณ (คุณ คือกรุณาจริง) พระธรรม เป็นพระรัตนะ เพราะมีสาระแก่นสารอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ล้วนๆ ไม่มีเปลือกกะพี้เจือปน ทั้งที่เป็นปริยัติ ทั้งที่เป็นปฏิบัติ ทั้งที่เป็นปฏิเวธ (ความรู้แจ้งแทงตลอด คือ มรรค ผล นิพพาน) เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง พระสงฆ์เป็นพระรัตนะ เพราะมีศีล (ความประพฤติ) ทิฏฐิ (ความเห็น) อันดี เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า พระคุณของพระพุทธเจ้าย่อมดำรงอยู่ในพระธรรม พระธรรม หรือคุณของพระธรรม ย่อมดำรงอยู่ในพระสงฆ์และในผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนจึงยังเป็นผู้มีส่วนได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แต่ข้อสำคัญต้องศึกษาปฏิบัติพระธรรม เมื่อศึกษาปฏิบัติจนมีความรู้พระธรรม แม้ด้วยปริยัติและด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระปัญญาคุณ เมื่อมีความบริสุทธิ์ ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระวิสุทธิคุณ เมื่อมีความสุขสงบ พ้นจากความทุกข์เดือดร้อน ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระกรุณาคุณ  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงมีส่วนได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกกาลสมัย ส่วนผู้ที่มิได้สนใจศึกษาปฏิบัติพระธรรม ถึงจะเกิดทันเห็นพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ชื่อว่า มิได้เห็นพระพุทธเจ้า ยกตัวอย่างเช่น อุปกะอาชีวก ได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินสวนทางมา ในคราวที่จะเสด็จไปโปรดพระเบญจวัคคีย์ในสมัยเมื่อแรกตรัสรู้ ได้สังเกตเห็นพระฉวีวรรณผ่องใส จึงทูลถามว่า ใครเป็นศาสดาของพระองค์ คล้ายกับถามว่า ทรงนับถือพระเป็นเจ้าองค์ไหน ครั้นได้ฟังพระพุทธเจ้าดำรัสตอบว่า ทรงเป็นพระสยัมภู (ผู้เป็นเอง) คล้ายกับว่า ทรงเป็นพระเป็นเจ้าเอง ก็ไม่เชื่อ แลบลิ้น สั่นศีรษะเดินผ่านไป บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ทรงเป็นพระสยัมภูนั้น เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ทรงฟังมาจากเทพหรือมนุษย์ใดๆ ในธรรมที่ตรัสรู้ จึงทรงเป็นพระศาสดาเอกในโลก คือเป็นพระศาสดาองค์เดียวที่ไม่เป็นศิษย์ของเทพและมนุษย์ทั้งปวง แต่เป็นพระศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ดังพระพุทธคุณว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้

ในสมัยพุทธกาลปรากฏว่า มีคนเป็นอันมากไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า แม้จะได้เดินไปมาอยู่อย่างใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในถิ่นต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่วนผู้ที่ตั้งใจฟังพระธรรม ปฏิบัติพระธรรมจนเกิดปัญญารู้เห็นพระธรรมตามเป็นจริง จึงชื่อว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้า เพราะเห็นพระธรรม ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระวักกลิว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้ แม้เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจนถึงบัดนี้ แลในต่อไป ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีโอกาสได้เห็นพระพุทธเจ้าเพราะได้เห็นธรรมอยู่เสมอโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด นอกจากกำหนดว่าเห็นพระธรรมเมื่อใดก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น จึงมีบทแสดงพระธรรมว่า อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา  ฉะนั้น จึงไม่มีความแตกต่างกันที่จะเห็นพระพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่เกิดทันสมัยพระพุทธกาลและผู้เกิดภายหลัง เช่นในบัดนี้ เพราะอาจที่จะไม่ได้เห็น และอาจที่จะได้เห็นในลักษณะอย่างเดียวกัน ดังที่กล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ควรท้อใจในข้อที่เกิดไม่ทันพุทธกาล หรือในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานมานานแล้ว พระพุทธศาสนาจึงเป็นของพ้นสมัยไป ไม่มีใครในบัดนี้อาจปฏิบัติให้ประสบผลได้ เพราะจะเกิดในสมัยไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานมานานเท่าไรแล้วก็ตาม เมื่อพระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัยยังคงดำรงอยู่ในฐานะ พระศาสดามีคนนับถือปฏิบัติอยู่ ก็อาจที่จะเห็นพระธรรมวินัยยังคงดำรงอยู่ในฐานะพระศาสดามีคนนับถือปฏิบัติอยู่ ก็อาจที่จะเห็นพระธรรมและเห็นพระพุทธเจ้าได้ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ ไม่มีผลอะไรที่พิเศษไปกว่ากัน เพราะเหตุที่เกิดในสมัยไหนเลย ทั้งนี้เพราะพระธรรมเป็นความจริงที่ทรงตัวเป็นความจริงอยู่ทุกกาลสมัย ไม่ใช่เป็นความจริงอยู่ในสมัยหนึ่ง แล้วกลับเป็นความไม่จริงในอีกสมัยหนึ่ง ดังเช่นคำสั่งสอนเรื่องประโยชน์ ๓ จะแสดงโดยย่อ คือ

ประโยชน์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์ เป็นต้น ให้รักษาทรัพย์เป็นต้นที่หามาได้ ให้คบเพื่อนที่ดี ให้ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีวิตพอสมควร

ประโยชน์ภายหน้า คือประโยชน์ที่จะเกิดเป็นผลเกื้อกูลสืบต่อไปในภายหน้าและสืบต่อไปถึงผู้อื่นอีกด้วย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีศรัทธา (ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ) ให้มีศีล (ความประพฤติดี) ให้มีจาคะ (ความสละให้ปัน) ให้มีปัญญา (ความรู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์)

ประโยชน์อย่างยิ่ง ที่พ้นจากโลกนี้โลกหน้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจจ์ ให้รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนจึงมีหลายชั้น เพราะบุคคลในโลกมีหลายชั้นเหมือนอย่างในโรงเรียนหรือในวิทยาลัยแห่งหนึ่งๆ มีนักเรียนหลายชั้นหลายแผนก ถ้าเทียบพระธรรมกับยาแก้โรค พระธรรมก็มีครบกับโรคทุกอย่าง เพื่อให้คนที่เป็นโรคต่างๆ กัน รับพระธรรมที่เหมาะแก่โรคของตนมาบริโภคเพื่อให้หายจากโรคด้วยกัน

โรคที่พระธรรมพึงรักษาได้โดยตรง คือโรคทางใจ ได้แก่ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อจะได้บ้าง เพื่อจะเป็นบ้าง รวมความว่า เพื่อก่ออย่างหนึ่ง เพื่อทำลายอย่างหนึ่ง ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้นในขอบเขตยังไม่เป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตก็ยังไม่เป็นโทษในทางคดีโลก ถ้าโลดแล่นออกไปนอกเขต จนเป็นเหตุให้ประพฤติทุจริต ก็เป็นโทษในทางคดีโลก  พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นชี้ว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวงในโลก

ในโลกปัจจุบันนี้ ที่ปรากฏว่าเจริญในทางวัตถุเป็นอันมาก สามารถบำบัดโรคทางกายได้มาก สามารถไปมาติดต่อกันภายในโลกเองได้อย่างรวดเร็ว ตลอดถึงในโลกร่วมจักรวาล แต่ถ้ายังไม่บำบัดโรคทางใจ คือตัณหา ยังส่งเสริมตัณหา ทั้งเพื่อก่อทั้งเพื่อทำลายกันอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ก็ยิ่งจะเพิ่มเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในโลก ความเจริญต่างๆ ไม่สามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ยังเป็นทาสของตัณหา ถึงตัณหาเป็นสรณะคือที่พึ่ง หรือมอบตนพึ่งตัณหา ซึ่งไม่มีความรู้จักอิ่มตัว

เพราะฉะนั้น จึงมีทางเดียวที่จะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือหันมาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มอบตนเข้าพึ่งพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นผู้แสดงหนทางที่ถูกต้อง ถึงพระธรรมเป็นสรณะมอบตนเข้าพึ่งพระธรรม ในฐานะเป็นหนทางที่ถูกต้อง ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ มอบตนเข้าพึ่งพระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้ดำเนินไปแล้วในทางนั้นอยู่เบื้องหน้า เป็นผู้ปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นพยานว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง พระธรรมเป็นความจริงดังที่เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ ปฏิบัติได้จริง เมื่อเข้าพึ่งพระรัตนตรัย ดังนี้  พระรัตนตรัยย่อมสามารถช่วยได้จริง คือช่วยให้ตนเองนี้แหละเว้นจากการทำชั่วทั้งปวง ให้ประกอบด้วยความดีทั้งปวง รวมความว่า ช่วยคุ้มครองมิให้ตัวเราเองทำความชั่ว แต่ให้ทำความดีนั่นเอง มิใช่หมายความว่า คุ้มครองตัวเราเองให้สามารถทำความชั่วได้โดยไม่มีอันตราย เพราะขัดกับหลักกรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงได้ การถึงสรณะดังกล่าวนี้ต้องอาศัยศรัทธาและปัญญา เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรมแจ่มแจ้ง ตามเป็นจริงโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น สาธุชนจึงสมควรปลูกศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา กันตนมิให้ยอมเข้าพึ่งกิเลสตัณหา เป็นสรณะ แต่มอบตนเข้าพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตั้งใจเว้นความชั่วประกอบความดีตามพระพุทธศาสนา เป็นวิสาขปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ (มีอรรถาธิบายดังแสดงมา) ด้วยประการฉะนี้.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ในวันธรรมสวนะ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓






ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

วิสาขธรรมกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
มหาการุณิโก นาโถ            หิตาย สพฺพปาณินํ
ปูเรตฺวา ปารมี สพฺพา      ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมนฺติ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในวิสาขธรรมกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระราชกุศลวิสาขบูชา ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญเป็นพุทธบูชาพิเศษ ณ วัดพระแท่นดงรังนี้ ด้วยอำนาจพระราชศรัทธาปสาทะที่ตั้งมั่นในพระพุทธาทิรัตนตรัย และด้วยอำนาจพระมหากรุณาในวัดและพสกนิกรซึ่งได้มาประชุมกันเฝ้าชมพระบารมีและโดยเสด็จพระราชกุศลวิสาขบูชาอยู่ในที่นี้

วัดพระแท่นดงรังนี้ ได้มีปูชนียวัตถุสำคัญคือพระแท่นศิลาเป็นที่นับถือบูชาของมหาชน ในฐานะเป็นพระแท่นที่เสด็จบรรทมปรินิพพานแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระแท่นศาลานี้เป็นหินแท่งทึบหน้าลาดรูปคล้ายแท่นหรือเตียงนอนแห่งเชิงเขา ซึ่งเดิมกล่าวว่ามีต้นรังขึ้นอยู่สองข้าง และบริเวณนี้เป็นดงรัง จึงมีลักษณะภูมิประเทศบางอย่างตรงกับพรรณาไว้ในพุทธประวัติว่าสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จบรรทมปรินิพพานบนพระแท่นระหว่างไม้สาละที่แปลกันมาว่าไม้รัง ทั้งคู่ในสาลวโนทยานอันเป็นที่แวะพักแห่งมัลลกษัตริย์เมืองกุสินารา สาลวโนทยานก็คืออุทยานดงไม้สาละหรือดงรังตามที่โบราณแปลกันมา ได้มีวิหารที่สร้างครอบพระแท่นมาช้านาน และได้มีเขาถวายพระเพลิงซึ่งเป็นเทือกเดียวกัน มีมณฑปสร้างอยู่บนยอดเขาในที่ซึ่งนับถือในฐานะเป็นที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ภายในมีพระพุทธบาท นอกจากนี้ยังมีวิหารพระทรมานกาย วิหารพระอานนท์ กับยังมีสิ่งอื่นๆ ที่นับถือกันว่าเป็นสิ่งที่เนื่องด้วยสมเด็จพระบรมศาสดา เช่น บ่อบ้วนพระโอษฐ์ที่ด้านหลังวิหารพระแท่นดงรังเป็นต้น  ได้มีกำหนดงานนมัสการพระแท่นดงรังเป็นงานเทศกาลประจำปี ตั้งแต่วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ถึงวันเพ็ญกลางเดือน ๔ ทุกปี  ปรากฏว่า มีพุทศาสนิกชนพากันมานมัสการจากทิศานุทิศเป็นจำนวนมากทุกปี

ได้มีจารึกบัญชีรายนามราษฎรและพระสงฆ์ผู้บูรณะพระแท่นดงรังซ่อมสร้างวิหารและสิ่งต่างๆ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑ ในรัชกาลที่ ๓ แสดงว่าพระแท่นดงรังได้เป็นปูชนียสถานสำคัญขึ้นก่อนนั้นมานานแล้ว และปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ว่า “เมื่อปีกุนเบญจศก (พ.ศ.๒๔๐๖).....ที่พระแท่นดงรังก็โปรดให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการเมืองราชบุรี ทำวิหารพระอุโบสถที่ค้างอยู่เสียให้แล้วๆ ให้ทำพระเจดีย์ขึ้นที่หลังพระแท่นองค์หนึ่ง การได้ทำอิฐไว้ ภายหลังโปรดให้เลิกเสีย การจึงค้างมา”  และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงนมัสการเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทรงนมัสการ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสไทรโยค ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมทรงสมโภชพระแท่นดงรังเมื่อวันอังคารแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ปีฉลู พ.ศ.๒๔๒๐ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องพระแท่นดงรัง เขาถวายเพลิง และบริเวณพระแท่นไว้อย่างละเอียดน่ารู้ ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงซ้อมรบเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านโป่ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ ภายหลังการซ้อมรบเสือป่าเสร็จแล้ว ได้เสด็จฯ มาทรงนมัสการพระแท่นดงรังครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ได้มีเจ้านายผู้ใหญ่เสด็จมารทรงนมัสการในรัชกาลต่างๆ อีกหลายพระองค์.

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์พระแท่นดงรังไว้ตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่รู้อยู่ทั่วถึงจะไหว้กราบในที่มีพระพุทธรูป สถูป หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นเจดียฐานฤๅจะไหว้กราบในที่แจ้ง ในชายคาที่ไม่มีเจดียฐานก็ดี ต้องส่งใจระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า แล้วไหว้กราบทุกครั้งทุกคราว และพระแท่นดงรังนี้เล่าก็เป็นเจดียฐานอัน ๒ ซึ่งควรจะส่งใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จปรินิพพานในเมืองกุสินาราที่ป่ารังของมัลลกษัตริย์ ก็เหมือนหนึ่งได้นมัสการในที่นั้นเหมือนกัน...เจดียฐานยกไว้เป็นเครื่องชักนำใจให้ส่งไประลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้าโดยง่ายขึ้นกว่าที่นึกเปล่าๆ เพราะดังนั้น ถ้าเจดียฐานแห่งใด ความเป็นที่เชื่อ ที่เลื่อมใส เพราะมีหลักฐานเป็นพยานสำคัญได้ ก็มีแต่จะชักจูงความเลื่อมใสให้มากขึ้น ซึ่งว่าเปรียบเทียบมาดังนี้ เพราะจะให้เป็นประโยชน์ที่จะนำความเลื่อมใสเท่านั้น ใช่จะว่าพระแท่นไม่แท้ไหว้ไม่ได้บุญ... ถ้าเป็นเจดียฐานแห่งใดๆ ก็ดี ผู้ใดมีน้ำใจไหว้ดี ก็จะมีอานิสงส์ ถ้าไหว้ไม่ดี ก็จะเหมือนกับเดินไกว่แขนเล่นเหมือนกัน...”

บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าพร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชดำริเห็นความสำคัญของพระแท่นดงรังเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของบ้านเมือง ซึ่งสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าหลายพระองค์ได้เคยเสด็จฯ มาทรงสักการบูชาในอภิลักขิตกาลวิสาขปุณณมีนี้ ชื่อว่าได้พระราชทานความยกย่องปูชนียสถานแห่งเป็นพิเศษ และพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญในที่นี้ด้วยพระราชหฤทัยทรงระลึกในพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ก็จะสัมฤทธิ์อานิสงส์เพิ่มพูนพระบารมี เป็นเหมือนหนึ่งได้เสด็จไปทรงนมัสการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในที่เสด็จปรินิพพานแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมดังพระราชนิพนธ์ทรงพรรณนานั้น

วันวิสาขปุณณมี คือวันพระจันทร์เพ็ญเสวยกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขา เป็นวันที่พระโบราณาจารย์กล่าวกำหนดไว้ว่าเป็นวันตรงกับวันเสด็จประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนทั่วไปจึงถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา และทำการบูชาด้วยวิธีบูชาต่างๆ ตามที่กำหนดขึ้นในวัด ในปูชนียสถานนั้นๆ ด้วยน้อมจิตระลึกถึงพระพุทธคุณ กับทั้งพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นอารมณ์ การบูชาในวันวิสาขปุณณมีนี้เรียกว่า “วิสาขบูชา”

พระประวัติแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาที่เกี่ยวแก่เหตุการณ์สำคัญทั้ง ๓ วาระนี้ มีความโดยย่อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดา ได้ประสูติจากพระครรโภทรพระพุทธมารดา ณ ลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะต่อกัน เมื่อวันวิสาขปุณณมีก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ คำว่า “โพธิสัตว์” เป็นคำเรียกพระองค์เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ แปลว่า “ผู้ข้องอยู่ในความตรัสรู้ ผู้ติดคือรักใคร่ในความรู้” เพราะพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่บารมีธรรม ๑๐ ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ทั้ง ๔ นี้เป็นข้อใหญ่ และวิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ทั้ง ๖ นี้เป็นข้ออุปการะเพื่อพระสัมพัญญุตญาณโดยส่วนเดียว ครั้นพระบารมีที่ได้ทรงสร้างสมบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ที่เรียกต่อมาว่าไม้โพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มคธรัฐ ในราตรีแห่งวันวิสาขปุรณมี ในปีก่อนพุทธศักราช ๔๕ ครั้นได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จจาริกไปประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นสั่งสอนเวไนยนิกร คือหมู่ชนผู้ที่ควรแนะนำได้ในคามนิคมชนบทต่างๆ เป็นพระศาสดาเอกผู้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาและบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ตั้งมั่นขึ้นในโลกตลอดเวลา ๔๕ ปี จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างสาลพฤกษ์ทั้งคู่ ในสาลวัน กรุงกุสินารา มัลลรัฐ ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปุณณมี ตั้งต้นนับพุทธศกแต่นั้นมา แต่ในประเทศไทยนับโดยอดีตภาค คือส่วนล่วงไปแล้ว ๑ ปี จึงนับเป็นหนึ่ง จำเดิมแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน บัดนี้ นับตามนิยมที่รับมาจากคัมภีร์ที่รจนาไว้ในลังกาทวีปโดยอดีตภาคล่วงไปแล้วได้ ๒๕๑๒ ปีบริบูรณ์

เหตุการณ์สำคัญแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานได้บังเกิดขึ้นในวันวิสาขปุณณมีตรงกันทั้ง ๓ วาระ นับว่าเป็นอัศจรรย์ไม่เคยมี แต่ที่พึงเห็นว่าเป็นข้ออัศจรรย์อย่างที่สุดไม่มีสิ่งอัศจรรย์อื่นเทียมถึงคือความที่พระองค์มีพระวิริยะอย่างยอดเยี่ยม ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวงจนได้ตรัสรู้พระธรรม ครั้นตรัสรู้แล้วก็ทรงมีพระมหากรุณาไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก เสด็จจาริกไปประกาศพระธรรมสั่งสอนตลอดพระชนม์ชีพ ทรงปลูกโพธิพฤกษ์คือพระพุทธศาสนาขึ้นให้หยั่งรากลึกงอกงามขึ้นในโลก และดำรงอยู่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้  ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้ความประสูติขึ้นในโลกแห่งพระองค์เป็นความประสูติแห่งพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะได้ตรัสรู้ ให้ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นความปรินิพพานแห่งองค์พระศาสดาเอกแห่งโลก ผู้แผ่พระอนันตคุณออกไปแก่โลกโดยพ้นประมาณ ยังความระลึกถึงพระคุณให้เกิดขึ้นในจิตใจของมหาชนยั่งยืนมาทุกรุ่นทุกสมัยโดยไม่จืดจาง แม้จะได้เสด็จปรินิพพานมาช้านาน ไม่ปรากฏพระพุทธสรีระอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังปรากฏพระพุทธคุณดำรงอยู่เป็นส่วนอมตะพ้นจากความเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฏ จึงชื่อว่าทรงดำรงอยู่โดยไม่ดับสูญด้วยพระคุณ อันท่านแสดงประมวลลงโดยย่อเป็น ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญาความรู้จริงในสัจจธรรม ธรรมที่เป็นสัจจะ  พระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ พระคุณคือพระกรุณาโปรดช่วยให้พ้นทุกข์ได้จริง สมดังบทแสดงพระพุทธคุณว่า:-
          พุทฺธวารหนฺตวรตาทิคุณาภิยุตฺโต
          สุทฺธาภิญาณกรุณาหิ สมาคตตฺโต
          โพเธสิ โย สุชนตํ กมลํว สูโร


แปลความว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประกอบด้วยพระคุณ มีความเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น  มีพระองค์ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ  พระวิสุทธิคุณ  พระกรุณาคุณ ทรงยังหมู่คนดีให้เบิกบานแล้วเหมือนอย่างดวงอาทิตย์ยังดอกบัวให้บานฉันนั้น

พระพุทธคุณนี้ย่อมปรากฏเพราะพระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนหมู่คนดีคือเวไนยนิกรให้รู้ตาม และพระธรรมก็ย่อมปรากฏเป็นคุณประโยชน์แก่สาธุชนผู้ได้สดับฟังและปฏิบัติตามภูมิชั้นสมตามบทคาถาแสดงพระธรรมคุณว่า
          สฺวากฺขาตตาทิคุณโยควเสน เสยฺโย
          โย มคฺคปากปริยตฺติวิโมกฺขเภโท
          ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี


แปลความว่า พระธรรมเป็นของอันประเสริฐ ด้วยอำนาจแห่งความประกอบด้วยคุณมีความเป็นสวากขาตธรรมคือธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วเป็นต้น จำแนกออกได้เป็นมรรค ผล นิพพาน และปริยัติธรรม พระธรรมรักษาดำรงธรรมนั้นมิให้ตกไปในโลกที่ชั่ว

หมู่แห่งสาวกผู้ได้สดับฟังธรรม เป็นผู้ปฏิบัติดำรงธรรมด้วยตนและดำรงธรรมให้สืบต่อมาชื่อว่าพระสงฆ์ ย่อมปรากฏคุณตามบทแสดงพระสังฆคุณว่า
          สทฺธมฺมโช สุปฏิปตฺติคุณาทิยุตฺโต
          โยฏฺฐพฺพิโธ อริยปุคฺคลสงฺฆเสฏฺโฐ
          สีลาทิธมฺมปวราสยกายจิตฺโต


แปลความว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เกิดจากพระสัทธรรม ประกอบแล้วด้วยพระคุณมี สุปฏิปัตติคุณเป็นต้น เป็นหมู่แห่งอริยบุคคลผู้ประเสริฐ ๘ จำพวก มีกายและจิตอาศัยธรรมอันประเสริฐ มีศีล เป็นต้น ดังนี้

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ทั้ง ๓ นี้ รวมกันเรียกว่าพระรัตนตรัยเป็นหลักเป็นประธานแห่งพระบวรพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนากล่าวคือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงแล้วและพระวินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว จะดำรงอยู่ยืนนานก็อาศัยพุทธบริษัทนี้เองปฏิบัติตนเองอยู่ในธรรม เป็นส่วนเหตุ ๕ ประการ คือฟังธรรมโดยเคารพ เรียนธรรมโดยเคารพ ทรงจำธรรมโดยเคารพ เพ่งพินิจให้เข้าใจอรรถคือเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ รู้ทั่วถึงอรรถคือเนื้อความหรือผล รู้ทั่วถึงข้อธรรมหรือเหตุแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ บุคคลผู้ปฏิบัติอยู่ในข้อเหล่านี้ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรมคือศาสนา พระพุทธศาสนาจักไม่อันตรธาน แต่จักตั้งอยู่นานตราบเท่าที่มีการปฏิบัติอยู่ และการปฏิบัติดังนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสรรเสริญว่าเป็นการบูชาอย่างประเสริฐ เพราะเป็นเหตุดำรงพระพุทธศาสนาไว้ด้วยประการฉะนี้

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระราชปรารภวันวิสาขปุณณมีซึ่งเป็นวันตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขปุณณมี ณ วัดพระแท่นดงรัง อันเป็นปูชนียสถานสำคัญนี้ ชื่อว่าได้ทรงปฏิบัตินำพสกนิกรพุทธศาสนิกชนทั้งปวงเพื่อความดำรงยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแห่งประชานิกรทั่วไปทุกหมู่เหล่า พระราชจริยาวัตรทั้งนี้ย่อมเป็นที่แซ่ซ้องสาธุการและถวายพระพรชัยมงคลแห่งเทพและมนุษย์ทั่วไป


มหาการุณิโก นาโถ      หิตาย สพฺพปาณินํ
ปูเรตฺวา ปารมี สพฺพา ปตฺโต สมฺโพธิมุตฺตมํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน โหตุ เต ชยมงฺคลํ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระนาถะประกอบด้วยพระมหากรุณา ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งปวงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอชัยมงคลจงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า

อนึ่ง ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยอดิสัยอุดมมงคลและอำนาจพระราชกฤดาภินิหารกุศลบารมี จงได้โปรดอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระพระราชโอรสธิดา ให้ทรงพระเกษมสำราญนิรมล ปราศจากอริราชศัตรู ปัจจามิตรและอุปสรรคอันตรายทั้งปวง ให้ทรงพระเจริญด้วยสรรพพรชัยมงคล เสด็จสถิตเป็นพระนาถะเป็นที่ร่มเกล้าแห่งประชานิกรทุกหมู่เหล่า ตลอดจริกาล

ถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ในวิสาขกรรมกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี พอสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ถวายในอภิลักขิตสมัย เสด็จพระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระแท่นดงรัง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มิถุนายน 2562 13:27:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2562 11:35:01 »



ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

โทรทัศน์ธรรมเทศนา วิสาขเทศนา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
วิสาขปุณฺณมายํ ว             ชาโต อนฺติมชาติยา
ปตฺโต จ อภิสมฺโพธึ     อโถปิ ปรินิพฺพุโตติฯ


บัดนี้ จักแสดงวิสาขเทศนา เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เพื่อเจริญศรัทธาและสัมมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันวิสาขปุณณมี ที่เวียนมาถึงเข้า ณ บัดนี้

ด้วยว่า วันนี้เป็นวันจันทร์เต็มดวง ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ชื่อว่า “วิสาขา” อันเรียกว่า วิสาขปุณณมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระบรมศาสดา ได้เสด็จประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันวิสาขปุณณมี เช่นวันนี้ ดังที่แสดงไว้แล้วในพุทธประวัติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ล่วงมาได้ ๒๕๑๒ ปี บริบูรณ์ในวันนี้แล้ว แม้เช่นนี้ พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ไร้พระศาสดา ยังมีพระศาสดาแทนพระองค์อยู่ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระอานนท์เถระในสมัยใกล้จะปรินิพพาน แปลความว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมแลวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมแลวินัยนั้นเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายโดยกาลที่เราล่วงไป”  ฉะนั้น แม้ในบัดนี้และต่อไป พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ยังมีพระธรรมวินัยเป็นพระศาสดาของตน เมื่อเคารพปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ชื่อว่า เคารพปฏิบัติในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา ก็ชื่อว่าดำรงอยู่ในผู้ที่เคารพปฏิบัติ ดังกล่าวทุกๆ คน

วัตถุที่พึงเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนานั้น คือรัตนะทั้งสาม ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าเป็นพระรัตนะ เพราะมีพระสรีระกายและพระจิตต์ เป็นที่สถิตแห่งพระคุณทั้งปวง ประมวลลงในพระปัญญาคุณ (คุณคือความตรัสรู้จริง) พระวิสุทธิคุณ (คุณคือบริสุทธิ์จริง) พระกรุณาคุณ (คุณคือกรุณาจริง) พระธรรมเป็นพระรัตนะ เพราะมีสาระแก่นสารอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ล้วนๆ ไม่มีเปลือกกะพี้เจือปน ทั้งที่เป็นปริยัติ ทั้งที่เป็นปฏิบัติ ทั้งที่เป็นปฏิเวธ (ความรู้แจ้งแทงตลอด คือมรรค ผล นิพพาน) เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบันบ้าง ประโยชน์ภายหน้าบ้าง ประโยชน์อย่างยิ่งบ้าง พระสงฆ์เป็นพระรัตนะ เพราะมีศีล (ความประพฤติ) ทิฏฐิ (ความเห็น) อันดี เป็นผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า พระคุณของพระพุทธเจ้าย่อมดำรงอยู่ในพระธรรม พระธรรมหรือคุณของพระธรรม ย่อมดำรงอยู่ในพระสงฆ์และในผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนจึงยังเป็นผู้มีส่วนได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ

แต่ข้อสำคัญต้องศึกษาปฏิบัติพระธรรม เมื่อศึกษาปฏิบัติจนมีความรู้พระธรรม แม้ด้วยปริยัติแลด้วยการปฏิบัติ ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระปัญญาคุณ เมื่อมีความบริสุทธิ์ ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระวิสุทธิคุณ เมื่อมีความสุขสงบ พ้นจากความทุกข์เดือดร้อน ชื่อว่า มีส่วนได้รับพระกรุณาคุณ  ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงมีส่วนได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้าอยู่ทุกกาลสมัย ส่วนผู้ที่มิได้สนใจศึกษาปฏิบัติพระธรรม ถึงจะเกิดทันเห็นพระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ชื่อว่า มิได้เห็นพระพุทธเจ้า ยกตัวอย่างเช่น อุปกะอาชีวก ได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินสวนทางมา ในคราวที่จะเสด็จไปโปรดพระเบญจวัคคีย์ในสมัยเมื่อแรกตรัสรู้ ได้สังเกตเห็นพระฉวีวรรณผ่องใส จึงทูลถามว่า ใครเป็นศาสดาของพระองค์ คล้ายกับถามว่า ทรงนับถือพระเป็นเจ้าองค์ไหน ครั้นได้ฟังพระพุทธดำรัสตอบว่า ทรงเป็นพระสยัมภู (ผู้เป็นเอง) คล้ายกับว่า ทรงเป็นพระเป็นเจ้าเอง ก็ไม่เชื่อ แลบลิ้น สั่นศีรษะเดินผ่านไป บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ทรงเป็นพระสยัมภูนั้น เพราะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ทรงฟังมาจากเทพหรือมนุษย์ใดๆ ในธรรมที่ตรัสรู้ จึงทรงเป็นพระศาสาเอกในโลก คือเป็นพระศาสดาองค์เดียวที่ไม่เป็นศิษย์ของเทพและมนุษย์ทั้งปวง แต่เป็นพระศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ดังพระพุทธคุณว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นพระศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย” ดังนี้

ในสมัยพุทธกาลปรากฏว่า มีคนเป็นอันมากไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า แม้จะได้เดินไปมาอยู่อย่างใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในถิ่นต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่วนผู้ที่ตั้งใจฟังพระธรรม ปฏิบัติพระธรรมจนเกิดปัญญารู้เห็นตามพระธรรมตามเป็นจริง จึงชื่อว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้า เพราะเห็นพระธรรม ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระวักกลิ ว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ดังนี้ แม้เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วจนถึงบัดนี้ แลในกาลต่อไป ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมมีโอกาสได้เห็นพระพุทธเจ้าเพราะได้เห็นพระธรรมอยู่เสมอ โดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด นอกจากกำหนดว่า เห็นพระธรรมเมื่อใดก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น จึงมีบทแสดงพระธรรมว่า “อกาลิโก” ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

ฉะนั้น จึงไม่มีความแตกต่างกันที่จะเห็นพระพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่เกิดทันสมัยพระพุทธกาลและผู้เกิดภายหลัง เช่นในบัดนี้ เพราะอาจที่จะไม่ได้เห็นและอาจที่จะได้เห็นในลักษณะอย่างเดียวกัน ดังที่กล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ควรท้อใจในข้อที่เกิดไม่ทันพุทธกาล หรือในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานมานานแล้ว พระพุทธศาสนาจึงเป็นของพ้นสมัยไป ไม่มีใครในบัดนี้อาจปฏิบัติให้ประสบผลได้ เพราะจะเกิดในสมัยไหนก็ตาม พระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพานมานานเท่าไรแล้วก็ตาม เมื่อพระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัยยังคงดำรงอยู่ในฐานะพระศาสดา มีคนนับถือปฏิบัติอยู่ตราบใดก็อาจที่เห็นพระธรรมและเห็นพระพุทธเจ้าได้ ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ ไม่มีผลอะไรที่พิเศษไปกว่ากัน เพราะเหตุที่เกิดในสมัยไหนเลย ทั้งนี้เพราะพระธรรมเป็นความจริงที่ทรงตัวเป็นความจริงอยู่ทุกกาลสมัย ไม่ใช่เป็นความจริงอยู่ในสมัยหนึ่งแล้วกลับเป็นความไม่จริงในอีกสมัยหนึ่ง ดังเช่นคำสั่งสอนเรื่องประโยชน์ ๓ จะแสดงโดยย่อ คือ

ประโยชน์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนให้ขยันหมั่นเพียรแสวงหาทรัพย์เป็นต้น ให้รักษาทรัพย์เป็นต้นที่หามาได้ ให้คบเพือนที่ดี ให้ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงชีวิตพอสมควร

ประโยชน์ภายหน้า คือประโยชน์ที่จะเกิดเป็นผลเกื้อกูลสืบต่อไปในภายหน้าและสืบต่อไปถึงผู้อื่นอีกด้วย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีศรัทธา (ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ) ให้มีศีล (ความประพฤติดี) ให้มีจาคะ (ความสละให้ปัน) ให้มีปัญญา (ความรู้จักบาปบุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์)

ประโยชน์อย่างยิ่ง ที่พ้นจากโลกนี้โลกหน้า พระพุทธเจ้า ทรงแสดงอริยสัจจ์ ให้รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนจึงมีหลายชั้น เพราะบุคคลในโลกมีหลายชั้นเหมือนอย่างในโรงเรียน หรือในวิทยาลัยแห่งหนึ่งๆ มีนักเรียนหลายชั้นหลายแผนก ถ้าเทียบพระธรรมกับยาแก้โรค พระธรรมก็มีครบกับโรคทุกอย่าง เพื่อให้คนที่เป็นโรคต่างๆ กัน รับพระธรรมที่เหมาะแก่โรคของตนมาบริโภคเพื่อให้หายจากโรคด้วยกัน

โรคที่พระธรรมพึงรักษาได้โดยตรงเพื่อจะไม่เป็นบ้าง คือ โรคทางใจ ได้แก่ ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อจะได้บ้าง เพื่อจะเป็นบ้าง รวมความว่า เพื่อก่ออย่างหนึ่ง เพื่อทำลายอย่างหนึ่ง ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้นในขอบเขตยังไม่เป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตก็ยังไม่เป็นโทษในทางคดีโลก ถ้าโลดแล่นออกไปนอกเขต จนเป็นเหตุให้ประพฤติทุจริต ก็เป็นโทษในทางคดีโลก พระพุทธเจ้าทรงยกตัณหาขึ้นชี้ว่า เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวงในโลก

ในโลกปัจจุบันนี้ ที่ปรากฏว่าเจริญในทางวัตถุเป็นอันมาก สามารถบำบัดโรคทางกายได้มาก สามารถไปมาติดต่อกันภายในโลกได้อย่างรวาดเร็ว ตลอดถึงในโลกร่วมจักรกาล แต่ถ้ายังไม่บำบัดโรคทางใจ คือ ตัณหา ยังส่งเสริมตัณหา ทั้งเพื่อก่อทั้งเพื่อทำลายกันอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง ก็ยิ่งจะเพิ่มความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในโลก ความเจริญต่างๆ ไม่สามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ยังเป็นทาสของตัณหา ถึงตัณหาเป็นสรณะคือที่พึ่งหรือมอบตนพึ่งตัณหา ซึ่งไม่มีความรู้จักอิ่มตัว

เพราะฉะนั้น จึงมีทางดียวที่จะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ คือหันมาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ มอบตนเข้าพึ่งพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นผู้แสดงหนทางที่ถูกต้อง ถึงพระธรรมเป็นสรณะมอบตนเข้าพึ่งพระธรรม ในฐานะเป็นหนทางที่ถูกต้อง ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ มอบตนเข้าพึ่งพระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้ดำเนินไปแล้วในทางนั้นอยู่เบื้องหน้า เป็นผู้ปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นพยานว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง พระธรรมเป็นความจริงดังที่เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ ปฏิบัติได้จริง เมื่อเข้าพึ่งพระรัตนตรัย ดังนี้ พระรัตนตรัยย่อมสามารถช่วยได้จริง คือช่วยให้ตนเองนี้แหละเว้นจากการทำชั่วทั้งปวง ให้ประกอบความดีทั้งปวง รวมความว่า ช่วยคุ้มครองมิให้ตัวเราเอง ทำความชั่ว แต่ให้ทำความดีนั่นเอง มิใช่หมายความว่า คุ้มครองตัวเราเองให้สามารถทำความชั่วได้โดยไม่มีอันตราย เพราะขัดกับหลักกรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ การถึงสรณะดังกล่าวนี้ต้องอาศัยศรัทธาและปัญญา เพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรมแจ่มแจ้ง ตามเป็นจริงโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น สาธุชน จึงสมควรปลูกศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา กันตนมิให้ยอมเข้าพึ่งกิเลสตัณหา เป็นสรณะ แต่มอบตนเข้าพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตั้งใจเว้นความชั่วประกอบความดี ตามพระพุทธศาสนา เป็นวันวิสาขปฏิบัติบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ มีอรรถาธิบายดังแสดงมาด้วยประการฉะนี้ ฯ



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ  ทางโทรทัศน์ ณ สถานีไทยโทรทัศน์ฯ ในวันวิสาขบูชา วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

วันมาฆบูชา*

วันมาฆบูชาเป็นวันบูชาสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มทำพิธีบูชานี้ขึ้นตั้งแต่เมื่อทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ตามที่มีกล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า “ถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ที่กำหนดว่าเป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสาวกสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนเป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุ มาถึงโดยลำพังมิได้รับเรียกร้อง ซึ่งเรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต ทรงทำมาฆบูชา มีเทศนาด้วยเรื่องนั้น” ส่วนการทำมาฆบูชาทางราชการและประชาชนทั่วไปน่าจะมีมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ และในปลายรัชกาลน่าจะได้มีการทำมาฆบูชากันทั่วไปแล้ว จึงได้มีประกาศว่าด้วยวันธรรมสวนะแห่งปีระกา ตรีศก จ.ศ.๑๒๒๓ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๐๔ ตอนท้ายว่า “อนึ่ง ถ้าจะทำพิธีมาฆบูชา ตามนิยมซึ่งมีกำหนดในคัมภีร์อรรถกถาว่าเป็นวันที่ชุมนุมพระสาวก ๑,๒๕๐ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์นั้น ให้ทำในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ทั้งสองวันเป็นอันถูกต้องแล้ว อย่าได้สงสัยเลย ถ้าไม่เชื่อก็ให้พิเคราะห์ดูพระจันทร์ในอากาศนั้นเทอญ”  คำบูชาเป็นภาษาบาลี ในวันมาฆบูชาที่ใช้กันทั่วไปในบัดนี้ก็เข้าใจว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ในบัดนี้ เรื่องมาฆบูชาได้เป็นที่ทราบกันโดยมากแล้ว แต่เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาถึงเข้าก็ควรจะกล่าวฟังกันอีก

เรื่องที่เป็นเหตุปรารภให้ทำมาฆบูชาได้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลตอนต้น (ตามที่มีเล่าไว้ในพระสูตรและอรรถกถาบางแห่งรวมความโดยย่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ทีแรกได้ทรงพิจารณาเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นของลุ่มลึกยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ถ้าจะทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนและคนทั้งหลายไม่เข้าใจ ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร จะทรงเหน็ดเหนื่อยเปล่า จึงมีพระหทัยน้อมไปในทางจะไม่ทรงแสดงพระธรรม แต่อาศัยพระมหากรุณาตามที่ท่านแสดงว่ามีพระพรหมมากราบทูลอาราธนา (ดังที่ได้ผูกเป็นคำอาราธนาพระแสดงธรรมในบัดนี้ว่า พฺรหฺมา จ โลกา เป็นต้น) ได้ทรงพิจารณาดูหมู่สัตว์โลก ทรงเห็นว่าผู้ที่มีกิเลสธุลีในจักษุน้อยอาจจะรู้ธรรมที่ทรงแสดงได้ก็มีอยู่ จึงตกลงพระหทัยว่าจะทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน และทรงอธิษฐานคือทรงตั้งพระทัยว่า จะทรงดำรงพระชนมายุอยู่ต่อไปเพื่อประกาศพระธรรม ประดิษฐานพระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทให้ตั้งหยั่งรากลงมั่นคงในโลก จะยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตราบเท่าที่พระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทยังไม่ประดิษฐานหยั่งรากลงมั่นคง ต่อจากนั้นก็ได้เสด็จจาริกไปแสดงพระธรรมสั่งสอนตั้งต้นแต่พระปัญจวัคคีย์ที่อิสิปตนมิคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อวันอาสาฬหปุณณมี (คือวันจันทร์เพ็ญหน้าวันเข้าพรรษาต้น) ทรงจำพรรษาแรก ณ ที่นั้น ทรงได้พระสาวกเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ออกพรรรษาแล้วทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในทิศต่างๆ แยกย้ายกันไป ส่วนพระองค์เองเสด็จตรงไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมโปรดและได้พระสาวกตามเสด็จมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้กรุงราชคฤห์ ได้ประทับพักที่ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จออกมาเฝ้า และถวายพระเวฬุวันซึ่งอยู่ภายนอกพระนครทางด้านเหนือให้เป็นวัดที่ประทับ พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกได้เสด็จไปประทับ ณ พระเวฬุวันพระอารามหลวงนั้น แต่บางคราว ก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเขาคิชฌกูฏ ทรงได้พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะที่กรุงราชคฤห์นี้ และได้มีเหตุการณ์ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต ความประชุมแห่งองค์ ๔” ขึ้นที่พระเวฬุวันในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ซึ่งโดยปกติตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๓ ของไทยเรา)  วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปริพพาชกผู้หนึ่งบนเขาคิชฌกูฏ  พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดฟังอยู่ด้วย ท่านฟังจบแล้วก็มีจิตพ้นจากอาสวะ (ส่วนพระโมคคัลลานะได้มีจิตพ้นจากอาสวะก่อนนั้นแล้ว)  พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏไปสู่พระเวฬุวัน ขณะนั้นเป็นเวลาตะวันบ่าย ได้มีพระภิกษุจำนวนรวมกันถึง ๑,๒๕๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุมาเข้าเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย กล่าวได้ว่าเป็น “จาตุรงคสันนิบาต ความประชุมแห่งองค์ ๔” คือ

๑. ภิกษุ จำนวน ๑,๒๕๐ ซึ่งมาประชุมกัน ล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวะแล้ว
๒. ล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นภิกษุซึ่งได้รับอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าเองด้วย วิธีที่ตรัสเรียกว่าจงเป็นภิกษุมาเถิด อันเรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. ล้วนมิได้มีการนัดหมายกัน ต่างมาสู่สำนักพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าในพระเวฬุวัน
๔. ในวันอุโบสถมาฆปุณณมี คือวันจันทร์เพ็ญเดือนมาฆะ
(พระพุทธเจ้าจึงทรงทำอุโบสถอันบริสุทธิ์ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในสังฆสันนิบาตนั้น)

นึกดูว่าเวลานั้นเป็นสมัยต้นพุทธกาล พระบรมศาสดาเพิ่งจะประกาศพระพุทธศาสนาได้ไม่นาน แต่ก็ได้พระสาวกผู้สำเร็จกิจเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วจำนวนมากถึงเท่านั้น เมื่อมานั่งประชุมเฝ้าอยู่พร้อมหน้ากันทั้งหมด โดยมิได้มีรับสั่งเรียกหรือนัดหมายกันเอง ในวันและเวลาที่เหมาะดังนั้น อันเรียกได้ว่าจาตุรงคสันนิบาต พระบรมศาสดาเองก็ได้ทอดพระเนตรเห็นผลงานของพระองค์ที่ได้ทรงทำมาแล้ว ถ้าคิดอย่างจิตใจคนสามัญก็เป็นที่น่าปลาบปลื้มใจเพียงไร แต่พระบรมศาสดามิได้ทรงเพลิดเพลินอยู่กับผลที่ทรงได้รับทั้งปวง ทรงเล็งเห็นประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นจากพระสาวกเหล่านั้นต่อไปเป็นอันมาก และขณะนั้นทรงมีบุคคลเป็นเครื่องมือในการประกาศพระศาสนาพรั่งพร้อมแล้ว พระอัครสาวกขวาซ้ายก็ทรงมีแล้ว แต่ยังมิได้ทรงวางหลักแห่งพระพุทธศาสนาโดยสังเขปที่พึงใช้สั่งสอนได้ทั่วๆ ไป จึงทรงใช้โอกาสนั้นทรงทำปาริสุทธุโบสถ คือทรงทำอุโบสถที่บริสุทธิ์ร่วมกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วทั้งหมด ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ พระโอวาททั้งปวงถือเป็นหลักเป็นประธาน ชี้ว่าอะไรเป็นพุทธวาทะ อะไรเป็นพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกทั้งปวงถือเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาให้เป็นไปในทางเดียวกันว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา เป็นต้น

อะไรเป็นพุทธวาทะ (วาทะของพระพฺทธะ) ๑ ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง  ๒ นิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง  ๓ บรรชิตคือนักบวชผู้ยังทำร้ายว่าร้ายผู้อื่นอยู่หาชื่อว่าสมณะไม่ พระพุทธะทั้งหลายกล่าวอย่างนี้

อะไรเป็นพุทธศาสนา (คำสอนของพระพุทธ)  ๑ การไม่ทำบาปทั้งปวง  ๒ การทำกุศลให้ถึงพร้อม  ๓ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว (ต่อจากนี้มีขยายความออกไปอีกเล็กน้อย แต่ก็รวมอยู่ใน ๓ ข้อนั้น) นี้เป็นคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย

ใจความของพระโอวาทปาติโมกข์มีเพียงเท่านี้ ดูสั้นเหลือเกินแต่ก็รวมสิ่งสำคัญในพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด ตั้งต้นแต่ระบุบรมตบะ คือ ติติกขา ขันติและบรมธรรม คือ นิพพานตลอดถึงลักษณะของสมณะที่ตรัสในทางปฏิเสธ แต่ก็มีความหมายในทางตรงกันข้ามและโยงความถึงตอนต้นด้วยว่า ที่จะเป็นบรรพชิตเป็นสมณะเต็มที่จำต้องมีธรรมสองข้อข้างต้นนั้น และได้แสดงพระพุทธศาสนาว่าคือการไม่ทำบาป การทำกุสลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ผ่องใส พระพุทธะทั้งหลายสอนดังนี้ หรือ คำสอนของท่านว่าดังนี้ พระสาวกทั้งหลายจะไปสอนโดยปริยายคือทางใดทางหนึ่งก็ตามแต่ก็ย่อมรวมอยู่ในหลักดังกล่าว  พระโอวาทนี้ตรัสแก่พระอรหันต์ทั้งนั้นมิใช่เพื่อจะโปรดท่านทั้งปวงนั้น แต่เพื่อประกาศข้อที่เป็นหลักเป็นประธานสมดังที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ พระอาจารย์แสดงว่าในวันอุโบสถต่อมาทุกวันอุโบสถ พระพุทธเจ้าทรงทำอุโบสถร่วมด้วยพระสงฆ์ ทรงแสดงพระปาติโมกข์ที่เป็นพระโอวาทนี้ด้วยพระองค์เองจนถึงทรงพระอนุญาตให้สงฆ์สวดพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นเป็นปาติโมกข์ในวันอุโบสถ จึงทรงหยุดทำปาติโมกข์ร่วมด้วยสงฆ์ ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำปาติโมกข์ตามลำพัง ดังที่ได้ทำสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง พระบรมศาสดาได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาตลอดเวลา ๔๕ ปี ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาและพุทธบริษัทลงในโลกเป็นหลักฐานมั่นคงสมดังที่ได้ทรงอธิษฐานพระหทัยไว้แล้ว ก็ได้ทรงปลงอายุสังขาร ตามที่ท่านแสดงไว้ว่าในวันเพ็ญเดือนมาฆะเช่นเดียวกัน และต่อจากนั้นอีก ๓ เดือน ถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

วันมาฆบูชามีประวัติและความสำคัญดังกล่าวมาโดยสังเขปฉะนี้  ฉะนั้น เมื่อถึงวันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนจึงสมควรทำการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ การบูชานั้นมี ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส มีดอกไม้เทียนธูปเป็นต้น ปฏิปัตติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ปฏิบัติกายวาจาใจของตนในคลองธรรมตามที่ทรงสั่งสอน ละบาปคือความชั่ว ทำกุศลคือความดี และชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์จากอารมณ์และกิเลส มีความโลภโกรธหลง เป็นต้น ฝึกใจให้มีขันติคือความอดทนหรือความทนทานต่ออารมณ์และกิเลสดังกล่าว ไม่ยอมประพฤติไปตามอำนาจกิเลส ดังนี้จะชื่อว่าได้หันหน้าไปสู่ทางแห่งพระนิพพาน จะมีความดับร้อนมีความเย็นมากขึ้นทุกที ตรงกันข้ามกับหันหน้าไปสู่ทางกิเลสซึ่งเปรียบเหมือนกองไฟ มีแต่จะทวีความร้อนมากขึ้น.



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ  ทางวิทยุศึกษา วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๓

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มิถุนายน 2562 13:30:28 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2562 16:36:35 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

เทศนาพิเศษ*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิจ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ      อิเมตฺตมฺปิ เกนจีติ.

บัดนี้ จักถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแก่พระธาตุเจดีย์นิธานกิจ (กิจคือการบรรจุพระธาตุเจดีย์) ที่กำหนดเป็นอภิลักขิตมงคลการพิเศษ ในอาวาสเขมาภิรตารามนี้ มีวัตถุกถาแสดงเรื่องดังจะพรรณนาโดยสังเขป

ทางวัดเขมาภิรตารามมีท่านเจ้าคุณพระเขมาภิมุขธรรม เจ้าอาวาสเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการจังหวัดนนทบุรี และอุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้กำหนดงานบรรจุพระธาตุ อันเป็นสัทธาปสาทนียวัตถุ ที่ตั้งแห่งสัทธาปสาทะว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระมหาเจดีย์ อันประดิษฐานอยู่ ณ ด้านบูรพทิศแห่งพระอุโบสถ ตามตำแหน่งเดิมที่ได้พบในคราวบุรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้

วัดเขมาฯ นี้ปรากฏในตำนานว่าเป็นวัดเก่าแก่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  วัดเขมาฯ ก็ได้มีอยู่แล้ว ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้  วัดเขมาฯ ปรากฏเป็นวัดที่สำคัญขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลนั้นได้ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงบุรณาปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ แต่ต่อมาก็ได้ชำรุดทรุดโทรมอีก ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎพระจอมเกล้าเจ้าสยาม เมื่อทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชปณิธานว่าจักทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ให้คืนดี เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราพระองค์นั้น  ต่อมา เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระบรมอัฏฐิสมเด็จพระบรมราชชนนี พระองค์ผู้ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์ใหญ่เป็นครั้งแรก ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ฉลองพระเดชพระคุณเป็นการใหญ่ และได้ทรงสร้างพระมหาเจดีย์นี้ขึ้นในเบื้องบูรพทิศแห่งพระอุโบสถ. ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าสยาม ได้ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มขึ้นอีกบางส่วน

ต่อจากนั้น ก็ได้มีการบุรณปฏิสังขรณ์เป็นรายย่อยตามกำลังของทางวัดและทางบ้านช่วยกันเป็นคราวๆ มา แต่ก็ยังไม่พอแก่ความชำรุดทรุดโทรมที่ทวีขึ้นตามกาลที่ล่วงมา เพราะมีถาวรวัตถุใหญ่ๆ อยู่มาก อันจำต้องบุรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ จึงจะยินดี ในการนี้จำต้องอาศัยกำลังอุปถัมภ์อย่างใหญ่ สมตามคำที่ผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวถึงวัดนี้ตามที่เล่าไว้ในประวัติวัดว่า ต้องเป็นผู้มีบุญญาธิการจึงจะสร้างปฏิสังขรณ์ได้ ก็กำลังอุปถัมภ์ดังนี้ พึงเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ หรืออุปถัมภ์ของบ้านเมืองหรือรัฐบาลตามที่ปรากฏมาแล้ว

บัดนี้ รัฐบาลอันมีท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ทำการบุรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ตามโครงการบุรณปฏิสังขรณ์ วัดที่ควรบุรณปฏิสังขรณ์ทั่วพระราชอาณาจักรให้คืนดีเรียบร้อย ให้ทันพระพุทธศาสนา ยุกาลกึ่งห้าพันปีที่จะมาถึงในอีก ๔ ปี เบื้องหน้า เป็นการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำประเทศชาติให้วัฒนะถาวร

ในขณะที่ทำการบุรณปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์ นายช่างได้พบเจดีย์น้อยหินอ่อนประดิษฐานอยู่ ณ ที่ควรส่วนเบื้องสูงในคูหาแห่งพระมหาเจดีย์ จึงได้นำความแจ้งแก่ท่านเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสได้ให้อัญเชิญพระเจดีย์น้อยหินอ่อนลงมาและได้เชิญกรรมการเจ้าหน้าที่ผู้สมควรมาพร้อมกันแล้ว ให้เปิดองค์พระเจดีย์ เมื่อแก้เครื่องห่อหุ้มรักษาออก ก็พบพระธาตุบรรจุอยู่เป็นอย่างดี แสดงความเป็นสัทธาปสาทนียวัตถุว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ท่านผู้บรรจุประดิษฐานไว้ ก็พึงลงสันนิษฐานว่าคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม เพราะได้ทรงสร้างพระมหาเจดีย์นี้ และเพราะเมื่อพิจารณาถึงวัตถุเครื่องบรรจุ ลักษณาการที่บรรจุกับเครื่องมหัคฆภัณฑบูชา ล้วนประณีตบรรจง กับทั้งเมื่อเทียบเคียงกับแห่งอื่นที่ปรากฏชัดว่าได้ทรงบรรจุไว้ ก็คล้ายคลึงกันจึงนำให้ลงสันนิษฐานได้อย่างนั้น

เมื่อข่าวการพบพระบรมสารีริกธาตุแผ่ขจรไป ประชาชนต่างปรารถนาทำการสักการบูชา ทางวัดจึงได้จัดประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้านมัสการเรื่อยมา บัดนี้ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้พร้อมด้วยคณะกรรมการจังหวัดนนทบุรีได้กำหนดการประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุประดิษฐานไว้ในองค์พระมหาเจดีย์ตามเดิม ในที่ประชุมมหาสันนิบาตพร้อมทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์มีสมเด็จพระสังฆราชประทับเป็นประธาน พรั่งพร้อมด้วยกระบวนและพิธีการที่กำหนดให้สมกับสมเด็จพระบรมศาสดาผู้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ, ทั้งยังมีมหกรรมฉลองสมโภชอีกส่วนหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นการบูชาเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานนักแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์รวมเป็นองค์พระรัตนตรัยอันประเสริฐอุดมในโลก

ก็แหละการบูชาพระพุทธาทิรตนตรัยนี้ ชื่อว่าเป็นการบูชาท่านผู้ควรบูชา เป็นเหตุให้ได้ประสบบุญเป็นอันมาก จนยากที่จะกำหนดนับได้ สมดังพระพุทธาษิตที่ยกขึ้นไว้เป็นบทอุเทศ ณ เบื้องต้นนั้นว่า


ปูชารเห ปูชยโต  พุทฺเธ ยทิจ สาวเก

เป็นอาทิ แปลความว่า ผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกผู้ล่วงธรรมเครื่องเนิ่นช้า ข้ามโศกและเครื่องข้องขัดได้แล้ว. ผู้บูชาเช่นนั้นเหล่านั้นซึ่งนิพพานแล้วไม่มีภัยแต่ที่ไหนเลย ใครๆ ไม่อาจนับบุญได้ว่าบุญนี้แม้เท่านี้ ดังนี้

การทำบูชาตามวิธีนิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส และด้วยความเคารพนับถือ ชื่อว่าบูชาโดยสาธารณภัย บูชาในพระพุทธศาสนา จำแนกเป็น ๒ คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส คือ เครื่องบูชาภายนอกมีดอกไม้เทียนธูปและพัสดุต่างๆ ๑ ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติ คือ ความประพฤติปฏิบัติดีชอบตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงบัญญัติไว้ ๑  บูชาทั้ง ๒ นี้ มีพระพุทธดำรัสตรัสสรรเสริญปฏิบัติบูชาว่าเป็นยอด เพราะเป็นเหตุดำรงพระพุทธศาสนาไว้ได้ บูชานี้สำเร็จด้วยมีศรัทธาปสาทะเป็นสมุฏฐานอยู่ภายใน เพราะเมื่อได้เห็นคุณของท่านผู้พึงบูชาปรากฏขึ้น ก็เกิดศรัทธาปสาทะ จึงบูชาด้วยอามิสบ้าง ด้วยปฏิบัติบ้างตามควรแก่กิจและโอกาส แต่บูชานี้ท่านสรรเสริญเฉพาะที่เป็นไปในท่านผู้ควรบูชาที่ยกไว้ในพระคาถาแรก คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก

พระพุทธเจ้านั้น คือ พระผู้ตรัสพระธรรมด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครเป็นศาสดาสั่งสอน หมายถึงท่านผู้ค้นพบพระธรรมพระองค์แรก พระผู้ตรัสรู้แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ เรียกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้แล้วไม่อาจสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้ เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเมื่อได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว ได้มีพระมหากรุณาทรงแสดงธรรมสั่งสอนไวไนยนิกรให้ได้รู้ตาม จึงเกิดมีพระพุทธศาสนาขึ้น และมีผู้นับถือที่เรียกว่าพุทธศาสนิกชนสืบมาถึงตราบเท่าทุกวันนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้น ได้ทรงอุบัติขึ้นในหมู่มนุษย์ชาวอริยกะในมัชฌิมชนบท ในชมพูทวีปถิ่นประเทศอินเดีย ทรงเป็นขัตติยชาติ มีพระนามตามพระโคตรว่าโคดม เป็นพระโอรสกษัตริย์ศากยวงศ์ เสด็จออกผนวชจากศากยสกุล พระองค์ปรากฏพระกิตติศัพท์อันงามฟุ้งขจรไปอย่างนี้ว่า แม้อย่างนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ, ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชา ผู้เสด็จไปดี ผู้รู้โลก ผู้เป็นสารถีฝึกคนควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นพระศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกแจกธรรม ดังนี้, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงรู้ยิ่งเห็นจริงแจ่มแจ้ง ซึ่งโลกพร้อมทั้งเทพดามารพรหม ซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทพยดามนุษย์เองแล้ว สอนให้ผู้อื่นรู้ด้วย พระองค์ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง

อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นธรรมอันบุคคลพึงเห็นเอง. เป็นธรรมให้ผลไม่มีกาล เป็นธรรมพึงเรียกให้มาดูได้ เป็นธรรมพึงน้อมเข้ามาในตน. เป็นธรรมอันผู้รู้ทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน

อนึ่ง พระสาวกสงฆ์ หมู่แห่งผู้ฟังของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติถึงธรรมที่พึงบรรลุแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว, คือพระผู้ตั้งอยู่ในมรรคผล นับคู่เป็น ๔ นับรายบุคคลเป็น ๘ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ทั้ง ๓ นี้ เป็นพระรัตนตรัยอันประเสริฐอุดมในโลก แต่เมื่อกล่าวเฉพาะเป็นบุคคล ก็เป็น ๒ คือ พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ที่แสดงในพระคาถานี้ว่า พุทฺเธ ยทิจ สาวเก พระพุทธเจ้า หรือ พระสาวก

พระพุทธเจ้าและพระสาวก มีบทสรรเสริญพระคุณในพระคาถานี้รวมกันว่า

ปปญฺจสมติกกนฺติ ผู้ล่วงธรรมเครื่องเนิ่นช้า คือล่วงละกองกิเลสมีตัณหามานะทิฏฐินี้เป็นต้นเสียได้ กิเลสเหล่านี้เป็นเครื่องถ่วงให้วนชักช้าอยู่ในกองทุกข์มิให้หลุดพ้นไปได้โดยรวดเร็ว จึงเรียกว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า พระพุทธเจ้าและพระสาวกย่อมล่วงเสียได้ จึงเป็นผู้พ้นกิเลสทั้งปวง

ติณฺณโสกปริทฺทเว ข้ามโศกและเครื่องขัดข้องได้แล้ว คือข้ามพ้นโศก และเครื่องขัดข้องคือทุกข์อื่นๆ ได้สิ้นเชิง รวมความว่าข้ามพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ จึงเป็นผู้พ้นกองทุกข์ทั้งปวง

พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นผู้พ้นกองกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง จึงได้พระนามว่าพระอรหันต์เป็นต้นดังกล่าวข้างต้น, เหตุนี้ จึงเป็นบุคคลผู้ควรบูชาโดยแท้ บุคคลผู้ควรบูชานี้ ยังมีชีวิตอยู่ก็ดี นิพพานดับขันธ์แล้วก็ดี ก็เป็นผู้ควรบูชาเหมือนกัน  เหตุฉะนี้ จึงมีพระพุทธภาษิตต่อไปในคาถามที่ ๒ ว่า   


เต ตาทิเส ปูชยโต              นิพฺพุเต อกุโตภเย


“ผู้บูชาท่านผู้เช่นนั้นเหล่านั้น ซึ่งนิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเลย” ดังนี้

นิพฺพุตะ ซึ่งนิพพานแล้ว มีอธิบายโดยสาธารณนัยว่า ชื่อว่านิพพานเพราะดับกิเลส เรียกกิเลสนิพพาน ๑ เพราะดับขันธ์ เรียกขันธนิพพาน ๑ เมื่อดับขันธ์เป็นอันนิพพานบริบูรณ์ เรียกปรินิพพานบ้าง

อกุโตภเย ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเลย คือไม่เป็นแดนภัยใดๆ แก่ใครๆ คือ ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่ผู้อื่นทั้งหมด แต่เป็นแดนเกษมแห่งตนและผู้อื่น โดยส่วนเดียว

ก็และเมื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกนิพพานแล้ว วัตถุเครื่องจูงใจผู้พบเห็นให้ระลึกถึงเป็นพุทธานุสสติเป็นต้น เรียกเจดีย์ ท่านจำแนกไว้เป็น ๔ คือ :-

ธาตุเจดีย์ คือ พระบรมสารีริกธาตุ

บริโภคเจดีย์ คือ สถานและวัตถุบริขาร เครื่องใช้เมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่ สถานอันเกี่ยวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ที่ตรัสไว้เป็นสังเวชนียสถานมี ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ, สถานที่ตรัสรู้, สถานที่ทรงแสดงพระธรรมจักรและสถานที่ปรินิพพาน ส่วนวัตถุบริขารก็เช่นบาตร จีวร เป็นต้น

อุทเทสิกเจดีย์ หรืออุททิสสเจดีย์ คือวัตถุที่สร้างอุทิศเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระสาวก เช่น พระพุทธปฏิมา พระสถูปเจดีย์ทั่วไป แม้สิ่งที่สมมติเป็นพระธาตุ เป็นสถานหรือวัตถุบริโภคเจดีย์ดังที่มีโดยมากในประเทศนี้ ก็สงเคราะห์เป็นอุททิสสเจดีย์

ธรรมเจดีย์ คือพระธรรมวินัยที่จารึกเป็นตัวอักษรที่บรรจุประดิษฐานไว้ในที่นั้นๆ

บุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา ผู้ยังดำรงอยู่ก็ตาม ผู้นิพพานดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม บูชาต่อหน้าท่านผู้ควรบูชา หรือเบื้องหน้าเจดีย์ทั้งหลายก็ตาม บูชาลับหลังด้วยลำพัง ระลึกถึงพระคุณก็ตาม, ท่านแสดงว่า เมื่อจิตเสมอกัน ย่อมประสบบุญเสมอกัน. ดังที่ตรัสแสดงไว้ในตอนท้ายพระคาถานี้ว่า 


น สกฺกา ปุญญํ สงฺขาตุํ       อิเมตฺตมฺปิ เกนจิ


“ใครๆ ไม่อาจเพื่อนับบุญว่า บุญนี้แม้เท่านี้” พระพุทธภาษิตนี้แสดงบุญที่ผู้บูชาพึงได้ว่ามีมากพ้นประมาณ

บุญได้แก่ความดีเป็นเครื่องฟอกชำระบาปอกุศลมลทินโทษเศร้าหมอง เป็นไปเพื่อวิสุทธิความหมดจดสะอาดจากอกุศลบาปธรรมทั้งปวง เพื่อสันติเพื่อเกษมสุข ทั้งหมดนี้ตั้งต้นแต่ความดีที่เป็นเหตุจนถึงความสุขที่เป็นผล นับว่าเป็นบุญโดยตลอด ดังมีพระพุทธภาษิตที่ตรัสประกาศบุญโดยผลว่า มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตถ, สุขสฺเสตํ อธิวจนํ” ภิกษุทั้งหลาย, ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของสุข”

บูชาท่านผู้ควรบูชา ย่อมประสบความดีและความสุขโดยตลอด เพราะท่านผู้ควรบูชาย่อมเป็นบุญเขตอันประเสริฐ เมื่อบ่ายหน้าเข้าไปใกล้ได้พบเห็น ก็ชื่อว่าได้บ่ายหน้าเข้าไปใกล้บุญเขต ได้พบเห็นบุญเขต เมื่อใกล้บุญก็ไกลบาป อันตรงกันข้าม อาศัยเหตุนี้ จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสยกการเห็นสมณะผู้สงบบาปทั้งหลายเป็นมงคลว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ “การเห็นสมณะทั้งหลาย เป็นมงคลอันอุดม” การเห็นบุคคลหรือวัตถุอันเป็นบุญเขตเช่นนี้ จึงเป็นทัสสนานุตตริยะ การเห็นอันเยี่ยม. เมื่อระลึกถึงบุญเขตนั้นด้วยใจ ข้อนี้ก็เป็นอนุสสตานุตตริยะ การระลึกถึงอันเยี่ยม

อนึ่ง เมื่อได้เห็นได้ระลึกถึงมีศรัทธาปสาทะตั้งมั่น ได้บำเพ็ญบุญกุศล คือ ทาน ศีล ภาวนา ในบุญเขตนั้น ก็เป็นปฏิปทานุตตริยะ การปฏิบัติอันเบี่ยม.

เมื่อปฏิบัติบำเพ็ญบุญกุศล ก็พ้นจากบาปอกุศล เป็นผู้หมดจดจากบาป จึงประสบสันติ และความเกษมสุขโดยลำดับ ข้อนี้เป็นวิมุตตานุตตริยะ การพ้นอันเยี่ยม

บูชาท่านผู้ควรบูชาเป็นเหตุให้ประสบบุญพ้นประมาณ เพราะให้ได้อนุตตริยคุณ (คุณอันเยี่ยม) ด้วยประการฉะนี้

บัดนี้ ใกล้เวลาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุปูชนีวัตถุอันเลิศขึ้นบรรจุประดิษฐานไว้ ณ ตำแหน่งเดิมในองค์พระมหาเจดีย์แล้ว สมควรกล่าวอนุโมทนาท่านผู้เป็นอธิการแห่งกุศลกิจนั้นๆ ดังต่อไปนี้ :

ท่านผู้ทำการสถาปนาบุรณปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯ นี้มาโดยลำดับ กล่าวโดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ คือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าสยาม พร้อมทั้งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สืบต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  อนึ่ง ผู้ช่วยบุรณะปฏิสังขรณ์รายย่อย เป็นคราวๆ กล่าวโดยเฉพาะในครั้งนี้ รัฐบาลอันมีท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ทำการบุรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ ท่านทั้งปวงนี้ก็ดี, ผู้ขวนขวายช่วยทางใดทางหนึ่งอื่นๆ ตลอดถึงผู้มีศรัทธาปสาทะ ทำการบูชาพระบรมสารีริกธาตุทั้งปวงก็ดี, ทั้งหมดได้ชื่อว่าบูชาท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธาทิรตนตรัย อนุตตรบุญเขต ตามสัตติกำลัง จึงได้ประสบบุญตามควรแต่การบูชานั้นๆ

ในอาณาแห่งพระสงฆ์ อันมีสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกประทับเป็นประธานขอกล่าวคำชักชวนในปัตติทานแลอำนวยพรดังต่อไปนี้

บุญใดๆ ที่เราทั้งหลายได้บำเพ็ญ เราทั้งหลายพึงตั้งใจน้อมถวายส่วนบุญนั้น เพื่อสัมฤทธิ์พระราชจิตสุขสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี และแก่ท่านผู้มีส่วนสถาปนาบุรณะปฏิสังขรณ์ผู้ละไปแล้วทั้งปวง

อนึ่ง ขออานุภาพพระรัตนตรัย และอานุภาพแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญแล้ว จึงอภิบาลรักษาท่านทั้งหลายผู้บำเพ็ญบุญมีประการต่างๆ อยู่ในบัดนี้ ให้ปราศจากทุกข์ภัย โรค โศก อุปสรรค ศัตรู อุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งปวง ให้เจริญ อายุ วรรณะ สุข พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ พร้อมทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บรรลุความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาโดยชอบ และถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป.


ฐาตุ จิรํ สตํ ธมฺโม              ธมฺมทฺธรา จ ปุคฺคลา
สงฺโฆ โหตุ สมคฺโค ว อตฺถาย จ หิตาย จ

ขอพระสัทธรรมจงดำรงอยู่นาน ขอบุคคลผู้ทรงธรรมจงดำรงอยู่นาน ขอพระสงฆ์จงพร้อมเพรียงกัน (ประพฤติพระธรรมวินัย) เพื่อประโยชน์ที่ต้องการ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล

สิทฺธมตฺถุ สิทฺธมตฺถุ            สิทฺธมตฺถุ อิทํ ผลํ
เอตสฺมึ รตนตฺตยสฺมึ สมฺปสาทนเจตโส

ขอผลที่กล่าวนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ แก่ผู้มีใจเลี่อมใสในพระรัตนตรัยนี้ ทั่วทุกท่านทุกประการ เทอญ

ถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา พอสมควรแก่เวลา ยุติเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร

 
 
* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภนคณาภรณ์ ในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในองค์เจดีย์ วัดเขมาภิตาราม จ.นนทบุรี
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2562 14:28:22 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

เทศนาอานิสงส์กฐิน*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ

บัดนี้ จักแสดงเทศนาพรรณนาอานิสงส์กฐินทานเป็นต้น พอเป็นเครื่องเฉลิมศรัทธาปสาทะและปีติปราโมทย์ในบุญ

ด้วยว่าราชบพิธสมาคม มีนายฉาย วิโรจน์ศิริ นายกกรรมการของสมาคมเป็นประธานในฝ่ายคฤหัสถ์ และวัดราชบพิธ มีท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสเป็นประธานในฝ่ายบรรพชิต พร้อมทั้งผู้มีศรัทธาปสาทะ ชาวจังหวัดพระนครทั้งหลายมากด้วยกัน ได้มาทอดกฐินที่วัดลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรีนี้, พร้อมกันนี้ นายบุญยัง ทรวดทรง และญาติได้ถวายธรรมาสน์สลักลวดลายปิดทองร่วมในการกฐินเป็นพิเศษ นอกจากทอดกฐิน ยังได้ถวายทุนจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างโบสถ์ที่ยังค้างอยู่, กับทั้งคณะวัดสุทัศน์เทพวราราม อันมีพระอาจารย์ธวัชชัยเป็นหัวหน้าร่วมกับนายฉาย วิโรจน์ศิริ ได้พร้อมใจกันจัดผ้าป่าสามัคคีนำมาทอด ณ วัดทั้งหลายในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งหมด ๒๐ วัด และได้ถวายทุนที่เหลือจากทอดผ้าป่าสมทบสร้างโบสถ์ที่วัดลาดหญ้านี้ด้วย

คณะทอดกฐินผ้าป่าทั้งนี้ ประกอบด้วยพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ชายหญิงชาวจังหวัดพระนครหลายร้อยได้ออกจากจังหวัดพระนครด้วยขบวนรถยนต์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ได้แวะทอดผ้าป่าที่วัดตามรายทางมาโดยลำดับ มาถึงวัดลาดหญ้าในเวลาเย็นวันนั้น ได้พักแรมคืนที่วัดนี้ ซึ่งทางวัด อันมีท่านพระครูยติวัตรวิบูล เจ้าอาวาสเป็นประธานพร้อมด้วยชาวบ้านตำบลลาดหญ้าและตำบลอื่นได้จัดการต้อนรับด้วยที่พักด้วยอาหารการบริโภค อย่างบริบูรณ์เป็นอย่างดี ในเวลากลางคืนได้อาราธนาเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดนี้ มาเจริญพระพุทธมนต์สมโภชกฐิน, เสร็จแล้วได้มีการมหรสพสมโภช รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ ๔ คือวันนี้ ได้ถวายอาหารบิณฑบาต และเลี้ยงอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ก็ได้พร้อมกันถวายผ้ากฐิน ถวายธรรมาสน์ ถวายผ้าป่า และถวายทุนจำนวนหนึ่ง เพื่อสร้างโบสถ์ที่ยังค้างอยู่ และได้กำหนดว่า เมื่อเลี้ยงเพลแล้ว จะไปเที่ยวชมภูมิประเทศตำบลกาญจนบุรีเก่า เขาชนไก่ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปอีกเล็กน้อย ตามสมควร แล้วจะได้เดินทางกลับจังหวัดพระนคร ด้วยขบวนรถยนต์เหมือนอย่างเที่ยวมา

การมาทอดกฐิน ทอดผ้าป่านี้ เป็นการมาบำเพ็ญกุศล พร้อมทั้งมาท่องเที่ยว มีโอกาสได้ชมภูมิประเทศ พร้อมทั้งได้รับอากาศอันเพิ่งย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นเวลากำลังสบาย สำหรับจังหวัดนี้  ฉะนั้น ในการพรรณนาอานิสงส์กฐิน เป็นต้น ครั้งนี้จะหยิบยกเอาอานิสงส์ผลที่พึงได้รับในปัจจุบันบัดนี้ทีเดียวมาพรรณนาพอเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึง ก็อานิสงส์ผลที่ทุกๆ คนพึงได้รับในคราวนี้มีหลายประการ ดังจะเลือกมาพรรณนา คือ

โอกาสกุศล การทอดกฐินย่อมทำได้ครั้งเดียวในปีหนึ่ง เพราะกฐินเป็นพระพุทธานุญาตพิเศษ ดังมีเรื่องเล่าในกฐินักขันธก ในวินัยปิฏก ซึ่งมีแจ้งอยู่ในหนังสือเรื่องถวายผ้ากฐินที่แจกในงานนี้อย่างทั่วถึงกันแล้ว ผู้ประสงค์จะทราบ พึงอ่านดูในหนังสือนั้น. หรือในหนังสืออื่นที่แสดงเรื่องกฐินอันมีพิมพ์อยู่อย่างแพร่หลายแล้ว การทอดผ้าป่า ก็เพื่อถวายผ้าแก่ภิกษุ เพราะผ้ากฐินโดยเฉพาะมีผืนเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทั่วไปแก่ภิกษุทุกรูป ผู้มีศรัทธาจึงถวายผ้าเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่งภายในจีวรกาล แต่เพื่อให้ภิกษุที่ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรใช้ได้ด้วย จึงทำเป็นทิ้งไว้ เดิมคงทอดทิ้งไว้ในป่า จึงเรียกว่าผ้าป่า แต่ในบัดนี้การถวายผ้ากฐินก็ได้มีการถวายผ้าไตรจีวรเป็นบริขารด้วย และบางทีก็มีถวายแก่ภิกษุทั้งหมด คนไทยเราได้ถือการทอดกฐินเป็นกุศลมหาทานอันสำคัญ เช่นเดียวกับถือเวสสันดรชาดก เป็นชาดกสำคัญ เรียกการเทศน์ชาดกนั้นว่า เทศน์มหาชาติ ผู้ทอดกฐินย่อมรู้สึกว่าได้บำเพ็ญทานครั้งใหญ่ในขวบปีหรือในชีวิตของตน เพราะมิได้ถวายเฉพาะผ้ากฐินผืนเดียวเท่านั้น ยังได้ถวายสิ่งต่างๆ แก่พระสงฆ์และแก่วัด จนสุดกำลัง  ฉะนั้น การทอดกฐินจึงเป็นโอกาสกุศลครั้งใหญ่ กล่าวโดยเฉพาะในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสให้ได้มาท่องเที่ยว ถึงตำบลที่ไทยเคยรบเผด็จศึกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เรียกว่าทุ่งลาดหญ้า คือ ณ ตำบลลาดหญ้านี้เอง ในฝ่ายเจ้าถิ่น กล่าวเฉพาะในฝ่ายบรรพชิต ก็ได้มีโอกาสรับกฐิน เป็นเหตุให้ได้รับอานิสงส์ตามพระพุทธานุญาต ได้ทุนสร้างโบสถ์สืบต่อไป และเมื่อกล่าวโดยส่วนรวม ก็มีโอกาสได้ทำปฏิสัณฐาน คือรับรองชาวจังหวัดพระนครหมู่ใหญ่เหมือนอย่างที่ตำบลลาดหญ้านี้ ได้เคยรับรองกองทัพไทยมาแล้วในสมัยอดีตกาล โอกาสดังกล่าวอาจล่วงไปได้ เพราะไม่ทำอะไร จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสเตือนไว้ว่า ขโณ โว มา อุปจฺจคา ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย แต่บัดนี้โอกาสนั้นไม่ล่วงไป เพราะได้บำเพ็ญกุศลขึ้นแล้ว จึงได้โอกาสกุศลเป็นอานิสงส์ ประการแรก

ผลสามัคคี การบางอย่างที่พึงทำด้วยความพร้อมเพรียงกันของคนส่วนมาก ถ้าขาดความสามัคคี ก็ทำให้สำเร็จไม่ได้ ถึงจะมีโอกาสอำนวยก็ตาม  ฉะนั้น โอกาสกุศลดังกล่าวแล้ว จึงสำเร็จด้วยความสามัคคี กุศลกิจทั้งหลายที่ได้ทำไปทุกอย่างตลอดจนถึงการที่ได้พากันออกมาถึงวัดลาดหญ้านี้โดยพร้อมเพรียงกัน ล้วนเป็นผลของความสามัคคี, ในฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับกฐิน ก็ต้องมีความสามัคคีกันจึงทำสังฆกรรมในการนี้ให้สำเร็จไปได้ กล่าวโดยเฉพาะในการจัดรับรอง ทั้งชาววัดชาวบ้านตำบลลาดหญ้า ต้องอาศัยความสามัคคีกันอย่างมาก ไม่หย่อนกว่าฝ่ายที่มาทอด, ข้อนี้สมด้วยสุภาษิตว่า สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา แปลว่า “ความสามัคคีของปวงชนผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ” ตามที่กล่าวมานี้ คือผลสามัคคีเป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่ง

ทวีสุข อันสามัคคีนี้ ถ้าใช้ในทางดีก็ให้เกิดสุข ถ้าใช้ในทางชั่วก็ให้เกิดทุกข์, สุขทุกข์นี้ มีประมาณมากยิ่งกว่าคนๆ เดียวจะพึงทำให้เกิดขึ้นได้ ก็แต่ความสามัคคีกันในการทอดกฐินทอดผ้าป่าเช่นนี้ เป็นสามัคคีกันในทางดี ดังจะเรียกว่ากุศลสามัคคี  ฉะนั้น จึงให้เกิดสุขโดยส่วนเดียว ในฝ่ายผู้มาก็พร้อมเพรียงกันมาทำบุญ มีจิตใจเป็นสุข มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นไปเพื่อก่อเกื้อสุขประโยชน์เช่นเดียวกัน จึงเป็นการเพิ่มสุขให้แก่กันทั้งสองฝ่าย สมดังพระพุทธภาษิตว่า สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย แปลว่า ความสั่งสมขึ้นแห่งบุญให้เกิดสุข ตามที่กล่าวมานี้ คือทวีสุข เป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่ง

สนุกบุญ ความทวีสุขดังกล่าว จะสำเร็จได้ ก็ด้วยอาศัยมีความสนุกในทางบุญ เพราะจำจะต้องลงทุนลงแรง ต้อยเหนื่อยยากบ้าง ไม่อย่างนั้นแล้วก็ไม่อาจจะทำให้สำเร็จได้ การลงทุนลงแรงทำการงานทางโลกโดยมากย่อมมุ่งผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในการกุศล ย่อมมุ่งบุญเป็นที่ตั้ง  ฉะนั้น จึงต้องมีความรู้สึกสนุกในการบุญ จึงจะกล้าลงทุนลงแรง ไม่ท้อถอยในการบุญ ดังที่เรียกว่า ทำบุญไม่เหนื่อย คำว่า สนุกนี้ ย่อมหมายถึง ความพอใจ ความเพียรอันเป็นเครื่องกระตุ้นใจเร้าใจให้ทำ พร้อมทั้งความออกรส คือได้ปีติปราโมทย์ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้แช่มชื่น เหล่านี้รวมเรียกว่าสนุกทั้งหมด ทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ต่างได้ความสนุกในการบุญดังกล่าว แต่ขอย้ำว่า ความสนุกนี้ ต้องแลกได้มาด้วยการบริจาคสละตลอด ถึงต้องเหนื่อยยากคนละมากบ้างน้อยบ้าง  ฉะนั้น พึงประคองความพอใจในการบุญไว้ให้แน่วแน่ ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสเตือนว่า ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ แปลว่า พึงทำความพอใจในบุญนั้น ตามที่กล่าวมานี้คือสนุกบุญ เป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่ง

โอกาสกุศล ผลสามัคคี ทวีสุข สนุกบุญ ตามที่พรรณนามานี้ มีความหมายเนื่องกันทั้งหมด และทุกข้อมีความหมายผูกพันอยู่ในการบุญ จึงสำเร็จเป็นอานิสงส์ผลดังพรรณนามา  ฉะนั้น เพื่อให้ซาบซึ้งในการบุญโดยถูกต้องเพื่อให้เป็นหลักที่ตั้งของบุญญานิสงส์ทุกประการ จะได้พรรณนาบุญกถาสืบไป

บุญหมายความโดยสามัญว่า ความดีเครื่องเกื้อกูลความสุข มีคนบางคนเข้าใจว่าบุญจะพึงทำได้แต่ในวัด ดังที่พูดกันว่าไปวัดทำบุญ ไม่มีพูดกันว่ามาทำบุญในบ้าน นอกจากในบางคราวที่มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์และฉันในบ้าน เป็นต้น จึงจะเรียกกันว่าทำบุญ เข้าใจอย่างนี้เป็นความเข้าใจเรื่องการบุญอย่างคับแคบ แท้จริงบุญนั้นพึงทำทั้งในวัดทั้งในบ้าน ทุกเวลาโอกาส เพราะบุญคือตัวความดี ความสุข ก็ในที่ใดไม่มีความดีความสุข มีแต่ความชั่วความทุกข์เดือดร้อน ที่นั้นก็เป็นที่บาปเป็นที่นรก แม้ในโลกนี้ ส่วนในที่ใดไม่มีความชั่ว ความทุกข์ แต่มีความดี ความสุข ที่นั้นเป็นที่บุญ เป็นที่สวรรค์ แม้ในโลกนี้ ในวัด ในบ้าน ในวงธุรกิจการงานทุกๆ อย่าง ยังมีความชั่ว ทุจริต ยังมีความทุกข์เดือดร้อนระส่ำระสาย ก็เพราะขาดบุญอย่างเดียวเท่านั้น ถ้ามีบุญอยู่ในที่นั้นๆ แล้ว สิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเหล่านั้นก็จะไม่มีขึ้นได้เลย,  ฉะนั้น พึงทำความเข้าใจคำว่าบุญให้กว้างขวางว่าทุกๆ คนไม่เลือกว่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ชาย หญิง หรือข้าราชการพ่อค้าประชาชนเหล่าไหน จำปรารถนาบุญ และจำปรารถนาทุกกาลโอกาส ทุกธุรกิจการงานนั้นๆ ในการนี้จำต้องทราบทางทำบุญ เพื่อจะได้ทำบุญให้ถูกทาง. ทางทำบุญนั้น คือ :-

ความเป็นผู้ให้ คือให้ทรัพย์สิ่งของ เพื่อสงเคราะห์อนุเคราะห์บูชาแก่บุคคลผู้สมควร เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเพื่อกุศลสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงให้ความช่วยด้วยกำลังกาย กำลังวาจา กำลังความคิด ให้ธรรมะ คือ คำสั่งสอนแนะนำตลอดถึงให้คุณความดีความชอบ ตามควรแก่บุคคล ฐานะ โอกาส เป็นต้น ข้อนี้เป็นความดีอย่างไรจะพึงเห็นได้ต่างๆ ด้วยวิธีคิดว่าตนเองเป็นผู้รับ, ตนเองได้รับการช่วยจากผู้ใดย่อมจะรู้สึกว่าผู้นั้นเป็นผู้มีคุณความดีต่อตน เพราะได้ช่วยเกื้อกูลโดยประการนั้นๆ, พิจารณาดูให้กว้างออกไปอีก สิ่งที่เกื้อกูลความสุขทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนสำเร็จจากความเป็นผู้ให้ของผู้มีเมตตาจิตทั้งนั้น เช่น วัดวาอาราม สถานศึกษา โรงพยาบาล ตลอดจนถึงตัวเราเองก็สำเร็จมาจากความเป็นผู้ให้ของมารดา บิดา ครู อาจารย์ เจ้านาย และผู้หวังดีทั้งหลาย แม้คนอื่นทุกๆ คนก็เหมือนกัน คิดฉะนี้จะเห็นว่าความเป็นผู้ให้นี้เป็นบุญโดยแท้จริง จึงสมควรปฏิบัติตนเป็นผู้ให้บ้าง อย่าให้เป็นแต่เพียงผู้รับเท่านั้น เพราะโลกนี้ จำต้องอาศัยความเป็นผู้ให้ของผู้มีเมตตาจิตทั้งหลาย เมื่อมีโอกาส จะพึงให้การช่วยใครได้โดยวิธีใด ก็พึงช่วยด้วยวิธีนั้น และหัดทำใจให้มีเมตตาอารี ให้คิดเผื่อแผ่ความสุขแก่ผู้อื่น ไม่คิดคับแคบ ไม่เห็นแต่จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว, การหัดให้เป็นผู้ให้ดังกล่าวมานี้ เป็นเครื่องป้องกันการทุจริตในวงการงานต่างๆ ได้ วิธีหนึ่งด้วย เพราะเหตุประการหนึ่งของการทุจริตนั้น คือความเอาแต่จะเป็นผู้รับเท่านั้น คือรับเป็นแต่ให้ไม่เป็น เมื่อรู้จักให้เป็นบ้างแล้ว ก็จะระงับการทุจริตเพราะเหตุนั้นเสียได้ จะทำให้เกิดความสะดวกในวงการงานทั่วไป เพราะต่างจะคอยให้ความช่วยแก่กันและกัน

ความทำตนให้เป็นผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย คือ จะประพฤติการอันใด ก็คอยระวังว่าการอันนั้นจะเป็นเวรเป็นภัยต่อประโยชน์สุขของใครหรือไม่ เมื่อเห็นว่าจะเป็นภัยเป็นเวรต่อใครแล้ว ก็งดเว้นไม่ทำการนั้น ต่อเมื่อเห็นว่าจะเป็นคุณประโยชน์อันตรงกันข้ามจึงทำลงไป ข้อนี้สำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และศีลธรรม กล่าวโดยเฉพาะ ศีลในพระพุทธศาสนา คือไม่ก่อเวร ก่อภัยเพราะฆ่าเขา ลักของเขา ผิดเชื้อสายเขา พูดเท็จหลอกลวงเขา ดื่มน้ำเมา อันเป็นฐานของความประมาท แต่ประพฤติเกื้อกูลกันและกันด้วยจิตเมตตา ประกอบสัมมาอาชีวะ ประพฤติชอบในครอบครัวของตน มีวาจาสัตย์ มีสติรอบคอบ และประพฤติชอบต่อกันตามควรแก่ฐานะ หน้าที่ เหล่านี้ รวมเข้าในข้อทำตนให้เป็นผู้ไม่มีเวรภัย, ข้อนี้เห็นได้ง่ายว่าเป็นความดีเครื่องเกื้อกูลสุข และทุกๆ คนย่อมปรารถนาความปลอดภัย ปลอดเวร และหาทางป้องกันหรือแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ ไม่ปรารถนาให้บุคคลหรือสัตว์เดรัจฉานหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดเป็นภัยเป็นเวรแก่ตน ดังนั้นจึงควรหัดทำตนไม่ให้เป็นภัยเป็นเวรต่อใครเหมือนอย่างที่ตนปรารถนาไม่ให้ใครมาเป็นภัยเป็นเวรต่อตนฉันนั้น พึงหัดให้เป็นไปแม้ในสัตว์ในส่วนเล็กๆ น้อยๆ เมื่อไม่จำเป็นแล้ว ก็ไม่ทำให้เป็นอันตรายแก่ชีวิตหรือแก่ความสุขของใคร แม้นิดหน่อย ข้อนี้ย่อมสำเร็จได้ด้วยความคอยระมัดระวังความประพฤติ มีหิริโอตตัปปะประจำจิตใจ ในวงการทั่วไป ถ้าต่างคอยระมัดระวังไม่ประพฤติเป็นภัยเป็นเวรดังกล่าว ก็จะไม่ต้องมีการหวาดระแวง การต้องเตรียมป้องกันภัย ตลอดจนถึงเกิดภัยเวรในกันและกันขึ้นได้เลย เช่นนี้ ก็ต่างจะนอนเป็นสุข

ความมุ่งดีและรู้จักดี จะทำดีดังกล่าวมาได้ต้องมีความมุ่งดีเป็นเบื้องหน้า คือ ต้องมีความปรารถนาดี และตั้งใจมั่นอยู่ในความดี เพราะถ้าขาดความตั้งใจก็ไม่เกิดการทำ ความตั้งใจนี้ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทางดีจึงจะสำเร็จเป็นความมุ่งดีได้ เมื่อมีความมุ่งดีตั้งมั่นแล้ว ก็สามารถทำดีได้ทุกอย่างโดยไม่ยาก แต่ก็ต้องรู้จักดี ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นมุ่งดีผิดๆ เป็นเหตุให้ทำดีผิดๆ รู้จักดีนั้น คือรู้จักว่าอย่างไรเป็นดี พร้อมทั้งรู้ว่าอย่างไรเป็นชั่วเป็นผิด จะกล่าวว่ารู้จักดีชั่วชอบผิดก็ได้ ในเวลาปกติยังไม่มีความโลภโกรธหลง คนโดยสามัญย่อมจะมีความรู้จักดีชั่วอยู่ด้วยกัน ตามสมควรแก่การอบรมได้รับมา แต่เมื่อเกิดความโลภ โกรธ หลง ขึ้น ความรู้จักดีชั่วก็หมดไป น้อยหรือมากตามกำลังของความโลภ โกรธ หลงนั้น เมื่อความรู้จักดีชั่วไม่มีแล้วก็ทำอะไรแม้ที่แสนชั่วลงไปได้  ฉะนั้น ข้อนี้จึงสำคัญมากเพราะเป็นต้นทางของความประพฤติ วิธีที่จะสร้างความรู้จักดีให้เกิดมีขึ้นเป็นวิธีง่ายๆ คือ ไม่ด่วนพิจารณาวินิจฉัยสิ่งไรลงไปว่าดีหรือไม่ดีในขณะที่กำลังโลภโกรธหลง และไม่ยอมทำอะไรลงไปเพราะลุอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ต่อเมื่อสงบความโลภโกรธหลงแล้ว จึงพิจารณาวินิจฉัยและทำลงไป พึงพิจารณาย้อนดูตัวเราเอง สิ่งที่เราเคยเห็นว่าดีหรือไม่ดีนั้น ในขณะที่จิตใจกำลังโลภโกรธหลงอยู่เป็นอย่างหนึ่ง ในขณะที่จิตใจสงบบริสุทธิ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อนำเอาดีและไม่ดีที่เห็นในขณะทั้งสองนี้มาเทียบกันแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าดีที่เห็นในขณะที่มีจิตใจไม่บริสุทธิ์นั้น โดยที่แท้คือไม่ดี ส่วนที่เห็นในขณะจิตบริสุทธิ์เป็นดีแท้ ความเห็นว่าดีด้วยจิตบริสุทธิ์ไม่ถูกอะไรบังนี้แหละความรู้จักดี ทุกๆ คนย่อมเคยมีและเคยขาดหายไปบ้างในบางคราว ผู้ใดขาดหายไปมากผู้นั้นก็ชั่วมาก ผู้ใดมีอยู่มากและมีอยู่เสมอ ผู้นั้นก็ดีมากและดีเสมอ การปฏิบัติเกื้อกูลแก่ข้อนี้คือการคอยระมัดระวังจิตใจ ความเคยสงบจิตใจจากความโลภโกรธหลง และการคอยพินิจพิจารณาไม่ด่วนเชื่อไม่ดึงดื้อโดยไร้เหตุผล

รวมทางทำบุญ คือ ความเป็นผู้ให้ ความทำตัวไม่ให้เป็นเวรเป็นภัย ความมุ่งดีและรู้จักดี. ข้อแรกดีคือทาน ข้อสองก็คือศีล ข้อสามก็คือภาวนา คือความอบรมจิตใจและปัญญาให้เกิดความมุ่งดีและรู้จักดี เหล่านี้เป็นตัวความดีเครื่องเกื้อกูลความสุข ทุกๆ อย่างได้ชื่อว่าเป็นบุญ เป็นเครื่องฟอกชำระล้างความชั่วและความทุกข์ให้หมดไปโดยลำดับ บุญนี้แหละเป็นเครื่องทำโลกนี้ให้เป็นโลกของความดี ให้เป็นโลกสวรรค์ คือเป็นโลกที่มีสุข

ทำบุญ ก็คือทำความดีดังพรรณนามา แต่จะได้ก็ต้องอาศัยความพากเพียรพยายาม ยิ่งเพียรมาก บุญก็ยิ่งมาก  ยิ่งบุญมาก ก็ยิ่งล่วงทุกข์ได้มาก สมดังพระพุทธภาษิตที่ปักในพัดกฐินครั้งนี้ว่า

วิริเยน ทุกขมจฺเจติ
คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

มีอรรถาธิบายดังเทศนามาด้วยประการฉะนี้.

รตนตฺยานุภาเวน     ทินฺนาทานฺส เตชสา
อเวรี อภโย เขมี   ยสสฺสี ชุติมา สทา 
กิตฺติมา ธนวา โหตุ  นิทฺทุกฺโข นิรุปทฺทโว
วฑฺฒตํ จตุธมฺเมหิ   อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ 
ด้วยเดชอานุภาพรัต-  นะตรัยและเดชการ
ถวายผ้ากฐินทาน   บริจาค ณ ครั้งนี้ 

ขอคณะทอดกฐินอันมีท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ เป็นประธานในฝ่ายบรรพชิต  นายฉาย วิโรจน์ศิริ นายกราชบพิธสมาคมเป็นประธาน ในฝ่ายคฤหัสถ์  กับทั้งนายบุญยัง ทรวดทรง และญาติผู้ถวายธรรมาสน์ และคณะวัดสุทัศน์ผู้ทอดผ้าป่า รวมกันเป็นฝ่ายทายกและอาคันตุกะฝ่ายหนึ่ง คณะรับกฐินวัดลาดหญ้า ทั้งชาววัดทั้งชาวบ้านในตำบลลาดหญ้าตลอดถึงในตำบลอื่นมีท่านพระครูยติวัตรวิบูล เป็นประธานรวมกันเป็นฝ่ายปฏิคาหก และผู้ทำปฏิสัณฐานฝ่ายหนึ่ง จงประสบพรดังคำฉันท์อวยพรของท่านเจ้าคุณพระธรรมปาโมกข์ในหนังสือเรื่องถวายผ้ากฐินว่า 

ทุกท่านบำราสเวร  ภยะทุกประการมี
กายใจเกษมศรี   กิติยศขจรเจริญ 
รุ่งเรืองประเทืองสุข       ธนะสารตระการเกิน
ปราศทุกพิบัติเห็น  และอุปัททวันตราย
ยิ่งอายุวรรณพล   สุขดลนิรันตราย 
พร้อมญาติมิตรสหาย  จิรถ้วนทิวาเทอญ.

 
* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโศภนคณาภรณ์ ในการทอดกฐินของราชบพิธสมาคม ณ วัดลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 09 กรกฎาคม 2562 13:29:40 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

ทุลลภปุคคลกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
เทฺวเม ภิกฺขเว ปุคฺคลา ทุลฺลภา โลกสฺมึ
กตเม เทฺว โย จ ปุพฺพการี โย จ กตญฺญู กตเวที
อิเม โข ภิกฺขเว เทฺว ปุคฺคลา ทุลฺลภา โลกสฺมินฺติฯ

บัดนี้ จักรับพระราชทานวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในทุลลภปุคคลกถา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เบื้องต้นแห่งการพระราชพิธีฉัตรมงคล เฉลิมราชสมบัติสิริรัชพรรษา ด้วยว่าก่อนที่จะถึงการพระราชพิธีฉัตรมงคล ในวันเป็นลำดับต่อไป สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชบูรพการี ขึ้นประดิษฐานเหนือพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปประจำพระชนมวารคู่พระบรมอัฐิประดิษฐานในพระที่นั่งบุษบกมาลา

ประกอบด้วยเครื่องบรมอิศริยราชูปโภคพร้อมสรรพ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบรมราชบูรพการี ผู้ทรงดำรงสิริราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์โดยลำดับมาในอดีตทุกพระองค์ ตามวิธีทักษิณานุปทานในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประเพณีอันกล่าวได้ว่าเป็นพระราชธรรมประเพณีเพราะเกิดขึ้นจากธรรม คือกตัญญูกตเวทิตาธรรม

สมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ ได้ทรงเป็นพระราชบูรพการีผู้ทรงมหันตคุณูปการ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เพราะได้ทรงประดิษฐาน ได้ทรงดำรงพระมหาเศวตฉัตรและพระบรมราชวงศ์ โดยสันตติสืบต่อมาโดยลำดับ จึงทรงเป็นพระบรมราชบูรพการีของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงดำรงพระมหาเศวตฉัตรเถลิงมไหศวริยราชสมบัติในปัจจุบัน

อนึ่ง สมเด็จพระบรมราชบูรพการีผู้ทรงปกครองประเทศชาติในอดีตสืบมาโดยลำดับนั้น ชื่อว่าได้ทรงเป็นพระราชบูรพการีของประเทศชาติ โดยส่วนรวม เพราะได้ทรงเป็นพระประมุข กอบกู้ประเทศชาติ ดำรงประเทศชาติ เกื้อกูลประเทศชาติให้เจริญ ได้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภ์ ได้ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และเป็นมิ่งขวัญของอาณาประชาราษฎร ประชาราษฎรชาวไทยทั้งชาติในปัจจุบันผู้เกิดมามีประเทศชาติเป็นที่รวมกันอยู่เป็นสุขโดยอิสระเสรี มีศาสนาเป็นที่นับถือ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็เพราะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในรัชสมัยนั้นๆ ได้ทรงปกป้องรักษาไว้  ฉะนั้น จึงทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นพระราชบูรพการีที่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติพึงมีความกตัญญูกตเวที แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ทรงยกย่องความกตัญญูกตเวทีว่าเป็นสัปปุริสภูมิ คือภูมิของคนดี ดังที่กล่าวไว้แล้วความว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็แหละคนดีย่อมเป็นผู้กตัญญูกตเทวี ความกตัญญูกตเวทีนี้อันคนดีรู้จัก ความกตัญญูกตเวทีนี้เป็นภูมิของคนดีโดยแท้” และได้ตรัสถึงทุลลภบุคคล คือ บุคคลที่หาได้ยากไว้ ๒ จำพวก ด้วยพระบาลีว่า เทฺว เม ภิกฺขเว ปุคคลา ทุลฺลภา โลกสฺมึ เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลหาได้ยากในโลกเหล่านี้ ๒ คือ บุพพการีและกตัญญูกตเวที บุคคลหาได้ยากในโลก ๒ นี้แล” ดังนี้

บุพพการี ได้แก่บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน กตัญญูกตเวทีได้แก่บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านได้ทำและประกาศอุปการะที่ท่านได้ทำให้ปรากฏคือตอบแทน ทั้งสองนี้เป็นคู่กัน ท่านยกขึ้นแสดงเป็นตัวอย่างไว้ ๔ คู่ คือ ในทางวงศ์สกุล มารดาบิดาเป็นบุพพการีของบุตรธิดา บุตรธิดาเป็นกตัญญูกตเวทีของมารดาบิดา ในทางการศึกษา ครูอาจารย์เป็นบุพพการีของศิษย์ ศิษย์เป็นกตัญญูกตเวทีของครูอาจารย์ ในทางอาณาจักร พระมหากษัตริย์ทรงเป็นบุพพการีของอาณาประชาราษฎร์ อาณาประชาราษฎร์เป็นกตัญญูกตเวทีของพระมหากษัตริย์  ในทางศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุพพการีของผู้นับถือทั้งปวง ผู้นับถือทั้งปวงเป็นกตัญญูกตเวทีของพระองค์  บุคคลทั้งสี่คู่นี้ยกขึ้นแสดงเป็นนิทัสสนะในฐานะที่ควรจะเป็นเช่นนั้น ในพระบาลีบทอุทเทศแสดงเป็นกลางๆ มิได้ระบุโดยเจาะจง  ฉะนั้น เมื่อแสดงตามอธิบายในพระบาลีจึงหมายถึงธรรม คือ บุพพการิตาธรรม ความทำอุปการะก่อนมีในผู้ใด ผู้นั้นก็ชื่อว่า บุพพการี กตัญญูกตเวทิตาธรรมมีในผู้ใด ผู้นั้นก็ชื่อว่ากตัญญูกตเวที ความทำอุปการะก่อน หมายถึงการให้อุปการะหรือสงเคราะห์อนุเคราะห์ทุกอย่างทุกวิธีด้วยจิตมีเมตตากรุณา เพื่อให้ผู้รับอุปการะมีความสุขปราศจากทุกข์เดือดร้อนไว้ก่อน ผู้ที่มีฐานะและโอกาสพึงทำอุปการะแก่ใครได้ แต่ไม่ทำ หรือทำก็ทำการเบียดเบียน แทนที่จะคุณเกื้อกูล เพราะมีจิตใจขาดจากเมตตากรุณา มากไปด้วยโลภ โกรธหลง เช่นนี้มีอยู่ไม่น้อย อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่ได้รับอุปการะของท่านแล้วไม่รู้คุณท่าน ลบหลู่คุณท่าน หรือตอบแทนด้วยการทำให้ท่านผู้มีคุณแก่ตนเสียหาย ดังนี้ก็มีอยู่มาก  ฉะนั้น จึงมีบุคคลขึ้น ๒ จำพวก คือบุพพเวรี ผู้ทำเวรขึ้นก่อน และปฏิเวรี ผู้ทำเวรตอบ คือเป็นคู่ศัตรูกัน ฝ่ายแรกเป็นผู้ก่อกรรมที่เบียดเบียนขึ้นก่อน ฝ่ายหลังก็ก่อกรรมเบียดเบียนขึ้นตอบโต้ บุคคลสองจำพวกนี้มีอยู่มาก ตรงกันข้ามกับบุพพการีและกตัญญูกตเวทีซึ่งหาได้ยากกว่า ถึงเช่นนั้นก็ยังหาได้เช่นบุคคลสี่คู่ที่ท่านยกเป็นนิทัสสนะ ในเมื่อได้ปฏิบัติต่อกันโดยชอบ ความสุขความเจริญทั้งปวงจึงยังมีอยู่ในโลก ความสุขความเจริญของแต่ละบุคคลย่อมเกิดจากบุพพการีตามธรรมของท่าน บุพพการีทั้งหลายตั้งต้นแต่มารดาบิดาผู้ให้กำเนิด และอุปการะเลี้ยงฟูมฟักรักษามาและครูอาจารย์ผู้ให้ศิลปวิทยา

ในทางปกครองก็ได้รับพระมหากรุณาของพระมหากษัตริย์ในทางจิตใจและความประพฤติก็ได้จากพระศาสนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังได้จากผู้มีเมตตากรุณาให้อุปการะในทางต่างๆ ถ้าไม่มีท่านบุพพการีทั้งปวงก็จะเกิดมาไม่ได้ แม้เกิดมาแล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ถึงดำรงอยู่ได้ก็ดำรงอยู่อย่างแร้นแค้นลำบาก ถึงจะมีผู้กล่าวว่าท่านทั้งปวงนั้นมิใช่บุพพการี เป็นผู้ทำไปตามหน้าที่เป็นต้น คำกล่าวนั้นก็เป็นการแกล้งกล่าวหรือกล่าวโดยมิได้รู้ถึงคุณตามเป็นจริง เป็นคำกล่าวของผู้ไร้กตัญญูโดยแท้ เพราะกตัญญูคือรู้คุณนั้นย่อมหมายถึงรู้ซาบซึ้งถึงคุณในจิตใจด้วย คือเมตตากรุณาซึ่งมีอยู่ในท่านบุพพการี การทำกิจการทั้งปวงสักแต่ว่าทำตามหน้าที่เพื่อค่าทดแทนกับการทำที่เกิดจากจิตใจกอปรด้วยเมตตากรุณา ย่อมต่างกัน การไม่นับถือคุณในจิตใจ ก็คือการไม่นับถือธรรม เป็นการลบหลู่คุณหรือธรรม เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนต่างๆ ในโลก

อนึ่ง ความสุขความเจริญของส่วนรวม ตั้งต้นแต่ความดำรงอยู่ของประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความเจริญของบ้านเมือง ความสุขสมบูรณ์ของประชาชน มีโรงเรียน โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ต่างๆ มีปริณายก คือ รัฐบาลบริหารสนองพระราชโองการโดยมั่นคงเหล่านี้เป็นต้น ย่อมเกิดจากบุพพการิตาธรรมของท่านบุพพการีทั้งหลายได้สร้างสรรค์ไว้ และดำรงรักษาเพิ่มพูนโดยลำดับมา หาไม่แล้วบุคคลรุ่นปัจจุบันก็จักไม่มีแม้แต่ความเป็นไทของตน ความสุขความเจริญอันเป็นส่วนรวมนี้เกิดจากบุพพการีบุคคลทั้งหลาย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้นำตลอดเวลาช้านาน เพราะได้ทรงมีพระบารมี ทรงตั้งอยู่ในพระราชธรรมจริยา สามารถเป็นที่พึ่งอบอุ่นใจของอาณาประชาราษฎร์ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ถือเอาแต่ใจความว่า “ขัตติยราชผู้ทรงได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ประทับอยู่ในทิศใดๆ ย่อมประทับอยู่ในรัฐที่ทรงชนะแล้วของพระองค์เท่านั้น ในทิศนั้นๆ คือ ๑. ทรงถึงพร้อมด้วยพระชาติ  ๒. มีพระคลังหลวงบริบูรณ์  ๓. มีกำลังประกอบด้วยจตุรงคเสนา ที่เชื่อฟังรับโอวาท ๔. มีปริณายกเป็นบัณฑิตผู้ฉลาด สามารถคิดพิจารณาประโยชน์อดีตและปัจจุบัน  ๕.ดำรงยศคือบรมเดชานุภาพเกิดจากสี่ข้อข้างต้น”  ต่อจากนี้ได้ตรัสธรรมที่คู่กันกับองค์ทั้ง ๕ นั้นคือ “มีศีล เหมือนอย่างถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีการสดับศึกษามากเหมือนอย่างมีพระคลังหลวงบริบูรณ์ มีความเพียรที่ได้เริ่มแล้วเพื่อละอกุศล ทำกุศล เหมือนถึงพร้อมด้วยกำลังเสนา มีปัญญารู้จักทำความทุกข์ให้สิ้นไปโดยชอบ เหมือนอย่างถึงพร้อมด้วยปริณายก มีจิตผ่องพ้นอยู่ในทิศทั้งปวง เหมือนอย่างดำรงยศคือบรมเดชานุภาพ เป็นเครื่องดำรงรักษาวิชัยคือความชนะ อันได้แก่เอกราชาธิปัตย์แห่งรัฐ” ธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมมีแก่ท่านผู้เป็นบุพพการีทั้งปวงตามภูมิชั้น  ฉะนั้น จึงต้องด้วยลักษณะของบุคคลอีก ๒ จำพวกที่ตรัสไว้ว่า “บุคคลผู้อื่น และบุคคลผู้ทำคนอื่นให้อิ่ม”

ผู้ที่ได้รับความสุขความเจริญจากการกระทำของท่านบุพพการีและเป็นผู้รู้คุณของท่านแล้ว ประกาศคือ ตอบแทนคุณท่านด้วยการกระทำตอบเป็นส่วนบุคคล หรือด้วยการทำตอบเป็นส่วนรวม ชื่อว่า กตัญญูกตเวที  อนึ่งเมื่อระลึกได้ว่าได้รับสิ่งที่ท่านบุรพชนได้สร้างสรรค์รักษาไว้ให้ จึงรักษาสิ่งที่ท่านได้ให้ไว้และสร้างสรรค์ให้ยิ่งขึ้นเพื่ออนุชนต่อไป ย่อมชื่อว่า ได้ทำตนให้เป็นกตัญญู ทั้งนี้ต้องประกอบด้วยธรรมของบุคคล ๒ จำพวกคือ ผู้อื่น และผู้ทำคนอื่นให้อิ่ม ดังนี้

สมเด็จพระบรมราชบูรพการีโดยลำดับรัชสมัย ทรงประกอบด้วยพระสมบัติบารมีธรรมนำให้ทรงถึงพร้อมด้วยองค์ทั้ง ๕ มีความถึงพร้อมด้วยพระชาติ เป็นต้น และทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ข้ออันเทียบกันตามควรแก่พระราชธรรมจริยา ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญเป็นอันมาก จึงทรงเป็นพระราชบูรพการีเป็นที่ปรากฏอยู่แก่ใจของกตัญญูกตเวทีบุคคลทั่วทุกคนทุกสมัย

สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระราชปรารภอภิลักขิตมงคลกาลแห่งพระราชพิธีฉัตรมงคลเฉลิมราชสมบัติสิริรัชพรรษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีทักษิณานุปทาน ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบูรพการีโดยพระราชคารวการ ด้วยกำลังพระกตัญญูกตเวทิตาคุณ ชื่อว่าได้ทรงแสดงคารวะอปจายนธรรม และทรงปฏิบัติสัปปุริสธรรม ตามพระพุทธศาสโนวาทพระราชกรณีที่ทรงปฏิบัติ ย่อมเป็นเครื่องกางกั้นสรรพพิบัติอนิฏฐผล อำนวยสรรพสมบัติอิฏฐผล ทั้งเป็นเครื่องอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมด้วยบรมราชาไชศวรรยาธิปัตย์ให้สถิตสถาพรเกษมสวัสดี ขออำนาจพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ได้ทรงบำเพ็ญให้ตั้งอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์ และทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบูพการี ทั้งนี้จงสัมฤทธิ์วิบากสมบัติเป็นไปเพื่อเกื้อกูลเพื่อสุข แด่สมเด็จพระบรมราชบูรพการีสมตามพระบรมราชอุทิศ

ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย อานุภาพพระราชกุศลบารมีบุญญาธิการและอานุภาพแห่งสมเด็จพระบรมราชบูรพการี จงอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และบรมราชโอรส พระราชธิดา ให้ทรงพระเจริญด้วยสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล แผ่พระบรมโพธิสมภารบารมีเป็นที่ร่มเย็น แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท เสวกามาตย์ ราชบริพาร สมณชีพราหมณ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป

รับพระราชทานวิสัชนา พระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี ยุติด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร


* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในการพระราชกุศลทักษิณานุปทานเบื้องต้น แห่งพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘





ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

เย ธัมมาติปภูติกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณติ

บัดนี้ จักถวายวิสัชชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระกุศลราศีทักษิณานุปทาน ที่พระวรวงศบพิตร พร้อมด้วยพระชายาได้ทรงบำเพ็ญอุทิศถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัธยาจารย์ ในสัตตมวารที่เวียนมาถึงโดยลำดับ นับเป็นสัตตมวารที่ ๑๖ แต่วารเป็นที่สิ้นพระชนม์แล้ว

การที่พระวรวงศบพิตรพร้อมด้วยพระชายา ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวาย ทั้งนี้ เป็นการทรงทำการบูชาด้วยพระคารวะอย่างยิ่งแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระอุปัธยาจารย์ ผู้เจริญด้วยพระวุฒิสมบัติโดยประการทั้งปวง จึงเป็นมงคลเหตุให้ถึงความเจริญ ดังพระพุทธภาษิตในมงคลสูตรว่า ปูชา จ ปูชนียานํ การบูชาท่านผู้ควรบูชา เอตฺมมงฺคลมุตฺตมํ ข้อนี้เป็นมงคลอันอุดม ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้ทรงเป็นที่เคารพนับถือในพระราชวงศกุล นับแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทุกรัชกาลโดยลำดับมา ได้ทรงเป็นที่เคารพนับถือแห่งอำมาตยวงศกุลตลอดถึงพุทธศาสนิกวงศกุลทั่วไป โดยเฉพาะได้เป็นที่เคารพนับถือในพระวรวงศบพิตรอย่างยิ่ง ได้ทรงถึงเป็นพระอุปัธยาจารย์ เมื่อทรงผนวชในคราวนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้ประทานพระโอวาทแก่นวกภิกษุด้วยความตั้งพระหฤทัยให้สมบูรณ์ ประจวบเวลาที่มีพระอนามัยแห่งพระวรกายยังปกติเรียบร้อย จึงประทานพระโอวาทได้ตลอดพรรษากาลโดยเรียบร้อยสมบูรณ์ทุกข้อและหมวดธรรมที่ควรประทานแก่นวกภิกษุ พึงสังเกตได้ว่า ได้ตั้งพระหฤทัยเพื่อถวายแด่พระวรวงศบพิตรเป็นพิเศษ ได้มีนวกภิกษุจดพระโอวาทที่ประทานทุกครั้งด้วยชวเลข แล้วคัดถวาย ทรงตรวจแล้วขอประทานพระอนุญาตพิมพ์ขึ้น ด้วยพระอุปถัมภ์ของพระวรวงศบพิตร สำเร็จเป็นหนังสืออนุสรณ์ที่มีค่ายิ่งของนวกภิกษุศกนั้น และเป็นหนังสือที่อำนวยประโยชน์เป็นที่นิยมของนักศึกษาและปฏิบัติธรรมทั่วไป

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อทรงได้บรรพชาอุปสมบท ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอุปัธยาจารย์มิให้บกพร่อง สม่ำเสมอโดยลำดับปีมา ไม่ทรงแสดงเหนื่อยหน่าย สมด้วยอรรถของอุปัชฌาศัพท์ ที่พระอาจารย์แสดงไว้ว่า วชฺชาวชฺชํ อุปนิชฺฌายตีติ อุปชฺฌา ชื่อว่าอุปัชฌา เพราะอรรถว่าคอยดูแลโทษน้อยโทษใหญ่ คือคอยดูแลป้องกันบำบัดโทษทั้งปวง ดังนี้ในสมัยหลัง เมื่อพระวรกายถึงทุพพลภาพ ไม่อาจประทานพระโอวาทได้ตลอด ก็ทรงพยายามประทานแม้น้อยครั้ง เพราะทรงเห็นตามสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่เคยตรัสไว้แก่พระองค์ว่า เป็นอุปัชฌาย์แล้วไม่ได้สอนพระที่บวชใหม่เอง ก็เหมือนเป็นมารดาแล้วมิได้เลี้ยงบุตรด้วยขีโรทกของตนเอง นอกจากนี้ได้ทรงเห็นเป็นสำคัญจริง ในกรณียะหน้าที่อันเป็นกิจพระศาสนา ทรงถือว่าเมื่ออาศัยอยู่ในวัดในพระศาสนา ก็ต้องช่วยทำกิจของวัดของพระศาสนา ไม่ปลีกตัวทอดทิ้ง ไม่เอาเป็นธุระ เมื่อคราวทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกก็เพราะทางฝ่ายราชอาณาจักรนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบทูลอาราธนาขอให้ทรงช่วยภารธุระพระพุทธศาสนา จึงทรงรับช่วยภารธุระพระพุทธศาสนา ตามจรรยาของพระพุทธสาวกตั้งแต่ต้นมา เหตุฉะนี้ พระพุทธศาสนาจึงดำรงสืบต่อมาได้โดยลำดับ

ตามพระพุทธศาสนประวัติ พระพุทธสาวกทั้งหลายได้รับภารธุระพระพุทธศาสนาจากพระบรมศาสดา ด้วยพระพุทธาณัติให้เที่ยวไปประกาศพระพุทธศาสนาในชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก จึงได้จาริกเที่ยวไปประกาศพระพุทธศาสนาช่วยพระบรมศาสดาตั้งแต่ปฐมโพธิกาล ปรากฏตอนหนึ่งว่า เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันใกล้กรุงราชคฤห์ พระอัสสชิเถระซึ่งเป็นรูปหนึ่งใน ๕ รูป ที่เรียกว่าปัญจวัคคีย์ ได้เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระสารีบุตรเถระเมื่อยังเป็นปริพพาชกชื่อว่าอุปติสสะ ได้เห็นท่านมีอาการน่าเลื่อมใสจึงติดตามไปจนถึงที่อยู่ เมื่อได้โอกาสสมควรแล้ว จึงถามท่านว่าท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร เมื่อท่านตอบให้ทราบว่า พระมหาสมณะผู้เป็นโอรสแห่งศากยะ ออกผนวชจากศากยสกุลแล้ว จึงถามท่านสืบไปว่า พระศาสดาของท่านสั่งสอนอย่างไร ท่านได้แสดงโดยย่อ ดังคาถาที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ ที่ยกเป็นบทอุทเทศ ณ เบื้องต้นว่า


เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

แปลโดยนัยหนึ่งว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้ อุปติสสะได้ฟังแล้วได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทฺยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ต้องมีความดับเป็นธรรมดา

คาถาของพระอัสสชินี้แสดงย่อพระพุทธศาสนาด้วยใช้ถ้อยคำนั้นๆ เพียงคาถาเดียว แต่มีความกว้างขวางเพียงพอแก่ปัญหาว่า พระศาสดาของท่านสั่งสอนอย่างไร ที่น่าจะตอบให้จบให้เพียงพอได้โดยยาก แต่พระอัสสชิตอบให้จบได้ใจความเพียงพอด้วยใช้ถ้อยคำไม่กี่คำ จึงเป็นคาถาที่นิยมนับถือกันมาว่าเป็นหัวใจอริยสัจ และเป็นตัวอย่างดีของการพูดสั้นแต่จุดความกว้างเพียงพอ อันเป็นคุณสมบัติประการหนึ่ง แม้ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า คาถานี้สรุปพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ควรพิจารณา

พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นสามัญ แสดงเหตุผลตามที่เป็นจริง หรือความจริงตามเหตุผล ที่อาจพิจารณาเห็นได้ที่ตนนี้เอง สมดังพระธรรมคุณบทหนึ่งว่า สนฺทิฏฺฐิโก ธรรมอันบุคคลพึงเห็นได้เอง เพราะถ้าแสดงนอกไปจากตน ตนก็ไม่อาจเห็นได้ เว้นไว้แต่จะเชื่อไปอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนอย่างลัทธิศาสนาที่สอนให้เชื่อโดยมิต้องพิสูจน์โดยมาก เหตุผลอันมีอยู่ที่ตนดังกล่าวนี้ ทางพระพุทธศาสนาจำแนกเป็น ๒ คือ เหตุผลฝ่ายชั่ว อันเรียกว่า อกุศล ๑ เหตุผลฝ่ายดีอันเรียกว่า กุศล ๑  เหตุผลฝ่ายอกุศลนั้น ได้แก่อกุศลมูล มูลรากของอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ อกุศลกรรม คือกรรมชั่วหรือทุจริตต่างๆ เป็นผลเรียกว่าอกุศลคือไม่ดี ก็เพราะมีโทษอันบัณฑิตติเตียน มีทุกข์เดือดร้อนเป็นผลต่อไป บุคคลอาจพิจารณาเห็นว่าเป็นอกุศลจริงได้ด้วยตนที่ตนเอง ส่วนเหตุผลฝ่ายกุศลนั้น ได้แก่กุศลมูล มูลรากของกุศลคือความไม่โลภ ความไม่โกรธประทุษร้าย ความไม่หลงเป็นเหตุ กุศลกรรมคือกรรมดีหรือสุจริตต่างๆ เป็นผลเรียกว่า กุศล คือดีเพราะไม่มีโทษ และมีสุขเป็นผลต่อไป บุคคลอาจพิจารณาเห็นว่าเป็นกุศลจริงได้ด้วยตนที่ตนเอง แต่สิ่งที่มีเหตุผลนั้น ต้องพิจารณาโดยเหตุผล อย่างมีเหตุผล จึงจะเห็นเหตุผลตามความเป็นจริง ในชั้นนี้ อาจสงเคราะห์เข้าคาถาของพระอัสสชิเถระได้ดังนี้ กรรมที่เป็นอกุศลทุจริตต่างๆ พร้อมทั้งความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดสืบเนื่องจากกรรมเช่นนั้น ชื่อว่าเป็นธรรมที่เกิดจากเหตุคือเป็นผลนั้นเอง ในฝ่ายชั่วพระตถาคตทรงแสดงเหตุของผลเช่นนี้ไว้แล้ว คืออกุศลมูลดังกล่าว

อีกอย่างหนึ่ง กรรมที่เป็นกุศลสุจริตต่างๆ พร้อมทั้งสุขสมบัติต่างๆ ที่เกิดสืบเนื่องจากกรรมเช่นนั้น ชื่อว่าเป็นธรรมเกิดแต่เหตุในฝ่ายดี พระตถาคตทรงแสดงเหตุของผลนี้ไว้แล้วเหมือนกันคือกุศลมูล และทรงแสดงความดับของผลเหล่านั้น คือทรงแสดงให้ดับเหตุคืออกุศลมูล เมื่อเหตุดับแล้ว ผลคือกรรมชั่วพร้อมทั้งความเดือดร้อนต่างๆ ก็ดับไปตามกัน คำสั่งสอนนี้เกื้อกูลสัมมาปฏิบัติทั้งในคดีโลกทั้งในคดีธรรม คือเมื่อประสงค์จะดับเรื่องใด ก็ต้องค้นหาเหตุของเรื่องนั้น และดับที่เหตุอันเป็นมูลจึงจะดับเรื่องนั้นได้ แต่ในชั้นนี้ สอนให้ดับแต่ในฝ่ายอกุศล ส่วนในฝ่ายกุศล สอนให้ก่อที่เรียกว่า ภาวนา คือทำให้มีขึ้นและเมื่อก่อเหตุ ผลก็ก่อขึ้นตามกัน กุศลคือฝ่ายดีนี้ต้องก่อเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะเต็มดีหรือสุดดี จึงจะเสร็จกิจ ถ้ายังไม่สุดดี ก็ยังทำดีไม่จบ  ฉะนั้น พระบรมศาสดาถ้าจักทรงแสดงธรรมเพียงละชั่วทำดีเท่านั้น ก็ชื่อว่ายังแสดงธรรมไม่จบ จึงทรงแสดงธรรมให้จบลงด้วยชั้นสุดดีหรือเต็มดี จริงอยู่คนที่หวังชั่วย่อมไม่หวังดี  อนึ่ง คนที่ยังต้องการดี ก็เพราะยังดีไม่พอ ดียังไม่สมบูรณ์ ดียังไม่ถึงที่สุด ถ้าดีถึงที่สุด เต็มดี สุดดีแล้ว ก็ไม่ต้องการดี ธรรมชั้นนี้ เรียกว่า ปรมัตถะ ความจริงเป็นธรรมสามัญนั่นเอง แต่เป็นสามัญในชั้นนั้น

ในชั้นปรมัตถะนี้ พระบรมศาสดาทรงประกาศอริยสัจ จริงอย่างประเสริฐ คืออย่างแท้ คือทุกข์ ทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด  ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจนี้ ได้แก่ผลทั้งปวงที่บุคคลเสวยอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ยาก แปรปรวนไปเป็นธรรมดา และมิใช่ตน และซึ่งเกิดจากทุกขสมุทัย พระบรมศาสดาทรงชี้ตัณหา ความดิ้นรนแห่งใจหรือความทะยานอยากว่าเป็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เข้าในคำของพระอิสสชิเถระว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น คือตรัสตัณหาว่าเป็นเหตุของผลที่เป็นทุกข์ทั้งหมด นี้เป็นสายสมุทัยคือสายเกิดทุกข์ และทรงแสดงนิโรธ ความดับทุกข์ดังกล่าวแล้วว่าเป็นผลของเหตุข้อปฏิบัติที่เรียกสั้นว่า มรรค ซึ่งเป็นทางอันเดียว แต่มีองค์ประกอบกัน ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น นี้เป็นสายนิโรธ คือสายดับทุกข์ เข้าในคำของพระอัสสชิเถระว่า และตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น ฉะนั้น คาถาของพระอัสสชิเถระจึงประมวลอริยสัจไว้สมบูรณ์ทั้งสายสมุทัย ทั้งสายนิโรธ

ในอริยสัจนี้ มิได้แสดงว่ากุศลอกุศล แต่แสดงสัจจะโดยตรง เพราะธรรมที่แสดงกุศลอกุศลนั้นเกี่ยวแก่บุคคลเป็นที่ตั้ง คือ เป็นดีหรือเป็นชั่ว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคล เพราะเกี่ยวแก่กรรม ส่วนธรรมในอริยสัจเกี่ยวแก่สัจธรรมโดยตรง แต่ก็แสดงที่บุคคลนั้นเอง

อนึ่ง ในอริยสัจจ์นี้ ทุกข์เป็นปริญเญยยธรรม ธรรมที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นปหาตัพพธรรม ธรรมที่ควรละ นิโรธเป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง มรรค เป็นภาเวตัพพธรรม ธรรมที่ควรภาวนา คือทำให้มีขึ้น แม้เป็นภาวนา ก็เป็นไปเพื่อดับทุกข์ จึงจัดเข้าในสายดับ พระบรมศาสดาตรัสว่าอริยสัจนี้เป็นที่ประมวลพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น เหมือนอย่างรอยเท้าช้างเป็นที่ประมวลรอยเท้าสัตว์เดินดินทั้งสิ้น  ฉะนั้น คาถาของพระอัสสชิเถระซึ่งประมวลอริยสัจไว้ทั้งหมด จึงชื่อว่า ประมวลพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นไว้ด้วยประการฉะนี้

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ปรากฏว่ามีปกติตรัสใช้ถ้อยคำน้อยแต่จุความกว้าง แม้ในการแสดงธรรมหรือประทานพระโอวาท ก็โปรดใช้ถ้อยคำสั้นน้อย แต่จุความเพียงพอและถูกตรงแก่อรรถของธรรมนั้นๆ อาจกล่าวได้ว่า โปรดรับสั่งสั้นและตรงไม่โปรดยาวและอ้อมค้อม แม้ในพระปฏิปทา ก็โปรดปฏิบัติในทางย่อเรื่อง ไม่ให้มากเรื่อง ไม่ให้เรื่องยาว โปรดปฏิบัติมิให้มีเรื่องเสียเลย เพราะทรงใช้วิธีปฏิบัติดับเหตุของเรื่องยุ่งยากต่างๆ ด้วยพระปรีชาสามารถ เรื่องโดยมากที่ใหญ่โต ถ้าได้พิจารณาดับต้นเหตุที่เล็กโดยมากเสียแล้ว ก็จะไม่เกิดขึ้น แม้จะทรงรับภารธุระมากมายหลายหน้าที่ ก็ไม่ทรงหนัก แม้จะเกิดอาพาธกล้าแก่พระวรกายก็ไม่ทรงเพียบ แม้จะทรงเผชิญเรื่องยุ่งยาก ก็ไม่ทรงจนทาง ทรงมีวิธีปลงให้เบาสบาย มีทางออกให้รอดพ้น ดั่งที่เรียกว่า นิยยานิกธรรม เป็นอันว่าได้ทรงมีปฏิปทาในทางย่อทุกข์ด้วยการย่อเหตุของเหตุ ดับเหตุของทุกข์โดยสามารถ

พระวรวงศบพิตร ทรงประกอบด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวาย ก็พึงเห็นสมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ภูมิ เว สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทิตาเป็นภูมิของสาธุชน ดังนี้

ขออำนาจพระกุศลราศีทักษิณานุปทาน ที่พระวรวงศบพิตรพร้อมด้วยพระชายาได้ทรงบำเพ็ญถวายทั้งนี้ จงเป็นผลสัมฤทธิ์เป็นสุขวิบากบูชา ดุจได้ทรงถวายบูชาเมื่อทรงดำรงอยู่แด่สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัธยาจารย์และชื่อว่าได้ถวายบูชาโดยพระสังฆรัตนะโดยฐานะฯ ถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติลง เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

ขอถวายพระพร 


* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในการทรงบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทาน ถวาย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิจ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 กันยายน 2562 14:18:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 16 สิงหาคม 2562 18:00:39 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
เถรกรณธรรมกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ            อหึสา สญฺญโม ทโม
ส เว วนฺตมโล ธีโร      โส เถโรติ ปวุจฺจตีติ ฯ

บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในเถรกรณธรรมกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปแด่พระกุศลทักษิณานุปทานที่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์และสมเด็จพระเชษฐภคินีบพิตร เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้ทรงบำเพ็ญอุทิศถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในสัตตมวารที่ ๒ แต่วันเสด็จสิ้นพระชนม์ ในการนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการทรงบำเพ็ญพระกุศลทั้งนี้ (แทนสมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระเชษฐภคินีบพิตร ซึ่งยังประทับอยู่ ณ ต่างประเทศ)

การพระราชกุศลที่สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงบำเพ็ญนี้ เป็นไปตามวิธีในพระพุทธศาสนา เป็นทานมัยบุญ บุญสำเร็จด้วยทาน เพราะทรงทำการบริจาคบ้าง เป็นสีลมัยบุญ บุญสำเร็จด้วยศีล เพราะทรงสมาทานสีลมัยบ้าง เป็นภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยภาวนา เพราะทรงตั้งพระหฤทัยสดับพระธรรมเทศนาบ้าง ทางพระพุทธศาสนาแสดงว่า บุญที่ได้บำเพ็ญแล้วเมื่อผู้บำเพ็ญอุทิศส่วนให้แก่ผู้อื่น ย่อมเกิดเป็นบุญขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกปัตติทานมัยบุญ บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ และเมื่อผู้อื่นนั้นได้ทราบและได้อนุโมทนาก็เกิดเป็นบุญขึ้นอีกอย่างหนึ่งเรียกอนุโมทนามัยบุญ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา ส่วนบุญแก่ผู้อนุโมทนานั้นเอง และผู้อนุโมทนานั้นก็ได้รับผลแห่งอนุโมทนามัยบุญของตน  นอกจากนี้ การที่ทรงบำเพ็ญพระกุศลนี้ยังเป็นการทรงแสดงความคารวะบูชาอย่างยิ่งในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ตามควรแก่สมัย

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงเพียบพร้อมด้วยพระวุฒิสมบัติ เป็นที่พึงเคารพบูชาอย่างยิ่ง เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยพระชาติสมบัติ พระคุณสมบัติ พระธนสมบัติ โดยพระชาติ ได้ทรงสมภพโดยขัตติยชาติในเบื้องต้น และได้ทรงบรรพชาอุปสมบทโดยอริยชาติตามพระธรรมวินัยในลำดับมา โดยพระคุณได้ทรงประพฤติการที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่พระองค์ (อัตตหิตะ) บ้าง การที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่น (ปรหิตะ) บ้าง ในการที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่พระองค์นั้น ได้ทรงศึกษาเล่าเรียนตามสมัย และทรงได้รับการอบรมมาด้วยดี ทำให้ทรงมีความรู้ความสามารถและความประพฤติดีมาตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อได้ทรงเข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้แล้ว ก็ได้ทรงตั้งพระหฤทัยศึกษาพระปริยัติธรรม และปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ทั้งได้ทรงสนพระหฤทัยในวิชาการบางอย่าง เช่นภาษาวรรณคดี กวีนิพนธ์ตลอดถึงตำรายาเกร็ดของหทย ส่วนในการที่เป็นคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่นนั้น ได้ทรงร่วมปฏิบัติกิจการของมหามกุฏฯ ได้ทรงร่วมจัดการศึกษาในหัวเมือง และได้ทรงร่วมช่วยในการปกครองคณะสงฆ์ กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยทรงเป็นนักเรียนของมหามกุฏฯ เป็นครูของมหามกุฏฯ เป็นกรรมหามกุฏฯ เป็นนายกกรรมการมหามกุฏฯ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดขอให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประธานจัดการศึกษาในหัวเมือง ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ต่อมา เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ได้ทรงเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี และมณฑลอื่นในต่อมา ในการปกครองคระสงฆ์ส่วนกลางได้ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้ทรงเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมในคราวหนึ่ง และในสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ ได้ทรงเป็นประธานคณะวินัยธร ในทางการวัดและการคณะธรรมยุต เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ทรงปกครองวัดนี้สืบต่อไป ได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรและทรงอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา ได้ทรงช่วยในการบริหารคณะธรรมยุตตามลัทธิจารีตของคณะ ซึ่งขึ้นตรงต่อเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในลำดับมา ในส่วนสมณศักดิ์ได้ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ตั้งแต่ต้นมาโดยลำดับจนถึงสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตติกา แต่ได้ทรงบัญชาการคณะธรรมยุตเต็มที่ ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ได้ทรงมอบ และได้สิ้นพระชนม์แล้ว ต่อมา ในรัชกาลที่ ๘ ได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก สืบมาถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่ง คือได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ในคราวที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าเสด็จออกทรงพระผนวช และได้ประทับบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ ณ วัดบวรนิเวศวิหารนี้ตลอดเวลา ๑๕ วัน เป็นที่เจริญพระราชศรัทธาปสาทาธิคุณในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ต่อมา ได้โปรดสถาปนาให้ทรงกรม เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงในพระราชทินนามเดิม เป็นที่ทรงบูชาสักการะอย่างยิ่งเป็นพิเศษ  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเจริญด้วยพระคุณาสังการอื่นๆ อีกมาก ทั้งมีพระวัยวุฒิสูง พระวุฒิสมบัติทุกประการ ประกอบกันทำพระองค์ให้เป็นผู้สมควรเป็นองค์พระประมุขสงฆ์ เป็นผู้สมควรเคารพบูชาแห่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ดังที่ประจักษ์อยู่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเจริญด้วยพระวัยสมบัติยิ่งขึ้น พระโรคาพาธก็บังเกิดเบียดเบียนพระวรกายมากขึ้นตามกัน จนถึงต้องเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และต้องทรงได้รับการผ่าตัดหลายครั้ง ถึงอย่างนั้น ก็ยังทรงผ่านพ้นอันตราย ทรงดำรงพระชนม์สืบมาได้โดยลำดับด้วยพระหฤทัยอันเข้มแข็ง กับด้วยความเฝ้ารักษาพยาบาลเป็นอย่างดีในพระบรมราชูปถัมภ์โดยพร้อมเพรียงทุกประการ แต่พระโรคาพาธก็บังเกิดทับทวีขึ้นโดยลำดับ จนสิ้นวิสัยที่พระวรกายจะดำรงอยู่ได้ จึงเสด็จสิ้นพระชนม์ดับไปตามธรรมดา เฉพาะพระพักตร์สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ซึ่งได้รีบเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเฝ้าอยู่จนวาระสุดท้าย แล้วโปรดฯ ให้จัดการพระศพด้วยพระอิสริยยศอย่างสูง และทั้งทางราชสำนักทั้งทางบ้านเมือง ก็ได้ถวายความเคารพตามวิธีนิยม

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า แม้เสด็จสิ้นพระชนม์แล้ว เพราะพระวรกายต้องสลายไปตามธรรมดาของสังขาร แต่พระคุณยังดำรงอยู่ เหมือนดังที่ปรากฏอยู่ในจิตใจของบรรดาบุคคลผู้รู้จักคุ้นเคย โดยเป็นพระคุณลักษณะพิเศษนั้นๆ แต่การบรรยายพระคุณตามที่บุคคลต่างๆ รู้จักอาจไม่ยุติ หากบรรยายอาศัยพระพุทธภาษิตอาจยุติได้โดยปริยายหนึ่ง ได้ทรงประกอบด้วยพระคุณคือ ความจริง ความตรง ความเป็นธรรม ความมีเมตตา ความสำรวม ความข่มใจ พระคุณเหล่านี้เป็นเครื่องชำระมลทินโทษ ทำให้พระองค์ทรงเป็นพระเถระที่แปลว่าผู้มั่นคงตามธรรม สมด้วยนัยพระพุทธภาษิต ณ เบื้องต้นว่า ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ เป็นต้น แปลความว่า สัจจะ ๑  ธรรม ๑  อหิงสา ๑  สัญญมะ ๑  ทมะ ๑  มีในผู้ใด ผู้นั้นแลเป็นผู้ทรงปัญญา



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวราภรณ์ ในการพระกุศลทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลทรงบำเพ็ญ ในสัตตมวารที่ ๒ แต่วันสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร  วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๑




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------
อัปปมาทกถา*  
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ            ปุญฺญกิริยาสุ ปณฺฑิตาติ

บัดนี้ จักถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ในทักษิณานุปทานกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ด้วยสมเด็จพระภคินีบพิตร เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้ทรงปรารภพระชนมายุที่เจริญมาโดยลำดับ นับได้ ๓ รอบปี คือ ๓๖ พรรษาบริบูรณ์ จึงทรงกำหนดการทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุ ในเบื้องต้นได้ทรงกำหนดบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทาน น้อมอุทิศถวายสมเด็จพระบุรพการีพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อเป็นสิริสวัสดิพัฒนมงคลยิ่งขึ้นสืบต่อไป

อันอายุหรือชีวิตทั้งปวงย่อมมีบุพพการีผู้ทำอุปการะก่อน คือชนกชนนี หรือมารดาบิดาเป็นเบื้องต้น เมื่อสืบขึ้นไป ก็ย่อมมีบุพพาการีสูงๆ ขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังอาศัยบุคคลผู้อุปการะอื่นๆ อีกมาก อายุที่เจริญมาจึงเนื่องกับผู้อุปการะในทางต่างๆ เป็นอันมาก และความมีอายุเจริญถือว่าเป็นพร ผลอันประเสริฐ เป็นมงคล เหตุให้บรรลุถึงความเจริญ หรือผลเจริญ เป็นที่ปรารถนาต้องการกันทั่วไป เมื่ออายุดำเนินมาครบปีครบรอบโดยลำดับ ก็เป็นที่ยินดี และทำการฉลองต่างๆ แต่ผู้มีศรัทธาและปัญญาในพระพุทธศาสนาย่อมนิยมบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ท่านผู้เป็นต้นเดิมและผู้อุปการะอายุให้ดำเนินมาส่วน ๑  บำเพ็ญกุศลฉลองอายุส่วน ๑  ทั้ง ๒ ส่วนเมื่อบำเพ็ญให้เป็นไปด้วยดีแล้ว ย่อมเป็นพร เป็นมงคล บังเกิดเพิ่มเติมแก่อายุ ยังอายุให้วัฒนะสถาพรสืบต่อไปตลอดกาลนาน

สมเด็จพระภคินีบพิตร ได้ทรงมีพระชนมายุเจริญมา นับว่าเป็นพร เป็นมงคล และทรงปรารภพระชนมายุที่เป็นพรเป็นมงคลนี้ ว่าทรงได้มาด้วยอาศัยสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นเบื้องต้น ทรงระลึกถึงพระราชคุณูปการ และพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาพระกรุณานี้ชื่อว่ากตัญญู รู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้ว คือรู้พระคุณท่าน  ครั้นแล้ว ทรงบำเพ็ญพระกุศลน้อมอุทิศถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ นี้ชื่อว่า กตเวที ประกาศอุปการะที่ท่านได้ทำแล้ว คือทำการสนองตอบแทนพระคุณท่าน ความกตัญญูกตเวทีนี้เป็นพรเป็นมงคลส่วนเหตุ อันจะเกิดพรมงคลส่วนผล สืบต่อพระชนมายุแห่งสมเด็จพระภคินีบพิตรให้เจริญส่วนหนึ่ง แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ได้ตรัสไว้ว่า ภูมิ เว สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นภูมิชั้นของสาธุชนคนดี ดังนี้

อนึ่ง ท่านผู้ประสงค์ย่อมอุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วแก่เทพดา เรียกว่า บำเพ็ญเทวตาพลีอีกด้วย แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ให้ไว้ในลิจฉวีอปริหานิยธรรมสูตรข้อหนึ่ง แปลความว่า กุลบุตรย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเทพยดาผู้รับที่ดี เทพดานั้นอันกุลบุตรนั้น สักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยใจอันงามว่า ขอท่านจงเป็นอยู่ยืนนาน จงรักษาอายุให้ยืนยาวเถิด กุลบุตรนั้น อันเทพดาอนุเคราะห์ดังนั้นแล้ว อาจหวังความเจริญได้ ไม่มีความเสื่อม ดังนี้

สมเด็จพระภคนีบพิตร เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทาน ณ บัดนี้ (ในวันนี้) แล้วก็กำหนดจักทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุต่อไป (ในวันพรุ่งนี้) เป็นอันได้ทรงอาศัยพรมงคลบำเพ็ญพรมงคล ต่อพรมงคลบริบูรณ์ตามทางพระพุทธศาสนา เพราะพรมงคลทั้งปวงในพระพุทธศาสนานั้น ส่วนผลมีอายุเป็นต้น ก็เกิดจากส่วนเหตุคือบุญกุศล  ฉะนั้น บัณฑิตคือคนดีคนฉลาดทั้งหลายจึงสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ ดังพระพุทธานุสาสนีที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้น ว่า อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปุญฺญกิริยาสุ ปณฺฑิตา  แปลความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยา ดังนี้

คำว่า บุญ เป็นชื่อของความสุข ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสเตือนไว้ว่า “ท่านทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่าบุญเป็นชื่อของความสุข”  ดังนี้ ฉะนั้น บุญมีอยู่ในบุคคลใดในที่ใด บุคคลนั้นที่นั้นก็มีสุข แม้จะขัดข้องบ้าง ก็ไม่นาน เพราะบุญเป็นสิริที่ชักนำโภคสมบัติทั้งปวง ดังพระพุทธภาษิตว่า “สิริ โภคานมาสโย” สิริเป็นที่อาศัยแห่งโภคะทั้งหลาย” นี้เป็นบุญส่วนผล ใครๆ ก็จะแข่งกันในผลนี้มิได้ ดังคำเก่าว่า แข่งวาสนามิได้ แต่ก็เกิดจากบุญส่วนเหตุที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของบุญส่วนผลนั้นได้ทำไว้แล้วเอง ดังมงคลข้อว่า “ปุพฺเพกตปุญฺญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในกาลก่อน” บุญที่เป็นส่วนเหตุนี้แปลว่าเครื่องชำระฟอกล้าง คือความดีอันเป็นเครื่องชำระฟอกล้างความชั่ว กล่าวสั้น บุญก็คือความดี บุญกิริยา การทำบุญ ก็คือ ทำความดี โดยย่อมี ๓ คือ

๑. ทาน การให้ การบริจาค เพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ บูชา เพื่อกำจัดความโลภ ความตระหนี่ในจิตใจ
๒. ศีล ความประพฤติเป็นปกติเรียบร้อยดีงามทางกายทางวาจา ด้วยความตั้งใจงดเว้นความประพฤติชั่วประพฤติผิดต่างๆ เป็นเครื่องกำจัดโทสะในจิตใจ
๓. ภาวนา ความอบรมใจให้สงบตั้งมั่น อบรมปัญญาให้รู้เห็นถูกต้องตามเป็นจริง เป็นเครื่องกำจัดโมหะความหลงในจิตใจ บุคคลผู้ประมาทปราศจากสติย่อมกลัวบุญ เกลียดบุญ เมินเฉย ไม่ประสงค์บุญ แต่ย่อมพอใจในการทำบาปต่างๆ อันตรงกันข้าม ส่วนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีสติรักษาตน ย่อมไม่กลัวบุญ ไม่เกลียดบุญ ไม่เมินเฉยในบุญ ย่อมขวนขวายประกอบการบุญต่างๆ ตามโอกาสตามสามารถ  ฉะนั้น คนดีคนฉลาดทั้งหลายจึงสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลายด้วยประการฉะนี้

สมเด็จพระภคินีบพิตร ได้ทรงอาศัยพรมงคลอาศัยบุญ ทรงบำเพ็ญพรมงคล ทรงบำเพ็ญบุญ อันรวมลงในทาน คือ ภาวนา ทรงน้อมอุทิศส่วนพระกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาคุณ ขออำนาจพระกุศลทักษิณานุปทานทั้งนี้ ที่ตั้งอยู่ดีแล้วในพระสงฆ์ จงเป็นผลสัมฤทธิ์ๆ สำเร็จเป็นพระราชหิตสุขแด่สมเด็จพระราชบุรพการี พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมตามที่ทรงตั้งพระหฤทัยอุทิศถวายโดยฐานะทุกประการ



* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ถวายสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในการที่ทรงบำเพ็ญในเบื้องต้นแห่งการบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๓ รอบปี คือ ๓๖ พรรษาบริบูรณ์ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๔
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 30 กันยายน 2562 17:42:13 »




ญาณสังวรธรรม
เทศนาพิเศษ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
-----------------------------------------

อาโรคยปรมาลาภาทิกถา*
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อาโรคฺยปรมา ลาภา       สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ
วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขนฺติ

บัดนี้ จักถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนา ฉลองพระเดชพระคุณ ประดับพระปัญญาบารมี อนุรูปพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์สภานายิกา สภากาชาดไทย เป็นประธานได้ทรงบำเพ็ญ เป็นส่วนของสภากาชาด พร้อมทั้งบุคคลผู้เป็นเจ้าหน้าที่สภากาชาด เพื่อถวายส่วนกุศลแก่ หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ในสัตตมวารที่สอง จำเดิมแต่ถึงชีพิตักษัย เพื่อสนองพระอุปการคุณที่หม่อมเจ้าจงกลนีทรงมีแก่สภากาชาดเป็นอันมาก ตามสมควรแก่สมัย

หม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์ ได้ทรงเป็นธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์) ทรงได้รับการอบรมให้เพียบพร้อมด้วยพระคุณสมบัติแห่งขัตติยานี และพระคุณธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ได้ทรงมีพระเมตตากรุณาที่จะช่วยคนไข้เจ็บ และคนผู้ขัดข้องในทางต่างๆ กับทั้งที่จะช่วยส่งเสริมการศึกษาในวิชาการที่เป็นประโยชน์ และได้ทรงพระศรัทธาที่จะบำรุงวัด และพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงบริจาคเพื่อให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก กล่าวเฉพาะที่ทรงบำเพ็ญกุศลบริจาคแก่สภากาชาด พ.ศ.๒๔๖๖ บริจาคเงิน ๖,๐๐๐ บาท สร้างตึก “วัฒนวงศ์” ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทย พ.ศ.๒๔๘๙ ยกที่ดิน ๓๐ ไร่ ถนนราชปรารภ ให้เป็นมูลนิธิ “จงกลนีนิธิ” เก็บดอกผลช่วยค่าเล่าเรียนแก่นักศึกษาแพทย์ที่ขาดแคลน และให้ทุนแพทย์ไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ต่อมาได้จัดการขายที่ดินและสร้างบ้านให้ชาวต่างประเทศเช่า ปัจจุบันมูลนิธิได้เจริญขึ้นมีมูลค่าประมาณ ๒๐ ล้านบาท พ.ศ.๒๕๐๐ บริจาคเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท สร้างตึกผ่าตัด “จงกลนีอุทิศ” ให้โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย พ.ศ.๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท ซื้อตู้เย็นสำหรับเก็บเลือดให้บริการโลหิตสภากาชาดไทย พ.ศ.๒๕๐๖ สร้างตึกศัลยกรรม ๔ ชั้น ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ๑ หลัง ราคา ๕ ล้านบาท จากเงินทุนของมูลนิธิจงกลนี พ.ศ.๒๕๐๘ บริจาคเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ให้สภากาชาดไทยเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ไตเทียมแก่คนไข้อนาถา และซื้อเครื่องอุปกรณ์สำหรับการนี้

ในการที่ทรงบริจาคเพื่อช่วยคนไข้เจ็บส่วนอื่น คือ พ.ศ.๒๕๐๒ บริจาคเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้ห้องคนเจ็บไข้ โรงพยาบาลประสาท พญาไท พ.ศ.๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๕,๐๐๐ บาท ให้โรงพยาบาลปัญญาอ่อน

ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียน คือ พ.ศ.๒๕๐๕ บริจาคเงินปีละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นค่าเลี้ยงดูลูกคนป่วยโรคเรื้อน โรงเรียนจิตต์อารี จังหวัดลำปาง พ.ศ.๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ห้องสมุดโรงเรียนเบญจมราชาลัย พ.ศ.๒๕๐๖ บริจาคเงิน ๒,๐๐๐ บาท ให้โรงเรียนราชประชาสมาสัย

ในส่วนที่เกี่ยวแก่วัด พระพุทธศาสนา และกิจที่เกี่ยวอยู่ในวัด คือ พ.ศ.๒๔๗๓ บริจาคเงิน ๒,๐๐๐ บาท ติดไฟฟ้าถวายภายในวัดนางชี ในคลองบางหลวง จังหวัดธนบุรี พ.ศ.๒๔๗๖ บริจาคเงิน ๑,๕๐๐ บาท ติดพัดลมถวายในโบสถ์วัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี พ.ศ.๒๔๘๒ บริจาคเงิน ๕,๐๐๐ บาท สร้างกุฏิพระสงฆ์ ๘ ห้อง พร้อมทั้งเครื่องใช้ภายในถวายวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี พ.ศ.๒๔๘๒ บริจาคเงิน ๑,๐๐๐ บาท ตั้งทุนมูลนิธิฌาปนกิจศพวัดไตรมิตร พ.ศ.๒๔๘๘ บริจาคเงิน ๖,๘๐๐ บาท สร้างกุฏิวัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี พ.ศ.๒๔๘๔ บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนจงกลนี ให้มูลนิธิวัดราชประดิษฐ์ พ.ศ.๒๔๘๕ บริจาคเงิน ๑,๐๐๐ บาท ตั้งทุนฌาปนกิจวัดหัวลำโพง พ.ศ.๒๔๙๐ บริจาคตึกแถว ๑๘ ห้อง ริมถนนศิริพงษา หน้าโรงเรียนเบญจมราชาลัย ราคาประมาณ ๒ ล้านบาท ถวายวัดมกุฎกษัตริยาราม พ.ศ.๒๔๙๐ บริจาคเงินค่าอาหารพระถวายวัดอนงคาราม วัดราชประดิษฐ์ วัดหัวลำโพง วัดละ ๓๐๐ บาท เป็นรายเดือนตลอดชีพ พ.ศ.๒๔๙๙ สร้างศาลามรุพงษ์สำหรับตั้งศพให้วัดมกุฏกษัตริยาราม รวมทั้งเครื่องใช้ในการตั้งศพ พร้อมเป็นเงิน ๓ แสนบาท พ.ศ.๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนมูลนิธิช่วยพระสงฆ์ที่อาพาธวัดอนงคาราม และบริจาคสมทบเป็นรายปีๆ ละ ๒,๐๐๐ บาท พ.ศ.๒๕๐๕ บริจาคเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท เขียนเพดานปิดทองโบสถ์วัดธาตุทอง พ.ศ.๒๕๐๗ บริจาคเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ตั้งทุนวัดพระเชตุพน

ในส่วนอื่น ได้ทรงอุปการะสงเคราะห์พระญาติและบุคคลนั้นในโอกาสต่างๆ ทั้งในขณะที่ทรงดำรงพระชนมายุ ทั้งโดยพินัยกรรม และสภากาชาดไทยในสมัยที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงเป็นองค์สภานายิกา ได้รับส่วนที่ทรงบริจาคเป็นส่วนใหญ่ ม.จ.จงกลนี ได้ประชวรด้วยพระโรคที่รักษายาก ได้เสด็จไปประทับรับการถวายพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทันได้เสด็จไปประทับที่ตึกจงกลนีที่ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้เสด็จเยี่ยมหลายครั้ง หม่อมเจ้าจงกลนี ได้ทรงบำเพ็ญพระกุศลไว้เป็นอันมาก และได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษ ได้ถึงชีพิตักษัยตามธรรมดาของสังขาร แต่ก็ได้ทรงใช้ชีวิตให้เป็นไปด้วยดีแล้ว ก่อเกื้อให้เกิดสุขประโยชน์แก่บุคคลเป็นอันมาก ทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ

พระพุทธนิพนธ์ภาษาแสดงถึงธรรมสี่ข้อว่า


อาโรคฺยปรมา ลาภา     สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ
วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ

แปลความว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง สันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ความคุ้นเคยไว้วางใจเป็นญาติอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ดังนี้

ความไม่มีโรคนั้นมีสองคือ ความไม่มีโรคทางกายหนึ่ง ความไม่มีโรคทางใจหนึ่ง ความไม่มีโรคทางกายนั้นคือ ร่างกาย ร่างกายปราศจากโรค หรือมีโรคน้อย ชื่อว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง เพราะเมื่อร่างกายไม่มีโรค ก็สามารถแสวงหาลาภอื่นๆ และสามารถบริโภคใช้สอยลาภนั้นๆ ให้เกิดความสุขได้เต็มที่ แต่ร่างกายจะไม่มีโรคเลยหาได้ไม่ จะมีได้อย่างดีก็เพียงที่เรียกว่ามีโรคน้อยเท่านั้น และในที่สุดก็ต้องแตกสลายด้วยโรคอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น ทั้งยังมีโรคประจำกายอีกอย่างหนึ่ง คือความต้องการอาหารทะนุบำรุงไม่มีวันว่างเว้น จึงมีพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า “ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา” แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะร่างกายของสัตว์โลกทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยอาหาร ฉะนั้น ความไม่มีโรคในที่นี้ จึงหมายถึงความไม่มีโรคทางใจโดยตรง โรคทางใจหมายถึง กิเลสเป็นเครื่องเบียดเบียนเสียดแทงใจ เป็นต้น ความปรารถนาต้องการ ซึ่งทำให้จิตใจหิวกระหาย ในสิ่งที่ปรารถนาต้องการอยู่ไม่ว่างเว้น ดังพระพุทธภาษิตว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง  ฉะนั้น เมื่อทำใจให้สงบปราศจากความหิวกระหาย เป็นใจที่ปราศจากโรค ชื่อว่า เป็นลาภอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้ลาภข้อนี้แล้ว ก็อิ่มและเต็ม ไม่มีต้องการลาภอะไรอื่นอีก

ความอิ่มความเต็มนั้นคือ สันโดษ แปลว่า ความพอใจ ด้วยสิ่งที่มีอยู่ของตน สันโดษนี้แบ่งโดยทั่วไปเป็นสามคือ ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามได้ ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามสมควร สันโดษจึงมิได้หมายความว่า ให้ปลีกตัวอยู่ตามลำพังเฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่หมายความว่า เมื่อทำอะไร ก็ทำตามกำลัง และทำตามสมควร ไม่ทำเกินกำลัง ไม่ทำในทางที่ไม่สมควร และเมื่อได้รับผลมาโดยชอบเท่าไร ก็ยินดีเท่านั้นตามที่ได้มาโดยชอบ สันโดษจึงเป็นเครื่องห้ามการทำที่เกินกำลังและการทำในทางที่ผิด เป็นเครื่องห้ามความปรารถนาต้องการเกินกว่าที่ได้มาโดยชอบ ทำจิตใจให้มีความอิ่ม ความเต็ม ความพอ จึงชื่อว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีสันโดษอยู่แล้ว ก็มีความพอ ไม่ต้องการทรัพย์อะไรอีก สันโดษจึงเป็นเครื่องรับประกันผู้ที่มีอยู่ว่า จะไม่ทำอทินนาทาน และไม่ทำทุจริตอื่นๆ จึงเป็นที่ควรทำความคุ้นเคยไว้วางใจได้

ความคุ้นเคยไว้วางใจเรียกว่า วิสาสะ ความวิสาสะนี้ ถ้ามีจิตใจที่ไม่สมควรย่อมเป็นเหตุให้เกิดอันตราย ดังพระพุทธภาษิตว่า “วิสฺสาสา ภยมนฺเวติ” แปลว่า วิสาสะ นำให้เกิดภัย แต่เมื่อมีในจิตใจที่สมควร จึงนำให้เกิดความสวัสดี จิตใจที่สมควรนั้น คือจิตใจที่ไม่เป็นโรคหิว มีสันโดษตามพุทธภาษิตสองข้อข้างต้นนั้น เพราะจิตใจเช่นนี้ เป็นที่ควรคุ้นเคยไว้วางใจ แม้ตนเอง เมื่อจิตใจยังมีโรค ไม่มีสันโดษ ก็ไว้วางใจตนเองมิได้ แต่เมื่อตนเองมีจิตใจสงบ จากโรคทางใจ มีสันโดษจึงไว้วางใจตนเองได้ ไม่ต้องป่วยการกล่าวถึงผู้อื่น  ฉะนั้น วิสาสะ ความคุ้นเคยไว้วางใจด้วยจิตใจที่สงบมีสันโดษโดยตรง คือในใจตนเองที่สงบมีสันโดษ จึงเป็นญาติอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีวิสาสะดังกล่าว จึงชื่อว่ามีญาติตลอดถึงมีมิตรสหาย

เมื่อแสดงโดยปรมัตถ์ จิตใจที่พึงไว้วางใจได้โดยสมบูรณ์ ต้องเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากโรคทางจิตใจสิ้นเชิง เป็นจิตใจที่ปราศจากหิวกระหาย มีความอิ่ม มีความเต็มบริบูรณ์ ไม่มีกิเลสเปรียบเหมือนลูกศรเสียบแทงให้กระวนกระวายกระสับกระส่าย จึงมีพระพุทธภาษิตแสดงต่อไปว่า นิพพาน  ธรรมะที่ไม่มีกิเลส ที่เปรียบเหมือนลูกศรเป็นเครื่องเสียบแทงจิตใจเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่สุดทุกข์ด้วยประการทั้งปวง แต่เมื่อกล่าวในทางปฏิบัติโดยลำดับ การปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งแต่ขั้นต้นขั้นต่ำเป็นไปในทางแห่งสันติ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดสุขโดยลำดับ นับเข้าในข้อนี้


* ทรงแสดงเมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ในการพระราชกุศล พระศพหม่อมเจ้าหญิงจงกลนี วัฒนวงศ์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อานาปานสติ 4.2 ขั้นธัมมานุปัสสนา นัย ๒ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
เสียงธรรมเทศนา
ใบบุญ 0 1626 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2556 16:03:36
โดย ใบบุญ
อานาปานสติ 4.1 ขั้นธัมมานุปัสสนา นัย ๑ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
เสียงธรรมเทศนา
ใบบุญ 0 1639 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2556 16:05:55
โดย ใบบุญ
อานาปานสติ 3 ขั้นจิตตานุปัสสนา โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
เสียงธรรมเทศนา
ใบบุญ 0 1518 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2556 16:12:40
โดย ใบบุญ
อานาปานสติ 2 ขั้นเวทนานุปัสสนา โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
เสียงธรรมเทศนา
ใบบุญ 0 1460 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2556 16:14:45
โดย ใบบุญ
อานาปานสติ 1 ขั้นกายานุปัสสนา โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ
เสียงธรรมเทศนา
ใบบุญ 0 1672 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2556 16:16:36
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.266 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 31 มกราคม 2567 10:05:25