คนญวนนับถือพุทธศาสนาอนัมนิกาย อนัมนิกายก็คือนิกายมหายานแบบเวียดนาม ซึ่งรับมาจากนิกายมหายานแบบจีน
หากแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนประเพณี พิธีกรรม และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้สอดคล้องกับพุทธศาสนาเถรวาทของไทยความเป็นมาของวัดญวนในประเทศไทย ภาพประกอบบทความ :
ภาพจากวัดถาวรวราราม (คั้นถ่อตื่อ)
ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี วัฒนธรรมของชาวญวนเป็นวัฒนธรรมแบบเอเชียตะวันออก ซึ่งได้รับอิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาแบบอุตรนิกาย ที่เผยแผ่เข้ามายังประเทศทางภาคตะวันออกของทวีปเอเชีย คือ จีน ทิเบต มองโกเลีย ญี่ปุ่น และญวน การที่เวียดนามตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นเวลานานกว่าพันปี ทำให้ลัทธิความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของชาวญวนหรือชาวเวียดนามส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับชาวจีน
ความเชื่อและศาสนาของชาวญวนประกอบด้วยลัทธิบูชาเทพที่สิงสถิตตามธรรมชาติ มีการเคารพสักการะผีและวิญญาณต่างๆ ต่อมาจึงได้รวมเอาความเชื่ออื่นๆ คือ ลัทธิขงจื๊อ และลัทธิเต๋า รวมทั้งพระพุทธศาสนานิกายมหายานจากอิทธิพลของจีนเข้าไว้ด้วย
วัดญวนถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยก่อนวัดจีน เมื่อมีการตั้งหลักแหล่งของชาวญวนที่อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๙ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้รับไว้และพระราชทานที่ให้พวกญวนตั้งบ้านเรือน เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย ตั้งภูมิลำเนาอยู่แห่งใดชาวญวนก็ได้สร้างวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของพวกตนที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น ตามแบบอย่างประเพณีที่สืบทอดกันมา โดยปรากฏหลักแหล่งหรือชุมชน และมีบริบททางสังคมวัฒนธรรมตามความเชื่อของกลุ่มชนเชื้อชาติญวนที่นับถือพุทธศาสนามหายานฝ่ายอนัมนิกาย
เมื่อมีวัดญวนขึ้นในประเทศไทยก็ได้มีการนิมนต์พระสงฆ์ซึ่งอุปสมบทจากประเทศญวนเข้ามาประจำวัดที่สร้างขึ้น พระสงฆ์อุปสมบทมาจากประเทศเวียดนามนี้ ในครั้งแรกก็คงบวชมาจากเมืองญวน คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คณะสงฆ์ญวนชุดแรกๆ มีพระชั้นผู้ใหญ่ที่สำคัญ ๒ รูป เป็นผู้นำคณะสงฆ์อนัมนิกาย คือ พระครูคณาณัมสมณาจารย์ (ฮึง) และพระครูสมณานัมสมณาจารย์ (เหยี่ยวกร่าม) และเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีวัดจีนในประเทศไทย พวกจีนก็มักไปทำบุญที่วัดญวนด้วย เพราะอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วยกัน มีพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา เช่น พิธีกงเต๊ก เป็นต้น อย่างเดียวกัน ส่วนไทยแม้ไม่สู้นับถือแต่ก็ไม่รังเกียจเพราะเห็นว่านับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ประเทศไทยและเวียดนามมีปัญหาขัดแย้งกัน ทำให้คณะสงฆ์ญวนในประเทศไทยขาดการติดต่อกับพระสงฆ์ญวนในเมืองญวน และได้กลับมาติดต่อสัมพันธ์กันอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ในสมัยนั้นมีพระสงฆ์ญวนเข้ามาในประเทศไทยอีก แต่เนื่องจากขณะนั้นญวนตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส พระสงฆ์ญวนในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อกับพระสงฆ์ญวนในเมืองญวนได้สะดวกนัก พระสงฆ์ญวนในประเทศไทยจึงได้แก้ไขปรับปรุงระเบียบพิธีประเพณีและวัตรปฏิบัติให้สอดคล้องตามอย่างพระสงฆ์ไทยหลายประการ เป็นต้นว่า ออกบิณฑบาต ถือสิกขาบทวิกาลโภชนา (ไม่ฉันอาหารเวลาวิกาลคือเวลาเย็น) ทำวัตรเช้า-เย็น ครองผ้าสีเหลืองแต่เพียงสีเดียว ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าเหมือนพระในประเทศจีนและประเทศญวน และการผนวกพิธีกรรมเถรวาท เช่น การมีพิธีอุปสมบท พิธีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พิธีเข้าพรรษา สำหรับข้อวัตรปฏิบัติอื่นๆ ตลอดจนกิจพิธี คงทำตามแบบในเมืองญวนตลอดมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระญวนมีสมณศักดิ์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระญวนมาทำพิธีกงเต๊ก เป็นพิธีหลวงบ่อยๆ จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกิจพิธีคล้ายกับพระสงฆ์ไทยมากยิ่งขึ้นอีกหลายประการ.
ในรัชกาลที่ ๓ ระหว่างที่เจ้ามงกุฎ (ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงพระผนวชอยู่ ทรงสนพระทัยในลัทธิประเพณีและการปฏิบัติของพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน ซึ่งในขณะนั้น พระสงฆ์ฝ่ายมหายานมีแต่ฝ่ายอนัมนิกาย ยังไม่มีฝ่ายจีนนิกาย จึงโปรดให้นิมนต์องฮึง เจ้าอาวาสวัดญวนตลาดน้อยในขณะนั้นมาเข้าเฝ้า ซึ่งทรงถูกพระราชอัธยาศัยเป็นอย่างดี เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายเข้ามาอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอยู่ในสถานะดังกล่าวเรื่อยมา แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนรัชกาลมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกที่วัดญวนได้เข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร วัดญวนแห่งแรกๆ เช่น วัดญวนตลาดน้อย ก็ได้รับพระราชทานเงินช่วยเหลือในการปฏิสังขรณ์ และยังโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์ญวนเข้าเฝ้าเป็นประจำ รวมทั้งให้มีพิธีกรรมตามความเชื่อของฝ่ายอนัมนิกาย ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พระอวโลกิเตศวรกวนอิม
การสร้างวัดญวนในประเทศไทย ลักษณะของวัดญวนประเทศไทย มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่าง จีน ญวน และไทย วัดญวนไม่นิยมสร้างโบสถ์ที่มีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์อย่างไทย แต่มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษ หอกลอง หอระฆัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายสถาปัตยกรรมจีน ส่วนรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดญวน คือ รูปท้าวมหาชมพู บางวัดมีเมรุเผาศพและสุสานสำหรับฝังศพ บริเวณวัดส่วนใหญ่จะมีลานกว้างรอบโบสถ์และมีขนาดต่างๆ กันไป ปรากฏเป็นไปโดยลำดับ ดังนี้
- สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ (ปลายสมัยกรุงธนบุรี) ญวนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย กล่าวคือ ญวนพวกที่หนีกบฏมากับองเชียงชุนครั้งกรุงธนบุรี ได้มาสร้างวัดขึ้นที่บ้านหม้อ ๒ วัด คือ
๑. วัดกามโล่ตื่อ (วัดทิพยวารีวิหาร) ตั้งอยู่หลังสถานีตำรวจบ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกลายเป็นวัดจีน
๒. วัดโห่ยคั้นตื่อ (วัดมงคลสมาคม) เดิมตั้งอยู่ที่บ้านญวน หลังวังบูรพาภิรมย์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ทำผาติกรรมแล้วพระราชทานที่ดินบริเวณนั้นสร้างถนนพาหุรัด (วัดอยู่ในแนวถนน) แล้วพระราชทานที่ดินริมถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่สร้างวัดโห่ยคั้นตื่อขึ้นใหม่
- สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑) ญวนที่อพยพเข้ามาพร้อมองเชียงสือ ได้สร้างวัดขึ้น ๒ วัด คือ
๑. วัดคั้นเยิงตื่อ (วัดอุภัยราชบำรุง) รู้จักกันในนาม วัดญวนตลาดน้อย อยู่ที่หลังตลาดน้อย (ริมถนนเจริญกรุง) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.๒๔๑๑ ได้ทรงปฏิบัติตามแบบอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถในเรื่องที่เกี่ยวกับการอุปถัมภ์และปฏิสังขรณ์วัดญวน โดยพระราชทานเงินช่วยเหลือปฏิสังขรณ์วัดญวนตลาดน้อยอีกครั้ง และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอุภัยราชบำรุง” คำว่า “อุภัย” แปลว่า สอง แสดงให้เห็นถึงความหมายว่า เป็นวัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. วัดกว๋างเพื๊อกตื่อ (วัดอนัมนิกายาราม) ตั้งอยู่ในซอยถนนประชาราษฎร์ บางโพ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เรียกกันทั่วไปว่า วัดญวนบางโพ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓) ญวนที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาล ๓ ได้สร้างวัดขึ้น ๓ วัด คือ
๑. วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดถาวรวราราม) ตั้งอยู่บนถนนเจ้าขุนเณร อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
๒. วัดเกี๋ยงเพื๊อกตื่อ (วัดสมณานัมบริหาร) ตั้งอยู่ที่ถนนลูกหลวง ริมคลองผดุงกรุงเกษม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เรียกกันทั่วไปว่า วัดญวนสะพานขาว
๓. วัดเพื๊อกเดี้ยนตื่อ (วัดเขตร์นาบุญญาราม) ตั้งอยู่ที่ถนนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ต่อมาภายหลังได้มีวัดญวนที่พวกญวนและพวกจีนร่วมกันสร้างอีก ๔วัด คือ
๑. วัดโผเพื๊อกตื่อ (วัดกุศลสมาคร) ตั้งอยู่ที่ถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
๒. วัดตี๊หง่านตื่อ (วัดชัยภูมิการาม) ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวพานิช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
๓. วัดเบี๋ยนเพื๊อกตื่อ (วัดบำเพ็ญจีนพรต) ตั้งอยู่ที่ตำบลจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันกลายเป็นวัดพระจีน
๔. วัดตื้อเต้ตื่อ (วัดโลกานุเคราะห์) ตั้งอยู่ถนนผลิตผล ตำบลจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
๕. วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดถาวรวราราม) ตั้งอยู่ที่ถนนแสงจันทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วัดแห่งนี้สร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๐
และหลังจากนั้นก็มีการสร้างขึ้นอีก ๓ วัด คือ
๑. วัดคั้นอังตื่อ (วัดสันทรประดิษฐ์) ตั้งอยู่ที่ถนนอดุลยเดช อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
๒. วัดลองเซิงตื่อ (วัดถ้ำเขาน้อย) ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
๓. วัดซำปอกง (วัดอุภัยญาติการาม) ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
พุทธศาสนามหายาน นอกจากจะชี้ทางเพื่อการพ้นทุกข์เหมือนคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ยังมีการผสมผสานกับความเชื่ออื่นๆ มีพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์จำนวนมากมาย พระพุทธเจ้า องค์ที่สำคัญที่สุด คือ พระอมิตาภะ และพระโพธิสัตว์องค์สำคัญที่สุด คือ พระอวโลกิเตศวร หรือ กวนอิม |

พระญวนในประเทศไทยได้แก้ไขปรับปรุงแบบแผนและพิธีการต่างๆ ให้สอดคล้องตามอย่าง พระสงฆ์ไทยหลายอย่าง เช่น ออกบิณฑบาต ถือสิกขาบทวิกาลโภชนา (ไม่ฉันอาหาร เวลาวิกาลคือเวลาเย็น) ทำวัตรเช้า-เย็น ครองผ้าสีเหลืองแต่เพียงสีเดียว ไม่ใส่รองเท้า และถุงเท้าเหมือนพระในประเทศจีนและประเทศญวน |

หัวใจการปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนามหายาน คือ ต้องมีทั้งปัญญาและกรุณาควบคู่กันไป
เน้นการละความเห็นแก่ตัวและทำประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งเป็นที่มาขององค์กรการกุศลต่างๆ
เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถนนศาลา โรงธรรม เป็นต้น
วินัยและวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายคนญวนนับถือพุทธศาสนาอนัมนิกาย
อนัมนิกายก็คือนิกายมหายานแบบเวียดนาม ซึ่งรับมาจากนิกายมหายานแบบจีน หากแต่ได้มีการปรับเปลี่ยนแบบแผนประเพณี พิธีกรรม และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้สอดคล้องกับพุทธศาสนาเถรวาทของไทย
พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายมีวัตรปฏิบัติที่คล้ายคลึงและที่แตกต่างจากพระสงฆ์ไทย (ฝ่ายเถรวาท) และพระสงฆ์ฝ่ายจีนนิกายในเรื่องต่างๆ ดังนี้
๑. จำนวนศีลสิกขาบท พระสงฆ์ทั้งฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายถือศีลจำนวน ๒๕๐ ข้อ ในขณะที่พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ถือศีล ๒๒๗ ข้อ ในจำนวน ๒๕๐ ข้อนั้น มีข้อหลักๆ ที่คล้ายกับศีลของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท แต่มีข้อปลีกย่อยเพิ่มเติม
๒. เครื่องแต่งกาย พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายสวมเสื้อและกางเกง ครองจีวร และไม่โกนคิ้ว ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทครองสบง จีวร สังฆาฏิ และโกนคิ้ว
๓. อาหาร เดิมพระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย ฉันเจ ๓ มื้อต่อวัน ภายหลังเปลี่ยนเป็นฉันชอ (เนื้อสัตว์) และลดลงเหลือ ๒ มื้อต่อวัน เช่นเดียวกับพระสงฆ์ฝ่ายจีนนิกาย โดยถือวิกาลโภชนา ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทฉันอาหารทั่วไป และถือวิกาลโภชนาเช่นกัน
๔. การตื่นนอนและการบิณฑบาต พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกายและฝ่ายจีนนิกายตื่นนอนและบิณฑบาตตามสะดวก ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู และออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร
๕. พิธีกรรม พระสงฆ์ฝ่ายอนัมนิกาย มีการปฏิบัติพิธีกรรมคล้ายฝ่ายจีนนิกายทุกประการ แต่มีพิธีบวช พิธีเข้าพรรษา พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป คล้ายกับพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ในขณะที่ฝ่ายจีนนิกายไม่มีบทความเรียบเรียงจาก :
- สารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๒๐ และ ๓๑
- สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่มที่ ๑๓ จัดพิมพ์เโดย มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ นื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
- เว็บไซต์ anamnikayathai.com
- เว็บไซต์ พันทิปดอทคอม
- เว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรีโปรดติดตามตอนต่อไป