[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 08:01:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์  (อ่าน 1020 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 31 มกราคม 2563 13:37:33 »


ธรรมเนียมการแต่งกาย ใน "พระราชพิธีโสกันต์" ซึ่งเป็นพระราชพิธีโกนจุก
ของพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป



ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ เรื่อง "ธรรมเนียมการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์" เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชพิธีโสกันต์ (โกนจุก) ตลอดจนเครื่องแต่งกายในพระราชพิธีดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และอาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร พร้อมการสาธิตการแต่งกายในพิธีโกนจุก ประกอบการบรรยายพิเศษ โดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง

พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์และหัวหน้าพราหมณ์ สังกัดกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง กล่าวถึงคติความเชื่อและประเพณี เกี่ยวกับเด็กเกิดใหม่ของไทยว่า มีมากมายหลากหลายธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค ความเชื่อ ศาสนา ตลอดจนสภาพสังคมนั้นๆตามประเพณีราชสำนัก เมื่อพระราชโอรส หรือพระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ หรือบุตรธิดาของขุนนางผู้ใหญ่ เรื่อยมาจนถึงบุตรธิดาของคนสามัญธรรมดาทั่วไป สมัยก่อนมักนิยมไว้ผมจุกเป็นส่วนมาก ดังปรากฏในหนังสือเรื่อง ประเพณีเนื่องในการเกิด ของ พระยาอนุมานราชธน ระบุว่า คติเกี่ยวกับการไว้จุกนั้น เริ่มหลังจากที่มีพิธีโกนผมไฟ โดยจะเว้นผมไว้ตรงส่วนกระหม่อม เพราะถือเป็นส่วนที่บอบบางที่สุดบนศีรษะ แต่ก็มีการพัฒนาเกี่ยวกับการไว้ผม ในหลายยุคหลายสมัย เท่าที่พอจะทราบและเชื่อกันว่าประเทศไทยนั้น น่าจะได้รับคติการไว้ผมจุกนี้ มาจากศาสนาพราหมณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับคติการบูชาเทพเจ้า เนื่องด้วยเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์นั้น มีผมยาวและขมวดมุ่นเป็นมวยไว้กลางศีรษะ อาจมีการนำคติดังกล่าว มาดัดแปลงเป็นทรงผมเด็ก ด้วยมีความเชื่อว่า เด็กจะได้รับการคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้า

สมัยโบราณจะนิยมให้บุตรธิดาไว้ผมจุก จนโตอายุประมาณ ๑๑-๑๓ ปี ก็จะทำพิธีโกนจุก เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงออก กับทั้งตัวเด็กและคนรอบข้างว่า บัดนี้ตนเองหาใช่เด็กเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังก้าวข้ามสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่

พิธีโกนจุกหากเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เรียกว่า "พระราชพิธีโสกันต์" ส่วนพระอนุวงศ์ระดับหม่อมเจ้า เรียกว่า "พิธีเกศากันต์" โดยโหรหลวงจะดูฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันเวลา ที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน ส่วนใหญ่มักประกอบ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจะประกอบพิธีนี้ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน ๔) ต่อมาประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)

พร้อมกันนี้ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ นำเครื่องพิธีที่ใช้ในพิธีโกนจุกที่โบสถ์พราหมณ์ มาแสดงให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด อาทิ บัณเฑาะว์ เป็นกลองสองหน้า ที่ใช้เป็นเครื่องให้จังหวะ ในงานพระราชพิธีต่างๆ เพื่อขับไล่ความอัปมงคลทั้งหลาย ให้ออกจากสถานที่ที่ประกอบพิธีนั้น สังข์สำหรับรดน้ำประสาทพร ประดับด้วยนพรัตน์ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ถาด ๓ ขาสำหรับเป็นที่รองสังข์ กรรไกร และมีด สำหรับโกนผม ทำจากเงิน ทอง นาค และแว่นเวียนเทียน ที่ใช้ในการเวียนเทียนในงานพระราชพิธี เพื่อให้เกิดความสิริมงคล

อาจารย์บุหลง ศรีกนก นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร ให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการ ของพระราชพิธีโสกันต์ในราชสำนักสยาม สันนิษฐานว่า สมัยกรุงสุโขทัยยังไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ กระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงมีการกล่าวถึงการโสกันต์ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ณ บ้านเกาะเลน พ.ศ.๒๑๗๕ เป็นการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์อินทร์ หลังการโสกันต์พระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าชัย ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๒๕ แห่งกรุงศรีอยุธยา

จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ อย่างคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม มีการกล่าวถึงรูปแบบพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าและพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าตามอย่างโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๓๑๐ ยังมีเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่ง ดำรงพระชนม์ชีพมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพินทวดี พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี พระองค์ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ สันนิษฐานกันว่าในครั้งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาคงจะเชิญเสด็จลงมาที่กรุงธนบุรีด้วยกัน ปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯให้ประทับในพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงอุปการะยกย่องเป็นอันดี เจ้าฟ้าหญิงพินทวดี จึงทรงเป็นผู้แนะนำเรื่องราชประเพณีและการในรั้วในวังต่างๆ จนกระทั่งหมดสมัยกรุงธนบุรี

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเชิญเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังและได้ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการรื้อฟื้นพระราชพิธีโสกันต์แบบเต็มตำราตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง โดยสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับพระมหากรุณาให้มีการพระราชพิธีโสกันต์แบบเต็มตามตำรา และได้มีการสืบทอดแบบแผนการพระราชพิธีโสกันต์ต่อเนื่องกันมาอีกหลายยุคหลายสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้มีพิธีเกศากันต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ก่อนที่พระราชพิธีนี้จะได้ถูกยกเลิกไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕

จากนั้นเป็นการสาธิตการแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์ที่จำลองมาจากพระราชประเพณีโบราณ ประกอบการบรรยาย โดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ประธานกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ เล่าถึงการสืบสานประเพณีโกนจุก ที่ครอบครัวคงอนุรักษ์ไว้ นอกจากเป็นคติความเชื่อแล้ว ยังผสานเรื่องของสรีระศาสตร์ไปในตัว

เด็กแรกเกิดมีชิ้นส่วนกะโหลกมากมาย ที่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆประสานให้เป็นชิ้นเดียว ดังนั้น เมื่อขณะเป็นทารก กะโหลกจะมีช่องว่าง บริเวณค่อนมาทางด้านหน้าของศีรษะ ที่เรียกว่า กระหม่อม เป็นจุดที่เปราะบางที่สุด จะปิดสนิทตั้งแต่อายุ 2 ถึง 2 ขวบครึ่ง ถึงจะพ้นขีดอันตรายของชีวิต การไว้จุกตั้งแต่แรกเกิด มีเส้นผมบริเวณที่ไว้จุก ช่วยทำให้บริเวณกระหม่อมมีความอบอุ่นและป้องกันให้ปลอดภัยจากการกระทบกระเทือน อันที่จริงการไว้จุกเป็นเรื่องสรีระมนุษย์ ภายหลังพัฒนาเป็นพิธีกรรมและกลายเป็นคติความเชื่อ

การเกล้าพระโมลี (เกล้าจุก) ของพระบรมวงศานุวงศ์ ในแบบราชสำนักโบราณ จะเกล้าอย่างสวยงาม ประดับประดาด้วยดอกไม้และเครื่องประดับผมที่สวยงามมาก โดยจะมีการกันไรพระเกศาเป็นขอบขาวรอบบริเวณพระโมลี เมื่อหลังจากเกศากันต์ (โกนจุก) แล้ว บริเวณของไรพระเกศาที่กันไว้ จะปล่อยยาวเป็นทรงผมต่างๆ

สำหรับเครื่องแต่งกายที่ใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ ในส่วนของภูษาพัสตราภรณ์ นั้น ได้ประกอบด้วย ฉลองพระองค์พระกรน้อย เป็นเสื้อแขนยาวที่เป็นการแต่งลำลองอย่างไม่เต็มยศ สำหรับพิธีฟังพระสวดในวันแรก โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ได้โปรดฯให้สร้างฉลองพระองค์พระกรน้อยสำหรับพระราชทานเจ้านายระดับชั้นเจ้าฟ้า เป็นผ้าแพรเขียนทอง ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ในราชสำนักทุกชิ้น มีกระดุมเป็นนพเก้าล้อมเพชร

จากนั้นเป็นพิธีสรงน้ำ ก็จะเป็นฉลองพระองค์ที่ทำด้วยผ้าขาวขลิบทองคำ เรียกว่า ฉลองพระองค์ถอด แล้วจึงจรดพระกรรไกร กรรบิด (กรรไกรและมีดโกน) ตัดพระเกศา สรงน้ำ โดยยังทรงเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ครบ หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระภูษาจีบหน้า ส่วนผ้าอีกชิ้นหนึ่งที่นำมาใช้ คือ เจียระบาด (ผ้าคาดเอว มีชายห้อยลงที่หน้าขา) สำหรับเจ้านายเป็นผ้าชั้นดี มีการประดับตกแต่งวัสดุมีค่า อย่างเป็นตาบปักด้วยทองแล่งหรือเลื่อม สำหรับภูษาที่ใช้นุ่งเป็นแบบจีบโจงไว้หางหงส์

ต่อมา คือ สนับเพลา หรือ กางเกง สมัยก่อนอาจใช้เป็นการพันผ้า แต่ต่อมาทำสำเร็จรูปเย็บเป็นรูปกางเกง ส่วนฉลองพระบาทเป็นรองพระบาทเชิงงอนหรือรองพระบาทธรรมดาแบบรองเท้าแตะ โดยราชสำนักจะออกแบบและใช้วัสดุตามระดับพระยศ อาทิ ฉลองพระบาทที่ทำจากผ้ากำมะหยี่ สลักดุนทองคำ พื้นเป็นหนังแล้วลงยาลวดลายต่างๆ หรือฉลองพระบาทที่สั่งมาจากต่างประเทศแล้วนำมาตกแต่งใหม่ให้สวยงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีถนิมพิมพาภรณ์อันประกอบไปด้วย ข้อพระกร แหวนรอบ (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ร้อยผูกข้อพระกร) แหวนตะแคง (หรือในราชสำนักเรียกว่า พระธำมรงค์ข้อมะขาม ผูกข้อพระกร) กำไล ข้อพระกรเถา สังวาลย์ สายรัดพระองค์ และข้อพระบาท



ภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

อ้างอิง : www.pinterest.at/pin

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.387 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 มีนาคม 2567 14:01:42