[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 06:13:58 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก : พระเตมีย์  (อ่าน 2220 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 เมษายน 2563 16:22:53 »



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก
พระเตมีย์

         ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ยังมีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ากาสิกราช หรือพระเจ้ากาสี ครองราชย์สมบัติโดยทศพิธราชธรรมอยู่ในกรุงพาราณสี แคว้นกาสี ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำคงคา แห่งชมพูทวีป
          พระเจ้ากาสิกราช ทรงมีพระอัครมเหสีผู้เป็นพระราชธิดาแห่งพระเจ้ามัตตราช พระนามว่าจันทรเทวี มีพระสนม ๑๖,๐๐๐ นาง แม้พระองค์จะมีพระอัครมเหสีและมีพระสนมจำนวนมากอยู่เคียงข้างพระวรกาย แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์จะมีพระโอรส พระธิดา สักพระองค์เดียว
          ประชาชนชาวเมืองพาราณสีต่างพากันวิตกกังวลว่าบ้านเมืองจะเกิดปัญหาแน่ในอนาคต เพราะแผ่นดินนั้นจะต้องไม่ว่างจากกษัตริย์ แต่เมื่อพระเจ้ากาสิกราชไร้รัชทายาทเสียแล้ว ใครเล่าจะมาครองแผ่นดินสร้างประโยชน์สุขให้แก่มวลมหาประชาราษฎรสืบต่อไปในอนาคต
          อยู่มาไม่นาน ประชาชนก็รวมตัวประชุมกันที่พระลานหลวง เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ในที่สุดทั้งหมดได้พากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากาสิกราช
          ผู้นำชาวบ้านได้กราบทูลว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท การที่พระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์นั้นเป็นการไม่ดีเลยต่ออนาคตของแผ่นดินและประชาชน ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาปรารถนาพระราชโอรสเถิดพระพุทธเจ้าข้า”
          เมื่อพระเจ้ากาสีทรงทราบถึงความห่วงใยของชาวเมืองแล้ว ก็ตรัสเรียกพระมเหสีและพระสนมนางในทั้งหลายให้มาประชุมกันแล้วรับสั่งว่า “ประชาชนเขาพากันวิตกกังวลกับการที่ข้าไม่มีรัชทายาทสืบราชสมบัติ เพราะฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่พวกเจ้าควรจะมีลูกให้เสียที อย่าทำให้ประชาชนผิดหวังเลย”
          เหล่าพระสนมรับราชโองการใส่เกล้าแล้ว ก็ถวายบังคมลา ต่างคนต่างพากันไปบวงสรวงอ้อนวอนเทพยดาอารักษ์ด้วยเครื่องสักการะบูชา เพื่อให้ตนมีลูกสักคนหนึ่ง จนเวลาล่วงเลยไปนานก็ยังไม่มีผู้ใดได้สมประสงค์
          ฝ่ายพระนางจันทรเทวี พระอัครมเหสี ครั้นรับพระราชโองการแล้วก็ถวายบังคมลากลับไปเตรียมการให้พร้อมที่จะมีพระโอรสเพื่อบ้านเมืองและประชาชนต่อไป ประเทศชาติควรมีกษัตริย์จึงจะสง่างาม ประชาชนควรจะมีศูนย์รวมจิตใจ จึงจะสามัคคีและสงบร่มเย็น
          พระนางจันทรเทวีทรงตั้งพระทัยที่จะมีพระโอรสให้ได้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมพิเศษภายในพระราชวัง คือ ในวันเพ็ญมีพระจันทร์เต็มดวง พระนางก็จะสมาทานอุโบสถ รักษาศีล ๘ เป็นประจำ  แต่ละครั้งที่รักษาศีล ๘ พระนางได้ตั้งสัจจาธิษฐานว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้ตั้งใจรักษาศีลอย่างสมบูรณ์ไม่มีอันใดขาดตกบกพร่อง ขอให้ข้าพเจ้าได้บุตรที่ดีมาเกิดด้วยเถิด”
          ต่อมาไม่นาน ด้วยเดชานุภาพแห่งศีลของพระนางก็บันดาลให้พระอินทร์ร้อนรุ่มพระทัยจนนั่งไม่ติดที่ต้องเดินไปเดินมาประดุจเสือติดจั่น เมื่อทรงรู้สึกพระทัยว่าทำไมวันนี้ไม่สบายใจเลย มีอะไรเป็นเหตุหรือจะมีเรื่องร้ายเรื่องดีเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ ทรงคิดดังนั้นแล้วก็ทรงพิจารณาด้วยทิพยเนตร มองเห็นเหตุแห่งความร้อนใจว่ามาจากการที่พระนางจันทรเทวีตั้งสัจจาอธิษฐานรักษาศีลเพื่อปรารถนาพระโอรส
          พระอินทร์ทรงเห็นว่าพระนางสมควรให้พระโอรสตามพระประสงค์ จึงตกลงจะให้พระโอรสแก่พระนาง ทรงพิจารณาต่อไปว่าโอรสเช่นใดสมควรแก่พระนาง ก็ทรงเห็นเทพบุตรองค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นพระราชาครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีอยู่ ๒๐ ปี เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วได้ไปนรกนั้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี พอพ้นจากนรกก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยสุขเรื่อยมา บัดนี้กำลังจะจุติ (เคลื่อนจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง) ตายจากดาวดึงส์แล้วประสงค์จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูง
          เมื่อมองเห็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว พระอินทร์จึงเสด็จไปอ้อนวอนเทพบุตรตนนั้นให้ลงไปในโลกมนุษย์เป็นพระโอรสของพระนางจันทรเทวี อัครมเหสีของพระเจ้ากาสี ในกรุงพาราณสีเถิด จักเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ทั้งแก่ตัวเทพบุตรเอง แก่พระชนกชนนีของเทพบุตร และประชาชน
          เทพบุตรตนนั้นไม่ขัดข้อง รับถ้อยคำอ้อนวอนของพระอินทร์ด้วยความยินดี
          ขณะนั้นมีเทพบุตรอีก ๕๐๐ คน กำลังจะจุติจากสวรรค์เหมือนกัน เมื่อทราบว่าเทพบุตรตนนั้นจะไปจุติยังโลกมนุษย์ ก็ขอตามจุติไปเกิดเป็นบริวารด้วย ครั้นถึงกำหนด เทพบุตรตนนั้นก็จุติลงสู่พระครรภ์ของพระนางจันทรเทวี ส่วนเทพบุตรอีก ๕๐๐ คน ก็ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งภริยาของอำมาตย์ทั้งหลายในเมืองพาราณสีมหานคร
          พระนางจันทรเทวีเมื่อทรงทราบว่าพระองค์ทรงตั้งครรภ์แล้ว ก็รีบเสด็จไปกราบทูลให้พระเจ้ากาสีทรงทราบ พระเจ้ากาสีทรงทราบข่าวดีนั้นแล้ว ก็ทรงมีพระทัยชื่นชมยินดี มีรับสั่งให้พระสนมนารีทั้งหลายมาช่วยกันพิทักษ์พระครรภ์ของพะนางอย่าให้มีอันตรายได้แม้แต่น้อย
          พระนางจันทรเทวีทรงตั้งพระครรภ์ได้ครบถ้วน ๑๐ เดือนบริบูรณ์ ก็ประสูติพระโอรสซึ่งสมบูรณ์ด้วยลักษณะมีพระโฉมงามล้ำเลิศ มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดังทองนพคุณ ฝ่ายภริยาของมหาอำมาตย์ทั้ง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรพร้อมกันกับพระอัครมเหสี โดยคลอดในเวลาเดียวกัน วันเดียวกัน เดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน
          ในวันที่พระนางจันทรเทวีประสูติพระโอรส และภริยาของเหล่าอำมาตย์คลอดบุตรนั้น พระเจ้ากาสีกำลังประทับอยู่ในที่เสด็จออกแวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ราชบริพาร
          ระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่หลายคนเข้ามากราบทูลให้ทรงทราบว่า “พระโอรสประสูติแล้ว” พอได้สดับคำว่า “พระโอรสประสูติแล้ว” พระเจ้ากาสีก็ทรงบังเกิดความรักในพระโอรสอย่างแรงกล้า ประดุจว่าความรักนั้นต้องพระฉวีวรรณ (ผิว) เข้าไปจดอยู่ในสมองพระอัฐิ เกิดพระปีติซาบซ่านไปทั่วพระวรกายและพระหฤทัย แม้ดวงแห่งอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายก็เยือกเย็นชื่นบานเช่นกัน
          พระเจ้ากาสีได้ตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า “ลูกชายเราเกิดแล้ว พวกเจ้าดีใจกันไหม?”
          อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า “พระองค์ตรัสถามใยพระเจ้าข้า เมื่อก่อนพวกข้าพระองค์ไร้ที่พึ่ง บัดนี้พวกข้าพระองค์มีที่พึ่ง ได้เจ้านายให้เป็นที่อาศัยในอนาคตแล้ว”
          พระเจ้ากาสีทรงสดับคำของเหล่าอำมาตย์ ก็เกิดพระปีติปลื้มพระทัย จึงตรัสเรียกมหาเสนาบดีมารับสั่งว่า “นี่ท่านมหาเสนาบดี! ลูกชายของข้าควรจะมีบริวาร มีเพื่อนเล่น ท่านจงไปสืบดูซิว่ามีเด็กเกิดในวันนี้ในบ้านเรือนของอำมาตย์บ้างหรือไม่”
          มหาเสนาบดีรับพระบัญชาแล้วก็พาคณะไปตรวจดู ปรากฏว่ามีทารกเกิดในบ้านเรือนของอำมาตย์ถึง ๕๐๐ คน จึงกราบทูลให้ทรงทราบ พระเจ้ากาสีได้ฟังถ้อยคำของอำมาตย์ ก็ทรงชื่นชมโสมนัสพระทัยเป็นยิ่งนัก
          ข่าวการประสูติพระโอรสผู้เพียบพร้อมด้วยบุญลักษณะได้แพร่หลายกระจายไปทั่วเมืองพาราณสีและเมืองอื่นๆ ของแคว้นกาสีอย่างรวดเร็ว ประชาชนพสกนิกรที่ได้ยินได้ฟังข่าวนี้ ต่างพากันดีอกดีใจ มีความปลาบปลื้มปีติ เป็นสุข แจ่มใสเบิกบานกันทั่วทั้งเมือง
          ในวันที่พระนางจันทรเทวีประสูติพระโอรสนั้น ได้มีเหตุอัศจรรย์บางอย่างเกิดขึ้น คือ เกิดฝนตกไปทั่วรัฐกาสี สร้างความชุ่มฉ่ำให้แก่ผืนแผ่นดิน พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้นตั้งแต่นั้น พระนางจันทรเทวีก็มีพระอาการเจ็บพระครรภ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตอนประสูติก็เป็นไปโดยง่ายดายและปลอดภัยดี ทั้งพระมารดาและพระโอรส
          พ่อมีที่อยู่ในศีลในธรรม ก็จะได้ลูกดีมาเกิด
          เมื่อคนดีมาเกิด ก็จะเลือกเกิดในตระกูลในครอบครัวที่ดีมีศีลมีธรรม

          เมื่อพระกุมารประสูติมาใหม่ๆ พระเจ้ากาสีก็มีรับสั่งให้จัดการเลือกแม่นมที่เหมาะสม จากนั้นก็ได้พระราชทานพรแก่พระอัครมเหสีประการสุดท้าย คือ การถวายพระนามแก่พระกุมาร
          ด้วยความปลาบปลื้มปีติพระทัยยิ่งนักจากการประสูติของพระโอรส พระเจ้ากาสีจึงได้พระราชทานเครื่องประดับสำหรับกุมารแด่ทารกทั้ง ๕๐๐ คน พร้อมด้วยนางนมอีก ๕๐๐ คน
          ในส่วนของพระกุมาร พระเจ้ากาสีได้พระราชทานแม่นมให้เลี้ยงดูเป็นจำนวนถึง ๖๔ นาง แต่ละนางก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว
          แม่นมที่ได้รับการคัดเลือกให้เลี้ยงดูพระกุมาร ล้วนแล้วสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ คือ เป็นคนดี และเพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ คือ มีรูปร่างงดงามบุคลิกลักษณะดี ที่สำคัญก็คือต้องมีลักษณะพิเศษกว่าคนทั่วไป คือ
           ๑.ไม่สูงเกินไป
          ๒.ไม่เตี้ยเกินไป
          ๓.ไม่ผอมเกินไป
          ๔.ไม่อ้วนเกินไป
          ๕.ไม่ดำเกินไป
          ๖.ไม่ขาวเกินไป
          ๗.เต้านมไม่หย่อนยาน
          ๘.ไม่เป็นโรคหืด
          ๙.ไม่เป็นโรคมองคร่อ (โรคมีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลมทำให้ไอเรื้อรัง)

          ทำไมสตรีที่สูงเกินไป เตี้ยเกินไป ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ดำเกินไป ขาวเกินไป เต้านมหย่อนยาน เป็นโรคหืดหรือเป็นโรคมองคร่อ จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นแม่นม
          เรื่องนี้ท่านมีเหตุผลดังต่อไปนี้
          ๑.แม่นมสูงเกินไป จำทำให้เด็กทารกคอยาวเกินไป เพราะเมื่อเวลาเด็กดื่มนม เด็กจะต้องยืดคอให้สูงขึ้น เพื่อจะได้ดูดนมถึง
          ๒.แม่นมเตี้ยเกินไป จะทำให้เด็กทารกคอสั้นเกินไป เพราะเมื่อเวลาเด็กดื่มนม เด็กจะต้องหดคอให้สั้นเข้าอีก
          ๓.แม่นมผอมเกินไป จะทำให้เด็กทารกเจ็บเนื้อตัว เพราะเมื่อเวลาเด็กดื่มนม ขาทั้งสองข้างของเด็กจะเสียดสีกัน กระดูกของแม่นมก็จะทำให้เด็กเจ็บตัว
          ๔.แม่นมอ้วนเกินไป จะทำให้เด็กอ่อนเพลีย เพราะเมื่อเวลาเด็กดื่มนม จะทำให้เด็กเมื่อยขาเมื่อยตัว
          ๕.แม่นมดำเกินไป น้ำนมจะเย็น เมื่อเด็กดื่มนมแล้ว อาจเกิดโรคต่างๆ ได้
          ๖.แม่นมขาวเกินไป น้ำนมจะร้อน เมื่อเด็กดื่มนมแล้ว อาจเกิดโรคต่างๆ ได้
          ๗.แม่นมเต้านมหย่อนยาน จะทำให้เด็กจมูกบาน เพราะเมื่อเวลาเด็กดื่มนมจะถูกนมที่หย่อนยานทับจมูกเอาได้
          ๘.แม่นมเป็นโรคหืด จะมีน้ำนมรสเปรี้ยว เมื่อเด็กดื่มนมแล้วอาจเกิดโรคต่างๆ ได้
          ๙.แม่นมเป็นโรคมองคร่อ น้ำนมจะมีรสแปลกๆ เช่น เผ็ดจัด เป็นต้น เมื่อเด็กดื่มนมแล้ว อาจเกิดโรคต่างๆ ได้
          แม่นมที่พระเจ้ากาสีพระราชทานเพื่อเลี้ยงดูพระกุมารไม่มีลักษณะที่ตำหนิได้เลย มีลักษณะสมบูรณ์ดีทุกอย่าง เช่น น้ำนมมีรสออกไปทางหวาน เป็นต้น
          แม่นมหรือหญิงที่ให้นมเด็กกินแทนแม่นี้สำคัญนัก สำคัญรองจากพ่อแม่ทีเดียว เพราะเด็กจะเห็นจะพบกับแม่นมวันละหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่เล็กไปจนโต จำจะต้องได้แม่นมที่ดี เด็กจะได้ดีตาม
          พระเจ้ากาสีทรงเห็นคุณงามความดีที่พระอัครมเหสีได้ประสูติพระโอรสให้ตามพระราชประสงค์ จึงได้พระราชทานพรให้แก่พระนาง
           “น้องหญิง! ฉันจะให้พรแก่เธอ เธออยากได้อะไรก็ให้ขอมาได้เลยตามแต่ใจปรารถนา”
พระนางจันทรเทวีรับพระพรแล้ว ก็ถวายคืนไว้ก่อน ยังไม่ขออะไรในตอนนี้ เพราะตั้งพระทัยจะไปขอในกาลข้างหน้า
          คำว่า พร ในที่นี้ไม่ใช่พรพระ-อายุ วรรณะ สุขะ พละ ที่พวกเราชอบขอจากพระภิกษุ แต่หมายถึง “สิ่งที่ขอเอาได้ตามใจปรารถนา” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์พิเศษกับคนพิเศษ พรชนิดนี้เมื่อผู้ขอได้ขอแล้ว ผู้ถูกขอก็จะต้องให้ด้วย จะบ่ายเบี่ยงมิได้ เว้นแต่จะเป็นการขอในสิ่งที่ผิดศีลธรรม
          เมื่อถึงวันขนานพระนาม พระเจ้ากาสีได้ทรงเชื้อเชิญพราหมณ์ ๔ คน ให้มาทำนายลักษณะแห่งพระราชกุมารว่า พระโอรสน้อยนี้ควรที่จะครองราชย์สมบัติสืบต่อจากเราต่อไปในอนาคตหรือไม่
          พฤฒาโหราจารย์ทั้งสี่เป็นผู้แตกฉานในการทำนายลักษณะ ได้พร้อมกันตรวจดูพระลักษณะการต่างๆ ของพระกุมารโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วในที่สุด ก็กราบทูลว่า
         “พระกุมารน้อยนี้เป็นผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐบริบูรณ์
ด้วยบุญลักษณะ หาผู้เปรียบปานมิได้  สมควรที่จะได้ครอบครอง
สิริราชสมบัติสืบไป อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเลย พระโอรสของพระองค์
จะสามารถครองราชย์สมบัติ   เป็นจักรพรรดิในมหาทวีปทั้ง ๔  มี
ทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ทวีปเป็นบริวารได้อย่างสบาย อันตรายใดๆ จะ
ไม่ปรากฏแก่พระโอรสเลย”

          พระเจ้ากาสีทรงสดับคำพยากรณ์ของพราหมณ์เหล่านั้นแล้วก็ทรงเบิกบานพระราชหฤทัย
          จากนั้นได้มีการขนานพระนามพระกุมาร โดยอาศัยเหตุที่ในวันที่พระกุมารประสูติ ได้เกิดฝนตกทั่วทั้งรัฐกาสี และการที่พระกุมารประสูติได้ทำให้พระราชหฤทัยพระเจ้ากาสี และดวงใจของหมู่อำมาตย์พร้อมด้วยมหาชนชุ่มชื่นเบิกบาน จึงได้ถวายพระนามของพระกุมารว่า พระเตมีย์ แปลว่า พระผู้ทำให้เกิดความชุ่มฉ่ำ
          เมื่อพระกุมารมีพระชนมายุได้ ๑ เดือน หลังจากที่บรรดาพระนมได้ช่วยกันสนานพระกายของพระกุมารให้เสวยโภชนาหารเป็นที่สำราญพระทัย นำเครื่องสรรพาภรณ์ทั้งปวงประดับพระกุมาร แล้วพาเข้าเฝ้าพระราชบิดา พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นพระปิโยรสแล้วก็ทรงสวมกอด จุมพิตที่พระเศียร แล้วให้ประทับบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่กับพระกุมารด้วยความรื่นรมย์พระทัยนานพอสมควร
          ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้จับโจรมา ๔ คน แล้วนำมาหน้าพระที่นั่ง เพื่อให้พระเจ้ากาสีตัดสินพิพากษา
          พระเจ้ากาสีทรงรับฟังความผิดของโจรที่เจ้าหน้าที่กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ก็ได้ทอดพระเนตรมองดูโจรเหล่านี้ครู่หนึ่ง จากนั้นก็ทรงพิพากษาโจรเหล่านั้น เป็นลำดับดังนี้
          โจรคนที่ ๑ มีความผิดสถานเบา ทรงตัดสินให้เฆี่ยนด้วยหวาย ๑,๐๐๐ ที
          โจรคนที่ ๒ มีความผิดหนักขึ้นมาหน่อย ทรงตัดสินให้ใส่ตรวน แล้วคุมขังไว้ในเรือนจำหรือให้ติดคุกนั่นเอง
          โจรคนที่ ๓ มีความผิดหนักมาก ทรงตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการเอาหอกแทงให้ตาย
          โจรคนที่ ๔ มีความผิดหนักมากที่สุด ทรงตัดสินให้เอาหลาวเสียบประจาน
          พระเตมียกุมารทรงฟังคำพิพากษาของพระบิดาแล้วก็ทรงรู้สึกสะดุ้งกลัว ทรงดำริว่า โอ้หนอ! พระบิดาของเราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว เพราะเหตุที่ครองราชย์สมบัติปกครองบ้านเมือง
          ขณะที่พระกุมารรู้สึกสลดพระทัยอยู่นั้น พระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายก็อุ้มมาบรรทมเหนือพระแท่นที่สิริไสยาสน์ ซึ่งประดับประดาตกแต่งแล้วอย่างดีเยี่ยมภายใต้เศวตฉัตร
          พระกุมารบรรทมได้หน่อยหนึ่งก็ทรงตื่นขึ้น ลืมพระเนตรทั้งสอง ได้ทอดพระเนตรเศวตฉัตรเห็นสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ ก็ทรงรู้สึกสะดุ้งกลัวหนักขึ้น จากนั้นได้ทรงสงบพระทัย นิ่งพระองค์อยู่เงียบเฉย สักครู่ก็ทรงระลึกชาติได้ว่า พระองค์นั้นมาจากเทวโลก เมื่อระลึกต่อไปก็ทรงทราบว่าเคยไปตกนรกหมกไหม้อยู่ในนรกขุมหนึ่งซึ่งเรียกว่า อุสสุทนรก โดยก่อนหน้าที่จะไปเกิดในนรก พระองค์ได้เป็นพระราชาในกรุงพาราณสี โดยครองราชย์สมบัติอยู่ ๒๐ ปี เคยตัดสินประหารชีวิตคนมาแล้ว เมื่อเสด็จสวรรคตแล้วก็บังเกิดในอุสสุทนรก ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ในนั้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี พ้นจากนรกแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยผลแห่งบุญ เมื่อสิ้นอายุบนสวรรค์ ก็ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ในชาติตระกูลเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือในพระชาติปัจจุบันนั่นเอง
          พระกุมารทรงดำริว่า การตัดสินลงพระอาญาแก่โจรของพระบิดาเมื่อวานนี้ จะเป็นเหตุให้ตกนรกหมกไหม้ หากว่าจะอยู่ครองราชสมบัติต่อจากพระบิดา เราก็จะไปบังเกิดในนรกเสวยทุกข์ใหญ่อย่างเก่าอีก (เพราะหน้าที่บังคับให้ต้องทำตามกฎหมาย แต่การทำตามกฎหมายนั้นอาจผิดศีลธรรมก็ได้) อันทุกข์ในนรกนั้นช่างเผ็ดร้อนเหลือเกิน ลำบากเหลือล้นจนยากจะทนทานได้ ยิ่งคิดยิ่งนึกก็ยิ่งสะดุ้งกลัว ห่อเหี่ยวพระทัยอย่างที่สุด
          พระองค์ทรงจินตนาการว่า ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะออกไปให้พ้นจากพระราชวังได้
          ชีวิตย่อมมีทางออกเสมอ เมื่อเกิดความคับแคบตีบตันในเรื่องอะไรก็ตาม จงรู้จักใคร่ครวญพิจารณาให้ดีเถิด จะเกิดปัญญา ปัญญาจะผ่าทางตันให้ชีวิตได้ หากแม้ยังผ่าทางตันไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็ยังพอจะมองเห็นทางออกบ้างไม่มากก็น้อย
          ระหว่างที่พระเตมีย์ทรงนอนคิดหาทางออกอยู่ก็ได้มีเทพธิดานางหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นมารดาของพระกุมารมาแต่อดีตชาติแล้วยังคอยเฝ้าคุ้มครองป้องกันมาจนถึงปัจจุบันชาติ ได้ล่วงรู้ความคิดของพระกุมารน้อยที่กำลังคิดออกจากพระราชวัง เพื่อไม่ต้องเข้าไปพัวพันกับนรก จึงเข้าไปปลอบประโลมพระกุมารให้สบายพระทัยด้วยการแนะนำอุบายที่จะไม่ต้องเป็นกษัตริย์ว่า “พ่อกุมารน้อย พ่ออย่าได้เศร้าโศกเสียใจ อย่าได้คิดหวาดกลัวที่กังวลไปเลย ถ้าพ่ออยากจะพ้นไปจากพระราชวังนี้ พ่อจงทำเป็นคนพิการง่อยเปลี้ย ทำเป็นคนหูหนวก ทำเป็นคนใบ้ พ่อจงตั้งใจทำตามคำแนะนำ อย่าได้แสดงตัวว่าเป็นคนฉลาดเลย”
          เทพธิดากล่าวเป็นคติธรรมอย่างน่าคิดว่า “พ่อกุมารน้อยอย่าได้แสดงตนว่าเป็นคนฉลาด จงทำให้ผู้คนเขาเห็นกันว่าพ่อเป็นคนโง่ คนทั้งหลายก็จะได้พากันดูหมิ่นพ่อว่าเป็นคนกาฬกิณี ทำได้อย่างนี้ความปรารถนาของพ่อก็จะสำเร็จสมประสงค์”
          ในที่สุด พระเตมียกุมารก็พบทางออกจนได้ ชีวิตไม่ว่าจะมืดมนอย่างไร ก็จะหาทางออกได้ในที่สุด ทางออกของชีวิตไม่เคยถูกปิดตาย ขอเพียงไม่ปิดกั้นตนเองเสียจากทางออก
          พระกุมารน้อยเมื่อได้รับคำแนะนำแล้วก็เริ่มต้นปฏิบัติตามอุบายนับแต่วันนั้นเลย.
          ต่อมา พระเจ้ากาสีทรงดำริว่า ลูกของเราควรจะได้เพื่อนกุมารด้วยกันมาอยู่ในที่เดียวกัน จะได้มีความสำราญเบิกบานใจไม่หงอยเหงา จึงรับสั่งให้พากุมาร ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นบุตรของเหล่าอำมาตรย์มาอยู่ในที่เดียวกัน
          กุมารน้อยทั้งหลาย เมื่อถึงเวลาดื่มนมก็ร้องไห้จะดื่มนม แต่พระเตมีย์ไม่ทรงกันแสงที่จะดื่มนม เพราะความกลัวภัยในนรก ยอมปล่อยให้ร่างกายเหี่ยวแห้งตายไปยังจะดีเสียกว่า เหล่าแม่นมเห็นอาการนิ่งเฉยของพระกุมารแล้วก็เกิดความวิตกกังวล แล้วพากันทูลพระนางจันทรเทวีให้ทรงทราบ
          พระนางจันทรเทวีทราบเรื่องแล้วก็รีบกราบทูลแด่พระเจ้ากาสี
          พระเจ้ากาสีมีรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ผู้รู้โหราศาสตร์มาเฝ้าแล้วตรัสถามว่า “ท่านพราหมณ์! ทำไมลูกของเราเมื่อถึงเวลากินนม ทำไมไม่ร้องไห้อยากกินนมเหมือนเด็กคนอื่นๆ?”
           “ขอเดชะ! ข้าพระองค์ขอแนะนำให้แม่นมอย่าถวายน้ำนมตามเวลา จงถวายเมื่อเลยเวลาไปบ้าง เมื่อทำอย่างนี้พอพระกุมารทรงหิวนมก็จะทรงกันแสงอยากดื่มนมเอง พระเจ้ากาสีรับสั่งให้แม่นมทำตามนั้น แต่พระกุมารก็มิได้ทรงกันแสงเพื่อเสวยนม ยังคงมีพระอาการเงียบเฉยเหมือนเดิม
          พระนางจันทรเทวีทรงเห็นพระกุมารไม่ทรงกันแสงก็ทรงดำริว่าลูกเราคงจะหิวจัด คงหิวจนร้องไห้ไม่ออก จึงเปิดพระถันให้พระกุมารดื่มนม แม้เหล่านางนมก็ได้ช่วยกันป้อนนมของตนแก่พระกุมาร พวกกุมาร ๕๐๐ คนที่เป็นบริวาร เมื่อไม่ได้ดื่มนมตามเวลาก็จะพากันร้องไห้ขอดื่มนมให้ได้ แต่พระกุมารเมื่อได้เสวยน้ำนมตามเวลาก็ทรงเงียบเฉย ไม่ร้องไห้คร่ำครวญ ไม่งอพระหัตถ์และพระบาท ไม่ดิ้นไปมา ยังคงมีพระอาการสงบนิ่งตลอดเวลา
          พวกแม่นมปรึกษากันว่า “ธรรมดาคนที่เป็นง่อยเป็นเปลี้ยเสียมือเท้า จะไม่เป็นอย่างนี้ ช่องหูของคนหูหนวก ไม่เป็นอย่างนี้ การที่พระกุมารมีอาการเงียบเฉยอย่างนี้ คงจะเหตุอะไรเป็นแน่แท้ พวกเราจะต้องทดลองดูให้รู้ความจริงให้ได้”
ในที่สุดการทดลองต่างๆ ก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่พระกุมารมีพระชนมายุได้ ๑ พรรษา จนถึง ๑๖ พรรษา โดยแบ่งการทดลองออกเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
          ๑.ขณะมีพระชนมายุได้ยังไม่ครบ ๑ พรรษาทดลองด้วยการปล่อยให้อดนมทั้งวันบ้าง ทดลองอยู่อย่างนี้ จนพระกุมารมีพระชนมายุครบ ๑ พรรษา แต่ก็ยังไม่พบข้อพิรุธของพระกุมาร
          ๒.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้เด็กบริวาร ๕๐๐ คน กินขนมอวดอยู่ใกล้พระกุมาร เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑ ขวบ ย่อมชอบกินขนมและของขบเคี้ยว แต่พระกุมารมิได้สนใจขนมและของขบเคี้ยวเหล่านั้นเลย การทดลองด้วยขนมทำมาได้ ๑ ปี พระกุมารก็มิได้แสดงอาการอะไรออกมาเลย
          ๓.ขณะมีพระชนมายุได้ ๒ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้เด็กบริวาร ๕๐๐ คน กินผลไม้อวด เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๒ ขวบ ย่อมชอบกินผลไม้ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีอะไรเกิดขึ้น
          ๔.ขณะมีพระชนมายุได้ ๓ พรรษา ถูกทอดลองด้วยการให้เด็กบริวาร ๕๐๐ คน เล่นของเล่นอวด เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๓ ขวบชอบของเล่น แต่ก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา
          ๕.ขณะมีพระชนมายุได้ ๔ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้เด็กบริวาร ๕๐๐ คน กินอาหารอวด เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๔ ขวบ ชอบอาหาร แต่ก็ไม่เห็นอะไร
          ๖.ขณะมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ถูกทดลองด้วยการจุดไฟเผาที่ประทับ เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๕ ขวบ ย่อมกลัวไฟ แต่พระกุมารก็ไม่แสดงอาการกลัวออกมาให้เห็น
          ๗.ขณะมีพระชนมายุได้ ๖ พรรษา ถูกทดลองด้วยการปล่อยช้างให้เข้าไปขับไล่ เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๖ ขวบ ย่อมกลัวช้าง แต่พระกุมารก็ไม่กลัวช้าง
          ๘.ขณะมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา ถูกทดลองด้วยการปล่อยงูให้เข้าไปพันพระกาย เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๗ ขวบ ย่อมกลัวงู แต่พระกุมารก็ไม่กลัวงู
          ๙.ขณะมีพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้ฟ้อนรำ เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๘ ขวบ ย่อมชอบการฟ้อนรำ เต้นรำ แต่พระกุมารก็มิได้แสดงการชมชอบเลยสักนิด
          ๑๐.ขณะมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ถูกทดลองด้วยการดูเพชรฆาตรำดาบแสดงจะฟาดฟัน เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๙ ขวบ ย่อมกลัวศาสตราวุธ แต่พระกุมารก็มิได้แสดงการหวาดกลัวให้เห็น
          ๑๑.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้เกิดเสียงดัง เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๐ ขวบ ย่อมกลัวไม่ชอบเสียงดัง แต่ก็ยังไม่มีอาการอะไรออกมาจากพระกุมาร
          ๑๒.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ถูกทดลองด้วยการตีกลองให้เกิดเสียงดัง เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๑ ขวบ ย่อมกลัวเสียงกลองดังเกินไป แต่พระกุมารก็ยังคงนิ่งเฉย
          ๑๓.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา ถูกทดลองด้วยการทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นฉับพลัน ในห้องบรรทมมื ดๆ ที่พระกุมารบรรทมอยู่ เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๒ ขวบ ย่อมกลัวแสงไฟ แต่ก็ไร้ผล
          ๑๔.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ถูกทดลองด้วยการปล่อยให้แมลงวันไปเกาะตามพระวรกาย เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๓ ขวบ ย่อมไม่ชอบแมลงวัน แต่พระกุมารก็ยังคงนิ่งเฉย
          ๑๕.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๔ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้นอนเกลือกกลั้วอยู่กับอุจจาระปัสสาวะ เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๕ ขวบ ย่อมกลัวความร้อน แต่ก็มิได้ผลอีกตามเคย
          ๑๖.ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ถูกทดลองด้วยการให้หญิงวัยรุ่นเข้าไปเล้าโลม เพราะธรรมดาว่าเด็กอายุ ๑๖ ขวบ ย่อมมีความกำหนัดยินดีในกาม แต่พระกุมารก็ยังเฉยอยู่ได้ ทรงทำตัวเหมือนพระอิฐพระปูนไม่รู้สึกอะไร
          การทดลองได้ทำกันมาถึง ๑๖ ปี แต่ก็ยังไม่พิสูจน์อะไรในพระกุมารได้ พระเตมีย์ยังคงทำเป็นคนง่อยเปลี้ย ทำเป็นคนหูหนวก และทำเป็นคนใบ้ จนใครๆ ไม่อาจจับพิรุธได้เลย


คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม ... สาธุ
มีต่อ โปรดติดตาม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 พฤษภาคม 2563 16:51:56 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 เมษายน 2563 20:09:41 »

http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก : พระเตมีย์

    พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ
  เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก

    พระเตมีย์ (ต่อ)

          พระเตมีย์ทรงผ่านการทดลองทั้งหลายเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา ๑๖ ปี พระองค์ทรงได้รับความทุกข์ทรมานมาก แต่ก็สามารถทนทานอยู่ได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ ควรที่พวกเราชนชั้นหลังจะได้เอาเยี่ยงอย่าง ให้รู้จักมีน้ำอดน้ำทนต่อสิ่งที่ไม่พอใจ หรือไม่ให้หลงใหลไปตามสิ่งเร้าเย้ายวนต่างๆ ได้ แต่ความทุกข์ความเดือดร้อนความลำบากยากเข็ญที่พระเตมีย์ได้รับ ไม่ได้ทำให้พระบิดาและพระมารดาสบายพระทัยเลย ทั้งสองพระองค์ได้รับความทุกข์ทรมานพระทัยอาจจะมากกว่าพระกุมารด้วยซ้ำ ข้างพระบิดานั้นสู้ข่มพระทัยไว้ได้ แต่พระมารดาสิไม่อาจจะข่มพระทัยได้อีกต่อไปแล้ว
          พระนางทรงกรรณแสงคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียพระทัยอย่างใหญ่หลวง ในที่สุดถึงกับเข้าไปโอบกอดลูกที่รัก แล้วอ้อนวอนว่า “ลูกเตมีย์เอ๋ย! ทำไมลูกถึงทำเป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ้ หนวก อย่างนี้เล่า แม่รู้นะว่าลูกไม่ได้เป็นคนอย่างนี้ ลูกมีปกติดีทุกอย่าง ลูกจงสงสารแม่เถิด แม่เห็นลูกทนทุกข์ทรมานมาถึง ๑๖ ปีแล้ว แม่ไม่สบายใจเลย ลูกหันมาพูดกับแม่ให้ชื่นใจหน่อยซิลูก”
          พระกุมารทรงฟังพระมารดาแล้วก็ทรงรู้สึกสงสารพระมารดามาก ถึงกับเกือบจะอ้าพระโอษฐ์ทูลกับพระมารดา แต่ก็ทรงอดกลั้นไว้ได้อยู่ เพื่อทำอุดมการณ์ให้สำเร็จ หาไม่แล้วจะเป็นการเสียแรงเปล่าที่สู้อุตส่าห์อดทนมาได้จนบัดนี้
          การทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จ ต้องทำให้ถึงที่สุดอย่าปล่อยให้เหตุอื่นมาสะดุดลงเสียกลางคัน ต้องด้นดั้นไปจนกว่าจะถึงที่หมายนั่นแหละ จึงจะชอบ ความสำเร็จย่อมเผล็ดผลแก่คนใจเด็ด มิใช่คนใจอ่อน
          ฝ่ายพระเจ้ากาสี พระบิดา ซึ่งสุดแสนจะเสียพระทัยที่พระโอรสเป็นไปเช่นนี้ จึงรับสั่งให้พราหมณ์โหราจารย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “ท่านโหราจารย์ เมื่อแรกที่พระเตมีย์ประสูติ ท่านอาจารย์ได้บอกกับพวกเราว่า พระเตมีย์เป็นสมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะ หาอันตรายใดๆ มิได้ สามารถจะครองราชย์สมบัติสืบต่อจากเราได้ในอนาคต ก็แล้วไฉนพระกุมารจึงเป็นอย่างที่เห็นนี้เล่า ไม่สมกับคำทำนายของท่านอาจารย์เลย”
          พราหมณ์ทั้งสี่รู้สึกว่าจนใจ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี ในที่สุดก็แกล้งกราบทูลว่า “ที่จริง ลักษณะร้ายของพระกุมารนี้ก็มีอยู่ แต่เนื่องจากพระกุมารเป็นใครๆ ก็ปรารถนาอยากจะได้ทั้งสิ้น ถ้าพวกข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลตามความจริงว่าทรงเป็นกาลกิณี ผู้คนจะเสียใจกันไปหมด ชาวเมืองอาจจะทำร้ายข้าพระพุทธเจ้าเอาก็ได้  ดังนั้น พวกข้าพระพุทธเจ้าจึงกราบทูลแต่เรื่องดี เพื่อให้เกิดความสบายอกสบายใจทั่วหน้ากัน”
           “ถ้าอย่างนั้น ควรทำอย่างไร” พระเจ้ากาสีตรัสถาม
           “พระอาญามิพ้นเกล้า! ถ้าพระกุมารยังอยู่ในพระราชมณเฑียรนี้ จะเกิดอันตราย ๓ อย่าง คือ
          ๑.อันตรายแก่ชีวิตของพระองค์
          ๒.อันตรายแก่พระองค์เศวตฉัตร ถูกแย่งชิงราชบัลลังก์
          ๓.อันตรายแก่พระอัครมเหสี พระนางจันทรเทวีจะสวรรคต
          ฉะนั้น ฝ่าพระบาทจะชักช้าไม่ได้ ควรจะรีบรับสั่งให้นำพระโอรสไปฝังทั้งเป็นที่ป่าช้าผีดิบนอกพระนครนั้นเถิด พระเจ้าข้า ในการนำพระกุมารไปฝังนี้ ควรให้พระกุมารบรรทมไปบนรถอัปมงคลที่เทียมด้วยม้าอัปมงคล แล้วขับออกไปทางประตูทิศตะวันตก ฝังเสียที่ป่าช้าผีดิบนั้น”
          พระเจ้ากาสีทรงสดับคำกราบทูลของโหรหลวงแล้ว ก็ทรงรู้สึกกลัวภยันตรายดังกล่าวว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่การจะให้ฝังพระโอรสทั้งเป็นนั้นก็ทรงรู้สึกสะเทือนพระทัยมาก พระราชบิดาทรงพิจารณาใคร่ครวญอยู่เป็นเวลานานมาก ในที่สุดก็ทรงตัดสินทำตามคำแนะนำของโหรหลวง แล้วรับสั่งให้นายสารถีเจ้าหน้าที่ขับรถนำพระโอรสไปฝังเสียภายใน ๗ วัน
          พระนางจันทรเทวีได้ฟังพระราชดำรัสที่ตรัสสั่งนายสารถีแล้ว ก็ตกพระทัยแทบจะสิ้นสติรีบกราบทูลพระราชสวามีว่า
           “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อครั้งก่อนพระองค์ได้พระราชทานพรแก่ข้าพระบาทไว้ว่า ถ้าต้องการสิ่งใดจะพระราชทานให้ตามประสงค์ บัดนี้ ข้าพระบาทจะขอรับพระพรนั้นจากพระองค์ ขอพระองค์จงพระราชทานพรแก่ข้าพระบาทด้วยเถิด”
          พระเจ้ากาสีตรัสว่า “พระนางจงขอมาเถอะ พระนางขอสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้นตามปรารถนา”
           “ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดพระราชทานราชสมบัติแกลูกของหม่อมฉันด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
           “ลูกของราเป็นกาฬกิณี จะให้ครองราชย์สมบัตินั้นมิได้หรอก หาไม่จะเกิดความฉิบหายแก่บ้านเมือง”
           “ถ้าไม่อาจพระราชทานราชสมบัติให้ครอบครองได้ตลอดชีวิต ก็ขอได้โปรดพระราชทานสัก ๗ ปีเถิด”
           “พี่ให้ไม่ได้หรอก”
           “ถ้าไม่อาจพระราชทานราชสมบัติให้ครอบครองได้ถึง ๗ ปี ก็ขอได้โปรดพระราชทานสัก ๖ ปีเถิด”
           “พี่ให้ไม่ได้จริงๆ”
          เมื่อพระราชสวามีไม่อาจพระราชทานให้ได้ พระนางจึงทูลขอลดลงมาตามลำดับ คือ ๕ ปี, ๔ ปี, ๓ ปี, ๒ ปี จนถึง ๑ ปี แต่พระราชสวามีก็ยังให้ไม่ได้ พระนางจึงลดลงมาอีกเป็น ๑๑ เดือน ๑๐ เดือน ๙ เดือน ๘ เดือน ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ๑๕ วัน จนกระทั่งถึง ๗ วัน พระราชสวามีจึงพระราชทานอนุญาต
          พระนางทรงโสมนัสยินดียิ่ง จึงอภิเษกพระเตมีย์ให้ครองราชย์สมบัติ ทรงประดับตกแต่งพระโอรสให้งามวิจิตรหมดจดดั่งเทพในสวรรค์ แล้วมีพระราชเสาวนีย์แก่อำมาตย์ให้นำกลองชัยเภรีไปตีป่าวร้องชาวพระนครให้ร่วมด้วยช่วยกันตกแต่งบ้านเรือนและถนนหนทาง ให้ประดับธงและดอกไม้สวยงาม
          ครั้นทุกอย่างเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ก็โปรดให้ช่วยกันประคองพระโอรสประทับบนคอช้าง ให้ยกเศวตฉัตรไว้เหนือพระเศียร แล้วเสด็จเลียบพระนคร เมื่อกลับมายังพระราชวังแล้ว ก็โปรดให้พระโอรสบรรทมบนพระยี่ภู่ที่สวยงามและล้ำค่า ทรงเข้าไปสวมกอดพระโอรส ตรัสวิงวอนตลอดคืนและวันว่า “ลูกเอ๋ย! จำเดิมแต่ที่มีเจ้า แม่ก็ชื่นชมแต่เจ้าอย่างสุดซึ้ง นึกไม่ถึงว่าเจ้าจะมาทำเป็นคนง่อยเปลี้ย บ้าใบ้ หูหนวกไปได้ ทำให้แม่ไม่เป็นอันกินอันนอน ร้องไห้เสียใจอยู่ทุกวี่ทุกวัน แม่ต้องกินน้ำตาต่างข้าว จนร่างซูบผอมลง นี่ลูกเห็นหรือไม่”
          พระนางพยายามอ้อนวอนขอร้องทำนองนี้อยู่ถึง ๖ วัน แต่พระกุมารก็ทรงอดกลั้นไว้ได้ ไม่ยอมเจรจาด้วย พระมารดาทรงกันแสงคร่ำครวญน้ำพระเนตรนองพระพักตร์
           “ลูกเอ๋ย วันมะรืนนี้เจ้าจะต้องถูกเขาจับไปฝังแล้ว วันมะรืนเจ้าจะต้องตายไปจากแม่แล้ว เจ้าจะทิ้งแม่ผู้รักเจ้ายิ่งชีวิตไปได้ลงคอเชียวหรือ โธ่! ลูกรักของแม่”
          ครั้นถึงวันที่ ๖ พระเจ้ากาสีก็รับสั่งให้หานายสารถีชื่อสุนันทะ มาตรัสสั่งว่า “สุนันทะ! พรุ่งนี้เจ้าจงนำม้าอัปมงคลคู่หนึ่งมาเทียบรถอัปมงคล ให้พระกุมารนอนบนรถนั้น แล้วขับออกไปทางประตูทิศตะวันตก ร้องตะโกนว่า คนกาฬกิณีๆๆ พอถึงป่าช้าผีดิบ ก็จงขุดหลุมสี่เหลี่ยม นำพระกุมารใส่หลุมแล้วก็เอาสันจอบทุบหัวตาย เอาดินกลบให้แน่นหนา พูนดินขึ้นให้สูงหน่อย จากนั้นเจ้าจงไปอาบน้ำแล้วจึงเข้ามา”
          พระนางจันทรเทวีทรงได้ยินพระราชดำรัสนั้น พระหทัยของพระนางแทบจะแตกทำลายเป็นเสี่ยงๆ เมื่อเห็นว่าคงไม่อาจจะทูลขอชีวิตไว้ได้ จึงรีบเสด็จไปหาพระโอรส ทรงเข้าไปโอบกอดด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง พลางวิงวอนว่า “ลูกเอ๋ย! พระบิดาของเจ้ามีพระราชดำรัสตรัสสั่งให้นายสุนันทะสารถีฝังเจ้าในป่าช้าผีดิบในวันพรุ่งนี้เช้า พรุ่งนี้เช้าเจ้าจะต้องตายแล้วนะลูก”
          พระกุมารฟังพระมารดาตรัสดังนั้น ก็มีพระทัยยินดีที่พรุ่งนี้จะได้ไปพ้นจากวังเสียที หลังจากที่ได้เพียรพยายามมานาน ขณะที่ทรงเกิดปีติขึ้นภายในพระกมล ในพระทัยก็อดเป็นห่วงพระมารดาไม่ได้ที่จะต้องเศร้าโศกเสียพระทัยอย่างแสนสาหัส แต่ก็ยังอดกลั้นพระทัยไว้ ไม่ตรัสอะไรกับพระชนนี
รุ่งขึ้นเช้า พระนางจันทรเทวีได้สรงสนานพระโอรสประดับตกแต่งพระองค์ทรงยศแล้วก็ทรงสวมกอดในขณะที่น้ำพระเนตรไหลพรากๆ
          ฝ่ายนายสุนันทะสารถีเมื่อได้เวลาแล้ว ก็นำม้ามาเทียมรถ แต่แทนที่จะนำม้าอัปมงคลมาเทียมรถ ก็กลับนำม้ามงคลมาเทียมรถมงคลเสียนี่ เขาขึ้นไปถวายบังคมพระนางจันทรเทวีแล้วก็กราบทูลว่า ขออภัยต่อต่อพระนาง จากนั้นก็เอาหลังมือกันให้พระเทวีซึ่งประทับนั่งสวมกอดพระโอรสอยู่ให้ผละออกไป แล้วประคองพระโอรสลงจากปราสาท แล้วให้ขึ้นไปบรรทมอยู่บนรถม้า พระนางจันทรเทวีทรงมองดูพระโอรสด้วยความอาลัยแล้วทรงกันแสงคร่ำครวญ ทรงทอดพระองค์ลงบนพื้นเกลือกกลิ้งไปมาอยู่อย่างน่าสงสารท่ามกลางนางสนมจำนวนมากในปราสาท พระกุมารทอดพระเนตรเห็นพระมารดาทรงกันแสงแล้ว พระหฤทัยของพระองค์ก็เจ็บปวดรวดร้าวจนแทบจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ถึงกับทรงดำริว่าจะตรัสอะไรกับพระชนนีสักหน่อย แต่แล้วก็กลับเปลี่ยนพระทัย ไม่อยากให้ความพยายามที่ได้พยายามมาถึง ๑๖ ปี เสียไปเปล่า จึงทรงกลั้นความโศกเศร้าไว้ ไม่ตรัสอะไรกับพระชนนี
          เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว นายสุนันทะสารถีก็ขับรถม้าออกจากพระราชวัง ตั้งใจว่าจะไปทางทิศตะวันตกตามรับสั่ง แต่ก็กลับขับออกไปทางทิศตะวันออก พอล้อรถกระทบธรณีประตู พระกุมารก็ทรงรู้ว่าออกไปพ้นจากพระนครแล้ว ทรงปลาบปลื้มพระทัยว่าความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว เมื่อรถแล่นไปได้สัก ๓ โยชน์ ก็ไปถึคงป่ารกครึ้มแห่งหนึ่ง นายสุนันทะเข้าใจว่าถึงป่าช้าผีดิบแล้ว จึงจอดรถเข้าข้างทาง ถอดเครื่องประดับประดาอาภรณ์ของพระกุมารออกใส่ห่อไว้แล้ว ตัวเองก็ลงจากรถนำจอบในรถออกมาขุดหลุมสี่เหลี่ยมในที่ไม่ไกลจากรถนัก เพื่อเตรียมฝังพระกุมาร
          ระหว่างที่นายสุนันทะขุดหลุมอยู่นั้น พระเตมีย์ก็ทรงดำริว่าเราไม่ได้เหยียดมือเท้าแขนขามาเสียนาน บัดนี้จะยังมีกำลังวังชาอยู่บ้างหรือไม่หนอ แล้วก็ทรงลุกขึ้นยืน เอามือขวาลูบมือซ้าย เอามือซ้ายลูบมือขวา เอาพระหัตถ์นวดพระบาทให้เลือดลมไหลเวียนดี แล้วเสด็จลงจากรถ ทดลองเดินไปมาอยู่พักหนึ่งยังมีกำลังวังชาดี ถ้าจะเดินทางไกลก็ยังไหว
          พระองค์ทรงพิจารณาถึงพละกำลังของพระองค์ว่า ถ้าถูกนายสุนันทะทำร้ายเอา จะสามารถต่อสู้ได้หรือไม่ จึงทรงทดลองจับท้ายรถยกขึ้น ก็แกว่งไปมาประดุจดังจับรถเด็กเล่น ทำให้แน่พระทัยว่าจะไม่ถูกนายสุนันทะจับฝังทั้งเป็นได้ จากนั้นพระกุมารก็ทรงนำเครื่องทรงที่นายสุนันทะถอดเก็บใส่ห่อไว้มาสวมประดับประดาให้งามเด่นเป็นสง่า แล้วเสด็จเข้าไปยืนอยู่ใกล้ๆ นายสุนันทะ สักครู่หนึ่งก็ตรัสถามว่า “แน่ะสารถี! ท่านจะขุดหลุมไปเพื่ออะไรหรือ ดูซิ ท่านขุดใหญ่เลย ท่านขุดไปเพื่ออะไร?”
          สุนันทะไม่ได้เหลียวไปดูว่าใครกำลังพูดกับตน เขาเอาแต่ก้มหน้าก้มตาขุดอย่างเดียว แต่ได้ทูลตอบโดยไม่เงยหน้ามองว่า “เราจะฝังพระเตมีย์ ซึ่งเป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ หนวก พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวของเรานี่แหละ”
          พระกุมารทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสขึ้น “สารถีเอ๋ย! เราไม่ได้เป็นคนหูหนวก เราไม่ได้เป็นคนใบ้ เราไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ย เราไม่ได้มีร่างกายพิกลพิการตรงไหนเลย ถ้าท่านฝังเราในป่าช้านี้เสีย ท่านก็จะได้ชื่อว่าทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ท่านจงเงยหน้าขึ้นมามองดูแขนขาของเราก่อน แล้วก็จะรู้ว่าเราไม่ใช่คนพิการ เรามีร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง”
          นายสุนันทะจึงเงยหน้าขึ้นดู แต่พอมองเห็นรูปร่างหน้าแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นใครกัน จำไม่ได้ว่าเป็นพระเตมีย์ ใคร่ครวญดูเห็นว่างามนัก ก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า “ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นพระอินทร์ท้าวสักกเทวราชผู้ชอบให้ทาน ท่านเป็นใคร ท่านเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร”
          พระกุมารตรัสตอบว่า “เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่พระอินทร์ผู้มีนามท้าวสักกะที่ชอบให้ทาน เราคือคนที่ท่านจะฝังลงหลุมนี้ เป็นโอรสของพระเจ้ากาสีที่ท่านอาศัยเลี้ยงชีพอยู่นั่นเอง ฉะนั้น ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ชื่อว่าทำสิ่งไม่เป็นธรรม เพราะบัณฑิตได้กล่าวไว้ว่า บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนบาปแท้ เราเองเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเปรียบเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียแล้ว ท่านก็ชื่อว่าทำสิ่งไม่เป็นธรรม”
          แม้พระเตมีย์จะตรัสถึงอย่างนี้แล้ว นายสุนันทะก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสี เพราะเชื่อมาแต่เดิมว่าพระโอรสของพระเจ้ากาสีเป็นคนพิการไม่ใช่พูดได้อย่างนี้ เมื่อนายสุนันทะไม่ยอมเชื่อ พระกุมารจึงทรงดำริว่าเราจักทำให้เขาเชื่อให้จงได้ จึงตรัสแสดงอานิสงส์ของผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรให้ฟังว่า
          ๑.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร คนเป็นอันมากจะพากันเข้าไปรับใช้ พลัดพรากจากเรือนของตนไปอยู่ที่ไหนๆ ก็จะมีอาหารการกินอย่างอุดมสมบูรณ์
          ๒.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไปสู่ชนบท ตำบล เมืองใดๆ จะได้รับการบูชาในทุกที่ทุกแห่ง
          ๓.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร พวกโจรจะไม่ข่มเหงคะเนงร้าย พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงดูหมิ่นถิ่นแคลน
          ๔.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร มาถึงเรือนจะไม่มีเรื่องโกรธเคืองใครมา ได้รับความชื่นชมในที่ประชุม ได้เป็นบุคคลสำคัญสูงสุดของหมู่ญาติ
          ๕.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร เมื่อสักการะเขา ก็จะได้รับสักการะตอบ เมื่อเคารพเขา ก็จะได้รับความเคารพตอบ จะได้รับการกล่าวขวัญแต่ในด้านที่เป็นคุณ
          ๖.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร เมื่อบูชาเขา ก็จะได้รับการบูชาตอบ เมื่อไหว้เขา ก็จะได้รับการไหว้ตอบ ย่อมได้ยศและเกียรติ
          ๗.ผู้ไม่ทุษร้ายมิตร จะมีมิ่งขวัญประจำตัว รุ่งเรืองเหมือนกองไฟเจิดจ้า สว่างไสวดุจดังเทวดา
          ๘.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร วัวควายสัตว์เลี้ยงของเขาย่อมตกลูก พืชพันธุ์ย่อมเจริญงอกงามดี เขาย่อมได้บริโภคผลของพืชพันธุ์ที่หว่านไว้
          ๙.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร เมื่อพลาดพลั้งตกลงไปในเหว ตกเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งพาอาศัย ไม่เป็นอันตราย
          ๑๐.ผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูจะไม่อาจข่มเหงได้ เหมือนต้นไทรที่มีรากและย่านงอกงาม ลมพายุย่อมไม่อาจพัดให้โค่นล้มได้
          นี่นับเป็นคติธรรมชั้นยอดสำหรับมิตรทีเดียว
          นายสุนันทะฟังคติธรรมของพระกุมารแล้ว ก็ยังจำไม่ได้ว่าพระองค์เป็นใคร จึงยังไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่
          เหตุที่นายสุนันทะจำไม่ได้ หรือยังเชื่อว่าผู้ที่พูดกับตนเป็นพระกุมาร โอรสของพระเจ้ากาสี ก็เพราะว่าเชื่อแต่ว่าพระกุมารเป็นคนพิการที่นอนซมอยู่กับที่ จะลุกขึ้นเดินเหินด้วยตนเองไม่ได้ แม้ชายที่อยู่ตรงหน้าของตนจะมีรูปร่างเป็นคนพิการ ที่นอนซมอยู่กับที่ จะลุกขึ้นเดินเหินด้วยตนเองไม่ได้ แม้ชายที่อยู่ตรงหน้าของตนจะม่รูปร่างหน้าตาเหมือนพระกุมารเป็นนักหนา แต่เขาก็คิดว่าเป็นแค่คนเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะกุมารองค์จริง เพราะตอนอยู่ในพระราชวัง พระกุมารนอนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้เลย นายสุนันทะและใครๆ ก็เห็นอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา แล้วมาตอนนี้จะลุกขึ้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
          ครั้นได้ฟังสุภาษิตคติธรรมจากพระเตมีย์แล้ว สุนันทะก็คิดว่าหนุ่มน้อยคนนี้พูดเข้าที จึงหยุดขุดหลุมไว้ก่อน แล้วคิดใคร่ครวญว่า นายคนนี้เป็นใครกันหนอ จากนั้นก็ลุกขึ้นเดินไปที่รถ ไม่เห็นพระกุมารและห่อเครื่องทรง จึงหันกลับมามองดูชายหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดก็จำได้ว่าผู้ที่ให้ข้อคิดต่างๆ แก่ตนอยู่ตั้งนานแสนนานนั้นก็คือพระเตมีย์ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ากาสีที่ตนอาศัยอยู่นั่นเอง จึงรีบหมอบลงแทบพระบาทแล้วกราบทูลวิงวอนว่า “ขอพระองค์โปรดเสด็จเถิด ข้าพระบาทจักนำพระองค์กลับพระราชวัง เพื่อครองราชย์สมบัติต่อไปเถิด จะมาทำอะไรในป่าเล่า”
          พระกุมารตรัสตอบว่า “สารถีเอ๊ย! พอทีเถอะ เราไม่ต้องการราชสมบัติ ไม่ต้องการอำนาจ ทรัพย์สินใดๆ ที่ทำให้เราต้องประพฤติอธรรมทำสิ่งไม่ดี”
           “ถ้าพระองค์เสด็จกลับไปพร้อมกับข้าพระบาท พระชนกกับพระชนนีจะทรงยินดีอย่างยิ่ง จะพระราชทานรางวัลอย่างงามแก่ข้าพระบาท  
          ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับไปกับข้าพระบาทเถิด พวกพระสนม เหล่ากุมาร กุมารี พ่อค้า และพราหมณ์ทั้งหลายก็จะยินดีปรีดา และจะให้รางวัลแก่ข้าพระบาทอย่างมากมายทีเดียว  
          ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับไปกับข้าพระบาทเถิด พวกทหารในกองทัพต่างๆ อันมีกองช้าง กองม้า กองรถ และกองราบ (เดินเท้า) ก็จะพากันยินดีปรีดา จะให้รางวัลแก่ข้าพระบาทมิใช่น้อย  
          ขอพระองค็โปรดเสด็จกลับไปข้าพระบาทเถิด ประชนในชนบท ในหมู่บ้าน ตำบล จะพากันยินดีปรีดา และจะพร้อมกันนำรางวัลมาให้แก่ข้าพระบ่าทอย่างมหาศาล
           ไปเถิดพระองค์ กลับไปกับข้าพระบาทเถิด”
          พระเตมีย์ตั้งพระทัยจะออกจากพระนครมาแต่แรกเริ่ม ดังนั้นเมื่อได้รับการชักชวนจากนายสุนันทะให้กลับพระนคร จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่สามารถปฏิบัติตามได้
          พอทรงสดับคำชักชวนของนายสุนันทะแล้ว พระองค์จึงตรัสตอบว่า “พระชนกและพระชนนีได้ทอดทิ้งเราแล้ว ประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ทอดทิ้งเราแล้ว เราเป็นคนไม่มีบ้านเรือน พระชนนีท่านได้อนุญาตเราแล้ว พระชนกท่านก็ทอดทิ้งเราจริงๆจะขอบวชอยู่ในป่าแต่เพียงลำพัง ไม่ต้องการกามคุณอีกแล้ว”
          เมื่อพระกุมารตรัสอยู่อย่างนี้ ก็ทรงเกิดปีติอิ่มพระทัยว่า ความเพียรพยายามอย่างหนักหนาสาหัสของพระองค์ได้เกิดผลเป็นจริงเป็นจังขึ้นแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า “ความหวังในผลย่อมสำเร็จด้วยดีแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ สารถีเอ๋ย! ท่านจงรู้เถิดว่าเราสำเร็จความประสงค์แล้ว สารถีเอ๋ย! ประโยชน์โดยชอบย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เราสำเร็จความประสงค์แล้ว ออกมาได้แล้ว ปลอดภัยแล้ว”
          นายสุนันทะกราบทูลว่า “พระองค์มีพระดำรัสไพเราะมาก พระดำรัสของพระองค์สละสลวยถึงเพียงนี้ ไฉนจึงไม่ตรัสให้พระชนกพระชนนีได้ฟังบ้างในตอนนั้น?”
          พระกุมาตรัสตอบว่า “ก็เพราะเหตุว่าเราต้องการจะให้เขาเห็นว่า เราเป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ้ หนวก ซึ่งความจริงเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ยเพราะไม่มีเส้นเอ็น เราไม่ได้เป็นคนหูหนวกเพราะไม่มีช่องหู เราไม่ใช่คนใบ้เพราะพูดไม่ได้ ท่านอย่าเข้าใจว่าเราเป็นใบ้ เรานั้นระลึกชาติก่อนได้ว่า เคยเกิดเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติ ชาติที่เราครองราชสมบัติอยู่ในตอนนั้น เราต้องไปตกนรกอันร้ายกาจ ตอนนั้นเราครองราชสมบัติอยู่ ๒๐ ปี แล้วต้องไปตกนรกอยู่นานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี ทำให้เรากลัวการครองราชสมบัติเหลือเกิน เรากลัวว่าจะต้องเสวยราชย์ในเมืองนี้อีก จึงตั้งใจไม่พูดอะไรในพระราชวัง
          ในคราวที่พระบิดาอุ้มนั่งบนตักตอนนั้น พระองค์ได้ตรัสสั่งให้ลงโทษโจร ๔ คน
          - ให้เฆี่ยนโจรคนหนึ่ง
          - ให้จองจำโจรคนหนึ่ง
          - ให้เอาหอกแทงโจรคนหนึ่ง
          - ให้เอาหลาวเสียบประจานทั้งเป็นแก่โจรคนหนึ่ง
          เราได้ฟังพระวาจาของพระชนกที่ตรัสสั่งเจ้าหน้าที่แล้ว ทำให้รู้สึกกลัวการเสวยราชย์เหลือเกิน จากนั้นเราจึงแสร้งแกล้งทำเป็นคนใบ้ คนหูหนวก คนง่อยเปลี้ย แกล้งนอนเกลือกกลิ้งอยู่บนขี้เยี่ยวของตนเอง”
          พระเตมีย์ตรัสเป็นคติธรรมว่า “ชีวิตนั้นเป็นของลำบากเป็นของน้อย ทั้งประกอบไปด้วยทุกข์ ใครเล่ายังจะอาศัยชีวิตนี้สร้างเวรกับใครๆ อยู่อีก เพราะขาดปัญญา เพราะมองไม่เห็นธรรม ใครๆ จึงอาศัยชีวิตนี้สร้างเวรกัน ความหวังในผลย่อมสำเร็จด้วยดีแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้
          สารถีเอ๋ย! ท่านจงรู้เถิดว่าเราสำเร็จความประสงค์แล้ว สารถีเอ๋ย! ประโยชน์โดยชอบย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เราสำเร็จความประสงค์แล้ว”
          พระกุมารเปล่งพระอุทานซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกาศความประสงค์หรืออุดมการณ์อันมั่งคงของพระองค์ว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่เสด็จกลับพระนครอย่างเด็ดขาด พระกุมารทรงยืนยันมั่นพระทัยในการที่จะออกบวชอยู่ในป่า โดยจะไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงได้
          ดังนั้น เมื่อสุนันทะฟังพระดำรัสของพระกุมารแล้วก็คิดว่า พระกุมารคงจะละทิ้งราชสมบัติที่น่าปรารถนี้เหมือนดังทิ้งซากศพเสียแล้ว พระองค์ยังคงตั้งพระทัยอย่างมั่นคงที่จะออกบวชให้ได้ เราเองจะมัวห่วงใยชีวิตที่มีแต่ความบกพร่องนี้ทำไม ควรจะบวชไปพร้อมกับพระองค์ดีกว่า  
          คิดดังนั้นแล้วก็กราบทูลว่า “ข้าพระบาทจะขอบวชตามพระองค์ด้วย ขอพระองค์โปรดให้ข้าพระบาทได้ออกบวชด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
          พระกุมารทรงดำริมองการณ์ไกลว่าถ้าเรายอมให้นายสุนันทะบวชเสียในคราวนี้ พระชนกและพระชนนีก็จักไม่ได้เสด็จมาพบเราที่นี่ ซึ่งข้อนั้นจักไม่เป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ รถ ม้า และเครื่องทรง ก็จักเสียหายไป บางทีอาจจะเกิดข้อหาแก่เราว่าพระเตมีย์เห็นจะเป็นยักษ์กินนายสุนันทะสารถีไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้เราควรจะป้องกันข้อหาอาจจะเกิดขึ้น และถวายโอกาสให้พระชนกพระชนนีได้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางธรรม ทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงมอบม้า รถ และเครื่องทรงแก่นายสุนันทะ แล้วตรัสว่า “สุนันทะ! ท่านยังมีหนี้สินติดตัวมา  ม้า รถ กับเครื่องทรงนี้เป็นของหลวงพี่ต้องนำไปคืนเสียก่อน ผู้มีหนี้สินจะออกบวชนั้นไม่ได้ ท่านนำสิ่งเหล่านี้ไปคืนแล้วค่อยมาบวชในภายหลัง จึงจะถูกต้อง”
          สุนันทะได้ฟังแล้วก็คิดว่าเป็นการดีที่จะทำอย่างนั้น แต่ก็วิตกกังวลว่า “ถ้าเราเข้าไปในเมืองแล้ว พระกุมารเสด็จไปเสียที่อื่น เมื่อเราจะนำเสด็จพระบิดาและพระมารดามาในที่นี้ก็จะไม่ได้พบกับพระกุมาร เราก็อาจจะได้รับโทษอย่างหนัก เพราะฉะนั้น เราควรให้พระกุมารรับปากเราก่อน ว่าจะไม่ไปไหน จนกว่าจะได้พบกับพระบิดาและพระมารดา”
          คิดดังนั้นแล้วก็ทูลว่า “ข้าพระบาทจะทำตามพระดำริของพระองค์ แต่พระองค์ต้องทรงรับปากก่อนว่า จะเสด็จอยู่ในที่นี้จนกว่าจะได้พบกับพระชนกพระชนนี ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นการดีไม่มีโทษภัยแก่ข้าพระบาท”
          พระกุมารทรงเห็นด้วยกับความคิดของนายสุนันทะ และทรงรับปากจะไม่ไปไหน จนกว่าจะได้พบกับพระชนกและพระชนนี แล้วตรัสบอกให้นายสุนันทะรีบกลับไปกราบทูลเรื่องราวให้พระชนกพระชนนี พระประยูรญาติทรงทราบโดยละเอียด จะได้หมดห่วงและคลายความเศร้าโศกกันเสียที
          ครั้นตรัสดังนั้นแล้ว พระกุมารก็น้อมพระกาย บ่ายพระพักตร์ตรงไปยังพระนครพาราณสี ประนมกรถวายบังคมแด่พระชนกพระชนนีด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทรงลุกขึ้นแล้วหันไปตรัสบอกนายสุนันทะ ให้รีบออกเดินทางได้แล้ว นายสุนันทะน้อมรับสั่งแล้ว ทำประทักษิณ (คือ เดินเวียนขวา อันเป็นการแสดงความเคารพ) พระกุมาร แล้วก้มลงถวายบังคมแทบพระบาท รีบขึ้นรถขับตรงไปยังกรุงพาราณสีทันที
          ฝ่ายพระชนก พระชนนี พระประยูรญาติ ข้าราชบริพาร อำมาตย์ ขุนนาง เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั้งหลาย ต่างคอยฟังข่าวจากสุนันทะสารถีผู้นำพระกุมารไปฝังว่าจะเป็นเช่นไร
          สำหรับพระนางจันทรเทวีพระชนนีของพระเตมีย์ คอยเปิดพระแกลหน้าต่างอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะดูการมาของนายสุนันทะด้วยพระทัยอันเต็มไปด้วยความประสงค์ที่จะทรงทราบความเป็นไปของพระโอรสว่าจะเป็นเช่นไร พอทอดพระเนตรเห็นนายสุนันทะกลับมาเพียงผู้เดียว บนรถมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีมนุษย์นั่งมาสักคน ก็ทรงกันแสงน้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์ ประหนึ่งพระหฤทัยจะแตกทำลายไป ทรงรำพันคร่ำครวญว่า “สุนันทะเขากลับมาเพียงคนเดียว นี่แสดงว่าเขาคงฝังลูกเราเสียแล้ว ลูกของเราถูกนายสารถีฝังดินเสียแล้ว โธ่ถัง! ลูกของเราถูกเขาฝังเสียแล้ว พวกศัตรูคงจะดีอกดีใจกันใหญ่ พวกฝ่ายตรงข้ามคงจะอิ่มอกอิ่มใจกันแน่แท้”
          ระหว่างที่พระนางทรงดำริอยู่อย่างนี้ นายสุนันทะก็มาถึงและรีบเข้าเฝ้าทันที ยังไม่ทันที่นายสุนันทะจะกราบทูลเรื่องราว สมเด็จพระนางเจ้าก็รีบตรัสถามว่า “ลูกของเราเป็นอย่างไร เจ้าฝังเขาเสียแล้วหรือ เขาเป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ้ หนวกจริงๆ หรือ?”
          นายสุนันทะรู้สึกสงสารพระนางมาก จึงรีบกราบทูลว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระองค์จะขอกราบทูลตามที่ได้เห็นมากับตาถึงเรื่องราวของพระกุมารแด่พระแม่เจ้าทุกประการพระเจ้าข้า”
          พระนางจันทรเทวีตรัสรับรองว่า “พ่อเพื่อนยาก ฉันไม่ถือสา ฉันให้อภัยเธอ เธอไม่ต้องกลัวอะไร พูดมาเถอะ จงบอกมาตามจริง ตามที่ได้เห็นได้ยินมากับตากับหูของตัวเอง”
          ลำดับนั้น นายสุนันทะสารถีจึงกราบทูลว่า “พระราชโอรสนั้นมิได้เป็นใบ้ มิได้เป็นง่อยเปลี้ย พระองค์มีพระวาจาสละสลวย เรื่องของเรื่องก็คือพระองค์กลัวราชสมบัติ จึงได้ทรงทำการลวงเป็นอันมาก พระองค์ทรงระลึกถึงชาติก่อนที่พระองค์ที่ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้นแล้วต้องไปตกนรกอันกล้าแข็ง พระองค์เสวยราชสมบัติในกาลนั้น ๒๐ ปี แล้วต้องหมกไหม้อยู่ในนรก ๘๐,๐๐๐ ปี พระองค์กลัวจะต้องเสวยราชสมบัตินั้น ทรงอธิษฐานว่า ขอชนทั้งหลายอย่าพึงอภิเษกเราในราชสมบัติเลย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสอะไรในพระราชวังให้พระชนกชนนีได้ยินเลย พระราชโอรสทรงสมบูรณ์ด้วยองคาพยพ มีพระรูปงดงามสมส่วน มีพระวาจาสละสลวย มีพระปัญญา ทรงดำรงอยู่ในมรรคาแห่งสวรรค์ ถ้าพระแม่เจ้ามีพระราชประสงค์ก็ขอเชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จะนำเสด็จพระแม่เจ้าไปให้ถึงที่ที่พระเตมีย์ราชโอรสประทับอยู่
          ฝ่ายพระเจ้ากาสีเสด็จมาภายหลังที่นายสุนันทะกราบทูลแล้ว ครั้นได้ทราบความจริงดังกล่าวก็ทรงดีพระทัยอย่างยิ่ง รีบรับสั่งให้กระจายข่าวดีอันนี้ไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ อำมาตย์ ขุนนาง ข้าราชการ และพสกนิกรให้รับทราบกันให้กว้างขวางอย่างรวดเร็ว
          เมื่อพระชนกพระชนนีทรงทราบข่าวดีจากนายสุนันทะเกี่ยวกับพระโอรสแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงดีพระทัยอย่างที่สุด ถึงกับเตรียมการจะเสด็จไปเยี่ยมกันในทันที ทั้งนี้เพราะทั้งสองพระองค์ทรงรักและทรงห่วงใยในพระโอรสมากนั่นเอง
          ในที่สุด อุดมการณ์ที่พระเตมีย์ทรงตั้งไว้ก็สำเร็จลงได้ในคราวนี้ โดยมีเทวดาให้ความช่วยเหลือ

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม ... สาธุ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2563 20:18:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 เมษายน 2563 20:59:51 »


พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก
พระเตมีย์ (ต่อ)


เตมิยราชกุมาร จิตรกรรมฝาผนังวัดธรรมจักร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

          ฝ่ายพระเตมีย์เมื่อส่งนายสุนันทะสารถีกลับไปแล้ว ก็มีพระประสงค์จะผนวชทันที พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงการบวชว่าเป็นการหาทางออกให้แก่ชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ได้อย่างประเสริฐที่สุด
          ระหว่างที่พระกุมารทรงคิดใคร่ครวญถึงเรื่องการบวชอยู่นั้น พระอินทร์ราชาแห่งเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงล่วงรู้ความคิดของพระเตมีย์ ก็คิดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดหาบริขารเครื่องบวชให้ โดยมีพระบัญชาให้วิสสุกรรมเทพบุตร (เทพที่เกี่ยวกับงานช่าง) ลงมาจากสวรรค์ ไปเนรมิตอาศรมขึ้นในราวป่ายาว ๓ โยชน์ เนรมิตสถานที่พักกลางวันและสถานที่พักกลางคืน เนรมิตสระบัวอันรื่นรมย์ไว้ใกลๆ อาศรม ทำสถานที่นั้นให้อุดมสมบูรณ์ด้วยไม้ผล ที่ให้ผลตลอดเวลาไม่มีฤดูกาล เนตมิตที่จงกรมประมาณ ๒๔ ศอก เกลี่ยทรายที่มีสีสวยดังแก้วผลึก (หินสีขาวสลัว) บนที่จงกรมสุดท้ายก็เนรมิตเครื่องบริขารสำหรับบวชเป็นฤๅษีทุกอย่าง อันมีผ้าเปลือกไม้สีแดงสำหรับนุ่งห่ม หนังเสือใช้พาดบ่า หาบสำหรับใส่ผลไม้ และไม้เท้า ๑อัน แล้วเขียนหนังสือบอกไว้ที่ฝาว่า ใครผู้ใดใคร่จะบวช ก็จงถือเอาเครื่องบริขารเหล่านี้บวชเถิด
          จากนั้นก็ไล่สัตว์จำพวกเนื้อและนกไม่ให้ใครมารบกวนอาศรม เสร็จแล้วก็กลับไปยังวิมานของตน
          ขณะที่พระกุมารทรงเพลินเพลินอยู่กับความคิดที่จะบวช ทันใดนั้นพระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็นอาศรมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ลองเสด็จเข้าไปใกล้ๆ ทรงอ่านข้อความที่เขียนบอกไว้ ทรงทราบว่านี่เป็นสิ่งที่ท้าวสักกเทวราชประทานให้ จึงเสด็จเข้าไปข้างใน ได้เห็นเครื่องบริขารที่เทวดาจัดไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงตัดสินใจออกบวชทันที
          พระเตมีย์ทรงเปลื้องพระภูษา (เสื้อผ้า) ของพระองค์ออก ทรงนุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดง ห่มผ้าเปลือกไม้สีแดงอีกผืนหนึ่ง หยิบหนังเสือขึ้นพาดบ่า เกล้า (ขมวด) ผมเป็นมวย ยกคานหาบขึ้นใส่บ่า ทรงถือไม้เท้าก้าวออกจากอาศรม ทรงทดลองเดินไปมาอยู่พักหนึ่งก็ทรงเปล่งพระอุทานขึ้นว่า “การบวชนี้ช่างเป็นสุขจริงหนอ!”
          ครั้นแล้วก็กลับเข้าสู่อาศรม วางหาบและไม้เท้าลง ขึ้นประทับนั่งบนอาสนะใบไม้ ตั้งพระทัยเจริญพรหมวิหาร จนสำเร็จฌานสมาบัติในที่นั้นในวันนั้นนั่นเอง
          เมื่อถึงเวลาเย็น ฤๅษีเตมีย์ก็ออกจากอาศรม ทรงไปเก็บหมากเม่าที่เกิดอยู่ท้ายอาศรมมานั่งเสวย ประทับยับยั้งอยู่ในบริเวณนั้นด้วยการเจริญพรหมวิหารอย่างมีความสุข
          ข่าวดีที่ได้รับทราบจากนายสุนันทะ ทำให้พระบิดาพระมารดาทรงดีพระทัยอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อน ถึงกับทรงรีบร้อนให้จัดขบวนไปเยี่ยมพระกุมารทันที
          ฝ่ายพระเจ้ากาสีเมื่อได้ทราบข่าวจากนายสุนันทะ ว่าพระกุมารทรงยังมีชีวิตอยู่ และไม่ได้เป็นคนกาลกิณี ไม่ใช่คนพิการแต่อย่างใด ก็ทรงดีพระทัยมาก รีบตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมจัดขบวนเสด็จเพื่อจะยกไปหาพระกุมารด้วยกัน
           “เจ้าหน้าที่ทั้งหลาย พวกท่านจงเร่งกันจัดขบวนเทียมม้า ขบวนช้าง พร้อมด้วยเครื่องดนตรีแห่แหนไป เราจะไปสอนลูกชายให้กลับมารับราชสมบัติ” แล้วมีรับสั่งให้บอกกล่าวแก่ประชาชนให้เดินทางไปด้วยกัน
          เมื่อพวกสารถีพากันจูงม้าที่เทียมรถและม้าสินธพ ซึ่งเป็นพาหนะว่องไวมายังประตูพระราชวังแล้ว สั่งนายสารถีคนหนึ่งไปกราบทูลว่า ได้เทียมม้าทั้งสองพวกนั้นไว้พร้อมแล้วพระเจ้ากาสีก็ตรัสแนะนำว่า “พวกม้าอ้วนนั้นไม่ว่องไว ส่วนม้าผอมก็ไม่ค่อยมีกำลัง จงอย่าเอาไปด้วยในกองทัพเลย จงคัดเลือกเอาแต่ม้าที่มีสีสันมีลักษณะสง่างาม วิ่งได้เร็ว มีความสมบูรณ์ ที่พร้อมสำหรับการเดินทางไกลเถิด”
          พระเจ้ากาสีมีพระบัญชาสั่งให้เจ้าหน้าทีประชุมกันได้ ๓ วันแล้ว จึงเสด็จยาตราออกจากพระนครโดยมีประชาชนชาวเมืองตามเสด็จด้วยเป็นขบวนยาวเหยียดทีเดียว
          ขบวนเสด็จเยี่ยมพระฤๅษีเตมีย์ เคลื่อนไปได้ไม่เร็วนักเนื่องเพราะคนมาก มีการหยุดพักระหว่างทางบ้าง แล้วในที่สุดก็บรรลุถึงอาศรมของพระฤๅษีในเวลาไม่ช้าและไม่เร็วนัก เมื่อขบวนของพระเจ้ากาสีเสด็จถึงอาศรม นายสุนันทะก็รีบเข้าไปหาพระฤๅษี ซึ่งขณะนั้นได้ออกมาเตรียมการต้อนรับอยู่แล้ว
          พระฤๅษีเตมีย์เห็นพระบิดาเสด็จมา พร้อมด้วยหมู่ขัตติยวงศ์บริวารและบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนมาก ก็ออกไปต้อนรับ พระฤๅษีเตมีย์ทูลถามถึงสุขภาพอนามัยของพระบิดา พระมารดา พระญาติ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ซึ่งพระเจ้ากาสีก็ตรัสตอบว่าทุกคนสบายดี
          พระเตมีย์ทูลถามว่า มหาบพิตรไม่ทรงมัวเมาในสุราเมรัยหรือ ยังทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมอยู่หรือเปล่า
          พระบิดาตรัสตอบว่า บิดาไม่ได้มัวเมาอยู่กับสุราเมรัยเลย ทั้งยังดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมอย่างมั่นคงเสมอมา
           “ราชพาหนะของพระองค์ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือ”  
           “ยังอยู่ดีมีสุขกันทั้งหมด”
           “เหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง?”
           “เรียบร้อยดี”
           “การเงินการคลังล่ะ?”
           “ยังบริบูรณ์อยู่ ไม่มีอะไรน่าห่วง”
          พระฤๅษีเตมีย์ทูลต่อไปว่า “การที่พระองค์เสด็จมานี้เป็นการดีแล้ว ขอให้เจ้าหน้าที่จงจัดราชบัลลังก์ให้ประทับตามพระราชประสงค์เถิด”
          เจ้าหน้าที่ได้ยินดังนั้นก็ช่วยกันจัดที่ประทับ แต่พระบิดาก็ไม่กล้าเข้าไปประทับ
          พระฤๅษีจึงสั่งเจ้าหน้าที่ว่า เมื่อพระบิดาไม่กล้าขึ้นประทับบนบัลลังก์ พวกท่านก็จงปูใบไม้ถวายแล้วเชิญเสด็จพระบิดาขึ้นประทับ แต่พระบิดาก็ไม่กล้าขึ้นประทับอีก ทรงประทับอยู่บนพื้นหญ้า ทั้งนี้ด้วยความเคารพต่อพระฤๅษีนั่นเอง เพราะพระฤๅษีในฐานะเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมนั้นนั่งบนใบไม้ ใครล่ะจะกล้านั่งเหนือกว่าท่านหรือเสมอกับท่าน พระเจ้ากาสีมีคารวะธรรมอยู่ในพระทัย จึงไม่ประทับนั่งบนอาสนะที่ดีกว่าหรือเสมอกับอาสนะของพระฤๅษี แต่ทรงประทับบนพื้นหญ้า พื้นดิน ซึ่งต่ำกว่าอาสนะของพระฤๅษี
          จากนั้นพระฤๅษีขึ้นไปในอาศรม นำใบหมากเม่าออกถวายพระบิดา
          พระบิดาเห็นใบหมากเม่าก็ตรัสว่า “บิดาคงบริโภคใบหมากเม่านี้ไม่ได้หรอก เพราะไม่ใช่อาหารของบิดา อาหารของบิดาต้องเป็นข้าวสาลีกับเนื้อปลา นั่นจึงจะมีรสโอชา”
          ตรัสดังนั้นแล้ว ก็ทรงใบหมากเม่ามากำไว้ ด้วยความเคารพในพระฤๅษี แล้วตรัสถามว่า “พระฤๅษีฉันอาหารอย่างนี้หรือ?”
          พระฤๅษีทูลว่า “อย่างนี้แหละมหาบพิตร”
          ขณะนั้น ขบวนเสด็จของพระนางจันทรเทวีพร้อมด้วยหมู่พระสนม ซึ่งตามเสด็จอยู่ข้างหลังก็มาถึงพระอาศรม
          พระมารดารีบเสด็จเข้าไปจับพระบาทของพระฤๅษีผู้เป็นพระโอรส กราบลงแล้วก็ทรงพระกันแสง พระบิดารีบตรัสให้พระนางทอดพระเนตรดูใบหมากเม่าที่เป็นอาหารของพระโอรส ทรงหยิบใบหมากเม่าหน่อยหนึ่งใส่พระหัตถ์ของพระนาง แล้วพระราชทานแก่นางสนมอื่นๆ คนละหน่อย
          ฝ่ายพระบิดาเฝ้าสังเกตดูพระฤๅษีอยู่ครู่หนึ่ง ก็ตรัสขึ้น “ลูกรัก! พ่อเห็นลูกแล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจเหลือเกิน ลูกอยู่ในป่าแต่เพียงผู้เดียว แล้วฉันแต่ใบหมากเม่าที่ไร้รสชาติ เหตุไฉนจึงมีผิวพรรณผ่องใสนัก?”
          พระฤาษีเตมีย์ทูลตอบว่า “อาตมานอนอยู่ผู้เดียวบนใบไม้ แต่มีผิวพรรณผ่องใส กองรักษาการณ์ก็ไม่ต้องมี เพราะการนอนลำพังผู้เดียว ผิวพรรณของอาตมาจึงผ่องใส อาตมาไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ไม่ใฝ่หาสิ่งยังมาไม่ถึง แต่ปล่อยชีวิตให้อยู่กับปัจจุบัน คำนึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส ส่วนคนโง่ทั้งหลายหวนคิดถึงแต่อดีต และคิดฝันถึงแต่อนาคต ผิวพรรณจึงเศร้าหมองไม่ผ่องใส เหมือนไม้อ้อที่ถูกเขาทิ้งไว้กลางแดดฉะนั้น”
          พระบิดา พระมารดา พระบรมวงศานุวงศ์ พระสนม อำมาตย์ ขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนทั้งหลาย ได้เห็นพระฤๅษีเตมีย์และได้ฟังธรรมะของท่านแล้ว ก็รู้สึกยินดีและมีสุขใจกันทั่วหน้า ธรรมะเล็กๆ น้อยๆ แต่ลึกซึ้งในตอนท้ายนี่แหละมีประโยชน์ต่อผู้ฟังดีนัก  
          แม้พระบิดาจะทรงเชื้อเชิญให้กลับไปรับราชสมบัติ โดยแสดงให้เห็นถึงความสุขทางโลกดีกว่าสุขทางธรรมอย่างไร พระฤๅษีเตมีย์ก็ยังคงยืนหยัดในการออกบวชอยู่ท่าเดียว
          พระบิดาแม้จะทรงทราบว่าพระโอรสบวชเป็นฤๅษีมีสุขดี แต่ในพระทัยก็ทรงอยากให้พระโอรสกลับไปครองราชย์สมบัติดีกว่าอยู่ในป่า ความตั้งพระทัยเดิมที่จัดขบวนมาเยี่ยมพระโอรส ไม่ได้ทรงปรารถนาจะรู้สุขทุกข์เท่านั้น แต่เพื่อจะเกลี้ยกล่อมให้กลับไปครองราชสมบัติด้วย และเหตุผลข้อหลังนี้สำคัญที่สุด

          ดังนั้นระหว่างที่ทรงนั่งสนทนาปราศรัยกัน พระบิดาก็ทรงคิดถึงแต่จะเกลี้ยกล่อมพระโอรสให้กลับพระนครอยู่ตลอดเวลา ในที่สุด พระองค์ก็ทรงดำริว่า เราจะอภิเษกลูกของเราในอาศรมนี้แหละ แล้วจึงพากลับพระนคร แต่พระฤๅษีเตมีย์ก็ทรงปฏิเสธอย่างนิ่มนวล เพราะเห็นว่าการบวชเป็นทางออกไปจากทุกข์ได้สิ้นเชิง ในบรรดาทางออกทั้งปวง การบวชเป็นทางออกที่ดีที่สุด  
          พระฤๅษีอุตส่าห์ทนทุกข์อยู่มาได้ตลอดระยะเวลา ๑๖ ปี ก็เพื่อจะได้ออกบวชปฏิบัติธรรม ให้พ้นทุกข์ไปนี่แหละ แล้วจะให้กลับไปอยู่กับทุกข์อีก ย่อมเป็นไปไม่ได้ ท่านยืนยันเด็ดเดี่ยว ขอให้การบวชเป็นทางออกของชีวิต
          พระฤๅษีเตมีย์ฟังพระบิดาเกลี้ยกล่อมก็ไม่ทรงเคลิบเคลิ้มตาม แต่ทรงยืนยันที่จะบวชไปตลอดชีวิต เพราะทรงเห็นคุณประโยชน์ของการบวชดีกว่าการครองราชย์ จึงทูลว่า “คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม การบวชควรเป็นเรื่องของคนหนุ่ม อาตมาต้องการประพฤติพรหมจรรย์ อาตมาไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมาเห็นเด็กหนุ่มแข็งแรงดี เป็นที่รักมารดาบิดาได้มาด้วยยาก ยังไม่ทันจะแก่ก็ตายไปเสียแล้ว เด็กสาวกำลังรุ่นน่าเอ็นดูก็ถูกมฤตยูคร่าชีวิตเอาไป เหมือนหน่อไม้อ่อนงอกใหม่ๆ ถูกคนถอนทิ้งฉะนั้น
          คนเราไม่ว่ายังหนุ่มยังสาวก็ตายได้ทั้งนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่าเรายังหนุ่มยังสาวอยู่แล้วจะยังไม่ตายไป อายุของคนเราเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เหมือนอายุของปลาทั้งหลายในแม่น้ำน้อย วัยหนุ่มสาวนั้นจะช่วยอะไรได้ สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปอยู่ แล้วมหาบพิตรจะอภิเษกอาตมาไว้ในราชสมบัติทำไมเล่า”
          พระบิดารับฟังคติธรรมคำสอนของพระฤๅษีก็เริ่มรู้สึกซาบซึ้งพระทัย แต่ไม่ทรงเข้าพระทัยข้อธรรมตอนท้ายๆ จึงตรัสถามว่า “สัตว์โลกถูกอะไรครอบงำไว้ ถูกอะไรห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นไปอยู่นั้นลดลง อธิบายใหม่ให้พ่อเข้าใจหน่อยซิ”  
          พระฤๅษีทูลตอบว่า “สัตว์โลกถูกความตายครอบงำไว้ ถูกความชราห้อมล้อมไว้ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์คือคืนวันเป็นไปอยู่ มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เหมือนกับผ้าในหูก ผ้าในหูกเขาทอไปได้เท่าใด ข้างหน้าก็น้อยลงเท่านั้น ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม่น้ำเต็มฝั่งไม่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูง ฉันใด อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีกก็ฉันนั้น แม่น้ำเต็มฝั่งพัดต้นไม้ริมฝั่งให้โค่นลง ฉันใด ความแก่และความตายก็พัดพาสัตว์โลกไปสู่ความตายฉันนั้น”
          เมื่อพระฤๅษีเตมีย์ถูกพระบิดาทดลองใจว่าตั้งใจจะออกบวชจริงหรือไม่ จึงได้เทศนาธรรม ชี้ให้เห็นความจริงของชีวิตที่มีความตายเป็นที่สุด ซึ่งจะปล่อยให้ชีวิตมัวเมาจมอยู่กับโลกต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
          พระบิดาเมื่อทรงสดับคติธรรมคำสอนของพระฤๅษีเตมีย์แล้วก็ทรงรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ เกิดความเข้าใจในสัจธรรมชีวิตยิ่งกว่าเก่า ถึงขนาดมีพระราชประสงค์จะออกผนวช จึงทรงพระดำริว่าเราจะไม่กลับพระนครแล้วจะบวชเสียในที่นี้ แต่ถ้าลูกของเราจะกลับไป เราจะให้เขาสืบราชสมบัติแทนเรา
          เพื่อจะทดลองใจของพระฤๅษีว่าจะคิดบวชอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือจะอาจสึกออกไปครองราชย์สมบัติ จึงตรัสเชื้อเชิญพระฤๅษีให้ไปครองราชสมบัติอีกครั้งหนึ่งในทำนองเดียวกับครั้งก่อน คือ “ลูกรัก! พ่อจะขอมอบกองพลรถ กองพลม้า กองพลช้าง กองพลราบ และกองพลสวมเกราะให้แก่เจ้า พ่อจะขอมอบพระราชวังอันรื่นรมย์และนางสนมกำนัลให้แก่ลูก ขอให้ลูกกลับไปพระนครขึ้นครองราชย์สมบัติเถิด พอมีพระโอรสพระธิดาเพียงพอแล้ว จึงค่อยออกบวชต่อภายหลังก็ได้ เพราะตอนนี้ลูกยังอยู่ในปฐมวัย ยังเป็นคนหนุ่ม ผมดำขลับ ยังไม่ถึงเวลาออกบวช รอให้แก่ผมหงอกก่อนเถิดจึงค่อยบวช”
          แต่พระฤๅษีเตมีย์ก็ยังคงยืนยันหนักแน่นเหมือนเดิมว่า ตัวท่านไม่ต้องการราชสมบัติ ขอมุ่งมั่นอยู่ในเพศของ นักบวชต่อไป ท่านเด็ดเดี่ยว ว่า “มหาบพิตร! จะให้อาตมาเสื่อมเพราะทรัพย์ไปทำไม ธรรมดาว่าทรัพย์ย่อมทิ้งบุคคลไปก่อนก็มี บางทีบุคคลทิ้งทรัพย์ไปก่อนก็มี  แม้สิ่งอื่นๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น มหาบพิตรจะอ้อนวอนอาตมาให้มีภริยาไปทำไม ถ้าอาตมากลับไปครองเรือนมีภริยา ตอนอาตมายังมีชีวิตอยู่ ภริยาอาจตายไปก่อนก็ได้ ตอนภริยายังมีชีวิตอยู่ อาตมาอาจตายไปก่อนก็ได้ ความเป็นหนุ่มสาวที่ถูกชราครอบงำนั้นจะมีประโยชน์อะไร ในโลกสันนิวาส ซึ่งมีความแก่ความตายครอบงำอยู่ จะเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรกับการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรกับการมีบุตรภริยา
          อาตมาได้พ้นจากเครื่องผูกคือตัณหา เพราะอำนาจฌานสมาบัติแล้ว อาตมาทราบดีว่ามฤตยูไม่หลงลืมอาตมาเลย เมื่ออาตมารู้ว่ามฤตยูจ้องจะเล่นงานอยู่อย่างนี้แล้ว จะมัวเพลิดเพลินไปทำไม จะมัวแสวงหาทรัพย์ไปทำไม ผลไม้สุกแล้วก็หวั่นแต่จะต้องร่วงหล่นไปตลอดเวลา ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วก็หวั่นแต่จะตายอยู่ตลอดเวลา ฉันนั้น
          ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็น เมื่อเย็นยังเห็นกันอยู่มากคน ถึงตอนเช้า บางคนก็ไม่เห็น ในแดนมฤตยูนั้นไม่มีชัยภูมิสำหรับพลรถ พลม้า พลช้าง และพลราบเลย จะรบด้วยเวทย์มนต์หรือติดสินบนด้วยทรัพย์ ก็ไม่อาจจะเอาชนะมฤตยูได้ มฤตยูไม่เลือกหน้าผู้ใดเลย ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ พราหมณ์ ไม่เว้นพ่อค้า ลูกจ้าง คนจัณฑาล คนเทขยะ ย่ำยีแหลกลาญไปทั้งหมดทีเดียว
          ควรรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครเล่ารู้ว่าจะตายวันพรุ่งนี้ มฤตยูผู้มีเสนามากไม่ยอมให้เราผัดผ่อนเลย พวกโจรยอมสละชีวิตได้เพื่อต้องการทรัพย์ แต่อาตมาพ้นจากเครื่องพันคือทรัพย์นั้นแล้ว จึงไม่ต้องการทรัพย์ เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับเถิด อาตมาไม่ต้องการราชสมบัติ ขอถวายพระพร”  
          เมื่อพระฤๅษีเตมีย์กล่าวธรรมจบลง ผู้ฟังทุกคนทุกหมู่เหล่าอันประกอบด้วยพระบิดา  พระมารดา พระบรมวงศานุวงศ์ พระสนม ๑๖,๐๐๐ นาง เหล่าอำมาตย์ ขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนอีกมากมายนับไม่ถ้วน ได้เกิดความซาบซึ้งถึงการบวช จึงแจ้งความประสงค์แก่พระฤๅษีว่าทุกคนจะขอบวชตามด้วย แต่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนโดยกว้างขวาง พระเจ้ากาสีจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตีกลองประกาศในพระนครว่า ใครผู้ใดต้องการจะบวชในสำนักของลูกเรา ก็พากันมาบวชได้ตามความประสงค์ โดยพระองค์จะจัดเครื่องบวชให้
          จากนั้นก็มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เปิดท้องพระคลังทั้งหมด ให้จารึกอักษรไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า “ใครต้องการเงินทอง ก็ขนเอาไปเถิด”
          ในเวลานั้น ชาวบ้าน พ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ต่างก็พากันละทิ้งบ้านร้านตลาดกิจการต่างๆ พากันไปเฝ้าพระเจ้ากาสี เพื่อออกบวช เมื่อคนพร้อมเพรียงแล้ว บริขารเครื่องบวชครบถ้วนแล้ว การบวชก็ได้เริ่มขึ้นและสิ้นสุดลงภายในวันเดียวนั้นเอง
          ครั้นบวชกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในป่านั้นคลาคล่ำไปด้วยหมู่พระฤๅษีและฤๅษิณี อาศรมสถาน ๓ โยชน์ที่ท้าวสักเทวราชสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตร (เทพที่เกี่ยวกับงานช่าง) มาสร้างถวายไว้นั้น บัดนี้เต็มไปด้วยนักบวชหลายหมื่นคนทีเดียว
          ในการจัดการเรื่องอาศรม พระฤๅษีเตมีย์ได้จัดให้พระฤๅษิณี (ฤๅษีผู้หญิง) อยู่ในอาศรม ส่วนกลาง ทั้งนี้มิให้พวกผู้หญิงต้องหวาดกลัวภยันตราย และเป็นการป้องกันภยันตรายที่จะเกิดแก่ผู้หญิง ส่วนพระฤๅษี (ฤๅษีผู้ชาย) ให้อยู่อาศรมหลังนอกๆ เพื่อเป็นเกราะกันภัยให้แก่ผู้หญิง
          นับแต่วันออกบวช พระฤๅษีชายหญิงต่างดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของพระฤๅษีเตมีย์ แรกๆ ก็ลำบากด้วยอาหารการขบฉัน เพราะต้องฉันเฉพาะผลไม้ ใบไม้ ไม่มีข้าวปลาให้กิน ถึงจะมีข้าวปลาก็ฉันไม่ได้ เพราะเป็นของต้องห้าม เมื่ออยู่นานเข้าก็เคยชินและกลายเป็นของธรรมดาไป และในที่สุด ผลไม้ ใบไม้ ก็กลับเป็นอาหารอันโอชา ทั้งเป็นยาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้อีกด้วย
          นักบวชทั้งหลายเมื่อฉันผลไม้แล้วก็พากันปฏิบัติธรรมในวันอุโบสถ เมื่อฉันอาหารแล้วก็พากันรักษาศีลอุโบสถ ฟังคำสอนของพระฤๅษีเตมีย์ เจริญพรหมวิหารธรรม เจริญสมาธิ ไม่นานก็ได้บรรลุอภิญญา ๕ และสมาบัติแปดกันหมดทุกท่านทุกคน
           อภิญญา ความรู้ยิ่งยวด มีทั้งหมด ๖ อย่าง แต่ที่บรรดาพระฤๅษีและฤๅษิณีบรรลุนั้นเพียง ๕ อย่าง
          ๑.อิทธิวธิ หรืออิทธิวิชา ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น เนรมิตกายคนเดียวให้เป็นหลายคน เนรมิตกายหลายคนให้เป็นคนเดียว ล่องหนเหาะไปบนอากาศได้ ดำดินได้ เดินบนน้ำได้
          ๒.ทิพพโสต หูทิพย์ ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ สามารถได้ยินได้ฟังอะไรตามใจปรารถนา
          ๓.เจโตปริยญาณ รู้ใจคน ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ใจผู้อื่นอ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาเป็นคนใจดีหรือใจร้าย เขากำลังคิดอย่างไรกับเรา เป็นต้น
          ๔.ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติได้ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ เช่น รู้ว่าชาติก่อนเคยเกิดเป็นอะไร ชาติก่อนเคยเป็นลูกของใคร หรือเคยทำอะไรมาบ้าง
          ๕.ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ สามารถมองเห็นกาลทั้งอดีตและอนาคต เห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นได้ เช่น มองเห็นว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรในปีหน้า เป็นต้น 
          ต่อไป สมาบัติ คือ ภาวะสงบประณีตที่พึงเข้าถึงได้  รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน อรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ กำหนดที่ว่าหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์, วิญญานัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์,อากิญจัญญายตนะ กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์, เนวสัญญานาสัญญายตนะ ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
          มองเห็นตัวอย่างที่ดี ได้พบแนวทางที่ดี ก็ทำให้คนเราเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนชีวิตให้ต่างไปจากเดิมได้ จะเห็นได้จากในบทนี้ มีพระราชาเมืองอื่นที่ได้ทราบข่าวพระราชาเมืองพาราณสีทิ้งราชสมบัติไปออกบวช ก็นำกำลังทหารไปหมายจะยึดราชสมบัติเสียทั้งหมด แต่ครั้นตามไปพบได้เห็นแบบอย่างชีวิตที่ดี เป็นแนวทางชีวิตที่ประเสริฐ ได้ฟังคำสอนอันเป็นประโยชน์ ชีวิตก็พลิกกลับทันที จากที่จะยึดราชสมบัติก็เปลี่ยนเป็นออกบวชดีกว่า ทั้งนี้เพราะเห็นว่าการบวชเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่กลับมุ่งมั่นออกบวชตาม

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม ... สาธุ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2563 20:17:07 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 27 เมษายน 2563 20:22:08 »



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑ เตมียชาดก
พระเตมีย์ (จบ)

         ในครั้งนั้น มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่าสามนตราช ของประเทศซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้ากาสีออกผนวชแล้ว จึงทรงดำริว่าเราจะไปยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสี แล้วก็ทรงยกกองทัพเข้าสู่พระนครพาราณสีได้โดยปราศจากการต่อต้านใดๆ
          พระราชาทรงนึกแปลกพระทัยว่า ทำไมราชธานีจึงว่างเปล่า ดูเหมือนจะไม่มีใครอยู่เลย พอเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ก็ทอดพระเนตรเห็นแก้วแหวนเงินทองต่างๆ มากมาย ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดปราศจากผู้เหลียวแล ก็ทรงพระดำริว่า ทรัพย์สินเหล่านี้คงจะนำภยันตรายมาให้เป็นแน่ เพื่อสืบหาความจริง จึงรับสั่งให้เรียกพวกขี้เหล้ามา แล้วตรัสถามว่า “มีภยันตรายใดๆ เกิดขึ้นแก่พระราชาของพวกเจ้าหรือ?”
          พวกขี้เหล้ากราบทูลว่า “มิได้มีภยันตรายใด ดอกพระเจ้าข้า”
          “แล้วทำไมพระราชาของพวกเจ้าจึงทิ้งราชสมบัติไปเสีย?” พระราชาตรัสถามต่อ
          “เรื่องมันเกิดจากพระฤๅษีเตมีย์ที่ไม่อยากจะครองราชย์สมบัติ แล้วเสแสร้งแกล้งทำเป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ หนวก อยู่ถึง ๑๖ ปี จนออกไปอยู่ในป่า บวชเป็นฤๅษี เพราะฉะนั้น พระราชาของพวกข้าพระบาทพร้อมด้วยพระประยูรญาติ อำมาตย์ ขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนส่วนใหญ่จึงได้ออกบวชตาม พระเจ้าข้า” พวกขี้เหล้าทูลตอบ
          “พระราชาของพวกเจ้า เสด็จออกไปทางไหน?”
          “ออกไปทางประตูทิศตะวันออกพระเจ้าข้า”
          พระเจ้าสามนตราชตรัสขอบใจพวกขี้เหล้าแล้วยกทัพเสด็จออกตามไปจนกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงรับสั่งให้หยุดพักเหนื่อยสักครู่
          ขณะนั้น พระฤๅษีเตมีย์ทราบว่าพระเจ้าสามนตราชเสด็จมา จึงออกไปต้อนรับ เหาะขึ้นกลางอากาศ แสดงธรรมแก่พระเจ้าสามนตราช
          ครั้นพระเจ้าสามนตราช พร้อมด้วยบริษัทบริวารได้สดับธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอน เห็นประโยชน์สุขของการออกบวชวิเศษกว่าการครองเรือน จึงพากันออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่านั้น
          ต่อมา ได้มีพระราชาเมืองอื่นๆ อีก ๓ พระองค์ ทรงทราบข่าวว่าพระราชาเมืองกาสีเสด็จออกผนวช จึงยกกองทัพไปเมืองพาราณสี หมายจะรับราชสมบัติ เมื่อทรงทราบข่าวความจริง จึงยกกองทัพไปที่อาศรม ได้ฟังธรรมของพระฤๅษีเตมีย์แล้วจึงออกบวชเป็นฤๅษีกันทุกพระองค์
          สถานที่ป่าแห่งนั้นจึงกลายเป็นมหาสมาคมของนักบวชหลายหมื่นท่าน พวกสัตว์พาหนะที่ขับขี่ไปก็ค่อยๆ กลายเป็นช้างป่า สัตว์ป่า รถพาหนะ ก็ค่อยๆ ชำรุดทรุดโทรมผุพังไป ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องประดับ เครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องใช้สอยต่างๆที่ไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับนักบวช ก็อยู่เรี่ยรายเกลื่อนกล่นในที่นั้นๆ ดุจทรายเกลี่ยถนน
          พระฤๅษีทั้งหลายขยันหมั่นเพียรในการเจริญสมณธรรม ไม่ใช่พวกเช้าเอนเพลนอน ในที่สุดก็สำเร็จฌานสมาบัติกันหมดทุกท่าน เมื่ออยู่กันจนสิ้นอายุแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก นี่คือผลแห่งการปฏิบัติตามพรหมวิหาร พวกช้างม้าถึงแม้จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ด้วยมีจิตใจเลื่อมใสในหมู่พระฤๅษี ซึ่งทรงศีลทรงธรรม เมื่อตายไปแล้วได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้น นี่คือผลแห่งการเลื่อมใสคนดี


ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“วาดหวังความสำเร็จ ต้องรู้จักรอคอย”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อปิ อตรมานานํ ผลาสาว สมิชฺฌติ
อันความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ (๑๗/๘)


เตมิยราชกุมาร จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม ... สาธุ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2563 20:24:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๑๙ เภริวาสชาดก : ช่างตีกลองกับบุตรชาย
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 707 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2563 20:06:56
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๒๐ วัณณุปถชาดก : ความเพียรของพ่อค้า
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 1484 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2563 20:09:53
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๐ กายนิพพินทชาดก : ชายขี้โรคบวชไม่สึก
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 559 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 19:55:41
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๑ กัสสปมันติยชาดก : บิดาชรากับบุตรน้อย
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 623 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 19:58:21
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๒ ติตติรชาดก : ฤๅษีปากจัด
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 548 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 20:02:37
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.842 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 13:46:14