[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
03 ธันวาคม 2567 19:23:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระรถคำฉันท์ วรรณกรรมร้อยกรองสมัยอยุธยา  (อ่าน 4642 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 มิถุนายน 2564 13:44:36 »



พระรถคำฉันท์

 คำนำ

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมากไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ วรรณกรรมดังกล่าวย่อมสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้นๆ อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งซึ่งกวีเป็นผู้บันทึก ดังนั้นข้อมูลต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในแต่ละเรื่อง จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสืบค้นเรื่องราวในอดีต

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมของชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมโบราณอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ วรรณกรรมเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสารสมุดไทยซึ่งนับวันจะชำรุดสูญสลายไปตามกาลเวลา หลายเรื่องสูงด้วยคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์สมควรที่จะเผยแพร่และรักษาสืบทอดให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติสืบไป

เรื่อง พระรถคำฉันท์ นี้สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีสำนวนโวหารไพเราะ กรมศิลปากรยังไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทย เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีคุณค่าต่อการศึกษาด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ จึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นผู้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่

อนึ่ง เรื่อง พระรถเสนหรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ พระรถเมรี เป็นนิทานที่ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กวีไทยนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมร้อยกรองหลายรูปแบบ เช่น กาพย์ขับไม้ คำกลอนและบทละครซึ่งสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กำลังตรวจสอบชำระเพื่อจัดพิมพ์ในโอกาสต่อไป

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือ พระรถคำฉันท์นี้ จะอำนวยประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๘ เมษายน ๒๕๔๘




อธิบายเรื่อง พระรถคำฉันท์

[๑]เรื่องพระรถเมรี หรือ เรื่องนางสิบสอง เป็นนิทานพี้นบ้านที่ชาวไทยรู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อพระเถระชาวเชียงใหม่รจนาคัมภีร์ปัญญาสชาดกได้นำเรื่องนี้ไปปรับเป็นชาดกด้วยเรื่องหนึ่ง วรรณคดีสำคัญๆ หลายเรื่องที่แต่งในสมัยอยุธยาอ้างถึงเรื่องพระรถเมรีไว้เช่น

โคลงนิราศหริภุญไชย

กังรีนิราศร้าง รถเสน
หวานหว่านในดินเดน     ด่านนํ้า
นางยักษ์ผูกพันเวร มรโมฐ วันนา
อันพี่พลัดน้องซํ้า เร่งร้ายระเหระหน ฯ
กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ .
เกลือกเหมือนเงื่อนบพิตรรถสิทธิสนิทนนทา
รุกริบสิบสองพะงา ควักตาให้ใส่ขุมขัง
เกลือกเหมือนเงื่อนท้าวผ่าน สากล
กักมารดาลมัวมนท ข่าวไข้
สิบสองจองทัณฑ์อน สิบสองจองทัณฑ์อน
แล้วส่งลงขุมให้ ร่ำร้อนฤๅเสบย ฯ

กวีไทยสมัยอยุธยานิยมนำเรื่องพระรถเสน มาแต่งเป็นคำประพันธ์หลายรูปแบบ เช่น กาพย์ขับไม้ คำฉันท์และบทละคร เป็นต้น กาพย์ขับไม้เรื่องพระรถเสนนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น คำศัพท์ที่ปรากฏมีลักษณะใกล้เคียงกับลิลิตพระลอ เนื้อหาเท่าที่พบเป็นตอนอภิเษกพระรถเสนกับนางเมรี กาพย์ขับไม้สำนวนนี้ใช้เป็นบทสำหรับ “ขับไม้” ในพระราชพิธีสมโภชมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สืบมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีซึ่งเชื่อกันว่าแต่งขึ้นใน รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตอนที่ว่าด้วยการแต่งคำประพันธ์ “สุรางคณาปทุมฉันท์” นำข้อความจากเรื่องนางสิบสองมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้


....๏ โอ้อกกูเอ๋ย
เมื่อก่อนกูเคย                    สมบัติครามครัน
ทำบุญบ่เบื่อ เชื่อชอบทุกอัน
จึงได้จอมขวัญ ลูกน้อยนงพาล
๏ ถึงบุญเราถอย
สิ่งสินยับย่อย ยากพ้นประมาณ
บาปใดมาให้ พ่อเจ้าบันดาล
กำจัดสงสาร สิบสองเสียไกล ฯ

ตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือจินดามณี ไม่พบฉบับที่เป็นเรื่องยาวหรือเอกสารอื่นๆ คำประพันธ์ดังกล่าวน่าจะตัดมาจากตอนต้นของเรื่องพระรถเมรีซึ่งสันนิษฐานว่าต้นฉบับน่าจะสูญไปแล้ว

บทละครนอกสมัยอยุธยาเรื่องพระรถเสนนั้น พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้ต้นฉบับมาแต่เมืองเพชรบุรี แล้วคัดลอกถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื้อหาในบทละครสำนวนนี้เป็นตอนพระรถเสนกับนางเมรี “ลงสวน” ดำเนินเรื่องไปจนถึงพระรถเสนเตรียมที่จะหนี

ส่วน เรื่อง พระรถคำฉันท์ เท่าที่พบในการตรวจสอบชำระครั้งนี้มีหลายสำนวน สำนวนที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ เริ่มเนื้อความตั้งแต่นางเมรีบรรทมตื่นไม่พบพระรถเสนก็ออกติดตาม ดำเนินไปจนจบเรื่อง สันนิษฐานว่า คำฉันท์สำนวนนี้น่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังจะอธิบายรายละเอียดต่อไปข้างหน้า




เรื่องย่อ

เนื่องจากกวีนิพนธ์คำฉันท์เรื่องพระรถเสนทุกสำนวนมิได้ดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นไปจนจบบริบูรณ์ ในที่นี้จึงขอนำเรื่องย่อจากรถเสนชาดกในปัญญาสชาดกมาประกอบดังนี้

ครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเศรษฐีผู้หนึ่งนามว่านนท์ได้นำกล้วยน้ำว้า ๑๒ ผล ไปถวายพระพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานขอให้มีบุตรธิดาไว้สืบสกุล อยู่มาภรรยาก็ตั้งครรภ์ไห้กำเนิดธิดา ๑๒ คน โดยลำดับ ตั้งแต่นางสิบสองเกิดมาเศรษฐีก็เริ่มยากจนลง กระทั่งไม่มีอาหารพอเพียงที่จะเลี้ยง จึงพาธิดาทั้งหมดขึ้นเกวียนนำไปปล่อยเสียในป่า นางพากันเดินหลงทางไปจนถึงสวนเมืองคชปุรนครของนางยักขิณีสันธมาร นางยักษ์พบเข้าก็เมตตานำไปเลี้ยงไว้ อยู่มานางสิบสองรู้ว่านางสันธมารเป็นยักขิณี จึงหนีไปจนถึงเมืองกุตารนครของพระราชารถสิทธิ์ พากันขึ้นไปอยู่บนต้นไทรริมสระ นางทาสีไปตักนํ้าสรงพบเข้าจึงมาทูลท้าวรถสิทธ์ๆ จึงรับนางทั้งสิบสองไว้เป็นมเหสี ฝ่ายนางสันธมารมีความโกรธแค้นยิ่ง ครั้นทราบข่าวว่านางสิบสองไปเป็นมเหสีของท้าวรถสิทธ์จึงออกติดตามไปจนถึงกุตารนคร แปลงร่างเป็นนางงามนั่งอยู่บนต้นไทรริมสระน้ำเช่นเดียวกับนางสิบสอง เมื่อท้าวรถสิทธิ์ทราบจึงให้รับนางมาตั้งเป็นอัครมเหสี คราวหนึ่งนางสันธมารแปลงแกล้งทำเป็นป่วยแล้วทูลท้าวรถสิทธ์ว่า หากควักดวงตานางสิบสองเสียจึงจะหายจากโรค ท้าวรถสิทธ์ต้องเสน่ห์จึงยอมให้นางยักษ์ควักดวงตานางสิบสองเสียทั้งสองข้าง เว้นแต่นางน้องสุดท้องนั้นควักตาออกเพียงข้างเดียว แล้วฝากกองลมให้นำดวงตาทั้งหมดไปส่งให้นางกังรีผู้เป็นธิดาเก็บรักษาไว้ที่เมืองคชปุรนคร ขณะนั้นพี่สาวทั้งสิบเอ็ดคนกำลังตั้งครรภ์ ท้าวสักกเทวราชจึงอาราธนาพระโพธิสัตว์ให้มาปฏิสนธิในครรภ์ของน้องคนสุดท้อง ท้าวรถสิทธิ์ให้ขังนางสิบสองไว้ในอุโมงค์

เมื่อครบกำหนดนางผู้พี่ทั้งสิบเอ็ดคนก็คลอดบุตร ด้วยความอดอยากจึงฉีกเนื้อบุตรแบ่งกันกิน ภายหลังพระโพธิสัตว์จึงคลอดจากครรภ์มารดา นางน้องสุดท้องเฝ้าถนอมเลี้ยงดูจนเจริญวัยให้นามว่า “รถเสน” อยู่มารถเสนกุมารก็ออกมาจากอุโมงค์ได้ด้วยอำนาจบารมี เที่ยวเล่นชนไก่พนันแลกอาหารมาเลี้ยงมารดากับฟ้า ไก่ของพระรถเสนชนะพนันทุกคราวจนความเลื่องลือไปถึงท้าวรถสิทธิ์ จึงให้นำตัวไปเฝ้า เมื่อทราบว่าเป็นโอรสก็มีความรักใคร่ นางสันธมารทราบเข้าก็คิดหาอุบายที่จะกำจัดพระรถเสน นางแสร้งทำเป็นป่วยหนัก ทูลท้าวรถสิทธิ์ว่า ยาที่จะรักษาได้มีอยู่ที่เมีองคชปุรนคร ขอให้พระรถเสนไปนำมาให้ พระรถเสนทูลอาสาแล้วเลือกม้าพระที่นั่งตัวหนึ่งเป็นพาหนะสำหรับเดินทาง นางสันธมารแปลงเขียนจดหมายฉบับหนึ่งผูกคอม้าไปเป็นความว่า ถ้าพระรถเสนไปถึงเมืองยักษ์เมื่อไรให้ฆ่าเสีย ม้าพาพระรถเสนเหาะไปถึงกลางทางก็พากันแวะพักที่อาศรมของพระฤๅษี พระฤๅษีมีความเมตตาจึง “แปลงสาร” เปลี่ยนข้อความในจดหมายเสียใหม่

ครั้นถึงเมืองคชปุรนครพบไพร่พลยักษ์ขวางอยู่เป็นจำนวนมาก จึงแก้จดหมายที่คอม้าทิ้งลงไป เสนายักษ์อ่านข้อความแล้วก็จัดการต้อนรับอย่างเอิกเกริกและขัดการอภิเษกกับนางกังรีให้ครอบครองบ้านเมืองตามความในจดหมาย เวลาล่วงไป ๗ เดือน ม้าทูลเตือนให้พระรถเสนกลับไปหามารดา พระรถเสนจึงออกอุบายขอให้นางกังรีพาไปประพาสอุทยานเพื่อนำต้นบุนนากและคิรีบุนนาก[๒]ไปให้นางสันธมาร เมื่อได้สมปรารถนาแล้วก็กลับมายังตำหนัก ลวงให้นางกังรีดื่มสุราจนลืมสติแล้วพระรถเสนก็ถามถึงที่เก็บดวงตานางสิบสองและสรรพคุณยาวิเศษทั้ง ๗ ห่อ นางกังรีหลงกลก็บอกให้ทั้งหมด

ครั้นนางกังรีหลับพระรถเสนก็ฉวยห่อดวงตาและห่อยาทั้งหมดขึ้นหลังม้าหนีไปกลางดึก ตอนเช้านางตื่นขึ้นไม่เห็นสามีก็รีบยกไพร่พลออกติดตามไป พระรถเสนก็โปรยยาห่อหนึ่งเป็นมหาสมุทรขวางหน้าไว้ นางกังรีรำพันขอร้องให้พระรถเสนกลับมาก็ไม่เป็นผล ในที่สุดนางเสียใจจนดวงหทัยแตกออกเป็น ๗ ภาค สิ้นชีวิตอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรนั้น ฝ่ายพระรถเสนกลับมาถึงกุตารนครโดยสวัสดิภาพ นางสันธมารทราบว่า ถูกพระรถเสนซ้อนกลก็เสียใจจนถึงแก่ความตาย พระรถเสนรีบนำยาไปรักษาดวงตาให้แม่และป้าจนหายเป็นปกติ ท้าวรถสิทธิ์จึงตั้งนางสิบสองเป็นมเหสีดังเดิมและอภิเษกให้พระรถเสนครอบครองบ้านเมืองต่อไป



การชำระต้นฉบับ

การตรวจสอบชำระเรื่องพระรถคำฉันท์เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ ใช้สำเนาเอกสารซึ่งถ่ายจากต้นฉบับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๗ ฉบับ ได้แก่

เอกสารเลขที่ ๑๑ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้นพระรถคำหวนณท่านเอย เล่ม ๑ ฯะ”

เอกสารเลขที่ ๑๒ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (โสด) วัดโมลีโลกยาราม ให้หอพระสมุดฯ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๐ มี ข้อความในหน้าต้นว่า “สมุดพระรฐนิราชคำฉันท์ เล่ม ๑”

เอกสารเลขที่ ๑๓ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) ให้หอพระสมุดฯ พุทธศักราช ๒๔๕๐ มีข้อความในหน้าต้นว่า “ต้นเมรีย ฯะ”

เอกสารเลขที่ ๑๔ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐

เอกสารเลขที่ ๑๕ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ พระองค์เจ้าหญิงพิมพับศรสร้อย ประทานเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๐ (ตอนต้นและตอนปลายสมุดชำรุด)

เอกสารเลขที่ ๑๖ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ ได้มาจากวัดอนงคาราม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้น หนังสือพระรทคำฉันท์ เล่ม ๑”

เอกสารเลขที่ ๑๗ หมวดวรรณคดี หมู่ฉันท์ เรื่องพระรถ (รถเสน - เมรี) ประวัติ หอพระสมุดฯ ซื้อ พุทธศักราช ๒๔๕๐ (มีตำรายาไทยอยู่ตอนต้น)

เอกสารทั้ง ๗ ฉบับดังกล่าวจำแนกออกได้เป็น ๓ สำรับคือ

เอกสารสำรับที่ ๑ ได้แก่ เอกสารเลขที่ ๑๒ เอกสารเลขที่ ๑๓ และเอกสารเลขที่ ๑๔ เอกสารสำรับนี้เป็นเรื่องพระรถคำฉันท์สำนวนที่เมื่อตรวจสอบชำระแล้วนำมาประมวลเข้าด้วยกันได้เนื้อความสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ (พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ ตั้งแต่หน้า ๒๑ ถึงหน้า ๗๒) ในจำนวนเอกสารทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าว เอกสารเลขที่ ๑๔ มีเนื้อความบริบูรณ์ที่สุดเพียงฉบับเดียว (ดำเนินเนื้อความตั้งแต่บทนมัสการไปจนจบเรื่อง) ขาดหายไปเพียงบทนมัสการตอนต้นซึ่งแต่งเป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ จำนวน ๑๐ บท เอกสารฉบับดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑ คือ

  
๏ ขอจงนฤทุกขแลโศก        นฤโรคแลพยา
ธินินทาครหา จงอย่าได้มาแผ้วพาน
๏ จะกล่าวนิพันธ์ฉันท์แสดงโดยอนุมาน
อันมีในนิทาน วรปัญญาสพาหิรา
๏ พระรถเรื่องเมรีรัตน์ วรราชชายา
ชาเยนทรมรณา มรณังริมฝั่งชล ฯะ

ในการตรวจสอบชำระได้นำเนื้อหาจากเอกสารเลขที่ ๑๒ และเอกสารเลขที่ ๑๓ มาเติมไว้จนได้ความครบบริบูรณ์ เอกสารเลขที่ ๑๒ เริ่มเนื้อความตั้งแต่บทนมัสการต้นเรื่อง แต่งเป็นอินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑ ดังนี้

๏ นโมข้าประนมหัตถ์         โสมนัสสุเบญจางค์
เหนือเศียรสุบาทาง คชิเนนทรทรงญาณ
๏ อันพระองค์เสด็จขจัด ปรปักขเบญจมาร
นำสัตว์ออกจากสงสาร เข้าสู่ห้องพระศีวา
๏ แล้วข้าชุลีกร นวโลกุตรธรรมา
อันโปรดสัตวโลกา ให้พ้นภัยอันเดือดร้อน
๏ หนึ่งข้าประนมน้อม กฤษดาญชุลีกร
แก่สงฆสังวร วรพุทธเวไนย
๏ ผู้ทรงสำรวมศีล สละบาปให้ขาดไกล
จำเริญศรัทธาไท ให้สัมฤทธิ์สำราญผล
๏ แล้วข้าก็อภิวันท์ วรเทพยเบื้องบน
แต่พื้นเมทนีดล ตลอดล่วงฉกามา
๏ อนึ่งข้าก็บังคม บรมกรุงกระษัตรา
ผู้ผ่านไอศวรรยา นครเทพยธาตรี
๏ แล้วข้าก็อภิวาท วรบาทชนนี
พระคุณอยู่เกศี สุดจะร่ำจะรำพัน
๏ ทั้งคุณพระบิดา จะพรรณนาก็มหันต์
สิ่งใดจะเทียมทัน แลจะเท่าก็ไป่มี
๏ ด้วยเดชข้าประณาม กรนบประนมศรี
สรรเพชญโมลี แลพระสงฆธรรมา

เอกสารเลขที่ ๑๒ หมดหน้าสมุดลงตรงคำประพันธ์บทที่ ๓๑๕ ตอนนางขุชชาค่อมโต้ตอบกับนางเมรี แต่งเป็นสุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘ ว่า “มิรู้เป็นโทษ กลับทรงพระโกรธ ด่าเล่นเปล่าเปล่า” ในหน้าต้นของสมุดไทยเล่มนี้มีข้อความว่า “สมุดพระรฐนิราชคำฉันท์ เล่ม ๑” แสดงว่ายังมีเล่ม ๒ ต่อไปอีกแต่ไม่พบต้นฉบับ

เอกสารเลขที่ ๑๓ เริ่มต้นตั้งแต่บทนมัสการ เนื้อความตรงกับเอกสารเลขที่ ๑๒ หมดหน้าสมุดลงตรงคำประพันธ์บทที่ ๓๔๔ คือ


๏ แล่นโลดไล่โดนโจนคะนอง สัตว์สิงลำพอง
ละพวกก็เทาถิ่นตน

วรรคสุดท้ายของคำประพันธ์บทดังกล่าวต่างจากเอกสารฉบับที่ ๑๔ ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ และมีข้อความบอกว่า “สิ้นฉบับ”

เนื่องจากเอกสารต้นฉบับสมุดไทยคัดลอกด้วยลายมือ แต่ละฉบับจึงมีความลักลั่นทั้งด้านอักขรวิธีและการคัดลอกตกหล่น ในการตรวจสอบชำระได้นำข้อความจากฉบับที่สมบูรณ์มาเติมลงในฉบับที่บกพร่อง อนึ่ง ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๓๔๕ เป็นต้นไปปรากฏในเอกสารเลขที่ ๑๔ เพียงฉบับเดียว จึงไม่สามารถสอบทานกับฉบับอื่นได้

เรื่องพระรถคำฉันท์ตามเอกสารสำรับที่ ๑ นี้ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงยุคสมัยที่แต่ง แต่จากข้อมูลที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่างรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ทั้งนี้พิจารณาจากสมมุติฐาน ๔ ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ ๑ เนื้อความในคำฉันท์ตอนนางเมรียกไพร่พลออกจากเมืองเพื่อติดตามพระรถเสนตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑๔-๑๒๒ กล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้


๏ เสียดายปรางค์มาศรจนา สัตตรัตน์รมยา
มณีวิจิตรดำเกิง
๏ ที่นั่งร้อนที่นั่งเย็นสำเริง สำราญบันเทิง
บรรเทาภิรมย์เปรมปรีดิ์
๏ เปรมปราสองสุขเกษมศรี ศรีสวัสดิควรนี
นีราศร้างแรมไกล
๏ ไกลทั้งสระแก้วน้ำใส ใสสุทธิอำไพ
ไพบูลย์ดั่งแก้วแพรวพราย
๏ พรายเพริศสัตตบงกชหลาย หลายเล่ห์กำจาย
กำจรตรลบเสาวคนธ์
๏ เสาวภาคย์เคยสรงสนานชล ชลเอ๋ยจะร้างหน
หนใดจะกลับคืนสถาน
๏ สถานที่พิจิตรหน้าพระลาน ลานเลี่ยนสุริย์กานต์
สุริยาจำรัสรังสรรค์
๏ สรรค์แสร้งแกล้งไว้เฉลิมขวัญ ขวัญเมืองจรัล
จะรานิราศร้างศรี
๏ สีทองก็หมองเป็นราคี ราคินเศร้าศรี
สีแก้วบแววเห็นโฉม

“ที่นั่งเย็น” ที่กล่าวในคำประพันธ์ข้างต้นน่าจะมีความหมายโดยนัยถึง “พระที่นั่งเย็น” หรือ “พระที่นั่งไกรสรสีหราช” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับประทับสำราญพระราชอิริยาบถ บนเกาะกลางทะเลชุบศร เมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้อยู่ห่างจากพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศ ประมาณ ๓ กิโลเมตร ในบันทึกของคณะราชทูตฝรั่งเศสระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงใช้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จประพาสจับช้างป่าและเคยเป็นที่ประทับทอดพระเนตรจันทรุปราคาร่วมกับคณะราชทูตฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๒๒๘ “ไกลทั้งสระแก้วนํ้าใส” น่าจะมีความหมายโดยนัยถึง “สระแก้ว” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นนอกเมือง เป็นที่พักนํ้าจากทะเลชุบศรและห้วยซับเหล็กแล้วต่อท่อเข้ามาใช้ในพระราชวังเมืองลพบุรีตามที่กล่าวในพระราชพงศาวดาร ซึ่งสอดคล้องกับโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของพระศรีมโหสถที่ว่า

มีสินธุ์สายสีตซึ้ง                ชลใส
เติมแต่เศขรใน ซอกซั้น
พุพวยหลั่งลงไหล เซ็งซ่าน
วางท่อทางด้นดั้น สู่ท้องวังเวียง ฯ
ขึ้นเขาในเงื้อมแง่ เศขร
พุ่งผุดโชนเซาะซอน คล่าวแคล้ว
ออกมุขแห่งไกรสร สีหราช
ลงสระอัญจลแก้ว ซ่านซ้องชลถวาย ฯ
สรงเสร็จเล็ดลอดดั้น โดยทาง
ท่อหลั่งไหลเวียนวาง วิ่งนํ้า
ฉวัดเฉวียนชำเนียนฉวาง วารีศ
ขึ้นออกเกสรกลํ้า กลีบแก้วโกมล ฯ

โคลงทั้ง ๓ บทดังกล่าว สอดคล้องกับคำฉันท์ตอนนางเมรี เดินทางผ่านสระน้ำนอกเมืองว่า “ไกลทั้งสระแก้วนํ้าใส” และในคำฉันท์อีกตอนหนึ่งที่ว่า

๏ ครวญพลางนางเร่งจรลี   ถึงสร้อยสระศรี
สโรชพิศาลโสภณ
๏ โกมุทบุษบันอุบล เบิกสร้อยเสาวคนธ์
ขจรเลวงเวหา
          ฯลฯ    

ประเด็นที่ ๒ การแต่งฉบัง กาพย์ ๑๖ เป็นกลบทนาคบริพันธ์ในพระรถคำฉันท์ตั้งแต่คำประพันธ์บทที่ ๑๑๕ - ๑๒๖ เป็นลักษณะที่นิยมในสมัยอยุธยา ดังมีตัวอย่างอยู่ในเรื่องราชาพิลาปคำฉันท์และหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดีนำมาเป็นตัวอย่างการประพันธ์ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อกวีผู้แต่งคำฉันท์เรื่องนี้ด้วย

ประเด็นที่ ๓ บทพรรณนาในคำฉันท์ตอนนางเมรีถึงแก่มรณกรรม มีนัยประหวัดถึงเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้แก่


๏ พระศอแหบแห้ง
สุดสิ้นกระแสง                  
หิวโหยโรยรา พักตราสลดไสล
พักตร์ผิดเผือดไป สิ้นไห้รำพัน
๏ ดังลำกล้วยทอง
อันเกิดในห้อง ฟากฟ้าสวนสวรรค์
มีชายผู้หนึ่ง เข้มขึงแข็งขัน
จิตใจมักกะสัน ฤทธิ์แรงราวี
๏ ได้ดาบคมกล้า
แปลบปลาบเวหา จับแสงสุรีย์ศรี
กวัดแกว่งรำฉวาง เยื้องย่างคระวี
ฟาดฟันกัทลี ขาดเด็จเป็นสิน

ตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเกิด “กบฏแขกมักกะสัน” ขึ้นที่เมืองบางกอก ตามบันทึกของเชวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเข้ามาพร้อมกับคณะราชทูตเมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๘ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอตัวไว้ใช้ในราชการตั้งเป็นขุนนางมีบรรดาศักดิ์ที่ออกพระศักดิ์สงคราม ฟอร์บังได้รับคำสั่งจากราชสำนักให้เป็นผู้ปราบปรามกบฏแขกมักกะสัน พวกกบฏครั้งนั้นมีพฤติการณ์เหี้ยมโหดต่อสู้แบบพลีชีพทำให้กองทหารชาวยุโรปล้มตายลงเป็นอันมาก การที่เรื่องพระรถคำฉันท์กล่าวเปรียบเทียบว่า “จิตใจมักกะสัน ฤทธิ์แรงราวี” นั้นน่าจะแสดงว่า ความร้ายกาจของกบฏแขกมักกะสันยังอยู่ในความทรงจำของกวีผู้แต่ง ดังนั้นคำฉันท์สำนวนนี้จึงน่าจะแต่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นานนัก

ประเด็นที่ ๔ คำศัพท์ที่ใช้มีลักษณะร่วมสมัยกับวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ที่แต่งในสมัยอยุธยาเช่น ลาลด เสี่ยมสาร ภัยภิต จรล่ำ เป็นต้น คำศัพท์ดังกล่าวไม่นิยมใช้ในวรรณกรรมที่แต่งสมัยรัตนโกสินทร์

จากสมมุติฐานทั้ง ๔ ประเด็นดังกล่าว ในที่นี้จึงสันนิษฐานว่าเรื่องพระรถคำฉันท์สำนวนนี้น่าจะเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยา

เอกสารสำรับที่ ๒ ได้แก่เอกสารเลขที่ ๑๕ เอกสารเลขที่ ๑๖ และเอกสารเลขที่ ๑๗ เอกสารทั้ง ๓ ฉบับดังกล่าวมีเนื้อความเดียวกัน ไม่มีบทนมัสการตอนต้น

เอกสารเลขที่ ๑๕ เริ่มความตั้งแต่นางเมรีบรรทมตื่นไม่พบพระรถเสน หมดความลงในหน้าสมุดสุดท้าย ตอนพระรถเสนไปถึงอาศรมของพระฤๅษีแล้วลงสรงน้ำในสระว่า


๏ ตริแล้วก็ลงสรง               ในสระแก้ววิเชียรฉาย
ชมเบญจบัวราย ประทุมมาศสลับสลอน ฯะ

เอกสารเลขที่ ๑๖ เริ่มความเหมือนกับเอกสารเลขที่ ๑๕ ดำเนินเรื่องไปจนหมดเล่มสมุดตอนพระรถเสนกลับไปหามารดาและป้ายังอุโมงค์ที่ถูกคุมขังแล้วเล่าความให้นางสิบสองฟังว่าได้รอดชีวิตกลับมาเพราะความช่วยเหลือของนางเมรี

๏ พระสดับพจนารถแสดงคุณ นางหนึ่งสรรพสุน
ทเรศลํ้าสตรี ฯะ

เอกสารเลขที่ ๑๗ ตอนต้นสมุดเป็นตำรายาไทย เริ่มความในคำฉันท์เหมือนกับเอกสารเลขที่ ๑๕ ดำเนินความไปจนสิ้นสมุดเมื่อม้าพาพระรถเสนจากนางเมรีที่ริมฝั่งน้ำไปพักอยู่ที่เชิงเขาใกล้อาศรมของพระฤๅษี

๏ เปลวปล่องช่องภูผา        ศิลาแลมลังเมลือง
แสงแก้วประเทืองเรือง จำรัสรุ่งเจริญตา ฯะ

เรื่องพระรถคำฉันท์ที่ปรากฏในเอกสารสำรับที่ ๒ นี้ เข้าใจว่าเป็นฉบับที่ปรับปรุงแก้ไขสำนวนโวหารจากสำนวนเอกสารสำรับที่ ๑ ทั้งนี้อาจเพื่อต้องการให้ตรงตามบังคับฉันทลักษณ์ตามความเห็นของกวีผู้ปรับแก้และอาจต้องการตัดส่วนที่เยิ่นเย้อในสำนวนแรกออกไปเพื่อให้การดำเนินเรื่องกระชับยิ่งขึ้น คำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ เริ่มต้นด้วยวสันตดิลก ฉันท์ ๑๔ ดังนี้

๏ ป่างนั้นพระนุชวรนาฏ     เยาวราชนฤมล
พลิกฟื้น ธ ตื่นกระบัดก็ยล บ่มิพบพระภัสดา
๏ ทรงกริ่งกระมลจิตรก็โศก วิโยคแสนสหัสสา
หัสปลุกสุรางค์สุรคณา คณะนางบำเรอเรียง
๏ ค้นหาทุกห้องทิศดำกล ทุกไพชยนต์ประเวศเวียง
วังหลวงระลวงกลก็เทียง ทุกถิ่นฐานละลานแด
๏ จุดเทียนประทีปชวาลาส่อง ทุกแห่งห้องบเห็นแห
ไปหาทุกทิศชลแล ชลาเปล่าก็เศร้าใจ
๏ โรงรถแลโรงอัศวคเชนทร์ ที่นเรนทรเคยไคล
บพบประสบพระภูวไนย ทั้งกัณฐัศว์ก็สูญหาย
๏ กลับผังยังองค์พนิดทูล ประมูลแจ้งคดีฉลาย
ค้นหาทุกถิ่นทิศทุกภาย บมิพบพระภูธร
๏ เห็นแจ้งประจักษ์เป็นกลแกล้ง    ธ หากแสร้งมาโลมสมร
สมานแล้วแลละพระนุชจร แลมาพรากไปจากองค์
๏ มิ่งม้าวลาหกอันชาญ ที่นฤบาล ธ เคยทรง
บมิพบประสบพระวรองค์ ธเรศท้าว ธ หนีสูญ
๏ นางท้าว ธ ฟังพจนถ้อย ยุบลสรรพ์สนมทูล
กลุ้มกลัดฤทัยทุมนพูน ทุกขเพียงพิราลัย
๏ บ่ายพักตรทอดทัศนะบน ก็บยลกำพดไชย
โอสถประสิทธิ์ทิพประไพ ทั้งดวงเนตรบเห็นหาย
๏ โอ้โอ้พระยอดเยาวเสน่ห์ มาลวงเล่ห์ด้วยอุบาย
เบื่อแล้วแลละสมรสาย สวาดิไว้ให้โหยหา
๏ เวรใดมาจองจิตประจำ โอ้กรรมใดสนองมา
หมายใจว่าท้าวจะกรุณา ดรุณน้องเป็นทางธรรม์

เนื้อหาคำฉันท์ตอนนางเมรีจะจากเมืองซึ่งในเอกสารสำรับที่ ๑ แต่งเป็นกลบทนาคบริพันธ์ ในคำประพันธ์บทที่ ๑๑๕ - ๑๒๖ นั้น คำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ ได้แก้ไขใหม่โดยไม่คงกลบทไว้ดังนี้

๏ ที่ประพาสร้อนเย็นสำเริง  สำราญบันเทิง
บรรเทาภิรมย์เปรมปรีดิ์
๏ เสียดายสระสวนมาลี เคยประพาสเกษมศรี
ภิรมย์สำราญหฤทัย
๏ เสียดายสระนํ้าเย็นใส ชลหอมเอาใจ
ดังคนธรสรำเพย
๏ มีบุษบงกชกอเกย แย้มกลีบระเหย
กำจัดซึ่งสร้อยเสาวคนธ์
๏ พระองค์เคยสรงสนานชล ชลธีจะร้างหน
กี่เมื่อจะกลับคืนสถาน
๏ เสียดายสนามหน้าพระพลาน ลาดแก้วสูริย์กาญจน์
ดังเทพบรรจงแสร้งสรรค์
๏ เป็นที่ประลองคชกรรม์ สินธพชาติอัน
ทั้งหมู่พลาอสุรี
๏ พระองค์เคยทอดทฤษฎี ด้วยนุชเปรมปรีดิ์
บแหบห่างร้างโฉม
๏ เยียใดพระไม่อยู่โลม ละไว้ให้โทม
นัสเปลี่ยวเปล่าใจ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2564 14:50:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 มิถุนายน 2564 13:48:53 »



การปรับแก้ไขสำนวนเรื่องพระรถคำฉันท์ในเอกสารสำรับที่ ๒ นี้ น่าจะทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ต้นฉบับเอกสารสมุดไทยที่พบไม่มีฉบับใดมีเนื้อหาบริบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ (โปรดดูสำเนาต้นฉบับเอกสารเลขที่ ๑๖ ซึ่งพิมพ์เป็นภาคผนวกของหนังสือนี้)

เอกสารสำรับที่ ๓ เป็นเรื่องพระรถคำฉันท์อีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อความต่างจากที่กล่าวมาแล้ว พบต้นฉบับเพียงเล่มสมุดไทยเดียว คือเอกสารเลขที่ ๑๑ มีข้อความในหน้าต้นว่า “หน้าต้นพระรถคำหวนณท่านเอย เล่ม ๑” ตอนต้นเป็นบทนมัสการ เริ่มเนื้อเรื่องตั้งแต่พระรถเสนอยู่กับนางเมรี ม้าพระที่นั่งส่งเสียงเตือนให้รีบออกเดินทาง พระรถเสนจำต้องจากนางไปทั้งยังอาลัยรัก หมดหน้าสมุดลงตรงนางเมรีคร่ำครวญอยู่ที่ริมฝั่งนํ้าตามลำพังว่า


๏ ระทวยทอดฤทัยครวญ กันแสงสวรไม่เสื่อมสร่าง
เหน็บหนาวทั้งสารพางค์ เพียงพินาศบนรถทรง
๏ โอ้แม่มนทามาร ดังจะลาญชีพปลดปลง
เห็นของวิเศษจง นเรศท้าวเธอเอาไป ฯะ

ความต่อจากนี้น่าจะมีอยู่สมุดไทย เล่ม ๒ แต่ไม่พบต้นฉบับ สำนวนโวหารในเรื่องพระรถคำฉันท์หรือพระรถคำหวนสำนวนนี้จัดว่าไพเราะมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ แต่ไม่สามารถกำหนดยุคสมัยที่แต่งได้แน่นอน

เรื่องพระรถคำฉันท์ที่พิมพ์อยู่ในหนังสือนี้ประกอบด้วย พระรถคำฉันท์สำนวนที่ตรวจสอบชำระจากเอกสารสำรับที่ ๑ พระรถคำหวนซึ่งตรวจสอบชำระจากเอกสารเลขที่ ๑๑ และสำเนาเอกสารเลขที่ ๑๖ ซึ่งเป็นฉบับหนึ่งในเอกสารสำรับที่ ๒ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาได้เห็นความแตกต่างของเรื่องพระรถคำฉันท์ทั้ง ๓ สำนวน


[๑]  นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ เรียบเรียง
[๒] ในบทละครครั้งกรุงเก่าว่า “มะงั่วหาวมะนาวโห่” แต่ในคำกลอนที่แต่งครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “มะม่วงหาวมะนาวโห่”


อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
[๑] ๏ นโมข้าประนมหัตถ์ โสมนัสสุเบญจางค์
  เหนือเศียรสุบาทาง คชิเนนทรทรงญาณ
[๒] ๏ อันพระองค์เสด็จขจัด ปรปักขเบญจมาร
  นำสัตว์ออกจากสงสาร เข้าสู่ห้องพระศีวา
[๓] ๏ แล้วข้าชุลีกร นวโลกุตรธรรมา
  อันโปรดสัตว์โลกา ให้พ้นภัยอันเดือดร้อน
[๔] ๏ หนึ่งข้าประนมน้อม กฤษดาญชุลีกร
  แก่สงฆสังวร วรพุทธเวไนย
[๕] ๏ ผู้ทรงสำรวมศีล สละบาปให้ขาดไกล
  จำเริญศรัทธาไท ให้สัมฤทธิ์สำราญผล
[๖] ๏ แล้วข้าก็อภิวันท์ วรเทพยเบื้องบน
  แต่พื้นเมทนีดล ตลอดล่วงฉกามา
[๗] ๏ อนึ่งข้าก็บังคม บรมกรุงกระษัตรา
  ผู้ผ่านไอศวรรยา นครเทพยธาตรี
[๘] ๏ แล้วข้าก็อภิวาท บวรบาทชนนี
  พระคุณอยู่เกศี สุดจะร่ำจะรำพัน
[๙] ๏ ทั้งคุณพระบิดา จะพรรณนาก็มหันต์
  สิ่งใดจะเทียมทัน แลจะเท่าก็ไป่มี
[๑๐] ๏ ด้วยเดชข้าประณาม กรนบประนมศรี
  สรรเพชญโมลี แลพระสงฆธรรมา
[๑๑] ๏ ขอจงนฤทุกขแลโศก นฤโรคแลพยา
  ธินินทาครหา จงอย่าได้มาแผ้วพาน
[๑๒] ๏ จะกล่าวนิพันธ์ฉันท์ แสดงโดยอนุมาน
  อันมีในนิทาน วรปัญญาสพาหิรา
[๑๓] ๏ พระรถเรื่องเมรีรัตน์ วรราชชายา
  ชาเยนทรมรณา มรณังริมฝั่งชล ๚ะ
วสันตดิลก ฉันท์ ๑๔
[๑๔] ๏ ปางยอดเยาวมาลย์วิมลมาศ สมรมั่งผู้นฤมล
  สร่างหายได้สติสมประฤดีดล นางเขยื้อนขยับกาย
[๑๕] ๏ ยอกรก่ายกรกระหวัด บปะหัตถ์ก็เห็นหาย
  วาบจิตดั่งใครปลิดชีวาวาย ตระบัดตื่นจากแท่นทอง
[๑๖] ๏ เหลือบเล็งเพ่งพิศพระวรพักตร์ ไม่ประจักษ์ก็มลหมอง
  ดังใครเด็ดเอาดวงหทัยปอง ไปจากกายทำลายลาญ
[๑๗] ๏ ทรงพระกริ้วกระมลก็โศก วิโยคด้วยภูบาลชาญ
  ปลุกนางสนมอนงคบริพาร บริภาษสำเนียงเพียง
[๑๘] ๏ นางดีดแลสีซอคนก็ขับ บ้างหลับทับประเอนเอียง
  ฉับฉิ่งพริ้งเพราะเสนาะกลพิณเพียง ที่จำเรียงบำรุงนาง [๑]
[๑๙] ๏ ลางหลับละเมอเพ้อจิตละไล บ้างก็ไห้คระหึมคราง
  แว่วเสียงพระยาวราชอนุชนาง ก็ต่างตื่นตะลึงลาน
[๒๐] ๏ ค้นหาทุกแห่งห้องทิศตำบล ทุกไพชนตชัชวาล
  สนามน้ำฉนวนชลสนา ตำหนักน้ำสระสรงองค์
[๒๑] ๏ บพบพระผู้พงศขัตติย์นเรศ เฉลิมเกศอนงค์ยง
  ก็กลับคืนยังนิเวศพระเวียงวง ตำหนักนางที่ปรางค์จันทน์
[๒๒] ๏ เผยรูดพระวิสูตรสุวรรณประหวัด จรัสแจ่มจรูญจรัล
  ส่องแสงสว่างศรีรวิวรรณ ไม่พานพบพระภูธร
[๒๓] ๏ จุดเทียนประทีปก็ชวนกันส่อง ทั่วแห่งห้องบนบรรจถรณ์
  ที่เกยแก้วกาญจนกุญชร ไม่เห็นโฉมประโลมแด
[๒๔] ๏ รองวังพระนิเวศรวรตำหนัก ไม่พบพักตร์ก็ผันแปร
  หาทั่วทุกทิศชลชแล ชลาเปล่าก็เศร้าใจ
[๒๕] ๏ โรงรถคชอัศวคเชนทร์ ที่นเรนทร์เธอเคยไคล
  ค้นหามิพบพระภูวไนย ทั้งมิ่งม้าก็สูญหาย
[๒๖] ๏ กลับคืนชุลีกรบังคมทูล ประมูลแจ้งคดีสาย
  ข้าหาทุกทิศแลทุกภาย บพิพบพระภูธร
[๒๗] ๏ เห็นแท้ประจักษ์เป็นกลแกล้ง ฤาท้าวแสร้งมาโลมสมร
  สมานแล้วดังฤๅมาเจียรจร นิราศร้างไปจากองค์
[๒๘] ๏ ม้ามิ่งมงคลอัศวชาญ ที่นฤบาลเธอเคยทรง
  สูญแล้วบเห็นบวรองค์ ธิบดินทร์ ธ หนีสูญ
[๒๙] ๏ นางท้าว ธ ได้สวนาวัจนสดับ พจนศัพท์ประมวลมูล
  กลุ้มกลัดมนัสหัทยพูน ทุกขเพียงประลาญลัย
[๓๐] ๏ บ่ายเบือนพระพักตร์ทัศนบน ก็มิยลกำพดไชย
  โอสถบปรากฏทิพยประไพ ทั้งดวงเนตรบเห็นโทม
[๓๑] ๏ โอ้โอ๋พระยอดวรเสน่ห์ มาลวงเล่ห์ประลองโลม
  ลาแล้วนิฤๅพระมาร้างโฉม สวาดิไว้ให้โหยหา
[๓๒] ๏ เวรใดมาจองจิตมาจำ โอ้กรรมใดนิราศา
  หมายใจว่าท้าวจะกรุณา ดรุณน้องเป็นทางธรรม์
[๓๓] ๏ บัดนี้ไป่เหมือนประหนึ่งว่าหมาย มาหน่ายรักไปจากกัน
  จะร้างจรจะแรมนิราขวัญ ชีวันน้องเพียงสิ้นชนม์
[๓๔] ๏ ทั้งนี้เป็นต้นเพราะกลอัสดร มันก่อก่อนจึ่งจำดล
  พาท้าวประเวศจรจากมณ เฑียรที่ก็ดูดาย
[๓๕] ๏ อกเอ๋ยจะอยู่ไปเยียไฉน ให้ชนไพครหาหาย
  โหยไห้กระทุ่มกรก็ฟาย ชลเนตรนัยน์นอง
[๓๖] ๏ ทุ่มทอดพระอรองคลงกลาง ระหว่างราชเรือนทอง
  สาวสนมบังคมกรประคอง ประเคียงข้างเข้าโลมลวน
[๓๗] ๏ อ้าแม่อย่าโศกปริเทวนัยน์ จะร่ำไห้จะหมองนวล
  โศกนักเกลือกจักทุกขรัญจวน ประชวรแล้วจะเสียความ
[๓๘] ๏ ควรเราจะคิดกลอุบาย จะยักย้ายไปติดตาม
  ชุมพลพหลสกลคาม พิริย์จัตุรงค์เนืองนันต์
[๓๙] ๏ น่าจะพบประสบเป็นแม่นแท้ พระแม่เจ้าอย่าโศกศัลย์
  มนุษย์ฤๅจะหนีฤทธิเราทัน ด้วยพลยักษเนืองเนา
[๔๐] ๏ นางท้าวได้สวนาพจนถ้อย ทุกขถอยลงบางเบา
  เห็นชอบจึ่งตอบพจนเสา วนีย์นางให้เร่งพล
[๔๑] ๏ อย่าช้าจงฆาตไชยเภรี อันเป็นที่ประชุมชน
  ยักษาวราฤทธิคำรน คำรามรับพระบัญชา ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
[๔๒] ๏ เอิกเกริกเร่งกันโกลา โกลีสหัสสา
  กระบัดกระทุ่มเภรี
[๔๓] ๏ เภรากึกก้องเสียงสีห์ สหัสแสนเสนี
  อเนกมากก่ายกอง
[๔๔] ๏ พลมารตรับฟังเสียงกลอง       ผกผาดผันผยอง
  ระเห็จระหันเหิรหาว
[๔๕] ๏ ลางมารตาเติบกาววาว ขบเขี้ยวฟันขาว
  คระเครงคระครื้นสำแดง
[๔๖] ๏ ลางมารทะมึดเมฆทะมัดทะแมง     ตาเหลือกเกลือกแขง
  กระลอกกระลับน่ากลัว กำยำโตตัว
[๔๗] ๏ ลางหมู่ดูพิลึกสยองหัว กำยำโตตัว
  ก็เต้นเข้าถอนต้นตาล
[๔๘] ๏ ฉับไวโดยใจขุนมาร สามต้นบมินาน
  เข้าบิดตระบัดเป็นตระบอง
[๔๙] ๏ เผ่นโผนโจนด้วยกำลอง กำลังฤทธิ์ปอง
  จะปราบให้ย่นจนอินทร์
[๕๐] ๏ คำแหงห้าวเหี้ยมโหดหิน คล้ายฤทธิ์ขุนอิน
  ทรชิตบุตรเจ้าลงกา
[๕๑] ๏ ลางเหล่าแลพิฦกเหลือตรา แสร้งแปลงรูปา
  เป็นเสือคระหึมครึมเสียง
[๕๒] ๏ บ้างเป็นสิงหราชไกรเกรียง ร้องก้องสำเนียง
  สะท้านสะเทือนธรณี
[๕๓] ๏ สิงสัตว์แดนดงพงพี ลุกล้มแล่นลี้
  ละล้าละลังลนลาน
[๕๔] ๏ ต่างตนต่างรณฤทธิราญ ฮึกเหี้ยมห้าวหาญ
  ประหาตประหัตศัตรู
[๕๕] ๏ ลางมารสังวาลคืองู พันโพกเศียรดู
  พิฦกเสียวสยดแสยง
[๕๖] ๏ กรกุมหอกถือเท้งแทง ไม่ระย่อต่อแย้ง
  จะแยงจะยุทธสุริยา
[๕๗] ๏ ลางหมู่มุหงิดมฤจฉา โถมถีบภูผา
  ตระเพิ่นตระพังจักรวาฬ
[๕๘] ๏ ง้างหินเหาะระเห็จทะยาน ฟ้าผ่าทะลักทลาย
  ทะลุถล่มแหลกลง
[๕๙] ๏ ดั่งเสียงอสุนีฟาดสาย ฟ้าผ่าทะลักทลาย
  ทะลุถล่มแหลกลง
[๖๐] ๏ เพื่อนกันตกใจไม่ดำรง แล่นถลาล้มลง
  กระทบประทะกันอึง
[๖๑] ๏ บ้างล้มพะพาดกันผึง ผ้าลุ่ยแลลึงค์
  ก็ล่อนก็แล่นโล่งแล
[๖๒] ๏ ชายหญิงวิ่งอออึงแอ เบียดเสียดเซ็งแซ่
  บ้างตี่นตระลึงแลดู
[๖๓] ๏ ยังยักษ์ตนหนึ่งหางหนู เชิดขวานหมูชู
  แล้วร้องอิไหล้หลังกัน
[๖๔] ๏ ขบเขี้ยวเคี้ยวเขี้ยวขบฟัน ขี่หมูเขี้ยวตัน
  สำแดงนุภาพเดโช
[๖๕] ๏ ตัวกูมีฤทธิ์อิศโร ทรงอานุภาโว
  ไปปราบสุกรบอนเบือ
[๖๖] ๏ พลมารลางตนชาวเหนือ ทรหดล้นเหลือ
  แล้วกุมอิเหน็บแกว่งไกว
[๖๗] ๏ ร้องถามภาษาเกือไก๋ ล้มสุกรกินไก่
  อาพัดสุราเคี้ยวชาม
[๖๘] ๏ขันฤทธิ์อวดฤทธิ์ติดตาม ท้นเข้าบมิขาม
  อิเหน็บจะแทงพุงทะลุย
[๖๙] ๏ ขุนหนึ่งชาวละครรำซุย ขนเคราเพราพรุย
  เป็นรกเป็นรอบขอบอก
[๗๐] ๏ ขัดฟันงอนงอนคือกระจก ชูกเลหวังยก
  แล้วร้องโนแนแค่ไหน
[๗๑] ๏ภูมีหนีเมรีไป กูจะอาสาไท
  จับท้าวจะเอารางวัล
[๗๒] ๏ลำพองลองฤทธิ์มหันต์ ตัวเติบโตตัน
  สองตาเท่าดวงอาทิตย์
[๗๓] ๏ ล่ำไหล่มูทูมุหงิด กุมตระบองแบกบิด
  ตระบัดเป็นเพลิงโพลงพลาม
[๗๔] ๏ ขบเขี้ยวกรีดเกรี้ยวเคี้ยวกราม คิ้วย่นขนสยาม
  สยางสยุมสยองผม
[๗๕] ๏ ตาปลิ้นลิ้นแลบร้องระงม โถมถลายิ่งลม
  พยุหพัดเพชรหึง

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2564 14:50:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 กรกฎาคม 2564 17:58:09 »



[๗๖] ๏ ขุนหนึ่งดูถมึงคึง ล่ำทู่ดูทะมึง
  ทะมัดทะแมงมั่นหมาย
[๗๗] ๏ ลไพร่ไล่จับมฤคควาย กินเล่นเป็นสบาย
  ได้ยินสำเนียงเสียงกลอง
[๗๘] ๏ โผโผนโจนหันผันผยอง สูงสามโยชน์ปอง
  เข้าง้างเอาเขาพระสุเมรุ
เข้าง้างเอาเขาพระสุเมรุ [๗๙] ๏ เทพดาระอาฤทธิ์ระเนน กลัวฤทธิ์ขุนเกรน
  ก็แล่นออกขอบจักรวาฬ
[๘๐] ๏ พื้นพวกพหลพลมาร กราดเกรี้ยวเกณฑ์การ
  สกอสกรรจ์กำแหง
[๘๑] ๏ ลางตนรณฤทธิ์ราญแรง เรืองเดชขันแขง
  จะปลิดเอาเดือนดาวราย
[๘๒] ๏ บ้างทำสิงหนาทหลากหลาย โผนผกยกกาย
  จะป่ายจะปล้นสุริโย
[๘๓] ๏  สุริยาเพียงปราชัยโช เรืองฤทธิ์วโร
  อานุภาพปราบสงคราม
[๘๔] ๏ ลางเหล่าแลบลิ้นเพลิงลาม กลั่นแกล้วกลางสนาม
  จะเข่นจะเคี้ยวศัตรู
[๘๕] ๏ พลมารพรึบพร้อมพรั่งพรู เพียบพื้นธรณู
  ธรณีเพียงจะลัยลาญ
[๘๖] ๏ อาวุธถ้วนมือขุนมาร กึกก้องเกณฑ์การ
  บรู้กี่โกฏิไตรตรา
[๘๗] ๏ ต่างต่างแข็งขันอาสา สำแดงเดชา
  ตรลบข้างพื้นทิฆัมพร
[๘๘] ๏ เสร็จแล้วเรียบเสนากร พลมารแลสลอน
  สะพรั่งสะพร้อมเตรียมกัน
[๘๙] ๏ ฝ่ายนาฏมหิษีดวงจันทร์ บมิสรงชลสุคันธ์
แต่ทรงพระโศกแสนทวี [๙๐] ๏ พร้อมเสร็จนางเสด็จจรลี จึ่งมีเสาวนีย์
  ให้หาซึ่งพฤฒาจารย์ ๚ะ
สัททุลวิกกีฬิต ฉันท์ ๑๙
[๙๑] ๏  โหรเฒ่าก้มเกล้าประนมกรกราบกราน    
  นางจึ่งศุภสาร โหรา
[๙๒] ๏ เราจะกรีพลบาตรบ่ายบทจรคลา
  ไคลตามพระภัสดา ไฉน
[๙๓] ๏  พฤฒาทูลประมูลอรรถแจ้งคดีไข
  ฤกษ์ดีสวัสดิไป จะทัน
[๙๔] ๏ แต่ท้าวไม่กลับคืนคงสถิตยเหมือนพระทัยฝัน    
  ฝ่ายแม่จะไห้ศัลย์ ละลาน
[๙๕] ๏ พระเคราะห์ร้ายนักแม่จะมุ่งบมิเป็นการ
  ปิ้มชีพลัยลาญ อย่าจร
[๙๖] ๏ ป่างโพ้นข้าก็พร่ำกล่าวคำทูลชะอ้อนวอน
  แม่บ่เออมาราญรอน กำจาย
[๙๗] ๏ บัดนี้สิเหมือนคำข้าพฤฒาแกล้งทาย
  แม่ท้าวจะผันผาย จะลาญ
[๙๘] ๏ นางสดับพจนศุภถ้อยคดีสาร
  แม้ชีพลัยลาญ ก็ตาม
[๙๙] ๏ จะอยู่เยียไฉนมาได้ทุกขเหลือลาม
  ปากคนจะหยันหยาม ประจญ
[๑๐๐] ๏ เป็นตายแต่พอได้พบประสบบวรบาทยุคล
  แม้ชีพสุดสกนธ์ บคิด
[๑๐๑] ๏ ตรัสพลางนางเร่งพหลสกลวิวิธ
  ล้วนมารอันเรืองฤท ธิรณ ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
[๑๐๒] ๏ เมื่อนั้นวรราชนฤมล นฤมาณเรียบพล
  ก็พร้อมประดับสรรพสรรพ์
[๑๐๓] ๏ จึ่งมีเสาวนีย์แถลงพลัน แก่ขุนสิทธิกรรม์
  อันรู้กระบวนเกณฑ์การ
[๑๐๔] ๏ ท่านผู้ทรงเวทเชี่ยวชาญ คุมพลมารหาญ
  ไปตามจงทันจุมพล
[๑๐๕] ๏  ทันแล้วพาท้าวจรดล คืนสู่พระมณ
  เฑียรราชนิเวศวังเรา
[๑๐๖] ๏ ม้าร้ายทรยศหยักเหยา อย่าไว้จงเอา
  ประหารชีวิตให้ลาญ
[๑๐๗] ๏ ขบเคี้ยวกินเป็นอาหาร มันทำรำคาญ
  ลำเคืองให้เลื่องฦๅขจร
[๑๐๘] ๏ สิทธิกรรม์ก้มเกล้าถวายกร รับพจนสุนทร
  ให้เคลื่อนพหลโยธา
[๑๐๙] ๏ ฝ่ายองค์อัคเรศชายา เสด็จสู่เลียงผา
  สุรางคล้อมรายเรียง
[๑๑๐] ๏ น้องท้าวเสด็จคลาดจากเวียง วังเย็นสงัดเสียง
  วิเวกหวาดหวั่นทรวง
[๑๑๑] ๏ ทรงโศกโทมนัสแดดวง พระทัยเป็นห่วง
  ไปแล้วมิกลับมาเห็นวัง
[๑๑๒] ๏ แสนโศกรุมรึงหน้าหลัง โอ้เอ็นดูวัง
  นิราศร้างแรมโรย
[๑๑๓] ๏ ที่สุขจะกลับทุกข์ร่ำโหย รี้พลจะร่วงโรย
  บ่มีพฤนทโยธา
[๑๑๔] ๏ เสียดายปรางค์มาศรจนา สัตตรัตน์รมยา
  มณีวิจิตรดำเกิง
[๑๑๕] ๏ ที่นั่งร้อนที่นั่งเย็นสำเริง สำราญบันเทิง [๒]
  บรรเทาภิรมย์เปรมปรีดิ์
[๑๑๖] ๏ เปรมปราสองสุขเกษมศรี ศรีสวัสดิควรนี
  นีราศร้างแรมไกล
[๑๑๗] ๏ ไกลทั้งสระแก้วน้ำใส ใสสุทธิอำไพ
  ไพบูลย์ดั่งแก้วแพรวพราย
[๑๑๘] ๏ พรายเพริศสัตตบงกชหลาย หลายเล่ห์กำจาย
  กำจรตรลบเสาวคนธ์
[๑๑๙] ๏  เสาวภาคย์เคยสรงสนานชล ชลเอ๋ยจะร้างหน
  หนใดจะกลับคืนสถาน
[๑๒๐] ๏ สถานที่พิจิตรหน้าพระลาน ลานเลี่ยนสุริย์กานต์
  สุริยาจำรัสรังสรรค์
[๑๒๑] ๏ สรรค์แสร้งแกล้งไว้เฉลิมขวัญ ขวัญเมืองจรัล
  จะรานิราศร้างศรี
[๑๒๒] ๏ สีทองก็หมองเป็นราคี ราคินเศร้าศรี
  สีแก้วบแววเห็นโฉม
[๑๒๓] ๏  โฉมเฉลิมบพิตรอยู่โลม โลมแล้วจะร้างโฉม
  โฉมสวัสดิไว้อยู่แห่งใด
[๑๒๔] ๏ ใดเอ๋ยแม้นรู้จักไป ไปแล้วมิได้
  มิได้ไม่กลับคืนวัง
[๑๒๕] ๏ วังเวงวิเวกสงัดเสียงสั่ง ดั่งหมู่ชนัง
  ชนานิกรนรชน
[๑๒๖] ๏ ชนจงอยู่สุขสถาผล สถาพรอำพน
  ผ่องแผ้วดังแก้วแกมกาญจน์
[๑๒๗] ๏ เราไซร้บมิได้คืนสถาน โอ้แสนศฤงคาร
  แต่นี้จะเปล่าเปลี่ยวใจ
[๑๒๘] ๏ สาวสนมกรมนางนอกใน ฟังสารลานใจ
  ระทดระทวยโศกา
[๑๒๙] ๏ กรฟายอัสสุชลธารา เอ็นดูชายา
  ชาเยนทร์มาเศร้าโศกศรี
[๑๓๐] ๏ ครวญพลางนางเร่งจรลี ถึงสร้อยสระศรี
  สโรชพิศาลโสภณ
[๑๓๑] ๏  โกมุทบุษบันอุบล เบิกสร้อยเสาวคนธ์
  ขจรเลวงเวหา
[๑๓๒] ๏ ภาคพื้นรื่นราบรจนา เรี่ยรายพาลุกา
  คือแก้ววิเชียรโรยรอง
[๑๓๓] ๏ พราวพราวพรายพรายใสส่อง จับพักตร์ละออง
  ลออจำรัสรัศมี
[๑๓๔] ๏ ภุมราภุมรีหวี่หวี่ เอารสเกสรี
  เข้าเฟ้นเข้าฟั้นฟานฟอน
[๑๓๕] ๏ เกสินสิ้นซาบเกสร ภุมรินบินจร
  ไปจากบุปผาราโรย
[๑๓๖] ๏ เหมือนอกเมรีนี้โดย กินทุกข์กอบโกย
  ระกำด้วยท้าวเธอจรหาย
[๑๓๗] ๏ เหลือบแลแปรพักตร์ผันผาย เล็งยลชลสาย
  บริสุทธิคือแก้วแพรวพรรณ
[๑๓๘] ๏ นานามัจฉคณะต่างพันธุ์ เคล้าคู่เคลียกัน
  บ้างแอบใบบัวบังบัว
[๑๓๙] ๏ ตะเพียนทองท่องท้องแปลนตัว เป็นคู่เมียผัว
  แลว่ายคคลายฝั่งแฝง
[๑๔๐] ๏ ปลากระโห้กระแหหางแดง ปลากระดี่หนีแหนง
  เข้าแฝงริมฝั่งเล็มไคล
[๑๔๑] ๏ ปลาหลดหลิดหลา สลุมพรเวียรไว
  ดสลามไหล
[๑๔๒] ๏ ทุกังตะโกกกดอินทรี แปลงปลักหมอมี
  เขมาขมองโกรยกราย
[๑๔๓] ๏ ยี่สนสร้อยซ่าซิวสวาย ตระลุมพุกแล่นผาย
  เทโพเทพาหางแพน
[๑๔๔] ๏ คางเบือนหาเพื่อนแล่น แก้มชํ้าคล้ำแคลนแปลน
  ไปหาปลาหมอหมอดู
[๑๔๕] ๏ปลาแมวปลาม้าปลา ปลาเสือสู่รูหมู
  เข้าแฝงริมฝั่งพ่นฟอง
[๑๔๖] ๏ โลมาราหูผันผยอง โลดแล่นลำพอง
  ตระผากประพากไยไพ
[๑๔๗] ๏ปลาเล็กแล่นแปลนปลา หลดขุดโคลนไคลใหญ่
  ตระบัดปลาอื่นตื่นตอม
[๑๔๘] ๏ ปลาพรมปลาพรามตาม ปลาเป้าแป้นปลอม
  เข้าปนระคนผายผัน
[๑๔๙] ๏ นานาวิหคาหลากพันธุ์ สุรเสียงจำนรรจ์
  จะแจ้วจ้อจับสลับสรลอน
[๑๕๐] ๏ คู่เคียงเมียงม่ายเมียจร ฉวยฉาบคาบเกสร
  ละอบละเอิบอาบชล
[๑๕๑] ๏ ลอยกลาดเกลื่อนกลีบโกมล เลวงรสเสาวคนธ์
  เสาวคันธหอมโหยหวน
[๑๕๒] ๏ ฉุนชื่นฤทัยอนงค์นวล ประหวัดคิดจิตหวน
  ถึงองค์พระยอดสวามี
[๑๕๓] ๏ น้องเคยพาท้าวจรลี โอ้พระนฤบดี
  มาหนีนุชน้องเร่งจร
[๑๕๔] ๏ กลิ่นพระแก้วคล้ายกลิ่นเกสร เคยแนบนุชนอน
  ยังติดอุระเมียมา
[๑๕๕] ๏ นางเร่งทรงโทมนัสา พลางทอดทัศนา
  พระเนตรเหลือบเล็งยล
[๑๕๖] ๏ เห็นโศกริมสระสาชล สาขากิ่งกล
  ร่มรกประปรกครึมคลุม
[๑๕๗] ๏ ชื้อชิดใบชัฏชรอุ่ม ก้านกิ่งเข้าประชุม
  เป็นฉัตรระบายเบญจรงค์
[๑๕๘] ๏ ภูมิภาคผ่องแผ้วบมีผง คลีที่จะลอยลง
  จังหวัดนั้นร่มรื่นสบาย
[๑๕๙] ๏ วายุพัดโบกโบยใบระบาย เหมือนจะกวักกรกราย
  ให้นั่งสำราญชวนเชิญ
[๑๖๐] ๏ นางหงส์ส่งเสียงหวนเหิร เสนาะฟังพลางเพลิน
  บรรเลงดังเพลงขับสวรรค์
[๑๖๑] ๏ นกหกร่อนร้องเรียงรัน เคล้าคู่เคลียกัน
  จะจ้อจะแจ้วเจรจา
[๑๖๒] ๏ นกแก้วจับกิ่งกรรณิการ์ เปล้าจับเปล้าหา
  สามีบเห็นก็โหยหวน
[๑๖๓] ๏ รังนานจับไม้นางนวล เขาจับข่อยครวญ
  แล้วส่งสำเนียงขันคู
[๑๖๔] ๏ จากพรากพรากคู่เหมือนตู เอองค์เดียวดู
  บมีเพื่อนพร้องสองสม
[๑๖๕] ๏ มีแต่หมู่นางนักสนม ไป่ชื่นชูชม
  เหมือนโฉมพระยอดยาใจ
[๑๖๖] ๏ หอมกลิ่นภูษาผ้าสไบ ฉุนชื่นหฤทัย
  ประทับประแทบกับถัน
[๑๖๗] ๏ แว่วเสียงสาลิกาจำนรรจ์ พระทัยสำคัญ
  ว่าเสียงภูมินทร์เสด็จมา
[๑๖๘] ๏ เหลือบแลแปรพระพักตรา บ่ประสบราชา
  ชายายิ่งโศกแสนทวี
[๑๖๙] ๏ รีบเดินเมิลมุขรุกขี จำปาจำปี
  ประยงค์ประยอมแย้มยวน
[๑๗๐] ๏ สายหยุดพุทธชาติโชยชวน ดูกกล่ำลำดวน
  ฤดูระดะดอกดวง

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2564 14:51:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 91.0.4472.124 Chrome 91.0.4472.124


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2564 14:52:42 »



[๑๗๑] ๏ อินจันผลพลับพลองพลวง อัมพาพัวพวง
  จะย้อยจะยานโยนเยน
[๑๗๒] ๏ หว้าหวายสวาดก้านพุมเสน ต้องลมเอนระเนน
  ระโน้มก็น้อมไปมา
[๑๗๓] ๏ รุกขชาติดุจมีวิญญาณ์ เหมือนจะถามพระยุพา
  ยุพินนี้ตรอมเพื่อใด
[๑๗๔] ๏ สงสารวรนุชสุดสมัย เทพยสิงไม้ไทร
  ก็พลอยการุญเทพินทร์
[๑๗๕] ๏ คิดคิดจะใคร่อุ้มเมริน ไปสมภูมินทร์
  พระรถอันเรืองภุชพล
[๑๗๖] ๏ เทพยไทรใคร่ดูโดยกล แจ้งในญาณยล
  ว่านางจะถึงกาลกรรม
[๑๗๗] ๏ กูไซร้ไม่ควรจะนำ เทพยเจ้าแต่รำ
  พึงแล้วก็เสด็จสิงไทร
[๑๗๘] ๏ ฝ่ายองค์อัคเรศวิไล เสด็จจรคลาไคล
  ประทับที่สระขวาพลัน
[๑๗๙] ๏ นางมีเสาวนีย์รำพัน โอ้แต่นี้นับวัน
  สวนขวัญจะรกแรมรา
[๑๘๐] ๏เสียดายผลไม้นานา มังคุดมุดสีดา
  ตระขบตระเคียนแคคาง
[๑๘๑] ๏ ปริกปรงเปรียงปริงปรูปราง กรูดกรดไกรกร่าง
  สล้างเสลาหลากหลาย
[๑๘๒] ๏ อัมพาผลพะวาหว้าหวาย ขานางย่างทราย
  สะเดากระโดนโคนเคียง
[๑๘๓] ๏ ดูกดันกระทังหันหาดเหียง ร่มรักรังเรียง
  เหมีอนรักมาร้างแรมรา
[๑๘๔] ๏ ชมชวนรสเร้ามาลา มาลัยจำปา
  จำปีประยงค์หอมขจร
[๑๘๕] ๏ รวยรื่นรสเร้าเกสร ภุมราเวียนจร
  เอารสตรลบอบอาย
[๑๘๖] ๏ บุนนากรสเร้าโชยชาย วายุพัดพาย
  รำเพยซึ่งกลิ่นรวยริน
[๑๘๗] ๏ นางเร่งรันทดมโนถวิล คิดถึงภูมินทร์
  ครั้นแล้วก็เคลื่อนพลจร
[๑๘๘] ๏ หัวหน้าเคลื่อนคลาพลสลอน เรืองฤทธิราญรอน
  สำแดงนุภาพเดชา
[๑๘๙] ๏ โลดโผนโจนถีบภูผา รุกโรมโถมถา
  ครครึกครเครงครางเสียง
[๑๙๐] ๏ ไม้ไหล้ลู่ล้มเอนเอียง อึงอื้อสำเนียง
  สนั่นดังฟ้าฟาดสาย
[๑๙๑] ๏ สิงสัตว์จัตุบาทหลากหลาย แรดช้างกวางทราย
  ระเนนพินาศดาษดิน
[๑๙๒] ๏ ผงคลีกลบกลุ้มปัฐพิน ชรอุ่มแสงทิน
  กรจรดบดบัง
[๑๙๓] ๏ ลั่นฆ้องหึ่งหึ่งโห่ประนัง เพียงจักรพาฬพัง
  พิภพทำลายแหลกลง
[๑๙๔] ๏ ตั้งริ้วเรียงรายไสวธง โบกสะบัดถวัดวง
  ไสวสว่างคัคนานต์
[๑๙๕] ๏ พื้นทหารฮักเหี้ยมห้าวหาญ โยนตาวเต้นทะยาน
  ไม่ท้อขยาดศัตรู
[๑๙๖] ๏ พลมารเพรียกพร้อมพรั่งพรู ติดตามพระภู
  ธรไกรสมเด็จภูมินทร์
[๑๙๗] ๏ คล้ายคล้ายเคลื่อนพหลพลพฤนท์ ลัดลอดเมฆิน
  ละลับละลิ่วแลลาน
[๑๙๘] ๏ สิทธิกรรม์รีบรันพลมาร โผโผนโจนทะยาน
  เช้ากลุ้มรุมรบราชา ๚ะ
อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
[๑๙๙] ๏ ป่างนั้นบรมนเรศ บรเมศอิศรา
  อิศรภาพมหา เธอบ่หลบบ่หลีกภัย
[๒๐๐] ๏ ทรงทอดซึ่งโอสถ อดิเรกเกรียงไกร
  ตระบัดเป็นเปลวไฟ ลุกลามไหม้ทั่วหาวหน
[๒๐๑] ๏ สิทธิกรรม์เพื่อนทรงเวท อันเรืองเดชด้วยทิพมนตร์
  แก้ได้บัดเดี๋ยวดล แลเพลิงนั้นก็หายแสง
[๒๐๒] ๏ ตระบัดเป็นลมฝน พยุพัดจรัดแรง
  เมฆหมอกออกกลุ้มแสง ชรอุ่มชรอ่ำเย็น
[๒๐๓] ๏ หนาวเหน็บสะท้านทั่ว แลมืดมัวมิแลเห็น
  ขนสยองแสยงเย็น อรุ่มรอบทั้งคัคนานต์
[๒๐๔] ๏ ขุนยักษ์ก็ผันผาย ด้วยกลแก้ชำนาญชาญ
  ลมฝนบทนทาน ทั้งเมฆมืดก็เหือดหาย
[๒๐๕] ๏ เร่งรีบติดตามไป บ่มิได้จะคลาดคลาย
  พระองค์จึ่งโปรยปราย ซึ่งห่อยาอันสำคัญ
[๒๐๖] ๏ ผุดเป็นคิรีเรียง สัตตรัตนานันต์
  อเนกอนันต์ครัน ทั้งเจ็ดชั้นคิรีศรี
[๒๐๗] ๏ เป็นฝั่งฟากทั้งสองข้าง ระยะทางนัทีมี
  เต่าปลาย่อมราวี อเนกพ้นจะสังขยา
[๒๐๘] ๏ แม้ว่าใครจะทรงเวท อันเรืองเดชมหิมา
  บ่มิอาจจะข้ามสา คเรศนั้นก็ป่วยปอง
[๒๐๙] ๏ อสุราทั้งหลายเห็น ดูพิฦกสยดสยอง
  แสยงเกล้าโลมังพอง ระทวยระทดสลดใจ
[๒๑๐] ๏ สุดรู้ก็สุดฤทธิ์ สุดที่คิดจะแก้ไข
  สุดที่จะข้ามไป ก็สุดสิ้นกำลังโดย
[๒๑๑] ๏ บ้างก็ล้มกับฝั่งแฝง สุดสิ้นแรงก็ราโรย
  บ้างก็ไห้ละห้อยโหย อาหารทอนกำลังลง
[๒๑๒] ๏ นางสนมบ่เคยยาก มาลำบากด้วยเดินดง
  บุกป่าพนาระหง ทุเรศกว้างหนทางไกล
[๒๑๓] ๏ บาทาก็พุพอง ระบุหนองโลหิตไหล
  หนามเหนี่ยวเกี่ยวสไบ สะบัดพลัดจากกายพลัน
[๒๑๔] ๏ บ้างก็เหนี่ยวเกี่ยวเผ้าผม เปิดผ้าห่มจนเห็นถัน
  พักตร์ผ่องดังผลจัน บ่รู้สึกว่าความอาย
[๒๑๕] ๏ ฝ่ายนาฏพระเทพี ต้องแสงศรีพระสุริย์ฉาย
  พักตร์เฉกศศิหมาย มาเศร้าสร้อยสลดลง
[๒๑๖] ๏  อาหารบ่พานพบ แต่ปรารภกันแสงทรง
  โศกไห้ระทวยองค์ ประทับแทบชลาลัย
[๒๑๗] ๏ เห็นองค์พระทรงภุช เธอยืนหยุดมโนมัย
  เหนือเงื้อมชะง่อนไศล สละแล้วบ่เป็นการ
[๒๑๘] ๏ จึ่งกล่าวมธุรส พจนารถสำเนียงหวาน
  เชิญเสด็จพระภูบาล มาปกเกล้าบำรุงครอง
[๒๑๙] ๏ โทษน้องบ่มีผิด ฤๅบพิตรมาควรปอง
  หนีหน้านิราศน้อง นุชนี้ก็ดูดาย
[๒๒๐] ๏ เชิญพระมาดับโศก วิโยคให้วายคลาย
  เคลื่อนแล้วจงผันผาย กิจนั้นไป่เคืองควร ๚ะ
วสันตดิลก ฉันท์ ๑๔
[๒๒๑] ๏ พระได้เสาวนาวรสดับ สุรศัพท์สำเนียงนวล
  โหยไห้รันทดจิตรัญจวน อุระร้อนดังเพลิงผลาญ
[๒๒๒] ๏ โอ้โอ้เอ็นดูวรวิไล ประไพภาคยเพ็ญพาล
  ผ่องพักตรเพียงศศินวาร บูรณ์แจ่มในเมฆัง
[๒๒๓] ๏ หาไหนจะได้เหมือนเยาวรูป พระวิลาสเลขัง
  เลขาพระนุชรจนัง รจนาไม่ปานปูน
[๒๒๔] ๏ แม้กูมิตอบวัจนถ้อย พระน้องน้อยจะเศร้าสูญ
  เสียดายสวัสดิ์วรวิบูลย์ วิมานฟ้าไม่เทียมสอง
คิดแล้ว ธ จึ่งกล่าวมธุเรศ [๒๒๕] ๏ แก่ชาเยศประโลมลอง
  อ้าแม่อย่าโศกสุชลนอง ณ ท่าน้ำลำเนาเขา
[๒๒๖] ๏ อ้าแม่อย่าศัลย์จิตวิโยค ระงับโศกแต่บางเบา
  เรียมฤๅจะร้างให้นุชเนา อรัญเวศแต่เดียวขนาง
[๒๒๗] ๏ อ้าพระมิร้างกลใดพ่อ จึ่งมาล่อมาลวงนาง
  ได้แจ้งอรรถารหัสทาง สุขุมนั้นก็หันหวน
[๒๒๘] ๏ น้องชื่อมาเสียด้วยความเสน่ห์ พระแต่งเล่ห์มาโลมชวน
  เชิญให้เสวยไชยบานหวน ครั้นเมาแล้วก็ได้ที
[๒๒๙] ๏ ลวงถามยุบลกลประเภท อันวิเศษเสมอชี
  วิตแจ้งแถลงนฤบดี บดินทร์ได้ไม่หลอหลง
[๒๓๐] ๏ ทั้งนี้เป็นต้นเพราะกลรัก จึ่งทุกข์หนักมาถึงองค์
  แม้ท้าวมิโปรดดรุณทรง ชีวาตม์น้องบ่กลับคืน
[๒๓๑] ๏ อ้าแม่อย่ากล่าวกลแสดง สดับถ้อยดูโหดหืน
  เรียมไปมิช้าจรจักคืน มากล่อมแก้วอย่าโศกศัลย์
เป็นสัจจะพี่กระนี้นะแท้ [๒๓๒] สมรแม่อย่าเดียดฉันท์
  จงคืนยังปรางค์ปราสาทจันทน์ ตำหนักรัตน์บุรีเรือง
[๒๓๓] ๏ ครอบครองประชานิกรราษฎร์ พฤฒามาตย์อีกพลเมือง
  อย่าขุ่นรำคาญกมลเคือง จงเปลื้องโศกให้สร่างเบา
[๒๓๔] ๏ อันเรียมนี้เล่าเนาบมิช้า จะกลับมาบุราเรา
  โฉมเฉกอัปสรบวรเยาว์ ยุพยอดอย่าทุกข์ทน
[๒๓๕] ๏ สงวนองค์อนุชอย่าราคี เป็นจามรีเสน่ห์ขน
  เจ้ายอดสมรวรวิมล สดับเรียมที่รำพัน
[๒๓๖] ๏ ใช่เชิงจะกลอกกลกลั่นแกล้ง มาแต่งรักประโลมขวัญ
  มิ่งเมืองประเทืองสมรสวรรค์ จงเห็นรักที่โซมทรวง
[๒๓๗] ๏ ที่แท้เป็นต้นด้วยอัศวเรศ ทำก่อเหตุจึ่งใหญ่หลวง
  มันพาพี่จากนุชคือดวง หทัยเรียมจงเห็นใจ ๚ะ
อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
[๒๓๘] ๏ นางสดับวัจนแสดง แถลงถ้อยคดีไข
  ควรฤๅพระภูวไนย มาแต่งลิ้นคารมคม
[๒๓๙] ๏ เสสรวลเอาพาชี มิพินิจก็เห็นสม
  ชั้นเชิงชะลอลม ผู้ใดใครจะเท่าเทียม
[๒๔๐] ๏ วาจาช่างหวานฉ่ำ ทุกคำเพราะแต่ล้วนเรียม
  เสนาะคมในลมเลียม แต่พื้นรักคุ้มสิ้นชนม์
[๒๔๑] ๏ สมดังพระวาจา ที่ว่าไว้ก็เป็นผล   
  จริงแจ้งประจักษ์จน อุระน้องเพียงโทรมพัง
[๒๔๒] ๏ โอ้โอ้เจ้าแนบเนื้อ ไม่ควรเชื่อในสัจจัง
  ความรักประจักษ์หวัง นุชพี่มิเห็นจริง
[๒๔๓] ๏ แสนรักพี่สุดเสน่ห์ พี่ไม่ประเวประวิงหญิง
  ถึงพาราสัจจาจริง จะคืนกลับมาสมศรี
[๒๔๔] ๏ เสาวภาคย์อย่าไห้โหย จงโดยกลับบุรีลี
  ลาเล่นเกษมศรี จะทุกข์ไยให้เสียนวล
[๒๔๕] ๏ ช่างกล่าวพระวาจา เมื่อคิดมาก็น่าสรวล
  พระมิไปจะให้นวล ไปครองกรุงแต่ผู้เดียว
[๒๔๖] ๏ วิธวาอยู่เอโก ผู้ใดใครจะแลเหลียว
  สตรีเป็นหม้ายเดียว ผู้ใดใครจะควรยำ
[๒๔๗] ๏  เหมือนแหวนไม่มีหัว แลช่างผูกเป็นเรือนทำ
  แล้วด้วยสุวรรณัม บ่ห่อนงามจำเริญตา
[๒๔๘] ๏ เหมือนบุษราชรถ อันปรากฏเห็นรจนา
  งอนงามแก่โลกา ระเหิดระหงเพราะธงไชย
[๒๔๙] ๏ หนึ่งราชพารา หาราชาจะราชัย
  จะรุ่งเรืองมาแต่ไหน สำหรับยับเป็นสาธารณ์
[๒๕๐] ๏ หญิงชั่วแลผัวร้าง ให้อางขนางอยู่แดดาล
  ทนทุกขทรมาน อุระชํ้าระกำครวญ
[๒๕๑] ๏ เสนาพฤฒามาตย์ จะประมาทสำรวลสรวล
  ว่าข้าพิรากวน จึ่งไทท้าวเอาตัวหนี
[๒๕๒] ๏ เป็นหม้ายนี้ลำบาก ก็สุดยากนิแสนทวี
  กรมใจใช่พอดี ดังกองเพลิงเข้าสุมทรวง
[๒๕๓] ๏  กฤติศัพท์จะเลื่องฦๅ ระบือทั่วทุกเมืองหลวง
  ไทท้าวทั้งปักษ์ปวง จะเย้ยเยาะทำหยาบหยัน
ว่าข้าอยู่เอกี [๒๕๔] ๏ สวามีเธอเหินหัน
  หญิงนี้กระลีครัน จึ่งชายหน่ายไม่นำพา
[๒๕๕] ๏ โอ้อกของเมรี ก็จะมีแต่โศกา
  กินเทวษทุกเวลา ฤๅไป่ชื่นสักวันวาร
[๒๕๖] ๏ น้องไซร้ใช่หญิงชั่ว ไม่เกลือกกลั้วเหมือนหญิงพาล
  ผัวร้างอยู่รำคาญ ช่างชะเล้นยังเล่นตัว
[๒๕๗] ๏ หน้าสดไม่มีหมอง กระจกส่องแล้วหวีหัว
  ตั้งใจจะแต่งตัว แสวงผัวไม่เว้นวัน
[๒๕๘] ๏ หนุ่มหนุ่มประชุมชวน ทำลามลวนเกษมสันต์
  ยักคิ้วหลิ่วตากัน บ้างเข้าหยอกเข้าหยิกกร
[๒๕๙] ๏  อุปรมาเสมือนรุ้ง คณะกาตะลอนซอน
  ตามเต็มวะว้าว่อน เป็นกลุ่มกลุ้มไม่เกรงใจ
[๒๖๐] ๏ น้องนี้ไม่ขอคืน ยังนิเวศพระเวียงไชย
  ขอตามเสด็จไป บำเรอบาทพระภัสดา
[๒๖๑] ๏ เป็นตายจะสู้ม้วย ชีพด้วยพระราชา
  คำคนจะนินทา ชนแซ่จะติฉิน
ค่อนขิ่งว่าหญิงโหด [๒๖๒] ๏ ยกเอาโทษประมาทหมิ่น
  ขึ้นชื่อพลูเดนกิน ผู้ใดชายจะดูดี
[๒๖๓] ๏ โปรดเถิดพระเลิศฟ้า เมตตาข้าผู้เมรี
  สู้ม้วยด้วยพันปี นุชไม่มีผัวสอง
[๒๖๔] ๏ เชิญชักพาชีกลับ มารับข้าอันหม่นหมอง
  น้องขอเป็นบัวทอง ฉลองบาทพระจักรี
[๒๖๕] ๏ แม้นพระมิโปรดเล่า มาตัดเกล้าเอาเกศี
  ไปด้วยกับพาชี จะฝากผีพระภูวไนย
[๒๖๖] ๏ โอ้เจ้าลำเพาพักตร์ ไม่เห็นรักมาตัดใย
  เรียมฤๅจะร้างไกล ให้นุชเดียวอยู่เปลี่ยวปอง
[๒๖๗] ๏ ม้วยดินแลสิ้นฟ้า สมุทรสาชลานอง
  แสนเสนหเราสอง ปห่อนพรากไปจากกัน
[๒๖๘] ๏ ตราบเทาบุรีรัตน์                อมัตโมกขไกวัล
  นั้นแลจะหักหัน เห็นว่ารักพี่แรมรา
[๒๖๙] ๏ นางฟังพระภูเบนทร์ บริรักษนาถา
  กล่าวแกล้งแสดงมา ก็ตอบถ้อยคดีกล
[๒๗๐] ๏ เห็นแล้วว่าพระรัก ประจักษ์ทั่วธราดล
  เกลื่อนกลุ้มประชุมพล มาตามรักพระภูธร
[๒๗๑] ๏ กฤติศัพท์ก็ฦๅทั่ว ตรลอดโลกขจายจร
  ว่าปิ่นนรินทร พระจอมจักรเธอรักนาง
[๒๗๒] ๏ พระรักประจักษ์จริง จึ่งทิ้งไว้ให้อางขนาง
  มิเสียที่ว่ารักนาง พอได้แล้วก็เหิรหงส์
[๒๗๓] ๏ ม้วยดินแลสิ้นฟ้า พระว่าไยให้เมียหลง
  รักแล้วไม่เหมือนจง ฤๅมากลับมากลอกกลาย
[๒๗๔] ๏ เป็นหญิงนี้ใจด่วน มาลวนลิ้นด้วยลมชาย
  เมื่อคิดมาก็น่าอาย ช่างร้างไว้เป็นสาธารณ์
[๒๗๕] ๏ สาสมสิน้ำใจ ไม่วินิจพิจารณ์การ
  หลงเล่ห์ด้วยลมหวาน แลหวานนักก็พลันรา
[๒๗๖] ๏ อกเอยมาได้ทุกข์ เทวษไห้นิราศา
  เพราะผัวไม่นำพา การุญน้องก็ถ้าจน
[๒๗๗] ๏ พระไม่เอ็นดูเมีย มาซัดเสียที่กลางหน
  ตกหล่มอยู่กลางชล ผู้ใดใครจะอินัง
[๒๗๘] ๏ เห็นแต่จอมกระหม่อมเมีย ช่างละเสียไม่เหลียวหลัง
  อกข้าเพียงผ่าพัง พินาศแน่ไม่เห็นใจ
[๒๗๙] ๏ ดวงสมรเจ้าแนบเนื้อ เมื่อไม่เชื่อจะทำไฉน
  ใครเลยจะเห็นใจ ประจักษ์แจ้งในเชิงความ
[๒๘๐] ๏ ว่าสวาดิพี่มาดมิ่ง ไม่ทอดทิ้งพะงางาม
  จากเจ้าคือเพลิงลาม อุระร้อนหทัยเทียม
[๒๘๑] ๏ ถึงกระนี้เจ้าเพื่อนเข็ญ ยังไม่เห็นอุระเรียม
  เพลิงไหม้ระกำเกรียม ผู้ใดเลยจะเห็นรัก
[๒๘๒] ๏  ถ้าแตระแหวะอุระได้ จะผ่าให้เห็นประจักษ์
  ว่านี่แนะความรัก ประจักษ์แจ้งแก่ใจนวล
[๒๘๓] ๏ พี่รำพันสักเท่าใด พระนุชไม่มายินยวล
  โหยไห้พิไรครวญ ว่าเรียมไซร้ไม่ดูดาย
[๒๘๔] ๏ โลมเจ้าพี่เฝ้าปลอบ ก็มิชอบอารมณ์สาย
  สมรพี่มิหนีหน่าย ชะรอยว่าเวรแต่ปางหลัง
[๒๘๕] ๏ ฤๅเราได้พรากพลัด สัตวให้ไปจากรัง
  เวรานุเวรหลัง นั้นตามทันมาถึงเรา
[๒๘๖] ๏  มาเจาะจงจำนงผลาญ ประหารรักให้โศกเศร้า
  เสาวภาคย์ลำเพาเยาว์ พธูแม่อย่าไห้โหย
[๒๘๗] ๏ พี่คิดคำนึงหนัก ไม่ทิ้งรักให้แรมโรย
  อ้าแม้อย่าดิ้นโดย อุระร้อนกันแสงทรง
[๒๘๘] ๏ เรียมร้างนิราศสวาดิ เพียงชีวาตย์จะปลดปลง
  เรียมฤๅจะร้างอนงค์ นุชพี่อย่าเดียดฉันท์
[๒๘๙] ๏ วรลักษณพึงคิด วิจิตรจรัสดั่งดวงจันทร์
  เยาวรูปผู้ใดทัน ฤๅจะทัดจะเทียมสม
[๒๙๐] ๏ เวรใดให้จากนุช วรลักษณ์พนมชม
  ทรวงพี่ระบมกรม ระบุชํ้าระกำหนอง
[๒๙๑] ๏ แม้เรียมนี้เรืองเวท จะเพี้ยนเภทแปรเป็นสอง
  ภาคหนึ่งจะไปปอง ด้วยมิ่งม้าอาชาชาญ
[๒๙๒] ๏ ภาคหนึ่งจะสู่สม ภิรมย์ร่วมสุดามาลย์
  รตินทิวาวาร บ่ห่อนรู้จะหน่ายหนำ
[๒๙๓] ๏ นี่สุดรู้ที่สังเกต ไป่เรืองเวทนิรันทำ
  จิตเรียมระกำจำ จะจากนุชพี่ขอลา ๚ะ

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 91.0.4472.124 Chrome 91.0.4472.124


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 19 กรกฎาคม 2564 16:17:53 »



สุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘
[๒๙๔] ๏ ป่างนั้นชาเยนทร์ 
  สดับสารภูเบนทร์            บพิตรภัสดา
  ว่าจักจรไกล            นางไห้โหยหา
  โอ้พระผ่านฟ้า            จะราแรมนวล
[๒๙๕] ๏ แรกรักร่วมรส
  เมียเล่าบอกหมด            กลเล่ห์แยบยวล
  ถี่ถ้วนแถลงถวาย            บรรยายตามควร
  เสร็จสิ้นทุกกระบวน            แจ้งแจงให้เห็น
[๒๙๖] ๏ คิดว่าพระรัก
  มาเป็นปิ่นปัก            กรุงมารรานเข็ญ
  ปักผมร่มเกล้า            น้องเล่าอยู่เย็น
  เมียคิดไม่เห็น            จักเป็นอุบาย
[๒๙๗] ๏ วันเมื่อชมสวน
  ผลไม้ย่อมสงวน            หักยับลุยลาย
  คำหนึ่งน้องรัก            ห่อนจักให้สลาย
  พระทัยเมียหมาย            จะฝากชีวัน
[๒๙๘] ๏ ชีวาตม์ไม่คิด
  จะฝากชีวิต            ไว้แก่ทรงธรรม์
  ควรฤๅพระแก้ว            หน่ายแล้วเหินหัน
  หนีน้องจรัล            จะราแรมไกล
[๒๙๙] ๏ ไม่เอ็นดูน้อง
  เสียแรงพระทอง            ครอบครองพิสมัย
  น้องรักสมัครมั่น            ผูกพันภูวไนย
  ควรฤๅหาไม่            เอื้อเฟื้ออินัง
[๓๐๐] ๏ นุชอยู่เอองค์
  ผู้เดียวโดยจง            ใครจักเหลียวหลัง
  เห็นแต่พักตร์บพิตร            ไม่คิดอนิจจัง
  พระมาเชื่อฟัง            คำม้าเดียรถีย์
[๓๐๑] ๏ พระตอบคำน้อง
  เจ้าอย่าพร่ำพร้อง            เรียมไม่หน่ายหนี
  สู้ม้วยด้วยนุช            สุดสิ้นชีวี
  ม้าร้ายตัวนี้            มันทำจังฑาล
[๓๐๒] ๏ พี่จักชักคืน
  มันทำขัดขืน            เคืองแค้นรำคาญ
  มิให้พี่มา            หานุชเยาวมาลย์
  อกเรียมเปรียบปาน            เพลิงไหม้ดวงแด
[๓๐๓] ๏ จำพี่จะวิโยค
  สมรแม่อย่าโศก            เรียมฤๅจะแห
  ควรฤๅพระแก้ว            หน่ายแล้วเหินหัน
  หันห่างร้างรัก            วรพักตร์คือแข
  สัจจังจริงแม่            นุชอย่าขุ่นเคือง
[๓๐๔] ๏ ฝ่ายนางขุชชา
  ผู้เป็นบริจา            วัลภานางเมือง
  เจ็บร้อนด้วยเจ้า            กล่าวถ้อยคำเคือง
  อ้ายม้าซองเมือง            มาทำเคืองเข็ญ
[๓๐๕] ๏ ทำให้ระสาย
  ระส่ำทุกภาย            มิพอที่จะเป็น
  ไพร่พลได้ยาก            ลำบากยากเย็น
  อ้ายม้าเสียเช่น            ชาติเชื้อเดียรฉาน
[๓๐๖] ๏ เนื้อมึงเท่านั้น
  ไม่พอปากมัน            คือเขี้ยวขุนมาร
  จะขบเคี้ยวเล่น            กินเป็นอาหาร
  อ้ายม้าสาธารณ์            พาท้าวเหาะพวย
[๓๐๗] ๏ พาชีตอบสาร
  ดูดู๋อีมาร            เล่ห์ลิ้นลมชวย
  ทั้งเจ้าทั้งข้า            ไม่มาเข็ดขวย
  แร่ตามชายรวย            ไม่มาอายเหนียม
[๓๐๗] ๏ พาชีตอบสาร
  ดูดู๋อีมาร            เล่ห์ลิ้นลมชวย
  ทั้งเจ้าทั้งข้า            ไม่มาเข็ดขวย
  แร่ตามชายรวย            ไม่มาอายเหนียม
[๓๐๘] ๏ พระไม่เอื้อเฟื้อ
  มึงคือหยากเยื่อ            ติดเท้าท่านเทียม
  หน้าด้านร้องด่า            ไม่มาอายเหนียม
  พูดกระแซะและเลียม            จะเล่นพาชี
[๓๐๙] ๏ สัญชาติเช่นเรา
  ไม่ขออยากเอา            อียักษ์กระลี
  อย่าฉินหมิ่นเล่น            ว่ากูพาชี
  ชู้เก่าเรามี            ดีกว่ามึงมาร
[๓๑๐] ๏ กูไม่อยากเล่น
  อีชะล่าหน้าชะเล้น            เล่ห์ลิ้นสาละวาน
  ลอยหน้าลอยตา            คารมลมจ้าน
  กูเป็นขี้คร้าน            จะตอบพาที
[๓๑๑] ๏ กูไม่จงรัก
  เช่นเชื้ออียักษ์            เสียศักดิ์เสื่อมศรี
  แล่นตามผู้ชาย            ความอายไม่มี
  อีค่อมหลังรี            ขุชชาลามปาม
[๓๑๒] ๏ นางท้าวสดับฟัง
  ชลนัยน์ไหลหลั่ง            อกคือเพลิงลาม
  ดูดู๋ขุชชา            เจ้ามาทำความ
  เออสิดีงาม            ปากกล้าด่าเขา
[๓๑๓] ๏ ไม่ถูกแต่ตัว
  พลอยมาเกลือกกลั้ว            ปะปนถึงเรา
  เป็นไรไม่ว่า            ก้มหน้าซบเซา
  พาอีนอกเจ้า            ปากไวใช่เอน
[๓๑๔] ๏ ค่อมจึ่งทูลฉลอง
  พระแม่จงตรึกตรอง            พิจารณ์เล็งเห็น
  คิดว่าอ้ายม้า            เจรจาไม่เป็น
  จะด่ามันเล่น            ช่วยแม่นงเยาว์
[๓๑๕] ๏ มิรู้เป็นโทษ
  กลับทรงพระโกรธ            ด่าเล่นเปล่าเปล่า
  ม้าด่ามิหนำ            แม่ซ้ำอีกเล่า
  ภักดีช่วยเจ้า            กลับเป็นคนอาย
[๓๑๖] ๏ นางสนมกำนัล
  แลดูหน้ากัน            อดสูดูดาย
  กราบทูลโฉมยง            เชิญองค์ผันผาย
  คิดมาน่าอาย            ถ้อยคำอัสดร
[๓๑๗] ๏ เชิญแม่อยู่หัวเจ้า
  กลับเสด็จคืนเข้า            สู่วังยั้งก่อน
  ถึงท้าวมิมา            แม่อย่าอาวรณ์
  ท้าวทุกพระนคร            ไม่ไร้จักมี
[๓๑๘] ๏ จักมาสู่สม
  สมรแม่อย่าโศก            ร่วมรักมารศรี
  แม่อย่าร่ำไร            ทุกข์ไปไยมี
  เชิญเสด็จบุรี            เสวยสุขเปรมปรา
[๓๑๙] ๏ นางสดับมธุรส
  ชลนัยน์ไหลหยด            จึ่งมีบัญชา
  จักกลับคืนไป            เป็นหม้ายเอกา
  สู้ตายไม่มา            ร่วมชายถึงสอง
[๓๒๐] ๏ แม้นยากแม้นง่าย
  แม้นเป็นแม้นตาย            ไม่หน่ายพระทอง
  เกิดเป็นสัตรี           ไม่มีผัวสอง
  ความสัจจะครอง           คุ้มม้วยชีวี
[๓๒๑] ๏ เธอไม่เมตตา
  จะทิ้งไว้ป่า            องค์เดียวเอกี
  สู้ม้วยด้วยรัก           ห่อนจักหน่ายหนี
  ตามกรรมเวรี           สร้างมาแต่หลัง
[๓๒๒] ๏ สาวสนมทั้งปวง
  อย่าได้เป็นห่วง            จงกลับคืนวัง
  อันตัวของข้า           ไม่มากลับหลัง
  สู้ม้วยกับฝั่ง           ฟากน้ำโหยหวน
[๓๒๓] ๏ กำนัลทั้งหลาย
  ได้ฟังอภิปราย            โศกซ้ำรำจวน
  บ้างไห้ลาลด            กำสรดแสนครวญ
  โอ้เอ็นดูนวล            นุชอยู่เดียวดาย
[๓๒๔] ๏ ชวนประโลมปลอบ
  เสาวนีย์มิชอบ            เชิญเร่งผันผาย
  เสด็จสู่บูรี            ดีกว่าอยู่ดาย
  ตูข้าทั้งหลาย            ได้พึ่งบาทา
[๓๒๕] ๏ เป็นจรรโลงรัตน์
  ที่พึ่งแก่สัตว์            ควรฤๅแม่มา
  สุดสิ้นเสียชนม์            กลใดยุพา
  ยุพินทรมา            จักซํ้าอาสัญ
[๓๒๖] ๏ ปลอบเท่าใดใด
  นางไม่หวั่นไหว            ที่จะจรจรัล
  บ้างกลุ้มรุมเข้า            เล้าโลมรับขวัญ
  บ้างร่ำรำพัน            พิไรครวญคราง
[๓๒๗] ๏ สุรเสียงเซ็งแซ่
  ระลวงดวงแด            ละห้อยด้วยนาง
  ระโหยโรยร่ำ            ระกำครวญคราง
  ระหวยด้วยนาง            จะอยู่เอองค์
[๓๒๘] ๏ ประนมประณต
  ประน้อมบัวบท            ประดิษฐ์บรรจง
  จะขอเป็นเพื่อน            กลางเถื่อนแรมดง
  พระบ่ได้ทรง            กรุณาโปรดปราน ๚ะ

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 06 สิงหาคม 2564 19:55:33 »




สัทธรา ฉันท์ ๒๑
[๓๒๙] ๏ อสุราสุรินทรหมู่มาร            ครั้นพจนบรรหาร
ว่านางถึงกาล - คาลัย
[๓๓๐] ๏ ชวนกันกันแสงโทรมนัสใน จิตสุชลนไหล
ลาญหฤทัย - รำพัน
[๓๓๑] ๏ ว่าโอ้แต่นี้จะราสรรพ์ สกลพหลอนันต์
อเนกนับพัน จะอาดูร
[๓๓๒] ๏  โอ้โอ้กรุงมารจะเศร้าสูญ โทรมนัสบัดจักพูน
ทุกขอาดูร นิรันดร
[๓๓๒] ๏ แสนโศกโศกามนัสธร ประณตบทบวร
แล้วก็จากจร คระไลคลา
[๓๓๓] ๏  แสนโศกโศกามนัสธร ประณตบทบวร
แล้วก็จากจร คระไลคลา
[๓๓๔] ๏ ต่างต่างเข้าสู่พนาทวา ไล่หมู่มฤคคณา
ปามเป็นภักษา บทานทน
[๓๓๕] ๏  บ้างเข้าห้วยเขาลำเนาชล จับมัจฉกัจฉปะปน
สัตวธารชล พินาศเนียร
[๓๓๖] ๏ แรดช้างกวางทรายดาษเดียร    ชีพิตจรระเมียร
ยับประดาษเดียร ตรลอดพง
[๓๓๗] ๏ ต่างต่างไปโดยอิจฉาจง จิตพิพิธประสงค์
บ้างอยู่เฝ้าอง คนงนุช ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
[๓๓๘] ๏ ครั้นพระสุริยเทพบุตร รีบรัดรถรุด
จะลับพระเมรุศีขรินทร์
[๓๓๙] ๏ ชรอ่ำชรอุ่มไพรสิณฑ์ รอนรอนแสงทิน
กรเธออ่อนรัศมี
[๓๔๐] ๏ สิงสัตว์ในพนัสพงพี รื่นเริงฤๅดี
ก็แล่นละเลิงลองเชิง
[๓๔๑] ๏ กาสรตัวโตรดก็โดดเถกิง กระทิงถึกเถลิง
กำเหลาะกำลังแรงรณ
[๓๔๒] ๏ แล่นโลดโดดทะยานชาญชน ชะมดฉมันเม่นขน
แหลมคือเสี้ยมเสี้ยมแสนแหลม
[๓๔๓] ๏ พยัคฆาพยัคฆีแล่นแปม สุนัขในไล่แนม
ละมั่งระมาดผาดผยอง
[๓๔๔] ๏  แล่นโลดไล่โดนโจนคะนอง    สัตว์สิงวิ่งลำพอง
ลำพังภาษาสัตว์ไพร โหรา
[๓๔๕] ๏ ปักษาปักษีมีใน ร้องก้องเพรียกไพร
ซระซ้อซระแซ้แซ่เสียง
[๓๔๖] ๏  เรียกคู่สู่รังรังเรียง ผัวเมียม่ายเมียง
เข้าคลอจะจ้อเจรจา จะทัน
[๓๔๗] ๏ ชะนีเหนี่ยวกิ่งไม้โผผวา ห้อยโหนโยนหา
สามีไม่เห็นแล้วโหยหวน อย่าจร
[๓๔๘] ๏  แม่ม่ายลองไนคร่ำครวญ เรไรร้องรวน
ระเรื่อยระรี่ปรีดา กำจาย
[๓๔๙] ๏ ให้สยองพองแสยงเกศา ผีภูตคณา
ก็ผิ่วสำเนียงเสียงสรรพ์ จะลาญ
[๓๕๐] ๏ ฝ่ายนาฏพธูโฉมสวรรค์ โลมสวาดิพรายพรรณ
พรายเพริศเลิศลักษณ์นารี
[๓๕๑] ๏ อนาถองค์เดียวห่อนมี เพื่อนพร้องสองศรี
บมีสุรางค์นางใน
[๓๕๒] ๏ วังเวงวิเวกหวาดหวั่นฤทัย ชลธาราไหล
กันแสงริมฝั่งสาคร
[๓๕๓] ๏ นอบน้อมศิโรเพฐน์ทูลวอน ควรฤๅภูธร
บพิตรบได้ปรานี
[๓๕๔] ๏ โทษน้องผิดไซ้ห่อนมี บพิตรมาควรหนี
นิราศไห้โหยหวน
[๓๕๕] ๏ ยามรักพระย่อมโลมชวน ชื่นชมสมสรวล
แต่ล้วนเรียมไม่ให้อาย
[๓๕๖] ๏ วันนี้เหตุใดพระฦๅสาย สวาดิมาเด็จดาย
บเบือนพระพักตร์มาแลเหลียว
[๓๕๗] ๏  พระไม่การุญเกล้าจริงเจียว สละน้องไว้เปลี่ยว
พระทัยเธอไม่กรุณา
[๓๕๘] ๏ พระสดับพระมธุรศัพทสารา เสาวนีย์สุดา
ฤดีเธอเพียงละลายลาญ
[๓๕๙] ๏ ตระลึงแลลืมสติภูบาล ชักอาชาชาญ
จะกลับยังน้องมารศรี
[๓๖๐] ๏ ม้าก็ทูลสนองนาถบดี บดินทรวาที
ไม่ต้องทำนองแต่หลัง
[๓๖๑] ๏ แม่ป้าทุกข์เพียงมรณัง กตัญญูวรัง
วราประเสริฐเกิดผล
[๓๖๒] ๏ นั้นฤๅเรียกชายชาญชน ชาญสมรมิ่งผจญ
ซึ่งราคร้ายให้เบาบาง
[๓๖๓] ๏ ทุกเทพอ่อนน้อมอุตมางค์ สรรเสริญบาทางค์
ประนมประณตถวายกร
[๓๖๔] ๏ รักเมียจนเสียมารดร ใครเลยจะอวยพร
มีแต่จะเย้ยหยันหยาม
[๓๖๕] ๏ ที่กิจนี้สองสถานโดยความ ตามแต่โฉมงาม
บพิตรชอบหฤทัย
[๓๖๖] ๏ พระฟังคำม้าอุปรไมย อุปรมาเปรียบไป
ก็ได้สติคืนคง
[๓๖๗] ๏ จึ่งตอบวรพากย์อนงค์ นุชอย่าเศร้าทรง
กันแสงไปไยพักตร์จะหมอง
[๓๖๘] ๏ เรียมไปไป่ช้าสักสอง สามราตรีปอง
จะกลับมาชมสมศรี ๚ะ
สุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘
[๓๖๙] ๏ ปางนั้นเทพินทร์
สดับสารภูมินทร์                      แสนโศกยิ่งทวี
เทวษไห้ร่ำ ฝั่งน้ำชลธี
โอ้ว่าพระพี่ มาหนีไกลองค์
[๓๗๐] ๏ พระไม่อาลัย
ทอดทิ้งน้องไว้ ป่าใหญ่กลางดง
วิเวกสงัด สิงสัตว์ยิ่งยง
ควรฤๅภุชพงศ์ ไม่ปรานีเลย
[๓๗๑] ๏ พระมาทำได้
สิ้นสุดเยื่อใย พระทัยทำเฉย
นุชไห้โศกา ไม่ปรานีเลย
พระทัยเพิกเฉย สุดสิ้นกรุณา
[๓๗๒] ๏ ถึงพระไม่เลี้ยง
นุชเป็นคู่เคียง ตามพระปัญญา
ขอน้องเป็นทาส เบื้องบาทบริจา
ประฏิบัติรักษา กว่าจะสิ้นสุดสกนธ์
[๓๗๓] ๏ โปรดแต่เท่านี้
เห็นว่าชีวี น้องจักยืนยล
สืบสนองรองบาท วรราชจุมพล
กว่าจะม้วยวายชนม์ ภักดีฤๅคลาย
[๓๗๔] ๏ พระสดับสารนุช
ไพรเพราะที่สุด อำมฤตโปรยปราย
ตระลึงลานจิต เร่งคิดเสียดาย
โอ้เอ็นดูสาย สวาดิร้างแรมขวัญ
[๓๗๕] ๏ จักใคร่คืนไป
มาคิดเกรงใจ ม้าจะเย้ยเยาะหยัน
หยาบเหยาเราได้ ว่าไม่เป็นธรรม์
พระทัยกระศัลย์ โศกเศร้าแสนทวี
[๓๗๖] ๏ จึ่งตอบคำนาง
ไมตรีพี่สร้าง สิ้นแล้วมารศรี
เป็นกรรมจำพราก มาจากเทวี
พี่ขอลาศรี สมรเจ้าอย่าหมาง
[๓๗๗] ๏ นางท้าวได้สดับ
ชลนัยน์ไหลซับ โซมทั่วสารพางค์
โอ้โอ๋ภูมินทร์ สุดสิ้นรักนาง
พระทัยจืดจาง ร้างน้องเสียไกล
[๓๗๘] ๏ โอ้ว่าพระทอง
กลับมาสั่งน้อง ก่อนแล้วจึ่งไป
แต่พอน้องรัก ยลพักตร์ภูวไนย
แล้วจึ่งควรไป ตามแต่ปัญญา
[๓๗๙] ๏ เสียแรงน้องตาม
บุกป่าฝ่าหนาม ข้ามห้วยเหวผา
จนมาพบองค์ ไม่ทรงกรุณา
ตัดเยื่อใยข้า มาราแรมศรี
[๓๘๐] ๏ ไม่เอ็นดูแล้ว
ขอเชิญพระแก้ว ตัดเกล้าเกศี
น้องไม่ขออยู่ สู้ม้วยชีวี
ชีวาไม่หนี ดีกว่าอยู่ดาย
[๓๘๑] ๏ ตายด้วยความซื่อ
ไว้ยศให้ฦๅ ทั่วโลกยทั้งหลาย
ตัวน้องเป็นหญิง ความจริงมั่นหมาย
สู้ม้วยไม่คลาย ความรักภูธร
[๓๘๒] ๏ พระฟังเสาวนีย์
จึ่งตอบวาที มีพจนสุนทร
ใช่พี่มิรัก จักแกล้งจากจร
เป็นด้วยอัสดร มันมิให้ไป
[๓๘๓] ๏ สุดรู้สุดฤทธิ์
ล้นเหลือความคิด ที่จักกลับไป
ชะรอยว่ากรรม ทำแต่หลังไซร้
ตามมาทันได้ ถึงเราทั้งสอง
[๓๘๔] ๏ โต้ตอบกันไป
ส่วนอาชาไนย ดำริตริตรอง
ช้าไว้บัดนี้ น่าที่พระทอง
กลับไปหาน้อง จะเสียท่วงที
[๓๘๕] ๏ ครั้นตริแล้วเสร็จ
อาชาเหิรเห็จ ด้วยฤทธิ์พาชี
จะลิ่วหาวหน อัมพลวิถี
สองกระษัตริย์ยังมี ความรักสมัครกัน
[๓๘๖] ๏ ต่างองค์ต่างแคล้ว
มาพรากจากแก้ว โศกาจาบัลย์
สงสารพระนุช ปิ้มสุดอาสัญ
ร้องร่ำรำพัน ฟากนํ้าเอกา
[๓๘๗] ๏  แลดูภูเบศ
จนลับนัยน์เนตร สุดคลองนัยนา
ดั่งใครเปลื้องปลิด ชีวิตอาตมา
ไปจากกายา ยิ่งโศกาแสนทวี
[๓๘๘] ๏ ร้องไห้ร้องหา
ร้องเรียกราชา ร้องหาภูมี
สุดร้องสุดฤทธิ์ สุดจิตเทพี
สุดไห้โศกี สุดที่โศกา
[๓๘๙] ๏ สุดที่จะตามติด
สุดเหลือความคิด สุดฤทธิ์ชายา
สุดแรงสุดเรี่ยว สุดเหลียวแลหา
สุดเห็นภัสดา สุดตาเต็มไกล
[๓๙๐] ๏ พระศอแหบแห้ง
สุดสิ้นกระแสง สิ้นแรงอรไท
หิวโหยโรยรา พักตราสลดไสล
พักตร์ผิดเผือดไป สิ้นไห้รำพัน
[๓๙๑] ๏ ดังลำกล้วยทอง
อันเกิดในห้อง ฟากฟ้าสวนสวรรค์
มีชายผู้หนึ่ง เข้มขึงแข็งขัน
จิตใจมักกะสัน ฤทธิ์แรงราวี
[๓๙๒] ๏ ได้ดาบคมกล้า
แปลบปลาบเวหา จับแสงสุริย์ศรี
กวัดแกว่งรำฉวาง เยื้องย่างคระวี
ฟาดฟันกัทลี ขาดเด็จเป็นสิน
[๓๙๓] ๏ ส่วนลำกล้วยทอง
ล้มลงโดยปอง อุปรไมยเมริน
สุดสิ้นกำลัง ห่อนจะตั้งกายิน
สุดสิ้นชีวิน ซอนซบสยบลง ๚ะ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 92.0.4515.107 Chrome 92.0.4515.107


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 10 สิงหาคม 2564 16:10:36 »



อินทราเชียร ฉันท์ ๑๑
[๓๙๔] ๏ ฝ่ายฝูงอมรเมศ             ศิขเรศพนัสพง
  เหลือบเล็งอนงค์ยง ยุพเรศวิสัญญี
[๓๙๕] ๏ บ้างเยี่ยมวิมานมาศ สิงหช่องบัญชรศรี
  ทุกเทพยทฤษฎี ก็สลดระทดใจ
[๓๙๖] ๏ ด้วยโฉมพธูแม่ สนิทแน่ไม่หวั่นไหว
  ทวยเทพยมีใน กำเสาะโศกกำสรวลครวญ
[๓๙๗] ๏  บ้างลืมเสวยทิพย์ บ้างก็ลืมเกษมสรวล
  บ้างลืมประโลมสวน     อัปสรเทพยธิดา
[๓๙๘] ๏ บ้างเหงาสงัดเงียบ สรเซียบทุกเทวา
  กอดเข่าเข้าปรึกษา ผิจะทำไฉนดี
[๓๙๙] ๏  ด้วยโฉมพระเทพินทร์ ชีวิตสิ้นจากอินทรีย์
  สองหัตถ์ก็รุมตี อุระมี่ตระลึงลาน
[๔๐๐] ๏ โอ้ยอดสมรมิ่ง ประทมกลิ้งกับดินดาน
  ปราศจากอลงก์กาญ จนแท่นบรรจถรณ์ทรง
[๔๐๑] ๏  ไสยาสน์อยู่เอกี ธุลีฝุ่นแต่พื้นผง
  กลัดกลุ้มพระอรองค์ ดูอเนจอนาถกาย
[๔๐๒] ๏ นางเคยรำเพยพัด มาต้องซัดธุลีทราย
  ห่อนใครจะเพื่อนสาย สมรกลิ้งอยู่กลางดง
[๔๐๓] ๏ ผาแผ่นเป็นแท่นเขนย นิจจาเอ๋ยน่าพิศวง
  นางเคยรำเพยองค์ รำพายพัดบำราศนาง
[๔๐๔] ๏ เคยกั้นวิสูตรวง เอาแต่ดงมากั้นกาง
  ไม้สูงแลยูงยาง เป็นฉัตรรัตน์จรงค์ราย
[๔๐๕] ๏ เคยแสงประทีปส่อง นุชต้องศศิฉาย
  ส่องแสงดาราราย มาไสยาสน์พินาศนอน ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
[๔๐๖] ๏ สิงสัตว์คณาดงดอน แล่นเลิงกระเจิงจร
  ผยองผยองผายผัน
[๔๐๗] ๏ เห็นองค์ทรงโฉมประโลมขวัญ เลิศลักษณ์วิไลวรรณ
  วิลาปไห้ซบลง
[๔๐๘] ๏ สิงสัตว์ปักษาคณาพง พลอยเหงางายงง
  ด้วยองค์สุมณฑาทอง
[๔๐๙] ๏ คชสีห์คาบคชสารผยอง สละคชโดยปอง
  บ่หมายจะเป็นภักษา
[๔๑๐] ๏ พยัคฆีลืมไล่มฤคา เห็นองค์สุดา
  ก็หยุดอยู่ยั้งยืนยล
[๔๑๑] ๏ ปักษาปักษินบินบน เห็นนาฏนฤมล
  ก็เซียบสงบซบซอน
[๔๑๒] ๏ ไม่หาญจะบินเหิรอัมพร เงียบสยบสยอน
  ไม่ส่งสำเนียงเสียงขัน
[๔๑๓] ๏ ขุนหงส์ระเห็จเหิรหาวหัน ลืมคู่เคลียกัน
  ห่อนหันหาเหล่าสาวหงส์
[๔๑๔] ๏ ขุนยูงจับยูงสูงส่ง สังเวชด้วยองค์
  พระนางเธอสิ้นสมประฤดี ๚ะ  
สุรางคนางค์ กาพย์ ๒๘    
[๔๑๕] ๏ ฝ่ายว่าพระรถ
  โศกซํ้ากำสรด ระทดโศกี  
  กันแสงแครงคร่ำ ร่ำไห้แสนทวี  
  พระทัยภูมี ดุจแยกแหลกลาญ  
[๔๑๖] ๏ โอ้ปานฉะนี้
  จะรํ่าโศกี พิไรประปราน  
  ใครจะเป็นเพื่อน กลางเถื่อนกันดาร  
  จะไห้ลัยลาญ รำจวนครวญหา  
[๔๑๗] ๏ จะข้อนทรวงร่ำ
  อยู่แทบฝั่งน้ำ แสนโศกโศกา  
  ไม่เห็นพักตร์เรียม จะเยี่ยมริมชลา  
  ละห้อยโหยหา ชลเนตรฟูมฟอง  
[๔๑๘] ๏ พระไห้ครวญคราง
  รำจวนถึงนาง จนสว่างแสงทอง  
  ผ่องแผ้วใสสี รัศมีเรืองรอง  
  ชักม้าลอยล่อง ลงสู่ปัฐพี  
[๔๑๙] ๏ หยุดเงื้อมบรรพต
  ฉายาปรากฏ ทราบสิ้นฤๅดี  
  พระเร่งรำจวน ครวญถึงเทวี  
  แม้มาด้วยพี่ จะชี้ชมไพร ๚ะ  
อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
[๔๒๐] ๏ พักนั่งที่เพิงผา ศิลาแลละเลื่อมไศล
  แสงแก้วประพาฬไพ ฑูรย์รัตนบรรเจิดจง  
[๔๒๑] ๏ ชมชั้นคีรีเวียง รุจิเรขระยับยง
  ชาดชุบระบายรง สลับล้วนเป็นหลายสี  
[๔๒๒] ๏ ดังช่างฉลาดล้ำ ไปเลขาศิลามี
  โสภิตขจิตขจี ขจายจัดโมราคำ  
[๔๒๓] ๏ ที่ม่วงก็ม่วงงาม ที่สีครามก็ครามขำ
  ที่ดำก็ดูดำ คคลํ้าขลับเป็นหมึกมี
[๔๒๔] ๏ แม้นเขียวก็เขียวสด มรกตจำรัสสี
  ที่แดงดูแดงดี ทับทิมเทียบบทัดทัน  
[๔๒๕] ๏ ลางเหลืองก็เหลืองเล่ห์ สุวรรณชมพูนุทสรรพ์
  ที่ขาวก็ขาวพรรณ ดังดวงแก้วประกายพราย  
[๔๒๖] ๏ บัดต้องทิพากร ก็ส่องแสงกระลอกฉาย
  วาวแวววะวาวสาย วิเชียรช่วงจรัสเรือง  
[๔๒๗] ๏ เปลวปล่องช่องภูผา ศิลาแหลมมลังเมลือง
  แสงแก้วประเทืองเรือง จรัสรุ้งเจริญตา
[๔๒๘] ๏ ง้ำเงื้อมชะโง้นโงก เป็นเตรินโตรกกุฎาตา
  ห้วยธารละหานผา ธารารี่ระเรื่อยเย็น  
[๔๒๙] ๏ นํ้าพุก็ดุดั้น ศิลาหลั่นตรลอดเห็น
  พุยพุ่งกระเด็นเย็น เป็นฟองฟุ้งกระจายปราย  
[๔๓๐] ๏ โชติช่วงดังดวงแก้ว มณีรัตน์ขจัดขจาย
  หยดย้อยเป็นแสงสาย จำรัสรุ้งธาราริน  
[๔๓๑] ๏ วังเวิ้งชะวากวาม อร่ามล้วนมณีนิล
  นํ้าล้นกระทบหิน ถูกหินหักทลายลง  
[๔๓๒] ๏ โครมครึกคระครึกเสียง สำเนียงลั่นสนั่นดง
  ฉวัดเวียนเฉวียนวง
[๔๓๓] ๏ ไหลซึมซะแซะเซาะ กระเทาะหินตระเพินหัน
  โลดโดดกระเด็นดัน ดูดุด้นกระเด็นดวง  
[๔๓๔] ๏ เต้นหยางประอย่างย้อย พระพรอยพรูเป็นพู่พวง
  แลเล่ห์ประดุจดวง วิเชียรช่วงอันชัชวาล  
[๔๓๕] ๏ พระทอดทัศนาใน กระแสน้ำอันเชี่ยวฉาน
  ฉุนจิตพระภูบาล คะนึงถึงพระเทพินทร์
[๔๓๖] ๏ แม้ว่ามาด้วยพี่ จะชวนชี้ให้ชมสินธุ์
  ไหลมาระรินริน ระเรื่อยเฉื่อยธาราหัน  
[๔๓๗] ๏ ชมแล้ว ธ แคล้วคลาด วรบาทจรัลผัน
  ผายมายังเชิงบรร พตชมพนาดร  
[๔๓๘] ๏ ทุมาคณาเนก อนันต์แน่นสลับสลอน
  ยอดย้อยประเอียงอร พยุพัดดูเยนโยน
[๔๓๙] ๏ โศกสนมะสังสัก มะกอกกักกระโดนโกรน
  ลั่นทมคนทาโทน แลกระทดกระถินทอง  
[๔๔๐] ๏ ดูกเดื่อประดู่ดอก ผลพลับพลับพลึงพลอง
  กะลำพอสะคร้อครอง มะฝ่อแฝบมะเฟืองไฟ
[๔๔๑] ๏ พวงยื่นระย้าย้อย ฤดูดอกระดอมไพร
  ยื่นหัตถ์ประพาสไป ธ ปลิดใส่ภูษาทรง  
[๔๔๒] ๏ เสวยพลางพระทรงนึก ระฦกถึงยุพาพงศ์
  ปิ่นปักอนงค์ยง ยุพราชเจ้าเมรี  
[๔๔๓] ๏ คิดถึงสะท้อนถาม ฤทัยท้าวพระจักรี
  เสียวซาบฤดีมี ธ ก็พร่ำกันแสงหวน
[๔๔๔] ๏ ปานฉะนี้สมรเจ้า จะหมองเศร้าพิไรครวญ
  จะคืนหลังยังวังนวล ฤๅจะสิ้นชีวาวาย
[๔๔๕] ๏ คิดคิดแล้วหักคิด แล้วห้ามจิตพระฦๅสาย
  โศกนักจักวางวาย ชีพม้วยบรรลัยลาญ  
[๔๔๖] ๏ ครั้นแล้ว ธ ชมนก วิหคร้องก้องขันขาน
  เคียงคู่ประสมสาร สุรเสียงเสนาะไพร  
[๔๔๗] ๏ เหมือนเสียงพระเทพี นุชพี่ผู้ร่วมใจ
  ตรัสเรียกสนมใน เสนาะเพราะดังเสียงหงส์
[๔๔๘] ๏ ชมสัตวมฤคฝูง จรคลาออกจากดง
  โตเต้นตามกวางหลง ละเลิงไล่มฤคี
[๔๔๙] ๏ เลียงผาแล่นผันผาย กระเจิงโจนบนคีรี
  พลัดคู่อยู่เอกี เหมือนตูไซร้อยู่เดียวดาย
[๔๕”] ๏ ชมพลางพระทางเสด็จ ยลเยื้องพนมพราย
  จรดลผลูคลาย อาศรมใกล้กุฎีดง
[๔๕๑] ๏ ภูมิพื้นประเทศสนุกนิ์ ดรุณรุกขชาติทรง
  ผลพวงผกาพง เธอหยุดมิ่งมโนมัย
[๔๕๒] ๏  พี่ยังจะจำจริง นั่นโน่นอาศรมไฉน
  ที่พระผู้ทรงไตร ภพครองศีลาจาร
[๔๕๓] ๏ เมื่อแรกวันเรามา ท่านกรุณาช่วยแปลงสาร
  เจ้าข้าไปเมืองมาร จึ่งได้รอดชีวาวัง
[๔๕๔] ๏ พระคุณท่านล้นโลก ตลอดล่างอุทัยทัง
  ควรใส่ไว้ศิรสัง ประนมน้อมเฉลิมชม
[๔๕๕] ๏ ควรเราจะเข้าไป ประนมนิ้วประสานสม
  วรบาทประนมคม ชลีทูลทำนองลา
[๔๕๖] ๏ แต่ว่าเพลานี้ มิควรที่ลิลาคลา
  ควรเราจะสรงสา ครให้สำราญกาย
[๔๕๗] ๏ ตริแล้ว ธ ลงสรง ยังสระแก้ววิเชียรพราย
  ชมเบญจบัวราย ประทุมมาศสลับสลอน
[๔๕๘] ๏ บัวตูมสะพุ่มพวง ดังดวงถันพธูสมร
  ฉุนใจพระภูธร ตระลึงแลเร่งพิศวง
[๔๕๙] ๏ มัจฉาคณาเนก อนันต์มีในสระสรง
  ว่ายแหวกแถกถาลง สู่ท้องธารพากันไป
[๔๖๐] ๏ เป็นหมู่เป็นพวกพันธุ์ บ้างก็หันเข้าเล็มไคล
  บ้างเร้นเข้าเบียดใน ประทุมบังบให้เห็น
[๔๖๑] ๏ คิดมาเหมือนตัวพี่ เมื่อหนีน้องมาลำเค็ญ
  เจ้าตามมาพอเห็น แล้วก็พรากไปจากกัน
[๔๖๒] ๏ ชมแล้วก็แคล้วคลาด วรบาทจรัลผัน
  ผายขึ้นจากสระพลัน ธ ก็ผลัดภูษาทรง
[๔๖๓] ๏ สไบของนางน้อง เธอก็ปองสะพักองค์
  รวยรวยเหมือนกลิ่นอนงค์ นุชน้องลำเพาพาล
[๔๖๔] ๏ เมื่อนั้นอรัญมุนี ฤๅษีสิทธิทรงญาณ
  ทรงเวทชำนาญชาญ ประพฤติธรรมนารมณ์
[๔๖๕] ๏ ครั้นบ่ายทิพากร จรจากพระอาศรม
  จะเร่จรจงกรม บรมทัศนาแปร
[๔๖๖] ๏ เมิลเมียงพระพักตร์เภท นัยน์เนตรชำเลืองแล
  ทอดทัศนาแปร วรบาท ธ เล็งยล
[๔๖๗] ๏ เห็นองค์พระรถเสน อิศเรนทร์ ธ ยังฉงน
  ฉงายใจผู้ใดดล บริเวณสำนักนิ์เรา
[๔๖๘] ๏ โนเนนะแน่งน้อย วรรูปเฉกเฉลา
  เฉลิมโลกย์ประโลมเอา จิตจวนคำนวรถวิล
[๔๖๙] ๏ แต่องคกับม้า ฤๅมาสรงในสระสินธุ์
  พิศพักตร์ลอออินทร์ วรลักษณเพ็ญพาล
[๔๗๐] ๏ คล้ายคล้ายละม้ายเหมีอน กุมารนี้เราแปลงสาร
  ใช้ไปสู่เมืองมาร ชะรอยรอดมาฤๅไฉน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 สิงหาคม 2564 16:18:28 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 27 สิงหาคม 2564 14:46:00 »



  [๔๗๑] ๏  แม่นแท้ประจักษ์จริง กุมารนี้ไม่สงสัย
  ควรเราจะเข้าไป กิจพร้องคดีดู
  [๔๗๒] ๏  ตริแล้วจึ่งพระดา บสจรตามผลู
มูลมัคคตามภู   ธรทัศนาองค์
  [๔๗๓] ๏ อ่อนโอนศิโรเพฐน์ มงกุฎเกศประณามทรง
บทบาทสไบบง   กชรัตน์ ธ ทูลแถลง
  [๔๗๔] ๏ พระคุณอดุลเลิศ อนันต์กว่านับโกฏิแสน [๓]
  ดินฟ้า บ ทดแทน ฤๅจะปูนจะเปรียบเห็น
  [๔๗๕] ๏ มิแปลงให้ที่ไหนเลย แลจะกลับมาคืนเป็น
  หมู่มารจะราญเข็ญ กระดูกเนื้อไม่เหลือหลอ
  [๔๗๖] ๏ ได้พึ่งพระบาทา พระกรุณามาจานเจือ
  เจ้าข้าจึ่งพ้นเหยื่อ มารร้ายมันรันทำ
  [๔๗๗] ๏  มุนีได้สดับ พจนศัพท์สนองคำ
  จงเจ้าดำเนินนำ สำแดงแจ้งแต่บูรพา
  [๔๗๘] ๏ แรกเริ่มเมื่อเจ้าไป สู่กรุงราชมารา
  มารทำประทุษฐ์ทา รุณโทษเจ้าเป็นไฉน
  [๔๗๙] ๏ สุขทุกข์อย่างไรเล่า จึ่งเจ้ารอดมาพ้นภัย
  จงกล่าวแสดงไป แต่ตามถ้อยคดีควร
  [๔๘๐] ๏ ราชาสดับรส พจนารถประมูลมวล
  อันมีมาโดยควร แต่ปางหลังแสดงถวาย
  [๔๘๑] ๏ เสร็จสิ้นจนอวสาน พระภูบาลเธอบรรยาย
  มุนินทร์ ธ เปรมปราย วรพักตรเพียงจันทร์ ๚ะ
สัททุลวิกกีฬิต ฉันท์ ๑๙
  [๔๘๒] ๏ สรรเสริญเจริญคุณอดุลเดชมหันต์
  มหิทธิ์ฤทธิ์อนันต์ ประเสริฐ
  [๔๘๓] ๏ บุญญายิ่งล้นสกลโลกยบรรเจิด
  รอดแล้วดังกลับเกิด สมเสก
  [๔๘๔] ๏ สมภารท่านได้สร้างแต่ปางอติเรก
  จะเป็นพุทธองค์เอก ยอดญาณ
  [๔๘๕] ๏ จะข้ามคณาสัตว์ประวัติเวียนในสงสาร
  ให้พ้นจากกันดาร วิบัติ
  [๔๘๖] ๏ แล้วอนุญาตประสาทพระวรพิพัฒน์
  เจ้าไปจงเป็นสวัส ดิผลวิบัติ
  [๔๘๗] ๏ ได้ครองกรุงบำรุงประชาราษฎรมณฑล
  สนองบิตุเรศชนม์ ทีฆา
  [๔๘๘] ๏ พาลภัยประทุษฐร้ายวิบัติอย่าพาธา
  โรคโศกแสนสา จงไกล
  [๔๘๙] ๏ ปานนี้แม่ป้าจะลาลดกำสรดซ้อนใจ
  อย่าช้าพ่อเร่งไป อย่านาน ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
  [๔๙๐] ๏ ราชาก้มเกล้ากราบกราน รับพรอาจารย์
  ประสานนขางามตรู
  [๔๙๑] ๏ สรรเสริญคุณยิ่งเมรู ล้นเหลือใจตู
  จะแทนก็ย่อมย่อมเยา
  [๔๙๒] ๏ มีแต่อาภรณ์พรรเหา เปลื้องจากกายเอา
  ประนมประน้อมถวายไท
  [๔๙๓] ๏ สิทธารับพลางทางไข จงเจ้าเอาไป
  สำหรับประดับองค์อร
  [๔๙๔] ๏ เราไซร้ฤๅษีอยู่ดอน ไม่ควรอาภรณ์
  จะครองบต้องสิกขา
  [๔๙๕] ๏ ขอบคุณอดุลเจ้าวัจนา เช่นเชื้อเมธา
  อันประเสริฐเป็นศักดิ์ศรี
  [๔๙๖] ๏ อย่าช้าควรเจ้าจรลี ไปแจ้งคดี
  แม่ป้าอันทนทุกขัง
  [๔๙๗] ๏ ราชารับพจนัง คำท้าวท่านสั่ง
  ประน้อมชุลีลาจร
  [๔๙๘] ๏ ขึ้นสู่มิ่งม้าอัสดร ลอยล่องเขจร
  เร็วรวดดังลมพัดพาน
  [๔๙๙] ๏  ไปสิ้นรตินทิวาร ประจุสมัยฉายฉาน
  อรุณแผ้วเมฆา
  [๕๐๐] ๏ พอถึงกรุงราชรมยา ขุมเสดาพารา
  ชักม้าลงสู่ขุมขัง
  [๕๐๑] ๏ ทวารชิดปิดแน่นกรึงกรัง พระจึ่งหยุดยั้ง
  ประทับยังร่มสาขี
  [๕๐๒] ๏ ตรัสเรียกสมเด็จชนนี เชิญเถิดพันปี
  ลิลามารับลูกพลัน
  [๕๐๓] ๏ ลูกรอดมาแล้วจอมขวัญ เหตุไรไม่ผัน
  พระพักตรมาแลเลย
  [๕๐๔] ๏  สองครั้งสามครั้งช่างเฉย พระไม่มาเผย
  ชะรอยว่าสิ้นสุดปราณ
  [๕๐๕] ๏ ลูกไปอยู่ช้าหึงนาน อยู่หลังลัยลาญ
  กลับมาไม่ทันเห็นใจ
  [๕๐๖] ๏ แม้ว่าพระม้วยตักษัย สิ้นชีวาลัย
  ลูกไซร้จะตามพันปี
  [๕๐๗] ๏ ฝ่ายองค์สมเด็จชนนี ในราษราตรี
  วันนั้นนิมิตอัศจรรย์
  [๕๐๘] ๏ พระสุบินข้างขึ้นกลางคัน แจ้วแจ้วเสียงอัน
  ผู้ใดมาเรียกให้รับ
  [๕๐๙] ๏ นางเงี่ยโอนโสตทรงสดับ ตรองฟังเสียงศัพท์
  เหมือนเสียงพระทองโฉมตรู
  [๕๑๐] ๏ รอยรอดปลอดภัยมฤตยู พ้นจากริปู
  อรินทร์ร้ายหลีกหนีไกล
  [๕๑๑] ๏ ตริแล้วนางจรคลาไคล เสด็จสู่ทวารไชย
  ใกล้แล้วตระบัดผายเผย
  [๕๑๒] ๏ เห็นพักตร์ลูกรักทรามเชย โอ้แก้วแม่เอ๋ย
  คิดว่าเจ้าม้วยวายชนม์
  [๕๑๓] ๏ อยู่หลังแม่ตั้งทุกข์ทน ยามเพราเสวยชล
  เนตรบเว้นวายวาร
  [๕๑๔] ๏ แม่พร่ำบำบวงทุกสถาน ทุกเทพยพิมาน
  ไปช่วยบำรุงคุ้มครอง
  [๕๑๕] ๏ ครานี้เจ้ารอดมาปอง ดับโศกสิบสอง
  แม่ป้าอันทนทุกขา
  [๕๑๖] ๏ ตรัสพลางทางชวนลูกยา เข้าสู่อุมา
  อุโมงค์กันแสงรักกัน
  [๕๑๗] ๏ แสนโศกพิลาปรำพัน ครั้นวายจาบัลย์
  แม่ป้าเข้าล้อมรายเรียง
  [๕๑๘] ๏ เข้าแอบแนบข้างคลึงเคียง พ่อรอดมาเพียง
  นี้รอยว่าบุญแต่หลัง
  [๕๑๙] ๏ ป้าสู้เคร่าครองชีวัง ชีวาตม์ไว้ฟัง
  รหัสจะรู้ข่าวสาร
  [๕๒๐] ๏ ครั้งนี้เจ้ารอดมาสมาน เหตุไฉนหมู่มาร
  ไม่ทำประทุษฐ์ทารุณ
  [๕๒๑] ๏ พระสดับพจนารถแสดงคุณ นางหนึ่งศุภสุน
  ทรลักษณเลิศนารี
  [๕๒๒] ๏ นงนามวรราชเมรี เป็นราชบุตรี
  แห่งนางสุนนทามาร
  [๕๒๓] ๏ ลูกไปได้ร่วมสงสาร สมสนิทเยาวมาลย์
  เสน่ห์น้องอยู่ครองวัง
  [๕๒๔] ๏ กลเล่ห์ลึกลํ้ากำบัง นางแจ้งให้ฟัง
  ก็ได้สำเร็จโดยใจ
  [๕๒๕] ๏ งั่วนาวม่วงหาวอันใด โองการท่านใช้
  ก็เสร็จสำเร็จโดยมี
  [๕๒๖] ๏  อิกทั้งดวงเนตรชนนี ห่อยามีศรี
  สำหรับประดับโรยทา
  [๕๒๗] ๏ ได้โดยมโนรถจินดา ขอพระชนดา
  จงเงยพระพักตร์บรรจง
  [๕๒๘] ๏ พร้อมทั้งสิบสองพระองค์ จักโรยยาผง
  ประสงค์ซึ่งเนตรงามตรู
  [๕๒๙] ๏ นางฟังพจนารถลูกตู ต่างชื่นชมชู
  ตระบัดก็เงยพร้อมกัน
  [๕๓๐] ๏ จึ่งโรยยาผงลงพลัน ขอจงเนตรนั้น
  เข้าปรับประดิษฐ์ชิดชน
  [๕๓๑] ๏ ติดเข้าดุจเนื้อเดียวดล งามล้ำวิมล
  วิมลาศประเสริฐเฉิดฉาย
  [๕๓๒] ๏ ผ่องพักตร์วรลักษณ์แพร้วพราย แพร้วเพริศเฉิดฉาย
  จะแจ่มจรัสพรายโพยม
  [๕๓๓] ๏ ผ่องแผ้ววรลักษณ์ประโลม พรรณรายรูปโฉม
  ดังเทพยแกล้งมาหล่อเหลา
  [๕๓๔] ๏ โนเนแน่งเนื้อยุพเยาว์ ยลยิ่งเฉกเฉลา
  เฉลิมโลกยลํ้านางแมน
  [๕๓๕] ๏ นางเมืองเนืองนันต์นับแสน โกฏิเทียมฤๅจะแทน
  จะทันมาปูนปานสม
  [๕๓๖] ๏ สิบสองมหิษีชื่นชม ผ่องแผ้วอารมณ์
  อันพ้นจากเภทภัยพาล
  [๕๓๗] ๏ ชวนกันทัศนากุมาร วรลักษณ์เสี่ยมสาร
  วิลาสดังอำมรินทร์
  [๕๓๘] ๏ วรเภทผ่องพักตร์กายิน กายายุพินทร์
  บ่มีมลายแปมปน
  [๕๓๙] ๏ แต่เจ้าคลอดเคลื่อนจรดล จากครรภ์มาจน
  เจริญแม่พึ่งเห็นศรี
  [๕๔๐] ๏ เสาวภาคย์เลิศลํ้าราชี ราชาใดมี
  จะปูนมาเปรียบปานสอง
  [๕๔๑] ๏ วรพักตร์ผ่องเพียงนํ้าทอง หลอมไล่เลียงลอง
  อันหมดมลทินแผ้วพาน
  [๕๔๒] ๏ เสร็จเชยชมโฉมพระหลาน ปรีดิ์เปรมเกษมสานต์
  บันเทิงภิรมย์ปรีดา
  [๕๔๓] ๏ ฝ่ายองค์สมเด็จมารดา เสร็จสังสนทนา
  แล้วก็เล่าถึงความฝัน
  [๕๔๔] ๏ คืนนี้นิมิตอัศจรรย์ จะประสบจอมขวัญ
  แม่ฝันประจักษ์ใจตู
  [๕๔๕] ๏ ฝันว่าอสุรินทราหู ฉวยดวงจันทร์ชู
  ได้แล้วก็พาบทจร
  [๕๔๖] ๏ มาใกล้ส่งให้มารดร แม่เข้าราญรอน
  ก็ชิงได้ดวงจันทรา
  [๕๔๗] ๏ รัศมีสว่างเวหา ประทับกับอุรา
  อุระแม่ยังอุ่นองค์
  [๕๔๘] ๏ ฝันยังมิทันจะสิ้นลง หน่อยหนึ่งโฉมยง
  เจ้าเรียกแม่ฟื้นตี่นพลัน
  [๕๔๙] ๏ แม่มาพบบุตรดุจฝัน ดับโรคาคัน
  พยาธิร้ายหน่ายหนี
  [๕๕๐] ๏ ศุภสวัสดิจงมี เดโชไชยศรี
  นุภาพปราบสงคราม
  [๕๕๑] ๏ ภัยภิตทุกทิศเข็ดขาม พระยศเลื่องฦๅนาม
  เฉลิมเป็นปิ่นนคร
  [๕๕๒] ๏ ให้สมดังคำมารดร แม่ป้าอวยพร
  ประเสริฐมีเดโชไชย ๚ะ
อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
  [๕๕๓] ๏ พระจึ่งรับเอาพร บวรราชสิบสองไท
  เวลาก็จรไป จะเฝ้าท้าวในโรงทอง
  [๕๕๔] ๏ ว่าเจ้าจะไปจง ระวังองค์เร่งตรึกตรอง
  ศัตรูจำนองปอง ชีวิตเจ้าอย่าดูเบา
  [๕๕๕] ๏  ระมัดระเมียรกาย คอยดูเล่ห์ธิบายเขา
  ชั้นเชิงจะลวงเรา ได้ทีแล้วเร่งราญรอน
  [๕๕๖] ๏ พระรับเอาโอวาท ประสาทสิทธิคำสอน
  ก้มเกล้าลิลาจร สู่มิ่งม้าอันตัวยง
  [๕๕๗] ๏ จึ่งหยิบเอากำพด อันปรากฏในรณรงค์
  ซ่อนใส่ภูษาทรง ประทับแทบกับกายพลัน
  [๕๕๘] ๏ เสร็จทรงมโนมัย อันเร็วยิ่งดังกังหัน
  บัดเดี๋ยวถึงโรงคัล เข้าเฝ้าท้าวบังคมไท
  [๕๕๙] ๏ เสนาพฤฒามาตย์ ระดับดาษบังคมไสว
  ต่างต่างก็มีใจ เสน่ห์ในกุมารชาญ
  [๕๖๐] ๏ ฝ่ายองค์ชนกา ธิบดินทรภูบาล
  ภูเบศนราธาร ปราศรัยราชบุตรา
  [๕๖๑] ๏ เจ้าช้ามิหึงนาน จรล่ำพ่อคอยหา
  งั่วนาวยังได้มา ประสงค์ซึ่งจำนงเรา
  [๕๖๒] ๏ เชิญเจ้าสำแดงแถลง กิจแจ้งโดยสำเนา
  ได้มาอย่าช้าเอา มาแจ้งกิจประกอบการ
  [๕๖๓] ๏ นางท้าวละห้อยหา นับวันท่าทุกวันวาร
  จิตตั้งจะฟังสาร ด้วยโรคร้ายมันรันทำ
  [๕๖๔] ๏ ช้านักเกลือกจักจวน ประชวรโรคระสายสำ
  จงเจ้าดำเนินนำ อรรถนั้นมาแจงถวาย ๚ะ
ฉบัง กาพย์ ๑๖
  [๕๖๕] ๏ โอรสฟังพจนภิปราย ก้มเกล้าบังคมถวาย
  ซึ่งงั่วนาวอันอำไพ
  [๕๖๖] ๏ อำพนเลิศล้นเกรียงไกร ยากที่ผู้ใดไป
  จะนำมานี้อัศจรรย์
  [๕๖๗] ๏ อำมาตย์ทั้งหลายเนืองนันต์ หมอบแทบโรงคัล
  ภิวันท์ถวายศุภผล
  [๕๖๘] ๏ เอิกเกริกฦๅทั่วภูวดล ทราบถึงสุนน
  ทามารก็ดาลแสยง
  [๕๖๙] ๏ กูไซร้แกล้งใช้จักแผลง ผลาญชีวาแวง
  ชีวาตม์มันกลับมาเป็น
  [๕๗๐] ๏ กรุงเราจะเศร้าเยือกเย็น ทุกข์ร่ำระกำเข็ญ
  มันกลับมาเป็นศัตรู
  [๕๗๑] ๏ คิดมาน่าแค้นใจตู อย่าช้ามากู
  จะผลาญชีวิตจึ่งควร
  [๕๗๒] ๏ อกมารร่านร้อนรัญจวน ดิ้นโดยโหยหวน
  คำนึงจะล้างภูมินทร์
  [๕๗๓] ๏ ฝ่ายสมเด็จชนการาชินทร์ ราชาธิบดินทร์
  อันหลงแก่ดำฤษณา
  [๕๗๔] ๏ รับเอางั่วนาวแล้วมา ยังห้องสุนนทา
  ตระบัดก็ลุบมิหึง
  [๕๗๕] ๏ นั่งแนบแอบข้างพลางคลึง ซึ่งนุชคำนึง
  งั่วนาวก็ได้โดยใจ
  [๕๗๖] ๏ นางมารฟังสารท้าวไท ทอดทัศนาใน
  ก็ดาลพิกลโทโส
  [๕๗๗] ๏ รับเอางั่วหาวนาวโห่ กายาเติบโต
  พิฦกลํ้าเสมอผา
  [๕๗๘] ๏ เขี้ยวงอกออกโง้งข้างละวา ลำแข้งแขนขา
  ยิ่งพร้อมประปรำลำตาล
  [๕๗๙] ๏ ตาเติบเท่าลูกไข่ห่าน สองเต้าโยนยาน
  สำแดงพิฦกรูปา
  [๕๘๐] ๏ แลบลิ้นปลิ้นปลอกกลอกตา รุกโรมโถมถา
  คระครึกคระครื้นเครงคราง
  [๕๘๑] ๏ เสียงคะนึงอื้ออึงในปรางค์ แล่นไล่ฉวัดฉวาง
  จะจับเอาพระภูธร
  [๕๘๒] ๏ ภูมีหนีซอกซนซอน เข้าแอบบังอร
  เจ้ารถจงช่วยบิดา
  [๕๘๓] ๏ นิ่งได้พ่อไม่นำพา มารร้ายริษยา
  จะฆ่าให้ม้วยวายปราณ ๚ะ
โตฎก ฉันท์ ๑๒
  [๕๘๔] ๏ วรราช ธ สดับ พจนศัพทโองการ
  ยุพราช ธ ก็ดาล ยลยักษธไร
  [๕๘๕] ๏ ธ ก็คชกรกำ พดนำวรไตร
  กรหน่วงสไดไกว อานุภาพประวิตร
  [๕๘๖] ๏ ยลยักษ์ก็กระโจม อรไทด้วยมหิทธิ์
  ชุติมนตร์วรฤท ธิบพิตร ธ ก็รอน
  [๕๘๗] ๏ ธ ก็ตัดศิโรเพฐน์ วรเกศก็ออน
  ชนมยักษก็มร ณนุภาพประทุษฐ์
  [๕๘๘] ๏ ยลกายอริปู พระหทัยจะทรุด
  ยลเพศประวุต ติประทุษฐก็ลาญ
  [๕๘๙] ๏ ยลยักษ์ก็ตักษัย อรไท ธ มาผลาญ
  ชนมชีพก็ราญ รณรงคประลัย ๚ะ
มาลินี ฉันท์ ๑๕
  [๕๙๐] ๏ นิกรชนคณาไคล ต่างต่างมาอวยไชย
  ประนมชม
  [๕๙๑] ๏ บวรนวลนางสนมสม ชวนกันชื่นชม
  ก็ปรีดี
  [๕๙๒] ๏ สกลพหลคณราชี ราชเปรมปรี
  ดิเรืองเรียง
  [๕๙๓] ๏ สกลชนประเวศเวียง ศัพทสำเนียง
  สนั่นวัง
  [๕๙๔] ๏  สกลพลอเนกทั้ง มาพร้อมมาเพรียงนั่ง
  ถวายกร
  [๕๙๕] ๏ มหิทธิพิพิธขจายจร สมเด็จพระภูธร
  ธ ทรงเวท
  [๕๙๖] ๏ บวรประนมประณาเมศ เหนือศิโรเพฐน์
  มาอวยไชย
  [๕๙๗] ๏ สวัสดิพิพัฒนเกรียงไกร เดโชตรลอดไว้
  ทุกธาตรี ๚ะ
  ๏ จบเสร็จสำเร็จเรื่อง เมริน
  ตั้งแต่จากธานินทร์ นิราศร้าง
  มาจวบพบสวามินทร์ ยังฝั่ง น้ำเอย
  เชิญกระวีต่อสร้าง ตกแต้มเติมลง ฯ
  ๏ ชะรอยเราหนึ่งไม้ไผ่ ยกโครง
  ปางเมื่อระยางโยง เยี่ยมฟ้า
  ลงรักปิดทองโถง ปิดทั่ว เถือกแฮ
  เสร็จซึ่งการไป่ช้า เร่งฤ้ๅจนดิน ฯ
  ๏ อาภัพยับเยี่ยงโอ้ บายศรี
  หนึ่งเมื่อการสวัสดี ดั่งแก้ว
  นับยศแต่ยังมี กิจท่าน เดียวนา
  ครั้นเมื่อสำเร็จแล้ว คว่างนํ้าทิ้งเสีย ๚ะ[๑]
 

-------------------------------------------------------------------

[๑] เอกสารเลขที่ ๑๓ เป็น
         “ลางนางก็หลับลืมสกนธไสย     แลละไมประอรเอียง
         องคแอบแลแนบยุคลเคียง   ที่จำเรียงบำรุงนาง”
ตั้งแต่บทที่ ๑๑๕-๑๒๖ เป็นกลบทนาคบริพันธ์
สัมผัสไม่รับกับปลายบทก่อนหน้านี้
โคลง ๓ บทนี้อยู่ตอนท้ายเรื่องพระรถคำฉันท์ในเอกสารเลขที่ ๑๔
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 สิงหาคม 2564 20:33:42 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5773


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2564 16:28:49 »



ภาพวาด ครูเหม เวชกร

 พระรถคำหวน  

[๑] อินทรวิเชียร ฉันท์ ๑๑
  [๑] ๏ สรวมชีพบังคมบาท พระโลกนาถจอมโมลี
ขอจงเจริญศรี ศรีสวัสดิกำจัดเข็ญ
  [๒] ๏ ทั้งคุณพระธรรมเจ้า มาปกเกล้าทุกเช้าเย็น
ทั้งพระภิกขุเป็น ชิโนรสพระทศญาณ
  [๓] ๏ จงรับประสานหัตถ์ ซึ่งข้าทำนมัสการ
คุณครูผู้ชำนาญ ชำนิกลอนสอนศิษย์มา
  [๔] ๏ เชิญช่วยอำนวยสวัสดิ์ ให้เจนจัดในอักขรา
ใช่เชื้อเนื้อเมธา ทาสปัญญานั้นยังอ่อน
  [๕] ๏ อ่านแล้วอย่าหยันเย้ย ด้วยมิเคยคิดบทกลอน
เขินขาดคลาดอักษร ช่วยแต่งเติมให้ปรีชา ๚ะ
  [๖] ๏ ปางองค์พระทรงโฉม พระรถโสมนัสสา
เชยชมภิรมยา เสน่ห์น้องประคองนวล
  [๗] ๏ คลึงเคล้าเฝ้าอิงแอบ ถนอมแนบกระเษมสรวล
พิศลักขณานวล สวาดิพี่มิรู้วาย
  [๘] ๏ สองชมสองสมสวาดิ วรราชเมรีสาย
สมรแม่มิให้ระคาย ฤทัยท้าวเท่าใยยอง
  [๙] ๏ บำรุงสวามี สตรีใดเสมอสอง
หลงเชิงละเลิงปอง นึกว่าท้าวจะเนานาน
  [๑๐] ๏ องค์พระมหิษี เมรีราชนงคราญ
ครั้นล่วงราตรีกาล สุดามานนิทรารมย์
  [๑๑] ๏ ร่วมเรียงเคียงสัมผัส สองกระษัตริย์กระเษมสม
ปวงนางถวายลม รำเพยพัดเมื่อไสยา
  [๑๒] ๏ ดาวเดือนก็เคลื่อนคล้อย พาชีคอยสหัสสา
กระทืบเปรื่องกระเดื่องปรา รภเพื่อจะเตือนองค์
  [๑๓] ๏ ปางองค์อิศรราช สถิตอาสน์อันยรรยง
ยินเสียงสำเนียงจง จิตแจ้งว่าอาชา
  [๑๔] ๏  เร่งรนให้ดลสถาน พระสงสารยุพาพะงา
จากเรียมจะเกรียมอา รมณ์น้องจะหมองศรี
  [๑๕] ๏ ยิ่งคิดยิ่งละห้อย พระเศร้าสร้อยฤทัยทวี
รอรั้งดังหนึ่งชี วิตม้วยด้วยดวงสมร
  [๑๖] ๏ คิดถึงองค์บังเกิดเกศ เพราะเหตุมีพี่จึ่งจร
ตื่นขึ้นแม่จักรอน รันทรวงไห้ไม่วายวัน
  [๑๗] ๏ พระเปลื้องสะพักทรง เปลี่ยนกับองค์เจ้าจอมขวัญ
เขนยข้างค่อยวางพลัน ให้แนบน้องประคองเคียง
  [๑๘] ๏ แทนองค์พระทรงสวัสดิ์ จอมกระษัตริย์จะจากเวียง
พิศพักตร์สุดาเพียง อุระท้าวจะร้าวราน
  [๑๙] ๏ เจ็บดุจดังศร พระสี่กรประหารผลาญ
อกโอ้อาลัยลาญ เทวษพี่นิราศา
  [๒๐] ๏ ยินเสียงดุเหว่าแว่ว ทั้งไก่แก้วก็ตื่นตา
ขันเร่งพระสุริยา เกือบล่วงราษราตรี
  [๒๑] ๏ จุมพิตทั้งนิทรา มิใคร่คลาคลาดจากศรี
อาดูรแม่อยู่จงดี สมรพี่นี้เนาสถาน
  [๒๒] ๏ ก่อนเถิดอย่าเกรียมกรม ครองสนมศฤงคาร
เรียมไปใจหนึ่งปาน เมรุทุ่มมาทับทรวง
  [๒๓] ๏ มิ่งม้าอาชาชาติ เห็นอิศรราชเธอหนักหน่วง
คอยค้อยเวลาล่วง อโณทัยที่ไขแสง
  [๒๔] ๏ ดูเถิดพระปิ่นปัก มาหลงรักไม่เคลือบแคลง
ขัดใจพาชีแผลง อานุภาพกระทืบโครม
  [๒๕] ๏ กึกก้องร้องสนั่น ยินถึงกรรณพระทรงโฉม
เตือนให้ฤทัยโทม นัสนักรื้อหักใจ
  [๒๖] ๏ จะหลงอยู่เช่นนี้ พระชนนีจะทำไฉน
โอ้อกนิราไกล นิราศรักจำหักหวง
  [๒๗] ๏ ขืนดำรงปลดห่อโอสถ อีกกำพตแลห่อดวง
เนตรแม่ป้ามะนาวม่วง ทั้งสองพวงได้โดยหมาย
  [๒๘] ๏ เสร็จสมอารมณ์มาด จึงจากอาสน์วิเชียรฉาย
องค์อ่อนระทวยกาย คิดถึงสายสวาดิเรียม
  [๒๙] ๏ รํ่าร่ำจะใคร่กลับ ให้วาบวับฤทัยเกรียม
ผู้ใดเศร้าไม่เท่าเทียม อุระพี่ที่ไห้หวน
  [๓๐] ๏ เสด็จดลยังโรงราช อาชาชาติก็เชิญชวน
เรืองรองแสงทองจวน อรุณรุ่ง ณ รังสี
  [๓๑] ๏ น้อยฤๅบาทยุคล มากังวลด้วยเทพี
ไม่คิดถึงชนนี ธิราชท้าวจะคอยหา
  [๓๒] ๏ ไม่เสด็จจงยับยั้ง ข้านี้หวังจะทูลลา
ไปก่อนอยู่เป็นผา สุกสวัสดิ์เสวยรมย์
  [๓๓] ๏ ท้าวฟังพาชีประชด พระทรงยศกระมลกรม
เจ็บจากเพราะจากสม ไม่ถือถ้อยคำพาชี
  [๓๔] ๏ เมียงเมิลพระนัยน์ค้อน สะท้อนถอนฤทัยทวี
สถิตหลังพาชีลี ลาศลิ่วอำพรเพียง
  [๓๕] ๏ ยลวังนิเวศสวาดิ นิราศร้างบำเรอเรียง
ขนิษฐ์เอยพี่เคยเคียง อุระน้องประคองขวัญ
  [๓๖] ๏ พระยาสินธพชาติ ก็เผ่นผงาดระเห็จหัน
เหิรหาวพ้นเขตขัณ ฑเสมาถึงป่าเนิน<