[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 20:42:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  (อ่าน 937 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 24 ธันวาคม 2566 16:12:28 »



ภาพประกอบจาก : www.su-usedbook.com

นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานโบราณคดี เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีทั้งหมด ๒๑ เรื่อง
ทุกเรื่องล้วนเป็นเรื่องจริง   กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ในทางภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  โบราณคดี  และ
ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ  ตามความทรงจำของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงรู้เห็นเองมิได้คิด
ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องโบราณต่างๆ ซึ่งเป็นเกร็ดนอกพงศาวดาร จึงทรงเรียกว่า “นิทานโบราณคดี” 

นิทานทั้ง ๒๑ เรื่องนี้   ได้ทรงพระนิพนธ์โดยมิได้กำหนดก่อนว่าจะเขียนเรื่องชนิดใด แล้วแต่ว่าทรงนึกเรื่องใด
ได้ก่อน จึงเป็นนิทานที่มีเรื่องหลายชนิดระคนกัน และล้วนแล้วแต่มีแก่นสารที่เป็นคติน่ารู้ที่ผู้อ่านจะได้ประโยชน์
จากการอ่าน “นิทานโบราณคดี”


-------------------------------------------


นิทานที่ ๑ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด

เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เวลานั้นยังไม่ได้ทำรถไฟสายเหนือ ต้องไปทางเรือแต่กรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ แล้วฉันขึ้นเดินทางบกไปเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เดินทางเกือบเดือนหนึ่งจึงถึงเมืองเชียงใหม่ ขากลับลงเรือล่องลำแม่น้ำพิงแต่เมืองเชียงใหม่ลงมาทางเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร มาร่วมทางขาไปที่ปากน้ำโพเมืองนครสวรรค์ แต่นั้นก็กลับตามทางเดิมจนถึงกรุงเทพฯ

ฉันเคยได้ยินว่าทางเมืองเหนือทั้งในมณฑลพิษณุโลก อันเคยเป็นเมืองพระร่วง และมณฑลพายัพอันเป็นแหล่งช่างเชียงแสน มีพระพุทธรูปโบราณอย่างงามๆ มากกว่าทางอื่น คนหาพระพุทธรูปมักเที่ยวเสาะหาทางนั้น นับถือกันว่าต่อเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรจึงจะดี ถ้าหาได้พระขัดสมาธิเพชรอย่างย่อมขนาดหน้าตักในระหว่าง ๖ นิ้วจน ๑๐ นิ้วด้วยยิ่งดีขึ้น แต่ฉันขึ้นไปครั้งนั้นตั้งใจจะไปเสาะหาพระพุทธรูปที่ลักษณะงามเป็นสำคัญ ไม่เลือกว่าจะต้องเป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชรหรือขัดสมาธิราบ ปรารถนาจะใคร่ได้พระขนาดเขื่องหน้าตักราวศอกเศษ เพราะเห็นว่าขนาดนั้นฝีมือช่างทำได้งามกว่าพระขนาดเล็กเช่นเขาหากัน

เมื่อขึ้นไปถึงเมืองอุตรดิตถ์ วันหนึ่งฉันไปเที่ยวที่เมืองทุ่งยั้ง แวะดูวัดพระมหาธาตุอันเป็นวัดโบราณแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ทรงปฏิสังขรณ์ มีพระสถูปมหาธาตุกับพระวิหารหลวงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ในวัด พระมหาธาตุองค์เดิมพังมีผู้สร้างใหม่แปลงรูปเสียแล้ว แต่วิหารหลวงยังคงอยู่อย่างที่พระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ในวิหารหลวงนั้นมีพระพุทธรูปปั้นองค์ใหญ่ขนาดหน้าตักสัก ๘ ศอกตั้งเป็นประธาน เมื่อฉันเข้าไปบูชาเห็นมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่ง วางนอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธาน แปลกตา จึงถามพวกกรมการว่าเหตุไฉนจึงเอาพระพุทธรูปไปวางทิ้งไว้ในพระหัตถ์พระประธานเช่นนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นเดิมอยู่ที่วัดอื่น ดูเหมือนชื่อว่าวัดวังหมู หรือวัดอะไรฉันจำไม่ได้แน่ แต่เป็นพระมีปาฏิหาริย์อย่างแปลกประหลาด คล้ายกับมีผีพระยามารคอยผจญอยู่เสมอ ถ้าใครไปถวายเครื่องสักการบูชาเมื่อใด ในไม่ช้าก็มักเกิดเหตุวิวาทบาดทะเลาะกันในตำบลนั้น จนคนครั่นคร้ามไม่มีใครกล้าไปบูชา แต่พวกเด็กลูกศิษย์วัดที่เป็นคนคะนองเห็นสนุก พอรู้ว่าจะมีการประชุมชนที่วัดนั้นเช่นบวชนาคเป็นต้น ลอบเอาเครื่องสักการะเช่นหมากเมี่ยงไปถวายพระพุทธรูปองค์นั้น ก็มักเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันเนืองๆ อยู่มาคืนวันหนึ่งพระพุทธรูปองค์นั้นหายไป ต่อมาภายหลังเห็นมานอนอยู่ในพระหัตถ์พระประธานในวิหารหลวงวัดทุ่งยั้ง ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เอามา แต่พวกชาวบ้านก็ไม่มีใครสมัครจะรับเอากลับไปไว้ที่วัดเดิม จึงทิ้งอยู่อย่างนั้น ฉันได้ฟังเล่าเห็นขันกลั้นหัวเราะไม่ได้ สั่งให้เขายกพระองค์นั้นลงมาตั้งดูที่ฐานชุกชีตรงหน้าพระประธาน พอเห็นชัดก็ชอบ ด้วยเป็นพระปางมารวิชัยฝีมือแบบสุโขทัย ทำงามและได้ขนาดที่ฉันหาด้วย จึงว่าแก่พวกกรมการเมืองทุ่งยั้งว่า เมื่อไม่มีใครสมัครจะรับพระพุทธรูปองค์นั้นไปแล้ว ฉันจะขอรับเอาลงมากรุงเทพฯ เขาก็ยอมอนุญาตด้วยยินดี และดูเหมือนจะประหลาดใจที่ฉันไม่เชื่อคำของเขาด้วย ฉันจุดธูปเทียนบูชาแล้วสั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงมายังที่ทำเนียบจอดเรือในวันนั้น พอค่ำถึงเวลาจะกินอาหาร พวกข้าราชการที่ไปด้วยมากินพร้อมกันตามเคย แต่วันนั้นสังเกตเห็นเขาหัวเราะต่อกระซิกกันแปลกกว่าปรกติ ฉันถามว่ามีเรื่องอะไรขบขันหรือ เขาบอกว่าเมื่อฉันไปวัดพระมหาธาตุ ฝีพายไปเกิดวิวาทชกกันขึ้นที่นั่นคู่หนึ่ง ฉันก็รู้เท่าว่าเขาพากันลงความเห็นว่าเป็นเพราะฉันไปถวายเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นั้น โดยไม่เชื่อคำพวกกรมการ แต่ฉันกลับเห็นขันที่เผอิญเกิดเหตุเข้าเรื่อง ไม่เห็นเป็นอัศจรรย์อันใด ก็สั่งให้เชิญพระพุทธรูปองค์นั้นลงเรือที่ขึ้นไปส่งกลับลงมากรุงเทพฯ

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ วันหนึ่งไปที่วัดพระสิงห์ เห็นเขารวมพระพุทธรูปหล่อของโบราณทั้งที่ดีและชำรุด ตั้งไว้บนฐานชุกชีที่ในวิหารหลวงมากมายหลายสิบองค์ ฉันปีนขึ้นไปเที่ยวพิจารณาดูเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่งลักษณะงามต้องตาและได้ขนาดที่ฉันปรารถนา ให้ยกลงมาตั้งพิจารณาดูต่างหากก็ยิ่งเห็นงาม จึงขอต่อเจ้าเชียงใหม่เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วไปว่าวานพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อท่านยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีให้ช่วยปฏิสังขรณ์ขัดสี เพราะท่านมีช่างสำหรับหล่อและแต่งพระพุทธรูปอยู่ที่วัดนั้น และตัวท่านเองก็ชอบพอกับฉันมาแต่ก่อน พระพุทธรูป ๒ องค์นั้น องค์ที่มาจากเมืองทุ่งยั้ง ลงรักปิดทองคำเปลว องค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่เดิมเป็นแต่ขัดไม่ได้ปิดทอง ช่างวัดจักรวรรดิฯ ลงมือขัดพระองค์ที่มาจากเมืองเชียงใหม่ก่อน พอเปลื้องผ้าถนิมออกก็แลเห็นเนื้อทองที่หล่อสีสุกปลั่งงามแปลกกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาแต่ก่อน พระพุฒาจารย์ท่านจึงให้ปฏิสังขรณ์พระองค์นั้นก่อน มีคนโจษกันตั้งแต่พระองค์นั้นยังอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ว่า เป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาด เมื่อปฏิสังขรณ์สำเร็จแล้ว ฉันรับมาตั้งไว้บูชาในท้องพระโรงเมื่อฉันยังอยู่วังเก่า ใกล้กับสะพานดำรงสถิต ใครๆ ไปเห็นก็ชมทุกคนว่าเป็นพระพุทธรูปงามอย่างประหลาดมาก

ก็ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร ทรงพระราชดำริว่าพระพุทธรูปที่จะตั้งในวัดนั้น จะหาพระหล่อของโบราณแบบต่างๆ มาตั้ง ทำนองอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ โปรดให้ฉันเป็นพนักงานเสาะหาพระพุทธรูปถวาย วันหนึ่งตรัสแก่ฉันว่าต้องพระราชประสงค์พระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธานที่การเปรียญสักองค์หนึ่ง ให้เป็นพระขนาดย่อมกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งพระระเบียง แต่จะต้องให้งามสมกับที่เป็นพระประธาน ฉันจะหาถวายได้หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ได้พระพุทธรูปขนาดนั้นมาไว้ที่บ้านองค์หนึ่ง “ถ้าโปรดจะถวาย” (หมายความว่าถ้าไม่ถูกพระราชหฤทัยก็ไม่ถวาย) ไม่ตรัสตอบว่ากระไรในเวลานั้น ต่อมาอีกสักสองสามวันมีพระราชกิจจะเสด็จลงไปเมืองสมุทรปราการ เพื่อรับพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียถวาย และโปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ ไปเชิญมาจากอินเดียจนถึงเมืองสมุทรปราการ เวลาทรงรถไปสถานีรถไฟที่หัวลำโพง เสด็จแวะที่บ้านฉัน ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรพระพุทธรูปที่ท้องพระโรง พอทอดพระเนตรเห็นก็โปรด ออกพระโอษฐ์ว่า “พระองค์นี้งามแปลกจริงๆ” ตรัสสั่งกรมวังในขณะนั้นว่า ให้จัดยานมาศกับขบวนแห่มีเครื่องสูงกลองชนะไปรับพระองค์นั้นเข้าไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงขนานพระนามถวายว่า “พระพุทธนรสีห์” ก็เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งแต่นั้นมา เมื่อสร้างพระอุโบสถชั่วคราวที่วัดเบญจมบพิตรแล้ว โปรดให้เชิญพระพุทธนรสีห์แห่ขบวนใหญ่ไปตั้งเป็นพระประธานอยู่จนสร้างพระอุโบสถใหญ่แล้ว แต่พระประธานสำหรับพระอุโบสถใหญ่นั้น ให้เที่ยวตรวจพระโบราณตามหัวเมืองจนกระทั่งเมืองเชียงแสน ก็ไม่มีพระพุทธรูปงามถึงสมควรจะเชิญมา จึงโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกมาเป็นพระประธาน และโปรดให้หล่อจำลองพระพุทธนรสีห์ ตั้งไว้เป็นพระประธานที่พระวิหารสมเด็จในวัดเบญจมบพิตรด้วยองค์หนึ่ง ส่วนองค์พระพุทธนรสีห์นั้นโปรดให้เชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ยังสถิตอยู่ในพระราชมนเทียรนั้นจนบัดนี้ มีคนชอบพูดกันว่า พระพุทธนรสีห์เป็นพระมีอภินิหารให้เกิดสวัสดิมงคล อ้างว่าตัวฉันผู้เชิญลงมา ไม่ช้าก็ได้เลื่อนยศจากกรมหมื่นขึ้นเป็นกรมหลวง พระพุฒาจารย์ (มา) เมื่อยังเป็นพระมงคลทิพมุนีผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์ เป็นพระราชาคณะสามัญก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเทพ แม้พระภิกษุเปี่ยมช่างหล่อผู้แต่งพระพุทธนรสีห์ ต่อมาไม่ช้าก็ได้มีสมณศักดิ์เป็นที่พระครูมงคลวิจิตร เขาว่ากันดังนี้

พระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งนั้น จะว่ามีอภินิหารก็ได้ แต่เป็นไปอีกทางหนึ่งต่างหาก เมื่อฉันถวายพระพุทธนรสีห์ไปแล้ว พระพุฒาจารย์ท่านปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์เมืองทุ่งยั้งเสร็จก็ส่งมาให้ฉัน ให้ตั้งไว้ที่ท้องพระโรง บูชาแทนพระพุทธนรสีห์มาได้สักสองเดือน วันหนึ่งฉันไปหามารดาตามเคย ท่านถามว่าได้ยินว่าที่ไปได้พระมาจากเมืองเหนือองค์หนึ่ง มักทำให้เกิดทะเลาะวิวาทกันจริงหรือ ฉันไม่เคยเล่าเรื่องเดิมของพระองค์นั้นแก่ใคร ชะรอยจะมีคนในพวกที่ได้ขึ้นไปเมืองเหนือกับฉันในครั้งนั้นไปบอกให้ท่านทราบ แต่เมื่อท่านรู้แล้วฉันก็เล่าเรื่องให้ท่านฟังตามเขาบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ ท่านพูดต่อไปว่า แต่ก่อนมาคนที่ในบ้านก็อยู่กันเป็นปรกติ ตั้งแต่ฉันเอาพระองค์นั้นมาไว้ที่บ้านดูเกิดวิวาทบาดทะเลาะกันไม่หยุด ท่านส่งเศษกระดาษชิ้นหนึ่งซึ่งท่านได้ให้จดชื่อคนวิวาทมาให้ฉันดู มีทั้งผู้ดีและไพร่วิวาทกันถึง ๖ คู่ ท่านตักเตือนแต่ว่าขอให้ฉันคิดดูให้ดี ฉันกลับมาคิดดูเห็นว่าถ้าขืนเอาพระองค์นั้นไว้ที่บ้านต่อไป ก็คงขัดใจมารดา จึงไปเล่าเรื่องให้พระพุฒาจารย์ฟัง แล้วถวายพระองค์นั้นให้ท่านรับเอาไปไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ แต่นั้นเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งก็เงียบไป ต่อมาอีกหลายเดือน กรมการเมืองอุตรดิตถ์คนหนึ่ง ซึ่งได้เคยไปเมืองทุ่งยั้งด้วยกันกับฉัน ลงมากรุงเทพฯ ไปหาฉันที่บ้าน ฉันเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องพระองค์นั้น แล้วนึกขึ้นว่าถ้าฝากให้เขาเชิญกลับขึ้นไปไว้ที่วัดพระมหาธาตุเมืองทุ่งยั้งอย่างเดิม จะดีกว่าเอาไว้ที่วัดจักรวรรดิฯ จึงสั่งให้คนไปขอพระองค์นั้นคืน พระพุฒาจารย์ตกใจรีบมาหา บอกว่าสำคัญว่าฉันสิ้นอาลัยให้พระองค์นั้นเป็นสิทธิแก่ท่าน ตั้งแต่พระองค์นั้นไปอยู่ที่วัดจักรวรรดิฯ ท่านสังเกตเห็นมักมีเหตุวิวาทบาดทะเลาะเกิดขึ้นในวัดผิดปรกติ แม้จนเด็กลูกศิษย์ซึ่งเคยเป็นคนเรียบร้อยมาแต่ก่อน ก็ไปตีหัวเจ๊กขายเจี้ยมอี๋ ท่านรำคาญใจแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร เผอิญพ่อค้าชาวหัวเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยรู้จักกับท่านมาแต่ก่อน เข้ามาค้าขายทางเรือถึงกรุงเทพฯ เขาแวะไปหาท่าน พอเห็นพระพุทธรูปองค์นั้นก็ชอบใจถึงออกปากขอ ท่านจึงให้พระองค์นั้นแก่พ่อค้าคนที่ขอไปเสียแล้ว เขาจะพาไปทางไหนก็ไม่รู้ ก็เป็นอันสิ้นกระแสความเรื่องพระพุทธรูปองค์ที่ได้มาจากเมืองทุ่งยั้งเพียงเท่านั้น ได้แต่หวังใจว่าเพราะพ่อค้าคนที่ได้พระไป ไม่รู้เรื่องเดิมพระองค์นั้น บางทีจะไม่ไปเป็นเหตุให้เกิดวิวาทบาดทะเลาะเหมือนหนหลัง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2566 13:50:20 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒ เรื่องพระพุทธรูปประหลาด

เมืองภูเก็ต เดิมขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม จนเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว จึงได้โอนมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ฉันลงไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลภูเก็ตครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เวลาฉันพักอยู่ที่เมืองภูเก็ต พระครูวิสุทธิวงศาจารย์เป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อยู่ ณ วัดฉลองมาหา พอฉันแลเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยที่หน้าแข้งของท่านมีรอยปิดทองคำเปลวแผ่นเล็กๆ ระกะไป ราวกับพระพุทธรูปหรือเทวรูปโบราณที่คนบนบาน เมื่อพูดจาปราศรัยดูก็เป็นผู้มีกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อยอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ เวลานั้นดูเหมือนจะมีอายุได้สัก ๖๐ ปี ฉันถามท่านว่าเหตุไฉนจึงปิดทองที่หน้าแข้ง ท่านตอบว่า “เมื่ออาตมภาพเข้ามาถึงในเมือง พวกชาวตลาดเขาขอปิด” ฉันได้ฟังอย่างนั้นก็เกิดอยากรู้ ว่าเหตุไฉนคนจึงปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง จึงสืบถามเรื่องประวัติของท่าน ได้ความตามที่ตัวท่านเองเล่าให้ฟังบ้าง ข้าราชการเมืองภูเก็ต ที่เขารู้เห็นเล่าให้ฟังบ้าง เป็นเรื่องประหลาดดังจะเล่าต่อไปนี้

ท่านพระครูองค์นี้ชื่อ แช่ม เป็นชาวบ้านฉลองอยู่ห่างเมืองภูเก็ตสักสามสี่ร้อยเส้น เดิมเป็นลูกศิษย์พระอยู่ในวัดฉลองมาตั้งแต่ยังเด็ก ครั้นเติบใหญ่บวชเป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้น จนอายุครบอุปสมบทก็บวชเป็นพระภิกษุ เรียนวิปัสสนาธุระและคาถาอาคมต่างๆ ต่อมา จนมีพรรษาอายุมากได้เป็นสมภารวัดฉลอง เรื่องประวัติแต่ต้นจนตอนนี้ไม่แปลกอย่างไร มาเริ่มมีอภินิหารเป็นอัศจรรย์เมื่อเกิดเหตุด้วยพวกจีนกรรมกรทำเหมืองแร่ที่ เมืองภูเก็ตเป็นกบฏ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ (ดังจะมีเรื่องปรากฏในนิทานที่ ๑๕ ต่อไปข้างหน้า) เวลานั้นรัฐบาลไม่มีกำลังพอจะปราบปรามพวกจีนกบฏให้ราบคาบ ได้แต่รักษาตัวเมืองไว้ ตามบ้านนอกออกไป พวกจีนเที่ยวปล้นสะดมฆ่าฟันผู้คนได้ตามชอบใจ ไม่มีใครต่อสู้ จึงเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต เรื่องที่เล่าต่อไปตอนนี้ เขียนตามคำท่านพระครูวัดฉลองเล่าให้ฟังเอง ว่าเมื่อได้ข่าวไปถึงบ้านฉลองว่ามีจีนจะออกไปปล้น พวกชาวบ้านกลัวพากันอพยพหนีไปซ่อนตัวอยู่ตามบนภูเขาโดยมาก เวลานั้น มีชายชาวบ้านที่เคยเป็นลูกศิษย์ของท่านสักสองสามคน ไปชวนให้ท่านหนีไปด้วย แต่ท่านตอบว่า “ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนอายุถึงปานนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ด้วย จะทิ้งวัดไปเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละ จะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย” พวกลูกศิษย์อ้อนวอนเท่าใด ท่านก็ยืนคำอยู่อย่างนั้น เมื่อคนเหล่านั้นเห็นว่าท่านไม่ยอมทิ้งวัดไป ก็พูดกันว่า “เมื่อขรัวพ่อไม่ยอมไป จะทิ้งให้ท่านตายเสียอย่างไร” จึงเข้าไปพูดแก่ท่านว่า “ถ้าขรัวพ่อไม่ไป พวกผมก็จะอยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่างหนึ่ง” ท่านจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียดแจกให้คนละผืน พวกนั้นไปเที่ยวเรียกหาเพื่อนได้คนเพิ่มเติมมารวมกันสัก ๑๐ คน เชิญตัวท่านให้ลงไปอยู่ที่ในโบสถ์ พวกเขาไปเที่ยวหาเครื่องศัสตราวุธสำหรับตัว แล้วพากันมาอยู่ที่ในวัดฉลอง พออีกสองวันจีนพวกหนึ่งก็ออกไปปล้น แต่พวกจีนรู้ว่าชาวบ้านหนีไปเสียโดยมาก แล้วเดินไปโดยประมาทไม่ระวังตัว พวกไทยแอบเอากำแพงแก้วรอบโบสถ์บังตัว พอพวกจีนไปถึงก็ยิงเอาแตกหนีไปได้โดยง่าย พอมีข่าวว่าพวกลูกศิษย์ท่านวัดฉลองรบชนะจีน ชาวบ้านฉลองที่หนีไปซุ่มซ่อนอยู่ตามภูเขาก็พากันกลับมาบ้านเรือน ที่เป็นผู้ชายก็ไปหาท่านวัดฉลอง ขอรับอาสาว่าถ้าพวกจีนยกไปอีกจะช่วยรบ แต่ท่านตอบว่า “ข้าเป็นพระเป็นสงฆ์ จะรบฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะรบพุ่งอย่างไร ก็ไปคิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะให้แต่เครื่องคุณพระสำหรับป้องกันตัว” คนเหล่านั้นไปเที่ยวชักชวนกันรวมคนได้กว่าร้อยคน ท่านวัดฉลองก็ลงผ้าประเจียดแจกให้ทุกคน พวกนั้นนัดกันเอาผ้าประเจียดโพกหัวเป็นเครื่องหมาย ทำนองอย่างเครื่องแบบทหาร พวกจีนเลยเรียกว่า “อ้ายพวกหัวขาว” จัดกันเป็นหมวดหมู่มีตัวนายควบคุม แล้วเลือกที่มั่นตั้งกองรายกัน เอาวัดฉลองเป็นที่บัญชาการคอยต่อสู้พวกจีน ในไม่ช้าพวกจีนก็ยกไปอีก คราวนี้ยกกันไปเป็นขบวนรบ มีทั้งธงนำและกลองสัญญาณ จำนวนคนที่ยกไปก็มากกว่าครั้งก่อน พวกจีนยกไปถึงบ้านฉลองในตอนเช้า พวกไทยเป็นแต่คอยต่อสู้อยู่ในที่มั่นเอาปืนยิงกราดไว้ พวกจีนเข้าไปในหมู่บ้านฉลองไม่ได้ ก็หยุดยั้งอยู่ภายนอก ต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่ายจนเวลาตะวันเที่ยง พวกจีนหยุดรบไปกินข้าวต้ม พวกไทยได้ทีก็เข้ารุกล้อมไล่ยิงพวกจีนในเวลากำลังสาละวนกินอาหาร ประเดี๋ยวเดียวพวกจีนก็ล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด ตามคำท่านพระครูว่า “จีนรบสู้ไทยไม่ได้ด้วยมันต้องกินข้าวต้ม พวกไทยไม่ต้องกินข้าวต้มจึงเอาชนะได้ง่ายๆ” แต่นั้นพวกจีนก็ไม่กล้าไปปล้นบ้านฉลองอีก เป็นแต่พวกหัวหน้าประกาศตีราคาศีรษะท่านวัดฉลอง ว่าถ้าใครตัดเอาไปให้ได้จะให้เงินสินบน ๑,๐๐๐ เหรียญ ชื่อท่านวัดฉลองก็ยิ่งโด่งดังหนักขึ้น เมื่อรัฐบาลปราบพวกจีนกบฏราบคาบแล้วยกความชอบของเจ้าอธิการแช่มวัดฉลอง ที่ได้เป็นหัวหน้าในการต่อสู้พวกจีนกบฏในครั้งนั้น ประจวบเวลาตำแหน่งพระครูสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตั้งให้เป็นที่พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ตแต่นั้นมา แต่ทางฝ่ายชาวเมืองภูเก็ตเชื่อว่าที่ชาวบ้านฉลองรบชนะพวกจีน เพราะท่านพระครูวัดฉลองมีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคม ก็นับถือกันเป็นอย่างผู้วิเศษทั่วทั้งจังหวัด เรื่องที่เล่ามาเพียงนี้เป็นชั้นก่อนเกิดการปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง

มูลเหตุที่จะปิดทองนั้น เกิดขึ้นเมื่อคนนับถือท่านพระครูวัดฉลองว่าเป็นผู้วิเศษแล้ว ด้วยครั้งหนึ่งมีชาวเมืองภูเก็ตสักสี่ห้าคนลงเรือลำหนึ่งไปเที่ยวตกเบ็ดในทะเล เผอิญไปถูกพายุใหญ่จนจวนเรือจะอับปาง คนในเรือพากันกลัวตาย คนหนึ่งออกปากบนเทวดาอารักษ์ที่เคยนับถือขอให้ลมสงบ พายุก็กลับกล้าหนักขึ้น คนอื่นบนสิ่งอื่นที่เคยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ลมก็ไม่ซาลง จนสิ้นคิดมิรู้ที่จะบนบานอะไรต่อไป มีคนหนึ่งในพวกนั้นออกปากบนว่าถ้ารอดชีวิตได้ จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง พอบนแล้วลมพายุก็ซาลงทันที พวกคนหาปลาเหล่านั้นรอดกลับมาได้ จึงพากันไปหาท่านพระครูขออนุญาตปิดทองแก้สินบน ท่านพระครูว่า “ข้าไม่ใช่พระพุทธรูป จะทำนอกรีตมาปิดทองคนเป็นๆ อย่างนี้ข้าไม่ยอม” แต่คนหาปลาโต้ว่า “ก็ผมบนไว้อย่างนั้น ถ้าขรัวพ่อไม่ยอมให้ผมปิดทองแก้สินบน ฉวยแรงสินบนทำให้ผมเจ็บล้มตาย ขรัวพ่อจะว่าอย่างไร” ท่านพระครูจนถ้อยคำสำนวนด้วยตัวท่านก็เชื่อเรื่องแรงสินบน เกรงว่าถ้าเกิดเหตุร้ายแก่ผู้บน บาปจะตกอยู่แก่ตัวท่านก็ต้องยอม จึงเอาน้ำมาลูบขาและยื่นออกไปให้ปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง แต่ให้ปิดเพียงแผ่นเล็กๆ แผ่นหนึ่งพอเป็นกิริยาบุญ พอคนบนกลับไปแล้วก็ล้างเสีย แต่เมื่อกิตติศัพท์เล่าลือกันไปว่ามีชาวเรือรอดตายได้ด้วยปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง ก็มีผู้อื่นเอาอย่าง ในเวลาเจ็บไข้หรือเกิดเหตุการณ์ กลัวจะเป็นอันตรายก็บนปิดทองท่านพระครูวัดฉลองบ้าง ฝ่ายท่านพระครูมิรู้ที่จะขัดขืนอย่างไร ก็จำต้องยอมให้ปิด จึงเกิดประเพณีปิดทองท่านพระครูวัดฉลองขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตัวท่านเคยบอกกับฉันว่าที่ถูกปิดทองนั้นอยู่ข้างรำคาญ ด้วยคันผิวหนังตรงที่ทองปิด จนล้างออกเสียแล้วจึงหาย แต่ก็ไม่กล้าขัดขวางคนขอปิดทอง เพราะฉะนั้นท่านพระครูเข้าไปในเมืองเมื่อใด พวกที่ได้บนบานไว้ใครรู้เข้าก็ไปคอยดักทางขอปิดทองแก้สินบนคล้ายกับคอยใส่บาตร ท่านพระครูเห็นคนคอยปิดทองร้องนิมนต์ ก็ต้องหยุดให้เขาปิดทองเป็นระยะไปตลอดทาง วันนั้นท่านกำลังจะมาหาฉันไม่มีเวลาล้าง ทองจึงติดหน้าแข้งมาให้ฉันเห็น ตั้งแต่รู้จักกันเมื่อวันนั้น ท่านพระครูวัดฉลองกับฉันก็เลยชอบกันมา ท่านเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อใดก็มาหาฉันไม่ขาด เคยทำผ้าประเจียดมาให้ฉัน ฝีมือเขียนงามดีมาก ฉันไปเมืองภูเก็ตเมื่อใดก็ไปเยี่ยมท่านถึงวัดฉลองทุกครั้ง

การที่คนปิดทองท่านพระครูวัดฉลอง เป็นแรกที่จะเกิดประเพณีปิดทองคนเป็นๆ เหมือนเช่นพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นธรรมดาที่กิตติศัพท์จะเลื่องลือระบือเกียรติคุณของท่านพระครูวัดฉลอง แพร่หลายจนนับถือกันทั่วไปทุกหัวเมืองทางทะเลตะวันตก ใช่แต่เท่านั้น แม้จนในเมืองปีนังอันเป็นอาณาเขตของอังกฤษ คนก็พากันนับถือท่านพระครูวัดฉลอง เพราะที่เมืองปีนัง พลเมืองมีไทยและจีนเชื้อสายไทย ผู้ชายเรียกกันว่า “บาบ๋า” ผู้หญิงเรียกกันว่า “ยอหยา” ล้วนถือพระพุทธศาสนาอยู่เป็นอันมาก เขาช่วยกันสร้างวัดและนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปอยู่ก็หลายวัด แต่ในเมืองปีนังไม่มีพระเถระ พวกชาวเมืองทั้งพระและคฤหัสถ์ จึงสมมตท่านพระครูวัดฉลองให้เป็นมหาเถระสำหรับเมืองปีนัง ถ้าสร้างโบสถ์ใหม่ก็นิมนต์ให้ไปผูกพัทธสีมา ถึงฤดูบวชนาคเมื่อก่อนเข้าพรรษา ก็นิมนต์ให้ไปนั่งเป็นอุปัชฌาย์บวชนาค และที่สุดแม้พระสงฆ์เกิดอธิกรณ์ ก็นิมนต์ไปให้ไต่สวนพิพากษา ท่านพระครูพิพากษาว่าอย่างไรก็เป็นสิทธิขาด จึงเป็นอย่างสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วยอีกเมืองหนึ่ง ผิดกับเมืองภูเก็ตเพียงเป็นด้วยส่วนตัวท่านเอง มิใช่ในทางราชการ ด้วยในสมัยนั้นยังไม่มีทางรถไฟ ชาวกรุงเทพฯ กับชาวเมืองปีนังยังห่างเหินกันมาก แต่มีเรือเมล์ไปมาในระหว่างเมืองปีนังกับเมืองภูเก็ตทุกสัปดาห์ ไปมาหากันได้ง่าย ท่านพระครูวัดฉลองอยู่มาจนแก่ชรา อายุเห็นจะกว่า ๘๐ ปีจึงถึงมรณภาพ

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ได้ไปเมืองภูเก็ตช้านาน จนถึงรัชกาลที่ ๗ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ เวลานั้นท่านพระครูวัดฉลอง ถึงมรณภาพเสียนานแล้ว ฉันคิดถึงท่านพระครูจึงเลยไปที่วัดฉลองด้วย ในคราวนี้สะดวกด้วยเมืองภูเก็ตมีถนนรถยนต์ไปได้หลายทาง รถยนต์ไปครู่เดียวก็ถึงวัดฉลอง เห็นวัดครึกครื้นขึ้นกว่าเคยเห็นแต่ก่อนจนแปลกตา เป็นต้นว่ากุฎีเจ้าอาวาสที่ท่านพระครูเคยอยู่ก็กลายเป็นตึกสองชั้น กุฎีพระสงฆ์และศาลาที่ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นก็มีอีกหลายหลัง เขาบอกว่ามีผู้สร้างถวายท่านพระครูเมื่อภายหลัง แต่เมื่อมีผู้ไปสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ท่านพระครูไม่ยอมให้แก้ไขในบริเวณโบสถ์ที่ท่านเคยลงไปอยู่เมื่อต่อสู้พวกจีน กำแพงแก้วที่พวกลูกศิษย์เคยอาศัยบังตัวรบจีนครั้งนั้นก็ไม่ให้รื้อแย่งแก้ไข ยังคงอยู่อย่างเดิม ที่ในกุฎีของท่านพระครูเขาตั้งโต๊ะที่บูชาไว้ มีรูปฉายของท่านพระครูขยายเป็นขนาดใหญ่ใส่กรอบอย่างลับแลตั้งไว้เป็นประธาน บนโต๊ะนั้น มีรอยคนปิดทองแก้สินบนที่กระจกเต็มไปหมดทั้งแผ่น เหลือเป็นช่องว่างอยู่แต่ที่ตรงหน้าท่านพระครู ดูประหลาดที่ยังชอบบนปิดทองท่านพระครูอยู่ จนเมื่อตัวท่านล่วงลับไปนานแล้ว ไม้เท้าของท่านพระครูที่ชอบถือติดมือ ก็เอาวางไว้ข้างหน้ารูปและมีรอยปิดทองด้วย ไม้เท้าอันนี้ก็มีเรื่องแปลกอยู่ พวกกรมการเมืองภูเก็ตเขาเคยเล่าให้ฉันฟังตั้งแต่ท่านพระครูยังอยู่ ว่ามีเด็กผู้หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งในเมืองภูเก็ตเป็นคนมีวิสัยชอบพูดอะไรเล่น โลนๆ ครั้งหนึ่งเด็กคนนั้นเจ็บ ออกปากบนตามประสาโลน ว่าถ้าหายเจ็บจะปิดทองตรงที่ลับของขรัวพ่อวัดฉลอง ครั้นหายเจ็บถือว่าพูดเล่นก็เพิกเฉยเสีย อยู่มาไม่ช้าเด็กคนนั้นกลับเจ็บไปอีก คราวนี้เจ็บมากหมอรักษาอาการก็ไม่คลายขึ้น พ่อแม่สงสัยว่าจะเป็นด้วยถูกผีหรือด้วยแรงสินบน ถามตัวเด็กว่ามันได้บนบานไว้บ้างหรือไม่ แต่แรกตัวเด็กละอายไม่รับว่าได้บนไว้เช่นนั้น จนทนอาการเจ็บไม่ไหว จึงบอกความตามจริงให้พ่อแม่รู้ ก็พากันไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง แล้วปรึกษาว่าจะควรทำอย่างไรดี ท่านพระครูว่าบนอย่างลามกเช่นนั้นใครจะยอมให้ปิดทองได้ ข้างพ่อแม่เด็กก็เฝ้าอ้อนวอนด้วยกลัวลูกจะเป็นอันตราย ท่านพระครูมิรู้ที่จะทำประการใด จึงคิดอุบายเอาไม้เท้าอันนั้นสอดเข้าไปใต้ที่นั่ง แล้วให้เด็กปิดทองที่ปลายไม้เท้า ผู้เล่าว่าพอแก้สินบนแล้วก็หายเจ็บ ฉันได้ถามท่านพระครูว่าเคยให้เด็กหญิงปิดทองปลายไม้เท้าแก้สินบนจริงหรือ ท่านเป็นแต่ยิ้มอยู่ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงนึกว่าเห็นจะเป็นเรื่องจริงดังเขาเล่า

เรื่องพระครูวัดฉลอง ยังได้เห็นอัศจรรย์ต่อมาอีก เมื่อฉันไปอยู่เมืองปีนังใน พ.ศ.๒๔๗๗ ไปที่วัดศรีสว่างอารมณ์ เห็นมีรูปฉายท่านพระครูวัดฉลองเข้ากรอบลับแลตั้งอยู่บนโต๊ะเครื่องบูชาข้างพระประธานที่ในโบสถ์ และมีรอยปิดทองแก้สินบนเต็มไปทั้งแผ่นกระจก เช่นเดียวกับที่เมืองภูเก็ต เดี๋ยวนี้รูปนั้นก็ยังอยู่ที่วัดศรีสว่างอารมณ์ ดูน่าพิศวง พิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเห็นว่าควรนับว่าพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ (แช่ม) วัดฉลอง เป็นอัจฉริยบุรุษได้คนหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ธันวาคม 2566 14:00:39 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 มกราคม 2567 11:45:21 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๓ เรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพร

เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ (ร.ศ.๑๐๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเลียบหัวเมืองแหลมมลายูทั้งปักษ์ใต้และฝ่ายตะวันตก กำหนดระยะทางจะเสด็จไปเรือจากกรุงเทพฯ ถึงเมืองชุมพร แต่เมืองชุมพรเสด็จโดยทางบกข้ามแหลมมลายูตรงกิ่วกระ ไปลงเรือที่เมืองกระบุรีล่องลำน้ำปากจั่นลงไปยังเมืองระนอง ต่อนั้นเสด็จไปเรือทางทะเล แวะตามหัวเมืองฝ่ายตะวันตกจนตลอดพระราชอาณาเขต แล้วเลยไปอ้อมแหลมมลายูที่เมืองสิงคโปร์ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นมา เมื่อขากลับกรุงเทพฯ โปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสครั้งนั้น

เพราะเหตุใดจึงโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสเป็นเรื่องอันหนึ่งในประวัติ ของตัวฉันเอง จะเล่าฝากไว้ด้วยตรงนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดให้ฉันไปตามเสด็จเป็นมัคคุเทศก์ เพราะฉันได้เคยไปเที่ยวหัวเมืองทางนั้น รู้เบาะแสมาแต่ปีก่อน ก็การที่เป็นมัคคุเทศก์นั้นมีหน้าที่เป็นต้นรับสั่งกะการประพาสที่ต่างๆ ตลอดทางที่เสด็จไป ฉันสนองพระเดชพระคุณชอบพระราชหฤทัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่นั้นมาจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้จัดการเสด็จประพาส แต่ชอบเรียกกันเป็นคำแผลงภาษาอังกฤษว่า Lord Program Maker ตามเสด็จประพาสต่อมาเป็นนิจจนตลอดรัชกาลที่ ๕ และคงอยู่ในตำแหน่งนั้นสืบมาในรัชกาลที่ ๖ อีก ๓ ปี รวมเวลาที่ได้เป็นผู้จัดการเสด็จประพาสอยู่ ๒๖ ปี จึงพ้นจากหน้าที่นั้นพร้อมกับถวายเวนคืนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับเข้าไปจัดการเสด็จประพาสถวายอีก เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลพายัพครั้งหนึ่ง และเสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง จึงอ้างได้ว่าได้รับราชการเป็นผู้จัดการเสด็จประพาสสนองพระเดชพระคุณมา ๓ รัชกาล แต่เมื่อไปตามเสด็จครั้งหลัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับต้องทรงระวังมิให้ฉันเหนื่อยเกินไป เพราะตัวฉันแก่ชราอายุเกือบ ๗๐ ปีแล้ว ก็เป็นครั้งที่สุดซึ่งฉันได้จัดการเสด็จประพาสเพียงนั้น

เมื่อจัดการเสด็จประพาสครั้ง ร.ศ.๑๐๙ ฉันต้องล่วงหน้าลงไปจัดพาหนะสำหรับเดินทางบก และตรวจพลับพลาที่ประทับ กับทั้งการทำทางที่จะเสด็จไปแต่เมืองชุมพรจนถึงเมืองระนอง แล้วจึงกลับมาเข้าขบวนตามเสด็จที่เมืองชุมพร ฉันไปถึงเมืองชุมพรได้ฟังเขาเล่าเรื่องเสือใหญ่ ซึ่งกำลังดุร้ายกินผู้คนอยู่ในแขวงเมืองชุมพรในเวลานั้น และไปมีเหตุขึ้นเนื่องด้วยเรื่องเสือตัวนั้น เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาด จึงเขียนเล่าไปยังหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งฉันเป็นกรรมการอยู่ด้วยคนหนึ่ง สำหรับให้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ ดูเรื่องเข้ากับนิทานโบราณคดีที่เขียนบัดนี้เหมาะดี จึงคัดสำเนาจากหนังสือวชิรญาณวิเศษมาแก้ไขถ้อยคำบ้างเล็กน้อย และเขียนเล่าเรื่องเสือตัวนั้นอันมีต่อมาเมื่อภายหลัง ยังไม่ปรากฏในหนังสือซึ่งฉันเขียนไว้แต่ก่อน เพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ เรื่องที่เขียนไว้แต่เดิมดังต่อไปนี้


เรื่องเสือใหญ่ที่เมืองชุมพร
เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ กล่าวตามที่ฉันได้ยินด้วยหูและได้เห็นด้วยตาของตัวเอง เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าได้สงสัยว่าเป็นความเท็จซึ่งแต่งแต่โดยเดาเลย เป็นความจริงแท้ทีเดียว

เมื่อวันที่ ๖ เมษายน (ร.ศ.๑๐๙) นี้ ฉันไปถึงปากน้ำเมืองชุมพรลงเรือโบตขึ้นไปที่บ้านด่าน หาเรือซึ่งจะรับขึ้นไปถึงเมืองชุมพร ด้วยเรือไฟที่มาส่งฉันเขาจะต้องรีบใช้จักรไปราชการที่อื่นอีก ขณะเมื่อฉันนั่งพักคอยเรืออยู่ที่บ้านด่านนั้น ได้สนทนากับขุนด่านและกรมการราษฎรชาวปากน้ำชุมพรหลายคน ซึ่งฉันได้รู้จักมาแต่ก่อนบ้าง ที่ยังไม่รู้จักบ้าง พูดจาไถ่ถามถึงทุกข์สุขต่างๆ ตลอดไปจนเรื่องการทำมาหากินของราษฎร และเรื่องสัตว์สิงห์ต่างๆ คือเสือเป็นต้น เขาจึงเล่าให้ฟังเป็นปากเดียวกันดังนี้ ว่าในเวลานั้นมีเสือดุที่แขวงเมืองชุมพรตัวหนึ่ง เสือนั้นตัวใหญ่ยาวสัก ๙ ศอก เท้าเป๋ข้างหนึ่ง จึงเรียกกัน “อ้ายเป๋” เที่ยวกัดกินคนตามแขวงบ้านใหม่ บ้านละมุ เสียหลายคน ประมาณกันแต่หกเจ็ดคนขึ้นไปถึงสิบคนยี่สิบคน และว่าเสือตัวนี้กล้าหาญผิดกับเสือซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ถึงเข้ากัดคนกลางวันแสกๆ บางทีคนนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือน ก็เข้ามาฉวยเอาไป บางคนไปขึ้นพะองทำตาลก็มาคาบเท้าลากไป จนชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้าม ไม่อาจจะไปป่าหากินแต่คนเดียวสองคนได้ บางคนก็ว่าเป็นเสือสมิงศักดิ์สิทธิ์ไม่มีผู้ใดอาจจะไปดักหรือไปยิงจนทุกวันนี้ เขาเล่าให้ฟังอย่างนี้ ได้สืบถามตามชาวเมืองจนกระทั่งกรมการทั้งเมืองชุมพรและเมืองกระบุรี ก็รู้เรื่องเสือดุตัวนี้แทบทุกคน ฉันจึงให้ทำบัญชีรายชื่อคนถูกเสือกัด ซึ่งตามภาษาชาวชุมพรเขาเรียกว่า “เสือขบ” ไว้สำหรับกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ได้รายชื่อเขาจดมาให้ดังนี้

อำเภอท่าแซะแขวงเมืองชุมพร จำนวนคนที่เสือขบ นายช่วยผัวอำแดงจันทร์ ตำบลบางรึกคนหนึ่ง อำแดงเกต บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายน้อย บ้านท่าแซะคนหนึ่ง นายเบี้ยว บ้านท่าแซะคนหนึ่ง อำแดงเช้าภรรยานายลอม บ้านคูริงคนหนึ่ง หลานนายยอด บ้านหาดพังไกรคนหนึ่ง นายนองผัวอำแดงสายทอง บ้านรับร่อคนหนึ่ง นายน้อย บุตรขุนตะเวนบ้านล่อคนหนึ่ง นายเชต บ้านหาดหงคนหนึ่ง รวมที่ได้รายชื่อ ๙ คน บัญชีได้เพิ่มเติมมาจากเมืองกระบุรีมีรายการพิสดารออกไป

       ๑) นายอ่อน หมายเลขกองกลาง อยู่บ้านรับร่อ ไปตัดจากมุงเรือนที่ปลายคลองรับร่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน เวลาบ่าย ๕ โมง เสือกัดตายตามผีไม่ได้

       ๒) นายนอง ว่าที่หมื่นจบ คุมเลขกองด่าน อยู่บ้านหาดพังไกร ไปขึ้นทำน้ำตาลที่กลางนาหาดพังไกร เมื่อเดือนตุลาคมข้างขึ้น เวลากลางวัน ตะวันเที่ยง พอกลับลงจากปลายตาลเสือกัดตาย ตามผีมาได้ครึ่งหนึ่ง

       ๓) อำแดงแป้น ลูกขุนชนะ คุมเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวน ไปหาผักริมนาท่าญวน เมื่อเดือนตุลาคม ข้างแรม กลางวันบ่าย ๓ โมง เสือกัดตาย ตามผีได้

       ๔) นายแบน เป็นเลขกองกลาง อยู่บ้านท่าญวณ ไปหาตัวเลขจะพามาทำทางรับเสด็จที่เมืองกระ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เวลาพลบค่ำ เสือกัดตายที่นาป่าตอ อำเภอท่าญวน

       ๕) อำแดงเลี้ยน ภรรยานายพลอย เลขกองกลาง อยู่บ้านเขาปูน นั่งสานสาดอยู่ที่ใต้ถุนร้านไล่นกที่ในไร่ เวลาตะวันเที่ยง เสือกัดตาย ตามผีได้

ตามคำที่เล่าและ สืบได้ชื่อกับจำนวนคนที่เสือกัด พอฟังเป็นยุติได้ ว่าที่เมืองชุมพรเดี๋ยวนี้มีเสือตัวใหญ่ ดุร้ายกัดคนตายเสียหลายคน ชาวบ้านชาวเมืองพากันครั่นคร้ามเสือตัวนั้นอยู่แทบทั่วกันทั้งเมือง นี่ว่าตามที่ได้ยินด้วยหู ทีนี้จะเล่าถึงที่ได้เห็นด้วยตาตัวเองต่อไป

เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองชุมพร แต่แรกเจ้าเมืองกรมการเขาจะให้พักที่ทำเนียบริมจวนเจ้าเมือง แต่ฉันเห็นว่าห่างไกลจากธุระของฉัน จึงขอไปพักอยู่ที่ทำเนียบชายทุ่งริมที่ทำพลับพลารับเสด็จ ในค่ำวันนั้นกรมการเขาจัดคนมากองไฟรอบที่พักฉัน (ซึ่งยังไม่ได้ทำรั้วล้อม) มีผู้คนนั่งอยู่ด้วยกันหลายสิบคน ทั้งคนที่ไปด้วยและชาวหัวเมืองพวกคนทำพลับพลาก็อีกหลายร้อยคน อยู่ในชายทุ่งนั้นด้วยกัน ในคืนแรกไปอยู่ฉันนอนหลับตลอดรุ่ง ต่อเช้าขึ้นจึงได้ทราบว่าเมื่อเที่ยงคืนพวกกองไฟร้องโวยวายกันขึ้น พวกที่ไปกับฉันให้ไปสืบถาม ได้ความว่าได้ยินเสียงเสือเข้ามาร้องอยู่ที่ริมบึงต่อชายทุ่งนั้น เสียงที่ร้องนี้พวกที่ไปกับฉันได้ยินก็มี แต่คนพวกนั้นไม่เคยได้ยินเสียงเสือ ไล่เลียงเข้าก็เป็นแต่ว่าได้ยินเสียง แต่จะเป็นเสียงอะไรไม่รู้ ฉันถามกรมการว่าในที่เหล่านั้นเสือเคยเข้ามาหรือไม่ เขาบอกว่าเคยเข้ามาอยู่บ้าง ก็เป็นสงบกันไป จนค่ำวันที่สอง ฉันนอนกำลังหลับสนิท สะดุ้งตกใจได้ยินเสียงโวยวายโกลาหลกันใหญ่ ลุกทะลึ่งออกมาดูเห็นบรรดาพวกที่ไปกับฉันซึ่งนอนอยู่ในเรือนหลังเดียวกัน บางคนปีนขึ้นไปอยู่บนขื่อก็มี ที่เข้าห้องปิดประตูก็มี นอกจากนั้นก็ลุกขึ้นยืนอยู่บนที่นอนของตน ล้วนแต่โบกมือเฮ้อวๆ ๆ ๆ อยู่ด้วยกันเต็มเสียง ฉันกำลังมัวนอนไม่รู้ว่าเรื่องราวอันใด ก็พลอย เฮ้อว ไปด้วยกับเขาสักสองสามที จึงได้สติถามว่า “อะไรกัน” เขาบอกว่าเสือเข้ามา ฉันร้องห้ามให้สงบโวยวายกันลง ในขณะนั้นเดือนหงายสว่าง มองไปดูเห็นพวกที่ไปด้วยกันที่อยู่เรือนอีกหลังหนึ่งตรงกันข้าม ก็กำลังลุกขึ้นโบกมือร้อง เฮ้อวๆ เหมือนเช่นพวกข้างนี้ ส่วนพวกหัวเมืองทั้งที่มาทำพลับพลาและมากองไฟล้อมทำเนียบ เบ็ดเสร็จเห็นจะกว่า ๓๐๐ คน ดูรวมกันเป็นจุกๆ อยู่ที่นั่นหมู่หนึ่ง อยู่ที่นี่หมู่หนึ่ง เป็นกลุ่มๆ กันไป ต่างร้องโวยวายกันทั่วทุกคน เสียงโวยวายในเวลานั้น ถ้าจะประมาณแต่ในวังก็เห็นจะได้ยินถึงเสาชิงช้า ค่อยสงบลงๆ จนเงียบกันเกือบเป็นปรกติ ฉันจึงให้คนไปสืบถามให้ได้ความว่า เสือมันเข้ามาทางไหน และได้ทำใครเป็นอันตรายบ้างหรืออย่างไร สืบถามซักไซ้ก็ได้ความว่า ต้นเหตุเกิดที่โรงไว้ของข้างหลังเรือนฉันพัก โรงนั้นเป็นโรงใหญ่ไม่มีฝาอยู่สองด้าน มีคนนอนอยู่หลายคน คนหัวเมืองคนหนึ่งละเมอเสียงโวยวายขึ้น คนหัวเมืองอีกคนหนึ่งนอนอยู่เคียงกัน ได้ยินเสียงเพื่อนกันโวยวายก็ตกใจลุกทะลึ่งขึ้นร้องว่า “เสือ” แล้วก็วิ่งหนีด้วยเข้าใจว่าเสือมากัดอ้ายคนละเมอ ส่วนอ้ายคนละเมอเห็นเขาวิ่งร้อง “เสือ เสือ” ก็สำคัญว่าเสือเข้ามา พลอยลุกขึ้นวิ่งร้องว่า “เสือ” ตามเขาไป อ้ายสองคนนี้ เข้าที่ไหนคนก็ลุกขึ้นร้องโวยวายต่อๆ ไปด้วย ครั้นได้ความชัดอย่างนี้ก็ได้แต่หัวเราะกันไป อีกกว่าชั่วโมงจึงสงบเงียบหลับกันไปอีก นี่แลที่ฉันได้เห็นในเรื่องเสือตัวใหญ่นั้นด้วยตาของฉันเอง แต่มิใช่ได้เห็นตัวเสือใหญ่นั้นดอกนะ (เรื่องที่ลงหนังสือวชิรญาณวิเศษ หมดเพียงเท่านี้)

หนทางบกที่เดินข้ามกิ่วกระ แต่เมืองชุมพรไปจนลำน้ำปากจั่น ณ เมืองกระบุรี ระยะทางเพียง ๑,๐๘๓ เส้น พวกชาวเมืองที่ไปมาค้าขาย เขาเดินวันเดียวตลอด แต่ขบวนเสด็จผู้คนมากต้องกะให้เดินเป็น ๒ วัน เพราะต้องข้ามเขาบรรทัดเป็นทางกันดาร ได้ลองนับที่ต้องขึ้นเขาและลงข้ามไหล่เขามีถึง ๓๑ แห่ง ข้ามลำธาร ๕๓ แห่ง ลุยไปตามลำธาร ๒๑ แห่ง พาหนะก็ใช้ได้แต่ช้างม้ากับคนเดินหาบหาม ขบวนคนมากต้องเดินช้าอยู่เอง เมื่อฉันล่วงหน้าไปตรวจทางครั้งนั้น ได้พบเห็นของประหลาดที่ไม่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนบางอย่าง จะเล่าไว้ด้วย อย่างหนึ่งคือต้นไม้ใบมีพิษเรียกว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นต้นไม้ขนาดย่อม สูงราวห้าหกศอกขึ้นแซกแซมต้นไม้อื่นอยู่ในป่า ไม้อย่างนี้ที่ครีบใบมีขนเป็นหนามเล็กๆ อยู่รอบใบ ถ้าถูกขนนั้นเข้าก็เกิดพิษให้ปวดเจ็บ เขาว่าพิษร้ายแรงถึงช้างกลัว เห็นต้นก็ไม่เข้าใกล้ เพียงเอาใบตะลังตังช้างจี้ให้ถูกตัวช้างก็วิ่งร้องไป จึงเรียกว่า ตะลังตังช้าง ชาวเมืองชุมพรเล่าต่อไปว่า หาดริมลำธารแห่งหนึ่งในทางที่ฉันไปนั้น เรียกกันว่า “หาดพม่าตาย” เพราะเมื่อพม่ามาตีเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ พักนอนค้างที่หาดนั้น พวกหนึ่งไม่รู้ว่าใบตะลังตังช้างมีพิษเอามาปูนอน รุ่งขึ้นก็ตายหมดทั้งพวก คนไปเห็นพม่านอนตายอยู่ที่หาดจึงเรียกกันว่า หาดพม่าตาย แต่นั้นมา แต่ฉันฟังเล่าออกจะสงสัยว่าที่จริงเห็นจะเป็นเมื่อพม่าหนีไทยกลับไป มีพวกที่ถูกบาดเจ็บถึงสาหัสไปตายลงที่หาดนั้น จึงเรียกว่าหาดพม่าตายมาแต่เดิม เผอิญคนไปเห็นที่แถวนั้นมีต้นตะลังตังช้างชุม ผู้ที่ไม่รู้เหตุเดิมจึงสมมตว่าตายเพราะถูกพิษใบตะลังตังช้าง ถ้าเอาใบตะลังตังช้างมาปูนอนดังว่า คงรู้สึกพิษสงของใบไม้ตั้งแต่แรกพอหนีเอาตัวรอดได้ ไหนจะนอนทนพิษอยู่จนขาดใจตาย ยังมีบางคนกล่าวต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่าใบตะลังตังช้างนั้น ถ้าตัดเอาครีบตรงที่มีขนออกเสียให้หมดแล้ว ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงกินอร่อยดี ดูก็แปลก แต่ฉันไม่ได้ทดลองให้ใครกินใบตะลังตังช้างหรือเอาจี้ช้างให้ฉันดู เป็นแต่ให้เอามาพิจารณาดู รูปร่างอยู่ในประเภทใบไม้เหลี่ยม เช่นใบมะเขือ ขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อยหนึ่ง แต่ที่ครีบมีขนเหมือนขลิบรอบทั้งใบ ใบไม้มีพิษพวกนั้นยังมีอีก ๒ อย่าง เรียกว่า “ตะลังตังกวาง” อย่างหนึ่ง “สามแก้ว” อย่างหนึ่ง แต่รูปใบรีปลายมน เป็นไม้ต่างพรรณกับตะลังตังช้าง เป็นแต่ที่ครีบมีขนเช่นเดียวกัน และว่าพิษสงอ่อนไม่ร้างแรงถึงตะลังตังช้าง ได้ยินเขาว่าทางข้างเหนือที่เมืองลำพูน ต้นตะลังตังกวางก็มี แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตาเหมือนที่แหลมมลายู

เมื่อไปถึงตำบล “บกอินทนิล” ในแดนเมืองกระบุรี ซึ่งจัดเป็นที่ประทับร้อน ในวันที่ ๒ ก็เห็นของประหลาดอีก ฉันได้ยินเสียงสัตว์ร้องอยู่ในป่าที่ต้นเลียบใหญ่ใกล้ๆ กับที่ประทับ ฟังเหมือนเสียงตุ๊กแก ไปดูก็เห็นตุ๊กแกมีอยู่ในโพลงต้นเลียบนั้นหลายตัว ออกประหลาดใจเพราะเคยสำคัญมาแต่ก่อนว่าตุ๊กแกมีแต่ตามบ้านผู้เรือนคน เพิ่งไปรู้เมื่อครั้งนั้นว่าตุ๊กแกป่าก็มี ต่อนั้นมาอีกหลายปี ฉันตามเสด็จไปเมืองชวาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ตอนเสด็จไปทอดพระเนตรภูเขาไฟโบรโม ประทับแรมอยู่ที่บนเขาโตสารี ห้องที่ฉันอยู่ในโฮเต็ลใกล้กับห้องของนักปราชญ์ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญวิชาสัตวศาสตร์คนหนึ่ง ซึ่งออกมาเที่ยวหาสัตว์แปลกๆ ทางตะวันออกนี้ จะเป็นเยอรมันหรือฮอลันดาหาทราบไม่ แต่ดูเป็นคนแก่แล้วพูดกันได้ในภาษาอังกฤษ จึงชอบพูดจาสนทนากัน แกบอกว่าที่ในป่าเมืองชวามีสัตว์ประหลาดอย่างหนึ่ง เวลาคนเดินทางนอนค้างอยู่ในป่า มันมักลอบมาอมหัวแม่ตีนดูดเลือดไปกิน คนนอนไม่รู้สึกตัวเป็นแต่อ่อนเพลียไปจนถึงตายก็มี ฉันว่าสัตว์อย่างนั้นในเมืองไทยก็มี เรียกว่า “โป่งค่าง” ฉันเคยได้ยินเขาเล่าว่ามันลอบดูดเลือดคนกินเช่นนั้น แต่ฉันไม่เคยเห็นรูปร่างของมันว่าเป็นอย่างไร แกบอกว่าแกหาตัวสัตว์อย่างนั้นได้ที่ในเมืองชวาหลายตัว ฉันอยากเห็น แกจึงพาเข้าไปดูในห้องสำนักงานของแก เห็นเอาใส่ขวดแช่เหล้าไว้ เข้าไปพิจารณาดูก็ตุ๊กแกเรานี่เอง จึงหวนรำลึกขึ้นทันทีถึงตุ๊กแกในโพรงต้นเลียบที่บกอินทนิล คงเป็นตุ๊กแกป่านั่นเองที่เราเรียกกันว่า ตัวโป่งค่าง

เมื่อฉันไปพักอยู่ที่เมืองระนอง ก็มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สมัยนั้นยังไม่มีตำรวจภูธร กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงจัดให้ทหารเรือหมวดหนึ่ง มีนายทหารเรือคุมไปสำหรับรักษาที่พักของฉัน ทหารเรือพวกนั้นจึงไปด้วยกันกับฉันจนถึงเมืองระนอง วันหนึ่งฉันกำลังนั่งอยู่กับพระยาระนอง (คอซิมก้อง ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาดำรงสุจริตฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลชุมพร) และพระกระบุรี (คอซิมบี้ ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต) ข้าราชการที่ไปกับฉันก็นั่งอยู่ด้วยหลายคน ขณะนั้นนายทหารเรือเข้าไปบอกว่าทหารเรือป่วยไปคนหนึ่ง อาการเป็นไข้ตัวร้อนและมีเม็ดผุดขึ้นตามผิวหนัง ดูเหมือนจะออกฝีดาษ พอพระยาระนองกับพระกระบุรีได้ยินก็ตกใจ ออกปากว่าน่าจะเกิดลำบากเสียแล้ว เพราะราษฎรแถวนั้นยังกลัวฝีดาษยิ่งนัก ผิดกับชาวหัวเมืองชั้นใน ถ้ารู้ว่ามีคนออกฝีดาษอยู่ที่นั่นเห็นจะพากันหลบหนี ไม่มีใครทำการรับเสด็จ ฉันก็ตกใจ ถามว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าเมืองทั้งสองคนบอกว่า ตามประเพณีของราษฎรทางนั้น ถ้ามีคนออกฝีดาษที่บ้านไหน พวกชาวบ้านช่วยกันปลูกทับกระท่อมให้คนเจ็บไปอยู่ต่างหาก หายาและข้าวปลาอาหารไปวางไว้ให้ที่กระท่อม แล้วพวกชาวบ้านพากันทิ้งบ้านเรือนไปอยู่เสียให้ห่างไกล จนคนไข้หายสนิทจึงกลับมา ถ้าคนไข้ตายก็เผาเสียให้สูญไปด้วยกันกับกระท่อม เขาอยากให้ฉันส่งทหารเรือคนที่เจ็บไปไว้ที่เกาะว่างผู้คน กลางลำน้ำปากจั่น เขาจะให้ไปปลูกทับกระท่อมที่อาศัย และจะลองหาคนที่ออกฝีดาษแล้วไปช่วยอยู่รักษาพยาบาล มิฉะนั้น ถ้าฉันพาคนไข้กลับไปด้วย ไปถึงไหนราษฎรที่มาทำงานอยู่ที่นั่นก็คงพากันหลบหนีไปหมด ฉันสงสารทหารเรือคนไข้ ยังมิรู้ที่จะว่าประการใด พระทิพจักษ์ฯ หมอที่ไปประจำตัวฉันพูดขึ้นว่า จะไปตรวจดูเสียให้แน่ก่อน แกไปสักครู่หนึ่งเดินยิ้มกลับมา บอกว่าไม่ต้องทรงพระวิตกแล้ว คนเจ็บเป็นแต่ออกอีสุกอีใสมิใช่ฝีดาษ เพราะเม็ดที่ขึ้นห่างๆ กันไม่เป็นพืดเหมือนเม็ดฝีดาษ พิษไข้ก็ไม่ร้ายแรงเหมือนอย่างออกฝีดาษ รักษาไม่กี่วันก็หาย ได้ฟังดังนั้นก็โล่งใจไปด้วยกันหมด ขากลับจากเมืองระนอง พระทิพจักษ์ฯ แกรับคนไข้มาในเรือลำเดียวกับแก เมื่อขึ้นเดินบก ฉันก็ให้จัดช้างตัวหนึ่งให้คนไข้นอนมาในสัปคับ นำหน้าช้างตัวที่ฉันขี่มาจนถึงเมืองชุมพร รักษาต่อมาไม่กี่วันก็หายเป็นปรกติ ต่อเมื่อคนไข้หายสนิทแล้ว พระทิพจักษ์ฯ จึงกระซิบบอกฉันว่า ที่จริงทหารเรือคนนั้นออกฝีดาษนั่นเอง แต่ออกอย่างบางพิษสงไม่ร้ายแรง แกเห็นพอจะพามาได้จึงคิดเอากลับมา ฉันก็มิรู้ที่จะว่าประการใด นอกจากขอบใจ เพราะรอดลำบากมาได้ด้วยมายาของแก

เมื่อเสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกเมื่อ ร.ศ.๑๐๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้โดยพิสดาร พิมพ์อยู่ในหนังสือ “เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู” แล้ว ฉันจะเล่าแต่เรื่องเสือใหญ่ต่อไป เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ต่อมาไม่ช้าใน พ.ศ.๒๔๓๓ นั่นเอง ได้ข่าวว่าเสือใหญ่ที่เมืองชุมพรถูกยิงตายแล้ว ฉันอยากรู้เรื่องที่ยิงเสือตัวนั้น ให้สืบถาม ได้ความว่าชาวเมืองชุมพรคนหนึ่ง มีกิจธุระจะต้องเดินทางไปในป่า เอาปืนติดมือไปด้วย แต่มิได้ตั้งใจจะไปยิงเสือ เดินไปในเวลากลางวัน พอเลี้ยวต้นไม้ที่บังอยู่ริมทางแห่งหนึ่งก็เจอะ อ้ายเป๋ เสือใหญ่ประชันหน้ากันใกล้ๆ ชายคนนั้นมีสติเพียงลดปืนลงจากบ่า ขึ้นนกหลับตายิงไปตรงหน้าแล้วก็ทิ้งปืน วิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเพราะพบเสือใกล้ๆ ข้างฝ่ายเสือก็เห็นจะไม่ได้คาดว่าจะพบคน คงยืนชะงักอยู่ ลูกปืนจึงถูกที่หัวเสือตายอยู่กับที่ สิ้นชีวิตเสือใหญ่เพียงนั้น แต่ยังไม่หมดเรื่อง ฉันนึกถึงความหลังเกิดอยากได้หนังหรือหัวกะโหลกเสือตัวนั้น ให้ไปถามหา ได้ความว่า เมื่ออ้ายเป๋ถูกยิงตายแล้ว กำนันนายตำบลเอาซากไปส่งต่อพระยาชุมพร (ยัง) พระยาชุมพรออกเงินให้เป็นบำเหน็จแก่คนยิง แล้วได้ซากเสือไว้มิรู้ที่จะทำอย่างไร มีเจ๊กไปขอซื้อว่าจะเอาไปทำยา พระยาชุมพรก็เลยขายซากให้เจ๊กไป ฉันให้ลงไปถามหาช้าไปจึงไม่ได้หนังหรือหัวกะโหลกอ้ายเป๋ดังประสงค์ เป็นสิ้นเรื่องเสือใหญ่เมืองชุมพรเพียงเท่านี้. 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 14 มกราคม 2567 19:10:35 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๔ เรื่องห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ

มีคติโบราณถือกันมาแต่ก่อนว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี จะห้ามมาแต่เมื่อใด ห้ามเพราะเหตุใด ถ้าเจ้านายขืนเสด็จไป จะเป็นอย่างไร สืบสวนก็ไม่ได้ความเป็นหลักฐาน เป็นแต่อ้างกันต่างๆ ว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า เกรงจะทำอันตรายบ้าง ว่ามีอะไรเป็นอัปมงคลอยู่ที่เมืองสุพรรณ เคยทำให้เจ้านายที่เสด็จไปเสียพระจริตบ้าง แต่เมื่อมีคติโบราณห้ามอยู่อย่างนั้น เจ้านายก็ไม่เสด็จไปเมืองสุพรรณ เพราะไม่อยากฝ่าฝืนคติโบราณหรือไม่กล้าทูลลา ด้วยเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่พระราชทานอนุญาตให้ไป อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าเจ้านายพระองค์ไหนได้เคยเสด็จไปเมืองสุพรรณ จนมาตกเป็นหน้าที่ของฉันที่จะเป็นผู้เพิกถอนคตินั้น ดูก็ประหลาดอยู่

เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในปีนั้นฉันออกไปตรวจหัวเมืองต่างๆ ทางฝ่ายเหนือ ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึงเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วกลับลงมาทางเมืองกำแพงเพชร มาประจบทางขาขึ้นที่เมืองนครสวรรค์ แล้วล่องลงมาถึงเมืองอ่างทอง หยุดพักอยู่ ๒ วัน สั่งเจ้าเมืองกรมการให้หาม้าพาหนะ กับคนหาบหามสิ่งของ เพื่อจะเดินทางบกไปเมืองสุพรรณบุรี เวลานั้นพระยาอินทรวิชิต (เถียร) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง แกได้รับราชการในกรมมหาดเล็กแต่ในรัชกาลที่ ๔ เคยอุ้มฉันมาเมื่อยังเป็นเด็ก จึงคุ้นกันสนิทกว่าขุนนางที่เป็นชาวหัวเมือง แต่สังเกตดูแกไม่เต็มใจจะให้ฉันไปเมืองสุพรรณ บอกว่าหนทางไกลไม่มีที่จะพักแรม และท้องทุ่งที่จะเดินทางไปก็ยังเป็นน้ำเป็นโคลน ถ้าฉันไปเกรงจะลำบากนัก ฉันตอบว่าเมื่อขึ้นไปเมืองเหนือได้เคยเดินบกทางไกลๆ มาหลายแห่งแล้ว เห็นพอจะทนได้ไม่เป็นไรดอก ทั้งได้สั่งให้เรือไปคอยรับอยู่ที่เมืองสุพรรณ พวกเมืองสุพรรณรู้กันอยู่หมดว่าฉันจะไป ถ้าไม่ไปก็อายเขา แกได้ฟังตอบก็ไม่ว่ากระไรต่อไป แต่แกไม่นิ่ง ออกจากฉันแกไปหาพระยาวรพุทธิโภคัย ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในข้าราชการที่ไปกับฉัน ไปถามว่า “นี่ในกรมท่านไม่ทรงทราบหรือว่า เขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ ทำไมเจ้าคุณไม่ทูลห้ามปราม” พระยาวรพุทธิฯ ก็เห็นจะออกตกใจมาบอกฉันตามคำที่พระยาอ่างทองว่า ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้กลับไปถามพระยาอ่างทอง ว่าห้ามเพราะเหตุใดแกรู้หรือไม่ พระยาอ่างทองบอกมาว่า “เขาว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ถ้าเสด็จไปมักทำให้เกิดภัยอันตราย” ฉันได้ฟังก็เข้าใจในขณะนั้นว่า เหตุที่พระยาอ่างทองไม่อยากให้ฉันไปเมืองสุพรรณ คงเป็นเพราะแกมีความภักดีต่อพระราชวงศ์ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายแก่ฉัน จึงห้ามปราม ถ้าเป็นเจ้านายพระองค์อื่นก็เห็นจะคิดอุบายบอกปัด ไม่จัดพาหนะถวาย แต่ตัวฉันเผอิญเป็นทั้งเจ้าและเป็นนายของแกในตำแหน่งราชการ ไม่กล้าบอกปัด จึงพยายามห้ามอย่างนั้น ฉันสั่งพระยาวรพุทธิฯ ให้ไปชี้แจงแก่พระยาอ่างทองว่า ฉันเคยได้ยินมาแล้วว่าไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณ แต่ยังไม่รู้ว่าห้ามเพราะเหตุใด เมื่อได้ฟังคำอธิบายของพระยาอ่างทองว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย ฉันคิดว่าเทพารักษ์มีฤทธิ์เดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงเพียงนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก ไม่เห็นว่าน่าวิตกอย่างไร พระยาอ่างทองจนถ้อยคำสำนวน ก็ไม่ขัดขวางต่อไป

ฉันออกจากเมืองอ่างทองแต่พอรุ่งเช้า ต้องลงเรือข้ามลำน้ำน้อยที่ตั้งเมืองวิเศษชัยชาญแต่ก่อน แล้วขี่ม้าต่อไป ท้องที่ในระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณเป็นทุ่งตลอดทาง เวลานั้นเป็นต้นฤดูแล้ง บางแห่งแผ่นดินแห้งพอขี่ม้าควบได้ บางแห่งยังไม่แห้งสนิทได้แต่ขี่สะบัดย่าง บางแห่งก็เป็นน้ำเป็นโคลนต้องให้ม้าเดินลุยน้ำไป แต่เป็นที่นา มีหมู่บ้านราษฎรเป็นระยะออกไปจนใกล้จะต่อแดนเมืองสุพรรณจึงเป็นป่าพง ที่ว่างอยู่ตอนหนึ่งเรียกว่า “ย่านสาวร้องไห้” ชื่อนี้เคยได้ยินเรียกหลายแห่ง หมายความเหมือนกันหมด ว่าที่ตอนนั้นเมื่อถึงฤดูแล้งแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ ฉันขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนสาย ออกจะหิว เหลียวหาคนพวกหาบอาหารก็ตามไม่ทัน ถึงบ้านชาวนาแห่งหนึ่ง มีพวกชาวบ้านพากันออกมานั่งคอยรับ และมีแก่ใจหาสำรับกับข้าวตั้งเรียงไว้ที่หน้าบ้าน เตรียมเลี้ยงพวกฉันที่จะผ่านไป ฉันลงจากม้าไปปราศรัยแล้วเปิดฝาชีสำรับดู เห็นเขาหุงข้าวแดงแต่เป็นข้าวใหม่ในปีนั้นมาเลี้ยงกับปลาแห้งปีใหม่นั้นเหมือนกัน นอกจากนั้นมีกับข้าวอย่างอื่นอีกสักสองสามสิ่งซึ่งไม่น่ากิน แต่เห็นข้าวใหม่กับปลาแห้งก็อยากกินด้วยกำลังหิว เลยหยุดพักกินข้าวที่ชาวบ้านเลี้ยง อร่อยพิลึก ยังไม่ลืมจนบัดนี้ สังเกตดูชาวบ้านเห็นพวกเรากินเอร็ดอร่อย ก็พากันยินดี ข้าวปลาบกพร่องก็เอามาเพิ่มเติมจนกินอิ่มกันหมด คงรู้สึกว่าหามาไม่เสียแรงเปล่า เมื่อกินอิ่มแล้วฉันวางเงินปลีกให้เป็นบำเหน็จทุกสำรับ

ตรงนี้จะเล่าถึงเรื่องชาวบ้านเลี้ยงคนเดินทางเลยไปอีกสักหน่อย เคยสังเกตมาดูเหมือนชาวเมืองไทยไม่เลือกว่าอยู่หัวเมืองไหนๆ ถ้ามีแขกไปถึงบ้าน ชอบเลี้ยงอาหารด้วยความอารีมิได้ปรารถนาจะเรียกค่าตอบแทนอย่างไร จะว่าเป็นธรรมดาของชนชาติไทยก็เห็นจะได้ ฉันเคยได้ยินคนไปเที่ยวตามหัวเมืองแม้จนฝรั่ง มาเล่าและชมเช่นนั้นเป็นปากเดียวกันหมด ฉันได้เคยเห็นเป็นอย่างประหลาดครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ “ประพาสต้น” (คือมิให้ใครรู้จัก) เวลาเย็นวันหนึ่งทรงเรือพายไปในทุ่งทางคลองดำเนินสะดวก ไปถึงบ้านชาวไร่แห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นผู้หญิงกำลังตั้งสำรับไว้จะกินอาหารเย็นกับลูกหลาน พอแลเห็นพระองค์ แกสำคัญว่าเป็นข้าราชการที่ตามเสด็จ เชิญให้เสวยอาหารที่แกตั้งไว้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นสนุกก็รับเชิญ แล้วตรัสชวนพวกที่ตามเสด็จเข้านั่งล้อมกินด้วยกัน แต่ในขณะเมื่อกำลังเสวยอยู่นั้น ลูกชายเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ มันนั่งแลๆ อยู่สักครู่หนึ่งออกปากว่า “เหมือนนัก” แล้วว่า “แน่แล้ว” ลุกขึ้นนั่งคุกเข่ากราบในทันที พวกเราถามว่าเหมือนอะไร มันบอกว่า “เหมือนรูปเจ้าชีวิตที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา” เลยฮากันทั้งวง เจ้าของบ้านได้พระราชทานเงินตอบแทนกว่าค่าอาหารหลายเท่า เวลาตัวฉันเองไปตรวจราชการตามหัวเมือง ไปพักร้อนหรือพักแรมใกล้หมู่บ้านที่ไหน พวกชาวบ้านก็มักหาสำรับกับข้าวมาให้โดยมิได้มีผู้ใดสั่งเสีย แม้ขบวนเสด็จพระราชดำเนินก็ทำเช่นนั้น โดยประสงค์จะเลี้ยงพวกบริพาร พระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานเงินปลีกวางไว้ในสำรับตอบแทนเสมอเป็นนิจ ฉันเองก็ทำเช่นนั้น เพื่อจะรักษาประเพณีที่ดีของไทยไว้มิให้เกิดท้อถอย เพราะเห็นว่าทำคุณไม่ได้รับความขอบใจ เปรียบเหมือนเลี้ยงพระไม่สวด ยถาสัพพี แต่คนเดินทางที่เป็นสาธุชน เขาก็ตอบแทนอย่างไรอย่างหนึ่งเหมือนกัน ยังมีอนุสนธิต่อจากการกินไปถึงที่พักนอนของคนเดินทาง ในเมืองไทยนี้ดีอีกอย่างหนึ่งที่มีวัดอยู่ทั่วทุกหนแห่ง บรรดาคนเดินทางถ้าไปโดยสุภาพ ก็เป็นที่หวังใจได้ว่า จะอาศัยพักแรมที่วัดไหน พระสงฆ์ก็มีความอารีต้อนรับให้พักที่วัดนั้นเหมือนกันหมดทุกแห่ง การเดินทางในเมืองไทยจึงสะดวกด้วยประการฉะนี้

พ้นทุ่งนาในแขวงเมืองอ่างทอง ต้องฝ่าพงย่านสาวร้องไห้ไปสักชั่วนาฬิกาหนึ่ง ก็ออกท้องทุ่งนาในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เมื่อใกล้จะถึงชานเมืองแลเห็นต้นตาลเป็นป่าใหญ่ คล้ายกับที่เมืองเพชรบุรี นึกขึ้นถึงนิทานที่ได้เคยฟังเขาเล่าเมื่อตามเสด็จไปเมืองเพชรบุรีแต่ฉันยังเป็นทหารมหาดเล็ก ซึ่งอ้างเป็นมูลของภาษิตว่า “เมืองสุพรรณมีต้นตาลน้อยกว่าเมืองเพชรบุรีต้นเดียว” ดูก็ขันอยู่ นิทานนั้นว่ามีชายชาวสุพรรณ ๒ คนไปยังเมืองเพชรบุรี วันหนึ่งเพื่อนฝูงชาวเมืองเพชรหลายคน ชวนให้ไปกินเหล้าที่โรงสุรา พอกินเหล้าเมาตึงตัวเข้าด้วยกัน ก็คุยอวดอ้างกันไปต่างๆ ตามประสาขี้เมา คนที่เป็นชาวเมืองเพชรคนหนึ่ง อวดขึ้นว่าที่เมืองไหนๆ ไม่มีต้นตาลมากเหมือนที่เมืองเพชรบุรี คนที่เป็นชาวสุพรรณขัดคอว่าที่เมืองสุพรรณมีต้นตาลมากกว่าเมืองเพชรเป็นไหนๆ คนชาวเมืองเพชรออกเคือง ว่าเมืองสุพรรณเล็กขี้ปะติ๋ว เมืองอื่นที่ใหญ่กว่าเมืองสุพรรณก็ไม่มีต้นตาลมากเท่าเมืองเพชรบุรี คนชาวเมืองสุพรรณขัดใจตอบว่าอะไรๆ ที่เมืองสุพรรณมีดีกว่าเมืองเพชรถมไป ทำไมต้นตาลจะมีมากกว่าไม่ได้ เลยเถียงกันจนเกิดโทสะทั้งสองฝ่ายเกือบจะชกกันขึ้น คนชาวสุพรรณเห็นพวกเมืองเพชรมากกว่าก็รู้สึกตัว ยอมรับว่า “เอาเถอะ ต้นตาลเมืองสุพรรณมีน้อยกว่าเมืองเพชรต้นหนึ่ง” พวกชาวเมืองเพชรชนะก็พอใจเลยดีกันอย่างเดิม เขาเล่ามาดังนี้

ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณเป็นทางไกล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระยาอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็น ฉันรู้สึกเพลียถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่าเมื่อไรจะถึงหลายหน จนจวนพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี แต่พอถึงก็รู้เรื่องแปลกประหลาด ด้วยพวกกรมการเมืองสุพรรณที่คอยรับอยู่ มีแต่พระชัยราชรักษาปลัดเป็นหัวหน้า หาเห็นตัวพระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองไม่ ฉันถามพระปลัดว่าพระยาสุพรรณเจ็บหรือ เขาบอกว่าเข้าไปกรุงเทพฯ ฉันแปลกใจถามต่อไปว่าไปแต่เมื่อไร เขาบอกว่าไปเมื่อสักสองสามวันนี้เอง ก็ยิ่งประหลาดใจ ว่าตัวฉันเป็นเสนาบดีไปตรวจราชการครั้งแรก ชอบที่เจ้าเมืองจะคอยรับเหมือนอย่างเมืองอื่นๆ ที่ได้ไปแล้ว นี่อย่างไรพระยาสุพรรณจึงหลบหน้าไปเช่นนั้น ในส่วนตัวพระยาสุพรรณคนนั้นก็เคยรู้จักกับฉันมาแต่ก่อน และมิได้มีเหตุที่จะรังเกียจกันอย่างไร นึกว่าน่าจะมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้แกไม่อยู่สู้หน้าฉัน พอรุ่งขึ้นวันหลังก็รู้เหตุ ด้วยราษฎรพากันมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุพรรณหลายพวก ว่ากดขี่ให้เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ แต่รวมความก็อยู่ในว่าลงเอาเงินแก่ราษฎร ไม่ถึงเป็นคดีอุกฉกรรจ์ เห็นเรื่องราวเหล่านั้นฉันก็เข้าใจว่าเหตุใดพระยาสุพรรณจึงไม่อยู่สู้หน้า คงเป็นเพราะแกรู้ว่าจะถูกราษฎรฟ้อง และรู้ตัวว่าคงจะต้องถูกเอาออกจากตำแหน่ง แต่เกรงว่าฉันจะชำระโทษที่เมืองสุพรรณให้ได้ความอัปยศอดสู จึงหลบเข้าไปกรุงเทพฯ เหมือนอย่างว่า “หนีไปตายเอาดาบหน้า” โดยจะชำระสะสางก็ให้เป็นในกรุงเทพฯ อย่าให้อับอายชาวเมืองสุพรรณเท่านั้นเอง แต่ฉันไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ตั้งใจแต่จะไปหาความรู้กับจะดูว่ามีคนดีๆ อยู่ที่ไหนบ้าง มิได้ปรารถนาจะไปเที่ยวค้นคว้าหาความผิดของเจ้าเมืองกรมการสมัยนั้น ไปตามเมืองอื่นก็ไม่ได้ผลัดเปลี่ยนเจ้าเมืองกรมการ จนมาถึงเมืองสุพรรณอันเป็นที่สุดทางมามีเหตุเจ้าเมืองหลบหนี ก็มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างไรอย่างหนึ่งให้เด็ดขาด มิฉะนั้นก็จะถูกดูหมิ่น ฉันจึงสั่งให้ถือเป็นยุติว่าพระยาสุพรรณไม่ได้เป็นเจ้าเมืองต่อไปแล้ว ส่วนคดีที่ราษฎรยื่นเรื่องราวก็ให้เป็นแล้วกันไป ด้วยพระยาสุพรรณถูกเอาออกจากตำแหน่งนั้นแล้ว ฉันรับกับราษฎรว่าจะหาเจ้าเมืองที่ดีส่งไป มิให้เบียดเบียนให้เดือดร้อน พวกที่ยื่นเรื่องราวก็พอใจ

เมื่อฉันพักอยู่ที่เมืองสุพรรณครั้งนั้น มีเวลาไปเพียงที่เจดีย์วัตถุที่สำคัญ เช่นวัดมหาธาตุและวัดพระป่าเลไลยก์ สระน้ำสรงราชาภิเษก และไปทำพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นศาลไม้เก่าคร่ำคร่า มีเทวรูปพระพิษณุแบบเก่ามากจำหลักศิลาตั้งอยู่ ๒ องค์ ฉันรับเป็นหัวหน้าชักชวนพวกชาวเมืองสุพรรณ ให้ช่วยกันสร้างศาลใหม่ ให้เป็นตึกก่ออิฐถือปูนและก่อเขื่อนถมดินเป็นชานรอบศาล พวกพ่อค้าจีนช่วยแข็งแรงทั้งในการบริจาคทรัพย์และจัดการรักษา ดูเหมือนจะเริ่มมีเฮียกงประจำศาลตั้งแต่นั้นมา

เมืองสุพรรณ เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในทางโบราณคดี แต่จะรอเรื่องนั้นไว้พรรณนาในนิทานเรื่องอื่น จะพรรณนาว่าแต่ด้วยของบางอย่าง อันมีที่เมืองสุพรรณแปลกกับเมืองอื่นๆ บรรดาได้เคยเห็นมาแต่ก่อน คือ อย่างหนึ่งมีศาลเจ้ามากกว่าที่ไหนๆ หมด จะไปทางไหนๆ ในบริเวณเมือง เป็นแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสายตา เป็นศาลขนาดย่อมๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ด้วยไม้ไผ่มุงจากก็มี ล้วนมีผ้าแดงหรือผ้าสีชมพูห้อยไว้เป็นเครื่องหมาย สังเกตเพียงตรงที่จวนเจ้าเมือง มีศาลเจ้ารายรอบถึง ๔ ศาล อาการส่อว่าชาวเมืองสุพรรณเห็นจะกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาช้านาน ที่เรียกว่าเจ้าผีนั้นต่างกับเทพารักษ์ บอกอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เทพารักษ์คือเทวดาที่บุญพามาอยู่ประจำพิทักษ์รักษาอาณาเขตแห่งใดแห่งหนึ่งให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่เจ้าผีนั้นคือมนุษย์ที่สิ้นชีพไปแล้ว ผลกรรมทำให้ต้องท่องเที่ยวเป็นผีอยู่ ยังไม่สามารถไปถือกำเนิดเกิดใหม่ได้ ถ้าผีไม่ชอบใจใครก็อาจจะทำร้ายให้เดือดร้อนรำคาญ เพราะฉะนั้นคนจึงกลัวผี ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็ต้องเอาใจผี เช่นปลูกศาลให้สำนักและเซ่นวักเรียกว่า “เจ้า” มิให้ผีเบียดเบียน บางทีที่กล่าวกันว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณดุร้าย จะเกิดแต่ชาวสุพรรณเอาคติเจ้าผี ไปปนกับเทพารักษ์ก็เป็นได้

เมืองสุพรรณทำให้จับใจผิดกับที่อื่นอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเมืองเนื่องกับนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผน อันคนชอบกันแพร่หลาย ด้วยได้ฟังขับเสภาและจำเรื่องได้ยิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ตามที่กล่าวในเรื่องนิทานว่าขุนศรีวิชัยกับนางเทพทอง พ่อแม่ขุนช้าง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าสิบเบี้ยก็ดี ว่าบ้านพันศรโยธากับนางศรีประจัน พ่อแม่ของนางพิมพ์ อยู่ที่ตำบลท่าพี่เลี้ยงก็ดี ที่ว่าขุนช้างไปครองบ้านหมื่นแผ้วพ่อตาอยู่ที่ตำบลบ้านรั้วใหญ่ก็ดี ที่ว่าขุนช้าง พลายแก้ว กับนางพิมพ์ เมื่อยังเป็นเด็กเคยไปเล่นด้วยกันที่สวนข้างวัดเขาใหญ่ก็ดี ที่ว่าเณรแก้วอยู่วัดพระป่าเลไลยก์แล้วหนีไปอยู่วัดแคก็ดี ตำบลบ้านและวัดเหล่านั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง นอกจากนั้นในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ออกชื่อตำบลต่างๆ ในทางที่ไปว่า ออกทางประตูตาจอม ผ่านวัดตะลุ่มโปง โคกกำยาน นาแปลกแม่ ข้ามลำน้ำบ้านพลับถึงบ้านกล้วย ยุ้งทลาย ผ่านเขาถ้ำพระ ตำบลต่างๆ เหล่านี้ก็ยังมีอยู่ทั้งนั้น ใครเคยชอบอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผน ไปถึงเมืองสุพรรณก็ออกสนุกที่ได้ไปดูเมืองขุนช้างขุนแผนด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ตั้งแต่ฉันไปเมืองสุพรรณครั้งนั้นแล้ว เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ แม้ตัวฉันเองต่อมาก็ชอบไปเมืองสุพรรณ ได้ไปอีกหลายครั้ง เมื่อรัชกาลที่ ๕ ฉันได้รับราชการเป็นตำแหน่งผู้จัดการเสด็จประพาสมาแต่ยังเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ เมื่อมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้บังคับบัญชาการตามหัวเมือง หน้าที่นั้นก็ยิ่งสำคัญขึ้น เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงใคร่จะทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ ต้องคิดหาที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ปีหนึ่งฉันกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี ตรัสว่า “ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ” ฉันกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้” ทรงพระสรวลตรัสว่า “ไปซิ”

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมืองสุพรรณครั้งแรก ครั้งนั้นฉันไปล่วงหน้าวันหนึ่ง เพื่อจะตรวจทางและที่ประทับไปคอยรับเสด็จอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง วันที่ฉันไปถึงนั้นเวลาค่ำ พอกินอาหารแล้วฉันนั่งพูดอยู่กับพวกกรมการ พอสักยามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงยิงปืนนัด ๑ ฉันจึงสั่งกรมการว่าพรุ่งนี้ให้ไปบอกพวกชาวบ้านเสีย ว่าเวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นี่อย่าให้ยิงปืน พูดยังไม่ทันขาดคำได้ยินเสียงปืนยิงซ้ำอีกสองสามนัด เห็นผิดสังเกต พวกกรมการดูก็พากันฉงน ฉันว่า “เกิดปล้นกันดอกกระมัง นี่อย่างไรดูราวกับจะปล้นรับเสด็จ” สั่งให้กรมการกับตำรวจภูธรรีบไปในขณะนั้น กำชับให้จับตัวผู้ร้ายให้ได้ พวกกรมการไปได้สักประเดี๋ยว คนหนึ่งกลับมาบอกว่า “มิใช่ผู้ร้ายปล้นหามิได้ เป็นแต่พวกชาวบ้านยิงปืนจันทร์อังคาด” ฉันแหงนแลดูดวงพระจันทร์ก็เห็นแหว่งจริงดังว่า มีเสียงปืนยิงอีกสักครู่หนึ่งก็เงียบไป คงเป็นเพราะพวกกรมการกับตำรวจภูธรไปห้าม

ไทยเราเข้าใจกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าที่เกิดจันทร์อังคาดเป็นเพราะพระราหูเข้าจับจะกินพระจันทร์ รู้กันเช่นนั้นจนกระทั่งลูกเด็กเล็กแดง พอเห็นจันทร์อังคาธก็พอใจส่งเสียงอะไรแปลกๆ ขึ้นไปบนฟ้า หวังจะให้พระราหูตกใจทิ้งพระจันทร์ ทำนองเดียวกับขับนกให้ทิ้งข้าวในท้องนา ที่จริงมิใช่กลัวว่าพระจันทร์จะล้มตาย เป็นแต่จะช่วยให้พ้นความรำคาญเท่านั้น ยังเชื่อกันต่อไปว่าพระราหูมีแต่ครึ่งตัว เพราะฉะนั้นถ้าเห็นดวงพระจันทร์ผ่านพ้นเงามืดเฉียงไป ก็เข้าใจพระราหูต้อง “คาย” พระจันทร์ ถ้าเห็นดวงพระจันทร์มุดเงามืดตรงไป ก็เข้าใจว่าพระจันทร์หลุดเลยออกไปทางท้องพระราหู จึงมักถามกันว่า “ขี้หรือคาย” และประสงค์จะให้พระราหูต้องคายพระจันทร์ เมื่อมีจันทร์อังคาดแล้ว ต่อไปถึงวันหลังพอพระจันทร์ขึ้นก็มักทำขวัญพระจันทร์ด้วย เมื่อตัวฉันยังเป็นเด็กอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เวลามีจันทร์อังคาดเคยเห็นเขาเอาเชี่ยนขันตีช่วยพระจันทร์ เคยช่วยเขาตีเป็นการสนุกอย่างหนึ่ง เขาบอกว่าถึงไม่มีอะไรจะตีเพียงดีดเล็บมือให้มีเสียงก็อาจช่วยพระจันทร์ได้ ดูพิลึก แต่เวลาฉันไปหัวเมืองเพิ่งจะไปพ้องกับจันทร์อังคาดเมื่อวันนั้น เพิ่งเห็นได้ว่าความเชื่อเช่นกล่าวมา คงจะมีมาเก่าแก่ทีเดียว ในอินเดียถือคติต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเวลามีจันทร์อังคาดถ้าใครลงน้ำดำหัว เป็นสวัสดิมงคลยิ่งนัก พวกพราหมณ์พาคตินั้นเข้ามาเมืองไทยแต่โบราณเหมือนกัน จึงมีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษก เมื่อเวลาจันทร์อังคาดเป็นนิจ เพิ่งเลิกเมื่อรัชกาลที่ ๕

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปเมืองสุพรรณครั้งแรก เสด็จขึ้นไปทางลำน้ำนครชัยศรี ประพาสอำเภอสองพี่น้องก่อน แล้วเสด็จขึ้นไปยังเมืองสุพรรณบุรี ทอดพระเนตรสถานที่โบราณต่างๆ ทุกแห่ง เมื่อเสด็จไปทำพิธีพลีกรรมที่ศาลเทพารักษ์หลักเมือง โปรดพระราชทานเงินให้สร้างกำแพงแก้วกับศาลาที่พักขยายบริเวณศาลนั้นให้กว้างขวางออกไปอีก ประพาสเมืองสุพรรณแล้วเสด็จกลับทางคลองจระเข้ใหญ่ มาออกบ้านผักไห่ตาลานในจังหวัดอยุธยา แล้วเลยมาขึ้นรถไฟที่บางปะอินกลับกรุงเทพฯ ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๕๒ เมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งหลังแล้ว เสด็จไปประพาสเมืองสุพรรณบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เสด็จขึ้นไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงเมืองชัยนาท แล้วกลับล่องทางคลองมะขามเฒ่าเข้าปากน้ำเมืองสุพรรณข้างเหนือ ประพาสอำเภอเดิมบางนางบวชลงมาจนเมืองสุพรรณ แล้วเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีงิ้วรายมากรุงเทพฯ

ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเมืองสุพรรณแล้ว ก็ไม่มีใครพูดถึงคติที่ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณ เดี๋ยวนี้คนที่รู้ว่าเคยมีคติเช่นนั้นก็เห็นจะมีน้อยตัวแล้ว จึงเขียนนิทานรักษาโบราณคดีเรื่องนี้ไว้มิให้สูญไปเสีย. 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 20 มกราคม 2567 18:31:25 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๕  เรื่องของแปลกที่เมืองชัยปุระในอินเดีย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดให้ฉันเป็นผู้แทนพระองค์ ไปเยี่ยมตอบแกรนด์ดุ๊กซาเรวิตช รัชทายาทประเทศรัสเซีย (ต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒) ซึ่งได้เข้ามาเฝ้าถึงกรุงเทพฯ เมื่อต้นศกนั้น และโปรดให้ไปยังราชสำนักอื่นๆ ในยุโรป เพื่อถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระเจ้าแผ่นดินบ้าง เพื่อเจริญทางพระราชไมตรีบ้าง อีกหลายประเทศคือ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมนี รัสเซีย ตุรกี กรีซ และอิตาลี รวมเป็น ๘ แห่งด้วยกัน ในสมัยนั้นตัวฉันรับราชการเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งจะโปรดให้สถาปนาเป็นกระทรวงเสนาบดี เมื่อฉันไปยุโรปจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปว่า ขากลับจะอ้อมมาทางประเทศอเมริกาและญี่ปุ่น หรือจะกลับผ่านมาทางประเทศอียิปต์และอินเดียเพื่อตรวจตราหาความรู้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองก็ได้ เมื่อฉันไปถึงลอนดอนจึงปรึกษาพวกที่เขาเคยชำนาญการเที่ยวเตร่ ว่าจะกลับทางไหนดี เขาว่าฉันยังจะต้องไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรปอีกหลายแห่ง กว่าจะเสร็จธุระจะตกถึงปลายเดือนธันวาคม ไปอเมริกาในเวลานั้นเป็นฤดูหนาว ที่ในอเมริกาหนาวจัดนัก เกรงฉันจะทนไม่ไหว กลับทางอียิปต์และอินเดียดีกว่า เพราะเป็นเวลาสบเหมาะกับฤดูสำหรับเที่ยวทางนั้น เขาบอกอย่างเดียวกันหลายคน ฉันก็ลงความเห็นเป็นยุติว่าจะกลับทางอียิปต์และอินเดีย แต่เมื่อไถ่ถามผู้ที่ชำนาญทางอินเดีย ได้ความแปลกออกไปอย่างหนึ่งว่า การเที่ยวอินเดียในสมัยนั้นผิดกับเที่ยวในยุโรปเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง เป็นต้นว่าเที่ยวในยุโรป ถ้ามีเงินพอใช้ไปถึงไหนก็หาพาหนะและที่กินอยู่ได้ง่าย แต่ในอินเดียมีโฮเต็ลแต่ในเมืองใหญ่ แม้โฮเต็ลเหล่านั้นก็ไม่สะอาดสะอ้าน และต้องอยู่ปะปนกับผู้คนชั้นต่ำสำส่อน ไม่สบายเหมือนโฮเต็ลในยุโรป พวกชั้นผู้ดีที่ไปอินเดีย ถ้าเป็นข้าราชการก็ไปอยู่กับพวกข้าราชการด้วยกัน ถ้ามิใช่ข้าราชการเขาก็มักไปพักอยู่กับญาติและมิตรที่มีบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง มิใคร่มีใครไปอยู่โฮเต็ล อีกประการหนึ่ง เวลาออกจากเมืองใหญ่ไปเที่ยวตามเมืองน้อย ถ้าไม่ได้รับความสงเคราะห์ของรัฐบาลก็ลำบาก เพราะไม่มีที่พัก นอกจากเป็นของรัฐบาล เมื่อทราบดังนี้ก็ออกวิตก ยังมิรู้ที่จะแก้ไขด้วยประการใดดี เผอิญสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย โปรดให้ฉันขึ้นไปเฝ้าที่พระราชวังแบลมอรัลในสก๊อตแลนด์ ทรงเลี้ยงกลางวันพระราชทานพร้อมกับพระราชโอรสธิดา เมื่อเสวยเสร็จ ควีนเสด็จขึ้นแล้ว พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (เวลานั้นยังเป็นปรินซ์ออฟเวลส์รัชทายาท) ตรัสชวนให้ไปกินกาแฟและสูบบุหรี่ในห้องที่ประทับของพระองค์ท่าน เมื่อทรงสนทนาปราศรัยตรัสถามฉันว่าจะทรงทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ฉันได้บ้าง ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่จะไปอียิปต์และอินเดีย จึงทูลว่ามีการอย่างหนึ่งถ้าโปรดทรงสงเคราะห์ได้ จะเป็นประโยชน์แก่ฉันมาก ด้วยขากลับบ้านเมือง ฉันอยากจะแวะดูประเทศอียิปต์และอินเดีย แต่ไม่รู้จักกับใคร ถ้าโปรดตรัสแก่รัฐบาลให้ช่วยสงเคราะห์พออย่าให้มีความลำบาก เมื่อไปถึงประเทศนั้นๆ จะเป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ท่านตรัสรับว่าจะจัดประทานตามประสงค์ ฉันขอบพระหฤทัยและทูลลามา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ ทรงทำอย่างไรฉันไม่ทราบ แต่เมื่อใกล้เวลาที่ฉันจะออกจากยุโรป กระทรวงการต่างประเทศถามมายังสถานทูตไทยว่า กำหนดฉันจะไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรียท่าขึ้นประเทศอียิปต์วันใด ได้ทราบก็แน่ใจว่ารัฐบาลอังกฤษคงสงเคราะห์ตามกระแสรับสั่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗

เมื่อเสร็จราชการในยุโรปแล้ว ฉันลงเรือที่เมืองบรินดีสี ประเทศอิตาลี พอเรือไปถึงเมืองอะเล็กซานเดรีย กงสุลเยเนราล อังกฤษที่เมืองนั้นลงมารับที่ในเรือ แล้วพาไปส่งสถานีรถไฟขึ้นรถไฟไปถึงเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอ (ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในอียิปต์) เวลานั้นยังเป็นเซอร์เอเวลิน แบริง มาคอยรับอยู่ที่สถานีรถไฟ พาขึ้นรถไปส่งที่โฮเต็ลเชปเหิดส์ อันเป็นโฮเต็ลใหญ่ที่สำนักของพวกผู้ดีที่ไปเที่ยวอียิปต์ เมื่อถึงโฮเต็ลแล้วจึงได้ทราบความอย่างประหลาดใจ ว่าพระเจ้าติวฟิกซึ่งเป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ (คงได้ทราบจากลอร์ดโครเมอ) โปรดให้รับเป็นแขกเมือง มีราชองครักษ์คนหนึ่งมาอยู่ประจำกับฉัน เวลาจะไปไหนๆ ก็มียานของหลวงจัดมาให้ใช้ ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ ใช้รถเทียมม้าคู่มีคนถือแส้วิ่งนำหน้ากันคน ๒ ข้าง ถ้าไปเที่ยวทางทะเลทราย เช่นไปดูเจดีย์พีระมิด ก็จัดอูฐระหว่างในผูกเครื่องอานกาไหล่ทองและกำมะหยี่ปักไหมทองมาให้ขี่ ทั้งมีการเลี้ยงอย่างใหญ่ประทานที่ในวัง เสร็จเลี้ยงพาไปดูละครออปะราด้วยครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายอังกฤษ ลอร์ดโครเมอก็มีการเลี้ยง และผู้บัญชาการทหารก็พาไปดูทหารซ้อมรบ ทั้งได้ไปดูวัตถุสถานของโบราณที่สำคัญแทบทุกแห่ง ฉันพักอยู่ที่เมืองไคโร ๔ วัน (ได้พบเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส์ ดังเล่าเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า) ออกจากเมืองไคโร ขึ้นรถไฟไปลงเรือที่เมืองอิสไมเลีย แล่นต่อมาในคลองสุเอซจนออกทะเลแดงทางมาอินเดีย พอลงเรือเมล์ถึงบอมเบย์ ก็มีข้าราชการอังกฤษ ๒ คนคุมเรือของเจ้าเมืองออกมารับ คนหนึ่งเป็นนายพันตรี ชื่อเฮส์ แสดเลอ มาบอกว่า ลอร์ดแลนสดาวน์ ผู้เป็นอุปราช (ไวสรอย) ครองอินเดียให้มาเชิญฉันเป็นแขกของรัฐบาลตลอดเวลาที่อยู่ในอินเดีย และให้ตัวเขาเป็นผู้มาอยู่ประจำด้วย อีกคนหนึ่งจะเป็นตำแหน่งอะไรในสำนักเจ้าเมืองบอมเบย์ และชื่อไร ฉันลืมไปเสียแล้ว มาบอกว่าลอร์ดแฮริส เจ้าเมืองบอมเบย์ให้เอาเรือมารับ และขอเชิญไปพักอยู่ ณ จวนเจ้าเมือง ตลอดเวลาที่ฉันอยู่เมืองบอมเบย์ ได้ฟังก็ยิ่งประหลาดใจ ด้วยเดิมประสงค์แต่เพียงจะให้รัฐบาลอินเดียช่วยสงเคราะห์พอมิให้มีความลำบาก แต่จะเที่ยวในอินเดียด้วยทุนของตนเอง มากลายเป็นรับอย่างแขกเมืองซึ่งรัฐบาลเลี้ยงดูให้อยู่กิน และจัดพาหนะให้เที่ยวเตร่ทุกอย่างหมด ก็ต้องขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ กับทั้งรัฐบาลอังกฤษยิ่งขึ้น พอลงเรือหลวงมาถึงท่าขึ้นบก ปืนใหญ่ยิงสลุตรับ ๒๑ นัด แล้วขึ้นรถมีทหารม้าแซงทั้งสองข้างแห่ไปยังบ้านเจ้าเมือง อันอยู่ริมชายทะเลที่ปลายแหลม พบลอร์ดแฮริสกับภรรยาคอยรับอยู่ที่นั่น เมื่อถึงบ้านเจ้าเมืองแล้วทราบความต่อไปอีก ว่ารัฐบาลอินเดียได้คิดกะโปรแกรมที่ฉันจะเที่ยวในอินเดียไว้ให้ และได้บอกไปตามท้องที่ให้ทราบล่วงหน้าแล้ว พอฉันถึงเมืองบอมเบย์ก็ได้รับโทรเลขของเจ้าประเทศราชหลายองค์ คือมหาราชาไนสัม ผู้ครองนครไฮเดอราบัดองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครบาโรดาองค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครชัยปุระ (เรียกว่าไชปัว) องค์หนึ่ง มหาราชาผู้ครองนครเบนารีส (คือเมืองพาราณสี) องค์หนึ่ง ล้วนเชิญให้เป็นแขกเมืองเมื่อฉันไปประเทศนั้นๆ ต้องมีโทรเลขตอบรับและขอบพระทัยไปตั้งแต่ยังไม่รู้จักกันทุกพระองค์ ระยะทางที่รัฐบาลอินเดียกะให้ฉันเที่ยวครั้งนั้น ออกจากเมืองบอมเบย์ไปเมืองไฮเดอราบัด ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายใต้ก่อน กลับจากเมืองไฮเดอราบัดย้อนทางมาข้างเหนือ ผ่านเมืองบอมเบย์ขึ้นไปเมืองบาโรดา เมืองประยาคะแต่โบราณ เดี๋ยวนี้เรียกว่าเมืองอะมะดะบัด เมืองชัยปุระ ภูเขาอาบูที่มีวัดในศาสนาเชน (ชินะ) ทำงามมาก เมืองเดลี เมืองอัคระ เมืองพาราณสี เมืองคยา แต่แรกเขาไม่ได้กะจะให้ไปเมืองพุทธคยา เพราะไม่มีที่พัก แต่ฉันอยากจะไป ด้วยประสงค์จะไปบูชาเจดียสถานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เขาจึงเพิ่มลงในโปรแกรม ออกจากเมืองคยาไปเมืองกัลกัตตาแล้วไปเมืองดาร์จีลิ่ง (อันตั้งอยู่บนภูเขาหิมาลัย) แล้วกลับมาลงเรือที่เมืองกัลกัตตา มายังเมืองย่างกุ้ง เป็นที่สุดเขตประเทศอินเดียเพียงนั้น ฉันเที่ยวอยู่ในอินเดียเดือนครึ่ง ตอนออกจากเมืองย่างกุ้งลงเรือ “เศรษฐี” ของห้างโกหงวน (สกุล ณ ระนอง) จัดไปรับกลับมาขึ้นที่เมืองระนอง เดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงซึ่งออกไปรับ ณ เมืองชุมพร กลับมากรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔

การที่รัฐบาลอินเดียต้อนรับอย่างเป็นแขกเมืองครั้งนั้น เป็นเหตุที่ฉันได้เห็นอะไรแปลกๆ ในอินเดีย ผิดกับคนท่องเที่ยวสามัญหลายอย่าง โดยเฉพาะตามเมืองที่เป็นประเทศราช ด้วยเจ้าผู้ครองมักให้มีการต่างๆ อันนับว่าเป็นของควรอวดในเมืองนั้นให้ฉันดู หรือว่าอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็ทำนองเดียวกับไทยเรารับเจ้าต่างประเทศนั้นเอง แต่จะเขียนเล่าทุกอย่างไปยืดยาวนัก จะพรรณนาว่าแต่ด้วยเห็นของแปลกซึ่งพ้องกับของที่มีในเมืองไทยเรา โดยได้แบบแผนมาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ อันเป็นคติในทางโบราณคดี



ชนช้าง

ที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) มหาราชาให้มีการชนช้างให้ฉันดูที่ในวัง ราชวังของมหาราชาชัยปุระนั้นใหญ่โตมาก มีประตูทางเข้าหลายทาง มนเทียรที่ประทับ ที่ทำพิธี และที่ประพาส ตลอดจนโรงช้างต้นม้าต้น และสนามที่ฝึกหัดช้างม้า อยู่ในบริเวณราชวังทั้งนั้น วันแรกฉันไปเฝ้ามหาราชาเข้าทางประตูหนึ่งไปยังที่ท้องพระโรง มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษคล่องไม่ต้องมีล่าม แต่ต้อนรับตามประเพณีฝรั่ง วันรุ่งขึ้นก็ไปดูชนช้าง เข้าวังทางประตูอื่น ลงจากรถก็ถึงที่บันไดเชิงเทินก่อถมดิน เหมือนอย่างเชิงเทินที่เพนียดคล้องช้าง ณ พระนครศรีอยุธยา เดินไปตามทางบนเชิงเทินนั้น ดูข้างด้านในเป็นที่เลี้ยงช้างทั้งนั้น ช้างอยู่ในโรงยาวก็มี อยู่ในคอกเฉพาะตัวก็มี เห็นช้างตัวหนึ่งอยู่ในคอกมีโซ่ล่ามทั้ง ๔ เท้า แยกปลายโซ่ไปผูกไว้กับเสาหมอสายละต้น เขาบอกว่าเป็นช้างตกน้ำมัน และว่าเวลาช้างตัวใดตกน้ำมัน ก็เอาโซ่ล่ามไว้เช่นนั้นจนหายตกน้ำมันจึงเอาไปเลี้ยงอย่างปรกติตามเดิม เดินบนเชิงเทินต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง ถึงหัวเลี้ยวเป็นด้านสกัด มีสนามใหญ่อย่างเราเรียกว่า “สนามชัย” อยู่ข้างหน้าพลับพลาที่มหาราชาทอดพระเนตรอยู่บนเชิงเทินด้านสกัดนั้น ตรงหน้าเชิงเทินลงไปมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนแถวหนึ่ง สูงขนาดพอเสมอใต้ตาคนยืน และทำช่องให้คนลอดได้หลายทาง มีพวกกรมช้างอยู่ในกำแพงแก้วนั้นหลายคน พอพวกเรานั่งที่บนพลับพลาเรียบร้อยแล้ว สักประเดี๋ยวก็เห็นคนขี่ม้าแต่งตัวอย่างนายทหารอินเดียคนหนึ่ง ถือแพนเป็นไม้ลำยาวสักเท่าทวนมีพู่ผูกข้างปลาย ล่อช้างพลายตัวหนึ่งวิ่งเหย่าๆ ไล่ม้ามา เป็นช้างงาสูงราว ๕ ศอกเศษหลังเปล่าไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าสักหลาดสีแดงผืนใหญ่ผูกคลุมหลังผืนหนึ่งเท่านั้น ขณะนั้นมีนายทหารขี่ม้าถือแพนอีกคนหนึ่งล่อช้างพลายอีกตัวหนึ่งแต่งอย่างตัวก่อนเข้าสนามมาทางด้านข้างซ้าย แต่พอช้างสองตัวนั้นแลเห็นกัน ก็ผละจากม้าวิ่งตรงเข้าชนกัน ชนอยู่เพียงสัก ๒ นาทีเผอิญงาช้างตัวหนึ่งหักสะบั้น ผู้อำนวยการเห็น ก็ถามฉันทันทีว่าจะโปรดให้หยุดหรือยัง ฉันเข้าใจว่าเขาอยากให้หยุด ก็ตอบว่าหยุดเถิด แต่ยังนึกฉงนว่าเขาจะห้ามช้างอย่างไร เห็นเขาโบกมือให้สัญญาณ พวกกรมช้างที่แอบอยู่ในกำแพงแก้วก็จุดดอกไม้ไฟ อย่างไฟพะเนียงมีด้ามถือวิ่งตรงเข้าไปที่ช้าง ช้างกลัวไฟก็เลิกชน วิ่งหนีแยกกันไป พอช้างสองตัวไปห่างแล้ว คนก็ขี่ม้าเข้าไป เอาแพนล่อพาช้างกลับไปโรงทั้งสองตัว ได้ดูชนกันครู่เดียว ผู้อำนวยการเขาบอกให้ทราบเมื่อภายหลัง ว่าธรรมดาช้างชนนั้น ถ้าตัวไหนชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เห็นช้างตัวงาหักเสียทีกลัวจะเลยเสียช้าง จึงได้ขอให้รีบเลิกเสีย ฉันได้ดูชนช้างที่ชัยปุระแม้ดูเพียงครู่เดียวก็สนุกจับใจ ด้วยเป็นการอย่างหนึ่งในตำราคชศาสตร์แต่ดึกดำบรรพ์ซึ่งชาวอินเดียเขายังรักษามา เป็นแต่มาแปลงเป็นการกีฬาในสมัยเมื่อเลิกใช้ช้างรบพุ่งแล้ว ไทยเราก็มีวิชาคชศาสตร์คล้ายกับของชาวอินเดีย ดังจะพรรณนาในนิทานเรื่องอื่นต่อไปข้างหน้า


ฤๅษีดัดตน

วันหนึ่งเขาพาฉันไปดูพิพิธภัณฑสถานของเมืองชัยปุระ ไปเห็นรูปปั้นเป็นฤๅษีอย่างในอินเดีย ทำท่าต่างๆ เหมือนอย่างรูปฤๅษีดัดตนในวัดพระเชตุพนฯ แต่ขนาดย่อมๆ ตั้งเรียงไว้ในตู้ใบหนึ่ง ที่จริงควรฉันจะถามเขาว่ารูปอะไร แต่ฉันไปอวดรู้ถามเขาว่ารูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าดัดตนให้หายเมื่อยหรือ เขาตอบว่าไม่ใช่ แล้วบอกอธิบายต่อไปว่า รูปเหล่านั้นเป็นแบบท่าต่างๆ ที่พวกดาบสบำเพ็ญตบะเพื่อบรรลุโมกขธรรม ฉันได้ฟังก็นึกละอายใจ ไม่พอที่จะไปอวดรู้ต่อเขาผู้เป็นเจ้าของตำราเรื่องฤๅษีชีพราหมณ์ แต่ก็เกิดอยากรู้แต่นั้นมาว่าเหตุไฉนรูปฤๅษีดัดตนที่เราทำในเมืองไทย จึงไปพ้องกับท่าดาบสบำเพ็ญตบะของชาวอินเดีย เมื่อกลับมาจึงค้นหาตำราฤๅษีดัดตน พบอธิบายปรากฏในศิลาจารึกเรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ “ตั้งตำรายา และฤๅษีดัดตนไว้เป็นทาน” ตามศาลารายริมกำแพงวัดพระเชตุพนฯ รูปฤๅษีดัดตนสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นรูปปั้นและคงมีอักษรจารึกศิลาติดไว้ใกล้กับรูปฤๅษี บอกว่าดัดตัวท่านั้นแก้โรคอย่างนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนรูปฤๅษีเป็นหล่อด้วยดีบุก และโปรดให้พวกกวีแต่งโคลง ๔ ขนานชื่อฤๅษี และบอกท่าดัดตนแก้โรคอย่างใดๆ จารึกศิลาติดประจำไว้กับรูปภาพตัวละบทหนึ่ง เรียกรวมกันว่า “โคลงฤๅษีดัดตน” พบตำราว่าด้วยเรื่องฤๅษีหรือดาบสทำท่าต่างๆ มีอยู่ในเมืองไทยเพียงเท่านั้น จึงเป็นปัญหาว่าท่าฤๅษีดัดตนต่างๆ จะเป็นท่าตบะของดาบสอย่างเขาว่าที่เมืองชัยปุระ หรือเป็นท่าดัดตัวแก้โรคเมื่อยขบอย่างเช่นไทยถือเป็นตำรา ฉันไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไหนแน่มาช้านาน จนเมื่อออกมาอยู่เมืองปีนัง มีดาบสชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเคร่งครัดนัก มาบำเพ็ญตบะ ณ เมืองปีนัง พวกชาวอินเดียที่เลื่อมใสเรี่ยไรกันซื้อที่สร้างอาศรมให้ดาบสนั้นอยู่แห่งหนึ่ง ฉันไปดูเห็นที่ตรงกลางบริเวณก่อเป็นมณฑป ๘ เหลี่ยม หลังคาเป็นซุ้มมียอดอย่างแบบอินเดีย มีมุขเด็จข้างหน้าและเฉลียงโถงรอบมณฑป เห็นตัวดาบสนั่งขัดสมาธิเหมือนอย่างพระประธานอยู่บนเตียงหน้ามุขเด็จ เผอิญผู้อุปฐากพูดภาษาอังกฤษได้ บอกอธิบายให้รู้ว่าดาบสนั้นสมาทานตบะสองอย่าง คือเว้นวจีกรรมไม่พูดกับใครๆ หมดอย่างหนึ่ง กับนั่งสมาธิอยู่ ณ อาสนะอันเดียวตั้งแต่เช้าจนค่ำทุกวันเป็นนิจอย่างหนึ่ง ฉันถามว่าในมณฑปเป็นที่สำหรับดาบสนอนหรือ เขาตอบว่ายังไม่มีใครเคยเห็นดาบสตนนั้นนอนเลย โดยปรกติพอค่ำ ดาบสก็ลุกจากอาสนะที่มุขเด็จเข้าไปในมณฑป แต่ไปทำพิธีอีกชนิดหนึ่งเพื่อแก้เมื่อยขบ เห็นทำท่าต่างๆ บางที (ปลุก) ตัวลอยขึ้นไปก็มี ฉันได้ฟังก็เข้าใจแจ่มแจ้งสิ้นสงสัย ได้ความรู้ว่าการดัดตนนั้น เป็นส่วนอันหนึ่งของการบำเพ็ญตบะนั่นเอง เพราะนั่งหรือยืนที่เดียวตลอดวันยังค่ำ ทรมานร่างกายเกินวิสัยก็ย่อมเกิดอาการเมื่อยขบ จึงคิดวิธีดัดตนสำหรับระงับทุกขเวทนาอันเกิดแต่บำเพ็ญตบะ แล้วตั้งเป็นตำราไว้แต่ดึกดำบรรพ์ ที่พวกชาวเมืองชัยปุระเขาบอกว่าเป็นวิธีของพวกดาบสนั้นก็ถูก ที่ไทยว่าเป็นวิธีแก้เมื่อยขบก็ถูก เพราะไทยเราไม่เลื่อมใสวิธีตบะของพวกถือศาสนาฮินดู เอาแต่วิธีดัดตัวแก้เมื่อยขบมาใช้ จึงเกิดตำราฤๅษีดัดตนขึ้นด้วยประการฉะนี้


ถูกสาป

เมื่อฉันอยู่ที่เมืองชัยปุระนั้น จะไปไหนๆ เขาให้ไปรถใหญ่เทียมม้าคู่ มีทหารม้าแห่แซงทั้งข้างหน้าข้างหลังให้สมเกียรติยศของเจ้าต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาไปไหนจึงมักมีคนดูทั้งสองข้างถนน วันหนึ่งฉันเห็นดาบสคนหนึ่งเกล้าผมสูง นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดมีประคำคล้องคอ ยืนอยู่ริมถนนข้างหน้าแถวคนดู เมื่อรถฉันไปถึงตรงหน้าดาบสยิ้มยกมือเป็นทำนองอำนวยพร ออกอุทานเป็นภาษาสันสกฤตได้ยินเข้าหูคำหนึ่งว่า “หริราชา” นึกว่าแกอำนวยพรก็ยิ้มรับแล้วเลยผ่านไป เมื่อผ่านไปได้สักหน่อยหนึ่งยังไม่ห่างกันนัก ฉันเหลียวหน้ากลับไปดู เห็นดาบสตนนั้นทำหน้าตาถมึงทึง ยกไม้ยกมือกวัดแกว่ง ปากก็ว่าอะไรยืดยาว ฉันไม่ได้ยินถนัด แต่รู้ทีว่าเป็นกิริยาโกรธ จึงนึกว่าที่ดาบสตนนั้นยิ้มแย้มให้พรตอนแรกเห็นจะขอทาน ครั้นไม่ได้เงินก็โกรธขึ้ง ออกปากตอนหลังน่าจะเป็นคำสาปสรร (Curse) ฉันถามขุนนางอังกฤษที่เขาไปด้วยในรถว่าเป็นเช่นนั้นหรืออย่างไร เขาไม่ตอบตรงๆ เป็นแต่บอกว่า ประเพณีประเทศราชในอินเดีย เวลามหาราชาเสด็จไปไหนมีขบวนแห่ ย่อมโปรยเงินเป็นทานแก่ราษฎรที่มาอยู่ข้างราชวิถี พวกนั้นเคยได้เงินจึงอยากได้อีก ฉันได้ฟังอธิบายก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกสองอย่าง คือ

ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินโปรยเงินพระราชทานราษฎรสองข้างราชวิถี ก็มีในเมืองไทยในเวลาแห่เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เช่นเลียบพระนคร หรือแม้เสด็จไปทอดพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราก็ทรงโปรยเงิน ฉันได้เคยเห็นเมื่อเป็นราชองครักษ์แห่เสด็จหลายครั้ง ถ้าทรงพระยานมาศเสด็จไปทางบก มีกรวยปักไว้ข้างที่ประทับ ในกรวยมีขันทองลงยาใส่เงินสลึงเงินเฟื้อง ทรงหยิบโปรยพระราชทานราษฎรทั้งสองข้างทาง ถ้าเสด็จไปทางเรือทำเป็นลูกไม้กลมใส่เงินปลีกไว้ในนั้น เมื่อทรงโปรย ลูกไม้ก็ลอยน้ำอยู่ให้ราษฎรเก็บ เป็นประเพณีไทยเราได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์อย่างหนึ่ง

ได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งนั้น คือการสาปสรรซึ่งผู้มีฤทธิ์เดชกระทำร้ายแก่ผู้อื่น อันมีกล่าวในหนังสือเก่าทั้งทางศาสนาไสยศาสตร์และพระพุทธศาสนาที่มาจากอินเดีย เพิ่งได้เห็นว่าวิธีสาปนั้นออกปากตะโกนแช่งเอาซึ่งๆ หน้า ไม่ลอบภาวนาสาปในที่ลับเหมือนอย่างที่เรียกว่า “ทำกฤตยาคม” หรือปั้นรูปเสกแช่งแล้วเอาไปฝังไว้ ส่อว่าวิธีสาปแช่งมีสองอย่างต่างครูกัน

ฉันได้เห็นของประหลาดเข้าเรื่องนิทานโบราณคดีที่เมืองชัยปุระ ๓ อย่างดังพรรณนามา ยังมีของประหลาดได้เห็นแห่งอื่นในอินเดีย จะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0 Chrome 121.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 03 กุมภาพันธ์ 2567 13:07:18 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๖  เรื่องของแปลกที่เมืองพาราณสี

ครั้งฉันไปอินเดียใน พ.ศ.๒๔๓๔ เมื่อไปถึงเมืองพาราณสี (Benares) พระมหาราชาจัดวังนันเทศวร อันเป็นที่สำหรับรับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่พัก วังนันเทศวรอยู่ต่างฟากแม่น้ำคงคากับวังรามนครที่มหาราชาอยู่ เป็นตึกฝรั่งมีสวนและกำแพงล้อมรอบ รัฐบาลอังกฤษสร้างแต่เมื่อยังไม่ได้ปล่อยให้เมืองพาราณสีเป็นประเทศราช เดิมเป็นที่จวนของข้าหลวงอังกฤษที่บัญชาการเมือง ครั้นเมืองพาราณสีได้เป็นประเทศราช มหาราชาจึงรับซื้อไว้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์ ให้ชื่อว่า วังนันเทศวร ประเพณีประเทศราชในอินเดียรับแขกเมืองผิดกันอย่างหนึ่ง เมืองไหนเจ้าเมืองถือศาสนาอิสลามเช่นมหาราชาในสัม-เมืองไฮเดอราบัด มีการเลี้ยงให้เป็นเกียรติยศเหมือนอย่างฝรั่ง แต่เมืองที่เจ้าเมืองถือศาสนาฮินดูไม่มีการเลี้ยง เพราะศาสนาฮินดูห้ามมิให้กินรวมกับคนถือศาสนาอื่น หรือแม้คนถือศาสนาฮินดูด้วยกัน ถ้าเกิดในสกุลต่างวรรณะ เช่นพราหมณ์กับกษัตริย์ก็กินร่วมกันไม่ได้ เมื่อฉันพักอยู่เมืองพาราณสีเขาเลี้ยงอย่างฝรั่ง แต่มหาราชาให้จัดอาหารอย่างฮินดูส่งมาเลี้ยงด้วย เป็นสำรับกับข้าวเช่นเดียวกับของไทย เปิดพิจารณาดูทำอย่างประณีตบรรจงอย่างของห้องเครื่อง เป็นต้นว่าข้าวที่ใส่มาในชาม ก็ปิดทองคำเปลวเหมือนอย่างข้าวทิพย์พิธีสารท นึกว่าจะลองกินกับข้าวฮินดู ให้รู้รสว่าผิดกับของไทยอย่างไร แต่เมื่อหยิบขึ้นถึงปากได้กลิ่นเนย “ฆี” หรือที่เรียกในบาลีว่า “สปฺปิ นวนีตํ” ซึ่งพวกฮินดูชอบปรุงกับอาหารแทบทุกอย่าง ฉุนทนไม่ไหวก็ได้แต่ชิมเล็กน้อยพอเป็นกิริยาบุญ ไม่พอที่จะพรรณนาได้ว่ารสอาหารผิดกับของไทยอย่างไร

รุ่งขึ้นถึงวันที่สองซึ่งฉันอยู่ในเมืองพาราณสี มหาราชาเชิญไปที่วังรามนคร จัดรับเต็มยศตามแบบโบราณ อังกฤษเรียกว่า Official Durbar เวลาเช้าสัก ๙ นาฬิกาออกจากวังนันเทศวรไปลงเรือที่ท่าแม่นํ้าคงคา มหาราชาให้เรือที่นั่งลำหนึ่งมาคอยรับ เรือนั้นเป็นเรือพายยาวสัก ๗ วา แต่ต่อรูปร่างแปลกตาไม่เคยเห็น ข้างหัวเรือเรียวท้ายเรือกว้าง ยกพื้นเป็นบัลลังก์ข้างท้ายเรือ มีมณฑปเสาหุ้มเงินหลังคาขึงผ้ากำมะหยี่ปักทอง ปูพรมตั้งเก้าอี้ให้พวกเรานั่งในมณฑป ต่อยกพื้นลงไปข้างหน้า พวกฝีพายแต่งเครื่องแบบนั่งบนกระทงสองแคม ตลอดไปจนหัวเรือ พอเรือออกจากท่า ผู้เป็นบ่อโทนนายฝีพายก็ขานมนตร์ภาษาสันสกฤต ได้ยินขึ้นต้นว่า “โอมรามะลักสมัน” ต่อไปว่ากระไรฉันไม่เข้าใจ แต่ว่ายาววรรคหนึ่งพวกฝีพายก็ขานรับพร้อมกันคำหนึ่ง ว่ากระไรก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน กระบวนคูคล้ายกับขานยาวเรือพระที่นั่งในเมืองไทย และขานเป็นระยะไปเสมอเช่นเดียวกัน ฉันถามผู้กำกับ เขาบอกอธิบายว่าในศาสนาฮินดู เชื่อว่าเมื่อพระรามจะไปจากมนุษยโลกเสด็จลงแม่น้ำคงคาหายไป เพราะฉะนั้นเวลาข้ามแม่น้ำคงคา จึงสวดบูชาพระรามให้เกิดสวัสดิมงคล ฉันก็ตีความว่าคำที่บ่อโทนว่าคงเป็นคำบูชา คำฝีพายว่าคำเดียวนั้นคงเป็นอย่างรับว่า “สาธุ” เมื่อเรือไปถึงท่ารามนคร มีขบวนแห่คอยรับอยู่บนบก เขาผูกช้างงาตัวหนึ่งสูงกว่า ๕ ศอกสำหรับรับฉัน ช้างตัวนั้นแต่งเครื่องมีกำมะหยี่ปักทองผืนใหญ่คลุมหลังลงมาจนเกือบจึงดิน ผูกสัปคับโถงหุ้มเงิน มีที่นั่งสองตอนบนนั้น หน้าช้างมีผ้ากำมะหยี่ปักทองปกกะพอง และใส่ปลอกงากาไหล่ทองเป็นปล้องๆ ทั้งสองข้าง มีคนแต่งเครื่องแบบขี่คอช้าง มือถือแส้จามร (คือแส้หางจามรี) คอยโบกปัดแมลงวันคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งนั่งบนสัปคับตอนหลังถือร่มระย้ากั้นฉัน (คือว่ากั้นฉัตร) นอกจากนั้นมีช้างพลายพังผูกสัปคับอย่างสามัญสำหรับรับพวกบริพารอีกหลายตัว มีขบวนคนแห่ล้วนแต่งเครื่องแบบขี่ม้านำคู่หนึ่ง ต่อมาเป็นคู่แห่ถือหอกเดินแซงสองข้าง ทางแต่ท่าเรือไปถึงวังรามนคร ประมาณราวแต่ท่าพระเข้าไปถึงในพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ เมื่อแห่ไปถึงวัง พระมหาราชาคอยรับอยู่ที่ประตูตำหนัก พาเดินขึ้นไปยังห้องรับแขก น่าเรียกว่าท้องพระโรงแต่อยู่ชั้นบน ในนั้นตั้งเก้าอี้แถวยาวเรียงเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกตรงกลางเป็นเก้าอี้หุ้มทองคำ ๒ ตัว ให้ฉันนั่งตัวข้างขวา มหาราชานั่งตัวข้างซ้าย ต่อออกไปเป็นเก้าอี้หุ้มเงินฝ่ายละสัก ๓ ตัว แล้วเป็นเก้าอี้ไม้ตลอดไป จัดให้พวกที่ไปกับฉันทั้งไทยและฝรั่งนั่งทางฝ่ายขวา พวกญาติวงศ์และเสนาอำมาตย์ของมหาราชานั่งทางข้างฝ่ายซ้าย พอนั่งกันเรียบร้อยแล้วมีคนถือถาดใส่พวงมาลัยทำดัวยตาดและโหมด ออกมาส่งมหาราชา มหาราชาหยิบพวงมาลาตาดพวงหนึ่งมาคล้องคอให้ฉัน เจ้าน้องชายคล้องมาลาโหมดให้คนอื่นที่ไปด้วยต่อไป แล้วนั่งสนทนาปราศรัยกันเฉพาะมหาราชากับตัวฉัน คนอื่นเป็นแต่นั่งนิ่งอยู่ มหาราชาตรัสภาษาอังกฤษได้คล่องไม่ต้องมีล่าม วันนั้นแต่งองค์ทรงเครื่องเยียรบับ โพกผ้ามีเพชรพลอยประดับเหน็บกริชฝักทองที่เอว บอกฉันว่าเคยเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสด็จไปเวลาเธอยังเป็นเด็ก ได้รับพระราชทานกริชเล่มนั้นไว้เป็นที่ระลึก สนทนากันไปสักครู่หนึ่ง พวกพิณพาทย์ก็ออกมานั่งตั้งวงที่ตรงหน้า เริ่มบรรเลงเพลงดนตรี แล้วมีหญิงสาวเป็นนางนัจจะ (Nautch Girl) คนหนึ่งออกมาฟ้อนรำเข้ากับจังหวะพิณพาทย์ ทำให้นึกถึงเรื่องรามเกียรติ์ ดังจะพรรณนาที่อื่นต่อไปข้างหน้า มีการฟ้อนรำอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วนางนัจจะกับพวกพิณพาทย์ก็กลับไป เป็นหมดพิธีเพียงเท่านั้น กลับมายังที่พักโดยขบวนเหมือนอย่างเมื่อขาไป

ชื่อที่เรียกวังว่า รามนคร นั้น สังเกตในหนังสือเก่าดูยุติต้องกันกับคำของพวกพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งว่าบรรพบุรุษบอกเล่ากันสืบมา ว่าพราหมณ์พวกโหรดาจารย์ที่เมืองพัทลุง เดิมอยู่เมืองพาราณสี และพวกพราหมณ์พิธีที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเดิมอยู่เมืองรามนครดังนี้ จึงสันนิษฐานว่าเดิมจะเป็นชื่อบริเวณราชธานี อย่างเช่นเราเรียกว่า “พระนคร” ในกรุงเทพฯ คำพาราณสีเป็นชื่อเรียกจังหวัด อย่างเราเรียกว่า “จังหวัดกรุงเทพฯ” และยังมีคำอื่นสำหรับเรียกรวมทั้งอาณาเขตอีกคำหนึ่งว่า “กาสี” แม้ในพระบาลีก็มีมาแต่โบราณ พวกแขกยามในกรุงเทพฯ ยังบอกว่าพวกของตนเป็นชาวกาสี อันรวมอาณาเขตกับเมืองพาราณสี ดังนี้ ตัววังรามนครนั้นเห็นจะสร้างมาช้านานหลายร้อยปี เป็นแบบวังอย่างโบราณ มีพร้อมด้วยป้อมปราการอยู่ในตัว ล้วนก่อด้วยศิลาทำนองเดียวกับวังโบราณที่เมืองประเทศราชอื่น ซี่งสร้างแต่ครั้งบ้านเมืองยังเป็นอิสระมีอีกหลายแห่ง เมื่อกลับมาจากรามนครในบ่ายวันนั้น เขาพาฉันไปที่มฤคทายวัน อันเป็นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชาวเมืองเรียกว่าตำบลสารนาถ (Sarnath) อยู่ห่างแม่นํ้าคงคาราวสัก ๑๕๐ เส้น แต่เรื่องมฤคทายวันจะรอไว้พรรณนาในนิทานเรื่องหนึ่งต่างหาก รวมกับเรื่องไปไหว้พระ ณ ที่แห่งอื่นๆ ในอินเดีย

วันที่สามซี่งฉันอยู่ ณ เมืองพาราณสี เขาพาไปดูพวกฮินดูลอยบาปในแม่น้ำคงคา อันเป็นที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าไม่มีที่ไหนน่าดูเหมือนที่เมืองพาราณสี มหาราชาให้เรือที่นั่งมารับเหมือนเมื่อวันก่อน ต้องไปแต่พอรุ่งเช้ายังไม่ทันแดดแข็ง ลงเรือพายผ่านไปริมฝั่งทางข้างเหนือ วันนั้นฝีพายไม่ขานยาวเหมือนวันก่อน เห็นจะเป็นเพราะเพียงแต่ขึ้นล่องในแม่น้ำคงคาไม่ได้ข้ามฟาก ที่สำหรับพวกฮินดูลอยบาป อยู่ริมแม่นํ้าคงคาทางฝั่งตะวันตกตลอดคุ้งนํ้ายาวกว่า ๗๐ เส้น มีท่าทำเป็นขั้นบันไดหินสำหรับคนลงนํ้าเรียกว่า ฆัต (Ghat) ติดต่อกันไปราว ๓๐ ท่า แต่ละท่าที่ริมน้ำมีสะพานไม้สำหรับคนลงนํ้า ต่อขึ้นไปเป็นชานมีพราหมณ์นั่งในร่มอันใหญ่คันปักดิน คอยรับทักขิณาทานช่วยชําระบาปและอวยพรแก่พวกสัปบุรุษ รายกันไปแห่งละหลายคนทุกท่า ต่อท่าขึ้นไปถึงเขื่อนขั้นบันไดทางขึ้นไปบนตลิ่ง ที่บนตลิ่งมีถนนผ่านหน้าเทวสถาน สร้างติดๆ กันไป เห็นยอดปรางค์สลอน มีหอสูงวัดของพวกอิสลามคั่นบ้าง และมีสระนํ้าสำหรับทำพิธีพลีกรรมตามเทวสถานเป็นแห่งๆ แลดูตั้งแต่เขื่อนลงมาจนริมน้ำ เห็นพวกฮินดูล้วนนุ่งห่มผ้าขาวนับด้วยหมื่น ไปมาราวกับฝูงมด อยู่ในน้ำก็มีอยู่บนบกก็มี จะหาที่ว่างคนแทบไม่ได้ เห็นเข้าก็ติดตาน่าพิศวงด้วยไม่มีที่ไหนเหมือน จึงเป็นที่เลื่องลือ แต่ประหลาดอย่างยิ่งนั้นที่มีลานสำหรับเผาศพอยู่ติดๆ กับท่าอาบน้ำหลายแห่ง ตั้งแต่เช้าก็เผาศพควันขึ้นกรุ่นอยู่เสมอ บางแห่งเมื่อผ่านไปเห็นกำลังหามศพห่อผ้าขาวลงบันไดมาก็มี ที่กองฟืนเรียงไว้ในลานสำหรับวางศพเผาบนนั้นก็มี บางแห่งกำลังเผาศพอยู่ก็มี ดูพวกคนลอยบาปที่ลงอาบน้ำใกล้ๆ ไม่มีใครรังเกียจ ประเพณีของพวกฮินดูเอาศพไว้แต่ ๒ วันก็เผา เขาบอกว่าเมื่อเผาแล้วกวาดทั้งอัฐิธาตุและอังคารถ่านเถ้า ทิ้งลงแม่น้ำคงคงหมด แต่ศพเด็กทารกไม่เผา เอาห่อศพผูกกับคอหม้อถ่วงทิ้งให้จมไปในแม่น้ำคงคาทีเดียว พวกอังกฤษกระซิบบอกฉันตั้งแต่วันไปถึง ว่าฝรั่งที่อยู่ในเมืองพาราณสีไม่มีใครกินปลาสดที่เมืองนั้น ด้วยรังเกียจการเผาศพพวกฮินดู ว่าบางทีเป็นศพที่ไม่มีญาติควบคุม สับปะเหร่อเผาไม่ทันไหม้หมด ก็ทิ้งลงน้ำด้วยมักง่าย ฉันก็ไม่ได้กินปลาตลอดเวลาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสี

แต่นี้จะเล่าถึงที่ฉันได้ความรู้แปลกๆ ณ เมืองพาราณสี ซึ่งน่าจะเนื่องกับประเพณีโบราณของไทยเราต่อไป



ย่ำยาม

เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาค่ำฉันนั่งกินอาหารกับพวกที่ไปด้วยกันและพวกข้าราชการอังกฤษยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลายามหนึ่ง (๒๑ นาฬิกา) ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา ๑ เช่นเดียวกันกับตีฆ้องระฆังย่ำยามในเมืองไทย ฉันนึกประหลาดใจจึงถามข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้น ว่าตีฆ้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร เขาตอบว่า “เป็นสัญญาณเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม” พอฉันได้ยินอธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า “อ้อ” เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามในเมืองไทย เมื่อถึงเวลาเช้า ๖ นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน เวลาค่ำ (๑๘ นาฬิกา) และเวลากลางคืนยาม ๑(๒๑ นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน เวลา ๓ ยาม(๓ นาฬิกา) ก็ตีย่ำ ทำนองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี แม้คำที่ไทยเราพูดก็เรียกเวลา ๖ นาฬิกาเช้าว่า “ย่ำรุ่ง” เรียกเวลาเที่ยงวันว่า “ย่ำเที่ยง” และเรียกเวลา ๑๘ นาฬิกาว่า “ย่ำค่ำ” คำที่พูดว่า “ย่ำ” คงมาจากย่ำฆ้องระฆังนั่นเอง แต่ฉันยังไม่เคยคิดมาแต่ก่อนว่าเพราะเหตุใดจึงตีย่ำ เมื่อได้ฟังอธิบายที่เมืองพาราณสีก็เข้าใจซึมซาบในทันที ว่าย่ำเป็นสัญญาณเรียกคนเปลี่ยนยาม เห็นได้ว่าประเพณีไทยแต่โบราณ เวลากลางวันให้คนอยู่ยามผลัดละ ๖ ชั่วนาฬิกา แต่กลางคืนผลัดระยะ ๓ ชั่วนาฬิกา และยังแลเห็นสว่างต่อไปอีก ด้วยประเพณีตีระฆังยามที่ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ เมื่อตีย่ำระฆังแล้วมีคนเป่าแตรงอนและเป่าปี่ตีมโหระทึกประโคมต่อไปอีกพักหนึ่ง และเวลามีพระบรมศพหรือพระศพเจ้านาย ตลอดจนศพขุนนางผู้ใหญ่ บรรดาที่มีกลองชนะประโคม ย่อมประโคมกลองชนะตรงกับย่ำฆ้องระฆังยาม ทั้งกลางวันกลางคืน อาการประกอบกันให้เห็นว่าการย่ำฆ้องระฆัง เป็นสัญญาณเรียกคนให้มาเปลี่ยนยาม การประโคมเป็นสัญญาณบอกว่าพวกอยู่ยามใหม่ได้เข้าประจำหน้าที่พร้อมกันแล้ว มูลของประเพณีย่ำฆ้องระฆังยามและประโคมพระศพในเมืองไทย เห็นว่าเป็นดังกล่าวมา และอาจจะได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์


ทุ่มโมง

จะเลยเล่าแถมถึงประเพณีตีบอกเวลาในเมืองพม่า ซึ่งฉันได้ไปรู้เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ในพระราชวังเมืองมัณฑเลย์มีหอนาฬิกาหลังหนึ่ง เป็นหอสูงข้างล่างมีห้องสำหรับไว้นาฬิกา ข้างบนเป็นหอโถงสำหรับแขวนกลองกับฆ้องที่ตีบอกเวลา เขาว่าเคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานีในเมืองพม่าแต่ก่อนมา ฉันถามเขาว่าฆ้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้น ตีต่างกันอย่างไร ไม่มีใครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพณีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ฉันนึกจับหลักได้ว่าฆ้องสำหรับตีกลางวัน กลองสำหรับตีกลางคืน หลักนั้นอยู่ในคำพูดของไทยเราเอง ที่เรียกเวลาตอนกลางวันว่า “โมง” เช่นว่า ๔ โมง ๕ โมง แต่ตอนเวลากลางคืนเรียกว่า “ทุ่ม” เช่นว่า ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม คำโมงกับทุ่มมาแต่เสียงฆ้องและกลองนั่นเอง ในเมืองไทยแต่โบราณก็เห็นจะใช้ทั้งฆ้องและกลองตีบอกเวลา อย่างเดียวกันกับในเมืองพม่า


ขานยาว

ได้เล่ามาแล้ว ว่าเมื่อฉันลงเรือที่นั่งของมหาราชาพาราณสี ข้ามแม่น้ำคงคา บ่อโทนฝีพายขานรับคำบูชาพระรามและพลฝีพายขานรับ ดูเป็นเค้าเดียวกับขานยาวพายเรือพระที่นั่งในเมืองไทย แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญที่ขานยาวของชาวอินเดียขานเป็นภาษาสันสกฤต และมีความเป็นคำบูชาพระราม แต่ขานยาวของไทยเรามีแต่บ่อโทนขานว่า “เหยอว” ฝีพายก็รับว่า “เย่อว” ไม่เป็นภาษาใด จะหมายความว่ากระไรก็แปลไม่ได้ จึงน่าสันนิษฐานว่า พราหมณ์เห็นจะเอาแบบขานยาวในอินเดียมาสอนไว้แต่โบราณ เดิมก็คงจะเป็นมนตร์ภาษาสันสกฤต มีความว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไทยเราไม่รู้ภาษานั้น จำคำได้แต่โดยเสียง นานมาก็แปรไป เช่นเดียวกันกับครูอังกฤษมาสอนให้บอกทหารว่า “โชละเดออามส์” (Shoulder Arms) ทหารไทยบอกว่า “โสลด หับ” ฉันนั้น แล้วเลือนหนักลงคงเหลือแต่ว่า “เหยอว-เย่อว” คำขานยาวจึงไม่รู้ว่าภาษาใดและหมายความว่ากระไร แต่เห่เรือเป็นประเพณีของไทยมิใช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกัน ข้อนี้พึงเห็นได้ในบทช้าละวะเห่ เป็นภาษาไทยเก่ามาก คงมีเห่บทอื่นที่เก่าปานนั้นอีก แต่คนชั้นหลังมาชอบใช้บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระนิพนธ์เมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ขึ้นต้นว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” และบทที่ว่า “พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์” เป็นต้น บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ช้าละวะเห่ อันคงใช้เห่เพียงในเวลาเมื่อเรือพระที่นั่งจะถึงท่า การเห่เรือพระที่นั่งนั้น สังเกตตามประเพณีในชั้นหลัง เห่แต่เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา ซึ่งชวนให้เห็นว่าเห็นจะใช้เวลาไปทางไกล เช่นยกขบวนทัพ เพื่อให้พลพายรื่นเริง ถ้ามิใช่พยุหยาตรา เป็นแต่ขานยาว ทำนองเห่ก็เป็น ๓ อย่างต่างกัน ถ้าพายจังหวะช้า เห่ทำนองอย่างหนึ่งเรียกว่า มูลเห่ มีต้นบทว่านำวรรคหนึ่ง ฝีพายว่าตามวรรคหนึ่ง ถ้าพายจังหวะเร็วขึ้นเป็นอย่างกลาง เรียกว่า สวะเห่ ต้นบทว่าเนื้อความฝีพายเป็นแต่รับว่า “ฮ้าไฮ้” เมื่อสิ้นวรรคต้น และรับว่า “เหเฮฯ” เมื่อสิ้นวรรคปลาย ยังมีคำสำหรับเห่เมื่อพายจ้ำเช่นว่าแข่งเรือ ต้นบทว่า “อีเยอวเยอว” ฝีพายรับว่า “เย่อว” คำคล้ายกับที่ใช้ขานยาว ดูชอบกล


ลักษณะรับแขกเมือง

เมื่อฉันไปเห็นลักษณะที่มหาราชาพาราณสีรับฉัน ที่วังรามนครดังพรรณนามาแล้ว กลับมานึกถึงความในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อทศกัณฐ์รับเจ้าเมืองยักษ์ที่เป็นมิตรสหาย ไม่ปรากฏว่ามเหสีเทวีออกมาพบแขก เป็นแต่ทศกัณฐ์เชิญแขกนั่งร่วมราชอาสน์ สนทนาปราศรัยแล้วมีนางกำนัลเชิญเครื่องออกมาตั้งเสวยด้วยกัน และในเวลาเสวยนั้นมีนางรำออกฟ้อนรำให้ทอดพระเนตร ทศกัณฐ์รับพระยายักษ์แขกเมืองทีไรก็รับอย่างนั้นทุกคราว ประเพณีในอินเดีย แม้ในปัจจุบันนี้มเหสีเทวีก็ไม่ออกรับแขก ที่ตั้งเก้าอี้หุ้มทองคำให้ฉันนั่งเคียงกับพระมหาราชา ก็อนุโลมมาจากนั่งร่วมอาสน์ ที่มีนางนัจจะออกมาฟ้อนรำก็ตรงตามแบบโบราณ ขาดแต่ไม่มีการเลี้ยง เพราะเลี้ยงไม่ได้ด้วยต่างศาสนากัน ดูแบบรับแขกเมืองอย่างทศกัณฐ์ยังคงใช้อยู่ในอินเดีย ต่อมาภายหลังอีกหลายปี ฉันตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปประเทศชวา พวกชวาแต่โบราณได้แบบอย่างขนบธรรมเนียมจากชาวอินเดียเหมือนกับไทยเรา เมื่อสุลต่านเจ้าประเทศราชเมืองยกยารับเสด็จก็ดี สุสุหุนันเจ้าเมืองโซโลรับเสด็จก็ดี ก็ตั้งเก้าอี้รับเสด็จเป็นแถวและมีนางรำออกมาฟ้อนรำ ผิดกันกับในอินเดียแต่เจ้าผู้หญิงชวาออกรับแขก และเลี้ยงเครื่องว่างในเวลาทอดพระเนตรนางรำ เห็นได้ว่าพวกชวายังรับแขกเมืองตามแบบที่ได้ไปจากอินเดียแต่โบราณ มาพิจารณาดูประเพณีรับแขกเมืองในเมืองไทยแต่โบราณ จะเทียบกับที่ฉันได้เห็นในอินเดียและชวาไม่ได้ ด้วยไม่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเคยมีแขกเมืองที่มีศักดิ์จะนั่งร่วมอาสน์กับพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ครั้งนั้นเป็นข้าศึกกัน นอกจากนั้นแขกเมืองเคยมีเพียงเจ้าประเทศราชกับราชทูต ก็รู้ไม่ได้ว่าประเพณีที่รับแขกเมืองนั่งร่วมอาสน์ เสวยด้วยกัน และให้นางรำบำเรอ จะเคยมีในเมืองไทยหรือไม่


ลอยบาป

ในหนังสือไทยมีกล่าวถึงพิธีลอยบาปของพวกพราหมณ์หลายเรื่อง ฉันเข้าใจมาแต่ก่อนว่าคงทำวัตถุเครื่องบูชาอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่ายมนตร์สมมตว่าปล่อยบาปลงในวัตถุนั้น แล้วเอาไปลอยน้ำเสีย เหมือนอย่างลอยกระทงกลางเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ต่อเมื่อไปเห็นที่เมืองพาราณสีจึงรู้ว่าการลอยบาปไม่เป็นเช่นเคยเข้าใจเลย ตามอธิบายในหนังสือนำทางว่า เพราะเมืองพาราณสีเคยเป็นราชธานีเดิมของมัชฌิมประเทศ ศาสนาใดๆ ที่เกิดขึ้นในอินเดีย แม้จนพระพุทธศาสนาก็เร่ิมตั้งที่เมืองพาราณสี จึงนับถือกันว่าเมืองพาราณสีเป็นอย่างอู่ของศาสนาฮินดูสืบมาจนบัดนี้ ถึงกล่าวกันว่าถ้าใครได้ไปทำบุญที่เมืองพาราณสีครั้งหนึ่ง ก็มีอานิสงส์เท่ากับได้ไปทำบุญที่อื่นทุกแห่งหมดในอินเดีย ดังนี้ พวกฮินดูชาวอินเดียถึงจะอยู่ในแว่นแคว้นแดนอันใด ย่อมนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสี อุตส่าห์พากันเดินทางไปทำพิธีพลีกรรมมีจำนวนนับตั้งล้านคนทุกปี โดยเชื่อเหมือนอย่างว่าเมืองพาราณสีอยู่ปากทางลัด ที่จะตัดตรงไปเทวโลกได้แน่นอน ลักษณะการพิธีที่ตรงกับเราเรียกว่า “ลอยบาป” นั้น ตั้งต้นผู้จะลอยบาปต้องเดินประทักษิณรอบเมืองพาราณสี และบูชาตามเทวสถานต่างๆ ในระยะทางราว ๑,๘๐๐ เส้น เป็นเวลาราว ๖ วัน แล้วลงไปยัง “ฆัต” คือท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่ตลิ่งริมน้ำมีพราหมณ์นั่งคอยสอนมนตร์ให้บริกรรม เมื่อเรียนมนตร์แล้วจึงลงในแม่น้ำคงคา กินน้ำและดำหัวล้างบาปให้ลอยไปกับสายน้ำ แล้วจึงขึ้นไปรับพรต่อพราหมณ์เป็นเสร็จพิธี ที่พรรณนานี้ว่าตามฉันเข้าใจความในหนังสือ ไม่ได้มีโอกาสไถ่ถามพวกพราหมณ์ในที่นั้น อาจเข้าใจผิดบ้างก็เป็นได้.


ปลงศพ

นอกจากลอยบาป พวกฮินดูยังนับถือความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองพาราณสีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง คือว่าถ้าใครตายที่เมืองพาราณสี หรือแม้ปลงศพที่นั่น จะได้ไปสู่เทวโลกเป็นแน่แท้ ถึงมีเศรษฐีฮินดูบางคนไปซื้อหาที่อยู่ ณ เมืองพาราณสีเมื่อแก่ชรา เพื่อจะไปตายที่นั่น ที่เผาศพที่ริมท่าน้ำก็ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ต่างกัน มีท่าหนึ่งชื่อ “มณีกรรณิกา” ว่าเป็นศักดิ์สิทธิ์กว่าเพื่อน ใครๆ ก็อยากให้เผาศพตนที่ท่านั้น คงเป็นเพราะเกิดลำบากด้วยชิงจองท่าและกำหนดเวลาเผาศพพ้องกัน รัฐบาลจึงตั้งข้อบังคับให้ผู้จะเผาศพขออนุญาต เพื่อจดลงทะเบียนท่าและเวลาที่จะเผาไว้ก่อน และให้มีนักการคอยดูแลให้เป็นไปตามทะเบียนนั้น ข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองพาราณสีเขาเล่าให้ฉันฟังว่า บางทีนายทะเบียนต้องถูกปลุกขึ้นรับโทรศัพท์ในเวลาดึก บอกเป็นคำของเศรษฐีคนใดคนหนึ่งว่า “ฉันจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว ขอให้ช่วยสงเคราะห์ให้ได้เผาที่ท่ามณีกรรณิกาเวลาพรุ่งนี้” เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าพวกฮินดูเชื่อถือศาสนามั่นคงเพียงใด พวกฮินดูเชื่อว่าพระอัคนีสามารถจะทำสิ่งทั้งปวงให้บริสุทธิ์สะอาด หรือว่าอีกนัยหนึ่ง บรรดาสิ่งโสโครกทั้งปวง ถ้าเผาไฟแล้วก็กลับเป็นของสะอาดหมด เช่นมูตรคูถของโค ถ้าเผาแล้วก็อาจจะบริโภคและใช้เป็นเครื่องจุนเจิมได้ เพราะฉะนั้นการเผาศพที่ท่าแล้วทิ้งอัฐิธาตุลงในแม่น้ำคงคา พวกที่ลอยบาปอาบน้ำกินน้ำอยู่ใกล้จึงไม่รังเกียจ เพราะถือว่าเป็นของสะอาดแล้ว

ประเพณีเผาศพชาวอินเดียที่ฉันได้รู้เห็น ณ เมืองพาราณสีมีเหมือนกับประเพณีไทยแต่ที่ทิ้งธาตุลงน้ำ กับที่ขนันศพทารกทิ้งลงน้ำ ตามประเพณีโบราณอินเดีย ศพย่อมเผาทั้งนั้น ต่างกันแต่พวกถือพระพุทธศาสนา เผาศพแล้วเอาอัฐิธาตุฝังและก่อกองดิน หรือกองหินไว้ตรงที่ฝัง เรียกว่า “สถูป” แต่พวกถือศาสนาฮินดูทิ้งอัฐิธาตุลงน้ำ ไทยเราถือพระพุทธศาสนาเป็นพื้นเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นคนชั้นสูงก็ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุ ถ้าเป็นคนชั้นต่ำก็เป็นแต่ฝังอัฐิธาตุ หรือเอาไปกองทิ้งไว้ที่โคนต้นโพธิ แต่พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายทรงถือประเพณีของพวกพราหมณ์ด้วย จึงรับคติการถ่วงธาตุมาใช้ในประเพณีพระบรมศพและพระศพเจ้านายทำทั้งสองทาง ส่วนพระอัฐิบรรจุไว้ในพระเจดีย์ตามทางพระพุทธศาสนา ส่วนพระอังคารหรือถ่านที่เผาพระศพ เชิญไปลอยปล่อยไปในแม่น้ำ ตามทางศาสนาฮินดู เพิ่งมาเลิกลอยพระอังคาร เปลี่ยนเป็นบรรจุเมื่อรัชกาลที่ ๕ ประเพณีขนันศพทารกทิ้งน้ำนั้น ไทยเราเอาศพใส่ลงในหม้อ ไม่ผูกกับคอหม้อเหมือนในอินเดีย แต่เดี๋ยวนี้ก็เลิกแล้ว เปลี่ยนเป็นฝังให้สูญไปทีเดียว

ความรู้ที่ฉันได้จากเมืองพาราณสี มีพ้องกับเมืองไทยบางอย่างดังได้พรรณนามา ฉันพักอยู่เมืองพาราณสี ๓ วัน แล้วขึ้นรถไฟไปเมืองพุทธคยา ซึ่งจะเล่าในนิทานเรื่องอื่นต่อไป.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 กุมภาพันธ์ 2567 13:09:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0 Chrome 121.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2567 13:47:58 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๗  เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

เมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์ได้ ๔ ปีเสด็จไปอินเดีย เมื่อถึงเมืองพาราณสีเสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธบูชา ณ พระบริโภคเจดียสถานในมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศตั้งพระพุทธศาสนา อันพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลกนับถือว่าเป็นเจดียสถานที่สำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่งในพระพุทธศาสนา

เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันนึกขึ้นว่าจะมีไทยใครได้เคยไปถึงมฤคทายวัน ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงบ้างหรือไม่ คิดหาไม่เห็นใคร เลยคิดค้นต่อไปในเรื่องพงศาวดารก็เกิดพิศวง ด้วยปรากฏว่าเมืองไทยเราขาดคมนาคมกับอินเดียในเรื่องพระพุทธศาสนามาเสียตั้งแต่ก่อนพระร่วงครองกรุงสุโขทัย เพราะพระพุทธศาสนาในอินเดียถูกพวกมิจฉาทิฐิ ทั้งที่ถือศาสนาอิสลามและที่ถือศาสนาฮินดู พยายามล้างผลาญมาช้านาน จนหมดสิ้นสังฆมณฑล และประชาชนที่ถือพระพุทธศาสนาไม่มีในอินเดียมาเสียแต่ราว พ.ศ.๑๖๐๐ ก่อนตั้งราชวงศ์พระร่วงถึง ๒๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ไทยจึงต้องเปลี่ยนไปนับถือประเทศลังกา รับพระไตรปิฎกกับทั้งสมณวงศ์และเจดีย์วัตถุต่างๆ มีพระบรมธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิเป็นต้น มาจากลังกาทวีป ดังปรากฏในเรื่องพงศาวดารและศิลาจารึกครั้งสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นเช่นเดียวกัน ถึงแม้การไปมาในระหว่างเมืองไทยกับอินเดียยังมีอยู่ ก็เป็นในการซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องถึงศาสนา และไปค้าขายเพียงตามเมืองในอินเดียทางฝ่ายใต้ที่เป็นภาคมัทราส (Madras) บัดนี้หาปรากฏว่าได้มีไทยไปจนถึงอินเดียตอนมัชฌิมประเทศที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนาไม่ เพราะฉะนั้นการที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปถึงมฤคทายวัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ เป็นการสำคัญ ถ้าเรียกอย่างโบราณก็ว่า “เสด็จไปสืบพระศาสนา” ซึ่งเริดร้างมากว่า ๗๐๐ ปี และการที่เสด็จไปครั้งนั้นก็มีผลทำให้ความรู้ความเห็นของไทยในโบราณคดีเรื่องพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้นโดยลำดับมาจนบัดนี้ จะเล่าเรื่องที่ปรากฏในชั้นแรกก่อน

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากอินเดีย ได้รูปฉายพระ “ธรรมเมกข” เจดีย์ ที่เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ในมฤคทายวัน มาถวายกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์ในอินเดีย รูปพระธรรมเมกขเจดีย์นั้นเป็นพระเจดีย์กลมตอนล่างใหญ่ตอนบนรัดเล็กเข้าไปดูเป็น ๒ ลอน ผิดกับรูปทรงพระเจดีย์ที่สร้างกันในเมืองไทย กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ทรงพิจารณากับพระมหาเถระองค์อื่นๆ ลงมติพร้อมกันว่ารูปพระธรรมเมกขเจดีย์ ตรงกับในพระบาลีว่าพระสถูปสัณฐานเหมือนลอมฟาง (รูปลอมฟางในเมืองไทยมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเหมือนโอคว่ำ อีกอย่างหนึ่งเป็น ๒ ลอนเหมือนอย่างรูปพระธรรมเมกขเจดีย์) ครั้งนั้นมีผู้เชื่อว่ารูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมคงเป็น ๒ ลอนอย่างพระธรรมเมกขเจดีย์ ถึงเอาแบบไปสร้างขึ้นหลายแห่ง ว่าแต่ที่ฉันจำได้สร้างไว้ที่บริเวณกุฎีสมเด็จพระวันรัต (พุทฺธสิริ ทัพ) วัดโสมนัสวิหารแห่งหนึ่ง ที่วัดกันมาตุยารามแห่งหนึ่ง ดูเหมือนจะยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ ความนิยมที่จะไปอินเดียเพื่อศึกษาโบราณคดีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ก็เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปครั้งนั้น ต่อมาจึงมีไทยทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และพระภิกษุพวกเที่ยวธุดงค์ไปถึงมัชฌิมประเทศในอินเดียเนืองๆ

ฉันไปอินเดียเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปได้ ๑๙ ปี ในระหว่างนั้น ความนิยมที่จะศึกษาและหาความรู้โบราณคดีในอินเดียเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแล้ว แม้ตัวฉันเองเมื่อไปถึงอินเดียก็ออกสนุกในการที่จะพิจารณาขนบธรรมเนียมที่พ้องกับเมืองไทย ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องอื่น ในนิทานเรื่องนี้จะเล่าพระบริโภคเจดีย์ที่ฉันได้บูชา กับที่ฉันได้เสาะหาของต่างๆ ซึ่งเป็นพุทธเจดีย์เอามาเมืองไทยในครั้งนั้น



มฤคทายวัน

เมื่อฉันพักอยู่ ณ เมืองพาราณสี ก็ได้ไปกระทำพุทธบูชาที่พระบริโภคเจดีย์ในมฤคทายวัน แต่ชาวเมืองเรียกชื่อตำบลนั้นว่า “สารนาถ” (Sarnath) ว่ามาแต่คำ “สารังคนาถ” ภาษามคธแปลว่า “ผู้เป็นที่พึ่งของกวาง” มฤคทายวันอยู่นอกเมืองพาราณสีทางด้านตะวันออก ห่างแม่น้ำคงคาราวสัก ๑๖๐ เส้น ในสมัยเมื่อฉันไปยังร้างรกอยู่มาก กรมตรวจโบราณคดีในอินเดียเป็นแต่ได้ขุดค้นเป็นแห่งๆ เพื่อหาของโบราณส่งไปเข้าพิพิธภัณฑสถาน ยังไม่ได้ลงมือขุดเปิดให้เห็นแผนผัง และจัดการรักษาอย่างเดี๋ยวนี้ ไปมฤคทายวันในสมัยนั้น ยังแลเห็นแต่พระธรรมเมกขเจดีย์สูงตระหง่านเป็นสำคัญอยู่องค์เดียว กับมีเครื่องศิลาจำหลัก ซึ่งเพิ่งพบใหม่ยังไม่ทันส่งไปพิพิธภัณฑสถานรวมไว้แห่งหนึ่ง ฉันขอมาได้บ้าง ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า นอกจากนั้นยังแลเห็นแต่ดินเป็นโคกน้อยใหญ่ไปรอบข้าง พระธรรมเมกขเจดีย์นั้น ในหนังสือนำทางแต่งชั้นหลังบอกขนาดว่าสูงแต่รากขึ้นไปตลอดองค์ราว ๒๔ วา วัดผ่ากลางตอนใหญ่ ๑๕ วาครึ่ง และตอนใหญ่นั้นเป็นศิลาขึ้นไปราว ๖ วา เมื่อฉันพิจารณาดูพระธรรมเมกขเจดีย์ เกิดความเห็นขึ้นใหม่ผิดกับเข้าใจกันอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ว่าสร้างรูปทรงเป็น ๒ ลอนเหมือนลอมฟางดังกล่าวมาแล้ว เพราะไปสังเกตตอนใหญ่ที่อยู่เบื้องต่ำเห็นก่อหุ้มด้วยศิลา ตอนเบื้องบนที่คอดเข้าไปก่อด้วยอิฐ ฉันคิดเห็นว่าที่ดูรูปเป็น ๒ ลอน น่าจะเป็นเพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มิใช่แบบเดิมเจตนาจะให้เป็นเช่นนั้น คิดสันนิษฐานต่อไปเห็นว่าของเดิมคงก่อหุ้มด้วยศิลาตลอดทั้งองค์ ถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อเอาแท่งศิลาตอนข้างบนไปเสีย เหลือทิ้งไว้แต่แกนอิฐ หรือมิฉะนั้นพวกมิจฉาทิฐิเจตนาจะทำลายพระเจดีย์นั้นทั้งหมด แต่รื้อลงมาค้างอยู่ครึ่งองค์ ภายหลังมามีพวกสัมมาทิฐิไปปฏิสังขรณ์ ก่อแกนอิฐขึ้นไปตลอดองค์ แต่ไปค้างอยู่ไม่ได้ก่อศิลาหุ้มตอนบนจึงเหลือเป็นอิฐอยู่เช่นนั้น รูปพระเจดีย์เดิมเห็นจะเป็นอย่างทรงโอคว่ำ ก็เหมือนทรงลอมฟางอย่างที่ไม่คอดเช่นว่ามาแล้ว เมื่อไปบูชา ฉันคิดเห็นเพียงเท่านั้น ต่อมาอีกหลายสิบปีจึงได้เห็นรูปพระสถูปเจดีย์แบบเดิมที่เมืองสารเขต อันเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองนครปฐม อยู่ใกล้เมืองแปรในประเทศพม่า รูปทรงคล้ายกับโอคว่ำหรือโคมหวดคว่ำ มีบัลลังก์ปักฉัตรเป็นยอดอยู่ข้างบน ชั้นประทักษิณทำแต่เหมือนอย่างบันไดขั้นเดียวติดกับฐานพระสถูป พระสถูปเจดีย์เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปที่สร้างชั้นเดิมก็เป็นรูปเช่นว่า และได้เห็นรูปภาพในหนังสืออังกฤษแต่งว่าด้วยพุทธเจดีย์ในคันธารราษฎร์ ก็ว่าพระสถูปชั้นเดิมรูปเป็นอย่างนั้น แล้วกล่าวอธิบายต่อไปว่า ชาวอินเดียแต่โบราณกลัวบาปไม่รื้อแย่งพระเจดีย์ ถ้าจะบูรณะปฏิสังขรณ์ก็มีแต่ก่อพอกเพิ่มพระเจดีย์เดิม เป็นเหตุให้รูปทรงพระเจดีย์เปลี่ยนไปดังปรากฏในชั้นหลัง แม้พระธรรมเมกขเจดีย์ที่มฤคทายวัน เขาก็ตรวจพบว่ามีองค์เดิมซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชอยู่ข้างในไม่สู้ใหญ่นัก ก่อองค์ที่ยังแลเห็นอิฐครอบองค์เดิม แล้วยังมีผู้ศรัทธามาก่อศิลาครอบเข้าข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ทำไม่สำเร็จค้างอยู่ เขาสังเกตลวดลายที่จำหลักว่าเป็นแบบของช่างสมัยราชวงศ์สุงคะ ราว พ.ศ.๔๕๐ พระธรรมเมกขเจดีย์จึงกลายเป็นรูป ๒ ลอนด้วยประการฉะนี้ ถ้าเป็นเช่นเขาว่า ที่ฉันสันนิษฐานว่าเป็นเพราะมิจฉาทิฐิทำร้ายก็ผิดไป ถึงไทยเราก็ถือเป็นคติมาแต่ดั้งเดิมเหมือนเช่นชาวอินเดีย ว่าไม่ควรรื้อแย่งพุทธเจดีย์ แม้เพื่อจะบูรณะปฏิสังขรณ์ มีตัวอย่างจะอ้างได้ง่ายๆ เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระปฐมเจดีย์ ก็ทรงสร้างพระมหาสถูปครอบพระปฐมเจดีย์องค์ก่อน หาได้ทรงรื้อแย่งองค์เดิมอย่างใดไม่

มหาเจดียสถานในอินเดีย ที่เรียกว่า “บริโภคเจดีย์” มี ๔ แห่ง ล้วนมีเรื่องเนื่องด้วยพุทธประวัติ ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประชวรคราวจะเสด็จเข้าพระนิพพาน พระอานนท์ทูลปรารภความวิตกว่าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จล่วงลับไปแล้ว พวกพุทธบริษัทซึ่งได้เคยเฝ้าแหนเห็นพระองค์อยู่เนืองนิจ จะพากันเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระกรุณาโปรดประทานอนุญาตไว้ว่า ถ้าพวกพุทธบริษัทใครเกิดว้าเหว่ ก็ให้ไปปลงธรรมสังเวช ณ สถานที่อันเนื่องกับพระพุทธประวัติ ๔ แห่ง คือที่พระพุทธองค์ประสูติในสวนลุมพินี ณ เมืองกบิลพัสดุ์แห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้พระโพธิญาณ ณ เมืองคยาแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาตั้งพระศาสนาในมฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่งหนึ่ง ที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าพระนิพพานในป่าสาลวัน ณ เมืองกุสินาราแห่งหนึ่ง จะไปยังแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ตามแต่จะสะดวก เพราะฉะนั้นจำเดิมแต่ล่วงพุทธกาล พวกพุทธบริษัทก็พากันไปกระทำพุทธบูชา ณ ที่ ๔ แห่งนั้นสืบมา เรียกว่า บริโภคเจดีย์ เพราะเกี่ยวกับพระองค์พระพุทธเจ้า ก็บริโภคเจดีย์ทั้ง ๔ นั้น มีคนไปบูชาที่มฤคทายวันมากกว่าแห่งอื่น เพราะอยู่ในชานมหานคร แต่อีก ๓ แห่งอยู่ในเขตเมืองน้อย มหาเจดียสถานที่มฤคทายวันจึงใหญ่โตกว่าแห่งอื่น กรมตรวจโบราณคดีพบของโบราณมีแบบกระบวนช่าง สังเกตได้ว่าบูรณะปฏิสังขรณ์มาทุกสมัยเมื่อยังมีพุทธศาสนิกชนอยู่ในอินเดีย และถูกพวกมิจฉาทิฐิรื้อทำลายยิ่งกว่าที่ไหนๆ เพราะอยู่ใกล้มหานครกว่าแห่งอื่น



พุทธคยา

เมืองคยาเป็นเมืองน้อย เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดียยังไม่มีทางรถไฟไปถึง จึงไม่ได้เสด็จไป เมื่อฉันไปมีทางรถไฟแล้ว ถึงกระนั้นรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้กะจะให้ไป หากฉันอยากบูชาพระบริโภคเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เขาจึงจัดให้ไปตามประสงค์ พอไปถึงก็เห็นความลำบากของรัฐบาล เพราะไม่มีที่จะให้พัก ต้องแบ่งห้องในเรือนของเจ้าเมืองให้ฉันอยู่ และเอากระโจมเต็นท์ผ้าใบไปปักที่ลานบ้านเจ้าเมือง ให้คนอื่นที่ไปกับฉันอยู่อีกหลายหลัง แต่มีดีกว่าที่อื่นอย่างหนึ่งที่มีมิสเตอร์เครียสันเจ้าเมือง เป็นนักเรียนโบราณคดีทั้งเรื่องศาสนาและภาษาของชาวอินเดีย ภายหลังมาได้เป็น เซอร์ มีชื่อเสียงเป็นนักปราชญ์สำคัญคนหนึ่ง พอรู้ว่าฉันจะไป ก็เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ปลูกใส่กระบอกไม้ไผ่ไว้ให้ ๓ ต้น สำหรับจะได้เอามาเมืองไทย แต่จะรอเรื่องต้นโพธินั้นไว้เล่าต่อไปข้างหน้า มิสเตอร์เครียสันบอกว่าที่ในแขวงเมืองคยานั้น ยังมีของโบราณเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจมอยู่ในแผ่นดินอีกมากมายหลายแห่ง เสียดายที่ฉันไปอยู่น้อยวันนัก ถ้ามีเวลาพอจะพาไปเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นเมืองร้างทางเกวียนไปสักวันหนึ่ง เตรียมจอบเสียมไปด้วย อาจจะขุดหาของโบราณได้สนุกดีทีเดียว

ที่เมืองคยานั้น มีเจดียสถานของโบราณที่คนนับถือมากสองแห่ง คือที่ตำบลคยาสิระ มีวัดวิษณุบาทเป็นที่นับถือของพวกฮินดูแห่งหนึ่ง กับวัดพุทธคยา เป็นที่นับถือของพวกถือพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง แม้ที่พุทธคยาพวกฮินดูก็ไปบูชา เพราะพวกฮินดูที่เมืองคยาถือคติฝ่ายวิษณุเวทโดยมาก ถือว่าพระวิษณุอวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า ดังกล่าวในเรื่องนารายณ์สิบปาง จึงมีคนต่างด้าวทั้งพวกฮินดูและพวกถือพระพุทธศาสนา พากันบูชาที่เจดียสถานทั้งสองแห่งนั้นตั้งปีละ ๑๐๐,๐๐๐ คนเป็นนิจ

พระมหาเจดียสถานที่พุทธคยา อยู่ห่างเมืองคยาสักระยะทางราว ๗๕ เส้น มีถนนไปรถเทียมม้าคู่ได้ตลอดทาง ต้องผ่านวัดคยาสิระของพวกฮินดูไปก่อน วัดนั้นอยู่กลางหมู่บ้านของพวกชาวเมือง ฉันแวะเข้าไปดูพวกฮินดูก็พากันต้อนรับ พาเข้าไปในวัด และเลี้ยงดูโดยเอื้อเฟื้อ เรื่องตำนานของวัดนั้นว่า เดิมมียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าคยา เป็นสัตว์บาปหยาบช้าเที่ยวเบียดเบียนมนุษย์ จึงร้อนถึงพระวิษณุ คือพระนารายณ์ เสด็จลงมาปราบยักษ์ตนนั้น เอาพระบาทขวาเหยียบอกตัดหัวยักษ์โยนไป แล้วสาปให้หัวยักษ์กลายเป็นหินเช่นปรากฏอยู่ รอยพระบาทของพระวิษณุที่เหยียบอกก็ปรากฏอยู่ด้วย จึงเรียกเจดียสถานนั้นว่า “วิษณุบาท” พวกฮินดูเชื่อกันว่าถ้าใครไปบูชา อาจจะอธิษฐานช่วยญาติที่ตายไปแล้วให้พ้นอบายภูมิได้ จึงพากันไปบูชาหาบุญเพื่อเหตุนั้น ฉันเข้าไปเยี่ยมดูเพียงประตูวิหาร จะเข้าไปในนั้นเกรงว่าพวกฮินดูจะรังเกียจ เห็นมีศิลาสีดำเทือกหนึ่งซึ่งสมมตว่าเป็นตัวยักษ์คยา ยาวสัก ๘ ศอก ดูรูปคล้ายกับคนนอนอยู่บนฐานชุกชีกลางวิหาร ทำนองเดียวกันกับม้วนผ้าที่บนพระแท่นดงรังในเมืองไทย รอยวิษณุบาทฉันไม่ได้เห็น แต่เขาพรรณนาไว้ในหนังสือนำทางว่าทำรูปพระบาทด้วยแผ่นเงินขนาดกว้างยาวเท่าๆ กับตีนคน ติดไว้กับพื้นโพรงหินอันมีอยู่ตรงอกของรูปยักษ์ แต่พวกชาวบ้านจำลองรูปพระบาททำด้วยแผ่นทองแดง และทำของอื่นๆ ด้วยศิลาดำ เช่นเดียวกับที่เป็นตัวยักษ์จำหลักรูปวิษณุบาทติดไว้ขายพวกสัปบุรุษหลายอย่าง ตำบลคยาสิระนี้ดูชื่อพ้องกับนิทานวัจน นำอาทิตตปริยายสูตร ซึ่งว่า “คยายํ วิหรติ คยาสีเส” น่าจะหมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนั้น ณ ตำบลคยาสิระในแขวงเมืองคยา” คือในตำบลที่ฉันไปนั่นเอง นิทานเรื่องพระนารายณ์ปราบยักษ์คยา น่าจะเกิดขึ้นต่อภายหลังพุทธกาล ด้วยเอาคำ “คยาสีเส” หรือ “คยาสิระ” มาผูกขึ้นเป็นเรื่องยักษ์มารดังกล่าวมา

ฉันไปพุทธคยาครั้งนั้น นึกคาดไปว่าจะได้เกียรติเป็นไทยคนแรกที่ได้ไปสืบพระศาสนาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เหมือนเช่นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปสืบศาสนาถึงมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงวัดพุทธคยาพอเข้าประตูวิหาร เห็นผ้ากราบพระปักตรางานหลวงในเมืองไทยผูกห้อยอยู่ผืนหนึ่งก็สิ้นกระหยิ่มใจ ด้วยมีพระภิกษุไทยองค์ใดองค์หนึ่งได้ไปถึงเสียก่อนแล้ว พิจารณาดูหนังสือไทยที่เขียนไว้กับผ้ากราบ บอกชื่อว่า “พระสังกันตเนตรได้มาบูชา” ฉันก็รู้จักตัว คือพระสมุห์เนตร วัดเครือวัลย์ฯ ภายหลังมาได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ซึ่งเป็นพระชอบเที่ยวธุดงค์มาแต่ยังหนุ่มจนขึ้นชื่อลือนาม แต่ฉันไม่ได้คาดว่าจะสามารถไปได้ถึงพุทธคยาในอินเดียในสมัยนั้น ก็ประหลาดใจ ที่ตำบลพุทธคยามีแต่วัดพระศรีมหาโพธิ หรือถ้าเรียกอย่างไทยก็ว่า “วัดโพธิ์” กับบ้านพวกพราหมณ์มหันต์อยู่หมู่หนึ่ง ไม่มีบ้านเรือนราษฎรห้อมล้อมเหมือนเช่นที่วัดวิษณุบาท เพราะที่ดินตำบลนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพวกพราหมณ์มหันต์ ดังจะบอกเหตุต่อไปข้างหน้า ที่วัดอยู่ห่างฝั่งลำน้ำเนรัญชรที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาดไม่ถึง ๑๐ เส้น แต่ลำน้ำเนรัญชรนั้น เวลาเมื่อฉันไปเป็นฤดูแล้งน้ำแห้งขาด แลดูท้องน้ำเป็นแต่พื้นทรายเม็ดใหญ่ แต่เขาว่าขุดลงไปตรงไหนก็ได้น้ำที่ไหลอยู่ใต้ทรายเสมอ ตัววัดพระศรีมหาโพธิ เมื่อฉันไปมีสิ่งสำคัญแต่พระปรางค์ใหญ่อยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกองค์หนึ่ง หลังพระปรางค์เข้าไปมีพระแท่น “รัตนบัลลังก์” เป็นศิลาจำหลักแผ่นใหญ่ ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างประดิษฐานไว้ตรงที่พระพุทธเจ้าประทับ เมื่อตรัสรู้ที่ใกล้โคนต้นพระศรีมหาโพธิแผ่นหนึ่ง ต่อพระแท่นไปก็ถึงต้นพระศรีมหาโพธิ มีฐานก่อล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิเมื่อฉันไปขนาดลำต้นราวสัก ๔ กำ เป็นทายาทสืบสันตติพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้สักกี่ชั่วแล้วไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่าสืบพืชพรรณมาแต่พระศรีมหาโพธิต้นเดิมอยู่ในที่เดียวกันมาจนกาลบัดนี้ ลานวัดปราบเป็นที่ราบออกไปสัก ๒ เส้น ๔ เหลี่ยมมีกำแพงล้อม นอกกำแพงออกไปยังเป็นกองดินสูงบ้างต่ำบ้างเป็นพืดไป กรมตรวจโบราณคดียังไม่ได้ขุดค้น

เรื่องตำนานของวัดพระศรีมหาโพธิพุทธคยา เมื่อตอนก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แม้เป็นที่พุทธศาสนิกชนไปบูชามาแต่แรกพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพาน ก็ไม่ปรากฏสิ่งใดที่สร้างไว้ก่อน พ.ศ. ๒๐๐ ของเก่าที่พบมีแต่ของครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ว่าทรงสร้างพระแท่นรัตนบัลลังก์กับวิหารขนาดน้อยไว้ข้างหน้าต้นโพธิ เป็นที่คนไปบูชาหลังหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายในอินเดีย มีผู้ศรัทธาไปสร้างเจดีย์วัตถุและเครื่องประดับต่างๆ เพิ่มเติมต่อมาโดยลำดับ ผู้ตรวจเขาสังเกตแบบลวดลายตามสมัย ได้เค้าว่ามีชาวอินเดียปฏิสังขรณ์มาจนราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ก่อนพระพุทธศาสนาจะถูกกำจัดจากอินเดียไม่นานนัก แต่การบูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญ คือพระปรางค์ที่เป็นหลักวัดอยู่เดี๋ยวนี้ เขาสันนิษฐานว่าถึงสมัยเมื่อเกิดนิยมทำพระพุทธรูปในราว พ.ศ. ๕๐๐ มีผู้สร้างแปลงวิหารของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเดิมเป็นแต่ที่สำหรับคนบูชาพระศรีมหาโพธิ ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเก่า เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปด้วย ต่อมาถึง พ.ศ.๑๐๐๐ เศษ มีมหาพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อมรเทวะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ณ เมืองมัลวา เข้ารีตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาสร้างแปลงวิหารนั้นเป็นพระปรางค์องค์ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ แบบอย่างรูปทรงผิดกับพระเจดีย์บรรดาที่มีในอินเดียทั้งหมด คงเป็นเพราะพราหมณ์อมรเทวะเคยถือไสยศาสตร์ ชอบแบบอย่างเทวาลัยอยู่ก่อน เอาเค้าเทวาลัยกับพระเจดีย์ทางพระพุทธศาสนาผสมกันทำตอนยอดเป็นพระสถูป ตอนกลางเป็นปรางค์ ตอนล่างเป็นวิหารที่ตั้งพระพุทธรูป เพราะฉะนั้นจึงแปลกกับที่อื่น สร้างด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ สัณฐานเป็น ๔ เหลี่ยมสูงตลอดยอด ๓๐ วา ตอนล่างที่เป็นวิหารกว้าง ๘ วา สูง ๔ วาเศษ ทำคูหาตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักสัก ๓ ศอกเป็นประธาน ที่ฝาผนังวิหารมีช่องบันไดขึ้นไปบนหลังคา ซึ่งทำเป็นหลังคาตัด ลานทักษิณรอบพระปรางค์ใหญ่องค์กลาง และมีปรางค์น้อยตามมุมลานทักษิณ ๔ องค์ ปรางค์ใหญ่ก็เป็นรูป ๔ เหลี่ยมทรงสอบขึ้นไปทางยอด ทำซุ้มจรนำมีคูหาสำหรับตั้งพระพุทธรูป เรียงรอบพระปรางค์เป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๙ ชั้น ถึงที่สุดปรางค์ทำพระสถูปเจดีย์กลมไว้เป็นยอด เมื่อใหม่ๆ ดูก็เห็นจะงามแปลกตา

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาถูกพวกมิจฉาทิฐิล้างผลาญที่ในอินเดีย มีพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาพากันหนีไปพึ่งพระเจ้าราชาธิราชพม่า ณ เมืองพุกาม อันเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเป็นอันมาก คงไปทูลพรรณนาถึงพุทธเจดียสถานในอินเดีย ให้พระเจ้าคันชิตราชาธิราชพระองค์ที่ ๓ ทรงทราบ จึงทรงเลื่อมใสศรัทธาให้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยา เมื่อราว พ.ศ.๑๖๕๕ ครั้งหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าอลองคสิทธุราชาธิราชพระองค์ที่ ๔ ไปปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง และพระเจ้าติโลมินโลราชาราชาธิราชองค์ที่ ๙ ให้ไปถ่ายแบบพระปรางค์พุทธคยาไปสร้างไว้ที่เมืองพุกามเมื่อราว พ.ศ.๑๗๕๓ องค์หนึ่ง เลยมีเรื่องต่อมาถึงเมืองไทย ด้วยมีพระเจดีย์โบราณก่อด้วยศิลาแลงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่องค์หนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “พระเจดีย์เจ็ดยอด” รูปสัณฐานทำอย่างพระปรางค์พุทธคยา ฉันได้เคยเห็นทั้งองค์ที่พุทธคยาและองค์ที่เมืองพุกาม จึงอ้างได้แน่ว่าองค์ที่เมืองเชียงใหม่คงถ่ายแบบมาจากองค์ที่เมืองพุกาม เป็นแต่ย่อขนาดให้ย่อมลงสักหน่อยและน่าจะสร้างเมื่อก่อน พ.ศ.๑๘๐๐ ในสมัยเมื่อเมืองเชียงใหม่ยังเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกาม อาจจะมีเจ้านายราชวงศ์พุกามมาครอบครอง (บางทีจะเป็นองค์ที่อภิเษกกับนางจามเทวี) เอาอย่างพระปรางค์มาจากเมืองพุกามและสร้างอย่างประณีตถึงเพียงนั้น ความส่อต่อไปว่าที่ในหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่ ว่าพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๑๘๓๙ นั้น ที่จริงสร้างในท้องที่เมืองเก่าอันร้างอยู่ มิได้สร้างในที่ป่าเถื่อน เรื่องตำนานพระปรางค์ที่พุทธคยายังมีต่อมาว่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปอินเดีย ๕ ปี พระเจ้ามินดงประเทศพม่าใคร่จะบำเพ็ญพระราชกุศล ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าราชาธิราชพม่าแต่ปางก่อน ให้ไปขออนุญาตต่อรัฐบาลอังกฤษปฏิสังขรณ์พระปรางค์พุทธคยาอีกครั้งหนึ่ง แต่พม่าไปปฏิสังขรณ์ครั้งนี้นักโบราณคดีอังกฤษยังติเตียนกันอยู่จนทุกวันนี้ ว่าเหมือนไปทำลายยิ่งกว่าไปทำให้กลับคืนดี เพราะข้าหลวงพม่ามีความคิดเพิ่มจะก่อกำแพงล้อมรอบ กับจะปราบที่ในลานวัดทำให้ราบรื่น รื้อแย่งเครื่องศิลาของโบราณที่สร้างไว้ในบริเวณ ขนเอาออกไปทิ้งเสียโดยมาก ทั้งเที่ยวรื้อเอาอิฐตามโบราณสถานในที่มีอยู่ใกล้ๆ ไปก่อกำแพงวัดที่ทำนั้นทำให้ยิ่งยับเยินหนักไป แม้ที่องค์พระปรางค์ก็กะเทาะเอาลวดลายปั้นของเดิมที่ยังเหลืออยู่ออกเสีย เอาปูนยารอยที่ชำรุดแล้วทาปูนขาวฉาบทั่วทั้งองค์ เอาเป็นสำเร็จเพียงนั้น ต่อมาจะเป็นด้วยรัฐบาลอินเดียรู้สึกเอง ว่าที่ได้อนุญาตให้พม่าปฏิสังขรณ์โดยไม่ควบคุมผิดไป หรือจะเป็นด้วยถูกพวกนักโบราณคดีติเตียนมาก เจ้าเมืองบังกล่า (Bengal) จึงให้ปฏิสังขรณ์องค์พระปรางค์อีกครั้งหนึ่ง ตกแต่งถือปูนเรียบร้อยทั้งองค์ เห็นจะสำเร็จก่อนฉันไปไม่ช้านัก และดูยังใหม่ และมีศิลาจารึกบอกไว้ แต่ฉันจำศักราชไม่ได้ว่าปฏิสังขรณ์เมื่อปีใด

เมื่อฉันไปถึงวัดพุทธคยา พวกพราหมณ์มหันต์ (Mahant) พากันมาต้อนรับ พอฉันบูชาพระและเที่ยวดูทั่วเขตวัดแล้ว เชิญไปพักที่เรือนมหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าพวกมหันต์ มีพิธีต้อนรับ เช่นสวมพวงมาลัยให้แล้วจัดของว่างมาเลี้ยงเป็นต้น ที่วัดพุทธคยามีเครื่องศิลาจำหลักของโบราณเหลืออยู่มากกว่าที่มฤคทายวัน พวกพราหมณ์มหันต์เก็บเอามาประดับประดาไว้ตามที่ต่างๆ ฉันอยากได้สิ่งไหนออกปากขอ ก็ยอมให้โดยเต็มใจไม่ขัดขวาง ฉันเลือกแต่ของที่แปลกตาขนาดเล็กๆ พอจะเอามาด้วยได้สักสี่ห้าสิ่ง บางสิ่งก็มาเป็นของสำคัญดังจะเล่าที่อื่นต่อไป เหตุที่พวกพราหมณ์มหันต์จะได้เป็นเจ้าของวัดพุทธคยานั้น ปรากฏว่ากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยบริษัทอังกฤษยังปกครองอินเดียขยายอาณาเขตออกไปถึงมัชฌิมประเทศ จัดวิธีการปกครองด้วยแบ่งที่ดินให้ชาวอินเดียที่ฝักฝ่ายอยู่ในอังกฤษ และเป็นคนมีกำลังพาหนะที่จะปกครองถือที่ดินเรียกว่า ซามินดาร์ (Zamindar) มีอาณาเขตเป็นส่วนๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ต้องบังคับบัญชาการตามกฎหมายอังกฤษ และส่งเงินส่วยแก่รัฐบาลอินเดียตามกำหนดที่ตกลงกัน ถ้าซามินดาร์กระทำตามสัญญาอยู่ตราบใด รัฐบาลยอมให้ผู้สืบสกุลมีสิทธิเช่นเดียวกันเสมอไป ก็ในสมัยเมื่อตั้งวิธีปกครองเช่นว่านั้น ที่ตำบลพุทธคยาเป็นป่าร้างมีแต่พวกพราหมณ์มหันต์ตั้งบ้านเรือนอยู่ มหาพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าได้รับตำแหน่งเป็นซามินดาร์ ปกครองตำบลพุทธคยา และมหาพราหมณ์ที่เป็นทายาทได้รับสิทธิปกครองสืบกันมา วัดพุทธคยาอยู่ในอาณาเขตที่ดินของพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์จึงถือว่าเป็นผู้ปกครองวัดพุทธคยา และดูแลรักษาเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวทในศาสนาของตนด้วย


เรื่องมหาโพธิสมาคม

ในครั้งนั้น เผอิญฉันต้องไปรับรู้เรื่องตั้งมหาโพธิสมาคมอันเนื่องกับเจดียสถานที่พุทธคยา จะเลยเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เมื่อฉันออกจากเมืองคยามาพักอยู่ที่เมืองกัลกัตตา มีชายหนุ่มเป็นชาวลังกาชื่อ “ธรรมปาละ” มาหาฉันด้วยกันกับพ่อค้าพม่าคนหนึ่ง นายธรรมปาละบอกว่าพวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนา ให้กลับนับถือกันในอินเดียดังแต่เดิม ความคิดที่พวกเขาจะทำการนั้น เขาจะเอาที่พระมหาเจดีย์พุทธคยาตั้งเป็นแหล่ง แล้วชวนพุทธศาสนิกชนทั่วทุกชาติทุกภาษา ให้ร่วมมือช่วยกันจัดการสอนพระพุทธศาสนาให้มีคนนับถือแพร่หลายในอินเดีย ต่อนั้นไปก็จะได้ทำนุบำรุงพระเจดียสถานต่างๆ ให้พระพุทธศาสนากลับเป็นส่วนใหญ่อันหนึ่ง ในศาสนาต่างๆ ที่ในอินเดีย และเอาเป็นที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งโลก ในเวลานั้นมีชาวลังกาและพม่าเข้าร่วมมือกับเขาหลายคนแล้ว จึงตั้งเป็นสมาคมให้ชื่อว่า “มหาโพธิ” ตามนามมหาเจดีย์ ณ พุทธคยา ที่เขาจะเอาเป็นแหล่งฟื้นพระพุทธศาสนา แต่มีความขัดข้องเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยพวกพราหมณ์มหันต์อ้างว่าที่ดินตำบลพุทธคยากับทั้งมหาเจดียสถาน เป็นสมบัติของตน ไม่ยอมให้สมาคมมหาโพธิไปตั้งสถานี ณ ที่นั้น จะขอซื้อเฉพาะตรงที่วัดก็ไม่ขาย นายธรรมปาละมาหาฉันด้วยเห็นว่าเป็นเจ้านายประเทศไทย อันเป็นประเทศสำคัญที่นับถือพระพุทธศาสนาประเทศหนึ่ง เพื่อจะขอให้ฉันช่วยพูดจากับอุปราช Viceroy อินเดีย ให้ใช้อำนาจรัฐบาลบังคับพวกพราหมณ์มหันต์ ให้มอบวัดพระมหาโพธิ อันเป็นวัดในพระพุทธศาสนาคืนให้เป็นวัดของพวกพุทธศาสนิกชนตามเดิม ฉันตอบว่าที่พวกเขาคิดจะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียนั้น ฉันก็ยินดีอนุโมทนาด้วย แต่ที่จะให้ไปพูดกับอุปราชในเรื่องวัดพระมหาโพธินั้น ฉันเห็นจะรับธุระไม่ได้ ด้วยการนั้นเป็นการภายในบ้านเมืองของอินเดีย ตัวฉันเป็นชาวต่างประเทศ ทั้งเป็นแขกของรัฐบาล ที่จะเอื้อมเข้าไปพูดจาร้องขอถึงกิจการภายในบ้านเมืองของเขา ไม่สมควรจะพึงทำ ฉันพูดต่อไปว่าธรรมะเป็นตัวพระศาสนา อิฐปูนไม่สำคัญอันใด สอนพระธรรมที่ไหนก็สอนได้ ทำไมจึงจะเริ่มฟื้นพระศาสนาด้วยตั้งวิวาทแย่งวัดกันดูไม่จำเป็นเลย นายธรรมปาละคงไม่พอใจในคำตอบ พูดกันเพียงเท่านั้น ต่อมานายธรรมปาละเข้ามากรุงเทพฯ ได้แสดงปาฐกถาชวนไทยให้ร่วมมือหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เงินไปจากเมืองไทยสักเท่าใดนัก เพราะมีคนฟังปาฐกถาภาษาอังกฤษเข้าใจไม่มากนัก แม้คนที่ฟังเข้าใจก็มิใคร่มีใครชอบปฏิภาณของนายธรรมปาละด้วยแกชอบใช้โวหารชวนให้แค้นพวกมิจฉาทิฐิที่ได้พยายามทำลายพระพุทธศาสนามากว่า ๗๐๐ ปี ทำให้เห็นความประสงค์ที่จะไปฟื้นพระพุทธศาสนา แปรไปคล้ายกับจะไปแก้แค้นพวกมิจฉาทิฐิยิ่งกว่าไปทำบุญ ก็มักมิใคร่มีใครเลื่อมใส เมื่อนายธรรมปาละพยายามไปเที่ยวขอความช่วยเหลือตามประเทศต่างๆ ที่ถือพุทธศาสนา ได้เงินพอเป็นทุนก็ใช้นามมหาโพธิสมาคม ฟ้องขับไล่พวกพราหมณ์มหันต์เป็นความกันในศาลที่เมืองกัลกัตตา ศาลตัดสินให้มหาโพธิสมาคมแพ้คดี ด้วยอ้างว่าพวกพราหมณ์มหันต์ได้มีกรรมสิทธิ์ปกครองที่ดินมาหลายร้อยปีแล้ว และวัดพุทธคยานั้น พวกพราหมณ์มหันต์ก็ได้ดูแลรักษานับถือว่าเป็นวัดในศาสนาของเขาเหมือนกัน นายธรรมปาละไม่ได้วัดพุทธคยาสมประสงค์ จึงเปลี่ยนที่ไปตั้งสถานีที่มฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสี ทำนองที่วัดในมฤคทายวันจะเป็นที่หลวง จึงได้รับความอุดหนุนของรัฐบาลอินเดีย มหาโพธิสมาคมก็สามารถตั้งสถานี ณ ที่นั้นสร้างวัดขึ้นใหม่ ขนานนามว่าวัด “มูลคันธกุฎีวิหาร” และต่อมาไปทำทางไมตรีดีกับพวกพราหมณ์มหันต์ พวกพราหมณ์มหันต์ก็ยอมให้มหาโพธิสมาคมสร้างที่พักของพวกพุทธศาสนิกชนขึ้น ใกล้กับบริเวณวัดพุทธคยานั้น จึงมีสถานีอันเป็นของพุทธศาสนิกชนเกิดขึ้นในอินเดีย ๒ แห่ง เป็นที่พักอาศัยของพุทธศาสนิกชนทุกชาติ แม้พระภิกษุไทยไปก็ได้อาศัยมาจนบัดนี้ เป็นอันสมประสงค์ของนายธรรมปาละ ที่จะฟื้นพระศาสนาเพียงเท่าที่สามารถจะเป็นได้ แต่น่าชมความศรัทธาและอุตสาหะของนายธรรมปาละ ว่าเป็นอย่างยอดเยี่ยม ด้วยได้พยายามมากว่า ๓๐ ปี ในระหว่างนั้นสู้สละทรัพย์สมบัติบ้านเรือนออกเป็นคนจรจัด เรียกตนเองว่า “อนาคาริกะ” ขวนขวายทำแต่การที่จะฟื้นพระพุทธศาสนาในอินเดียอย่างเดียว เที่ยวชักชวนหาคนช่วยไปตามประเทศน้อยใหญ่จนรอบโลก ครั้นการสำเร็จตั้งสถานีของพุทธศาสนิกชนได้ในอินเดียแล้ว นายธรรมปาละก็ออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่จนตราบเท่าถึงมรณภาพ ควรนับว่าเป็นวีรบุรุษได้ชนิดหนึ่ง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กุมภาพันธ์ 2567 13:52:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0 Chrome 121.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2567 13:50:46 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๗  เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

เสาะหาพระพุทธเจดีย์

นอกจากไปบูชามหาเจดียสถานทั้ง ๒ แห่งที่พรรณนามาแล้ว เมื่อไปอินเดีย ฉันได้เสาะหาของที่เนื่องกับพระพุทธศาสนา มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วยหลายสิ่ง จะเล่าถึงเรื่องที่หาสิ่งของเหล่านั้นต่อไป


พระบรมธาตุ


แต่ก่อนฉันไปอินเดียหลายปี เห็นจะเป็นในราว พ.ศ.๒๔๒๘ เมื่อครั้งกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ เป็นตำแหน่งราชทูตไทยอยู่ ณ กรุงลอนดอน มีข่าวเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่ารัฐบาลอินเดียพบพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ในพระเจดีย์โบราณ แล้วส่งไปไว้พิพิธภัณฑสถาน British Museum ณ กรุงลอนดอน เมื่อกรมพระนเรศรฯ เสด็จกลับมากรุงเทพฯ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัสถามว่าพระบรมธาตุที่อังกฤษพบในอินเดียนั้น ลักษณะเป็นอย่างไร กรมพระนเรศรฯ ทูลว่าไม่ได้ไปทอดพระเนตร กรมสมเด็จพระปวเรศฯ ตรัสบ่นว่ากรมพระนเรศรฯ ไม่เอาพระทัยใส่ในพระพุทธศาสนา เมื่อฉันไปยุโรป ไปถึงลอนดอน ก่อนมาอินเดียนึกขึ้นถึงเรื่องนั้น วันฉันไปดูพิพิธภัณฑสถาน จึงขอให้เจ้าพนักงานเขาพาไปดูพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าที่ได้ไปจากอินเดีย ไปเห็นก็เกิดพิศวง ด้วยพระบรมธาตุที่ว่านั้นเป็นกระดูกคน มิใช่ธาตุที่คล้ายกับปูนเช่นเรานับถือกันในเมืองไทย ฉันเห็นพระธาตุที่เขาได้ไปมีมากประมาณสักฟายมือหนึ่ง นึกว่าถ้าฉันขอแบ่งเอามาเมืองไทยสักสองสามชิ้น รัฐบาลอังกฤษก็เห็นจะให้ จึงถามเจ้าพนักงานพิพิธภัณฑสถาน ว่าที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้านั้นมีหลักฐานอย่างไร เขาบอกว่าที่ผ้าห่อพระธาตุมีหนังสือเขียนบอกไว้เป็นสำคัญ ว่าเป็นพระธาตุพระพุทธเจ้า ผู้บอกเขาเป็นนักเรียนโบราณคดี บอกต่อไปว่าหนังสือที่เขียนไว้นั้น เป็นแบบตัวอักษรซึ่งใช้ในอินเดียเมื่อราวศตวรรษที่ ๖ แห่งคริสตศก หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งคือแบบตัวหนังสือซึ่งใช้กันในอินเดียเมื่อราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ฉันได้ฟังก็ยั้งใจ ด้วยจำนวนศักราชส่อให้เห็นว่าพระบรมธาตุนั้นน่าจะเป็นของตกต่อกันมาหลายทอด แล้วเชื่อถือกันตามที่บอกเล่าต่อๆ มาว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึง ๑๐๐๐ ปีแล้ว จึงได้เอาเข้าบรรจุพระเจดีย์องค์ที่อังกฤษพบพระธาตุ อีกประการหนึ่ง ปริมาณพระธาตุก็ดูมากเกินขนาดที่พระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชาเป็นต้น จะแบ่งประทานผู้ใดผู้หนึ่ง หรือให้ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งถึงเท่านั้น ดูน่าจะเป็นของที่สัปบุรุษในชั้นหลังรวบรวมพระธาตุที่พบในพระเจดีย์หักพัง ณ ที่ต่างๆ บรรดาอ้างเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเอามาบรรจุไว้ด้วยกัน ปริมาณพระธาตุจึงได้มากถึงเพียงนั้น ฉันไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าทั้งหมด คิดดูเห็นว่าที่ไทยเราบูชาพระธาตุอย่างคล้ายหินตามคติลังกา หากจะมิใช่พระบรมธาตุแท้จริงก็ผิดเพียงบูชาก้อนหิน แต่พระธาตุอินเดียเป็นกระดูกคน ถ้าองค์ที่ขอแบ่งเอามามิใช่พระธาตุพระพุทธเจ้า จะกลายเป็นมาชวนให้ไทยไหว้กระดูกใครก็ไม่รู้ จึงเลิกความคิดที่จะขอพระธาตุมาจากลอนดอน เมื่อฉันมาถึงอินเดียไปดูพิพิธภัณฑสถานแห่งใด ก็ตั้งใจจะพิจารณาดูพระธาตุที่พบในอินเดีย อันมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง มาได้ความรู้เป็นยุติว่าพระธาตุที่พบในอินเดียเป็นกระดูกคนทั้งนั้น มีหนังสือเขียนที่ห่อผ้าว่าพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าก็มี ว่าพระธาตุพระสารีบุตรก็มี พระโมคคัลลานะก็มี แต่เหตุที่เป็นข้อสงสัยก็ยังมีอยู่ ด้วยเครื่องประกอบเป็นหลักฐาน เช่นตัวอักษรก็ดี สิ่งของที่บรรจุไว้ด้วยกันกับพระธาตุเช่นเงินตราเป็นต้นก็ดี ล้วนเป็นของเมื่อล่วงพุทธกาลตั้ง ๑,๐๐๐ ปีแล้วทั้งนั้น และยังมีเหตุเพิ่มความรังเกียจขึ้น ด้วยคิดดูปริมาณพระธาตุที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานทุกแห่ง ถ้ารวมแต่ที่อ้างว่าเป็นพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าเข้าด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์เห็นจะใหญ่โตเกินขนาดมนุษย์มากทีเดียว ไม่พบพระบรมธาตุที่สิ้นสงสัย ฉันจึงไม่ได้พระบรมธาตุมาจากอินเดียในครั้งนั้น

พระศรีมหาโพธิ

ฉันได้เล่ามาแล้วว่าเมื่อไปถึงเมืองคยา มิสเตอร์เครียสัน เจ้าเมืองคยาได้เตรียมต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิไว้ให้ฉัน ๓ ต้น เดิมฉันนึกว่าจะไม่รับเอามา เพราะเห็นว่าต้นยังอ่อนนักคงมาตายกลางทาง แต่นึกขึ้นว่าแต่ก่อนมา เมืองไทยยังไม่เคยได้ต้นโพธิพรรณพระศรีมหาโพธิมาจากต้นเดิมที่พุทธคยา น่าจะลองเอามาดูสักทีเผื่อจะรอดได้ ถ้าไปตายกลางทางก็แล้วไป ฉันจึงให้ต่อหีบหลังกระจกใส่กระบอกต้นโพธิ ๓ ต้นนั้นเอาติดตัวมาด้วย เมื่อมากลางทางเห็นต้นโพธิแตกใบอ่อนก็เกิดปีติ ด้วยจะได้เป็นผู้นำต้นโพธิพระศรีมหาโพธิตรงมาจากพุทธคยา เข้ามายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก

ต้นโพธิพระศรีมหาโพธิที่มีในเมืองไทยมาแต่โบราณ ล้วนได้พรรณมาจากต้นที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งไปปลูกไว้ที่เมืองอนุราธบุรีในลังกาทวีปทั้งนั้น ครั้งที่สุดปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าเมื่อรัชกาลที่ ๒ พระอาจารย์เทพ ผู้เป็นนายกสมณทูตไทยกลับจากลังกาเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ ได้ต้นโพธิจากเมืองอนุราธบุรี มาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ๓ ต้น โปรดให้ปลูกไว้ในวัดมหาธาตุฯ ต้นหนึ่ง วัดสุทัศน์ฯ ต้นหนึ่ง และวัดสระเกศฯ ต้นหนึ่ง ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ แต่พรรณพระศรีมหาโพธิที่เมืองไทยได้ตรงมาจากพุทธคยา เพิ่งปรากฏว่าได้มาเมื่อรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทราบเรื่องพุทธเจดีย์ในอินเดียก่อนผู้อื่น ทรงขวนขวายหาพันธุ์พระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา ได้เมล็ดมายังเมืองไทยเป็นครั้งแรก เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ตอนว่าด้วยบูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ (ฉบับพิมพ์หน้า ๔๔๑) ว่าต้นโพธิที่โปรดให้ปลูกไว้ ๔ มุมบริเวณนั้น “ได้ผลมาแต่เมืองพุทธคยาบุรี ว่าเป็นหน่อเดิมที่พระได้ตรัส พระมหาโพธินั้นมีพระระเบียงล้อมถึง ๗ ชั้น พวกพราหมณ์หวงแหนอยู่แน่นหนา เจ้าเมือง (คือไวสรอย) อังกฤษจึงไปขอเอาผลและใบถวายเข้ามา” แล้วเล่าต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเพาะเมล็ดพระศรีมหาโพธินั้นขึ้นเป็นต้น พระราชทานไปปลูกตามวัดหลวง จะเป็นวัดไหนบ้างไม่กล่าวไว้ แต่ฉันจำได้ในเวลานี้ ปรากฏอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ (ต้นอยู่ข้างหน้าพระวิหารโพธิลังกา) ต้นหนึ่ง ที่วัดบวรนิเวศฯ ต้นหนึ่ง ที่พระปฐมเจดีย์ ๔ ต้น และยังมีเรื่องต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงแบ่งเมล็ดพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ได้มาครั้งนั้นพระราชทานสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รับไปทรงเพาะด้วย ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ปลูกพระศรีมหาโพธิพุทธคยาที่ทรงเพาะนั้น ที่วัดเทพศิรินทร์ต้นหนึ่ง วัดนิเวศธรรมประวัติต้นหนึ่ง วัดอุภัยราชบำรุง คือวัดญวนที่ตลาดน้อยต้นหนึ่ง และพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (เฉย ต้นสกุล ยมาภัย) ไปปลูกที่วัดมณีชลขันธ์เมืองลพบุรีต้นหนึ่ง

เมื่อฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ นำต้นพระศรีมหาโพธิที่ได้มาจากพุทธคยา ไปถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่เกาะสีชัง เวลานั้นกำลังทรงสร้างวัดอัษฎางคนิมิต โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดอัษฎางคนิมิตต้นหนึ่ง อีกสองต้นโปรดให้ชำไว้ในเขตพระราชฐานที่เกาะสีชัง ครั้นทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร โปรดให้ย้ายมาปลูกไว้ที่วัดเบญจมบพิตรต้นหนึ่ง ที่เหลืออยู่อีกต้นหนึ่งจะยังอยู่ที่เกาะสีชัง หรือเป็นอย่างไรฉันหาทราบไม่


รอยพระพุทธบาท

ฉันพบศิลาจำหลักเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา ขนาดยาวสักศอกเศษอยู่ที่วัดพุทธคยาแผ่นหนึ่ง สังเกตดูเห็นเป็นของเก่ามาก น่าจะสร้างแต่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือแม้ภายหลังมาก็ไม่ช้านัก ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่เป็นสำคัญว่าเมื่อก่อน พ.ศ.๕๐๐ ที่ในอินเดียห้ามมิให้ทำพระพุทธรูปเจดียสถานต่างๆ ที่ทำลวดลายจำหลักศิลาเป็นเรื่องพระพุทธประวัติ ตรงไหนที่จะต้องทำพระพุทธรูป ย่อมทำเป็นรูปของสิ่งอื่นแทน พระพุทธรูปตอนก่อนตรัสรู้มักทำเป็นรอยพระบาท ตรงเมื่อตรัสรู้มักทำเป็นรูปพุทธบัลลังก์ทำต้นโพธิ ตรงเมื่อทรงประกาศพระศาสนาทำเป็นรูปจักรกับกวาง ตรงเมื่อเสด็จเข้าพระนิพพานทำเป็นรูปพระสถูป จนล่วงพุทธกาลกว่า ๕๐๐ ปีแล้ว พวกโยนก (ฝรั่งชาติกรีกที่มาเข้ารีตถือพระพุทธศาสนา) ชาวคันธารราษฎร์ ทางปลายแดนอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือ คิดทำพระพุทธรูปขึ้น แล้วชาวอินเดียชนชาติอื่นเอาอย่างไปทำบ้าง จึงเป็นเหตุให้เกิดมีพระพุทธรูปสืบมา รอยพระพุทธบาทนั้นคงเป็นของสร้างขึ้นบูชาแทนพระพุทธเจ้าแต่ในสมัยเมื่อยังไม่มีพระพุทธรูป ฉันออกปากขอ มหาพราหมณ์มหันต์ก็ให้โดยเต็มใจ จึงได้มาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงอีกสิ่งหนึ่ง รอยพระพุทธบาทนั้น โปรดให้ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาพระจุลจอมเกล้าฯ ที่เกาะสีชัง


พระพุทธรูป

เวลาฉันเสาะหาของโบราณที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดีของรัฐบาลอินเดียเขาสงเคราะห์มาก ของโบราณเช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ที่ยังไม่ได้ส่งเข้าพิพิธภัณฑสถาน ฉันไปพบสิ่งใดอยากได้เขาก็ให้ แต่เราก็ต้องเกรงใจเขาเลือกเอามาบ้างแต่พอสมควร ฉันได้พระพุทธรูปปางลีลาแบบสมัยคุปตะ ราว พ.ศ.๑๐๐๐ มาจากมฤคทายวันองค์หนึ่ง และมาได้รอยพระพุทธบาทที่กล่าวมาแล้ว กับทั้งพระพุทธรูปและพระสถูปขนาดน้อยที่พุทธคยาอีกหลายสิ่ง ของเหล่านั้นฉันเอามาถวายพระเจ้าอยู่หัว เดิมโปรดให้ไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังย้ายเอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ยังอยู่ที่นั่นทั้งนั้น มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึงโดยเฉพาะ ด้วยเมื่อฉันจะกลับจากพุทธคยา ได้ปรารภแก่เจ้าพนักงานกรมตรวจโบราณคดี ว่าฉันสังเกตดูพระพุทธรูปโบราณในอินเดียมีหลายแบบอย่าง ฉันอยากเห็นพระพุทธรูปที่นับว่าฝีมือทำงามที่สุดที่ได้พบในอินเดีย เขาจะช่วยหารูปฉายให้ฉันได้หรือไม่ เขารับว่าจะหาดู เมื่อได้จะส่งตามมาให้ ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้สักสองสามเดือน เขาก็ส่งพระพุทธรูปมาให้องค์หนึ่ง ว่าเป็นของรัฐบาลอินเดียให้ฉันเป็นที่ระลึก แต่มิใช่รูปฉายเช่นฉันขอ เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสักศอกหนึ่ง ซึ่งเขาพิมพ์จำลองพระศิลาด้วยปูนปลาสเตอร์ แล้วปิดทองคำเปลวตั้งในซุ้มไม้ทำเป็นรูปเรือนแก้ว สำหรับยึดองค์พระไว้ให้แน่นใส่หีบส่งมา พระนั้นเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์กำลังกระทำทุกรกิริยา ช่างโยนกคิดประดิษฐ์ทำที่ในคันธารราษฎร์เมื่อราว พ.ศ. ๙๐๐ ทำเป็นพระนั่งสมาธิ แต่พระองค์กำลังซูบผอมถึงอย่างว่า “มีแต่หนังหุ้มกระดูก” แลเห็นโครงพระอัฐิและเส้นสายทำเหมือนจริง ผิดกับพระพุทธรูปสามัญ แลเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นรูปพระพุทธองค์เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรหาโมกขธรรม ทำดีน่าพิศวง เขาบอกมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้แหละเป็นชั้นยอดเยี่ยมทั้งความคิดและฝีมือช่างโยนก พบแต่องค์เดียวเท่านั้น รัฐบาลให้รักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานที่เมืองละฮอ แต่ฉันไม่ได้ขึ้นไปถึง จึงไม่ได้เห็น เมื่อวันพระองค์นั้นมาถึงกรุงเทพฯ เวลานั้นฉันยังอยู่ที่วังเก่าใกล้สะพานดำรงสถิต เผอิญพระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนีไปหา พอท่านเห็นก็เกิดเลื่อมใส ว่าเป็นพระอย่างแปลกประหลาดน่าชมนัก ไม่มีใครเคยเห็นมาแต่ก่อน ท่านขอให้ฉันตั้งไว้ที่วังให้คนบูชาสัก ๓ วันก่อน แล้วจึงค่อยถวาย ฉันก็ยอมทำตาม จัดที่บูชาตั้งพระไว้ในศาลาโรงเรียนที่ในวัง พอรุ่งขึ้นมีคนทางสำเพ็งที่ทราบข่าวจากพระพุฒาจารย์ พากันมาก่อน แล้วก็เกิดเล่าลือกันต่อไป เรียกกันว่า “พระผอม” ถึงวันที่สองที่สามคนยิ่งมามากขึ้นแน่นวังวันยังค่ำ ถึงมีพวกขายธูปเทียนและทองคำเปลวมานั่งขายเหมือนอย่างงานไหว้พระตามวัด แต่ฉันขอเสียอย่าให้ปิดทองเพราะของเดิมปิดทองมาแต่อินเดียแล้ว ถึงวันที่ ๔ ต้องให้ปิดประตูวังเพราะยังมีคนไปไม่ขาด

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดให้ประดิษฐานพระองค์นั้นไว้บนฐานชุกชีบุษบกด้านหนึ่งในพุทธปรางค์ปราสาท ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีผู้ศรัทธาไปขอจำลองหล่อ “พระผอม” ด้วยทองสัมฤทธิ์มีขึ้นแพร่หลายและทำหลายขนาด องค์ใหญ่กว่าเพื่อนขนาดหน้าตักสักสองศอก ผู้สร้างถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นพระระเบียงวัดเบญจมบพิตรและยังมีอยู่ตามวัดอีกนับไม่ถ้วน แต่องค์เดิมที่จำลองส่งมาจากอินเดียนั้น เป็นอันตรายเสียเมื่อไฟไหม้พุทธปรางค์ปราสาทแต่ในรัชกาลที่ ๕ หากมีผู้ศรัทธาหล่อจำลองไว้ แบบ “พระผอม” จึงยังมีอยู่ในเมืองไทยจนทุกวันนี้


อธิบายท่อนท้าย

ฉันเขียนความรู้เห็นในอินเดียเป็นนิทาน ๓ เรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเล่าถึงเหตุที่ไปอินเดีย และพรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองชัยปุระ เรื่องที่สอง พรรณนาว่าด้วยของแปลกประหลาดที่เมืองพาราณสี เรื่องที่สามนี้ ว่าด้วยการสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังมีเรื่องตอนเมื่อก่อนกลับจากอินเดียอีกบ้าง ถ้าไม่กล่าวถึงความที่เล่าในเรื่องแรกจะเขินอยู่ จึงเขียนเรื่องตอนท้ายพ่วงไว้ในนิทานเรื่องนี้

ฉันออกจากเมืองคยามายังเมืองกัลกัตตา อันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ด แลนสดาวน์ เป็นอุปราช รับให้ไปอยู่ด้วยกันที่เกาเวอนเมนต์เฮาส์ น่าแปลว่า “วังอุปราช” ยิ่งกว่าเรือนรัฐบาลตามศัพท์ มีการเลี้ยงเวลาค่ำพร้อมด้วยพวกกรมการผู้ใหญ่ ให้เป็นเกียรติยศคืนหนึ่ง มีการราตรีสโมสรให้ฉันพบกับพวกมีเกียรติทั้งฝรั่งและชาวอินเดียวันหนึ่ง ลอร์ด โรเบิตส์ เวลานั้นยังเป็นเซอร์เฟรเดอริก โรเบิตส์ นายพลเอกผู้บัญชาการทหารทั่วทั้งอินเดีย เชิญไปเลี้ยงพร้อมกันกับพวกนายทหารที่ป้อมวิลเลียมคืนหนึ่ง อยู่เมืองกัลกัตตา ๔ วันแล้วไปยังเมืองดาร์จีลิ่งบนเขาหิมาลัย หรือถ้าใช้คำโบราณของไทยเราก็คือไปเที่ยวดูป่าหิมพานต์ ๔ วัน แล้วย้อนกลับมาเมืองกัลกัตตา ลงเรือออกจากอินเดียมาเมืองพม่า ซึ่งในสมัยนั้นยังนับเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของอินเดีย ขึ้นพักอยู่ที่จวนกับเซอร์ อเล็กซานเดอร์ แมกเกนซี เจ้าเมืองพม่า แต่ฉันมาถึงเมืองพม่าเมื่อต้นเดือนมีนาคม เข้าฤดูร้อนเสียแล้ว ทั้งตัวฉันก็ได้เที่ยวมาในยุโรปและอินเดียถึง ๙ เดือน ได้ดูอะไรต่ออะไรมากจนแทบจำไม่ได้ มาถูกอากาศร้อนก็ออกเบื่อการเดินทาง จึงพักอยู่เพียงเมืองย่างกุ้งเพียง ๔ วัน ได้ไปบูชาพระเกศธาตุและเที่ยวดูสิ่งอื่นๆ ในเมืองนั้น แล้วลงเรือผ่านมาทางเมืองทวาย เห็นแต่ปากน้ำไม่ได้ขึ้นไปถึงเมือง เพราะเขาว่าอยู่ไกลเข้าไปมาก แต่ได้แวะขึ้นดูเมืองมริดแล้วมายังเมืองระนอง ขึ้นเดินทางบกข้ามกิ่วกระมาลงเรือหลวงที่ออกไปรับ ณ เมืองชุมพรกลับกรุงเทพฯ สิ้นเรื่องไปอินเดียเพียงเท่านั้น.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:21:01 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๘  เรื่องเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส)

เมื่อสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศแต่ยังเป็นกรมหมื่น แรกได้มิสเตอร์เฮนรี อาลบาสเตอร์ ซึ่งเคยเป็นข้าราชการอังกฤษแล้วลาออกจากตำแหน่งมารับราชการอยู่กับไทย เป็นที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศมาหลายปี ครั้นมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ถึงแก่กรรม ทรงพระดำริว่าการที่มีฝรั่งผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศไว้เป็นที่ปรึกษาในกระทรวงการต่างประเทศเป็นประโยชน์มาก มีพระประสงค์จะหาตัวแทนมิสเตอร์อาลบาสเตอร์ เมื่อหมอเคาแวนซึ่งเป็นราชแพทย์ประจำพระองค์ทูลลาไปยุโรปชั่วคราว สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ จึงตรัสสั่งหมอเคาแวนให้ไปสืบหาผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศถวาย หมอเคาแวนไปหาได้เนติบัณฑิตอังกฤษคนหนึ่งชื่อมิสเตอร์มิตเชล เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกระทรวงการต่างประเทศ แต่มิสเตอร์มิตเชลเป็นผู้มีอัชฌาสัยก้าวร้าวมิใคร่มีใครชอบ แม้สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ก็ไม่โปรด เมื่อฉันออกไปยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๓๔ มิสเตอร์มิตเชลยังรับราชการอยู่ ฉันไปถึงกรุงลอนดอนพักอยู่ที่สถานทูตไทย ได้ข่าวว่ามิสเตอร์มิตเชลลาออกจากราชการ ก็ไม่ประหลาดใจอันใด แต่คิดถึงสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ว่าจะทรงลำบากด้วยต้องหาคนเป็นที่ปรึกษาใหม่ นึกขึ้นว่าเวลานั้นตัวฉันอยู่ในลอนดอน ได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสจะสืบหาที่ปรึกษาถวายได้ดีกว่าคนอื่น เช่นหมอเคาแวนเคยหาถวาย จึงปรารภกับมิสเตอร์เฟรเดอริควิลเลียมเวอนี ผู้เป็นที่ปรึกษาในสถานทูต มิสเตอร์เวอนีก็เห็นเช่นเดียวกัน บอกว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งมีศักดิ์เป็นลอร์ด ชื่อ เร เคยรับราชการในตำแหน่งสูงรู้จักผู้คนมาก จะคิดอ่านให้พบกับฉัน ถ้าฉันลองวานให้ลอร์ดเรช่วยสืบหา เห็นจะได้คนดีดังประสงค์ ต่อมามิสเตอร์เวอนีนัดเลี้ยงอาหารเย็นที่คลับ (สโมสร) แห่งหนึ่ง เชิญลอร์ดเรกับตัวฉันไปกินเลี้ยงด้วยกันที่นั่น เมื่อได้สนทนาปราศรัยมีไมตรีจิตต่อกันแล้ว ฉันเล่าถึงที่จะใคร่ได้ผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศมารับราชการเมืองไทยสักคนหนึ่ง ถามลอร์ดเรว่าจะช่วยสืบหาผู้ที่สมควรแก่ตำแหน่งให้ได้หรือไม่ ลอร์ดเรรับว่าจะช่วยหาดู ถ้าพบตัวคนเหมาะกับอย่างที่ฉันต้องการเมื่อใด จะบอกมาให้ทราบ ฉันได้พบลอร์ดเรเมื่อจวนจะออกจากประเทศอังกฤษอยู่แล้ว ยังไม่แน่ใจว่าลอร์ดเรจะหาคนให้ได้หรือไม่ จนฉันไปราชการตามประเทศต่างๆ ในยุโรปเสร็จแล้ว ขากลับแวะดูกิจการต่างๆ ที่ในประเทศอียิปต์ เมื่อพักอยู่ ณ เมืองไคโร ประจวบเวลาลอร์ดเรแปรสถานไปเที่ยวประเทศอียิปต์ และเผอิญไปพักอยู่ที่โฮเต็ลเดียวกัน พอลอร์ดเรรู้ว่าฉันไปถึงก็ตรงมาหา บอกว่าคนที่ฉันให้ช่วยหานั้น พบตัวแล้วเป็นชาวเบลเยียมชื่อ โรลังยัคมินส เป็นผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศจนขึ้นชื่อนับถือกันทั่วไปในยุโรป ถึงได้เคยไปรับเลือกเป็นนายกของสภากฎหมายนานาประเทศ และได้เคยเป็นเสนาบดีในประเทศเบลเยียมด้วย แต่เวลานั้นมองสิเออโรลังยัคมินสต้องตกยากโดยมิใช่ความผิดของตนเอง เพราะน้องชายคนหนึ่งทำการค้าขาย ขอให้มองสิเออโรลังยัคมินสค้ำประกันเงินที่กู้เขาไปทำการ เผอิญน้องชายคนนั้นล้มละลาย มองสิเออโรลังยัคมินสต้องเอาทรัพย์สมบัติของตนจำหน่ายใช้หนี้แทนน้องชายจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จะอยู่ในประเทศเบลเยียมต่อไปไม่มีกำลังจะรักษาศักดิ์ได้ รู้ข่าวว่าลอร์ดโครเมอกำลังแสวงหาชาวยุโรปที่มีวิชาความรู้เข้าเป็นตำแหน่งในรัฐบาลอียิปต์ มองสิเออโรลังยัคมินสจึงออกมายังเมืองไคโร ลอร์ดโครเมอก็อยากได้ไว้ แต่ในเวลานั้น ตำแหน่งชั้นสูงอันสมกับศักดิ์และคุณวิเศษของมองสิเออโรลังยัคมินสยังไม่ว่าง ตัวมองสิเออโรลังยัคมินสยังอยู่ที่เมืองไคโร (ชะรอยลอร์ดเรจะได้ไปพูดทาบทามแล้ว) ถ้าฉันชวนไปรับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในประเทศไทย เห็นจะไป ฉันจึงขอให้ลอร์ดเรเชิญมองสิเออโรลังยัคมินสมากินอาหารเย็นด้วยกันกับฉันในค่ำวันนั้น สังเกตดูกิริยาเรียบร้อยอย่างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ อายุเห็นจะเกือบ ๖๐ ปีแล้ว พอได้สนทนากัน ฉันก็ตระหนักใจว่าทรงคุณวิเศษชั้นสูงสมดังลอร์ดเรบอก ฉันจึงถามมองสิเออโรลังยัคมินส ว่าตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายนานาประเทศในประเทศไทยว่างอยู่ ถ้ารัฐบาลให้ท่านเป็นตำแหน่งนั้นจะรับหรือไม่ มองสิเออโรลังยัคมินสนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวตอบว่า ถ้ารัฐบาลไทยปรารถนาก็จะยอมไป ฉันบอกว่าจะมีโทรเลขถามรัฐบาลไปในทันที แล้วจึงมีโทรเลขทูลสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ในค่ำวันนั้น ว่าฉันพบเนติบัณฑิตเบลเยียมอันมีชื่อเสียงในยุโรป และเคยเป็นเสนาบดีในประเทศของตนด้วยคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเอามารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายได้ จะต้องพระประสงค์หรือไม่ ขอให้ทรงตอบโดยเร็ว พอรุ่งขึ้นก็ได้รับพระโทรเลขตอบว่าให้ฉันตกลงรับมองสิเออโรลังยัคมินสทีเดียว เมื่อตกลงกันแล้วมองสิเออโรลังยัคมินส ขอกลับไปจัดการบ้านเรือนและรับครอบครัวที่ประเทศเบลเยียมก่อน แล้วจะตามมาให้ถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๓ เดือน ส่วนตัวฉันก็ออกจากเมืองไคโรมาในวันที่ตกลงกันนั้น เลยไปอินเดียและเมืองพม่า กลับมาถึงกรุงเทพฯ ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ก่อนมองสิเออโรลังยัคมินสมาถึง ทราบว่าพระเจ้าอับบัส ผู้เป็นเคดิฟครองประเทศอียิปต์ต่อพระเจ้าติวฟิก มีโทรเลขมาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่ารัฐบาลอียิปต์ใคร่จะตั้งมองสิเออโรลังยัคมินสเป็นตำแหน่งสำคัญในกระทรวงยุติธรรมของประเทศอียิปต์ แต่มองสิเออโรลังยัคมินสไม่ยอมรับ อ้างว่าได้สัญญาจะเข้ามารับราชการในประเทศไทยเสียแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยไม่เพิกถอนสัญญา ก็จะรับตำแหน่งในอียิปต์ไม่ได้ เคดิฟจึงทูลขอให้โปรดทรงสงเคราะห์ด้วยเพิกถอนสัญญา ปล่อยให้มองสิเออโรลังยัคมินสรับราชการอยู่ในอียิปต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขตอบไปว่า ประเทศอียิปต์อยู่ใกล้ยุโรป จะหาคนรับราชการได้ง่ายกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่ห่างไกล ขอให้เคดิฟทรงเห็นแก่ประเทศไทยเถิด ทรงตอบเช่นนั้นแล้วก็สิ้นปัญหา เมื่อมองสิเออโรลังยัคมินสเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ พอสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ ทรงรู้จัก ก็ตระหนักพระหฤทัยว่าได้คนทรงคุณวิเศษสูงกว่าชาวต่างประเทศที่เคยมารับราชการแต่ก่อน พาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาด้วยก็ประจักษ์พระราชหฤทัย ว่ามองสิเออโรลังยัคมินสชำนาญทั้งกฎหมายและลักษณะการปกครองในยุโรป ด้วยเคยได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในประเทศเบลเยียม อาจจะเป็นประโยชน์แก่เมืองไทยได้หลายอย่าง จึงทรงตั้งให้เป็นตำแหน่ง “ที่ปรึกษาราชการทั่วไป” มิใช่เป็นที่ปรึกษาราชการแต่ในกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว ต่อมาทรงพระราชดำริว่ามองสิเออโรลังยัคมินสทำราชการเป็นประโยชน์มาก ด้วยมีความภักดีต่อประเทศไทย และมีอัชฌาสัยเข้ากับไทยได้ดีทุกกระทรวง ทั้งเป็นผู้ใหญ่สูงอายุและเคยมีบรรดาศักดิ์สูง ถึงเป็นเสนาบดีในบ้านเมืองของตนมาแต่ก่อน จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นที่เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับราชการสำคัญต่างๆ จนถึงอยู่ในคณะที่ปรึกษาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน นับเป็นฝรั่งคนที่ ๒ ซึ่งได้เป็น เจ้าพระยา ต่อจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) รับราชการอยู่ได้สัก ๗ ปี เกิดป่วยเจ็บด้วยชราภาพ และจะทนอากาศร้อนอยู่ต่อไปไม่ไหว จึงจำใจต้องทูลลาออกจากราชการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสียดาย แต่ก็ต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยทรงพระราชดำริว่ามีความจำเป็นเช่นนั้นจริง เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส) กลับออกไปอยู่บ้านเดิมได้สักสองสามปีก็ถึงอสัญกรรม คุณหญิงอภัยราชาก็ถึงอนิจกรรมในเวลาใกล้ๆ กัน แต่มีบุตรรับราชการของเมืองไทยต่อมา ๒ คน บุตรคนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคล้ายบิดา มีชื่อเสียงจนพระเจ้าแผ่นดินเบลเยียมทรงตั้งให้มียศเป็นบารอน คนนี้ได้เป็นผู้พิพากษาของเมืองไทยที่ในศาลต่างประเทศ ณ กรุงเฮก บุตรคนที่ ๒ ได้เป็นกงสุลเยเนอราลไทยอยู่ ณ กรุงบรัสเซลส์ ชาวเบลเยียมยังนับถือตระกูลโรลังยัคมินสอยู่จนบัดนี้

เมื่อเจ้าพระยาอภัยราชาถึงอสัญกรรมแล้วกว่า ๒๐ ปี ฉันไปยุโรปครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ไปถึงกรุงบรัสเซลส์ราชธานีของประเทศเบลเยียม พวกสมาชิกในสกุลโรลังยัคมินส บุตรเจ้าพระยาอภัยราชาทั้ง ๒ คนที่ได้กล่าวมาแล้ว และธิดาที่เคยเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ๒ คน กับที่เป็นชั้นหลานด้วยรวมกันกว่า ๑๐ คน พร้อมกันมาแสดงความขอบใจและขอเลี้ยงเวลาค่ำให้แก่ฉันด้วย เมื่อเลี้ยงแล้วเขาอยากจะรู้เรื่องเดิมที่ฉันพาเจ้าพระยาอภัยราชาเข้ามารับราชการเมืองไทย ขอให้ฉันเล่าในเวลาประชุมกันวันนั้น ฉันได้เล่าเรื่องที่เขายังไม่รู้ให้เขาฟังตามความประสงค์แต่ยังมิได้เขียนลงไว้ จึงมาเขียนในนิทานเรื่องนี้ ด้วยเห็นเป็นคติควรนับเข้าในนิทานโบราณคดีได้เรื่องหนึ่ง. 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:29:13 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง

(๑)

หอหลวง เป็นที่เก็บรักษาหนังสือซึ่งเป็นแบบฉบับ ตำรับตำราและจดหมายเหตุราชการบ้านเมือง (ที่เรียกว่า “หอหลวง” เห็นจะเป็นคำย่อมาแต่ “หอหนังสือหลวง”) มีในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มีหอหลวงอยู่ที่ในพระราชวังเช่นเดียวกัน ฉันเคยเห็นเป็นตึกชั้นเดียวหลังหนึ่ง อยู่ริมถนนตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ยังมีรูปภาพตึกนั้นเขียนไว้ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐฯ (ห้องที่เขียนการพิธีทำขนมเบื้องเลี้ยงพระ) อาลักษณ์เป็นพนักงานรักษาหนังสือหอหลวง จึงทำการของกรมอาลักษณ์ที่ตึกนั้นด้วย เป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกตึกนั้นว่า “ห้องอาลักษณ์” ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๕ (ดูเหมือนในปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙) เมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โปรดให้รื้อตึกหอหลวงกับตึกสำหรับราชการกรมอื่นๆ ที่รายเรียงอยู่แถวเดียวกันลง เพื่อจะสร้างใหม่ให้งามสมกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก็ในเวลารื้อตึกสร้างใหม่นั้น จำต้องย้ายของต่างๆ อันเคยอยู่ในตึกแถวนั้นไปไว้ที่อื่น สมัยนั้นกรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสารโสภณ ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ หาที่อื่นเก็บหนังสือหอหลวงไม่ได้ จึงให้ขนเอาไปรักษาไว้ที่วังของท่านอันอยู่ต่อเขตวัดพระเชตุพนฯ ไปข้างใต้ หนังสือหอหลวงก็ไปอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่นั้นมาหลายปี




(๒)

เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ เรียกกันในสมัยนั้นตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊กซหิบิเชน” สร้างโรงชั่วคราวเป็นบริเวณใหญ่ในท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดความรู้และความคิด กับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้อง และเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น เรื่องประวัติของนายกุหลาบคนนี้กล่าวกันว่า เดิมรับจ้างเป็นเสมียนอยู่ในโรงสีไฟของห้างมากวลด์ จึงเรียกกันว่า “เสมียนกุหลาบ” ทำงานมีผลจนตั้งตัวได้ ก็สร้างบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำข้างใต้วัดราชาธิวาสฯ นายกุหลาบเป็นผู้มีอุปนิสัยรักรู้โบราณคดี ได้พยายามหาหนังสือฉบับแรกพิมพ์ เช่นหมายประกาศที่พิมพ์เป็นใบปลิว และหนังสือเรื่องต่างๆ ที่พิมพ์เป็นเล่มสมุดแต่ในรัชกาลที่ ๔ รวบรวมไว้ได้มากกว่าผู้อื่น จึงกล้ามารับแสดงหนังสือฉบับพิมพ์ในงานครั้งนั้น ก็การแสดงพิพิธภัณฑ์เปิดให้คนดูอยู่นาน นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวัน เพราะห้องอยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือหอหลวงมีเรื่องโบราณคดีต่างๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าประจบประแจงกรมหลวงบดินทร์ฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวง จนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา จนกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงพระเมตตา นายกุหลาบทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงบางเรื่อง แต่กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหอหลวงเป็นของต้องห้าม มิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจ จึงคิดทำกลอุบายทูลขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ครั้งละเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทร์ฯ ไม่ทรงระแวง ก็ประทานอนุญาต นายกุหลาบจึงไปว่าจ้างพวกทหารมหาดเล็กที่รู้หนังสือ เตรียมไว้สองสามคน สมัยนั้นฉันเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก รู้จักตัวผู้ที่ไปรับจ้างนายกุหลาบคนหนึ่งชื่อนายเมธ

นายเมธนั้นมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “เมธะ” และมีสร้อยชื่อต่อไปยาว เป็นบุตรของจ่าอัศวราช จ่าอัศวราชตั้งชื่อลูกเป็นบทกลอนอย่างแปลกประหลาด ฉันยังจำได้ จึงจดฝากไว้ให้ผู้อื่นรู้ด้วยในที่นี้

๑. อาทิก่อน แม่ “กลีบ” เรนู
๒. เมธะ แปลว่ารู้ นาย “เมธ” ปะสิมา
๓. “กวี” ปรีชา ปิยบุตรที่สาม
๔. “ฉวี” ผิวงาม บุตรแม่พริ้มแรกเกิด
๕. “วรา” ประเสริฐ ที่สองงามสม
๖. “กำดัด” ทรามชม กัลยาลำยอง
๗. “สาโรช” บัวทอง พิศพักตร์ประไพ
๘. “สุมน” สุมาลัย เยาวลักษณ์นารี
๙. “บรม” แปลว่ามี ปรมังลาภา
๑๐. “ลิขิต” เลขา บุตร บุตรพัลลภ
๑๑. “สุพรรณ” วรนพ พคุณสริรา

ที่เรียกกันแต่ตามคำที่หมาย “… ……” ไว้ ลูกผู้ชายรู้หนังสือไทยดีทุกคน

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกทหารมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัด ก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหนและจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกแต่ที่รีบคัดให้หมดเล่มในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน ตัวฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ในสมัยนั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้วเกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับขึ้นใหม่ จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง




(๓)

ถึง พ.ศ.๒๔๒๖ นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทย ที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ไปเล่าเรื่องพงศาวดารและขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ใครอ่านก็พากันพิศวง ด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวง ลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้โบราณคดี และมีตำรับตำรามาก แต่หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่นายกุหลาบให้พิมพ์นั้น มีผู้ชำนาญวรรณคดีสังเกตเห็นว่ามีสำนวนแทรกใหม่ปนอยู่ในนั้น แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงสังเกตเห็นเช่นนั้น จึงทรงปรารภในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ตอนพิธีถือน้ำ ว่า “แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด(ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกิน จนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจ เหมือนหนึ่งทองคำเนื้อบริสุทธิ์ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเอง ก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงๆ จะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทำลายของแท้ให้ปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวงซึ่งควรจะได้รับ แล้วเอาสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของซึ่งไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด” ดังนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบเป็นผู้ดัดแปลงสำนวน เพราะไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือเรื่องนั้นไปจากที่ไหน และต้นฉบับเดิมถ้อยคำสำนวนเป็นอย่างไร จนมาถึงรัชกาลที่ ๖ ในเวลาฉันเป็นนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด เป็นสมุดไทยมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ อีกฉบับหนึ่ง เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เรียกชื่อหนังสือนั้นว่า “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ” และมีบานแพนกอยู่ข้างต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงจัดการแปลหนังสือนั้นเป็นภาษาไทย ก็เป็นอันได้หลักฐานว่านายกุหลาบเอาไปเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เอาหนังสือ ๒ ฉบับสอบทานกันก็เห็นได้ว่าแก้ความเดิมเสียมาก สมดังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภ เมื่อนายกุหลาบมีชื่อเสียงขึ้นด้วยพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ประจวบกับเวลาตั้งกรมโปลิสท้องน้ำ ซึ่งโปรดให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต) เป็นผู้บัญชาการ เจ้าพระยานรรัตนฯ เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนกว้างขวางทางท้องน้ำและมีความรู้ ผู้คนนับหน้าถือตา จึงเอามาตั้งเป็น “แอดชุแตนต์” (ยศเสมอนายร้อยเอก) ในกรมโปลิสท้องน้ำ นายกุหลาบจึงได้เข้าเป็นข้าราชการแต่นั้นมา



(๔)

สมัยนั้นหอพระสมุดวชิรญาณเพิ่งแรกตั้ง (ชั้นเมื่อยังเป็นหอพระสมุดของพระโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมกันเป็นเจ้าของ) นายกุหลาบขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ้านายที่เป็นกรรมการทราบกันแต่ว่านายกุหลาบเป็นผู้รักหนังสือ ก็รับเข้าเป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ตามประสงค์ ตั้งแต่นายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดฯ ก็มีแก่ใจให้หนังสือฉบับเขียนเรื่องต่างๆ ที่ได้ลักคัดสำเนาจากหอหลวงเอาไปแปลงเป็นฉบับใหม่ เป็นของกำนัลแก่หอพระสมุดฯ หลายเรื่อง กรมพระสมมตอมรพันธ์กับตัวฉันเป็นกรรมการหอพระสมุดฯ ก็ไม่เคยเห็นหนังสือในหอหลวงมาแต่ก่อน และไม่รู้ว่าย้ายหนังสือไปเก็บไว้ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ เป็นแต่พิจารณาดูหนังสือที่นายกุหลาบให้หอพระสมุดฯ เห็นแปลกที่เป็นสำนวนเก่าแกมใหม่ระคนปนกันหมดทุกเรื่อง ถามนายกุหลาบว่าได้ต้นฉบับมาจากไหน นายกุหลาบก็อ้างแต่ผู้ตาย เช่น พระยาศรีสุนทรฯ (ฟัก) และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น อันจะสืบสวนไม่ได้ จึงเกิดสงสัยว่าที่เป็นสำนวนใหม่นั้นน่าจะเป็นของนายกุหลาบแทรกลงเอง จึงมีความเท็จอยู่มาก แต่ตอนที่เป็นสำนวนเดิม นายกุหลาบจะได้ต้นฉบับมาจากไหนก็ยังคิดไม่เห็น กรมพระสมมตฯ จึงตรัสเรียกหนังสือพวกนั้นว่า “หนังสือกุ” เพราะจะว่าแท้จริงหรือว่าเท็จไม่ได้ทั้งสองสถาน กรมพระสมมตฯ ใคร่จะทอดพระเนตรหนังสือพวกนั้นให้หมด จึงทรงผูกพันทางไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนอย่างไม่รู้เท่า นายกุหลาบเข้าใจว่ากรมพระสมมตอมรพันธ์ทรงนับถือ ก็เอาหนังสือฉบับที่ทำขึ้นมาถวายทอดพระเนตร จนถึงพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (ตอนรัชกาลที่ ๓) ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ก็หนังสือเรื่องนั้นเป็นหนังสือแต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๕ สำเนาฉบับเดิมมีอยู่ในหอพระสมุดฯ เมื่อได้ฉบับของนายกุหลาบมา เอาสอบกับฉบับเดิม ก็จับได้ว่านายกุหลาบแทรกลงตรงไหนๆ บ้าง กรมพระสมมตฯ กราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงให้ทรงทราบ ดำรัสเรียกเอาไปทอดพระเนตร ทรงจับได้ต่อไปว่าความที่แทรกนั้นนายกุหลาบคัดเอามาจากหนังสือเรื่องไหนๆ ก็เป็นอันรู้ได้แน่ชัด ว่าที่หนังสือฉบับนายกุหลาบผิดกับฉบับเดิม เป็นเพราะนายกุหลาบแก้ไขแทรกลงทั้งนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรง “มันไส้” ถึงเขียนลายพระราชหัตถเลขาลงในต้นฉบับของนายกุหลาบ ทรงชี้ให้เห็นตรงที่แทรกบ้าง บางแห่งก็ทรงเขียนเป็นคำล้อเลียน หรือคำบริภาษแทรกลงบ้าง แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ กรมพระสมมตฯ ต้องให้อาลักษณ์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นใหม่ส่งคืนไปให้เจ้าของ เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัตถเลขารักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณจนบัดนี้.



(๕)

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนต์) โปลิสท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสาร เรียกชื่อว่า “สยามประเภท” เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ “วชิรญาณ” ทำเป็นเล่มสมุดออกขายเป็นรายเดือน เอาเรื่องต่างๆ ที่คัดไปจากหอหลวงและไปดัดแปลงดังว่านั้น พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท และเขียนคำอธิบายปดว่าได้ฉบับมาจากไหนๆ ไปต่างๆ เว้นแต่ที่กรมหลวงบดินทร์ฯ นั้น มิได้ออกพระนามให้แพร่งพรายเลย คนทั้งหลายพากันหลงเชื่อก็นับถือนายกุหลาบ ถึงเรียกกันว่า “อาจารย์กุหลาบ” ก็มี ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อนายกุหลาบหมดเรื่องที่ได้ไปจากหอหลวง ก็ต้องแต่งเรื่องต่างๆ แต่โดยเดาขึ้นในหนังสือสยามประเภท แต่อ้างว่าเป็นเรื่องพงศาวดารแท้จริง แต่ก็ยังไม่มีใครทักท้วงประการใดๆ จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย ตอนเมื่อจะเสียแก่กรุงศรีอยุธยาพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกส” สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกส” เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริง ก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า ไปแปลงเป็นพระปิ่นเกสและพระจุลปิ่นเกส เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย ถึง ร.ศ.๑๑๙ (พ.ศ.๒๔๔๓) เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็แต่งอธิบายแบบแผนงานพระบรมศพครั้งกรุงศรีอยุธยาในหนังสือสยามประเภท เป็นที่ว่างานพระเมรุที่ทำครั้งนั้นยังไม่ถูกต้องตามแบบแผน และอ้างว่าตัวมีตำราเดิมอยู่ พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ข้าหลวงเรียกนายกุหลาบมาถาม ก็รับสารภาพว่าเป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น หามีตำรับตำราอย่างอ้างไม่ ครั้งนี้เป็นแต่โปรดให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมปีนั้น หาได้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใดไม่ นายกุหลาบก็ไม่เข็ด พอถึงงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ร.ศ.๑๑๙ นั่นเอง นายกุหลาบแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง อ้างว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายสำหรับแจก คราวนี้อวดหลักฐานเรื่องต่างๆ ที่ตนกล่าวอ้าง ว่าล้วนได้มาจากนักปราชญ์ซึ่งทรงเกียรติคุณ คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ โดยเฉพาะ เพราะตนได้เคยเป็นสัทธิงวิหาริก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำริว่าถ้าเฉยอยู่ นายกุหลาบจะพาให้คนหลงเชื่อเรื่องพงศาวดารเท็จที่นายกุหลาบแต่งมากไป จึงโปรดให้มีกรรมการ ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น) เป็นประธานสอบสวน ก็ได้ความตามคำสารภาพของนายกุหลาบเอง กับทั้งคำพยาน ว่าหนังสือพงศาวดารที่นายกุหลาบแต่ง และคำอ้างอวดของนายกุหลาบ ที่ว่าเคยเป็นศิษย์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นความเท็จ ครั้งนี้ก็เป็นแต่โปรดให้ประกาศรายงานกรรมการ มิให้ลงโทษนายกุหลาบอย่างใด สำนวนการไต่สวนครั้งนั้น หอพระสมุดฯ พิมพ์เป็นเล่มสมุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ ยังปรากฏอยู่

ต่อมาเมื่อนายกุหลาบหมดทุนที่จะออกหนังสือสยามประเภทต่อไปแล้ว ไปเช่าตึกแถวอยู่ที่ถนนเฟื่องนครตรงวัดราชบพิธฯ เป็นแต่ยังรับเป็นที่ปรึกษาของคนหาความรู้ เช่นผู้ที่อยากรู้ว่าสกุลของตนจะสืบชั้นบรรพบุรุษถอยหลังขึ้นไปถึงไหน ไปไถ่ถาม นายกุหลาบก็รับค้นคิดสมมตขึ้นไปให้เกี่ยวดองกับผู้มีศักดิ์เป็นบรรพบุรุษสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ยังมีคนนับหน้าถือตา ว่ามีความรู้มากอยู่ไม่ขาด ถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) นายกุหลาบยัง “พ่นพิษ” อีกครั้งหนึ่ง ในสมัยเมื่อมีหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว จะเอามาเล่าเสียด้วยให้เสร็จไปในตอนนี้ เพราะเกี่ยวกับประวัติหนังสือหอหลวงด้วย วันหนึ่งฉันไปหอพระสมุดฯ เห็นใบปลิวซึ่งนายกุหลาบพิมพ์โฆษณาส่งมาให้หอพระสมุดฯ ฉบับหนึ่ง อวดว่าได้ต้นหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยามาเล่มหนึ่ง และหนังสือนั้นเขียนเมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ มีตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ประทับเป็นสำคัญ ถ้าใครไม่เชื่อจะไปพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตาตนเองก็ได้

ความประสงค์ของนายกุหลาบที่โฆษณา ดูเหมือนจะใคร่ขายหนังสือนั้น แต่ตามคำโฆษณามีพิรุธเป็นข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยตามปฏิทินจุลศักราช ๑๐๖๖ เป็นปีวอก มิใช่ปีชวดดังนายกุหลาบอ้าง เวลานั้นฉันเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร คิดสงสัย จึงกระซิบสั่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ให้ไปขอดูเหมือนอย่างตัวอยากรู้เห็นเอง พระยาปริยัติฯ กลับมาบอกว่าหนังสือกฎหมายที่นายกุหลาบได้ไว้นั้นเป็นสมุดไทยกระดาษขาวเขียนเส้นหมึก ดูเป็นของเก่ามีตราประทับ ๓ ดวง และมีกาลกำหนดว่าปีชวดจุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงตามนายกุหลาบอ้าง แต่พระยาปริยัติฯ สังเกตดูตัวเลขที่เขียนศักราช ตรงตัว ๐ ดูเหมือนมีรอยขูดแก้ ฉันได้ฟังก็แน่ใจว่านายกุหลาบได้สมุดกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ไปจากที่ไหนแห่งหนึ่ง ซึ่งในบานแผนกมีกาลกำหนดว่า “ปีชวด ศักราช ๑๑๖๖” นายกุหลาบขูดแก้เลข ๑ ที่เรือนร้อยเขียนแปลงเป็น ๐ ปลอมศักราชถอยหลังขึ้นไป ๑๐๐ ปี ด้วยไม่รู้ว่าจุลศักราช ๑๐๖๖ นั้นเป็นปีวอก มิใช่ปีชวด ปล่อยคำ “ปีชวด” ไว้ให้เห็นชัดว่า ไม่ใช่ต้นฉบับกฎหมายครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังอ้างในคำโฆษณา ฉันกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งเคยเป็นหมอความนายกุหลาบมาแต่ก่อน ให้ไปเรียกสมุดกฎหมายเล่มนั้นถวายทอดพระเนตร เจ้าพระยาอภัยราชาได้ไปถวายในวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเปิดออกทอดพระเนตรตรัสว่า “ไหนว่าศักราช ๑๐๖๖ อย่างไรจึงเป็น ๑๑๖๖” เจ้าพระยาอภัยราชาก็ตกใจ กราบทูลเล่าถวายว่าเมื่อตอนเช้าวันนั้นจะไปศาลากระทรวงนครบาล เมื่อผ่านหน้าห้องแถวที่นายกุหลาบอยู่ ได้แวะเข้าไปเรียกสมุดกฎหมายนั้นออกมาเปิดดู สังเกตเห็นในบานแผนกลงปีชวด จุลศักราช ๑๐๖๖ ตรงดังนายกุหลาบอ้าง เจ้าพระยาอภัยราชาบอกนายกุหลาบว่า “พระเจ้าอยู่หัวจะทอดพระเนตร” นายกุหลาบก็แสดงความยินดี เลยว่าถ้าต้องพระราชประสงค์ก็จะทูลเกล้าฯ ถวาย เจ้าพระยาอภัยราชาจะไปทำงานที่กระทรวงเสียก่อน จึงบอกนายกุหลาบว่าเวลาบ่ายวันนั้นเมื่อจะไปเฝ้าที่สวนดุสิตจะไปรับหนังสือ เวลาไปรับ นายกุหลาบก็เอาหนังสือมามอบให้โดยเรียบร้อย เจ้าพระยาอภัยราชากราบทูลสารภาพรับผิด ที่ประมาทมิได้เอาสมุดมาเสียด้วยตั้งแต่แรก นายกุหลาบจึงมีโอกาสขูดแก้ศักราชในเวลาเมื่อคอยส่งหนังสือให้เจ้าพระยาอภัยราชานั่นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงฟัง ก็ทรงพระสรวล ดำรัสว่า “พระยารองเมือง ไปเสียรู้นายกุหลาบเสียแล้ว” แล้วพระราชทานสมุดกฎหมายเล่มนั้นมาไว้ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร รอยที่นายกุหลาบขูดแก้ยังปรากฏอยู่




(๖)

ประวัติหนังสือหอหลวงมีเรื่องหลายตอน ที่เล่ามาแล้วเป็นตอนที่คนทั้งหลายจะรู้เรื่องต่างๆ อันลี้ลับอยู่ในหอหลวง เพราะเหตุที่นายกุหลาบลักคัดเอาสำเนาไปแก้ไขออกโฆษณา จึงต้องเล่าเรื่องประวัติของนายกุหลาบด้วยยืดยาว ยังมีเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงเมื่ออยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ต่อไปอีก ด้วยการที่จะสร้างหอหลวงใหม่เริดร้างอยู่ช้านาน จนถึงสมัยเมื่อจัดกระทรวงต่างๆ ใน พ.ศ.๒๔๓๕ โปรดให้รวมกรมอาลักษณ์เข้าในกระทรวงมุรธาธร กรมพระสมมตอมรพันธ์เมื่อยังเป็นกรมหมื่น ได้ทรงบัญชาการกรมอาลักษณ์ จึงให้ไปรับหนังสือหอหลวงจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เพื่อจะเอากลับเข้าไปรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังอย่างเดิม เวลาเมื่อจะส่งหนังสือหอหลวงคืนมานั้น มีคนในสำนักกรมหลวงบดินทร์ฯ จะเป็นผู้ใดไม่ปรากฏชื่อ แต่ต้องเป็นมูลนายมีพรรคพวก ลอบแบ่งเอาหนังสือหอหลวงยักยอกไว้ไม่ส่งคืนมาทั้งหมด มาปรากฏเมื่อภายหลังว่ายักยอกเอาหนังสือซึ่งเขียนฝีมือดี และเป็นเรื่องสำคัญๆ ไว้มาก เพราะในเวลานั้นไม่มีบัญชีหนังสือหอหลวงอยู่ที่อื่น นอกจากที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ อันผู้ยักยอกอาจเก็บซ่อน หรือทำลายเสียได้โดยง่าย แต่การที่ยักยอกหนังสือหลวงนั้น กรมหลวงบดินทร์ฯ คงไม่ทรงทราบ พวกอาลักษณ์ที่ไปรับหนังสือก็คงไม่รู้ ได้หนังสือเท่าใดก็ขนมาแต่เท่านั้น หนังสือหอหลวงจึงแตกเป็น ๒ ภาค กลับคืนเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังภาคหนึ่ง พวกที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกเอาไปซ่อนไว้ที่อื่นภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว ชะรอยคนที่ได้หนังสือหอหลวงไว้จะยากจนลง จึงเริ่มเอาหนังสือที่มีรูปภาพและฝีมือเขียนงามๆ ออกขาย โดยอุบายแต่งให้คนชั้นบ่าวไพร่ไปเที่ยวบอกขายทีละเล่มสองเล่ม มีฝรั่งซื้อส่งเข้าหอสมุดในยุโรปบ้าง ไทยที่ชอบสะสมของเก่ารับซื้อไว้บ้าง ฉันเริ่มทราบว่าหนังสือฉบับหอหลวงแตกกระจายไป เมื่อไปเห็นที่ตำหนักหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ เธอมีอยู่ในตู้หลายเล่ม ถามเธอว่าอย่างไรจึงได้หนังสือฉบับหลวงเหล่านั้นไว้ เธอบอกว่ามีผู้เอาไปขาย เธอเห็นเป็นหนังสือของเก่าก็ซื้อไว้ ด้วยเกรงฝรั่งจะซื้อเอาไปเสียจากเมืองไทย แต่ใครเอาไปขายให้เธอ หรือหนังสือเหล่านั้นไปจากที่ไหน เธอหาบอกไม่ บางทีเธอจะไม่รู้เองก็เป็นได้ เกิดลือกันขึ้นครั้งหนึ่งว่ามีผู้เอาหนังสือไตรภูมิฉบับหลวง เขียนประสานสีเมื่อครั้งกรุงธนบุรีไปขายให้เยอรมันคนหนึ่งซื้อส่งไปยังหอสมุดหลวงที่กรุงเบอร์ลินเป็นราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทแล้วก็เงียบไป กรณีจึงรู้กันเพียงว่ามีผู้เอาหนังสือฉบับหลวงออกขาย เพราะหนังสือฉบับหลวงย่อมมีชื่ออาลักษณ์ผู้เขียนและผู้ทานอยู่แต่ข้างต้นและมีคำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” นำหน้าชื่อทุกเล่ม ใครซื้อไว้ก็มักปกปิดด้วยกลัวถูกจับ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่าหนังสือฉบับหลวงเหล่านั้น แตกไปจากที่ไหนอยู่ช้านาน

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:31:47 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง (จบ)


(๗)

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างอนุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปีเป็นอภิลักขิตกาล จึงโปรดให้รวมหนังสือในหอมนเทียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณ และหอพุทธศาสนสังคหะ เข้าด้วยกัน ตั้งเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ขนานนามตามพระสมณามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” และให้มีกรรมการจัดหอพระสมุดฯ นั้น คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสภานายก กรมพระสมมตอมรพันธ์และตัวฉัน กับทั้งพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) และพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นกรรมสัมปาทิก รวมกัน ๕ คนเป็นคณะพนักงานจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมาแรกตั้ง เมื่อรวมหนังสือทั้ง ๓ แห่งเข้าเป็นหอสมุดอันเดียวกันแล้ว ถึงชั้นที่จะหาหนังสือจากที่อื่นมาเพิ่มเติม กรรมการปรึกษากันเห็นว่าควรจะหาหนังสือภาษาฝรั่งต่างชาติ แต่เฉพาะซึ่งแต่งว่าด้วยเมืองไทยตั้งแต่โบราณมารวบรวมก่อน หนังสือพวกนี้จะสั่งไปให้หาซื้อในยุโรปและอเมริกา ส่วนหนังสือภาษาไทย จะรวบรวมหนังสือซึ่งยังเป็นฉบับเขียน อันมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เอามารวบรวมไว้ในหอสมุดก่อนหนังสือพวกอื่น เพราะหนังสือไทยที่เป็นจดหมายเหตุและตำรับตำราวิชาการกับทั้งวรรณคดี ยังมีแต่เป็นฉบับเขียนอยู่โดยมาก ถ้าทิ้งไว้ไม่รีบรวบรวมเอามารักษาในหอพระสมุดฯ วิชาความรู้อันเป็นสมบัติของชาติก็จะเสื่อมสูญไปเสีย วิธีที่จะหาหนังสือฉบับเขียนในเมืองไทยนั้น ตกลงกันให้กรมพระสมมตฯ ทรงตรวจดูหนังสือในหอหลวง ซึ่งมิได้โปรดให้โอนเอามารวมในหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่กรมพระสมมตฯ ทรงรักษาอยู่เอง ถ้าเรื่องใดควรจะมีในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ก็ให้ทรงคัดสำเนาส่งมา กรมพระสมมตฯ ทรงหาได้หนังสือดีๆ และเรียบเรียงประทานให้หอพระสมุดฯ พิมพ์ปรากฏอยู่เป็นหลายเรื่อง ส่วนหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่ที่อื่นนอกจากหอหลวงนั้น ให้ตัวฉันเป็นผู้หา ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่เกิดวิธีฉันหาหนังสือด้วยประการต่างๆ จึงรู้เรื่องประวัติหนังสือหอหลวงสิ้นกระแสความ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้า

หนังสือไทยฉบับเขียนของเก่านั้น ลักษณะต่างกันเป็น ๓ ประเภท ถ้าเป็นหนังสือสำหรับอ่านกันเป็นสามัญ เขียนในสมุดไทยสีขาวด้วยเส้นหมึกบ้าง เขียนในสมุดไทยสีดำด้วยเส้นดินสอขาวบ้าง หรือเส้นฝุ่นและเส้นหรดาล หรือวิเศษถึงเขียนด้วยเส้นทองก็มี เขียนตัวอักษรบรรจงทั้งนั้น ต่อเป็นร่างหรือสำเนาจึงเขียนอักษรหวัดด้วยเส้นดินสอแต่ว่าล้วนเขียนในสมุดไทยประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นหนังสือตำรับตำรา เช่นตำราเลขยันต์หรือคาถาอาคมเป็นต้น อันเจ้าของประสงค์จะซ่อนเร้นไว้แก่ตัว มักจารลงในใบลานขนาดสั้นสักครึ่งคัมภีร์พระธรรมร้อยเชือกเก็บไว้ แต่ล้วนเป็นหนังสือคัมภีร์ใบลานประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นจดหมายมีไปมาถึงกัน แม้ท้องตราและใบบอกในราชการ ก็เขียนลงกระดาษข่อยด้วยเส้นดินสอดำม้วนใส่กระบอกไม้ไผ่ส่งไป เมื่อเสร็จกิจแล้วก็เอาเชือกผูกเก็บไว้เป็นมัดๆ มักมีแต่ตามสำนักราชการประเภทหนึ่ง หนังสือฉบับเขียนทั้ง ๓ ประเภทที่ว่ามา ประเภทที่เขียนในสมุดไทยมีมากกว่าอย่างอื่น แต่ที่นับว่าเป็นฉบับดีๆ เพราะตัวอักษรเขียนงามและสอบทานถูกต้องประกอบกัน นอกจากหนังสือหอหลวง มักเป็นหนังสือซึ่งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลก่อนๆ สร้างไว้ แล้วแบ่งกันเป็นมรดกตกอยู่ในเชื้อวงศ์เป็นแห่งๆ ก็มี ที่ผู้รับมรดกรักษาไว้ไม่ได้ แตกกระจัดกระจายไปตกอยู่ที่อื่นแห่งละเล็กละน้อยก็มี หนังสือพวกที่จารในใบลานมีน้อย ถ้าอยู่กับผู้รู้วิชานั้นมักหวงแหน แต่ก็ได้มาบ้าง มักเป็นเรื่องแปลกๆ เช่นลายแทงคิดปริศนาและตำราพิธีอันมิใคร่มีใครรู้ แต่มักไม่น่าเชื่อคุณวิเศษที่อวดอ้างในหนังสือนั้น แต่หนังสือซึ่งเขียนกระดาษเพลา มักมีแต่ของหลวงอยู่ตามสำนักราชการ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย ให้ส่งหนังสือพวกนี้ที่มีอยู่ในกระทรวงและที่ได้พบตามหัวเมือง ไปยังหอพระสมุดฯ ทั้งหมด แต่ในสมัยเมื่อฉันหาหนังสือฉบับเขียนสำหรับหอพระสมุดฯ นั้น พวกฝรั่งและพวกเล่นสะสมของเก่า เช่นหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถเป็นต้น ก็กำลังหาซื้อหนังสือไทยฉบับเขียนแข่งอยู่อีกทางหนึ่ง ผิดกันแต่พวกนั้นต้องหาโดยปกปิด ฉันหาได้อย่างเปิดเผย และเลือกโดยความประสงค์ผิดกัน พวกนั้นหาหนังสือ “งาม” คือที่มีรูปภาพหรือที่มีฝีมือเขียนอักษรงาม แต่จะเป็นหนังสือเรื่องอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ ฝ่ายข้างตัวฉันหาหนังสือ “ดี” คือถือเอาเรื่องหนังสือเป็นสำคัญ ถ้าเป็นหนังสือเรื่องที่มีดื่น ถึงฉบับจะเขียนงามก็ไม่ถือว่าดี ถ้าเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นฉบับเขียนถูกต้องดี ถึงจะเขียนไม่งามหรือที่สุดเป็นแต่หนังสือเขียนตัวหวัดก็ซื้อ และให้ราคาแพงกว่าหนังสือซึ่งมีดื่น

วิธีที่ฉันหาหนังสือนั้น เมื่อรู้ว่าแหล่งหนังสือมีอยู่ที่ไหน ฉันก็ไปเองหรือให้ผู้อื่นไปบอกเจ้าของหนังสือให้ทราบพระราชประสงค์ ซึ่งทรงตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร และขอดูหนังสือที่เขามีอยู่ ถ้าพบหนังสือเรื่องใดซึ่งยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ก็ขอหนังสือนั้น เจ้าของจะถวายก็ได้ จะขายก็ได้ หรือเพียงอนุญาตให้คัดสำเนาหนังสือเรื่องนั้นมาก็ได้ตามใจ เจ้าของหนังสือไม่มีใครขัดขวาง อย่างหวงแหนก็เพียงขอต้นฉบับไว้ยอมให้คัดสำเนามา แต่ที่เต็มใจถวายต้นฉบับทีเดียวมีมากกว่าอย่างอื่น บางแห่งก็ถึง “ยกรัง” หนังสือซึ่งได้เก็บรักษาไว้ถวายเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนครทั้งหมด เพราะมีการซึ่งหอพระสมุดฯ ทำอีกอย่างหนึ่ง เป็นปัจจัยให้คนนิยม คือแต่เดิมมาในงานศพเจ้าภาพมักพิมพ์เทศนาหรือคำแปลภาษาบาลี เป็นสมุดเล่มเล็กๆ แจกผู้ไปช่วยงาน ครั้งงานพระศพกรมขุนสุพรรณภาควดีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริ ว่าหนังสือแจกซึ่งเป็นธรรมปริยายลึกซึ้งคนมิใคร่ชอบอ่าน จึงโปรดให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น พิมพ์พระราชทานเป็นของแจก และทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องประวัติของคัมภีร์ชาดก กับทั้งทรงแนะนำไว้ในคำนำข้างต้น ว่าหนังสือแจกควรจะพิมพ์เรื่องต่างๆ ให้คนชอบอ่าน แต่นั้นเจ้าภาพงานศพก็มักมาขอเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกต่อกรรมการหอพระสมุดฯ กรรมการคิดเห็นว่าถ้าช่วยอุดหนุนการพิมพ์หนังสือแจก จะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เป็นต้นแต่สามารถจะรักษาเรื่องหนังสือเก่าไว้มิให้สูญ และให้มหาชนเจริญความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงรับธุระหาเรื่องหนังสือให้เจ้าภาพพิมพ์แจกทุกรายที่มาขอ และเลือกหนังสือซึ่งเป็นเรื่องน่าอ่าน เอามาชำระสอบทานให้ถูกต้อง ทั้งแต่งอธิบายว่าด้วยหนังสือเรื่องนั้นไว้ในคำนำข้างต้น แล้วจึงให้ไปพิมพ์แจก จึงเกิด “หนังสือฉบับหอพระสมุด” ขึ้น ใครได้รับไปก็ชอบอ่าน เพราะได้ความรู้ดีกว่าฉบับอื่น เจ้าของหนังสือฉบับเขียนเห็นว่าหอพระสมุดฯ ได้หนังสือไปทำให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นกว่าอยู่กับตน ก็เต็มใจถวายหนังสือดังกล่าวมา การหาเรื่องหนังสือให้ผู้อื่นพิมพ์แจก จึงเลยเป็นธุระส่วนใหญ่อันหนึ่งของหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครสืบมา และเป็นเหตุให้มีหนังสือไทยเรื่องต่างๆ พิมพ์ขึ้นปีละมากๆ จนบัดนี้

การหาหนังสือฉบับเขียนซึ่งมีอยู่เป็นแหล่ง ไม่ยากเหมือนหาหนังสือซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง เพราะรู้ไม่ได้ว่าหนังสือจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง พบเข้าก็มีแต่แห่งละเล็กละน้อย ทั้งเจ้าของก็มักเป็นชั้นที่ไม่รู้จักคุณค่าของหนังสือ ฉันจึงคิดวิธีอย่างหนึ่ง ด้วยขอแรงพวกพนักงานในหอพระสมุดฯ ให้ช่วยกันเที่ยวหาในเวลาว่างราชการ ไปพบหนังสือเรื่องดีมีที่ไหนก็ให้ขอซื้อเอามา หรือถ้าไม่แน่ใจก็ชวนให้เจ้าของเอามาให้ฉันดูก่อน บอกแต่ว่าถ้าเป็นหนังสือดีฉันจะซื้อด้วยราคาตามสมควร หาโดยกระบวนนี้บางทีได้หนังสือดีอย่างแปลกประหลาด จะเล่าเป็นตัวอย่าง ดังครั้งหนึ่งพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ไปเห็นยายแก่กำลังเอาสมุดดำรวมใส่กระชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูก่อน แกก็ส่งมาให้ทั้งกระชุ พบหนังสือพงศาวดารเมืองไทย แต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ เล่มหนึ่ง อยู่ในพวกสมุดที่จะเผานั้น ออกปากว่าอยากได้ ยายแก่ก็ให้ไม่หวงแหน พระยาปริยัติธรรมธาดาเอาสมุดเล่มนั้นมาให้ฉัน เมื่อพิจารณาดูเห็นเป็นหนังสือพงศาวดารความเก่าแต่งก่อนเพื่อน เรื่องและศักราชก็แม่นยำ ผิดกับฉบับอื่นทั้งหมด ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ให้เป็นเกียรติยศแก่พระยาปริยัติฯ และได้ใช้เป็นฉบับสำหรับสอบสืบมาจนบัดนี้ แต่เจ้าของบางคนก็เห็นค่าหนังสือของตนอย่างวิปริต ดังแห่งหนึ่งอวดว่ามีหนังสือเขียนตัวทองอยู่เรื่องหนึ่ง ตั้งราคาขายแพงมาก ผู้ไปพบจะขออ่านก็ไม่ให้ดู ฉันให้กลับไปถามเพียงชื่อเรื่องหนังสือนั้น บอกว่า “เรื่องพระลอ” ซึ่งมีฉบับเขียนอยู่ในหอพระสมุดฯ แล้วหลายฉบับ ทั้งเป็นเรื่องที่พิมพ์แล้วด้วย ก็เป็นเลิกกันเพียงนั้น แต่เมื่อคนรู้กันแพร่หลายว่าหอพระสมุดฯ หาซื้อหนังสือฉบับเขียน ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายที่หอพระสมุดฯ ชั้นแรกดูเหมือนจะเป็นแต่พวกราษฎร ต่อมาเจ้าของที่เป็นผู้ดีแต่งให้คนมาขายก็มี ที่สุดถึงมีพวก “นายหน้า” เที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ เนืองนิจ จนจำหน้าได้ พวกนายหน้านี้เป็นคนจำพวกเดียวกับที่เที่ยวหาหนังสือฉบับหลวง และของประหลาดขายฝรั่ง เขาว่าของที่ขายมักได้มาโดยทุจริต แต่จะไถ่ถามถึงกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาขายหนังสือเสียก่อน ก็คงเกิดหวาดหวั่น ไม่มีใครกล้าเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดฯ ฉันนึกขึ้นว่าหนังสือผิดกับทรัพย์สินอย่างอื่น ด้วยอาจจะคัดสำเนาเอาเรื่องไว้ได้ โดยจะเป็นของโจรลักเอามา เมื่อเจ้าของมาพบ คืนต้นฉบับให้เขา ขอคัดแต่สำเนาไว้ก็เป็นประโยชน์สมประสงค์ ไม่เสียเงินเปล่า ฉันจึงสั่งพนักงานรับหนังสือว่าถ้าใครเอาหนังสือมาขาย อย่าให้ไถ่ถามอย่างไร นอกจากราคาที่จะขาย แล้วเขียนราคาลงในเศษกระดาษ เหน็บกับหนังสือส่งมาให้ฉันดูทีเดียว ฉันเลือกซื้อด้วยเอาเรื่องหนังสือเป็นใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว บางทีเป็นหนังสือเขียนงามแต่ฉันไม่ซื้อ หรือไม่ยอมให้ราคาเท่าที่จะขาย เพราะเป็นเรื่องดื่นก็มี บางทีเป็นแต่สมุดเก่าๆ เขียนด้วยเส้นดินสอ ผู้ขายตีราคาเพียงเล่มละบาทหนึ่งสองบาท แต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยพบหรือหายาก ยังไม่มีในหอพระสมุดฯ ฉันเห็นว่าเจ้าของตีราคาต่ำ เพราะไม่รู้คุณค่าของหนังสือ จะซื้อตามราคาที่บอกขาย ดูเป็นเอาเปรียบคนรู้น้อย หาควรไม่ ฉันจึงเพิ่มราคาให้เป็นเล่มละ ๔ บาทหรือ ๕ บาทบ้าง ให้บอกเจ้าของว่าราคาที่ตั้งมายังไม่ถึงค่าของหนังสือ พวกคนขายหนังสือได้เงินเพิ่มเนืองๆ ก็เชื่อถือความยุติธรรมของหอพระสมุดฯ จนไม่มีใครตั้งราคาขาย บอกแต่ว่า “แล้วแต่จะประทาน” การซื้อหนังสือในพื้นเมืองก็สะดวก จึงซื้อมาด้วยอย่างนั้นเป็นนิจ




(๘)

แต่ความที่กล่าวไว้ข้างต้นนิทานนี้ ที่ว่านายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ดี ที่ว่าคนในวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ และต่อมาเอาออกขายแก่ฝรั่งและผู้เล่นสะสมของเก่าก็ดี ไม่มีใครรู้มากว่า ๒๐ ปี เค้าเงื่อนเพิ่งมาปรากฏขึ้นเมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดฯ ดังพรรณนามา ด้วยวันหนึ่งมีคนเอาหนังสือพระราชพงศาวดาร เป็นฉบับเขียนเส้นดินสอมาขาย ๒ เล่มสมุดไทย ฉันเห็นมีลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเส้นดินสอเหลือง ทรงเขียนแก้ไขเพิ่มเติมเป็นแห่งๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๑๐ บาท แต่ไม่บอกว่าเพราะมีพระราชหัตถเลขาอยู่ในนั้น ผู้ขายก็พิศวง บอกพนักงานรับหนังสือว่าหนังสือเรื่องนั้นยังมีจะเอามาขายอีก แล้วเอามาขายทีละ ๓ เล่ม ๔ เล่ม ฉันก็ให้ราคาเล่มละ ๑๐ บาทเสมอทุกครั้ง ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาถึง ๒๒ เล่ม จนผู้ขายบอกว่าหมดฉบับที่มีเพียงเท่านั้น

ฝ่ายตัวฉัน ตั้งแต่ได้หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามา ๒ เล่มก็เกิดพิศวง ด้วยเห็นชัดว่าหนังสือฉบับนั้นเป็นของหลวงอันอาลักษณ์รักษาไว้ในหอหลวง เหตุไฉนจึงตกมาเป็นของคนชั้นราษฎร เอาออกเที่ยวขายได้ตามชอบใจ ฉันจึงเรียกหัวหน้าพนักงานรับหนังสือมากระซิบสั่งให้สืบดู ว่าผู้ที่เอามาขายเป็นคนทำการงานอย่างไร และมีสำนักหลักแหล่งอยู่ที่ไหน เขาสืบได้ความจากผู้รู้จัก ว่าคน ๒ คนที่เอาหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามาขายนั้น เดิมเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ แต่เมื่อกรมหลวงบดินทร์ฯ สิ้นพระชนม์แล้ว เห็นเที่ยวร่อนเร่อยู่ จะสำนักอยู่ที่ไหนหาทราบไม่ พอฉันได้ยินว่าคนที่เอาหนังสือมาขาย เคยเป็นมหาดเล็กอยู่ที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็รู้สึกเหมือนอย่างว่าใครเปิดแสงไฟฟ้าให้แลเห็นเรื่องประวัติหนังสือหอหลวงในทันที ยิ่งคิดไปถึงกรณีต่างๆ ที่เคยรู้เห็นมาแต่ก่อนก็ยิ่งเห็นตระหนักแน่ชัด ด้วยเป็นเรื่องติดต่อสอดคล้องกันมาตั้งแต่กรมหลวงบดินทร์ฯ เอาหนังสือหอหลวงไปรักษาไว้ที่วัง แล้วเอาออกอวดให้คนดูเมื่องาน ๑๐๐ ปี นายกุหลาบได้เห็นจึงพยายามขอยืมจากกรมหลวงบดินทร์ฯ ไปลอบจ้างทหารมหาดเล็กให้คัดสำเนา เอาไปดัดแปลงสำนวนออกพิมพ์ ครั้นถึงเวลาเมื่อขนหนังสือหอหลวงกลับคืนเข้าไปไว้ในวังตามเดิม มีคนที่วังกรมหลวงบดินทร์ฯ ยักยอกหนังสือหอหลวงไว้ แล้วผ่อนขายไปแก่พวกฝรั่งและผู้สะสมของเก่า จึงปรากฏว่ามีหนังสือฉบับหลวงออกเที่ยวขาย จนที่สุดถึงเอามาขายแก่ตัวฉันเอง จึงรู้ว่าล้วนแต่ออกมาจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ทั้งนั้น แต่ผู้ขายหนังสือไม่รู้ว่าฉันให้สืบ เมื่อขายหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้หมดแล้ว ยังเอาหนังสือกฎหมายฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งประทับตรา ๓ ดวงมาขายที่หอพระสมุดฯ อีก ๒ เล่ม ฉันตีราคาให้เล่มละ ๒๐ บาท เลยได้ความรู้อยู่ข้างจะขบขัน ด้วยผู้ขายดีใจจนออกปากแก่พนักงานรับหนังสือ ว่าเสียดายไม่รู้ว่าหอพระสมุดฯ จะให้ราคาถึงเท่านั้น เคยเอาไปบอกขายนายกุหลาบเล่มหนึ่ง นายกุหลาบว่าจะให้ ๒๐ บาท ครั้นเอาหนังสือไปให้ได้เงินแต่ ๒ บาท นอกจากนั้นทวงเท่าใดก็ไม่ได้ ที่ว่านี้คือกฎหมายเล่มที่นายกุหลาบเอาไปแก้ศักราชนั่นเอง ก็ได้ไปจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ เหมือนกัน เมื่อขายกฎหมายแล้วผู้ขายบอกว่าหนังสือซึ่งมีขาย หมดเพียงเท่านั้น ก็เห็นจะเป็นความจริง เพราะคนขายได้เงินมาก และหอพระสมุดฯ ก็มิได้ทำให้หวาดหวั่นอย่างใด ถ้ายังมีหนังสือคงเอามาขายอีก จึงเห็นพอจะอ้างได้ว่าเก็บหนังสือหอหลวงซึ่งยังตกค้างอยู่ในแหล่งกรมหลวงบดินทร์ฯ กลับมาได้สิ้นเชิง เมื่อฉันซื้อหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร แต่ตัวฉันยังมีกิจเกี่ยวข้องกับหนังสือหลวง ซึ่งพลัดพรายไปอยู่ที่อื่นต่อมาอีกด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ฉันไปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงกรุงลอนดอน ฉันนึกขึ้นว่าเป็นโอกาสที่จะตรวจดูให้รู้ว่าอังกฤษได้หนังสือฉบับเขียนไปจากเมืองไทยสักเท่าใด ฉันจึงให้ไปบอกที่หอสมุดของรัฐบาล (British Museum Library) ว่าฉันอยากจะเห็นหนังสือไทยฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอสมุดนั้น ถ้าหากเขายังไม่ได้ทำบัญชี จะให้ฉันช่วยบอกเรื่องให้ลงบัญชีด้วยก็ได้ ฉันหมายว่าถ้าพบเรื่องที่ไม่มีฉบับอยู่ในเมืองไทย ก็จะขอคัดสำเนาด้วยรูปฉายเอากลับมา ฝ่ายอังกฤษเขาเคยได้ยินชื่อว่าฉันเป็นนายกหอพระสมุดฯ ก็ยินดีที่ฉันจะบอกให้อย่างนั้น ครั้นถึงวันนัด เขาขนสมุดหนังสือไทยบรรดามีมารวมไว้ในห้องหนึ่ง และให้พนักงานทำบัญชีมาคอยรับ ฉันไปนั่งตรวจ และบอกเรื่องแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เขาลงบัญชีทุกเล่ม ต้องไปนั่งอยู่ ๒ วันจึงตรวจหมด ด้วยในหอสมุดนั้นมีหนังสือไทยมากกว่าที่อื่น แต่เห็นล้วนเป็นเรื่องที่มีในหอพระสมุดฯ ทั้งนั้น ก็ไม่ต้องขอคัดสำเนามา เมื่อฉันไปถึงกรุงเบอร์ลิน ให้ไปบอกอย่างเช่นที่กรุงลอนดอน รัฐบาลเยอรมันก็ให้ฉันตรวจหนังสือไทยด้วยความยินดีอย่างเดียวกัน หนังสือไทยที่ในหอสมุดกรุงเบอร์ลินมีน้อยกว่าในหอสมุดกรุงลอนดอน แต่เป็นหนังสือฉบับหลวงซึ่งได้ไปจากหอหลวงในกรุงเทพฯ โดยมาก เขาเชิดชูหนังสือไตรภูมิฉบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี ซึ่งซื้อราคาถึง ๑,๐๐๐ บาทนั้นเหมือนอย่างว่าเป็นนายโรง แต่ประหลาดอยู่ที่หนังสือไตรภูมินั้นมี ๒ ฉบับ สร้างก็ครั้งกรุงธนบุรีด้วยกัน และเหมือนกันทั้งตัวอักษรและรูปภาพ ขนาดสมุดก็เท่ากัน ฉบับหนึ่งคุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด รัชกาลที่ ๔) ได้มาจากไหนไม่ปรากฏ แต่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อตั้งหอพุทธศาสนสังคหะ แล้วโอนมาเป็นของหอพระสมุดสำหรับพระนคร จึงใส่ตู้กระจกไว้ให้คนชมอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เพราะฉะนั้นถึงเยอรมันเอาไปเสียฉบับหนึ่ง ก็หาสูญสิ้นจากเมืองไทยไม่ แม้เรื่องอื่นๆ ที่เยอรมันได้ไป เรื่องก็ยังมีอยู่ในเมืองไทยทั้งนั้น จึงไม่ต้องขอคัดสำเนามา นึกเสียดายที่ไม่ได้ตรวจในหอสมุดของฝรั่งเศสในครั้งนั้นด้วย เพราะเมื่อไปถึงกรุงปารีส ฉันยังไม่ได้คิดขึ้นถึงเรื่องตรวจหนังสือไทย จึงผ่านไปเสียแต่แรก แล้วก็ไม่มีโอกาสอีก




(๙)

เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภา พ้นจากราชการทั้งปวงแล้ว ออกไปสำราญอิริยาบถตามประสาคนแก่ชราอยู่ที่เมืองปีนัง ทราบว่าทางกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงระเบียบการราชบัณฑิตยสภาหลายอย่าง เป็นต้นว่าตั้ง “ราชบัณฑิตยสถาน” เป็นคณะผู้รู้ แยกออกจากกรมการต่างๆ ซึ่งเคยอยู่ในราชบัณฑิตยสภามาแต่ก่อน ส่วนกรมการต่างๆ นั้น แผนกหอพระสมุดสำหรับพระนครคงเป็นแผนกอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “หอสมุดแห่งชาติ” แผนกพิพิธภัณฑสถานก็คงอยู่อย่างเดิม เรียกว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” แผนกศิลปากรก็คงอยู่อย่างเดิม เอากรมมหรสพเพิ่มเข้าอีกแผนกหนึ่ง เรียกทั้ง ๔ แผนกรวมกันว่า “กรมศิลปากร” มีอธิบดีเป็นผู้บังคับการทั่วไป จะว่าแต่เฉพาะที่เนื่องด้วยหนังสือหอหลวง ทราบว่าหอสมุดแห่งชาติซื้อมรดกหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ ได้หนังสือหอหลวงซึ่งไปตกอยู่ที่หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถมาเข้าหอสมุดแห่งชาติหมด และต่อมารัฐบาลให้โอนหนังสือหอหลวงบรรดาที่อยู่ในกรมราชเลขาธิการ (คือที่กรมอาลักษณ์รักษาแต่เดิม) ส่งไปไว้ในหอสมุดแห่งชาติทั้งหมด เป็นสมุดฉบับเขียนหลายพันเล่ม เดี๋ยวนี้อาจจะอ้างได้ว่าหนังสือหอหลวงซึ่งกระจัดพลัดพรายแยกย้ายกันอยู่ตามที่ต่างๆ มากว่า ๕๐ ปี กลับคืนมาอยู่ในที่อันเดียวกันแล้ว ถึงต้นฉบับจะสูญไปเสียบ้าง เช่นถูกฝรั่งซื้อเอาไปไว้เสียต่างประเทศ ฉันได้ไปตรวจก็ปรากฏว่าเรื่องของหนังสืออันเป็นตัววิทยสมบัติของบ้านเมืองมิได้สูญไปด้วย ที่จะหายสูญทั้งต้นฉบับและตัวเรื่องเห็นจะน้อย เพราะฉะนั้น ถึงตัวฉันพ้นกิจธุระมาอยู่ภายนอกแล้ว ก็มีความยินดีด้วยเป็นอันมาก.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:42:37 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๐ เรื่องความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์


(๑)

หัวเมืองที่ขึ้นชื่อลือเลื่องว่ามีความไข้ Malaria ร้ายกาจ แต่ก่อนมามีหลายเมือง เช่นเมืองกำแพงเพชร และเมืองกำเนิดนพคุณ คือบางตะพานเป็นต้น แต่ที่ไหนๆ คนไม่ครั่นคร้ามเท่าความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ ดูเป็นเข้าใจกันทั่วไป ว่าถ้าใครไปเมืองเพชรบูรณ์ เหมือนกับไปแส่หาความตาย จึงไม่มีชาวกรุงเทพฯ หรือชาวเมืองอื่นๆ พอใจจะไปเมืองเพชรบูรณ์มาช้านาน แม้ในการปกครอง รัฐบาลก็ต้องเลือกหาคนในท้องถิ่นตั้งเป็นเจ้าเมืองกรมการ เพราะเหตุที่คนกลัวความไข้ เมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็ต้องปล่อยให้เมืองเพชรบูรณ์กับเมืองอื่นในลุ่มแม่น้ำสักทางฝ่ายเหนือ คือเมืองหล่มสัก และเมืองวิเชียร เป็นอยู่อย่างเดิมมาหลายปี เพราะจะรวมเมืองเหล่านั้นเข้ากับมณฑลพิษณุโลกหรือมณฑลนครราชสีมา ที่เขตต่อกันก็มีเทือกเขากั้น สมุหเทศาภิบาลจะไปตรวจตราลำบากทั้ง ๒ ทาง อีกประการหนึ่ง เมื่อแรกฉันจัดการปกครองหัวเมือง มณฑลต่างๆ ขอคนออกไปรับราชการ ฉันยังหาส่งไปให้ไม่ทัน เมืองทางลำน้ำสักมีเมืองเพชรบูรณ์เป็นต้น ไม่มีใครสมัครไป ด้วยกลัวความไข้ดังกล่าวมาแล้ว จึงต้องรอมา

มามีความจำเป็นเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๔๔๐ ด้วยตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่างลง ฉันหาคนในกรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าเมืองไม่ได้ เลือกดูกรมการในเมืองเพชรบูรณ์เอง ที่จะสมควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่มี นึกว่ามณฑลพิษณุโลกมีท้องที่ความไข้ร้ายหลายแห่ง บางทีจะหาข้าราชการในมณฑลนั้นที่คุ้นกับความไข้ไปเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ฉันเคยเห็นท่านถนัดเลือกคนใช้ จึงถามท่านว่าจะหาข้าราชการในมณฑลพิษณุโลก ที่มีความสามารถพอจะเป็นเจ้าเมือง และไม่กลัวความไข้เมืองเพชรบูรณ์ ให้ฉันสักคนจะได้หรือไม่ ท่านขอไปตริตรองแล้วมาบอกว่า มีอยู่คนหนึ่งเป็นที่พระสงครามภักดี (ชื่อเฟื่อง) นายอำเภอเมืองน้ำปาด ดูลาดเลามีสติปัญญา และเคยไปรับราชการตามหัวเมืองที่มีความไข้ เช่นเมืองหลวงพระบาง และแห่งอื่นๆ หลายแห่ง เวลานั้นเป็นนายอำเภอที่เมืองน้ำปาดก็อยู่ในแดนความไข้ เห็นจะพอเป็นเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันเรียกพระสงครามภักดีลงมากรุงเทพฯ พอแลเห็นก็ประจักษ์ใจว่าแกเคยคุ้นกับความไข้ เพราะผิวเหลืองผิดกับคนสามัญ ดูราวกับว่าโลหิตเต็มไปด้วยตัวไข้มาลาเรีย จึงอยู่คงกับความไข้ ฉันไถ่ถามได้ความว่าเป็นชาวกรุงเทพฯ แต่ขึ้นไปทำมาหากินอยู่เมืองเหนือตั้งแต่ยังหนุ่ม เคยอาสาไปทัพฮ่อทางเมืองหลวงพระบางและที่อื่นๆ มีความชอบ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ จึงชวนเข้ารับราชการมาจนได้เป็นที่พระสงครามภักดี ฉันซักไซ้ต่อไปถึงความคิดการงาน ดูก็มีสติปัญญาสมดังเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ บอก จึงให้พระสงครามภักดีขึ้นไปเป็นผู้รั้งราชการเมืองเพชรบูรณ์ แกไปถึงพอเรียนรู้ความเป็นไปในท้องที่แล้ว ก็ลงมือจัดการปกครองตามแบบมณฑลพิษณุโลก บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น พระสงครามภักดีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระยาเพชรรัตนสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เต็มตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒

การที่พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) สามารถจัดระเบียบแบบแผนปกครองเมืองเพชรบูรณ์สำเร็จนั้น เป็นมูลให้ต้องปรารภต่อไปถึงเมืองหล่มสักและเมืองวิเชียรบุรี ที่อยู่ลุ่มลำน้ำสักด้วยกัน เห็นว่าถึงเวลาควรจะจัดการปกครองให้เข้าแบบแผนด้วย แต่จะเอาหัวเมืองทางลำน้ำสักไปเข้าในมณฑลใด ก็ขัดข้องด้วยทางคมนาคมดังกล่าวมาแล้ว จะปกครองได้สะดวกอย่างเดียวแต่รวมหัวเมืองในลุ่มน้ำสัก ๓ เมือง แยกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก จึงตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้น (ดูเหมือน) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ ผู้ที่จะเป็นสมุหเทศาภิบาลเพชรบูรณ์ก็ไม่มีผู้อื่นอยากเป็น หรือจะเหมาะเหมือนพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เพราะอยู่คงความไข้ และได้แสดงคุณวุฒิให้ปรากฏแล้วว่าสามารถจะปกครองได้ พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ก็ได้เป็นสมุหเทศาภิบาล แต่แรกคนทั้งหลายอยู่ข้างจะประหลาดใจ ด้วยสมุหเทศาภิบาลมณฑลอื่น ล้วนเป็นเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันปรากฏเกียรติคุณแพร่หลาย แต่มิใคร่รู้จักพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เพราะแกเคยรับราชการอยู่แต่ในท้องที่ลับลี้ห่างไกล คนเห็นสมุหเทศาภิบาลแปลกหน้าขึ้นใหม่ก็พากันพิศวง แต่เมื่อแกได้เข้าสมาคมในกรุงเทพฯ ไม่ช้าเท่าใดก็ปรากฏเกียรติคุณ เช่นนั่งในที่ประชุมสมุหเทศาภิบาล เพื่อนสมุหเทศาภิบาลด้วยกันก็เห็นว่าเป็นคนมีสติปัญญาสมควรแก่ตำแหน่ง แม้ผู้อื่นที่ในสมาคมข้าราชการ พอได้คุ้นเคยเห็นมารยาทและกิริยาอัชฌาสัย ก็รู้ตระหนักว่าเป็นผู้ดีมิใช่ไพร่ได้ดี ก็ไม่มีใครรังเกียจ แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อดำรัสถามถึงราชการต่างๆ ในมณฑลเพชรบูรณ์ แกกราบทูลชี้แจงก็โปรด และยังทรงพระเมตตาเพราะเป็นสหชาติเกิดร่วมปีพระบรมราชสมภพด้วยอีกสถานหนึ่ง แต่สง่าราศีของพระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) ดูเหมือนจะอยู่ที่ผิวแกเหลืองผิดกับผู้อื่นนั้นเป็นสำคัญ ใครเห็นก็รู้ว่าแกได้ดีเพราะได้ลำบากตรากตรำทำราชการเอาชีวิตสู้ความไข้มาแต่หนหลัง อันนี้เป็นเครื่องป้องกันความบกพร่องยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่พระยาเพชรรัตนฯ (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์อยู่ได้เพียง ๓ ปี พ.ศ.๒๔๔๖ เข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ เมื่องานฉลองพระชนมายุครบ ๕๐ ปี ก็มาเป็นอหิวาตกโรคถึงอนิจกรรม สิ้นบุญเพียงอายุ ๕๐ ปีเท่านั้น ใครรู้ก็อนาถใจ ด้วยเห็นว่าแกเพียรต่อสู้ความไข้ ชนะโรคมาลาเรียแล้วมาแพ้ไข้อหิวาตกโรคง่ายๆ เพราะไม่ได้เตรียมตัวต่อสู้มาแต่หนหลัง มีคนพากันเสียดาย




(๒)

เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์ เคยปรารภกับฉันเนืองๆ ว่า การปกครองมณฑลเพชรบูรณ์ไม่สู้ยากนัก เพราะราษฎรเป็นคนเกิดในมณฑลนั้นเองแทบทั้งนั้น ชอบแต่ทำมาหากิน มิใคร่เป็นโจรผู้ร้าย บังคับบัญชาก็ว่าง่าย ราชการในมณฑลนั้นมีความลำบากเป็นข้อสำคัญแต่หาคนใช้ไม่ได้พอการ เพราะคนในพื้นเมืองยังอ่อนแก่การศึกษา คนมณฑลอื่นก็มิใคร่มีใครยอมไปด้วยกลัวความไข้ จะจัดทำอะไรจึงมักติดขัดด้วยไม่มีคนจะทำ ที่จริงความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ก็มีแต่เป็นฤดู มิได้มีอยู่เสมอ สังเกตดูอาการไข้ก็ไม่ร้ายแรงถึงอย่างยิ่งยวด ความไข้ทางเมืองหลวงพระบาง หรือแม้ในมณฑลพิษณุโลกทางข้างเหนือร้ายกว่าเป็นไหนๆ แต่มิรู้ที่จะ ทำอย่างไรให้คนหายกลัวไข้เมืองเพชรบูรณ์ได้ ฉันพูดว่าตัวฉันเองก็ลำบากในเรื่องหาคนไปรับราชการมณฑลเพชรบูรณ์เหมือนกัน ได้เคยคิดทำอุบายที่จะระงับความไข้เมืองเพชรบูรณ์เหมือนกัน เห็นว่าตัวฉันจะต้องขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์เอง ให้ปรากฏเสียสักครั้งหนึ่ง คนอื่นจึงจะหายกลัว ด้วยเห็นว่าความไข้คงไม่ร้ายแรงถึงอย่างเช่นกลัวกัน ฉันจึงกล้าไป ถึงจะยังมีคนกลัว ชักชวนก็ง่ายขึ้น ด้วยอาจอ้างตัวอย่างว่าแม้ตัวฉันก็ได้ไปแล้ว พระยาเพชรรัตนฯ ชอบใจว่าถ้าฉันไปคนก็เห็นจะหายกลัวได้จริง ถามพระยาเพชรรัตนฯ ถึงทางที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ แกบอกว่าไปได้หลายทาง ที่ไปได้สะดวกนั้นมี ๓ ทาง คือไปเรือในแม่น้ำสักทางหนึ่ง ไปจากกรุงเทพฯ ราว ๓๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ อีกทางหนึ่งจะเดินบกจากเมืองสระบุรีหรือเมืองลพบุรีก็ได้ เดินทางราว ๑๐ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ แต่ว่าหนทางอยู่ข้างลำบากและไม่มีอะไรน่าดู ทางที่ ๓ นั้นไปเรือ มีเรือไฟจูงจากกรุงเทพฯ ราว ๗ วัน ไปขึ้นเดินบกที่อำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร เดินบกอีก ๔ วันถึงเมืองเพชรบูรณ์ และว่าทางนี้สะดวกกว่าทางอื่น แต่การที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ต้องกะเวลาให้เหมาะด้วย คือควรไปในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งพ้นเขตความไข้แล้ว แต่ต้องเป็นแต่ต้นฤดูแล้งเมื่อน้ำยังไม่ลดมากนัก ทางเรือจึงจะสะดวก ไปในเดือนมกราคมเป็นเหมาะกว่าเดือนอื่น แต่ฝ่ายตัวฉันยังมีข้ออื่นที่จะต้องคิดอีก คือจะต้องหาโอกาสว่างราชการในเดือนมกราคมให้ไปอยู่หัวเมืองได้สักเดือนหนึ่ง เมื่อปรึกษากับพระยาเพชรรัตนสงครามแล้ว ฉันยังหาโอกาสไม่ได้ต้องเลื่อนกำหนดมาถึง ๒ ปี ในระหว่างนั้น พระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ถึงอนิจกรรม ก็ไม่ได้ไปด้วยดังนัดกันไว้ ฉันมาได้โอกาสไปเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ กะว่าจะไปทางเรือจนถึงบางมูลนาค แล้วขึ้นเดินบกไปเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำแม่น้ำสักมายังเมืองวิเชียรบุรีแล้วเลยลงมาจนถึงเมืองสระบุรี ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ

พอข่าวปรากฏว่าฉันเตรียมตัวจะไปเมืองเพชรบูรณ์ ก็มีพวกพ้องพากันมาให้พร คล้ายกับจะส่งไปทัพบ้าง มาห้ามปรามโดยเมตตาปรานี ด้วยเห็นว่าไม่พอที่ฉันจะไปเสี่ยงภัยบ้าง ผิดกับเคยไปไหนๆ มาแต่ก่อน ฉันบอกว่าเป็นราชการจำที่จะต้องไปและได้ทูลลาเสร็จแล้ว ที่ห้ามปรามก็เงียบไป แต่ส่วนพระองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย ตั้งแต่ฉันกราบทูลความคิดที่จะไปมณฑลเพชรบูรณ์ ตรัสว่า “ไปเถิด อย่ากลัว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ของเราท่านก็เสด็จไปแล้ว” ในเวลานั้นตัวฉันเองตั้งแต่เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตามหัวเมืองต่างๆ เคยผ่านป่าดง แม้ที่ว่าไข้ร้ายมาหลายครั้งแล้ว ไม่รู้สึกครั่นคร้ามอย่างไร แต่ประหลาดอยู่ที่พอรู้กันว่าฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์เป็นแน่ ก็มีผู้มาขอไปเที่ยวด้วยหลายคน แม้พวกที่ฉันเลือกเอาไปช่วยธุระหรือใช้สอยก็สมัครไปด้วยยินดี ไม่เห็นมีใครครั่นคร้าม คงเป็นด้วยอุ่นใจ คล้ายกับจะเข้าไปยังที่ซึ่งเขาว่าผีดุ ไม่มีใครกล้าไปคนเดียว แต่พอมีเพื่อนไปด้วยหลายคน ก็หายกลัวผีไปเอง




(๓)

ฉันออกเรือจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๗ ช้าไปสัก ๑๕ วัน น้ำในแม่น้ำตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ลดงวดลงเสียมาก แม้เรือไฟที่จูงเรือพ่วง เป็นอย่างกินน้ำตื้นก็ลำบาก ต้องเดินเรือถึง ๘ วัน จึงถึงอำเภอบางมูลนาค แขวงจังหวัดพิจิตร ที่จะขึ้นเดินทางบก เทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก จัดพาหนะและคนหาบของเตรียมไว้แล้ว พอฉันขึ้นไปถึง ก็มีพวกที่ถูกเกณฑ์จ้างหาบของเข้ามาวิงวอนขอให้ใช้ไปทางอื่น อย่าให้ต้องไปเมืองเพชรบูรณ์ เพราะกลัวความไข้ ฉันประหลาดใจที่คนเหล่านั้นอยู่ใกล้ๆ กับเมืองเพชรบูรณ์ ไฉนจึงกลัวไข้ถึงปานนั้น สืบถามได้ความว่าพวกชาวจังหวัดพิจิตรที่อยู่ตอนริมน้ำ เคยเดินป่าไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันตก จนถึงเมืองกำแพงเพชร และเมืองสุโขทัย น้อยคนที่จะได้เคยไปทางฝ่ายตะวันออก ห่างลำแม่น้ำไปกว่าวันเดียว เพราะเคยได้ยินเลื่องลือถึงความไข้เมืองเพชรบูรณ์ กลัวกันมาเสียช้านาน ฉันก็ได้แต่ชี้แจงแก่พวกที่มาขอตัว ว่าขอให้คิดดูเถิด ตัวฉันเองถึงเป็นเจ้าก็เป็นมนุษย์ อาจจะเจ็บอาจจะตายได้เหมือนกับพวกเขา ที่ฉันจะไปเมืองเพชรบูรณ์ก็เพื่อจะไปทำราชการของพระเจ้าอยู่หัว มิใช่จะไปหาความสุขสนุกสบายสำหรับตัวเอง พวกเขาก็เป็นข้าแผ่นดินเหมือนกับตัวฉัน มาช่วยกันทำราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวสักคราวเป็นไร อีกประการหนึ่งฉันไม่ได้คิดจะเอาพวกเขาไปจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ จะให้ไปส่งเพียงปลายแดนจังหวัดพิจิตร ทางเพียง ๓ วันเท่านั้นก็จะได้กลับมาบ้าน ฉันจะดูแลป้องกันมิให้ไปเจ็บไข้ในกลางทาง อย่าวิตกเลย พวกนั้นได้ฟังก็ไม่กล้าขอตัวต่อไป แต่สังเกตดูเมื่อเดินทางไปไม่เห็นมีใครหน้าตาเบิกบาน คงเป็นเพราะยังกลัวอยู่ไม่หาย แต่เมื่อเดินทางไป ๒ วัน พอถึงบ้านตำปางที่ในป่าก็ไปเกิดประหลาดใจด้วยไปพบราษฎรที่มีความนิยมตรงกันข้าม หมู่บ้านเหล่านั้นก็อยู่ในแดนจังหวัดพิจิตร แต่ชาวบ้านชอบไปทำมาหากินแต่ทางฝ่ายตะวันออกจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ เมืองหล่มสักและเมืองวิเชียร แต่ไม่ชอบลงไปทางริมแม่น้ำเช่นที่บางมูลนาคเป็นต้น ด้วยเกรงความไข้ในที่ลุ่ม คนที่ได้ไปแล้วคนหนึ่งบอกฉันว่าเคยไปขี่เรือครั้งหนึ่ง พอเรือออกเวียนหัวทนไม่ไหว แต่นั้นก็ไม่กล้าลงเรืออีก ดูประหลาดนักหนา คนอยู่ห่างกันเพียงทางเดิน ๒ วัน ภูเขาเลากาอะไรก็ไม่มีคั่น ความนิยมกลับตรงกันข้ามถึงอย่างนั้น

ระยะทางบกแต่บางมูลนาคไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ราว ๓,๐๐๐ เส้น เดินทางในฤดูแล้งเมื่อแผ่นดินแห้งแล้วไม่ลำบากอย่างไร ออกจากบางมูลนาคเป็นที่ลุ่มราบ ซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไปสัก ๓๐๐ เส้นถึงเมืองภูมิเก่า ว่าเป็นเมืองโบราณ ทำนาได้ผลดี ยังมีบ้านช่องแน่นหนา ออกจากเมืองภูมิไป ยังเป็นที่ลุ่มเป็นพรุและเป็นป่าไผ่อีกสัก ๕๐๐ เส้นจึงขึ้นที่ดอน เป็นโคกป่าไม้เต็งรัง ชายโคกเป็นห้วยเป็นดงสลับกันไปสัก ๑,๐๐๐ เส้น ถึงเชิงเทือกเขาบรรทัด ที่เป็นเขตแดนจังหวัดพิจิตรกับจังหวัดเพชรบูรณ์ต่อกันบนสันเขานั้น ทางตอนข้ามเขาบรรทัดเป็นดงดิบเช่นเดียวกับดงพญาไฟ แต่เดินขึ้นเขาได้สะดวกเพราะทางลาดขึ้นไปไม่สู้ชันนัก เมื่อฉันไปถึงที่พักแรมตำบลซับมาแสนบนสันเขาบรรทัด พวกชาวเมืองเพชรบูรณ์มารับ ผลัดหาบหามจากพวกเมืองพิจิตร คืนวันนั้นได้เห็นความรื่นเริงของพวกที่ไปจากเมืองพิจิตรเป็นครั้งแรก พากันร้องเพลงเล่นหัวเฮฮาอยู่จนเวลาจะนอน ถึงต้องให้ไปห้ามปากเสียง ครั้นรุ่งเช้าเมื่อก่อนจะออกเดินทาง ฉันเรียกพวกเมืองพิจิตรมาขอบใจและแสดงความยินดีที่ไม่มีใครเจ็บไข้ พวกเหล่านั้นบอกว่าได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็สิ้นกลัว บางคนถึงพูดว่า “ถ้าใต้เท้ามาอีก ผมจะมารับอาสาไม่ให้ต้องเกณฑ์ทีเดียว” ออกเดินจากตำบลซับมาแสน เป็นทางลงจากเขามาสัก ๒๐๐ เส้น ก็พ้นดงเข้าเขตบ้านล่องคล้า เดินแต่บ้านล่องคล้าขึ้นไปทางเหนือสัก ๕๐๐ เส้นถึงบ้านนายม ไปจากบ้านนายมอีกสัก ๔๐๐ เส้นก็ถึงเมืองเพชรบูรณ์




(๔)

ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ท้องที่มณฑลเพชรบูรณ์ บอกแผนที่ได้ไม่ยาก คือลำแม่น้ำสักเป็นแนวแต่เหนือลงมาใต้ มีภูเขาสูงเป็นเทือกลงมาตามแนวลำน้ำทั้ง ๒ ฟาก เทือกข้างตะวันออกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเป็นเขาปันน้ำต่อแดนมณฑลพิษณุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ใกล้ลำแม่น้ำสัก เมืองหล่มสักอยู่ที่สุดลำน้ำสักทางข้างเหนือ ต่อลงมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรณ์เทือกเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำ ดูเหมือนจะไม่ถึง ๓๐๐ เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง ๒ ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรณ์ตอนริมลำแม่น้ำเป็นที่ลุ่ม ฤดูน้ำน้ำท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเป็นที่ราบทำนาได้ผลดี เพราะอาจจะขุดเหมืองชักน้ำจากลำห้วยมาเข้านาได้เหมือนเช่นที่เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเป็นโคกสลับกับแอ่งเป็นหย่อมๆ ไปจนถึงเชิงเขาบรรทัด บนโคกเป็นป่าไม้เต็งรัง เพาะปลูกอะไรอย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งนั้นเป็นที่น้ำซับ เพาะปลูกพรรณไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรณ์จึงสมบูรณ์ด้วยกสิกรรม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งเว้นปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน ราคาข้าวเปลือกซื้อขายกันเพียงเกวียนละ ๑๖ บาทเท่านั้น แต่จะส่งข้าวเป็นสินค้าไปขายเมืองอื่นไม่ได้ด้วยทางกันดาร เมื่อข้าวไปถึงเมืองอื่น คิดค่าขนข้าวด้วยราคาแพงกว่าข้าวที่ขายกันในเมืองนั้นๆ ชาวเพชรบูรณ์จึงทำนาแต่พอกินในพื้นเมือง สิ่งซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองเพชรบูรณ์ก็คือยาสูบ เพราะรสดีกว่ายาสูบที่อื่นหมดทั้งเมืองไทย ชาวเมืองเพชรบูรณ์จึงหาผลประโยชน์ด้วยปลูกยาสูบขายเป็นพื้น ลักษณะปลูกยาสูบที่เมืองเพชรบูรณ์นั้น ปลูกตามแอ่งที่น้ำขังในฤดูฝน ถึงฤดูแล้งพอน้ำในแอ่งแห้ง ราษฎรก็ไปพรวนดินปลูกต้นยาสูบ เมื่อต้นยาสูบงอกงามได้ขนาด ก็เก็บใบยามาผึ่งแล้วหั่นเอาเข้าห่อไว้ พวกพ่อค้าไปรับซื้อตามบ้านราษฎรแล้วบรรทุกโคต่างไปขายทางมณฑลนครราชสีมาบ้าง มณฑลอุดรบ้าง แต่มณฑลพิษณุโลกปลูกยาสูบเหมือนกัน จึงไม่ซื้อยาเมืองเพชรบูรณ์ แต่ตลาดใหญ่ของยาสูบเมืองเพชรบูรณ์นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ ถึงฤดูน้ำพวกพ่อค้าเอายาสูบบรรทุกเรือลงมาขายมากกว่าแห่งอื่นเสมอทุกปี ประหลาดอยู่ที่รสยาสูบซึ่งเรียกกันว่า “ยาเพชรบูรณ์” นั้น ดีเป็นยอดเยี่ยมแต่ที่ปลูก ณ เมืองเพชรบูรณ์ ถ้าปลูกที่เมืองหล่มสัก หรือปลูกข้างใต้ห่างเมืองเพชรบูรณ์ลงมา เพียงทางวันเดียวรสยาก็คลายไป เพราะโอชะดินสู้ที่เมืองเพชรบูรณ์ไม่ได้ ถึงที่เมืองเพชรบูรณ์เอง ก็ปลูกยาซ้ำที่อยู่ได้เพียงราว ๖ ปี แล้วต้องย้ายไปปลูกที่อื่น ปล่อยให้ดินพักเพิ่มโอชะเสีย ๕ ปี ๖ ปี จึงกลับไปปลูกที่เก่าอีก

ในเรื่องที่เลื่องลือว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายแรงนั้น เมื่อไปเห็นเมืองเพชรบูรณ์ก็พอได้เค้าเข้าใจว่าเป็นเพราะเหตุใด คงเป็นเพราะเหตุที่เมืองเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่ลุ่มริมลำน้ำ มีเทือกเขาสูงกระหนาบอยู่ใกล้ๆ ทั้งสองข้าง เทือกเขานั้นเป็นหินปูน ถึงฤดูแล้งต้นไม้แห้งไม่มีใบ หินถูกแดดร้อนจัดไอขึ้น ลมพัดมาแต่ทิศใดก็พัดพาเอาไอหินเข้ามาร้อนอบอยู่ในเมือง พอเริ่มฤดูฝนคนถูกไอร้อนของหินกับไอฝนประสมกัน ก็อาจจะเป็นไข้ได้สถานหนึ่ง ในฤดูฝนฝนตกชะใบไม้ที่หล่นร่วงเน่าเปื่อยอยู่บนเขา พาเอาพิษไข้ลงมากับน้ำ คนก็อาจเป็นไข้ด้วยกินน้ำมีพิษสถานหนึ่ง เมื่อสิ้นฤดูฝนน้ำท่วมแผ่นดินลด กำลังแผ่นดินชื้น ลมหนาวพัดมาระคนกับความชื้นก็อาจเกิดไข้ได้อีกสถานหนึ่ง แต่สังเกตคนในพื้นเมืองหรือแม้คนต่างถิ่นที่ไปอยู่จนคุ้นที่แล้ว ดูอนามัยก็เป็นปรกติไม่แปลกกับที่อื่น ฉันไถ่ถามพวกกรมการในพื้นเมืองถึงลักษณะความไข้ เขาบอกว่าไข้มีชุกแต่เวลาเปลี่ยนฤดู คือเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนคราวหนึ่ง กับเมื่อฤดูฝนต่อฤดูแล้งคราวหนึ่ง ไข้คราวต้นปีเมื่อฤดูแล้งต่อฤดูฝนไม่ร้ายแรงเหมือนกับไข้คราวปลายปี ที่เราเรียกว่า “ไข้หัวลม” นอกจาก ๒ ฤดูนั้น ความไข้เจ็บก็มิใคร่มี โดยจะมีก็เป็นอย่างธรรมดาไม่ผิดกับที่อื่น ความเห็นของพวกที่ไปจากต่างถิ่น เขาว่าความไข้เมืองเพชรบูรณ์ร้ายกว่ามณฑลอื่นบางมณฑล เช่นมณฑลอยุธยาเป็นต้น จริงอยู่แต่ไม่ร้ายแรงเหลือทนเหมือนเช่นเลื่องลือ ถ้ารู้จักระวังรักษาตัวก็ไม่สู้กระไรนัก แต่สำคัญอยู่ที่ใจด้วย ถ้าขี้ขลาดก็อาจจะเป็นได้มากๆ เขาเล่าเรื่องเป็นตัวอย่างว่า เมื่อปีที่ล่วงมาแล้ว มีเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์คนหนึ่ง ซึ่งเจ้ากระทรวงส่งขึ้นไปอยู่ประจำการ ณ เมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นไปทางเรือในฤดูฝนพอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็จับไข้ อาการไม่หนักหนาเท่าใดนัก แต่เจ้าตัวกลัวตายเป็นกำลัง พวกที่เมืองเพชรบูรณ์บอกว่าจะรักษาให้หายได้ ก็ไม่เชื่อ ขอแต่ให้ส่งกลับกรุงเทพฯ อย่างเดียว เขาก็ต้องให้กลับตามใจ เมื่อลงไปถึงเมืองวิเชียร อาการไข้กำเริบถึงจับไม่สร่าง แต่ต่อไปจะเป็นหรือตายหาทราบไม่

ตัวเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเมืองมีป้อมปราการสร้างมาแต่โบราณ เห็นได้ว่าตั้งเป็นเมืองด่าน โดยเลือกที่ชัยภูมิตรงแนวภูเขาเข้ามาใกล้กับลำแม่น้ำสัก มีทางเดินทัพแคบกว่าแห่งอื่น ตั้งเมืองสกัดทางทำปราการทั้งสองฟาก เอาลำน้ำสักไว้กลางเมืองเหมือนเช่นเมืองพิษณุโลก สังเกตตามรอยที่ยังปรากฏ เห็นได้ว่าสร้างเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกสร้างเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย แนวปราการขนาดราวด้านละ ๒๐ เส้น เดิมเป็นแต่ถมดินปักเสาระเนียดข้างบน มาสร้างใหม่ในที่อันเดียวกันเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง ร่นแนวย่อมเข้ามาแต่ทำปราการก่อด้วยหินและมีป้อมรายรอบ สำหรับสู้ข้าศึกซึ่งจะยกมาแต่ลานช้าง ข้างในเมืองมีวัดมหาธาตุกับพระปรางค์เป็นสิ่งสำคัญอยู่กลางเมือง ฉันได้ไปทำพิธีพุทธบูชาและถวายสังเวยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วัดมหาธาตุนั้น ที่ในเมืองแต่ก่อนเห็นจะรกเรี้ยว เพิ่งมาถากถางทำถนนหนทางและปลูกเรือนสำหรับราชการต่างๆ เมื่อพระยาเพชรรัตนสงคราม (เฟื่อง) ขึ้นไปอยู่ ไปเห็นเข้าก็คิดถึง




(๕)

ฉันเดินบก จากเมืองเพชรบูรณ์ไปเมืองหล่มสัก ระยะทางที่ไปราว ๑,๒๐๐ เส้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ทำเลที่เมืองหล่มสัก เป็นแอ่งกับเนินสลับกัน เหมือนดังพรรณนามาแล้ว แต่มีบ้านเรือนราษฎรในระยะทางถี่ ไม่เปลี่ยวเหมือนทางที่มาจากบางมูลนาคจนถึงเมืองเพชรบูรณ์ ผ่านไปในป่าลานแห่งหนึ่งดูงามนักหนา ต้นลานสูงใหญ่แลสล้างไป ใบยาวตั้งราว ๖ ศอกผิดกับต้นลานที่เคยเห็นปลูกไว้ตามวัด ดูน่าพิศวง ในจังหวัดหล่มสักมีต้นลานมากกว่าที่อื่น ถึงใบลานเป็นสินค้าใหญ่อย่างหนึ่งซึ่งขายไปที่อื่น จังหวัดหล่มสักมีเมือง ๒ แห่ง เรียกว่าเมืองหล่มเก่าแห่งหนึ่ง เมืองหล่มสักแห่งหนึ่ง ฉันไปถึงเมืองหล่มสักอันเป็นที่บัญชาการจังหวัดก่อน ตัวเมืองหล่มสักตั้งอยู่ริมลำแม่น้ำสักทางฟากตะวันตก ไม่มีปราการเป็นด่านทางอย่างใด แต่ตั้งเมืองบนที่สูง น้ำไม่ท่วมถึง และเขาบรรทัดตรงนั้นก็ห่างออกไป ความไข้เจ็บจึงไม่ร้ายแรงเหมือนเมืองเพชรบูรณ์ ราษฎรจังหวัดหล่มสักเป็นไทยลานช้างที่เรียกกันแต่ก่อนว่า “ลาวพุงขาว” เหมือนอย่างชาวมณฑลอุดร ไม่เหมือนไทยชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับชาวมณฑลพิษณุโลก จำนวนผู้คนพลเมืองมากกว่าเมืองเพชรบูรณ์ เพราะการทำมาหากินได้ผลบริบูรณ์ดีกว่าเมืองเพชรบูรณ์ สินค้าที่ขายไปต่างเมืองมียาสูบและใบลานเป็นต้น แต่โคกระบือเป็นสินค้าใหญ่กว่าอื่น พาเดินลงไปขายทางมณฑลนครสวรรค์ และเมืองลพบุรีปีละมากๆ เสมอทุกปี ฉันได้เลยไปดูถึงเมืองหล่มเก่า ซึ่งอยู่ห่างเมืองหล่มสักไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือระยะทางราว ๓๖๐ เส้น เมืองหล่มเก่าตั้งอยู่ในที่แอ่งใหญ่ ภูเขาล้อมรอบ มีลำห้วยผ่านกลางเมืองมาตกลำน้ำสักข้างใต้เมืองหล่มสัก ทางที่เดินไปจากเมืองหล่มสักเป็นที่สูง เมื่อใกล้จะถึงเมืองหล่มเก่าเหมือนกับอยู่บนขอบกระทะ แลลงไปเห็นเมืองหล่มเก่าเหมือนอยู่ในก้นกระทะ แต่เป็นเรือกสวนไร่นามีบ้านช่องเต็มไปในแอ่งนั้น น่าพิศวง แต่สังเกตดูไม่มีของโบราณอย่างใด แสดงว่าเป็นเมืองรัฐบาลตั้งมาแต่ก่อน สันนิษฐานว่าเหตุที่จะเกิดเมืองหล่มเก่า เห็นจะเป็นด้วยพวกราษฎรที่หลบหนีภัยอันตรายในประเทศลานช้าง มาตั้งซ่องมั่วสุมกันอยู่ก่อน แต่เป็นที่ดินดีมีน้ำบริบูรณ์ เหมาะแก่การทำเรือกสวนไร่นาและเลี้ยงโคกระบือ จึงมีผู้คนตามมาอยู่มากขึ้นโดยลำดับจนเป็นเมือง แต่เป็นเมืองมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีชื่อปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า “เมืองลุ่ม” ชั้นหลังมาจึงเรียกว่า “เมืองหล่ม” ก็หมายความอย่างเดียวกัน แต่เมืองหล่มสักเป็นเมืองตั้งใหม่ในชั้นหลัง เข้าใจว่าเพิ่งตั้งเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพื่อจะให้สะดวกแก่การคมนาคม จึงมาตั้งเมืองที่ริมลำน้ำสัก และเอาชื่อลำน้ำเพิ่มเข้าเรียกว่า “เมืองหล่มสัก” ให้ผิดกับเมืองหล่มเดิม แต่เหตุใดลำน้ำจึงชื่อว่า “ลำน้ำสัก” หรือ “ลำน้ำป่าสัก” ข้อนี้ฉันสืบสวนไม่ได้ความ สิ่งสำคัญอันใดที่มีคำว่า “สัก” เป็นชื่อหรือป่าไม้สักทางนั้นก็ไม่มี ต้องยอมจน

เดิมฉันคิดว่าขากลับจะลงเรือที่เมืองหล่มสัก ล่องลำน้ำสักลงมาจนถึงเมืองสระบุรี แต่น้ำลดเสียมากแล้ว จะลงเรือมาแต่เมืองหล่มสักไม่ได้ จึงต้องเดินบกย้อนกลับมาลงเรือที่เมืองเพชรบูรณ์ ฉันสั่งให้ส่งเรือมาดเก๋ง ๖ แจว ขนาดย่อม ขึ้นไปรับสำหรับตัวฉันจะมาเองลำหนึ่ง เรือสำหรับผู้อื่นจะมา ฉันให้หาซื้อเรือพายม้า ๒ แจวที่ใช้กันในเมืองเพชรบูรณ์ ทำประทุนเป็นที่อาศัยให้มาลำละคนหนึ่งบ้าง สองคนบ้างจนครบตัวกัน




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มีนาคม 2567 13:44:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 02 มีนาคม 2567 13:47:13 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๐ ความไข้ที่เมืองเพชรบูรณ์ (จบ)


(๖)

ฉันลงเรือล่องจากเมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ลำน้ำที่เมืองเพชรบูรณ์แคบกว่าตอนใต้ในแขวงสระบุรีมาก ที่บางแห่งเมื่อเรือล่องลงมาถึงปลายกิ่ง ต้นตะไคร้น้ำที่ขึ้นอยู่กับหาดประเก๋งเรือทั้งสองข้าง น้ำก็ตื้น ฤดูแล้งใช้เรือได้แต่ขนาดเรือพายม้า พอพ้นที่ตั้งเมืองลงมาทั้งสองฝั่งเป็นป่าต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง และต้นสะตือ ขึ้นทึบบังแสงแดดร่มทั้งเวลาเช้าและบ่าย มีบ้านคนตั้งประปรายมาเพียงบ้านนายม ต่อนั้นก็เป็นป่าเปลี่ยวลงมาทางหลายวัน ในระยะที่เปลี่ยวนั้นล่องเรือลำบาก ด้วยตามปรกติเมื่อถึงฤดูฝนน้ำหลาก สายน้ำแรงมักกัดตลิ่งพัง เป็นเหตุให้ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงในลำน้ำกีดขวางทางเรือ บางต้นล้มข้ามลำน้ำเหมือนอย่างสะพาน เรือลอดมาได้ก็มี บางต้นล้มทอดอยู่ในท้องน้ำ ต้องเข็นเรือข้ามมาก็มี บางต้นจะลอดหรือจะเข็นเรือข้ามไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน ต้องขุดดินหรือชายตลิ่งพอเป็นช่องให้เรือหลีกมาทางโคนต้นไม้ก็มี โดยปรกติไม่มีใครไปจับต้อง ทิ้งไว้จนสายน้ำหลากปีหลังพัดพาขอนไม้ให้ลอยไป หรือทิ้งอยู่จนผุไปเอง เมื่อฉันไป พวกเมืองเพชรบูรณ์เขาล่วงหน้าลงมาถากถางทางบ้างแล้ว แต่กระนั้นต้นไม้ที่โค่นกีดขวางบางต้นใหญ่โต เหลือกำลังที่พวกทำทางจะตัดทอนชักลากเอาไปทิ้งที่อื่นได้ จึงต้องเข็นหรือข้ามหรือหลีกขอนไม้มา ไม่รู้ว่าวันละสักกี่ครั้ง เป็นความลำบาก และชวนให้ท้อใจในการล่องลำน้ำสักยิ่งกว่าอย่างอื่น แต่ต้องนึกชมความคิดของคนโบราณที่เขาคิดทำเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า ใช้ในที่เช่นนั้น เพราะท้องเรือมาดเป็นไม้หนา ถึงจะเข็นลากลู่ถูกังอย่างไรก็ทนได้ ที่ขึ้นกระดานต่อขึ้นมา ๒ ข้างก็ทำให้เรือเบา บรรทุกได้จุกว่าเรือมาดทั้งลำ เป็นของคิดถูกตามวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรือต่อเช่นเรือบดหรือเรือสำปั้น ก็เห็นจะแตกป่นล่องลำน้ำสักลงมาไม่ได้ตลอด เมื่อก่อนไปมณฑลเพชรบูรณ์ฉันเคยเห็นเรือมอขนาดใหญ่บรรทุกสินค้าเมืองเพชรบูรณ์ลงมาขายถึงกรุงเทพฯ เสมอทุกปี เมื่อต้องไปเข็นเรือข้ามขอนดังกล่าวมาแล้ว คิดไม่เห็นว่าเรือใหญ่ที่บรรทุกสินค้าจะล่องลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ถามพวกชาวเมืองเพชรบูรณ์ เขาบอกว่าเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้น ไม่ได้ขึ้นล่องทางลำแม่น้ำสักตลอด ประเพณีของพวกพ่อค้าเมื่อใกล้จะถึงเวลาน้ำหลาก เขาบรรทุกสินค้าลงเรือเตรียมไว้ พอน้ำท่วมฝั่งก็ล่องเรือหลีกลำน้ำสักตอนมีไม้ล้มกีดขวาง ไปตามที่ลุ่มที่น้ำท่วมบนตลิ่ง จนถึงที่กว้างพ้นเครื่องกีดขวาง จึงล่องทางลำน้ำสัก เมื่อส่งสินค้าแล้วก็รีบซื้อของในกรุงเทพฯ บรรทุกกลับขึ้นไปให้ทันในฤดูน้ำ พอถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็เอาเรือขึ้นคาน เรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องแต่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากต้นไม้ล้มกีดขวางทางเดินเรือดังกล่าวมา ยังมีแก่งต้องชะลอเรือหลีกหินมาเนืองๆ แม่น้ำสักตอนข้างเหนือยังผิดกับล้ำน้ำอื่นๆ อีกอย่างหนึ่ง ที่ทางเปลี่ยวเป็นอย่างยิ่ง บางวันฉันถามคนทำทางว่า “นี่เรามาถึงไหนแล้ว” แกตอบว่า “ที่ตรงนี้ยังไม่เคยมีชื่อ” วันหนึ่งแกบอกว่า “พรุ่งนี้จะถึงท่าแดง” ฉันก็เข้าใจว่าคงจะได้เห็นบ้านเรือน แต่เมื่อไปถึงท่าแดงเห็นแต่ไร่อยู่ที่ชายตลิ่งแห่งหนึ่ง แต่ตัวเจ้าของไร่ขึ้นไปขัดห้างอยู่บนกอไผ่ ถามได้ความว่าบ้านอยู่ห่างลำน้ำไปสักวันหนึ่ง มาตั้งทำไร่ชั่วคราว ไม่กล้าปลูกทับกระท่อมอยู่กับแผ่นดิน ด้วยกลัวเสือจึงขัดห้างอยู่บนกอไผ่ สัตว์ป่าก็ชุมจริงอย่างว่า จอดเรือเข้าแห่งใด ตามชายตลิ่งก็เห็นรอยสัตว์ป่าเกลื่อนกล่น มีทั้งรอยช้างเถื่อน รอยเสือ รอยกวางและหมูป่า เพราะตอนนี้เทือกภูเขาห่างทั้งสองฝ่าย ถึงฤดูแล้งที่แผ่นดินแห้งผากไม่มีน้ำ สัตว์ป่าต้องลงมากินน้ำในลำน้ำสัก ลำน้ำสักตอนนี้ก็เป็นที่เปลี่ยว ไม่มีคนไปมาเบียดเบียน สัตว์ป่าจึงชอบมาอาศัยในฤดูแล้ง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ลำแม่น้ำสักข้างตอนใต้ในแขวงเมืองสระบุรี ไม่ปรากฏว่ามีจระเข้ แต่ในตอนเปลี่ยวมีจระเข้ชุม เห็นรอยตามตลิ่งเกลื่อนไป

การล่องลำแม่น้ำสักตอนเหนือถึงลำบากก็สนุก สนุกตั้งแต่ลงเรือเล็กๆ แยกกันลำละคนสองคน แล่นเรียงเคียงคลอล้อเล่นกันเรื่อยมา แต่หลายวันเข้าก็เกิดไม่สบาย ด้วยอยู่ในเรือได้แต่นอนกับนั่งราบมา ๒ ท่าตลอดวันยังค่ำ จนเมื่อยขบและปวดหัวเข่า บางคนบ่นว่าเหมือนกับมาในโลง ต่างคนก็คิดอุบายแก้เมื่อยขบด้วยประการต่างๆ บางคนเห็นตรงไหนพอจะเดินได้ ก็ขึ้นเดินบก บางคนก็ออกไปรับผลัดแจวเรือ บางคนก็เจาะหลังคาประทุนเรือเป็นช่องมีฝาจับโพล่ปิด ถึงเวลาแดดร่มเปิดฝาจับโพล่ยืนโผล่ขึ้นไปดูอะไรต่ออะไรเล่น และดัดขาแก้ปวดหัวเข่าก็มี ส่วนตัวฉันเองมาในเรือเก๋ง มีที่กว้างและมีช่องหน้าต่างพอเยี่ยมมองดูอะไรๆ ได้ ไม่ปิดทึบเป็นโลงเหมือนเรือประทุน ถึงกระนั้นพอถึงวันที่ ๓ ก็รู้สึกเมื่อย ให้เอาเก้าอี้ผ้าใบมาตั้งนอนเอนหลังและห้อยขาแก้เมื่อยได้บ้าง แต่เวลาเผลอตัวผลกหัวขึ้น ก็โดนเพดานเก๋งเจ็บหลายหน ล่องเรือมาทางลำแม่น้ำสักยังมีแปลกอีกอย่างหนึ่ง ด้วยกำหนดที่พักแรมล่วงหน้าไม่ได้เหมือนเช่นไปทางลำน้ำอื่นๆ เพราะต้องเสียเวลาเข็นเรือข้ามขอนวันละหลายๆ ครั้ง ไม่รู้ว่าวันไหนจะไปได้จนถึงไหน ทางก็เปลี่ยว บ้านช่องผู้คนก็ไม่มีจะเป็นที่อาศัยพักแรม จึงต้องเอาแสงตะวันเป็นหลักล่องลงมาพอถึงเวลาราวบ่าย ๔ โมง ก็มองหาชายตลิ่งที่เป็นหาดพอจะจอดเรือพักแรมได้ จอดแล้วพอพลบค่ำก็ต้องกองไฟรายล้อม ให้บรรดาคนที่ไปด้วยกันอยู่แต่ในวงกองไฟ เพราะไม่รู้ว่าสัตว์ป่ามันจะอยู่ที่ไหน ครั้งนั้นพระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิส) เมื่อยังเป็นพระยาสระบุรี คุมเรือขึ้นไปรับฉันที่เมืองเพชรบูรณ์ แกไปเล่าว่าไปกลางทางเวลากลางคืน มีสัตว์อะไรอย่างหนึ่งได้ยินแต่เสียงร้อง “ป๊อกเจี๋ยกๆ” มันมาเที่ยวเลาะอยู่รอบกองไฟ จนพวกคนแจวเรือพากันกลัวอ้ายตัวป๊อกเจี๋ยก เพราะไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอะไร แต่เมื่อฉันลงมาหาได้ยินเสียงสัตว์อย่างใดไม่ พวกที่มาด้วยกันเฝ้าเตือนถึงตัวป๊อกเจี๋ยก จนพระยาวจีฯ ออกเคือง แต่ก็ยืนยันว่ามีตัวป๊อกเจี๋ยกอยู่เสมอ จนเลยเป็นเรื่องขบขัน แต่ลำแม่น้ำสักตอนที่เปลี่ยวนี้ ถ้าว่าในทางชมดงก็น่าชมนัก เพราะสง่างามตามธรรมชาติ จะหาที่อื่นเปรียบได้โดยยาก เวลามาในเรือจะแลดูไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นไม้ป่าต่างๆ ทั้งใหญ่น้อยสลับสลอนซ้อนซับกันไปรอบข้าง บนยอดไม้ก็มีนกพวกอยู่ป่าสูงเช่นนกยูงเป็นต้น จับอยู่ให้เห็นแทบทุกวัน และยังมีสัตว์แปลกๆ เช่นตัวบ่าง รูปร่างคล้ายกระรอกแต่ขนาดสักเท่าแมว มันยืดหนังระหว่างขาออกไปได้เป็นผืน เวลาโผนจากต้นไม้มันกางขายืดหนังแผ่ออกไปเช่นปะระชุดเครื่องบิน ร่อนไปได้ไกลๆ ฉันเพิ่งได้เห็นบ่างร่อนเป็นครั้งแรก ได้ชมนกชมไม้ก็ออกเพลิดเพลินเจริญใจ นับว่าสนุกได้อีกอย่างหนึ่ง

ล่องเรือมาจากเพชรบูรณ์ ๖ วันถึงเมืองวิเชียร ตอนใกล้จะถึงเมืองวิเชียรพ้นที่เปลี่ยว ลำแม่น้ำสักค่อยกว้างออก แก่งก็ค่อยห่าง ยังมีแต่ขอนไม้กีดขวางทางเรือเป็นแห่งๆ แต่น้ำตื้นแจวเรือไม่ถนัดต้องใช้ถ่อจนถึงเมืองวิเชียร เมืองวิเชียรนั้นตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออก เดิมเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีเรื่องตำนานจะเล่าต่อไปข้างหน้า เขตแดนกว้างขวางกว่าเมืองเพชรบูรณ์แต่เป็นเมืองกันดาร เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างที่แผ่นดินดอน ไม่มีลำห้วยพอจะชักน้ำมาทำการเพาะปลูกได้เหมือนเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสัก ได้แต่ทำนาน้ำฝนหรือทำในที่ลุ่มใกล้ลำน้ำสัก อาหารการกินอัตคัด บ้านเมืองจึงไม่เจริญ ตัวเมืองวิเชียรตั้งอยู่ห่างลำน้ำสัก ๒๐ เส้น ด้วยตอนริมน้ำเป็นที่ต่ำน้ำท่วมในฤดูฝน แลดูเหมือนกับหมู่บ้านไม่เป็นเมืองมีสง่าราศี เพราะเป็นเมืองกันดารดังกล่าวมาแล้ว เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์จึงลดเมืองวิเชียรลงเป็นแต่อำเภอหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบูรณ์

ออกจากเมืองวิเชียร ล่องเรือมา ๓ วันถึงเมืองบัวชุม แต่เมืองบัวชุมมาวันหนึ่งถึงเมืองชัยบาดาล ลำน้ำสักตอนนี้กว้างแจวเรือได้ถนัด ขอนไม้ที่กีดขวางทางเรือก็มีน้อยกว่าข้างเหนือ แต่ต้องหลีกแก่งกรวดแก่งหินถี่ขึ้น เมืองบัวชุมและเมืองชัยบาดาลเดิมเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เมื่อตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ รวมตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหากเรียกว่าอำเภอชัยบาดาล ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้คนมีมากกว่าอำเภอวิเชียร ตั้งบ้านเรือนตามริมน้ำเป็นระยะมาตลอด ไม่เปลี่ยวเหมือนข้างเหนือ เพราะตอนนี้เทือกภูเขาเข้ามาใกล้ลำน้ำสักทั้งสองฝ่าย ท้องที่มีน้ำห้วยทำไร่นาดี และเป็นปากดงพญากลาง ทางคนไปมาค้าขายกับเมืองนครราชสีมา มีสินค้าหาได้ในท้องที่เช่นเสาและไม้แดง ใบลาน สีเสียด หาผลประโยชน์ได้มาก และอาจส่งสินค้าลงมาทางเรือถึงเมืองสระบุรีได้สะดวกกว่าเมืองอื่นทางข้างเหนือด้วย ออกจากเมืองชัยบาดาลล่องมา ๔ วันก็ถึงปากเพรียวที่ตั้งเมืองสระบุรี นับจำนวนวันที่ล่องลำน้ำสักแต่เมืองเพชรบูรณ์ จนถึงที่ขึ้นรถไฟ ณ เมืองสระบุรีรวม ๑๔ วัน

ฉันเคยตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสทางลำแม่น้ำสัก ขึ้นไปจนถึงตำบลหินซ้อนปลายแดนจังหวัดสระบุรีครั้งหนึ่ง เคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ตรวจทางเสด็จประพาสครั้งนั้น ท่านว่าลำน้ำสักเที่ยวสนุกเพียงตำบลหินซ้อนเท่านั้น เหนือหินซ้อนขึ้นไปไม่มีอะไรน่าดู ฉันสงสัยไม่เชื่อจนมาเห็นด้วยตาตนเองในครั้งนี้ ต้องยอมรับรองว่าจริงดังว่า เพราะเทือกภูเขาทั้งสองฝ่ายลำน้ำสักวงเข้ามาประจบกันถึงลำน้ำที่ตำบลหินซ้อน ข้างฝ่ายตะวันออกเรียกกันว่าเทือกเขาดงพญาไฟ ข้างฝ่ายตะวันตกเรียกกันว่าเทือกเขาพระบาท ลำแม่น้ำสักผ่านมากลางภูเขา ตั้งแต่หินซ้อนจนถึงแก่งคอย ทั้งสองฝั่งจึงมีเขาตกน้ำถ้ำธาร ที่ขึ้นเที่ยวเล่นสนุกตลอดทางเรือขึ้นไป ๓ วัน เหนือนั้นขึ้นไปก็ไม่มีอะไรน่าชม




(๗)

ฉันไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น มีกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งจะไปสืบเมืองโบราณด้วย ด้วยเมื่อแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เห็นทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง มีชื่อเมืองศรีเทพเมืองหนึ่ง แต่ตัวเมืองหามีไม่ ฉันถามข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองศรีเทพอยู่ที่ไหน ต่อมาฉันพบสมุดดำอีกเล่มหนึ่งเป็นต้นร่าง กะทางให้คนเชิญตราไปบอกข่าวสิ้นรัชกาลที่ ๒ ตามหัวเมืองเป็นทางๆ ให้คนหนึ่งเชิญตราไปเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ ก็ได้เค้าว่าเมืองศรีเทพเห็นจะอยู่ทางลำแม่น้ำสัก แต่อยู่ตรงไหนยังไม่รู้ เมื่อฉันขึ้นไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ให้หาผู้ชำนาญท้องที่มาถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ทางลำแม่น้ำสักที่ไหนบ้าง ได้ความว่าข้างเหนือเมืองเพชรบูรณ์ทางฝั่งตะวันออกมีเมืองโบราณเมืองหนึ่งเรียกกันว่า “เมืองนครเดิด” แต่อยู่ในดงทึบ ยังมีแต่เทือกเนินดินเป็นแนวกำแพงและมีสระอยู่ในเมืองสระหนึ่งเรียกว่า “สระคงคา” บางคนได้เคยไปพบหัวยักษ์ทำด้วยหิน พอเชื่อได้ว่าเป็นเมืองพวกขอมสร้างไว้แต่ฉันไม่ได้ไปดู เขาบอกว่ามีเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งใหญ่โตมาก ชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี” อยู่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรีและอยู่ในป่าแดงไปถึงได้ไม่ยาก เมืองนั้นยังมีปรางค์ปราสาทเหลืออยู่ ฉันอยากดูจึงสั่งให้เอาม้าลงมาคอยรับที่เมืองวิเชียร เมื่อฉันลงมาถึงเมืองวิเชียร ทราบว่าพระยาประเสริฐสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแก่ชราลาออกจากราชการนานมาแล้ว ยังมีชีวิตอยู่ แต่ทุพพลภาพไม่สามารถจะมาหาได้ ฉันจึงไปเยี่ยมถึงบ้าน ถามถึงเรื่องเมืองศรีเทพ ได้ความว่าเมืองวิเชียรนั้นเอง แต่โบราณเรียกชื่อเป็น ๒ อย่าง เมืองท่าโรงก็เรียก เมืองศรีเทพก็เรียก ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่พระศรีถมอรัตน (ตามชื่อเขาแก้ว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในจังหวัดนั้น) มาจนถึงรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งปราบกบฏเวียงจันทน์ พระศรีถมอรัตนมีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกศักดิ์เมืองศรีเทพขึ้นเป็นเมืองตรี เปลี่ยนนามเป็นเมืองวิเชียรบุรี (คงเอาชื่อเขาแก้วเป็นนิมิต) และเปลี่ยนนามผู้ว่าราชการจังหวัดจากพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาประเสริฐสงครามแต่นั้นมา ถามแกต่อไปถึงเรื่องเมืองอภัยสาลี แกบอกว่ามีเมืองโบราณใหญ่โตจริง แต่ชื่อที่เรียกว่าเมืองอภัยสาลีนั้นเป็นแต่คำพระธุดงค์บอก จะเอาเป็นแน่ไม่ได้ เป็นอันได้ความตามที่อยากรู้เรื่องตำนานเมืองศรีเทพ ถ้าหากพระยาประเสริฐสงครามไม่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องก็น่าจะเลยสูญ

ฉันล่องเรือจากเมืองวิเชียรมาถึงบ้านนาตะกุด อันเป็นท่าที่จะขึ้นเดินบกไปยังเมืองโบราณในวันนั้น ให้เรียกพวกชาวบ้านศรีเทพอันอยู่ใกล้เมืองโบราณมาถามถึงเบาะแส และสิ่งซึ่งน่าดูในเมืองนั้น แต่คนเหล่านั้นต่างคนพากันปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็น จนออกประหลาดใจ ฉันคิดใคร่ครวญดูเห็นว่าคนพวกนั้นไม่เคยพบเจ้านาย และไม่เคยได้ยินใครซักไซ้ไถ่ถามเช่นนั้นมาแต่ก่อน น่าจะเข้าใจตามประสาของเขา ว่าฉันคงได้ลายแทงปริศนามาขุดทรัพย์แผ่นดิน ถ้าพาไปไม่ได้ทรัพย์ก็จะถูกลงโทษ จึงบอกปัดเสียให้พ้นภัย ต้องพูดจาชี้แจงอยู่นานจนคนเหล่านั้นวางใจ จึงบอกออกความตามรู้เห็นและรับจะพาไปตามประสงค์ ฉันพักแรมอยู่คืนหนึ่งพอรุ่งเช้าก็ไปดูเมืองโบราณ ระยะทางห่างลำน้ำราว ๑๕๐ เส้น เป็นเมืองใหญ่โตตั้งในที่ราบ มีคูรอบและมีปราการถึง ๒ ชั้น มีสระน้ำก็หลายสระ ที่กลางเมืองมีปรางค์เทวสถาน ทั้งข้างนอกเมืองและในเมืองเรี่ยรายไปหลายแห่ง แต่ข้อสำคัญของการดูเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ที่ไปพบของจำหลักศิลาแปลกๆ มีอยู่เกลื่อนกล่น เพราะยังไม่มีใครได้เคยไปค้นของโบราณมาแต่ก่อน พวกชาวบ้านนำไปให้ฉันเห็นสิ่งใดชอบใจ ฉันก็ให้เงินเป็นรางวัลแก่ผู้นำ ถ้าเป็นของขนาดย่อม พอจะส่งลงมากรุงเทพฯ ได้ ก็ให้นายอำเภอเอามารวมไว้แล้วส่งตามลงมาเมื่อภายหลัง วิธีให้เงินรางวัลแก่ผู้นำมีผลดีมาก พวกชาวบ้านบอกให้เองไม่ต้องถาม แม้จนเมื่อฉันกลับมาลงเรือแล้ว ก็ยังมีคนตามมาบอกว่ายังมีรูปศิลาจำหลักอยู่ที่นั่นๆ ข้างนอกเมือง ที่ฉันไม่ได้ไปถึงอีกหลายอย่าง ได้เครื่องศิลามาหลายสิ่ง เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน มีส่ิงหนึ่งซึ่งควรจะกล่าวถึง ด้วยเป็นของสำคัญทางโบราณคดีไม่เคยพบที่อื่น คือ “หลักเมือง” ทำด้วยศิลาเป็นรูปตะปูหัวเห็ด ทำรอยฝังปลายตะปูลงในแผ่นดิน เอาแต่หัวเห็ดไว้ข้างบน จารึกอักษรเป็นภาษาสันสกฤตไว้ที่หัวเห็ด เดี๋ยวนี้รักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหลักเมืองตามแบบโบราณ เขาทำอย่างไร

เมื่อดูเมืองโบราณนั้นแล้ว อาจจะลงความเห็นเป็นยุติได้สองอย่าง อย่างที่หนึ่ง เมืองโบราณนั้นพวกพราหมณ์จะขนานชื่อว่ากระไรก็ตาม เป็นมูลของชื่อเก่าเมืองวิเชียรที่เรียกว่า “เมืองศรีเทพ” เพราะยังเรียกเป็นชื่อตำบลบ้านชานเมืองมาจนบัดนี้ อย่างที่สอง ในสมัยเมื่อครั้งขอมปกครองเมืองไทย เมืองศรีเทพคงเป็นมหานครอันหนึ่ง ชั้นเดียวกันกับเมืองที่ดงศรีมหาโพธิ (ในแขวงจังหวัดปราจีน) และเมืองสุโขทัย และในสมัยนั้นท้องที่คงจะทำไร่นาได้ผลอุดมดีมีไพร่บ้านพลเมืองมาก จึงสามารถสร้างเป็นเมืองใหญ่โตถึงปานนั้น ทำเลที่เมืองวิเชียร เพิ่งมาเกิดแห้งแล้งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อภายหลัง จึงเป็นเมืองเล็กลงเพราะอัตคัด ถึงกระนั้นปรากฏในเรื่องพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่าครั้งรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองศรีเทพ (ในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองศรีถมอรัตน) กับเมืองชัยบาดาล (เอาชื่อเจ้าเมืองเรียกว่า เมืองชัยบุรี) เป็นคู่กัน เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๐ ในเวลากรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังด้วยแพ้ศึกหงสาวดีใหม่ๆ พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชาให้ทศโยธายกกองทัพมาทางเมืองนครราชสีมาจะมาตีหัวเมืองชั้นในทางตะวันออก เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระปิตุราชอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา โปรดให้พระศรีถมอรัตนกับพระชัยบุรี (เจ้าเมืองชัยบาดาล) คุมพลไปซุ่ม (อยู่ในดงพญากลาง) และสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาลยกกองทัพตี ตีกองทัพเขมรแตกฉานพ่ายหนีไปหมด ต่อนั้นมาก็ปรากฏตามคำของพระยาประเสริฐสงคราม ว่าเมื่อปราบกบฏเวียงจันทน์แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนนามเมืองศรีเทพเป็นเมืองวิเชียรบุรี ยกศักดิ์ขึ้นเป็นเมืองตรี คือรวมเมืองชัยบาดาลและเมืองบัวชุมเข้าเป็นเมืองขึ้นของเมืองวิเชียร เป็นเช่นนั้นมาจนเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาล ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อฉันลงมาถึงเมืองชัยบาดาล ไปเห็นศิลาจำหลักเป็นตัวเครื่องบนปรางค์ขอม ทิ้งอยู่ที่วัดสองสามชิ้น ถามเขาว่าได้มาจากที่ไหน เขาบอกว่าเอามาจากปรางค์หินที่ตำบลซับจำปาในดงพญากลาง ก็เป็นอันได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่ามีเมืองหรือวัดขอม อยู่ในดงพญากลางอีกแห่งหนึ่ง แต่ฉันหาไปดูไม่ สิ้นเรื่องตรวจของโบราณในมณฑลเพชรบูรณ์เพียงเท่านี้

ฉันกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ รวมเวลาที่ไปมณฑลเพชรบูรณ์ครั้งนั้น ๓๖ วัน พอรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปเฝ้าฯ วันนั้นมีการพระราชพิธีเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการเฝ้าอยู่พร้อมกัน เมื่อเสร็จการพิธี สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จทรงพระราชดำเนินมายังที่ฉันยืนเฝ้าอยู่ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระหัตถ์มาจับมือฉัน ดำรัสว่า ทรงยินดีที่ฉันได้ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ แล้วตรัสถามว่ามีใครไปเจ็บไข้บ้างหรือไม่ ฉันกราบทูลว่าด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ หามีใครเจ็บไข้ไม่ แล้วจึงเสด็จขึ้น ฉันรู้สึกว่าได้พระราชทานบำเหน็จพิเศษ ชื่นใจคุ้มค่าเหนื่อย ว่าถึงประโยชน์ของการที่ไปครั้งนั้นก็ได้สมประสงค์ เพราะแต่นั้นมาก็หาคนไปรับราชการในมณฑลเพชรบูรณ์ได้ไม่ยากเหมือนแต่ก่อน
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 14 มีนาคม 2567 11:40:54 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๑ เรื่องโจรแปลกประหลาด

จะเล่าถึงเรื่องโจรแปลกประหลาดที่ฉันได้เคยรู้จัก ๒ คน ชื่อว่าโจรทิม ชาวเมืองอินทบุรีคนหนึ่ง โจรจันทร์ ชาวเมืองปทุมธานีคนหนึ่ง จะเล่าเรื่องของโจรทิมก่อน

เรื่องโจรทิม

เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ฉันยังเป็นตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งกำหนดว่าจะยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันนั่งในที่ประชุมเสนาบดีแต่ในเวลานั้น ค่ำวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประทับที่ประชุมเสนาบดี ณ มุขกะสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเคย แต่คืนวันนั้นมีราชการน้อย พอปรึกษาสิ้นระเบียบวาระแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าได้ทรงรับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯ ถวายทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง อยู่ข้างแปลกประหลาด โปรดให้อ่านให้เสนาบดีฟัง เป็นฎีกาของอ้ายทิมนักโทษชาวเมืองอินทบุรี ต้องจำคุกด้วยเป็นโจรปล้นทรัพย์ ความที่กราบบังคมทูลในฎีกา ว่าตั้งแต่อ้ายทิมต้องจำคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำการในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานมาจนชำนาญ จึงคิดว่าจะพยายามในกระบวนจักสานไม่ให้ฝีมือใครสู้ได้หมดทั้งคุก แล้วจะทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าและโปรดของสิ่งนั้น จะขอพระราชทานโทษให้พ้นเวรจำออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้ายเหมือนหนหลังจนตลอดชีวิต บัดนี้อ้ายทิมต้องจำคุกมา ๑๐ ปี ได้พยายามทำสิ่งของนั้นสำเร็จดังตั้งใจแล้ว ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าโปรดฝีมือที่ทำนั้น อ้ายทิมขอพระราชทานโทษสักครั้งหนึ่ง ในท้ายฎีกาอ้างว่าถ้าความที่กราบทูลเป็นความเท็จแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต

ตรงนี้ จะต้องแทรกอธิบายสักหน่อย ด้วยในสมัยนั้นยังไม่ได้ตั้งประมวลกฎหมาย ยังใช้ประเพณีเดิมซึ่งจำคุกโจรผู้ร้ายไม่มีกำหนดเวลาว่าจะต้องจำอยู่นานเท่าใด จะพ้นจากเวรจำได้แต่ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทาน นักโทษในคุกจึงต้องถวายฎีกาขอพระราชโทษ ชั้นเดิมมักให้ญาติพี่น้องถวายฎีกาแทนตัว ครั้นมีการไปรษณีย์เกิดขึ้น ก็ถวายฎีกาทางไปรษณีย์ จำนวนฎีกาคนคุกขอพระราชทานโทษจึงมีมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกำหนดเวลาไว้ตามพระราชนิยม ว่าคนโทษอย่างใดต้องติดเวรจำมาได้นานเท่าใดแล้ว หรือว่าได้ทำความชอบพิเศษอย่างใด จึงทรงพิจารณา ถ้าถวายฎีกาไม่เข้าในเกณฑ์ก็ยกฎีกาเสีย ฎีกาของอ้ายทิมเข้าในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชวินิจฉัย เพราะต้องจำคุกมาถึง ๑๐ ปีแล้ว

เมื่ออ่านฎีกาอ้ายทิมในที่ประชุมแล้ว ดำรัสสั่งกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นและเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนครบาลอยู่ในเวลานั้น ให้ไปสอบสวนดูว่าคำที่อ้ายทิมนักโทษอ้างในฎีกามีจริงเพียงไร ถึงคราวประชุมหน้า กรมพระนเรศฯ นำกาถังน้ำร้อนที่อ้ายทิมได้สานไว้ใบหนึ่งเข้าไปถวาย และกราบทูลว่าคำที่อ้ายทิมอ้างนั้นสอบสวนได้ความจริงทุกข้อ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกาถัง เห็นเป็นฝีมืออย่างประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง ฉันก็จะให้มันเห็นผลความจริง” จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานอ้ายทิม แล้วดำรัสสั่งกรมพระนเรศฯ ให้ส่งตัวไปให้ฉันผู้เป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ จัดการบวชอ้ายทิมเป็นนาคของหลวงบวชพระราชทาน

สมัยนั้น นักโทษยังต้องจองจำอยู่ในคุกเดิมที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกรมนครบาลคุมตัวโจรทิมไปส่ง ฉันแลเห็นดูผิดมนุษย์จนน่าสังเวช ด้วยผมยาวรุงรังไปทั้งหัว เนื้อตัวก็ขะมุกขะมอมอย่างว่า “ขี้ไคลท่วมหัว” มีแต่ผ้าขาดนุ่งติดตัวไป แต่สังเกตดูกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อย รุ่นราวเป็นกลางคนอายุสัก ๔๐ ปีเศษ ฉันรับตัวไว้แล้วต้องเริ่มด้วยให้อาบน้ำถูขี้ไคลตัดผม แล้วให้เครื่องนุ่งห่มใหม่ และจัดที่ให้อยู่ในบ้านฉันจนกว่าจะไปบวช แต่แรกคนในบ้านออกจะพากันกลัวด้วยได้ยินว่าเป็นโจร ต่อเมื่อรู้เรื่องที่โจรทิมทูลขอโทษ จึงพากันสงสารสิ้นรังเกียจ ช่วยอุปการะเลี้ยงดูด้วยเมตตาจิตทั่วทั้งบ้าน ส่วนการที่จะบวชนั้นฉันปรึกษากับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นที่พระยาวุฒิการบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เห็นว่าควรให้บวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปบอกพระราชาคณะเจ้าอาวาส ก็ยินดีจะรับพระทิมไว้ในวัดนั้น ฉันให้ไปเบิกผ้าไตรกับเครื่องบริขารของหลวงมาแล้ว ถึงวันกำหนดจึงให้นายทิมแต่งตัวนุ่งผ้ายกสวมเสื้อครุยตามแบบนาคหลวง แล้วพาตัวขึ้นรถไปยังวัดพระเชตุพนฯ ด้วยกันกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ มีพวกข้าราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงนครบาล กับทั้งพวกที่บ้านของฉันพากันไปช่วย ข้างฝ่ายพระสงฆ์ พระราชาคณะกับพระฐานานุกรมคณะปรก ก็พร้อมเพรียงกันทำพิธีอุปสมบทที่ในพระอุโบสถ ดูครึกครื้นสมกับที่เป็นนาคหลวง

เมื่อบวชแล้วพระทิมอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ ๒ พรรษา ในระหว่างนั้น ตัวฉันย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ ในปีนั้นเอง วันหนึ่งพระทิมมาหา บอกว่าเมื่อจำพรรษาที่ ๒ อยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เกิดอาพาธเป็นโรคเหน็บชา Beri-beri รักษาตัวมาพอค่อยคลายขึ้นบ้างแต่ยังอ่อนเพลีย เธออยากจะขึ้นไปอยู่วัดที่เมืองอินทบุรี ด้วยมีญาติโยมอยู่ในเมืองนั้น เจ็บไข้พอจะได้อาศัยความอุปการะของเขา ถามว่าฉันจะรังเกียจหรือไม่ ฉันตอบว่าตัวเธอนั้น พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโทษโปรดบวชให้เป็นโสดแก่ตัวแล้ว จะไปไหนหรืออยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ แต่ที่เธอมาปรึกษาฉันก่อนนั้นก็ดีอยู่ ฉันจะมีท้องตราไปฝากให้เจ้าเมืองกรมการเขาช่วยอุปการะด้วย แต่เมื่อขึ้นไปอยู่เมืองอินท์ ถ้าเธอจะย้ายไปอยู่ที่ไหนต่อไปให้บอกเจ้าเมืองกรมการให้เขารู้เสียก่อนจึงจะดี เธอรับคำ ฉันก็ให้ทำท้องตราให้เธอถือขึ้นไปยังเมืองอินท์ แต่นั้นพระทิมก็เงียบหายไปกว่าปี

ครั้นถึง ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ในเวลากำลังไทยวิวาทกันกับฝรั่งเศส วันหนึ่งฉันลงมาจากบนเรือน เห็นพระทิมมานั่งคอยอยู่ที่ท้องพระโรง ฉันถามเธอว่ามีกิจธุระอะไรหรือ พระทิมตอบว่า “อาตมภาพอยู่ที่เมืองอินท์ ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมภาพยังเป็นหนุ่ม ได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูรู้อยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึก ไปอาสารบฝรั่งเศสสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้ว ถ้ารอดชีวิตอยู่ ก็จะกลับบวชอีกอย่างเดิม” ฉันได้ฟังนึกรักใจพระทิม จึงตอบว่า ฉันจะต้องไปกราบทูลก่อน เพราะเมื่อเธอบวชเป็นนาคหลวงของพระเจ้าอยู่หัว ให้เธอพักรอฟังอยู่ที่บ้าน ฉันไปกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ชอบพระราชหฤทัย ออกพระโอษฐ์ว่า “มนุษย์เรานี้ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้” โปรดให้ฉันเชิญกระแสรับสั่งไปบอกพระทิม ว่าซึ่งมีความกตัญญูคิดจะสนองพระเดชพระคุณนั้นทรงขอบใจนัก แต่การรบพุ่งใช้แต่คนฉกรรจ์ที่ยังมีกำลังมาก พระทิมอายุมากเกินขนาดเสียแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด เธอได้ฟังกระแสรับสั่งอย่างนั้นก็ลากลับไป แต่นั้นมาฉันจะได้พบกับพระทิมอีกบ้างหรืออย่างไรจำไม่ได้ แต่ไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องคิดถึงพระทิมมาหลายปี

จนถึงครั้งหนึ่ง จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันได้รับใบบอกมาจากเมืองอินทบุรีว่าพระทิมอาพาธถึงมรณภาพ เขาเห็นว่าเธอเป็นพระที่พระเจ้าอยู่หัวโปรดบวชพระราชทาน และฉันได้สั่งให้อุปการะ จึงปรึกษากับพวกญาติให้รอการปลงศพพระทิมไว้ บอกมาให้ฉันทราบก่อน ฉันเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงพระกรุณาแก่พระทิมมาแต่ก่อน จึงนำความขึ้นกราบทูลว่าพระทิมถึงมรณภาพเสียแล้ว มีพระราชดำรัสว่าพระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัวก็ได้ทรงอุปการะมาแต่ก่อน โปรดให้ฉันเบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลเป็นของหลวงส่งไปพระราชทานเพลิงศพพระทิม เพราะฉะนั้น งานศพพระทิมก็กลายเป็นอย่างศพกรมการที่ได้พระราชทานสัญญาบัตร ด้วยมีข้าหลวงพระราชทานเพลิงและมีกรมการไปช่วยงานเป็นเกียรติยศ สิ้นเรื่องประวัติพระโจรทิมเพียงเท่านี้ พิเคราะห์ดูสมกับคำสุภาษิตโบราณซึ่งว่า “ไม้ต้นคดปลายตรงยังดัดเอาดีได้ ถ้าปลายคดถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้” จึงเขียนเรื่องรักษาไว้มิให้สูญเสีย



เรื่องโจรจันทร์

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ มีโจรพวกหนึ่งสมคบกันเที่ยวปล้นในแขวงจังหวัดปทุมธานี จังหวัดอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรีเนืองๆ ถึงเดือนกรกฎาคม โจรพวกนั้นปล้นไล่ฝูงกระบือในแขวงจังหวัดปทุมธานี แล้วไปปล้นที่บ้านชีปะขาว ในแขวงจังหวัดสุพรรณบุรีอีกแห่งหนึ่งติดๆ กัน เวลานั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) ยังเป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เป็นผู้เข้มแข็งขึ้นชื่อในการปราบโจรผู้ร้าย สามารถจับโจรพวกนั้นที่เป็นชาวเมืองสุพรรณได้หลายคน ให้การรับเป็นสัจซัดพวกเพื่อน จึงให้จับโจรที่เป็นชาวเมืองอื่นเอาไปรวมกันไปชำระที่เมืองนครปฐม

ในเวลากำลังชำระโจรพวกนั้น วันหนึ่งฉันออกไปเมืองนครปฐมเพื่อจะผ่อนพักในเวลาราชการเบาบางตามเคย เห็นตำรวจภูธรคุมนักโทษคนหนึ่ง ขึ้นรถไฟที่สถานีบางกอกน้อยไปพร้อมกับฉัน แล้วไปลงที่สถานีพระปฐมเจดีย์ ฉันถามได้ความว่าเป็นพวกโจรรายที่กำลังชำระคนหนึ่ง ซึ่งจับตัวไปจากเมืองปทุมธานี ค่ำวันนั้นเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหารด้วยกันกับฉันตามเคย แต่พอกินแล้วท่านขอลาว่าจะต้องไปชำระผู้ร้าย ฉันถามว่าเหตุไฉนจึงต้องไปชำระเอง ท่านบอกว่าโจรคนที่ได้ตัวมาใหม่ในวันนั้นเป็นตัวสำคัญนัก ที่เมืองปทุมธานีเรียกกันว่า “จันทร์เจ้า” เป็นหัวหน้าของผู้ร้ายพวกนั้นทั้งหมด ถ้าให้คนอื่นชำระเกรงจะไม่ได้ความจริง ถึงคืนต่อมาเมื่อกินอาหารด้วยกัน ฉันถามว่าชำระผู้ร้ายได้ความอย่างไร ท่านตอบแต่ว่า “ยังถวายรายงานไม่ได้” จนถึงคืนที่ ๔ เวลาเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มากินอาหาร ดูยิ้มแย้มแจ่มใส ฉันถามถึงการชำระผู้ร้าย ท่านบอกว่าโจรจันทร์เจ้ารับเป็นสัจแล้ว

แต่ก่อนมาฉันยังไม่เคยรู้จักตัวหัวหน้านายโจร หรือที่เรียกตามคำโบราณว่า “มหาโจร” นึกอยากรู้จักโจรจันทร์เจ้า จึงบอกเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่า เมื่อท่านชำระสะสางโจรจันทร์เจ้าเสร็จสิ้นสำนวนแล้ว ขอให้คุมตัวมาให้พบกับฉันสักหน่อย ท่านให้คุมมาในวันรุ่งขึ้น พอฉันแลเห็นก็นึกประหลาดใจ ด้วยดูเป็นคนสุภาพ รูปพรรณสัณฐานไม่มีลักษณะอย่างใดที่จะส่อว่าใจคอเหี้ยมโหด ถึงเป็นตัวหัวหน้านายโจร เมื่อพูดด้วย ถ้อยคำที่ตอบก็เรียบร้อยเหมือนอย่างเคยเพ็ดทูลเจ้านายมาแต่ก่อน ฉันออกพิศวง จึงถามว่าได้เคยเฝ้าแหนเจ้านายมาแต่ก่อนบ้างหรือ โจรจันทร์ตอบว่าได้เคยเฝ้าหลายพระองค์ ที่เคยทรงใช้สอยก็มี ฉันยิ่งสงสัย ถามว่า “ก็แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่ทรงรังเกียจหรือ” โจรจันทร์ตอบว่า “เจ้านายท่านไม่ทรงทราบว่าเป็นโจร อย่าว่าแต่เจ้านายเลย ถึงคนอื่นๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร รู้แต่ในพวกโจรด้วยกันเท่านั้น” เพราะพวกโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เรียกกันว่า “นักเลง” คนอื่นก็เลยเรียกว่านักเลง หมายความแต่ว่าเป็นคนกว้างขวาง นักเลงคนไหนมีพวกมากก็เรียกกันว่า “นักเลงโต” นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี แต่นักเลงเป็นคนกว้างรับใช้สอยได้คล่องแคล่ว ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงชอบใช้ ก็ได้คุ้นเคยกับผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยเหตุนั้น ฉันไถ่ถามความข้ออื่นต่อไป โจรจันทร์ก็เล่าให้ฟังโดยซื่อแม้จนลักษณะที่ทำโจรกรรม คงเป็นเพราะเห็นว่าได้รับสารภาพความผิดต่อเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ หมดแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องปกปิดต่อไป แต่การที่ถามโจรจันทร์ ความประสงค์ของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ กับความประสงค์ของตัวฉันผิดกัน เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ประสงค์จะรู้เรื่องปล้นเมื่อเดือนกรกฎาคมเป็นสำคัญ แต่ตัวฉันอยากรู้วิธีของโจรผู้ร้ายทั่วไป ไม่เฉพาะแต่เรื่องที่โจรจันทร์ถูกจับ ฟังคำอธิบายของโจรจันทร์จึงเลยออกสนุก ยิ่งฟังไปก็ยังตระหนักใจว่าโจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรม สมกับที่เป็นนายโจร ฉันถามถึงกระบวนโจรกรรมอย่างใดๆ โจรจันทร์พรรณนาได้ทั้งหมดว่าทำอย่างนั้นๆ ดังจะเขียนให้เห็นพอเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ถามว่า การที่โจรปล้นเรือนนั้นเขาว่ามักมีคนที่อยู่ใกล้กับเจ้าทรัพย์เป็นสายจริงหรือ

ตอบว่า การที่ปล้นนั้นจำต้องมีสาย ถ้าไม่มีสายก็ปล้นไม่ได้

ถามว่า เพราะเหตุใดไม่มีสายจึงปล้นไม่ได้

ตอบว่า พวกโจรต้องอาศัยผู้เป็นสายหลายอย่าง เป็นต้นแต่ผู้เป็นสายไปบอก พวกโจรจึงรู้ว่าบ้านไหนมีทรัพย์ถึงสมควรจะปล้น และการที่จะปล้นนั้น พวกโจรต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย พวกโจรก็รักชีวิตเหมือนกัน ต้องสืบสวนและไล่เลียงผู้เป็นสายให้รู้แน่นอนก่อน ว่าเจ้าทรัพย์มีกำลังจะต่อสู้สักเพียงไร เพื่อนบ้านเรือนเคียงอาจจะช่วยเจ้าทรัพย์เป็นอย่างไร และต้องสืบหาโอกาสเวลาเจ้าทรัพย์เผลอหรือเวลาไม่อยู่เป็นต้น จนแน่ใจว่ามีกำลังกว่าเจ้าทรัพย์ตั้งเท่าหนึ่ง พวกโจรจึงจะปล้น การที่ปล้นนั้น ผู้เป็นสายมักเป็นต้นคิดไปชักชวนพวกโจรมาปล้น พวกโจรหาต้องหาคนเป็นสายไม่

ถามว่า คนชนิดใดที่เป็นสายให้โจรปล้นบ้าน

ตอบว่า มักอยู่ในคน ๓ ชนิด คือ คนรับใช้อยู่ในบ้านเจ้าทรัพย์ที่อยากได้เงินชนิดหนึ่ง เพื่อนบ้านที่เป็นอริคิดล้างผลาญเจ้าทรัพย์ชนิดหนึ่ง ญาติที่โกรธเจ้าทรัพย์เพราะขอเงินไม่ให้ชนิดหนึ่ง

ถามว่า โจรที่ขึ้นปล้นเรือนนั้น ไฉนจึงรู้ว่าเขาเก็บเงินทองไว้ที่ไหน

ตอบว่า ประเพณีของโจรปล้น เมื่อขึ้นเรือนได้แล้วหมายจับตัวเจ้าทรัพย์หรือคนในเรือนเป็นสำคัญ เพราะพวกโจรไม่รู้ว่าเงินทองเก็บไว้ที่ไหน ต้องขู่หรือทำทรกรรมบังคับให้คนในเรือนนำชี้ จึงได้ทรัพย์มาก ถ้าจับตัวคนในเรือนไม่ได้ พวกโจรต้องค้นหาเอง มักได้ทรัพย์น้อย เพราะการปล้นต้องรีบให้แล้วโดยเร็ว มิให้ทันพวกชาวบ้านมาช่วย

ถามว่า การที่จับตัวเจ้าทรัพย์บังคับถามนั้น ไม่กลัวเขาจำหน้าได้หรือ

ตอบว่า แต่ก่อนมา โจรที่ขึ้นเรือนใช้มอมหน้ามิให้เจ้าทรัพย์รู้จัก แต่เมื่อการปกครองมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน เวลาเกิดปล้น ผู้ใหญ่บ้านมักเรียกลูกบ้านตรวจ จะล้างหน้าไปรับตรวจไม่ทัน พวกโจรจึงคิดวิธีใหม่ ให้โจรที่อยู่ถิ่นฐานห่างไกลเจ้าทรัพย์ไม่รู้จัก เป็นพนักงานขึ้นเรือน ไม่ต้องมอมหน้าเหมือนแต่ก่อน ให้โจรที่อยู่ใกล้เปลี่ยนไปเป็นพนักงานซุ่มระวังทางอยู่ในที่มืด

ถามว่า โจรชนิดไหนที่เรียกกันว่า “อ้ายเสือ”

ตอบว่า คำว่า “อ้ายเสือ” นั้น มิใช่ชื่อสำหรับเรียกตัวโจร เป็นแต่คำสัญญาณที่หัวหน้าสั่งการในเวลาปล้น เป็นต้น แต่เมื่อลอบเข้าไปรายล้อมบ้านแล้ว พอจะให้ลงมือปล้นอย่างเปิดเผย หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือเอาวา” พวกโจรก็ยิงปืนและเข้าพังประตูบ้าน เมื่อเข้าบ้านได้แล้ว หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือขึ้น” พวกที่เป็นพนักงานขึ้นเรือนต่างก็ขึ้นทุกทางที่จะขึ้นเรือนได้ เมื่อปล้นแล้วหัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือถอย” ต่างก็ลงจากเรือนพากันกลับไป แต่ถ้าไปเสียทีเห็นจะปล้นไม่สำเร็จ หัวหน้าร้องบอกสัญญาณว่า “อ้ายเสือล่า” ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด เป็นคำสัญญากันอย่างนี้

พึงเห็นได้ตามคำอธิบายที่เขียนเป็นตัวอย่างไว้ว่า โจรจันทร์ชำนิชำนาญการโจรกรรมมาก ถ้าหากโจรกรรมเป็นศาสตร์อันหนึ่ง ความรู้ของโจรจันทร์ก็ถึงภูมิศาสตราจารย์ เพราะฉะนั้น พอพูดกันได้วันหนึ่ง ฉันก็ติดใจ นึกอยากจะรู้กระบวนของโจรต่อไปให้สิ้นเชิง แต่นั้นถึงเวลาเย็นฉันลงไปนั่งเล่นที่สนามหญ้า ก็ให้เบิกตัวโจรจันทร์มาถามต่อมาอีกหลายวันจึงคุ้นกัน ฉันเลยถามต่อไปว่า เพราะเหตุใดแกจึงรับเป็นสัจ โจรจันทร์ตอบว่าเดิมก็ตั้งใจจะไม่รับ ถ้าชำระที่เมืองปทุมธานีก็เห็นจะไม่ได้ความจากตัวแก แต่ใจมาอ่อนเสียที่ถูกเอามาชำระต่างเมือง ตั้งแต่ลงจากรถไฟแลหาพวกพ้อง แม้แต่ใครที่เคยรู้จักหน้าสักคนหนึ่งก็ไม่มี เหลือแต่ตัวคนเดียวก็เปลี่ยวใจ เมื่ออยู่ในเรือนจำพบปะนักโทษถามถึงพรรคพวกที่ถูกจับมา เขาบอกว่ารับเป็นสัจหมดแล้ว ก็ยิ่งครั่นคร้าม แต่อย่างอื่นไม่ทำให้ท้อใจเหมือนวิธีชำระของเจ้าคุณเทศา ถามว่าท่านชำระอย่างไร โจรจันทร์เล่าว่า เวลาราวยามหนึ่งท่านเอาตัวไปที่ศาลอำเภอ ตัวท่านนั่งเก้าอี้อยู่ที่โต๊ะกับข้าราชการอีกสักสองสามคน ท่านเรียกตัวเข้าไปนั่งที่ข้างเก้าอี้ของท่าน แล้วถามถึงเรื่องที่ไปปล้น แกปฏิเสธว่าไม่ได้รู้เห็นด้วย ท่านก็หัวเราะแล้วว่า “คิดดูเสียให้ดีเถิด พวกพ้องเขาก็รับหมดแล้ว” ท่านว่าแต่เท่านั้น แล้วก็หันไปพูดกับพวกข้าราชการถึงการงานอย่างอื่นๆ และสูบบุหรี่กินน้ำร้อนไปพลาง ให้แกนั่งคอยอยู่นานจึงหันกลับไปถามอีกว่า “จะว่าอย่างไร” แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะว่า “คิดดูเสียให้ดี” แล้วหันไปพูดกับข้าราชการ ให้แกนั่งคอยอยู่อีก นานๆ หันมาถามอย่างนั้นอีก แกปฏิเสธ ท่านก็หัวเราะ แล้วบอกให้คิดให้ดีอีก เวียนถามอยู่แต่อย่างนั้นหลายพัก จนเวลาสัก ๕ ทุ่มจึงเลิกชำระ ถึงวันที่ ๒ พอยามหนึ่งท่านก็เอาตัวไปชำระอีก พอได้ยินท่านถามเหมือนอย่างวันก่อนก็รำคาญใจ ยิ่งถูกถามซ้ำซากก็ยิ่งรำคาญหนักขึ้น แต่ยังแข็งใจปฏิเสธอยู่ได้อีกคืนหนึ่ง พอถึงคืนที่ ๓ ระอาใจเสียแต่เมื่อเขาไปเอาตัวมาจากเรือนจำ พอเจ้าคุณเทศาตั้งคำถามอย่างเก่าอีกก็เกิดเบื่อเหลือทน เห็นว่าถ้าปฏิเสธ ท่านก็คงถามเช่นนั้นไปไม่มีที่สุด นึกว่าไหนๆ ก็คงไม่พ้นโทษ เพราะพวกเพื่อนรับเป็นสัจหมดแล้ว รับเสียให้รู้แล้วไปดีกว่า จะได้หลับนอนสิ้นรำคาญ แกจึงรับเป็นสัจในคืนที่ ๓ เพราะ “สู้ปัญญาเจ้าคุณเทศาท่านไม่ได้”

ในการชำระโจรผู้ร้าย เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ มีวิธีผิดกับคนอื่นหลายอย่าง ท่านเคยบอกฉันอย่างหนึ่งว่าถ้าชำระในถิ่นที่ตัวผู้ร้ายอยู่ ไม่ใคร่รับเป็นสัจ ด้วยมันอายพวกพ้องของมัน ถ้าเอาไปชำระให้ห่างถิ่นฐาน ได้ความสัจง่ายขึ้น พระยามหินทรเดชานุวัติ (ใหญ่ สยามานนท์) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี เวลานั้นยังเป็นที่พระยาศรีวิเศษ ยกกระบัตรมณฑลหัวหน้าพนักงานอัยการ เป็นมือขวาของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ในการชำระโจรผู้ร้าย เคยเล่าให้ฉันฟังว่าเมื่อพวกโจรจันทร์ปล้นบ้านชีปะขาวครั้งนั้น พอรู้ข่าวถึงนครปฐม เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ก็ให้พระยามหินทรฯ รีบลงเรือไฟขึ้นไปเมืองสุพรรณ สั่งว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอน ที่ตำบลบางซอมาซักถามเถิดคงจะได้ความ พระยามหินทรฯ ตรงไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาซักไซ้ ก็ให้การรับเป็นสัจว่าอยู่ในพวกโจรที่ปล้นนั้น ให้การบอกชื่อพวกโจร จึงจับตัวได้โดยมาก พระยามหินทรฯ ไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ จึงสามารถชี้เจาะตัวได้ ว่าให้ไปเอาตัวผู้ใหญ่บ้านกอนมาชำระ มีผู้อื่นว่าวิธีของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น เวลาท่านไปเที่ยวที่ไหนๆ ท่านสืบถามชื่อนักเลงในถิ่นนั้น จดไว้ในสมุดพกเสมอ ถ้าสามารถจะพบได้ก็คิดอ่านรู้จักตัวด้วย แล้วสืบถามเรื่องประวัติของพวกนักเลงจากคนร่วมถิ่นที่เป็นนักโทษติดอยู่ในเรือนจำ จึงรู้แหล่งของพวกโจรในตำบลต่างๆ ท่านยังมีผู้ช่วยอย่างเป็นมือซ้ายของท่านอีกคนหนึ่ง คือพระพุทธเกษตรานุรักษ์ (โพธิ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงชัยอาญา พะทำมะรงเรือนจำเมืองนครปฐม เป็นผู้มีคุณวุฒิอย่างแปลกประหลาดในกระบวนบังคับบัญชา ไม่ดุร้าย แต่สามารถให้นักโทษรักด้วยกลัวด้วย เรียกหลวงชัยอาญาว่า “คุณพ่อ” ทั้งเรือนจำ จนคนภายนอกพิศวงถึงกล่าวกันว่าหลวงชัยอาญาอาจจะจ่ายนักโทษไปทำงานได้ด้วยไม่ต้องมีผู้คุม เพราะแกรู้จักผูกใจนักโทษมิให้หนี ฉันเคยถามตัวแกเองว่าทำอย่างไร นักโทษที่แกจ่ายจึงไม่หนี แกบอกว่านักโทษมี ๒ ชนิด ชนิดที่จะหนีถ้ามีโอกาสเมื่อใดมันคงหนี ชนิดนั้นจ่ายออกนอกตะรางไม่ได้ แต่นักโทษอีกชนิดหนึ่งใจยังรักดี คือพวกที่จะต้องติดไม่นานนัก หรือพวกที่ใกล้จะถึงเวลาพ้นโทษ ชนิดนี้สั่งสอนได้ ถึงในพวกนี้แกก็เลือกจ่ายไปโดยลำพังแต่คนที่เชื่อใจได้ว่าจะไม่หนี แกไม่มีวิชาอย่างไรที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยของมันได้ ฉันได้ฟังอธิบายของแกก็เข้าใจว่าความสามารถของแกอยู่ที่รู้จักคาดใจนักโทษเป็นสำคัญ ที่แกเป็นกำลังของเจ้าพระยาศรีวิชัยฯ นั้น อยู่ในการสืบเรื่องโจรผู้ร้ายจากความรู้ของพวกนักโทษอย่างหนึ่ง กับปลอบผู้ร้ายให้รับเป็นสัจอย่างหนึ่ง ดูเหมือนแกจะมีนักโทษที่ฝึกหัดไว้สำหรับให้อยู่ปะปนกับโจรผู้ร้ายที่แรกจับได้ ค่อยพูดจาเกลี้ยกล่อมให้รับเป็นสัจ ดังเห็นได้ในคำที่โจรจันทร์เล่า หลวงชัยอาญา (โพธิ์) เป็นทั้งพะทำมะรงเป็นครูของพะทำมะรงในเรือนจำอื่น ซึ่งฉันสั่งให้ส่งไปศึกษาจากมณฑลต่างๆ อยู่ในตำแหน่งจนแก่ชราขอลาออก จึงได้เลื่อนเป็นที่พระพุทธเกษตรานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้ากรมรักษาพระปฐมเจดีย์มาจนถึงแก่กรรม

ฉันได้ฟังอธิบายของโจรจันทร์ ถึงกระบวนโจรกรรมต่างๆ คิดเห็นว่าโจรกรรมเป็นของมีจริงคล้ายกับเป็นวิชาอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นแต่คำสำหรับเรียกกันโดยโวหาร หากเป็นวิชาสำหรับทำความชั่ว สาธุชนไม่เอาใจใส่ที่จะรู้ จึงรู้กันแต่ในพวกโจรผู้ร้าย ว่าที่จริง ถ้าสาธุชนรู้ไว้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ เช่น พนักงานปราบปรามโจรผู้ร้าย ก็จะได้รู้เท่าทันโจร หรือเป็นคฤหบดี ก็จะได้รู้จักป้องกันทรัพย์สมบัติของตน ตัวฉันมีโอกาสที่ได้พบปะกับศาสตราจารย์โจรกรรม น่าจะลองเขียนให้ความรู้เรื่องโจรกรรม เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองตลอดจนพวกเจ้าทรัพย์ คิดเห็นเช่นนั้นจึงเรียกโจรจันทร์มาถามอีกครั้งหนึ่ง ถามครั้งนี้ฉันเอากระดาษดินสอจดคำอธิบาย และบอกโจรจันทร์ให้รู้ว่าฉันจะแต่งหนังสือเรื่องโจรกรรม ถ้าบอกให้ถ้วนถี่ดีจริง ฉันจะกราบบังคมทูลขอให้พ้นโทษเป็นบำเหน็จ โจรจันทร์ก็ยินดีรับชี้แจงให้ตามประสงค์ และให้สัญญาว่า ถ้าพ้นโทษ จะทิ้งความชั่ว ไม่เป็นโจรผู้ร้ายต่อไปจนตลอดชีวิต ฉันจึงเขียนเรื่องโจรกรรมอย่างพิสดารจนสำเร็จแล้วให้พิมพ์เป็นเล่มสมุดเรียกชื่อเรื่องว่า “สนทนากับผู้ร้ายปล้น” เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ นั้น แต่พอหนังสือนั้นปรากฏ คนก็ชอบอ่านกันแพร่หลาย ถึงต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง เพราะยังไม่มีใครเคยรู้เรื่องโจรกรรมชัดเจน เหมือนอย่างพรรณนาในหนังสือเรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้นมาแต่ก่อน

ส่วนตัวโจรจันทร์นั้น ฉันก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานโทษด้วยยกความชอบที่ได้ชี้แจงกระบวนโจรกรรม ให้เป็นประโยชน์แก่การปราบปรามโจรผู้ร้าย เมื่อได้รับพระราชทานโทษแล้ว โจรจันทร์ไม่ประสงค์จะกลับไปอยู่เมืองปทุมธานี ขออยู่รับใช้สอยที่เมืองนครปฐมต่อไป เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ว่าพวกโจรปล้นเช่นนายจันทร์ยังถือสัจ ถ้ารับกลับใจแล้วพอไว้ใจได้ ไม่เหมือนพวกขโมยที่ล้วงลักตัดช่องย่องเบา ท่านเห็นฉันคุ้นเคยจนชอบนายจันทร์ จะให้เป็นพนักงานเฝ้าเรือน “บังกะโล” ที่ฉันพัก ฉันก็ไม่รังเกียจ นายจันทร์ได้ตำแหน่งทำงาน ก็ให้ครอบครัวตามไปอยู่เมืองนครปฐม เมียไปตั้งร้านขายของ มีลูกชายคนหนึ่งเพิ่งรุ่นหนุ่ม เอาไปให้เจ้าพระยาศรีวิชัยฯ ฝึกหัดใช้ราชการ แต่นั้นก็อยู่เย็นเป็นสุขสืบมาทั้งครัวเรือน

ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โปรดเสด็จประพาสเมืองนครปฐมเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวังใหม่ เสด็จไปประทับที่เรือนบังกะโลของฉันเป็นนิจ ทรงทราบว่านายจันทร์คนรักษาเรือนเคยเป็นนายโจร ตรัสเรียกไปทรงไถ่ถาม ให้เล่าเรื่องโจรกรรมถวายจนทรงคุ้นเคย ถึงสมัยเมื่อทรงเสวยราชย์แล้ว เวลาเสด็จออกไปเมืองนครปฐม พบนายจันทร์ก็ตรัสทักด้วยทรงพระกรุณา แม้พวกข้าราชการในราชสำนัก หรือที่ไปรับราชการ ณ เมืองนครปฐม ก็รู้จักนายจันทร์ทุกคนไม่มีใครเกลียดชัง ถ้าจะว่าก็เพราะเหตุที่เคยเป็นนายโจรแล้วกลับใจได้ แม้เป็นพลเมืองสามัญไปรับจ้างเฝ้าเรือนบังกะโล ก็เห็นจะไม่มีใครนำพานัก นายจันทร์เป็นผู้เฝ้าเรือนบังกะโลมากว่า ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวจึงออกจากหน้าที่ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ได้ยินว่า “โจรจันทร์” ยังอยู่ที่เมืองนครปฐม อายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:28:02 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ต่อมาโปรดให้โอนราชการพลเรือนตามหัวเมือง ซึ่งแต่ก่อนแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย กลาโหม กรมท่า มารวมขึ้นกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดการปกครองท้องที่เป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วทรงพระราชปรารภว่ากระทรวงเสนาบดีอื่นๆ กำลังจัดระเบียบการกระทรวงที่ในกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถจะจัดการแผนกกระทรวงนั้นๆ ออกไปถึงหัวเมืองได้ แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ควรจะรอการทำนุบำรุงหัวเมืองไว้ จนกว่ากระทรวงการแผนกนั้นๆ จะสามารถออกไปจัดการได้เอง จึงดำรัสสั่งว่าการทำนุบำรุงอย่างใดซึ่งควรจะจัดตามหัวเมืองได้ ให้กระทรวงมหาดไทยลงมือจัดการนั้นไปทีเดียว อันนี้เป็นเหตุให้หน้าที่จัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมือง มาตกอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เพราะกรมพยาบาลในกระทรวงธรรมการเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ดังได้เล่าไว้ในนิทานเรื่องตั้งโรงพยาบาล ยังไม่สามารถจะขยายออกไปถึงหัวเมืองได้

ตามประเพณีที่จัดขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ ทุกปี จึงปรึกษาจัดการอนามัยตามหัวเมืองในที่ประชุมนั้น มีความเห็นว่าจะจัดการตามอย่างในกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะหัวเมืองไม่มีทุนและไม่มีคนจะใช้มากเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ จะต้องคิดหาทางอย่างอื่น และทางที่จะจัดนั้น เห็นว่าควรเอาลักษณะการตามที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองแล้วตั้งเป็นหลัก คิดแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับไป ก็ลักษณะการอนามัยที่เป็นอยู่ตามหัวเมืองทั้งปวงนั้น ถ้าพิจารณาแยกกันก็มี ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

อย่างที่หนึ่ง คือยาสำหรับรักษาไข้เจ็บ เป็นของมีใช้อยู่ในพื้นเมืองแล้ว ความบกพร่องในเรื่องยาอยู่ที่ไม่รู้จักหรือไม่มียาดีกว่าที่จะใช้เป็นสำคัญ

อย่างที่สอง คือความรู้ที่จะใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ ก็รู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว ใครรู้มากก็เรียกว่า “หมอ” มีอยู่ทั่วไปในพื้นเมือง ความบกพร่องในเรื่องใช้ยาและรักษาพยาบาลไข้เจ็บ อยู่ที่หมอมีความรู้น้อยเพราะไม่ได้เรียนตำรับตำรา อาศัยแต่ความคุ้นเคยเป็นสำคัญ ใครเคยรักษาไข้มากก็รู้มาก ใครเคยรักษาไข้น้อยก็มีความรู้น้อย ถึงกระนั้นก็ยังสามารถรักษาไข้ที่ไม่เหลือความรู้ให้หายได้

อย่างที่สาม คือธรรมดาคนเจ็บไข้ย่อมกลัวภัยแก่ชีวิตของตน เพราะฉะนั้นถ้าเชื่อว่าใครจะช่วยชีวิตได้ก็ให้คนนั้นมารักษา ถึงผู้อื่นจะบอกว่าหมอคนไหนดี หรือยาขนานไหนดี ถ้าตัวคนไข้ หรือผู้ปกครองเช่นพ่อแม่ของคนไข้ไม่เชื่อถือ ก็ไม่ยอมกินยาของหมอคนนั้น จะบังคับขืนใจไม่ได้

เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังกล่าวมา จึงเห็นว่าการบำรุงอนามัยควรจะอนุโลมลักษณะที่เป็นอยู่จึงจะสำเร็จประโยชน์ กระทรวงมหาดไทยกับเทศาภิบาล จึงจัดการบำรุงอนามัยตามหัวเมืองโดยทางที่กล่าวมาเป็นการหลายอย่าง ดังจะพรรณนาต่อไป



ตั้งหมอตำบล

เรื่องตั้งหมอตำบล เป็นความคิดของเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เห็นว่าควรอาศัยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกำหนด ๑๐ บ้านเป็นหมู่บ้าน ๑ ให้ราษฎรเลือกกันเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ละคน รวม ๑๐ หมู่บ้านเป็นตำบล ๑ ให้พวกผู้ใหญ่บ้านเลือกกันเป็นกำนันนายตำบลคน ๑ นั้น ประกอบกับความคิดในเรื่องบำรุงอนามัย คือให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเลือกหมอในตำบลนั้นคน ๑ ซึ่งเห็นว่าดีกว่าเพื่อน แล้วรัฐบาลตั้งเป็นหมอประจำตำบล มีศักดิ์เท่ากับผู้ใหญ่บ้าน สำหรับเป็นพนักงานในการอนามัยมีอยู่ทุกตำบล รัฐบาลอยากรู้อะไรในเรื่องอนามัยตำบลนั้นจะได้ไถ่ถาม หรือจะชี้แจงอะไรในเรื่องอนามัยแก่ราษฎร ก็จะได้ให้หมอตำบลเป็นผู้ชี้แจงต่อลงไป ตัวหมอที่ได้รับความยกย่องเช่นนั้น ราษฎรในตำบลก็คงมีความเชื่อถือให้รักษาไข้ได้ผลประโยชน์ขวัญข้าวค่ายามากขึ้น คงมีผู้สมัครรับตำแหน่งหมอตำบลไม่รังเกียจ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย ให้จัดการดังว่ามาสำเร็จได้อย่างหนึ่ง จึงมีตำแหน่งหมอตำบลขึ้นแต่นั้นมา


ทำยาโอสถศาลา

ความคิดที่จะให้มียาดี สำหรับรักษาไข้เจ็บแพร่หลายไปถึงราษฎรตามหัวเมืองนั้น เห็นพร้อมกันในที่ประชุมว่าต้องมีพนักงานทำยาที่ในกรุงเทพฯ แล้วจ่ายออกไปตามหัวเมือง จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือเป็นหน้าที่ของตัวฉันจะต้องจัดการเรื่องนั้น คิดดูมีปัญหาที่จะต้องตัดสิน ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ว่าจะควรทำยารักษาโรคอะไรบ้าง ข้อนี้เห็นว่าที่จะทำยารักษาโรคทุกอย่างนั้นเป็นพ้นวิสัย จะต้องเลือกทำแต่ยาบางขนานสำหรับรักษาความไข้เจ็บซึ่งชาวเมืองมักเป็นกันชุกชุม เช่นยาแก้ไข้จับและแก้โรคบิดเป็นต้น และต้องปรึกษาหมอให้เป็นผู้กะว่าควรจะทำยาแก้โรคอะไรบ้าง

ข้อ ๒ ว่ายาที่จะทำนั้นจะใช้ยาตามตำราฝรั่งดี หรือจะใช้ยาตามตำราไทยดี ในสมัยนั้นที่ในกรุงเทพฯ บุคคลพวกสมัยใหม่ แม้จนหมอที่รักษาไข้ด้วยยาไทย เชื่อคุณยาฝรั่งมีขึ้นมากแล้ว ฉันคิดเห็นว่ายาที่จะทำจ่ายไปตามหัวเมืองทำยาฝรั่งดีกว่ายาไทย เพราะเหตุใด ฉันจะขอยืมคำอธิบายของนายชื่น พุทธิแพทย์ (พระยาดำรงแพทยาคุณ) กล่าวไว้ในหนังสือดุสิตสมิทเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๖ มาลงไว้ในที่นี้ ให้เข้าใจชัดเจนดีกว่าอธิบายความเห็นของฉันเอง ซึ่งคิดขึ้นในสมัยนั้น

“แพทย์ยาไทย ใช้ยาที่เป็นพรรณไม้ตามพื้นเมืองมากกว่าอย่างอื่น รวมกันหลายอย่างทั้งกากด้วย และต้องกินเป็นจำนวนมากๆ นำเข้าร่างกายเฉพาะทางปากทางเดียวเท่านั้น ซึ่งกินเวลาอันนานตั้งชั่วโมง กว่ายานั้นจะออกฤทธิ์ ถ้าคนไข้ที่กินยาทางปากไม่ได้แล้ว ก็เป็นอันหมดหนทางที่จะให้ยารักษา

ส่วนแพทย์ฝรั่ง ใช้ยาที่เป็นโลหะธาตุมากกว่าที่เป็นพรรณไม้ และใช้เฉพาะสิ่งที่ต้องการ คือหัวยาเท่านั้น ไม่มีกากเลย ขนาดกินก็เป็นจำนวนน้อยและเก็บไว้ได้นาน อาจให้ยาทางปากก็ได้ ทางทวารก็ได้ ทางผิวหนังก็ได้ ทางหลอดโลหิตก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ภายในสองสามนาที คล้ายคนเดินทางโดยรถไฟและเครื่องบิน อาจถึงที่มุ่งหมายได้สมประสงค์ทันใจ”

นอกจากเห็นว่ายาฝรั่งรักษาโรคชะงัดกว่ายาไทย โดยอธิบายดังกล่าวมา การทำยาสำหรับแจกจ่ายให้แพร่หลาย ทำยาฝรั่งสะดวกกว่าทำยาไทยด้วย เพราะอาจจะทำเป็นยาเม็ดเล็กๆ บรรจุลงกลักหรือใส่ห่อส่งไปตามที่ต่างๆ ได้ง่าย และคนไข้กินเพียงเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดก็เห็นคุณ อีกประการหนึ่งยาไทยก็มีใช้กันในพื้นเมืองอยู่แล้ว แต่ยาฝรั่งเช่นยาควินินแก้ไข้จับเป็นต้น ตามหัวเมืองยังหายาก จึงตกลงว่าจะทำยาฝรั่ง

แต่ความลำบากยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ด้วยยาฝรั่ง แม้เป็นยารักษาโรคอันเดียวกัน หมอต่างคนใช้วิธีผสมเครื่องยาต่างกัน หมอฝรั่งที่มารักษาไข้เจ็บอยู่ในเมืองไทยในเวลานั้น มีทั้งหมออังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน เยอรมัน และชาติอื่นก็มีอีก ถ้าปรึกษาแต่คนใดคนหนึ่ง คนอื่นก็อาจจะโต้แย้ง จึงเห็นว่าการที่จะทำยาของรัฐบาลดังกล่าวมา เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับบ้านเมือง ถ้าบอกบุญแก่หมอฝรั่งทุกคนขอให้ร่วมมือกันช่วยรัฐบาลในการนั้นได้ เห็นจะเป็นการดี ฉันลองทาบทามดู หมอฝรั่งก็รับจะช่วยด้วยยินดี จึงเชิญพวกหมอฝรั่งทุกชาติ มาประชุมพร้อมกันที่ศาลาลูกขุนกระทรวงมหาดไทยวันหนึ่ง ตัวฉันนั่งเป็นนายกในที่ประชุมเอง บอกพวกหมอฝรั่งให้ทราบพระราชประสงค์ที่จะบำรุงอนามัยในบ้านเมือง และกระทรวงมหาดไทยอยากจะได้ตำรายาฝรั่งบางขนาน สำหรับรักษาไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง จะขอให้หมอที่มาประชุมกันนั้นช่วยในการ ๒ อย่าง คือให้ปรึกษากันว่าควรทำยาแก้โรคอะไรบ้าง เป็นยาสักกี่ขนานอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าควรจะทำยาสักกี่ขนานแล้ว ขอให้จดเครื่องยาและส่วนที่จะผสมยานั้นๆ ให้ทุกขนานอย่างหนึ่ง เขาจะรับช่วยได้หรือไม่ พวกหมอพร้อมกันรับจะช่วยทำให้ตามประสงค์ของรัฐบาล ฉันจึงให้เขาประชุมปรึกษากันโดยลำพังพวกหมอต่อไป เขาตกลงกันแนะนำให้รัฐบาลทำยาต่างๆ ๑๐ ขนาน (หรือ ๑๒ ขนาน จำไม่ได้แน่) และกำหนดเครื่องยา กับทั้งส่วนที่จะผสม Prescription ยานั้นๆ ทุกขนาน เขียนเป็นมติลงชื่อด้วยกันทุกคนเป็นสำคัญ ให้ตำรายานั้นเป็นสมบัติของรัฐบาล ฉันรับและขอบคุณเขาทุกคนแล้วก็เป็นอันสำเร็จกิจส่วนหาตำรายา ส่วนการที่จะทำยานั้น หมออะดัมสัน Hans Adamson (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) เป็นเชื้อมอญไม่ใช่อเมริกัน มีแก่ใจรับจะทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่แยกเจริญกรุง จะเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่จะผสมยาให้ด้วย จนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเองต่างหาก การที่เลือกและทำยาสำหรับส่งไปตามหัวเมือง ก็สำเร็จได้ด้วยประการฉะนี้ แต่ยังไม่สิ้นความลำบาก

ความลำบากยังมีในการที่จะให้คนนิยมใช้ยาที่ทำนั้น เพราะเป็นยาฝรั่ง ในสมัยนั้นผู้ที่เชื่อถือยาฝรั่งยังมีน้อย แม้ที่ในกรุงเทพฯ คนก็ยังรังเกียจยาฝรั่งอยู่แทบทั่วไป

มีเรื่องเล่ากันมาแต่ก่อนว่า เมื่อแรกยาควินินมีเข้ามาถึงเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทซึ่งรอบรู้วิชาแพทย์ไทย ทรงทดลองและเลื่อมใสก่อนผู้อื่น แต่ก็ไม่อาจใช้โดยเปิดเผย เมื่อฉันบวชเป็นสามเณรเคยได้ยินกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ตรัส ว่ายาเม็ดแก้ไข้ของกรมหลวงวงศาฯ ที่นับถือกันนั้น เมื่อผ่าออกดูมี “ยาขาวฝรั่ง” (คือยาควินิน) อยู่ข้างในทุกเม็ด ประหลาดที่การปลอมใช้ยาควินินยังเป็นอยู่จนเมื่อฉันคิดทำยานั้น ฉันเคยถามหมอไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งฉันรู้ว่าลอบใช้ยาควินิน ว่าไฉนจึงต้องทำเช่นนั้น แกกระซิบตอบตามตรงว่า “ยาควินินดีกว่ายาไทย แต่คนไข้ไม่ยอมกิน จะทำอย่างไร ก็ได้แต่ต้องปลอมให้กินเป็นยาไทย สุดแต่ให้ไข้หายเป็นประมาณ” ถ้ามีใครทูลถามกรมหลวงวงศาฯ ก็เห็นจะตรัสตอบอย่างเดียวกัน

การที่กระทรวงมหาดไทยทำยาตามตำราฝรั่ง สำหรับจ่ายไปตามหัวเมือง จึงต้องคิดอุบายแก้ไขความรังเกียจด้วยให้เรียกชื่อยาที่ทำขึ้นใหม่ว่า “ยาโอสถศาลา” แต่ละขนานใส่กลักเล็กๆ กลักละ (ดูเหมือน) ๒๐ เม็ด พิมพ์หนังสือปิดข้างนอกกลักเอาแต่ชื่อโรคเรียก เช่นว่า “ยาแก้ไข้จับ, ยาแก้ลงท้อง, ยาแก้บิด” เป็นต้น ข้างในกลักมีกระดาษใบปลิวบอกวิธีที่จะใช้ยานั้น แล้วรวมกลักยาห่อเป็นชุดๆ มีใบปลิวโฆษณาคุณของยาโอสถศาลาสอดไปด้วย ส่งไปให้หมอตำบลเป็นผู้จำหน่าย (ดูเหมือน) ราคากลักละ ๑๐ สตางค์ จำหน่ายได้เงินเท่าใด ให้ค่าขายแก่หมอตำบลเป็นส่วนลดร้อยละ ๑๐ แม้ใช้อุบายกันคนรังเกียจอย่างนั้นแล้ว กว่าจะได้ผลดังประสงค์ก็ยังนาน เพราะเป็นของแปลก แม้หมอตำบลเองก็รับไว้จำหน่ายด้วยเกรงใจโดยมาก ตัวเองยังชอบใช้ยาสมุนไพรอยู่ตามเคย ต่อบางคนจึงทดลองใช้ยาโอสถศาลา แต่ต่อมาก็ปรากฏคุณขึ้นโดยลำดับ เมื่อยาโอสถศาลาจำหน่ายได้แพร่หลายจนเห็นว่าจะทำจำหน่ายได้ยั่งยืนต่อไป กระทรวงมหาดไทยจึงได้ตั้งสถานโอสถศาลาที่โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ แล้วรัฐบาลทำยาโอสถศาลาจำหน่ายเองสืบมา



แพทย์ประจำเมือง

แต่ก่อนมา เจ้าเมืองกรมการมักเป็นชาวเมืองนั้นเอง เจ็บไข้ก็ใช้หมอในพื้นเมืองที่เคยรักษากันมาเป็นปรกติ ครั้นเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าราชการในกรุงเทพฯ ออกไปรับราชการประจำอยู่ตามหัวเมืองมากขึ้นเป็นลำดับมา ต้องปรารภถึงความปลอดภัยของข้าราชการที่ไปอยู่แปลกถิ่นตามหัวเมือง จึงให้มีหมอหลวงประจำเมืองขึ้นจังหวัดละคนหนึ่ง ให้สมุหเทศาภิบาลเลือกหาหมอที่มีความรู้พอวางใจได้ ตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง มีหน้าที่สำหรับรักษาข้าราชการตลอดจนครอบครัว ในเวลาป่วยเจ็บอย่างหนึ่ง ตรวจอนามัยและรักษาไข้เจ็บให้นักโทษในเรือนจำอย่างหนึ่ง ทำกิจการพิเศษอันเกิดขึ้นเนื่องกับอนามัยอย่างหนึ่ง เป็นอย่างนั้นมาจนถึง พ.ศ.๒๔๔๑ มีเหตุเกิดขึ้นเมื่อฉันไปตรวจราชการมณฑลพายัพ ฉันไปครั้งนั้นเลือกข้าราชการหนุ่มๆ ที่กำลังเป็นนักเรียนศึกษาการปกครองเอาไปใช้ ๔ คน เพื่อจะให้รู้เห็นการปกครองตามหัวเมือง เวลานั้นยังไม่มีทางรถไฟสายเหนือ จึงลงเรือพ่วงเรือไฟไปจากกรุงเทพฯ จนถึงเมืองอุตรดิตถ์ พวกนักเรียน ๔ คนนั้นไปในเรือลำเดียวกัน เมื่อพ้นเมืองพิษณุโลกขึ้นไปแผ่นดินดอนพอเดินบกได้ เขาจึงชวนกันหาคนนำทางขึ้นเดินบกแต่เวลาเช้า เที่ยวเล่นและยิงนกไปพลาง จนบ่ายจึงไปดักทางลงเรือ เพราะเรือไปทางลำน้ำอ้อมค้อมมาก เที่ยวเล่นเช่นนั้นมาหลายวัน วันจะถึงเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อพวกนักเรียน ๔ คนกลับลงเรือแล้วต่างคนต่างล้างปืนตามเคย ปืนของนักเรียนคนหนึ่งยังมีปัสตันอยู่ในลำกล้องนัด ๑ เจ้าของสำคัญว่าได้เอาออกหมดแล้ว ทำปืนลั่นถูกขาเพื่อนนักเรียนอีกคนหนึ่งใกล้ๆ ลูกปรายเข้าไปจมเนื้ออยู่ในขาทั้งหมด พอเรือไปถึง ฉันรู้ก็ตกใจจะหาหมอรักษา พระประสิทธิวิทยา (สร เทศะแพทย์) หมอสำหรับตัวฉัน เป็นหมอมีชื่อเสียงก็รักษาได้แต่ทางยา ไม่ได้หัดรักษาบาดเจ็บ สืบถามหาหมออื่นก็ได้ความว่าทั้งเมืองอุตรดิตถ์ ไม่มีใครจะรักษาได้ เขาบอกว่าหมอรักษาบาดเจ็บได้ มีแต่หมอมิชชันนารีอเมริกันอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ฉันต้องให้จัดเรือลำหนึ่งมีคนแจว ๒ ผลัดรีบพาคนเจ็บล่องจากเมืองอุตรดิตถ์แจวลงมาตลอดคืนจึงถึงหมอ แต่เดชะบุญหมอรักษาหายได้ไม่เป็นอันตราย เหตุครั้งนั้นทำให้ฉันเห็นประจักษ์ใจ ว่าคนตามหัวเมืองที่ตายด้วยบาดเจ็บเพราะไม่มีหมอรู้จักรักษาเห็นจะมีมาก จำจะต้องให้มีหมอหลวงสำหรับรักษาบาดเจ็บขึ้นตามหัวเมือง ถึงคราวประชุมเทศาภิบาล ฉันจึงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า แพทย์ประจำเมืองต่อไปควรต้องให้รู้จักรักษาบาดเจ็บด้วยทั้งนั้น แต่จะให้เป็นเช่นนั้นโดยเร็วไม่ได้ เพราะหมอไทยที่รู้วิชาตัดผ่ารักษาบาดเจ็บยังมีน้อย และหมอยาที่เป็นตำแหน่งแพทย์ประจำเมืองทำการดีอยู่ จะไล่ออกก็ไม่ควร จึงเห็นควรจะกำหนดแต่อย่างหนึ่งว่าผู้จะเป็นแพทย์ประจำเมืองต่อไปต้องรู้วิชาตัดผ่าด้วย เช่นแพทย์ประกาศนียบัตรของโรงเรียนแพทย์ในกรมพยาบาลจึงจะเป็นได้ ที่ประชุมเทศาภิบาลเห็นชอบด้วยลงมติดังว่านั้น แต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยก็หาหมอประกาศนียบัตรที่เรียนตลอดหลักสูตรในโรงเรียนแพทย์มาตั้งเป็นแพทย์ประจำเมือง เป็นเหตุให้พวกหมอประกาศนียบัตรที่ต้องไปหากินด้วยการอื่น กลับหาตำแหน่งในราชการได้โดยวิชาหมอ มีคนสมัครเรียนวิชาแพทย์มากขึ้น เลยเป็นปัจจัยให้โรงเรียนแพทย์กลับรุ่งเรืองดังกล่าวมาแล้ว


ทำหนองปลูกฝีดาษ

ได้เล่ามาแล้วว่าการปลูกฝีดาษในเมืองไทย เดิมใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่อเมริกาถึงเมืองไทยปีละครั้งหนึ่ง ต่อมาใช้พันธุ์หนองส่งมาแต่ยุโรป ๒ เดือนมาถึงครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้นพันธุ์หนองที่ได้มาแต่ยุโรปก็มักเสียกลางทาง ใช้ได้แต่คราวละสักครึ่งหนึ่ง จึงต้องเอาหนองคนที่ปลูกฝีขึ้นงามปลูกกันต่อไป ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ นั้น ฝรั่งเศสมาตั้งสาขาปาสตุรสถาน ทำหนองปลูกฝีดาษและเซรุ่มรักษาโรคอื่นขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน เมืองไทยก็ซื้อพันธุ์หนองปลูกฝีมาแต่เมืองไซ่ง่อน เพราะอาจจะส่งมาได้ภายใน ๑๕ วันหนองก็ไม่เสียในกลางทาง แต่ได้พันธุ์หนองก็ยังไม่พอใช้ ที่โรงพยาบาลก็ยังเลิกวิธีปลูกต่อกันไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยอยากจะทำพันธุ์หนองปลูกฝีในเมืองไทยเอง หมออะดัมสัน (ภายหลังได้เป็นพระบำบัดสรรพโรค) แพทย์ในมิชชันนารีอเมริกันรับจะทำ จึงให้ตั้งที่ทำหนองปลูกฝีขึ้น ณ สำนักงานของหมออะดัมสันที่สี่กั๊ก ถนนเจริญกรุง เมื่อราว พ.ศ.๒๔๔๔ ทำได้ แต่พันธุ์หนองยังไม่สู้ดีเหมือนอย่างที่ส่งมาจากต่างประเทศ และยังได้น้อยไม่พอใช้ เพราะที่ทำการคับแคบนัก ถึง พ.ศ.๒๔๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้หมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการทำหนองฝีดาษเข้ามารับราชการ จึงให้ย้ายที่ทำพันธุ์หนองปลูกฝีออกไปตั้งที่เมืองนครปฐม เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ ให้หมอมาโนส์เป็นผู้จัดการ แต่นั้นก็ทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษในเมืองไทยได้พอต้องการ และดีเสมอหนองที่ทำในต่างประเทศ ไม่ต้องซื้อหามาจากที่อื่นและไม่ต้องปลูกฝีต่อกันดังแต่ก่อน การปลูกฝีก็แพร่หลายไปตามหัวเมือง ด้วยจ่ายพันธุ์หนองออกไปให้แพทย์ประจำเมืองเป็นพนักงานปลูกฝีด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ เกิดโรคฝีดาษชุกชุม คล้ายกับเป็นโรคระบาด และในสมัยนั้นการบำรุงอนามัย ได้โอนจากกระทรวงธรรมการไปเป็นหน้าที่กระทรวงปกครองท้องที่ คือกระทรวงนครบาลบำรุงอนามัยในมณฑลกรุงเทพฯ กระทรวงมหาดไทยบำรุงอนามัยตามหัวเมืองมณฑลอื่นๆ กรมพยาบาลคงเป็นแต่จัดการโรงเรียนแพทย์ กับโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเป็นที่ฝึกสอนนักเรียนแพทย์ เป็นเช่นนั้นมาแต่ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดโรคฝีดาษชุกชุมขึ้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับเสนาบดีกระทรวงนครบาล ปรึกษากันจัดการป้องกันโรคระบาดด้วยปลูกฝีชาวเมืองให้มากเท่าที่จะทำได้ ถ้าหากจะต้องใช้เงินเกินกว่าที่มีอยู่ จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วย จนพอแก่การมิให้ติดขัด เมื่อปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการปลูกฝีตามรับสั่ง กระทรวงนครบาลเห็นว่าจะต้องตั้งข้อบังคับให้พลเมืองที่ยังไม่ออกฝีดาษปลูกฝีทุกคน แล้วประกาศเรียกพลเมืองมาปลูกฝีตามข้อบังคับนั้น กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าการตั้งข้อบังคับพลเมืองนั้น จำต้องกำหนดโทษผู้ขัดขืน แม้อย่างต่ำเพียงปรับไหมก็เป็นความเดือดร้อน จะทำให้คนเกิดหวาดหวั่นเสียแต่แรก ก็การปลูกฝีนั้น ที่จริงเป็นการช่วยชีวิตของผู้ที่มาให้ปลูกนั้นเอง ซ้ำพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกไปปลูกฝีให้เป็นทาน ก็เป็นบุญของราษฎร มีแต่เป็นคุณแก่ราษฎรอย่างเดียว ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องทำอย่างไรให้ราษฎรรู้ความจริง ก็จะพากันมาปลูกฝีด้วยความยินดี หาต้องบังคับปรับไหมให้เดือดร้อนไม่ กระทรวงนครบาลไม่เห็นชอบด้วย คงเห็นอยู่ว่าถ้าไม่ตั้งข้อบังคับ การปลูกฝีก็ไม่สำเร็จได้ ฉันตอบว่าโดยฉันจะเห็นพ้องกับกระทรวงนครบาล กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถจะจัดการได้ตามความคิดอย่างนั้น เพราะภูมิลำเนาของราษฎรตามหัวเมืองอยู่กระจัดกระจายกัน ราษฎรชาวหัวเมืองความรู้น้อยกว่าชาวกรุงเทพฯ ถ้ามีประกาศคาดโทษคนก็เห็นจะพากันตื่น ตำรวจภูธรตามหัวเมืองก็ไม่มีมาก พอจะไปเที่ยวตรวจตราราษฎรตามบ้านช่องได้ทั่วถึง เหมือนพวกกองตระเวนของกระทรวงนครบาลในกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นต่างกระทรวงต่างทำตามที่เห็นว่าจะทำได้ในท้องที่ของตนจะดีกว่า เอาแต่ให้สำเร็จตามพระราชประสงค์เป็นประมาณ ก็ตกลงกันอย่างนั้น กระทรวงนครบาลจะจัดการอย่างไร ฉันไม่ได้เอาใจใส่สืบสวน จะเล่าแต่กระบวนการที่กระทรวงมหาดไทยจัดครั้งนั้น คือ

๑. แต่งประกาศพิมพ์เป็นใบปลิว ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าเกิดโรคฝีดาษขึ้นชุกชุม ทรงพระวิตกเกรงว่าราษฎรจะพากันล้มตาย ทรงพระราชดำริว่าโรคฝีดาษนั้นอาจจะป้องกันได้ด้วยปลูกฝี ถ้าใครปลูกแล้วก็หาออกฝีดาษไม่ แต่การปลูกฝียังไม่แพร่หลายออกไปถึงหัวเมือง คนจึงออกฝีดาษล้มตายกันมาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้หมอหลวงออกมาปลูกฝีพระราชทานแก่ราษฎร มิให้ล้มตายด้วยโรคฝีดาษ หมอหลวงไปถึงที่ไหนก็ให้ราษฎรไปปลูกฝีเถิด จะได้ป้องกันอันตรายมิให้มีแก่ตน

๒. แล้วจัดพนักงานปลูกฝีเป็น ๔ พวก ให้แยกกันไปปลูกฝีตามหัวเมืองมณฑลที่เกิดโรคฝีดาษชุกชุมในเวลานั้น คือมณฑลนครชัยศรีพวกหนึ่ง มณฑลราชบุรีพวกหนึ่ง มณฑลปราจีนพวกหนึ่ง มณฑลนครราชสีมาพวกหนึ่ง มณฑลอื่นที่ฝีดาษไม่ชุกชุม แพทย์ประจำเมืองก็คงปลูกฝีอยู่อย่างปรกติ

๓. วิธีที่ไปปลูกฝีนั้น ให้ไปปลูกทีละอำเภอเป็นลำดับไป เมื่อพนักงานปลูกฝีไปถึงอำเภอไหน ให้กรมการอำเภอเรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาชี้แจงแล้วแจกประกาศใบปลิวให้เอาไปประกาศแก่ราษฎร และปิดไว้ตามวัดอันเป็นที่ประชุมชน และให้ปรึกษากันกะที่ที่จะไปปลูกฝีตามตำบลในอำเภอนั้นกี่แห่ง แล้วกำหนดวันว่าจะไปปลูกฝีที่ตำบลไหนวันไหน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปนัดราษฎร เมื่อถึงวันนัดพนักงานไปตั้งทำการที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้านพาราษฎรมาให้ปลูกฝี เมื่อปลูกตำบลหนึ่งแล้วก็ย้ายไปปลูกตำบลอื่น อำเภออื่น และจังหวัดอื่นๆ ต่อไปโดยทำนองเดียวกันทุกพวก เมื่อพวกปลูกฝีปลูกแล้วให้มีสารวัตรตามไปภายหลังราว ๗ วัน ไปตรวจการที่พวกปลูกฝีได้ทำไว้ ว่าปลูกฝีได้มากหรือขึ้นดีหรืออย่างไร และพวกชาวบ้านสรรเสริญหรือติเตียนอย่างไร ด้วยมีสัญญาแก่พวกพนักงานที่ไปปลูกฝี ว่าเมื่อทำการเสร็จแล้วจะให้รางวัลตามลำดับเป็นชั้นกัน โดยความดีที่ได้ทำ คือจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีอย่างหนึ่ง ส่วนที่ปลูกฝีขึ้นงามอย่างหนึ่ง ได้รับความชมเชยของชาวบ้านอย่างหนึ่ง ผสมกันเป็นคะแนนตัดสิน

ปลูกฝีเป็นการพิเศษครั้งนั้น เป็นการสะดวกดีทั้ง ๔ ทาง มีปรากฏในรายงานประชุมเทศาภิบาล พ.ศ.๒๔๕๖ ว่าจำนวนคนที่ได้ปลูกฝีถึง ๗๘,๗๖๘ คน ทำได้โดยมิต้องตั้งข้อบังคับปรับไหมอย่างไร



ทำเซรุ่มแก้พิษหมาบ้า

เรื่องนี้มีกรณีเกิดขึ้นในครัวเรือนของตัวฉันเองเป็นมูลเหตุ ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ณ พระปฐมเจดีย์ ฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามเสด็จไปอยู่ที่เรือนบังกะโลที่พักของฉันตามเคย วันหนึ่งเวลาบ่าย พวกลูกเด็กๆ ลงไปเล่นกันอยู่ที่สนามหญ้าหน้าเรือน มีหมาบ้าตัวหนึ่งวิ่งเข้ามาในบ้าน พวกเด็กพากันวิ่งหนี แต่ลูกหญิงบรรลุศิริสาร (เรียกกันว่า หญิงเภา) หกล้มถูกหมาบ้ากัดเอาที่ขาเป็นรอยเขี้ยว ๒ แผล ตัวเองไม่รู้สึกเจ็บปวดเท่าใดนัก แต่พวกผู้ใหญ่ตกใจ ฉันก็สั่งให้เที่ยวสืบหาหมอที่ชำนาญการรักษาพิษหมาบ้าแต่ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ ตรัสแนะนำให้ฉันส่งไปรักษา ณ สถานปาสเตอร์ที่เมืองไซ่ง่อน ฉันก็เห็นชอบด้วยพระราชดำริ แต่ให้สืบถึงเรือที่จะรับไปได้ความว่าเรือเพิ่งออกไปเสียเมื่อวันก่อน จะต้องรอคอยเรืออีก ๑๕ วันจึงจะไปได้ ก็ต้องให้หมอซึ่งหามาได้คนหนึ่งรักษาตามวิธีไทย ให้กินยา ทายา รักษาไม่กี่วันแผลก็หาย ตัวเด็กก็สบาย แจ่มใสเหมือนแต่ก่อน จนเชื่อกันว่าหมอคนนั้นสามารถรักษาหายแล้ว เมื่อกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นปรกติดีมาสัก ๓ เดือน จนเกือบลืมเรื่องที่เธอถูกหมาบ้ากัด อยู่มาวันหนึ่งหญิงเภาตื่นนอนขึ้นเช้าตัวร้อน ก็สำคัญกันว่าเป็นไข้ ให้กินยาตามเคย แต่มีอาการแปลกอย่างหนึ่งในเวลาเมื่อเธอรับถ้วยยาหรือถ้วยน้ำจะกินมือสั่นทั้งสองข้าง ต่อเมื่อวางถ้วยแล้วมือจึงหายสั่น อาการเช่นนั้นทั้งตัวฉันและใครๆ ที่อยู่ด้วย ไม่มีใครเคยเห็น แต่ก็ยังไม่ตกใจ ด้วยอาการอย่างอื่นไม่ผิดกับไข้สามัญ ครั้นสายเข้าเวลาจะกินยาหรือกินน้ำ มือยิ่งสั่นหนักขึ้นจนถึงตัวสั่น ฉันก็แปลกใจ จึงให้รับหมอปัว (ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวช) มาดู พอหมอปัวเห็นอาการก็หน้าเสีย เรียกฉันไปนั่งด้วยกันให้ห่างคนอื่น แล้วบอกว่าเป็นโรคกลัวน้ำด้วยพิษหมาบ้า ไม่มีทางที่จะรักษาให้หายเสียแล้ว ฉันได้ฟังยังไม่อยากเชื่อ ด้วยเวลานั้นอาการคนไข้ทรุดลงเพียงต้องลงนอนยังพูดจาได้ แต่อาการที่ฉันไม่เคยเห็น เป็นกิริยาโรคกลัวน้ำตรงกับตำราฝรั่งอย่างหมอปัวว่าก็จนใจ ฉันบอกผู้อื่นเพียงว่าเป็นโรคเกิดจากพิษหมาบ้ากัด มิได้ให้ใครรู้ว่าจะไม่รอด เพราะเกรงจะเกิดโศกศัลย์พาให้คนไข้ใจเสีย เพิ่มทุกขเวทนาหนักขึ้น แต่อาการโรคทรุดเร็ว พอถึงเวลาดึกค่ำวันนั้นหญิงเภาก็สิ้นชีพ เจ็บอยู่ไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง แต่ไม่มีอาการเช่นเคยได้ยินเขาเล่ากัน ว่าคนจะตายด้วยพิษหมาบ้า มักร้องเป็นเสียงเห่าหอน หรือน้ำลายฟอดฟูมปากอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อหญิงเภาถูกหมาบ้ากัดที่พระปฐมเจดีย์ เป็นเวลาไปตามเสด็จ คนรู้กันมาก ครั้นเธอสิ้นชีพจึงมีคนสงสาร จนเป็นเรื่องโจษกันกันแพร่หลาย มีมิตรของฉันคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวหมอมาโนส์ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ทำหนองปลูกฝีดาษ มาพูดแก่ฉันว่าที่จริงหญิงเภาไม่ควรตาย เพราะหมอปาสเตอร์พบวิธีรักษาโรคกลัวน้ำได้แล้ว ถ้าหญิงเภาอยู่ในยุโรปหรือแม้เพียงอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน อันมีสถานปาสเตอร์ ก็จะรักษาหายได้โดยง่าย ที่ต้องตายเพราะไม่มียาในกรุงเทพฯ เท่านั้น เขาเห็นว่าถ้าหากฉันคิดตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่ลูกตายครั้งนั้น คงจะสำเร็จได้เพราะคนสงสารมีมาก คนที่หวาดหวั่นเกรงจะเป็นเช่นเดียวกันในครอบครัวของเขาก็มี และการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ก็ไม่ยากหรือจะต้องสิ้นเปลืองเท่าใดนัก ถ้าฉันบอกบุญเรี่ยไรในเวลานั้น คงจะได้เงินพอแก่การ ฉันเห็นชอบด้วย เพราะเมื่อฉันไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เคยไปดูสถานปาสเตอร์ที่เมืองปารีส ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่ช้านัก ตัวหมอปาสเตอร์เองเป็นผู้นำฉันเที่ยวดูทั่วทั้งสถาน และให้ดูวิธีทำเซรุ่มตั้งแต่เจาะหัวกระต่าย เอาพิษหมาบ้าฉีดลงในสมอง ให้พิษเกิดในตัวกระต่ายก่อน เมื่อกระต่ายตายด้วยพิษนั้นแล้ว เอาเอ็นในซากกระต่ายมาผสมยาทำเป็นเซรุ่ม และให้ฉีดยารักษาเด็กคนหนึ่งซึ่งถูกหมาบ้ากัดให้ฉันดู ฉันได้เคยเห็นแล้วดังว่ามา และตัวหมอมาโนส์เองก็ได้เคยไปศึกษาในปาสเตอร์สถานที่เมืองปารีส รู้วิธีทำเซรุ่มไม่ต้องหาใครมาใหม่ คิดดูการที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ในกรุงเทพฯ มีเพียงหาที่ตั้งอย่างหนึ่ง หาเครื่องใช้อย่างหนึ่ง ส่วนคนที่เป็นลูกมือทำการ ก็อาจจะใช้พวกทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษได้ ด้วยรวมการทำเซรุ่มทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ต้องเพิ่มเติมผู้คนขึ้นเท่าใดนัก ฉันจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไรเงินทุนที่จะตั้งสถานปาสเตอร์ที่ในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ศรัทธาช่วยกันมากทั้งไทยและพวกชาวต่างประเทศ ฉันได้อาศัยพระยามหาอำมาตย์ (เส็ง วิริยะศิริ) กับหมอมาโนส์เป็นกำลังในครั้งนั้น ในไม่ช้าก็ได้เงินพอแก่การ จึงตั้งปาสเตอร์สถานขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทยที่ริมโรงเลี้ยงเด็ก และย้ายสถานทำพันธุ์หนองปลูกฝีดาษ ณ พระปฐมเจดีย์เข้ารวมกัน เมื่อจัดการเตรียมพร้อมแล้ว ได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดสถานปาสเตอร์ (เวลานั้นเรียกว่า ปัสตุรสภา) เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาหมอมาโนส์เกิดอาการป่วยเจ็บต้องลาออก แต่ก็ได้หมอโรแบต์ฝรั่งเศสมาแทน ทรงคุณวุฒิและมีใจรักงานเช่นเดียวกับหมอมาโนส์ ก็อาจรักษาโรคพิษหมาบ้าสำเร็จประโยชน์ได้ในเมืองไทยแต่นั้นมา และสถานปาสเตอร์นั้น ต่อมาภายหลังโอนไปขึ้นอยู่ในสภากาชาด หมอโรแบต์ก็ย้ายตามไปทำการเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยลำดับมาจนขยายใหญ่โต เป็นสถานเสาวภาอยู่บัดนี้

ที่สถานเสาวภา มีรูปหม่อมเจ้าหญิงบรรลุศิริสาร อย่างปั้นครึ่งตัวหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่รูปหนึ่ง เป็นอนุสรณ์ซึ่งเธอเป็นมูลเหตุให้เกิดสถานปาสเตอร์ในเมืองไทย ฉันไปเห็นรูปนั้นเมื่อใด ก็นึกว่าเธอคงไปสู่สุคติภูมิ เพราะชีวิตของเธอช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ในเมืองไทยได้มาก



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มีนาคม 2567 14:31:20 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 28 มีนาคม 2567 14:33:01 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๓ เรื่องอนามัย (จบ)


โอสถศาลา

เมื่อคราวประชุมเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่ประชุมปรึกษาตกลงกัน ว่าจะตั้งโอสถศาลา (เวลานั้นเรียก โอสถสถาน) ขึ้นตามหัวเมือง ความคิดที่จะตั้งโอสถศาลานั้น ในบริเวณเมืองหนึ่งจะให้มีโอสถศาลาแห่งหนึ่ง มีเรือนที่อยู่ของหมอ มีห้องรักษาคนไข้ และมีร้านขายยาต่างๆ รวมอยู่ด้วยกัน สร้างด้วยเงินบอกบุญเรี่ยไร ให้หมอหลวงประจำเมืองเป็นผู้จัดการโอสถศาลานั้น และให้ได้ส่วนกำไรเป็นประโยชน์ของตนด้วยในการบางอย่างที่รัฐบาลอนุญาต

การรักษาไข้ที่โอสถศาลานั้น ให้หมอหลวงใช้เวลานอกหน้าที่ คือที่ต้องไปตรวจเรือนจำและรักษาข้าราชการเป็นต้น รับรักษาไข้เจ็บให้ราษฎรที่ไปยังโอสถศาลาแต่เวลา ๓ โมงเช้า (๙ นาฬิกา) จนเที่ยงวันทุกวัน แล้วแต่ใครจะขอให้ตรวจและรักษาโรค หรือรักษาบาดเจ็บและให้ปลูกฝี ให้หมอทำให้เป็นทาน

ยารักษาโรคต่างๆ นั้นให้เป็นของตัวหมอขายเอง รัฐบาลขายเชื่อยาโอสถศาลาให้หมอเพียงเท่าทุน และหมอจะหายาอื่นไปขายด้วยก็ได้ ให้หมอบอกบุญเรี่ยไรค่ายาสำหรับรักษาคนอนาถาด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การตั้งโอสถศาลาสำเร็จช้า ด้วยต้องบอกบุญเรี่ยไรหาทุนให้พอก่อนจึงตั้งได้ จะจัดได้กี่แห่งในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ฉันไม่ทราบแน่ จำได้แต่ที่พระปฐมเจดียแห่งหนึ่ง ก็สำเร็จประโยชน์ดี

การบำรุงอนามัยตามหัวเมืองที่ฉันได้เคยมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จำได้ตามที่เล่ามา ถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาได้ ๒๓ ปี ถอยกำลังลงทนงานไม่ไหว เกิดอาการป่วยเจ็บ ก็ต้องถวายเวนคืนตำแหน่ง เป็นสิ้นหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองหัวเมืองแต่เพียงนั้น.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 29 มีนาคม 2567 10:32:49 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองบ้านเมือง โปรดให้ตั้งกระทรวงเสนาบดี ซึ่งแต่ก่อนมีเพียง ๗ กระทรวง เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ กระทรวง และเปลี่ยนตัวเสนาบดีบางกระทรวง ตัวฉันก็โปรดให้ย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกระทรวงธรรมการ ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในคราวนั้น เสนาบดีต่างกระทรวงต่างจัดการในกระทรวงของตนให้เจริญทันสมัย การงานในกระทรวงต่างๆ มีมากขึ้น และทำละเอียดกว่าแต่ก่อน ทั้งมีการคิดจัดใหม่เพิ่มขึ้นเนืองๆ ต้องการคนรับราชการในกระทรวงต่างๆ มากขึ้น เสมียนตามกระทรวงซึ่งมีอยู่แต่ก่อนหย่อนความรู้ ไม่สามารถจะทำการงานตามระเบียบใหม่ได้ทันกับการที่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเจ้ากระทรวงจึงต้องแสวงหาคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ เช่นนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนต่างๆ มาเป็นเสมียน ต่อมาเมื่อเสมียนเหล่านั้นทำการงานดีมีความสามารถ เจ้ากระทรวงก็กราบบังคมทูลขอให้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นขุนนางมีตำแหน่งในกระทรวงตามคุณวุฒิ เป็นเช่นนั้นมาราวสัก ๕ ปี ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสปรารภแก่ฉัน ว่าขุนนางที่เป็นขึ้นใหม่ๆ ในชั้นนี้ไม่ใคร่ทรงรู้จัก แต่ก่อนมาลูกผู้ดีที่จะทำราชการย่อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ในเวลาเป็นมหาดเล็ก ได้เข้าเฝ้าแหนรับราชการอยู่ในราชสำนัก ทรงรู้จักแทบทุกคน บางคนก็ได้เป็นนายรองและหุ้มแพรรับราชการในกรมมหาดเล็กก่อน แล้วจึงไปเป็นขุนนางต่างกระทรวง ขุนนางที่ไม่ได้เคยเป็นมหาดเล็ก เช่นพวกที่ขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงมีน้อย แต่เดี๋ยวนี้ขุนนางขึ้นจากเป็นเสมียนตามกระทรวงเป็นพื้น ไม่เคยเป็นมหาดเล็กจึงไม่ทรงรู้จัก (บางทีกระทรวงมหาดไทยของฉันเอง จะเป็นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง ฉันต้องหาคนจำพวกนักเรียนส่งไปปีละมากๆ เมื่อคนเหล่านั้นคนไหนไปทำการงานดีมีความสามารถถึงขนาด ฉันก็กราบบังคมทูลขอให้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามธรรมเนียม จำนวนคนรับสัญญาบัตรขึ้นใหม่สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยมากกว่ากระทรวงอื่นๆ แต่ข้อนี้ฉันยังไม่ได้คิดเห็นในเวลานั้น) เมื่อได้ฟังพระราชปรารภแล้ว ฉันจึงมาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าประเพณีโบราณซึ่งให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเสียก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตากรุณาและไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการ เมื่อได้รู้จักและทราบพระราชอัธยาศัยพระเจ้าแผ่นดิน ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความจงรักภักดี และยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะมหาดเล็กได้เข้าสมาคมชั้นสูง มีโอกาสไปศึกษาขนบธรรมเนียมและฝึกหัดกิริยามารยาทกับทั้งได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนได้คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็กซึ่งจะไปรับราชการด้วยกัน มีโอกาสที่จะผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันหน้า ว่าโดยย่อเห็นว่าประเพณีที่เป็นประโยชน์อันน่าจะรักษาไว้ หาควรปล่อยให้สูญเสียไม่ เมื่อคิดต่อไปว่าจะคิดแก้ไขด้วยประการใดดี เห็นว่าจะกลับใช้ประเพณีเหมือนอย่างเดิมไม่เหมาะกับราชการในสมัยนั้น ซึ่งต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้การงานในกระทรวงเป็นสำคัญ เป็นแต่เพียงมหาดเล็ก จะรับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามกระทรวง ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้ ทางที่จะแก้ไขควรจะให้มีโรงเรียนขึ้นในกรมมหาดเล็ก ให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสให้เข้าเฝ้าแหนให้ทรงรู้จัก ทั้งให้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักไปด้วยกันกับความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ แล้วให้ไปสำรองราชการอยู่ตามกระทรวงเสียชั้นหนึ่งก่อน จนทำการงานได้ดีถึงขนาด จึงให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนาง ต่อชั้นนั้นก็จะเป็นประโยชน์ทั้งสองอย่างประกอบกัน ฉันกราบบังคมทูลความคิดเห็นเช่นว่ามา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย เดิมมีพระราชประสงค์จะให้ฉันจัดโรงเรียนนั้นเหมือนอย่างเคยจัด “โรงเรียนสวนกุหลาบ” มาในกระทรวงธรรมการ แต่ฉันกราบบังคมทูลขอตัว ด้วยเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กจะฝึกหัดข้าราชการพลเรือนทุกกระทรวง อธิบดีโรงเรียนอิสระต่างหากจากกระทรวงต่างๆ จะดีกว่า แต่จะต้องเป็นผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาความรู้ถึงผู้คนนับถือ จึงจะจัดการได้สะดวก เดิมพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) ซึ่งเพิ่งเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดแล้ว เป็นอธิบดีจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่พระองค์เจ้าระพีฯ กราบบังคมทูลว่าได้ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นสำคัญ สมัครรับราชการทางฝ่ายตุลาการก็พอเหมาะอีกทางหนึ่ง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการแก้ไขระเบียบศาลยุติธรรมอยู่ด้วยอีกอย่างหนึ่ง เวลานั้นกระทรวงยุติธรรมยังบัญชาการแต่ศาลในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถจะรับจัดการศาลยุติธรรมได้ทั่วพระราชอาณาเขต ศาลยุติธรรมตามหัวเมืองยังขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตามประเพณีเดิม ทรงพระราชดำริว่าจะรอการจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมือง ไว้จนกระทรวงยุติธรรมสามารถรับจัดศาลหัวเมืองได้ก็จะช้านัก จึงดำรัสสั่งให้ลงมือจัดการศาลยุติธรรมตามหัวเมืองด้วยอีกอย่างหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ฉันกราบทูลขอให้ตั้งต้นจัดแต่ในมณฑลอยุธยาดูก่อน จึงทรงตั้งข้าหลวงพิเศษสังกัดขึ้นในกระทรวงมหาดไทยคณะหนึ่ง ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าระพีพัฒนศักดิ์ เป็นนายก พระยาไกรศรี (เปล่ง) เนติบัณฑิตอังกฤษ กับมิสเตอร์ เกิก แปตริก เนติบัณฑิตเบลเยี่ยม (ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพระยาอภัยราชา โรลังยัคมินส) ทั้ง ๓ คนนี้ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ มีข้าหลวงพิเศษในท้องที่อีก ๒ คน คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (เมื่อยังเป็นกรมหมื่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑล กับพระยาชัยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพชร) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา รวมทั้งคณะ ๕ คน เริ่มจัดการศาลหัวเมืองในครั้งนั้น การที่ทรงตั้งข้าหลวงพิเศษจัดศาลยุติธรรมตามหัวเมืองครั้งนั้น เป็นมูลของระเบียบการศาลยุติธรรม ซึ่งใช้ต่อไปถึงที่อื่นๆ ในภายหลังตลอดมา

แต่การที่จะตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต้องรอหาตัวผู้ที่จะเป็นอธิบดีอยู่ปีหนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๔๔๒ เจ้าพระยาพระเสด็จ (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ในกรมทหารเล็กกลับจากยุโรป พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเหมาะแก่ตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก ด้วยเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเรียนวิชาความรู้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน และได้ไปเป็นพระครูของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี ในระหว่างนั้นตัวเองก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนั้นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้เคยรับราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย เข้าใจระเบียบราชการพลเรือนอยู่แล้ว และมีตำแหน่งในกรมมหาดเล็กด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็ก แต่โปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษา ตรัสว่าพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ก็เคยเป็นเลขานุการของฉันมาแต่ก่อน คงจะทำการด้วยกันได้ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์กับฉันปรึกษากันกะโครงการที่จะจัดโรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระเบียบการดังนี้ คือ

๑. จะรับนักเรียนอายุระหว่าง ๑๕ จนถึง ๒๐ ปี และเป็นผู้ดีโดยสกุลหรือโดยฐานะอันสมควรจะถวายตัวเป็นมหาดเล็กได้ ทั้งต้องให้มีความรู้เรียนมาแต่ที่อื่น ถึงชั้นมัธยมในสมัยนั้น

๒. จะมีนักเรียนจำกัดจำนวนเพียงเท่าที่กระทรวงต่างๆ ปรารถนาหาผู้มีความรู้เข้ารับราชการ ไม่รับนักเรียนมากเกินไปจนหางานทำไม่ได้ แต่จะกวดขันในการฝึกสอนให้มีความรู้ดีกว่านักเรียนที่กระทรวงต่างๆ จะหาได้ที่อื่นในสมัยนั้น

๓. หลักสูตรของโรงเรียนจะจัดเป็น ๓ ภาค กะเวลาเรียนราวภาคละปี ภาคที่หนึ่ง เมื่อก่อนนักเรียนจะถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ให้เรียนวิชาเสมียน อันเป็นความรู้เบื้องต้นของข้าราชการเหมือนกันทุกกระทรวง เมื่อเรียนภาคที่หนึ่งสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สองจึงให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ฝึกสอนขนบธรรมเนียมในราชสำนักด้วยกันกับความรู้พิเศษซึ่งต่างกระทรวงต้องการต่างกัน เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ถึงภาคที่สามให้ไปศึกษาราชการในกระทรวงซึ่งจะไปอยู่ แต่ยังคงเป็นมหาดเล็ก ไปจนมีความสามารถถึงขนาดที่กำหนดไว้ในกระทรวง ได้เป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตรในกระทรวงนั้นแล้ว จึงปลดขาดจากโรงเรียน นำโครงการนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วก็เปิดโรงเรียนมหาดเล็กที่ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรีทางฝ่ายตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น

เมื่อแรกตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก กำหนดจะรับนักเรียนเพียง ๕๐ คน พอเปิดโรงเรียนแล้วไม่ช้าก็มีคนสมัครเป็นนักเรียนพอต้องการ ส่วนการฝึกสอนในปีแรกสอนแต่ภาคที่หนึ่งคือวิชาเสมียน ให้ครูหัดเสมียนในกระทรวงมหาดไทยมาเป็นผู้สอน ขึ้นปีที่สองมีนักเรียนสอบความรู้สำเร็จ ๗ คน พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงเป็นครั้งแรก คือ:-

       ๑. นายขวัญ ณ ป้อมเพชร ภายหลังได้เป็น พระยาจงรักษ์นรสีห์
       ๒. นายเลื่อน ณ ป้อมเพชร  ภายหลังได้เป็น พระยาชวกิจบรรหาร
       ๓. นายสวัสดิ์ มหากายี       ภายหลังได้เป็น พระยานครพระราม
       ๔. นายทอง จันทรางสุ       ภายหลังได้เป็น พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์
       ๕. นายสว่าง จุลวิธูร     ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถศาสตรโสภณ
       ๖. นายสงวน สตรัต     ภายหลังได้เป็น พระยาอรรถกวีสุนทร
       ๗. นายเป้า จารุเสถียร     ภายหลังได้เป็น พระยาพายัพพิริยกิจ

นักเรียนที่ถวายตัวแล้วแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก และเวลามีการงานในราชสำนักเข้าเฝ้าแหนกับมหาดเล็กเสมอ ส่วนการฝึกสอนความรู้สำหรับราชสำนักอันเป็นภาคสองนั้น ได้พระยาชัยนันท์นิพัฒน์พงศ์ (เชย ชัยนันท์) เมื่อยังเป็นจ่ารงมหาดเล็ก เป็นครูเริ่มสอนในปีที่สอง แต่การสอนความรู้พิเศษซึ่งต้องการต่างกันเฉพาะกระทรวง มีความขัดข้องด้วยยังไม่รู้ว่ากระทรวงต่างๆ จะอยากได้นักเรียนมหาดเล็กมีความรู้อย่างใดบ้าง พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ วิตกว่าถ้าต่างกระทรวงกะความรู้พิเศษต่างๆ มาให้สอนพร้อมกันหมดทุกกระทรวง โรงเรียนก็จะไม่สามารถสอนให้ได้ ในปีที่สองของโรงเรียนนั้น อยากจะลองสอนความรู้พิเศษแต่สำหรับกระทรวงเดียวดูก่อน ฉันยอมให้ตั้งต้นด้วยกระทรวงมหาดไทย ให้ครูพร้อม วาจรัต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระภิรมย์ราชา เวลานั้นสอนนักเรียนอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นครูการปกครองในโรงเรียนมหาดเล็ก และคิดให้ว่าถ้านักเรียนภาคที่สอง คนไหนจะสมัครรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ให้เรียนแบบแผนการปกครองที่ในโรงเรียนเป็นภาคต้น แล้วฉันจะส่งออกไปอยู่กับสมุหเทศาภิบาลมณฑลใดมณฑลหนึ่ง เหมือนอย่างเป็นลูกศิษย์สำหรับใช้สอยในกิจการต่างๆ เพื่อให้รู้เห็นการปกครองในหัวเมืองว่าเป็นอย่างไร มีกำหนดให้ไปศึกษาอยู่ราว ๖ เดือน แล้วจึงให้เรียกกลับเข้ามาสอบความรู้ภาคที่สองในคราวเดียวด้วยกันทั้งความรู้สำหรับราชสำนักและความรู้พิเศษสำหรับกระทรวงมหาดไทย นักเรียนคนไหนสอบได้สำเร็จ การเรียนต่อไปในภาคที่สามซึ่งเรียนแต่เฉพาะราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจะให้เป็นตำแหน่งผู้ตรวจการ ออกไปฝึกหัดทำการปกครองอยู่ในหัวเมืองมณฑลละ ๒ คน จนได้รับตำแหน่งประจำราชการ กราบบังคมทูลก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้แก้ไขดังว่ามา

พอสิ้นปีที่สอง ได้นักเรียนออกไปเป็นผู้ตรวจการครั้งแรกดูเหมือน ๕ คน นักเรียนมหาดเล็กซึ่งออกไปเป็นผู้ตรวจการนั้นฉันให้เรียกตามแบบโบราณว่า “มหาดเล็กรายงาน” ยังสังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก และแต่งเครื่องแบบมหาดเล็ก เป็นแต่ออกไปรับราชการอยู่หัวเมือง ไปอยู่มณฑลไหน เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังมณฑลนั้น ต้องเข้าไปสมทบกับมหาดเล็กที่ตามเสด็จรับราชการในพระองค์ เช่นเชิญเครื่องราชูปโภค ตั้งเครื่องเสวย และถวายอยู่งานพัดเป็นต้น สังเกตดูพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาดเล็กรายงานที่ไหน ก็ทรงแสดงพระเมตตาปรานี มักทรงทักทายและตรัสเรียกใช้สอย ทรงไถ่ถามถึงการงานที่ไปทำเพื่อจะให้มีแก่ใจ เห็นได้ว่าพอพระราชหฤทัยที่ทรงเห็นผลของโรงเรียนมหาดเล็ก ว่าเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองได้ดังพระราชประสงค์ ส่วนการฝึกหัดมหาดเล็กรายงานนั้น ฉันสั่งให้สมุหเทศาภิบาลใช้ไปเที่ยวตรวจการงานต่างๆ ตามหัวเมืองในมณฑล เพื่อให้รู้จักภูมิลำเนาและผู้คนพลเมืองอย่างหนึ่ง ให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ ให้รู้วิธีปกครองติดต่อกับตัวราษฎรอย่างหนึ่ง มหาดเล็กรายงานได้เล่าเรียนและรับอบรมจากโรงเรียนมหาดเล็กมากแล้ว ไปเป็นตำแหน่งมหาดเล็กรายงานอยู่ไม่ช้ากว่าปี ก็ชำนาญกิจการถึงขนาดที่จะเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นรับสัญญาบัตร เช่นเป็นนายอำเภอเป็นต้นแทบทุกคน แต่เมื่อแรกเป็นตำแหน่งชั้นสัญญาบัตร เป็นแต่ปลดจากโรงเรียนมหาดเล็กไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่สักปีหนึ่งหรือสองปี จนปรากฏว่าทำการงานได้ดีมีความสามารถสมกับตำแหน่ง จึงได้รับสัญญาบัตรเป็นชั้น “ขุน” เป็นต้นไป

เล่าถึงเรื่องตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก มีความข้อหนึ่งซึ่งฉันควรจะกล่าวไว้ให้เป็นธรรม ตัวฉันเองเป็นแต่ต้นคิดกับเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำบ้าง แต่ส่วนที่จัดโรงเรียนได้ดังพระราชประสงค์ ควรนับเป็นความชอบของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ซึ่งพยายามจัดการมาแต่ต้นจนสำเร็จ น่าเสียดายแต่ที่พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กอยู่เพียง ๓ ปี ถึง พ.ศ.๒๔๔๖ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นพระยาวุฒิการบดี เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ท่านชำนาญแต่การฝ่ายคณะสงฆ์ กราบบังคมทูลขอให้ผู้ชำนาญการศึกษาเป็นผู้ช่วย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงก็ตั้งสำเร็จแล้ว พอจะหาผู้ทำการแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ต่อไปได้ แต่ทางกระทรวงธรรมการไม่ทรงเห็นตัวผู้อื่น จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ย้ายไปเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก อันเคยมีชื่อเสียงแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนและได้เคยไปศึกษาในยุโรป เป็นผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ การโรงเรียนมหาดเล็กก็เจริญมาโดยลำดับ มีจำนวนนักเรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มีผลไม่ตรงกับที่คาดไว้เดิมอย่างหนึ่ง ด้วยนักเรียนที่เรียนสำเร็จทุกภาคมักสมัครไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งนั้น ที่สมัครไปอยู่กระทรวงอื่นมีน้อย เป็นเช่นนั้นเพราะกระทรวงมหาดไทยมีตำแหน่ง “ผู้ตรวจการ” สำรองไว้ให้นักเรียนมหาดเล็กมณฑลละ ๒ คน รวมทุกมณฑลเป็น ๓๒ คน นักเรียนที่สมัครรับราชการกระทรวงมหาดไทย พอสำเร็จการเรียนก็ได้รับเงินเดือนเป็นตำแหน่งผู้ตรวจการทันที ไม่ต้องขวนขวายหาตำแหน่งแห่งที่ทำราชการ ยังมีเหตุอื่นอีกอย่างหนึ่งด้วยในสมัยนั้นกระทรวงมหาดไทยกำลังจัดการปกครองในหัวเมืองต่างๆ ต้องการคนมีความรู้ไปเป็นตำแหน่งกรมการตามหัวเมืองมาก นักเรียนมหาดเล็กที่ออกไปเป็นผู้ตรวจการ ได้ร่ำเรียนรับความอบรมดีกว่าบุคคลภายนอก ไปอยู่ไม่ช้าก็ได้เป็นกรมการชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่งผู้ตรวจการว่างบ่อยๆ แม้นักเรียนมหาดเล็กที่เรียนสำเร็จมีมากขึ้น ก็ยังไม่พอกับที่กระทรวงมหาดไทยต้องการ แต่กระทรวงอื่นยังไม่ใคร่มาหาคนที่โรงเรียนมหาดเล็ก โรงเรียนมหาดเล็กก็เหมือนฝึกหัดข้าราชการให้แต่กระทรวงมหาดไทย หรือว่าอีกอย่างหนึ่งโรงเรียนมหาดเล็กทำให้เกิดประโยชน์แต่ในการปกครองหัวเมือง เป็นเช่นนั้นมาสัก ๖ ปี ก็พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันเขียนนิทานนี้ลองสืบถามถึงนักเรียนมหาดเล็กครั้งรัชกาลที่ ๕ ที่ออกไปรับราชการ ได้รายชื่อผู้ที่ได้ดีถึงเป็นพระยาในรัชกาลภายหลังถึง ๓๐ คน

ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภถึงเงินที่ชาวเมืองไทย ได้เรี่ยไรกันสร้างพระบรมรูปทรงม้าถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช เมื่องานรัชมงคล มีจำนวนเงินเหลือจากที่สร้างพระบรมรูปอยู่กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ใคร่จะทรงสร้างส่ิงอนุสรณ์ซึ่งเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองตอบแทนชาวเมืองไทยด้วยเงินรายนั้น ทรงพระราชดำริว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงตั้งไว้ เป็นประโยชน์แก่การปกครองให้ชาวเมืองไทยอยู่เย็นเป็นสุข แต่ว่าประโยชน์ยังได้เพียงในการปกครองหัวเมือง ควรจะขยายประโยชน์ของโรงเรียนนั้นให้แพร่หลายไปถึงการอื่นๆ ในฝ่ายพลเรือนให้ทั่วกัน จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน พระราชทานเงินเหลือสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้ใช้เป็นทุน และพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ที่ตำบลปทุมวัน รวมทั้งตึกที่สร้างไว้เป็นวังซึ่งเรียกกันว่า “วังกลางทุ่ง” สำหรับใช้เป็นโรงเรียนด้วย พนักงานจัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนั้น โปรดให้มีกรรมการคณะหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดให้ตัวฉันเป็นนายก และสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์) พระยาศรีวรวงศ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน) พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล) รวม ๖ คนด้วยกันอำนวยการ ให้พระยาศรีวรวงศ์คงเป็นอธิบดีอยู่เหมือนอย่างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ได้ย้ายโรงเรียนจากพระบรมมหาราชวัง ไปอยู่ที่ “วังกลางทุ่ง” ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นต้นมา ต่อมาตัวฉันเกิดอาการป่วยเจ็บทุพพลภาพ ต้องกราบบังคมทูลขอเวนคืนตำแหน่งนายกกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็ป่วยถึงอสัญกรรมในหมู่นั้น เมื่อฉันออกจากตำแหน่งนายกกรรมการแล้ว ใน พ.ศ.๒๔๕๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ขยายการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นมหาวิทยาลัย มีนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยต่อมา เรื่องประวัติโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมีดังเล่ามานี้

เรื่องนี้ ฉันเขียนแต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ ได้พิมพ์ฝากไว้ในเรื่องประวัติพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) เห็นเป็นอย่างเดียวกับนิทานโบราณคดี จึงคัดเอามาพิมพ์ไว้ด้วยกัน
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 05 เมษายน 2567 15:40:05 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่

เมื่อฉันเป็นนายพล ผู้ช่วยบัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๐ จนถึง พ.ศ.๒๔๓๒ ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยเมื่อฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ จน พ.ศ.๒๔๕๘ มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ บางทีก็ต้องปราบปรามบ้าง แต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ได้ความรู้ในเรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มีมาในเมืองไทยแต่ก่อนๆ ในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง เลยอยากรู้เรื่องตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือพระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกกันว่า “ยี่กอฮง” นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันมาได้เห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอริง Mr. W.A. Pickering แปลจากภาษาจีนในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลเอเชียติค Journal of the Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๘ (พ.ศ ๒๔๒๑) เขาเล่าถึงเรื่องที่พวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูด้วย เป็นอันได้เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาแต่ก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้


(๒)
เหตุที่เกิดพวกอั้งยี่ในเมืองจีน

เมื่อพวกเม่งจูได้เมืองจีนไว้ในอำนาจ ตั้งราชวงศ์ไต้เชงครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ศ.๒๒๐๗ พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วอยู่ทางทิศตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักษาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าศึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงให้ออกประกาศว่าถ้าใครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้จะประทานทองเป็นบำเหน็จ ๑๐,๐๐๐ ตำลึง และจะให้ปกครองผู้คน ๑๐,๐๐๐ ครัวเป็นบริวาร ครั้งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งอยู่บนภูเขากุ้ยเล้ง แขวงเมืองเกี้ยนเล้งในแดนจีนฮกเกี้ยน มีหลวงจีนอยู่ด้วยกัน ๑๒๘ องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้าอาสารบพวกฮวน พระเจ้ากรุงจีนทรงยินดี แต่วิตกว่าหลวงจีนมีแต่ ๑๒๘ องค์ด้วยกัน พวกข้าศึกมีมากนัก จึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อเต็งกุนตัดคุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีน ไปรบข้าศึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมีชัยชนะฆ่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวัลตามประกาศ พวกหลวงจีนไม่รับยศศักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำศีลภาวนาอยู่อย่างเดิม รับแต่ทอง ๑๐,๐๐๐ ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามใจ แต่ส่วนเต็งกุนตัดขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนรบนั้น ได้รับบำเหน็จเป็นตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เคยชอบพอกันสนิทสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชิญหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันต่อไปในวันหน้า ก็ในเวลานั้นมีขุนนางกังฉิน ๒ คน เคยเป็นอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่าเมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากกรุงปักกิ่ง ได้ลอบกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ ดูผิดสังเกต สงสัยว่าเต็งกุนตัดจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีฤทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้เป็นกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชารี้พลมาก ถ้าได้ช่องก็จะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนในเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวฤทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูลยุยงมาอย่างนั้น จนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกษากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน ๒ คนนั้นเป็นข้าหลวง คนหนึ่งให้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเป็นทีว่าคุมของบำเหน็จไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งให้ไปยังวัดบนภูเขากุ้ยเล้ง ทำเป็นทีว่าคุมเครื่องราชพลี มีสุราบานและเสบียงอาหารเป็นต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพณี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่าเต็งกุนตัดคิดกบฏต้องโทษถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดฆ่าเสีย ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังภูเขากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยดีมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิษเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากระบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ้มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้นรู้ว่าเป็นสุราเจือยาพิษ ก็เอากระบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขณะนั้นพวกของข้าหลวงที่ล้อมอยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โทรมหมด พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ตายไปในไฟบ้าง ถูกพวกข้าหลวงฆ่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ ๕ องค์ ชื่อฉอองค์หนึ่ง บุงองค์หนึ่ง มะองค์หนึ่ง โอองค์หนึ่ง ลิองค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในแขวงเมืองโอ๊วก๊วงที่เต็งกุนตัดเคยเป็นแม่ทัพอยู่แต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่งหลวงจีน ๕ องค์นั้นลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกระถางธูปรูปสามขามีหูสองข้างใบหนึ่ง ลอยมาในน้ำกำลังมีควันธูปขึ้นไปในอากาศ นึกหลากใจจึงลงไปยกขึ้นมาบนบก พิจารณาดู เห็นมีตัวอักษรอยู่ที่ก้นกระถางธูปนั้น ๔ ตัวว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่ากำจัดเชงเสียกลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่าเทวดาฟ้าและดินจะสั่งให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากฏว่าให้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง ๕ ประจักษ์แจ้งแก่ใจดังนั้น จึงเอาหญ้าปักต่างธูปที่ในกระถางจุดบูชา แล้วกระทำสัตย์กันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สัญญากันแต่ก่อน ว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เอาบ้านเมืองคืนให้แก่ราชวงศ์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปฏิญาณกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรณ์มีอยู่ในก้นกระถางธูปด้วยก็พากันยินดียิ่งนัก แต่ในขณะนั้นเอง พวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึง จะเข้าล้อมจับพวกหลวงจีนจึงอุ้มกระถางธูปวิ่งหนีไป เผอิญในวันนั้นนางกู้ส่วยเอง เมียเต็งกุดตัดที่ถูกฆ่าตายพาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น ณ ที่ฝังศพเต็งกุนตัด ในเวลากำลังเซ่นอยู่ได้ยินเหมือนเสียงคน แลไปดูเห็นกระบี่เล่มหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารณาดูเห็นมีตัวอักษรจารึกที่กั่นกระบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่ามังกรสองตัวชิงดวงมุกดากัน และที่ตัวกระบี่ก็มีอักษรจารึกว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่าให้กำจัดราชวงศ์ไต้เชง คืนแผ่นดินให้ราชวงศ์ไต้เหม็ง ในเวลาที่กำลังพิจารณาตัวอักษรอยู่นั้น ได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกระบี่ที่ได้ใหม่พาพวกพ้องออกไปดู เห็นพวกข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง ๕ องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากระบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พรรคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับหลวงจีนต่างไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนให้กันฟัง ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันมาแต่เดิมและได้ถูกเนรคุณอย่างเดียวกัน นางจึงให้พวกหลวงจีนอาศัยอยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบแล้วจึงให้หลวงจีนทั้ง ๕ กลับไปอยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง ๕ นี้ได้นามว่า โหงว โจ๊ว แปลว่าบุรุษทั้ง ๕ ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้หลวงจีนทั้ง ๕ แน่ใจว่าเทวดาฟ้าดิน ให้คิดอ่านกู้บ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงศ์ไต้เชง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ร่วมคิด ได้พรรคพวกมากขึ้น แต่กิตติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ให้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง ๕ จึงต้องหนีจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหารเสือ ๕ คน เมื่อพูดจาสนทนากัน พวกนายโจรเลื่อมใส รับจะพาโจรบริวารของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปสำนักอยู่ที่ภูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่ามังกรเสือ ในเวลานั้นมีหลวงจีนอีกองค์หนึ่งชื่อตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เป็นขุนนางทำราชการอยู่ในกรุงปักกิ่ง อยู่มาสังเกตว่าราชวงศ์ไต้เชงปกครองบ้านเมืองไม่เป็นยุติธรรม เกิดท้อใจจึงลาออกจากราชการไปบวชเป็นหลวงจีน จำศีลศึกษาวิชาอาคมของลัทธิศาสนาเต๋า อยู่ ณ ถ้ำแป๊ะเฮาะตั่ง แปลว่านกกระสาเผือก จนมีผู้คนนับถือมาก วันหนึ่งลูกศิษย์ ๔ คนไปบอกข่าวว่าหลวงจีน ๕ องค์ได้ของวิเศษ คิดอ่านจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดีพาศิษย์ ๔ คนตามไปยังที่สำนักของหลวงจีน ๕ องค์ ณ ภูเขามังกรเสือ ขอสมัครเข้าเป็นพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ในพวกที่ไปสมัครนั้นยังมีคนสำคัญอีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อจูฮุ่งชัก เป็นราชนัดดาของพระเจ้าเซ่งจงในราชวงศ์ไต้เหม็ง อีกคนหนึ่งเป็นหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างสูงใหญ่มีกำลังวังชากล้าหาญมาก เมื่อรวบรวมพรรคพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงศ์ไต้เชงจึงประชุมกันทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยกเจ้าจูฮุ่งชักขึ้นเป็นรัชทายาทราชวงศ์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากเป็นอาจารย์ (จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเป็น “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ชายใหญ่” และเป็นตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ให้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่างๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งอยู่ที่ภูเขาฮ่งฮวง แปลว่าภูเขาหงส์ (จะเป็นแขวงเมืองไหนไม่ปรากฏ) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทหารที่ประจำเมืองนั้น รบกันครั้งแรกพวกกบฏมีชัยชนะตีกองทหารหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นอย่างแปลกประหลาด ด้วยในเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮีย ขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าล้มลงตัวจอมพลตกม้าตาย พวกกบฏก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เป็นอาจารย์ เห็นว่าเกิดเหตุอันมิบังควรผิดสังเกต ตรวจตำราดูก็รู้ว่าเป็นเพราะชะตาราชวงศ์ไต้เชงยังรุ่งเรือง ในตำราว่าศัตรูไม่สามารถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบฏว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปในเวลานั้นก็ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเป็นอย่างอื่น และให้พวกที่ทำสัตย์สาบานกันแล้วแยกย้ายกระจายกันไปอยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่างๆ และทุกๆ คนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นในตำบลที่ตนไปอยู่ หาพวกพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันให้มีมากแพร่หลาย พอถึงเวลาชะตาราชวงศ์ไต้เชงตก ให้พร้อมมือกันเข้าตีบ้านเมือง จึงจะกำจัดราชวงศ์ไต้เชงได้ พวกกบฏเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับให้เรียกชื่อว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ซาฮะ” แปลว่า “องค์สาม” คือฟ้าดินมนุษย์ และตั้งแบบแผนสมาคมทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิก ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า “อั้งยี่” ขึ้นในเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่าเสีย ถึงอย่างนั้นพวกสมาคม “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ก็ยังมีอยู่ในเมืองจีนสืบมา รัฐบาลทำลายล้างไม่หมดได้



(๓)
อั้งยี่ในแหลมมลายู

ในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าพวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นชาวเมืองชายทะเลภาคใต้ และอยู่ในพวกที่เป็นคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์ หามีใครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวหากินตามต่างประเทศไม่ และว่าพวกจีนที่ไปหากินตามต่างประเทศนั้น จีนต่างภาษามักชอบไปประเทศต่างกัน พวกจีนแต้จิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์ (ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์) มีพวกจีนอยู่ในแหลมมลายูเป็นอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งก็มี ในสมัยนั้นจีนที่มาเที่ยวหากินทางเมืองไทย และเมืองชวามลายู มาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวอยู่เป็นหลักแหล่งมาได้หญิงชาวเมืองเป็นเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงศ์เช่นนั้น มลายูเรียกผู้ชายว่า “บาบ๋า” เรียกผู้หญิงว่า “ยอหยา” ทางเมืองชวามลายู จีนผู้เป็นพ่อไม่พอใจจะให้ลูกถือศาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมให้ลูกทั้งชายหญิงเป็นจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้นจีนในเมืองชวามลายู จึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ “จีนนอก” ที่มาจากเมืองจีนอย่างหนึ่ง “จีนบาบ๋า” ที่เกิดขึ้นในท้องที่อย่างหนึ่ง มีอยู่เสมอ ผิดกันกับเมืองไทยเพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธศาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ชาย คงเป็นจีนตามอย่างพ่ออยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเป็นไทย แต่ลูกผู้หญิงเป็นไทยไปตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ในเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เป็นเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเป็นจีนประจำอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกตั้งสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่คือสมาคมลับที่เรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” หรือ “ซาฮะ” ขึ้นในเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกฤษรู้อยู่ว่าวัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงศ์ไต้เชง อันเป็นการในเมืองจีน ไม่เห็นว่ามีมูลอันใดจะมาตั้งอั้งยี่ในเมืองต่างประเทศ สืบถามได้ความว่าพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในเมืองมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงศ์ไต้เชง เป็นแต่เอาแบบแผนกระบวนสมาคม “เทียน ตี้ หวย” ในเมืองจีนมาตั้งขึ้น เพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่มาทำมาหากินทางเมืองมลายู มิให้ต้องตกยากหรือได้ความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดขี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่งปรากฏว่าพวกอั้งยี่มีแต่ในพวกจีนนอก แต่พวกจีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหล่งและพวกจีนบาบ๋าที่เกิดในแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกฤษเห็นว่าเป็นแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยให้มีอั้งยี่อยู่ไม่ห้ามปราม ครั้นจำเนียรกาลนานมา (ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์) เมื่อเศรษฐกิจในแหลมมลายูเจริญขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและที่ทำเรือกสวน ต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนในเมืองจีน มาเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เป็นอั้งยี่ก็มีมากขึ้น และจัดแยกกันเป็นหลายเหล่า จนเหลือกำลังผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีใครสมัครเป็นตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเป็นหลายกงสีเรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ “ยี่เฮีย” (แปลว่าพี่ที่สอง) เป็นหัวหน้าเป็นอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัฐบาลรำคาญ แต่จะบังคับให้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบาก ด้วยอาจจะเป็นเหตุให้พวกจีนในเมืองจีนหวาดหวั่น ไม่มารับจ้างเป็นกรรมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และพวกจีนกรรมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืนก็ต้องใช้กำลังปราบปราม กลายเป็นการใหญ่โตเกินกว่าเหตุ อีกประการหนึ่งเห็นว่าพวกอั้งยี่เป็นแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัฐบาลอย่างไรไม่ อังกฤษจึงตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เป็นสายกลาง คือถ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหนต้องมาขออนุญาตต่อรัฐบาล บอกชื่อผู้เป็นหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานสมาคมนั้น แต่นั้นมาพวกอั้งยี่สมาคมต่างๆ ก็ตั้งกงสีของสมาคม ณ ที่ต่างๆ แพร่หลาย โดยวิธี “รัฐบาลเลี้ยงอั้งยี่” เป็นประเพณีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษมาเล่า เพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า



(๔)
อั้งยี่แรกมีในเมืองไทย

ในหนังสือจดหมายเหตุของไทย ใช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัย แต่ความไม่ตรงกับที่จริงทั้งนั้น จึงจะแทรกคำอธิบายเรียกต่างๆ ลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งในเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า “เทียน ตี้ หวย” แปลว่า “ฟ้า ดิน มนุษย์” หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า “ซาฮะ” ตามภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “องค์สาม” เป็นนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเป็นหลายกงสีจึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่นว่า “งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่เหง งี่ฮก ตั้วกงสี ซิวลิกือ” เป็นต้น คำว่า “อั้งยี่” แปลว่า “หนังสือแดง” ก็เป็นแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น ยังมีชื่อสำหรับเรียกตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ในถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาษาฮกเกี้ยนว่า “ตั้วกอ” ตามภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ตั้วเฮีย” แปลว่า “พี่ใหญ่” ผู้ที่เป็นหัวหน้ากงสีเรียกว่า “ยี่กอ” หรือ “ยี่เฮีย” แปลว่า “พี่ที่สอง” ตัวนายรองลงมาเรียกว่า “สามกอ” หรือ “ซาเฮีย” แปลว่า “พี่ที่สาม” ในจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกเข้าสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า “ตั้วเฮีย” มาจนรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำ “ตั้วเฮีย” เรียก “อั้งยี่” ในนิทานนี้ฉันเรียกว่า อั้งยี่ มาแต่ต้นเพื่อให้สะดวกแก่ผู้อ่าน

อั้งยี่แรกมีขึ้นในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้น เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินในเมืองไทย ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเป็นปัจจัยให้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนถึงชั้นผู้ดีที่เป็นเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ในเมืองไทยมีกฎหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิให้ใครสูบฝิ่น หรือซื้อฝิ่นขายฝิ่น เมื่อปรากฏว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่นตามกฎหมายอย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นติดมีมากก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ เป็นเหตุให้คนลอบขายฝิ่น ขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกจีนคิดค้าฝิ่นด้วยตั้ง อั้งยี่ วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเลที่ไม่มีการตรวจตรา คอยรับฝิ่นจากเรือสำเภาที่มาจากเมืองจีน แล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับในหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเป็นรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพรรคพวกมากก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ว่า

เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ เกิดอั้งยี่ที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้นมา ๒ ปีถึง พ.ศ.๒๓๘๗ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นที่ในป่าแสมริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ ในระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ต่อสู้เจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับตัวหัวหน้าได้ อั้งยี่จึงสงบอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาอีก ๓ ปีถึง พ.ศ.๒๓๙๐ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่นออกไปจับเอง ถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ ๔๐๐ คน และจับตัวหัวหน้าได้ จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน ๕ พ.ศ.๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฏ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดเอาป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า ๓,๐๐๐ คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓



(๕)
อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดี เห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด ถือเฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่ง ว่าที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมือง มักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บอากร และถูกคนในพื้นเมืองรังแกได้ความเดือดร้อนไม่มีใครจะเกื้อหนุน จึงมักไปพึ่งอั้งยี่ ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยให้เลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรง มีคนนับถือมาก ตั้งเป็นเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยอุปการะและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบเงียบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีอั้งยี่เกิดขึ้นอีกด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องมาจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินตามต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่นเมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสาร และรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียกว่า “จีนใหม่” ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า “Sing Keh” แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เองหรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้ได้ค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบปีหนึ่งแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าวเลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้าอันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้น ด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีจีนในกรุงเทพฯ คิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมือง โดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้นและการนั้นได้กำไรงาม ก็เกิดแข่งกันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋จึงเลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก็เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่รัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆ หลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบายอย่าง “เลี้ยงอั้งยี่” ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่ในแดนอังกฤษจึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ต ให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์กันและกัน เป็นสาขาของกงสี “งี่หิน” พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี “ปูนเถ้าก๋ง” พวกหนึ่งมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มานายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกัน ด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองล้างแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ จึงโปรดให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุน ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชา ก็ให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่อเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ ว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวพวกหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คน เข้ามาสารภาพรับผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อย่างที่อังกฤษจัดตามเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทย มิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากตั้งเป็น “หัวหน้าต้นแซ่” สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวพวกของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆ กับกรรมการจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่เฮงหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่ และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามมิให้อั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 เมษายน 2567 15:41:44 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 05 เมษายน 2567 15:44:45 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่ (ต่อ)

(๖)
อั้งยี่ในเมืองไทยเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระเยาว์วัย พระชันษาเพียง ๑๖ ปี จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ๕ ปี

เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้จะเล่าแต่เรื่องเนื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัชกาล มีอั้งยี่พวกหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อสู้เจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วนที่ริมฝั่งสัมพันธวงศ์ ถึงสู้รบกันขึ้นที่ในสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราษฎรที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และทำท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ระงับด้วยใช้อุบายหลายอย่าง พิเคราะห์ดูน่าพิศวง

อย่างที่หนึ่งใช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี เมื่อจับได้ให้ส่งเข้ามากรุงเทพฯ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิต และเอาสมัครพรรคพวกทั้งหมดจำคุก ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

อีกอย่างหนึ่งใช้อุบายขู่ให้พวกอั้งยี่กลัว ด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัย ถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเป็นเด็กไว้ผมจุก เคยตามเสด็จไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้น บางวันก็ให้ทหารปืนใหญ่ปืนเล็ก ยิงปืนติดดินดำ เสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ให้ทำเป็นโครงค่ายมีหุ่นรูปคนอยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้นมีช้างรบอยู่ในกรุงเทพฯ สักสามสี่เชือก ตัวหนึ่งชื่อ พลายแก้ว เจ้าพระยายมราช (แก้ว) หัดที่เมืองนครราชสีมา กล้าหาญนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่ายก็สวนควันเข้าไปรื้อค่าย แทงรูปหุ่นที่รักษาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบอย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติศัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ก็กลัว ไม่ก่อเหตุอันใดได้จริง

อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกอย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้นมีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกสเข้ามาหากินในกรุงเทพฯ มากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ จึงเรียกกันว่า “พวกร่มธง” หมายความว่า “อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สับเย็ก” subject หมายความว่า “เป็นคนในของชาตินั้นๆ” ไม่ต้องอยู่ในอำนาจโรงศาล หรือในบังคับรัฐบาลของบ้านเมือง แม้กงสุลต่างประเทศช่วยห้ามมิให้จีนในร่มธงเป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง เพราะฉะนั้นพอเปลี่ยนรัชกาลได้ ๓ สัปดาห์ ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาโชฎึกฯ พุก) คนหนึ่ง หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์ (ฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกฯ) คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี (มลิ) คนหนึ่ง (เป็นชั้นลูกจีนทั้ง ๓ คน) เป็นผู้พิพากษา สำหรับชำระตัดสินคดีที่คู่ความเป็นจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา แต่ห้ามมิให้รับคดีที่คู่ความเป็นจีนแต่ฝ่ายเดียว หรือคดีที่เป็นความอาญาว่ากล่าวในศาลนั้น นอกจากตั้งศาลให้แบ่งเขตท้องที่อันมีจีนอยู่มาก เช่นในสำเพ็งเป็นหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้นทุกอำเภอ ตามหัวเมืองก็ให้ปลัดจีนมีอำนาจว่ากล่าวคดีจีน อำเภอที่มีจีนอยู่มากก็ตั้งหัวหน้าให้เป็นตำแหน่ง “กงสุลจีนในบังคับสยาม” สำหรับเป็นผู้อุปการะจีนอยู่ในอำเภอนั้นๆ

ส่วนการควบคุมพวกอั้งยี่นั้น สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ “เลี้ยงอั้งยี่” ที่ในแหลมมลายูมาใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าเก๋ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือเจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นพระยาเทพประชุน (ซึ่งเคยไปปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต) คนหนึ่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตระเวน (โปลิส) ในกรุงเทพฯ คนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางจีนเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารพระโต ณ วัดกัลยาณมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นมาเป็นคนรับใช้สอยของท่าน ให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเร็จประโยชน์ได้ดังประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อย เพราะใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” มาตลอดเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจในราชการแผ่นดิน



อั้งยี่กำเริบที่เมืองระนองและภูเก็ต

ถึงปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลที่ ๕ เกิดลำบากด้วยพวกจีนอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนอง และเมืองภูเก็ตกำเริบ คล้ายกับเป็นกบฏต้องปราบปรามเป็นการใหญ่โต แต่ว่าพวกอั้งยี่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เป็นสาขาของพวกอั้งยี่กงสี “งี่หิน” และ “กงสีปูนเถ้าก๋ง” ในแดนอังกฤษมาตั้งขึ้นในเมืองไทย ไม่ติดต่อกับพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ดังกล่าวมาในเรื่องปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑ นั้นแล้ว แต่ครั้งนั้นมาการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ตเจริญขึ้น มีพวกจีนกรรมกรเข้ามารับจ้างขุดขนดีบุกมากขึ้นเป็นลำดับมา จนที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกรรมกรกว่า ๓,๐๐๐ คน และที่เมืองภูเก็ตก็มีจำนวนจีนกรรมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราษฎรไทยที่อยู่ในตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกรรมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่อยู่ที่ไหน ทั้งพวกงี่หินและพวกปูนเถ้าก๋งต่างก็ไปตั้งกงสีอั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัฐบาลตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่อยู่ตามเหมืองแร่แทบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ นั้นเผอิญดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอให้ค่าจ้างกรรมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน

ปรากฏว่าเมื่อเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำถึงตรุษจีน พวกกรรมกรที่เป็นอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งพวกหนึ่ง ไปทวงเงินต่อนายเหมือง ขอให้ชำระหนี้สินให้สิ้นเชิงตามประเพณีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะให้ขอผ่อนผัด พวกกรรมกรจะเอาเงินให้จงได้ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกรรมกรฆ่าพวกนายเหมืองตาย ชะรอยผู้ตายจะเป็นตัวนายคนหนึ่ง พวกกรรมกรจึงตกใจ เกรงว่าจะถูกจับเอาไปลงโทษ ก็พากันถือเครื่องศัตราอาวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่าจะเดินบกข้ามภูเขาบรรทัด ไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวน เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปรกติ สงสัยว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย จะเอาตัวเข้ามาให้ไต่สวนที่เมือง ก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ ๘ คน คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทาง พวกจีนกรรมกรเป็นอันมาก พากันมากลุ้มรุมแทงฟันพวกชาวด่าน ชิงเอาพวกจีนที่ถูกจับไปได้หมด แล้วพวกจีนกรรมกรก็เลยเป็นกบฏ รวบรวมกันประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน ออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ฆ่าคนและเผาบ้านเรือนในเมืองระนอง พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปราม ก็ได้แต่รักษาบริเวณศาลากลางอันเป็นสำนักรัฐบาลไว้ พวกจีนกบฏจะตีเอาเงินที่ในคลังไม่ได้ ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทะเลบรรดามีที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบรรทุกลงในเรือ แล้วก็พากันลงเรือแล่นหนีไปทางทะเลประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ ก็พากันไปทางบก หนีไปยังที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวนประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเป็นกบฏก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเป็นกบฏแต่พวกปูนเถ้าก๋งหนีไปหมดแล้ว พวกงี่หินที่ยังอยู่ก็หาได้เป็นกบฏไม่

แต่ที่เมืองภูเก็ตมีจีนกรรมกรหลายหมื่น จำนวนมากกว่าเมืองระนองหลายเท่า และพวกจีนก็มีเหตุเดือดร้อนด้วยดีบุกตกราคา เช่นเดียวกันกับเมืองระนอง ทั้งยังมีเหตุอื่นนอกจากนั้น ด้วยพวกอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งสงสัยว่าเจ้าเมืองลำเอียง เข้ากับพวกงี่หิน มีความแค้นเคืองอยู่บ้างแล้ว พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาทางเรือจากเมืองระนอง มาถึงเมืองภูเก็ต แยกย้ายกันไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามโรงกงสีอั้งยี่พวกของตน ตามตำบลต่างๆ ไปเล่าว่าเกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุทธภัณฑ์ไม่มีพอมือจึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่างๆ ชักชวนพวกอั้งยี่ในกงสีของตนให้รวมกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิให้หัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้ แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน เวลานั้นพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงอยู่ ณ เมืองภูเก็ต มีเรือรบ ๒ ลำกับโปลิสสำหรับรักษาสำนักรัฐบาลประมาณ ๑๐๐ คนเป็นกำลัง ส่วนการปกครองเมืองภูเก็ตนั้น พระยาวิชิตสงคราม (ทัด) ซึ่งเป็นพระยาภูเก็ตอยู่จนแก่ชราจึงเลื่อนขึ้นเป็นจางวาง แต่ก็ยังว่าราชการและผูกภาษีผลประโยชน์เมืองภูเก็ตอยู่อย่างแต่ก่อน เป็นผู้ที่พวกจีนกรรมกรเกลียดชังว่าเก็บภาษีให้เดือดร้อน แต่หามีใครคาดว่าพวกจีนกรรมกรจะกำเริบไม่

แต่แรกเกิดเหตุเมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ เวลาบ่ายวันนั้นกะลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบก ไปเมาสุรา เกิดทะเลาะกับพวกจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต แต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกะลาสีพวกนั้นกลับลงไปเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำมีกะลาสีพวกอื่น ๒ คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็นก็กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิสไประงับวิวาท จับได้จีนที่ตีกะลาสี ๒ คนเอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ในไม่ช้าก็มีจีนพวกใหญ่ประมาณ ๓๐๐ คน ซึ่งรวบรวมกันอยู่ในตลาด ถือเครื่องศัสตราอาวุธพากันไปรื้อโรงโปลิส แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ในเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ฆ่าฟัน พวกไทยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าจีนก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ที ก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัฐบาล และบ้านพระยาวิชิตสงคราม เป็นการกบฏออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้ แต่พระยามนตรีฯ ไม่หนี ตั้งต่อสู้อยู่ในบริเวณสำนักรัฐบาล และรักษาบ้านพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งอยู่ติดต่อกันไว้ด้วย ให้เรียกไทยบรรดามีในบริเวณศาลารัฐบาล และถอดคนโทษที่ในเรือนจำออกมาสมทบกับโปลิสซึ่งมีอยู่ ๑๐๐ คน แล้วได้ทหารเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก ๑๐๐ คน รายกันรักษาทางที่พวกจีนจะเข้าได้และเอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง แล้วให้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งอยู่ในเมือง เข้ามาประชุมกันที่ศาลารัฐบาลในค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้ส่งกำลังมาช่วย และมีหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่เมืองปีนังบอกข่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ และมีจดหมายบอกอังกฤษเจ้าเมืองปีนังให้กักเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ อย่าให้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต ให้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือใบไปยังเมืองปีนัง และที่อื่นๆ ตามสามารถจะไปได้ ในค่ำวันนั้นจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ พากันเข้าไปยังศาลารัฐบาลตามคำสั่งโดยมาก และรับจะช่วยรัฐบาลตามแต่พระยามนตรีฯ จะสั่งให้ทำประการใด พระยามนตรีฯ จึงสั่งให้พวกหัวหน้าเขียน “ตั๋ว” ออกไปถึงพวกแซ่ของตนที่มากับพวกผู้ร้าย สั่งให้กลับไปที่อยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไรพวกหัวหน้าต้นแซ่จะช่วยแก้ไขให้โดยดี ก็มีพวกกรรมกรเชื่อฟัง พากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเป็นกบฏอยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีศาลารัฐบาล พระยามนตรีฯ จึงจัดให้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัว ตั้งเป็นกองตระเวนคอยห้ามปรามอยู่เป็นแห่งๆ ที่ในเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบฏที่มีหัวหน้าโจกชักนำ ไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่ เมื่อเห็นว่าจะตีศาลารัฐบาลไม่ได้ ก็คุมกันเป็นพวกๆ แยกกันไปเที่ยวปล้นทรัพย์เผาเรือนพวกชาวเมือง ต่อออกไปถึงตามบ้านนอก ราษฎรน้อยกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด ก็เกิดเป็นจลาจลทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียว ชาวบ้านได้สมภารวัดฉลองเป็นหัวหน้า อาจต่อสู้ชนะพวกจีน (ดังได้เล่ามาในนิทานที่ ๒ เรื่องพระครูวัดฉลอง) แม้พระยามนตรีฯ ก็มีกำลังเพียงจะรักษาศาลารัฐบาล ยังไม่สามารถจะไปปราบพวกจีนกบฏตามบ้านนอกได้

เมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯ ได้รับโทรเลขว่าได้เกิดกบฏที่เมืองภูเก็ต จึงโปรดให้พระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค) เมื่อยังเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาการปราบอั้งยี่ได้สิทธิขาด (เพราะพระยามนตรีฯ เป็นลูกเขยพระยาวิชิตสงคราม เกรงจะบังคับการไม่ได้เด็ดขาด ต่อภายหลังจึงทราบว่า เพราะพระยามนตรีฯ ต่อสู้ จึงไม่เสียเมืองภูเก็ต) คุมเรือรบกับทหารและเครื่องศัสตราอาวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมออกไป พระยาประภาฯ ไปถึงเมืองภูเก็ต ก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักษ์ใต้เข้าเป็นกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ใกล้เคียงไปประชุมปรึกษากัน ให้ประกาศว่าจะเอาโทษแต่พวกที่ฆ่าคนและปล้นสะดม พวกกรรมกรที่มิได้ประพฤติร้ายเช่นนั้น ถ้าลุแก่โทษต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดี จะไม่เอาโทษ พวกจีนที่เป็นแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้าลุแก่โทษโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ได้ประพฤติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองในแดนอังกฤษ การจลาจลที่เมืองภูเก็ตก็สงบ

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ ให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ชาย บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาประภากรวงศ์ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง ๒ คน พวกกรมการที่ได้ช่วยรักษาเมืองภูเก็ตนั้น ก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เลื่อนบรรดาศักดิ์บ้าง ตามควรแก่ความชอบ ที่เป็นแต่หัวหน้าต้นแซ่ซึ่งได้ช่วยราชการครั้งนั้น โปรดให้สร้างเหรียญติดอกเป็นเครื่องหมายความชอบ (ซึ่งมาเปลี่ยนเป็นเหรียญดุษฎีมาลาเมื่อภายหลัง) พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบทุกคน แต่นั้นพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตก็ราบคาบ



เรื่องอั้งยี่งี่หินหัวควาย

เมื่อระงับอั้งยี่ที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นกบฏขึ้นเมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ เรียบร้อยแล้ว ต่อมาอีก ๙ ปีถึงปีระกา พ.ศ.๒๔๒๘ เกิดอั้งยี่กำเริบขึ้นตามหัวเมืองในแหลมมลายูอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอย่างแปลกประหลาดผิดกับที่เคยมีมาแต่ก่อน ด้วยพวกอั้งยี่ล้วนเป็นไทยเอาไปอย่างจีนมาตั้งอั้งยี่ขึ้น เรียกพวกตัวเองว่า “งี่หินหัวควาย” แต่ในทางราชการใช้ราชาศัพท์เรียกว่า “งี่หินศีรษะกระบือ” หัวหน้ามักเป็นพระภิกษุซึ่งเป็นสมภารอยู่ตามวัด เอาวัดเป็นกงสีที่ประชุม จะมีขึ้นที่เมืองไหนก่อนไม่ทราบแน่ แล้วผู้ต้นคิดแต่งพรรคพวกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คน คือสมภารตามวัดโดยเฉพาะให้ตั้งอั้งยี่งี่หินหัวควายขึ้นตามเมืองต่างๆ ทางเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองปทิว เมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา ลงไปจนถึงเมืองกาญจนดิษฐ์ ทางเมืองฝ่ายตะวันตกก็เกิดขึ้นที่เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองคิรีรัตนนิคม และเมืองถลาง ก็แต่ธรรมดาของการตั้งอั้งยี่ เหมาะแต่เฉพาะกับจีน เพราะเป็นชาวต่างประเทศมาหากินอยู่ต่างด้าว จึงรวมเป็นพวกเพื่อป้องกันตัวมิให้พวกชาวเมืองข่มเหงอย่างหนึ่ง เพราะพวกจีนมาหากินด้วยเป็นกรรมกร อาศัยเลี้ยงชีพแต่ด้วยค่าจ้างที่ได้จากค่าแรงงาน จึงรวมกันเป็นพวกเพื่อจะมิให้แย่งงานกันทำ และมิให้ผู้จ้างเอาเปรียบลดค่าจ้างโดยอุบายต่างๆ ตลอดจนสงเคราะห์กันในเวลาต้องตกยาก พวกจีนชั้นเลวจึงเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนที่จะเข้าเป็นอั้งยี่ แต่ไทยเป็นชาวเมืองนั้นเอง ต่างมีถิ่นฐานทำการงานเลี้ยงชีพได้โดยอิสระลำพังตน ไม่มีกรณีที่ต้องเกรงภัยเหมือนอย่างพวกจีนกรรมกร การที่ตั้งอั้งยี่เป็นแต่พวกคนพาล ที่เป็นหัวหน้าประสงค์ลวงเอาเงินค่าธรรมเนียม โดยอ้างว่าถ้าเข้าเป็นอั้งยี่ จะเป็นประโยชน์แก่ตนอย่างนั้นๆ ครั้นรวมกันตั้งเป็นอั้งยี่ ไม่มีกรณีอันเป็นกิจการของสมาคมอย่างพวกจีน พวกหัวโจกก็ชักชวนให้พวกอั้งยี่แสวงหาผลประโยชน์ ด้วยทำเงินแดงบ้าง ด้วยคุมกันเที่ยวปล้นสะดมชาวบ้านเอาทรัพย์สินบ้าง พวกงี่หินหัวควายมีขึ้นที่ไหนพวกชาวเมืองก็ได้ความเดือดร้อนเช่นเดียวกับเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม แต่การปราบปรามก็ไม่ยาก เพราะมีแต่แห่งละเล็กละน้อย ชาวเมืองก็พากันเกลียดชังพวกงี่หินหัวควาย คอยช่วยรัฐบาลอยู่ทุกเมือง ครั้งนั้นโปรดให้พระยาสุริยภักดี (ตัวชื่ออะไร และภายหลังจะได้มียศศักดิ์เป็นอย่างไร สืบยังไม่ได้ความ) เป็นข้าหลวงลงไปชำระทางหัวเมืองปักษ์ใต้ ให้ข้าหลวงประจำภูเก็ต ชำระทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ให้จับแต่ตัวหัวหน้านายโจกและที่ได้กระทำโจรกรรม ส่งเข้ามาลงพระราชอาญาในกรุงเทพฯ พวกที่เป็นแต่เข้าเป็นอั้งยี่ ให้เรียกประกันทานบนแล้วปล่อยไป ในไม่ช้าก็สงบเงียบเรียบร้อย ถ้าไม่เขียนเล่าไว้ในที่นี้ก็เห็นจะไม่มีใครรู้ว่าเคยมีอั้งยี่ “งี่หินหัวควาย”


อั้งยี่ในกรุงเทพฯ เปลี่ยนขบวน

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ท่านยังดูแลควบคุมพวกอั้งยี่ต่อมาจนตลอดอายุของท่าน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๕ การควบคุมพวกอั้งยี่ตกมาเป็นหน้าที่ของกระทรวงนครบาล ตั้งแต่กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นเสนาบดีสืบมา จนถึงกรมพระนเรศรวรฤทธิ์เป็นนายกกรรมการบัญชาการกระทรวงนครบาล ก็ยังคงใช้วิธีเลี้ยงอั้งยี่อยู่อย่างเดิม แต่ผิดกันกับแต่ก่อนเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาฯ คนยำเกรงทั่วไปทั้งแผ่นดิน แต่เสนาบดีกระทรวงนครบาลมีอำนาจเพียงในกรุงเทพฯ บางทีจะเป็นเพราะเหตุนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว พวกอั้งยี่จึงคิดวิธีหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งทั้งที่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมือง คือนายอั้งยี่บางคนเข้ารับประมูลเก็บภาษีอากร ถ้าประมูลสู้คนอื่นไม่ได้ ก็ให้พวกอั้งยี่ของตนที่มีอยู่ในแขวงที่ประมูลนั้นคอยรังแกพวกเจ้าภาษี มิให้เก็บอากรได้สะดวกจนต้องขาดทุน เมื่อถึงคราวประมูลหน้าจะได้ไม่กล้าแย่งประมูลแข่งตัวนายอั้งยี่ เมื่อเกิดอุบายขึ้นอย่างนั้นคนอื่นก็เอาอย่าง มักเป็นเหตุให้เกิดอั้งยี่ต่างพวกก่อการวิวาทขึ้นตามหัวเมือง หรือใช้กำลังขัดขวางเจ้าภาษี บางทีถึงรัฐบาลต้องปราบปราม ยกตัวอย่างดังเช่นพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ไม่ห่างกับสถานีรถไฟสายใต้ที่บางตาลนัก แต่สมัยนั้นยังเป็นป่าเปลี่ยว ชายแดนจังหวัดราชบุรีต่อกับจังหวัดนครปฐม ขุดคูทำเชิงเทินเหมือนอย่างตั้งค่าย พวกเจ้าภาษีไปจับ ถูกพวกอั้งยี่ยิงต่อสู้จนต้องหนีกลับมา แต่เมื่อรัฐบาลให้ทหารเอาปืนใหญ่ออกไป พวกอั้งยี่ก็หนีหมดไม่ต่อสู้ แต่พวกจีนเจ้าภาษี เขาคิดอุบายแก้ไขโดยใช้วิธีอย่างจีน บางคนจะผูกภาษีที่ไหนที่มีอั้งยี่มาก เขาชวนหัวหน้าให้เข้าหุ้นโดยมิต้องลงทุน บางแห่งก็ให้สินบนแก่หัวหน้าอั้งยี่ในท้องถิ่น รักษาความสงบมาได้


(๗)
ปราบอั้งยี่เมื่อรัชกาลที่ ๕

ถึง พ.ศ.๒๔๓๒ พวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก่อเหตุใหญ่อย่างไม่เคยมีเหมือนมาแต่ก่อน ด้วยถึงสมัยนั้นมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ๆ ตั้งขึ้นหลายโรง เรือกำปั่นไฟก็มีมารับสินค้ามากขึ้น เป็นเหตุให้มีจีนใหม่เข้ามามากกว่าแต่ก่อน พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินในเมืองไทยสมัยนี้ มีทั้งจีนแต้จิ๋วมาจากเมืองซัวเถา และจีนฮกเกี้ยนมาจากเมืองเอ้หมึง จีนสองพวกนี้พูดภาษาต่างกัน และถือว่าชาติภูมิต่างกัน แม้มีพวกเถ้าเก๋รับจีนใหม่อยู่อย่างแต่ก่อน พวกจีนใหม่ต่างถือกันว่าเป็นพวกเขาพวกเรา พวกแต้จิ๋วทำงานอยู่ที่ไหนมาก ก็คอยเกียดกันรังแกพวกฮกเกี้ยนมิให้เข้าไปแทรกแซงแย่งงาน พวกฮกเกี้ยนก็ทำเช่นนั้นบ้าง จึงเกิดเกลียดชังกัน ไปประชันหน้ากันที่ไหนก็มักเกิดชกตีวิวาทในระหว่างกรรมกรจีนแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนเนืองๆ เลยเป็นปัจจัยให้อั้งยี่รวมกันเป็นพวกใหญ่แต่ ๒ พวก เรียกว่า “ตั้วกงสี” ของจีนแต้จิ๋วพวกหนึ่ง เรียกว่า “ซิวลี่กือ” ของจีนฮกเกี้ยนพวกหนึ่ง ต่างประสงค์จะแย่งงานกันและกัน กระทรวงนครบาลยังใช้วิธี “เลี้ยงอั้งยี่” อยู่อย่างแต่ก่อน ถ้าเกิดเหตุอั้งยี่ตีกันก็สั่งให้นายอั้งยี่ไปว่ากล่าว แต่แรกก็สงบไปเป็นพักๆ แต่เกิดมีตัวหัวโจกขึ้นในอั้งยี่ทั้งสองพวก เป็นผู้หญิงก็มี หาค่าจ้างในการช่วยอั้งยี่แย่งงาน และช่วยหากำลังให้ในเวลาเมื่อเกิดวิวาทกัน พวกอั้งยี่ก็ไม่เชื่อฟังนายเหมือนแต่ก่อน แม้พวกนายอั้งยี่ก็ไม่ยำเกรงกระทรวงนครบาลเหมือนเคยกลัวสมเด็จเจ้าพระยาฯ พวกอั้งยี่จึงตีรันฟันแทงกันบ่อยขึ้น จนถึงรบกันในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๒

ในสมัยนั้น (ค.ศ.๑๘๘๙) มีหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ Bangkok Times ออกเสมอทุกวันแล้ว เมื่อเขียนนิทานนี้ ฉันตรวจเรื่องปราบอั้งยี่ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ประกอบกับความทรงจำของฉัน ได้ความว่าเมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๒ พวกอั้งยี่รวมผู้คนเตรียมการที่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ กระทรวงนครบาลเรียกพวกตัวนายหัวหน้าอั้งยี่ไปสั่งให้ห้ามปราม แต่อั้งยี่มีหัวโจกหนุนหลังอยู่ก็ไม่ฟังพวกนายห้าม พอถึงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พวกอั้งยี่ก็ลงมือเที่ยวรื้อสังกะสีมุงหลังคา และเก็บขนโต๊ะตู้หีบปัดตามโรงร้านบ้านเรือนของราษฎรที่ริมถนนเจริญกรุง ตอนใต้วัดยานนาวา เอาไปทำค่ายบังตัวขวางถนนเจริญกรุงทั้ง ๒ ข้าง เอาท้องถนนตรงหลังโรงสีของห้างวินเซอร์ ซึ่งเรียกกันว่าโรงสีปล่องเหลี่ยมเป็นสนามรบ พวกเจ้าของโรงสีทั้งที่เป็นฝรั่งและจีน ห้ามพวกอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรของตนก็ไม่ฟัง พลตระเวนห้ามก็ไม่หยุด กองตระเวนเห็นจีนมากเหลือกำลังที่จะจับกุม ก็ต้องถอยออกไปรักษาอยู่เพียงภายนอกแนวที่วิวาท ท้องที่ถนนเจริญกรุงตั้งแต่ตลาดบางรักลงไป ก็ตกอยู่แก่อั้งยี่ทั้ง ๒ พวก เริ่มขว้างปาตีรันกันแต่เวลาบ่าย พอค่ำลงก็เอาปืนออกยิงกันตลอดคืน ถึงวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน โรงสีและตลาดยี่สานการค้าขายแต่บางรักลงไปต้องหยุดหมด และมีกิตติศัพท์ว่าพวกอั้งยี่จะเผาโรงสีที่พวกศัตรูอาศัย เจ้าของโรงสีก็พากันตกใจ ที่เป็นโรงสีของฝรั่งไล่จีนออกหมดแล้วปิดประตูบริเวณ ชวนพวกฝรั่งถืออาวุธไปช่วยกันล้อมวงรักษาโรงสี แต่โรงสีที่เจ้าของเป็นจีนไม่กล้าไล่พวกกุลี เป็นแต่ให้ปิดโรงสีไว้ พวกอั้งยี่ยังรบกันต่อมาในวันที่ ๒๐ ถึงตอนบ่ายวันนั้นกระทรวงนครบาลให้ข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวง คุมพลตระเวนลงไปกองหนึ่ง เพื่อจะห้ามวิวาท แต่พวกอั้งยี่มากกว่า ๑,๐๐๐ กำลังเลือดร้อนรบพุ่งกันไม่อ่อนน้อม ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ หนังสือพิมพ์ว่าพวกอั้งยี่รบกัน ๒ วัน ยิงกันตายสัก ๒๐ คน ถูกบาดเจ็บกว่า ๑๐๐ เอาคนเจ็บไปฝากตามบ้านฝรั่งที่อยู่ในแถวนั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ทหารก็ลงไปปราบ

เพราะเหตุใด ทหารจึงลงไปปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น ควรจะเล่าถึงประวัติทางฝ่ายทหารที่ปราบอั้งยี่เป็นครั้งแรกไว้ด้วย แต่เดิมทหารบกแยกการบังคับบัญชาเป็นกรมๆ ต่างขึ้นตรงต่อพระองค์พระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันทั้งนั้น ทหารเรือก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ โปรดให้ตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น และรวมการบังคับบัญชาทหารบกทุกกรมกับทั้งทหารเรือ ให้ขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการ เมื่อได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่จะตีกันเป็นขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวตรัสแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อยังเป็นกรมพระ (จะเรียกต่อไปตามสะดวกอย่างเรียกในรัชกาลที่ ๗ ว่า สมเด็จพระราชปิตุลา) ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ว่าถ้ากระทรวงนครบาลไม่สามารถจะระงับได้ จะต้องให้ทหารปราบ กรมยุทธนาธิการมีเวลาเตรียมตัว ๒ วัน คณะบัญชาการมีสมเด็จพระราชปิตุลาเป็นนายพลเอกผู้บัญชาการพระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อยังเป็นกรมขุน เป็นนายพลตรีจเรกรมยุทธนาธิการพระองค์หนึ่ง ตัวฉันเมื่อยังเป็นกรมหมื่น เป็นนายพลตรีผู้ช่วยบัญชาการทหารบกคนหนึ่ง นายพลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธิน รักษาการแทนนายพลเรือตรี พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ผู้ช่วยบัญชาการทหารเรือซึ่งเสด็จไปยุโรปคนหนึ่ง ประชุมปรึกษาการที่จะปราบอั้งยี่ เห็นพร้อมกันว่าจะปราบได้ไม่ยากนัก เพราะพวกอั้งยี่ถึงมีมาก ก็ไม่มีศัสตราวุธซึ่งสามารถจะสู้ทหาร อีกประการหนึ่ง อั้งยี่ตั้งรบอยู่ในถนนเจริญกรุงเป็นที่แคบ ข้างตะวันตกติดแม่น้ำ ข้างตะวันออกก็เป็นท้องนา ถ้าให้ทหารยกลงไปทางบกตามถนนเจริญกรุงกองหนึ่ง ให้ลงเรือไปขึ้นบนข้างใต้ที่รบยกขึ้นมาถนนเจริญกรุงอีกกองหนึ่ง จู่เข้าข้างหลังที่รบพร้อมกันทั้งข้างเหนือและข้างใต้ ก็คงล้อมพวกอั้งยี่ได้โดยง่าย แต่การที่จะจับพวกอั้งยี่นั้นมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจะให้ทหารทำการเข้าขบวนรบ ถ้าไปทำแรงเกินไปหรืออ่อนเกินไป ก็จะเสียชื่อทหารทั้งสองสถาน จะต้องระวังในข้อนี้ มีคำสั่งให้ทหารเข้าใจทุกคนว่าต้องจับแต่โดยละม่อม ต่ออั้งยี่คนใดสู้หรือไม่ยอมให้จับ จึงให้ใช้อาวุธ อีกประการหนึ่งจะต้องเลือกตัวหัวหน้าที่จะคุมทหาร ให้วางใจว่าจะทำการสำเร็จได้ แล้วปรึกษาเลือกกรมทหารที่จะให้ลงไปปราบอั้งยี่ด้วย ในเวลานั้นทหารมหาดเล็กกับทหารเรือถือปืนอย่างดีกว่ากรมอื่น จึงกะให้ทหารมหาดเล็กเป็นกองหน้าสำหรับจับอั้งยี่ ให้ทหารรักษาพระองค์เป็นกองหนุน รวมกัน ๔ กองร้อย ให้เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) เมื่อยังเป็นนายพันตรี จมื่นวิชิตชัยศักดาวุธ รองผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก เป็นผู้บังคับการ ให้นายร้อยเอกหลวงศัลวิธานนิเทศ (เชา ซึ่งต่อมาภายหลังเป็นพระยาวาสุเทพ อธิบดีกรมตำรวจภูธร) ครูฝึกหัดทหารมหาดเล็ก เป็นผู้ช่วย สำหรับยกลงไปทางข้างเหนือ ส่วนกองที่จะขึ้นมาทางใต้นั้น ให้ทหารเรือจัดพลจำนวนเท่ากันกับทหารบก และพระยาชลยุทธฯ รับไปบังคับการเอง เมื่อคณะบัญชาการกะโครงการแล้ว เรียกผู้บังคับการกรมทหารต่างๆ ไปประชุมที่ศาลายุทธนาธิการ สั่งให้เตรียมตัวทุกกรม นอกจากทหารมหาดเล็กกับทหารรักษาพระองค์และทหารเรือ ซึ่งมีหน้าที่ไปปราบอั้งยี่นั้น ให้ทหารกรมอื่นๆ จัดกองพลรบพร้อมสรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธเตรียมไว้ที่โรงทหาร เรียกเมื่อใดให้ได้ทันทุกกรม เตรียมทหารพร้อมเสร็จในวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มิถุนายน รอฟังกระแสรับสั่งว่าจะให้ยกไปเมื่อใดก็ไปได้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 เมษายน 2567 15:47:35 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 123.0.0.0 Chrome 123.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 05 เมษายน 2567 15:46:40 »



นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่ (จบ)

ในกลางคืนวันที่ ๒๐ นั้น เวลา ๒ นาฬิกา ฉันกำลังนอนหลับอยู่ที่บ้านเก่าที่สะพานดำรงสถิต สมเด็จพระราชปิตุลากับสมเด็จกรมพระนริศฯ เสด็จไปปลุก เรียกขึ้นรถมายังศาลายุทธนาธิการ พระยาชลยุทธฯ ก็ถูกตามไปอยู่พร้อมกัน สมเด็จพระราชปิตุลาตรัสบอกว่าเมื่อประชุมเสนาบดีในค่ำวันนั้น ท่านได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าเตรียมทหารพร้อมแล้ว จะโปรดให้ไปปราบอั้งยี่เมื่อใด ก็จะรับสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกระทรวงนครบาล กระทรวงนครบาลกราบทูลว่ายังหวังใจว่าจะห้ามให้เลิกกันได้ ไม่ถึงต้องใช้ทหาร พระเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย ตรัสว่ากระทรวงนครบาลได้รับมาหลายครั้งแล้วก็ไม่เห็นห้ามให้หยุดได้ ดำรัสสั่งเป็นเด็ดขาดว่า กระทรวงนครบาลไม่ระงับอั้งยี่ได้ในวันที่ ๒๐ นั้น ถึงวันศุกร์ที่ ๒๑ มิถุนายน ก็ให้ทหารลงไปปราบทีเดียว ไม่ต้องรั้งรอต่อไปอีก เมื่อเลิกประชุมเสนาบดีแล้ว สมเด็จพระราชปิตุลาทรงนัดพบกับกรมพระนเรศฯ ผู้บัญชาการกระทรวงนครบาล ให้ไปพร้อมกันที่ศาลายุทธนาธิการแต่เวลาก่อนสว่าง ถ้าเวลานั้นอั้งยี่สงบแล้วทหารจะได้งดอยู่ ถ้ายังไม่สงบพอรุ่งสว่างจะให้ทหารยกลงไปทีเดียว คณะบัญชาการจึงเรียกผู้บังคับการทหารกรมต่างๆ กับทั้งทหารมหาดเล็กและทหารรักษาพระองค์ที่จะให้ไปปราบอั้งยี่ มายังศาลายุทธนาธิการในตอนดึกค่ำวันนั้น พระยาชลยุทธฯ ก็กลับไปจัดเรือบรรทุกทหารเรือเตรียมไว้ พอเวลาใกล้รุ่งกรมพระนเรศฯ เสด็จไปถึง ทูลสมเด็จพระราชปิตุลาว่าให้คนลงไปสืบอยู่แล้ว บัดเดี๋ยวหนึ่งนายอำเภอนครบาลมาถึง ทูลว่าพวกอั้งยี่กำลังเอาปืนใหญ่ขึ้นจากเรือทะเลมา จะตั้งยิงกัน กรมพระนเรศฯ ก็ตรัสว่าเหลือกำลังนครบาลแล้ว ให้ทหารปราบเถิด การที่ทหารปราบอั้งยี่ก็ลงมือแต่เวลานั้นไป

ก็ในสมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ พอเวลาย่ำรุ่งต้องให้ทหารรักษาพระองค์ซึ่งเป็นกองหนุนเดินลงไปก่อน สั่งให้ไปพักอยู่ที่วัดยานนาวา และให้พนักงานไปตั้งสถานีโทรศัพท์สำหรับบอกรายงานถึงศาลายุทธนาธิการ ณ ที่นั้นด้วย แต่ทหารมหาดเล็กนั้นให้รออยู่ พอรถรางไฟฟ้าขึ้นมาถึงปลายทางที่หลักเมือง ก็สั่งให้ยึดไว้หมดทุกหลัง แล้วให้ทหารมหาดเล็กขึ้นรถรางขับตามกันลงไป พวกรถรางรู้ว่าทหารจะไปปราบอั้งยี่ก็ออกสนุก เต็มใจช่วยทหารเพราะถูกอั้งยี่รังแกเบื่อเหลือทนอยู่แล้ว ส่วนทหารเรือก็ออกจากท่า กะเวลาแล่นลงไปให้ถึงพร้อมๆ กับทหารบก ถึงเวลา ๘ นาฬิกาก็สามารถเข้าล้อมพวกอั้งยี่ พร้อมกันทั้งทางข้างเหนือและข้างใต้ดังหมายไว้แต่แรก พวกอั้งยี่ไม่ได้นึกว่าทหารจะลงไปปราบ รู้เมื่อทหารถึงตัวแล้วก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร มีตัวหัวโจกต่อสู้ถูกทหารยิงตายสักสองสามคน พวกอั้งยี่ก็สิ้นคิด ที่อยู่ห่างทหารก็พากันหลบหนี ที่อยู่ใกล้กลัวทหารยิงก็ยอมให้ทหารจับโดยดี ในสมัยนั้นจีนยังไว้ผมเปีย ทหารจับได้ก็ให้เอาผมเปียผูกกันไว้เป็นพวงๆ ที่ทหารเรือจับได้ก็เอาลงเรือส่งขึ้นมา ที่ทหารบกจับได้ เจ้าพระยาราชศุภมิตรก็ให้ทหารรักษาพระองค์คุมเดินขึ้นมาทางถนนเจริญกรุงเป็นคราวๆ ราวหมู่ละ ๑๐๐ คน พวกชาวเมืองไม่เคยเห็น ตื่นกันมาดูแน่นทั้งสองฟากถนนตลอดทาง ทหารจับพวกอั้งยี่ที่ในสนามรบเสร็จแต่เวลาก่อนเที่ยง พวกหญิงชายชาวบ้านร้านตลาดพากันยินดี หาอาหารมาเลี้ยงกลางวัน พอกินแล้วก็เที่ยวค้นจับพวกอั้งยี่หลบหนีไปเที่ยวซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ ต่อไป ตอนนี้มีพวกนายโรงสีและชาวบ้านพากันนำทหารไปเที่ยวค้นจับได้พวกอั้งยี่อีกมาก ตัวหัวโจกซึ่งรีบหลบหนีไปเสียก่อนก็จับได้ในตอนบ่ายนี้แทบทั้งนั้น รวมจำนวนอั้งยี่ที่ถูกทหารยิงตายไม่ถึง ๑๐ คน ถูกบาดเจ็บสัก ๒๐ คน จับได้โดยละม่อมราว ๘๐๐ คน ได้ตัวหัวโจก ๘ คน เมื่อเสร็จการจับแล้วถึงตอนเย็น กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้าลงไปอยู่ประจำรักษาความสงบในท้องที่ เรียกทหารมหาดเล็กกับทหารเรือกลับมา บริษัทรถรางขอจัดรถรับส่งทหารทั้งขาขึ้นและขาลง แล้วแต่ทหารจะต้องการ ก็ไปมาได้โดยสะดวก เมื่อขบวนรถรางรับทหารมหาดเล็กกลับขึ้นมาในวันจับอั้งยี่นั้น พวกชาวเมืองทางข้างใต้ทั้งไทยจีนแขกฝรั่ง พากันมายืนอวยชัยให้พรแสดงความขอบใจทหารมหาดเล็ก เจ้าพระยาราชศุภมิตรเล่าว่ายืนมาหน้ารถ ต้องจับกะบังหมวกรับคำนับมาแทบไม่มีเวลาว่างจนตลอดแขวงบางรัก ในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขียนตามเสียงฝรั่งในสมัยนั้น ก็สรรเสริญมาก ทั้งที่รัฐบาลให้ทหารไปปราบอั้งยี่ได้โดยเด็ดขาดรวดเร็ว และชมทหารไทยว่ากล้าหาญว่องไว ชมต่อไปถึงที่ทหารจับอั้งยี่โดยไม่ดุร้ายเกินกว่าเหตุ เมื่อจับอั้งยี่แล้ว กรมยุทธนาธิการให้ทหารหน้ารักษาท้องที่วิวาทอยู่ ๓ วัน เห็นสงบเรียบร้อยดีแล้วก็ให้ถอนทหาร มอบท้องที่ให้กรมตระเวนกลับรักษาอย่างเดิม ส่วนพวกอั้งยี่ที่จับตัวได้ครั้งนั้น พระเจ้าอยู่โปรดให้ตั้งศาลพิเศษชำระ พิพากษาให้จำคุกหัวหน้าตัวการหมดทุกคน แต่พวกสมพลดูเหมือนให้โบยคนละเล็กละน้อยให้เข็ดหลาบแล้วปล่อยตัวไป แต่นั้นพวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ก็ราบคาบ ไม่กล้าทะนงศักดิ์ในสมัยต่อมา



(๘)
เปลี่ยนวิธีควบคุมอั้งยี่

เมื่อปราบอั้งยี่ครั้งนั้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้มีสมาคมอั้งยี่ในพระราชอาณาเขตอีกต่อไป รัฐบาลอังกฤษที่เมืองสิงคโปร์รู้ว่าไทยสามารถปราบอั้งยี่ได้ ก็ประกาศสั่งให้เลิกสมาคมอั้งยี่ในเมืองขึ้นของอังกฤษตามอย่างเมืองไทย วิธีเลี้ยงอั้งยี่ก็เลิกหมดแต่นั้นมา

เมื่อปราบอั้งยี่เสร็จแล้ว ใน พ.ศ.๒๔๓๒ นั้นเอง พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นอธิบดีกระทรวงโยธาธิการ และให้ตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ มีศักดิ์เสมอเสนาบดี ก็ต้องออกจากตำแหน่งในกรมยุทธนาธิการด้วย แต่ยังคงมียศเป็นนายพลและเป็นราชองครักษ์อยู่อย่างเดิม เวลาตัวฉันเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการอยู่ ๒ ปี ไม่มีกิจเกี่ยวข้องกับอั้งยี่ จนถึง พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงกลับมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอั้งยี่อีก ด้วยต้องระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอ ถึงสมัยนี้ไม่มีพวกอั้งยี่พวกใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ยังมีพวกจีนลักลอบตั้งอั้งยี่ตามหัวเมืองใกล้ๆ กรุงเทพฯ อยู่เนืองๆ มีขึ้นที่ไหนก็ปราบได้ไม่ยาก บางเรื่องก็ออกจะขบขัน ดังจะเล่าเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เมื่อแรกตั้งมณฑลราชบุรี เวลานั้นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาสุรินทรฤๅชัย เป็นสมุหเทศาภิบาล มีพวกอั้งยี่ตั้งซ่องต้มเหล้าเถื่อนที่ตำบลดอนกระเบื้อง ทำสนามเพลาะสำหรับต่อสู้ขึ้นอีกเหมือนอย่างครั้งก่อนที่ได้เล่ามาแล้ว เวลานั้นยังไม่มีตำรวจภูธร ฉันถามเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ว่าจะต้องการทหารปืนใหญ่เหมือนอย่างปราบครั้งก่อนหรืออย่างไร เจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ตอบว่าจะปราบด้วยกำลังในพื้นเมืองดูก่อน ต่อมาสักหน่อยได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่ทิ้งค่ายที่ดอนกระเบื้องหนีไปหมดแล้ว ฉันพบเจ้าพระยาสุรพันธ์ฯ ถามว่าท่านปราบอย่างไร ท่านบอกว่าใช้วิธีของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านเคยรู้มาแต่ก่อน ได้บอกหมายสั่งเกณฑ์กำลังและเครื่องอาวุธให้ปรากฏว่าจะไปปราบซ่องจีนที่ดอนกระเบื้อง แล้วให้เอาปืนใหญ่ทองเหลืองที่มีทิ้งอยู่ใต้ถุนเรือนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ๒ กระบอก ออกมาขัดสีที่สนามในบริเวณจวนของท่าน ว่าจะเอาไปยิงค่ายจีนที่ดอนกระเบื้อง พอข่าวระบือไปพวกอั้งยี่ก็หนีหมดเพราะพวกเจ๊กกลัวปืนใหญ่ แต่เมื่อตั้งตำรวจภูธรแล้วก็ไม่ต้องใช้อุบายอย่างนั้นอีก แต่อั้งยี่ที่มีขึ้นตามหัวเมืองในชั้นฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยปราบปรามไม่ยากอันใด ถึงกระนั้นเมื่อคิดดูก็น่าพิศวง ว่าเพราะเหตุใดพวกจีนจึงยังตั้งอั้งยี่ พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ที่เคยเกิดอั้งยี่มาแต่ก่อน เป็นต้นว่าการห้ามสูบฝิ่นอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่มีแล้ว เหตุที่แย่งกันรับจีนใหม่ก็ไม่มีตามหัวเมือง เหตุที่แย่งกันผูกภาษีอากรก็ดี ที่ถูกเจ้าภาษีนายอากรเบียดเบียนก็ดี ก็ไม่มีแล้ว เพราะรัฐบาลเก็บภาษีอากรเอง การปกครองท้องที่ก็เรียบร้อย ไม่ต้องมีปลัดจีนหรือกงสุลจีนในบังคับสยามเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว ไฉนจึงยังมีอั้งยี่ตามหัวเมือง สังเกตดูนักโทษที่ต้องจับเพราะเป็นอั้งยี่ ดูก็มักจะเป็นชั้นคนทำมาหากินไม่น่าจะเป็นอั้งยี่ นึกสงสัยว่าชะรอยจะมีเหตุอะไรที่ยังไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลให้มีอั้งยี่ตามหัวเมือง ฉันจึงปรารภกับพระยาอรรถการยบดี (ชุ่ม อรรถจินดา) ซึ่งภายหลังได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี เวลานั้นยังเป็นพระยาราชเสนา หัวหน้าพนักงานอัยการในกระทรวงมหาดไทยให้ลองสืบสวนราษฎรในท้องถิ่น โดยเฉพาะพวกนักโทษที่เคยเข้าอั้งยี่ ว่าเหตุใดจึงยังมีคนสมัครเป็นอั้งยี่ สืบอยู่ไม่ช้าก็ได้เค้าว่ามีจีนพวกหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ (จะเรียกต่อไปว่าพวกต้นคิด) หากินด้วยการตั้งอั้งยี่ตามหัวเมือง วิธีของจีนพวกต้นคิดนั้น ถ้าเห็นว่าอาจจะตั้งอั้งยี่ได้ในถิ่นใดอันเป็นที่มีจีนตั้งทำมาหากินอยู่มาก และมีการแข่งขันการค้าขาย ก็แต่งพรรคพวกให้ออกไปอยู่ที่ถิ่นนั้น อย่างว่าไปทำมาหากิน แต่แยกกันไปอยู่เป็น ๒ พวก เหมือนกับไม่รู้จักมักคุ้นกัน แล้วเสาะหาจีนที่เป็นคนเกกมะเหรกในที่นั้นคบหา ยุยงให้วิวาทกับคนอื่น บางทีก็หาพวกจีนที่เป็นหัวไม้ออกไปจากกรุงเทพฯ ให้ไปก่อวิวาทเกิดตีรันกันขึ้นเนืองๆ จนคนในถิ่นนั้นเกิดหวาดหวั่น เกรงพวกคนพาลจะทำร้ายก็เกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้าพวกช่วยกันป้องกันภัย ในไม่ช้าพวกจีนในถิ่นนั้นก็แตกกันเป็นพวกเขาพวกเรา แล้วเลยตั้งอั้งยี่เป็น ๒ พวก แต่นั้นพวกลูกสมุนก็วิวาทกันเองเนืองๆ ถ้ารัฐบาลจับกุมเมื่อใดก็กลับเป็นคุณแก่พวกต้นคิด ซึ่งหลบหนีเอาตัวรอดเสียก่อน แล้วกลับไปหาผลประโยชน์ด้วยเรี่ยไร “เต๊ย” เอาเงินจากอั้งยี่พวกของตน โดยอ้างว่าจะเอาไปช่วยพรรคพวกที่ถูกจับ เอากำไรในการนั้น ถึงโดยว่าไม่มีการจับกุม เมื่อถึงเทศกาลก็เต๊ยเงินทำงานปีไหว้เจ้าเอากำไรได้อีกเสมอทุกปี สืบได้ความดังว่ามานี้ ฉันจึงคิดอุบายแก้ไขได้ลองใช้อุบายนั้นครั้งแรกเมื่อพวกอั้งยี่ตีกันที่บางนกแขวก แขวงจังหวัดราชบุรี จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ฉันให้พระยาอรรถการยบดีออกไประงับ สั่งไปให้พยายามสืบจับเอาตัวพวกต้นคิดด้วยเกลี้ยกล่อมพวกคนในท้องถิ่นที่เข้าอั้งยี่ ถ้าคนไหนให้การรับสารภาพบอกความตามจริง ให้เรียกทานบนปล่อยตัวไป อย่าให้จับเอาตัวมาฟ้องศาลเหมือนอย่างแต่ก่อน หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ให้เอาตัวต้นคิดเป็นจำเลย เอาพรรคพวกเป็นพยาน พระยาอรรถการยฯ ออกไปทำตามอุบายนั้นได้ผลสำเร็จบริบูรณ์ พอสืบจับได้ตัวจีนต้นคิดที่ออกไปจากกรุงเทพฯ ๕ คนเท่านั้น อั้งยี่ที่บางนกแขวกก็สงบเงียบทันที การระงับอั้งยี่ตามหัวเมืองจึงใช้วิธีอย่างนั้นสืบมา สังเกตดูอั้งยี่ที่เกิดขึ้นในชั้นภายหลังทหารปราบเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๒ ดูเป็นแต่การหากินของจีนเสเพล ค้าความกลัวของผู้อื่น เอากำไรเลี้ยงตัวเท่านั้น.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
นิทานโบราณคดี(ธรรมมะน่าอ่าน)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 0 2289 กระทู้ล่าสุด 26 สิงหาคม 2553 08:51:45
โดย 時々๛कभी कभी๛
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.327 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 14:37:29