Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #20 เมื่อ: 08 เมษายน 2567 19:23:18 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลอุดรกับมณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ และได้เขียนเล่าเรื่องที่ไปครั้งนั้นให้หอพระสมุดฯ พิมพ์แต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ แล้ว ในนิทานนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยลัทธิธรรมเนียมกับของแปลกประหลาด ที่ฉันได้พบเห็นเมื่อไปครั้งนั้น เป็นเรื่องยาวอยู่สักหน่อย จึงแบ่งเป็นนิทาน ๒ เรื่อง เรียกว่า “เรื่องลานช้าง” เรื่องหนึ่ง “เรื่องแม่น้ำโขง” เรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องราวที่ไปจะบอกเพียงให้รู้ว่าไปทางไหนบ้างทางที่ไป ฉันออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ไปด้วยรถไฟพิเศษจนถึงเมืองนครราชสีมา ออกจากเมืองนครราชสีมาไปมณฑลอุดร ขี่ม้าไป ๑๔ วันถึงเมืองหนองคาย ครั้งนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสมีแก่ใจจัดเรือไฟชื่อ ลาแครนเดีย อันเป็นพาหนะสำหรับข้าหลวงลำหนึ่ง กับเรือไฟสำหรับบรรทุกของลำหนึ่งส่งมาให้ฉันใช้ทางลำแม่น้ำโขง จึงลงเรือไฟมาจากเมืองหนองคาย ระยะทาง ๔ วันถึงเมืองนครพนม ขึ้นเดินบก ขี่ม้าจากเมืองนครพนมทาง ๓ วันถึงเมืองสกลนคร จากเมืองสกลนครเดินบกวกกลับลงไป ๓ วันถึงพระธาตุพนมที่ริมแม่น้ำโขง ลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมทาง ๒ วันถึงเมืองมุกดาหาร ขึ้นเดินบกแต่เมืองมุกดาหารเข้ามณฑลอีสานทาง ๕ วันถึงเมืองยโสธร เวลานั้นข้าหลวงปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสกำลังประชุมกันอยู่ที่เมืองอุบล ฉันจึงไม่ไปเฝ้ากรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นแต่ได้สนทนากันด้วยโทรศัพท์ ออกจากเมืองยโสธรเดินบกไปเมืองเสลภูมิ เมืองร้อยเอ็ด แล้วผ่านเมืองมหาสารคามมาในเขตมณฑลอีสานทาง ๗ วัน ถึงเมืองผไทสง ปลายเขตมณฑลนครราชสีมา แต่นั้นมาทาง ๓ วันถึงเมืองพิมาย ได้รับสารตรากระทรวงมหาดไทย ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสห้ามมิให้เข้าไปพักที่เมืองนครราชสีมา ด้วยเป็นเวลามีกาฬโรค ออกจากเมืองพิมาย เดินทาง ๒ วันมาถึงบ้านท่าช้างห่างเมืองนครราชสีมา ๔๕๐ เส้น จึงพักแรมอยู่ที่นั่น แล้วออกเดินแต่ดึก มาถึงสถานีรถไฟ พอได้เวลาขึ้นรถไฟพิเศษกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๙ นั้น รวมเวลาที่ไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ๓ เดือนหย่อน ๔ วัน ซึ่งสามารถไปได้นานวันถึงเพียงนั้น เพราะทางที่ไปเลียบสายโทรเลขไปโดยมาก เป็นบุญคุณของอธิบดีกรมโทรเลขที่ให้พนักงานไปกับฉันด้วยพวกหนึ่ง ถึงที่พักแรมเขาเอาเครื่องต่อเข้ากับสายโทรเลข อาจจะพูดกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน ที่ออกห่างทางโทรเลขจะพูดกับกรุงเทพฯ ไม่ได้มีไม่กี่วัน การคมนาคมกับกรุงเทพฯ เมื่อไปครั้งนั้นจึงสะดวกเสียยิ่งกว่ามณฑลที่ใกล้ๆ บางแห่งเช่นมณฑลเพชรบูรณ์เป็นต้น ตอนไปในมณฑลอุดรสบฤดูหนาวเย็นสบายดี บางทีถึงเย็นเกินต้องการ เช่นเมื่อวันพักแรมที่ตำบลน้ำซวย แขวงจังหวัดหนองคาย ปรอทลงถึง ๓๘ ดีกรีฟาเรนไฮต์ ยังอีก ๖ ดีกรีก็จะถึงน้ำแข็ง ฉันไม่เคยพบหนาวที่ไหนในเมืองไทยเหมือนวันนั้น แต่มาสบฤดูร้อนเมื่อขากลับใกล้จะถึงมณฑลนครราชสีมา ก็ร้อนจัดเหลือทนจนต้องเปลี่ยนเวลาเดินทาง ออกเดินแต่ดึก ๔ นาฬิกา มีคนถือคบแซงสองข้างทางไปจนรุ่งสว่าง แล้วรับไปให้ถึงที่พักแรมแต่ก่อน ๙ นาฬิกา กินอาหารแล้วก็เที่ยวหาร่มเงา ซุกตัวซ่อนแสงแดดไปจนเวลาเย็น จึงเดินเที่ยวเตร่ตรวจราชการต่างๆ แต่เดินทางด้วยไม่ประมาท ก็หามีใครที่ไปด้วยกันเจ็บไข้อย่างใดไม่ พรรณนาการเดินทางแล้ว แต่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างต่อไปวินิจฉัยชื่อเมืองนครราชสีมา เมืองนครราชสีมา มีชื่อเป็น ๒ ชื่อ แต่ก่อนมาคนทั้งหลายเรียกว่า “เมืองโคราช” ทั่วไป เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่ในทางราชการ ถึงเดี๋ยวนี้ราษฎรก็ยังเรียกกันว่า เมืองโคราช เป็นพื้น เหตุไฉนจึงมี ๒ ชื่อเช่นนั้น ฉันเคยค้นเค้าเงื่อนแต่เมื่อขึ้นไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก เวลานั้นไปรถไฟได้เพียงตำบลทับกวางในดงพญาไฟแล้วต้องขี่ม้าต่อไป เมื่อฉันไปพักแรมที่บ้านสูงเนิน เขาบอกว่าในอำเภอนั้นมีเมืองโบราณอยู่ ๒ เมือง ฉันจึงให้เขาพาไปดูเห็นเป็นเมืองย่อมๆ ไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่ก่อปราการด้วยศิลาและมีของโบราณอย่างอื่น แสดงฝีมือว่าเป็นเมืองสร้างครั้งสมัยขอมทั้ง ๒ เมือง เมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายลำตะคอง อันเป็นลำธารมาแต่เขาใหญ่น้ำไหลไปตกลำน้ำมูล อีกเมืองหนึ่งอยู่ทางฝั่งขวาลำตะคอง ไม่ห่างไกลกันนัก เมืองทางฝั่งซ้ายเรียกชื่อว่า “เมืองเสมาร้าง” เมืองทางฝั่งขวาเรียกชื่อว่า “เมืองเก่า” สังเกตดูเครื่องหมายศาสนา ดูเหมือนผู้สร้างเมืองเสมาร้างจะถือศาสนาพราหมณ์ ผู้สร้างเมืองเก่าจะถือพระพุทธศาสนา ฉันยังจำได้ว่ามีพระนอนศิลาขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองเก่าองค์หนึ่ง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมา เห็นลักษณะเป็นเมืองฝีมือไทยสร้างเมื่อภายหลัง ๒ เมืองที่กล่าวมาก่อน รู้ได้ด้วยป้อมปราการล้วนก่อด้วยอิฐ และรื้อเอาแท่งศิลาจำหลักจากปราสาทหินครั้งขอมมาก่อแซมกับอิฐก็มีหลายแห่ง เมื่อได้เห็นทั้ง ๓ เมืองดังว่ามา ฉันคิดวินิจว่า “เสมาร้าง” น่าจะมีก่อนเพื่อน เดิมเห็นจะเรียกว่า “เมืองเสมา” เมื่อตั้ง “เมืองเก่า” เพราะเหตุอันใดอันหนึ่ง ทิ้งเมืองเสมาเป็นเมืองร้าง คำว่า “ร้าง” จึงติดอยู่กับชื่อเมืองเสมา เหตุใดจึงเรียกชื่ออีกเมืองหนึ่งว่า “เมืองเก่า” นั้นก็พอคิดเห็นได้ เพราะคำว่า “เก่า” เป็นคู่กับ “ใหม่” ต้องมีเมืองใหม่จึงมีเมืองเก่า แสดงความว่าเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ขึ้น ย้ายมาอยู่เมืองใหม่แล้วจึงเรียกเมืองเดิมว่า “เมืองเก่า” แต่เมื่อเมืองยังตั้งอยู่ที่เมืองเก่า ต้องมีชื่อเรียกเมืองนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะเรียกว่า “เมืองเก่า” เมื่อยังไม่มี “เมืองใหม่” ไม่ได้ ข้อนี้ที่ฉันคิดเห็นว่าเมื่อสร้าง “เมืองเก่า” ในสมัยขอม พวกพราหมณ์คงเอาชื่อ “เมืองโคราฆะบุระ” ในมัชฌิมประเทศ อันอยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเมืองกบิลพัสดุ์ ที่พระพุทธองค์เสด็จประทับเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์มาขนาน อย่างเดียวกันกับเอาชื่อเมืองอื่นๆ ในอินเดียมาขนานในประเทศนี้มีอีกหลายเมือง เช่นเมืองอยุธยาและเมืองลพบุรีเป็นต้น เมืองเก่านั้นเดิมคงเรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” อันเป็นมูลของชื่อที่เรียกเพี้ยนมาว่า “เมืองโคราช” ยังคิดเห็นต่อไปอีกว่า ชื่อที่เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนครราชสีมา” น่าจะเอาชื่อ “เมืองโคราฆะ” กับ “เมืองเสมา” มาผสมกันประดิษฐ์เป็นชื่อ “นครราชสีมา” ด้วย
ส่วนตัวเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ ฉันพิจารณาดูลักษณะที่สร้างกับทั้งขนาดและแผนผังทั้งรูปป้อมปราการ ละม้ายเหมือนกับเมืองนครศรีธรรมราชมาก เห็นว่าจะสร้างในสมัยเดียวกันทั้ง ๒ เมือง แต่จะสร้างในรัชกาลไหนในกรุงศรีอยุธยา ฉันนึกว่าได้เคยเห็นในหนังสือฝรั่งแต่งแต่โบราณเรื่องหนึ่ง ว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อเขียนนิทานนี้นึกชื่อหนังสือไม่ออกจึงไม่กล้ายืนยัน กล่าวได้โดยมีหลักฐานแต่ว่าสร้างก่อน พ.ศ.๒๒๒๕ เพราะในเรื่องพงศาวดารมีว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาชิงได้ราชสมบัติ เมืองนครราชสีมากับเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแข็งเมือง กองทัพในกรุงออกไปตีได้ด้วยยาก เพราะมีป้อมปราการทั้ง ๒ เมือง ลานนกกะเรียน ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ตามทางไปมณฑลอุดรมีทุ่งใหญ่ๆ หลายแห่งที่ทำไร่นาไม่ได้เพราะเป็นที่ลุ่ม เวลาฤดูแล้งดินแห้งแข็งกระด้างถากไถไม่ลง ถึงฤดูฝนตกดินอ่อนถ้าถากไถทำไร่นา พอปลูกพรรณไม้ขยายกอเกิดลำต้นยังไม่ทันออกพืชผล ก็ถึงเวลาน้ำป่าไหลหลากลงมาขังในท้องทุ่งนั้น ท่วมพรรณไม้ตายหมด เป็นอย่างนั้นทุกปี จึงไม่มีใครไปทำไร่นา มีแต่กอหญ้าที่ขึ้นเอง แล้วถูกน้ำท่วมเหลือแต่ซากอยู่ในท้องทุ่ง เขาบอกว่าถึงฤดูแล้งมีนกกะเรียน มาทำรังไข่กับแผ่นดินในทุ่งว่างนั้นตั้งหมื่นตั้งแสน พอจวนฤดูฝน ลูกบินได้ก็พากันหายไปหมด ถึงฤดูแล้งหน้าก็กลับมาทำรังอีกเสมอทุกปี นกกะเรียนที่มีเลี้ยงกันตามบ้านในกรุงเทพฯ ล้วนดักเอาลูกนกไปจากทุ่งนั้นทั้งนั้น เมื่อฉันเดินทางจากเมืองนครราชสีมาไป ๒ วัน ถึงทุ่งมะค่า ก็เห็นฝูงนกกะเรียนทำรังอยู่มากมายอย่างเขาว่า พอมันเห็นคนหมู่ใหญ่ก็ตื่นพากันทิ้งรังบินหนีขึ้นไปร่อนอยู่เต็มท้องฟ้า ดูจำนวนนกนับด้วยหมื่น ไม่เคยเห็นมีที่ไหนเหมือน ในเมืองไทยนี้นกกะเรียนก็ไม่มีชุม เคยเห็นชินตาแต่ที่เขาจับเอามาเลี้ยงไว้ แต่นกกะเรียนเถื่อนมิใคร่จะได้เห็น จึงน่าพิศวงว่าไฉนนกกะเรียนนับหมื่นจึงพร้อมใจกันมาทำรังในทุ่งมะค่าและมาเสมอทุกปี พิเคราะห์ดูไปเข้าเค้าที่พวกนักปราชญ์ในยุโรปเขาสอบสวน ได้ความว่ามีนกบางชนิดย้ายที่อยู่ไปต่างทวีปตามฤดูกาลเสมอทุกปี ยกตัวอย่างดังเช่นนก “สตอก” Stork รูปร่างคล้ายกับนกฝักบัวของไทย เวลาฤดูร้อนชอบไปเที่ยวอาศัยทำรังออกลูกบนหลังคาเรือนคนในยุโรปข้างฝ่ายเหนือ พอจะเข้าฤดูหนาวมันก็พากันบินหนีออกจากยุโรปไปอยู่ในทวีปอาฟริกา จนถึงฤดูร้อนจึงกลับไปทำรังไข่ในยุโรปอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นเสมอทุกปี ชะรอยนกกะเรียนที่มาทำรังในทุ่งมะค่าก็จะทำนองเดียวกัน อาจจะเป็นนกกะเรียนที่แยกย้ายกันอยู่ตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซียนี้ มันรู้กันด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ว่าที่ทุ่งมะค่าในเมืองไทยเหมาะแก่การทำรังออกลูกยิ่งกว่าที่อื่นๆ ถึงฤดูทำรังก็มารวมกันทำรังไข่ที่ทุ่งมะค่า จำนวนนกกะเรียนจึงมากนับหมื่นเพราะมาแต่หลายประเทศด้วยกัน หาใช่แต่นกกะเรียนในเมืองไทยเท่านั้นไม่ นกพันธุ์อื่นที่มาอยู่ในเมืองไทยแต่บางฤดูก็ยังมีอีก เช่นนก “ปากง่าม” Snipe ก็มีแต่ในฤดูทำนา เขาตรวจได้ความว่ามันทำรังออกลูกอยู่ในภาคไซบีเรียของประเทศรัสเซีย ถึงฤดูจึงไปเที่ยวหากินตามประเทศอื่นๆ ในเวลาเมื่อประเทศนั้นๆ มีอาหารบริบูรณ์ ถึงนกอีแอ่นที่ทำรังให้คนกินอยู่ตามเกาะในทะเล พอลูกบินได้มันก็หายไปหมด ไม่รู้ว่าไปไหน จนถึงฤดูทำรังปีหน้าจึงกลับมาใหม่เสมอทุกปี นิสัยสัตว์มันก็รู้จักโลกได้ดีตามประสาของมัน เป็นแต่มนุษย์ไม่รู้ว่ามันบอกเล่านัดหมายกันอย่างไรเท่านั้น ไทยลานช้าง ฉันเดินบกไปจากเมืองนครราชสีมา ๕ วัน เข้าเขตมณฑลอุดรที่เมืองชนบท พอถึงเมืองชนบทก็เห็นชาวเมืองผิดกับเมืองนครราชสีมา ทั้งเครื่องแต่งตัวและฟังสำเนียงพูดภาษาไทยแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวกรุงเทพฯ สำคัญกันมาแต่ก่อนว่าเป็นลาว แต่เดี๋ยวนี้รู้กันมากแล้วว่าเป็นไทยมิใช่ลาว ถึงในราชการแต่ก่อนก็อ้างว่าหัวเมืองในมณฑลพายัพกับมณฑลอุดรและอีสานเป็นเมืองลาว เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ลาวพุงดำ” เพราะผู้ชายชอบสักมอมตั้งแต่พุงลงไปจนถึงเข่า เรียกชาวมณฑลอุดรและอีสานว่า “ลาวพุงขาว” เพราะไม่ได้สักมอมอย่างนั้น เมื่อจัดหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตเป็นมณฑลในรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๓๓ แรกก็ขนานนามหัวเมืองลาวพุงดำว่า “มณฑลลาวเฉียง” ขนานนามหัวเมืองลาวพุงขาวว่า “มณฑลลาวพวน” มณฑลหนึ่ง “มณฑลลาวกาว” มณฑลหนึ่ง เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงการลักษณะการปกครองพระราชอาณาเขตตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ เป็นต้นมา ด้วยทรงพระราชปรารภว่าลักษณะการปกครองแบบเดิม นิยมให้เป็นอย่างประเทศราชาธิราช Empire อันมีเมืองคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้นอยู่ในพระราชอาณาเขต จึงถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขต ๓ มณฑลนั้นเป็น “เมืองลาว” และเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชน “ชาติไทย” ว่าลาว แต่ลักษณะการปกครองอย่างนั้นพ้นเวลาอันสมควรเสียแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริให้แก้ลักษณะการปกครอง เปลี่ยนเป็นอย่างพระราชอาณาเขต Kingdom ประเทศไทยรวมกัน เลิกประเพณีที่มีเมืองประเทศราชถวายต้นไม้ทองเงิน และให้เปลี่ยนนามมณฑลลาวเฉียงเป็น “มณฑลพายัพ” เปลี่ยนนามมณฑลลาวพวนเป็น “มณฑลอุดร” และเปลี่ยนนามมณฑลลาวกาวเป็น “มณฑลอีสาน” ตามทิศของพระราชอาณาเขต ทั้งให้เลิกเรียกไทยชาวมณฑลทั้ง ๓ นั้นว่าลาวด้วย แต่นั้นก็เรียกรวมกันว่า “ไทยเหนือ” แทนเรียกว่าลาว ถ้าเรียกแยกกันก็เรียกตามชื่อมณฑลที่อยู่ว่า ชาวมณฑลพายัพ ชาวมณฑลอุดร และชาวมณฑลอีสาน อย่างเช่นเรียกชาวมณฑลปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกว่า “ชาวนคร” (นครศรีธรรมราช) ครั้นมาถึงสมัยเมื่อเลิกมณฑลเสียแล้ว มีผู้รู้โบราณคดีคนหนึ่งแต่งหนังสือเอาชื่อของแว่นแคว้นมณฑลพายัพแต่โบราณ มาใช้เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ชาวลานนา” ฉันเห็นชอบด้วย จึงเอาอย่างมาเรียกชาวมณฑลอุดรและอีสานในนิทานนี้ว่า “ชาวลานช้าง” ตามชื่อแว่นแคว้นอันเป็นคู่กันกับ “ลานนา” มาแต่ก่อน
ไทยชาวลานช้าง มีลัทธิธรรมเนียมที่ถือกันสืบมาแต่ดั้งเดิมหลายอย่าง ท่านผู้รู้ มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) เป็นต้น ได้เขียนอธิบายลงพิมพ์ไว้แล้วหลายเรื่อง ในนิทานนี้ฉันจะเล่าถึงลัทธิธรรมเนียมแต่บางอย่าง ที่ฉันได้เห็นเมื่อขึ้นไปครั้งนั้นพิธีบายศรี ตั้งแต่เมืองชนบทไป ฉันพักที่เมืองไหนพวกชาวเมืองก็มาทำพิธีบายศรีทำขวัญทุกเมือง คือเอาของกินตั้งเรียงในพานซ้อนกันสองชั้นสามชั้น ประดับประดาด้วยดอกไม้สดอย่างประณีตบรรจง ขนาดของบายศรีใหญ่หรือเล็กตามฐานะของเมือง พวกชาวเมืองเข้าขบวนกันแห่บายศรีมาทำขวัญ เมืองใหญ่ก็มีขบวนแห่และเครื่องประโคมมาก่อน ถ้าเป็นเมืองน้อยคนเชิญบายศรีก็นำหน้า มีผู้เฒ่าสองสามคนนำราษฎรชายหญิงเดินตามบายศรีมาตั้งร้อย ฉันนั่งรับที่มุขหน้าพลับพลา เขาเอาบายศรีมาตั้งที่ตรงหน้า คนที่มาทำขวัญนั่งหลังบายศรีต่อออกไป ถ้าที่บนพลับพลาไม่พอก็นั่งหลามลงไปถึงในสนามหน้าพลับพลา เริ่มพิธีด้วยผู้เฒ่าที่เป็นหัวหน้าจุดธูปเทียนเครื่องสักการะ แล้วว่าคำเชิญขวัญเป็นทำนอง บางคนเสียงดีทำนองก็ไพเราะน่าฟัง ความขึ้นต้นขอคุณพระรัตนตรัยและขอพรเทวดา แล้วประสิทธิพรให้แก่ฉันเป็นอเนกปริยาย เมื่อจบแล้วผู้เฒ่าเอาด้ายคาดข้อมือฉัน ที่บางแห่งเวลาคาดด้ายนั้นคนที่มาด้วยแตะต้องตัวกันต่อๆ ไปจนหมด เป็นนัยว่าช่วยกันคาดด้ายทุกๆ คน ที่บางแห่งเมื่อทำขวัญแล้วยังมีการฟ้อนรำเป็นเครื่องมหรสพให้ดูด้วย อันประเพณีบายศรีทำขวัญนี้ ดูเป็นประเพณีโบราณของชนชาติไทย มีด้วยกันทุกจำพวก ชาวลานนาก็ทำเหมือนกับชาวลานช้าง ไทยในราชธานีก็ยังมีพิธีทำขวัญเป็นแต่ไม่แห่บายศรี ดังเช่นทำขวัญเด็กก็ทำบายศรีมีของกินใส่ชามตกแต่งด้วยดอกไม้สด เรียกว่า “บายศรีปากชาม” มีผู้เฒ่าว่าคำเชิญขวัญแล้วผูกด้ายคาดข้อมือให้เด็ก เมื่อเด็กจะโกนจุกหรือจะบวช ก็ทำขวัญด้วยมีบายศรีตองทำหลายชั้นคล้ายฉัตร และมีคนว่าคำเชิญขวัญ เป็นแต่เอาพิธีเวียนเทียนของพราหมณ์เพิ่มเข้า พิธีหลวงสมโภชเจ้านาย ก็เอาพานแก้ว ทอง เงิน ซ้อนกันเป็นบายศรีมีเครื่องกระยา เป็นแต่เปลี่ยนไปให้พราหมณ์เวียนเทียนผูกด้ายคาดข้อพระหัตถ์ แต่หามีสวดเชิญขวัญไม่ ถึงกระนั้นก็เห็นเป็นเค้าได้ว่าพิธีบายศรีเป็นพิธีดั้งเดิมของชนชาติไทย และไทยยังทำอยู่ทุกจำพวกจนบัดนี้ สมาคมไทยอย่างโบราณ เวลาฉันไปเที่ยวตามบ้านเรือนราษฎร ไถ่ถามถึงการทำมาหากินและประเพณีที่ปกครองบ้านเรือน ได้ฟังคำพวกชาวบ้านในมณฑลอุดรอธิบาย ยิ่งรู้ก็ยิ่งคิดพิศวง ด้วยเห็นว่าชนชาติไทยได้เคยถึงวัฒนธรรม Civilization มาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จะพรรณนาถึงหมู่บ้านในตำบลซึ่งฉันได้ไปแห่งหนึ่งให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่เรียกชื่อว่าบ้านอะไรลืมไปเสียแล้ว อยู่ในระหว่างเมืองชนบทกับเมืองขอนแก่น เป็นตำบลมีบ้านกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือนด้วยกัน ราษฎรในตำบลนั้น ครัวหนึ่งก็มีบ้านอยู่แห่งหนึ่ง เรือนโรงในบ้านล้วนทำด้วยไม้มุงแฝก มีรั้วล้อมรอบบริเวณบ้าน ลานบ้านตอนในรั้วทำสวนปลูกผักฟักแฟงที่กินเป็นอาหาร กับคอกเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ลานบ้านนอกรั้วออกไปทำไร่ฝ้ายและสวนกล้วยสวนพลู สวนปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม กับคอกเลี้ยงวัวควาย ต่อหมู่บ้านออกไปถึงทุ่งนา พวกชาวบ้านต่างมีนาทำทุกครัวเรือน และถือกันเป็นธรรมเนียมว่าใครทำงานได้ต้องทำงานทุกคน ผู้ชายทำงานหนักเช่นทำนาและเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งทำการปลูกสร้างและแบกขนต่างๆ ผู้หญิงทำงานเบาอยู่กับบ้าน เช่นทำสวนทำไร่ เลี้ยงไหมและไก่หมู ตลอดจนปั่นฝ้ายชักไหมและทอผ้า ทุกครัวเรือนสามารถหาอาหารและสิ่งซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการเลี้ยงชีพได้โดยกำลังลำพังตนเพียงพอไม่อัตคัด ฉันถามว่าสิ่งของที่ทำไม่ได้เอง เช่นมีดพร้าและขีดไฟเป็นต้น หาได้ด้วยอย่างใด เขาบอกว่าสัตว์ที่เขาเลี้ยงเช่นวัวควายไก่หมู ย่อมออกลูกมีเหลือใช้เสมอ ถึงปีก็มีคนพวกค้าขายสัตว์ เช่นพวกที่ส่งหมูลงมาขายกรุงเทพฯ เป็นต้น ไปเที่ยวหาซื้อ เขาขายสัตว์ที่เหลือใช้ได้เงินพอซื้อของที่ต้องการทุกอย่าง ส่วนการปกครองนั้น ใครเป็นพ่อบ้านก็ปกครองผู้คนในบ้านของตน หมู่บ้านอันหนึ่ง มีผู้ใหญ่ที่คนนับถือเป็น “จ่าบ้าน” ดูแลว่ากล่าวผู้คนในหมู่บ้านนั้น และที่สุดมี “ตาแสง” เป็นนายตำบล ซึ่งเจ้าเมืองเลือกคนในตำบลนั้นที่ผู้คนนับถือมากตั้งเป็นหัวหน้าคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน จึงปรับเข้ากับวิธีปกครองอย่างโบราณที่เป็นอยู่แล้วได้โดยง่าย ว่าต่อไปถึงคดีธรรม ก็มีวัดซึ่งราษฎรช่วยกันสร้าง แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปอยู่สั่งสอนศีลธรรม และวิชาความรู้แก่ชาวบ้าน ให้สมบูรณ์ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมทุกตำบล ลักษณะสมาคมของไทยแต่โบราณ ถ้าว่าโดยย่อก็คือคนในตำบลนั้นมีที่อยู่ และมีที่ทำมาหากินพอกันไม่มีใครอดอยาก แต่ใครทำงานได้ต้องทำงานทุกคนทั้งชายหญิง ไม่มีคนสำรวยอยู่เปล่าหรือเที่ยวขอทานใครกิน ทั้งตำบลไม่มีเศรษฐีและไม่มีคนจนเข็ญใจ จึงมิใคร่มีใครเป็นโจรผู้ร้าย เพราะอยู่เย็นเป็นสุขสบายด้วยกันหมด จึงเห็นควรนับว่าถึงวัฒนธรรมอย่างสูงตามสมควรแก่ท้องถิ่นด้วยประการฉะนี้
เมื่อคิดดูถึงความประสงค์ของฝรั่งพวกโซเซียลิสม์ ซึ่งเห็นว่าต้องเฉลี่ยทรัพย์และสิทธิต่างๆ ให้มนุษย์มีเสมอภาคกัน จึงจะเป็นสุขนั้น หากสำเร็จดังว่าก็จะเป็นอย่างเช่นชาวมณฑลอุดรนี่เอง ถ้าจะอวดว่าสมาคมโซเซียลิสม์มีมาในเมืองไทยหลายร้อยปีแล้ว ก็จะได้กระมังบ้านขี้ทูด ยังมีวัฒนธรรมที่ไทยเคยมีมาแล้วแต่โบราณอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งฉันได้ไปพบในมณฑลอุดร คือที่ตำบลหนองหญ้าปล้องในแขวงเมืองชนบท มีบ้าน “คนขี้ทูด” คือคนเป็น “โรคกุฏฐัง” ตำบลหนึ่ง เขาว่าจำนวนคนกว่า ๑,๐๐๐ คน เห็นจะนับรวมทั้งคนไข้และคนดีที่เป็นครอบครัวด้วย บ้านขี้ทูดนั้นจะตั้งมาแต่เมื่อใดไม่มีใครทราบ แต่พวกชาวเมืองว่าเป็นธรรมเนียมมาแต่โบราณทั่วทั้งมณฑลอุดรและน่าจะตลอดไปถึงมณฑลอีสานด้วย ถือกันว่าถ้าใครเป็นโรคกุฏฐัง ต้องย้ายไปอยู่บ้านขี้ทูดที่ตำบลหนองหญ้าปล้องนั้น แต่ไปสร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ และทำไร่นาหากินเหมือนอย่างคนสามัญ ไม่มีใครควบคุมกักขังอย่างไร เป็นแต่คนนอกครัวเรือนไม่เข้าไปอยู่ด้วย และไม่มีใครยอมรับคนเป็นโรคกุฏฐังไว้ในบ้าน ถือกันเหมือนเป็นกฎหมายมาแต่ดึกดำบรรพ์ ว่าถ้าใครเป็นโรคกุฏฐัง ก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านขี้ทูด และย้ายไปเองไม่ต้องมีใครขับไล่ จึงมีจำนวนคนมากตั้ง ๑,๐๐๐ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ปกครองก็ล้วนอยู่ในพวกกุฏฐัง เมื่อฉันผ่านไปเขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นั้น มีชายหนุ่มคนหนึ่งแต่งงานได้ไม่ช้าปรากฏว่าเป็นโรคกุฏฐัง เจ้าตัวกลัวโรคจะติดเมียเตรียมจะทิ้งมาแต่ตัว แต่เมียรักผัวสิ้นกลัวโรคกุฏฐังตามมาอยู่ด้วย ได้ฟังก็นึกสงสาร แต่หมอฝรั่งผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคกุฏฐัง เขาว่าโรคนั้นไม่ติดคนที่พ้องพานไปทุกคน แม้ลูกของคนกุฏฐังก็มีเชื้อโรคติดตัวมาแต่บางคน ที่เป็นปรกติไปจนตลอดชีวิตก็มี คนคิดผิด เมื่อฉันผ่านไปในแขวงเมืองกุมภวาปี ถึงตำบลบ้านสองเปลือย ผู้นำทางเขาบอกว่าในตำบลนั้นมีพวก “ลาว” (ไทยลานช้าง) ชาวเมืองนครนายกที่อพยพกลับมาจากเวียงจันทน์ แต่หมดกำลังไม่สามารถจะลงไปให้ถึงเมืองนครนายกได้ ยังต้องตั้งทำมาหากินอยู่ที่บ้านสองเปลือยหลายครัว ฉันได้ยินแทบจะออกปากว่า “สมน้ำหน้า” แต่หากละอายใจด้วยความสงสาร เพราะฉันเคยรู้เรื่องของคนพวกนั้นมาแต่ต้น ด้วยในหนังสือสัญญาที่ไทยทำกับฝรั่งเศสเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) มีความข้อหนึ่ง ว่า “ถ้าลาวเชื้อสายของชาวเวียงจันทน์ที่ไทยกวาดเป็นเชลยมา (เมื่อรัชกาลที่ ๓) อยากจะกลับไปบ้านเมืองเดิม รัฐบาลไทยจะยอมให้ไปไม่ขัดขวาง” ดังนี้ แต่แรกไม่มีใครอยากไป ต่อมาฝรั่งเศสแต่งให้กรมการชาวเมืองเวียงจันทน์คนหนึ่ง เป็นพระยา แต่ชื่อไรฉันลืมไปเสียแล้ว จะสมมตเรียกในนิทานนี้ว่า “พระยาเมือง” กับพรรคพวกลงมาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกเชื้อสายชาวเวียงจันทน์ มีพวกที่อยู่เมืองนครนายกสมัครจะไปเมืองเวียงจันทน์ราวสัก ๒๐๐ คน เพราะพระยาเมืองมาสัญญาว่าเมื่อขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันทน์ รัฐบาลฝรั่งเศสจะให้ที่ไร่นา กับทั้งบ้านเรือนวัวควายไถคราด และเงินทุน ให้พอทำมาหากินเป็นสุขทุกคน ฉันให้เจ้าเมืองกรมการชี้แจงว่าไม่จริงได้ดังว่าดอกก็ไม่เชื่อ พากันขายเหย้าเรือนไร่นาแล้วอพยพไป ต่อมาฉันได้ยินว่ามีพวกเวียงจันทน์ลงมาเกลี้ยกล่อมคนอีก ฉันนึกขึ้นถึงคำที่เขาพรรณนาว่านิสัยแมวนั้น ถ้าใครดึงหนังท้องมันก็โก่งหลังถ้าใครดึงหลังมันก็แอ่นท้อง จึงเปลี่ยนอุบายใหม่ คราวนี้สั่งอย่าให้ห้ามปราม ถ้าใครอยากไปให้เจ้าเมืองกรมการสงเคราะห์ ช่วยหาคนซื้อไร่นาวัวควายเร่งให้มันไปตามใจสมัคร ก็กลายเป็นอย่างแมวได้จริงๆ ไม่มีใครไป ฝ่ายพวกที่อพยพไปคราวแรกนั้น ไปถึงเมืองเวียงจันทน์ก็ไม่ได้ลาภผลตามสัญญา ทั้งไปได้ความรู้ว่านาทางลานช้างทำไม่ได้ผลมากเหมือนนาทางข้างใต้ ก็พากันอพยพกลับมา ที่ยังมีทุนกลับมาได้ถึงเมืองนครนายกก็มี ที่หมดทุนก็ต้องตกค้างอยู่ที่บ้านสองเปลือย แต่เรื่องนี้ยังมีข้อขำต่อไปอีก เมื่อวันฉันไปถึงเมืองอุดรธานี เขากระซิบบอกให้ดูชายคนหนึ่งซึ่งยืนรับอยู่ที่ซุ้มคร่อมถนนที่ทำรับฉัน สังเกตดูเป็นคนกลางคนอายุราวสัก ๕๐ ปี เขาบอกว่าคนนั้นแหละคือพระยาเมือง ที่ได้ลงไปเกลี้ยกล่อมคนที่เมืองนครนายก เมื่อกลับไปอยู่เมืองเวียงจันทน์ไปเกิดผิดใจกับฝรั่งเศสขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงอพยพครอบครัวของตนข้ามมาขอพึ่งไทย พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติรับไว้ให้อยู่ในเมืองอุดรธานี แล้วเลยให้เป็นนายงานทำซุ้มรับฉัน จึงยืนรับอยู่ที่ซุ้มนั้น พระยาโพธิ เมืองอุดรธานี แต่เดิมเรียกว่า “บ้านเดื่อหมากแข้ง” เพิ่งตั้งเป็น “เมือง” เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) ยังไม่มีอะไรที่น่าพรรณนาในนิทานนี้ นอกจากตัวพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ซึ่งจะเรียกต่อไปตามสะดวกว่า “พระยาโพธิ” ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรในเวลาเมื่อฉันไปครั้งนั้น ด้วยเป็นคนทำความชอบอย่างแปลก และมีความสามารถก็เป็นอย่างแปลก แต่ตัวถึงอนิจกรรมเสียนานแล้ว ฉันรู้เรื่องประวัติอยู่บ้างจะเล่าฝากไว้ในนิทานนี้ เพื่อให้ความชอบความดีของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ (โพธิ) ปรากฏอยู่อย่าให้สูญเสีย พระยาโพธิดูเหมือนจะเป็นชาวเมืองจันทบุรี เข้ามาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่กับกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์แต่เพิ่งรุ่นหนุ่ม จะได้ศึกษามาแต่ก่อนอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ แต่มาได้รับความอบรมด้วยตามเสด็จติดพระองค์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เข้าวัง และไปไหนๆ อยู่เนืองนิจ จนรู้จักเจ้านายขุนนาง และรู้ขนบธรรมเนียมในราชสำนัก แม้ตัวฉันก็รู้จักพระยาโพธิตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็กกรมหลวงสรรพสิทธิฯ แต่จะเป็นเพราะเหตุใดหาทราบไม่ เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสด็จออกไปรับราชการ ณ เมืองนครราชสีมาและเมืองอุบล พระยาโพธิไม่ได้ตามเสด็จไปด้วย จึงขึ้นไปคิดค้าขายทางเมืองเหนือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เมื่อยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก พบตัว เห็นเป็นคนมีแววดีจึงชวนเข้ารับราชการ ได้เป็นตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ชั้นผู้น้อย เลื่อนที่ขึ้นไปโดยลำดับด้วยความสามารถ จนได้เป็นพระสีหสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ เกิดเหตุพวกผู้ร้ายเงี้ยวปล้นได้เมืองแพร่ เวลานั้นเผอิญเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ลงมารั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยแทนพระยามหาอำมาตย์เมื่อไปรับราชการยุโรป และตัวฉันก็ได้เคยไปเมืองเหนือ และเคยเดินบกแต่เมืองอุตรดิตถ์ไปเมืองแพร่ รู้เบาะแสภูมิลำเนาอยู่ด้วยกันทั้ง ๒ คน พอได้รับโทรเลขบอกข่าวเกิดผู้ร้ายเงี้ยวฉบับแรก เมื่อพวกผู้ร้ายตีเมืองแพร่ได้แล้ว ปรึกษากันในขณะนั้นเห็นว่าพวกเงี้ยวคงกำเริบเลยลงมาตีเมืองอุตรดิตถ์ เพราะเป็นเมืองที่มีทรัพย์สินมากและไม่มีใครรู้ตัว จึงรีบมีโทรเลขไปยังเมืองอุตรดิตถ์ฉบับหนึ่ง สั่งพระยาโพธิให้รวบรวมกำลังกับเครื่องศัสตราวุธ รีบยกไปกักทางที่ช่องเขาพรึงอันเป็นที่คับขันในทางเดินมายังเมืองอุตรดิตถ์ โทรเลขอีกฉบับหนึ่งมีถึงพระยาสัชนาลัยบดี (จำไม่ได้ว่าตัวชื่อไร และเวลานั้นยังเป็นพระมีนามว่าอย่างไร) ผู้ว่าราชการเมืองสวรรคโลก สั่งให้รีบรวมกำลังและเครื่องศัสตราวุธ ยกจากเมืองสวรรคโลกขึ้นไปตีเมืองแพร่ทางเมืองลองอีกกองหนึ่ง พระยาโพธิยกไปถึงเขาพรึงก็พบเงี้ยวยกลงมาดังคาดไว้ ได้รบกับเงี้ยวที่ปางต้นผึ้ง ๒ วันกักพวกเงี้ยวไว้ได้ พอพวกเงี้ยวรู้ว่ามีกำลังเมืองสวรรคโลกยกขึ้นไปเมืองแพร่ทางข้างหลังอีกกองหนึ่ง ก็พากันถอยหนีจากเขาพรึงกลับไปเมืองแพร่ พระยาโพธิรบเงี้ยวป้องกันเมืองอุตรดิตถ์ไว้ได้ครั้งนั้น เป็นแรกที่จะปรากฏเกียรติคุณ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์จากที่พระสีหสงครามขึ้นเป็น พระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นบำเหน็จความชอบ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพแล้ว พระยาโพธิได้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก แต่ไม่ช้าก็ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ด้วยเป็นที่สำคัญกว่ามณฑลพิณุโลก เพราะอยู่ต่อแดนต่างประเทศและอาณาเขตกว้างใหญ่ ผู้คนพลเมืองมากกว่ามณฑลพิษณุโลก นอกจากนั้น ฉันเห็นว่าเหมาะแก่คุณวิเศษเฉพาะตัวพระยาโพธิด้วย เพราะสังเกตมาตั้งแต่ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองอุตรดิตถ์ อันเป็นที่ประชุมชนต่างชาติต่างภาษาไปมาค้าขายเป็นอันมากอยู่เนืองนิจ เห็นว่าพระยาโพธิมีอัธยาศัยถนัดเข้ากับคนต่างชาติต่างภาษา สามารถวางตนให้คนต่างจำพวกเคารพนับถือ เมื่อไปอยู่มณฑลอุดรก็ปรากฏคุณวิเศษเช่นว่ามา พึงเห็นเช่นพระยาเมืองชาวเวียงจันทน์มาขอพึ่งดังเล่ามาแล้ว และยังมีเรื่องสำคัญกว่านั้น จะเล่าให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อภายหลังฉันไปมณฑลอุดรได้สักปีหนึ่ง วันหนึ่งราชทูตฝรั่งเศสให้มาบอก ว่ากิจการทางชายแดนฝรั่งเศสกับไทยก็เรียบร้อยมานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ได้ทราบว่าสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร รับญวนหัวหน้าพวกกบฏที่หนีจากเมืองญวนเลี้ยงไว้คนหนึ่ง เหตุใดจึงทำเช่นนั้น ฉันได้ฟังออกประหลาดใจ ตอบไปว่าฉันไม่ทราบเลยทีเดียว แต่เทศาฯ คนนั้นฉันไว้ใจว่าคงไม่ทำอะไรให้ผิดความประสงค์ของรัฐบาล ถ้ารับญวนหัวหน้ากบฏเลี้ยงไว้ ก็เห็นจะเป็นเพราะไม่รู้ว่าเป็นคนเช่นนั้น ฉันจะถามดูก่อน เมื่อมีตราถามไป พระยาโพธิตอบมาว่าเดิมญวนคนนั้นไปหาที่เมืองอุดรธานี ว่าจะขอรับจ้างทำการงานเลี้ยงชีพแล้วแต่จะใช้ พระยาโพธิสืบได้ความว่าเคยเป็นหัวหน้าพวกกบฏหนีมาจากเมืองญวน คิดว่าที่ในมณฑลอุดรธานีมีพวกญวนเข้ามาตั้งค้าขายอยู่หลายแห่ง ถ้าปล่อยญวนคนนั้นไปเที่ยวหากินตามชอบใจ อาจจะไปชักชวนพวกญวนที่อยู่ในมณฑลอุดรให้ร่วมคิดกับพวกกบฏ ก็จะเกิดลำบากขึ้นในระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ครั้นจะจับกุมกักขังญวนคนนั้น ก็ไม่ได้ทำความผิดอย่างใดในเมืองไทย เห็นว่าหางานให้ทำอยู่ใกล้ๆ จะดีกว่าอย่างอื่น มันทำอย่างไรจะได้รู้ จึงได้จ้างญวนนั้นไว้เป็นคนเลี้ยงม้า ฉันอ่านคำตอบชอบใจ ส่งไปให้ทูตฝรั่งเศสดู ก็ชมมาว่าเทศาฯ ทำถูกแล้ว
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 เมษายน 2567 19:26:34 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #21 เมื่อ: 08 เมษายน 2567 19:26:00 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๖ เรื่องลานช้าง (จบ) ชาวลานช้างไหว้เจ้า เมื่อฉันขึ้นไปมณฑลอุดร กรมหลวงประจักษ์ฯ เสด็จกลับลงมากรุงเทพฯ เสียกว่า ๑๐ ปีแล้ว เห็นจะเป็นเพราะราษฎรไม่ได้เห็นเจ้านายมาช้านาน พอได้ยินข่าวว่าจะมีเจ้านายเสด็จขึ้นไปอีกก็พากันปีติยินดี ตั้งแต่ฉันเข้าเขตมณฑลอุดร เดินทางผ่านตำบลไหน ก็เห็นราษฎรชาวบ้านในตำบลนั้นทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ พากันมานั่งคอยเคารพอยู่ที่ริมทางเป็นหมู่ๆ และมากๆ เวลาไปหยุดพักที่ไหน พวกราษฎรก็พากันมานั่งห้อมล้อมรอบข้าง บางคนก็มาไหว้ด้วยมือเปล่า บางคนมีเครื่องสักการะมาด้วย บางคนก็ถึงเอาน้ำใส่ขันมาขอให้ทำน้ำมนต์ และอยากเข้าให้ใกล้ชิดทุกคน พวกหนึ่งเข้ามากราบไหว้แล้วถอยออกไป พวกใหม่ก็เข้ามาแทน มีกิจที่ต้องรับและปราศรัยให้พรราษฎรเพิ่มขึ้นตลอดทางที่ไปทุกแห่ง แต่ที่ไหนไม่เหมือนที่เมืองหนองคาย เวลาฉันพักอยู่ที่นั่นแต่พอเช้าก็มีพวกราษฎรมาหาทุกวัน พวกไหนมาถึงก็เข้ามานั่งอยู่ที่หน้าพลับพลา คอยอยู่จนฉันออกไปปราศรัยแล้วจึงกลับไป พวกหนึ่งไปแล้วพวกอื่นก็มาอีก ถ้าไม่ได้พบฉันก็ไม่กลับ ต้อง “เสด็จออก” ร่ำไปไม่รู้ว่าวันละกี่ครั้ง จนฉันออกปากว่าอ่อนใจ พวกกรมการเมืองหนองคายเขาจึงบอกให้รู้ ว่าพวกราษฎรที่มาหานั้น มิใช่แต่ชาวเมืองหนองคายเมืองเดียว พวกราษฎรทางฝั่งซ้ายในแดนฝรั่งเศสก็มามาก ฉันได้ฟังก็เกิดลำบากใจ ด้วยเดิมคิดไว้ว่าจะหาโอกาสไปดูเมืองเวียงจันทน์ แต่นึกขึ้นว่าถ้าเวลาเมื่อฉันไป มีพวกราษฎรในเมืองเวียงจันทน์พากันมาห้อมล้อมไหว้เจ้าตามประสาของเขาเหมือนอย่างทางฝั่งข้างนี้ ก็อาจจะกระเทือนไปถึงการเมือง จึงงดความประสงค์ เลยไม่ได้ไปเห็นเมืองเวียงจันทน์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นลำบากได้ทีเดียว ด้วยเมื่อลงเรือไฟลาแครนเดียของฝรั่งเศสล่องลำแม่น้ำโขงลงไปจากเมืองหนองคาย ถึงเวลาบ่ายในวันแรกล่องนั้น นายเรือขอจอดรับฟืนที่สถานีของฝรั่งเศสแห่งหนึ่งทางฝั่งซ้าย เวลาขนฟืนลงเรือ ฉันนั่งอยู่บนดาดฟ้าด้วยกันกับนายพันตรีโนลังฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลให้เป็นผู้ไปกับฉัน มียายแก่คนหนึ่งถือพานเครื่องสักการะเดินไต่ตลิ่งลงมาจากสถานี ฉันเห็นก็นึกว่าคิดถูกที่ไม่ไปเมืองเวียงจันทน์ แต่ที่นี่มีเพียงยายแก่คนเดียว จะประสานการเมืองได้ไม่ยากนัก พอแกลงมาในเรือเดินตรงเข้ามาหาฉัน ฉันชี้มือให้แกไปที่นายพันตรีโนลัง แต่เขาก็คิดทันท่วงที ลุกขึ้นเดินไปรับพานเครื่องสักการะจากมือยายแก่เอามาส่งให้ฉัน ก็เป็นการเรียบร้อยด้วยอัชฌาสัยทั้งสองฝ่าย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #22 เมื่อ: 08 เมษายน 2567 19:33:58 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง นิทานนี้ ก็จะเล่าถึงเรื่องต่างๆ ซึ่งฉันได้รู้เห็นเมื่อครั้งไปตรวจราชการมณฑลอุดรและอีสานใน พ.ศ.๒๔๔๙ ต่อนิทานเรื่องลานช้างอีกเรื่องหนึ่ง เริ่มด้วยพรรณนาถึงแม่น้ำโขงซึ่งฉันได้ล่องลงมาทางเรือ ๖ วัน ตั้งแต่เมืองหนองคายจนเมืองมุกดาหาร แต่จะต้องบอกออกตัวไว้ก่อนสักหน่อย ว่าฉันได้ไปเห็นมากว่า ๓๐ ปีแล้ว จะพรรณนาคลาดเคลื่อนเพราะหลงลืมไปบ้างก็เป็นได้ แม่น้ำโขงที่ฉันได้เห็นครั้งนั้น ในแผนที่ฝรั่งเศสเขากำหนดว่าเป็นตอนที่ใช้เรือไฟขึ้นล่องได้ตลอดปี ยังมีตอนอื่น เช่นในระหว่างเมืองหลวงพระบางกับเมืองเวียงจันทน์ เขาว่าใช้เรือไฟได้แต่ฤดูแล้งแต่บางตอน ยังมีบางตอนเช่นที่แก่งลีผี ใกล้แผ่นดินต่ำแดนเมืองเขมรเป็นต้นใช้เรือไฟไม่ได้ก็มี แม้ในตอนที่ว่าใช้เรือไฟได้ตลอดปี แม่น้ำโขงก็แปลกกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยหลายสถาน ดังจะพรรณนาให้เห็นว่าแปลกกันอย่างไรบ้างลักษณะแม่น้ำโขง ฉันไปเห็นแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรกที่เมืองหนองคาย พอแลเห็นก็ตระหนักใจว่าใหญ่โตกว่าแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทยทั้งสิ้น ยืนบนตลิ่งแลดูไปทางฟากข้างโน้น เห็นวัวควายที่อยู่ตามหาดตัวเล็กจิ๋ว ถึงถามกันว่า “นั่นวัวหรือควาย” คนที่อยู่ทางฝั่งโน้นก็เห็นถนัดต่อเมื่อเดิน ถ้านิ่งอยู่กับที่ก็มิใคร่สังเกตได้ แต่นอกจากเห็นว่าใหญ่โตแล้ว ดูแม่น้ำโขงที่เมืองหนองคายยังไม่เห็นอย่างอื่นผิดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางเมืองเหนือเท่าใดนัก ต่อเมื่อลงเรือล่องจากเมืองหนองคายจึงรู้ว่าแม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยอย่างไรบ้าง เริ่มต้นแต่วันแรกจะลงเรือ ฉันแต่งตัวแล้วต้องนั่งคอยแสงสว่างอยู่จนเกือบ ๘ นาฬิกาจึงลงเรือได้ เพราะฤดูที่ฉันไปพอถึงเวลาพลบ พระอาทิตย์ตก หมอกก็ลงในแม่น้ำโขงมืดไปตลอดคืน จนรุ่งเช้าแสงแดดแข็งหมอกจึงจาง เพราะฉะนั้นเรือจะขึ้นล่องในแม่น้ำโขงเวลากลางคืนไม่ได้ เรือไฟของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ฉันมา พอถึงที่พักแรมเวลาเย็นเขาจอดส่งฉันขึ้นบกทางฝั่งขวาแล้วก็ข้ามไปจอดนอนทางฝั่งซ้าย รุ่งเช้าพอหมอกจางเขาจึงข้ามมารับลงเรือต่อไป แต่เมื่อวันไปถึงเมืองท่าอุเทน เผอิญถึงต่อเวลาพลบนายเรือขอจอดที่เมืองฟองวินทางฝั่งซ้ายใกล้ๆ กับเมืองท่าอุเทน ด้วยว่าหมอกลงแล้วแลไม่เห็นท้องน้ำถนัด เขาเกรงเรือจะติด ฉันต้องลงเรือพายของเมืองท่าอุเทนข้ามมายังที่พักแรม ต่อรุ่งเช้าหมอกจาง เรือไฟจึงข้ามมารับตามเคย
แม่น้ำโขง ผิดกับแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่มีเกาะมากกว่ามาก พวกชาวเมืองเรียก “เกาะ” ว่า “ดอน” ก็ถูกโดยนัยหนึ่ง เพราะเกาะในแม่น้ำโขงโดยมากเป็นแต่แผ่นดินดอนอยู่ใต้น้ำ ถึงฤดูแล้งน้ำลดจึงโผล่ขึ้นมาเป็นเกาะ เกาะที่สูงพ้นน้ำอยู่ตลอดปีเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยได้ เหมือนเช่นเกาะใหญ่หรือเกาะบางปะอินในแขวงกรุงศรีอยุธยามีน้อย แต่ดอนทั้งปวงนั้น เวลาน้ำท่วมพัดพาเอาธาตุต่างๆ มาตกเป็นปุ๋ยเสมอทุกปี เมื่อโผล่ขึ้นเป็นเกาะเนื้อดินดีปลูกต้นไม้งอกงาม จึงเป็นที่ชาวเมืองชอบไปตั้งทำไร่ในฤดูแล้ง ปลูกพรรณไม้ล้มลุกต่างๆ เช่นยาสูบและข้าวโพดฟักแฟงแตงถั่ว เป็นสินค้าหาเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์มาก สังเกตดูตามฝั่งทั้งสองฟากแม่น้ำโขงก็เห็นผิดกับแม่น้ำอื่นๆ ในเมืองไทย ด้วยตามแม่น้ำอื่นมักมีวัดและบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำระยะไม่ห่างไกลกันนัก ถึงตรงที่ว่างบ้านเรือน ก็เป็นที่มีเจ้าของทำเรือกสวนไร่นาตามฤดู หาใคร่มีที่รกร้างว่างเปล่าไม่ แต่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดทางที่ฉันไป นอกจากตรงที่ตั้งเมืองหรือหมู่บ้านใหญ่ มักเป็นป่าเปลี่ยว บางแห่งถึงสัตว์ป่าสูงเช่นนกยูงลงอาศัยทำรังก็มี เรือล่องไปนานๆ จะเห็นมีเรือนอยู่ริมน้ำ ฉันลองขึ้นไปดูบนบกที่ตรงป่าเปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบต้นไม้ที่แลเห็นเป็นป่าอยู่บนตลิ่งก็ไม่มีต้นไม้อย่างใหญ่ เช่นต้นตะเคียนหรือยางยูง สังเกตดูคันตลิ่งเป็นแผ่นดินดอนเข้าไปข้างในสักสี่ห้าเส้น แล้วก็ลาดลุ่มลงไปเป็นลำลาบ มีรอยน้ำขังยืดยาวไปตามแนวตลิ่งทั้งข้างเหนือและข้างใต้ ผู้นำทางเขาบอกว่าฝั่งแม่น้ำโขงมักเป็นลำลาบอยู่ข้างในอย่างนั้นทั้งสองฟาก บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มเข้าไปไกลๆ ในฤดูฝนน้ำไหลหลากมาขังอยู่ในลำลาบเหล่านั้น น้ำลึกทำนาไม่ได้ ราษฎรจึงมิใคร่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำโขง นอกจากตรงที่มีเกาะทำไร่ขายสินค้าหากินได้ แห่งใดแผ่นดินดอนลงมาจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง ก็ตั้งเมืองหรือหมู่บ้านใหญ่ในที่เช่นนั้น เพราะทำไร่นาหากินได้สะดวก เมื่อได้ฟังเขาชี้แจงก็เข้าใจว่าเพราะเหตุใดแม่น้ำโขงจึงเป็นป่าเปลี่ยวโดยมาก
สังเกตดูเรือที่ใช้กันในแม่น้ำโขงก็ผิดกับแม่น้ำอื่น ด้วยชาวเมืองใช้กันแต่เรือพายอย่างขุดมาดไม้ต้นเดียว มีทุกขนาดตั้งเเต่เรือยาวสำหรับเจ้าบ้านภารเมืองลงมาจนเรือคอนขนาดเล็กที่ชาวบ้านใช้ ล้วนเป็นเรือขุดมาดไม้ต้นเดียวทั้งนั้น ไม่เห็นใช้เรือต่อเช่นเรือสำปั้นหรือเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า เรือแจวและเรือแล่นใบก็ไม่เห็นมีในแม่น้ำโขง ถ้าชาวเมืองจะทำเรือต่อหรือเรือมาดขึ้นกระดานใช้ ดูก็จะไม่ยากอันใด ที่ไม่ทำเห็นจะเป็นเพราะเรืออย่างอื่นใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้นไม่ได้สะดวก จึงใช้แต่เรือขุดมาด การขนสินค้าทางแม่น้ำโขง เห็นเอาเรือขุดมาด ๒ ลำผูกขนานกันทำแคร่และประทุนครอบเป็นที่บรรทุกสินค้าอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งทำแพไม้ไผ่ผูกเป็นรูปหัวแหลมท้ายแหลมมีประทุนตลอดแพ เว้นแต่ตอนหัวกับตอนท้าย กับมีทางเดินได้รอบประทุนสำหรับคนถ่อค้ำคัดแพให้ตรงทาง และมีเสากระโดงผูกกังหันสำหรับสังเกตทางลมด้วยทุกแพ น่าจะใช้ได้แต่ขาล่องทั้งเรือมาดและแพ ขาขึ้นเขาจะขนสินค้าไปทางน้ำอย่างไรฉันไม่ได้เห็น
ฝรั่งเศสเอาเรือไฟขึ้นไปใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้น นอกจากเรือไฟของรัฐบาลที่มาส่งฉัน ฉันได้เห็นเรือไฟบริษัทฝรั่งเศสรับจ้างส่งคนโดยสารและสินค้ามี ๒ ลำ เป็นเรือดาดฟ้าสองชั้นยาวราวสัก ๑๕ วา ขึ้นล่องในระหว่างเมืองสุวรรณเขตกับเมืองเวียงจันทน์สัปดาห์ละครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องช่วยมาก เป็นต้นแต่ตั้งสถานีให้มีฟืนสำหรับเรือไฟเป็นระยะไปตลอดทาง และให้มีพนักงานตรวจร่องน้ำก่อกรุยหมายทางแล่นเรือตามแก่งและที่น้ำตื้น บางแห่งก็มีคนสำหรับนำร่อง นอกจากนั้นว่ายังต้องให้เงินหนุนทุนบริษัทที่เดินเรือไฟในแม่น้ำโขง ทั้งตอนนี้และตอนอื่นถึงปีละ ๔๐๐,๐๐๐ แฟรงก์ มิฉะนั้นบริษัทก็ขาดทุนไม่สามารถเดินเรือในแม่น้ำโขงได้
แม่น้ำโขงผิดกับแม่น้ำอื่นในเมืองไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ภัยอันตรายในการขึ้นล่องมีมากกว่า และแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ เป็นต้นแต่สัตว์ร้ายที่ในน้ำเช่นจระเข้ก็มี และยังมีเงือกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เขาว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีแรงไฟฟ้าอยู่ในตัว ถ้าใครไปพ้องพานให้ตกใจ มันก็ปล่อยพิษไฟฟ้าให้ถูกตัวสลบเลยจมน้ำตาย ปลาอย่างนี้ไม่เคยได้ยินว่ามีในเมืองไทยที่แม่น้ำอื่น นอกจากสัตว์ร้าย ยังมีหินนอนวันอยู่ในท้องน้ำ คนล่องเรือแลไม่เห็นด้วยน้ำขุ่น แม้เรือไฟฝรั่งเศสลำที่ฉันมา ก็มาโดนหินนอนวันใกล้ๆ กับเมืองหนองคาย แต่โดนเบาเพียงทำให้เรือเอียงหน่อยหนึ่งแล้วหลุดได้ นอกจากนั้นยังมีหาดทรายลอยอีกอย่างหนึ่ง คือทรายซึ่งลอยมากับสายน้ำตก พูนกันขึ้นเป็นหาดอยู่ใต้น้ำชั่วคราว แล้วสายน้ำพัดเปลี่ยนที่ไปตกพูนที่อื่นอีกไม่รู้ว่าที่ไหนแน่ เรือไฟที่ฉันมาก็เคยติดทั้งสองลำ ติดอยู่หลายชั่วโมงทำอย่างไรก็ไม่หลุด จนเรือเมืองหนองคายพายตามลงมาทันมาช่วยลำเลียงของให้เรือไฟลอยจึงหลุดมาได้
แก่งในแม่น้ำโขงก็ผิดกับแก่งในแม่น้ำอื่นในเมืองไทย เช่นแม่น้ำไทรโยคก็มีแก่งแต่ตรงที่ภูเขาอยู่ใกล้ชิดลำน้ำ แม่น้ำปิงก็มีแก่งเชียงใหม่แต่ตรงลำน้ำผ่านภูเขาเขื่อนแผ่นดินสูงเทือกเดียว ๔๙ แก่ง พ้นที่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีแก่ง แต่แม่น้ำโขง ตลอดทางที่ฉันไปไม่เห็นมีภูเขาอยู่ริมน้ำ หรือลำน้ำผ่านไปในเทือกภูเขา แต่มีแก่งเป็นระยะไปตลอดทาง วันแรกออกจากเมืองหนองคายต้องลงแก่งถึง ๗ แห่ง วันหลังๆ ก็ต้องลงแก่งทุกวัน ล้วนเป็นแก่งใหญ่โตตามส่วนแม่น้ำ เรือขึ้นล่องยากกว่าแม่น้ำอื่น จะเปรียบกับแก่งในแม่น้ำไทรโยคหรือแก่งในแม่น้ำสักไม่ได้ พอเปรียบได้แต่กับแก่งเชียงใหม่ เพราะแก่งไทรโยคกับแก่งแม่น้ำสักใครๆ ก็เอาเรือขึ้นล่องได้ แต่เเก่งเชียงใหม่กับแก่งแม่น้ำโขง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญสำหรับเอาเรือแพผ่านแก่งจึงไปได้
จะเลยเล่าถึงแก่งเชียงใหม่ให้พิสดารสักหน่อย เพราะเดี๋ยวนี้คนไปมาและการส่งสินค้ากับเมืองเชียงใหม่ ใช้รถไฟกันเสียเป็นพื้น ที่ใช้ทางเรือมิใคร่มี เรือที่เคยใช้ทางแม่น้ำปิงเช่นเรือแม่ปะก็สูญเกือบหมดแล้ว การขึ้นล่องทางแก่งเชียงใหม่ดูใกล้จะเป็นโบราณคดีเข้าทุกที ฉันเคยล่องเรือทางแก่งเชียงใหม่ ๒ ครั้ง จึงจะเล่าเรื่องแก่งเชียงใหม่ฝากไว้ในนิทานนี้ด้วย ได้กล่าวมาแล้วว่าการผ่านแก่งเชียงใหม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจึงจะเอาเรือขึ้นล่องได้ แต่ก่อนมาทางแขวงเมืองเชียงใหม่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่บ้านมืดกาข้างเหนือแก่งแห่งหนึ่ง ทางแขวงเมืองตากก็มีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่บ้านนาข้างใต้แก่งแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทั้งสองตำบลนั้น โดยมากหากินด้วยรับจ้างเอาเรือผ่านแก่งเชียงใหม่ เรือใครถ่อขึ้นไปถึงบ้านนาก็จ้างพวกเชี่ยวชาญชุดหนึ่ง ๕ คน หรือ ๓ คน ตามขนาดเรือย่อมและเรือใหญ่ให้พาเรือขึ้นแก่ง เมื่อขึ้นไปพ้นแก่งหมดแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญก็ขึ้นบกเดินข้ามภูเขากลับมาบ้าน ขาล่องเมื่อเรือลงมาถึงบ้านมืดกา ก็จ้างพวกชาวบ้านเอาเรือลงมาส่งถึงใต้แก่งเช่นเดียวกัน วิธีเอาเรือผ่านแก่งเชียงใหม่นั้น ขาขึ้นมักต้องขึ้นคราวเดียวกันหลายลำจึงสะดวก พอเรือถึงท้ายแก่งก็เอาเชือกพวนผูกหัวเรือโยงขึ้นไปบนบก ระดมคนขึ้นช่วยกันลาก พวกผู้ชำนาญประจำอยู่ในเรือเอาถ่อกรานช่วยแรงคนลาก และคอยค้ำหัวและคัดท้ายให้เรือตรงช่องจนพ้นแก่งแล้วก็ถ่อต่อไปจนถึงแก่งหน้า ขึ้น ๗ วันหรือ ๑๐ วัน จึงหมดแก่ง ขาล่องแก่งเชียงใหม่หน้าแล้งล่อง ๔ วัน เขาว่าหน้าน้ำๆ ท่วมแก่ง เป็นแต่ต้องหลีกน้ำวน ล่องวันเดียวก็ตลอดหมด วิธีล่องแก่งมี ๒ อย่าง เรียกว่า “ผาย” อย่างหนึ่ง เรียกว่า “ล่องคลองฮีบ” อย่างหนึ่ง วิธีผายนั้นพอเรือใกล้จะถึงหัวแก่งก็ตีกรรเชียงเร่งเรือให้เข้าสายน้ำที่ไหลลงช่องแก่ง ปล่อยให้เรือลอยลงมากับเกลียวน้ำที่ตกแก่ง คนข้างหัวคอยเอาถ่อค้ำ คนข้างท้ายคัดตะกูดให้เรือหลีกเลี่ยงก้อนหิน เรือพุ่งลงมาสักนาทีเดียวก็พ้นเทือกหินถึงวังน้ำนิ่งข้างใต้แก่ง แล้วตีกรรเชียงต่อไป ที่เรียกคลองฮีบนั้น พวกชาวเรือเขาเอาก้อนหินเล็กๆ วางเรียงกันทดน้ำให้ไหลเป็นรายลงมาข้างช่องแก่ง ลึกพอครือๆ ท้องเรือ ต่อเวลาน้ำน้อยช่องแก่งแคบนัก หรือถ้าเรือขนาดใหญ่ผายลงทางช่องแก่งไม่ได้ จึงเอาลงทางคลองฮีบ เรือที่ใช้ในแม่น้ำปิงก็มีแต่ ๒ อย่าง ขนาดย่อมเรียกว่า “เรือกราบแป้น” ตี ๒ กรรเชียงอย่างหนึ่ง ขนาดใหญ่เรียกว่า “เรือแม่ปะ” ตี ๔ กรรเชียงอย่างหนึ่ง เรือกราบแป้นมักผายได้แทบทุกแก่ง แต่เรือแม่ปะลงบางแก่งต้องลงทางคลองฮีบ วิธีลงคลองฮีบนั้น พอเรือถึงเหนือแก่งเอาเชือกผูกท้ายโยงไปรั้งไว้บนตลิ่ง แล้วให้คนลงยืนรายในน้ำประคองสองข้าง ค่อยๆ หย่อนเชือกให้เรือลง ราวสัก ๒๐ นาทีจึงพ้นแก่ง
เมื่อฉันไปเชียงใหม่ครั้งแรกเดินบกไปจากอุตรดิตถ์ ขากลับลงมาทางเรือจากเมืองเชียงใหม่ เขาจัดเรือแม่ปะลำทรงของพระเจ้าเชียงใหม่ให้ฉันมา และให้ผู้เชี่ยวชาญสำหรับเรือลำนั้นแต่ครั้งพระเจ้าเชียงใหม่พามา แต่ฉันมาเกิดไม่พอใจ ด้วยพวกเชี่ยวชาญแกระวังภัยเกินขนาด ปล่อยให้เรือลำฉันมาผายผ่านแต่ที่แก่งที่ลงง่ายอย่างประดาเสีย ถ้าเป็นแก่งลงยากสักนิดก็เอาเรือหย่อนลงทางคลองฮีบช้าเสียเวลา ฉันเห็นเรือแม่ปะลำอื่นๆเขาผายตามกันลงไปได้คล่องๆ ก็ออกรำคาญ ถามนายฮ้อยผู้คุมเรือว่าเราผายอย่างเขาบ้างไม่ได้หรือ แกว่าผายก็ได้แต่เป็นเรือ “เสด็จเจ้า” มา ถ้าโดนอะไรก็จะมีความผิด จึงเอาลงทางคลองฮีบ ฉันถามว่าเมื่อครั้งพระเจ้าเชียงใหม่เคยโดนบ้างหรือ แกว่าเรือลำทรงนั้นเคยโดนล่มในแก่งครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ฉันได้ฟังก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะมูลนายเขากำชับกำชามาให้ระวังอย่าให้มีเหตุ แกก็เลยไม่กล้าผาย ฉันจึงบอกแกว่าผายเหมือนอย่างเรืออื่นเถิด ฉันอยากจะดู โดยเรือจะโดนแก่งล่มฉันก็จะไม่เอาโทษ สังเกตดูพวกที่เชี่ยวชาญเหล่านั้น ก็เห็นจะอยากผายอวดฝีมืออยู่แล้ว พอได้อภัยก็พากันยินดีไม่ต้องเตือนต่อไป ฉันนั่งดูมาในเรือก็เห็นตระหนัก ว่าผายเรือล่องแก่งเป็นการยาก และมีเสี่ยงภัยจริงๆ เพราะในแก่งมีหินเป็นแง่ระกะไปทั้งนั้น ช่องเรือลงไม่ตรงเหมือนกับลำคลอง เรือลอยลงมากับเกลียวน้ำเร็วเท่าๆ รถไฟแล่น จะยับยั้งไม่ได้ ถ้าค้ำพลาด หัวเรือแปรออกนอกร่องก็ต้องโดนหินล่มทุกลำ ได้เห็นความชำนิชำนาญของพวกผู้เชี่ยวชาญอย่างน่าพิศวง เมื่อใกล้จะถึงแก่ง นายฮ้อยถือท้ายเรือร้องสั่งว่า “เอา” เป็นสัญญาเร่งกรรเชียงคำเดียว แล้วก็ไม่ออกปากพูดจาอะไรกันอีก คนอยู่ตอนหัวเรือถือถ่อขึ้นไปยืนบนโขนเรือคนหนึ่ง อีก ๓ คนยืนถือถ่อประจำสองแคม คอยค้ำให้เรือเลี้ยวหลีกเลี่ยงก้อนหิน นายฮ้อยก็คัดท้ายช่วยคนถ่อ ดูเหมือนกับนัดแนะเข้าใจกันว่า คนไหนควรจะค้ำหินก้อนไหน และนายฮ้อยควรจะเบี่ยงบ่ายท้ายเรือเพียงไหนให้เบาแรงคนค้ำทางหัวเรือ ไม่มีที่จะก้าวก่ายหรือต้องตักเตือนกันอย่างไร ถ้าเป็นแก่งลงยาก พอเรือล่องตลอดแก่งถึงวังน้ำนิ่ง พวกทางหัวเรือก็วางถ่อฟ้อนรำกันสนุกสนาน พวกเรานั่งมาในเรือ ดูเมื่อเวลาเรือพุ่งลงแก่งก็ออกหวาดหวั่น ด้วยเห็นเรือลอยหลีกก้อนหินหวิดๆ ลงไปตลอดแก่ง เห็นเขาฟ้อนรำเมื่อพ้นภัยก็พลอยสนุกกับเขาด้วย ใครได้ไปเที่ยวทางแก่งเชียงใหม่ ดูเหมือนจะติดใจทุกคน เพราะทางหว่างแก่งนั้น ดูเขาไม้ก็งามน่าชม เวลาล่องแก่งก็สนุก และมีที่ขึ้นเที่ยวได้ตลอดทาง เมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว พาลูกขึ้นไปเที่ยวเมืองเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๖ อีกครั้งหนึ่ง ขึ้นไปรถไฟ ขากลับก็กลับทางเรือซ้ำอีก เพราะติดใจแก่งเชียงใหม่ยังไม่หาย จึงได้เคยล่องทางนั้นถึง ๒ ครั้ง
จะว่าถึงแก่งแม่น้ำโขงต่อไป เพราะแม่น้ำโขงใหญ่โต แก่งก็ใหญ่โต ช่องแก่งก็กว้าง ผายได้ทั้งเรือแพ แม้จนเรือไฟดาดฟ้าสองชั้น ก็ผ่านแก่งขึ้นล่องได้ตลอดปี ไม่ต้องใช้คลองฮีบ ขาขึ้นแก่งแม่น้ำโขงเขาจะขึ้นกันอย่างไร ฉันไม่เคยเห็น แต่เมื่อคิดเทียบกับแก่งเชียงใหม่ เห็นว่าเรือไฟคงแล่นขึ้นได้ ถ้าเป็นเรือพาย ก็คงต้องใช้เชือกโยงลากเรือขึ้นอย่างเดียวกันกับแก่งเชียงใหม่ แต่แพขึ้นไม่ได้อยู่เอง แก่งแม่น้ำโขงมีภัยผิดกับแก่งเชียงใหม่ เป็นข้อสำคัญอยู่ที่น้ำวนร้าย พวกชาวเมืองเรียกว่า “เวิน” กลัวกันเสียยิ่งกว่าหินที่ในแก่ง เพราะธรรมดาแก่งย่อมมีวังน้ำลึกอยู่ข้างใต้แก่ง วังทางแก่งเชียงใหม่ในฤดูแล้งเป็นที่น้ำนิ่งดังกล่าวมาแล้ว ต่อฤดูน้ำจึงเป็นน้ำวนก็ไม่ใหญ่โตเพียงใดนัก แต่แก่งแม่น้ำโขง เพราะสายน้ำแรงทำให้น้ำที่ในวังไหลวนเป็นวงใหญ่เวียนลึกลงไปอย่างก้นหอย มีสะดืออยู่ที่กลางวงเป็นนิจ ผิดกันแต่ในฤดูแล้งน้ำวนอ่อนกว่าฤดูน้ำ เรือแพผายลงแก่ง จำต้องผ่านไปในวงน้ำวน ถ้าหลีกสะดือวนไม่พ้น น้ำก็อาจจะดูดเอาเรือจมหายลงไปในวนได้ทั้งลำ ดังเช่นเคยเกิดเหตุแก่เรือไฟลาแครนเดีย ลำที่ฉันลงมานั้นเองเมื่อปีหลัง เขาว่ารับนายพลฝรั่งเศสขึ้นไปตรวจทหารที่เมืองหลวงพระบาง ขาล่องกลับลงมาถึงแก่งจัน อันเป็นแก่งร้ายอยู่ในแดนเมืองหลวงพระบาง ถือท้ายเรือหลีกไม่พ้นสะดือน้ำวนได้ น้ำดูดเอาเรือลาแครนเดียจมหมดทั้งลำ นายพลฝรั่งก็เลยจมน้ำตายด้วย ตามแก่งสำคัญๆ ในตอนที่ฉันผ่านมา มีเครื่องหมายทำไว้แต่โบราณทั้งข้างเหนือและข้างใต้แก่ง เมื่อเรือแพชาวเมืองจะผ่านแก่ง ต้องแวะดูคราบระดับน้ำที่เครื่องหมาย ถ้าเห็นระดับน้ำถึงขนาดมีภัย ก็ต้องจอดคอยอยู่นอกแก่ง จนเห็นระดับน้ำได้ขนาดปลอดภัย จึงขึ้นล่อง นอกจากแก่งหินในแม่น้ำโขงยังมี “เรี่ยว” อีกอย่างหนึ่ง เรี่ยวนั้นเป็นแต่ชายหาดทราย ๒ ฟากยื่นออกมาใกล้กัน ทำให้ร่องน้ำแคบคดเคี้ยว น้ำไหลเชี่ยวเหมือนเช่นแก่งไปยืดยาว ถ้าเรือล่องหลีกไม่พ้นชายหาดก็ล่ม เรี่ยวบางแห่งร้ายถึงต้องมีคนนำร่อง สำหรับพาเรือไฟผ่านเรี่ยว
แต่ทางแม่น้ำโขง ผู้เชี่ยวชาญในการเอาเรือผ่านแก่ง ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนรวมกันอยู่เป็นตำบลเหมือนทางแม่น้ำปิง ด้วยแม่น้ำโขงมีแก่งรายไปตลอดทาง แก่งไม่อยู่แต่เป็นเทือกเดียวเหมือนกับแก่งเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นผู้ที่ใช้เรือแพในแม่น้ำโขง ต้องเชี่ยวชาญอยู่ในตัวเอง ถ้าไปยังถิ่นที่ตนไม่ชำนาญ ก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในถิ่นนั้นๆ คงจะเป็นเพราะใช้เรือขึ้นล่องลำบากดังว่ามา การค้าขายทางลำแม่น้ำโขงจึงมีน้อย มักขนสินค้ากันทางบกโดยมาก ประหลาดอยู่ที่พวกล่องแพทางลำแม่น้ำโขง สามารถล่องแพผ่านแก่งได้ทุกชนิด เขาว่าเป็นแพของพวกชาวเมืองหลวงพระบาง บรรทุกสินค้าลงมาขายในมณฑลอุดรเสมอทุกปี สมกับคำเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์เล่า ว่าท่านเคยมาแพอย่างนั้นตั้งแต่เมืองหลวงพระบางจนถึงเมืองเชียงคาน ฉันถามว่าเมื่อลงแก่งทำอย่างไร ท่านบอกว่าน่ากลัวมาก แต่ท่านไม่สามารถจะทำอะไรได้ ก็ต้องทอดธุระแล้วแต่พวกเชี่ยวชาญเขาจะทำอย่างไรกัน ตัวท่านได้แต่นิ่งนึกเสี่ยงกรรม ว่าถ้ายังไม่ถึงที่ตายก็คงรอดไปได้ พวกล่องแพทางแม่น้ำโขง เห็นจะเคยหากินในการล่องแพมาค้าขายในมณฑลอุดรเป็นอาชีพสำหรับตระกูลสืบต่อพ่อลูกหลานมาช้านาน เคยล่องแพจนเจนทางและสายน้ำ ทั้งชำนาญการบังคับแพให้ล่องหลีกเลี่ยงอันตรายได้ดังใจ จึงสามารถล่องแพปลอดภัยลงมาได้ไกลถึงเพียงนั้น ที่ทำแพเป็นรูปร่างอย่างเช่นที่พรรณนามาแล้ว ก็คงเป็นเพราะได้ทดลองกันมาจนตระหนักแน่ว่าแพรูปร่างอย่างนั้นและขนาดเท่านั้นล่องได้สะดวกกว่าอย่างอื่น จึงทำแพแต่อย่างเดียวเหมือนกันหมด ดูน่าพิศวง
ตอนล่องแม่น้ำโขง แต่เมืองหนองคายจนเมืองนครพนม ฉันมาในเรือไฟลาแครนเดีย นั่งอยู่บนดาดฟ้าชั้นบน มิใคร่จะได้เห็นสายน้ำที่ในแก่ง จนมาลงเรือยาวพายล่องจากพระธาตุพนมลงมาเมืองมุกดาหาร ฉันลงเรือพายของเจ้าเมืองมา จึงได้เห็นน้ำวนในแม่น้ำโขงถนัดที่แก่งคันกะเบา เป็นแก่งใหญ่แห่งหนึ่งในแขวงเมืองมุกดาหาร แม้ในฤดูแล้งน้ำก็ยังไหลวนเป็นวงใหญ่ ที่กลางวงลึกดูน่ากลัว ถ้าเรือพลัดเข้าไปถึงสะดือวนก็คงดูดจมเป็นแน่ไม่ต้องสงสัย เรือยาวที่ฉันไปเป็นเรือขุดมาดอยู่ข้างจะเปลี้ยน้ำ น่ากลัวอยู่บ้าง แต่อุ่นใจที่ฝีพายล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญสัก ๑๕ คนด้วยกัน เมื่อใกล้จะถึงแก่ง ได้ยินนายเรือสั่งให้ฝีพายเตรียมตัว พอเรือเข้าวงวนก็ตั้งข้อพายเต็มเหนี่ยวพรักพร้อม รู้ท่วงทีกันทั้งคนคัดหัวถือท้ายและฝีพายตลอดลำ ราวกับได้ซักซ้อมกันไว้ สังเกตดูวิธีที่เขาเอาเรือผ่านน้ำวน ดูเหมือนจะต้องเข้าตามน้ำให้ค่อนข้างขอบวงวนซึ่งสายน้ำอ่อน แล้วเร่งพายเต็มเหนี่ยวให้สายน้ำกับแรงพายพาเรือแล่น ให้หัวพุ่งออกจากขอบวงทางข้างโน้น มิทันให้น้ำพัดหัวเรือแปรไปตามวงของสายน้ำ เรืออยู่ในวงวนราวสักนาทีเดียวก็พ้นไปได้ พอเรือออกนอกวงวน พวกฝีพายก็พากันรื่นเริงตลอดลำ เช่นเดียวกับพวกผายเรือลงแก่งเชียงใหม่ เราก็ออกสนุกด้วยเหมือนกัน
ลักษณะแม่น้ำโขงตามที่พรรณนามา ถ้าจะชมโฉมตามความเห็นของฉัน เห็นว่าน่ากลัวยิ่งกว่าน่าชม ถ้ามีใครถามว่าน่าไปเที่ยวหรือไม่ ฉันจะตอบว่า ถ้าใครยังไม่เคยเห็นก็น่าไปดู ด้วยแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ แต่เห็นจะไม่รู้สึกสนุกสนาน เหมือนอย่างไปเที่ยวทางแม่น้ำปิงหรือแม่น้ำสักและแม่น้ำไทรโยค ฉันไปหนหนึ่งแล้วยังไม่นึกอยากไปล่องแม่น้ำโขงอีก จนเดี๋ยวนี้เดินดง เมื่อฉันเดินบกจากเมืองมุกดาหาร กลับเข้ามายังเมืองยโสธรในมณฑลอีสาน ต้องข้ามเทือกภูเขาขึ้นแผ่นดินสูงผ่านดงอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ดงบังอี่” ดงนี้พระยานครราชเสนี (กาด สิงหเสนี) จางวางเมืองนครราชสีมา เคยบอกฉันว่าเป็นดงใหญ่กว่าดงอื่นๆ หมดใน ๓ มณฑลนั้น และว่าเป็นดงที่ช้างเถื่อนชุม พวกโพนช้างชอบเสาะช้างดงบังอี่ ด้วยถือกันว่าเป็นช้างดีมีกำลังมาก ฉันได้ฟังเล่ามาหลายปีจึงได้ไปถึงดงบังอี่ พอเห็นก็ตระหนักใจว่าเป็นดงทึบมากผิดกับดงไหนๆ ที่ฉันได้เคยเห็นมาแล้ว
ที่เรียกว่า “ป่า” และ “ดง” เป็นท้องที่มีต้นไม้มากอันล้วนขึ้นเองโดยธรรมดาเหมือนกัน ที่ป่ากับดงผิดกันนั้น ป่าเป็นพื้นดินแห้งในฤดูแล้งต้นไม้ได้น้ำไม่พอบริโภค ก็หยุดงอกงามใบเหี่ยวแห้งหล่นไปชั่วคราว เมื่อถึงฤดูได้น้ำพอบริโภค ก็กลับฟื้นตัวงอกงามไปอีก เพราะฉะนั้นในป่าถึงฤดูแล้งไม่รก บางแห่งไฟไหม้ใบหญ้าเวลาแห้งจนพื้นป่าเตียนก็มี แม้ในฤดูฝนป่าก็ไม่รกทึบทีเดียว เพราะต้นไม้ใบหญ้าต้องเหี่ยวแห้งเสมอทุกปีไม่ทันขึ้นสูงใหญ่ แต่ในดง แผ่นดินเป็นที่มีน้ำชุ่มชื้นอยู่ตลอดปี ต้นไม้ใบหญ้าไม่มีเวลาแห้งเหี่ยวก็งอกงามอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในดงจึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นรกชัฏ ดูสดชื่นเขียวชอุ่มอยู่เป็นนิจ ต่างกันแต่เป็นดงทึบมากและน้อย เหมือนเช่นดงพญาไฟไม่สู้จะทึบนัก เวลาไปในดงยังถูกแดด เป็นแต่รู้สึกว่าอากาศเย็นกว่าข้างนอกดง หนทางเดินในดงพญาไฟก็กว้าง สองข้างทางมิใคร่จะรกเรี้ยว เพราะมีผู้คนและวัวต่างเดินไปมามากอยู่เป็นนิจ ที่ในดงบางแห่งก็มีกะปางเป็นที่ว่าง บางแห่งใต้ต้นไม้แลดูโปร่งไปไกลๆ เมื่อฉันไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี) ยังเป็นพระยาประสิทธิศัลการ สมุหเทศาภิบาล ลงมารับฉันที่ปลายทางรถไฟ เวลานั้นทำถึงตำบลทับกวาง ขี่ม้าไปในดงพญาไฟด้วยกัน แกเคยไปมาในดงนั้นจนชำนาญทาง ไปถึงที่บางแห่งชวนฉันให้ลงเดินเล่นที่ในดงพญาไฟออกปากว่า “ตรงนี้งามเหมือนกับในบัวเดอบุลอย” ที่เมืองปารีส แต่ดงบังอี่ไม่เช่นนั้น พอถึงปากดงก็แลเห็นแต่ต้นยางยูงสูงใหญ่สะพรั่งไปทุกด้าน ริมต้นไม้ใหญ่ก็มีต้นไม้เล็กและกอหนามขึ้นรกชัฏ มีหนทางเป็นช่องกว้างสัก ๘ ศอก ที่จะเดินไปในดง พอเข้าไปก็รู้สึกเยือกเย็น เห็นแสงสว่างในทางเดินเพียงสักเท่าเดือนหงาย เพราะร่มไม้ใหญ่บังแสงแดดส่องลงมาไม่ถึงพื้น เดินไปในดงได้เห็นดวงอาทิตย์แต่เมื่อเวลาเที่ยงสักครู่หนึ่ง มีที่แจ้งเห็นแสงแดดก็แต่เมื่อถึงห้วยเป็นแห่งๆ หนทางที่เดินไปในดงบังอี่ ก็เหมือนแต่ร่องน้ำฝนไหลกัดมานมนานจนลึกลงไปเป็นลำราง พื้นเป็นกรวดปนดินขรุขระ บางแห่งก็มีรากไม้กีดทางระกะไป จะลงเดินเล่นหรือหาที่แวะเที่ยวอย่างดงพญาไฟก็ไม่มี เพราะรกทึบทั้งสองข้าง มีที่เตียนพอนั่งพักก็แต่ตามลำห้วย มีห้วยใหญ่ในดงแห่งหนึ่งเรียกว่า “ห้วยบังอี่” เห็นจะเป็นต้นชื่อของดงนั้น ที่ว่าดงบังอี่มีช้างเถื่อนชุมก็คงเป็นความจริง ถึงสัตว์ป่าอย่างอื่นก็คงชุม เพราะดงทึบไม่ถูกคนรบกวน สัตว์จึงชอบอาศัย แต่ฉันไปเป็นขบวนคนมาก ก็ไม่มีสัตว์ป่ามาให้เห็นอยู่เอง ได้ยินแต่เสียงชะนีกับเสียงนกยูงร้องที่ในดงเนืองๆ แต่ก็ไม่อัศจรรย์ เพราะเสียงสัตว์สองอย่างนั้น เคยได้ยินชินหูแล้ว ไปเกิดพิศวงแต่เมื่อได้ยินเสียงนกระวังไพร ซึ่งฉันไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อน ได้ฟังแต่เขาเล่าว่าเสียงมันร้องเหมือนคำคน “โสกกะโดก” สองคำแล้วลงท้ายว่า “เสือขบ” พอฉันได้ยินมันร้องที่ในดงก็รู้ทันทีว่านกระวังไพร ไม่ต้องถามว่านกอะไร เพราะมันร้องเป็น ๔ พยางค์ทุกครั้ง เสียงสูงต่ำก็คล้ายกับที่เขาเปรียบ แต่ถ้าฉันไม่ได้เคยฟังคำเปรียบ ก็เห็นจะไม่ตีความโลนอย่างนั้น แต่รูปร่างนกระวังไพรมันเป็นอย่างไรฉันไม่ได้เห็น แต่เสียงมันดัง ตัวเห็นจะไม่ย่อมกว่าดุเหว่า ในดงมีประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่มักมีตัวผีเสื้อชุม มีหลายอย่าง รูปร่างสีสันแปลกๆ กัน บินเป็นหมู่ๆ ได้ดูเล่นเวลาเดินดงทุกแห่ง ดงบังอี่แปลกกับดงอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยมีที่ราบเหมือนอย่างเกาะอยู่กลางดง มีคนพวกผู้ไทยไปตั้งบ้านทำไร่นาหากินอยู่สัก ๘๐ หลังคาเรือน เรียกว่า “บ้านนาเกาะ” ห่างจากเมืองมุกดาหารทาง ๗๐๐ เส้นเศษ ได้ระยะพอเหมาะพักแรมที่บ้านนั้น วันที่ ๒ เดินในดงต่อไปอีกสัก ๓๐๐ เส้น ก็พ้นดงบังอี่ที่บ้านนาคำ เเขวงเมืองยโสธร ทางในดงบังอี่สั้นกว่าดงพญาไฟวันหนึ่ง
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 เมษายน 2567 19:36:37 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #23 เมื่อ: 08 เมษายน 2567 19:35:45 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๗ เรื่องแม่น้ำโขง (จบ) เรื่องผีบุญ ฉันเดินบกจากเมืองยโสธร ไปพักแรมที่เมืองเสลภูมิเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม เมืองนี้เป็นที่มีเทือกหินแลงมากจึงได้ชื่อว่า “เมืองเสลภูมิ” เคยเป็นปัจจัยในเรื่องผีบุญซึ่งเกิดขึ้นในมณฑลอีสาน เป็นการใหญ่โตเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ จะเลยเล่าถึงเรื่องผีบุญไว้ในนิทานนี้ด้วย
เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๔๓ มีลายแทง (คือใบลานจารหนังสือ) เกิดขึ้นทางเมืองริมแม่น้ำโขง จะเริ่มมีในแดนฝรั่งเศสหรือแดนไทย และใครจะเป็นผู้คิดทำขึ้น สืบก็ไม่ได้ความ หนังสือในลายแทงนั้นเป็นคำพยากรณ์ว่า ถึงกลางเดือน ๖ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๔๔) จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง เงินทองทั้งปวงจะกลายเป็นกรวดทรายไปหมด ก้อนกรวดในหินแลงจะกลับเป็นเงินทอง หมูก็จะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน แล้วท้าวธรรมิกราชผีบุญ (คือผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากจะพ้นภัยก็ให้คัดลอกหรือบอกความตามลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป ใครอยากจะมั่งมีก็ให้เก็บกรวดหินแลง รวบรวมไว้ให้ท้าวธรรมิกราชชุบเป็นเงินเป็นทอง ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าหมูเสียก่อนกลางเดือน ๖ อย่าให้ทันมันกลายเป็นยักษ์ พวกราษฎรชาวลานช้างพากันหวั่นหวาด ก็บอกเล่าเลืองลือกันแพร่หลายไปในมณฑลอีสาน ตลอดจนถึงมณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา แต่พนักงานปกครองเห็นว่าเป็นคำของคนโง่ เล่าลือกันไปพักหนึ่งแล้วคงจะเงียบหายไปเอง ก็ไม่ทำอย่างไร ฉันได้ยินข่าวก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกันจึงเฉยเสีย แต่คำพยากรณ์ไม่เงียบไปดังเช่นคาด ตกถึงตอนปลายปีชวด ก็ปรากฏว่ามีพวกราษฎรตามเมืองต่างๆ ในมณฑลอีสาน พากันไปเก็บกรวดที่ตามเนินหินแลงในเมืองเสลภูมิมากมายเกลื่อนกลุ้ม และได้ข่าวว่าราษฎรเหล่านั้นพูดกันว่าพอถึงเดือน ๖ จะฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้เสียให้หมด พนักงานปกครองก็เกิดลำบาก จะจับตัวผู้กระทำผิดก็ไม่มีใครเป็นผู้ยุยงส่งเสริม ราษฎรเป็นแต่กลัวกันไปเอง ก็ได้แต่สั่งกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ชี้แจงห้ามปรามราษฎรว่าอย่าให้เชื่อถือคำทำนายนั้น มีผลเพียงทำให้คนหยุดเก็บกรวดที่เมืองเสลภูมิ แต่ไม่สามารถจะให้คนหายหวาดหวั่นได้ ในไม่ช้าก็มีคนตั้งตัวเป็นผู้วิเศษขึ้นในมณฑลอีสาน ตามคำของคนที่ได้เคยพบตัว ว่าเป็นคนในพื้นเมืองนั้นเอง เดิมจะชื่อไรและเป็นชาวเมืองไหนสืบไม่ได้ความจนแล้ว แต่เห็นจะเป็นคนเคยบวช จึงถนัดใช้คาถาอาคมเสกเป่าให้คนนับถือ ในชั้นแรกก็ทำตัวเป็นแต่คนจำศีลภาวนานุ่งขาวห่มขาว ไปถึงไหนก็บอกราษฎรว่าจะมีเหตุร้ายแรง ดังคำในลายแทง ให้ระวังตัว ฝ่ายราษฎรหวาดหวั่นกันอยู่แล้ว ครั้นเห็นคนจำศีลแปลกหน้ามา ก็สำคัญว่าคงทรงคุณวิเศษ พากันเข้าไปขอให้ช่วยป้องกันภัย ผู้วิเศษนั้นก็เสกคาถาอาคม รดน้ำมนตร์ให้ตามประสงค์ ข่าวที่มีผู้วิเศษรับจะช่วยป้องกันภัย รู้ไปถึงไหน ก็มีราษฎรที่นั่นพากันไปหา โดยประสงค์เพียงจะขอให้เสกเป่ารดน้ำมนตร์ให้ก็มี ที่นึกว่าเป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญมาบำรุงโลก เลยสมัครเข้าเป็นพรรคพวก ติดตามผู้วิเศษนั้นก็มี ผู้วิเศษไปทางไหนหรือพักอยู่ที่ไหน พวกชาวบ้านก็รับรองเลี้ยงดู เลยเป็นเหตุให้มีคนเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อผู้วิเศษนั้น เห็นว่ามีคนนับถือกลัวเกรงมาก ก็เลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่า เป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญที่จะมาดับยุคเข็ญตามคำพยากรณ์
เวลานั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงเป็นตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสานอยู่ ณ เมืองอุบล มีทหารชาวกรุงเทพฯ อยู่ด้วยสัก ๒๐๐ คน นอกจากนั้นเป็นทหารชาวเมืองฝึกหัดขึ้น รวมทหารทั้งหมดไม่ถึง ๕๐๐ คน เมื่อแรกทรงทราบว่ามีผู้ตั้งตัวเป็นท้าวธรรมิกราชผีบุญ คาดว่าจะเป็นแต่คนคิดหากินด้วยหลอกลวงราษฎร จึงตรัสสั่งให้นายร้อยเอก หม่อมราชวงศ์ร้าย คุมทหารชาวเมืองหมวดหนึ่ง ไปเอาตัวผีบุญเข้ามายังเมืองอุบล หม่อมราชวงศ์ร้ายไปพบผีบุญอยู่กับพรรคพวกที่บ้านแห่งหนึ่ง จะเป็นที่แขวงเมืองไหนในมณฑลอีสานฉันลืมไปเสียแล้ว ห่างเมืองอุบลทางสักสองสามวัน หม่อมราชวงศ์ร้ายเข้าไปในบ้านเห็นผีบุญนั่งอยู่บนเรือนก็กวักมือเรียกให้ลงมาหา แต่ผีบุญกลับถลึงตาชี้หน้าหม่อมราชวงศ์ร้าย หม่อมราชวงศ์ร้ายเหลียวหลังกลับมาสั่งพวกทหารให้เข้าไปจับ แต่พวกทหารชาวเมืองกลัวผีบุญ วิ่งหนีไปเสียหมดแล้ว หม่อมราชวงศ์ร้ายเหลือแต่ตัวคนเดียวก็ต้องหนีเอาชีวิตรอดกลับมา ผีบุญก็เลยกำเริบสั่งให้พรรคพวกรวบรวมผู้คน หาเครื่องศัสตราวุธเข้ากันเป็นกองใหญ่ ว่าจะยกมาเอาเมืองอุบลเป็นที่ตั้งตัว ใครไม่ยอมมาด้วยก็ให้ฆ่าเสีย พวกผีบุญก็กลายเป็นกบฏขึ้นแต่นี้ไป เวลานั้นกรมหลวงสรรพสิทธิฯ ก็ยังทรงพระดำริว่าถ้าให้มีทหารชาวกรุงเทพฯ กำกับพวกทหารชาวเมืองคงจะรบพุ่งพอปราบพวกผีบุญได้ จึงโปรดให้ทหารกรุงเทพฯ หมวดหนึ่ง นำทหารหัวเมืองกองร้อยหนึ่ง (ใครเป็นผู้บังคับการฉันลืมเสียแล้ว) ยกออกไป ไปพบพวกผีบุญห่างเมืองอุบลทางสัก ๒ วัน แต่คราวนี้พวกผีบุญเตรียมตัวจะมารบ เขาเล่าว่าตัวผีบุญนุ่งขาวห่มขาวเดินประนมมือเสกเป่ามากลางไพร่พล พอปะทะกับทหาร พวกผีบุญก็เข้ารบก่อน รบกันได้หน่อยหนึ่งพวกทหารชาวเมืองก็แตกหนีผีบุญอีก ทหารกรุงเทพฯ เหลืออยู่น้อยตัวก็ต้องล่ามา พวกผีบุญชนะทหารครั้งนี้เลยได้คนเข้าสมัครพรรคพวกมากขึ้น รวมกันราวกว่า ๑,๐๐๐ คน ยกตรงมายังเมืองอุบล ว่าจะปลงพระชนม์กรมหลวงสรรพสิทธิฯ เสียก่อนแล้วจึงจะขึ้นนั่งเมือง แต่กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านพระทัยเย็น ไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามอย่างไร คราวนี้ตรัสสั่งให้ใช้แต่ทหารกรุงเทพฯ ราวสัก ๑๐๐ เศษ มีปืนใหญ่อย่างสำหรับใช้บนเขาด้วย ๒ กระบอก ให้นายร้อยเอก หลวงชิตสรการ (จิตร) ซึ่งเคยเป็นนายทหารปืนใหญ่อยู่แต่ก่อน เป็นผู้บังคับการคุมไปรบพวกผีบุญ หลวงชิตสรการไปเลือกได้ที่ชัยภูมิที่ตำบลบ้านสาพือ ห่างเมืองอุบลไปทางวันหนึ่ง ที่ตรงนั้นทางเดินเข้ามาเมืองอุบลเป็นย่านตรง สองข้างเป็นป่าไม้ทึบเหมือนต้องเดินมาในตรอก หลวงชิตสรการให้ทหารตั้งซุ่มอยู่ในป่าที่ตรงหัวเลี้ยว และตั้งปืนใหญ่บรรจุกระสุนปรายซ่อนไว้ในซุ้มต้นไม้หมายยิงตรงไปในตรอกนั้น ถึงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๔ พวกผีบุญยกมาถึงบ้านสาพือ หลวงชิตสรการให้ทหารปืนเล็กหมวดหนึ่งออกขยายแถวยิงเหมือนอย่างว่าจะต้านทาน แล้วให้ทำล่าถอย ล่อพวกผีบุญให้ตามมาทางในตรอก พอเข้าทางปืน หลวงชิตสรการก็ให้ยิงปืนใหญ่ พวกทหารที่ได้ไปด้วยเขามาเล่า ว่ายิงนัดแรกตั้งศูนย์สูงนักลูกปืนข้ามหัวไป พวกผีบุญก็ยิ่งกำเริบพากันเต้นแรงเต้นกา อวดเก่งต่างๆ แต่ยิงนัดที่ ๒ ถูกพวกที่มาข้างหน้าหัวเด็ดตีนขาดล้มตายลงเป็นระเนน พวกที่มาข้างหลังก็หยุดชะงัก ยิงซ้ำนัดที่ ๓ ที่ ๔ ถูกพวกนั้นตายเป็นจุณวิจุณไป พวกผีบุญที่เหลืออยู่ก็แตกหนีเอาชีวิตรอดไม่มีใครต่อสู้ ทหารไล่จับเอาตามชอบใจ แต่นั้นชาวมณฑลอีสานก็สิ้นกลัว ช่วยจับกุมพวกผีบุญในไม่ช้าก็ราบคาบ คำพยากรณ์ก็เงียบหายไปด้วยกัน แต่ตัวท้าวธรรมิกราชผีบุญนั้น มีผู้เห็นเพียงเมื่อเดินเสกเป่ามากลางพล จะถูกปืนตายเมื่อรบกับทหารหรือจะหนีรอดไปได้ หรือกรมหลวงสรรพสิทธิฯ จะตามจับตัวได้เมื่อภายหลัง ฉันไม่รู้แน่ กรมหลวงสรรพสิทธิฯ ท่านส่งแต่มงกุฎของผีบุญเข้ามากรุงเทพฯ เป็นหมวกหนีบสักหลาดสีแดงขอบสีขาบมีไหมทองปักเป็นลาย พิจารณาดู เหมือนจะเคยเป็นหมวกของคนอื่นเขาใช้แล้ว ท้าวธรรมิกราชจึงได้มาทำเป็นเครื่องยศ ฉันส่งไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานยังปรากฏอยู่ เป็นสิ้นเรื่องผีบุญเท่านี้คนต่างจำพวก พวกพลเมืองในมณฑลอุดรและมณฑลอีสาน ที่ฉันไปพบมีไทยลานช้างเป็นพื้น แต่ยังมีคนจำพวกอื่นที่ผิดกับไทยลานช้าง และมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นๆ ต่างหากอีกหลายจำพวก ฉันได้ลองไถ่ถามดูได้ความว่ามี ๘ จำพวกต่างกัน คือ
๑. พวกผู้ไทย ว่าถิ่นเดิมอยู่ทางเมืองพวนข้างฝ่ายเหนือ พูดภาษาไทย ใช้ถ้อยคำผิดกับไทยลานช้างบ้างและเสียงแปร่งไปอย่างหนึ่ง ฉันพบตามเมืองต่างๆ ในสองมณฑลนั้นหลายแห่ง แต่ที่เมืองเรณูนครขึ้นเมืองสกลนครดูเหมือนจะมีมากกว่าที่อื่น สังเกตดูผิวพรรณผ่องกว่าจำพวกอื่น ผู้หญิงหน้าตาอยู่ข้างหมดจด เคยมีการฟ้อนรำให้ฉันดูเป็นคู่ๆ คล้ายกับจับระบำตามภาษาของเขา
๒. พวกกะเลิง พบในแขวงจังหวัดสกลนครมีมาก ว่าถิ่นเดิมอยู่เมืองกะตาก แต่ไม่รู้ว่าเมืองกะตากอยู่ที่ไหน เพราะอพยพมาอยู่ในแดนลานช้างหลายชั่วคนแล้ว พูดภาษาหนึ่งต่างหาก ผู้ชายบางคนไว้ผมมวย บางคนไว้ผมประบ่า และมักสักเป็นรูปนกที่แก้ม
๓. พวกย้อ พบที่เมืองท่าอุเทน พูดภาษาไทยแต่สำเนียงแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ถามถึงถิ่นเดิมบอกได้แต่ว่าเดิมอยู่ที่เมืองชัยบุรี ใกล้ๆ กับเมืองท่าอุเทนนั่นเอง หนีกองทัพกรุงเทพฯ ข้ามไปอยู่ที่เมืองหลวงโปงเลงทางฝั่งซ้ายใกล้กับแดนญวนเสียคราวหนึ่ง แล้วจึงพากันกลับมาอยู่ที่เมืองท่าอุเทนเมื่อรัชกาลที่ ๓ ในหนังสือ “เรื่องแหลมอินโดจีน” ของนาย ย.ส. อนุมานราชธนว่า แต่โบราณชาวเมืองตังเกี๋ยและเมืองอันนัมมีนามเรียกกันว่า “เหยอะ” จะเป็นมูลของคำ “ย้อ” ได้ดอกกระมัง
๔. พวกแสก อยู่ที่เมืองอาจสามารถขึ้นเมืองนครพนม ว่าถิ่นเดิมอยู่เมืองแสกทางฝั่งซ้ายใกล้เชิงเขาบรรทัดต่อแดนญวน แต่ฉันสงสัยว่าที่จริงจะมิได้มาจากทางแดนญวน เพราะพวกแสกพูดภาษาไทย ผิวพรรณก็เป็นไทย เขาพาพวกผู้หญิงแสกมามีการเล่นให้ฉันดูอย่างหนึ่งเรียกว่า “เต้นสาก” มีผู้หญิง ๑๐ คู่นั่งหันหน้าหากันเรียงเป็นแถว แต่ละคนถือปลายไม้พลองมือละอันทั้งสองข้าง วางไม้พลองบนไม้ขอนที่ทอดไว้ตรงหน้า ๒ ท่อนมีทางอยู่กลาง เวลาเล่นหญิง ๑๐ คู่นั้นขับร้อง แล้วเอาไม้พลองที่ถือลงกระทบไม้ขอนพร้อมๆ กันเป็นจังหวะ จังหวะ ๑ กับจังหวะ ๒ ถือไม้พลองให้ห่างกัน ถึงจังหวะ ๓ รวบไม้พลองเข้าชิดกัน มีหญิงสาว ๔ คน ผลัดกันเต้นทีละคู่ เต้นตามจังหวะไปในระหว่างช่องไม้พลองที่คนถือทั้ง ๑๐ คู่ ต้องระวังเมื่อถึงจังหวะ ๓ อย่าให้ถูกไม้พลองหนีบข้อตีน กระบวนเล่นมีเท่านั้น แต่ประหลาดอยู่ที่การเล่น “เต้นสาก” นี้ มีพวกกะเหรี่ยงทางชายแดนเมืองราชบุรีเล่นอีกพวกหนึ่ง พวกกะเหรี่ยงกับพวกแสกอยู่ห่างกันอย่างสุดหล้าฟ้าเขียว ไฉนจึงรู้จักการเล่นเช่นเดียวกัน ข้อนี้น่าพิศวง
๕. พวกโย้ย อยู่ที่เมืองอากาศอำนวยขึ้นเมืองสกลนคร ถามไม่ได้ความว่าถิ่นเดิมอยู่ที่ไหน
๖. พวกกะตาก พบที่เมืองสกลนคร ว่ามีแต่แห่งละเล็กละน้อย สืบก็ไม่ได้ความว่าถิ่นเดิมอยู่ที่ไหน
๗. พวกกะโซ้ เป็นข่าผิวคล้ำกว่าชาวเมืองจำพวกอื่นและพูดภาษาของตนต่างหาก มีในมณฑลอุดรหลายแห่ง แต่รวมกันอยู่มากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลขึ้นจังหวัดสกลนคร เจ้าเมืองกรมการและราษฎรล้วนเป็นข่ากะโซ้ทั้งนั้น บอกว่าถิ่นเดิมอยู่ ณ เมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้าย อันที่จริงพวกกะโซ้เป็นแต่ข่าจำพวกหนึ่ง ยังมีชนชาติข่าจำพวกอื่นอีกหลายจำพวก มีอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งแต่ในแขวงเมืองหลวงพระบางตลอดลงไปจนต่อแดนเขมร ภาษาของพวกข่าเป็นภาษาคล้ายมอญเจือเขมร แต่พวกกะโซ้ที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลพูดภาษาไทยได้โดยมาก ขนบธรรมเนียมเช่นเครื่องแต่งตัวเป็นต้น ก็มาใช้ตามอย่างไทยเสียโดยมาก ถึงกระนั้นก็ยังรักษาประเพณีเดิมของข่าไว้บางอย่าง ฉันได้เห็นการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งพระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑลเอามามีให้ดู เรียกว่า “สะลา” คนเล่นล้วนเป็นผู้ชายเปลือยตัวเปล่า นุ่งผ้าขัดเตี่ยวมีชายห้อยข้างหน้ากับข้างหลังอย่างเดียวกับพวกเงาะนุ่ง “เลาะเตี๊ยะ” ลักษณะที่เล่นนั้น มีหม้ออุตั้งอยู่กลางหม้อหนึ่ง คนเล่นเดินเป็นวงรอบหม้ออุ มีต้นบทนำขับร้องคนหนึ่ง สะพายหน้าไม้คนหนึ่ง ตีฆ้องเรียกว่า “พเนาะ” คนหนึ่ง ถือไม้ไผ่ ๓ ปล้องสำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะ ๒ คน คนรำ ๓ คน ถือชามติดเทียน ๒ มือคนหนึ่ง ถือตะแกรงคนหนึ่ง ถือมีดกับสิ่วเคาะกันเป็นจังหวะคนหนึ่ง รวม ๘ คนด้วยกัน กระบวนเล่นก็ไม่มีอะไรนอกจากเดินร้องรำเวียนเป็นวง เล่นพักหนึ่งแล้วก็นั่งลงกินอุ แล้วก็ร้องรำไปอีกอย่างนั้น เห็นได้ว่าเป็นการเล่นของพวกข่าตั้งแต่ยังเป็นคนป่า เมื่อมาเล่นให้ดู ดูคนเล่นก็ยังสนุกกันดี พวกกะโซ้ยังผิดกับคนจำพวกอื่นอีกอย่างหนึ่ง ที่กินอาหารไม่เลือก กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเคยตรัสเล่า ว่าเมื่อเสด็จประทับอยู่มณฑลอุดร พระอรัญอาสาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล (คนที่มารับฉันนั่นเอง) ไปเฝ้า ตรัสถามว่า “เขาว่าพวกแกกินหมาจริงหรือ” พระอรัญฯ ทูลรับว่า “พวกกะโซ้ชอบแจ๊ะจอ” จะทรงพิสูจน์ จึงให้หาสำรับเลี้ยงพระอรัญฯ มีจอย่างด้วยตัวหนึ่ง พระอรัญฯ ก็แจ๊ะจอถวายให้ทอดพระเนตรอย่างเอร็ดอร่อยไม่รังเกียจ คนอื่นเขาเล่ากันต่อไปว่าวันนั้น คนในตำหนักพากันออกไปดูพระอรัญฯ แจ๊ะจอ แต่ทนอยู่ไม่ได้ต้องหนีกลับเข้าตำหนักหมด
๘. ฉันอยากรู้ว่าคนที่เรียกชื่อต่างๆ กันดังพรรณนามา จะเป็นเชื้อสายมนุษยชาติต่างกันสักกี่ชาติ ได้ลองพิสูจน์ดูอย่างหยาบๆ เมื่อพบจำพวกไหนให้ถามคำปริมาณตั้งแต่ ๑ จน ๑๐ ตามภาษาของคนจำพวกนั้น จดไว้แล้วเอาเทียบกันดู ได้ความว่ามีแต่เป็นเชื้อชาติไทยกับเชื้อชาติข่า ๒ ชาติเท่านั้น เมื่อฉันไปมณฑลอีสานครั้งหลัง ไปพบ “เขมรป่าดง” อีกจำพวกหนึ่ง สอบสวนได้ความว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังคะ เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และอำเภอประโคนชัย (เดิมชื่อว่าเมืองตะลุง) ในจังหวัดนครราชสีมา บรรดาอยู่ทางฝ่ายใต้ต่อแดนกัมพูชา ชาวเมืองเป็น “เขมรป่าดง” ทั้งนั้น พูดภาษาเขมร และมีการเล่นอย่างโบราณหลายอย่าง เช่นเอาใบไม้มาเป่าเป็นเพลงเข้ากับขับร้อง ที่เรียกกันว่า “เขมรเป่าใบไม้” เป็นต้น ฉันเคยได้ยินแต่เรียกชื่อมาแต่ก่อน เพิ่งไปเห็นเล่นกันจริงครั้งนั้น
รวมความว่าด้วยคนต่างจำพวก ที่เป็นชาวมณฑลอุดรและอีสาน มีไทยมากกว่าจำพวกอื่นหมด รองลงมาก็ข่ากับเขมร เมื่อได้ความอย่างนั้นก็เกิดสงสัยว่า “ลาว” มีอยู่ที่ไหน จึงเรียกมณฑลพายัพ มณฑลอุดร มณฑลอีสาน ว่า “เมืองลาว” มาแต่ก่อน แต่เป็นปัญหาใหญ่เกินขนาดนิทานนี้ จะกล่าวแต่โดยย่อว่ามีเค้าเงื่อน ดูเหมือนพวกที่เรียกกันว่า “ละว้า” หรือ “ลวะ” จะเป็นลาวเจ้าของท้องถิ่นเดิมทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพวกข่าน่าจะเป็นลาวเจ้าของของถิ่นเดิมทางลุ่มแม่น้ำโขง พวกนักปราชญ์โบราณคดีกำลังค้นหาหลักฐานอยู่ ของโบราณ บนแผ่นดินสูง ที่ตั้งมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดร มณฑลอีสาน มีพุทธาวาสและเทวสถาน ซึ่งมักเรียกปนกันว่า “ปราสาทหิน” สร้างไว้แต่โบราณมากมายหลายแห่งแทบนับไม่ถ้วน แม้ไม่มีขนาดใหญ่โตเหมือนเช่นที่นครวัดเมืองเขมร แต่ก็มีที่แปลกและที่สร้างด้วยฝีมืออย่างประณีตน่าชมหลายแห่ง จะพรรณนาว่าแต่ที่สำคัญกว่าเพื่อน ๔ แห่ง อันเป็นบุญตาของฉันที่ได้ไปเห็นทั้งนั้น
๑. ปราสาทหินเมืองพิมาย อยู่ริมแม่น้ำมูล ในแขวงจังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองโบราณ มีประตูและปราการก่อด้วยหิน ตรงกลางเมืองมีปราสาทหิน เดิมสร้างเป็นพุทธาวาสตามคติมหายาน แล้วพวกถือศาสนาพราหมณ์ตามลัทธิวิษณุเวท มาสร้างพระระเบียงกับวิหารทิศเพิ่มขึ้น เพราะตามคตินารายณ์สิบปาง อ้างว่าพระวิษณุแบ่งภาคลงมาเป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่ง จึงกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปด้วยเหมือนกัน การถือคติอย่างว่านี้ ยังเห็นได้ แม้ในกรุงเทพฯ ก็มักมีชาวอินเดียที่ถือลัทธิวิษณุเวท เข้าไปกราบไหว้บูชาพระแก้วมรกต ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเนืองๆ ปราสาทหินที่เมืองพิมาย องค์ปรางค์ใหญ่ที่เป็นประธานจำหลักรูปภาพเป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนาอย่างคติมหายาน เห็นได้ว่าเป็นของสร้างก่อน แต่ที่พระระเบียงและวิหารทิศจำหลักรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ส่อให้เห็นว่าสร้างเมื่อภายหลัง และเป็นที่บูชาทั้งสองศาสนาระคนกันดังกล่าวมา บรรดาปราสาทหินที่บนแผ่นดินสูง ล้วนเอาแบบปราสาทหินในเมืองเขมรมาสร้างทั้งนั้น มีแปลกเป็นอย่างอื่น แต่พระวิหารกับพระธาตุพนม ๒ แห่ง ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า แต่ที่เมืองพิมายมีของแปลก ซึ่งไม่ได้ยินว่ามีในเมืองเขมรอยู่สิ่งหนึ่ง ทำเป็นรูปมหาพราหมณ์ จำหลักศิลาขนาดใหญ่กว่าตัวคนสักเท่าหนึ่ง ฝีมือทำเกลี้ยงเกลาดี เมื่อฉันไปครั้งแรกเห็นรูปนั้นยังบริบูรณ์ดี ตั้งอยู่ในปรางค์เล็กองค์หนึ่ง แต่เมื่อฉันไปครั้งที่ ๒ เห็นหัวหักหายไป นึกเสียดายอย่างยิ่ง ต่อมาเมื่อกรมหลวงนครชัยศรีสุรเดชสิ้นพระชนม์ วันหนึ่งฉันไปช่วยงานหน้าพระศพที่วัง เห็นหัวนั้นตั้งอยู่ในห้องเสวย ฉันจำได้ ถามได้ความว่ามีผู้ถวายกรมหลวงนครชัยศรีฯ นานมาแล้ว ครั้นเมื่อจัดพิพิธภัณฑสถาน ฉันจึงไปขอมา แล้วสั่งให้ส่งตัวรูปนั้นลงมาจากเมืองพิมาย เอาต่อกันตั้งไว้ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ จนบัดนี้ เป็นอันได้ของดีกลับคืนมาเป็นสมบัติของบ้านเมืองต่อไป
ที่ปราสาทหินเมืองพิมายยังมีของประหลาดอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งฉันสังเกตเห็นตั้งแต่ไปครั้งแรก คือมีวัดสร้างไว้ที่ตรงมุมในบริเวณปราสาทหินวัดหนึ่ง โบสถ์และใบเสมาทำเป็นแบบวัดหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา ผิดกับวัดอื่นๆ ดูแปลกตา พิจารณาดูในเรื่องพงศาวดารมีอยู่ ว่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชบุตรของพระเจ้าบรมโกศ ไปตั้งเป็นอิสระอยู่ ณ เมืองพิมาย เรียกกันว่า “เจ้าพิมาย” จึงเห็นว่าวัดนั้นเจ้าพิมายคงสร้างขึ้นเฉลิมพระยศ เช่นเป็นที่ทำพิธีถือน้ำเป็นต้น มีช่างชาวพระนครศรีอยุธยาไปอยู่ด้วย จึงสามารถสร้างตามแบบวัดหลวงที่ในกรุงฯ แต่ทำเพียงด้วยเครื่องไม้ตามประสายาก โบสถ์นั้นจะคงอยู่อย่างเดิมจนเดี๋ยวนี้ หรือจะมีใครแก้ไขเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้วหาทราบไม่
๒. “ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง” ฉันเห็นเมื่อไปมณฑลอีสานครั้งหลัง อยู่ที่อำเภอชัยภูมิแขวงจังหวัดนครราชสีมา สร้างไว้บนยอดเขาพนมรุ้งใกล้เมือง ซึ่งเรียกกันว่า “เมืองต่ำ” อันอยู่ที่เชิงเขา ทำเป็นเทวสถานตามลัทธิวิษณุเวท ไม่มีพระพุทธศาสนาเจือปน แต่องค์ปรางค์ใหญ่ที่เป็นประธาน พังทลายลงเสียแล้ว ไม่เห็นรูปทรงของเดิมได้เหมือนอย่างที่เมืองพิมาย แต่พิจารณาดูเห็นว่าจะเป็นของสร้างภายหลังปราสาทหินที่เมืองพิมาย
๓. “พระวิหาร” อยู่ในเขตเมืองขุขันธ์ สร้างเป็นเทวสถานตามลัทธิศิวเวท ปราสาทหินพระวิหารแปลกกับปราสาทหินแห่งอื่นๆ หมด ทั้งในแดนเขมรและในแดนไทยไม่มีที่ไหนเหมือน ที่แปลกนั้นเป็น ๒ สถาน คือสถานหนึ่งทำรูปทรงเหมือนอย่างเป็นพลับพลาต่อติดกันไปหลายหลัง หลังคามีช่อฟ้าใบระกาตามมุขคล้ายกับปั้นลมเรือนฝากระดานไม่มีปรางค์ ไม่มีพระระเบียง แลดูเหมือนเป็นราชมนเทียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกว่าเป็นเทวสถาน ที่บูชาก็มีแต่รอยที่ตั้งศิวลึงค์เป็นพระประธานอยู่ในห้องกลางแห่งเดียว จึงแปลกกับปราสาทหินแห่งอื่นๆ ด้วยแบบที่สร้างสถานหนึ่ง
แปลกอีกสถานหนึ่งนั้น ด้วยไปเลือกที่สร้างตรงปลายจะงอยหน้าผาแห่งหนึ่งบนยอดเขาพนมดงรัก อันเป็นเทือกเขาเขื่อนแผ่นดินสูงที่ตั้งมณฑลอีสาน ต่อกับแผ่นดินต่ำที่ตั้งประเทศกัมพูชา ที่ตรงนั้นกันดารน้ำ คงเป็นที่เปลี่ยวไม่มีบ้านผู้เมืองคน เหตุที่สร้างพระวิหาร ดูมีเหมาะอย่างเดียวแต่ที่อยู่ตรงนั้นแลดูไปทางข้างใต้เห็นแผ่นดินอยู่ต่ำไปจนตลอดสายตา เหลียวกลับมาดูทางข้างเหนือ ก็เห็นยอดไม้อยู่บนแผ่นดินสูง เป็นดงไปตลอดสายตา ภาคภูมิน่าพิศวงไม่มีที่ไหนเหมือน ตรงหลังบริเวณพระวิหารออกไปเป็นหินดาด อาจจะออกไปชะโงกดูแผ่นดินต่ำที่เชิงเขา ถ้ายืนดูถึงใจหวิว ต้องลงนั่งดู บางคนอยากออกไปดูถึงปลายจะงอย ลงนอนพังพาบโพล่แต่หัวออกไปดูก็มี เพราะอยู่สูงแลเห็นแผ่นดินต่ำลึกลงไปจนต้นตาลเตี้ยนิดเดียว เลยทำให้นึกถึงคำซึ่งเคยได้ยินเขาพูดกันมาแต่ก่อน ว่าแผ่นดินที่เมืองนครราชสีมาสูงกว่าแผ่นดินในกรุงเทพฯ ๗ ลำตาล เขาจะรู้ได้ด้วยประการใดก็ตาม แต่ก็จริงเช่นนั้น ตรงที่สร้างพระวิหารจะสูงกว่า ๗ ลำตาลเสียอีก ไปดูพระวิหารต้องไปทางเปลี่ยวไกลอยู่สักหน่อย แต่เป็นที่ราบ ฉันลงจากรถไฟที่เมืองศรีสะเกษ ขึ้นรถยนต์อย่างรถกระบะไปราว ๖ ชั่วโมง ทางที่ไปเป็นป่าไม้เต็งรังป่าต้นสน สลับกับไม้เบญจพรรณงามน่าชม ไปเข้าดงเมื่อใกล้จะถึงเชิงเขาพนมดงรัก เป็นแต่ทางเดินขึ้นไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งจึงถึงลาน พักแรมที่เชิงยอดเขาพระวิหาร ตอนขึ้นเขานี้ไม่มีน้ำ คนขึ้นต้องหอบหิ้วเอาน้ำขึ้นไปเองแต่เชิงเขา นึกดูน่าพิศวงว่าเมื่อสร้างพระวิหารจะทำอย่างไรกัน
๔. พระเจดีย์ธาตุพนม อยู่ริมแม่น้ำโขงในแขวงจังหวัดนครพนม สร้างเป็นพระสถูปทางพระพุทธศาสนา จะสร้างตามคติมหายานหรือหินยานไม่มีที่สังเกตเหมือนอย่างที่เมืองพิมาย แต่ไม่มีเค้าศาสนาพราหมณ์เจือปน บรรดาเจดียสถานในพระพุทธศาสนาซึ่งสร้างในสมัยขอม ทั้งสร้างในเมืองเขมรและเมืองไทย ที่สร้างพระสถูปเป็นประธานมีแต่พระธาตุพนมแห่งเดียว หามีที่อื่นไม่ ทั้งรูปสัณฐานและลวดลายก็เป็นอย่างหนึ่งต่างหาก นอกจากแบบช่างขอม ชวนให้เห็นว่าจะสร้างก่อนสมัยขอม คือสร้างแต่ในสมัยเมื่อมีประเทศอันหนึ่งซึ่งเรียกในจดหมายเหตุจีนว่า “ฟูนัน” คล้ายกับ “พนม” เป็นใหญ่อยู่ต่างหาก รูปทรงพระเจดีย์ธาตุพนมเป็น ๔ เหลี่ยมเหมือนมณฑป มีซุ้มตันด้านละซุ้มซ้อนกัน ๓ ชั้นเล็กเป็นหลั่นขึ้นไป แล้วถึงองค์พระสถูปอยู่เบื้องบนมณฑป ๓ ชั้นนั้น ยอดพระสถูปหุ้มแผ่นทองคำ เช่นเดียวกับพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ขนาดพระสถูปดูก็จะเท่าๆ กัน
ลักษณะที่ก่อสร้างเจดียสถานในสมัยขอมมี ๔ อย่างต่างกัน จะชี้ตัวอย่างที่พึงเห็นได้ในเมืองไทยนี้ คือก่อด้วยหินทรายล้วน เช่นปรางค์ที่เมืองพิมายอย่างหนึ่ง ก่อด้วยหินแลงประกอบกับหินทราย เช่นปรางค์สามยอดที่เมืองลพบุรีอย่างหนึ่ง ก่อด้วยอิฐประกอบหินทราย เช่นปรางค์ระแงงอยู่ริมทางรถไฟที่เมืองขุขันธ์อย่างหนึ่ง ก่อด้วยอิฐล้วน เช่นพระธาตุพนมอย่างหนึ่ง ทำต่างกันเป็น ๔ อย่างดังว่ามาทั้งในเมืองเขมรและเมืองไทย ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่การก่ออิฐในสมัยนั้น ไม่ใช้ก่อด้วยปูน เขาใช้ยางอะไรอย่างหนึ่งเชื่อมหน้าอิฐให้ชิดสนิทกัน จนเห็นแต่เป็นรอยต่อ ที่พระธาตุพนมยังมีแปลกต่อไปอีก ที่รูปภาพและลวดลายประดับเจดีย์ล้วนจำหลักตัวอิฐที่ก่อนั้นเอง มิได้ปั้นประกอบเข้าต่างหาก จนถึงอ้างในตำนานซึ่งแต่งขึ้นในถิ่นนั้นภายหลังมา ว่าพระธาตุพนมนั้น แรกก่อด้วยอิฐดินดิบ เมื่อก่อและจำหลักเสร็จแล้ว จึงกองไฟขึ้นท่วมองค์พระเจดีย์ เผาอิฐให้สุกอย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ แต่เทวสถานก่อด้วยอิฐมีในเมืองเขมร บางแห่งปรากฏรอยจำหลักรูปภาพยังค้างอยู่ เห็นได้ว่าเขาก่อด้วยอิฐเผาแล้ว และยังมีประหลาดต่อไปที่วิชาก่อและจำหลักอิฐ เช่นที่พระธาตุพนม เดี๋ยวนี้พวกช่างชาวเกาะบาหลีในเมืองชวา ยังทำกันอยู่ ฉันได้เคยไปเห็นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #24 เมื่อ: 09 เมษายน 2567 19:54:25 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ ฉันเคยค้นพบเมืองโบราณ โดยต้องพยายามอย่างแปลกประหลาด ๒ เมือง คือเมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองมีเรื่องในพงศาวดาร แต่ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนเมืองหนึ่ง กับเมืองโบราณซึ่งตัวเมืองยังมีอยู่แต่ไม่มีใครรู้จักชื่อ เผอิญฉันนึกแปลศัพท์ออก จึงรู้ว่าชื่อเมืองอู่ทอง เมืองหนึ่ง จะเล่าเรื่องค้นเมืองทั้งสองนั้นในนิทานเรื่องนี้ แล้วจะเลยเล่าแถมถึงเรื่องพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาหงสาวดีด้วย เพราะลูกหญิงพูนพิศมัยกับลูกหญิงพัฒนายุ (เหลือ) เธออยากฟัง ด้วยเธอเคยทนลำบากขี่ม้าแรมทางตามฉันไปจนถึงทั้ง ๓ แห่ง
เรื่องเมืองเชลียง มูลเหตุที่ฉันค้นหาเมืองเชลียง เกิดแต่ฉันสอบเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องตอนหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) โปรดให้พระราเมศวรราชโอรส ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต พระราเมศวรราชโอรสได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จลงมาครองกรุงศรีอยุธยา ให้เจ้าเมืองเหนือต่างครองเมืองเป็นอิสระแก่กัน เจ้าเมืองเชลียง (ในหนังสือลิลิตยวนพ่ายว่าชื่อพระยายุทธิษฐิระ แต่พงศาวดารเชียงใหม่เรียกเพี้ยนไปเป็น ยุทธิษเจียง) เป็นกบฏ โจทเจ้า เอาบ้านเมืองไปยอมขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ แล้วนำกองทัพเมืองเชียงใหม่มาตีเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปประทับอยู่เมืองพิษณุโลก รบพุ่งกับพระเจ้าติโลกราชหลายปี จึงได้เมืองเหนือกลับคืนมาหมด ฉันอยากรู้ว่า “เมืองเชลียง” ที่เจ้าเมืองเป็นกบฏนั้นอยู่ที่ไหน พิจารณาในแผนที่เห็นว่าสมจะเป็นเมืองสวรรคโลก เพราะอยู่ต่อแดนอาณาเขตพระเจ้าเชียงใหม่ และในเรื่องพงศาวดารว่าพระยาเชลียงพากองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาตีได้เมืองสุโขทัย แล้วเลยไปตีเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก แต่ไม่กล่าวว่าตีเมืองสวรรคโลกด้วย คงเป็นเพราะเป็นเมืองต้นเหตุ แต่เหตุไฉนในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงเรียกว่าเมืองเชลียง ไม่เรียกว่าเมืองสวรรคโลกหรือเมืองศรีสัชนาลัย ตามชื่อซึ่งเรียกเมื่อสมัยกรุงสุโขทัย ข้อนี้ทำให้ฉันสงสัยอยู่ ดูในทำเนียบหัวเมืองครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่มีชื่อเมืองเชลียง ถามผู้อื่นก็ไม่มีใครรู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหน ฉันจึงไปค้นหาดูในหนังสือเก่าเรื่องอื่น พบในหนังสือพงศาวดารโยนกมีกล่าวถึงเมืองเชลียง ๒ แห่ง แห่งหนึ่งว่าเมื่อ พ.ศ.๙๑๙ ไทยในแดนลานนาแข็งเมืองต่อขอม พวกขอมยกกองทัพขึ้นไปปราบปราม แต่พระเจ้าพรหมหัวหน้าพวกไทยตีกองทัพขอมแตกพ่าย แล้วไล่พวกขอมลงมาจนถึง “แดนเมืองเชลียง” แต่พระอินทร์นฤมิตกำแพงกั้นไว้ พระเจ้าพรหมจึงหยุดอยู่เพียงนั้น อีกแห่งหนึ่งว่าเมื่อพระเจ้าพรหมสิ้นพระชนม์แล้ว ราชบุตรทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยสิริ ได้รับรัชทายาทครองเมืองชัยปราการมาจน พ.ศ.๙๔๖ พระยามอญเมืองสเทิมยกกองทัพเข้ามาตีเมืองชัยปราการ พระเจ้าชัยสิริเห็นข้าศึกมีกำลังมากนัก เหลือที่จะต่อสู้ กลัวชาวเมืองชัยปราการจะต้องเป็นเชลย จึงให้รื้อทำลายเมืองชัยปราการเสีย แล้วอพยพผู้คนพลเมืองหนีลงมาข้างใต้ มาถึงในแดน “เมืองเชลียง” ซึ่งพระเจ้าพรหมเคยไล่พวกขอมลงมาถึงแต่ก่อนนั้น เห็นเมืองแปบร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางฟากตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ที่นั่น แล้วสร้างเมืองให้กลับคืนดีดังเก่า ขนานนามว่า “เมืองไตรตรึงส์” ตรงกับนิทานเรื่องนายแสนปม ข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พงศาวดารโยนกชวนให้ฉันคิดว่าเมืองเชลียง เห็นจะเป็นเมืองเดิมที่มีมาแต่ก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งกรุงสุโขทัย แต่ก็คงอยู่ที่ตรงเมืองสวรรคโลกนั่นเอง เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงองค์ใดองค์หนึ่ง บูรณะเมืองเชลียงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองศรีสัชนาลัย ฉันจึงไปตรวจดูในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย เห็นหลักอื่นออกชื่อแต่เมืองศรีสัชนาลัยทั้งนั้น ไม่มีชื่อเมืองเชลียงเลย มีแต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงหลักเดียว ที่ออกชื่อทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัย ดูประหลาดอยู่ ฉันจึงพิจารณาดูความที่กล่าวถึง ๒ เมืองนั้น เห็นชอบใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัย เป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของพระเจ้ารามคำแหง เช่นบางแห่งออกพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” บางแห่งว่า “พ่อขุนรามคำแหง ลูกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ดังนี้ แต่ชื่อเมืองเชลียงนั้นมีแห่งเดียวในตอนว่าด้วยศิลาจารึก ว่า “เอามาศิลาจารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ” ดังนี้ ฉันตีความว่าพระเจ้ารามคำแหง เอาศิลาจารึกของเก่าอันมีอยู่ ณ เมืองเชลียง มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนธาตุที่เมืองศรีสัชนาลัย (คือพระปรางค์ใหญ่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า) ในคำจารึกแสดงว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัย เป็นต่างเมืองกันและอยู่ต่างแห่งกัน มิใช่แปลงเมืองเชลียงเป็นเมืองศรีสัชนาลัยอย่างฉันเข้าใจมาแต่ก่อน ก็กลับไม่รู้ว่าเมืองเชลียงอยู่ที่ไหนอีก
อยู่มาวันหนึ่ง ฉันค้นหนังสือกฎหมายเก่า เห็นในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาบทหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าอู่ทองตั้งในปีมะแม พ.ศ.๑๘๙๙ เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาได้ ๕ ปี มีชื่อเมืองเหนืออยู่ในนั้น ๘ เมือง เรียกเป็นคู่ๆ กัน ดังนี้ เมืองเชลียง | | - | | สุโขทัย | เมืองทุ่งยั้ง | | - | | บางยม | เมืองสองแคว | | - | | สระหลวง | เมืองชากังลาว | | - | | กำแพงเพชร | เมืองทั้ง ๘ นั้นฉันรู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว ๖ เมือง คือ เมืองสุโขทัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองกำแพงเพชร ๓ เมืองนี้ยังเรียกชื่ออยู่อย่างเดิม เมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก เมืองสระหลวง เปลี่ยนชื่อเมืองพิจิตร ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมืองชากังราวนั้นอยู่ที่ปากคลองสวนหมาก ตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเคยเปลี่ยนชื่อว่า “เมืองนครชุม” แต่ภายหลังมารวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองชากังราวก็สูญไป ฉันยังไม่รู้แห่งแต่เมืองเชลียงกับเมืองบางยม ๒ เมืองเท่านั้น แต่สังเกตชื่อเมืองทั้ง ๘ ที่มีในบานแผนก ฉันประหลาดใจที่ขาดชื่อเมืองศรีสัชนาลัย และที่เอาชื่อเมืองเชลียงเข้าคู่กับเมืองสุโขทัย กลับหวนคิดว่าหรือเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยจะเป็นเมืองเดียวกัน แต่มีข้อขัดข้องด้วยพระเจ้ารามคำแหงได้ตรัสไว้ในศิลาจารึก ว่าเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยเป็น ๒ เมืองต่างกัน จะลบล้างพระราชดำรัสเสียอย่างไรได้ แต่ถึงสมัยนี้ฉันออกจะเกิดมานะ ว่าจะค้นเมืองเชลียงให้พบให้จงได้ จึงถามพวกชาวเมืองสวรรคโลกว่านอกจากเมืองศรีสัชนาลัย ยังมีเมืองโบราณอยู่ที่ไหนในเขตเมืองสวรรคโลกอีกบ้างหรือไม่ เขาบอกว่ายังมีอีกเมืองหนึ่ง อยู่ในป่าริมแม่น้ำยมเก่า ฉันขึ้นไปเมืองสวรรคโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงให้เขาพาเดินบกไปทางนั้น ต้องค้างทางคืนหนึ่ง ก็พบเมืองโบราณอยู่ที่ริมลำน้ำยมเก่าดังเขาว่า มีเจดียวิหารวัดร้างอยู่ในเมืองนั้นหลายแห่ง แต่สังเกตดูเป็นเมืองขนาดย่อม ไม่สมกับเรื่องของเมืองเชลียง แต่ก็นึกขึ้นได้ในขณะนั้นว่าคือเมืองบางยม ที่ยังไม่รู้แห่งอยู่อีกเมืองหนึ่งนั้นนั่นเอง เพราะอยู่ในระหว่างเมืองทุ่งยั้งกับเมืองศรีสัชนาลัย และตัวเมืองก็ตั้งอยู่ริมลำน้ำยม เป็นอันรู้แห่งเมืองทั้ง ๘ เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ยังขาดแต่เมืองเชลียงเมืองเดียว แต่ก็หมดสิ้นที่จะค้นหาต่อไป ต้องจำนนอีกครั้งหนึ่ง
ต่อนั้นมาไม่ช้านัก ฉันขึ้นไปเที่ยวมณฑลพายัพ เมื่อพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ บ่ายวันหนึ่งฉันไปเดินเที่ยวเล่น เมื่อผ่านคุ้มหลวงที่เจ้าเชียงใหม่แก้วนวรัฐอยู่ เห็นผู้หญิงยืนอยู่ที่ประตูคุ้มคนหนึ่ง มันเห็นฉันก็นั่งลงด้วยความเคารพ ฉันจึงทักถามว่า “เจ้าหลวงอยู่ไหม” มันประนมมือไหว้ตอบว่า “มี, เจ้า.” ฉันก็นึกขึ้นในขณะนั้นว่าได้ความรู้อย่างหนึ่ง ว่าภาษาไทยเหนือเขาใช้คำ “มี” หมายความเหมือนอย่างไทยใต้ว่า “อยู่” ครั้นกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ วันหนึ่งฉันรื้อคิดขึ้นถึงเรื่องค้นหาเมืองเชลียง นึกว่าในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า “ศิลาจารึกอันหนึ่ง มี ในเมืองเชลียง” คำ “มี” จะใช้หมายความอย่างไทยเหนือดอกกระมัง จึงเอาสำเนาจารึกมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนฉันเคยตรวจแต่ตรงว่าด้วยศิลาจารึกหลักที่เมืองเชลียง ครั้งนี้ตรวจต่อนั้นไปอีก เห็นกล่าวถึงศิลาจารึกอีก ๒ หลักแล้วจึงหมดวรรคว่าด้วยศิลาจารึก รวมสำเนาทั้งวรรคเป็นดังนี้ “และเอามาจารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง สถาปกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำพระรามอยู่ฝั่งน้ำสำพาย จารึกอันหนึ่งมีในถ้ำรัตนธาร” ดังนี้ เผอิญศิลาจารึกในถ้ำพระรามนั้น พระยารามราชภักดี (ใหญ่) ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ไปพบแล้วยังอยู่ในถ้ำพระรามนั้นเอง ไม่ได้ย้ายเอาไปไว้ที่อื่น ในคำจารึกที่ว่า “มีในถ้ำพระราม” และ “มีในถ้ำรัตนธาร” ก็ว่าอย่างเดียวกันกับ “มีในเมืองเชลียง” ฉันนึกว่าถ้าคำ “มี” ทั้ง ๓ แห่งนั้นใช้หมายความว่า “อยู่” ความก็กลายไปว่าหลักศิลาจารึก “อยู่ ณ เมืองเชลียง” และ “อยู่ ณ ถ้ำพระราม” กับ “อยู่ ณ ถ้ำรัตนธาร” เหมือนกันทั้ง ๓ หลัก ที่ออกนามพระศรีรัตนธาตุเป็นแต่บอกว่า “อยู่ตรงไหน” ในเมืองเชลียง เพราะเมืองเป็นที่กว้างใหญ่ แต่อีก ๒ หลักเป็นแต่ปักไว้ในถ้ำ ใครไปถึงถ้ำก็แลเห็น ไม่ต้องบอกว่าเอาไว้ที่ตรงไหน ได้หลักฐานดังนี้ ฉันจึงตีความใหม่ว่าพระเจ้ารามคำแหงได้เอาศิลาจารึกประดิษฐานไว้ ๓ แห่ง อยู่ที่เมืองเชลียง ณ วัดพระศรีรัตนธาตุแห่งหนึ่ง อยู่ในถ้ำพระรามแห่งหนึ่ง และอยู่ในถ้ำรัตนธารแห่งหนึ่ง ตีความเป็นอย่างนี้ คิดต่อไปก็แลเห็นหลักฐานเรื่องเมืองเชลียงแจ่มแจ้งเข้ากันได้หมด คือ
เมืองเชลียง เป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า ตรงที่พระปรางค์ใหญ่ปรากฏอยู่จนบัดนี้ คำที่พระเจ้ารามคำแหงเรียกพระปรางค์องค์นั้นว่า “พระศรีรัตนธาตุ” ความก็หมายว่าเป็น “พระมหาธาตุ” ที่เป็นหลักเมือง แสดงว่าที่ตรงนั้นต้องเป็นเมือง จึงมีพระศรีรัตนธาตุ ใช่แต่เท่านั้น ที่วัดเจ้าจันท์ไม่ห่างกับวัดพระศรีรัตนธาตุนัก ยังมีเทวสถานศิลาที่พวกขอมสร้างไว้ปรากฏอยู่แห่งหนึ่ง ก็แสดงว่าตรงนั้นต้องเป็นเมืองอยู่ก่อน เรื่องประวัติของเมืองเชลียงต่อมาก็พอคิดเห็นได้ คือเมื่อถึงสมัยกรุงสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จะเป็นพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นต้นราชวงศ์ หรือพระเจ้าบาลเมืองราชโอรส ซึ่งรับรัชทายาท หรือแม้พระเจ้ารามคำแหงก็เป็นได้ ให้สร้างเมืองใหม่มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคง สำหรับเป็นราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองเชลียง ห่างกันราวสัก ๒๐ เส้น (ขนาดพระราชวังดุสิตห่างกับพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ) ขนานนามเมืองใหม่นั้นว่า “เมืองศรีสัชนาลัย” บางทีจะได้รื้อศิลาปราการเมืองเชลียงไปใช้สร้างเมืองใหม่ แต่เจดียสถานของเดิมที่ในเมืองเชลียง เช่นปรางค์ศรีรัตนธาตุเป็นต้น เห็นเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีมาแต่ดั้งเดิม จึงให้คงรักษาไว้อย่างเดิมไม่รื้อแย่งทิ้งซากเมืองเชลียงให้คงอยู่ แต่เมื่อสร้างเมืองใหม่แล้ว พนักงานบังคับบัญชาราชการบ้านเมือง ย้ายจากเมืองเชลียงขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย ข้อนี้เป็นเหตุให้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยแทนเมืองเชลียงในทางราชการ ศิลาจารึกของเมืองสุโขทัยจึงมีแต่ชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ไม่มีชื่อเมืองเชลียง แต่ในจารึกของพ่อขุนรามคำแหงต้องออกชื่อเมืองเชลียง เพราะพระเจ้ารามคำแหงเอาศิลาจารึกไปประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนธาตุที่เมืองเชลียง มิได้เอาไปไว้ ณ เมืองศรีสัชนาลัย จึงต้องเรียกชื่อเมืองเชลียง
ในเรื่องเมืองเชลียง มีประหลาดอีกอย่างหนึ่ง เมื่อฉันค้นศิลาจารึกและหนังสือเก่า สังเกตเห็นเรียกชื่อเมืองศรีสัชนาลัย แต่ในหนังสือหรือจารึกซึ่งแต่งในกรุงสุโขทัย ถ้าเป็นหนังสือแต่งในประเทศอื่น เช่นกรุงศรีอยุธยาก็ดี หรือเมืองเชียงใหม่ก็ดี ที่จะเรียกชื่อเมืองศรีสัชนาลัยหามีไม่ เรียกว่าเมืองเชลียงทั้งนั้น จนอาจจะอ้างได้ว่าหนังสือเรื่องใดมีชื่อเมืองเชลียง เป็นไม่มีชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ถ้ามีชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นไม่มีชื่อเมืองเชลียง เว้นแต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวมาแล้วแห่งเดียวเท่านั้น จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะต่างประเทศไม่รู้ว่าสร้างเมืองศรีสัชนาลัยก็ใช่เหตุ คิดดูเห็นว่าต่างประเทศคงเห็นว่าเมืองใหม่ อยู่ใกล้ๆ กันกับเมืองเดิม สร้างขึ้นแต่สำหรับเฉลิมพระเกียรติคล้ายกับพระราชวัง จึงคงเรียกว่าเมืองเชลียงตามเคย เรียกมาจนชินแล้ว ไม่เปลี่ยนไปเรียกชื่อใหม่อย่างชาวสุโขทัย เห็นจะเป็นเช่นนั้นมาจนตั้งชื่อใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้เรียกชื่อรวมกันทั้งเมืองเชลียงและเมืองศรีสัชนาลัยว่า “เมืองสวรรคโลก” แต่ตัวเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัย ก็ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้ทั้งสองเมืองเรื่องเมืองอู่ทอง ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับแรกพิมพ์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีนิทานเล่าถึงเรื่องต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองอยู่ข้างต้น ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งครองเมืองเชียงรายอยู่ในแดนลานนา อยู่มาพวกมอญเมืองสเทิมยกกองทัพมาตีเมืองเชียงราย พระเจ้าเชียงรายเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากมายใหญ่หลวงนัก จะสู้ไม่ไหว ก็ทิ้งเมืองเชียงราย พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพหนีข้าศึกมาทางแม่น้ำปิง มาเห็นเมืองแปบร้างอยู่ทางฝั่งตะวันตก ข้างใต้เมืองกำแพงเพชร จึงตั้งอยู่ ณ ที่นั้น และสร้างเมืองขึ้นเป็นราชธานี ให้ชื่อว่า “เมืองไตรตรึงส์” (อยู่ที่ตำบลวังพระธาตุ) แล้วเสวยราชย์สืบวงศ์มา ๓ ชั่ว ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์องค์ที่ ๓ มีชายทุคตะเข็ญใจคนหนึ่งรูปร่างวิกล เป็นปมเปาไปทั่วทั้งตัวจนเรียกกันว่า “แสนปม” ตั้งทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่เกาะอันหนึ่ง ข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ ก็นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือในไร่ของตนเนืองๆ ครั้นมะเขือออกลูก เผอิญมีผู้ได้ไปส่งทำเครื่องเสวยที่ในวัง ราชธิดาองค์หนึ่งเสวยมะเขือนั้นทรงครรภ์ขึ้นมาโดยมิได้มีวี่แววว่าเคยคบชู้สู่ชาย แล้วคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ใคร่จะรู้ว่าใครเป็นบิดาของบุตรนั้น พอกุมารเจริญถึงขนาดรู้ความ ก็ประกาศสั่งให้บรรดาชายชาวเมืองไตรตรึงส์ หาของมาถวายกุมารราชนัดดา และทรงอธิษฐานว่า ถ้ากุมารเป็นบุตรของผู้ใดขอให้ชอบของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วย ไม่มีอะไรจะถวายได้แต่ข้าวสุกก้อนหนึ่งถือไป แต่กุมารเฉพาะชอบข้าวสุกของนายแสนปม เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้ความอัปยศอดสู ก็ให้เอากุมารหลานชายกับนางราชธิดาที่เป็นมารดา ลงแพปล่อยลอยน้ำไปเสียด้วยกันกับนายแสนปม แต่เมื่อแพลอยลงไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์จำแลงเป็นลิงเอากลองสารพัดนึกลงมาให้นายแสนปมใบหนึ่ง บอกว่าจะปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองนั้น จะสำเร็จได้ดังปรารถนา ๓ ครั้ง นายแสนปมตีกลองครั้งแรก ปรารถนาจะให้ปมเปาที่ตัวหายไป ก็หายหมดกลับมีรูปโฉมเป็นสง่างาม ตีครั้งที่ ๒ ปรารถนาจะมีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดเมืองขึ้นที่ใกล้บ้านโคนข้างใต้เมืองไตรตรึงส์ทางฝั่งตะวันออก ตีครั้งที่ ๓ ปรารถนาเปลทองคำสำหรับให้กุมารนอน ก็เกิดเปลทองคำขึ้นดังปรารถนา เพราะกุมารมีบุญได้นอนเปลทองคำของนฤมิต ผิดกับคนอื่น จึงได้นามว่า “เจ้าอู่ทอง” ส่วนนายแสนปมก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า “พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน” ครองเมืองที่นฤมิตนั้นขนานนามว่า “เมืองเทพนคร” เมื่อพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนสิ้นชีพ เจ้าอู่ทองได้รับรัชทายาทครองเมืองเทพนครมาได้ ๖ ปี พระเจ้าอู่ทองปรารภหาที่สร้างราชธานีใหม่ให้บริบูรณ์พูนสุขกว่าเมืองเทพนคร ให้ข้าหลวงเที่ยวตรวจตราหาที่ เห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะดี พระเจ้าอู่ทองจึงย้ายจากเมืองเทพนคร ลงมาสร้างพระนครศรีอยุธยา ราชาภิเษกทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” เรื่องพระราชพงศาวดารตั้งต้นต่อนิทานนี้ เริ่มความแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๑๘๙๓
นิทานเรื่องนายแสนปมนี้ ที่เป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายเข้าใจกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามเดิมว่า “อู่ทอง” เพราะมีบุญญาภินิหาร ได้บรรทมเปลทองของนฤมิตเมื่อยังทรงพระเยาว์ คำที่เรียกกันในหนังสือต่างๆ ว่า “พระเจ้าอู่ทอง” จึงถือกันว่าเป็นพระนามส่วนพระองค์ ทำนองเดียวกับ “พระสังข์” ในนิทานที่ชอบเล่นละครกัน
แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองยังมีในหนังสืออื่นอีก ในหนังสือพงศาวดารเหนือ อธิบายความไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าเมื่อพระยาแกรกผู้มีบุญสิ้นพระชนม์แล้ว ราชวงศ์ได้ครองเมือง (ชื่อไรไม่กล่าว) สืบมา ๓ ชั่ว ถึงชั่วที่ ๓ มีแต่ราชธิดา ไม่มีราชวงศ์ที่เป็นชายจะครองเมือง โชดกเศรษฐีกับกาลเศรษฐี (ทำนองจะเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่) จึงปรึกษากันให้ลูกชายของโชดกเศรษฐีชื่อว่า “อู่ทอง” อภิเษกกับราชธิดา แล้วครองเมืองนั้น อยู่มาได้ ๖ ปีเกิดห่า (โรคระบาด) ลงกินเมือง ผู้คนล้มตายมากนัก พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนพลเมืองหนีห่า มาสร้างกรุงศรีอยุธยา แม้ในเรื่องนี้คำ “อู่ทอง” ก็ว่าเป็น “ชื่อคน”
ยังมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทรงแต่งพระราชทานดอกเตอร์ดีน มิชชันนารีอเมริกัน ส่งไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไชนีสริปอสิตอรี” ในเมืองจีน เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ แต่พระบรมราชาธิบายมีเพียงว่า พระเจ้าอู่ทองซึ่งสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสีครองเมือง (ชื่อไรมิได้มีในพระราชนิพนธ์) อยู่ได้ ๖ ปีเกิดห่าลงกินเมือง จึงย้ายมาตั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่พบในหนังสือเก่า มิได้กล่าวว่าคำ “อู่ทอง” เป็นชื่อเมืองแต่สักเรื่องหนึ่ง แม้ตัวฉันก็ไม่เคยคิดว่ามีเมืองชื่อว่า “อู่ทอง” มูลเหตุที่จะพบ “เมืองอู่ทอง” นั้น เกิดแต่เมื่อปีแรกฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรี เป็นครั้งแรกที่เจ้านายเสด็จไปเมืองนั้นดังเล่าในนิทานเรื่องอื่นแล้ว ฉันถามชาวเมืองสุพรรณถึงของโบราณต่างๆ ที่มีในเขตเมืองนั้น เขาบอกว่ามีเมืองโบราณร้างอยู่ในป่าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองสุพรรณบุรีแห่งหนึ่ง เรียกกันว่า “เมืองท้าวอู่ทอง” ผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า พระเจ้าอู่ทองเสวยราชย์อยู่ที่เมืองนั้นก่อน อยู่มาห่าลงกินเมือง พระเจ้าอู่ทองจึงพาผู้คนหนีห่า ย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเล่าต่อไปว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองหนีห่าครั้งนั้น พาผู้คนไปข้ามแม่น้ำสุพรรณตรงที่แห่งหนึ่ง ยังเรียกกันว่า “ท่าท้าวอู่ทอง” อยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้ฟังก็เกิดอยากไปดูเมืองท้าวอู่ทอง แต่เขาว่าอยู่ไกลนัก ถ้าจะเดินบกไปจากเมืองสุพรรณฯ จะต้องแรมทางสัก ๒ คืนจึงจะถึง ทางที่จะไปได้สะดวกนั้นต้องไปเรือ เข้าคลองสองพี่น้องที่ใกล้กับแดนเมืองนครชัยศรี ไปทางคลองจนถึงบ้านสองพี่น้องที่อยู่ชายป่าแล้ว ขึ้นเดินบกต่อไปวันเดียวก็ถึง ฉันจึงไม่สามารถจะไปดูเมืองท้าวอู่ทองได้ในคราวนั้น แต่ผูกใจไว้ว่าจะไปดูให้ได้สักครั้งหนึ่ง
ต่อมาอีกสักสองสามปี จะเป็นปีใดฉันจำไม่ได้ ฉันจะไปตรวจเมืองสุพรรณบุรีอีก ครั้งนี้จะไปดูอำเภอสองพี่น้อง อันเป็นอำเภอใหญ่อยู่ข้างใต้เมืองสุพรรณบุรี ฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง จึงสั่งให้เขาเตรียมพาหนะสำหรับเดินทางบก กับหาที่พักแรมไว้ที่เมืองท้าวอู่ทองด้วย เมื่อตรวจราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้ว ฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป ทางที่ไปเป็นป่าเปลี่ยว แต่มีไม้แก่นชนิดต่างๆ มาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่านั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่นๆ เพราะหาไม้ต่างๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่าย ฉันพักร้อนกินกลางวันที่บ้านนั้นแล้วเดินทางต่อไป พอตกเย็นก็ถึงบ้านจระเข้สามพัน อันเป็นที่พักแรม อยู่ที่ริมลำน้ำชื่อเดียวกัน ใต้เมืองท้าวอู่ทองลงมาไม่ห่างนัก รวมระยะทางที่เดินบกไปจากบ้านสองพี่น้องเห็นจะราวสัก ๗๐๐ เส้น
วันรุ่งขึ้น ฉันเข้าไปดูเมืองท้าวอู่ทอง เมืองตั้งอยู่ทางฟากตะวันตกลำน้ำจระเข้สามพัน ดูเป็นเมืองเก่าแก่ใหญ่โต เคยมีป้อมปราการก่อด้วยศิลา แต่หักพังไปเสียเกือบหมดแล้ว ยังเหลือคงรูปแต่ประตูเมืองแห่งหนึ่งกับป้อมปราการ ต่อจากประตูนั้นข้างละเล็กน้อย แนวปราการด้านหน้าตั้งบนที่ดอน ดูเป็นตระพักสูงราว ๖ ศอก แล้วเป็นแผ่นดินต่ำต่อไปสัก ๕ เส้นถึงริมน้ำจระเข้สามพัน มีรอยถนนจากประตูเมืองตรงลงไปถึงท่า เรียกว่า “ท่าพระยาจักร” พิเคราะห์ดูลำน้ำจระเข้สามพัน เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่ ที่สูงซึ่งสร้างปราการจะเป็นตลิ่ง ครั้นนานมาเกิดมีช่องทางพาสายน้ำไหลไปเสียทางอื่น แม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินแคบเข้าโดยลำดับ จนเกิดแผ่นดินที่ราบมีขึ้นริมตลิ่ง ก็ต้องทำถนนต่อออกไปจากเมืองจนถึงท่าเรือ ความที่ว่านี้เห็นได้ด้วยมีสระขุดขนาดใหญ่ สัญฐานเป็นสี่เหลี่ยมรีอยู่ทั้งสองข้างถนน คงขุดสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง น่าจะเป็นเพราะเมืองกันดารน้ำหนักขึ้นนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดห่า (เช่นอหิวาตกโรคเป็นต้น) ลงกินเมืองเนืองๆ มิใช่เพียงแต่ครั้งเดียว พระเจ้าอู่ทองจึงต้องทิ้งเมืองย้ายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ข้างในเมืองท้าวอู่ทองเมื่อฉันไปดู เป็นแต่ที่อาศัยของสัตว์ป่า ได้เห็นอีเก้งวิ่งผ่านหน้าม้าไปใกล้ๆ แต่สังเกตดูพื้นที่เป็นโคกน้อยใหญ่ต่อๆ กันไปทุกทาง และตามโคกมีก้อนหินและอิฐหักปนอยู่กับดินแทบทั้งนั้น เพราะเคยเป็นที่ปูชนียสถาน เช่นพระเจดียวิหาร เมื่อบ้านเมืองยังดีเห็นจะมีมาก ฉันดูเมืองแล้วให้คนแยกย้ายกันไปเที่ยวค้นหาของโบราณ ที่ยังมีทิ้งอยู่ในเมืองท้าวอู่ทอง พบของหลายอย่าง เช่นพระเศียรพระพุทธรูปเป็นต้น แบบเดียวกันกับพบที่พระปฐมเจดีย์ แม้เงินเหรียญตราสังข์ของโบราณซึ่งเคยพบแต่ที่พระปฐมเจดีย์ ชาวบ้านก็เคยขุดได้ที่เมืองท้าวอู่ทอง ดูประหลาดนักหนา ใช่แต่เท่านั้น แม้เทวรูปโบราณที่นับถือกันในสมัยภายหลังมา ก็มีรูปพระวิษณุแบบเก่าที่ทำใส่หมวกแทนมงกุฎ อยู่ที่ท่าพระยาจักรองค์หนึ่ง ซึ่งคนถือว่าศักดิสิทธิ์ไม่กล้าย้ายเอาไปที่อื่น ซากของชั้นหลัง เช่นพระเจดีย์แบบสมัยกรุงสุโขทัยก็มี เมื่อฉันได้เห็นเมืองท้าวอู่ทองเป็นดังว่ามา คิดว่าน่าจะเป็นเมืองตั้งมาแต่ในสมัยเมื่อเมืองที่พระปฐมเจดีย์ เป็นราชธานีของประเทศ (ที่นักปราชญ์เขาค้นได้ในจดหมายเหตุจีนว่าชื่อ “ทวาราวดี”) จึงใช้สิ่งของแบบเดียวกันมาก ใจฉันก็เริ่มผูกพันกับเมืองท้าวอู่ทองมาตั้งแต่ไปเห็นเมื่อครั้งแรก
ครั้นถึงสมัยเมื่อสร้างเมืองนครปฐมขึ้นที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ ฉันออกไปตรวจการบ่อยๆ สังเกตเห็นที่พระปฐมเจดีย์มีรอยลำน้ำเก่า ๒ สาย สายหนึ่งวกวนขึ้นไปทางทิศเหนือ อีกสายหนึ่งวกวนไปทางทิศตะวันตก ฉันอยากรู้ว่าลำน้ำสายไปข้างเหนือนั้น จะขึ้นไปถึงเมืองท้าวอู่ทองหรือไม่ จึงวานพระยานครพระราม (ม.ร.ว. เจ๊ก) เมื่อยังเป็นนายอำเภอพระปฐมเจดีย์ ให้ตรวจแนวลำน้ำนั้นว่าจะขึ้นไปถึงไหน ด้วยแกเคยอยู่ในกรมแผนที่ทำแผนที่เป็น พระยานครพระรามตรวจได้ความว่าแนวลำน้ำนั้น ขึ้นไปผ่านหน้าเมืองกำแพงแสน ซึ่งเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง แล้วมีร่องรอยต่อขึ้นไปข้างเหนือ จนไปต่อกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองท้าวอู่ทอง ใช่แต่เท่านั้น สืบถามที่เมืองสุพรรณบุรียังได้ความต่อไป ว่าลำน้ำจระเข้สามพันนั้นยืดยาว ต่อขึ้นไปทางเหนืออีกไกลมาก และมีของโบราณ เช่นสระน้ำ ๔ สระสำหรับราชาภิเษกเป็นต้น อยู่ริมลำน้ำนั้นหลายแห่ง แต่ลำน้ำเดิมตื้นเขินยังมีน้ำแต่เป็นตอนๆ คนจึงเอาชื่อตำบลที่ยังมีน้ำเรียกเป็นชื่อ ลำน้ำนั้นกลายเป็นหลายชื่อ
ส่วนลำน้ำที่พระปฐมเจดีย์อีกสายหนึ่ง ซึ่งไปทางตะวันตกนั้น ตรวจเมื่อภายหลังก็ได้ความรู้อย่างแปลกประหลาด ว่าไปต่อกับแม่น้ำราชบุรีที่ตำบลท่าผา และมีวัดพุทธาวาส พวกชาวอินเดียที่มาตั้งเมือง ณ พระปฐมเจดีย์ ก่อสร้างด้วยศิลา ปรากฏอยู่ที่พงตึกทางฟากตะวันตกเหนือปากน้ำนั้น เป็นอันพบหลักฐานแน่นอนว่า เมืองโบราณที่พระปฐมเจดีย์นั้น ตั้งอยู่ที่แม่น้ำสองสายประสบกัน และอยู่ใกล้ปากน้ำที่ออกทะเลด้วย เพราะเคยขุดพบสายโซ่และสมอเรือทะเลที่ตำบลธรรมศาลา อยู่ห่างพระปฐมเจดีย์มาทางทิศตะวันออกไม่ไกลนัก เพราะเป็นเมืองมีทางคมนาคมค้าขาย ทั้งทางบกทางทะเลและทางแม่น้ำบริบูรณ์ เมืองเดิมที่พระปฐมเจดีย์จึงได้เป็นราชธานีของประเทศทวาราวดี
ฉันคิดวินิจฉัยเรื่องเมืองท้าวอู่ทอง เห็นว่าเมื่อแรกตั้งคงเป็นเมืองในอาณาเขตของประเทศทวาราวดี มีมาก่อนสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายร้อยปี และคงมีชื่อเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉันอยากรู้ชื่อเดิมของเมืองท้าวอู่ทอง คิดหาที่ค้นนึกขึ้นได้ว่าในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงตอนข้างท้ายมีชื่อเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ในสมัยพระเจ้ารามคำแหงบอกไว้ทุกทิศ จึงไปตรวจดูชื่อเมืองขึ้นทางทิศใต้ในศิลาจารึกนั้น มีว่า “เบื้องหัวนอนรอด (ทิศใต้ถึงเมือง) โคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” ดังนี้ ก็เมืองเหล่านั้นฉันเคยไปแล้วทั้ง ๗ เมือง รู้ได้ว่าในจารึกเรียบเรียงเป็นลำดับกันลงมาตั้งแต่ต่อเมืองกำแพงเพชร คือเมืองโคนที อยู่ที่ใกล้บ้านโคน ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง ยังเป็นเมืองร้างมีวัดวาของโบราณปรากฏอยู่ตรงที่อ้างในนิทานเรื่องนายแสนปมว่าเป็น “เมืองเทพนคร” ที่พระบิดาของพระเจ้าอู่ทองนฤมิต ก็แต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีมาก่อนนิทานเรื่องนายแสนปมตั้ง ๑๐๐ ปี ก็เป็นอันลบล้างข้อที่อ้างว่าเป็นเมืองเทพนคร และลบล้างต่อไปจนความข้อที่อ้างว่าพระเจ้าอู่ทองครองเมืองเทพนครนั้นอยู่ก่อนลงมาสร้างกรุงศรีอยุธยา ต่อเมืองโคนทีลงมาออกชื่อ “เมืองพระบาง” เมืองนั้นก็ยังเป็นเมืองร้างปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง ข้างหลังตลาดปากน้ำโพบัดนี้ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช ก็มีว่าเมื่อเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง “เมืองแพรก” คือเมืองสรรค์ก็ยังมีเมืองโบราณอยู่จนบัดนี้ ในกฎหมายและพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาก็เรียกว่า “เมืองแพรก” เพราะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งแยกจากแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองสรรค์” เมื่อภายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง “เมืองสุพรรณภูมิ” พิเคราะห์ตามแผนที่ตรงกับ “เมืองท้าวอู่ทอง” มิใช่ “เมืองสุพรรณบุรี” ซึ่งสร้างเมื่อภายหลัง ต่อเมืองสุพรรณภูมิไปในจารึกก็ออกชื่อเมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบราณที่พระปฐมเสีย หากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าจารึกแต่ชื่อเมืองอันเป็นที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 เมษายน 2567 19:57:05 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0
|
|
« ตอบ #25 เมื่อ: 09 เมษายน 2567 19:56:35 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ (จบ) ฉันนึกว่าเหตุไฉนในจารึกของพ่อขุนรามคำแหง จึงเรียกชื่อ “เมืองท้าวอู่ทอง” ว่า “เมืองสุพรรณภูมิ” ก็ศัพท์ ๒ ศัพท์นั้นเป็นภาษามคธ คำ “สุพรรณ” แปลว่า “ทองคำ” และคำ “ภูมิ” แปลว่า “แผ่นดิน” รวมกันหมายความว่า “แผ่นดินอันมีทองคำมาก” ถ้าใช้เป็น“ชื่อเมือง”ก็ตรงกับว่าเป็น “เมืองอันมีทองคำมาก” พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่าชื่อ “สุพรรณภูมิ” นั้นตรงกับชื่อ “อู่ทอง” ในภาษาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า “อู่” หมายความว่า “ที่เกิด” หรือ “ที่มี” ก็ได้ เช่นพูดกันว่า “อู่ข้าวอู่น้ำ” มิได้หมายแต่ว่า “เปล” สำหรับเด็กนอนอย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่าท้าวอู่ทองก็ดี พระเจ้าอู่ทองก็ดี น่าจะหมายความว่า “เจ้าเมืองอู่ทอง” ใครได้เป็นเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่าท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้าเชียงใหม่ และพระเจ้าน่าน มิใช่ชื่อตัวบุคคล คิดต่อไปว่าเหตุไฉนจึงเปลี่ยนชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เป็น เมืองอู่ทอง เห็นว่าเมืองนั้นเดิมพวกพราหมณ์คงตั้งชื่อว่า “สุพรรณภูมิ” ในสมัยเดียวกันกับตั้งชื่อ “เมืองราชบุรี และ เมืองเพชรบุรี” ต่อมาน่าจะร้างเสียสักคราวหนึ่ง เนื่องจากเหตุที่พระเจ้าราชาธิราชเมืองพุกามมาตีเมืองราชธานีที่พระปฐมเจดีย์ ในระหว่าง พ.ศ.๑๖๐๐ ต่อมาพวกไทยลงมาจากข้างเหนือ อาจเป็นพวกพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนก็ได้ มาตั้งเมืองสุพรรณภูมิขึ้นอีกเรียกชื่อกันเป็นภาษาไทย จึงได้นามว่า “เมืองอู่ทอง” แต่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงใช้ชื่อตามธรรมเนียมเดิม จึงเรียกว่า “เมืองสุพรรณภูมิ”
พอฉันโฆษณาความที่คิดเห็นเรื่องเมืองอู่ทองให้ปรากฏ พวกนักเรียนโบราณคดีก็เห็นชอบด้วยหมด เมืองนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันว่า “เมืองอู่ทอง” แต่นั้นมา ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างไว้ตรงที่ชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย ในแขวงเมืองสุพรรณฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะเสด็จเดินป่าจากพระปฐมเจดีย์ ไปนมัสการพระเจดีย์นั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ได้เสด็จแวะทอดพระเนตรเมืองอู่ทองในระหว่างทาง ประทับแรมอยู่ที่ในเมืองคืนหนึ่ง ทรงพระราชดำริเห็นว่าวินิจฉัยเรื่องเมืองอู่ทอง มีหลักฐานมั่นคง ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๖๘ เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม จึงพระราชทานพระนามกรมว่าเจ้าฟ้า “กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี” ชื่อเมืองอู่ทองก็เพิ่มขึ้นในทำเนียบหัวเมืองอีกเมืองหนึ่งด้วยประการฉะนี้เรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถี การที่ค้นพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวฉันอยู่บ้าง และเหตุที่ค้นพบก็อยู่ข้างแปลกประหลาด จึงจะเล่าไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย
เรื่องสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถี คือขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้าง มีชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ และได้ทรงสร้างพระเจดีย์ไว้ตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่เลื่องลือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรฯ สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ หาปรากฏว่ามีใครได้เคยเห็นหรือรู้ว่าพระเจดีย์องค์นั้นอยู่ที่ตรงไหนไม่ มีแต่ชื่อเรียกกันว่า “พระเจดีย์ยุทธหัตถี” หนังสือเก่าที่กล่าวถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีก็มีแต่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชนะยุทธหัตถีแล้ว “ตรัสให้ก่อพระเจดียสถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ” เพียงเท่านี้
ตัวฉันรักรู้โบราณคดี ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ก่อนเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย นึกอยากเห็นพระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมานานแล้ว แต่ไม่สามารถจะไปค้นหาได้ เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงให้สืบถามหาตำบลตระพังกรุว่าอยู่ที่ไหน ได้ความว่าเดิมอยู่ในเขตเมืองสุพรรณบุรี แต่เมื่อย้ายเมืองกาญจนบุรีจากเขาชนไก่มาตั้งที่ปากแพรกในรัชกาลที่ ๓ โอนตำบลตระพังกรุไปอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรี แต่ในเวลานั้นเมืองกาญจนบุรีก็ยังขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ไม่กล้าไปค้นต้องรอมาอีก ๓ ปี จนโปรดให้รวมหัวเมืองซึ่งเคยขึ้นกระทรวงกลาโหมและกรมท่า มาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว มีโอกาสที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถี ฉันจึงสั่งพระยากาญจนบุรี (นุช) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ใกล้ชิดกับฉัน เมื่อยังเป็นที่หลวงจินดารักษ์ ให้หาเวลาว่างราชการออกไปยังบ้านตระพังกรุเอง สืบถามว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างมีอยู่ในตำบลนั้นหรือไม่ ถ้าพวกชาวบ้านไม่รู้ ก็ให้พระยากาญจนบุรีฯ เที่ยวตรวจดูเอง ว่ามีพระเจดีย์โบราณที่ขนาดหรือรูปทรงสัณฐานสมกับเป็นของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทรงสร้าง มีอยู่ในตำบลตระพังกรุบ้างหรือไม่ พระยากาญจนบุรีไปตรวจอยู่นาน แล้วบอกรายงานมาว่า บ้านตระพังกรุนั้นมีมาแต่โบราณ เป็นที่ดอนต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณเรียกว่า “ตระพังกรุ” อยู่หลายบ่อ แต่ถามชาวบ้านถึงพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้าง แม้คนแก่คนเฒ่าก็ว่าไม่เห็นมีในตำบลนั้น พระยากาญจนบุรีไปเที่ยวตรวจดูเอง ก็เห็นมีแต่พระเจดีย์องค์เล็กๆ อย่างที่ชาวบ้านชอบสร้างกันตามวัด ดูเป็นของสร้างใหม่ทั้งนั้น ไม่เห็นมีพระเจดีย์แปลกตาซึ่งสมควรจะเห็นว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ฉันได้เห็นรายงานอย่างนั้นก็จนใจ มิรู้ที่จะค้นหาพระเจดีย์ยุทธหัตถีต่อไปอย่างไรจนตลอดรัชกาลที่ ๕
แต่ฉันรู้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ มิได้ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นสวมศพพระมหาอุปราชา อย่างว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร เพราะในหนังสือพงศาวดารพม่า ซึ่งพระไพรสณฑ์สารารักษ์ (อองเทียน) กรมป่าไม้แปลจากภาษาพม่าให้ฉันอ่าน ว่าครั้งนั้นพวกพม่าเชิญศพพระมหาอุปราชา กลับไปเมืองหงสาวดี ฉันพิจารณาดูรายการที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็เห็นสมอย่างพม่าว่า เพราะรบกันวันชนช้างนั้น เดิมสมเด็จพระนเรศวรฯ ตั้งขบวนทัพหมายจะตีปะทะหน้าข้าศึก ครั้นทรงทราบว่ากองทัพหน้าของข้าศึก ไล่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งไปตั้งขัดตาทัพมาไม่เป็นขบวน ทรงพระราชดำริเห็นได้ที ก็ตรัสสั่งให้แปรขบวนทัพเข้าตีโอบด้านข้างข้าศึกในทันที แล้วทรงช้างชนนำพลออกไล่ข้าศึกด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ มีแต่กองทัพที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ตามเสด็จไปด้วย แต่กองทัพที่ตั้งอยู่ห่างได้รู้กระแสรับสั่งช้าไปบ้าง หรือบางทีที่ยังไม่เข้าใจพระราชประสงค์ก็จะมีบ้าง ยกไปช้าไม่ทันเวลาดังพระราชประสงค์หลายกอง ซ้ำในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ไล่กองทัพหน้าข้าศึกที่แตกพ่ายไปนั้น เผอิญเกิดลมพัดฝุ่นฟุ้งมืดมนไปทั่วทั้งสนามรบ จนคนเห็นตัวกันมิใคร่ถนัด ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรฯ กับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นช้างชนกำลังบ่มมัน ต่างแล่นไล่ข้าศึกไปโดยเร็ว จนกองทัพพลเดินเท้าที่ตามเสด็จล้าหลัง มีแต่พวกองครักษ์ตามติดช้างพระที่นั่งไปไม่กี่คนนัก พอฝุ่นจางลง สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาทะลวงเข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึก ด้วยทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชากับพวกเสนา ขี่ช้างยืนพักอยู่ด้วยกันในร่มไม้ ณ ที่นั้น ความมหัศจรรย์ในพระอภินิหารของสมเด็จพระนเรศวรฯ เกิดขึ้นในขณะนี้ ที่ทรงพระสติปัญญาว่องไวทันเหตุการณ์ คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะสู้ข้าศึกได้ เหลืออยู่อย่างเดียวแต่เปลี่ยนวิธีรบให้เป็นทำยุทธหัตถี จอมพลชนช้างกันตัวต่อตัว อันนับถือกันว่าเป็นวิธีรบของกษัตริย์ซึ่งแกล้วกล้า ก็ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปชวนพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี ฝ่ายพระมหาอุปราชาก็เป็นกษัตริย์มีขัตติยมานะ จะไม่รับก็ละอาย จึงได้ชนช้างกัน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นชีพบนคอช้างนั้น ทั้งพระองค์เองกับสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ในที่ล้อม พระองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ถูกปืนบาดเจ็บที่พระหัตถ์ นายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งก็ถูกปืนตาย หมื่นภักดีศวรกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตายในเวลาทรงชนช้างชนะมังจาชะโร ต้องทรงเสี่ยงภัยอยู่ในที่ล้อมทั้ง ๒ พระองค์ แต่ไม่ช้านักกองทัพพวกที่ตามเสด็จก็ไปถึง แก้เอาออกจากที่ล้อมกลับมาค่ายหลวงได้ ส่วนกองทัพหงสาวดีกำลังตกใจกันอลหม่าน ด้วยพระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นชีพ ก็รีบรวบรวมกันเลิกทัพ เชิญศพพระมหาอุปราชากลับไปเมืองหงสาวดีในวันนั้น ฝ่ายทางข้างไทยต่อมาอีก ๒ วัน กองทัพที่สมเด็จพระนเรศวร ฯให้ไปตามตีข้าศึกจึงได้ยกไป ไปทันตีแตกพ่ายแต่ทัพหลังของพวกหงสาวดี ได้ช้างม้าศัสตราวุธมาดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่วนกองทัพหลวงของข้าศึกนั้นรอดไปได้ เรื่องที่จริงเห็นจะเป็นอย่างนี้ สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงทรงพระพิโรธพวกแม่ทัพนายกอง มีเจ้าพระยาจักรีฯ เป็นต้น ที่ไม่ยกไปทันตามรับสั่ง ถึงวางบทให้ประหารชีวิตตามกฎอัยการศึก เพราะพวกนั้นเป็นเหตุให้ข้าศึกไม่แตกพ่ายไปหมดทุกทัพ
แม้จะมีคำถามว่า ถ้าพระเจดีย์ยุทธหัตถี มิได้สร้างสวมศพพระมหาอุปราชาหงสาวดี ดังว่าไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงสร้างพระเจดีย์องค์นั้นขึ้นทำไม ข้อนี้ก็มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร พอจะคิดเห็นเหตุได้ ด้วยเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จกลับมาถึงพระนคร สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆราชฝ่ายขวา พาพระสงฆ์ราชาคณะ ๒๕ รูป เข้าไปเฝ้าเยี่ยมถามข่าวตามประเพณี เห็นข้าราชการที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ต้องจำอยู่ที่ในวัง สมเด็จพระพนรัตน์ทูลถามสมเด็จพระนเรศวรฯ ว่าเสด็จไปทำสงครามก็มีชัยชนะข้าศึก เหตุไฉนพวกแม่ทัพนายกองจึงต้องราชทัณฑ์เล่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเล่าเรื่องที่รบกัน ให้สมเด็จพระพนรัตน์ฟัง แล้วตรัสว่า ข้าราชการเหล่านั้น “มันกลัวข้าศึกมากกว่าโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางข้าศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากบารมีของโยม หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของหงสาวดีเสียแล้ว”
สมเด็จพระพนรัตน์ถวายพระพรว่า ซึ่งข้าราชการเหล่านั้น จะกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระองค์เห็นจะไม่เป็นได้ ที่เกิดเหตุบันดาลให้เสด็จเข้าไปมีชัยชนะโดยลำพังพระองค์ในท่ามกลางข้าศึกนั้น น่าจะเป็นเพราะพระบารมีบันดาลจะให้พระเกียรติปรากฏไปทั่วโลก เปรียบเหมือนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณนั้น เทวดาก็มาเฝ้าอยู่เป็นอันมาก เมื่อพระยามารยกพลมาผจญ ถ้าหากเทวดาช่วยรบพุ่งพระยามารให้พ่ายแพ้ไป ก็จะไม่สู้อัศจรรย์นัก เผอิญเทวดาพากันหนีไปหมด ยังเหลือแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ทรงสามารถปราบพระยามารกับทั้งรี้พลให้พ่ายแพ้ได้ จึงได้พระนามว่า “สมเด็จพระพิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ์ดาญาณ” เป็นมหัศจรรย์ไปทั่วอนันตจักรวาล ที่พระองค์ทรงชนะสงครามครั้งนี้ก็คล้ายกัน ถ้าหากมีชัยชนะด้วยกำลังรี้พล พระเกียรติยศก็จะไม่เป็นมหัศจรรย์เหมือนที่มีชัยด้วยทรงทำยุทธหัตถีโดยลำพังพระองค์กับสมเด็จพระอนุชาธิราช จึงเห็นว่าหากพระบารมีบันดาลเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ ไม่ควรทรงโทมนัสน้อยพระราชหฤทัย สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงฟังสมเด็จพระพนรัตน์ถวายวิสัชนา ก็ทรงพระปีติโสมนัสสิ้นพระพิโรธ สมเด็จพระพนรัตน์จึงทูลขอชีวิตข้าราชการไว้ทั้งหมด แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารขาดความอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุและหลักฐานปรากฏอยู่ ว่าสมเด็จพระพนรัตน์ได้ทูลแนะนำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยชนะครั้งนั้น ด้วยบำเพ็ญพระราชกุศลตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าทุฏฐคามณี ที่ชาวลังกานับถือว่าเป็นวีรมหาราช อันมีเรื่องอยู่ในคัมภีร์มหาวงศ์คล้ายกันมาก ในเรื่องนั้นว่าเมื่อ พ.ศ.๓๓๘ พระยาเอฬารทมิฬมิจฉาทิฐิ ยกกองทัพจากอินเดียมาตีได้เมืองลังกาแล้วครอบครองอยู่ถึง ๔๐ ปี ในเวลาที่เมืองลังกาตกอยู่ในอำนาจมิจฉาทิฐินั้น มีเชื้อวงศ์ของพระเจ้าเทวานัมปิยดิศองค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระยากากะวรรณดิศ ได้ครองเมืองอันหนึ่งอยู่ในโรหณะประเทศตอนกลางเกาะลังกา พระยากากะวรรณดิศมีโอรส ๒ องค์ องค์ใหญ่ทรงนามว่า ทุฏฐคามณี องค์น้อยทรงนามว่า ดิศกุมาร ช่วยกันซ่องสุมรี้พลหมายจะตีเอาเมืองลังกาคืน แต่พระยากากะวรรณดิศถึงแก่พิราลัยไปเสียก่อน ทุฏฐคามณีกุมารได้เป็นพระยาแทนพระบิดา พยายามรวบรวมกำลังได้จนพอการ แล้วยกกองทัพไปตีเมืองอนุราธบุรีราชธานี ได้รบกันพระยาเอฬารทมิฬถึงชนช้างกันตัวต่อตัว ทุฏฐคามณีกุมารฟันพระยาเอฬารทมิฬสิ้นชีพบนคอช้าง ก็ได้เมืองลังกาคืนเป็นของราชวงศ์ที่ถือพระพุทธศาสนา ในการฉลองชัยมงคลครั้งนั้น พระเจ้าทุฏฐคามณีให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้นตรงที่ชนช้างชนะ แล้วสร้างพระมหาสถูปอีกองค์หนึ่งเรียกว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นที่ในเมืองอนุราธบุรี เป็นที่คนทั้งหลายสักการบูชา เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าทุฏฐคามณีสืบมา สมเด็จพระนเรศวรฯ จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถี ขึ้นตรงที่ทรงชนช้างองค์หนึ่ง แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” ขึ้นที่ “วัดเจ้าพระยาไทย” อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชาฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า “วัดป่าแก้ว” ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น พระเจดีย์ชัยมงคลก็ยังปรากฏอยู่ทางข้างตะวันออกของทางรถไฟเห็นได้แต่ไกลจนบัดนี้ เหตุที่สร้างพระเจดีย์รู้มาแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นดังเล่ามา เป็นแต่ยังไม่รู้ว่าพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหนเท่านั้น
เหตุที่จะพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีนั้นก็อยู่ข้างแปลกประหลาด ดูเหมือนจะเป็นในปีแรกรัชกาลที่ ๖ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นที่หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ช่วยเที่ยวหาหนังสือไทยฉบับเขียนของเก่า อันกระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมือง ให้หอพระสมุดสำหรับพระนคร วันหนึ่งไปเห็นยายแก่ที่บ้านแห่งหนึ่ง กำลังรวบรวมเอาสมุดไทยลงใส่กระชุ ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก พระยาปริยัติฯ ขออ่านดูหนังสือในสมุดเหล่านั้น เห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่เอามาส่งให้ฉันที่หอพระสมุดฯ ฉันเห็นเป็นสมุดของเก่าเขียนตัวบรรจงด้วยเส้นรง (มิใช่หรดาลที่ชอบใช้กันในชั้นหลัง) พอเปิดออกอ่านก็ประหลาดใจ ด้วยขึ้นต้นมีบานแผนกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนั้น เมื่อ ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ. ๒๒๒๓) แปลกกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ที่มีในหอพระสมุดฯ ฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา
ต่อมาฉันอ่านหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เทียบกับฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม สังเกตได้ว่าฉบับหลวงประเสริฐแต่งก่อน ผู้แต่งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม คัดเอาความไปลงตรงๆ คำก็มี เอาความไปแต่งเพิ่มเติมให้พิสดารขึ้นก็มี แก้ศักราชเคลื่อนคลาดไปก็มี แต่งแทรกลงใหม่ก็มี บางแห่งเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แตกต่างกันกับที่กล่าวในฉบับพิมพ์ ๒ เล่มก็มี เมื่อฉันอ่านไปถึงตอนสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง เห็นในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ (พ.ศ.๒๑๓๕) พอเห็นอย่างนั้นฉันก็นึกขึ้นว่าได้เค้าจะค้นพระเจดีย์ยุทธหัตถีอีกแล้ว รอพอพระยาสุพรรณฯ (อี้ กรรณสูตร ซึ่งภายหลังได้เป็นพระยาสุนทรบุรีฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี) เข้ามากรุงเทพฯ ฉันเล่าเรื่องพระเจดีย์ยุทธหัตถีให้ฟัง แล้วสั่งให้ไปสืบดูว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณฯ ยังมีหรือไม่ ถ้ามีให้พระยาสุพรรณฯ ออกไปเองถึงตำบลนั้น สืบถามดูว่ามีพระเจดีย์โบราณอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดบ้าง พระยาสุพรรณฯ ออกไปสืบอยู่ไม่ถึงเดือนก็มีรายงานบอกมา ว่าตำบลหนองสาหร่ายนั้นยังมีอยู่ใกล้กับลำน้ำท่าคอย ทางทิศตะวันตกเมืองสุพรรณฯ (คือลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจระเข้สามพันที่ตั้งเมืองอู่ทองนั่นเอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล) พระยาสุพรรณฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกกันว่า “ดอนพระเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณฯ ถามต่อไปว่าเป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้ รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ว่าใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวรกับพระนารายณ์ ชนช้างกันที่ตรงนั้น” ก็เป็นอันได้เรื่องที่สั่งให้ไปสืบ พระยาสุพรรณฯ จึงให้พวกชาวบ้านพาไปยังดอนพระเจดีย์ เมื่อแรกไปถึงไม่เห็นมีพระเจดีย์อยู่ที่ไหน เพราะต้นไม้ขึ้นปกคลุมพระเจดีย์มิดหมดทั้งองค์ จนผู้นำทางเข้าไปถางเป็นช่องให้มองดูจึงแลเห็นอิฐที่ก่อฐาน รู้ว่าพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่รู้จากชาวบ้านไปก่อน ถึงใครจะเดินผ่านไปใกล้ๆ ก็เห็นจะไม่รู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ตรงนั้น ฉันนึกว่าคงเป็นเพราะเหตุนั้นเอง จึงไม่รู้กันว่ามีพระเจดีย์ยุทธหัตถียังมีอยู่ เลยหายไปกว่า ๑๐๐ ปี พระยาสุพรรณฯ ระดมคนให้ช่วยกันตัดต้นไม้ที่ปกคลุมพระเจดีย์ออกหมดแล้ว ให้ช่างฉายรูปพระเจดีย์ส่งมาให้ฉันด้วยกันกับรายงาน สังเกตดูเป็นพระเจดีย์มีฐานทักษิณเป็น ๔ เหลี่ยม ๓ ชั้น ขนาดฐานทักษิณชั้นล่างกว้างยาวราว ๘ วา แต่องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณชั้นที่ ๓ ขึ้นไปหักพังเสียหมดแล้ว รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรรู้ไม่ได้ ประมาณขนาดสูงของพระเจดีย์เมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่าๆ กับพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ พอฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณฯ ส่งมา ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปีติโสมนัสตรัสว่า พระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมเกียรติของเมืองไทยสำคัญอย่างยิ่งแห่งหนึ่ง ถึงอยู่ไกลไปลำบากก็จะเสด็จไปสักการบูชา จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ด้วยประการฉะนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #26 เมื่อ: 18 เมษายน 2567 13:09:57 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนในรัชกาลที่ ๕ ชาวต่างประเทศเข้าใจกันว่า ประเพณีเมืองไทยผิดกับประเทศอื่นๆ ด้วยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เสมอ แม้สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียประเทศอังกฤษก็เคยตรัสถามฉัน ว่า “ประเทศของเธอมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์มิใช่หรือ” แต่เวลาเมื่อฉันไปเฝ้าใน พ.ศ.๒๔๓๔ มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแล้ว ฉันจึงทูลสนองว่าเดี๋ยวนี้เลิกประเพณีมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว เปลี่ยนเป็นมีมกุฎราชกุมารเป็นรัชทายาทเหมือนเช่นประเทศอื่นๆ ก็ไม่ทรงซักไซ้ต่อไป อันมูลเหตุที่ชาวต่างประเทศเข้าใจกันว่าธรรมเนียมเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เป็นนิจนั้น เกิดด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มพระเกียรติยศสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผิดกับพระมหาอุปราชในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งเป็นแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมาทุกรัชกาล เมื่อพระมหาอุปราชทรงพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้น ไทยเราจึงบอกอธิบายแก่ฝรั่งว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ The First King พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ The Second King ฝรั่งก็เข้าใจว่าประเพณีเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เป็นนิจมาแต่ก่อน ถึงรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งก็ยังเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ เรียกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญราชบุตรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ อยู่อย่างเดิมสืบมา จนเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว คำที่เรียกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ และที่ ๒ จึงเงียบหายไป
ฉันเคยนึกสงสัยมาแต่แรกอ่านหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าพระมหาอุปราชรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนี เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ เหตุไฉนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ให้เป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน คิดดูก็ไม่เห็นเหตุ ต่อมาอีกช้านานเมื่อฉันหาหนังสือเข้าหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้สำเนาคำทูลถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่าน คำทูลนั้นว่าพระราชาคณะสงฆ์กับทั้งพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงพร้อมใจกัน “ขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิบดี เจ้าฟ้ามงกุฎฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เถลิงถวัลยราชสมบัติ” ดังนี้ ฉันก็เข้าใจว่าคงเป็นเพราะทูลถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง แต่ก็เกิดสงสัยต่อไปว่า เหตุไฉนจึงถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ด้วยกัน ซึ่งไม่เคยมีเยี่ยงอย่างมาแต่ก่อน แต่มิรู้ที่จะค้นหาอธิบายได้อย่างไร จนถึงในรัชกาลที่ ๖ วันหนึ่ง เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ มาหา เวลานั้นอายุท่านกว่า ๘๐ ปีแล้ว แต่ความทรงจำของท่านแม่นยำ ฉันเคยถามได้ความรู้เรื่องโบราณคดีมาจากท่านหลายครั้ง วันนั้นเมื่อสนทนากัน ฉันนึกขึ้นถึงเรื่องที่ทูลถวายราชสมบัติทั้ง ๒ พระองค์ ถามท่านว่าท่านทราบหรือไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เพราะเหตุใดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (บิดาของท่านเมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังฯ) ซึ่งเป็นหัวหน้าในราชการ จึงแนะนำให้ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ ไม่ถวายแต่พระองค์เดียวเหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลก่อนๆ ท่านบอกว่าเรื่องนั้นท่านทราบด้วยได้ยินกับหูของท่านเอง แล้วเล่าต่อไปว่า วันหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชะตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชะตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ไม่ขัดพระอัธยาศัย ออกจากวัดบวรนิเวศฯ ข้ามฟากไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรืออยู่บัดนี้) ตัวท่านเองเวลานั้นอายุได้ ๑๘ ปีนั่งไปหน้าเก๋งเรือของบิดา เมื่อไปถึงพระราชวังเดิม เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับอยู่ที่แพหน้าวัง เสด็จออกมารับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่แพลอย ตัวท่านอยู่ในเรือ ได้ยินสมเด็จเจ้าพระยาฯ เล่าถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดังกล่าวมาจึงทราบเรื่อง ตามที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า ก็สมกับประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเชื่อได้ว่าเรื่องที่จริงเป็นอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า (๒) เมื่อฉันเขียนนิทานโบราณคดี มีกล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถในนิทานบางเรื่อง นึกขึ้นว่าที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกันกับพระองค์ ก็เป็นการแปลกประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเหมือนกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแปลกประเพณีครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระนเรศวรฯ จะทรงทำตามแบบอย่างซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนแล้ว หรือจะทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ด้วยมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง นึกขึ้นอย่างนั้นจึงค้นดูในพงศาวดาร พบเรื่องปรากฏในหนังสือ “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” ซึ่งแต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ความว่า เมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันเมื่อก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชถึง ๒ ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไปเสวยราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก โปรดให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าพระบรมราชา เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง ครั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๓ สมเด็จพระบรมราชาได้ทรงรับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงตั้งพระอนุชาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลกอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นแต่เอาแบบอย่างมาทำตามเมื่อสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ หาได้ทรงตั้งแบบขึ้นใหม่ไม่ ฉันยังติดใจจึงค้นเรื่องพงศาวดารถอยหลังต่อไปอีก ว่าที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ จะได้เยี่ยงอย่างมาแต่ไหน ค้นไปได้เค้าในหนังสือราชาธิราช ตอนเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดีปิฎกธรธรรมเจดีย์ ว่าพระเจ้าหงสาวดีแก้ปัญหาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถออก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยกย่องพระเกียรติพระเจ้าหงสาวดี ด้วยให้ราชทูตเชิญพระสุพรรณบัฏไปถวายพระนามว่า “พระมหาธรรมราชา” และบอกไปในพระราชสาส์นว่า “เป็นนามของพระเจ้าตามาแต่ก่อน” ฉันได้ความรู้ขึ้นใหม่ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชนัดดาของพระมหาธรรมราชาเจ้ากรุงสุโขทัย จึงเอามาปรับกับเรื่องในหนังสือพระราชพงศาวดาร ก็ได้ความถึงต้นเรื่องอันเป็นเหตุให้เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันในบางคราว ดังจะเล่าในตอนที่ ๓ ต่อไปนี้ แต่ต้องสันนิษฐานเอาความที่บกพร่องประกอบบ้าง(๓) เดิมเมืองเหนือ คืออาณาเขตเมืองสุโขทัย กับเมืองใต้ คือ อาณาเขตกรุงศรีอยุธยา มีราชวงศ์ปกครองต่างกัน ราชวงศ์พระร่วงครองเมืองเหนือ ราชวงศ์อู่ทองครองเมืองใต้ แม้เมืองเหนือต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นต่อเมืองใต้ เมื่อครั้งรบแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พะงั่ว) ที่ ๑ แล้ว ก็ยังมีเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงเป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองเหนือสืบกันมา เมื่อรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาที่ ๓ สวรรคต เจ้าพี่เจ้าน้อง ๒ องค์ทรงนามว่า “พระยาบาลเมือง” ผู้ครองเมืองสองแคว (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองพิษณุโลก) องค์หนึ่งทรงนามว่า “พระยารามคำแหง” ผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยองค์หนึ่งชิงกันเป็นพระมหาธรรมราชา เกิดรบพุ่งกันจนเมืองเหนือเป็นจลาจล สมเด็จพระอินทราชาธิราชจึงเสด็จยกกองทัพขึ้นไประงับ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองพระบาง (คือเมืองนครสวรรค์บัดนี้) พระยาบาลเมืองกับพระยารามคำแหงเกรงพระเดชานุภาพ ต่างลงมาเฝ้าสมเด็จพระอินทราชาธิราชโดยดีทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระอินทราชาธิราชจึงทรงเปรียบเทียบให้พระยาบาลเมือง (ผู้เป็นพี่) เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ให้พระยารามคำแหง (ผู้เป็นน้อง) เป็นอุปราช ต่างกลับไปครองเมืองสองแควและเมืองศรีสัชนาลัยอยู่อย่างเดิม เมืองเหนือก็กลับเป็นปรกติ เมื่อระงับจลาจลแล้ว สมเด็จพระอินทราชาธิราชจะทรงตั้งเจ้าสามพระยาราชบุตร ให้ครองเมืองชัยนาทอันอยู่ต่อแดนกับเมืองเหนือ จึงตรัสขอราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ มาอภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยาให้ครองเมืองชัยนาทอยู่ด้วยกัน ครั้นสมเด็จพระอินทราชาธิราชสวรรคต เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่พระยาราชบุตรที่เป็นพี่ชิงราชสมบัติกันรบกันสิ้นพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์ เจ้าสามพระยาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ นางราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ก็ได้เป็นพระอัครมเหสี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่ง (คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเจ้านายองค์แรกที่เป็นเชื้อสายทั้งราชวงศ์พระร่วงและราชวงศ์อู่ทองรวมอยู่ในพระองค์) ประสูติเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๙๗๔ สมเด็จพระปิตุราชทรงสถาปนาเป็น พระราเมศวร ที่รัชทายาท
ฝ่ายเมืองเหนือ ตั้งแต่สมเด็จพระอินทราชาธิราชทรงระงับจลาจลแล้ว แม้การภายนอกเรียบร้อยเป็นปรกติ แต่ชาวเมืองศรีสัชนาลัยกับชาวเมืองสองแควยังถือตัวเป็นต่างพวกไม่ชอบกัน พระยารามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยถึงพิราลัยไปก่อนพระมหาธรรมราชาที่ ๔ พระยายุทธิษฐิระ (ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พระยาเชลียง”) ผู้เป็นบุตรได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยปกครองพรรคพวกของบิดาต่อมา ครั้นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ สิ้นพระชนม์ ชะรอยจะมีแต่ราชบุตรที่มิได้เป็นลูกมเหสี พระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยจึงถือว่าตัวควรจะได้เป็นพระมหาธรรมราชา โดยสืบสิทธิมาจากพระยารามคำแหง แต่พวกเมืองสองแควไม่ยอม เมืองเหนือจึงเกิดชิงกันเป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นอีก แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองเหนือที่เป็นกลาง เกรงจะเกิดรบพุ่งกันเป็นจลาจลเหมือนหนหลัง จึงเปรียบเทียบให้มาทูลขอพระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ โดยเป็นราชนัดดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ด้วยเห็นว่าคงไม่มีใครขัดแข็ง เพราะเกรงอานุภาพของสมเด็จพระบรมราชาธิราช ฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ทรงยินดี ด้วยเห็นเป็นทางที่จะรวมเมืองเหนือกับเมืองใต้ให้เป็นราชอาณาเขตเดียวกันในภายหน้า และทรงเชื่อว่า พระราชโอรสขึ้นไปอยู่เมืองเหนือคงปลอดภัย เพราะพระญาติวงศ์ทางฝ่ายพระชนนีที่อยู่ ณ เมืองสองแควมีมากคงช่วยกันอุปการะ จึงประทานอนุญาตให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ มิใช่อยู่ดีๆ จะให้พระราชโอรสอันเป็นรัชทายาท ขึ้นไปเสี่ยงภัยครองเมืองเหนือตามอำเภอพระราชหฤทัยดังหนังสือพระราชพงศาวดารชวนให้เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ บ้านเมืองก็เรียบร้อยได้ดังประสงค์
ถึงปีมะโรง พ.ศ.๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ สวรรคต พระราเมศวรได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่ครองทั้งเมืองเหนือกับเมืองใต้โดยสิทธิของพระองค์เอง ด้วยเป็นเชื้อสายทั้งสองราชวงศ์ เพราะเหตุนั้นจึงไม่ทรงตั้งใครให้เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองเหนือ แต่ส่วนพระองค์เองเมื่อราชาภิเษกแล้วต้องประทับอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาช้านาน เพราะเมืองมะละกาเป็นกบฏขึ้นในแหลมมลายู การปกครองทางเมืองเหนือก็เสื่อมทรามลง สมัยนั้นประจวบเวลาพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่มีอานุภาพ ปราบปรามเอาเมืองใหญ่น้อยในแว่นแคว้นลานนาไว้ได้ในอำนาจโดยมาก กำลังคิดจะขยายอาณาเขตให้กว้างใหญ่ไพศาลต่อออกไป ฝ่ายพระยายุทธิษฐิระเจ้าเมืองศรีสัชนาลัย อันแดนต่อกับอาณาเขตของพระเจ้าเชียงใหม่ ก็อยากเป็นพระมหาธรรมราชามาช้านานแล้ว เห็นได้ช่อง ด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมิได้เสด็จอยู่ที่เมืองเหนือ จึงลอบไปฝักใฝ่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ชักชวนพระเจ้าติโลกราชให้มาตีเอาเมืองเหนือเป็นอาณาเขต แล้วจะได้ตั้งให้ตัวเป็นพระมหาธรรมราชา กิตติศัพท์ที่พระยายุทธิษฐิระเป็นกบฏทราบถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จะให้เอาตัวมาชำระ พระยายุทธิษฐิระจะปกปิดความชั่วต่อไปไม่ได้ก็ออกหน้าเป็นกบฏ ให้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองศรีสัชนาลัยพาข้ามเขตแดนไปเข้ากับเมืองเชียงใหม่ แล้วนำกองทัพพระเจ้าติโลกราชมาตีเมืองเหนือเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.๒๐๐๔ ได้ทั้งเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองสุโขทัยไปเป็นของพวกเชียงใหม่อยู่คราวหนึ่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องเสด็จขึ้นไปทรงบัญชาการศึกอยู่ที่เมืองเหนือ จะทิ้งพระนครศรีอยุธยาให้แต่เสนาบดีสำเร็จราชการรักษาพระนคร ก็ไม่วางพระราชหฤทัย เกรงจะมีศัตรูมาทางทะเลอีกทางหนึ่ง ด้วยเวลานั้นพวกฝรั่งโปรตุเกสมาตีได้เมืองมะละกา จึงทรงตั้งพระบรมราชาราชโอรสเป็น “สมเด็จพระบรมราชา” มียศและอำนาจอย่างพระเจ้าแผ่นดินปกครองป้องกันกรุงศรีอยุธยาอีกพระองค์หนึ่ง จึงมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันขึ้นเป็นทีแรกในครั้งนั้น
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประทับอยู่ที่เมืองสองแคว ทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่มาหลายปี จึงได้เมืองเหนือคืนมาจากข้าศึกหมด และพระเจ้าติโลกราชก็ให้มาขอเป็นไมตรีดีกันดังแต่ก่อน จึงเลิกสงครามเมื่อปีมะแม พ.ศ.๒๐๑๘ เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระราชดำริว่า ถ้าเสด็จกลับลงมาอยู่พระนครศรีอยุธยาอย่างเดิม ก็จะมีเจ้านายเมืองเหนือคิดอ่านพยายามเป็นพระมหาธรรมราชาให้เกิดยุ่งยากขึ้นอีกเหมือนหนหลัง อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาราชโอรสก็ปกครองพระนครเป็นปรกติดีไม่มีห่วงใย จึงเลยเสด็จประทับเสวยราชย์ครองประเทศไทยอยู่ที่เมืองเหนือ เอาเมืองสองแควเป็นราชธานี ให้เปลี่ยนนามเป็นเมืองพิษณุโลก อันหมายความว่าเป็นที่สถิตของพระนารายณ์ เช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยาหมายว่าเป็นที่สถิตของพระรามาวตาร ที่ให้รวมเมืองเชลียงกับเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองเดียวกัน ตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองสวรรคโลก ก็คงเป็นในครั้งเดียวกันนั้น เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จประทับอยู่เมืองพิษณุโลกครั้งนั้น ได้เจ้าหญิงในราชวงศ์พระร่วงองค์หนึ่งเป็นพระอัครมเหสี มีพระราชกุมารประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๐๑๕ ทรงพระนามว่า พระเชษฐา เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี สมเด็จพระปิตุราชทรงสถาปนาให้เป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลก การที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตั้งพระราชโอรสพระองค์น้อยเป็นพระมหาอุปราชเมืองพิษณุโลกนั้น คิดเห็นเหตุได้ไม่ยาก คงเป็นเพราะตระหนักพระราชหฤทัยว่า การปกครองเมืองเหนือกับเมืองใต้เป็นอาณาเขตเดียวกัน อย่างเช่นพระองค์ได้ทรงครองเมื่อแรกเสวยราชย์นั้นไม่ปลอดภัย ต่อไปควรจะแยกการปกครองเป็น ๒ อาณาเขตอย่างเก่า แต่ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองเองอาณาเขตหนึ่ง ให้รัชทายาทปกครองอาณาเขตหนึ่งในราชวงศ์อันเดียวกัน การปกครองบ้านเมืองกับการสืบราชวงศ์ซึ่งทรงครองประเทศไทยทั้งหมด จึงจะเข้ากันได้โดยเรียบร้อย จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชาเป็นรัชทายาทครองเมืองใต้ ให้พระเชษฐาเป็นมหาอุปราชสำหรับจะครองเมืองเหนือ และเป็นรัชทายาทของสมเด็จพระบรมราชาด้วย ก็เป็นยุติตกลงตามพระราชดำริ ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๐๓๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาได้รับรัชทายาททรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓” จึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเชษฐาอนุชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนืออยู่แล้ว ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเชษฐาธิราช” เหมือนอย่างสมเด็จพระปิตุราชเคยทรงสถาปนาพระองค์เอง ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองใต้มาแต่ก่อน จึงมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นแต่ย้ายราชธานีของประเทศไทยกลับมาอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาดังเก่าแต่นี้ไป
เมื่อค้นได้เรื่องมาถึงเพียงนี้ เลยคิดเห็นโดยพิจารณาเรื่องพงศาวดารต่อไปจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ว่า เพราะเหตุใดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และเพราะเหตุใดจึงรวมอาณาเขตเมืองเหนือเป็นอาณาเขตเดียวกันกับเมืองใต้ได้ในที่สุด จึงเขียนไว้ด้วยในตอนต่อไปนี้(๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ครองราชสมบัติอยู่เพียง ๓ ปี ถึงปีกุน พ.ศ.๒๐๓๔ สวรรคต สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้รับรัชทายาทราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในเวลานั้นเมืองเหนือเรียบร้อย ด้วยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ถึง ๒๕ ปี ปราบปรามสิ้นเสี้ยนหนามภายใน และเมืองเชียงใหม่สิ้นพระเจ้าติโลกราชแล้วก็หมดอานุภาพ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงเสด็จลงมาเสวยราชย์อยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา เพราะพวกฝรั่งโปรตุเกสกำลังจะเข้ามาขอค้าขายในเมืองไทย และพระองค์เองก็ยังไม่เคยคุ้นกับพระราชอาณาเขตข้างฝ่ายใต้มาแต่ก่อน แต่เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีเสวยราชย์นั้น พระชันษาเพียง ๑๙ ปี ยังไม่มีพระราชโอรสที่จะให้ครองเมืองเหนือ จะทรงจัดวางการปกครองไว้อย่างไรในชั้นแรกหาปรากฏไม่ จนพระอาทิตยวงศ์ราชโอรสพระองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสีทรงพระเจริญวัย จึงทรงสถาปนาเป็นพระบรมราชา ที่หน่อพุทธางกูรตามกฎมนเทียรบาล แล้วให้ขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้น เจ้านายและท้าวพระยาข้าราชการที่เป็นชาวเมืองเหนือกับชาวเมืองใต้ เห็นจะทำราชการระคนปนกันมากอยู่แล้ว ยังถือเป็นต่างพวกกันแต่ชั้นราษฎรพลเมือง การปกครองจึงยังต้องแยกเป็น ๒ อาณาเขตอยู่อย่างเดิม ถึง พ.ศ.๒๐๗๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสวยราชย์ได้ ๓๙ ปีสวรรคต พระอาทิตยวงศ์หน่อพุทธางกูรราชโอรสได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร) แต่เสวยราชย์อยู่ได้เพียง ๕ ปี ประชวรออกไข้ทรพิษสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๐๗๖ พวกข้าราชการยกพระรัษฎาธิราชกุมารราชโอรสพระชันษาได้ ๕ ขวบขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อยู่ได้เพียง ๕ เดือน พระไชยราชาธิราชก็ชิงราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา
เรื่องพงศาวดารตอนนี้ชวนให้เกิดฉงน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่บอกไว้ว่า พระไชยราชา เป็นราชบุตรหรือราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด และมีฐานะเป็นอะไรอยู่ก่อน จึงสามารถชิงราชสมบัติได้ ถึงพระเฑียรราชาที่ได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิในรัชกาลต่อมา ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นราชบุตรหรือราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ได้แต่คิดคาดดูโดยสังเกตเค้าเงื่อนและเหตุการณ์ที่ปรากฏ ว่าพระนามที่เรียกว่าพระไชยราชาและพระเฑียรราชานั้น แสดงว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดิน จึงสันนิษฐานว่า พระไชยราชาเห็นจะเป็นราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดด้วยนักสนมซึ่งเป็นชาวเมืองเหนือ และได้เป็นผู้รั้งราชการเมืองเหนือเมื่อรัชกาลก่อน จึงมีกำลังสามารถลงมาชิงราชสมบัติได้ และเมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว จึงสามารถรวมชาวเมืองเหนือกับเมืองใต้เข้ากองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เป็นหลายครั้ง ส่วนพระเฑียรราชานั้นในหนังสือปิ่นโตโปรตุเกสแต่ง กล่าวว่าเป็นน้องยาเธอของสมเด็จพระไชยราชาธิราชต่างพระชนนีกัน ก็เข้าเรื่องถูกต้อง แต่พระชนนีคงเป็นชาวเมืองใต้ พระเฑียรราชาจึงมิได้สนิทกับชาวเมืองเหนือเหมือนอย่างพระไชยราชา
เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชสมบัติอยู่ ณ พระนครศรีอยุธยา คงให้พระญาติที่ไว้พระทัยได้รั้งราชการเมืองเหนือ ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า “พระยาพิษณุโลก” ความก็หมายเพียงว่าเป็นผู้ครองเมืองพิษณุโลก จะเป็นใครรู้ไม่ได้ แต่คงให้รั้งราชการรอท่ากว่าจะทรงตั้งรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนือตามประเพณี สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี ถึง พ.ศ.๒๐๘๙ สวรรคต ไม่มีราชโอรสเกิดด้วยมเหสี มีแต่ราชบุตรเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก ทรงพระนามว่า พระยอดฟ้า (หนังสือบางฉบับเรียกว่าพระแก้วฟ้า) พระชันษาได้ ๑๑ ปี ข้าราชการพร้อมใจกันยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสแก่ฉันครั้งหนึ่ง ว่าเรื่องพงศาวดารรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้าที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ดูราวกับเรื่องละคร ให้ฉันพิจารณาดูสักทีว่าเรื่องที่จริงจะเป็นอย่างไร ฉันพิจารณาดูตามรับสั่ง ก็แลเห็นเค้าเรื่องที่จะเป็นความจริง ได้เขียนบันทึกทูลเกล้าฯ ถวายตามความคิดของฉัน ถึงมิใช่ท้องเรื่องของนิทานนี้ บางทีผู้อ่านจะชอบตรวจวินิจฉัยเรื่องนั้น จึงเขียนเนื้อความฝากไว้ในนิทานเรื่องนี้ด้วย
เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าเสวยราชย์ พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี ยังว่าราชการบ้านเมืองไม่ได้ ข้าราชการทั้งปวงจึงขอให้พระเฑียรราชาผู้เป็นพระเจ้าอาว่าราชการบ้านเมืองแทนพระองค์ ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นพระชนนีพันปีหลวง ก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดฝ่ายข้างใน แต่นางเป็นคนมักมากด้วยราคจริต อยากได้พระเฑียรราชาเป็นสามีใหม่ ฝ่ายพระเฑียรราชาไม่ปรารถนาจะทิ้งพระ (สุริโยทัย) ชายาเดิม แต่จะปฏิเสธไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เกรงภัย และบางทีพระชายาเดิมจะขึ้งเคียด ด้วยเกรงพระเฑียรราชาจะไปคบกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พระเฑียรราชาได้ความรำคาญมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงใช้อุบายออกทรงผนวชเป็นภิกษุเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ได้พระเฑียรราชาเป็นสามีโดยเปิดเผย จึงลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพชายหนุ่มที่เป็นญาติกัน เดิมก็หมายเพียงจะคบหาเป็นอย่างชายชู้ แต่เผอิญนางมีครรภ์ขึ้นเห็นจะเกิดภัยอันตราย จึงคิดป้องกันตัวด้วยตั้งพันบุตรศรีเทพเป็นขุนวรวงศาธิราชตำแหน่งราชินิกุล ให้มีหน้าที่เป็นผู้รับสั่งของนาง (เช่นเป็นเลขานุการ) ตั้งแต่ยังมีครรภ์อ่อน แล้วค่อยเพิ่มอำนาจให้ขุนวรวงศาฯ บังคับบัญชาการงานมีผู้คนเป็นกำลังมากขึ้นโดยลำดับ กิตติศัพท์ที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้รู้ไปถึงเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งทำนองจะได้เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทนพระเฑียรราชา ปรารภปรึกษาเพื่อนข้าราชการผู้ใหญ่ว่าจะควรทำอย่างไร ความนั้นรู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ให้ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาฯ ตาย แต่นั้นนางก็ยิ่งมีอำนาจด้วยไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง ผู้คนก็ยิ่งครั่นคร้ามขุนวรวงศา ๆ จึงเป็นผู้มีอำนาจขึ้นในแผ่นดิน
ฝ่ายสมเด็จพระยอดฟ้า แม้พระชันษาเพียง ๑๒ ปี เมื่อทรงทราบว่านางชนนีมีชู้ก็เดือดร้อนรำคาญพระหฤทัย แต่มิรู้ที่จะทำประการใดด้วยยังทรงพระเยาว์ คงปรับทุกข์กับขุนพิเรนทรเทพเจ้ากรมตำรวจ ซึ่งเป็นพระญาติและเป็นราชองครักษ์ เคยอยู่ใกล้ชิดมาตั้งแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ก่อน ขุนพิเรนทรเทพทูลรับจะคิดอ่านกำจัดขุนวรวงศาฯ ความคิดเดิมคงอยู่เพียงกำจัดขุนวรวงศาฯ เท่านั้น หาได้คิดกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ด้วยไม่ แต่รู้ไปถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า ขุนพิเรนทรเทพเข้าเฝ้าสมเด็จพระยอดฟ้าบ่อยๆ สงสัยว่าขุนพิเรนทรเทพจะยุยงให้คิดร้าย จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งในราชการ ขุนพิเรนทรเทพจึงต้องไปเที่ยวหาคนร่วมคิดในเหล่าข้าราชการชั้นต่ำ ที่ถูกถอดแล้วบ้าง ยังอยู่ในตำแหน่งบ้าง เช่นหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า และหมื่นราชเสน่หาเป็นต้น คงมีคนอื่นอีกแต่หากไม่ปรากฏชื่อ ความประสงค์ของขุนพิเรนทรฯ เมื่อชั้นแรกเป็นแต่จะช่วยสมเด็จพระยอดฟ้า ยังมิได้คิดที่จะถวายราชสมบัติแก่พระเฑียรราชา ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์คลอดลูก ข่าวนั้นระบือแพร่หลาย ขุนวรวงศาฯ เห็นว่าจะปกปิดความชั่วไว้ไม่ได้ต่อไปก็คิดเอาแผ่นดินไปตามเลย มิฉะนั้นก็จะเป็นอันตราย จึงลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระยอดฟ้า โดยท้าวศรีสุดาจันทร์มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย สมเด็จพระยอดฟ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่เพียง ๒ ปีก็ถูกปลงพระชนม์ ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้ต่อเมื่อสมเด็จพระยอดฟ้าสวรรคตเสียแล้ว ก็จำต้องยกขุนวรวงศาฯ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพวกขุนพิเรนทรเทพก็ต้องคิดหาพระเจ้าแผ่นดินใหม่ จึงพร้อมใจกันไปเชิญพระเฑียรราชาครองราชสมบัติ และเสี่ยงเทียนกันในตอนนี้ แต่ไม่มีกำลังพอจะเข้าไปจับขุนวรวงศาฯ ถึงในวัง จึงไปตั้งซุ่มดักทางจับขุนวรวงศาฯ กับท้าวศรีสุดาจันทร์ และลูกที่เกิดด้วยกันฆ่าเสียเมื่อลงเรือไปดูจับช้าง แล้วชวนข้าราชการทั้งปวง ก็พร้อมใจกันเชิญพระเฑียรราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังว่ามา
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 เมษายน 2567 13:12:29 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #27 เมื่อ: 18 เมษายน 2567 13:11:55 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๑๙ เรื่องเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ (จบ) ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิปูนบำเหน็จผู้มีความชอบนั้น ทรงพระราชดำริว่าขุนพิเรนทรเทพมีความชอบยิ่งกว่าผู้อื่น และตัวเองก็เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง จึงทรงตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาให้เป็นพระชายาด้วย แต่พิจารณาตามเรื่องพงศาวดารที่เล่ามาก่อน เห็นว่าที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหาธรรมราชาครั้งนั้น เป็นราโชบายในการเมืองด้วย เพราะตำแหน่งพระมหาธรรมราชาได้ครองอาณาเขตเมืองเหนือทั้งหมด มิใช่แต่เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกเมืองเดียวเท่านั้น แต่ก่อนมาเมื่อเลิกตำแหน่งพระมหาธรรมราชาชาวเมืองเหนือแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งพระราชโอรสผู้เป็นรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญ มีอำนาจรองแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิควรจะตั้งพระราเมศวร ราชโอรสรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองเหนือเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เหตุไฉนจึงไม่ตั้ง ข้อนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าทั้งพระองค์เองและพระราชโอรส มิได้เป็นเชื้อสายสนิทกับราชวงศ์พระร่วงและไม่เคยคุ้นกับชาวเมืองเหนือ ถ้าให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ เกรงจะเกิดกระด้างกระเดื่องเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขุนพิเรนทรเทพเป็นเชื้อสายพระร่วง ชาวเมืองเหนือคงไม่รังเกียจ ทั้งได้ทำความชอบมาก ถึงจะพระราชทานบำเหน็จอย่างไรก็ไม่เกินไป จึงโปรดให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดา เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าเพราะเป็นราชบุตรเขยก่อน แล้วจึงทรงตั้งให้เป็นพระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองเหนือด้วยกันกับพระราชธิดา โดยทรงพระราชดำริว่า ถ้ามีพระหน่อก็จะเป็นเชื้อสายทั้งราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์อู่ทอง เชื่อม ๒ ราชวงศ์ให้สนิทยิ่งขึ้นในภายหน้า ต่อมาก็สมดังพระราชหฤทัยหวังกับทั้งเป็นคุณแก่บ้านเมืองได้จริง ด้วยเกิดสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทั้ง ๒ พระองค์
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ บ้านเมืองเป็นสุขมาได้ ๑๕ ปี แล้วก็ถึงคราวเคราะห์ร้ายของเมืองไทย ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองมีอานุภาพเป็นพระเจ้าราชาธิราชขึ้น เริ่มมาตีเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๑๐๖ ครั้งหนึ่ง แล้วมาตีเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๑ อีกครั้งหนึ่ง มีชัยชนะเอาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จมหินทราธิราชออกจากราชสมบัติ แล้วตั้งให้พระมหาธรรมราชาพระบิดาสมเด็จพระนเรศวรเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครองเมืองไทยเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดี แต่เรื่องไม่เกี่ยวกับเนื้อความของนิทานนี้ ควรกล่าวแต่ให้ปรากฏว่า พอพระมหาธรรมราชาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงตั้งสมเด็จพระนเรศวรให้ขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ให้เห็นว่า ยังปกครองเมืองเหนือกับเมืองใต้เป็น ๒ อาณาเขตอยู่ตามเดิมมาจนในสมัยนั้น เมืองไทยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ต้องเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดีอยู่ถึง ๑๕ ปี จนพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๑๒๔ พระมหาอุปราชาราชโอรสได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าหงสาวดี ทรงพระนามว่า “พระเจ้านันทบุเรง” สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่ไร้ความสามารถ ไม่ต้องยำเกรงเหมือนพระเจ้าบุเรงนอง ก็ประกาศตั้งเมืองไทยกลับเป็นอิสระเมื่อ พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงให้กองทัพยกเข้ามาปราบปรามเมืองไทย ในการสู้ศึกหงสาวดีครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงบัญชาการสิทธิ์ขาด ทรงพระดำริว่าจะตั้งต่อสู้ทั้งที่เมืองเหนือและเมืองใต้ คงแพ้ข้าศึกเหมือนหนหลัง เพราะข้าศึกมีกำลังมากนัก และที่เมืองเหนือก็ไม่มีชัยภูมิเหมือนกับเมืองใต้ จึงตรัสสั่งให้ทิ้งเมืองเหนือให้ร้างทั้งหมด อพยพเอาผู้คนเมืองเหนือลงมาสมทบกับชาวเมืองใต้ ตั้งต่อสู้ข้าศึกด้วยเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นฐานทัพแต่แห่งเดียว กองทัพพวกหงสาวดีมาทีไร ก็สามารถตีแตกไปทุกครั้ง แม้จนพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสด็จยกกองทัพอย่างใหญ่หลวงลงมาเองเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๙ ก็เอาชัยชนะไม่ได้ ต้องล่าทัพกลับไป
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพกลับไปแล้ว ที่กรุงศรีอยุธยายังต้องเตรียมตัวอยู่ด้วยไม่รู้ว่าข้าศึกจะยกมาเมื่อใด ในระหว่างเวลาว่างสงครามนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระชันษา ๓๕ ปี ส่วนพระองค์ก็เป็นหมันไม่มีพระราชโอรสธิดา มีแต่พระเอกาทศรถอนุชาเป็นรัชทายาท ทั้งได้เป็นคู่พระชนม์ชีพสู้สงครามกู้บ้านเมืองมาด้วยกัน แม้โดยฐานะก็พึงคิดเห็นได้ว่าถ้าเป็นเวลาบ้านเมืองเป็นปรกติ สมเด็จพระนเรศวรคงทรงสถาปนาพระเอกาทศรถให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ เหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงสถาปนาพระเชษฐาราชอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองเหนือ หรือที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสถาปนาพระบรมราชาราชโอรสเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองใต้มาแต่ก่อน แต่เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเสวยราชย์นั้นเมืองเหนือร้าง ผู้คนพลเมืองเหนือลงมาอยู่เมืองใต้หมด จะทำอย่างแบบเดิมทั้งหมดไม่ได้ จึงทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถฯ ให้ปกครองชาวเมืองเหนือบรรดาที่ลงมาอยู่ในเมืองใต้ จึงมีพระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่ในราชธานีเดียวกันทั้ง ๒ พระองค์เป็นครั้งแรก ความที่ว่ามานี้มีหลักฐานด้วยมีพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเอกาทศรถ ปรากฏอยู่ในกฎหมายเก่าหมวดลักษณะกบฏศึกบทหนึ่ง ตั้งเมื่อ ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ.๒๑๓๖) เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีได้ปีหนึ่ง ในพระราชกฤษฎีกานั้น เมื่อตั้งต้นบอกศุภมาสวันคืน และอ้างพระราชโองการสมเด็จพระเอกาทศรถแล้วกล่าวความว่าข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนซึ่งเกณฑ์เข้ากระบวนทัพไป “รบพุ่งด้วยสมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์อรรคปุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศวรเชษฐาธิบดี มีชัยชำนะแก่มหาอุปราชหน่อพระเจ้าชัยทศทิศเมืองหงสาวดี (ทั้ง) ฝ่ายทหารพลเรือนล้มตายในณรงคสงครามเป็นอันมาก และรอดชีวิตมาได้ก็เป็นอันมากนั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานปูนบำเหน็จ” ให้ยกหนี้หลวงพระราชทานแก่ผู้อยู่ และพระราชทานแก่บุตรภรรยาผู้ตายด้วยทั้งหมด พระราชกฤษฎีกานี้เห็นได้ว่า ยกหนี้พระราชทานชาวเมืองเหนือ จึงใช้พระนามสมเด็จพระเอกาทศรถ ถ้ายกหนี้พระราชทานทั่วไปหมดทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ จำต้องเป็นพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
การปกครองเมืองไทย ที่เคยแยกเป็นเมืองเหนือเมืองใต้ต่างอาณาเขตกัน ก็เลิกมาแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ เพราะสมัยนั้นเมืองไทยตกอยู่ในยุคมหาสงครามมาถึง ๓๐ ปี ผู้คนพลเมืองล้มตายหายจากไปเสียมาก ทั้งต้องต้อนชาวเมืองเหนือ เอาลงมาสมทบกับชาวเมืองใต้ ต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาก็หลายปี จนคนทั้งสองอาณาเขตคุ้นกันจนสิ้นความรังเกียจ ไม่จำเป็นจะต้องปกครองเป็น ๒ อาณาเขตอย่างแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ มีชัยคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแล้ว จึงโปรดให้กลับตั้งเมืองเหนือทั้งปวงซึ่งได้ทิ้งร้างมา ๘ ปี ให้มีเจ้าเมืองกรมการปกครอง ขึ้นต่อพระนครศรีอยุธยาเหมือนอย่างหัวเมืองใต้ เมืองไทยก็รวมอาณาเขตเป็นอันเดียวกันแต่นั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ค้นหาต้นเหตุที่เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์พร้อมกันในบางสมัย ได้ความดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #28 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 14:48:01 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น)ตำนานการจับช้าง (๑) ในตำราวิชาก่อนประวัติศาสตร์ ว่าเดิมช้างมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในโลก แม้จนในยุโรปก็มีช้างมาก ครั้นถึงยุคอันหนึ่งในภูมิกาล อากาศทางข้างฝ่ายเหนือโลกผันแปรหนาวจัดขึ้น เกิดน้ำแข็งเป็นเทือกใหญ่ไหลรุกแผ่นดินลงมาข้างใต้ เสมอทุกปีอยู่ตลอดเวลาช้านาน ในตำราเรียกนามสมัยนั้นว่า “สมัยเทือกน้ำแข็ง” Glacial Period ทำให้โลกตอนใต้ลงมาอันเคยอบอุ่นเป็นปรกติมาแต่ก่อน หนาวจัดจนสัตว์ต่างๆ บางจำพวก เช่นราชสีห์และเสือช้างเป็นต้น ซึ่งเคยอยู่ในที่ตอนนั้นทนหนาวไม่ไหว ต้องพากันทิ้งถิ่นฐานเดิมหนีลงมาอยู่ทางที่อุ่นใกล้กลางโลก Equator ที่ไม่สามารถจะมาได้ ก็ล้มตายสูญพืชพันธุ์ไปในถิ่นเดิม นานมาคนไปขุดพบซากจมอยู่ในแผ่นดิน จึงได้รู้ว่าทางข้างเหนือเคยมีสัตว์จำพวกนั้นอยู่แต่ก่อน
ว่าเฉพาะช้าง ถึงเมื่อย้ายลงมาอยู่ในกลางโลกแล้ว ยังมีเหตุอื่นอีกอันจำกัดที่ให้ช้างอยู่ เพราะช้างกินแต่พฤกษชาติเป็นอาหาร ต้องอยู่ตามป่าดงพงไพรอันมีต้นไม้ใบหญ้าพอเลี้ยงชีวิต ถ้าที่เช่นนั้นเปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างอื่น ดังเช่นแห้งแล้งเป็นทะเลทรายไป หรือเป็นบ้านช่องของมนุษย์อยู่กันมากขึ้น ช้างไม่มีที่หาอาหารได้พอกิน ก็ต้องทิ้งถิ่นนั้นไปอยู่ที่อื่นอีก นอกจากนั้นช้างเป็นสัตว์จำพวกขนบางเช่นเดียวกับควาย ทนแดดเผามิใคร่ได้ อยู่ที่ไหนต้องมีแม่น้ำลำธารหรือแม้ที่สุดจนปลักแปลงที่มีน้ำขัง เป็นที่อาศัยแช่ให้ชุ่มตัวเมื่อยามร้อนจึงอยู่ได้ ด้วยเหตุต่างๆ ดังพรรณนามา เมื่อพ้นสมัยเทือกน้ำแข็งแล้ว ในโลกจึงมีช้างอยู่แต่ในทวีปแอฟริกาภาคหนึ่ง กับในทวีปเอเชียตอนข้างฝ่ายใต้ภูเขาหิมาลัยภาคหนึ่ง ในโลกภาคอื่นหามีช้างไม่ นิทานเรื่องนี้ฉันจะพรรณนาว่าด้วยช้างในเมืองไทย อันเป็นจำพวกช้างที่มาอยู่ในทวีปเอเชียเป็นท้องเรื่อง แต่เมื่อตั้งต้นได้กล่าวว่ามีช้างไปอยู่ในทวีปแอฟริกาอีกพวกหนึ่ง จึงเห็นควรจะพรรณนาว่าด้วยช้างที่ไปอยู่ในทวีปแอฟริกาโดยสังเขป พอให้รู้ว่าผิดกันกับช้างที่มาอยู่ในทวีปเอเชียอย่างไรบ้าง(๒) ช้างแอฟริกากับช้างเอเชีย (ซึ่งฝรั่งเรียกว่าช้างอินเดีย) แม้เป็นช้างด้วยกันและขนาดเท่าๆ กัน น่าจะเป็นช้างต่างชนิดกันมาแต่เดิม ด้วยรูปร่างผิดกันหลายอย่าง จะว่าแต่ที่พึงสังเกตเห็นได้ง่าย ช้างแอฟริกาใบหูใหญ่กว่าช้างเอเชียมากอย่างหนึ่ง และยังสันหลังอ่อนไม่ก่งเหมือนช้างเอเชียอีกอย่างหนึ่งเป็นต้น แต่เขาว่าผิดกันเป็นข้อสำคัญนั้น อยู่ที่ช้างเอเชียมีปัญญาฉลาดอาจจะฝึกหัดใช้การงาน แต่ช้างแอฟริกาโง่เขลา จะหัดให้ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจับได้ก็ได้แต่เพียงเลี้ยงให้เชื่อง แล้วเอาไปผูกไว้ให้คนดู หรืออย่างดีก็ผูกแคร่บรรทุกเด็กๆ ขึ้นหลังพาเดินเที่ยวที่ในสวนเลี้ยงเท่านั้น แม้ในเรื่องพงศาวดารมีว่าเมื่อ พ.ศ. ๓๒๕ ในเรื่อง ฮัลนิบัลแม่ทัพของประเทศคาเธช อันอยู่ในทวีปแอฟริกาทางฝ่ายเหนือ เคยยกกองทัพช้างข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปตีถึงอาณาเขตกรุงโรม แต่ก็มีปรากฏครั้งเดียวเท่านั้น แล้วการใช้ช้างในทวีปแอฟริกาก็เงียบหายมากว่าพันปี จึงเห็นกันว่าช้างกองทัพของฮัลนิบัลอาจจะได้ไปจากอินเดีย หาใช่ช้างแอฟริกาไม่ เรื่องประวัติของช้างในทวีปแอฟริกาแต่ก่อนมา ปรากฏแต่ว่าสำหรับพวกพรานยิงเอางาไปเที่ยวขายให้ทำของรูปพรรณต่างๆ มาช้านาน ยิ่งถึงสมัยเมื่อพวกฝรั่งต่างชาติ อาจจะไปเที่ยวล่าสัตว์ในแอฟริกาสะดวกขึ้น การยิงช้างในแอฟริกาก็เลยเป็นกีฬาของพวกเศรษฐี หรือคนกล้าหากินด้วยเสี่ยงภัย มีหนังสือเล่าเรื่องยิงช้างแอฟริกาปรากฏอยู่มากกว่ามาก จนสมัยประเทศต่างๆ ในยุโรปรุกเอาแผ่นดินในทวีปแอฟริกา แบ่งกันเป็นเมืองขึ้น เจ้าของอาณาเขตจึงเริ่มห้าม มิให้ใครยิงช้างในเมืองขึ้นของตน ฉันยังจำได้เมื่อไปยุโรปครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ ประเทศเยอรมนี เคยตรัสถามฉันว่า ในเมืองไทย ห้ามยิงช้างหรือไม่ห้าม ฉันทูลว่าไทยถือว่าช้างเป็นสัตว์มีคุณ ในเมืองไทยห้ามมิให้ฆ่าช้างด้วยประการอย่างหนึ่งอย่างใดมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ตรัสตอบว่าถูกทีเดียว ถึงในเมืองขึ้นของเยอรมนีที่ในแอฟริกา พระองค์ก็ได้ตรัสสั่งไปให้ห้ามมิให้ใครยิงช้างอีกต่อไปเป็นอันขาด ฉันนึกว่าถึงประเทศอื่นๆ ก็เห็นจะห้ามเช่นเดียวกับเยอรมัน การยิงช้างในแอฟริกาเห็นจะเพิ่งห้ามมาเมื่อสัก ๕๐ ปีนี้ ส่วนการจับช้างใช้ในทวีปแอฟริกานั้น ฉันเคยเห็นในหนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่ง เห็นจะราวสัก ๒๐ ปีมาแล้ว ว่าพวกฝรั่งเบลเยี่ยมซึ่งได้เป็นเจ้าของประเทศคองโก Congo ในแอฟริกา หาพวกฮินดูชาวอินเดียที่ชำนาญไปลองจับช้างหัดใช้งาน และพิมพ์รูปฉายช้างที่หัดแล้วไว้ให้เห็นยืนอยู่เป็นหมู่สักสี่ห้าตัว ตั้งแต่ขนาดสูง ๓ ศอก จน ๔ ศอก มีพวกฮินดูนั่งอยู่บนคอช้างซึ่งเพิ่งจับหัดใช้การได้ แต่จะทำอะไรได้เพียงใด ก็หาปรากฏไม่ ฉันได้เห็นรูปครั้งเดียวแล้วก็ไม่ได้ยินต่อมา ว่าการจับช้างในทวีปแอฟริกาแพร่หลายออกไปเพียงไร สังเกตดูรูปช้างที่เล่นละครวงเวียน Circus และเล่นหนังฉาย แม้จนทุกวันนี้ก็เห็นใช้แต่ช้างเอเชียทั้งนั้น จึงเห็นว่าการที่ลองจับช้างแอฟริกาหัดใช้งานน่าจะไม่สำเร็จ สิ้นอธิบายของฉันตามรู้เห็นด้วยเรื่องช้างแอฟริกาเพียงเท่านี้ ทวีปเอเชียซึ่งช้างมาอยู่นั้น แผ่นดินตอนอินเดียกว้างใหญ่มีช้างอยู่มากกว่าแห่งอื่น ทั้งมนุษย์ชาวอินเดียก็เจริญวัฒนธรรม Civilization ก่อนชาวแดนอื่นๆ ในภาคเดียวกัน ชาวอินเดียจึงสามารถคิดจับช้างใช้การงานได้ก่อนมนุษย์จำพวกอื่นช้านาน จนถึงพวกพราหมณ์สามารถรวบรวมความรู้ในการจับช้าง เข้าเป็นตำรับตำราเรียกว่า “คชศาสตร์” ขึ้นแล้ว วิชาจับช้างจึงแพร่หลายจากอินเดีย ออกมาถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียภาคที่มีช้างเช่นเดียวกัน เช่นประเทศพม่า มอญ ไทย เขมร และชวามลายู ด้วยชาวอินเดียซึ่งไปค้าขายแล้วตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามประเทศเหล่านั้น พาวิชาคชศาสตร์ไปจับช้างใช้ แล้วฝึกสอนพวกชาวประเทศนั้นๆ ให้รู้เหมือนอย่างสอนศาสนาและวิชาอื่นๆ ที่ยังปรากฏอยู่อีกหลายอย่าง(๓) ได้กล่าวมาแล้วว่า ไทยเราได้วิชาคชศาสตร์มาจากชาวอินเดีย เมื่อจะเล่าการจับช้างในเมืองไทย จึงลองค้นคว้าเรื่องที่ชาวอินเดียมาสอนวิชาจับช้างในเมืองไทยด้วยวิธีอย่างใด มาเล่าเป็นอธิบายเบื้องต้นเสียก่อน
วิธีที่ชาวอินเดียมาสอนวิชาจับช้างนั้น สังเกตเค้าเงื่อนในตำราคชศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ในเมืองไทย มีเป็นหลายปริยาย ดังจำแนกต่อไปนี้ คือ
๑. มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็น ๒ พวก เรียกว่า “พฤฒิบาศ” เป็นครูในการจับช้างพวกหนึ่ง ไทยเราเรียกชื่อพวกนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “หมอเฒ่า” แต่เรียกเฉพาะตัวผู้เป็นคณาจารย์ เรียกพวกพฤฒิบาศตัวรองลงมาแต่ว่า “หมอช้าง” ผู้เชี่ยวชาญอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัศดาจารย์” เป็นครูในการหัดช้าง ไทยเราเรียกพวกนี้เป็นภาษาไทยว่า “ครูช้าง” ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองพวกนี้ช่วยกันทำกิจการและพิธีต่างๆ อันเกี่ยวกับช้างหมดทุกอย่าง
๒. ตำราคชศาสตร์ ไทยเราแปลเรียกว่า “ตำราช้าง” ที่ได้มาจากอินเดียนั้นเป็น ๒ คัมภีร์ คัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “ตำราคชลักษณ์” พรรณนาว่าด้วยลักษณะช้าง เช่นสีและอวัยวะต่างๆ ที่ในตัวเป็นต้น ให้รู้ว่าเป็นช้างดีเลวผิดกันอย่างไร คติที่นับถือช้างเผือกว่ามีกำลังกว่าช้างอย่างอื่น ก็มาแต่คัมภีร์นี้ อีกคัมภีร์หนึ่งเรียกว่า “ตำราคชกรรม” สอนวิธีหัดช้างเถื่อนและวิธีหัดขี่ช้าง กับทั้งมนตร์สำหรับบังคับช้าง และระเบียบพิธีต่างๆ ซึ่งทำเพื่อให้เกิดสิริมงคล และบำบัดเสนียดจัญไรในการที่เนื่องกับช้าง
๓. ต้นตำราช้างที่ได้มาจากอินเดีย เป็นภาษาสันสกฤต พวกผู้เชี่ยวชาญต้องมาแปลสอนในภาษาของชาวเมือง ถ้าเป็นประเทศที่มีหนังสือ ก็เขียนคำแปลลงไว้เป็นตัวหนังสือด้วย แต่มนตร์นั้นคงให้ใช้ภาษาสันสกฤตของเดิม ด้วยประสงค์จะให้ศักดิ์สิทธิ์ ตำราช้างที่ได้มาจากอินเดีย ของประเทศไหนจึงเป็นภาษาของประเทศนั้น แต่มนตร์เป็นภาษาสันสกฤตเหมือนกันหมด ก็แต่คนโบราณที่รู้หนังสือ มีน้อยทุกประเทศ การเรียนวิชาคชศาสตร์จึงเรียนกันด้วยความทรงจำ กับฝึกหัดให้ชำนิชำนาญในการต่างๆ ที่ทำนั้นสืบกันมา แต่พวกผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งบัญญัติไว้อย่างหนึ่ง ว่าบรรดาผู้ที่จะเป็น “หมอช้าง” คือขี่ขับและคล้องช้างนั้น หมอเฒ่าต้องครอบให้ก่อน หมายความว่าได้ฝึกหัดจนหมอเฒ่าเห็นว่าชำนิชำนาญ ให้ปริญญาแล้วจึงเป็นหมอช้างได้ ถ้าใครฝ่าฝืนบัญญัตินั้นถือว่าเป็นเสนียดจัญไร อาจจะเกิดภัยอันตรายแก่ผู้ละเมิด น่าจะเป็นเพราะบัญญัติอันนี้ พวกชาวเมืองจึงรักษาวิชาจับช้างไว้ได้ ด้วยพวกที่เลี้ยงชีพด้วยการจับช้าง ต้องขวนขวายให้มีหมอเฒ่าเจ้าตำราอยู่เสมอไม่ขาด
๔. วิธีจับช้างเถื่อนที่ชาวอินเดียมาสอนไว้มี ๓ อย่าง ดังจะพรรณนาในภาคหลังของนิทานนี้ จะกล่าวตรงนี้แต่พอให้รู้เค้าของวิธีอย่างหนึ่งเรียกว่า “วังช้าง” คือจับช้างเถื่อนหมดทั้งโขลง อย่างหนึ่งเรียกว่า “โพนช้าง” คือไล่จับช้างเถื่อนแต่ทีละตัว อย่างหนึ่งเรียกว่า “จับเพนียด” คือต้อนโขลงช้างมาเข้าในคอกมั่นซึ่งเรียกว่า “เพนียด” เลือกจับแต่ช้างบางตัวที่ชอบใจ แล้วปล่อยให้โขลงช้างกลับไป
แต่การจับช้างเถื่อนทั้ง ๓ วิธีที่ว่านี้ ในตำราว่าต้องมี “ช้างต่อ” คือช้างที่ได้ฝึกหัดเชื่องแล้วใช้ช่วยกำลังของผู้จับด้วย จึงจะสามารถจับช้างเถื่อนได้ ฉันนึกสงสัยขึ้นมาว่าเมื่อแรกมนุษย์จะจับช้างใช้ ยังไม่มีช้างต่อ ทำอย่างไรจึงจะจับช้างเถื่อนได้ และยังคิดพิศวงต่อขึ้นไปว่ามนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์คิดเห็นอย่างไร จึงเอิบเอื้อมขึ้นไปจับสัตว์ตัวโตใหญ่ถึงเช่นช้าง อันเหลือกำลังมนุษย์จะฉุดลากปลุกปล้ำได้เหมือนปศุสัตว์อย่างอื่น เมื่อคิดเช่นนั้น ฉันก็เลยนึกไปถึงเรื่องเกร็ดซึ่งเคยมีเมื่อรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เรื่องหนึ่ง ดูทีจะเทียบเป็นอุทาหรณ์ได้ แต่ถึงหากจะเทียบไม่ได้ก็เป็นเรื่องประหลาดนักหนา จึงเอามาเล่าฝากไว้ในนิทานนี้ด้วย มิให้สูญไปเสีย
จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีชายชาวเมืองตากคนหนึ่ง ไปพบลูกช้างพังกำพร้าแม่แต่ยังเล็กตัวหนึ่ง เดินโซเซอยู่ในป่า นึกสงสารด้วยเห็นว่าถ้าทิ้งไว้อย่างนั้นก็คงตาย จึงชวนเพื่อนที่ไปด้วยช่วยกันเอาเชือกผูกคอลูกช้างตัวนั้นจูงพามาบ้าน วานให้เมียช่วยเลี้ยงด้วยให้กินน้ำข้าวต่างนมด้วยกันกับกล้วยและหญ้าอ่อน เวลานั้นเมียกำลังมีลูกอ่อน แต่ก็รับเลี้ยงด้วยสงสารลูกช้าง ถึงวันรุ่งขึ้นเห็นลูกช้างกินน้ำข้าวแล้วยังร้องอยู่ นึกว่าคงเป็นเพราะหิวนม จึงรีดนมของตนเองที่เหลือลูกกินใส่ชามส่งไปให้ลูกช้าง ลูกช้างได้กินน้ำนมคนก็ติดใจ แต่นั้นอยากกินเมื่อใด ก็เข้าไปเคล้าเคลียประจบหญิงคนเลี้ยง แกก็เกิดเอ็นดู เลยรีดนมให้ลูกช้างกินทุกวัน วันหนึ่งกำลังอุ้มลูกอยู่มือหนึ่งลูกช้างเข้ามาขอนมกิน จะรีดนมไม่ได้ จึงลองแอ่นอกยื่นนมออกไปให้ทั้งเต้า ลูกช้างก็เอางวงขึ้นพาดบ่าอ้าปากเข้าดูดนมกินที่เต้าเหมือนอย่างเด็ก แต่นั้นแม่นมก็เลยรัก ยอมให้ดูดนมกินจากเต้าเสมอ ส่วนลูกช้างก็เลยติดหญิงนั้นเป็นแม่นมเหมือนอย่างเด็กติดแม่ จนเวลานอนก็เข้าไปนอนอยู่ด้วยที่ในโรง แม่นมนอนที่บนยกพื้น วางเมาะลูกของตัวเองไว้ข้างหนึ่ง ลูกช้างนอนกับแผ่นดินที่ริมยกพื้นอีกข้างหนึ่ง เอางวงพาดให้ถูกตัวแม่ไว้ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเสมอจนเคยกัน พวกบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันชอบมาช่วยเลี้ยง และเล่นกับลูกช้างตัวนั้นจนคุ้นกับคนสนิท เวลานั้นเผอิญฉันขึ้นไปตรวจราชการที่เมืองตาก ได้ยินว่ามีช้างกินนมคน ให้เรียกมาดูก็เห็นจริงดังว่า เห็นแปลกประหลาดยังไม่เคยมีแต่ก่อน ฉันจึงสั่งให้พาลงมาถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรที่กรุงเทพฯ เผอิญมาถึงเวลากลางเดือนอ้ายใกล้กับงานปีที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว ฉันให้เอาไปกั้นม่านให้คนดูที่งานวัดเบญจมพิตร ดูเหมือนพ่อเลี้ยงกับแม่เลี้ยงของลูกช้าง จะได้เงินกลับขึ้นไปด้วยไม่น้อย ได้ยินว่าเมื่อกลับขึ้นไปถึงเมืองตาก ก็เลี้ยงดูลูกช้างตัวนั้น ให้วิ่งเล่นอยู่กับลูกของตัวที่ในบ้าน จนเติบโตขึ้น จึงได้จับเชิงใช้อย่างช้างสามัญ
เรื่องเกร็ดที่เล่ามา ชวนให้คิดเห็นความในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ว่าเดิมมนุษย์เห็นจะได้ลูกช้างมาโดยมิได้คิดจะจับ ทำนองเดียวกับที่ชายชาวเมืองตากได้ลูกช้างตัวนั้นมา ครั้นเลี้ยงลูกช้างจนคุ้น จึงได้ความรู้ว่านิสัยช้าง อาจจะเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย ทั้งเป็นสัตว์ฉลาดอาจจะฝึกหัดใช้ได้ คงจะเป็นเพราะรู้นิสัยช้างขึ้นก่อน จึงเป็นเหตุให้คิดจับช้างใช้ ข้อซึ่งไม่มีช้างต่อนั้น ดูก็มีทางแก้ไขอย่างเดียวแต่พยายามจับลูกช้างมาฝึกหัดก่อน เมื่อลูกช้างนั้นเติบใหญ่จึงฝึกหัดให้เป็นช้างต่อ มีช้างต่อก็อาจจะจับช้างเถื่อนขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ต้องเสาะหาแต่ลูกช้างเหมือนแต่ก่อน มูลเหตุน่าจะเป็นดังว่ามา และช้างต่อที่แรกมีในเมืองไทยนั้น ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมาสอนวิชาจับช้างอาจจะมีช้างต่อมาด้วย หรือมิฉะนั้นก็คงมาจับลูกช้างหัดเป็นช้างต่อ เปลืองเวลาช้าออกไป คงหาช้างต่อได้ด้วยประการฉะนี้(๔) วิธีจับช้างใช้ในเมืองไทยนี้ คงแพร่หลายรวดเร็วตั้งแต่ชาวอินเดียเข้ามาฝึกสอน เพราะเป็นประเทศที่มีช้างเถื่อนชุม และการคมนาคมโดยทางบกหนทางเหมาะแก่การใช้ช้างยิ่งกว่าพาหนะอย่างอื่นหมด แต่มีเค้าอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อแรกวิชาจับช้างมาถึงเมืองไทยนั้น พวกชาวเมืองยังเป็นละว้าอยู่โดยมาก ชาวอินเดียมาสอนคชศาสตร์ด้วยภาษาละว้าก่อน ข้อนี้จะเห็นได้เมื่ออ่านถึงพรรณนาว่าด้วยวิธีโพนช้าง ชนชาติไทยแต่เดิมเป็นชาวประเทศที่ไม่มีช้าง เพิ่งมาเรียนรู้วิชาใช้ช้างเมื่ออพยพลงมาอยู่เมืองไทยนี้ แต่ก็สามารถรอบรู้วิชาคชศาสตร์ชำนิชำนาญมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชอาณาเขต ข้อนี้จะพึงเห็นได้ตามความในศิลาจารึก (ของพ่อขุนรามคำแหง) ว่าเมื่อแรกพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ตั้งกรุงสุโขทัยเป็นอิสระเมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่ใกล้ด่านแม่สอดเดี๋ยวนี้) เข้ามาตีเมืองตาก พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ยกพลออกไปรบ แพ้พ่ายหนีข้าศึก แต่ (พระร่วง) ราชบุตรองค์น้อยของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๙ ปี กล้าหาญในการรบพุ่ง ขึ้นขี่คอช้างขับบุกรี้พลเข้าไปชนช้างตัวสำคัญ ชื่อ “พลายมาสเมือง” ที่ขุนสามชนขี่ มีชัยชนะขุนสามชนแตกหนีไป เลยเป็นเหตุให้ได้เมืองฉอดมาเป็นของกรุงสุโขทัย พระเจ้าศรีอินทราทิตย์จึงทรงปูนบำเหน็จ (พระร่วง) ราชบุตรนั้น ด้วยเฉลิมเกียรติยศ (อย่างตั้งกรม) ให้ทรงนามว่า “พระรามคำแหง” เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าในสมัยนั้น ไทยชำนิชำนาญการใช้ช้างจนถึงเจ้านายก็ได้ฝึกหัดขี่ช้างรบแล้ว ต่อมาในศิลาจารึกหลักเดียวกันมีอีกแห่งหนึ่ง ว่าเมื่อพระเจ้ารามคำแหงได้ครองกรุงสุโขทัย มักให้แต่งช้างเผือกตัวโปรดชื่อว่า “รูจาศรี” ด้วยเครื่องคชาภรณ์ แล้วพระองค์เสด็จขึ้นทรง นำราษฎรออกไปบำเพ็ญการกุศลตามพระอารามในอรัญญิก (คงเป็นช้างเผือกตัวที่ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่าพระร่วงมีช้างเผือกงาดำ และว่าคนชั้นหลังได้เอางาช้างตัวนั้นแกะเป็นรูปพระร่วงกับ “พระลือ” คือพระมหาธรรมราชาลือไทย ที่เป็นราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหง ไว้บูชาในเทวาลัย และในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวต่อมา ว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ เชิญเอาลงมากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๘ ทั้ง ๒ องค์) เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไทยนับถือคชศาสตร์ของพราหมณ์ในสมัยนั้น ทั้งคัมภีร์คชลักษณ์และคัมภีร์คชกรรม แต่ที่รวมกันใช้ช้างตั้งขึ้นเป็นพยุหเสนากรมใหญ่เรียกว่า “กรมพระคชบาล” ในทำเนียบรัฐบาล เห็นจะเกิดขึ้นในเมืองไทยต่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ที่ ๒ ตีได้กรุงกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.๑๙๖๔ ได้พวกพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญคชศาสตร์ กับทั้งตำรับตำราการงานต่างๆ ของเมืองเขมรเมื่อครั้งยังเป็นมหาประเทศ เข้ามามาก คงเอาตำราที่ได้มาจากเมืองเขมร มาสอบประกอบตำราที่ได้มาจากอินเดียแต่เดิม แล้วตรวจชำระตั้งตำราคชกรรมขึ้นใหม่สำหรับเมืองไทย เมื่อรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ระหว่าง พ.ศ.๒๐๔๑ ถึง พ.ศ.๒๐๔๗) ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในหนังสือพระราชพงศาวดาร ปรากฏว่าเริ่มตั้งตำราพิชัยสงครามขึ้น และทำพิธีคชกรรมอย่างใหญ่โตในรัชกาลนั้นเป็นปฐม และยังมีเค้าต่อไปถึงที่เป็นเหตุให้หมอช้างในเมืองไทยถือตัวเป็น ๒ พวกมาจนทุกวันนี้ เรียกพวกหนึ่งว่า “ครอบหมอไทย” คือพวกที่หมอเฒ่าเจ้าตำราหลวงที่ตั้งขึ้นใหม่ครอบ เรียกอีกพวกหนึ่งว่า “ครอบหมอมอญ” คือหมอเฒ่าเจ้าตำราของละว้า ที่ใช้กันแต่เดิมเป็นผู้ครอบ แต่ก็ทำงานร่วมกันได้ ด้วยหลักตำราเหมือนกันโดยมาก นานๆ จะแตกต่างออกนอกหน้าสักครั้งหนึ่ง ดังเช่นเคยมีในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ด้วยปรากฏว่ามีช้างพลายเผือกตัวหนึ่งอยู่ในโขลงหลวง ที่จังหวัดนครนายก พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ปกช้างโขลงนั้น เข้ามาคล้องช้างเผือก หน้าพระที่นั่ง ณ เพนียด มีผู้คนพากันไปดูมาก ด้วยเป็นครั้งแรกที่จะคล้องช้างเผือกหน้าพระที่นั่ง ถ้าว่าตามตำแหน่ง พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เมื่อยังเป็นพระยาราชวังเมืองเจ้ากรมพระคชบาลควรได้เกียรติยศเป็นผู้คล้อง และรับพระราชทานบำเหน็จในการคล้องนั้น แต่เผอิญพระเพทราชา (เอี่ยม) เมื่อจะเป็นหมอช้างแต่ยังหนุ่มครอบหมอไทย อันตำราว่าถ้าหมอช้างคนไหนคล้องได้ช้างเผือกแล้วมิให้คล้องต่อไป เพราะว่าได้เกียรติในการคล้องช้างถึงสูงสุดแล้ว ก็พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เคยคล้องช้างเผือกพัง “นางพระยาสิวโรจน์” เมื่อรัชกาลที่ ๔ แล้วต้องห้ามตามตำรามิให้คล้องช้างอีก หน้าที่คล้องช้างเผือกถวายตัวที่เพนียดครั้งนั้น จึงตกไปเป็นของพระศรีภวังค์ (ค้าง วสุรัตน) เมื่อยังเป็นหลวงคชศักดิ์ปลัดกรมพระคชบาล ความขบขันในเรื่องนี้อยู่ที่หลวงคชศักดิ์นั้นก็เคยคล้องช้างนางพระยาสิวโรจน์ด้วยกันกับพระยาเพทราชา แต่แกครอบหมอมอญซึ่งตำราไม่ห้าม จึงอาจคล้องช้างเผือกซ้ำอีกตัวหนึ่งที่เพนียด และได้รับพระราชทานบำเหน็จข้ามหน้าพระยาเพทราชา เพราะครอบต่างครูกันเท่านั้น
การจับช้างที่ใช้วิธีจับในเพนียด ก็เห็นจะเพิ่งมีขึ้นในกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ตำรามาจากเมืองเขมร ด้วยวิธีคล้องช้างอย่างคล้องในเพนียด ต้องใช้ช้างต่อและผู้คนมาก ทำได้แต่เป็นการหลวง ซากเพนียดของโบราณชั้นเดิม ก็ยังมีปรากฏแต่ที่ริมนครธมราชธานีของเขมรแห่งหนึ่ง กับว่ามีที่พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่วัดซองริมวังจันทร์เกษมแห่งหนึ่ง และยังปรากฏอยู่ที่เมืองลพบุรีอีกแห่งหนึ่ง ล้วนเป็นเพนียดขนาดย่อมๆ อย่างเดียวกัน เพนียดใหญ่ในทุ่งทะเลหญ้า ที่คล้องช้างมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เป็นของสร้างต่อภายหลัง (เห็นจะเป็นสมเด็จพระนารายณ์ทรงสร้าง) การจับช้างของหลวง เดิมใช้แต่วิธี “วังช้าง” เป็นพื้น แต่วิชาขี่ช้างนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าถือกันเป็นวิชาสำคัญสำหรับ “ลูกเจ้าลูกขุน” คือเจ้านายและพวกลูกผู้ดี จะต้องฝึกหัดจนถึงขี่ช้างรบพุ่งได้ทุกคนมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และยังเป็นประเพณีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ในสมัยอื่นดูนิยมกันไม่เหมือนเมื่อรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้วยปรากฏว่าแม้พระสุริโยทัยองค์พระอัครมเหสี ก็ได้ฝึกหัดทรงช้างรบ ในเรื่องพงศาวดารมีปรากฏครั้งเดียวเท่านั้น ว่าผู้หญิงขี่ช้างเข้ารบพุ่ง ก็ย่อมเป็นปัจจัยต่อลงมาจนถึงชั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ คงจะได้ทรงฝึกหัดคชกรรมกวดขันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งสองพระองค์จึงทรงชำนิชำนาญ ถึงสามารถทำยุทธหัตถีมีชัยชนะกู้บ้านเมืองได้(๕) ตั้งแต่ล่วงรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้ว คชกรรมเฟื่องฟูขึ้นเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกสมัยหนึ่ง พิเคราะห์ดูเหมือนสมเด็จพระนารายณ์ฯ จะมีพระอุปนิสัยโปรดทรงช้าง และได้ฝึกหัดขับขี่ช้างชำนิชำนาญมาตั้งแต่ยังเป็นพระราชกุมาร พอได้เสวยราชย์ก็เอาเป็นพระราชธุระบำรุงกรมพระคชบาลเหมือนอย่างว่าทรงบัญชาการเอง ข้อนี้เห็นได้ด้วยโปรดให้พวกข้าหลวงเดิมซึ่งเคยศึกษาคชศาสตร์ตามเสด็จ เป็นต้นแต่สมเด็จพระเพทราชาซึ่งเป็นมหาดเล็กร่วมพระนม และคงมีคนอื่นอีก ไปรับราชการมีตำแหน่งในกรมพระคชบาล สำหรับทรงใช้สอยในการซึ่งทรงจัดนั้น และมีการต่างๆ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงจัดแก้ไขประเพณีเดิม ปรากฏต่อมาก็หลายอย่าง
อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปทรงจับช้างเถื่อน ย่อมเสด็จไปทรงจับอย่าง “วังช้าง” คือทรงอำนวยการให้ราชบริพารล้อมจับ สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดทรงจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “โพนช้าง” คือเสด็จขึ้นทรงคอช้างต่อเที่ยวไล่คล้องช้างเถื่อนเอง เหมือนอย่างหมอช้างสามัญ อันเป็นการเสี่ยงภัยมาก จนต้องมีพระราชกำหนดบทพระอัยการตั้งขึ้นในกฎมนเทียรบาล สำหรับพวกเจ้าหน้าที่ที่โดยเสด็จเป็นหลายมาตรา อ่านพิจารณาดูอยู่ข้างประหลาด จนถึงน่าพิศวงก็มี ดังเช่นว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าต่อ (สู้) ช้างเถื่อน ถ้าควาญท้ายช้างพระที่นั่งเห็นว่าช้างเถื่อนเติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ห้ามมิให้ส่งขอถวาย ถ้าจะทรงคล้องช้างเถื่อนที่เติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ก็มิให้คนกลางช้างส่งเชือกบาศถวายเหมือนกัน แม้ทำเช่นนั้นพระเจ้าแผ่นดินจะกริ้วถึงฟันด้วยพระแสงก็ให้ยอมให้ฟัน ที่สุดถ้าพระเจ้าแผ่นดินยังขืนจะเสด็จเข้าต่อหรือเข้าคล้อง ก็ให้ควาญทูลขอถวายชีวิตห้ามปราม ถ้าและมิทรงฟัง ก็ให้เอาตัวลงนอนกลิ้งเข้าไปขวางที่หว่างงาช้างพระที่นั่ง ให้แทงตัวเสียให้ตาย และยังมีข้อบังคับที่เป็นอย่างประหลาดทำนองเดียวกันอีกหลายมาตรา ล้วนแสดงความว่าพระเจ้าแผ่นดินทำผิดแล้วมักดื้อดึง และมักบันดาลพระโทสะทำผิดต่อไปอีก คิดไม่เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งบทพระอัยการอย่างนี้ไว้ สำหรับให้ควาญช้างพระที่นั่งใช้แก่พระองค์เอง ดูน่าจะเป็นพระอัยการของพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลหลังต่อมา เปรียบว่าถ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ เริ่มทรงโพนช้างเพื่อสำราญพระราชหฤทัย ก็คงเป็นสมเด็จพระเพทราชา ที่ตั้งบทพระอัยการเหล่านั้น ให้ควาญช้างพระที่นั่งมีสิทธิที่จะขัดขวาง เพื่อป้องกันภัยอันตรายแก่พระเจ้าแผ่นดินในภายหน้า คำที่กล่าวในพระอัยการว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจจะฟันคนท้ายช้างเมื่อไม่ทำตามรับสั่ง หรือที่ว่าให้ควาญนอนกลิ้งเข้าไปให้ช้างพระที่นั่งแทงนั้น เห็นว่าเป็นแต่โวหารในการแต่งหนังสือ เพื่อจะเน้นความตรงนั้นให้แรงถึงอย่างที่สุดเท่านั้น การที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดทรงโพนช้างนั้น ยังมีรอยโรงช้างต่ออยู่ในพระราชวัง และมีเกยก่อไว้สำหรับเสด็จขึ้นช้างที่ตามป่าเมืองลพบุรี ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้หลายแห่ง ที่การคล้องช้างมากลายเป็น “ราชกีฬา” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะว่าเริ่มมีมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็เห็นจะได้
เพนียดคล้องช้าง ณ พระนครศรีอยุธยา เดิมอยู่ที่วัดซอง ริมวังจันทร์เกษมดังกล่าวมาแล้ว ที่ย้ายออกไปเป็นเพนียดใหญ่ มีโรงเลี้ยงช้างต่อและโรงหัดช้างเถื่อนครบครัน รวมกันอยู่ที่ทุ่งทะเลหญ้าข้างเหนือพระนคร จะย้ายไปสร้างขึ้นเมื่อใดไม่พบในหนังสือเก่า แต่มีในพระราชพงศาวดารตอนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งหนึ่ง ว่าเมื่อปีระกา พ.ศ.๒๒๐๐ ดำรัสสั่งให้ตั้งชมรมสำหรับทำการพระราชพิธีทั้งปวงขึ้นใน “ทุ่งทะเลหญ้า” ณ ตำบลเพนียด ความที่กล่าว ชวนให้เข้าใจว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้ย้ายเพนียดออกไปสร้างใหม่ ในทุ่งทะเลหญ้าแต่แรกเสวยราชย์ เมื่อสร้างเพนียดแล้วจึงโปรดให้สร้างชมรม คือโรงสำหรับทำพระราชพิธีคชกรรมต่างๆ เป็นของถาวรขึ้นในที่ท้องที่ถิ่นเดียวกับเพนียด ไม่ต้องสร้างชมรมใหม่ เมื่อจะทำพิธีทุกครั้งเหมือนอย่างแต่ก่อน ในกฎมนเทียรบาลก็มีบทพระอัยการกำชับพนักงานต่างๆ ในเวลาเสด็จเข้าทรงพานช้างเถื่อนในเพนียด และเวลาทรงคล้องช้างกลางแปลงข้างนอกเพนียด ดูสมกับสมัยที่กล่าวมา ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าเมื่อสมเด็จพระเพทราชาเสวยราชย์ เพนียดนั้นมีอยู่แล้ว ด้วยเมื่อวันอ้ายธรรมเถียรกบฏยกเข้ามาตีพระนครฯ พระเจ้าเสือยังเป็นพระมหาอุปราช กำลังทรงคล้องช้างอยู่ที่เพนียดดั่งนี้ เพนียดที่ทะเลหญ้าจึงสมเป็นของสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชด้วยประการทั้งปวง
ของสำคัญแก่คชกรรมในเมืองไทย ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงสถาปนาไว้อีกสิ่งหนึ่งเป็นหนังสือ เรียกว่า “ตำราขี่ช้าง” ขนาดสักเล่มสมุดไทยหนึ่ง ในหนังสือนั้นบอกอธิบายกัลเม็ด แต่เรียกว่า “กล” ในการที่จะบังคับขับขี่ช้างอันมีนิสัยต่างกัน และขี่ในกิจการต่างๆ อันผู้ขี่ต้องเสี่ยงภัย หรือมักเกิดความขัดข้องต้องแก้ไข ตำราเรื่องนี้ประหลาดที่มีในบานแผนก ว่าสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า โปรดให้ถือเป็นตำราลับ รู้แต่ตัวสมุหพระคชบาล คือพระเพทราชาและพระสุรินทร์ราชา กับข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมช้างชั้น “ครูช้างและขุนช้าง” เช่นเจ้ากรมปลัดกรมเป็นต้น นอกจากนั้นไปถ้ามีใครอยากเรียน ก็ให้ผู้เป็นครูสอนให้แต่เป็นอย่างๆ อย่าให้ใครอ่านตัวตำรา หรือคัดเอาสำเนาไปเป็นอันขาด ให้มีสมุดตำราอยู่แต่ “ข้างที่” คือห้องพระสมุดของพระเจ้าแผ่นดินฉบับเดียวเท่านั้น ตำราขี่ช้างซึ่งว่ามานี้มีฉบับหลวงอยู่ที่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการหอพระสมุดฯ เห็นว่าพ้นเวลาควรปิดบังแล้ว จึงได้ให้พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อรักษาไว้มิให้สูญเสีย เมื่อพิมพ์แล้ว ฉันลองเอาหนังสือตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เทียบดูกับหนังสือตำราคชกรรมอย่างเก่า ซึ่งใช้กันเป็นสามัญในพื้นเมือง ก็คิดเห็นเหตุที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้แต่งตำราขี่ช้างขึ้นใหม่ และดูเหมือนจะคิดเห็นต่อไปว่า เพราะเหตุใด จึงโปรดให้ปิดเป็นตำราลับด้วย เหตุที่โปรดให้แต่งตำราขึ้นใหม่นั้น คงเป็นเพราะตำราคชกรรมของเดิมรวมตำราการต่างๆ ในคชกรรม ทั้งที่เป็นแต่กิจพิธีและการฝึกหัด เอามาเรียบเรียงไว้ในตำราอันเดียวกันยืดยาว มีทั้งคำอธิบายเป็นภาษาไทยและเวทมนตร์ภาษาอื่น ซึ่งจะต้องท่องจำไว้ร่ายกำกับในเวลาเมื่อทำการต่างๆ ตามตำราคชกรรม นอกจากหมอเฒ่าเจ้าตำรายากที่ผู้อื่นจะเรียนรู้ได้ ใช่แต่เท่านั้น สรรพคุณของเวทมนตร์และโอสถต่างๆ ที่อ้างไว้ในตำรา อันเหลือจะเชื่อได้ก็มีมาก เห็นได้ว่าเพราะคชศาสตร์เป็นตำราโบราณเก่าแก่ แพร่หลายไปอยู่ตามในมนุษย์ต่างชาติต่างภาษามาช้านาน การท่องจำเวทมนตร์ภาษาสันสกฤตของเดิม ก็ย่อมจะเกิดผิดเพี้ยน ทั้งมีคณาจารย์ชาวต่างประเทศเพิ่มเติมข้อความต่างๆ ซึ่งเห็นว่าดีจริง เพิ่มเติมลงจะให้เป็นคุณยิ่งขึ้น แต่ที่จริงกลับทำให้ตำราวิปลาสไปเสียมาก สมเด็จพระนารายณ์ฯ คงทรงพระราชดำริดังว่านี้ แต่ตำราเดิมมีทั้งการพิธีต่างๆ ที่ทำกันอยู่เป็นนิจ และวิธีขี่ขับบังคับช้างอยู่ด้วยกัน มีพระราชประสงค์จะแก้ไขแต่ตำราขี่ขับบังคับช้างให้เรียนง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน และคงไว้แต่วิธีที่ใช้ได้จริง จึงโปรดให้แต่ง “ตำราขี่ช้าง” ขึ้นใหม่
ลักษณะที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้แต่งตำราขี่ช้างนี้ คิดดูก็พอเห็น คงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญวิชาคชกรรมประชุมกันอย่างเช่นเป็น “กรรมการ” และอาจจะคาดได้ต่อไปว่าคงโปรดให้ (สมเด็จ) พระเพทราชาเป็นนายกกรรมการนั้นโดยที่เป็นตำแหน่งสมุหพระคชบาล ให้กรรมการปรึกษากันตรวจคัดวิธีขี่ขับบังคับช้างในกิจการต่างๆ ที่มักต้องใช้เนืองๆ ออกแก้ไข เขียนบอกกัลเม็ด อันได้เคยทดลองใช้ได้เป็นแน่แล้วไว้ในตำรานี้ ตำราเก่า ใครนับถือก็ให้ใช้กันไปตามเคย จึงได้ปกปิดตำราใหม่เป็นความลับ สำหรับศึกษาแต่พวก “สมัยใหม่” และพวกกรมช้างจึงนับถือเป็นหลักของวิชาช้างมาจนทุกวันนี้ ประหลาดอยู่ที่ตัวฉันเองเมื่อยังเป็นเด็ก เคยปลอดภัยมาได้ครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ว่านี้ ฉันยังจำได้จึงจะเล่าไว้ด้วย
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 14:54:29 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #29 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 14:51:48 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น) (จบ) ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสในแขวงจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เวลานั้นตัวฉันอายุได้ ๑๒ ปียังไม่ได้โกนจุก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันไปตามเสด็จด้วย ทางเสด็จประพาสครั้งนั้นจะต้องเดินป่าไปจากเมืองราชบุรี ประทับแรมทาง ๒ คืนจนถึงตำบลท่าตะคร้อริมแม่น้ำไทรโยคในแขวงจังหวัดกาญจนบุรี จัดราชพาหนะที่เสด็จไปมีทั้งขบวนม้าและขบวนช้าง พระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จด้วยขบวนม้า จึงใช้พาหนะช้างเป็นขบวนพระประเทียบ ซึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรทรงเป็นประมุข ก็ขบวนช้างนั้นเป็นช้างหลวง กรมพระคชบาลคุมไปจากเพนียดสัก ๑๐ เชือก มีช้างพลายผูกสัปคับกูบสี่หน้าลายทอง เป็นช้างพระที่นั่งทรงนำหน้าเชือกหนึ่ง แล้วถึงเหล่าช้างพังผูกสัปคับกูบสองหน้า สำหรับนางในตามไปเป็นแถว มีพวกกรมช้างและกรมการหัวเมือง เดินแซงสองข้างช้างขบวนหนึ่ง ต่อนั้นถึงขบวนช้างเชลยศักดิ์ซึ่งเกณฑ์ในเมืองนั้นเอง มีทั้งช้างพลายและช้างพังผูกสัปคับสามัญ สำหรับพวกผู้หญิงพนักงานและจ่าโขลนข้าหลวง ตามไปเป็นขบวนหลังกว่า ๑๐ เชือก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ กับตัวฉันเป็นเด็ก เขาจัดให้ขึ้นช้างพลายตัวที่เตรียมเป็นช้างพระที่นั่งไปในขบวนพระประเทียบ หลวงคชศักดิ์ (ค้าง วสุรัตน์ ภายหลังได้เป็นที่พระศรีภวังค์) ตัวหัวหน้าผู้คุมขบวนช้างหลวงเป็นหมอขี่คอ หลวงคชศักดิ์คนนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนตลอดชีวิต ว่าเป็นคนขี่ช้างแข็ง และคล้องช้างแม่นอย่างยิ่ง เวลานั้นอายุเห็นจะราว ๔๐ ปี แต่รูปร่างผอมกริงกริว ดูไม่น่าจะมีแรงสมกับฝีมือที่ลือกันว่าเชี่ยวชาญ แต่แกชอบเด็กๆ เวลาสมเด็จกรมพระนริศฯ กับฉันนั่งไปบนหลังช้าง ไต่ถามถึงป่าดง ฟังแกเล่าไปจนคุ้นกันแต่วันแรก ถึงวันที่ ๒ เมื่อเดินขบวนไปจากที่ประทับแรม ณ ตำบลหนองบัว ค่าย (ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีรบพม่า) ได้สัก ๒ ชั่วโมง เกิดเหตุด้วยลูกช้างเชลยศักดิ์ที่เดินตามแม่มาข้างท้ายขบวนตัวหนึ่ง ตื่นไฟวิ่งร้องเข้าไปในขบวน พาช้างเชลยศักดิ์ที่อยู่ในขบวนพลอยตื่น วิ่งเข้าป่าไปด้วยสักสี่ห้าตัว บางตัวสัปคับไปโดนกิ่งไม้ ผู้หญิงตกช้างก็หลายคน ช้างขบวนข้างหน้าก็พากันขยับจะตื่นไปด้วย แต่พอช้างพลายตัวที่ฉันขี่ตั้งท่าออกจะวิ่ง หลวงคชศักดิ์แกเอาขอฟันทีเดียวก็หยุดชะงัก ยืนตัวสั่นมูตรคูถทะลักทะลายไม่อาจก้าวเท้าไปได้ ช้างพังข้างหลังเห็นช้างหน้าอยู่กับที่ ก็ยืนนิ่งอยู่ เป็นแต่หันเหียนบ้างเล็กน้อย อลหม่านกันอยู่สัก ๕ นาทีก็เดินขบวนต่อไปได้โดยเรียบร้อย ตัวฉันก็ตกใจอยู่เพียงประเดี๋ยว แต่พอสงบเงียบเรียบร้อยกลับไปนึกสงสารช้างที่ถูกหลวงคชศักดิ์ฟันเลือดไหลอาบหน้าลงมาจนถึงงวง แต่ได้ยินพวกที่เขาเดินกำกับไปพากันชมหลวงคชศักดิ์ ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดร้ายกว่านั้นได้ เรื่องช้างตื่นครั้งนั้นโจษกันในขบวนเสด็จอยู่พักหนึ่ง พอเสด็จกลับแล้วก็เงียบหายไป แม้ตัวฉันเองก็หวนนึกขึ้นถึงเรื่องช้างตื่นครั้งนั้น เมื่อเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ด้วยอ่านพบอธิบายลักษณะฟันขอบังคับช้าง มีอยู่ในตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนรูปหน้าช้างไว้ในสมุดและมีจุดหมายตรงที่ “เจ็บ” ของช้าง สำหรับฟันขอให้ช้างเป็นได้ต่างๆ ตามประสงค์ มีชื่อเรียกทุกแห่ง มีกล่าวในตำราแห่งหนึ่งว่า “ถ้าจะฟันให้ตระหนักมิให้ยกเท้าก้าวไปได้ ให้ฟันที่ “บันไดแก้ว” ก็ได้ หรือที่ “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ก็ได้ (ฟันตรงแห่งใดแห่งหนึ่งนี้) ช้างตระหนักทั้งตัว เท้ามิยกก้าวไปได้เลย” ดังนี้ เมื่อเห็นตำราจึงเข้าใจว่าหลวงคชศักดิ์ แกคงเรียนตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ช่ำชอง วันนั้นคงฟันขอที่ตรง “บันไดแก้ว” หรือตรง “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ฟันทีเดียวก็เอาช้างไว้อยู่ได้ ชวนให้เห็นว่ากัลเม็ด “กล” ในตำราของสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น คงเลือกมาแต่ที่ทดลองได้จริงแล้วทั้งนั้น แต่ก็มีกัลเม็ดบางอย่างที่กรรมการผู้แต่งตำราไม่แน่จริง ดังเช่นในตอนขี่ช้างข้ามแม่น้ำ เมื่อได้พรรณนาวิธีต่างๆ ซึ่งจะลวงให้ช้างที่รังเกียจน้ำลึก ยอมข้ามเป็นหลายอย่างแล้ว ที่สุดกล่าวว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วช้างยังไม่ยอมข้ามน้ำ “ท่านว่าให้แก้ไข (ด้วยใช้) เป็นยากัลเม็ดอย่างขึ้นต้นไม้ช่วยแรงคาถาประกอบกัน ก็เคยได้ราชการ” คือสำเร็จได้บ้าง ที่กรรมการว่า “ยากัลเม็ด” นั้น ให้เอายอดไม้ต่างๆ คือ น้ำนองจิงจ้อ มะอึกโทน ผักบุ้ง เลือกดูแต่ยอดที่ชี้ไปทางฟากข้างโน้น และเมื่อก่อนจะตัดยอดไม้เหล่านั้น ให้เอาหมาก ๓ คำทำพลีครู อุทานว่า “ครูบาธิยายเจ้าเหย ช้างมิข้ามน้ำ ข้าขอเชิญครูบาธิยายเจ้ามาช่วยให้ช้างข้ามไปจงง่ายเถิด” แล้วจงกลั้นใจเด็ดเอายอดไม้ ๔ อย่างนั้น กลับตรงมาอย่างเหลียวแล เมื่อมาถึงช้างแล้วให้ร่ายมนตร์ว่า “โอม นรายน ภูตานริสฺสยา ภูมิพาตรํ สหปติ นรเทวดา จ สาคร อุทก ภูตลนร วรเทวดา วิมติยา เทวา จ สมุตหิมวนฺตย”
แล้วกลั้นใจเอายอดไม้เหล่านั้นขยี้กับฝ่ามือ แล้วเอาทาตาช้างข้างขวา ๓ ทีข้างซ้าย ๓ ที แล้วจึงขี่ช้างลงไปถึงชายน้ำ เอากากยาที่เหลือวางบนหัวช้างแล้วประนมมือร่ายมนตร์นี้ ว่า “โอม พุทฺธ กนฺตํ มารยํ กนฺตํ สวาห”
แล้วหยิบเอากากยาขึ้นทูนหัวออกอุทานว่า “ครูบาธิยาย ช่วยข้าพเจ้าด้วย” แล้วเอากากยานั้นซัดไปตรงหน้าช้างและขับช้างตามไป “ช้างนั้นข้ามน้ำไปแล” อธิบายเรื่อง “ยากัลเม็ด” ส่อให้เห็นว่าพวกผู้แต่งตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ยังเชื่อฤทธิ์เดชของเวทมนตร์ เป็นแต่ประสงค์จะให้ผู้ศึกษาอาศัยฝีมือของตนเองเป็นสำคัญก่อน ต่อเมื่อสิ้นฝีมือ จึงให้หันเข้าพึ่งคาถาอาคม
เมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึงทีเดียว ว่าได้ทรงจัดการกรมช้างอย่างไรบ้าง แต่กรมช้างเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเพทราชา ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์มาด้วยกันกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ และได้ช่วยทรงจัดการกรมช้างอย่างเป็นคู่พระราชหฤทัยมา จนได้เป็นที่สมุหพระคชบาลมียศศักดิ์ยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อได้เสวยราชย์ กรมช้างเป็นอย่างข้าหลวงเดิม คงสนิทสนมกับพระองค์ยิ่งกว่ากรมอื่น เพราะฉะนั้นคงทรงทำนุบำรุงกรมช้าง ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ สืบมา จะผิดกันก็แต่ไม่ทรงช้างไปเที่ยวไล่โพนช้างเถื่อนที่ในป่า หรือทรงคล้องช้างเองที่เพนียด เพราะเมื่อเสวยราชย์พระชันษาถึง ๕๕ ปีแล้ว ไม่เหมือนกับพระเจ้าเสือซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระเจ้าท้ายสระกับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา ทั้งสามพระองค์นั้น แต่ยังทรงพระเยาว์ก็ได้ฝึกหัดอบรมมาในกรมช้างตั้งแต่ก่อนเป็นเจ้า เมื่อเสวยราชย์ก็ยังกำลังฉกรรจ์ จึงโปรดเที่ยวโพนช้างและคล้องช้างเองเป็นการกีฬา เพื่อสำราญพระราชหฤทัยทั้ง ๓ พระองค์ แบบแผนกรมช้างซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงจัดไว้ จึงอยู่มาจนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๑๑(๖) การต่างๆ ที่เนื่องกับใช้ช้างในเมืองไทย เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามาหลายอย่าง ถึงกับตั้งกรมช้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงธนบุรี และทำนุบำรุงต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่เหมือนแต่ก่อนได้ ข้อสำคัญอันเป็นมูลเหตุให้ผิดกับแต่ก่อนนั้น เป็นด้วยย้ายราชธานีลงมาตั้งใหม่ที่บางกอก จะเอาการกรมช้างที่เคยรวมอยู่ด้วยกัน ณ พระนครศรีอยุธยา ย้ายลงมาบางกอกหมดไม่ได้ เพราะที่บางกอกอยู่ใกล้ทะเลพื้นที่เป็นดินเหนียว มีหล่มเลนและร่องน้ำลำคลองมาก ยากที่จะทอดช้างหรือใช้ไปมาเหมือนพื้นที่ทรายทางฝ่ายเหนือ
ดังมีเรื่องปรากฏในพงศาวดาร ว่าเมื่อสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าทางด้านใต้ต้านตะวันตากและด้านเหนือพระนคร มีแม่น้ำเป็นคูอยู่มั่นคงแล้ว แต่ทางด้านตะวันออกมีแต่คลองเป็นคูพระนคร ต่อคูออกไปยังเป็นสวน จึงโปรดให้โค่นต้นไม้เกลี่ยท้องร่องทำลายสวนเสีย แปลงที่ให้เป็นหล่มเรียกว่า “ทะเลตม” สำหรับกีดกันมิให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงคลองคูพระนครได้สะดวกโดยทางบก ต่อมาทรงพระดำริว่าช้างหลวงจะเข้าออก ต้องหาช่องทางลุยเลนข้ามทะเลตมลำบากนัก ใคร่จะให้มีถนนกับสะพาน สำหรับช้างหลวงเดินข้ามคูเข้าพระนครทางด้านนั้นสักแห่งหนึ่ง วันเมื่อเสด็จไปทรงเลือกที่ทำสะพาน พระพิมลธรรม (ซึ่งภายหลังได้เป็น สมเด็จพระพนรัตน์) วัดพระเชตุพนฯ ไปทูลทัดทานว่าเป็นการประมาทมากนัก ก็เลยระงับพระราชประสงค์ ชานพระนครทางด้านตะวันออก (แถวอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายบัดนี้) ก็เลยเป็นที่พวกชาวนาอาศัยเป็นปลักสำหรับเลี้ยงควาย เรียกกันว่า “ตำบลสนามควาย” มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสร้างถนนออกไปสวนดุสิต
เมื่อจะเอาสำนักงานกรมช้างมารวมอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ จึงต้องจัดการกรมช้างแยกออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมช้างต้น” ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับเลี้ยงรักษาช้างทรง กับฝึกหัดการขับขี่ช้างศึกและอำนวยการพิธีคชกรรมต่างๆ อีกภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมโขลง” คงตั้งสำนักงานอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา และมีสาขาอยู่ ณ นครนายก สำหรับดูแลรักษาช้างโขลงหลวงและเลี้ยงช้างต่อ กับทั้งอำนวยการจับช้างเถื่อนและฝึกหัดช้างที่จับได้ด้วย เมื่อกรมช้างแยกเป็น ๒ ภาคตั้งสำนักงานอยู่ห่างไกลกันเช่นนั้น ก็เป็นปัจจัยไปถึงกาลต่างๆ ในกรมช้างเปลี่ยนแปลง เป็นต้นว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเที่ยวโพนช้าง หรือทรงคล้องช้างที่เพนียดก็เลิก แม้เพียงเสด็จไปทอดพระเนตรคล้องช้างที่เพนียดก็มิได้เสด็จไป เพราะทางไกลจะต้องประทับแรม จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวังจันทร์เกษมขึ้นใหม่แล้ว ถึงเวลาจับช้างที่เพนียดจึงเสด็จขึ้นไปประทับแรมวังจันทร์ฯ ทอดพระเนตรจับช้างต่อมา การกรมช้างต้นที่มาตั้งราชธานีใหม่ก็ลดลง คงมีช้างเพียงสัก ๓ เชือกเหมือนอย่างสำหรับประดับพระเกียรติยศ เพราะการไปมาใช้พาหนะเรือเป็นพื้น มิใคร่มีกิจที่จะต้องใช้ช้าง การทำพิธีคชกรรมก็หมดตัวพวกพราหมณ์พฤฒิบาศชาวอินเดีย ที่รู้ภาษาสันสกฤต ยังมีแต่พราหมณ์ชั้นเชื้อสายซึ่งเคยทำพิธี และร่ายมนตร์ได้ด้วยไม่รู้ภาษาของมนตร์ แต่ไทยที่รู้คชศาสตร์จนชำนิชำนาญ ตลอดจนช้างที่จะใช้ในการศึกสงคราม ยังมีอยู่ในเมืองไทยมาก เพราะครั้งนั้นเสียแต่พระนครศรีอยุธยากับหัวเมืองที่อยู่รอบราชธานี หัวเมืองใหญ่น้อยที่อยู่ห่างออกไปทั้งทางปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือยังมีกำลัง พระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงสามารถรวบรวมกำลังรบชนะข้าศึก จนกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระได้อย่างเดิม แต่ต้องทำการศึกอยู่ตลอดสมัยกรุงธนบุรี และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกหลายปี จึงถึงเวลาเป็นโอกาสที่จะจัดแบบแผนปกครองบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ พึงเห็นได้ดังสังคายนาพระไตรปิฎก และตั้งพระราชกำหนดกฎหมายเป็นต้น
เรื่องตำนานกรมช้างที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ข้าราชการเก่าที่ชำนาญคชศาสตร์ ๒ คน ชื่อว่า “บุญรอด” อันเป็นต้นสกุล “บุณยรัตพันธ์” บัดนี้คนหนึ่ง เป็นบุตรพระยามนเทียรบาล จตุสดมภ์กรมวังวังหน้า สกุลเป็นเชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ศึกษาวิชาคชกรรมแต่ยังหนุ่ม จนฐานะเป็นหมอเฒ่า แล้วจึงไปรับราชการกรมวัง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาธรรมาฯ จตุสดมภ์กรมวัง ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาฯ แต่ไปเกิดผิดด้วยความประมาทเมื่อไปตั้งขัดตาทัพพม่าอยู่ ณ เมืองราชบุรี ถูกถอดจากที่เจ้าพระยาธรรมาฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าเป็นผู้ชำนาญคชกรรม จึงทรงตั้งให้เป็นพระยาเพทราชา สมุหพระคชบาลซ้ายคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ต่อมาโปรดให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช กลับไปรับราชการกรมวังอย่างเดิม เพราะเป็นผู้ชำนาญแบบแผนราชสำนักไม่มีตัวเสมอ อีกคนหนึ่งชื่อ “จันทร์” ต้นสกุล “จันทโรจน์วงศ์” บัดนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ รั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ได้ศึกษาวิชาคชศาสตร์แล้ว จึงได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวรในกรมมหาดเล็ก เมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา หนีรอดได้ไปอาศัยหลวงนายสิทธิ์ซึ่งเป็นปลัดผู้รั้งราชการอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช เพราะภรรยาเป็นหลานหลวงนายสิทธิ์ ครั้นหลวงนายสิทธิ์ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) ให้เป็นเจ้าอุปราชอาณาเขตนครศรีธรรมราช เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จับได้ทั้งหลวงนายสิทธิ์และหลวงนายฤทธิ์ แต่ทรงพระกรุณาตรัสว่า ถึงได้รบพุ่งกันก็หามีความผิดต่อพระองค์ไม่ เพราะต่างคนต่างตั้งตัวเป็นใหญ่เมื่อเวลาบ้านแตกเมืองเสียอย่างเดียวกัน เมื่อยอมอ่อนน้อมแล้วก็โปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) เป็นพระยาราชวังเมืองเจ้ากรมพระคชบาล ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เห็นจะเป็นเมื่อเลื่อนพระยาเพทราชา (บุญรอด) เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระยาราชวังเมือง (จันทร์) ขึ้นเป็นพระยาสุรินทราชาฯ ตำแหน่งสมุหพระคชบาลขวา ซึ่งเป็นคู่กับพระยาเพทราชาตามทำเนียบ แต่ต่อมาหัวเมืองทางแหลมมลายูจะส่งดีบุกเข้ามาไม่ทันใช้ราชการ ทรงพระราชดำริว่าพระยาสุรินทราชา เคยรู้การบ้านเมืองทางแหลมมลายู จึงโปรดให้เป็นข้าหลวงใหญ่ (ทำนองเดียวกับสมุหเทศาภิบาล) ลงไปกำกับการส่งส่วยดีบุกอยู่ที่เมืองถลาง ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี (ปลี) ถึงอสัญกรรม จะโปรดให้พระยาสุรินทราชา เลื่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม แต่พระยาสุรินทราชากราบทูลขอตัว ด้วยว่าแก่ชราปลกเปลี้ยเสียมากแล้ว จึงโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา อยู่ที่เมืองถลางตามใจสมัครจนถึงอสัญกรรม
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) กับเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) เป็นต้นของกรมช้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ และปรากฏว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ ทรงศึกษาวิชาคชกรรมทุกพระองค์ ก็ทรงศึกษาต่อเจ้าพระยาทั้งสองคนที่กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าในพระเจ้าลูกยาเธอ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงศึกษาคชศาสตร์นั้น พระองค์เจ้าอภัยทัต ทรงรอบรู้ยิ่งกว่าพระองค์อื่น จนถึงได้ครอบเป็น “หมอช้าง” ด้วยความสามารถ เมื่อทรงสถาปนาให้เป็นกรม “กรมหมื่นเทพพลภักดิ์” (ถึงรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมหลวง) แล้วโปรดให้เสด็จขึ้นไปเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์เพนียด และจัดบำรุงการจับช้างที่พระนครศรีอยุธยา ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็เลยได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้เจ้านายกำกับราชการต่างๆ มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๒ จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ตามคำชาวพระนครศรีอยุธยาเล่าสืบกันมา ว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ เอาเป็นพระธุระบำรุงการกรมช้างมาก ให้สร้างตำหนักขึ้นที่เพนียดและเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่นั่นเนืองๆ จนนับถือกันทั่วไปว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในคชศาสตร์ เรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า “กรมหลวงเฒ่า” และสร้างเทวาลัยเฉลิมพระเกียรติขึ้นไว้ข้างด้านเหนือเพนียด เรียกว่า “ศาลกรมหลวงเฒ่า” เป็นที่พวกกรมช้างบูชาขอพรเมื่อจะมีการจับช้างสืบมาจนบัดนี้ แบบแผนในการจับช้างที่เพนียดเช่นใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนเป็นของกรมหลวงเทพพลภักดิ์ได้ทรงปรับปรุงไว้ทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไกรสร ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นรักษ์รณเรศ (และเลื่อนเป็นกรมหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๓) เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงศึกษารู้วิชาคชศาสตร์อีกพระองค์หนึ่ง ถึงรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ กับเจ้าฟ้ากลาง (คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เป็นพระโอรสร่วมพระชนนีกัน) และพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ ราชบุตรของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ (ซึ่งเลื่อนเป็นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๔ เพราะพระชนนีเป็นราชธิดาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑) ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์จากกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ต่อมาอีก ๔ พระองค์ เมื่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์ กรมหลวงรักษ์รณเรศได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล เจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นผู้ช่วย แต่สิ้นพระชนม์เสียเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้ง ๒ พระองค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา (คือเจ้าฟ้ากลาง ซึ่งภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์) ก็ได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาลมาจนสิ้นพระชนมายุในรัชกาลที่ ๕ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ก็ได้เป็นอธิบดีกรมช้างวังหน้าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลนั้น
ลักษณะการจับช้างหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะผิดกับสมัยกรงศรีอยุธยาอย่างไรบ้าง รู้ไม่ได้หมด เพราะกรมช้างเดิมกระจัดกระจายหมดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา มารวบรวมจัดขึ้นใหม่เมื่อตั้งกรุงธนบุรี ฉันสงสัยว่าวิธีคล้องช้างอย่างเก่า ก็จะสูญไปในสมัยนั้นอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” ด้วยเคยเห็นรูปภาพและคำพรรณนาในหนังสือเก่า วิธีคล้องช้างแต่ก่อนมามี ๒ อย่าง เรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ว่า “วางเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ฉันไม่เคยเห็นทิ้งเชือกบาศ แต่เข้าใจว่าวิธีทิ้งเชือกบาศนั้น คือหย่อนหรือขว้างบ่วงเชือกบาศไปจากคอช้างต่อให้สวมติดตีนหลังช้างเถื่อนคล้ายกับที่เช่นฝรั่งเรียก Lassoing ที่พวกอเมริกันคล้องม้าและวัวเถื่อน วิธีวางเชือกบาศนั้น เอาเงื่อนบ่วงเชือกบาศสอดกับปลายไม้รวกอันหนึ่ง ยาวสัก ๖ ศอก เรียกว่า “คันจาม” เมื่อจับอย่าง “วังช้าง” อันมีเสาค่ายพรางบังตัวคน คนคล้องอยู่กับแผ่นดินถือคันจาม ยื่นปลายบ่วงบาศสอดหว่างเสาค่ายเข้าไปวางดักให้ช้างเถื่อนเหยียบลงในวงบ่วง ก็กระชากเงื่อนให้บ่วงเชือกบาศสวมติดข้อตีนช้าง ถ้าโพนช้าง คนคล้องจะอยู่บนคอช้างต่อ ใช้วิธีวางเชือกบาศถือคันจาม ให้ควาญท้ายขับช้างต่อวิ่งติดท้ายช้างเถื่อน คนขี่คอสอดปลายคันจามลงไปวางบ่วงเชือกบาศตรงที่ช้างเถื่อนเหยียบแผ่นดิน แล้วทิ้งคันจามเสียก็ได้ หรือใช้วิธีทิ้งเชือกบาศก็ได้ตามถนัด สังเกตดูในหนังสือเก่าซึ่งว่าด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง กิริยาที่คล้องก็ใช้แต่ว่า “ทรงบาศ” หรือให้ “ถวายเชือกบาศ” ไม่มีกล่าวถึงไม้คันจามเลย แม้จนในหนังสือชั้นหลังมา ซึ่งว่าด้วยเจ้านายหัดทรงช้างในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ก็ว่า “หัดทรงทิ้งเชือกบาศ” ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เวลาเย็นๆ ทุกวัน ดังนี้ แต่ถึงสมัยตัวฉันเกิดทันได้เห็นก็เห็นแต่คล้องอย่าง “วางเชือกบาศ” อย่างเดียว แม้พวกผู้เชี่ยวชาญในกรมช้างคล้องช้างในเพนียด ก็คล้องแต่ด้วยใช้ไม้คันจาม จึงนึกว่าวิธีทิ้งเชือกบาศ จะหมดตัวคนทิ้งแม่นเสียแล้วแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะคงคล้องยากกว่าวางเชือกบาศ และต้องทำเชือกบาศให้อ่อนนุ่มกว่า แต่เหนียวเท่ากับเชือกบาศทำด้วยหนังวัวควายที่ใช้กันเป็นสามัญ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่สูงศักดิ์ไม่ทรงคล้องช้างเองแล้ว ก็เลยเลิกคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จะเป็นอย่างนั้นดอกกระมัง วิชาใช้ช้างมีเสื่อมลงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ค่อยเสื่อมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วช้านาน คือวิธี “รบบนหลังช้าง” ดังเช่นขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวซึ่งเรียกกันว่า “ยุทธหัตถี” อันนับถือว่ามีเกียรติอย่างสูงสุดในวิชาขี่ช้างก็ดี วิธีขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าเข้าไล่แทงรี้พล และรื้อค่ายของข้าศึกก็ดี วิธีให้ทหารถือธนูขึ้นอยู่ในสัปคับช้างเขนไล่ยิงข้าศึกก็ดี วิธีรบเหล่านี้เริ่มเสื่อมลงด้วยมีอาวุธปืนไฟเกิดขึ้นในโลก ช้างทนปืนไฟไม่ไหวก็ต้องเลิกใช้ช้างสู้ปืน แต่เมื่อมีปืนขึ้นแล้ว กว่าคนจะรู้จักใช้ยังช้านานมาก การรบกันบนหลังช้างจึงค่อยเสื่อมมาโดยลำดับ ข้อนี้มีอุทาหรณ์จะพึงสังเกตได้ในเรื่องพงศาวดารเมืองไทยนี้เอง เมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงฯ ชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ในเรือน พ.ศ.๑๘๐๐ ปืนไฟยังไม่เกิด ชนช้างกันตามแบบโบราณ แพ้ชนะกันตัวต่อตัว ต่อมาอีก ๓๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชเมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ เป็นเวลามีปืนไฟแล้ว แม้มีแต่ปืนเล็กอยู่ในสนามรบ ควาญท้ายช้างพระที่นั่งทรงและคนกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตาย แม้ที่สุดพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอง ก็ถูกปืนที่พระหัตถ์ เป็นบุญที่ถูกปืนเมื่อฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว จึงได้ชัยชนะ สังเกตดูในหนังสือพงศาวดาร ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนช้างครั้งนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครได้ทำยุทธหัตถีกันอีกทั้งในเมืองไทยหรือประเทศที่ใกล้เคียง แต่ประหลาดอยู่ที่ไทยเรายังมีโอกาสได้รบด้วยช้างมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ไทยรบกับญวนที่เมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงหเสนี) แม่ทัพไทยตั้งอยู่ ณ เมืองอุดง ให้กองทัพหน้าลงไปตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ พอถึงฤดูน้ำ ญวนใช้เรือรบได้สะดวก ก็ยกกองทัพเรือเป็นขบวนใหญ่ขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อน ตีได้เมืองพนมเปญอันอยู่ที่ลุ่ม แล้วยกขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรไม่มีเรือรบพอจะต่อสู้กับกองทัพญวน จึงคิดอุบายให้รวมช้างรบบรรดามีกับพลราบตั้งซุ่มไว้ที่ในเมือง ปล่อยให้ญวนจอดเรือส่งทหารขึ้นบกได้โดยสะดวก พอญวนขึ้นอยู่บนบกแล้วก็เปิดประตูเมือง ให้ช้างรบออกเที่ยวไล่แทงข้าศึก (ดูเป็นทำนองเดียวกับที่ฝรั่งคิดใช้ “ถัง” Tank) ให้ทหารราบตามติดท้ายช้างไป ก็ตีทัพญวนแตกในเวลากำลังหนีช้าง ที่เหลือตายลงเรือได้ก็เลยถอยกองทัพเรือล่าหนีไป ดูเหมือนเมืองอุดงได้ชื่อต่อท้ายว่า “เมืองอุดงลือชัย” มาแต่ครั้งนั้น
ไม่แต่ในเมืองไทย ถึงในประเทศไหนๆ ที่เคยใช้ช้างในการรบมาแต่โบราณ ตั้งแต่มีปืนไฟ การใช้ช้างรบก็เสื่อมลงทุกประเทศ เปลี่ยนการใช้ช้างเป็นพาหนะเป็นพื้น ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน วิชาจับช้างใช้จึงเป็นดังจะพรรณนาโดยพิสดารในนิทานเรื่องจับช้างภาคหลังต่อไป.
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 14:55:13 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #30 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:10:46 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)
วิธีจับช้าง (๑) อธิบายเบื้องต้น นิทานภาคปลายของเรื่องจับช้างนี้ ผู้อ่านเห็นจะแปลกใจ ด้วยเห็นกระบวนความต่างไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่แต่งติดต่อเป็นรูปเรื่องเดียวกับนิทานภาคต้น จะเลยนึกว่าเมื่อฉันแต่งมาถึงภาคนี้เกิดหลงด้วยแก่ชรา จึงเลยไถลไปไม่รู้ตัว อันที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้นดอก จึงขอบอกเหตุไว้ให้รู้ การแต่งหนังสือ ถ้าจะเรียกเป็นนามศัพท์ของวรรณคดีก็ได้หลายอย่าง เรียกว่า “สำนวนเทศนา” (Indicative) อย่างหนึ่ง “สำนวนบรรยาย” (Narrative) อย่างหนึ่ง และ “สำนวนพรรณนา” (Descriptive) อีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่จะเลือกแต่งด้วยสำนวนอย่างไหนให้เหมาะแก่เรื่อง ฉันแต่งนิทานภาคท้ายนี้แต่เมื่อยังอยู่ที่เมืองปีนัง โดยประสงค์จะเล่าถึงการจับช้างที่ฉันได้เคยเห็นด้วยตาตนเอง ให้ลูกฟัง เมื่อเล่าต่อไปถึงวิธีจับที่ฉันไม่เคยเห็นเอง ก็ขออนุญาตเพื่อนฝูงเก็บความที่เขาได้แต่งพิมพ์พรรณนาวิธีนั้นไว้ มาเป็นโครงประกอบกับความรู้ของฉัน แต่งให้เป็นเรื่องขึ้น ถ้าว่าโดยย่อก็คือ “แต่งเล่นตามชอบใจ” เมื่อแต่งภาคท้ายใกล้จะหมดอยู่แล้ว ฉันกลับมากรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ จะแต่งนิทานเรื่องจับช้างต่อไป จึงนึกขึ้นว่าการจับช้าง เป็นวิชาสำคัญของไทยเราอย่างหนึ่ง ซึ่งชนชาติอื่นๆ เคยนับถือว่าไทยชำนิชำนาญ และวิธีจับช้างของไทยเป็นกิจน่าชมยิ่งอย่างหนึ่งในโลก แต่ตัวฉันเองกับทั้งไทยที่เป็นผู้รู้ๆ อยู่ว่าเป็นวิชาที่จะสูญเสียในไม่ช้านักแล้ว ฉันคิดเสียดายขึ้นมา จึงเห็นควรจะเล่าเรื่องจับช้างให้พิสดารกว่าที่ได้แต่งไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลามาอยู่กรุงเทพฯ ใกล้แหล่งหนังสือเก่า เช่นหอพระสมุดฯ เป็นต้น อาจจะหาหนังสือสอบความทรงจำง่ายกว่าเมื่ออยู่เมืองปีนัง แต่ต้องรับสารภาพว่าเพราะเกียจคร้าน ไม่อยากรื้อนิทานภาคที่ได้แต่งแล้วออกแต่งใหม่ จึงแต่งเพิ่มขึ้นอีกภาคหนึ่ง ว่าด้วยตำนานการจับช้างในเมืองไทยเพิ่มลงข้างหน้า เป็นนิทานเรื่องเดียวกัน ๒ ภาคเช่นพิมพ์ไว้นี้(๒) ช้างเถื่อนในเมืองไทย ในเมืองไทยนี้มีช้างเถื่อน (คือช้างป่า) อยู่มากมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถึงเดี๋ยวนี้ที่ไหนช้างเถื่อนยังอยู่ได้ ก็ยังมีช้างเถื่อนแทบทุกมณฑล ในมณฑลกรุงเทพฯ นี้ แต่ก่อนก็ยังมีช้างเถื่อนอยู่ในทุ่งหลวงทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แขวงจังหวัดนครนายก ตลอดลงมาจนทุ่งบางกะปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อฉันบวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ.๒๔๒๖ ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในเวลาเย็นๆ เคยขึ้นไปดูบนพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ยังแลเห็นโขลงช้างเถื่อนเข้ามาหากินอยู่ตามปลายนา ราวที่สร้างวัดวิเวกวายุพัดเมื่อภายหลัง แต่ต่อมามีคนถางป่าพงที่ช้างอาศัยทำนารุกเข้าไป ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีไปอยู่ห่างแม่น้ำออกไปโดยลำดับ ยิ่งเมื่อถึงสมัยขุดคลองรังสิตและคลองนาสายอื่นๆ ในทุ่งหลวง ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีห่างออกไป จนมักพากันขึ้นไปอยู่ในทุ่งหลวง ตอนแขวงจังหวัดนครนายกโดยมาก ตอนข้างใต้ใกล้กรุงเทพฯ มีน้อยลง เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปเมืองนครนายกครั้งหนึ่ง จอดเรือพักแรมอยู่ที่อำเภอบางอ้อ เวลาจวนค่ำ เห็นช้างเถื่อนอยู่ที่ปลายนา ทางฟากตะวันออกโขลงใหญ่ แต่พอพลบ พวกชาวบ้านเขาก็กองไฟรายตามแนวปลายนา เขาบอกว่าถึงฤดูทำนาตั้งแต่ข้าวตั้งกอใกล้จะออกรวง ช้างเถื่อนเข้ามากวนเสมอ ต้องกองไฟอย่างนั้นทุกคืน เพราะช้างกลัวไฟไม่กล้าผ่านกองไฟใกล้ๆ แต่มันฉลาด กลางวันหลบหายไปหมด ไม่รู้ว่าพากันไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน แต่พอพลบค่ำจึงย่องเข้ามา ถ้าคนเผลอ มันถอนกอข้าวในนากินเสียคืนละหลายๆ ไร่ พอรุ่งสว่างก็หายไปอีก ถึงฤดูข้าวตั้งกอ จึงต้องกองไฟเช่นนั้นทุกปี ต่อมาอีกปีหนึ่งฉันไปเมืองปราจีนบุรีทางคลองรังสิต เมื่อเรือไฟจูงเรือฉันไปถึงลำน้ำองครักษ์ เวลากลางวันผ่านที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบโขลงช้างเถื่อนสักสี่ห้าตัวกำลังว่ายข้ามลำน้ำผ่านหน้าเรือไปใกล้ๆ จนคนถือท้ายเรือไฟต้องรอเรือเปิดแตรไล่ตะเพิ่น มันก็รีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งวิ่งหนีไปแลเห็นตัวใกล้ๆ แต่ฉันเพิ่งรู้แต่เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี ว่าธรรมดาของช้าง ขึ้นบกได้แล้วจึงเตรียมตัวจะต่อสู้ ถ้าลงว่ายอยู่ในน้ำตีนหยั่งไม่ถึงดินแล้วสิ้นฤทธิ์เดช ทำอะไรใครไม่ได้ทีเดียว ฉันได้เคยเห็นแก่ตาเมื่อจับช้างที่เพนียดครั้งหนึ่ง มีช้างพังเถื่อนตัวหนึ่งขนาดสูงสัก ๓ ศอกเศษ แตกโขลงลอยน้ำลงมาถึงบางปะอินเวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นั่น ช้างตัวนั้นเดิมเห็นจะตั้งใจว่ายข้ามแม่น้ำกลับไปถิ่นในทุ่งหลวง แต่พวกชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำพากันลงเรือไปดู มีเรือลอยแซงมาทั้งสองข้าง ช้างไม่กล้าเข้าใกล้ใกล้เรือ ก็เป็นแต่เอาปลายงวงโผล่ขึ้นหายใจบนหลังน้ำ ปล่อยตัวให้ลอยลงมากับสายน้ำ พอรู้ถึงพวกคนตามเสด็จก็พากันไปดู ฉันก็ลงเรือลำหนึ่งไปดูกับเขาด้วย ใครไปถึงต่างก็ลอยเรือล้อมดูอยู่ห่างๆ ขวางทางช้างว่ายขึ้นตลิ่งไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร ช้างกับเรือลอยเป็นแพลงมาจนถึงบ้านแป้ง มีนายตำรวจภูธรคนหนึ่งคิดจะจับ ให้พายเรือเข้าไปใกล้ๆ ตัวช้าง เห็นมันนิ่งเฉยก็เอาเรือเข้าไปเทียบถึงข้างตัวมันก็นิ่งเฉย พลตำรวจคนหนึ่งใจกล้าโดดขึ้นขี่หลัง เห็นช้างนิ่งอยู่ไม่อาละวาดสะบัดสะบิ้งอย่างไร ได้ใจก็ค่อยเขยื้อนตัวขึ้นไปจนถึงขี่คอ ช้างก็ยังนิ่งอยู่ ยกแต่ปลายงวงโผล่พ้นน้ำขึ้นหายใจอย่างเดียวเท่านั้น จึงรู้ว่าเพราะตีนมันหยั่งไม่ถึงดิน จึงทำอะไรไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะเหตุนั้นเอง ช้างจึงชอบลงน้ำแต่เพียงที่หยั่งถึง และมักมีช้าง แม้ที่ฝึกหัดเชื่องแล้วไม่ยอมว่ายน้ำ ถึงกับมีตำราสำหรับลวงช้างให้ว่ายข้ามน้ำอยู่ในคัมภีร์คชศาสตร์เป็นหลายอย่าง
แต่ช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ผิดกับช้างเถื่อนในที่อื่น ด้วยเป็นช้างโขลงของหลวง สำหรับแต่จับใช้ราชการ และเคยอยู่ในทุ่งหลวงสืบพงศ์พันธุ์กันมาหลายร้อยปี มีกำหนดต้อนเข้ามาเลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งเป็นคราว ดังจะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ช้างที่ไม่จับ ก็ปล่อยกลับออกไปอยู่ในทุ่งหลวงอย่างเดิม เป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ช้างเถื่อนในทุ่งหลวงจึงเหมือนกับเลี้ยงไว้สำหรับจับที่เพนียด และต้องมีไว้ให้มากพอแก่การ หาไม่ก็มีการจับช้างที่เพนียดไม่ได้ อนึ่งการจับช้างที่เพนียดนั้น เป็นแบบตำราหลวง ผิดกับวิธีจับช้างอย่างสามัญ ด้วยเป็นการเลือกหาช้างมีลักษณะสำหรับใช้ในการรบพุ่ง และฝึกซ้อมพวกผู้เชี่ยวชาญในการขี่ช้าง ตลอดจนฝึกซ้อมช้างต่อซึ่งได้ฝึกหัดขึ้นไว้นั้นด้วย เห็นจะถือว่าเป็นการสำคัญมาช้านาน ตามเมืองโบราณที่เคยเป็นราชธานี จึงมีเพนียดอยู่ใกล้ๆ พระนคร ในเวลามีการจับช้างที่เพนียด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทรงบัญชาการเอง บางพระองค์ถึงโปรดทรงคล้องเอง พวกเจ้าหน้าที่ก็ทำการอย่างแข็งขันกันเต็มฝีมือ จึงเป็นการที่คนนิยมอยากดู มีการจับช้างเมื่อใดใครไปได้ก็ไปดูทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ที่ว่านี้ตามฉันได้เคยเห็น แต่คงเป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ แต่เมื่อย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ห่างเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรจับช้างที่เพนียดไม่สะดวก จึงโปรดให้แต่เจ้านายต่างกรม ผู้บัญชากรมพระคชบาลไปทรงบัญชาการจับช้าง ได้ยินว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๔ แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ มีเรือไฟใช้เป็นราชพาหนะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรเสมอ ดูเหมือนมีกำหนดจับ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรอย่างเดียวกัน แต่เมื่อมีเจ้านายฝรั่งต่างประเทศเป็นแขกเมืองเข้ามาเฝ้าเนืองๆ โปรดให้มีการจับช้างให้แขกเมืองดู พวกแขกเมืองก็พากันชอบ สรรเสริญว่าการจับช้างของไทยเป็น “กีฬา” (Sport) ถึงชั้นวิเศษสุดอย่างหนึ่งในโลก หามีเหมือนในประเทศอื่นไม่ จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปตามนานาประเทศ การจับช้างจึงเปลี่ยนมาเป็นสำหรับมีรับแขกเมืองที่สูงศักดิ์ แม้เช่นนั้นการจับช้างก็เสื่อมทรามลงโดยลำดับ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองในอย่างอื่น เป็นต้นแต่การบำรุงกสิกรรม ด้วยช้างโขลงอยู่ในทุ่งหลวงกีดขวางแก่การทำนา แต่ยังพอผ่อนผันกันมาได้หลายปี จนถึงสมัยเมื่อสร้างทางรถไฟผ่านไปในทุ่งหลวง ก็เกิดลำบากแก่การที่จะต้อนช้างโขลงผ่านทางรถไฟมายังเพนียดเพิ่มขึ้น และมามีเหตุร้ายเพิ่มขึ้นเป็นที่สุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ในเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง คืนวันหนึ่งมีช้างเถื่อนในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง เห็นจะเป็นเวลาตกน้ำมัน ขึ้นไปยืนอยู่บนทางรถไฟที่ย่านเชียงราก พอรถไฟบรรทุกสินค้าแล่นขึ้นไป ก็ตรงเข้าชนรถไฟ ช้างก็ตายรถไฟก็ตกรางทั้งสาย พอฉันรู้ก็ขึ้นไปดู แต่ช้าไปไม่ทันเห็นตัวช้าง เพราะมีคนแล่เนื้อเถือหนังไป และฝังโครงกระดูกเสียหมดแล้ว เห็นแต่รถไฟนอนกลิ้งอยู่ในท้องนา เนื่องจากเหตุครั้งนั้นจึงต้องกวาดต้อนช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ให้ไปอยู่เสียในป่าทางเชิงเขาใหญ่ในแขวงจังหวัดนครนายกหมด การจับช้างที่เพนียดก็เลิกขาด และช้างเถื่อนก็ไม่มีในมณฑลกรุงเทพฯ แต่นั้นมา แต่ในมณฑลอื่นยังมีช้างเถื่อนอยู่ทุกมณฑลจนทุกวันนี้ลักษณะจับช้างเถื่อน ปรกติของช้างเถื่อนชอบอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากบ้างน้อยบ้าง ในระหว่างตั้งแต่ ๑๐ ตัวขึ้นไปถึง ๒๐-๓๐ ตัว คล้ายกับมนุษย์ที่ชอบอยู่ด้วยกันในครัวเรือนหรือในวงศ์ญาติ มีตัวหัวหน้าทุกโขลง มักเป็นช้างพังใหญ่เรียกกันว่า “แม่หนัก” หรือ “แม่แปรก” ก็เรียกสำหรับนำโขลงเที่ยวหากิน และพาหลีกหนีภัยอันตราย แม่โขลงชักนำอย่างไร ลูกโขลงก็ทำตาม อยู่ที่ไหนอยู่ด้วยกัน ไม่เที่ยวเตร็จเตร่แยกย้ายกันไปตามอำเภอใจ เว้นแต่ช้างพลายตัวใหญ่ถึงขนาดตกน้ำมันได้นั้น ต้องอยู่รายรอบนอกมิให้เข้าไปปะปนอยู่ในโขลง ช้างอยู่ด้วยมีประเพณีเช่นว่านี้ วิสัยช้างจึงชอบไปไหนด้วยกันเป็นหมู่ อีกประการหนึ่ง ช้างเป็นสัตว์ขนบางดังกล่าวมาแล้ว กลัวร้อนแสงแดด ต้องมีเวลาลงแช่น้ำหรือหมกโคลนเหมือนกับควาย เพราะฉะนั้นช้างโขลงจึงมักอยู่แต่ในที่อันมีอาหาร กับทั้งห้วยน้ำลำธารหรือปลักแปลงและมีหมู่ไม้ให้ร่มเงา บางโขลงจึงชอบอยู่ในดงภูเขาก็มี บางโขลงก็ชอบหากินชายดงใกล้ที่ราบอันเป็นที่มีป่าหญ้า ออกมาเที่ยวหาหญ้ากินในเวลากลางคืนก็มี วิธีหากิน ทำให้ช้างโขลงเป็นช้างชอบอยู่ในดงบนภูเขาชนิดหนึ่ง เป็นช้างอยู่ชายดงใกล้ที่ราบชนิดหนึ่ง แต่มนุษย์มีปัญญาสามารถสังเกตนิสัยของช้าง จึงคิดวิธีจับช้างให้เหมาะกับภูมิลำเนาที่ช้างเถื่อนอยู่ได้ทั้งสองชนิด
วิธีจับช้างในเมืองไทยมี ๓ อย่าง เรียกว่า “วังช้าง” อย่างหนึ่ง “โพนช้าง” อย่างหนึ่ง “จับเพนียด” แต่ฉันจะเรียกต่อไปให้ตรงความว่า “จับตำราหลวง” อย่างหนึ่ง พิจารณาดูเค้าเงื่อนที่ยังพอสังเกตได้ เห็นว่าวิธีจับช้างอย่าง “วังช้าง” คือตั้งคอกจับช้างหมดทั้งโขลงในคราวเดียวกันก็ดี วิธีจับอย่าง “โพนช้าง” คือขี่ช้างต่อออกไล่ช้างเถื่อนแต่ทีละตัวก็ดี เห็นจะใช้ในเมืองไทยมาแต่พวกลาว (คือละว้า) ยังปกครองบ้านเมือง แต่วิธีจับช้างอย่าง “ตำราหลวง” เช่นที่จับเพนียดในชั้นหลัง ฉันเห็นว่าเป็นวิธีประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังกล่าวมาในภาคต้น
การจับช้างไม่ว่าอย่างไหนๆ ย่อมเป็นการเสี่ยงภัยแก่ผู้จับ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ถ้าพลาดพลั้งผู้จับก็ถึงสิ้นชีวิต ทั้งเป็นการยาก และต้องใช้คนมาก แบ่งหน้าที่กันทำการต่างๆ พนักงานจับช้างหลวงจึงตั้งเป็น “กรมพระคชบาล” หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” ส่วนพวกพลเมืองที่หาเลี้ยงชีพด้วยการจับช้างก็ต้องมี “หมอเฒ่า” หรือ “ครูบา” ผู้เชี่ยวชาญในการจับช้างเป็นผู้บัญชาการสิทธิ์ขาด รองลงมาต้องมี “หมอช้าง” ซึ่งหมอเฒ่าได้ฝึกสอนให้รู้จักสังเกตกิริยาอาการช้าง และคล่องแคล่วชำนิชำนาญการคล้องช้าง รองลงมาจากนั้นอีกถึงชั้นพวกบริวารที่เป็นแต่แรงงาน ก็ต้องรักษาวินัยทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เหนือตนอย่างสิทธิ์ขาด หาไม่ก็อาจเป็นอันตรายเหมือนกัน การจับช้างจึงเป็นวิชาอย่างหนึ่งซึ่งรักษาสืบกันมาในเมืองไทยช้านาน ตัวฉันเคยเห็นแต่การจับช้างอย่างตำราหลวง พอจะเล่าให้ฟังได้ว่าเป็นอย่างไร แต่จับอย่างวังช้างและโพนช้าง ฉันไม่เคยเห็น จะต้องอาศัยอธิบาย ซึ่งพระยาอินทรมนตรี (ไยลส์) ได้อุตส่าห์สืบสวนมาพรรณนาพิมพ์ไว้เป็นภาษาอังกฤษที่ในหนังสือวารสาร ของสมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย ฉันจึงขออนุญาตเก็บเนื้อความมาแปลลงในนิทานนี้ ส่วนอธิบายการโพนช้าง นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) ก็ได้อุตส่าห์พรรณนาตามที่เคยไปเห็น พิมพ์ไว้เป็นภาษาไทยในหนังสือ “รื่นระลึก” ฉันขออนุญาตเก็บความมาเหมือนกันวิธีวังช้าง การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “วังช้าง” ต่างประเทศยังชอบใช้กันในปัจจุบันนี้ ซึ่งในอินเดียอันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “เด็กเลี้ยงช้าง” (Elephants Boy) ก็ใช้วิธีวังช้าง ในเกาะลังกาและเมืองมลายูก็จับแต่อย่างวังช้าง แต่ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีวังช้างแต่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เช่นที่จังหวัดชุมพร กับตามหัวเมืองทางลานนา เช่นเมืองน่านเป็นต้น อันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “ช้าง” ซึ่งเคยเลื่องลือทั่วโลกครั้งหนึ่ง แต่หัวเมืองทางอื่นในเมืองไทยนี้ เช่นในมณฑลนครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ปราจีน ใช้วิธีโพนช้างทั้งนั้น คงเป็นเพราะลักษณะถิ่นที่ช้างเถื่อนอยู่ผิดกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงใช้วิธีจับต่างกันมาแต่โบราณ คนจับช้างในท้องถิ่นเคยจับด้วยวิธีอย่างใด ก็เลยรู้แต่วิธีอย่างเดียวที่ใช้จับอยู่ในถิ่นของตนจนทุกวันนี้ เรื่องวังช้างทางเมืองชุมพร ตามที่ฉันรู้มาแต่เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น เมืองชุมพรเขตแดนต่อกับเมืองมะริดของอังกฤษที่สันเขาบรรทัดแหลมมลายู ช้างโขลงเถื่อนรู้จักทางข้ามเขาไปมาอยู่เนืองนิจ ถ้าทางเมืองมะริดมีการจับช้างบ่อยเข้า ช้างโขลงก็หนีข้ามเขามาอยู่ในแขวงเมืองชุมพร ถ้ามาถูกคนที่เมืองชุมพรจับบ่อยเข้า ก็หนีกลับไปอยู่ทางแดนเมืองมะริด ไม่มีช้างโขลงอยู่ประจำที่ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องคอยสอดแนมอยู่เสมอ ถ้าได้ข่าวว่าช้างโขลงเข้าแดนเมื่อใดก็เตรียมการจับ แต่จับคราวหนึ่ง ก็ได้ช้างได้เงินพอใช้ไปนาน จึงยังมีผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตั้งแต่หมอเฒ่าเจ้าตำรา ที่เป็นผู้อำนวยการ และหมอช้างครูช้างที่เป็นตัวรองอยู่ที่เมืองชุมพรสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ แต่การวังช้างต้องลงทุนมาก ตั้งแต่ค่าทำค่ายพรางและค่ากำนนผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนค่าจ้างพวกกรรมกร จึงต้องอาศัยพวกมีทรัพย์ เป็นผู้เริ่มริและไปหาหมอเฒ่าอำนวยการ และทำการต่างๆ ดังพระยาอินทรมนตรีพรรณนาเป็นลำดับไป
เมื่อมีผู้ไปขอให้วังช้าง หมอเฒ่าก็เข้าพิธีบูชาครู นั่งสำรวมใจร่ายมนตร์ขอสุบินนิมิตต่อครูปัทยาย ให้มาเข้าฝันว่าจะจับช้างได้สมประสงค์หรือไม่ เมื่อในสุบินนิมิตดีแล้ว หมอเฒ่าจึงเลือกตัวหมอช้างกับทั้งพวกที่จะทำการอย่างอื่นๆ มาจัดเป็นพนักงานทำหน้าที่ต่างๆ จนครบครัน ในการที่ออกไปจับช้างนั้น บรรดาผู้ไปต้องจัดการทางบ้านเรือนของตน ตามข้อบังคับในตำราคชศาสตร์ คือห้ามมิให้ผู้หญิงเช่นลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เอาน้ำมันใส่ผม หรือทาตัว หรือแม้แต่ทอดของกิน เพราะถือว่าจะทำให้ผู้ชายที่ไปจับช้างขึ้นต้นไม้ลื่น และห้ามมิให้เมียแต่งเครื่องประดับหรือแต่งตัวให้สวยงามอย่างใด เพราะถ้าเมียทำนอกใจทางบ้านผัวอาจจะเป็นอันตรายที่ในป่า และห้ามมิให้ผู้หญิงวิวาทบาดทะเลาะกันหรือแม้จนตีลูกเด็ก เพราะผีป่าจะดูหมิ่นชายคนนั้นว่ามีครอบครัวลามก เลยไม่คุ้มครอง และห้ามมิให้ใครๆ ที่อยู่ทางบ้านนั่งหรือยืนคาประตูเรือน เพราะจะพาให้ช้างไม่เข้าคอก แต่ข้อบังคับเหล่านี้มีข้อไขว่าถ้าเมียไม่ยอมทำตามข้อบังคับ ก็ให้ผัวหย่าเสียชั่วคราว จนเสร็จกิจกลับมาถึงบ้าน จึงถือว่าเป็นผัวเมียกันต่อไปอย่างเดิม เมื่อจัดคนสำเร็จแล้วหมอเฒ่าหาฤกษ์ทำการพลีกรรม ไหว้ครูพร้อมกันวันหนึ่งก่อน แล้วจึงพากันออกไปป่า ไปเที่ยวเลือกหาที่ซึ่งจะตั้งคอกดักช้างตามทางที่ช้างโขลงมักเดินไปมาที่ในดง เมื่อหมอเฒ่าเห็นว่าที่ตรงไหนเหมาะ ยังต้องทำพิธีพลีกรรมร่ายมนตร์ขอนิมิตต่อครูปัทยายอีกครั้งหนึ่งว่าตั้งคอกตรงนั้นจะสำเร็จประโยชน์หรือไม่ ต่อได้นิมิตดีจึงสั่งให้ตัดไม้ทำเสาคอก และตัดเถาวัลย์และหวายสำหรับผูกมัดรัดคอกให้มั่นคง เมื่อได้สรรพสัมภาระพร้อมแล้ว หมอเฒ่าทำพิธีร่ายมนตร์เชิญครูปัทยายมาช่วย และรดน้ำมนตร์ตามแนวที่จะตั้งคอก กับทั้งร่ายมนตร์ขับผีร้ายที่จะขัดขวางให้ไปเสียจากที่นั่นก่อน แล้วปลูกศาลเพียงตาทั้ง ๔ ทิศ เชิญเทพารักษ์มาช่วย และทำหนังสือบนวางไว้ทุกศาล ว่าถ้าจับช้างได้มากกว่าเท่านั้นตัว จะถวายสินบนอย่างนั้นๆ แล้วจึงให้ลงมือตั้งคอก
ลักษณะคอกจับช้างนั้นมีแบบเป็น ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” หรือ “คอกน้ำเต้า” อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกพาลี” อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกแม่วี” สำหรับจับช้างจำนวนมากและน้อยโดยลำดับกัน ล้วนปักเสาไม้แก่นสูงท่วมหลังช้างรายไว้เป็นระยะ มีช่องระหว่างเสาพอตัวคนลอดเข้าออกได้สะดวก ข้างนอกมีคร่าวและขาทรายค้ำ ปลายเสาผูกสายเถาวัลย์รัดต่อติดกันมั่นคงมิให้ช้างทำลายได้ ทำเป็นคอกทึบ ๓ ด้าน ด้านหน้าทางช้างเข้ามีประตูยนต์แขวนบานไว้กับขื่อ พอช้างเข้าในคอกแล้วอาจตัดเชือกให้บานเลื่อนลงมาปิดประตูไว้ ต่อคอกออกไปข้างหน้าปักเสาไม้แก่น ผายเป็นชังนางต่อออกไปทั้งสองข้างตอนหนึ่ง แล้วปักเสาต้ายไฟทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ตั้งแต่ปากชังนางรายต่อออกไป เป็นชังนางอีกข้างละหลายเส้น ก็ถึงที่สุดมีเสาต้ายเช่นนั้นปักขวางอีกแนวหนึ่ง จนปากชังนางทั้งสองข้างต่อกัน มีห้างขัดบนต้นไม้ข้างนอกแนวเสาต้ายเป็นระยะ สำหรับคนขึ้นไปคอยดูเมื่อเวลาช้างมาเข้าคอก บอกสัญญาณให้คนภายในรู้และคอยจุดชะนวนที่ล่ามไปจุดไฟตามเสาต้าย ให้ลุกล้อมโขลงช้าง และมีห้างต่างหากสำหรับหมอเฒ่า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ให้สัญญาณตัดเชือกปิดประตูคอกด้วย คอกทำอย่างเดียวกันทั้งนั้น ที่เรียกชื่อต่างกันเพราะแผนผังผิดกันเท่านั้น คอกอย่างเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” เป็นคอกสองห้องสำหรับจับช้างมาก อีกสองอย่างเป็นแต่คอกห้องเดียว คอกอย่าง “แม่วี” เป็นขนาดเล็กกว่าเพื่อน แม้ประตูยนต์คอกแม่วีก็ทำบานปิดอย่างประตูสามัญ ไม่ทำบานตกเหมือนสองอย่างที่ว่ามาก่อน
เมื่อทำคอกเสร็จแล้ว ยังมีพิธีฉลอง ซึ่งหมอเฒ่าทำที่ในคอกอีกหลายอย่าง เป็นต้นแต่พลีกรรมขอบคุณเทวดา และครูปัทยาย ที่ได้คุ้มครองให้ทำคอกนั้นสำเร็จ แล้วทำพิธีเบิกไพรร่ายมนตร์ขออนุญาตเจ้าป่าเพื่อจะเข้าไปต้อนช้าง และร่ายมนตร์เพื่อไล่ “อ้ายราน” (เห็นจะตรงกับ “รังควาน”) ที่อยู่กับตัวช้าง ทำพิธีเหล่านี้แล้วจึงลงมือจัดการต้อนช้าง ในการต้อนช้างนั้น โดยปรกติตัวหมอเฒ่าอยู่ที่คอก ไม่ต้องออกไปต้อนด้วย คงเป็นเพราะหมอเฒ่ามักเป็นคนสูงอายุ แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ก็ต้องออกไปแก้ไข
การต้อนช้างเข้าคอกนั้น เริ่มด้วยให้คนออกไปสอดแนมดูให้รู้ก่อน ว่าในเวลานั้นช้างโขลงหากินอยู่ที่ตำบลไหน เมื่อรู้แล้วหมอเฒ่าจึงแบ่งคนต้อนช้างจัดเป็นหมวดๆ แต่ละหมวดมีหมอช้างเป็นหัวหน้าคนหนึ่งกับบริวารสี่ห้าคน เลือกสรรหมอช้างคนที่ชำนาญท้องที่ถิ่นที่ช้างอยู่นั้นเป็นผู้นำขบวน เรียกว่า “หมอไล่” เมื่อไปถึงถิ่นที่ช้างอยู่ หมอไล่ต้องเล็ดลอดเข้าไปทางใต้ลมมิให้ช้างได้กลิ่น จนแลเห็นตัวช้าง พิจารณาดูว่าจำนวนช้างโขลงนั้นมีสักเท่าใด มีช้างพลายกี่ตัวช้างพังกี่ตัวๆ ไหนเป็นนายโขลง และพิจารณาดูหนทางที่ช้างโขลงนั้นชอบไปมาหากิน เมื่อเห็นประจักษ์หมดแล้วถอยออกมา ประชุมปรึกษากันว่าจะต้อนโขลงไปทางไหนให้ถึงคอก และกะที่ซึ่งจะต้องวางคนสำหรับดักทางคอยช่วยต้อนสักกี่แห่ง เพื่อมิให้ช้างโขลงแตกแยกไปเสียทางอื่น แล้วปันหน้าที่ให้หมอช้างคุมบริวารหมวดของตน แยกกันไปดักทางอยู่ตามถิ่นที่กะทุกแห่ง และมีพวกสำหรับต้อนไล่ทางข้างหลังช้างโขลงอีกพวกหนึ่ง พวกนี้ตัวหมอไล่เป็นผู้คุม ในพวกต้อนช้างมีวิธีที่จะส่งอาณัติสัญญาณต่างๆ ให้รู้ถึงกัน และเข้าใจกันได้ทุกพวก เครื่องมือสำหรับต้อนช้างโขลงนั้น โดยปรกติ “ตะขาบ” คือไม้ไผ่ลำยาวสองปล้อง ปล้องหนึ่งเป็นแต่ผ่ากลางให้แยกออกไป เอากลับเข้ากระทบกันให้เกิดเป็นเสียงได้ อีกปล้องหนึ่งต่อลงมา ผ่าเพียงถึงข้อแล้วเจียนไม้ให้เป็นด้ามมือถือทั้งสองซีก สำหรับจับปล้องที่ผ่ากระทบกันให้เกิดเสียง แต่ปล้องล่างทิ้งไว้ให้ยึดตะขาบทั้งหมดไม่ผ่า การต้อนช้างโขลง ใช้แต่เสียงตะขาบเป็นพื้น ต่อมีการฉุกเฉิน เช่นช้างจะแหกออกนอกทางทั้งโขลง จึงใช้จุดคบไฟรายขวางทาง
วิธีต้อนช้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญการจับช้างแต่โบราณ เขาสังเกตรู้นิสัยช้างเถื่อน ซึ่งย่อมมีช้างตัวนายโขลงเป็นผู้คอยระวังภัยทุกโขลง ถ้าช้างนายโขลงเห็นสิ่งใดหรือได้ยินเสียงอันใดแปลกประหลาด ระแวงว่าจะ “เกิดภัย” ก็ทิ้งงวงดัง “ป๋อง” เป็นเสียงสัญญาณบอกแก่ลูกโขลง เขาว่าพอช้างลูกโขลงได้ยินเสียงสัญญาณของนายโขลงครั้งแรก ก็หยุดยืนนิ่งเตรียมตัวหมด ถ้าได้ยินเสียงร้อง “แปร๋” เป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ก็พากันมารวมอยู่กับตัวนายโขลง มีสัญญาณครั้งที่ ๓ ด้วยตัวนายโขลงออกเดินนำ ช้างลูกโขลงก็พากันตามติดไป พวกต้อนช้างเขารู้อย่างนั้น พอจัดหน้าที่วางคนระวังทางแล้ว พวกกองหมอไล่ก็ไปรายกันทางด้านหลัง เริ่มการต้อนด้วยหมอไล่ให้สัญญาณ สั่งให้ตีตะขาบให้ดังขึ้นที่ในดงเป็นนัดแรก ตัวหมอไล่เองต้องพยายามอยู่ให้ใกล้พอเห็นตัวช้างนายโขลง สังเกตว่าจะทำอย่างไร และให้อาณัติสัญญาณแก่พวกตีตะขาบให้ตีเมื่อไร ให้เหมาะแก่กิริยาอาการของช้าง ก็วิสัยช้างนายโขลงนั้น ได้ยินเสียงตะขาบเกิดขึ้นทางไหนก็พาโขลงหนีออกไปเสียจากทางนั้น คนจึงสามารถใช้เสียงตะขาบซึ่งรายกันอยู่ ต้อนช้างโขลงให้ไปทางไหนๆ ได้ตามปรารถนา แต่ค่อยๆ ต้อนโขลงมาช้าๆ และมีเวลาหยุดพักให้ช้างรู้สึกว่าปลอดภัยไม่ตื่นเต้น เพราะถ้าช้างตื่นทั้งโขลงแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็เอาไว้ไม่อยู่ เวลาต้อนโขลงช้างนั้นต้องระวังอยู่เสมอ มิให้ช้างเห็นตัวหรือได้ยินเสียงคน ถ้าโขลงช้างเดินตรงมาตามทางที่ประสงค์ คนก็เป็นแต่ตามมาห่างๆ ถ้าช้างหยุดยั้งอยู่นานเกินไปก็ส่งเสียงตะขาบทางข้างหลังเตือน ถ้าโขลงช้างจะเชือนไปเสียทางอื่น คนพวกที่รายทางดักกันอยู่ด้านนั้นก็ส่งเสียงตะขาบหนัก ช้างได้ยินก็หันกลับมาเดินทางเดิม ด้วยสำคัญว่าปลอดภัย ถ้าจะต้อนโขลงช้างผ่านทุ่งหรือข้ามลำน้ำ ต้องต้อนในเวลากลางคืน เพราะคนอาจเข้าไปใกล้กว่าต้อนกลางวัน ต้อนแต่ด้วยเสียงตะขาบอย่างนั้นมาได้จนถึงคอก แต่ต้องกะให้ถึงเวลามืดค่ำ อย่าให้ช้างเห็นแนวเสาปีกกาที่ปักต้าย จนโขลงช้างผ่านพ้นแนวเสาปีกกาถึงปากคอก จึงจุดต้ายไฟที่รายไว้ปิดทางข้างหลัง และโห่ร้องรุกไล่ให้ช้างตื่นวิ่งหนีเข้าคอก แล้วปิดประตูขังไว้ในคอกหมดทั้งโขลง
การจับช้างเถื่อน ใช้เอาเชือกหนังทำเป็นบ่วงคล้องตีนหลังของช้างอย่างเดียวกันทุกวิธี เชือกหนังที่คล้องนั้นคำหลวงเรียกว่า “เชือกบาศ” แต่พวกหมอคล้องช้างเชลยศักดิ์ทั้งทางแหลมมลายูและทางข้างเหนือเรียกว่า “เชือกปะกรรม” (ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่าเดิมเป็นศิษย์ละว้าด้วยกัน) ถ้าช้างขนาดย่อมคล้องเส้นเดียวก็อยู่ ถ้าขนาดเขื่องต้องคล้องสองตีนข้างละเส้น ถ้าเป็นช้างขนาดใหญ่ ต้องคล้องทั้งสองตีน ข้างละสองเส้น แต่การที่คล้องนั้นผิดกัน เพราะจับอย่างโพนช้าง หรือจับอย่างตำราหลวงที่เพนียด คนคล้องขี่คอช้างต่อไล่คล้อง แต่จับอย่างวังช้าง คล้องเมื่อช้างเถื่อนอยู่ในคอกแล้ว คนคล้องอยู่กับแผ่นดินข้างนอกคอก เอาบ่วงบาศติดปลายไม้คันจามเหมือนกับถ่อ สอดเข้าไปคล้องทางช่องเสาคอก เลือกคล้องช้างพลายที่ดุร้ายก่อน แล้วคล้องช้างพลายขนาดย่อมต่อลงมา จนหมดช้างพลายแล้วจึงคล้องช้างพัง เมื่อคล้องได้หมดแล้วค่อยขันเชือกบาศกับโคนเสาคอก ฉุดตัวช้างมาจนอยู่ติดกับเสาคอก แล้วโยนเชือก “ทาม” ผูกคอช้างเถื่อนที่ติดเชือกบาศนั้น ตอน “โยนทาม” นี้ที่ลำบากมาก ด้วยช้างเถื่อนกำลังเป็นบ้าอาละวาด ไม่ยอมให้ผูกทามได้ง่ายๆ ต้องมีคนพวกหนึ่งยืนอยู่กับแผ่นดิน อีกพวกหนึ่งอยู่บนสะพานยาวที่ทำไว้ข้างคอก คอยช่วยกัน ถ้าเป็นช้างดุร้ายต้องมีคนล่อให้ช้างนั้นมุ่งไปเสียทางอื่น คนลอบเข้าผูกทามอีกทางหนึ่ง แต่โดยปรกติมักเอาใบไม้ผูกเป็นแผงบังตาช้างเถื่อน มิให้เห็นคนผูกทาม พยายามจนผูกได้หมดทุกตัว การวังช้างผิดกับจับด้วยวิธีอื่นเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช้ช้างต่อต้อนหรือคล้องช้างเถื่อน จนคนจับช้างเถื่อนผูกทามไว้ในคอกหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อเข้าไปผูกเชือกล่ามจากทามที่คอช้างเถื่อน มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ จูงช้างเถื่อนให้ลากเชือกบาศออกจากคอก เอาไปผูกไว้ ณ ที่หัดช้างทีละตัวจนหมดคอก วิธีหัดช้างเป็นอย่างไร จะพรรณนาเป็นตอนหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า
การจับช้างอย่างวิธี “วังช้าง” ที่พรรณนามา พิเคราะห์ดูแต่โบราณ เห็นจะใช้แต่สำหรับจับช้างใช้ราชการบางครั้งบางคราว หาอนุญาตให้ใครๆ ตั้งคอกวังช้าง เพื่อประโยชน์ของตนเองตามชอบใจไม่ มีในเรื่องพงศาวดารว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จไปเที่ยววังช้างทางมณฑลนครสวรรค์และที่อื่นๆ ได้ช้างคราวละสี่สิบห้าสิบตัวเป็นหลายครั้ง จับครั้งหนึ่งช้างเถื่อนก็หมดไปโขลงหนึ่ง และทำให้ช้างโขลงอื่นที่ยังเหลืออยู่ทิ้งภูมิลำเนา ไม่เหมือนกับจับด้วยวิธีโพนช้าง ซึ่งเลือกจับเอาแต่ทีละตัวสองตัว ช้างนอกจากนั้นยังเหลืออยู่ทั้งโขลง และช้างพอเกิดทันให้จับใช้ ถ้าหากท้องที่ที่ช้างอยู่จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้ ก็คงอนุญาตด้วยมีจำกัด ถึงเดี๋ยวนี้ถ้าใครจะตั้งคอกจับช้างที่ไหน ก็ต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลก่อน จับช้างได้กี่ตัว รัฐบาลตีราคาช้างแล้วชักภาคหลวง (ฉันเข้าใจว่าร้อยละ ๑๐ ในราคาช้าง แต่หาจำกัดจำนวนช้างที่จับไม่) การวังช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ได้ยินว่ามีแต่ที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน นอกจากนั้น จะมีที่จังหวัดไหนอีกบ้าง ฉันหาทราบไม่
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 15:15:14 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #31 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:14:13 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ) วิธีโพนช้าง การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “โพน” นั้น ดูเหมือนแต่โบราณจะใช้กันทั่วไปเป็นสามัญ สำหรับหาช้างใช้สอยกันเป็นส่วนตัว เพราะจับช้างแต่ทีละตัวสองตัว รัฐบาลไม่รังเกียจกลัวช้างจะหมดเหมือนกับจับอย่างวังช้าง ถึงกระนั้นก็มิใช่ใครๆ จะไปเที่ยวโพนจับเอาได้เองตามปรารถนา เพราะการจับช้างเถื่อนเป็นการยาก กอปรด้วยภัยอันตรายแก่ผู้จับมาก ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีช้างต่อที่ฝึกหัดไว้คล่องแคล่ว จึงสามารถโพนช้างได้ จึงมีพวกเชี่ยวชาญเรียกกันว่า “หมอโพนช้าง” หาเลี้ยงชีพด้วยโพนช้างขาย ตั้งอยู่ตามถิ่นที่มีช้างโขลงเป็นแห่งๆ และฝึกหัดลูกหลานของตนให้หากินด้วยการโพนช้างสืบต่อกันมา ในบัดนี้ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ หลายมณฑล เป็นต้นแต่มณฑลพิษณุโลก นครสวรรค์ ลงมาจนเมืองชัยบาดาล ในมณฑลอยุธยาและมณฑลปราจีน แต่ในมณฑลราชบุรีจะมีหรือไม่ฉันไม่ทราบแน่ ฝ่ายตะวันออกในมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดรและอีสาน ก็จับช้างด้วยวิธีโพน ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ทั้งนั้น ว่าโดยย่อ การจับช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีโพนเป็นพื้น นานๆ จะได้ยินว่ามีการวังช้างสักครั้งหนึ่ง และมีแต่ในหัวเมืองทางแหลมมลายูและมณฑลพายัพเท่านั้น
ตามแหล่งที่พวกหมออยู่แต่ละแหล่ง มีหมอช้างหลายคน ต่างคนต่างมีช้างต่อและคนลูกมือของตน แยกกันโพนหรือรวมกันโพนได้ทั้งสองอย่าง ในแหล่งหนึ่งๆ พวกหมอช้างสมมตหมอช้างด้วยกันเอง ซึ่งมีอายุเป็นอาวุโส และกำหนดว่าต้องเคยคล้องช้างเถื่อนได้แต่ ๕ ตัวขึ้นไปเป็น “หมอเฒ่า” คนหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถืออย่างครูบาอาจารย์ ด้วยพวกโพนช้างถือกันเป็นคติว่าผู้จะคล้องช้างต้องได้เข้าพิธีให้หมอเฒ่าครอบก่อน แล้วจึงจะเป็น “หมอ” คล้องช้างได้ ก็เป็นทำนองต้องสอบวิชาก่อนรับปริญญานั่นเอง พึงเข้าใจได้ว่าโดยปรกติ พวกหมอช้างคงใช้ลูกหลานเป็นผู้ช่วยทำการอย่างอื่นในการโพนช้างไปก่อน จนรู้และคุ้นกับกระบวนการจนถึงขนาดอาจคล้องช้างได้ จึงขอให้หมอเฒ่า “ครอบ” แล้วก็เรียกว่าเป็น “หมอช้าง” ต่อไป หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พวกโพนช้างก็เป็นเหมือน “สมาคม” อันหนึ่ง ซึ่งหวงอาชีพมิให้คนภายนอกเข้าไปแย่ง จึงสามารถรักษาวิชาอาชีพของพวกตนไว้ได้ตลอดมา แต่พวกโพนช้างที่อยู่ในมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลปราจีน และมณฑลอยุธยา นับเป็นข้าราชการสังกัดขึ้นอยู่ในกรมพระคชบาลทั้งนั้น ถ้ามีการจับช้างของหลวงเมื่อใด พวกหมอเฒ่ากับหมอช้างทุกแหล่งต้องเอาช้างต่อมาสมทบกับกรมพระคชบาลของหลวงเสมอเป็นนิจ
ลักษณะการโพนช้างที่จะกล่าวต่อไปนี้ ฉันเก็บเนื้อความที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) พรรณนามาเขียน เป็นแต่ถือวิสาสะแก้ไขบ้างเล็กน้อย วิธีที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เรียง กระบวนความแยกเป็น ๒ ตอนเข้าใจง่ายดี ฉันจึงคงไว้อย่างรูปเดิมตอนเตรียมการ ๑. ถ้าจะโพนช้าง ต้องปรนปรือช้างต่ออันล้วนเป็นช้างพลายให้อ้วนพีมีกำลังก่อน เพราะธรรมดาช้างเถื่อนย่อมมีกำลังกว่าช้างบ้าน ซึ่งเจ้าของใช้การงานอยู่เสมอ ต้องหยุดงานทอดช้างต่อให้กินนอนอิ่มหนำอยู่สักเดือนหนึ่ง ในระหว่างนั้นเจ้าของก็ตระเตรียมเชือกบาศและเครื่องใช้ กับทั้งเสบียงอาหารไปด้วยกัน
๒. เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ต้องทำพิธี “ยกครู” (มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “พิธีไหว้ครู”) ถ้าหมอเฒ่าเป็นผู้อำนวยการ และมีหมอช้างที่เป็นชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยอีก ๒ คน ลักษณะพิธียกครูนั้น ปลูกโรงพิธีด้วยเครื่องไม้ (ที่ในลานบ้านหมอเฒ่า) กลางโรงพิธีมีที่บูชาตั้งเทวรูปกับเครื่องทำพิธีมีหม้อน้ำมนตร์เป็นต้น ข้างหน้าพระ ตั้งเครื่องสักการะและเครื่องสังเวยเทวดา ต่อออกมาข้างหน้าที่บูชา วางเชือกบาศไว้ขดหนึ่งและกองไฟรายกันไว้ ๓ กอง หมอเฒ่าเป็นผู้หาวันฤกษ์ดี แล้วนัดบรรดาผู้ที่จะไปโพนช้างมาประชุมกันที่โรงพิธี หมอเฒ่านั่งกลางโรงตรงหน้าที่บูชา หมอผู้ช่วยอีก ๒ คนนั่งสองข้าง คนอื่นนั่งเรียงกันเป็นวงล้อมรอบ เริ่มการพิธีด้วยจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและครูปัทยายรายตัวหมดทุกคน เมื่อบูชาแล้วหมอเฒ่าทำพิธีครอบผู้ที่จะขึ้นครูเป็นหมอช้าง คนเหล่านั้นแต่ละคนต้องมีขันล้างหน้าใบหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่ง กับเงิน ๖ สลึง (บาทหนึ่งกับ ๕๐ สตางค์) เป็นของกำนนให้หมอเฒ่าผู้เป็น “ครูบา” (อุปัชฌายาจารย์) ครูบาว่า “คำยกหมอ” ให้พวกคนเข้าใหม่ว่าตามพร้อมๆ กันทีละวรรค เป็นคำบูชาครูปัทยาย ขอให้มาครอบงำอยู่ให้ชำนาญการคล้องช้าง ให้ปราศจากอันตรายและเสนียดจัญไรทั้งปวง ลงท้ายหมอเฒ่าให้คนเหล่านั้นปฏิญาณว่าจะโพนช้างเป็นอาชีพต่อไป จะไม่ฆ่าช้างยิงช้าง และจะปฏิบัติตามโอวาทของครูบาเป็นนิจ เมื่อปฏิญาณแล้วครูบาพรมน้ำมนตร์ให้ทุกคน แล้วให้คนเหล่านั้นอมน้ำอันเจือมูลช้าง พ่นลงที่เชือกบาศ ทุกคนเหมือนกัน เป็นเสร็จการ “ครอบ” แล้ว (หมอช้าง ๒ คนที่เป็นผู้ช่วย) ขึ้นขี่ช้างจับเดินรอบโรงพิธี ตัวเองทำท่าทางคล้องช้างและกล่าวคำเป็นโชคชัยให้พรต่างๆ แล้วหุงข้าวที่กองไฟในโรงพิธีทั้ง ๓ กองนั้น หุงข้าวแล้วเป็นเสร็จการพิธียกครู
๓. พวกโพนช้าง ก็เชื่อเสนียดจัญไรทำนองเดียวกันกับพวกวังช้าง เป็นต้นแต่ถือกันว่าเวลาออกไปเที่ยวโพนช้าง จะแต่งตัวให้โอ่โถงไม่ได้ ต้องใช้เครื่องนุ่งห่มแต่ที่เก่าคร่ำคร่า ใครไม่มีก็ทำเครื่องแต่งตัวที่ใช้อยู่ให้ชำรุดขาดวิ่นเสียบ้างแล้วจึงไป ในเวลาไปอยู่ในป่าห้ามมิให้ตัดผม แม่ลูกเมียอยู่ทางบ้านก็ห้ามมิให้ใส่น้ำมันหรือตัดผมแต่งตัวให้สวยงามอย่างไร ถือว่าถ้าทำเช่นนั้น เป็นเสนียดจัญไรพาให้เกิดภัยอันตรายแก่ผู้ไปโพนช้างตอนเข้าป่า ๔. เมื่อถึงวันฤกษ์ตามนัด พวกโพนช้างออกเดินเป็นขบวนไปด้วยกัน ช้างต่อทุกตัวมีหมอขี่คอควาญขี่ท้าย กลางหลังช้างปูหนังวัวหลายผืนพับซ้อนกัน เชือกบาศม้วนแยกเป็น ๒ วงวางบนหนังนั้น มีไม้รวกเหมือนกับถ่อเรียกว่า “คันจาม” สำหรับสอดกับบ่วงบาศถือคล้องช้าง ผูกไปข้างช้างที่ริมเชือกบาศ และมีไม้ “งก” รูปเหมือนกับ “ไม้ค้อน” แต่ที่ตรงหัวเหลาเป็นปุ่มแหลม สำหรับควาญใช้ตีท้ายช้างเวลาต้องการจะให้วิ่ง ผูกติดไปกับเชือกบาศอันหนึ่ง เสบียงอาหารก็ใส่กระเช้าผูกห้อยไปบนหลังช้าง เป็นอันมีคนและเครื่องใช้ครบครันประจำทุกตัวช้างต่อ
๕. เมื่อยกไปถึงชางดงที่จะโพนช้าง หมอเฒ่าสั่งให้หยุดพักทำ “พิธีเบิกไพร” คือบวงสรวงเจ้าป่าและเส้นเชือกบาศก่อน การพิธีนั้นเอาเชือกบาศทั้งหมดวางรวมกันไว้กลางวง พวกหมอช้างจุดธูปเทียนบูชาและถวายเครื่องกระยาหารบวงสรวง อธิษฐานขอให้ทำการสำเร็จดังปรารถนา แล้วเสี่ยงทายด้วยถอดกระดูกคางไก่เครื่องเส้นตัวหนึ่งมาดู ถ้าได้กระดูกยาวเรียวอย่างงาช้างและมีข้อถี่ ถือกันว่าโชคดี ถ้าได้กระดูกหักหรือข้อห่าง ถือกันว่าเป็นอัปมงคล
๖. ทำพิธีเบิกไพรแล้ว จึงเลือกหาที่ตั้งชมรมสำหรับพวกโพนช้างพัก ให้เป็นที่ใกล้หนองน้ำและมีหญ้าหรือใบไม้พอเลี้ยงช้างต่อ และให้ห่างทำเลที่ช้างเถื่อนอยู่ พอไปและกลับมาถึงได้ในวันเดียว ตัวชมรมนั้นทำเครื่องหมายขอบเขตเป็นบริเวณอันหนึ่ง ห้ามมิให้คนอื่นนอกจากพวกโพนช้างด้วยกันเข้าไป “เข้ากรรม” แล้วปลูกพะเพิงเป็นที่อาศัยของพวกโพนช้างอยู่ในบริเวณนั้น เพิงหลังกลางเป็นที่ตัวนายอยู่ มีกำหนดว่าให้หมอเฒ่าที่เป็นครูบานอนข้างขวา หมอช้างนอนข้างซ้าย ควาญนอนทางปลายตีน และต้องให้ครูบานอนก่อนแล้ว ผู้อื่นจึงนอนได้ อนึ่งในเวลาที่ไปอยู่ในชมรมนั้น พวกโพนช้างต้องพูดกันด้วย “ภาษาโพน” (นายแม้น) สังเกตว่าคล้ายภาษามอญหรือเขมร ได้ถามจดมาไว้เป็นตัวอย่างบางคำ เช่น
เชือกบาศ เรียกว่า ปะกรรม ขอช้าง เรียกว่า บังคลอง ข้าว เรียกว่า กรวด น้ำ เรียกว่า อวน
ดั่งนี้เป็นต้น
น่าจะแทรกวินิจฉัยลงตรงนี้สักหน่อยหนึ่ง เพราะว่า เหตุใดเมื่อพวกโพนช้างเข้ากรรม จึงพูดกันด้วย “ภาษาโพน” อันมิใช่ภาษาไทยของตนเอง และที่ว่าภาษาโพนคล้ายกับภาษามอญและเขมรนั้น ฉันเห็นเป็นเค้าสำคัญในทางโบราณคดี ส่อว่าพวกชาวอินเดียได้พาวิชาจับช้างเข้ามาถึงเมืองไทยนี้แต่ในสมัยเมื่อละว้ายังเป็นเจ้าของเมือง พวกละว้าเป็นศิษย์เดิมของชาวอินเดีย ครั้นไทยลงมาเป็นเจ้าของเมือง มาเรียนวิชาจับช้างจากพวกละว้าอีกต่อหนึ่ง ภาษาที่พูดกันในเวลาไปโพนช้างจึงเป็น ๒ ภาษาขึ้น คงมีละว้าบางพวกที่ไม่อยากทำการปะปนกับไทย เลือกเอาแต่พวกละว้าที่รู้ภาษาเดิมไปโพนช้างด้วยกัน แต่นานมาละว้ากับไทยร่วมพงศ์วงศ์วารกันยิ่งขึ้นโดยลำดับ การที่ใช้ภาษาละว้าเมื่อไปโพนช้างเป็นแต่ทำตามเคย ก็เลยเป็นแต่อย่างพิธีสืบมา ที่ว่านี้มีหลักอย่างอื่นที่จะอ้างประกอบอีก ด้วยในพวกกรมช้างเองก็ถือตัวว่าต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูมอญ บางคนก็เรียกว่าครูลาว (คือพวกละว้า) ครอบ พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูไทยครอบ ชวนให้เห็นว่าคติอย่างครูละว้าเป็นแบบเก่า คติอย่างครูไทยเป็นแบบใหม่ ฉันใคร่จะสันนิษฐานว่า พราหมณ์พฤฒิบาศพาเข้ามา เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมาเป็นต้นตำราหลวงตอนตามช้าง ๗. พอตั้งชมรมแล้ว รุ่งเช้าครูบาก็ให้หมอควาญขี่ช้างไปเที่ยวสอดแนมช้างเถื่อน ธรรมดาช้างเถื่อนเวลากลางวันย่อมหากินอยู่แต่ในดง ต่อกลางคืนจึงออกเที่ยวหากินตามที่แจ้ง การที่สอดแนมนั้นไปเที่ยวตรวจดูตามชายดง ตรงที่มีหนองน้ำหรือป่าหญ้า ดูรอยตีนช้างออกหากินใหม่ๆ มีที่ตรงไหน ก็จะได้ดักโพนที่ตรงนั้น
๘. เมื่อสอดแนมรู้ตำแหน่งที่ช้างเถื่อนออกมาหากินแล้ว พอเวลาพลบค่ำหมอควาญก็พากันผูกช้างต่อ ปลดสิ่งซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ในการคล้องช้างออกหมด เพิ่มแต่เชือกสายทามอันผูกติดไว้กับต้นเชือกบาศ สำหรับผูกช้างเถื่อนที่คล้องได้จูงกลับมา ผูกสวมกับคอช้างต่อทุกตัวแล้วพากันไป
๙. ช้างเถื่อนที่อยู่ด้วยกันเป็นโขลง มีจำนวนช้างมากบ้างน้อยบ้าง มีช้างพังตัวใหญ่เรียกว่า “แม่แปรก” เป็นนายโขลง แต่ช้างพลายตัวใหญ่ทั้งที่เป็นช้างงาและเป็นสีดอไม่มีงา อยู่ในโขลงถูกช้างเด็กเล็กรบกวนรำคาญ จึงมักออกเที่ยวหากินโดยลำพังอยู่นอกโขลง เวลาหมอควาญขี่ช้างต่อไปตามช้างโขลง ต้องคอยหลบเลี่ยงช้างใหญ่ เพราะมันมีกำลังมากกว่าช้างต่อ แต่บางทีก็หลบไม่พ้น เพราะช้างใหญ่มันเข้ามาไล่ตามลำพังใจของมันเอง ถ้าช้างต่อหนีก็อาจจะเป็นอันตราย ต้องเรียงตัวกันหันหน้าสู้ ช้างใหญ่บางตัวเห็นช้างต่อมากกว่าก็หนีไป แต่บางตัวเป็นช้างดุก็เข้าชน หมอควาญก็ต้องขับช้างต่อเข้ารุมกันชน และคนบนหลังช่วยกันเอาหอกแทงจนมันหนีไปจึงพ้นภัย
๑๐. พวกตามช้างต้องพยายามเข้าทางใต้ลมที่ช้างโขลงอยู่ เพราะวิสัยช้างได้กลิ่นไกลและช้างโขลงชำนาญวิธีหนีภัย ถ้าเข้าทางเหนือลม พอช้างแม่แปรกได้กลิ่นแปลก ก็ทิ้งงวงดังป๋องเป็นสัญญาณ บรรดาช้างลูกโขลงได้ยินก็ระวังตัว ถ้าแม่แปรกคาดว่าจะมีภัยก็ร้องแปร๋ขึ้นเป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ช้างลูกโขลงต่างก็พากันมารวมกันอยู่กับแม่แปรก พอแม่แปรกรู้แน่ว่าจะมีภัย ให้สัญญาณร้องแปร๋อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็นำโขลงหนีเข้าดงไปให้พ้นภัย เป็นธรรมดาของช้างโขลงดังนี้ทุกแห่ง ถ้าพวกตามช้างเข้าทางใต้ลม พอช้างต่อได้กลิ่นช้างโขลงก็ยกงวงขึ้นชี้ไปทางที่โขลงอยู่ เป็นเครื่องสังเกตของหมอควาญให้ขับช้างเข้าไปทางนั้น บางทีเข้าไปได้จนใกล้ๆ โขลง ด้วยเป็นเวลากลางคืนตอนคล้องช้าง ๑๑. ถ้าไปพบช้างโขลงกำลังหากินอยู่นอกดงในที่แจ้ง พอพวกตามเข้าไปถึงโขลงก็ขับช้างต่อไล่ การไล่นี้จำจะต้องให้ช้างต่อวิ่งเร็วทันช้างเถื่อน ต้องอาศัยไม้ “งก” รูปเหมือนค้อนที่ควาญถือ ตีตะโพกช้างต่อให้เจ็บ ช้างต่อทุกตัวเคยถูกตีรู้รสไม้งก จนเห็นเข้าก็กลัว ควาญจึงอาจขับให้วิ่งทันช้างเถื่อนได้ ในเวลาที่ไล่นั้นหมอช้างตรวจดูช้างที่จะคล้องไปด้วย มักชอบคล้องช้างพลายขนาดสูงราวสัก ๓ ศอกและมีงางอกพ้นพรายปาก หมอช้างคนไหนหมายจะคล้องช้างตัวไหน ก็ขับช้างต่อมุ่งตามช้างตัวนั้นไป การที่ตามนี้บางทีก็ลำบาก ด้วยแม่ช้างมักให้ช้างเล็กวิ่งไปข้างหน้า ตัวเองวิ่งป้องกันไปข้างหลัง เวลาช้างต่อไปทันแม่ช้างก็มักขวางเสียมิให้เข้าถึงตัวที่ปรารถนาจะคล้อง หมอช้างต้องให้ช้างต่องัดแม่ช้าง หรือทำอย่างไรให้เจ็บจนต้องหลีกหนีไป ใช่แต่เท่านั้น เวลาไล่โขลงช้างๆ เถื่อนวิ่งไปทางไหน ช้างต่อต้องวิ่งตามติดไป บางแห่งช้างวิ่งลอดต้นไม้ หมอควาญต้องคอยระวังตัวหลบหลีกกิ่งไม้ไปกับช้าง ถ้าหลบหลีกไม่ทันก็ตกช้างทั้งหมอทั้งควาญ
๑๒. เมื่อไล่ทันช้างตัวที่หมายจะคล้อง หมอช้างถือไม้คันจามอันติดบ่วงบาศอยู่ที่ปลายไม้ สอดปลายไม้ลงไปใต้ท้องช้างเถื่อน กะวางบ่วงบาศกับแผ่นดินให้พอเหมาะเวลาช้างเถื่อนก้าวขาหลังตีนเหยียบลงตรงในบ่วงบาศ แล้วกระชากเชือกบาศให้บ่วงติดตีนช้าง เป็นการยากอย่างยิ่ง ด้วยต้องคล้องในเวลาช้างกำลังวิ่งทั้ง ๒ ตัว และต้องวางบ่วงบาศให้ถูกที่และทันเวลา จึงคล้องติด ตอนนี้สำคัญอยู่ที่ควาญต้องขับช้างต่อให้วิ่งเคียงอยู่กับช้างเถื่อน ได้ระยะที่เหมาะแก่การคล้อง เขาว่าหมอกับควาญต้องเป็นคนเคยกัน จึงจะคล้องได้สะดวก พอคล้องเชือกบาศติดตีนช้างแล้ว หมอยังต้องกระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดติดตีนช้างให้แน่น แล้วไสช้างให้เบนไปข้างซ้ายจนขวางตัว จึงผลักขดเชือกบาศให้ตกลงดินแล้วเบนหน้าช้างขับออกไปจากช้างเถื่อน เพื่อดึงเชือกบาศให้คลี่จนตึงถึงปลายเชือกที่ผูกไว้กับทามที่คอช้างต่อ ถ้าคล้องช้างขนาดใหญ่ขึ้นไปเกรงเชือกบาศเส้นเดียวจะขาด ต้องให้ช้างต่อตัวอื่นเข้าคล้องอีกตีนหนึ่งให้เป็น ๒ เส้น จึงจะเอาไว้อยู่ เมื่อคล้องช้างติดเชือกบาศแล้วยังมีความลำบากอยู่อีก ด้วยช้างแม่แปรกหรือแม่ช้างที่ลูกถูกคล้อง มักกลับมาช่วยรังควานช้างต่อด้วยประการต่างๆ หรือมาวิ่งเวียนอยู่รอบๆ ไม่ทิ้งไป ต้องเอาช้างต่อตัวเปล่าไสเข้าไล่แม่ช้างจนหนีไปหมดแล้วจึงปลดปลายเชือกบาศจากคอช้างต่อให้คนเอาไปผูกไว้กับต้นไม้
๑๓. เมื่อคล้องช้างผูกเชือกบาศไว้แล้ว ต้องให้ช้างต่อและคนเฝ้าอยู่ ณ ที่คล้อง คอยไล่แม่ช้างที่จะมาช่วยอีกคืนหนึ่ง จนช้างโขลงหายไปหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อ ๒ ตัวเข้าเทียบข้างช้างเถื่อนที่คล้องได้ เอาเชือกสายทามคล้องคอช้างเถื่อนผูกล่ามกับสายทามที่คอช้างต่อ จูงมายังที่ชมรมหมอเฒ่ารดน้ำมนตร์ปัดรังควานแล้ว เอาผูกไว้กับต้นไม้เริ่มฝึกหัดต่อไป
นายแม้น วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เคยเห็นโพนช้างเมื่อยังเป็นที่พระเฑียรคราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ได้เป็นข้าหลวงคุมโพนช้างกองหนึ่ง ออกไปค้นหาช้างเผือกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ไปอยู่ในป่ากับพวกโพนช้างกว่า ๒ เดือน จนพบช้างเผือก “พระเศวตวชิรพาหะ” คล้องได้ที่ตำบลเนินโพธิ์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน จึงได้ความรู้มาเขียนอธิบายดังพรรณนามาวิธีจับช้างอย่างราชกีฬา วิธีจับช้างตำราหลวง ใช้สำหรับจับช้างพลายขนาดใหญ่ สูงกว่า ๔ ศอกขึ้นไปจนถึง ๕ ศอก ซึ่งจะใช้ฝึกหัดใช้เป็นช้างรบศึก ช้างขนาดนั้นมีกำลังไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้จึงต้องใช้วิธีจับอย่างนี้ ว่าโดยย่อคือต้อนโขลงช้างโขลงจากป่ามาเข้าเพนียดที่ราชธานี เลือกคล้องช้างขนาดที่ต้องการได้หมดแล้ว ปล่อยช้างโขลงกลับไปอยู่ป่าตามเดิม ผิดกับวิธีจับช้างอย่างอื่น ซึ่งพรรณนามาแล้ว เรียกกันเป็นสามัญว่าวิธี “จับเพนียด” แต่ฉันเห็นควรเรียกว่า “วิธีตำราหลวง” เพราะไม่มีผู้อื่นทำได้ นอกจากเป็นการหลวงกรมพระคชบาล หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” เป็นเจ้าหน้าที่จัดการทั้งปวง กรมช้างมีแหล่งแยกกันอยู่เป็น ๓ แห่ง พวกพนักงานช้างรบและทำพิธีคชกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง พวกพนักงานคล้องช้างอยู่ที่เพนียด ณ พระนครศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง พวกพนักงานรักษาช้างเถื่อนเรียกว่า “กรมโขลง” อยู่ที่บ้านนาแขวงจังหวัดนครนายกแห่งหนึ่ง ขึ้นอยู่ในเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่ เช่นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงบัญชาการกรมพระคชบาลทั้ง ๓ พวก ถ้าจะมีการจับช้างเมื่อใด ต้องตระเตรียมกว่าเดือน ด้วยต้องปรนปรือช้างต่อและเรียกระดมคนกรมช้าง มาซ่อมแซมเพนียดและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเกณฑ์ช้างต่อหมอควาญพวกโพนช้างที่ได้กล่าวมาก่อน มาสมทบกับช้างต่อของหลวงที่บ้านนา พร้อมกันแล้วจึงเริ่มปกโขลงช้างเถื่อนลักษณะปกโขลง ธรรมดาของช้างเถื่อน ย่อมอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากตัวบ้างน้อยตัวบ้าง แต่ละโขลงมีช้างพังใหญ่เป็นแม่แปรกนายโขลงตัวหนึ่ง และมักมีช้างพลายใหญ่เป็นช้างงาบ้าง ช้างสีดอไม่มีงาบ้าง ติดตามอยู่นอกโขลงตัวหนึ่งหรือหลายตัวแทบทุกโขลง ช้างเถื่อนที่เอามาคล้อง ณ เพนียด ล้วนเป็นช้างโขลงหลวงอยู่ในทุ่งหลวง แยกย้ายกันหากินอยู่ตามที่ต่างๆ แต่พวกกรมโขลงเขาคอยสอดแนมอยู่เสมอ รู้ว่าโขลงไหนอยู่ที่ไหน มีทะเบียนเรียกชื่อโขลงตามชื่อซึ่งเขาเรียกช้างตัวแม่แปรกหมดทุกโขลง เช่นเรียกว่า “โขลงพังหมู” และ “โขลงพังนกยูง” เป็นต้น แต่ช้างโขลงในทุ่งหลวงมีวิสัยต่างกันเป็น ๒ พวก พวกที่หากินอยู่ใกล้ถิ่นที่คนอยู่ เช่นอยู่ตามที่ชายทุ่งชายนาดังกล่าวมาแล้ว ได้เคยพบปะคนเนืองๆ จนไม่ตื่นคน และมิใคร่มุ่งร้ายต่อคน เรียกกันว่า “โขลงเชื่อง” พวกหนึ่ง แต่โขลงที่หากินอยู่ที่เปลี่ยว มิใคร่จะได้พบปะผู้คนมักดุร้าย หมายทำอันตรายคน และมิใคร่เกรงกลัวช้างต่อ ดูเหมือนเรียกกันว่า “โขลงเถื่อน” อีกพวกหนึ่ง
การปกโขลง ต้องมีผู้ใหญ่ในกรมช้างชั้นเจ้ากรมหรือปลัดกรมออกไปถึงบ้านนา สืบถามที่อยู่ของช้างโขลง รู้แล้วก็คุมพวกช้างต่อไปเที่ยวตรวจเห็นโขลงช้างใดมีช้างได้ขนาดที่ปรารถนาจะจับมาก ก็ล้อมไล่โขลงนั้นมาเข้าคอกที่บ้านนา ซึ่งเป็นคอกเสาไม้ซุง สร้างไว้สำหรับรวมช้างโขลงก่อนต้อนมาเข้าเพนียด ถ้าพลช้างใหญ่มีอยู่ที่โขลงใด สังเกตดูขนาดเห็นว่าช้างต่อพอจะสู้ได้ก็ต้อนให้ติดโขลงมา ถ้าเป็นช้างใหญ่กำลังตกน้ำมัน หรือเป็นช้างใหญ่ถึงขนาดที่ตำราห้ามว่า “มิให้คล้องช้างเถื่อนเท่าช้างต่อ” ก็เอาปืนยิงไล่ให้แตกไปเสียจากโขลง ไม่เอาเข้ามา ถ้าโขลงใดไม่มีช้างได้ขนาดที่จะคล้อง ก็ไม่เอาเข้ามาเหมือนกัน แต่พวกช้างโขลงเชื่องนั้นจำเป็นต้องเอาเข้ามาด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นพวกเคยรู้หนทางและเคยคุ้นกับการเข้าเพนียด เอามาชักนำช้างโขลงอื่นให้ติดตามต้อนง่ายขึ้น จำนวนช้างเถื่อนที่ต้อนมาเข้าเพนียดแต่ละครั้ง อยู่ในระหว่างตั้งแต่ ๒๐๐ จน ๓๐๐ ตัว คุมช้างเถื่อนไว้มากเช่นนั้นเป็นการลำบาก จะจับช้างตำราหลวงจึงต้องมีกำหนดวันรู้ล่วงหน้าเป็นแน่นอน พอรวมช้างโขลงพร้อมแล้วในวันหนึ่งหรือสองวัน ก็ต้อนโขลงออกจากบ้านนา การที่ต้อนโขลงมานั้นก็มีช้างต่อนำหน้าโขลงตัวหนึ่ง มักใช้ช้างสีดอให้ช้างเถื่อนสำคัญว่าช้างพัง ให้ช้างต่อที่เป็นช้างงาขนาดย่อม คือช้างต่อของพวกโพนช้างเดินแซงห่างๆ ทั้งสองข้างโขลงเรียกว่า “ช้างค่าย” ให้ช้างโขลงกลัวงาไม่แตกออกไปนอกทาง และให้ช้างต่อขนาดใหญ่อันเรียกว่า “ช้างค้ำ” ตามต้อนมาข้างหลัง ก็วิสัยของช้างเวลาเหน็ดเหนื่อยหรือร้อนแดด ถ้าถึงลำน้ำชอบลงแช่ตัว หรือถ้าถึงทำเลหญ้าบริบูรณ์ ก็ชอบหยุดกินหญ้าให้หายหิว เพราะฉะนั้นการต้อนโขลงช้างมาเพนียด แม้จำนวนช้างถึงหลายร้อยก็ต้อนมาได้ไม่ยากนัก ด้วยค่อยต้อนมาช้าๆ ให้มีเวลาพักกินน้ำกินหญ้ามาตลอดทาง เวลากลางคืนใช้กองไฟรายล้อมห่างๆ ช้างโขลงก็ไม่กล้าแหกหักออกไปเพนียด ตรงนี้จะพรรณนาว่าถึงเพนียดที่คล้องช้างก่อน ที่จริงตัวเพนียดก็ยังอยู่ไม่น่าจะต้องพรรณนา แต่เดี๋ยวนี้เพนียดชำรุดทรุดโทรมเสียมาก เพราะไม่ได้มีการจับช้างที่เพนียดมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ผู้อ่านนิทานนี้ที่ไม่เคยเห็นเพนียดเมื่อยังดีคงมีมาก จึงจะพรรณนาถึงเพนียดไว้ด้วยตามที่ฉันจำได้
เพนียด อยู่ปลายทุ่งทะเลหญ้าทางข้างใต้ ที่ตั้งเพนียดมีลำน้ำอยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ลำน้ำทางด้านตะวันออกเรียกว่า “คลองเพนียด” เป็นท่าคนขึ้นและเป็นทางช้างโขลงข้ามมาเข้าเพนียด ลำน้ำทางด้านตะวันตกเรียกว่า “ลำน้ำโพธิ์สามต้น” สำหรับช้างโขลงลงอาบน้ำเมื่อระบายออกจากเพนียด ตัวเพนียดนั้นเป็นคอกใหญ่ ๒ ชั้น ชั้นนอกก่ออิฐถือปูนเป็นเชิงเทินสูง......ศอก วงเป็นฐาน ๔ เหลี่ยมยาวด้านละ......วา บนหลังเชิงเทินนั้นถมดินเป็นพื้นและมีพนักทั้งข้างนอกข้างใน หลังเชิงเทินทางด้านตะวันตกกว้างกว่าด้านอื่น มีพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรคล้องช้างอยู่เชิงเทิน ทั้งด้านข้างในและด้านข้างนอกเพนียด พลับพลาด้านข้างในสำหรับทอดพระเนตรจับช้างในเพนียด เป็นพลับพลาหลังเดียวยาวตลอดทั้งด้าน ตรงกลางเป็นที่เสด็จประทับ มุขเหนือสำหรับนางใน มุขใต้สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า ทางด้านข้างนอกมีพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรคล้องช้างกลางแปลงสองหลัง หลังข้างใต้เป็นที่เสด็จประทับ หลังข้างเหนือสำหรับนางใน ตรงกลางระหว่างพลับพลาเป็นทางเสด็จขึ้นเพนียด ทางเสด็จขึ้นบนเชิงเทินเพนียดนั้นทำเป็นทางลาด เหมือนเช่นเชิงสะพานช้างมีกำแพงสองข้าง ทรงช้างขึ้นก็ได้ หรือถ้าทรงพระราชยานและวอพระประเทียบขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา ทางขึ้นเชิงเทินข้างด้านเหนือและด้านใต้มีแต่บันไดทำแนบกำแพงเพนียดสำหรับคนเดินขึ้นลงด้านละ ๒ บันได และมีทางถมดินสำหรับช้างราชพาหนะขึ้นลงทางด้านเหนือได้อีกแห่งหนึ่ง แต่ทางด้านตะวันออก อันเป็นด้านช้างโขลงเข้าเพนียด หามีทางขึ้นเชิงเทินไม่ คอกเพนียดนั้นมีประตูทางช้างโขลงเข้าอยู่ตรงกลางทางด้านตะวันออกประตูหนึ่ง ประตูทางช้างโขลงออกอยู่ตรงมุมเชิงเทินข้างใต้ทางด้านตะวันตกประตูหนึ่ง และมีประตูช่องกุด เจาะทะลุเชิงเทินสำหรับพวกกรมช้างเข้าไปถึงเพนียดชั้นใน อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ด้านละ ๒ หรือ ๓ ช่อง ประตูทางช้างโขลงเข้าออกนั้นเรียกว่า “ซอง” เป็นช่องยาวกว่าตัวช้าง ปักเสาซุงเรียงทั้งสองข้างมีแม่แคร่ยึดปลายเสาข้างบน แต่ซุงเสาประตูคู่ที่ปากซองทั้งสองข้าง แขวนปลายเสาไว้เป็นโตงเตง โคนเสานั้นผูกเชือกไปติดกับกว้าน ขันให้เปิดออกเป็นทางเดินได้ หรือหย่อนเชือกให้โคนเสาเข้ามาติดกัน แล้วหย่อนปลอกถักหวายสวมเสาทั้งสองข้างลงมาจากข้างบนยึดเสาไว้ให้ชิดกัน แปลงประตูให้เป็นคอกพอจุตัวช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ขังไว้ในซองนั้นได้
ข้างในวงเชิงเทิน มีคอกปักเสาไม้ซุงสูงสัก ๖ ศอก รายห่างกันพอคนลอดได้ ล้อมเป็นคอกอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “วงภาค” ห่างเชิงเทินเข้าไปขนาดพอคนเดินไปมาได้ในระหว่างเสาวงภาคกับเชิงเทิน ไม่ต้องกลัวช้างเถื่อน ที่กลางวงภาคมีศาลเทพารักษ์ เครื่องไม้หลังคาเป็นยอดมณฑปหลังหนึ่ง ยกพื้นสูงเสมอปลายเสาคอก รอบศาลนั้นปักเสาล้อมเช่นเดียวกับเสาวงภาค และมีเสาปักเรียงกันตรงออกไปสัก ๔ ศอกเป็น ๔ แฉก คอกเล็กนี้เป็นที่อาศัยของพวกพนักงานวัดปลายเชือกบาศ อยู่กลางช้างโขลง
นอกเพนียดทางด้านตะวันตกทางที่ช้างโขลงเข้าเพนียดปักเสาสองข้าง ตั้งแต่ประตูซองเรียงเป็นปีกกา ขยายกว้างออกไปโดยลำดับจนใกล้ฝั่งลำน้ำคลองเพนียด ปีกกานั้นดูเหมือนเป็นสองตอนๆ ต่อเพนียดมีแนวเสาสกัด อาจจะกั้นเป็นคอกนอกเพนียดได้อีกคอกหนึ่ง สำหรับเวลายังมีช้างโขลงที่ไม่ยอมเข้าเพนียดก็ปิดขังไว้ในคอกนั้น จนกว่าจะไล่เข้าเพนียดได้หมด ทางด้านตะวันตกของเพนียด ตรงประตูซองออกไปมีโรงโถงหลังหนึ่ง ปักเสาตะลุงมีแป้นหมุนได้บนปลายเสาไว้ตรงกลาง เรียกว่า “โรงคู่แขก” สำหรับผูกช้างใหญ่เกินขนาดที่จะพาไปยังโรงหัดได้ในวันแรกจับ ต่อออกไปเป็นสนาม สำหรับคล้องช้างกลางแปลงตลอดทั้งด้าน ถมดินเป็นคันไว้ทางริมสนามด้านนอก บังตามิให้ช้างโขลงเมื่ออยู่ในสนามแลเห็นลำน้ำทางด้านนั้น บนคันนั้นมีศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนเป็นกุฎีอยู่หลังหนึ่ง และยังมีศาลเจ้าอยู่ริมเพนียดทางด้านเหนืออีกศาลหนึ่ง สร้างอุทิศต่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์ เรียกกันว่า “กรมหลวงเฒ่า” พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๓ ด้วยได้ทรงบูรณะเพนียดให้คืนดีขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางข้างใต้เพนียด พ้นทางเดินออกไปมีโรงช้างต่อ และโรงสำหรับหัดช้างที่จับได้อีกหมู่หนึ่ง ลักษณะเพนียดตามที่ฉันจำได้เป็นดังพรรณนามานี้
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 15:35:35 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #32 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:27:02 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ)
วิธีคล้องช้างที่เพนียด การจับช้างที่เพนียดเป็นงาน ๓ วัน วันที่หนึ่งต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด วันที่สองคล้องช้างใหญ่ในเพนียด วันที่สามคล้องช้างย่อมที่กลางแปลง ถึงวันที่สี่ก็ต้อนช้างกลับไปปล่อยป่า เป็นเช่นนี้มาเป็นนิจ พอรู้กำหนดวันจับช้าง คนทั้งหลายทั้งชาวกรุงเทพฯ และชาวหัวเมือง ดูเหมือนว่าถ้าใครพอสามารถจะไปได้ ก็พากันไปดูจับช้าง ผู้คนมากมายเหมือนอย่างว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” เป็นนิจ เพราะสนุกจริงๆ ดูครั้งหนึ่งแล้วก็ยังอยากดูอีกไม่รู้จักเบื่อ ในสมัยเมื่อยังไม่มีรถไฟ พวกผู้ดีชาวกรุงเทพฯ มักไปเรือแหวดเก๋ง ๖ แจว ๘ แจว นอนค้างได้ในเรือนั้น ไปหาที่จอดนอนในคลองเพนียดทั้งสองฟาก พวกที่ไม่มีพาหนะก็ไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัดตามบ้านใกล้ๆ เพนียด แม้ชาวกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ไกลจะเดินไปมาไม่ทันดู ก็มาเที่ยวอาศัยเขาค้างอยู่เช่นนั้น ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเรือไฟขึ้นไปประทับแรมที่วังจันทร์เกษม แล้วใช้เรือพระที่นั่งพายไปมากับเพนียด ถึงรัชกาลที่ ๕ ชั้นแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปอย่างเดียวกัน แต่เมื่อสร้างพระราชวังที่เกาะบางปะอินแล้ว ประทับแรมที่บางปะอิน ทรงเรือไฟเล็กขึ้นไปจนถึงวังจันทร์ แล้วจึงทรงเรือพายต่อไป เพราะคลองเพนียดน้ำตื้น แต่ท่าเพนียดทรงพระราชยาน นางในขึ้นวอไปยังพลับพลาเชิงเทินเพนียดที่พรรณนามาแล้ว กั้นม่านปันเขตข้างในอยู่ทางเหนือ ข้างหน้าอยู่ทางใต้ เจ้านายอยู่บนพลับพลา ขุนนางดูหน้าพลับพลา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ชอบดูจับช้าง ไปเสมอทุกคราวไม่ขาด ท่านนั่งหน้าพลับพลาตรงที่ประทับลงไปเพ็ดทูลได้ตลอดเวลาที่จับช้าง แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลไม่เสด็จขึ้นบนพลับพลา โปรดประทับที่ท้ายพลับพลา ต่อกับประตูซองเวลาคล้องช้างในเพนียด ถึงวันคล้องกลางแปลงเสด็จไปประทับที่บันไดเชิงเทิน ริมโรงคู่แขก อย่างนี้เป็นนิจ คงเป็นเพราะทรงบัญชาการได้สะดวก ฉันเคยได้ยินพวกทหารมหาดเล็กเขามาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเมื่อท่านเสด็จประทับอยู่ที่บันไดนั้น ทหารมหาดเล็กตั้งแถวยืนพักอยู่ข้างหลัง ทหารคนหนึ่งยืนอยู่แถวหลัง ทหารคนแถวหน้าบังไม่แลเห็นกรมสมเด็จฯ แลข้ามไปเห็นขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) ขี่คอช้างต่อเข้ามาเฝ้า ออกปากพูดกับเพื่อนทหารว่า “แหม อ้ายตาหมอช้างคนนั้น หัวช่างล้านนี่กระไร” กรมสมเด็จฯ ทรงได้ยิน หันมาตรัสว่า “เออ กรมช้างละหัวล้านทั้งนั้นแหละ” ทหารคนที่พูดตกใจจนแทบสลบ เพื่อนทหารที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กันก็เต็มกลั้นหัวเราะ ด้วยเกรงพระบารมี เรื่องที่เล่านี้เห็นจะจริง ด้วยกรมสมเด็จฯ ไม่ทรงละอายในส่วนพระองค์ และโปรดตรัสล้อคนหัวล้าน ได้เคยเห็นกันอยู่เนืองๆ บนเชิงเทินต่อพลับพลาเลี้ยวไปทางด้านใต้ เป็นที่ข้าราชการและชาวต่างประเทศดู ทางด้านเหนือเป็นที่พวกสตรีมีบรรดาศักดิ์ดู กรมช้างปลูกปะรำตั้งเก้าอี้หรือยกพื้นให้นั่งทั้งสองด้าน ที่ว่างต่อปะรำออกไปแล้วแต่กรมช้างจะยอมให้ผู้ใดขึ้นไปยืนดู แต่อยู่ในชั้นผู้ดีทั้งนั้น พวกชั้นราษฎรได้ดูแต่เวลาช้างเข้าเพนียด กับเมื่อจับกลางแปลง วันจับในเพนียดได้เห็นแต่ระบายช้างโขลง และโยงช้างเถื่อนที่จับได้ออกมานอกเพนียด พวกที่เป็นคนคะนอง เข้าเล่นผัดช้างเถื่อนได้บ้าง
ถึงวันที่ ๑ พอบ่ายพวกกรมช้างต้อนโขลงมาพักไว้ห่างเพนียดระยะทางเดินราวสักครึ่งชั่วนาฬิกา แต่แลไปไม่เห็นได้จากเพนียด พอได้สัญญาณว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ก็ต้อนโขลงเดินมายังเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาบ่ายราว ๑๖ นาฬิกา เสด็จไปประทับที่บนเชิงเทินด้านตะวันออกตรงทางที่ช้างจะเข้าเพนียด ผู้ที่ตามเสด็จก็พากันไปดูทางด้านนั้น แต่กรมช้างเขาขอว่าอย่าให้ใครเข้าไปดูถึงใกล้ประตูซอง และอย่าให้พูดจากันอึกทึก เพราะเกรงช้างเถื่อนจะตื่น เลยไม่เข้าเพนียด แต่ข้างนอกเพนียดนั้นเขาไล่คนหมด ไม่ให้ใครเข้าไปดูใกล้เสาปีกกา หรือใกล้ทางที่โขลงช้างจะเดินมาเลยทีเดียว ถึงกระนั้นแลดูไปจากเพนียดก็เห็นคนเต็มไปตามทุ่งท่า ตลอดจนบนต้นไม้นอกเขตที่ห้ามแทบทุกแห่ง เสด็จไปถึงแล้วไม่ช้าก็แลเห็นโขลงช้างเดินมาในท้องทุ่ง ทางฟากคลองข้างโน้นแต่ไกลๆ ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนก็ต้องตื่นตา เมื่อแลเห็นช้างเถื่อนทั้งใหญ่น้อยทุกขนาดมากมายหลายร้อย เดินมาด้วยกันเป็นโขลงใหญ่ มีช้างต่อนำมาข้างหน้าตัวหนึ่ง และมีช้างต่อซึ่งเรียกว่า “ช้างค่าย” ล้วนเป็นช้างงาแซงมาทั้งสองข้างตั้ง ๕๐ ตัว ข้างท้ายโขลงมีช้างงาขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า “ช้างค้ำ” สัก ๑๐ ตัว เดินเรียงกันเป็นหน้ากระดานต้อนมาข้างหลัง ดูเป็นขบวนช้างอย่างแปลกตา ไม่มีที่ไหนเหมือนก็ต้องพิศวงทุกคน เมื่อช้างโขลงลงข้ามลำน้ำคลองเพนียด เขารอให้ช้างกินน้ำจนอิ่มหนำแล้วจึงต้อนมาขึ้นที่ปากปีกกา นำโขลงเข้ามายังเพนียด ตอนนี้พวกช้างค่ายหยุดอยู่ข้างนอกปีกกา มีแต่ช้างต่อตัวที่นำมาข้างหน้า กับพวกช้างค้ำต้อนมาข้างหลัง ช้างสีดอตัวนำโขลงนั้นเป็นช้างฉลาดถึงเลื่องลือ เดิมคงมีชื่ออื่นแต่เรียกกันว่า “สีดอขโมย” เพราะครั้งหนึ่งไปปกโขลง มันไปลอบลักหม้อข้าวของคนอื่นหิ้วมาให้คนเลี้ยงมันกิน จึงขึ้นชื่อว่าสีดอขโมย ตัวไม่ใหญ่โตเท่าใดนักแต่ใช้เป็นนำโขลงเป็นนิจ เพราะช้างนำโขลงต้องเดินนำใกล้ๆ ให้ช้างโขลงตาม ถ้าเผลออาจจะถูกแม่แปรกวิ่งเข้าชนเอาข้างหลัง สังเกตดูกิริยาช้างสีดอขโมยมันรู้สึกที่เสี่ยงภัย เวลาเดินมันระวังตัวเหลียวหน้าชำเลืองดูช้างโขลงทุกฝีก้าว ควาญขี่ท้ายก็ต้องระวังตัวอยู่เสมอเหมือนกัน ด้วยกลัวจะถูกแม่แปรกเอางวงกวาดลงจากหลังช้าง ฉันได้เคยเห็นครั้งหนึ่ง พอแม่แปรกวิ่งออกจากโขลงจะมาชน ช้างสีดอขโมยมันกลับตัวหันหน้าสู้ทันที ก็ไม่ทำอะไรได้ เห็นจะเคยถูกปองร้ายเช่นนั้นมาหลายครั้ง หมอที่ขี่คอช้างนำโขลงก็ต้องเป็นคนสำคัญ คนที่ขี่ช้างสีดอขโมยชื่อ “หมอค้อง” ดูเหมือนจะเป็นหมอเฒ่า เห็นขี่ช้างนำโขลงเป็นนิจ มือถือหอกข้างหนึ่ง ถือกิ่งไม้ชูมาข้างหนึ่ง ดูเหมือนสำรวมใจร่ายมนตร์บริกรรม ให้ช้างโขลงแลเห็นกิ่งไม้ที่แกถือเป็นป่าดงตามมาไม่เกรงภัย แต่สติแกดี พอเห็นทีจะมีภัยแก่ช้างนำแกแก้ทันทุกที พอช้างโขลงถึงประตูซองสังเกตดูก็รู้ได้ว่า ช้างเถื่อนพวกไหนเป็นช้างเชื่อง เพราะแม่แปรกพาช้างโขลงของตนเดินตามช้างนำเข้าประตูไปง่ายๆ เหมือนกับไม่เห็นเป็นที่แปลกประหลาดอันใด แต่พวกโขลงเถื่อนพอแลเห็นก็ชะงัก มักไม่ใคร่เข้าประตู แต่เมื่อช้างโขลงเข้าถึงคอกปีกกาชั้นในแล้ว กรมช้างเขาให้คนช่วยต้อนโขลง เสียงร้อง “จั๋วะๆ” แซ่ไป จะเป็นคำภาษาไหน หมายความว่ากระไรก็ไม่รู้ เคยเห็นแต่ใช้ในการต้อนช้างโขลงอย่างเดียว ต้อนอยู่สัก ๒ ชั่วนาฬิกา ช้างจึงเข้าเพนียดหมด ได้ยินว่าบางครั้ง ถ้ามีช้างโขลงเถื่อนมากก็ต้องต้อนอยู่จนกลางคืน แต่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับเวลาพอใกล้พลบค่ำ
วันที่ ๒ ซึ่งเป็นวันจับช้างใหญ่ในเพนียดนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกา ประทับที่พลับพลาข้างด้านใน มีโต๊ะใส่กล้วยอ้อยตั้งไว้ที่ในพลับพลา สำหรับทรงทิ้งพระราชทานช้างเถื่อน เป็นของชอบของพวกลูกช้างเล็กๆ แต่ช้างใหญ่ไม่ใคร่กล้าเข้ามาใกล้พลับพลา สักครู่หนึ่งก็เปิดประตูซองทางด้านตะวันตก ให้ช้างต่อเข้าไปในเพนียดสัก ๔ ตัว ช้างต่อและหมอควาญที่เข้าไปคล้องช้างใหญ่ในเพนียด เลือกล้วนแต่ที่ชำนิชำนาญ เพราะคล้องช้างในเพนียดเป็นที่จำกัด และช้างที่จะคล้องล้วนเป็นช้างใหญ่ ต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าคล้องนอกเพนียด ช้างต่อที่เข้าไปในเพนียดนั้นเป็น ๒ อย่างต่างกัน เรียกว่า “ช้างค้ำ” สำหรับสู้ช้างเถื่อนป้องกันช้างต่อที่เข้าคล้องอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ช้างเชือก” สำหรับคล้องช้างเถื่อนอย่างหนึ่ง ช้างค้ำเข้าไปก่อนแล้วช้างเชือกตามติดเข้าไป และเข้าไปถึงคนขี่ช้างค้ำพิจารณาว่าช้างพลายที่อาจจะสู้ช้างต่ออยู่ตรงไหนบ้าง ช่วยกันไล่ช้างชนิดนั้นให้เข้าคละอยู่เสียกับช้างอื่นที่ในโขลง สังเกตดูช้างพลายเถื่อน เมื่อแรกเห็นช้างต่อตัวที่เข้าไปก่อน กิริยาก็ทำทีจะสู้ แต่เมื่อเห็นเป็นช้างงาหลายตัวด้วยกันก็ขยั้นไม่กล้าออกมาห่างโขลง พวกหมอช้างเขารู้ว่าถ้าช้างงาอยู่ในโขลงไม่สามารถจะชนได้ เพราะกีดช้างอื่นมะรุมมะตุ้มอยู่รอบตัว พอเห็นช้างงาหลบเข้าโขลง เขาก็ขับช้างค้ำเข้าต้อนโขลง ให้เดินวนเวียนเบียดเสียดกันไปในวงภาค จนช้างตัวที่ต้องการเดินล้าลงมาอยู่ข้างท้ายโขลง หรือออกมาอยู่ข้างริมโขลง ช้างเชือกก็เข้าคล้องตีนหลังด้วยเชือกบาศ ๒ เส้นบ้าง ๔ เส้นบ้าง ตามขนาดช้างเถื่อน คล้องติดแล้วพวกกรมช้างที่แอบเสาคอกอยู่กับแผ่นดิน ก็ช่วยกันวัดปลายเชือกบาศผูกไว้กับโคนเสาวงภาค หรือเสาคอกที่กลางเพนียด สุดแต่ให้ช้างเถื่อนติดอยู่ใกล้ๆ เสา ไม่สามารถจะแล่นไปทำร้ายช้างต่อได้ เมื่อคล้องช้างที่ต้องการได้หมดแล้ว ก็เปิดประตูซองทางช้างออกข้างด้านตะวันตก ให้ช้างนำเข้าไปนำช้างโขลงออกจากเพนียดแล้วพวกช้างค่ายก็รายล้อมต้อนช้างโขลงไปลงน้ำในลำน้ำโพธิ์สามต้น ให้ช้างโขลงได้กินน้ำแช่น้ำตามสบาย การต้อนโขลงช้างออกจากเพนียดดูน่าจะยาก ด้วยช้างต้องออกประตูซองเรียงตัวเหมือนเมื่อเข้าเพนียด แต่ที่จริงกลับง่ายไม่ต้องขับไล่ลำบากอย่างไร เพราะพวกช้างโขลงเชื่อง เคยเดินทางนั้นมาแต่ก่อน มันจำได้จนเห็นขัน แต่พอในเพนียดหยุดต้อนโขลง มันก็พากันไปยืนจ้องอยู่ที่หลังประตู ช้างนำออกมันก็ตามไปทันที ช้างโขลงอื่นกำลังระอาที่ถูกต้อนในเพนียด ก็ตามกันออกไปโดยสะดวก ไม่ช้าเท่าใดช้างโขลงก็ออกจากเพนียดไปหมด ยังเหลือแต่ช้างที่ติดเชือกบาศ ช้างต่อก็ออกจากเพนียดไปผูกทามที่คอ สำหรับจะจูงช้างเถื่อนไปยังโรงฝึกหัด ตอนนี้การจับอยู่ข้างลำบาก ด้วยช้างเถื่อนพอถูกคล้องก็คลั่ง มีกิริยาอาละวาดไปต่างๆ พอเห็นช้างต่อกลับเข้าไปก็ตั้งท่าจะสู้ เหมือนอย่างว่า “ด้วยจนตรอก” แต่ไม่สามารถจะชนได้ ด้วยตีนหลังติดเชือกบาศ พอช้างต่อเข้าไปเคียงสองข้างจะโยนทามผูกคอ ก็ได้แต่เอางาแว้งขวิดฟาดเอาช้างต่อโดยความโกรธ ตอนนี้น่าชมช้างต่อ ดูเหมือนไม่รู้จักโกรธเสียเลย ถึงช้างเถื่อนจะทำอย่างไรก็เฉย หรือเป็นแต่ปัดป้อง ถ้าไม่หยุดก็เอางารับพอให้รู้สึกเจ็บ เมื่อโยนทามผูกคอช้างเถื่อนได้แล้ว เอาสายเชือกล่ามมาผูกผนึกไว้กับทามช้างต่อข้างหนึ่ง พวกกรมช้างที่อยู่กับแผ่นดินก็แก้ปลายเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสา เอามาควบกันเป็นเส้นเดียว เอาตอกรัดเป็นปล้องๆ ช้างต่อสองตัวที่เคียงข้างก็พาช้างเถื่อนออกเดินมา มีช้างต่ออีกตัวหนึ่งตามหลัง ถ้าช้างเถื่อนไม่เดิน หรือบางทีลงนั่งเสีย ก็เอางารุนและงัดให้ต้องลุกขึ้นเดินมา พวกพนักงานเชือกบาศก็ถือเส้นเชือกบาศตามมา ครั้นถึงประตูซองซึ่งจะออกได้แต่เรียงตัว เอาปลายเชือกบาศผูกกับเสาวงภาค กะระยะให้เชือกบาศที่ติดตีนช้างเถื่อน ยาวพอประมาณให้ออกไปได้เพียงนอกประตู หมอช้างต่อแก้เชือกที่ล่าม แล้วรุนช้างเถื่อนให้ออกประตูไปแต่ตัวก่อน แล้วจึงตามออกไปเคียงข้างผูกเชือกล่าม พาช้างเถื่อนไปยังโรงหัด ทำเหมือนอย่างว่ามานี้ทีละตัวจนหมด แต่ถ้าช้างเถื่อนเป็นช้างใหญ่มากถึงไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะเอาช้างต่อเข้าเคียงข้างในเพนียดไม่ได้ ก็ใช้วิธีอื่นอีกอย่างหนึ่ง ให้คนเข้าไปล่อให้ช้างเถื่อนไล่เข้าประตูซอง พอช้างเข้าประตูมิดตัว ก็ปล่อยเสาโตงเตงปิดซองทั้งข้างหน้าข้างหลังเข้ามาชิดกัน แล้วลั่นกลอนผูกไว้ให้ช้างติดอยู่ในซองพอครือตัว ทำอะไรใครไม่ได้ แล้วให้คนเข้าผูกทามและผูกเชือกสำหรับล่ามเสร็จ ถ้าช้างเถื่อนงายาว ทำปลอกเป็นปล้องๆ ร้อยเชือกถึงกันตลอด สวมงาด้วยอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยปลายเชือกให้ช้างต่อดึงข้างหน้า กะเชือกบาศที่ติดตีนให้ยาวพอช้างออกประตูไปได้เพียงเสาตะลุงในโรงคู่แขกที่อยู่ข้างเพนียด แล้วเปิดประตูซองข้างหน้าให้ช้างเถื่อนออกไป เมื่อไปยืนอยู่ข้างเสาตะลุง ช้างต่อสองตัวจึงเข้าเทียบ เอาเชือกโยงทามผูกกับแป้นที่ปลายเสาให้ช้างเดินวนเวียนได้ แต่จะลงนอนไม่ได้ เอาไว้เช่นนั้นจนหย่อนกำลังลง เห็นว่าไม่กล้าสู้ช้างต่อแล้ว จึงปลดเอาไปเลี้ยงยังโรงฝึกหัด
ช้างที่จับในเพนียดนั้นเพียงครั้งละสี่ห้าตัว ถึงกระนั้นก็เปลืองเวลาช้ามาก เพราะต้องโยนทามและเอาออกไปจากเพนียดทีละตัว จนเวลาเย็นจึงเอาช้างออกหมด พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ในเวลาเมื่อกำลังโยนทามผูกเชือกที่ในเพนียดนั้น ให้ช้างโขลงลงน้ำพอให้สบายแล้วก็ต้อนไปให้กินหญ้าที่ในทุ่งทะเลหญ้าอยู่จนเวลาเย็น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับแล้ว จึงต้อนช้างโขลงกลับเข้าเพนียดอีกครั้งหนึ่ง ตอนช้างเข้าเพนียดวันที่ ๒ มักมีช้างแตกโขลงหนีไปได้บ้าง บางทีมีลูกช้างซึ่งเพิ่งหย่านมพลัดแม่ไปได้หน่อยหนึ่ง มันรู้ว่าแม่ยังอยู่ในเพนียดก็หวนกลับมา มาถึงคลองเพนียดเวลาค่ำ เมื่อพวกผู้ดีที่ไปดูจับช้างถอยเรือขึ้นไปจอดนอนเรียงกันอยู่ริมตลิ่งทั้งสองฟาก พอคนในเรือลำหนึ่งเห็นช้างเถื่อนลงข้ามน้ำใกล้ๆ เรือ ก็ตกใจร้องขึ้นว่า “ช้างมา” คนในเรือลำอื่นไม่เห็นตัวช้างว่าอยู่ที่ไหน สำคัญว่าช้างเถื่อนตัวใหญ่ก็ตกใจร้องว่า “ช้าง” ขึ้นตามกัน ต่างจุดไต้ไฟโห่ร้องไล่ช้างเพรียกไปตลอดคุ้งทั้ง ๒ ฟาก จนช้างตื่นหนีหายไปเป็นนานแล้วจึงสงบ ก็เลยเป็นสนุกกันไปอย่างหนึ่ง
วันที่ ๓ เป็นวันสนุกของพวกคนดู เพราะจับช้างกลางแปลงคนดูได้ทั่วหน้า ไม่จำกัดเหมือนกับคล้องในเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกาเหมือนวันก่อน แต่วันนี้เสด็จพลับพลาทางด้านตะวันตกริมสนามที่คล้องช้าง พอเสด็จขึ้นพลับพลาแล้ว ช้างต่อพวกช้างค้ำและช้างเชือก ก็มายืนรวมอยู่ที่ทางข้างท้ายพลับพลา พวก “ช้างค่าย” ก็มายืนรายกันรอบสนามหน้าเพนียดทั้ง ๓ ด้าน และห้ามคนมิให้เข้าไปในวงช้างค่าย ถึงกระนั้นแลไปจากบนเชิงเทินเพนียด เห็นคนล้นหลามยืนมุงเข้ามาจนติดหลังช้างค่าย แม้บนต้นไม้ก็มีคนขึ้นนั่งเกาะอยู่ตามค่าคบแทบทุกต้น พอตั้งกระบวนช้างต่อแล้ว ก็เปิดประตูซอง ให้พลายสีดอขโมยเข้าไปนำช้างโขลงออกมายังสนาม วิธีคล้องช้างกลางแปลง ก็อย่างเดียวกันกับที่คล้องในเพนียด แต่ง่ายขึ้นด้วยคล้องช้างพลายขนาดย่อมสูงเพียง ๔ ศอกลงมากับช้างพัง ไม่ใคร่มีช้างต่อสู้ช้างต่อ แต่คล้องช้างมากกว่าในเพนียด จึงใช้ช้างเชือกเพิ่มขึ้นหลายตัว เป็นเหตุให้ได้เห็นฝีมือคนคล้องช้างว่ายิ่งหย่อนผิดกันอย่างไรในวันที่คล้องกลางแปลงนี้ ฉันได้เคยเห็นฝีมือคนคล้องช้างแม่นจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ๒ คน คือหลวงคชศักดิ์ ซึ่งภายหลังได้เลื่อนเป็นที่พระศรีภวังค์ (เป็นลูกพระยาเพทราชา ที่อยู่เพนียด) คนหนึ่ง อายุกว่า ๕๐ ปี รูปร่างผอมกริงกิวหลังก็คด ดูไม่น่าจะขี่ช้างไหว แต่คล้องรวดเร็วฝีมือแม่นไม่เคยเห็นพลาดเลยสักที เขาว่าแกมีควาญร่วมใจคนหนึ่ง ถ้าไม่ได้ควาญคนนั้นก็ไม่คล้อง คนคล้องแม่นอีกคนหนึ่งเป็นที่ขุนพิชัยกุญชร ชื่อแจ้ง อยู่มาจนได้คล้องช้างคราวรับซาร์วิช (ซึ่งต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ เอมเปอเรอรัสเซีย) เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ซาร์วิชโปรดฝีมือถึงประทานแหวนเพชรวงหนึ่งเป็นบำเหน็จ ฝีมือคล้องช้างดีและเลว ผิดกันอย่างไรเห็นได้ในวันคล้องกลางแปลง คนที่มีฝีมือไม่สู้ดีบางทีก็คล้องติด แต่บางทีวางบ่วงบาศรับตีนช้างไม่ตรง ช้างเหยียบเชือกบาศหลุดจากคันจาม ต้องลากแต่เชือกบาศเปล่ากลับออกมา อย่างนี้อยู่ข้างจะขายหน้า บางคนคล้องบ่วงบาศสวมตีนช้างได้แล้ว แต่ไม่กระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดตีนช้างให้แน่นเชือกบาศหลุดจากตีนช้างก็มี บางคนต้องตามช้างเถื่อนอยู่นานกว่าจะคล้องได้ ที่คนคล้องแม่นหาพลาดพลั้งอย่างนั้นไม่ นอกจากดูฝีมือคนคล้องช้าง ยังมีสนุกอย่างอื่นอีก ด้วยคล้องกลางแปลงไม่มีเสาวงภาค มีแต่ช้างค่ายยืนรายล้อมโขลงอยู่ห่างๆ กัน พอเปิดระบายโขลงออกมาจากเพนียด ก็มักมีช้างเถื่อนแตกโขลงออกไปทางคนดูสักสี่ห้าตัว พวกคนดูวิ่งกระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ บางทีหวิดๆ น่ากลัวจะล้มตาย แต่ก็ไม่ยักมีใครเป็นอันตราย พอช้างต่อออกไปต้อนเอาช้างเถื่อนกลับมาเข้าโขลงแล้วคนก็กลับมาดูอย่างเดิม กลับเห็นกันเป็นสนุก ที่เป็นพวกคนคะนองถึงเข้าล่อช้างเถื่อนจะให้ไล่แตกโขลงไปอีก หมอควาญช้างค่ายต้องคอยห้ามอยู่เสมอๆ วันคล้องกลางแปลงคล้องเป็น ๒ พัก ตอนเช้าคล้องได้สักครึ่งจำนวนช้างที่ต้องการแล้ว ระบายช้างโขลงไปลงน้ำเสียทีหนึ่ง เพื่อจะโยนทามผูกช้างที่คล้องได้พาเอาไปโรงหัด ตอนนี้ก็มีสนุกหลายอย่าง ด้วยทางที่ต้อนไปลงน้ำนั้น ให้ช้างโขลงเดินเลียบชายเนินขอบสนามทางด้านตะวันตก ไปจนพ้นชายเนินแล้วจึงให้เลี้ยงลงลำน้ำโพธิ์สามต้น บนเนินขอบสนามจึงเป็นที่คนดูชอบไปอยู่ เพราะดูคล้องช้างได้ใกล้ๆ ที่ยืนดูอยู่กับแผ่นดินก็มาก ที่ปีนขึ้นไปนั่งดูอยู่บนต้นไม้ก็มี ถึงวันที่ ๒ ช้างโขลงบางเหล่ามันรู้ว่าเดินอ้อมเนินไปลงน้ำไกลเปล่าๆ มันพากันขึ้นบนเนินหมายจะลัดทางไปลงน้ำ พวกคนดูอยู่กับแผ่นดินต้องวิ่งหนีตกน้ำตกท่าเอาชีวิตรอด พวกที่อยู่บนต้นไม้ใครลงทันก็วิ่งหนีตามเขาไป ที่ลงไม่ทันก็เกาะนิ่งไม่ติงตัวอยู่บนต้นไม้ ภาวนาขออย่าให้ช้างเห็นเพราะอยู่ห่างหลังช้างเถื่อนเพียงสัก ๒ ศอกเท่านั้น ถ้ามันเห็นก็อาจจะเอางวงคว้าลงมาได้ง่ายๆ เล่นเอาคนอื่นที่แลเห็นเป็นห่วงใจหายใจคว่ำไปด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครเป็นอันตราย ยังน่าดูอีกอย่างหนึ่ง ด้วยช้างเถื่อนที่คล้องกลางแปลงเป็นช้างขนาดย่อม มักมีแม่และพี่น้องมาด้วย เวลาต้อนโขลงไป ช้างลูกติดเชือกบาศดิ้นรนร้องเรียกแม่ๆ มักวิ่งฝ่าช้างต่อกลับมาหา บางทีก็มีช้างพี่น้องมาด้วยมาช่วยกันแก้ช้างลูก ช้างต่อไล่ก็ไม่ทิ้งไปง่ายๆ บางทีไปแล้วกลับหวนมาหาลูกอีกเล่า ดูน่าสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี ถึงตอนบ่ายต้อนโขลงช้างกลับมาสนามคล้องอีกครั้งหนึ่ง แล้วต้อนโขลงลงน้ำ เลยพาไปกินหญ้าที่ทะเลหญ้าเหมือนวันก่อน แต่วันนี้ล้อมโขลงไว้ที่ทะเลหญ้าตลอดคืน ไม่ต้อนกลับมาเข้าเพนียดอีก พอโยนทามจับช้างที่คล้องตอนบ่าย เอาไปโรงหมดแล้ว ถึงเวลาเย็นพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ผู้อื่นที่ขึ้นไปดูจับช้างก็พากันกลับบ้านในวันนี้
ถึงวันที่ ๔ พอรุ่งเช้ากรมช้างก็ต้อนโขลงกลับไปปล่อยป่า เขาว่าต้อนโขลงกลับนั้นง่าย เพราะช้างเถื่อนรู้ทิศทางที่จะไปป่าและรนอยากกลับอยู่ด้วยกันทุกตัว ช้างต่อเป็นแต่คอยระวังอย่าให้ช้างโขลงไปเที่ยวเข้าบ้านผู้คน พอพ้นถิ่นบ้านช่องแล้วช้างต่อก็กลับ ปล่อยให้ช้างโขลงเถื่อนแยกย้ายกันไปตามใจ เป็นเสร็จการจับช้างที่เพนียดเท่านั้น
ฉันเคยดูจับช้างที่เพนียดมาแต่ยังเป็นเด็ก นับครั้งไม่ถ้วน ได้เคยเห็นการจับช้างที่เป็นอย่างแปลกประหลาด ๔ ครั้งจะเล่าไว้ด้วย
ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสวยราชย์ได้ ๘ ปี ตัวฉันอายุได้ ๑๕ ปี ยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นปีถึงกำหนดที่จะจับช้าง หลวงคชศักดิ์ออกไปปกโขลง ทราบจากพวกกรมโขลงว่า มีช้างเผือกพลายเป็นลูกช้างโขลงในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง หลวงคชศักดิ์ตามไปตรวจพบที่ทุ่งไม้รังนก เห็นจริงดังว่าได้บอกเข้ามากราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ต้อนเข้ามาคล้องหน้าพระที่นั่งที่เพนียด ใครๆ ได้ยินข่าวว่าจะคล้องช้างเผือกที่เพนียดก็อยากเห็น มีคนขึ้นไปดูกันมาก พากันตั้งตาคอยดูช้างเผือกตั้งแต่ต้อนโขลงเข้ามาเพนียดก็ไม่เห็น เพราะวิสัยช้างโขลงพอขึ้นจากน้ำก็เอาฝุ่นพ่นตัวทั่วตัว แลเห็นเป็นสีเดียวกันไปหมด ทั้งช้างเผือกตัวนั้นก็ยังเล็กสูงเพียงสัก ๓ ศอกเศษ เดินแซงช้างใหญ่อยู่ในโขลงกับลูกช้างขนาดเดียวกันอีกหลายตัว ก็มีแต่เสียงถามกันแพร่ว่า “ตัวไหนช้างเผือก” ก็ไม่มีใครชี้ให้ดูได้ พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้งดจับช้างในเพนียด ด้วยเกรงช้างเผือกจะถูกเบียดบอบช้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็ระบายโขลงออกกลางแปลง เพื่อจะคล้องแต่ช้างเผือกตัวเดียวในตอนเช้า เมื่อโขลงอยู่กลางแปลง คนดูก็ไม่มีใครสังเกตได้ ว่าตัวไหนเป็นช้างเผือก แต่พวกกรมช้างเขาสังเกตรูปร่างแต่เมื่อต้อนโขลงมา เขาจำได้ ถึงกระนั้นเมื่อก่อนหลวงคชศักดิ์จะเข้าคล้อง แกก็ยังเรียกพวกกรมช้างให้ช่วยพิจารณาอีก ๒ คน จนแน่ใจหลวงคชศักดิ์จึงเข้าคล้อง ก็คล้องได้ในเวลาไม่ถึง ๕ นาที แล้วต้อนโขลงไปลงน้ำ เหลือแต่ช้างเผือกติดเชือกบาศอยู่ตัวเดียว ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นช้างเผือก จนเอาช้างต่อเข้าเทียบโยนทามล่ามกับช้างต่อแล้ว เขาเอาน้ำรดจากหลังช้างต่อ ล้างฝุ่นหมด จึงแลเห็นสีผ่องเป็นช้างเผือก ดูเหมือนบรรดาผู้ที่ไปดู พอแลเห็นเป็นช้างเผือกก็ปลื้มใจกันหมด เมื่อพาช้างเผือกไปเข้าโรงหัดซึ่งปลูกขึ้นใหม่โดยเฉพาะแล้ว ก็ต้อนโขลงกลับมาคล้องช้างสามัญในตอนบ่าย คราวนั้นจับแต่กลางแปลง ๒ วัน แล้วก็ตอนโขลงไปปล่อยป่า โปรดให้ปลูกโรงสมโภชช้างเผือกซึ่งคล้องได้ใหม่ที่เพนียดนั้น พร้อมกันกับช้างเผือกพลายอีกตัวหนึ่งซึ่งได้มาจากเมืองยโสธร พระราชทานนามตัวคล้องได้ที่เพนียดว่า “พระเศวตวรสรรพางค์” ตัวที่มาจากเมืองยโสธรพระราชทานนามว่า “พระเศวตวิสุทธิเทพามหาพิคเณศร” เพราะเป็นช้างงาเดียว แล้วเอาลงแพมากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ ตัว การคล้องได้ช้างเผือกหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือคล้องช้างเผือกได้ที่เพนียดก็ดี ไม่เคยมีในพงศาวดารมาแต่ก่อนทั้งสองอย่าง จึงเป็นการจับช้างอย่างแปลกประหลาด
ครั้งที่ ๒ ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ มีการจับช้างให้แขกเมืองดู เมื่อเจ้าเยอรมัน ดุ๊กโยฮันอันเบรต เมืองเมกเลนเบิกชวรินมาเฝ้า ครั้งนั้นจะเป็นใครในกรมช้างไปปกโขลงไม่ปรากฏ แต่ชะรอยจะไปเห็นช้างพลายได้ขนาดที่จะจับ มีอยู่ในเหล่าโขลงช้างเชื่องมากพอแก่การแล้ว ก็ต้อนแต่ช้างโขลงเชื่องเข้ามา ไม่มีช้างโขลงเถื่อนปน ตั้งแต่วันต้อนโขลงเข้าเพนียด ใครเคยดูจับช้างมาแต่ก่อนแล้วก็เห็นแปลกตา ด้วยช้างโขลงเรียบร้อยราวกับได้ฝึกหัด เดินเป็นหมู่มุ่งหน้าตรงมาเข้าเพนียด ไม่มีตัวใดดื้อดึงหรืออาละวาดอย่างใด ถึงเพนียดก็เดินตามกันเข้าประตูซองโดยดี ไม่ต้องขับต้อนลำบากเหมือนคราวก่อนๆ เพราะช้างโขลงเชื่องรู้ทางเข้าออกด้วยเคยมาทุกคราว สักครู่เดียวช้างเถื่อนก็เข้าเพนียดหมดทั้งโขลง ถึงวันจับช้าง ทั้งจับในเพนียดและจับกลางแปลง ช้างต่อจะทำอย่างไรก็ทำได้ ด้วยช้างโขลงไม่ต่อสู้หรืออาละวาดอย่างใด แขกเมืองไม่เคยเห็นจับช้าง ได้เห็นแต่เพียงนั้นก็ชอบ แต่คนที่เคยดูจับช้าง บ่นกันทั่วหน้าว่าจับช้างครั้งนั้นไม่สนุกน่าดูเลย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงกับโกรธกรมช้าง กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าถ้าปล่อยให้กรมช้างทำเล่นได้ตามชอบใจอย่างนี้เสียพระเกียรติยศ เมื่อแขกเมืองไปแล้วขอเชิญเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอินสัก ๑๕ วัน ให้พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นพระยาราชวังเมือง ออกไปปกโขลงเอง เอาช้างโขลงอื่นเข้ามาจับอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเอาแต่ช้างเชื่องเข้ามาเหมือนครั้งนี้ ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกรมสมเด็จฯ ๆ เกรงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็รับจะให้พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงเข้ามาใหม่ใน ๑๕ วัน
ครั้งที่ ๓ เป็นเรื่องเนื่องมาจากครั้งที่ ๒ พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงด้วยหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญา ก็เลือกต้อนแต่เหล่าโขลงเถื่อนเข้ามา และเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาด้วยอีก ๒ ตัว มีช้างโขลงเชื่องมาเพียงพอนำทางช้างโขลงเถื่อนบ้างเล็กน้อย จับช้างครั้งนี้เรียกไว้ว่า “สนุกสะใจ” ตั้งแต่วันช้างโขลงมาถึงเพนียด แลดูไปจากเชิงเทินเมื่อโขลงช้างเดินมาแต่ไกล เห็นสันหลังช้างสีดอใหญ่สูงเทิ่งพ้นหลังช้างอื่น ขนาดช้างสีดอตัวใหญ่เห็นจะสูงกว่า ๖ ศอก ช้างสีดอที่รองลงมาอีกตัวหนึ่งสูงสัก ๕ ศอกเศษ สูงกว่าช้างต่อหมดทั้ง ๒ ตัว เวลาเดินมากับโขลง พอมันเดินชายออกไปนอกโขลงทางไหน ช้างต่อที่เป็นช้างค่ายทางนั้นก็ต้องถอยหนีให้ห่างออกไป ไม่กล้าขับไล่ให้มันกลับเข้าโขลงเหมือนช้างอื่น พวกช้างพังแม่แปรกที่นำโขลงมาครั้งนี้ก็มักดุร้าย ถ้าเป็นทีเมื่อไร ก็จะชนท้ายช้างนำและช้างต่อ แม้ช้างในโขลงเวลาเดินมา มันก็เพียรจะแตกโขลงอยู่เสมอ ต้อนมาลำบากกว่าคราวก่อนๆ มาถึงเพนียดจะต้อนเข้าปากช่อง “ปีกกา” ก็แสนยาก ต้อนทางนี้มันแตกไปเสียทางโน้น บางเหล่าก็ย้อนลงน้ำจะกลับไป พวกคนดูต้องแตกตื่นวิ่งหนีกันไม่หยุด ช้างค้ำต้องเที่ยวไล่ต้อนนับครั้งไม่ถ้วนจึงเอาโขลงเข้าปีกกาได้ ถึงกระนั้นก็ต้อนเข้าเพนียดไม่ได้หมดจนกลางคืน พระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จกลับก่อน ถึงวันคล้องในเพนียดคราวนี้ พวกคนดูกลับหวาดหวั่นกัน ว่าช้างสีดอตัวใหญ่จะชนช้างต่อเมื่อเข้าไปในเพนียด แต่หมอควาญช้างต่อเขาก็ระวังตัวมาก แต่ไม่เป็นดังคาด เพราะช้างสีดอเห็นช้างต่อเป็นช้างงาหลายตัว คอยช่วยกัน ก็ไม่กล้าออกมาชน คอยแต่หลบบังตัวอยู่ในกลางโขลง กรมช้างเขาคงเคยรู้นิสัยช้างเถื่อนว่าตัวเดียวไม่สู้ช้างหลายตัว จึงกล้าเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาอย่างนั้น วันคล้องกลางแปลงก็สนุก ด้วยช้างโขลงอาละวาดแตกโขลงร่ำไป พวกคนดูต้องวิ่งหนีมิใคร่หยุดอยู่ได้นาน และมีเหตุอย่างแปลกเกิดขึ้นด้วยช้างพลายตัวหนึ่ง สูงสัก ๔ ศอกติดเชือกบาศ ๒ เส้น เขาผูกปลายเชือกบาศไว้กับเสาปองที่ในสนาม มันดิ้นรนมาจนตรงปากทางเสด็จขึ้นเพนียด ก็ทางนั้นทำลาดเป็นอย่างเชิงสะพานช้างดังกล่าวมาแล้ว สองข้างทางมีผนังเป็นฉนวน ที่ปากทางปักเสาคู่ทอดเสาวางขวาง ๒ ชั้นกันมิให้ช้างเถื่อนเข้าไปได้ และมีคนกรมช้างรักษาอยู่ข้างใน แต่ดูเหมือนจะมีพวกคนตามเสด็จแอบลงไปผสมดูอยู่ที่นั่นด้วยเป็นกลุ่ม พอช้างที่ติดเชือกบาศมันเหลือบเห็นคนอยู่ในฉนวน มันก็วิ่งเข้าชนเสาเขื่อนหมายจะเข้าไปแทงคนจนเสาเขื่อนท่อนบนหัก เชือกบาศก็ขาดไปเส้นหนึ่ง ช้างข้ามเขื่อนอันล่างเข้าไปคาอยู่ครึ่งตัว เชือกบาศยังติดตีนอยู่แต่เส้นเดียว ถ้าเชือกบาศขาดก็คงขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา เวลานั้นคนตกใจกันอลหม่านทั้งข้างหน้าข้างใน ถึงให้ทหารมหาดเล็กหมวดหนึ่งบรรจุปืนยืนคอยอยู่ตรงทางขึ้น ถ้าเชือกบาศขาด ช้างพ้นเขื่อนเข้าไป ก็ให้ยิงเสียให้ตาย ซ้ำมีเหตุในเวลากำลังคุมช้างเถื่อนอยู่นั้น ได้ยินเสียงถ้วยชามตกโฉ่งฉ่าง ผู้หญิงตื่นร้องเพรียกขึ้นทางข้างในอีก ไม่รู้ว่าจะเกิดภัยอย่างไรก็ตกใจกันอีก จนเห็นเขาปลดม่านให้ช้างต่อซึ่งขึ้นทางด้านเหนือเพนียดมาไล่ช้างเถื่อนที่อาละวาด จึงรู้ว่าพวกผู้หญิงตื่นช้างต่อตัวนั้นเมื่อแรกเห็นแต่งาโผล่ขึ้นมาลงปลายก็เลยสนุกกันไปทั้งเรื่อง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอใจ พระยาราชวังเมืองเลยรอดตัว แต่พวกกรมช้างเขากระซิบบ่นกันว่าในการจับช้างเถื่อน พวกเขาเป็นผู้ต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย ยิ่งจะให้สนุก พวกเขาก็ยิ่งใกล้ตายหนักขึ้น
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 15:34:54 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #33 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:29:10 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ) ครั้งที่ ๔ จับช้างคราวรับซาร์วิช รัชทายาทประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ถึงสมัยนี้กรมสมเด็จฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ หลวงคชศักดิ์ ล่วงลับไปหมดแล้ว กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ทรงบัญชาการกรมพระคชบาล พระยาเพทราชา (เอี่ยม) ซึ่งเป็นพระยาราชวังเมืองอยู่ก่อนเป็นผู้อำนวยการ คนสำคัญในการคล้องช้างยังเหลือแต่ขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) อายุเห็นจะกว่า ๖๐ ปีแล้วแต่ยังแข็งแรง ฝีมือคล้องก็ยังแม่นไม่มีตัวสู้ คล้องช้างคราวรับซาร์วิชนี้น่าดูกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งฉันได้เคยเห็นมาทั้งหมด เพราะมีเวลาเตรียมนาน และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกำชับกรมช้าง ให้จัดอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ เพนียดก็ให้ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด และขุดล่องคลองเพนียดให้เรือไฟเล็กขึ้นไปได้จนถึงท่า แล้วมีรถเทียมม้ารับคนขึ้นไปถึงเพนียด ดูเหมือนพระยาเพทราชา (เอี่ยม) จะออกไปปกโขลงเอง ทั้งเป็นผู้ซักซ้อมช้างต่อหมอควาญด้วย ช้างเถื่อนที่ต้อนเข้ามาคราวนี้ ช้างโขลงเชื่องกับช้างโขลงเถื่อนพอได้ส่วนกัน มีทั้งช้างพลายและแม่แปรกที่ดุร้าย เข้ามาอาละวาดให้เห็นฤทธิ์ และมีช้างเชื่องพอนำโขลงมิให้แตกกระแชงเหมือนเช่นพรรณนามาในครั้งที่ ๓ ว่าโดยย่อประสงค์จะให้สนุกด้วย เรียบร้อยด้วย รวมกันทั้ง ๒ อย่าง เอาช้างงาตัวใหญ่แทบเท่าช้างต่อเข้ามาตัวหนึ่ง สำหรับจะจับในเพนียด ช้างตัวนั้นแต่แรกเข้าเพนียดมันก็หลบเลี่ยงช้างต่ออยู่กลางโขลง เหมือนอย่างช้างใหญ่ตัวอื่นๆ แต่เมื่อถูกคล้องตีนหลังติดเชือกบาศข้างละ ๒ เส้น พอมันรู้ว่าภัยถึงตัวก็อาละวาดขนานใหญ่ วิ่งเลาะวงภาคหมายจะปีนข้ามคอกออกไป ครั้นปีนไม่ได้ก็ตั้งหน้าจะหักเสาแหกคอกออกไปไม่หยุด แต่พอระบายช้างโขลงออกจากเพนียดไปหมด เหลือแต่ตัวมันก็คลั่งจะชนช้างต่อ แต่ตีนหลังติดเชือกบาศรั้งไว้ทั้ง ๒ ข้าง และหมอควาญช้างต่อเขาก็รั้งช้างต่อไว้เสียให้ห่าง มันชนไม่ถึงก็ได้แต่ฟาดเนื้อฟาดตัว เห็นผู้คนวี่แววข้างไหนก็ไล่ ช้างต่อจะเข้าไปเทียบสองข้างโยนทามผูกคอเหมือนเช่นช้างตัวอื่นไม่ได้ ก็ต้องรออยู่จนเห็นมันเหนื่อยอ่อนกำลังแล้วจึงให้คนล่อให้ไล่เข้าประตูซอง เลยติดอยู่ในนั้น ให้คนผูกทามตามแบบจับช้างใหญ่เกินขนาด กว่าจะเอาไปผูกเสาตะลุงที่โรงคู่แขกได้ ก็พอสิ้นเวลา วันแรกคล้องแต่ช้างงาตัวใหญ่ตัวเดียวเท่านั้น ช้างพลายตัวนั้นเลยได้ชื่อเรียกกันว่า “พลายซาร์วิช” ถึงวันคล้องกลางแปลงก็มีสนุกต่างๆ อย่างเช่นเคยมีมาในหนหลัง เป็นแต่ไม่เกินขนาด แต่มีแปลกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน เมื่อคล้องช้างได้สักสองสามตัวแล้ว พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามซาร์วิช ว่าจะประทานลูกช้างเล็กๆ ไปเล่นในเรือรบสักตัวหนึ่ง จะโปรดหรือไม่ ซาร์วิชทรงยินดีที่จะได้ จึงโปรดให้ขุนพิชัยกุญชรเลือกคล้องลูกช้างที่รูปร่างงามดี คล้องได้ตัวหนึ่งขนาดเพิ่งหย่านม สูงสัก ๒ ศอกเศษ ดูเหมือนพวกกรมช้างเขาคิดจะให้คนเข้าช่วยกันผูกทาม จูงเอามาถวายในเวลานั้น แต่เกิดขัดข้องด้วยช้างตัวที่เป็นแม่ไม่ยอมทิ้งลูก แม้จะขับไล่อย่างไรๆ จนที่สุดเอาช้างต่อเข้ารุมมันก็ไม่ยอมพรากไปจากลูก จนคนดูพากันสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี พากันนั่งจ้องคอยดูอยู่ทั้งนั้นว่ากรมช้างจะทำอย่างไร ดูเหมือนเขาคิดจะคล้องช้างแม่แล้วโยนทามผูกลากพรากเอาไปเสีย แต่แม่ช้างตัวนั้นมันคิดได้ก่อน พอมีความคิดมันก็รุนลูกให้ถอยหลังเข้าไปทางต้นเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสาปอง พอเชือกบาศหย่อน มันฉวยเอาเข้าใส่ในปากของมันแล้วเอางวงตีให้ลูกวิ่ง ตัวมันคาบเชือกบาศตามติดมา พอเชือกบาศตึงมันก็กัดเชือกบาศขาด แล้วเลยคาบปลายเชือกพาลูกไปหาโขลง แต่พอออกห่างจากช้างต่อไปได้แล้ว มันเหลียวหลังกลับมาแลดู ดูเหมือนกับเยาะเย้ยช้างต่อ คนดูฮากันก้องไปทั้งสนาม แม้ซาร์วิชก็ทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าขอให้พระราชทานคืนลูกช้างตัวนั้น เป็นบำเหน็จแก่ช้างแม่เถิด ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยไป พอใจบรรดาคนดูด้วยกันหมด
ลักษณะคล้องช้างแต่โบราณมี ๒ อย่าง คือใช้ “ทิ้ง” บ่วงเชือกบาศไปให้คล้องตีนช้าง ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า “แลสสู” (Lasso) อย่างหนึ่ง เอาบ่วงเชือกบาศติดปลายไม้คันจาม “ทอด” ดักให้ช้างเหยียบก้าวลงไปในบ่วงอย่างหนึ่ง คล้องด้วยทิ้งเชือกบาศเห็นจะยากมาก วิธีนั้นจึงสูญไป ยังใช้กันแต่คล้องด้วยคันจามอย่างเดียว แต่สังเกตดูในหนังสือเก่า หรือแม้ในรูปภาพที่เขียนกันมาแต่ก่อน บุคคลชั้นสูงเช่นท้าวพระยา คือผู้ที่เชี่ยวชาญการคล้องช้าง ชอบคล้องด้วย “ทิ้งเชือกบาศ” ดังกล่าวมาในภาคต้นว่ามีกฎมนเทียรบาลบทหนึ่ง ว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงคล้องช้างเถื่อนที่เติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง “มิให้คนกลางช้างถวายเชือกบาศ” ดังนี้ ส่อให้เห็นว่าคงทรงคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จึงมีคนกลางช้างและไม่กล่าวถึงไม้คันจาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัสไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ตอนพิธีทอดเชือกดามเชือก ว่าเคยทรงได้ยินว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พระเจ้าลูกเธอต้องหัดทรงช้างทรงม้า ยังหัดให้ทิ้งเชือกบาศอยู่จนสมัยนั้น แต่ก็เห็นจะเป็นแต่หัดเท่านั้น ที่ใช้จริงน่าจะสูญเสียแต่ก่อนรัชกาลที่ ๑ แล้วหัดช้าง ช้างเป็นสัตว์ฉลาด รู้ง่ายจำง่าย ถึงจับเมื่อเป็นช้างใหญ่แล้วก็อาจจะฝึกหัดให้เชื่อง ใช้การงานได้ไม่ยากนัก เพราะฉะนั้นวิธีวังช้างจึงจับช้างที่เข้าคอกทั้งหมด ไม่เลือกว่าจะเป็นช้างใหญ่หรือช้างเล็ก แต่ช้างเป็นสัตว์โตใหญ่เหลือกำลังที่คนจะเข้าฉุดคร่าผูกรัดได้เองโดยลำพังตน เหมือนอย่างวัวควาย การฝึกหัดช้างชั้นต้นจึงต้องอาศัยใช้ช้างด้วยกัน คือช้างต่อควบคุมและเป็นตัวอย่างชักนำให้ช้างที่หัดใหม่ทำตามใจคน แต่ก็เหมาะแก่ธรรมดาของช้างอันชอบอยู่กับเพื่อนและทำอะไรตามกัน พอคุ้นกับช้างต่อแล้วเห็นช้างต่อชอบกับคน ก็ยอมให้คนเข้าใกล้ชิดสนิทขึ้นโดยลำดับ จนถึงคนอาจจะฝึกหัดได้เอง ในที่สุดเมื่อฝึกหัดเชื่องราบแล้วถึงรักและเชื่อคำคน ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างอื่นหมด เว้นแต่หมาอย่างเดียว
วิธีหัดช้างเถื่อนที่จับได้ พิเคราะห์ดูก็คล้ายกับการสอบเด็กในโรงเรียนคือสอนความรู้เป็นชั้น ประถม มัธยม และอุดมเป็นขั้นๆ โดยลำดับขึ้นไป ความรู้ชั้นประถมและชั้นมัธยม หัดช้างที่จับได้ทุกตัวหมด แต่ความรู้ชั้นอุดมนั้นจะใช้ช้างตัวไหนสำหรับทำการอย่างใด ก็ฝึกหัดช้างตัวนั้นให้ชำนิชำนาญการอย่างนั้นโดยเฉพาะ
วิธีฝึกหัดชั้นประถมนั้น เมื่อแรกคล้องได้ช้างเถื่อนพาไปถึงที่หัดแล้วเอาเชือกที่ผูกกับทามที่คอช้างเถื่อนพาไปผูกโยงไว้กับเสาตะลุงหรือต้นไม้ข้างหน้าทางหนึ่ง เอาปลายเชือกบาศที่ยังติดตีนช้างอยู่ไปผูกไว้กับเสาหรือต้นไม้ข้างหลังอีกทางหนึ่ง เหมือนอย่างขึงช้างไว้ตรงกลาง เอาไว้อย่างนั้นจนสงบดิ้นรน เป็นแต่เอาน้ำสาดตัวช้างบ่อยๆ ให้ชุ่มชื่น ครั้นเห็นค่อยสงบกระวนกระวายแล้ว จึงให้ช้างต่อเข้าไปเทียบข้าง ปลดสายเชือกข้างหน้าออกจากเสาหรือต้นไม้ มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ แล้วแก้ปลายเชือกบาศมาไว้กับตัวช้างต่อ ให้ช้างต่อพาช้างเถื่อนไปลงน้ำและกินหญ้า วันละครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง จนช้างเถื่อนคุ้นกับช้างต่อที่คนขี่มีกิริยาเริ่มเชื่อง จึงเอาแปรสถานไปผูกไว้แต่กับเสาตะลุงที่ในโรง และปลดเชือกบาศออกจากตีน ถึงตอนนี้คนเลี้ยงเริ่มเอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน แต่เมื่อถึงเวลา ช้างต่อยังเข้าผูกพาไปลงน้ำกินหญ้าอยู่ทุกวันตามเคย เมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนเลี้ยงที่เอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน จนเห็นสิ้นกิริยาปองร้าย คนเลี้ยงก็ค่อยเข้าใกล้ชิดจนถึงลูบคลำตัวและเกาให้ชอบใจช้าง และลองให้คนขึ้นหลังในเวลาเมื่อเดินติดข้างไปกับช้างต่อ ลองขี่กลางหลังดูวันละครู่ละยาม จนเห็นเคยไม่สะบัดสะบิ้งแล้ว ก็ค่อยเลื่อนที่นั่งออกไปจนถึงขี่คอ เมื่อคนขี่คอได้เสมอแล้ว ก็หย่อนสายโยงทามยาวออกไปให้ช้างเถื่อนเดินสะดวกยิ่งขึ้นโดยลำดับ คนขี่คอก็ฝึกหัดให้รู้วิธีที่คนขี่ใช้เท้าและขอบังคับช้างยิ่งขึ้น เขาว่าการฝึกหัดชั้นนี้เพียงสัก ๓ เดือน ก็อาจจะขี่ช้างที่จับได้ใหม่ให้เดินตามช้างต่อโดยลำพังได้ ดูเป็นสำเร็จการศึกษาชั้นประถมเพียงนี้
ฝึกหัดชั้นมัธยมนั้น เริ่มเมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนจนคนอาจจะหัดได้โดยลำพังแล้ว สอนให้ลงหมอบและลุกขึ้นตามคำสั่งของคนขี่อย่างหนึ่ง สอนให้งอขาหน้าส่งคนขึ้นขี่คออย่างหนึ่ง สอนให้เอางวงจับเชิงใส่ปลอกตีนข้างหน้าของตนอย่างหนึ่ง กับผูกเครื่องสัปคับบรรทุกของบนหลังอย่างหนึ่ง เขาว่าหัดผูกเครื่องสัปคับยากกว่าอย่างอื่น เพราะช้างรำคาญหลังมักสะบัดไม่ใคร่ยอมให้บรรทุกง่ายๆ นอกจากนี้ก็เห็นจะมีอย่างอื่นอีก เช่นหัดให้หักกิ่งไม้หรือถอนต้นไม้ที่กีดขวางทางเดินเป็นต้น อันจำต้องให้ช้างทำได้ในเวลาเมื่อใช้การงาน เขาว่าฝึกหัดชั้นมัธยมก็เป็นเวลาราว ๓ เดือน รวมเวลาฝึกหัดช้างตั้งแต่จับได้ไปราว ๖ เดือนก็ใช้การงานได้
แต่ในระหว่างเวลาที่ฝึกหัดอยู่นั้น ถ้าช้างยังไม่เชื่องสนิท หลุดไปได้ ก็กลับไปเข้าโขลงอยู่กับช้างเถื่อนอย่างเดิม ช้างเช่นนั้นเรียกว่า “ช้างอุทาม” ลืมความรู้ซึ่งคนได้ฝึกหัด และนิสัยกลับไปเป็นช้างเถื่อนยิ่งขึ้นตามเวลา แต่ผู้ชำนาญการจับช้างอาจจะรู้ด้วยสังเกตกิริยา มีเรื่องเล่ากันมา ว่าคล้องช้างที่เพนียดครั้งหนึ่งเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ คล้องได้ช้างพลายใหญ่ตัวหนึ่งที่ในเพนียด ล่อเอาเข้าซองได้แล้ว คนกำลังผูกทาม กรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล ทรงสังเกตกิริยาช้างตัวนั้น ตรัสแก่พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นแต่หมอช้างมีฝีมือ ว่า “อ้ายเอี่ยม ช้างตัวนี้ดูจะเป็นช้างอุทาม” หมอเอี่ยมได้ฟังตรัสก็ฉวยขอปีนขึ้นขี่คอช้างตัวนั้น ลองขยับขาบังคับช้างตัวนั้นเห็นทำตาม รู้ว่าเป็นช้างอุทาม ก็ทูลขอให้เปิดประตูซอง ขี่ช้างตัวนั้นทั้งมีเชือกบาศติดตีน พาไปโรงหัดได้โดยลำพังตัว ก็ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าหมอเอี่ยมกล้าหาญมาแต่ครั้งนั้น เพราะช้างอุทามตัวนั้นจะกลับใจไปเป็นช้างเถื่อนเสียเพียงไรก็ไม่รู้ เมื่อขี่ออกนอกซองแล้ว ถ้าเอาไว้ไม่อยู่ หมอเอี่ยมก็ต้องตาย จึงชมกันว่ากล้าหาญนัก หมอเอี่ยมก็ได้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับแต่นั้นมาจนได้เป็นพระยาเพทราชา แต่ช้างที่หัดจนเชื่องราบ เคยอยู่กับคนช้านานแล้ว ถึงจะปล่อยก็ไม่กลับไปเป็นช้างเถื่อน มีเรื่องตัวอย่างปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่ามีช้างงาสั้นตัวหนึ่งซึ่งลักษณะเข้าตำราว่าเป็นช้างวิเศษ ขึ้นระวางเป็นช้างต้นชื่อว่า “พระบรมจักรพาล” ถูกตัดแต่งปลายงามาหลายครั้งจนทะลุถึงโพรงไส้งา เห็นกันว่าจะตาย พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้พาช้างตัวนั้น ตามเสด็จขึ้นไปยังพระพุทธบาท ให้ทำเครื่องด้วยดอกไม้สดแต่งพระบรมจักรพาล แล้วทรงอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาปล่อยไปในป่าที่เขาพระพุทธบาทนั้น แต่ช้างตัวนั้นเคยอยู่กับคนมาเสียช้านาน ไม่ชอบอยู่ป่า เที่ยวหากินไปถึงเมืองลพบุรี เห็นบ้านเมืองก็เข้าไปนอนที่หน้าศาลากลางเสมอทุกคืน เจ้าเมืองกรมการบอกมากราบทูล พระเจ้าบรมโกศทรงสงสาร ก็โปรดให้ไปรับกลับเข้ามาเลี้ยงไว้ดังเก่า
ฝึกหัดช้างชั้นอุดมนั้น คือหัดให้รู้จักทำการเฉพาะบางอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อช้างมีความรู้ชั้นมัธยมแล้ว ดังเช่นประสงค์จะให้ช้างตัวนั้นเป็นช้างต่อ ก็ฝึกหัดให้ทำการไปด้วยกันกับช้างต่อจนชำนาญ ถ้าจะใช้ช้างตัวนั้นทำป่าไม้ ก็หัดให้ลากขนไม้ซุงไปด้วยกันกับช้างที่ทำป่าไม้เป็นทำนองเดียวกัน ผู้จับช้างเถื่อน เป็นพนักงานหัดชั้นประถมและมัธยม เพราะจะขายช้างได้ต่อเมื่อหัดแล้ว แต่การหัดความรู้ขั้นอุดม ผู้ทำการนั้นๆ หัดเอาเอง
ที่พรรณนามานี้เป็นการฝึกหัดช้างที่ใช้กันในพื้นเมือง แต่การฝึกหัดช้างหลวง เป็นระเบียบหนึ่งต่างหาก ในทำเนียบกรมพระคชบาล มีพนักงานฝึกหัดเรียกว่า “ครูช้าง” เป็นแผนกหนึ่ง ตัวหัวหน้าเป็นที่ขุนสิทธิกรรมอนันต์พระคชศาสตร์คนหนึ่ง ขุนศรีชัยทิศสิทธิพระคชศาสตร์คนหนึ่ง แต่ตำราหัดช้างหลวงจะเป็นอย่างไรฉันไม่เคยพบ ได้แต่สันนิษฐานตามเค้าที่สังเกตดูในทำเนียบบ้าง ในเรื่องพงศาวดารบ้าง กับที่ได้เห็นประเพณีที่ยังมีอยู่ชั้นหลังบ้าง การฝึกหัดช้างหลวงเบื้องต้น ก็คงฝึกหัดความรู้ชั้นประถมและมัธยม เหมือนอย่างช้างสามัญ แต่เห็นจะเพิ่มฝึกหัดมิให้ตื่นไฟหรือตื่นเสียงและตื่นของแปลกตาต่างๆ อันจะต้องพบเมื่อใช้ราชการ ต่อจากนั้นถึงชั้นอุดม เห็นจะหัดช้างเป็น ๔ ประเภท คือ ช้างรบประเภทหนึ่ง ช้างต่อประเภทหนึ่ง สองประเภทนี้ล้วนเป็นช้างพลาย ช้างหลัง (หัดให้เดินเรียบในเวลาผูกสัปคับให้คนนั่ง หัดแต่ช้างพัง) ประเภทหนึ่ง กับช้างบรรทุกอีกประเภทหนึ่ง อย่างนี้มีทั้งช้างพลายและช้างพัง จะว่าแต่ด้วยหัดช้างรบ ช้างรบแต่โบราณเห็นจะมี ๓ อย่าง (ในตำราจะเรียกต่างกันอย่างไร ฉันไม่รู้แน่ จะเรียกต่อไปตามคำของฉันเอง) คือ “ช้างชน” อย่างหนึ่ง “ช้างไล่” (น่าจะตรงกับที่เรียกในหนังสือเก่าว่า “ช้างดั้ง”) อย่างหนึ่ง “ช้างเขน” อย่างหนึ่ง ช้างชนนั้นเป็นช้างงา สำหรับขุนพลทั้งสองฝ่ายขี่คอขับให้ชนกัน และตัวเองก็รบกันบนคอช้าง เป็นการชิงชัยกันตัวต่อตัวทั้งช้างที่ชนและคนที่ขี่ แต่โบราณนับถือกันว่าเป็นวิธีรบยากกว่าอย่างอื่นเรียกว่า “ยุทธหัตถี” ขุนพลคนไหนชนะก็ขึ้นชื่อลือเกียรติว่าเป็นนักรบอย่างวิเศษ ต้องเลือกช้างขนาดใหญ่ที่กล้าหาญว่องไวดีถึงชั้นที่สุด หัดเป็นช้างชน แต่ช้างชนนั้นคนขี่อย่างไรและผูกเครื่องอย่างไร มีปัญหาอยู่ ด้วยสังเกตดูรูปภาพชนช้างที่เขียนไว้เก่าก่อนรัชกาลที่ ๔ เขาเขียนช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า ขุนพลขี่คอมีแต่ควาญท้ายอย่างเดียวกับขี่ช้างตกน้ำมัน แต่รูปภาพเขียนชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เช่นรูปภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง ที่เขียนไว้ ณ หอราชกรมานุสรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น เขียนช้างชนผูกเครื่องคชาธารปักเศวตฉัตร มีคนนั่งอยู่บนคชาธารอีกคนหนึ่ง เหมือนกันทั้งช้างของสมเด็จพระนเรศวรฯ และของพระมหาอุปราชาหงสาวดี จึงเกิดปัญหาว่า ที่จริงช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า คนขี่ ๒ คน หรือผูกเครื่องคชาธารมีคนขี่ ๓ คน ฉันคิดดู เห็นว่าการทำยุทธหัตถีขี่ช้างชนกันนั้น เหมือนขุนพลฝากชีวิตไว้กับช้างด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าช้างชนเพลี่ยงพล้ำลงอย่างใด ขุนพลก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นต้องอยากให้ช้างของตนชนได้คล่องแคล่ว ปราศจากอะไรที่ขัดขวางเป็นธรรมดา ก็คชาธาร(อย่างเช่นผูกหุ่นไว้ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ) เป็นของหนัก เอาขึ้นไปบรรทุกหลังช้างตั้งโงงเงงไว้เช่นนั้น ย่อมเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ช้างชนได้คล่องแคล่ว ถ้าไปเจอช้างข้าศึกผูกเครื่องมั่นตัวเปล่า ก็จะแพ้แต่แรก ถึงแม้ชนกันด้วยช้างผูกคชาธารทั้งสองฝ่าย ถ้าเผอิญเชือกผูกคชาธารฝ่ายไหนขาดหรือเพียงแต่หย่อน ทำให้คชาธารเอนเอียงลงมาห้อยอยู่ข้างช้างๆ ก็ต้องแพ้ ใครเลยจะสมัครขี่ช้างชนด้วยมีเครื่องเสี่ยงภัยถึงเพียงนั้น ฉันเห็นว่าที่จริงเครื่องผูกช้างชนคงเป็นเครื่องมั่นหลังเปล่าเช่นนั้นจึงจะชนได้ถนัด เหตุใดจึงมาเขียนรูปช้างชนให้ผูกเครื่องคชาธารขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ คิดดูก็เหมือนจะได้เค้า ด้วยในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนั้น ช้างพระที่นั่งมีเจ้ารามราฆพขี่กลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ ช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มีหมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ และว่านายมหานุภาพกับหมื่นภักดีศวรถูกปืนตายเมื่อชนช้าง ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารเห็นความที่กล่าวว่า ช้างทรงมีคนขี่กลางช้างเหมือนอย่างคชาธาร ผิดกับช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าอย่างสามัญ ก็เขียนลงว่าผูกเครื่องพระคชาธาร อันเป็นของมีจริงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบัญชาการรบในสนาม มิใช่สำหรับทรงเมื่อชนช้าง ช่างเขียนเขียนตามคำที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร รูปภาพช้างชนจึงกลายมาเป็นผูกคชาธาร เห็นว่าจะพลาดไปด้วยเหตุอย่างนี้ คิดต่อไปถึงข้อที่ช้างสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีคนขี่กลางช้างในเวลาที่ชนนั้น เห็นว่าช้างชนแต่โบราณอาจจะผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่ ๓ คนเช่นนั้น เป็นแบบใช้ทั่วไปก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะมีแต่ช้างพระที่นั่งก็อาจจะเป็นได้ เช่นเดียวกับช้างต่อที่พระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง ก็มีคนกลางช้างเพิ่มขึ้นผิดกับช้างคนอื่นขี่ ถึงมีในกฎมนเทียรบาลบทหนึ่งว่า “ถ้าพระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียกเชือกบาศจะคล้องช้างเถื่อนที่โตใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ห้ามมิให้คนกลางช้างส่งเชือกบาศถวาย” ช้างชนก็จะเป็นอย่างเดียวกันได้ดอกกระมัง ฉันจึงไม่กล้าลงความเห็นยืนยันว่าช้างชนคนขี่ ๓ คน หรือ ๒ คน ที่เอาปัญหามากล่าวไว้ ประสงค์แต่จะคัดค้านข้อที่ว่าช้างชนผูกเครื่องคชาธารเป็นสำคัญ เพราะรูปภาพที่เห็นกันทุกวันนี้ เขียนมีคชาธาร ชวนให้เข้าใจผิดอยู่โดยมาก
“ช้างไล่” นั้น สำหรับจู่โจมไล่แทงข้าศึกให้แตกฉาน หรือบุกรุกเข้าไปทำลายค่ายเขื่อนของข้าศึก เลือกช้างที่คล่องแคล่วรวดเร็ว เห็นจะเป็นชนิดที่เรียกว่า “ช้างระวางเพรียว” ในทำเนียบ ผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่คอกับควาญท้าย (อาจจะมีคนกลางช้างด้วยก็เป็นได้) ช้างไล่ได้ใช้รบศึกมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงหเสนี) รบญวนที่เมืองเขมรเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทร์ฯ ตั้งอยู่ที่เมืองอุดง เป็นเวลาฤดูน้ำ ญวนได้เปรียบด้วยมีเรือมาก จึงยกกองทัพเรือขึ้นไปจากเมืองพนมเปญหมายจะตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทร์ฯ มีแต่กองทัพบก จึงให้รวมพลจัดขบวนทัพซุ่มไว้ข้างในเมือง ปล่อยให้พวกญวนขึ้นบกได้ตามชอบใจ พอเห็นพวกญวนขึ้นจากเรือแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์ฯ ก็ให้กองทัพช้างไล่รายกันเป็นแนวออกนำหน้าทหารราบ ให้ช้างเข้าไล่แทงพวกญวนล้มตายแตกตื่นจนรวนเร แล้วให้ทหารราบตามเข้าตีซ้ำ กองทัพญวนก็แตกพ่ายหนีกลับไป ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดซึ่งใช้ช้างรบในเมืองไทย
“ช้างเขน” นั้น สำหรับนำพลเข้าตีประชันหน้ากองทัพข้าศึก ล้วนช้างงาขนาดใหญ่อย่างที่เรียกว่า “ระวางใหญ่” ผูกเครื่องมั่นมีสัปคับสำหรับทหารปืนอยู่บนนั้นอีก ๒ คนนอกจากหมอควาญ เคยเห็นแต่ในขบวนแห่ แต่คิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นช้างรบแบบเก่าก่อนอย่างอื่น มีแต่สมัยเมื่อยังใช้หอกซัดและธนู ก่อนมีช้างไล่และช้างชน
วิธีหัดช้างรบ จะทำอย่างไรบ้างฉันไม่เคยพบในตำรา แต่ยังมีตำราขี่ช้างแต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งหอสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ปรากฏอยู่ ในตำรานั้นว่าถึงการซักซ้อมช้างรบหลายอย่าง มีซ้อมชนเป็นต้น สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรคล้ายกับการกีฬา และยังมีเป็นประเพณีสืบมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ฉันได้ทันเห็นหลายอย่าง สังเกตดูพอเป็นเค้าได้ว่าการฝึกหัดช้างรบนั้น หัดให้กล้าอย่างหนึ่ง หัดให้อดทนต่อบาดเจ็บอย่างหนึ่ง และหัดให้ทำตามคนขี่บังคับในทันทีอย่างหนึ่ง ลักษณะการซ้อมช้างรบมีหลายอย่าง เรียกว่า “บำรูงา” อย่างหนึ่ง “ล่อแพน” อย่างหนึ่ง “ผัดพาน” อย่างหนึ่ง “แทงหุ่น” อย่างหนึ่ง “ล่อช้างน้ำมัน” อย่างหนึ่ง (ฉันไม่เคยเห็นช้างบำรูงา แต่นอกจากนั้นเคยเห็นทั้ง ๔ อย่าง) เดี๋ยวนี้สูญไปหมดแล้ว จึงจะพรรณนาไว้ในนิทานนี้
ที่เรียกว่า “ช้างบำรูงา” นั้น คือฝึกซ้อมช้างชน เลือกช้างรบที่กำลังตกน้ำมันทั้ง ๒ ตัว ผูกเครื่องมั่นมีหมอควาญขี่ให้ซ้อมชนกัน เหตุใดจึงเลือกช้างกำลังตกน้ำมัน อธิบายว่าธรรมดาช้างพลายมักเป็นสัดปีละครั้งหนึ่ง ในเวลาเป็นสัดนั้น ที่ตัวช้างมีน้ำมันตกทั้งข้างหน้าข้างท้าย จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “ช้างตกน้ำมัน” ช้างกำลังตกน้ำมันมักดุร้ายและมีกำลังมากกว่าเวลาอื่น ช้างที่ไม่ตกน้ำมันมักกลัวเกรงไม่กล้าสู้ เพราะฉะนั้นช้างที่ขี่ทำยุทธหัตถี จึงใช้ช้างกำลังตกน้ำมัน เมื่อซักซ้อมก็ใช้ช้างกำลังตกน้ำมันเหมือนกัน แต่ช้างตกน้ำมันคนขี่บังคับยาก เพราะกำลังคลั่งน้ำมัน ไม่ทำร้ายแต่ช้างพัง นอกจากนั้นอะไรเข้าไปยั่วก็เกิดโทสะ อยากแต่จะแทง คนขี่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบังคับช้างจึงอาจขี่ช้างตกน้ำมันได้ เวลาจะให้ช้างบำรูงา ต้องเลือกสรรหมอควาญที่ดีทั้งสองข้าง ในตำราว่าให้แต่งตัวอย่างโอ่โถง นุ่งผ้าตามแบบในคชศาสตร์ หมอใส่เสื้อตาระกำใส่พวงมาลัยสวมศีรษะกับทั้งคอและข้อมือทั้งสองข้าง ควาญก็ใส่พวงมาลัยเช่นนั้นเหมือนกัน (แต่ไม่ใส่เสื้อ) ที่สนามบำรูงาหน้าพลับพลานั้นปัก “เสาปอง” (เป็นเสาอย่างเตี้ยๆ) สองแถว เรียงกันเป็นระยะสัก ๕ วาไว้ข้างหลังช้างชนทั้งสองฝ่าย สำหรับวัดเชือกบาศซึ่งผูกตีนหลังช้างรั้งไว้ ให้ชนกันได้เพียงปลายประถึงกันมิให้ถึงแพ้ชนะ เพราะธรรมดาของช้างถ้าชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เมื่อจะบำรูงา ให้ช้างพังตั้ง ๑๐ ตัวเดินนำบังตาช้างชนมิให้แลเห็นกัน ให้ช้างชนไปยืนอยู่ที่หน้าเสาปอง เอาเชือกปาศคล้องตีนหลังทั้งสองข้าง คลี่ปลายเชือกบาศไปวัดกับเสาปองไขว้กันไปจนตลอดแนว ผูกไว้ระยะแต่ปลายงาช้างชนประกันดังกล่าวแล้ว เมื่อล่ามช้างแล้ว หมอควาญต้องทำพิธีบูชาก่อน คือประนมมือยกขอขึ้นถึงศีรษะ เสกบูชาพระรัตนตรัย แล้วลดขอลงมาเพียงบ่า เสกบูชาครูปัทยาย แล้วลดขอลงมาวางถึงกะพองและหลังช้าง ก้มหัวลงถึงขอแทนถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่สุด เสร็จบูชาแล้วสั่งให้เหล่าช้างพังที่บังหน้าถอยออกไป แล้วหมอควาญทั้งสองฝ่ายก็ไสช้างเข้าชนกัน วิธีชนนั้นมีคำในตำรากล่าวว่า “ให้ผู้ขี่ช้างแก้ไขช้างให้ ชน ขวิด ค้อนโยน ป้องกัน ให้เป็นท่วงทีทั้งสองฝ่าย” ดังนี้ ชวนให้เข้าใจว่าผู้ขี่จะให้ช้างชนอย่างไร อาจจะแนะได้ แต่ช้างนั้น ชนกันเต็มกำลังจริงๆ ข้อนี้เห็นได้ในเรื่องพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้า (บางฉบับเรียกพระแก้วฟ้า) ราชบุตรสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทอดพระเนตรช้างบำรูงา ว่าครั้งนั้นงาช้างพระยาไฟหักเป็น ๓ ท่อน ก็เพราะชนกันเต็มกำลังนั่นเอง ดูก็สมกับที่ถือกันมาแต่โบราณว่า การชนช้าง ต้องเก่งทั้งคนทั้งช้างจึงจะเอาชัยชนะได้ แต่ช้างบำรูงาเห็นจะให้ชนกันไม่ช้านัก พอสมควรแก่เวลาแล้ว เมื่อจะเลิกในตำราว่าให้คนขี่รั้งช้างให้ถอยออกไปทั้งสองฝ่าย เมื่อช้างถอยไปถึงเสาปอง ให้หมอควาญรำขอและเล่นหน้าเยาะเย้ยกันทั้งสองฝ่าย และทำพิธีบูชาอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อก่อนชน แล้วจึงเรียกเหล่าช้างพังให้เข้าไปบังหน้า พาช้างชนกลับไปโรงทั้งสองตัว เป็นเสร็จกระบวนช้างบำรูงา
ซ้อมช้างอย่าง “ล่อแพน” นั้น สำหรับซ้อมช้างไล่ เวลารบไม่จำต้องใช้ช้างตกน้ำมันเหมือนช้างชน แต่ซ้อมถวายทอดพระเนตรอย่างกีฬา ใช้ช้างตกน้ำมันเสมอ มีที่ท้องสนามชัย ทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมอควาญขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า มายืนอยู่ที่หัวสนามทางด้านเหนือ กรมม้าเลือกม้าตัวดีที่คล่องแคล่วและใจกล้าตัวหนึ่ง ผูกเครื่องแผงอย่างเต็มยศให้ขุนม้าผู้เชี่ยวชาญขี่ ขุนม้านั้นก็แต่งตัวเต็มยศโพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง มือถือ “แพน” ทำด้วยไม้รวกยาวสัก ๖ ศอก ผูกผ้าสีเป็นปล้องๆ ในจนพู่ที่อยู่ปลายรำแพน ขับม้าสะบัดย่างเข้าไปจนถึงหน้าช้าง ชักม้าหันหน้ากลับแล้วยื่นปลายแพนเข้าไปล่อใกล้ๆ ช้าง พอช้างขยับไล่ก็ขับม้าวิ่งล่อมาในสนาม แต่มิให้ห่างช้าง ถือแพนเอาปลายล่อให้ช้างฉวย ดูเหมือนถือกันว่าถ้าช้างฉวยเอาแพนได้ก็เป็นช้างชนะ ถ้าฉวยไม่ได้ก็เป็นม้าชนะ ไล่กันมาหวิดๆ จนคนดูออกเสียวไส้ เห็นได้ว่าม้าและคนขี่ดีหรือเลว ด้วยมีม้าบางตัวไม่กล้าเข้าใกล้ช้าง และคนขี่บางคนพอช้างไล่ก็ขับม้าหนีเตลิดเปิดเปิง ชวนให้เห็นว่าขลาดเกินไป ในตำราว่าถ้าช้างฉวยได้แพน ให้หมอควาญหยุดไล่และรำขอเล่นหน้าเยาะเย้ย ถ้าช้างไม่ได้แพน ก็ให้ไล่ตลอดจนถึงปลายสนามแล้วหยุดไล่เป็นเสร็จการล่อแพน บางทีเปลี่ยนช้างเปลี่ยนม้าให้ล่อสองเที่ยวหรือสามเที่ยวก็มี
มีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อรัชกาลที่ ๓ มีช้างงาของหลวงตัวหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ขึ้นระวางชื่อว่า “พลายไฟภัทธกัลป์” แต่คนเรียกกันเป็นสามัญตามชื่อเดิมว่า “พลายแก้ว” เป็นช้างฉลาดแต่ดุร้ายตกน้ำมันทุกปี แทงคนที่ไปล่อตายหลายคนจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ถึงมีรูปภาพเขียนไว้ (อยู่ที่ในพิพิธภัณฑสถาน) ช้างพลายแก้วตัวนั้นอยู่มาจนถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง ขึ้นระวางเป็น “เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด” เป็นม้าขี่คล่องแคล่วฝีตีนดี ทั้งเต้นน้อยและวิ่งใหญ่ก็รวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ถึงเกิดอยากทรงม้าสายฟ้าฟาดตัวนั้นล่อแพนช้างพลายแก้วเวลาตกน้ำมัน ตรัสสั่งให้มีการล่อแพนพลายแก้วที่สนามในวังหน้า เสด็จทรงม้าสายฟ้าฟาดสะบัดย่างเข้าไปถึงหน้าช้างแล้วชักตลบหลัง ทรงยื่นแพนล่อช้างตามตำรา พอพลายแก้วขยับตัวจะไล่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงกระทบพระบาทขับม้าจะให้วิ่ง แต่อย่างไรม้าสายฟ้าฟาดเข้าใจว่าโปรดให้เต้นก็เต้นน้อยย่ำอยู่กับที่ไม่วิ่งหนีช้าง แต่หมอช้างที่ขี่พลายแก้ววันนั้นปัญญาไว คงเป็นคนสำคัญที่กรมช้างเลือกสรรไป เขาแก้ไขด้วยใช้อุบายก้มตัวลงเอามือปิดตาพลายแก้วทั้งสองข้าง แล้วขับเบนให้วิ่งไล่เฉไปเสียทางอื่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงพ้นอันตราย เล่ากันมาอย่างนี้
ซ้อมช้างอย่าง “ผัดพาน” นั้น ดูเหมือนจะสำหรับซ้อมช้างให้ทำลายเรือน ซ้อมถวายทอดพระเนตรที่สนามชัยอย่างเช่นล่อแพน แต่ลักษณะผัดพานนั้นปลูกปะรำไม้ไผ่ทางหัวสนามปะรำหนึ่ง ทางท้ายสนามปะรำหนึ่ง เป็นปะรำยาว ๕ ห้องกว้างสัก ๒ เท่าตัวช้าง สูงแต่เพียงเหนือตาช้าง หลังคาปะรำทอดรำไม้ไผ่ขวางเรียงกันไป ไม่ผูกติดกับแปเหนือเสา แล้วดาดกระแชงเหมือนกันทั้งสองปะรำ หมอควาญขี่ช้างน้ำมันไปยืนอยู่ในสนามตรงกลางระหว่างปะรำทั้งสองข้าง ทำพิธีบูชาและถวายบังคมแล้วจึงบ่ายหน้าช้างไปทางปะรำด้านหนึ่งก่อน ขณะนั้นคนผัด (ในตำราเรียกว่า “คนพาน” เพราะถือพัดใบตาลรูปอย่างวาลวิชนี) ก็ออกมาจากปะรำ คนผัดนั้นแต่งตัวนุ่งกางเกงสั้นเหนือเข่า หัวสวมมงคลเหมือนอย่างคนชกมวย ถือด้ามพัดมือหนึ่ง ถือขอบพัดมือหนึ่ง เป็นท่าป้องหน้าเดินเข้าไปหาช้าง จนใกล้ได้ระยะพอจะวิ่งหนีพ้นก็ลดพัดลงถือมือเดียว ย่างเท้า “ออกพักสามท่า” (คล้ายย่างสามขุม) แล้วตบมือกับใบพัดร้องว่า “ผัดพ่อ” ทำเหมือนหนึ่งจะยื่นพัดให้ช้าง พอช้างไล่ก็วิ่งหนี แต่มือถือพัดยื่นให้ช้างล่อไปใกล้ๆ อย่างหวุดหวิด เห็นได้ว่าต้องเป็นคนใจกล้าและได้ฝึกหัดคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ในตำราว่าช้างอาจจะฉวยพัดได้ แต่ฉันไม่เคยเห็นถึงอย่างนั้น เห็นแต่คนผัดวิ่งหนีเข้าไปในปะรำ ช้างไล่กำลังตามมุ่งคนล่อ ถึงปะรำหัวช้างก็เกยรำไม้ไผ่ที่ทอดไว้เป็นขื่อกับกระแชงที่มุง ดันเอากระจุยไปสักครึ่งปะรำ หมอจึงเหนี่ยวช้างให้ถอยหลังออกมา พอพ้นปะรำหมอควาญก็เล่นไหล่ใส่หน้าเยาะเย้ยตามตำรา แล้วขับช้างกลับไปยืนอยู่กลางสนามหันหน้าไปทางปะรำอีกข้างหนึ่ง คนผัดในปะรำนั้นก็ออกมาผัดล่ออย่างเดียวกัน ในเวลานั้นคนขึ้นทอดไม้มุงกระแชงปะรำแรกให้ดีดังเก่า ล่อช้างทางปะรำที่ ๒ แล้วก็กลับมาล่อทางปะรำที่ ๑ อีกซ้ำสองเที่ยวสามเที่ยวแล้วเป็นเสร็จ เปลี่ยนตัวคนผัดทุกครั้ง แต่คนผัดช้าง เห็นจะหาได้ไม่ยาก เพราะพวกคนคะนองเห็นเป็นการกีฬาอย่างสนุก ด้วยต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าการอย่างอื่น
ซ้อมช้าง “แทงหุ่น” นั้น ในตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่กล่าวถึง ตัวฉันเองก็ได้เคยเห็นครั้งเดียวเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ซ้อมขู่พวกจีนอั้งยี่แต่ต้นรัชกาลที่ ๕ ดังกล่าวไว้ในนิทานที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่ แต่เห็นได้ว่าสำหรับซ้อมช้างหักค่ายข้าศึก ด้วยทำเป็นค่ายขึ้นที่หัวสนาม มีหุ่นรูปคนรายประจำอยู่ในนั้น เมื่อหมอควาญขี่ช้างมายืนอยู่ในสนาม คน(จริงๆ) พวกที่แอบอยู่ในค่ายยิงปืนออกมา พอช้างแลเห็นไฟได้ยินเสียงปืน หมอควาญก็ขับให้วิ่งสวนควันเข้าไปรื้อค่ายแทงรูปหุ่นคนที่รักษาค่าย ต่อช้างหัดได้ดีถึงขนาดจึงทำได้เช่นนั้น
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 เมษายน 2567 15:33:55 โดย Kimleng »
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5740
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 124.0.0.0
|
|
« ตอบ #34 เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:33:01 » |
|
นิทานโบราณคดีพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (จบ) การซ้อมช้างรบ ๔ อย่างที่พรรณนามานี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะได้เคยมีช้างบำรูงาหรือไม่ สงสัยอยู่ ช้างแทงหุ่นถ้าว่าตามตาเห็นก็เคยมีครั้งเดียว ได้ดูกันมากแต่ล่อแพนกับผัดพาน ถึงสองอย่างนั้นก็ผลัดกันมีแต่ปีละครั้งในเดือน ๕ เมื่อวันแห่คเชนทรัสวสนาน แต่มีการซ้อมช้างอีกอย่างหนึ่งซึ่งโปรดให้เป็นกีฬาสำหรับชาวพระนคร คือ “ล่อช้างตกน้ำมัน” มีบ่อยๆ แทบทุกปี ด้วยถึงฤดูหนาวในระหว่างเดือนอ้ายกับเดือนสาม มักมีช้างพลายตกน้ำมัน บางตัวเป็นช้างดุชอบไล่แทงคน เวลาช้างเช่นนั้นตกน้ำมัน กรมช้างไม่เอาไปลงน้ำแต่เช้าตรู่เหมือนช้างอื่น รอไว้จนถึงเวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา เมื่อคนจ่ายตลาดกันเสร็จแล้ว จึงเอาช้างตกน้ำมันตัวนั้นไปลงน้ำ และอนุญาตให้คนเข้าผัดล่อได้ ก็เกิดเป็นการสนุก ชอบใจคนทั้งหลายทั้งพวกอยากดูและพวกคะนองที่อยากเสี่ยงภัยล่อช้างเล่นให้สนุก คงมีช้างพลายบางตัวที่ตกน้ำมันทุกปี และชอบไล่คนจนขึ้นชื่อลือนามมาทุกรัชกาล ว่าตามที่ฉันเคยได้ยินชื่อ เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีพลายสิงห์ทองตัวหนึ่ง กับพลายแก้วที่เล่ามาแล้วตัวหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมไอยเรศตัวหนึ่ง กับอีกตัวหนึ่งขึ้นระวางชื่อพลายอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว แต่คนชอบเรียกกันว่า “อ้ายห้าว” เขาว่ามันเป็นช้างชอบสนุก ไล่คนทันก็เป็นแต่คลึงเลีย ไม่แทงใครให้ตาย ฉันเคยรู้จักตัวคนที่ถูกอ้ายห้าวคลึงคนหนึ่ง แต่ก็บอบช้ำเจ็บป่วยอยู่นานจึงกลับเป็นปรกติ ในรัชกาลที่ ๕ มีพลายศักดิ์ตัวหนึ่ง กับพลายชมพูอยู่ในโรงวังหน้าตัวหนึ่ง ฉันได้เคยแต่ดูสองตัวที่ออกชื่อข้างหลังเมื่อฉันยังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก
สมัยนั้น ถนนหน้าพระลานทางฟากข้างเหนือ มีโรงช้างเรียงกันมาแต่ตรงป้อมเผด็จดัสกร จนถึงหัวถนนหน้าพระธาตุ เป็นโรงเดี่ยวไว้ช้างพลายที่ขึ้นระวางแทบทั้งนั้น ทางถนนหน้าพระธาตุทางฟากตะวันออกก็มีโรงช้าง เป็นโรงเดี่ยวบ้างกับโรงยาวสำหรับไว้ช้างพังบ้าง เรียงกันไปจนตลอดสถานกรมศิลปากรบัดนี้ ช้างพลายศักดิ์อยู่โรงต้นแถวตรงป้อมเผด็จดัสกร ไปลงน้ำต้องเดินทางถนนหน้าพระลาน จนถึงท่าพระซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่าช้าง” เพราะฉะนั้นเวลาพลายศักดิ์ตกน้ำมัน ถนนหน้าพระลานจึงเป็นสนามกีฬา สำหรับคนล่อพลายศักดิ์ตอนสาย แต่พอรู้กันว่าพลายศักดิ์ตกน้ำมัน เวลาเช้าแต่ ๗ นาฬิกาก็มีคนมาคอยดูมากมาย ที่เป็นชั้นผู้ดีก็ขึ้นดูบนป้อมหรือกำแพงพระราชวังบ้าง ที่บนกำแพงวังกรมสมเด็จฯ ซึ่งอยู่หน้าประตูวิเศษชัยศรีบ้าง ที่วังท่าพระบ้าง แอบดูอยู่ตามโรงช้าง หรือตามร้านหรือโรงแถวที่ท่าพระบ้าง แต่ที่อื่นไม่แลเห็นได้ไกลเหมือนป้อมบนกำแพง คนดูโดยมากขึ้นบนป้อมบนกำแพงวังไม่ได้ จึงต้องดูอยู่ในท้องถนน คอยหลบหลีกหาที่แอบแฝงต่อเมื่อช้างไล่มาใกล้ มีคนเกลื่อนเต็มถนนแต่เช้าทุกวัน มีคนหนุ่มคะนองอีกพวกหนึ่งชอบเล่นล่อช้างตกน้ำมัน พวกนี้ไปคอยอยู่ใกล้ๆ กับโรงช้างตกน้ำมัน ก่อนเวลาช้างน้ำมันลงน้ำสักครึ่งชั่วนาฬิกา กรมช้างเขาให้เอาช้างพลายตัวอื่นที่โรงอยู่ในหนทางช้างน้ำมันจะผ่านหลบไปไว้เสียที่อื่น พอจวนจะถึงเวลาช้างตกน้ำมันจะออกจากโรง เขาให้ช้างพังมีหมอควาญขี่ตัวหนึ่งเดินล่วงหน้าไปก่อน คนขี่ช้างพังตีฆ้องกระแตไปตามทาง เป็นสัญญาณให้คนทั้งหลายรู้ว่าช้างตกน้ำมันจะตามมาข้างหลัง พวกเจ้าของโรงร้านที่อยู่ริมทางก็พากันปิดประตูหน้าถังและพากันหลบซ่อนตัว ช้างพังผ่านไปสักครู่หนึ่งแล้วจึงให้ช้างตกน้ำมันออกจากโรง หมอควาญที่ขี่ช้างตกน้ำมันแต่งตัวนุ่งกางเกงสีแดงคาดผ้าไม่ใส่เสื้อ หมอถือขอสั้นควาญถือขอยาว พอช้างออกพ้นประตูโรง พวกคนผัดกองหนึ่งก็เข้าล่อข้างหน้าให้ไล่มาพักหนึ่ง พอช้างรอ พวกคนผัดกองหลังก็เข้าล่อให้ช้างหวนกลับไปไล่ย้อนทางข้างหลัง ช้างวิ่งไล่ไปทางไหน พวกคนดูอยู่ในถนนทางนั้นก็พากันวิ่งหนี พวกที่วิ่งหนีอยู่ก่อนกลับหันหน้ามาเดินตามช้าง ครั้นช้างกลับหน้าไล่ไปทางนั้นอีกก็วิ่งหนีอีก เหมือนนัดผลัดกันวิ่งหนีอยู่ทั้งสองข้าง ดูขันอยู่ การล่อช้างตกน้ำมันผิดกับผัดพาน เพราะคนล่อช้างตกน้ำมันไม่ได้ฝึกหัดเลือกสรรมาล่อช้างเหมือนคนผัดพาน แล้วแต่ใครอยากจะล่อก็เข้าไปล่อเป็นหมู่ใหญ่ เสี่ยงภัยเอาเองตามชอบใจ เคยมีคนล่อคนหนึ่งขาเป๋วิ่งกะเผลกๆ แต่วิ่งเร็วและใจก็กล้า ถึงเวลาช้างตกน้ำมัน เป็นมาล่อทุกปี จนคนดูรู้จักหน้าได้หมด หนีไล่หวุดหวิดกันทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ยินว่าใครล้มตาย หมอช้างที่ขี่พลายศักดิ์เวลาตกน้ำมันนั้นชื่อสุข จะเป็นขุนหมื่นชื่อใดในทำเนียบฉันไม่รู้ เรียกกันแต่ว่า “ตาสุข” หรือ “หมอสุข” พวกคนดูและคนล่อช้างชอบทั้งนั้น เพราะโดยปรกติหน้าที่ของแกมีเพียงขี่ช้างออกจากโรงไปลงน้ำที่ท่าพระ เมื่อช้างกินน้ำอาบน้ำแล้วก็ขี่กลับไปเข้าโรง ถ้ามีคนล่อ ก็ให้ช้างวิ่งไล่ เมื่อขาไปลงน้ำเที่ยวหนึ่ง กับไล่เมื่อขากลับอีกเที่ยวหนึ่ง แต่ตาสุขแกมักขับช้างไล่ย้อนไปย้อนมาวันละหลายเที่ยว ให้ดูกันวันละสักชั่วโมงหนึ่งแล้วจึงให้ช้างเข้าโรง แต่สังเกตดูแกให้ช้างไล่มากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกันทุกวัน ภายหลังจึงรู้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เขาว่าถ้าวันไหนแกได้เหล้าของกำนัลของคนดูพอแก่ใจ ช้างก็เล่นสนุก ถ้าวันไหนได้เหล้าน้อยไปช้างก็เข้าโรงเร็ว นัยว่าตลอดเวลาที่พลายศักดิ์ตกน้ำมัน ตาหมอสุขกับควาญไม่ต้องซื้อเหล้ากินทีเดียว แต่ธรรมดาช้างตกน้ำมัน คลั่งน้ำมันถึงไล่คนแต่ในเวลาน้ำมันชุก พอน้ำมันเหือดแห้งก็ไม่ไล่ ถึงหน้าหนาวจึงเป็นฤดูกีฬาสำหรับเล่นช้างน้ำมัน เพียงปีละ ๑๕ วัน แต่ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์อื่นเสด็จออกทอดพระเนตร มีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ถึงโปรดให้สร้างพลับพลาน้อยขนาดสองห้องไว้บนหลังคาป้อมขันเขื่อนเพชรที่ริมประตูวิเศษชัยศรีหลังหนึ่ง สำหรับทอดพระเนตรล่อช้างตกน้ำมัน แต่เมื่อสร้างนั้นฉันยังเด็กไม่ทันเห็นเสด็จออก เคยเห็นแต่พลับพลานั้น ยังอยู่มาจนรื้อหลังคาป้อมจึงสูญไป แต่การที่เอาช้างน้ำมันออกขี่ให้คนล่อ มีแต่ช้างหลวงในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่อื่นแม้จนในอินเดียที่ฉันได้ไปเห็น ณ เมืองชัยปุระ ดังเล่าในนิทานที่ ๕ ถ้าช้างตกน้ำมันเป็นแต่เอาล่ามแหล่งไว้กับที่ หาเอาออกขับขี่ไปไหนๆ ไม่ ล่อช้างน้ำมันจึงเข้าลักษณะเป็นกีฬาหลวงอย่างหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.จบบริบูรณ์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
|
|
|
|
กำลังโหลด...