พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ครั้นรัตนโกสินทรศก.๑๒๙ ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงคำนึงถึงหิรันยอสูร ซึ่งนิยมกันว่าได้เคยตามเสดจพระราชดำเนิรมาหลายแห่งหน การเสดจพระราชดำเนิรในแห่งใดๆ ก็เปนไปโดยสวัสดิภาพ และเปนที่อุ่นใจแห่งราชบริพารทั่วไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ แล้วเสร็จบริบูรณ์ในเดือนเมษายนรัตนโกสินทรศก.๑๓๐ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องสังเวยเส้นสรวงตามสมควร ขอเชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตย์ในรูปสัมฤทธิ์นี้ แลทรงขนานนามพระราชทานใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ แลไม้เท้าเปนเครื่องประดับยศสืบไป ขอเชิญท้าวหิรันยพนาสูรรับเครื่องสังเวยสักการอันได้ทรงสั่งสมมานั้นเปนธรรมพลี ขอจงได้รับส่วนพระราชกุศลแลอนุโมทนาในไตรทวารอันได้ทรงสั่งสมมานั้นเปนธรรมพลี ขอจงได้รับส่วนพระราชกุศลแลอนุโมทนา แล้วจงอภิบาลบำรุงรักษาสมเดจพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเสดจพระราชดำเนิรประพาศในทิศานุทิศใดๆ ขอให้ทรงเกษมสำราญปราศจากโรคภัยพิบัติอุปัทวันตราย พร้อมทั้งราชบริพารทั้งปวง แลให้ทรงพระเจริญพระชนมายุศุขสิริสวัสดิ์ สมบูรณ์ด้วยพระราชวรฤทธิ์เดชานุภาพแผ่ไพศาล สรรพศิริสมบัติสวิญญาณอวิญญาณ๒๒ อันพิเศษต่าง ๆ จงมาเพิ่มพูนประดับพระบารมีให้สำเร็จดังพระราชหฤทัยประสงค์ จงทุกประการ เทอญ ฯ”
แม้ระยะเวลาล่วงเลยมาหลายปีความเชื่อมั่นในท้าวหิรันยพนาสูรยังมิได้จางคลายจากพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ประการใด กลับเพิ่มพูนงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) ๒๓ เจ้ากรมบัญชาการ กรมศิลปากร กระทรวงมุรธาธร เป็นแม่กองจัดสร้างรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ เสวกตรี พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) ๒๔ ประติมากรผู้ปั้นต้นแบบ โดยมี นายตาบ พรพยัคฆ์๒๕ เป็นหุ่นต้นแบบที่ใช้ปั้นท้าวหิรันยพนาสูร และมิสเตอร์ เอ็ม.แกลเลตตี๒๖ วิศวกรชาวอิตาเลียนเป็นผู้ควบคุมการหล่อแบบ ใช้งบประมาณการหล่อเป็นเงิน ๒,๒๑๖ บาท ๒๕ สตางค์๒๗ และโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์ยี. คลูเซอร์๒๘ เป็นผู้จัดสร้างศาลสำหรับประดิษฐานรูปหล่อลอยองค์ท้าวหิรันยพนาสูรไว้ตอนท้ายพระราชวังพญาไท ริมคลองสามเสน ใช้งบประมาณเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท
เมื่อการจัดสร้างทั้งรูปหล่อลอยตัวและศาลสำหรับประดิษฐานแล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไท ทรงเจิมท้าวหิรันยพนาสูร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๖ ดังความปรากฏในจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ หน้า ๑๖ ความว่า๒๔
“ลงจากพระที่นั่งพิมานจักรี ตรงไปที่บุษบกศิลาที่ตั้งรูปท้าวหิรัญพนาสูร, ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสามเสน, ตรึงแผ่นทองแดงจากฤกที่ฐานบุษบก, เปิดคลุมรูปท้าวหิรัญ, และจุดธูปเทียนสังเวย.”ประมาณการหล่อรูปท้าวหิรัญตปการสูร ขนาดใหญ่ คือ
ค่าของใช้สำหรับปั้นรูป มีดินแลเหล็กแกนขี้ผึ้ง แลของใช้เบจเตรจ๓๐ | | ๓๐๐ บาท |
ทองเหลืองล่ำอย่างหล่อเครื่องเรือไฟอย่างดี หาบละ ๕๕ บาท ๕ หาบ | | ๒๗๕ บาท |
ฟืนแสม๓๑ ขนาดยาว ๑,๐๐๐ ดุ้น | | ๕๐ บาท |
ถ่านไม้ซาก ๑๒ หาบ ๆ ละ ๓ บาท | | ๓๖ บาท |
เหล็กตกรับรองเตา ๕ แผ่น | | ๑ บาท ๒๕ สตางค์ |
กระเบื้องปิดเตา ๒๐ แผ่น | | ๔ บาท |
ค่าเบ้าฝรั่ง | | ๑๒๐ บาท |
ค่าเหล็กรัดทุ่น | | ๕๐ บาท |
ค่าจ้างแรงงานทำการเวลาหล่อ | | ๘๐ บาท |
ค่าจ้างคนแต่งแลค่าเครื่องมือ | | ๑,๒๐๐ บาท |
ค่าพาหนะ | | ๑๐๐ บาท |
รวมทั้งสิ้น เงิน | | ๒,๒๑๖ บาท ๒๕ สตางค์ |
ข้อความบนแผ่นทองแดงที่ฐานรองรับท้าวหิรันยพนาสูร จารึกข้อความดังนี้
การลงพื้นที่สำรวจบันทึกภาพท้าวหิรันยพนาสูร ณ ที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้พยายามค้นหาแผ่นป้ายจารึกทองแดงที่ฐานรองรับท้าวหิรันยพนาสูร แต่ไม่พบหลักฐาน จึงเกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วแผ่นป้ายนี้มีจริงหรือไม่ หากมีจริงอยู่ตรงส่วนไหนของฐาน จึงกลับมาย้อนดูเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมไว้ปรากฏพบรูปภาพ ๆ หนึ่งที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล และภาพนั้นอยู่ในหนังสือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่แสดงให้เห็นว่า ศาลท้าวหิรันยพนาสูรมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ
๑. ในอดีตศาลท้าวหิรันยพนาสูรอยู่บนที่สูงรองรับด้วยฐานขนาดสูง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีฐานสูงรองรับ
๒. ในอดีตศาลท้าวหิรันยพนาสูรไม่มีผนังทึบปิดด้านหลัง ปัจจุบันมีการก่อผนังทึบแล้วประดับด้วยกระจกสี
๓. หากต้องการขึ้นสักการะอย่างใกล้ชิดในอดีตปรากฏขั้นบันไดทางขวามือของท้าวหิรันยพนาสูร แต่ปัจจุบันไม่มีขั้นบันไดดังกล่าว
๔. เมื่อพิจารณารูปทรงของศาลในอดีตให้ความรู้สึกว่าท่านยืนตระหง่านอยู่บนฐานที่สูงชะลูด ดูมีพลังน่าเกรงขามยิ่ง
รูปท้าวหิรญพนาสูรนี้
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร
มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น
เมื่อณวันเสาร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม
พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เวลา ๕ นาฬิกา
กับ ๙ นาที ๔๑ วินาที หลังเที่ยง--------------------------------------
๒๒ สวิญญาณ หมายถึง สิ่งที่มีวิญญาณ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ต่างๆ (ในที่นี้น่าจะหมายถึง มีบริวารมากมาย) อวิญญาณ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีวิญญาณ เช่น เงิน ทอง ผ้านุ่งห่ม และเครื่องใช้สอย (ในที่นี้น่าจะหมายถึง ทรัพย์สมบัติ)
๒๓ มหาเสวกตรี พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) สืบค้นประวัติเพิ่มเติมได้ใน
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ (พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓). พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร). ดูเพิ่มใน
http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:240816๒๔ เสวกตรี พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เจ้ากรมสิบหมู่ช่างปั้นซ้าย ฝีมือชั้นเอกในพระราชสำนัก เดิมบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทพรจนา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเงิน เข็มศิลปวิทยา แก่ หลวงเทพรจนา (สิน) เมื่อครั้งที่เสด็จประทับ ณ โรงพระราชพิธีในการหล่อพระไชยวัฒนประจำรัชกาล เมื่อวันที่ ๘ มกราคม รัตนโกสินรศก ๑๒๙ “พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา. “
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๒๗ (๑๕ มกราคม ร.ศ.๑๒๙): ๒๔๓๙.
มีผลงานทั้งปั้นและหล่อมากมายอาทิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปะประยุกต์แบบกรีก ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานให้พระเทพรจนาปั้นและหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง สร้างอุทิศถวายและบรรจุพระอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ประดิษฐาน ณ ตึกไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๖๒
ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหายจากพระอาการประชวรหนัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ โปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ พระเทพรจนา ปั้นและหล่อพระนิรโรคันตรายถวายพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ นิ้ว ที่เบื้องซ้ายและขวาขององค์พระ มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์ ๒ ตน เชิญฉัตรกั้น และพัดโบก โดยมีลักษณะเป็นนาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่เหนือศีรษะซึ่งมีใบหน้าเป็นมนุษย์ มีเขี้ยว ๒ ข้างที่มุมปาก ลำตัวด้านหน้าและแขนสองข้างเป็นมนุษย์ ส่วนลำตัวด้านหลังเป็นเกล็ดนาค มีขาข้างหนึ่งเป็นมนุษย์ อีกข้างหนึ่งเป็นขนดหางนาค
พระพุทธสิหิงค์ (เชียงใหม่) วัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นองค์ประธานในวิหารลายคำปัจจุบันนั้น เคยถูกโจรลักลอบตัดพระเศียรไปใน พ.ศ.๒๔๖๖ สอบสวนคนร้ายได้ความว่า นำไปหลอมเป็นกระดิ่งผูกคอวัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบข่าวโปรดเกล้าฯ ให้พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) ปั้นหล่อพระเศียรซ่อมคืนจนสมบูรณ์ดังเดิม แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อถึงคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๖๙ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปประดิษฐานที่วัดพระสิงห์ดังเดิม เจ้าดารารัศมีทรงเป็นแม่งานจัดโรงทานเป็นการสมโภชในคราวนั้น
ได้รับนามสกุลพระราชทาน “ปฏิมาประกร” ในขณะที่มีบรรดาศักดิ์ หลวงเทพรจนา “ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๑๑.”
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๓๐. (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖): ๒๗๔๓
ปรากฏยศสัญญาบัตร “เสวกตรี” ในรายนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรพรรดิมาลา เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๑ “พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์.
ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๕ (๒๗ มกราคม ๒๔๗๑): ๓๓๔๙ – ๓๓๕๐.
๒๕ นายตาบ พรพยัคฆ์ (ขุนหิรัญปราสาท) อ้างประวัติแล้ว อ้างถึงใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร (พระนคร: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, ๒๕๐๘). พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘. ดูเพิ่มใน
http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:166722๒๖ มิสเตอร์เอ็ม. แกลเลตตี (
Mario Galetti) วิศวกรชาวอิตาเลียน รับหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างพระราชวังพญาไทในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างวังไกลกังวลในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ รับราชการอยู่ในตำแหน่งอาจารย์วิศวกรรม แผนกศิลปากร จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ รวมรับราชการ ๑๖ ปี (พ.ศ.๒๔๕๙ – ๒๔๗๕) ได้รับเบี้ยบำนาญปีละ ๒,๘๘๐ บาท
๒๗ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
มร.๖บ/๓๘ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ เบ็ดเตล็ด เรื่อง ท้าวหิรัญพนาสูร (๒๘ มิ.ย. – ๑๖ ส.ค.๒๔๖๕)
๒๘ มิสเตอร์ยี. คลูเซอร์ (
G. Cluzer) ชาวเยอรมัน เปิดห้างร้านรับเหมาก่อสร้างในสยาม เช่น จัดหากระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) รับเหมาก่อสร้างหมู่พระที่นั่งพระราชวังพญาไท พ.ศ.๒๔๖๒ – ๒๓๖๕ เป็นต้น
๒๙ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
มร.๖บ/๓๘ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ เบ็ดเตล็ด เรื่อง ท้าวหิรันยพนาสูร (๒๘ มิ.ย. – ๑๖ ส.ค.๒๔๖๕)
๓๐ เบจเตรจ หมายถึง เบ็ดเตล็ด
๓๑สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
แสม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕, จาก:
http://legacy.orst.go.th/?knowledges=แสม-๑๔-เมษายน-๒๕๕๐