[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
01 กรกฎาคม 2568 19:33:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปฐมเหตุและปัจฉิมบท ท้าวหิรันยพนาสูร  (อ่าน 1389 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6104


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 126.0.0.0 Chrome 126.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2567 18:02:21 »


รูปหล่อลอยองค์ขนาดใหญ่ "ท้าวหิรันยพนาสูร" ชิ้นสุดท้ายที่หล่อขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หล่อแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๕ (ที่มา : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.๖ ท้าวหิรันยพนาสูร


ปฐมเหตุและปัจฉิมบท ท้าวหิรันยพนาสูร
บทความโดย ภูชัย กวมทรัพย์ (นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กองโบราณคดี กรมศิลปากร)

ท้าวหิรันยพนาสูร เป็นนามพระราชทานแก่อสูรร่างสูงใหญ่ ตนหนึ่ง ที่อยู่ในเขตป่าทางภาคเหนือ ปรากฏข้อมูลที่เชื่อได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระสุบินนิมิตถึงอสูรชื่อ “หิรันย์” เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสมณฑลพายัพในระหว่างวันที่ ๒ พฤศจิกายน ถึง ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๘เพื่อทรงศึกษางานทางโบราณคดีที่พระองค์มีความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งทรงเรียนรู้งานราชการบ้านเมือง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับบรรดาข้าราชการตามหัวเมืองใหญ่และได้ทรงใช้โอกาสนี้เสด็จเยี่ยมพสกนิกร ข้อมูลแรกที่ต้องเก็บไว้ในใจและรอกาลเวลาพิสูจน์จากเอกสารต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์และความจริงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต นั่นคือบทสมภาษณ์ของท่านอาจารย์จีระ จิตรกร บุตรชายของพระยาอนุศาสน์จิตรกร ท่านได้เล่าเกี่ยวกับประวัติของท้าวหิรันยพนาสูรพอสรุปใจความได้ว่า



               พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร)
              ผู้ออกแบบท้าวหิรันยพนาสูรจากพระสุบินนิมิต


ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ และยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารนั้น ค่ำคืนหนึ่งพระองค์ทรงพระสุบินถึงชายรูปร่างสูงใหญ่บอกกล่าวว่าจะมาคุ้มครองให้ได้รับความปลอดภัย เมื่อพระองค์ตื่นจากพระบรรทม ได้ทรงเล่าพระสุบินนั้นให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรฟัง พระยาอนุศาสน์จิตรกร ก็ได้ร่างภาพตามที่ทรงตรัสและได้นำแบบร่างนั้นมาหล่อลอยองค์ท้าวหิรันยพนาสูรขึ้นซึ่งมีขนาดเล็กพกพาได้ เรื่องเล่านี้ท่านอาจารย์จีระ จิตรกร ได้บอกว่า “คุณพ่อท่านได้เล่าให้คุณแม่ผมฟัง”

แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งที่พอจะมีน้ำหนักให้ข้อมูลแรกมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น คือ การพบประวัติของขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) อดีตมหาดเล็กสำรอง  ท่านผู้นี้คือใบหน้าต้นแบบที่ใช้ปั้นท้าวหิรันยพนาสูรลอยตัวองค์ใหญ่ที่ประดิษฐาน ณ พระราชวังพญาไท  เอกสารใดกล่าวถึงขุนหิรัญปราสาท แม้ว่าการสร้างรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรองค์ใหญ่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพระยาอนุศาสน์จิตรกรโดยตรงก็ตาม แต่ในประวัติของขุนหิรัญปราสาทได้กล่าวถึงพระยาอนุศาสน์จิตรกรซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังนำไปสู่ปัจฉิมบทของการสร้างท้าวหิรันยพนาสูร

ขุนหิรัญปราสาท นามเดิมชื่อ “ตาบ” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๘ เป็นบุตรนายทัต และนางพริ้ม ทวดชื่อหลวงรามณรงค์ (พร) ปู่ชื่อพระฤทธิสงคราม (เสือ)  ขุนหิรัญปราสาทเป็นคนรูปร่างใหญ่ มีกำลังวังชาแข็งแรงมาก  เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี (พ.ศ.๒๔๔๖) พระพี่เลี้ยงท่านหนึ่งของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๖) ได้นำตัวเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ท่านจึงเป็นข้าหลวงมาแต่เดิม  ภายหลังการจัดสร้างท้าวหิรัญพนาสูรองค์ใหญ่ประดิษฐาน ณ พระราชวังพญาไทแล้วเสร็จ ๒ เดือน ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนหิรัญปราสาท” เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๕ เพื่อให้มีราชทินนามสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับท้าวหิรัญพนาสูร

ขุนหิรัญปราสาทได้ขอพระราชทานนามสกุลเช่นเดียวกับขุนนางข้าราชการคนอื่นๆ ทรงรับสั่งถามถึงปู่ย่าตาทวด เมื่อทรงทราบว่าเป็นหลานของพระฤทธิสงคราม ซึ่งเป็นแม่ทัพหน้าในคราวปราบกบฏเงี้ยว พระองค์ทรงระลึกได้จึงรับสั่งว่า “ไอ้ตาบมันเป็นลูหลานของแม่ทัพหน้าซึ่งเป็นเสือเก่า ตัวมันเองก็มีรูปร่างสูงใหญ่ น้ำใจก็กล้าหาญอดทน ต้องตั้งนามสกุลของมันให้สมกับที่ปูย่า ตาทวดเป็นเสือที่ประเสริฐมาแต่เดิม จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “พรพยัคฆ์”

ผู้เรียบเรียงประวัติของขุนหิรัญปราสาทซึ่งเป็นหลานสาวเพียงท่านเดียวชื่อ นางสาวสุธีรา อินทรน้อย ได้บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของท้าวหิรันยพนาสูรในครั้งนั้นว่า

“ประมาณ พ.ศ.๒๔๔๘ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลพายัพ ซึ่งในครั้งกระโน้นยังเป็นป่ารกชัฏไม่มีทางรถไฟ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วยก็ล้วนแต่หวาดหวั่นกลัวอันตราย เพราะมีคนเจ็บป่วยเป็นไข้ป่าจำนวนมาก จึงรับสั่งปลุกใจว่าต่อแต่นี้ไปพวกท่านไม่ต้องเกรงกลัวภยันตรายใดๆ อีก เพราะพระองค์ท่านทรงสุบินนิมิตไปว่า มีอสูรชื่อว่า “ฮู” อาสาจะมาเป็นมหาดเล็กป้องกันภัยจากภูติผีปีศาจและเจ็บไข้ทั้งปวงให้ อย่าเกรงกลัวใดๆ ต่อไปอีกเลย  ซึ่งการก็สมจริงตามกระแสพระราชดำรัสสั่ง ด้วยปรากฏว่าต่อจากนั้นมา ข้าราชบริพารทุกคนที่ตามเสด็จมิได้มีใครเจ็บป่วยจากไข้ป่าหรือได้รับภยันตรายใดๆ เลย ที่เจ็บป่วยอยู่ก่อนแล้วก็หายป่วยทั้งสิ้น จึงเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในการที่พระองค์มีอสูรเป็นเทพบริวารคอยรับใช้อยู่ด้วย มหาดเล็กและข้าราชการบางคนถึงกับเคยเห็นด้วยตาตนเองว่า มีอสูรคอยติดตามอารักขาขบวนเสด็จอยู่ก็เคยมีปรากฏ ดังนั้นมหาดเล็กและข้าราชบริพารใกล้ชิดในสมัยนั้นจึงได้พบเห็นพิธีการอันประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเป็นประจำทั้งเช้าและเย็น คือ การแบ่งเครื่องเสวยออกเซ่นสรวง ข้าราชการผู้มีหน้าที่ประจำในการแบ่งเครื่องเสวยออกเซ่นสรวงในครั้งกระนั้นคือ หลวงปราโมทย์ กระยานุกิจ (มา) การเซ่นสรวงดังกล่าวนี้ ในตอนแรกๆ ก็ทำขึ้นอย่างลอยๆ โดยยังไม่มีรูปอสูรประดิษฐานในการเซ่นสรวง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอนุศาสตรจิตกร ช่างเขียนประจำพระองค์ ร่างรูปอสูรขึ้นตามที่ทรงพระสุบิน แล้วภายหลังโปรดให้หล่อรูปสัมฤทธิ์ขนาดเล็กสมมติเป็น “ท้าวหิรันยพนาสูร” ขึ้น ต่อมาภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นจำนวน ๔ องค์ คือ ติดไว้ที่หน้าหม้อน้ำรถยนต์พระที่นั่งเนเปีย ๑  ประดิษฐานไว้ข้างพระที่ในห้องพระบรรทม ๑  อยู่ที่บ้านพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) ๑  และอยู่ที่กองมหาดเล็กรับใช้ในพระบรมมหาราชวัง ๑  การเซ่นสรวงในคราวต่อมาจึงได้กระทำที่รูปสัมฤทธิ์ขนาดเล็กนี้  วันใดมิได้ทำการเซ่นสรวงก็มักจะเกิดอาเพศให้มีเหตุถ้วยชามหล่นแตกได้รับความเสียหาย  ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณทุกครั้งจนข้าราชบริพารทั้งหลายเชื่อถือ เลื่อมใดว่ามีท้าวหิรัญยพนาสูร (ฮู) มาสมัครเป็นมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจริงโดยทั่วกัน...”



ใบหน้าของขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) เมื่อเทียบกับใบหน้าท้าวหิรันยพนาสูร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัวประทับรถยนต์พระที่นั่งทุษยันต์ โดยมีย่าเหล (สุนัขทรงเลี้ยง) นั่งที่เบาะหน้า
และนายจำยวด (ปาณี ไกรฤกษ์) ขณะยังเป็นนักเรียนเสือป่าหลวง นั่งอยู่เบาะหลัง หน้ารถพระที่นั่งติดรูปหล่อ "ท้าวหิรันยพนาสูร"
ที่มา : กลุ่มวิชาการทะเบียนโบราณสถาน




-----------------------------
         ๑ “ท้าวหิรันยพนาสูร” สะกดอักขรวิธีตามพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระราชทาน อาจจะพบการเขียนแตกต่างกันไปในเอกสารอื่นๆ
         ๒ ๓๑ มกราคม ยังอยู่ในช่วง พ.ศ.๒๔๔๘ เมื่อถึงเดือนเมษายนจะเปลี่ยนศักราชเป็น ๒๔๔๙
         ๓ ขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงบุรีนวราษฐ์” ตำแหน่งช่างเขียนรูปและช่างถ่ายรูปประจำพระองค์
         ๔ จีระ จิตรกร. ข้าราชการบำนาญ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต. สัมภาษณ์, ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕.
         ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร (พระนคร: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, ๒๕๐๘). พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:166722
         ๖ “ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๖๘.” ราชกิจจานุเบกษา.เล่มที่ ๓๔ (๖ พฤษภาคม ๒๔๖๐): ๓๘๗,๔๑๑.
         ๗ แก้ไขอักขรวิธีและเรียบเรียงใหม่ให้ถูกต้องจากหนังสือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร อ้างถึงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร
(พระนคร: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, ๒๕๐๘) ๒๔-๒๖. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:166722
         ๘ สันนิษฐานว่า เป็นการหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ครั้งแรกเมื่อเดือน เมษายน ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๕) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว แต่ในการหล่อขึ้นในครั้งแรกนั้นไม่ทราบจำนวนชิ้นที่หล่อขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นต้นแบบคงมีชิ้นเดียว
         ๙ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เริ่มรับราชการ พ.ศ.๒๔๖๑ ตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษ กองมหาดเล็กตั้งเครื่อง มีหน้าที่ตั้งเครื่องเสวย อยู่ยาม ตามเสด็จ และรับใช้ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่นอกห้องพระบรรทมและห้องทรงพระอักษร รวมทั้งการทูลเชิญลายพระหัตถเลขาและพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติหน้าที่ตามพระบรมราชโองการ ด้วยเหตุที่ท่านมีพี่ชายชื่อ เนียน สาคริก (มหาเสวกตรี พระยาบริหารราชมานพ) รับราชการในหน้าที่มหาดเล็กตั้งเครื่องในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร อาจทำให้ท่านได้ฟังคำบอกเล่าจากพี่ชายโดยตรงและเห็นการจัดเครื่องสังเวยท้าวหิรันยพนาสูรมาช้านาน จึงทำให้ทราบประวัติท้าวหิรันยพนาสูรเป็นอย่างดี อ้างถึงใน ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, ๒๕๔๑). อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:181726 ; พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส การปลูกกล้วยไม้เบื้องต้น (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๗). อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาบริหารราชมานพ (เนียน สาคริก) ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๗. ดูเพิ่มใน  http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2693
         ๑๐ นายเทพชู ทับทอง เป็นบุตรเขยได้เรียบเรียงข้อมูลเพื่อพิมพ์หนังสือเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์

โปรดติดตามตอนต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มิถุนายน 2567 18:08:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6104


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 126.0.0.0 Chrome 126.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2567 17:02:06 »

  
              
ปฐมเหตุและปัจฉิมบท ท้าวหิรันยพนาสูร (ต่อ)
บทความโดย ภูชัย กวมทรัพย์ (นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กองโบราณคดี กรมศิลปากร)

แหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่งที่จะนำเสนอประกอบการศึกษาค้นคว้าเพื่อสนับสนุนว่าพระยาอนุศาสน์จิตรกรเป็นบุคคลแรกที่ออกแบบท้าวหิรันยพนาสูรตามพระสุบินนิมิตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ บทสัมภาษณ์ของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เรียบเรียงโดยนายเทพชู ทับทอง๑๐ ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ (ศุข อามระดิษ) ดังนี้

“...เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชอบค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดี ดังนั้นก่อนเสวยราชย์พระองค์ได้เสด็จฯ ขึ้นไปที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งขณะนั้นทางรถไฟยังสร้างขึ้นไปไม่ถึง การเสด็จพระราชดำเนินต้องใช้เดินทางด้วยเท้าไปตามป่า ปรากฏว่าขณะที่พระองค์เสด็จฯ ประทับอยู่ ณ ค่ายอุตรดิตถ์ (ตรงกับสถานีรถไฟอุตรดิตถ์เดี๋ยวนี้) บรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จพากันเจ็บป่วยเป็นไข้ป่าเป็นจำนวนมาก จึงทรงพระปริวิตกเป็นที่ยิ่ง วันหนึ่งพระองค์ทรงพระสุบินว่า ท้าวหิรันย ฮู (ท้าวหิรันยพนาสูร) ซึ่งเป็นอสูรอยู่ในป่านั้นได้มาขอเข้าเฝ้าขอถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ ทำหน้าที่เป็นราชองครักษ์ โดยมีข้อแม้ว่า ขอให้ทรงชุบเลี้ยงโดยวิธีการแบ่งเครื่องเสวยให้กินทุกวันและทุกมื้อ พอพระองค์ทรงตื่นพระบรรทม โปรดฯ ให้เรียกพระยาอนุสาสตร์จิตรกรซึ่งเป็นช่างเขียนประจำพระองค์ ให้ร่างรูปท้าวหิรันย ฮู ตามพระราชดำรัสบอก และเมื่อได้เป็นรูปตามพระสุบินแล้ว ก็โปรดฯ ให้หล่อเป็นรูปท้าวหิรันย ฮู ขนาดเล็กขึ้น...ท้าวหิรันย ฮู ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อขึ้นดังกล่าวพระองค์ได้โปรดฯ ให้นำไปติดไว้ที่หน้ารถพระที่นั่ง...พระองค์ท่านจะทรงทำบุญให้ท้าวหิรันย ฮู ทุกปี...เกี่ยวกับเรื่องอภินิหาร...เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ (ร.ศ.๑๓๐)...ทางกรุงเทพฯ ได้เกิดมีการจับกุมพวกที่คิดกบฏ...กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ๑๑ เสนาธิการทหารบกก็รีบเสด็จขึ้นรถไฟไปเข้าเฝ้าที่นครปฐม...

พระองค์ก็ได้มีพระราชดำรัสกับกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถว่า “เมื่อคืนนี้ฉันก็ฝันไปว่า ท้าวหิรันย ฮู มาบอกว่าได้มีกบฏกันขึ้นในกรุงเทพฯ และบอกด้วยว่าเหตุการณ์เรียบร้อยแล้วไม่ต้องตกพระราชหฤทัย...” ๑๒

จากข้อมูลประวัติขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) และบทสัมภาษณ์ของขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) กล่าวตรงกันว่า หน้ารถพระที่นั่งยี่ห้อเนเปียติดตั้งรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูร แต่ไม่สามารถหาภาพหลักฐานมายืนยันได้ สันนิษฐานว่าคงถอดเก็บรักษาไว้ที่หมวดรถยนต์หลวง๑๓ เพราะมีเหตุการณ์ประหลาดอีกเรื่องหนึ่งโดยพระมหาเทพกษัตรสมุห เล่าว่า๑๔

“...เรื่องเกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๗ คือ รถพระที่นั่งของรัชกาลที่ ๖ ซึ่งติดรูปหล่อท้าวหิรันย ฮู คันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กรมหมื่นอนุวัตรจารุรนต์ ซึ่งกรมหมื่นอนุวัตรจารุรนต์ได้ทรงขับเข้าเฝ้าทุกวัน ต่อมากรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ก็ได้ทรงพบกับความประหลาดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอยู่บ่อยๆ ที่รถพระที่นั่งคันนี้ จอดอยู่ในโรงเก็บที่วัง...ในเวลากลางคืน พอกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงตื่นบรรทมในตอนดึกมักจะได้ทรงเห็นรถพระที่นั่งเปิดไฟสว่างจ้าอยู่เสมอ ตอนแรกกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงคิดว่าคงจะมีใครเปิดไฟเล่น แต่เมื่อทรงลงไปตรวจดูแล้วก็ไม่พบใคร มีอยู่คืนวันหนึ่ง นอกจากรถพระที่นั่งจะเปิดไฟหน้ารถสว่างจ้าแล้ว รถที่นั่งยังจอดขวางโรงเก็บ ซึ่งแคบแสนแคบ เปลี่ยนจากที่จอดเดิมตามธรรมดาเสียอีกด้วย และการที่รถพระที่นั่งจอดขวางโรงเก็บในลักษณะเช่นนี้ พระมหาเทพกษัตรสมุหกล่าวว่า ต่อให้ใครเก่งแสนเก่งก็ขับรถกลับไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองเมื่อคนขับรถจะเอารถพระที่นั่งออก จึงต้องใช้วิธีเอาขึ้นแม่แรงยกรถกันเป็นการใหญ่ รุ่งขึ้นกรมหมื่นอนุวัตรฯ ทรงกระหืดกระหอบเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วทรงเล่าเรื่องนี้ถวายให้ทรงทราบ กับพระมหาเทพกษัตรสมุห ซึ่งในรัชกาลที่ ๗ ได้เป็นเจ้ากรมพระตำรวจ กรมหมื่นอนุวัตรฯ ตรัสว่า “ทำให้ฉันไม่กล้าขี่รถคันนี้” ภายหลังได้ทราบว่ารถพระที่นั่งซึ่งมีรูปหล่อท้าวหิรันย ฮู ติดอยู่หน้าคันนี้ กรมหมื่นอนุวัตรฯ ได้ทรงถวายคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะไม่กล้าที่จะเอาไว้ “รถพระที่นั่งคันนี้ เป็นยี่ห้อเนเปีย ตอนเดียว ทาสีขาว ผมยังเคยขี่มอเตอร์ไซค์ตามเสด็จเลย” พระมหาเทพกษัตรสมุหกล่าวในที่สุด...”

-----------------------------


        ๑๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก
        ๑๒ เทพชู ทับทอง, อามระดิษ (พระนคร: ทวีกิจการพิมพ์, ๒๕๑๕). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ (สุข อามระดิษ) ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2974
        ๑๓ http://www.phyathaipalace.org/พระที่นั่งและอาคาร/ท้าวหิรันยพนาสูร.html ท้าวหิรันยกพนาสูร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕, จาก http://www.phyathaipalace.org/พระที่นั่งและอาคาร/ท้าวหิรันยพนาสูร.html
        ๑๔ อามระดิษ (พระนคร: ทวีกิจการพิมพ, ๒๕๑๕). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงอายุธประดิษฐ์ (ศุข อามระดิษ) ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๕. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2974

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 มิถุนายน 2567 17:10:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6104


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 126.0.0.0 Chrome 126.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2567 17:22:19 »


รูปหล่อลอยองค์ "ท้าวหิรันยพนาสูร" ขนาดเล็ก
มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายเท้าสะเอว มีฐานแบบกลีบบัวรองรับ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ “ประวัติท้าวหิรันยพนาสูร” พระราชทานให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์๑๕ ทรงแต่งเรียบเรียงตามลายพระหัตถ์ที่พระราชทานมาเพื่อเป็นคำร่างประกาศโองการในวันพิธีบวงสรวงสังเวยและเชิญดวงจิตท้าวหิรันยพนาสูรเข้าสถิตในรูปหล่อขนาดเล็ก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นที่สวนสวรรค์ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเวลาบ่ายของวันที่ ๑๕ เมษายน ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) ๑๖ ความว่า

“เรื่อง ท้าวหิรันยพนาสูร๑๗
            เดิมเมื่อปี ร.ศ.๑๒๔ เสด็จพระราชดำเนินประพาศมณฑลพายัพ เมื่อจะออกเดินทางจากอุตรดิฐ๑๘ ไปในทางป่า ซึ่งเวลานั้นผู้ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินพากันมีความหวาดหวั่น เพราะเกรงกลัวไข้และภยันตรายต่างๆ ซึ่งจะพึงมีมาได้ในกลางทางป่า จึ่งได้พระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปิศาจฤาอสูรอันเปนสัมมาทิษฐิ คอยติดตามป้องกันภัยภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกลายพระองค์และบริพารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกันอย่าให้มีผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย ต่อนั้นไปมีผู้ที่ได้ติดตามเสด็จผู้ ๑ กล่าวว่าฝันเห็นชายผู้ ๑ รูปร่างล่ำสันใหญ่โต ได้บอกกับผู้ที่ฝันนั้นว่าตนชื่อ หิรันย์ เป็นอสูรชาวป่า เปนผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ในครั้งนี้จะมาตามเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวน เพื่อคอยดูแลระวังมิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้ในระยะทางกลางป่านั้น มากล้ำกลายพระองค์ฤาราชบริพารได้ ครั้นทรงทราบความเช่นนั้น จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาหารไปเส้น๑๙ ที่ในป่าริมพลับพลา และเวลาเสวยค่ำทุกๆ วัน ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องไปตั้งเส้นเสมอ
          ภายหลังคราวที่เสด็จพระราชดำเนินประพาศมณฑลพายัพนั้น แม้จะเสด็จพระราชดำเนินไปแห่งใด ก่อนที่จะเสด็จจากกรุงเทพฯ ราชบริพารก็ได้เคยพร้อมกันน้อมใจเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสด็จด้วย และโดยมากเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปโดยสวัสดิภาพแล้ว ก็พากันกล่าวว่าเพราะหิรันย์ตามเสด็จไปด้วย บางคราวบางสมัยเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ในหัวเมือง ถึงกับได้มีผู้อ้างว่าแลเห็นรูปคนร่างกายใหญ่ล่ำสัน ยืนฤานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ๆ ที่ประทับ และอ้างว่าได้แลเห็นพร้อมๆ กันหลายๆ คนก็มี การที่มีผู้นิยมเชื่อถือในหิรันย์เช่นนั้น มิใช่แต่ในเฉพาะหมู่ผู้ที่เปนราชบริพารที่ตามเสด็จไปในกระบวน ทั้งข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาลก็พลอยนิยมเชื่อถือไปด้วย การที่มีผู้เชื่อถือเช่นนี้จะมีมูลฤาไม่อย่างใดก็ดี ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนธรรมดาคนโดยมากยังละเว้นความประสงค์ที่จะหาเทวดาฤาอมนุษยเปนที่พึ่งคุ้มเกรงภยันตรายต่างๆ นั้นมิได้ขาดทีเดียว เมื่อมีที่นิยมยึดเหนี่ยวอยู่เช่นหิรันยอสูรนี้เปนต้น ก็มักจะทำให้เปนที่อุ่นใจ การที่จะเดินทางไปในที่ถิ่นกันดารถ้าแม้ใจดีอยู่แล้วก็มักจะไม่ใคร่เปนอันตราย เมื่อทรงพระราชดำริห์ดังนี้ จึ่งได้ทรงตกลงคงเส้นหิรันยอสูรต่อมา คือ ให้แบ่งพระกระยาเสวยจากเครื่องอย่างเช่นที่เคยทำมาแล้วครั้งเสด็จมณฑลพายัพนั้น เปนธรรมเนียมต่อมาจนกาลบัดนี้
          ครั้นปี ร.ศ.๑๒๙ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงคำนึงถึงหิรันยอสูร ซึ่งนิยมกันว่าได้เคยตามเสด็จพระราชดำเนินมาหลายแห่งหน การเสด็จพระราชดำเนินในแห่งใดๆ ก็เปนไปโดยสวัสดิภาพ และเปนที่อุ่นใจแห่งราชบริพารทั่วไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์แล้วเสร็จสมบูรณในเดือนเมษา ร.ศ.๑๓๐ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องสังเวยเส้นสรวงตามสมควรแล้ว ขอเชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตย์ในรูปสัมฤทธิ์นี้ และทรงขนานนามพระราชทานใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณและไม้เท้าเปนเครื่องประดับยศสืบไป”

เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงได้รับลายพระหัตถ์เรื่อง “ประวัติท้าวหิรันยพนาสูร” แล้วนั้น ทรงร่างถ้อยคำประกาศ มีดังนี้๒๐
          “ข้าพระพุทธเจ้า ผู้รับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ขอประกาศแก่อารักขเทพยดา ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อาราธนามารับพลีกรรมแลสิงสถิตย์ในรูปนี้ ด้วยพระบาทสมเดจพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษ บรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษอดิศัยพงษ์วิมลรัตน์ วรขัติยราชนิกโรดม จารุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า เมื่อครั้งยิงมิได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ เสดจพระราชดำเนิร๒๑ ประพาศมณฑลพายัพ เมื่อจะออกเดิรทางจากเมืองอุตรดิฐไปในทางป่า เวลานั้นผู้ที่ตามเสดจพระราชดะเนิรมีความหวาดหวั่น เพราะเกรงกลัวความไข้แลภยันตรายต่างๆ ซึ่งจะพึงมีมาได้ในกลางทางป่า จึ่งได้ทรงพระกรุณาดำรัสชี้แจงว่า ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จแห่งใดๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาแลปิศาจฤาอสูรอันเปนสัมมาทิษฐิ คอยติดตามป้องกันภัยภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกลายพระองค์แลบริพารผู้โดยเสดจได้ ถึงในการเสดจพระราชดำเนิรประพาศครั้งนี้ก็มีผู้ป้องกันภยันตรายเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย ต่อนั้นไปมีผู้ที่ได้ติดตามเสดจพระราชดำเนินผู้หนึ่ง กล่าวว่านิมิตรฝันเหนชายผู้หนึ่ง รูปร่างล่ำสันใหญ่โต ได้บอกแก่ผู้ที่ฝันนั้นว่าตนชื่อหิรันย์ เปนอสูรชาวป่า เปนผู้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ในครั้งนี้จะมาตามเสดจพระราชดำเนิรไปในกระบวน เพื่อคอยดูแลระวัง มิให้ภยันตรายทั้งปวงอันจะพึงบังเกิดมีขึ้นได้ ในระยะทางกลางป่านั้น มากล้ำกลายพระองค์ฤาราชบริพารได้ ครั้นทรงทราบความเช่นนั้น จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดธูปเทียนแลเครื่องโภชนาหาร ไปเส้นสังเวยที่ในป่าริมพลับพลา แลเวลาเสวยค่ำทุกทุกวันก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระกระยาหารจากเครื่องต้นไปตั้งเส้นสรวงเสมอ ภายหลังคราวที่เสดจพระราชดำเนิรประพาศมณฑลพายัพนั้น แม้จะเสดจพระราชดำเนินไปแห่งใด ก่อนที่จะเสดจจากกรุงเทพมหานคร ราชบริพารก็ได้เคยพร้อมกันน้อมใจเชิญหิรันยอสูรให้ตามเสดจด้วย แลโดยมากเมื่อเสดจพระราชดำเนิรไปโดยสวัสดิภาพแล้ว ก็พากันกล่าวว่าเพราะหิรันยอสูรตามเสดจด้วย บางคราวบางสมัยเมื่อเสดจประทับอยู่ในหัวเมือง ถึงกับได้มีผู้อ้างว่าแลเหนรูปคนร่างกายใหญ่ล่ำสัน ยืนฤานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้ๆ ที่ประทับ แลอ้างว่าได้แลเหนพร้อมๆ กันหลายๆ คนก็มี การที่มีผู้นิยมเชื่อถือในหิรันยอสูรเช่นนั้น มิใช่แต่ในเฉพาะหมู่ผู้ที่เปนราชบริพารที่ตามเสดจไปในกระบวน ทั้งข้าราชการฝ่ายเทศาภิบาลก็พลอยนิยมเชื่อถือไปด้วย การที่มีผู้เชื่อถือเช่นนี้ จะมีมูลฤาไม่อย่างใดก็ดี ทรงพระราชดำริห์ว่าเปนธรรมดาคนโดยมากยังละเว้นความประสงค์ ที่จะหาเทวดาฤาอมนุษยเปนที่พึ่งคุ้มเกรงภยันตรายต่างๆ นั้นมิได้ขาดทีเดียว เมื่อมีที่นิยมยึดเหนี่ยวอยู่เช่นหิรันยอสูรนี้เปนต้น ก็มักจะทำให้เปนที่อุ่นใจ การที่จะเดินทางไปในที่ถิ่นกันดารถ้าแม้ใจดีอยู่แล้ว ก็มักจะไม่ใคร่เปนอันตราย เมื่อทรงพระราชดำริห์ดังนี้ จึ่งได้ทรงตกลงคงเส้นสังเวยหิรันยอสูร ต่อมา คือให้แบ่งพระกระยาเสวยจากเครื่อง อย่างเช่นที่เคยทำมาแล้วครั้งเสดจมณฑลพายัพนั้น เปนธรรมเนียมต่อมาจนกาลบัดนี้


---------------------------------

๑๖ วรชาติ มีชูบท, เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ ๖. (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุคส์, ๒๕๕๓) ๑๘.
๑๗ หอจดหมายแห่งชาติ. มร ๖ว/๒ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงวัง เรื่อง ประกาศเรื่องท้าวหิรันยพนาสูร (๑๐ เม.ย. ๒๕๕๔ – ๑๖ ส.ค. ๒๔๖๕) เอกสารฉบับนี้เป็นต้นฉบับลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระราชนิพนธ์ มีบางคำที่เลือนลางไม่ชัดเจน จึงใช้เอกสารอีกฉบับหนึ่งในการตรวจทาน คือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ.๐๗๐๑.๑/๑๘๘ กล่อง ๑๕ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ประวัติท้าวหิรันยพนาสูร, หน้า ๑-๒.
๑๘ วันที่ ๑๗ พ.ย.๒๔๔๘ ขบวนเสด็จออกจากเมืองอุตรดิตถ์ไปตามเส้นทางผ่านเขาพลึงก่อนจะเข้าสู่เมืองแพร่
๑๙ เส้น หมายถึง เซ่น
๒๐ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, มร.๖ว/๒ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ กระทรวงวัง เรื่อง ประกาศเรื่องท้าวหิรันยพนาสูร (๑๐ เม.ย.๒๔๕๔ – ๑๖ ส.ค. ๒๔๖๕) เอกสารฉบับนี้เป็นต้นฉบับลายพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ มีบางคำที่มองไม่ชัด บ้างจางหาย คงรูปการสะกดคำตามต้นฉบับเพื่อให้เห็นวิวัฒนาการและการใช้ภาษาเฉพาะบุคคล โดยเทียบเคียงเอกสารอีก ๒ ฉบับเพื่อใช้ในการตรวจทาน คือ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.๖บ/๓๘ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ เบ็ดเตล็ด เรื่อง ท้าวหิรันยพนาสูร (๒๘ มิ.ย. – ๑๖ ส..ค. ๒๔๖๕); พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์, ประกาศพระราชพิธี เล่ม ๒ สำหรับพระราชพิธีการจร (พระนคร: โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๕๙). ข้าราชการกรมราชเลขานุการให้พิมพ์ครั้งแรกสนองพระคุณในงานพระศพ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ฯ ปีมโรงอัฐศก พ.ศ.๒๔๕๙. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:48118
๒๑ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงใช้พระราชดำเนิร ในเอกสารฉบับเดียวกัน

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 กรกฎาคม 2567 17:25:19 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 6104


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 กรกฎาคม 2567 18:27:17 »


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

         ครั้นรัตนโกสินทรศก.๑๒๙ ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงคำนึงถึงหิรันยอสูร ซึ่งนิยมกันว่าได้เคยตามเสดจพระราชดำเนิรมาหลายแห่งหน การเสดจพระราชดำเนิรในแห่งใดๆ ก็เปนไปโดยสวัสดิภาพ และเปนที่อุ่นใจแห่งราชบริพารทั่วไป จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ แล้วเสร็จบริบูรณ์ในเดือนเมษายนรัตนโกสินทรศก.๑๓๐ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องสังเวยเส้นสรวงตามสมควร ขอเชิญหิรันยอสูรเข้าสิงสถิตย์ในรูปสัมฤทธิ์นี้ แลทรงขนานนามพระราชทานใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ แลไม้เท้าเปนเครื่องประดับยศสืบไป ขอเชิญท้าวหิรันยพนาสูรรับเครื่องสังเวยสักการอันได้ทรงสั่งสมมานั้นเปนธรรมพลี ขอจงได้รับส่วนพระราชกุศลแลอนุโมทนาในไตรทวารอันได้ทรงสั่งสมมานั้นเปนธรรมพลี ขอจงได้รับส่วนพระราชกุศลแลอนุโมทนา แล้วจงอภิบาลบำรุงรักษาสมเดจพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาเสดจพระราชดำเนิรประพาศในทิศานุทิศใดๆ ขอให้ทรงเกษมสำราญปราศจากโรคภัยพิบัติอุปัทวันตราย พร้อมทั้งราชบริพารทั้งปวง แลให้ทรงพระเจริญพระชนมายุศุขสิริสวัสดิ์ สมบูรณ์ด้วยพระราชวรฤทธิ์เดชานุภาพแผ่ไพศาล สรรพศิริสมบัติสวิญญาณอวิญญาณ๒๒ อันพิเศษต่าง ๆ จงมาเพิ่มพูนประดับพระบารมีให้สำเร็จดังพระราชหฤทัยประสงค์ จงทุกประการ เทอญ ฯ”

แม้ระยะเวลาล่วงเลยมาหลายปีความเชื่อมั่นในท้าวหิรันยพนาสูรยังมิได้จางคลายจากพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ประการใด กลับเพิ่มพูนงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) ๒๓ เจ้ากรมบัญชาการ กรมศิลปากร กระทรวงมุรธาธร เป็นแม่กองจัดสร้างรูปหล่อท้าวหิรันยพนาสูรขนาดใหญ่ เสวกตรี พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) ๒๔ ประติมากรผู้ปั้นต้นแบบ โดยมี นายตาบ พรพยัคฆ์๒๕ เป็นหุ่นต้นแบบที่ใช้ปั้นท้าวหิรันยพนาสูร และมิสเตอร์ เอ็ม.แกลเลตตี๒๖ วิศวกรชาวอิตาเลียนเป็นผู้ควบคุมการหล่อแบบ ใช้งบประมาณการหล่อเป็นเงิน ๒,๒๑๖ บาท ๒๕ สตางค์๒๗ และโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์ยี. คลูเซอร์๒๘ เป็นผู้จัดสร้างศาลสำหรับประดิษฐานรูปหล่อลอยองค์ท้าวหิรันยพนาสูรไว้ตอนท้ายพระราชวังพญาไท ริมคลองสามเสน ใช้งบประมาณเป็นเงิน ๖,๐๐๐ บาท

เมื่อการจัดสร้างทั้งรูปหล่อลอยตัวและศาลสำหรับประดิษฐานแล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งพิมานจักรี ในพระราชวังพญาไท ทรงเจิมท้าวหิรันยพนาสูร เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๖ ดังความปรากฏในจดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ หน้า ๑๖ ความว่า๒๔
          “ลงจากพระที่นั่งพิมานจักรี ตรงไปที่บุษบกศิลาที่ตั้งรูปท้าวหิรัญพนาสูร, ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสามเสน, ตรึงแผ่นทองแดงจากฤกที่ฐานบุษบก, เปิดคลุมรูปท้าวหิรัญ, และจุดธูปเทียนสังเวย.”


ประมาณการหล่อรูปท้าวหิรัญตปการสูร ขนาดใหญ่ คือ
         ค่าของใช้สำหรับปั้นรูป มีดินแลเหล็กแกนขี้ผึ้ง แลของใช้เบจเตรจ๓๐        ๓๐๐ บาท
         ทองเหลืองล่ำอย่างหล่อเครื่องเรือไฟอย่างดี หาบละ ๕๕ บาท ๕ หาบ    ๒๗๕ บาท
         ฟืนแสม๓๑ ขนาดยาว ๑,๐๐๐ ดุ้น       ๕๐ บาท
         ถ่านไม้ซาก ๑๒ หาบ ๆ ละ ๓ บาท           ๓๖ บาท
         เหล็กตกรับรองเตา ๕ แผ่น         ๑ บาท  ๒๕ สตางค์
         กระเบื้องปิดเตา ๒๐ แผ่น             ๔ บาท
         ค่าเบ้าฝรั่ง     ๑๒๐ บาท
         ค่าเหล็กรัดทุ่น           ๕๐ บาท
         ค่าจ้างแรงงานทำการเวลาหล่อ        ๘๐ บาท
         ค่าจ้างคนแต่งแลค่าเครื่องมือ ๑,๒๐๐ บาท
         ค่าพาหนะ       ๑๐๐ บาท
                        รวมทั้งสิ้น เงิน ๒,๒๑๖ บาท ๒๕ สตางค์

ข้อความบนแผ่นทองแดงที่ฐานรองรับท้าวหิรันยพนาสูร จารึกข้อความดังนี้
          การลงพื้นที่สำรวจบันทึกภาพท้าวหิรันยพนาสูร ณ ที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้พยายามค้นหาแผ่นป้ายจารึกทองแดงที่ฐานรองรับท้าวหิรันยพนาสูร แต่ไม่พบหลักฐาน จึงเกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วแผ่นป้ายนี้มีจริงหรือไม่ หากมีจริงอยู่ตรงส่วนไหนของฐาน จึงกลับมาย้อนดูเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมไว้ปรากฏพบรูปภาพ ๆ หนึ่งที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล และภาพนั้นอยู่ในหนังสือพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่แสดงให้เห็นว่า ศาลท้าวหิรันยพนาสูรมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ
          ๑. ในอดีตศาลท้าวหิรันยพนาสูรอยู่บนที่สูงรองรับด้วยฐานขนาดสูง ซึ่งในปัจจุบันไม่มีฐานสูงรองรับ
          ๒. ในอดีตศาลท้าวหิรันยพนาสูรไม่มีผนังทึบปิดด้านหลัง ปัจจุบันมีการก่อผนังทึบแล้วประดับด้วยกระจกสี
          ๓. หากต้องการขึ้นสักการะอย่างใกล้ชิดในอดีตปรากฏขั้นบันไดทางขวามือของท้าวหิรันยพนาสูร แต่ปัจจุบันไม่มีขั้นบันไดดังกล่าว
          ๔. เมื่อพิจารณารูปทรงของศาลในอดีตให้ความรู้สึกว่าท่านยืนตระหง่านอยู่บนฐานที่สูงชะลูด ดูมีพลังน่าเกรงขามยิ่ง




รูปท้าวหิรญพนาสูรนี้
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร
มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น
เมื่อณวันเสาร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม
พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ เวลา ๕ นาฬิกา
กับ ๙ นาที ๔๑ วินาที หลังเที่ยง

--------------------------------------

๒๒ สวิญญาณ หมายถึง สิ่งที่มีวิญญาณ ได้แก่ มนุษย์ สัตว์ต่างๆ (ในที่นี้น่าจะหมายถึง มีบริวารมากมาย) อวิญญาณ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีวิญญาณ เช่น เงิน ทอง ผ้านุ่งห่ม และเครื่องใช้สอย (ในที่นี้น่าจะหมายถึง ทรัพย์สมบัติ)
๒๓ มหาเสวกตรี พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) สืบค้นประวัติเพิ่มเติมได้ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๗ เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ (พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๓). พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรี พระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร). ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:240816
๒๔ เสวกตรี พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เจ้ากรมสิบหมู่ช่างปั้นซ้าย ฝีมือชั้นเอกในพระราชสำนัก เดิมบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทพรจนา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเงิน เข็มศิลปวิทยา แก่ หลวงเทพรจนา (สิน) เมื่อครั้งที่เสด็จประทับ ณ โรงพระราชพิธีในการหล่อพระไชยวัฒนประจำรัชกาล เมื่อวันที่ ๘ มกราคม รัตนโกสินรศก ๑๒๙ “พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา. “ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๒๗ (๑๕ มกราคม ร.ศ.๑๒๙): ๒๔๓๙.
       มีผลงานทั้งปั้นและหล่อมากมายอาทิ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปะประยุกต์แบบกรีก ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานให้พระเทพรจนาปั้นและหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง สร้างอุทิศถวายและบรรจุพระอัฐิและพระอังคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล) ประดิษฐาน ณ ตึกไชยันต์ โรงเรียนวัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๖๒
       ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหายจากพระอาการประชวรหนัก เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ โปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ พระเทพรจนา ปั้นและหล่อพระนิรโรคันตรายถวายพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ นิ้ว ที่เบื้องซ้ายและขวาขององค์พระ มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์ ๒ ตน เชิญฉัตรกั้น และพัดโบก โดยมีลักษณะเป็นนาคเจ็ดเศียรแผ่พังพานอยู่เหนือศีรษะซึ่งมีใบหน้าเป็นมนุษย์ มีเขี้ยว ๒ ข้างที่มุมปาก ลำตัวด้านหน้าและแขนสองข้างเป็นมนุษย์ ส่วนลำตัวด้านหลังเป็นเกล็ดนาค มีขาข้างหนึ่งเป็นมนุษย์ อีกข้างหนึ่งเป็นขนดหางนาค
       พระพุทธสิหิงค์ (เชียงใหม่) วัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นองค์ประธานในวิหารลายคำปัจจุบันนั้น เคยถูกโจรลักลอบตัดพระเศียรไปใน พ.ศ.๒๔๖๖ สอบสวนคนร้ายได้ความว่า นำไปหลอมเป็นกระดิ่งผูกคอวัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบข่าวโปรดเกล้าฯ ให้พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) ปั้นหล่อพระเศียรซ่อมคืนจนสมบูรณ์ดังเดิม แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อถึงคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเชียงใหม่ พ.ศ.๒๔๖๙ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปประดิษฐานที่วัดพระสิงห์ดังเดิม เจ้าดารารัศมีทรงเป็นแม่งานจัดโรงทานเป็นการสมโภชในคราวนั้น
       ได้รับนามสกุลพระราชทาน “ปฏิมาประกร” ในขณะที่มีบรรดาศักดิ์ หลวงเทพรจนา “ประกาศพระราชทานนามสกุลครั้งที่ ๑๑.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๓๐. (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๖): ๒๗๔๓
       ปรากฏยศสัญญาบัตร “เสวกตรี” ในรายนามผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรพรรดิมาลา เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๑ “พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๕ (๒๗ มกราคม ๒๔๗๑): ๓๓๔๙ – ๓๓๕๐.
๒๕ นายตาบ พรพยัคฆ์ (ขุนหิรัญปราสาท) อ้างประวัติแล้ว อ้างถึงใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร (พระนคร: โรงพิมพ์เอเชียการพิมพ์, ๒๕๐๘). พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๘. ดูเพิ่มใน http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:166722
๒๖ มิสเตอร์เอ็ม. แกลเลตตี (Mario Galetti) วิศวกรชาวอิตาเลียน รับหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างพระราชวังพญาไทในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เป็นวิศวกรควบคุมการก่อสร้างวังไกลกังวลในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ รับราชการอยู่ในตำแหน่งอาจารย์วิศวกรรม แผนกศิลปากร จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ รวมรับราชการ ๑๖ ปี (พ.ศ.๒๔๕๙ – ๒๔๗๕) ได้รับเบี้ยบำนาญปีละ ๒,๘๘๐ บาท
๒๗ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.๖บ/๓๘ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ เบ็ดเตล็ด เรื่อง ท้าวหิรัญพนาสูร (๒๘ มิ.ย. – ๑๖ ส.ค.๒๔๖๕)
๒๘ มิสเตอร์ยี. คลูเซอร์ (G. Cluzer) ชาวเยอรมัน เปิดห้างร้านรับเหมาก่อสร้างในสยาม เช่น จัดหากระเบื้องประดับองค์พระปฐมเจดีย์ ร.ศ.๑๓๐ (พ.ศ.๒๔๕๔) รับเหมาก่อสร้างหมู่พระที่นั่งพระราชวังพญาไท พ.ศ.๒๔๖๒ – ๒๓๖๕ เป็นต้น
๒๙ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มร.๖บ/๓๘ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๖ เบ็ดเตล็ด เรื่อง ท้าวหิรันยพนาสูร (๒๘ มิ.ย. – ๑๖ ส.ค.๒๔๖๕)
๓๐ เบจเตรจ หมายถึง เบ็ดเตล็ด
๓๑สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. แสม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕, จาก: http://legacy.orst.go.th/?knowledges=แสม-๑๔-เมษายน-๒๕๕๐

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2567 18:30:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.21 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 29 มิถุนายน 2568 06:34:20