ตอนที่ 6 เทพโปเซดอน หรือ โพไซดอน (Poseidon)
เทพโปเซดอนได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าสมุทรหรือท้องทะเล โดยคำว่า “สมุทร” หรือ “ทะเล”
ในภาษากรีกโบราณนั้นหมายเอาทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นสำคัญ เนื่องจากชาวกรีกในสมัยโน้น
มีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนเป็นส่วนมาก เทพแห่งทะเลจึงมีความสำคัญกับชาวกรีก
เป็นธรรมดา
ในกาลก่อนครั้งที่เหล่าเทพไทแทนยังมีอำนาจอยู่นั้น ห้วงมหรรณพทั้งหลายต่างอยู่ในความปกครอง
ของโอเชียนัส (Oceanus) ครั้นเมื่อเหล่าเทพไทแทนพ่ายแพ้แก่ ซูส แลัวซูสก็ได้แบ่งการปกครอง
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยเด็ดขาด ส่วนโอเชียนัสถูกลด อำนาจให้ได้ครองเพียงห้วงน้ำใหญ่ที่ไหลวนรอบโลก
ซึ่งถื่อว่าไม่มีความสำคัญอะไรเลยสำหรับชาวกรีกสมัยนั้น นอกจากนี้ ทะเลยูซินีซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ทะเลดำ
ก็อยู่ในความปกครองของโปเซดอนเช่นกัน
อำนาจของเทพโปเซดอนส่วนใหญ่คือสามารถควบคุมพายุและความสงบในท้องทะเลได้โดยเด็ดขาด
ยามเมื่อทรงรถทองคำเหนือน่านน้ำ คลื่นลมทะเลสงบเงียบเรียบลื่นไปตามล้อรถของเธอโดยตลอด
(ในบางตำนานกล่าวว่า เวลาที่เสด็จขึ้นจากประสาทใต้ทะเล ทะเลจะแหวกออกเป็นช่อง มีเสียงดังสนั่น
ลั่นโครมครืนนำมาก่อนแล้วราชรถทรงทองคำเทียมด้วยม้าฝีเท้าเยี่ยมตัวใหญ่มหึมาก็ค่อยๆโผล่ขึ้น
จากช่องน้ำแยกอย่างสง่างาม)
เธอมีอาวุธที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ประจำตัวเลยก็คือ “ตรีศูล” เมื่อใดที่ต้องการ “เขย่า” โลก
ก็เพียงแต่กวัดแกว่งตรีศูลเท่านั้น ทะเลก็ปั่นป่วนเป็นบ้า เป็นเหตุให้โลกสั่นสะเทือนด้วยเหตุนี้
เธอจึงได้รับสมญานามว่า “ผู้เขย่าโลก” (Earthshaker) ด้วย นั่นเอง
ถ้าจะกล่าวถึงอำนาจของโปเซดอนซึ่งปกครองดูแลน่านน้ำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ทะเลลึก ทะเลสาบ แม่น้ำ
ลำธารละหานห้วย หรือแม้แต่เทพและนางอัปสรประจำน่านน้ำทั้งปวง ยังมีปราสาทงดงามตระการตา
อยู่ใต้ท้องทะเลเอเยี่ยน นอกจากที่ประทับสวรรค์ชั้นโอลิมปัสแล้ว ดังจะเห็นว่านอกจากซูสเทพบดีแล้ว
ไม่มีเทพองค์ใดที่มีอำนาจเกรียงไกรไปกว่าท้าวเธอเลยที่เห็นก็มีเพียงฮาเดส เทพครองนรก
จ้าวแดนบาดาล ซึ่งทำให้ท้าวเธอถึงกับเคยคิดครองความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว โดยร่วมมือกับเทวีฮีร่า
และเทวีเอเธน่าพยายามโค่นเทพปริณายกซูสแต่ไม่สำเร็จ จึงถูกซูสลงทัณฑ์เนรเทศโปเซดอน
ให้มาทำงานตรากตรำลำบากบนโลกมนุษย์ในเมืองทรอย โดยต้องสร้างกำแพงกรุงทรอย
ให้ท้าวเลือมมิดอน (Laomedon) กษัตริย์ในขณะนั้น
ท้าวเลือมมิดอนได้สัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนอย่างงดงามหลังจากที่ได้สร้างกำแพงเสร็จ ถึงแม้ว่า
งานดังกล่าวเป็นงานที่ยาก แต่หากด้วยในระหว่างนั้นเทพอพอลโล (Apollo) ซึ่งถูกเนรเทศ
ลงมาจากสวรรค์เช่นกันแต่โดยสาเหตุต่างกัน อาสาช่วยโปเซดอนสร้างกำแพงอีกแรงด้วย โดยดีดพิณ
ให้หินเคลื่อนไปตามอำนาจของกระแสเสียงอันไพเราะ ทำให้ทุ่นแรงไปมาก งานจึงสำเร็จลง
โดยเรียบร้อยและรวดเร็ว
แต่ทว่าท้าวเลือมมิดอนเป็นกษัตริย์ละโมบและคิดโกง กลับบิดพลิ้วสัญญา ทำให้โปเซดอนคิดพยาบาท
จึงเนรมิตสัตว์ร้ายดังอสุรกายขึ้นจากทะเล เที่ยวไล่กินผู้คนชาวเมืองไปเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงตัดสินใจ
นำสาวพรหมจารีรูปงามพลีให้สัตว์ร้าย โดยผูกไว้กับโขดหินริมทะเล ตามคำแนะนำของเจ้าพิธีผู้เข้าทรงในเมือง
ปรากฏว่าสัตว์ร้ายดังกล่าวเมื่อกินหญิงสาวแล้วลงทะเลหายไปแต่มันหายไปเพียงปีเดียว ทำให้ชาวเมือง
ต้องทำการพลีหญิงสาวทุกๆ ปี ปีแล้วปีเล่าสัตว์ร้ายเฝ้าแต่เวียนมาตามกำหนดคำรบปี และทุกๆ ปีที่มันขึ้นมา
ก็จำต้องอุทิศสาวพรหมจารีพลีให้เสมอ จนในที่สุดชาวเมืองก็เห็นชอบพร้อมกันเลือกลูกสาวท้าวเลือมมิดอน เอง
ชื่อว่า ฮีไซโอนี (Hesione) เพื่อพลีให้กับสัตว์ร้าย
ฝ่ายท้าวเลือมมิดอนเองแม้จะไม่อยาก แต่ก็ขัดขวางชาวเมืองไม่ได้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วย
ลูกสาวของตน สุดท้ายจึงได้แต่ป่าวประกาศหาชายห้าวหาญที่สามารถฆ่าสัตว์ร้ายได้ โดยสัญญาว่า
จะประทานรางวัลให้อย่างงดงาม
ในขณะนั้นเอง เฮอร์คิวลิส (Hercules) ผ่านมาได้ยินข่าว จึงอาสาฆ่าสัตว์ร้ายและช่วยนางฮีไซโอนีได้พอดี
เมื่องานสำเร็จท้าวเลือมมิดอนยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม กลับเพิกเฉยต่อสัญญาที่ไห้ไว้กับเฮอร์คิวลิส
เป็นเหตุให้เฮอร์คิวลิสผูกใจเจ็บ แต่เนื่องด้วยเฮอร์คิวลิสยังมีธุระอื่นที่ต้องทำ ครั้นเสร็จธุระดังกล่าวเฮอร์คิวลิส
ก็ได้รวบรวม สมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่งยกเข้าล้อมกรุงทรอยและตีหักเข้าในเมืองได้ จากนั้น
ก็ได้จับท้าวเธอฆ่าเสีย ส่วนนางฮีไซโอนีนั้นได้ยกให้ เทลมอน (Telamon) สหายที่ร่วมกันตีเมืองทรอย
คำมั่นสัญญาที่ท้าวเลือมมิดอนประทานแก่เฮอร์คิวลิสนั้นคือ ถ้าเฮอร์คิวลิสฆ่าสัตว์ร้ายสำเร็จ
จะประทานม้างามๆ ฝีเท้าดีให้จำนวนหนึ่งตามที่เฮอร์คิวลิสประสงค์ ซึ่งเมื่อเฮอร์คิวลิสทวงรางวัล
พระเชษฐาของนางฮีไซโอนีชื่อ โพดาร์ซีส (Podarces) ได้ทูลแนะนำให้ท้าวเธอให้ปฏิบัติตามสัญญา
ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสตีเมืองทรอยแตก จึงไม่ได้ประหารโพดาร์ซึส เพียงแค่จับไว้เพื่อเรียกค่าไถ่
ซึ่งต่อมาชาวกรุงทรอยก็ได้ไถ่ถอนเอากลับคืนไปสถาปนาเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า เพรียม (Priam) ต่อไป
ส่วนสัญญาที่ท้าวเลือมมิดอนละเมิดกับเทพโปเซดอน คือคำบนว่าจะถวายลูกโคกระบือท้องแรกทั้งหมด
เป็นเครื่องเซ่นสังเวย ณ แท่นบูชา ซึ่งการที่ท้าวเลือมมิดอนไม่แก้บนตามสัญญา ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายดังกล่าว
ยังเป็นเหตุทำให้ศึกครั้งสำคัญกรุงทรอยกับกรีก โปเซดอนดำรงในฐานะอริกับกรุงทรอยนั่นเอง
เทพโปเซดอนมีมเหสีนามว่า อัมฟิตริตี (Amphitrite) เป็นธิดาของเทพแห่งธารเนเรอุส ในตอนแรก
ที่เทพโปเซดอนขอวิวาห์กับนางนั้น อัมฟิตริตีไม่ยินดีด้วย นางหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่อื่น ท้าวเธอจึงใช้
ให้ปลาโลมาไปค้นหาจนกระทั่งพบและนำมาถวายพระองค์ อัมฟิตริตีจึงได้เป็นจอมเทวีแห่งมหาสมุทร
เคียงคู่สวามี มีโอรสด้วยกันคือ ไทรตัน
โปเซดอนออกจะโชคดีกว่าซูสเทพบดีตรงที่มีมเหสีสงบเสงี่ยมมากกว่า เทวีอัมฟิตริตีปล่อยให้สวามีเจ้าชู้
กับสาวเจ้าอื่นได้โดยไม่หึงหวง ยกเว้นรายเดียวเท่านั้นคือรายของนาง ซิลลา (Seylla) ซึ่งเคยเป็น
นางไม้สวยงามมาก
ท้าวเธอหลงหัวปักหัวปำจนอัมฟิตริตีเทวีทนไม่ได้ จึงแอบลอบนำยาพิษไปโรยในสระน้ำที่นางซิลลา
ลงอาบประจำ ทำให้นางกลายร่างจากสาวงามเป็นนางอสูรร้ายที่น่าสะพรึงกลัวไปทันที นับว่าเป็นครั้งแรก
และครั้งเดียวที่อัมฟิตริตีเทวี กระทำรุนแรงกับชายาของสวามี
ในรูปร่างของม้าอีกเช่นกันที่เทพจ้าวสมุทรแอบไปพิสมัยกับนางอัปสรบริวารของเทวีเอเธน่า นางนั้นคือ
เมดูซ่า (Medusa) ในตำนานตอนนี้กล่าวไว้ว่า นางเป็นนางอัปสรที่สวยงามยิ่ง แต่เพราะไปหลงใหล
ใฝ่ฝันเทพโปเซดอนเข้า เทวีเอเธน่าจึงพิโรธโกรธเกรียว สาปให้นางมีผมเป็นงูไปทันที และทำให้นาง
น่าขวัญหนีดีฝ่อจนผู้ใดเห็นเข้าจะกลายร่างเป็นหินแข็งชาไปหมด แต่เพราะการได้ร่วมอภิรมย์
กับโปเซดอนในรูปร่างของม้า เมื่อวีรบุรุษเปอร์ซีอุสตัดศีรษะนางขาดออกนั้น เลือดที่กระเซ็นออกมา
กลายจึงเป็นม้าวิเศษ 2 ตัว ตัวหนึ่งคือ คริสซาออร์ (Chrysaor) และอีกตัวคือ ปีกาซัส (Pegasus)