[ บทความต่อไปนี้ถูกโพสท์โดย อ.ฐิตา แอดมินขออนุญาตคัดลอกจากบอร์ดเก่ามาให้ทุกท่านได้ชม ]
เรื่องของความถูกผิด
จีนสมัยโบราณ ยังมีวัดพุทธศาสนาใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีระเบียบให้คนในวัดมาประชุมทำวัตรสวดมนต์กัน ณ ศาลาแหล่งกลาง ด้วยการตีระฆังใบใหญ่ตอนตีสี่ทุกวัน ครั้งนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ทุกๆวัน แกจะขมีขมันอุตส่าห์ตื่นก่อนเวลาจุดไฟเดินส่องไปตามทางปูหินก่อนใครๆเพื่อจะได้จับหอยทากที่คลานอยู่ตามทางเท้า ไปปล่อยเสียให้ห่างในที่ปลอดภัย เพราะไม่อย่างนั้นถึงเวลาระฆังสัญญาณขึ้น ผู้คนเดินไปสู่ศาลากันมากมาย จะเหยียบถูกหอยทากตาย แกทำอย่างนี้ทุกๆวันวันแล้ววันเล่า จึงมีภิกษุอื่นสังเกตเห็น เลยเกิดมีการสอบถามขึ้นในที่พร้อมหน้าว่าทุกวันนั้น ทำทำไม?
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อประกอบความดี สร้างบารมีเรื่อยไปนะแหละ นอกจากจะสวดมนต์ภาวนาเท่ากับคนอื่นแล้ว ผมก็หาบุญกุศลพิเศษอีกด้วยนะซิ” ภิกษุอีกรูปหนึ่งค้านขึ้นว่า “ท่านทราบไหมที่ทำอย่างนี้เหมือนกับก่อกรรมทำเข็ญ ยังบาปโทษให้เกิดแก่ชาวเรือกชาวสวน เพราะความเดือดร้อนด้วยหอยทากที่ท่านช่วยสงวนพันธุ์ไว้ให้ระบาด กระจายไปที่อื่นๆนอกวัด ทางการเขาสั่งกำจัดสัตว์แพร่โรคชนิดนี้กันหมดแล้ว จะยังเหลือก็แต่แหล่งเพาะพันธุ์ในวัดนี้แหละ คนทั้งหลายก็พลอยได้รับผลของการกระทำของท่านไปทั้งแขวงเมืองฝ่ายใต้นี้” ภิกษุอีกรูปหนึ่งพูดขึ้นว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านรูปนั้นมิได้มีเจตนาให้เป็นภัยแก่คนทั้งหลายเหล่านั้น ตรงข้ามท่านกำลังบำเพ็ญหน้าที่ของพระโพธิสัตว์ ทำการปลดปล่อยสัตว์แปดหมื่นสี่พันจากวิบัติ และยังช่วยปลดปล่อยทำความปลอดภัยให้พวกเราในวัดนี้ ได้บำเพ็ญความบริสุทธิ์ ไม่ต้องไปมีเหตุต้องทำชีวิตให้ตกล่วงไปอีกด้วย”
เมื่อไม่เป็นที่ตกลงกันได้ ทั้งหมดก็พากันไปหาหลวงพ่อโตกุซัน เจ้าอาวาส ท่านอาจารย์ผู้เฒ่านิ่งฟังการชี้แจงของแต่ละราย-แต่ละความเห็น ด้วยความกรุณาและเห็นใจเป็นที่สุด ท่านได้แต่จ้องหน้าตั้งใจฟังคนนั้นที คนนี้ที ภิกษุรูปแรกชี้แจงว่า “ผมก็มีอายุมากแล้ว มาบวชเรียนในพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อมาทำความดี ความดีแม้จะน้อยหนึ่งแต่หมั่นประกอบกระทำทั้งกลางคืนกลางวัน ย่อมจะเต็มได้เหมือนหยาดน้ำทีละหยดๆ อาจเต็มตุ่มได้ อย่างนี้จะว่าเป็นโทษบาปได้อย่างไรครับ หลวงพ่อ?” ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว”
ภิกษุรูปที่สองชี้แจงว่า “ถ้าว่าโดยเตนากันแล้ว หากมีคนใดไปเหยียบหอยทางเวลาเดินไปสวดมนต์ตอนมืดๆนั่นก็มิใช่เจตนาฆ่า เมื่อไม่มีเจตนา ก็มิใช่เป็นกรรมอันใด ผลยังจะสะท้อนว่าเป็นความปลอดภัยของมหาชนเป็นอันมาก ที่วัดนี้ไม่ได้เป็นแหล่งสุดท้ายที่มีหอยทาก อันเป็นสัตว์ทำลายพืชผลและตัวเพาะโรคห่าสู่ประชาชน และยังชื่อว่าช่วยกันทำตามประกาศของข้าราชการที่ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือใต้ กำจัดพาหะนำเชื้อชนิดนี้อีกด้วย ทั้งคนในวัดนี้ก็จะได้อยู่กันอย่างไม่มีโรคเพื่อประกอบกิจ ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์กันต่อไป เป็นผลดีทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้นทั้งมวล มิใช่หรือครับ หลวงพ่อ?” ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก-ถูก ถูกแล้ว”
ภิกษุรูปที่สามชี้แจงว่า “การบำเพ็ญธรรมให้ความปลอดภัยแก่คนส่วนใหญ่โดยมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละ รับเป็นภาระไปเสีย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกๆคนเขาได้ประกอบกระทำความหลุดรอดไปตามทางของเขา ตลอดถึงสัตว์ใดๆแม้จะอยู่ในร่างที่ต่ำต้อยอยู่ธรรมชาติแห่งการตรัสรู้ก็มิได้มีน้อยหรือมากขึ้น เพียงปัญญาญาณโพลงวาบเดียว ผลกรรมใดๆแม้มากน้อยเท่าใด ย่อมถูกยกเลิกเสียหมดสิ้น ดูแต่มหาโจรใจร้าย บาปกรรมเกรอะกรังก็ยังเปลื้องกรรมอันมหันต์นั้นได้เพียงชั่วอึดใจเดียว อย่างนี้ก็มิเป็นการถูกต้องหรือครับ หลวงพ่อ?” ท่านอาจารย์พอฟังจบแล้ว ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “ถูก- ถูก ถูกแล้ว”
ขณะนั้น สามเณรอุปฐาก กำลังนั่งพัดอยู่ข้างหลังอาจารย์ผู้เฒ่าได้ฟังเขาชี้แจงทีละคนๆและหลวงพ่อก็ยอมรับว่าเขาแต่ละรายถูกๆๆ เณรอดทนฟังต่อไปไม่ได้ ก็เอ่ยขัดขึ้น เพื่อขอโอกาสออกความเห็น หลวงพ่อโตกุซัน ทราบดังนั้น ก็เหลียวหมุนตัวมาตั้งใจฟังสามเณรอีกรายหนึ่ง... สามเณรน้อยติงว่า “หลวงพ่อได้แต่ร้อง ถูก-ๆ-ๆ มันจะมีถูกกันไปหมดทุกฝ่ายได้อย่างไร ถ้ามีถูกอันใด อันอื่นก็ต้องผิดซิ หลวงพ่อ?” ท่านอาจารย์ผู้เฒ่าพอฟังจบ ก็ตอบแสดงความชอบใจว่า “อ๊ะ นี่เธอก็ถูก-ถูก ถูกแล้ว” นิทานก็จบ.
คติธรรมนิทานเรื่องนี้จะสอนให้รู้ว่า การมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเราสามารถมองได้หลายแง่มุม ตามแต่ว่าใครจะมองในแง่มุมใด ซึ่งในแต่ละแง่มุมนั้นย่อมที่จะเหตุผลที่ถูกต้องของมันอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งก็อาจจะไม่ถูกต้องถ้ามองในแง่มุมของคนอื่นก็ได้ ซึ่งภิกษุรายแรกก็มีเหตุผลในแง่ของจิตใจหรือการทำความดี ส่วนภิกษุรายที่สองก็มีเหตุผลในแง่ของผลประโยชน์หรือเศรษฐกิจ ส่วนรายที่สามก็มีเหตุผลในแง่ของการบำเพ็ญบารมีเพื่อความพ้นทุกข์ ส่วนสามเณรก็มีเหตุผลในแง่ของความแตกต่าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือว่าเหตุผลของตนเองถูก และของคนอื่นผิด จึงทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
ซึ่งจะมีก็แต่หลวงพ่อโตกุซันเท่านั้นที่เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้จะสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจได้อย่างไร เพราะลูกศิษย์แต่ละคนได้ยึดถือความเห็นของตนไว้แน่นจนไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น หรือไม่ปล่อยวางความเห็นของตนบ้าง ซึ่งก็คงจะเหมือนสมัยนี้ที่มีการถกเถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง และนำมาคัดค้านหรือทำลายความเห็นของฝ่ายตรงข้าม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นจนกลายไปเป็นการทะเลาะวิวาทกันขึ้นในที่สุด ถ้าต่างฝ่ายต่างก็มาทำใจให้ว่าง และยอมรับฟังความเห็นของฝ่ายตรงข้ามบ้าง การทะเลาะวิวาทกันหรือขัดแย้งกันก็จะไม่เกิดขึ้น สังคมเราก็คงจะน่าอยู่กว่านี้ :)
http://www.tamdee.net/main/read.php?tid-435.htmlขอบพระคุณที่มามากมายค่ะ