เห็นธรรมเป็นธรรมก็มีดวงตาเห็นธรรม
ผู้ประพฤติหรือผู้ปฏิบัติของเราทุกวันนี้นั้น ศรัทธามันน้อย พอปฏิบัติได้ปีสองปี เดือนสองเดือน ก็อยากจะได้ อยากไปไวๆ ไม่รู้จักนึกบ้างเลยว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านทรงสร้างบารมีของท่าน มานานแสนนานเพียงใด แล้วท่านยังต้องมาต่อสู้ในพระชาติสุดท้าย อยู่อีกถึงหกปี
ฉะนั้น ท่านจึงทรงตั้งนิสัยพระนวกะว่า จะต้องอยู่ฝึกอบรมกับพระอุปัชฌาย์อย่างน้อยห้าพรรษา ผู้ศึกษาเล่าเรียน ผู้ปฏิบัติที่มีปัญญาตรวจค้น มีศรัทธาจริงๆ ผู้บากบั่นพยายามตลอดห้าพรรษานี่ ก็เรียกว่าใช้ได้ แต่ให้ปฏิบัติจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ถ้าเราพยายามทำจริงๆ ได้ห้าพรรษา แล้วจะได้รู้ว่าคุณค่าของพระพุทธโอวาท ที่สมเด็จพระบรมศาสดาท่านบัญญัติไว้นั้น มันเป็นเช่นไร จะได้รู้จัก ห้าพรรษาคือคนใช้ได้ จิตใจก็ใช้ได้ อะไรก็พอเป็นพอไปแล้ว
แน่นอน ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นพระอริยะบุคคลขั้นแรก แต่ทว่าต้องไม่ใช่ห้าพรรษาแต่อายุเท่านั้น ต้องเป็นห้าพรรษาในจิตด้วย ผู้ปฏิบัติเข้าถึงจิตใจเช่นนี้ จะมีความกลัว ความละอาย ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งในที่มืดและที่แจ้ง เพราะเข้าถึงพระพุทธเจ้าแล้ว อาศัยพระธรรม อาศัยพระสงฆ์ แล้วมีพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว ถ้าพึ่งพระพุทธเจ้าจริงๆ ก็ต้องเห็นพระพุทธเจ้า ต้องเห็นพระธรรม ต้องเห็นพระสงฆ์ ถ้าเราขอพึ่งท่าน ขอพึ่งพระพุทธ พึ่งพระธรรม พึ่งพระสงฆ์ แล้วเรายังไม่เห็นท่านนั้น จะเป็นประโยชน์อะไร ถ้าเราขอพึ่งท่านก็ต้องรู้จักท่าน จะรู้จักแต่กายเท่านั้นยังไม่พอ ต้องรู้จักด้วยใจจึงจะใช้ได้ ถ้าเข้าใจถึงแล้ว จึงจะรู้ได้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระธรรมเป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระสงฆ์เป็นอย่างนี้อย่างนี้ พระพุทธเจ้า เป็นรูปลักษณะอาการอย่างนั้นอย่างนั้น พระธรรมก็เช่นเดียวกัน จึงจะได้เป็นที่พึ่งของเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดอยู่ที่จิตของเรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามมีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ อยู่เรื่อยไปในจิตผู้นั้น ฉะนั้น ผู้นี้จึงไม่กล้ากระทำบาป พระอริยะบุคคลขั้นแรก ท่านจึงไม่เข้าไปสู่อบาย ตรงแน่วแน่ไปเลย ไม่มีชาติที่แปดเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะมันแน่นอนแล้วน่ะซิ มันแน่นอนแล้ว เมื่อเข้าหนทาง ก็ไม่ได้สงสัย ทีนี้ค่อยเคลื่อนไปไม่ได้มีความสงสัย ไม่ถึงวันใดก็จะต้องถึงวันหนึ่ง จะให้กลับมาทำบาปทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจาอีกไม่มี พ้นจากความเดือดร้อนที่จะเป็นนรกแล้ว
ฉะนั้น ท่านจึงว่าอริยบุคคลพ้นอบายภูมิ จิตก็ไม่ไปถึงอบาย ไม่ไปสู่อบาย จึงเป็นผู้ไม่กลับ คือไม่กลับมาทำชั่ว ใจนั้นมาทำความชั่วไม่ได้อีก อันนี้จะได้เห็นเองว่าใจมันทำไม่ได้ ก็แปลว่ามันเปลี่ยนไป เป็นอริยชาติแล้ว มันกลับมาไม่ได้แล้ว มันเปลี่ยนในชาตินี้เอง เรื่องเหล่านี้จะรู้จักเฉพาะเจ้าของเอง
ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ที่ยังไม่ได้เห็นธรรม เมื่อได้ยินอย่างนี้ อาจจะคิดว่าการรู้ธรรม การเห็นธรรม การปฏิบัติธรรมเช่นนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร เป็นการยากอยู่ เรื่องเหล่านี้น่ะก็คือธรรมชาติธรรมดาที่มันเป็นอยู่นี้แหละ
ทุกวันนี้ บางทีเรามีความสุขใจ บางทีเรามีความทุกข์ใจ มีความดีใจ มีความเสียใจ เพราะอะไร? เพราะไม่รู้ธรรม เพราะไม่เห็นธรรม ไม่รู้ธรรมชาติ ไม่เห็นธรรมชาติ คือธรรมชาติมันเป็นของมันเช่นนั้นเรื่อยๆ ทั้งกายและจิต คือรูปและนาม ฉะนั้น พระบรมศาสดาท่าน จึงได้หมายขันธ์ห้า วางขันธ์ห้า เลิกขันธ์ห้า ละขันธ์ห้า
ที่ละมันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะไม่เห็นมัน เพราะไม่รู้เท่าทันมัน เห็นว่ามันเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นมัน เห็นเราว่าเป็นสุข เห็นสุขว่าเป็นเรา เห็นทุกข์ว่าเป็นเรา เห็นเราว่าเป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อแยกออกจากกันไม่ได้ ก็แปลว่าเราไม่เห็นธรรม คือธรรมชาติ อย่างนี้มันไม่เป็นเรา แต่เราเข้าใจว่าเป็นเรา สุขก็มาถูกเรา ทุกข์ก็มาถูกเรา เสียใจก็มาถูกเรา เพราะเราเข้าไปขวางอยู่ตรงนั้น เราก็คือก้อนอัตตาตัวตน เมื่อมีก้อนอัตตาเมื่อใดแล้ว สุขก็ถูกเรา ทุกข์ก็ถูกเรา อะไรก็ถูกหมด
ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ท่านจึงว่าให้ทำลายก้อนอัตตา เมื่อทำลายก้อนอัตตา คือสักกายทิฐินี้แล้ว หมดก้อนอัตตาแล้ว อัตตามันก็ไม่ต้องเรียกมันเป็นของมันเอง เมื่อหมดอัตตา อนัตตาก็เกิดขึ้นมาเอง
เมื่อบุคคลถือเนื้อถือตัว ก็จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตน เห็นว่าเราสุข เห็นว่าเราทุกข์ เห็นว่าเราดี เห็นว่าเราชั่ว เห็นว่าเราต่างๆ นานา ความจริงสิ่งเหล่านี้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น แต่เรากลับไปเอาธรรมชาติมาเป็นเรา เอาเรามาเป็นธรรมชาติ เลยไม่รู้ว่าธรรมชาติคืออะไร ธรรมชาติมันดีก็หัวเราะกับมัน ธรรมชาติมันร้ายก็ร้องไห้กับมัน ความจริงธรรมชาติก็คือสังขาร อย่างเราว่า “เตสัง วูปสโม สุโข” ความสงบของสังขารนั้นเป็นสุข สงบอะไรล่ะ? ก็คือถอนอุปาทานออกมาว่า เห็นธรรมชาติตามเป็นจริงของมัน เดี๋ยวนี้ความเป็นจริงของมันมีอยู่ มันเป็นจริงอยู่ ต้นหญ้า ภูเขา เถาวัลย์ มันเป็นของมันอย่างนั้น มันเกิดมันก็ดับ มันดับมันก็เกิด มีเลื่อนไหลไปมา ธรรมชาติมันเป็นจริงอยู่ แต่เราผู้ไม่จริง เมื่อไปเห็นแล้วก็ตื่นเต้น ธรรมชาติไม่ตื่นเต้น มันเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าใครจะร้องไห้ ใครจะหัวเราะ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นของจริง เราไม่รู้จักของจริง เมื่อเป็นเห็นของจริงแล้วกระตือรือร้น ร้องไห้ หัวเราะ ต่างๆ นานา เสียอกเสียใจ ดีอกดีใจ
ถึงเราจะดีใจเสียใจอย่างไรก็ตาม สภาวะร่างกาย รูปนี้ของเราก็เป็นอยู่ของมันเช่นนี้ มันเกิดมาแล้ว มันก็แปรตามธรรมชาติ แปรไป เจ็บไป ตายไป พลัดพรากจากกันไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เมื่อหากว่าบุคคลผู้ใดจะเอาธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง เหล่านี้ให้มันเป็นตัวเรา เป็นของเรา อย่างนี้มันก็เป็นการแบกทุกข์ไว้ ฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะท่านจึงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” คำ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหมายความรวมตลอดเลย จะเป็นรูปหรือเป็นนาม ก็ช่าง ใช่หมดทั้งนั้น ความเห็นของท่านในขณะที่ท่านฟังเทศน์ของพระพุทธองค์นั้น เปลี่ยนขึ้นมาจนเห็นแจ้ง ออกจากที่นั่งแล้วก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น จริงอยู่อย่างนั้น อาการอย่างใดผ่านเกิดขึ้นมาก็เห็น ความเกิดอันมันดับไปแล้ว ท่านก็เห็นความดับ เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด
ท่านก็เห็นมัน อันใดมันเกิดแล้วก็ดับ อันใดมันดับแล้วก็ดับไป เป็นอยู่เรื่อยไป สุขทุกข์ก็มากระทบจิตของท่านอยู่เสมอ แต่ว่าจิตของท่านเพียงแต่รับทราบ ไม่พลอยตกนรก ไม่พลอยไปสู่อบาย ไม่พลอยไปดีใจ ไม่พลอยไปเสียใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตของท่านตั้งมั่นเด่นอยู่ พิจารณาอยู่อย่างนั้น นั่นเพราะท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านได้ดวงตา ได้ดวงตาอันหนึ่งที่เห็นธรรมชาติตามเป็นจริง ความรู้เท่าตามเป็นจริงของสังขาร สังขารมันเป็นจริงอย่างไร ก็รู้เท่าตามเป็นจริงของมันอย่างนั้น นี่เรียกว่าผู้รู้ธรรม ผู้เห็นธรรม รู้แล้ว ละ เลิก ถอน ถ้ายังไม่เห็น ก็ยังพากันอด พากันละ มันไม่เห็นหรอก ที่มา อดละ อดกลั้น อดทน อดทานนั่นนะ แต่ถ้าถึงที่ของมันแล้ว ก็จะไม่มี เรื่องอดละ อดกลั้น ไม่มีเรื่องใดได้อด เรื่องผู้เห็นธรรมแล้ว ก็เป็นธรรม ไม่มีเรื่องอดกลั้น นี่เรายังไม่ทันรู้จักธรรม ไม่เป็นธรรม จึงเอาธรรมมาใช้ เอาความเพียรมาใช้ มันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเรามาเพียรแล้ว มันไม่เกียจคร้านแล้ว ความเพียรก็ไม่ต้องเอามาใช้ มันรู้เท่าต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว มันไม่สุข ไม่ทุกข์กับมัน ก็ไม่ต้องเอาขันติมาใช้ เมื่อมันเป็นธรรมแล้ว มันเกิดมา มันก็เป็นธรรม ผู้รู้ก็รู้ตามธรรม แล้วก็เลยเป็นธรรม รู้ธรรมแล้วเห็นธรรม เรียนธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เป็นธรรม
เมื่อมันเป็นธรรมแล้วก็หยุด สงบแล้ว ทีนี้ไม่ได้เอาธรรมมาใช้ เพราะมันเป็นธรรมแล้ว ภายนอกก็เป็นแล้ว ภายในก็เป็นแล้ว ผู้รู้ธรรม ก็เป็นธรรม สภาวะมันก็เป็นธรรม อันที่รู้มันก็เป็นธรรม เป็นอยู่อย่างนั้น เป็นอย่างเสรี เป็นหนึ่งเสียแล้ว ธรรมชาติอันนี้จึงไม่เกิด ธรรมชาติอันนี้จึงไม่แก่ ธรรมชาติอันนี้จึงไม่เจ็บ ธรรมชาติอันนี้จึงไม่ตาย ธรรมชาติอันนี้จึงไม่สุขไม่ทุกข์ ธรรมชาติอันนี้ไม่น้อยไม่ใหญ่ ไม่หนักไม่เบา ไม่สั้นไม่ยาว ไม่ดำไม่ขาว ไม่มีเรื่องเปรียบเทียบ ไม่มีเรื่องจะเอามาเปรียบ สมมุติอะไรๆ เข้าไม่ถึงเข้าไม่ถึงที่นั่น
ฉะนั้น พระนิพพานท่านจึงว่าไม่มีสีสรรวรรณะ สีเขียว สีแดง สีดำ อะไรไม่มี เรื่องสีเขียวสีดำ อะไรต่างๆ เป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องบัญญัติในโลกีย์ เมื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว ไม่มีเรื่องเหล่านี้ตามไปถึง ดังนั้นจึงกล่าวว่าสิ่งนั้นเป็นโลกุตตระ ธรรมอันนั้นท่านจึงว่าเป็นปัจจัตตัง อันผู้รู้ก็ได้เฉพาะเจ้าของ ประกาศไม่ได้ มีแต่อุบาย ผู้ที่เข้าไปถึงแล้วก็แล้ว จะเอาสมมุติบัญญัติมาพูดไม่ได้ มันหมดมันสิ้น