[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:42:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย : ประเภท-พัฒนาการ-การผลิต-ขั้นตอนผลิต-แหล่งผลิต  (อ่าน 48928 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 กุมภาพันธ์ 2556 13:17:27 »

.



เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย
ความหมายของเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย

เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยมีความหมายใกล้เคียงกัน บางครั้งมีผู้นำคำทั้งสองนี้มาใช้แทนก็มี แต่ที่จริงแล้วทั้งสองคำมีที่มาแตกต่างกัน
เครื่องปั้นดินเผา หมายถึง สิ่งของต่างๆ ที่เกิดจากการนำดินมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วนำไปเผาไฟในเตาเผาให้เนื้อดินสุกเพื่อให้มีความแข็ง คำนี้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “เซรามิก” (ceramic) ซึ่งหมายถึง ดินเผา  ต่อมาได้มีการนำดินอื่นนอกจากดินเหนียวสีดำมาใช้ในการปั้นด้วย เพื่อให้เนื้อดินมีคุณภาพดีขึ้น เช่น ดินขาว เคโอลิน (kaolin) และแร่ฟันม้าหรือเฟลด์สปาร์ (feldspar) ดังนั้น จึงมีนักวิชาการบางคนเปลี่ยนจากการใช้คำว่า “เครื่องปั้นดินเผา” เป็น “เครื่องปั้นเผา”  โดยตัดคำว่า “ดิน” ออก  แต่คนส่วนใหญ่ยังคงนิยมเรียกว่า เครื่องปั้นดินเผา ตามที่ใช้กันมาแต่เดิม เพราะสื่อความหมายเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป
 
ส่วน เครื่องถ้วย เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ประเทศต่างๆ รับเอาวิธีการทำมาจากจีน โดยชาวจีนรู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปี มาแล้ว เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่มีเนื้อแข็งแกร่งและนำไปเคลือบให้ผิวมันเป็นเงางาม ทำเป็นภาชนะต่างๆ แต่ที่ส่งไปขายในต่างประเทศมักเป็นพวกถ้วย ชาม จาน ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่มาก ขนส่งได้สะดวก ประเทศไทยก็ได้ซื้อเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้จากจีน  รวมทั้งได้รู้จักวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบจากช่างจีนตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้วย  ไทยเรียกเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ว่า เครื่องถ้วย ในภาษาอังกฤษมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับเครื่องถ้วยว่า ไชน่าแวร์ (chinaware) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไชน่า (china)  แปลตามศัพท์ว่า “ของที่ทำขึ้นในประเทศจีน”  ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยที่ชาวยุโรปเดินเรือมาค้าขายกับจีนในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ นั้น  สินค้าจีนที่สำคัญซึ่งส่งไปขายในทวีปยุโรปอย่างหนึ่ง คือ ถ้วยชามทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว  ซึ่งเป็นต้นแบบให้ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสนำไปพัฒนาเครื่องปั้นดินเผาของตนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น  เช่นเดียวกับเครื่องถ้วยของไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย



กระถางปลูกต้นไม้ที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อดินไม่เคลือบ แตกหักง่ายและซึมน้ำ

การแบ่งประเภทของเครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผาแยกออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของเนื้อดินที่เผาแล้ว และการเคลือบผิวหรือไม่เคลือบ โดยมีชื่อเรียกแต่ละประเภท ดังนี้
๑.เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อดิน หรือ เครื่องดินเผา เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า เอิร์ทเทินแวร์ (earthenware) เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งนำดินที่ปั้นแล้วไปเผาที่อุณหภูมิ ๘๐๐–๑,๑๕๐ องศาเซลเซียส  การเผาในอุณหภูมิไม่สูงมากทำให้เนื้อดินไม่แข็งแกร่ง เปราะหักได้ง่ายและซึมน้ำ เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ไม่มีการเคลือบ เป็นเนื้อดินล้วน ๆ มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง

๒. เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อหิน หรือ เครื่องถ้วยหิน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า สโตนแวร์ (stoneware) เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งนำดินที่ปั้นแล้วไปเผาที่อุณหภูมิ ๑,๒๐๐ – ๑,๓๐๐ องศาเซลเซียส  ความร้อนค่อนข้างสูงทำให้เนื้อดินมีความแข็งแกร่ง ไม่ซึมน้ำ เนื้อดินมีสีเทาหรือสีน้ำตาล หลังจากเผาแล้วอาจนำไปเคลือบผิวหรือไม่เคลือบก็ได้ หากเคลือบต้องนำกลับมาเผาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้น้ำเคลือบละลายติดแน่นอยู่บนผิวของภาชนะเป็นเนื้อเดียวกัน การเคลือบผิวดินเผาด้วยน้ำเคลือบ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า เกลซ (glaze)



เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อหินที่เคลือบน้ำเคลือบให้มีผิวมัน
เนื้อดินแข็งแกร่ง ไม่ซึมน้ำ


เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อกระเบื้อง
ใช้ดินเนื้อละเอียด มีลักษณะบางแต่แข็งแกร่ง

๓.เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อกระเบื้อง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า พอร์ซเลน (porcelain) เป็นเครื่องปั้นดินเผาซึ่งนำดินที่ปั้นแล้วไปเผาที่อุณหภูมิ ๑,๓๐๐–๑,๕๐๐ องศาเซลเซียส  เนื้อดินมีความแข็งแกร่งมากเป็นพิเศษ หากมีความบางและโปร่งแสง เมื่อเคาะมีเสียงดังกังวาน นักวิชาการบางคนเรียกว่า เครื่องถ้วยเปลือกไข่ ซึ่งถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีมากและมีราคาแพง เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อกระเบื้องนี้ต้องนำดินเนื้อละเอียด ซึ่งส่วนมากเป็นดินขาวเคโอลินมาปั้น เมื่อเผาแล้วเนื้อดินจะเป็นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำไปเคลือบให้เป็นสีและลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการ


ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
เขียนภาพตุ้มซึ่งเป็นเครื่องมือประมง เรียงๆ กัน

พัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน มีการทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยอาจแบ่งออกได้เป็นสมัยต่างๆ อย่างคร่าวๆ รวม ๕ สมัย คือ
๑. สมัยก่อนประวัติศาสตร์
๒. สมัยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
๓. สมัยสุโขทัย
๔. สมัยอยุธยา
๕. สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์


                       
ภาชนะเขียนลายด้วยสีแดงคล้ายลายก้นหอย
เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
                          
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง ช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ มีการดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ การเก็บของป่า และการเพาะปลูกอย่างง่ายๆ อาศัยอยู่ตามถ้ำ หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นครอบครัวหรือเป็นชุมชนเล็กๆ นักวิชาการแบ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคใหญ่ๆ ๒ ยุค คือ ยุคแรกเรียกว่ายุคหิน ยุคที่สองเรียกว่ายุคโลหะ

ในยุคหินมนุษย์รู้จักการนำหินมาใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ในการดำรงชีวิต ในตอนแรกยังไม่รู้จักวิธีการตกแต่งหินให้มีความคม หรือให้เป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อการใช้งาน เรียกว่า ยุคหินเก่า ต่อมาก็รู้จักการตกแต่งหินบ้างเล็กน้อย เรียกว่ายุคหินกลาง และเมื่อรู้จักตกแต่งหินอย่างละเอียดประณีตขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า ยุคหินใหม่

ส่วนยุคโลหะนั้น เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักการนำโลหะบางชนิดที่หาได้ง่าย และไม่ต้องผ่านกรรมวิธีที่ยุ่งยากในการถลุง มาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เริ่มด้วย ยุคทองแดง ต่อมาก็เป็น ยุคสัมฤทธิ์ (สำริด) ซึ่งมนุษย์รู้จักการนำทองแดงมาผสมกับดีบุกเป็นโลหะผสมชนิดแรกที่มนุษย์ทำขึ้น ยุคโลหะที่จัดเป็นยุคใหม่สุดคือ ยุคเหล็ก ซึ่งต่อมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์

การแบ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคต่างๆ นี้ เกิดขึ้นไม่พร้อมกันในที่ต่างๆ ของโลก ขึ้นอยู่กับระดับความเจริญก้าวหน้าของคนในท้องถิ่นว่ามีเร็วช้าประการใด

เครื่องปั้นดินเผาที่ถือได้ว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย จัดอยู่ในยุคหินกลางของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุระหว่าง ๗,๐๐๐–๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว แหล่งที่พบอยู่ที่ถ้ำผี ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะเป็นเศษภาชนะเนื้อดินเผาสีแดง มีทั้งผิวเรียบและผิวขัดมัน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ โดยอาจใช้เชือกพันไม้แล้วตีให้เป็นริ้วรอยลงบนเนื้อดินก่อนนำไปเผา



(บน) หม้อสามขา พบที่ จ.กาญจนบุรี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี
(ล่าง) พาน และ หวด พบที่ จ.กาญจนบุรี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐

เครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขึ้นชื่อมากและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียง ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี  มายุระหว่าง ๑,๗๐๐–๕,๖๐๐ ปีมาแล้ว  ซึ่งจัดอยู่ในยุคโลหะ  โดยพบเครื่องปั้นดินเผานี้รวมอยู่ในหลุมฝังศพ มีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่เป็นหม้อชนิดต่างๆ คือ หม้อก้นกลม ปากหม้อผาย และหม้อมีเชิง  เป็นภาชนะผิวเรียบและตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ  บางชิ้นเขียนลายด้วยสีแดงหรือสีน้ำตาล โดยเฉพาะลายเขียนสีเป็นรูปวงกลมม้วนคล้ายลานก้นหอย ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงนี้

การพบเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านเชียงนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรได้รับมอบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีจากราษฎรในพื้นที่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓  หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาของกรมศิลปากรเพื่อทราบรายละเอียดมากขึ้น  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่บ้านเชียง และทอดพระเนตรการขุดค้นของเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร ผลจากการขุดค้นครั้งนั้น ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐอเมริกา ในการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเชียงและมีการเผยแพร่ไปทั่วโลก ทำให้ทราบกันว่าแหล่งอารยธรรมบ้านเชียงเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ส่งผลให้คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ประกาศให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕

นอกจากที่ถ้ำผีและบ้านเชียง ยังพบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น จังหวัดกาญจนบุรี พบที่ตำบลช่องสะเดา ในเขตอำเภอเมืองฯ และตำบลจระเข้เผือก ในเขตอำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดลพบุรี พบที่ตำบลบัวชุม และตำบลหนองยายโต๊ะ ในเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดขอนแก่น พบที่ตำบลบ้านภูเวียง ในเขตอำเภอภูเวียง และจังหวัดนครศรีธรรมราช พบที่ตำบลนบพิตำ ในเขตกิ่งอำเภอนบพิตำ เครื่องปั้นดินเผาที่พบในที่ต่างๆ ดังกล่าวนี้ จัดอยู่ในยุคหินใหม่ทั้งหมด



(บน) ภาชนะดินเผาสีดำขัดมัน  อายุระหว่าง ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี
(ล่าง) ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ อายุระหว่าง ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปี


เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบรวมอยู่ในหลุมฝังศพ

สมัยก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
หลังจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์สิ้นสุดลงแล้ว ก็ย่างเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการบันทึกหลักฐานเรื่องราวต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร มีการตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นแว่นแคว้นและอาณาจักรต่างๆ  ซึ่งในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน มีแว่นแคว้นและอาณาจักรโบราณอยู่หลายแห่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาต่างๆ กัน หรือเหลื่อมล้ำเวลากัน ก่อนที่จะตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๑๗๙๒

นักประวัติศาสตร์ศิลปะได้แบ่งช่วงเวลาก่อนตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีออกเป็นสมัยต่างๆ ตามชื่อของแว่นแคว้นหรืออาณาจักรที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น และนำมาใช้กับการพัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาด้วย โดยแบ่งออกเป็นสมัยย่อยต่างๆ คือ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย สมัยหริภุญไชย และสมัยลพบุรี


                                                                
                                                                 หม้อดินเผาก้นกลม ศิลปะทวารดี


                                  
                                  พานดินเผา ศิลปะทวารวดี อายุระหว่าง ๑,๕๐๐-๑,๙๐๐ ปี



(บน ซ้าย-ขวา)ชามทรงกระบอกก้นกลมปาด เนื้อดินสีดำ และ ชามทรงกลมปากกว้างม้วนก้นสอบ ศิลปะทวารวดี
(ล่าง) ตะเกียงน้ำมันดินเผา


เครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดี
มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๖ หรือประมาณ ๑,๕๐๐–๑,๙๐๐ ปีมาแล้ว  อาณาจักรทวารวดีมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน แต่มีอาณาเขตขยายไปถึงบางส่วนของภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ด้วย  นักโบราณคดีทำการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดีในที่ต่างๆ หลายแห่ง มีทั้งที่ปั้นด้วยดินเนื้อหยาบและดินเนื้อละเอียด แต่ไม่มีการเคลือบ  ลวดลายที่ตกแต่งบนผิวของภาชนะมีหลายอย่างที่พบมากเป็นลายเชือกทาบ  ลายขูดขีดเป็นเส้นหลายเส้นขนานกัน หรือเป็นตารางสี่เหลี่ยม  นอกจากนี้ มีลายกดทับเป็นรูปสัตว์หรือดอกไม้ บางชิ้นมีการระบายด้วยสีแดง สีขาว หรือสีดำ ลงบนผิวของภาชนะ รูปแบบของภาชนะที่พบมีหลากหลายขึ้นกว่าเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญได้แก่ หม้อ ชาม พาน ตะเกียง ตะคัน คนที และคนโท


๑.ตะคันดินเผา ๒.หม้อมีเชิงปากผาย ศิลปะศรีวิชัย
๓.คนที ๔.คนโท

หม้อ มีหลายแบบ คือ หม้อก้นกลม หม้อมีสันก้นตื้น และหม้อมีสันก้นลึก  การใช้หม้อส่วนใหญ่เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์พืชและน้ำกินน้ำใช้

ชาม เป็นภาชนะรูปกลม ปากกว้างม้วน ก้นลึกสอบลงไป มีทั้งก้นกลมและก้นตัดปาด เพื่อสะดวกในการตั้งวาง

ตะเกียง เป็นตะเกียงใส่น้ำมันเพื่อใช้จุดไฟให้แสงสว่าง รูปร่างแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ หัวตะเกียงเป็นรูปกลมแบนสำหรับใส่น้ำมัน ส่วนพวยตะเกียงที่ยื่นต่ออกมาจากตัวตะเกียงใช้สำหรับสอดใส่เชือกที่ใช้เป็นไส้จุดไฟ

ตะคัน คือ ตะเกียงขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายจานเล็กที่เรานำมาใช้ใส่น้ำจิ้ม หรือคล้ายถ้วยตะไล  มีลักษณะเตี้ย กลม ปากบานเรียบ หรือจับเป็นจีบเล็กๆ  จีบเดียวหรือเป็นปากหยักโดยรอบสำหรับไว้พาดไส้ตะเกียง ตะคัน บางอันมีรูปร่างเป็นจานเชิงสูงก็มี

คนที] (เขียนอีกอย่างหนึ่งว่ากุณฑี)  เป็นหม้อน้ำหรือกาน้ำรูปกลม ที่ก้นมีเชิง ตั้งกับพื้นได้ คอภาชนะมีลักษณะคอดยาว ผายกว้างออกที่บริเวณปากเพื่อเติมน้ำได้สะดวก ตรงบริเวณส่วนกลางของภาชนะมีพวยยื่นยาวออกมา เพื่อใช้สำหรับรินน้ำออกจากภาชนะ

คนโท (เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า กุณโฑ)  เป็นหม้อหรือภาชนะใส่น้ำ รูปร่างคล้ายคนทีแต่ไม่มีพวย  จึงใช้วิธีรินน้ำโดยยกเอียงให้น้ำไหลออกทางปากของภาชนะ

เครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดี  มีพบอยู่หลายแห่งในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และราชบุรี ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเมืองและชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี



                     
๑.คนที ศิลปะศรีวิชัย พบที่บ้านปะโอ จ.สงขลา
๒.คนที ศิลปะศรีวิชัย พบที่ จ.นครศรีธรรมราช
๓.หม้อทรงกลมมีเชิง ศิลปะหริภุญไชย อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๙

เครื่องปั้นดินเผาสมัยศรีวิชัย
สมัยศรีวิชัยมีอายุใกล้เคียงกับสมัยทวารวดี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘  หรือประมาณ ๑,๖๐๐ – ๒,๒๐๐ ปี มาแล้ว  อยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน  ตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปถึงคาบสมุทรมลายู  มีเมืองโบราณสำคัญ เช่น เมืองไชยา ตะกั่วป่า ตามพรลิงค์(หรือนครศรีธรรมราช)  นักโบราณคดีได้พบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลายแห่งที่ขึ้นชื่อมาก คือ ที่บ้านปะโอ  ตำบลม่วงงาม และที่วัดบ้านวัดขนุน ตำบลวัดขนุน  ทั้ง ๒ แห่ง อยู่ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  โดยพบทั้งเตาเผาและชิ้นเครื่องปั้นดินเผา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑  นอกจากบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังพบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยศรีวิชัยที่จังหวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช  และอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง  แต่ไม่พบเตาเผา  สันนิษฐานว่าอาจเป็นภาชนะที่ส่งไปขายจากแหล่งเตาเผาที่บ้านปะโอและบ้านวัดขนุนก็ได้

เครื่องปั้นดินเผาสมัยศรีชัยมีเนื้อดินค่อนข้างแข็ง  สีขาวและสีส้มนวล ไม่มีการเคลือบลายตกแต่งบนภาชนะ มีหลายแบบคล้ายกับเครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดี รูปแบบของภาชนะก็มีลักษณะคล้ายกัน ได้แก่ หม้อ จาน ชาม พาน คนที และคนโท



๑.คนโท ตกแต่งลวดลายด้วยการขูดขีด
๒.โกศมีฝารูปคล้ายดอกบัว ศิลปะหริภุญไชย
๓.ไหเคลือบสีน้ำตาล ศิลปะลพบุรี อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘
๔.หม้อไม่เคลือบ ศิลปะลพบุรี อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘


.


๑.คนโทตกแต่งด้วยรูปหัวช้างเคลือบสีน้ำตาล ศิลปะลพบุรีที่แสดงถึงการพัฒนาด้านรูปแบบ
๒.กระปุกรูปนกเคลือบสีน้ำตาลและสีนวล
๓.ภาชนะรูปสัตว์เคลือบ


(บน) คชสีห์เคลือบสีเขียวมะกอก ศิลปะล้านนา
(ล่าง) จานและขวดเคลือบสีขาวนวล ศิลปะล้านนา


(บน) คนทีและจานเคลือบสีเขียวไข่กา เอกลักษณ์เด่นของเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัย
(ล่าง) จานเคลือบสีขาวนวลเขียนลายดอกไม้ และจานลายปลาคู่ใต้เคลือบด้วยสีดำ ศิลปะล้านนา

เครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชย
สมัยหริภุญไชย มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๙  ใกล้เคียงกับสมัยศรีวิชัย แต่มีอาณาเขตอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย  โดยมีเมืองหริภุญไชยหรือเมืองลำพูนในปัจจุบัน เป็นศูนย์กลางความเจริญ ได้พบแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญ ๒ แห่ง ในเขตอำเภอเมืองฯ  จังหวัดลำพูน  คือ ที่บ้านศรีย้อย ตำบลต้นธง และที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง

เครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชย ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากสมัยทวารวดี และสมัยลพบุรีมาผสมผสานด้วย  เพราะอยู่ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน  อีกทั้งตามพงศาวดารก็กล่าวว่าพระนางจามเทวี  ซึ่งเป็นกษัตรีองค์แรกของอาณาจักรนี้ ทรงเป็นพระธิดาของกษัตริย์แคว้นละโว้หรือลวปุระ  หรือจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน

เครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชยในระยะแรกมีการตกแต่งด้วยการใช้สีแดง เขียนเป็นลายเส้นหรือการขูดขีดและการกดประทับเป็นลวดลายต่างๆ คล้ายกับเครื่องปั้นดินเผาสมัยทวารวดี  ต่อมาจึงมีพัฒนาให้มีลวดลายที่สวยงามมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งรูปแบบของภาชนะก็ทำด้วยฝีมือที่ประณีตมากยิ่งขึ้น  นอกจากหม้อ พาน ตะคัน คนโท ยังมีการทำหม้อบรรจุอัฐหรือโกศ  ซึ่งตัวหม้อตกแต่งทำเป็นขอบหลายชั้น  ฝาหม้อก็มีลักษณะเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไปจนถึงยอด  เป็นรูปคล้ายดอกบัว  นอกจากนี้ยังมีการทำพระพุทธรูปดินเผาและแม่พิมพ์ดินเผาที่ใช้ทำพระพิมพ์ด้วย

จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า เครื่องปั้นดินเผาสมัยหริภุญไชยบางชิ้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องปั้นดินเผาที่พบในภาคกลางของประเทศพม่า โดยอาจได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรศรีเกษตร ซึ่งเจริญขึ้นในช่วงแรกของสมัยหริภุญไชย คือ พุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๔



เครื่องปั้นดินเผาศิลปะลพบุรี คนทีรูปบุรุษพนมมือ และจุกภาชนะรูปเทพเจ้าเคลือบสีน้ำตาล

เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรี
สมัยลพบุรีมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๘  มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่แคว้นละโว้หรือลวปุระ คือ จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน  โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมหรือเขมรโบราณที่เข้ามาปกครองบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศไทย นักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทย เรียกชื่อศิลปะสมัยนี้ว่า สมัยลพบุรี

เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีพบอยู่หลายแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์  พบแหล่งเตาเผาเป็นจำนวนมาก  เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีมีทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบ แสดงถึงความก้าวหน้าในการทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีการเคลือบเพิ่มขึ้นในวิธีในการผลิต  เครื่องปั้นดินเผาชนิดที่มีการเคลือบ  มีสีต่างๆ ได้แก่ สีน้ำตาล และสีเขียวใสแบบสีน้ำแตงกวา รูปร่างของภาชนะก็มีหลากหลาย ทั้งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ชาม ถ้วย ไห กระปุก ตะคัน คนโท ตลับ  และของที่ใช้สำหรับตกแต่ง เช่น ประติมากรรมรูปสัตว์ เป็นรูปช้าง ม้า กระต่าย เต่า ลวดลายบนภาชนะมีทั้งลายเส้นและลายขูดขีดเป็นรูปต่างๆ เช่น ลายกลีบบัว ลายกากบาทชั้นเดียว ลายกากบาทสองชั้น ลายเส้นคดโค้ง  ลายคลื่น และลายหวีสับ บางครั้งประดับตกแต่งภาชนะด้วยรูปหัวช้าง หัวม้า หัวกวาง หรือรูปศีรษะคน  การปั้นมักขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน โดยสังเกตได้จากลักษณะลายในเนื้อดินปั้นที่ก้นภาชนะ ซึ่งมีลักษณะเป็นวงหมุนเวียนขวา อันเกิดจากการใช้แป้นหมุนอย่างชัดเจน

กล่าวโดยสรุป เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีมีการพัฒนาขึ้นมาก ทั้งในด้านรูปแบบและวิธีการผลิต จนเกือบทัดเทียมกับเครื่องปั้นดินเผาในสมัยสุโขทัย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะการทำเครื่องถ้วยของจีนเข้ามาเผยแพร่



(ซ้าย บน-ล่าง) ไหเคลือบสีเขียวมะกอก และ ช้างศึกพร้อมแม่ทัพ ควาญท้าย จาตุรงคเสนาถือปืน
(ขวา บน-ล่าง) คนทีตกแต่งเป็นลายหินอ่อนสีส้มแดง, จานลายปลา และ ตุ๊กตาม้าศึก

สมัยสุโขทัย
สมัยสุโขทัยเริ่มขึ้นเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีใน พ.ศ.๑๗๙๒ และสิ้นสุดเมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรสุโขทัย คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๔ (บรมปาล) เสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๑๙๘๑  ดังนั้น สมัยสุโขทัยจึงมีอายุในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงตอนปลายของพุทธศตวรรษที่ ๒๐


เครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัย เรียกกันโดยทั่วไปว่า เครื่องสังคโลก มีผู้สันนิษฐานว่า ชื่อนี้น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “สวรรคโลก”  ซึ่งเดิมเป็นชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๒๐ ให้เป็นเมืองสำคัญคู่กับกรุงสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นเมืองสวรรคโลก  ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย

ส่วนเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัย เรียกกันว่าเตาทุเรียง ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าชื่อนี้มาจากที่ใด หรือเพี้ยนมาจากคำใด


ในสมัยสุโขทัย การทำเครื่องปั้นดินเผามีความเจริญก้าวหน้ามาก นอกจากการผลิตแบบพื้นเมืองแล้ว ยังนำวิธีการผลิตแบบจีนเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาก พ่อค้าชาวจีนส่งเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า เครื่องถ้วยจีน เข้ามาจำหน่าย รวมทั้งช่างชาวจีนก็เดินทางเข้ามาเผยแพร่วิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดดี ที่มีเคลือบเป็นสีและลวดลายต่างๆ ให้ช่างปั้นของไทยได้พัฒนารูปแบบและวิธีการผลิตของตน ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการบางคนจึงเรียกเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัยว่า “เครื่องถ้วย” ด้วย  ตามที่ได้อธิบายมาแล้วเกี่ยวกับความหมายของเครื่องถ้วยในตอนต้นของเรื่อง

แหล่งผลิตสำคัญของเครื่องสังคโลกมีอยู่ทั้งที่เมืองศรีสัชนาลัยและกรุงสุโขทัย  จากการขุดค้นทางโบราณคดีว่ามีที่บ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อย ในตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย  ซึ่งอยู่ในเขตโบราณสถานศรีสัชนาลัยปัจจุบัน พบเตาทุเรียงรวมกันว่า ๑๔๐ เตา นับเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในสมัยสุโขทัย ส่วนที่โบราณสถานเมืองสุโขทัยเก่า ได้ขุดพบเตาทุเรียงมากกว่า ๔๐ เตา ที่บริเวณลำน้ำโจน ใกล้วัดพระพายหลวง



เตาเผาเครื่องสังคโลก ประเภทก่ออิฐ ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

เตาทุเรียงที่เมืองศรีสัชนาลัยผลิตเครื่องสังคโลกมีคุณภาพดีกว่าเตาที่เมืองเก่าสุโขทัย  โดยใช้ดินปั้นที่เป็นดินเนื้อละเอียด และเผาด้วยอุณหภูมิสูง ส่วนใหญ่เป็นชนิดเนื้อหิน ที่เป็นเนื้อกระเบื้องก็มีบ้าง ที่สำคัญคือ มีการเคลือบทั้งที่เป็นสีเดียว เช่น สีเขียวไข่กา สีขาว สีน้ำตาล และที่มีพื้นสีขาวเขียนด้วยลายบนเคลือบด้วยสีน้ำตาล หรือพื้นสีขาวเขียนลายใต้เคลือบด้วยสีเทาและสีดำ ตกแต่งลวดลายเป็นรูปนก ดอกไม้ ใบไม้ หอยสังข์ งานที่ผลิตมีทั้งที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวนาค ตัวมังกร เครื่องประดับอาคาร  ส่วนงานชิ้นเล็กๆ ได้แก่ โอ่ง ไห ตุ่ม หม้อ จาน ชาม ถ้วย พาน คนโท คนที ตุ๊กตารูปคนและรูปสัตว์

เตาทุเรียงที่เมืองเก่าสุโขทัย ส่วนใหญ่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาจากดินเนื้อหยาบ เมื่อเผาให้สุกก่อนนำไปเคลือบ เนื้อดินมีสีเทาหรือสีดำ ผิวค่อนข้างพรุน จึงต้องทาน้ำดินสีขาวรองพื้นก่อนนำไปเขียนลวดลายและเคลือบ งานที่ผลิตจากแหล่งนี้ที่พบมาก คือ จาน ชาม ถ้วย ครก คนโท ตุ้มถ่วงแห  ภาชนะประเภทจานและชามมักตกแต่งลวดลายเป็นรูปปลาตัวเดียว หรือรูปปลาคู่หันหัวคนละทางหรือว่ายตามกัน  นอกจากนี้มีลายดอกไม้ ใบไม้ และลายจักร

เครื่องสังคโลกที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์เด่นของเครื่องปั้นดินเผาสมัยสุโขทัย คือ เครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อหินเคลือบสีเขียวอ่อนที่เรียกว่า เขียวไข่กา น้ำยาที่เคลือบมีความหนาและมีลักษณะรานเป็นรอยร้าวทั่วไปบนผิวของภาชนะ  ภาษาอังกฤษเรียกเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ว่า เซดาดอน (celadon) ซึ่งมีคนไทยบางคนเรียกทับศัพท์ว่าศิลาดล เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้คล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยของจีนสมัยราชวงศ์สุ้งถึงตอนปลายราชวงศ์หยวน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐

เครื่องสังคโลกของสมัยสุโขทัยนอกจากจะใช้ในท้องถิ่น และส่วนต่างๆ ของประเทศไทยแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย เพราะได้รับความนิยมไม่แพ้เครื่องถ้วยของจีน  ได้พบเครื่องสังคโลกที่เกาะสุมาตรา เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว ในประเทศอินโดนีเซียที่เกาะสุมาตร เกาะชวา และเกาะบอร์เนียว ในประเทศอินโดนีเซีย เกาะเซบู  และเกาะมินดาเนา ในประเทศฟิลิปปินส์ ตลอดจนในประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น นับว่าเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย เป็นศิลปะเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อมากที่สุดของไทยสมัยโบราณ

หลังจากกรุงสุโขทัยตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาแล้ว การผลิตเครื่องสังโคโลกยังคงทำต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๑๒๗  เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชยกทัพไปตีเมืองสวรรคโลก  แล้วโปรดให้กวาดต้อนผู้คนมาไว้ที่เมืองพิษณุโลก การผลิตเครื่องสังคโลกจึงสิ้นสุดลง

นอกจากกรุงสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว การผลิตเครื่องปั้นดินเผาสมัยเดียวกันนี้ ยังมีปรากฏที่แคว้นล้านนาทางภาคเหนือของไทยด้วย โดยมีช่วงเวลาการผลิตอยู่ระหว่างตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เริ่มตั้งแต่เมื่อพญาเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการปกครองของแคว้นล้านนา ใน พ.ศ. ๑๘๓๙ จนถึงเมื่ออาณาจักรล้านนาตกอยู่ใต้การปกครองของพม่า ใน พ.ศ. ๒๑๐๑


เครื่องปั้นดินเผาล้านนามีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยมาก  ทั้งทางด้านวิธีการผลิตและรูปร่างของสิ่งประดิษฐ์ มีทั้งชนิดเป็นเนื้อดินหยาบและเนื้อดินละเอียด และมีการเคลือบเป็นสีต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นสีเขียวไข่กาเหมือนเครื่องปั้นดินเผาเซลาดอนของสุโขทัยและศรีสัชนาลัย  ลวดลายที่ตกแต่งมีทั้งที่เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ รูปสัตว์ และรูปขูดขีดเป็นลายเส้น ลายซี่หวี ภาชนะที่ผลิตได้แก่ จาน ชาม ถ้วย กระปุก คนโท ตุ้มถ่วงแห ตุ๊กตารูปคน และรูปสัตว์

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาล้านนามีพบอยู่หลายแห่งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และพะเยา ที่สำคัญ มี ๕ แห่ง คือ
๑. แหล่งเวียงกาหลง ในตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
๒. แหล่งสันกำแพง ในตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
๓. แหล่งอินทขิล ในตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
๔. แหล่งวังเหนือ ในตำบลวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
๕. แหล่งห้วยแม่ต๋ำ  ในตำบลแม่กา  อำเภอเมืองฯ  จังหวัดพะเยา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 10:09:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 27 มีนาคม 2556 15:49:35 »

.


ชามเบญจรงค์สมัยอยุธยาที่ไทยส่งแบบและลวดลายไปให้จีนทำ

สมัยอยุธยา

ถึงแม้ว่าสมัยอยุธยาจะมีระยะเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี นับตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ จนถึงเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๑๐  แต่ในด้านการผลิตเครื่องปั้นดินเผาไม่มีความโดดเด่นมากเท่ากับในสมัยสุโขทัย

จากการขุดค้นพบและการศึกษาแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาสมัยอยุธยา ๒ แห่ง ที่จังหวัดสิงห์บุรีและจังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาสมัยอยุธยาได้ดังนี้
• แหล่งแม่น้ำน้อย หรือ แหล่งวัดพระปรางค์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย บริเวณวัดพระปรางค์ ในตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พบเตาเผาหลายแห่ง จึงสันนิษฐานว่าคงจะมีการผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในท้องถิ่นและส่งไปขายในที่อื่นๆ ด้วย

เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งนี้ใช้ดินเนื้อละเอียด มีทั้งที่เผาด้วยอุณหภูมิปานกลาง และ อุณหภูมิสูง แต่ไม่มีการเคลือบ ลวดลายที่ตกแต่งบนผิวภาชนะมีทั้งลายขูดขีดคล้ายโครงใบไม้ ลายวงกลมปั้นแปะ และลายกดเป็นจุด  งานผลิตส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่เป็นเครื่องใช้ในบ้าน เช่น ครก อ่าง กระปุกทรงเตี้ยปากกว้าง กระปุกทรงสูงปากแคบ จาน ชาม คนที คนโท และภาชนะคล้ายแจกันมีหู ๒ หู และไหมีหู ๔ หู ลักษณะคล้ายไหของจีน



(บน) ชามลายน้ำทอง ลายนกไม้บนพื้นทอง ด้านในเคลือบสีเขียว
(ล่าง-ขวา) ชามฝาลายน้ำทอง "ลายวิชเยนทร์" และ ชามฝาลายน้ำทอง ลายนกไม้บนพื้นทอง


(บน-ล่าง) เครื่องถ้วยลายครามลักษณะเป็นพื้นขาว เขียนลายสีน้ำเงิน

• แหล่งบ้านปูน อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณ ในตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุพรรณบุรี เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งนี้ทำจากดินเนื้อละเอียด  มีทั้งที่เผาในอุณหภูมิปานกลางและอุณหภูมิสูงแต่ไม่มีการเคลือบ ตกแต่งลวดลายด้วยการกดประทับรูปต่างๆ ลงบนภาชนะก่อนนำไปไปเผา เช่น รูปนักรบถือหอกและโล่ รูปนักรบขี่ช้าง รูปการคล้องช้าง รูปการล่ากวาง รูปหงส์คาบก้านดอกไม้ รูปบุคคล  นอกจากลายกดประทับแล้ว มีการตกแต่งด้วยลายขูดขีดลึกลงไปบนผิวของภาชนะเป็นลายเชิง ลายอุบะ และลายเส้นอื่นๆ ภาชนะที่ผลิตมีรูปร่างต่างๆ  เช่นเดียวกับที่พบที่แหล่งแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี

สาเหตุที่การทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยอยุธยามีการพัฒนาน้อย น่าจะเป็นเพราะในช่วงเวลานั้นการทำเครื่องถ้วยของจีนได้รับความนิยมมาก และไทยไม่สามารถแข่งขันได้เหมือนอย่างในสมัยสุโขทัย ในขณะเดียวกันไทยก็นิยมซื้อสินค้าเครื่องถ้วยจากจีนมาใช้ภายในประเทศ หรือส่งแบบและลวดลายไปให้จีนทำให้อีกต่อหนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวนี้สืบเนื่องต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เครื่องถ้วยของจีนซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยาเรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์มี ๓ ชนิด คือ เครื่องถ้วยเบญจรงค์  เครื่องถ้วยลายน้ำทอง และ เครื่องถ้วยลายคราม




เครื่องถ้วยเบญจรงค์สั่งซื้อจากประเทศจีน
โดยไทยส่งแบบและลายไปให้ช่างจีนจัดทำตามแบบ

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ คำว่า “เบญจรงค์” แปลว่า ๕ สี (เบญจ = ห้า  รงค์ = สี)  เป็นเครื่องถ้วยชนิดเคลือบซึ่งมีลวดลายต่างๆ เป็นสีรวมกัน ๕ สี คือ สีแดง สีเหลือง สีขาว สีดำ สีเขียว หรือ สีน้ำเงิน  บางครั้งอาจมีสีเพิ่มขึ้นมากกว่า ๕ สี ก็ได้ เช่น สีชมพู สีม่วง สีแสด สีน้ำตาล แต่ก็ยังคงเรียกว่า “เครื่องถ้วยเบญจรงค์” เครื่องถ้วยเบญจรงค์นี้นิยมทำกันในประเทศจีน สมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย  โดยเฉพาะในรัชกาลพระเจ้าวันลี่ และสืบต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง  ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวตรงกับช่วงต้นและช่วงกลางของสมัยอยุธยา  ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระราเมศวรถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

เครื่องถ้วยลายน้ำทอง เป็นเครื่องถ้วยชนิดเคลือบที่มีการเขียนลวดลายสีทองลงบนพื้นภาชนะสีต่างๆ ลวดลายจึงเป็นสีทองเด่นขึ้นมา  เครื่องถ้วยลายน้ำทองนิยมทำกันในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในรัชกาลพระเจ้าคังซี (พ.ศ. ๒๒๐๕–๒๒๖๖) และพระเจ้าหย่งเจิ้น (พ.ศ.๒๒๖๖–๒๒๗๙) ซึ่งร่วมสมัยกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในตอนปลายของสมัยอยุธยา

เครื่องถ้วยลายคราม  เป็นเครื่องถ้วยชนิดเคลือบที่มีพื้นเป็นสีขาว เขียนลายสีน้ำเงินหรือสีคราม นิยมทำกันในสมัยราชวงศ์หมิง จนถึงราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในมณฑลเกียงซีหรือเจียงซี  ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ไทยเรียกชื่อเครื่องถ้วยที่ทำมาจากมณฑลนี้ว่า เครื่องถ้วยกังไส

การนำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยลายน้ำทอง และเครื่องถ้วยลายครามจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทย  ส่วนใหญ่ใช้ในราชสำนัก ในตอนแรกใช้วิธีซื้อจากพ่อค้าชาวจีนโดยตรง  ต่อมาได้จัดทำลายต่างๆ ที่เป็นศิลปะแบบไทยส่งไปให้ช่างจีนจัดทำตามแบบที่ส่งไปให้ จึงเกิดมีเครื่องถ้วย ที่มีลวดลายแบบไทย เช่น ลายกนก ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายเทพนม ลายกลีบบัวก้านต่อดอก เครื่องถ้วยที่ส่งไปทำนี้ส่วนใหญ่ทำเป็นถ้วย ชาม โถขนาดกลางมีฝาครอบ และโถปริกซึ่งเป็นโถใส่แป้งนวลมีฝาทำเป็นยอดสูง




(บน) แจกันกระเบื้อง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สั่งทำจากยุโรป
(ล่าง ซ้าย-ขวา) ชามเบญจรงค์สมัยรัตนโกสินทร์

สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์
สมัยธนบุรีมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง ๑๕ ปี ระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๒๕ ต่อจากนั้นก็เป็นสมัยรัตนโกสินทร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนถึงปัจจุบัน ยังคงกระทำเหมือนสมัยอยุธยา คือ มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเพื่อใช้ภายในครัวเรือนทั่วไป เช่น จาน ชาม หม้อ ไห ครก คนโท ตุ่มน้ำ โดยใช้กรรมวิธีในการผลิตที่ไม่สลับซับซ้อน ส่วนใหญ่มีทำกันในท้องถิ่นที่หาวัตถุดิบได้ง่าย โดยเฉพาะดินเหนียวสีดำ และมีช่างที่มีความชำนาญในการผลิตอยู่แล้ว ส่วนเครื่องถ้วยที่มีคุณภาพดี ได้แก่ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยลายน้ำทอง และเครื่องถ้วยลายครามนั้น ยังคงสั่งซื้อโดยตรงมาจากประเทศจีน หรือส่งไปให้ช่างจีนในประเทศจีนทำตามลวดลายที่ไทยออกแบบไปให้ หรืออาจส่งช่างไทยที่มีความชำนาญทางด้านศิลปะแบบไทยไปประเทศจีน เพื่อให้คำแนะนำและควบคุมดูแลช่างจีนให้ทำตามความประสงค์ของไทยก็ได้


นอกจากจะสั่งซื้อและสั่งทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่มีคุณภาพดีจากประเทศจีนแล้ว ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา  ซึ่งไทยมีการติดต่อค้าขายกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น สินค้าเครื่องปั้นดินเผาประเภทถ้วย จาน ชาม และเครื่องประดับตกแต่งอาคาร  ที่ผลิตในทวีปยุโรปเริ่มส่งเข้ามาขายในประเทศไทยและแพร่หลายไปในราชสำนัก บ้านขุนนางชั้นผู้ใหญ่และคหบดีที่มีฐานะดี  ภาชนะที่ซื้อเข้ามาใช้จากทวีปยุโรปนี้  จึงมีรูปร่างแตกต่างไปจากสินค้าของจีน เช่น จาน ชาม ชุดกาแฟ เหยือกน้ำ แจกัน ภาชนะใส่เหล้าผลไม้ ตุ๊กตา และเครื่องประดับบ้าน กระเบื้องติดผนังและกระเบื้องปูพื้น

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสประเทศในทวีปยุโรปหลายครั้ง ทรงรับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามาในราชสำนักมากขึ้น เช่น มีการนั่งโต๊ะอาหารแบบยุโรป ใช้มีด ช้อน ส้อม และจานชามแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มีพระราชพิธีเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากทวีปยุโรป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกเล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยมทั้งเครื่องถ้วยจีนและเครื่องถ้วยยุโรป ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งทำชุดชาเป็นเครื่องลายครามจากประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยออกแบบตกแต่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. เขียนเลียนแบบอักษรจีนประกอบเข้ากับลายที่มีความหมายเป็นมงคลของจีน เช่น ผลทับทิม ต้นสน ลูกท้อ นอกจากนี้ยังโปรดเล้าฯ ให้สั่งทำเครื่องถ้วยชุดชาจากประเทศฝรั่งเศส เขียนลายพระราชลัญจกรของราชวงศ์จักรี คือ จักรและตรี ไว้ที่ฝาและที่ก้นของถ้วยชา ประกอบด้วยลายดอกไม้ คื อดอกเดซี่ (daisy) เป็นสีต่างๆ รวม ๙ สี นับเป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำจากทีปยุโรปเป็นครั้งแรก



(บน) ชุดชาเครื่องลายครามซึ่งออกแบบเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร.เลียนแบบอักษรจีน
(ล่าง) เครื่องถ้วยชุดชาจักรี เขียนลายพระราชลัญจกรจักรและตรีที่ฝาและก้นถ้วยลายดอกเดซี่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะมีการสั่งทำเครื่องถ้วยจากประเทศจีนและประเทศฝรั่งเศสดังกล่าวแล้ว ได้มีการผลิตเครื่องถ้วยชนิดลายน้ำทองในประเทศไทยด้วย โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงตั้งเตาเผาขึ้นในพระราชวังของพระองค์ เรียกกันว่า “เตากรมพระราชวังบวร” ภาชนะที่ผลิตที่มีชื่อเสียง คือ กระโถน เขียนเป็นภาพรามเกียรติ์ ที่รู้จักกันว่า “กระโถนวังหน้า” นอกจากเตากรมพระราชวังบวรฯ แล้ว ขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง คือ พระยาสุนทรพิมล (เผล่  วสุวัต) ได้นำช่างจีนมาทำเครื่องถ้วยในเมืองไทยด้วย โดยตั้งเตาเผาไว้ในบริเวณบ้านของท่าน และสั่งถ้วยชามสีขาวมาจากประเทศจีนมาให้ช่างไทยเขียนลวดลายเป็นลายในวรรณคดี และลายไทยอื่นๆ เป็นสีต่างๆ เคลือบลงบนภาชนะ แต่การทำเครื่องถ้วยในรัชกาลที่ ๕ นี้ได้เลิกไปเมื่อเจ้าของเตาเผาทิวงคตและสิ้นชีวิตลงแล้ว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ตุลาคม 2558 12:23:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 02 พฤษภาคม 2556 13:05:07 »

.


การผลิตเครื่องปั้นดินเผาในโรงงานอุตสาหกรรม สะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องอาศัยช่างฝีมือ

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของไทยในปัจจุบัน
ในปัจจุบันการผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดที่ทำกันเป็นเครื่องหัตถกรรม ผลิตในหมู่บ้านหรือในท้องถิ่นยังคงมีอยู่บ้าง แต่น้อยลงไปมาก เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้มีการใช้ภาชนะทำด้วยวัสดุต่างๆ แทนเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อหุงข้าวและหม้อหุงต้มอาหาร ปัจจุบันแทบไม่มีการใช้หม้อดิน แต่ใช้หม้อที่ทำจากเหล็กไม่เป็นสนิมหรือทำจากอะลูมิเนียมแทน เตาเผาใช้ถ่านไม้หรือฟืนเป็นเชื้อเพลิง ชนิดเตาอั้งโล่และเตาเชิงกราน ซึ่งทำจากดินเผาก็มีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนใหญ่ใช้เตาแก๊สที่ทำจากโลหะ กระเบื้องมุงหลังคาก็ไม่นิยมใช้กระเบื้องที่ทำจากดินเผา เพราะมีราคาแพงและมีน้ำหนักมาก ต้องสร้างโครงหลังคาที่แข็งแรงมากจึงจะรับน้ำหนักได้ คนส่วนใหญ่จึงใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากแผ่นปูนซีเมนต์ หรือวัสดุมุงหลังคาที่ทำจากแผ่นเหล็กบางๆ เคลือบด้วยสังกะสี ที่เรียกว่า แผ่นสังกะสี

ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาที่ยังคงมีใช้กันมากในปัจจุบัน ที่สำคัญได้แก่ เครื่องถ้วยชาม เช่น จาน ชาม ถ้วย ช้อน ทำด้วยกระเบื้องสีขาว หรือเป็นสีและลวดลายต่างๆ เครื่องสุขภัณฑ์ เช่น อ่างล้างหน้า โถส้วม โถปัสสาวะ ที่วางสบู่และเครื่องสำอาง ที่ใส่ม้วนกระดาษชำระ กระเบื้องปูพื้นและติดผนังทำเป็นสีและลวดลายต่างๆ กระเบื้องมุงหลังคา ทำด้วยดินเผา เนื้อแกร่งและเคลือบสีแดง เขียว หรือน้ำเงิน มีการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก จึงทำด้วยเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เครื่องหัตถกรรมที่ทำด้วยมือในระดับชาวบ้าน



เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นใช้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ทำด้วยเครื่องจักรไม่ใช่เป็นงานหัตถกรรม


(ซ้าย คนโทดินเผาใช้ใส่น้ำดื่ม  (ขวา) ผลิตภัณฑ์ดินเผาชนิดเคลือบ

ประเภทของเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในปัจจุบัน
กล่าวโดยรวม ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาทั้งที่เป็นเครื่องหัตถกรรมและผลิตโดยเครื่องจักร แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามชนิดของเนื้อดินที่เผาแล้ว และวัตถุประสงค์ในการนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้

ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อดิน ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ใช้ไฟเผาที่มีความร้อนไม่สูงมาก และไม่เคลือบ เนื้อดินมีสีแดงเปราะแตกหักได้ง่าย ที่ยังคงมีใช้ประโยชน์อยู่บ้าง ได้แก่ เตาถ่านแบบจีน ที่เรียกว่า เตาอั้งโล่ เตาขนมครก คนโทใส่น้ำเพื่อให้น้ำระเหยออกได้และมีความเย็น อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง และกระถางขนาดเล็กใช้ปลูกหรือเพาะพันธุ์ต้นไม้

ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อหิน ใช้ไฟเผาที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูง เนื้อดินจึงแข็งแกร่งทนทาน มีทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ภาชนะที่ยังคงใช้กันมาก ได้แก่ ครกตำส้มตำ โอ่งน้ำ อ่างเลี้ยงปลา อ่างปลูกบัว ไหใส่ปลาร้าและใส่ผักดอง

ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อกระเบื้อง ใช้ไฟเผาที่มีอุณหภูมิสูงมาก เนื้อดินจึงแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่มีการเคลือบเป็นสีและลวดลายต่างๆ ภาชนะที่พบมาก ได้แก่ ภาชนะที่ใช้รับประทานอาหาร เช่น ชาม จาน ถ้วย ช้อน วัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์  เช่น กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องติดฝาผนัง กระเบื้องมุงหลังคาชนิดเคลือบ โถส้วม โถปัสสาวะ เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่น โถกลมมีฝาปิด แจกัน ตุ๊กตา รูปปั้น กระถางบัว และกระถางไม้ดอกชนิดเคลือบ โคมไฟตั้งพื้น



ดินขาวเคโอลิน  แร่ฟันม้า  และแร่เขี้ยวหนุมาน

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ในปัจจุบันมีหลายอย่างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  เพื่อให้มีคุณภาพตามความต้องการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ หากเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่ต้องการคุณภาพสูง เพื่อให้มีราคาถูก ก็ใช้ดินเหนียวธรรมดา ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า เคลย์ (clay) มีอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยอาจผสมทรายลงไปบ้างเล็กน้อยก็ได้ เครื่องปั้นดินเผาที่ใช้วัตถุดิบชนิดนี้ เหมาะสำหรับการนำมาทำหม้อปั้นเนื้อดินและทำอิฐ

ในกรณีที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพสูงขึ้น จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบต่างๆ ผสมลงไปในเนื้อดิน หรือจะใช้เป็นเนื้อดินล้วนๆ ก็ได้  วัตถุดิบที่นำมาใช้ที่สำคัญ ได้แก่ ดินขาวเคโอลิน  ดินบอลล์เคลย์ ดินทนไฟ แร่ฟันม้า แร่เขี้ยวหนุมาน ทัลก์ ปูนขาว เถ้ากระดูก

ดินขาวเคโอลิน (kaolin) คำว่า “เคโอลิน” เป็นคำภาษาอังกฤษ ซึ่งเพี้ยนมาจากชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศจีนที่มีดินชนิดนี้  ในสมัยก่อนคนไทยเรียกชื่อว่า ดินเกาเหลียง ในภาษาอังกฤษยังเรียกดินชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า ไชน่าเคลย์ (china clay) ซึ่งหมายถึงดินที่ใช้ทำเครื่องถ้วยของจีน  ดินขาวเคโอลินเป็นดินสีขาว เนื้อดินละเอียด เกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิต ทนความร้อนได้สูง เหมาะสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง ประเทศไทยมีแหล่งดินขาวโคโอลินใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ที่จังหวัดลำปาง ส่งผลให้ในปัจจุบันมีโรงงานทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดเนื้อกระเบื้องเคลือบอยู่ที่จังหวัดนี้เป็นจำนวนมาก

ดินบอลล์เคลย์ (ball clay) เป็นดินเนื้อละเอียด สีเทาอ่อนจนถึงสีเข้มเกือบดำ แต่เมื่อเผาแล้วมีสีขาวหรือสีเหลืองนวล ใช้แทนดินขาวเคโอลินได้

ดินทนไฟ (fire clay) เป็นดินที่ทนความร้อนได้สูงมาก เหมาะสำหรับการผลิตอิฐทนไฟที่ใช้บุเตาถลุงแร่

แร่ฟันม้า เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า เฟลด์สปาร์ (feldspar) เกิดจากการสลายตัวของหินแกรนิต ไทยเรียกว่า “แร่ฟันม้า” เพราะมีสีขาวด้านๆ คล้ายสีของฟันม้า ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำเคลือบให้มีความเงางาม

แร่เขี้ยวหนุมาน เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ควอตซ์ (quartz) เป็นผลึกของธาตุซิลิคอน (silicon) มีสีขาวขุ่นหรือใส เป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว ชมพู ม่วง  ใช้ผสมในเนื้อดินเพื่อให้ทนไฟได้สูง และเนื้อดินที่เผาแล้วมีลักษณะโปร่งแสง

ทัลก์ (talc) เป็นแร่ชนิดหนึ่ง เนื้อคล้ายเทียนไข ลื่นเหมือนสบู่ อ่อนจนขูดขีดเป็นรอยได้ง่าย ใช้ผสมในเนื้อดิน เพื่อให้เนื้อดินที่เผาแล้วมีความแข็งแกร่งมาก และทนความร้อนได้สูง เหมาะสำหรับการทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น ลูกถ้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายถ้วยกลมๆ ใช้ยึดสายไฟฟ้าแรงสูงบนเสาไฟฟ้า รวมทั้งการทำกระเบื้องเคลือบปูพื้นและปูผนัง

ปูนขาว เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ไลม์ (lime) ได้จากการนำหินปูนมาเผาและบดเป็นผง ใช้ผสมในเนื้อดินเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง หรือนำไปผสมน้ำเคลือบ  เพื่อให้ใช้ไฟลดต่ำลงในการเคลือบ และน้ำเคลือบมีความคงทนต่อกรด สามารถทนทานต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น

เถ้ากระดูก เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า โบนแอช (bone ash) ได้จากการเผากระดูกสัตว์จนป่นเป็นผงหยาบๆ ใช้ผสมกับเนื้อดินเป็นตัวช่วยในการหลอมละลาย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความบางและโปร่งแสง เครื่องถ้วยของจีนชนิดหนึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า โบนไชน่า (bone china) ซึ่งนักวิชาการบางคนบัญญัติศัพท์ว่า เครื่องกระเบื้องกระดูก จัดเป็นเครื่องถ้วยคุณภาพดีเช่นเดียวกับเครื่องถ้วยเปลือกไข่ที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น



(บน) การนวดดินและรีดด้วยเครื่องนวดเพื่อให้มีความชื้นที่พอเหมาะ
(ล่าง) ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นรูปแบบอิสระตามจินตนาการของผู้ปั้น

ขั้นตอนในการผลิต
การผลิตเครื่องดินเผา ก่อนที่จะนำไปเผาและเคลือบ มีขั้นตอนที่สำคัญรวม ๓ ขั้นตอน คือ การเตรียมวัตถุดิบ การปั้นขึ้นรูป และการตกแต่งลวดลาย

การเตรียมวัตถุดิบ เป็นขั้นตอนแรกสุดโดยจะต้องนำวัตถุดิบมาผ่านกรรมวิธี เพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ เริ่มตั้งแต่การบดหรือการตำดินและหินให้ผงละเอียด แล้วนำไปล้างสิ่งเจือปนที่ไม่ต้องการออก จากนั้นก็ผสมดินทรายหรือแร่ต่างๆ ลงไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ แล้วนำดินไปหมักไว้เพื่อให้เกิดความเหนียว เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงนำมากรองเพื่อให้ได้เนื้อดินที่ละเอียด จากนั้นนำไปรีดน้ำออก แล้วจึงนวดดิน เพื่อให้เนื้อดินผสมเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด รวมทั้งเป็นการไล่ฟองอากาศและให้มีความชื้นในเนื้อดินพอเหมาะ เพื่อนำไปปั้นขึ้นรูปต่อไป

การปั้นขึ้นรูป เป็นการนำวัตถุดิบที่เตรียมไว้แล้วมาปั้นเป็นภาชนะหรือผลิตภัณฑ์ตามรูปร่างลักษณะที่ต้องการ หากเป็นสินค้าประเภทหัตถกรรม การปั้นขึ้นรูปมักทำด้วยมือ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของผู้ปั้นเป็นอย่างมาก แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการความสะดวกรวดเร็วในการผลิตและไม่ต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือดี การปั้นขึ้นรูปกระทำโดยใส่วัตถุดิบที่เตรียมไว้ลงไปในแม่พิมพ์ ซึ่งจะกดดินให้อัดแน่นเป็นรูปร่างต่างๆ อย่างเป็นมาตรฐานไม่ว่าจะผลิตมากน้อยเท่าใดก็ตาม วิธีการเช่นนี้จึงทำได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้มาก



(บน ซ้าย-ขวา) การขึ้นรูปแบบวิธีขด และ การขึ้นรูปแบบใช้แป้นหมุน
(ล่าง ซ้าย-ขวา) การขึ้นรูปแบบใช้แม่พิมพ์ และ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีรูปร่างและขนาดเท่ากัน

การขึ้นรูปมีวิธีการต่างๆ สุดแล้วแต่เป็นงานหัตถกรรมหรืองานอุตสาหกรรม ดังนี้
๑.การขึ้นรูปแบบอิสระ เป็นการขึ้นรูปโดยการปั้นด้วยมือ ตามจินตนาการของผู้ปั้น อาจใช้เครื่องมืออย่างง่ายๆ เพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น วิธีนี้ใช้กับการปั้นตุ๊กตารูปคนหรือรูปสัตว์ การปั้นภาพนูนต่ำแสดงเหตุการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ ซึ่งล้วนมีลักษณะเฉพาะในงานแต่ละชิ้น

๒.การขึ้นรูปแบบวิธีขด เป็นการขึ้นรูปโดยนำดินมาปั้นให้เป็นเส้นคล้ายเส้นเชือก แล้วนำมาขดขึ้นรูป ในการเชื่อมรอยต่อของเส้นดินอาจทำโดยใช้หัวแม่มือกดให้เนื้อดินของแต่ละเส้นติดกันเป็นเนื้อเดียว หรืออาจใช้น้ำดินมาเชื่อมตรงรอยต่อก็ได้ จากนั้นใช้ไม้ตีแต่งให้เนื้อดินเรียบเสมอกัน

๓.การขึ้นรูปแบบใช้แป้นหมุน เป็นการขึ้นรูปโดยใช้แป้นหมุนให้ดินที่ต้องการขึ้นรูปหมุนไปรอบๆ โดยผู้ปั้นนั่งอยู่กับที่ และใช้มือทำให้ดินขึ้นตามรูปร่างที่ต้องการ  วิธีนี้ใช้มากกับการปั้นขึ้นรูปภาชนะที่มีจำนวนไม่มาก อาจใช้แป้นหมุนชนิดเท้าถีบ แต่ถ้าเป็นการผลิตจำนวนมากมักใช้แป้นหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

๔.การขึ้นรูปแบบใช้แม่พิมพ์  เป็นการขึ้นรูปที่มักใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถผลิตได้รวดเร็ว ประหยัดแรงงานคน และผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะรูปร่างและขนาดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น จาม ชาม ถ้วย เครื่องสุขภัณฑ์ อิฐ กระเบื้องปูพื้นและปูผนัง  วิธีทำคือ นำดินที่เตรียมไว้อัดใส่ให้แน่นในแม่พิมพ์ซึ่งทำด้วยไม้ ปูนพลาสเตอร์หรือโลหะ จากนั้นเครื่องจักรจะกดอัดดินขึ้นรูป  แล้วจึงนำไปผึ่งให้แห้งในแม่พิมพ์ เมื่อดินหมาดดีแล้วจึงแกะออกจากแม่พิมพ์  นำผลิตภัณฑ์ไปตกแต่งแนวตะเข็บหรือส่วนเกินให้เรียบร้อย นำไปผึ่งหรือตากแดดให้แห้งสนิทและเก็บรายละเอียดอีกครั้ง โดยใช้ฟองน้ำชุบน้ำพอหมาดๆ เช็ดก่อนนำเข้าเผาในเตาเผาด้วยอุณหภูมิ ๗๕๐-๗๘๐ องศาเซลเซียส ประมาณ ๕-๖ ชั่วโมง จึงนำออกมาผึ่งให้เย็น หากต้องการทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “เครื่องขาว” หรือ “เครื่องกระเบื้องขาว” (whiteware)  สำหรับการนำไปเขียนตกแต่งลวดลาย เช่น ทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยลายน้ำทอง หรือถ้วย ชาม และเครื่องใช้ประเภทเซรามิกต่างๆ จะต้องนำไปเคลือบน้ำเคลือบก่อน แล้วจึงนำไปอบอีกครั้งหนึ่ง




การทำชามไก่ ที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.ลำปาง และของที่ระลึกต่างๆ

การตกแต่งลวดลาย เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยการทำให้ผลิตภัณฑ์มีความงดงามในเชิงศิลปะมากขึ้น แทนที่จะเป็นเนื้อดินสีเดียวและมีผิวเรียบๆ การตกแต่งลวดลายมีวิธีการต่างๆ สุดแล้วแต่จะเลือกใช้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความงดงามตามลักษณะที่ต้องการได้แก่
๑.การขูดขีด ทำโดยใช้เครื่องมือที่มีคม ขูดขีดลวดลายลงบนผิวในขณะที่เนื้อดินยังหมาดอยู่ ลวดลายอาจเป็นลายเส้นหรือลายภาพก็ได้ เช่น เครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ด
๒.การเขียนสี ทำโดยการใช้สีเขียนเป็นลวดลาย หรือรูปต่างๆ ลงบนเนื้อดิน หากเป็นการเขียนสีก่อนนำผลิตภัณฑ์ไปเคลือบน้ำเคลือบ เรียกว่า การเขียนสีใต้เคลือบ เช่น ผลิตภัณฑ์พวกเครื่องลายครามหรือภาชนะเครื่องใช้ทั่วๆ ไป เช่น แจกัน ชาม จาน แต่ถ้าเป็นการเขียนสีหลังการเคลือบแล้ว เรียกว่า การเขียนสีบนเคลือบ เช่น พวกเครื่องถ้วยเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยลายน้ำทอง
๓.การปั้นลายนูน ทำโดยการปั้นลายหรือรูปต่างๆ ติดแปะลงบนเนื้อดินก่อนนำไปเผา ทำให้เกิดเป็นลายนูนขึ้นมาที่ผิวของเนื้อดิน ในทางศิลปะเรียกลายที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยเช่นนี้ว่า “ภาพลายนูนต่ำ” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า บารีลีฟ หรือ แบสรีลีฟ (bas-relief) เหมือนดังที่พบบนแผ่นภาพทำด้วยดินเผา หรือแผ่นภาพบนศิลาจารึกตามโบราณสถานหลายแห่ง
๔.การกดประทับ ทำโดยการแกะลวดลายลงบนแม่พิมพ์ แล้วกดประทับลงบนผิวของดินปั้นขณะที่ยังหมาดอยู่  ก่อนนำไปเผาลายที่กดประทับอาจเป็นลายเส้นหรือลายภาพตามที่ต้องการ วิธีกดประทับนี้สามารถทำได้รวดเร็วกว่าการขูดขีด และลายจะมีลักษณะเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกชิ้น
๕.การพ่นสี ทำโดยการเจาะลวดลายที่ต้องการลงบนกระดาษ แล้วนำไปทาบบนผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงพ่นสีตามสีที่ต้องการ การพ่นอาจทำทับซ้อนกันได้หลายครั้ง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีสีต่างๆ ในชิ้นเดียวกัน
๖.การใช้ลายสำเร็จรูป ทำโดยใช้ลวดลายหรือรูปที่พิมพ์ไว้บนรูปลอกสำหรับตกแต่งเครื่องปั้นโดยเฉพาะ นำมาลอกติดบนผลิตภัณฑ์ตามตำแหน่งที่ต้องการ มีทั้งชนิดที่ติดลายบนผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปเผา และชนิดที่ติดลายหลังจากเผาแล้ว




การเผาในขั้นตอนสุดท้ายต้องใช้อุณหภูมิสูงมาก
เพื่อให้สีที่ตกแต่งแห้งติดแน่นกับเนื้อดิน และทำให้เนื้อดินแกร่งขึ้น

การเผาในขั้นตอนสุดท้าย  หลังจากขั้นตกแต่งลวดลายหรือชุบน้ำเคลือบแล้ว จะต้องนำผลิตภัณฑ์ไปเผาอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อุณหภูมิ ๑,๒๘๐ องศาเซลเซียส นาน ๑๐-๑๒ ชั่วโมง  จึงปิดเตาและปล่อยให้อุณหภูมิค่อยๆ ลดลงจนถึง ๕๐๐ องศาเซลเซียส แล้วแย้มประตูเตาเผา รอจนอุณหภูมิลดลงเหลือ ๑๕๐ องศาเซลเซียส จึงนำออกจากเตาเผาได้

ขั้นตรวจสอบคุณภาพ  เป็นขั้นตอนท้ายสุดก่อนออกจำหน่าย โดยต้องนำผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมาตรวจสอบความสมบูรณ์และคัดแยกคุณภาพ



เครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ด
มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับที่ใด

แหล่งผลิตที่ขึ้นชื่อในปัจจุบัน
เนื่องจากในปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นโลหะชนิดต่างๆ มากขึ้น เช่น เหล็กกล้าไม่เป็นสนิม ทองสัมฤทธิ์ (สำริด) ทองเหลือง อะลูมิเนียม การใช้เครื่องปั้นดินเผาจึงมีน้อยลง ส่วนใหญ่การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากและเป็นมาตรฐาน ส่วนการผลิตที่เป็นเครื่องหัตถกรรมใช้แรงงานที่มีฝีมือ มีเฉพาะในบางท้องถิ่น และมักใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านและศาสนสถาน เพื่อความสวยงามมากกว่าการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบันมีหลายแห่ง จะขอนำมากล่าวเฉพาะที่ขึ้นชื่อมีเอกลักษณ์ของตนเองเพียง ๕ แห่ง คือ แหล่งผลิตที่จังหวัดลำปาง แหล่งผลิตที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แหล่งผลิตที่บ้านด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา แหล่งผลิตที่จังหวัดราชบุรี และแหล่งผลิตที่จังหวัดสมุทรสาคร

แหล่งผลิตที่จังหวัดลำปาง จากร่องรอยการขุดค้นทางโบราณคดีได้พบว่า ในอดีตจังหวัดลำปางมีชุมชนโบราณที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม โดยพบเตาเผาโบราณหลายแห่ง เช่น กลุ่มเตาเผาอำเภอวังเหนือ กลุ่มเตาเผาอำเภอเมืองฯ กลุ่มเตาเผาอำเภอเสริมงาม  ปัจจุบันลำปางยังคงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิกที่สำคัญในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน  โดยมีโรงงานทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนมากกว่า ๒๐๐  แห่ง  ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของจังหวัดลำปางใช้ดินขาวเป็นวัตถุดิบ  ทั้งนี้ เนื่องจากลำปางเป็นแหล่งดินขาวที่มีปริมาณมากที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย  ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นภาชนะเครื่องใช้ เช่น จาม ชาม ชุดน้ำชากาแฟ ของตกแต่งบ้าน และของที่ระลึกต่างๆ เช่น ตุ๊กตารูปสัตว์  รวมทั้งการผลิตของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์ของประเทศที่สั่งทำ ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ





แหล่งผลิตที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นการผลิตเครื่องปั้นดินเผาของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีภูมิลำเนากระจายอยู่ในภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลางมีอยู่มากในเขตจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ


การแกะสลักลวดลายเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
ที่มีความละเอียดสวยงาม

ชาวมอญมีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น การทำอิฐ ครก โอ่ง ตุ่ม ไห  เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ตั้งเตาเผาทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย จนมีชื่อเป็นที่รู้จักกันติดปาก เช่น อิฐมอญตุ่มสามโคก  ปัจจุบัน การทำเครื่องปั้นดินเผาของผู้ที่สืบเชื้อสายมากจากชาวมอญยังคงมีแหล่งสำคัญอยู่ที่เกาะเกร็ด  ซึ่งเป็นเกาะเกิดจากการขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยอยุธยา  ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ พ.ศ.๒๒๖๕  ปัจจุบันเกาะเกร็ดเป็นชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี


ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด
ที่มีการพัฒนาฝีมือและรูปแบบ

ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ดเป็นหัตถกรรมที่สืบทอดกันมานานกว่า ๒๐๐ ปี  มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับที่ใด ปกติจะมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง เพราะใช้วัตถุดิบที่เป็นดินท้องนา มีการแกะสลักลวดลายที่ละเอียดงดงาม แต่หลังจากที่มีการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐  เพื่อฟื้นฟูการทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ด  ซึ่งต้องหยุดชะงักไปเพราะเกิดน้ำท่วมหนัก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘  ให้กลับเฟื่องฟูขึ้นใหม่ จึงได้มีการพัฒนาด้านฝีมือ คุณภาพ และรูปแบบให้ทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น จนมีผลิตภัณฑ์ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ ๔ ดาว  ปัจจุบันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นสีดำมันและมีความแข็งแกร่ง ส่งคัดสรรในกลุ่มหัตถกรรมได้เป็นสินค้า OTOP ระดับ ๕ ดาว  ซึ่งมีทั้งประเภทของใช้ เช่น โคมไฟ กระปุกใส่เครื่องหอม ขันน้ำพานรอง คนโทใส่น้ำ แจกัน ถ้วยกาแฟ ประเภทประดับตกแต่ง เช่น หม้อน้ำ โอ่งน้ำ

ที่เกาะเกร็ดมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่บนเกาะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นภาชนะขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำติดตัวไปได้สะดวก เช่น โถ แจกัน กระถางขนาดเล็ก ถ้วยกาแฟ เตาน้ำมันหอม  เกาะเกร็ดเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ยังคงใช้ฝีมือในการผลิตและมีการออกแบบที่น่าสนใจ โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์มีรูปแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีสีซึ่งเกิดตามธรรมชาติและไม่มีการเคลือบ

บ้านด่านเกวียนตั้งอยู่ที่ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ขึ้นชื่อมากของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน  มีเตาเผาตั้งกระจายอยู่หลายแห่งในบริเวณหมู่บ้าน และมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก  เครื่องปั้นดินเผาที่บ้านด่านเกวียนมีทั้งเนื้อดินและเนื้อหิน ทั้งที่เคลือบและไม่เคลือบ แต่ที่คนนิยมมากคือ ชนิดไม่เคลือบ เห็นเนื้อดินเป็นสีแดงหรือสีค่อนข้างดำ เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน คือ เนื้อดินเป็นเงางามแม้จะไม่เคลือบ เวลาเคาะมีเสียงดังกังวาน  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากดินที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปั้น เป็นดินที่มีธาตุเหล็กปนมาก เมื่อนำไปเผาธาตุเหล็กละลายปนอยู่ในเนื้อดิน ทำให้เกิดความแข็งแกร่งและเป็นมันเงางาม

ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านด่านเกวียน  มักทำเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ผู้ซื้อนำติดตัวไปได้สะดวก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ด  ผลิตภัณฑ์ที่นิยมกันมาก ได้แก่ แจกัน กระถางต้นไม้ ชนิดตั้งพื้นและชนิดแขวนซึ่งมักทำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ประกอบที่ภาชนะ เช่น ไก่ นกฮูก ปลา สุนัข แมว นอกจากนี้ก็มีโอ่ง อ่าง แผ่นภาพลายนูนต่ำที่ใช้ประดับฝาผนังอาคาร ตุ๊กตารูปคนและรูปสัตว์ การทำเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านด่านเกวียน แม้จะเป็นหัตถกรรม แต่ก็มีการออกแบบที่ทันสมัย และมีฝีมือในการปั้นที่งดงาม คนมักนิยมซื้อนำไปเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะในบริเวณสวนและสนามหญ้าของบ้าน




(บน) การเขียนสีเป็นการตกแต่งผลิตภัณฑ์ให้มีความงดงามมากขึ้น
(กลาง) เครื่องปั้นดินเผาที่ตกแต่งลวดลายแบบปั้นลายนูน
(ล่าง) การตกแต่งลวดลายโดยการพ่นพี และการใช้ลายสำเร็จรูป

แหล่งผลิตโอ่งมังกรที่จังหวัดราชบุรี มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด คือ “โอ่งมังกร” โดยผลิตเป็นภาชนะรูปโอ่ง มีลวดลายเขียนเป็นตัวมังกรจีนพันโดยรอบ เนื้อดินเผาด้วยอุณหภูมิสูง ทำให้แข็งแกร่งเป็นเนื้อหิน และมีการเคลือบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแก่ ในปัจจุบันนอกจากการทำภาชนะเป็นโอ่งแล้ว ยังทำเป็นอ่างและกระถางขนาดต่างๆ เพื่อใช้ปลูกไม้ดอก ปลูกบัว หรือเลี้ยงปลาสวยงาม

การทำโอ่งมังกรในจังหวัดราชบุรีเริ่มขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๖ โดยมีช่างจีนที่ชำนาญการทำเครื่องเคลือบ ตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตภาชนะใส่อาหารประเภทเครื่องดองของเค็ม เป็นรูปกระปุก อ่างและโอ่ง ครั้นต่อมาเมื่อกิจการเจริญขึ้น ก็มีผู้ตั้งโรงงานผลิตเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ  ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ มีโรงงานผลิตมากกว่า ๔๐ แห่งในจังหวัดนี้  ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อยังคงเป็นภาชนะประเภทโอ่ง อ่าง และกระถาง  ซึ่งเรียกชื่อกันติดปากกว่า “โอ่งมังกร”  นอกนั้นเป็นภาชนะอย่างอื่นๆ ที่ใช้กันเป็นประจำในครัวเรือน เช่น ถ้วย จาน ชาม ช้อน โถ อ่าง รวมทั้งเครื่องสุขภัณฑ์ วัสดุก่อสร้างและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน



๑.โอ่งราชบุรี  ๒.การขึ้นรูปโอ่งของ จ.ราชบุรี ใช้วิธีต่อขึ้นไปทีละชั้น
๓.ช่างเขียนลายตัวมังกรจีนพันรอบโอ่ง


แหล่งผลิตเครื่องถ้วยที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ เครื่องลายน้ำทอง ที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ รวมทั้งมีการทำเครื่องถ้วยลายครามด้วย การทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผามีการผลิตตามรูปแบบที่ผู้ผลิตเครื่องเบญจรงค์สั่งทำ เพื่อไปเขียนลวดลายเป็นเครื่องเบญจรงค์ลายน้ำทอง แหล่งผลิตเครื่องเบญจรงค์ที่สำคัญ คือ ที่ตำบลดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน  สาเหตุที่มีการทำเครื่องเบญจรงค์ที่นี่มาก เนื่องมาจากโรงงานเสถียรภาพ (เรียกอีกชื่อว่า โรงชามไก่)  ซึ่งผลิตถ้วยชามลายไก่ และมีแผนกทำเครื่องเบญจรงค์โดยใช้ช่างชาวจีน และมีครูจากมหาวิทยาลัยศิลปากรหนึ่งคนมาฝึกสอนให้แก่คนงาน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ปิดกิจการลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕  คนงานประมาณ ๘๐ คน ที่เคยมีประสบการณ์การทำเครื่องเบญจรงค์จึงมาทำกิจการของตนเอง ในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัว  ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มทำเครื่องเบญจรงค์ขึ้น เรียกว่า “หมู่บ้านเบญจรงค์”  ผลิตเครื่องเบญจรงค์ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น เช่น ถ้วย โถ ชาม ชุดอาหาร ชุดกาแฟ แจกัน โคมไฟ  โดยใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาสำเร็จซึ่งสั่งทำตามรูปแบบที่ต้องการจากโรงงานที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม แล้วนำมาเขียนลวดลายที่เป็นรูปแบบเฉพาะของผู้ผลิตแต่ละแห่ง

ปัจจุบันเฉพาะที่อำเภอกระทุ่มแบนมีโรงงานทำเครื่องเบญจรงค์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กกว่าร้อยแห่ง  โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศ ไม่ได้ส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศ

นอกจากการทำเครื่องเบญจรงค์ที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังมีโรงงานผลิตเครื่องเบญจรงค์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอีกแห่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึง  ตั้งอยู่ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คือ “ปิ่นสุวรณ เบญจรงค์”  ซึ่งนายวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ได้ก่อตั้งขึ้น และเริ่มมีผลงานการทำเครื่องเบญจรงค์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๙ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ใน พ.ศ.๒๕๔๖  รัฐบาลได้มอบหมายให้เป็นผู้จัดทำชุดอาหาร “ลายวิชเยนทร์” เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้นำประเทศที่มาประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ๒๑ ประเทศ




เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนใช้ดินที่มีธาตุเหล็กปนมาก ทำให้มีผิวดำมันและแกร่ง


ผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์และเครื่องลายน้ำทองรูปแบบต่างๆ ที่หมู่บ้านเบญจรงค์


ชุดอาหารเบญจรงค์ลายวิชเยนทร์  
ซึ่งรัฐบาลไทยจัดทำเพื่อมอบเป็นที่ระลึก
แก่ผู้นำประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจฯ ๒๑ ประเทศ



เรื่องและภาพ เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย
คัดและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยฯ เล่มที่ ๑๑
โดยได้รับอนุญาตจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์  พงศะบุตร
กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ให้คัดลอกและสแกนรูปภาพ เพื่อเผยแพร่เป็นวิทยาทาน แก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้  
ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค. ๕๖  ในนาม www.sookjai.com
จึงขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ค่ะ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 มกราคม 2561 16:03:08 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ประเภท ของ นมเปรี้ยว (โยเกิร์ต)
สุขใจ อนามัย
หมีงงในพงหญ้า 0 2678 กระทู้ล่าสุด 25 กรกฎาคม 2553 12:46:39
โดย หมีงงในพงหญ้า
น้ำ ๔ ประเภท
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
Kimleng 0 1886 กระทู้ล่าสุด 26 สิงหาคม 2555 12:36:20
โดย Kimleng
ทศจิต การภาวนาถึงพระพุทธองค์ด้วยจิต 10 ประเภท จาก.. รัตนกูฏสูตร
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 0 1785 กระทู้ล่าสุด 23 กันยายน 2555 17:59:42
โดย เงาฝัน
ศิษย์พระป่า ๖ ประเภท - หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป
ธรรมะจากพระอาจารย์
Compatable 0 1529 กระทู้ล่าสุด 15 มิถุนายน 2559 15:17:11
โดย Compatable
[ข่าวด่วน] - กฟน.เร่งแก้ไขเหตุไฟฟ้าขัดข้องแยกพัฒนาการถึงเยื้อง ซ.พัฒนาการ 20 (สวนหลวง)
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 229 กระทู้ล่าสุด 06 พฤษภาคม 2565 02:12:20
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.454 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มีนาคม 2567 20:37:09