[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 14:11:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  (อ่าน 46869 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2553 10:12:10 »





พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  
(๑๔ ปริเฉท)



โดย.. เสถียร โพธินันทะ
พระสูตรวิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท)

ขอขอบคุณ คุณพี่พีช ซึ่งเป็นผู้ที่พิมพ์พระสูตรนี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อผิดผลาดใดที่เกิดขึ้นต้องของอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย..

                                    พระสูตรนี้มี ๑๔ ปริเฉทดังนี้คือ...


ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค
ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค
ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค
ปริเฉทที่ ๔ โพธิสัตววรรค
ปริเฉทที่ ๕ คิลานปุจฉาวรรค

ปริเฉทที่ ๖ อจินไตยวรรค
ปริเฉทที่ ๗ สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๘ พุทธภูมิวรรค
ปริเฉทที่ ๙ อไทฺวตธรรมทวาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๐ สุคันโธปจิตพุทธวรรค

ปริเฉทที่ ๑๑ โพธิสัตว์จริยาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๒ อักโษภยะพุทธเกษตรทรรศนะวรรค
ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมปฏิบัติบูชาวรรค
ปริเฉทที่ ๑๔ ธรรมทายาทวรรค


            กถามุข
ในพระสุตตันตปิฎกของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วิมลเกียรตินิทเทสสูตร (ยุ่ย ม่อ เคียก ซอ ส้วย เก็ง) นับว่าเป็นพระสูตรสำคัญยิ่งสูตรหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้ได้รวบรวมสารัตถะของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไว้ ทั้งด้านปรมัตถธรรมและสมมติธรรม ทั้งยังแสดงถ่ายทอดออกมาด้วยรูปปุคคลาธิษฐาน มีลีลาชวนอ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน พร้อมทั้งได้รับธรรมรสซึมซาบเข้าไปโดยมิรู้ตัว พระสูตรนี้ไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี แต่ความข้อนี้มิได้เป็นเหตุให้เราผู้เป็นนักศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทปฏิเสธคุณค่าของพระสูตรนี้แต่อย่างไร ทั้งนี้เนื่องจากหลักธรรมที่ประกาศในพระสูตรนี้ ก็คงดำเนินไปตามแนวพระพุทธมติ คือในเรื่องของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง แม้จะมีข้อแตกต่างบางประการก็เป็นเรื่องปลีกย่อยและเป็นสิ่งธรรมดาที่ต้องเป็นไปเช่นนั้น มิฉะนั้นก็คงไม่เกิดนิกายมหายานขึ้น ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างในนิกายนั้นจะเหมือนกับฝ่ายเถรวาท

พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีอุดมคติและประวัติวิวัฒนาการมาอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับท่านผู้อ่านพระสูตรนี้จำต้องทราบไว้เป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสคัดข้อความบางตอนในปาฐกถาของข้าพเจ้า เรื่อง "ลัทธิมหายาน" ซึ่งแสดงแก่คณะนักศึกษาศิลปศาสตร์ ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ มาไว้ ณ ที่นี้ เพื่อ เป็นนิทัศนะ

"ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก จะต้องมีคณะนิกายแบ่งแยกออกมาภายหลังที่พระศาสดาของศาสนานั้นล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อศาสนานั้นแผ่ขยายออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อถือไม่เหมือนกัน ก็มีการผสมผสานกับลัทธิธรรมเนียมเหล่านั้น อีกทั้งทัศนะการตีความในคำสอนของศาสดาของแต่ละบุคคล แต่ละคณะไม่ตรงกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกเป็นนิกายขึ้น ศาสนาที่มีลัทธินิกายจึงเป็นสัญญลักษณ์ของความเจริญแห่งศาสนานั้นในแง่หนึ่งเหมือนกัน ว่ากันเฉพาะในพระพุทธศาสนาได้เริ่มแบ่งแยกนิกายขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่๑ ต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่๔ ปรากฏว่ามีนิกายในพระพุทธศาสนาที่เป็นนิกายใหญ่ๆอยู่๑๘นิกาย นิกายที่สำคัญ คือนิกายมหาสังฆิกะกับนิกายเถรวาท มูลเหตุของการแตกแยก มีสมุฏฐานจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัยและคำอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ในสมัยจวนดับขันธปรินิพพานว่า

"ดูก่อนอานนท์ ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็ให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คำว่าสิกขาบทเล็กน้อย ไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็มิได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกข้ออย่างเคร่งครัด

อีกประการหนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้น ย่อมอาศัยอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอธิบาย อาจารย์กับอาจารย์ด้วยกันเกิดมีทัศนะอรรถาธิบายพระพุทธมติไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้เกิดแบ่งแยกกันออกไป สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะ เป็นพวกที่ต้องการแก้ไขผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถาธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ สงฆ์ฝ่ายเถรวาทถือเคร่งครัดในการรักษาจารีตแบบแผนดังเดิม ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่

สรุปแล้วก็คือ

๑.เพราะการปฏิบัติพระวินัยไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งสีลสามัญญตา
๒.เพราะทัศนะในหลักธรรม อธิบายไม่ตรงกัน เรียกว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา
ทั้ง๒ประการนี้เป็นสมุฏฐานให้แบ่งเป็นนิกายขึ้น

จำเดิมแต่พระพุทธศาสนาในอินเดียได้แบ่งออกเป็นนิกายถึง๑๘นิกายใหญ่ จำเนียรกาลล่วงมาในรารวต้นพุทธศตวรรษที่๕ จึงได้เกิดมีขบวนการใหม่ขึ้นอีกขบวนการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ขบวนการนี้เรียกตนเองว่า ลัทธิมหายาน ลัทธินี้ค่อยๆฟักตัวเองขึ้นมาจากนิกายมหาสังฆิกะ ผสมผสานกับปรัชญาของนิกายพระพุทธศาสนาอื่นๆ ทั้ง๑๘นิกาย รวมทั้งนิกายเถรวาทด้วย ก่อกำเนิดขึ้นเป็นลัทธิมหายาน

คำว่า มหายาน มาจากธาตุศัพท์ มหา+ยาน แปลว่าพาหนะที่กว้างขวางใหญ่โตซึ่งสามารถขน สัตว์โลก ให้ข้ามวัฏฏสงสารได้มาก หลักธรรมของนิกายนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนิกายเถรวาท คือสอนเรื่องอริยสัจ และมีข้อปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือความหลุดพ้นทุกข์ แต่ส่วนที่แตกต่างกันนั้นอยู่ตรงที่นโยบายเผยแผ่กับทั้งวิธีการเผยแผ่เท่านั้น

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถือคุณภาพของศาสนิกชนเป็นจุดสำคัญ แต่พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือปริมาณเป็นจุดสำคัญ คือเขาถือว่า เมื่อมีปริมาณมากแล้ว คุณภาพก็ค่อยๆตามมาด้วยการอบรมบ่มนิสัยได้ ฉะนั้น ฝ่ายมหายานจึงบัญญัติพิธีกรรมและจารีตแบบแผนต่างๆชนิดที่ฝ่ายเถรวาทไม่มีขึ้น เพื่อให้เป็นอุปายโกศลชักจูงประชาชนให้มาเลื่อมใส และมีการลดหย่อนพระวินัยได้ตามกาลเทศะ

อุดมคติของฝ่ายมหายาน สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อที่จะได้ช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลกได้กว้างขวาง พระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งในฝ่ายเถรวาทก็รับรอง แต่ฝ่ายมหายานหยิบยกเอาเรื่องพระโพธิสัตว์ขึ้นมาเน้นเป็นพิเศษ ฝ่ายเถรวาทประกาศเรื่องหลักอริยสัจ๔เป็นสำคัญ แต่ฝ่ายมหายานประกาศเรื่องทศบารมีเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝ่ายเถรวาทจะไม่มีเรื่องทศบารมี หรือฝ่ายมหายานจะไม่มีหลักอริยสัจก็หาไม่ เป็นเพียงแต่ว่า ต่างฝ่ายต่างหยิบเอาหลักธรรมทั้ง๒มายกขึ้นเป็นจุดเด่นสำคัญเหมือนหลักธรรมข้ออื่นๆ ที่มีอยู่เท่านั้น


อนึ่ง หลักทศบารมีฝ่ายมหายานได้ย่อลงมาเหลือบารมี๖ คือ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา ทานกับศีลเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โลภะ ขันติกับวิริยะเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โทสะ ฌานกับปัญญาเป็นคู่ปรับทำลายกิเลสคือ โมหะ พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมี๖ให้สมบูรณ์ คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ ๓ ข้อใหญ่คือ

๑.มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
๒.มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
๓.มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจจธรรม


คุณสมบัติทั้ง๓ข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง๒ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผุ้อื่น

อุดมคติของชาวพุทธบริษัทฝ่ายมหายานมี๔ประการดังนี้

๑.เราจะละกิเลสให้หมด
๒.เราจะศึกษาสัจจธรรมให้จบ
๓.เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔.เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด


คณาจารย์ผู้ทรงเกียรติคุณของลัทธิมหายานในอินเดีย มีอาทิเช่นท่านคุรุนาคารชุน ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่๗ ร่วมรัชสมัยพระเจ้ายัชญศีรเคาตมีบุตร คณาจารย์องค์นี้เป็นผู้สร้างปรัชญามหายานนิกายสุญญวาท โดยใช้ระบบวิภาษวิธี (Dialectic Method) ในการอรรถาธิบายทฤษฎีความสัมพันธ์หรือกฎปฏิจจสมุปบาท (Relativity Theory)

ระบบวิภาษวิธีของนิกายสุญญวาท จึงเป็นศิลปะ ในการอภิปรายที่อุดมด้วยหลักตรรกวิทยาทุกกระเบียดทีเดียว ต่อมาในพุทธศตวรรษที่๙ คณาจารย์มหายานที่สำคัญมีอีก๒ท่าน เป็นพี่น้องร่วมกันคือท่านคุรุอสังคะและคุรุวสุพันธุ ผู้ให้กำเนิดปรัชญามหายาน นิกายวิชญาณวาท ซึ่งถือว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นภาพมายาซึ่งสะท้อนเงาออกไปจากจิตภายใน นับเป็นปรัชญามหายานฝ่ายมโนภาพนิยม(Idealism) มหายานอีกนิกายหนึ่งซึ่งสอนลัทธิสมบูรณนิยม สอนว่ามีภาวะสมบูรณ์จริงแท้เป็นรากฐานของสากลจักรวาล ภาวะนี้เรียกว่า ภูตตถตา ซึ่งตรงกับจิตสากล (Universal Mind) นั้นเอง

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ปรัชญาของลัทธิมหายานมี๓สาขาใหญ่คือ
๑.ปรัชญานิกายสุญญวาท
๒.ปรัชญานิกายวิชญาณวาท
๓.ปรัชญานิกายภูตตถตาวาท หรือจิตสากล


นี่เป็นเรื่องของลัทธิปรัชญา ส่วนในเรื่องการปฏิบัติคงปฏิบัติเหมือนกันคือ การบำเพ็ญบารมี๖ มีคุณสมบัติ๓ และมุ่งในอุดมคติ๔ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว"
(หมดข้อความที่ยกมา)

                        

อนึ่ง ยังมีข้อสำคัญในความแตกต่างทางทัศนะระหว่างเถรวาทกับมหายาน คือทัศนะต่อองค์พระพุทธเจ้า ทั้ง๒ฝ่ายหาได้เห็นตรงกันไม่ พระพุทธองค์ในทัศนะของฝ่ายเถรวาท คือมนุษย์ผู้ซึ่งได้เพียรบำเพ็ญความดีจนได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากมวลทุกข์มวลกิเลส แต่พระสรีระของพระองค์ยังคงเหมือนชนธรรมดา คือยังเป็นวิบากขันธ์ มีความรู้สึกเย็นร้อนและทรุดโทรมแตกสลายไปได้ ส่วนเมื่อพระสรีระแตกสลายไปแล้ว อะไรที่เหลืออยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หลังพระพุทธปรินิพพานแล้ว ภาวะของพระองค์เป็นฉันใด ฝ่ายเถรวาทไม่กล่าวถึงเพราะถือว่าพ้นจากบัญญัติเสียแล้ว เหมือนกองไฟที่สิ้นเชื้อแล้วดับไป ไม่อาจพยากรณ์ว่าไฟที่ดับไปแล้วไปอยู่ ณ ทิศใด แต่ฝ่ายมหายานมีทัศนะว่า พระพุทธองค์นั้น โดยแท้จริงมีสภาวะเป็นอกาละ อนันตะ แต่โดยมหากรุณาจึงทรงสำแดงพระองค์ในภาวะต่างๆ ปรากฏให้เห็นในโลกทั้งปวงเพื่อโปรดสัตว์ ส่วนคำว่าสุญญตาซึ่งพบมากในพระสูตรนี้เป็นคำที่ฝ่ายมหายานนิยมใช้แพร่หลายมากที่สุด สุญญตากับอนัตตาความจริงก็มีความหมายใกล้เคียงกัน กล่าวคือเป็นคำปฏิเสธสภาวะซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ด้วยตัวมันเอง เพราะในทัศนะของมหายาน สรรพสิ่งซึ่งปรากฏแก่เราล้วนเป็นปฏิจจสมุปบาทธรรมทั้งสิ้น สุญญตามิได้หมายว่าว่างเปล่าไม่มีอะไรเลยเหมือนอากาศ แต่หมายเพียงว่ามีสภาวะดำรงอยู่ได้โดยตัวของมันเอง ชนิดที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยธรรมซึ่งอาศัยกันเป็นภาพมายา มีอยู่ปรากฏอยู่ มิใช่ว่าจะไม่มีอะไรๆไปเสียทั้งหมด ฝ่ายมหายานอธิบายว่า โลกกับพระนิพพาน ความจริงไม่ใช่อันเดียวกันหรือแตกต่างกัน

กล่าวคือโลกเป็นปฏิจจสมุปบาท ความดับปฏิจจสมุปบาทนั้นเสียได้ ก็คือพระนิพพาน ฉะนั้น ทั้งโลกและพระนิพพานจึงเป็นสุญญตาคือไม่ใช่เป็นสภาวะ และเมื่อสภาวะไม่มีเสียแล้ว อภาวะก็พลอยไม่มีไปด้วย เพราะมีสภาวะจึงมีอภาวะเป็นของคู่กัน ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นสภาวะ ผู้นั้นเป็นสัสสตทิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโลกและพระนิพพานเป็นอภาวะเล่า ผู้นั้นก็เป็นอุจเฉททิฏฐิ ผู้ใดเห็นว่าโดยสมมติสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นปฏิจจสมุปบาท และโดยปรมัตถสัจจะ ธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตาไซร้ ผู้นั้นแลได้ชื่อว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิโดยแท้ ที่ว่ามานี้เป็นมติของพระนาคารชุนผู้เป็นต้นนิกายสุญญวาท มหายานนิกายอื่นยังเห็นแตกต่างกันไปอีก อย่างไรก็ดี ขอท่านผู้ศึกษาพระสูตรนี้ ในข้อที่ว่าด้วยสุญญตา โปรดเข้าใจถือเอาอรรถาธิบายของพระนาคารชุนเป็นปทัสถาน และโปรดได้พิจารณาข้อความอื่นๆในพระสูตรนี้ให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงเรื่องสุญญตาอันเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ท่านจะต้องแสดงสมมติธรรมหรือโลกิยสัจจะด้วย มิใช่ว่าท่านปฏิเสธสมมติสัจจะอย่างเช่นพวกอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิและนัตถิกทิฏฐิ ซึ่งเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระพุทธศาสนา

ข้อที่ควรสังเกตข้อหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลิกลักษณะและปฏิปทาของท่านวิมลเกียรติ มีส่วนคล้ายคลึงกับท่านจิตตคฤหบดี ในปกรณ์ฝ่ายบาลีมาก ท่านจิตตคฤหบดีเป็นชาวมัจฉิกาสัณฑนคร ได้บรรลุอนาคามิผล มีปัญญาปฏิภาณแตกฉานในอรรถธรรม ได้รับยกย่องเป็นอุบาสกผู้เลิศในทางแสดงธรรม ท่านชอบสนทนาปัญหาธรรมที่สุขุมลุ่มลึกกับพระเถรานุเถรเสมอ ในบาลีสังยุตตนิกายรวบรวมเรื่องราวข้อสนทนาธรรมของท่านไว้หมวดหนึ่ง เรียกว่าจิตตคฤหบดีปุจฉาสังยุต จะเป็นไปได้หรือไม่ที่วรรณิกฝ่ายมหายานได้ความคิดจากปฏิปทาของท่านจิตตคฤหบดีไปขยายเป็นบุคคลใหม่ขึ้นอีกท่านหนึ่ง คือท่านวิมลเกียรติ

สำหรับประวัติความเป็นมาของพระสูตรนี้ พอจะกล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีกำเนิดราวปลายพุทธศตวรรษที่๕ เมื่อพระนาคารชุนรจนาอรรถกถามหาปรัชญาปารมิตาสูตร ก็ได้อ้างข้อความในวิมลเกียรตินิทเทสสูตรนี้หลายตอน เป็นที่น่าเสียดายว่า ต้นฉบับสันสกฤตของพระสูตรนี้ ปัจจุบันหายสาบสูญค้นหาไม่พบ แม้ในคัมภีร์ศึกษาสมุจจัยของ พระสันติเทวะ (รจนาในราวพุทธศตวรรษที่๑๓) ได้ยกข้อความในพระสูตรนี้มาอ้างไว้มากแห่ง ทำให้เราสามารถเห็นเค้าโครงพระสูตรนี้ในรูปภาษาสันสกฤต แต่ก็มิใช่พระสูตรนี้ทั้งสูตร

อย่างไรก็ดี เป็นโชคดีของวรรณคดีพระพุทธศาสนามหายานที่ได้มีผู้แปลถ่ายทอดรักษาไว้ในพากย์จีนพากย์ธิเบตครั้งบุราณกาล เฉพาะวิมลเกียรตินิทเทสสูตรในพากย์จีนแปลกันไว้ถึง ๗ สำนวนด้วยกัน แต่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียง๓สำนวนเท่านั้น คือ
๑.ฉบับแปลของอุบาสกจีเหลียน ในพุทธศตวรรษที่๗
๒.ฉบับแปลของพระกุมารชีพ ในพุทธศตวรรษที่๙
๓.ฉบับแปลของพระสมณะเฮี่ยงจัง ในพุทธศตวรรษที่๑๑


ข้าพเจ้าได้ถือเอาฉบับแปลของพระกุมารชีพเป็นปทัสถาน เพราะท่านแปลด้วยสำนวนโวหารไพเราะ จนถือกันว่าเป็นวรรณคดีจีนชั้นสูง ในการแปลออกมาในพากย์ไทยนี้ เฉพาะปริเฉทที่๑ และที่๒ แปลเอาแต่ใจความสำคัญ ปริจเฉทที่สำคัญเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ได้แปลครบถ้วนตามต้นฉบับ บางปริจเฉทเช่นสาวกปริจเฉทเป็นต้น บางตอนได้ย่นย่อลงบ้าง แต่ก็มิได้ทำให้เสียความอย่างไร ที่ใดย่นย่อตัดรัด ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องหมายฯลฯ นี้ไว้ให้เป็นที่สังเกต และวิธีการแปลได้ถือเอาอรรถรสเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงใช้คำแปลเรียบเรียง ข้าพเจ้าได้แปลลงพิมพ์ในนิตยสารธรรมจักษุเป็นตอนๆ เริ่มลงพิมพ์ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ มาจนบัดนี้เป็นเวลาร่วม๒ปี


เสถียร โพธินันทะ
๑๐มิถุนายน๒๕๐๖


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2554 12:27:10 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
 
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 02 กันยายน 2553 11:07:54 »




          ปริเฉทที่ ๑
                 พระพุทธเกษตรวรรค

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับแสดงธรรมโปรดสัตว์อยู่ ณ สวนอัมพปาลีวัน ณ กรุงเวสาลี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๘,๐๐๐ รูป พระโพธิสัตว์อีก ๓๒,๐๐๐ องค์ ซึ่งแต่ละองค์ล้วนเป็นผู้มีเกียรติคุณอันประชุมชนรู้จักดี ถึงพร้อมแล้วด้วยมหาปรัชญาและมูลจริยา มีทาน ศีล ขันติ วิริยะ ฌาน ปัญญา และอุปายะพละ มีความบริสุทธิ์หมดจด หลุดพ้นจากสังโยชน์ธรรม เป็นผู้แสดงพระสัทธรรมต่อสรรพสัตว์ สืบพระพุทธศาสนายุกาลให้ยั่งยืน ฯลฯ พระโพธิสัตว์เหล่านี้ มีอาทิเช่นพระสมาธิอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมอิศวรราชาโพธิสัตว์ พระธรรมลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลักษณะโพธิสัตว์ พระประภาลังการโพธิสัตว์ พระมหาลังการโพธิสัตว์ พระรัตนกูฏโพธิสัตว์ พระรัตนากรโพธิสัตว์ พระปีติอินทรีย์โพธิสัตว์ พระอากาศครรภ์โพธิสัตว์ พระวิทยชาลโพธิสัตว์ พระคันธหัสดินทร์โพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสถามปราบต์โพธิสัตว์ พระสุวรรณจุฬาโพธิสัตว์ พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ผู้ธรรมราชาบุตรเป็นต้น อนึ่ง ยังมีพระพรหมและทวยเทพ นาค ยักษ์ อสูร ครุฑ กินนร มโหรคอีกจำนวนมาก พร้อมทั้งพุทธบริษัท ๔ อีกจำนวนมาก ต่างมาประชุมเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อสดับพระสัทธรรม


       

ก็โดยสมัยนั้นแล ณ กรุงเวสาลี มีบุตรคฤหบดีผู้หนึ่งชื่อ รัตนกูฏพร้อมกับบุตรคฤหบดีอื่น ๆ อีกจำนวน๕๐๐ คน ต่างถือเอาฉัตรอันประกอบด้วยสัปตรัตนะ ชวนกันมาเฝ้าพระบรมศาสดา อภิวาทน์พระบาททั้ง ๒ ของพระองค์แล้ว ต่างก็น้อมฉัตรเข้าไปถวาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้ฉัตรทั้งปวงรวมกันเข้าเป็นฉัตรคันเดียว แลร่มเงาแห่งฉัตรนั้น ก็ปกคลุมไปทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุสิ่งต่าง ๆ มีภูเขา แม่น้ำ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ตลอดจนพุทธเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมีพระพุทธเจ้ากำลังแสดงพระสัทธรรมอยู่ ก็มาปรากฏอยู่ในฉัตรดังกล่าวนั้น ประชุมชนซึ่งมาเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น ต่างเพ่งทัศนากำลังแห่งพุทธปาฏิหาริย์ด้วยความเลื่อมใส ต่างยกกรขึ้นวันทนา แลดูซึ่งพระพุทธลักษณะอยู่โดยมิเคลื่อนคลา และบุตรคฤหบดีผู้ชื่อว่ารัตนกูฏได้กล่าวสดุดีกถาด้วยถ้อยคำอันพรรณนาพระพุทธคุณอันเป็นอเนก จบลงแล้วจึงทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุตรคฤหบดีทั้ง ๕๐๐ คนนี้ ล้วนแต่ตั้งจิตมุ่งต่ออนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณมาแล้ว ต่างปรารถนาใคร่สดับเรื่องวิสุทธิพุทธเกษตร ขอพระองค์ทรงโปรดแสดงจริยาของปวงพระโพธิสัตว์เพื่อยังวิสุทธิภูมิให้สำเร็จเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระราชดำรัสว่า “ ดีละ รัตนกูฏ ! ในการที่เธอสามารถถามตถาคตถึงจริยาอันให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตร เพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เธอพึงสำเหนียกและมีโยนิโสมนสิการให้ดี เราจักแสดงแก่เธอ ณ บัดนี้”

ครั้งนั้นแล รัตนกูฏพร้อมทั้งบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๐ คนต่างก็ตั้งจิตหยั่งลงพร้อมที่จักรับพระสัทธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนรัตนกูฏ ในสรรพสัตว์ทั้งปวงนั้นแล ชื่อว่าเป็นวิสุทธิเกษตรแห่งพระโพธิสัตว์ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่าพระโพธิสัตว์ย่อมบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์ จึงอาจสามารถให้สำเร็จซึ่งพุทธเกษตรได้ อุปมาดังบุคคลผู้ปรารถนาจักสร้างปราสาทในแผ่นดินที่ว่าง เขาย่อมยังกิจที่ปรารถนาให้สำเร็จได้ แต่ถ้าเขาไม่อาศัยแผ่นดินกลับไปอาศัยอากาศเพื่อนสร้างปราสาทไซร้ ย่อมไม่มีหนทางสำเร็จฉันใดพระโพธิสัตว์ก็มีอุปไมยฉันนั้น กล่าวคือ ในการยังพระพุทธเกษตรให้สำเร็จบริบูรณ์ ก็เพื่อประโยชน์แห่งสรรพสัตว์นั้นเอง รัตนกูฏ ! เธอพึงสำเหนียกว่า จิตที่ตั้งไว้ถูกตรงนั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งปราศจากมายาความหลอกลวง ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น จิตที่ลึกซึ้งนั้นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสมบูรณ์ด้วยกุศลคุณ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น โพธิจิต นั้นแลชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์


http://i682.photobucket.com/albums/vv189/jhonnyraptor/FUNNY%20IMAGES/Boedha-Gif.gif
วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ


ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ซึ่งเป็นมหายานิกบุคคล ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น การบำเพ็ญทาน นั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมาจาคธรรม ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น การรักษาศีล นั้นแล ชื่อว่า วิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งบำเพ็ญกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ได้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ขันติ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งรุ่งเรืองด้วยทวัตติงสาลังการ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น วิริยะ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิเหล่าสัตว์ผู้มีความบากบั่นพากเพียรในการยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฌานสมาธิ นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งสำรวมจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ปัญญา นั้นแล ชื่อว่าวิสุทธิภูมิของพระโพธิสัตว์ ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์นั้นบรรลุพุทธภูมิ เหล่าสัตว์ซึ่งมีอินทรีย์เที่ยงต่อการตรัสรู้ ย่อมมาถืออุบัติในวิสุทธิเกษตรนั้น ฯลฯ.”

ตรัสว่า ในสมัยซึ่งพระโพธิสัตว์สำเร็จพระโพธิญาณแล้ว โลกธาตุของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ย่อมสุขสมบูรณ์ ปราศจากความมัวหมองและเภทภัยกันดารต่าง ๆ แลสรรพสัตว์ในโลกธาตุนั้น ก็บริบูรณ์ด้วยกุศลคุณต่าง ๆ เป็นอเนกประการ แล้วตรัสสรุปว่า

“เพราะฉะนั้นแล รัตนกูฏ ! พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจักบรรลุถึงวิสุทธิเกษตรดังกล่าว ! พึงชำระจิตแห่งตนให้บริสุทธิ์สะอาด เมื่อจิตบริสุทธิ์สะอาดดีแล้ว พุทธเกษตรก็ย่อมบริสุทธิ์สะอาดตามไปด้วย.”

ครั้งนั้นแล พระสารีบุตรเถรเจ้าโดยการบันดาลดลแห่งพุทธานุภาพได้บังเกิดปริวิตกอย่างนี้ขึ้นว่า “ถ้าจิตของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์พุทธเกษตรก็พลอยบริสุทธิ์ด้วยไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้พระผู้มีพระภาคของเรา เมื่อยังสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จักมีจิตไม่บริสุทธิ์กระมังหนอ พุทธเกษตรของพระองค์จึงไม่สะอาดหมดจดดั่งปรากฎอยู่ ณ บัดนี้ ?”


       

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า

“สารีบุตร ! เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? บุคคลผู้มีจักษุบอดมองไม่เห็นความสุกสว่างหมดจดแห่งดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นั้นเป็นความผิดของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ฤๅหนอ ?”
พระสารีบุตรทูลว่า “หามิได้ข้าแต่พระสุคต เป็นความบกพร่องของบุคคลผู้มีจักษุบอดเอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักมีโทษด้วยก็หาไม่”

ตรัสว่า “ฉันใดก็ฉันนั้นนะสารีบุตร ! เป็นความผิดของสรรพสัตว์เอง ! ที่มองไม่เห็นความบริสุทธิ์สะอาดในโลกธาตุเกษตรแห่งเราตถาคต จักเป็นความผิดของตถาคตด้วยก็หาไม่ สารีบุตรเอย ! โลกธาตุของตถาคตนั้นบริสุทธิ์ แต่เธอมองไม่เห็นเอง”

ก็โดยสมัยนั้นแล ท้าวสนังพรหมกุมาร ได้กล่าวกับพระสารีบุตรว่า

“ขอท่านผู้เจริญอย่าได้ปริวิตก แลกล่าวว่าพุทธเกษตรนี้ไม่บริสุทธิ์เลย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเรานั้นได้เห็นความบริสุทธิ์หมดจดแห่งพุทธเกษตรของพระศากยมุนีเจ้า เปรียบดุจทิพยมณเฑียรแห่งพระอิศวรเทพฉะนั้น.”

พระสารีบุตรกล่าวว่า “แต่เราเห็นโลกธาตุนี้อุดมไปด้วยขุนเขาหุบเหวสูงต่ำ มีขวากหนามอิฐกรวดดินทราย เต็มไปด้วยความโสมมสกปรก.”


ท้าวสนังพรหมจึงว่า “จิตของท่านผู้เจริญสูงต่ำไม่สม่ำเสมอเองต่างหากเล่า ท่านผู้เจริญ! มิได้อาศัยพุทธปัญญาทัศนาโลกนี้ ฉะนั้นจึงเห็นโลกธาตุนี้ว่าไม่สะอาดหมดจด ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร อันพระโพธิสัตว์ย่อมเห็นสรรพสัตว์โดยความเป็นสมภาพ มีจิตอันลึกซึ้งบริสุทธิ์ อาศัยพุทธปัญญาเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้น จึงสามารถทัศนาความบริสุทธิ์ของโลกธาตุนี้ได้.”

พระผู้มีพระภาค จึงกดนิ้วพระบาทลง ณ ผืนปฐพี ในทันใดนั้น มหาตรีสหัสสโลกธาตุ ก็มีอันเปลี่ยนแปลง ปรากฏเป็นรัตนอลังการนับแสนโกฏิประดับประดาแล้ว ประชุมชนทั้งปวงพากันอุทานด้วยความมหัศจรรย์ว่า
สิ่งที่ไม่เคยมีก็มีขึ้นแล้วหนอ” ต่างเห็นตนของตนเองนั่งอยู่บนปทุมรัตน์อันเป็นทิพย์

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร! เธอจงทัศนาวิสุทธิคุณาลังการแห่งพุทธเกษตรนี้เถิด.”

พระสารีบุตรทูลว่า “อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งซึ่งข้าพระองค์มิเคยได้เห็นมาก่อน มิเคยได้ฟังมาก่อน บัดนี้ได้ปรากฏขึ้นแล้วหนอ พุทธเกษตรของพระองค์บริสุทธิ์หมดจดยิ่งนัก.”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “โลกธาตุของตถาคต ย่อมบริสุทธิ์เป็นปกติอยู่เป็นนิตย์ แต่เพื่อโปรดบรรดาชนผู้มีอินทรีย์ต่ำ ตถาคตจึงสำแดงให้ปรากฏเห็นเป็นไม่บริสุทธิ์ขึ้น เหมือนดังปวงเทพยาดาต่างร่วมเสวยสุทธาโภชน์ในทิพยภาชน์อันเดียว ด้วยอำนาจแห่งบุญสมภารของแต่ละองค์ไม่เสมอกัน ทิพย์โภชน์จึงปรากฏหาคล้ายกันไม่ ฉันใดก็ฉันนั้นนะ สารีบุตร! ถ้าบุคคลมีจิตบริสุทธิ์ไซร้ เขาย่อมเห็นคุณาลังการแห่งพุทธเกษตรนี้ได้.”

ในกาลซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบันดาล สำแดงความบริสุทธิ์แห่งโลกธาตุอยู่นั้น รัตนกูฏพร้อมด้วยบุตรคฤหบดีอีก ๕๐๕ คน ต่างก็บรรลุธรรมกษานติ และมี ๘,๔๐๐ คนต่างตั้งจิตมุ่งสำเร็จพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงยังฤทธิ์นั้นให้กลับคืน โลกธาตุจึงปรากฏสภาพของมันดุจเก่า อนึ่ง มีผู้ปรารถนาต่อสาวกภูมิ ๓๒,๐๐๐ คน ทวยเทพและมนุษย์ต่างเห็นชัดว่า สังขารทั้งปวง มีความทนอยู่มิได้ ต้องแปรผันไปเป็นธรรมดา ในดวงตามีธุลีอันไปปราศจากแล้วได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ ภิกษุ ๘,๐๐๐ รูป หมดอาสวกิเลสถึงความหลุดพ้นแล้ว

ปริเฉทที่ ๑ พระพุทธเกษตรวรรค จบ.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กรกฎาคม 2554 11:45:49 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 02 กันยายน 2553 11:23:12 »



    

            ปริเฉทที่ ๒
       อุปายโกศลวรรค

ในสมัยนั้น ที่กรุงเวสาลี มีคฤหบดีผู้หนึ่ง ชื่อวิมลเกียรติ ณ เบื้องอดีตภาค ท่านได้เคยบูชาสักการะในพระพุทธเจ้าทั้งหลายอันจักประมาณพระองค์มิได้ ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ มีปฏิภาณอันปราศจากความขัดข้องแลอภิญญา พร้อมทั้งทรงไว้ซึ่งธรรมอรรถ เป็นผู้แกล้วกล้าปราศจากความหวาดกลัว สามารถบำราบมารภัยให้สยบ อนึ่งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคัมภีร์ธรรม มีปรัชญาอันเป็นคุณชาติให้ถึงฝั่งแห่งภพอันดียิ่งอีกทั้งเป็นผู้รอบรู้ในอุปายโกศลวิธี มีมหาปณิธานอันสำเร็จแล้ว มีญาณแทงทะลุในอธิมุตติแห่งปวงสัตว์ พร้อมทั้งความสามารถในอันจักจำแนกอินทรีย์แก่อ่อนในสัตว์เหล่านั้นอีกด้วย คฤหบดีนั้น เป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในพุทธภูมิแต่กาลอันนานมาทีเดียว จิตของท่านบริสุทธิ์สะอาด ดำเนินตามมหายานปฏิปทาโดยไม่แปรผัน กับทั้งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพุทธวัตรสมาจาร มีจิตอันไพศาลดุจมหาสาคร คฤหบดีนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงสดุดีอนุโมทนาสาธุการ เขาเป็นที่เคารพนับถือของพระสาวกทั้งหลายตลอดจนทวยเทพทั้งปวง มีท้าวศักรินทร์และท้าวมหาพรหมปชาบดีเป็นอาทิ และเนื่องด้วยคฤหบดีนั้นมีความจำนงอันจักโปรดสรรพสัตว์ ท่านจึงสำแดงซึ่งอุปายโกศลวิธีด้วยการเข้ามาตั้งเคหสถานอาศัย ณ กรุงเวสาลี.

ท่านได้บริจาคทรัพย์จำนวนเหลือประมาณ เพื่อประโยชน์แก่ปวงชนทุคตะเข็ญใจ ท่านแสดงการรักษาศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้ทุศีลจักได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง แสดงความอดกลั้นด้วยขันติคุณ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มักโกรธ แสดงความเป็นผู้มีอุตสาหวิริยะ ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีโกสัชชะ แสดงความเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นในสมาธิฌาน ก็เพื่อเป็นตัวอย่างสงเคราะห์ชนผู้มีจิตฟุ้งซ่าน และได้ใช้สติปัญญาของท่านสงเคราะห์ชนผู้ปราศจากปัญญาให้มีความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย
คฤหบดีนั้น แม้จะเป็นอุบาสกผู้นุ่งขาว แต่ก็ปฏิบัติรักษาวินัยของสมณะ แม้จะเป็นผู้ครองเรือน แต่ก็มีจิตไม่ยึดมั่นในภพทั้ง 3 แม้ท่านจักแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีภริยา แต่ก็รักษาพรหมจรรย์ไว้โดยบริสุทธิ์ แม้จะมีบริวารชน แต่ก็มีจิตยินดีในความสงัดห่างไกลจากบริวารชน แม้ร่างกายของท่านจะประดับด้วยเครื่องรัตนอลังการ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอก แต่ภายในจิตของท่านมิได้พอใจผูกพันกับเครื่องประดับเหล่านั้น เพราะท่านมีคุณสมบัติต่าง ๆ มีปัญญาเป็นต้น เป็นเครื่องประดับใจ และถึงแม้ท่านจะบริโภคอาหารเช่นคนทั้งหลาย แต่อาหารที่แท้จริงท่านก็คือถือเอารสแห่งปิติในฌานเป็นอาหาร และท่านมักจะไปปรากฏตัวในวงการพนัน วงการหมากรุก วงการเสพสุรา วงการละเล่นมหรสพ ตลอดจนกระทั่งสำนักหญิงโสเภณี ก็เพื่ออาศัยสถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งประกาศสัจธรรม ชี้แจงบาปบุญคุณโทษแก่ชนผู้มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย

นอกจากนี้ ท่านยังเที่ยวไปตามสำนักพาหิรลัทธิตามสถานสาธารณะต่าง ๆ ตามถนนหนทาง เพื่อประกาศพระพุทธธรรมให้สำเร็จประโยชน์แก่ประชุมชนทั้งวัยเด็กหนุ่มสาววัยชรา และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เกียรติคุณของท่านวิมลเกียรติ จึงแพร่หลายอุโฆษไปทั่ว ท่านเป็นที่เคารพยกย่องของกษัตริย์ สมณพราหมณ์ เสนาอำมาตย์ คฤหบดี ประชาชนพลเมืองทุกชั้นทุกวัย นอกจากท่านวิมลเกียรติจะบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่มนุษย์แล้วท่านยังบำเพ็ญประโยชน์ในหมู่ทวยเทพด้วย ท่านเป็นที่เคารพของปวงพรหมเทพ ด้วยท่านแสดงธรรมอันประกอบด้วยโลกุตรปัญญาให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของปวงเทพในฉกามาวจรมีท้าววาสวะเป็นต้น ด้วยท่านแสดงธรรมชี้ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสังขารธรรมให้ฟัง ท่านเป็นที่เคารพของท้าวจตุโลกบาลราชา ด้วยท่านพร่ำสอนธรรมให้ท้าวเธอและบริวารคุ้มครองรักษาโลก อันท่านคฤหบดีวิมลเกียรติสมบูรณ์ด้วยอุปายโกศลจริยา บำเพ็ญคุณานุคุณ หิตประโยชน์ในสรรพสัตว์ ด้วยประการฉะนี้แล.

                         

สมัยหนึ่ง ท่านวิมลเกียรติสำแดงตนว่าบังเกิดอาพาธด้วยอุบายนี้ จึงเป็นเหตุให้บรรดาราชา อำมาตย์ สมณพราหมณ์ คฤหบดี และชาวชนเป็นจำนวนมากหลายพันเป็นอเนก ต่างพากันมาเยี่ยมเยือนถามอาการไข้ถึงคฤหาสน์ ท่านจึงถือโอกาสที่ชนเหล่านี้มาเยี่ยมแสดงธรรมว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกายนี้ไม่แท้เที่ยง ปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้ สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือนร้อนเป็นที่ประชุมของโรค ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดังนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญาย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน สรีระนี้อุปมาดังฟองน้ำจักลูบคลำมิได้ สรีระนี้อุปมาดังต่อมน้ำ เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน สรีระนี้อุปมาดังพยับแดด เพราะเกิดมาแต่ตัณหา สรีระนี้อุปมาดังต้นกล้วยเพราะปราศจากแก่นสาร สรีระนี้อุปมาดังภาพมายา เพราะเกิดมาแต่ความวิปลาส สรีระนี้อุปมาดังความฝัน เพราะเกิดมาแต่ความหลงผิดให้เห็นไป สรีระนี้อุปมาดังเงา เพราะเกิดมาจากกรรมสมุฏฐาน สรีระนี้อุปมาดังเสียง เพราะอาศัยประชุมแห่งปัจจัยจึงมีได้ สรีระนี้อุปมาดังก้อนเมฆเพราะตั้งอยู่ชั่วคราวก็เปลี่ยนแปร สรีระนี้อุปมาดังสายฟ้าแลบ เพราะตั้งอยู่คงทนมิได้ทุก ๆ ขณะ ฯลฯ”

ท่านวิมลเกียรติได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้วจึงกล่าวสรุปว่า

“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะว่า อันพระพุทธสรีรกายนั้น คือพระธรรมกายนั้นเองย่อมเกิดมาจากปัญญาและคุณสมบัติเป็นอันมาก จักประมาณมิได้ เกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เกิดมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เกิดมาจากทาน ศีล ขันติ โสรัจจะ วิริยะ ฌาน วิมุตติ สมาธิ พหูสูต ปัญญาแลปวงบารมีธรรม ๓๗ เกิดมาจากสมถวิปัสสนา เกิดมาจากทศพลญาณ เกิดมาจากจตุเวสารัชชญาณและอเวณิกธรรม ๑๘ เกิดมาจากสรรพอกุศลสมุจเฉทธรรมและจากสรรพกุศลภาวนาธรรมเกิดมาจากภูตตัตตวธรรม เกิดมาจากอัปปมาทธรรมและวิสุทธิธรรมเป็นอเนกอนันต์ดังกล่าวมานี้ ยังพระตถาคตกายให้บังเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกาย และอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตรายของสรรพสัตว์ได้ขาด ผู้นั้นถึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเถิด.”


ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้แสดงธรรมกถากับบรรดาผู้มาเยี่ยมเยือนไข้ของท่านด้วยประการดังนี้ ยังบุคคลหลายพันเป็นอเนกให้บังเกิดจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยถ้วนหน้าแล

ปริเฉทที่ ๒ อุปายโกศลวรรค จบ.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 กรกฎาคม 2554 10:12:55 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 02 กันยายน 2553 12:46:08 »

 

          

            ปริเฉทที่ ๓
       สาวกวรรค

ในสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี บังเกิดความปริวิตกขึ้นว่าเรานอนป่วยอยู่บนเตียงเห็นปานฉะนี้ ไฉนพระผู้มีพระภาคผู้ทรงไว้ซึ่งมหาเมตตาธรรม จึงมิได้ส่งผู้ใดมาเยี่ยมเยือน
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกนั้นแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสกับพระสารีบุตรว่า

“ดูก่อนพระสารีบุตร เธอจงไปเยี่ยมเยือนไต่ถามอาการป่วยของวิมลเกียรติคฤหบดีเถิด”

พระสารีบุตรได้กราบทูลสนองพระดำรัสว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์กำลังนั่งคู้สมาธิบัลลังก์อยู่ในท่ามกลางวนาสณฑ์ ครั้งนั้น ท่านวิมลเกียรติได้มาพูดกับข้าพระองค์ว่า

“ข้อแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้าไม่จำเป็นต้องมานั่งอาการอย่างนี้โดยสำคัญว่าเป็นการนั่งสมาธิ อันการนั่งสมาธิที่แท้จริงนั้น คือการไม่ปรากฏกายใจในภพทั้ง ๓ ไม่ต้องออกจากนิโรธสมาบัติ แต่ก็สามารถแสดงบรรดาอิริยาบถให้ปรากฏได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องสละมรรคธรรม แต่ก็สามารถทำกิจกรรมของปุถุชนได้ นี้ก็คือการนั่งสมาธิ จิตไม่ยึดติดในภายใน หรือยึดติดในภายนอก นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่มีความหวั่นไหวกำเริบ เพราะเหตุแห่งปวงทิฏฐิ แลสามารถอบรมในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ไม่ต้องตัดกิเลส แต่สามารถเข้านิพพานได้ นี้คือการนั่งสมาธิ ถ้าพระคุณเจ้าอาจที่จักนั่งด้วยวิธีอย่างนี้ พระพุทธองค์ย่อมจักรับรอง.”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้สดับวาจาดังกล่าวนี้แล้ว ต้องหยุดนิ่งสงบ มิอาจตอบสนองพจน์ไปได้ ด้วยเหตุนี้ ข้อพระองค์จึงไม่สมควรเหมาะสมในการไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า.”

พระบรมศาสดาจึงดำรัสให้พระโมคคัลลานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระโมคคัลลานะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์จาริกเข้าไปในเมืองเวสาลี ได้แสดงธรรมโปรดพวกคฤหบดีในตรอกแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าโมคคัลลานะ การแสดงธรรมโปรดพวกอุบาสกนุ่งขาวเหล่านี้ ไม่ใช่แสดงอย่างวิธีของพระคุณเจ้าอย่างนี้หรอก อันว่าผู้แสดงธรรมนั้นสมควรจักต้องแสดงให้ถูกกับทำนองคลองธรรม ธรรมนั้นไม่มีสัตว์ เพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งสัตว์ ธรรมนั้นไม่มีอาตมันเพราะพ้นจากความเศร้าหมองแห่งอาตมัน ธรรมนั้นไม่มีชีวะเพราะพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ธรรมนั้นไม่มีบุคคล เพราะขาดจากห้วงแห่งอดีต อนาคตธรรมนั้นมีสันติเป็นธรรมดา เพราะดับปวงลักษณะเสียได้ ธรรมนั้นห่างไกลจากลักษณะ เพราะปราศจากอารมณ์ ธรรมนั้นไม่มีนามบัญญัติเพราะขาดจากวจนะโวหาร ธรรมนั้นไม่มีอะไรจะแสดงได้ เพราะไกลจากความวิตกวิจารณ์ ธรรมนั้นไม่มีสัณฐานนิมิต เพราะว่างเปล่าดุจอากาศ ธรรมนั้นปราศจากปปัญจธรรม เพราะมีสุญญตาเป็นสภาพ ธรรมนั้นไม่มีมมังการ เพราะพ้นจากความยึดถือว่าเป็นของของเรา ธรรมนั้นไม่มีวิกัลปะ เพราะไกลจากวิญญาณความรู้ทางอายตนะทั้งหลาย ธรรมนั้นปราศจากการเปรียบเทียบได้ เพราะพ้นจากความเป็นคู่ ธรรมนั้นไม่สงเคราะห์ว่าเป็นเหตุ เพราะมิได้อยู่ในประชุมของปัจจัย...ฯลฯ...

พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะ เมื่อธรรมลักษณะมีสภาพดั่งนี้แล้วจักนำมาแสดงได้อย่างไรเล่า ? อันการแสดงธรรมนั้น เนื้อแท้ไม่มีการกล่าว ไม่มีการแสดง และผู้สดับธรรมเล่า ก็ไม่มีการฟังหรือการได้อะไรไป อุปมาดุจมายาบุรุษแสดงธรรมให้มายาบุรุษอีกผู้หนึ่งฟังฉะนั้น พึงตั้งจิตของตนให้ได้อย่างนี้แล้วพึงแสดงธรรมเถิด พึงแจ่มแจ้งในอินทรีย์แก่อ่อนคมทู่ของสรรพสัตว์ มีญาณทัสสนะอันเชี่ยวชาญ ปราศจากความขัดข้อง ประกอบด้วยมหากรุณาจิต สดุดีลัทธิมหายาน จิตตั้งอยู่ในอนุสรณ์ที่จักบูชาพระคุณของพระพุทธองค์ ไม่ละขาดจากพระไตรรัตน์ ทำได้เช่นนี้ภายหลังจึงแสดงธรรมเถิด.”

“เมื่อท่านวิมลเกียรติแสดงธรรมกถาจบลง คฤหบดีจำนวน ๘๐๐ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ข้าพระองค์ไม่มีปฏิภาณเช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระมหากัสสปะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้พระมหากัสสปะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเยี่ยมไข้ของอุอาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เที่ยวจาริกบิณฑบาต ตามละแวกบ้านคนยากจน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ พระคุณแม้จะมีจิตกอปรด้วยเมตตากรุณา แต่ก็ไม่ปกแผ่ไพศาลเลย ทั้งนี้เพราะพระคุณละเลยบ้านของคนร่ำรวย มาบิณฑบาตโปรดเฉพาะคนเข็ญใจเท่านั้น ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ขอพระคุณเจ้าจะตั้งอยู่ในสมธรรมอันเสมอภาคเสียก่อน จึงค่อยมาจาริกบิณฑบาต เพื่อไม่มีความปรารถนาในอาหารเป็นเหตุ จึงสมควรจาริกบิณฑบาต เพื่อทำลายการประชุมแห่งขันธ์เป็นเหตุ จึงสมควรถือเอาก้อนภิกษาไปเพื่อไม่ต้องเสวยภพใหม่อีกเป็นเหตุ จึงสมควรรับบิณฑบาตทานของชาวบ้านได้ พึงมีสุญญตสัญญาในการเข้าไปสู่คามนิคมชนบท รับรูปารมณ์ดุจผู้มีจักษุมืด รับสัททารมณ์ดุจสักว่าเสียงดัง รับคันธารมณ์ดุจสักว่าเป็นวาโย รับรสารมณ์ก็ไม่มีวิกัลปะ รับโผฏฐัพพารมณ์ดุจได้บรรลุญาณทัสสนะรู้ธรรมารมณ์ทั้งปวงว่าเป็นมายา ปราศจากอัตตภาวะ หรือปรภาวะ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมิได้เกิดมีขึ้นด้วยภาวะของมันเอง ฉะนั้น จึงไม่มีอะไรที่เรียกว่าแตกดับหักสูญไป

ข้าแต่พระคุณเจ้ากัสสปะ ถ้าพระคุณเจ้าจักสามารถไม่ละมิจฉัตตธรรมทั้ง ๘ แต่ก็บรรลุเข้าถึงวิโมกข์ ๘ ได้อาศัยมิจฉาภาวะเข้ากลมกลืนสัมมาธรรมได้ สามารถนำอาหารมื้อหนึ่งบริจาคในสรรพสัตว์ได้ และนำไปกระทำบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมทั้งพระอริยบริษัททั้งปวงได้ เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จึงจักสมควรในการขบฉันอาหารบิณฑบาตต่อภายหลัง ผู้ที่กระทำได้โดยประการดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ขบฉันที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความสิ้นไปแห่งกิเลส ชื่อว่ามิได้เข้าสู่สมาธิจิต หรือออกจากสมาธิจิต ไม่มีการยึดมั่นตั้งอยู่ในโลก หรือยึดมั่นตั้งอยู่ในพระนิพพาน ฝ่านทายกทายิกาผู้บริจาคเล่า ก็ชื่อว่าไม่มีการได้บุญญานิสงส์ใหญ่ หรือได้บุญญานิสงส์น้อย ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหายอย่างไร นี้แลชื่อว่าเป็นวิถีแห่งการเข้าสู่พุทธภูมิ โดยไม่อาศัยสาวกภูมิพระคุณเจ้ากัสสปะ หากพระคุณตั้งอยู่ในธรรมดังพรรณนามาแล้ว ขบฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล จึงจักได้ชื่อว่าเป็นการขบฉันอาหารของชาวบ้านโดยไม่สูญเปล่า

“ข้าแต่พระสุคต เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดั่งนี้แล้ว เกิดความรู้สึกขึ้นว่า สิ่งที่มิได้มีก็ได้มีขึ้นแล้วหนอ! ข้าพระองค์มีความรู้สึกเคารพนับถือในปวงพระโพธิสัตว์อย่างยิ่ง อนึ่ง ยังมีปริวิตกว่า คฤหบดีผู้นี้เป็นผู้ครองเรือนแท้ ๆ ยังมีปฏิภาณปัญญาโกศลเห็นปานฉะนี้ ผู้ที่ได้ฟังธรรมของเขาแล้ว ใครเลยที่จักไม่ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตัวของข้าพระองค์เอง จำเดิมนับแต่นั้นมา ก็ไม่เทศนาสั่งสอนผู้ใดให้ประพฤติสาวกจริยา หรือปัจเจกโพธิจริยาอีก (คือสอนให้ประพฤติตามพุทธจริยาอย่างเดียว) ด้วยเหตุประการดั่งนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมไม่ควรต่อการไปเยี่ยมไข้อุบาสกนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”

           

พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระสุภูติไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระสุภูติกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์ได้เข้าไปบิณฑบาต ณ คฤหาสน์ของอุบาสกนั้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามารับเอาบาตรของข้าพระองค์ไปบรรจุภัตตาหารจนเต็มเปี่ยม แล้วก็ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ ในการขบฉันภัตตาหารนี้ หากพระคุณสามารถแทงทะลุถึงภาวะตามเป็นจริงแห่งธรรมทั้งหลายว่า เป็นสมภาพเสมอกันหมด และสามารถแทงทะลุในธรรมทั้งหลายแต่ละอย่างไซร้ และเที่ยวบิณฑบาตโดยประการดั่งนี้ จึงสมควรที่จักถือเอาภัตตาหารนี้ไปขบฉันได้ พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณมิต้องตัดถอน ราคะ โทสะ โมหะ ให้เป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่อยู่ร่วมกับกองกิเลสเหล่านี้ ไม่ต้องทำลายสรีรขันธ์แต่ก็สามารถเข้าถึงสุญญตาอันเป็นเอกภาพได้ อาศัยปัญจานันตริยกรรม แต่ก็บรรลุวิมุตติได้ อันที่จริงก็ไม่มีการรอดพ้นและไม่มีการผูกมัดใด ๆ ไม่ต้องเป็นแจ้งในจตุราริยสัจ และมิได้มีการไม่เห็นแจ้งในจตุราริยสัจ ไม่มีการบรรลุอริยผล และมิได้มีการไม่บรรลุอริยผล ไม่มีปุถุชน และไม่มีการพ้นจากภาวะปุถุชน ไม่มีพระอริยบุคคล และมิได้มีอนาริยบุคคล ถึงแม้เป็นผู้ยังธรรมทั้งปวงให้สำเร็จเป็นไปอยู่ แต่ก็ไม่มีอุปาทานพ้นจากธรรมเหล่านั้น

พระคุณทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้
ข้าแต่ท่านสุภูติผู้เจริญ พระคุณอย่าไปเฝ้าพระพุทธองค์ อย่าสดับพระสัทธรรม แต่จงถือครูพาหิรลัทธิทั้ง ๖ มีปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาละ สัญชัยเวลัฏฐบุตร อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ และนิครนถ์นาฏบุตรว่าเป็นศาสดา จงไปบรรพชาในสำนักของครูเหล่านี้ เมื่อครูทั้ง ๖ เขาตกไปสู่อบายภูมิ พระคุณก็ตกตามเขาไปด้วย ทำได้เช่นนี้ จึงสมควรขบฉันภัตตาหารนี้ อนึ่งถ้าพระคุณสามารถเข้าถึงมิจฉาทิฏฐิทั้งปวง อย่าบรรลุถึงฝั่งแห่งภพ ตั้งอยู่ในอัฏฐอันตรายิกธรรม อย่าบรรลุถึงความเกษมจากอันตรายดังกล่าวนั้น มีกิเลสเป็นสหธรรมอยู่ร่วมกัน ห่างไกลจากวิสุทธิธรรม ตัวของพระคุณไม่ชื่อว่าเป็นบุญเขตของผู้บริจาค ผู้ที่บูชาสักการะทำบุญกับพระคุณ ชื่อว่าเป็นผู้บ่ายไปสู่อบายภูมิ พระคุณจงจูงมือกับบรรดามารทั้งหลาย เป็นสหายร่วมงานกับเหล่ามารนั้น ตัวของพระคุณกับสรรพมารพร้อมทั้งปวงกิเลสไม่มีอะไรแตกต่างกัน มีจิตผูกเวรในสรรพสัตว์ กล่าวจ้วงจาบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กับทั้งทำลายพระธรรม และไม่เข้ากับหมู่สงฆ์ ในที่สุดก็ไม่สำเร็จพระนิพพาน หากพระคุณเป็นได้อย่างนี้ จึงสมควรถือเอาภัตตาหารนี้ไป.”


“ข้าแต่พระสุคต สมัยนั้น เมื่อข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำดังกล่าวแล้วก็ให้งงงันไปหมด ไม่เข้าใจว่าเป็นถ้อยคำอะไร ? ไม่ทราบว่าจะโต้ตอบได้อย่างไร ? ข้าพระองค์จึงวางบาตรไว้จะเดินออกจากคฤหาสน์นั้นวิมลเกียรติอุบาสกก็พูดขึ้นว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสุภูติ พระคุณจงนำเอาบาตรไปเถอะ อย่าได้มีหวั่นกลัวเลย พระคุณจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน ? ในกรณีที่พระตถาคตเจ้า ทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เกิดมีมายาบุรุษผู้หนึ่งขึ้นมาแล้ว พระองค์นำเอาถ้อยคำดังเช่นที่กระผมกล่าวถามพระคุณนั้น ถามมายาบุรุษอันมายาบุรุษนั้นจักบังเกิดความหวั่นกลัวฤๅหนอแล?”
ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”

“ท่านวิมลเกียรติกล่าวว่า “ธรรมทั้งหลายก็เปรียบดุจมายาลักษณะพระคุณจึงมิควรมีความหวั่นกลัวอะไร ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายเป็นสักแต่ว่าบัญญัติโวหาร ปราศจากสาระที่มีอยู่ด้วยภาวะของมันเอง ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดถือในอักขระถ้อยคำ ฉะนั้นจึงปราศจากความหวั่นหวาดใด ๆ ด้วยเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะเหตุว่าอักขระถ้อยคำนั้น แท้จริงก็ปราศจากสภาวะ ( เป็นสุญญตา) แล้ว นั้นคือ วิมุตติธรรม และวิมุตติธรรมนี้เองที่เป็นธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วย”

“เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมกถานี้จบลง ก็มีเทวบุตร ๒๐๐ องค์ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระปุณณมันตานิกบุตรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระปุณณมันตานี้บุตรกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้หรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์พักอาศัยในมหาวนาสณฑ์อยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ กำลังแสดงธรรมให้บรรดาพวกภิกษุฟัง ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้ปราศรัยกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าปุณณะ ขอพระคุณได้เข้าสมาบัติตรวจดูจิตตัชฌาสัยแห่งภิกษุเหล่านี้ก่อนเถิด แล้วจึงค่อยแสดงธรรมโปรดภายหลัง พระคุณโปรดอย่าได้นำโภชนาหารอันหยาบสกปรกใส่ลงไปในรัตนภาชน์เลย พระคุณสมควรรู้แจ้งถึงภูมิธรรมแห่งจิตของภิกษุเหล่านี้ อย่าได้นำไพฑูรย์อันมีค่าไปเสมอกับลูกปัดเลย พระคุณไม่สามารถแทงตลอดในอินทรีย์ของสรรพสัตว์ ก็โปรดอย่าได้ชักจูงให้ภิกษุเหล่านี้ให้ตั้งอยู่ในธรรมฝ่ายหินยานเลย ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ปราศจากบาดแผลในตัวอยู่แล้ว ขอพระคุณอย่าได้ไปทำให้มีขึ้นเลย อนึ่ง ภิกษุเหล่านี้มีความปรารถนาที่จักประพฤติมหามรรคจริยา แต่พระคุณกลับไปชี้ให้เดินตามหินมรรคจริยาพระคุณอย่าได้นำมหาสมุทรมาบรรจุใส่ไว้ในรอยเท้าโคเลย และอย่าได้นำแสงทิวากรมาเสนอเปรียบเทียบกับแสงหิ่งห้อยเลย ข้าแต่ท่านปุณณะผู้เจริญ บรรดาภิกษุทั้งหมดนี้ ได้ตั้งจิตมุ่งต่อมหายานธรรมมาแล้วแต่กาลอันยาวนานทีเดียว ครั้นมาในท่ามกลางก็ตะลึงมโนปณิธานนั้นเสีย ไฉนพระคุณจึงจักนำหินยานธรรมมาแนะนำสั่งสอนเล่า ? กระผมพิจารณาแล้วเห็นว่า อันบุคคลผู้เป็นฝ่ายหินยานมีปัญญาน้อยตื้น อุปมาดังคนมีจักษุบอด ไม่อาจสามารถจำแนกอินทรีย์ละเอียดหยาบของสรรพสัตว์ได้”

“เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว วิมลเกียรติอุบาสกก็เข้าสมาบัติ บันดาลด้วยฤทธิ์ให้ภิกษุเหล่านั้นบังเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณขึ้น ต่างระลึกได้ว่าในอดีตกาล ต่างได้เคยปลูกฝังกุศลมูลในเฉพาะพระพุทธเจ้า ๕๐๐ พระองค์มาแล้ว โดยต่างตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในทันใดนั้นภิกษุทั้งหมดเหล่านั้น ก็มีจิตกลับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมเดิมนั้นอีก และภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ก็มีจิตกลับขึ้นไปสู่ภูมิธรรมเดิมนั้นอีก และภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็พากันอภิวาทบาทของวิมลเกียรติอุบาสกด้วยเศียรเหล่า ครั้งนั้น วิมลเกียรติอุบาสกได้กล่าวธรรมกถา ยังจิตของภิกษุเหล่านั้นไม่ให้เสื่อมถอยจากพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณวิถีอีกต่อไป ข้าพระองค์มาตรึกว่า พระสาวกซึ่งไม่พิจารณาอินทรีย์ของสัตว์โลก ก็มิสมควรที่จักแสดงพระสัทธรรม เพราะเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่สมควรในการไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีผู้นั้น พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระมหากัจจานะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหากัจจานะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แต้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระสุคตเจ้าทรงพระสัทธรรมโดยสังเขปนัยแต่หมู่ภิกษุสงฆ์ ภายหลังข้าพระองค์ได้ทำหน้าที่อรรถาธิบายในข้อสัทธรรมนั้น อันว่าด้วยเรื่อง อนิจจกถา ทุกขกถา สุญญาตกถา อนัตตกถา นิโรธกถา เป็นต้น ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มากล่าวแก่ข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้ามหากัจจานะ พระคุณโปรดอย่าแสดงภูตสัตยธรรมด้วยจิตจรรยาอันเกิดดับนี้เลย พระคุณเจ้ามหากัจจานะ แท้จริงธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีความเกิด ไม่มีความดับเป็นสภาพ นี้คือความหมายแห่งอนิจจตา การพิจารณาแทงตลอดในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นสภาพว่างเปล่าปราศจากสาระบังเกิดขึ้น นี้คือความหมายแห่งทุกขตา ธรรมทั้งหลายปราศจากสภาวะในที่สุด นี้คือความหมายแห่งสุญญตา อัตตากับอนัตตามิได้เป็นธรรมแตกต่างกัน นี้คือความหมายแห่งอนัตตา ตามธรรมดาธรรมทั้งปวงก็ไม่มีสภาพอุบัติขึ้น ฉะนั้น จึงไม่มีสภาพดับสลายไป นี้คือความหมายแห่งนิโรธ.”

“เมื่อคฤหบดีนั้นกล่าวจบลง ภิกษุเหล่านั้น มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะเหตุฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมเขา พระพุทธเจ้าข้า”



พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกา ให้พระอนุรุทธะไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระมหาเถระกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็เป็นผู้ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เดินจงกรมอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น มีพรหมราชองค์หนึ่ง ทราบนามว่าอลังการวิสุทธิพรหม พร้อมด้วยพรหมบริษัทหนึ่งหมื่นองค์ มีรัศมีโอภาสรุ่งเรืองยิ่งนัก เข้ามาหาข้าพระองค์ การทำการอภิวาทน์โดยความเคารพแล้วถามข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทิพยจักษุของพระคุณจักมีทัศนวิสัยเพียงไรหนอ?”

“ข้าพระองค์จึงตอบไปว่า “ท่านผู้เจริญ เราทัศนาพุทธเกษตรองค์สมเด็จพระศากยมุนีพุทธเจ้า พร้อมทั้งมหาตรีสหัสสโลกธาตุ ดุจเล็งดูผลมะขามป้อมในฝ่ามือ”
“สมัยนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามาพูดกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอนุรุทธ์ ทัศนวิสัยแห่งทิพยจักษุของพระคุณนั้น พระคุณแลดูด้วยจิตปรุงแต่งในลักษณะฤๅไม่ หรือว่าแลดูด้วยจิตอันปราศจากการปรุงแต่งในลักษณะ ? หากพระคุณแลดูด้วยจิตที่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นสังขตธรรม ย่อมมีค่าเท่ากับอภิญญา ๕ ของพวกพาหิรลัทธิ หากพระคุณแลดูด้วยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ ก็ชื่อว่าเป็นอสังขตธรรม ย่อมไม่ควรที่จักมีการเห็นอะไรอีก.”

“ข้าแต่พระสุคต เวลานั้นข้าพระองค์ต้องสงบนิ่งไป มิได้ตอบว่าอย่างไร แต่บรรดาพรหมเทพเหล่านั้น ครั้นได้สดับถ้อยคำนั้นแล้ว รู้สึกว่าเป็นถ้อยคำที่ตนไม่เคยฟังมาก่อน จึงพากันทำอภิวาทน์วิมลเกียรติคฤหบดี แล้วถามขึ้นว่า

“ข้าแต่ท่านวิมลเกียรติผู้เจริญ ในสากลโลกนี้ ผู้ไดเล่าที่ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ?”

คฤหบดีนั้นตอบว่า “มีอยู่ คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ได้บรรลุทิพยจักษุอย่างแท้จริง ทรงอยู่ในสมาธิโดยมิขาด เล็งแลเห็นสรรพพุทธเกษตรทั้งปวง มิได้เห็นโดยอาศัยจิตปรุงแต่งในลักษณะหรือเห็นโดยจิตไม่ปรุงแต่งในลักษณะ.”

“พรหมราชอลังการวิสุทธิ พร้อมพรหมบริษัทอีก ๕๐๐ องค์ ได้สดับธรรมกถานี้แล้ว ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วพากันอภิวาทบาทของวิมลเกียรติคฤหบดี อันตรธานหายไปในบัดดลนั้น โดยเหตุนี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมที่จะไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นพระพุทธเจ้าข้า.”



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 กรกฎาคม 2554 12:09:45 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 02 กันยายน 2553 19:30:40 »




พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธบรรหารให้พระอุบาลีไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอุบาลีกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรที่จักไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ของอุบาสกนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์มาตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง มีภิกษุสองรูปประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติ เธอมีความสำนึกละอายในอาบัตินั้น ไม่กล้าจักกราบทูลไต่ถามโทษแห่งอาบัติกับพระสุคตเจ้าได้ จึงได้มาไต่ถามข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่ท่านอุบาลีผู้เจริญ เราทั้งสองต้องอาบัติล่วงพระวินัยบัญญัติ มิอาจกราบทูลถามพระพุทธองค์ได้ ขอท่านผู้เจริญโปรดได้เมตตาช่วยตัดวิมุติกังขา เพื่อเราทั้งสองจักได้พ้นอาบัติด้วยเถิด.

“ข้าพระองค์จึงได้ชี้แจงโดยสมควรแก่พระธรรมวินัย ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดี ได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี ขอพระคุณอย่าได้เพิ่มโทษผิดให้กับพระภิกษุสองรูปนี้เลย พระคุณควรจะสอนให้ดับโทษที่สมุฏฐานโดยตรงดีกว่า ไม่พึงก่อวิปฏิสารจิตแก่ท่านทั้งสองรูป ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าสภาวะแห่งอาบัติโทษนั้น มิได้อยู่ภายใน มิได้อยู่ภายนอก และมิได้อยู่ ณ ท่ามกลาง สมดั่งพระพุทธภาษิตที่ว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เศร้าหมอง เมื่อจิตผ่องแผ้ว สัตว์ก็ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ผ่องแผ้วก็ธรรมชาติแห่งจิตนั้น ไม่ตั้งอยู่ภายใน ไม่ตั้งอยู่ภายนอก และไม่ตั้งอยู่ ณ ท่ามกลาง ธรรมชาติแห่งจิตเป็นอย่างไร ธรรมชาติแห่งอาบัติโทษก็ย่อมมีอุปมาดุจเดียวกัน ธรรมทั้งปวงมีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะสิ่งทั้งปวง ย่อมไม่พ้นจากความเป็น “ตถตา” เช่นเดียวกับพระคุณท่านอุบาลีเอง เมื่อสมัยที่จิตของพระคุณหลุดพ้นจากอาสวกิเลส จิตในสมัยนั้นจักมีความเศร้าหมองฤๅไม่ ?”

ข้าพระองค์ตอบว่า “หามิได้”

วิมลเกียรติคฤหบดีจึงว่า “ธรรมชาติจิตของสรรพสัตว์ ก็ปราศจากความเศร้าหมองโดยนัยเดียวกัน.

ข้าแต่พระคุณเจ้าอุบาลี วิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมองความพ้นจากวิกัลปสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ วิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากวิปลาสสัญญาชื่อว่าเป็นธรรมบริสุทธิ์ ความยึดถือในตัวตนชื่อว่าธรรมเศร้าหมอง ความพ้นจากความยึดถือตัวตนชื่อว่าธรรมบริสุทธิ์ พระคุณท่านอุบาลีผู้เจริญ อันธรรมทั้งปวงนั้นเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ปราศจากแก่นสาร ความดำรงมั่นเหมือนมายาเหมือนสายฟ้าแลบ ธรรมทั้งปวงไม่เป็นคู่ แม้เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งก็ไม่ตั้งมั่นอยู่ได้ ธรรมทั้งปวงสำเร็จมาจากวิกัลปทิฏฐิเหมือนฝัน เหมือนพยับแดด เหมือนเงาดวงจันทร์ในน้ำ เหมือนเงาในกระจก ล้วนอุบัติมาจากวิกัลปสัญญา ผู้ที่เข้าถึงสถานะความจริงอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระวินัย และชื่อว่าเป็นผู้แตกฉานเจนจบในพระวินัยโดยแท้จริง.”

ภิกษุทั้งสองรูป ได้กล่าวสรรเสริญขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญเป็นผู้มีปัญญาเยี่ยมยอดโดยแท้หนอ แม้แต่ท่านพระอุบาลีก็ยังไม่อาจเปรียบปานได้ ขนาดเป็นเอตทัคคะทางพระวินัยก็ยังไม่สามารถจักแสดงถึงเช่นนี้ได้.”

ข้าพระองค์จึงกล่าวตอบไปว่า “ยกพระผู้มีพระภาคเสียแล้วก็ไม่มีพระสาวกหรือพระโพธิสัตว์ได ๆ ที่จักมีสติปัญญาปฏิภาณโวหารสามารถ แหลมลึกเช่นอุบาสกผู้นี้ได้”

สมัยนั้น พระภิกษุสองรูป มีวิมุติกังขาไปปราศจากแล้ว ได้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมกับตั้งจิตปฎิธานว่า “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีสติปัญญา ปฏิภาณสามารถอย่างเดียวกันนี้ทั่วหน้าเถิด.”

เพราะเหตุฉะนี้แล พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีนั้น.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระราหุลเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ พระราหุลกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสมควรไปเป็นผู้เยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง คฤหบดีทั้งหลายชาวเมืองเวสาลีได้เข้ามาหาข้าพระองค์ กระทำอภิวาทน์ แล้วกล่าวขึ้นว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุลผู้เจริญ พระคุณเป็นโอรสผู้ประเสริฐของพระพุทธองค์ แต่พระคุณสละจักรพรรดิสมบัติออกบรรพชาบำเพ็ญวิราคธรรม ก็การประพฤติเนกขัมมจริยาดังกล่าวนั้น จักมีคุณประโยชน์ประการใดบ้าง ?”

“ข้าพระองค์จึงได้แจกแจงเนกขัมมานิสงส์ โดยนัยประการต่าง ๆ ให้ฟัง ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าราหุล ขอพระคุณโปรดอย่าได้แสดงถึงเนกขัมมานิสงส์ได ๆ เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ เพราะเมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีสภาวะใดที่จะพึงเรียกว่าคุณประโยชน์ หรือจักพึงเรียกว่าบุญญานิสงส์นั่นเอง และนั่นจึงเป็นอรรถรสอันแท้จริงของการออกบรรพชา โดยนัยแห่งสังขตธรรม จึงกล่าวบัญญัติได้ว่า มีสภาวะที่เป็นคุณประโยชน์ มีสภาวะที่เป็นบุญญานิสงส์ แต่การออกบรรพชาบำเพ็ญเนกขัมมจริยานั้น ก็เพื่อบรรลุถึงธรรมอันเป็นอสังขตะ ก็ในอสังขตธรรมนั้น ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงบัญญัติเรียกได้ว่าเป็นคุณประโยชน์ฤๅเป็นบุญญานิสงส์ ข้าแต่ท่านราหุลผู้เจริญ ผู้ที่ออกบรรพชาโดยแท้จริงนั้นย่อมไม่ยึดถือว่า มีนั่น มีนี่ หรือยึดถือในท่ามกลาง

เขาย่อมห่างไกลจากทิฏฐิ ๖๒ ตั้งอยู่ในนิพพาน
อันเป็นธรรมซึ่งบัณฑิตผู้มีปัญญาจักพึงบรรลุเป็นธรรมซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินตามอยู่ เขาย่อมอาจสามารถทำลายเหล่ามารทั้งหลาย ข้ามพ้นจากปัญจคติ เป็นผู้มีปัญจจักษุอันหมดจด ถึงพร้อมด้วยปัญจพละ ตั้งอยู่ในปัญจอินทรีย์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พ้นจากสรรพอกุศลธรรม ข่มนอนพวกพาหิรลัทธิได้ เป็นผู้พ้นจากข่ายแห่งสมมติบัญญัติ ดังอุบลซึ่งบานพ้นจากเปือกตม เป็นผู้ปราศจากสังโยชน์เครื่องร้อยรัด ไม่มีอหังการและมมังการ ไม่มีอนุภูตธรรม ไม่มีความฟุ้งซ่านวิปฏิสารใด ๆ ภายในจิต มีแต่ความปีติสุข เป็นผู้แผ่ธรรมคุ้มครองสรรพสัตว์ ให้ได้เข้าถึงสภาพธรรมดุจเดียวกับตนด้วย มีปกติอยู่ในฌานสมาธิ ห่างไกลจากปวงบาปโทษทั้งผองหากผู้ใดทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ออกบรรพชาที่แท้จริง.”

ครั้นแล้ว วิมลเกียรติคฤหบดี จึงหันมากล่าวกับบุตรคฤหบดีทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญ สมควรจักอุทิศตนบรรพชาในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะว่าการที่จักได้เกิดร่วมยุคร่วมสมัย มีโอกาสเห็นพระพุทธองค์เป็นการยากยิ่งนัก จึงไม่ควรพลาดโอกาสนี้เสีย.”

บุตรคฤหบดีทั้งหลายต่างพูดขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราได้สดับพระพุทธพจน์ว่า เมื่อบิดามารดาไม่ยินยอมอนุญาต จักออกบรรพชาอุปสมบทมิได้.”

วิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายพึงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักชื่อว่าได้ออกบรรพชาอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว.”


“ครั้งนั้น บุตรคฤหบดี ๓๒ คน ต่างก็ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธฎีกาให้พระอานนท์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระอานนท์กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้านั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง พระสุคตเจ้าประชวรด้วยอาพาธเล็กน้อย จำต้องใช้น้ำนมโคมาบำบัด ข้าพระองค์ได้ถือบาตรจาริกไปยืนอยู่หน้าบ้านของมหาพราหมณ์ผู้หนึ่ง เพื่อบิณฑบาตน้ำนมโค ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ มาถือบาตรยืนอยู่ ณ ที่นี้แต่เช้าเพื่ออะไรหรือ ?”

“ข้าพระองค์ตอบไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี พระผู้มีพระภาคประชวร อาพาธเล็กน้อย จำเป็นต้องใช้น้ำนมโคไปบำบัด อาตมภาพจึงมายืนอยู่ ณ ที่นี้ เพื่อสิ่งประสงค์นั้น.”

“วิมลเกียรติคฤหบดีพูดว่า “หยุดเถอะ ! หยุดเถอะ ! พระคุณเจ้าอานนท์ อย่าได้กล่าววาจาอย่างนี้อีกเลย อันพระวรกายของพระพุทธองค์นั้น ย่อมสำเร็จเป็นวัชรกายสิทธิ มีสรรพบาปโทษละได้ขาดแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นที่ประชุมแห่งสรรพกุศลธรรมทั้งปวง ที่ไหนจักมีอาพาธมาเบียดเบียนได้ ที่ไหนจักต้องเดือนร้อนเพราะความเบียดเบียนนั้นเล่า ? โปรดเงียบเสียเถิดพระคุณอย่าได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์นักเลย อย่าได้ให้พวกพาหิรชนได้สดับถ้อยคำอันหยาบช้านี้ อย่าได้ให้บรรดาทวยเทพผู้มีมหิทธิฤทธิ์กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในวิสุทธิพุทธเกษตรต่าง ๆ ซึ่งมาเฝ้าพระพุทธองค์สดับถ้อยคำนี้ได้ ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้แต่พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งอาศัยบุญญาธิการแต่เพียงเล็กน้อย ก็ยังเป็นผู้ปราศจากพยาธิภัย จักกล่าวไปไยกับพระตถาคตเจ้าซึ่งทรงสมบูรณ์ ประชุมพร้อมด้วยบุญญาธิการอันไม่มีประมาณประเสริฐเลิศกว่าเล่า

 กลับไปเสียเถิดพระคุณเจ้าอย่ากระทำให้พวกเราต้องได้รับความอับอายเลย พวกพาหิรชนสมณพราหมณ์ภายนอก หากได้สดับถ้อยคำของพระคุณเจ้าแล้ว ก็จักเกิดความตรึกคิดขึ้นว่า ก็นี่จักชื่อว่าพระบรมศาสดาได้อย่างไรกัน เพราะแม้แต่โรคของตนเองยังบำบัดช่วยตนเองไม่ได้ ที่ไหนจักสามารถช่วยบำบัดโรคภัยของผู้อื่นเล่า ? ฉะนั้น พระคุณจงรีบกลับไปเงียบ ๆ อย่ากระโตกกระตากให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ยินเป็นอันขาดเทียวหนา พระคุณเจ้าอานนท์พึงทราบไว้เถอะว่า พระวรกายที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายก็คือพระธรรมกายนั้นเอง มิได้เป็นกายเกิดจากกิเลสตัณหา พระพุทธองค์เป็นพระผู้ควรบูชา ประเสริฐเลิศกว่าผู้หนึ่งผู้ใดในไตรโลก พระสรีระของพระองค์เป็นอนาสวะ มีอาสวธรรมเป็นมูลเฉทสิ้นเชิงแล้ว พระสรีระของพระองค์เป็นสังขตะ ปราศจาก เหตุปัจจัยปรุงแต่งได้ ไม่ตกไปในข่ายแห่งการนับประมาณได้ ก็เมื่อพระวรกายของพระองค์มีสภาพดังกล่าวมานี้ จักมีโรคาพาธเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า ?

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมัยนั้น ข้าพระองค์ได้บังเกิดความละอายเกรงกลัวในตนเองขึ้นว่า เราเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดพระบรมศาสดาจักฟังพระพุทธดำรัส โดยฟังผิดไปกระนั้นฤๅ ? ทันใดนั้น ข้าพระองค์ก็ได้ยินเสียงในอากาศดังขึ้นมาว่า ๑ ”

“อานนท์ ! ถูกต้องแล้วตามที่คฤหบดีผู้นั้นกล่าว แต่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าทรงถืออุบัติมาในปัญจสหาโลกธาตุ ซึ่งมีความเสื่อม ๕ ประการจึงทรงสำแดงให้เห็นไปต่าง ๆ (มีอาพาธ) เป็นต้น เพื่อเป็นอุบายโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ จงปฏิบัติต่อไปเถิดอานนท์ บิณฑบาตน้ำนมโคต่อไปได้ โดยอย่ามีความหวั่นเกรงเลย.”

“ข้าแต่พระสุคต ดูเถิด ! สติปัญญาปฏิภาณความสามารถของวิมลเกียรติคฤหบดีมีอยู่เห็นปานฉะนี้ โดยเหตุนั้นแล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้เขา พระพุทธเจ้าข้า.”

ด้วยประการดั่งบรรยายมานี้ พระสาวกทั้ง ๕๐๐ องค์ ต่างก็กราบทูลแถลงยุบลความเป็นมาแห่งเรื่องราวของแต่ละองค์กับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างกล่าวสดุดียกย่องชมเชยในพจนาทของวิมลเกียรติคฤหบดี แต่ต่างก็ทูลด้วยเสียงอันเดียวกันว่า
ตนเองไม่เหมาะสมแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น

ปริเฉทที่ ๓ สาวกวรรค จบ.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กรกฎาคม 2554 12:25:26 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 02 กันยายน 2553 20:38:16 »

 

http://i883.photobucket.com/albums/ac40/42tong/111111/__fwdDercom__-101954592-image001.jpg
วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ

ปริเฉทที่ ๔
โพธิสัตว์วรรค

ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกาให้พระเมตไตรยโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้วิมลเกียรติคฤหบดี พระเมตไตรยโพธิสัตว์กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของอุบาสดนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์กำลังแสดงธรรมว่าด้วยปฏิปทาแห่งนิวรรตนิยภูมิแก่ดุสิตเทวราชพร้อมทั้งเทวบริษัทอยู่ ครั้งนั้นวิมลเกียรติคฤหบดีได้เข้ามากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้าเมตไตรยผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์พระคุณว่า พระคุณยังเกี่ยวเนื่องกับชาติอีกชาติเดียว ก็จักได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระคุณจักเอาชาติใดในการรับลัทธยาเทสพุทธพยากรณ์เล่า จักเอาอดีตชาติฤๅ ? อนาคตชาติฤๅ ? หรือจักเอาปัจจุบันชาติฤๅ ? ถ้าเป็นอดีตชาติไซร้อดีตก็ชื่อว่าล่วงลับไปแล้ว หากเป็นอนาคตชาติเล่า อนาคตก็ยังเป็นธรรมที่ยังไม่มาถึง หรือจักเป็นปัจจุบันชาติ ปัจจุบันชาติก็ปราศจากสภาวะความดำรงตั้งมั่นอยู่ได้ สมดังพระพุทธวจนะที่ว่า ดูก่อนภิกษุ ในกาลใด ที่ชาติของเธอบังเกิดขึ้นในกาลนั้น ก็ชื่อว่าชรา เป็นภังคะด้วย ถ้าพระคุณจักเอาอนุตปาทะ ความไม่มีชาติรับลัทธยาเทสพุทธพากรณ์ไซร้ ความไม่มีชาติเป็นอนุตปาทธรรมนั้น แท้จริงก็คือ ตัตตวสัตยธรรม ก็ในตัตตวสัตยธรรมนั้น ย่อมไม่มีการให้พยากรณ์ และไม่มีการบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อเป็นดังนี้พระคุณเจ้าเมตไตรยจักรับพุทธพยากรณ์ว่าพระคุณเป็นเอกชาติปฏิพัทธะยังเกี่ยวเนื่องกับชาติอีกเพียงชาติเดียว ก็จักตรัสรู้อย่างไรได้เล่า ? หรือจักกล่าวว่า ได้รับพุทธพยากรณ์ในความเกิดขึ้นแห่ง ตถตา ฤๅ ? หรือจักกล่าวว่า ได้รับพุทธพยากรณ์ในความดับไปแห่ง ตถตา ฤๅ ? ถ้าเป็นการรับพุทธพยากรณ์ในความเกิดขึ้นแห่ง ตถตา ไซร้ โดยความจริงแล้ว ตถตา ย่อมไม่มีความเกิดขึ้น ถ้าเป็นการรับพุทธพยากรณ์ในความดับไปแห่ง ตถตา ไซร้ โดยความจริงแล้ว ตถตา ย่อมไม่มีความดับไป สรรพสัตว์ย่อมเป็น ตถตา นี้ แม้พระคุณท่านเมตไตรยเองก็เป็น ตถตา นี้ด้วย

ฉะนั้น
ถ้าพระคุณได้รับพุทธพยากรณ์ สรรพสัตว์ก็สมควรจักได้รับพุทธพยากรณ์ด้วยข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าอันธรรมชาติแห่ง ตถตา นั้น ย่อมไม่มีความเป็นหนึ่งหรือความเป็นสองนั้นเอง หากพระคุณได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สรรพสัตว์ก็สมควรจะต้องบรรลุข้อนั้น เพราะเหตุเป็นไฉน ? ทั้งนี้เพราะธรรมชาติแห่งสรรพสัตว์นั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็คือธรรมชาติแห่งโพธินั่นเอง และถ้าพระคุณดับขันธปรินิพพานลง สรรพสัตว์ก็สมควรจักต้องดับขันธปรินิพพานด้วย ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงรู้ชัดว่า ธรรมชาติของสรรพสัตว์นั้น มีความดับรอบเป็นสภาพ คือพระนิพพาธาตุนั่นเอง มิจำเป็นต้องมีอะไรมาดับรอบกันอีก เพราะฉะนั้นแล ข้าแต่ะพระคุณเจ้าเมตไตรยผู้เจริญ พระคุณโปรดอย่าได้แสดงธรรมอย่างนี้ (คือแสดงปฏิปทาแห่งอนิวรรตรนิยภูมิ) ลวงเทวบริษัทเลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า โดยประมัตถ์แล้ว ก็ไม่มีผู้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเลย พระคุณควรเทศนาสอนให้เทพยดาเหล่านี้ละวิกัลปทิฏฐิในโพธิเสีย ด้วยเหตุเป็นไฉน ? เพราะธรรมชาติแห่งโพธินั้น จักบรรลุด้วยกายก็มิได้ ฤๅจักบรรลุด้วยจิตก็หามิได้ ธรรมชาติที่ดับรอบสนิทโดยไม่มีเศษเหลือนั่นแลคือโพธิ เพราะดับเสียซึ่งปวงลักษณะเสียได้ ฯลฯ

“ข้าแต่พระสุคต เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมนี้จบลง มีเทพยดา ๒๐๐ องค์ได้บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ ด้วยเหตุประการฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของเขา พระพุทธเจ้าข้า.”

                                         

พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธดำรัสให้พระประภาลังการกุมารไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระประภาลังการกุมารกราบทูลว่า

ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของเขาพระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ข้าพระองค์ยังระลึกได้อยู่ว่าสมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เดินทางออกจากเมืองเวสาลี ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีก็กำลังเดินทางเข้ามาสู่นครเวสาลี เมื่อพบกัน ข้าพระองค์ได้แสดงคารวะแล้วถามท่านว่า “ท่านคฤหบดีมาแต่ไหนเทียว ?
วิมลเกียรติคฤหบดีตอบว่า “ผมมาแต่ธรรมมณฑล.”

ข้าพระองค์จึงถามต่อไปว่า “ธรรมมณฑลไหน ?”

“ท่านตอบว่า จิตที่ตั้งไว้ตรงนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความล่อลวง การปฏิบัติธรรมนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังให้ลุแก่ปฏิเวธ จิตที่ลึกซึ้งนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลธรรมอันสมบูรณ์พร้อม โพธิจิตนั้นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความหลงผิดใด ๆ ทานบริจาคนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ สีลสังวรนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังปฎิธานให้สำเร็จ ขันตินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะจิตไม่บังเกิดความเบียดเบียนเป็นอุปสรรคในสรรพสัตว์ วิริยะนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะปราศจากโกสัชชะ ฌานสมาธินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะมีจิตอันฝึกฝนอ่อนโยนเป็นกรรมนียะแล้ว ปัญญานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะอรรถว่ารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวงโดยประจักษ์ เมตตานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังความสุขให้เกิดแก่สรรพสัตว์โดยเสมอภาค กรุณานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะสามารถทำให้อดกลั้นต่อความทุกข์ในการโปรดสัตว์ได้ มุทิตานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทำให้ชื่นชมยินดีในธรรม

อุเบกขานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นธรรมซึ่งยังความชัง ความรักให้สมุจเฉทไป อภินิหารนั่นแลชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังฉฬภิญญาให้สำเร็จไพบูลย์ได้ วิมุตตินั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะสละเสียซึ่งสรรพธรรมได้ อุปายนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นเหตุให้สั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ได้ สังคหวัตถุ ๔ นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นธรรมซึ่งสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย พหูสูตนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นเหตุชักจูงให้ปฏิบัติตามที่ได้สดับศึกษามา การควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะนำมาซึ่งยถาภูตญาณทัสสนะได้ โพธิหักขิยธรรม ๓๗ ประการนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะนำให้ปล่อยวางสังขารธรรมได้ จตุราริยสัจนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะเป็นสภาพจริงไม่ล่อลวงโลก ปฏิจจสมุปบาทนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑลเพราะอวิชชา ฯลฯ ชรามรณะนั้นล้วนเป็นอนัตตธรรม (ด้วยเป็นสภาพว่างเปล่า) กิเลสาสวะทั้งปวงนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะความรู้แจ้งตามสภาพของมัน
*
* อธิบายว่า กิเลสก็เป็นอนัตตา พระนิพพานเล่าก็เป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ ในส่วนของอนัตตาทั้งสองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ผู้ที่ตรัสรู้ความจริงย่อมไม่หานิพพานภายนอกกิเลส เพราะเมื่อใดมารู้ชัดว่ากิเลสนั้นว่างเปล่า เมื่อนั้นก็ย่อมเป็นนิพพาน.

 สรรพสัตว์นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะรู้แจ้งในหลักอนัตตา ธรรมทั้งปวงนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทราบชัดว่าธรรมทั้งปวงนั้นเป็นสุญญตา มารวิชัยนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะทำให้ไม่หวั่นไหวกำเริบ ภพทั้ง ๓ นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่ยึดเอาคติแห่งภพนั้น สิงหนาทนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากความหวั่นหวาดจากภัย พละ อุภยะ อเวณิกธรรมนั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะปราศจากอกุศลโทษทั้งหลาย ไตรวิชชานั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะไม่มีอาวรณธรรมใด ๆ อื่น ความที่ชั่วขณะจิตเดียวก็สามารถรู้แจ้งสรรพธรรมได้นั่นแล ชื่อว่าธรรมมณฑล เพราะยังสัพพัญญุตญาณให้สำเร็จด้วยประการดังที่พรรณนามานี้ ดูก่อนกุลบุตร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อโปรดสรรพสัตว์ การกระทำของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด จะเดิน จะเหิน จะไป จะมา ท่านพึงกำหนดรู้ไว้เถอะว่า พระโพธิสัตว์นั่นชื่อว่ามาจากธรรมมณฑลตั้งอยู่ในธรรมของพระพุทธองค์แล.”

“เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมกถานี้จบลง มีเทพยดา ๕๐๐ องค์ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยเหตุประการฉะนี้แล ข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีผู้นั้นพระพุทธเจ้าข้า.”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กรกฎาคม 2554 14:22:32 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 04 กันยายน 2553 09:19:07 »




พระผู้มีพระภาคจึงมีพระดำรัสให้พระวสุธาธรโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้ พระวสุธาธรโพธิสัตว์กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้ของคฤหบดีผู้นั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์อาศัยอยู่ในเคหะอันสงัดวิเวก ครั้งนั้น พญามารวสวัตดีมีทิพยลักษณ์ ดุจท้าวศักรินทรเทวราช มีนางเทพธิดา ๑๒,๐๐๐ แวดล้อมเป็นบริวาร บำเรอด้วยทิพยสังคีต พากันมาอภิวาทน์บาทของข้าพระองค์ กระทำอัญชลีกรรมด้วยความเคารพแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ข้าพระองค์สำคัญผิดว่า เป็นท้าวศักรินทร์เทวราชจริง ๆ จึงได้กล่าวปฏิสันถารว่า

“ดูก่อนท้าวโกสีย์ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว พระองค์ได้เสวยวิบากแห่งบุญเห็นปานนี้ ขอพระองค์อย่าได้ประมาทพึงพอใจแต่เพียงเท่านี้เลย พึงพิจารณาเบญจพิธกามคุณ ๕ ว่าเป็นสิ่งอนิจจัง เพื่อเจริญกุศลธรรมไว้เป็นรากฐานยิ่งขึ้นไปอีก พระองค์พึงอาศัยสรีระ ชีวิต และโภคสมบัตินี้แสวงหาธรรมอันมีสาระเถิด.”

พญามารได้ตอบข้าพระองค์ว่า “ข้าแต่ท่านมุนี ข้าพเจ้าขอถวายเทพธิดา ๑๒,๐๐๐ นี้แก่ท่าน เพื่อเอาไว้ใช้งานมีการปัดกวาดเสนาสนะเป็นต้น.”

ข้าพระองค์ได้ปฏิเสธว่า “ดูก่อนท้าวโกสีย์ พระองค์อย่าได้ปรารถนาให้สิ่งอันไม่ชอบธรรมแก่อาตมภาพ ซึ่งเป็นสมณศากยบุตรเลย สิ่งนี้ไม่สมควรแก่สมณวิสัย.” ข้าพระองค์ไม่ทันจะพูดจบ วิมลเกียรติคฤหบดีก็ตรงมากล่าวกับข้าพระองค์ว่า

“นั่นไม่ใช่ท้าวศักรินทร์หรอก เป็นมารจำแลงมาผจญทำลายตบะท่านต่างหากเล่า.”

แล้วคฤหบดีนั้นก็หันมาปราศรัยกับมารว่า “บรรดาเทพธิดาเหล่านี้จงยกให้แก่เราได้ เพราะตัวเรานี้แหละ เป็นผู้เหมาะควรแก่การรับของ ของท่านนี้.”

สมัยนั้น พญามารมีความหวาดกลัว เกิดความปริวิตกว่า วิมลเกียรติคฤหบดี จักเล่นงานเราหรืออย่างไร จึงจักอันตรธานหายไปจากที่นั้นแต่ก็ไม่บังเกิดผล แม้จักบันดาลด้วยมหิทธิฤทธิ์นานัปการก็ไปจากที่นั้นหาได้ไม่ ทันใดนั้น มีเสียงนฤโฆษดังมาจากอากาศว่า*(* เป็นเสียงของวิมลเกียรติสำแดงขึ้น)

“วสวัตดีเอ๋ย เจ้าจงมอบเทพธิดาเหล่านี้ให้เขาเสียเถิด แล้วเจ้าจึงกลับไปได้.”
“พญามารมีความกลัวนัก จึงยอมมอบเทพธิดาบริวารให้แก่วิมลเกียรติคฤหบดีไปตามคำบัญชานั้น.”

ครั้งนั้นท่านวิมลเกียรติคฤหบดี ได้สอนเทพธิดาทั้งปวงว่า พญามารได้มอบเธอทั้งหลายแก่เราแล้ว บัดนี้เธอทั้งปวงจงตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเทอญ” แล้วพร่ำสอนโอวาทานุศาสนีเป็นอันมาก ยังเทพธิดาทั้งนั้นให้มีจิตตั้งมั่นอยู่ในธรรมานุธรรมปฏิบัติ ในที่สุดคฤหบดีนั้นกล่าวว่า

“บัดนี้ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็มีจิตตั้งมั่นอยู่ในธรรมานุธรรมปฏิบัติแล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมสุขเป็นที่ยินดีโดยตนเอง ฉะนั้น อย่าพึงยินดีในเบญจพิธกามคุณ ๕ อีกต่อไป”
เทพธิดาเหล่านั้นจึงถามขึ้นว่า “อะไรชื่อว่ามีธรรมสุขเป็นที่ยินดี ?”

ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีตอบว่า “ยินดีที่มีศัทธาปสาทะในพระพุทธองค์เป็นนิตย์ ยินดีในการสดับพระสัทธรรมเป็นนิตย์ ยินดีในการได้บูชาสักการะพระสงฆเจ้าเป็นนิตย์ ยินดีในการพ้นจากเบญจพิธกามคุณเป็นนิตย์ ยินดีในการพิจารณาเห็นปัญจขันธทั้ง ๕ มีอุปมาดุจโรคร้าย ยินดีในการพิจารณาเห็นมหาภูตรูปทั้ง ๔ มีอุปมา ดุจงูพิษ ยินดีในการพิจารณาเห็นสฬายตนะภายในมีอุปมาดุจเรือนร้าง ยินดีในการคุ้มครองรักษาจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมานุธรรมปฏิบัติ ยินดีในการบำเพ็ญอัตถประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ยินดีในการเคารพบูชาคุณครูบาอาจารย์ ยินดีในการบริจาคมหาทาน ยินดีในการมีสีลสังวรเคร่งครัด ยินดีในการมีขันติโสรัจจะ ยินดีในการยังกุศลสโมธานให้บังเกิดโดยมิย่นย่อ ยินดีในฌานสมาธิอันไม่ฟุ้งซ่าน ยินดีในปัญญาอันบริสุทธิ์สะอาด ยินดีในการมุ่งจิตต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ยินดีในการบำราบเหล่ามาร ยินดีในการยังสรรพกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉท ยินดีในการยังพุทธเกษตรให้บริสุทธิ์หมดจด ยินดีในการยังมหาปุริสลักษณะให้สำเร็จจึงสร้างปวงกุศลสมภาร ยินดีในกิจอลังการธรรมมณฑล ยินดีในการสดับพระสัทธรรมอันเป็นส่วนลึกซึ้ง ก็ไม่พึงบังเกิดความท้อถอยเหนื่อยหน่ายหวั่นเกรง ยินดีในการบรรลุวิโมกข์ ฯลฯ นี้แลชื่อว่าพระโพธิสัตว์มีธรรมสุขเป็นที่ยินดี.

ในลำดับนั้น พญามารวสวัตดีได้กล่าวแก่บรรดาเทพธิดาว่า “เราปรารถนาจักกลับคืนสู่เทพมณเฑียรพร้อมกับท่านทั้งหลาย.”

เทพธิดาบริษัทตอบสนองว่า “พวกหม่อมฉันพร้อมด้วยท่านคฤหบดีผู้นี้มีธรรมสุขด้วยกันอยู่ พวกหม่อมฉันได้เสวยสุขอันประณีตอย่างยิ่ง มิได้ยินดีปรารถนาต่อเบญจพิธกามสุขอีกต่อไปแล้ว.”

พญามารจึงหันมาร้องขอกับวิมลเกียรติคฤหบดีว่า
“ข้าแต่ท่านคฤหบดี ขอท่านโปรดสละเทพธิดาทั้งปวงนี้เถิดบุคคลผู้อาจจะสละสิ่งที่เห็นปานนี้ได้ ย่อมมีชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์โดยแท้.”
ท่านวิมลเกียรติกล่าวว่า “เรานะสละให้แล้วละ ท่านจงกลับคืนไปเสียเถอะ จงยังสรรพสัตว์ให้เข้าถึงความสมบูรณ์แห่งธรรมปณิธิโดยทั่วหน้าเทอญ.”
สำดับนั้นเทพธิดาบริษัทก็ถามขึ้นว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี พวกเราทั้งหมดนี้ จักพึงอาศัยอยู่ในมารมณเฑียรด้วยฐานะอย่างไรหนอแล ?”

วิมลเกียรติคฤหบดีจึงอธิบายว่า “ดูก่อนภคินีทั้งหลาย” มีธรรมบทอันหนึ่งเรียกว่า อนันตาประทีป ท่านทั้งปวงพึงศึกษากำหนดไว้ ที่ชื่อว่าอนันตประทีปนั้นอุปมาว่า ประทีปดวงหนึ่งสามารถเป็นสมุฏฐานจุดประทีปให้ลุกโพลง ขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันดวง ยังผู้ตกอยู่ในความมืดให้ได้รับแสงสว่าง และแสงสว่างนี้ก็มิรู้จักขาดสิ้นไปได้ โดยประการฉะนี้แลภคินีทั้งหลาย พระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ๆ ย่อมเป็นผู้กล่าวแนะนำชี้ทางแก่สรรพสัตว์อีกหลายร้อยหลายพัน ยังสัตว์เหล่านั้นให้ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีจิตที่มุ่งในธรรมานุธรรมปฏิบัติไม่รู้จักขาดสิ้นแสดงพระสัทธรรมตามฐานะอันควร ยังสรรพกุศลสมภารของตนเองให้ทวีไพบูลย์ขึ้น นี้แลชื่อว่า อนันตประทีป ท่านทั้งปวงมาตรว่าจักอาศัยอยู่ในวิมาน มาร ก็จงอาศัยอนันตประทีปนี้ ยังเทพยดาเทพธิดาจำนวนมากเป็นอประไมยเหล่านี้ ให้เกิดจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ การกระทำดังนี้ ชื่อว่าท่านทั้งหลายได้สนองพระคุณของพระพุทธองค์ กับทั้งชื่อว่าได้บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์สุขให้เกิดแก่สรรพสัตว์ด้วย.”

“ครั้งนั้น เทพธิดาบริษัท ได้อภิวาทน์บาทของท่านวิมลเกียรติด้วยเศียรเกล้า แล้วติดตามพญามารคืนสู่สรวงสวรรค์ ได้หายไปในบัดดลนั้นเอง ข้าแต่พระผู้มีพระภาค วิมลเกียรติคฤหบดีอุดมด้วยมหิทธานุภาพอันเป็นอิสระ ประกอบทั้งปัญญาปฏิภาณโกศลเห็นปานฉะนี้ ข้าพระองค์จึงไม่หมาะสมควรที่จักไปเยี่ยมไข้ของเขา พระพุทธเจ้าข้า.”


พระผู้มีพระภาคจึงมีพระพุทธบรรหารให้บุตรคฤหบดี ผู้ชื่อว่าสุทัตตะเป็นผู้ไปเยี่ยมไข้ สุทัตตะกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์ก็ไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ข้าพระองค์ยังตามระลึกได้อยู่ว่า สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์ได้จัดงานกุศลบำเพ็ญมหาทานบริจาค ณ คฤหาสน์ของท่านบิดา บริจาคทำบุญสักการะในสมณะทั้งหลาย ในพราหมณ์ทั้งหลาย กับทั้งบรรดานักบวชภายนอกศาสนาอื่น ๆ คนทุคตะเข็ญใจ พวกวรรณะต่ำ คนปราศจากญาติมิตรไร้ที่พึ่งและยาจก มีกำหนดครบถ้วน ๗ วัน ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีได้มาในท่ามกลางงานโอยทานนี้ และกล่าวกะข้าพระองค์ว่า

“ดูก่อนบุตรคฤหบดี อันมหาทานสันนิบาตนี้ เขาไม่จัดทำกันอย่างเช่นที่ท่านทำอยู่นี้หรอก ท่านพึงบำเพ็ญธรรมทานสันนิบาตเป็นนิตย์ วัตถุทานเหล่านี้จักไปทำไม ?”
ข้าพระองค์จึงถามว่า “ข้าแต่ท่านคฤหบดี อะไรเล่าชื่อว่าธรรมทานสันนิบาต ?”

ท่านตอบว่า “อันธรรมทานสันนิบาตนั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคตในกาลเดียวบูชาสักการะในสรรพสัตว์ได้ทั่วถึงนี้แลชื่อว่าธรรมทานสันนิบาต.”
ข้าพระองค์ถามอีกว่า “นั่นคืออะไร ?”

ท่านตอบว่า “เพราะมีความตรัสรู้เป็นที่ตั้ง พึงยังเมตตาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักโปรดสรรพสัตว์เป็นที่ตั้ง พึงยังพระมหากรุณาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักธำรงพระศาสนาให้ยั่งยืนนาน พึงยังมุทิตาจิตให้เกิดขึ้น เพราะจักสงเคราะห์ปัญญาให้เกิดขึ้นพึงปฏิบัติในอุเบกขา เพราะจักสงเคราะห์ คนมัจฉริยะโลภมากพึงยังทานบารมีให้เกิดขึ้น เพราะจักสั่งสอนคนทุศีลพึงยังศีลบารมีให้เกิดขึ้น เพราะธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา พึงยังขันติบารมีให้เกิดขึ้น เพราะการบรรลุความตรัสรู้ พึงยังฌานบารมีให้เกิดขึ้น เพราะการสำเร็จในสัพพัญญุตญาณ พึงยังปัญญาบารมีให้เกิดขึ้น แสดงธรรมสั่งสอนปวงสัตว์ แต่ก็มีสัญญตสัญญาเกิดอยู่เป็นปกติ ไม่ต้องสละสังขตธรรม แต่ก็ยังอนิมิตตธรรมให้เกิดได้ แม้จักแสดงให้เห็นว่าต้องเสวยภพชาติอยู่ แต่ก็ไม่ยึดถือว่าเป็นกรรม เพราะธำรงรักษาพระศาสนาพึงยังอุปายพละให้เกิดขึ้น เพราะทำการโปรดสรรพสัตว์ พึงยังสังคหวัตถุธรรมให้เกิด ฯลฯ ปฏิบัติตามกุศลธรรมานุธรรมวิธี พึงยังอาชีวะให้บริสุทธิ์มีจิตหมดจด หฤหรรษ์อยู่ พึงเข้าไกล้บัณฑิตแลไม่รังเกียจพาลชน พึงควบคุมรักษาจิตไว้ให้อยู่ในอำนาจ ฯลฯ ละสรรพกิเลสให้เป็นสมุจเฉทพร้อมทั้งสรรพอาวรณะธรรมและสรรพอกุศลธรรมให้หมดไป ยังสรรพกุศลธรรมให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุสัพพัญญุตญาณ ยังสรรพกุศลธรรมและโพธิปักขิยธรรม อันเกื้อกูลแก่ความตรัสรู้ให้อุบัติขึ้น ด้วยประการดังนี้แลกุลบุตร ! จึงชื่อว่าธรรมทานสันนิบาตพระโพธิสัตว์องค์ใด ซึ่งสถิตอยู่ในธรรมทานสันนิบาตนี้ ย่อมชื่อว่าเป็นมหาทานบดี และชื่อว่าเป็นบุญเขตอันประเสริฐของโลกทั้งปวงด้วย.”

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีแสดงธรรมจบลงในพราหมณบริษัท มีพราหมณ์ ๒๐๐ คน ต่างมุ่งจิตต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จิตของข้าพระองค์เองในสมัยนั้น ก็หมดจดสะอาดได้สรรเสริญธรรมของท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยมี แล้วได้มีขึ้น ได้กระทำอภิวาทน์บาทของคฤหบดีนั้นด้วยเศียรเกล้าแล้ว ข้าพระองค์จึงแก้เอาสร้อยสังวาลเครื่องประดับมีราคามากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะออกจากตัว น้อมไปบูชาท่านวิมลเกียรติ ท่านไม่รับของบูชานั้น ข้าพระองค์จึงกล่าวว่า

“ข้าแต่ท่านคฤหบดี โปรดรับสิ่งบูชานี้เถิด สิ่งนี้สุดแล้วแต่ท่านจักจัดการ.”
“ลำดับนั้น วิมลเกียรติคฤหบดี จึงรับสร้อยสังวาลเครื่องประดับดังกล่าว แล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน นำส่วนหนึ่งไปบริจาคให้แก่ยาจกผู้มีวรรณะต่ำที่สุดในสมาคมนั้น อีกส่วนหนึ่งนำไปน้อมถวายบูชาพระอปราชิตถาคตเจ้า ซึ่งประทับอยู่ในรัศมีประภาพุทธเกษตร.”

ครั้งนั้น บริษัทชนทั้งปวงต่างก็ได้ยลเห็นพระอปราชิตตถาคตเจ้าพระองค์ผู้ประทับอยู่ ณ รัศมีประภาโลกธาตุนั้น ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวว่า
หากผู้บริจาคทานมีจิตสม่ำเสมอ ไม่แบ่งแยกบริจาคให้แก่ยาจกผู้อยู่ในวรรณะต่ำที่สุด ดุจเดียวกับว่าได้ถวายแก่พระตถาคตเจ้าอันเป็นบุญเขตที่เลิศ มีจิตกอปรด้วยมหากรุณา ไม่หวังปรารถนาต่อผลตอบแทนใด ๆ ไซร้ การบริจาคนั้นถึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมทานอันสมบูรณ์.

“ครั้งนั้น ในนครมียาจกผู้อยู่ในวรรณะต่ำที่สุด ได้ทัศนาอิทธิปาฏิหาริย์อันมหัศจรรย์ และได้สดับธรรมกถาของคฤหบดีผู้นั้น ก็ตั้งจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะเหตุฉะนี้แลข้าพระองค์จึงไม่เหมาะสมควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”

ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บรรดาพระโพธิสัตว์ต่างก็กราบทูลเล่ายุบลถึงสาเหตุของตน และต่างสดุดีความเป็นไปของวิมลเกียรติคฤหบดีพร้อมทั้งทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนเองไม่เหมาะสม ควรแก่การไปเยี่ยมไข้คฤหบดีนั้น.

ปริเฉทที่ ๔ โพธิสัตวรรค จบ.



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กรกฎาคม 2554 16:15:50 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: ตัวสกดค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 04 กันยายน 2553 11:13:05 »




        ปริเฉทที่ ๕
        คิลานปุจฉาวรรค

ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีพุทธบรรหารให้พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ไปเป็นผู้เยี่ยมไข้วิมลเกียรติคฤหบดี พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระสุคตเจ้า อันอุดมบุรุษผู้นั้นหนอ ยากที่จักมีใครโต้ตอบปุจฉาวิสัชนาด้วย เหตุด้วยท่านเป็นผู้เป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในยถาภูตสัตยธรรมมีความเชี่ยวชาญเจนจบในการแสดงธรรม มีปฏิภาณโกศลปราศจากที่ขัดข้องอีกทั้งปรัชญาญาณอันแหลมลึกทะลุปรุโปร่งไม่มีที่กีดขวาง และเป็นผู้แตกฉานรู้รอบในสรรพโพธิสัตว์ธรรม ทั้งยังเป็นผู้เข้าถึงรหัสยครรภ์อันสุขุมลุ่มลึก แห่งปวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกโสตหนึ่ง คฤหบดีนั้น เป็นผู้ชนะมาร บริบูรณ์ด้วยอภิญญากรีฑา มีปรัชญาอุบายให้สำเร็จกิจในการโปรดสรรพสัตว์ แต่ถึงแม้กระนั้น ข้าพระองค์ก็ขอรับพระพุทธบัญชา จักไปเยี่ยมไต่ถามอาการไข้ของคฤหบดีนั้น พระพุทธเจ้าข้า.”

ครั้งนั้นแล ในธรรมมหาสันนิบาต อันมีปวงพระโพธิสัตว์ พระมหาสาวก ท้าวพรหมราช ท้าวศักรินทร์ ท้าวจาตุมมหาราช ต่างก็เกิดมนสิการในใจว่า บัดนี้มหาบุรุษทั้งสองคือพระมัญชุศรีโพธิสัตว์กับท่านวิมลเกียรติคฤหบดีจักร่วมสนทนาปราศรัยกัน จักต้องมีการแสดงคัมภีรธรรมอันลึกซึ้งต่อกันเป็นแม่นมั่น ครั้นแล้วจึงพระโพธิสัตว์ ๘,๐๐๐ องค์ พระอรหันตสาวก ๕๐๐ องค์ และเทวบริษัทนับด้วยร้อยเป็นอเนก นับด้วยพันเป็นอเนก ต่างพากันมีสมานฉันท์ในอันจักติดตามไปด้วย ลำดับนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พร้อมด้วยหมู่แห่งพระโพธิสัตว์ พระมหาสาวกและทวยเทพนิกรแวดล้อมติดตามแล้วก็พากันยาตราเข้าไปสู่นครเวสาลี.

ก็โดยสมัยนั้นแล วิมลเกียรติคฤหบดีมีความปริวิตกในใจว่า บัดนี้พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พร้อมทั้งบริษัทหมู่ใหญ่จักมาสู่เคหสถานนี้พร้อมกัน จึงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขารยังเคหาสน์ของตนให้สำเร็จแปรเปลี่ยนเป็นเคหาสน์ว่างเปล่า ปราศจากสิ่งประดับตกแต่งใด ๆ ปราศจากบริวารผู้อุปัฏฐากรับใช้ได้ ๆ มีเหลือแต่เตียงอยู่เตียงเดียว ซึ่งตนนอนเจ็บอยู่เท่านั้น ลำดับนั้น พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้ย่างกรายเข้ามาสู่คฤหาสน์ของคฤหบดีนั้นแล้ว ได้ยลแต่คหาสน์อันว่างเปล่าปราศจากเครื่องแต่งบ้านใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่วิมลเกียรติคฤหบดีนอนอยู่บนเตียงโดดเดี่ยวอยู่ ครั้งนั้น วิมลเกียรติคฤหบดีจึงทักพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ขึ้นว่า

“ข้าแต่พระมัญชุศรีผู้เจริญ การมาของพระคุณเป็นการมาดีแล้ว แต่ว่ากันตามเป็นจริง พระคุณก็ไม่มีลักษณะใดที่จะมาแต่ก็ได้มา กระผมเล่าก็ไม่มีลักษณะใดจะพึงเห็นแต่ก็ได้เห็น.”

พระมัญชุศรีตอบว่า “ถูกละ คฤหบดี ! ถ้ามาแล้วก็ย่อมไม่มีการมาอีก หรือหากไปแล้วก็ย่อมไม่มีการไปอีก ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะโดยความจริงแล้ว ย่อมปราศจากแห่งหนในการมา แลย่อมปราศจากแห่งหนในการไป อันสรรพสิ่งที่เห็นนั้นเล่า ก็ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงเห็นได้ ปัญหาเรื่องนี้เชิญงดไว้ก่อน อาพาธของท่านน่ะยังพออดทนได้อยู่ฤๅ? การบำบัดรักษาเปล่าจากผลถึงกับอาการโรคทวีขึ้นหรือไม่เล่า? พระผู้มีพระภาคมีพระมหากรุณาให้อาตมภาพมาเยี่ยมเยือนถามถึงความเป็นไปของท่าน อนึ่ง อาพาธของท่านนั้นก็สมุฏฐานมาจากอะไร? เกิดขึ้นเป็นไปอยู่นานเท่าไร? แลจักดับหายไปได้อย่างไร ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “เพราะอาศัยโมหะเป็นสมุฏฐานจึงมีตัณหานี้เป็นการอุบัติขึ้นแห่งอาพาธของกระผม เพราะเหตุที่สรรพสัตว์เจ็บป่วยกระผมจึงต้องเจ็บป่วย ถ้าหากสรรพสัตว์พ้นจากความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยของกระผมก็ย่อมดับสูญไปเอง ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ? เพราะว่าพระโพธิสัตว์ย่อมอาศัยสรรพสัตว์เป็นที่ตั้ง จึงมาสู่ความวนเวียนแห่งชาติมรณะ ครั้นเมื่อยังมีชาติมรณะอยู่ ก็ย่อมมีความเจ็บป่วยอยู่ตามธรรมดา ก็ถ้าว่าสรรพสัตว์พ้นจากความเจ็บป่วยได้ พระโพธิสัตว์ย่อมปราศจากอาพาธใด ๆ รบกวนอีก อุปมาดั่งคฤหบดีผู้มีบุตรแต่เพียงคนเดียว เมื่อบุตรนั้นล้มเจ็บ บิดามารดาก็ย่อมพลอยเจ็บตามไปด้วย ครั้นบุตรนั้นหายเจ็บ บิดามารดาก็พลอยหายเจ็บไปด้วยฉันใด พระโพธิสัตว์ ก็มีอุปไมยดุจเดียวกับแม้ฉันนั้น กล่าวคือมีความกรุณาเมตตาต่อสรรพสัตว์เช่นบุตรในอุทร เมื่อสรรพสัตว์เจ็บ ก็เท่ากับพระโพธิสัตว์ท่านเจ็บ เมื่อสรรพสัตว์หายเจ็บ ความเจ็บของพระโพธิสัตว์ก็ย่อมสูญหายไป.”

“อนึ่ง พระคุณถามว่า สมุฏฐานแห่งอาพาธเนื่องมาจากอะไร ? กระผมขอวิสัชนาว่า เหตุแห่งอาพาธของพระโพธิสัตว์นั้น มีพระมหากรุณาเป็นสมุฏฐานด้วยดั่งนี้แล.”
พระมัญชุศรีถามว่า “คฤหาสน์ของท่านคฤหบดี ไฉนจึงว่างเปล่าจากผู้คนบริวารเล่า?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “แม้แต่พระพุทธเกษตรแห่งพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็มีสภาพว่างเปล่าดุจกัน.”
ถามว่า “เพราะเหตุดังฤๅจึงว่างเปล่า?”
ตอบว่า “เพราะมีความว่างเปล่าเป็นสภาพดังนั้นจึงชื่อว่าว่างเปล่า”
ถามว่า “ก็เมื่อเป็นสภาพว่างเปล่าอยู่แล้ว ไฉนจึงต้องเพ่งพิจารณาว่าว่างเปล่าอีก ?”
ตอบว่า “ เพราะความที่ปราศจากวิกัลป์ปะในความว่างเปล่านั่นเอง จึงเป็นสุญญตา.”
ถามว่า “ก็สุญญตานั้นพึงวิกัลป์ปะได้ด้วยฤๅ”
ตอบว่า “แม้วิกัลป์ปะก็เป็นสุญญตา”
ถามว่า “จักหาสุญญตาได้แต่ไหน ?”
ตอบว่า “พึงหาได้จากทิฏฐิ ๖๒.”

ถามว่า “ก็ทิฏฐิ ๖๒ นั้น จักหาได้แต่ไหน ?”
ตอบว่า “พึงหาได้ในวิมุตติภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวง.”

ถามว่า “ก็วิมุตติภาพแห่งพระสัมพุทธเจ้าทั้งปวงเล่า พึงหาได้แต่ไหน?”
ตอบว่า “พึงหาได้จากจิตจรรยาของสรรพสัตว์ อนึ่ง พระคุณท่านถามกระผมตอนต้นว่า ไฉนกระผมจึงไม่มีผู้คนบริวารเป็นอุปัฏฐากนั้น อันที่จริงสรรพมารกับทั้งปวงพาหิรชน ล้วนเป็นบริวารอุปัฏฐากของกระผม ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าสรรพมารทั้งปวงย่อมยินดีปรารถนาในความเวียนว่ายตายเกิด แม้พระโพธิสัตว์ก็ย่อมไม่สละคืนซึ่งความเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกัน บรรดาพาหิรชนย่อมยินดีปรารถนาในปวงทิฏฐิ แต่พระโพธิสัตว์ย่อมไม่ไหวหวั่นด้วยทิฏฐิเหล่านั้น.”
พระมัญชุศรีถามว่า “อาพาธของท่านคฤหบดีมีลักษณาการโรคอย่างไร ?”
ตอบว่า “อาพาธของกระผมปราศจากลักษณาการอันจักพึงเห็นได้.”
ถามว่า “อาพาธของท่านคฤหบดี มันเกิดเป็นขึ้นกับกายหรือเกิดเป็นขึ้นกับจิต ?”
ตอบว่า “จักว่ากายก็มิใช่ เพราะห่างไกลจากกายลักษณะ และก็มิใช่จิต เพราะจิตนั้นเป็นดุจมายา.

ถามว่า “ในบรรดามหาภูตรูป ๔ กล่าวคือ ปฐวีมหาภูต อาโปมหาภูตเตโชมหาภูต วาโยมหาภูตนั้น มหาภูตใดของท่านหนอที่เกิดอาพาธขึ้น ?”
ตอบว่า “ อาพาธของกระผมมิใช่เป็นที่ปฐวีมหาภูต อาโปมหาภูต เตโชมหาภูต วาโยมหาภูต แต่ก็ไม่เป็นอื่นไปจากมหาภูตทั้ง ๔ นั้น ก็แต่ว่าอาพาธสมุฏฐานแห่งปวงสัตว์ ย่อมเกิดมาจากมหาภูตรูป ๔ เมื่อสรรพสัตว์ยังอาพาธอยู่ตราบใด กระผมก็ยังต้องอาพาธอยู่ตราบนั้น.

ก็โดยสมัยนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า “พระโพธิสัตว์ผู้ไปเยี่ยมเยียนพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่ จักพึงปลอบโยนให้โอวาทด้วยประการฉันใดหนอ ?”
ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “พึงให้โอวาทถึงความอนิจจังแห่งสรีระแต่อย่ากล่าวให้เกิดความรังเกียจเอือมระอาในสรีระ พึงให้โอวาทพึงความเป็นทุกขังแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวให้เกิดความยินดีในพระนิพพาน* (* เพราะถ้ารีบด่วนเข้า อนุปาทิเสสนิพพาน ก็ไม่มีโอกาสมาว่ายเวียนโปรดสัตว์ได้อีก.) พึงให้โอวาทพึงความเป็นอนัตตาแห่งสรีระ แต่ให้กล่าวให้เกิดวิริยะในการโปรดสรรพสัตว์ พึงให้โอวาทถึงความเป็นสุญญตาแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวว่าโดยที่สุด สิ่งทั้งปวงเป็นสภาพดับรอบไม่เหลือ พึงให้โอวาทถึงการขมาโทษก่อน แต่อย่ากล่าวโทษเหล่านั้น ว่าเป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต พึงอาศัยความเจ็บป่วยของตนเอง เปรียบเทียบไปถึงความป่วยเจ็บของสรรพสัตว์ แล้วแลเกิดความกรุณาต่อสัตว์เหล่านั้น พึงย้อนระลึกพึงความทุกข์ที่ตนได้เสวยมาแต่เบื้องอดีตชาตินานไกล นับด้วยหลายอสงไขยกัปกัลป์แล้วตั้งจิตให้มั่นอยู่ในกิจ ที่จักบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์พึงระลึกถึงกุศลสมภารที่ตนได้สร้างสมมา ตั้งจิตอยู่ในวิสุทธิสัมมาอาชีวปฏิปทา อย่าให้เกิดความทุกข็โทมนัส พึงตั้งอยู่ในวิริยภาพดำรงตนเป็นจอมแพทย์ในอันจักรักษาบำบัดพยาธิภัยแก่ปวงสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงปลอบโยนให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ ยังพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธนั้นให้มีธรรมปีติบังเกิดขึ้นเป็นอยู่ ด้วยประการดังกล่าวนี้.”

พระมัญชุศรีถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ก็พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่จักพึงฝึกฝนอบรมจิตใจอย่างไรหนอ ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า “พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ พึงมนสิการในใจว่า ความเจ็บป่วยของเรานี้ แต่ละล้วนมีสมุฏฐานปัจจัยจากวิกัลปสัญญาพร้อมทั้งอาสวกิเลสในเบื้องอดีตชาติ โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะที่ยืนยงใด ๆใครเล่าที่เป็นผู้เสวยทุกข์จากความเจ็บป่วย (แท้จริงไม่มีผู้เจ็บป่วยเลย) ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? เพราะการประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ จึงบัญญัติเรียกว่าสรีระ มหาภูตรูป ๔ นี้ปราศจากผู้เป็นเจ้าของสรีระเล่าก็เป็นอนัตตา อนึ่ง ความเจ็บป่วยที่บังเกิดขึ้นเล่า ก็ล้วนมาจากความยึดถือใจตัวตนว่ามี (ฉัน) ดังนั้นจึงสมควรละความยึดถือในตัวตนเสียแลเมื่อรู้ถึงอาพาธสมุฏฐานเช่นนี้ ก็พึงละอัตตสัญญากับสัตวสัญญาพึงยังธรรมสัญญาให้บังเกิด กล่าวคือมนสิการว่า สรีระนี้เป็นแต่สภาวธรรมมาประชุมสำเร็จขึ้น มีแต่สภาวธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น สภาวธรรมเท่านั้นที่ดับไป สภาวธรรมเหล่านี้ต่างไม่ได้นัดหมายรู้อะไรกันมา ในสมัยที่เกิดขึ้นก็มิได้พูดว่าฉันเกิดขึ้นแล้วจ้ะ ในสมัยที่ดับไปก็มิได้พูดว่า ฉันดับไปแล้วจ้ะ อนึ่ง พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธพึงปฏิบัติต่อไปเพื่อดับธรรมสัญญานี้

พึงมนสิการว่า แม้แต่ธรรมสัญญาอย่างนี้ ก็ยังเป็นวิปลาสสัญญา ขึ้นชื่อว่าเป็นวิปลาสแล้ว ย่อมมีมหันตภัย เราจำต้องละเสีย ละอะไร ? ก็ละอหังการความยึดถือว่า “ตัวฉัน” ละมมังการ ความยึดถือว่า “ของของฉัน” การละอหังการมมังการนั้นละอย่างไร ? คือละธรรม ๒ อย่าง ธรรม ๒ อย่างนั้นคืออะไร ? กล่าวคือ ความไม่ยึดถือธรรมที่เป็นภายในกับธรรมที่เป็นภายนอก ดำรงอยู่สมธรรม ก็สมธรรมนั้นเป็นไฉน ? คือตัวของเราอย่างไร พระนิพพาน ก็เหมือนกันอย่างนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ ? ก็เพราะเหตุว่าธรรมเหล่านั้นเป็นสักแต่ว่าสมมติบัญญัติปราศจากสภาวะที่แน่นอนด้วยตัวของมันเอง จึงได้ชื่อว่าเป็นสมธรรมครั้นเห็นแจ้งโดยประการดั่งนี้ สรรพอาพาธก็ย่อมไปปราศสิ้น คงมีเหลือแต่สุญญตาพาธ กล่าวคือความเจ็บป่วยเพราะเหตุติดในสุญญตานั้นเพียงประเภทเดียว และดั่งนั้นจึงจำต้องสละความยึดมั่นสำคัญหมายในสุญญตานั้น กล่าวคือความรู้สึกยึดฉวยว่ามีสุญญตาก็ต้องให้สูญไปด้วย มาตรแม้ว่าบังเกิดทุกขเวทนาเป็นไปเนื่องในสรีระอยู่ไซร้ ก็พึงมนสิการถึงสรรพสัตว์ในทุคติภูมิ ซึ่งต้องเสวยทุกข์อยู่เป็นอันมาก พระโพธิสัตว์นั้นพึงยังมหากรุณาจิตให้อุบัติขึ้น กล่าวคือเมื่อตัวของตนสามารถบำราบกำจัดทุกข์ให้พ่ายแพ้สูญหายไปอย่างไรแล ก็พึงช่วยสงเคราะห์บำราบกำจัดทุกข์ภัยแห่งหมู่สัตว์ดุจเดียวกัน ฯลฯ

“อนึ่ง พระโพธิสัตว์แม้จักอยู่ในท่ามกลางแห่งชาติมรณะ ก็มิได้แปดเปื้อนด้วยมลทินนั้น แม้จัก
ตั้งอยู่ในพระนิพพาน แต่ก็มิได้ด่วนดับขันธปรินิพพาน มิได้ดำเนินตามปุถุชนจริยา ฤๅดำเนินตามอายรชนจริยานี้

แลชื่อว่าจริยาแห่งพระโพธิสัตว์ จักนับเป็นมลจริยาก็มิได้ ฤๅจักนับเป็นวิมลจริยาก็มิได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักปฏิบัติผ่านมารจริยามาแต่ก็สามารถสำแดงการบำราบมารให้อยู่ในอำนาจได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักเพ่งพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ แต่ก็สามารถเข้าถึงบรรดามิจฉาทิฏฐิได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักสงเคราะห์สรรพสัตว์ แต่ก็ไม่บังเกิดฉันทราคะเพลิดเพลิน นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักบำเพ็ญสุญญตจริยา แต่ก็สร้างสมสรรพกุศลธรรมไว้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักปฏิบัติตามอัปปนิมิตธรรม แต่ก็โปรดสรรพสัตว์นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักปฏิบัติตามอกตธรรม แต่ก็สำแดงการเสวยภพชาติให้ปรากฏได้ แม้จักปฏิบัติตามอนุตรปาทธรรม แต่ก็ยังสรรพกุศลจริยาให้เกิดมีขึ้นได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักปฏิบัติในปารมิตา ๖ แต่ก็มีความรอบรู้แทงตลอดในจิตเจตสิกธรรมแห่งมวลสัตว์ชีพได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักบำเพ็ญตามฉฬภิญญา แต่ก็ไม่ยังอาสวะให้หมดจดสิ้นเชิงเลยทีเดียว นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักปฏิบัติในอัปปมัญญาจตุพรหมวิหาร ๔ แต่ก็ไม่มีความปรารถนาที่จักไปอุบัติในพรหมโลก นี้แลชื่อว่าโพธิสัตว์จริยา แม้จักปฏิบัติในฌานสมาบัติ วิโมกข์ สมาธิ แต่ก็ไม่หลงใหลเพลินเพลินในธรรมเหล่านั้น นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา ฯลฯ แม้จักปฏิบัติในปัญจพลธรรม ๕ แต่ก็ยินดีปรารถนาในทศพล ๑๐ ของพระสัมมาสัมุทธเจ้า ฯลฯ แม้จักสำแดงตนมีวัตรจริยาเป็นพระอรหันตสาวกหรือพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ละเลยต่อพระสัพพัญญุตญาณธรรม นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักเพ่งพิจารณาเห็นพุทธเกษตรจนปราศจากสภาวะเป็นสุญญตา แต่ก็สำแดงภูมิแห่งความบริสุทธิ์หมดจดนานัปการในพุทธเกษตรนั้นได้ นี้แลชื่อว่าโพธิสัตวจริยา แม้จักสำเร็จพระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแสดงพระธรรมจักร แลดับขันธปรินิพพาน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สละคืนซึ่งโพธิสัตวจริยา นี้แลชื่อว่าจริยาแห่งพระโพธิสัตว์.”

เมื่อวิมลเกียรติคฤหบดีกล่าวธรรมบรรยานนี้จบลง ในบรรดาประชาชนซึ่งติดตามมากับพรัอมพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ มีเทพบุตร ๘๐๐ องค์ ได้ตั้งจิตมุ่งต่อพระโพธิญาณแล.

ปริเฉทที่ ๕ คิลานปุจฉาวรรค จบ



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2554 11:28:05 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 04 กันยายน 2553 13:58:32 »




       ปริเฉทที่ ๖
      อจินไตยวรรค

ก็โดยสมัยนั้นแล พระสารีบุตร ทัศนาดูคฤหาสน์ของวิมลเกียรติคฤหบดีปราศจากอาสนะที่นั่ง จึงเกิดมนสิการขึ้นว่า ก็พระโพธิสัตว์บริษัทกับพระมหาสาวกบริษัทจำนวนมากเห็นปานฉะนี้ จักนั่งด้วยอาสนะอะไรหนอ ?
ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้ทราบถึงมนสิการของพระสารีบุตรแล้ว จึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า

“นี้อย่างไรกัน พระคุณมา ณ สถานที่นี้เพื่อแสวงหาธรรม ฤๅว่ามาเพื่อแสวงหาอาสนะที่นั่งเล่า ?”
พระสารีบุตร ตอบว่า “อาตมภาพมาเพื่อแสวงหาธรรม มิได้มาเพื่อแสวงหาอาสนะที่นั่งหรอก.”

วิมลเกียรติคฤหบดี จึงว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร อันผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมไม่ละโมบติดใจในสรีระหรือในชีวิต จักป่วยกล่าวไปไยกับเรื่องอาสนะที่นั่ง อันผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่แสวงหารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่แสวงหาธาตุ ๑๘ อายตนะ ๑๒ ไม่แสวงหากามาวจรภพ รูปาวจรภพ อรูปาวจรภพ พระคุณเจ้าสารีบุตร อันผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมไม่แสวงหาด้วยการยึดติดในพระพุทธองค์ ยึดติดในพระธรรม ยึดติดในพระสงฆ์ ผู้แสวงหาธรรม ย่อมไม่แสวงหาด้วย (ความสำคัญตน) ในการกำหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัยทำให้แจ้งในนิโรธ เจริญในมรรค ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะว่า ธรรมนั้นย่อมปราศจากปปัญจธรรม หากกล่าวว่ามีตัวตนเป็นผู้กำหนดรู้ทุกข์ละสมุทัย ทำให้แจ้งในนิโรธ เจริญในมรรคไซร้ ย่อมชื่อว่าเป็นปปัญจธรรมหาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ พระคุณท่านสารีบุตร ธรรมนั้นย่อมชื่อว่าเป็นธรรมอันสงบ ระงับดับสนิทโดยไม่เหลือเชื้อ หากมีจิตประพฤติในความเกิดขึ้นแลดับไปในธรรมไซร้ หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ธรรมนั้นชื่อว่าปราศจากความเศร้าหมองฉันทราคะ ถ้ามีฉันทราคะในธรรมฤๅจนที่สุดในพระนิพพานย่อมชื่อว่าเป็นฉันทะราคะกิเลส หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ ฯลฯ ธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้เห็น รู้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้นึกคิดได้ ถ้ามีความรู้เหล่านี้เป็นไปอยู่ ก็เป็นแต่ความรู้เห็น ฯลฯ รู้นึกคิดเท่านั้น หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ ธรรมนั้นชื่อว่าเป็นอสังขตะ ถ้ายังเป็นไปในความปรุงแต่งอยู่ ย่อมชื่อว่า เป็นการแสวงหาสังขตะ หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ เพราะฉะนี้แล ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าเป็นผู้แสวงหาธรรมไซร้ ก็พึงเป็นผู้ไม่ปรารถนาแสวงหา โดยยึดมั่นในธรรมทั้งปวงนั่นเอง.”

เมื่อวิมลเกียรติอุบาสก แสดงธรรมกถานี้จบลง มีเทพบุตร ๕๐๐ องค์ บรรลุธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ ด้วยมารู้แจ้งว่า ธรรมทั้งปวงไม่พึงปรารถนาแสวงหาโดยยึดมั่น.
ครั้นแล้ว ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีจึงถามพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า

“ข้าแต่ท่านมัญชุศรีผู้เจริญ พระคุณจาริกท่องเที่ยวไปในอสงไขยโลกธาตุอันนับประมาณมิได้ ยังมีพุทธเกษตรใดหนอที่มีสิงหาสนะอันอุดมวิเศษสมบูรณ์ด้วยสรรพคุณาลังการ ?”
พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ตอบว่า

“ดูก่อนคฤหบดีจากที่นี้ไปเบื้องบนบูรพาทิศผ่านโลกธาตุจำนวนมากดุจเม็ดทรายในคงคานที ๓๖ นทีรวมกัน มีโลกธาตุหนึ่งชื่อว่าสุเมรุลักษณะ ณ โลกธาตุนั้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สุเมรุประทีปราชาตถาคต ยังประทับอยู่ ณ กาลบัดนี้ พระวรกายแห่งพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นสูงถึง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สิงหาสนะที่ประทับก็สูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สมบูรณ์ด้วยสรรพคุณาลังการอย่างยอดเยี่ยม.”

โดยสมัยนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีจึงบันดาลด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ ทูลขอประทานสิงหบัลลังก์จากพระสุคตเจ้าพระองค์นั้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงประทานสิงหบัลลังก์จำนวน ๓๒,๐๐๐ อันสูงสะอาดหมดจดวิจิตรตระการ มาสู่คฤหาสน์ของอุบาสกนั้น บรรดาพระโพธิสัตว์ พระมหาสาวก ท้าวพรหมราช ท้าวศักรินทร์ ท้าวจาตุมมหาราชเป็นอาทิ ต่างก็มิได้ทัศนาเห็นคฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติกว้างขวางขยายออกไป แต่ก็สามารถรองรับสิงหบัลลังก์ทั้ง ๓๒,๐๐๐ บัลลังก์ได้อย่างสะดวกไม่ขัดข้อง แม้ตัวนครเวสาลีตลอดถึงชมพูทวีป ก็มิได้เกิดความคับแคบ คงดูเป็นปกติธรรมดาดุจเดิม.

ครั้นแล้ว ท่านวิมลเกียรติจึงกล่าวกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า
“ขอนิมนต์นั่งบนสิงหบัลลังก์ ขอพระคุณพร้อมทั้งปวงพระโพธิสัตว์แลท่านผู้เป็นอุดมบุรุษทั้งหลายขึ้นนั่งบนบัลลังก์ พึงยังสรีรกายของท่านผู้เจริญให้ได้ระดับเสมอด้วยกับระดับแห่งสิงหาสนะนี้.”

บรรดาพระโพธิสัตว์ ที่ได้สำเร็จอภิญญาต่างก็บันดาลด้วยฤทธิ์นิรมิตกายสูง ๓๔,๐๐๐ โยชน์ ขึ้นประทับนั่งบนสิงหบัลลังก์ ฝ่ายบรรดาพระโพธิสัตว์ซึ่งเพิ่งมีจิตปณิธานในพระโพธิญาณใหม่ ๆ กับทั้งปวงพระมหาสาวก ล้วนไม่สามารถจักขึ้นไปนั่งได้.

ครั้งนั้น ท่านวิมลเกียรติจึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า “นิมนต์พระคุณเจ้านั่งบนสิงหาสนบัลลังก์.”
พระสารีบุตร ตอบว่า “ดูก่อนคฤหบดี อาสนะนี้สูงใหญ่นัก อาตมภาพขึ้นไปถึงมิได้.”

ท่านวิมลเกียรติ จึงว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณจงกระทำความนอบน้อมอภิวันทนาพระสุเมรุประทีปราชาตถาคตเจ้าเสียก่อน แล้วพระคุณเจ้าจักสามารถขึ้นไปนั่งได้.”
ด้วยประการฉะนี้ บรรดาพระโพธิสัตว์ผู้เพิ่งมีจิตปณิธานในพระโพธิญาณกับทั้งพระมหาสาวก ต่างกระทำความนอบน้อมอภิวันทนาพระสุเมรุประทีปราชาตถาคตเจ้า ทันใดนั้นต่างก็ได้ขึ้นไปประดิษฐานบนสิงหาสนะบัลลังก์โดยทั่วหน้ากัน.

               

พระสารีบุตร กล่าวว่า
“ดูก่อนคฤหบดี น่าอัศจรรย์ยิ่งนักแล้ว คฤหาสน์อันน้อยนิดเท่านี้ สามารถรองรับบรรจุอาสนะอันสูงใหญ่พิลึกมหึมา แม้นครเวสาลีก็มิได้มีที่กีดขวาง ในชมพูทวีปทุกคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่วิมานเวียงวังสถานที่อยู่แห่งทวยเทพนิกร ฤๅของนาคราชอสูรยักษ์ปีศาจก็มิได้เกิดความคับแคบขึ้นแลย.”

ท่านวิมลเกียรติ ตอบว่า
“พระคุณเจ้าสารีบุตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย มีวิมุตติธรรมชื่ออจินไตย ถ้าพระโพธิสัตว์ใดตั้งอยู่ในวิมุตติดังกล่าวนี้ แม้ความสูงใหญ่แห่งขุนเขาพระสุเมรุก็ยังอาจสามารถนำเอามาบรรจุไว้ในเมล็ดพันธุ์ผักเมล็ดหนึ่ง โดยไม่เต็มไม่หย่อนคือบรรจุได้พอดี ทั้งนี้เพราะสภาวะแห่งจอมเขาพระสุเมรุนั้นเป็น ตถตา นั่นเอง แต่ถึงกระนั้นทวยเทพนิกรในชั้นจาตุมมหาราชิกาตาวติงสา (สวรรค์ ๒ ชั้นนี้อยู่ที่เขาพระสุเมรุ) ก็ยังไม่รู้สึกตนเองว่าเข้าไปสถิตอยู่ในเมล็ดพันธุ์ผักนอกจากผู้ที่เป็นเวไนยสัตว์อันพึงโปรดได้เท่านั้น จึงสามารถทัศนาเห็นจอมสุเมรุมาศตั้งอยู่ในท่ามกลางเมล็ดพันธุ์ผักได้ นี้แลชื่อว่าอจินไตยวิมุตติธรรม อนึ่ง การยังน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ให้เข้าไปบรรจุอยู่ในขุมรูโลมาขุมหนึ่ง โดยมิได้รบกวนบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย มีปลา เต่า ตะพาบ เป็นอาทิ แต่สภาวะแห่งมหาสมุทรหลวงนั้นก็ยังไม่หวั่นไหวฉันใด บรรดาทวยเทพนาคราชอสูรยักษ์ภูตผีปีศาจ ต่างก็ไม่รู้ตนเองว่ากำลังเข้าไปสถิตอยู่ภายใน โดยมิได้เกิดความรบกวนต่อสรรพสัตว์เหล่านี้เลย.”

“อนึ่ง ท่านสารีบุตร ! พระโพธิสัตว์ผู้ตั้งอยู่ในอจินไตยวิมุตติธรรมย่อมถือเอามหาตรีสหัสสโลกธาตุ ดุจเครื่องปั้นหมุนของนายช่างปั้นมาประดิษฐานไว้ในอุ้งมือ แล้วแลโยนขว้างออกนอกเขตแห่งอนันตโลกธาตุอันมีจำนวนดุจเมล็ดทรายในคงคานทีได้โดยง่าย สรรพสัตว์ในโลกานุโลกเหล่านั้น ต่างก็ไม่รู้สึกทิศทางไปแห่งหน และพระโพธิสัตว์นั้นย่อมนำมหาตรีสหัสสโลกธาตุกลับคืนมาไว้ ณ ที่เดิม กระทำมิให้สรรพสัตว์ผู้อาศัยในโลกธาตุเหล่านั้นมีความรู้สึกในการไปแลมาแห่งตน ถึงกระนั้นสภาวะของโลกธาตุก็ยังมิไหวหวั่นประการใด.”

“อนึ่ง พระคุณเจ้าสารีบุตร หากมีสรรพสัตว์ใดที่มีความยินดีต่อการดำรงอยู่ในโลก กับทั้งเป็นเวไนยสัตว์ที่จักโปรดได้อีกด้วย พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงระยะกาลเพียง ๗ ทิวาให้ยาวนานดุจ ๑ กัลป์ กระทำให้สัตว์เหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นกาลนาน ๑ กัลป์ ฤๅหากมีสรรพสัตว์ที่ไม่ยินดีต่อการดำรงอยู่ในโลกนาน กับทั้งเป็นเวไนยสัตว์ที่จักโปรดได้อีกไซร้ พระโพธิสัตว์ ผู้สำแดงย่นระยะกาลยาว ๑ กัลป์ให้สั้นเหลือดุจ ๗ ทิวา กระทำให้สัตว์เหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นกาลสั้น ๗ ทิวาเท่านั้น ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในอจินไตยวิมุตติธรรม
ย่อมยังสรรพคุณาลังการแห่งพุทธเกษตรทั้งปวงมาประชุมอยู่ ณ โลกธาตจุแห่งเดียวสำแดงปรากฏต่อสรรพสัตว์ อนึ่ง พระโพธิสัตว์ยังสามารถนำสรรพสัตว์ในพุทธเกษตรทั้งปวงมาประชุมอยู่ ณ โลกธาตุแห่งเดียวสำแดงปรากฏต่อสรรพสัตว์ อนึ่ง พระโพธิสัตว์ยังสามารถนำสรรพสัตว์ในพุทธเกษตรทั้งสิ้นประดิษฐานไว้ในอุ้งหัตถ์ขวาแล้ว แลกระทำปาฏิหาริย์เหาะลอยไปสู่ทศทิศ เพื่อสำแดงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยลสรรพสิ่งโดยทั่วถึง แต่ก็มีสถานะเดิม ไม่หวั่นไหวอันใด.”

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร สรรพภาชนะวัตถุซึ่งสัตว์ทั้งหลายในทศทิศถวายเป็นพุทธบูชา พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงให้สรรพสัตว์เห็นประจักษ์ได้ในรูขุมขนเพียงรูเดียว แลดวงภาณุมาศ ดวงศศิธร ดวงดาราใหญ่น้อยแห่งโลกธาตุทั้งหมดในทศทิศ ก็บันดาลให้มาปรากฏอยู่ในรูขุมขนเพียงรูเดียว แต่ให้ยลกันได้ทั่วถึง.”

“อีกประการหนึ่ง พระคุณเจ้าสารีบุตร วายุแห่งโลกธาตุทั่วทศทิศ พระโพธิสัตว์ย่อมสามารถอมเข้าไว้ในโอษฐ์ได้ โดยจักเป็นอันตรายต่อสรีระก็หามิได้ สรรพพฤกษชาติรุกขพรรณภายนอกก็บ่ห่อนได้หักล้มไปเพราะแรงวายุนั้นเลย อนึ่งเล่า ครั้นเมื่ออัคนีประลัยกัลป์ล้างโลกานุโลกในทศทิศไซร้ พระโพธิสัตว์ก็ยังนำเพลงประลัยกัลป์นั้นมาบรรจุไว้ในท่ามกลางอุทรประเทศได้ โดยที่สภาวะแห่งอัคนีนั้นเป็น ตถตา จึงมิได้เกิดเป็นอันตรายแต่อย่างใด อีกประการหนึ่ง นับจากทิศเบื้องต่ำผ่านโลกธาตุอันมีจำนวนปริมาณดุจเม็ดทรายในคงคานที พระโพธิสัตว์สามารถถือเอาพุทธเกษตรแห่งหนึ่งยกเทิดขึ้นไปสู่ทิศเบื้องบน โดยผ่านโลกธาตุอันมีจำนวนปริมาณดุจเม็ดทรายในคงคานทีดุจกันโดยง่าย เฉกเช่น บุคคลผู้ถือเอาเข็มเล่มหนึ่ง ฤๅใบพุทราใบหนึ่ง ปราศจากน้ำหนักรบกวนแต่อย่างใด.”

“ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระโพธิสัตว์ผู้ตั้งอยู่ในอจินไตยวิมุตติธรรม ย่อมสามารถบันดาลด้วยมหิทธิฤทธิ์สำแดงตนเป็นพุทธกาย ฤๅสำแดงตนเป็นพระปัจเจกพุทธกาย ฤๅสำแดงตนเป็นพระสาวกกาย ฤๅสำแดงตนเป็นท้าวศักรินทรกาย ฤๅสำแดงตนเป็นท้าวพรหมราชกาย ฤๅสำแดงตนเป็นพระปชาบดีกาย ฤๅสำแดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์กายได้ อนึ่ง สรรพสำเนียงเสียงจำนวนที่มีอยู่ทั่วไปในโลกานุโลกทั่วทศทิศ ไม่ว่าจักเป็นเสียงสูง เสียงกลาง เสียงต่ำ พระโพธิสัตว์นั้น ย่อมสามารถกระทำให้เสียงเหล่านั้นสำเร็จ แปรเป็นพุทธศัพทโฆษได้ ประกาศซึ่งธรรม มีอนิจจตา ทุกขตา สุญญตา อนัตตา ตลอดทั้งเป็นเสียงแห่งพระสัทธรรม เทศนาประการต่าง ๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทศทิศ ยังสรรพสัตว์ให้ได้สดับฟังโดยทั่วหน้ากันได้ ข้าแต่พระคุณท่านสารีบุตรผู้เจริญ กระผมได้บรรยายถึงพลานุภาพแห่งวิมุตติ อันเป็นอจินไตยแห่งพระโพธิสัตว์แต่เพียงสังเขปนัยเท่านี้หนา หากจักให้กระผมแถลงไขโดยพิสดารไซร้ แม้กัลป์จักบรรลัยหมดสิ้นไป ก็ยังไม่อาจบรรยายให้จบสมบูรณ์ได้แล.”

           

สมัยนั้น พระมหากัสสปเถรเจ้า ได้สดับธรรมทวารแห่งวิมุตติอันเป็นอจินไตยของพระโพธิสัตว์นี้แล้ว ก็บังเกิดความปสาทะเลื่อมใสนักสดุดีว่า “สิ่งที่ไม่เคยมีก็ได้มีขึ้นแล้วหรอ” แล้วกล่าวกับพระสารีบุตรเถรเจ้าว่า

“ท่านสารีบุตรผู้เจริญ อุปมาบุคคลผู้นำรูปวัตถุสีสันต่าง ๆ มาสำแดงแก่ผู้มีอันธจักษุ ย่อมไม่เป็นวิสัยที่ผู้นั้นจักทัศนาได้ฉันใด บรรดาพระสาวกทั้งหลาย ได้สดับธรรมทวารแห่งวิมุตติอันเป็นอจินไตยนี้แล ย่อมมิอาจจักเข้าใจได้ก็มี  อุปไมยฉันเดียวกัน เมธีชนผู้ได้สดับธรรมกถานี้แล้ว ใครเล่าจักไม่ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะไฉนผู้มีอันธจักษุถึงได้มีอุปนิสัยอินทรีย์ในมหายานธรรม ขาดถึงมูลเฉทฉะนี้เล่า ก็มหายานธรรมเป็นดุจเมล็ดพืชซึ่งเสื่อมจากคุณภาพแล้ว (คือไม่มีอัธยาศัยโน้มไปเป็นมหายานิกะ) ส่วนพระสาวกทั้งปวง เมื่อสดับธรรมทวารแห่งวิมุตติอันเป็นอจินไตยนี้ ควรแล้วหนอที่จักร้องไห้คร่ำครวญ ยังเสียงร้องไห้นั้นให้สนั่นก้องไปทั่ว มหาตรีสหัสสโลกธาตุ (คือร้องไห้เสียดายที่มิได้สดับธรรมอันล้ำลึกอย่างนี้มาก่อน เป็นเหตุให้พลาดจากการเป็นมหายานนิกรชน* * (ตรงนี้ ท่านผู้ประพันธ์พระสูตรนี้คงเผลอลืมไปว่า พระอรหันตสาวกย่อมพ้นจากกิเลส อันเป็นที่ตั้งแห่งความเศร้าโศกเพลิดเพลินทั้งปวงแล้ว เจตนาของผู้ประพันธ์ต้องการยกย่องคติมหายานว่าประเสริฐกว่าเท่านั้น.) ส่วนพระโพธิสัตว์ทั้งหลายพึงโสมนัสปรีดาปราโมทย์นำศรีษะเข้ามารองรับพระสัทธรรมนี้ ถ้ามีพระโพธิสัตว์ใดมีจิตศรัทธาเข้าใจถ่องแท้ในธรรมทวารแห่งวิมุตติอันเป็นอจินไตยนี้ไซร้ สรรพมารย่อมบ่หาญอาจทำอะไรกับพระโพธิสัตว์นั้น ๆ ได้เลย.”
เมื่อพระมหากัสสป กล่าวจบลง ก็มีเทพบุตร ๓๒,๐๐๐ องค์ ตั้งจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ลำดับนั้น ท่านวิมลเกียรติได้พูดกับพระมหากัสสปว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้ามหากัสสปผู้เจริญ บรรดาผู้ที่เป็นพญามาราธิราชในอสงไขยโลกธาตุทั่วทศทิศ แต่ละล้วนเป็นพระโพธิสัตว์ผู้สถิตอยู่ในวิมุตติธรรมอันเป็นอจินไตย แต่หากได้สำแดงโดยอุบายพละในอันจักสั่งสอนสรรพสัตว์ จึงกระทำเป็นพญามาราธิราช พระคุณท่านมหากัสสปพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในโลกานุโลกอันมิอาจประมาณทั่วทศทิศ บ้างก็ปรากฏว่ามีผู้มาร้องขอหัตถ์ บาท กรรณ นาสิก ศีรษะ จักษุ ฯลฯ ร้องขอคามนิคม ปุระ บุตร ธิดา ภริยา บริวารชน ช้าง ม้า ยานพาหนะ สรรพสุวรรณ หิรัญ ไพฑูรย์ ฯลฯ เพชร นิล จินดา มณีรัตน์ สิ่งบริโภคอุปโภค ประการต่าง ๆ บรรดาผู้มาร้องขอเหล่านี้ ส่วนมากล้วนเป็นพระโพธิสัตว์ผู้สถิตอยู่ในวิมุตติธรรมอันเป็นอจินไตย ได้สำแดงโดยอุบายพละมาเพื่อทดลอง(บุคคลผู้บำเพ็ญโพธิสัตวจริยา) แลเพื่อประสงค์กระทำให้ผู้มีจิตปณิธานต่อพระโพธิญาณ มีความเข้มแข็งมั่นคง ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งอยู่ในวิมุตติธรรมอันเป็นอจินไตย ย่อมมีเดชพละ จึงสามารถกระทำการดุจรุกรานบีบคั้น (ให้พระโพธิสัตว์ด้วยกันกระทำการบริจาค เป็นต้น) สำแดงปรากฏต่อสรรพสัตว์ อันการกระทำที่ยากเห็นปานฉะนี้ ไหนเลยปุถุชนจักมีเดชพละถึงปานนั้นได้ ปุถุชนย่อมไม่อาจรุกรานบีบคั้นพระโพธิสัตว์ได้ อุปมาดั่งรอยเหยียบแห่งบาทพญามังกรแล พระโพธิสัตว์อยู่ในวิมุตติธรรมอันเป็นอจินไตย เป็นทวารแห่งปรัชญาแลอุปายะด้วยประการฉะนี้แล.

ปริเฉทที่ ๖ อจินไตยวรรค จบ.




http//www.mahayana.in.th/#ปริเฉทที่_๖_อจินไตยวรรค_
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,1506.msg8050.html#msg8050

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2554 14:16:40 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 3.6.8 Firefox 3.6.8


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 04 กันยายน 2553 15:39:42 »





http://img293.imageshack.us/img293/1410/r1qd5.jpg
วิมลเกียรตินิรเทศสูตร (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ

รัก รัก รัก

ธุ ธุ ธุ ป้า แป๋ม

ยาวจังเลย




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กันยายน 2553 15:43:17 โดย บางครั้ง » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 04 กันยายน 2553 16:18:15 »





              เหงื่อตก มี ๑๔ ปริเฉท เกรงว่าอาจยากต่อการหาอ่านต่อเนื่อง 
                           จึงไว้หัวข้อเดียวกันค่ะ

                        จริงแล้ว มาทีละนิดจัดหน้าง่ายกว่าค่ะ  กลอกตา ทีละนิดละกันนะคะ...
บันทึกการเข้า
時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 3.6.8 Firefox 3.6.8


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 08:41:22 »





              เหงื่อตก มี ๑๔ ปริเฉท เกรงว่าอาจยากต่อการหาอ่านต่อเนื่อง  
                           จึงไว้หัวข้อเดียวกันค่ะ

                        จริงแล้ว มาทีละนิดจัดหน้าง่ายกว่าค่ะ  กลอกตา ทีละนิดละกันนะคะ...


สู้ สู้ สู้ คุณ ป้า แป๋ม


รัก รัก รัก


มาให้กำลังใจ ป้า แป๋ม เข้ามาอ่านวันละนิด



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กันยายน 2553 08:43:15 โดย บางครั้ง » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 09:13:23 »




       ปริเฉทที่ ๗
      สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค

ครั้งนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ได้ถามวิมลเกียรติคฤหบดีว่า
“พระโพธิสัตว์ พึงเพ่งพิจารณาสรรพสัตว์โดยประการอย่างไรหนอ ?” ท่านวิมลเกียรติตอบว่า

“เปรียบด้วยผู้เป็นมายากร พิจารณาแลดูซึ่งมายาบุรุษอันตนนิมิตขึ้นฉันใด พระโพธิสัตว์พึงเพ่งพิจารณาสรรพสัตว์โดยอาการอย่างเดียวกันฉันนั้น อนึ่ง เปรียบด้วยผู้มีปัญญาแลดูซึ่งเงาดวงจันทร์ในท้องน้ำ ฤๅเปรียบด้วยการแลดูฉายาแห่งตนในกระจก ฤๅเปรียบด้วยพยับแดดในท่ามกลางแสงสุริยัน ฤๅเปรียบด้วยเสียงกู่ก้องสะท้อน ฤๅเปรียบด้วยก้อนเมฆในท้องนภาลัย ฤๅเปรียบด้วยฟองน้ำ ฤๅเปรียบด้วยต่อมน้ำ ฤๅเปรียบด้วยแก่นสารอันไม่คงทนของต้นกล้วย ฤๅเปรียบด้วยความดำรงมั่นแห่งสายวิชชุ ฤๅเปรียบด้วยมหาภูตที่ ๕ ฤๅเปรียบด้วยขันธ์ที่ ๖ ฤๅเปรียบด้วยวิญญาณที่ ๗ ฤๅเปรียบด้วยอายตนะ ๑๓ ฤๅเปรียบด้วยธาตุ ๑๙๑ พระโพธิสัตว์พึงเพ่งพิจารณาดูสรรพสัตว์ด้วยอาการอย่างนี้แล.”(๑)
* ๑. ต้นกล้วยไม่มีแก่น สายฟ้าแลบก็ตั้งมั่นอยู่นานมิได้ มหาภูตมี ๔ คือ ปฐวี เตโช วาโย อาโป เท่านั้น ไม่มีมหาภูตที่ ๕ ปัญจขันธ์ก็มีเพียง ๕ ความรู้ทางทวารทั้ง ๖ คือจักษุวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณเท่านั้น ไม่มีวิญญาณที่ ๗ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ รวมเป็น ๑๒ เท่านั้น ไม่มีที่ ๑๓ ธาตุก็มีเพียง ๑๘ คือธาตุอายตนะกายใจ ๖ ธาตุอายตนะภายนอก ๖ และวิญญาณธาตุที่เป็นไปในอายตนะอีก ๖,๓x๖ = ๑๘ คำพูดในตอนนี้เป็นคำปฏิเสธความเป็นตัวตนในสรรพสัตว์ คือให้พิจารณาดูว่าสรรพสัตว์เป็นอนัตตา สุญญตา เช่นกับธรรมที่ยกมาเปรียบย่อมเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ฉันใด การจะหาสาระแก่นสารโดยความเป็นตนหรือของตน ๆ ในสรรพสัตว์ก็ฉันนั้น.


“อนึ่ง พึงพิจารณาดูสรรพสัตว์ โดยอาการดังนี้อีกคือ ด้วยอาการเปรียบด้วยรูปธาตุในอรูปภพ ฤๅเปรียบด้วยการงอกเงยของเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งแห้งตายแล้ว ฤๅเปรียบด้วยสักกายทิฏฐิของพระโสดาบัน ฤๅเปรียบด้วยการถือเอาครรภ์ปฏิสนธิของพระอนาคามีบุคคล ฤๅเปรียบบด้วยอกุศลมูล ๓ แห่งพระอรหันต์ ฤๅเปรียบพระโพธิสัตว์ผู้ลุธรรมกษานติลุแก่โลภะโทสะกระทำการล่วงสีลสังวร ฤๅเปรียบด้วยกิเลสาสวะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฤๅเปรียบด้วยผู้มีจักษุมืดแลเห็นรูป ฤๅเปรียบด้วยผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติยังมีลมอัสสาสะปัสาสะอยู่ ฤๅเปรียบบด้วยรอยเท้านกในอากาศ ฤๅเปรียบด้วยบุตรแห่งนางหิน ฤๅเปรียบด้วยกิเลสของมายาบุรุษ ฤๅเปรียบด้วยประสบการณ์ในความฝัน ซึ่งตื่นขึ้นก็อาจพบเห็นได้อีก ฤๅเปรียบด้วยในอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ยังมีวิบากขันธ์มาเสวยภพอีก ฤๅเปรียบด้วยควันที่ปราศจากไฟเป็นเชื้อ พระโพธิสัตว์พึงเพ่งพิจารณาดูสรรพสัตว์ด้วยอาการดังพรรณนามานี้แล.”(๒)
**๒. คำพูดตอนนี้เป็นการแสดงภาวะตรงกันข้ามทั้งนั้น กล่าวคือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการที่จะถือเอาอัตตาในสัตว์ บุคคลก็ย่อมถือเอาไม่ได้ ด้วยสรรพสัตว์ย่อมเป็นสุญญตา โดยสภาพนั่นเอง ถ้ายังขืนสำคัญว่ามีสารัตถะในสิ่งอันปราศจากสารัตถะอยู่ ก็เปรียบได้ว่าพระอรหันต์ยังละอกุศลมูลไม่ได้ ซึ่งตามความจริงแล้ว ไม่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.”


พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ถามว่า
“หากพระโพธิสัตว์เพ่งพิจารณาดูสรรพสัตว์ด้วยอาการดั่งพรรณนามาแล้วไซร้ ก็จักดำเนินเมตตาจริยาโดยประการฉันใดหน ?”

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า
“เมื่อพระโพธิสัตว์เพ่งพิจารณาด้วยอาการดั่งกล่าวมาแล้ว ก็พึงมนสิการว่า เราจักต้องประกาศธรรมเห็นปานนี้ ให้สำเร็จประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง จึงจักเป็นผู้ได้ชื่อว่าดำเนินเมตตาจริยาโดยแท้จริง กล่าวคือ พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วยการแสดงอนุตปาทธรรม คือธรรมอันไม่มีความเวียนเกิดอีก พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วย การแสดงอสันตาปธรรม คือธรรมปราศจากความเร่าร้อนเพราะกิเลส พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วยการแสดงสมธรรม คือธรรมซึ่งยังกาละทั้ง ๓ ให้เสมอกัน พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วยการแสดงอรณวิหารธรรม คือธรรมเป็น เครื่องอยู่อันปราศจากการอุบัติขึ้นแห่งข้าศึกคือกิเลส พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วยการแสดงอไทวตธรรม คือธรรมไม่เป็นคู่ ไม่มีภายนอก ฯลฯ พึงดำเนินเมตตาปฏิปทาด้วยการยังความสันติสุขให้เกิดมีขึ้นในสรรพสัตว์ คือยังสัตว์เหล่านั้นให้ได้รับสันติรสแห่งพระพุทธองค์ เมตตาปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ ต้องบำเพ็ญด้วยประการฉะนี้แล.”



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กรกฎาคม 2554 13:12:33 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 12:06:39 »

            
             

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ถามว่า
“ก็กรุณาปฏิปทาเล่า เป็นไฉน ?”

“กุศลสมภารต่าง ๆ ซึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญ ล้วนยังสรรพสัตว์ให้มีส่วนร่วมในกุศลสมภารนั้นด้วย ชื่อว่ากรุณาปฏิปทา.”

ถาม “ก็มุทิตาปฏิปทาเล่า เป็นไฉน ?”
ตอบ “พระโพธิสัตว์กระทำความดีใด ๆ ย่อมไม่ตั้งความหวังผลสนอง ชื่อว่าอุเบกขาปฏิปทา.”

ถาม “ในท่ามกลางภัยแห่งธรรมชาติ มรณะนี้ พระโพธิสัตว์พึงอาศัยอะไรเป็นที่พำนัก ?”
ตอบ “พระโพธิสัตว์ผู้อยู่ในท่ามกลางห้วงมหรรณพ อันมีชาติภัยมรณะภัยเป็นต้น พึงอาศัยพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งพำนัก.”

ถาม “พระโพธิสัตว์ปรารถนาจักอาศัยพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งพำนักพึงปฏิบัติอย่างไร ?”
ตอบ “พระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาจะอาศัยพุทธานุภาพเป็นที่พึ่งพำนักพึงปฏิบัติตนด้วยการโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์.”

ถาม “ในการโปรดสรรพสัตว์ พึงกำจัดสิ่งใด ?”
ตอบ “ในการโปรดสรรพสัตว์ พึงกำจัดอาสวกิเลส.”

ถาม “ในการกำจัดอาสวกิเลส พึงปฏิบัติอย่างไร ?”
ตอบ “พึงมีสัมมาสติ.”

ถาม “สัมมาสติ พึงปฏิบัติอย่างไร ?”
ตอบ “พึงปฏิบัติในธรรมอันไม่ให้มีความเกิดขึ้น และธรรมอันไม่ให้มีความดับไป.”

ถาม “ธรรมอะไรที่ไม่ให้เกิดขึ้น ธรรมอะไรที่ไม่ให้ดับไป ?”
ตอบ “อกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น กุศลธรรมไม่ให้ดับไป.”

ถาม “กุศล อกุศล มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “มีกายเป็นสมุฏฐาน.”

ถาม “กาย มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “มีอภิชฌาวิสมโลภาวะป็นสมุฏฐาน.”

ถาม “อภิชฌาวิสมโลภะ มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “มีมายาวิกัลปะเป็นสมุฏฐาน.”

ถาม “มายาวิกัลปะมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “มีวิปลาสสัญญาเป็นสมุฏฐาน.”

ถาม “วิปลาสสัญญา มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “มีความไม่มีที่ตั้งเป็นสมุฏฐาน.”

ถาม “ความไม่มีที่ตั้ง มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ?”
ตอบ “ความไม่มีที่ตั้ง ย่อมไม่มีสิ่งใดมาเป็นสมุฏฐานได้อีก ข้าแต่พระคุณเจ้ามัญชุศรี จากความไม่มีที่ตั้งนี้แล จึงบัญญัติธรรมทั้งปวงขึ้นมา.*”
(* ความไม่มีที่ตั้ง คือสุญญตานั่นเอง ปุถุชนหลงผิดในสุญญตาว่าเป็นอัตตา จึงยึดถือสำคัญหมายในภาวะที่ว่างเปล่าว่ามีสาระ จึงต้องมาเวียนว่ายตายเกิด. )

ก็โดยสมัยนั้นแล ในคฤหาสน์ของท่านวิมลเกียรติ มีเทพธิดาองค์หนึ่ง เห็นหมู่เทวบริษัทสดับฟังธรรมบรรยายของท่านคฤหบดีนั้น นางจึงสำแดงองค์ให้ปรากฏ แลนางได้โปรยทิพยบุปผาบูชาหมู่แห่งพระโพธิสัตว์กับทั้งพระมหาสาวก ทิพยบุปผาเหล่านั้นตกถึงสรีระของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็ร่วงหล่นตกจากสรีระไป แต่ครั้นตกถึงสรีระของพระมหาสาวก ก็กลับติดแน่นไม่ร่วงหล่น พระมหาสาวกทั้งหลาย ต่างใช้อิทธาภิสังขาร เพื่อสลัดทิพยบุปผาออกจากสรีระก็มิอาจสลัดทิ้งได้.

      

ครั้งนั้น นางเทพธิดาจึงถามพระสารีบุตรว่า “ไฉนพระคุณจึงพยายามสลัดทิพยบุปผานี้เล่า ?”
พระสารีบุตร ตอบว่า “สมณศากยบุตรไม่สมควรต่อการมีบุปผชาติมาประดับให้ผิดธรรมวินัย อาจมภาพจึงสลัดมันออกไป.”

เทพธิดากล่าวว่า “ขอพระคุณโปรดอย่าได้กล่าวว่า บุปผชาตินี้ไม่สมควรแก่ธรรมวินัยเลยเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าธรรมดาดอกไม้ย่อมไม่มีจิตมาคิดว่าชอบธรรมไม่ชอบธรรม มีแต่พระคุณเจ้าเองหรอกที่มาเกิดวิกัลปสัญญขึ้นเองต่างหากเล่า ผู้ใดที่ออกบวชในพระพุทธศาสนา หากยังมีวิกับปสัญญาอยู่ ผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติไม่สมควรแก่ธรรม ผู้ใดปราศจากวิกัลปสัญญา ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติสมควรแก่ธรรมโดยแท้ ขอพระคุณจงพิจารณาดูเถิดว่าบรรดาพระโพธิสัตว์ ไม่มีองค์ใดเลยที่มีบุปชาติติดค้างอยู่ที่สรีระ ทั้งนี้เนื่องด้วยพระโพธิสัตว์กระทำวิกัลปสัญญาให้เป็นสมุจเฉทแล้ว เปรียบดุจมนุษย์ที่ตกอยู่ในท่ามกลางยักขภัย ถ้าเป็นคนแสดงออกความหวาดกลัวก็โง่เป็นโอกาสแห่งยักษ์ที่จักทำร้ายได้ เช่นเดียวกับพระสาวกที่หวาดกลัวต่อชาติมรณภัย ก็ย่อมเปิดโอกาสให้ รูป เ สียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ประทุษร้ายได้ ส่วนบุคคลที่ปราศจากความหวาดหวั่นในภัยเหล่านี้ ภัยทั้งหลายมีกามคุณ ๕ เป็นต้น ย่อมมิอาจกระทำให้หวั่นไหวได้ ผู้ใดที่มีวาสนายังละได้มิขาด บุปผชาติก็ย่อมติดแน่นอยู่กับผู้นั้น ผู้ใดที่มีวาสนา ละได้ขาดแล้ว บุปผชาติก็ย่อมไม่เหลือติดค้างอยู่กับเขาอีก.”

พระสารีบุตร ถามขึ้นว่า “ดูก่อนเทวี เธอมาอยู่ในคฤหาสน์นี้เป็นเวลานานเท่าไรแล้ว ?”

ตอบ “ดิฉันมาอยู่ที่นี่นานเท่ากับเวลาที่พระคุณหลุดพ้นจากกิเลส.”
ถาม “เธออยู่นานกระนั้นฤๅ ?”
ตอบ “ก็พระคุณหลุดพ้นมาแล้วนานเท่าไรเจ้าข้า ?
พระสารีบุตรนิ่งเงียบไม่ตอบ เทพธิดานั้นจึงว่า
“เหตุไรพระคุณเจ้าผู้มีปัญญา ไฉนจึงนิ่งเงียบไปเสียเจ้าคะ ?”

พระสารีบุตรกล่าวว่า “ในความหลุดพ้น ย่อมพ้นทางแห่งบัญญัติโวหาร โดยเหตุนั้นแล อาตมภาพจึงไม่รู้จะตอบเธออย่างไร ?”

เทพธิดากล่าวว่า “คำพูดก็ดี ตัวอักษรก็ดี ย่อมได้ชื่อว่าเป็นลักษณะแห่งวิมุตติ ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ? ก็เพราะว่าในวิมุตตินั้นย่อมไม่มีภายใน ภายนอก หรือท่ามกลาง อักษรก็ไม่อยู่ในภายในภายนอกหรือท่ามกลาง เพราะฉะนั้นแล ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร พระคุณเจ้าได้ละเลยอักษรแล้วกล่าวเรื่องวิมุตติ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ? ก็เพราะว่าธรรมทั้งปวง ย่อมล้วนเป็นวิมุตติลักษณะทั้งสิ้น.”
พระสารีบุตรกล่าวว่า “ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น มิเป็นว่า เอาราคะ โทสะ โมหะ มาเป็นวิมุตติไปด้วยฤๅ ?”


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 สิงหาคม 2554 14:06:10 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 12:50:58 »


           

เทพธิดา “พระพุทธองค์ ทรงแสดงธรรมแก่บุคคลผู้มีอติมานะให้ละจาก ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าวิมุตติ หากไม่มีอติมานะบุคคลไซร้พระพุทธองค์จักตรัสว่า ราคะ โทสะ โมหะ นั้นแลเป็นวิมุตติ.๑ ” (๑. เพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นมายาธรรม เป็นสุญญตา พระนิพพานเล่าก็เป็นสุญญตา.)
พระสารีบุตร จึงอนุโมทนาขึ้นว่า

“สาธุ ๆ ดูก่อนเทวี เธอได้บรรลุธรรมอะไร ตรัสรู้ในธรรมอะไรหรอ จึงมีปฏิภาณโกศลสามารถเห็นปานนี้ ?”

                                                         

เทพธิดาตอบว่า “ดิฉันไม่ได้บรรลุอะไร และก็ไม่ได้รู้แจ้งในอะไรเลยเจ้าข้า พระคุณเจ้า ! ดิฉันถึงมีปฏิภาณโกศลเห็นปานฉะนี้ได้ ถ้าดิฉันได้บรรลุอะไร ฤๅได้รู้แจ้งในอะไรไซร้ ก็ชื่อว่าเป็นอติมานะบุคคลในพรหมจรรย์แห่งพระพุทธองค์ไปแล้ว.๒”(๒. กล่าวคือ เมื่อธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตา ถ้าไปเกิดสำคัญว่าตนได้บรรลุสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือรู้แจ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ยังชื่อว่าเป็นอุปาทานอยู่นั่นเอง เพราะโดยปรมัตถ์แล้ว ตนผู้เป็นทุกข์นั้นไม่มี ก็เมื่อตนไม่มีแล้ว ธรรมอันตนจักบรรลุจักรู้แจ้งจักมีได้อย่างไร เหมือนคนกินข้าวไม่มีความหิวความอิ่มก็ไม่มีไปด้วย)

พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนเทวี ในยานทั้ง ๓ นั้น เธอมีจิตปรารถนาในยานใดหนอ ?”

ตอบ “สำหรับดิฉันน่ะหรือพระคุณเจ้าขา ถ้าดิฉันจะต้องแสดงธรรมโปรดบุคคลผู้มีนิสัยเหมาะแก่สาวกยาน ดิฉันก็สำแดงตนเป็นพระสาวกถ้าจะต้องแสดงปฏิจจสมุปบาทธรรมโปรดสัตว์ ดิฉันก็สำแดงตนเป็นพระปัจเจกโพธิ แลถ้าอาศัยมหากรุณาในการโปรดสรรพสัตว์ ดิฉันก็สำแดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ในมหายาน ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร อุปมาบุคคลเข้าไปอยู่ในดงดอกจำปี ย่อมได้สูดแต่สุคันธะแห่งบุปผชาติจำปีเพียงประการเดียว มิได้รับกลิ่นอื่นใดอีกฉันใด บุคคลผู้เข้าสู่คฤหาสน์สถานนี้ก็ย่อมได้ฟังสูดแต่กลิ่นแห่งพระพุทธคุณ ไม่พอใจที่จักฟังสูดกลิ่นแห่งคุณพระอรหันตสาวก และคุณพระปัจเจกโพธิก็มีอุปไมยฉันนั้น พระคุณเจ้าสารีบุตรหากมีท้าวพรหมราช ท้าวศักรินทร์ ท้าวจาตุมมหาราช ทวยเทพนิกร นาค ยักษ์ อสูร คนธรรพ์ต่าง ๆ ได้สดับพระธรรมเทศนาแห่งอุดมบุรุษผู้นี้๓ (๓. คือท่านวิมลเกียรติคฤหบดี.)แล้ว ย่อมพอใจยินดีในกลิ่นแห่งพระพุทธคุณ มีจิตมุ่งต่อพระอนตตรสัมมาสัมธิญาณแล้วแล จึงกลับคืนออกไป ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตร ดิฉันอยู่ในคฤหาสน์นี้ได้ ๑๒ ปีแล้ว นับตั้งแต่ต้นก็มิได้สดับหลักธรรมในคติฝ่ายพระอรหันตสาวก ฤๅหลักธรรมในคติฝ่ายพระปัจเจกโพธิ ก็แต่ว่าที่สดับนั้นล้วนเป็นธรรมอันว่าด้วยหลักมหาเมตตามหากรุณาแห่งพระโพธิสัตว์ นั่นคือ สรรพพระพุทธธรรมอันเป็นอจินไตยนั่นเอง ข้าแต่พระคุณเจ้าสารีบุตรผู้เจริญ ในคฤหาสน์นี้มีคุณสมบัติอันนับเป็นอัพภูตธรรมอยู่ ๘ ประการ ก็ ๘ ประการนั้นเป็นไฉน ?


       

๑. คฤหาสน์นี้ มีสุวรรณประภาโอภาสอยู่เป็นนิตย์ ปราศจากความแตกต่างระหว่างทิวากับราตรี โดยมิต้องอาศัยแสงจากดวงทิวากรฤๅนิศากรใดเลย นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๑.

๒. คฤหาสน์นี้ หากบุคคลใดได้เข้ามาถึงได้ ย่อมมิถูกสรรพกิเลสสิ่งเศร้าหมองทั้งปวงย่ำยีได้ นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๒

๓. คฤหาสน์นี้ มีท้าวพรหมราช ท้าวศักรินทร์ ท้าวจาตุมมหาราชและสรรพพระโพธิสัตว์จากโลกธาตุอื่น ๆ มาประชุมสโมสรอยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๓

๔. คฤหาสน์นี้ มีการแสดงพระสัทธรรมบรรยายว่าด้วยปารมิตา ๖ และอนิวรรตนิยธรรมเป็นนิตย์ นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๔.

๕. คฤหาสน์นี้ มีเสียงทิพยดุริยางค์อันเลิศบรรเลงขับกล่อมอยู่เป็นนิตย์ และเสียงแห่งทิพยสังคีตนั้นเป็นเสียงประกาศพระสัทธรรมโดยอเนกปริยาย จักประมาณขอบเขตก็มิได้ นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๕.

๖. คฤหาสน์นี้ มีมหาจตุรโกศะบริบูรณ์ด้วยสรรพรัตนะของวิเศษพอแจกจ่ายแก่สรรพทุคตชนเข็ญใจได้โดยถ้วนหน้ามิขาดพร่อง นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๖.

๗. คฤหาสน์นี้ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันไม่มีประมาณในทศทิศเสด็จมาแสดงพระสัทธรรมเป็นนิตย์ อาทิเช่น พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภถุทธเจ้า พระอักโฏภยพุทธเจ้า พระรัตรคุณพุทธเจ้า พระรัตนโชติพุทธเจ้า พระรัตนจันทรพุทธเจ้า ฯลฯ พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันเป็นอปรไมยในทศทิศทุกพระองค์นี้ ในกาลใดอุดมบุรุษผู้นั้น (หมายพึงท่านวิมลเกียรติ) อนุสรณ์ทูลเชิญแล้ว ย่อมเสด็จมาปรากฏพระองค์แสดงแจกแจงข้อพระสัทธรรมอันสุขุมคัมภีร์ภาพ ครั้นจบพระธรรมเทศนาแล้ว จึงเสด็จกลับคืนไป นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๗.

๘. คฤหาสน์นี้ ย่อมปรากฏภาพอันไพจิตรตระการรุ่งแห่งปวงวิมานทิพยมณเฑียรสถาน แลปวงพุทธเกษตรอันอุดมด้วยสรรพคุณาลังการสำแดงให้เห็นได้ในคฤหาสน์ นี้เป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมประการที่ ๘.

“พระคุณเจ้า ท่านสารีบุตรเจ้าขา ก็เมื่อมีคฤหาสน์อันสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัตินับเป็นอัจฉริยอัพภูตธรรมถึง ๘ ประการดังนี้ ใครเลยที่เขาได้มายลสภาพอันเป็นอจินไตยเห็นปานฉะนี้แล้ว เขาจักมาพอใจยินดีปรารถนาในธรรมฝ่ายสาวกอีกทำไม.”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กันยายน 2553 13:03:25 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 15:04:01 »



                        


พระสารีบุตร ถามว่า “ดูก่อนเทวี ก็ไฉนเธอจึงไม่เปลี่ยนสภาวะความเป็นหญิงของเธอเสียเล่า ?”

เทพธิดาตอบว่า “ตลอดระยะกาล ๑๒ ปีมา ดิฉันค้นหาไม่พบสภาวะความเป็นหญิงตัวดิฉันเลย เมื่อเป็นดังนี้จะให้เอาอะไรมาเปลี่ยนเล่าพระคุณเจ้า อุปมาบุรุษมายากรได้สำแดงรูปสตรีมายาขึ้น หากมีผู้ถามรูปมายานั้นว่า ไฉนท่านจึงไม่เปลี่ยนสภาวะของท่านเสียเล่า การถามเช่นนั้นชื่อว่าเป็นการถามที่ถูกต้องกับความเป็นจริงฤๅไม่เจ้าคะ ?”

พระสารีบุตรตอบว่า “ไม่ถูกต้องหรอกเทวี! เพราะอันที่จริงมีแต่สภาพมายาสาระ หาแก่นสารมั่นคงมิได้ จะเอาอะไรที่ไหนมาเปลี่ยน.”

เทพธิดาจึงว่า “สิ่งทั้งปวงก็มีอุปไมยฉันเดียวกัน ปราศจากสภาวะคงที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคุณยังจะถามดิฉันว่า ไฉนจึงไม่เปลี่ยนสภาวะหญิงไปเสียทำไมกัน.”
ครั้งนั้นแล เทพธิดานางนั้นได้สำแดงอิทธาภิสังขารบันดาลให้พระสารีบุตรกลายเป็นตัวนางเทพธิดาเสียเอง ส่วนตนเองก็แปลงร่างเป็นสารีบุตรแล้วจึงย้อนกลับไปถามสารีบุตรว่า
“เทวี! ไฉนเธอจึงไม่เปลี่ยนสภาวะหญิงเสียเล่า ?”

พระสารีบุตรในรูปนางเทพธิดาตอบว่า “อาตมภาพมิทราบว่าเหตุใดอยู่ดี ๆ จึงมากลายเป็นนางเทพธิดาไปได้ ?”

เทพธิดา “พระคุณเจ้าสารีบุตร ถ้าพระคุณอาจแปรเปลี่ยนรูปหญิงนี้ได้ สตรีทั้งปวงก็จักสามารถเปลี่ยนภาวะของเธอได้ เช่นกับพระคุณเองมิใช่เป็นสตรี แต่ก็สำแดงปรากฏเป็นรูปสตรีฉันใด สตรีทั้งหลายแม้จักปรากฏโดยรูปว่าเป็นหญิง แต่ความจริงแล้วก็หาสภาวะหญิงมิได้ฉันนั้น เพราะเหตุประการฉะนี้แล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สิ่งทั้งปวง ไม่มีสภาวะชาย ฤๅสภาวะหญิง.”

ลำดับนั้นแล นางเทพธิดาจึงเรียกฤทธิ์ให้กลับคืน ยังพระสารีบุตรให้คืนสู่ลักษณะเดิมของท่าน แล้วนางก็ถามว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้า อิตถีลักษณะนั้น เดี๋ยวนี้ตั้งอยู่ ณ ที่ไหน ?”

ตอบ “อิตถีลักษณะนั้นมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ใด และไม่มีสถานที่ใดเลยที่อิตถีลักษณะนั้นจักมิได้ตั้งอยู่.”
เทพธิดา “ธรรมทั้งปวงก็มีนัยดุจเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่กำหนดแน่นอน ณ ที่ใด แลในประการเดียวกันก็ไม่มีสถานที่ใดที่ธรรมเหล่านั้นมิได้ตั้งอยู่อันหลักที่ว่ามิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ใด แลไม่มีสถานที่ใดที่จักมิได้ตั้งอยู่ นี้เป็นพุทธานุศาสน์นั้นเอง.”

พระสารีบุตรถามว่า “ดูก่อนเทวี เมื่อเธอละสรีระนี้แล้ว จักไปถืออุบัติ ณ ภพภูมิไดหนอ ?”
เทพธิดา “ภูมิใดซึ่งพระพุทธองค์ทรงอวตารเพื่อโปรดสัตว์ ดิฉันย่อมไปถืออุบัติ ณ ภพภูมินั้น ๆ.”
พระสารีบุตร “การอวตารเพื่อโปรดสัตว์ของพระพุทธองค์ ไม่นับว่าเป็นความเกิดขึ้นแลความดับไป.”
เทพธิดา “ถ้าเช่นนั้นไซร้ แม้การเวียนว่ายตายเกิดแห่งสรรพสัตว์ก็มีนัยฉันเดียวกัน คือไม่นับว่าเป็นความเกิดขึ้นแลความดับไปด้วย.”

ถาม “เป็นกาลเวลาอีกนานเท่าไรหนอ ที่เธอจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ?”
ตอบ “ในกาลเวลาใดแล ที่พระคุณเจ้าพระสารีบุตร กลับเป็นปุถุชนภาวะ ในกาลเวลานั้นดิฉันก็จักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเจ้าค่ะ.”
พระสารีบุตร “ข้าที่อาตมภาพจักคืนสู่สภาวะปุถุชน ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่เป็นไปได้.”
เทพธิดา “ก็เช่นเดียวกันแหละเจ้าค่ะ ข้อที่ดิฉันจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่เป็นไปได้ เพราะเหตุไฉน ก็เพราะว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เป็นธรรมปราศจากที่ตั้ง เหตุฉะนั้นแลจึงไม่มีผู้จักบรรลุ.* ”(* หมายความว่า พระโพธิญาณเป็นอนัตตา ไม่มีที่ตั้งกำหนดได้ว่าอยู่ทิศนั้นทิศนี้ ไม่อยู่ในวิสัยแห่งกาละหรือเทศะใด ๆ ส่วนบุคคลผู้บรรลุเล่าก็เป็นอนัตตา จึงกล่าวว่าไม่มีการบรรลุโดยปรมัตถนัย.)

ถาม “ก็บัดนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย สำเร็จ บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในอดีตด้วย ในอนาคตด้วย นับจำนวนดุจเม็ดทรายในคงคานที ความเป็นไปปรากฏอย่างนี้ จักว่าฉันใดเล่า ?”
ตอบ “ความเป็นไปปรากฏอย่างนั้น ล้วนนับเนื่องด้วยอักขระบัญญัติโวหาร ตามสมมติโลกิยนัย จึงบัญญัติว่ามีกาละทั้ง ๓ อัน พระโพธิญาณนั้นย่อมไม่อยู่ในวิสัยแห่งอดีต ปัจจุบัน อนาคตใด ๆ .”

ลำดับนั้น นางเทพธิดาจึงถามพระสารีบุตรขึ้นบ้างว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตรผู้เจริญ พระคุณได้สำเร็จพระอรหันตมรรคกระนั้นฤๅเจ้าคะ ?”
พระสารีบุตร “เพราะเหตุที่อาตมภาพมิได้ยึดถือว่ามีตัวตนเป็นผู้ได้บรรลุมรรคผล อาตมภาพจึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์.”
เทพธิดา “แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย กับทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งปวงก็ดุจเดียวกัน กล่าวคือมิได้มีความยึดถือว่ามีสภาวะอันจักพึงบรรลุเมื่อปราศจาก
ความยึดถือ จึงชื่อว่าได้สำเร็จพระโพธิญาณโดยแท้จริง.”

ลำดับนั้น ท่านวิมลเกียรติจึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้า อันเทพธิดาผู้นี้ ได้กระทำการสักการบูชาบำเพ็ญกุศลสมภารในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ๙๒ โกฏิพระองค์มาแล้ว เธอมีความเชี่ยวชาญในโพธิสัตว์อภิญญากรีฑาอย่างยอดเยี่ยม มีปณิธานอันสมบูรณ์เต็มเปี่ยม บรรลุอนุตปาทธรรมกษานติ ตั้งอยู่ในภูมิอันไม่เสื่อมถอยหมุนกลับคืนมาอีก แต่ด้วยอาศัยมูลปณิธาน เธอจึงสำแดงตนตามมโนปรารถนาด้วยประการต่าง ๆ เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์.”

ปริเฉท ๗ สรรพสัตว์วิทรรศนะวรรค จบ.





« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กรกฎาคม 2554 05:50:10 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 17:44:21 »


       


            ปริเฉทที่ ๘
       พุทธภูมิวรรค

ก็โดยสมัยนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ได้ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า
“ดูก่อนคฤหบดี พระโพธิสัตว์จักพึงบรรลุเข้าถึงพระพุทธภูมิโดยประการใดหนอ ?”

วิมลเกียรติคฤหบดีตอบว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้า หากพระโพธิสัตว์ใดสามารถดำเนินปฏิปทาอันตรงกันข้ามกับปฏิปทาเพื่อบรรลุพระพุทธภูมิไซร้ พระโพธิสัตว์นั้นย่อมชื่อว่าบรรลุเข้าถึงพระพุทธภูมิโดยแท้เทียว.”

ถาม “ที่ชื่อว่าดำเนินตามปฏิปทาอันตรงกันข้ามกับปฏิปทาเพื่อบรรลุพระพุทธภูมินั้น เป็นไฉนเล่า ?”

ตอบ “หากพระโพธิสัตว์สามารถบำเพ็ญโพธิจริยา ในท่ามกลางปัญจานันตริยภูมิได้*(* ปัญจานันตริยภูมิ หมายถึงนรกซึ่งผู้ที่ก่อปัญจานันตริยธรรม เข้าไปเสวยทุกข์อยู่ พระโพธิสัตว์ลงไปเกิดในภูมิดังกล่าว เพื่อโปรดสัตว์นรกเหล่านั้น โดยปราศจากหวาดหวั่นต่อความทุกข์ยากในนรกนั้น.)

โดยปราศจากความวิปฏิสารเร่าร้อนด้วยกิเลสเข้าไปสู่ภูมินรกได้ โดยปราศจากการครอบงำแปดเปื้อนด้วยมลทินใด ๆ ตั้งอยู่ในภูมิเดรัจฉานได้ โดยปราศจากโทษแห่งอวิชชา สาเถยยะ มานะ เป็นต้น บังเกิดในภูมิเปรตอสุรกายได้ โดยมีสรรพกุศลธรรมบริบูรณ์ไม่บกพร่อง แม้จักอุบัติเหตุในรูปาวจรภพ อรูปาวจรภพ แต่ก็ไม่สำคัญหมายว่านั้นเป็นภพอันวิเศษ แม้จักสำแดงให้เห็นและประหนึ่งว่าเป็นผู้มีอภิชฌาวิสมโลภะ แต่ความจริงนั้นเป็นผู้เว้นจากปวงฉันทราคะ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีโทสะ แต่ความจริงเป็นผู้ปราศจากความกีดขวางเป็นภัยต่อสรรพสัตว์

แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้โง่เขลา แต่ความจริงเป็นผู้มีสติปัญญาญาณ ฝึกหัดอบรมจิตของตนและของผู้อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีมัจฉริยะตระหนี่ถี่เหนียว แต่ความจริงเป็นผู้เสียสละสรรพสมบัติทั้งภายใจภายนอก จนที่สุดแม้สละชีวิตก็สามารถสละได้ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้ทุศีล แต่ความจริงเป็นผู้สถิตอยู่ในศีลสังวรอันบริสุทธิ์เสมอ จนที่สุดแม้โทษอันเล็กน้อยก็มีความครั่นคร้ามยิ่งนัก มิอาจล่วงสิกขาบทได้

แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีความโกรธ แต่ความจริงเป็นผู้มีใจตั้งอยู่ในเมตตากษานติธรรมเป็นนิตย์ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีโกสัชชะ แต่ความจริงเป็นผู้ขวนขวายพากเพียรในการสร้างกุศลธรรมยิ่งนักหนา แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แต่ความจริงเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิจิตมิขาด แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีโมหะโฉดเขลา แต่ความจริงเป็นผู้รอบรู้แตกฉานในโลกิยปัญญา และโลกุตรปัญญา

แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีมารยา แต่ความจริงเป็นผู้อนุโลมตามอรรถแห่งพระสูตรทั้งหลาย โดยกุศโลบายเพื่อโปรดสัตว์ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีความเย่อหยิ่งทะนงถือตัว แต่ความจริงเป็นผู้รับใช้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ปวงสัตว์ ดุจสะพานเป็นที่อาศัยเดินข้ามของปวงชนฉะนั้น แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสรรพกิเลส แต่ความจริงจิตภายใจของเขาสะอาดหมดจดเป็นนิรันดร์ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้เข้าไปสู่มารสมาคม แต่ความจริงเป็นผู้ปฏิบัติตนตามพระพุทธปัญญา ไม่รับปฏิบัติตามมารานุศาสน์เลย

 แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้ยากจนเข็ญใจ แต่ความจริงเป็นผู้อุดมด้วยรัตนคุณานันต์ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้พิกลพิการ แต่ความจริงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศุภลักษณ์อันเลอเลิศอเนกพรรณราย ประดับตน แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้อยู่ในวรรณะต่ำ แต่ความจริงเป็นผู้อุบัติในพระพุทธวงศ์อันประเสริฐ สะพรั่งพร้อมด้วยสรรพคุณานุคุณ แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้อัปลักษณ์ ทุพพลภาพ แต่ความเป็นจริงเป็นผู้มีสรีรกายดุจองค์นารายณ์เทพ เป็นปรียทัศนาแห่งสรรพสัตว์

แม้จักสำแดงประหนึ่งว่าเป็นผู้อันชราพญาธิบีฑา แต่ความจริงเป็นผู้ยังพยาธิมุ,สมุจเฉทแล้ว เป็นผู้ข้ามจากมรณภัยแล้ว แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสรรพสิ่ง อุปโภค บริโภค ทรัพย์สินเครื่องบำรุง แต่ความจริงเป็นผู้ตั้งอยู่ในอนิจจานุปัสสนาเป็นนิตย์ ปราศจากอภิชาฌาวิสมโลภะใดๆ  แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีภริยาคู่ครองทาษสมบัติ แต่ความจริงเป็นผู้ห่างเว้นจากเบญจพิธกามคุณ ดุจปทุมมาลย์ซึ่งเจริญขึ้นพ้นจากโคลนตมฉะนั้น

แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้มีวาจาติดขัดไม่แคล่วคล่องว่องไว แต่ความจริงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสรรพปฏิสัมภิทาปฏิภาณโกศลสำเร็จสมบูรณ์มิเสื่อมถอย แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้แสดงคติธรรมฝ่ายมิจฉาทิฐิของพวกพาหิรลัทธิ แต่ความจริงเป็นผู้แสดงคติธรรมฝ่ายสัมมาทิฐิโปรดปวงสัตว์ให้พ้นทุกข์ แม้จักสำแดงให้เห็นประนึ่งว่าเป็นผู้เข้าถึงคติทั้ง ๖ แต่ความจริงเป็นผู้มีคติมูลสมุจเฉทแล้ว แม้จักสำแดงให้เห็นประหนึ่งว่าเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน แต่ความจริงเป็นผู้ไม่ละชาติมรณะให้ขาดสิ้น (เพื่ออาศัยชาติมรณะนั้นบำเพ็ญหิตประโยชน์แก่ปวงสัตว์) ข้าแต่พระมัญชุศรีผู้เจริญ พระโพธิสัตว์ใดสามารถดำเนินตามปฏิปทาอันตรงกันข้ามดั่งกล่าวนี้ ย่อมชื่อว่าพระโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้บรรลุเข้าถึงพระพุทธภูมิโดยแท้เทียว.”



บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 18:24:00 »


       


ลำดับนั้นแล ท่านวิมลเกียรติคฤหบดีได้ถามพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้ามัญชุศรีผู้เจริญ ธรรมอะไรหนอ ชื่อว่าตถาคตพีชะ ?”

พระมัญชุศรีตอบว่า “ดูก่อนคฤหบดี สรีระกายนี้แล ชื่อว่าพระตถาคตพีชะ อวิชชา ภวตัณหา ชื่อว่าพระตถาคตพีชะ โลภะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าพระตถาคตพีชะ แม้วิปลาส ๔ และนิวรณ์ ๕ ก็ชื่อว่าพระตถาคตพีชะสฬายตนะ ๖ ชื่อว่าพระตถาคตพีชะ วิญญาณธาตุ ๗ มิจฉัตตะ ๘ เหล่านี้ก็นับว่าเป็นพระพุทธพีชะ แลเมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้ว มิจฉาทิฐิ ๖๒ กับปวงกิเลสล้วนเป็นพระพุทธพีชะได้ทั้งสิ้น.”

ถาม “ข้อนั้น เพราะเหตุดังฤๅ ?”
ตอบ “เพราะเหตุว่าหากบุคคลเป็นผู้สำเร็จอริยผล ได้บรรลุพระนิพพานไซร้ บุคคลนั้นก็อาจตั้งจิตมณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้.”

อุปมาดั่งพื้นปฐพีดลอันสูงลิ่ว ย่อมไม่เป็นฐานะที่ดอกโกมุทจักพึงอุบัติขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ต่ำ เป็นเลนตมชื้นแฉะ จึงเป็นแหล่งอันปทุมชาติจักพึงอุบัติขึ้นได้ฉันใด บุคคลผู้ได้สำเร็จอริยผล บรรลุพระนิพพานแล้วไซร้ ย่อมบ่ออาจจักยังเขาให้ตั้งจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมธิญาณได้ ในท่างกลางโคลนตมคือกิเลส จึงมีผู้สามารถบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็มีอุปไมยฉันนั้น

อนึ่งเปรียบเหมือนผู้ที่หว่านพืชลงในสถานที่พื้นที่โสโครก พืชนั้นกลับจักเจริญงอกงอมขึ้น เช่นเดียวกับบุคคลผู้สำเร็จอริยผล บรรลุพระนิพพานไปแล้ว ย่อมอาจตั้งจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้อีก โดยประการตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่ยังอัตตานุทิฏฐิกว้างขวางใหญ่โต ครุวนาดั่งจอมสุเมรุบรรพตกลับจักสามารถบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ด้วยประการฉะนี้แล ท่านคฤหบดี ! ขอท่านพึงกำหนดรู้ไว้ว่า สรรพกิเลสาสวะทั้งหลาย แต่ละล้วนนับเป็นพระตถาคตพีชะ

อนึ่ง เปรียบเหมือนบุคคลผู้ปรารถนาจักได้ดวงมณีอันหาค่าเปรียบมิได้ มาตรแม้ว่าเขาไม่ออกไปสู่สาครสมุทรอันล้ำลึกเพื่อเสาะแสวงหาไซร้ ไหนเลยจักได้เป็นเจ้าของมณีรัตน์อันล้ำค่าเห็นปานนั้นได้เล่าความอุปมานี้ฉันใด ความอุปไมยเช่นเดียวกับบุคคลผู้มิได้เข้าไปสู่ท่ามกลางมหาโอฆะกันดารแห่งกิเลส ก็ย่อมบ่ออาจสำเร็จบรรลุในสรรเพชุดาญาณรัตนะก็ฉันนั้นแล.”

ครั้งนั้นแล พระมหากัสสปได้เปล่งวาจาอนุโมทนาขึ้นว่า

“สาธุ ! สาธุ ! ท่านมัญชุศรีผู้เจริญ ท่านกล่าวได้แหลมลึกนักความจริงย่อมเป็นดั่งคำกล่าวของท่านมิคลาดเคลื่อน กล่าวคือสรรพกิเลสทั้งปวงย่อมเป็นพระตถาคตพีชะ๑(๑. เพราะถ้าไม่มีความทุกข์เพราะกิเลสในสรรพสัตว์ ก็จักไม่มีผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อเปลื้องทุกข์ภัยให้แก่สรรพสัตว์ได้) พวกอาตมภาพทั้งหลาย (หมายถึงพระอรหันตสาวก) มิอาจบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ ซึ่งผิดกับบุคคลผู้ประกอบแม้จนกระทั่งปัญจานันตริยกรรม เขายังมีโอกาสที่จักบังเกิดปณิธานในพระพุทธภูมิได้ ก็แต่พวกอาตมภาพกลับเป็นผู้ไม่สามารถตั้งจิตปณิธานในพระโพธิญาณได้ดุจเดียว กับบุคคลผู้มีอินทรีย์อันทุพพลภาพไปแล้ว๒(๒. เช่นโสตินทรีย์วิการไปย่อมไม่อาจเสวยสัททารมณ์ได้เป็นต้น อินทรีย์ในที่นี้หมายถึงจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชีวหินทรีย์ และกายินทรีย์ คู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ย่อมมิอาจเสวยเบญจพิธกามคุณารมณ์ได้ดั่งปกติ

ครุวนาเช่นพระอรหันตสาวกผู้ทำลายสังโยชน์โดยสิ้นเชิงแล้ว ย่อมบ่ห่อนจักสามารถบำเพ็ญพุทธการกธรรมได้ ย่อมบ่ห่อนจักบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ เพราะเหตุฉะนั้นแล ท่านมัญชุศรีผู้เจริญ ปุถุชนในพระธรรมวินัย ของพระพุทธแม้จักยังมาความหวั่นไหวกลับกลอก บัดได้บัดเสื่อมจากคุณธรรม นับเป็นกุปปบุคคลแต่พระอรหันตสาวกเป็นอกุปปบุคคล ปราศจากความหวั่นไหว ไม่เสื่อมจากคุณธรรมที่ได้

ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน ก็เพราะว่าหากปุถุชนได้สดับฟังพระสัทธรรมอันเป็นไปเพื่อพุทธภูมิไซร้ ก็จักสามารถบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ เขาย่อมเป็นผู้สืบสายวงศ์พระรัตนตรัยมิให้ขาดสะบั้น๓(๓. หมายความว่า เมื่อเขาได้บำเพ็ญเพียรบารมีจนลุพุทธภูมิแล้ว ก็จักได้ตั้งพระพุทธศาสนาสืบต่อจากพระอดีตพระพุทธเจ้า.) ฝ่ายพระอรหันตสาวกนั้น มาตรว่าตลอดชีพจักสดับธรรมอันเป็นไปเพื่อพระพุทธภูมิ มีทศพลธรรม อภัยธรรมเป็นอาทิก็ยังไม่สามารถบังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมโพธิญาณได้.”

ลำดับนั้นแล ณ ท่ามกลางธรรมสันนิบาตนั้น มีพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง นามกรว่า สัพพัตถทิสมานกาย ได้เอื้อนโอษฐ์ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า

“ดูก่อนท่านคฤหบดี ก็มารดาบิดาภริยาและบุตรธิดา อีกทั้งวงศาคณาญาติบริวารชนของท่านนั้น เป็นใครหนอ ? อนึ่ง บ่าวไพร่ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก อีกทั้งยวดยานพาหนะของท่านเล่า บัดนี้อยู่ ณ แห่งหนใด ?”
ท่านวิมลเกียรติได้สดับถ้อยปุจฉานั้นแล้ว จึงแถลงปฏิพจน์โดยคาถาว่า :-

“พระโพธิสัตว์มีปรัชญาเป็นมารดา มีอุปายะเป็นบิดา อันพระผู้นำทางพ้นทุกข์แก่ส่ำสัตว์ ไม่มีสักพระองค์หนึ่งเลยที่จักไม่อุบัติขึ้นจากมารดาบิดาดังกล่าวนี้. ๔ ”(๔. หมายความว่า พระโพธิสัตว์มีทั้งปัญญาและมีทั้งอุปายโกศลที่จะสอนสัตว์ให้พ้นทุกข์ ให้ถูกกับจริตของสัตว์ เมื่อเป็นไปได้เช่นนี้ชื่อว่าได้สำเร็จโพธิญาณ บำเพ็ญพุทธกินโดยสมบูรณ์ สำนวนเหล่านี้เป็นสำนวนเปรียบเทียบธรรมาธิษฐานกับบุคคลาธิษฐาน)
“กระผมเอาปีติในพระธรรมมาเป็นคู่เคียง มีจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาเป็นบุตรสาว เอาความซื่อสัตย์สุจริตใจเป็นบุตรชาย มีสุญญาตาเป็นเรือนอาศัย เอาสรรพสัตว์เป็นศิษย์ กระผมย่อมอบรมสั่งสอนสัตว์เหล่านั้นได้ตามปรารถนา อนึ่ง กระผมมีโพธิปักขิยธรรมเป็นกัลยาณมิตรได้อาศัยธรรมดั่งกล่าวนี้แล้ว จึงถึงภูมิตรัสรู้ได้.”

“ความทรงไว้ซึ่งสรรพธรรมอรรถ เป็นอุทยานของกระผมอนาสวธรรมเป็นไพรพฤกษ์ มีจิตตรัสรู้เป็นบุปผชาติลดาวัลย์ เผล็ดผลกล่าวคือวิมุตติญาณ วิโมกข์ ๘ เป็นสระโบกขรณี มีสมาธิจิตเป็นวารีอันเต็มเปี่ยมเสมอ สะพรั่งด้วยบัวบานปราศจากมลทิน ๗ อย่าง กล่าวคือสุทธิ ๗ กระผมได้อาบรดด้วยวารีดั่งกล่าวนั้น.”

“กระผมมีอภิญญา ๕ เป็นช้างม้าที่ไปได้เร็ว มีมหายานธรรมเป็นยวดยาน เอกัคคตาจิตเป็นนายสารถี กระผมอาศัยยานพาหนะเช่นนี้ท่องเที่ยวไปตามหนทาง กล่าวคืออัฏฐังคิกมรรค ๘.”
“มหาสุริสลักษณะ ๓๒ เป็นรูปร่างของกระผม มีอนุพยัญชนะ ๘๐ เป็นอลังการแห่งองคาพยพ มีหิริโอตตัปปะเป็นวิภูษิตตาภรณ์ จิตที่สุขุมคัมภีรภาพเป็นศิราภรณ์ กระผมมั่งคั่งด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ อนึ่ง การสั่งสอนอบรมทวยนิกรสัตว์ให้เป็นผู้สมบูรณ์ในอริยทรัพย์นั้น เพื่ออุทิศในพระโพธิญาณนับว่าเป็นดอกเบี้ยประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของกระผมทีเดียว.”



บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 05 กันยายน 2553 18:36:37 »

 
                         


“กระผมเอารูปาวจรฌานทั้ง ๔ เป็นอาสนะ มีความเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ มีพหุสูตเป็นเครื่องทวีปัญญา กับทั้งเป็นเสียงยังตนเองให้รู้แจ้ง โภชนาหารของกระผมเล่าคือมฤตธรรม มีวิมุตติรสเป็นน้ำปานะกระผมโสรจสรงสนานตัวด้วยการชำระจิตให้บริสุทธิ์ลูบไล้ด้วยสุคันธชาตกล่าวคือศีล.”

“กระผมหักรานโจรคือกิเลสให้พินาศย่อยยับ มีวีรภาพอันยิ่งยงปราศจากผู้เปรียบเกิน ยังมาร ๔ ประเภทให้ตกอยู่ในอำนาจสถาปนาธรรมณฑลขึ้นแล้ว ยังธรรมวิชัยธุชให้โบกไสว.”
“ถึงมาตรว่ากระผมจักรู้แจ้งในธรรม อันปราศจากความเกิดขึ้นและดับไป แต่เพื่อโปรดสรรพสัตว์ จึงยังคงวนเวียนท่องเที่ยวในภพอีกมีกายปรากฏในสรรพโลกานุโลก ดั่งดวงภาณุมาศซึ่งปรากฏแก่ชนทั้งหลายฉะนั้น.”
“กระผมได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย มีประมาณพระองค์อันจักพึงนับมิได้ทั่วทศทิศ โดยมิได้เกิดวิกัลปสัญญาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายกับตนเองแตกต่างกันเลย ถึงมาตรกระผมรู้จักว่าสรรพพุทธเกษตร แลสรรพสัตว์ล้วนเป็นสุญญตา แต่กระผมก็บำเพ็ญกรณีกิจเพื่อยังโลกธาตุให้บริสุทธิ์เสมอ เพื่อโปรดทวยประชาสัตว์.”

“สัตว์ทั้งหลาย โดยประเภทมีหลายหลาก รูปลักษณะก็ดี สุ้มเสียงจำนรรจา อีกทั้งอิริยาบถประการต่าง ๆ พระโพธิสัตว์ย่อมอาศัยกำลังแห่งอภัยธรรม สำแดงตนให้ปรากฏโดยลักษณะดั่งกล่าวนั้น ในกาลพียงชั่วครู่เดียว.”
“พระโพธิสัตว์ย่อมรู้เท่าทันเรื่องราวของมาร แต่สำแดงตนประหนึ่งว่าเข้าไปพัวพันกับมารนั้น ก็ด้วยอาศัยปัญญากุศโลบายอันแยบคายตามใจปรารถนา ชักจูงให้มารมุ่งจิตต่อพระพุทธภุมิ.”
“อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงตน ประหนึ่งว่ามีชราพยาธิมรณะก็เพื่อโปรดสรรพสัตว์ให้สำเร็จประโยชน์ ในการแทงทะลุสรรพธรรมโดยปราศจากอุปสรรค ว่าสังขารทั้งปวงเป็นมายาไร้แก่นสาร.”
“อนึ่ง ย่อมแสดงให้เห็นกัลป์อันประลัยด้วยอัคนี พร้อมทั้งมหาปฐพี ซึ่งลุกไหม้ยังชนซึ่งยึดถือในนิจจสัญญา ให้บังเกิดความแจ่มชัดในความเป็นอนิจจัง ทวยนิกรสัตว์นับอสงไขยอประไมยต่างก็บ่อยหน้ามาพึ่งพิงพระโพธิสัตว์ยังสถานที่อาศัย ในเวลาเดียวกันพระโพธิสัตว์ย่อมสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งนั้นมุ่งจิตต่อพระพุทธภูมิ.”

“ศาสตราคม อาถรรพเวท อีกทั้งนานาศิลปวิทยา พระโพธิสัตว์ย่อมศึกษาเจนจบ นำมาเป็นเครื่องมือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อประชาสัตว์ อนึ่งย่อมสำแดงตนถือเพศเป็นนักบวชในสรรพพาหิรลัทธิ ทั้งนี้เพื่อมุ่งขจัดความหลงของเหล่าพาหิชน โดยที่ตนเองมิได้กลายเป็นมิจฉาทิฐิไปตาม.

“อนึ่ง พระโพธิสัตว์ ย่อมสำแดงตนเป็นสุริยเทพ จันทรเทพฤๅท้าวมหาพรหมปชาบดี ในลางสมัยย่อมสำแดงเป็นปฐพีมหาภูต อาโปมหาภูต ฤๅวาโยมหาภูต เตโชมหาภูต ก็แลหากบังเกิดโรคันตราย ในท่ามกลางความเป็นไปแห่งกัลป์ไซร้ พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงสรรพต้นยาสมุนไพร อันชนใดกินเข้าไปแล้ว ย่อมสามารถดับพิษโรคได้อย่างฉมัง ฤๅหากว่าบังเกิดทุพภิกขภัย พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงโภชนาหารอันประณีต ยังสรรพชนให้อิ่มหนำสำราญระงีบความหิวโหย แล้วแลแสดงธรรมแก่เขาเหล่านั้น ฤๅหากมียุทธภัยเกิดขึ้น พระโพธิสัตว์ย่อมยังชนอันเป็นข้าศึกแก่กันทั้ง ๒ ฝ่าย ให้มีจิตเมตตาต่อกัน ตั้งอยู่ในอรณภูมิ ฤๅหากมีมหารณรงค์ อันกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายตั้งประจัญกัน ณ สมรภูมิ พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงเตชพละ ยังกองทัพทั้งนั้นให้อยู่ในอำนาจแล้ว แลให้อยู่ในสันติความสมัครสมานกันได้ในที่สุด.”

“ในท่ามกลางสรรพโลกานุโลก ประดาที่มีนรกภูมิ พระโพธิสัตว์ย่อมเสด็จไปปรากฏ ณ ที่เช่นนั้น เพื่อช่วงเปลื้องทุกข์ของสัตว์ผู้เสวยทุกข์ในท่ามกลางสรรพโลกานุโลก ประดาที่มีเดรัจฉานภูมิ ซึ่งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายต่างกัดกินกันเป็นอาหาร พระโพธิสัตว์ย่อมเสด็จไปปรากฏ ณ แดนนั้น เพื่อสั่งสอนให้ระงับการเบียดเบียนยังหิตานุหิตคุณให้มีขึ้น.”

“อนึ่ง พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงตนประหนึ่งว่าเสวยเบญจพิธกามคุณ ในยามเดียวกันก็สำแดงตนประหนึ่งว่าบำเพ็ญฌานสมาบัติยังจิตของมารให้งงงวย ไม่พบช่องโอกาสที่จักสำแดงมายาได้ เปรียบเหมือนดอกโกมุท ซึ่งอุบัติขึ้นจากท่ามกลางแวดวงแห่งกามคุณ แต่กลับสามารถตั้งมั่นอบคมในฌานสมาบัติได้ ก็มีนัยดุจเดียวกัน.”

“อนึ่ง ลางสมัยพระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงตนประหนึ่งเป็นหญิงหนักในราคะ ชักจูงล่อบรรดาชายผู้อภิรมย์ในรสกามให้มาผู้พัน ทั้งนี้ก็โดยใช้วิธีเอากามคุณมาเป็นเบ็ดเกี่ยวจิตใจของชนผู้มีนันทิราคะให้มาติดเสียก่อน ภายหลังจึงพร่ำสอนให้เขาเหล่านั้น บรรลุภูมิตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.”

“ฤๅลางสมัย สำแดงตนเป็นหัวหน้าแห่งคามนิคม ฤๅเป็นผู้นำแหล่าพาณิช ฤๅเป็นราชปุโรหิต ฤๅเป็นอัครมนตรี ทั้งนี้ก็เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ปวงนิกรชน ในบรรดาชนทุคตะเข็ญใจยากไร้อนาถาพระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงธนทรัพย์อันอเนกอนันต์ แจกจ่ายให้แก่ชนเหล่านั้น แล้วเลยอบรมสั่งสอนแนะนำให้พวกเขาตั้งจิตมุ่งมั่นต่อพระโพธิญาณ”

“ในบุคคลผู้มีความลำพองเย่อหยิ่งทะนง พระโพธิสัตว์ย่อมสำแดงตนเป็นบุรุษกำยำ มีพละ แรงกล้า เพื่อปราบความลำพองเย่อหยิ่งนั้น ให้เขาตั้งอยู่ในภูมิที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ในชนที่มีแต่ความหวาดหวั่นภัย พระโพธิสัตว์ย่อมไปปลอบขวัญเล้าโลมจิตของเขา ย่อมยังอภัยให้บังเกิดขึ้น ภายหลังจึงชักจูงให้เขามุ่งจิตต่อพระโพธิญาณ.”

“ในชนผู้ปรารถนามีผู้รับใช้ พระโพธิสัตว์ก็ย่อมสำแดงตนเป็นเด็กรับใช้ ปฏิบัติกิจของผู้เป็นนาย ยังความยินดีของนายให้เป็นไป จึงถือโอกาสอบรมจิตของนายให้มุ่งพระโพธิญาณ ยังความปรารถนาของเขาให้เป็นไปตามหวัง กระทำให้เขาเข้าสู่พระพุทธภูมิ ทั้งนี้ก็โดยอาศัยกำลังแห่งกุศโลบาย กระทำให้สมบูรณ์ได้.”

“วิถีของพระโพธิสัตว์ย่อมไม่มีประมาณ จริยาของพระโพธิสัตว์ก็ปราศจากขอบเขต พระโพธิสัตว์ย่อมปลดเปลื้องสัตว์ไม่มีประมาณให้พ้นจากห้วงแห่งทุกข์ และโดยประการดังกล่าวนี้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย จักตรัสสรรเสริญพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์ นับเป็นอสงไขยกัลป์ก็ยังบ่อาจจักพรรณนาได้จบสิ้นได้.”

“ผู้ใดมาตรว่าได้สดับธรรมเห็นปานดั่งนี้ไซร้ ใครเล่าจักไม่บังเกิดจิตปณิธานมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นอกเสียแต่ชนผู้โง่เขลา มีแต่อัญญาณเท่านั้นแล.”

ปริเฉทที่ ๘ พุทธภูมิวรรค จบ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กันยายน 2553 18:42:37 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #19 เมื่อ: 06 กันยายน 2553 11:45:36 »




            ปริเฉทที่ ๙
       อไทฺวตธรรมทวาวรรค

ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติอุบาสก ได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลายว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระโพธิสัตว์จักเข้าไปสู่อไทฺวตธรรมทวาร คือประตูแห่งความไม่เป็นคู่อย่างไรฤๅหนอแล ? ขอท่านผู้เจริญทั้งปวงโปรดแสดงมติของท่านแต่ละท่านออกมาเถิด!
ลำดับนั้น ในท่ามกลางธรรมสันนิบาต มีพระโพธิสัตว์ชื่อ พระธรรมอิศวร จึงกล่าวขึ้นว่า

“ ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ความเกิดและความดับ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่แต่เนื้อแท้สิ่งทั้งปวงปราศจากความเกิดขึ้น เมื่อเป็นดังนี้ จึงไม่มีอะไรดับไปผู้ใดได้ลุถึงอนุตปาทธรรมกษานติดังกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระคุณรักษโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“อัตตา อัตตนิยะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เหตุเพราะมีตัวตน จึงมีสิ่งที่เนื่องด้วยตน เมื่อปราศจากตนเสียแล้ว สิ่งที่เนื่องด้วยของของตนก็ไม่มีจึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระอนิมมิสโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความเสวยภพชาติ ความไม่เสวยภพชาติ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่แต่เนื้อแท้ธรรมทั้งปวงเป็นสุญญตา ปราศจากผู้เสวย จึงปราศจากสิ่งที่พึงถือเอาว่าเป็นเจ้าของได้ เพราะปราศจากสิ่งอันพึงยึดมั่น จึงไม่มีอุปาทานไม่มีการละอุปาทาน ไม่มีกิเลสกรรม ไม่มีการปฏิบัติเพื่อพ้นกิเลสกรรม นี้แลชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระคุณเสขรโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“มลธรรม วิมลธรรม ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเห็นเจ้งในสภาวะตามเป็นจริงของมลธรรมอันเป็นสุญญตาไซร้ วิมลธรรมก็ย่อมพลอยไม่มีไปด้วย ย่อมอนุโลมเป็นไปในนิโรธ นี้แลชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระศุภเคราะห์โพธิสัตว์ กล่าวว่า

“อารมณ์ ๖ ที่ทำให้ท่านหวั่นไหว วิปลาสสัญญาอันเป็นไปในอารมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เมื่อปราศจากความหวั่นไหวเพราะอารมณ์ ๖ จึงไม่มีวิปลาสสัญญา เมื่อไม่มีวิปลาสสัญญาก็ปราศจากวิกัลปะ ผุ้รู้แจ้งดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสมันตจักษุโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“สภาวะ อภาวะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้สภาวะก็คืออภาวะ ไม่เกิดความยึดถือในอภาวะว่ามีอยู่อีกด้วย ตั้งอยู่ในสมธรรมจึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระศรีหัตถโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“จิตพระโพธิสัตว์ จิตพระอรหันตสาวก ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดพิจารณาเห็นภาวะแห่งจิตว่าเป็นสุญญตา เป็นมายา ปราศจากแก่นสารเนื้อแท้ไม่มีอะไร ที่เป็นจิตพระโพธิสัตว์ฤๅจิตพระอรหันตสาวก จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระปุสสโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“กุศล อกุศล ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือก่อเกิดกุศลฤๅอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสิงหราชาโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“บาป บุญ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดรู้แจ้งว่าเนื้อแท้ภาวะแห่งบาป มิได้ผิดแปลกจากบุญเลย ใช้วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้ ไม่มีผู้ถูกผูกพันฤๅไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสิงหมติโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“อาสวะ อนาสวะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเข้าถึงความจริงว่าสรรพธรรมเป็นสมตา ย่อมไม่เกิดอาสวสัญญา ฤๅอนาสวสัญญาขึ้น ไม่ยึดถือในสภาวะ ไม่ยึดถือในอภาวะ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระวิสุทธิญาณโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“สังขตะ อสังขตะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดพ้นจากสิ่งที่พึงนับได้จิตของผู้นั้นว่างเปล่า เขาย่อมมีปัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งขัดข้อง จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรม
ทวาร.”


พระนารายณโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“โลกิยะ โลกุตตระ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้โลกิยธรรมเป็นสุญญตา เป็นอันเดียวกับโลกุตตระ ฉะนั้น จึงไม่มีการเข้าสู่โลกิยะฤๅการออกไปจากโลกิยะ ไม่มีความไหลเอ่อล้นฤๅความฟุ้งซ่าน จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระศุภมติโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความเกิด ความตาย พระนิพพาน ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเห็นแจ้งว่าสภาพแห่งความเกิด ความตาย เนื้อแท้ ปราศจากความเกิดความตาย ไม่มีความผูกพันฤๅความหลุดพ้น ไม่มีความลุกโพลงฤๅความดับความเย็น ผู้เห็นแจ้งดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสันทิฏฐิกโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ความสิ้นไปแห่งกิเลส กวามไม่สิ้นไปแห่งกิเลส ชื่อว่าเป็นธรรมคู่เนื้อแท้ของสภาพธรรมนั้น ความสิ้นไปก็คือความไม่สิ้นไป แต่ละล้วนเป็นภาวะอันไม่มีขอบเขต ภาวะอันไม่มีของเขตก็คือสุญญตา เพราะเป็นสุญญตจึงปราศจากขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ใดเข้าถึงความจริงดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระสมันตรักษโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“อัตตา อนัตตา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ อันที่จริงอัตตาย่อมหาไม่ได้เลยแล้วอนัตตาจักมีได้อย่างไร ผู้ใดรู้แจ้งในธรรมตามเป็นจริงดั่งนี้ ย่อมไม่เกิดความยึดถือในอัตตา อนัตตา จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระวิชชุเทพโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“วิชชา อวิชชา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้สภาพแห่งอวิชชาก็คือวิชชา แม้วิชชาก็ไม่พึงยึดมั่น เมื่อพ้นจากภาวะแห่งการนับเสียได้ ตั้งอยู่ในภูมิอันสม่ำเสมอไม่เป็นสอง ผู้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระปรียทรรศนโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“รูปกับความสูญของรูป ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้รูปก็คือความสูญ มิใช่ต้องรอให้รูปธรรมแตกดับไปจึงเรียกว่าสูญ แท้จริง สภาวะแห่งรูป ย่อมเป็นสุญญตาอยู่โดนธรรมดา แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณกับความสูญแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้เวทนา ฯลฯ วิญญาณ ก็คือความสูญ มิใช่ต้องรอให้เวทนา ฯลฯ กับไปเสียก่อน จึงเรียกว่าสูญ แท้จริง สภาวะแห่งเวทนา ฯลฯ วิญญาณ ย่อมเป็นสุญญตาอยู่โดยธรรมดา ผู้ใดเห็นแจ้งแทงทะลุในเรื่องนี้ได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระวิทยาลักษณโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“มหาภูตรูป ๔ กับอากาศธาตุ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ เนื้อแท้สภาวะแห่งธาตุ ๔ ก็คืออากาศธาตุนั่นเอง เช่นเดียวกับอดีต อนาคต อันเป็นสิ่งว่างเปล่า ดังนั้นปัจจุบันก็ว่างเปล่า ผู้ใดรู้แจ้งธาตุต่าง ๆ ดังนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระศีรมนัสโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“จักษุกับรูป ชื่อว่าเป็นธรรมคู่ ผู้ใดเห็นแจ้งว่า เนื้อแท้สภาวะแห่งจักษุเป็นสุญญตา ย่อมไม่เกิดโลภ โกรธ หลง ต่อรูป ชื่อว่าเป็นธรรมสงบระงับ แม้โสตะกับเสียง ฆานะกับกลิ่น ชิวหากับรส กายกับโฟฏฐัพพะ มนะกับธรรมมารมณ์ ต่างก็เป็นธรรมคู่ หากรู้แจ้งว่าสภาวะแหล่านี้เป็นสุญญตา ในไม่เกิดโลภ โกรธ หลง ในธรรมารมณ์ เป็นต้น ชื่อว่าเป็นธรรมอันสงบ ระงับ ผู้ตั้งอยู่ใจภูมิดั่งกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.”


พระอักษยมติโพธิสัตว์ กล่าวว่า

“ทานกับการอุทิศ มุ่งต่อพระสัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่เนื้อแท้สภาวะแห่งทานก็คือ อันเดียวกับสภาวะอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชุดาญาณนั่นเอง แม้ศีล ขันติ วิริยะ ธฺยาน ปรัชญา กับการอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชุดาญาณก็เป็นธรรมคู่ แต่เนื้อแท้บารมีเหล่านี้ มีปรัชญาบารมี เป็นต้น เป็นสภาวะเดียวกับการอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชุดาญาณ ผู้ใดเข้าถึงเอก-ภาวลักษณะได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร.๑ ”(๑. ทางมหายานมีทศบารมีเหมือนกัน แต่จัดลำดับและข้อความบางข้อต่างกับมติในบาลี แต่ส่วนใหญ่นิยมบารมี ๖ โดยย่อจากบารมี ๖๐ บางมติก็ว่าทศบารมีนั้นแยกกระจายออกจากบารมี ๖ ให้พิสดาร.)


บันทึกการเข้า
คำค้น: พระสูตร วิมลเกียรตินิรเทศสูตร  (๑๔ ปริเฉท) เสถียร โพธินันทะ  
หน้า:  [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
มโนคำนึง เสถียร โพธินันทะ
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
เงาฝัน 0 3029 กระทู้ล่าสุด 02 กุมภาพันธ์ 2554 15:17:56
โดย เงาฝัน
ปรัชญาแห่งความมีอยู่ เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 5 4692 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2554 19:10:12
โดย หมีงงในพงหญ้า
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 7 7576 กระทู้ล่าสุด 04 มีนาคม 2554 22:58:40
โดย หมีงงในพงหญ้า
พุทธศาสนาในธิเบต อ.เสถียร โพธินันทะ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1756 กระทู้ล่าสุด 11 กรกฎาคม 2559 07:16:23
โดย มดเอ๊ก
นักปราชญ์ชาวพุทธของเมืองไทย อ.เสถียร โพธินันทะ ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1274 กระทู้ล่าสุด 06 ธันวาคม 2560 16:22:34
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.464 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 16 ชั่วโมงที่แล้ว