[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 03:07:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คนดัง อะราวนด์เดอะเวิลด์  (อ่าน 15974 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 ธันวาคม 2556 10:15:04 »

.

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส  
โป๊ปผู้สมถะและติดดินที่สุดในประวัติศาสตร์

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส โป๊ปผู้สมถะและติดดินที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้สมานรอยร้าวทางศาสนา และกอบกู้ศรัทธาให้กลับคืนมาสู่ชาวคริสต์ทั่วโลกภายในเวลาเพียง ๙ เดือน นับตั้งแต่ทรงเข้ารับตำแหน่งประมุขแห่งคริสตศาสนจักร นิกายโรมันคาทอลิก เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ แทนสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๖ ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็นบุคคลแห่งปี ๒๕๕๖  

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ไม่เพียงจะเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิรูปคริสตศาสนจักรสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่พระองค์ยังทรงเข้ากุมหัวใจทั้งคนหนุ่มคนสาว, คนเฒ่าคนแก่, คนรวย, คนจน, ผู้เชื่อมั่นในศาสนา หรือแม้แต่ผู้เอาใจออกห่างจากพระเจ้า จนถือได้ว่า ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งปวงชนชาวโลกอย่างแท้จริง

แนนซี่ กิบส์  ฐานะบรรณาธิการบริหารนิตยสารไทม์ กล่าวว่า ภายในเวลาเพียง ๙ เดือน หลังจากทรงเข้ารับตำแหน่งประมุขแห่งคริสตศาสนจักร กายโรมันคาทอลิก “โป๊ปฟรานซิส” ได้ทรงนำตำแหน่งความเป็นประมุขออกจากวังอันหรูหราไปยังท้องถนน เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคริสตศาสนิกชน

โป๊ปฟรานซิส ทรงเป็นประมุขพระองค์แรกของคริสตศาสนจักร ที่แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาขัดแย้งต่างๆของสังคมโลก ทั้งเรื่องความมั่งมีและยากจน, ความยุติธรรมและอยุติธรรม, การทำแท้ง, ความเท่าเทียมกันของคนรักร่วมเพศ, บทบาทของสุภาพสตรียุคใหม่, ความเย้ายวนของอำนาจ ไม่เว้นกระทั่งเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งพระองค์ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกให้เป็นไปตามหลักจริยธรรม ทรงเตือนสติว่า เงินควรมีไว้เพื่อใช้สร้างประโยชน์ แต่ไม่ควรใช้เพื่อควบคุมทุกสิ่งบนโลก ทรงประณามระบบทุนนิยมว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ประชาชนถูกประเมินคุณค่าด้วยเงิน วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป และอเมริกา ทำให้ประชาชนหลายล้านคนในประเทศยากจนต้องทุกข์เข็ญ ในยุคของพระองค์ยังเป็นครั้งแรกที่สำนักวาติกันออกมาเปิดเผยรายงานการเงินประจำปีต่อสาธารณชน ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารวาติกัน เพื่อสยบความอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันภายในคริสตศาสนจักร

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส” ทรงมีชื่อเดิมว่า “คอร์เก้ มาริโอ เบอร์โกกลิโอ” ประสูติที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ (ค.ศ.๑๙๓๖) ปัจจุบันทรงมีพระชนมพรรษา ๗๖ พรรษา พระองค์มีพี่น้อง ๕ คน เป็นบุตรชายของคนงานทางรถไฟเชื้อสายอิตาเลียน ทรงเรียนจบปริญญาตรีด้านเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส ก่อนจะตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวงนิกายเยซูอิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับสมณศักดิ์เป็นอาร์คบิชอปแห่งบัวโนสไอเรส ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔

ก่อนจะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา ทรงเป็นโป๊ปองค์แรกในรอบ ๑,๒๐๐ ปี ที่ไม่ได้มาจากทวีปยุโรป แต่เป็นชาวละตินอเมริกา

โป๊ปฟรานซิสทรงเป็นกระบอกเสียงให้คนยากคนจนมาตลอด ทรงย้ำถึงเรื่องความสามัคคี และมักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาร์เจนตินาว่าไม่เคยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

นอกจากนี้ ยังเป็นที่เลื่องลือว่า พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย และเข้มงวดจริงจังกับการใช้ชีวิต มักจะเดินทางสัญจรด้วยรถไฟใต้ดินและรถประจำทางเหมือนประชาชนทั่วไป ที่ประทับในกรุงบัวโนสไอเรสก็เป็นเพียงห้องชุดธรรมดาๆใกล้กับโบสถ์  ยามเสด็จไปปฏิบัติหน้าที่ที่กรุงโรมจะเลือกบินด้วยเครื่องบินชั้นประหยัดเท่านั้น และโปรดสวมเสื้อคลุมสีดำเรียบง่าย มากกว่าชุดคลุมสีม่วงแดงประจำตำแหน่งคาร์ดินัล เมื่อรับตำแหน่งประมุขสูงสุดของคริสตศาสนจักร พระองค์ก็ยังทรงใช้ชีวิตสมถะไม่ต่างจากเดิม โดยปฏิเสธที่จะใช้รถเบนซ์ประจำตำแหน่ง แต่เลือกใช้รถฟอร์ด โฟกัส ซึ่งกะทัดรัดกว่า ทรงปฏิเสธเครื่องราชอิสริยยศต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ความหรูหราฟุ่มเฟือยของศาสนจักร รวมถึงพิธีการเอิกเกริกสิ้นเปลืองงบประมาณ ในชีวิตประจำวันจะทรงสวดมนต์เจริญสติตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ตอนรอคิวทำฟัน และไม่โปรดการใช้อภิสิทธิ์เอาเปรียบผู้อื่นเลย.
 ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


http://www.innnews.co.th/images/news/2013/4/500379-01.jpg
คนดัง อะราวนด์เดอะเวิลด์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร
กับ ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้

เนลสัน โรลีชาชา  แมนเดลา
(Nelson Rolihlahla Mandela)  
นักเคลื่อนไหวผู้ต่อต้านการเหยียดสีผิว

เนลสัน โรลีชาชา แมนเดลา นักต่อสู้ผู้เดินทางอย่างยาวไกลจากการเป็นนักโทษที่ถูกจองจำด้วยการต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว สู่การเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้

แมนเดลา เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘  (พ.ศ. ๒๔๖๑) ในหมู่บ้านเอ็มวิโช เมืองคูนู แคว้นทรานสดี ซึ่งเป็นส่วนในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของแอฟริกาใต้ พ่อเขาเป็นหัวหน้าเผ่า ส่วนปู่เป็นถึงกษัตริย์แห่งเท็มบู
 
เมื่ออายุ ๗ ขวบ เขากลายเป็นคนแรกในตระกูลที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียน ครูแอฟริกันที่โรงเรียนให้ชื่อ “เนลสัน” แก่เขา เพื่อแทนชื่อเดิมของชนเผ่าดั้งเดิมที่เรียกเขาว่า “โฆชาชา” ซึ่งแมนเดลา แปลความติดตลกให้ใครๆ หลายๆ คนฟังในระยะหลังว่า แปลว่า “ไอ้ตัวก่อความยุ่งยาก”

หลังจากเนลสันบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ ๑๖ ปี ตามธรรมเนียมของชนเผ่า  เขาถูกส่งไปเรียนในราชสำนักเท็มบู พร้อมทั้งวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่าที่คนแอฟริกันพื้นเมืองสามารถเข้าไปเรียนได้ในเวลานั้น เพื่อเตรียมตัวสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์จากบรรพบุรุษ
  
เขาตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมา เพราะไม่พอใจนโยบายของวิทยาลัย เพื่อเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์แรนด์ จนสำเร็จออกมาเป็นนักกฎหมาย
 
แมนเดลา เริ่มต้นอาชีพการทำงานด้วยการเป็นทนายความในนครโยฮันเนสเบิร์ก ควบคู่ไปกับการเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยจัดตั้งสันนิบาตเยาวชนขึ้นในสังกัดสภาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักธุรกิจผิวดำสูงวัย ที่แม้จะไม่มีบทบาทมากนัก แต่ก็สามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวผิวสีอย่างแมนเดลา ให้เข้ามาร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลง แลกกับการถูกจับกุมคุมขังและการปราบปรามไม่หยุดยั้งจากผู้ปกครองผิวขาวในขณะนั้น

ชีวิตสมรสครั้งแรกของแมนเดลา ลงเอยด้วยการหย่าร้าง ในเวลาเดียวกับที่การต่อสู้เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวในแอฟริกา กลายเป็นสงครามกลางเมือง

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๑๙๖๐ (พ.ศ. ๒๕๐๓) เกิดเหตุสังหารหมู่ผู้ประท้วงผิวดำกว่า ๖๙ คน บาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่า ๑๘๐ คน รัฐบาลจึงประกาศให้เอเอ็นซีกลายเป็นองค์กรนอกกฎหมาย  แมนเดลาหลบลงใต้ดิน ลาวินนี แมนเดลา ภรรยาคนที่สอง เดินทางไปเคลื่อนไหวต่อสู้ในหลากหลายพื้นที่และในคราบปลอมแปลงหลากหลายรูปแบบ ทั้งโชเฟอร์ ช่าง และคนสวน

ชื่อเสียงของเขาในหมู่กลุ่มต่อต้านเริ่มโด่งดัง มีอิทธิพลมากพอที่จะโน้มน้าวให้ประธานของเอเอ็นซี อัลเบิร์ต ลูตูลี ประกาศจัดตั้งปีกกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหวทางทหาร

แต่หลังจากการต่อสู้อย่างสันติไม่สัมฤทธิผล เขาได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ อุมคอนโต เว ซิสเว (หัวหอกแห่งชาติ) ขึ้น และดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการ

เขาถูกจับกุมในปี ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ด้วยข้อหาก่อขบถด้วยพฤติกรรมที่เป็นคอมมิวนิสต์ และถูกลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา ๕ ปี ก่อนจะกลายเป็นการจำคุกตลอดชีวิต ในปี ๑๙๖๔

เขาใช้การไต่สวนคดีนี้กล่าวสุนทรพจน์  “ในชั่วชีวิตนี้ ผมได้อุทิศตนเพื่อการต่อสู้อย่างยากลำบากของปวงชนชาวแอฟริกัน ผมต่อต้านการครอบงำของคนขาว ผมต่อต้านการครอบงำของคนดำ ผมชื่นชมอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยและสังคมที่มีเสรีภาพ เป็นอุดมการณ์ที่ผมพร้อมจะสละชีวิตเพื่อให้ได้มา” วลีนี้กลายมาเป็นแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งยังคงถูกอ้างอิงถึงมาตราบจนทุกวันนี้

การตกเป็นผู้ต้องหาและนักโทษไม่ได้จำกัดการเคลื่อนไหวต่อสู้ของแมนเดลาและเพื่อนในเอเอ็นซี ตรงกันข้าม แมนเดลาจับมือกับโอลิเวอร์ ทัมบู ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายของคนแอฟริกันผิวดำแห่งแรกของประเทศขึ้น ทำหน้าที่แก้ต่างให้กับคนดำทุกคนที่ต้องคดี จนมีลูกความมากมายรับมือไม่ไหว  เอกสารคดีต่างๆ ที่บันทึกอยู่ในศาล แสดงให้เห็นว่า แมนเดลาต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขาเหล่านั้นด้วยวิธีการเดียวกันกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง  เป็นการต่อสู้อย่างดุเดือดทั้งๆ ที่โอกาสสำเร็จแทบมองไม่เห็น

แมนดาลาถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำบนเกาะร็อบเบนเป็นเวลา ๑๘ ปี ก่อนที่จะถูกย้ายไปยังเรือนจำโพลส์มอร์ในเมืองเคปทาวน์ และเรือนจำวิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ ในเมืองพาลที่อยู่ใกล้ๆ กัน

ตลอดเวลาที่แมนเดลาถูกจองจำ มีเสียงเรียกร้องและแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากประชาคมนานาชาติให้ปล่อยตัวเขา

จนกระทั่ง พี. ดับเบิลยู. โบทา ประธานาธิบดีที่ยึดถือแนวทางการกดขี่อย่างแข็งกร้าวถูกแทนที่ด้วย เอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก ที่มีแนวทางประนีประนอมมากกว่า ในปี ๑๙๘๙  (พ.ศ. ๒๕๓๒) เขาตัดสินใจปล่อยตัวแมนเดลาเป็นอิสระโดยปราศจากเงื่อนไขในปีต่อมา

แมนเดลา ได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่และไม่ยอมลดละ เขาอุทิศทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเพื่อนร่วมชาติผิวดำในตอนแรก ผิวขาวในเวลาต่อมา และได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ทุกคน ว่าเป็นคนเดียวเท่านั้นที่สามารถบันดาลให้แอฟริกาใต้ยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ได้ ไม่ให้ตกลงไปสู่หลุมเพลิงของการแก้แค้น เข่นฆ่าระหว่างชาติพันธุ์สีผิว ที่สามารถทำลายประเทศทั้งประเทศลงได้ในพริบตา

เขาได้ใช้เวลายาวนานถึงครึ่งศตวรรษต่อสู้กับผู้ปกครองผิวขาวที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ จนสามารถนำไปสู่โต๊ะเจรจาและต่อรอง จนประสบผลสำเร็จ ทำให้ทุกคน ทุกเผ่า ทุกสีผิว สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ในประเทศนี้

แมนเดลาและเดอร์ เคลิร์ก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน ในปี ๑๙๙๓  (พ.ศ. ๒๕๓๖)




เนลสัน แมนเดลา เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักในนครโยฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ขณะอายุได้ ๙๕ ปี หลังจากต่อสู้กับอาการป่วยหลายโรคที่รุมเร้า รวมทั้งอาการปอดติดเชื้อ สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับคนจำนวนมากทั่วโลก

ชาวแอฟริกาใต้จากทั่วสารทิศพร้อมผู้นำประเทศทั่วโลก และบรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงจากทุกวงการต่างเดินทางมาเข้าร่วมพิธีไว้อาลัยต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ และรัฐบุรุษนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเสรีภาพและต่อต้านการเหยียดสีผิว ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการที่สนามกีฬาเอฟเอ็นบีเมืองโซเวโต ใกล้กับนครโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งสนามกีฬาแห่งนี้สามารถจุผู้คนได้มากถึง ๙๕,๐๐๐ คน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

ในจำนวนนี้มีผู้นำและตัวแทนจากรัฐบาลเกือบ ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก เช่น ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ของสหรัฐอเมริกา  ประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร แห่งคิวบา นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ

หลังเสร็จสิ้นพิธีไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ ร่างของแมนเดลาที่บรรจุอยู่ในโลงศพคลุมด้วยธงชาติแอฟริกาใต้ถูกเคลื่อนไปตั้งไว้ยังอาคารยูเนียนบิลดิงส์ ในกรุงพริทอเรีย เพื่อให้สาธารณชนได้แสดงความไว้อาลัยเป็นเวลา ๓ วัน ก่อนจะนำไปฝังยังสุสานในเมืองคูนู ซึ่งเป็นถิ่นฐานบรรพบุรุษของแมนเดลาต่อไปในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ศกนี้



http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2013/12/11/bgchkf55ddkcc5a9de7ba.jpg
คนดัง อะราวนด์เดอะเวิลด์

คู่ปรปักษ์โคจรมาพบกัน
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา จับมือทักทายประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร แห่งคิวบา
สองประเทศนี้ เป็นปกปักษ์กันมาช้านานตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น



เจ้าศรีพรหมา ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม กับเสื้อแขนหมูแฮมผ้าลูกไม้ตะวันตก
ภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพนี้ตั้งไว้ในห้องพระบรรทม บนพระที่นั่งอัมพรสถานจนสวรรคต


เจ้าศรีพรหมา
คนโปรดแต่ไม่ใช่เจ้าจอม ของพระพุทธเจ้าหลวง

เจ้าศรีพรหมา เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ เป็นพระธิดาองค์เล็กของพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ต้นราชสกุล ณ น่าน ส่วนมารดาคือ “เจ้าแม่ศรีคำ” หญิงเชื้อสายลาวล้านช้าง พระบิดาของเจ้านางน้อยองค์นี้ ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช เพราะเมื่อเกิดกบฏเงี้ยวขึ้นที่เมืองแพร่ เจ้าครองนครแพร่มาชักชวนให้ก่อการกำเริบ ไม่ยอมร่วมด้วย นอกจากนั้น เมื่อตอนปราบกบฏฮ่อ ก็ยังเกณฑ์ทัพน่านไปช่วย จึงมีความดีความชอบเป็นพิเศษ

เมื่อเจ้าศรีพรหมาอายุ ๓ ขวบ พระพรหมสุรินทร์ (สวัสดิ์  ภูริรักษ์) กับภริยาคือคุณหญิงอุ๊น ขอเอา “เจ้าศรี” เจ้านางน้อย ธิดาองค์เล็กของพระเจ้าน่านไปเป็นธิดาบุญธรรม เจ้าศรีพรหมา จึงติดตามพระพรหมสุรินทร์ และคุณหญิงอุ๊นเข้ากรุงเทพฯ ต้องพรากจากมาตุภูมิตั้งแต่บัดนั้น 

มิใช่ว่าเจ้าแม่ศรีคำจะยินยอมยกให้ไปโดยง่ายก็หาไม่ ความรักของแม่ที่จะต้องถูกพรากลูกสาวคนสุดท้ายไปจากอ้อมอก ย่อมนำความโศกเศร้าเสียใจถึงขนาดเดินตีอกชกหัวหนีไปแอบร่ำไห้อยู่กลางป่า

ฝ่ายเจ้าพ่อ พระเจ้าสุริยพงศ์ผลิตเดช ต้องใช้วิธีหลอกล่อโอ้โลมปฏิโลมด้วยการหยิบยกเรื่องบุญบารมีสามสิบทัศแห่งการสร้างมหาทานบารมีของพระเวสสันดรมาเป็นเครื่องปลอบประโลมใจอยู่หลายนาน

เส้นทางชีวิตของข้าหลวงจำต้องย้ายหลักแหล่งอยู่ตลอดเวลา จากนครน่านก็ต้องไปประจำเมืองชลบุรี

ด้วยความปรีชาสามารถจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕  พระพรหมสุรินทร์ได้เลื่อนเป็นพระยามหิบาลบริรักษ์ โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นพระอภิบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ในระหว่างทรงศึกษา ณ ประเทศรัสเซีย

ไปคราวแรกนั้น คุณพระและคุณหญิงไม่อาจนำเจ้าศรี ซึ่งขณะนั้นอายุ ๙ ขวบ ติดตามไปด้วยได้ จึงตัดสินใจนำเจ้าศรีมาฝากไว้ในพระราชสำนักสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ)

จนกระทั่งเจ้าศรีอายุ ๑๒ ขวบ คุณพระกับคุณหญิงก็ทนความคิดถึงธิดาบุญธรรมไม่ไหว จำต้องหวนกลับมาขอพระบรมราชานุญาตรับเจ้าศรีไปอยู่ด้วยกันที่เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะย้ายไปประเทศอังกฤษ ช่วงนั้นเองที่เจ้าศรีได้เรียนรู้ภาษารัสเซียและภาษาอังกฤษจนแตกฉาน

ครั้นกลับมาเมืองไทย บิดามารดาบุญธรรมได้นำเจ้าศรีไปถวายตัวเข้าอยู่ในวังอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้าหลวง นางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

ความที่เจ้าศรีเพิ่งกลับจากต่างประเทศ กำลังอยู่ในวัยสาว หน้าตาผิวพรรณสวยสดใส การแต่งเนื้อแต่งตัวทันสมัย มีความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเอง และกล้าแสดงออก จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยิ่งนัก ครั้งหนึ่งถึงกับเอ่ยพระโอษฐ์ขอให้มาเป็นเจ้าจอม

เพื่อถนอมน้ำใจของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เจ้าศรีได้ตอบกลับเป็นภาษาอังกฤษว่า “I respect You like a King, but I don’t love You like a Man”  - หม่อมฉันเทิดทูนพระองค์ในฐานะกษัตริย์ มิได้รู้สึกรักใคร่ฉันชู้สาว เป็นอมตะวาจาที่สามารถพลิกชีวิตของสตรีผู้หนึ่งจากสูงสุดสู่สามัญ  เมื่อเอื้อนเอ่ยวาจาที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นอาจหาญออกไปเช่นนั้น หลายคนกังวลว่าอาจจะสร้างความขัดเคืองพระราชหฤทัยให้แก่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ แต่เปล่าเลย ในทางกลับกัน ทรงยอมรับคำปฏิเสธนั้นด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ มิได้อาฆาตถือสา หรือตรัสสิ่งใดออกมาด้วยอาการน้อยพระทัย

ว่ากันว่าสมเด็จพระบรมราชินีนาถก็ทรงสนับสนุน มีพระประสงค์จะให้เจ้าศรีพรหมาได้รับราชการเป็นเจ้าจอม จึงออกจะกริ้วๆ อยู่ ที่เจ้าศรีพรหมาปฏิเสธ แต่ก็ทรงอนุโลมตามใจเจ้าศรีพรหมาด้วยกันทั้งสองพระองค์ และยังคงทรงพระเมตตา โปรดปรานเสมอต้นเสมอปลาย

กล่าวกันว่า เบื้องหลังน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวที่เจ้าศรีพรหมากล้ากล่าวเช่นนั้นต่อพระพุทธเจ้าหลวง ก็เนื่องมาจากความสำนึกในหัวอกของความเป็นเพศหญิงเหมือนกันกับสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถนั่นเอง  เจ้าศรีไม่อาจทรยศหรือทำร้ายน้ำใจบุคคลซึ่งเจ้าศรีปรนนิบัติดูแลรับใช้อย่างใกล้ชิดได้

พระพุทธเจ้าหลวงจึงได้เก็บความทรงจำดีๆ จากสตรีอนงค์นี้ไว้ชั่วนิรันดร์ ด้วยการฉายภาพเจ้าศรีพรหมมาภาพนี้ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และนำมาติดตั้งในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานจวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ



หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร

จากเจ้าศรีสู่หม่อมศรี

การปฏิเสธสถานะ “เจ้าจอม” ต่อพระพุทธเจ้าหลวง ย่อมส่งผลให้ไม่มีบุรุษใดอาจเอื้อมมาสารภาพรักขอเจ้าศรีแต่งงานได้เลย ตราบเท่าที่ล้นเกล้าฯ ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ 
 
ไม่มีบุรุษใดกล้าไปขอสตรีที่กษัตริย์โปรดปรานมาเป็นภรรยา

ความรักระหว่างหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร กับเจ้าศรีพรหมา ณ น่าน ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ ด้วยทั้งคู่มีอุดมการณ์ตรงกัน แต่จำต้องถูกเก็บงำซ่อนเร้นไว้อย่างเงียบเชียบ จนกว่าจะมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เข้าสู่สมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖

อุดมการณ์ที่ว่าตรงกันนั้นคือ ทั้งคู่ต่างก็เป็นคนติดดิน เรียบง่าย มีใจรักในธรรมชาติ 

หลังจากที่ท่านแต่งงานแล้วไม่นานนัก ปลายสมัยรัชกาลที่ ๖ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พร้อมด้วยหม่อมศรีพรหมา ได้อำลาชีวิตราชการตำแหน่งสุดท้ายคืออธิบดีกรมฝิ่น ชันษา ๓๗ ซึ่งหากรับราชการต่อไป ท่านก็คงจะถึงขั้นเสนาบดี

จากเมืองหลวงมุ่งหน้าไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ณ บ้านบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมัยนั้นยังเป็นป่า สร้างกระท่อมอาศัย มีลูกจ้างพวกขมุและอีสานเพียง ๔ คน  บุกเบิกการเกษตรแผนใหม่ ทำไร่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เป็นผู้นำของชาวบ้าน ทรงริเริ่มนำรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรก ทรงเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น สายพันธุ์ไข่ดก เป็นครั้งแรกที่บางเบิด ทรงสั่งพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลูกจำหน่ายรู้จักกันทั่วไปในชื่อ แตงโมบางเบิด เนื้อสีแดง เมล็ดใหญ่ มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานจัดและกรอบ ซึ่งเวลานั้นช่างหายากและราคาแสนแพง 

หม่อมเจ้าสิทธิพรบุกเบิกการปฏิรูปการเกษตรจนทรงได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ควบคู่ไปกับทำหนังสือกสิกร เสนอบทความต่างๆ เกี่ยวกับการเกษตรมากมาย ส่วนหม่อมศรีพรหมานั้น เป็นผู้สอนการคั้นน้ำผลไม้ การหมักดอง การถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น หมูแฮม เบคอน โดยไม่ใช้ตู้เย็น สอนให้กับชาวบ้าน

ดูๆ แล้ว ชีวิตหลังสมรสของเจ้านางน้อยจากเมืองน่าน กับชายผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน น่าจะราบรื่นลงตัวไร้อุปสรรค  แต่ชะตากรรมกลับลิขิตให้หม่อมเจ้าสิทธิพรเข้าร่วมเป็น “กบฏ” เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดช เชษฐาของท่านทรงชวนให้ท่านสิทธิพรเข้าร่วม “งาน” ด้วย

ผลก็คือ พระองค์เจ้าบวรเดช แพ้ฝ่ายรัฐบาล คณะราษฎร จำต้องบินหนีไปอยู่ที่ไซ่ง่อน ท่านสิทธิพรถูกจับ และโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ทั้งอยู่บางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี หม่อมศรีพรหมาก็มิได้ท้อถอย พยายามรักษาฟาร์มเอาไว้ด้วยความเข้มแข็งแม้จะยากลำบาก ท่านเล่าไว้ในชีวประวัติของท่านว่า  “ฟาร์มทิ้งไม่ได้ ท่านสั่งเอาไว้เป็นภาษาฝรั่งนะ บอกว่า keep the farm going มันเป็นที่รักของเราที่สุด...”

หลังต้องโทษจำคุกที่เกาะตะรุเตานานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับออกมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับหม่อมศรีพรหมาของท่าน  และถูกดึงตัวกลับมารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม กระทรวงเกษตร ในสมัยรัชกาลที่ ๗   ต่อมา นายควง  อภัยวงศ์ ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของคณะราษฎร  นายควงได้เชิญหม่อมเจ้าสิทธิพรให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอีกสองสมัย

เป็นคู่ชีวิตที่โลดโผน เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงมากที่สุดคู่หนึ่ง  อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นต้นแบบของคู่สามี-ภรรยาที่ใกล้เคียงกับคำว่าอุดมคติมากที่สุดเท่าที่มีในสังคมไทย



เจ้านางองค์นี้มีนามเดิมว่า “เจ้าศรี ณ น่าน” 
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามเจ้าศรี เป็น "เจ้าศรีพรหมา"

ข้อมูล :
- มติชนสุดสัปดาห์
- เลาะวัง โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 15:53:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 14 มกราคม 2557 15:26:10 »

.



คุณพุ่ม – บุษบาท่าเรือจ้าง
กวีหญิงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในบรรดานักกวีไทยนับแต่สมัยอดีตเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย ส่วนมากจะเป็นฝ่ายชายเท่านั้นที่มีชื่อเสียงอันเฟื่องฟุ้ง มีบทบาทสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรม ทั้งกาพย์ ฉันท์ โคลง กลอน  อันลือเลื่องในความไพเราะ คมกริบด้วยชั้นเชิงกวี แฝงคติธรรมและแบบแผนจารีตประเพณีไว้ในท้องเรื่อง สามารถทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลิน เกิดมโนภาพไปตามจินตนาการของผู้แต่ง เร้าให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ดีใจ เสียใจ ชนิดได้รับการยกย่องและจารึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างพระอภัยมณี รามเกียรติ์ สังข์ศิลป์ชัย อิเหนา ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ  

กวีหญิงมีอยู่น้อยมาก เกือบจะเรียกว่าควานหาตัวได้ยากยิ่งเหลือเกิน ที่พอมีผลงานอันโดดเด่นก็แทบจะเรียกว่านับตัวได้ อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๓  อันเป็นยุคแห่งความนิยมในการเล่นเพลงยาว และกลอนดอกสร้อยสักวากันอย่างกว้างขวาง ก็มี คุณสุวรรณ และคุณพุ่ม หรือ บุษบาท่าเรือจ้าง กล่าวสำหรับคุณสุวรรณ เป็นกวีหญิงผู้มีผลงานแต่งบทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ ซึ่งคุณสุวรรณแต่งเป็นภาษาบ้าง ไม่เป็นภาษาบ้างปะปนกันไปแต่ต้นจนปลาย และบทละครเรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง  ซึ่งคุณสุวรรณเกณฑ์ให้ตัวบทในละครเรื่องต่างๆ มารวมกันอยู่ในเรื่องนี้เรื่องเดียว ถ้าดูโดยกระบวนความค่อนข้างจะเลอะ แต่ไปได้ดีทางสำนวนกลอน

อีกท่านคือ คุณพุ่ม หรือบุษบาท่าเรือจ้าง ที่จะนำเสนอประวัติต่อไปนี้ เป็นกวีหญิงฝีปากกล้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์  คุณพุ่มได้มีโอกาสเล่นสักวาถวายหน้าพระที่นั่งเนื่องในโอกาสต่าง ๆ หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ คุณพุ่มเป็นผู้มีปฏิภาณแต่งกลอนสด คารมแรงกล้า กล่าวกันว่ากล้าทั้งปากและมือ ไม่เกรงกลัวผู้ใด แม้บางครั้งผู้ร่วมเล่นกลอนสักวาเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรศักดิ์สูงกว่ามากมาย

มีประวัติว่า คุณพุ่ม เป็นธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) ข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน และได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพนักงานพระแสง แต่ต่อมามีปัญหาด้านสุขภาพจึงได้กราบทูลลากลับออกไปอยู่บ้านกับบิดา ขณะนั้นท่านกำลังอยู่ในวัยสาว

คุณพุ่มเป็นผู้มีใจนิยมชมชอบเกี่ยวกับเรื่องโคลงกลอนเป็นอย่างมากมาตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วในวัง แต่ก็ไม่ค่อยจะสู้มีใครกล่าวถึงกันมากนัก เพราะนักเลงกลอนสมัยนั้นมีจำนวนมากมาย  จนกระทั่งได้ออกมาอยู่ภายนอกราชสำนักแล้ว และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดการเล่นเพลงยาวกับดอกสร้อยสักวา จึงทำให้ความความนิยมขยายตัวออกไปอย่างแพร่หลาย



สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เมื่อคุณพุ่ม ออกจากพระราชวังก็ได้มาอาศัยอยู่แพที่หน้าบ้านบิดาข้างเหนือท่าพระ  และตามปกติมักจะมีบรรดาเจ้านายเสด็จไปชุมนุมเล่นสักวากันที่แพของคุณพุ่มมิได้ขาดอยู่หลายองค์ อาทิ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์  ข้าราชการที่สูงศักดิ์ เช่น นายหลวงสิทธิ ภายหลังต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองในยุคต้นรัชกาลที่ ๕  จนกระทั่งทำให้คุณพุ่มได้รับการขนานนามขึ้นว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง

ในยุคนั้น ท่าเรือจ้างหน้าแพของ บุษบาท่าเรือจ้าง หรือคุณพุ่ม ก็น่าจะรุ่งเรือง คึกคักไปด้วยลมหายใจของบรรดานักกวี ที่สนุกสนานกับการโต้ตอบบทสักวา บทดอกสร้อย เพลงกลอน เพลงยาว และส่วนมากเป็นการเกี้ยวพาราสี เปรียบเปรยด้วยภาษา ลีลา และสำนวนกลอนอันไพเราะเพราะพริ้ง ดังนี้
 
“โฉมสวรรค์สรรทรงประเสริฐศรี
พี่รักคอยแต่ยังน้อยดรุณี        ให้เห็นดีสารพัดจะพึงชม
ทุกค่ำเช้าเฝ้าพินิจด้วยพิสมัย   เพราะอยู่ใกล้กันกับนางแต่ปางปฐม
แต่ตรอมใจด้วยมิได้สมาคม     กรรมระดมดลพรากให้จากกัน”
                    พระนิพนธ์ พระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์

บทเกี้ยว พระนิพนธ์ของเชื้อพระวงศ์ จากการวิสาสะกันพร้อมหน้าในกลุ่มนักกวี โดยมีคุณพุ่ม หญิงปากกล้าแต่เพียงคนเดียว ที่ยืนหยัดอยู่ในท่ามกลางกวีหนุ่มๆ และข้าราชการผู้สูงศักดิ์  จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยแต่อย่างใด เมื่อได้ประจักษ์ความกล้าทั้งโวหารและกล้าทั้งมือของคุณพุ่ม เช่นว่าครั้งหนึ่ง คุณพุ่มเข้ายื้อแย่งเอาพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้เสีย ดังนี้เป็นต้น

นอกจากมือกล้า ความปากกล้าของคุณพุ่ม ยังปรากฏในคำอธิษฐาน ๑๒ ข้อ “ขออย่าให้เป็น”  ที่คุณพุ่มแต่งขึ้นด้วยความคะนองปาก เมื่อเห็นว่าอะไรมัน “มากเกินไป” กว่าที่ควรจะเป็น และได้รับการจดจำไว้เป็นหลักฐาน โดย กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดังนี้

๑. ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่ คือคนชิดของเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์เสนี) อธิบายว่าเพราะมักถูกเฆี่ยนหลังลายไม่เว้นตัว
๒. ขออย่าให้เป็นคนใช้ของพระยานคร คือ คนใช้ของเจ้าพระยานครน้อย อธิบายว่าเพราะถูกทำโทษนอกรีตต่างๆ นาๆ ดังเช่นเรือช้าไปก็ให้ฝีพายถองเรือ เป็นต้น
๓. ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี คือ คนต้มน้ำร้อนของพระยาศรีสหเทพ (เพ็ง)  เพราะ พระยาศรีฯ มักมีแขกเหรื่อไปมาหาสู่ไม่ขาด จนคนต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกแทบจะหาเวลาพักมิได้เลย
๔. ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช  คือ ครั้งหนึ่งพระยานครราชสีมา ครั้งหนึ่งอยากเล่นมโหรีให้เหมือนพวกขุนนางผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่พระยานครราชสีมามีแต่พวกข่าและชาวเชลย ก็นำเอามาหัดเป็นมโหรีไปตามแกน
๕. ขออย่าให้เป็นสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย คือ มหาดเล็กตัวโปรดของกรมขุนราชสีหวิกรม อธิบายว่าถ้าชอบทรงใช้มหาดเล็กคนไหนแล้ว คนนั้นแหละมักจะโดนจำโซ่ตรวจในเวลาที่เกิดใช้ไม่ได้ดังพระทัย
๖. ขออย่าให้เป็นฝีพายเจ้าฟ้าอาภรณ์ คือ ฝีพายเรือพระที่นั่งของเจ้าฟ้าอาภรณ์นั้นต้องขานยาวยิ่งกว่าเรือลำใดๆ ทั้งหมด
๗. ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า คือ ละครของน้อยธิดาเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) อธิบายว่าละครโรงอื่นๆ เขาเล่นก็เพื่อเอาเงินเข้าโรง แต่ละครคณะนี้หาได้มุ่งประโยชน์เช่นว่านั้นไม่ เป็นละครคณะเดียวที่ใครจะศรัทธาให้อะไรตอบแทนก็ได้ แม้จะเพียงหัวปลาหรือที่สุดจนกะปิหอมกระเทียมก็รับเล่น แปลว่าได้อะไรก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาแจกเป็นบำเหน็จแก่พวกตัวละคร
๘. ขออย่าให้รู้ชะตาเหมือนอาจารย์เซ่ง แปลว่าความว่า นายเซ่งเป็นหมอดู ใครไปให้ดูดวงชะตาอาจารย์เซ่งก็มักจะทายว่าดวงดีเสมอ บางทีหนักข้อถึงขนาดจะได้เป็นกษัตริย์บ้าง ได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง ผู้คนต่างพากันไปหลงไปจ้างให้นายเซ่งดูชะตากันเนืองแน่น ผลสุดท้ายอาจารย์เซ่งต้องถูกลงพระราชอาญา
๙. ขออย่าให้เป็นนักเลงอย่างท่านผู้หญิงฟัก   ท่านผู้หญิงฟักนี้ชอบเล่นเบี้ย มีอุบายสำคัญอยู่อย่างหนึ่งค่อนข้างจะวิตถาร คือเวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ย ท่านผู้หญิงฟักมักจะทำกิริยานั่งลับๆ ล่อๆ ให้นายบ่อนมัวพะวงมองดูที่ตัวท่านผู้หญิงฟักจนตาค้าง เป็นเหตุให้พรรคพวกลักเปิดโปดู ได้กล่าวกันว่าเลยเป็นนักเลงร่ำรวยด้วยอุบายอันนั้น
๑๐. ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงศ์ เวลานั้นยังเป็นหัวหมื่นมหาดเล็ก อธิบายว่าเวลาเข้าเฝ้าจะนุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวผืนเดียวไม่ยอมเปลี่ยน
๑๑. ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง คือ เจ้าจอมมารดาตานีในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนาฯ บุนนาค และเป็นเจ้าจอมมารดากรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เพราะว่าเจ้าคุณวังเป็นช่างร้อยดอกไม้ฝีมือดีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ไม่ว่าใครจะมีการงานก็มักจะไปขอดอกไม้ที่เจ้าคุณวัง ท่านก็ต้องร้อยดอกไม้ไปช่วยงานเขามิได้ขาด จนดอกไม้ในสวนของเจ้าคุณวังถูกเด็ดนำไปร้อยดอกไม้ จนไม่มีโอกาสจะได้บานทัน
๑๒. ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ  อธิบายว่าระฆังวัดอื่นๆ ตามปกติจะตีกันเมื่อเวลาจวนรุ่งกับจวนค่ำวันละ ๒ เวลาเท่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ทรงโปรดให้ใช้ตีระฆังเป็นสัญญาณอาณัติสงฆ์ในการอื่นอีก เช่น ตีเรียกสงฆ์ลงโบสถ์เวลาเช้า-เย็น เป็นต้น ระฆังวัดบวรนิเวศน์ในสมัยนั้นจึงต้องตีมากกว่าระฆังวัดอื่นๆ

ด้านผลงาน : วรรณกรรมชิ้นเด่นของกวีหญิงท่านนี้ ปรากฏใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพลงยาวบวงสรวงฉลองสระ กลอนเล่าเรื่องประวัติส่วนตัวของคุณพุ่มเอง
 
ความในเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น คุณพุ่มก็ได้รำพันไว้อย่างซาบซึ้ง ปรากฏดังนี้

ข้าพเจ้าเล่าเป็นข้าฝ่าพระบาท
ธรรมิกราชบพิตรอดิศร                คือพระนั่งเกล้ากษัตริย์ฉัตรนคร
โปรดบิดรลือดังทั้งแผ่นดิน            ทรงเลี้ยงเราเข้าระยะที่พระแสง
ต้องจัดแจงจดพระเดชเทวศถวิล     เอากตัญญูปัญญาทาแผ่นดิน
ช่วยเพิ่มภิญโญพระบารมี             สมุดแทนแผ่นเพ็ชรเจ็ดกะหรัด
ประจงจัดจดกลอนอักษรศรี           สมเด็จพระนั่งเกล้ากษัตริย์ปัถพี
ไว้เป็นที่โสมนัสมัสการ                ด้วยพระองค์ทรงเลี้ยงไว้เพียงบุตร
เป็นสุขสุดสมบัติพัสถาน ฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณพุ่มมีอายุล่วงเข้าวัยกลางคน ฐานะก็ไม่บริบูรณ์พูนสุขเหมือนเมื่อบิดายังมีชีวิตอยู่ คุณพุ่มได้อาศัยพึ่งพิงอยู่ในกรมหมื่นมเหศวรศิวิลาศ และกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ทั้งสองพระองค์ทรงรับอุปการะคุณพุ่ม และได้ไปขุดสระหนทางขึ้นพระพุทธบาทให้เป็นสาธารณประโยชน์ เมื่อขุดสระเสร็จเป็นที่เรียบร้อย คุณพุ่มได้แต่งเพลงยาวด้วยภาษาอันกลมกลืนไพเราะน่าฟัง เขียนปิดไว้ที่ริมสระนั้น มีผู้คัดลอกมาไว้ดังนี้

“ยอกรประนมก้มเกษ
อภิวันทเทเวศร์ทุกสถาน       เสวยสุขในรุกขพิมาน
ห้วยละหานชลธีที่ใกล้ไกล    ทั้งเทพาอารักษ์ศักดาฤทธิ์
สิงสถิตโขดเขินเนินไศล       ตั้งแต่พื้นภูมานภาไลย
อีกพระไพรเจ้าป่าพนาลี       ทุกพระองค์จงรับส่วนกุศล
ซึ่งมาฉลองมงคลสระสรี       ขออาศัยในทิวาแลราตรี
อย่าให้มีโรคันอันตราย”

“เชิญเสด็จมาสดับรับบวงสรวง        เอานามพุ่มแทนพวงทิพย์บุบผา
ด้วยจากแดนแสนกันดารดวงมาลา   ไม่ทันหาบายศรีพลีสังเวย
ส่วนกุศลต่างสุคนธรสรื่น              อันหอมชื่นไม่สิ้นกลิ่นระเหย
ไมตรีจิตต์อุทิศแทนนมเนย           บูชาเชยอารักษ์ด้วยภักดี

หลังจากนั้นไม่นานนัก กรมหมื่นมเหศวรฯ กับกรมหมื่นวิศนุนารถฯ สิ้นพระชนม์ลงทั้งสองพระองค์ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มต้องตกอยู่ในความแร้นแค้นเป็นอย่างมากเพราะขาดที่พึ่ง อาชีพที่พอจะยังชีวิตก็ได้แต่อาศัยเพียงการเขียนกลอนขายแต่อย่างเดียว ซึ่งไม่ค่อยจะพอกินพอใช้เหมือนกาลก่อน  ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต  เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ ท่านหนึ่งซึ่งรู้จักคุณพุ่มดี ได้แนะนำให้คุณพุ่มแต่งกลอนยอพระเกียรติยศ ซึ่งอาจทำให้พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้รู้จักตัวและอาจมีหวังได้เข้าไปรับราชการฝ่ายในดีกว่ามานั่งแต่งกลอนขายแลกกับรายได้เพียงเล็กน้อย

คุณพุ่มจึงเริ่มประจงร้อยกรองเขียนเพลงยาวเฉลิมพระเกียรติยศ ด้วยความหวังว่าจะช่วยให้ตัวเองก้าวไปสู่ฐานะดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยแทรกชีวิตส่วนตัวลงไว้ในบทเพลงยาวนั้นด้วย  คงจะเป็นด้วยอำนาจกุศลประการหนึ่ง ที่บันดาลให้คุณพุ่มได้พบชีวิตใหม่อันอบอุ่นขึ้น เพราะในยุครัชกาลที่ ๕ เริ่มมีการเล่นสักวาอีก  คุณพุ่มจึงได้มีโอกาสเข้าไปรับราชการอยู่ในสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร โดยเป็นผู้บอกสักวาและทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้กลับมีความสุขสืบมาจนตลอดอายุขัย





พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดำรงตำแหน่ง "พระราชชายา" พระองค์เดียวของแผ่นดินสยาม

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
การเมือง หรือเรื่องความรัก?

เป็นที่กล่าวกันว่า...
มูลเหตุที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาของเจ้านครเชียงใหม่
เข้าไปเป็นบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้น
เป็นหนึ่งในพระราโชบาย ที่จะรวบรวมหัวเมืองล้านนาและราชอาณาจักรไทย
ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยอาศัยวิธีการแบบโบราณนิยม
คือการผูกความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติด้วยการสมรส ซึ่งเป็นวิธีการที่แยบยล... 
ดังมีเรื่องราวความเป็นมาดังนี้ 

ในอดีต เชียงใหม่เป็นนครหนึ่งในอาณาจักรล้านนา มีเจ้าผู้ครองนครปกครอง มีเมืองต่างๆ ได้แก่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองร่วมอยู่ในอาณาจักรเดียวกัน ในราวสมัยอยุธยาตอนกลาง อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจ้าเจ็ดตน เชื้อสายพระยาสุลวะฦๅไชยสงคราม ได้ขอให้ไทยช่วยเหลือล้านนาให้พ้นจากอำนาจการปกครองของพม่า ครั้นพ้นจากอำนาจของพม่าแล้ว เจ้าเจ็ดตนจึงได้นำล้านนาเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐสยามในฐานะประเทศราช ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการเพื่อแสดงความจงรักภักดีไปถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันสืบมา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มิใช่มีฐานะเป็นจังหวัดดังเช่นในปัจจุบัน  มีพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าหลวงปกครอง ในระยะนั้นประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก พยายามแสดงลัทธิจักรวรรดินิยมเข้าครอบคลุมประเทศภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หัวเมืองประเทศราชของไทย เช่น ลาว เขมร มลายู บางส่วนต้องตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจทางตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ เมื่อเข้ายึดพม่าเป็นเมืองขึ้นได้แสวงหาผลประโยชน์จากกิจการป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์  และได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่อาณาจักรล้านนา โดยเริ่มจากการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ จนถึงธุรกิจสำคัญ คือ กิจการสัมปทานป่าไม้ ซึ่งหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือของไทยก็มีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้อย่างอุดมสมบูรณ์  และทางเมืองหลวงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ปล่อยให้เป็นสิทธ์ขาดของเจ้านายฝ่ายเหนือในการดำเนินกิจการป่าไม้ เพราะถือเป็นทรัพย์สินของเมืองล้านนา 

แต่กิจการป่าไม้ได้สร้างปัญหาด้านการเมืองอันเนื่องมาจากการให้เช่าทำสัมปทาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนแน่นอน  เป็นสาเหตุให้เกิดข้อขัดแย้งทะเลาะวิวาทระหว่างคนอังกฤษ คนในบังคับอังกฤษ (พม่า) กับชาวเมืองล้านนาบ่อยครั้ง ทำให้เมืองหลวงหรือทางกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปแทรกแซงระงับกรณีพิพาทอยู่เนืองๆ  ด้วยเกรงว่าท้ายที่สุดอาณาจักรล้านนาจะตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการแสวงหาอาณานิคมในภูมิภาคนี้ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อระงับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจึงต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศ


การทอนอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิเทโศบายรวมอาณาจักรล้านนาซึ่งเคยเป็นเมืองเอกราช ต่างปกครองตนเอง ให้ผนวกเข้าเป็นมณฑลหนึ่งในการปกครองของไทยด้วยวิธีการนุ่มนวลรอบคอบเพื่อมิให้เกิดการกระทบกระเทือนกระด้างกระเดื่อง กระทั่งประสบผลสำเร็จในตอนปลายรัชสมัย โดยชั้นแรกโปรดฯ ให้รวมเข้าเป็นกลุ่มเรียก มณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนเป็น มณฑลพายัพ ให้อำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางคือเมืองหลวง  และส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ออกไปเป็นข้าหลวงปกครอง

ในท้ายที่สุดแผ่นดินล้านนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


 

พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
พระราชบิดาในพระราชชายา เจ้าดารารัศมี


http://www.globalgroup.in.th/images/413px-DARARAT_2[1].jpg
คนดัง อะราวนด์เดอะเวิลด์

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ฝ่ายในต่างเรียกขานพระนามของพระองค์อย่างสนิทสนมว่า "เจ้าน้อย"
ทรงเป็นพระมเหสีองค์แรกในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ที่เป็นเจ้าหญิงจากต่างแคว้น
และถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน ภายใต้กฏมณเฑียรบาลอันคร่งครัดของราชสำนักสยาม

ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ เป็นรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษ  ขณะนั้นประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก พยายามแสดงลัทธิจักรวรรดินิยมเข้าครอบคลุมพื้นที่ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศพม่า อินเดีย และประเทศในอินโดจีนต่างก็ตกเป็นเมืองขึ้นของสองประเทศเกือบหมดสิ้น  มีทูตอังกฤษมาจากพม่าตอนใต้มาเจรจาทาบทามพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษ ทรงมีพระราชประสงค์ขอรับเจ้าดารารัศมีไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และจะสถาปนาให้เป็นเจ้าในพระราชวงศ์อังกฤษเป็นพิเศษ

เรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุให้ ในราวพุทธศักราช ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในมณฑลพายัพ อัญเชิญพระกุณฑลและพระธำมรงค์ประดับเพชร ไปพระราชทานเป็นของขวัญแด่เจ้าดารารัศมี และมีการระบุด้วยว่าเป็นการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ หมั้นหมาย  และในปีถัดไปเจ้าดารารัศมีมีชันษาครบโสกันต์ จึงทรงพระราชทานเครื่องโสกันต์ชั้นเจ้าฟ้าให้เป็นเครื่องทรงอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยและมิใช่แบบอย่างประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระยาสุลวะฦๅไชยสงคราม (หนานทิพย์ช้าง) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมล้านนาให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ประสูติแต่แม่เจ้าเทพไกรสร เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ ทรงเข้าถวายตัวรับราชการในพระราชสำนักฝ่ายใน ในตำแหน่งเจ้าจอมเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ในคราวตามเสด็จพระบิดามาในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี) ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชชายา

ทรงมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระนาม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่ก็ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุเพียง ๓ พรรษา ยังความโทมนัสต่อพระราชบิดาและพระมารดา

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนกาธิราช มีพระราชดำรัสแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้ง จึงตาย”



พระตำหนักครึงตึกครึ่งไม้แบบตะวันตก ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ในบริเวณราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระบิดาได้ถวายเงินในการสร้าง 
เมื่อครั้งพระองค์ประทับอยู่ ณ ตำหนักแห่งนี้ ทรงรักษาขนบประเพณีตามแบบล้านนา
ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จมาจากนครเชียงใหม่ ต่างนุ่งซิ่น เกล้ามวย และพูดภาษาล้านนา

พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ผู้เป็นพระเชษฐาเจ้าดารารัศมี เดินทางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ กรุงเทพฯ เจ้าดารารัศมีจึงทรงกราบบังคมทูลลาเสด็จติดตามพระเชษฐาเพื่อเยี่ยมเยือนแผ่นดินมาตุภูมิและพระประยูรญาติที่ได้จากไกลเป็นเวลานานถึง ๒๒ ปี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศเจ้าดารารัศมี จากเจ้าจอมมารดา ขึ้นเป็น พระราชชายา  ทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในแผ่นดินสยาม ตราบจนปัจจุบันนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้านายฝ่ายในทั้งหลายรวมพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ก็เสด็จไปประทับภายในพระราชวังสวนดุสิต  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้กราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับไปประทับ ณ เมืองเชียงใหม่ บ้านเกิดเมืองนอน ในชั้นแรกโปรดประทับ ณ คุ้มท่าเจดีย์กิ่วริมแม่น้ำปิง ของเจ้าแก้วนวรัฐผู้เป็นพระเชษฐา
 
จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ พระชนมายุประมาณ ๕๖ พรรษา ย่างเข้าปัจฉิมวัย ทรงมีพระประสงค์ประทับอยู่ในที่ซึ่งสงบเงียบ จึงทรงซื้อที่นาเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่เศษ อยู่อำเภอแม่ริม ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร และสร้างพระตำหนักเล็กครึ่งตึกครึ่งไม้หลังคาทรงปั้นหยา ประทานนามว่า ตำหนักดาราภิรมย์ และบริเวณทั้งหมดเรียก สวนเจ้าสบาย ทรงโปรดให้นำพืชพันธุ์ไม้เมืองหนาวจากต่างประเทศมาปลูกในพระตำหนัก เช่น เชอรี่ บีทรูท แครอท กะหล่ำปลีสีม่วง ข้าวโพดพันธุ์ฝรั่ง นอกจากพันธุ์พืชดังกล่าวแล้วยังมีพันธุ์ไม้ดอกต่างๆ ที่โปรดมากที่สุดคือ ดอกกุหลาบ ทรงเป็นสมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงผสมพันธุ์กุหลาบด้วยพระองค์เอง จนได้กุหลาบพันธุ์ใหม่ดอกใหญ่สีชมพู กลิ่นหอมเย็น ทรงตั้งชื่อกุหลาบพันธุ์นี้ว่า จุฬาลงกรณ์ เป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบรมราชสวามี

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงดำเนินพระชนมชีพในบั้นปลายอย่างสงบสุข ณ ตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเริ่มประชวรพระโรคปัปผาสะพิการ เมื่อพระอาการทรุดหนักลง เจ้าหลวงแก้วนวรัฐ พระเชษฐา จึงเชิญเสด็จให้ทรงย้ายจากตำหนักดาราภิรมย์ มาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อรักษาพระอาการพระโรคได้สะดวก แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 16:00:56 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กุมภาพันธ์ 2557 09:20:52 »

.

ประวัติ
นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

"ทองสิง ทำมะวง"

นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทองสิง ทำมะวง (Thongsing Thammavong) เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ภูมิลำเนาเป็นชาวบ้านซอนเหนือ เมืองเวียงทอง แขวงหัวพัน ทุกวันนี้อาศัยอยู่ที่บ้านสีสังวอน เมืองไซยเสดถา นครหลวงเวียงจันทน์

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการลาออกจากตำแหน่งของ บัวสอน บุบผาวัน ในระหว่างการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๑๐ ของสภาแห่งชาติชุดที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะเปลี่ยนแปลงก่อนที่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวจะมีการประชุมสมัชชาใหญ่เพียงไม่กี่เดือน

โดยนายทองสิง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๖ ของลาวภายใต้การนำพาของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่ยึดครองอำนาจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘

ทองสิงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติลาวในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๐๒ ก่อนเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอย่างสมบูรณ์ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๐ โดยเป็นผู้แทนราษฎรของแขวงหลวงพระบาง (เขตเลือกตั้ง ๖) ที่สุดขึ้นสู่ตำแหน่งสูงยิ่งก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีคือประธานสภาแห่งชาติระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๓

ทองสิงเป็นลาวลุ่ม ได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และได้ประกาศนียบัตรทางด้านอุดมการณ์การเมือง ต่อมาระหว่างปี ๒๔๙๕-๒๕๑๐ เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นนักศึกษาทางด้านการแพทย์ทหาร ที่ซำเหนือ แขวงหัวพัน หลังจากนั้นเข้าประจำการในสมรภูมิชายแดนลาว-เวียดนามระหว่างปี ๒๕๐๒-๒๕๐๓ ก่อนอบรมทางด้านวัฒนธรรม และดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมซำเหนือ ตามด้วยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมต้น และผู้อำนวยการกรมการศึกษา ที่เมืองเซียงค้อ แขวงหัวพัน

ระหว่างปี ๒๕๑๔-๒๕๑๙ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมปลาย และวิทยาลัยสร้างครู ที่สบเป้า เมืองเวียงไซย หลังจากนั้นมาเขารั้งตำแหน่งหลายตำแหน่ง รวมทั้งรองอธิบดีกรมบุคลากรและองค์การของกระทรวงศึกษาธิการ รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา และรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมบุคลากรและองค์การ ต่อมาระหว่างปี ๒๕๒๓-๒๕๒๔ ได้รับการศึกษาทางด้านการเมืองและการบริหาร ก่อนเป็นกรรมการสำรองศูนย์กลางพรรค และประธานคณะกรรมาธิการหนังสือพิมพ์และวิทยุ รวมถึงรองประธานกรรมการโฆษณาและฝึกอบรมของพรรคช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๒๖

ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๔ เป็นเลขานุการพรรค จากนั้นเป็นรองประธานสมัชชาประชาชนระหว่างปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ครั้นถึงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ ๕ ในปี ๒๕๓๔ เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกกรมการเมือง และเป็นหัวหน้าสำนักงานศูนย์กลางพรรค และในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ ๖ ได้รับเลือกให้อยู่ในตำแหน่งทั้งสองดังกล่าวอีกสมัย นอกจากนี้ในปี ๒๕๔๕ ทองสิงได้เป็นเจ้าครองกำแพงนครเวียงจันทน์ ที่สุดได้รับเลือกได้เป็นประธานสภาแห่งชาติในปี ๒๕๔๙

ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทองสิงเป็นผู้นำอยู่ในอันดับที่ ๓ รองจาก พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน เลขาธิการใหญ่พรรคและประธานประเทศ กับ พล.ท.สะหมาน วิยะเกด ผู้นำอาวุโส ผู้ชี้นำวัฒนธรรมและทฤษฎีของพรรค ทั้งนี้ ตำแหน่งและอันดับในกรมการเมืองแสดงถึงระดับอาวุโสของเหล่าผู้นำในระบอบคอมมิวนิสต์
...นสพ.ข่าวสด



วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

ชีวิตวัยเด็กและสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา  มีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกนิสัยใจคอของคนเราเป็นอย่างมาก เมล็ดพันธุ์ที่ดีย่อมเติบโตเป็นต้นกล้าแข็งแรง หากได้รับการรดน้ำพรวนดินสม่ำเสมอด้วยความรัก

พูดถึงผู้นำระดับโลกแล้ว วินาทีนี้คงไม่มีใครน่าจับมาตีก้น และกระเทาะเปลือกให้เห็นแก่นแท้ลึกๆ ตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยกเท่า “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย” ผู้นำทรราชซึ่งครองเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อเนื่องยาวนานถึง ๓ สมัย และกำลังเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งใหญ่ๆ เกือบทุกเหตุการณ์ ไล่ตั้งแต่ซีเรีย, ยูเครน ไปจนถึงไครเมีย ที่พร้อมลุกลามบานปลายใหญ่โตเป็นสงครามโลก
 
เบื้องหลังบุคลิกกร้าวแกร่งมาดมั่น บ้าระห่ำ แต่แฝงไว้ด้วยความเคร่งขรึมเย็นชาราวกับ “แบทแมน” ชีวิตวัยเด็กของ “ปูตินน้อย” กลับพิศวงดำมืดและเต็มไปด้วยปมลึกลับซ่อนเงื่อน!!

ในขณะที่ผู้นำรัสเซีย วัย ๖๑ ปี สร้างภาพว่าเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางธรรมดาๆ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในอพาร์ตเมนต์ของรัฐ ในเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) โดยบิดาเป็นทหารเก่าในสมรภูมิรบสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งผันตัวมาเป็นซิเคียวริตี้ การ์ด และหัวหน้าคุมการขนส่งสินค้า ส่วนมารดาคือ นางมาเรีย เชโลโมวา เป็นแม่บ้านใจดีอบอุ่น ชอบทำซุปกะหล่ำปลี และอบขนมปังกับแพนเค้กอร่อยๆ

ฝ่ายตรงข้ามกลับพยายามขุดคุ้ยความจริงออกมาตีแผ่ว่า  ทั้งคู่ไม่ใช่ พ่อแม่แท้ๆ ของ “ปูติน” เพราะพ่อแท้ๆ ติดเหล้าและชอบซ้อมเมีย ทำให้แม่แท้ๆ ต้องหอบหิ้วลูกชายหนีมาอยู่เลนินกราด กระทั่งเจอสามีภรรยาใจบุญช่วยรับเลี้ยงไว้ ลึกๆ แล้วเขาจึงเป็นคนโดดเดี่ยวอ้างว้างที่โหยหาความรักความอบอุ่น และมีปมด้อยถูกทอดทิ้งตั้งแต่เล็กๆ
 
เรื่องจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ ความบ้ากีฬาทำให้ “ปูติน” กลายเป็นคนใฝ่เรียน และอยากประสบความสำเร็จ!! สมัยเรียนมัธยมต้น

เขาเริ่มสนใจกีฬาจริงจัง และค้นพบพรสวรรค์จนได้แชมป์ยูโดสายดำ ขณะเดียวกัน เขาก็ทำทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่ความฝันเป็น “สายลับเคจีบี” ตามแบบสายลับในนิยายจารชนที่ชื่นชอบ “ปูติน” ตั้งใจเรียนจนสอบติดมหาวิทยาลัยเลนินกราด ได้เป็นนักเรียนกฎหมาย จากนั้นก็สอบเข้าทำงานหน่วยสืบราชการลับสหภาพโซเวียต คอยสืบหาข้อมูลลับของชาติตะวันตก โดยถูกส่งตัวไปประจำที่เยอรมันตะวันออกถึง ๕ ปี ในยุคที่ยังไม่รวมประเทศ ทำให้พูดภาษาเยอรมันคล่องแคล่ว
 
อย่างไรก็ดี อาชีพสายลับเคจีบีสิ้นสุดลงในปี ๑๙๙๐ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาได้งานใหม่เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเลนินกราด พร้อมรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประจำเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อาชีพการงานในแวดวงราชการและการเมืองของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว และด้วยการสนับสนุนของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน ที่วางตัวเขาเป็นทายาทการเมือง ทำให้ “ปูติน” ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อกลางปี ๑๙๙๙ ก่อนจะควบตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ แทนที่ “เยลต์ซิน” ซึ่งลาออกไป

เส้นทางครองอำนาจยาวนานกว่าทศวรรษของ “ปูติน” เริ่มหยั่งรากลึก เมื่อเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ของรัสเซีย ในเดือน มีนาคม ปี ๒๐๐๐ และชนะเลือกตั้งกลับมานั่งเก้าอี้เป็นสมัยที่ ๒ เมื่อปี ๒๐๐๔ แม้จะยังเรืองอำนาจสูงเสียดฟ้า แต่ด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ ทำให้ “ปูติน” ต้องเว้นวรรคลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ๒๐๐๘ และชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อรักษาอำนาจ จนในที่สุดได้หวนคืนสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ ๓ อีกครั้ง เมื่อปี ๒๐๑๒

ตลอดยุคการบริหารประเทศของ “ปูติน” เขานำเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจมาสู่รัสเซียอย่างน่ายกย่อง โดยจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น ๗๒% ความยากจนลดลงกว่า ๕๐% และค่าจ้างขั้นต่ำก็เพิ่มขึ้น ๘ เท่าตัว จาก ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็น ๖๔๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลจากการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ ทั้งด้านเศรษฐกิจมหัพภาค, นโยบายการคลัง, นโยบายพลังงาน และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในประเทศ ประกอบกับการไหลบ่าเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ และราคาน้ำมันโลกสูงลิ่ว กระนั้น ทั้งๆ ที่มีผลงานมากมายในการพัฒนาประเทศ แต่แทนที่ประชาชนจะรัก “ปูติน” กลับถูกต่อต้านและขับไล่ไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ต่างจากผู้นำทรราชในหลายประเทศของโลกที่โดนชุมนุมขับไล่ เพราะดื้อด้านหวงแหนอำนาจและยอมทำทุกวิถีทางเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้พรรคพวกตัวเอง.
...ข้อมูล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ



จูเลียส ซีซาร์ หรือชื่อจริง ไกอัส จูเลียส
ภาพจาก วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

จูเลียส ซีซาร์
จุดจบรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิโรมัน

ใครที่สนใจประวัติศาสตร์โลกคงจะเคยได้ยินชื่อเสียงความเกรียงไกรของ “จูเลียส ซีซาร์” นักรบผู้น่าเกรงขามแห่งโรมัน ซึ่งเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญผู้ทำให้อาณาจักรโรมยิ่งใหญ่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักของชาวโลกตราบจนทุกวันนี้ โดยนำกองทัพโรมตีชนะยึดเมืองมากกว่า ๘๐๐ เมือง เขากวาดมาเข้าอาณัติโรมหมด ตั้งแต่ยุโรปตอนเหนือจดยุโรปตอนใต้ จากสเปนไปเอเชียน้อย เลาะเรื่อยถึงอียิปต์

ซีซาร์ เกิดวันที่ ๑๒ กรกฎาคม เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ครอบครัวเป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ฐานะมั่งคั่ง บิดาชื่อว่า “เคอุส จูเลียส ซีซาร์” ส่วนมารดาคือ “ออเรเลีย คอตต้า” เขาเป็นมนุษย์คนแรกที่เกิดโดยวิธีผ่าตัดหน้าท้อง แต่กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ  ๑๖ ปี จึงต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว

ในยุคนั้น สาธารณรัฐโรมันกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์เลวร้ายหลังสงครามพูนิคครั้งที่สอง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ยากจนข้นแค้น บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายและแตกสามัคคี มีการก่อกบฏต่อต้านรัฐอย่างต่อเนื่องรุนแรง เพราะชนชั้นปกครองเอาแต่เสวยสุขไม่สนใจบ้านเมืองและแข่งขันแย่งชิงอำนาจกัน ขาดผู้นำที่จะมาสร้างความเป็นปึกแผ่นในชาติ แต่แล้วฟ้าก็ประทาน “จูเลียส ซีซาร์” ให้มาเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

หลังสะสมบารมีทางการเมืองได้มากพอ โดยไต่เต้าจากทหารหนุ่มตัวเล็กๆ ขึ้นมาเป็นผู้กำกับดูแลการเงินการคลังของรัฐ ผู้ว่าการสเปนและ “ปอมเปย์” และ “คราสซุส” จัดตั้งคณะไตรมิตร ขึ้นปกครองโรมันด้วยเสียงสนับสนุนจากสภาสูงเป็นครั้งแรก จากนั้นจึงได้รับเลือกเป็นแม่ทัพใหญ่ยกพลออกไปรบกับพวกกอล หรือฝรั่งเศสในปัจจุบัน ตีเมืองเล็กเมืองน้อยมาอยู่ในอาณัติโรมมากมาย

บารมีของเขาแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างไกล พร้อมกับฐานะที่มั่งคั่งขึ้น และศัตรูที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยภายหลังเขากับสองนายพลคู่มิตรเปิดศึกชิงดีชิงเด่นกันเองจนแตกหัก เพราะต่างก็อยากจะผูกขาดการปกครองโรม ผลสุดท้ายด้วยกำลังทหารและอำนาจบารมีที่เหนือกว่า ทำให้ “ซีซาร์” ยึดอำนาจสำเร็จและได้รับเลือกเป็นผู้ชี้นำของโรม คุมการปกครองเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวสมใจปรารถนาถึง ๑๐ ปีเต็ม ต่อมาเมื่อยกพลปราบปรามตีดินแดนแอฟริกาและสเปนได้สำเร็จ จึงได้รับการยกย่องเป็น “หัวหน้าผู้เผด็จการ” ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ดี คนที่เป็นใหญ่และอยู่ในอำนาจนานๆ มักจะลุแก่อำนาจและหวงแหนเก้าอี้จนยอมทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาไว้ “ซีซาร์” ก็เช่นเดียวกัน จากรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ เขากลายเป็นผู้ทำลายสาธารณรัฐโรมัน แม้จะเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถในศึกสงคราม แต่ “ซีซาร์” ก็มีความทะเยอทะยานและกระหายอำนาจ จนขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายทารุณ

กระนั้น จุดอ่อนสำคัญที่นำไปสู่จุดจบคือ ความเมตตาที่เขามักหยิบยื่นให้ศัตรู ทั้งๆ ที่จับได้หลายหนว่ามีแผนลอบสังหารตน แต่เขากลับนิ่งนอนใจไว้ชีวิตซะทุกครั้ง กระทั่งต้องมาจบชีวิตโดยไม่ทันระวังตัว จากการถูกลอบสังหารของลูกเลี้ยงทรพี “มาร์คุส จูนิอุส บรูตุส” ขณะอายุได้ ๕๕ ปี

ก่อนปิดฉากชีวิต มีลางบอกเหตุหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า โรมกำลังจะสูญเสียนักรบและนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ โดยหนึ่งวันก่อนวันเกิดเหตุ จู่ๆ พายุก็โหมกระพืออย่างหนัก และมีดาวหางปรากฏบนท้องฟ้า ภรรยาของ “ซีซาร์” รู้สึกสังหรณ์ใจไม่ดี จึงอ้อนวอนสามีมิให้เดินทางไปประชุมสภาเซเนทในวันรุ่งขึ้น แต่เขากลับดื้อรั้นไม่ฟังคำทัดทาน อีกหนึ่งลางร้ายบอกเหตุคือขณะที่เขาเดินผ่านห้องโถงใหญ่ในเซเนท รูปปั้นของเขาได้หล่นลงมาแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ระหว่างนั้นมีชายผู้หวังดีแอบส่งจดหมายที่มีรายชื่อผู้ลอบทำร้ายและรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลอบสังหารทั้งหมด กระนั้น “ซีซาร์” ไม่ไยดีแม้แต่จะเปิดจดหมายอ่าน กระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิตมาถึง ในช่วงสายวันที่ ๑๕ มีนาคม  ๔๔ ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่กำลังยืนอ่านรายงานประชุมสภาเซเนท “ซีซาร์” ก็ถูกลูกเลี้ยงทรพีปลิดชีพอย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยคมดาบที่ปักทะลุลำคอ ส่งผลให้ล้มลงขาดใจตายจมกองเลือด

ความบ้าอำนาจและกระหายสงคราม เพื่อแผ้วถางทางสู่ความยิ่งใหญ่ ทำให้รัฐบุรุษของกรุงโรมสร้างศัตรูไว้มากมายรอบตัว แต่แล้วเขาก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันที่อยากจะขึ้นเป็นจักรพรรดิปกครองโรมัน เพราะสุดท้าย ตำแหน่งจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมันตกเป็นของ “กายุส ยูลิอุส ไกซาร์ ออกุสตุส” บุตรบุญธรรมที่ถูกวางตัวให้ให้เป็นทายาทการเมืองของ “จูเลียส ซีซาร์”
...

ข้อมูล จุดจบรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ "จูเลียส ซีซาร์" โดย มิสแซฟไฟร์ หน้า ๒ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 16:04:51 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
คำคม คนดัง
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 1 1893 กระทู้ล่าสุด 03 กรกฎาคม 2561 15:08:45
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.866 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 10 ธันวาคม 2566 16:56:52