[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 21:48:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 144 145 [146] 147 148 ... 275
2901  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: วิธีทำ เค้กสตอเบอรี่ - หน้าครีมผสมสตอเบอรี่กวน เมื่อ: 02 มกราคม 2560 21:24:44


เค็กสตอเบอรี่อีกแล้วค่ะ ... คราวนี้สูตร สตอเบอรี่สดจากไร่
(ไร่ใครก็ไม่รู้...ซื้อจากตลาด)





.  เค้กสตอเบอรี่ หน้าครีมนมสด  .

ส่วนผสม
- แป้งเค้ก   200 กรัม
- ผงฟู   2 ช้อนชา
- เกลือป่น  ¼ ช้อนชา
- ไข่ไก่ (เบอร์ 0)   5 ฟอง
- เนยสดละลาย  50 กรัม
- วิปปิ้งครีม 1/4 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย  1 ถ้วยตวง (ปั่นละเอียด เนื้อเค้กจะนุ่มนวล)
- สตอเบอรี่สดสับหยาบ 5-6 ผล
- เอสพี (SP)  1 ช้อนโต๊ะ
- สีชมพู  1/8 ช้อนชา (ชนิดน้ำ สำหรับเบเกอรี่)
- กลิ่นสตอเบอรี่  1 ช้อนชา


วิธีทำ
1. ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู และเกลือเข้าด้วยกัน
2. นำแป้งเค้กที่ร่อนแล้วใส่เครื่องผสมอาหาร เติมน้ำตาลทราย ไข่ไก่ เอสพี (SP) และสีชมพู
    ตีด้วยความเร็วต่ำสุด เพื่อไม่ให้แป้งฟุ้งกระจาย แล้วค่อย ๆ เร่งความเร็วจนถึงระดับสูงสุดของเครื่อง
    ตีนาน 3 นาที ปิดเครื่อง ปาดเค้กจากด้านล่างของโถปั่นขึ้นมาด้านบน
    ตีต่อด้วยความเร็วสูงสุดอีก 3 นาที ปิดเครื่อง
4. ใส่สตอเบอรี่สับหยาบ วิปปิ้งครีม กลิ่นสตอเบอรี่  
    ค่อยๆ ใส่เนยสดละลาย ตีด้วยความเร็วต่ำสุดจนส่วนผสมเข้ากัน
6. เทใส่พิมพ์ รองด้วยกระดาษไข นำไปอบจนสุก ทิ้งไว้ให้เย็นจึงนำไปแต่งหน้าเค้ก


ครีมนมสด
ส่วนผสม : วิปปิ้งครีม 1 ถ้วยตวง และน้ำตาลไอซิ่ง 2 ช้อนชา
วิธีทำ : ตีวิปปิ้งครีมกับน้ำตาลไอซิ่งจนขึ้นฟูเต็มที่ นำไปปาดบนหน้าเค้ก



เค้กอบสุกแล้ว ทิ้งไว้ให้เย็นสนิทจึงนำไปแต่งหน้าเค้กค่ะ


วิปปิ้งครีมที่ตีจนขึ้นฟูเต็มที่ค่ะ


เราใช้ครีมนมสด และแยมสตอเบอรี่ที่มีส่วนผสมของเนื้อผลไม้


ใช้สปาตูล่าปาดวิปปิ้งครีมให้ทั่วชิ้นเค้ก


จนเนียนเรียบ แล้วตกแต่งลวดลายตามใจชอบได้เลยค่ะ)








เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ


นำไปแช่ในตู้เย็นประมาณ 1 ชั่วโมง ให้ครีมเซ็ทตัว จะช่วยให้ตัดแบ่งรับประทานได้ง่ายค่ะ













2902  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: เค้กช็อกโกแลตนมสด เมื่อ: 02 มกราคม 2560 20:30:03

ภาพแสดงการแต่งหน้าเค้ก
สูตรส่วนผสมตามขั้นตอนที่แสดงให้เห็นในกระทู้ข้างบน


เค้กช็อกโกแลตหน้าครีมนมสด












ส่วนผสมตามที่กำหนดไว้ด้านบน ทำเค้กได้ 4 ปอนด์
ผู้โพสต์ใส่พิมพ์ขนาด 2 ปอนด์ - ให้ได้เค้ก 2 ชิ้น


ในโถปั่นคือครีมนมสด


นำไปตีด้วยความเร็วปานกลางจนส่วนผสมขึ้นฟูเต็มที่





























2903  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: สวัสดีปีใหม่ เมื่อ: 01 มกราคม 2560 09:24:43

ในศุภวาระเริ่มต้นวันแรกของปีพุทธศักราช ๒๕๖๐
ขอส่งความปรารถนาดีแด่ท่าน ด้วยบทร้อยกรองอันไพเราะอ่อนหวานจากเรื่อง "เวนิสวาณิช"
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพล้ำเลิศทางด้านกวี  เพื่อจรรโลงและสืบสาน
การอนุรักษ์มรดกทางภาษาไทยให้ยั่งยืนตลอดไป


ภาพวาดลายเส้นจากปากกาลูกลื่นสีดำ

ความเอยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน?
เริ่มเพาะเหมาะกลางวางหัวใจ.
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี?
แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง?
อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่       
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี
ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย


ตอบเอยตอบถ้อย
เกิดเมื่อเห็นน้องน้อยอย่าสงสัย;
ตาประสบตารักสมัครไซร้
เหมือนหนึ่งให้อาหารสำราญครัน;
แต่ถ้าแม้สายใจไม่สมัคร
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดย่อมอาสัญ,
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน
ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย.
 

2904  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: สวัสดีปีใหม่ เมื่อ: 30 ธันวาคม 2559 15:53:24
.



เนื่องในศุภวาระขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๐
ขออวยพรให้สมาชิกและผู้เข้าชม "เว็บไซต์ sookjai.com"
จงประสบความสำเร็จตามความปรารถนาทุกท่านค่ะ

ภาพระบายสีน้ำ+สีอคลิลิค (ACRYLIC)
2905  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: นางนพมาศ (ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์) และประเพณีในสมัยกรุงสุโขทัย เมื่อ: 30 ธันวาคม 2559 15:06:03

วิถีความเป็นอยู่ของคนไทยชนบท ในสมัยโบราณ
จิตรกรรมฝาผนังวัดหนองแวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พิธีแรกนา

พิธีแรกนา หรือพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปัจจุบันใช้คู่กับพระราชพิธีพืชมงคล แต่พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีของสงฆ์ ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีของพราหมณ์ กล่าวในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ คือ
“ครั้นถึงเดือน ๖ เป็นการนักขัตฤกษ์ในพระราชพิธีไพศาลจรดพระนังคัล จึ่งพระครู พรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ก็ประชุมพราหมณ์ผูกพรตอัญเชิญพระเทวรูปเข้าสู่โรงราชพิธีอันแวดวงด้วยราชวัติฉัตรธง ณ ท้องทุ่งละหาน หลวงหน้าพระตำหนักห้าง ครั้นถึงกำหนดวันอุดมฤกษ์วันอาทิตย์ เป็นวันสำหรับกระทำมงคลการแรกนาขวัญ จึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเครื่องต้นอย่างเทศขัดพระแสงกั้นหยั่น เสด็จทรงพระอัศวราชเป็นพาหนะยาน พร้อมด้วยพระหลวงขุนหมื่นนายทหารม้าประจำขี่อัศดรโดยเสด็จพยุหยาตราขบวนเพชรพวง และพระอัครชายาพระราชวงศาพระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัยให้โดยเสด็จล้วนแต่ตกแต่งกรัชกายอย่างนางเขียน ขึ้นรถประเทียบตามไปในขบวนหลัง ครั้นเสด็จถึงพระพลับพลาประทับ ณ ตำหนักห้าง จึ่งดำรัสสั่งออกญาพหลเทพย์ธิบดีให้เข้าสู่โรงราชพิธีถือเอาพัสตราภรณ์เพศกษัตริย์ แต่งกายอย่างลูกหลวงเอกยิ่งด้วยอิสริยยศในวันเดียวนั้น มีชีพ่อพราหมณ์บันลือเสียงสังข์และโปรยข้าวตอกนำหน้า และเมื่อออกจากโรงราชพิธีนั้น ก็แห่ด้วยกระชิงบังสูรย์ ครั้นเข้าสู่มณฑลห้องพระลานที่จะจรดพระนังคัล ชาวพระโคก็นำพระโคอุสุมภราชมาเทียมไถทอง พระครูพรหมพรตพิธีก็มอบยามไถและประตักทองให้ออกญาพหลเทพย์ ออกญาพหลเทพย์กราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แล้วก็รับยามไถไม้ประตัก อันว่าออกพระศรีมโหสถยศกมลเลศครรไลหงส์ผู้เป็นบิดาข้าน้อยนี้ ท่านแต่งกรัชกายบริสุทธิ์เศวตพัสตราภรณ์พร้อมเครื่องอัษฎาพรตเป็นพราหมณ์มหาศาลประเสริฐศักดิ์ ถือเอาไถเงินอันเทียมด้วยพระโคเศวตพระพร จึ่งออกพระวัธนะเศรษฐี อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัตินับเข้าในมหาศาล ท่านแต่งกายอย่างคหบดี ถือเอาไถอันหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยพระโคกระวินกับทั้งไม้ประตัก พระโหราจารย์ก็ลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางคดนตรี นายจำนำก็จับจูงพระโคอุสุภราชอันเทียมไถเอก ซึ่งออกญาพหลเทพย์ธิบดีถือนั้น บ่ายบาทดำเนินจรดพระนังคัลเวียนซ้ายไปขวา ไถโทออกพระศรีมโหสถดำเนินที่สอง ไถตรีพระวัธนะเศรษฐี ดำเนินที่สามตามกันเป็นลำดับ พร้อมด้วยชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ตีไม้บันเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญากับนายนักการนาหลวง แต่งตัวนุ่งผ้าเพลาคาดประคตใส่หมวกสาน ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพืชธัญญาหาร ตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนคำรบสามรอบ อันว่าชาวพนักงานก็เล่นการมหรสพ ระเบ็งระบำ โหม่งครุ่ม หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง รำแพน แทงวิไสยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบที่ปริมณฑลกระทำการแรกนาขวัญ เอิกเกริกได้ด้วยหมู่มหาชนชายหญิงพาบุตรนัดดามาทอดทัศนาเล่นสำราญใจ ครั้นเสร็จการไถหว่านแล้วก็ปลดปล่อยพระโคอุสุภราช โคเศวตพระพร โคกระวินออกให้กินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง ถ้าพระโคบริโภคข้าวและถั่วงาหญ้าน้ำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี และมิได้บริโภคก็ดี โหราพราหมณาจารย์ก็ทำนายทายทักว่าธัญญาหารจะได้ผลมิได้ผล น้ำมากน้ำน้อย ตามตำรับไตรเพท ขณะนั้นพระอัครชายาดำรัสสั่งนางพระสนม ให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชนมธุปายาสขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเสวยแล้วก็ให้ชาวราชมัลเลี้ยงลูกขุนทั้งหลาย ด้วยข้าวมธุปายาสและของคาวตามลำดับ เสร็จการพระราชพิธีจรดพระนังคัลดังนี้

พิธีแรกนาขวัญ หรือพระราชพิธีจรดพระนังคัล จรดพระนังคัล แปลว่าจดไถหรือแรกไถ เป็นพิธีที่พระเจ้าแผ่นดินไถนาเอง เพื่อตัวอย่างของประชาชน ได้รับมาจากอินเดียในสมัยพระเจ้าสุทโธทนะ สมเด็จพุทธบิดาของพระพุทธเจ้า เริ่มขึ้นในสมัยนั้นและแพร่ขยายมาเป็นพิธีทุกวันนี้ ในปัจจุบันมักใช้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นเสมือนตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ไถ หรือพระยาแรกนาเอง



พิธีวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชานี้ เป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่ประสูติจากพระครรภ์ของเจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ณ ป่าลุมพินีวัน ซึ่งเป็นดินแดนอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหนครต่อกัน  และเป็นวันตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี  และเป็นวันที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สาลวโนทยาน แขวงเมืองกุสินารา ซึ่งเป็นดินแดนแห่งชาวมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย

จึงเป็นวันที่ชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ผู้มีความรำลึกถึงพระพุทธคุณ และเป็นผู้มีกตเวทีต่อพระองค์ จึงได้พร้อมใจกันมาบูชาพระพุทธองค์ในวันวิสาขะ การบูชาในสมัยกาลนี้ จัดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ครบทั้ง ๓ ประการ

การทำวิสาขบูชานี้ ได้มีปรากฏทำกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จากหลักฐานตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวไว้ดังนี้
“ครั้นถึงวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมชนบทก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างใน จวนตำแหน่งท้าวพระยาพระหลวงและเศรษฐีชีพราหมณ์ บ้านเรือนโรงร้านพ่วงแพชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสว ห้อยย้อยพวงบุปผาชาติประพรมเครื่องสุคันธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชักชวนกันรักษาพระอุโบสถศีลสดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จำแนกแจกทานแก่ยาจกทลิทกคนกำพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อถ่ายชีวิตสัตว์จัตุบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลก็ทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิสาขบูชาพุทธศาสน์เป็นอันมาก เพลาตะวันชายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์นางในออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราชบุรณะพระพิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกยสุธาราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตยาธิคุณโปรยปรายผกาเกสรสุคันธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถสัตถารศ โดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวตน อันพระมหานครสุโขทัยราชธานีถึงวันวิสาขนักขัตฤกษ์ครั้งใดก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียน ดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงปฏากไสวไปด้วยพู่พวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคันธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกฉ้อชั้น



พิธีเคณฑะ
เป็นพิธีทิ้งลูกข่างเสี่ยงทาย ถ้าลูกข่างหมุนนอนวันอยู่นานและมีเสียงดังก็จะเป็นศิริมงคล เป็นพิธีของศาสนาพราหมณ์ กล่าวกันว่ามีขึ้นในสมัยสุโขทัย เช่นกัน จากตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพิธีนี้ดังนี้
“ครั้นถึงเดือน ๗ นักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคณฑะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูวนาถ อันเป็นพระเทวสถานให้สะอ้านสะอาด ชาวพระนครก็มาสันติบาตประชุมกัน คอยดูพราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึ่งพระครูเททางคศาสตร์ราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิพระเป็นเจ้าเป่าสังข์ถวายเสียง แล้วสังเวยบวงสรวงข่างอันกระทำด้วยทองเนาวโลหะใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิศ สมมติว่าพรพระสยม สามกำลังบุรุษจึ่งชักสายทิ้งข่างให้หมุนไปได้ อันข่างนั้นเป็นที่เสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท ถ้าข่างเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกามีแต่ยิ่งมิได้หย่อน ก็กล่าวว่ามงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพพระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณชีพราหมณ์คหบดีเศรษฐีและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสิ้นทั้งพระนคร ขอบขัณฑสีมาอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตรายต่างๆ อนึ่งโสด แม้นว่าข่างมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่น อันตรายด้วยเหตุต่างๆ พราหมณาจารย์ทำนายว่า บ้านเมืองจะมิสบายในขวบปีนั้น โดยนิยมดังข้าน้อยกล่าวนี้ ครั้นได้เพลาฤกษ์ พระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายพนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ หมู่พราหมณ์ทั้งมวลก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังหน้าพระลานชัยอันแวดวงด้วยรั้วราชวัติเป็นที่ทิ้งข่าง จึ่งเอาสายไหมเบญพรรณยาวสิบสองศอกพันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดานอันวางเหนือหลังภูมิภาคปัถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงศ์ ก็อ่านอิศวรมนต์กำเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนายชำนาญข่างก็ประจำข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องชัยนาลิวันก็ทิ้งข่างวางสาย เสียงข่างดังกันวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สะบัดได้บาทนาฬิกาเศษ ข่างก็สำแดงความจำเริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎร ซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างหมุนดังนั้น ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นตำ บอกเล่ากันต่อๆ ไปว่า ในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข หมู่พราหมณาจารย์ก็เชิญข่างคืนเข้าสู่พระเทวสถาน อันว่าการพระราชพิธีเคณฑะทิ้งข่างนี้ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิได้เสด็จออกไปทรงทอดพระเนตรแต่กาลก่อนก็มิได้โปรดให้นางในไปทอดทัศนา ครั้นเมื่อข้าน้อยนี้เข้าไปรับราชการเป็นข้าพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบรรหารดำรัสว่า ข้าน้อยเป็นชาติเชื้อตระกูลพราหมณ์ จึ่งโปรดให้ไปทอดทัศนาการพระราชพิธีเคณฑะกับพระสนมกำนัลซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์ด้วยกัน และที่นางในไปสถิตดูทิ้งข่างนั้น เรียกชื่อว่าโรงมานพที่พราหมณ์สวดมนต์เสร็จการพระราชพิธีเคณฑะทิ้งข่าง ดังนี้


โปรดติดตามตอนต่อไป
2906  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร : พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อ: 29 ธันวาคม 2559 15:34:38



นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในประเทศไทย

------------------
ศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมและสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ที่บรรพบุรุษไทยได้สรรสร้างอย่างประณีตด้วยเชิงช่างศิลปะชั้นสูงที่ต้องใช้ทั้งฝีมือ ความรู้ ความชำนาญ
และความละเอียดประณีตทุกขั้นตอน  จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจและได้ศึกษาเป็นความรู้
เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะเหล่านี้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีรากฐานมาจากพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้นในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ในพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามว่า “ประพาสพิพิธภัณฑ์” เพื่อจัดแสดงข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ซึ่งแต่เดิมเป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซี่ยม”  เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรกเนื่องในการเฉลิมพระชนมายุครบ ๒๑ พรรษา โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๗ จึงถือว่าวันนี้เป็นวันกำเนิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนในประเทศไทย ปัจจุบันกำหนดเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราช หรือวังหน้า แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” จากพระบรมมหาราชวัง มาจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ของกรมพระราชวังบวรฯ  เฉพาะพระที่นั่งด้านหน้า ๓ องค์ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย  โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

๑.พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เคยใช้เป็นท้องพระโรงและที่บำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย หลังคาเครื่องไม้ชั้นลด ๓ ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหน้าเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยในอดีตตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
 
๒.อาคารมหาสุรสิงหนาทและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่จัดแสดงศิลปะต่างประเทศและในประเทศไทย ได้แก่ ศิลปะเอเชีย ศิลปะทวารวดี ศิลปะลพบุรี และเทวรูปโบราณ

๓.พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตำหนักแดง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย ศาลาลงสรง อาคารโบราณสถาน จัดแสดงอาคารหมู่พระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคลมาแต่เดิม รวมทั้งอาคารที่เคลื่อนย้ายมาจากพระราชวังต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย เช่น พระพุทธสิหิงค์, พระชัย, พระพุทธรูปโปรดมหิศรเทพบุตร, พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท และรวมถึงสถานที่สำคัญคือ "หอแก้วศาลพระภูมิพระราชวังบวรสถานมงคล" ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร ที่ผู้คนต่างให้ความเคารพ

๔.อาคารหมู่พระวิมานและโรงราชรถ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ประดิษฐ์อย่างประณีตศิลป์ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก เครื่องแต่งกายและผ้าโบราณ เครื่องถ้วย ราชรถ และเครื่องประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพที่สำคัญ คือ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย เกริน ส่วนประกอบของพระเมรุมาศ พระโกศ พระยานมาศสามลำคานเป็นต้น



จากการที่พสกนิกรไทยทั้งแผ่นดิน อยู่ในห้วงแห่งความเศร้าโศกอาลัย ในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และรัฐบาลได้ดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ดังนั้น ในลำดับแรก จึงนำเรือง "เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในงานพระบรมศพ" ซึ่งมีโบราณวัตถุเก็บรักษาไว้ที่โรงราชรถ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มาเสนอเป็นอันดับแรก ก่อนที่นำชมโบราณวัตถุอันมีค่าอื่นนอกจากนี้ในลำดับถัดไป

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพและพระศพ
เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ เป็นเครื่องแสดงฐานะของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตามความเชื่อที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นสมมติเทพ เมื่อถึงแก่อายุขัย ใช้ศัพท์ว่า “สวรรคต” หรือ “ทิวงคต” แปลว่า “กลับสู่สวรรค์”  ดังนั้น งานพระบรมศพและพระศพอันเป็นการส่งเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์กลับสู่สรวงสวรรค์ จึงต้องถวายพระเกียรติยศอย่างสูงสุด  เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในงานพระบรมศพและพระศพตามโบราณราชประเพณีประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ คือ เครื่องประกอบในการตั้งพระบรมศพ พระศพ เพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล ได้แก่ พระโกศ หีบศพบรรดาศักดิ์ พระแท่นสุวรรณเบญจดล พระแท่นแว่นฟ้า ฉัตร อภิรุมชุมสาย เครื่องราชูปโภค และเครื่องประโคมต่างๆ เครื่องประกอบในริ้วขบวนพยุหยาตราอัญเชิญพระบรมศพและพระศพสู่พระเมรุ เช่น เรือพระที่นั่ง ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือ พระราชทานเพลิงพระศพ ได้แก่ พระเมรุมาศ พระจิตกาธาน ฉากบังเพลิง สัตว์หิมพานต์ เครื่องประดับพระเมรุต่างๆ พระโกศจันทน์ ฟืน และเครื่องหอม เป็นต้น  ทั้งนี้ เป็นไปตามลำดับแห่งพระเกียรติยศ

สำหรับเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในงานพระบรมศพและพระศพที่สำคัญและเก็บรักษาไว้ในโรงราชรถนี้ ได้แก่ ราชรถ และราชยาน




พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เดิมชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ สร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ในรัชกาลที่ ๑ ปฏิสังขรณ์สมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธรูปสำคัญของวังหน้า


ซ้ายมือของภาพ คือ ศาลามุขมาตย์ เดิมชื่อ พระที่นั่งราชฤดี
สร้างไว้ที่พระราชวังดุสิต ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ออกแบบโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ใช้เป็นที่สรงน้ำเทพมนต์และน้ำพระพุทธมนต์ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖
พระราชทานนามใหม่ เป็น "ศาลาสำราญมุขมาตย์" ภายหลังรื้อมาปลูกในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
ในรัชกาลที่ ๗  ลักษณะเป็นพระที่นั่งโถง สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ปัจจุบันใช้เป็นที่ต้อนรับแขกพิเศษของทางราชการ
และเป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ


ตำหนักแดง









ราชรถ (The Royal Chariots)

ราชรถ หมายถึงรถของพระราชา ปรากฏประวัติการใช้มาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้ในการไปมาเป็นปกติและใช้การพิธีต่างๆ เช่น เมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๙ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ใช้ในพระราชพิธีอินทราภิเษก หรือใช้คราวเสด็จพระราชทานพระกฐินในเดือน ๑๑ ด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค และใช้ในการศพ เป็นต้น

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชรถขึ้นมา ๗ รถ ประกอบด้วย พิชัยราชรถ ๑ รถที่นั่งรอง ๑ รถพระ ๑ รถชัก (โยง) ๑ รถโปรยข้าวตอก ๑ และรถท่อนจันทน์ ๒

ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่โรงราชรถ ๕ รถ คือ พระมหาพิชัยราชรถ ๑ เวชยันตราชรถ ๑ และราชรถน้อย ๑ (รถพระ รถโยง รถโปรย)
...ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร




ราชยาน (The Royal Palanquins)

ราชยาน คือ พาหนะของพระราชาและพระบรมวงศานุวงศ์ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ แบบนั่งห้อยขา เป็นยานสำหรับบุคคลชั้นสูง เป็นยานขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก การหามจะต้องนำลำคานขึ้นพาดบ่าและคนหามต้องมีความสูงไล่เลี่ยกัน เช่น พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน และคานหามเก้าอี้ เป็นต้น  อีกประเภทจะเป็น แบบนั่งราบ เป็นยานที่มีน้ำหนักไม่มาก การหามจะใช้เชือกผูกลำคานสองข้างเป็นสาแหรกขึ้นไปผูกกับคานน้อยอีกอันหนึ่ง  คนหามจะหามปลายคานน้อยทั้งสองข้าง  สำหรับราชยานที่ยังปรากฏมาจนถึงปัจจุบันและใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ นั้น ส่วนหนึ่งเก็บรักษาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวังดุสิต และบางส่วนเก็บรักษาไว้ในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้แก่ ยานมาศสามลำคาน ๒ เกรินบันไดนาค ๒ วอสีวิกากาญจน์ ๑ พระที่นั่งราเชนทรยาน ๑ เป็นต้น ...ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร





ยานมาศสามลำคาน (The Triple Beam Royal Palanquin)

ยานมาศสามลำคาน : ยานขนาดใหญ่ มี ๓ ลำคาน สำหรับทรงพระโกศ ตรงกลางเป็นแท่นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสองจำหลักไม้ปิดทองประดับกระจก ตกแต่งภาพ คือ เทพนม ครุฑพนม โดยรอบ  ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัติกั้น ด้านหน้าและด้านหลังมีเกยลาสำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นประคองโกศ ลำคานทำจากไม้กลึงกลมทาสีแดง ปลายแกะเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจก ใช้พนักงานหาม ๖๐ คน เวลาหามจริงใช้คน ๒ ผลัด

ยานมาศสามลำคานสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ในกรุงรัตนโกสินทร์ใช้ในการอัญเชิญพระโกศไปในกระบวนพยุหยาตรา จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ณ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมงมังคลาราม และใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมศพ เวียนอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ๓ รอบ ตามราชประเพณี
...ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


โปรดติดตามตอนต่อไป

2907  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: ปรางค์สามยอด แดนดินถิ่นวานรของฝูงลิงอารมณ์ดี : อ.เมือง จ.ลพบุรี เมื่อ: 28 ธันวาคม 2559 15:58:52



พระปรางค์

พระปรางค์เป็นสถาปัตยกรรมที่ชาวไทยนิยมสร้างขึ้นเป็นศาสนสถานประเภทหนึ่ง แต่เดิมเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบลักษณะเฉพาะของขอม โดยมีคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ พระปรางค์ที่สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาส่วนมากสร้างด้วยเครื่องก่ออิฐและศิลาแลง มีรูปทรงสัณฐานส่วนที่เป็นองค์พระปรางค์คล้ายกับฝักข้าวโพด ตั้งตรงขึ้นไปบนฐานรูป ๔ เหลี่ยม ขนาดลดหลั่นซ้อนเทินขึ้นไป

องค์ประกอบของพระปรางค์ ได้แก่
๑.นภศูล คือส่วนปลายแหลมที่ประดับบนยอดปลายสุดของเจดีย์ทรงปรางค์ ทำด้วยโลหะหล่อเป็นรูป ๔ แฉกคล้ายปลายดาบ ต่อซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น ระหว่างกลางแทรกด้วยแกนคล้ายปลายหอก  ซึ่งต้นแบบของการประดับมีมาก่อนปราสาทแบบเขมร
๒.บัวกลุ่ม คือส่วนที่อยู่บนยอดสุดของปรางค์ ลักษณะรูปกลีบบัวแย้ม ตั้งรับนภศูล
๓.รัดอก ส่วนประดับคาดกลางองค์ประกอบใดๆ เช่น คาดกลางองค์ระฆัง หรือคาดส่วนกลางของเสา จุดประสงค์เพื่อการประดับให้สวยงาม
๔.กลีบขนุน คือส่วนประดับบนมุมชั้นซ้อนเป็นส่วนบนของ “เจดีย์ทรงปรางค์” รูปร่างของกลีบขนุน คงดูคล้ายหนึ่งในสี่ส่วนของลูกขนุนผ่าตามตั้ง จึงเข้าใจว่าคือที่มาของชื่อที่เรียกตามลักษณะว่ากลีบขนุน ต้นแบบของงานประดับนี้ คือ บรรพแถลง  (รูปจั่วอันเป็นด้านหน้าของอาคาร) ของปราสาทแบบเขมร  อันเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงปรางค์
๕.บรรพแถลง (บันแถลง) คือรูปจั่วอันเป็นด้านหน้าของอาคาร ประดับอยู่ระหว่างกลางของกลีบขนุนคู่ในของชั้นรัดประคดแต่ละชั้นของพระปรางค์ ซึ่งหมายถึงหลังคา หรือส่วนของเรือนยอดพระปรางค์ส่วนที่ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุ
๖.เรือนธาตุ คือส่วนกลางของเจดีย์ทรงใดๆ ก็ตาม เทียบได้กับส่วนกลางของเรือนอันเป็นส่วนที่อยู่อาศัย (ส่วนล่างของเรือนคือ ฐาน หรือ เสา ส่วนบนคือ ยอด หรือ หลังคา)
๗.ซุ้ม คือสัญลักษณ์ของหลังคา หากมีเสาคู่ตั้งขึ้นเพื่อรับซุ้มก็ครบความหมายว่า คือรูปจำลองของเรือน เช่น จระนำประตูซุ้ม  หน้าต่างซุ้ม จระนำ หรือซุ้มคูหา หรือซุ้มทิศ หรือซุ้มประตู คือส่วนที่ทำขึ้นประกอบเข้ากับองค์พระปรางค์ หรือพระเจดีย์บริเวณภายนอกอาคารส่วนที่เป็นเรือนธาตุ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป มี ๔ ด้าน เรียกว่า ซุ้มทิศ ถ้าพระปรางค์นั้นกลวงมีทางเข้าออก จะเรียกและทำหน้าที่เป็นซุ้มประตู
๘.ฐานสิงห์ คือส่วนล่างของฐานบัวรับองค์ “เรือนธาตุ” มีขาประดิษฐ์ให้งดงาม ดูว่ามีเค้าของขาสิงห์  คือที่มาของชื่อฐานสิงห์ ช่น เรียกส่วนหน้าของขาสิงห์ว่า แข้งสิงห์  หลังขาสิงห์เรียกน่องสิงห์ ซึ่งมีครีบน่องประดับ ยังมีบัวหลังสิงห์ รักแร้สิงห์ นมสิงห์ ท้องสิงห์ มีครีบท้องประดับ และกาบเท้าสิงห์
๙.ฐานปัทม์ คือส่วนที่เป็นฐานอาคาร ใช้ตั้งรับองค์เรือนธาตุอาคาร
๑๐.ฐานเขียง คือส่วนของโครงสร้างที่เป็นฐานชั้นล่างสุด

พระปรางค์ ที่สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ส่วนมากจะทำเป็นประธานอยู่ตรงศูนย์กลางของพระอาราม เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุอยู่ในห้องภายในองค์พระปรางค์  ด้วยเหตุเช่นนี้ พระปรางค์ในพระอารามสำคัญ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระมหาธาตุ

คำว่าพระปรางค์ หรือ ปรางค์ แท้จริงมิได้หมายความตรงตัวว่าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นโดยมีรูปเหมือนฝักข้าวโพดตั้งตรงเป็นประธาน  คำว่า ปรางค์ เป็นคำที่มาแต่คำว่า ปร+องคณ แปลว่า ชาลา คือ ลานที่อยู่ข้างปราสาท โดยเฉพาะเรียกลานข้างหน้าเทวสถานว่า ปรางค์ เหตุเช่นนี้มีอธิบายว่า ปรางค์เป็นสิ่งติดอยู่กับเทวสถานของพวกพราหมณ์มาก่อน  คติทางฝ่ายลัทธิพราหมณ์นั้นห้ามมิให้ชนสามัญเข้าไปบูชาพระเป็นเจ้าได้ถึงข้างในเทวาลัย เว้นไว้แต่พวกพราหมณ์ผู้มีหน้าปรนนิบัติพระเป็นเจ้าเท่านั้น  ชนสามัญคงได้บูชาพระเป็นเจ้าอยู่ตรงที่ข้างหน้าเทวสถานที่เรียกว่า ปรางค์ คือ ชาลาข้างหน้าเท่านั้น  ส่วนอาคารที่เป็นเทวสถาน หรือเทวาลัยนั้น ทำเลียนแบบมาแต่ปราสาท คือเรือนหลายชั้นเป็นอาคารซึ่งคหบดีได้ปลูกขึ้นอาศัย และพระมหากษัตริย์สถาปนาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับมาแต่สมัยก่อนพุทธกาล เมื่อเวลาที่นำแบบอย่างมาสร้างเป็นเทวสถานถวายเป็นที่สถิตแห่งพระเป็นเจ้าก็คงทำย่นย่อลง ให้เพียงได้ใช้ประดิษฐานเทวปฏิมาที่ภายในห้องชั้นล่าง ส่วนอาคารชั้นเหนือขึ้นไป ตัวอาคารที่เป็นเทวสถานจึงมีแบบอย่างเลียนเอาอย่างปราสาทและส่วนต่อออกมาข้างหน้าปราสาท คือ ชาลา หรือเรียกว่า ปรางค์  เทวสถานเช่นว่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า ปรางค์ปราสาท แล้วในเวลาต่อมาเลือนไปเป็นปรางค์ปรา และที่สุดเหลือคำเรียกแต่ปรางค์ ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ส่วนที่ชานชาลาต่อออกมาจากปราสาท คือส่วนที่เรียกว่าปรางค์นี้มักทำหลังคาคลุมมีทำฝากั้นด้านข้างทั้งสองด้านและระหว่างปรางค์ต่อกับปราสาทมีทำมุขกระสันเป็นอาคารเชื่อมโยง

พระปรางค์ในพุทธศาสนามีการสร้างเป็น ๒ แบบ คือแบบที่เป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ที่คนเข้าไปภายในห้องที่มีอยู่ข้างในองค์พระปรางค์ได้ กับทำพระปรางค์ขนาดใหญ่และขนาดย่อมชนิดที่คนเข้าไปภายในองค์พระปรางค์ไม่ได้

พระปรางค์ในพุทธศาสนามีรูปทรงส่วนใหญ่คล้ายๆ กัน แม้จะมีสร้างในที่ต่างๆ แต่ละเมือง กล่าวคือส่วนฐานล่างสุดมักก่อเป็นฐานหน้ากระดานเกลี้ยงๆ อย่างที่เรียกว่า ฐานบัตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีย่อมุมเป็นเป็นย่อเก็จ ฐานถัดขึ้นมานิยมก่อเป็นฐานเชิงบาตร มีลูกฟักรัดอกท้องไม้ ทำซ้อนเทินขึ้นไปประมาณ ๓ ชั้น จึงถึงส่วนห้องชั้นต่ำสุดองค์ปรางค์ ซึ่งทำเป็นอาคารรูป ๔ เหลี่ยม ฝาผนังอาคารแต่ละด้านทำเป็นช่วง พระทวารมีก่อซุ้มพระทวารประจำทุกช่อง พระทวารนี้มักทำเป็นพระทวารหลอก คือ ก่อตันเสีย ๓ ช่อง คงทำเป็นทางผ่านเข้าไปข้างในองค์ปรางค์ได้เฉพาะด้านข้างหน้าแต่ด้านเดียว เหนืออาคารชั้นที่ ๑ นี้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานรัดรอบทั้ง ๔ ด้าน ส่วนนี้เรียกว่าชั้นครุฑอัษฎงค์ ทำรูปครุฑด้านที่ติดประจำตรงมุมปรางค์ ทั้ง ๔ มุม และยังมีทำรูปภาพ อสูร กุมภัณฑ์ แทรกอยู่ระหว่าง ๒ ข้างครุฑ รูปภาพพวกนี้สร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาศาสนสถานแห่งนั้นๆ ต่อขึ้นไปจากชั้นครุฑอัษฎงค์มีท้องไม้กระดานรัดรอบพระปรางค์ บนท้องไม้ตอนที่อยู่ตรงกลางแต่ละด้านทำเป็นรูปซุ้มคูหาคล้ายกับบันแถลงบนหลังคาปราสาท และตรงมุมปรางค์แต่ละมุมทำเป็นบัวกลีบขนุนประดับขนาบอยู่ข้างซุ้มคูหาปรางค์แต่ละชั้น ซึ่งทำซ้อนกันขึ้นไปก็ได้ ทำตามลักษณะที่กล่าวนี้ รวม ๗ ชั้นด้วยกัน ชั้นบนสุดจะทำก่อรวบปลายซุ้มคูหาและบัวกลีบขนุน รวมเข้าด้วยกันคล้ายรูปฝาชี มีบัวรัดเกล้า หรือเรียกว่า จอมโมฬี ต่อขึ้นไป ยอดบัวรัดเกล้านี้ มีรูปประติมาหล่อด้วยโลหะทำเป็นกิ่งๆ แยกจากแกนกลาง เป็นรูปหอกและพระแสงดาบ เรียกว่า นพศูล

พระปรางค์ในพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่ถือปูนฉาบผิวภายนอกเรียบและเกลี้ยง แล้วตกแต่งลวดลายประดับส่วนต่างๆ เป็นต้นว่า เชิงฝาผนัง ปลายฝาผนัง เสาแผนก บังอวด ซุ้มคูหาหน้าบัน และบัวกลีบขนุน ฯลฯ ด้วยปูนโขลกกับน้ำกาวหนังสัตว์

พระปรางค์ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา นิยมนำเอาแผ่นโลหะทองแดงแผ่ให้บาง จำหลักเป็นลวดลายและบุติดกับส่วนต่างๆ ห่อหุ้มองค์พระปรางค์ แล้วปิดทองคำเปลวทับอีกชั้นหนึ่ง พระปรางค์ขนาดย่อมซึ่งก่อเป็นพระปรางค์ทึบตันมีการตกแต่งด้วยการลงรักแล้วปิดทองคำเปลวและใช้สีเขียนระบายตกแต่งส่วนที่เป็นช่องไฟช่วยให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น



นพศูล หรือ นภศูล เครื่องประดับยอดพระปรางค์
ลักษณะเป็นรูปหอก มีกิ่งเป็นรูปดาบแตกสาขาออกไป ๔ ทิศ
ภาพจาก : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา
2908  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 28 ธันวาคม 2559 14:03:53

๑.ราชรถสำหรับงานพระเมรุ
ราชรถที่ใช้ในการนี้น่าจะมีขนาดต่างๆ ตามฐานะ หากเป็นองค์พระมหากษัตริย์ พระมเหสี และเจ้าฟ้า จะใช้ราชรถที่มีขนาดใหญ่ตระการตา มีบุษบกพิมานประดิษฐานเพื่อเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพ ราชรถนี้มีการแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสีต่างๆ อย่างงดงาม เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย และตามชั้นของราชรถได้สลักเป็นรูปเทพนมและพญานาค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทพเจ้าชั้นรองที่อยู่รอบเชิงเขาพระสุเมรุ และพระบรมศพนั้นเปรียบได้ดุจเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงประดิษฐานไว้บนบุษบกพิมาน

สำหรับเจ้านายที่มีฐานันดรต่ำลงมา ราชรถก็มีความงามน้อยลง และขนาดเล็กลง เช่นรถจัตุรมุขและรถโถง เป็นรูปคล้ายประทุน มีล้อ ๔ ล้อ สะดวกต่อการอัญเชิญพระศพด้วยพระโกศและโลงตามลำดับ



ลักษณะราชรถที่ใช้สำหรับทรงเวลาเสด็จประพาสในที่ต่างๆ จากภาพเขียนลายกำมะลอ
เรื่องอิเหนา บนฉากลับแล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ลักษณะริ้วกระบวนเสด็จโดยราชรถ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
ตอนกำเนิดนางสีดา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


ราชรถของจักรพรรดิจีน ในกระบวนแห่เสด็จประพาสที่ต่างๆ

ราชรถที่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพของไทย ที่ยังมีอยู่และจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวม ๕ องค์ โดยสร้างใน พงศ.๒๓๓๘ เพื่อใช้ในการพระศพ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในพระองค์ ราชรถที่ทรงโปรดให้สร้างคือ พระมหาพิชัยราชรถ และราชรถน้อย ๓ องค์ ราชรถนี้ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๔๒ และในครั้งนั้นได้สร้างราชรถอีก ๑ องค์ คือ เวชยันตราชรถ ทั้งนี้ใช้ในงานพระศพพระพี่นางสองพระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งราชรถนั้นในประวัติศาสตร์ของไทยมีการใช้ราชรถมาเป็นเวลายาวนาน และมีรูปแบบที่พัฒนาการสืบทอดมานานหลายร้อยปีจนปัจจุบัน

๒.การใช้ราชรถในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค หมายถึง กระบวนเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นการจัดริ้วกระบวนแบบการจัดแบ่งหมวดหมู่กองทัพ พร้อมกับกระบวนเครื่องสูงและเครื่องประโคม เมื่อองค์พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปในที่ต่างๆ การจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคจะมีแบบต่างๆ เช่น การเสด็จไปวัด การเสด็จอยู่ภายในวัง การเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท การเสด็จเลียบพระนคร การเสด็จถวายผ้าพระกฐิน และการเสด็จไปในงานพระเมรุมาศ

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ที่มีกระบวนราชรถนั้นมีไม่มากนัก ไม่เหมือนการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือ หรือกระบวนช้าง กระบวนม้า ซึ่งมีโอกาสที่ได้ประทับมากกว่าการประทับราชรถ ซึ่งตั้งแต่สมัยโบราณมา พบหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับการเสด็จโดยราชรถในกระบวนเสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธบาทและการใช้พระมหาพิชัยราชรถนั้น มีการใช้ทั้งในการเสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐิน และในงานพระเมรุมาศ


๓.กระบวนพยุหยาตราสถลมารคเสด็จขึ้นพระพุทธบาท
ตามธรรมเนียมในราชสำนักนั้น ถ้าองค์พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากท่าเจ้าสนุกไปประทับแรมที่พระตำหนักพระพุทธบาท ฝ่ายกลาโหมเกณฑ์นายกองนายงานคุมเจ้าพนักงานไปทำพระตำหนักและทางเสด็จจากท่าเจ้าสนุกถึงบางโขมด พนักงานขุนนครทำ จากบางโขมดถึงพระพุทธบาท พนักงานกรมการเมืองสระบุรี และพนักงานขุนโขลนทำ พันจันท์เกณฑ์ หลวง ขุน หมื่น คุมไพร่ สัสดี ไปช่วยแขวงและกรมการทำทาง ๔ กอง กองหนึ่งมีนายหนึ่งคน ไพร่ ๕๐ คน ในกระบวนพยุหยาตรานี้ มีกระบวนราชรถร่วมกับกระบวนอื่นๆ ซึ่งจัดริ้วกระบวนตามลำดับดังนี้

ริ้วกระบวนแห่หน้า
พันเทพราชเกณฑ์ทนายคบหอก
ตำรวจในซ้าย ๔๐     ตำรวจในขวา   ๔๐
ตำรวจนอกซ้าย ๓๐     ตำรวจนอกขวา   ๓๐
ตำรวจใหญ่ซ้าย ๔๐     ตำรวจใหญ่ขวา   ๔๐
ทหารในซ้าย ๔๐     ทหารในขวา   ๔๐
ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๐     ทนายเลือกหอกขวา   ๒๐
ปี่ กลองชนะ ๑๐๐     แตรฝรั่ง   ๔ คู่
แตรงอน ๒ คู่     สังข์   ๑ คู่
ธงฉาน ๔ คู่      

พันอินทราช เกณฑ์ปืนหามแล่นตามท้ายพระที่นั่ง
ตำรวจในซ้าย     ตำรวจในขวา  
ตำรวจใหญ่ซ้าย     ตำรวจใหญ่ขวา  
อาสา (วิเศษ) ซ้าย     อาสา (วิเศษ) ขวา  
อาสาเดโช     อาสาท้ายน้ำ  

เจ้ากรม ปลัดกรม หัวหมื่น ตัวสี ตำรวจเลว แห่ริ้ว ในตำแหน่งแห่หน้า มี
หลวงเทพอรชุน หลวงราชนิกูล     นำริ้วชั้นใน  
ขุนราชมนู พันเทพราช     คุมปี่ กลองชนะ  
ตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวา      
ตำรวจใหญ่ซ้าย ตำรวจใหญ่ขวา      
ตำรวจนอกซ้าย ตำรวจนอกขวา      

ริ้วกระบวนแห่หลัง
ทหารในซ้าย ทหารในขวา      
พลพันซ้าย พลพันขวา      
รักษาองค์ซ้าย รักษาองค์ขวา      
เจ้ากรมบ้านใหม่ เจ้ากรมโพธิ์เรียง      
ทนายเลือกหอกซ้าย ทนายเลือกหอกขวา      
หมื่นนรินทรเสนี หมื่นศรีสหเทพ     ปลายริ้ว  

กรมวังเกณฑ์ เครื่องสูง แห่หน้า
เครื่องสูงห้าชั้น สีเขียว     ๑ คู่  
สีแดง     ๑ คู่  
สีเหลือง     ๑ คู่  
บังแทรก สีดำ     ๑ คู่  
สีเหลือง     ๑ คู่  

เครื่องสูงแห่หลัง
เครื่องสูงห้าชั้น สีขาว     ๑ คู่  
สีดำ     ๑ คู่  
บังแทรก สีแดง     ๑ คู่  
บังพระสูรย์     ๑   
พันทอง ขุนราชพิมาน     คุม   
ชาวพระแสง กรมสนมพลเรือน     ถือพระแสงหว่างเครื่องสูงหน้า   
ขุนแสงสรรพยุทธ กำนันแสงใน     ถือพระแสงหอกด้ามไม้มะเกลือยอดทอง   
กำนันแสงใน ถือพระแสงดาบไทย     กำนันแสงใน ถือพระแสงเขน 

พระแสงหว่างเครื่องสูงหลัง
ขุนคชนารถภักดี  ถือพระแสงง้าว ขุนแสงสารภาษ   ถือพระแสงหอกง่าม        
พันพุฒหมายบอกทนายเลือกแสงปืนคาบศิลา ตามเสด็จท้ายพระที่นั่ง ซ้าย ๕๐ ขวา ๕๐        

ขุนโจมพันล้าน และขุนสะท้านพลแสน  ขี่ม้า นำขุนไชยธุช บโทน
หลวงราชนิกูล  ถือ ธง ๙ ชาย นำทางเสด็จ
ตามด้วยกรมช้าง สำหรับกระบวนเสด็จ ประกอบด้วย
ช้างพระที่นั่งทรง
ช้างพระที่นั่งรอง
ช้างนำผูกพระที่นั่งหลังคาทอง
ช้างผูกพระที่นั่งประพาสโถง



ช้างดั้งหน้า ๓ ช้างดั้งหลัง ๓        
ช้างกันใน ๑๐ ช้างกันนอก (กองอาสา) ๒๐        

ช้างแทรก ๑๘ เชือก มี
ขุนช้าง ๒ ปลัดช้าง ๒ นายเชือก ๒ ปลัดเชือก ๒
มหาดไทย ๑ กลาโหม ๑ จตุสดมภ์ ๔ หัวหมื่นมหาดเล็ก ๔
ช้างปืน ๒๐


ช้างเครื่องมหาดเล็กซ้าย ๕ ช้างเครื่องมหาดเล็กขวา ๕        
ช้างกูบสำหรับข้างใน ๔๐ ช้างพระประเทียบพระที่นั่งหลังคาทอง ๑        
ช้างดั้งหน้า ๒ ช้างดั้งหลัง ๒        
ช้างปืนหน้า ๕ ช้างปืนหลัง ๕        

กระบวนช้างพระประเทียบ ๑๕
ช้างพระที่นั่งผูกเครื่องลูกพลู ดาวทองคำ
ชาวพระแสง เชิญพระแสงใส่ในเบาะ มี พระแสงปืนสั้น ๑ คู่ พระแสงพร้า ๑ องค์
กระบี่ม้า ผูกข้างเบาะ ๑ องค์ นายท้ายช้าง เป็นควาญ
พระที่นั่งหลังคาทอง สี่ตำรวจยกมา
กรมช้างผูกช้าง มีชาวพระแสงเชิญพระแสงปืนสั้น พระแสงหอกด้ามเหล็กปิดทอง ๑ คู่
พระแสงปืนยาว ๑ องค์ มีนายท้ายช้างขี่คอ ๑ นาย ขี่ท้ายช้าง ๑ นาย
ช้างพระที่นั่งนำ ผูกเครื่องลูกพลูดาวทอง ชาวพระแสง เชิญพระแสงมาผูก คือ


พระแสงกระบี่ ๑ พระแสงพร้า ๑        

ทนายเลือกแสงปืน ถือ ปืนคาบศิลา ไว้กลางช้าง ๑ กระบอก มีนายท้ายช้างขี่คอ ๑ ท้ายช้าง ๑
ช้างดั้งผูกเครื่องมั่น มีทนายเลือกแสงปืน ถือปืนคาบศิลากลางช้าง ๑ ท้ายช้างขี่คอ ๑ ท้าย ๑


กระบวนช้างแทรกที่เป็นช้างพังมี
พระกำแพง ๑ พระราชวังเมือง ๑     ขุนช้าง ๒   
หลวงคชศักดิ์ ๑ หลวงคชสิทธิ์ ๑     ปลัดช้าง ๒   
ขุนทรงศักดิ์ ๑ ขุนทรงสิทธิ์ ๑     ขุนเชือก ๒   
หมื่นศรีสิทธิบาล ๑ หมื่นราชสิทธิกรรม์ ๑     ปลัดเชือก ๒   

มหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ ๖ หัวหมื่นมหาดเล็ก ๔  รวมช้างแทรก ๑๘
กระบวนช้างปืนใหญ่


หมื่นราชฤทธิ์ ๑ หมื่นราชรงค์ ๑        

ตำรวจในทำจำลอง สัสดีเกณฑ์เลขส่งให้หมื่นศรีสรเชฐ  หมื่นวิเศษสรชาญคมหัด เป็น ทนายปืน
ทนายปืนกลางช้างๆ ละ ๑ คน   นายช้างขี่คอ ๑   นายกองเป็นควาญ ๑
เสมอตัว ๑   มีทนายปืนกลางช้าง ๑ กรมช้าง ขี่คอ ๑  ท้ายช้าง ๑
ปืนกลางช้างเป็น ปืนกระสุนนิ้วกึ่ง ๑ กระบอก  ใช้กระสุนโดด ๑๐  กระสุนปราย ๒๐๐
หอกซัด ๑๐  แหลนซัด ๑๐  ธงผุดทอง ช้างละดอก   สีแดงหน้า ๑๐  สีเขียวหลัง ๑๐
ช้างกันในผูกเครื่องมน เป็นช้างพลาย ๑๐
ทนายเลือกถือปืนคาบศิลา กลางช้างๆ ๑  ขุนหมื่นกองช้างนอก ขี่คอ ๑  ท้ายช้าง ๑
เป็นช้างซ้าย ๕  ช้างขวา ๕
กองช้างอาสากั้นชั้นนอก ๒๐  เป็นช้างซ้าย ๑๐  ช้างขวา ๑๐ มี
ทนายถือปืนคาบศิลา กลางช้าง หมู่ตำรวจกลางขึ้น
นายโชติราช  นายไชยราช  ตำรวจใน เป็นทนายปืนเสมอช้าง ๑
ขุนหมื่น ชาวกองช้าง ขี่คอ ๑  ทนายปืนกลางช้าง ๑  ไพร่นายช้าง เป็นควาญ ๑
ช้างเครื่องมหาดเล็ก ๑๐ มีมหาดเล็กเชิญเครื่อง จ่าหุ้มแพรกำกับเครื่องถวาย มีดังนี้


ช้างเชิญ พระสุพรรณศรี และพระล่วม ๑    เชิญพระล่วมตะบัน พระโอสถสูบ พานพระศรีชุด ๑        
พระเต้าทอง พระเต้าเงิน ช้าง ๑ หม้อลงพระบังคน กาพระบังคน ช้าง ๑        
พระตะพาบเงินใส่พระสุธารส ช้าง ๑ พัชนีทอง พัชนีแพร ช้าง ๑        
พระแสงกระสุน พระแสงง้าว พระแสงหอก ๑ พระกลดแดด พระกลดฝน ช้าง ๑        
พระสมุด พระกระดานชนวน ช้าง ๑ พระปิ่นโตของเสวย ช้าง ๑        

สนมทหารแต่งจำลองกูบ เขียนลายรงพื้นดำซ้าย พื้นแดงขวา มี
หลวงพรหมบริรักษ์ หลวงสุริยภักดี        
ขุนสมุหพิมาน ขุนประธานมณเฑียร        

กรมช้าง
มี หลวงเทพราชา หลวงทิพราชา คุมหมู่จ่าเจียม กรมช้างบรรทุกเครื่องมือ สำหรับช้างปากไม้ ๑๐ คน คบเพลิงเชือกละ ๒ ดอก รวม ๘๐ เชือก แบ่งเป็นช้างขวา ๔๐ ช้างซ้าย ๔๐
กระบวนช้างพระประเทียบ เป็นช้างพัง ๑๐ ช้างพลาย ๔ ตามด้วย
ช้างพระที่นั่งหลังคาทอง มีนายพญา นายจันปัญญา และสี่ตำรวจเชิญมา
กรมช้างผูกเป็นนายท้ายช้างขี่คอ ๑  เป็นควาญ ๑
ช้างดั้งผูกเครื่องมั่น ๔ เชือก  เป็นช้างดั้งหน้า ๒ เชือก  ช้างดั้งหลัง ๒ เชือก
มีทนายเลือกแสงปืนคาบศิลา เป็นกลางช้าง เชือกละคน
ช้างปืนใหญ่ เสมอช้าง ๑  มีทนายปืนเป็นกลางช้าง ๑  จากกรมช้างขี่คอ ๑  เป็นควาญ ๑
บรรทุกปืนขนาดกระสุนนิ้วกึ่ง ๑ กระบอก  กระสุนโดด ๑๐  กระสุนปราย ๒๐๐
หอกซัด ๑๐  แหลนซัด ๑๐  ธงผุดทอง ธงละดอก  สีแดงหน้า สีเขียวหลัง รวม ๒ ธง
เป็นช้างดั้งหน้า ๕  ช้างดั้งหลัง ๕


กรมม้า
เกณฑ์ม้าผูกเครื่องทองคำ ซึ่งเป็นม้าพระที่นั่งทรง ๑  ม้าพระที่นั่งรอง ๑
ม้าแซงในถือปืน ถือทวน ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
ม้าแซงในซ้าย เป็นตำรวจ ๑ ขุนหมื่น ๕     ม้าแซงในขวา ตำรวจ ๑ ขุนหมื่น ๕
ม้าแซงนอกถือ เกาทัณฑ์ ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
ม้าแซงนอกซ้าย เป็นตำรวจ ๒ จีน ๕     ม้าแซงนอกขวา เป็นตำรวจ ๒ จีน ๕
ม้าแซงนอกถือทวน ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
หมื่นพันซ้าย ๖     หมื่นพันขวา ๖
ม้าทิด ๑๖ ขุนกองขี่ ถือทวน ดาบขัดแล่ง มีปืนนกโพรงผูกข้างม้า ตัวละกระบอก จัดเป็น
ม้าทิดซ้าย ๘     ม้าทิดขวา ๘
ม้าสวนทางไปหน้ากระบวน ๒ ม้า แห่ดาบขัดแล่ง มี
หมื่นเทพสารถี ซ้าย     หมื่นพาชีไชย ขวา
ม้าใช้ ๒ ม้า หลังดาบขัดแล่ง มีหมื่นไกรสรแมน และหมื่นแสนใจเพชร
ม้านำเสด็จ ๒ ม้า ดาบขัดแล่ง มีขุนโจมพลล้าน และขุนสท้านพลแสน
รวม กระบวนม้า ๖๐ ตามด้วย กระบวนเรือดั้งเรือกัน ตามท้ายพระที่นั่ง โดยถือหอกถือพร้า จัด
ขุนสุเรนทรวิชิต คุมฝีพายบ้านใหม่ ๕๐  ขุนอภัยเสนา คุมฝีพายโพธิ์เรียง ๕๐
หลวงเทพา (สัสดี) คุมเลขเรือดั้งเรือกันซ้าย ๕๐  หลวงศรีกาฬสมุด (สัสดี) ขวา ๕๐


กระบวนรถ
ซึ่งคอยรับเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาทนั้น หมื่นนรินทรเสนี และหมื่นศรีสหเทพ เกณฑ์
ขุนหมื่นตามรถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกเธอ ตามด้วย

ขุนพิชัยนุราชรถาจารย์ (เจ้ากรมฝ่ายทหาร) หมื่นมณีราชรถ (ปลัดกรม)        
ขุนราชรถยานบริรักษ์ (เจ้ากรมฝ่ายพลเรือน) หมื่นรัถภูบาล (ปลัดกรม)        
ตามด้วย รถพระที่นั่งทรงจัตุรมุข พนักงานสี่ตำรวจ กันรถ        
รถพระประเทียบ กรมหลวงพิพิธมนตรี สนมตำรวจซ้าย        
รถพระราชทานพระสงฆ์ สนมตำรวจขวา        
รถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สนมตำรวจขวา        
รถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ สนมตำรวจขวา        

รถฝ่ายทหารมี
พนักงานตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวา        
ตำรวจใหญ่ซ้าย ตำรวจใหญ่ขวา        
ตำรวจนอกซ้าย ตำรวจนอกขวา        
ทหารในซ้าย ทหารในขวา        
สนมทหารซ้าย สนมทหารขวา        

ขบวนอาสาหกเหล่า
รถฝ่ายพลเรือน พนักงานมหาดไทย มี ขุนราชอาญา (สมุห์บัญชี) จตุสดมภ์        
กรมข้างซ้าย กรมข้างขวา        
กรมสรรพากรใน กรมสรรพากรนอก        
กรมล้อมวัง ทำรถและรวมกระบือชักรถ        
กรมนา จ่ายรถและกระบือ        

กระบวนเกวียนและโค
สำหรับบรรทุกสิ่งของต่างๆ ของฝ่ายหน้าฝ่ายใน เครื่องเล่นมหรสพ ดอกไม้เพลิงของกรมแสงสรรพยุทธ ขึ้นไปพระพุทธบาทตามบัญชีของพนักงานข้างในโค และเกวียน พันจันท์ เวรทางเกณฑ์กรมการหัวเมืองต่างๆ อาทิ จาก เมืองมโนรมย์ ชัยนาท เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี และแขวงสี่ทิศของกรุงศรีอยุธยา คือ แขวงรอบกรุง แขวงเสนา แขวงอุทัย และแขวงนคร พนักงานที่ควบคุมของไป มี หมื่นเทพขันที หมื่นราชขันที และเจ้าพนักงาน ถ้าเมืองใดเกณฑ์ไม่ได้ ให้ชำระเป็นเงินแทน

ลำดับต่อไป
๔.เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน
โปรดติดตาม
2909  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / "เขื่อนอู่ทอง" เขื่อนโบราณสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย เมื่อ: 26 ธันวาคม 2559 19:27:08

.  เขื่อนอู่ทอง  .

• เขื่อนโบราณสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

เขื่อนอู่ทองหรือเขื่อนโบราณที่เขาโกปิดทอง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโบราณอู่ทองไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร มีความยาว ๑,๖๖๐ เมตร กว้างประมาณ ๓๕ เมตร (สันเขื่อนกว้างประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร) สูงประมาณ ๔-๕ เมตร ตัวเขื่อนวางตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่างเขา ๒ ลูก คือ เขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว (เขาตาเก้า) ในช่วงบ้านปากเขว้าหรือเขาปากเขว้า (ปัจจุบันอยู่ริมถนนสายอู่ทอง-ตลุงเหนือ) โดยกั้นขวางแอ่งที่ราบในหุบเขาระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว (เขาตาเก้า) มีลักษณะเป็นแอกวัว (Oxbow) โดยที่ราบลุ่มทางตะวันตกของเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่า น่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำใต้เขื่อน กำหนดอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ (สมัยทวารดีในระยะนี้มีที่เมืองอู่ทอง เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการค้า)

เขื่อนดินแห่งนี้ นับเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่มีปริมาณน้ำมากที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นเขื่อนที่มีกำลังน้ำไหลรุนแรงมาก เนื่องจากการตรวจสอบเส้นทางไหลของน้ำโดยการเดินสำรวจของคณะผู้ศึกษาพบว่า ท่อระบายน้ำขนาดต่างๆ และประตูน้ำหลายแห่งซึ่งการชลประทานในสมัยปัจจุบันไปสร้างเสริมไว้ตามเส้นทางน้ำไหลของเขื่อนนี้ เมื่อถึงฤดูฝน ความรุนแรงของกระแสน้ำจะทำลายสิ่งกีดขวาง เช่น ท่อระบายน้ำเสียหายอย่างหนัก มีความเป็นไปได้ว่า ปริมาณน้ำจำนวนมากและมีกำลังไหลรุนแรงของเขื่อนกั้นน้ำโบราณที่เมืองอู่ทองนี้มีการนำไปใช้ในการทำนา ทางที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอู่ทอง ซึ่งการสร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำและกักกระแสน้ำเอาไว้ พื้นที่ภูเขาในบริเวณนั้นๆ จะมีสภาพเป็นหลังคาขนาดใหญ่สำหรับรับน้ำฝน เมื่อสายน้ำรวมตัวกันมากเข้าก็จะกัดเซาะพื้นดินทำให้เกิดทางน้ำธรรมชาติขึ้น ทางน้ำธรรมชาติที่ไหลจากเขื่อนเมืองอู่ทอง เป็นธารน้ำยาวคดเคี้ยวกว่า ๕-๖ กิโลเมตร



แผนที่ตำแหน่งที่ตั้งเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง
(แผนที่สำเนาจากแแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L ๗๐๑๘ ระวาง ๔๙๓๗ l)

สภาพปัจจุบัน เขื่อนแห่งนี้ปัจจุบันยังใช้ประโยชน์ได้ โดยมีลำคลองชลประทานที่ขุดลอกเพิ่มเติมตามแนวคลองโบราณไปยังทิศตะวันออกของเมืองโบราณอู่ทองซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร สันเขื่อนมีการใช้เป็นถนนทางเข้าบ้านเขาตาแก้ว ตลอดแนวเขื่อนดินโบราณมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ประปราย สภาพเขื่อนดินยังค่อนข้างสมบูรณ์ ทางปลายเขื่อนด้านทิศใต้ซึ่งต่อจากเชิงเขาโกปิดทองมีการไถปรับทำถนนทำให้แนวสันเขื่อนต่ำกว่าจุดอื่นๆ ปลายเขื่อนทางด้านทิศเหนือติดกับเชิงเขาตาแก้วมีแนวฝายน้ำล้นไหลลงสู่คลองชลประทานเพื่อการเกษตร ที่ราบลุ่มทางตะวันตกของเขื่อนซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าน่าจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ส่วนทางตะวันออกเป็นพื้นที่รับน้ำใต้เขื่อน ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝั่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่หลายชนิด ส่วนบริเวณเขาตาแก้วถูกทำลายไปมากจากการทำเหมืองแร่อุตสาหกรรม

เขื่อนอู่ทอง เป็นเขื่อนโบราณ สำรวจพบเป็นลำดับที่ ๖ มีรายละเอียดว่า เป็นเขื่อนสมัยทวารวดี อยู่ที่ตำบลหนองโอ่ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี สำรวจพบเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕ โดยว่าที่ร้อยตรีพิทยา ดำเด่นงาม  ต่อมามีการสำรวจโดยสังเขปในพุทธศักราช ๒๕๔๐ และได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดและวิเคราะห์ว่าเป็นเขื่อนกั้นน้ำโบราณ พร้อมทั้งจัดทำแผนผังรายละเอียดในพุทธศักราช ๒๕๔๑ โดยว่าที่ร้อยตรี พิทยา ดำเด่นงาม นักโบราณคดีและช่างสำรวจจากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๕ สุโขทัย ต่อมาคันดินโบราณหรือเขื่อนโบราณ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๑๙ ง ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒๖๕ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่เชิงเขาโกปิดทองด้านทิศเหนือ ตลอดแนวคันดินเรื่อยไปจนถึงเจดีย์บนยอดเขาตาแก้ว


ภูเขา องค์ประกอบสำคัญของเขื่อน
ผลการสำรวจและศึกษาเขื่อนกั้นน้ำโบราณของพิทยา ดำเด่นงาม ในเรื่องการเลือกภูมิประเทศที่จะก่อสร้างเขื่อนได้นั้นจะต้องเป็นเมืองหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่แล้ว แต่บางครั้งเมืองก็อยู่ห่างจากเขื่อนหลายๆ กิโลเมตร โดยมีทางน้ำธรรมชาติไหลลงมาเสมือนท่อ ดังเช่นเขื่อนเมืองอู่ทองนี้ ดังที่กล่าวแล้วว่า ภูเขานั้นย่อมเป็นแหล่งกำเนิดน้ำตามธรรมชาติ โดยปกติน้ำฝนที่ตกลงมาบนภูเขาโดยเฉพาะภูเขาที่มีพื้นที่ลาดเทและมีลักษณะสันเขาเป็นรูปแอกวัว (Oxbow) ภูเขาลักษณะนี้จะรองรับน้ำได้มาก ดังเช่น เขื่อนโบราณเมืองอู่ทองนี้ ที่เลือกพื้นที่ระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว ภูเขาทั้งสองเทือกนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง

ภูมิปัญญาเรื่องการจัดการน้ำของเมืองโบราณอู่ทอง
พื้นที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ถือได้ว่ามีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวเมืองโบราณอู่ทองตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของลำน้ำจระเข้สามพันซึ่งไหลมาจากทางทิศใต้ ก่อนไหลออกไปทางตะวันออกซึ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำที่สำคัญยังตั้งอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกราว ๑ กิโลเมตร เป็นแนวทิวเขายาวจากทิศเหนือจรดใต้ ประกอบด้วยเขาทุ่งดินดำ เขาพุทอง เขาตาเก้า เขาดอกฝ้าย เขาตะแบง เขาโกปิดทอง เขาพระ เขารางกะปิด และเขาคอก แนวทิวเขานี้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสายที่ไหลมาสู่คูเมือง เช่น ลำห้วยรวก ลำห้วยหางนาค ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองไหลเข้ามาสู่คูเมือง และไหลตามคูเมืองไหลลงไปทางทางด้านทิศตะวันออกของเมืองที่มีแม่น้ำจระเข้สามพันซึ่งเคยเป็นแม่น้ำสายหลักของเมือง ไหลผ่านขนานคูเมืองไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางในการติดต่อกับชุมชนภายนอกที่ไกลออกไปได้อีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากแผนผังเมืองโบราณอู่ทองจะเห็นได้ว่าเมืองโบราณอู่ทองมีระบบสาธารณูปโภคและการจัดการน้ำที่มีระบบนอกจากคูเมืองแล้วจะเห็นได้จากคันดินที่เป็นแนวยาว ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ถนนท้าวอู่ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคันดินกั้นน้ำหรือใช้บังคับน้ำให้ไหลออกสู่ลำน้ำเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก หรือกั้นน้ำให้ไหลเข้าสู่เมืองเมื่อยามหน้าแล้ง โดยเฉพาะแนวคันดินที่เรียกว่า คอกช้างดิน ที่ตั้งอยู่นอกเมืองอู่ทองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างออกมาประมาณ ๓ กิโลเมตร กลุ่มโบราณสถานคอกช้างดินเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างด้วยดิน กระจายตัวอยู่บริเวณเชิงเขาคอก สำรวจพบจำนวน ๔ แห่ง (คือ คอกช้างดิน หมายเลข ๑-๔) มีลักษณะคล้ายอ่างเก็บน้ำหรือบ่อน้ำ มีคันดินล้อมรอบรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ตั้งกระจายอยู่ใกล้กับลำห้วยและน้ำตกพุม่วง ตั้งแต่บนเชิงเขาคอกในระดับความสูงประมาณ ๘๕ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นระยะๆ ลงมาถึงบริเวณพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ราบด้านทิศใต้ที่ระดับความสูงประมาณ ๒๕ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง จากการศึกษาคอกช้างดินแต่ละแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างระดับกัน และตั้งอยู่ใกล้กับทางน้ำที่ไหลลงมาจากเขาคอกทางทิศเหนือ ในลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ บางแห่งคงเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ด้วย



ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
แสดงให้เห็นสภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกที่เป็นภูเขาต้นกำเนิดของลำน้ำ
และตำแหน่งระบบการจัดการน้ำของเมืองโบราณอู่ทอง
(สำเนาจากภาพถ่ายทางอากาศ google earth)


เขาโกปิดทอง องค์ประกอบสำคัญของเมืองโบราณอู่ทอง
เป็นแหล่งกำเนิดน้ำที่สำคัญให้กับเขื่อน

จากข้อมูลข้างต้นถือได้ว่า เขื่อนอู่ทอง (เขื่อนโบราณเมืองอู่ทอง) เป็นหนึ่งในระบบการจัดการน้ำของเมืองอู่ทอง นอกจากคอกช้างดินและแนวคันดินที่เรียกกันว่าถนนท้าวอู่ทอง โดยเขื่อนโบราณอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโบราณอู่ทอง ส่วนคอกช้างดินและถนนท้าวอู่ทองอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ซึ่งระบบการจัดการน้ำทั้งสองระบบนี้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยอยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ของแนวเขาทางทิศตะวันตกของเมืองอู่ทอง เหตุที่มีการแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่เมืองอู่ทองนั้น สันนิษฐานว่า เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำจระเข้สามพัน โดยมีการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า แม่น้ำจระเข้สามพันแต่เดิมไหลผ่านมาทางเส้นทางที่ผ่านเมืองอู่ทอง แต่ต่อมาเส้นทางน้ำได้เปลี่ยนทางเดินลงมาทางใต้ตามแนวคลองหางตลาด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าการคิดระบบการจัดการน้ำขึ้น เป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับที่แม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดิน หากพิจารณาพื้นที่ตั้งของเมืองอู่ทองที่อยู่ใกล้แนวเขา และเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา จึงเป็นพื้นที่รับน้ำจากแนวเขาทางด้านทิศตะวันตกของเมือง ในฤดูฝนย่อมได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว การสร้างระบบการจัดการน้ำแบบคอกช้างดินและเขื่อนอู่ทองนี้จะเป็นการชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่เมืองในฤดูน้ำหลาก ในทางกลับกันในฤดูแล้งก็จะเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ยามขาดแคลนน้ำได้ จากขนาดและพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอู่ทอง จัดเป็นการสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค ของคนอู่ทองในอดีต และเขื่อนอู่ทองนี้ยังถือเป็นเขื่อนโบราณที่มีความยาวที่สุดในบรรดาเขื่อนโบราณที่ค้นพบในประเทศไทย เมื่อแรกสำรวจพบนั้นสภาพเขื่อนดินยังคงมีความสูงและความกว้างค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ก็ยังคงสภาพให้เห็นเป็นแนวเขื่อนชัดเจน เขื่อนดินโบราณแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนเมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว ที่มีการคัดเลือกพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนที่สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นปริมาณมาก ที่บริเวณพื้นที่ระหว่างเขาโกปิดทองและเขาตาแก้ว เขาทั้งสองเทือกนี้จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างเขื่อนโบราณแห่งนี้ ปัจจุบันเขาตาแก้วนั้นถูกระเบิดจากการให้ประทานบัตรไปจนเหลือเฉพาะหัวเขา เหลือเพียงเขาโกปิดทองที่มีการยื่นขอประทานบัตรแล้ว หากมีการอนุญาต สภาพโดยรอบเขื่อนดินโบราณแห่งนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง  ดังนั้น การอนุรักษ์เขาโกปิดทองไว้ จะเป็นการสร้างสภาพภูมิประเทศที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของคนโบราณในการเลือกภูมิประเทศบริเวณก่อสร้างเขื่อนโบราณในสมัยทวารวดี เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว

ที่มา (ภาพ-ข้อมูล) : เขื่อนอู่ทอง : เขื่อนสมัยทวารวดีที่ยาวที่สุดในบรรดาเขื่อนโบราณที่พบในประเทศไทย
                        โดย พยุง วงษ์น้อย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี
                        นิตยสารศิลปากร กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่
2910  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / เย็นตาโฟ (วุ้นเส้น) สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 23 ธันวาคม 2559 15:52:09




เย็นตาโฟ (วุ้นเส้น)

ส่วนผสม
- วุ้นเส้นสด
- ปลาหมึกกรอบ
- ลูกชิ้นปลากราย
- เห็ดหูหนูขาว แช่น้ำจนนิ่ม (หรือแมงกะพรุน)
- เลือดหมูก้อน
- เกี้ยวทอด
- หมูหมัก (ผสมเนื้อหมูหั่นบาง 3 ขีด กับซีอิ๊วขาว 1 ช้อนชา น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา น้ำมันพืช 2 ช้อนชา และแป้งมัน 1 ช้อนชา ให้เข้ากัน พักไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง)
- กระเทียมเจียว
- ผักบุ้งหรือถั่วงอก
- ต้นหอมผักชีซอย
- ซอสแดง
- น้ำปลาดี
- น้ำตาลทราย



วิธีทำ - ซอสแดงเย็นตาโฟ
1.ซอสสีแดง 1 ถ้วยตวง
2.เต้าหู้ยี้ก้อนเล็ก 2 ก้อน
3.น้ำกระเทียมดอง 1 ช้อนโต๊ะ
* วิธีทำ : ช้อนช้อนยีเต้าหู้ยี้ผสมกับซอนสีแดงและน้ำกระเทียมดองให้เข้ากัน



วิธีทำ - พริกดองสำหรับเย็นตาโฟ (สูตรนี้ล้วงความลับจากร้านเย็นตาโฟชื่อดังมาจ้ะ)
1.พริกขี้หนูสีแดง (เม็ดใหญ่) ต้มหรือนึ่งจนสุก 20-30 เม็ด (ถ้าต้องการความรวดเร็ว ใช้พริกดองสีแดงที่ขายตามร้านขายเส้นก๋วยเตี๋ยว นำมาล้างน้ำในกระชอน โดยใช้แต่ส่วนของพริกแทนพริกนึ่งหรือต้มก็ได้)
2.น้ำมะขามเปียก (ต้มทิ้งไว้ให้เย็น) 1/4 ถ้วยตวง
3.น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ
3.เกลือป่น 1 ช้อนชา
4.น้ำต้มสุก 1/4 ถ้วย
* วิธีทำ : โขลกหรือปั่นพริก(ไม่ต้องละเอียดมาก) นำไปผสมกับน้ำมะขามเปียก น้ำส้มสายชู และเกลือป่นให้เข้ากัน 



วิธีทำ - น้ำซุปก๋วยเตี๋ยว
1.กระดูกหมู 500 กรัม
2.น้ำสะอาด 3 ลิตร
3.หอมหัวใหญ่ผ่ากลาง 1 หัว
4.เกลือป่น 1 ช้อนชา
5.หัวไชเท้าปอกเปลือก หั่นชิ้นใหญ่ 1 หัว
* วิธีทำ : ล้างส่วนผสมทุกอย่างให้สะอาด นำใส่หม้อ แล้วเติมน้ำสะอาด ใส่เกลือป่น  เคี่ยวด้วยไฟอ่อนสุด ประมาณ 4-5 ชั่วโมง
   กระดูกหมูจะเปื่อยนิ่ม ได้น้ำซุปใส เข้มข้น 



วิธีทำ
1.ลวกถั่วงอกหรือผักบุ้ง และวุ้นเส้นสดใส่ชาม
2.ใส่น้ำมันกระเทียมเจียว น้ำปลาดีเล็กน้อย ตามด้วยหมูหมักลวก
   ปลาหมึกกรอบลวก ลูกชิ้นปลากรายลวก และเห็ดหูหนูขาวหรือแมงกระพรุนลวก (ควรมีเต้าหู้ทอดผสมด้วย)
3.ใส่ซอสสีแดง 1 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
4.โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีซอย
5.ตักน้ำซุปร้อนจัดราดในชามส่วนผสม
6.เสริฟพร้อมน้ำส้มพริกดอง พริกคั่ว น้ำปลา น้ำตาลทราย










2911  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: พงศาวดารจีน เปาเล่งถูกงอัน 'เปาบุ้นจิ้น' เมื่อ: 23 ธันวาคม 2559 15:00:07
.


     พงศาวดารจีน
     เรื่อง
     เปาเล่งถูกงอั้น  เปาบุ้นจิ้น
     ราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๑๙)

     เรื่องที่ ๑๕ ข้าเก่าเมียรัก

มีความว่า ที่เมืองโกยฮงหู มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อหงอสิบหยีๆ มีภรรยาชื่อนางเชี้ยสีมีลักษณะรูปอันสะคราญสวยสะอาด หงอสิบหยีมีมิตรสหายคนหนึ่งชื่อหันมังๆ เป็นคนซื่อตรงไปมาหาสู่หงอสิบหยีอยู่เนืองนิตย์ นางเชี้ยสีเป็นหญิงไม่ซื่อตรงต่อสามี มักพอใจเล่นชู้สู่ชาย ครั้นเห็นหันมังมาหาหงอสิบหยี นางเชี้ยสีทำกิริยาใช้หางตาพูดจายั่วเย้าหยอกเอินให้หันมังมีความเสน่หาอาลัย ด้วยเล่ห์กลต่างๆ ของสตรี

ฝ่ายหันมังมีความซื่อตรงสุจริต นับถือหงอสิบหยีฉันใด ก็มีความยำเกรงและนับถือภรรยาของหงอสิบหยีฉันนั้น มิได้คิดทรยศสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อหงอสิบหยีเลย

ครั้นอยู่มาเป็นฤดูร้อนเดือนอ้ายสารทขนมอี๋ บรรดาพวกเพื่อนของหงอสิบหยี เชิญหงอสิบหยีไปกินเลี้ยง ในวันนั้นหงอสิบหยีหาได้อยู่ที่เรือนไม่ หันมังมาหาหงอสิบหยีก็หาพบไม่ นางเชี้ยสีจึงจัดโต๊ะและสุรามาตั้งริมห้องนอน เชิญให้หันมังมานั่งโต๊ะเสพสุราด้วยนางเชี้ยสี นางเชี้ยสีรินสุราส่งให้หันมังกินพอมึนๆ แล้วนางเชี้ยสีหัวเราะพูดกับหันมังว่า ฤดูนี้เป็นฤดูหนาว ป่านฉะนี้ภรรยาท่านคงจัดโต๊ะสุราคอยท่านอยู่ที่บ้านแล้ว

หันมังตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ยากจนไหนเลยภรรยาข้าพเจ้าจะปฏิบัติข้าพเจ้าถึงเช่นนั้น ขณะนั้นนางเชี้ยสีมีความกำหนัดในฉันทราคะให้เร่าร้อนกำเริบมากขึ้น จึงรินสุราแล้วขยับเข้าไปนั่งใกล้หันมังแล้วส่งถ้วยสุราให้หันมัง พูดว่าสุราถ้วยนี้มีโอชารสมาก แม้ว่าท่านมีแก่ใจรักข้าพเจ้าแล้วเชิญท่านเสพสุราแล้วจะได้ร่วมรักกันตามประเวณีโลก

หันมังได้ฟังนางเชี้ยสีพูดจาเป็นหญิงนอกใจสามีดังนั้น หันมังตกใจคิดเห็นว่า นางเชี้ยสีเล่าก็เป็นภรรยาของเพื่อนฝูงที่รัก ครั้นจะประพฤติเป็นคนทุจริตแล้ว ก็จะเป็นที่ติเตียนแห่งเทพยดาและมนุษย์ หาสมควรแก่เราผู้มีชื่อว่าซื่อตรงไม่ ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้ว หันมังก็ลานางเชี้ยสีกลับไปบ้าน ครั้นเดินออกไปพ้นบ้านหงอสิบหยี ก็พอพบหงอสิบหยีๆ จึงพูดแก่หันมังว่า วันนี้ท่านมาบ้านข้าพเจ้าๆ มิได้อยู่เสพสุราด้วยกับท่านๆ จงกลับมาเสพสุราด้วยข้าพเจ้าก่อน แล้วจึงค่อยไป

หันมังว่าข้าพเจ้าจะขอลาท่านไปก่อน วันอื่นจึงค่อยมาพบกันใหม่ ว่าดังนั้นแล้วหันมังก็ลาหงอสิบหยีกลับไปบ้าน หงอสิบหยีจึงเข้ามาในบ้านถามภรรยาว่า หันมังมาบ้านจัดโต๊ะและสุราเลี้ยงเขาหรือเปล่า นางเชี้ยสีจึงพูดใส่ความว่า ท่านไม่อยู่หันมังมา ข้าพเจ้าได้จัดโต๊ะสุราเลี้ยงหันมังเป็นอันดี หันมังเสพสุราเมาแล้วพูดจาสัพยอกแทะโลมข้าพเจ้าๆ จึงตัดพ้อว่าให้หันมังได้ความอายก็กลับไปเสียแล้ว หงอสิบหยีได้ฟังภรรยาบอกความดังนั้น ยังมีความสงสัยอยู่มิได้เชื่อแน่ลงได้ ครั้นอยู่มาได้สองสามวัน หงอสิบหยีก็เข้าไปเที่ยวเล่นในเมืองพบหันมังๆ จึงเชิญหงอสิบหยีเข้าไปในโรงเตี๊ยม หันมังจึงให้เจ้าของร้านจัดกับแกล้มและสุรามาเลี้ยงหงอสิบหยี หันมังจึงบอกแก่หงอสิบหยีว่า ภรรยาของท่านข้าพเจ้าก็มีความนับถือเสมอเหมือนพี่สะใภ้ของข้าพเจ้า ตัวท่านเล่าข้าพเจ้าก็นับถือยำเกรงดุจดังว่าพี่ชายของข้าพเจ้า แต่ภรรยาของท่านนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นคนไม่ซื่อตรงต่อท่านซึ่งเป็นสามี ข้าพเจ้ามาหาได้โดยความสุจริต ภรรยาของท่านพูดจาว่ากล่าวแก่ข้าพเจ้าล้วนแต่ถ้อยคำที่เป็นชู้สาวกัน ถ้าเพื่อนบ้านร้านตลาดเขาได้ยินเข้า ก็จะเหมาเอาว่าข้าพเจ้าเป็นชู้กับภรรยาท่าน เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่อาจไปมาหาสู่แก่ท่านได้ต่อไปเหมือนแต่ก่อน ครั้นเสพสุราแล้วหันมังกับหงอสิบหยีต่างคนก็ต่างคำนับกันลากลับไปบ้าน ครั้นอยู่มางอหลันเป็นน้าของหันมัง ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองโซวจิ๋ว มีหนังสือมาชวนหันมังไปค้าขายด้วย หันมังก็ไปลาหงอสิบหยีแต่หาพบหงอสิบหยีไม่ ครั้นหันมังไปได้ประมาณ ๔-๕ เดือน หงอสิบหยีจึงได้รู้ หงอสิบหยีมีคนใช้อยู่ในเรือนคนหนึ่ง ชื่ออวงกิดๆ เป็นคนช่างพูดประจบประแจงแก่นางเชี้ยสีๆ ก็เป็นชู้กันกับอวงกิด ถ้าหงอสิบหยีไม่อยู่อวงกิดกับนางเชื้ยสีก็ลักลอบหลับนอนด้วยกัน มิให้ผู้ใดล่วงรู้ความลับได้

อยู่มาวันหนึ่งหงอสิบหยีจะไปซื้อผ้าม่านลายมังกรที่ตำบลโทเค้า จะเอาอวงกิดไปด้วย อวงกิดไม่อยากจะห่างนางเชี้ยสี จึงพูดจาบิดพลิ้วไปต่างๆ หงอสิบหยีเห็นอวงกิดพูดบิดพลิ้วจะไม่พอใจไปก็โกรธจึงด่าว่าอวงกิดๆ ก็ไปเล่าบอกแก่นางเชี้ยสีทุกประการ นางเชี้ยสีแนะอุบายให้อวงกิดคิดกำจัดหงอสิบหยีผู้สามีตนว่า ท่านก็มีสติปัญญาคิดกำจัดหงอสิบหยีเสียได้แล้ว กลับมาอยู่ด้วยกันจะมิสะดวกดีหรือ อวงกิดได้ฟังดังนั้นก็มีความยินดี จึงไปจัดหาสิ่งของเครื่องเดินทางไปกับหงอสิบหยี ออกจากบ้านเดินทางไปได้สองวันถึงตำบลกิ๋วกัง จึงไปว่าจ้างแก่เจ้าของเรือจ้างให้แจวส่งไปทางทะเลสาบเฮกเหลง ด้วยที่ทะเลสาบตำบลเฮกเหลงมีศาลเจ้าเล่งอ๋อง ชาวเรือไปมาต้องแวะกระทำการสักการบูชาบวงสรวงเซ่นไหว้ ขณะเมื่อไปนั้นอวงกิดได้จัดซื้อสุราและเครื่องเซ่นไปพร้อม ครั้นออกเรือไปถึงศาลเจ้าเล่งอ๋องก็แวะเข้าไปเซ่นไหว้บวงสรวง พอเวลาพลบค่ำอวงกิดเอาสุรามามอมให้หงอสิบหยีกินเข้าไปมาก ผู้แจวเรือจ้างก็ถอยเรือออกจากศาลเจ้าเล่งอ๋องแจวไป ครั้นเวลาดึกประมาณสองยามหงอสิบหยีเมาสุราพอสร่างก็ตื่นขึ้น จึงให้อวงกิดพยุงออกไปนั่งถ่ายปัสสาวะริมข้างเรือ อวงกิดเห็นได้ทีก็ผลักหงอสิบหยีตกลงไปกลางแม่น้ำถึงแก่ความตาย อวงกิดก็ทำเป็นร้องขึ้นว่าหงอสิบหยีนายข้าพเจ้าตกน้ำลงไปแล้ว ขอท่านผู้แจวเรือจ้างช่วยด้วย

ขณะนั้นหลีหยีผู้เจ้าของเรือก็ตกใจ ทิ้งแจวเสียวิ่งไปยังหัวเรือด้วยน้ำในแม่น้ำนั้นลึกนักแลหาก็ไม่เห็น แต่หลีหยีมีความสงสัยอยู่ในใจว่า หงอสิบหยีกับอวงกิดนี้คงจะมีสาเหตุอันใดแก่กันสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ ครั้นคิดเห็นดังนั้นแล้ว หลีหยีก็แจวเรือกลับมายังที่เดิม อวงกิดก็คิดค่าจ้างให้แก่หลีหยีแล้วก็กลับมาบ้าน เล่าความลับแก่นางเซี้ยสีภรรยาของหงอสิบหยีฟังทุกประการ

นางเซี้ยสีมีความยินดียิ่งนัก ก็จัดโต๊ะและสุราเลี้ยงอวงกิดนั่งโต๊ะเสพสุราด้วยกันเป็นที่รื่นเริง นางเชี้ยสีกับอวงกิดก็อยู่กินด้วยกันเป็นสามีภรรยาต่อมา บรรดาชาวบ้านเรือนใกล้เคียงก็ย่อมรู้อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น แต่มิใช่การของเขาก็นิ่งอยู่

ฝ่ายหันมังไปเมืองโซวจิ๋ว ถึงตำบลฝั่งแม่น้ำกิ๋วกังแลเห็นหงอสิบหยีเดินมา หันมังก็มีความยินดี จึงรีบเดินเข้าไปจับมือหงอสิบหยี แล้วก็เล่าความซึ่งน้าชายให้ไปเมืองโซวจิ๋วให้หงอสิบหยีฟังทุกประการ แล้วถามหงอสิบหยีว่าข้าพเจ้าเห็นหน้าตาของท่านมัวหมองไป ท่านไม่มีความสบายด้วยเหตุอันใดหรือ

หงอสิบหยีได้ฟังดังนั้น จึงจูงมือหันมังเข้าไปนั่งพักในศาลาแล้วพูดว่า ตั้งแต่ท่านจากข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ามีความคิดถึงถ้อยคำของท่านซึ่งบอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า นางเชี้ยสีภรรยาของข้าพเจ้าเป็นหญิงไม่ซื่อตรงต่อสามีก็เป็นการจริงของท่าน ข้าพเจ้ามิได้เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน ขืนเลี้ยงไว้เป็นภรรยาตัวข้าพเจ้าจึงต้องตายจากท่านไปฉะนี้ หันมังได้ฟังหงอสิบหยีปรับทุกข์ร้อนดังนั้น หารู้ไม่ว่าหงอสิบหยีถึงแก่กรรมแล้วไม่ ยังสำคัญใจอยู่ว่าหงอสิบหยียังมีชีวิตอยู่ หันมังจึงว่าเหตุใดท่านจึงเอาความตายมากล่าวดังนี้หาควรไม่

หงอสิบหยีจึงบอกแก่หันมังว่า ท่านอย่ามีความตกใจกลัวข้าพเจ้าผู้เป็นปีศาจเลย ข้าพเจ้าจะเล่าความจริงให้ท่านฟัง ว่าแล้วปีศาจหงอสิบหยีก็เล่าความซึ่งอวงกิดกับนางเชี้ยสีเป็นชู้กัน จนถึงอวงกิดผลักตกลงในน้ำถึงแก่ความตายให้หันมังฟังทุกประการ

หันมังได้ฟังดังนั้นก็ร้องไห้ รักหงอสิบหยียิ่งนักแล้ว ถามหงอสิบหยีต่อไปว่า เมื่อเวลาอวงกิดผลักท่านลงน้ำนั้นมีผู้ใดรู้เห็นเป็นพยานบ้าง

หงอสิบหยีจึงบอกว่า หลีหยีเป็นผู้แจวเรือจ้างได้รู้เห็นเป็นพยาน ประการหนึ่งท่านกับข้าพเจ้าแม้ว่าจะรักใคร่กันมากก็จริง แต่เวลานี้ข้าพเจ้าเป็นปีศาจเสียแล้วจะนั่งพูดสนทนาแก่ท่านผู้เป็นมนุษย์นานนักก็ไม่ได้ ครั้นพูดดังนั้นแล้ว ปีศาจหงอสิบหยีก็อันตรธานสูญหายไปทันที

หันมังขณะเมื่อพบปีศาจหงอสิบหยีนั้น ให้มึนมัวดุจดั่งผู้นอนฝันก็ใช่ ครั้นเมื่อได้สติแล้ว ก็รีบไปยังเมืองโซวจิ๋ว พบหงอหลันผู้น้าแล้ว ด้วยยังไม่มีการจะไปค้าขายแห่งใด หันมังกลับมาบ้าน เที่ยวสืบถามชาวบ้านๆ บอกว่าหงอสิบหยีตายล่วงมาได้ ๖๐ วัน แล้วหันมังก็จัดหาเครื่องเซ่นไปที่บ้านของหงอสิบหยี จึงเข้าไปเซ่นที่บูชาอันมีป้ายเขียนชื่อและแซ่ของหงอสิบยีไว้นั้น หันมังคิดถึงความหลังซึ่งได้สาบานต่อกันไว้ก็ร้องไห้รำพันไปต่างๆ

ขณะนั้นนางเชี้ยสีก็มิได้ออกมาต้อนรับหันมังตามธรรมเนียม มีแต่นางตันสีภรรยาน้อยของหงอสิบหยีออกไปต้อนรับหันมังเท่านั้น

หันมังครั้นกลับมาบ้านแล้ว ก็คิดการที่จะฟ้องหากล่าวโทษอวงกิดกับนางเชี้ยสี จึงรีบไปยังเมืองโซวจิ๋วปรึกษากับหงอหลันผู้น้าชายๆ จึงถามว่า ความเรื่องนี้มีที่อ้างที่สืบพยานหรือไม่ หันมังจึงพูดว่า ถ้าจะสืบแล้วต้องสืบหลีหยีผู้เจ้าของเรือจ้าง ด้วยปีศาจหงอสิบหยีได้บอกเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถ้วนถี่ทุกประการแล้ว หงอหลันได้ฟังดังนั้นจึงว่าหงอสิบหยีกับท่านมีความรักใคร่นับถือกัน จึงบันดาลเป็นปีศาจมาบอกเล่าให้ท่านฟัง ควรจะทำฟ้องไปยื่นต่อเปาเล่งถูคงจะได้ความจริง ครั้นปรึกษากันตกลงดังนั้นแล้ว หันมังก็ไปยังเมืองตังเกียทำฟ้องไปยื่นต่อเปาเล่งถู ใจความว่านางเชี้ยสีกับอวงกิดกระทำชู้กัน แล้วคบคิดกันกระทำร้ายหงอสิบหยีสามีของนางเชี้ยสีให้ถึงแก่ความตาย

เปาเล่งถูจึงให้นักการไปเอาตัวนางเชี้ยสีกับอวงกิดมาไต่ถาม นางเชี้ยสีกับอวงกิดก็ให้การเป็นสำนวนแก้ไขปฏิเสธไม่ยอมรับ เปาเล่งถูจึงสั่งให้เอาตัวขังคุกไว้ทั้งสองคน แต่แยกกันอยู่คนละแห่งมิให้ปรึกษาหารือกันได้ อยู่มาได้สักสองเดือน เปาเล่งถูจึงกระซิบถามหันมังว่าเมื่อเวลาหงอสิบหยีลงเรือไปนั้นลงเรือของใคร ใครเป็นเจ้าของเรือจ้าง หันมังจึงแจ้งความว่าปีศาจของหงอสิบหยีบอกแก่ข้าพเจ้าว่า หลีหยีเป็นเจ้าของเรือจ้างแจวไปส่ง เป็นผู้ได้รู้เห็นเป็นพยาน

เปาเล่งถูจึงถามต่อไปว่า ผู้แจวเรือชื่อหลีหยีนั้นสำนักอยู่แห่งหนตำบลใดท่านรู้หรือไม่ หันมังแจ้งความว่าหลีหยีอยู่ตำบลตีนเขาลำแม่น้ำกิ๋วกัง เปาเล่งถูได้ฟังดังนั้น จึงให้นักการไปตามหลีหยีมาถาม ขณะนั้นเปาเล่งถูให้นักการเตรียมเครื่องผูกมาวางไว้พร้อมหวังจะให้อวงกิดกับนางเชี้ยสีมีความกลัวจะได้รับเสียโดยดี

ฝ่ายอวงกิดเมื่อได้เห็นหลีหยีตัวพยานมา มีความวิตกสะทกสะท้านครั่นคร้ามด้วยเป็นความจริงใจ ก็ให้การรับเป็นสัตย์ว่าได้เป็นชู้แก่นางเชี้ยสีมาช้านานและได้สมสู่คบคิดกันกระทำให้หงอสิบหยีถึงแก่ความตาย ด้วยคิดอุบายมอมสุราแล้วผลักให้ตกลงจมน้ำตาย จริงตามที่หันมังฟ้องหานั้นทุกประการ

เปาเล่งถูครั้นเห็นอวงกิดกับนางเชี้ยสีรับเป็นสัตย์สมที่โจทก์หาดังนั้นแล้ว จึงปรึกษาโทษวางบทปรับตัดสินให้เอาตัวอวงกิดกับนางเชี้ยสีไปฆ่าเสีย และหงอสิบหยีมีบุตรหญิงอยู่ ๑ คน อายุได้ ๑๔ ปี ให้ยกให้แก่บุตรชายของหันมังเป็นภรรยา ด้วยหันมังเป็นคนซื่อตรงสุจริตต่อหงอสิบหยีซึ่งเป็นมิตรสหาย แล้วเอาเงินรางวัลให้แก่หันมังตามสมควร


โปรดติดตามตอนต่อไป
2912  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดแม่นางปลื้ม - ที่มั่นตั้งทัพของพม่าเพื่อระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในพระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 16:21:36




พระวิหารเก่าแก่ ภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” หรือพระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากต่างเดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล 

วัดแม่นางปลื้ม
ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โบราณสถานวัดแม่นางปลื้ม ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา บางทีเรียกว่า วัดนางปลื้ม หรือ วัดส้มปลื้ม เดิมเรียกว่า วัดท่าโขลง วัดแห่งนี้เปี่ยมด้วยตำนานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังงดงามด้วยโบราณสถานที่ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

ตำนานการสร้างวัดมีหลายความเชื่อ บ้างก็ว่าวัดนี้สร้างมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา บ้างก็ว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีตำนานเล่าว่า ที่ดินตรงนี้เคยเป็นเรือนของแม่ปลื้ม แม่ปลื้มอาศัยอยู่บ้านริมน้ำชานพระนครเพียงคนเดียวไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงพายเรือพระที่นั่งมาแต่พระองค์เดียว แล้วเจอพายุฝนซัดกระหน่ำ เมื่อทอดพระเนตรเห็นเรือนแม่ปลื้มหลังนี้ยังสว่างด้วยแสงไฟตะเกียง จึงเสด็จขึ้นท่าน้ำและพักค้างแรมยังเรือนแม่ปลื้ม  แม้แม่ปลื้มจะไม่รู้ถึงชาติกำเนิดของชายผู้นี้ ก็ยังกล่าวเชื้อเชิญต้อนรับขับสู้ด้วยความมีน้ำใจ อีกทั้งยังกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วยความจงรักภักดี สมเด็จพระนเรศวรทรงพอพระทัยมาก พอรุ่งสางก็เสด็จกลับพระราชวังหลวง จากนั้นไม่นานก็จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง เพื่อตอบแทนความเมตตาและหัวใจอันภักดี เมื่อแม่ปลื้มเสียชีวิต สมเด็จพระนเรศวรก็จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ พร้อมสร้างวัดพระราชทานให้ ชื่อว่า วัดแม่นางปลื้ม

ช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา วัดแม่นางปลื้มเป็นที่มั่นตั้งทัพของพม่าเพื่อระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปในกำแพงพระนคร ด้วยเหตุนี้วัดจึงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่ถูกเผาทำลายเช่นวัดอื่นๆ ในเกาะเมือง นักท่องเที่ยวจึงสัมผัสได้ถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมโบราณสถานสำคัญภายในวัดแม่นางปลื้ม อันแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรมในสมัยอยุธยา อันได้แก่ พระวิหารเก่าแก่ซึ่งภายในประดิษฐาน “หลวงพ่อขาว” หรือพระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร พระประธานองค์สีขาวบริสุทธิ์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากต่างเดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล  เจดีย์ทรงกลมฐานสิงห์ล้อม ศิลปะสมัยอยุธยาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร-ลพบุรี และพระอุโบสถหลังใหม่ ที่หน้าบันประดับปูนปั้นลวดลายวิจิตรงดงามอย่างมากทีเดียว





หลวงพ่อขาว” หรือพระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร พระประธานองค์สีขาวบริสุทธิ์
ประดิษฐานในพระวิหารหลังเก่า


ลวดลายปูนปั้นศิลปะจีน ประดับหน้าบันพระวิหารหลังเก่า


เจดีย์ทรงระฆัง ฐานบัว ประดับด้วยบัวลูกฟัก สร้างอยู่บนฐานสูง มีสิงห์ปูนปั้นล้อมรอบ
ศิลปกรรมแบบนี้สืบทอดมาจากศิลปะเขมร-ลพบุรี นิยมอยู่ในศิลปะอยุยาตอนต้น
ความแตกต่างมีอยู่ที่ฐานบัวที่ค่อนข้างสูง ลักษณะพิเศษของเจดีย์เช่นนี้
พบเพียง ๒ องค์ ในพระนครศรีอยุธยา


สิงห์ปูนปั้นล้อมรอบฐานล่างองค์เจดีย์


พระอุโบสถหลังใหม่ สีขาวสะอาดตา









2913  นั่งเล่นหลังสวน / สยาม ในอดีต / การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ สืบสานความเชื่อชาวอีสาน เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:59:37



การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ สืบสานความเชื่อชาวอีสาน

ประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ เป็นความเชื่อของกลุ่มไทย-ลาว ที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เข้ามาปักหลักปักฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ประเด็นหลักใหญ่ของการปลงศพแบบนี้ คือ การให้เกียรติครั้งสุดท้ายกับผู้ตายที่พร้อมด้วยความดีความชอบที่สังคมยอมรับ แสดงถึงอิสริยยศและฐานันดรศักดิ์ของผู้ตายให้ปรากฏต่อสาธารณชน เนื่องจากความเชื่อดั้งเดิมที่เคยมีมาอย่างเคร่งครัดผู้ที่จะได้รับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์หลังเสียชีวิต คือ
     ๑.กลุ่มอาญาสี่/อัญญาสี่ ประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด/อุปราช ราชวงศ์ ราชบุตร และ
     ๒.พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของชุมชน

ในการปลงศพแบบนี้มีความเชื่อว่านกหัสดีลิงค์เป็นนกที่ยิ่งใหญ่ มีกำลังและฤทธิ์เดชมากมายมหาศาล สมควรที่จะเป็นพาหนะนำพาดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์

มีตำนานกล่าวถึงหลายตำนาน อาทิ นกหัสดีลิงค์เป็นนกที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังและฤทธิ์เดชมาก ลักษณะพิเศษคือ มีหัวเป็นช้าง มีร่างกายเป็นนก กินช้างและสัตว์ใหญ่เป็นอาหาร

นอกจากนี้ ยังบินไปจับคนในเมืองต่างๆ เป็นอาหาร เจ้าเมืองจึงหาบุคคลมีฝีมือที่จะสามารถฆ่านกนี้ได้ สุดท้ายเจ้านางสีดารับอาสา ใช้ศรยิงนกหัสดีลิงค์ตาย จึงทำพิธีเผานกนั้น เมื่อเจ้านายสิ้นชีวิตก็จะสร้างหุ่นนกหัสดีลิงค์ โดยวางหีบศพบนหลังนกและทำพิธีเผาไปพร้อมกับศพ กลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เป็นต้น

ดังนั้น ก่อนมีพิธีเผาศพแบบนี้ทุกครั้งจะต้องทำพิธีสำคัญ คือ ฆ่านกก่อนเพราะเป็นนกร้าย ผู้ฆ่านกจะต้องทำพิธีเชิญเจ้านางสีดาเข้าประทับร่างทรงก่อนใช้ศรยิง โดยผู้ที่จะฆ่านกก็ต้องเป็นผู้หญิงสืบเชื้อสายมาจากเจ้านางสีดา รับช่วงต่อกันมาเฉพาะคนในตระกูลเท่านั้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรรถ นันทจักร ผู้เชี่ยวชาญประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ ในภาคอีสานกลุ่มแรก คือ กลุ่มพระวอ-พระตา ถือเป็นต้นเหง้าของสายเมืองอุบลราชธานี ที่เคลื่อนย้ายครัวลาวที่ใหญ่ที่สุดมาอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน

แต่ที่มีหลักฐานเด่นชัดเป็นช่วงรัชกาลที่ ๕ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ปกครองมณฑลอุบลราชธานี ช่วงเวลาดังกล่าวมีกลุ่มอัญญาสี่ ขึ้นนกหัสดีลิงค์ถึง ๕ คน อาทิ หม่อมเจียงคำ พระอุบลการประชานิตย์ เป็นต้น





ส่วนพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของสายเมืองอุบลราชธานี ที่ได้ขึ้นนก หัสดีลิงค์มี ๓ รูป อาทิ พระครูวิโรจน์รัตโนบล, พระอริยกวี (อ่อน ธัมมรักขิโต) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี เป็นต้น

การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ในภาคอีสานตามหลักฐานส่วนใหญ่ที่ทำกันอยู่ไม่กี่แห่ง อาทิ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เป็นต้น

สำหรับการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ตัวแรก ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เดิมค้นพบมี ๒ ครั้ง คือ งานพระราชทานเพลิงศพพระครูพิทักษ์โกสุมพิสัย หรือหลวงตาโมง แสนศักดิ์ ณ เมรุวัดโพธิ์ศรี ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม วันเสาร์ที่ ๑ พ.ค.๒๕๑๙

งานพระราชทานเพลิงศพพระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) ปราชญ์แห่งอีสาน วัดมหาชัย วันที่ ๗ เม.ย.๒๕๓๖

แต่หลักฐานใหม่ที่ค้นพบ ปรากฏว่าเคยมีการปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์มาก่อนหน้าแล้วครั้งหนึ่ง ในปี ๒๕๐๕ คือ งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสุนทรสาธุกิจ หรือ หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัด ติกขมณีวรรณ บ้านเสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของมหาสารคาม

มีหลักฐานสำคัญ คือ ภาพถ่ายเก่าแก่งานพิธีพระราชทานเพลิงศพ อยู่ที่วัดติกขมณีวรรณ

ช่างที่มาสร้างนกหัสดีลิงค์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูสุนทรสาธุกิจ ปี ๒๕๐๕ คือ อาจารย์คำหมา แสงงาม

ส่วนงานพระราชทานเพลิงศพพระอริยานุวัตร ปี ๒๕๓๖ ช่างที่มาทำเป็นฝีมือของพระปลัดสมสิทธิ์ รักตสีโล อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมทีมงาน

กลุ่มช่างที่สร้างนกหัสดีลิงค์เดิมนั้นต้องยกให้ช่างสายเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นต้นแบบของการสร้างนกหัสดีลิงค์ โดยเฉพาะกลุ่ม ช่างชั้นครู อาทิ พระครูวิโรจน์รัตโนบล ญาท่านกัญญา เป็นต้น อาจารย์คำหมา แสงงาม ก็ไปเรียนจากพระครูวิโรจน์รัตโนบล

การปลงศพแบบนกหัสดีลิงค์ดั้งเดิมในช่วงหลังค่อยๆ คลายความเคร่งครัดลงมา เนื่องจากมีสามัญชนที่จัดงานปลงศพแบบนี้อยู่บ้าง นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายสูงพอสมควรแล้ว ยังมีพิธีการขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากพอสมควร

ทำให้การปลงศพแบบนี้นิยมอยู่ในบางพื้นที่ของภาคอีสานเท่านั้น


เชิด ขันตี ณ พล
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

2914  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:50:17


หอมแดง - หอมแดง
ในตำรายาไทยมักมีตำรับที่ใช้สมุนไพรที่มีชื่อว่า หอม หอมแดง ว่านหอมแดง และหอมแกง

ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความสับสนว่าเป็นสมุนไพรชนิดใดกันแน่ เนื่องจากมีสมุนไพร ๒ ชนิดที่มีชื่อว่าหอมในกลุ่มนี้

มูลนิธิสุขภาพไทยได้สอบถามหมอยาได้ความรู้ว่า ถ้าในตำรับใช้คำว่า “หอม” หรือ “หอมแกง” หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นหอมที่ใช้ประกอบเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หอมชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. ซึ่งทางวิชาการจัดว่าเป็นพืชต่างถิ่นหรือเป็นพืชของต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย

ส่วนชื่อ “หอมแดง” หรือ “ว่านหอมแดง” ที่ปรากฏในตำรับยาหมายถึงสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutherine bulbosa (Mill.) Urb. เดิมใช้ชื่อว่า Eleutherine Americana (Aubl.) Merr.ex K. Heyne จัดเป็นพืชสมุนไพรต่างถิ่นเช่นกัน

แต่น่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้วจึงมีชื่อท้องถิ่น เช่น ว่านไก่แดง ว่านข้าวว่านหมาก (ภาคเหนือ) ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) หอมแดง (ภาคกลาง ภาคใต้) บ่อเจอ เพาะปีบ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)

หอมแดงคาดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในป่าอะเมซอน แต่มีรายงานพบหอมแดงเป็นพืชในธรรมชาติของอินเดีย กัมพูชา และเวียดนามด้วย

หอมแดงเป็นพืชล้มลุก หัวใต้ดินรูปไข่ยาว เปลือกหุ้มหัวสีแดง ทรงกระสวย มีลักษณะคล้ายหัวหอม แต่ใบเกล็ดที่หุ้มหัวหนา แข็งกว่า มีสีแดงเข้มอมม่วง ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้ง หรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น   ใบ แทงขึ้นมาจากพื้นดิน รูปหอก จีบซ้อนกันคล้ายพัด ปลายใบแหลม โคนใบแคบ ขอบใบเรียบ   ดอกออกเป็นช่อ กลีบสีขาวรูปช้อน แทงออกเป็นช่อบริเวณตรงกลางของลำต้น ๔-๑๐ ดอกต่อก้านดอก กลีบดอกสีขาวซ้อนกัน ๒ ชั้น จำนวน ๖ กลีบ แบ่งเป็นวงนอก ๓ กลีบ และวงใน ๓ กลีบ แต่ละกลีบอยู่ไม่ตรงกัน กลีบวงในมีขนาดเล็กกว่าวงนอก กลีบดอกมีลักษณะรี ปลายกลีบโค้งเข้าด้านใน ผลมีลักษณะค่อนข้างรี ปลายหัวตัด

ภายในแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ภายในมีเมล็ดรูปรี อัดกันแน่น

ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการนำเอาหอมแดงเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่  แต่พบว่าในสังคมไทยมีการใช้หอมแดงเป็นยาในหลายตำรับ เช่น ใช้หัวเป็นยาภายนอก ตัวอย่างเช่น

ใช้เผารมควันร่วมกับเปราะหอมสำหรับแก้อาการเป็นหวัด แก้ลมชัก และแก้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ  

นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย นำมาทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน  

นำมาบดใช้ทาประคบแผลบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวดบวม  

ใช้ทารักษาแผล ทำให้แผลแห้ง ป้องกันการติดเชื้อ  

ใช้ประคบแผลสด สำหรับช่วยห้ามเลือด  

ใช้ส่วนหัวเป็นยากิน สามารถกินได้ทั้งสดและแห้ง หรืออยู่ในรูปที่เป็นผง โดยนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการเป็นหวัด คัดจมูก แก้อาการไอ แก้อาการคันคอ  

ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปวดท้อง

แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง ขับลมในลำไส้  แก้อาการท้องเสีย รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ตำรายาไทยใช้ หัว มีรสร้อน มีสรรพคุณขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือตำผสมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ทำให้อาเจียน แก้บิด และอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร

น้ำยาที่ได้จากหัวใต้ดิน ใช้ทาบาดแผล แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้อง

มีรายงานว่าแม้ว่าหอมแดงจะเป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกาใต้ แต่กลับมีการปลูกและนำใช้เป็นสมุนไพรมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้กันมากในหลายประเทศคือรักษาโรคหลอดเลือดผิดปกติ

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชพบว่ามีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียและต้านการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังพบสารที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ แอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (a-glucosidase) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะรบกวนการทำงานของเอ็นไซม์ในลำไส้เล็ก เช่น แอลฟา-แอลกลูโคซิเดส (Alfa-alglucocidase) ไม่ให้เปลี่ยนสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ทำให้ปริมาณน้ำตาลในลำไส้ถูกดูดซึมได้น้อยและช้าลง เกิดผลต่อเนื่องกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากกลไกเหล่านี้จึงเป็นที่มาของสรรพคุณในการรักษา มีฤทธิ์ในการป้องกันการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี (HIV replication) และกระบวนการเพิ่มจำนวนของสารพันธุกรรม (topoisomerase ll)

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกหลายชนิดที่สามารถรักษามะเร็งได้ ประเทศอินโดนีเซียจึงให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสมุนไพรหอมแดง ทำให้มีงานวิจัยออกมาจำนวนหลายชิ้น

ในประเทศต้นกำเนิดของหอมแดงมีรายงานว่ามีการใช้ส่วนหัวต้มน้ำดื่มรักษาอาการเลือดออกจากกระเพาะปัสสาวะ รักษาอาการปวดหัว รักษาโรคโลหิตจาง รักษาไอกรน รักษาอาการไอเป็นเลือด ไอที่เกิดจากการเป็นหวัดธรรมดา

ใช้รักษาแผลพุพอง ฝีหนอง และรักษามะเร็งในลำไส้ใหญ่

ในประเทศอินเดียใช้หัวบดกับน้ำดื่มขับพยาธิ

น้ำคั้นจากหัวผสมกับเกลือใช้แก้อาการชักหรือใช้น้ำคั้นจากหัวผสมกับเหล้าลูบตามลำตัวเพื่อลดอาการชักได้เช่นกัน

หอมแดงเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง สามารถปลูกร่วมกันกับการปลูกป่าได้เป็นอย่างดี



ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ น.๑๐๒




สตรีกับโลหิตฤดู
ว่ากันตามหลักภูมิปัญญาดั้งเดิม การดูแลสุขภาพของสตรีนั้น เขาจะคอยดูแลเลือดลมหมุนเวียนที่มากับประจำเดือนของผู้หญิงไม่ให้มีปัญหา หรือแก้อาการที่มาพร้อมประจำเดือนนั่นเอง

ในคัมภีร์โบราณที่ชื่อว่า “พระคัมภีร์มหาโชตรัต ที่ถือว่ากล่าวถึงเรื่องราวโรคเกี่ยวกับสตรีไว้เป็นการเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของสตรีและบุรุษไว้ ๕ ประการ ได้แก่
๑.ถันประโยธรหรือมีเต้านมที่แตกต่างจากบุรุษ
๒.จริตกิริยา ข้อนี้ก็เห็นได้ง่ายว่ากิริยาอาการของผู้หญิงต่างกันอย่างไร
๓.ที่ประเวณี คำคำนี้หมายถึงช่องคลอด และ
๔.ต่อมโลหิตฤดู (ระดู) หมายถึงมดลูกนั่นเอง ซึ่งต่อมโลหิตฤดูนี้มีความสำคัญต่อสุขภาพสตรีอย่างมาก เทียบเคียงความรู้ปัจจุบันก็คืออวัยวะสำคัญในเรื่องฮอร์โมนเพศหญิงและเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

โบราณท่านบรรยายประมาณนี้ว่า สตรีเมื่อพ้นกำหนดแห่งตานทรางแล้ว (เปลี่ยนจากวัยเด็ก) อายุ ๑๔-๑๕ ปี ต่อมโลหิตก็ตั้งขึ้นมาตามประเพณี แล้วมีฤดูมา ถันประโยธรก็วัฒนาเจริญขึ้น

พูดง่ายๆ ว่า จากเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเริ่มสาวเต็มตัว ในอดีตเด็กโตช้า แต่ปัจจุบันเหมือนว่าอายุ ๑๒ – ๑๓ ปีก็มีประจำเดือนกันแล้ว นี่เป็นปัญหาทางสังคม ท้องก่อนวัยอันควรจำนวนไม่น้อยด้วย

หากพิจารณาตามธรรมชาติของร่างกายผู้หญิง การเริ่มมีฤดูหรือระดูเป็นจุดเปลี่ยนของวัยและเป็นตัวชี้วัดสำคัญข้อหนึ่งว่า สตรีผู้นั้นจะมีสุขภาพดีหรือไม่ สตรีบางคนผิวพรรณหน้าตาผ่องใส ประจำเดือนมาตรงเวลา ระดูออกมาดี อาการปวดท้องและอ่อนเพลียก็ไม่มากนัก แต่มีสตรีอีกมากเรียกว่าเตรียมลาป่วยล่วงหน้าเพราะอาการปวดท้องอย่างมาก แถมยังมีอาการไม่สบายต่างๆ มารุมเร้าร่างกายและจิตใจด้วย ในหนังสือโบราณตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ เล่มที่ ๒ กล่าวถึงกลุ่มโรคของสตรีไว้มากมาย มีคำอยู่คำหนึ่งกล่าวว่า โรค “โลหิตปรกติโทษ” ความหมายของคำนี้คืออะไรกันแน่

ในคัมภีร์กล่าวไว้แบบนี้ “(โลหิตัง) นหารู ชาโต อันว่าโลหิต (ปรกติโทษ) อันบังเกิดมาแต่เส้นเอ็นทั้งปวงนั้น เมื่อจะใกล้มีระดูมา ให้เป็นประดุจดังไข้จับ ให้สะบัดร้อน สะบัดหนาว ปวดศีรษะ เป็นกำลัง ครั้นมีระดูออกมาแล้วก็หายไปแล”

บางคนคิดว่า อ๋อ... เป็นปรกติพอระดูออกมาแล้วก็หายไป ไม่ต้องรักษาอะไรทั้งนั้น

แต่ครูบาอาจารย์หลายท่านได้อธิบายความว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก็หาย แต่คำว่า โลหิตปรกติโทษ หมายถึง โทษหรือความไม่สบายที่มาเป็นประจำทุกครั้งเมื่อมีระดู พูดง่ายๆ โทษมารายเดือนซึ่งต้องแก้ไข

ภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยเรามีคำตอบและมีศักยภาพในการบำบัดโรคและอาการของสตรีเหล่านี้ ใครที่เป็นมากเป็นมานานจะต้องปรึกษากับแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้านที่ชำนาญ แต่สตรีใดที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือนและอาการเกี่ยวกับประจำเดือนที่เป็นตำรับได้รับการรับรองขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีการใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งแล้ว แนะนำไว้ ๒ ขนานคือ
๑.ยาประสะไพล ส่วนประกอบ : ผิวมะกรูด ว่านน้ำ กระเทียม หัวหอม พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้นอ้อย เทียนดำ เกลือสินเธาว์ หนักสิ่งละ ๘ กรัม การบูร ๑ กรัม และไพล ๘๑ กรัม  วิธีใช้ที่แนะนำคือให้กินก่อนประจำเดือนจะมา ๒-๓ วัน และให้กินวันที่ ๑ และ ๒ ของประจำเดือนมาแล้ว

สรรพคุณ ใช้แก้ระดูมาไม่สม่ำเสมอ และที่มาน้อย ช่วยแก้ปวดประจำเดือน นอกจากนี้ในตำรับยานี้ยังใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยขับน้ำคาวปลา หรือขับโลหิตเน่าร้ายหลังคลอดลูกด้วย

๒.ยาเลือดงาม ตำรับนี้ต้องถือเป็นตำรับพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติ จำได้ว่าเมื่อครั้งมูลนิธิสุขภาพไทยทำงานในพื้นที่ อ.กุชุม จ.ยโสธร เมื่อ ๒๕ ปีก่อน ยาเลือดงามเป็นที่นิยมชมชอบของสตรีจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิด้วย กินก่อนมีประจำเดือนก็ช่วยให้ลดอาการปวดท้องและประจำเดือนมางามตามชื่อเลย  ส่วนประกอบได้แก่ ขิงแห้ง ตะไคร้ สะระแหน่ กระชาย กระทือ ผิวมะกรูด ใบมะนาว กระเพรา กระเทียม เปลือกเพกา โกศจุฬาลัมพา ช้าพลู ลูกเร่ว ลูกจันทน์ กานพลู ดีปลี ไพล พริกไทยล่อน เจตมูลเพลิงแดง ชะเอมเทศ หนักสิ่งละ ๕ กรัม พิมเสน การบูร หนักสิ่งละ ๑ กรัม ให้กินครั้งละ ๑-๒ กรัม วันละ ๓ ครั้น ก่อนอาหาร  สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิดด้วย

แม้ว่าโลหิตระดูจะมีวัยที่หมดไปตามธรรมชาติ แต่ช่วงที่ยังมีประจำเดือนหากได้ดูแลและปรับสมดุลเลือดลมไว้ให้ดี รากฐานสุขภาพในวัยหนุ่มสาวจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใสในช่วงสูงวัยด้วย  


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๐๙ ประจำวันที่ ๑๗-๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒




สหัสธารา ยาไทยตำรับใหญ่
แก้อาการปวดหลัง ปวดเอวได้ชะงัด


ขึ้นชื่อว่า “สหัสธารา” แล้ว หมอไทยทุกคนรู้จักกันดี เพราะเป็นยาหลักตำรับหนึ่งที่ใช้รักษาอัมพฤกษ์ แก้ปวดเมื่อยเรื้อรังได้ผลดีกว่ายาตัวอื่น

ทั้งนี้เพราะสหัสธาราเป็นยาตำรับใหญ่ ประกอบด้วยสมุนไพรมากชนิดถึง ๒๑ ตัวได้แก่ ๑.พริกไทยล่อน ๒.รากเจตมูลเพลิงแดง ๓.ดอกดีปลี  ๔.หัสคุณเทศ  ๕.เนื้อสมอไทย  ๖.รากตองแตก  ๗.เหง้าว่านน้ำ  ๘.การบูร  ๙.ดอกจันทน์  ๑๐.เทียนแดง  ๑๑.ลูกจันทน์  ๑๒.เทียนตาตั๊กแตน  ๑๓.มหาหิงคุ์  ๑๔.เทียนสัตตบุษย์  ๑๕.เทียนขาว  ๑๖.จิงจ้อ  ๑๗.เทียนดำ  ๑๘.โกฐกักกรา  ๑๙.โกฐเขมา  ๒๐.โกฐก้านพร้าว  ๒๑.โกฐพุงปลา

ในตำรับยานี้จึงมีตัวยาออกฤทธิ์แรง แต่ในขณะเดียวกันตำรับจากภูมิปัญญานี้ก็มีสมุนไพรหลายตัวที่ช่วยคุมการออกฤทธิ์ไม่ให้เกิดโทษ  เนื่องจากกลุ่มสมุนไพรที่ออกฤทธิ์หลักเป็นยารสร้อนมาก ได้แก่ พริกไทยล่อน รากเจตมูลเพลิงแดง ผลดีปลี หัสคุณเทศ มหาหิงคุ์

ยิ่งกว่านั้น ยังเสริมฤทธิ์กระจายลมด้วยยารสสุขุมร้อนเล็กน้อยของกลุ่มสมุนไพรเหง้าว่านน้ำ ดอกจันทน์ ลูกจันทน์ รากจิงจ้อ การบูร รวมทั้งเทียน ๕ ได้แก่ เทียนแดง เทียนขาว เทียนดำ เทียนตาตั๊กแตน และเทียนสัตตบุษย์

เฉพาะกลุ่มสมุนไพรรสเผ็ดร้อนกลุ่มแรก ก็มีปริมาณเกินร้อยละ ๖๐ ของตำรับแล้ว

สมุนไพรกลุ่มนี้แหละที่ออกฤทธิ์ขับลมในเส้นทั่วสรรพางค์กาย จึงช่วยคลายความปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความตึงของเส้นเอ็น แก้ตะคริว  และรักษาอาการชาตามปลายมือ ปลายเท้า อันเกิดจากร่างกายเย็นและธาตุลมหย่อน

อย่างไรก็ตาม ในตำรับนี้ก็มีกลุ่มสมุนไพรจำพวกโกฐ ที่ช่วยคุมฤทธิ์ร้อนของยาสหัสธารา อันได้แก่ โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐกักกรา และโกศ เขมา แม้บางตัวจะมีรสร้อนเล็กน้อยแต่โดยรวมแล้วโกฐกลุ่มนี้มีรสเย็น ฝาด ขม มีสรรพคุณโบราณประการหนึ่งของยาสหัสธารา คือ เพิ่มกองลมแล่นลงล่างให้ไหลสะดวก ซึ่งช่วยให้บริเวณหลัง เอว และส่วนล่างของร่างกายผ่อนคลายหายปวดเมื่อย สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ดุจดั่งได้รับละอองน้ำสหัสธารา อันเป็นละอองน้ำสรงของพระราชาเลยทีเดียว

สรรพคุณข้อนี้แหละที่สอดคล้องกับรายงานวิจัยทางการแพทย์ของศิริราชเมื่อปี ๒๕๕๙ เรื่อง “ผลลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันของตำรับยาสหัสธารา”

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยาสหัสธาราในการลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน โดยมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ตั้งแต่ ๑-๓ วัน จำนวน ๒๙ ราย อายุ ๑๘-๖๕ ปี

แบ่งผู้ป่วยเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจำนวน ๑๔ ราย ได้รับยาแก้ปวดไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร  และกลุ่มหลังจำนวน ๑๕ ราย ได้รับยาสหัสธารา ขนาด ๑,๓๕๐ มิลลิกรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร

ทั้งสองกลุ่มรับยาเป็นเวลา ๗ วัน พบว่ายาไทยสหัสธาราในขนาดที่ใช้ในการวิจัย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันได้เท่ากับยาไอบูโปรเฟน

ด้วยความเป็นยาสรรพคุณดีมีความปลอดภัยสูงนี่เอง ยาสหัสธาราจึงได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติและบัญชีเภสัชตำรับโรงพยาบาลของรัฐ

ซึ่งยาสหัสธาราได้รับการประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติในบัญชียาจากสมุนไพรไว้ว่า ประกอบด้วย พริกไทยล่อน หนัก ๒๔๐ กรัม รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก ๒๒๔ กรัม ดอกดีปลีหนัก ๙๖ กรัม หัศคุณเทศ หนัก ๔๘ กรัม เนื้อลูกสมอไทย หนัก ๑๐๔ กรัม รากตองแตก หนัก ๘๐ กรัม เหง้าว่านน้ำ หนัก ๘๘ กรัม การบูร หนัก ๑๔ กรัม ดอกจันทน์หนัก ๑๓ กรัม เทียนแดง หนัก ๑๑ กรัม ลูกจันทน์ หนัก ๑๒ กรัม เทียนตาตั๊กแตน มหาหิงคุ์ หนักสิ่งละ ๑๐ กรัม เทียนสัตตบุษย์ หนัก ๙ กรัม เทียนขาว รากจิงจ้อ หนักสิ่งละ ๘ กรัม เทียนดำ หนัก ๗ กรัม โกฐกักกรา หนัก ๖ กรัม โกฐเขมาหนัก ๕ กรัม โกฐก้านพร้าว หนัก ๔ กรัม โกฐพุงปลา หนัก ๓ กรัม

ขนาดและวิธีใช้ กินครั้งละ ๑-๑.๕ กรัม วันละ ๓ ครั้ง ก่อนอาหาร

แต่มีข้อห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์และผู้มีไข้ สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อนพึงใช้ยาด้วยความระมัดระวังตามคำสั่งแพทย์ ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้แล้วเกิดปวดหลังปวดเอว

สมุนไพรตำรับสหัสธาราเป็นทางเลือกที่ดีในยุคสมุนไพร ๔.๐ แน่นอน.


ที่มา : หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๑๘ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ น.๑๐๒




มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก

ในช่วง ๒-๓ ปีมานี้ชื่อของ “มะแข่น” (เรียกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) หรือ “มะแขว่น” (ชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้าน) โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วแคว้นแดนไทย

ด้วยมะแขว่นเป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่มีรสเผ็ดหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพิ่มรสชาติชวนชิมให้แก่หลากหลายเมนูอาหารพื้นเมือง ทำให้แหล่งกำเนิด “มะแข่น” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวของเมืองน่าน โดยมี “มะแข่น” เป็นศูนย์กลางถึงขนาดจัดสร้างอีเวนต์เทศกาล “วันมะแข่น” ในช่วงฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน

จนทำให้ “มะแข่น” กลายเป็นพืชเศรษฐกิจขายดีของท้องถิ่นน่านและล้านนา และมี “โครงการวิจัยฟื้นฟูแหล่งอาหาร (Food Bank) จากพืชท้องถิ่นบนพื้นที่ราบสูง” ของ “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง” ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ช่วยสนับสนุนส่งเสริมอย่างแข็งขัน

เมนูอาหารล้านนาประเภทลาบ หลู่ ยำ ย่าง ทอดต่างๆ ที่ปรุงด้วยเครื่องเทศรสดีมีเอกลักษณ์ของ “มะแข่น” ลำขนาด (อร่อยมั่กๆ) แค่ไหนใครๆ ก็พอทราบดีกันอยู่แล้ว

และควรแสวงหามารับประทานเป็นอาหารอุ่นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสหวัดที่กำลังระบาดในหน้าฝนอันเย็นชื้นยาวนานไปอีกหลายเดือน

ในที่นี้จะกล่าวถึงสรรพคุณทางยาและตำรับยาที่มีส่วนประกอบของ “มะแข่น” ซึ่งยังไม่รู้จักเป็นที่แพร่หลายนัก

นอกจากพอรู้ว่าเปลือกผลของเม็ดมะแข่นใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้ลมวิงเวียน ใบนำมาเคี้ยวทำให้รู้สึกชาแก้ปวดฟันได้ และเม็ดนำมาตำร่วมกับพริกไทยล่อน ดีปลี แล้วหุงกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทานวดคลายเส้นตึง แก้ฟกบวม และถอนพิษฝีได้ชะงัด

เนื่องจากเปลือกผลและเม็ดของ “มะแข่น” มีรสเผ็ดหอม หมอยาไทยจึงเรียก “มะแข่น” อีกชื่อหนึ่งว่า “พริกหอม” ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับยาหลวงหลายขนานใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” และใน “พระคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”

จึงมีปัญหาว่า “มะแข่น” หรือ “มะแขว่น” ในภาษาพื้นเมืองเป็นตัวเดียวกับ “พริกหอม” ในตำรับยาตำราหลวงหรือไม่

ในตำราวิชาการของกรมป่าไม้ “มะแข่น” และ “พริกหอม” มีชื่อทางพฤกษศาสตร์เหมือนกันว่า Zanthoxylum Limonella Alston แต่ใน “คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์” ของ ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร ระบุต่างกันว่า “มะแข่น” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zanthoxylum Budrunga Wall แต่ “พริกหอม” ในตำรับยาโอสถพระนารายณ์ มีชื่อสามัญว่า Zanthoxylum Piperatum DC. มีชื่อสามัญว่า Japanese Pepper ซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาในประเทศญี่ปุ่นและเป็นสมุนไพรนำเข้ามาแต่โบราณ

อย่างไรก็ตาม พืชสมุนไพรเครื่องเทศป่าจำพวก “มะแข่น” “มะข่วง” “กำจัดต้น” หรือ “พริกหอม” หรือพริกไทยญี่ปุ่น ล้วนเป็นพืชในสกุล (Genus) เดียวกัน แม้ต่างชนิด (Species) กันก็ตาม แต่ก็มีรสยาและสรรพคุณยาไม่แตกต่างกันสามารถนำมาแทนกันได้

ในที่นี้ขอนำเสนอตำรับยาในคัมภีร์ดั้งเดิมของไทยชื่อว่า “พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์” ชื่อตำรับยา ยาพรหมภักตร์น้อย หรือยาประสะพริกหอม ซึ่งมีส่วนประกอบของ “พริกหอม” เป็นตัวยาหลัก มีสรรพคุณบำรุงกระดูกและไขข้อในกระดูก

ส่วนประกอบในตำรับยามีดังนี้ ดอกจันทน์ ผลจันทน์ กานพลู สิ่งละ ๑ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๑๐ กรัม)  มหาหิงคุ์ ยาดำ และการบูร สิ่งละ ๔ ส่วน (เช่น สิ่งละ ๔๐ กรัม)

ใส่พริกหอมเท่ายาทั้งหลาย คือ ๑๕ ส่วน (หรือ ๑๕๐ กรัม) นำมาบดผง ปั้นกับน้ำกระสายจากน้ำต้มเปลือกมะรุม ปั้นเป็นเม็ดเท่าผลมะแว้งเครือ (หนักประมาณเม็ดละ ๒๕๐-๓๐๐ มิลลิกรัม) กินเพียงวันละ ๑ เม็ด ก่อนอาหารเช้า เป็นเวลา ๑๕ วัน กระดูกจะแข็งแรงขึ้นและข้อกระดูกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะกระชับจนรู้สึกได้

ขอหมายเหตุว่า ถ้าจะใช้เปลือกผลหรือเม็ด “มะแข่น” แทน “พริกหอม” ในตำรับยาดังกล่าวก็ย่อมได้ หรือแม้แต่ไม่มีพริกหอม ท่านก็ให้ใช้พริกไทยล่อน (พริกไทยขาว) แทนก็ยังได้

สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะบาง หรือมวลกระดูกลดลงหรือรู้สึกหนาวเย็นในกระดูก จะไหว้วานหมอยาไทยช่วยปรุงตำรับยาพรหมภักตร์น้อย หรือ “ยาประสะมะแข่น” ให้รับประทานตามขนาดที่ระบุไว้ รับรองไม่มีอันตรายใดๆ และในภูมิปัญญาของชาวล้านนายังพบบันทึกเรื่องราวทางการแพทย์ว่า หมอพื้นบ้านใช้เมล็ดสกัดน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิต ชาวจีนก็มีตำรายาคล้ายภูมิปัญญาบ้านเรา ใช้แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย

รายการอาหารดังแนะนำไปกินมะแข่นที่เมืองน่านนั้น แท้จริงยังมีแหล่งอาหารสุดอร่อยอื่นอีกมากทั้งเหนือและอีสาน อาหารที่ปรุงด้วยมะแข่นจะอร่อยต้องมาจากแหล่งมะแข่นคุณภาพ ซึ่งพบว่าหากช่วยกันรักษาป่าธรรมชาติให้มะแข่นธรรมชาติได้อยู่อาศัยจะให้รสชาติดีมาก และหากจะปลูกเสริมก็ต้องรักษาป่าไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตดี มีราคาสูง บางท้องถิ่นที่มะแข่นคุณภาพดีๆ ราคาหลายร้อยจนถึงหลักพันบาทต่อกิโลเลยทีเดียว


ที่มา : "มะแข่น เครื่องเทศล้านนาใช้เป็นอาหารและยาบำรุงกระดูก" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๕ ประจำวันที่ ๗-๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐




อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว

ระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านได้รับการฟื้นฟูกลับสู่สังคมไทย การอยู่ไฟหลังคลอดได้รับการยอมรับให้บริการอยู่ไฟในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ อาจพูดได้ว่าเป็นการปรับประยุกต์การอยู่ไฟให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคปัจจุบัน

การอยู่ไฟยุคปัจจุบันได้ถอดองค์ความรู้ดั้งเดิมเพื่อนำมาจัดบริการให้คุณแม่รุ่นใหม่อย่างน้อย ๔ ขั้นตอน คือ เช่น
๑) ทำการนวดไทย และประคบร่างกาย
๒) ให้เข้ากระโจมหรือตู้อบด้วยสมุนไพร
๓) นาบหม้อเกลือ หรือบางที่ก็เรียกว่า ทับหม้อเกลือ
๔) การนั่งถ่าน

แต่ใครจะนึกว่า วิถีอยู่ไฟแบบบ้านๆ ยังมีให้เห็น

เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยไปเยี่ยมเยือนมิตรสหายในแหล่งท่องเที่ยวสุดฮอตแห่งหนึ่งของประเทศไทย คือ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ที่แห่งนี้เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเคยมาอาศัยและทำงานในพื้นที่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน

ปัจจุบันชุมชนเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจท่องเที่ยวมายึดครองพื้นที่ไปทั่ว แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อได้ไปเยี่ยมครอบครัวที่เคยได้พักอาศัยหลับนอนเมื่อ ๒๐ ที่แล้ว  เด็กหญิงอ้อยที่รู้จักนั้น ตอนนี้เป็นสาวหรือแม่คนแล้ว เพิ่งคลอดลูกคนที่ ๒ และกำลังนอนอยู่ไฟที่บ้าน ซึ่งชุมชนคนเกาะยาวยังสืบสานวิถีวัฒนธรรมนี้ไว้มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งนิยมให้ลูกหลานทำการอยู่ไฟ

แบบฉบับดั้งเดิมนั้นจะอยู่ไฟ ๔๔ วัน แต่ในปัจจุบันนี้ลดลงเหลือประมาณ ๒ สัปดาห์เต็ม หรือแล้วแต่ใครจะมีเวลามากน้อยแค่ไหน

คุณแม่น้องอ้อยคนนี้นอนอยู่บนแคร่ ซึ่งแคร่ไม่ใช่ของส่วนตัว แต่เพราะสังคมของที่นี่ยังหลงเหลือวัฒนธรรมแบ่งปันกัน แคร่อยู่ไฟตัวนี้จึงใช้วิธีหยิบยืมกันในชุมชน สำหรับฟืนก่อไฟก็หาได้ทั่วไปในป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งสภาพแวดล้อมของเกาะยาวอยู่ในเขตป่าชายเลน จึงนำไม้แสม ไม้พังกา ไม้แต้ว มาใช้อยู่ไฟได้  แต่ก็มีไม้ต้องห้าม ไม่นำมาใช้คือ ไม้ลูกเลือด เพราะจะทำให้คัน

ตอนที่นอนบนแคร่นั้น ข้างกองฟืนก็จะมีกาน้ำร้อนต้มน้ำวางไว้ให้แม่หลังคลอดกินน้ำอุ่นตลอดเวลา

น้ำต้มก็มักจะใส่สมุนไพร พริกไทยดำหรือขิง เพื่อให้ได้สรรพคุณทางยาสมุนไพร ช่วยให้น้ำนมออกดี

แม่ก็จะกินน้ำสมุนไพรร้อนนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ

กินน้ำสมุนไพรร้อนๆ แล้วก็ต้องอาบน้ำอุ่นด้วย

โดยจะอาบน้ำอุ่นเช่นนี้ตลอดการอยู่ไฟประมาณ ๒ สัปดาห์

น้ำที่ใช้อาบจะใส่สมุนไพรหลักๆ ได้แก่ ใบมะขาม ใบหนาด ใบนุ้ย และอาจมีสมุนไพรอื่นที่หาได้ในชุมชน

อยู่ไฟแบบเกาะยาวไม่มีการนั่งถ่าน แต่มีสิ่งที่แตกต่าง คือ มีการใช้ก้อนเส้ามากดนวดไปตามท้อง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

ก้อนเส้าที่ว่านี้ คือก้อนหินขนาดใหญ่ที่ไปหามาจากชายทะเล แล้วนำมาเผาให้แดง จนร้อนจัด แล้วเอาน้ำราดเรียกว่าล้างหัวก้อนเส้า ซึ่งคงเป็นการลดความร้อนไม่ให้ร้อนเกินไป  จากนั้นใช้ใบยอรองที่หัวก้อนเส้า เอาผ้าห่ออีกหนึ่งชั้นหรือหลายชั้นเพื่อไม่ให้ก้อนเส้าร้อนเกินไป  แล้วนำก้อนเส้ามากดประคบให้ทั่วหน้าท้อง เพื่อให้ท้องยุบและช่วยมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

อาหารสำหรับแม่หลังคลอดที่ชาวเกาะยาวสืบทอดมานั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารที่เรียกน้ำนม มีรสเผ็ดร้อน เช่น แกงเคี่ยวพริกหัวปลี แก่งเคี่ยวพริกใบบัวบก เคี่ยวพริกหัวข่า เป็นต้น

แม่ครัวที่ทำจะใส่พริกไทยมากๆ เครื่องแกงก็ประกอบด้วยพริกแห้งและใส่ตะไคร้ ขมิ้น กระเทียม หัวหอม แต่เน้นใส่พริกไทยให้มาก ถ้าทำเป็นแกงกะทิจะเคี่ยวให้เหลือน้ำน้อยๆ

ถ้าทำแกงกับปลาย่าง

ข้อห้ามหรือของแสลงคือ ไม่ปรุงด้วยปลาที่ไม่มีเกล็ด (กินเฉพาะปลามีเกล็ด)

สำหรับการดูแลเด็กนั้น รอจนสายสะดือหลุดก็จะโกนผมไฟให้ ถ้าเด็กมีอาการปวดท้อง ร้องไห้โยเยก็ใช้ไพลฝนกับหินแล้วเอาน้ำมาทาท้อง หรือใช้น้ำมันมะพร้าวมาทาที่ฝ่ามือแม่ แล้วถูฝ่ามือให้เกิดความร้อน น้ำฝ่ามือประคบ นวดเบาๆ ที่ท้องเด็ก เป็นการแก้ท้องอืด ภูมิปัญญาพื้นถิ่นยังใช้ใบกระเพราตำผสมยาแสงหมึก นำไปกวาดแก้ซาง

ลูกชาวเกาะยาวเชื่อมั่นนมแม่ เพราะแม่ทั้งกินอาหารสมุนไพรและได้อยู่ไฟทำให้มีน้ำนมมากพอเลี้ยงลูก และการกินน้ำนมแม่ซึ่งได้รับไออุ่นจากอกแม่นี้ เด็กๆ มักไม่ท้องอืด ทั้งยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ค่อยงอแง

ส่วนแม่เองก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันเมื่อได้อยู่ไฟว่าทำให้มดลูกแห้งเร็ว เข้าอู่เร็ว ไม่ปวดหลัง ไม่ปวดเมื่อย รู้สึกร่างกายกระชับ หน้าท้องไม่หย่อนยาน เลือดลมดูจะหมุนเวียนดี ผิวพรรณก็สดใสแม้จะมีลูกมาหลายคน

ที่พิเศษกว่าอยู่ไฟที่โรงพยาบาลคือ สายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และได้รับความเอื้ออาทรของเพื่อนบ้านช่วยสร้างขวัญกำลังใจ เรียกว่าสุขภาพองค์รวมต้อนรับชีวิตใหม่อย่างดีเยี่ยม


ที่มา : "อยู่ไฟหลังคลอด แบบฉบับคนเกาะยาว" น.๑๐๒ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๙๒๙ ประจำวันที่ ๔-๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐


2915  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:37:00


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๔)
ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก

พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ ๒ (ห้ามลักทรัพย์) คือ พระธนิยะ ชาวเมืองราชคฤห์

ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ

ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงงานไม้หลวงเลยทีเดียว

เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ

ท่านธนิยะเป็นช่างก่อสร้างมาก่อนบวช เข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมา ก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ

แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัดพากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้

ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิของพระธนิยะเสีย

เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือ ถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

“ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับ” คนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

“อาตมาทราบแล้ว” พระหนุ่มตอบอย่างสงบ

“ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะครับ พระองค์พระราชทานหรือยัง”
“พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม”

เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่า ไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว ก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

วัสสการพราหมณ์ จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

“นัยว่า พระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่”
“เป็นความจริง มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ
“ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้นจึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด”

“ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้ว”  พระหนุ่มอธิบาย

ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระในเรื่องนี้ เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า “คำกล่าวนั้น กล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยลำธารหรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้ มีเจ้าของหาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้ คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมณะจึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะที่พระคุณเจ้า “พ้นเพราะขน”

คำว่า “พ้นเพราะขน” เป็นสำนวนเปรียบเทียบสัตว์ที่มีขนคือแกะ กับสัตว์ที่ไม่มีขนคือแพะ มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจากการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น พระหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่าพระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา “เพราะขน”

เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้วก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่นไหนพระสมณศากยบุตร คุยหนักว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกทั่วไป

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้ความสัตย์จริงว่าเธอได้ถือเอาไม้หลวงที่ไม่ได้รับพระราชทานจากพระราชาจริง

ทรงตำหนิว่าพฤติกรรมอย่างนี้ไม่เหมาะสมที่พระศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา

จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า “ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง”

เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ)

ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น •


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๔) ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๔ ประจำวันที่ ๒-๘ ธันวาคม ๒๕๕๙

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๕)
ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก

คราวนี้ละเมิดกันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย

ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ “อิน” มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่ายระอา สะอิดสะเอียดในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี “สมณกุตตกะ” คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์? เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรมานุ่งห่มแต่มิใช่พระ) โบราณาจารย์แปลว่า “ตาเถน”

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ “ตาเถน” คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่าเป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร

ตกลง “ตาเถน” คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่นเบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายชีวิต พากันปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตหรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนั้นเป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

“หาสังวาสมิได้” ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป

ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิดเพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ “เลี่ยงบาลี” ออกบ่อยจนเป็นที่ระอาของพระสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด “ปิ๊ง” เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนางกล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม

แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชังจูงใจคนไม่เบาทีเดียว

“อุบาสก เท่าที่ผ่านมา ท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ” อะไรประมาณนั้นแหละครับ

อุบาสกที่แสนดี แต่คอนข้างซื่อบื้อไม่รู้เล่ห์เหลี่ยมของเจ้ากูกะล่อนก็เชื่อสนิทใจ “จึงรับพระทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของที่แสดง ดื่มน้ำที่แสลง” แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหกก็ด่าว่าอย่างรุนแรง “ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย”

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ว่า “อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตหรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้นหรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตายด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้”

เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่น ชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้พวก “ตราช้างเรียกพี่” เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ •



ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๕) ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๕ ประจำวันที่ ๙-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๖)
ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก

ที่ถูกควรเรียกว่า “กลุ่มแรก” เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อ ๔ ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว 

แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวลอินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ พวกเธอกราบทูลว่า “อยู่ดีสบายพระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้ายกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใดพระพุทธเจ้าข้า”

ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” แล้วตรัสถึงมหาโจร ๕ ประเภท คือ
๑.มหาโจรประเภทที่ ๑ คือภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน
๒.มหาโจรประเภทที่ ๒ คือ ภิกษุเลวทรามเล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร
๓.มหาโจรประเภทที่ ๓ คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล
๔.มหาโจรประเภทที่ ๔ คือ ภิกษุเลวทรามที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา
๕.มหาโจรประเภทที่ ๕ คือ ภิกษุเลวทรามที่อวด “อุตริมนุสสธรรม” (อวดคุณวิเศษ เช่น มรรคผลนิพพาน) ที่ไม่มีในตน

ในจำนวนมหาโจรทั้ง ๕ ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ ๕ เป็น “ยอดมหาโจร” เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมอีกต่อไป ความว่า “อนึ่ง ภิกษุใด ไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐว่าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใด ไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิกถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้างมาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลชั้นใดๆ ก็ตาม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่า เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้านตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย

ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน  พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นามฌานฺ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺค ภาวนา ผลสจฺฉิ กริยา กเลสปหานํ วินีวรรณตา จิตฺตสฺส สุญญาคาเร อภิรติ

ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้ การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนร่าง

แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ ใครอวดว่าตนได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ทั้งที่ไม่ได้สักแอะ นี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้ว กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดครับ

ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจนจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมบัติได้สบาย อยู่ถึง ๖-๗ วันจึงออกจากสมาบัติสบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา ๓ แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลส คือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดตนว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูดโดยตรง หรือโดยอ้อม ก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งสิ้น

“ใคร” ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่น อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีโจทย์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

มีข้อคิดน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่มักจะไม่บรรลุจริง

ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือ ชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง “อรหันต์” กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่าเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้วพูดเสียงดังฟังชัดว่า “ไอ้บ้า” •


ข้อมูล : บทความพิเศษ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (๒๖) ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หน้า ๖๗ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๙๖ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๙
2916  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: มีดไม่ลับก็ไร้คม สมองไม่อบรมก็ไร้ปัญญา เมื่อ: 20 ธันวาคม 2559 14:32:44



มีดไม่ลับก็ไร้คม สมองไม่อบรมก็ไร้ปัญญา
ตอน นักโทษประหาร (ต่อ)
ผลงานประพันธ์ของ แสง  จันทร์งาม

ข้าพเจ้ามองดูหน้าท่านผู้บัญชาการเรือนจำด้วยความงุนงง พลางคิดในใจว่าเรือนจำนี้ช่างโหดร้ายทารุณป่าเถื่อนเสียเหลือเกิน ผู้บัญชาการเรือนจำเองก็ช่างใจไม้ไส้ระกำเห็นชีวิตของคนเป็นชีวิตของมดปลวกไปได้ แต่มิได้พูดออกมาด้วยวาจา เพียงแต่เดินตามผู้บัญชาการฯ และคณะต่อไปอย่างเงียบๆ

“คุณอยากจะดูการประหารชีวิตนักโทษไหมละ?” ผู้บัญชาการถาม ข้าพเจ้าเกิดความกระอักกระอ่วนใจขึ้นมาทันที เพราะใจหนึ่งเกิดอยากรู้อยากเห็นแต่ใจหนึ่งเกิดความสังเวชสลดใจไม่อยากเห็นเพื่อนมนุษย์ถูกตัดคอต่อหน้าต่อตา กลัวจะเกิดเป็นลม เพราะตกใจว่าถ้าวิธีการประหารชีวิตไม่แสดงความโหดร้ายทารุณเกินไป ก็จะไปดูประดับความรู้เสียบ้าง เพื่อแน่แก่ใจจึงถามผู้บัญชาการฯ ดู “ทางเรือนจำประหารนักโทษโดยวิธีใด?”

“ทุกชนิด” ผู้บัญชาการฯ ตอบ “ใช้ปืนยิงบ้าง ใช้มีดแทงให้ตายบ้าง ใช้ค้อนทุบกะโหลกศีรษะบ้าง แขวนคอบ้าง บังคับให้ดื่มยาพิษบ้าง ปล่อยสัตว์ร้ายให้กัดตายบ้าง กดคอให้จมน้ำตายบ้าง ให้ล้อเหล็กขนาดใหญ่บดตัดคอให้ตายบ้าง บางทีก็ให้เจ้าหน้าที่ทรมานโดยตัดแข้งขาตีนมือเนื้อหนักออกทีละน้อยๆ จนตายไปเอง”

ข้าพเจ้าถึงกับเหงื่อแตกพลัก ด้วยความสะดุ้งตกใจกลัวต่อวิธีการประหารชีวิตอันทารุณโหดร้ายที่ผู้บังชาการฯ บรรยายให้ฟัง “ผมไม่ดูละครับ” ข้าพเจ้าบอกผู้บัญชาการฯ “เพียงแต่ได้ยินท่านเล่าวิธีการให้ฟังเท่านั้น ผมก็แทบทนฟังไม่ไหวแล้ว ถ้าไปเห็นจริงๆ ผมเป็นลมแน่”

“รู้สึกว่าคุณขวัญอ่อนมาก” ผู้บัญชาการฯ กล่าวยิ้มๆ “ถ้าคุณกลายเป็นนักโทษและจะถูกประหารชีวิตแบบนั้นบ้าง คุณจะรู้สึกอย่างไร?”

“ผมก็คงช็อคตายก่อนถูกประหารจริงๆ” ข้าพเจ้าตอบ  ผู้บัญชาการฯ หันไปมองดูเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ยืนข้างๆ แล้วก็ยิ้มอย่างมีนัย ทำให้ข้าพเจ้าหวาดระแวงอย่างไรชอบกล

เราได้เดินผ่านนักโทษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกำลังนั่งล้อมวงเสพสุราและร้องเพลงกันอยู่อย่างสนุกสนาน “เขาทำอะไรกันครับ?” ข้าพเจ้าถามท่านผู้บัญชาการฯ

“เขากำลังฉลองสมาชิกใหม่ วันนี้ตำรวจนำนักโทษเข้ามาส่งเรือนจำหลายคน พวกนี้คงสามารถดึงนักโทษใหม่บางคนมาเป็นสมาชิกได้ จึงดีอกดีใจและฉลองกันเป็นการใหญ่ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นของธรรมดาในเรือนจำของเรา นักโทษทุกกลุ่มต่างปรารถนาอยากได้นักโทษใหม่มาร่วมคณะมาช่วยการงานของคณะ มีการวิ่งเต้นหาสมาชิกใหม่กันทั่วไป”

เดินต่อไปอีกไม่นาน ข้าพเจ้าก็ได้พบกับภาพตรงกันข้ามกับภาพที่เพิ่งเห็นมา คือนักโทษกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสมเพชเวทนาท่ามกลางวงนั้นมีชายคนหนึ่งกำลังนอนนิ่งอยู่ มีผ้าห่มคลุมตั้งแต่เข่าขึ้นไปจนถึงศีรษะ ข้าพเจ้าเดินเข้าไปใกล้แล้วถามว่า “เกิดอะไรขึ้นหรือ?”

“สมาชิกของเราคนหนึ่งเพิ่งถูกประหารชีวิต” นักโทษคนหนึ่งตอบทั้งน้ำตานองหน้า “เขาเป็นคนดีและขยันขันแข็งมาก เราทุกคนรักและเสียดายเขาที่มาด่วนถูกประหารชีวิตเสีย เราได้สูญเสียแขนขวาของเราไปเสียแล้ว...” ว่าแล้วเขาก็ร้องไห้คร่ำครวญต่อไป

“เขาถูกประการชีวิตโดยวิธีใด?” ข้าพเจ้าถาม

“โดยวิธีถูกตัดคอ” ชายคนเดิมตอบ เขาค่อยๆ เลิกผ้าคลุมออกจาหน้าของศพเผยให้เห็นหัวที่ขาดจากไหล่กลิ้งอยู่ต่างหากจากลำตัว มีเลือดนองอยู่บนพื้นและจับเกรอะตามหน้าและตามลำตัว “ขณะที่เขากำลังนั่งคุยกับเราอยู่อย่างสนุกสนานนั่นเอง เพชฌฆาตคนหนึ่งก็ถือดาบอันคมกริบวิ่งมาฟาดฟันลงไปที่คอของเขาสุดแรง ทำให้ศีรษะของเขากระเด็นตกไป เราต้องเก็บเอาศีรษะของเขามาเก็บไว้ที่เดิมแล้วก็เอาผ้าคลุมอย่างเห็นอยู่นี้”

“การปล่อยปละละเลยเช่นนี้ ท่านไม่กลัวนักโทษแหกคุกหรือ?”

ผู้บัญชาการเรือนจำหัวเราะดังยิ่งขึ้น แล้วตอบว่า “ไม่กลัว ผมจะบอกเหตุผลว่าทำไมไม่กลัว ประการแรกเพราะว่า ไม่มีใครอยากจะออกไปจากเรือนจำนี้ แทบทุกคนพอตกเข้ามาอยู่ในเรือนจำนี้ก็สนุกสนานเพลิดเพลินจนไม่อยากจากไป ทุกคนอยากอยู่ที่นี่ อยากถูกประการชีวิตและตายที่นี่ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ผมไม่กลัวว่านักโทษจะหนี อยู่ที่โน่น ผมจะพาคุณไปดูเดี๋ยวนี้”

ท่านผู้บัญชาการฯ ได้จูงแขนข้าพเจ้าพาไปยังหอคอยสูงหลังหนึ่ง เราเดินตามบันไดขึ้นไปจนถึงยอดหอคอยแล้ว ผู้บัญชาการฯ ก็ชี้มือให้ข้าพเจ้าดูสิ่งหนึ่ง พอเห็นสิ่งนั้นข้าพเจ้าก็เห็นด้วยกับผู้บัญชาการฯ ทันทีว่าทำไมท่านจึงไม่กลัวนักโทษจะแหกคุก!

สิ่งที่มีอยู่ข้างหน้าข้าพเจ้า คือกำแพงสูงใหญ่ที่ล้อมรอบเรือนจำอยู่ถึง ๓ ชั้น มีช่องว่างระหว่างกำแพงกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงทั้ง ๓ มีความหนาและความสูงไม่เท่ากันและสร้างด้วยวัสดุต่างๆ กัน คือกำแพงชั้นในเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐแต่ไม่มีการโบกปูน จึงมองเห็นแผ่นอิฐ เรียงกันเป็นก้อนๆ กำแพงอิฐมีความหนาประมาณ ๖ ฟุตและสูงประมาณ ๑๐ ฟุต กำแพงชั้นกลางมีสีเทาแก่เพราะสร้างด้วยแผ่นหินขนาดใหญ่ทั้งนั้น ท่านผู้บัญชาการบอกข้าพเจ้าว่า กำแพงหินกว้างและสูงกว่ากำแพงอิฐ ๒ เท่า กำแพงชั้นนอกสูงแลดูเป็นสีดำทะมึนตลอด มีความกว้างและความสูงมากกว่ากำแพงหิน ๒ เท่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นกำแพงขอบนอกที่มั่นคงแข็งแรงที่สุด ข้าพเจ้าได้ถามท่านผู้บัญชาการฯ ว่า “กำแพงชั้นนอกทำด้วยอะไร?”

“ทำด้วยเหล็กทั้งแท่ง!” ท่านผู้บัญชาการฯ ตอบ

“มิน่าเล่า ถึงไม่มีใครคิดจะหลบหนี” ข้าพเจ้าพูดขึ้นมาอย่างลอยๆ ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เหลือบไปเห็นนักโทษหลายต่อหลายคน กำลังใช้ท่อนไม้ขนาดกลางทุบต่อยและกระทุ้งกำแพงอิฐอยู่อย่างขะมักเขม้น  “เอ๊ะ นั่นเขาทำอะไรกัน?” ข้าพเจ้าถามด้วยความประหลาดใจ

“เขากำลังจะเจาะกำแพงหลบหนี” ผู้บัญชาการฯ ตอบน้ำเสียงเป็นปกติคล้ายกับเห็นว่าการแหกคุกเป็นเรื่องเล็ก

“แล้วทำไมท่านจึงปล่อยให้เขาทำ? ทำไมท่านไม่จับกุมหรือห้ามปราม?”

“ไม่” ผู้บัญชาการตอบหน้าตาเฉย “นักโทษทุกคนมีสิทธิที่แหกคุกได้ เราไม่ห้ามปรามแต่อย่างใด เพราะมีน้อยคนเหลือเกินที่คิดจะแหกคุก คุณลองคิดดูซิในเรือนจำมีนักโทษตั้งเท่าไร แต่คุณก็เห็นแล้ว ว่ามีนักโทษเพียงไม่กี่คนที่กำลังเจาะกำแพง อีกอย่างหนึ่งกำแพงของเราก็แข็งแรงมากยากที่จะเจาะทะลุได้ นักโทษส่วนมากมักจะเลิกล้มความพยามยามเสียในระหว่าง แม้จะพ้นกำแพงอิฐไปได้ก็ติดที่กำแพงหิน คุณดูที่ฐานกำแพงหินนั่นซิ”

ข้าพเจ้ามองดูตามมือผู้บัญชาการฯ ไปยังกำแพงหินและได้เห็นนักโทษ ๒-๓ คนซึ่งรอดพ้นจากกำแพงอิฐมาได้ กำลังเอาขวานเจาะกำแพงหินอยู่อย่างขะมักเขม้น “แล้วนักโทษอื่นๆ ทำไมไม่ออกมาตามช่องที่เขาเจาะไว้เล่า จะได้ช่วยกันเจาะกำแพงหินต่อไป” ข้าพเจ้าถาม

ผู้บัญชาการฯ ตอบว่า “ผมบอกคุณแล้วว่าไม่มีใครคิดอยากจะออกไปจากเรือนจำและยิ่งกว่านั้น ช่องแต่ละช่องที่นักโทษเจาะสำเร็จนั้น เราจะจัดการปิดให้ดีเหมือนเดิมทันทีที่นักโทษคนนั้นลอดออกมาพ้น ฉะนั้นถ้าใครอยากออกก็ต้องเจาะช่องใหม่สำหรับตนเอง เจาะให้กันไม่ได้ ฉะนั้นนักโทษคนหนึ่ง จึงเจาะช่องได้สำหรับตนคนเดียวเท่านั้น”

“มีนักโทษคนใด สามารถเจาะทะลุกำแพงหินบ้างไหม?”

“มีเหมือนกัน แต่น้อยเต็มที ถ้าคุณมองดูที่ฐานกำแพงเหล็กคุณจะเห็นนักโทษหัวเห็ดเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น โน่นยังไงละ คนหนึ่งเพิ่งหลุดออกไปได้จากกำแพงหิน”

ข้าพเจ้ามองตามมือท่านผู้บัญชาการไปที่ฐานกำแพงเหล็ก และเห็นนักโทษผู้มีร่างล่ำสันบึกบึนคนหนึ่งกำลังใช้ขวานฟันกำแพงเหล็กอยู่อย่างเหนื่อยอ่อน ขวานของเขารู้สึกว่าเต็มไปด้วยประกายแวววับ ทุกครั้งที่เขายกขึ้นฟันมันจะสะท้อนแสงแวววาวเข้านัยน์ตาของเรา จนเราต้องหลับตา ข้าพเจ้านึกชมความอุตสาหะวิริยะของนักโทษหัวเห็ดคนนั้นอยู่ในใจ และภาวนาขอให้เขาออกไปให้ได้

“เคยมีนักโทษเจาะกำแพงเหล็กออกไปได้บ้างไหมครับท่านผู้บัญชาการฯ”

“มีเหมือนกัน แต่น้อยเต็มที ในหมื่นหรือแสนคนจะมีสักคนหนึ่ง เท่าที่ผมอ่านดูในประวัติของเรือนจำนั้น เมื่อประมาณ ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว มีนักโทษสำคัญคนหนึ่งแหกคุกออกไปได้สำเร็จ และพาเอานักโทษอื่นๆ ออกไปด้วยเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่เคยมีการแหกคุกเป็นการใหญ่เช่นนั้นอีก”

“ถ้าสมมติว่ามีนักโทษแหกคุกออกไปสำเร็จ ทางเรือนจำติดตามไปจับเขานำมาขังไว้ในเรือนจำอีกหรือไม่ครับ” ข้าพเจ้าถามต่อไป

“ไม่” ผู้บัญชาการตอบ “เราปล่อยให้เขาไปเลย เราถือว่าเขามีความสามารถเป็นวีรบุรุษ สมควรจะได้รับอิสรภาพ  ยิ่งกว่านั้น เรายังให้สิทธิพิเศษแก่เขาอีกด้วย”

“สิทธิอะไรครับ?” ข้าพเจ้าถามด้วยความสนใจ

“สิทธิที่จะเข้าออกเรือนจำได้ตามชอบใจทุกเวลา ถ้าเขาอยากจะกลับเข้ามาในเรือนจำเพื่อชักชวนเพื่อนนักโทษให้แหกคุก หรือแนะนำวิธีเจาะกำแพงที่ได้ผลแก่นักโทษอื่นๆ ก็อาจจะทำได้ตามชอบใจ คุณเดินตามผมมาทางนี้”

ข้าพเจ้าเดินตามผู้บัญชาการฯ ไปอย่างว่าง่าย เราได้มาถึงนักโทษกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งล้อมวงฟังชายคนหนึ่งพูดอยู่ใต้ต้นไม้ ชายประหลาดคนนั้นยืนอยู่ท่ามกลางวงแล้วพูดด้วยเสียงอันดังว่า “ตื่นเถิดพี่น้องทั้งหลาย อย่ามัวหลับใหลอยู่เลย อย่าลืมว่าท่านเป็นนักโทษประหารกำลังถูกขังอยู่ในกำแพงถึง ๓ ชั้น สักวันหนึ่งเพชฌฆาตจะมาลากคอท่านไปประหารชีวิต รีบลุกขึ้นแล้วแหกคุกหนีไปเสียก่อนที่จะถึงเวลานั้น...”

ชายคนนั้นพรรณนาโทษของเรือนจำต่อไปอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นความจริง แต่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่ามีนักโทษน้อยคนที่ตั้งใจฟังวาทะของเขา ส่วนมากหันหน้าไปคุยกันเสียบ้าง หลับเสียบ้าง ยิ่งกว่านั้นบางคนยังหัวเราะเยาะเขาและตะโกนคัดค้านเขาเป็นครั้งคราว แต่ชายคนนั้นก็ใจเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ เขามิได้แสดงอาการโกรธเคืองหรือพูดจาโต้ตอบผู้ก่อกวนเหล่านั้นแต่อย่างใด

เขาเอามือควานลงไปในถุงซึ่งวางอยู่บนพื้นข้างๆ แล้วหยิบเอาขวานเล่มหนึ่งขึ้นมา เขาชูขวานไปรอบๆ แล้วพูดขึ้นว่า “พี่น้องทั้งหลาย! นี่คือขวนหินสำหรับเจาะกำแพงอิฐท่านผู้ใดอยากจะได้รับอิสรภาพ โปรดเอาขวานนี้ไปเจาะกำแพงอิฐ ข้าพเจ้ายินดีจะมอบขวานนี้ให้แก่ท่านฟรี”  พูดแล้วเขาก็ชูขวานนั้นไปรอบๆ แต่ปรากฏว่าไม่มีนักโทษคนใดแสดงความสนใจในขวานของเขาเลย นักโทษคนหนึ่งได้ตะโกนขึ้นว่า “เดี๋ยวนี้เป็นสมัยจรวดแล้ว เราไม่ต้องการขวานหิน เชิญท่านนำไปแจกคนสมัยหินของท่านเถิด”

โดยมิได้คำนึงต่อคำเยาะเย้ยของนักโทษคนนั้น ชายผู้ใจเย็นยังคงชูขวานต่อไปอีกจนกระทั่งมีนักโทษคนหนึ่งยืนขึ้นเดินไปรับขวานจากเขา นักโทษคนนั้นหยิบขวานมาลูบคลำพิจารณาดูอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วก็โยนกลับคืนไปให้เจ้าของพลางพูดว่า “มันหนักเกินไป แบกไม่ไหว”

ชายผู้หวังดีหยิบเอาขวานหินเล่มนั้นมาเก็บไว้ แล้วล้วงเอาขวานอีกเล่มหนึ่งออกมาจากถุง ยกชูไปรอบๆ พลางพูดว่า “พี่น้องทั้งหลาย นี้คือขวานเหล็ก ใช้สำหรับเจาะกำแพงชั้นกลาง คือกำแพงหิน ผู้ใดต้องการข้าพเจ้ายินดีจะให้โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด เชิญรับเอาไปเถิด” เขาส่งขวานไปรอบๆ ด้วยสายตาแสดงความวิงวอน แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครรับเอา

เขาวางขวานเหล็กลงไว้แล้ว แล้วล้วงเอาขวานเล่มใหม่ขึ้นมา เขาชูไปรอบๆ ตามเคยพลางกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลายกำแพงเหล็กชั้นนอกอาจจะหนาและสูง แต่ท่านไม่ต้องท้อใจ นี้คือขวานพิเศษสำหรับเจาะกำแพงเหล็ก ถ้าท่านดูให้ดีท่านจะเห็นว่า คมของขวานนี้ทำด้วยเพชรโปรดดูด้วยตาของท่านเอง” เขาได้หยิบเอาเหล็กมาท่อนหนึ่ง แล้วก็เอาขวานนั้นฟันให้ดูเป็นตัวอย่าง ปรากฏว่าขวานจ้วงฟันเพียงครั้งเดียวท่อนเหล็กนั้นก็ขาดกระเด็น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครสนใจจะรับเอาขวานนั้น  ชายผู้ใจเย็นก็รวบรวมขวานใส่ในถุง ยกถุงขึ้นแบกบนบ่าแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังนักโทษกลุ่มอื่นต่อไป ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะของนักโทษกลุ่มนั้น

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบ ๑๑.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าจะต้องกลับ เพราะมีนัดรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ข้าพเจ้าขอบคุณท่านผู้บัญชาการฯ แล้วก็กล่าวคำอำลา

“คุณยังจะกลับไม่ได้” ผู้บัญชาการฯ พูดขึ้นด้วยท่าทางขึงขัง ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจไม่น้อย ใจหนึ่งคิดว่าท่านผู้บัญชาการฯ อาจจะชวนให้รับประทานอาหารกลางวันด้วย แต่เพื่อแน่ใจจึงถามดู “ทำไมละครับ?”

“กฎของเรือนจำมีอยู่ว่า ทุกคนที่เข้ามาในเรือนจำของเรา ต้องกลายเป็นนักโทษประหารของเราด้วย เพราะฉะนั้นเวลานี้คุณได้กลายเป็นนักโทษของเราเสียแล้ว”

ข้าพเจ้ารู้สึกตกใจและงุนงงดุจถูกตีที่ศีรษะ แต่ก็ยังอุ่นใจอยู่ว่าผู้บัญชาการคงจะล้อเล่นสนุกๆ มากกว่า จึงกล่าวว่า “ท่านผู้บัญชาการฯ อย่าล้อผมเล่นเลยน่า ผมจะต้องรีบไปพบเพื่อนตามนัด”

“คุณจะไม่มีหวังไปพบเพื่อนได้ตามนัดโดยเด็ดขาด” ผู้บัญชาการฯ พูดพลางหัวเราะอย่างผู้มีชัย  ท่านได้หันไปมองดูเจ้าหน้าที่เรือนจำอย่างมีนัย แล้วทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ผู้มีร่างกำยำ ๒ คน ก็ตรงเข้ามาขนาบข้างซ้ายขวาของข้าพเจ้า และยึดแขนไว้อย่างมั่นคง

ถ้าสามารถมองเห็นตัวเองในขณะนั้น ใบหน้าของข้าพเจ้าคงขาวซีดด้วยความตกใจกลัวสุดขีด เพราะการกระทำของผู้บัญชาการตอนนี้บอกว่าเอาจริงแน่นอน

“คุณไม่เชื่อหรือว่าผมพูดจริง” ผู้บัญชาการพูดขึ้น “ถ้าไม่เชื่อผมจะพาไปดูอะไรบางอย่าง” ว่าแล้วก็ออกเดินทันที ข้าพเจ้าก็ถูกเจ้าหน้าที่ฉุดให้เดินตามไปด้วย เราได้มาถึงตึกใหญ่หลังหนึ่ง ผู้บัญชาการสั่งให้เราหยุดอยู่ที่ประตู เมื่อประตูถูกเปิดออก ข้าพเจ้ามองเข้าไปข้างใน ก็ได้พบภาพที่ไม่เคยนึกเคยฝันว่าจะได้พบในเรือนจำ ภายในตึกนั้นเต็มไปด้วยพระภิกษุสามเณร พระราชามหากษัตริย์ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี นายพล มหาเศรษฐี และบุคคลชั้นสูงอีกมากมาย!

“ทั้งหมดนี้คือนักโทษประหารของผมทั้งสิ้น!” ผู้บัญชาการฯ พูดแล้วมองดูหน้าข้าพเจ้า คล้ายกับจะบอกว่า “คนใหญ่คนโตขนาดนั้นยังตกเป็นนักโทษของผมนับประสาอะไรกับคุณซึ่งเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง”

ข้าพเจ้ารู้สึกหน้ามืดศีรษะหมุนติ้วคล้ายจะเป็นลม จึงทรุดตัวลงนั่งเอามือกุมศีรษะแนบประตูตึกนั่นเอง ขณะที่นั่งหลับตาอยู่นั่นเอง ภาพใบหน้าของภรรยาก็ปรากฏขึ้นมาในห้วงนึก แล้วภาพมารดา พี่น้อง ตลอดถึงลูกศิษย์ที่สอนอยู่เป็นประจำ จิตใจในขณะนั้นวิ่งพล่านกลับไปยังทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เขาเหล่านั้นจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร และคิดอย่างไร เมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้าได้กลายเป็นนักโทษประหารชีวิตเสียแล้ว  ขณะที่จิตใจกำลังวิ่งพล่านอยู่นั้น ภาพพุทธสถานก็ปรากฏขึ้นมาในห้วงนึก พร้อมกับจำได้ว่า ในวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๘ จะต้องไปแสดงปาฐกถาเรื่อง “ตื่นเถิดชาวพุทธ” ประชาชนจำนวนมากที่อยากฟังปาฐกถาจะรู้สึกผิดหวังเพียงไร ถ้าถึงเวลาแล้วไม่มีข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถา พร้อมๆ กันนั้นก็เกิดการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวขึ้นมาทันที ว่าจะต้องไปแสดงปาฐกถาให้ได้

“ท่านผู้บัญชาการที่รักและคิดถึง” ข้าพเจ้าพูดออกมาคล้ายคนบ้า “ท่านจะเอากับผมอย่างไรก็เอา ผมยอมทั้งนั้น แต่ผมใคร่ขอความกรุณาจากท่านเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย คือขออนุญาตออกไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสถานในคืนวันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคมนี้ ท่านจะอนุญาตหรือไม่?”

ผู้บัญชาการฯ นิ่งคิดอยู่สักครู่หนึ่งแล้วพูดว่า “ตกลง เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ผมจะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำ ๓ คน ควบคุมคุณไปทุกฝีก้าว”

พระคุณเจ้าและสาธุชนที่เคารพ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่นี้ เจ้าหน้าที่ทั้ง ๓ คนจากเรือนจำก็กำลังยืนคุมข้าพเจ้าอยู่ คนที่ยืนทางขวามือของข้าพเจ้าคือเจ้าหน้าที่ทรมานนักโทษให้ตายด้วยวิธีตัดแข้งตัดขา คนที่ยืนทางซ้ายมือนี้คือพนักงานปล่อยสัตว์ร้ายให้กัดนักโทษตาย ส่วนอีกคนหนึ่งที่ยืนถือขวานอยู่ข้างหลังข้าพเจ้านั้น คือเพชฌฆาตผู้ประหารชีวิตนักโทษโดยตรง  หลังจากแสดงปาฐกถาที่นี่เสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็จะถูกนำตัวสู่เรือนจำ และจะถูกประหารชีวิต ณ วันใดวันหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่มีทางรู้ ข้าพเจ้าขออำลาท่านทั้งหลายไปก่อน...สวัสดี






มีดไม่ลับก็ไร้คม สมองไม่อบรมก็ไร้ปัญญา
ตอน นักโทษประหาร (จบ)
ผลงานประพันธ์ของ แสง  จันทร์งาม

ปริศนา
๑.เรือนจำใหญ่ได้แก่อะไร? ทำไมจึงเรียกว่าเรือนจำ?
๒.นักโทษประหารหมายถึงใคร? ทำไมจึงเรียกว่า นักโทษประหาร?
๓.ข้อที่ว่านักโทษไม่รู้ตัวว่าเป็นนักโทษถูกขังอยู่ในเรือนจำนั้น นั้นหมายความว่าอย่างไร?
๔.ข้อที่ว่านักโทษในเรือนจำรวมกันเป็นกลุ่มๆ ช่วยเหลือกันและกัน แสวงหาสมาชิกมาเข้ากลุ่ม และมีการเฉลิมฉลองเมื่อมีสมาชิกใหม่นั้น หมายความว่าอย่างไร
๕.ตำรวจที่นำนักโทษมาส่งเรือนจำหมายถึงอะไร?
๖.วิธีการประหารชีวิตนักโทษแบบต่างๆ นั้น หมายความว่าอย่างไร?
๗.การที่นักโทษมีเสรีภาพที่จะไปไหนๆ ทำอะไรก็ได้ภายในเรือนจำ และมีเสรีภาพในการทำงานต่างๆ หารายได้นั้น หมายความว่าอย่างไร?
๙.ข้อที่ว่าเมื่อนักโทษถูกประหารชีวิตตายไป ทรัพย์สมบัติของเขา ต้องตกเป็นของเรือนจำนั้นหมายความว่าอย่างไร?
๑๐.กำแพงทั้ง ๓ ชั้นที่ล้อมเรือนจำไว้ หมายถึงอะไร
๑๑.ขวานหิน ขวานเหล็ก และขวานเพชรสำหรับทำลายกำแพงอิฐ กำแพงหิน และกำแพงเหล็ก หมายถึงอะไร
๑๒.นักโทษที่กำลังแหกคุกโดยใช้ขวานทำลายกำแพงอิฐ กำแพงหิน และกำแพงเหล็ก หมายถึงใคร?
๑๓.ทางเรือนจำไม่ห้ามปรามนักโทษที่คิดจะแหกคุกและถ้าแหกคุกได้สำเร็จยังได้รับสิทธิพิเศษให้เข้าออกเรือนจำได้ทุกเวลาให้ชักชวนนักโทษอื่นๆ ให้แหกคุกได้หมายความว่าอย่างไร?
๑๔.บุรุษผู้ยืนโฆษณาชักชวนให้นักโทษแหกคุกและแจกขวานหิน ขวานเหล็ก ขวานเพชร หมายถึงใคร? การที่นักโทษไม่สนใจหมายความว่าอย่างไร?
๑๕.การที่ “ข้าพเจ้า” เข้าไปเยี่ยมเรือนจำ แล้วพลอยถูกจับกลายเป็นนักโทษประหารไปด้วย หมายความว่าอย่างไร?
๑๖.เจ้าหน้าที่ทั้งสามของเรือนจำที่ควบคุม “ข้าพเจ้า” อยู่ทุกฝีก้าวนั้นหมายถึงอะไร?


เฉลยปริศนา
๑.เรือนจำใหญ่ได้แก่โลกนี้ทั้งโลก ถ้าพูดอย่างกว้าง หมายถึงภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ซึ่งเป็นแดนเกิดแดนตายของสัตว์ เหตุที่ได้ชื่อว่าเรือนจำก็เพราะเป็นที่กักขังสัตว์ไว้ มิให้บรรลุถึงพระนิพพาน
๒.นักโทษประหารหมายถึงสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ เหตุที่เรียกว่านักโทษประหาร ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายในสามภพ ไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดต่ำหรือสูงจะต้องตายทั้งสิ้น
๓.หมายความว่าสัตว์ที่เกิดในสามภพ หารู้สึกตัวไม่ว่าตนติดอยู่ในห้วงทุกข์และจะต้องตาย แต่มัวสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ในภพนั้นๆ จนลืมตัว
๔.หมายความคนในโลกรวมกันอยู่เป็นครอบครัวรักใคร่ช่วยเหลือกันในครอบครัว เมื่อมีคนเกิดขึ้นในครัวก็ดีอกดีใจ ถ้าไม่มีก็พยายามที่จะให้มีทุกวิถีทาง
๕.หมายถึงชาติหรือความเกิด ซึ่งส่งให้สัตว์มาเกิดในภพทั้งสาม
๖.หมายความว่า สัตว์ที่เกิดมาในโลกย่อมประสบความตายโดยวิธีต่างๆ กัน ตายดีตายร้ายบ้าง การตายโดยถูกทรมานให้ตายด้วยการตัดแข้งตัดขา หมายถึงการตายด้วยโรคชรา การตายโดยถูกสัตว์ร้ายกัดตาย หมายถึงการตายด้วยโรคภัยต่างๆ การตายโดยถูกล้อเหล็กบด ถูกบังคับให้ดื่มยาพิษเป็นต้น หมายถึงการตายอุปัทวเหตุต่างๆ
๗.หมายความว่า การตายของสัตว์ย่อมไม่มีนิมิตไม่มีสัญญาณแจ้งให้ทราบล่วงหน้า อาจจะตายเมื่อไรที่ไหนก็ได้ ตายโดยวิธีไหนก็ได้ ไม่มีใครเลือกเวลา สถานที่และวิธีตายของตนได้เลย
๘.หมายความว่าสัตว์ที่เกิดในภพใด ย่อมมีเสรีภาพที่จะเที่ยวไปทำอะไรต่างๆ ในภพนั้น เช่นเกิดเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิที่จะไปในโลก และประกอบอาชีพต่างๆ ที่ตนชอบ หารายได้เลี้ยงตนและครอบครัว
๙.หมายความว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่มนุษย์แสวงหารวบรวมไว้นั้นถ้ามนุษย์ทุกคนตายลง ก็จะกลับคืนไปทับถมแผ่นดินตามเดิม
๑๐.กำแพงอิฐชั้นในหมายถึงกรรมดีและชั่วที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดใน ๓ ภพ กำแพงหินชั้นกลางหมายถึงกิเลสหยาบ เช่น โลภ โกรธ หลง อันเป็นเหตุให้สัตว์ทำกรรม กำแพงเหล็กชั้นนอกหมายถึงอวิชชาซึ่งเป็นกิเลสละเอียด ทำลายได้ยากแม้เกิดในพรหมโลกก็ยังมีอวิชชา
๑๑.ขวานหินหมายถึงศีลสำหรับควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย ขวานเหล็กหมายถึงสมาธิสำหรับปราบกิเลสหยาบ ขวานเพชรหมายถึงปัญญาซึ่งใช้สำหรับทำลายกิเลสละเอียดคืออวิชชา
๑๒.หมายถึงพุทธบริษัททั้งสี่ ๔ ผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อทำลายกรรม กิเลสหยาบและกิเลสละเอียด เพื่อความเป็นอิสระจากวัฏฏะ นักโทษที่กำลังทำลายกำแพงอิฐมีมาก เปรียบเหมือนคนที่ปฏิบัติขั้นศีลได้มีมาก นักโทษที่กำลังใช้ขวานเหล็กทำลายกำแพงหินมีน้อยลง เปรียบเหมือนพุทธบริษัทที่ปฏิบัติขั้นสมาธิมีน้อย นักโทษที่ใช้ขวานเพชรทำลายกำแพงเหล็กมีน้อยที่สุด เปรียบเหมือนพุทธบริษัทที่เข้าถึงขั้นปัญญามีน้อย
๑๓.หมายความว่าวัฏฏะไม่เคยกีดกันผู้ที่จะปฏิบัติตามศีลสมาธิปัญญาเพื่อบรรลุพระนิพพาน เมื่อบรรลุพระนิพพานแล้ว จะเทศนาสั่งสอนให้สัตว์ทั้งหลายทำลายวัฏฏะเสียก็อาจทำได้
๑๔.หมายถึงพุทธบริษัทผู้เห็นภัยในวัฏฏะ ปฏิบัติตามศีลสมาธิปัญญาจนบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม การที่นักโทษไม่ค่อยสนใจ เปรียบเสมือนมนุษย์ในโลกที่มัวเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ของโลก ไม่สนใจในพระพุทธศาสนา ไม่ปฏิบัติตามศีล สมาธิ ปัญญา
๑๕.หมายความว่า ใครๆ ก็ตามที่ไปเกิดในภพทั้ง ๓ แล้วจะต้องตายทั้งสิ้น
๑๖.เจ้าหน้าที่ทรมานสัตว์ โดยการค่อยๆ ตัดอวัยวะต่างๆ ออกทีละน้อย หมายถึงชรา ความแก่ เจ้าหน้าที่ปล่อยสัตว์ร้ายกัดนักโทษให้ตาย หมายถึงพยาธิความเจ็บป่วย เพชฌฆาตผู้ประหารชีวิตนักโทษโดยตรง หมายถึง มรณะความตาย
2917  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 18 ธันวาคม 2559 13:10:36


  ความเชื่อชาวพม่า

ช่วงส่งท้ายปีเก่า นับถอยหลังสู่ปีใหม่ หลายคนคงเตรียมตัวไปท่องเที่ยวกับครอบครัว จะเที่ยวไทย-เที่ยวนอก แต่ละประเทศต่างมีมุมมองความเชื่อเหนือธรรมชาติที่แตกต่างกันไป บางทีก็เป็นกุศโลบายในการใช้ชีวิตของคนรุ่นเก่าก่อน

มาดูกันว่า อาเซียนมีความเชื่อแบบไหน และเรื่องใดที่เหมือนหรือคล้ายเราบ้าง จะได้นำไปปฏิบัติใช้หากมีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนประเทศเพื่อนบ้าน

ประเดิมด้วยประเทศพม่า ชาวพม่าเชื่อว่า การเดินลอดบันไดจะทำให้สูญเสียพลังชีวิต เช่นเดียวกับการลอดใต้ราวตากผ้า ที่มี "ลองยี" หรือผ้าโสร่งของผู้หญิงแขวนอยู่

ผู้หลักผู้ใหญ่ยังมักเตือนไม่ให้ถอดรองเท้ากลับหัวหลับหาง เพราะจะนำมาซึ่งความโชคร้าย ไม่ควรเก็บกระจก รวมถึงแก้วที่แตกหรือมีรอยร้าว หากกระจกหน้าต่างถูกกระแทกจนร้าว ชาวพม่าจะรีบเปลี่ยนให้เร็วที่สุด

ห้ามสระผมในระยะเวลา ๑ สัปดาห์หลังจัดงานศพ เนื่องจากเป็นช่วงที่วิญญาณผู้ตายยังคงวนเวียนอยู่รอบๆ คนในครอบครัว เครือญาติ และคนรู้จัก อย่าใช้ทัพพีเคาะหม้อหลังนำลงไปคนในแกงที่กำลังต้ม การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่สุภาพอย่างร้ายแรงเทียบเท่าการตีศีรษะของพ่อแม่เลยทีเดียว อย่าเคาะฝาหม้อ ๒ ฝาเข้าด้วยกัน เพราะอาจทำให้ถูกเสือกัด

ห้ามหงายมือป้อนอาหารให้ผู้อื่น เพราะอาจทำให้ผู้กินเจ็บป่วยจากการกิน อย่าตัดเล็บยามวิกาลเพราะผีไม่ชอบ หากเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืนวิญญาณร้ายจะเข้าสิง และการพกพาขนหางของช้างหรือสวมแหวนที่ทำจากขนหางช้าง จะช่วยป้องกันภัยจากภูตผีปีศาจได้

นอกจากสิ่งรอบตัวที่เป็นข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติตามธรรมเนียม เช่น หลีกเลี่ยงการเดินลอดใต้บันไดและไม่ตัดเล็บตอนกลางคืนแล้ว ชาวพม่าบางส่วนยังให้ความสำคัญกับเรื่องดวงชะตาด้วย

ช่วงที่ประเทศตกอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เศรษฐกิจถือได้ว่าทรุดตัวหนัก ชาวบ้านจำนวนมากอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เมื่อที่พึ่งอันเป็นรูปธรรมไม่มี สิ่งที่จะช่วยบรรเทาความเครียดได้ก็มีแต่ที่พึ่งทางใจและการ "ดูดวง" ก็เป็นทางออกที่หลายๆ คนเลือก

หากดวงออกมาดีก็สบายใจยิ้มได้ แต่เมื่อดวงชี้ว่ามีเหตุเภทภัย เหล่าหมอดู คนทรง จะแนะนำให้ประกอบพิธี "ยะดายะ" เป็นพิธีทางไสยศาสตร์ สำหรับปัดเป่าความชั่วร้ายและตัดกำลังศัตรู มีตั้งแต่สวดมนต์ใหญ่ไปจนถึงสร้างเจดีย์เสริมบารมี เช่นกรณีของนายกรัฐมนตรีอู นู ที่สั่งให้สร้างเจดีย์ ๖๐,๐๐๐ องค์ เมื่อปี ๒๕๐๔ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขับไล่ความรุนแรงและเสริมสันติสุข

ไม่ใช่แค่เรื่องดวงเท่านั้น ชาวพม่ายังเชื่อเรื่อง "ชื่อ" และ "ตัวเลข" ในปี ๒๕๓๒ รัฐบาลพม่าตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศจากเบอร์มาเป็นเมียนมา ตามคำแนะนำของผู้ทำนาย คนสนิทของนายพลเนวิน เพราะเชื่อว่าชื่อเดิมนำมาซึ่งเคราะห์ร้าย ทั้งยังเลือกวันประกาศในวันที่ ๒๗ พ.ค. เพราะ ๒+๗ เท่ากับ ๙ และต่อมาในปี ๒๕๔๘ พม่าก็เปลี่ยนเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาเป็นกรุงเนปิดอว์ตามคำแนะนำของโหราจารย์ใหญ่




  ความเชื่อชาวลาว

ชาวลาวนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติมากมาย เพราะมีชนพื้นถิ่นกว่า ๑๖๐ ชาติพันธุ์ ความต่างนี้ส่งผลให้วิถีชีวิตแตกต่างออกไป เช่นเดียวกับธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ

เริ่มจากความเชื่อทั่วไป ว่ากันว่าการเดินข้ามผู้อาวุโสจะนำความโชคร้ายมาให้ ไม่ควรใช้นิ้วชี้รุ้งกินน้ำเพราะนิ้วจะกุด เนื่องจากรุ้งมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพญานาค เทพเจ้าแห่งน้ำ สัตว์ในตำนานที่ชาวลาวเคารพบูชายิ่ง และยังเป็นที่มาของอีกความเชื่อที่ชาวลาวบอกว่าการกินงูที่จับได้ในลำน้ำโขงหรือละแวกใกล้เคียงจะทำให้จมน้ำตาย

ขณะที่ข้อห้ามยามวิกาลที่ชาวลาว เชื่อนั้นมีมากมาย อาทิ ห้ามผิวปากยามวิกาล เพราะถือเป็นการเรียกวิญญาณ ไม่ควรลับมีดหรือของมีคมเนื่องจากวิญญาณจะมาหลอกหลอนในความฝัน หากได้ยินเสียงสุนัขหอนตอนดึกๆ แสดงว่าพวกมันเห็นผี และถ้านำน้ำตาสุนัขมาสัมผัสที่ตาเรา ก็จะเห็นผีเช่นเดียวกับสุนัข อย่าเล่นซ่อนหาถ้าไม่อยากถูกผีลักตัว และหากกินอาหารคนเดียวระหว่างฝนตกยามค่ำคืนผี ร้ายชนิดหนึ่ง ที่กำลังหิวโหยจะปรากฏ กายขึ้น

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับการนอนและฝัน อย่าใช้หมอนใหม่บนที่นอนกว้างเพราะผีจะมานอนด้วย การวางมือไว้บนอกขณะนอนหลับถือเป็นการชักชวนให้ผีเข้าสิง การวางมีดไว้ใต้เตียงช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจ ถ้าฝันว่าจับอุจจาระจะได้ทรัพย์ ฝันว่ามีคนมาขออาศัยด้วยหมายความว่ากำลังจะมีลูก หากหญิงฝันถึงงูโดยเฉพาะนาค แสดงว่ามีชายหนุ่มกำลังหมายปอง ที่สำคัญคือชายคนนั้นจะเป็นเนื้อคู่ได้แต่งงานอยู่กินกัน และถ้าฝันร้ายให้กระซิบความฝันกับอุจจาระก่อนราดน้ำ เรื่องไม่ดีจะได้ไหลไปกับสิ่งปฏิกูล


   นอกจากเรื่องความฝันและข้อห้าม ในยามวิกาลแล้ว ในครัวเองก็มีความเชื่อที่ควรปฏิบัติตาม เช่น หากแช่ข้าวเหนียวจนน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง ความโชคร้ายจะมาเยือนและคนในบ้านจะล้มป่วย หากร้องเพลงในครัวจะได้แต่งงานกับผู้ที่มีอายุมากกว่า

กระติบข้าวควรปิดฝาไว้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกินอาหาร คือ เมื่อหยิบข้าวเหนียวออกจากกระติบแล้วให้ปิดฝา จะกินต่อก็ค่อยเปิดฝาแล้วปิดทุกครั้ง ส่วนเวลาล้างทำความสะอาดกระติบ พอแห้งสะอาดให้เก็บกระติบแบบปิดฝาสนิท ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสามีหรืออาจหย่าร้างได้

การเดินข้ามถุงและกระสอบใส่ข้าวจะทำให้วิญญาณขุ่นเคืองและนำมาซึ่งความโชคร้าย อย่านอนทันทีหลังกินอาหารเสร็จเพราะจะกลายเป็นงู การล้างจานตอนกลางคืนจะล้างโชคลาภและเงินทองออกไป หากไม่ทำความสะอาดจานชามและอุปกรณ์ครัวเป็นกิจวัตรประจำวัน เมื่อมีลูกลูกจะหน้าตาขี้เหร่ ส่วนเด็กผู้หญิงถ้าอยากสวยน่ารักควรหมั่นล้างจาน ห้ามกินอาหารจากหม้อที่ปรุงโดยตรงเพราะจะคลอดลูกยาก

ชาวลาวยังเชื่อว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรพูดถึงลูกคนอื่นในทางไม่ดี เพราะสิ่งที่ต่อว่าไปจะเข้าตัวเองและลูกในท้อง เวลาทารกยิ้มให้ผมจะร่วงเยอะกว่าปกติ หากไม่อยากให้ฟันขึ้นช้า อย่าให้ทารกมองเงาสะท้อนของตัวเองในกระจก ถ้าทารกปัสสาวะรดมือใครในช่วงวันแรกๆ หลังคลอด นั่นหมายความว่าเด็กจะรักคนคนนั้นไปตลอดชีวิต


หนังสือพิมพ์ข่าวสด
2918  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 18 ธันวาคม 2559 10:41:05
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



ความหมาย ของเลข ๔

ความหมายของเลข ๔ ทางพุทธศาสนา มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้เแก่ธรรมะที่ว่าด้วยอริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ สังคหวัตถุ ๔ สัมมัปปทาน ๔ ฯลฯ

ในทางสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาก็ใช้จำนวน ๔ เป็นแนวคิดในการออกแบบก่อสร้าง รูปแบบและรูปทรงของอาคารที่มีความสำคัญทางศาสนา เช่น อุโบสถหรือวิหารที่มีรูปทรงที่เรียกว่า จัตุรมุข อันสะท้อนคติของการเข้าถึงธรรมะสำคัญอันได้แก่ อริยสัจ ๔ นั้น

ตัวอย่างของพระอุโบสถและพระวิหารวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ที่มีทางเข้าของวิหาร ๔ ทิศ ภายในยังประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ พระองค์ ประทับนั่งพิงพระธาตุอยู่โดยรอบทั้งสี่ทิศ (ที่มีผู้อธิบายความหมายของพระพุทธรูปทั้ง ๔ ว่า หมายถึง ความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม)

กรณีพระพุทธรูปสี่พระองค์ที่ประทับนั่งพิงพระธาตุ เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลเช่นเดียวกับเจดีย์ที่เรียก กู่พญา ของพม่าที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งอุบัติขึ้นในภัทรกัปป์ก็คือ พระกุกะสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระสมณโคดม ที่หมายถึงพระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในปัจจุบัน





ความหมายของเลข ๗

คําว่า สัปปายะ หรือสัปปายะ ๗ เป็นธรรมะที่หมายถึง สิ่งที่เหมาะสม สิ่งที่เกื้อกูล สนับสนุนในการบำเพ็ญ ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย

ในทางสถาปัตยกรรมพุทธศาสนาจะทำเป็นรูปแบบหรือสัญลักษณ์ของความเชื่อที่เรียกว่าจักรวาลทัศน์ คือมีศูนย์กลางเป็นเขาพระสุเมรุ และเรียงรายด้วยแนวเขา ๗ แถวโดยรอบ ประดับไว้เป็นส่วนยอดของหลังคาพระอุโบสถ หรือวิหารใหญ่

การชี้แจงรูปแบบของรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศที่ชนะการประกวดคัดเลือกให้ก่อสร้างเป็นอาคารที่ทำการรัฐสภาว่า มีความหมายเป็นอาคารที่มีสัปปายะ คือ ที่เหมาะสมแก่การทำงานของผู้มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการ ดูแล บ้านเมือง

ในที่นี้คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิกสภา

นอกจากเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมของการทำงานของผู้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการดูแลบ้านเมืองแล้ว ตัวเลข ๗ ยังมีความหมายคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในพื้นที่นี้หรืออาคารนี้หรือโบสถ์ วิหาร หรือหมายถึงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ผู้ที่มีหน้าที่บริหารบ้านเมือง จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นสัปปบุรุษ หรือเป็นผู้มีธรรมที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ อันหมายถึง คุณสมบัติของคนดี มีธรรมของผู้ดี ๗ ประการ

และต้องมีธรรมะสำคัญต่อมาก็คือ ต้องมีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม หรือเป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว เรียกว่า อปริหานิยธรรม ๗ ด้วย





ยันต์ ๕ แถว

การสักยันต์ในอดีต มีจุดมุ่งหมายหรือความเชื่อว่าเป็นการบันทึกคำสอนหรือคาถาทางพุทธศาสนาไว้ติดตัวไปตลอด ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นก็ตาม

ผู้คนที่มีรอยสักยันต์บันทึกคำสอนหรือคาถาทางพุทธศาสนาจึงต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม ไม่ประพฤติชั่ว มีข้อวัตร ข้อห้าม ข้อละเว้น และข้อปฏิบัติ เพื่อดำรงความดีงาม ละเว้นความชั่ว ย่อมได้รับความสุข ความเจริญ เมตตา กรุณาจากผู้คนทั่วไป

ยันต์สำคัญที่ยกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ ยันต์ ๕ แถว

ปัจจุบันอาจจะมีการแปลความหมายของยันต์ ๕ แถวนี้แตกต่างกันออกไป เช่น ของอาจารย์สักชื่อดัง อาจารย์หนู กันภัย ที่ได้บรรยายเพิ่มเติมว่า

แถวที่ ๑ หมายถึง คาถาเมตตามหานิยม แถวที่ ๒ หมายถึง คาถาหนุนดวงชะตา แถวที่ ๓ หมายถึง คาถาแห่งความสำเร็จ แถวที่ ๔ หมายถึง คาถาราศีประจำตัว แถวที่ ๕ หมายถึง คาถามหาเสน่ห์

หรือในบางแห่งอธิบายว่า แถวที่ ๑ ให้ผลดีทางที่อยู่อาศัย แถวที่ ๒ แก้ดวงตก แถวที่ ๓ ป้องกันเสนียดจัญไรคุณไสย แถวที่ ๔ โชคลาภ ความสำเร็จ แถวที่ ๕ เสน่ห์ มหานิยม ซึ่งความหมายก็เพื่อประโยชน์ทางโลกแก่ผู้สักยันต์

จุดมุ่งหมายเดิมของยันต์ ๕ แถว ตามความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ก็คือ การบูชาพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่อุบัติขึ้นในภัทรกัลป์นี้ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า พระสมณโคดมพุทธเจ้า และพระศรีอาริยเมตยไตรพุทธเจ้า

แต่ละพระองค์จะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะต่างๆ กัน ดังได้เคยบรรยายมาแล้ว



https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2016/11/1-375-696x359.jpg


ตภัทรโพธิสัตว์

สมันตภัทร หรือ สมันตภัทระ แปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือ เป็นมงคลทุกประการ

นอกจากนี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธานที่จะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์นี้ทรงเป็นพระชินโพธิสัตว์หรือตัวแทนของพระไวโรจนะ ภาพของท่านจึงแสดงถึงความกรุณาปรานีและการอยู่ในสมาธิ ภาพของท่านจะอยู่เคียงคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

ในภาพท่านจะนั่งอยู่บนพาหนะคือ ช้างสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงพลังหรือแรงแห่งกิเลสตัณหา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงหมายถึงควาญช้างผู้ฝึกปรือให้ช้างหรือกิเลสตัณหานั้นลดลง

ในท่านั่งนั้น มือซ้ายจะถือจินดามณี (หมายถึงความสุขสว่างแห่งปัญญา) มือขวาจะอยู่ในท่าคิด นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ (อันน่าจะหมายถึงสังสารวัฏ)

ไม่พบภาคปางดุของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์



https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2016/12/ภาพหน้าจอ-2016-12-01-14.19.13-696x386.jpg


พระมหาสถามปราปต์

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ เป็นพระมหาธิโพธิสัตว์ของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ผู้สถิตอยู่ ณ พุทธเกษตร สุขาวดี

พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์มิได้เป็นพระชยานิโพธิสัตว์หรือพระโพธิ สัตว์ที่อุบัติขึ้นจากญาณของพระอาทิพุทธเจ้าอมิตาภะ เหมือนพระอวโล กิเตศวร

ในความหมายของพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์ หมายถึง พระโพธิสัตว์ที่แสดงถึงพลาธิคุณ หรือหมายถึง ผู้มีกำลังจิตเข้มแข็ง

มหาสถามปราปต์ แปลว่า บรรลุอำนาจอันยิ่งใหญ่อำนาจนี้ในความหมายคือ อำนาจแห่งกำลังจิตที่บรรลุความจริงอันประเสริฐ

ในสำนักสุขาวดีเชื่อว่า พระมหาสถามปราปต์เป็นผู้คุ้มครองดวงจิตของผู้ที่จะไปอุบัติยังพุทธเกษตรสุขาวดีที่มีพระอมิตาภะพุทธเจ้าสถิตอยู่ อันดวงจิตของผู้ที่จะไปยังพุทธเกษตรสุขาวดีก็คือ ดวงจิตของผู้ที่ภาวนาถึงพระอมิตาภะพุทธเจ้าตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่พระมหาสถามปราปต์ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

ในการเชื่อมโยงคติความเชื่อของฝ่ายมหา ยานกับฝ่ายเถรวาทก็คือ พระโพธิสัตว์มหาสถามปราปต์สถิตอยู่เบื้องซ้ายของพระอมิตาภะพุทธเจ้า จึงหมายถึงพระโมคคัลลานะผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าด้วย

ลักษณะทางพุทธศิลปะก็คือ มือ ซ้ายจะอยู่ในท่าประทาน มือขวายกสูงประมาณอก หงายมือออก นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ ที่ภาษามือเรียกว่าอยู่ในท่านึกคิด นั่นคือคติหรือสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจจิตในการจะบรรลุความจริง





สมันตภัทรโพธิสัตว์

สมันตภัทร หรือ สมันตภัทระ แปลว่า ดี รุ่งเรือง หรือ เป็นมงคลทุกประการ

นอกจากนี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ได้ชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธานที่จะมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์นี้ทรงเป็นพระชินโพธิสัตว์หรือตัวแทนของพระไวโรจนะ ภาพของท่านจึงแสดงถึงความกรุณาปรานีและการอยู่ในสมาธิ ภาพของท่านจะอยู่เคียงคู่กับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์

ในภาพท่านจะนั่งอยู่บนพาหนะคือ ช้างสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงพลังหรือแรงแห่งกิเลสตัณหา พระสมันตภัทรโพธิสัตว์จึงหมายถึงควาญช้างผู้ฝึกปรือให้ช้างหรือกิเลสตัณหานั้นลดลง

ในท่านั่งนั้น มือซ้ายจะถือจินดามณี (หมายถึงความสุขสว่างแห่งปัญญา) มือขวาจะอยู่ในท่าคิด นิ้วชี้จดนิ้วหัวแม่มือ (อันน่าจะหมายถึงสังสารวัฏ)

ไม่พบภาคปางดุของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์  





พระมัญชุศรีโพธิสัตว์

พระมัญชุศรีเป็นพระธยานิโพธิสัตว์ของพระไวโรจนะพุทธะ มัญชุศรี แปลว่า แสงอันอ่อนหวานหรืออ่อนโยน เป็นพระโพธิสัตว์ที่นับถือกันมากในฝ่ายมหายานตันตระ โดยเฉพาะในประเทศภูฏานและทิเบต

สัญลักษณ์ของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ก็คือ เป็นสัญลักษณ์ของปัญญา รูปแบบของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์มีประมาณ ๑๘ รูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับศิลปินผู้รังสรรค์รูปแบบนั้นประสงค์จะให้พุทธศิลปะนั้นแสดงธรรมว่าด้วยเรื่องใด

ในที่นี้ยกตัวอย่างพุทธศิลป์ของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ในภาพของธรรมจักรมัญชุศรีก็คือ ท่านั่งขัดสมาธิเพชร หัตถ์ซ้ายแสดงท่าธรรมจักร มี ก้านบัวพันขึ้นไหล่ซ้าย ซึ่งหมายถึงหรือเป็นคติของปัญญาที่บริสุทธิ์ดังดอกบัว หัตถ์ขวาทรงดาบหรือพระขรรค์ ซึ่งหมายถึงกระบี่แห่งปัญญา อันคมกริบตัดอวิชชาทั้งปวง

ในความเชื่อของฝ่ายมหายานตันตระ นอกจากภาพของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ซึ่งแสดงความหมายของการแสวงหาหรือความรู้อันตัดอวิชชาทั้งปวงไปสู่ความบริสุทธิ์แล้ว ภาพของพระมัญชุศรีโพธิสัตว์อีกภาพหนึ่งเรียกว่า ยมานตกะ เป็นภาคของปางดุร้าย

ปางดุมิได้หมายความถึงความดุร้ายทำลายผู้อื่น แต่ปางดุของมหายานตันตระหมายถึง ความดุที่จะสยบมารทั้งหลาย

ยมานตกะ แปลว่า ผู้พิชิต หรือชนะ พระยม ซึ่งเป็นเทพแห่งความตาย

ยมานตกะ จึงหมายความถึงผู้ชนะความตายก็คือ ผู้พ้นไปจากสังสารวัฏ  





พระพุทธรูปปางทรงเครื่อง (ปางโปรดพญาชมพูบดี)

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทองทรงเครื่องอย่างกษัตริย์หรือจักรพรรดิ

ลักษณะของการทรงเครื่องจักรพรรดินี้เกิดในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ นับเนื่องหรือหมายเอาว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นหน่อพุทธางกูร หรือพระโพธิสัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องจึงหมายถึง พระเจ้าแผ่นดินผู้ปรารถนาจะบรรลุพระนิพพาน

ในคติมหายานพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ มีฐานะเป็นพระไวโรจนพุทธ หรือพระชินพุทธ หรือพระพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกายหรือกายทิพย์ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้สามารถเอาชนะกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง และหมายถึงจุดเริ่มต้นมีธรรมกายหรือกฎสากลสมบูรณ์

พระพุทธรูปองค์นี้ในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุฯ มีคำอธิบายว่ามาจากคติของฝ่ายมหายานจากมหาชมพูบดีสูตรปรับแต่งเข้ากับนิทานพื้นบ้านทางภาคเหนือ เป็นปางโปรดพญาชมพูบดีซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจมากในชมพูทวีป ผู้มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดแต่ผู้เดียว พระพุทธเจ้าเนรมิตกายของพระองค์ให้พญาชมพูบดีเห็นว่ายังมีสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า และตรัสเทศนาในมหาชมพูบดีสูตรแก่พญาชมพูบดี

ในความหมายการแสดงพระธรรมในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือคำสอน ๓ ประการคือ

การเห็นสิ่งที่เป็นสาระและมิใช่สาระ

โทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสังสารหรือคุณแห่งพระนิพพาน

ความลุ่มหลงในเบญจขันธ์หรืออุปาทานขันธ์ คือความยึดมั่นถือมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ว่าเป็นตัวตนเป็นตัวกูของกู ยึดมั่นในความเชื่อถือตามความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว การยึดมั่นถือมั่นในข้อปฏิบัติในวิถีชีวิตของตนแต่ฝ่ายเดียว และการยึดมั่นถือมั่นในความผูกพันติดใจ ข้องใจ ในความนึกความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่เป็นสาระทั้งสิ้น

นอกจากพระพุทธรูปปางนี้จะแสดงธรรมดังกล่าวข้างต้น รูปลักษณะหรือพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปปางนี้เป็นท่านั่งที่เหมือนกับปางมารวิชัย อันมีความหมายถึงการบอกกล่าวแก่ พุทธบริษัท ถึงการพ้นไปจากสังสารวัฏของพระพุทธเจ้า

แสดงด้วยการชี้พระหัตถ์ลงสู่พื้น เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้อยู่เหนือโลกหรือเหนือสังสารวัฏแล้ว  




ช่อฟ้าแบบโหง่
สัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอีกรูปแบบที่แตกต่างจาก ช่อฟ้า หรือ สัตบริภัณฑ์ ที่บรรยายไว้ก่อนหน้านี้นี้ ช่อฟ้าประเภทนี้เป็นองค์ประกอบอาคารทางพุทธศาสนา พระอุโบสถหรือวิหารในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง เป็นส่วนใหญ่
  

ช่อฟ้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว (ช่อฟ้าแบบปากนก) กรุงเทพฯ

ช่อฟ้าประเภทนี้ มักจะมีลักษณะหรือสัญลักษณ์ของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่ตั้งอยู่เชิงเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาศ อันหมายถึงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่สถิตของบรรดาผู้วิเศษหรือผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีบุญ



ช่อฟ้าวิหารหลวง วัดสุทัศน์ (ช่อฟ้าแบบปากปลา) กรุงเทพฯ

เพราะฉะนั้นการเอารูปแบบบางส่วนของสัตว์ในหิมพานต์มาประดับไว้ตามตัวอาคาร จึงเป็นสัญลักษณ์ให้ตัวอาคารนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วย คุณวิเศษ๓ ประการ  คือ พุทธคุณ ปัญญาคุณ และ กรุณาคุณ ที่มีพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์

ตามรูปตัวอย่าง จะเห็นว่าช่อฟ้าที่ประดับอยู่ในอาคารนี้มีหลายรูปแบบ ที่สำคัญตั้งแต่ในภาคเหนือตอนล่างลงมาตลอดภาคกลาง มักจะมีลักษณะคล้ายกัน เรียกว่า ช่อฟ้าแบบปากนก (บางทีเรียกปากครุฑก็มี) และ แบบปากปลา



ช่อฟ้าวิหาร วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ (ช่อฟ้าแบบหัวช้าง)

แบบปากนก หมายถึง หงส์ และมีใบระกาและหางหงส์ที่ปลายล่างของหลังคา เป็นสัญลักษณ์ของหงส์ พาหนะของพระพรหม ถ้าเรียกว่า ปากครุฑ ตัวเชิงชายปิดกระเบื้องมักจะทำเป็นตัวนาคสะดุ้ง (เพราะครุฑจะจับนาคหรืองูกินเป็นอาหาร) สัญลักษณ์ของครุฑก็คือพาหนะของพระนารายณ์ (ผู้คุ้มครองโลก)

ถ้าเป็นช่อฟ้าแบบปากปลา เป็นสัญลักษณ์ของพญานาค ตัวอาคารก็จะแปลเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาล นอกจากนี้อาจจะมีช่อฟ้าในรูปแบบอื่นๆ เช่น เป็นรูปหัวช้าง ดังเช่น ช่อฟ้าวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ หมายถึงช้างศักดิ์สิทธิ์ในแดนหิมพานต์ ตัวอาคารนั้นก็หมายถึง เขาศักดิ์สิทธิ์ คือเขาไกรลาศ

ส่วนในภาคอีสาน ช่อฟ้าที่เรียกกันว่า โหง่ ก็คือหงอนของพญานาค สัญลักษณ์ตัวอาคารก็จะหมายถึงเช่นเดียวกับอาคารที่มีช่อฟ้าเป็นช่อฟ้าปากปลา คือ เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลหรือเขาพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่โดยมีทะเลสันทันดรล้อมรอบอยู่



โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด
2919  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 15 ธันวาคม 2559 16:05:57

ราชรถ

ราชรถ หมายถึงพาหนะแห่งองค์พระราชา ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้า หรือสัตว์อื่น เช่น วัว หรือลา หรือล่อ หรือแม้แต่คน ตัว รถะ ทำด้วยไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เพื่อให้มีความสง่างามสมกับที่จะใช้เป็นราชพาหนะแห่งองค์พระราชา อย่างไรก็ตาม ตัว รถะ ได้มีการตกแต่งเพิ่มความอลังการมากขึ้นทุกที จนมีการปิดทองประดับกระจกและอัญมณี หรือมีการหุ้มด้วยแผ่นทองดุนลายดอกไม้ประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ แทนการแกะสลักลงในเนื้อไม้โดยตรงดังที่พบอยู่ทั่วไป ก็มีเพิ่มขึ้น ดังจะพบชิ้นส่วนของเครื่องตกแต่งเช่นนี้อยู่มากมายเช่นกัน ซึ่งจะพบได้ในมรดกทางวัฒนธรรมของอารยประเทศในอดีต อาทิ อินเดีย อียิปต์ จีน เมโสโปเตเมีย โรมัน และเปอร์เซีย เป็นต้น สำหรับอารยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบมาก ทั้งในประเทศไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย โดยมีหลักฐานที่เป็นเครื่องสนับสนุนการใช้ราชรถของพระราชา จากภาพสลักตามโบราณสถาน จากจิตรกรรมฝาผนัง จากชิ้นส่วนเครื่องประดับตัวราชรถที่ทำด้วยโลหะมีค่า และจากโบราณวัตถุตัวราชรถองค์จริงที่หลงเหลืออยู่

ในสมัยโบราณการเดินทางไปในที่ต่างๆ จะใช้พาหนะในรูปแบบต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว บางครั้งพาหนะนั้นๆ จะเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของด้วย พาหนะในสมัยโบราณมีหลากหลาย อาทิ พาหนะที่เป็นสัตว์ มีม้า ช้าง ลา ล่อ พาหนะที่เทียมด้วยสัตว์ มีเกวียน ระแทะ ซึ่งเทียมด้วยวัวหรือควาย บางแห่งเทียมด้วยลาหรือล่อ ที่แบกด้วยคนมี เสลี่ยง คานหาม ยั่ว ยาน สำหรับราชรถนั้นมีทั้งที่เทียมด้วยม้าและลากด้วยกำลังคน ซึ่งราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก และรถที่พระราชาทรงใช้เมื่อเสด็จประพาสในที่ต่างๆ นอกพระราชวัง สำหรับราชรถที่ลากด้วยคนนั้นจะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีที่สำคัญ คือ พระราชพิธีพระบรมศพ


• กำเนิดราชรถ
ดินแดนที่มีอารยธรรมโบราณเกือบทุกแห่งทั่วโลก จะพบหลักฐานการใช้รถะหรือพาหนะที่มีรูปร่างคล้ายเกวียน หรือเป็นประทุน มีล้อตั้งแต่ ๒ ล้อขึ้นไป ใช้สัตว์เทียมลาก โดยมีประโยชน์ทั้งในการขนหรือบรรทุกของ ใช้ในการเดินทาง ใช้ในการล่าสัตว์ ใช้ในการศึกสงคราม และใช้ในการแห่แหนอย่างเป็นพิธีการ เช่น กระบวนแห่ต่างๆ ภาพรถะปรากฏหลักฐานที่เก่าที่สุดในภาพงานศิลปะสุเมอร์ อายุ ๓,๔๖๐-๑,๘๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชอันเป็นภาพของการใช้รถบรรทุกสินค้าไปขาย และราชรถของพระราชาซึ่งทรงกำลังรับเชลยศึก จากนั้นต่อมาปรากฏในศิลปะอียิปต์ อายุ ๒,๖๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ถึง พ.ศ.๕๑๓ ทั้งภาพเขียนบนผนังในวิหาร และภาพสลักในสุสานของกษัตริย์ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพรถศึกและราชรถที่กษัตริย์ฟาโรห์รามเสสที่ ๓ ทรงใช้ในการล่าสัตว์ และประพาสในที่ต่างๆ แบบรถะนี้เช่นเดียวกับที่ปรากฏในศิลปะกรีก อัสซีเรีย และโรมัน ส่วนในทวีเอเชีย ปรากฏภาพรถะในศิลปะอินเดียโบราณ เช่น ภาพสลักสาญจี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ มีภาพสลักราชรถหลายภาพที่ซุ้มประตู หรือโทรณะ เช่น ภาพพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปนมัสการพระสถูป ภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนพราหมณ์โทณะแห่งพระบรมสารีริกธาตุบนซุ้มประตูด้านทิศใต้ นอกจากนี้มีภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกบนซุ้มประตูด้านทิศเหนือ อันเป็นภาพพระเวสสันดรพร้อมด้วยนางมัทรีและกัณหาชาลี เสด็จออกจากเมือง โดยประทับบนราชรถ  อย่างไรก็ดี ราชรถที่สลักจากหินขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของอินเดียคือ วิหารแห่งเมืองคาร์นาค พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นวิหารที่บูชาพระสูรยะ วิหารนี้มีล้อรถขนาดใหญ่สลักจากหินประดับอยู่ด้านข้างวิหาร และด้านหน้าวิหารมีรูปม้า ๗ ตัวเทียมราชรถนี้ อันเป็นการจำลองภาพของพระสูรยะหรือพระอาทิตย์ ที่ทรงราชรถเพื่อทรงดูแลทุกข์สุขของโลกจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ศิลปกรรมอินเดียนั้นกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งศิลปะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นรูปแบบของศิลปกรรม วรรณกรรม และอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อจากอินเดียก็ได้แพร่เข้ามาในแถบนี้ด้วย เช่นเดียวกับการใช้รถะ หรือราชรถ ในราชสำนักและกองทัพ และจะพบหลักฐานภาพราชรถในงานศิลปกรรมของชาติต่างๆ ทั้งในพม่า กัมพูชา ลังกา ไทย และอินโดนีเซีย สำหรับการใช้รถะในราชอาณาจักรไทย ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัด งานศิลปกรรมเช่น ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง และภาพสลักบนหินและบนไม้ อันเป็นภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดก และภาพรามเกียรติ์ ดังที่พบภาพสลักบนทับหลัง หน้าบัน ของปราสาทหินศิลปะลพบุรี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เช่นที่ ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น ส่วนราชรถที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภายในโบสถ์วิหารสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ เช่นที่วัดเกาะแก้วสุทธาวาส และวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนหลักฐานด้านเอกสารพบทั้งในจารึกและวรรณคดีเรื่องต่างๆ อาทิ ปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิ รามเกียรติ์ และอิเหนา เป็นต้น โดยพบตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี จากอิทธิพลของความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ทำให้ทราบว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ที่ทรงราชรถ โดยมีลักษณะและสัตว์เทียมราชรถแตกต่างกัน อาทิ

๑.พระอินทร์ เทวะของพวกอริยกะในอินเดีย ถือว่าทรงเป็นจอมเทพผู้ยิ่งใหญ่คู่กับพระอาทิตย์ (อหุรมัศดา) ในอิหร่าน พระองค์ทรงสร้างโลกโดยทรงจัดที่และยกภูเขาขึ้นเป็นหลังคาโลก หรือเป็นท้องฟ้าและมีพระยมทรงช่วยปักเสาไม้ค้ำไว้ ต่อมาสถานะของพระอินทร์ได้เปลี่ยนไปเมื่อมีเทวะเพิ่มขึ้น จากคัมภีร์ไตรเภทพบว่า พระอินทร์ทรงเป็นเทวะองค์หนึ่งที่สถิตบนท้องฟ้า และเปลี่ยนไปเป็นเทวะผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธศาสนาได้ยอมรับพระองค์เป็นเทวดาในพระพุทธศาสนา และปรากฏพระนามต่างๆ อาทิ อัมรินทร์ มัฆวาน และที่คุ้นเคยคือ สหัสนัยน์ หรือพระผู้มีพระเนตรนับพัน เป็นเทวะซึ่งคอยดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทรงมีราชยาน ไพชยนตรถะ ที่มีแท่นแก้วเป็นที่ประทับ ราชรถนี้มีม้าแก้วเทียมถึง ๒,๐๐๐ ตัว ราชรถสร้างด้วยทองคำประดับอัญมณี หรือแก้วสัตตพิธรัตนและสร้อยมุกดา มีดอกไม้ทิพย์เป็นมาลัย อันแสดงถึงความงดงามวิจิตรอย่างยิ่ง แม้ว่าความจริงแล้วคนไทยจะรู้จักพระอินทร์ว่าทรงเป็นเทวดาที่สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีช้างเอราวัณ หรือไอยราพตเป็นพาหนะ หรือช้างทรง บางครั้งประทับบนม้าอจาไฉศรพ ซึ่งเป็นม้าทรงสีขาว และบ่อยทีเดียวที่พระอินทร์จะทรงราชรถสีทอง ไพชยนต์ หรือ เวชยันต์ เทียมด้วยม้าสีทอง และจากไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงนครไตรตรึงส์ของพระอินทร์ว่า จะได้ยินเสียงช้างแก้ว และราชรถแก้วที่ไพเราะ

๒.พระสูรยเทพ หรือพระอาทิตย์ เทวะองค์แรกของชาวอริยกะ ซึ่งอยู่ในอิหร่าน และนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและเป็นอมตะ เดิมพระนาม อหุรมัศดา หรืออสุระ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลง ฐานะของพระสูรยะก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเทพชั้นรอง และได้มีเทวนิยายของพระองค์ที่เกี่ยวกับการกำเนิดว่า ทรงเป็นโอรสของพระกัศยปและนางอทิติ เนื่องจากนางอทิติ พระชนนีไม่ได้นำพระองค์ไปเฝ้าพระเป็นเจ้าศิวะ จึงทำให้พระสูรยะต้องทรงราชรถที่เทียมด้วยม้า ๗ ตัวไป เพื่อให้แสงสว่างแก่โลก และทรงอยู่ระหว่างเทวโลกกับมนุษยโลก โดยมีอรุณเทพบุตรเป็นสารถี และราชรถของพระองค์มีล้อเดียว

๓.พระอัคนี หรือพระเพลิง ทรงเป็นเทพเจ้าบนโลก อันเป็นภาคหนึ่งใน ๓ ภาคตามที่ปรากฏในไตรเภท นั่นคือภาคหนึ่งทรงเป็นพระอาทิตย์ เทวะแห่งสวรรค์ ทรงเป็นพระอัคนี เทวะแห่งสายฟ้าในอากาศและเป็นพระเพลิง หรือไฟบนพื้นโลก กล่าวว่าพระอัคนีทรงมี ๒ พักตร์ ๔ กร ๗ ชิวหา มีควันเป็นมงกุฎ มีกายเป็นสีไฟ ฉลองพระองค์สีม่วง มีแกะเป็นพาหนะ บางครั้งทรงราชรถที่เทียมด้วยม้าสีแดง

๔.พระจันทร์ หรือพระโสมะ ทรงเป็นเทวะที่สถิตบนโลก จากคัมภีร์ปุราณะ ได้บรรยายถึงลักษณะของพระจันทร์ว่า ทรงมีรูปงาม ผิวขาว พระวรกายเล็กสะโอดสะอง มีรัศมีเป็นสีขาว ทรงฉลององค์อย่างกษัตริย์ มีแก้วประพาฬเป็นอาภรณ์ ทรงราชรถเพื่อตรวจโลกในยามราตรี ราชรถของพระองค์มี ๓ ล้อ เทียมด้วยม้าสีขาวดังดอกมะลิ ๑๐ ตัว

๕.พระวายุ หรือพระพาย ทรงเป็นเทวะบนท้องฟ้าตามความเชื่อของพวกอริยกะ หรืออารยัน จากคัมภีร์พระเวทที่บรรยายพระวายุว่า ทรงมีพระวรกายสีขาว ทรงมี ๔ กร ฉลองพระองค์สีน้ำเงิน ทรงมงกุฎ พาหนะประจำพระองค์คือกวาง หรือมฤค แต่บางครั้งจะทรงราชรถแก้วและเทียมด้วยม้าสีแดงแต่บางตำราว่าเป็นสีม่วง

๖.พระอัศวิน เทวะของพวกอารยันที่สถิตบนสวรรค์ มีตัวเป็นม้าหน้าเป็นมนุษย์ และเป็นเทวะที่มีสององค์ หรือเทวดาแฝด องค์หนึ่งนามว่าพระนาสัตยอัศวิน และอีกองค์หนึ่งนามพระทัสรอัศวิน ทั้งสององค์มีกายสีแดงเรื่อ ทรงแต่งองค์ด้วยสร้อยนวม และทองพระกร ทรงมีมเหสีองค์เดียวกันนามมัทรี พระอัศวินทรงมีราชรถสีทองเทียมด้วยม้าคู่ แต่บางตำราว่าเทียมด้วยนก



(บน) รถศึกของอียิปต์โบราณ เทียมด้วยม้า
(ล่าง) ลักษณะรถศึกของกรีก เทียมด้วยม้าคล้ายของอียิปต์


(บน) ราชรถของพระสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘
(กลาง) ราชรถที่ใช้ในการสงครามหรือรถศึกจากภาพสลักที่นครธม ศิลปะเขมร
แบบบายน พุทธศตวรรษที่ ๑๘
(ล่าง) ราชรถจากภาพสลักที่บุโรพุทโธ แสดงรูปแบบของราชรถในสมัยศรีวิชัย
ซึ่งน่าจะมีลักษณะรูปแบบเดียวกัน พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘

จากอิทธิพลทางความเชื่อในศาสนาพราหมณ์จากอินเดียที่แพร่เข้ามานี้ จึงทำให้ราชรถซึ่งเป็นพาหนะของเทพเจ้าเข้ามามีบทบาทในราชสำนักของไทยด้วย เพราะความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นอวตารขององค์เทวะ เช่น อวตารของพระวิษณุ หรืออวตารของพระราม เป็นต้นนั่นเอง แต่คติการใช้ราชรถของอินเดียแบบหนึ่งที่ไม่ปรากฏในประเพณีของไทย คือการใช้ราชรถในการเสี่ยงหาผู้มีบุญญาบารมีมาเป็นกษัตริย์ เพราะจากชาดกหลายเรืองจะใช้ราชรถในการนี้ ดังเช่น จากปัญญาสชาดกเรื่อง พญาสุภมิตร มีการใช้ ปุสราชรถ เสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการเป็นกษัตริย์เมืองตักสิลา หรือเรื่องพระมหาชนกพบว่าอำมาตย์ราชปุโรหิตาจารย์แห่งเมืองมิถิลา ได้จัด บุศยราชรถ เทียมด้วยม้าสีดอกโกมุท ๔ ม้า ซึ่งเป็นราชรถที่เป็นมงคลเสี่ยงออกไปหาผู้มีบุญมาเป็นกษัตริย์ สำหรับราชรถนี้ตามคติอินเดียจะมีการลาดเครื่องลาดที่สวยงาม เบื้องบนประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ห้าประการ แวดล้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา และชาวประโคมดนตรี มีการประพรมสายหนัง เชือก แอก ประตัก ด้วยน้ำมงคลจากพระเต้าทองคำ ดังนี้ เป็นต้น

• หลักฐานเกี่ยวกับราชรถในประเทศไทย
การใช้ราชรถก่อนสมัยอยุธยา ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พบว่ามีหลักฐานเกี่ยวกับ รถะ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้วในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ นั่นคือจากจารึกเพนียด ๑ ซึ่งพบที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีข้อความที่กำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่จะผ่านพระอาศรม ต้องลงจากรถ ลงเดินโดยไม่มีฉัตรหรือกลดกั้น ซึ่งคำแปลจากจารึกจะใช้ รถ ก็ตาม แต่ในตัวจารึกภาษาสันสกฤตนั้นใช้คำว่า ยานา ซึ่งคือยานพาหนะนั่นเอง โดยอาจกล่าวได้ว่า ภาษาโบราณนั้นมีทั้งคำ รถ และ ยาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะของพาหนะทั้งสองคำนี้น่าจะมีข้อสังเกตถึงความแตกต่างได้ว่า รถะ เป็นพาหนะที่มีล้อใช้ในการขับเคลื่อน แต่ยาน เป็นพาหนะที่มีคานสำหรับใช้คนหามไป

จากจารึกอุบมุง พบที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจารึก พ.ศ.๑๕๓๖ ด้านที่ ๓ กล่าวว่าได้มีพระบรมราชโองการให้เสตงอัญขี่เสลี่ยงไปทำหน้าที่บูชาพระกัมรเตงอัญประสาน โดยคำเสลี่ยงนี้ในตัวจารึกใช้คำ เสนง ซึ่งก็แสดงว่าพาหนะประเภทเสลี่ยงก็มีชื่อเรียกแล้ว

ในจารึกปราสาทพนมวัน ๒ จารึก พ.ศ.๑๕๙๘ บรรทัดที่ ๑๕ กล่าวถึงพระเจ้าศรีสูรยวรมันพระราชทาน รถานิทศ แก่วีรวรมัน แต่แปลกที่คำแปลของจารึกคำนี้ แปลว่า เสลี่ยง แทนที่จะใช้ศัพท์รถา ตามที่ปรากฏในจารึก

จารึกปราสาททัพเสียม ๒ พบที่ปราสาททัพเสียม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จารึกใน พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นจารึกที่กล่าวสรรเสริญพระศิวะ และพระเจ้าศรีสูรยวรมัน พบว่าในโศลกที่ ๑๐ กล่าวถึงราชยานว่า

“ยานประดับด้วยทรัพย์มากมาย มีดาวทองคำเป็นส่วนหนึ่ง
แห่งการตกแต่งตามความคิด เป็นหน้างูแกว่งไปมา ภูษาอันงดงาม
ซึ่งบุคคลได้ทำเป็นเครื่องประดับเพราะความเลื่อมใสในพระราชา...”

อย่างไรก็ดีพบว่า ในจารึกกลับใช้คำว่า ยาน แทนก็ตาม แต่ตัวจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤตกลับใช้คำว่า รถา ซึ่งคือ รถ นั่นเอง

รถะหรือราชรถ จะใช้เป็นราชยานของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง และมักใช้ในการเดินทางระยะไกลพอสมควร โดยจัดเป็นริ้วกระบวนแห่แหนคล้ายการจัดกองทัพ ริ้วกระบวนแห่นี้เรียกกันว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค และใช้เรียกทั้งกระบวนที่ไปงานมงคลและงานอวมงคล กระบวนพยุหยาตราสถลมารคมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และภาพเขียนแสดงการจัดริ้วกระบวนมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา แต่ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัดในราชอาณาจักรไทย แต่พบว่ามีการจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคในภาพสลักนูนต่ำ บนผนังรอบระเบียงของปราสาทนครวัดและปราสาทบายน ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งตามความเป็นจริง ในราชอาณาจักรไทยก็น่าจะมีการจัดกระบวนพยุหยาตราลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเป็นแบบที่มาจากการจัดกระบวนทัพนั่นเอง





กระบวนพยุหยาตราสถลมารคของไทยแต่โบราณ จะจัดสายกระบวนตามแบบการจัดกระบวนทัพโบราณ ซึ่งรับแบบอย่างตามตำราพิชัยสงครามของฮินดู คือ พลรถ พลช้าง พลม้า และพลเดินเท้า แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงนิพนธ์ไว้ใน สาสน์สมเด็จ ว่า กองทัพไทยแต่โบราณไม่มีพลรถ ซึ่งอาจจะหมายถึง รถในกองทัพ แต่มิได้หมายถึง ราชรถที่ใช้ในราชสำนัก ซึ่งมีทั้งที่ใช้ส่วนพระองค์ และใช้ในพระราชพิธี เพราะพบว่า จากตำรากระบวนเสด็จครั้งกรุงเก่าที่กล่าวถึงกระบวนทางสถลมารคเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ซึ่งเป็นการเสด็จส่วนพระองค์นั้น มีกล่าวถึงกระบวนรถด้วย โดยมีขุนนาง ทหาร พบเรือน คอยควบคุม ดังความว่า

“....หมื่นนรินทรเสนี หมื่นศรีสหเทพ เกณฑ์ขุนหมื่น ตามรถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
และพระเจ้าลูกเธอรับเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาท... ฝ่ายทหารขุนพิชัยนุราชรถาจารย์
เจ้ากรม หมื่นมณีราชรถ ปลัดกรม รวมฝ่ายทหาร ๒ นาย ขุนราชยานบริรักษ์
เจ้ากรม หมื่นรัถภูบาล ปลัดกรม ฝ่ายพลเรือน ๒ นาย รวมเป็น ๔ นาย

รถพระที่นั่งทรงจัตุรมุข พนักงานสี่ตำรวจรวมกันรถ ๑ พระประเทียบ กรมหลวง
พิพิธมนตรี สนมตำรวจซ้าย ขวาทำรถ ๑ รถพระราชทานพระสงฆ์ รถสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอ รถพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ รถฝ่ายทหารเป็นพนักงาน
ตำรวจในซ้ายขวา ตำรวจใหญ่ซ้ายขวา ตำรวจนอกซ้ายขวา ทหารในซ้ายขวา
สนมทหารซ้ายขวา อาสาหกเหล่า และรถฝ่ายพลเรือนเป็นพนักงานมหาดไทย
(หน้าที่) ขุนราชอาญา สมุหบัญชี จตุสดมภ์ กรมช้างซ้ายขวา กรมสรรพากรใน
กรมสรรพากรนอก กรมล้อมวัง ได้ทำและกระบือชักรถนั้น กรมนาได้จ่าย...”

จากบทความดังกล่าว น่าจะยืนยันได้ว่า มีพลรถในราชอาณาจักรไทยเช่นกัน เพียงแต่มิใช่มีมากจนสามารถจัดเป็นกองทัพได้อย่างกองทัพช้าง หรือพลเดินเท้า

ราชรถที่ใช้ในการเสด็จประพาสนี้ ตัวรถมีขนาดนั่งได้ ๑-๓ คน ทั้งมีหลังคาและไม่มีหลังคา ตัวรถแกะสลักลงรักปิดทอง ล้อขนาดใหญ่ ๒-๔ ล้อ รถมักเทียมด้วยม้า แต่พบว่าในสมัยอยุธยาเทียมด้วยกระบือ รถมีทั้งรถพระที่นั่ง รถพระประเทียบสำหรับพระมเหสี จะเป็นรถพระที่นั่งจัตุรมุข และรถสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งรถนี้หากประชาชนใช้ น่าจะมีลักษณะคล้ายกับเกวียนนั่นเอง

สำหรับรถศึก ตามที่กล่าวแล้วว่า พระมหากษัตริย์ไทย มิได้ทรงรถศึกในการสงคราม เพราะส่วนใหญ่จะทรงช้างพระคชาธาร หรือม้า แต่จากภาพแกะสลักบนทับหลังที่ปราสาทหินพิมาย เป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ได้ปรากฏภาพราชรถที่เป็นรถศึกเทียมม้า ราชรถนั้นแสดงรูปแบบคล้ายราชรถอินเดีย ภาพสลักดังกล่าวมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หลังจากนั้นได้ปรากฏรถศึกในภาพจิตรฝาผนังสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรายละเอียดสวยงามอลังการมากขึ้น


• การใช้ราชรถในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
ในสมัยอยุธยาพบว่า มีการใช้ราชรถในการอื่นๆ ด้วย อาทิ ใช้ในการอัญเชิญพระราชสาสน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๙ นั่นคือ อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่เดอโชมองต์เป็นราชทูตนำมาจากฝรั่งเศส

มีการใช้ราชรถในพระราชพิธีอินทราภิเศก อันเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกใหม่ เมื่อทรงปราบประเทศราชได้ไว้ในพระราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดมีเพลิงไหม้ในพระราชวังอย่างมาก นอกจากการประกอบพระราชพิธีนี้แล้ว ได้มีงานสมโภช มีการเล่นมหรสพ นานถึง ๑ เดือน แล้วพระราชทานสัตสดกมหาทาน มีช้างเผือก เงิน รถ และสตรี ดังเช่นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๐

อย่างไรก็ดีพบว่า มีรถแบบหนึ่งที่จะทรงในระยะทางไกล เรียกว่า รถยางโลสง ซึ่งจะมีมหาเทพหรือมหามนตรี เป็นผู้ขับรถ ธรรมเนียมในราชสำนักนี้คงมีมานานแล้ว จึงได้มีการปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยอยุธยาด้วย เช่นเดียวกับการใช้มหาพิชัยราชรถ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงไปพระราชทานพระกฐินในเดือน ๑๑ ด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค และจะประทับเรือพระที่นั่งกิ่งเมื่อเสด็จทางชลมารค จึงเป็นการใช้มหาพิชัยราชรถอีกพระราชกิจหนึ่ง นอกเหนือจากงานพระเมรุมาศ

ลักษณะราชรถสามารถทราบได้จากวรรณคดี โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถศึก ดังความที่กล่าวถึง อินทรชิตยกทัพไปรบกับหนุมานว่า


รถเอยรถศึก     แอกงอนพันลึกงามระหง
กำแก้วสลับประดับกง     ธูปธารดุมวงอลงกรณ์
บุษบกบัลลังก์ลอยฟ้า     เทียมด้วยพญาไกรสร
สารถีมือถือโตมร     ธงปักปลายงอนโบกบน
มยุรฉัตรอภิรุมชุมสาย     ธงริ้วทิวรายสับสน
โยธียักเยื้องอึงอล     กาหลฆ้องกลองโครมครึก
สำเนียงเสียงพลโห่ร้อง     เริงร่าลำพองคะนองศึก
มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก     ขับกันคึกคึกรีบมาฯ

สำหรับราชรถของพระรามนั้นก็ได้บรรยายไว้เช่นกัน และเรียกราชรถว่า พิชัยรถ

รถเอยรถแก้ว     เพริศแพรวกำกงอลงกต
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด     เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยันสุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย
ดุมเพลาวาววับประดับพลอย     แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสินธพเทพบุตรทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
มาตุลีขับโผนด้วยกำลัง     รี่เรื่อยเร็วดั่งลมพัด
เครื่องสูงมยุรฉัตรชุมสายธงฉานธงชายปลายสะบัด
กาหลพลแห่เยียดยัด     ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก
โยธาโลดโผนโจนทะยาน     เริงร่าลำพองคะนองศึก
เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นพันลึกคึกคึกรีบข้ามชลธี

สำหรับราชรถของทศกัณฐ์มีบรรยายว่า

รถเอยราชรถทรง     แก้วสลับประดับกงอลงกต
แอกช้อยชายงอนอ่อนชด     ชั้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย
สี่มุขงามแม้นพิมานมาศ     เครือหงส์สิงหาสน์ช่อห้อย
ดุมเพลาแสงพลามอร่ามพลอย     กาบช้อยแก้วช่วงอรชร
เทียมสัตว์จัดสรรค์ราชสีห์     เกศาล้วนมีเกสร
สารถีมือถือโตมร     ขับเผ่นอัมพรดั่งลมพัด
เครื่องสูงบังแทรกชุมสาย     ธงฉานธงชายกระชิงฉัตร
กาหลพลแห่เยียดยัด     เป็นขนัดกลาดแน่นอึงอล

จากคำกลอนที่บรรยายถึงความของรถะที่เป็นพาหนะในสมัยโบราณว่า มีการประดับตัวรถะให้อลังการตามฐานานุภาพของแต่ละบุคคล แต่รถะก็มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ ตัวรถะมีแอก คือ คานข้างตัวรถะเป็นรูปปลายงอน ล้อรถรูปกลมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นดุมล้อ กงล้อ และกำ ล้วนตกแต่งอย่างงดงามเหมือนประดับด้วยแก้วหรืออัญมณี รถะบางองค์ ตรงส่วนที่เป็นกำ กง และแอก จะสลักลวดลายอย่างงดงามด้วยลายเครือเถาบ้าง ลายสิงห์บ้าง รวมทั้งลายครุฑยุดนาค บนราชรถตั้งบุษบกบัลลังก์เพื่อเป็นที่ประทับนั้น แกะสลักด้วยลายเครือเถาก้านขด และรูปสิงห์หน้าอัด และครุฑยุดนาค รวมทั้งส่วนที่เป็นเพลา และแปรก  ราชรถแต่ละองค์จะมีสารถีหรือคนขับเฉพาะที่ช่ำชอง ซึ่งบางคนถือโตมร สารถีราชรถของพระรามเทียมด้วยม้าเทพบุตรสีขาว ส่วนของทศกัณฐ์เทียมด้วยราชสีห์หรือสิงห์ กระบวนแห่แหนราชรถนั้นประดับด้วยเครื่องสูง เช่น มยุรฉัตร อภิรุม ชุมสาย ธงทิว ธงฉาน ธงชาย บังแทรก บางครั้งมีกระชิงด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและฐานะของแต่ละคนนั่นเอง





ลำดับต่อไป
ราชรถสำหรับงานพระเมรุ
โปรดติดตาม
2920  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อ: 14 ธันวาคม 2559 16:39:02

. องค์ประกอบและความงามทางศิลปกรรม .

• พระเสลี่ยง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระเสลี่ยงที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูงเหลืออยู่ในปัจจุบันหลายองค์ ลักษณะของพระเสลี่ยงจะมีต่างๆ กัน พื้นที่ประทับทำด้วยไม้กระดานทึบบ้าง ไม้ตีเป็นตารางบ้าง หรือทำด้วยหวายสานบ้าง หวายเส้นผูกเรียงกันบ้าง ลักษณะพนักด้านข้างมีทั้งที่ทำเป็นกงโค้งโอบไปด้านหลัง และพนักเหลี่ยมล้อไปกับฐานพระเสลี่ยง พนักพิงหลังก็มีทั้งที่ทำด้วยไม้แกะสลักทรงกลีบขนุน และทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับกระจกเป็นลวดลาย ความแตกต่างของพระเสลี่ยงกับพระราชยานน่าจะอยู่ที่ความสูงของชั้นฐานซึ่งพระราชยานน่าจะมีฐานสูงกว่า แต่บางครั้งก็แยกไม่ค่อยได้เนื่องจากมีการเรียกปะปนกันระหว่างพระเสลี่ยงและพระราชยาน พระเสลี่ยงองค์งามๆ เก็บรักษาไว้ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไสและพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิตหลายองค์ ความสง่างามของพระเสลี่ยงอยู่ที่ลายแกะสลักและประดับกระจกที่ฐานซึ่งจะละเอียดมากเพราะฐานค่อนข้างเตี้ย จากนั้นจะได้แก่กระจังปฏิญาณด้านข้างและด้านหลังพระเสลี่ยง ลายสลักหรือประดับกระจกของพนักพิงและลายประดับพนักลูกกรง ซึ่งอาจแกะสลักด้วยไม้หรืองาก็ได้ ลวดลายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามความสร้างสรรค์ของช่าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระเสลี่ยงองค์หนึ่งในพระตำหนักสวนฝรั่งกังไสและพระเสลี่ยงกลีบบัว


พระเสลี่ยง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระเสลี่ยงในพระตำหนักสวนฝรั่งกังไส
พระเสลี่ยงองค์นี้เก็บรักษาอยู่ในห้องยาวด้านในสุด หลังห้องซึ่งมีพระฉายาสาทิสลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ชั้น ๒ ของพระตำหนัก สร้างด้วยไม้ประกอบหวาย มีคานหามถอดได้ ๒ คาน ตัวลำคานทำด้วยไม้ทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทาสีทอง องค์พระเสลี่ยงทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกมีฐานเตี้ยเป็นฐานสิงห์มีส่วนประกอบจากล่างมาบนดังนี้

หน้ากระดานเชิงฐานแกะสลักลาย ฐานชั้นสิงห์แกะสลักลวดลาย กาบเท้า ปาก และจมูกสิงห์ ท้องสิงห์ประดับกระจก บัวหลังสิงห์แกะสลักลวดลาย ท้องไม้ประดับกระจกโดยรอบ เหนือท้องไม้สลักเป็นลายบัวหงายที่ละเอียดมาก ตอนบนขึ้นไปแกะสลักเป็นลายเนื่องโดยรอบ ส่วนบนฐานประดับด้วยกระจังปฏิญาณซึ่งจะเรียงจากด้านข้างทั้ง ๒ มีขนาดเล็กไปหาใหญ่ กระจังตัวกลางด้านหลังพระเสลี่ยงจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งลักษณะที่ไล่ขนาดและความอ่อนช้อยของฝีมือช่าง จะทำให้ดูมีความพลิ้วไหวของกระจังทำให้งามยิ่งขึ้น ถัดจากกระจังปฏิญาณจะเป็นพนักกงซึ่งทำด้วยไม้กลึงและมีพนักพิงหลังเป็นทรงกลีบขนุน ด้านหน้าพนักเรียบไม่แกะลาย ด้านหลังสลักเป็นลายก้านต่อดอกที่ละเอียดประณีต ปิดทองประดับกระจก พื้นพระเสลี่ยงทำด้วยหวายเส้นผูกเรียงกัน ด้านล่างพระเสลี่ยงมีห่วงโลหะ ๔ ห่วงสำหรับสอดคานหาม


• พระเสลี่ยงกลีบบัว
ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม ๒ คาน ได้รับการซ่อมบูรณะ ใน พ.ศ.๒๕๒๗ เพื่อเป็นที่ประทับของพระราชาคณะอ่านพระอภิธรรมนำพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ขนาดกว้าง ๐.๘๒ เมตร ยาวรวมคาน ๔.๒๐ เมตร สูง ๑.๑๐ เมตร ลำคานเป็นไม้กลมกลึงทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจก หนังสือ จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เล่ม ๑ อธิบายส่วนประกอบไว้ดังนี้

“.....แท่นเสลี่ยงกลีบบัวเป็นฐานสิงห์บัวลูกแก้ว หน้ากระดานล่างปิดทองเรียบ
เหนือเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยปิดทองประดับกระจก หน้าเท้าสิงห์ปิดทองเรียบ
ใต้ท้องฐานประดับฟันสิงห์ปิดทองประดับกระจก เส้นลวดประดับกระจังตาอ้อย
ปิดทองประดับกระจกซ้อนลูกแก้วอกไก่แกะสลักลายรักร้อยปิดทอง ขอบลูกแก้ว
ประดับกระจังฟันปลาปิดทองทั้งด้านบนและด้านล่าง ท้องไม้ทาสีแดงเรียบ
ลวดบัวประดับกระจังฟันปลาปิดทอง บัวหงายแกะสลักลายบัวรวนปิดทองประดับ
กระจก ซ้อนเส้นลวดเดินเส้นทอง หน้ากระดานบนประดับลายประจำยามก้ามปู
ประดับเส้นลวดเดินเส้นทอง เหนือหน้ากระดานบนประดับกระจังตาอ้อยซ้อนลาย
กลีบบัวปิดทองประดับกระจก ๓ ด้าน ยกเว้นด้านหน้า ขอบบนเหนือลายกลีบบัว
ทำเป็นราวพนักพิงกลมติดซี่ลูกกรงโปร่งปิดทองเรียบ ประดับกระจังปฏิญาณใหญ่
รูปกลีบบัวด้านนอกปิดทองประดับกระจก  ด้านในปิดทองเรียบ ๓ ด้าน  ยกเว้น
ด้านหน้าพนักพิงหลังซึ่งซ้อนอยู่ในกระจังปฏิญาณอีกชั้นหนึ่ง ด้านนอกแกะสลัก
ลายปิดทองประดับกระจก ด้านในปิดทองเรียบ”


พระเสลี่ยงกลีบบัว พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระวอประเวศวัง
พระวอประเวศวังเป็นพระราชยานประเภทมีหลังคา ความงามของพระวอจะอยู่ที่ลายปักที่ผ้าดาดหลังคา ระบายโดยรอบ และหน้าบัน ซึ่งความงามดังกล่าวนี้เป็นส่วนที่เพิ่มมาจากกระจังปฏิญาณและลายแกะสลักแท่นฐานตามที่มีในพระเสลี่ยงทั่วไป

พระวอประเวศวังองค์ที่กล่าวมานี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๔๔๐ และซ่อมบูรณะใหม่ทั้งองค์ใน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยกรมศิลปากร องค์พระวอสร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วงสำหรับสอดคานหาม ลำคานทั้ง ๒ กลึงกลมทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ด้วยงา ส่วนประกอบต่างๆ มีอธิบายไว้ในหนังสือจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ดังนี้

“...ตัวพระวอเป็นเตียงรูปฐานสิงห์ปากบัว หน้ากระดานล่างแกะสลักลายประจำยามลูกโซ่ ประดับเส้นลวด เหนือเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยปิดทองประดับกระจก ท้องสิงห์ ประดับกระจกสีแดง บัวหลังสิงห์แกะสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจก คอฐานประดับกระจกสีน้ำเงินรูปดอกไม้ ๖ กลีบ บัวปากฐานแกะสลักลานลงรักปิดทองประดับกระจก เส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยซ้อนกระจังฟันสาม พื้นพระวอที่นั่งเป็นซี่หวาย ปูด้วยผ้าเยียรบับพื้นสีเขียวยกดอกสีทอง มีพนักรอบ เว้นช่องว่างสำหรับขึ้นลงทั้งสองข้าง ขอบพนักด้านนอกประดับกระจังปฏิญาณลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงหลังด้านนอกแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ด้านในปิดทองเรียบ เสาทั้งสี่มุมพระวอประดับผ้าม่านตาดทองมีซับในสีแดง มีสายรัดม่านที่กึ่งกลางเสาทุกเสา หลังคาคฤห์บุด้วยผ้าตาดทองเย็บลายทองแผ่ลวด งดงามประณีตทั้งผืน ที่จั่วหลังคาปักเป็นลายรูปพระเกี้ยวเหนือแว่นฟ้าตั้งประกอบเบญจาแวดล้อมด้วยลายก้านขดเปลว หลังคาปักเป็นลายใบเทศก้านแย่ง ชั้นเชิงกลอนเป็นลายเฟื่องอุบะ ชายคาเย็บทองแผ่ลวดเป็นลายกรวยเชิงห้อยระบายโดยรอบ"

พระวอประเวศวัง กว้าง ๐.๖๘ เมตร ยาวรวมคาน ๓.๘๐ เมตร สูง ๑.๗๗ เมตร



พระวอประเวศวัง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระวอสีวิกากาญจน์
เป็นพระวอที่มีลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาพระวอทั้งหลาย เนื่องจากมีเครื่องประดับหลังคาจำลองมาจากอาคารขนาดใหญ่ของไทย ประกอบด้วย ช่อฟ้า บราลี ใบระกา และหางหงส์ เป็นต้น ส่วนประดับเหล่านี้จะปิดทองเพิ่มความงามสง่าแก่พระวอ และเป็นเครื่องบอกว่าเป็นพระราชยานชั้นสูง พระวอสีวิกากาญจน์องค์ที่เก็บรักษาไว้ในพระปรัศว์ซ้ายของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นองค์ที่งดงามมากสภาพค่อนข้างบริบูรณ์ดี สร้างด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วง สำหรับสอดคานหาม คานหามมี ๒ คาน ลำคานกลึงกลมปลายเป็นหัวเม็ดทำด้วยงา แท่นพระวอเป็นฐานสิงห์ปากบัว ซึ่งหน้ากระดานล่างฐานสิงห์ ท้องไม้และบัวหงายสลักลายปิดทองประดับกระจกอย่างละเอียดประณีตงดงาม ด้านบนฐานประดับด้วยกระจังตาอ้อยทั้งด้านหน้าและหลัง เว้นเฉพาะทางขึ้นลงด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ถัดเข้าไปประดับด้วยกระจังปฏิญาณไม้สลักปิดทองประดับกระจกด้านละ ๑๓ ตัว ต่อจากนั้นทางด้านหน้าจะมีพนักเตี้ยๆ ส่วนด้านหลังพระวอเป็นกงและพนักพิงรูปกลีบขนุน ด้านในพนักพิงปิดทองเรียบ ด้านนอกแกะสลักลายและปิดทองประดับกระจก พื้นพระวอเป็นหวายเส้นผูกเรียงกัน หลังคาพระวอรองรับด้วยเสาย่อมุม ๔ เสา มีคันทวยรองรับชายคา หลังคาเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมีบราลีบนสันหลังคา ตัวหลังคาทำเป็นชั้นลด ดาดด้วยผ้าตาดปักทอง หน้าบันปักลายทองเป็นรูปพระเกี้ยวประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มีฉัตรเบญจา ๒ ข้าง ใต้หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน มีผ้าตาดปักทองติดแววเป็นระบายทั้ง ๒ ด้าน และมีม่านผ้าตาดทองซับในสีแดงผูกเป็นม่านที่เสาทั้ง ๔ ต้น

พระวอสีวิกากาญจน์นี้เมื่อเชิญเคลื่อนไปในกระบวนแห่จะดูสง่างามมาก แต่ภาพถ่ายอันเป็นหลักฐานในสมัยก่อนๆ มีน้อย จะเห็นรูปจำลองมากในภาพจิตรกรรมฝาผนังตามพระอารามสำคัญต่างๆ และมีพรรณนาความงามในวรรณกรรมของไทย เช่น เรื่องอิเหนา เป็นต้น



พระวอสีวิกากาญจน์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง



องค์ประกอบพระวอสีวิกากาญจน์
ด้านหน้า

๑.ช่อฟ้า     ๖.ระบาย
๒.ใบระกา     ๗.คันทวย
๓.นาคสะดุ้ง๘.ผ้าม่าน
๔.หน้าบัน     ๙.กระจังปฏิญาณ
๕.นาคเบือน     ๑๐.ฐานสิงห์


องค์ประกอบพระวอสีวิกากาญจน์
ด้านข้าง

๑.บราลี     ๕.เชิงชาย
๒.ช่อฟ้า     ๖.เสาบัลลังก์
๓.หน้าสุบรรณ๗.พนักพิง
๔.อกสุบรรณ     ๘.กง


๑.คานหาม ยานสำหรับขุนนางชั้นพระ หลวง มีใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ
จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๒.เสลี่ยงสำหรับอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ สมัยรัตนโกสินทร์
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พระเสลี่ยงหิ้ว (วังหน้า) เป็นพระราชยานเวลาปกติ
และใช้ในพิธีโสกันต์ และอุปสมบทนาคหลวง
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พระเสลี่ยง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
ประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔


พระเสลี่ยงปิดทองประดับเพชร พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต


พระเสลี่ยงขนาดเล็กสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ห้องสีชมพู
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต


พระเสลี่ยงขนาดเล็กสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ห้องสีชมพู
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต




พระเสลี่ยง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต





ลำดับต่อไป
ราชรถ
โปรดติดตาม







หน้า:  1 ... 144 145 [146] 147 148 ... 275
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.852 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 05 พฤษภาคม 2567 17:03:39