[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
04 ธันวาคม 2567 07:54:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมฐาน ๔๐  (อ่าน 14303 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 30 เมษายน 2558 12:09:24 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑ ตัดกังวล


โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีล และสมาทานพระกรรมฐานแล้ว การเจริญพระกรรมฐานสำหรับวันนี้มีภาวะไม่เสมอกัน เพราะคนเก่าบ้างคนใหม่บ้าง ฉะนั้นวันนี้จะขอพูดในเรื่องกิจเบื้องต้นของพระกรรมฐาน ตอนสุดท้ายอาจจะพูดในตอนจบ

การเจริญพระกรรมฐานมีอยู่ ๒ แบบ แบบที่ ๑ คือ สมถภาวนา แบบที่ ๒ ได้แก่ วิปัสสนาภาวนา สำหรับสมถภาวนานี้ เรามีความต้องการอย่างเดียวคือ ทรงสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ที่เรียกกันว่าจิตมีสมาธิ สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้นใช้ปัญญาเป็นเครื่องภาวนา ตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า เรียกว่า พยายามยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง นั่นเป็นบทของวิปัสสนาภาวนา
 
การเจริญกรรมฐานเบื้องต้นก็จำต้องใช้สมถภาวนา คือควบคุมอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ ถ้าสมถภาวนาของเราไม่ทรงตัว เราจะเห็นว่าวิปัสสนาภาวนาก็ไม่มีผล ถ้าหากว่าเราทรงจิตทรงสมถะทรงสมาธิได้มั่นคง ได้ถึงฌาน ๔ การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็แสนง่าย การที่จะบรรลุมรรคผลก็กำหนดเวลาได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ามีบารมีแก่กล้าก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลางก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ เดือน ถ้ามีบารมีอย่างทรามที่สุดก็จะได้บรรลุอรหัตผลภายใน ๗ ปี
 
คำว่าบารมีในที่นี้ก็ได้แก่กำลังใจ ถ้าเรามีกำลังใจครบถ้วนก็ได้ชื่อว่ามีบารมีเต็ม

การที่จะใช้ศัพท์ว่า เรามีบารมีอ่อน อันนี้ไม่เป็นความจริง เดิมทีก่อนจะเกิดมาถ้าจะมีบารมีอ่อนอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าบารมีนี่เราสร้างใหม่กันได้ ถ้าเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนายังบอกว่าอ่อนอีกก็แสดงว่าขี้เกียจมากเกินไป ไม่รู้จักควบคุมกำลังใจ ปล่อยไปตามสภาวะของกิเลสมันจะมีผลอะไร แล้วมานั่งบ่นมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ชาวบ้านเขาทำได้ เราทำไม่ได้ จะมานั่งบ่นว่าทำไม่ได้ก็เพราะว่าเรามันดีไม่พอ ใช้กำลังใจเป็นสำคัญ การจดจำถ้อยคำ คำแนะนำสั่งสอน

การมีวิริยะ อุตสาหะมีสติปัญญาควบคุม อันนี้เป็นของสำคัญ การเจริญสมถภาวนาในตอนต้น ตอนต้นหรือตอนปลายมีสภาวะเหมือนกัน นั่นก็คือ  

อันดับแรก จงอย่าสนใจกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด เรื่องราวของชาวบ้านต่างๆ ยกประโยชน์ไป เราไม่สนใจ เรื่องราวของเราก็เหมือนกัน ตัดความกังวลเสียให้หมด ที่เรียกว่าปลิโพธ

พระพุทธเจ้าบอกว่าอันดับแรก จงตัดความกังวลทิ้งเสียให้หมด ดำริไว้อย่างเดียว คือกำหนดจิตจับเฉพาะอารมณ์สมถภาวนาที่เราต้องการ อารมณ์อย่างอื่นเราไม่ต้องการทั้งหมด นี่ต้องทำอย่างนี้มันถึงจะมีผล ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าภาวนา สักแต่ว่าพิจารณา อย่างนี้ทำเท่าไรมันก็ไม่มีผล จงจำให้ดีอันดับแรกจงตัดความกังวลเสียให้หมด กังวลภายนอกและกังวลภายใน คือกังวลเรื่องของคนอื่น มีบุตร ภรรยา สามี ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย ยกยอดทิ้งประโยชน์ไป ไม่สนใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ตัวใครตัวมัน ตายแล้วก็ไม่ใช่ชวนกันไปตกนรกขึ้นสวรรค์ได้ นี่พูดถึงว่าอารมณ์ที่เราใช้ในการทรงสมาธิจิต และอารมณ์กังวลของเราก็เหมือนกัน มันจะเป็นจะตายก็ช่างมัน เราต้องการอย่างเดียว คือความบริสุทธิ์และความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่มีสัญลักษณ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาทางกายก็ระแวงโน่นระแวงนี่ กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นอย่างนี้จะเจริญสักกี่โกฏิชาติมันก็ไม่มีผล
 
แล้วต่อมาประการที่สองงง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ศีลห้าก็ดี ศีลแปดก็ดีที่เราสมาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันดับต้นศีลห้าเป็นของสำคัญที่สุด จะใช้คำว่าไม่สามารถไม่ได้ เราต้องเป็นผู้สามารถเสมอในการทรงศีล จะมาเอาสาเหตุใดมาอ้างว่ามันจำเป็นอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่ เพราะทางการเจริญพระกรรมฐานมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องละเมิดศีล ประการที่สองนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ทรงศีลให้บริสุทธิ์ คือ
   ๑. เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเอง หรือว่าทำลายศีลด้วยตนเอง
   ๒. เราไม่ยุให้ชาวบ้านทำลายศีล
   ๓. เราจะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว
 
นี่เป็นหลักใหญ่ ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ลืม ต้องทำให้ได้ด้วย จำให้ได้ด้วย และทำให้ได้ด้วยจึงจะมีผล เพียงแค่นี้ยังมีผลแค่สะเก็ดเท่านั้น

เมื่อทรงศีลให้บริสุทธิ์แล้ว พร้อมกันนั้นจิตก็ต้องระงับนิวรณ์ห้าประการ นิวรณ์ห้าประการคือ ความต้องการในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสตามความประสงค์ และอารมณ์หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์คือ พอใจอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อารมณ์ประเภทนี้ต้องทิ้งไปไม่เอา
- แล้วประการที่สอง ต้องระงับความโกรธ ความพยาบาท
- ประการที่สาม ระงับความง่วงเหงาหาวนอน
- ประการที่สี่ ควบคุมกำลังจิตให้คิดเฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราต้องการ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านและรำคาญในเสียง
- ประการที่ห้า ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ยอมรับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นหลักอันหนึ่ง ยังไม่จบ
 
แล้วประการต่อไป พระพุทธเจ้าให้ทรงจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ คือแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งหมด เราจะไม่ไปเป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับสัตว์และบุคคลทั้งหมด จิตใจเราจะมีความชุ่มชื่นมองไม่เห็นว่าใครเป็นศัตรูของเรา ผลของเมตตา แปลว่าความรัก เรามีความรักในเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอด้วยตัวเรา
 
ประการที่สอง กรุณาความสงสารปรารถนาจะให้มีความสุข เรามีอารมณ์จิตคิดอยู่เสมอว่า เรามีความต้องการจะเกื้อกูลบุคคลอื่นและสัตว์อื่นที่มีความทุกข์ให้มีความสุข ตามความสามารถที่เราจะพึงทำได้ ถ้าแนะนำเองไม่ได้ สงเคราะห์เองไม่ได้ ก็แนะนำให้ไปหาบุคคลที่มีความสามารถที่เขาจะช่วยได้สงเคราะห์ได้
 
ประการที่สาม มุทิตา มีจิตอ่อนโยน คือระงับความอิจฉาริษยาเสีย ตัดโยนทิ้งไป เมื่อใครได้ดีก็พลอยยินดีกับความดีนั้นด้วย
 
สี่ อุเบกขา ความวางเฉย กฎของกรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายหรือหมู่คณะ มันเป็นเหตุที่เราปฏิเสธไม่ได้ อย่างความแก่ ความเจ็บ ความตาย กับการพลัดพรากจากของรักของชอบใจอย่างนี้เป็นต้น มันเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นมากับตัวเรา กับหมู่คณะก็ตามวางเฉย ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้
 
ในเมื่อท่านทั้งหลายทรงคุณธรรมตามที่กล่าวมา คือ
   ๑. ตัดปลิโพธทั้งหมด
   ๒. ทรงศีลบริสุทธิ์
   ๓. ระงับนิวรณ์ห้าประการได้เด็ดขาดในขณะที่ทรงสมาธิ
   ๔. ทรงพรหมวิหารสี่ได้
 
อย่างนี้องค์สมเด็จพระศาสดาทรงตรัสว่า ท่านทรงความดีแค่เปลือกของพระศาสนา วัดตัวเราให้ดี วัดใจให้ดีว่าเวลานี้เราทรงความดีเข้าถึงเปลือกของพระศาสนาแล้วหรือยัง จุดนี้จุดเปลือกนี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องให้ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรงศีลหรือทรงพรหมวิหารสี่ ไม่ใช่จะมาทรงอยู่เฉพาะสมาทานพระกรรมฐานเท่านั้น สำหรับศีล พรหมวิหารสี่กับการตัดปลิโพธ ความกังวล จะต้องทรงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง พูดกันง่ายๆ ว่าทรงอยู่ตลอดชีวิต ทุกเวลาทุกนาทีและทุกวินาที นี่ต้องคุมจิตแบบนี้

สำหรับนิวรณ์ห้าประการนี้เป็นของธรรมดา เดี๋ยวเราก็ชนะมัน เดี๋ยวมันก็ชนะเรา แต่ก็พยายามควบคุม เข้าไม่ช้ามันก็จะเป็นลูกไล่สำหรับเรา คือเราชนะมัน คือเป็นผู้ทรงฌาน ถ้าท่านไม่สามารถจะระงับนิวรณ์ห้าได้ เรื่องสมาธิก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ เราจะมีสมาธิเข้าถึงปฐมฌานได้ เพราะเราระงับนิวรณ์ห้าประการได้ การระงับได้วันหนึ่งชั่วขณะหนึ่งก็ใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ดี ทางที่ดีแล้วจะต้องระงับนิวรณ์ได้ตลอดวัน นี่มันถึงจะดี
 
การจะระงับนิวรณ์จะทำอย่างไร ถ้าเราชอบใจในของสวยสดงดงาม เราก็เจริญอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติ ถ้าหากว่าเราจะปราบโทสะ คือความโกรธหรือความพยาบาทก็ใช้พรหมวิหารสี่ หรือใช้วรรณกสิณสี่ คือกสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง
 
เราระงับความง่วงด้วยการเดินบ้าง เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลืมตาให้กว้างบ้าง เอาน้ำล้างหน้าบ้าง เอามือขยี้ตาบ้าง แหงนดูดาวบ้าง ถ้าหากอารมณ์จิตฟุ้งซ่านไม่ทรงตัวอยู่ให้นับลมหายใจเข้าออก
 
ถ้าความสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีขึ้น เราก็นั่งดูตัวเราว่า พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เมื่อมีความเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีความสลายไปในที่สุด มาดูตัวเราเวลานี้โตเท่าพ่อเท่าแม่ เวลาคลอดมาใหม่ๆ โตเท่านี้หรือเปล่า ถอยหลังไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี เราแก่เท่านี้ไหม เท่านี้เราก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ถูก แล้วคนที่เกิดมาแล้วไม่ตายเราเห็นบ้างไหม สัตว์และคนเหมือนกัน ถ้าสิ่งนี้มันจริงเราก็เลิกสงสัยได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนจริง นี่เป็นหลักใหญ่ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาและสมถภาวนาด้วย
 
หลักทั้งหมดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหมดหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะขอยกงดเว้นข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เลย นี่พูดถึงว่าเราจะเอาดีกัน ถ้าเราไม่เอาดีกันก็ไม่เป็นไร แล้วก็อย่ามานั่งบ่นว่าการเจริญพระกรรมฐานทำมาตั้งสามปี สี่ปี ห้าปี ไม่มีอะไรเป็นผล ที่ไม่มีอะไรเป็นผลก็เพราะว่าเราไม่สามารถจะตัดกังวลได้ ไม่สามารถจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ได้ ไม่สามารถจะระงับนิวรณ์ทั้งห้าได้ ไม่สามารถจะทรงพรหมวิหารสี่ได้ สำหรับท่านที่เจริญกันไม่ช้าประเดี๋ยวท่านก็ถึงโน่นถึงนี่ก็เพราะว่าคุณธรรมสี่อย่างนี่ท่านครบอยู่ตลอดเวลา
 
แล้วก็ขออย่าอ้างว่าเพราะบารมีท่านมาก ควรจะอ้างว่ากำลังใจท่านดี ท่านขยันหมั่นเพียรดี คนที่อ้างว่าบารมีไม่พอ แสดงว่าขี้เกียจมากกำลังใจไม่ดี นี่ไม่มีอะไร บารมีมันเป็นของสร้างใหม่ได้ ไม่ใช่จะต้องเป็นของสร้างมาแต่ชาติปางก่อนเสมอไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครบรรลุมรรคผล
 
การที่จะเจริญพระกรรมฐานอันดับต้นก่อนที่จะภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาเอาง่ายๆ นึกถึงความตายกันก่อน เรานึกรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตายแน่ ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ทั้งนี้เพราะเกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตายเหมือนกัน คำว่าแก่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าแก่หง่อม ไม่จำเป็นต้องแก่หง่อมเสมอไป การที่เราเกิดขึ้นมาแล้ววันหนึ่ง เคลื่อนไปหนึ่งนาทีสองนาที มันก็แก่ไปทุกที ทีแรกมันอ่อนปวกเปียก เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาทุกที

การที่เคลื่อนเข้ามาสู่ความเจริญ เขาเรียกว่าแก่ขึ้น พอถึงวัยยี่สิบห้าไปแล้ว ทีนี้ก็แก่ลง มันโค้งลง มันก็แก่ทั้งนั้น คำว่าแก่ของพระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงต้องถือ ไม้เท้ายันเสมอไป เกิดมาวันสองวันสามวันก็ชื่อว่าแก่ นี่มีความเกิดขึ้นแล้ว ความแปรปรวนมันก็ปรากฏขึ้น คือความแก่มันปรากฏ ในที่สุดมันก็ตาย
 
ทีนี้ร่างกายของเรา เราไม่ต้องการความแก่ ไม่ต้องการความป่วย เราไม่ต้องการความลำบาก เราไม่ต้องการความตาย แต่เราต้องตายแน่ ทำอย่างไรๆ เราก็หลีกเลี่ยงความตายไม่ได้ คิดไว้เสมอว่าเราตายแน่ แล้วก็เมื่อไรจะตาย ก็คิดไว้ว่านี่เราหายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกมันก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย จะไปรอตายกันเมื่อไร ต้องคิดไว้เสมอว่าความตายมีแก่เราทุกขณะจิต เราจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท
 
ในเรื่องนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ ยังห่างเกินไป ตถาคตเองนี่นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก นี่เราเอาอย่างพระพุทธเจ้า ความตายนี่ต้องคิดไว้ทุกขณะว่าเราอาจจะตายเวลานี้ แล้วเราพร้อมหรือยัง พร้อมที่จะตายแล้วหรือยัง เมื่อเราพร้อมที่จะตายแล้ว เราเลือกทางที่จะไปแล้วหรือยัง ก่อนที่จะตายนี่เราพบ พระพุทธศาสนานี่เราควรจะเลือกไปได้แล้ว

ถ้าเราเป็นคนมีกำลังใจ ไม่ขี้เกียจ มีอารมณ์จิตมั่นคง เพราะยังไงๆ มันก็จะต้องตาย ก่อนจะตายร่างกายมันเหมือนกับบ้านที่เช่าอยู่ เมื่อถึงเวลาที่จะไล่ออกก็ต้องไป แต่ก่อนจะไปก็ควรจะหาบ้านไว้เสียก่อน เราจะไปหากระต๊อบหรือบ้านเท่าเดิมหรือว่าบ้านที่ดีกว่า หรือเราจะ ไปอยู่ในตำแหน่งมหาเศรษฐี นี่เราก็จะต้องสะสมทรัพย์สินของเข้าไว้เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ถ้าเราจะไปเลวก็ไม่เป็นไร มันเลวได้ตามอัธยาศัย
 
ถ้าเราจะไปดีกว่าเดิมนี่ต้องเลือกทางไป การที่จะไปดีกว่าเดิม สำหรับทานและศีลนี่จะไม่พูดละเพราะว่าปกติอยู่แล้ว เราจะพูดเฉพาะเวลาภาวนา

นี่เป็นเกณฑ์ภาวนา ถ้าหากว่าเราภาวนาในสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาจิตตกอยู่ใน ภาวะขณิกสมาธิ ทรงอารมณ์สมาธิได้บ้างเล็กน้อยตามสมควรไม่นานนัก แล้วจิตมันกระโดดไปโน่นกระโดดไปนี่สอดส่าย ไปสู่อารมณ์อื่น พอจับได้พอรู้ตัวก็ดึงกลับเข้ามาใหม่ ภาวนาหรือจับลมหายใจเข้าออกไป ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็กระโดดไปอีก เราก็ไม่ยอมแพ้ พอรู้ตัวก็ดึงกลับมาเล่นชักเขย้อกันอยู่แบบนี้ดึงกันไปดึงกันมา เวลาตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แบบสบาย นี่เรียกว่าเตรียมหาบ้านใหม่ รู้คุณสมบัติที่เราจะพึงได้จากการภาวนา  ถ้าจิตมีกำลังสูงขึ้นไป มีความเอิบอิ่ม มีความชุ่มชื่นทรงสมาธิได้ดีกว่า มีความสบายใจดีกว่า มีการสดใสทางจิตดีกว่า อย่างนี้ท่านเรียกว่าอุปจารสมาธิ ทีนี้ถึงแม้จิตใจจะมีความสดใสชุ่มชื่นเอิบอิ่มก็ตาม มันก็มีการโดดเหมือนกัน จิตมันก็มีการโดด ไม่ใช่ไม่โดด มันก็วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่ พอจับได้ก็ดึงเข้ามา พอดึงเข้ามามันก็ทรงตัว มีความชุ่มชื่น มีความสบายใจ มีความรื่นเริงหรรษา พร้อมที่จะเจริญพระกรรมฐานตลอดเวลา แล้วสมาธิก็ทรงได้ดี แต่นี่ก็ไม่แน่นักวันนี้ดีพรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ ถ้าทรงได้อย่างนี้พอตายแล้วไปเกิด เป็นเทวดาชั้นยามา ตั้งใจไว้ดีนะจะเอาชั้นไหนก็เอา  ทีนี้ถ้าหากเราทรงฌาน การทรงฌานเบื้องต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปฐมฌาน วันนี้จะพูดเฉพาะปฐมฌาน เวลาพูดมันเลยมาแล้ว การที่จะรู้ว่าจิตเราเข้าถึงปฐมฌานหรือไม่ การเข้าถึงปฐมฌานนี่มันอาจจะถึงไม่ได้นาน สักสองนาทีสามนาทีมันก็พลัดจากฌาน

อารมณ์พลัดเข้าสู่ธรรมดาที่เราเรียกกันว่าภวังค์ ศัพท์ที่เรียกว่าภวังค์ พยายามใช้ให้มันถูกภวังค์นี่ไม่ใช่แปลว่าหลับสนิท หรือไม่ใช่แปลว่าลืมตัว ภวังค์แปลว่าอารมณ์ปกติ มีความรู้อยู่เป็นอยู่ตามสภาพเดิม เรียกว่าภวังค์ นี่เคยได้ยินบ่อยๆ แต่ใช้กันไม่ถูก อย่าไปใช้มันเลยภาษาบาลีถ้าใช้ไม่เป็น มันจะเสียเรื่อง คนรู้เขาจะหัวเราะเยาะเอา
 
ถ้าจิตจะเข้าสู่ปฐมฌานให้สังเกตแบบนี้ เมื่อจิตเข้าสู่ปฐมฌานนี่เราชนะนิวรณ์ นิวรณ์ห้าระงับ จิตเข้าสู่ปฐมฌานทันที หรือว่าขณะที่เราภาวนาอยู่ก็ตามหรือพิจารณาอยู่ก็ตาม หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าใจเราก็ทำงานได้เป็นปกติ ไม่ดิ้นรนไปในเสียง ไม่รำคาญในเสียง อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน ปฐมฌานก็ยังมีหยาบมีละเอียดจะอธิบายก็เวลาหมดแล้ว เราทรงปฐมฌานอย่างหยาบ วันหนึ่งได้สองนาที สามนาที ห้านาที สิบนาที เรียกว่าช่าง ไม่ต้องไปตั้งเวลามันทั้งวัน ไม่ถึงปฐมฌาน จิตมันก็สู่สมาธิเล็กน้อย เมื่อจิตหยั่งดีก็เข้าสู่ปฐมฌานอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ดึงกันไปดึงกันมา อย่างนี้เรียกว่าปฐมฌานอย่างหยาบ ตายแล้วไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่หนึ่ง
 
ถ้ามีอารมณ์ชุ่มชื่นทรงเวลาได้มากกว่านั้นครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง อย่างนี้เป็นพรหมชั้นที่สอง ถ้าทรงอาการดีอย่างนี้ตั้งเวลาได้เลย ว่าเราจะนั่งสักสองชั่วโมง ทรงปฐมฌานเข้าปั๊บทรงได้เลย ถึงเวลาสองชั่วโมงจิตมันตัดทันที อย่างนี้เป็นปฐมฌานละเอียดเป็นพรหมชั้นที่สาม ฌานแต่ละระดับก็เป็นชั้นสูงๆ ขึ้นไป นี่เราเลือกของเราได้นี่ก่อนที่เราจะตาย ก่อนที่เราจะตายเราก็ต้องเลือกเรา จะเอาอะไร ถ้าหากว่าเราตั้งใจไม่เอาละการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหมไม่ดี เราต้องการไปนิพพาน ไม่อยากเกิดอีก ทำจิตใจให้สบายด้วยอำนาจของฌาน หวนกลับมาพิจารณาว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเป็นแต่เพียงธาตุสี่มาประชุมกันเป็นกายชั่วคราว ไม่ช้ามันก็พังลง มันเสื่อมตลอดเวลา

ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าแล้วเรา ไม่ต้องการมันอีก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายในการเกิดสำหรับเรา ความรักในรูป เสียง กลิ่น รส มีประโยชน์อะไร เมื่อร่างกายของเรามันไม่ดีแล้ว ร่างกายของชาวบ้านที่ไหนเขาจะดี ร่างกายเราสกปรก ร่างกายเขาก็สกปรก ในเมื่อเราต้องการสะอาด เราจะเอาร่างกายคนอื่นมาทำไมมันสกปรกนี่ แล้วก็ไม่มีการทรงตัว มีการสลายตัวไปในที่สุด เมื่อพิจารณากายของเราไม่ดี มันไม่ทรงตัวแล้ว มันจะต้องพัง

ความรักด้วยอำนาจของตัณหามันก็น้อยไป ดีไม่ดีมันก็หมดเลย เขาตัดตรงนี้ ความโลภจะตะเกียกตะกายไปเพื่อประโยชน์อะไร การหากินด้วยสัมมาอาชีวะ การหากินด้วยการเลี้ยงชีพอันชอบ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยเรียกว่าโลภ

คำว่าโลภนี่มันต้องโกงเขายื้อแย่งเขา ทำลาย ทรัพย์สินของเขาที่มีประโยชน์ให้มันพินาศไป คือได้มาด้วยอาการไม่สุจริตนั่นเอง

อย่างนี้เรียกว่าโลภ ถ้าเราทำมาค้าขายตามธรรมดา ทำไร่ทำนา รับราชการ เป็นลูกจ้าง รับเงินเดือน เงินดาวน์ตามความสามารถ อันนี้ไม่เป็นโลภ จะได้เงินเดือนมากเท่าไรก็ตาม ค้าขายได้กำไรมากเท่าไรก็ตาม ยังไม่ชื่อว่าโลภ เว้นไว้แต่ของเลวบอกว่าเป็นของดีนี่ซิโลภ โกงเขา ทีนี้ถ้าเราจะต้องตายนี่เราจะโกงเขา เพื่อประโยชน์อะไร หากินด้วยสัมมาอาชีวะ เราตายแล้วมันก็ไม่ไปกับเรา ใจมันก็สบาย ความ โลภมันก็ตัดได้
 
ทีนี้ความโกรธอยากจะฆ่าเขา เราจะต้องตาย เขาก็จะต้องตายเหมือนกัน จะไปฆ่ามันทำไม ไม่จำเป็นจะต้องฆ่า มันตายของมันเอง
 
ทีนี้ความหลงนั่นเป็นของกูนี่เป็นของกู ก็นั่งดูแม้แต่ร่างกายของเรามันยังไม่เป็นของกูเลย เพราะว่าร่างกาย ของเรามันยังพังนี่ แล้วร่างกายคนอื่น วัตถุอื่นมันจะเป็นของเราหรือ ทรัพย์สมบัติของโลกมันเป็นประโยชน์เมื่อมีร่างกายเท่านั้น ถ้าร่างกายสลายตัวแล้ว ทรัพย์สมบัติของโลกไม่มีอะไรมีประโยชน์เลย เราจะไปหลงใหลใฝ่ฝันว่านั่นเป็นเรา เป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร มันไม่มี มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ตัดร่างกายทิ้งไปด้วยกำลังใจ ไม่ใช้เอามันมาเชือด เพราะร่างกายนี้มันเป็นโทษ มันเป็นทุกข์ ไม่มีประโยชน์

ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าคือร่างกายอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ทำใจให้สบาย จิตมันจะเป็นสุข ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ความแก่ปรากฏก็สบายใจรู้ว่ามันจะแก่ ความป่วยไข้ปรากฎก็สบายใจรู้แล้วว่าเกิดมามันต้องป่วย ความตายปรากฎหรือการพลัดพรากจากของรักของชอบใจปรากฎไม่มีการร้องไห้ ไม่มีการเสียดายเพราะเป็นของธรรมดา ถ้าจิตของท่านยอมรับนับถือกฎของธรรมดาแบบนี้เขาเรียกว่าพระอรหันต์ อย่างนี้ก็ไปนิพพานได้ มีความสุขที่สุด
 
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัทเวลาตั้งไว้สองระยะมันก็หมดทั้งสองจุดแล้ว ต่อแต่นี้ขอทุกท่านอันดับแรก จับลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.90 Chrome 42.0.2311.90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2558 10:38:44 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๒ ตัดนิวรณ์

การอธิบายพระกรรมฐานคืนนี้ ก็ขอต่อเมื่อคืนนี้ เมื่อคืนนี้เราได้ย้ำกันถึงว่า จุดของการเจริญพระกรรมฐานที่จะพึงให้ได้ดีก็คือ
๑. ตัดกังวลเสียให้หมด ขึ้นชื่อว่ากังวลภายนอกได้แก่บุคคลอื่น นอกจากตัวเราหรือว่าวัตถุ กังวลภายในได้แก่ร่างกายของเรา ตัดทิ้งไปเสียเลย ถือว่าภาระอันนี้เราไม่มีอีก เรามีแต่เฉพาะอย่างเดียวคือ คุมจิตให้เป็นสมาธิ หรือว่าใช้ปัญญาพิจารณารับรองความรู้ตามความเป็นจริง
๒. เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๓. ระงับนิวรณ์ห้าประการ และ
๔. ทรงพรหมวิหารสี่


นี่เป็นหลักใหญ่ในการควบคุมกำลังใจ ถ้าหากว่าเราไม่สามารถจะควบคุมกำลังใจได้ตามนี้ การเจริญพระกรรมฐานก็ไม่มีผล กฎสี่ประการนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคนจะต้องรักษาไว้ให้ได้จะต้องทรงไว้ให้ได้ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ถ้ากฎสี่ประการนี้ประจำจิตของท่านบรรดาพุทธบริษัททุกขณะจิต จนเป็นเอกัคตารมณ์คือมีอารมณ์ทรงตัว ขึ้นชื่อว่ากังวลไม่มี มีศีลบริสุทธิ์ ระงับนิวรณ์ห้าได้ตามกำลังใจที่เราต้องการ จิตทรงพรหมวิหาร ๔ ตลอดวัน อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เข้าถึงเปลือกของความดีของพระพุทธศาสนา นี่เราได้แค่เปลือกเท่านั้น ๔ ประการนี่ทีนี้การทรงความดีระดับเปลือก วันนี้ก็ขอพูดต่อ

การทรงความดีระดับเปลือก ความจริงระดับเปลือกนี่เป็นฌาน ๔ ถ้าเราไม่สามารถจะทรงฌาน ๔ ได้ เราก็ยังไม่ถึงเปลือก เว้นไว้แต่เพียงว่า ถ้าจิตเราเข้าถึงปฐมฌานแล้วก็ทรงวิปัสสนาญาณได้ นี่เข้าถึงแก่น ถ้าแม้ว่าอารมณ์จิตจะไม่เข้าถึงฌาน ๔ แต่เป็นแต่เพียงปฐมฌาน แต่ว่าจิตทรงวิปัสสนาญาณได้ตัดสังโยชน์ตั้งแต่สังโยชน์สามขึ้นไป อย่างนี้ชื่อว่าถึงแก่นเป็นสาระเป็นแก่นสารอย่างยอดเยี่ยมที่พระพุทธเจ้าต้องการ

การจะทรงอารมณ์ได้ เราจะไม่พูดกันถึงพวกศีล พวกอะไรต่อไปอีก อันดับแรก เราต้องการทรงสมถภาวนา สมถภาวนานี่แปลว่า อุบายเป็นเครื่องสงบใจ เป็นกำลังสำคัญใหญ่สำหรับนักปฏิบัติเพื่อความดี ถ้าจิตใจของเราไม่สงบเสียแล้ว ความกังวลมันก็เกิดศีลมันก็ไม่ทรงตัว การจะทรงพรหมวิหาร ๔ มันก็ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมาย จะเจริญวิปัสสนาญาณก็ไม่ได้ผล ความสงบนี่จึงชื่อว่าเป็นตัวทรงไว้ทั้งศีลทั้งสมาธิและปัญญา มีความสำคัญมากจัดว่าเป็นกำลังใหญ่

การที่เราจะสงบจิตทำยังไง? ก็มองดูหน้าของนิวรณ์ ตอนนี้เราศึกษากันด้านนิวรณ์ ถ้าอารมณ์ใจของเราที่พอใจในรูปสวย รสอร่อย กลิ่นหอม หรือว่าเสียงเพราะอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่าพอใจในเรื่องสวยสดงดงามก็แล้วกัน ของสวย คนสวย สัตว์สวยใช้ได้หมด คือว่าสวย เราข้องใจอยู่ในสวย เราสวยคนอื่นสวย มันก็เหมือนกัน รวมความว่าจิตพอใจในความสวยสดงดงาม พระพุทธเจ้าให้ระงับอารมณ์นี้ด้วยกายคตานุสสติและอสุภกรรมฐาน ต้องใช้อารมณ์ถูก นี่เราว่ากันถึงนิวรณ์ ถ้าเราปราบนิวรณ์ได้จิตเราก็เข้าถึงปฐมฌานได้ การเจริญพระกรรมฐานไม่จำเป็นเฉพาะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งตลอดกาลตลอดสมัย ให้เป็นไปตามอารมณ์ที่เกิด แต่สิ่งที่ใช้โดยเฉพาะก็มีอยู่ ประเดี๋ยวจะกล่าวให้ฟัง 

เมื่อจิตมีความรักสวยรักงามเกิดขึ้นก็ให้ใช้พิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานเป็นสำคัญ

อสุภะแปลว่าความไม่สวยไม่งาม นี่พระพุทธเจ้าให้มองตามความเป็นจริง ไอ้สิ่งที่เราเห็นว่าสวยนี่ มันสวยจริงๆ หรืออย่างไร ถ้าเราเห็นคนสวย คนสวยถ้าสวยจริงๆ มันต้องไม่สกปรก ถ้าลงสกปรกแล้วจะให้มันสวยยังไงก็ใช้ไม่ได้ แม้คนก็ดี สัตว์ก็ดีเราเห็นว่าสวย เราก็มองดูหาความจริง ถ้ามันสวยจริงๆ ดีจริงๆ สะอาดจริงๆ ละก็ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องชำระร่างกายปล่อยมันเป็นอย่างนั้นร่างกายจะทรงความดีอยู่ตลอดเวลา นี้คนก็ดีสัตว์ก็ดีที่เราว่าสวยนะ ต้องชำระร่างกายหรือเปล่า นี่ดูกันแบบผิวเผินที่เราจะเห็นกันได้ง่ายๆ คราวนี้ถ้าหากว่าจะไม่อาบน้ำสัก ๗ วัน นี่มันก็ทนไม่ไหว เจ้าตัวเองมันก็ทนไม่ไหว มันเกรอะกรังไปด้วยเหงื่อไคลเต็มไปด้วยความโสโครก จะมาเอาสวยอะไรกันตรงนี้ นี่ใจของเรามันหลอกตัวเอง ไอ้ของที่มันไม่ดีไปหาว่ามันดี มันก็ลงนรกกัน ที่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง เป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง นี่หมุนกันไปหมุนกันมาอย่างนี้ ก็เพราะไอ้ความโง่ของจิตของเลวหาว่าเป็นของดี

คราวนี้มองเข้าไปอีกที ทั้งคนและสัตว์ ทะลุหน้าเข้าไปหาเนื้อ ถ้าเราลอกหนังกำพร้าออกหมดจะมีสภาพเป็นอย่างไร สิ่งที่เราคิดว่าสวย สิ่งที่เราคิดว่าดี นี่มันติดอยู่ที่หนังกำพร้านิดเดียวนี่เท่านั้น ถ้าลอกเข้าไปแล้วมันจะพบกันเลือด น้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองปรากฏอยู่ภายใน เลิกเนื้อขึ้นไปมีโครงกระดูก เหลือแต่ตับไตไส้ปอดอาหารใหม่อาหารเก่ามี เครื่องจักรกลทั้งหลายภายใน นี่หาจุดนี้ให้มันพบหาความจริง เราเจริญพระกรรมฐานนี่เราค้นคว้าต้องการหาความจริง แล้วลองคิดดูซิว่า ถ้าสภาวะมันเป็นอย่างนั้นนะ ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ร่างกายมันสกปรกหรือมันสะอาด ถ้าสภาวะมันเป็นอย่างนั้นนะ ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ร่างกายมันสกปรกหรือมันสะอาด ถ้าเราไม่สามารถจะมองเห็นภายในได้ จิตมันดื้อ ก็สิ่งที่มันหลั่งไหลจากภายในดูมันก็แล้วกัน น้ำลายที่เราอมอยู่ในปากได้ เวลาบ้วนออกมาแล้วหยิบได้ไหม น้ำลายอยู่ในปากเรา เราอมได้เรากลืนได้พอบ้วนออกมาแล้วกลืนไปอีกได้ไหม เอ้าไม่กลืนละ เอาเข้าไปอมได้ไหม ถ้าไม่อมเราเอามือแตะแล้วมาละเลงหน้าทำได้ไหม เราก็จะบอกว่ามันสกปรก แล้วไอ้ของที่มันสกปรกเหล่านี้มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในกายเราใช่ไหม อุจจาระปัสสาวะก็เหมือนกัน เรารังเกียจว่ามันสกปรกแล้วมันมาจากไหน อุจจาระมาจากอาหารที่เราเลือกแล้วด้วยดี ของอย่างนี้ดี ของอย่างนี้อร่อย ของอย่างนี้สะอาดแก่การกิน ถ้ามันสกปรกเราก็ไม่กิน เราคิดว่ามันสะอาด แต่ความจริงมันสกปรก กินเข้าไปแล้ว เลือกแล้วด้วยประการทั้งปวง พอเวลามันเป็นกากถ่ายออกมา เอามือหยิบได้ไหมออกมาจากกายเราใช่ไหม นี่พูดถึงร่างกาย สิ่งที่สกปรกพูดกันสักสิบวันมันก็ไม่จบ พิจารณากันแต่นี้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริง ตัดความรู้สึกในคำว่า เห็นว่าสวยสดงดงามสะอาดสะอ้านตามที่เราต้องการ

ถ้าเราว่ากันถึงด้านวัตถุ เราเห็นว่าสวย ก็ต้องดู วัตถุนี่ที่มันใหม่แล้วมันเก่าได้ไหม ก่อนที่มันจะเก่าถ้าเราปล่อยไว้ไม่มีอะไรปิดบัง ไม่คอยขัดสีฉวีวรรณ สักไม่กี่วันฝุ่นละอองเข้ามาจับ ความเศร้าหมองมันก็จะเกิด นี่เกิดจากอาการภายนอกเข้ามายุ่งกับมัน นี่ถ้าอาการภายนอกไม่มายุ่งกับมันปล่อยไว้นานความเศร้าหมองก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะมันเก่ามันเสื่อมลง แล้วในที่สุดมันก็สลายตัว นี่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้เป็นปกติ อารมณ์ที่รักในความสวยสดงดงามก็จะระงับไป ความดิ้นรนในความสวยงดงามก็หมดไป ถ้าความดิ้นรนอย่างนี้หมดไปก็ชื่อว่าเราชนะนิวรณ์ตัวที่หนึ่ง เรากำลังจะก้าวเข้าไปสู่ปฐมฌานซึ่งเป็นหลักชัยที่จะเจริญวิปัสสนาญาณให้ได้พระอริยเจ้า


นิวรณ์ตัวที่ ๒ ได้แก่โทสะ ความโกรธ หรือความพยาบาท ความคิดประทุษร้ายผู้อื่นที่มีในใจ อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาตรัสบอกว่า ให้ใช้เมตตากับกรุณาทั้งสองประการเข้าประหัตประหาร เมตตาความรัก กรุณาความสงสาร ให้คิดเสียว่าเขากับเรามีสภาวะเช่นเดียวกัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความทุกข์เหมือนกัน ถ้าเขามีความผิดขึ้นมาบ้างก็จงนึกถึงจิตใจของเราว่าบุคคลทุกคนนี่ที่กระทำไปแล้วทั้งหมด ถ้าเขามีความผิดขึ้นมาบ้างก็จงนึกถึงจิตใจของเราว่าบุคคลทุกคนนี่ที่กระทำไปแล้วทั้งหมด จะพูดก็ดี จะทำก็ดี ก็คิดว่ามันดีจึงทำ ถ้าหากว่าเขารู้ว่ามันเลว มันจะเป็นเหตุความเดือดร้อน ก็ไม่ทำแต่ทำไมถึงได้ทำความชั่ว ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตที่เป็นอกุศล อกุศลจิตคือความเลวมันเข้ามาสิงใจ คล้ายกับผีสิง มันย้อมใจให้มัวเมาเข้าใจว่าความเลวเป็นความดี คนที่ถูกผีสิงหรือผีคือกิเลสสิงแบบนี้ ก็เป็นการสมควรแก่การให้อภัย เห็นเขาทำผิดไม่ผิดระเบียบวินัยก็ชื่อว่าเราให้อภัยได้

สำหรับส่วนตัว ถ้าผิดกฎหมายผิดวินัยผิดระเบียบอันนี้ต้องลงโทษตามวินัยตามระเบียบ ไม่ใช่ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าระเบียบและวินัยทั้งหมดเขาวางไว้เพื่อให้บุคคลทำความดี นี่ถ้าไปละเมิดเข้าก็แสดงว่าชั่ว ถ้าเราไม่ลงโทษก็แสดงว่า เราปล่อยให้เขาชั่วตลอดไป อย่างนี้ก็ไม่ชื่อว่ามีจิตเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร คนที่รักกันสงสารกันจะต้องระมัดระวังกันไว้ไม่ให้ใครชั่วไม่ให้ใครเลว การลงโทษตามระเบียบตามวินัยถือว่าเป็นการเมตตาปรานี เพื่อป้องกันไม่ให้เขาทำความชั่ว ในเมื่อเรามีความรักความสงสารแล้ว ไอ้ความโกรธความพยาบาทคิดประทุษร้ายมันก็ไม่มี

ถ้าอารมณ์รักอารมณ์สงสารประเภทนี้เราทรงใจไม่อยู่ องค์สมเด็จพระบรมครูก็มีวิธีแนะนำอีก ให้ใช้กสิณ ๔ อย่างคือกสิณสี เรียกว่าวรรณกสิณ คือกสิณสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว อย่างใดอย่างหนึ่งจับเข้าไว้ให้เป็นอารมณ์ ให้จิตทรงในภาพกสิณนั้นไว้ก็สามารถที่จะทำลายโทสะจริตได้ เมื่อจิตใจของเราทำลายโทสะจริตได้ ก็จะมีแต่อารมณ์เยือกเย็น เพราะโทสะเป็นอารมณ์เร่าร้อน ถ้าเราทำลายเสียได้ก็จะมีแต่ความเย็น จิตจะมีความสุข จะทรงสมาธิอยู่ได้นาน เรียกว่าเราก็ใกล้จะถึงนิพพานเต็มที่เข้าไปแล้ว แม้แต่จะเจริญสมถภาวนา

นิวรณ์ตัวที่ ๓ ความง่วงเหงาหาวนอน ตัวนี้แก้ไม่ยาก ให้ลืมตาให้กว้างบ้าง เอามือขยี้ตาบ้าง เอาน้ำล้างหน้าบ้าง แหงนดูดาวบ้าง เดินไปเดินมาบ้าง นี่ตามวิธีที่พระพุทธทรงแนะนำแก่พระมหาโมคคัลลานะ เพราะว่าพระมหาโมคคัลลานะไปปฏิบัติกับพระพุทธเจ้า ท่านนั่งหลับนั่งง่วง พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้ปฏิบัติตามนี้ นี่ถ้าอารมณ์อย่างนี้เกิดขึ้นก็แก้แบบนี้

นิวรณ์ตัวที่ ๔ คือ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ อันนี้องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาทรงแนะนำให้ใช้อานาปานุสสติกรรมฐานโดยเฉพาะไม่ต้องภาวนาบทใด ๆ ทั้งหมด ถ้าขืนไปภาวนาหรือพิจารณาเข้าไปไอ้จิตมันซ่านอยู่แล้วก็จะช่วยกันซ่านใหญ่ ท่านให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออกเอาเพียงเท่านี้ จับเฉพาะลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้าจับอย่างนี้มันยังไม่อยู่ เอาละ ไม่เอาเฉยๆ เอานิมิตเข้าไปด้วย นิมิตอันนี้ไม่ใช่ภาพ หายใจเข้าหายใจออกหนึ่งคู่นับเป็น ๑ นับไปด้วยหายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๒ เป็นคู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คู่ที่ ๔ ถึงคู่ที่ ๑๐ ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ นี่เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตคิดอย่างอื่น เราจะจับอยู่เฉพาะลมหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น แล้วไม่ต้องทำมาก แค่ ๑๐ ก็เลิก ถ้าจิตมันซ่าน เพราะว่าในกาลบางครั้ง การนับมันก็ไม่ทรงตัวเหมือนกัน มันดิ้นไม่ยอมหยุด อันนี้พระพุทธเจ้าทรงแนะนำบอกว่า ถ้ามันดิ้นไม่ยอมหยุด ก็ให้เลิกเสีย ถ้าเราไม่เลิกก็มีวิธีอย่างหนึ่ง นั่นก็คือปล่อยให้มันคิดไปตามอารมณ์ มันอยากจะคิดอะไรเชิญคิดตามอัธยาศัย แล้วควบคุมกำลังใจเข้าไว้ ถ้ามันเลิกคิดเมื่อไร เราจะทรงสมาธิเมื่อนั้น ถ้าเราปล่อยอารมณ์คิดไปแบบนี้ไม่นานประมาณ ๕ นาที ๑๐ นาที ไม่เกิน ๒๐ นาที เป็นอย่างช้า อารมณ์จิตมันก็จะเหนื่อย มันจะเลิกคิด พอมันเลิกคิดเราก็มาจับเอาลมหายใจเข้าออก ตอนนี้จะมีอารมณ์ดิ่งเป็นฌานทันที แล้วก็จะทรงสมาธิอยู่ได้นาน นี่เป็นวิธีการที่จะระงับนิวรณ์ ค่อยๆ ระงับมันไป

นิวรณ์ข้อที่ ๕ ความสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไอ้เรื่องนี้เห็นจะไม่ต้องบอก ถ้าสงสัยแล้วจะมานั่งทำเกลืออะไรกันอยู่ที่นี่เล่า ไปนอนอยู่บ้านไม่ดีกว่ารึ ข้อนี้ไม่ต้องอธิบาย เพราะคนที่มานั่งที่นี่ทั้งหมดแสดงว่าไม่มีความสงสัย เลิกกันยกยอดกันไป นี่ถ้านิวรณ์ทั้งห้าประการนี่ ถ้าเราสามารถระงับด้วยวิธีนี้ ใหม่ๆ มันก็จะระงับไม่ได้นาน สัก ๒ นาที ๓ นาที ๔ นาที ๕ นาที หรือ ๑๐ นาทีเป็นอย่างมาก ถ้า ๑๐ นาทีมันก็เก่งแล้ว อารมณ์จิตมันก็จะซ่าน เราก็จับดึงเข้ามาใหม่ มันไปไหนก็ให้มันไป มันเผลอนี่ก็ให้มันไป ไอ้จิตนี่มันซ่านมาเป็นแสนๆ กัลป์ อยู่ๆ เราก็จะมาจับให้มันนิ่งเฉยๆ มันอยู่ไม่ได้นาน เราก็ถือว่าถ้าทรงจิต เราทรงอยู่ได้บ้าง พอมันไปเรารู้ว่ามันไปใช้เวลาไม่มากนัก แล้วก็ดึงกลับเข้ามาอีกให้ทรงอารมณ์อยู่สักครู่หนึ่งมันก็หนีไปอีก อย่างนี้ก็ยังดีกว่าสภาวะเดิมที่มันไม่รู้ว่ามันท่องเที่ยวไป แสดงว่าจิตของเราเริ่มมีสมาธิแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า อาการที่ปรากฏแล้วอย่างนั้นท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ คือทรงได้บ้างไม่ได้บ้าง ดึงกันไปดึงกันมา แล้วก็จับเอามาทรงไว้ชั่วขณะหนึ่งมันก็ดึงออกไป ดึงออกไปแล้วคิดอะไรต่ออะไรเพลิน พอรู้สึกตัวอ้าวนี่เพ่นพ่านไปเสียแล้วรึ แล้วก็ดึงกลับเข้ามาใหม่ อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรเรียกว่าขณิกสมาธิ

เอาละสำหรับเวลากาลที่จะพูดมันก็เลยมามากแล้ว เพราะสัญญาณบอกหมดเวลาปรากฏแล้ว

ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น สำหรับนักปฏิบัติพระกรรมฐานใหม่ ใหม่หรือเก่าก็ตามพยายามจับลมหายใจเข้าออกให้รู้ลมเข้าลมออกอยู่ ถ้าเราจะภาวนาก็ภาวนาตามอัธยาศัย หรือว่าจะพิจารณาอะไรก็ได้ให้เป็นไปตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.135 Chrome 42.0.2311.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2558 16:08:53 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๓ พร้อมสัจจะ

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานอุโบสถศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว คำสมาทานทั้งหมดขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติ

เราสมาทานศีลจงตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ อย่าเพียงสักแต่ว่าสมาทาน แล้วการรักษาศีลให้บริสุทธิ์นี่ก็ไม่ใช่เฉพาะเวลานี้ ถือว่าการสมาทานศีลครั้งแรกในชีวิต เราก็ต้องรักษากันไปตลอดจนกว่าจะถึงวันตาย อย่างนี้จึงจะชื่อว่าใช้ได้ รวมทั้งพระทั้งเณรก็เหมือนกัน การเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ย่อมเป็นปัจจัยตัดความเดือดร้อน เรามีศีลบริสุทธิ์นึกถึงศีลเป็นปกติ

พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นผู้เจริญสีลานุสสติกรรมฐาน นี่เป็นความดีอันหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงอย่างเลวก็กามาวจรสวรรค์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นพรหม ถ้าศีลบริสุทธิ์จริงๆ เราก็ไปพระนิพพานได้ ถ้ามีความเข้าใจในศีล

ประการที่สอง เมื่อเราสมาทานพระกรรมฐานว่า อิมาหัง ภควา อัตตภาวัง ตุมหากัง ปริจัชชามิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้เป็นถ้อยคำที่สำคัญที่สุด เราจงเป็นผู้ไม่ลืม ถ้าเราไม่ลืมคำนี้แล้วตั้งใจปฏิบัติตามคำนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้เอาความดีได้ไม่ยาก คำว่า มอบกายถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็หมายความว่า เราจะปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสั่งสอนทุกอย่าง

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนว่าอย่างไร?
พระพุทธเจ้าบอกพยายามละความชั่ว ประพฤติความดี และทำใจให้ผ่องใส การละความชั่วคือไม่ละเมิดในศีลห้า หรือศีลแปด ประพฤติความดี คือประพฤติตามนัยของศีลที่กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ละเมิดแล้วก็ปฏิบัติตามศีล ทำจิตใจให้ผ่องใสก็ได้แก่การระงับจิตจากความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนเราอย่างนั้น ?
ก็เพราะว่า พระองค์ทรงทราบดีว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา  ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ประกอบเข้าเป็นเรือนร่างชั่วคราว และเมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว มันก็มีความเสื่อมโทรมลงไปทุกขณะ ประกอบเข้าเป็นเรือนร่างชั่วคราว ถ้าหากว่าร่างกายมันเป็นเราจริง เป็นของเราจริง มันก็ต้องไม่แก่ ก็ต้องไม่ป่วย แล้วก็ต้องไม่ตาย เราไม่ต้องการให้มันเป็นอย่างนั้น เมื่อถึงจังหวะนั้น แล้วมันก็มีสภาพเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

ทีนี้คำว่า "เรา" คือใคร?
คำว่าเรา คือจิตที่อาศัยอยู่ในร่างกาย ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าชั่วคราว เมื่อหมดอายุการเช่าแล้ว เขาก็ไล่เราไป บ้านนี่ก็พัง มันเป็นบ้านชั่วคราวเท่านั้น อาการพังอย่างนี้ เราเรียกกันตามภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าตาย

ความตายนี่มันไม่มีนิมิต มันไม่มีเครื่องหมาย มันไม่มีเวลาแน่นอน ไม่ใช่ว่าเราเกิดมาแล้วจะต้องครบอายุขัย ๗๕ ปี หรือ ๑๐๐ ปีจึงจะตาย มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น มันจะตายเมื่อไรก็ได้ คนเกิดทีหลังเราตายให้เราเห็นก็ตั้งเยอะ คนเกิดพร้อมๆ มากับเรา เขาตายให้เราเห็นก็มีมาก คนที่เขาเกิดก่อนแล้วตายก็มี นี่ขึ้นชื่อว่าความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าเมาในชีวิต อย่าเมาในร่างกายที่เรามาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน เราต้องการเอาดีกัน จงนึกไว้เสมอว่า เราต้องตายแน่ คิดไว้ แล้วก็อย่าไปหลงในความสวยสดงาม อย่าไปหลงในความอ้วนพีของร่างกาย อย่าไปหลงในความผ่องใสของผิวพรรณ จงคิดเห็นตามความเป็นจริงว่า ร่างกายของเรานี้นั้นมันเต็มไปด้วยความสกปรก มันมีอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อยู่ภายในร่างกาย สิ่งที่ปิดตาเราไว้ก็คือหนังกำพร้านิดเดียวเท่านั้น คนที่ถูกน้ำร้อนลวก หรือไฟลวกหนังกำพร้าถลอกปอกเปิก เราก็จะไม่เห็นความสวยงามของร่างกายของบุคคลนั้นเลย การทรงอยู่ของร่างกายมันก็ไม่แน่ มันแก่ลงไปทุกวัน มันทรุดโทรมลงไปทุกวัน แล้วในที่สุดมันก็ตาย เราจะไปหวังอะไรกับมัน ความโง่เท่านั้นที่หลงร่างกายว่ามันยังทรงตัวอยู่ มันจะไม่ตาย การเมากายนี้เป็นเหตุให้เกิด เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีความเมาในร่างกาย ในเบื้องต้นคิดว่าเราจะต้องตายอยู่เสมอ จงคิดไว้ตามแบบของพระ พระคิดว่าตื่นขึ้นมาเวลาเช้านี่เราจะได้กินข้าวเช้าหรือไม่ก็ไม่ทราบ กินข้าวเช้าแล้ว เราก็จะได้กินข้าวกลางวันหรือไม่ก็ไม่แน่ อาจจะตายเสียก่อนก็ได้ กินข้าวกลางวันแล้วอาจจะได้กินข้าวเย็นหรือไม่ก็ไม่แน่ กินข้าวเย็นแล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ในวันรุ่งขึ้น

นี่คนที่นึกถึงความตายอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องเลือกปฏิบัติว่าเวลาที่เราจะตาย เราจะไปไหน เราจะไปนรก หรือเป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน เราจะเกิดเป็นคนจะเป็นคนชั้นดีหรือคนชั้นเลว หรือว่าเราจะเป็นเทวดา จะเกิดเป็นพรหม จะไปพระนิพพานหมดความทุกข์ นี่เราเลือกกันเอาได้ ถ้าเราต้องการเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราก็ไม่ต้องเคารพในศีลห้าหรือศีลแปด เราทำลายมันเสียให้หมดทุกอย่าง แล้วก็ไปนรกได้แบบสบายเลือกเอา

ถ้าเราต้องการเกิดเป็นคน ถ้าเป็นคนชั้นดี เราก็เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้วเราก็ให้ทานการบริจาค เจริญภาวนาไว้เป็นปกติ เกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีรูปร่างหน้าตาสวย มีทรัพย์สินไม่ถูกโจรกรรม โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย มีคนในบังคับบัญชา มีสามีภรรยามีบุตรธิดา คนใช้ก็เป็นคนว่านอนสอนง่ายอยู่ในโอวาท จะกล่าววาจากับใครก็เป็นวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีคนยอมรับฟัง ชอบฟัง แล้วก็เป็นคนไม่ไร้สติสัมปชัญญะ จะมีทรัพย์สินบริบูรณ์สมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง นี่ถ้าเราต้องการเกิดเป็นคนชั้นดี  ถ้าหากว่าเราเห็นว่าความเป็นมนุษย์ไม่พ้นความแก่ ไม่พ้นความตาย ไปพักความดีหนีทุกข์ อยู่แค่เทวดาก็ได้ การไปพักความทุกข์อยู่แค่เทวดาก็มีว่า ถ้าศีลของเราบริสุทธิ์ การบริจาคทานเป็นปกติ การเจริญภาวนาไว้เสมอ การเจริญภาวนานี่เป็นตัวดึงจิตให้ขึ้นสูงกันลืมความดี ทำจิตของเราเข้าสู่ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิเราก็ไปเป็นเทวดาได้ ถ้าจะปฏิบัติแบบธรรมดา เราก็มีหิริและโอตตัปปะคืออายความชั่วเกรงกลัวความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วเราไม่ทำทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เราไม่ยอมละเมิดศีล ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง อารมณ์ใดที่เป็นไปเพื่อความโลภ ความโกรธ ความหลงจะไม่มีเกิดขึ้นมาในใจ เพราะอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของความชั่ว ชื่อว่าเป็นความชั่วเกิดในที่ลับ คนอื่นเห็นไม่ได้แต่เราเห็น เมื่อเราระงับอารมณ์อย่างนี้ได้ไว้เป็นปกติ ตายเราก็เกิดเป็นเทวดา

ถ้าเราต้องการเกิดเป็นพรหม เราก็เจริญสมาธิจิตให้ได้ถึงฌานสมาบัติ อย่างนี้เราก็เกิดเป็นพรหม

ถ้าเราต้องการนิพพาน เราก็วางขันธ์ห้าคือร่างกาย เห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา จนกระทั่งเราไม่ยึดถือในร่างกายและทรัพย์สมบัติภายนอกว่ามันเป็นเรา เป็นของเราทุกสิ่งทุกอย่างถือว่าเป็นกฎธรรมดา โลกทั้งโลกเราเห็นว่าเป็นความทุกข์ เราไม่ปรารถนาความเกิดอีก มีใจชุ่มชื่น มีอารมณ์เบิกบาน มีจิตจับเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้เราก็ถึงพระนิพพาน นี่กล่าวโดยย่อ ให้ตั้งใจไว้โดยเฉพาะว่า เราเกิดมาแล้วเป็นคน ถ้ากลับลงไปนรกใหม่ก็รู้สึกว่าซวยเต็มที แทนที่เราจะปฏิบัติดีกลับปฏิบัติเลว นี่เราสว่างมาแล้วกลับมืดไป มันก็ไม่เกิดประโยชน์ นี่พูดถึงความหมายในการที่เราต้องเจริญความดีในฐานะที่เราเป็นมนุษย์

ต่อนี้ไป เราก็จะพูดถึงการปฏิบัติทรงสมาธิให้มีประโยชน์
การเจริญความดีในพระพุทธศาสนา เราต้องทรงอารมณ์เป็นผู้ชนะไว้เสมอ ไม่ทำตนเป็นบุคคลผู้แพ้ เราต้องมีสัจจะคือความจริง มีวิริยะคือความเพียร มีสติการทรงระลึกนึกขึ้นมาได้ มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่า อะไรมันดีอะไรมันชั่ว อะไรมันควรอะไรมันไม่ควร มีขันติความอดทนเป็นเครื่องประจำใจ มีอธิษฐานทรงเจตนาเข้าไว้ว่า เราจะทำความดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราทิ้งไม่ได้ เราต้องมีไว้เป็นประจำ การที่พวกเราทั้งหลายปฏิบัติเพื่อความดี อันดับแรกต้องทรงจิตให้เป็นสมาธิ สมาธินี้มีความสำคัญมากเป็นกำลังใหญ่

สมาธิอันดับแรกที่บอกให้รับฟัง นั่นก็คือการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ตัวนี้เป็นตัวสำคัญมาก กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานกองใหญ่ และแนะนำต่อไปว่า เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ นี่ก็มีความสำคัญ คำว่า พุทโธ เป็นพระนามความดีของพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเราเกาะพระพุทธเจ้าด้วยการทรงสติสัมปชัญญะไว้พร้อมกัน นี่เป็นความดีใหญ่ที่เราจะชนะความชั่วของใจได้เพราะอะไร ข้อสำคัญที่สุดคืออารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต อาการฟุ้งซ่านของจิตนี้ถ้าเรามีความเข้าใจก็ไม่เห็นมีอะไรจะหนักใจ ถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จับอานาปานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว คือลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้อยู่ว่า นี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก รู้มันอยู่เสมอ บังคับจิต ถ้ามันจะซ่านจริงๆ มันคุมนานไม่ได้ เราบังคับจิตไว้ว่า ชั่วระยะเวลา ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีนี้เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตของเราไปสู่อารมณ์อื่น เราจะรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกหรือว่าคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จับมันอยู่จุดนี้ชั่วระยะเวลาสั้นๆ พอถึง ๕ นาที ๑๐ นาทีเราก็เลิก ผ่อนมันเพราะว่าตามธรรมดาจิตเรามีสภาพท่องเที่ยวอยู่นานแล้วเป็นหลายแสนกัป อยู่ๆ เราจะมาบังคับให้มันอยู่ในอำนาจนิ่งๆ นานๆ มันย่อมเป็นไปไม่ได้ เมื่อมีอารมณ์ใจสบายมีความปลอดโปร่ง เราก็เริ่มทำใหม่ การปฏิบัติแบบนี้จะเป็นกลางวันจะเป็นกลางคืน เวลาไหนมันก็ได้ทั้งนั้น จะนั่งขัดสมาธิ จะนั่งพับเพียบ นั่งห้อยขา จะลงนอนตะแคงซ้าย นอนตะแคงขวา นอนหงาย นั่งเก้าอี้ เดินไปเดินมา หรือยืนก็ทำได้ทุกอย่าง คือไม่จำเป็นอยู่ว่าเฉพาะจะมานั่งสมาธิรวมกัน ถ้าเราคิดว่าจะให้อารมณ์ของเราคุมสติสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาเฉพาะเวลานี้เวลาเดียวต่อหนึ่งวัน นั่นแสดงว่าเรายังห่างจากความดีอยู่มาก จงอย่าเป็นผู้แพ้ต่ออารมณ์ของความชั่ว เราจงเป็นผู้ชนะ วันหนึ่งเราชนะไม่ได้ เราก็ชนะเป็นพักๆ ตลอดวันไม่ได้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไรจิตก็เกิดความเคยชิน เวลาปฏิบัติเอาดีได้จริงๆ เป็นการวัดจิตของเรา มีจุดหนึ่งจะเป็นวิปัสสนาญาณก็ดี

สำหรับผู้ปฏิบัติเก่า เราก็รู้กันอยู่แล้วอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา พอใจกองไหนใน ๔๐ กองหรือในมหาสติปัฏฐานกองไหน ถ้าเราชอบใจทำได้เลย แต่ว่าอันดับแรกอย่าลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไว้ก่อน จะเป็นผู้ใหม่ก็ดี ผู้เก่าก็ดี ถ้าเราตั้งใจว่าจะเป็นผู้ทรงฌานตามปกติทุกวัน แต่ละวันเราจะเป็นผู้ไม่ขาดจากฌาน ถึงอย่างไรก็จะทรงฌานให้ได้ ทั้งเวลาหัวค่ำและเช้ามืด หมายถึงว่าถ้าเวลามันน้อย  เวลาหัวค่ำทำใจสบาย สวดมนต์สวดพรสมาทานพระกรรมฐานทำกรรมฐานร่วมกับเพื่อนแล้ว กลับไปถึงสถานที่อยู่ นอน   เวลานอนจิตใจก็จับถึงอารมณ์ของพระเข้าไว้ ตั้งใจคิดว่าเราต้องการพระนิพพาน อารมณ์นี้จงอย่าทิ้ง คิดไว้เสมอว่าเราต้องการพระนิพพาน จำไว้ให้ดี ถ้าเราต้องการพระนิพพานเราทำอย่างไร? เราจะต้องเกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ นั่นคือคำภาวนาว่า พุทโธ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่นิพพานนี่ ถ้าหากว่าเราต้องการจะไปนิพพาน เราก็นั่งนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า เมื่อจิตเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะไปไหน ตายก็ไปตามพระพุทธเจ้า

เวลานอนลงไปก็ภาวนาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ ภาวนาไปจนกว่าจะหลับ ถ้าใหม่ๆ มันไม่หลับมันเกิดความรำคาญก็เลิกเสียก็ได้ นอนนะ แล้วนอนให้หลับ ต่อไปถ้าอารมณ์มันชินภาวนาไปภาวนาไปไม่ช้าก็หลับ หรือบางทีมีการคล่องเข้า พอพุทแล้วไม่ทันจะโธ มันจะหลับ ปล่อยเลยอย่าห้ามเพราะว่านี่เราต้องการจะหลับ แล้วจงมีความเข้าใจว่าถ้าจิตเราเข้าไม่ถึงปฐมฌานมันจะหลับไม่ได้ มันจะเกิดความรำคาญ  ถ้าภาวนาจนหลับไปพร้อมกับคำภาวนา ไม่รู้มันไปหลับอยู่ตรงไหน นั่นแหละคือจิตเราเข้าไปถึงปฐมฌาน คือฌานที่หนึ่ง เราเป็นพรหมได้สบาย แล้วในช่วงแห่งการหลับทั้งหมดตลอดเวลาหลับ ท่านถือว่าหลับอยู่ในระหว่างสมาธิ ถ้าบังเอิญเราเป็นอะไรจะต้องตายในระหว่างการหลับก็จะไปเป็นพรหมทันที

แต่ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วยังไม่มีกิจสำคัญที่ต้องลุกไปก็นอนอยู่แบบนั้น จับลมหายใจเข้าออกกับภาวนาต่อไปให้จิตมันสบาย ถ้าหากจิตใจของท่านมีความชุ่มชื่นมากเท่าไร เวลาเช้ามืดจิตทรงตัวอยู่เท่าไร วันทั้งวันในวันนั้นก็จะมีแต่ความสุข นี่แสดงว่าเราเป็นผู้ทรงฌานตั้งแต่หัวค่ำยันเช้ามืด ถ้าทำได้เป็นปกติอย่างนี้คำว่านรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีสำหรับท่าน ถ้าตายไปแล้วเราก็จะเป็นพรหมทันทีใกล้พระนิพพาน

เอาละการพูดตักเตือนบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านก็ขอให้เราจำไว้ว่า เราจะต้องเป็นผู้ชนะ คือว่าชนะจุดใดจุดหนึ่งตามกฎของพระกรรมฐาน ๔๐ อะไรก็ได้ ให้เป็นไปตามอัธยาศัย ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไปเอาคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐานมาอ่าน หรือไปเอามหาสติปัฏฐานสูตรมาอ่าน ชอบใจตรงไหนภาวนาตรงนั้น ชอบตรงไหนพิจารณาตรงนั้น เพื่อให้ถูกอัธยาศัยของเรา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือกำหนดรู้ลมหายใจกับคำภาวนาว่าพุทโธ พุทโธนี้อย่าทิ้ง ให้ทรงเข้าไว้ เมื่อใจสบายเราก็พิจารณาตามพระกรรมฐานที่เขากล่าวไว้ในตำรา นี่จะไม่ผิด แล้วจะมีประโยชน์สำหรับท่าน

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.135 Chrome 42.0.2311.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2558 16:09:28 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๔ กำหนดรู้ลม

สำหรับวันนี้ก็มาศึกษาต่อจากวันก่อน วันก่อนๆได้พูดกันถึงพื้นแห่งการปฏิบัติพระกรรมฐานในเบื้องต้น ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าใจถึงวิธีของการปฏิบัติ วันนี้ก็มาศึกษาต่อเรื่องอารมณ์ของสมาธิ การฟังพระกรรมฐานในตอนกลางคืน ก็ขอได้โปรดให้ถือว่า ให้ฟังติดต่อกันไปตามลำดับ ถ้าหากว่าท่านมีอะไรไม่เข้าใจ ก็ไปเปิดคู่มือพระกรรมฐานอ่านดู จะมีอยู่ในนั้นทั้งหมด เวลากลางคืนต่อแต่นี้ไป ก็จะสอนตามลำดับไปจนกว่าจะจบ เพราะว่าถ้าขืนย้อนกันไปย้อนกันมา คนเก่าอยู่ คนใหม่มา แล้วก็ย้อนต้นกันอยู่เสมอๆ ความรู้ก็คงจะรู้กันไม่จบ สำหรับบางท่านมีหนังสือก็ไม่ได้อ่าน อันนี้ก็น่าตำหนิอยู่มาก ตำรับตำรามีอยู่ไม่ได้อ่านนี่ก็รู้สึกว่าจะหยาบเกินไป เป็นการปฏิบัติไม่หวังดีในการปฏิบัติ สักแต่ว่าทำ อย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ การศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามหลักตามเกณฑ์ จำจะต้องรู้กันไปให้ตลอด ถ้าไม่รู้แล้วก็เหมือนกับการดำน้ำหาเข็ม มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการบังเอิญเท่านั้นที่เราจะทำได้ดี ระเบียบปฏิบัติของเรามีครบถ้วน นักศึกษานักปฏิบัติน่าจะมีความฉลาดมานานแล้ว

ต่อนี้ไปก็จะพูดถึงอารมณ์สมาธิ เรื่องเบื้องหลังจะไม่ขอพูดต่อไป ใครมาศึกษาใหม่ก็ไปค้นคว้าเอาตามตำรา คำว่าสมาธินี้มีอยู่ด้วยกันสามระดับคือ
   ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย
   อุปจารสมาธิ แปลว่า สมาธิปานกลาง เฉียดฌานเข้าไป
   อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิอันดับหนัก คือเริ่มตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปถึงฌานสี่ เป็นสมาธิที่มีความมั่นคง

การเจริญพระกรรมฐาน เราควรจับจุดเอาอานาปานสติกรรมฐานเป็นสำคัญ เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ จะเป็นคนประเภทไหนก็ตาม มีความจำเป็นทั้งหมด เพราะว่าอานาปานสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราจะเจริญอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้ สมาธิมันก็ไม่เกิด แล้วใครที่ไหนเล่า มีบ้างไหม ที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน มีบ้างหรือเปล่า หาไม่ได้ คนที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านจริงๆ ก็มีพระอรหันต์เท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ คือพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูรู้ความจริง ฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านจึงขึ้นอานาปานสติก่อน นี่เป็นแบบฉบับของการสอน ที่เราสอนกันก็สอนตามแบบของพระพุทธเจ้า เรื่องแบบของชาวบ้านชาวเมืองที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่นี่ไม่เอาด้วย เพราะอะไร เพราะว่าคนสร้างไม่ใช่พระพุทธเจ้า ดีไม่ดีคนสร้างก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ในเมื่อคนสร้างแบบไม่ได้อะไรแล้วคนปฏิบัติตามแบบมันจะได้อะไร

ในเมื่อพระพุทธเจ้าเห็นว่าอานาปานสติเป็นของสำคัญ ถึงได้ขึ้นต้นไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อทรงอานาปานสติถึงอารมณ์ฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสตินี้ทรงอารมณ์ได้ถึงฌานสี่ สำหรับผู้มีอุปนิสัยเป็นสาวกภูมิ ถ้าผู้มีอุปนิสัยเป็นพุทธภูมิก็ทรงได้ถึงฌานห้า จัดว่าเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก แล้วก็เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร ในเมื่อร่างกายของเราป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนา เราใช้อานาปานสติกรรมฐานทรงฌานเข้าไว้ ทุกขเวทนามันจะคลายลงไป ดีไม่ดีก็ไม่รู้สึกในทุกขเวทนานั้นถ้าได้ถึงฌานสี่

อีกประการหนึ่ง ท่านที่คล่องในอานาปานสติกรรมฐาน รู้เวลาตายของตัว ว่าเราจะตายเวลาไหนแน่ ตายด้วยอาการแบบไหน ตายเมื่อไร นี่เรารู้ ก็กลายเป็นคนไม่มีความหวาดหวั่นในความตาย แล้วยิ่งไปกว่านั้นอานาปานสติกรรมฐานยังเป็นกรรมฐานมีความสำคัญใหญ่ เราจะทำกรรมฐานกองอื่นๆ ในสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ต้องใช้อานาปานสติกรรมฐานเอาเป็นพื้นฐานให้จิตสงบเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นการเจริญกรรมฐานในกองอื่นๆ ในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา จะไม่มีอะไรเป็นผล องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นคุณของของอานาปานสติกรรมฐานแบบนี้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงให้ขึ้นต้นอานาปานสติกรรมฐานก่อนในมหาสติปัฏฐานสูตร

การเจริญอานาปานสติกรรมฐานตามแบบปฏิบัติที่นิยมกัน ก็ให้ใช้พุทธานุสสติกรรมฐานควบคุมไปด้วย ช่วยให้กำลังใจเกิดขึ้น การทำความดีในพระพุทธศาสนา ถ้าขาดกำลังใจเสียอย่างเดียวไม่มีอะไรเป็นผล เพราะการฝึกนี่เราฝึกใจ เราไม่ได้ฝึกกาย ถ้ามีแต่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราก็คิดว่าจิตมันว่างไป นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรใช้คำ ‘พุทโธ' รู้สึกว่าจิตใจมันมั่นคง อันนี้อาตมาก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นความดีเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือ หนึ่งเราได้อานาปานสติกรรมฐาน สองเราได้พุทธานุสสติกรรมฐาน ได้เป็นกรรมฐานสองอย่างร่วมกัน คือไม่สร้างความเหน็ดเหนื่อยเพราะใช้คำเพียงสองคำ หายใจเข้านึกว่า ‘พุท' หายใจออกนึกว่า ‘โธ' อย่างนี้ ไม่ขัดกับอานาปานสติกรรมฐาน

ในเมื่อรู้คุณสมบัติของอานาปานสติกรรมฐานแล้ว สำหรับคุณสมบัติของพุทธานุสสติกรรมฐาน กรรมฐานกองนี้เป็นกำลังใหญ่มาก มีอานิสงส์สูงมาก ถ้าตายเป็นเทวดาก็มีรัศมีกายผ่องใสยิ่งกว่าเทวดาที่บำเพ็ญกุศลอย่างอื่น เทวดาเขาถือว่าใครมีรัศมีกายผ่องใสมาก เทวดาองค์นั้นมีบุญญาธิการมาก แล้วการเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นเหตุดึงใจให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงพระนิพพานได้รวดเร็ว นี่จำไว้ด้วย นี่เป็นอานิสงส์หรือเป็นผล

คราวนี้เรามาว่ากันในตอนต้น การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เรียกว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าให้เรากำหนดรู้ว่า นี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก เราหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็ให้รู้ด้วย เป็นการทำจิตให้สะดวก ทำจิตให้มีความละเอียดลออ ทำสติสัมปชัญญะให้ทรงตัว ท่านมีอุปมาไว้ว่าคล้ายๆ กับนายช่างกลึงชักเชือกกลึง เวลาที่ชักเชือกกลึงยาวหรือสั้น ก็รู้อาการชักเชือกกลึงนั้นยาวหรือสั้น นี่ทำจิตให้รู้อยู่

ถ้าจะถามว่าจิตรู้อยู่นี่ใช้กันกี่เวลา ก็จะต้องขอตอบว่า ให้รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกตั้งแต่ตื่นจนกว่าจะหลับนั่นแหละเป็นการดี การเจริญพระกรรมฐานแบนี้ ก็รู้สึกว่าหนักอยู่สำหรับคนใหม่หรือยังไม่ได้ฌาน อานาปานสติกรรมฐานไม่ใช่ของกล้วยๆ มีกำลังมากอยู่ แต่ว่าถ้ามากไปจนแบกไม่ไหว ก็ไม่มีใครเขาได้กัน เมื่อมีคนเขาได้นับไม่ถ้วนก็แสดงว่าไม่หนักเกินไป พอกำลังของท่านพุทธบริษัทที่มีศรัทธาจริงจะพึงทำได้ แล้วเรามาเจริญกันแบบไหน จึงจะมีคุณ นี่เราควบพุทธานุสสติ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้าพร้อมกับนึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อย่างนี้ไม่เหนื่อยเพราะไม่ต้องเร่งการหายใจ นี่ก็ต้องปล่อยการหายใจให้เป็นไปตามปกติ อย่าเร่งรัดให้เร็วหรือว่าอย่าผ่อนให้ช้า อย่ากลั้นลมหายใจ ปล่อยไปตามสบาย บางทีสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีพอ การหายใจธรรมดาไม่รู้สึก ก็เร่งหายใจให้หนักๆอันนี้ใช้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามธรรมดา แล้วเอาจิตของเรานี้เข้าไปวัด จับมันเข้าไว้ นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก ถ้าอารมณ์ธรรมดามันเผลอ ก็แสดงว่าสติสัปชัญญะของเรามันเฟือนไป จิตใจไม่ทรงอยู่ในสมาธิ นี่เป็นเครื่องสังเกต นี่เป็นคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์

การเจริญสมาธิจิต ในด้านอานาปานสติเป็นศัตรูกับอารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน และรำคาญในเสียงภายนอก ตามธรรมดาของจิตเรานี่มันท่องเที่ยวมาหลายแสนกัป ไม่มีใครบังคับมันหรือว่าเรามีเกณฑ์บังคับอยู่บ้างในชาติก่อนก็อาจเป็นได้ แต่ทว่าในชาตินี้เราเพิ่งมาใช้ เพิ่งบังคับ มันก็ลืมท่าลืมทางเหมือนกัน ในระยะต้นๆ เราจะมาตั้งเวลาครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง บังคับจิตให้อยู่ตามใจชอบนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ต้องดูแบบฉบับที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค เพราะว่าในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายถึงวิธีบังคับจิตไว้ละเอียดดี ว่าให้สังเกตการพิจารณาจิต ถ้าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมด้วยคำภาวนา หรือไม่ภาวนาก็ตาม ถ้าใช้ระยะเวลาที่ไม่จำกัด จิตมันฟุ้งซ่านไม่ทรงตัว ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์จิตให้มันทรงตัวอยู่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้ปฏิบัติแบบนี้ คือให้นับลมหายใจเข้าออก นับไปด้วย หายใจเข้าหายใจออกนับเป็นหนึ่ง นี่เป็นจังหวะที่หนึ่ง แล้วก็หายใจเข้าหายใจออกหนึ่ง หายใจเข้าหายใจออกสอง นับไปถึงสอง แล้วก็มาขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสาม ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสี่ ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงห้า แล้วขึ้นต้นใหม่นับไปถึงหก เจ็ด แปด แล้วก็ถึงสิบ พอถึงสิบแล้วก็ย้อนมาขึ้นต้นใหม่นับหนึ่ง แล้วขึ้นต้นใหม่นับหนึ่งถึงสองไปตามลำดับ ท่านให้ทำอย่างนี้ จะได้เป็นการควบคุมกำลังจิตคือนับไปด้วยจะได้ห่วงนับ อารมณ์แห่งการรู้ของจิตมันจะหยาบไปหน่อยก็ช่างมัน เราเอาผลกัน เราไม่ใช่ปฏิบัติเอาปริมาณของเวลา เราต้องการอารมณ์จิตเป็นสมาธิจริงๆ

คราวนี้เราก็มาตั้งต้นกันว่า ขั้นแรกเราตั้งใจนับ ๑ ถึง ๕ ในเกณฑ์ ๑ ถึง ๕ นี้เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตของเราฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่นเป็นอันขาด ต้องมีความเข้มแข็งการสร้างความดีเพื่อสวรรค์ เพื่อพรหมโลก หรือเพื่อนิพพาน ถ้าอ่อนแกสักแต่ว่าทำละก็ตระวังจะหลงตัวว่าเป็นผู้ได้ดีแล้วลงนรกไป พวกนี้ไปกันมาก คนเจริญกรรมฐานนี่ไม่ใช่ไปสวรรค์เสมอไป ถ้าหลงตัวเมื่อไรลงนรกเมื่อนั้น คนที่จะมีดีหรือไม่มีดีนี่เราสังเกตกันง่าย ค้นที่มีความดี มีสมาธิเข้าถึงใจ เขาไม่พูดฟุ้งส่งเดช มีจริยาเรียบร้อย ถ้าจะพูดก็มีเหตุมีผล ไม่สักแต่ว่าพูด นี่เป็นเครื่องสังเกตภายนอก สังเกตง่าย คนที่ทรงสมาธิ ถ้ายิ่งทรงสมาธิเป็นฌาน ทรงฌานอยู่ด้วยแล้ว พวกนี้ขี้เกียจพูดมากที่สุด เห็นหน้าคนแล้วก็เบื่อในการพูด ไม่อยากจะพูด เพราะถ้าไปพูดเข้าละมันเสียเวลาทรงสมาธิของเขา ดีไม่ดีไปชวนเขาพูดเหลวไหลเป็นการทำฌานเขาเสื่อม พวกนี้รังเกียจในการพูด ถ้าไม่มีความจำเป็นแล้วเขาจะไม่พูด นี่เป็นเครื่องสังเกต

ถ้าเราจะกำหนดให้รู้ง่าย ตั้งนับ ๑ ถึง ๕ ขึ้นต้น ๑ แล้วขึ้นต้น ๑ ๒ ขึ้นต้น ๑ ๒ ๓ ขึ้นต้น ๑ ๒ ๓ ๔ ขึ้นต้น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เอาแค่ ๕ นี่เท่านั้น นี่ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าในช่วง ๑ ถึง ๕ นี่เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นมายุ่งกับอารมณ์จิตของเราเป็นอันขาด ในเมื่อทรงได้ดีแล้ว เวลานับทรงตัวอยู่ได้ดีแล้ว อารมณ์อื่นไม่ยุ่งถึง ๕ แล้ว เลิกเลย นี่หมายถึงว่าจิตของเรายังไม่ทรงอารมณ์พอ ยังไม่แน่นิ่งพอ เลิกเสียเป็นการผ่อนคลาย ในเมื่อเรามีความสบายใจ แล้วก็มาว่ากันใหม่ นับ ๑ ถึง ๕ อีกสักครั้ง ตอนเลิกนี่เลิกให้มันสบาย คุยกันบ้าง อ่านหนังสือบ้าง นอนเล่นบ้าง ฟังวิทยุบ้าง ปล่อยมันตามสบาย เราบังคับมันชั่วขณะหนึ่งแล้วปล่อยมันวิ่งเล่นไปตามสบาย แล้วต่อมาก็มานับตั้งต้น ๑ ถึง ๕ ใหม่ จนตั้งต้น ๑ ถึง ๑๐ ในจังหวะรอบแรก รู้สึกว่าทรงตัวได้ดี แต่พอจิตเริ่มจะส่ายก็เลิกเสียต่อไปสักสองสามวันมีอารมณ์ชิน มาตั้งต้น ๑ ถึง ๑๐ สัก ๒ วาระ คุมให้มันอยู่ตามจังหวะนี้ นี่ตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติตามนี้ นี่เขาลองทำกันมาแล้ว คนที่ผ่านมาแล้ว แล้วได้อยู่นี่ บุคคลผู้ใดจะไม่ปฏิบัติตามกระแสพระดำรัสขององค์สมเด็จพระบรมครูนี่ไม่มี เขาไม่ฝืนกัน ถ้าพวกฝืนที่บอกว่าได้ นั่นก็คือหลง ไม่ใช่ของจริง เป็นความหลงผิด ความจริงไม่ได้จริงคิดว่าได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่เราจะรวบรวมกำลังใจในด้านอานาปานสติกรรมฐาน

อีกแบบฉบับหนึ่ง นั่นก็คือว่า เวลาที่จิตมันซ่านจริงๆ ๑ ถึง ๕ หรือ ๑ ถึง ๓ มันก็ทนไม่ไหว อย่างนี้มันมีอยู่เหมือนกัน บางทีวันนี้มีความสบายใจ พรุ่งนี้จะเอาให้ได้ดีมันกลับไม่เอาเรื่องเอาราวฟุ้งซ่านบอกไม่ถูก บังคับมันไม่อยู่อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูทรงแนะนำให้บรรดาท่านพุทธบริษัทพากันปล่อยจิตไปตามอารมณ์ มันอยากคิดนี่ ควบคุมไม่อยู่แล้ว ปล่อยให้มันคิดไป แล้วเราเอากำลังใจเข้าควบคุมไว้ มันจะคิดไปไหนให้มันคิดไป แล้วถ้ามันเลิกคิดเมื่อไร เราจะใช้งานให้เป็นสมาธิทันที ท่านอุปมาเหมือนกับคนที่ฝึกม้า ม้าตัวพยศ ทำยังไงขณะที่มันมีแรง เอาเข้าทางไม่ได้ จะฝึกให้เป็นไปตามอัธยาศัยที่เราต้องการไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้จริงๆ ก็กอดคอมันไว้ ปล่อยให้มันวิ่งไปตามอัธยาศัย มันอยากพยศ วิ่งไปวิ่งไป ถ้ามันหมดแรง เราก็จูงเข้าทาง มันหายพยศเพราะไม่มีแรงจะพยศ นี่กำลังจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันซ่านจริงๆ บังคับไม่อยู่ก็อย่าไปยุ่งกับมัน ดีไม่ดีจะเป็นโรคประสาทตาย ท่านบอกให้ปล่อยไป ปล่อยมันแล้วก็ควบคุมเข้าไว้ มันเลิกคิดก็ไม่เกิน ๒๐ นาทีเป็นอย่างมาก นี่เคยลองมาแล้ว พอเลิกคิดปั๊บจับอารมณ์เป็นสมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คราวนี้เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น อารมณ์มันจะดึงเข้าเป็นฌานทันที มันจะนิ่งสบาย ดีไม่ดีครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงไม่อยากเลิก อารมณ์มันสบาย มันเป็นฌาน

นี่เป็นการฝึกสมาธิเบื้องต้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจำไว้ ถ้าจะพูดมากไปมันก็ไม่มีอะไรมาก ก็มีเท่านี้แหละ วิธีฝึกเรื่องอารมณ์สมาธิในแต่ละขั้นในวันต่อไปค่อยพูดกัน ต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.135 Chrome 42.0.2311.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 12 พฤษภาคม 2558 16:25:13 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๕ ปีติ

วันก่อนเราได้พูดกันถึงอารมณ์ของสมาธิ พูดมาได้เล็กน้อยเวลาก้อหมดไป ก่อนที่บรรดท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะนึกถึงอะไรทั้งหมด อันดับแรกให้นึกถึงความตายเป็นอารมณ์เสียก่อน เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง เรามาสร้างความดีกันก็เพื่อว่าจะได้เป็นทุนไว้ในเวลาที่เราจะตาย นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นมรณัสสติกรรมฐาน และจัดว่าเป็นความไม่ประมาทในชีวิต เพราะเราจะคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราตายแล้ว ถ้าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์เพียงใด เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฎฎะ ก่อนจะตายเราก็แสวงหาความดีเข้าไว้
 
ความดีที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำเบื้องต้น นั่นก็คือการให้ทาน ทานเป็นปัจจัยแห่งความรัก ทานเป็นปัจจัยแห่งการผูกมิตร คนที่ให้ย่อมมีจิตเป็นสุข หมายความว่าจะไปในที่ไหนก็ตาม บุคคลผู้รับทานจากเราย่อมแสดงความเป็นมิตรกับเรา เว้นไว้แต่คนบางเหล่าเท่านั้นที่ไม่รู้คุณคน อันนี้เราก็ยกให้ด้วยอำนาจของเมตตาบารมี ตายจากความเป็นมนุษย์ไปแล้ว คนที่ให้ทานไว้ก็จะไม่พบกับความยากจนเข็ญใจ ถ้าเรายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด เราก็จะมีความสุขในการเสวยทรัพย์สมบัติ นี่เป็นผลของทานที่เราพึงได้
 
อีกประการหนึ่งความดีเบื้องต้นของการเตรียมตัวเพื่อตาย ก็คือการมีศีลบริสุทธิ์คนที่มีศีลบริสุทธิ์ตายไปแล้วมีอายุยืนนาน มีรูปร่างหน้าตาสะสวย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์มีทรัพย์สมบัติไม่ถูกอัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย วาตภัยทำอันตรายเพราะอำนาจของศีลเป็ฯขอบเขต มีคนในปกครองก็รู้สึกว่าอยู่ในโอวาท ไม่มีใครฝ่าฝืน วาจาเป็นที่รักของบุคคลอื่น สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นี่เป็นความดีอันดับที่สองที่เราจะเตรียมตัวเพื่อตาย
 
อันดับที่สาม องค์สมเด็จพระจอมไตรให้ภาวนานึกถึงความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาเป็นต้น อันนี้องค์สมเด็จพระทศพลให้ทรงยึดไว้เพื่อกันลืมสติสัมปชัญญะเป็นการทรงสติสัมปชัญญะ ไม่ให้เราลืมในขณะที่เราจะตาย เพราะว่าเวลาเราจะตายถ้าเราฝึกภาวนาเข้าไว้ อารมณ์จิตจะชินในด้านของกุศล ถ้าในขณะนั้นจิตของเรานึกถึงกุศลส่วนใดส่วนหนึ่ง หรืคำภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก้อตาย อบายภูมิไม่มีสำหรับเรา มีที่ไปอย่างเลวเราก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือมิฉะนั้นก็เป็นเทวดา หรือมิฉะนั้นก็เป็นพรหม บทใดที่เราภาวนาไว้จนขึ้นใจ ต่อไปถ้าไปพบองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ท่านจะเทศน์อานิสงส์ของบทนั้น เราฟังเพียงจบเดียวก็ได้บรรลุอรหัตผลเข้าถึงพระนิพพาน
 
นี่ก่อนที่เราจะตายตั้งใจไว้ว่า เราตายแล้วจะไม่เป็นผู้ลำบาก เราตายแล้วจะเป็นผู้ไม่มีทุกข์ เราจะมีความสุขพอสมควรแม้ว่าจะยังไม่เข้าถึงพระนิพพานเพียงใดก็ตามที นี่คุณธรรมแบบนี้ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจดจำแล้วปฏิบัติไว้เป็นปกติ จึงจะชื่อว่าเราไม่เสียทีในการเกิด เพราะถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วตายไปแล้วต้องไปเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ชื่อว่าเราก็แย่มาก เป็นการขาดทุน การสร้างความดีที่เรียกกันว่าทำบุญเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีความสุขดียิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเตรียมไว้ทุกขณะจิต
 
ต่อแต่นี้ไปก็จะขอพูดถึงอารมณ์ของสมาธิ ที่เราจะพึงเข้าถึง เมื่อคืนนี้พูดถึงอานาปานสติไว้หน่อยหนึ่ง ว่าจะต่อมันก็หมดเวลาที่จะพูด การฝึกอารมณ์ การข่มใจเนื่องเพราะจิตฟุ้งซ่านเราก็ทราบแล้ว ที่กล่าวมาแล้วเมื่อคืนนี้ ไม่ต้องย้อนกลับไป
 
คราวนี้เราก็มาดูกำลังใจคือผลที่เราจะพึงได้จากการเจริญสมาธิ การเจริญสมาธินี้ เราต้องมีอารมณ์รู้จักฝึก รู้จักกำหนดจิต รู้กิจที่เราทำว่าผลมันได้แค่ไหน ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งทำประเภทดำน้ำกันเรื่อยไป อย่างนี้มันก็ไม่มีผล ดีไม่ดีเราพบของดีเข้าแล้วก็ทิ้งไป บางคราวเรามาพบเหตุเป็นศัตรูกับอารมณ์ของสมาธิในด้านสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาเป็นเครื่องคุณธรรมทำลายความดี เราก็เข้าใจว่าของดีไปยึดถือเอาเข้าไว้ เป็นอันว่า เราเหนื่อยเปล่าในปฏิบัติ ฉะนั้น ในฐานะที่บรรดาท่านพุทธบริษัทมีความเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จงตั้งใจกำหนดไว้เพื่อความรู้
 
การทรงอานาปานสติกรรมฐาน หรือว่าพุทธานุสสติกรรมฐาน หรือว่ากรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ดี ถ้าเราสามารถทรงความดีนี้ได้แล้ว แล้วต่อไปก็จงกำหนดใจคิดถึงอารมณ์ที่เราพึงได้ ถ้าเราทรงความดี คือทั้งระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความโกรธ ความพยาบาท ระงับความรู้สึกพอใจในกามารมณ์หรือระงับความสงสัยในความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ครั้งหนึ่งได้ชั่วขณะเดียว ได้เพียงนาทีสองนาที อารมณ์จิตก็ซ่านคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ไป แล้วสักประเดี๋ยวหนึ่งเราก็รู้ตัวดึงเข้ามาใหม่ สลับกันมาสลับกันไปอย่างนี้ ท่านเรียกว่าขณิกสมาธิ

อาการที่สงสัยยังไม่มีผลเพียงแค่ขณิกสมาธิแบบนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททรงไว้ได้ทุกๆ วัน ผลที่เราจะพึ่งได้ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเวลาที่ท่านจะตายท่านจะไม่หลงตาย เวลาที่ป่วยหนักมากๆ อารมณ์ใจมันก็เข้ามารวมตัว จะทรงจิตเป็นฌานได้ หรือมิฉะนั้นจะทรงจิตเป็นสมาธิ สูงขึ้นไปกว่านั้นถึงขั้นอุปจารสมาธิ เพราะคนถ้ารู้ตัวว่าจะตายก็จะรวบรวมกำลังกายกำลังใจไว้เพื่อช่วยตัวเองเสมอ นี่เป็นกฏธรรมดา ผลที่ได้มาจากขณิกสมาธิ ส่วนมากเขาไม่เกิดเป็นคนแล้ว เขาไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรก ขณิกสมาธิส่งผลให้บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เทวโลก
 
ตัวอย่างในพระพุทธศาสนามีมาก เช่นท่านมัฎฐกุลฑลีเทพบุตร เป็นคนที่ไม่เคยทำบุญมาเลยในกาลก่อน เพราะพ่อเป็นคนขี้เหนียว นามของพ่อก็คือ อทินนปุพพกพราหมณ์ แปลว่าพราหมณ์ผู้ไม่เคยให้อะไรมาเลยในกาลก่อน ขี้เหนี้ยวมาก บุญก็ไม่เคยทำ กรรมดีก็ไม่เคยสร้าง เพราะความเหนียวแน่นเสียดายทรัพย์ ท่านมัฎฐกุลฑลีเทพบุตรตอนที่เป็นลูกชายป่วยไข้ไม่สบายลง พ่อก็ไม่หาหมอมารักษา เพราะความขี้เหนียวเก็บยามารักษาอย่างเดียว ในที่สุดลูกก็ตาย เมื่อลูกชายใกล้จะตายคิดว่าพ่อแม่ก็ดีทรัพย์สินทั้งหลายที่มีมากถึง ๘๐ โกฎิ ไม่มีประโยชน์สำหรับตน คิดว่าองค์สมเด็จพระทศพลคงจะมีพระมหากรุณาโปรดให้มีความสุข จึงนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างที่พวกเราภาวนาว่า พุทโธ ท่านคำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจิตก็ออกไปจากร่างกายที่เราเรียกกันว่าตาย ผลความดีเล็กน้อยที่คิดถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรเรียกว่าขณิกสมาธิ ท่านก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์เทวโลกมีวิมานทองคำ มีต่างหูเกลี้ยง มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร จัดว่ามีความสุขพอสมควร ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยทำบุญมาในกาลก่อนเลย ถ้าพวกเราทำอย่างงั้น ได้กำไรกว่ามัฎฐกุลฑลีเทพบุตรมาก เพราะเราทำบุญในศาสนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามานับไม่ถ้วน แล้วเราก็ให้ทานภายนอกเขตของพระพุทธศาสนามานับไม่ถ้วน เช่นให้ทานแก่คนขอทาน ให้ทานแกคนรับความลำบาก ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน อย่างนี้ก็มีอานิสงส์ใหญ่ อานิสงส์ทั้งหลายจะรวมตัว เราก็จะมีความดียิ่งกว่ามัฎฐกุลฑลีเทพบุตร มีความสุขกว่า มีอำนาจวาสนาบารมีดีกว่า
 
สำหรับสมาธิที่น่ากลัวก็คืออุปจารสมาธิ อุปจารสมาธินี่ทำลายความดีคนลงไปเสียมาก อาการของอุปจารสมาธิมีความอิ่มอกอิ่มใจ มีความปลื้มปีติยินดี มีความขยันในการสุขกายสุขใจเพราะอำนาจสมาธิเป็นเครื่องส่งเสริม เป็นเหตุให้เราไม่อิ่มไม่เบื่อในการเจริญสมาธิ หรือว่าในการเจริญวิปัสสนาญาณ นักปฏิบัติพระกรรมฐาน พอเข้าถึงปีติ คืออุปจารสมาธิ มีปีติเต็มที่ พวกนี้ได้ดีทุกคน เว้นไว้แต่คนที่หลงเท่านั้น
 
อาการของอุปจารสมาธิที่จะเกิดขึ้น
ในอันดับหนึ่งจะมีการขนลุกซู่ซ่า เรียกว่าขนพองสยองเกล้า นั่งๆ อยู่ก็มีอาการขนลุกชันขึ้นมาเป็นปกติ ซึ่งในกาลก่อนความหนาวไม่มี การสัมผัสกับลมไม่มี แต่มันขนลุกขึ้นมาเฉยๆ อย่างนี้จัดว่าเป็นปีติเบื้องต้น ไม่ต้องแก้ไข ถ้ากำลังใจของเราตกกว่านั้นอาการอย่างนั้นมันก็ไม่เกิด ถ้ากำลังใจสูงขึ้นไปอีกหน่อย อาการอย่างนั้นมันก็หายไป อาการที่เกิดทางกายนี่ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงอย่าเอาจิตเข้าไปยุ่ง มันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน เรารวบรวมกำลังใจไว้อย่างเดียวดีกว่า ทรงอารมณ์จิตให้เป็นสมาธิ บางท่านก็เอาใจเข้าไปยุ่งจนเสียผล มีเยอะแยะไป แล้วมีบางรายอธิบายให้ฟังอยู่อย่างนี้แล้วก็ยังไม่หายความสงสัย ย้อนไปย้อนมาถึงอาการที่เกิดทางกาย ถ้าอารมณ์ใจเป็นอย่างนี้ล่ะก็ อารมณ์จิตมันละเอียดลงไปก็ปรากฎทางกายขึ้นมาบ้าง มันจะเป็นยังไงก็ปล่อยมัน อย่าไปสนใจ รักษาใจเป็นสมาธิแล้วเป็นพอ
 
อาการที่ ๒ เมื่อขนพองสยองเกล้าผ่านไป คราวนี้เกิดน้ำตาไหล นั่งไป นั่งพอใจสบาย น้ำตามันไหล ดีไม่ดีมันก็ไหลเอามากๆ แล้วก็ไม่ไหลแต่เวลาที่นั่งเจริญสมาธิ บางทีไปพบอะไรสะดุดใจเข้า ใครเขาพูดอะไรสะดุดใจเข้า จิตมันทรงปีติอยู่แล้วนี่ เราไม่รู้มัน เพราะเราไม่ได้ระวัง ไอ้ปีติตัวนี้มันขังอยู่ในใจ แล้วไม่มีเหตุไม่มีผล นี่อาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นแก่บรรดาท่านพุทธ ศาสนิกชน จงคิดว่ากำลังใจของเราก้าวขึ้นไปแล้ว มีสมาธิสูงขึ้นเข้าถึงระดับปีติที่ ๒ ปีตินี่แปลว่าอิ่มใจ อาการอย่างนี้ความชุ่มชื่นในการที่บำเพ็ญกุศลมักจะมากขึ้นตามลำดับ มีความเชื่นมั่นในความดีของพระพุทธศาสนา คนประเภทนี้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามขอวัตถุใดๆ เพราะว่าขอแล้ว ท่านมีกำลังใจสูง ท่านก็ให้ ถ้าพระขอพระก็เป็นโทษเป็นอาบัติ นอกจากแต่เพียงว่าเราขาดอะไร ท่านเห็นใจ ท่านถวายพระ อันนี้ไม่เป็นไร ถ้าพระองค์ไหนไปอ้าปากขอก็มีหวังลงนรกทันที อาการอย่างนี้เป็นอันดับที่ ๒ ถ้าจิตมีกำลังใจสูงขึ้นไป อาการน้ำตาไหลมันก็จะหายไป
 
คราวนี้อาการมาใหม่ คือร่างกายโยกไปโยกมาโยกข้างหน้าโยกข้างหลัง บางทีก็หมุนไปทั่วตัว บางทีก็แสดงอาการตึงตังตึงตังคล้ายปลุกพระ อาการอย่างนี้เขาเรียกว่าโอตกันติกาปีติ เป็นปีติที่ ๓ อาการเคลื่อนไหวของกายมันจะแรงมันจะเบาประการใดก็ตามที่จะรู้สึกว่ากำลังใจของเราตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์สมาธิไม่เสื่อมคลาย นี่อาการกายอย่างนี้ถ้าปรากฏก็ต้องใช้ศัพท์ว่าช่างมัน มันจะแสดงเป็นยังไงก็ช่างหัวมัน เมื่อใจเราสบายแล้วก็แล้วกัน เรื่องทางกายเราไม่เกี่ยว อันนี้ต้องจำไว้ให้ดี อาการประเภทนี้ปรากฏมีคนเป็นจำนวนมากมาถามกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าไปในกรุงเทพฯ เขาถามกัน อธิบายให้ฟังแล้วแกก็ไม่ได้ดี เพราะอาการที่เกิดขึ้นแก่ตัว ตัวไม่รู้ คนที่เขาผ่านมาแล้วบอกก็ยังไม่รับฟัง ยังนั่งตั้งหน้าตั้งตาสงสัย ไอ้ตัวสงสัยมันเข้ามาข้องอยู่เมื่อไร เราก็บรรลัยเมื่อนั้นผลแห่งการปฏิบัติมันก็ไม่ปรากฏ นี่อาการอย่างนี้ปรากฏเราจะรู้สึกว่าจิตใจของเราตั้งมั่นมากขึ้น เราต้องการอย่างเดียวให้จิตใจตั้งมั่น ร่างกายมันจะเป็นยังไงก็ช่างมัน
 
ต่อมาเป็นปีติที่ ๔ เรียกว่า อุพเพงคาปีติ ปีติอันดับนี้จะมีตัวลอยขึ้นไปบนอากาศ แต่ว่าใจเราก็สบาย ไอ้ตัวลอยขึ้นไปนี่มันไม่ใช่เหาะ เมื่อใจเข้าถึงระดับ ปีติตัวนี้มันลอยของมันขึ้นไปเอง ถ้ากำลังจิตจะคลายนิดหนึ่งมันก็จะเลื่อนมานั่งที่เดิมตามปกติ ไม่ต้องกลัวว่าจะลอยไปแล้วก็กลับไม่ได้ อารมณ์ใจจะมีความชุ่มชื่น มีความชื่นบานมากกว่าปีติที่แล้วมา
 
ถ้ากำลังใจของเราสูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง อาการอย่างนั้นมันก็หายไป จะมีอาการซาบซ่าเหมือนกับกายเบา กายโปร่งคล้ายกับกายไม่มีอะไร จะมีเพียงหนังบางๆ ผสมอยู่ เนื้อกระดูกภายในมันจะไม่ปรากฏ มีความรู้สึกยังงั้น นั่งอยู่อย่างนี้ดูอาการมันเหมือนกะว่าตัวเราโตขึ้นบ้าง หน้าใหญ่บ้าง ร่างกายสูงขึ้นไปบ้าง แต่มีอารมณ์ใจชุ่มชื่น มีจิตเป็นปกติมีอารมณ์ตั้งมั่นในสมาธิ อาการนี้ท่านเรียกว่า ผรณาปีติ เป็นปีติตัวสุดท้าย แล้วก็มันมีอาการใกล้กับความสุข เมื่อปีติตัวนี้ปรากฏขึ้นแล้วพอระงับหายไป ความสุขก็ปรากฏ คำว่าความสุขปรากฏนี่มันสุขจริงๆ เราจะนั่งสัก ๒๐-๓๐ วันโดยไม่ลุกเลยก็ได้ ความปวดความเมื่อย ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันจะไม่มี มีแต่ความสดใสชุ่มชื่น บรรยายกันไม่ถูก
 
นี่พอจิตเข้าสู่ระหว่างปีติก็ดี เข้าถึงสุขก็ดี เรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าถึงตัวสุขจัดว่าเป็นอุปจารสมาธิเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ปีติแรกก็เรียกว่าอุปจารสมาธิเบื้องต้น อาการของปีติที่กล่าวมาแล้วถึงห้าขั้นนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องผ่านเหมือนกันทุกคน บางคนก็ผ่านเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคนที่มีอารมณ์สูงกว่าไม่ผ่านเลย คือผ่านอย่างไม่มีความรู้สึก เข้าไปถึงปฐมฌานเลยทันที นี่ถ้าเคยได้ฌานมาในกาลก่อน
 
แล้วตอนที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอุปจารสมาธิตัวนี้ตั้งแต่ปีติเป็นต้นไปต้องระมัดระวังแสงสีภาพต่างๆ มันจะปรากฏ ตอนนี้พระคณาจารย์ทั้งหลายกำหนดไว้บอกว่าจงอย่าสนใจกับภาพแสงสีใดๆ ทั้งหมด ถ้าไปสนใจกับภาพแสงสีใดๆ เข้า จิตใจของเราจะเคลื่อนจากสมาธิ เราตั้งใจไว้อย่างเดียวว่าอะไรจะมาก็เชิญมา อะไรจะไปก็เชิญไป เราไม่สนใจ เราสนใจอย่างเดียวคือสมาธิที่ทรงไว้ รักษากำลังใจให้ตั้งมั่นไว้ตามเดิม เช่นเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คำภาวนาว่ายังไงก็ตาม ทรงอาการอย่างนั้นไว้ให้เป็นปกติ จิตก็จะได้เข้าถึงปฐมฌานได้รวดเร็ว ถ้าเราลงไปหลงในภาพแสงสีแล้วความดีมันก็จะสลายตัวลงไป
 
สำหรับท่านทั้งหลายที่มีจิตใจเข้าถึงอุปจารสมาธิแบบนี้ เมื่อตายจากความเป็นมนุษย์ส่วนใหญ่ไปเป็นเทวดาชั้นยามา คือว่าเป็นเทวดาที่ต่อวาสนาบารมี
 
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัท สำหรับวันนี้ กาลเวลาที่จะพูดก็หมดแล้ว ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.135 Chrome 42.0.2311.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2558 16:07:06 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๖ ปฐมญาน

วันนี้ก่อนที่จะศึกษาอย่างอื่น ก็ให้นึกถึงกฎธรรมดาไว้เป็นสำคัญ กฎธรรมดาที่จะมีสำหรับเรานั้นก็คือ ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณมปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโสมนัสเป็นต้น ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ มีอารมณ์ขัดข้องหรือความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เราเกิดมาเพื่อมาประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนที่จะไม่มีทุกข์ ไม่มี ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่าอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ มีลาภดีใจ ลาภสลายตัวไป เสียใจ มียศ ดีใจ ยศสลายตัวไป เสียใจ มีความสุขในกามสุข ดีใจ ความทุกข์หมดไป ร้อนใจ ได้รับคำนินทา เดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข นี่ก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของอุปาทาน สร้างความทุกข์ สร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นกับเรา
 
ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นทุกข์
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำให้พวกเราถือว่าใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า กฎนี้เป็นกฎธรรมดาของโลกที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงมันไปได้ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเราก็ถือว่า ช่างมัน ตามศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ขันติ ความอดทน ถ้าใช้คำว่าอดทนมันเข้าใจยาก ใช้ภาษาไทยธรรมดาดีกว่า ว่ามันจะเกิดขึ้นมาประเภทไหนก็ช่างมัน
 
เกิดเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา การเลี้ยงชีวิต การประกอบอาชีพ การบริหารร่างกาย การบริหารหมู่คณะ กิจที่จะต้องทำมันเหนื่อยยาก ได้รับความขัดข้องใจ เราคือว่าเราทำตามหน้าที่ เราทำไว้เต็มความสามารถแล้วใครจะติว่าดีหรือไม่ดี ไม่ถือ ไม่ปรารภว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะองค์สมเด็จพระทรงธรรม์กล่าวว่า นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก ฉะนั้น การนินทาว่าร้ายอะไรก็ตาม ก็ถือว่าช่างมันเป็นธรรมดา ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่
 
ถ้าความเกิดมันเป็นทุกข์อย่างนี้ เราก็ถือว่านี่เพราะว่าอาศัยเราโง่เราจึงเกิด โง่เพราะอะไร? โง่เพราะยึดมั่นว่า ร่างกายมันเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมันมีในเรา เมื่อยึดร่างกายเสียอย่างเดียว ก็เลยยึดทรัพย์สินภายนอกไปด้วย แต่ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นเราจริง มันต้องไม่แก่ มันต้องไม่ป่วย มันต้องไม่ตาย ที่เกิดมาแล้ว มันต้องแก มันต้องป่วย มันต้องตาย ทำไมจิตใจเราจะต้องไปทุกข์มันด้วย ถ้าเราคิดไว้เสมอว่า เราเกิดเพื่อแก่ เกิดมาเพื่อป่วยไข้ไม่สบาย เกิดมาเพื่อกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ เกิดมาเพื่อความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ซึ่งมีความตายไปในที่สุด รวมความว่าเราเกิดมาเพื่อตาย ในเมื่อหน้าที่ของเราเกิดมาต้องประสบด้วยเหตุอย่างนี้ เราจะไปทุกข์มันทำไมเมื่ออาการทั้งหลายเหล่านั้นมันเกิด ถือว่านี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ภายในไม่ช้าเราก็จะสิ้นทุกข์
 
วิธีสิ้นทุกข์ทำยังไง?
เราก็มีการให้ทานเป็นปกติ ถ้าอารมณ์เราพร้อมเพรียงในทาน ก็ชื่อว่าเป็นการตัดโลภะ ความโลภ เรามีเมตตาเป็นปกติ อารมณ์ของเมตตาที่เราทรงอยู่คือรักษาศีลได้ ถ้ามีเมตตาอยู่ศีลมันก็ไม่ขาด ถ้ามีเมตตาอยู่เป็นปกติ นอกจากมีเมตตาอยู่แล้วศีลไม่ขาดแล้ว เมตตามันยังเป็นตัวทำลายโลภะ เราก็มาพิจารณาหาความจริงว่า ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ เจ้าอยากเกิดนี่ มันจะทุกข์อย่างไรก็ช่างมัน ใจเราก็วางเฉยไว้ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ อาการงกๆ เงิ่นๆ ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า มีความปรารถนาไม่สมหวัง เพราะทำเองไม่ได้ แล้วเราก็เลยมีทุกข์ ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่ เกิดมาเพื่อแก่ มรณมฺปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ เรื่องของชาวบ้านธรรมดาเราไม่ทุกข์ ถือว่าเป็นกฎธรรมดา ตายเสียได้ก็ดี เพระามันจะได้หมดเรื่องยุ่ง แล้วเราเห็นว่าขันธ์ห้าเป็นโทษ เป็นทุกข์สำหรับเรา เราก็เลยคิดต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้า ความเกิดมามีร่างกายขันธ์ห้า แบบนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราจะไม่โง่ยอมรับนับถือให้มีร่างกายต่อไป ถ้าอารมณ์ใจของเราคิดไว้อย่างนี้เป็นปกติ เราก็จะหมดความทุกข์ มันค่อยๆ เข้าใจไปเอง
 
นี่เป็นบทที่บรรดาพุทธบริษัทควรจะคิดให้เป็นปกติ เพื่อความเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน นี่เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย
 
ต่อแต่นี้ไป ก็จะขอพูดต่อเมื่อวานนี้ เมื่อวานเรามาพูดกันถึงจบอุปจารสมาธิ วันนี้ก็จะขอพูดเข้าถึงจุดของฌาน การรักษาลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาว่าพุทโธ ความจริงการภาวนานี่ไม่ได้จำกัด ท่านจะภาวนาอย่างใดก็ได้ตามอัธยาศัย การภาวนาใดๆ ก็ตามให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย เวลาหายใจเข้านึกว่าพุธ เวลาหายใจออกนึกว่าโธ ขณะใดที่จิตใจเรายังมีความรู้สึก จิตยังอยู่ในขอบเขตคำว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก พึงทราบว่าขณะนั้นจิตของเราตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ
 
การทรงสมาธิวันละนิดหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน คือมีคุณธรรมสูงพอที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเราทรงสมาธิได้ดีกว่านั้น หมายความว่าขณะที่ท่านทั้งหลายกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกแล้วก็กำหนดคำภาวนา ภาวนาไปด้วยจิตใจมีอารมณ์สบาย หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนดี สุนัขเห่า สุนัขหอน คนพูดเสียงร้องเพลงร้องละคร เสียงชาวบ้านทะเลาะกัน เขานินทากัน หรือแม้ว่านินทาว่าร้ายเรา เราได้ยินหมด แล้วก็ปรากฏว่าใจของเราไม่รำคาญ เราไม่มีความรำคาญในเสียง สามารถกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาได้แบบสบาย อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงไว้ได้ ๒, ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ตาม ท่านถือว่าอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน จิตเราเข้าถึงปฐมฌาน เป็นฌานที่ ๑
 
ฌานที่ ๑ นี่เรามีกฏสังเกตไว้อย่างนี้ คือว่า เราไม่รำคาญในเสียง เพราะเสียงนี่เป็นศัตรูของปฐมฌาน ให้สังเกตไว้ แต่การเข้าถึงปฐมฌานกับการทรงปฐมฌานมันต่างกัน การทรงหมายความว่าเราบังคับจิตให้ทรงอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เวลาเท่าใดก็ได้ตามที่เราตั้งใจไว้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน ถ้าอารมณ์จิตเข้าถึงปฐมฌาน มันก็ลดตัวตัดลงมา ลดลงมาต่ำ เมื่อลดลงมาต่ำแล้ว เราก็ตั้งใจจะก้าวขึ้นไปอีก มันขึ้นไปได้หรือไม่ได้ก็ตามใจ
 
การที่จะเข้าถึงปฐมฌานในตอนต้น มันมีเรื่องอยู่ที่เป็นเรื่องน่าสงสัย นั้นคืออารมณ์เบื้องต้น ถ้าอารมณ์ของเราหยาบ มันจะมีอาการมืดตื้อ เคลิ้มคล้ายหลับ จะมีอารมณ์มืด บางทีเรามีความรู้สึกตัวเหมือนจะหลับไป ถ้าจิตมันตกจากอารมณ์นั้นลงมา จิตใจจะมีอารมณ์สว่าง เราก็คิดว่าเราเผลอหลับไปหรือไงก็ไม่ทราบ เราจะสังเกตได้ว่าเราหลับหรือไม่หลับ หรือว่าจิตเข้าสู่อารมณ์ฌานหยาบ ถ้าเราหลับหลับมันต้องโงกไปข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลังเป็นอาการของคนหลับ ถ้าร่างกายมันนั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีอาการเคลิ้มอย่างนั้น เกือบจะหมดความรู้สึกตัวเผลอไปแล้วก็รู้สึกขึ้นมาใหม่ อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน แต่มันหยาบ มันทรงไม่ได้นาน ต่อไปจิตมันก็จะละเอียดเอง นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่บรรดานักปฏิบัติทั้งหลายมีความสงสัย

อีกลักษณะหนึ่งนั่นคือว่า เวลานั่งๆ ไป มีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ทำให้ตกใจเสียวขึ้นมาทันที บางทีก็มีการใจเต้นแรงเหมือนเราตกจากที่สูง เมื่อมีความรู้สึกเป็นเช่นนี้ อารมณ์ดิ่งจะไม่มี เราจับได้ต่อไปก็จะมีแต่อารมณ์สบาย อาการอย่างนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายพึงเข้าใจ ว่านั่นจิตมันเข้าไปสู่ปฐมฌานแล้ว แต่ว่าจิตมันทรงอยู่ไม่ได้นาน มันพลัดตกจากฌาน คือมันพลัดแรงเกินไป ตกเข้าสู่สภาวะภวังค์ที่เรียกว่าจิตปกติ ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างละเอียด มันจะมีอารมณ์สบาย เฉยๆ มีความสว่างของจิต จิตจะมีอารมณ์สงบสงัด หูจะได้ยินเสียงทั้งหมด แต่ก็มีใจสบายไม่รำคาญในเสียง นี่เป็นปฐมฌานละเอียด

ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ทั้งสองประการ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านก็ควรจะภูมิใจว่าจิตเราเข้าสู่ปฐมฌาน วันหนึ่งขณะหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่ง ๒ นาที ๓ นาทีก็ดี ถ้าจิตทรงได้อย่างนี้ทุกๆ วันก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน เวลาที่ตายไปแล้วเราก็จะกลายเป็นพรหม เวลาที่เราป่วยหนัก อารมณ์ของสมาธิจิตจะเข้ามารวมตัว เมื่ออารมณ์จิตเข้ามารวมตัวแล้วเราก็จะมีความสุข นี่เราจะไปรู้กันเวลาที่ป่วยหนักๆ ว่ามันณขนาดไหน ถ้าจิตรวมตัวได้จิตทรงปฐมฌานอยู่ เวลาป่วยนี่มันได้ผลจริงๆ มันจะทรงตัวได้ดีมาก เมื่อจิตทรงตัวได้ดีมากเวลาตาย ตายในระหว่างปฐมฌาน ถ้าหากว่าเราได้ฌานอย่างหยาบ เราก็เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ ถ้าเป็นฌานอย่างกลางเราก็เป็นพรหมชั้นที่ ๒ ถ้าเป็นฌานอย่างละเอียดก็เป็นพรหมชั้นที่ ๓ นี่พูดกันถึงด้านโลกียวิสัย เป็นฌานโลกีย์
 
ถ้าอารมณ์เข้าถึงปฐมฌานแบบนี้ ถ้าเราพิจารณาอย่างตอนต้นแบบง่ายๆ ถึงอัตภาพร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย มันจะป่วยมันจะแก่ มันจะตายก็ช่างมัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะนินทาใครจะสรรเสริญเราไม่สนใจ ความร่ำรวยมีเท่าใด มันยากจนอย่างไร ก็ช่างมันหากินไปตามหน้าที่ มีมากกินมาก มีน้อยกินน้อย ถือว่ามีมากก็ตาย มีน้อยก็ตาย มีมากก็แก่ มีน้อยก็แก่ มีมากก็ป่วย มีน้อยก็ป่วย มีมากก็กลุ้ม มีน้อยก็กลุ้ม มันก็ไอ้กลุ้มเหมือนกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น มันเป็นของธรรมดา เราทำใจให้สบาย

ถ้าจิตใจของเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เห็นว่าร่างกายมีความเกิด มีความแก่เจ็บตายไปในที่สุด เป็นของธรรมดา มีอารมณ์แรงกล้า คือยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคงมีศีลบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่แค่ปฐมฌานทำได้แล้วขนาดนี้ เพราะกำลังของปฐมฌานมีกำลังพอที่จะตัดกิเลส อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เรียกว่าพระโสดาปัตติผล ถ้าอารมณ์ใจของเราเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันหรือโสดาปัตติผลนั่นเอง อารมณ์จิตมันก็จะไม่ตกต่ำ ไม่เคลื่อนไปอบายภูมิ ถ้าเราตายจากความเป็นมนุษย์ มีเกิดเป็นมนุษย์บ้างเป็นเทวดาบ้างสลับกันไป ถ้าได้พระโสดาอย่างหยาบ ก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติแล้วไปนิพพาน เป็นพระโสดาบันอย่างกลางก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ เป็นพระโสดาบันอย่างละเอียดก็เป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ นี่พูดกันถึงตามหลักการที่เราจะได้พระโสดาบันหรือจะไม่ได้พบพระพุทธเจ้า อย่าลืมว่าพระโสดาบันทรงคุณธรรมเพียงสามประการเท่านั้น คือนึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตายเป็นปกติ เห็นความเกิด ความแก่ ความกลัดกลุ้มใดๆ ก็ตามมันเป็นของธรรมดา แต่ความโลภอยากรวยยังมีอยู่ ความอยากสวยยังมีอยู่ ความโกรธยังมีอยู่ ความหลงยังมีอยู่ แล้วความอยากสวยอยากรวยอยากโกรธอยากหลงมันอยู่ในขอบเขตของศีล อยากสวยก็สวยโดยไม่ผิดศีล อยากรวยได้มาโดยไม่ผิดศีล ไม่คดไม่โกงใคร โกรธได้แต่ทำร้ายใครเขาไม่ได้กลัวศีลขาด ยังหลงในร่างกายว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีอยู่แต่ว่ารู้อยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย จิตใจมันปล่อยได้ งานทุกอย่างทำตามหน้าที่แล้วมีอารมณ์ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีศีลห้าบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ นี่แค่นี้เองพระโสดาบัน

ถ้าจะพูดย่อให้สั้นลงมา องค์พระโสดาบันก็คือ
๑) มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นอน
๒) มีศีลห้าเป็นปกติ ศีลห้าไม่ขาด
 
อาการของพระโสดาบันก็คือชาวบ้านชั้นดี การปฏิบัติแบบนี้เพื่อจะเข้าถึงพระโสดาบันมันเป็นของไม่ยาก
 
เอาละต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 พฤษภาคม 2558 12:12:44 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.135 Chrome 42.0.2311.135


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2558 12:16:06 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๗ การทรงฌาน

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้พากันสมาทานพระกรรมฐานและสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ต่อแต่นี้ไปก็เป็นโอกาสที่ท่านทั้งหลายจะพากันเจริญสมาธิจิตในอันดับแรกของการเจริญสมาธิจิต สิ่งที่ต้องตั้งไว้เป็นอารมณ์รักษาไว้ด้วยดี นั่นก็คือลมหายใจเข้าออก พยายามรักษากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อาราณ์นี้อย่าทิ้งเป็นอันขาด ให้มันทรงอยู่เป็นปกติ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะการฝึกสมาธิการรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ความรู้คำว่าพุทโธ นี้เป็นอาการของสมาธิ แล้วก็จงอย่าสนใจกับภาพและแสงสีต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแก่จิต ถ้าภาพแสงสีใดๆ ปรากฏขึ้นแกจิตเพิกเฉยต่ออาการของภาพนั้นเสีย รักษาอารมณ์เดิมให้เป็นปกติ อย่างนี้จึงจะชื่อว่าเป็นไปตามความมุ่งหมายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาการอย่างนี้ขอทุกท่านจงทรงไว้ตลอดชีวิต

แล้วอีกประการหนึ่งสำหรับการที่เราเจริญพระกรรมฐาน ก็ต้องใคร่ครวญอยู่เสมอว่า เราเจริญพระกรรมฐานเพื่อต้องการความรู้เป็นเครื่องพ้น พ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เพราะความเกิดเป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ ถ้าเรายังต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่แบบนี้ เราก็มีแต่ความทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ การเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน เราทำเพื่อสิ้นความเกิด เพราะเราไม่ต้องการความทุกข์ต่อไป จงพิจารณาหาทุกข์ให้พบในอริยสัจ

ต่อแต่นี้ไปก็จะขอพูดต่อเมื่อคืนที่แล้ว เมื่อคืนที่แล้วได้พูดถึงอารมณ์ปฐมฌานโดยย่อ ก็ให้สังเกตอารมณ์หรือว่าเท่าที่เราภาวนาว่าพุทโธ หรือกำหนดรู้ลมหายเข้าออก ถ้าอารมณ์จิตของเราได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส รู้เรื่องทุกอย่าง แต่เราไม่รำคาญในเสียง สามารถจะควบคุมอารมณ์ใจของเราให้เป็นปกติ หรือรู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนาได้เสียงจะสอดแทรกเข้ามาเพียงใดก็ตามที่ เราไม่รำคาญ จิตใจไม่กระสับกระส่ายไปตามเสียง อาการอย่างนี้เป็นอาการของปฐมฌาน

การที่เราจะควบคุมอารมณ์ให้ทรงอยู่ตลอดได้นานหรือไม่ได้นานนั้นก็เป็นเรื่องของการฝึกจิต ฝึกวิธีทรงสมาธิ วิธีที่ฝึกทรงสมาธินั่นนะ ในอันดับแรก พระพุทธเจ้าใช้การนับเป็นสำคัญ คือนับตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ของลมหายใจเข้าออก นับเป็นคู่ เราจะบังคับให้อารมณ์ของเราทรงอยู่ตามนี้ ว่าในขณะที่ ๑ ถึง ๑๐ นี่ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามาแทรกเป็นอันขาด แล้วจิตก็ทรงอยู่ใดอย่างนั้นจริงๆ พอมาถึง ๑๐ แล้วเราก็ปล่อยเลยหรือเริ่มต้นใหม่ ถ้าจิตยังสบาย คือเราจะทรงอารมณ์ให้ได้ ๑ ถึง ๑๐ อีก ถ้าถึง ๑๐ แล้วก็ยังทรงได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการฝึกจิตทรงสมาธิ เมื่อฝึกอาการอย่างนี้จนคล่องแล้วเราก็สามารถจะใช้วิธีนับ ๑ ถึง ๒๐ หรือกำหนดให้นับ ๑ ถึง ๓๐ ถึง ๕๐ ถึง ๑๐๐ ก็ได้

วิธีการฝึกการทรงฌานทรงสมาธิที่ทรงได้แน่นอน สมัยโบราณท่านทำแบบนี้ ท่านใช้เทียนปักเข้าข้างหน้า วิธีใช้เทียนนี่ต้องปักในขันหรือว่าปักในสถานที่อย่างใดอย่างหนึ่งกันเทียนล้มไปไหม้บ้านไหม้วัด นี่ต้องเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความฉลาด ไม่ใช่ทำอะไรแบบโง่ๆ ปล่อยให้อันตรายเกิดขึ้นอย่างนี้ ไม่สรรเสริญ แล้วไม่ใช่ทางดีดีไม่ดีมันจะไหลลงนรกไป การทำอะไรต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นิสสัมมะ กรณัง เสยโย ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำดีกว่า การทำอะไรไม่ใคร่ครวญไม่พิจารณา ไม่ใช่หนทางแห่งความดี มันเป็นหนทางแห่งความเลว ก่อนการเจริญกสิณ เตโชกสิณ เป็นต้น ถือว่าการทรงสมาธิจิต หัดวิธีทรงอารมณ์ เราต้องใช้ความระมัดระวังไม่ใช่สักแต่ว่าทำส่งเดช จุดธูปจุดเทียนบูชาพระก็เหมือนกัน จุดแล้วก็ต้องระมัดระวังว่าธูปเทียนจะไปไหม้อะไรหรือเปล่า เสร็จแล้วก็เอาก้านธูปขี้เทียนทิ้งไป ไม่ให้เป็นเชื้อสายอันตรายแก่ทรัพย์สิน

การทดลองการทรงสมาธิ การฝึกทรงสมาธิของพระโบราณ ท่านใช้เทียนขี้ผึ้ง แล้วก็เอาสตางค์หรือเหรียญบาทไปติดเข้าไว้จุดใดจุดหนึ่ง โดยคิดว่าถ้าจิตเรายังไม่ถึงจุดนี้เพียงใด เราจะไม่ยอมให้จิตเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น เวลานั่งภาวนาไปก็ตั้งใจเฉพาะภาวนาอย่างเดียว พอเทียนไหม้ลงไปถึงสตางค์หรือเหรียญบาทที่ติดไว้ สตางค์ก็หล่นเป้งลงไป แสดงว่าเราควบคุมจิตเราได้แบบสบายโดยจิตไม่เคลื่อน จิตของเราทรงฌานถึงระดับนั้น ทรงสมาธิทรงเวลาได้ตามที่เราต้องการ

การฝึกสมาธิจิตหรือการฝึกอารมณ์ให้ทรงตัวนี้มีความสำคัญมาก มิฉะนั้นอารมณ์จิตของเราจะไม่สามารถควบคุมได้เป็นปกติ นี่เป็นวิธีการคุมอารมณ์ให้ทรงตัวอยู่ เรียกว่า ทรงฌาน แบบนี้บรรดท่านทั้งหลายต้องฝึกให้เป็นปกติ ถ้ามานั่งอยู่ตรงนี้ (บนหอพระกรรมฐาน)ไม่แน่นัก เพราะเราใช้เวลาจำกัดเพียง ๓๐ นาที แล้วควรจะไปฝึกที่กุฏิด้วย การทรงสมาธิอารมณ์มันถึงจะได้ดี ถ้าเราสักแต่เพียงว่าทำไปชั่วขณะที่มาทำที่นี่ กลับไปกุฏิก็ปล่อยไปตามอารมณ์ อันนี้แสดงว่าเรายังขาดทุนอยู่มาก การทรงสมาธิ ถ้าเราไม่สามารถจะทรงสมาธิได้นาน วิปัสสนาญาณมันก็แย่ การที่เราจะมีวิปัสสนาญาณดีเพียงไร ก็ดูจริยาที่เราปฏิบัติในงาน ฝึกในงาน ประกอบการงาน ถ้ามีความละเอียดลออเพียงไหนหรือไม่ ถ้าขาดการระมัดระวังนั่นก็แสดงว่า เรายังห่างจากอารมณ์ของสมาธิ คือ สติสัมปชัญญะอยู่มาก การทำกิจการงานทุกอย่างต้องใช้อารมณ์พระกรรมฐานเข้าไปช่วย ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำ ทำด้วยการพินิจพิจารณา ทำด้วยการใคร่ครวญ ทำด้วยการใช้ปัญญาเอาเป็นเครื่องพิจารณาว่าอะไรมันจะดี อะไรมันจะเสียไม่เสีย อย่างนี้เขาเรียกว่าเราทำงานด้วยแล้วเอาจิตช่วยเป็นสมถะเป็นวิปัสสนาทุกฝีก้าว หรือทุกอิริยาบถที่เราขยับไปให้มันเป็นสมาธิแล้วเป็นวิปัสสนาควบไปทุกขณะ นี่ถ้าหากว่ากิจการงานใดๆ ถ้ามีการพลั้งพลาด ยังมีความหยาบก็จงรู้ถึงจิตใจของตัวว่ามันยังห่างจากมรรคผลมากนัก ยังห่างกว่าฌานสมาบัติ
 
ต่อนี้ไปก็จะขอพูดถึงฌานที่ ๒ เมื่อคืนนี้ได้พูดถึงฌานที่ ๑ ฌานที่ ๑ มีองค์ห้า คือ มีวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคตา

คำว่า วิตก แปลว่า นึก นึกว่าเราจะหายใจ นึกว่าเราจะภาวนา

วิจารณ์ตัวนี้ก็รู้อยู่ ว่าการหายใจเราหายใจอยู่หรือเปล่า หายใจสั้นหรือหายใจยาว ภาวนาอยู่หรือเปล่า คำภาวนาถูกหรือผิด เรียกว่า วิจารณ์

ปีติ ก็ตามที่กล่าวมาแล้ว ปีติมีอาการห้าอย่าง

สุข มีอารมณ์สบาย ทรงจิตสบายมีความชื่นอกชื่นใจ

เอกัคตา คือมีอารมณ์เป็นอันเดียว มีการทรงอารมณ์ไว้ ภาวนาก็ภาวนาอยู่อย่างนั้น จับลมหายใจเข้าออก รู้แต่ว่าจับลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น อาการอย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน

สำหรับฌานที่ ๒ ตัดวิตกวิจารณ์ออกเสียได้ เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคตา วิธีที่ตัดวิตกวิจารณ์นี่ ส่วนมากนักปฏิบัติมักจะเข้าใจพลาด เหมือนกันทุกคนนักปฏิบัติตอนใหม่ๆ คือว่าเวลาภาวนาหรือจับลมหายใจเข้าออกไป ภาวนาไป ภาวนาไป จิตใจมันสบายมีความชุ่มชื่นมากขึ้นไป ไป ไป คำภาวนามันหยุดลงมาเสียเฉยๆ แต่ลมหายใจยังคงอยู่ แต่ว่าลมหายใจเบาไปเล็กน้อย มีความชุ่มชื่น มีความเอิบอิ่ม มีจิตทรงสมาธิได้ดี คำภาวนาไม่มีอาการอย่างนี้เรียกว่า ทุติฌาน คือ ฌานที่ ๒

บางรายหรือทั่วๆ ไป เห็นจะเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ผ่านกันมาเองก็ดี พบกันมาเองก็ดี ขณะที่จิตอยู่ฌานที่ ๑ พอเข้าถึงฌานที่ ๒ พอรู้สึกตัวลงมา จิตตกจากฌานที่ ๒ มารู้สึกว่าเอ๊ะนี่ตายจริง เราลืมภาวนาไปเสียแล้วนี่ น่ากลัวจะหลับไปหรือจะเผลอไป แล้วก็เลยจับต้นชนปลายไม่ใคร่จะถูก คว้าคำภาวนาไม่ใคร่จะถูก ที่มีความรู้สึกเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า เราเข้าใจผิดคิดว่า เราทิ้งคำภาวนาลืมภาวนา เคลิ้มไปหรือหลับไป อาการอย่างนั้นเป็นการเข้าใจพลาด แต่มันก็เป็นเหมือนกันทุกคนนั่นแหละ ถ้าเคยผ่านมาแล้วก็โดนเหมือนกันทุกคน นี่เราก็จงเข้าใจว่า ถ้าบังเอิญอาการอย่างนั้นปรากฏ คือ ภาวนาไปภาวนาไปปรากฏว่าคำภาวนาหายไป มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ดิ่งสบาย ที่นี่เวลาจิตมันตกลงมา รู้สึกว่านี่เราลืมภาวนาไปแล้วนี่ ถ้าอย่างนี้ก็จงรู้ว่าขณะที่ตกมานึกว่าเราลืมภาวนาไขว่คว้าคำภาวนาเกือบจะไม่ถูก มันเป็นอาการของจิตที่ตกลงมาจากทุติยฌาน ฌานที่ ๒

ฌานที่ ๒ นี่ถ้าเราทรงได้ พอตายแล้วก็ไปเป็นพรหมชั้นที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ตามกำลังของฌาน ฌานอย่างหยาบก็เป็นพรหมชั้นที่ ๕ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๖

การทรงสมาธินี่มีความสำคัญ การเจริญสมาธิ ถ้าเราจะมีแต่สมาธิธรรมดา รู้สึกว่ากำลังใจของเราไม่มั่น เมื่อทรงสมาธิแบบสบายๆ สบายใจพอสมควร เราก็น้อมเข้าไปหาวิปัสสนาญาณ โดยใช้อย่างย่อ คือ พิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี่มันไม่ใช่เรามันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็มีการสลายตัวไปในที่สุดอย่างนี้ก็ชื่อว่า ร่างนี้มันไม่ใช่เรา มันเป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราจะคิดกันให้สั้นๆ ก็เรียกว่า ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ เมื่อเราจะตายเราก็คิดไว้ว่า ถ้ามันตายแล้วก็แล้วกันไป ขึ้นชื่อว่าความตายวาระต่อไปไม่มีสำหรับเรา เพราะร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่เรามามีทุกข์ต่างๆ ก็เพราะอาศัยร่างกายเป็นสำคัญ ในเมื่อร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้นั้น ต่อไปเราไม่ต้องการความทุกข์อย่างนี้อีก คือไม่ต้องการร่างกาย นี่เป็นกำลังใจข้อที่ ๑ คิดเอาไว้

ประการที่ ๒ เราจะไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราแน่ใจในผลแห่งคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็ทรงเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านผู้ปฏิบัติตามอย่างเรา ท่านก็เป็นอรหันต์มานับไม่ถ้วน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องน่าสงสัย

ประการที่ ๓ ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ฆราวาสก็มีศีล ๕ บริสุทธิ์ ให้มั่นคง ถึงพระเณร ก็รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์

ประการที่ ๔ จิตใจเรารักพระนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าอารมณ์จิตของเราคิดอยู่อย่างนี้ ปฏิบัติได้อย่างนี้เป็นอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการระมัดระวังอย่างนี้เขาเรียกว่า พระโสดาบัน

ถ้าอารมณ์ใจของเราก้าวขึ้นไปสูงมากกว่านี้อีกหน่อยหนึ่ง จะเป็นพระอนาคามี ก็ต้องพิจารณาสักกายทิฏฐิ หรือว่าอสุภกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมดไม่ใช่แท่งทึบ มีอาการ ๓๒ ประกอบขึ้น มีตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระปัสสาวะ ร่างกายเต็มไปด้วยความโสโครก เต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีอะไรที่น่ารักน่าปรารถนา ไม่มีความสะอาด เรารังเกียจร่างกาย จนกระทั่งจิตใจของเรามีความเบื่อหน่าย เห็นคนก็ดี เห็นสัตว์ก็ดี บุคคลอื่นก็ดี ตัวเราก็ดี รู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยความสกปรก เห็นว่าร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุสี่ของแต่ละบุคคคลสกปรกน่าเกลียด ไม่ถึงปรารถนาในการร่วมควบคู่อยู่ด้วย จนกระทั่งจิตใจของเรามีความสุขปราศจากความรักในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย การสัมผัสที่นิ่มนวล แล้วหลังจากนั้นไปก็เจริญเมตตาพรหมวิหารสี่เป็นเครื่องตัดความโกรธ ความพยาบาท จนกระทั่งเห็นใครเขาทำอะไรเคยไม่ชอบใจ ใจมันก็มีอารมณ์สบาย แทนที่จะโกรธ แทนที่จะพยาบาทประทุษร้ายเขา ก็กลับมีเมตตาความรัก กรุณามีความสงสาร ว่าคนที่ทำความชั่วอย่างนี้นั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นการทำลายตัวเอง นี่ค่อยๆลูบคลำกันไป

สำหรับอารมณ์วิปัสสนาญาณจะพึงยกไว้เฉพาะในด้านอนาคามี เพราะเวลานี้ เวลากาลที่จะพูดก็มากเกินไปแล้ว เพราะสัญญาณบอกเวลาปรากฏแล้ว อันดับแรกก็ขอให้จับลมหายใจเข้าออกกับคำภาวนา พยายามตั้งอารมณ์เข้าไว้ว่า ต่อแต่นี้ไปเวลา ๓๐ นาที เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นเข้ามายุ่งกับใจของเราเป็นอันขาด นอกจากว่าเราจะทรงสติสัมปชัญญะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนาว่า พุทโธ ไว้เป็นปกติ นี่ต้องทำใจให้เข้มแข็ง ทรงอารมณ์อยู่ให้ได้ ถ้าเผอิญพอใจสบายแล้ว เมื่อจิตมันกลับไปคิดก็คิดว่าร่างกายของเรานี่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เดี๋ยวมันก็พัง เดี๋ยวมันก็ตาย เราจะยึดถือมันไว้เพื่อประโยชน์อะไร เมื่อร่างกายของเราจะพัง ร่างกายของคนอื่นเราจะปรารถนาเพื่อประโยชน์อะไร แล้วในเมื่อนอกจากร่างแล้วทรัพย์สินทั้งหลายมันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าเราต้องทำต้องหาในเมื่อยังต้องกินต้องใช้ ถ้าหากว่าเราจะพึงต้องตายก็ตายไป ไม่เสียดายทรัพย์สิน ไม่เสียดายร่างกาย เราเชื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา แล้วก็พยายามควบคุมศีลให้บริสุทธิ์ เรื่องศีลนี่จะถือว่าจำเป็นขอหลีกเลี่ยง จำเป็นอย่างนั้น จำเป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่มีสำหรับนักเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐาน ต้องถือว่าเป็นปกติของเราเท่านั้นที่เราจะต้องพึงปฏิบัติ ถ้าอย่างนี้อารมณ์ของท่านพุทธบริษัทก็จะเข้าถึงอารมณ์ของพระโสดาบัน อันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในตอนต้นถ้าเราปฏิบัติไม่ถึงจุดนี้แล้ว ก็เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา

เอาละต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า จงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.152 Chrome 42.0.2311.152


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 20 พฤษภาคม 2558 11:04:34 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๘ หัวใจการเจริญพระกรรมฐาน

วันนี้ก็จะขอย้อนพูดถึงหัวใจของการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เมื่อฟังแล้วก็จำกันไว้ด้วย ตามธรรมดาพระพุทธเจ้าท่านพูดไม่ซ้ำ ตามแนวของพระพุทธเจ้ามีคำอยู่ว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ไม่ใช่ยกยอปอปั้นให้ใครได้ฌานสมาบัติ การปฏิบัติจะให้ได้ดีในเขตของพระพุทธศาสนา เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามหรือแนะนำว่าไม่สมควร สิ่งนั้นเราต้องเว้นเด็ดขาด ถ้าสิ่งใดที่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุน สิ่งนั้นต้องทำด้วยชีวิต จงพยายามทำด้วยจิตใจที่แท้จริง

การเจริญหรือปฏิบัติความดีในพระพุทธศาสนาเพื่อมรรคผล ที่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่มาก ว่าการปฏิบัติด้วยอาการเครียดเป็นของดี นี่เราก็ต้องหันไปดูพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จัดว่าเป็นปฐมเทศนาที่แสดงกับท่านปัญจวัคคีย์ฤาษีทั้งห้า มีท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น ในสมัยเมื่อองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณใหม่ๆ เวลานั้นองค์สมเด็จพระจอมไตร ตั้งใจมาเทศน์โปรดพุทธบริษัททั้งห้า หัวใจแห่งการแสดงพระสัทธรรมเทศนาเวลานั้นมีอยู่ ๓ อย่างด้วยกัน คือ
๑. อัตตกิลมถานุโยค
๒. กามสุขัลลิกานุโยค
๓. มัชฌิมาปฏิปทา

สามอย่างนี้ เพราะว่าเวลานั้นเป็นเวลาเชื่อมระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ เดิมที่พราหมณ์ชอบปฏิบัติตัวในด้านอัตตกิลมถานุโยค มีการทรมานตัวบ้าง นั่งไม่กินข้าวบ้าง กินข้าวเวลาเดียวบ้าง กินข้าวเฉพาะบ้านที่เขาให้บ้านเดียวบ้าง กินข้าวแต่เพียงเล็กน้อยบ้าง ไม่ยอมนอนบ้าง มีการทรมานกายมีการอดข้าวบ้าง อย่างนี้เป็นต้น พราหมณ์เขาชอบทรมานตน วิธีนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ลองเหมือนกัน เพราะว่าสมัยนั้นเขาถือว่าดี องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็ทำ ทำมาสิ้นเวลาหกปีจนร่างกายซูบผอมมาก เดินซวนจะล้ม เอามือลูบร่างกายรู้สึกว่าขนมันหลุดตามมือ แสดงว่าเลือดไม่มีจะเลี้ยงมันก็ไม่สำเร็จผล ต่อมาองค์สมเด็จพระทศพลอาศัยที่มีบารมีแก่กล้าเต็มบริบูรณ์ จึงมีอารมณ์เกิดขึ้นทางใจว่า การบรรลุผลเห็นจะไม่ใช่มาในทางส่วนอัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตน องค์สมเด็จพระทศพลจึงได้ทรงฉันพระกระยาหารมีกำลังดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงเอาหญ้าคาที่เขาถวาย ๘ กำปูลงข้างต้นโพธิ แล้วนั่งหันหลังพิงโคนโพธิ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทรงอธิษฐานพระทัยว่า ถ้าเราไม่สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด เลือดและเนื้อของเราจะเหือดแห้งไปก็ตามที หรือว่าชีวิตนี้จะสิ้นไป เราจะไม่ยอมลุกจากที่นี่ เป็นอันว่าวันนั้นเอง องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณในวันนั้น คือวันเพ็ญกลางเดือนแปด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้มีพระพุทธฏีกาว่า

ดูก่อนท่านทั้งหลาย ส่วนสุดสองอย่าง เราปรารถนามรรคผลจงอย่าเข้าไปแตะต้อง คือ อัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติตนด้วยความลำบาก มีการเคร่งเครียด มีการทรมานกาย นี่ก็เห็นว่าเวลานี่เราก็นิยมกันมากสำหรับนักปฏิบัติที่ชอบผิดสาย คือชอบนั่งกันนานๆ ทรมานเป็นชั่วโมงๆ ถือว่าเป็นการดี อันนี้ผิด เป็นอันว่าการทรมานกายนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาถือว่าผิด ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล มันเครียดเกินไป

ส่วนสุดเบื้องต่ำอีกอย่างหนึ่งคือ กามสุขัลลิกานุโยค เวลาที่เรานั่งภาวนาไปก็นึกอยากจะถึงนั่น อยากจะถึงนี่ อยากจะเป็นอย่างนี้ อยากจะเป็นอย่างนี้ ไอ้ตัวอยากนี่มันเป็นตัณหา คือเป็นกิเลส แล้วทำไมเราจึงไปอยากกัน

นี่อาการสองอย่างนี้ องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาทรงให้ละเสียอย่าเข้าไปแตะต้อง ส่วนที่สมควรเป็นการบรรลุมรรคผลได้จริงๆ ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติตนพอดีพอควร นั่งมันเมื่อยก็นอน นอนไม่สบายก็ยืน ยืนไม่ถนัดก็เดิน ใช้ได้ในอิริยาบถทั้งสี่ เอาแต่พอดีพอควร ไม่เกินพอดีเกินไป แล้วทำจิตใจให้ตรงเฉพาะต่ออารมณ์ที่เราต้องการ นี่อย่างนี้เขาเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ที่นักปฏิบัติจะต้องพยายามปฏิบัติให้ตรงสายจริง นี่เป็นกฏใหญ่

ต่อไปเราก็หันเข้าไปดูในอุทุมพริกสูตร หรือพรที่พระเทวทัตขอต่อพระพุทธเจ้า มีส่วนที่เป็นอุปกิเลสหลายอย่างด้วยกัน ที่นักปฏิบัติในสมัยปัจจุบันมีความต้องการ แล้วมันก็จะไปได้อะไร ยังมีความเห็นว่าการกินข้าวหนเดียว การไม่กินเนื้อสัตว์เลยเป็นการบรรลุมรรคผล เราก็ดูองค์สมเด็จพระทศพลสมัยนั้น พระเทวทัตขอพรต่อพระพุทธเจ้าว่า พระที่อยู่ป่าจงอยู่ป่าอย่าเข้าบ้าน พระที่อยู่ในบ้านจงอย่าออกป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระทั้งหลายจงอย่าฉันเนื้อสัตว์ เพราะเป็นการสนับสนุนชาวบ้านให้ทำบาป เมื่อชาวบ้านอยากจะทำบุญก็เอาเนื้อสัตว์มาถวาย อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาไม่ยอมปฏิบัติตาม เพราะอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของอัตตกิลมถานุโยค เพราะว่าถ้าชาวบ้านเขากินเนื้อสัตว์พระไม่กินเนื้อสัตว์ ชาวบ้านก็เกิดความลำบาก จะต้องทำอาหารเป็นสองประการ แล้วอีกประการหนึ่งพระองก็จะมีความลำบาก ลำบากด้วยอาหารเพราะชาวบ้านเขาไม่มีจะให้

การบริโภคอาหารนี่ องค์สมเด็จพระจอมไตรมีระเบียบอยู่แล้ว จะเป็นอาหารประเภทไหนก็ตาม ถ้าเว้นไว้จากที่พระวินัยบังคับและอาหารที่เป็นโทษกับร่างกาย ก่อนที่จะฉันอาหารองค์สมเด็จพระจอมไตรให้พิจารณาเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาว่าอาหารนี่มันมีพื้นฐานมาจากความสกปรก พืชพันธุ์ธัญญาหารก็สกปรก เนื้อสัตว์ก็สกปรก ที่เรากินของสกปรกเข้าไป ร่างกายของเราก็สกปรก มันจะเอาอะไรมาสะอาด ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของสัตว์ก็ดี มีสภาพน่าเกลียด แต่ว่าเรากินไปเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น เราจะไม่เมาชีวิต เราจะไม่เมาในร่างกาย เราจะไม่ติดในรสอาหาร ระเบียบนี้องค์สมเด็จพระพิชิตมารมีอยู่แล้ว

สำหรับในอุทุมพริกสูตร องค์สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสถึงอุปกิเลสหลายประการรวมแล้ว ๔๐ ประการด้วยกันว่า ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า เจ้าจงอย่าคิดว่าบุคคลอื่นเขาโลภในอาหาร อย่าทะนงตนว่าเป็นบุคคลดี เป็นคนกินน้อยบริโภคน้อย บุคคลนั้นกินมากบริโภคมาก บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่เลือกอาหารอย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นอันว่าการปฏิบัติภายนอกนี่ องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาไม่ทรงสรรเสริญ เพราะไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผล ทางที่จะบรรลุมรรคผลมันมีอยู่เฉพาะที่ใจเท่านั้น ทำตัวให้สบาย เราไปทางไหนเข้ากับสังคมนั้นเขาได้ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมือนกับสังคมนั้น ก็จะเกิดการทะนงตัว เป็นกิเลสไปว่า สมาคมนั้นสู้เราไม่ได้ สมาคมนี้สู้เราไม่ได้ สมาคมนั้นดีกว่าเรา สมาคมนี้เลวกว่าเรา กลายเป็นมานะถือตัวถือตนไป นี่เป็นอารมณ์ของอุปกิเลสใช้ไม่ได้
 
ดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่บรรลุมรรคผล องค์สมเด็จพระทศพลไม่เคยสั่งให้ระงับนั่นระงับนี่ นอกจากอาการปกติ การฉันภัตตาหารให้เป็นไปตามระเบียบที่ชาวบ้านเขานำมาถวายเท่าที่มันมี เขามีมาแค่นี้เราไม่เลือกอย่างโน้น ถือว่ายังอัตภาพให้เป็นไป เขาให้มากก็กินมาก ให้น้อยก็กินน้อย เขาให้มากกินมากเกินไปก็ไม่ได้ การบริโภคอาหารให้เป็นไปตามโภชเน มัตตัญญุตา การรู้จักประมาณกินอาหาร กินไม่มากไม่น้อยเกินไปเอาตามสมควร ไม่นั่งเพ่งโทษบุคคลอื่น นี่เป็นอารมณ์อันหนึ่ง

อีกอันหนึ่งต้องทำใจของเราให้หยุดอยู่ในจุดสงบ หมายความว่า เราเพ่งเล็งจิตของเราแต่ผู้เดียว ตามพระบาลีว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเองไว้เสมอว่า คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ว่ายังไงให้เราปฏิบัติ ห้ามไว้แบบไหน ไม่ให้เราทำ นี่อันนี้ต้องปฏิบัติให้เคร่งครัด ไม่ใช่จะไปนึกเอาตามอารมณ์ที่ชาวบ้านเขาทำกัน เห็นชาวบ้านเขาทำ ชาวบ้านไม่ใช่พระพุทธเจ้า ถ้าคนนั้นเขาดีจริงๆเขาก็ต้องเป็นพระพุทธเจ้าที่เขาสร้างแบบแผนขึ้นมาหักล้างคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เราเป็นพุทธสาวกปฏิบัติตามไม่ได้ ถ้าขืนปฏิบัติตามเราก็ไม่มีมรรคผลใดๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เพราะคัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสียแล้ว

สำหรับอารมณ์ทางใจ อารมณ์ทางใจก็มีอยู่ว่า อันดับแรก องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้พิจารณาแต่จิตของตัวเท่านั้น จริยาของบุคคลอื่นจะเป็นยังไงก็ช่าง ที่ว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเองเตือนไว้ว่าพระพุทธเจ้าสอนเราไว้แบบไหน เราทำตามนั้น พระพุทธเจ้าห้ามแบบไหน เราเว้นตามนั้น นี่เป็นประการหนึ่งที่เราจะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด

วิธีปฏิบัติที่ให้จิตเข้าถึงฌานหรือวิปัสสนาญาณขั้นดี จงจำไว้ว่า สมถะ แปลว่า อุบายเป็นเครื่องสงบใจ สมถภาวนาไม่ใช่อุบายเป็นเครื่องเห็นผีเห็นเทวดา เห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นภาพต่างๆ ไม่ใช่อย่างงั้น จำคำแปลให้ดี สมถะแปลว่า อุบายเป็นเครื่องสงบใจ ทำใจให้สงบจากอารมณ์ภายนอก ยืดถืออารมณ์ฝ่ายเดียวที่เราตั้งใจไว้

อันดับแรกองค์สมเด็จพระจอมไตรให้ระงับความคิดที่จะไปนั่งเพ่งเล็งชาวบ้านเขาคนนั้นดีคนนี้เลว ดูใจเราเฉพาะเท่านั้นว่าใจของเรามันดีหรือว่าใจของเรามันเลว ใช้สติสัมปชัญญะควบคุม
- ประการที่ ๒ ให้มีศีลบริสุทธิ์
- ประการที่ ๓ ระงับนิวรณ์ห้าประการได้ทุกขณะ นิวรณ์ห้า คือ

ระงับจากความปรารถนาในกามารมณ์ รูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสที่เราต้องการ อารมณ์เกลือกกลั้วไปด้วยกามารมณ์ อันนี้ต้องระงับได้ทันทีทันใดแล้วก็เสมอ
- ระงับจากความโกรธความพยาบาท
- ระงับจากความง่วงเหงาหาวนอน

อย่างนี้วันนี้ได้ยินเสียงแว่วๆ เข้ามา เราต้องไม่สนใจในเสียง อุทธัจจะ กุกกุจจะ จิตไม่ฟุ้งซ่านไปตามเสียง แล้วก็ไม่รำคาญตามเสียง จับองค์ภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยให้ทรงอยู่ ไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงพรหมวิหารสี่ คือ มีเมตตาปกติ คิดว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหมดทั่วโลก ทำใจให้สบาย กรุณา เรามีความสงสาร จะสงเคราะห์คนและสัตว์ให้มีความสุขตามกำลังที่เราจะทำได้ มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี อุเบกขา วางเฉยไว้ อย่างเสียงเขาเปิดขยายเสียงกันวันนี้ นั่นเขาถูกคอกัน เขาก็ต้องใช้เสียงประเล้าประโลมเป็นเรื่องของเขา งานการทำสมาธิจิตเป็นเรื่องของเรา
 
นี่ หลักใหญ่ในการเจริญพระกรรมฐานมีเท่านี้ ถ้าหากว่าเราทรงอารมณ์ได้ตามนี้แล้ว ไม่ฝ่าฝืนคำตักเตือนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วแล้วก็ปฏิบัติตามคำสอนประเดี๋ยวมันก็ได้ฌานสมาบัติ

เอ้า วันนี้เราลองสอบใจกัน วันนี้แหละดีมาก เพราะว่าเสียงขยายเสียงเข้ามารบกวนยิ่งดี ไม่ใช่ของไม่ดี อันดับแรกเราก็พยายามจับลมหายใจเข้าออก เพราะลมหายใจเข้าออกนี่ระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านของจิต หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หรือนับก็ได้ หายใจเข้าหายใจออกนับเป็น ๑ ลองนับดูซิมันจะได้สักเท่าไร นับมันแค่ ๑๐ คู่ พอถึง ๑๐ คู่ แล้วเราก็ขึ้นต้นใหม่ ดูซิชั่วเวลา ๓๐ นาทีนี่เราจะแพ้เสียงหรือว่าเราจะชนะเสียง

ถ้าหูเรายังได้ยินเสียงถนัด รู้เขาร้องเพลงทุกอย่าง แต่ว่าใจไม่รำคาญ อันนี้ชื่อว่า จิตของเราเป็นปฐมฌาน ถ้าหากว่าเสียงเราได้ยินเบาลง อารมณ์แช่มชื่น ขาดคำภาวนาขาดไป อันนี้ชื่อว่าเป็นฌานที่ ๒ ถ้าลมหายใจเข้าออกรู้สึกว่าแผ่วเบาลงมาก อาการตึงเป๋ง ร่างกายเหมือนเครียด หูได้ยินเสียงแว่วๆ น้อยๆ จิตทรงสมาธิได้ดี อันนี้เป็นฌานที่ ๓ ขณะใดถ้าภาวนาไป พิจารณาไป บังเอิญหูไม่ได้ยินเสียงเลย คิดว่าเขาเลิกไปแล้ว ใจสบาย โปร่ง อันนี้เป็นฌานที่ ๔

นี่เป็นเครื่องวัดสำหรับวันนี้ว่าการเจริญ เราเจริญพระกรรมฐานกันมาตั้งนานแล้ว นี่มีผลเป็นประการใด
 
เอาละ ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน พยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา ลองซ้อมใจดูนะว่า สมาธิเราฝึกกันมามีผลหรือไม่มีผล วันนี้มันดีมากเป็นการซ้อมไปในตัวเสร็จ
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 42.0.2311.152 Chrome 42.0.2311.152


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 22 พฤษภาคม 2558 11:46:05 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๙ อานาปานสติโดยย่อ

ต่อแต่นี้ไปเป็นวาระที่ท่านทั้งหลายจะเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ ขอได้โปรดทราบว่าการเจริญพระกรรมฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ตามที อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นปรมัตถปฏิบัติ ถ้าจัดเป็นบารมีก็เรียกว่าเป็นปรมัตถบารมี เป็นการสร้างกำลังใจในส่วนของกุศล
 
วันนี้จะขอพูดย่อพอเล็กน้อย การที่เราทำแบบนี้ก็เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ว่าความเกิดเป็นทุกข์ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราก็จะเห็นได้ง่ายๆว่า การเกิดเป็นทุกข์ การเกิดนี่เราหยุดไม่ได้ ต้องทำงานทุกอย่างเพื่อความเป็นอยู่ของเราและความเป็นอยู่ของครอบครัว แม้ว่าเราจะประกอบกิจการงานใดก็ตาม มีทรัพย์สินมากเพียงใดก็ตาม ในที่สุดเราก็ต้องตาย ถ้าหากว่าเราตายไปแล้วและความชั่วมันเกาะใจ มันก็จะพาไปลงอบายภูมิ ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรตอสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ถ้าเรามีความดีเกาะจิตของเรา เราก็ไปเกิดอย่างเลวที่สุดก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือเป็นเทวดาเป็นพรหม ถ้าบริสุทธิ์เต็มที่ก็ถึงพระนิพพาน
 
การที่จิตของเราจะเกาะความดีหรือว่าความดีจะเกาะจิตเราไปได้ก็ต้องอาศัย
๑. การให้ทาน
๒. การรักษาศีล
๓. การเจริญภาวนา
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการภาวนานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการทำจิตให้ชินกับจิตที่เป็นกุศล เพราะว่าการเจริญพระกรรมฐานฝ่ายกรรมฐาน ๔๐ ก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี จัดว่าเป็นกุศลทั้งหมด ทีนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโปรดทราบว่าการเจริญพระกรรมฐานอันดับแรกก็มีความประสงค์ให้ทรงสติสัมปชัญญะ คือให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่ลืมความดี มีการให้ทานรักษาศีล มีการเจริญภาวนา
 
การเจริญสมถภาวนานี่เราต้องการให้จิตสงบจากอกุศล และจิตน้อมอยู่ในส่วนของกุศลเป็นปกติ โดยปกติพระโบราณาจารย์ท่านแนะนำให้นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ แต่ว่าถ้าภาวนาเฉยๆ จิตก็จะลอยเกินไปไม่มีที่เกาะ เพราะจิตมีสภาพกวัดแกว่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงแนะนำให้จับอานาปานสติกรรมฐาน จับลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ สำหรับอานาปานสติกรรมฐานหรือการกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานที่ลดความฟุ้งซ่านของจิต อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าเป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร เวลาที่เราป่วยไข้ไม่สบายอาการมันมาก มีอาการเครียดจัดให้ใช้อานาปานสติกรรมฐานเข้าระงับจับลมหายใจเข้าออกจนอารมณ์จิตเป็นฌาน หรืออุปจารสมาธิ อาการหรือว่าทุกขเวทนาจะบรรเทาลง ความจริงอาการมันไม่ได้ลดลง แต่ว่าจิตเราไม่ยอมรับความรู้สึกจากอาการทางกายก็ทำให้สบายได้ แล้วประการที่สอง สำหรับอานาปานสตินี้เป็นกรรมฐานระงับโมหจริตและวิตกจริต รวมความว่าตัดความโง่ของจิต โมหะก็คือความโง่ ทำให้จิตฉลาดขึ้น
 
สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ประเภทนี้ถ้าไปเกิดเป็นคนก็มีแต่ความรุ่งเรือง ไม่ถอยหลัง ไม่น้อยหน้ากว่าใคร ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหมก็มีรัศมีกายมาก เทวดากับพรหมเขาวัดความดี บารมีกันด้วยรัศมีกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ท่านกล่าวว่า เข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายที่สุด
 
เอาละต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ ขณะใดที่เรารู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้คำภาวนา พุทโธ ขณะนั้นชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิตามความต้องการ ถ้าหากว่าภาวนาไปๆ ใจมันเกิดความสบาย คำภาวนาหยุดไปเฉยๆ เป็นความสุขที่ยิ่งกว่า อย่างนี้ก็จงอย่าตกใจ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๒ ซึ่งเป็นอารมณ์ดีขึ้น หากว่าทำไปความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด ลมหายใจเบาลง หูได้ยินเสียงภายนอกเบามาก จิตใจทรงตัวแนบสนิทอย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๓ ถ้าบังเอิญภาวนาไป กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ปรากฏว่าไม่รู้ว่าลมหายใจเข้าออกมีหรือเปล่า มันมีอาการเฉยๆ มีอาการจิตใจสบาย อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๔ จัดว่าเป็นอารมณ์ฌานที่มีความสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา
 
ต่อจากนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้าพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.81 Chrome 43.0.2357.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2558 10:12:45 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๐ โทษของกาม

นี่เป็นอันว่าการสมาทานพระกรรมฐานจบลง ต่อแต่นี้ไปก็ขอทุกท่านพากันสำรวมใจทำจิตให้เป็นสมาธิ คือทรงสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเป็นพื้นฐาน หายใจเข้าหายใจออกนี่เป็นพื้นฐานใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ใช้คำภาวนาตามอัธยาศัยว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือว่าอรหัง หรือว่าอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ตามถนัด แต่ทว่าขอให้จิตใจนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์เป็นสำคัญ ว่าเราเข้ามาในเขตพระพุทธศาสนานี้นั้นก็เพราะว่ามีความเชื่อในพระองค์ ไม่มีความสงสัยในคำสั่งสอนของพระองค์ และอธิษฐานความตั้งใจของเราไว้ว่าเราจะยอมรับนับถือในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ว่าเป็นผู้นำเราไปสู่ความสุขทั้งในชาติปัจจุบันและสัมปรายภพ
 
เมื่อน้อมใจนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วที่ทรงสั่งสอนเราว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง มีแต่ความทุกข์ อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างมีการสลายตัวไปในที่สุด การเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม เกิดเป็นสัตว์ก็ตาม ย่อมเต็มไปด้วยความทุกข์ เราต้องบริหารประกอบกิจการงานเพื่อความเป็นอยู่ของตน ในงานทุกประเภทนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำแล้วมันก็ต้องทำอีก ทำแล้วก็ต้องทำอีกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ทำไปจนจะตายเราก็ยังไม่ว่าง ตายแล้วถ้าหากว่ายังไม่หมดกิเลสเพียงใดเราก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ก้าวลงไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราก็ชื่อว่าเราขาดทุน ถ้าหากว่าเราวนมาแค่มนุษย์อีกก็ชื่อว่าขาดทุนเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเป็นมนุษย์แล้วเรากลับเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ชื่อว่าเราไม่มีอะไรดีขึ้น เรายังเป็นทาสกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมอยู่ เราก็จะขอยึดถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู อย่างเลวที่สุด เมื่อตายแล้วชาตินี้เราก็จะเป็นเทวดา หรือว่าเราจะทำความดีอย่างกลางเราก็จะเกิดเป็นพรหมหรือมิฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการที่สุดนั่นก็คือพระนิพพาน นี่เพราะพระนิพพานเป็นที่แห่งเดียวเท่านั้นเป็นที่เสร็จกิจไม่ต้องทำอะไรต่อไป กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงเทศน์ไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตรก็ดี อาทิตตปริยายสูตรก็ดี อนัตตลักขณสูตรก็ดี ลงท้ายองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์แบบนี้ว่าสิ่งที่เราจะต้องทำเราทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่เราจะต้องทำไม่มี นี่หมายความว่าเราเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่ถึงพระอรหันต์เพียงใดเราก็ยังคงต้องทำต่อไป กิจประเภทนี้ก็คือกิจที่ต้องทำต้องปฏิบัติบริหารเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อเพื่อนฝูง เพื่อหมู่คณะ หรือเพื่อประเทศชาติ เป็นต้น มันก็เป็นกิจเหน็ดเหนื่อย
 
การเบื่อกิจที่ทำแล้วทำอีกอย่างนี้มีตัวอย่างในพระธรรมบท ขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วประมาณ ๑๐ ปี ในระยะนี้ไม่เกิน ๑๐ ปี ในระหว่างนั้นในบรรดาศากยราชก็ดี เทวทหะก็ดี ศากยราช คือ พระญาติขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทหะเป็นญาติขิงทางฝ่ายพระนางพิมพาราชเทวี ตระกูลทั้ง ๒ นี้เป็นพระญาติในเครือเดียวกัน ต่างคนต่างก็ออกบวชในพระพุทธศาสนากันมาก ทีนี้สมัยนั้น ท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ทางศากยราชที่กบิลพัสด์ ท่านท้าวมหานามทรงมีพี่น้องอยู่ ๒ คน คือ ท่านท้าวมหานาม พระอนุรุทธและพระนางโหริณี สำหรับพระนางโหริณีนี้เห็นจะไม่ต้องเกี่ยวเพราะเธอเป็นผู้หญิง ท้าวมหานามจึงเรียกพระอนุรุทธเข้ามาว่า ศากยะก็ดี เทวทหะนครก็ดี ต่างคนต่างบวชตามองค์สมเด็จพระชินสีห์กันหมด เหลือแต่ตระกูลเรา ๒ คนนี่เท่านั้นที่ยังไม่มีคนบวช ก็จะกลายเป็นคนหมันไป ถ้ากระไรก็ดีพี่จะขอบวช ขอน้องจงอยู่ครองสมบัติขึ้นเป็นพระราชา พระอนุรุทธก็นิ่งฟัง แล้วท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่าถ้าเจ้าจะเป็นพระราชาปกครองคน จงเรียนถึงกิจของพระราชาหรือของประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการ สมัยนั้นพระราชามีงานมาก ต้องทำนา แต่พระอนุรุทธเป็นพระอนุชาไม่เคยลำบากต้องทำงานกับเขา

จึงถามว่าวิธีทำนาเป็นอย่างไร
ท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่าเวลาที่จะทำระยะแรกก็นำวัวควายออกไป นำไถออกไป นำอุปกรณ์ออกไป ไถให้เป็นรอย แล้วก็เอาข้าวหว่านลงไป แล้วก็ไถกลบ เอาคราดคราดแล้วก็เก็บขี้หญ้า
 
พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท้าวมหานามก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อนี้ไปก็ดูน้ำ พืชข้าวว่าจะเกิดขึ้นดีหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีวัชชพืช คือพืชที่จะเป็นอันตรายแก่ต้นข้าวก็ต้องถากต้องถางต้องถอน เป็นการรักษาต้นข้าว ถ้ามีตัวเพลี้ยตัวหนอนก็ต้องหาวิธีไล่เพลี้ยหนอนที่กินกอข้าว
 
พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท้าวมหานามก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อไปเมื่อข้าวโตขึ้นมาก็เป็นรวง เมื่อเป็นรวงแล้วก็มีเมล็ดแก่เต็มที่ก็ต้องเก็บเกี่ยว เกี่ยวเสร็จแล้วก็มานวด นวดเสร็จแล้วก็เก็บมาไว้ในยุ้งในฉาง
 
ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท่านมหานามก็บอกว่ายัง ก็บอกต่อไปว่าต่อไปก็ต้องนำข้าวมาสะสางมาสีให้พร้อมเป็นข้าวสารแล้วนำมา
 
ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท่านท้าวมหานามก็บอกว่ายัง กินข้าวป่าเก่าเข้าไปแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาใหม่ก็ต้องนำเอาข้าวเก่าไปทำพันธุ์ข้าวปลูกมาใหม่ แล้วทำมันอย่างนี้เรื่อยไป ถึงปีก็ต้องทำใหม่ ได้ข้าวก็เกี่ยวอย่างนี้ตลอดชีวิต
 
ท่านพระอนุรุทธถามว่า กิจของการทำนาทำมาหากินนี่มันไม่มีการหยุดกันหรือ ท่านท้าวมหานามก็บอกว่า หยุดไม่ได้เพราะเราต้องกิน ญาติผู้ใหญ่ของเราทุกระดับชั้นก็ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าจนกระทั่งตายท่านก็ไม่มีโอกาสหยุด เพราะเป็นกิจที่เราจะต้องทำ นี่พระอนุรุทธบอกว่าถ้าเช่นนั้นเราจะบวช ท่านเป็นพระราชาต่อไป
 
เป็นอันว่าท่านท้าวมหานามก็ตามใจ ความจริงเวลานั้นท่านท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ว่าปฏิบัติธรรมะได้ถึงพระอนาคามี เมื่อพระอนุรุทธได้รับคำอนุญาตจากพี่ชายแล้วก็ชวนเพื่อนอีก ๔ คนด้วยกัน มีพระเทวทัตร่วมไปด้วย และมีพระอุบาลีที่เป็นช่างตัดผมติดตามไปด้วย เวลาที่จะบวชก็ให้พระอุบาลีบวชก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาถือว่าใครบวชก่อนเป็นผู้อาวุโส ผู้เป็นพี่ คนที่บวชทีหลังจะต้องเคารพเป็นลำดับกัน การที่ให้พระอุบาลีบวชก่อนในฐานะที่เป็นคนรับใช้ก็มีความอยู่ในใจว่าเราได้ตัดมานะไม่ถือตัวว่าเป็นเจ้าเป็นนาย ถือว่าเขาเป็นนายจะละมานะตัวนี้เป็นขั้นแรก ต่อมาท่านก็บวชในพระพุทธศาสนา อาศัยที่ได้ฟังธรรมจากท่านท้าวมหานามบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์หาความหยุดไม่ได้ ต้องทำมาหากินกันต่อไป แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็ต้องหากินกันแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงไม่ต้องการหากินต่อไป เมื่อบวชแล้วก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพรจอมไตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคก็ตรัสพระนิพพานเป็นที่หมาย ว่าพระนิพพานเป็นเอกันตบรมสุข มีความสุขอย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าความทุกข์นิดหนึ่งย่อมไม่มีในขันธ์ ๕ มีความสุขบริสุทธิ์เต็มไปด้วยความเบา
 
แต่ว่าคนที่จะถึงพระนิพพานได้ก็ต้องพยายามตัดโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เห็นว่าร่างกายไม่เป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นอนิจจัง เกิดมาแล้วมันหาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ อนัตตา มีความสลายตัวไปในที่สุด ถ้าเรายังโง่รอความเกิดต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้โทษให้พระอนุรุทธและบรรดาพระทั้งหลายฟัง ว่าร่างกายเป็นโรคนิทธัง เป็นรังของโรค เกิดมาแล้วทุกวันมีแต่โรค ไม่มีมนุษย์ตนใดไม่มีโรคแม้แต่ ๑ วินาที อาการโรคอย่างอื่นไม่มีก็มีโรคอย่างหนึ่งขังอยู่ในกาย คือ ชิฆัจฺฉา ปรมา โรคา ซึ่งกล่าวว่าความหิวเป็นโรคอย่างหนึ่ง โรคเขาแปลว่าเสียดแทง เวลามันหิวขึ้นมามันหาความสบายไม่ได้ มันไม่มีความสบาย ถ้าหากว่าเราตัดความหิวเสียได้ โรคร้ายคือความยากเสียได้เราก็จะมีความสุข
 
พระอนุรุทธถามว่าทำอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาก็บอกว่า พิจารณาเห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราเมื่อเราตัดร่างกายเสียได้แล้ว ไม่เห็นว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้หมด เพราะว่าที่เราต้องการทรัพย์สินหรือต้องการมีครอบครัวก็เพราะถือว่าคำว่าร่างกายนี้เป็นสำคัญ ฉะนั้น ถ้าหากว่าตัดความเป็นของเราในร่างกายเสียได้ ก็ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมารแต่เพียงเท่านี้ก็เข้าป่าเจริญสมณธรรม คือ กรรมฐาน ทรงจิตให้เป็นสมาธิดีแล้วก็พิจารณาขันธ์ห้าว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเรา ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ผสมกันเป็นกองชั่วขณะหนึ่ง และก็มีความตายไปในที่สุด ในระหว่างที่ยังไม่ตายร่างกายก็เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นนอนไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ โรคนิทธัง เป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันจะต้องเปื่อยเน่าไปในที่สุด ร่างกายของเราก็ดีร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีไม่มีสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสาร ไม่มีความสะอาด มีแต่ความสกปรกหาความเยือกเย็นไม่ได้ เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ท่านพิจารณาตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระชินวรเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
 
ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไปขอภิกษุสามเณรโดยถ้วนหน้าตลอดจนบรรดาท่านญาติโยมพุทธบริษัทจงจั้งจิตกำหนดจิตของตนให้เป็นสมาธิ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาและเมื่อจิตสบายแล้วก็พิจารณาเช่นเดียวกับพระอนุรุทธ ผลที่ท่านจะพึงได้ก็คือ ความสุขกายสุขใจในชาตินี้และในสัมปรายภพ เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายจงตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน จะนั่งก็ได้ ยืนก็ได้ นอนก็ได้ เดินก็ได้ ตามอัธยาศัย และให้ทรงสติสัมปชัญญะไว้ว่าเราจะรู้ลมหายใจเข้าออก หรือว่าเราจะรู้คำภาวนา หรือว่าภาวนาไว้ตลอดเวลาที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ การปฏิบัตินี้เวลาจะไม่แจ้งให้เป็นไปตามอัธยาศัย ถ้านอนอยู่ก็อาศัยการภาวนาหรือพิจารณาไปจนหลับได้ก็ยิ่งดี คือว่าถ้าภาวนาหรือพิจารณาแล้วหลับก็แสดงว่าจิตถึงปฐมฌานจัดเป็นความดี ทีนี้สำหรับการเจริญพระกรรมฐานของเรานี้ในด้านปัญญารู้สึกว่าบกพร่องกันอยู่มาก ขอให้ใช้ปัญญาใครครวญกันให้มากให้สติสัมปชัญญะควบคุม คือทำใจให้สบาย แล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ห้าและอาการรอบๆกันไป ผลดีจะเกิดแก่ท่านทั้งหลาย เอาละต่อไปนี้ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะถึงเวลาที่ท่านต้องการจะเลิก

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.81 Chrome 43.0.2357.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2558 16:22:44 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๑ ทางของบุคคลคนเดียว

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว การเจริญพระกรรมฐานย่อมมีแนวปฏิบัติต่างๆ ๔๐ อย่างด้วยกัน ในด้านสมถภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิปัสสนาภาวนาก็มีอย่างเดียว คือการพิจารณาขันธ์ห้า แต่ว่าสำนวนของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ซ้ำกัน แสดงไว้หลายอย่างด้วยกัน ต่อแต่นี้ไปก่อนที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะทำอารมณ์เป็นอารมณ์ฌาน ในอันดับแรกต้องทำจิตให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณเสียก่อน แต่ความจริงวิปัสสนาญาณนี้มีความสำคัญมาก แต่ก็ต้องอาศัยควบคุมกับสมถะ ถ้าปราศจากสมถะเสียแล้ววิปัสสนาภาวนาก็ไม่มีผล ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็พยายามสอนศิษยานุศิษย์ว่าก่อนที่จะภาวนาว่าอย่างไรก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเสียก่อนตามหลักของวิปัสสนาญาณ ถ้าพิจารณาไปตามแบบนี้จนกระทั่งท่านทั้งหลายตั้งอยู่ครบกำหนดเวลาที่นั่งอยู่โดยไม่ใช้คำภาวนาเลยก็ดี อย่างนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ถือว่าเป็นยอดของนักปฏิบัติ คือมีจิตเข้าถึงความเป็นธรรมจริงๆ การเจริญสมถะ ก็คือการฝึกใจเป็นภาคพื้นเท่านั้น แต่ตัวตัดกิเลสจริงๆ ก็คือ การพิจารณาตามแบบฉบับของวิปัสสนาญาณ
 
ตามแบบของวิปัสสนาญาณที่เราจะเห็นกันได้ง่ายๆ กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา เป็นต้น กล่าวเป็นใจความว่า ทางนี้เป็นทางเอกเป็นทางของบุคคลคนเดียว เมื่อปฏิบัติเข้าถึงแล้วก็จะพาสิ้นความทุกข์เข้าถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือพระนิพพาน นี่เป็นอารมณ์ของบุคคลที่เข้าถึงพระนิพพานได้ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่ปล่อย มีจิตที่รู้เท่าทันสภาวะตามความเป็นจริง ยอมรับนับถือความเป็นจริงและไม่ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นอุปาทาน คือสร้างอารมณ์จิตให้เข้าถึงความมัวหมองมีใจสบาย มีใจเป็นปกติ มีใจโปร่ง อย่างนี้เรียกว่าเป็นอารมณ์ของพระนิพพาน

อารมณ์อย่างนี้ที่เราต้องการ อารมณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาพิจารณาว่า
ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์
มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส ความเศร้าโศกเสียใจก็เป็นทุกข์ ความพรัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์
 
อาการทั้งหลายเหล่านี้เป็นอาการปกติของคนและสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลก ชาติปิทุกขา พระพุทธเจ้าว่าความเกิดเป็นทุกข์ เราก็มานั่งพิจารณาดูว่าคนและสัตว์ที่เกิดมาในโลก มีทุกข์เป็นประจำ หาความสุขอะไรไม่ได้ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาจริงๆละก็เราจะไม่เห็นว่าความสุขมีเลยนับตั้งแต่วาระที่ลืมตาตืนนอนจนกระทั่งหลับลงไป เราจะไม่พบกับความสุข เราจะพบแต่ความทุกข์เท่านั้นเว้นไว้แต่เพียงว่า เราจะไร้สติสัมปชัญญะ เราจะขาดสติปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเราก็จะมองเห็นความทุกข์ไม่ได้ มีความทุกข์ก็เพราะอาการเกิดของคน เราเห็นกันได้ง่ายๆ ตอนเด็กก็จะไม่พูด พูดกันแต่ปัจจุบันว่าชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ คำว่าทุกข์ในที่นี้ก็หมายความว่ากิจที่จะต้องพึงทน อะไรก็ตามที่จำจะต้องทนทำ จำทีจะต้องทนคิด นี่มันเป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งหมด กิจที่จำจะพึงทำคือ ความหิว เมื่อความหิวเกิดขึ้นพระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชิฆัจฉา ปรมา โรคา ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ความหิวนี่ก็แปลว่าเสียดแทงความไม่สบายกายไม่สบายใจก็เกิด ความไม่สบายกายไม่สบายใจนี่เองที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อความหิวมันบังคับเราก็ต้องทำมาหากินด้วยประการต่างๆ ประกอบกิจด้วยสัมมาอาชีวะ มิฉาชีวะบ้าง คำว่าสัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพโดยชอบบ้าง บางทีมีความจำเป็นบังคับก็เลยหาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ถึงแม้ว่ามันจะผิดมันจะเสียด้วยประการใดก็ดี เราก็พร้อมที่จะปฏิบัติเพื่อความอยู่เป็นสุขของร่างกายแต่ใจก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อเราหากินด้วยสัมมาอาชีวะ ความเหนื่อยยากมันก็เกิดขึ้นกับเราก็เป็นอาการของความทุกข์ นี่เวลามันน้อยก็เอาใจความแต่ย่อๆ ให้พิจารณากันเอง การทำกิจการงานทุกอย่างเพื่อให้การบริโภคเข้าไปนี่มันเป็นความทุกข์ ที่เราเหนื่อยมากที่สุดก็เรื่องการบริโภคเป็นสำคัญ ผ้าผ่อนท่อนสไบเราซื้อมาคราวหนึ่งมันอยู่ได้นาน แต่ว่าจะกินนี่กินเข้าไปประเดี๋ยวเดียวมันบอกว่าอิ่ม แต่ว่าไม่นานนักไม่ช้านักมันก็บอกว่าหิวต้องหากินใหม่ กินเข้าไปแล้วถ้าไม่เตรียมอาหารไว้ต่อไปไม่เตรียมทรัพย์สินไว้ ต่อไปหิวก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องเตรียมต่อไป เป็นอันว่าคนเราทำกิจการงานทุกอย่างได้มา หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจไม่ได้ ก็เพราะอาศัยความหิวเป็นสำคัญ เราก็จะเห็นว่าความหิวนี่เป็นยอดของความทุกข์จริงๆ นี่เราต้องลำบากตรากตรำด้วยกิจการงานทั้งปวง ฟันฝ่าอุปสรรคเอาชีวิตเข้าแลกก็เพื่อความหิวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมันหิว นี่เฉพาะความหิวตัวเดียวเราก็จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ตลอดชีวิต ไม่ว่าในขณะใดที่ทรงชีวิตอยู่ยังมีลมปราณอยู่เราก็ต้องลำบากกับความหิว เมื่อความหิวปรากฏขึ้นมาแล้วเราหาอาหารให้มันกินเข้าไปแล้วต้องการถ่ายอุจจาระปัสสาวะอีก นี่เขาเรียก นิพัทธทุกข์ อย่างนี้มันก็เป็นอาการของความทุกข์
 
ทีนี้ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ แก่นี่หมายความว่าชีวิตเคลื่อนไปทุกวัน จากความเป็นเด็กถึงความเป็นหนุ่มสาว แต่ว่าแก่ตัวนี้เรากลับใช้คำว่าเจริญขึ้น ใหญ่โตขึ้น ดีขึ้น ความจริงร่างกายมันโตจริง แต่ทว่าในเมื่อร่างกายมันโตขึ้นท่านบอกว่าความแก่ ทุกข์มันก็เพิ่มมาเท่าๆ กับร่างกายที่โตขึ้น ในขณะที่เราเป็นเด็ก ภาระที่เราจะต้องปฏิบัติก็คือหากินจากพ่อแม่ พ่อแม่ผู้บังคับบัญชาผู้ปกครองเป็นผู้หาให้ จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะท่านก็ชำระให้ จะอาบน้ำอาบท่าท่านก็อาบน้ำอาบท่าให้ รวมความเด็กมีความทุกข์แค่ หนึ่งอยากกินขอให้ได้กินตามความประสงค์ สองอยากเล่นขอให้ได้เล่นตามความประสงค์ ทีนี้ความแก่มันเกิดขึ้น ร่างกายมันโตขึ้น ความทุกข์มันก็เพิ่มตามตัว เพราะว่าความปรารถนามันก้าวขึ้น จิตมีความปรารถนามากขึ้น อยากมีทรัพย์สินมากขึ้น เด็กๆละมันไม่อยากมี นี่ต้องการมีความต้องการอย่างเดียว หวังอยู่ที่พ่อแม่บิดามารดา หรือท่านผู้ปกครองเป็นผู้ให้พอโตขึ้นมาแล้วการได้เท่านั้นมันไม่พอ ต้องการได้มากกว่านั้นขึ้นไปอีก ความปรารถนามีความต้องการมากกว่าเด็ก ความปรารถนาความต้องการเมื่อไม่สมหวังขึ้นมาก็เกิดความกลุ้มใจ ความกลุ้มนี่มันเป็นความทุกข์ ทีนี้อารมณ์มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา มีความปรารถนาในการครองคู่มีขึ้น จิตใจมันก็ดิ้นรนทนไม่ไหว แต่พอแต่งงานเข้าเราก็จะพบกับความทุกข์อย่างมหันต์ ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาว่าเราคนเดียว กินเมื่อไร นอนเมื่อไร ตื่นเมื่อไรก็ได้ ไม่อยากอาบน้ำสัก ๗ วัน ๘ วัน ก็ไม่เห็นจะเป็นอย่างไร ไม่บ่นเสียคนเดียวก็ไม่มีใครจะมาบ่น เพราะเราเป็นคนๆ เดียว จะทำอะไรๆ ก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ว่าพอแต่งงานเข้าไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมานั่งเอาใจคู่ครอง เอาใจของคณะของคู่ครองทั้งหมด เพิ่มความหนักใจให้อีกไม่น้อย นี่ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจะเห็นว่าการมีคู่เป็นทุกข์

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา ทางของบุคคลผู้เดียวเป็นทางอันเอกเป็นทางนำมาซึ่งความสิ้นทุกข์ ก็หมายความว่าถ้าเราเป็นบุคคลคนเดียว ถ้าไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกังวล เราสามารถจะเข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้ง่าย เพราะภาระอื่นใดไม่มีนอกจากภาระของตัวเราเท่านั้น มีความแก่ขึ้นมันก็ทุกข์ ความปรารถนามันมากขึ้น คนเป็นเด็กกับคนเป็นหนุ่มสาวมีความต้องการไม่เหมือนกันจิตใจดิ้นรนมากกว่ากัน ชราปิ ทุกขา เมื่อความเป็นหนุ่มเป็นสาวพ้นไป ความเป็นคนแก่จริงๆ ร่างกายปรากฏ อันนี้มันก็สร้างความเป็นทุกข์ ตาเคยมีมันก็ไม่ดี มองอะไรไม่ค่อยจะเห็น หูเคยฟังได้ยินถนัด ก็ฟังได้ยินไม่ถนัด ของที่เคยใช้คล่องตัวมาแล้วก็เริ่มความทุกข์ความหนักใจมันเกิดขึ้น ต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจ ก็ไม่สะดวก นอกไปจากหูตาจะไม่ดีแล้ว ร่างกายมันก็ทรุดโทรม มันเกิดความกระปรกกระเปรี้ย เอาความดีอะไรไม่ได้ มันเต็มไปด้วยความทุกข์ เราเคยเดินคล่องทำอย่างนั้นได้อย่างนี้ได้ ใช้คนอื่นเขามันไม่ได้ตามความประสงค์ อารมณ์ความทุกข์หนักมันก็เกิด มันตัวทุกข์ที่เราเห็นได้ชัด
 
ทีนี้มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ แก่มันก็ทุกข์หนักอยู่แล้ว ความใกล้จะตายมันเข้ามา ความทุกข์มันก็เกิด มันเกิดอย่างไร คนที่จะตายนี่มันมีทุกขเวทนาอย่างสาหัส ทุกขเวทนามันบีบคั้น มันสร้างความไม่สบายกายสบายใจ มันปวดโน่นเสียดนี่แทงนั่นมีทั้งอารมณ์กลัดกลุ้ม เพราะว่าเราไม่ต้องการอาการอย่างนั้นมันก็จะมี ความตายจริงๆ มันไม่น่าจะทุกข์ แต่ว่าเราทุกข์กันก่อนที่มันจะตาย ความไม่อยากตายมันทำให้เราเป็นทุกข์ ทำไมถึงจะต้องแก่ ทำไมถึงจะต้องตาย เพราะกปณธรรมดาของคนที่เกิดขึ้นมา ความเกิดมีขึ้นความเปลี่ยนแปลงย่อมปรากฏ ความสลายตัวย่อมปรากฏ นี่เป็นกฎธรรมดา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าเรารู้ว่าเป็นธรรมดาเสียอย่างเดียว อารมณ์ที่มันเป็นความทุกข์มันก็ไม่เกิด ท่านที่เป็นพระอรหันต์ส่วนมากไม่ได้ศึกษาอะไรมาก เพียงแต่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาเท่านั้น ท่านเรียกว่าเป็นพระอรหันต์
 
แล้วต่อไปที่ท่านเรียกว่าเป็น โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส คือความเศร้าโศกเสียใจ และการพลัดพรากจากของที่รัก ทำให้เกิดความทุกข์

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ โลกมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นอาการของความทุกข์ อนัตตา เราไม่สามารถบังคับใครได้แม้แต่ร่างกายของเรา เราก็บังคับมันไม่ได้ ถ้าหากว่ามันจะแก่ มันจะตาย มันจะพัง ทีนี้สิ่งของที่เรารักเราคิดอยู่เสมอว่ามันต้องอยู่กับเรา เราต้องอยู่กับมัน อาการอย่างนี้เป็นอาการของความยึดมั่นอุปาทาน เป็นยอดของกิเลส คืออวิชชาคือความไม่รู้ ถ้าหากว่าเราจะวางอวิชชา เอาอวิชชาเข้ามาใช้ เราจะเอาตัวรู้เข้าใช้ รู้ตามความเป็นจริง ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของที่รักของชอบใจย่อมมีแก่คนและสัตว์ที่เกิดมา นี่เราก็นั่งนึกดูว่าคนที่เกิดมาแล้วนี่มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไหม เราเองเราก็นั่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างกาย เพราะว่าเติบใหญ่ขึ้นมาหรือว่าแก่ลง คนรุ่นราวคราวเดียวกันสมัยเมื่อเป็นเด็กนักเรียน เวลานั้นร่างกายยังมีความกระฉับกระเฉงยังมีความคล่องตัว เวลานี้เราไปพบเพื่อนสมัยนั้น แต่ว่าระยะเวลามันเป็นสมัยนี้เราจะไปดูว่ารูปร่างของเขานั้นเปลี่ยนไปมากไม่เหมือนกับเมื่อสมัยเราเป็นนักเรียนด้วยกัน เราเห็นเขาแก่เขาเปลี่ยนแปลงไปได้แล้วเราคิดหรือเปล่าว่าเราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามนั้น นี่ความเป็นอนิจจังของร่างกายมันปรากฎ
 
ทีนี้ความเป็นอนิจจังของอารมณ์มันก็มีอีก อารมณ์ที่เรารักเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ว่ามันจะคงอยู่ไปกับเราตลอดกาลตลอดสมัย อารมณ์ประเภทนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทเป็นอารมณ์ที่สร้างความทุกข์ เพราะว่าตามกฎธรรมดาของโลก มีอะไรที่มันจะมีการทรงตัว คนหรือสัตว์ที่เรารัก มันจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยไม่พลัดพรากจากกันมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงมันบังคับ อนัตตาการสลายตัวมันบังคับ คนและสัตว์ที่ปรากฏว่าอยู่กับเรามันก็มีอาการแก่ อาการเสื่อม มีการสลายตัว การสลายตัวมีอยู่ ๒ อย่าง สลายตัวเพราะการสิ้นลมปราณ ที่เราเรียกว่าตาย หรือว่าสลายไปจากใจของเรา เอาจิตห่างออกไปก็เรียกว่าสลายตัวไป ถ้าหากว่าเราเอาปัญญาพิจารณาไว้เสมอว่าสิ่งทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในสิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่มีในเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเราเป็นแต่เพียงอาศัยอยู่ชั่วคราวเท่านั้น และไม่ช้ามันกับเราก็ต้องพลัดพรากจากกัน ทำใจให้สบายไว้แบบนี้ เวลาร่างกายที่ความแก่มันเกิดเราก็ไม่หนักใจ เรารู้ตัวว่ามันจะแก่ เวลาความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นเราก็ไม่หนักใจเพราะว่าเรารู้ตัวว่ามันจะเกิด นี่รู้ตัวไว้ก่อน ทีนี้ความตายจะเข้ามาถึงเราก็ไม่หนักใจ เพราะรู้ว่ามันจะตาย รู้ว่าเกิดมาแล้วมันต้องตาย ทีนี้อาการอย่างหนึ่งอย่างใด อาการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น เราก็ไม่หนักใจ เพราะเราคิดอยู่แล้วว่าคนก็ดีสัตว์ก็ดี วัตถุก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันจะต้องพรัดพรากจากเรา เราจะต้องพลัดพรากจากมัน มันเป็นของธรรมดาของชาวโลก มันไม่เป็นของแปลกสำหรับเรา

ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาตัวนี้เข้า จิตใจของเราก็จะมีความสุข เหมือนอย่างพระอรหันต์ เราจะเห็นว่าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่มีอารมณ์ความทุกข์ แต่ว่าท่านรู้ว่าร่างกายหรือขันธ์ห้าหรือวัตถุเป็นปัจจัยของความทุกข์ ท่านไม่หนักใจ ขันธ์ห้ามันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ขันธ์ห้ามันจะป่วยก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็รู้ว่าจะป่วย เมื่อป่วยแล้วก็มีทางรักษาเพื่อเป็นการบรรเทาเวทนา หายก็หาย ไม่หายจะตายก็ช่าง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อร่างกายมันจะตายเราก็ไม่แปลกใจ รู้ตัวว่าเราจะตาย ถึงแม้ว่ารู้ตัวว่าเราจะตาย คิดไว้อยู่เสมอว่าเราจะตาย นี่จิตเราคิดไว้ตลอดเวลา ของรักของชอบใจที่มันมีไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือวัตถุก็ตาม ต้องคิดไว้เสมอว่าวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องพลัดพรากจากเราไป นี่จงมีความเข้าใจตามนี้ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ถ้าสิ่งใดก็ตามที่เรารักแล้วพลัดพรากจากเราไปก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่เรา เราไม่ใช่มัน ให้มันเป็นปกติวิสัย
 
แล้วถือไว้อย่างเดียวว่าเราเกิดมานี้เป็นบุคคลคนเดียว ถึงแม้จะมีคู่ครองมีพี่มีน้องมีพ่อมีแม่ แต่ทว่าความหิวเกิดกับเราเราหิวคนเดียว ชาวบ้านเขาไม่ได้มานั่งหิวกับเราด้วย ถ้าเราป่วยไข้ไม่สบายทุกขเวทนาเกิดกับเราผู้เดียว การพลัดพรากจากของรักของชอบใจการกระทบกระทั่งทางอารมณ์ใจมันก็มีกับเราผู้เดียว คนอื่นเขาไม่มายุ่งด้วยเวลาที่เราจะตายเข้ามาจริงๆ ไม่มีใครเขามาแบ่งเบาภาระทุกขเวทนาไปได้ เราผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รับ ฉะนั้น เมื่อเราผู้เดียวจะต้องเป็นผู้รับอารมณ์ทั้งหมด องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงได้บอกว่า ก็ต้องใช้คำว่าเราผู้เดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมรับนับถือกฎธรรมดาใดๆ ว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อความเกิดปรากฏขึ้น ความแก่จะปรากฎก็เชิญฉันไม่ยุ่งกับนาย จะป่วยไข้ไม่สบาย ฉันไม่ยุ่งด้วย มันจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจเราก็ยิ้มได้ว่าธรรมดา ฉันรู้แล้วว่านายจะต้องเป็นอย่างนั้น แก้วที่ชอบใจหล่นลงไปแตกแทนที่จะโมโหกลับชอบใจว่าฉันรู้แล้วว่ามันจะต้องแตก คนเป็นที่รัก สัตว์เป็นที่รักมันจะตายมันจะพลัดพรากจากกันไป เราก็ยิ้มได้ว่ามันเป็นกฎธรรมดา อย่าว่าแต่เขาเลย ไม่ช้าเราก็มีสภาพเป็นอย่างนั้น อารมณ์ของพระอรหันต์ท่านยอมรับนับถือกฎธรรมดา ท่านใช้กฎของธรรมดา ยิ้มให้กับอาการทั้งหมดที่ปรากฏกับตัว พระอรหันต์ดูเหมือนท่านไม่มีความทุกข์ แต่ความจริงท่านรู้ทุกข์ของขันธ์ห้า ขันธ์ห้าคือร่างกายมันแก่เดินไม่ค่อยจะไหวท่านก็รู้ว่ามันเป็นทุกข์ แต่ใจท่านมีความสุข เพราะรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แก่ก็แก่ไป เกิดมาเพื่อแก่ ของที่รักของที่ชอบใจปรากฏ บังเกิดไปท่านก็ยิ้มให้ไม่รู้สึกหนักใจอะไร
 
ตัวอย่างของท่านอำมาตย์ชื่อพันธุลเสนา เป็นคู่การศึกษากับพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าพิมพิสาร มีกำลังมาก มีฤทธิ์มาก มีความรู้มาก ต่อมาพระราชาใช้ให้ไปปราบโจรพร้อมด้วยลูก แต่ปรากฎว่าถูกโจรฆ่าตายหมด มีคนเขามีใบบอกมาถึงภรรยา วันนั้นภรรยาของท่านพันธุลเสนากำลังทำบุญที่บ้านพอดี เมื่อได้รับอ่านจดหมายแล้วท่านก็เก็บไว้ในอกเสื้อ มานั่งบำเพ็ญกุศลรับศีลถวายของพระเป็นปกติ เมื่อสมาทานศีลแล้วพระกำลังฉันอาหารอยู่ก็ปรากฎว่ามีสาวใช้นำแก้วน้ำมาให้ มาไม่ถึงก็ปรากฏว่าแก้วน้ำหล่น แม่นั่นล้มลงมา แก้วแตกเสียหายหมด เป็นของดีทั้งนั้น พระจึงเตือนใจบอกว่า โยมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของนอกกาย แล้วก็ร่างกายเหมือนกันมันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง ประกอบไปด้วยความทุกข์ แล้วก็อนัตตามันก็ต้องสลายตัวไปในที่สุด โยมอย่าหนักใจเลยนะ คือวันนั้นเป็นวันทำบุญ พระเกรงว่าจิตของนางจะเศร้าหมอง พอพระเตือนเช่นนั้นนางก็ยิ้ม แต่ความจริงนางไม่แสดงความสลดใจเลย ที่รู้ข่าวว่าผัวกับลูกตายทั้งหมด นางก็หยิบจดหมายมาส่งให้กับพระ พระรับมาอ่านดูก็ตกใจถามว่า ภคินิ ดูกรน้องหญิง เมื่อข่าวนี้ปรากฏเธอมีความรู้สึกเป็นอย่างไร นางก็ตอบว่าเรื่องนี้ดิฉันทราบเมื่อพระคุณเจ้ามาถึงบ้านแล้ว แต่พระคุณเจ้าสังเกตบ้างหรือเปล่าว่าดิฉันมีความรู้สึกเป็นอย่างไร พระก็มองเห็นว่าท่านมีอาการเป็นปกติท่านไม่มีความรู้สึกเป็นอย่างไร พระก็ดีใจกล่าววาจาว่า คิดว่าโยมเพิ่งได้ยินข่าว ความจริงได้ยินข่าวมาก่อนหน้านั้นแล้ว นางจึงบอกว่าแก้วมันเป็นของนอกกายเจ้าข้า นี่สามีชื่อว่าเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้า ลูกก็ถือว่าเป็นเลือดในอกตายพร้อมกันข้าพเจ้ายังไม่หนักใจ จะมาหนักใจอะไรกับแก้วแตกเพียงเท่านี้ มันเป็นเพียงของหาได้ง่าย พระทั้งหลายจึงได้รู้ว่าเมียของพันธุลเสนาเป็นพระอริยเจ้า นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าจะทำอารมณ์ของเราให้เป็นสุข ก็ต้องทำใจอย่างเมียของพันธุลเสนา ทำจิตเป็นปกติยอมรับนับถือกฎของธรรมดา คิดว่าอะไรที่มันมีมาได้มันก็ต้องหมดไปได้เป็นธรรมดา ช่างมัน จะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม แต่ในเมื่อมันยังอยู่กับเรา เราก็หวงแหนรักษาไว้ให้ดีที่สุดที่จะทำได้ และเมื่อโอกาสที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แทนที่จะเอาจิตไปเกาะเป็นห่วงก็ต้องถือว่าช่างมัน มันเป็นของธรรมดาที่มันจะเป็นเช่นนั้น มันเป็นกฎธรรมดาไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แล้วก็ทำใจให้เป็นธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายที่เหล่านี้มันพลัดพรากจากเราไปแล้ว เหลือแต่เราเท่านั้นที่จะต้องพลัดพรากจากร่างกาย และก่อนที่จะพลัดพรากจากร่างกายเราจะไปไหนก็ต้องเลือกทางเอก
 
เมื่อวันก่อนพูดถึงฌาน ๒ วันนี้ก็จะพูดถึงฌาน ๓ ฌาน ๓ ก็คือการทรงสติสัมปชัญญะรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ เอาเท่านี้พอ เวลานึกใช้ลมหายใจเข้าออกคู่กับคำภาวนาว่า พุทโธ เท่านี้แหละมีอานิสงส์เหลือแหล่เหลือกินเหลือใช้ ทีนี้มาดูอารมณ์ใจถ้าจิตใจของเราสบาย หูได้ยินเสียงไม่รำคาญในเสียง เวลานั้นเป็นปฐมฌาน ถ้าภาวนาๆ คำภาวนาหายไปเอง มันหายไปเฉยๆโดยเราไม่ได้หยุดมันหยุดเอง และจิตใจชุ่มชื่นดีขึ้นอย่างนี้เป็นฌานที่ ๒ ถ้าเป็นอาการของฌานที่ ๓ คำภาวนามันจะไม่ปรากฏมันจะหายไป ลมหายใจแผ่วเบาลงไปมากร่างกายทรงตัวดีมีจิตใจทรงตัวไม่หวั่นไหว มีความรู้สึกทางกายคล้ายกับเรานั่งตรงเป๋ง หรือว่านอนตรงเป๋งคล้ายกับเชือกมัดไว้ มันมีความรู้สึกตรงแบบนั้นมันตรงแบบนั้น มันมีความรู้สึกว่าตั้งตัวตรงมาก เพราะทรงอารมณ์มาก หูได้ยินเสียงภายนอกเบาจัด ลมหายใจเบาจัด จิตไม่อยากจะเคลื่อนจากอารมณ์ ไม่อยากจะคุยกับใคร จิตมันนิ่งจากอารมณ์ต่างๆ มีความสบาย นี่เป็นอาการของฌาน ๓ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทรงอารมณ์ของฌาน ๓ ได้แล้ว ตายจากความเป็นมนุษย์ก็เป็นพรหมชั้นที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ สามชั้นด้วยกัน อย่างหยาบก็เป็นพรหมชั้นที่ ๗ อย่างกลางก็เป็นพรหมชั้นที่ ๘ อย่างละเอียดเป็นพรหมชั้นที่ ๙ แสดงว่าใกล้นิพพานเข้ามา ถ้ามีอารมณ์ถึงฌาน ๓ ด้วย แล้วก็พิจารณาตามวิปัสสนาญาณดังที่กล่าวมาแล้วเมื่อสักครู่นี้

การเป็นพระอรหันต์เป็นของไม่ยาก การวางภาระคือความโง่ อวิชชาเป็นของไม่หนักนัก เป็นไปได้ง่ายเพราะจิตทรงตัว
 
เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดคำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.81 Chrome 43.0.2357.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2558 16:13:22 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๒ อริยสัจโดยย่อ

ต่อไปนี้เป็นเวลาที่ท่านทั้งหลายจะเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ สำหรับวันนี้ก็จะขอพูดอริยสัจย่อเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ความจริงเรื่องใจนี่เราบอกให้เตือนกันมาทุกวัน แต่ทว่ายังมีบางท่านลืมเตือนตลอดจนกระทั่งลืมกาลลืมสมัยไม่รู้กาลอันใดควรอันใดไม่ควร อันนี้ก็เป็นที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง คือว่าคำสอนตลอดพรรษาไม่มีประโยชน์ จงรู้ตัวไว้ด้วยว่าการทำอะไรไม่รู้กาลไม่รู้สมัย มันเป็นโทษสำหรับตัวเอง คือเป็นคนขาดเสน่ห์สำหรับตนเอง คือไปอยู่สังคมไหนเขาก็รังเกียจ ไม่ว่าไปอยู่กลุ่มไหนทั้งหมดไปอยู่ในกลุ่มบัณฑิตๆ ก็รังเกียจ ไปอยู่กลุ่มโจรๆ ก็รังเกียจ นี่เราจะดีได้อีกมุมหนึ่งก็คือ กาลัญญุตา รู้จักกาลรู้จักสมัย เมื่อเวลาใดควร เวลาไหนไม่ควร ปริสัญญุตา รู้จักบริษัท คือ คณะของบุคคล กิจที่เราจะทำ คำที่เราจะพูด ในบุคคลนั้น คณะนั้น เวลานั้น จะควรหรือไม่ควร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจริยาที่เราพึงปฏิบัติก็เหมือนกัน ดูกาล ดูสมัย ดูบริษัท ดูคณะบุคคล ถ้าเราทำตนไม่เหมาะสมกับกาลสมัยก็กลายเป็นแกะดำในกลุ่มนั้นไป นี่บรรดาท่านทั้งหลายที่จะอยู่ต่อไปก็ดีหรือว่าจะสึกก็ดี จงใคร่ครวญเรื่องนี้ไว้เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการปฏิบัติเพื่อการอยู่เป็นสุข ถ้าเรากลายเป็นคนที่ไม่รู้กาลไม่รู้สมัยไม่รู้บริษัท คือหมู่คณะหรือบุคคลว่ากาลใดมันควรหรือไม่ควร การใดที่ไม่ควรเราทำก็จะเป็นเป็นเครื่องแสลงใจของบุคคลบริษัทหรือหมู่คณะเหล่านั้น นี่ก็เป็นภัยใหญ่สำหรับเรา พอที่จะได้กินข้าวเลยไม่ได้กิน ถ้าจะไปอาศัยที่พักนอนเขาก็เลยไม่ให้พักไม่ให้นอน ไม่ให้อาศัยมันเป็นภัยใหญ่คือ ความเดือดร้อนของเราเอง คือการที่จะทรงตัวอยู่อย่างเป็นสุข ก็ต้องรู้จักระมัดระวัง รู้จักกาลรู้จักวาระ รู้จักเวลาที่เราจะต้องพูด ควรพูดหรือไม่ควรพูด กิจที่เราควรทำหรือไม่ควรทำ พระวินัยเราฟังกันมาทุกวันจะดีได้เหมือนกัน แต่ทว่าเข้าใจว่าฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวา บางทีก็เลยหัวไปเลย จำอะไรไม่ได้ นี่มันเป็นโทษใหญ่สำหรับเราเอง

นี่เราจะพิสูจน์กันได้ว่าท่านทั้งหลายจะสนหรือไม่สนใจในธรรมวินัย กรรมฐานทำทุกคืน เช้ามืดก็มีกลางวันก็มี และตอนเย็นมีพระวินัย แต่ทว่าพวกเราก็ยังไม่สนใจ แต่จริยาที่ประพฤติปฏิบัติออกมามันเป็นการไม่สมควรนั่นเป็นอาการแสดงออกชัดว่า เราบวชเข้ามาในศาสนาขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์นี่สักแต่ว่าบวชเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจบวชด้วยดี อย่างนี้บวชแล้วเอานรกไป ไม่ได้เกิดแม้แต่มนุษย์ เกิดมาอย่างไรเล่า ปฏิบัติตนไม่ครบถ้วนไม่มีใจสนใจในธรรมวินัย ความเป็นพระมันก็ไม่ปรากฏ ในเมื่อความเป็นพระไม่มี แต่แต่งกายอย่างพระมันก็มีอเวจีเป็นที่ไป ขอท่านทั้งหลายจงระวังใครที่มีจิตบกพร่องไม่สนใจในพระธรรมวินัย และยังปรารถนาจะอยู่ในเขตพระพุทธศาสนาต่อไปก็ตั้งใจปฏิบัติในพระธรรมวินัยให้มันครบถ้วน เวลากาลที่ผ่านมาเป็นเวลา ๓ เดือน นี่มันควรแล้ว สำหรับเก่ายิ่งกว่านั้นก็ยิ่งร้ายไปใหญ่ คือเป็นเวลาสมควร คอเวลาปฏิบัติกัน ๓ เดือน นี่ตามปกตินี่มันเลยฌาน ๔ กันไปไหนๆ ว่ากันถึงด้านสมถภาวนา สำหรับผู้ทรงฌานโดยมากเขาไม่เผลอ ในด้านจริยาที่เป็นกุศลและอกุศล แต่ความบกพร่องก็ยังมีอยู่บ้างสำหรับผู้ทรงฌานแต่ก็น้อยเต็มที่
 
ต่อแต่นี่ไปเรามาพูดกันถึงเรื่องอริยสัจย่อ พระอัสสชิ แสดงกับพระสารีบุตรว่า ธัมมา เหตุปัปภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เต สัญจะโย นิโรโธจ เอวัง วาที มหาสมโณ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งธรรม และความดับแห่งธรรมนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ นี่เพียงธรรมะหัวข้อย่อเพียงเท่านี้ พระสารีบุตรเมื่อเป็นปริพาชกฟังจบก็ได้พระโสดาบัน จึงกลับไปหาพระโมคคัลลานะที่เป็นปริพาชกร่วมกัน บอกว่าเวลานี้เราได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว พระโมคคัลน์จึงว่าได้อย่างไรจงว่าให้ฟังซิ ท่านเลยว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสแห่งธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ พอฟังเพียงเท่านี้พระโมคคัลน์ก็ได้พระโสดาบัน ง่ายไหมบรรดาท่านทั้งหลาย รู้สึกว่าเขาได้กันง่าย เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้สนใจเป็นปกติ

การบวชของท่านมุ่งหวังอย่างเดียว คือ โมกขธรรม ธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้น หลุดพ้นจากความเกิด
 
เหตุที่ท่านทั้งหลาย จะบวชก็เพราะว่าวันหนึ่งท่านไปดูมหรสพ ความจริงท่านดูทุกวันเสมอมา องค์หนึ่งมีบริวาร ๒๕๐ คนเป็นลูกมหาเศรษฐีด้วยกันทั้งคู่ รวมสององค์มีบริวาร ๕๐๐ เวลาไปดูมหรสพชอบใจก็ให้รางวัล มีอาการรื่นเริงหรรษา แต่ว่าวันนั้นเป็นประหลาด ท่านทั้ง ๒ นั่งดูมหรสพทั้งวัน เขาก็แสดงดี แต่ว่าทั้งสององค์ปรากฏว่ามีจิตสลดอยู่ตลอดเวลา เมื่อมหรสพจบแล้ว การแสดงเลิกแล้ว ท่านอุปติสสะ คือ พระสารีบุตร จึงได้ถามท่าน โกลิตะ คือพระโมคคัลลาน์ว่า ทำไมเวลานี้หงอยเหงา ไม่รื่นเริงเหมือนวันก่อน ท่านโกลิตะ จึงถามท่านอุปติสสะ คือ พระสารีบุตรว่า ท่านก็เหมือนกันวันนี้ทำไมจึงไม่รื่นเริง เรานั่งดูมหรสพทุกวันจิตใจเรารื่นเริง แต่วันนี้จิตใจมันประหลาด มานั่งดูไปดูมาว่า นักแสดงเหล่านี้นี่ไม่ช้าก็ตายหมด คนที่มาดูมหรสพนี่ไม่ช้าก็ตายทั้งหมด เรานี่ไม่ช้าก็ตายเหมือนกัน เพราะชีวิตมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปแก่ลงไปในชั้นกลางและมีความตายในที่สุด ที่นี้เมื่อคนเราเกิดแล้วตายเหมือนกันหมด ที่นี้เมื่อความตายมีอยู่ ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมี ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายก็ต้องมีอยู่ เราทั้งสองไปแสวงหาธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วไม่ตายดีไหม เลยท่านขี้เกียจตายกัน เพราะว่าตายแล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดแล้วมันก็ลำบากลำบนแล้วก็ตาย เวลานั้นท่านยังไม่พบพระพุทธเจ้า ธรรมะก็เกิดขึ้นกับใจ นี่เป็นเรื่องของคนมีปัญญา

คนมีปัญญาเขาคิดอย่างนี้ เขาคิดหาความเป็นจริง วิปัสสนาญาณหรือว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในตำรา อยู่กับความเป็นจริง ถ้าจิตใจของเราเข้าถึงความเป็นจริง ก็ชื่อว่าจิตของเราเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่เมื่อท่านทั้งสองตกลงกันแล้วก็กลับบ้านมาจะมาบอกพ่อแม่ ทั้ง ๒ ฝ่าย บอกว่าจะแสวงหาธรรมที่จะให้ไม่ตาย พ่อแม่ก็ดีใจหายอนุญาต ท่านก็พาบริวารของท่านองค์ละ ๒๕๐ เป็น ๕๐๐ ด้วยกัน รวมแล้ว ๕๐๒ ท่านออกจากสำนักไปหาธรรมที่ไม่ตาย คือโมกขธรรมเป็นเครื่องพ้น พ้นจากความตาย ก็ไปพบพระอาจารย์ใหญ่เขาองค์หนึ่ง คือ สัญชัยปริพาชก ท่านเป็นคณาจารย์ใหญ่ สอนลูกศิษย์ลูกหามาก ท่านพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร คือท่านอุปติสสะและท่านโกลิตะ ทั้ง ๒ ท่านนี้ก็เข้าไปอยู่ในสำนักนั้นพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี เมื่อทั้ง ๒ ท่านมาอยู่พวกพ้องบริวารคนที่เขาเคารพนับถือบูชาสำนักนี้มาก ทำให้เจ้าของสำนักร่ำรวยไปด้วยลาภสักการะ เป็นที่ชอบใจของคณาจารย์ ต่อมาเมื่อท่านเรียนจบในสำนักของท่านสัญชัยปริพาชกแล้วก็พิจารณาดูว่า นี่ไม่ใช่ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตาย คนที่เขามีปัญญาเขาทำกันแบบนี้ เขาคิดกันแบบนี้ ไม่ใช่ฟังส่งเดช ฟังไปฟังมาฟังจนชินจนไม่ได้ฟัง ฟังแล้วก็ไม่ได้สนใจ ในที่สุดสามเดือนแล้วก็เอาดีอะไรไม่ได้ แต่ที่ดีก็มีเยอะก็ไม่รู้กาลรู้สมัยก็มี นี่น่าสลดใจอย่างยิ่ง
 
นี่ท่านใช้ปัญญาพิจารณาว่าสัญชัยปริพาชกบอกว่าจบแล้วอย่างนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ว่าท่านทั้ง ๒ บอกว่าไม่ใช่อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์ เราแสวงหาต่อไปกันดีกว่า ท่านทั้งสองจึงนัดหมายกันว่าถ้าใครพบธรรมที่เป็นเครื่องพ้นจากความตายนี่ต้องมาบอกกัน ก็พอดีพระสารีบุตรเดินออกไปหลังบ้าน ไปในระหว่างทาง เวลานั้นพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกใหม่ๆ เทศน์สอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มีท่านอัญญาโกญทัญญะ ท่านวัปปะ ท่านมหานามะ ท่านภัททิยะ และท่านอัสสชิ เป็นพระอรหันต์ ๕ องค์ ๖ องค์ทั้งพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงส่งท่านทั้ง ๕ นี่ไปประกาศพระศาสนา แต่ไปคนเดียว สายหนึ่งคนเดียว ไม่ให้ไปด้วยกันเพราะมีบริษัทน้อย พอดีพระอัสสชิเดินไปทางนั้น ไปบิณฑบาต ท่านอุปติสสะหรือท่านสารีบุตรเห็นพระอัสสชิเดินสงบเสงี่ยมมีความสำรวมทอดจักษุแค่ชั่วแอก มีลีลาแห่งการเดินสำรวมจึงคิดว่าสมณะ องค์นี่น่าเคารพ น่าเลื่อมใส น่าบูชา น่าไหว้ เราอยากจะทราบว่าท่านเป็นสาวกของใคร ถ้าจะถามเวลาเดินไปบิณฑบาตก็เห็นจะเป็นการไม่สมควร นี่คนที่มีปัญญาเป็นคนรู้กาลรู้สมัย ไม่ใช่นึกว่าอยากจะทำอะไรก็ทำส่ง ก็รอเวลาท่านกลับ นั่งคอยอยู่ทางนั้นนึกว่า ถ้าท่านมาทางนี้ก็ต้องกลับทางนี้ พอพระอัสสชิท่านกลับก็กลับทางนั้น ท่านพระสารีบุตรก็เข้าไปไหว้ ยกมือไหว้ว่าท่านพระคุณเจ้าข้า ท่านเป็นสาวกของใคร ท่านชอบใจธรรมของใคร พระศาสดาของท่านสอนว่าอย่างไร
 
พระอัสสชิท่านเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกมีความสำคัญ มองหน้าอุปติสสะปริพานหรือพระสารีบุตรทราบชัดได้ทันที ว่าปริพาชกคนมีความฉลาดมาก ถ้าเราพูดมากไปถ้าจะไม่สมควร เราจะต้องพูดคำโดยย่อ ท่านก็กล่าวว่า เราเป็นสาวกของพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาสอนเราๆเป็นผู้ใหม่ในศาสนา เราจะกล่าวเนื้อความยาก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเนื้อความโดยย่อละก็พอได้ ความจริงท่านถ่อมตัว พระอรหันต์พูดยาวไม่ได้ ไม่มี พระสารีบุตรก็กล่าวว่าท่านจะกล่าวเนื้อความยาวเพื่อประโยชน์อะไร เราต้องการเนื้อความย่อ พระอัสสชิท่านจึงกล่าวว่า เย ธัมมา เหตุปัปภวา เตสํ เหตุง ตถาคโต เตสญจ โย นิโรโธ จ เอวังวาที มหาสมโณ ว่าธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสอย่างนี้ พอท่านฟังจบท่านก็เป็นพระโสดาบัน ธรรมปิติก็เกิด จึงถามว่าเวลานี้พระศาสดาของเราอยู่ที่ไหน พระอัสสชิก็บอกว่าพระองค์เสด็จอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ฉะนั้น พระอัสสชิก็หลีกไป
 
พระสารีบุตรก็ลากลับ จึงนำพระโมคคัลลาน์ และบริษัทอีก ๕๐๐ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าเห็นเข้าเท่านั้นก็ประกาศกับพระสงฆ์ทั้งหลายว่า อัครสาวกทั้ง ๒ ของเรามาแล้ว พอเข้าไปพระพุทธเจ้าก็เทศน์อริยสัจย่อตามเดิม ตามนิสัยเดิม แต่คราวนี้เห็นจะเทศน์พิสดารกว่าปกติอยู่สักหน่อย คือว่าเวลาที่พระองค์เทศน์ก็บอกว่า เย ธัมมา เหตุปัปภวาเหมือนกัน ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ทรงตรัสเหตุของธรรมนั้น และความดับของธรรมนั้น ก็หมายความว่าอาการเกิดของเราทุกคนมาจากกิเลส ความเศร้าหมองของใจ ความอยาก ตัณหาความทยานอยาก ความอยากทุกอย่าง อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ อยากเกลือกกลั้วอยู่กับกามารมณ์ คำว่ากามารมณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคลุกคลีระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเสมอไป อยากรวยอยากจน อยากมียศฐานบรรดาศักดิ์ อยากมีศักดิ์ศรีใหญ่ เขาเรียกว่ากามารมณ์ทั้งนั้น คืออารมณ์ที่ประกอบไปด้วยกามความใคร่มีอารมณ์ไม่รู้จักหยุด และอุปาทานตัวยึดมั่นว่านั่นเป็นของเรา ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา นั่นลูกเราเมียเราผัวเรา ข้าทาสบริวารหญิงชายของเรา บ้านของเราและอกุศลกรรม เมื่อจิตมันเลวเสียแล้วก็ทำในกรรมที่เป็นอกุศล อกุศลนี่แปลว่าบาป กุศลแปลว่าฉลาด อกุศลก็แปลว่าโง่ ไม่ฉลาด ก็ประกอบกรรมที่เป็นอกุศล คือ โง่ๆ กอบโกยทุกสิ่งทุกอย่าง ปรารภตนเป็นสำคัญ ไม่ได้ปรารภการปลดเปลื้องความทุกข์ ความทุกข์ก็มาหาตัว
 
ความจริงในพระพุทธศาสนานี่ก็สอนให้เข้ามาหาตัวอย่างเดียว ตัดภายนอกออกไปให้หมดเหลือแต่กาย เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง ทางเป็นทางสายเดียวเป็นทางเอก เป็นทางหมดทุกข์ เป็นทางที่เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเราคนเดียวนี่เราไม่มีใคร ในโลกนี้ถ้าเราบอกว่า มีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง มีผัวมีเมีย มีลูกมีหลาน มันจริงตามสมมติ แต่เนื้อแท้จริงๆเราคนเดียว เราหิว หิวคนเดียว ไม่มีใครเขาหิวด้วย บางทีเราหิวเกือบตายชาวบ้านเขายังไม่หิว เขานั่งคุยหัวเราะกัน ฮาๆ เราไปไม่ไหวแล้ว หิวจัด นี่แสดงว่าโลกนี้มีเราคนเดียว ป่วยก็ป่วยคนเดียว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง ข้าทาสหญิงชาย เพื่อนฝูงมาเยี่ยมกันเป็นกลุ่มเขาไม่ยอมป่วยกับเราด้วย นี่เราเป็นผู้เดียว ป่วยเราก็ป่วยคนเดียว เวลาตายเราก็ตายคนเดียว คนที่เรารักหรือหวงแหนถือว่าเป็นเราเป็นของเราก็ไม่ยอมมาป่วยด้วย ไม่ยอมมาตายพร้อมกับเรา ที่นี้เราจะตกนรกเราจะขึ้นสวรรค์เราก็เป็นบุคคลคนเดียว ถ้าเราทำความชั่วเราก็ตกนรกคนเดียว ทำความดีไปสวรรค์ไปพรหมโลกไปนิพพานคนเดียว คำว่าคนเดียวในที่นี้เราเป็นแต่เพียงตัวคนเดียว พระพุทธเจ้าว่า ร่างกายนี้ผู้เดียวสำหรับเรา ยังสอนตัดเข้าไปอีกว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเรือนร่างที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราวเป็นบ้านเช่าเท่านั้น กิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม สร้างขึ้นมาให้เราเช่าชั่วคราว และมันก็อยู่ได้ไม่นาน ไม่มีการทรงตัว ทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา ไม่ช้ามันก็พัง ถึงเวลาแล้วมันก็ไล่เราออกจากบ้านไป ปล่อยเอาไฟเผาบ้านเสียอีก หรือไม่งั้นก็เอาบ้านไปฝังดิน นี่พูดถึงตาย
 
เราคือใคร เราคือจิตที่ติดอยู่ในบ้านหลังนี้ คือร่างกาย พระพุทธศาสนาท่านสอน ให้ตัดภายนอกมาเหลือแค่กาย ตัดกายออกไปเหลือแค่ใจเราคือใจเท่านั้น ในเมื่อร่างกายของเราจะดีขึ้นมาได้มันก็ต้องอาศัยเหตุเป็นปัจจัย ธรรมใดเกิดแต่เหตุพระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น การเกิดที่มันจะปรากฏ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เพราะความเกิดมันปรากฏขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม อันนี้ฟังยากนิด จะให้ง่ายขึ้นมาอีกหน่อยก็เกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง โลภอยากเกิดใหม่ก็โลภอยากมีผัวอยากมีเมีย อยากมีลูก อยากมีทรัพย์สินทั้งหลาย อยากอะไรต่ออะไรจิปาถะอย่างชาวโลก เรียกว่าโลภะ แปลว่าอยากได้
 
ที่นี่อยากได้ในส่วนที่สร้างความเกิดให้ปรากฏ ปัจจัยใดมันเป็นปัจจัยแห่งความทุกข์ใจเราชอบแบบนั้น อยู่คนเดียวสบายๆไม่ไหวมันเหงา ต้องหาคู่ครอง พอได้คู่ครองมาก็แสนลำเค็ญละที่นี่ พ่อเทวดาแม่นางฟ้าถ้าดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็กลุ้มใจตาย เขาบอกว่าปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย มีผัวมีเมียผิดคิดจนผัวตายหรือไม่ต้องหาใหม่ มีความช้ำใจความลำบากใจมันเกิดขึ้นในระหว่างการครองคู่ มีผัวมีเมียแล้วยังไม่พอ ยังอยากมีลูกกันต่อไป พ่อเทวดาแม่นางฟ้าเล็กๆ โผล่ขึ้นมาเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็นอนไม่ค่อยได้แล้ว ดีไม่ดีตอนดึกๆ นอนกำลังสบายๆ พ่อเทวดาแม่นางฟ้าโผล่ขึ้นมาแล้ว ขี้แตกไม่สบายขึ้นมาเจ้าแม่ก็ต้องลุกขึ้นมา เจ้าแม่ก็ต้องลุกจากตื่น ง่วงเหงาหาวนอนเพียงใดก็ตามที เพราะความรักลูกมันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ยอมลำบากทุกอย่าง นี่เพราะความรักลูกเป็นสำคัญนี่เราต้องการแบบนี้ มันเป็นตัณหาหรือว่าโลภะความโลภมันเป็นตัวอยาก ถ้าอยู่คนเดียวมันจะมีหรือ มันก็ไม่มี คนเดียวจะกินเมื่อไรจะนอนเมื่อไรก็ไม่มีใครว่า
 
แต่ว่าคนเดียวนี่มันก็ยังไม่ดีมันก็ยังมีความทุกข์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงกล่าวว่า ความทุกข์เกิดจากตัณหา คือความอยาก อยากรวย อยากมีคู่ครอง อยากมีทรัพย์สิน มีบ้าน มีช่อง อยากโกรธพิฆาตเข่นฆ่า อยากเหมือนกันหมด ถ้าหากว่าเราจะตัดความเกิดให้ได้ ความอยากตัวนี้มันทำให้เกิด ธรรมใดเกิดแต่เหตุพระพุทธเจ้าตรัสเหตุของธรรมนั้น แลความดับของธรรมนั้น ก็ต้องตัดตัวอยากเสีย ให้เข้าถึงความดับความโลภเสีย หากินโดยสัมมาอาชีวะ แต่คิดอยู่เสมอว่าทรัพย์สินทั้งหลายหามาได้นี่มันเป็นเครื่องพยุงกายเท่านั้น แต่มันก็พยุงไม่ได้ดี มันถึงแค่บรรเทาทุกขเวทนา เวลามาถึงมันก็ห้ามความตายของเราไม่ได้ เมื่อความตายมันเข้ามาถึง ความป่วยไข้ไม่สบายมันจะเข้ามาถึง ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจมาถึง ทุกข์ต่างๆ จะเข้ามาถึง ทรัพย์สินต่างๆ ช่วยเราไม่ได้เลย เวลาตายไปนี่ หนวดเส้นหนึ่งก็เอาไปไม่ได้ เราก็คิดไว้เสมอว่าเวลาเรามีชีวิตอยู่สัตว์ทั้งหลายต้องการอาหารเลี้ยงชีพ นี่เราก็ต้องหาทรัพย์สินมาเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ในการพยุงตัว เป็นการระงับเวทนา แต่เราจะไม่ยึดว่าทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมดที่ปรากฏเราหามาได้เป็นเราเป็นของเรา ว่าเราจะอาศัยมันได้เมื่อร่างกายทรงอยู่เท่านั้นตายแล้วก็เลิกกัน มีทรัพย์กี่ล้านกี่โกฏิก็ตามทีตายแล้วใช้ไม่ได้ ที่สำนักพญายมจะไปเสียแป๊ะเจี๊ยะเขาก็ไม่เอา แล้วเราก็แบกไปไม่ได้ด้วย ธรรมแบบนี้มันทำให้เราเกิดแล้วก็ตาย
 
การพ้นจากความตายเราก็ละความอยากไปเสีย อะไรก็ตามถือว่าทำตามหน้าที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนต้องหาทรัพย์สินมาเพื่อเป็นการประคับประคองการทรงตัวเราก็ต้องหาไม่ใช่ไม่หา พระพุทธเจ้าไม่เคยห้ามหา หามาแล้วจงอย่ายึดถือเป็นสำคัญ เราต้องเก็บรักษาเป็นที่อาศัยในขณะที่มีชีวิตอยู่ ตายแล้วก็เลิกกัน นั่งนึกอยู่เสมอว่าเจ้าทรัพย์สินกับเรานี่ไม่ช้ามันก็เลิกกัน เลิกคบกันต่อไป เราตายแล้วมันไม่ไปกับเรา ทำใจให้สบายไม่ติดอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่เมาในชีวิต คิดว่าเราจะตาย คิดไว้อยู่เสมอว่าร่างกายนี้ไม่ช้ามันก็พัง มันทรงอยู่ด้วยอาการของความเป็นทุกข์ เมื่อตายแล้วจิตเรายังเกาะในกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม กิเลสคือความเศร้าหมองของจิต มีความโลภ เป็นต้น ตัณหามีความทะยานอยากตามที่กล่าวมา อุปทานยึดมั่นว่าเรากับมันจะทรงตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่จากกัน และอกุศลกรรมเป็นการทำแบบโง่ๆ เป็นการสร้างกิเลส ตัณหาอุปาทาน เราตัดโยนทิ้งไป ในเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องตายมันมีความลำบาก เราก็เชื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมคือตัณหานี่มันเป็นตัวแห่งความทุกข์ เราไม่เอามันต่อไป ถ้าเราละตัณหาได้ทุกข์ก็ไม่มีสำหรับเราต่อไปทั้งในชีวิตปัจจุบันและสัมปรายภพ เมื่อตัณหาความอยากความทะเยอทะยานได้เสียแล้ว ใจมันก็สบาย อะไรจะมาในรูปไหนก็ถือเป็นกฎธรรมดา มีความเข้าใจทุกอย่าง ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริง สิ่งที่ประสบมันมีอยู่ทุกวันสำหรับเรา เห็นเด็ก เห็นคนหนุ่มคนสาว เห็นคนวัยกลางคน เห็นคนแก่เห็นคนตายอยู่ตลอดเวลา ให้ถือว่าร่างกายนี้มันไม่ดี มันเป็นทุกข์ มีการเสื่อมโทรม มีการตายไปในที่สุด เราไม่เอากับมันต่อไป เลิก
 
วิธีเลิกทำอย่างไร ก็ให้ทานเป็นการตัดความโลภ รักษาศีลเป็นการตัดโทสะ เจริญภาวนาเป็นการค้นคว้าหาความจริงในการวางขันธ์ห้าเสีย คิดว่าร่างกายนี้เราไม่ต้องการมันเป็นโทษ ขึ้นชื่อว่าร่างกายอย่างนี้ ต่อไปภายหน้าจะไม่มีสำหรับเรา เราไม่สนใจในมัน มันจะแก่ก็เชิญแก่ รู้ตัวอยู่แก่ก็ดี มันจะป่วยก็เชิญป่วย ป่วยก็ดี ภาวะมันเป็นอย่างนี้ห้ามมันไม่ได้ ก็ดีมันเสียส่งไปเลย ใจมันจะได้สบาย นี่พระอรหันต์ท่านคิดอย่างนี้ มันป่วยก็ธรรมดาของการป่วย แต่ว่าท่านก็นึกว่ามันจะป่วยก็ป่วยไปซิ เราใช้เวลาไม่ถึงร้อยปี เราก็พ้นมันไปแล้วนี่ ไปนิพพาน ถ้ามันจะตายก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันจะหายก็หายไป มันพังก็พังไป มันเกิดมาเพื่อพัง มันมีอยู่เพื่อพัง เราหามาได้เมื่อหายหกตกหล่น มันจะหายไปก็ช่างมัน ใจมันก็สบาย พอใจสบายอย่างนี้แบบนี้ในวัตถุภายนอกเข้ามาถึงกาย ว่ากายนี่มันแก่แบบนี้ มันป่วยแบบนี้ไม่เอามันอีกแล้ว ไม่ช้ามันก็ตาย ถ้ามันตายแล้วเราเลิกไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าที่มันประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ จะไม่มีสำหรับเรา ไม่ว่าเป็นขันธ์ห้าที่มันประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ จะไม่มีสำหรับเรา ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ประเภทไหนก็ตาม แม้แต่ทรงกายอยู่ในขั้นทิพย์อย่างต่ำ คือพรหมหรือเทวดาอย่างนี้เราไม่ต้องการ เพราะไม่เป็นแดนของความพ้นทุกข์ แดนที่มีความพ้นทุกข์ มีความสุขอย่างยิ่งมีแดนเดียว คือแดนของพระนิพพาน
 
เราก็ตั้งใจให้ทาน เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ คิดจะสงเคราะห์เมตตา แผ่ความดีให้กับคนและสัตว์ที่มีความทุกข์ให้มีความสุขเท่าเทียมเท่าที่จะทำได้
 
กรุณา มีความสงสารเอื้อเฟื้อตลอดเวลา
 
มีศีลบริสุทธิ์ผ่องใส
 
มีกำลังใจแจ่มใสทรงฌานสมาบัติ มีอารมณ์นิ่ง มีอารมณ์ทรงตัว ฟังอะไรครั้งเดียวจำได้ เพราะนึกอยู่ การทรงฌานนี่จิตทรงนี่เขาไม่ต้องเกณฑ์กันหรอก ฟังคราวเดียวกี่ร้อยปีจิตมันก็จำได้จิตมันก็ทรงตัว นึกได้อยู่เสมอ
 
และมีสติสัมปชัญญะ รู้กาลที่ควรหรือไม่ควร นี่ลักษณะของผู้ทรงฌาน คือจิตใจมันไม่รุ่มร่ามมันไม่ฟุ้งมันไม่เฟ้อ จิตใจมันอยู่ในขอบเขตของสมาธิจิต คือ สติสัมปชัญญะ
 
เมื่อจิตทรงอารมณ์ฌาน มีอารมณ์แจ่มใส มีอารมณ์เข้มแข็ง มันก็เห็นอริสัจ ว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อยากโลภ อยากโกรธ อยากหลง ไม่อยากเสียอย่างเดียว ตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลงมันก็ไม่มา มันก็ไม่มี
 
เราก็ตัดความโลภเสียด้วยการให้ทาน
 
ตัดความโกรธเสียด้วยการรักษาศีล
 
ตัดโมหะความหลง คือความโง่ด้วยการเจริญภาวนา เจริญภาวนาไม่ใช่ว่านั่งว่าอย่างนกแก้วนกขุนทอง มองดูอะไรก็ดี กลางวันก็ดีกลางคืนก็ดี ลืมตาอยู่ เห็นตึกใหม่ๆ นี่ไม่ช้ามันก็เก่าแล้วมันก็พัง ถนนหนทางเราสร้างดีๆ ไม่ช้าก็ต้องซ่อม รู้ ก็ดูร่างกายเรานี่ไม่ช้าก็พัง มันทรุดโทรมทุกวัน เห็นชาวบ้านเขาป่วย ไม่ช้าเราก็ป่วย เตรียมพร้อมเข้าไว้ไม่ใช่เตรียมพร้อมหนีป่วย เตรียมพร้อมว่าเวลาเราป่วยนี่เราจะวางอารมณ์เป็นอย่างไร อารมณ์ที่เราจะวางก็ช่างมันสิ ก็ธรรมดาของมัน การรักษาถือว่าเป็นการบรรเทาความเวทนา ไม่ใช่ตัดป่วยให้หายไป มันจะไหวก็ไหว ไม่ไหวจะพังก็ช่างมัน พังเมื่อไรก็นิพพานเมื่อนั้น เราไม่สนใจในขันธ์ห้าต่อไป
 
เพียงเท่านี้แหละ ท่านที่ปฏิบัติอย่างนี้ละก็ไม่ใช่ได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่ใช่พระโสดาบันอย่างพระสารีบุตรพระโมคคัลลาน์ คือเป็นพระอรหันต์ นี่อริยสัจโดยย่อ ถ้าเราพิจารณากัน พิจารณากันแค่นี้ ไม่ต้องไปนั่งเปิดตำรากันให้เมื่อยลูกตา ของดูอยู่ตลอดเวลา ที่นั่งกันอยู่นี่อายุเท่ากันที่ไหน เดิมทีเดียวก็ออกมาจากท้องพ่อท้องแม่เป็นเด็กเหมือนกัน โตขึ้นมาเป็นหนุ่มเหมือนกัน แต่ว่าแก่ไม่เท่ากัน เกิดไม่เท่ากันนี่ ในที่สุดคนที่เคยมาคุยกับเรานี่ตายไปกี่คนแล้ว แล้วเราล่ะ จะไม่เป็นอย่างนั้นหรือ การเกิดมามีสภาพอย่างนี้มันดีหรือมันเลว มันเลวไม่ใช่ดี เมื่อมันไม่ดีแล้วจะเกิดขึ้นมาทำไมต่อไป เราไม่เกิด เราเกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง เราไม่ต้องการความเกิด เราต้องไม่คบความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็หมดกันเท่านั้น นี่เรื่องของอริยสัจ ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ ก็ง่ายจะตายไป
 
ความเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ไม่ใช่ของยาก ถ้าใจของเราดีพอเว้นไว้แต่อารมณ์ใจของเราจะไม่ยอมรับนับถือความดีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสนาสมัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ เห็นว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเป็นของที่เราจะเกาะไว้หากินเท่านั้น จิตเราคิดอย่างนี้ละก็มันถึงไม่ได้พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ เพราะว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติตามสร้างความสุข ให้จิตเราตั้งกันจริงๆ อย่างนี้ไม่เห็นใครเขาเกิน ๓ เดือน เขาเป็นพระโสดาบันกันทั้งนั้น นี่พูดถึงเอาจิตตั้งกันจริงๆ
 
นี่เราจะพูดถึงพระโสดาบันเรารู้ได้อย่างไร พระวินัยทุกสิกขาบท ระมัดระวังไว้เต็มที่ ถ้ามีอารมณ์เคยชิน สติของเราทรงสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ที่นี้เราก็ดู ว่าเราจะดีตามนั้นหรือยัง ก็ดูกิจการงานที่เราทำแม้แต่ของหยาบ รู้ว่าอะไรบ้างที่จะวางแรง อะไรที่จะวางเบา อะไรจะวางที่ไหน จะยืนที่ไหน จะนอนที่ไหน จะนั่งที่ไหนถึงจะเป็นสุข ไม่ใช่นอนหลบงานนะ เวลานอนเวลาไหนควรจะนอน เวลายืนควรจะยืนตรงไหนจะเหมาะต่อหน้าผู้ใหญ่เขาห้ามยืนข้างหน้าผู้ใหญ่ห้ามยืนข้างผู้ใหญ่เกินไป และห้ามยืนข้างหลังเพราะเวลาผู้ใหญ่พูดด้วยไม่ได้ยิน ยืนเฉียงหน้าไปทงซ้ายหรือทางขวานิดหน่อยพอไม่บังทานไม่ต้องเหลียวไปหาลำบาก นี่คนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ กิจเล็กๆน้อยๆเท่านี้ก็พึงระวัง มีความละเอียดในจิต และอารมณ์เราก็คิดรักษาเป็นปกติ ธรรมวินัยของพรสะพุทธองค์ทั้ง ๒ ประการ คือ ทั้ง ธรรมะ และวินัย ไม่ยอมข้ามแม้แต่ ๑ สิกขาบท เอาจิตกำหนดไว้แล้วด้วยดีทุกอย่างไม่ยอมให้บกพร่อง ขึ้นชื่อว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไม่ยอมข้าม ไม่มีการแก้ไข ปกตินึกถึงความตายเป็นธรรมดา มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ก็เป็นพระโสดาบัน ไม่เห็นจะยากตรงไหน แต่ที่ยากก็เพราะเราไม่สนใจ ชินกับพระศาสนาเกินไป บวชเข้ามาแล้วไม่ได้อะไร สักแต่ว่าบวช ใครเขาพูดอะไรบ้างเรื่องเล็กฉันไม่ฟังเสียอย่างก็หมดเรื่อง ฟังแล้วฉันไม่สนใจเสียอย่างก็ไม่เป็นไร ความจริงไม่เป็นไรสำหรับผู้บอกเขาก็ไม่เป็นไร เราผู้รับมันก็ไม่เป็นไร เวลาตายแล้วถึงแน่ คือ อเวจีมหานรกสำหรับพระเป็นที่ไป พระนี่ไม่ไปไหน ไปอเวจีแน่นอน ถ้าเราอยู่ในศาสนาขององค์สมเด็จพระชินวร ถ้าเราไม่ไปปฏิบัติตาม ไม่ต้องเป็นห่วงไม่ต้องเป็นกังวลว่าเราจะไม่ได้ไปอเวจีมหานรก เพราะว่าเราเอาเพศเข้ามาหลอกชาวบ้านเขา ให้ชาวบ้านเขามาไหว้บูชา เอาของมาถวาย ท่านทั้งหลายเหล่านี้เขาถวายแก่พระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่ถวายแก่ลูกชายบ้านที่บวชเข้ามาไม่มีศีล มีศีลไม่ครบ ไม่สนใจในพระธรรมวินัย นี่ที่เราบกพร่องขาดความเป็นอริยเจ้ากัน เราเป็นไม่ได้เพราะบกพร่องตรงนี้ คือว่าบวชสักแต่ว่าบวช คือ อุปสมชีวิกา อาศัยศาสนาเลี้ยงชีวิต นี่ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดจิตไว้ให้ดีว่าเราบวชเพื่อมรรคผล บวชเข้ามาในศาสนาขององค์พระสมเด็จพระทศพลไม่ใช่สักแต่ว่าบวชเป็นประเพณี เราตั้งใจไว้ในเรื่องนี้ ตั้งใจไว้เสมอว่า เราจะเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เราจะเป็นผู้มีสมาธิตั้งมั่น คือมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ทำงานทำอะไรก็เหมือนกัน ไม่สักแต่ว่าทำ

การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็เหมือนกันไม่สักแต่ว่าทำ ถ้าหากว่าธรรมวินัยดีการงานหยาบๆที่เราทำมันก็ดีด้วย ดูได้เลยสังเกตเห็นได้เวลาทำงานนี่ ถ้าหยาบๆชุ่ยๆและก็อีกนานนัก จะได้พระโสดาน่ะ แต่ว่าอเวจีนี่ได้แน่ เพราะจิตละเอียดไม่พอนี่เป็นเครื่องสังเกตในการปฏิบัติ อะไรที่เป็นประเพณีตามคำสั่ง พอรับคำสั่งเขาจะต้องจำเวลาตามกำหนดทันที ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่รับคำสั่งแล้วทำเฉย ไม่รู้ไม่ชี้เสียอย่างนี้ เราก็สังเกตได้ว่านี่เราลงอเวจีไปแค่ไหนแล้วไม่รู้ เมื่อไรเราจะขึ้นเสียที เราจะขึ้นจากอเวจีก็โดยสติสัมปชัญญะเราดี ระมัดระวังไม่ให้ความชั่วปรากฏ โลกไม่ให้ช้ำธรรมไม่ให้เสีย ประเพณีของโลกเราไม่ขัด ถ้าจิตของเราไม่ยืดถือ ไม่สงสัย คือไม่ฝ่าฝืนในคำสั่งสอนนของพระพุทธเจ้า มีศีลบริสุทธิ์ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ว่าเราต้องตายแน่ไม่เสียดายในชีวิตในขณะที่เราจะตาย ใจนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เท่านี้เราก็เป็นพระโสดาบัน
 
นี่เราพูดกันมานานแล้ว เช้ามืดเราก็พุดกันถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามสี่เดือนยังไม่ได้พระโสดาบันละก็น่าสลดใจอย่างยิ่ง เพราะว่าเราจ้ำจี้จ้ำไชกันอย่างบอกไม่ถูก ที่จริงที่เขาได้กันเขาไม่ได้เรียนกันแบบนี้นะ ผมก็ไม่ได้เรียนแบบนี้ ผมฟังจากหลวงพ่อปาน วันหนึ่งผมก็เข้าป่าไปแปดวันสิบวัน โผล่หน้ามาถามท่านเสียที อะไรที่เราสงสัยก็มาถามท่านเฉพาะจุดแล้วเราก็เข้าป่าไปอีก เราก็ไปฝึกใจของเราในป่า พระที่ท่านได้ดีท่านทำกันอย่างนี้ ไม่ต้องมานั่งสอนกันอยู่ทุกวันเขานั่งสอนเขาเองกันอยู่ตลอดเวลา อัตตนาโจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่พระพุทธเจ้าทรงสั่งอย่างนี้ นี่เราสอนกันเฟ้อเกินไป ผมรู้ตัวเหมือนกันว่าคำสอนนี่มันเฟ้อเกินไป แต่ว่าผมก็ถือว่าผมทำตามหน้าที่ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครรักดีก็รับเอาไป ใครไม่รักดีก็ปฏิบัติเอาตามชั่ว ใครอยากเอาแค่สวรรค์ก็เอาสวรรค์ไป ใครอยากไปพรหมก็เอาพรหมไป ใครอยากไปนิพพานก็เอานิพพานไป สอนกันทุกระดับ ใครอยากจะลงนรกก็เอานรกไปไม่ได้ว่าอะไรใคร
 
ต่อแต่นี้ไปให้ทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.81 Chrome 43.0.2357.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 09 มิถุนายน 2558 13:11:54 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๓ กายคตา

บัดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปนี้ก็เป็นโอกาสที่บรรดาที่ท่านจะได้เจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ วันนี้ก็จะขอพูดเรื่อง สมถะ คือ กายคตานุสสติกรรมฐาน กับวิปัสสนาญาณควบคู่กันไป แต่ก่อนที่บรรดาท่านทั้งหลาย จะพิจารณาอย่างอื่น อันดับแรกให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่เป็นปกติ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เป็นการทรงอารมณ์เข้าไว้ และก็พร้อมกันนั้นก็ใช้หูฟังเสียงอารมณ์จิตคิดตามเสียง ถ้าหูได้ยินเสียงอยู่ จิตคิดตามเสียงอยู่ก็ไม่ต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ขณะใดหูยังฟังเสียง จิตคิดตามเสียงรู้เรื่อง แสดงว่าสติสัมปชัญญะของเราดีมีสมาธิ ถ้าหากว่าจิตของเราพิจารณาตามเสียงไปด้วย มีความเข้าใจตามเสียงเกิดนิพพิทาญาณปรากฏก็จัดว่าเกิดปัญญาเป็นวิปัสสนาญาณ นี่เป็นการศึกษาพระกรรมฐานต้องศึกษาแบบถูกต้อง เป็นของไม่ยาก เพราะกรรมฐานขององค์พระผู้มีพระภาคไม่ได้สอนให้ยาก สอนแบบง่ายๆ แต่ที่ทำกันไม่ได้เพราะไม่สนใจจริงเท่านั้น ถ้าเป็นของยากจริงๆละก็ จะไม่มีใครได้กันเลย เวลานี้หรือกาลต่อมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดพุทธบริษัทจนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่เคยขาดพระอริยเจ้า ก็แสดงว่ากรรมฐานขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ยาก แต่ที่ยากก็เพราะว่าเราไม่ต้องการ
 
การเจริญพระกรรมฐานอันดับแรกต้องกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอันนี้เป็นการป้องกันความฟุ้งซ่านของจิต แล้วต่อมาก็มาคิดถึงเรื่องกาย เพราะกรรมฐานนี่สอนเฉพาะในร่างกายเท่านั้น ให้มีความเบื่อหน่ายในร่างกายว่าความเกิดมันเป็นทุกข์ ถ้าเกิดแล้วมีแก่มีเจ็บ มีป่วยไข้ไม่สบาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความปรารถนาไม่สมหวังมีความตายไปในที่สุด ถ้าเอาจิตมันก็เป็นทุกข์ เอาจิตเข้าไปเกาะอยู่ในร่างกายก็แสดงว่าเราไม่พ้นจากโลกธรรม ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะ ก็แสดงว่าเรายังรักโง่เกลียดดี ถ้าเรารักดีเกลียดโง่เราก็ต้องทิ้งวัฏฏะ การทิ้งวัฏฏะก็คือการทิ้งขันข์ห้า คือร่างกายเท่านั้น นี่การพิจารณาร่างกายนั้นพระอรหันต์ทุกองค์จะต้องผ่าน หมายความว่าท่านที่เป็นพระอรหันต์จะต้องผ่านกรรมฐานกองนี้ ถ้าไม่ผ่านกองนี้ทั้งหมดจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้ กรรมฐานกองสำคัญนี้ก็คือกองที่ชื่อว่า กายคตานุสสติกรรมฐาน มีการพิจารณากายร่วมกับอสุภกรรมฐาน สองอย่างควบกัน การที่พระพุทธเจ้าพิจารณากายว่ามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ตับ ไต ไส้ ปอด อาหารใหม่ อาหารเก่า อุจจาระ ไส้ใหญ่ ไส้เล็กและน้ำเลือด น้ำหนองที่มันมีอยู่ในกาย นั่งนึกไปด้วยนะ นึกไปด้วยว่าในกายของเรามีอะไร อย่างนี้ ความจริงร่างกายไม่ใช่เป็นสภาพแท่งทึบ มันเป็นโครง ภายในเต็มไปด้วยจักรกล
 
อาการที่เห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยจักรกลนี่เป็นเรื่องสำคัญ ที่องค์สมเด็จพระภควันต์ ให้พิจารณาว่าร่างกายนี่มันมีสภาพเที่ยงหรือไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงจริง มันย่อมมีการทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายของเราเที่ยงไหม นึกดู ถ้าเราเที่ยงจริง เมื่อเกิดมาร่างกายเราเป็นเด็กมันก็ต้องไม่รู้จักโต เรายังพูดภาษาที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมันก็ต้องยังพูดไม่ได้ เกิดวันแรกเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น เวลานี้เรากับเด็กมีสภาพเหมือนกันไหม มันไม่เหมือนแล้ว มันโตกว่า พูดรู้เรื่อง ทำงานได้ทุกอย่างรับผิดชอบ ดีไม่ดีก็ไม่ใช่ตัวคนเดียว มีสามี มีภรรยา มีบุตรธิดา แสดงว่าร่างกายมันมีสภาพไม่เที่ยง สภาพความเป็นเด็กหายไป ความเป็นผู้ใหญ่เข้ามาถึง นี่มันไม่เที่ยง แล้วไม่เที่ยงมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่งนึกให้ถึงนี่เป็นอริยสัจ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าอาการเที่ยง ถ้ากินข้าวอิ่มเดียวมันก็ต้องอิ่มไม่มีการหิว กินแล้ว เดี๋ยวก็หิวใหม่ อาการหิวมันเป็นความทุกข์ กินข้าวแล้วก็มีอาการปวดอุจจาระปัสสาวะ การปวดอุจจาระปัสสาวะมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นี่ถ้าตอบกันแบบธรรมดา การปวดปัสสาวะมันก็เป็นทุกข์ ท่านก็ต้องเห็นว่ามันเป็นทุกข์ นี่เราเกิดขึ้นมาแล้ว ความปรารถนาไม่สมหวัง อยากได้อะไรไม่ได้ตามใจนึก แสวงหาธรรมะทุกอย่างไม่ได้ตามปรารถนา อาการอย่างนี้มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นึกเอา ถ้ายังเห็นว่าเป็นสุขก็เกิดต่อไปก็แล้วกัน มันก็ทุกข์ ถ้าเราเกาะอยู่มันก็ไม่ทุกข์ ถ้าชีวิตเราใกล้จะตายมันเป็นสุขหรือทุกข์ มันก็เป็นอาการของความทุกข์ ร่างกายของเรามีขึ้นมาก็เพราะอาศัยเหตุ คือปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ไม่ใช่เป็นปัจจัยให้เกิดความสุข ร่างกายเป็นทุกข์
 
ร่างกายก็มีอะไรอีก ร่างกายก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น เราเห็นว่ามันสกปรกหรือเห็นว่ามันสะอาด เห็นจะไม่ต้องตอบกัน จะเห็นว่าสะอาดก็ตามใจ ฝืนความจริงใจ ใจก็พ้นจากร่างกายไปไม่ได้ พ้นจากโลกไปไม่ได้ เป็นอันว่ามันสกปรก เมื่ออาหารใหม่เก่าน้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนองในร่างกาย เราจะเห็นว่าร่างกายมันสะอาดได้อย่างไร ที่นี้สิ่งทั้งหลายภายนอก เช่นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ อย่างนี้เป็นต้น เอาเฉพาะหนังไม่ต้องถึงเนื้อ มันอยู่ภายนอกที่เราเห็นความสวยสดงดงามมันก็แค่หนังกำพร้าที่มันหลอกตาเรา เราชอบหลอกตัวเอง ร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก เวลาที่จะโชว์ก็อาบน้ำอาบท่า ชำระร่างกายขัดสีฉวีวรรณ เอาโน่นมาแต้มนิดเอานี่มาแต้มหน่อย ทาโน่นนิดทานี่หน่อย หวีผมเสียให้เรียบร้อย เอาผ้าที่สีสวยๆ เข้ามาแต่งร่างกาย แล้วก็ไปส่องกระจกแล้วก็มาชมตัวเองว่าสวยนี่เราก็นั่งโกหกตัวเอง โกหกชาวบ้าน มันจะสวยที่ไหน ในเมื่อร่างกายของเรามีสภาพเหมือนกับส้วมเดินได้ ภายในเหมือนส้วม แล้วท่านเห็นว่าส้วมสะอาดหรือส้วมสกปรก นี่เป็นอันว่าร่างกายของเราเต็มไปด้วยความสกปรก กายคตานุสสติกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายเป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นอันไม่เป็นแท่งทึบ อสุภกรรมฐานบวกเข้ามาเห็นว่าร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม นี่เป็นของจริง ต้องพิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ให้เป็น เอกัคตารมณ์ คำว่าเอกัคตารมณ์ แปลว่าอารมณ์เดียว นั่งอยู่ นอนอยู่ เดินอยู่ ยืนอยู่ จะเป็นเวลาไหนก็ตาม จิตใจเห็นอยู่เสมอว่าร่างกายเป็นแต่เพียงเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรก คนอื่นเดินผ่านมาเราอย่าเอาตาไปติดแค่ผ้าหรือแค่หนัง มองเลยหนังทะลุเนื้อเข้ามาถึงตับ ไต ไส้ ปอด ปรากฏอยู่ แล้วก็ดูให้ดี เห็นคนเดินมานึกว่านี่ส้วมเคลื่อนที่มาแล้ว นี่ส้วมมันเป็นของสกปรก เราต้องการส้วมเข้ามาประคับประคองหรืออย่างไร
 
 
นี่ใจของเรานี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้หาความจริงจากกายให้พบอันนี้แหละเป็นกรรมฐาน ถ้าเราปฏิบัติกองนี้กองเดียวจนจิตเป็นเอกัคตารมณ์ เรื่องการเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ มันก็เป็นของไม่ยาก มันจบแค่กองนี้กองเดียวเท่านั้น ถ้าเราเอาจริงๆ สำคัญจะลืมซิ พระวินัยฟังทุกวัน ธรรมะฟังทุกวันยังลืม ถ้าลองฟังทุกวันลืมละก็ตั้งใจไว้เลยว่าจะนรกขุมไหน อย่าไปนั่งนึกเลยว่าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือว่าเป็นพรหม เลือกไว้ให้ดีเชียวว่าจะเอานรกขุมไหนจะได้ตั้งใจไปให้มันตรง ไม่ต้องไปผ่านสำนักของพญายม ถ้าหูยังสัมผัสอยู่กับธรรมะเราก็ยังเลว หูสัมผัสกับพระวินัยเราก็ลืม นี่แสดงว่าเราลืมดี ถ้าไปไหนเราลืมสตางค์ก็กลายเป็นคนไม่มีสตางค์ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไปไหนก็มีแต่ความลำบาก มีธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นทรัพย์เป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐ การที่จิตออกจากร่างกายนำทรัพย์สินไปไม่ได้ นำอริยทรัพย์ไปได้ ถ้าหากว่าเวลาเรามีชีวิตอยู่เราลืมอริยทรัพย์ ตายมันก็ลืม ไม่มีโอกาสจะเอาไป การที่องค์สมเด็จพระจอมไตรสอนให้เราภาวนาหรือว่าพิจารณาเป็นปกติก็เพื่อให้จิตมันชิน จิตมันจะได้เกาะ จะมีอารมณ์เป็นฌาน คือทรงอารมณ์ไว้ไปไหนก็ตาม ข้อนี้ถ้าอารมณ์เป็นฌานนะ เห็นคนเห็นสัตว์เดินมา เห็นร่างกายของเรามันเป็นของสกปรกอยู่ตลอดเวลา มันมีความรังเกียจร่างกาย ร่างกายของเราเองมันก็แสนที่จะรังเกียจ แล้วร่างกายคนอื่นล่ะ ถ้าเรารังเกียจร่างกายของเราเอง แล้วไปรักร่างกายของคนอื่น ก็น่ากลัวจะสติไม่ดี คนสติสัมปชัญญะดีเขาไม่ทำแบบนั้น นี่ในเราพิจารณาร่างกายของเราเป็นของสกปรก แล้วก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นที่น่ารัก ถ้าเอาจิตของเราเข้าถึงฌานจริงๆมันจะเกิดความรังเกียจกายว่ามันสกปรกเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ นี่ทำอย่างไรมันรังเกียจเสียแล้วนี่ ก็ไม่อยากจะมีมันอีกร่างกาย คือขันธ์ห้า ความรังเกียจร่างกายปรากฏ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่านิพพิทาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณตัวที่ ๖ นี่ใกล้จะจบวิปัสสนาญาณอยู่แล้ว
 
เห็นร่างกายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตามีความสกปรกโสมมเป็นที่สุด จิตของเราจะมีความรู้สึกอย่างไรกับร่างกาย ร่างกายมันหิว ร่างกายมันร้อน ร่างกายมันหนาว จิตของเราจะมันก็ตั้งอยู่ในสังขารุเบกขาญาน ถือว่าอาการทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย มันจะประสบใจของเราไม่เดือดร้อน ถ้ามันร้อนเกินไปก็หาเครื่องเย็นให้มัน มันหิวก็หาอาหารให้มัน เพราะว่าเราต้องอาศัยมัน มันหนาวก็หาความอบอุ่นให้ แต่ก็ใจคิดไว้เสมอว่าร่างกายกับเรานี่มันสกปรก เราอาศัยมันอยู่เราก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ถ้ามันสลายตัวเมื่อไร เรากับมันก็เลิกกัน ขึ้นชื่อว่าร่างกายจะไม่มีกับเราต่อไปอีก จะมีกันได้อย่างไร ร่างกายมันสกปรกอย่างเดียวยังไม่พอ เต็มไปด้วยความทุกข์ สร้างความทุกข์ความยากให้เกิดขึ้น นี่เมื่อสังขารุเบกขาญาณเกิดขึ้นแล้ว เราไม่เมาในร่างกาย นึกว่าร่างกายไม่ดี มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มักสกปรกและเต็มไปด้วยความทุกข์ มันจะแก่ก็ใจสบาย เรารู้แล้วว่ามันจะแก่ อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ ถ้าป่วยไข้ไม่สบาย เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าธรรมดาของมันต้องป่วยไข้ไม่สบาย อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกขาญาณ การรักตัวเป็นการระงับเวทนาเป็นเรื่องธรรมดา แต่คิดไว้เสมอว่าถ้าจะพังเมื่อไรก็เชิญพัง พังเมื่อไรก็เลิกกันเมื่อนั้น ที่นี้เมื่อจิตใจเราทรงได้อย่างนี้แล้ว การกระทบกระทั่งกับอารมณ์ภายนอก การนินทา ความสรรเสริญ ความมีลาภ ได้ลาภ ความมียศ อะไรก็ตามที่บังเกิดขึ้นกับใจเรา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีอารมณ์ไม่หวั่นไหว เห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นอาการของร่างกายที่รงอยู่ในโลกมันต้องเป็นอย่างนั้น ให้เป็นปกติไม่เดือดร้อน อย่างนี้เรียกว่าสังขารุเบกชาญาณ ถึงเวลาที่มันจะตายเข้ามาจริงๆ เราก็ถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เกิดมาแล้วมันต้องตาย เราหนีความตายไม่ได้ ใจปกติ จะตายก็เชิญตาย เราพร้อมแล้ว กิจที่จะถึงทำเราทำครบถ้วนแล้ว ทางใดที่จะไปสวรรค์เราสร้างแล้ว ทางที่จะไปพรหมโลกเราสร้างแล้ว ทางใดที่จะไปพระนิพพานเราทำแล้ว เมื่อสิ่งทั้ง ๓ ประการครบถ้วน ความตายเป็นของปกติ ตายจากความเป็นมนุษย์ดีกว่า ไปเป็นเทวดาสบายกว่ามนุษย์มาก ถ้าเป็นพรหมก็สบายกว่าเทวดา ถ้าไปนิพพานสบายที่สุดไม่กลับถอยหลังลงมาอีก นี่อารมณ์ใจของเราที่มีเป็นปกติอยู่อย่างนี้ ก็ชื่อว่าจิตใจเราเข้าถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระชินสีห์แน่นอน องค์สมเด็จพระชินวรได้กล่าวว่าสิ่งที่ท่านจะต้องทำได้ทำแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอีก นั่นคือความเป็นพระอรหันต์
 
นี่กล่าวโดยย่อการเจริญพระกรรมฐานความมุ่งหายมีเท่านี้ แล้วก็ทำกันจริงๆแค่นี้มันก็เป็นพระอรหันต์ แต่ขอให้เรารักจริงๆเท่านั้น อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลอกชาวบ้าน อย่าเมาในความชั่ว คิดว่าเป็นของดี จงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สตินึกไว้สัมปชัญญะรู้ตัว สิ่งใดที่ควรไม่ควรมันต้องรู้ ไม่ใช่จะไปนึกว่าควรไม่ควรตามอัธยาศัย พระวินัยมีอยู่ ศีลมีอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ศึกษาคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครูให้ครบถ้วน แล้วปฏิบัติตามนั้นให้มันตรงตามจุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอน คำว่าดีมันจึงจะปรากฏ ถ้าจิตใจของเรามันยังไม่เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือไม่ยึดถือเป็นกำลัง ไม่ค้นคว้า ไม่สนใจ แล้วปฏิบัติตามอัธยาศัย สิ่งที่ไม่ควรว่าควรสิ่งที่ควรคิดว่าไม่ควร ไปคว้าอารมณ์ผิดเข้ามาปฏิบัติ แทนที่จะมีผลตามที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดีโสภาคย์ทรงแนะนำ ว่าเราจะไปสวรรค์ พรหมโลก หรือว่านิพพาน ก็ไม่ต้องไปกันแล้ว กลับไปเหลียวหลังตั้งต้นจากนรกขึ้นมาใหม่ เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระจอมไตรจริงๆ ถ้าเราไม่หลอกลวงชาวบ้านเขา ทั้งบรรดาภิกษุสามเณรและพุทธบริษัททั้งชายและหญิง เรื่องการเป็นอริยเจ้านี่มันเป็นของไม่ยาก ที่ยากก็เพราะมันเลวเกินไป ถ้าเราไม่ชอบเลวเสียอย่าง ถ้าเราชอบดีมันก็ได้ดีมา นี่จิตใจของเราบางทีปากก็พูดอยากจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อารมณ์ของความดีเราไม่บูชาเราบูชาความเลว แล้วมันจะเอาดีมาจากไหน
 
ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.124 Chrome 43.0.2357.124


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2558 15:20:00 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๔ มรณัสสติ

สำหรับวันนี้จะขอพูดถึงเรื่องสมถะและวิปัสสนาควบกัน เพราะว่าสมถะและวิปัสสนานี้ถ้าเราจะปฏิบัติให้ได้ผลจริงๆก็ต้องควบกันอยู่เสมอๆ เมื่อวานนี้เราพูดกันถึงกายคตาสติ และอสุภกรรมฐานบวกกับวิปัสสนาญาณ คำว่ามรณัสสติกรรมฐานคือการนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญกองหนึ่ง คือบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ดี ไม่ยอมละ แม้แต่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตามก็ไม่ทรงยอมละกรรมฐานกองนี้เหมือนกัน
 
เราจะเห็นได้ว่าการที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกพระอานนท์เข้ามาหาแล้วองค์สมเด็จพระศาสดาทรงถามว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทรงตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ ยังห่างมากนัก ความจริงท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านนึกถึงความตายวันละประมาณ ๗ ครั้ง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกว่าห่างมากเกินไป ตถาคตนี่นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายนี่เป็นสมถภาวนา ถ้าใครเขาว่าสมถภาวนาไม่มีความสำคัญ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการบรรลุมรรคผล ก็อย่าไปเชื่อเขา เพราะสมถภาวนาถ้าไม่ดีจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสอนให้เราปฏิบัติ และพระพุทธเจ้าก็จะไม่ยึดสมถภาวนาไว้เป็นอารมณ์ ทั้งที่พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว นี่จงอย่าลืมว่าพระอรหันต์ทุกท่าน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ใช้กรรมฐาน ๔๐ กอง ควบกับวิปัสสนาญาณเพื่อความอยู่เป็นสุข ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วเลิกกัน อย่างนั้นเข้าใจผิด พระอรหันต์นี่เขากลับขยันกว่าเราทั้งหมด เพราะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คำว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็หมายถึงว่าการเห็นสภาวะตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า ท่านเห็นเป็นปกติ ท่านไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมละ เพราะการทรงขันธ์ห้าเป็นอาการของความทุกข์ ถ้าเราละสมถะภาวนาทั้ง ๒ประการเสียแล้ว อารมณ์มันปล่อย มันไม่ยอมรับความเป็นจริง อาการความทุกข์มันเกิด ถ้าอารมณ์จิตของเราทรงสติสัมปชัญญะเป็นปกติ นึกถึงสมถภาวนาเป็นอารมณ์จิตใจมันก็สบาย ปล่อย ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา

นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์เป็นของดีเพราะเราจะได้ไม่ประมาท และจงอย่าคิดว่าอายุของเรายังน้อย ยังไม่ตาย คิดอย่างนี้ก็ผิด การคิดถึงความตายต้องคิดอยู่ทุกขณะจิตว่าเราจะตายเมื่อไรก็ได้ ทีนี้ก่อนที่เราจะนึกว่าเราจะตาย เราก็ต้องหาทางไปให้มันเหมาะสม เวลานี้ การเกิดมาเวลานี้นับว่าเป็นโชคดีมาก พระศาสนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีความสมบูรณ์บริบูรณ์ดีอยู่ เว้นไว้แต่เพียงว่าเราจะไม่ยอมรับนับถือคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู กลายเป็นแกะดำในพระพุทธศาสนา นั่นแหละความทุกข์มันจะเข้ามาถึงใจ
 
เมื่อเรารู้ว่าเราจะตาย เราก็ตั้งใจไว้ มันเป็นของไม่ยาก ถ้าเราไม่อยากไปอบายภูมิเราก็รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ อันนี้ถ้าเรารักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์แล้ว เราก็ไม่ไปอบายภูมิ เรามีการเกิดเป็นมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราอยากจะเกิดเป็นเทวดาก็ทรงหิริโอตตัปปะ หิริแปลว่าความละอาย ละอายต่อความชั่ว โอตตัปปะเกรงกลังผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์ นี่คนที่นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ต้องหาทางเลือกแบบนี้ อาการที่เราจะเลือกก็เลือกอยู่ทุกวัน หิริ ความละอายต่อความชั่ว ขึ้นชื่อว่าความชั่วคนอย่างเราไม่ทำ โอตตัปปะความเกรงต่อความชั่วจะให้ผลเป็นความทุกข์ เราก็ไม่ทำ เพราะกลัวเสียแล้ว จะทำได้อย่างไร ความชั่วมี ๒ ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายวินัย คือ ศีล และฝ่ายธรรมะ ธรรมะส่วนใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงกล่าวว่าเป็นอธรรม เป็นธรรมที่ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ ตัวอย่างเช่น นิวรณ์ห้าประการ ถ้าเราไปพบนิวรณ์ห้าประการเข้าถึงแม้ว่าเราไม่ขาดศีล เราก็ไปอบายภูมิได้ เพราะจิตมันมัวหมอง นี่การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์มันดีอย่างนี้
 
ถ้าเราต้องการเป็นพรหมก็ทรงสมาธิจิตให้เข้าถึงอารมณ์ฌาน ถ้าทรงฌานไว้ตลอดเวลา ทีนี้ถ้าหากว่าเราคิดว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ กล่าวคือไม่สามารถจะทรงความสุขได้ตลอดกาลตลอดสมัย มันสุขชั่วขณะแล้วก็กลับมาแสวงหาทุกข์ใหม่ในเมื่อหมดบุญวาสนาบารมี เราไม่เอา เราก็ตั้งใจไปพระนิพพาน
 
การที่จะตั้งใจไปพระนิพพานก็ตั้งใจเอามรณานุสสติกรรมฐานเป็นเครื่องนำทาง การนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ นึกถึงตัวเราจะต้องตาย ถ้าเราหวังจะอาศัยใครเขาเป็นที่พึ่งเราก็ต้องนึกว่าที่พึ่งของเราคนนั้น ไม่ช้าท่านก็ต้องตายเหมือนกัน ถ้าเราหวังจะเอาวัตถุใดเป็นที่พึ่งก็จงรู้ว่า วัตถุส่วนนั้นก็สลายเช่นกัน ไม่มีอะไรทรงตัว นี่การที่เราจะเข้าถึงที่พึ่งได้จริงๆ ก็ต้องเข้าถึงตัวเองเป็นสำคัญ การที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า อัตตาหิ อัตตโนนาโถ โต หิ นาโถ ปโรสิยา อัตตาหิ สุทันเตนะ นาถัง ลภติ ทุลภัง แปลเป็นใจความว่า ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่นใดใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อเราฝึกฝนตนเองดีแล้วเราจะได้ที่พึ่ง อันบุคคลอื่นจะได้โดยยาก

นี่เป็นพุทธภาษิตที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน คำนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะละพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และความดีทั้งหมด เราจะเข้าถึงความดีได้ก็เพราะอาศัยการฝึกฝนตนเอง คือ จิต คำว่าตนในที่นี้ได้แก่จิต ไม่ใช่ร่างกาย คือเอาจิตของเราเข้าไปเกาะความดีเข้าไว้ ธรรมส่วนใดที่สามารถจะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้เราทำส่วนนั้น ธรรมที่มีความสำคัญที่เราเห็นได้ง่าย คือตัดรากเหง้าของกิเลส ได้แก่
 
โลภะ ความโลภ เราตัดด้วยการให้ทาน ทำจิตอยู่เสมอว่า เราจะให้ทานเพื่อทำลายโลภะ ความโลภ แล้วความโลภจะได้ไม่เกาะใจ
 
ทีนี้อีกประการหนึ่งรากเหง้าของกิเลส ได้แก่ความโกรธ เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหารสี่ เป็นปกติ เพื่อเป็นการหักล้างความโกรธ เมื่อจิตเราทรงพรหมวิหารสี่ ความโกรธความพยาบาทมันก็ไม่มี
 
ประการที่ ๓ โมหะ ความหลง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เป็นรากเหง้าใหญ่ เป็นตัวบัญชาการให้เกิดความรัก ความโลภ ความโกรธ ถ้าหลงไม่มีเสียอย่างเดียว ถ้าเราตัดความหลงได้เสียอย่างเดียวละก็ เราตัดได้หมด ทีนี้การตัดตัวหลงเป็นอย่างไร ตัดตรงมรณานุสสติกรรมฐาน ก็คิดเสียว่าคนเราและสัตว์ทั้งหมดเกิดมาแล้วก็มีความตายเป็นที่สุด วัตถุต่างๆที่เป็นสมบัติของโลก มันมีการเกิด มีการก่อตัวเป็นเบื้องต้น และก็สลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน พัง วัตถุเรียกว่า พัง คนและสัตว์เรียกว่าตาย นี่เป็นอันว่าความแน่นอนของชีวิตที่ทรงอยู่มันไม่มี หาความแน่นอนอะไรไม่ได้ มันมีความสลายตัวไปในที่สุด เราก็มาหวนกลับจับเอาวิปัสสนาญาณ จะแลเห็นว่ามันเกิด มันตายน่ะเป็นสมถะ ถ้าหันมาจับตัวตายนี่ก็เป็นสักกายทิฏฐิเป็นวิปัสสนาญาณไปว่าทำไมมันถึงต้องตาย ร่างกายนี่มันเป็นของเราหรือเปล่า ถ้าร่างกายเป็นเราเป็นของเราจริงมันจะตายได้อย่างไร เราคือจิต คิดอยู่เสมอว่าเราประคบประหงมร่างกายของเราให้เป็นปกติ สร้างสรรค์ความเจริญขึ้นให้เกิดกับร่างกาย อาหารประเภทไหนที่เขากล่าวว่ามีประโยชน์ เราพยายามหามากินถึงว่ามันจะแพงมันจะเหนื่อยมันจะยากอย่างไรก็ตาม ก็หามาบำรุงบำเรอร่างกายให้มันทรงตัว แต่แล้วในที่สุดร่างกายของเรามันทรงตัวหรือเปล่า มันหาความทรงตัวไม่ได้ มันเดินเข้าไปหาความตายทุกวัน ทรุดโทรมไปตลอดเวลา ทุกวันเวลาเรากินอาหารเข้าไป ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราไม่ต้องการให้มันหิว กินแล้วให้มันอิ่มตลอดกาลมันก็ไม่ยอม เราไม่ต้องการให้มันแก่มันก็จะแก่ เราไม่ต้องการให้มันป่วยมันก็จะป่วย เราไม่ต้องการให้มันตายเราก็จะตาย นี่เราไม่ต้องการให้มันทุกข์ แต่เราห้ามไม่ได้ ห้ามแก่ไม่ได้ ห้ามป่วยไม่ได้ ห้ามทรุดโทรมไม่ได้ ห้ามตายไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าป้องกันความทุกข์ไม่ให้เกิดแก่มัน หมอชั้นดีที่ไหนมีอยู่ นักวิชาการที่ไหนปรากฏอยู่ เข้าไปพยายามทำทุกอย่างให้ร่างกายมันมีความสุข เราหาความสุขจากร่างกายได้หรือเปล่า มันก็เปล่า ร่างกายมันมีแต่ความทุกข์ทุกลมหายใจเข้าออก
 
ในเมื่อมีร่างกายอยู่ ทุกข์จากความหิวมันก็เกิด ทุกข์จากความหนาวความร้อนมันก็เกิด ทุกข์จากความปวดอุจจาระปัสสาวะมันก็เกิด ทุกข์เพราะความไม่สบายกายไม่สบายใจ ไม่สบายกายได้แก่โรคภัยไข้เจ็บรบกวนมันก็เกิด ทุกข์จากความไม่สบายใจได้แก่ ความปรารถนาไม่สมหวัง กระทบกับอารมณ์ที่เราไม่ต้องการมันก็เกิด เป็นอันว่าตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราหาความดีจากร่างกายไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา โรคที่ประจำกายอย่างยิ่งนั้น ก็คือ โรคหิว หิวในอาหารมันก็หิว มันก็สร้างความทุกข์ให้เกิดแต่ความหิวในอาหาร เราไม่มีโอกาสบริโภคอาหารได้ ความทุรนทุรายมันก็เกิด อาการเสียดแทงทางร่างกายมันก็เกิด เสียดแทงจิตใจ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร มันก็เป็นความทุกข์ หิวมันก็ไม่ใช่หิวแค่อาหาร หิวอยากจะได้อย่างโน้น หิวอยากจะได้อย่างนี้ มันหิวทางใจ ความปรารถนาทางใจมันเกิดขึ้นมา และความต้องการความปรารถนามันเกิดขึ้นมันก็มีความทุกข์อีก ถ้าความปรารถนาไม่สมหวัง คือว่าความปรารถนาจะสมหวังได้ก็ต้องตั้งใจตะเกียกตะกายประกอบกิจการงาน รวบรวมทรัพย์เพื่อจะได้ของสิ่งนั้นมาเป็นสมบัติของเรา นี่ก็เป็นภัยใหญ่ คือความเหน็ดเหนื่อยของร่างกาย เป็นการทรมานร่างกาย แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนาได้มาสมหวังแล้ว ถ้าตายเราเอาไปได้หรือเปล่า มันก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรเอาไปได้เลย
 
เป็นอันว่าร่างกายนี้ไม่มีประโยชน์ การเกิดมามีร่างกายมีแต่โทษ มีแต่ความทุกข์มีแต่ความเดือดร้อน มันหาประโยชน์อะไรไม่ได้ นี่เราจะมานั่งเมาร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร ทีนี้เรามาตัดตัวหลงกัน ในเมื่อเรามาหลงตัวเป็นสำคัญ ที่เราต้องมีความเหน็ดเหนื่อยด้วยประการทั้งปวงก็เพราะเราหลงตัวเรา การทำทุกอย่าง แสวงหาของทุกอย่างก็เพื่อประโยชน์แก่ร่างกายอย่างเดียว สำหรับจิตใจเป็นแต่แค่ความปรารถนาเท่านั้น ถ้าหากว่าตายไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าการหากิน การแสวงทรัพย์ถือว่าเป็นหน้าที่ของการทรงอยู่ แต่ว่าทำใจของเราปลดไปเสีย อย่าไปเมาในทรัพย์สิน ที่คิดว่าจะอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัยทำใจให้สบาย เหมือนกับในสมัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังอยู่ มีพระองค์หนึ่งท่านเคยเป็นพระราชามาก่อน ท่านจำพรรษาอยู่ในป่าซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านเมืองนัก วันหนึ่งเขามีงานนักขัตฤกษ์ประจำปี เห็นโคมไฟสว่างไสวทั้งเมือง เรียกว่ามีความสวยสดตระการตาอย่างยิ่งในเวลาราตรี แสงไฟทำให้สว่างทำให้สวย ตัวท่านเองยืนอยู่ในป่า นั่งอยู่ในป่าอยู่ผู้เดียว มองไปดูแสงไฟก็มานั่งนึกอยู่ในใจ อจิรัง วต ยัง กาโย ปฐวิง อธิเสสะติ ฉุฑโฑ อเปตวิญญาโณ นิรัตถังวะ กลิงครัง แปลเป็นใจความโดยย่อว่า ตัวเรานี้เวลานี้มีอุปมาเหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งอยู่ในป่า ย่อมไม่มีใครมีความสนใจ ร่างกายของเรานี่หาสาระประโยชน์อะไรไม่ได้ เวลานี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ที่เคลื่อนที่ได้ ในไม่ช้าความดับจะเข้ามาถึง นี่ท่านคิดเพียงเท่านี้ พออารมณ์จับเข้าจริงๆ ท่านก็ได้สำเร็จอรหัตผล ที่การจะนึกว่าร่างกายมันไม่ดี เราไม่ยึดถือร่างกายเป็นสรณะ แต่ว่าการบริหารร่างกายก็มีความจำเป็น ในเมื่อมันยังไม่ตาย ถ้าเราไม่บริหารร่างกาย ไม่หาอาหารให้กิน ไม่ประคบประหงมมัน ทุกขเวทนามันก็บีบคั้นหนัก ในการที่เราจะหาอาหารให้มันกิน หาเครื่องนุ่งห่ม หายารักษาโรคให้ หาเครื่องทำความเย็นความร้อนให้ ก็คิดว่าเราหามาเพื่อทุกขเวทนาชั่วขณะเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะหามาให้ทรงกายตลอดกาลตลอดสมัย และก็จำไว้เสมอว่าร่างกายมันจะต้องตาย ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายไม่ใช่แดนแห่งความสุข เป็นปัจจัยสร้างความทุกข์ให้เกิด เราเกิดชาติใดก็ดีต่อไป ในชาติต่อๆไป ชาตินี้มีภาระเป็นอย่างไรชาติต่อไปก็มีภาระเป็นอย่างนั้น คือ มันจะเต็มไปด้วยความทุกข์ เราก็ไม่ต้องการขันธ์ห้า และตั้งจิตใจไว้ว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าคือร่างกายจะไม่มีสำหรับเรา เราไม่ต้องการการเกิดที่มีร่างกายต่อไป สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน
 
แต่เราคิดเฉยๆ มันก็นิพพานไม่ได้ ก็ต้องหันเข้ามา
 
ตัดความรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ด้วยอำนาจอสุภสัญญา ก็เรียนกันมาแล้ว
 
มาตัดการโลภด้วยการให้ทาน สักกายทิฏฐิ คือ ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกายร่างกายไม่มีในเรา
 
เดินไปเดินมาคิดอยู่เสมอว่าร่างกายมันจะพังเมื่อไรก็ได้ ร่างกายเต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความโสโครก คือความสกปรกโสมม มันเป็นดินแดนนำมาซึ่งความทุกข์ ร่างกาย คือ โรคนิทธัง มันเป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันต้องมีความเปื่อยเน่าเป็นธรรมดา เราไม่ต้องการมันอีก ชาตินี้ถือเป็นชาติสุดท้ายสำหรับเรา เราไม่ต้องการร่างกายอีก การเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ หมดเพียงแค่นี้เท่านั้น แล้วจงพยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีสติสัมปชัญญะควบคุมไว้ เรื่องของศีล เรื่องของทาน เรื่องของการเจริญภาวนา ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้ามีจิตแบบนี้เป็นเอกัคตารมณ์ คืออารมณ์อันเดียว หมายความว่าเห็นว่าร่างกายเป็นแดนแห่งความทุกข์ ร่างกายเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา มันจะสลายตัวไปในที่สุด เราไม่ต้องการร่างกายอีก ทรงสติสัมปชัญญะให้ดี ทรงอสุภสัญญาเป็นปกติ มีจาคะ จาคานุสสติกรรมฐาน จิตใจต้องการให้ทานเป็นปกติ มีศีลานุสสติกรรมฐาน มีการทรงศีลเป็นปกติ มีพรหมวิหารสี่เป็นปกติ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะพังเมื่อไรก็ช่างมัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาเป็นปกติ อย่างนี้เราก็เข้าอริยมรรค อริยผลได้โดยไม่ยากนัก ธรรมะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามีความสำคัญอยู่เพียงเท่านี้ ในการเข้าถึงอริยมรรคอริยผล ไม่ใช่จะมาศึกษากัน ฟังแล้วก็ลืม ฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดตลอดกาลตลอดสมัย ทำใจให้สบาย ไม่มีอารมณ์หวั่นไหวเมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนา เพียงเท่านี้จิตใจของทุกท่านโดยถ้วนหน้าก็จะเข้าถึงความสุข คือ อริยมรรค อริยผล ตามที่ตนพึงปรารถนา
 
ต่อจากนี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เมื่อจิตสบายแล้วก็พิจารณาตามที่กล่าวมาแล้ว จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.124 Chrome 43.0.2357.124


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2558 11:05:35 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๕ อาณาปานสติ

วันนี้จะขอพูดเรื่องอานาปานสติกรรมฐานต่อ อานาปานสติกรรมฐานเป็นสมถภาวนา ได้แก่การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อานาปานสติกรรมฐานนี่เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นกรรมฐานที่มีกำลังใหญ่อย่างยิ่ง เพราะกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ยกอานาปานฯ เสียกองหนึ่งเหลือ ๓๙ กองย่อมขึ้นอยู่กับอานาปานสติกรรมฐาน เพราะว่าการบำเพ็ญพระกรรมฐานให้เป็นสมาธิกองใดกองหนึ่งก็ตาม ต้องขึ้นอานาปานสติกรรมฐานก่อนเสมอไป คืออันดับแรกให้จับลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ หายใจเข้ายาวหรือสั้นออกยาวหรือสั้น นี่เป็นแบบฉบับตามในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน ได้ผล สามารถจะทรงฌานได้เหมือนกัน มีผลมาก
 
ตามอีกนัยหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเทศน์ไว้ในกรรมฐาน ๔๐ ท่านพิจารณาไว้อีกอย่างหนึ่งว่า เวลาหายใจเข้าให้จับลมหายใจเข้าว่ามันจะกระทบจมูก แล้วกระทบที่หน้าอก แล้วกระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก แล้วก็กระทบที่หน้าอกหรือว่าริมฝีปาก ถ้าเป็นคนริมฝีปากงุ้มจะรู้สึกกระทบที่จมูก ถ้าเป็นคนริมฝีปากเชิดมันก็จะกระทบที่ริมฝีปาก
 
สำหรับในกรรมฐานที่ ๔๐ ให้รู้อารมณ์กระทบ หากว่าท่านทั้งหลายจะสงสัยถามว่า เฉพาะอานาปานสติกรรมฐานทำไมพระพุทธเจ้าตรัสคนละแบบ ความจริงก็แบบเดียวกันแต่ใช้อาการสังเกตต่างกัน ในมหาสติปัฏฐานนั้นให้สังเกตลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก ในกรรมฐาน ๔๐ ให้สังเกตอารมณ์กระทบของจิต อารมณ์กระทบสัมผัสทางกาย คือกระทบจมูก หน้าอก และที่ศูนย์เหนือสะดือ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตรนี่พระพุทธเจ้าเทศน์เฉพาะชาวแคว้นกุรุเท่านั้น เป็นกรรมฐานละเอียด เพราะว่าชาวแคว้นกุรุนี่มีอารมณ์จิตละเอียดมาก ถ้าหากว่าจะไปแคว้นนั้นเมื่อไรก็ตาม พระพุทธเจ้าจะเทศน์เฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่เทศน์เรื่องอื่น อาการอย่างนั้นนะพระพุทธเจ้าเทศน์ในสายอื่น จริยาอาการของคนฟังที่มีความเข้าใจย่อมไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกุรุรัฐเป็นปกติของเขา นับตั้งแต่ก่อนที่จะพบพระพุทธเจ้า เขาก็เจริญมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นปกติ ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า แม้แต่นกที่เขาเลี้ยงไว้อย่างนกแขกเต้านางภิกษุณีเลี้ยงไว้ คำว่านางภิกษุณีนี่ ก็ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว แต่ว่าจริยาของชาวกุรุรัฐทั้งหมด เขาเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสี่มาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอน ในเมื่อแคว้นนั้นเขาปฏิบัติอย่างนั้นเป็นปกติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองผล จึงเข้าไป แล้วอธิบายให้มันสูงไปกว่านั้น ให้เขาเข้าใจว่านอกจากจะทรงสติสัมปชัญญะแล้ว ก็ยังมีวิปัสสนาญาณ อันนี้พระพุทธเจ้าต่อท้ายด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ มีอริยสัจ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
 
นี่คนแดนนี้เป็นคนที่มีจิตละเอียด ท่านบอกว่าแม้แต่นกแขกเต้าซึ่งนางภิกษุณีเลี้ยงไว้ เมื่อถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปในอุ้งเล็บ นางสามเณรีเห็นเข้าก็ส่งเสียงดังให้เหยี่ยวตกใจ เหยี่ยวตกใจคลายกรงเล็บนกแขกเต้าตกลงมา สามเณรีถามนกว่าขณะที่เหยี่ยวเฉี่ยวเจ้าไปอยู่ในอุ้งเล็บ เจ้ามีความรู้สึกอย่างไร นกแขกเต้าบอกว่า เวลานั้นมีความรู้สึกเหมือนว่า ร่างกระดูกกำลังนำร่างกระดูกจะไปกิน นี่แสดงว่านกแขกเต้าตัวนั้นสนใจในอัฏฐิกังปฏิกุลัง ในกรรมฐาน ๔๐ หรือว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรที่เรียกว่าสนใจในนวสี ๙ และก็อสุภสัญญา มหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าจึงเทศน์เฉพาะแคว้นนี้ ในด้านกรรมฐาน ๔๐ เทศน์ในวงการภายนอกเพราะอารมณ์ไม่เสมอกัน
 
การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้ เป็นอาการที่ละเอียด เราต้องสนใจมาก ถ้าเราเผลอนิดเดียวก็จะรู้สึกว่าเราเผลอไป ว่าเราไม่รู้ว่าลมหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่เป็นการบังคับจิตให้ทรงสติสัมปชัญญะให้ดีขึ้น การเจริญสมถภาวนานี่ต้องการสติสัมปชัญญะเป็นสำคัญ ขณะใดที่รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ สมาธิในอานาปานสติกรรมฐาน แล้วก็เป็นกรรมฐานกำจัดโมหจริต คือวิตกจริต เรียกว่ากำจัดความโง่ของจิต ป้องกันอารมณ์ฟุ้งซ่าน คืออุทธัจจะกุกกุจจะในนิวรณ์ห้าประการ ใครที่อารมณ์ฟุ้งซ่านไม่ทรงตัวละก็ ถ้าใช้อานาปานสติกรรมฐานเป็นปกติจิตจะทรงสมาธิเอง
 
การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนี้ก็ต้องสังเกตไว้ เวลาหายใจเข้าหายใจออก ถ้าเราจะภาวนาด้วยก็ใช้คำภาวนาพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกพุธ หายใจออกนึกว่าโธ สำหรับพุทโธเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน เวลาหายใจจงอย่าหายใจให้แรงกว่าปกติหรือเบากว่าปกติ ปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ ให้จิตกำหนดรู้เอง ไม่ใช่ว่าเวลากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกบางทีมันจะไม่รู้สึกเลยหายใจแรงๆ แบบนี้ใช้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นปกติแล้วก็รู้ตัวอยู่
 
อานาปานสติกรรมฐานจะเข้าฌานได้ง่าย จะสังเกตได้ในฌานสูงสุด คือว่าเวลาจับลมหายใจเข้าออก จะมีคำภาวนาด้วยหรือไม่ก็ช่าง ใช้ได้ เมื่อถึงฌานสี่แล้วจะรู้สึกว่าเรามีสภาวะเหมือนไม่หายใจ ไม่รู้ลมหายใจมีหรือไม่ แต่จิตใจสบาย มีความโปร่งมีความสว่างไสวภายในจิต มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบ มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่รับสัมผัสภายนอก ยุงจะกินริ้นจะกัด ไอ้นี่ความจริงยุงไม่กิน นักเจริญฌานนี่จะไปนั่งที่ไหนก็ตาม ถ้าจิตเข้าถึงระดับฌานแล้วยุงไม่กิน ยุงกินริ้นกัดท่านว่าอย่างงั้นไม่รู้สึก แต่ว่าสิ่งที่สังเกตได้คือเสียง เสียงจะดังขนาดไหนก็ตามถ้าจิตตกอยู่ในฌานสี่ละก็เราไม่ได้ยินเสียงนั้น อย่างนี้เป็นอาการของฌานสี่
 
การเจริญพระกรรมฐานก็ยังไม่แน่นัก การเข้าถึงฌานย่อมเป็นไปได้ แต่การทรงฌานอาจจะยากสักหน่อย เพราะการทรงฌานหมายถึงว่า เราตั้งเวลาไว้ตั้งแต่เวลานี้ ถึงเวลานี้เราจะเข้าฌานสี่ หรือจะออกเวลานั้น แล้วมันก็ออกตรงตามจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน สำรหรับอานาปานสตินี่ก็บอกแล้วว่าเป็นกรรมฐานที่ทรงฌานได้ง่าย เป็นกรรมฐานที่ระงับฟุ้งซ่านของจิต เป็นกรรมฐานที่ระงับวิตกคือ โมหะ คือระงับความโง่ เพราะฉะนั้นก็เหลือแต่ความฉลาด ความโง่มันก็หายไป เมื่อความฉลาดเกิดขึ้น สมาธิเกิดขึ้น ในระหว่างนั้นอารมณ์มันก็จะมีความรู้สึกต่อไปอีก พอจิตทรงฌานไว้เต็มที่แล้ว ถ้ามันคลายตัวนิดหน่อย ปัญญามันก็จะเกิดเมื่อนั่งนึกดูว่า คนเรานี้มีชีวิตอยู่แค่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเอง ถ้าลมปราณนี้สิ้นไปแล้วเมื่อไร ขณะนั้นก็เรียกกันว่าตาย อาการตายของคนที่เป็นการตายตามปกติ
 
ความจริงถ้าเข้าถึงจริงๆ แล้วปัญญามันดีกว่านี้มากนะ ไอ้ที่พูดนี้ก็เพื่อจะเทียบเข้าไปหาของจริงๆ ตามความรู้สึกของอารมณ์จิตันไม่ถึงหรอก ๑๐ เปอร์เซ็นต์มันก็ไม่ได้แต่พูดกันเป็นแนวแล้วมันก็จะเห็นชัดถึงร่างกายว่า ร่างกายนี้มันเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม เต็มไปด้วยอาการของความทุกข์ จะทุกข์จากความหิว ความกระหาย การป่วยไข้ไม่สบาย การปวดอุจจาระปัสสาวะ ทุกข์จากการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น มันมองเห็นทุกข์ชัด ปัญญามันเกิดเอง นี่เขาเรียกว่าปัญญามันเกิดด้วยอำนาจของสมาธิ อย่างที่พระท่านบอกศักราช ท่านบอกต้องทำศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเกิดสมาธิ เมื่อสมาธิตั้งมั่นแล้ว ปัญญาก็จะเกิด ในที่สุดจะถึงซึ่งพระนิพพาน ทำอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้น สำหรับอานาปานสติก็เหมือนกัน ถ้าทำใจสบาย จิตเข้าถึงฌานสี่ หรือฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสามก็ตาม เวลาที่จิตสงัดปัญญามันจะเกิดเอง มันจะบอกชัด มันจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายขึ้นมาเอง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีการทรงตัว เพราะอะไร เพราะเมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความแก่ ความป่วย ความตาย แต่ว่าในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ เราจะบริหารร่างกายสักเพียงใดก็ดี ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา เป็นอันว่าทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ห้า คือร่างกายเสีย นี่ตัวปัญญามันจะเห็น เมื่อเบื่อหน่ายในร่างกายแล้วก็คิดต่อไปถึงโมกขธรรม ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว ขึ้นชื่อว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจมันก็ไม่มี นี่อาการอย่างนี้ที่มันจะมีขึ้นมาได้ก็อาศัยความเกิดเป็นปัจจัย
 
อานาปานสติกรรมฐานนี่สร้างจิตให้เกิดปัญญา มันก็จะสอนต่อไปว่า ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการการเกิดต่อไปแล้ว ก็ตัดรากเหง้าของกิเลสทั้ง ๓ ประการทิ้งเสียให้หมดคือตัดอำนาจของความโลภ ด้วยการให้ทาน ตัดรากเหง้าของกิเลสคือความโกรธ ด้วยการเจริญเมตตาบารมี แล้วก็ตัดรากเหง้าที่ ๓ ความหลงด้วยการพิจารณาหาความจริงของขันธ์ห้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราก็มาตัดกันตัวเดียว ตัดตรงพิจารณาหาความจริงของขันธ์ห้าคือร่างกายที่เรียกกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญามันจะเห็นชัดว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุสี่ ไม่มีการทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเต็มไปด้วยความสกปรก อย่างนี้เขาเรียกว่าสมถะคละวิปัสสนาญาณ มันไปด้วยกันเสมอ ถ้าไปกันอย่างเดียวเฉพาะสมถะ ไม่ช้าก็พัง ถ้าวิปัสสนาญาณมันเดินคู่ไปด้วยละก็มันไม่พัง มันมีแต่ก้าวไป
 
ร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุสี่ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันโทรมตลอดเวลา มันทุกข์ตลอดเวลา อาการเห็นว่าโทรมตลอดเวลา ทุกข์ตลอดเวลา นี่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าหากว่าเราจะทรงร่างกายอยู่แบบนี้ ต้องการแบบนี้ต่อไปในชาติหน้ามันก็จะมีแต่ความทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราจะตัดความทุกข์เสียได้ก็ต้องตัดโลภะ โทสะ โมหะ โลภะโทสะโมหะนี่ถ้าตัดจริงๆ ด้วยกำลังใจละก็ เขามาตัดกันที่กายนี่เอง มาพิจารณาหาความจริงว่าร่างกายนี่มันเป็นเราหรือมันไม่ใช่ของเรา นี่มันจะบอกชัด ปัญญามันดีกว่านี้มาก มันมีความหลักแหลมมาก ถ้ามันได้ถึงจริงๆ มันจะเห็นชัดว่าร่างกายนี้ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสารเป็นของน่าเบื่อ เต็มไปด้วยของสกปรกโสโครก เต็มไปด้วยอาการไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราก็ไปคิดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา แต่ความจริงไม่ใช่ ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นบ้านเช่าอาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าเราก็ต้องจากมันไปเพราะมันพัง ถ้าพังแล้ว ถ้าต้องการความเกิดอีกมันจะไหวไหม มันก็ไม่ไหว มันก็เป็นทุกข์แบบนี้ ถ้าเราไม่ต้องการจะเกิดอีก เราจะทำยังไง เราก็ใช้หลักการตามอำนาจของจิตให้จิตของเราบอกเองเป็นระยะไปว่าเราปล่อยร่างกายเสีย เราไม่ต้องการความเกิดต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิด จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี จะเป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องการก็คือพระนิพพาน นี่จิตมันจะเกิดมีความใสสะอาดด้วยอำนาจของฌาน มันจะคิดไปในทำนองนี้ แต่มันดีกว่านี้มาก มันชัดมาก
 
ต่อแต่นั้นไป เมื่ออาศัยความคลายความพอใจในร่างกายเสียแล้ว อำนาจความรักในเพศก็ดี ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี มันก็คลายตัว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่มันปรากฎแก่จิตก็เพราะว่าจิตไปมั่วสุมอยู่กับกิเลส คือหลงในกายของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อหลงในร่างกายของตัวว่ามันจะคงอยู่ มันเป็นของดี ก็เห็นว่าร่างกายของบุคคลอื่น วัตถุอื่นดีไปด้วย และความโง่เข้าสิงใจ คิดว่าร่างกายของเราและร่างกายของเขา ร่างของวัตถุใดจะไม่สลายตัว อาศัยอานาปานสติทำลายความโง่ คือโมหจริตหรือวิตกจริตทั้งสองประการ แล้วขับไล่ความฟุ้งซ่านของจิต จิตจึงเป็นสมาธิได้เร็ว ปัญญาเกิดได้ง่าย เป็นอันว่าคำสั่งสอนอันใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เพื่อพระนิพพาน ถ้าเราเจริญอานาปานสติกรรมฐานไว้เป็นปกติ จิตของเราก็จะมีความผ่องใส จะสามารถตัดสังโยชน์ คือเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ภายในไม่ช้า
 
เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายจงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้อานาปานสติเป็นพื้นฐาน แล้วก็ใช้คำภาวนาและคำพิจารณาไปด้วย ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.130 Chrome 43.0.2357.130


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2558 16:17:15 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๖ สัมมาสมาธิ, พุทธานุสสติ

ต่อไปนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ คำว่าสมาธิ คือ รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในจิตที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่าสัมมาสมาธิ สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ ประการด้วยกันคือ สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง สมาธิถ้าพูดกันตามภาษาไทยก็เรียกว่าการตั้งใจไว้หรือว่าการทรงอารมณ์ไว้ ตั้งใจไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิ ถ้าหากว่าเราคิดในสิ่งที่ชั่วเป็นการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่นให้ได้รับความลำบากอย่างนี้เรียกว่ามิจฉาสมาธิ คิดให้จิตของเรามีความสุขเป็นไปในทำนองคลองธรรมอย่างนี้ เรียกว่าสัมมาสมาธิ อารมณ์จะตั้งอยู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าทรงอยู่ในอารมณ์นั้นจะน้อยหรือใช้เวลาได้มาก็ตามหรือว่าน้อยก็ตามก็เรียกว่าสมาธิ
 
ในส่วนของสัมมาสมาธินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกไว้ถึง ๔๐ ประการ เราก็ได้เคยพูดถึงอานาปานสติกรรมฐานมาแล้ว สำหรับวันนี้จะพูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานพอเป็นที่เข้าใจของท่านบรรดาพุทธบริษัทโดยย่อ
 
คำว่า พุทธานุสสติ หมายถึงว่าการนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การที่คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเราก็พรรณนากันไม่จบ ใคร่ครวญกันไม่จบ ตามพระบาลีท่านมีอยู่ว่าถึงแม้ว่าจะปรากฎ มีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์ นั่งถามกันตอบกันถึงความดีของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก แม้แต่สิ้นเวลา ๑ กัปก็ไม่จบความดีของพระพุทธเจ้าได้ ฉะนั้นท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พุทโธ อัปปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาประมาณมิได้ ในเมื่อคุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณไม่ได้ เราพิจารณาไม่จบ เราจะพิจารณาว่ายังไงกันดี โบราณาจารย์ที่ประพันธ์ไว้โดยตรงว่า อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เพราะเหตุนี้แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุแล้วโดยชอบ อรหัง เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เราก็พิจารณาไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอันว่าจะกล่าวโดยย่อว่า คุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเราก็คือว่า
 
๑. สัพพปาปัสสะ อกรณัง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราระงับความชั่วทั้งหมด
 
๒. กุสลัสสูปสัมปทา พระองค์ทรงสงเคราะห์ให้พวกเราปฏิบัติเฉพาะในความดี
 
๓. สจิตตปริโยทปนัง พระองค์ทรงสั่งสอนให้ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
 
นี่ โดยย่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ สอนให้พวกเราปฏิบัติอยู่ในกฎทั้ง ๓ ประการที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าจะย่อลงไปอีกทีหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
 
อานันทะ ดูกรอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
 
นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สอนไว้บอกว่า อัตตนาโจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็จะมีแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัยดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้างแม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่งก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่ามีตำหนิ นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน จิตเตปาริสุทเธ สุคติ ปาฎิกังขา พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ คำว่าสุคตินี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้ นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง
 
ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรสคือพระราหุล พระราชโอรสคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาวอายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุขคือพระโพธิญาณด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน
 
ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่าอีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชเพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือนร้อนเหมือนกัน นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้และเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะครองได้เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์มีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสียเราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเราสูงกว่าเราหนักกว่าเราดีกว่าเราที่จะพึงมีท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่านทำไมเราจึงจะไม่วาง
 
ประการต่อมาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับอุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการจนมีความคล่องแคล่วมีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่าเพียงแค่รูปฌาน และอรูปฌานทั้งสองประการนี้ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสียแล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้นแสวงหาความดีต่อไป
 
ในด้านของสมาธินี่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์คือความไม่เกิด ต่อมาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์
 
ทุกข์ได้แก่อาการที่ทนได้ยาก ก็คือการเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่เราพูดกันมานานแล้ว
 
เหตุให้เกิดความทุกข์ก็คือตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่าเกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินน้ำ ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะจะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติเป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดีพอใช้ที่เราจะพึงใช้พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดิบพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
 
ทางดับตัณหาตัวนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่า มรรค มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
 
ศีล คือการระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขตที่เราเรียกว่าพระวินัย
 
สมาธิ แปลว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการอย่างนี้เป็นต้น
 
ปัญญา พิจารณาเห็นว่าธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพลคือจริยาที่พระองค์ทรงละ ความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด นี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ รวมความว่าวันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง
 
และอีกแบบหนึ่งไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ การหายใจกำหนดตามสบายๆ เป็นการควบกับอานาปานสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบายจิตใจชื่นบานนึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมารแล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้ แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้
 
การพิจารณาว่าพุทโธก็จะขอข้ามอารมณ์ต่างๆไป (ไว้พูดในตอนต่อไป) ถ้ากำลังใจของเราทรงมัน ถ้าจะมีนิมิตปรากฎขึ้นโดยเฉพาะ นิมิตตรงๆ ก็คือต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่าเห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่านิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้ ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่าพุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่าเกิดอุคหนิมิต
 
ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฎชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฎใหม่ ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียวสีดำสีแดงอะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อนๆมีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่นจะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน ถ้าจิตจับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้ ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉยๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่าจิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข
 
ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฎว่าปัญญาก็จะเกิด คำว่าอริยสัจก็จะปรากฎขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฎ ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินสีห์ ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่นคือความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ ใจคือปัญญาของเราก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์ การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานพระอัตถกถาจารย์ กล่าวว่าเป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
 
สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่าพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.130 Chrome 43.0.2357.130


ดูรายละเอียด
« ตอบ #16 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2558 16:20:59 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๗ พุทธานุสสติถึงสมาบัติ

วันนี้จะได้พูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานต่อ เมื่อวานนี้ได้มาพูดถึงการเจริญกรรมฐานด้านพุทธานุสสติกรรมฐาน จากระบบปฏิบัติตามแบบที่พิจารณาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสั่งสอนตามแบบนี้ที่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานย่อมมีกำลังแค่อุปจารสมาธิ แต่สำหรับพระอาจารย์ผู้สอนที่มีความฉลาด ท่านสอนต่อๆกันมา คือสามารถดัดแปลงเอาพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสามบัติจนกระทั่งเข้าถึงฌาน ๔ ได้ วันนี้ก็จะได้อธิบายการเจริญพระกรรมฐานในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานจากอารมณ์อุปจารสมาธิมาเป็นฌาน ๔ การเจริญพระกรรมฐานถ้ามีความเข้าใจ กรรมฐานทุกองค์ก็ทำเป็นฌาน ๔ ได้เหมือนกันหมด แล้วก็ต่อไปเป็นสมาบัติ ๘ ก็ได้
 
การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌาน ท่านก็ใช้คำภาวนาเป็นพื้นฐาน คือใคร่ครวญตามความดีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตามแบบที่กล่าวมาแล้ว ถ้าต้องการให้เป็นฌานอย่างยิ่ง ก็งดการพิจารณานั้นเสีย จิตน้อมยอมรับนับถือเนื้อถือหนัง ถือรูปร่างของท่านเป็นสำคัญ เนื้อหนังรูปร่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามิได้ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะความเป็นพระพุทธเจ้ามาจากการบรรลุธรรมะพิเศษ ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า ฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในตอนที่จะเข้าสู่การดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานที่ระหว่างนางรังทั้งคู่ว่า
 
อานันทะ ดูกรอานนท์ เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยที่เราสอนเธอทั้งหมดนี่จะเป็นศาสดาสอนเธอ ศาสดานี่แปลว่าครู นี่เราจะเห็นได้ว่าความเป็นพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง
 
เรามาเปลี่ยนแปลงจากการพิจารณาความดี เอาจิตเข้ามาจับความดีจุดเล็ก คือแทนที่จะเป็นการใคร่ครวญ กลับมาภาวนา นึกว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่ เราจะผูกใจของเราให้จับอยู่เฉพาะความดีของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านจึงสอนให้ใช้คำภาวนาแทนที่จะพิจารณา แต่ว่าเราก็ไม่ทิ้งคำพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า ให้จิตเข้าถึงความดีของพระองค์ เป็นการสร้างธรรมปีติ ความมั่นใจในความดีก่อน
 
เมื่อเราพิจารณาความดีใคร่ครวญความดีของพระองค์แล้ว เมื่อใจสบายก็จับอารมณ์เป็นสมาธิพิเศษ คือใช้อานาปานสติกับพุทธานุสสติควบกันไป โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ นี่ง่ายดี ความจริงการภาวนาในด้านพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ว่าได้หลายอย่าง อิติปิ โส เบื้องต้นทั้งหมดทั้ง ๙ ข้อ เราว่าได้ทุกข้อ จะว่าข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานทั้งนั้น แต่ว่าการที่ท่านตัดเอาใช้คำว่าพุทโธ เพราะเป็นการสะดวกแก่บุคคลผู้ฝึกจิตในตอนแรก
 
ในตอนต้นให้พิจารณาลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา เวลาหายใจเข้านึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ อันดับแรกจับเอาแค่จมูกก่อน หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็ โธ แค่นี้ให้จิตสบาย พอจิตมีความสบาย มีกำลังเป็นสมาธิสูงขึ้น จิตจะรู้ลมกระทบสัมผัสภายใน หายใจเข้าลมจะกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือ หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก กระทบริมฝีปากหรือจมูก
 
ถ้าปรากฏว่าลมกระทบ ๓ ฐานมีความรู้สึกแบบสบาย หรือมีจิตละเอียดไปยิ่งกว่านั้น รู้สึกลมไหลลงไปตั้งแต่ต้นยันท้อง ไหลจากท้องมายันจมูก ออกทางจมูกอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ ที่จะมีความรู้สึกอย่างนี้ต้องปล่อยลมหายใจเข้าออกตามธรรมดา อย่าหายใจแรงๆยาวๆหรือบังคับให้หนักๆ อันนี้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามกฎธรรมดา ที่เราจะรู้ได้ก็โดยอาศัยสติสัมปชัญญะของเรามันดีหรือมันเลวเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดี จิตเป็นสมาธิมากก็รับสัมผัสได้สามฐาน ถ้ามีอารมณ์ละเอียดไปกว่านั้นก็รู้ลมไหลเหมือนกับน้ำไหลเข้าน้ำไหลออก
 
ถ้ารู้ลมได้ ๓ ฐานก็ดี หรือรู้ลมไหลออกไหลเข้าตลอดเวลา อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นฌาน เรียกว่าปฐมฌาน พร้อมกันก็ทรงคำภาวนาไว้ด้วย
 
ถ้าภาวนาไปภาวนาไป รู้สึกว่าลมหายใจเบาลง เบาน้อยลง จิตใจมีความชุ่มชื่น คำภาวนาหายไปหยุดภาวนาไปเฉยๆ แต่มีใจสบาย ลมหายใจอ่อนลง มีความชุ่มชื่นมากกว่า จิตทรงมากกว่า อย่างนี้เป็นฌานที่ ๒
 
ถ้าต่อไปความชุ่มชื่นหายไป มีแต่อาการเครียด จิตใจสบาย ลมหายใจเบาลง ได้ยินเสียงภายนอกน้อยลงไป เบาลงไปมาก จิตใจทรงตัวดิ่ง มีอาการไม่อยากเคลื่อน มีร่างกายคล้ายกับมีอาการทรงตัวเหมือนหลักปักแน่นๆ หรือว่าใครเขามัดตัวตรึงไว้เฉยๆไม่อยากเคลื่อน ใจสบาย แนบนิ่ง นิ่งสนิท จิตไม่อยากจะขยับเขยื้อนไปไหน อันนี้เรียกว่าฌานที่ ๓ นี่คำภาวนาไม่มีเหมือนกัน คำภาวนานั้นมีแค่ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือปฐมฌานเท่านั้น
 
ต่อไปเริ่มต้นเราจับคำภาวนา แล้วก็ต่อมาปรากฎว่าจิตมีอารมณ์สว่างสดใส มีจิตใจชุ่มชื่น มีอารมณ์ทรงตัวเป็นปกติไม่เคลื่อนไหวไปไหน ทรงตัวแบบสบาย มีความโพลงอยู่ในใจ เป็นความสว่างมาก แต่ว่าไม่ปรากฏลมหายใจ หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก แม้จะเอาปืนใหญ่หรือพลุมาจุดใกล้ๆก็ไม่ได้ยิน อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๔
 
ถ้าจะถามตอบกันตามแบบฉบับของการเจริญสมาธิ ไอ้เรื่องยุงกินริ้นกัดนี่ มันไม่กวนใจเราตั้งแต่อุปจารสมาธิ พอจิตผ่านปีติเข้าถึงสุข มันจะมีความสุขเยือกเย็น มีความสบาย ไอ้เรื่องเสียงที่เราได้ยินก็เหมือนกัน มันก็ไม่กวนใจ ใจเราก็มีความสบาย ร่างกายก็ไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่มีอะไรทั้งหมด มันสุขจริงๆ มีแต่ความชุ่มชื่น ยุงกินริ้นกัดหรือเปล่าอันนี้ไม่รู้กัน ไม่รู้ว่ายุงมันกินหรือเปล่า แต่ว่าส่วนมากยุงไม่กวน แต่บางท่านก็กวนเหมือนกัน บางทีนั่งพอเลิกแล้วเป็นตุ่มหมดทั้งตัวปรากฏว่ายุงกัด แต่เวลาขณะปฏิบัติทรงจิตเป็นสมาธิไม่รู้สึกว่ายุงกัด นี่ความจริงเรื่องการสัมผัสกับอาการภายนอก แต่จิตไม่ยอมรับสัมผัสจากประสาทเริ่มมีตั้งแต่ตอนสุข เพราะคำว่าสุขนี่มันต้องไม่มีคำว่าทุกข์ มันสุขจริงๆหาตัวทุกข์ไม่ได้ ถ้าเมื่อยมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงมากวนที่หูมันก็ไม่สุข ถ้ารู้ว่ายุงกินแล้วคันหรือเจ็บมันก็ไม่สุข มันเป็นทุกข์ นี่คำว่าสุขตัวนี้ก็ตัดอาการเหล่านี้ไปทั้งหมด
 
ความจริงเรื่องเสียงก็ดี ที่เราจะรำคาญภายนอก หรือยุงกินริ้นกัดก็ดี มันตัดกันแค่สุขยังไม่ถึงปฐมฌาน แต่ว่าอาการของความสุขและปฐมฌานนี่มันใกล้เคียงกันมาก เขาบอกว่าห่างกันแค่เส้นผมผ่า ๘ เท่านั้น ขอบรรดาทุกท่านจำไว้ด้วย ถ้าว่าใครเขาถามละก็ตอบเขาแบบนี้ ถามว่ายุงกินไหม บอกบางองค์กินบางองค์ก็ไม่กิน ถามว่าทำไมยุงกินหรือไม่กิน กัดหรือไม่กัดไม่เหมือนกัน บางองค์ก็ถูกกวนบางองค์ก็ไม่ถูกกวน ก็ต้องตอบว่า ถ้าองค์ใดหรือท่านใดมีพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน มีจิตทรงพรหมวิหาร ๔ เป็นปกติ ท่านผู้นั้นยุงไม่กินริ้นไม่กัด ถ้าบกพร่องในพรหมวิหาร ๔ มันกัดแน่ มันกินแน่ นี่ตอบเขาอย่างนี้ แล้วก็ตอบตัวของเราเองเสียด้วย
 
นี่เป็นอาการของฌาน ๔ ปกติ เมื่อถึงฌาน ๔ แล้วก็ต้องพยายามทรงฌานทรงสมาธิจะเป็นอันดับไหนก็ตาม ให้มันมีความคล่องตัวที่เรียกว่า วสี จะเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ อะไรก็ตาม ให้มันคล่องจริงๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรจิตเป็นสมาธิทันที เดินไปเดินมาเหนื่อยๆ นั่งปั๊บจิตจับปุ๊บเป็นสมาธิทันที นี่ต้องหัดให้คล่องอย่างนี้ จึงชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌาน ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันส่งเดชไป อารมณ์มันจะใช้อะไรไม่ได้ ถ้าทำกันส่งเดชได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาไม่ถือว่าได้ แต่ก็ยังดีตายเป็นเทวดาได้แต่เป็นพรหมไม่ได้ ถ้าจิตเราสามารถจะทรงฌานได้ทุกขณะจิตละก็เป็นพรหมได้แน่นอนเพราะเวลาที่ป่วยไข้ไม่สบายเกิดทุกขเวทนามาก เราก็เอาจิตจับเข้าฌานทันที ทุกขเวทนามันก็คลายตัว ดีไม่ดีไม่รู้สึกตัวเพราะจิตและประสาทมันไม่ยอมรับรู้ซึ่งกันและกัน มันแยกจากกันเด็ดขาด
 
หากว่าเราจะทรงฌานด้านพุทธานุสสติกรรมฐานเข้าถึงฌานที่ ๘ เราจะทำอย่างไร
 
แบบท่านบอกไว้ว่า พุทธานุสสติกรรมฐานและอนุสสติทั้งหมด เว้นไว้แต่อานาปานสติ จะเข้าถึงอุปจารสมาธิเท่านั้น ท่านว่าไว้อย่างนั้น เราก็ดัดแปลงให้เข้าถึงฌาน ๘ เสียให้หมดมันจะเป็นยังไงไป ทำเป็นเสียอย่างเดียวมันก็ทำได้ เข้าใจแล้วก็ทำได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้จำกัด ถ้าเราจะทรงฌาน ๘ ทำยังไง
 
แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็จับภาพพระพุทธรูป กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออกภาวนาว่าพุทโธ ก็นึกเห็นภาพขององค์สมเด็จพระบรมครูจะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอกให้เห็นอยู่ในอกหรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด
 
ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่าอุคหสมาธิหรืออุคหนิมิต
 
ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไปเปลี่ยนแปลงไปชักใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้นจะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะ ไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นชัดจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นอุปจารสมาธิตอนกลาง
 
ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้สูงก็ได้ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ข้างหลังก็ได้ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ท่านกล่าวว่าเป็นปฐมฌาน
 
การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็นกสิณด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย
 
ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่าคำภาวนาว่าพุทโธหายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็นฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน
 
ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสมากขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็นฌานที่ ๓
 
การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสวคล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่
 
ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไร เราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจ แล้วไปไหนไม่พ้น เขาทำแบบนี้
 
จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดีเมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้วก็เพิกภาพนั้นให้หายไป คำว่าเพิกเป็นภาษาโบราณ คือนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป จับอากาสานัญจายตนะแทน คือพิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีจุดจบ จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ ความหวั่น การเคลื่อนไหวของอากาศว่า ว่างมากโลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว อย่างนี้จัดเป็นอรูปฌานที่ ๑ ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็นที่ ๕ สมาบัติที่ ๕
 
เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบายๆ ใจสบาย นึกขึ้นมาว่าอากาศมันเวิ้งว้าง ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด โลกทั้งโลกไม่มีอะไรทรงตัว คนเกิดมาแล้วก็ตาย สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง บ้านเรือนโรงก็พัง ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด อย่างนี้เรียกว่าจิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี เป็นอากาสานัญจายตนะ
 
ทีนี้ก็มาเป็นวิญญานัญจายตนะ นึกถึงวิญญาณ คือจิต สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ มันไม่มีอะไรทรงอยู่เฉพาะแน่นอน เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่ใช่มีอะไรจริง ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง จิตมีสภาพไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้ นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจ ต้องการอย่างเดียวอากาศ คือความว่างเปล่าปราศจากแม้แต่จิต ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ ถ้าจิตมันทรงตัวทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่างหาที่สุดมิได้ ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีทุกข์
 
นี่ อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก อย่างนี้เรียกว่าได้วิญญานัญจายตนะฌาน นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ ถ้าไปอ่านตามแบบบางทีจะค้านกัน เมื่อเราได้วิญญานัญจายตนะฌานแล้ว ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง เพราะกสิณเป็นของหยาบ ภาพพระพุทธรูปเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้วจงนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป
 
นี้ก็มาพิจารณาฌานที่ ๗ สมาบัติที่ ๗ คือ อากิญจัญญายตนะฌาน พิจารณาว่าโลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ มันพังหมดมันสลายตัวหมด ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดีๆก็พัง บ้านเมืองเก่าๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง กำแพงเมืองใหญ่อย่างกำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรังมันก็ผุจมหายไปหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี นี่เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่าหาอะไรเหลือไม่ได้ จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี แม้แต่ร่างกายของเรานี้ไม่ช้ามันก็พัง การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้อากิญจัญญายตนะฌาน เป็นสมาบัติที่ ๗
 
นี้มาสมาบัติที่ ๘ จับภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ทรงอารมณ์แจ่มใสให้ใจสบายเป็นอุเบกขารมณ์ อรูปฌานนี่ก็ทรงฌาน ๔ นั่นเอง แต่มาจับเป็นส่วนอรูป อารมณ์มันเท่ากัน มาจับเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรามีสัญญาความรู้สึก ทำตนเหมือนคนไม่มีสัญญา เพราะเห็นว่าร่างกายไม่มีสาระ ร่างกายไม่มีแก่นสาร ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ วัตถุทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยจริงจัง ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ทีนี้เวลาร่างกายมันจะหิว มันมีอาหารกินก็กิน ไม่มีกินก็ทำสบาย รู้สึกว่าหิวแล้วทำเหมือนว่าไม่หิว มันหนาวมันไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปกปิดก็นอนมันเฉยๆ มันหนาวก็หนาวไป ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่หนาว ร้อนก็เฉยๆ ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่ร้อน ใครเขาด่าว่าอะไรก็ทำเหมือนว่าไม่มีคน ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด มีสัญญาก็เหมือนกับคนที่ไม่มีสัญญา คือความจำมันมีอยู่แต่ทำเหมือนกะคนที่ไม่มีความจำ ทำแบบนี้แล้วจิตมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตมันเป็นสุขถือว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา หนาวก็หนาวไป ช่างหัวมันไม่สนใจ ร้อนก้อนไป มันอยากหิว หิวก็หิวไป ไม่มีจะกินก็แล้วไป มีกินก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน มันอยากจะแก่ก็แก่ไป มันอยากจะป่วยก็ป่วยไป มันจะตายเมื่อไรก็ช่างหัวมัน ขันธ์ ๕ ไม่ดีไม่มีประโยชน์ เพราะเรามีขันธ์ ๕ คือ ร่างกาย เราจึงมีร้อน มีหนาว มีสุข มีทุกข์ มีหิว มีกระหาย มีปวดอุจจาระปัสสาวะ ขันธ์ ๕ มันไม่ดี เราไม่ตั้งใจจะคบเลย ไม่ต้องการจำอะไรมันทั้งหมด ไม่สนใจอะไรกับมันเลยทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาบัติที่ ๘ นี่อาการมันใกล้วิปัสสนาญาณเต็มที ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงกล่าวว่า คนที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณพระโบราณาจารย์สมัยโบราณท่านบอกว่าเพียงแค่เคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็นพระอรหันต์
 
หากว่าเราได้สมาบัติ ๘ แบบนี้แล้ว ใช้สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐาน พิจารณาวิปัสสนาญาณในด้านสังโยชน์ ๑๐ คือ มีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น หรือว่าพิจารณาอริยสัจ ๔ วิปัสสนาญาณ ๙ หรือพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ตาม ประเดี๋ยวเดียวมันก็เป็นพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา พอเข้าถึงพระอนาคามี เราก็ได้ปฏิสัมภิทาญาณ มีกำลังครอบงำวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ทั้งหมดเราได้ไปหมดเลย ไม่ต้องไปฝึกกันเหมือนสมัยเป็นฌานโลกีย์ อะไรก็ตามที่พระวิชชา๓ ทำได้เราก็ทำได้ พระอภิญญา ๖ ทำได้เราก็ทำได้ การรู้ภาษาคน ภาษาสัตว์ ไม่ต้องเรียนรู้หมด เข้าใจหมดทุกอย่าง มีความฉลาดในการย่อข้อความที่เยิ่นเย้อ ข้อความที่ยาวเราย่อให้สั้นแบบได้ความ เขาพูดมาสั้นๆ เราขายออกไปให้ยาวให้ได้ความชัด เราทำได้อย่างดี อย่างนี้เรียกว่าปฏิสัมภิทาญาณ
 
เอาละบรรดาทุกท่านวันนี้เราพูดถึงพุทธานุสสติกรรมฐานถึงจุดนี้ สมาบัติ ๘ ซึ่งท่านทั้งหลายไม่เคยฟังมาก่อน แต่ว่าผมทำมาก่อน ผมทำได้ ที่พูดให้ฟังนี่ผมทำได้ แต่ว่าทำตามอาจารย์สอนไม่ใช่ผมสร้างขึ้นเอง ความจริงความรู้นี้องค์สมเด็จพระบรมครูก็ทรงแนะนำไว้ แต่ว่าไม่มีใครนำมาสอนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเลยนะ มีใครมาสอนกันผมก็ไม่รู้ ที่ผมรู้ขึ้นมาได้ก็เพราะอาจารย์รุ่นก่อนท่านมีความฉลาด สามารถดัดแปลงคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ไม่ใช่ดัดแปลงหรอก เอามารวมกัน เอาอนุสสติ คือพุทธานุสสติ อานาปานสติ กสิณเข้ามารวมกันเข้าหมดเป็นจุดเดียวกันเมื่อได้เข้าถึงฌานที่ ๔แล้ว ก็จับเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณยืนโรงแล้วก็เพิก จับอรูปฌาน นี่ความฉลาดของการเจริญพระกรรมฐานมีคุณแบบนี้
 
เอาละสำหรับวันนี้การพูดสำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไปขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.130 Chrome 43.0.2357.130


ดูรายละเอียด
« ตอบ #17 เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2558 16:22:47 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๘ ศีลานุสสติโดยพิสดาร

ต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านทั้งหลายได้สมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ก็ตั้งใจเจริญสมาธิจิตและวิปัสสนาญาณ การเจริญสมาธิจิตวันนี้ก็จะขอพูดต้นยันปลาย และเป็นการพูดแต่เพียงโดยย่อ การเจริญสมาธิจิตนี่ตามแบบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แบ่งออกเป็นสองสายด้วยกัน คือตามแบบของกรรมฐาน ๔๐ นี่สายหนึ่ง และตามหลักสูตรของมหาสติปัฏฐานอีกสายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นการเจริญพระกรรมฐานเพื่อสุกขวิปัสสโกแต่อย่างเดียว สำหรับในกรรมฐาน ๔๐ เป็นสูตรสำหรับเจริญพระกรรมฐานรวมทั้งสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทัปปัตโต การปฏิบัติก็ขอให้บรรดาพุทธบริษัทเลือกปฏิบัติกันตามอัธยาศัย การที่จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม ก็ขึ้นกับอารมณ์จิตอย่างเดียว
 
อันดับแรก ให้มีสัจธรรมประจำใจเข้าไว้ สัจจะแปลว่าความจริงใจ ทรงความจริงเข้าไว้ว่า เราตั้งใจจะทรงสมาธิจิต ขอให้จิตมันทรงอยู่ในขั้นของสมาธิ คำว่าสมาธินี่ไม่ใช่แปลว่านอนหลับ หมายถึงว่าจิตทรงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไว้โดยเฉพาะ เช่นเราจะทรงอานาปานสติกรรมฐาน คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ก็ให้จิตจับอยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออก ไม่ปล่อยให้จิตซ่านไปสู่อารมณ์อื่น หรือว่าเราจะเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานในด้านอนุสสติ ๑๐ ก็ดี อสุภ ๑๐ ก็ดี กสิณ ๑๐ ก็ดี อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ หรือพรหมวิหาร ๔ ก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้จิตจับเฉพาะอยู่อย่างนั้นโดยเฉพาะ อารมณ์ที่ทรงอยู่ตามที่เราปรารถนานั่นเรียกกันว่าจิตเป็นสมาธิ
 
นี่ การที่เราจะได้ดีหรือไม่ได้ดี มันก็อยู่ที่ความจริงใจของเราเท่านั้น การเจริญพระกรรมฐาน ที่บอกว่าทำแล้วไม่ได้ดีก็เพราะคนเราหาความจริงไม่ได้นั่นเอง ไม่ใช่มีอะไรยากลำบากอะไรที่ไหน เป็นของธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหาอะไรมาสอนเรา นอกจากนำกฎธรรมดาที่เรามีอยู่ให้เรามาใช้มาปฏิบัติให้ถูกทางเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาธิจิตเราก็ใช้กันอยู่เป็นปกติ เช่นเรารู้อยู่ว่าเวลานี้เรานั่งอยู่ เราคุยกันอยู่ด้วยเรื่องอะไร เราคุยตามเรื่องตามนั้น ได้เป็นไปตามปกติไม่ผิดพลาด เราทำกิจการงานอะไรอยู่เราก็ทำกิจการอย่างนั้นโดยไม่ผิดพลาด อย่างนี้ชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ เราอ่านหนังสืออยู่เราก็รู้ว่าอ่านหนังสือ เราทำงานอย่างใดอยู่เราก็รู้ว่าทำงานอย่างนั้น รวมความว่าสมาธิจิตของเรามันมี
 
แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เห็นว่า สมาธิแบบนั้นเป็นโลกียสมาธิ ไม่เป็นทางหมดทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เรามีความสุข จึงให้ใช้สมาธิในด้านกุศลจิตคิดหากุศลเข้าใส่ไว้เป็นประจำ ให้จิตมันจำไว้เฉพาะด้านกุศลอย่างเดียว ถ้าจิตจำไว้ได้เฉพาะกุศลอย่างเดียวจนเป็นเอกัคตารมณ์ อย่างน้อยที่สุดถ้าเราตายจากความเป็นมนุษย์ก็เป็นเทวดาหรือว่าเป็นพรหม
 
เมื่อจิตทรงสมาธิได้ดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็สอนวิปัสสนาญาณมีอริยสัจ เป็นต้น ให้พิจารณาเห็นทุกข์ที่มันเกิดขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ เพราะอาศัยความเกิดเป็นปัจจัย พิจารณาไปให้รู้ ให้ปัญญาพิจารณาให้เห็น เรื่องที่จะให้ใครเขามาชี้ว่าอะไรมันเป็นทุกข์ นี่มันไม่ใช่ภาระ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าอะไรมันเป็นทุกข์ สิ่งใดก็ตามที่เราจำจะต้องทน สิ่งนั้นเป็นอาการของความทุกข์ทั้งหมด
 
ความหิวเป็นทุกข์ ความกระหายเป็นทุกข์ ความร้อนเป็นทุกข์ ความหนาวเกินไปเป็นทุกข์ การป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ ร่างกายมีสภาวะเคลื่อนไปมีการแก่การเฒ่า ร่างการไม่สมประกอบก็เป็นทุกข์ อาการที่เราจะตายเป็นทุกข์ ทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีอยู่เป็นประจำ แต่ว่าเราไม่พยายามจะคิดถึงกัน ฉะนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์เห็นว่าพวกเราโง่เกินไป สมเด็จพระจอมไตรจึงได้สอนให้เรารู้ว่าการเกิดมันเป็นทุกข์ ตามพระบาลีว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสสุปายาส เป็นต้น เป็นอันว่าความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เป็นอันว่าเราเกิดมาแล้วเราก็พบแต่ความทุกข์ เราไม่มีความสุข แต่ว่าความทุกข์นั่นมีอยู่ บุคคลใดใครเห็นทุกข์บ้าง นี่เราชินต่อความทุกข์เสียจนชินจนไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์ อาการที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์ก็เพราะอาศัยความโง่เป็นปัจจัย ตามพระบาลีที่เรียกกันว่า อวิชชา
 
ความทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้นมันก็ต้องมีเหตุ พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงสอนแสดงเหตุกับผลเป็นปกติ ไม่มีอะไรไร้เหตุไร้ผล ทุกข์ที่มันจะเกิดขึ้นกับเราเพราะอาศัยใจเราคบกับตัณหา คือความทะยานอยาก
 
ตัณหาที่เราจะคิดว่ามันเป็นตัณหาด้านกิเลสก็ต้องคิดกันดู พิจารณาดูว่า ถ้าความต้องการของร่างกายคือความหิวก็ดี ความกระหายก็ดี อาการหนาวก็ดี อาการร้อนก็ดี ถ้าความหนาวเกิดขึ้น เราต้องการเครื่องอบอุ่น ความร้อนเกิดขึ้น เราต้องการความเย็น ความหิวปรากฏขึ้น เราต้องการอาหาร ทรัพย์ศฤงคารไม่มีจะใช้จะสอยหามาพอดีพอใช้สอย ความปรารถนาอย่างนี้ไม่เรียกว่าตัณหา เพราะว่าเป็นอาการที่เป็นไปตามปกติที่เราจะต้องปรนเปรอหล่อเลี้ยงร่างกาย
 
ความทะยานอยากเกินไป อันนี้เป็นตัณหา ที่เรามีการพอกินพอใช้แล้วก็ยังตะเกียกตะกายหาความพอมิได้ ความไม่พอมีความปรารถนาสูงเกินกว่าความพอดี นี่เป็นอาการของตัณหา คือ เป็นการแสวงหาให้เป็นการลำบากเปล่า ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าบุคคลใดต้องการจะให้พ้นทุกข์ ก็พยายามละตัณหาเสีย คือสร้างความพอให้มันเกิด ทำความพอในใจให้ทรงอยู่ พอตรงไหนกัน การแสวงหาอาชีพพอแก่การอาศัยถือว่าเป็นการพอ คำว่าพอจะถือว่ามีปริมาณเท่าใดนั้นก็แล้วแต่ฐานะและความจำเป็น ไม่ตะเกียกตะกายเกินพอดี อย่างนี้ก็เรียกว่าพอ เมื่อความพอปรากฏ ความสุขใจมันก็เกิดขึ้น
 
การที่จะตัดตัณหาได้จริง ๆ จะมานึกเอาแค่พอ แค่พอตามกฎธรรมดามันก็เป็นไปไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงสอนต่อไปว่า ถ้าเราจะต้องการความพอของชีวิตก็ให้จิตเกาะอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เราเรียกกันว่า อริยมรรค ๘ อริยมรรค ๘ นี่เราย่นลงมาแล้วเหลือ ๓ เหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา
 
ศีล รักษากายวาจาใจของเราให้บริสุทธิ์ เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง จะไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นเขาทำลายศีล เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำลายศีลแล้วเราไม่ยินดีด้วย นี่แบบนี้เป็นจริยาอารมณ์จิตของพระอริยเจ้า เราต้องทำตามนั้น ให้มีอารมณ์ทรงอยู่ในศีลเป็นปกติ ระมัดระวังศีลเป็นปกติ จนกระทั่งเราไม่ต้องระวัง ให้จิตเป็นอัตโนมัติ จิตทรงศีลอยู่ตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าความพลาดพลั้งของศีลนิดหนึ่งย่อมไม่มีแก่ใจ อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาเรียกว่าศีลานุสสติกรรมฐาน ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ เราก็ปิดอบายภูมิได้ เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของพระโสดาบัน
 
การที่เราจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ ก็ต้องอาศัยอารมณ์สมาธิจิตเป็นเครื่องควบคุม เป็นอันว่าถ้าอารมณ์ของเราทรงศีลได้ตลอดเวลา ระมัดระวังศีลได้เป็นปกติ อย่างนั้นแสดงว่าจิตของเรามีสมาธิอยู่แล้ว สมาธิแปลว่าการตั้งใจ (ถ้าพูดกันตามภาษาไทย) เพราะตั้งใจรักษาศีลให้เป็นปกติ
 
ศีล เรารักษากันเวลาไหน? การสมาทานศีลนี่เป็นแต่เพียงการศึกษาศีลเท่านั้น
 
ถ้าเราไม่มีโอกาสสมาทานศีลมันจะเป็นศีลได้หรือไม่ ?
 
ข้อนี้ ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทสงสัยก็พึงทราบว่า ศีลนี้เราจะสมาทานหรือไม่สมาทานก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ความสำคัญอยู่ที่การงดเว้นเท่านั้นมันจึงจะเป็นศีล ถ้าเราไม่มีโอกาสสมาทาน แต่ทว่าสิกขาบททั้ง ๘ ประการก็ดี หรือว่าสิกขาบท ๕ ประการก็ดี เราระงับได้อย่างครบถ้วน อย่างนี้เราไม่สมาทานเลยมันก็เป็นศีล แล้วก็มีอานิสงส์เท่ากับที่สมาทาน นี่หากว่าเราจะสมาทานศีลสักวันละพันครั้ง แต่ว่าจิตใจของเราไม่ได้ผูกพันอยู่ในศีลก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ศีลไม่ได้มีกับใจของเรา
 
ฉะนั้น การที่เราจะระงับตัณหาได้ ในอันดับแรก ต้องเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ คือมีอารมณ์ทรงศีลเป็นปกติธรรมดา ไม่ใช่แต่เฉพาะมานั่งขัดสมาธิหลับตา หรือว่านั่งสมาธิจึงจะมีศีลบริสุทธิ์ ถ้าเราต้องการศีลบริสุทธิ์เพียงเท่านี้ก็มีหวังตายลงนรกแน่นอน วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เราทำจิตบริสุทธิ์กี่นาที นี่ต้องวัดวันเวลาที่มันผ่านไป เราขาดทุนเท่าไร แล้วได้กำไรเท่าไร นับเวลาที่เราปฏิบัติ ถ้าเราใช้จิตของเราปฏิบัติในความดี ใช้เวลาน้อยแต่ขาดทุนมาก มันก็ไม่มีทางไปสวรรค์หรือเกิดเป็นมนุษย์ได้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงสอนให้ทรงสมาธิในด้านศีลานุสสติกรรมฐาน คือให้จิตใจของเราทรงศีลเป็นอารมณ์ เป็นปกติ ไอ้เรื่องการนั่งหลับตาวันละ ๙ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงไม่มีความหมาย ความสำคัญก็มีอยู่ว่า ทุกลมหายใจเข้าออก จิตของเราทรงอยู่ในศีล อันนี้จึงจะชื่อว่าเป็นสมาธิที่มีผลแน่นอน เรียกว่าศีลานุสสติกรรมฐาน นี่ ว่ากันถึงด้านศีลเพื่อระงับ กาย วาจา ใจ เป็นเหตุปิดอบายภูมิ เป็นด้านของกามาวจรสวรรค์ ถ้าเราทรงศีลได้บริสุทธิ์เราก็เป็นเทวดาในกามาวจรสวรรค์ได้
 
ต่อไป ความดีที่มียิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีพรหมโลกเป็นที่ไป ถ้าเราจะไปพรหมโลก เราก็เอาศีลนี่แหละเป็นสมาธิไปพรหมโลกให้ได้ ก็ตั้งใจทรงศีลให้เป็นสมาธิ ให้ทรงฌาน ศีลของเราจะเป็นสมาธิจิตในด้านของศีลานุสสติกรรมฐานให้เข้าถึงระดับฌาน ทำอย่างไร ? และทำอย่างไร เราจึงจะรู้ว่าศีลของเราเข้าถึงระดับฌาน ?
 
อันนี้ เราก็จะสังเกตได้ว่า วันทั้งวัน จิตของเราใคร่ครวญอยู่ในศีลเป็นปกติ มีการระมัดระวังศีลเป็นปกติ ปัญจเวร ๕ ประการ คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำร้ายสัตว์ การลักขโมยของ การยื้อแย่งความรัก การโกหกมดเท็จ การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น เรียกว่า ปัญจเวร ๕ ประการ อย่างนี้เราทรงได้แบบสบาย ใครจะนินทาว่าร้าย ส่งเสียงรบกวนเพียงใดก็ตาม จิตใจของเราไม่รำคาญเสียงของบุคคลนั้น ไม่สะทกสะท้านกับคำนินทาว่าร้ายหรือไม่ยินดีต่อคำสรรเสริญใด ๆ มีจิตใจอารมณ์สบายเป็นศีล อย่างนี้ชื่อว่า สมาธิจิตของท่านเข้าสู่สภาพของฌาน ฌานนี่ เขาต้องการแบบนี้นะ ไม่ใช่ต้องการนั่งฌานหรือนั่งขัดสมาธิกันหามรุ่งหามค่ำ แล้วพอลืมตาขึ้นมาแล้วก็ด่าโวย โวย โวย แบบนี้ทำไปสักแสนปีมันก็ไม่เกิดประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดให้จิตทรงสมาธิเป็นอารมณ์เป็นประจำวัน คือจิตใจของเรามั่นอยู่ในอาการของศีล ไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่เป็นอกุศล จนกระทั่งจิตของตนเป็นเอกัคตารมณ์ คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อยู่ในศีลโดยเฉพาะ ใครจะชวนไปไหน จะแนะอะไรก็ตาม ถ้าเป็นเครื่องทำลายศีล เราไม่ยินดีด้วย ไม่คล้อยใจไปตาม อย่างนี้ชื่อว่าศีลของเราทรงเป็นฌาน นี่เอาศีลเข้ามาเป็นฌาน ก็ไม่เห็นมันยากลำบากอะไรนี่ ของง่ายๆ การทรงสมาธิจิต ถ้าเรารู้จักใช้เสียแล้ว แม้แต่ศีล เราทำศีลข้อเดียวก็ไปนิพพานได้
 
เมื่อสมาธิจิตของเราทรงศีลเป็นฌาน มีจิตใจผูกมั่นอยู่ในศีลเป็นปกติ จะไปทางไหนก็ตามอยู่ในสถานที่ใดก็ตามอยู่ในสังคมใดก็ตาม เราจะไม่ยอมละเมิดศีลอย่างเด็ดขาด ไม่ยุยงส่งเสริมให้ใครละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว จิตใจของเรามีความชุ่มชื่นในศีลอย่างนี้เป็นฌาน ถ้าอารมณ์จิตเป็นฌาน เราตายไปจากความเป็นมนุษย์ เราก็เกิดเป็นพรหม นี่เป็นความดีระดับที่สอง
 
ทีนี้ เราก็เอาศีลานุสสติกรรมฐานนี่แหละเป็นวิปัสนาญาณต่อไป
 
เราก็มาพิจารณาร่างกายของเราว่า
 
เวลานี้ เราเป็นผู้ทรงศีล
 
แล้วให้รู้จักคำว่า “เรา” เราคือใคร ?
 
เลือดเนื้อ ร่างกายของเรานี่มันเป็นเรา หรือว่าเราคือใคร ?
 
เมื่อพิจารณากันไปจริง ๆ แล้วก็เห็นว่า เลือดเนื้อร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในเลือดเนื้อร่างกาย และเลือดเนื้อร่างกายไม่ใช่เรา เราจริง ๆ ก็คือ “จิต” ที่มาสถิตอาศัยอยู่ในกายชั่วคราว ร่างกายมีสภาพเหมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น เราไม่สามารถจะทรงร่างกายอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ร่างกายมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด
 
การทรงศีล อะไรมันทรงศีล ? กายทรงศีล หรือว่าจิตทรงศีล ?
 
เมื่อเราพิจารณากันจริง ๆ แล้ว เราก็จะเห็นว่า ศีลที่มันทรงอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยจิตเท่านั้นเป็นตัวสั่ง กายมันมีสภาพเหมือนหุ่น มันไม่มีการรู้สึกรับผิดชอบใด ๆ ทั้งหมด ความรู้สึกรับผิดชอบใด ๆ ความดีหรือว่าความชั่วจะปรากฏกับกายก็อาศัยใจเป็นผู้สั่ง คำว่า “เรา” ในที่นี้ก็ได้แก่จิต คือ จิตใจ คือ อารมณ์ที่สั่งกาย
 
เรามาดูกันซิว่า เรารักษาศีลบริสุทธิ์ มีจิตสบาย แต่กายมันมีความสบายไหม ?
 
คนที่มีศีลบริสุทธิ์ ใจสบาย ไม่มีความเดือดร้อน คนที่มีความเดือดร้อนก็เพราะอาศัยจิตมันทุศีล หาศีลไม่ได้ มันถึงมีแต่ความเดือดร้อน มีกายไม่อยู่สุข ชอบเอากายไปสร้างความทุกข์ ไปเบียดเบียนบุคคลอื่น เอากายไปยื้อแย่งสินสมบัติของบุคคลอื่น เอากายไปยื้อแย่งความรักของบุคคลอื่น แล้วก็มีปากไม่ดี ชอบพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลหาสารประโยชน์ไม่ได้ ไม่รู้จักเหตุของความทุกข์ และเอากายไปดื่มสุราเมรัย
 
นี่ บุคคลที่ไม่เคารพในศีลก็มีความทุกข์ คนเลวประเภทนี้มักจะไม่เห็นตัวของตัวเองว่าได้สร้างความชั่ว ทั้ง ๆ ที่เลวแสนเลวก็ไม่มีความรู้สึกนึกว่าตัวดีอยู่เสมอ นี่จงเข้าใจไว้ว่าศีลนี่ ถ้าเราทรงไว้ได้ เราก็มีความสุข มันไม่มีความทุกข์เข้ามาเจือปน ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้อยากปรารถนาทรงความสุขก็ขอให้รักษาศีลเป็นปกติ
 
การที่จะรักษาศีลเป็นปกติ ก็อาศัยกำลังใจเป็นสำคัญ ไม่ใช่กายรักษาศีล ใจรักษาศีล ที่พระเทศน์บอกว่า การทรงศีล ศีลรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นสองประการอันนี้ไม่ใช่ความจริง ตัวจริง ๆ แล้ว ศีลก็รักษาจิตให้มันเรียบร้อยนั่นเอง จิตมันเรียบร้อยแล้ว กายก็เรียบร้อย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ” นี่แสดงว่าใจของเราถ้าบริสุทธิ์ กายวาจามันก็บริสุทธิ์ ความเลวที่เกิดจากกายและวาจาก็เพราะอาศัยใจของเราเลว ถ้าเราเอาศีลเข้ามาควบคุมใจไว้เสียแล้ว ใจมันก็มีความดี กายวาจามันก็ดีด้วย คนที่มีปากเสีย มีวาจาเสีย มีร่างกายเสียก็เพราะอาศัยใจเสีย อยู่ที่ไหนมันก็มีแต่ความทุกข์ หาความสุขไม่ได้
 
เราก็มาพิจารณากันไปว่า ร่างกายของเรานี่มันเป็นเราหรือ มันเป็นของเราหรือ มันไม่เป็นเรา ไม่ใช่ของเรา ตามที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิต นี่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสร์พระองค์ทรงสอนแบบนี้ เราใช้ปัญญาพิจารณาตาม ท่านกล่าวว่า คนเราถ้าสร้างความดีไว้ ทำอารมณ์ให้ดี ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดบนสวรรค์บ้าง เป็นพรหมบ้าง ไปพระนิพพานบ้าง ถ้าสร้างความชั่วไว้ เมื่อตายจากความเป็นคน ก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง ถ้าเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีความชั่วเลวทราม มีแต่ความเดือดร้อน
 
เราก็มานั่งดู เวลาที่เราไปนรกก็ดี ไปสวรรค์ก็ดี ไปพรหมก็ดี เราเอากายไปด้วยหรือเปล่า ? เวลาตายแล้ว ไม่มีใครแบกกายไปด้วย นี่ เราจะเห็นได้ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราก็ทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ ทรงสมาธิจิตเข้าในอำนาจของศีล คุมศีลให้เป็นฌาน แล้วก็มาพิจารณาตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระพิชิตมารว่า
 
เหตุแห่งความทุกข์ที่มันจะพึงมีขึ้นมาได้
 
ก็เพราะอาศัยตัณหามีความผูกพันในร่างกายซึ่งมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
 
เราไปยึดถือว่ามันเป็นเราเป็นของเรา
 
เราก็วางร่างกายเสียเพื่อพระนิพพาน
 
การไปพระนิพพานนี่ตัดเฉพาะสักกายทิฏฐิตัวเดียวเท่านั้น ในสังโยชน์ ๑๐ ประการ องค์สมเด็จพระพิชิตมารไม่ได้ทรงตัดที่ไหน สั่งตัดตัวเดียวคือสักกายทิฏฐิ คือสังโยชน์ตัวแรก เมื่อจิตใจไม่ผูกพันในร่างกายเสียแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็ไม่ผูกพัน เพราะสมบัติในโลกทั้งหมดนี้นั้น อะไรที่เราจะรักยิ่งไปกว่าร่างกายของเราไม่มี นี่องค์สมเด็จพระชินสีห์ชี้เหตุผลให้ทราบ ถ้าร่างกายของเราไม่ทรงอยู่ บ้านช่องเรือนโรงทรัพย์สินทั้งหลายมันจะมีคุณประโยชน์อะไรสำหรับเรา มันจะมีคุณอยู่บ้างก็แต่เฉพาะในขณะที่เราทรงร่างกายเท่านั้น เราตายไปแล้วมันก็หมดเรื่องกันไป ทรัพย์สินทั้งหลายก็ตกทอดเป็นของบุคคลอื่น ฉะนั้น ถ้าเราตัดร่างกายเสียได้แล้ว เราก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด
 
วิธีพิจารณาตัดร่างกาย
 
เราต้องอาศัยกายคตาสติกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ เป็นต้น และก็มีมรณัสสติกรรมฐานเป็นพื้นฐาน
 
จิตใจคิดไว้เสมอว่า
 
เราจะต้องตาย
 
ความตายเป็นของธรรมดา เรามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว เราก็มีความตายไปในที่สุด
 
การที่เราทรงชีวิตอยู่นี้ เราไม่ได้ทรงชีวิตหนีความตาย
 
แต่เราทรงไว้เพื่อเดินเข้าไปหาความตายพิจารณาให้เห็นว่า ความตายนี้มันเป็นของธรรมดาที่เราจะต้องเข้าถึง ในขณะที่เราทรงชีวิตอยู่ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ถ้าเราต้องการความเกิดอีก มันก็ต้องทุกข์แบบนี้ จะเกิดอีกเพื่อประโยชน์อะไร เราต้องการตัดความเกิด คือตัดชีวิตและร่างกาย ไม่มัวเมาในชีวิต คิดเสียว่าร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดินน้ำลมไฟ เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว เป็นแดนของความทุกข์
 
เป็นโรคนิทธัง คือเป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันจะต้องเปื่อยเน่าเป็นของธรรมดา
 
แต่ถ้าเราเกิดมามันก็มีสภาพแบบนี้อีก เราจะเกิดมาทำไมดินแดนที่เราจะไม่ต้องเกิดต่อไปก็มีอยู่ คือพระนิพพาน
 
ทำอย่างไร เราจะถึงพระนิพพานได้ ?
 
เราก็ตัดขันธ์ ๕ คือร่างกายโยนทิ้งไป คำว่า “ตัด” ในที่นี้ไม่ใช่ฆ่าขันธ์ ๕ คือคิดไว้เสมอว่า ร่างกายนี้มันเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์
 
อนัตตา มันสลายไปในที่สุด เราเกิดมาเพราะอำนาจของความโง่เป็นปัจจัย
 
เวลานี้เรามาพบศาสนาของสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาผู้ทรงความฉลาด
 
องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ สอนให้เรารู้เหตุรู้ผล
 
ว่าการเกิดนี่องค์สมเด็จพระทศพลถือว่ามันเป็นทุกข์
 
เราจะแสวงหาความสุขได้ก็ตัดเหตุและตัดปัจจัยเสีย คือตัดความเกิดเสียให้ได้
 
เราจะไม่เกิดได้เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัยก็คือ หนึ่งกิเลส หาทางกำจัดกิเลสให้สิ้นไป กิเลสมี ๓ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แก่ความโลภเกินพอดี การทรงอารมณ์โทสะเกินพอดี มีโมหะความหลง คิดว่านั่นเป็นเรา นี่เป็นของเรา ความโลภเราก็ตัดด้วยการให้ทาน โทสะเราก็ตัดด้วยการทรงพรหมวิหาร ๔ โมหะตัวนี้ เรายอมรับนับถือกฎของธรรมดา
 
อะไรมันเป็นธรรมดา ? ความเกิดขึ้น มันเป็นธรรมดา ความแก่ เป็นธรรมดา ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นของธรรมดา ความตายเป็นของธรรมดายอมรับนับถือมันเสีย อาการอย่างใดมันเกิดขึ้นเราไม่หวั่นไหว ถือว่า นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็คิดไว้ว่า ธรรมดานี่มันเป็นอาการของความทุกข์ ไม่ใช่อาการของความสุข เราไม่คบมันต่อไป เมื่อจิตใจของเราทรงไว้ได้ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของธรรมดา การกระทบกระทั่งกับวาจา การเสียดสีหรือกลั่นแกล้งของบุคคลอื่น มีอารมณ์ใจไม่หวั่นไหว คิดว่าเราทรงกายไม่เท่าไร ถ้าร่างกายของเราพังเมื่อใด เราก็ถึงซึ่งพระนิพพานเมื่อนั้น จิตใจของเราไม่ผูกพันในขันธ์ ๕ คือร่างกาย เพียงเท่านี้แหละบรรดาพุทธบริษัท
 
เพราะอาศัยพื้นฐานเดิมของเรามีศีลบริสุทธิ์อยู่แล้ว จิตใจของเรามีความเคารพในองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว มีปัญญาเห็นแล้วว่า ร่างกายมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ ร่างกายเป็นบ่อเกิดของความทุกข์ เราไม่ต้องการร่างกายอันนี้อีก เรามีความมั่นคงในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราไม่ยอมพลัดจากศีล เราไม่ยอมละเมิดศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลนี้มีวาจาเป็นสำคัญ วาจาที่กล่าวออกไปนั้นจะต้องระมัดระวัง การกระทำทางกายก็ต้องระมัดระวัง นิสสัมมะกะระณัง เสยโย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า ก่อนจะทำก่อนจะพูดน่ะใคร่ครวญเสียก่อน อย่าไปคิดเห็นบุคคลอื่นว่าเขาเลว การเห็นคนอื่นเลวนี่ก็กลายเป็นการสร้างความเลวให้เกิดขึ้นแก่ใจของเรา อัตตะนา โจทะยัตตานัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้กล่าวโทษโจทก์ตัวเองว่ามันเลวไว้เสมอ หาจุดความเลวของกาย หาจุดความเลวของใจ อย่าไปหาจุดของความดี ถ้าพบความเลวจุดไหนทำลายความเลวจุดนั้นให้หมดไป แล้วความดีมันก็ปรากฏเอง
 
ถ้าจิตใจของเรามีความระมัดระวังอยู่อย่างนี้ แล้วก็เชื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์ว่า
 
ร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตามันสลายตัว และจิตใจไม่ผูกพันในร่างกาย เรามีศีลบริสุทธิ์ มีจิตใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกว่า พระโสดาบัน นี่ก็ไม่เห็นจะมีอะไรยาก คำว่าพระโสดาบันก็มีสภาวะเป็นชาวบ้านชั้นดีเท่านั้น ความเป็นพระโสดาบันมีความดีแค่ดาตุ่ม ถ้าเราทำไม่ได้มันก็เลวเต็มที หวังว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายที่ได้รับสดับฟังนี้คงจะเข้าใจดี ว่าความเป็นพระโสดาบันเป็นธรรมะเล็กน้อย เป็นผู้เข้าถึงกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพิ่งจะเข้าถึงกระแสพระนิพพานแต่ยังไกลอยู่เท่านั้น แต่ว่าพระโสดาบันนี่จะถือว่าไกลพระนิพพานเกินไปก็ยังไม่ได้ ถ้าอารมณ์จิตของเราเบาบางเกินไปจิตใจยังไม่แนบแน่นนัก ก็ยังเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ เราจึงจะได้อรหัตผล ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นปานกลาง เราก็เกิดอีก ๓ ชาติได้อรหัตผล ถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นคงแนบสนิท เราก็เกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวได้อรหัตผลเข้าถึงพระนิพพาน
 
นี่เป็นอันว่าขอบรรดาพุทธบริษัททุกท่านที่มีกำลังใจยังหย่อนอยู่ ยังเข้าไม่ถึงธรรมขององค์สมเด็จพระบรมครู คือพระโสดาบัน ก็จงตั้งใจกำหนดจิตของเรานั้นทรงความเป็นพระโสดาบันให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถจะทรงความเป็นพระโสดาบันได้ ก็ชื่อว่าเกิดมาเสียชาติเกิดที่พบกับพระพุทธศาสนา ไม่สามารถจะทรงความดีขั้นเล็กน้อยที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ได้ก็เป็นที่น่าเสียดายความดีของเรา
 
เอาละบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน กาลเวลาที่จะพูดเวลานี้ก็พูดนานเกินไป ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก แล้วใช้คำภาวนาควบคู่กันไป หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ พอใจสบายแล้วท่านทั้งหลายจะพิจารณากรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ก็ให้เป็นไปได้ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.132 Chrome 43.0.2357.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #18 เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2558 15:58:15 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๑๙ พุทธานุสสติเป็นวิปัสสนา

วันนี้จะขอพูดเรื่องพุทธานุสสติต่อ เพราะว่าพุทธานุสสติตามที่อธิบายมาแล้วเราจัดเป็นระดับ ๔ ระดับด้วยกัน คือ
 
อันดับแรก การพิจารณาตามแบบ คือพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า โดยใช้คำว่า อิติปิโสภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ใช้จิตใคร่ครวญในด้านของจริยาของพระองค์ สร้างความเลื่อมใสให้เกิด สร้างความผูกพันให้เกิดในพระพุทธเจ้า อย่างนี้ผลจะพึงมีได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ
 
ถ้าเราทำพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสมาบัติ ท่านสอนให้จับภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราพอใจ เวลาที่ภาวนาไปว่าพุทโธหรืออรหังก็ตาม เอาจิตนึกถึงภาพนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ถือว่าเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณ ถ้าปฏิบัติแบบนี้ก็สามารถเข้าถึงฌานที่ ๔ ได้ จัดว่าเป็นรูปฌาน
 
ถ้าจะทำพุทธานุสสติให้เป็นอรูปฌานเป็นสมาบัติ ๘ ก็ให้จับภาพพระพุทธรูปนั้น ทรงอารมณ์จิต ให้เข้าถึงฌาน ๔ เมื่อทรงจิตสบายดีแล้วก็เพิกภาพกสิณนั้นทิ้งไป คือถอนภาพออกจากใจ พิจารณาอากาศวิญญาณ ความไม่มีอะไรทั้งหมด แล้วสัญญาหรือไม่มีสัญญา ที่เรียกว่าอากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือไม่พิจารณารูปเป็นสำคัญ ไม่ต้องการรูป ต้องการแต่นามฝ่ายเดียว เพราะท่านที่ปฏิบัติแบบนี้เพราะมีความรังเกียจในรูป ถือว่ารูปเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ เกิดไปชาติหน้าไม่ต้องการรูปอีก และเป็นสมถภาวนาจัดเป็นอรูปฌาน
 
ในอันดับนี้ เราต้องการจะใช้พุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นวิปัสสนาญาณ ท่านก็ให้ตั้งอารมณ์จิตของเรายึดภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ ทำภาพให้เห็นชัดด้วยจิตเป็นสมาธิถึงฌาน ๔ แล้วก็สามารถจะบังคับรูปนั้นให้เล็กก็ได้ ให้โตก็ได้ แล้วบังคับให้หายไปก็ได้ เป็นไปตามความต้องการ บังคับให้รูปนั้นปรากฏขึ้นก็ได้ หายไปก็ได้ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ แล้วก็จับภาพนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ความจริงพระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ผู้มีความอัศจรรย์ ไม่มีบุคคลใดจะเสมดเหมือน แต่ว่าพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดาหรือพรหมก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทรงขันธ์ ๕ ให้ยืนยงคงอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด
 
ทีนี้มานั่งมองตัวของเราเอง พิจารณาตัวของเราเองว่าพระพุทธเจ้านะดีกว่าเราหลายล้านเท่า ความดีของเราได้หยดหนึ่งในหลายล้านเท่าของท่านก็ไม่ได้ ในเมื่อขันธ์ ๕ ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ เราซึ่งมีความดีไม่ถึง ขันธ์ ๕ มันจะทรงอยู่ได้ยังไง มันก็ต้องมีความเกิดขึ้น มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน ขณะที่ทรงตัวอยู่ก็เต็มไปด้วยอำนาจของความทุกข์ นี่มองเห็นขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้าว่าไม่มีความจีรังยั่งยืน แล้วก็เข้ามาเปรียบเทียบกับขันธ์ ๕ ของเรา
 
ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ นี่มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ คือร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ๔ คือธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันทรงกายอยู่ได้ชั่วคราวแล้วมันก็สลายตัวไปในที่สุด เมื่อการสลายตัวของมันปรากฏขึ้น ถ้ากิเลสของเรายังไม่หมดเพียงใด มันก็ต้องไปเกิดแสวงหาความทุกข์อีก เมื่อตายใหม่กิเลสมันยังไม่หมดมันก็ต้องไปเกิดใหม่ ให้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาอีกหาที่สุดมิได้ จะเทียบกันได้กับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรายกขึ้นเป็นกสิณ ถ้าเราต้องการให้พระรูปโฉมปรากฏก็ปรากฏขึ้น เราก็ต้องการให้หายไป สลายตัวไป การสลายตัวไปไม่ใช่การสลายไปหมด เราต้องการให้ภาพนี้ปรากฏ ก็กลับมาปรากฏตามเดิม สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ การที่ภาพหายไปถือว่าเป็นสภาวะของอนัตตา เราบังคับไม่ได้ แล้วภาพที่ทรงอยู่ก็ถือว่าอัตตา ทรงอยู่ แต่เป็นอัตตาชั่วคราว ต่อไปก็เป็นอนัตตา คือสลายตัว
 
นี่เราก็มานั่งพิจารณาร่างกายของเราที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัส เป็นต้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าทุกอย่างเราเกิดมามันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ ในเมื่อร่างกายของเราไม่มีความสุข ร่างกายของพระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีความสุข เมื่อขันธ์ ๕ มันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ ดูตัวอย่างพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะทรงตัวได้ฉันใด ร่างกายของเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์มันก็ไม่สามารถจะทรงตัวไว้ได้ฉันนั้น มีความเกิดขึ้นแล้ว มีความเสื่อมไป แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มีเหงื่อ มีไคล มีอุจจาระปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เต็มไปทั้งร่างกาย ไม่มีอะไรเป็นของน่ารัก ไม่มีอะไรเป็นของน่าชม มีแต่ของน่าเกลียด ฉะนั้น ถ้าตายแล้วคราวนี้ ถ้าเราต้องเกิดใหม่ เราก็ต้องไปแบกทุกข์ใหม่
 
การที่เราจะไม่แบกทุกข์ต่อไป จะทำอย่างไร?
 
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราละสังโยชน์ ๑๐ ประการ อาศัยสักกายทิฏฐิตัวเดิมเป็นตัวปฏิบัติ คือเป็นตัวตัด เอามาพิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันเกิดขึ้นแล้วมันต้องตายแน่ ถ้าการเกิด เกิดแล้วตายมีอยู่ตราบใด เราก็ยังไม่พ้นทุกข์ตราบนั้น ฉะนั้น ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความสกปรก ขันธ์ ๕ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการนั้นก็คือพระนิพพานอย่างเดียว
 
การที่เราจะต้องการพระนิพพานได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป?
 
ในเมื่อเราเห็นว่าขันธ์ ๕ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เกิดเป็นทุกข์ เราเชื่อท่าน ชราปิ ทุกขา ความแก่เป็นทุกข์เราเชื่อท่าน มรณัมปิ ทุกขัง เมื่อความตายเข้ามาถึงเป็นทุกข์ เราเชื่อพระองค์พร้อมไปด้วยของจริง เพราะความตายร่างกายต้องถูกบีบคั้นอย่างหนัก มีทุกขเวทนาอย่างหนัก มันจึงจะตายได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง นี่เราไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า
 
แล้วต่อไปเราก็ตั้งใจเกาะศีลให้บริสุทธิ์ ศีลถ้าเราเกาะได้แล้วก็ชื่อว่าเป็นการตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น ฆราวาสตั้งใจทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ สำหรับสามเณรทรงศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์ สำหรับพระทรงศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์
 
แล้วก็นั่งพิจารณาร่างกายว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงไปทุกวัน มันพังลงไปทุกวัน ไม่ช้าก็สลายตัว ตัดความเมาในร่างกายเสีย อย่างนี้ก็ถือว่าเข้าถึงความดีเป็นอันดับแรก การตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการได้จัดว่าเป็นพระโสดาบัน นี่เป็นทุนแล้ว ต่อไปก็ขยับจิตให้สูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะมันยังต้องเกิดอยู่อีก นี่พระโสดาบันนะ เราก็มาพิจารณาร่างกายเป็นอสุภกรรมฐาน ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ในอันดับแรกพิจารณาเป็นกายคตาสติกรรมฐานว่า ร่างกายนี้เป็นชั้นเป็นท่อน มันไม่ได้เป็นแท่งทึบ แท่งอันเดียวกัน ข้างในเป็นโพรงเต็มไปด้วยอวัยวะต่างๆ น้อมกายคตาสติกรรมฐานเข้าไปหาอสุภกรรมฐาน เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มีอุจจาระปัสสาวะน้ำเลือดน้ำเหลืองน้ำหนอง เป็นต้น อยู่ข้างใน ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทั้งร่างกายของเรา มีสภาพเหมือนกับซากศพที่เคลื่อนที่ได้ หรือเหมือนกับส้วมที่เคลื่อนที่ได้ มันเต็มไปด้วยความสกปรกไม่มีอะไรจะเป็นที่น่ารัก เมื่อพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐานแล้วก็จับกายคตาสติขึ้นมาพิจารณาต่อว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีมีสภาพเหมือนกัน มันมีแต่ความสกปรกเหมือนกัน เราจะมัวไปนั่งยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่านอกจากสกปรกแล้วยังเต็มไปด้วยความทุกข์ ความแก่เข้ามาท่วมทับ แล้วก็มีความตายไปในที่สุด พิจารณาแบบนี้ ค่อยๆพิจารณาไป ปัญญามันจะเกิด เกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่าย เห็นว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเรา เมื่อนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายบังเกิดขึ้นก็พิจารณาเรื่อยไป ให้จิตเข้าถึงสังขารุเบกขาญาณ ความหนาวความร้อนปรากฏขึ้น การกระทบกระทั่งจากวาจาที่ชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้างปรากฏขึ้น อาการของจิตมีความรู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายบังเกิดขึ้น ก็ถือว่านี่มันเป็นหน้าที่ มันเป็นภาระของขันธ์ ๕ คือร่างกายมันต้องป่วย
 
ความทรุดโทรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมันมีความเกิดแล้วก็มีความแก่ไปในที่สุด อาการกระทบกระทั่งกับคำนินทาว่าร้ายต่างๆ ก็คิดว่าคนเราที่เกิดมาในโลกนี้มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หาความทรงตัวอะไรไม่ได้ แม้แต่วาจาเป็นเครื่องกล่าวกระทบกระทั่งนี้จัดว่าเป็นโลกะธรรมดา เป็นธรรมดาของคนเกิดมาในโลก
 
ทำจิตให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมดา เมื่อถูกด่าใจก็สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นใจก็สบาย ความกระทบกระทั่งอารมณ์เป็นที่ไม่ชอบใจใจก็สบาย ใครเขาชมก็ไม่หวั่นไหวไปตามคำชม
 
ตัดอารมณ์แห่งความโกรธเสียได้
 
ตัดอารมณ์ความทุกข์ คือความเกาะขันธ์ ๕ เสียได้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี
 
เพราะการพิจารณาร่างกายในด้านอสุภกรรมฐาน เป็นการตัดความกำหนัดยินดีในรูปเสียงกลิ่นรสและสัมผัส จนกระทั่งความรู้สึกในเพศไม่มี การยอมรับนับถือกฎธรรมดาใจไม่มีความหวั่นไหว ใจไม่มีความสะทกสะท้าน คือไม่มีความหนักใจ ไม่มีการเจ็บ ถือว่าธรรมดาของคนเกิดมาในโลกเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ชื่อว่าตัดโทสะลงไปเสียได้ มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา เมื่อเราตัดโทสะได้ตัดกามราคะได้ทั้งสองประการ ท่านเรียกว่าพระอนาคามี ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะเรายึดเอาพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง คือกสิณแล้วพิจารณาร่างกายของพระพุทธเจ้า ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน เอามาเปรียบเทียบกันว่าไม่มีการทรงตัว มีการเสื่อมไป มีการสลายไปในที่สุด จะมานั่งรักความสวยสดงดงามอันเต็มไปด้วยความหลอกลวงเพื่อประโยชน์อะไร จะทำจิตหวั่นไหวไปในโลกธรรมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายมันทรงตัวไม่นาน แล้วมันก็พัง
 
ในเมื่อเรายับยั้งอารมณ์จิตยอมรับนับถือกฎธรรมดาได้ทุกอย่าง ก็ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี เกือบจะเป็นอรหันต์อยู่แล้ว อย่างนี้ตายแล้วไม่ต้องเกิด ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหมแล้วก็นิพพานบนนั้น
 
ต่อไปเราต้องการทำจิตใจให้ถึงความเป็นอรหันต์ ก็มาพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง คืออาฬารดาบส อุทกดาบส รามบุตร เป็นต้น ได้ฌาน ๔ คือ รูปฌานและอรูปฌาน รูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นปัจจัยให้เข้าถึงความดี คือมีจิตตั้งมั่น แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดาก็เห็นว่ายังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ ยังไม่จบกิจ ยังชื่อว่ายังไม่มีโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย ยัง ยังไม่ถึง เราก็ถือจริยาของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ว่าอารมณ์ของเราที่เข้าถึงอนาคามีนี่มันยังมีทุกข์ คือยังมีอารมณ์สำคัญอยู่ เห็นว่ารูปฌานเป็นของดี อรูปฌานเป็นของดี ยังมีมานะถือตัวถือตนพอสมควร ยังมีอุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ยังมีอวิชชาความโง่ บางอย่างยังติดตัวอยู่
 
องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่า ถ้าเราจะตัดความโง่ให้หมดก็ให้ใคร่ครวญหาความจริงว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์ที่เข้าถึงพระนิพพาน แต่ว่ารูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการนี่เราต้องเกาะเข้าไว้เพื่อความอยู่เป็นสุขหรือว่าจิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่เรายังไม่เห็นว่าที่สุด คือรูปฌานและอรูปฌานนี่ยังไม่เป็นที่สุดของความทุกข์ เราต้องเดินทางต่อไป จึงตัดอารมณ์ ไม่มัวเมาในรูปฌานและอรูปฌาน แต่จะรักษาไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่จิตใจเท่านั้น
 
ทรงฌานไว้เป็นปกติแล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ ๕ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา ขันธ์ ๕ เต็มไปด้วยความทุกข์ ขันธ์ ๕ มีการสลายตัวไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ ในเมื่อขันธ์ ๕ มันไม่ทรงตัวแบบนี้แล้ว มานะการถือตัวถือตนเราจะไปนั่งถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา เพื่อประโยชน์อะไร เพราะร่างกายของคนมีธาตุ ๔ เหมือนกัน เต็มไปด้วยความสกปรกเหมือนกัน มีความเสื่อมเหมือนกัน มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน คนและสัตว์มีสภาวะเสมอกัน คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแก่ในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด นี่ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จในการที่จะมานั่งเมาตัวหรือถือตัว วางอารมณ์แห่งการถือตัวถือตนเสีย มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง เห็นคนและสัตว์ทั้งหมด ถือว่าทุกคนมีความทุกข์ ทุกคนจะต้องมีความตายไปในที่สุด แล้วเราจะมานั่งถือตัวถือตน เสมอกัน เลวกว่ากัน ดีกว่ากัน เพื่อประโยชน์อะไร เพราะต่างคนต่างก็ไม่มีร่างกายเป็นเราเป็นของเราจริง เรือนร่าง ร่างกายเป็นแต่เพียงบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ถ้าทำอารมณ์ได้อย่างนี้เราก็จะตัดมานะ คือการถือตัวถือตนเสียได้
 
ต่อไปก็เหลืออุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่าน พระอนาคามียังมีความฟุ้งซ่านอยู่ตามสมควร แต่ว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามีนี้ไม่ฟุ้งลงไปหาอกุศล เพราะนับตั้งแต่เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา อารมณ์ที่เป็นอกุศลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะมีอย่างเดียวก็คืออารมณ์จิตเป็นกุศลเท่านั้น อย่างพระอนาคามีที่เรียกว่ายังมีอารมณ์จิตฟุ้งซ่านก็หมายความว่ายังพอใจในการบำเพ็ญทาน เห็นว่าทานเป็นของดี พอใจในการรักษาศีล พอใจในการสงเคราะห์ในด้านสังคหวัตถุ ในบางครั้งบางคราวจิตใจก็แวะซ้ายแวะขวา ยังไม่ตัดหน้าตรงไปทีเดียว ยังเห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้บางครั้งนี้มันยังเป็นประโยชน์อยู่ เรียกว่าบางครั้งยังเห็นว่าร่างกายเป็นของดีอยู่ ในการบางคราวยังเห็นว่า ทรัพย์สินคือวัตถุที่เราปกครองที่เราหามาได้ มันเป็นของดีอยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ดี จิตใจของท่านก็ไม่ลืมนึกว่าท่านจะต้องตาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความหวั่นไหวไม่มีก็จริงแหล่ แต่ทว่าจิตก็ยังมีอารมณ์เกาะอยู่บ้างตามสมควร นี่เรียกว่าอารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามี
 
การตัดอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ก็ไปตัดที่สักกายทิฏฐิ พิจารณาร่างกายว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว อะไรในโลกนี้มันจะเป็นของเราอีก มันก็หาไม่ได้ ถ้าตายแล้วมันก็แบกเอาไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นเราจริงเป็นของเราจริง เราก็ต้องแบกมันไปได้ นี่ดูตัวอย่างสรีระขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เมื่อทรงปรินิพพานแล้ว ขณะทรงชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีทรัพย์สินมาก ชาวบ้านเขานำมาถวายราคานับไม่ได้ เมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานแล้ว แม้แต่จีวรชิ้นหนึ่งก็นำไปไม่ได้ ปล่อยให้ร่างกายทับถมพื้นปฐพี ความนี้มีอุปมาฉันใด เราเองก็ฉันนั้น เราจะไปนั่งฟุ้งซ่าน ยึดโน่นยึดนี่เพื่อประโยชน์อะไร ใจมันก็จะปลดออกเสียได้
 
เมื่อเจริญเข้ามาถึงตอนนี้แล้ว องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า เหลืออวิชชาอีกหนึ่ง ตัวอวิชชานี่ได้แก่ฉันทะกับราคะ
 
ฉันทะยังเห็นว่ามนุษย์โลกดี เทวโลกดี พรหมโลกดี
 
ราคะเห็นว่ามนุษย์โลกสวยสองดงาม เทวโลกสวย พรหมโลกสวย
 
เราก็มานั่งตัดฉันทะกับราคะทั้งสองประการเสีย พิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว ความสวยของความเป็นมนุษย์ เมืองมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี มันจะมีประโยชน์อะไรในฐานะที่เราเองก็ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้มันไม่เกิดประโยชน์อะไร ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของเรา เราต้องการอย่างเดียว คือพระนิพพาน จับจิตจับจุดเฉพาะอารมณ์พระนิพพานเพียงเท่านั้น
 
แล้วก็ถอยหลังเข้ามาดูอารมณ์ความจริงของเราว่า เวลานี้เรามีความโลภ คือเมาในลาภสักการะหรือเปล่า ยังถือว่ามีอะไรเป็นเราเป็นของเรามีบ้างไหม ถ้ายังมีก็ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเห็นร่างกายนี้ อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่นี่มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ตายแล้วนำไปไม่ได้ บางทีเรายังไม่ทันจะตาย ยังไม่ตายเราก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คือของที่เราต้องการมันก็สลายตัวไปหมด มันไม่ปรากฏว่าจะยืนยงคงทนตลอดกาลตลอดสมัย นี่เราจึงเห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่มีความต้องการ โลกทั้งสามนี้เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในที่สุดเราก็มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์
 
มีความต้องการอย่างยิ่งโดยเฉพาะคือพระนิพพาน
 
อารมณ์แห่งความรักในเพศไม่มี
 
อารมณ์แห่งความโกรธไม่มี
 
การเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราไม่มี
 
อย่างนี้ชื่อว่าจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงความเป็นพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่าจบกันแค่นี้
 
นี่การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสสติกรรมฐาน เราก็ทำได้ทุกอย่าง คือทำได้ตั้งแต่ขั้นอุปจารสมาธิ คือพิจารณาแบบต้น ถ้าพิจารณาแบบจับรูปเราก็ทรงได้ถึงฌานสี่ แล้วทิ้งรูปเสียพิจารณาอรูป ทรงฌาน ๔ ได้อีกก็เป็นสมาบัติ ๘ แล้วก็จับพระรูปโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการแก่เฒ่าไปในที่สุด แล้วก็สลายตัวไปในขั้นสุดท้าย ถือว่าเป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีสภาพจีรังยั่งยืนเป็นประการใด มาเทียบกับกายของเราแบบนี้เป็นวิปัสสนาญาณ นี่แหละบรรดาพุทธบริษัททุกท่าน กรรมฐานทุกกองเราทำได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ทางด้านรูปฌานและอรูปฌาน และวิปัสสนาญาณทำได้หมด ตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตสอนโลหิตกสิณแก่พระลูกชายนายช่างทอง อย่างเดียวสามารถให้ทำฌานได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทำโลหิตกสิณนั่นแหละให้เป็นวิปัสสนาญาณในที่สุดเธอก็ได้บรรลุอรหัตผล
 
เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกคน เวลาแห่งการจะพูดมันก็เลยมานานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1105


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.134 Chrome 43.0.2357.134


ดูรายละเอียด
« ตอบ #19 เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2558 16:01:23 »

.


กรรมฐาน ๔๐
โดย พระราชพรหมยาน (ฤๅษีลิงดำ)
ตอนที่ ๒๐ ตอบปัญหาข้องใจ

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาศีลและสมาทานพระกรรมฐานเสร็จแล้ว ต่อแต่นี้ไปเป็นโอกาสที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะเจริญพระกรรมฐานและวิปัสสนาภาวนา และขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกและคำภานาคู่กันไปนี่เป็นหลักเริ่มต้นของการปฏิบัติพระกรรมฐาน
 
การเจริญพระกรรมฐานที่จะให้ดีก็ต้องรู้จักเอาชนะใจตนเอง

ตนเองรู้อยู่ว่าเวลานี้เรามีกิจอะไรจะพึงทำและตั้งใจเฉพาะอยู่ กิจนั้นจึงจะมีผลในการเจริญพระกรรมฐาน นี่เป็นปัญหาเฉพาะวันนี้ที่มีคนมาถามว่าทำอย่างไรจึงจะควบคุมกำลังจิตให้เป็นสมาธิและทำอย่างไรจึงจะให้ใจเข้าอยู่ถึงฌานสมาบัติ ความจริงการทำจิตให้เป็นสมาธิหรือทำจิตให้เป็นฌานสมาบัติเป็นของไม่ยาก ถ้าเราเป็นคนไม่มีใจโลเลล่อกแล็ก ถ้าหากว่าเป็นคนมีอารมณ์จิตตั้งมั่น รู้จักกิจที่เราจะพึงกระทำ การที่เจริญพระกรรมฐานและเอาดีไม่ได้ เพราะว่าเราไม่รู้กิจไม่รู้หน้าที่ที่จะพึงกระทำ เป็นคนไร้สติสัมปชัญญะ ไม่รู้จักควบคุมกำลังใจตนเองมันก็เอาดีกันไม่ได้ เราจะดีได้หรือจะชั่วได้อยู่ที่เราคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครที่เขาจะมายกยอปอปั้นให้เราดีหรือเราเลว แม้แต่พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น สำหรับความดีหรือความชั่วที่เราจะได้ก็ต้องเราเป็นผู้ทำเองโดยเฉพาะ
 
เมื่อฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ที่ทำได้ดีก็เพราะท่านนำไปประพฤติปฏิบัติตาม เวลาที่จะฟังก็ใคร่ครวญไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพูด เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพูดเขาก็ใช้ปัญญาคิดตาม
 
คนที่จะได้ดีเขาทำกันแบบนี้ ขณะที่ฟังก็ดี ขณะที่ตั้งใจทรงสมาธิจิตก็ดี เขาไม่ให้อารมณ์ส่งไปสู่อารมณ์อื่น รู้จักควบคุมใจของเราให้อยู่เฉพาะกิจที่เราจะพึงทำคือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา เมื่อเรารู้กิจอย่างนี้ขณะที่เราทรงสมาธิจิตตั้งใจทรงความดี เราก็บังคับจิตให้รู้เฉพาะลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้านึกว่า พุท ลมหายใจออกนึกว่า โธ นึกอยู่ควบคุมกำลังอยู่เท่านี้ตามเวลาที่เรากำหนดไว้ เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตเราเข้าไปสู่อารมณ์อื่นนอกจากลมหายใจเข้าออกหรือว่าคำภาวนาว่า พุทโธ ถ้าเราบังคับจิตของเราให้ได้อย่างนี้ไปทุกคราวทุกครั้งที่เจริญพระกรรมฐาน เราจะใช้เวลามากก็ตามเวลาน้อยก็ตาม หรือว่ายามว่างกิจอื่นนั่งอยู่ ยืนอยู่ นอนอยู่ ทำการงานอยู่ อารมณ์ว่างจากอารมณ์อื่นที่จะพึงคิด แล้วก็จิตจับลมหายใจเข้าออกและคำว่า พุทโธให้เป็นปกติ จนกระทั่งให้จิตมีอารมณ์ชินอย่างนี้จิตของเราก็เป็นฌาน หรือว่ายามว่างจากกิจอื่นจิตก็จับ คำ พุทโธ เป็นอารมณ์หรือกำหนดจิตรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างนี้ท่านเรียกว่าฌาน
 
แต่นักปฏิบัติพระกรรมฐานที่เอาดีไม่ได้ก็เพราะปล่อยให้จิตไปคบกับอารมณ์ชั่วต่างๆ คือวันทั้งวันไม่ได้น้อมเข้าไปหาความดี ไปมองแต่ความชั่ว อารมณ์ของความชั่วชอบเอาจิตเข้าไปคบ แล้วก็ชอบเอาอารมณ์เข้าไปยุ่งกับกิจของคนอื่น คนนั้นดีแบบนี้คนนี้เลวแบบนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้นคนนี้เป็นอย่างโน้น ไม่ได้มองดูตัวเอง การที่เอาอารมณ์จิตเข้าสู่อารมณ์จิตจริยาของคนอื่น เป็นอารมณ์จิตที่เลว
 
อารมณ์จิตที่ดีนั้น จะต้องเป็นอารมณ์จิตที่ควบคุมอารมณ์ของตนเองกำลังจิตของตนเอง ควบคุมความรู้สึกของตนเองเข้าไว้ ว่าเวลานี้อารมณ์จิตของเราเป็นกุศลหรืออกุศล เช่นเราจะนึกจับใจไว้ว่า เราจะจับลมหายใจเข้าออก เราจะกำหนดคำภาวนา พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ เราคุมอยู่อย่างนี้ได้ตลอดวันหรือเปล่า อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์จิตที่เป็นกุศล การควบคุมกำลังใจรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก รู้คำภาวนาว่า พุทโธ วันหนึ่งถ้าท่านจะทรงได้ ๒๐ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๕ นาที ต่อหนึ่งครั้งหนึ่งคราว เพียงเท่านี้ถ้าทำเป็นปกติทุกวัน
 
ตายแล้วก็ไปสู่สวรรค์ได้ พ้นจากอบายภูมิ นี่เป็นความดีที่เราช่วยตัวเองหรือควรจะระมัดระวัง และก็คนที่ควบคุมกำลังจิตได้แบบนี้ เวลาที่มีชีวิตอยู่อารมณ์จิตเป็นสุข ไม่มีอารมณ์กระวนกระวาย ไม่มีความวุ่นวายของจิต เพราะจิตทรงอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศล นี่เราควรปฏิบัติให้ได้ตามนี้ คือเอาชนะจิต เอาจิตให้ชนะความชั่ว การที่เราเจริญพระกรรมฐานเราทำเพื่อประโยชน์อะไร

กรรมฐานมีอยู่ ๒ แบบ คือ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

สมถภาวนาแปลว่าอุบายเป็นเครื่องสงบใจ ทำจิตให้สงบจากอารมณ์ที่เป็นอกุศล คือความชั่ว หมายความว่าป้องกันความชั่วไม่ให้เข้ามาสู่จิต จิตของเราจะไม่ยอมคิดนึกความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอันขาด ความชั่วเป็นปัจจัยให้ตกนรก นอกจากตกนรกแล้วก็มาเป็นเปรตอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนก็เอาดีไม่ได้ การที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เราเจริญพระกรรมฐานก็เป็นการให้เราทรงสติสัมปชัญญะ กำหนดไว้แต่เฉพาะให้ความดีอย่างย่อที่กล่าวมาแล้ว คือคำว่า พุทโธ หรือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ถ้าทรงได้อย่างนี้ตลอดกาลตลอดสมัย อย่างเลวเราก็เป็นเทวดา อย่างดีขึ้นไปกว่านั้นเราก็เกิดเป็นพรหม ดีกว่าเป็นมนุษย์เดินตอกแตกๆ อยู่อย่างในสมัยปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันที่เรามีชีวิตอยู่อารมณ์ใจของเราก็มีความสุข มีความทรงจำดี มีความเฉลียวฉลาด อาจหาญรื่นเริงในการกระทำความดีปราศจากความเศร้าหมองของจิต ทั้งนี้เพราะอาศัยบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์เข้าสู่ประจำจิตของเรา

ว่ากันด้านสมถภาวนาให้ทรงอารมณ์จิตไว้อย่างนี้โดยเฉพาะ นี่เราจะไปเกณฑ์ ไปถามใครเขาว่าเมื่อไรเราจะได้ดี ขายหน้าชาวบ้านเขา ความดีหรือว่าความชั่ว มันอยู่ที่เราผู้ปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติเอาดีไม่ได้ ก็แสดงว่าเราเลวเกินไป เพราะการเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาไม่มีการลงทุนอะไร นั่งอยู่เดินอยู่นอนอยู่ทำได้ทั้งนั้นทุกอิริยาบถ ไม่มีการจำกัด เราจะนั่งท่าไหน นอนท่าไหน ยืนท่าไหน เดินแบบไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะเราควบคุมกำลังใจให้มันทรงอยู่ และอีกประการหนึ่งการเจริญสมถภาวนาเราไม่ต้องการภาพแสงสีใดๆทั้งหมด อาการใดๆจะปรากฏ จะเป็นภาพก็ดีแสงก็ดีเสียงก็ดีที่ปรากฏ เราไม่สนใจ อย่าไปสนใจกับภาพแสงสีหรือเสียงใดๆ ที่ปรากฏ ถ้าหากว่ามีภาพปรากฏเสียงสีหรือแสงปรากฏจะควบคุมอารมณ์ของตนเองไว้โดยเฉพาะ เสียงอะไรก็ช่าง จะมาอย่างไรก็ช่างเสียง รูปอะไรจะปรากฏก็ช่างรูป เพราะเราต้องการอย่างเดียวคือคำภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านี้เป็นพอ ถ้าท่านทรงอารมณ์จิตอยู่ได้อย่างนี้ถือว่าอารมณ์จิตเป็นฌาน นี่ว่ากันเฉพาะนักปฏิบัติตอนต้น ที่เขาเจริญพระกรรมฐานให้ทรงอารมณ์ไว้ได้เพียงเท่านี้พอแล้ว

ให้จิตมีกำลังพอดี แล้วก็พยายามทรงให้ได้ทุกวันอย่าสักแต่ว่าทำ อย่าสักแต่ว่าศึกษา ศึกษาไว้ไปที่ไหนก็ถาม ไปที่นี่ถามที่นี่ ไปที่โน่นถามที่โน่น ไปที่ไหนก็ถามที่นั่น เป็นอันว่าจิตของเรามีอารมณ์สอดส่ายไม่เฉพาะจุดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างนี้ก็ชื่อว่าเอาดีไม่ได้เพราะอารมณ์ของกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน มี ๔๐ กองด้วยกัน ผลที่จะพึงถึงก็คือ เอกัคตารมณ์ การมีอารมณ์เป็นฌานเหมือนกันหมด ที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตทรงสอนไว้มาก ก็ให้เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติ

ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทในอันดับแรกขอให้ควบคุมกำลังใจ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ ไว้ให้เป็นปกติ ยามว่างมีอารมณ์จิตอย่างนั้นเสมอ ต่อไปพิจารณาดูเวลาว่างจากอารมณ์อื่นอารมณ์จิตก็จับลมหายใจเข้าออกจับคำภาวนาขึ้นมาเฉยๆ ขึ้นชื่อว่าอาการชินของจิต อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีจิตเข้าถึงฌาน เมื่อจิตเข้าถึงฌานได้ท่านจะไปสวรรค์ก็ได้ ไปพรหมก็ได้ ที่อื่นก็ได้ตามอัธยาศัย สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติมาเก่าเมื่อทำจิตของเราให้ทรงได้ดีแล้ว ก็จงพิจารณาอริยสัจสี่ การที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในด้านวิปัสสนาญาณ เพราะอริยสัจนี้มีเรื่องที่จะศึกษาจริงๆ ก็มี ๒ อย่าง คือ ทุกข์ กับสมุทัย
 
นี่พิจารณาว่าการเกิดของเรานี่เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ตรงไหน เกิดมาจากครรภ์มารดากระทบอากาศหนัก อยู่ในครรภ์ของมารดามีแต่ความอบอุ่นความสบาย ออกจากครรภ์มารดาใหม่ๆมากระทบกับความร้อนความหนาว ร่างกายแสบทั้งกาย ก็เกิดการร้องจ้าขึ้นมา นี่แสดงว่าร่างกายเป็นทุกข์ ต่อแต่นั้นมาการหิวอาหารก็เป็นอาการของความทุกข์ การปวดอุจจาระปัสสาวะเป็นอาการของความทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นอาการของความทุกข์ ความแก่ชราเข้ามาครอบงำเป็นอาการของความทุกข์ ความตายเข้ามาถึงตัว

ทุกขเวทนาหนักเป็นอาการของความทุกข์ ถ้าเรายังไม่สิ้นความทุกข์เมื่อไรเราต้องไปเกิดใหม่พบกับความทุกข์เข้าอีก เป็นอันว่าความเกิดเป็นของไม่ดีเป็นความทุกข์พระพุทธเจ้าจึงสอนให้คนเราปฏิบัติตนให้พ้นความเกิด กล่าวคือโมกขธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องพ้น ก่อนที่เราจะปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์ก็ต้องรู้จักเหตุให้มันเกิดทุกข์เสียก่อนว่า ความทุกข์มันมาจากไหน เราต้องทำลายเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงกล่าวว่าเหตุของความทุกข์ได้แก่ ตัณหา คือความทะยานอยาก สิ่งใดที่ยังไม่มี อยากให้มี สิ่งใดที่มีอยู่แล้วอยากให้มันทรงตัว เวลากาลที่มันจะเคลื่อนไปจิตใจก็ไม่อยากให้มันเคลื่อนไปหาทางดึง อย่างนี้เป็นอาการของความทุกข์ สิ่งที่มันไม่มีเราต้องการให้มีขึ้น หมายความว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการเกินจากความเป็นจริง ถ้าสิ่งใดที่เป็นไปตามความประสงค์หรือมีความจำเป็นจะต้องกินต้องใช้ ก็แสวงหามาพอกินพอใช้ ไม่ตะเกียกตะกายเกินไป นี่เป็นอาการของความทุกข์เหมือนกัน แต่เป็นความทุกข์ที่อยู่ในขอบเขต

แต่ทุกข์ของตัณหานี่มันยิ่งไปกว่านั้น มีพอกินพอใช้แล้วมันไม่พอ ตะเกียกตะกายอยากให้มันมีมากไปกว่านั้นขึ้นไปเท่าไรก็ไม่รู้จักจบ นี่เป็นอาการของตัณหา การแสวงหาเลี้ยงชีพตามธรรมดาถือเป็นปกติในการทรงชีพเป็นสัมมาอาชีวะ อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาใหญ่ ถ้าจะเป็นก็เป็นตัณหาเล็ก ตัณหาเล็กๆไม่มีโทษมากนัก ถ้าจะว่าการแสวงหานั้นได้มาจากการทุจริตมันก็เป็นภัยใหญ่ องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบอกให้ตัดความอยากเสีย ในเมื่อเรายังทรงชีวิตอยู่การหากินต้องมีเป็นของธรรมดา พระพุทธเจ้าไม่ทรงปฏิเสธการหากินหาเลี้ยงครอบครัวและบริวารตามความจำเป็น ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติ เราจะไม่ติดในมันจนเกินไป เราคิดว่าหามาได้แล้วก็แล้วกันไป มีกินมีใช้ไปวันหนึ่งก็พอ หรือว่ามันจะเหลือกินเหลือใช้ก็ตามที คิดว่านี่เราทำตามหน้าที่เท่านั้น เราจะไม่มีอารมณ์ผูกพันใดๆทั้งหมดและคิดไว้เสมอว่าทรัพย์ที่เราหามาได้ทั้งหมดเราตายแล้วมันก็เลิกกันไป เราไม่สามารถจะแบกไปโลกอื่นได้

การจะตัดอำนาจความอยากมันจะตัดได้ในตอนไหน

ก็ต้องมาพิจารณาสักกายทิฏฐิ คือพิจารณาร่างกายว่าร่างกายของเรานี่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่จริงร่างกายของเรานี่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันทรงตัวอยู่ชั่วคราว ไม่ช้ามันก็จะสลายไป ร่างกายมีอุปมาประดุจหนึ่งดังบ้านเช่า เราอยู่ได้ชั่วคราวเท่านั้น เช่าอยู่ได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อถึงกาล ถึงสมัย หรือเมื่อหมดอายุแห่งการเช่าเราก็ต้องไป เราคือจิตที่มาสถิตอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ร่างกายเหมือนบ้านเช่าชั่วคราว เราจะมาปรารถนาความเกิดเพื่ออะไร ถ้าเราไม่ปรารถนาความเกิดก็แสดงว่า เราไม่ปรารถนาความอยากคือตัณหา ถ้าเราจะเกิดอีกมันก็มีทุกข์อย่างนี้ จะพบกับบ้านเช่าที่ไม่มีการทรงตัว

เราจะไม่ต้องการความเกิดอีกเราจะทำอย่างไร เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นของจริงหรือของไม่จริง ถ้าจริงเราก็เชื่อพระพุทธเจ้าได้ และคำแนะนำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า ทานเป็นปัจจัยตัดความโลภ คือสร้างมิตร ศีลเป็นปัจจัยตัดความโกรธ การใช้ปัญญาพิจารณาตัดขันธ์ห้าคือร่างกายที่ผูกพันในการเกิดต่อไป การติดความหลงนี่มันจริงหรือไม่จริง ถ้าเรามีปัญญาพิจารณาเห็นว่าจริงแล้วเราก็เชื่อว่าเรามีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย อย่างนี้เป็นปัจจัยอีกอันหนึ่งที่จะทำให้เราไม่เกิด แต่ว่าเรามาเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องปฏิบัติตามด้วย วิธีที่จะปฏิบัติตามในขั้นต่อไปก็ต้องมีการรักษาศีลห้าให้เป็นปกติ เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงบุคคลอื่นทำลายศีล และไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีล มีความเมาในร่างกายน้อยลงไป เห็นว่าเราต้องตายเป็นปกติ มีความเคารพในพระรัตนตรัย มีศีลห้าบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ประการนี้ถ้าทรงไว้ให้ได้ตลอดกาลตลอดสมัย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงกล่าวว่าเป็นโสดาปฏิผลหรือว่าสกิทาคามีผล เป็นพระอริยเจ้า อันนี้ก็เป็นของไม่ยาก เมื่อเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาและพระสกิทาคาก็ยังต้องมีความเกิด แต่ว่าเกิดน้อยลง เกิดเฉพาะสวรรค์กับมนุษย์หรือว่าพรหมกับมนุษย์ ไม่ต้องลงอบายภูมิ การที่จะมีความเกิดอยู่แบบนี้ มันก็ยังไม่มีความสุข มันก็ยังต้องการตัดทุกข์ให้มันสิ้นไป

ในข้อต่อไปองค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแนะนำให้ตัดกามราคะ ความต้องการในเพศเสีย เพราะความต้องการในร่างกายของบุคคลอื่นมีความกำหนัดยินดีในร่างกายบุคคลอื่น นี่เป็นความโง่ของบุคคลที่มีกิเลสเข้าถึงใจ เพราะการมีคู่ครองไม่ใช่ปัจจัยของความสุข ไม่ใช่เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข มันเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ คนเราจะต้องแบกภาระจากคู่ครอง บิดามารดาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของคู่ครองอีกมากมาย สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่จิตใจและร่างกายของเราไม่ให้เป็นอิสรภาพ ต้องอยู่ในขอบเขต การแสวงหาคู่ครองเราก็ดูแล้วดูอีก ว่าเป็นคนที่มีความเมาะสมมีหน้ามีตาทรวดทรงเป็นที่น่ารัก แต่ว่าคู่ครองของเราก็ดีเราเองก็ดี มันไม่ทรงอยู่ตามนั่น ไม่ช้าความเหี่ยวแห้งมันก็ปรากฏ ความทรุดโทรมมันก็ปรากฏ ความทุกข์มันก็แบกหนักเข้ามาเป็นภาระใหญ่

นี่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงแนะนำว่าถ้าเราไม่ต้องการความเกิด ก็ให้ตัดอารมณ์ความกำหนัดยินดีในการมีคู่ครองเสียโดยการพิจารณาร่างกายคือเรียกว่ากายคตาสติกรรมฐาน เห็นว่าร่างกายของเรานี้เป็นชิ้นเป็นท่อนเป็นอันเต็มไปด้วยอาการ ๓๒ มีความสกปรกเป็นปกติ หาความดีอะไรไม่ได้ เมื่อขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ขณะที่ทรงกายอยู่ความสกปรกมันก็ปรากฏ ถ้าเราไม่อาบน้ำสัก ๒-๓ วันร่างกายก็จะเหม็นสาบทนไม่ไหว และทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายที่หลั่งไหลออกมา เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ ก็เป็นที่รังเกียจของเราเอง นี่แสดงว่าร่างกายของเราภายในเต็มไปด้วยความสกปรกอย่างยิ่ง

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิงพิจารณาว่าร่างกายของเราเหมือนกับอสุภคือศพ และเหมือนกับศพที่ตายแล้ว คือความจริงมันยังไม่ตาย ร่างกายเหมือนผีเดินได้ เพราะข้างในมันสกปรก น้ำลายเวลาเราอมอยู่ในปาก เรากลืนได้อมได้ แต่ว่าเวลาบ้วนออกมาเราไม่กล้าจะเอามือแตะเพราะรังเกียจน้ำลาย น้ำลายของเรามันอยู่ที่ไหนความจริงมันก็อยู่ในร่างกายของเรานั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาร่างกายเทียบกับศพที่ตายแล้วหนึ่งวัน สองวัน สามวัน สี่วัน ห้าวัน มันขึ้นอืด ขึ้นมามีน้ำเหลืองไหลและเต็มไปด้วยความน่าเกลียด ความสกปรกทั้งหลายเหล่านี้มันไม่ได้มีมาใหม่ มันอยู่ในร่างกายของเรา ขณะเมื่อร่างกายมีจิตใจควบคุมมันก็ปกปิดเข้าไว้ ความสกปรกหลั่งไหลมาไม่ได้ทุกอย่าง แต่ว่ามันจะระบายของที่คั่งมาได้เพียงอุจจาระปัสสาวะเท่านั้น มันบังคับไม่ได้หลั่งไหลมาให้เราดู
 
นี่องค์สมเด็จพระบรมครูให้พิจารณาร่างกายของเราก็ดีของบุคคลอื่นก็ดีว่าเต็มไปด้วยความสกปรกความโสโครกเป็นของน่าเกลียด ทำจิตใตให้เป็นนิพพิทาญาณความเบื่อหน่ายในร่างกายของเราเองและของบุคคลอื่น จนกระทั่งเรามีความสะอิดสะเอียนเห็นหน้าคนก็เหมือนกับเราเห็นซากศพ จิตใจมีความเบื่อหน่ายไม่มีความผูกพันในร่างกายของเราและบุคคลอื่น เราจะเข้าจุดจบของกรรมฐานกองนี้ได้อย่างไร เราจะพิจารณาดูร่างกายของเราว่ากามราคะคืออารมณ์ของเพศจะไม่ปรากฎในจิต เห็นคนก็เหมือนกับเห็นไม้ท่อนวางไว้ในกลางป่าไร้ค่าสำหรับการสัมผัส ความต้องการในเพศไม่มี ถ้าทำถึงแบบนี้ก็เท่ากับท่านก้าวสู่ความเป็นพระอนาคามีอันดับที่ ๑ อันดับที่ ๒ พระพุทธเจ้าทรงให้ระงับโทสะ ความพยาบาทด้วยการเจริญพรหมวิหารสี่มีเมตตาเป็นต้น มีจิตคิดให้อภัยแก่คนและสัตว์ที่กระทำความผิด

คิดเสียว่าคนที่เขากระทำความชั่วนั่นเป็นเพราะเขาทำด้วยความเข้าใจผิดคิดไม่ถึงว่าการที่ทำอย่างนั้นมันจะเป็นความชั่ว เข้าใจว่าเป็นความดี มีการให้อภัยเป็นปกติจนกระทั่งอารมณ์อย่างนี้เป็นปกติ ใครเขาจะด่าจะว่าไม่รู้สึกโกรธไม่รู้สึกเกลียด เห็นว่าเป็นของธรรมดา เมื่อจิตใจของท่านละจากกามคุณและความโกรธเสียได้อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงกล่าวว่าท่านถึงความเป็นพระอนาคามี

แต่ความรู้สึกที่จะมีอย่างนี้ได้ก็ต้องอาศัยสักกายทิฏฐิคือนั่งพิจารณาว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเป็นของธรรมดาควบคุมกันอยู่ ร่างกายนี้ความจริงไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ต่างคนต่างถือบ้านเช่าเป็นของตัวชั่วคราว แต่บ้านเช่าหลังนี้เต็มไปด้วยความสกปรก ความโสโครก มีกลิ่น มีไอ มีสาบ มีสาง เหม็นเลอะเทอะ เป็นสิ่งน่าเกลียด เราก็มีความเบื่อหน่ายขึ้นมาเอง ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ แล้วเราก็มีเมตตาบารมี มีจิตสงเคราะห์และสงสารบุคคลอื่นและสัตว์อื่นที่เขาทำความชั่วแทนที่จะทำตัวเป็นศัตรู กลับจะมีจิตคิดสงสารปรารถนาจะสงเคราะห์เขาให้มีความสุขจะแนะนำให้เข้าทางตรงมีจิตประสงค์ในด้านเมตตาบารมีอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอนาคามี ถ้าท่านทรงความเป็นพระอนาคามีได้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่าตายจากชาตินี้ไปแล้วเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เสวยความสุขในฐานะเป็นเทวดาหรือพรหมเมื่อถึงกาลเมื่อถึงสมัยก็นิพพานบนนั้น

สำหรับวันนี้ก็จะขอแนะนำแต่เพียงเท่านี้เพราะใช้เวลามากเกินไป ต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลาเป็นเวลาอุทิศส่วนกุศล

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.281 วินาที กับ 28 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 11:38:01