[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 16:36:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2] 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล  (อ่าน 76698 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2559 16:25:03 »

    โป๊ยเซียนแอฟริกา สวยแปลกน่าปลูก
บางครั้งการแนะนำต้นไม้ในคอลัมน์แล้วผู้อ่านตามไปซื้อในแหล่งที่บอกไว้ แต่ปรากฏว่าผู้ขายบอกว่าต้นหมดหรือไม่มีแล้ว ทำให้เสียความรู้สึกได้เช่นกัน และ “โป๊ยเซียนแอฟริกา” เป็นอีกต้นหนึ่งที่มีต้นวางขาย มีป้ายชื่อติดไว้ชัดเจน แต่ผู้ขายบอกไม่ได้ว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์และวงศ์อย่างไร ระบุเพียงว่าเป็นไม้นำเข้าจากประเทศแอฟริกาและอยู่ในวงศ์โป๊ยเซียน ซึ่งดูแล้วลำต้นสวยงามแปลกตามาก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้นโป๊ยเซียนที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายนั้น จะไม่มีเหง้าหรือหัว ส่วนดอก ผู้ขายบอกต่อว่ายังไม่เคยเห็นเช่นกัน เลยขอแนะนำให้รู้จักเป็นความรู้เท่านั้น

โป๊ยเซียนแอฟริกา เท่าที่ดูจากต้นจริงและผู้ขายบอกเพิ่มเติมพอจะบอกลักษณะได้ดังนี้คือ เป็นไม้พุ่มมีหัวหรือเหง้าขนาดใหญ่ เปลือกเหง้าเรียบสีน้ำตาลเทา เหง้าหรือหัวจะสูงประมาณเกือบครึ่งฟุต บริเวณส่วนปลายของเหง้าหรือหัวจะมีต้นแทงขึ้นจำนวนหลายต้น ลำต้นเป็นสีเขียวเขียวสด และเป็นสันเหลี่ยมเหมือนกับลำต้นของโป๊ยเซียนหรือลำต้นของตะบองเพชรทั่วไป แต่ที่แปลกคือลำต้นจะบิดเป็นเกลียวสวยงามน่าชมมาก ตามสันเหลี่ยมจะมีหนามแหลมเป็นกระจุก ๔-๕ หนามแหลม และทิ้งระยะห่างกันอย่างชัดเจนคล้ายต้นโป๊ยเซียนหรือตะบองเพชรทั่วไปทุกอย่าง ลำต้นของ “โป๊ยเซียนแอฟริกา” ผู้ขายบอกว่าสามารถยาวได้กว่า ๑ ฟุต

ส่วนดอกที่ผู้ขายบอกในตอนแรกแล้วว่าไม่เคยเห็น จึงไม่รู้ว่าลักษณะดอกเป็นอย่างไรและสีอะไรด้วย ดอกจะออกบริเวณไหนของลำต้น เป็นช่อหรือเป็นดอกเดี่ยวๆ ก็ไม่รู้ ผู้ขายบอกได้เพียงว่า ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าหรือหัว

โป๊ยเซียนแอฟริกา ปลูกได้ในดินผสมสำหรับปลูกต้นตะบองเพชรทั่วไป เป็นไม้ทนแล้งโดยธรรมชาติ ชอบแสงแดดได้เต็มวัน รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง เหมาะจะปลูกกระถางกะทัดรัด ตั้งประดับโต๊ะทำงาน สามารถยกเข้ายกออกได้ง่ายๆ สวยงามมาก เคยมีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แถวบริเวณโครงการ ๒๔ แต่ปัจจุบันจะยังมีต้นขายอยู่หรือไม่ต้องเดินสำรวจดูครับ.


    จำปูน ไม้ดอกหอมใต้
ไม้ต้นนี้พบมีขึ้นตามธรรมชาติมากมายในแถบเทือกเขาบรรทัดทางภาคใต้ของประเทศไทย สมัยก่อนนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเฉพาะถิ่นในบริเวณบ้านมาช้านาน จนทำให้ต้น “จำปูน” ได้ชื่อว่าเป็นไม้ดอกหอมของภาคใต้ และเป็นสัญลักษณ์ของชาวใต้โดยปริยาย ปัจจุบันคนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จักต้น “จำปูน” เนื่องจากค่านิยมปลูกได้ลดน้อยลงไปตาม

กาลเวลา ซึ่งต้น “จำปูน” มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ ANAXAGOREA JAVANICA BL. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ประมาณ ๒-๔ เมตรเท่านั้น แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเกือบมน ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เวลามีใบดกผู้ปลูกตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นพุ่มน่าชมยิ่ง

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามกิ่งก้านตรงกันข้ามกับใบและปลายกิ่ง มีกลีบดอก ๖ กลีบ เนื้อกลีบหนาและแข็ง กลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวนวล โคนกลีบดอกเป็นสีเขียว ปลายกลีบสีอ่อนกว่า ดอกมีกลิ่นหอมแรงมาก ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. มีเกสรตัวผู้และ เกสรตัวเมียจำนวนมาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามแปลกตาพร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจและประทับใจยิ่ง “ผล” เป็นผลกลุ่ม รูปร่างค่อนข้างกลม ภายในมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบันต้น “จำปูน” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงขายไม้ไทยโครงการ ๕ ใกล้ทางออกประตู ๓ ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกในบริเวณบ้าน ๒-๓ ต้น เวลามีดอกถูกลมพัดเอากลิ่นหอมโชยเข้าบ้านจะสร้างบรรยากาศเป็นธรรมชาติดีมากครับ  ไทยรัฐ


    จำปีแดงพันธุ์ใหม่
ปกติไม้ในสกุลจำปีต้น จะสูงใหญ่ ๗-๑๐ เมตรขึ้น แต่ “จำปีแดงพันธุ์ใหม่” ที่พบมีกิ่งตอนวางขายมีภาพถ่ายของดอกจริงโชว์ให้ชมด้วยนี้ ผู้ขายยืนยันว่าเป็นไม้พุ่มโดยธรรมชาติของสายพันธุ์ไม่ใช่ไม้ยืนต้นเช่นจำปีทั่วไป ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๔ เมตร ผู้ขายบอกต่อว่าสามารถปลูกลงกระถางขนาดใหญ่แล้วตัดแต่งกิ่งให้ต้นสูงเพียง ๒ เมตร รดน้ำบำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอ จะมีดอกดกสีสันของดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจได้ทั้งปีเหมือนกับปลูกลงดินทุกอย่าง

จำปีแดงพันธุ์ใหม่ เท่าที่ดูด้วยสายตาจากต้นที่วางขายพอระบุได้ว่าเป็นไม้อยู่ในวงศ์แม็กโนเลียทั่วไป ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศนานกว่า ๕ ปีแล้ว เป็นไม้พุ่มสูง ๔ เมตรตามที่ผู้ขายบอกตอนต้น ใบเดี่ยวออกสลับหนาแน่นช่วงปลายยอด ใบรูปใบหอกแกมขอบขนาน ปลายแหลมโคนสอบ เนื้อใบหนา ใบมีขนาดใหญ่ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีกลีบดอก ๘-๑๒ กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น เนื้อกลีบดอกหนา เป็นสีแดงเข้มอมสีม่วงตลอดทั้งกลีบดอก ดอกขณะยังตูมเป็นรูปกระสวย ดอกมีขนาดใหญ่มาก มีเกสร ๑๐-๑๓ อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น สีสันของดอกจะดูเจิดจ้าสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด ปลูกได้ในดินทั่วไปและ ปลูกเจริญเติบโตได้ดีทั้งในพื้นที่ราบต่ำและพื้นที่สูง เป็นไม้ไม่ชอบน้ำมากนัก รดน้ำวันละครั้งหรือวันเว้นวันได้ บำรุงปุ๋ยมูลสัตว์สลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ครึ่งเดือนครั้ง จะทำให้ต้น “จำปีแดงพันธุ์ใหม่” แข็งแรงมีดอกสีสันงดงามและส่งกลิ่นหอมไม่ขาดต้น ปัจจุบันมีกิ่งตอนแท้ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ   ไทยรัฐ


 จำปาสีทอง กับที่มาพันธุ์สวยหอม
จำปาชนิดนี้ เกิดจากการนำเอาเมล็ดของจำปาสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยจำนวนหลายเมล็ดไปเพาะเป็นต้นกล้า แล้วแยกปลูกเลี้ยงจนโตมีดอกและติดผล ปรากฏว่าลักษณะดอกใหญ่และดีกว่าดอกจำปาสายพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์แม่อย่างชัดเจน จึงคัดเอาต้นดีที่สุดไปปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลูกทดสอบความนิ่งของสายพันธุ์อยู่หลายวิธีจนมั่นใจได้ว่าเป็นจำปาพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ถาวรแล้วแน่นอน เนื่องจากยังเหมือนเดิมทุกอย่าง เลยตั้งชื่อว่า “จำปาสีทอง” ดังกล่าว พร้อมขยายพันธุ์ออกขายได้รับความนิยมจากผู้ปลูกอย่างแพร่หลายในเวลานี้

จำปาสีทอง อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐-๒๐ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรูปรี รูปไข่หรือรูปไข่แคบ ปลายใบแหลม หรือเป็นติ่งแหลม โคนกลมมน หรือแหลม ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวสด เวลามีใบดกจะหนาทึบให้ร่มเงาดีมาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบเกือบทุกซอกใบ มีกลีบดอก ๑๒-๑๕ กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น กลีบด้านนอกสด จะมีขนาดใหญ่และยาวกว่ากลีบที่อยู่ชั้นถัดไปตามลำดับ ปลายกลีบดอกแหลม เนื้อกลีบดอกหนากว่าเนื้อของกลีบดอกจำปาทั่วไปเยอะ ดอกตูมเป็นรูปกระสวย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ กว่าดอกจำปาทั่วไป ๒ เท่า มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียเยอะ สีของกลีบดอกเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีเหลืองทอง ดอกจะมีกลิ่นหอมแรงในช่วงเช้า พอตกบ่ายกลิ่นหอมจะจางลง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามอร่ามตาและสิ่งกลิ่นหอมตอนเช้าตรู่เป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” เป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมาก ผลย่อยเป็นรูปค่อนข้างกลมและแข็ง ผิวผลสีน้ำตาลอ่อน มีแต้มหรือจุดด่างสีขาว มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ทั่วไปด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด

ปัจจุบันมีกิ่งตอนวางขายทั่วไปที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านมากครับ.  ไทยรัฐ

    อโศกระย้า ดอกสวยน่าปลูก
เมื่อประมาณ ๖-๗ ปีที่ผ่านมา “อโศกระย้า” มีกิ่งตอนวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ที่เปิดขายเฉพาะไม้ดอกและไม้ผลทุกวันพุธ–พฤหัสฯ ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเวลามีดอกจะดูสวยงามมากนั่นเอง แต่ปัจจุบันไม่พบว่ามีกิ่งตอนวางขายอีกแล้ว เลยทำให้ “อโศกระย้า” กลายเป็นไม้หายากไปโดยปริยาย

อโศกระย้า หรือ AMHERSTIA NOBILIS WALL. ชื่อสามัญ ORCHID FLOWER, PRIDE OF BURMA, QUEEN OF FLOWERING TREE อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE, FABACEAE วงศ์ย่อย CAESALPINIOIDEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศพม่า เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมหนาทึบ กิ่งห้อยลง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายคู่มีใบย่อย ๖-๘ คู่ รูปขอบขนาน

ดอก ออกเป็นช่อห้อยลงที่ปลายกิ่งหรือออกตามลำต้น ช่อยาวประมาณ ๕๐-๘๐ ซม.แต่ละช่อมีดอกย่อยหลายดอกเรียงห่างกันอย่างเป็นระเบียบ ใบประดับและก้านดอกเป็นสีแดง หรือ สีแดงอมชมพู มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ กลีบดอกมี ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน คู่ล่างเล็ก คู่ข้างดูคล้ายรูปช้อน เป็นสีแดง ปลายสีเหลือง กลีบบนแผ่กว้าง ขอบจัก มีจุดแดงและปื้นสีเหลืองบริเวณปลายกลีบ เวลามีดอกจะเป็นช่อห้อยระย้าทั้งต้นดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักโค้ง สีแดงมีเมล็ดกลมแบน ๔-๖ เมล็ด ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบันหากิ่งตอนวางขายยากมาก หากใครต้องการไปปลูกจะต้องเดินสำรวจให้ละเอียดอาจเจอได้ แต่หากหาไม่ได้สามารถสั่งผู้ค้าให้จัดหาให้ได้ ส่วนราคาต้องตกลงกันเอง ซึ่งต้น “อโศกระย้า” เหมาะที่จะปลูกประดับทั้งในบริเวณบ้านสำนักงานสวนสาธารณะทั่วไป เพราะต้น “อโศกระย้า” ได้ชื่อว่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีดอกสวยที่สุดครับ.   ไทยรัฐ


    กระดังงาไต้หวัน หอมแรงดกสวย
ผู้อ่านไทยรัฐ จำนวนมากที่พลาดอ่านข้อมูลเกี่ยวกับต้น “กระดังงาไต้หวัน” ที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปนานแล้ว อยากทราบว่ามีความเป็นมาอย่างไรและมีต้นขายที่ไหน ซึ่งต้น “กระดังงาไต้หวัน” มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ต้นสูงเต็มที่ประมาณ ๒.๕-๓ เมตรเท่านั้น ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อย แตกกิ่งก้านหนาแน่น ลำต้นอวบอ้วนและใหญ่ในช่วงโคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบเกือบมน ผิวใบเรียบ สีเขียวสดเป็นมัน เนื้อใบหนา ใบมีขนาดใหญ่

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามปุ่มตาของลำต้นและกิ่งก้าน แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดใหญ่หนาแน่นจำนวนมาก ลักษณะดอกมีกลีบดอก ๖ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น เหมือนกลีบดอกกระดังงาทั่วไป หรือกลีบดอกการเวก กลีบดอกเป็นสีเขียว เมื่อดอกแก่หรือนิยมเรียกว่า “กลีบสุก” จะเป็นสีเหลืองอมเขียว ดอกมีกลิ่นหอมแรงแบบเฉพาะตัว เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔-๕ ซม. ดอกออกเกือบทั้งปี โดยดอกจะออกตั้งแต่โคนต้นเรื่อยขึ้นไปตามลำต้นและกิ่งก้าน

ที่สำคัญ จุดที่เคยออกดอกครั้งแรกจะออกดอกซ้ำที่เดิมหรือจุดเดิมตลอดไปและจะมีจำนวนดอกเพิ่มมากขึ้นตามอายุของต้นด้วย จึงทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” ผู้ขายระบุว่ายังไม่เคยเห็นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เหมาะจะปลูกประดับทั้งในบริเวณบ้านและสำนักงานทั่วไป เวลามีดอกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมากครับ.   ไทยรัฐ


    “แองเจิ้ลวิง” ไม้ดอกหอมที่หายไป
ไม้ต้นนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยนานกว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยในช่วงแรก “แองเจิ้ลวิง” ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อไปปลูกอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีดอกดกและดอกมีกลิ่นหอมแรงเป็นที่ประทับใจมาก ปัจจุบัน “แองเจิ้ลวิง” หาซื้อไปปลูกได้ยากมาก เนื่องจากผู้ขายดั้งเดิมได้เลิกขายไม้ดอกหอมไปหลายปีแล้ว แต่ยังมีผู้อ่าน ไทยรัฐที่ชื่นชอบปลูกไม้ดอกหอมตามหา “แองเจิ้ลวิง” ไปปลูกประดับอยู่ จึงแจ้งให้ทราบอีกตามหน้าที่

แองเจิ้ลวิง เป็นไม้ในกลุ่มเดียวกันกับจัสมินทั่วไป มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มเตี้ย ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑-๒ เมตร เนื้อลำต้นไม่แข็งนัก แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น กิ่งเปราะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ รูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน ยอดอ่อนเป็นสีม่วงแกมน้ำตาล เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ทำให้ดูสวยงามแปลกตาสองรูปแบบ

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย เป็นพวง ๑๐-๑๕ ดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสีม่วงอมแดง ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๙-๑๒ กลีบ ดูคล้ายกลีบของดอกมะลิงาช้าง ปลายกลีบแหลมและบิดงอเล็กน้อย กลีบดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ ซม. หลังกลีบดอกจะมีเส้นสีม่วงลากยาวจากโคนกลีบถึงปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอมแรงคล้ายกลิ่นหอมของดอกมะลิทั่วไปทุกอย่าง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนกิ่ง

ไม่พบว่ามีกิ่งตอนหรือต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ตามที่ระบุข้างต้น ใครต้องการจะต้องเดินเสาะหาหรือบอกกล่าวให้ผู้ขายไม้ดอกหอมจัดหาให้ ราคาต่อรองกันเอาเอง เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับในบริเวณบ้านหลายๆ ต้น เวลามีดอก นอกจากจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจแล้ว ยังสามารถเก็บเอาดอกบูชาพระได้อีกด้วย   ไทยรัฐ


    “ตันหยง” หอมช่วงวสันต์
ผู้อ่านจำนวนมากเข้าใจว่า “ตันหยง” เป็นไม้ไทยและเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของไทยด้วย เพราะชื่ออ่านแล้วน่าจะเป็นอย่างที่คิด แต่ความจริงแล้ว “ตันหยง” เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศสหรัฐอเมริกาเขตร้อนทั่วไป ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในบ้านเราตั้งแต่สมัยคุณปู่คุณย่าแล้ว จนทำให้กลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกในประเทศไทยว่า “ตันหยง” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน นิยมปลูกตามบ้านตามสวนสาธารณะอย่างแพร่หลาย มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ดอกดกสวยงามน่าชมยิ่ง ดอกมีกลิ่นหอมแรง และจะหอมจัดจ้านเต็มที่ในช่วงฤดูฝน หรือยุคสมัยก่อนชอบเรียกว่าหอมช่วงฤดูวสันต์นั่นเอง

ตันหยง หรือ CAESALPINIA CORIARIA WILLD ชื่อสามัญ DIVI-DIVI อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร ลำต้นเดี่ยว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างรูปดอกเห็ด ใบเป็นใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยขนาดเล็ก รูปขอบขนานแคบ ปลายมน ออกเป็นคู่ๆ ใบย่อยไม่มีก้านใบ สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีกลีบดอก ๖ กลีบ เป็นสีขาวอมเขียว หรือ สีเขียวอมเหลืองอ่อน เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๕ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรงเป็นธรรมชาติ และจะมีกลิ่นหอมที่สุดในช่วงฤดูฝนหรือฤดูเหมันต์ ตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน จะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” เป็นฝักแบนและบิดงอ กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม.ภายในมีเมล็ด ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้นประโยชน์ เนื้อฝักของ “ตันหยง” มีสารพัด TANNIN ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ตำละเอียด พอกแผลสดแผลเปื่อยให้แห้งได้ และนำไปย้อมหนังสัตว์ได้อีกด้วยครับไทยรัฐ


อินทนิล-เสลา-ตะแบก

ดอกไม้ที่ใกล้เคียงกัน ๓ ชนิด คือ อินทนิล เสลา (อ่านว่า สะ-เหลา) ตะแบก ดร.ธวัชชัย สันติสุข ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ อธิบายให้เข้าใจ ดังนี้

เมื่อลมร้อนเริ่มโชยจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้บางชนิดที่ปลูกตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ สถานที่ทำการบางแห่งในเมือง ผลิใบพร้อมกับช่อดอกขนาดใหญ่ สีม่วงสด ม่วงอมชมพู หรือชมพูเด่นสะดุดตา ต้นไม้เหล่านี้มีทั้ง ตะแบก เสลา อินทนิลน้ำ และอินทนิลบก ซึ่งดูผิวเผินมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนว่า ต้นใดเป็น ตะแบก เสลา อินทนิล

พรรณไม้จำพวก ตะแบก เสลา อินทนิล เป็นไม้ในสกุลเดียวกัน คือ Lagerstroemia วงศ์ Lythraceae ชนิดที่เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยนำมาปลูกประดับเรียงลำดับตามความนิยม ได้แก่ อินทนิลน้ำ เสลา ตะแบก และอินทนิลบก ตามถนน  ในกรุงเทพมหานคร มักจะปรากฏพรรณไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังกล่าวปลูกแทรกอยู่เสมอ เช่น สองฟากถนนเพชรบุรี มีอินทนิลน้ำ เสลา และตะแบก และปลูกกันประปรายในเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน พรรณไม้ทั้ง ๔ ชนิด มีลักษณะเด่นแตกต่างกันพอสังเกตได้ดังนี้

อินทนิลน้ำ (Lagerstroemia speciosa (Linn.) Pers.) เปลือกลำต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ อาจจะตกสะเก็ดเป็นแผ่นบางๆ บ้างเล็กน้อย ใบเกลี้ยง ปลายใบเรียวแหลม ผลิใบอ่อนเต็มต้นพร้อมช่อดอก สังเกตได้ง่ายที่ตำแหน่งช่อดอกเป็นพุ่มทรงเจดีย์ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอดโดยรอบ ขนาดของดอกบานกว้าง ๕-๘ เซนติเมตร ออกชิดกันเป็นกลุ่ม สีม่วงสด ม่วงอมชมพูจนถึงชมพู และสีจะซีดจางลงเล็กน้อย เมื่อดอกโรย ผลมีผิวขรุขระ สีคล้ายเนื้อไม้ ออกดอกช่วงฤดูร้อน (มีนาคม -พฤษภาคม)

อินทนิลบก (L. macrocarpa Wall. ex Kurz) ลักษณะคล้ายอินทนิลน้ำมาก แต่ใบ ดอก และผลมีขนาดใหญ่กว่า ใบป้อมและกว้างกว่าใบอินทนิลน้ำ ปลายใบมนกว้างหรือแหลมเป็นติ่งสั้นๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอก ไม่ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอด ขนาดของดอกบานกว้าง ๑๐-๑๓ เซนติเมตร แต่ละดอกจะชิดกันเป็นกลุ่ม ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเป็นสีขาวอมชมพู ออกดอกช่วงฤดูร้อน มีชื่ออื่นๆ ว่า กาเสลา จ้อล่อ จะล่อ

เสลา (L. loudonii Teysm. et Binn.) เปลือกลำต้นสีน้ำตาลดำหรือสีคล้ำ แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว ปลายกิ่งย้อยลู่ลงสู่พื้น ใบมีขนปกคลุมประปราย ช่อดอกออกตามกิ่ง ตามง่ามใบและปลายกิ่ง แต่ช่อไม่ชูตั้งขึ้น เมื่อดอกในช่อบานจะชิดกัน ดอกสีชมพูอมม่วง ออกดอกช่วงฤดูร้อน ผลผิวเรียบเป็นมันสีน้ำตาลไหม้ มีชื่ออื่นๆ ว่า เสลาใบใหญ่ อินทรชิต

ตะแบก (L. floribunda Jack) เปลือกลำต้นสีเทา เรียบ ลื่น เป็นมัน มักมีรอยแผลเป็นหลุมตื้นคล้ายเปลือกต้นฝรั่ง ใบอ่อนมีขนปกคลุม ใบแก่เกลี้ยง ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง โค้งชูเหนือเรือนยอด มีดอกจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก บานเต็มที่กว้าง ๔-๕ เซนติเมตร ดอกในช่อเรียงกันห่างๆ ทำให้ช่อดอกโปร่ง ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเกือบเป็นสีขาวเมื่อดอกโรย ผลผิวเรียบเป็นมันสีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุมบางๆ ที่ส่วนปลาย ออกดอกในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-กันยายน)





โกจิเบอร์รี่
จากบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนของภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ผศ.ดร.ภญ.วีณา นุกูลการ และ น.ส.ธันย์ชนก ปักษาสุข ว่า โกจิเบอร์รี่ (Goji berry) หรือ Wolfberry มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycium barbarum วงศ์ Solanaceae หรือรู้จักกันในอีกชื่อว่า เก๋ากี้ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลเบอร์รี่ มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปเอเชีย ผลของโกจิเบอร์รี่มีสีแดงอมส้ม ขนาดเล็ก รสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณหลากหลาย ได้รับขนานนามว่าเป็น ซูเปอร์ฟรุต (super fruit)

โกจิเบอร์รี่เป็นพืชที่มีใยอาหารสูงถึงร้อยละ ๒๐ ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลายชนิด มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารสำคัญจำพวก ซีแซนทิน (zeaxanthin) และลูทีน (lutein) สูงมากกว่าผักและผลไม้ทั่วไป ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารทั้งสองนี้ได้ จำเป็น ต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งพบว่า ซีแซนทินและลูทีนเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ๒ ชนิดเท่านั้นที่พบในจุดรับภาพของจอตา

มีการศึกษาพบว่า ภายในจอประสาทตาของคนเรา มีร่องเล็กๆ อยู่จุดหนึ่งที่มีเซลล์รับภาพในจอประสาทตา เป็นจุดที่แสงตกกระทบและทำให้คนเราสามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนในแต่ละวัน ซึ่งบริเวณเซลล์รับภาพนี้มีสารสีเหลือง หรือลูทีน อยู่หนาแน่นมากที่สุด จะพบได้ตรงชั้นเนื้อเยื่อที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท หากบริเวณดังกล่าวเสื่อมหรือเสียไปอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยสารลูทีนในเซลล์รับภาพในจอประสาทตานี้จะทำหน้าที่สำคัญคือ คอยกรองแสงสีฟ้าซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา ทั้งแสงแดดจากดวงอาทิตย์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟ ฯลฯ

จากการศึกษาพบว่า ระดับลูทีน ๒.๐-๖.๙ มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดด่างในดวงตาได้ ทั้งลูทีนยังทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่นในดวงตาของคนเราอีกด้วย เพราะในดวงตาของเราจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพและทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตา ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้

ส่วนซีแซนทิน พบในโกจิเบอร์รี่ปริมาณสูง มากกว่าสาหร่ายเกลียวทองถึง ๕ เท่า ซีแซนทินเป็นองค์ประกอบสำคัญในจอตา โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า macular ซึ่งเป็นชั้นของเม็ดสี ทำหน้าที่กรองแสงที่จะผ่านเข้าสู่จอตาและช่วยลดการสะท้อนของแสง ป้องกันรังสีจากแสงแดดที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ทำให้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหลายชนิด เช่น โรคต้อกระจก โรคจอรับภาพเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ ผลโกจิเบอร์รี่ยังมีเบต้าแคโรทีน (beta carotene) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์อีกชนิดหนึ่ง พบว่าในผลโกจิเบอร์รี่มีปริมาณเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอต เบต้าแคโรทีนมีคุณสมบัติเป็นโปร วิตามินเอ คือเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ และจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอจากเอนไซม์ที่ตับ วิตามินเอจัดเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการมองเห็น บำรุงสายตา

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันเราอาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสีฟ้าได้ยาก เนื่องจากเป็นแสงที่อยู่รอบๆ ตัว รวมทั้งจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการบำรุงสุขภาพตาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งการปกป้องสายตาจากแสงสีฟ้า นอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงสีฟ้านานๆ การพักสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แล้ว การรับประทานสารที่มีฤทธิ์ปกป้องและบำรุงสายตา เช่น โกจิเบอร์รี่ ลูทีน และวิตามินเอ จะมีผลให้มีสุขภาพตาที่ดี โดยรับประทานได้จากอาหาร ผัก ผลไม้ นม





สารภี
สารภี ชื่อสามัญ Negkassar ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis T.Anderson จัดอยู่ในวงศ์ CALOPHYLLACEAE ชื่อท้องถิ่นอื่นมีเช่น สารภีแนน (เชียงใหม่), ทรพี สารพี (จันทบุรี), สร้อยพี (ภาคใต้) เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า ไทย อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย ในธรรมชาติพบในป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๐-๔๐๐ เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง ปลูกได้ดีทั้งในที่ร่มรำไรและที่กลางแจ้ง ในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ความสูงประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แตกกิ่งก้านแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาลถึงดำ แตกล่อนเป็นสะเก็ดตลอดลำต้น เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดง มียางสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลปนแดง เนื้อละเอียด เสี้ยนตรง ถี่ และสม่ำเสมอ แข็ง ทนทาน

ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนกว้างๆ บางทีอาจมีติ่งสั้นๆ หรือหยักเว้าแบบตื้นๆ โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ใบมีความกว้าง ๒-๕.๗ เซนติเมตร ยาว ๗.๕-๒๕ เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยงสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนาและค่อนข้างเรียบ เส้นแขนงของใบไม่มี แต่เห็นเส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ เซนติเมตร

ดอกสีขาวอมเหลือง ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง ดอกย่อยเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ดอกมีกลีบดอก ๔ กลีบ กลีบเลี้ยงมี ๒ กลีบ มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลสารภีลักษณะเป็นรูปกระสวย หรือกลมรี ขนาด ๒.๕-๕ เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลนิ่ม รับประทานได้ มีเมล็ดเดียว เป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

สารภีมีสรรพคุณ ดอกรสหอมเย็นใช้ผสมในยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงเส้นประสาท แก้วิงเวียนหน้ามืดตาลาย ชูกำลัง ช่วยทำให้เจริญอาหาร รักษาธาตุไม่ปกติ โลหิตพิการ ช่วยแก้ไข้มีพิษร้อน มีฤทธิ์ขับลม ใช้เป็นยาฝาดสมาน ทั้งนี้ ดอกสารภีจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งห้า" (ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเจ็ด" (เพิ่มดอกกระดังงา ดอกจำปา) และในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (เพิ่มดอกลำดวน ดอกลำเจียก) เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด แก้อาการหน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ แก้โรคตา แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยบำรุงครรภ์

ใบสารภีช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ ช่วยขับปัสสาวะ, ผลสุกมีรสหวาน นอกจากรับประทานเป็นผลไม้ ยังช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยขยายหลอดเลือด, เกสรหอมเย็น ใช้เป็นยาแก้ไข้ บำรุงครรภ์ ส่วนยางไม้ของต้นสารภีนำมาใช้แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย หรือจากน้ำลายของหอยบางชนิด

ดอกตูมของสารภีใช้สกัดทำสีย้อมผ้าสีแดง ดอกแห้งใช้ทำน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา แช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับใช้สรงน้ำพระในเทศกาลสงกรานต์ ส่วนดอกสดนำมา สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยนำไปใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง

โบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นสารภีไว้ จะทำให้มีอายุยืนยาวเหมือนเช่นต้นสารภีที่มีเนื้อไม้แข็งแรง ทนทาน เป็นไม้ไทยที่มีอายุยืน ทั้งเชื่อว่าดอกสารภีช่วยบำรุงสุขภาพจิต เพราะเป็นเครื่องยาบำรุงหัวใจ ทำให้ร่างกายเกิดอารมณ์เยือกเย็น มีอายุยืนยาวเช่นกัน และเพื่อความเป็นสิริมงคล ควรปลูกในวันเสาร์ (โบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์) และปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ป้องกันเสนียดจัญไร และผู้ปลูกควรเป็นสตรี เพราะสารภีเป็นชื่อที่เหมาะกับสตรี


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กุมภาพันธ์ 2561 17:47:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2561 18:10:04 »


เคป กูสเบอร์รี่

เคป กูสเบอร์รี่ (cape gooseberry) หรือ เรียกอีกชื่อว่า โทงเทง ฝรั่ง เป็นพืชในวงศ์ Solanaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับมะเขือ มะเขือเทศ มะเขือยาว และมันฝรั่ง เป็นไม้ล้มลุก กิ่งสีม่วง มีลักษณะเป็นครีบ มีขนปกคลุมหนาแน่น

ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ดอกห้อยลง ก้านผลยาวกว่าก้านดอก ผลสดแบบเบอร์รี่ รูปผล กลม สีเหลืองส้ม ผิวเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนจนเป็นผล เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก

เคป กูสเบอร์รี่ มีถิ่นกำเนิดจากพื้นที่สูงเขตร้อนในประเทศโคลัมเบีย เอกวาดอร์ เปรู ชิลี บราซิล

มีคำตอบจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า โทงเทงฝรั่ง หรือ เคป กูสเบอร์รี่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Physalis peruviana L. ขณะที่โทงเทงไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า P. angulata L. และ P. minima L. ทั้งโทงเทงฝรั่งและโทงเทงไทยเป็นพืชจัดอยู่ในวงศ์ Solanaceae พวกเดียวกับมะเขือ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน แต่ผลโทงเทงฝรั่งมีลักษณะโตกว่า ผลสุกสีเหลืองส้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว รับประทานได้ แต่โทงเทงไทยผลมีขนาดเล็ก กลิ่นและรสชาติไม่เป็นที่นิยมนำมารับประทาน

ผลสุกของโทงเทงฝรั่งอุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ มีคุณค่าทางโภชนาการ จัดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ ใน ๑ ถ้วย ๑๔๐ กรัม ให้พลังงานประมาณ ๗๔ กิโลแคลลอรี มีคาร์โบไฮเดรตจากความหวานของน้ำตาลและไฟเบอร์ มีโปรตีน อุดมไปด้วยวิตามินเอ และวิตามินซี

นอกจากนี้ ยังพบสารกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ส (flflavonoids) และ โพลีฟีนอลส์ (polyphenols) และมีข้อมูลระบุว่าน้ำมันที่สกัดจากเมล็ด เนื้อและผิวเปลือกของโทงเทงฝรั่งประกอบไปด้วยสารกลุ่ม ไฟโตสเตอ รอล (phytosterols) ซึ่งสารสำคัญต่างๆ เหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งมีกากใยช่วยในการขับถ่าย

ในต่างประเทศนิยมนำผลที่ต้มแล้วใส่ในพาย พุดดิ้ง ชัตนีย์ (chutney; เป็นเครื่องปรุงรสที่มีต้นกำเนิดจากอินเดียตะวันออก) และไอศกรีม มีการแปรรูปเป็นแยมหรือเยลลี่ สำหรับในประเทศไทยมีการแปรรูปเป็นน้ำคั้นบรรจุขวดออกมาจำหน่าย

นอกจากนี้ โทงเทงฝรั่งยังมีกลิ่นเฉพาะตัว จึงมีการศึกษาเพื่อพัฒนานำกลิ่นและน้ำมันจากผลโทงเทงฝรั่งมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร

สำหรับข้อควรระวัง มีงานวิจัยพบว่า หนูเพศผู้ในกลุ่มที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้นขนาด ๕,๐๐๐ ม.ก./ก.ก. จะมีระดับ troponin T และโพแทสเซียมสูงขึ้น และหนูเพศผู้ที่ได้รับผงแห้งจากน้ำคั้นทุกขนาดมีระดับ troponin I สูงขึ้น

ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ แสดงว่า โทงเทงฝรั่ง ในขนาดสูงอาจมีผลทำให้เกิดความเป็นพิษต่อหัวใจในหนูแรทได้ ดังนั้น อาจจะต้องระมัดระวังการรับประทานโทงเทงฝรั่งในปริมาณสูงในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติมต่อไป

ยังมีข้อมูลจากศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม ว่า เคป กูสเบอร์รี่ การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ป้องกันความเป็นพิษ และต้านเซลล์มะเร็ง เป็นต้น

สารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ สารในกลุ่ม withanolides เคป กูสเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งด้านคุณค่าทางอาหาร เพราะอุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี และยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำ





ดาวเรือง

ดาวเรือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. ชื่อสามัญ African marigold, American marigold, Aztec marigold, Big marigold จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ดาวเรืองใหญ่, คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง กิมเก็ก (จีน) เป็นต้น

เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของเม็กซิโก จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว ๑ ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ ๖๐-๑๐๐ เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่องทั้งต้น

เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก (อาจใช้การปักชำก็ได้ แต่ต้นที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่า) เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน

ดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันมี ๕ ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta) ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula) ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold) ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)

นางเอกของดาวเรืองคือดอกสวยงาม ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด สีเหลืองสดหรือเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ ๕ ก้าน

ดอกจะแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออก ปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว

ประโยชน์ ที่โดดเด่นคือนำดอกมาใช้ในงานการมงคลต่างๆ รวมถึงร้อยห้อยคอเป็นการต้อนรับบุคคล และปลูกประดับที่ทางให้สวยงามขึ้น ทั้งยังอาจปลูกเป็นเกราะป้องกันแมลงศัตรูพืชให้แก่พืชอื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็นฉุน แมลงไม่ชอบ

นอกจากนี้ ต้นและรากของดาวเรืองมีสารที่ช่วยป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดิน โดยใช้วิธีการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชที่มีปัญหาดังกล่าว เช่น แปลงยาสูบ มะเขือเทศ เยอบีร่า สตรอว์เบอร์รี่ และต้นดาวเรืองสามารถสะสมสารหนูได้มากถึง ๔๒% จึงมีประโยชน์ในการนำมาฟื้นฟูดินที่มีการปนเปื้อนสารหนูได้ดี

ดอกยังนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น ดอกตูมลวกจิ้มกับน้ำพริก แกล้มกับลาบ หรือใช้ดอกบานปรุงแบบยำใส่เนื้อ ทำน้ำยำแบบรสหวานคล้ายน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมัน เป็นต้น

ทางภาคใต้นิยมนำเป็นผักผสมในข้าวยำ ทั้งนี้ ดาวเรืองมีสารเบตาแคโรทีนจากธรรมชาติ ซึ่งคุณสมบัติของเบตาแคโรทีนจะทำหน้าที่โปรวิตามินเอ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ทั้งยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอด

นอกจากนี้ดอกยังสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลืองทอง และปัจจุบันยังมีการปลูกดาวเรืองเพื่อนำมาผลิตเป็นดอกดาวเรืองแห้ง ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารของไก่ไข่ จากที่มีผลงานวิจัยระบุว่า อาหารไก่ที่ผสมดอกดาวเรืองแห้งจะช่วยเพิ่มความเข้มสีของไข่แดง




ดอกเข้าพรรษา-หงส์เหิน

“ดอกเข้าพรรษา” นั้นหรือคือไม้ที่เรียกกันทั่วไปว่า “หงส์เหิน”

ตำนานเล่าว่า ครั้งสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้นาม สุมนะ ทุกเช้าจะนำดอกมะลิ ๘ ทะนานไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร โดยจะได้ทรัพย์เป็นค่าดอกไม้วันละ ๘ กหาปณะ วันหนึ่งขณะจะนำดอกไม้ไปถวายพระราชา เป็นช่วงเวลาพระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะ เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามากอยากจะถวายดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนานเป็นพุทธบูชา

สุมนะคิดว่า “ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้ในวันนี้ เราอาจถูกประหารหรือถูกเนรเทศ แต่ถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เราด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้ แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

คิดแล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต เขาโปรยดอกไม้ทั้ง ๘ ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้นสิ่งอัศจรรย์บังเกิดขึ้น ดอกมะลิทั้ง ๘ ทะนานไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ ๒ ทะนาน กลายเป็นเพดานดอกไม้แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก ๒ ทะนานแผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ ๒ ทะนานอยู่ข้างซ้าย ส่วนอีก ๒ ทะนานอยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืนกำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน

สุมนะเกิดความปีติปราโมทย์ยิ่ง และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่อง ก็ทรงชื่นชมและปูนบำเหน็จรางวัล ทำให้นายมาลาการสุมนะมีชีวิตสุขสบายขึ้น และคือที่มาของประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวาระเข้าพรรษา

โดยเฉพาะที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ที่ประเพณีตักบาตรดอกไม้นับเป็นเอกลักษณ์ หนึ่งในดอกไม้ที่นิยมใช้ในการนี้ คือ “ดอกเข้าพรรษา” หรือท้องถิ่นอื่นๆ เรียกว่า “หงส์เหิน” ตามรูปร่างของดอกและเกสรที่ดูเหมือนตัวหงส์กำลังจะบินในลีลาสง่างาม ทั้งมีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก ไม้เดียวกันนี้ยังมีชื่อเรียกว่า กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี กระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย)

ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชวงศ์ขิง ในสกุล Globba sp. พืชในสกุลนี้แต่ละชนิดจะมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสันสวยงาม ตั้งแต่ขาว ชมพู ม่วง เหลือง ดอกจะบานในช่วงพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้จำนวน ๔๐ ชนิด ชนิดที่นิยมนำมาตักบาตรเข้าพรรษาคือชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Globba winitii C.H.Wright. ซึ่งตั้งเป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร (พระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ) บิดาวงการพฤกษศาสตร์ไทย)

ดอกเข้าพรรษามีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นไม้พื้นล่างที่พบตามป่าโปร่งทั่วไป มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำเรียงอยู่รอบหัว ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินคือส่วนของกาบใบที่อัดกันแน่นทำหน้าที่เป็นต้นเทียม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียวยาว รูปใบหอกออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน ดอกเป็นช่อแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อจะโค้งและห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ

ประกอบด้วยดอกจริง ๑-๓ ดอกมีสีเหลืองสดใส ลักษณะคล้ายรูปตัวหงส์ยืนกำลังจะเหินบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับที่แตกต่างกันหลายรูปทรงและหลายสี ช่อดอกยาวประมาณ ๑๐-๒๐ ซ.ม.

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมเพิ่มเติมว่า ดอกเข้าพรรษาชอบขึ้นตามไหล่ภูเขาโพธิลังกา หรือเขาสุพรรณบรรพต เทือกเขาวง และภูเขาในเขตอำเภอพระพุทธบาท และที่น่าแปลกคือการผลิดอก ถ้ามิใช่เป็นฤดูกาลเข้าพรรษาแล้ว จะไม่ผลิดอกออกมาให้เห็นเลย ชาวบ้านจึงเรียกว่า ต้นเข้าพรรษา และดอกเข้าพรรษา โดยจะผลิดอกงอกใบออกมารับน้ำฝนก็ในฤดูกาลเข้าพรรษาของทุกๆ ปี

ชาวอำเภอพระพุทธบาทนิยมชมชอบที่จะเอาดอกเข้าพรรษาตักบาตรดอกไม้ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันเข้าพรรษา ณ ลานวัดพระพุทธบาท เมื่อพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตแล้วจะนำไปเป็นเครื่องสักการะวันทารอยพระพุทธบาทในพระมณฑป แล้วนำออกไปวันทาพระเจดีย์จุฬามณีที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งไปสักการะพระองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก่อนนำเข้าโบสถ์ประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษา


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2561 16:08:19 »


ลำดวน (White cheesewood)
Melodolum fruticosum Lour.
ANNONACEAE


ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ขนาดเล็ก สูง ๖-๑๒ เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกกิ่งและใบจำนวนมาก เนื้อไม้เหนียว

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีนวลแขนง ๑๒-๑๕ คู่ เห็นไม่ชัดเจนทั้งสองด้าน

ดอกเดี่ยว มีกลิ่นหอม ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมป้อม กลีบดอกเรียงเป็นสองชั้น กลีบดอกสีเหลือง เนื้อกลีบหนา รูปไข่ ปลายแหลม กลีบดอกชั้นในหนาและแข็งกว่ากลีบดอกชั้นนอก ห่อตัวเรียงชิดกันเป็นวงกลม

ผลเป็นแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย ๑๕-๒๐ผล ผลกลมรี ปลายผลมีติ่งสั้น ผลอ่อนสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ละผลมีเมล็ดเดียว

ดอกแห้ง มีสรรพคุณ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม  จัดอยู่ในเกสรทั้งเก้า คือ มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี บัวหลวง จำปา กระดังงาไทย ลำเจียก และลำดวน
มติชนสุดสัปดาห์



บอนเต่า
Hapaline benthamiana Schott
ARACEAE

บอนเต่า ไม้ล้มลุก สูง ๑๕-๓๐ เซนติเมตร มีลำต้นเป็นหัวใต้ดิน รูปทรงกลม

ใบเดี่ยว ออกจากหัวใต้ดิน รูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบรูปคล้ายติ่งหู ขอบใบหยักซี่ฟัน ออกจากหัวใต้ดิน ดอกช่อเชิงลด แยกเพศอยู่ร่วมต้น รูปทรงกระบอกยาว ก้านช่อดอกยาว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร กาบหุ้มช่อดอกส่วนบนรูปแถบ ยาว ๑๒-๑๘ เซนติเมตร ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้และเพศเมียสีขาว
ผลแบบ ผลสด

ตำรายาพื้นบ้านใช้หัวฝนทาถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



ลำเจียก
(Screw-pine, Padang)
Pandanus odorifer (Forssk.) Kuntze
PANDANACEAE

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นจะแตกเป็นกอใหญ่ สูง ๓-๖ เมตร บริเวณโคนต้นมีรากอากาศโผล่ออกมา ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน เกลี้ยง

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบยาว ปลายใบเรียวแหลมยาวคล้ายหาง สีเขียว คล้ายแผ่นหนัง ลักษณะคล้ายกับใบสับปะรด คือใหญ่ ยาวและหนา ขอบใบเป็นจัก มีหนามแหลม ท้องใบมีแกนกลาง  ดอกช่อ แยกเพศอยู่ต่างต้น กาบสีขาว เรียวแหลมยาวคล้ายหาง โผล่ออกมาจากกลางลำต้นพอดี   ซึ่งดอกนี้จะเริ่มบานในเวลาตอนเย็นและมีกลิ่นหอมฉุน

ดอกย่อยขนาดเล็ก รวมกันเป็นดอกช่อเชิงลดมีกาบคล้ายช่อแบบหางกระรอก ไม่มีก้านดอกย่อย  ช่อเชิงลดมีกาบหลักจำนวนมาก ช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก หุ้มด้วย  กาบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก อับเรณูเป็นติ่งแหลมติดรวมกับส่วนบน ช่อเชิงลดมีกาบเพศเมียหุ้มด้วยกาบ รังไข่ ๑ ช่อง เชื่อมติดกับดอก ไร้ยอดชูเกสรเพศเมีย ออวุลเดี่ยว ตั้ง

ผลรวม ทรงกลมแกมขอบขนาน สีแดง เปลือกแข็ง เมล็ดขนาดเล็ก   ราก รสเย็นและหวานเล็กน้อย  ตำรับยาโบราณ ปรุงเป็นยาแก้พิษเสมหะ พิษไข้ พิษเลือด ขับปัสสาวะ

รากอากาศที่โผล่ออกมาจากโคนต้นนั้น ปรุงเป็นยาแก้หนองใน แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัยไตพิการ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับนิ่ว แก้หนองใน แก้หมาดขาว (ระดูขาว) มีกลิ่นเหม็น ขับเสมหะ  ดอก แก้ลม บำรุงหัวใจ แก้ไข้

ใบใช้ในการทำสาด (เสื่อ)
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



กระพี้เครือ
Dalbergia rimosa Roxb. var. foliacea (Wall. ex Benth.) Thoth.
FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE)

ไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง ๑๐ เมตร  กิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย  ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน

ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งและใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมาก ขนาดเล็ก ใบประดับรูปไต ใบประดับย่อยทรงรี มน ร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว สีนวลแกมชมพูอ่อน  ผลเป็นฝัก รูปขอบขนานถึงขอบขนานแกมแคบ แบน ไม่แตก เมล็ดรูปไต แบน สีน้ำตาล

ยาพื้นบ้านอีสานใช้ลำต้นต้มน้ำดื่ม แก้ผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ ทำให้โรคกำเริบ อาจมีอาการท้องเสีย) ตกเลือด
   ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



หญ้าสองปล้อง
Desmodium velutinum (Willd.) DC. subsp. velutinum
FABACEAE

ไม้พุ่ม สูง ๖๐-๑๐๕ เซนติเมตร ลำต้นกึ่งตั้งกึ่งแผ่คลุมดิน ยอดของทรงพุ่มจะแผ่ออกด้านข้าง ลำต้นสีเขียวเข้ม โคนต้นหรือต้นแก่สีม่วงดำถึงน้ำตาลปนม่วงดำ ลำต้นมีขนสีน้ำตาลถึงขาวนวลปกคลุมหนาแน่น

ใบประกอบมีหนึ่งใบ ใบย่อยรูปไข่ หน้าใบและท้องใบมีขนปกคลุมหนาแน่น ขอบใบเป็นขนครุยสีน้ำตาล ดอกช่อกระจุกแยกแขนงออกตามซอกใบ กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง
ผลเป็นฝักยาว มีขนสีน้ำตาลปกคลุมหนาแน่นมาก ในแต่ละช่อมี ๑๒-๓๖ ฝัก หักออกเป็นข้อๆ ในแต่ละฝักมี ๑-๗ ข้อ

สารสกัดน้ำจากใบ มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



หลีงัน
Flemingia brevipes Craib
FABACEAE

ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง  ใบประกอบ มี ๓ ใบย่อย ใบย่อยบนรูปไข่ โคนใบสอบ ปลายใบแหลมติ่ง ใบคู่ล่างทั้งสองมีโคนใบเบี้ยว ช่อดอกแบบช่อกระจะ ๑๓-๒๗ ดอกต่อช่อ   ดอกรูปดอกถั่ว กลีบดอกกลาง สีเขียวมีลายเส้นสีม่วงแดงพาดตามยาว กลีบคู่ข้าง สีชมพูแก่ กลีบคู่ล่างสีเขียวอมน้ำตาลมีสีชมพูปน

ผลเป็นฝัก รูปค่อนข้างกลม ฝักสดสีน้ำตาลแดงมีเขียวปน ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม

ตำรายาพื้นบ้าน ราก ฝนทา แก้สารพัดพิษ แก้พิษงู

เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มของโค กระบือ และสัตว์ป่า
   ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



หางเสือ
Flemingia stricta Roxb. ex Aiton
FABACEAE

ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง ๑-๒ เมตร ใบประดับย่อยมีปริซึมรูปสามมุมและขนแนบแน่น

ใบประกอบ ใบย่อย ๓ ใบ รูปนิ้วมือ หูใบรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลมติดทน โคนใบรูปลิ่มกว้างถึงรูปกลมเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม

ดอกช่อรูปทรงกระบอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กลีบดอกสีม่วง กลีบกลางสีม่วงเข้ม กลีบดอกขนาดเกือบเท่ากัน กว้าง รูปขอบขนานถึงรูปเกือบทรงกลม รูปติ่งใบแคบ คล้ายก้าน

กลีบ เกลี้ยง ปลายเว้าตื้น กลีบคู่ข้างรูปไข่เบี้ยว คล้ายก้านกลีบยาว รูปติ่งใบ แหลม กลีบคู่ล่างรูปคล้ายทรงกลม คล้ายก้านกลีบยาว

ผลเป็นฝัก รูปรี มีขนสั้นนุ่ม ปลายเป็นติ่งหนามเบี้ยว ๒ เมล็ด สีน้ำตาลหรือดำ รูปขอบขนานหรือรูปทรงกลม

ยาพื้นบ้านอีสานใช้ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เลือดเสีย
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



กระดังงาไทย
Fragrant Cananga
Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Thomson var. odorata
ANNONACEAE

ไม้ต้น สูง ๖-๓๓ เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดรูปกรวย ปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเกลี้ยงสีเทา

ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปรีกว้างหรือรูปไข่

ดอกช่อแบบช่อกระจุก ออกเป็นกลุ่มตามกิ่ง ดอกอ่อนมีสีเขียว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเหลืองแกมเขียว มี ๖ กลีบ กลีบดอกอ่อนนุ่ม เรียวยาวและบิด กลิ่นหอมแรง

ผลกลุ่ม ผลย่อยรูปยาวรี เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีดำ เมล็ด ๔-๕ เมล็ด เมล็ดกลมแบน

ดอก มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ

ใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



มะลิลา
Jasminum sambac (L.) Aiton
OLEACEAE

ไม้พุ่มตั้งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย แขนงคล้ายทรงกระบอกหรือแบนข้างเล็กน้อย มีขนสั้นนุ่มประปราย

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงกลมถึงรูปรีหรือรูปไข่กลับ คล้ายกระดาษ เกลี้ยง

ดอกช่อแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด ดอกสีขาว มีใบประดับรูปลิ่มแคบ มีกลิ่นหอมมาก วงกลีบเลี้ยงรูปแถบ ๘-๙ พู ผลเป็นแบบผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีม่วงดำ  ในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖ ใช้ดอก เป็นตัวยาตรง แก้ลมวิงเวียน ยาประสะจันทน์แดง แก้ไข้ตัวร้อน กระหายน้ำ ยาเขียวหอม แก้ตัวร้อน ร้อนใน กระหายน้ำ ละลายน้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิ ยาหอมเทพจิตร แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่นยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน ละลายน้ำดอกไม้หรือน้ำสุก ยาหอมอินทจักร์ แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ

ข้อควรระวังในการใช้ : ดอก เป็นยารสหอมเย็น อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น

การดื่มน้ำลอยดอกมะลิเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันการปลูกและการดูแลรักษามะลิก็เพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่  จึงอาจมีการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก 
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



จำปา 
Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca
MAGNOLIACEAE

ไม้ต้น สูง ๑๐-๓๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ลำต้นตรง เปลือกต้นสีขาวปนเทา ค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม

ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ถึงรูปใบหอก

ดอกเดี่ยว สีเหลืองส้ม ออกตามง่ามใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน ๑๒-๑๕ กลีบ กลีบด้านนอกรูปหอกกลับ ปลายเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่รวมกันเป็นแท่ง

ผลแห้ง รูปรี หรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง

เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม

ดอก มีน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ จัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเจ็ดและเกสรทั้งเก้า

ใช้ในตำรับยาไทย ได้แก่ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์
   ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



ตีนฮุ้งดอย
Daiswa polyphylla (Sm.) Raf. var. chinensis (Franch.) M. N. Tamura
MELANTHIACEAE

ไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดิน สูงได้ถึง ๑ เมตร

ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบข้อ ๔-๙ ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบแหลม

ดอกเดี่ยว สีเหลืองแกมส้ม ออกที่ปลายยอด มีก้านดอกยืดยาว ๕-๓๐ เซนติเมตร ใบประดับ ๔-๖ ใบ กลีบดอกเป็นเส้นเล็กสีเขียว เกสรเพศผู้ ๑๐-๒๒ อัน แตกตามยาว

ผลลักษณะเป็นก้อนกลม ผิวเรียบ เมล็ดสีแสดแดง

ตำรายาพื้นบ้าน ใช้ หัวใต้ดิน รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นยาบำรุงกำลัง ห้ามเลือด รักษาแผลในกระเพาะ  รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ปวดหลังปวดเอว รักษาแผล และอาการฟกช้ำ 
   ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์



บุนนาค
Mesua ferrea L.
CALOPHYLLACEAE (GUTTIFERAE, CLUSIACEAE)

ไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เรือนยอดคล้ายกรวย ลำต้นตรง โคนลำต้นมักเป็นร่องคล้ายพูพอน ยอดอ่อนสีแดงออกชมพู

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบมน ใบด้านล่างมีนวลขาว

ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ ออกที่ยอดหรือซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกสี่กลีบ รูปไข่กลับ ปลายเว้าตื้น โคนสอบ สีขาวหรือขาวแกมชมพู ผลสด ทรงรี

ยาสามัญประจำบ้าน ใช้ดอกบุนนาค ในสรรพคุณ บำรุงหัวใจ โดยเป็นส่วนผสมในตำรับยา ได้แก่ ยาประสะจันทน์แดง ยาเขียวหอม ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมนวโกฐ เป็นต้น
  ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #23 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2561 14:22:05 »



พรรณไม้ใกล้ฝั่ง...
รุ่ย หรือถั่วขาว

รุ่ย (Blume)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bruguiera cylindrica (L.) Bume.

ชื่อพื้นเมือง : ถั่วขาว

ชื่ออื่น : ถั่วแดง, ประสักขาว (จันทบุรี); โปรง, โปรย (มลายู – ใต้); ปรุ้ย (มลายู – สตูล); รุ่ย(เพชรบุรี)

วงศ์ : RHIZOPHORACEAE

ต้นรุ่ยเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก – ขนาดกลาง สูง   ๕- ๑๐  เมตร พูพอนน้อยแต่บริเวณโคนต้นขยายออก สำหรับช่วยพยุงลำต้น เรือนยอดแน่นทึบรูปปิรามิด

ใบ : ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับทิศทาง แผ่นใบรูปรี ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมขอบใบม้วนลง เส้นกลางใบสีเขียว เส้นใบเว้าลงมองเห็นได้ชัดเจน เส้นใบ  ๗  คู่ ผิวใบด้านบน สีเขียวเข้มท้องใบสีจางกว่า เกลี้ยงทั้งสองด้าน

ดอก : ออกเป็นช่อ กระจุกที่ง่ามใบ ช่อละ   ๓  ดอก ก้านช่อดอก สีเขียวอ่อน มีก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงรูประฆัง โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ผิวเรียบสีเขียว ปลายแยกเป็น  ๘  แฉก กลีบเลี้ยงยาวเท่าหลอด ปลายกลีบโค้งกลับ กลีบดอก  ๘  กลีบ สีขาวรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น   ๒  แฉก ขอบกลีบมีขนสีขาว ปลายกลีบมีขนแข็งสีน้ำตาล   ๒-๓ เส้น  เกสรเพศผู้มีจำนวน สองเท่าของกลีบ ติดอยู่บนขอบของ กลีบเลี้ยง ก้านเกสร สั้นมาก เกสรเพศเมียรังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี  ๒- ๕ ห้องติดกัน มีเม็ดไข่ห้องละ  ๒  เม็ด ยอดเกสรมีสภาพคงทน

ผล : เป็นผลแบบงอกตั้งแต่ติดอยู่บนต้น ผลสีเขียว กลีบเลี้ยงหุ้มผลรูปดาว กลีบโค้งกลับงอขึ้นไม่หุ้มผล ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ”ฝัก” รูปทรงกระบอกเรียวโค้ง ผลอ่อนสีเขียว และเป็นสีน้ำตาลอมม่วงและเมื่อฝักแก่เต็มที่มีร่องตามความยาวของฝัก

ลักษณะเด่น หนึ่งช่อดอกมีเพียง  ๓   ดอกเท่านั้น และผลมีกลีบเลี้ยงงอขึ้น

ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี


รุ่ย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มักขึ้นอยู่บริเวณน้ำกร่อยแถบป่าชายเลน แทรกตัวอยู่กับต้นโกงกาง มองจากภายนอกต้นรุ่ยกับโกงกางจะมีลักษณะไม่ค่อยแตกต่างกันนัก

ต้นรุ่ยมักขึ้นอยู่ริมฝั่งตามคันวังของชาวบ้าน คนเก่าแก่หลายคนบอกว่านับวันรุ่ยเริ่มหายากขึ้นทุกที คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ค่อยรู้จักแล้ว แม้รุ่ยจะนำมาประกอบอาหารทั้งคาวหวานได้แต่ก็ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะทำยาก แต่ลำต้นนิยมนำมาทำเป็นฟืนใช้ประกอบอาหาร คุณสมบัติเหมือนกับฟืนที่ทำจากต้นโกงกาง

เปลือกของลำต้นรุ่ยค่อนข้างหยาบ รากจะโผล่ขึ้นเหนือดิน ดอกออกเป็นช่อมีสีเขียวอ่อน ผลของรุ่ยยาวเรียวเป็นฝักคล้ายฝักถั่ว ถ้าผลยังอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่จนร่วงลงใต้โคนต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมม่วง รสชาติของฝักรุ่ยแบบอ่อนจะขม ฝาด คนไม่นิยมกินเพราะรสขมที่ติดลิ้นเหมือนกับบอระเพ็ดนั่นเอง  แม้ฝักแก่ที่ร่วงอยู่ตามโคนต้นจะนำมาประกอบอาหารได้แต่ก็ต้องผ่านการทำให้รสฝาดที่หลงเหลืออยู่หายไปเสียก่อน ที่นิยมทำมากที่สุดคือการนำไปเชื่อม

ในการนำฝักรุ่ยไปประกอบอาหารทุกครั้งต้องผ่านการขูดเปลือกออกเสียก่อนจนเห็นเนื้อข้างในฝัก การขูดเปลือกก็แสนยากเพราะต้องใช้กระเบื้องที่แตกขูดออก หากใช้มีดที่มีความคมมากกว่ากระเบื้องจะเฉือนเนื้อของฝักรุ่ยออกไปหมดเสียก่อน จากนั้นนำไปแช่น้ำปูนใสก่อนเอาไปต้มจนความฝาดนั้นหาย  เราถามชาวบ้านว่าเมื่อไรจะรู้ว่าหายฝาด คำตอบที่ได้คือต้มไปสัก ๓ น้ำก็รู้เรื่องแล้ว แถมยังให้เคล็ดลับว่าควรใส่ขี้เถ้าลงไปในน้ำด้วย เพราะขี้เถ้ามีคุณสมบัติช่วยทำให้รุ่ยนั้นหายฝาดได้ บางคนก็กะเวลาเป็นวันเพื่อให้ฝักรุ่ยลาขาดจากความฝาดของมัน ก่อนนำไปประกอบอาหารตามกรรมวิธี

แม้ส่วนต่างๆ ของรุ่ยจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก  


ที่มา :
- หนังสือแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและของดี จังหวัดสมุทรปราการ  ฉบับประจำเดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๕๖๑, จัดทำโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ
- เว็บไซต์ bangpakongramsar.blogspot.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤศจิกายน 2561 14:25:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #24 เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2561 15:09:01 »



ว่านเปรี้ยว  
Boesenbergia collinsii Mood & L. M. Prince
ZINGIBERACEAE

ไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร รากตั้งตรง
ใบ เดี่ยว เรียงสลับ สีเขียว รูปไข่ ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบรูปหัวใจ ผิวบนเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบสีจางกว่า
ดอก ช่อออกจากเหง้าไร้ใบ มีก้านช่อดอกหุ้มด้วยกาบกว้าง จำนวนน้อย กาบยาวที่สุดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ดอกย่อย ๓-๖ ดอก ทยอยบานครั้งละดอก วงกลีบดอกยาวได้ถึง ๔ เซนติเมตร พูกลีบรูปใบหอก
ผล แห้งแตก รูปขอบขนาน มี 3 ลิ้น เมล็ดสีดำ เยื่อหุ้มเมล็ดจักเป็นครุย
สรรพคุณ เหง้า ช่วยขับลม 
 



ชงโคขี้ไก่  
Lasiobema harmsianum (Hosseus) de Wit var. harmsiana
FABACEAE

ไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือเกาะ กิ่งอ่อนมีขนกำมะหยี่ เปลี่ยนเป็นเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปคล้ายทรงกลม ปลายใบเป็นพูกลม โคนใบรูปหัวใจ ผิวบนเป็นเกลี้ยง ท้องใบเกลี้ยงถึงมีขนประปรายโดยเฉพาะที่เส้นใบ หูใบร่วงง่าย ก้านใบเกลี้ยง
ดอกช่อกระจะ ออกที่ปลายยอดและซอกใบ เป็นช่อเดี่ยว ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยมาก ขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวแกมสีเหลือง รูปช้อน ขอบใบเป็นคลื่นถี่ ก้านกลีบสั้น
ผลเป็นฝักแบน ๖-๗ เมล็ด
ตำรายาไทยใช้ เถา ถอนพิษ แก้ไข้
เมล็ด ถ่ายพยาธิ แก้ไข้เซื่องซึม มีอาการหน้าหมองเนื่องจากพิษไข้ แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ แก้พิษฝี
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ลำต้น ต้มน้ำหรือฝนน้ำดื่ม แก้บิด 




บุษบง  
Boesenbergia pulcherrima (Wall.) Kuntze
ZINGIBERACEAE

ไม้ล้มลุกมีเหง้า ลำต้นเรียวยาว สูง ๓๐ เซนติเมตรหรือมากกว่า
มีกาบ ใบมีได้ถึง ๖ ใบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ปลายใบเรียวแหลมสั้น โคนใบรูปลิ่มและเป็นครีบ
ดอกช่อกระจุก ออกที่ปลายยอด หุ้มด้วยใบประดับ กลีบข้างแต่ละด้านถึงโคนของกลีบปาก สีขาว
ผลแห้งแตก ทรงรี เปลือกหนา
เหง้า ต้มน้ำดื่ม ขับลม
ใบอ่อน รสเปรี้ยว รับประทานได้ ปลูกเป็นไม้ประดับ 




เพชรสังฆาต  
Cissus quadrangularis L.
VITACEAE

ไม้ล้มลุกเลื้อย แตกกิ่งมาก ยาว ๑-๒ เมตร กิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเขียว ผิวเรียบ มีรอยคอดตามข้อ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ บริเวณปลายเถา รูปหัวใจ รูปไข่ หรือรูปสามเหลี่ยม เนื้อใบค่อนข้างหนา ตรงข้ามใบมีมือเกาะ ปลายใบมน โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบหยักซี่ฟัน
ดอกช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ตรงข้ามใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก สมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเขียวแกมเหลือง
ผลสดมีเนื้อ หลายเมล็ด รูปกลม
ยาสามัญประจำบ้านใช้เถาเพชรสังฆาตเป็นยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก
ตำรายาไทยใช้ เถาสด กินแก้ริดสีดวงทวาร วันละ ๑ ปล้อง จนครบสามวัน
โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียกหรือเนื้อกล้วยสุกหุ้ม กลืนทั้งหมด เพราะว่าเถาสดอาจทำให้คันคอ 




ขิงขาว  
Globba substrigosa King ex Bake
ZINGIBERACEAE

ไม้ล้มลุก หลายปี สูง ๑๐-๒๐ เซนติเมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีกว้าง ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนกว้าง ผิวบนมีขนละเอียด ผิวใบล่างนวลมีขนละเอียด เกือบไร้ก้านใบ ขอบใบย่นเล็กน้อย ลิ้นใบและกาบใบสีขาว ใบประดับคล้ายใบ
ดอกช่อเชิงลด หุ้มด้วยกาบใบด้านในสองกาบ ส่วนวงกลีบดอกรูปไข่ กลีบปากสีขาวนวล ปลายมนเว้า
ผลแห้งแตก ทรงรี มีขนสั้นนุ่ม
ตำรายาพื้นบ้านใช้ เหง้า ป้องกันอาการท้องอืด 




หมูกลิ้ง  
Eulophia andamanensis Rchb. f.
ORCHIDACEAE

ไม้ล้มลุกชนิดกล้วยไม้ดิน สูงได้ถึง ๑๐ เซนติเมตร
ใบ รูปแถบ เรียงสลับ โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม
ดอก ช่อกระจะ ออกที่เป็นช่อตั้ง กลีบดอกรูปแถบแกมใบหอก สีเขียวแกมน้ำตาลแดง กลางกลีบมีสามสัน ขอบกลีบบิดงอเป็นคลื่น
ผล แห้งแตก ทรงแบน ขอบขนานแต่กว้างออกที่ส่วนบน ปลายตัดกว้างมีจะงอยแหลมอยู่ตรงมุมส่วนล่างของฝัก สีน้ำตาล
ตำรายาพื้นบ้านใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ฝีหนอง




ตะคร้อ  
ตะคร้อ ชื่อวิทยาศาสตร์ Schleichera oleosa (Lour.) Merr ผลไม้พื้นบ้านของไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นทรงพุ่ม ใบประกอบแบบขนนก ก้านยาวออกเรียงสลับบนกิ่ง ใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะทรงขนานยาว ก้านใบย่อยสั้น ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีน้ำตาลแเดง มีขนอ่อนๆ ใบแก่สีเขียว ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกสีเหลืองนวล ผลอยู่เป็นพวง ลักษณะทรงกลม ปลายจะงอยแหลมแข็ง ผิวเปลือกหนาเรียบ เปลือกล่อน ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเขียวอมน้ำตาลหรือสีน้ำตาล เนื้อสีเหลืองใสนุ่มฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแข็งอยู่ข้างในเนื้อ รสชาติเปรี้ยวจัด ปลูกตามท้องถิ่นในประเทศไทย

ปลูกได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ดินร่วนปนทราย ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ชอบแสงแดด
ที่มา อาทิตย์ละต้น นสพ.ข่าวสด


มะงั่ว  
มะงั่ว  ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus ichangensis Swingle เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านต่ำ มีหนามแหลมยาว เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ใบประกอบมีใบย่อย ๑ ใบ ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบจักมน แผ่นใบเรียบสีเขียวเข้มและมีจุดน้ำมัน ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ๓-๔ ดอก สีชมพูอมม่วง กลีบดอกมี ๕ กลีบ ผลค่อนข้างกลม ผิวมีจุดน้ำมัน ข้างในผลแบ่งเป็นช่อง เนื้อผลเป็นเม็ดใส รสเปรี้ยว

สรรพคุณ น้ำในผลฟอกโลหิตระดู แก้ไอ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน รากกระทุ้งพิษ แก้พิษผิดสำแดง แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ 
   ที่มา อาทิตย์ละต้น นสพ.ข่าวสด


แก้วมังกร  
แก้วมังกร หรือ Dragon Fruit ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylocereus undatus (Haw) Britt.Rose. เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุกในตระกูลกระบองเพชร เป็นไม้เลื้อยอายุยืน ผลลักษณะทรงกลมหรือทรงรี ผิวเปลือกหนาสีแดงหรือสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงอยู่บนผล เนื้อสีขาวหรือสีแดงตามสายพันธุ์ เนื้อนุ่มชุ่มน้ำ ข้างในเนื้อมีเมล็ดสีดำเล็กๆ มากมาย รสชาติหวานเย็น มีกลิ่นหอม นิยมปลูกสามสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง พันธุ์เนื้อขาวเปลือกเหลือง และพันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง

ลำต้นคล้ายต้นกระบองเพชร มีลักษณะสามเหลี่ยมเป็นแฉกๆ เปลือกผิวลื่นอวบน้ำ ขอบเหลี่ยมมีรอยหยักมีหนาม ลำต้นเป็นปล้องต่อกันสีเขียวเข้ม รากฝอย ลักษณะกลมขนาดเล็กสีน้ำตาลแทงลงในดินหรือออกตามกิ่งข้างบน ดอกเดี่ยวรูปทรงกรวย เมื่อดอกบานคล้ายปากแตร กลีบดอกสีขาว กลีบเลี้ยงแข็งสีเขียวอ่อน กลิ่นหอม ออกดอกที่ปลายยอดของกิ่ง
   ที่มา อาทิตย์ละต้น นสพ.ข่าวสด
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #25 เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2562 16:03:54 »

.


การะเกด

การะเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius Blume ชื่ออื่น การะเกดด่าง ลำเจียกหนู เตยดง เตยด่าง เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๓-๗ เมตร ลำต้นมักแตกกิ่งก้านสาขา มีรากอากาศค่อนข้างยาว และใหญ่ ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันเป็น ๓ เกลียวที่ปลายกิ่ง รูปรางน้ำ กว้าง ๐.๗-๒.๕ ซ.ม. ยาว ๓-๙ ซ.ม. ค่อยๆ เรียวแหลมไปหาปลาย ขอบมีหนามแข็งยาว ๐.๒-๑ ซ.ม. แผ่นใบด้านล่างนวล ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ออกตามปลายยอด มีจำนวนมาก ติดบนแกนของช่อ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้ตั้งตรง ยาว ๒๕-๖๐ ซ.ม. มีกาบสีนวลหุ้ม กลิ่นหอม ผลเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๒๐ ซ.ม. เมื่อสุกหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางสีแสด ตรงปลายยอดสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วมีโพรงอากาศจำนวนมาก

สรรพคุณ ดอก ปรุงยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ดอกหอมรับประทานมีรสขมเล็กน้อย แก้โรคในอก เช่น เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงธาตุ อบกลิ่นเสื้อผ้าให้หอม วิธีใช้ นำดอกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู ปรุงเป็นน้ำมันใส่ผม นำดอกเข้ายาหอมบำรุงหัวใจ




กาหลง

กาหลง ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia acuminata Linn. ชื่อเรียกอื่น กาแจ๊ะ กูโด ส้มเสี้ยว เป็นไม้พุ่มสูงได้ถึง ๓ เมตร กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปมน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ปลายใบแหลมเป็นสามเหลี่ยม ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลเทาปกคลุมตามเส้นใบ ขนาดใบกว้างได้ถึง ๑๓ ซ.ม. ก้านใบยาว ๓-๔ ซ.ม. มีขนประปราย ดอกสีขาวออกเป็นช่อที่ด้านข้างและปลายกิ่ง แต่ละช่อมีประมาณ ๓-๑๐ ดอก โดยจะเปลี่ยนกันบานคราวละ ๒-๓ ดอก กลีบดอก ๕ กลีบซ้อนเหลื่อมกัน ดอกบานกว้าง ๕-๘ ซ.ม. ผลเป็นฝักแคบแบน กว้าง ๑.๕ ซ.ม. ยาว ๑๑ ซ.ม. เมล็ดมี ๕-๑๑ เมล็ด ลักษณะแบน

ปลูกทั่วไปในประเทศไทยแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยขึ้นได้ดีทุกภาค เป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นกลางแจ้ง ออกดอกตลอดปี

ชาวบ้านทางภาคเหนือนิยมปลูกเพราะถือกันว่ามีคุณแก่เจ้าของ โดยนำมาปลูกเป็นไม้ในบ้านและประดับตามข้างทาง




ปีบ-กาสะลอง

ปีบ-กาสะลอง
กาสะลอง คือชื่อในภาษาล้านนาของ ปีบ ชื่อสามัญ Cork tree, Indian cork ชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis L.f. จัดอยู่ใน วงศ์แคหางค่าง (BIGNONIACEAE) และมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกเช่น เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กาสะลอง กาดสะลอง กาสะลองคำ (ภาคเหนือ), ปีบ ก้องกลางดง (ภาคกลาง) กางของ (ภาคอีสาน) เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของพม่าและไทยที่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปีบเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ความสูงประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกระบอก กิ่งก้านมักจะย้อยลง เปลือกต้นสีน้ำตาลแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ เนื้อหยุ่นคล้ายไม้ก๊อก รากเกิดเป็นหน่อเจริญเป็นต้นใหม่ได้ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ๒-๓ ชั้น ใบย่อยรูปไข่แกมรูปหอก ยาว ๒.๕-๘ ซ.ม. กว้าง ๑.๕-๓ ซ.ม. แผ่นใบบางเรียบ ขอบใบหยัก ฐานใบมน ปลายใบแหลม

ดอกสีขาวนวล หรืออมชมพู กลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนตามปลายกิ่ง ช่อดอกขนาดใหญ่ ยาว ๑๐-๓๕ ซ.ม. มีขน กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก ๕ แฉก ปลายมนกว้างม้วนลง เป็นหลอดยาวปลาย ๔ แฉก มี ๑ กลีบที่ปลายเป็น ๒ แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง ๓.๕-๔ ซ.ม. ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ผลแห้งแตกเป็นฝักแบนและตรง สีน้ำตาล หัวท้ายแหลม กว้าง ๑.๕-๒.๓ ซ.ม. ยาว ๒๕-๓๐ ซ.ม. เมล็ดแบนมีปีกเป็นเยื่อบางใส

สรรพคุณ ดอก รสหวานขมหอม เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงโลหิต เพิ่มการหลั่งน้ำดี ใช้เป็นยารักษาไซนัสอักเสบ ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก โดยใช้ดอกที่ตากแห้งแล้วนำมามวนเป็นบุหรี่สูบเพื่อรักษาอาการ ทั้งช่วยขยายหลอดลม รักษาอาการหอบหืด หอบเหนื่อย ทำให้ระบบการหายใจดีขึ้น และใช้เป็นยาแก้ลม, รากรสเฝื่อน บำรุงปอด ช่วยรักษาวัณโรค แก้ไอ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากโครง การสมุนไพรเพื่อ การพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaiof.org ระบุว่า ปีบ ไม้ดอกหอมไทยเป็นทางเลือกใหม่ของคนเลิกเหล้า โดยสรรพคุณของปีบที่หมอไทยทุกภาครู้จักกันดีก็คือ ดอกปีบนำมาตากแห้งประมาณ ๑๐ ดอก แล้วมวนเป็นบุหรี่แก้หืดหอบ รักษาริดสีดวงจมูกและไซนัสอักเสบได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์มาช้านาน ก่อนที่จะมีการพบว่าในดอกปีบมีสารหอมระเหย ฮีสไปดูลิน (Hispidulin) ที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ดีกว่ายาอะมิโนฟิลลีน (Aminophyllin) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาโรคหืด และข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือ สารสำคัญในดอกปีบไม่พบความเป็นพิษเลย

แต่เรื่องที่หมอยาชาวไทยน้อยอย่างเราๆ ยังไม่ค่อยรู้ แต่หมอชาวไทยใหญ่และหมอชาวล้านนารู้จักกันดีก็คือ ฤทธิ์ยับยั้งการดื่มสุราของกาสะลอง โดยนำกิ่งแก่หรือแก่นต้นสดมาสับให้ป่นเท่าที่ทำได้ ตากแห้งแล้วตำเป็นผงเก็บไว้กินกับกระสายน้ำผึ้ง ครั้งละ ๑ ช้อนชา วันละ ๑-๒ ครั้ง หรือจะปั้นเป็นลูกกลอน กินเป็นประจำครั้งละ ๕ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ภายใน ๗ วัน อาการอยากเหล้าจะคลายไปเองโดยไม่มีอาการลงแดง มือสั่น ใจสั่น ยังช่วยลดความดันโลหิตสูงด้วย ถ้าไม่ทำเป็นผงหรือลูกกลอนก็อาจนำแก่นแห้งมาต้มกินก็ได้




เลา

เลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum spontaneum L. เป็นไม้ล้มลุก อายุปีเดียวหรือหลายปี ความสูง ๑-๒ เมตร ลำต้นขึ้นเป็นกอและมีเหง้าแตกแขนงเป็นวงกว้าง ใบแคบเรียว ยาว ๑.๐-๑.๕ เมตร ปลายเรียวแหลม ช่อดอกใหญ่ แตกแขนงเป็นช่อย่อยจำนวนมาก มีขนยาวสีขาวเงิน เมื่อติดเมล็ดจะหลุดปลิวไปกับลมได้ง่าย ออกดอกช่วงฤดูหนาว

เจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป น้ำปานกลาง ไม่ขังแฉะ แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าหรือเพาะเมล็ด พบได้ริมทาง ข้างถนนและริมน้ำทั่วไปในที่ราบต่ำ เป็นสมุนไพร ต้นต้มน้ำกินแก้ฝีหนอง รากต้มกินเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะแก้โรคผิวหนัง คำเปรียบเปรย "สีดอกเลา" ก็มาจากหญ้าต้นไม้นี้




กาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f. เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงถึง ๒๐ เมตร โคนมีพูพอน เปลือกสีดำ แตกเป็นร่องลึก กิ่งอ่อนหรือช่อดอกมีขนสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยมี ๑๐-๒๐ คู่ ใบอ่อนสีแดง แผ่นใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ ซ.ม. ยาว ๓-๕ ซ.ม. ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีขน ดอกเริ่มบานสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพู

ผลเป็นฝัก ฝักแก่แห้งไม่แตก ค่อนข้างกลม รูปทรงกระบอก โคนและปลายสอบ เปลือกหนาแข็ง ขรุขระ ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้ง ๒ ข้าง เมล็ดอ่อนสีครีม เมล็ดแก่สีน้ำตาล มีจำนวน ๒๐-๔๐ เมล็ด มีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกากลาง นำมาปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อน ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

เนื้อในฝักปรุงรับประทานเป็นยาระบายอ่อนๆ เปลือกและเมล็ดรับประทานทำให้อาเจียน เป็นยาถ่ายพิษไข้ได้ดี




กุ่มน้ำ

กุ่มน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva religiosa G.Forst. เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง ๒๐ เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ สีเทา จะผลัดใบร่วงหมดทั้งต้นเมื่อจะออกดอก ใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบย่อย ๓ ใบ รูปวงรีหรือรูปไข่ ออกเรียงสลับ กว้าง ๒.๕-๗ ซ.ม. ยาว ๕.๕-๑๖ ซ.ม. ปลายกว้างแหลม โคนสอบแคบ ขอบใบเรียบ ผิวใบบางและนิ่ม หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบมีขนอ่อนสีเทา เส้นกลางใบอมแดง ปลายก้านใบมีต่อมน้ำตาล ใบที่อยู่ด้านข้างโคนจะเบี้ยวเล็กน้อย หลังใบและท้องใบเรียบ ดอกช่อออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ยาว ๔-๖ นิ้ว ติดดอก ๒๐-๖๐ ดอก กลีบดอกเมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบรองดอกรูปไข่ปลายแหลม ผลสดรูปร่างค่อนข้างกลมรี เปลือกหนา ผลอ่อนผิวมีสะเก็ดสีเหลืองอมเทา เมื่อสุกสีเทา ผลแก่ผิวเรียบยาว ๕-๘ ซ.ม. เมล็ดรูปเกือกม้ายาว ๖-๙ ม.ม. มีหลายเมล็ด

พบตามข้างลำธาร ริมแม่น้ำ ที่ชื้นแฉะ ในป่าเบญจพรรณ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน ยอดอ่อนใช้ปรุงอาหารได้ แต่ต้องนำมาดองน้ำเกลือตากแดด ทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ วัน แล้วจึงนำไปปรุงอาหารโดยผัดหรือแกง




พุดน้ำบุษย์

พุดน้ำบุษย์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia carinata Wallich เป็นดอกพุดอีกชนิดหนึ่งที่สวยงาม มีกลิ่นหอมแรง ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกลประมาณ ๒-๓ เมตรตลอดทั้งวัน แต่จะหอมมากที่สุดในตอนค่ำ เป็นไม้ทรงพุ่มเตี้ย แน่น แตกกิ่งก้านตามข้อของลำต้นแบบต่ำๆ มากมาย กิ่งเปราะหักได้ง่าย ลำต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียว

ความสูงของลำต้นประมาณ ๑-๓ เมตร ใบรูปทรงรี ออกเป็นใบเดี่ยวแบบตรงกันข้าม ผิวใบมัน ส่วนบนใบมี สีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวอ่อน ความกว้างยาวของใบประมาณ ๕-๑๑ ซ.ม. มีเส้นกลางใบเด่นชัด แผ่นใบหนา ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยวออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกมีลักษณะคล้ายช้อน ยาวประมาณ ๒ ซ.ม. มีประมาณ ๗-๘ กลีบ

เมื่อดอกแรกบานสีขาวนวลและมีกลิ่นหอมมาก ในวันต่อๆ มาจะค่อยๆ กลายเป็นสีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองเข้ม ดอกจะบานอยู่บนต้นได้นานถึง๗ วัน ออกดอกตลอดทั้งปี ช่วงฤดูฝนให้ดอกมากที่สุด

ขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด



http://i1251.photobucket.com/albums/hh558/moveetwanida/rosemary.jpg
พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล

โรสแมรี่

โรสแมรี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosmarinus officinalis L. มีถิ่นกำเนิดในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปตอนใต้ เป็นไม้ดอกอายุหลายปี ลำต้นพุ่มสูง ๑-๒ เมตร มีทั้งชนิดพุ่มและชนิดเลื้อย ลำต้นและใบมีขนนุ่มสั้นสีขาว ใบรูปแถบ ปลายแหลมคล้ายเข็ม ใบสีเขียวสดหรือเขียวอมเทา ก้านใบสั้น มีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกรูปปากเปิด ขนาด ๑ ซ.ม. กลีบดอกสีฟ้าอมม่วง (พบบ่อย) ขาว และชมพู ผลมีเปลือกแข็งสีน้ำตาลอ่อน มี ๑ เมล็ด

ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์ ทนดินเค็ม แสงแดดเต็มวัน ชอบอากาศเย็น น้ำปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง เพาะเมล็ด

การใช้งาน ปลูกเป็นไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ไม้คลุมดิน (ชนิดเลื้อย) ใบใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เป็นส่วนผสมของยา เครื่องสำอาง มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน ใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกเนื้อ ชา และไวน์ นิยมปลูกเป็นสมุนไพรในสวนครัว




พอยน์เซตเทีย

พอยน์เซตเทีย หรือที่คนไทยเรียกว่าต้นคริสต์มาส ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia pulcherrima ชื่ออื่นๆ โพผัน บานใบ สองระดู อยู่ในวงศ์ใกล้เคียงกับโป๊ยเซียน แต่ไม่มีหนาม

เป็นไม้พุ่มสูง ๑-๓ เมตร ใบคล้ายรูปไข่ปลายแหลม ขอบใบหยัก ๒-๓ หยัก ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อที่ยอดโดยมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนช่อเดียวกัน เป็นไม้พุ่มเนื้ออ่อน ขนาดต้นมีความสูงตั้งแต่ ๐.๖ ถึง ๔ เมตร ลำต้น มีน้ำยาง ใบสีเขียวแก่ เมื่ออากาศเย็นยอดใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม แต่อาจมีพันธุ์ผสมสีอื่นๆ เช่น สีเขียวอ่อน สีครีม สีชมพู สีส้ม สีขาว สีม่วง

เป็นไม้ดอกพื้นเมืองของอเมริกาใต้ แถบเม็กซิโกและกัวเตมาลา เข้ามาแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๒๘ โดยโจเอล โรเบิร์ตส์ พอยเซตต์ อดีตทูตสหรัฐอเมริกาประจำเม็กซิโก ในประเทศไทยต้นคริสต์มาสมีแหล่งเพาะพันธุ์ในเขตพื้นที่อากาศเย็น เช่นที่ภูเรือ จังหวัดเลย




รักเร่

รักเร่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Dahlia hybrids ถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก โคลัมเบีย มีทั้งชนิดอายุหลายปี และชนิดอายุสั้น ชนิดอายุหลายปี มีพุ่มสูง ๐.๗๐-๑.๒๐ เมตร ชนิดอายุสั้นมีพุ่มสูง ๓๐-๔๕ ซ.ม. ใบรูปไข่แกมรี ขอบจักฟันเลื่อยหรือหยักลึกสุดแบบขนนก แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม ดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ขนาด ๔-๑๕ ซ.ม. ดอกวงนอกมักแทนที่ดอกวงใน กลีบดอกรูปไข่ ปลายแหลม สีขาว เหลือง ชมพู ส้ม แดง และสองสีในดอกเดียวกัน ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ลูกผสมที่มีลักษณะดอกหลายแบบ

ชอบดินร่วนปนทราย แสงแดดจัด น้ำปานกลาง ปลูกเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง ไม้ประดับแปลง ทางสมุนไพรนำหัวมาต้มกับหมู กินทั้งน้ำและเนื้อ ช่วยรักษาโรคหัวใจ




กุ่มบก

กุ่มบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Crateva adansonii DC. เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร แตกกิ่ง ก้านโปร่ง กิ่งก้านมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๓ ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง ๒-๖ ซ.ม. ยาว ๒-๑๐ ซ.ม. ปลายใบแหลมมีติ่งสั้น โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนานุ่ม ผิวใบมัน แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน

ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาวเมื่อแรกบาน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีชมพู กลีบดอกมี ๔ กลีบ รูปรี ปลายมน โคนสอบเรียว ก้านเป็นเส้นสีม่วง ผลสดรูปทรงกลม เปลือกแข็ง ผลอ่อนมีสีเขียว พอสุกมีสีน้ำตาลแดง พบตามป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ไร่นา ป่าเบญจพรรณ เขาหินปูนและป่าไผ่ ออกดอกราวเดือน ก.พ.-มี.ค. ติดผลราวเดือน ก.ย.-ธ.ค.

ตำรายาไทยใช้ใบรสร้อนต้มน้ำดื่มบำรุงหัวใจและขับลม ใบสดตำทาแก้กลากเกลื้อน เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาเจริญอาหาร ดอกเป็นยาเจริญอาหาร ผล แก้ท้องผูก ยอดอ่อนและช่อดอกนำมาดอง รับประทานเป็นผักได้ ผักกุ่มมีกรดไฮดรอไซยานิกซึ่งเป็นสารพิษ จึงต้องนำไปทำให้สุกหรือดองก่อนรับประทาน




โคลงเคลง

โคลงเคลง ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma villosun Lodd. พบทั่วไป ในบริเวณขอบพรุที่โล่งแจ้ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑-๒ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามเป็นคู่สลับ แผ่นใบรูปขอบขนาน แกมรูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรูปหอก ยาว ๗-๑๐ ซ.ม. กว้าง ๓-๔ ซ.ม. ผิวใบมีเกล็ดเล็กแหลมสั้นๆ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบแหลม เส้นใบ ๓ เส้น เด่นออกจากโคนใบไปจรดที่ปลายใบ เส้นใบอื่นไม่เด่นชัด ก้านใบยาว ๑-๒ ซ.ม. มีเกล็ดเรียบและขนสั้น

ดอกสีชมพูแกมม่วงสด ถ้วยรองดอกมีเกล็ดเล็กเรียวแหลมสีม่วง ค่อนข้างเรียบ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๕ ซ.ม. ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี ผลรูปถ้วยปากผาย กว้างยาวประมาณ ๑.๕ ซ.ม. มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเล็กเนื้อสีดำ ผลสุกรสหวานกินได้


ที่มาข้อมูล นสพ.ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กุมภาพันธ์ 2562 16:06:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #26 เมื่อ: 25 เมษายน 2562 16:03:20 »




ข้าวสารดอกเล็ก  
Raphistemma hooperianum Decne.
APOCYNACEAE
 
ไม้เลื้อย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปหัวใจ ฐานใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบบาง
ดอก เป็นดอกช่อ ดอกย่อยช่อละ ๔-๗ ดอก ออกตามซอกใบ ขนาดเล็ก กลิ่นหอม กลีบดอกรูปไข่ ปลายมน สีขาวและกลายเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล
ผลเป็นฝัก รูปไข่แถบขอบขนาน
ตำรายาโบราณ ใช้ ราก ถอนพิษ ทำให้อาเจียน ปรุงเป็นยารักษาแก้ตาแดง ตาแฉะ




มะป่วน  
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Mitrephora tomentosa Hook. f. & Thomson
วงศ์ : ANNONACEAE
ไม้ต้นสูง ๑๐-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ผิวใบมีขนสีน้ำตาล เส้นแขนงใบ ๑๐-๑๔ คู่ ก้านใบยาว
ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกตรงข้ามใบ ดอกย่อย ๒-๓ ดอก กลีบดอกสีเหลือง ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้นๆ ละ ๓ กลีบ รูปขอบขนานปลายแหลมและโค้ง ขอบกลีบหยักเว้า กลีบดอกชั้นในรูปช้อน เรียงตัวชิดกันเป็นรูปโดม
ผลเป็นแบบผลกลุ่ม กลุ่มละ ๑๖-๒๔ ผล แต่ละผลรูปกลมรี ผลสุกสีเหลือง มีขนสีน้ำตาลคลุม มี ๓-๗ เมล็ด
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ แก่น ประมาณ ๑๕-๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่ม วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร บำรุงกำลัง




กลึงกล่อม
Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites
ANNONACEAE

ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒-๕ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ย่นเป็นสันนูนขรุขระ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบเรียวเล็กน้อย
ดอกเดี่ยว ออกตามกิ่งหรือตรงข้ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม
ผลกลุ่ม ผลกลมสุกสีม่วงดำ
รากและเนื้อไม้ แก้ไข้ แก้ร้อนใน ขับพิษ
ใบและกิ่ง มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคเอดส์ ในหลอดทดลอง




ข่าหด
Fissistigma polyanthoides (A. DC.) Merr.
ANNONACEAE

ไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง ๒๐ เมตร กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมขอบขนาน มีขนสีน้ำตาลที่เส้นใบ
ดอกช่อแยกแขนง ออกเป็นกระจุกสั้นๆ ที่ซอกใบ ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลือง โคนกลีบสีแดง กลิ่นหอม
ผลกลุ่ม ผลย่อยรูปทรงกลมสีน้ำตาลเป็นมัน เปลือกหนา
ตำรายาพื้นบ้านใช้เปลือกต้น แก้ผิดสำแดง อาหารเป็นพิษ ใช้ข่าหด ๒-๓ กีบ ต้มกิน กินครั้งละ ๑ กลืน วันละ ๓ เวลา ช่วยทำให้มดลูกกระชับขึ้น หรือ ข่าหด ๑-๒ กีบ ว่านชักมดลูก ๑ ฝาน ตะไคร้ ๑-๒ กีบ ข่าหัวแก่  ๒-๓ ท่อน ต้มน้ำดื่มกิน เช้า-เย็น ช่วยรัดมดลูก
ทำให้มดลูกกระชับ




ข้าวหลามดง  
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Goniothalamus laoticus (Finet & Gagnep.) 
วงศ์ : ANNONACEAE
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๔-๘ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกหนาสีเทาอมดำ
ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายเรียวแหลม โคนใบสอบ ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ก้านใบยาว
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก ๒-๕ ดอก ตามลำต้น กิ่งและตามง่ามใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกยาวสีเหลืองนวลถึงสีชมพู
ผลกลุ่ม ๖-๑๒ ผล รูปกลมรี หรือทรงกระบอก ไม่มีก้านผล สีเขียวแกมเหลือง
ประโยชน์ : แก่น แก้ซางเด็ก แก่น ราก บำรุงกำลัง




ข้าวหลาม
ชื่อท้องถิ่น : จำปีหิน นมงัว
 
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Goniothalamus tamirensis Pierre ex Finet & Gagnep.
วงศ์ : ANNONACEAE
ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒-๓ เมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ
ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ สีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นหอม
ผลกลุ่ม มี ๘-๑๕ ผลย่อย รูปรี เมื่อสุกสีแดง
ตามตำรายาพื้นบ้านใช้ แก่น ผสมแก่นส้านดิน รากเคด แช่น้ำดื่ม แก้ซางเด็ก
ผสมกับสมุนไพรอื่น ดองเหล้าหรือต้มน้ำดื่ม บำรุงกำลัง




บุหงาเซิง  
ชื่อท้องถิ่น : เครือติดต่อ ส่าเหล้า สายหยุด (สุราษฎร์ธานี) สาวสะดุ้ง (ชุมพร) บุหงาแต่งงาน (ภาคกลาง ภาคใต้)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Friesodielsia desmoides (Craib) Steenis
วงศ์ : ANNONACEAE
ไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนและหยักเว้า ปลายใบแหลม เส้นแขนงใบมี ๑๒-๑๖ คู่
ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อออกเป็นกระจุก ๒ ดอก ออกนอกซอกใบ กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบดอกชั้นในรูปไข่ สีส้มหรือส้มแกมน้ำตาล กลีบดอกชั้นนอกรูปขอบขนาน ปลายมนหรือค่อนข้างแหลม สีเหลือง
ผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาว ๘ มิลลิเมตร ผลย่อย ๘-๑๒ ผล ผลย่อยรูปกลมรี สีแดง มีเมล็ดเดียว
ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ราก แก้เหงือกอักเสบ ลำต้น ผสมรากกล้วยน้ำ รากกล้วยตีบ หัวคล้า และไม้ไผ่สีสุก ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ทับระดู




มะป่วน    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Mitrephora tomentosa Hook. f. & Thomson
วงศ์ : ANNONACEAE
ไม้ต้นสูง ๑๐-๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกลม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงสลับสองข้างของกิ่งในระนาบเดียวกัน แผ่นใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้า ผิวใบมีขนสีน้ำตาล เส้นแขนงใบ ๑๐-๑๔ คู่ ก้านใบยาว
ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกตรงข้ามใบ ดอกย่อย ๒-๓ ดอก กลีบดอกสีเหลือง ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้นๆ ละ ๓ กลีบ รูปขอบขนานปลายแหลมและโค้ง ขอบกลีบหยักเว้า กลีบดอกชั้นในรูปช้อน เรียงตัวชิดกันเป็นรูปโดม
ผลเป็นแบบผลกลุ่ม กลุ่มละ ๑๖-๒๔ ผล แต่ละผลรูปกลมรี ผลสุกสีเหลือง มีขนสีน้ำตาลคลุม มี ๓-๗ เมล็ด
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ แก่น ประมาณ ๑๕-๓๐ กรัม ต้มน้ำดื่ม วันละ ๓ ครั้ง หลังอาหาร บำรุงกำลัง




สลิด หรือ ขจร  
Telosma cordata (Burm. f.) Merr.
APOCYNACEAE

ไม้เลื้อย สีเขียวแกมเหลือง มีขนสั้นนุ่มเมื่อยังอ่อนอยู่ เปลี่ยนเป็นสีเทาจางเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม โคนใบรูปหัวใจกว้าง มีส่วนเว้าแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีเส้นใบสามเส้น
ดอกช่อแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ดอกย่อย ๑๕-๓๐ ดอก วงกลีบดอกสีเขียวแกมเหลือง
ผลเป็นแบบผลแตกแนวเดียวรูปคล้ายรูปใบหอก เกลี้ยง มักเป็นแบบมนสี่เหลี่ยม เมล็ดรูปไข่กว้าง แบน ปลายตัด ขอบเป็นเยื่อ
ตำรายาไทย ใช้ ดอกอ่อน ยอดอ่อน และผลอ่อน ลดไข้ แก้อาการหวัด ขับเสมหะ ลดอาการระคายคอ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงตับ บำรุงไต บำรุงปอด แก้เสมหะเป็นพิษ บำรุงหัวใจ บำรุงสายตา ป้องกันสายตาเสื่อม แก้อาการคลื่นเหียน อาเจียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย แก้อาการท้อผูก ช่วยเจริญอาหาร
ลำต้น เจริญอาหาร และช่วยบำรุงร่างกาย แก้แก้อาการท้องเสีย ขับปัสสาวะ ขับสารพิษ
ราก บำรุงเลือด ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ




กล้วยเต่า  
Polyalthia debilis Finet & Gagnep.
ANNONACEAE

ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๑ เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น ส่วนกิ่งแก่เรียบเป็นสีน้ำตาลใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม โคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย แผ่ใบแคบ กว้าง ๒-๕ เซนติเมตร ยาว ๕-๑๓ เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีขนและมีสีจางกว่าดอกเดี่ยวขนาดเล็กออกตามซอกใบ ก้านดอกสั้น ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเรียงสลับกันมี ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม รูปทรงกระบอก คอดระหว่างเมล็ด ปลายเรียวแหลมตำรายาพื้นบ้านใช้ ราก ลำต้น แก้ปวดท้อง




เถาประสงค์  
Streptocaulon juventas (Lour.) Merr.
APOCYNACEAE

ไม้เถา มีขนหยาบแข็งสีน้ำตาลแกมส้มยกเว้นที่วงกลีบดอก ทุกส่วนมีน้ำยางขาว
ใบประกอบแบบขนนก เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ หรือรูปรี คล้ายแผ่นหนัง โคนใบกลมถึงรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือกลมและเป็นติ่งแหลมอ่อน
ดอกช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนง กลีบดอกสีเขียวแกมเหลืองด้านนอก สีน้ำตาลแกมเหลืองด้านใน เกลี้ยง หลอดดอกสั้น พูรูปไข่
ผลแตกแนวเดียว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน เป็นแนวนอน เมล็ดรูปขอบขนาน กระจุกขน
ตำรายาไทยโบราณ ใช้ ราก รสสุขุม แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ ยาพื้นบ้านใช้ ลำต้น ราก ผสมลำต้นโมกหลวง เถาย่านาง รากส้มลม แก้หอบหืดอย่างแรง ชาวเขาเผ่าอาข่า (อีก้อ) กะเหรี่ยงใช้ ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง
ความเป็นพิษ เนื่องจากมีน้ำยางขาว อาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง




บวบลม    
Dischidia major (Vahl) Merr.
APOCYNACEAE

ไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามต้นไม้ เถากลมสีเขียว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ หรือออกเป็นใบเดี่ยวๆ ใบมี ๒ แบบ ลักษณะแตกต่างกันมาก ซึ่งจะอยู่บนต้นเดียวกัน
แบบแรกมีลักษณะรูปร่างคล้ายถุงปากแคบ แบนเป็นเหลี่ยมๆ ผิวด้านนอกเกลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนด้านในเป็นสี
แบบที่สองเป็นแบบใบธรรมดา รูปค่อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้นๆ เนื้อใบหนาและอวบน้ำ
ดอกเป็นช่อสั้นๆ ขนาดเล็ก ช่อละ ๖-๘ ดอก ออกตามซอกใบตรงข้ามกับใบ ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ส่วนตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปลายปากดอกแต้มไปด้วยสีม่วงและมีขนอยู่ด้านนอก
ผลเป็นฝัก สีเหลืองแกมสีส้ม ผิวขรุขระ
ตำรายาโบราณ ใช้ทั้งต้น แก้ปวดท้อง ผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ราก แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงกำลัง แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้
ความเป็นพิษ : มีน้ำยางขาวอาจทำให้ระคายเคืองผิวหนัง




กะเจียน    
Hubera cerasoides (Roxb.) Chaowasku
ANNONACEAE

ไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๒-๒๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลแกมดำ กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง กิ่งแก่และลำต้นมีช่องอากาศสีเหลืองอ่อนทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ
ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ ๒-๓ ดอก แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีเขียวแกมเหลืองหรือเขียวอ่อน กลีบดอกเรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปไข่ หนา
ผลกลุ่ม รูปกลมป้อม ปลายผลเป็นติ่ง ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกสีแดง มี ๑ เมล็ด
รากแห้ง แก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) คุมกำเนิดในสตรี บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ แก้ไข้


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #27 เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2562 16:06:38 »


พลองเหมือด    
ชื่อวิทยาศาสตร์ Memecylon edule Roxb.  
จัดอยู่ในวงศ์โคลงเคลง MELASTOMATACEAE  
ไม้ต้น : สูง ๕-๑๐ เมตร 
ใบเดี่ยว : เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปรี ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนถึงแหลม
ดอก : สีม่วง ออกเป็นช่อกระจุกที่ซอกใบ วงกลีบดอกรูประฆัง กลีบดอกรูปไข่หรือกลม
ผล : มีเนื้อ รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๐ ม.ม. สุกสีดำแกมม่วง
ยาพื้นบ้าน : ใช้รากผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่มแก้ประดง ต้นผสมกับแก่นพลับพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด
ต้นและใบ : ต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



น้อยโหน่ง    
Annona reticulata L.
ANNONACEAE
ไม้พุ่ม : ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๕-๘ เมตร เปลือกต้นสีเทา
ใบเดี่ยว : เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก โคนใบแหลม ใบสีเขียวสด
ดอกเดี่ยว :  หรือออกเป็นช่อกระจุก ๒-๓ ดอก กลีบดอกค่อนข้างหนา กลีบดอก ๓ กลีบ สีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นหอมแบบเอียนๆ
ผลกลุ่ม : ขนาดใหญ่กว่าน้อยหน่า รูปกลมหรือรูปทรงหัวใจ ผิวเปลือกบางเรียบแต่เหนียว ผลดิบเปลือกมีสีเขียวจางๆ ปนแดงเรื่อๆ แต่เมื่อสุกจะเป็นสีแดงแกมน้ำตาลเข้ม เมล็ดจำนวนมาก รสหวานแต่ไม่เท่าน้อยหน่า
สรรพคุณตามตำรายาโบราณ : ผลดิบ แก้ท้องร่วง ขับพยาธิ ใบ ตำพอกแก้อาการฟกบวม
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



มะนาวผี    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Atalantia monophylla (L.) DC.
ชื่อวงศ์ : RUTACEAE
ลักษณะพืช : ไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ ลำต้นมักคดงอ
ใบเดี่ยว : เรียงสลับ รูปไข่ ปลายใบหยักเว้า มีต่อมน้ำมันเป็นจุดโปร่งใส เมื่อขยี้มีกลิ่นคล้ายส้ม
ดอกช่อกระจุก : ออกตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงแยก ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบดอกสีขาว เกสรเพศผู้ ๖ อัน ก้านเกสรเพศผู้รวมกันเป็นหลอด
ผลสด : กลมขนาดเล็ก ผิวขรุขระมากหรือน้อย ผิวหนาคล้ายหนัง เมล็ดรูปไข่
ตำรายาโบราณ : ใบ รักษาโรคทางเดินหายใจ
เนื้อไม้เหนียวทนทาน : ใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรม
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



กะเจียน    
Hubera cerasoides (Roxb.) Chaowasku
ANNONACEAE
 
ไม้ต้นขนาดกลาง : สูง ๑๒-๒๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลแกมดำ กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง กิ่งแก่และลำต้นมีช่องอากาศสีเหลืองอ่อนทั่วไป
ใบเดี่ยว : เรียงสลับ รูปใบหอก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ
ดอก :เ ดี่ยวหรือดอกช่อ ๒-๓ ดอก แยกแขนง ออกที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีเขียวแกมเหลืองหรือเขียวอ่อน กลีบดอกเรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปไข่ หนา
ผลกลุ่ม : รูปกลมป้อม ปลายผลเป็นติ่ง ผลอ่อนสีเขียวเมื่อสุกสีแดง มี ๑ เมล็ด
รากแห้ง : แก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย) คุมกำเนิดในสตรี บำรุงกำลังสำหรับบุรุษ แก้ไข้
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



มะไฟจีน    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Clausena lansium (Lour.) Skeels
ชื่อพ้อง : Quinaria lansium Lour.
วงศ์ : RUTACEAE
ลักษณะพืช : ไม้ต้น สูง ๘-๑๒ เมตร ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อย ๕-๑๑ ใบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปรี
ดอกช่อ : สีขาวแกมเหลือง แบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ตาดอกรูปร่างคล้ายดาว กลีบดอกรูปขอบขนาน
ผลสด : รูปทรงกลม ทรงรี หรือทรงรูปไข่กว้าง สีเขียวถึงน้ำตาล
ตำรายาโบราณ : ใบใช้ทำยาสระผม แก้รังแคและรักษาสีผม
ผลสุก : รับประทานได้ เนื้อใช้ทำแยมหรือพาย ผลดิบเปรี้ยวใช้ทำเยลลี่ ไวน์
ชาวจีนกล่าวว่า : ผลตากแห้งหรือเชื่อมแห้งสามารถใช้รับประทานแก้หวัด แก้ไอ หรือแก้พิษร้อน
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



ส่าเหล้าต้น    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Bridelia stipularis (L.) Blume
ชื่อพ้อง : Clutia stipularis L., Bridelia scandens (Roxb.) Willd., Bridelia dasycalyx Kurz
วงศ์ : PHYLLANTHACEAE (EUPHORBIACEAE)
ใบเดี่ยว : เรียงสลับ รูปรี
ดอก : เป็นแบบช่อกระจุก แยกเพศ ออกตามกิ่งที่ไม่มีใบ สีเขียวแกมเหลืองหรือครีม กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอก ๕ กลีบ โคนดอกสอบแคบหรือเป็นรูปช้อน ปลายดอกกลม เกสรเพศผู้ ๕ อัน ยอดเกสรเพศเมียจักเป็น ๒ แฉก
ผล : เป็นแบบผลสดคล้ายผลเมล็ดเดียวแข็ง ทรงรีหรือค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่ สีดำหรือดำแกมแดง เมล็ดรูปไข่ สีน้ำตาลแกมแดง
ยาพื้นบ้านอีสาน : ใช้ ใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาถ่าย
ตำรายาไทย : ใช้ ใบ แก้ปวด ตำผสมเทียนแดง แก้แผลกามโรค ดอก แก้โลหิตออกจากตา ลำต้น ฟอกโลหิต ราก ขับประจำเดือน ผล แก้พิษ ต่อ แตน
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



หนาด    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Blumea balsamifera (L.) DC. (1)
วงศ์ : Compositae (Asteraceae)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก : หลายปี ตั้ง สูง ๑-๓ เมตร กิ่งแขนงเรียงแบบช่อเชิงหลั่น แขนงตั้ง มีขนแบบขนแกะแกมมีขนอุยหนาแน่นสีขาวแกมเหลือง
ใบ : เดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแคบ ใกล้แกนมีรอยย่นและมีขนยาวห่างพร้อมขนซ้อนทู่ โคนใบรูปติ่งหูแคบ เส้นใบ ๑๐-๑๒ คู่
ดอก : เป็นดอกช่อกระจุกแน่น รวมเป็นแบบช่อแยกแขนงรูปพีระมิดกาง มีก้านช่อดอก วงใบประดับรูประฆัง วงใบประดับ ๓ หรือ ๔ ชุด
ผล : เป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีน้ำตาล รูปขอบขนาน ขนาดประมาณ ๑ มิลลิเมตร มีขนหยาบแข็งประปราย แพบพัสสีแกมแดง ขนาด ๔-๖ มิลลิเมตร
ตำรายาไทยและยาพื้นบ้าน : ใช้ใบ ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ตำรายาไทยใช้ ใบสด หั่นเป็นฝอยเหมือนยาเส้น ผึ่งแดดพอหมาดๆ มวนกับยาฉุนสูบ แก้ริดสีดวงจมูก ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ ยาพื้นบ้านใช้
ใบ : บดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสน และการบูร มวนด้วยใบตองแห้ง สูบ รักษาโรคหืด
ในใบ : พบสาร cryptomeridion ซึ่งมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม
….. มติชนสุดสัปดาห์ 



เต็งหนาม    
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Bridelia retusa (L.) A. Juss.
วงศ์ : PHYLLANTHACEAE (EUPHORBIACEAE)
ไม้ต้น : ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ ใบประดับย่อย เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม
ใบ : เดี่ยว เรียงสลับ รูปรี
ดอก : ช่อคล้ายช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบ แยกเพศ มีเพศเดียวอยู่ร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้สีเขียวแกมเหลืองอ่อนถึงน้ำตาล ช่อดอกเพศเมียสีน้ำตาลแกมแดง กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมสามเหลี่ยม
กลีบดอก : มีหลายขนาด
ผลสด : รูปคล้ายผลเมล็ดเดียวแข็ง เมื่อสุกสีเกือบดำหรือน้ำเงินดำ เมล็ดรูปเกือบกลม สีน้ำตาลแดง
สรรพคุณโบราณ : เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม เป็นยาฝาดสมาน ปิ้งไฟ แช่น้ำเกลือ ดื่มแก้ท้องร่วง ตำผสมหัวแห้วหมูและผักเสี้ยนผีทั้งต้น ทำเป็นลูกประคบ แก้ปวดหัวเข่า
มีข้อมูลงานวิจัย : พบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากใบและลำต้น เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและต้านเชื้อไวรัสเอดส์ได้ในหลอดทดลอง
สารสกัดแอลกอฮอล์ : จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกและลดความดันโลหิต
….. มติชนสุดสัปดาห์ 
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #28 เมื่อ: 29 กุมภาพันธ์ 2563 16:46:10 »

    เขี้ยวงู

เขี้ยวงู หรือ สำมะงา ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum inerme (L.) Gaertn. เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๑-๒ เมตร ลำต้นทอดนอน แผ่กระจัดกระจายโดยรอบ มีขนนุ่มปกคลุมตามส่วนอ่อนๆ ทั้งหมด ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปหอกหรือรูปรี ขนาด ๑.๕-๔ X ๓-๘ ซ.ม. ปลายใบแหลมหรือทู่ ฐานใบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง

ดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่งเป็นช่อกระจุก มี ๓ ดอก สีขาวอมชมพู กลีบดอก ๕ กลีบ ผลกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒-๑.๘ ซ.ม. เมื่อแห้งจะมีร่องตามยาว ๔ ร่อง ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีออกดำ ผิวเกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมล็ดแข็งมาก มี ๑-๔ เมล็ด ออกดอก-ผลเกือบตลอดปี

ขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะและตอนบนของป่าชายเลน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ใบสดรักษาโรคผิวหนัง บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ



    ขอบชะนาง

ขอบชะนาง ชื่ออื่น หนอนขาว หนอนแดง หญ้าหนอนตาย หญ้ามูกมาย ตาสียายเก้อ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pouzolziapentandra Benn. เป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า เลื้อยแผ่ไปตามดินแต่ยอดตั้งขึ้น มี ๒ ชนิด คือขอบชะนางแดงและขอบชะนางขาว ลำต้นขนาดโตกว่าก้านไม้ขีดไฟเล็กน้อย ใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปปลายหอกในขอบใบชะนางแดง ส่วนใบของขอบใบชะนางขาวค่อนข้างมนและกลม เส้นใบของทั้งสองชนิดเห็นเด่นชัดเป็น ๓ เส้น ใบจะโตประมาณ ๒ กระเบียดนิ้ว ยาวประมาณ ๑ นิ้วครึ่ง ถึง ๑ นิ้วฟุต มีขนเล็กน้อยบนต้นและแผ่นใบ

สรรพคุณ ทั้งต้นปิ้งไฟชงกับน้ำเดือดแก้พยาธิในเด็ก



    คงคาเดือด

คงคาเดือด ชื่ออื่น หมากเล็กหมากน้อย ช้างเผือก ตะไล ตะไลคงคา สมุยกุย ชื่อวิทยาศาสตร์ Arfeuillea arborescens Pierre ไม้ต้น สูง ๘-๒๐ เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย ๕-๙ ใบ รูปไข่หรือรูปใบหอก ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีน้ำตาล ผลแห้ง แตกได้ มีปีก ๓ ปีก

สรรพคุณแก่น ฝนกับน้ำกินเป็นยาฆ่าพยาธิ เปลือกต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไข้ และช่วยให้เจริญอาหาร ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาอาการคัน แสบร้อนตามผิวหนัง และโรคซาง



    พุทธรักษาสีเหลือง

พุทธรักษาสีเหลือง ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannandica L. ชื่ออื่น พุทธศร ดอกบัวละวง สาคูมอญ สาคูหัวข่า อะตาหลุด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เนื้ออ่อนอวบน้ำ แตกกอขึ้นเหนือพื้นดิน กาบใบเรียงอัดซ้อนกันแน่นตั้งตรงเป็นลำต้นเทียน

ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ใบรูปรีถึงรูปไข่ ยาว ๓๐-๖๐ ซ.ม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียว กลางใบเป็นเส้นนูน เห็นชัด ช่อดอกแบบช่อกระจะเกิดที่ปลายกิ่ง ช่อละ ๘-๑๐ ดอก กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ๓ กลีบ ใบประดับย่อยสีเขียว

วงกลีบดอก ๓ กลีบ รูปเรียวยาวปลายแหลม ขอบม้วนงอเข้าหากัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปคล้ายกลีบดอก มีขนาดใหญ่ สีเหลือง มีจุดประสีส้มที่บริเวณตรงกลาง เชื่อมติดกับเกสรเพศผู้ที่ไม่เป็นหมันและเกสรเพศเมียออกดอกตลอดทั้งปี

ปลูกในดินเหนียว แสงแดดจัดหรือแดดปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้า เพาะเมล็ด



    คนทา

คนทา ชื่อทางพฤกษศาสตร์ Harrisonia perforate (Blanco) Merr. เป็นไม้พุ่มแกมเถา พบขึ้นทั่วไปตาม ที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ตามเถาและกิ่งก้านมักมีหนามแข็ง เมื่อใบยังอ่อนมีสีแดง ใบประกอบเรียงสลับกันแบบขนนก ก้าน และแกนใบแผ่ออกเป็นปีกแคบๆ มีใบย่อย ๑-๑๕ ใบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๑-๑.๕ ซ.ม. ยาว ๒-๒.๕ ซ.ม.

ขอบใบย่อยมีหยักห่างๆ ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔-๕ กลีบ รูปขอบขนาน กลีบดอกที่อยู่ด้านนอกสีม่วงแดง ด้านในสีขาวนวล ผลค่อนข้างกลม ผิวด้านนอกคล้ายแผ่นหนัง เมล็ดแข็ง ขนาด ๑-๒ ซ.ม. ใบ ผล และรากมีรสขม

สรรพคุณ เปลือกและรากต้มน้ำกินแก้ท้องเสีย แก้บิด เป็นยาลดความร้อนในร่างกาย ใช้กระทุ้งพิษไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ในสมัยโบราณ มักใช้กิ่งไม้คนทาขนาดโตเท่านิ้วก้อยปอกเปลือกออกให้เห็นเนื้อขาว ด้านหนึ่งเหลาให้แหลม แล้วจักตอนปลายอีกด้านหนึ่ง ยีเนื้อไม้ส่วนปลายให้อ่อน เพื่อใช้เป็นไม้สีฟันกับไม้จิ้มฟันถวายพระภิกษุสงฆ์เมื่อถวายพุ่มเทียนพรรษา มักเรียกกันว่า "ไม้สีฟันคนทา" หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า "ไม้โกทา"



    เล็บครุฑลังกา

เล็บครุฑลังกา ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyscias fruticosa (L.) Harms เป็นไม้ประดับ ต้นทรงพุ่ม สูงประมาณ ๑-๓ เมตร ใบสีเขียวมัน ใบใหญ่ ลักษณะงอขึ้นเป็นหลุมคล้ายถ้วย มีลวดลายสวยงาม จึงนำใบมาใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร ต้นเล็บครุฑมีใบที่นำมารับประทานได้ด้วย เช่น ภาคเหนือรับประทานคู่กับลาบหรือจิ้มน้ำพริก ทางภาคใต้นิยมนำมาใช้ใส่ในห่อหมกแทนใบยอ

นิยมปลูกทั้งในกระถางและปลูกลงดินทั่วไป ชอบดินร่วนปนทราย แสงแดดรำไร หรือแสงแดดในช่วงเช้า เป็นไม้เนื้ออ่อนตัดแต่งทรงพุ่มง่าย ขนาดของใบขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น



    สนฉัตร

สนฉัตร ชื่อวิทยาศาสตร์ Araucaria heterophylla (Salisb.) Franco เป็นไม้ต้น อายุหลายปี เมื่อต้นยังเล็กกิ่งก้านจะแผ่ออกเป็นแผงรูปสามเหลี่ยมเป็นชั้นๆ เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีเนื้อไม้ ทรงพุ่มเป็นรูปกรวย ยอดเรียวแหลม ต้นอายุน้อยใบสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้ม อัตราการเจริญเติบโต ช้า-ปานกลาง

ปลูกในดินทั่วไปที่มีอินทรียวัตถุ ระบายน้ำและอากาศได้ดี ชอบน้ำปานกลาง ทนแล้ง แสงแดดรำไรหรือตลอดวัน ต้นที่โตเล้วต้องการแสงแดดเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ปลูกเลี้ยงง่าย นิยมปลูกในกระถางตั้งประดับบ้านหรือปลูกในมุมสวน



    คนทีสอขาว

คนทีสอขาว ชื่ออื่นๆ โคนดินสอ สีสอมูดเพิ่ง ผีเสื้อน้อย เทียนขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex trifolia L. เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูง ๓-๖ เมตร ทั้งต้นมีกลิ่นหอม เปลือกลำต้นเรียบ สีเทา เป็นกระสีดำ แตกเป็นร่องตื้นตามยาว ใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยรูปไข่ปลายแหลม ๓ ใบ ขอบใบเรียบ ปลายแหลม โคนใบสอบ ท้องใบและ หลังใบเรียบ หลังใบสีเขียว ท้องใบเป็นสีนวลขาวมีขน ก้านใบยาว ๑-๓ ซ.ม. ดอกช่อแยกแขนง ดอกขนาดเล็กสีฟ้าอมม่วงเป็นช่อยาว ออกที่ยอดหรือตาม ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้ง ผิวเรียบ มีเมล็ดเดียวสีเขียวนวล เป็นพวงช่อ เมล็ดเดี่ยวกลม สีน้ำตาล เมื่อสุกมี สีคล้ำหรือดำ เกิดตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณ ตำรายาไทย ใบ รสร้อนสุขุมหอม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ บำรุงธาตุ รักษาโรคตับ ขับลม แก้ไอ แก้หืด ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ แช่น้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน



    คนทีสอทะเล

คนทีสอทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex trifolia subsp. litoralis Steenis จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ คนที กูนิง คนทิสอทะเล คนทิ เป็นไม้เถาเลื้อยไปตามพื้นทรายริมทะเล มีถิ่นกำเนิดในเอเชียไปจนถึงประเทศออสเตรเลีย พบมากทางภาคใต้ตามป่าชายเลน ริมน้ำ ลำคลองใกล้ชายทะเล

ลำต้นสีน้ำตาล สูงประมาณ ๕๐ ซ.ม. ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีสะเก็ดหลุดร่วงออกมา กิ่งมักโค้งงอลง ใบเดี่ยวออกเรียงสลับบริเวณปลายยอดแบบถี่ๆ ใบรูปรี ปลายใบและโคนใบแหลม กว้าง ๑.๕-๓ ซ.ม. ยาว ๓-๖ ซ.ม. ผิวใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนาสีเขียวเข้ม หลังใบสีอ่อนจนถึงสีนวล

ดอกออกเป็นช่อ แยกแขนงตามปลายกิ่งหรือปลายยอด ในแต่ละ ช่อดอกมีดอกย่อยอยู่จำนวนมาก ดอกสีม่วง สีฟ้าอมม่วง หรือสีคราม กลีบดอกลักษณะเป็นหลอด ดอกจะบานจากโคนช่อไปจนถึงปลายช่อ ออกดอกตลอดทั้งปี ผลสดแบบเดี่ยว สีเขียวหรือสีม่วง ลักษณะผลกลม

ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดและตอนกิ่ง



    คนทีเขมา

คนทีเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo L. ชื่อเรียกอื่น กุโนกามอ กูนิง เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๕ เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๓-๗ ใบ รูปหอกแคบ ขนาดกว้าง ๑-๓ ซ.ม. ยาว ๔-๑๐ ซ.ม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ดอกสีขาวแกมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อจากซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๕ ซ.ม. ดอกย่อยขนาดเล็กมีจำนวนมาก กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยก ๕ แฉก มีขนด้านนอก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน เชื่อมกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง เกสรผู้ ๔ อัน ผลรูปทรงกลม ขนาดเล็ก

สรรพคุณ ใบขับเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง อาการอักเสบและติดเชื้อ รากแก้ไข้ รักษาโรคตับ



    คัดลิ้น

คัดลิ้น ขี้อ้ายดง หรือ ลำไยป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Walsura trichostemonMiq. เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๕-๘ เมตร ขึ้นในป่าเบญจพรรณและตามป่าราบทั่วไป

ใบประกอบแบบขนนก ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ง่ามใบและปลายยอด

ดอกมีกลิ่นหอม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซ.ม. ดอกเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘ ม.ม. ผลเป็นแบบช่อ ลักษณะกลมรี ผิวผลเกลี้ยง มีสันตื้นๆ ปลายผลมีติ่งแหลม ผนังผลบางคล้ายหนัง เมื่อสุกสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซ.ม. เมล็ดกลม

รากรสร้อนจัดฝาด สรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงเส้นเอ็น บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด (ห้ามใช้กับคนเส้นประสาทพิการ) ผลสุก เนื้อหุ้มเมล็ดสีขาวรับประทานได้ รสหวาน ถ้ารับประทานมากทำให้ระคายลิ้น นิยมนำไปทำส้มตำรวมกับผลไม้ที่มีรสฝาด เช่น ตะโกนา กล้วยดิบ เพื่อลดการระคาย



    ฟอร์เก็ตมีน็อต

ฟอร์เก็ตมีน็อต (Forget me not) "อย่าลืมฉัน" อีกหนึ่งสัญลักษณ์ดอกไม้แห่งความรัก ชื่อสามัญ ANGELFACE PIN ชื่อวิทยาศาสตร์ Cynoglossum Lanceola tum Forssk

ถิ่นกำเนิดในประเทศแคนาดา ลำต้นแข็ง สูงประมาณ ๐.๕-๑ เมตร กิ่งก้านแตกแขนงรอบลำต้น ใบเล็กเรียวปลายโค้งมน มีขนอ่อนปกคลุมทั้งสองด้าน ออกดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งยาวประมาณ ๒๐-๓๐ ซ.ม. มีลักษณะเป็นดอกไม้สีฟ้า ๕ แฉก ขนาดเล็ก ออกดอกตามปลายยอดส่วนโคน กลีบจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 กุมภาพันธ์ 2563 16:48:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #29 เมื่อ: 05 เมษายน 2564 22:04:17 »

   นมสวรรค์ต้น"

นมสวรรค์ต้น พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก

นมสวรรค์ต้น Clerodendrum smitinandii Moldenke วงศ์ : LAMIACEAE

เป็นพรรณไม้หายาก ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก ในป่าตะวันออกพบในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาต่ำ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวและอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

ที่ระดับความสูง ๘๐๐-๑,๕๐๐ ม.
...ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช


   บอระเพ็ด

บอระเพ็ด Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson วงศ์ : MENISPERMACEAE

ชื่ออื่น : เครือเขาฮอ, จุ่งจิง, เจตมูลหนาม, ตัวเจตมูลยาน, เถาหัวด้วน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถา ลำต้นมีปุ่มปม ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกสีเหลืองอมเขียว ผลสด รูปกลม เมื่อสุกสีเหลือง ทุกส่วนมีรสขม

สรรพคุณ : เถา บำรุงหัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้ แก้ผมหงอกก่อนวัย ผล ขับเสมหะ/size]...ที่มา :สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช


   เอื้องนางตายภูวัว

เอื้องนางตายภูวัว Peristylus phuwuaensis Kurzweil (Orchidaceae)

กล้วยไม้ดินขึ้นตามที่ชื้นแฉะริมลำธารในป่าเต็งรัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ

เป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลกที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany ฉบับที่ ๒๘ (๑) หน้าที่ ๒๖ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ปี ๒๐๑๐

เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
(endemic)


   นารีเริงระบำ

นารีเริงระบำ สะเดาหิน Pentasachme caudatum Wall. ex Wight (Apocynaceae)

ไม้พุ่มเตี้ย จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัวและอุทยานแห่งชาติภุลังกา พบตามที่ค่อนข้างร่มในลำธารที่พื้นเป็นหินทราย



  ดุสิตา หญ้าข้าวก่ำน้อย
ดุสิตา หญ้าข้าวก่ำน้อย Utricularia delphinioides Thorel ex Pellegr. (Lentibulariaceae)

พืชกินแมลงจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา พบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ใบติดผิวดินมีกับดักแมลงขนาดเล็ก

คำระบุชนิด “delphinioides” หมายถึงดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกเดลฟิเนียม



   เห็มรัตน์ภูลังกา

เห็มรัตน์ภูลังกา Platostoma hemratianum Suddee, Puudjaa & Kiewbang (Lamiaceae, Labiatae)

พืชชนิดใหม่ของโลก  ไม้ล้มลุกจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา พืชชนิดใหม่ของโลกที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany)

คำระบุชนิด “hemratianum” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้





   บัวผุด

บัวผุด ดอกไม้ยักษ์ หนึ่งปีมีครั้งเดียว

บัวผุด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Rafflesia kerri) เป็นกาฝากชนิดหนึ่ง

อาศัยอยู่บนรากของพืชจำพวกสกุลเครือเขาน้ำ (Tetrastigma) ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าย่านไก่ต้ม

มีลักษณะเด่นที่ดอกซึ่งเป็นดอกเดียวขึ้นจากพื้นดินมีขนาดใหญ่ มีให้เห็นในช่วงฤดูฝน ดอกของบัวผุดใช้เวลาตั้งแต่เป็นดอกตูมจนบานถึง ๙ เดือน

ดอกจะบานอยู่ได้เพียง ๔-๕ วันเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ดำเน่าไป

ทั้งนี้ ดอกนี้บานอยู่พิกัดบ้านถ้ำผึ้ง ม.๖ ต.คลองศก อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี



  ตองแห้งบะไห

ตองแห้งบะไห พรรณไม้บนลานหิน

ตองแห้งบะไห Hedyotis bahaii J. F. Maxwell (Rubiaceae)

พืชล้มลุกบนลานหินทราย คำระบุชนิด 'bahaii' หมายถึงบ้านบะไห ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก เป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic) ของไทย



   เอื้องน้ำต้นขนดก

เอื้องน้ำต้นขนดก กล้วยไม้ดิน ขึ้นใกล้ลำธาร

เอื้องน้ำขนดก Calanthe hirsuta Seidenf. (Orchidaceae) จากอุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย เดือนพฤศจิกายน

กล้วยไม้ดินหรืออิงอาศัยขึ้นใกล้ลำธาร ดอกออกเป็นช่อที่โคนลำลูกกล้วย ช่อดอกมีขนหนาแน่น ดอกบานเต็มที่ก่อนโรยสีส้มอมแดง


   กาตาฉ่อ

กาตาฉ่อ ชื่อกล้วยไม้ ภาษากะเหรี่ยงที่ใช้เรียกแถบกาญจนบุรี Phalaenopsis deliciosa Rchb. f. (Orchidaceae) [syn. Kingidium deliciosum (Rchb. f.) H. R. Sweet]

กล้วยไม้อิงอาศัยจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา มักพบขึ้นบนต้นไม้ตามลำธารที่มีความชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อพื้นเมือง ‘กาตาฉ่อ’ เป็นภาษากะเหรี่ยงที่ใช้เรียกแถบกาญจนบุรี
...ที่มา ทีมสำรวจพรรณไม้ภูลังกาภูวัว


   บัวฮาดำ

บัวฮาดำ กระดูกไก่ดำ เฉียงพร้าดำ Justicia ventricosa Wall. ex Hook. f. (Acanthaceae)

ไม้พุ่มจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกมีใบประดับขนาดใหญ่

มีสรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้ใบเข้ายาแก้ไข้ ลดความร้อน เป็นยาเย็นถอนพิษ
...ที่มา ทีมสำรวจพรรณไม้ภูลังกา-ภูวัว


   ประกายฉัตรภูลังกา

ประกายฉัตรภูลังกา Phyllocyclus petelotii (Merr.) Thiv (Gentianaceae)

ไม้ล้มลุกจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา เป็นพืชรายงานการพบใหม่ (new record) ที่รอการเขียนรายงานอย่างเป็นทางการจากผู้ศึกษา

ในต่างประเทศพบที่ลาว คำระบุชนิด ‘petelotii’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Paul Alfred Pételot นักพฤกษศาสตร์และนักกีฏวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้เก็บตัวอย่างต้นแบบ



   ดาดหินทราย (บีโกเนีย)

ดาดหินทราย (บีโกเนีย)  เป็นพืชล้มลุกพวกส้มกุ้ง พบขึ้นบนหินทราย ประมาณปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

และจะออกดอกในเดือนสิงหาคม บีโกเนียจะพบเห็นได้จนกว่าจะหมดฤดูฝนราวเดือนตุลาคม
…ที่มา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า



   เอื้องดินปากเหลือง

เอื้องดินปากเหลือง Cyrtosia integra (Rolfe ex Downie) Garay (กล้วยไม้หายาก)
: การดำรงชีวิตอาศัยราในดิน
: แต่ก่อนมักเรียกว่ากล้วยไม้กินซาก เป็นกล้วยไม้ที่ไม่มีใบ : ออกดอกช่วงต้นฝน
: ติดฝักประมาณช่วงกลางฤดูฝน
: เอื้องดินปากเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียถึงแถบอินโดจีน พบได้ตามป่าสมบูรณ์ที่มีเศษพืชทับถมมาก
...ที่มา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า


   ชิงชี่

ชิงชี่
ชื่อวิทยาศาสตร์: Capparis micracantha
วงศ์: Capparaceae
สกุล: Capparis
ข้อมูลทั่วไป : ลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือรอเลื้อย มีหนาม ใบรูปขอบขนาน รูปใบหอกหรือแกมรูปไข่ ยาว ๑๐-๓๐ เซนติเมตร โคนใบมนหรือกลม ก้านใบยาว ๑-๒ เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ มี ๒-๗ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๖-๒ เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว ๐.๖-๑ เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว กลีบคู่บนรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก มีสีเหลืองหรือสีม่วงแซม ยาว ๑-๒ เซนติเมตร ปลายกลีบดอกกลม โคนกลีบเรียวแคบ ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒.๕ เซนติเมตร รังไข่เกลี้ยง ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๓ เซนติเมตร ออกดอกช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม ผลรูปกลมหรือรี ยาว ๓-๗ เซนติเมตร ผนังหนาสีส้มแดง มีริ้วตื้นๆ หรือเรียบ ภายในมีเมล็ดรูปไตสีแดงเข้ม ยาวประมาณ ๗ มิลลิเมตร จำนวนมาก
...ที่่มา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า


   เอื้องคำกิ่ว

เอื้องคำกิ่ว (เอื้องตีนเป็ด,เอื้องตีนนก)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrobium signatum
วงศ์ : Orchidaceae
สกุล : Dendrobium
ข้อมูลทั่วไป : ลำต้นเจริญแบบแตกกอ มีลำลูกกล้วย เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ระบบรากเป็นแบบรากอากาศ แผ่นใบค่อนข้างหนา ก้านช่อดอกสั้น

บางพันธุ์ดอกสีเหลืองล้วน บางพันธุ์มีแต้มสีม่วงเข้ม ขอบกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย ออกดอกช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม
...ที่มา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า


   คำขาวเชียงดาว

คำขาวเชียงดาว หรืออีกชื่อ กุหลาบขาวเชียงดาว,กุหลาบขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rhododendron ludwigianum Hoss.
ชื่อวงศ์ : ERICACEAE
ข้อมูลทั่วไป : กุหลาบขาวบานบนลานหินปุ่มภูหินร่องกล้า ดอกกุหลาบขาวจะออกดอกช่วงเดือนเมษายน-กลางพฤษภาคม ของทุกปี

เชิญชมกุหลาบขาวบานได้ที่ลานหินแตก และจะพบเยอะที่บริเวณลานหินปุ่ม อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก



   เอื้องชะนี

เอื้องชะนี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dendrobium senile Par. & Rchb. f.
ชื่อวงศ์ : ORCHIDACEAE
ออกดอกช่วง : กุมภาพันธ์ – มีนาคม
...ที่มา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า


   กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง

กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง (Ang Thong Lady’s Slipper)

ชื่อวิทยาศาสตร์: Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein var. ang-thong (Fowlie) Braem

เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่น ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณหมู่เกาะในทะเลอ่าวไทย โดยคาดว่าเป็นการผสมกันตามธรรมชาติของรองเท้านารีขาวสตูลกับรองเท้านารีเหลืองตรัง

เป็นกล้วยไม้ที่มีปลายใบมน หลังใบมีสีเขียวคล้ำประลาย ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกยาวมีขนปกคลุม มีดอกขนาดเล็กไม่สม่ำเสมอกัน กลีบหนาสีขาวมีจุดประกระจาย

จากโคนกลีบ ออกดอกช่วงเดือนเมษายน - สิงหาคม โดยพบได้ทั่วไปบนเขาหินปูนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง บริเวณเกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะแม่เกาะ และเกาะสามเส้า
...ที่มา สำนักอุทยานแห่งชาติ


   ชมพูภูคา

ชมพูภูคา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า : Bretschneidera sinensis เป็นไม้ยืนต้นชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Bretschneideraceae

มีต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๑๐-๒๕ เมตร  เป็นพันธุ์ไม้ที่ได้ชื่อว่าหายากที่สุดในโลก เพราะเคยมีการสำรวจพบทางตอนใต้ของประเทศจีน และ ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

จากนั้นก็ไม่มีรายงานการค้นพบต้นไม้ชนิดนี้อีกเลย จนต่อมาเมื่อปี ๒๕๓๒ มีการค้นพบต้นชมพูภูคาอีกครั้งที่ อ.ปัว จ.น่าน ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในประเทศไทยนี่เอง

ชมพูภูคา จะออกดอกและบานสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี เพราะเป็นไม้ที่ชอบอากาศหนาว

สำหรับปีนี้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ช่วงนี้ชมพูภูคากำลังออกดอกบานอย่างสวยงาม ซึ่งภาพประกอบชุดนี้เป็นภาพที่เพิ่งถ่ายมาเมื่อเช้าวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
...ที่มา สำนักอุทยานแห่งชาติ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #30 เมื่อ: 12 เมษายน 2564 15:49:52 »

   ดาวล้อม

"ดาวล้อม" ความสวยงามของดาวบนดินพรรณไม้หายากในธรรมชาติ

ดาวล้อม Hoya vaccinioides Hook. วงศ์​ Apocynaceae (เดิม Asclepiadaceae) ความสวยงามของดาวบนดิน ช่างน่าดึงดูดสายตาของนักสำรวจพรรณไม้ยิ่งนัก ดาวล้อมเป็นพรรณไม้ที่หาพบได้ยากในธรรมชาติ มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบผืนป่าฝั่งตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พบตามป่าดิบเขาที่สูงจา​ก​ระดับทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน

ลักษณะเด่น : พืชอิงอาศัยบนต้นไม้ ลำต้นเรียวยาว ๒๐-๓๐ ซม. ห้อยลง มีรากตามข้อ มีขนสั้นนุ่มสีเขียวถึงสีน้ำตาลอมเทากระจายทั่วไปตามกิ่ง ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่ แผ่นใบด่านล่างมีนวล สีขาวอมเขียว ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ แต่ละช่อดอกมี ๕-๗ ดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวน ๕ กลีบ ดอกสีขาว กะบังสีชมพูอมขาว แยกเป็นแฉก ๕ แฉก เกสรเพศผู้เชื่อมติดกันมี ๕ เกสร ผลแบบผลแตกแนวเดียวรูปแถบ

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


   แสดสยาม

แสดสยาม พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก

แสดสยาม​ Goniothalamus repevensis Pierre ex Finet & Gagnep. วงศ์ : ANNONACEAE พรรณไม้หายาก ไม้พุ่ม ดอกสีเหลืองนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีแสด ในป่าตะวันออกพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี ในป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง ๖๐๐-๙๐๐ เมตร

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


   ประดับหินใบเดี่ยว

ประดับหินใบเดี่ยว พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก
ประดับหินใบเดี่ยว Argostemma siamense Puff วงศ์: RUBIACEAE พรรณไม้หายาก​ ไม้ล้มลุก มีใบ ๑-๒ คู่ มี ๑ ใบที่มีขนาดใหญ่กว่าใบอื่นอย่างชัดเจน ดอกสี๑๐๐-๕๐๐ เมตร

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


   โฮย่าสอยดาว
พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก

โฮย่าสอยดาว Hoya soidaoensis Kidyoo​ อยู่ในวงศ์ : APOCYNACEAE​ เป็นไม้เถาขนาดเล็ก มีน้ำยางสีขาว กลีบดอกสีครีมถึงขาวอมเหลือง เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พรรณไม้ถิ่นเดียวและหายาก พบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี อิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ ในป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช




   ปุดขาว

พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก...

“ปุดขาว” Etlingera littoralis(J.König) Giseke วงศ์ : ZINGIBERACEAE

พรรณไม้หายาก ไม้ล้มลุก สูง ๒.๕-๓ เมตร ดอกสีขาว คาดว่าจะเป็นพันธุ์ (variety) หรือฟอร์ม (forma) หนึ่งของปุดคางคก  Etlingera littoralis(J.König) Giseke ในป่าตะวันออกพบเพียงแห่งเดียว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ขึ้นในป่าดิบชื้น ที่ระดับความสูง ๖๐๐-๗๐๐ เมตร...

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #31 เมื่อ: 22 เมษายน 2564 16:25:03 »



   ต้นช้างร้อง

ต้นช้างร้องต้นไม้มีพิษ ภายนอกอาจดูปกติเหมือนพืชทั่วไป แต่ใต้ใบของมันนั้นมีเข็มขนาดเล็กจิ๋วนับไม่ถ้วนพร้อมทิ่มแทงเราหากไปสัมผัสมัน ช่วงนี้สังเกตง่ายเพราะกำลังออกดอก ออกผล ถ้าหากโดนขึ้นมาจะมีอาการแสบร้อน คัน สำหรับคนที่โดนเยอะและแพ้อาจจะถึงชีวิตได้ รักษาเบื้องต้นด้วยการล้างน้ำสะอาดให้เยอะๆ แล้วพบแพทย์นะคะ ที่มา เพจ "คนรักอุทยานแห่งชาติ"


   พิศวงตานกฮูก หรือ พิศวงไทยทอง

พิศวงตานกฮูก หรือ พิศวงไทยทอง พืชไซส์จิ๋วสีเขียวมรกต แห่งตระกูลพิศวงที่แสนลึกลับ พืชขนาดจิ๋วเท่าหัวไม้ขีด รูปทรงแปลกประหลาดที่มีลักษณะคล้ายนกฮูก ถูกพบบนดอยหัวหมดอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และยังเป็นพืชถิ่นเดียวที่พบตามภูเขาหินปูน ที่ระดับความสูงประมาณ ๗๐๐-๘๐๐ เมตร จะออกดอกช่วงปลายฝนต้นหนาว เดือนกันยายน – ตุลาคม

พรรณไม้ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มพืชล้มลุกอาศัยราในการดำรงชีวิต (mycoheterotrophic) โดยการแย่งอาหารจากราที่พวกมันอาศัยอยู่ ช่วงชีวิตส่วนใหญ่จะหลบอยู่ใต้ดิน มีช่วงเวลาสั้นๆ ให้ได้สังเกตเพียงช่วงระยะดอกเท่านั้น และมีแมลงขนาดจิ๋วอย่าง "บั่วรา" (fungus gnats) ช่วยในการผสมเกสรอีกด้วย
 ที่มา - มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, ภาพ: วรพจน์ บุญความดี



   ต้นโยนีปีศาจ หรือมะกอกโคก

โยนีปีศาจพันธุ์ไม้หายากที่พบในอุทยานแห่งชาติภูเวียง

ต้นโยนีปีศาจ หรือมะกอกโคก (Schreberas wietenioides Roxb.) มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น หีผี มะกอกดอน สำโรง มะกักป่า มะกอกเผือก เป็นต้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามว่า “โยนีปีศาจ” อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์ เนื่องจากผลที่แก่จัดจะแตกเป็น ๒ ซีก มองดูคล้ายอวัยวะเพศหญิง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร ผลเป็นรูปไข่กลับ เปลือกแข็ง เมล็ดมีปีก

ตามตำนานเรื่องเล่า ท้าวปาจิตโอรสแห่งนครธม กับนางอรพิมหญิงสาวสามัญชน ทั้งสองมีความรักต่อกันแต่มีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกันผจญภัยในป่าเป็นเวลากว่า ๗ ปี ในระหว่างนั้นนางอรพิมเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับตัวเอง จึงอธิษฐานจิตขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แปลงร่างให้เธอเป็นชาย โดยขอให้บางส่วนที่เป็นหญิงหลุดหายไปจากร่าง จากนั้นนางจึงนำโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงไปฝากไว้ที่ต้นโยนีปีศาจ เมื่อรอดชีวิตจึงได้นำอวัยวะเพศจากต้นโยนีปีศาจกลับมาใส่ร่าง กลายเป็นหญิงและครองรักกับท้าวปาจิตดังเดิม
ที่มา เพจอุทยานแห่งชาติภูเวียง

    เห็ดร่างแห (ภาพจาก เพจอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 เมษายน 2564 16:27:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #32 เมื่อ: 20 กรกฎาคม 2564 20:36:39 »

โมกส้ม

โมกส้ม พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก

โมกส้ม Wrightia coccinea (Roxb.) Sims วงศ์ : APOCYNACEAE

พรรณไม้หายาก ไม้ต้น สูงได้ถึง ๗ เมตร ดอกสีส้ม มีกลิ่นหอมเอียน ในป่าตะวันออกพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ขึ้นในป่าดิบ ริมลำธาร ที่ระดับความสูง ๔๕๐-๗๐๐ เมตร  
ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

ฝอยหิน : Cyanotis arachnoidea Wight

วงศ์ Commelinaceae

กระจายตามป่าพื้นหิน สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๒๐๐-๒,๓๐๐ เมตร เป็นหญ้าสมุนไพร ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ออกดอกตามโคนซอกใบ  รากใช้เป็นส่วนกระกอบในยาจีน มีฤทธ์ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและไขข้ออับเสบ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ไคร้หางนาค

ไคร้หางนาค : Phyllanthus taxodiifolius Beille วงศ์ : PHYLLANTHACEAE

ชื่ออื่น : ตะไคร้หางสิงห์ (สุพรรณบุรี), เสียว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เสียวน้อย เสียวเล็ก (ขอนแก่น), เสียวน้ำ (ปราจีนบุรี)

ไคร้หางนาคเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ดอกช่อขนาดเล็ก ออกที่ซอกใบ ผลกลม มี ๓ พู

สรรพคุณ : ราก ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ไตพิการ แก้ไข้ แก้บวมน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน ลำต้น ฟอกปัสสาวะ ล้างถ่ายปัสสาวะ แก้กระษัย บำรุงไต แก้ดีพิการ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๖๔. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ว่านหัวสืบ เนียมฤๅษี

ว่านหัวสืบ เนียมฤๅษี : Disporum calcaratum D. Don วงศ์ Colchicaceae

ไม้ล้มลุก เหง้าทอดเลื้อย ใบเรียงเวียน มีเส้นใบตามยาวชัดเจน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกสั้น ดอกสีชมพูอมม่วงถึงม่วงเข้ม ผลกลม สุกสีม่วง ผิวเป็นมัน

พบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า เวียดนาม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ระดับความสูงจนถึงประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ใคร่หอม

ใคร่หอม : Breynia thorelii (Beille) Welzen & Pruesapan วงศ์ : PHYLLANTHACEAE

ชื่ออื่น : สะเลียมหอม (แม่ฮ่องสอน)

ใคร่หอม เป็นไม้พุ่ม กิ่งซิกแซก ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกช่อ ออกตามลำต้น สีแดงเลือดนก ผลมี ๓-๕ พู

สรรพคุณ : ใบ ต้มน้ำดื่มหรือเคี้ยวสด รักษาโรคภูมิแพ้ หอบหืด หวัดเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ดอก รักษาโรคกระเพาะ ความดันสูง เบาหวาน อาการอักเสบ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๖๓. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    เอื้องเทียนปากน้ำตาล

[size=11ptเอื้องเทียนปากสีน้ำตาล กล้วยไม้ จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

เอื้องเทียนปากน้ำตาล : Coelogyne phuhinrongklaensis Ngerns. & Tippayasri

กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ตีพิมพ์ในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) ฉบับที่ ๔๐ ปี ๒๐๑๒ เป็นพืชถิ่นเดียว (endemic) ของไทย

เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนหิน เจริญทางด้านข้าง ทุกส่วนเกลี้ยง เหง้า ทอดนอน รูปทรงกระบอก มีเกล็ดบางคล้ายกระดาษติดทนเรียงซ้อนเหลื่อมหุ้มเหง้า รากออกตามข้อ หัวเทียมสีเขียว มีขนาดดอกค่อนข้างใหญ่ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีขาวบริสุทธิ์ กลีบปากสีขาว มีแถบและแต้มสีน้ำตาล จึงเรียกว่าเอื้องเทียนปากสีน้ำตาล][/size] ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


   ง่วงชุม

ง่วงชุม : Combretum pilosum Roxb. Ex G.Don วงศ์ : COMBRETACEAE

ชื่ออื่น :  เครือเขามวก (หนองคาย), ตีนตั่งตัวแม่ (ลำปาง)

งวงชุ่มเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกช่อแยกแขนงสั้น  สีชมพูม่วง ผลแห้ง รูปรี มี ๕ ครีบ

สรรพคุณ : ราก แก้ไข้ ใบ ขับพยาธิ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    งิ้วแดง

งิ้ว : Bombax ceiba  L.

วงศ์ : MALVACEAE

ชื่ออื่น : งิ้วแดง (กาญจนบุรี), งิ้วบ้าน (ทั่วไป); Cotton tree, Kapok tree, Red cotton tree, Shaving brush, Silk cotton tree

งิ้วเป็นไม้ต้น ผลัดใบ ลำต้นมีหนาม ใบประกอบแบบนิ้วมือ มี ๕ ใบย่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง สีแดงหรือเหลือง ผลแห้งแตก

สรรพคุณ : ราก บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้บวม เปลือก แก้ตกโลหิต แก้ท้องเสีย ทำให้อาเจียน หนาม แก้ไข้ ลดความร้อน ใบ แก้อักเสบ ฟกช้ำ แก้ต่อมทอลซิลอักเสบ ดอก ระงับประสาท แก้ปวด ทาแก้น้ำร้อนลวก
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ตีนตั่งเตี้ย

ตีนตั่งเตี้ย พืชป่าสมุนไพร  รักษาเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด แก้มือเท้าชา

ชื่อท้องถิ่น : เปาะแปะ (อุดรธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strobilanthes quadrifaria (Wall. ex Nees) Y. F. Deng

ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE

ตีนตั่งเตี้ย เป็นไม้ล้มลุก สูงถึง ๑ ม. ตามกิ่งและใบมีขนสั้นสากคาย  ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามตั้งฉาก รูปไข่-รี ยาว ๑๐-๒๐ ซม.

ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง มีใบประดับสีเขียวอ่อนเรียงซ้อนกันหนาแน่น ๔ มุม รูปไข่-ใบหอก และมีขนยาวแข็งจำนวนมาก

ดอกเป็นหลอดสีม่วงอมชมพู ยาว ๒.๕-๓ ซม. ผลเป็นฝักคล้ายฝักต้อยติ่ง ซ่อนอยู่ในใบประดับ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


   สร้อยเมืองน่าน

สร้อยเมืองน่าน พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน

สร้อยเมืองน่าน : Didymocarpus formosus  Nangngam & D.J.Middleton

วงศ์ : Gesneriaceae

ไม้ล้มลุกขึ้นบนหิน มีขนหลายเซลล์ประปรายหรือหนาแน่นตามลำต้น เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ และช่อดอก ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มี ๓-๔ คู่ รูปไข่ ยาว ๗-๑๙ ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้า เบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อย เส้นแขนงใบขางละ ๖-๘ เส้น ก้านใบยาว ได้ถึง ๑๒ ซม.

ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเดี่ยวๆ ตามปลายยอด ยาวได้ประมาณ ๑๔ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๑๒ ซม. ดอกรูปแตร สีแดงเข้มอมน้ำตาล ห้อยลง ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. ใบประดับสีม่วงอมชมพู ออกเป็นคู่ กลมๆ ขนาดประมาณ ๗ มม. ร่วงเร็ว  กลีบเลี้ยงสีชมพูอมม่วง รูประฆังกว้าง ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ตื้นๆ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. หลอดกลีบดอก ยาวประมาณ ๖ ซม. หลอดกลีบเรียวแคบ ช่วงกว้างประมาณ ๓ ซม. ช่วงโคนสีชมพูอมม่วง กลีบปากล่าง ๓ กลีบ รูปกลมๆ ขนาดประมาณ ๑ ซม. กลีบปากบน ๒ กลีบ รูปรีกว้าง ยาวประมาณ ๘ มม.

เกสรเพศผู้ ๒ อัน ติดเหนือโคนหลอดกลีบประมาณ ๓.๕ ซม. ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนเคราสีขาว เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ มม. จานฐานดอกรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒ มม. ขอบจักไม่เป็นระเบียบ รังไข่รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๕ ซม. มีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเป็นตุ่ม  ผลแห้งแตก

การกระจายพันธุ์ : พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ขึ้นตามโขดริมริมลำธารในป่าดิบเขา ความสูงประมาณ ๑,๓๐๐ เมตร
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


   ม่วงพนาวัน หรือ เครือม่วง

ม่วงพนาวัน หรือ เครือม่วง ไม้พุ่มจาก อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

ม่วงพนาวัน  Craspedolobium unijugum (Gagnep.) Z. Wei & Pedley

วงศ์ Fabaceae

ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อยจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ มักพบตามป่าดิบเขาที่สูง ต่างประเทศพบที่พม่า (เมียนมาร์) จีนตอนใต้ และลาว
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ฝนแสนห่า

ฝนแสนห่า ใบใช้ประคบแผลฟกช้ำ

ฝนแสนห่า : Argyreia capitiformis (Poir.) Ooststr. วงศ์ Convolvulaceae
ชื่ออื่น  กระดึงช้าง (ภาคกลาง); จิงจ้อหลวง (ประจวบคีรีขันธ์); ดูลาน (ยะลา); ฝนแสนห่า (จันทบุรี); ย่านขน (สงขลา); ลูกช้าง (กาญจนบุรี); เอ็นขน (สุราษฎร์ธานี); เอ็นน้ำนม (ตรัง)

ชื่อพ้อง Convolvulus capitiformis Poir.

ไม้เถาล้มลุก มีขนหยาบตามลำต้น แผ่นใบ ใบประดับ ช่อดอก กลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอก  ใบรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือเกือบกลม ยาว ๘-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปหัวใจ ก้านช่อดอกยาว ๖-๓๐ ซม. ใบประดับรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ติดทน ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงรูปขอบขนาน ปลายแหลมยาว ๓ กลีบนอกยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. กลีบคู่ในยาว ๑-๒ ซม.

ดอกสีชมพูหรือม่วงอ่อน รูปปากแตร ยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. เกสรเพศผู้ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนมีต่อมขนยาว รังไข่เกลี้ยง  ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๓ ซม. ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก

ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. สุกสีส้มแดง ส่วนมากมี ๔ เมล็ด รูปไข่แกมสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๗ มม. (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ เครือพุงหมู, สกุล)

พบที่อินเดีย จีน พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ที่โล่ง ความสูงถึงประมาณ ๑,๔๐๐ เมตร ใบใช้ประคบแผลฟกช้ำ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    งาขี้ม่อน

งาขี้ม่อน : Perilla frutescens (L.) Britton

วงศ์ : LAMIACEAE

งาขี้ม่อนเป็นไม้ล้มลุก ใบเดี่ยว มีกลิ่นหอม เรียงตรงข้าม มีขน ดอกช่อกระจะ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ผลรูปทรงไข่กลับ ผลแห้งไม่แตก

สรรพคุณ : ใบ และยอดอ่อน ใช้แต่งรสอาหาร แก้ไอ แก้หวัด และช่วยย่อย เมล็ด บำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายอบอุ่น และแก้ท้องผูก
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    พุดโกเมน

พุดโกเมน ไม้ประดับในเขตร้อน ผลและเมล็ดให้สีใช้แต้มตามร่างกาย

พุดโกเมน : Rothmannia longiflora  Salisb. วงศ์ Rubiaceae

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ เมตร หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตรร่วงเร็ว  

ใบเรียงตรงข้าม รูปรี ยาว ๖-๑๘ เซนติเมตร ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น มีตุ่มใบ ก้านใบยาว ๐.๓-๑ เซนติเมตร

ดอกออกเดี่ยวๆ ที่ปลายกิ่งสั้นด้านข้าง รูปแตร มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. มีใบประดับย่อยคล้ายเกล็ด ๕-๙ อัน หลอดกลีบเลี้ยงยาว ๑-๒ เซนติเมตร มี ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๔ มิลลิเมตร ติดทน

ดอกรูปลำโพงแคบ ยาวได้ถึง ๒๔ เซนติเมตร กลีบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ๕ กลีบ ยาว ๑-๔ เซนติเมตร สีม่วงอมแดง มีปื้นสีเขียวด้านนอก ด้านในสีขาวมีจุดมีม่วงกระจาย  

เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดบนปากหลอดกลีบดอก ไม่ยื่นพ้นปากหลอดหรือปลายอับเรณูยื่นเล็กน้อย รังไข่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง

ก้านเกสรเพศเมียยาว ๑๒-๒๐ เซนติเมตร ยอดเกสรจัก ๒ พู ยาวได้ถึง ๓ เซนติเมตร ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย  

ผลสดมีหลายเมล็ด รูปรีเกือบกลม ยาว ๓.๕-๗ เซนติเมตร สีเขียวเข้มอมดำ มี ๑๐ สัน  

เมล็ดสีน้ำตาลแดง แบน เว้า เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มิลลิเมตร

การกระจายพันธุ์:  มีถิ่นกำเนิดที่แอฟริกาแถบประเทศแกมเบีย ซูดาน เคนย่า แทนซาเนีย และแองโกล่า เป็นไม้ประดับในเขตร้อน ผลและเมล็ดให้สีใช้แต้มตามร่างกาย หรือเป็นสีย้อม ผลรับประทานได้
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    โสกเหลือง ศรียะลา

โสกเหลือง ศรียะลา เปลือกช่วยต้านอนุมูลอิสระ

โสกเหลือง ศรียะลา : Saraca thaipingensis Cantley ex Prain

วงศ์ Fabaceae

ไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. หูใบขนาดเล็กเชื่อมติดกัน ร่วงเร็ว  ใบประกอบชั้นเดียว เรียงเวียน แกนใบประกอบยาว ๒๐-๗๕ เซนติเมตร ใบย่อยมี ๔-๘ คู่ รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ยาว ๗-๓๒ เซนติเมตร  ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนรูปลิ่มหรือกลม ก้านใบย่อยยาว ๑-๑.๕ เซนติเมตร

ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามกิ่งและลำต้น ช่อกว้าง ๑๕-๓๕ เซนติเมตร  ยาวได้ถึง ๔๕ เซนติเมตร  ใบประดับรูปไข่ ยาว ๑-๓.๕ เซนติเมตร  ร่วงเร็ว  ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศหรือดอกเพศผู้ ใบประดับย่อย ๒ อัน รูปใบหอก ยาว ๐.๖-๑.๗ เซนติเมตร  ร่วงเร็ว ก้านดอกยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร  ฐานดอกรูปหลอด ยาว ๑-๒.๕ เซนติเมตร  กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ เซนติเมตร  สีเหลืองหรืออมส้ม จานฐานดอกติดที่ปลายหลอดกลีบเลี้ยง เปลียนเป็นสีแดงอมน้ำตาล ไม่มีกลีบดอก  

เกสรเพศผู้ ๓-๗ อัน ติดบนจานฐานดอก อับเรณูติดด้านหลัง แตกตามยาว รังไข่มีขน  ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ฝักรูปใบหอก ยาว ๑๕-๔๐ ซม. แบน โค้งทั้งสองด้าน ปลายมีจะงอย ยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร  ฝักอ่อนสีม่วง มี ๖-๘ เมล็ด   เมล็ดรูปรี ยาวประมาณ ๓.๕ เซนติเมตร

การกระจายพันธุ์ : พบที่พม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และชวา ในไทยพบทางภาคใต้ที่ภูเก็ต ตรัง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร

เปลือกมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ดอกมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะตอนกลางคืน  
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    หางหมาจอก

หางหมาจอก พืชป่าสมุนไพร สรรพคุณมากมาย

ชื่อท้องถิ่น : กายสิทธิ์ (พิษณุโลก), ขี้หนอน (อุดรธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uraria crinita (L.) Desv. ex DC.

ชื่อวงศ์ : FABACEAE

ไม้ล้มลุก สูงถึง ๑ เมตร ตามกิ่ง ก้านใบ และแผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นสากคาย มีหูใบและหูใบย่อย ใบเรียงเวียน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้าม รูปใบหอก ยาว ๙-๑๕ เซนติเมตร

ช่อดอกคล้ายหางกระรอกแกมรูปไข่-แท่งยาว ตั้งขึ้น ยาว ๑๐-๔๐ เซนติเมตรมดอกย่อยเรียงชิดกันแน่น สีชมพู-ม่วง ยาว ๑ เซนติเมตร มีขนยาวสีน้ำตาลทองตามขอบใบประดับและกลีบเลี้ยงจำนวนมาก

ทั้งต้น : ช่วย ถอนพิษ แก้โรคภูมิแพ้

ราก : ยาถ่าย ฆ่าพยาธิ รักษาโรคมะเร็ง

ใบและเปลือก : รักษาเลือดเป็นพิษ และอาการคัน
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ปัด

ปัด ไม้พุ่มจากป่าดิบเขา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

ปัด : Lasianthus sp. (Rubiaceae) ไม้พุ่มจากป่าดิบเขา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก

พบขึ้นในที่ค่อนข้างร่ม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ ด้านนอกหลอดกลีบดอกเกลี้ยง ด้านในมีขนสีขาวหนาแน่น แฉกกลีบดอกกางออกเป็นรูปดาว ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีม่วงอมน้ำเงิน
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    มวนบุหรี่

มวนบุหรี่ พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบได้ในป่าแคระ และตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง

มวนบุหรี่ : Neoalsomitra plena (Craib) Hutch. วงศ์ Cucurbitaceae

ไม้เถาล้มลุก อายุ ๑-๒ ปี ยาว ๑-๕ เมตรลำต้นมีขนต่อม แยกเพศต่างต้น ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรี จักเป็นพูตื้น ๓-๕  พู เส้นแขนงใบ ๓-๕ คู่ ก้านใบยาว ๐.๕-๓ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มิลลิเมตร

ช่อดอกเพศผู้แบบแยกแขนงแคบๆ  ยาว ๕-๑๕ เซนติเมตร  ใบประดับรูปแถบยาว ๑-๓ มิลลิเมตร ร่วงง่าย  ดอกเพศผู้มักอยู่บนก้านช่อดอกย่อยที่ไม่แตกแขนง ก้านดอกย่อยยาว ๐.๕-๑.๒ เซนติเมตร ดอกตูมที่ปลายดอกจัก ๕ แฉก วงกลีบดอกเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มิลลิเมตร ฐานรองดอกตื้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๑.๕-๒ มิลลิเมตร กลีบดอกรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขนาด ๒.๕-๔ x ๒.๕ มิลลิเมตร มีเส้นกลางกลีบนูนที่โคนด้านใน ก้านชูอับเรณูแยกกัน โค้งงอกลับ ยาว ๐.๕-๐.๗ มิลลิเมตร อับเรณูยาว ๐.๕มิลลิเมตร

ดอกเพศเมียส่วนมากมีดอกเดียว ก้านดอกย่อยยาว ๓-๗ มิลลิเมตร เป็นข้อเล็กน้อยและมีขนประปราย รังไข่ขนาด ๔.๕–๐.๖ มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๕ มิลลิเมตร

ผลเดี่ยว รูปขอบขนาน ขนาด ๐.๕-๑ x ๒.๕-๓ เซนติเมตร เกลี้ยง ปลายผลตัด  

เมล็ดมีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือดำ รูปรี ขนาด ๒.๕-๓.๕ x ๔-๕ มิลลิเมตร มีปีกรอบ แผ่กว้างด้านเดียว ขนาด ๔.๕x๘ มิลลิเมตร

การกระจายพันธุ์ :  พืชถิ่นเดียวของประเทศไทย พบกระจายห่างๆ ทั่วไปแถบทุกภูมิภาค จนถึงภาคใต้ ที่ จ. สุราษฎร์ธานี ขึ้นอยู่ตามป่าที่เป็นทุ่งหญ้าสลับ ป่าไม้พุ่มเตี้ยๆ (ป่าแคระ) และตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูงจนถึงประมาณ ๖๐๐ เมตร
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



    เก็ดเข้  แคนหิน

เก็ดเข้  แคนหิน ไม้ต้นขนาดใหญ่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว
เก็ดเข้ แคนหิน : Parashorea densiflora Slooten & Symington subsp. kerrii (Tardieu) Pooma (Dipterocarpaceae)

ไม้ต้นขนาดใหญ่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ต้นที่มีขนาดใหญ่โคนต้นมีพูพอน ผลดูเผินๆ คล้ายผลในสกุล Diospyros  พบในไทยและลาว ในไทยพบเฉพาะที่ภูวัว
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ติ้วเกลี้ยง

ติ้วเกลี้ยง สมุนไพรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ชื่อท้องถิ่น : ติ้ว (พิษณุโลก) ติ้ว ติ้วเกลี้ยง (อุดรธานี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Blume

ชื่อวงศ์ : HYPERICACEAE

ไม้พุ่ม-ไม้ต้นผลัดใบ สูงถึง ๑๕ เมตร เปลือกแตกล่อนเป็นแผ่นบางและเป็นหลุมตื้น สีน้ำตาลแดง

ต้นอายุน้อยเปลือกมีหนาม เปลือกในมีน้ำยางเหนียวสีแดงคล้ำ ยอดรสฝาดไม่เปรี้ยวนัก ไม่มีขน  ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี ยาว ๕-๑๐ เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง แผ่นใบด้านล่างค่อนข้างเรียบสีเขียวนวล กลีบดอกสีแดง มี ๕ กลีบ ผลรูปไข่ปลายแหลม ยาว ๑.๕-๒ เซนติเมตร เมื่อแห้งจะแตก ๓ ซีก มีกลีบเลี้ยงหุ้มโคนผล

เปลือก : สมานแผลภายใน หรือแผลภายนอก, น้ำยาง : รักษาโรคหิด รักษาแผลส้นเท้าแตก , ต้นและราก : ต้มผสมกับกำแพงเจ็ดชั้น แก้กระษัยเส้นและเป็นยาระบาย,  ใบอ่อนและยอด : รับประทาน มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ,  น้ำยางจากเปลือก : ใช้ทารักษาโรคหิด และน้ำกัดเท้า , ใบ เปลือก และน้ำยาง : รักษาโรคผิวหนัง แผลสด แก้ฝ่าเท้าแตก
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    สันดานหิน

สันดานหิน พืชล้มลุกขึ้นบนหินแกรนิต อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จังหวัดพังงา

สันดานหิน : Begonia sinuata Wall. ex Meisn. วงศ์ Begoniaceae
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



    มณฑาเครือ

มณฑาเครือ ไม้เถาเลื้อยสูงถึงยอดไม้จากป่าดิบเขาอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก

มณฑาเครือ : Kadsura heteroclita (Roxb.) Craib (Schisandraceae)
 
เป็นไม้เถาเลื้อยสูงถึงยอดไม้ พบเห็นค่อนข้างยาก เนื่องจากมักออกดอกออกผลอยู่บนยอดไม้ การเก็บตัวอย่างอ้างอิงทางพฤกษศาสตร์ต้องอาศัยเก็บดอกร่วง และดูเถาเพื่อเก็บใบจากกิ่งต่ำๆ เป็นชนิดและวงศ์ที่มีตัวอย่างอ้างอิงในหอพรรณไม้น้อยมาก
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ว่านดอกสามสี

ว่านดอกสามสี Christisonia siamensis Craib (Orobanchaceae) ไม้ล้มลุกไม่มีใบที่ชัดเจน พบในป่าที่มีไผ่หนาแน่น มักพบขึ้นใกล้กอไผ่ คำระบุชนิด ‘สี siamensis’ หมายถึงสยามหรือประเทศไทย หมายความว่าพืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทย ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


   ต้นข้าวจี่

ต้นข้าวจี่ ไม้พุ่มจากริมโขง สวยแปลกตา

ต้นข้าวจี่ Codariocalyx gyroides (Roxb. ex Link) Hassk. วงศ์ Fabaceae

ไม้พุ่มจากริมโขง อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ชื่อพื้นเมือง "ข้าวจี่" น่าจะมีที่มาจากลักษณะของดอก
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



    ไม้แดง

ไม้แดง :  Xylia xylocarpa (Roxb.) W. Theob

มีชื่ออื่นที่เรียกที่หลากหลาย กร้อม : (ชาวบน-นครราชสีม ) คว้าย : (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี, เชียงใหม่); ไคว :(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) จะลาน, จาลาน :(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) แดง :(ทั่วไป)  ตะกร้อม :(ชอง-จันทบุรี)  ปราน :(ส่วย-สุรินทร์)  ไปรน์ :(เขมร-ศรีสะเกษ) ผ้าน :(ละว้า-เชียงใหม่)  เพ้ย :(กะเหรี่ยง-ตาก) เพร่ :(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) สะกรอม: (เขมร-จันทบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร มีขนตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และก้านช่อดอก หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร ใบประกอบ ๒ ชั้น แกนกลางยาว ๓-๗ เซนติเมตร ใบประกอบย่อยมี ๑ คู่ ยาว ๑๐-๓๐ เซนติเมตร มีต่อมระหว่างใบประกอบย่อย ใบย่อยมี ๓-๖ คู่ รูปรี รูปไข่ หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว ๔-๑๔ เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มิลลิเมตร ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ทรงกลม ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก ก้านช่อโดดยาวได้ถึง ๙ เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ มีขนสั้นหนานุ่ม หลอดกลีบเลี้ยงยาว ๓-๔ มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๓.๕-๔.๕ มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่มีขน

ผล : เป็นฝักโค้งคล้ายบูมเมอแรง ยาว ๑๒-๑๗ เซนติเมตร กว้าง ๓.๕-๖ เซนติเมตร เนื้อแข็งคล้ายเนื้อไม้ เมื่อแห้งแตกอ้าออก มี ๗-๑๐ เมล็ด รูปรี แบน ยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง ลวดลายสวย แข็งแรงทนทานต่อการผุ-ปลวก-มอด แปรรูป ก่อสร้าง เครื่องเรือน

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ทั่วประเทศ ภาคใต้ปลูกได้ตามพื้นที่ดินปนทรายใกล้ชายทะเล

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๐.๕ เมตร ที่ราบ-ที่ลาดชัน ไม่เหมาะกับที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๒๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าเต็งรัง/ป่าเบญจพรรณ/ป่าดิบแล้ง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



    ตะเคียนชันตาแมว

ตะเคียนชันตาแมว ไม้มีค่าน่าในปลูกภาคใต้

ตะเคียนชันตาแมว : Neobalanocarpus heimii (King) P. S. Ashton

ชื่ออื่น : จีงามาส, จีรามัส, จืองา (มาเลย์-นราธิวาส) ตะเคียนชัน, ตะเคียนชันตาแมว (ภาคใต้) ตะเคียนทราย (ตรัง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ เมตร  โคนมีพูพอน เปลือกแตกตามยาวล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกในสีเหลืองแกมเขียว ชันสีขาวใส หูใบรูปแถบยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร ใบเรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว ๖-๑๕ เซนติเมตร ปลายแหลมยาว โคนเบี้ยว เส้นแขนงใบเรียงจรดขอบใบ เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๕-๑ เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๖-๘ เซนติเมตร แต่ละช่อแขนงมี ๕-๗ ดอก ตาดอกกลม มีขนหนาแน่น เกือบไร้ก้าน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กว้าง ยาวประมาณ ๒.๕ มิลลิเมตร ดอกสีครีมอมเหลือง มี ๕ กลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๕-๖ มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๑๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มิลลิเมตร โคนแผ่กว้าง อับเรณูมี ๔ พู แกนอับเรณูปลายเป็นติ่งแหลม รังไข่เกลี้ยง เรียวเป็นฐานก้านเกสรเพศเมีย ยาว ๒-๓ มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

ผล : เปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาว ๔-๕ เซนติเมตร ปลายมีติ่งแหลม แตกเป็น ๓ ซีก กลีบเลี้ยงรูปไข่สั้นกว่าผล โคนหนา ยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ก้านผลยาว ๑-๕ มิลลิเมตร

ประโยชน์ : เนื้อไม้แข็ง เนื้อเหนียวมาก ทนทานต่อการผุพังมาก แปรรูป ก่อสร้าง ต่อเรือ-รถ ทำสะพาน

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ภาคใต้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๑ เมตร ดินร่วน-ร่วนเหนียว ที่ราบลูกคลื่น-ที่ลาดชันในเขตภูเขา ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๐๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าดิบชื้น
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ปุดเต็ม

ปุดเต็ม พืชหายากและเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย

ปุดเต็ม : Geostachys smitinandii  K. Larsen (ZINGIBERACEAE) พืชล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าชูขึ้นสูงเหนือผิวดินประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปขอบขนาน เกลี้ยง ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีม่วง ช่อดอกจำนวน ๒-๓ ช่อ ดอกขนาดใหญ่ สีขาวมีแต้มสีชมพู

พบตามซอกหินหรือที่ที่มีดินและอินทรีย์วัตถุสะสมในป่าดิบเขาโปร่ง ที่ความสูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ เมตร

เป็นพืชหายากและเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย Prof. Kai Larsen ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ ศ.ดร. เต็ม สมิตินันทน์ ผู้มีคุณูปการแก่สำนักงานหอพรรณไม้และวงการพฤกษศาสตร์ไทย
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ช้องรำพัน

ช้องรำพัน พรรณไม้จากภูลังกา รูปร่างแปลกตา ชื่อแปลกหู

ช้องรำพัน : Buxus cochinchinensis Pierre ex Gagnep. (Buxaceae) ไม้พุ่มจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม คำระบุชนิด “cochinchinensis” หมายถึงตอนใต้เวียดนาม (Tonkin เวียดนามตอนบน Annam ตอนกลาง Cochinchine ตอนใต้) ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ยางเหียง

ยางเหียง  ไม้มีค่าน่าปลูก

Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. ex Miq.

ชื่ออื่น กุง (Malay-Peninsular); เกาะสะเตียง (Lawa-Chiang Mai); คราด (So-Nakhon Phanom); ซาด (Northeastern); ตะแบง (Eastern); ตะลาอ่ออาหมื่อ (Karen-Chiang Mai); ตาด (Chanthaburi, Phitsanulok); ยางเหียง (Chanthaburi, Ratchaburi); ล่าทะยอง (Karen-Chiang Mai); สะแบง (Northeastern, Uttaradit); สาละอองโว (Karen-Kanchanaburi); เห่ง (Lue-Nan); เหียง (ทั่วไป); เหียงพลวง, เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาว มีขนยาวและขนรูปดาวตามกิ่ง หูใบด้านนอก แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ก้านดอก และกลีบเลี้ยงด้านนอก หรือเกลี้ยง หูใบรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๗ เซนติเมตร ใบรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว ๑๐-๓๐ เซนติเมตร ปลายมน โคนรูปลิ่มกว้างหรือเว้าตื้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๒๐ เส้น ก้านใบยาว ๒.๕-๖.๕ เซนติเมตร ช่อดอกยาว ๓-๑๐ เซนติเมตรช่ออ่อนมีใบประดับหุ้ม มี ๔-๗ ดอก เรียงซิกแซ็กด้านเดียว ก้านดอกหนา ยาว ๑-๒ มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร กลีบยาว ๒ กลีบ รูปใบหอก ยาว ๑-๒ ซม. กลีบสั้น ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๔-๖ มิลลิเมตร ดอกสีขาวอมชมพู มีสีเข้มด้านใน กลีบรูปใบหอก ยาว ๔-๖ เซนติเมตร ด้านนอกมีขนสั้น เกสรเพศผู้มีประมาณ ๓๐ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น โคนแผ่กว้าง อับเรณูยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร.

ยางค์รูปเส้นด้าย ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของอับเรณู รังไข่มีขนสั้นนุ่ม  หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มผลเรียบ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓.๕ เซนติเมตร ปีกยาว ๒ ปีก ยาว ๘-๑๕ เซนติเมตร ปีกสั้น ๓ ปีก รูปรีกว้าง ยาว ๑.๕-๒ เซนติเมตร ขอบพับกลับ

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง ทนทานต่อการผุพัง แปรรูป ก่อสร้าง

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ทั่วประเทศ ภาคใต้ปลูกได้ตามพื้นที่เนินทรายหรือดินลูกรังใกล้ชายทะเล

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๐.๕ เมตร ที่ราบลูกคลื่น-ที่ลาดชันบนภูเขา  ชอบดินร่วนปนทราย-ดินทราย-ดินลูกรัง ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๓๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าเต็งรัง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กรกฎาคม 2564 20:38:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #33 เมื่อ: 24 กรกฎาคม 2564 18:02:36 »


    ยางปาย

ยางปาย” ไม้มีค่าน่าปลูก

ยางปาย Dipterocarpus costatus C. F. Gaertn.  

ชื่ออื่น : กวู  ยางกระเบื้องถ้วย ยางกราย ยางแกน ยางเจาะน้ำมัน ยางแดง ยางบาย ยางเบื้องถ้วย  ยางใบเอียด ยางพราย  ยางหัวแหวน  ยางฮอก  ยางฮี  ยางฮี้  สะแฝง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐-๔๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาสีน้ำตาลปนเทาถึงน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดแผ่ค่อนข้างกลม

ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็ก รูปไข่ กว้าง ๔-๘ เซนติเมตร  ยาว ๘-๑๔ เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบแหลม หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสีน้ำตาลอ่อน โดยเฉพาะตามเส้นแขนงใบ ซึ่งมี ๑๐-๑๔ คู่ ใบแก่ออกสีน้ำตาลแดง ดอกสีครีม ออกเป็นช่อสั้นๆ กลีบรองดอกมีสันตามยาว ๕ สัน ปลายมี ๕ แฉก ยาว ๒ แฉก สั้น ๓ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ปลายบิดเวียนตามกัน มีเกสรผู้ ๒๙-๓๐ อัน อยู่ในหลอดดอก  ผลกลม ขนาดผ่าศูนย์กลาง ๑.๘-๒ เซนติเมตร  มีสันคมยาวตลอดตัวผล ๕ สัน คลุมด้วยขนสีเทาหรือสีทอง ปีกคู่ รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๒.๕ เซนติเมตร  ยาว ๙-๑๒ เซนติเมตร  มีเส้นปีก ๕ เส้น

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง เนื้อเหนียว ทนทานต่อการพุพังปานกลาง ได้เนื้อไม้ปริมาณมาก แปรรูปก่อสร้าง

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ทั่วประเทศ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๑ เมตร ที่ราบลูกคลื่น-ที่ลาดชันบนภูเขา,ชอบดินร่วน-ดินปนทราย ที่มีการระบายน้ำดี  ระดับความสูง ๒๐๐-๑,๓๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ :ป่าดิบแล้ง/ป่าดิบเขา
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ยางขน

ยางขน  ไม้มีค่าน่าปลูก

ยางขน : Dipterocarpus baudii Korth

ชื่ออื่น :ยางกล่อง (ตราด); ยางขน (จันทบุรี, ตราด); ยางแดง (ตรัง); ยางมดคัน (นครศรีธรรมราช); ยางเยือง (ภาคใต้); ยูงกระเบื้อง (ชุมพร); ยูงขน (จันทบุรี, ตราด); ยูงแดง, ยูงใบใหญ่ (ระนอง, สุราษฎร์ธานี); ยูงหัวแหวน (ระนอง); ยูงเหียง (ตรัง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :ไม้ต้น ส่วนต่างๆ มีขนกระจุกยาวสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ขนยาว ๓-๔ มิลลิเมตร หูใบรูปแถบ ยาวได้ถึง ๑๕ เซนติเมตร  ใบรูปรีกว้าง ยาว ๑๕-๓๕ เซนติเมตร ปลายแหลมยาว โคนแหลม กลม หรือเว้าตื้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๘ เส้น ก้านใบยาว ๓-๖ เซนติเมตร  ช่อดอกยาว ๓-๕ เซนติเมตร  มี ๓-๖ ดอก ก้านดอกสั้นมาก หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร  กลีบยาวยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร  กลีบสั้นยาว ๓-๕  มิลลิเมตร กลีบดอกยาว ๔-๖ เซนติเมตร  ด้านนอกมีขนรูปดาวสั้นประปราย เกสรเพศผู้ ๓๐ อัน อับเรณูยาว ๗-๙  มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มผลเรียบ ยาว ๒-๒.๕ เซนติเมตร  ปีกยาวยาว ๑๐-๒๐ เซนติเมตร  ปีกสั้นยาว ๑.๕-๓ เซนติเมตร  ปีกสั้นขอบพับกลับเล็กน้อย

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง ทนทานต่อการพุพังปานกลาง ได้เนื้อไม้ปริมาณมาก แปรรูป ก่อสร้าง

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ภาคใต้  ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๑ เมตร ที่ราบ-ที่ลาดชันบนภูเขา, ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๐๐๐ เมตร ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ มิลลิเมตร/ปี

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าดิบชื้น
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


    ส้มกุ้งมะตะบัน

ส้มกุ้งมะตะบัน พืชล้มลุกจากอุทยานแห่งชาติภูพาน


ส้มกุ้งมะตะบัน : Begonia martabanica A. DC.  พืชล้มลุกในวงศ์ส้มกุ้งหรือบีโกเนีย (Begoniaceae) จากอุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร พบขึ้นบนก้อนหินในลำธาร

คำว่า "ส้มกุ้ง"มาจากรสเปรี้ยวของต้น พืชหลายชนิดในสกุลนี้ใช้ประกอบอาหารเวลาเดินป่าได้
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


     เทพมาศ

เทพมาศ พืชหายาก ถิ่นเดียวของไทย

เทพมาศ : Flemingia sirindhorniae Mattapha, Chantar. & Suddee

วงศ์ Fabaceae

เทพมาศ ค้นพบในปี พ.ศ.๒๕๖๐ บนเขาหินปูนความสูง ๙๐๐ เมตร ที่ดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จัดเป็นพืชหายาก (rare plants) และเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic plants) ของประเทศไทย  ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Thai Journal of Botany 9(1): 8. 2017.

โดยได้ขอพระบรมราชานุญาต ตั้งชื่อเป็นพรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเป็นภาษาไทยว่า "เทพมาศ"
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  

    โกเมษ

โกเมษ พรรณไม้หายากจากป่าตะวันออก
 
โกเมษ : Hedychium gomezianum Wall.

วงศ์ : ZINGIBERACEAE

พรรณไม้หายาก เป็นไม้ล้มลุก ขึ้นบนก้อนหินหรืออิงอาศัยบนต้นไม้ ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในป่าตะวันออกพบในป่าดิบเขาต่ำ ที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่ระดับความสูง ๙๐๐-๑,๐๐๐  เมตร

ที่มา : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


     จันทน์กะพ้อ

จันทน์กะพ้อ พืชสมุนไพรน่ารู้

จันทน์กะพ้อ  Vatica diospyroides Symington

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เขี้ยวงูเขา (พังงา), จันทน์พ้อ (ภาคใต้)

จันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง สีเหลืองนวลหรือขาวนวล มีกลิ่นหอมแรง ผลรูปทรงไข่กว้าง ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาล มีกลีบประดับ ๕ กลีบ สั้นกว่าตัวผล

สรรพคุณ :  เนื้อไม้ แก้ไข้เพื่อลม แก้สันนิบาต ขับเสมหะ ขับโลหิต ขับลม และแก้ลมวิงเวียน ดอก บำรุงหัวใจ
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


      คงคาเดือด

คงคาเดือด พืชสมุนไพรมากสรรพคุณ

คงคาเดือด  : Arfeuillea arborescens Pierre

วงศ์ : SAPINDACEAE

ชื่ออื่น : ช้างเผือก (ลำปาง), ตะไล (ราชบุรี), ตะไลคงคา (ชัยนาท), สมุยกุย (นครราชสีมา), หมากเล็กหมากน้อย (ภาคกลาง)

คงคาเดือดเป็นไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยขอบใบเป็นคลื่น ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลแกมม่วง ผลแห้งแตก มีปีก ๓ ปีก

สรรพคุณ : ลำต้นและใบ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้ไข้ เปลือก แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ แก้คัน แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร แก้แสบร้อนตามผิวหนัง และแก้ตานซาง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กรกฎาคม 2564 18:06:07 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #34 เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2564 19:40:53 »


      นมตำเลียโกเมน

นมตำเลียโกเมน ไม้เถาเลี้อย
 
นมตำเลียโกเมน : Hoya lobbii Hook. f.  

วงศ์ : Apocynaceae

ไม้เถาเลื้อย ลำต้นหนา แข็ง สีเขียว กิ่งก้านค่อนข้างอวบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๗.๕ ซม. โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ ปลายแหลมหรือเรียวแหลม เส้นใบโค้ง ๖-๘ คู่ แผ่นใบอวบหนา เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบสั้น โค้ง เกลี้ยง

▫ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มออกที่ปลายกิ่ง
▫ กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก เชื่อมเป็นวง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแกมรูปไข่เกลี้ยง
▫ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปกงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒๕-๔.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕แฉก ปลายแหลม สีแดงเข้ม มีขนสั้นกระจายทั่วกลีบ กระบังรอบเกสรเพศผู้ขนาดใหญ่ หนา กลม ปลายมนหรือแหลม สีแดงเข้ม เกลี้ยง เป็นเงา
▫ กลุ่มเรณูสีส้มอมเหลือง

เลื้อยพันตามต้นไม้หรือทอดเลื้อยตามโขดหิน เขาหินปูน ที่ความสูงจากระดับทะเลประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ : จันทบุรี ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



      มะยมป่า

มะยมป่า พรรณไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

มะยมป่า : Ailanthus triphysa (วงศ์ SIMAROUBACEAE) เป็นไม้ต้นผลัดใบ ต้นสูง เรือนยอดโปร่ง ใบเป็นใบประกอบขนาดใหญ่ ออกแน่นที่ปลายกิ่ง ใบย่อยออกตรงข้าม ใบแก่เปลี่ยนเป็นแดงสด ดอกสีเขียวอมเหลืองแยกเพศ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่คนละต้นกัน ดอกมีกลีบเลี้ยงกลีบดอกอย่างละ ๕ กลีบ ออกเป็นช่อห้อยลง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเล็ก กลีบดอกแยกจากกัน

ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๑๐ อันติดที่ใต้ขอบนอกของจานฐานดอกที่ผลิตน้ำหวาน ดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย (คาร์เพล) ๒-๕ อัน แยกกัน ยอดเกสรเพศเมียจักเป็นพู ผลสีแดง หรือสีอมชมพู เป็นผลเปลือกแข็งย่อย ๒-๕ ผล แบนและบิดเล็กน้อย มีปีก แต่ละผลย่อยมีเมล็ดรูปไข่แบน ๑ เมล็ด บางครั้งพบเป็นเพียงผลเดียวเนื่องจากคาร์เพลอื่นฝ่อไป พบค่อนข้างมากในป่าผลัดใบผสมและป่าดิบแล้ง ออกดอกติดผลหน้าแล้ง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



      ว่านดอกเหลือง

ว่านดอกเหลือง พืชถิ่นเดียวของไทย พบได้ที่เขาสอยดาวใต้ จันทบุรี

ว่านดอกเหลือง : Aeginetia flava  J.Parn.

วงศ์ : Orobanchaceae

พืชรากเบียนล้มลุก สูง ๑๕-๒๐ ซม. ลำต้นออกเดี่ยวๆ หรือแตกกิ่งใกล้โคน สีแดงอมเหลือง ใบขนาดเล็กคล้ายเกล็ดรูปแถบ ออกเป็นคู่ ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดใกล้โคน ดอกออกเดี่ยวๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงจักไม่ชัดเจน แฉกข้างเดียวรูปใบพาย ยาว ๒.๕-๔ ซม. ปลายแหลม โค้งงอ ดอกรูปปากเปิด ยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. โคนหลอดกลีบดอกหักเป็นข้อ กลีบบน ๒ กลีบ กลีบล่าง ๓ กลีบ แผ่นกลีบเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. บานออก ขอบกลีบจักฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ

 เกสรเพศผู้ ๔ อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ติดประมาณจุดที่หลอดกลีบงอ ก้านชูอับเรณูโป่งด้านเดียว มีปุ่มใกล้อับเรณู อับเรณูอันสมบูรณ์มีเดือยชัดเจน มีรูเปิดด้านบน มี ๒ คาร์เพล ก้านเกสรเพศเมียโค้ง ยาวจรดปากหลอดกลีบดอก ติดทน ยอดเกสรเพศเมียรูปจาน ผลแห้งแตก รูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๖ ซม.  เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ผิวเป็นร่างแหละเอียด

การกระจายพันธุ์:  พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่เขาสอยดาวทั้งเหนือและใต้ จังหวัดจันทบุรี ขึ้นเบียนพืชในสกุล Strobilanthes ในป่าดิบเขา ความสูง ๑,๔๐๐-๑,๕๐๐ เมตร
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


     เรือนยอดไม้

เรือนยอดไม้ ในป่าพรุโต๊ะแดง ความสวยงามของผืนป่าธรรมชาติแดนใต้

ป่าพรุ จัดเป็นป่าที่ไม่ผลัดใบและแตกต่างจากป่าดิบชื้นอื่นๆ เพระโครงสร้างของลำต้นและรากอยู่บนดินที่มีความยืดหยุ่น  ดินที่มีน้ำขังแบบไหลเอื่อยตลอดปี  ดินที่เกิดจากการทับถมของซากพืชที่ยังไม่สลายตัว ความหนาของชั้นดิน ตั้งแต่ ๑-๑๐ เมตร  มีพรรณไม้แปลกๆ รวมๆ กัน ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชนิด ชนิดไม้ที่เด่นๆที่ พบในป่าพรุ เช่น มะฮัง อ้ายบ่าว ช้างไห้ ตารา ขี้หนอนพรุ ตีนเป็ดพรุ เป็นต้น
 
ด้วยความที่ดินป่าพรุเป็นดินเลน ลักษณะพิเศษของป่าพรุอีกอย่างที่เห็นชัดคือ ความสูงของต้นไม้เมื่อมองจากที่สูงจะเห็นว่าเรือนยอดจะเท่าๆ กัน โดยไม้ในป่าพรุจะมีความสูงไม่เกิน ๒๕ เมตร 

ปริมาณน้ำฝนที่ตกในป่าพรุ อยู่ระหว่าง ๓,๐๐๐-๔,๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปี  บางปีที่มีฝนตกน้อย หรือขาดช่วงไปนานก็จะเกิดไฟป่า  ปกติก็จะไหม้ในป่าพรุที่มีความลึกของน้ำต่ำ  ส่วนใหญ่จะเป็นพรุเสม็ด ในส่วนของพรุดั้งเดิมที่มีความลึกของน้ำสูงก็จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก  แต่พรุดั้งเดิมที่ยังเหลืออยู่มีจำนวนไม่มากแล้ว  มีพรุที่ยังคงความสมบูรณ์หลงเหลืออยู่เพียงประมาณ ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ไร่ 

ป่าพรุที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พื้นที่คุ้มครองมีประมาณ ๑๖๕,๐๐๐ ไร่  ดังนั้น พื้นที่พรุดั้งเดิมคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของพื้นที่คุ้มครอง อีกสองในสามคือป่าพรุเสม็ดและพรุทุ่งหญ้าที่ถูกเปลี่ยนสภาพไปจากพรุดั้งเดิม
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



      มะค่าโมง

มะค่าโมง  ไม้มีค่าน่าปลูก

มะค่าโมง : Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib
 
ชื่ออื่น : เขง (เขมร-สุรินทร์); บิง (ชอง-จันทบุรี); เบง (เขมร-สุรินทร์); ปิ้น (ชาวบน-นครราชสีมา); มะค่าโมง (ภาคกลาง); มะค่าหลวง, มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ); มะค่าใหญ่ (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ เมตร ลำต้นคดงอ มีขนสั้นนุ่มสีเทาตามช่อดอก ฐานดอก กลีบเลี้ยง โคนกลีบดอก ก้านชูอับเรณู และรังไข่  ใบประกอบปลายคู่ มีใบย่อย ๓-๕ คู่ รูปไข่ ยาว ๕-๙ เซนติเมตร ปลายมน เว้าตื้น ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ มิลลิเมตร

ช่อดอก : แบบช่อแยกแขนง ยาว ๕-๑๕ เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่ ยาว ๖-๙ มิลลิเมตร ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอก ติดทน ก้านดอกยาว ๐.๗-๑ เซนติเมตร กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปรี คู่นอกขนาดเล็กกว่าคู่ในเล็กน้อย ยาว ๑-๑.๒ เซนติเมตร กลีบดอกมีกลีบเดียว สีชมพูอมแดง รูปขอบขนาน ยาว ๑.๒-๒ เซนติเมตร โคนเรียวแคบเป็นก้านกลีบ ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๗ อัน ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ เซนติเมตร เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ อัน รูปเส้นด้าย รังไข่มีก้านสั้น ก้านเกสรเพศเมีย ยาว ๒-๒.๕ เซนติเมตร ยอดเกสรมีขนาดเล็ก 

ฝัก : แบนรูปขอบขนาน เบี้ยว ยาว ๑๕-๒๐ เซนติเมตรปลายเป็นจะงอยสั้นๆ เปลือกหนา เมล็ดรูปรี ยาว ๒.๕-๓ เซนติเมตร มีผนังกั้น ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มหนาสีเหลืองอมส้ม

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง แข็งแรงทนทานต่อการผุ-ปลวก-มอด แปรรูป ก่อสร้าง เครื่องเรือน

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ทั่วประเทศ ภาคใต้ปลูกได้ตามพื้นที่ดินปนทรายใกล้ชายทะเล

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๑ เมตร ที่ราบ-ที่ลาดชัน, ไม่เหมาะกับที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๒๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


      มะค่าแต้ 

มะค่าแต้  ไม้มีค่าน่าปลูก

มะค่าแต้ (Sindora siamensis Teijsm. ex Miq.)

ชื่ออื่น : กรอก๊อส (เขมร-พระตะบอง); กอกก้อ (ชาวบน-นครราชสีมา); ก่อเก๊าะ, ก้าเกาะ (เขมร-สุรินทร์); แต้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะค่าแต้ (ทั่วไป); มะค่าหนาม (ภาคกลาง, ภาคเหนือ); มะค่าหยุม (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :ไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๕ เมตร เปลือกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด มีขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง และช่อดอก  ใบประกอบปลายคู่ ก้านใบประกอบยาว ๒-๔ เซนติเมตร ใบย่อยมี ๓-๔ คู่ รูปรี ยาว ๖-๑๕ เซนติเมตรปลายกลมหรือเว้าตื้นๆ จุดเด่นอยู่ที่ขอบใบมีเส้นใบนูนรอบขอบใบ ก้านใบย่อยยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๑๐-๒๕ เซนติเมตร ใบประดับรูปไข่ ยาว ๓-๖ มิลลิเมตร ติดทน  กลีบเลี้ยงมี ๔ กลีบ รูปเรือ ๑ กลีบ รูปใบหอก ๓ กลีบ ยาวประมาณ ๗ มิลลิเมตร มีตุ่มกระจาย ปลายกลีบมีหนามเล็กๆ กลีบดอกมีกลีบเดียว สีเหลืองอมแดง ยาวเท่าๆ กลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน  รังไข่มีขนหยาบและหนามเล็กๆ  ฝักแบน คล้ายรูปไข่ ยาว ๔.๕-๑๐ เซนติเมตร ปลายมีจะงอย ยาว ๕-๗ มิลลิเมตรผิวมีหนามแหลมจำนวนน้อย-มาก ปลายหนามมีชันสีขาวกลิ่นหอมติด หายากที่จะพบว่าผิวฝักเกลี้ยง ฝักเมื่อแก่แห้งแตก ๒ ซีก มี ๑-๓ เมล็ดรูปกลมรีและแบนเล็กน้อย กว้าง ๑.๕-๒ เซนติเมตร ขั้วเมล็ดมีเยื่อหุ้มหนาสีเหลืองคล้ำ

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง แข็งแรงทนทานต่อการผุ-ปลวก-มอด แปรรูป ก่อสร้าง เครื่องเรือน

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ทั่วประเทศ ภาคใต้ปลูกได้ตามพื้นที่ดินปนทรายใกล้ชายทะเล

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก :  ชั้นดินลึกมากกว่า ๐.๕ เมตร ที่ราบ-ที่ลาดชัน ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๒๐๐ เมตร 

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าเบญจพรรณ/ป่าเต็งรัง/ป่าดิบแล้ง
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.



      รัง ไม้มีค่าน่าปลูก

รัง (Shorea siamensis Miq)

ชื่ออื่น : เปา, เปาดอกแดง (ภาคเหนือ); รัง (ภาคกลาง); เรียง, เรียงพนม (เขมร-สุรินทร์); ลักป้าว (ละว้า-เชียงใหม่); แลบอง, เหล้ท้อ, เหล่บอง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ฮัง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๐-๓๐ ม. เปลือกแตกเป็นร่องลึกตามยาวและหนา สีเทาอมน้ำตาล หูใบรูปไข่ ยาว ๑-๒ เซนติเมตร ติดทน ใบรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน ยาว ๖.๕-๒๐ เซนติเมตร ปลายแหลมหรือมน โคนเว้าลึก แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๔ เซนติเมตร ช่อดอกยาว ๕-๑๕ เซนติเมตร กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๐.๕ มิลลิเมตร มีขนละเอียด ดอกสีขาวครีมหรือเหลืองอ่อน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปรี ปลายกลีบม้วนพับกลับ รูปทรงดอกคล้ายหม้อดินเผา ดอกบานกว้าง ๑-๑.๓ เซนติเมตร ผลรูปรีกว้าง ยาว ๑.๕-๒ เซนติเมตร ผิวเกลี้ยงมันเงา ปลายมีติ่งเรียวแหลม ยาว ๒-๓ มิลลิเมตร  ปีกยาว ๓ ปีก ยาว ๕-๙ เซนติเมตร ปีกสั้น ๒ ปีก ยาว ๓-๖ เซนติเมตร ผลอ่อนปีกสีแดง ผลแก่ปีกสีจางลงและแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง โคนปีกโอบหุ้มผลเฉพาะที่โคนไม่เกิน ๑/๒ ของความยาวผล

จุดเด่นของต้นรัง สังเกตจากการแตกของเปลือกลำต้น รูปโคนใบ ใบแก่ก่อนร่วงในช่วงฤดูหนาวจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม-สีแดง รูปทรงดอกบาน และโคนปีกที่โอบหุ้มผลแก่

ประโยชน์ :  ไม้เนื้อแข็ง ทนทานต่อการผุพังมาก แปรรูป ก่อสร้าง เครื่องเรือน

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก :  สามารถปลูกทั่วประเทศ ภาคใต้ปลูกได้ตามพื้นที่ดินทราย-ดินลูกรังใกล้ชายทะเล หรือบนเขาหินปูน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูก : ชั้นดินลึกมากกว่า ๐.๕ เมตร  ที่ราบ-ที่ลาดชัน ที่มีการระบายน้ำดี แต่จะชอบดินปนทราย หรือดินร่วนปนทรายเป็นพิเศษ, ความสูงไม่เกิน ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติ : ป่าเต็งรัง/ป่าเบญจพรรณ/ในภาคใต้พบในป่าดิบแล้งบนเขาหินปูน
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.


      ยางวาด

ยางวาด  ไม้มีค่าน่าปลูก

ยางวาด : Dipterocarpus chartaceus Symington  หรือ ยางตัง (ชุมพร); ยางมันข้น (สงขลา); ยางมันหมู (นราธิวาส); ยางวาด (นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี); ยางเสียน (สุราษฎร์ธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้น ตายอดมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น หูใบรูปใบหอก ยาวได้ถึง ๘ เซนติเมตร  ใบรูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๘-๑๓ เซนติเมตร ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ก้านใบยาว ๒-๓ เซนติเมตร ใบแห้งสีน้ำตาลแดง  ช่อดอกยาว ๒-๖ เซนติเมตร มี ๓-๖ ดอก ก้านดอกสั้น หลอดกลีบเลี้ยงยาว ๑.๕-๒ เซนติเมตร กลีบยาวยาว ๑-๑.๕ เซนติเมตร กลีบสั้นยาวประมาณ ๒ มิลลิเมตร กลีบดอกรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ด้านนอกมีขนกระจุกละเอียด เกสรเพศผู้ ๓๐ อัน อับเรณูยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงหุ้มผลเรียบ ยาว ๒-๒.๕ เซนติเมตร ปีกยาวยาว ๘-๑๓ เซนติเมตร ปีกสั้นยาว ๔-๕มิลลิเมตร ขอบพับกลับ

ประโยชน์ : ไม้เนื้อแข็ง ทนทานต่อการพุพังปานกลาง ได้เนื้อไม้ปริมาณมาก แปรรูป ก่อสร้าง 

พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูก : ภาคใต้ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกชั้นดินลึกมากกว่า ๑ เมตร ที่ราบดินตะกอน-ที่ราบลูกคลื่น หรือเนินทรายชายทะเล, ที่มีการระบายน้ำดี, ระดับความสูงไม่เกิน ๑๐๐ เมตร

ชนิดป่าที่พบตามธรรมชาติป่าดิบแล้ง/ป่าดิบชื้น
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #35 เมื่อ: 06 สิงหาคม 2564 20:18:59 »

     เอื้องสายสร้อยพะเนินทุ่ง

เอื้องสายสร้อยพะเนินทุ่ง : Pholidota longibulba Holttum วงศ์ Orchidaceae
กล้วยไม้ บริเวณพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นพรรณไม้กลุ่มมาเลเซียที่กระจายพันธุ์ขึ้นมาถึง ตีพิมพ์รายงานในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ ๔๓ หน้า ๓๙-๔๒ ปี ๒๐๑๕

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยผิวเป็นมัน ใบออกที่ปลายลำลูกกล้วย แผ่กว้างมีเส้นใบตามยาว ช่อดอกออกที่ปลายลำลูกกล้วย เป็นช่อยาวโค้งห้อยลง มีดอกจำนวนมาก ดอกสีขาว โคนดอกมีใบประดับหุ้ม



     จันทน์หอม

จันทน์หอม นอกจากจะใช้ไม้ทำพระบรมโกศหรือพระโกศแล้ว ยังเป็นพืชสมุนไพรที่ทรงคุณค่าอีกด้วย

จันทน์หอม : Mansonia gagei J.R.Drumm. ex Prain

วงศ์ : MALVACEAE

ชื่ออื่น : จันทน์ จันทน์ชะมด (ประจวบคีรีขันธ์), จันทน์ขาว จันทน์พม่า (ภาคกลาง), Kalamet

จันทน์หอมเป็นไม้ต้น ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง สีขาว ผลรูปทรงกระสวย มีปีกรูปสามเหลี่ยม ๑ ปีก

สรรพคุณ : ลำต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้ธาตุพิการ บำรุงหัวใจ เนื้อไม้และแก่น แก้คลื่นเหียนอาเจียน บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน บำรุงกำลัง แก้ไข้ ใบ บำรุงผิวพรรณ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้จุกเสียด



     เจ็ดช้างสารใหญ่

พืชสมุนไพรน่ารู้  เจ็ดช้างสารใหญ่

เจ็ดช้างสารใหญ่ : Lasianthus cyanocarpusJack  วงศ์ : RUBIACEAE

เป็นไม้พุ่ม กิ่งและใบมีขนสากปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ดอกออกเป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ สีขาว ผลสด รูปทรงรี เมื่อสุกสีน้ำเงิน

สรรพคุณ :  ลำต้น หรือราก แก้ปวดเมื่อย แก่น บำรุงกำลัง




     ลำดวนดอย  พรรณไม้งามจากดอยตุง

ลำดวนดอย : Mitrephora wangii Hu

วงศ์ : Annonaceae

▫️ ไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม.
▫️ เปลือกเรียบ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม
▫️ ใบรูปขอบขนานถึงรูปใบหอก ขนาด ๕-๗ x ๑๓-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลม เส้นแขนงใบ ๑๐-๑๔ คู่ ด้านบนเป็นมันเงา ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มประปราย ก้านใบยาวประมาณ ๘ มม.
▫️ ช่อดอกออกตามซอกใบหรือตามรอยแผลใบของกิ่งแก่ มี ๑-๓ ดอกย่อย ก้านดอกย่อยยาวประมาณ ๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่ ขนาดประมาณ ๓ x ๓.๕ มม. มีขนสั้นหนานุ่น
▫️ กลีบดอก ๖ กลีบ มี ๒ วง วงนอก ๓ กลีบ รูปไข่ ขนาดประมาณ ๒.๕ x ๓ ซม. ขอบเป็นคลื่น สีขาวถึงเหลือง ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่น วงใน ๓ กลีบ โค้งงอคล้ายกงเล็บ ขนาดประมาณ ๑.๕ x ๒ ซม. โคนแคบ ปลายกลีบโค้งจรดกันคล้ายโคม สีม่วง มีขนสั้นนุ่มประปราย
▫️ เกสรเพศผู้จำนวนมาก แกนอับเรณูปลายตัด ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๘-๑๐ คาร์เพล แยกกัน ยาวประมาณ ๒ มม. ออวุล ๖-๘ เม็ด
▫️ ผลกลุ่มมีผลย่อย ๕-๗ ผล รูปขอบขนาน ขนาด ๒-๒.๕ x ๔-๖ ซม. มีขนสั้นนุ่มและสันตามยาว ก้านผลยาว ๑-๑.๓ ซม.
▫ เมล็ดมีประมาณ ๘ เมล็ด ขนาดประมาณ ๖ x ๑๐ มม.
การกระจายพันธุ์:  พบที่จีนตอนใต้และภาคเหนือตอนบนของไทยที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย ขึ้นในป่าดิบเขาระดับต่ำ ที่เป็นหินปูน ความสูงประมาณ ๑,๓๐๐ เมตร



     ว่านดอกสามสี

ว่านดอกสามสี ไม้ล้มลุกพบได้ในกอไผ่

ว่านดอกสามสี : Christisonia siamensis Craib (Orobanchaceae)  ไม้ล้มลุกไม่มีใบที่ชัดเจน
พบในป่าที่มีไผ่หนาแน่น มักพบขึ้นใกล้กอไผ่ คำระบุชนิด ‘siamensis’ หมายถึงสยามหรือประเทศไทย หมายความว่าพืชชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทย


ขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #36 เมื่อ: 25 สิงหาคม 2564 21:18:22 »

     ไก่แจ้
ไก่แจ้ ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก พบลานทรายในที่โล่ง
ไก่แจ้ : Polygala polifolia C. Presl
วงศ์ Polygalaceae
ไม้ล้มลุกขนาดเล็กจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มักพบขึ้นในที่โล่งตามลานหินทราย ลักษณะดอกดูเผินๆ คล้ายดอกของพืชในวงศ์ถั่ว



     งาช้าง
งาช้าง ไม้ประดับจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา
งาช้าง : Hibiscus grewiifolius Hassk. (Malvaceae)
ชื่ออื่น : พันตะวัน หรือ ตะวันพันดวง
ไม้ต้นจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม เป็นไม้ต้นที่มีศักยภาพเป็นไม้ประดับได้ ดอกมีขนาดใหญ่มา



     หัวลิง
หัวลิง ไม้เถาเลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่น
หัวลิง : Sarcolobus globosus Wall.
วงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่น :  บาตูบือแลกาเม็ง
หัวลิง เป็นไม้เถาเลื้อยเกาะพันต้นไม้อื่น ส่วนต่างๆ มีน้ำยางสีขาวข้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ ผิวใบมีขนสั้นนุ่มปกคลุมประปราย ดอกช่อกระจะคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ซอกใบ สีเหลือง มีจุดประสีแดงด้านในวงกลีบดอก ผลแบบแก่แห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกลม สีน้ำตาล มีเส้นสันนูนตามยาว ๑ เส้น
พบตามริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่เปิดโล่งน้ำทะเลท่วมถึง พบตั้งแต่อินเดียตะวันออก พม่า หมู่เกาะมลายูและบอร์เนียว
เมล็ด เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชาวพื้นเมืองในทวีปเอเชียนิยมนำมาใช้เป็นยาเบื่อหมา แมว และสัตว์ป่า



     หญ้าดีควาย
หญ้าดีควาย พบได้ที่ดอยหัวหมด อุ้มผาง
หญ้าดีควาย : Swertia angustifolia Buch.-Ham. ex D. Don
วงศ์ Gentianaceae
ชื่ออื่น : ผักหอมโคก, หูกระต่ายโคก , หญ้าดอกลาย, หญ้าดีควาย, หญ้าดีแฟน
ไม้ล้มลุก ใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก  ปลายแหลม โคนสอบ ไร้ก้าน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ ๔ กลีบ
ดอกสีขาวอมม่วง มีจุดสีม่วงเข้มกระจาย กลีบรูปรี  ปลายแหลม ขอบเว้าเล็กน้อย โคนกลีบมีต่อมน้ำต้อย ๑ ต่อม มีเกล็ดเป็นแผ่นกลมรอบ ขอบจักชายครุยสั้นๆ ผลรูปไข่แกมรูปขอบขนาน  ขึ้นตามที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง ๒๐๐-๑,๐๐๐ เมตร



     ประดับหิน
ประดับหิน พรรณไม้จากเขาพระบาท อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี
ประดับหิน : Damrongia trisepala (Barnett) D. J. Middleton & A. Weber
วงศ์ Gerneriaceae
ชื่อสกุล Damrongia ตั้งให้เป็นเกียรติแก่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


     โคคา
โคคา ...พืชสมุนไพรน่ารู้
โคคา : Erythroxylum coca Lam.
วงศ์ : ERYTHROXYLACEAE
ชื่ออื่น : Coca
โคคาเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ สีขาว ผลสด รูปรี เมื่อสุกสีแดงสด
สรรพคุณ : ใบ แก้ผิวหนังอักเสบ แก้ผื่นคันจากสัมผัสพืชมีพิษ กระตุ้นประสาทส่วนกลาง แก้ปวดประสาทส่วนหน้า ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ในการ ผ่าตัด รักษาริดสีดวงทวาร



     ขาวปั้น
ขาวปั้น พืชถิ่นเดียวของไทย พบได้ตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง
ขาวปั้น :  Pterocephalodes siamensis (Craib) V. Mayer & Ehrend.
วงศ์ DIPSACACEAE
ไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๖๐ ซม. ลำต้นอวบหนา ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกรอบโคนต้น รูปพาย กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๖-๑๘ ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อยหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบสั้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๒๐ ซม. มีขนปกคลุม ใบประดับเรียง ๒-๓ วง รูปขอบขนาน ออกที่โคนช่อ กลีบเลี้ยงเป็นขนแข็ง ประมาณ ๑๕ กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็น ๔ กลีบ เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มสีขาว ผลแห้งเมล็ดล่อน ติดแน่นกับวงใบประดับ
การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด จังหวัดตาก และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ความสูง ๙๐๐-๒,๒๐๐ เมตร จากระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนตุลาคมถึงมกราคม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย



    มะขามป้อมดินหัวหมด
มะขามป้อมดินหัวหมด พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
มะขามป้อมดินหัวหมด :Phyllanthus huamotensis  Pornp., Chantar. & J. Parn. วงศ์   Phyllanthaceae
▫ ไม้พุ่มเตี้ย สูงได้ถึง ๓๐ ซม. แยกเพศร่วมต้น ลำต้น กิ่ง หูใบ เส้นแขนงใบ ก้านใบ ก้านดอก ใบประดับ ดอก และผล มีสีแดง
▫ หูใบขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมแคบ
▫ ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาวได้ประมาณ ๑ ซม. โคนเบี้ยว ปลายแหลมสั้นๆ ขอบใบม้วนเข้า แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบยาวประมาณ ๐.๕ มม.
▫ ดอกออกตามซอกใบ ใบประดับรูปลิ่มแคบ ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ก้านดอกรูปเส้นด้าย ดอกเพศเมียออกเป็นกระจุก ๒-๔ ดอก ตามซอกใบช่วงล่าง กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ ยาว ๑.๕-๒ มม. ขอบเป็นชายครุยยาว จานฐานดอกมี ๔ ต่อม
▫ เกสรเพศผู้ ๔ อัน เส้าเกสรยาวประมาณ ๐.๒ มม. อับเรณูแตกตามขวาง ก้านดอกยาว ๐.๔-๑ ซม.
▫ ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ช่วงปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง ๕-๖ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๑.๕-๓ มม. ขอบเป็นชายครุยยาว ติดทน จานฐานดอก ๕-๖ ต่อม
▫ รังไข่มี ๓ ช่อง มีปุ่มขนละเอียด ก้านเกสรเพศเมียแยก ๓ แฉก ยาวประมาณ ๐.๑ มม. ยอดเกสรแยก ๒ แฉก ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๗ ซม.
▫ ผลแห้งแตก มี ๓ พู ตื้นๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ มม. มีปุ่มขนละเอียด
▫ มี ๒ เมล็ดในแต่ละช่อง รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑.๕-๑.๘ มม. มีริ้วตามขวาง
การกระจายพันธุ์ :  พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะที่ดอยหัวหมด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูงประมาณ ๙๐๐ เมตร



     ประดับหินเขาพระบาท
ประดับหินเขาพระบาท พรรณไม้จากเขาพระบาท อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี
ประดับหินเขาพระบาท : Didymocarpus newmanii B. L. Burtt
วงศ์ Gesneriaceae
พืชชนิดใหม่ของโลกตีพิมพ์เมื่อปี ๒๐๐๑ จากเขาพระบาท อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี ชื่อคำระบุชนิด newmanii ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ Dr.Mark Newman นักพฤกษศาสตร์แห่งสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ ผู้ที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก



     นางอั้วตีนกบ
นางอั้วตีนกบ กล้วยไม้ดินดอกหอม ปัจจุบันมีเหลือในธรรมชาติน้อย เนื่องจากถูกเก็บจากป่าเพื่อการค้า
ชื่ออื่น  นางกราย (นางอั้ว) นางอั้ว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) พอเจพะดู่, พอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ว่านนะราช, ว่านนาคราช (สุราษฎร์ธานี) เอื้องตีนกบ, เอื้องนางก๋าย, เอื้องเสาวนา (ภาคเหนือ)
Pecteilis susannae (L.) Rafin.
กล้วยไม้ดิน สูงได้ถึง ๑.๕ ม. หัวใต้ดินขนาดใหญ่ ใบเรียงเวียนรอบลำต้น ๖-๑๐ ใบ รูปรีถึงรูปใบหอก หรือแกมรูปไข่กลับ ยาว ๔-๑๘ ซม. แกนช่อยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ก้านช่อยาว ๒๐-๕๐ ซม. มี ๒-๑๐ ดอก ใบประดับคล้ายใบ ยาว ๓.๕-๘.๕ ซม.
ดอกสีเขียวอมขาวหรืออมเหลือง กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กว้าง ยาว ๒-๓ ซม. กลีบคู่ข้างแคบและยาวกว่าเล็กน้อย กลีบดอกรูปใบหอก ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. กลีบปากแยก ๓ พู พูข้างกางออก รูปพัด ยาว ๒-๓.๕ ซม. ขอบจักชายครุยลึก พูกลางรูปใบหอกถึงรูปแถบ ยาว ๓-๔.๕ ซม. เดือยโค้ง ยาว ๗-๑๕.๕ ซม. เส้าเกสรยาว ๑-๑.๓ ซม. รังไข่รวมก้านดอกยาว ๒.๕-๖ ซม.
พบที่อินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา ติมอร์ ซูลาเวซี และโมลุกกะ ในไทยพบทุกภาค ขึ้นตามทุ่งหญ้า ชายป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร



     เอื้องศิริชัย  
เอื้องศิริชัย  กล้วยไม้ดิน จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
นายศิริชัย รักซื่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของอุทยานแก่งกระจาน ได้นำตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่ดองไว้ มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่หอพรรณไม้ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกล้วยไม้อาศัยราจัดอยู่ในสกุล Didymoplexis ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงได้ตั้งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกโดยใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Didymoplexis sirichaii Suddee ซึ่งเป็น วงศ์  Orchidaceae
โดยตีพิมพ์ในหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทยกล้วยไม้ Flora of Thailand เล่ม ๑๒ (๒) ปี ๒๐๑๔ คำระบุชนิด "sirichaii" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายศิริชัย รักซื่อ เจ้าหน้าที่ผู้ศึกษากล้วยไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : กล้วยไม้ดิน เป็นกล้วยไม้อาศัยรา (holomycotrophic orchid) สร้างอาหารเองไม่ได้ ไม่มีใบ มีหัวใต้ดินในแนวระนาบ รูปกระสวย รากมีจำนวนน้อย เรียวเล็กคล้ายเส้นลวด
ช่อดอกตั้งขึ้น มี ๓-๕ ดอกต่อช่อ ใบประดับรูปไข่ ร่วงง่าย ดอกรูประฆังแคบ บานครั้งละ ๑ ดอก ต่อเนื่องกัน
กลีบเลี้ยงบนและกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น ๓ พู กลีบเลี้ยงข้างเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น ๒ พู รูปไข่เบี้ยว ปลายแหลมหรือมน โค้งออกด้านนอกและเกยซ้อนทับกันเล็กน้อย ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีขาว ผิวด้านนอกมีปุ่มปม กลีบปากรูปไข่กลับ สีเหลืองอ่อน ปลายกลีบตัด ขอบหยักละเอียดไม่เป็นระเบียบ กลางกลีบมีแถบสีเหลืองตามยาว ไม่มีปุ่มปม โคนกลีบปากมีก้านสั้นๆ และมีต่อมขนาดใหญ่  เส้าเกสรสีขาว ปลายแผ่เป็นปีกและโค้งเล็กน้อย มีคางเส้าเกสรชัดเจน



     ปาหนันร่องกล้า
ปาหนันร่องกล้า พบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ปาหนันร่องกล้า : (Goniothalamus rongklanus R.M.K. Saunders & Chalermglin)  วงศ์ Annonaceae
ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๕-๗ เมตร เปลือกต้นสีขาวหนา  ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาว ๔-๑๘ เซนติเมตร ดอกเดี่ยว ออกตามกิ่ง และลำต้น ก้านดอกเรียวยาว กลีบดอกหนาฉ่ำน้ำ สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกบาน ๒-๓ เซนติเมตร ผลกลุ่ม มี ๕-๙ ผล ผลกลมรี มี ๑-๒ เมล็ด ชอบขึ้นในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาที่ระดับความสูง ๘๐๐-๑,๓๐๐ เมตร เหนือระดับทะเล พบตามริมลำธาร ภูเขาที่มีอากาศเย็น
ประโยชน์ : ดอกสวยงาม บานนาน ๒-๓ วัน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ
ชื่อปาหนันร่องกล้า บ่งบอกถึงสถานที่พบพรรณไม้ชนิดนี้ ที่ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ. พิษณุโลก



     ว่านหาวนอน
ว่านหาวนอน บานช่วงต้นฤดูฝน ที่
ว่านหาวนอน : Kaempferia simaoensis Y. Y. Qian  วงศ์ Zingiberaceae
ไม้ล้มลุกออกดอกก่อนใบ บานช่วงต้นฤดูฝน ที่ดอยหัวหมด อุ้มผาง  เป็นไม้ส้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาล ผ่าออกเนื้อในสีขาว มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน หลังใบมีลายม่วงสลับเขียว ดอกสีม่วงอ่อน ออกเป็นช่อสั้นจากเหง้าใต้ดิน ออกดอกแล้วจึงแตกใบ
หัวใต้ดิน : มีสรรพคุณด้านสมุนไพรใช้ไล่แมลงในตู้เสื้อผ้า ขับลมในสำไส้ แก้ไข้ และใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง



    หมากขี้อ้ายแก่งกระจาน
หมากขี้อ้ายแก่งกระจาน พบครั้งแรกที่พะเนินทุ่ง
หมากขี้อ้ายแก่งกระจาน :Cryptocarya kaengkrachanensis M. Z. Zhang, Yahara & Tagane
วงศ์ Lauraceae
ไม้ต้นชนิดใหม่จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริเวณพะเนินทุ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร PhytoKeys เล่มที่ ๑๔๐ หน้า ๑๕๐ ปี ๒๐๒๐
คำระบุชนิด “kaengkrachanensis” หมายถึงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แหล่งที่พบพืชชนิดนี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนสีเหลืองถึงสีน้ำตาลปกคลุม ใบรูปใข่ รูปรี หรือรูปรีแคบ ปลายใบมน เว้าตื้น หรือปลายแหลมในใบอ่อน โคนมนกว้าง แผ่นใบหนาคล้ายผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล ผลรูปใข่ ก้านผลป่องพองเล็กน้อย


ขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 สิงหาคม 2564 21:21:23 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #37 เมื่อ: 03 กันยายน 2564 20:42:29 »

     อังกาบ
อังกาบ ก้านชั่ง คันชั่ง พรรณไม้งามจากดอยเชียงดาว
อังกาบ ก้านชั่ง คันชั่ง : Barleria cristata L.
วงศ์ Acanthaceae
พบได้ที่เขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นกลม ใบเรียงตรงข้าม ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ใบประดับย่อยจำนวนมาก ขอบมีหนาม ดอกสีม่วง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีเขตการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน ถึงเมียนมา จีนตอนใต้ ไทย ภูมิภาคอินโดจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก้านชั่ง คันชั่ง พรรณไม้งามจากดอยเชียงดาว



     ตะขบฝรั่ง
ตะขบฝรั่ง  สรรพคุณมากประโยชน์
ตะขบฝรั่ง : Muntingia calabura L.
วงศ์ MUNTINGIACEAE
ชื่ออื่น : ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี) ตะขบ (ภาคกลาง) Bajelly tree, Jamaican cherry, Panama berry, Strawberry tree
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ๕-๗ เมตร อาจสูงได้ถึง ๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกต้น เรียบ สีเทา ตามกิ่งมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ยอดอ่อนเมื่อจับดูจะรู้สึกเหนียวมือ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบใบหยัก แผ่นใบมีขนนุ่มปกคลุมทั้ง สองด้าน ดอกเดี่ยว ออกที่ง่ามใบ สีขาว ผลสด รูปกลม เปลือกบาง ผลอ่อน สีเขียว เมื่อสุกสีแดง ผลมีรสหวาน เมล็ด แบน ขนาดเล็กจำนวนมาก
ประโยชน์ : ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผล และเป็นพืชสมุนไพร เมื่อผลสุก มีรสหวานเย็นหอมสามารถ ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดได้ และยังใช้เป็นอาหารของนกและสัตว์หลายชนิด ในปัจจุบันยังมีการนำผลสุกของตะขบฝรั่งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้นำมาหมักไวน์ตะขบ ซึ่งจะให้รสหวาน กลิ่นหอมและให้แอลกอฮอล์เช่นเดียวกันกับไวน์ผลไม้ชนิดอื่นๆ หรือใช้ไปทำเป็นแยมได้อีกด้วย
ตามตำรายาไทยระบุไว้ว่า ราก มีรสฝาด ใช้ขับเสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะ และอาจม เป็นยาขับเหงื่อ แก้โรคผิวหนัง และผื่นคันตามตัว  เนื้อไม้ ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ใช้เป็นยาแก้ตานขโมย  เปลือกต้น มีรสฝาดใช้เป็นยาระบาย รักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว แก้โรคเหน็บชา รักษาอาการปวดข้อ แก้เส้นเอ็นพิการ ดอก มีรสฝาด แก้ปวดศีรษะ แก้หวัด ลดไข้ แก้ปวด แก้อักเสบ  ใบ มีรสฝาดเอียด ใช้เป็นยาขับเหงื่อ  ผลสุก มีรสหวานเย็นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ แก้ท้องร่วง แก้บิด



     ดรุณีวัลย์
ดรุณีวัลย์ พรรณไม้จากทุ่งหญ้าบนลานหิน อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ดรุณีวัลย์ : Ceropegia cochleata Kidyoo
วงศ์ Apocynaceae
จากทุ่งหญ้าบนลานหิน อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก พืชชนิดใหม่ของโลกตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany ฉบับที่ ๓๓ หน้า ๖๖๘-๖๗๒ ปลายปี ๒๐๑๕ ปลายหลอดกลีบดอกมีแฉกกลีบบิดเวียน สวยงามคล้ายนิ้วสตรีวัยเยาว์ที่กำลังรำฟ้อนเล็บ :




     เหยือกน้ำดอย
เหยือกน้ำดอย : Acanthophippium striatum Lindl.
วงศ์ : Orchidaceae
จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
กล้วยไม้ดินพบขึ้นในป่าที่ค่อนข้างชื้นใกล้น้ำตก มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเอเชียตั้งแต่เนปาลด้านตะวันออกถึงจีน ญี่ปุ่น และลงมาถึงภูมิภาคมาเลเซีย
ชื่อสกุล ‘: Acanthophippium’ ที่ปรากฏตามเอกสารต่างๆ พบได้ ๒ แบบ ที่สะกดต่างกัน คือ ‘ Acanthophippium’ และ ‘Acanthephippium’ คือต่างกันที่ ‘Acantho’ และ ‘Acanthe
ในเอกสารการตีพิมพ์ชื่อสกุลครั้งแรกโดย Blume ในปี ค.ศ.๑๘๒๕ ได้ใช้คำว่า ‘Acanthophippium’ แต่นักพฤกษศาสตร์บางท่านเห็นว่าน่าเป็นการสะกดที่ไม่ถูกต้องจึงได้แก้เป็น ‘ Acanthephippium
เรื่องนี้ได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่แห่งสวนพฤกษศาสตร์คิว (Royal Botanic Gardens, Kew) สหราชอาณาจักร ผู้รับผิดชอบเรื่องชื่อในฐานข้อมูล ‘ipni.org ได้รับคำตอบว่า‘ Blume เอง เวลาอ้างอิงในเอกสารต่อ ๆ มา ก็ยังใช้ตัวสะกดเช่นเดิมคือ ‘Acanthophippium
ฉะนั้นถ้าจะแก้เป็น ‘Acanthephippium’ ต้องเขียน proposal เพื่อขอแก้ไขชื่อตามหลักเกณฑ์ที่ปรากฏในกฏ ICN (International Code of Nomenclature for algae, fungi, and plants)
ฉะนั้นชื่อสกุลที่ถูกต้อง ณ ปัจจุบันควรใช้เป็น ‘Acanthophippium’ ดังปรากฎในฐานข้อมูล http://www.ipni.org, World Checklist of Selected Plant Families (WCSP) และหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (๒๐๑๔)



     สร้อยพิสุทธ์
สร้อยพิสุทธ์ ขึ้นตามที่รกร้างในป่าดิบเขา
สร้อยพิสุทธ์ : Thunbergia lutea  T.Anderson, J. Linn. Soc. Bot. 9: 448. 1867.
วงศ์  : Acanthaceae
ไม้เถา ยาวกว่า ๕ เมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว (๔-) ๑๐-๑๔ ซม. ปลายแหลมยาว โคนรูปลิ่มกว้าง เรียวแคบจรดก้านใบ ขอบใบจักตื้นๆ แผ่นใบมีขนสากด้านบน เส้นใบแบบขนนก มีข้างละ ๔-๕ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๓(-๗.๕) ซม. ดอกออกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ ดอกยาว ๔-๕ ซม. ก้านดอกยาว ๗-๙ ซม. ใบประดับหุ้มกลีบเลี้ยง สีแดงเรื่อๆ หรืออมม่วง แยกด้านเดียว รูปรี ยาว ๒-๒.๓ ซม. ด้านนอกมีขนต่อม มีเส้นกลีบ ๕-๗ เส้น ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงรูปถ้วยขนาดเล็ก จักตื้นๆ ๑๐-๑๔ จัก มีต่อมน้ำต้อย ดอกรูปแตร สีขาวหรืออมม่วงอ่อนๆ ด้านในเส้นสีน้ำตาล หลอดกลีบดอกยาว ๔-๕ ซม. ช่วงโคนมีขนสาก ปลายแยกเป็นกลีบบน ๒ กลีบ กลีบล่าง ๓ กลีบ กลมๆ กว้าง ๑.๒-๑.๕ ซม. ปลายเว้าตื้น เกสรเพศผู้มี ๒ คู่ ไม่เท่ากัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก คู่ล่างก้านชูอับเรณู ยาว ๐.๕-๐.๗ ซม. คู่บนยาว ๑-๑.๒ ซม. อับเรณูยาวเท่าๆ ยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขนเคราที่โคนเดือยและขนยาวที่ปลายหลอดอับเรณู จานฐานดอกหนารังไข่เกลี้ยง รูปไข่ จัก ๔ พู ยาว ๒-๓ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านเกสรเพศเมียาว ๒.๕-๓ ซม. ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ยอดเกสรเพศเมียสีเหลือง จัก ๒ พู ตื้นๆ ผลแห้งแตก กลมๆ ยาว ๑.๘-๒ ซม. จะงอยยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เมล็ดรูปไต ยาวประมาณ ๘ มม.
การกระจายพันธุ์:  พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ขึ้นตามที่รกร้างในป่าดิบเขา ความสูง ๑.๒๐๐-๒,๐๐๐ เมตร



     บั้งม่วงเชียงดาว
บั้งม่วงเชียงดาว พืชถิ่นเดียวของไทย
พบตามยอดเขา หรือสันเขาหินปูนดอยเชียงดาว
บั้งม่วงเชียงดาว : Cicerbita chiangdaoensis H. Koyama
ไม้ล้มลุก เหง้าหนาประมาณ ๑.๕ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ลำต้นตอนล่างทอดเลื้อย ตอนบนตั้งตรง ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น รูปหัวใจถึงรูปไต กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. ปลายทู่หรือมน โคนรูปหัวใจแคบหรือกว้าง ขอบเรียบ หรือเป็นติ่งหนาม แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่ม โดยเฉพาะบริเวณเส้นใบมีขนสีน้ำตาล ก้านใบยาว ๓-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ก้านช่อยาว ๓-๖ ซม. วงใบประดับ กว้าง ๔ มม. ยาว ๑๓ มม. วงใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อมกัน ๓-๔ ชั้น วงนอกสุดรูปสามเหลี่ยม วงในสุดรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ขอบบาง สีขาว ปลายทู่ ฐานดอกลักษณะคล้ายร่างแหดอกย่อย ๑๒-๑๔ ดอก รูปลิ้น สีฟ้า กว้าง ๔ มม. ยาว ๒๐-๒๒ มม. ขนสั้นหนานุ่ม อับเรณูยาวประมาณ ๒.๕ มม. เกสรเพศเมียยาว ๒.๓ มม. ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระสวย แพปพัส ยาวประมาณ ๖ มม.
พบตามยอดเขาหรือสันเขาหินปูนดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ที่ความสูง ๑,๗๐๐-๒,๐๐๐ ม. จากระดับทะเล ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนกันยายนถึงธันวาคม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย


ขอขอบคุณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ที่มาข้อมูล/ภาพ)
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #38 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2564 20:02:02 »

    • เอื้องสารภี  
เอื้องสารภี เอื้องช้างสารภี เอื้องตีนเต่า เอื้องเจ็ดปอย  : Acampe rigida (Buch.-Ham. ex Sm.) P. F. Hunt   วงศ์ Orchidaceae  

จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้อิงอาศัย  ออกดอกเป็นช่อ ที่ซอกใบ จำนวน  ๕-๑๒ ดอก กว้าง ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกหนาสีเหลืองและมีลายสีน้ำตาลแดงพาด กลีบปากส่วนโคน เป็นถุงสั้น กลีบปากส่วนปลายสีขาวมีแต้มสีม่วงแดงมีกลิ่นหอมเอื้องช้างสารภี เอื้องตีนเต่า เอื้องเจ็ดปอย  : Acampe rigida (Buch.-Ham. ex Sm.) P. F. Hunt  
วงศ์ Orchidaceae  

จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้อิงอาศัย  ออกดอกเป็นช่อ ที่ซอกใบ จำนวน  ๕-๑๒ ดอก กว้าง ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกหนาสีเหลืองและมีลายสีน้ำตาลแดงพาด กลีบปากส่วนโคน เป็นถุงสั้น กลีบปากส่วนปลายสีขาวมีแต้มสีม่วงแดงมีกลิ่นหอม
 


    •สำเภางาม  
สำเภางาม กล้วยไม้ดินจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

สำเภางาม : Cymbidium seidenfadenii (P. J. Cribb & Du Puy) P. J. Cribb  
วงศ์ Orchidaceae  กล้วยไม้ดินจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย บานช่วงหน้าหนาวถึงต้นหน้าร้อน เป็นกล้วยไม้ที่มีดอกสวยงาม ที่ภูหลวงดอกมีหลายสี ช่วงที่บานมากในหน้าหนาวจะเป็นนางเอกของภูหลวงเลยทีเดียว

กล้วยไม้ชนิดนี้แต่ก่อนรู้จักกันในชื่อพฤกษศาสตร์ Cymbidium insigne Rolfe แต่ภายหลังผู้ศึกษากล้วยไม้สกุลนี้ทั่วโลกคือ ด๊อกเตอร์ฟิลิป คริบ จากสวนพฤษศาสตร์คิว สหราชอาณาจักร มีความเห็นว่าสำเภางามที่พบที่ภูหลวงมีความแตกต่างจาก Cymbidium insigne Rolfe ที่พบในเวียดนาม ท่านจึงตั้งเป็น Cymbidium insigne Rolfe subsp. seidenfadenii P. J. Cribb & Du Puy แต่ในหนังสือพรรณพฤกษชาติประเทศไทยเล่มกล้วยไม้ ๑๒(๒) ปี ๒๐๑๔ ท่านได้ตีพิมพ์ยกระดับเป็นชนิดไปเลยคือ
Cymbidium seid  


    • กันภัยมหิดล  
กันภัยมหิดล พรรณไม้หายาก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน

กันภัยมหิดล : Afgekia mahidolae Burtt et Chermsirivathana  

ชื่อวงศ์ : FABACEAE (LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEA)

เป็นไม้เถา ขนาดกลาง มีขนประปรายทั่วต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก  

ใบ : รูปไข่หรือรูปไข่กลับ  โคนใบมน ปลายแหลมและมักมีติ่งสั้น

ดอก : มีสีม่วง ออกเป็นช่อใหญ่ที่ปลายกิ่ง โคนก้านดอกมีริ้วประดับ กลีบตั้งด้านในมีสีม่วงแดง ที่โคนกลีบมีแถบสีเหลือง

ผล : เป็นฝักแบน  เมล็ดค่อนข้างกลม

การกระจายพันธุ์ : มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นพรรณไม้หายาก ขึ้นตามป่าเต็งรัง และภูเขาหินปูน ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย นำมาปลูกได้ทั่วไป ออกดอกเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

 

    • พังแหรใหญ่ ... สมุนไพรสู้ไวรัส  
พังแหรใหญ่ชื่อท้องถิ่น : พังแหร (ตรัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trema orientalis (L.) Blume  

ชื่อวงศ์ : CANNABACEAE  

ลักษณะเด่น : ไม้ต้น สูงถึง ๒๐ เมตร ตามส่วนต่าง ๆ มีขนสั้นสากคาย ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่-ใบหอก ยาว ๘-๑๖ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม มีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบ ๑ คู่ โคนรูปหัวใจและเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนยาวและขนสั้นนุ่มสีเทาเงินหนาแน่น (จุดเด่น) ช่อดอกกระจุกสั้นๆ ตามซอกใบ ดอกขนาดเล็กมากสีขาวอมเขียว ผลทรงกลม กว้าง ๓-๕ มม. สุกสีดำอมม่วง พบตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ชายป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบทั่วประเทศ เป็นไม้เบิกนำ โตเร็ว แต่ปกติอายุไม่เกิน ๓๐ ปีก็จะหักล้ม

สรรพคุณ   แก่นและราก : แก้ร้อนใน; เปลือกต้น เนื้อไม้ กิ่ง หรือใบ : บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดฟัน; ผลและดอก : รักษาหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
 


    •กาตาฉ่อ กล้วยไม้อิงอาศัยจากอุทยานแแห่งชาตภูลังกา  

กาตาฉ่อ : Phalaenopsis deliciosa Rchb. f. (Orchidaceae) [syn. Kingidium deliciosum (Rchb. f.) H. R. Sweet]

กล้วยไม้อิงอาศัยจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา มักพบขึ้นบนต้นไม้ตามลำธารที่มีความชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียใต้ถึงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อพื้นเมือง ‘"กาตาฉ่อ" เป็นภาษากะเหรี่ยงที่ใช้เรียกแถบกาญจนบุรี
 


    •สร้อยสยาม รูปงามนามเพราะ ไม้เลื้อยถิ่นเดียวของไทย  
สร้อยสยาม  รูปงามนามเพราะ ไม้เลื้อยถิ่นเดียวของไทย

สร้อยสยาม Phanera siamensis (K. Larsen & S. S. Larsen ) Mackinder & R. Clark (Fabaceae-Cercidoideae) พืชปลูกจากบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก เดือนพฤศจิกายน ไม้เลื้อย ดอกออกเป็นช่อห้อยลง เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic]) พบบริเวณจังหวัดพิษณุโลกและอุตรดิตถ์
 


    • ช้างน้าว  
ช้างน้าว : Ochna integerrima (Lour.) Merr. วงศ์ : OCHNACEAE ชื่ออื่น : กระแจะ (ระนอง), กำลังช้างสาร (ภาคกลาง), ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี), แง่ง (บุรีรัมย์), ช้างโน้ม (ตราด), ช้างโหม (ระยอง), ตานนกกรด (นครราชสีมา), ตาลเหลือง (ภาคเหนือ), ฝิ่น (ราชบุรี)

ช้างน้าวเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น ๆ ดอกออกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่ง สีเหลือง ผลสด เมื่อสุกสีดำ

สรรพคุณ :  ราก ขับพยาธิ แก้น้ำเหลืองเสีย เปลือก แก้ปวดตา แก้ตาเคือง เนื้อไม้ แก้กระษัย ขับพิษเสมหะและโลหิต แก้ปวดเมื่อย ถ่ายพิษตับ แก้ปวดท้อง คลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง และรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๗๘. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.
 


    • แจง  
แจง :  Maerua siamensis (Kurz) Pax วงศ์ : CAPPARACEAE

ชื่ออื่น :  แกง (นครราชสีมา)

แจงเป็นไม้ต้น ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๑-๕ ใบ ดอกออกเป็นช่อ ที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง  ไม่มีกลีบดอก ผลสด รูปทรงรีหรือกลม เมื่อสุกสีเหลืองเข้ม

สรรพคุณ : ราก บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย แก้ปัสสาวะพิการ แก้กระษัย ราก เปลือก และใบ แก้ดีซ่าน แก้อาการหน้ามืด แก้ตาฟาง แก้ไข้มาลาเรีย ลำต้น แก้ปวดหลัง บำรุงธาตุ ใบและยอด แก้แมงกินฟัน แก้ไข้

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๗๔. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.
 


    • เอื้องทำทาน เอื้องดอกไม้เงิน กล้วยไม้จากภูหินร่องกล้า  
เอื้องทำทาน เอื้องดอกไม้เงิน : Mycaranthes floribunda (D. Don) S. C. Chen & J. J. Wood (Orchidaceae) กล้วยไม้ดินจากป่าดิบเขาอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียถึงภูมิภาคอินโดจีน  


    • เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด กล้วยไม้อิงอาศัย จากภูหินร่องกล้า  
เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด : Aerides falcata Lindl. & Paxton  วงศ์ Orchidaceae

จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก กล้วยไม้อิงอาศัย ดอกดก ทน และดอกหอม มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ถึงไทย และภูมิภาคอินโดจีน
 


    • ลิ้นมังกร
  
ลิ้นมังกร กล้วยไม้งาม พบขึ้นบนก้อนหินในลำธาร

ลิ้นมังกร ปัดแดง สังหิน : Habenaria rhodocheila Hance (Orchidaceae)

กล้วยไม้ขึ้นบนก้อนหินในลำธาร จากอุทยานแห่งชาติภูลังกาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว กลีบเลี้ยง กลีบดอก และกลีบปาก มีสีแดง  
 


    • กำมะหยี่เชียงดาว  
กำมะหยี่เชียงดาว : Corallodiscus lanuginosus (Wall. ex DC.) B. L. Burtt (Gesneriaceae) จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ล้มลุก ใบเรียงเวียนถี่แบบกระจุกซ้อน (rosette) ติดผิวดินหรือหิน ใบคล้ายกำมะหยี่ ดอกออกเป็นช่อ มีดอกในช่อจำนวนน้อย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด สีม่วงอมชมพู ออกดอกช่วงหน้าฝน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เนปาล ภูฏาน ถึงจีนตอนใต้ และตอนเหนือของไทยที่ดอยเชียงดาว    


    • ช้างรอบคอ  

ช้างรอบคอ ช้างฮ้องคอ เสือเหลือง เสือดาว

ช้างรอบคอ ช้างฮ้องคอ เสือเหลือง เสือดาว : Gastrochilus obliquus (Lindl.) Kuntze

วงศ์ Orchidaceae พรรณไม้จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้อิงอาศัย ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกสั้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลือง โคนกลีบมีประสีน้ำตาลขนาดเล็กหรือไม่มี กลีบปากขอบจัก มีแต้มสีเหลืองและจุดสีน้ำตาลตรงกลาง
 


    •เอื้องพวงองุ่น
เอื้องพวงองุ่น : เอื้องมันปู : เอื้องระย้าทอง

Robiquetia succisa (Lindl.) Seidenf. & Garay Kuntze  วงศ์ Orchidaceae
พรรณไม้จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้อิงอาศัย ดอกออกเป็นช่อห้อยลง ต้นหนึ่งมักมีหลายช่อ แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก


  
    • ช้าแป้น  
ช้าแป้น :  Callicarpa arborea Roxb.

วงศ์ : LAMIACEAE

ชื่ออื่น : กะตอกช้าง ตาโมงปะสี (ยะลา), ทับแป้ง (สระบุรี), เตน (เลย), ผ้า (เชียงใหม่ ภาคกลาง), ผ้าลาย (ภาคใต้), ฝ้า ฝ้าขาว พ่าขาว (ภาคเหนือ), พ่า (ภาคกลาง), มะผ้า (แม่ฮ่องสอน), สักขี้ไก่ (ลำปาง), เสี้ยม (จันทบุรี), หูควาย (ตรัง ภาคเหนือ), หูควายขาว (สุราษฎร์ธานี), หูควายใหญ่ (ชุมพร)

ช้าแป้นเป็นไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผลสด รูปทรงกลม เมื่อสุกสีม่วง

สรรพคุณ :  เปลือก ต้มน้ำดื่ม วันละ ๓ ครั้ง และนั่งแช่รักษาอัมพาตระยะที่เป็นใหม่ ๆ แก่น ผสมสมุนไพรอื่นรวม ๓๕ ชนิด ฝนน้ำดื่ม แก้ไข้เปลี่ยนฤดูหรืออีสุกอีใส

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๒ หน้า ๘๗. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.๒๕๖๑.
 


    • สิงโตชมพูเชียงดาว  
สิงโตชมพูเชียงดาว : Bulbophyllum sp.

วงศ์ : Orchidaceae

สิงโตชมพูเชียงดาว พรรณไม้งามจากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยหรือหัวเทียม รูปไข่ มีใบ ๑ ใบ ดอกเดี่ยวออกที่โคนลำลูกกล้วย กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีชมพู มีเส้นสีชมพูเข้มตามยาว กลีบปากรูปสามเหลี่ยม อวบน้ำ สีชมพู มีร่องลึกตรงกลางตามยาว ผิวข้างร่องยับย่น โคนกลีบมีขอบจักคล้ายมีขน
 


   • ศรีพายัพ  
ศรีพายัพ : Paraboea glanduliflora Barnett

วงศ์ Gesneriaceae

ไม้ล้มลุกขึ้นตามซอกเขาหินปูนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ใบมีขนสั้นนุ่นหนาแน่น กลีบเลี้ยงสีม่วงแดง ดอกสีม่วงอมชมพูอ่อน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกล่าง ๓ แฉก แฉกบน ๒ แฉก ดอกบานช่วงฤดูฝน เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย
(endemic)

 
    • ข่าไฟ ตาเหินไฟ ข่าดง พรรณไม้จากเชียงดาว  
ข่าไฟ ตาเหินไฟ ข่าดง : Hedychium coccineum Buch.-Ham. ex Sm. (Zingiberaceae) จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้า ช่อดอกออกที่ปลายยอด ดอกสีแดง ดอกบานช่วงฤดูฝน มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ เมียนมา จีน ตอนเหนือของไทย และเวียดนาม  


    • สุวรรณภา ไข่ขาง พรรณไม้จากเชียงดาว  
สุวรรณภา ไข่ขาง : Senecio craibinnus Hosseus
วงศ์ Asteraceae, Compositae

จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ดอกออกเป็นช่อสีเหลืองสด เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic)

คำระบุชนิด ‘craibinnus’ Dr. Carl Curt Hosseus นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งสำรวจและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ทางภาคเหนือของไทย ตั้งให้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Prof. W. G. Craib ศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Aberdeen, Scotland ผู้ศึกษาตัวอย่างพรรณไม้ไทยที่เก็บรักษาไว้ที่สวนพฤกษศาสตร์คิว
 


    • เอื้องศรีไพล เอื้องดินจีน เอื้องดินปากลาย  
เอื้องศรีไพล เอื้องดินจีน เอื้องดินปากลาย Bletilla foliosa (King & Pantl.) Tang & F. T. Wang (Orchidaceae) ชื่อพ้อง Bletilla sinensis (Rolfe) Schltr. จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยไม้ดิน ใบคล้ายหญ้า ดอกออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงสีขาว กลีบดอกสีขาวปลายมีแต้มสีม่วง กลีบปากสีขาวมีแต้มและประสีม่วง มีเขตการกระจายพันธุ์ในเมียนมา จีนตอนใต้ และตอนเหนือของไทย  


    • สายน้ำผึ้งน้อย พบได้ตามชายป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา  
สายน้ำผึ้ง : Lonicera bournei  Hemsl. ex Forb. & Hemsl.

วงศ์ : Caprifoliaceae

ไม้เถา ขนโค้งงอสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายหรือหนาแน่นตามกิ่ง เส้นแขนงใบด้านล่าง ก้านใบ กลีบเลี้ยง ก้านช่อดอก และใบประดับ ใบเรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาว ๒-๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนตัด กลม หรือเว้าตื้น เส้นแขนงใบมี ๓-๕ เส้น ก้านใบยาว ๐.๔-๑.๓ ซม.

ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง เรียงชิดกัน ก้านช่อสั้น ดอกส่วนมากเป็นคู่ ใบประดับรูปลิ่ม ยาว ๐.๕-๓ มม. ใบประดับย่อยรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ขนาดประมาณ ๐.๕ มม. ขอบมีขน กลีบดอกสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม รูปปากเปิด มี ๕ กลีบ ด้านอกเกลี้ยงหรือมีขน หลอดกลีบเรียวแคบ โค้งเล็กน้อย ยาว ๓.๕-๖ ซม. กลีบบน ๔ กลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบล่างแฉกลึก ยาวประมาณ ๘ มม. พับงอกลับ

เกสรเพศผู้ ๕ อัน เชื่อมติดหลอดกลีบดอกเกือบตลอดความยาว ช่วงแยกกันเกลี้ยง ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย อับเรณูติดด้านหลัง อับเรณูยาวประมาณ ๓ มม. รังไข้ใต้วงกลีบ ขนาดประมาณ ๒ มม. ช่วงล่างมี ๓ ช่อง ช่วงบนมีช่องเดียว แต่ละช่องมีออวุล ๔-๘ เม็ด ก้านเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ช่วงบนมีขนยาว ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ยอดเกสรเป็นตุ่ม
 
ผลสดมีหลายเมล็ด กลมๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. สุกสีแดง

การกระจายพันธุ์ :  พบที่จีน พม่า และลาว ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เลย ชัยภูมิ ภาคตะวันออกและภาคกลางที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาและนครนายก ขึ้นตามชายป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ความสูง ๗๐๐-๑,๕๐๐ เมตร
 


    • โด่ไม่รู้ล้ม  
โด่ไม่รู้ล้ม : Elephantopus scaber L.

วงศ์ : ASTERACEAE

ชื่ออื่น : ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย), คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ), หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปราบ หญ้าไฟนกคุ้ม หญ้าสามสิบสองหาบ หนาดผา (ภาคเหนือ), หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี), Prickly leaved elephant's foot

โด่ไม่รู้ล้ม เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นแข็ง ตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงเวียนที่โคนใกล้ผิวดิน ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อกระจุก สีม่วงแดงหรือขาว ผลแห้งแตก

สรรพคุณ :  รากและใบ แก้บิด ขับปัสสาวะ ขับระดู คุมกำเนิด รักษาโรคบุรุษ ขับพยาธิ ทั้ง ๕ แก้ไอ รักษาวัณโรค แก้เหน็บชา บำรุงหัวใจ บำรุงกำหนัด

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๘๕. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.



     • ฮ่อมดินเชียงดาว พรรณไม้เชียงดาว  

พรรณไม้เชียงดาว : ฮ่อมดินเชียงดาว เนียมดอย

ฮ่อมดินเชียงดาว เนียมดอย : Ajuga macrosperma Wall. ex Benth. (Lamiaceae, Labiatae) จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออที่ปลายยอด ดอกสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกซีกบนและซีกล่าง มีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ เมียนมา จีน ตอนเหนือของไทย ลาว และเวียดนาม
 


    • ดองดึง  
ดองดึง : Gloriosa superba

วงศ์ : COLCHICACEAE

ชื่ออื่น : ก้ามปู (ชัยนาท), คมขวาน บ้องขวาน หัวขวาน (ชลบุรี), ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู (ภาคกลาง), พันมหา (นครราชสีมา), มะขาโก้ง (ภาคเหนือ), หมอยหีย่า (อุดรธานี), Climbing lily

ดองดึง เป็นไม้เถาล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด สีเหลือง ปลายกลีบสีแดง ผลแห้งแตก

สรรพคุณ : หัว รักษาโรคเรื้อน คุดทะราด แก้ปวดข้อ รักษากามโรค รักษามะเร็ง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถ้าใช้ในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ราก แก้ลมจุกเสียด ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดข้อ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๘๓. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.
 
 

   • ดอกแตรวง พรรณไม้จากเชียงดาว  
ดอกแตรวง : Lilium primulinum Baker var. burmanicum (W.W.Sm.) Stearn

ชื่อสามัญ  Primulinum lily

ชื่ออื่น ดอกแตรวง, เด็งช้างเผือก (เชียงใหม่), โพ้แม่ลา (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); อินทง (เชียงใหม่)

วงศ์ Liliaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๒ ม. หัวใต้ดินยาว ๕-๖ ซม. เนื้อในสีขาวอมเหลือง ใบรูปใบหอก ยาว ๕.๕-๑๒ ซม. เส้นโคนใบ ๓ เส้น เรียงขนานกัน ช่อดอกมี ๔-๙ ดอก สีเหลืองหรืออมเขียว มีปื้นสีม่วงอมน้ำตาลแซม กลีบรูปขอบขนานหรือแกมรูปใบหอกกลับ ยาว ๖.๕-๙ ซม. กลีบในกว้างกว่าเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่รูปแถบ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านเกสรเพศเมียยาว ๔.๕-๕.๕ ซม. ฝักรูปขอบขนาน ยาว ๔-๗ ซม. มีสันตามยาว

พบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่ดอยสุเทพ และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นตามป่าดิบเขา ป่าสน ที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง ๘๐๐-๑,๕๐๐ เมตร แยกเป็น var. ochraceum (Franch.) Stearn พบที่จีน หัวใต้ดินขนาดเล็ก ใบและกลีบรวมสั้น ส่วน var. primulinum พบที่พม่า กลีบดอกไม่มีปื้น  
 


    • ตรีชะวา พืชสมุนไพรน่ารู้  
ตรีชะวา : Justicia betonica L.

วงศ์ : ACANTHACEAE

ชื่ออื่น : หางกระรอก หางแมว (กรุงเทพฯ)

ตรีชะวาเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบประดับสีขาว มีลายสีเขียว กลีบดอกสีขาว หลอดกลีบดอกมีจุดประสีม่วง ดอกช่อ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง

สรรพคุณ : ทั้ง ๕ ดับพิษทั้งปวง สมานบาดแผล รักษาริดสีดวง ขับปัสสาวะ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๘๖. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.


 
    • ดาราพิลาส  

พบพืชชนิดใหม่ของโลก 'ดาราพิลาส' สกุลเดียวกับกำลังเจ็ดช้างสาร ในพื้นที่ อช.น้ำตกหงาว จ.ระนอง  โดยนายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๔ (สุราษฎร์ธานี)  ค้นพบเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ และลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดอกอีกครั้งเมื่อ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ก่อนส่งตัวอย่าง มาตรวจสอบยังหอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยได้ประสานงานและร่วมตรวจสอบข้อมูลกับ นายมานพ ผู้พัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ และดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    


    • ชมพูราชสิริน  
"กรมอุทยานฯ ร่วมกับ ม.มหิดล ค้นพบ ‘ชมพูราชสิริน’ พืชชนิดใหม่ของโลก"  พืชชนิดใหม่นี้ถูกค้นพบโดยทีมงานนักพฤกษศาสตร์หอพรรณไม้ ระหว่างทำการสำรวจความหลากหลายของพืชบริเวณภูเขาในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ โดยมีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ขอพระราชทานนามว่า Begonia sirindhorniana Phutthai, Thanant., Srisom & Suddee คำระบุชนิด “sirindhorniana” ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ท่านมีพระกระแสรับสั่งให้ดำเนินการสำรวจชนิดพรรณไม้ในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒  


   • สิงโตกลอกตา กล้วยไม้จากอุทยานแห่งชาติภูลังกา  
สิงโตกลอกตา : Bulbophyllum blepharistes Rchb. f.

วงศ์ Orchidaceae

กล้วยไม้อิงอาศัยหรือขึ้นบนหินจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ลำลูกกล้วยมีใบ ๒ ใบ ก้านช่อดอกยาวมาก ปลายก้านมีดอกเรียงกันคล้ายช่อซี่ร่ม
 


    • ลดาดง พบได้ตามเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ  
ลดาดง : Tridynamia spectabilis (Kurz)Parmar

วงศ์ Convolvulaceae

ไม้เถา ลำต้นมีขนหรือเกลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม กว้าง ๔-๑๘ ซม. ยาว ๗-๑๙.๕ ซม. โคนเว้า แผ่นใบด้านล่างมีขน ก้านใบยาว ๑.๕-๗ ซม.

ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ใบประดับรูปไข่ ใบประดับย่อยคล้ายกลีบเลี้ยง มี ๓ ใบ ขนาดไม่เท่ากัน ก้านดอกยาว ๐.๘-๑ ซม. ดอกมีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงแยกจรดโคน เรียงซ้อนกัน ขนาดไม่เท่ากัน คู่นอก ๓ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๓-๔ มม. มีสันตามยาว มีขน กลีบคู่ในขนาดเล็ก ดอกรูปแตรแคบ สีขาว ยาว ๒-๓ ซม. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๗-๒.๗ ซม. มี ๕ กลีบไม่ชัดเจน หลอดกลีบดอกกว้างจากโคนสู่ปลาย

เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดภายในหลอดกลีบ ยาวไม่เท่ากัน ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. อับเรณูเป็นเงี่ยง ติดไหวได้ ไม่เป็นหนาม ไม่มีจานฐานดอก รังไข่มีช่องเดียว เกลี้ยง ออวุลมี ๔ ออวุล ก้านเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๓ ซม. โคนก้านมีขนยาว ยอดเกสรจัก ๒ พู ย่น

ผลเป็นกระเปาะรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๖ มม. (ผลอ่อน) มีขน กลีบเลี้ยงหุ้มผล ๓ กลีบนอกขยายเป็นปีกรูปพาย ยาว ๕-๕.๕ ซม. มีเส้นปีก ๗-๑๑ เส้น โคนหนามีสัน มีเมล็ดเดียว สีน้ำตาลดำ รูปรี ขนาดประมาณ ๕ มม.

การกระจายพันธุ์:  พบที่อัสสัม พม่า ลาว ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทยที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน ลำปาง แพร่ เพชรบูรณ์ และกาญจนบุรี ขึ้นตามเขาหินปูนในป่าเบญจพรรณ ความสูง ๑๐๐-๗๐๐ เมตร
 


    • จิงจ้อร่างแห หรือ เถาตดหมา  
จิงจ้อร่างแห หรือ เถาตดหมา ไม้เถาล้มลุก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

จิ้งจ้อร่างแห  : Xenostegia tridentata (L.) D. F. Austin & Staples

ไม้เถาล้มลุก พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ คำระบุชนิด ‘tridentata’ หมายถึงหยักซี่ฟันที่โคนใบในแต่ละข้างซึ่งส่วนใหญ่มี ๓ หยัก

พืชวงศ์ผักบุ้งในประเทศไทย (Thai Convolvulaceae)  


    • ตองแตก พืชสมุนไพรน่ารู้  
ตองแตก Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh

วงศ์ : EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่น : ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์), ถ่อนดี ทนดี (ตรัง ภาคกลาง), นองป้อม ลองปอม (เลย)

ตองแตกเป็นไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน ขอบใบหยัก ดอกช่อ แยกเพศ อยู่ร่วมต้น ออกที่ซอกใบ สีเหลืองแกมเขียว ผลแห้งแตก

สรรพคุณ : ราก เป็นยาถ่าย ขับลม ขับเสมหะ แก้บวมน้ำ แก้ดีซ่าน แก้ม้ามอักเสบ และรักษาโรคโลหิตจาง ใบ เป็นยาถ่าย รักษาโรคหืด เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรง แก้ปวดตามข้อ

อ้างอิง : ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพรในประเทศไทย เล่ม ๑ หน้า ๘๗. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ๒๕๕๙.
 


    • ส้มกุ้ง พรรณไม้น่ารู้  
ส้มกุ้ง : Begonia palmata D.Don

วงศ์ Begoniaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๑ ม. เหง้าทอดเลื้อย มีขนยาวประปรายสีน้ำตาลแดงตามลำต้น แผ่นใบ และก้านใบ หูใบรูปไข่แคบ ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. จักเป็นพู ปลายแหลมยาว โคนรูปหัวใจ ขอบจักซี่ฟัน เส้นแขนงใบรูปฝ่ามือ ก้านใบยาวได้ถึง ๔ ซม.

ช่อดอกแยกแขนงสั้นๆ ก้านช่อยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ร่วงเร็ว ขอบมีขนครุย ดอกสีชมพู ดอกเพศผู้ กลีบรวมมี ๔ กลีบ คู่นอกรูปไข่กลับ ยาว ๑-๒.๕ ซม. คู่ในรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว ๐.๗-๒ ซม.

ก้านชูอับเรณูแยกกัน ยาว ๑-๒.๕ มม. ดอกเพศเมีย กลีบรวมมี ๕-๖ กลีบ รูปกลม หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. รังไข่มีขนยาว ก้านเกสรเพศเมีย ๒ อัน ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแฉกเป็นง่าม ยอดเกสรเพศเมียบิดเวียน

ผลรูปสามเหลี่ยม ปีกล่างรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๓ ซม. ปีกคู่ข้างยาวประมาณ ๕ มม.

พบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นตามป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ ๒,๐๐๐ เมตร มีความผันแปรสูงโดยเฉพาะสิ่งปกคลุม
 


    • ระฆังแก้ว  
ระฆังแก้ว : Campanumoea javanica Blume

ไม้เถาล้มลุก  ดอกรูประฆัง กลีบดอกสีขาวครีมอมเขียว มีลายสีม่วงอ่อนๆ  พบอินเดีย ภูฏาน เนปาล จีนตอนใต้ พม่า ลาว เวียดนาม ชวา ในไทยส่วนมากพบทางภาคเหนือ ขึ้นตามชายป่าดิบเขาหรือป่าสน ระดับความสูง ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ เมตร
 


    • นมช้าง ไม้รอเลื้อย  
นมช้าง Fissistigma sp. ไม้รอเลื้อย (Scandent) จากป่าดิบชื้น จังหวัดกระบี่ เป็นพืชในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) เป็นพืชป่าที่มีศักยภาพในการนำมาขยายพันธุ์เป็นไม้ประดับได้  


    • เนียมป่า พรรณไม้จากเขาหินปูนเชียงดาว  
เนียมป่า ผักอีหลืน ม่วงดอย Elsholtzia griffithii Hook. f. (Lamiaceae, Labiatae) จากเขาหินปูนเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ล้มลุก ใบเรียงตรงข้าม ช่อดอกออที่ปลายยอด เป็นช่อรูปทรงกระบอก ดอกสีม่วง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกซีกบนและซีกล่าง มีเขตการกระจายพันธุ์ทางเมียนมา และทางตอนเหนือของไทย  


    • ชมพูยูนนาน ไม้ล้มลุกขึ้นตามป่าดิบเขา และบนเขาหินปูน  
ชมพูยูนาน : Begonia modestiflora Kurz

วงศ์ Begoniaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๕๐ ซม. มีรากตามข้อ หูใบรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. ใบรูปสามเหลี่ยม เบี้ยว ยาว ๓.๕-๘ ซม. ขอบจักซี่ฟันถี่ ก้านใบยาว ๑.๘-๕.๕ ซม.

ช่อดอกออกตามปลายกิ่งและซอกใบ ปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ โคนช่อเป็นดอกเพศเมีย ช่อดอกที่ออกตามซอกใบมีดอกเพศเมีย ๑-๒ ดอก ใบประดับรูปไข่ ยาว ๖-๗ มม. ขอบจัก มีขนครุย ดอกสีชมพู ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. กลีบรวม ๔ กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. มีขนด้านนอก คู่ในรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๓ มม.

ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน ดอกเพศเมียก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ กลีบรวม ๕ กลีบ กลีบใหญ่รูปไข่ ยาว ๗-๘ มม. ปลายแหลม กลีบเล็กรูปใบหอก ยาว ๖-๗ มม. ปลายมน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมีย ๓ อัน เชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสรจัก ๒ พู บิดเวียน ผลห้อยลง กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปีกกลางรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปีกคู่ข้างขนาดเล็ก

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก ขึ้นตามป่าดิบเขา และบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร


ขอขอบคุณที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 พฤศจิกายน 2564 20:05:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #39 เมื่อ: 04 กุมภาพันธ์ 2565 16:11:19 »

    • ชมพูยูนนาน
 
ชมพูยูนนาน ไม้ล้มลุกขึ้นตามป่าดิบเขา และบนเขาหินปูน

ชมพูยูนาน : Begonia modestiflora Kurz
วงศ์ : Begoniaceae

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง ๕๐ ซม. มีรากตามข้อ หูใบรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. ใบรูปสามเหลี่ยม เบี้ยว ยาว ๓.๕-๘ ซม. ขอบจักซี่ฟันถี่ ก้านใบยาว ๑.๘-๕.๕ ซม.

ช่อดอกออกตามปลายกิ่งและซอกใบ ปลายช่อเป็นดอกเพศผู้ โคนช่อเป็นดอกเพศเมีย ช่อดอกที่ออกตามซอกใบมีดอกเพศเมีย ๑-๒ ดอก ใบประดับรูปไข่ ยาว ๖-๗ มม. ขอบจัก มีขนครุย ดอกสีชมพู ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. กลีบรวม ๔ กลีบ คู่นอกรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. มีขนด้านนอก คู่ในรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๓ มม.

ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันที่โคน ดอกเพศเมียก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ กลีบรวม ๕ กลีบ กลีบใหญ่รูปไข่ ยาว ๗-๘ มม. ปลายแหลม กลีบเล็กรูปใบหอก ยาว ๖-๗ มม. ปลายมน รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมีย ๓ อัน เชื่อมติดกันที่โคน ยอดเกสรจัก ๒ พู บิดเวียน ผลห้อยลง กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปีกกลางรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ปีกคู่ข้างขนาดเล็ก

พบที่อินเดีย เนปาล จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทยที่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก ขึ้นตามป่าดิบเขา และบนเขาหินปูน ความสูงถึงประมาณ ๑,๘๐๐ เมตร  
 


    • ตะลิงปลิง
  
ตะลิงปลิง : Averrhoa bilimbi L. วงศ์ : OXALIDACEAE

ชื่ออื่น : หลิงปลิง (ภาคใต้); Bilimbi, Cucumber tree

ตะลิงปลิงเป็นไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ดอกช่อ ออกที่ลำต้นและกิ่งใหญ่ สีแดงคล้ำ มีกลิ่นหอม ผลสด ฉ่ำน้ำ สีเขียว รสเปรี้ยว

สรรพคุณ : ราก แก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ใบ รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ ไขข้ออักเสบ รักษากามโรค รักษาสิว แก้คัน แก้คางทูม
 
ดอก แก้ไอ ผล ช่วยเจริญอาหาร ลดไข้ ขับเหงื่อ แก้ปวดกระดูก แก้เลือดออกตามไรฟัน และรักษาริดสีดวงทวาร  
 


    • มาลัยอารยา
  
มาลัยอารยา Damrongia orientalis (Craib) C. Puglisi พืชวงศ์ชาฤๅษีจากเขาหลวง สุโขทัย      


    • มหาพรหมราชินี  

มหาพรหมราชินี Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & R.M.K.Saunders Annonaceae

คำระบุชนิด “sirikitae” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ มหาราชินี ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่ม ๒๔ ฉบับที่ ๒ หน้า ๒๐๑-๒๐๖ ปี ค.ศ.๒๐๐๔ จากพรรณไม้ต้นแบบ Chalermglin ๔๖๐๕๐๕ (holotype: QBG; isotypes: AAU, BK, BKF, C, CMU, HKU, K, L, TISTR) ที่เก็บจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๕-๖ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบเรียงเวียน รูปใบหอก ยาว ๖-๒๒ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนแหลมหรือมน แผ่นใบหนา ด้านล่างเป็นมันวาว มีขนกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้นๆ ออกตามซอกใบหรือตามรอยแผลใบของกิ่งแก่ มีขนกำมะหยี่หนาแน่น มี ๑-๓ ดอก ก้านดอกยาว ๑.๘-๒.๗ ซม. ใบประดับรูปไข่ ใบประดับยาว ๕-๗ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่กว้าง ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ดอกสีชมพูแกมม่วง มี ๖ กลีบ เรียง ๒ วง วงนอกรูปไข่กว้าง ยาว ๔-๕.๕ ซม. วงในรูปไข่ มีก้านกลีบ โคนรูปเงี่ยงลูกศร ปลายมน ปลายเชื่อมติดกันรูปคล้ายหมวก สั้นกว่ากลีบวงนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่มีหลายคาร์เพล แยกกัน ผลมี ๑๐-๑๕ ผลย่อย ก้านช่อผลยาว ๒.๕-๗ ซม. ผลย่อยรูปขอบขนาน ยาว ๒-๖ ซม. มีขนละเอียด ก้านผลย่อยยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เมล็ดจำนวนมาก รูปไข่เกือบกลม แบน ยาว ๑.๒-๑.๗ ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่แม่ฮ่องสอน บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ขึ้นในป่าดิบเขาที่เป็นหินปูน ความสูง ๑,๐๐๐-๑,๑๐๐ เมตร  
 


    • ส้มป่อย สมุนไพรมากประโยชน์  

ชื่อท้องถิ่น : ส้มป่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia concinna (Willd.) DC.

ชื่อวงศ์ : FABACEAE

ลักษณะเด่น : ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือพุ่มรอเลื้อย ยาวได้ถึง ๒๐ ม. ตามกิ่งและลำต้นมีหนามแหลมคม ตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และใบอ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม ใบแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนก ๒ ชั้น (คล้ายใบชะอม แต่ไม่มีกลิ่นฉุน และใบอ่อนของส้มป่อยจะมีรสเปรี้ยว) เรียงสลับ ก้านใบมีต่อมนูน ๑ ต่อม ติดค่อนมาทางโคนก้านใบ ใบประกอบย่อย ๕-๑๐ คู่ ใบย่อย ๑๐-๓๕ คู่ รูปขอบขนานแกมรูปแถบยาว ยาว ๓.๕-๑๑ มม. ปลายใบกลมและไม่สมมาตร และมีติ่งสั้น โคนใบตัดและไม่สมมาตร ไม่มีก้านใบย่อย ช่อดอกทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑.๕-๒ ซม. มีดอกย่อย ๒๐-๓๕ ดอก กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มมี ๕ แฉก กลีบดอกและเกสรเพศผู้สีขาวครีม คล้ายพู่ขน ผลแบบฝักค่อนข้างแบน รูปแถบยาว ยาว ๑๐-๑๕ ซม. กว้าง ๒ ซม. มีรอยหยักเป็นคลื่นตามแนวเมล็ด ผิวเกลี้ยง ฝักแก่สีแดงอมสีน้ำตาล เปลือกฝักมีรสขมอมเปรี้ยว

ถิ่นอาศัย : พบตามป่าเบญจพรรณ ชายป่าดิบแล้ง หรือตามป่าเสื่อมโทรม ที่ระดับความสูงไม่เกิน ๑,๔๐๐ ม. ทั่วประเทศ

สรรพคุณ : ใบอ่อนสดมีรสชาติเปรี้ยว ทานเป็นผัก ช่วยกัดเมือกมันในลำไส้ ขับเสลด ขับเสมหะในลำคอ, ใบสดหรือตากแห้งใช้เข้ายาลูกประคบ แก้ปวดเมื่อย

แก้อาการคันตามผิวหนัง แก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อยตามเส้นเอ็น เส้นเอ็นอักเสบ บรรเทาอาการอัมพฤกษ์-อัมพาต แก้ไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ท้องผูก แก้จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยฟอกเลือด ช่วยขับและฟอกเลือดเสีย เลือดไม่ดี บำรุงสตรีที่กำลังจะหมดประจำเดือน เลือดจะไปลมจะมา (อาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ) รักษาอาการวัยทอง บำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง  
 


    • เครือเทพรัตน พรรณไม้เกียรติประวัติ  

เครือเทพรัตน Thepparatia thailandica Phuph.

ชื่อสกุล “Thepparatia” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนคำระบุชนิด “thailandica” ตั้งตามชื่อประเทศไทย ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ ๓๔ หน้า ๑๙๕-๒๐๐ ปี ค.ศ.๒๐๐๖ จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Pooma et al. ๔๙๘๑ (holotype: BKF) ที่เก็บอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๐-๑๕ ซม. มีขนรูปดาวกระจายตามแผ่นใบด้านบน ก้านใบ ช่อดอก ริ้วประดับ และกลีบเลี้ยง ใบเรียงเวียน รูปฝ่ามือ มี ๓-๕ แฉกตื้นๆ ขอบจักฟันเลื่อยห่างๆ แผ่นใบด้านบนมีต่อมทั่วไป ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกจำนวนมาก ริ้วประดับติดทน มี ๕-๗ กลีบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ ๕ กลีบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม มีแถบสีแดง กลีบรูปไข่กลับ ยาว ๓-๓.๕ ซม. ปลายกลีบม้วนออก เส้าเกสรเพศผู้ยาว ๑.๕-๒ ซม. อับเรณูรูปเกือกม้า ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๖ ซม.

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ตาก ใกล้ชายแดนพม่า และเชียงใหม่ (เชียงดาว) ขึ้นตามหุบเขาที่ลาดชันใกล้ลำธาร หรือเขาหินปูน ในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ความสูง ๓๕๐-๗๐๐ เมตร  
 


    • มะลิเฉลิมนรินทร์ พรรณไม้เกียรติประวัติ  

มะลิเฉลิมนรินทร์
Jasminum bhumibolianum
Chalermglin

คำระบุชนิด "bhumipoliana" ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Blumea เล่มที่ ๕๘ ฉบับที่ หน้า ๘๐ ปี ค.ศ. ๒๐๑๓ จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Chalermglin ๕๒๐๗๐๕ (holotype: BKF; isotypes: BK, K, KEP, L, QBG) ที่เก็บจากจังหวัดเลย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถา ใบประกอบมีใบเดียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๖-๘ ซม. ปลายแหลมยาว โคนเว้า แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบแบบขนนก มีข้างละ ๓-๔ เส้น โค้งจรดกัน ก้านใบยาว ๔-๕ มิลลิเมตร ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้นๆ ออกที่ปลายกิ่ง ใบประดับรูปขอบขนาน ๕-๖ มม. มี ๗-๑๓ ดอก ใบประดับย่อยมี ๒ อัน รูปเส้นด้ายขนาดเล็ก หลอดกลีบเลี้ยงสั้น มี ๔-๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๔ มม. หนาแข็ง ปลายแหลม ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม หลอดกลีบดอกยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. มี ๖-๘ กลีบ รูปใบหอก ยาว ๑-๑.๒ ซม. โคนกลีบมีสีเหลืองอ่อน ปลายกลีบแหลม เกสรเพศผู้ ๒ อัน ไม่ยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาว ๓.๕-๔ มม. แกนอับเรณูมีรยางค์เป็นติ่งแหลม รังไข่รูปถัง ก้านเกสรเพศเมียยาว ๔-๕ มม. ผลรูปรีกลมๆ ยาวประมาณ ๑ ซม. สุกสีดำ

พืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดเลย ขึ้นตามเขาหินปูน ความสูงประมาณ ๗๐๐ เมตร    
 


    • เอื้องศรีเชียงดาว พรรณไม้เกียรติประวัติ  

"เอื้องศรีเชียงดาว" Sirindhornia pulchella H.A.Pederson & Indham.

ชื่อสกุล “” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ ๒๒ หน้า ๓๙๓-๔๐๒ ค.ศ.๒๐๐๒ และเอื้องศรีเชียงดาวได้ตั้งชื่อเป็นพืชชนิดในคราวเดียวกัน จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Watthana & Suksathan ๑๒๗๔ ที่เก็บจากดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (holotype: QBG)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มี ๑-๒ ใบ รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ยาว ๔.๕-๑๓ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มสีเข้มกระจายทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปใบหอก ปลายแหลม ยาว ๐.๕-๑.๘ ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์ประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงอันบนสีชมพูหรือม่วงอ่อน รูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๖-๗ มม. ปลายกลม กลีบเลี้ยงด้านข้างสีเขียวอ่อน ขอบสีม่วงอ่อน รูปรีแกมรูปไข่ ยาว ๖.๕-๗ มม. ปลายมนหรือแหลม กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานหรือรูปรี ยาว ๖-๗ มม. ปลายกลม หรือตัด ซ้อนเหลื่อมกันคลุมเส้าเกสร กลีบปากแยก ๓ แฉกตื้นๆ กว้าง ๑-๑.๕ ซม. สีชมพู มีแต้มสีม่วงแดงกระจายทั่วไป พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นบนที่โล่งบนเขาหินปูน ความสูง ๑,๘๐๐-๒,๐๐๐ เมตร  
 


    • เอื้องศรีอาคเนย์ พรรณไม้เกียรติประวัติ
 
เอื้องศรีอาคเนย์
Sirindhornia monophylla
H.A.Pederson & Suksathan

ชื่อสกุล “Sirindhornia” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botanyเล่มที่ ๒๒ หน้า ๓๙๓-๔๐๒ ปี ค.ศ. ๒๐๐๒ และเอื้องศรีอาคเนย์ที่เดิมมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Habenaria monophylla Collett & Hemsl. ได้ถูกย้ายมาสกุลใหม่ด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มี ๑-๒ ใบ รูปรีหรือรูปไข่ ยาว ๓-๑๒ ซม. ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มเข้มกระจาย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ยาวได้ประมาณ ๓๕ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปใบหอก ปลายแหลมหรือแหลมยาว ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. กลีบเลี้ยงอันบนสีม่วงอ่อน รูปขอบขนานแกม ยาว ๒.๕-๔.๕ มม. ปลายมนหรือกลม กลีบเลี้ยงด้านสีเขียว ขอบสีม่วงอมชมพู รูปไข่ ยาว ๓.๕-๕ มม. ปลายกลมหรือมน กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว ๓-๕ มม. ปลายกลมหรือตัด ซ้อนเหลื่อมกันคลุมเส้าเกสร กลีบปากแยก ๓ แฉก กว้าง ๔-๘ มม. สีม่วงอ่อน มีจุดประสีม่วงอมแดงกระจายพบที่จีนตอนใต้ พม่า และภาคเหนือของไทย ขึ้นตามที่โล่งเขาหินปูน ความสูง ๘๐๐-๒,๒๐๐ เมตร  
 


    • เอื้องศรีประจิม พรรณไม้เกียรติประวัติ  

เอื้องศรีประจิม
Sirindhornia mirabilis
H.A.Pederson & Suksathan
 

ชื่อสกุล “Sirindhornia” ตั้งเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ ๒๒ หน้า ๓๙๓ ปี ค.ศ.๒๐๐๒ และเอื้องศรีประจิมได้รับการตั้งชื่อเป็นพืชชนิดใหม่พร้อมกัน จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Suksathan ๓๐๐๐ ที่เก็บจากดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (holotype: QBG)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กล้วยไม้ขึ้นตามซอกหิน มีใบเดียว รูปรีแกมรูปไข่ ยาว ๘-๑๒ ซม. ปลายแหลม แผ่นใบหนาสีเขียว มีแต้มสีเข้มกระจายทั่วไป ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนประปราย ใบประดับรูปไข่ ปลายแหลม ยาวได้ถึง ๑ ซม. ดอกจำนวนมาก บานจากโคนสู่ปลายช่อ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงสีม่วงอมแดง กลีบเลี้ยงอันบนรูปขอบขนาน ยาว ๘-๙ มม. ปลายมนหรือกลม กลีบเลี้ยงด้านข้างรูปไข่ ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายกลมหรือมน กลีบดอกด้านข้างรูปขอบขนานหรือรูปแถบ ยาวประมาณ ๙ มม. ปลายมน กลม หรือปลายตัด กลีบปากแยกเป็น ๓แฉก กว้าง ๐.๗-๑ ซม. โคนสีชมพู ปลายกลีบสีขาว คอกลีบปากสีชมพู หูกลีบปากสีเขียว

พืชถิ่นเดียวของไทย พบที่ดอยหัวหมด อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ขึ้นตามเขาหินปูนที่เปิดโล่ง ความสูง ๙๐๐-๑,๐๐๐ เมตร  
 


    • สิรินธรวลี พรรณไม้เกียรติประวัติ  

สิรินธรวลี
Phanera sirindhorniae
(K.Larsen & S.S.Larsen)
Mackinder & R.Clark
วงศ์ Fabaceae-Cercidoidae

คำระบุชนิด "sirindhorniae" เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nordic Journal of Botany เล่มที่ ๑๗ หน้า ๑๑๓-๑๑๘ ปี ค.ศ.๑๙๙๗ จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Niyomdham ๔๔๗๑ ที่เก็บจากภูทอกน้อย อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดหนองคาย (holotype: BKF; isotypes: AAU, K)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปขอบขนานแกมรูปรี ยาว ๕-๗ มม. ร่วงง่าย ใบรูปไข่ ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายแยก ๒ แฉกตื้น ๆ หรือแฉกลึกจนจรดโคน แผ่นใบหนา เหนียว เส้นแขนงใบออกจากโคน ๙-๑๑ เส้น ก้านใบยาว ๒-๖.๕ ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น แกนกลางช่อยาว ๒-๑๐ ซม. ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. ตาดอกรูปรี ปลายแหลม ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนด้านนอก ฐานดอกรูปหลอดหรือแตรแคบๆ ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีริ้วและขนหนาแน่น กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ ซม. แยกจรดโคนด้านเดียว ด้านตรงข้ามแฉกเฉพาะที่ปลายกลีบ ติดทน กลีบดอกมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่นด้านนอก รูปใบหอก ยาว ๑-๑.๓ ซม. รวมก้านกลีบ เกสรเพศผู้ ๓ อัน ก้านชูอับเรณูและอับเรณูเกลี้ยง เกสรที่เป็นหมันมี ๒ อัน รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวไม่เกิน ๑ มม. รังไข่มีขนสีน้ำตาลแดง ยาว ๐.๗-๑ ซม. ก้านรังไข่ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว ๐.๗-๑ ซม. มีขน ฝักรูปใบหอก ยาว ๑๕-๑๘ ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มี ๕-๗ เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม แบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม.

สิรินธรวลี ประดงแดง หรือสามสิบสองประดง เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่หนองคาย นครพนม (ภูลังกา) และสกลนคร (ภูพาน) ความสูง ๑๕๐-๒๐๐ เมตร และอาจพบในประเทศลาวฝั่งตรงข้ามจังหวัดหนองคาย  
 

     • ต้างหลวง  

"ต้างหลวง"
Trevesia palmata (Roxb. ex Lindl.) Vis.
วงศ์ : ARALIACEAE
ชื่ออื่น : ต้างป่า ต้างผา (ภาคเหนือ)
ต้างหลวงเป็นไม้ต้น ลำต้นมีหนาม ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ เรียงเวียน ดอกช่อ ออกที่ลำต้นใกล้ปลายกิ่ง สีเหลือง ผลสุกสีน้ำเงินดำ
สรรพคุณ : ดอกอ่อน ช่วยเจริญอาหาร  
 


    • ลำดวน  

ลำดวน
Sphaerocoryne lefevrei (Baill.) D. M. Johnson & N. A. Murray

"ลำดวน" เป็นไม้ดอกหอม เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ลำดวนเคยถูกใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum Lour. ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๗๙๐ ภายหลังทีมงานผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าลำดวนมีการใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ที่ผิดมาอย่างยาวนาน

ชื่อ Melodorum fruticosum Lour. นั้น แท้จริงแล้วเป็นชื่อพ้องของนมแมวที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องว่า Uvaria siamensis (Scheff.) L. L. Zhou, Y. C. F. Su & R. M. K. Saunders (ในไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อพ้อง Rauwenhoffia siamensis Scheff.) ซึ่งต่างชนิดกันกับลำดวน

ชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้องของลำดวนในปัจจุบันคือ Sphaerocoryne lefevrei (Baill.) D. M. Johnson & N. A. Murray ตามเอกสารอ้างอิงด้านล่าง หน่วยงานต่างๆ คงต้องทำการเปลี่ยนป้ายชื่อให้ถูกต้องต่อไป    

 

ขอขอบคุณที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
400
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กุมภาพันธ์ 2565 16:18:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 [2] 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.507 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 เมษายน 2567 17:47:12