.
เกือบรุ่งฟุ้งกลิ่นเกลี้ยง เพียงสุคนธ์
หึ่งหึ่งผึ้งเวียนวน ว่อนเคล้า
มาลีคลี่กลีบบน บานกลิ่น ระรินเอย
ยิ่งรุ่งฟุ้งหอมเร้า เร่งให้ใจเจริญ.... นิราศสุพรรณ - สุนทรภู่ ผึ้ง
ผึ้งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จักกันดี เล่ากันว่าผึ้งเป็นสัตว์ชนิดแรกที่สอนให้คนรู้จักกับรสหวานตามธรรมชาติ สิ่งนั้นคือ น้ำผึ้งนั่นเอง คนโบราณรู้จักลิ้มรสน้ำผึ้งมานานนับหมื่นปีแล้ว มีหลักฐานเป็นภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล บนผนังถ้ำในประเทศสเปน รูปวาดนั้นแสดงให้เห็นคนยุคหินกำลังปีนขึ้นไปตีรังผึ้งที่อยู่ในโพรงตามธรรมชาติ และเก็บน้ำผึ้งใส่ภาชนะไว้กิน ภาพนั้นแสดงว่ามนุษย์รู้จักกินน้ำผึ้ง และน่าจะเป็นอาหารที่มีความหวานจากธรรมชาติชนิดแรกที่คนโบราณรู้จักเก็บนำมาใช้ ก่อนที่จะรู้จักน้ำตาลจากพืชซึ่งใช้กินกันในปัจจุบัน
ประมาณ ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว เมื่อคนเราเริ่มรู้จักเขียนหนังสือ ชาวอียิปต์ได้จารึกเรื่องราวเกี่ยวกับผึ้งและการเลี้ยงผึ้งเป็นครั้งแรก พระเจ้าเมนิสฟาโรห์แห่งอียิปต์ (ประมาณ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล) ให้ความสำคัญกับผึ้งมาก จนถึงกับใช้ผึ้งเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์ ทั้งนี้เพราะผึ้งมีความสำคัญต่อชาวอียิปต์มาก นอกจากจะให้น้ำผึ้งที่เป็นอาหารแล้ว ยังนำไขผึ้งหรือขี้ผึ้งมาทำเทียนสำหรับจุดบูชาเทพเจ้าและให้แสงสว่างอีกด้วย ประโยชน์อีกประการหนึ่งของผึ้ง คือ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร อันเป็นผลงานของผึ้งที่ผสมเกสรให้พืชนานาชนิดติดลูกติดผลดก และขยายพันธุ์ออกไปได้มากมาย
๑. รูปสลักนูนต่ำ "ลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ที่ผนังวิหารวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
๒. ภาพวาดอายุประมาณ ๙,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ที่ถ้ำในประเทศสเปน เป็นภาพคนกำลังปีนไปตีรังผึ้ง
๓. รูปผึ้งจารึกบนแผ่นศิลาของชาวอียิปต์โบราณ
ในประเทศไทยพบรูปสลักนูนต่ำลิงถวายรวงผึ้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่ผนังพระวิหารของวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อโต จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยอยุธยาตอนต้น และตามตำนานทางพระพุทธศาสนา มีกล่าวถึงอานิสงส์การถวายน้ำผึ้งแก่พระภิกษุเพื่อเป็นเภสัชว่า จะมีผลบุญมาก• วิวัฒนาการและการกระจายตัวของผึ้งปัจจุบันนี้ได้มีการนำหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ (fossil) มาใช้อธิบายความเป็นมาของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก นำไปสู่การวิจารณ์ผลทางวิวัฒนาการของผึ้งสกุลเอพิส (Apis) ได้อย่างน่าเชื่อถือ มีซากดึกดำบรรพ์มากมายที่สวยงามถูกหุ้มอยู่ในอำพันหรือยางไม้ที่เป็นหิน ซึ่งได้นำมาเก็บไว้เป็นตัวอย่างในการศึกษาเมื่อ ๑๒๐ ล้านปีที่ผ่านมา เหล่าแมลงที่ตอมพืชมีดอกในยุคเริ่มแรกเป็นแมลงจำพวกต่อและบรรพบุรุษของผึ้งที่ปกคลุมไปด้วยขนสั้นๆ อาศัยอยู่ตามโพรงไม้ ตัวเต็มวัยจะอาศัยดอกไม้เหล่านั้นเป็นแหล่งอาหาร โดยเก็บเกสรดอกไม้ (เกสรดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บ ในทางวิชาพฤกษศาสตร์ คือ เรณู-pollen หรือละอองเรณู-pollen grain ของดอกไม้) และช่วยผสมเกสรดอกไม้จากดอกหนึ่งไปสู่อีกดอกหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้แมลงเหล่านี้พัฒนาลักษณะทางสัณฐานวิทยาให้เหมาะสมกับการเก็บเกสรดอกไม้ ดังนั้น ผึ้งและพืชมีดอกจึงมีความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ต่อกันและกัน มีวิวัฒนาการร่วมกันมานาน โดยผึ้งจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ และดอกไม้เป็นแหล่งอาหารให้แก่ผึ้ง
ผึ้งได้แยกออกมาจากวิวัฒนาการชาติพันธุ์ (phylogeny) ของต่อและแตนในยุคครีเทเชียส (cretaceous) ช่วง ๖๕-๑๔๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งบางชนิดมีความเฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืช ในทางตรงกันข้ามยังมีผึ้งชนิดอื่นๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของพืชเช่นกัน ปัจจุบันพบว่ามีผึ้ง ๑๗,๐๐๐ ชนิด ที่มี ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งเป็นผึ้งที่พบเมื่อ ๙๐-๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว ผึ้งเหล่านี้มีลิ้นยาว มีตะกร้าเก็บเกสรซึ่งเป็นขนที่แข็งแรงเส้นเดี่ยวๆ เรียงกันอยู่บริเวณขา ใช้สำหรับแทงเกสรดอกไม้ ผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรมี ๔ กลุ่ม คือ ผึ้งกล้วยไม้ (orchid bee) ผึ่งหึ่ง (bumble bee) ชันโรง (stingless bee) และผึ้งกินน้ำหวาน (honey bee)

ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่ฝังอยู่ในหิน

ซากดึกดำบรรพ์ของผึ้งที่อำพันหุ้มอยู่

๑. ผึ้งกล้วยไม้กำลังเข้ารังซึ่งอยู่ใต้ดิน
๒. ชันโรงกำลังสร้างทางเข้ารังโดยใช้ชันที่ผลิตออกมา
๓. ผึ้งหลวงกำลังดูดน้ำหวานจากดอกสาบเสือ
๑. ผึ้งหึ่งกำลังเก็บเกสร (เรณู) ดอกไม้ผึ้งกล้วยไม้ เป็นแมลงสังคมที่ทำรังอยู่ใต้พื้นดินด้วยยางไม้ พบการกระจายตัวทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ผึ้งชนิดนี้ยังไม่พบในประเทศไทย โดยทั่วไปเพศเมียแต่ละตัวจะบินแยกรังออกมาดูแลตัวอ่อนของตัวเอง ลูกเพศเมียที่ออกมาจะช่วยเลี้ยงดูตัวอ่อน ส่วนเพศผู้จะออกหาอาหารจากดอกกล้วยไม้และแหล่งอาหารอื่นๆ
ผึ่งหึ่ง เป็นแมลงสังคมที่มีเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนั้นพบการกระจายตัวอย่างกว้างขวางในแถบทวีปอเมริกา เอเชีย ยุโรป และทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ผึ้งหึ่งมีความแตกต่างจากชันโรงและแมลงภู่ รวมทั้งผึ้งกินน้ำหวานอย่างมีนัยสำคัญ โดยหลังจากเพศเมียได้ผสมพันธุ์แล้วจะทำหน้าที่เลี้ยงดูตัวอ่อนชุดแรก แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าผึ้งงาน
ชันโรง เป็นแมลงสังคมที่มีความคล้ายคลึงกับผึ้งกินน้ำหวาน (Apis) แต่เป็นผึ้งสกุล Trigona ภายในรังมีประชากร ๕๐๐-๑๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง นางพญามีขนาดใหญ่สุดภายในรังและไม่มีตะกร้าเก็บเกสร อาศัยอยู่ในโพรง พบการกระจายตัวในแถบทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย รวมถึงตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ พบมากในประเทศไทยถึง ๓๕ ชนิด
ผึ้งกินน้ำหวาน เป็นแมลงสังคมที่พบการกระจายตัวในแถบทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา มีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากผึ้งที่มีตะกร้าเก็บเกสรกลุ่มอื่นๆ พบว่านางพญาสามารถผสมพันธุ์กับผึ้งเพศผู้เป็นจำนวนมาก มีพฤติกรรมที่ผึ้งงานเป็นพี่เลี้ยงดูตัวอ่อนและมีการเต้นเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกันในกลุ่มผึ้งงานบอกแหล่งอาหารและสถานที่สร้างรัง
ผึ้งหลวงสามารถออกหาอาหารจากดอกไม้จนถึงค่ำได้
• ผึ้งกินน้ำหวานชนิดต่างๆผึ้ง ในภาษาไทยจะหมายถึงแมลงที่เก็บน้ำหวานจากดอกไม้มาทำน้ำผึ้ง เป็นแมลงในวงศ์ Apidae สกุล Apis ในประเทศไทยมีผึ้งกินน้ำหวานที่สำคัญอยู่ ๕ ชนิดคือ
๑. ผึ้งหลวง มีขนาดตัวและรังใหญ่ที่สุด ขนาดของลำตัวผึ้งยาวประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ส่วนท้องเป็นปล้องสีเหลืองสลับดำ ปีกแข็งแรง บินเร็วมักพบอยู่ในป่าหรือตามชนบททั่วไป ชอบสร้างรัง (รวงผึ้ง) บนต้นไม้สูงๆ หรือภายนอกอาคารบ้านเรือน ตามวัด หรือใต้ถังเก็บน้ำสูงๆ ลักษณะรังมีชั้นเดียวเป็นรูปครึ่งวงกลมขนาดเท่าแขนผู้ใหญ่กางออก (ขนาดประมาณ ๐.๕-๒ เมตร) รวงรังไม่มีที่ปกปิด ผึ้งหลวงเป็นผึ้งที่สร้างรังได้หลากหลาย สามารถสร้างรังตั้งแต่ระดับต่ำกว่า ๒ เมตร จนถึงระดับความสูงมากกว่า ๒๐ เมตร สร้างรังได้ทั้งบนต้นไม้หรือบนหน้าผาสูงๆ มีทั้งเกาะอยู่แบบรังเดียวและอยู่แบบหลายรังใกล้ๆ กันบนต้นไม้หรือบนหน้าผา ด้วยเหตุที่ผึ้งหลวงมีขนาดตัวใหญ่จึงมีปริมาณพิษมากพอที่จะทำให้ศัตรูหรือมนุษย์ที่มารบกวนเสียชีวิตได้ ถ้าโดนผึ้งงานจำนวนมากๆ รุมต่อยพร้อมกัน น้ำผึ้งที่เก็บในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ผึ้งหลวงให้น้ำผึ้งดีที่สุดเรียกว่า น้ำผึ้งเดือนห้า
๒. ผึ้งโพรงไทย มีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำสลับเหลืองเป็นปล้องๆ ที่ส่วนท้อง ผึ้งโพรงสร้างรังในโพรงไม้ ในอาคารบ้านเรือนที่มิดชิดและมืด เช่น ใต้หลังคา รวงรังมีลักษณะหลายรวงห้อยลงมาเรียงขนานกัน ขนาดของรวงรังมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ผึ้งโพรงไทยสามารถนำมาเลี้ยงในหีบได้ ให้น้ำผึ้งในช่วงเวลาที่ดอกเงาะ ดอกทุเรียน ดอกมะพร้าว หรือดอกไม้จากสวนผลไม้กำลังบานในขณะนั้น ทำให้สามารถเก็บน้ำผึ้งได้หลายครั้ง วิธีการเก็บน้ำผึ้งตามธรรมชาติที่ถูกต้องควรตัดเฉพาะรังส่วนที่มีน้ำผึ้ง ไม่ควรเผารังผึ้ง เพราะทำให้ผึ้งตายหมดทั้งรัง
๓. ผึ้งโพรงฝรั่ง หรือ ผึ้งพันธุ์ คือ ผึ้งพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาและยุโรป ลักษณะคล้ายผึ้งโพรงไทย ตัวมีขนาดใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่คนไทยนำมาจากต่างประเทศ ดังนั้น บางครั้งจึงนิยมเรียกว่า ผึ้งพันธุ์ยุโรป บ้าง ผึ้งพันธุ์อิตาเลียน บ้าง สร้างรังหลายๆ รวงขนาดเท่าๆ กันห้อยลงมาถ้าพบตามธรรมชาติในยุโรปจะอยู่ตามโพรงไม้ ซอกหิน หรือตามอาคารที่ปิดมิดชิด ต่อมาได้มีการนำมาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลก เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดรังเหมาะสมกับการนำมาประยุกต์เลี้ยงในหีบผึ้งขนาดมาตรฐานได้พอดี และสามารถเก็บสะสมน้ำผึ้งได้ปริมาณมากที่สุด ไม่ดุเหมือนผึ้งหลวงและไม่ทิ้งรังง่ายเหมือนผึ้งโพรงไทย ปัจจุบัน พบว่าประเทศจีนเป็นประเทศที่เลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งมากที่สุดในโลก
ผึ้งหลวงชอบสร้างรังอยู่บนต้นไม้และชายคาอาคาร
๔. ผึ้งมิ้ม มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งหลวงและผึ้งโพรง ขนาดของลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย ท้องปล้องแรกมีสีเหลือง ที่เหลือเป็นปล้องสีดำสลับขาวชัดเจน บางท้องถิ่นเรียกว่าผึ้งแมลงวัน พบอยู่ทั่วไป ชอบตอมขนมหวานและผลไม้ตามตลาด ผึ้งมิ้มชอบสร้างรังที่ระดับความสูงตั้งแต่ ๑ เมตรขึ้นไปจากพื้นดิน ลักษณะรวงรังมีชั้นเดียว ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือผู้ใหญ่กางเต็มที่ (ประมาณ ๒๐-๓๐ เซนติเมตร) ผึ้งมิ้มมักจะปกปิดรังอยู่ในพุ่มไม้และกิ่งไม้พรางตาเพื่อป้องกันศัตรู เดือนกุมภาพันธ์-เมษายนเป็นช่วงเวลาที่ผึ้งมิ้มให้น้ำผึ้งมากที่สุด
๕. ผึ้งมิ้มเล็ก หรือ ผึ้งม้าน มีขนาดตัวและรังเล็กกว่าผึ้งมิ้ม จัดเป็นผึ้งที่เล็กที่สุดในโลก ต่างจากผึ้งมิ้มที่ท้องปล้องแรกมีสีดำ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่หายาก พบเฉพาะบริเวณป่าใกล้ภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น สร้างรังบนต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ระดับความสูงต่ำกว่า ๑ เมตร จนถึง ๗ เมตร ลักษณะรังมีชั้นเดียวบอบบางและเล็กกว่ารังของผึ้งมิ้ม คือ มีขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่เท่านั้น (ขนาดประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตร) ด้วยเหตุที่ผึ้งมิ้มเล็กมีรังขนาดเล็ก จึงมักสร้างรังในที่มิดชิดเหมือนผึ้งมิ้ม แต่ปกปิดมิดชิดกว่าในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันลมพายุและฝนพัดทำลายรัง ในฤดูแล้งจะสร้างรังใกล้บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่มีชื่อเรียกหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่น บางแห่งเรียก ผึ้งม้าน ผึ้งมิ้มดำ ผึ้งกระโปกวัว มั่ม แม้ม ผึ้งหวี่
ผึ้งมิ้มเล็กเป็นผึ้งที่จำเป็นต้องอนุรักษ์เพราะพบได้ยากในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผึ้งที่มีขนาดตัวเล็กและต่อยเจ็บปวดน้อยกว่าผึ้งชนิดอื่น จึงถูกล่าตีหรือเผานำน้ำผึ้งมากกินได้ง่าย ผึ้งมิ้มเล็กที่อยู่บริเวณแห่งเดียวกับผึ้งมิ้มมักจะถูกนักล่าผึ้งมิ้มทำลาย เพื่อนำน้ำผึ้งป่ามาขาย จนกลายเป็นผึ้งที่ใกล้สูญพันธุ์ไป
ซ้าย ผึ้งโพรงไทยกำลังเก็บเกสรดอกไม้ไว้ที่ตะกร้าเก็บเกสร
ขวา) ลักษณะรังผึ้งโพรงไทยจะมีหลายรวงห้อยเรียงขนานกัน
• ชีวิตและสังคมผึ้งในชีวิตและสังคมของผึ้งไม่มีผึ้งตัวใดตัวหนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน เพราะผึ้งเป็นแมลงสังคมที่มีวิวัฒนาการสูง มีระบบสังคมมาเป็นเวลาช้านานประมาณถึง ๓๐ ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย ๓ วรรณะ คือ ผึ้งนางพญาหนึ่งตัว ผึ้งเพศผู้หลายร้อยตัว และผึ้งงานอีกจำนวนเป็นหมื่นตัว โดยเฉพาะผึ้งหลวงและผึ้งพันธุ์อาจจะมีผึ้งงานได้หลายหมื่นตัว
ผึ้งรังหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่งๆ จะดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีระเบียบในระบบสังคมที่มีผึ้งนางพญาเป็นศูนย์กลาง โดยทำหน้าที่ผสมพันธุ์เพื่อสร้างประชากร ปกตินางพญาผึ้งโพรงไทยจะวางไข่ได้วันละ ๑,๐๐๐ ฟอง นางพญาผึ้งโพรงฝรั่งสามารถวางไข่ได้ถึงวันละ ๓,๐๐๐ ฟอง โดยมีผึ้งงานคอยรับใช้ ทำความสะอาด ให้อาหาร และนำของเสียที่อยู่ในรังไปทิ้ง
ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งเพศเมียที่มีขนาดของลำตัวใหญ่กว่าผึ้งงาน และลำตัวยาวกว่าผึ้งเพศผู้ ยกเว้นผึ้งหลวงที่นางพญามีรูปร่างขนาดเท่าๆ กับผึ้งงาน แต่มีปีกสั้นกว่า ปกติจะมีอายุ ๑-๒ ปี บางตัวอาจมีอายุนานถึง ๓ ปี
ผึ้งงาน เป็นผึ้งเพศเมียมีขนาดเล็กที่สุดในรัง เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับอาหารพิเศษ คือ นมผึ้งหรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วันไปจนตลอดชีวิต ทำให้การพัฒนาของผึ้งงานแตกต่างจากผึ้งนางพญามาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้ ผิดแผกแตกต่างกันทั้งลักษณะภายนอกและภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน ได้แก่ หาอาหาร เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง ทำความสะอาดรัง เป็นทหารเฝ้ารังป้องกันศัตรู ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงาน ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนโดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกันเหมือนในสังคมมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผึ้งงาน คือ หุ่นยนต์มีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงมีอายุสั้นเพียง ๖-๘ สัปดาห์เท่านั้น
ผึ้งเพศผู้ มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กในจึงไม่ต่อยศัตรูเหมือนผึ้งงาน มีลิ้นสั้น หาอาหารเองไม่ได้ต้องรับอาหารจากผึ้งงานเท่านั้น ผึ้งเพศผู้ไม่มีหน้าที่ทำงานภายในรัง มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อผสมพันธุ์ในอากาศเสร็จจะตกลงมาตาย ส่วนผึ้งเพศผู้ที่ยังไม่มีโอกาสผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายเมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ เราจะพบผึ้งเพศผู้ปรากฏในรังเฉพาะช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น
๑. การเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย
๒. ผึ้งมิ้มกำลังสร้างหลอดรวงนางพญาที่ด้านล่างของรัง

๑.ผึ้งมิ้มเล็กหรือผึ้งม้านกำลังเก็บน้ำหวานจากดอกมะพร้าว
๒.(
ตรงลูกศรชี้สีแดง) ท้องปล้องแรกมีสีดำ
๓.รังผึ้งมิ้มเล็กเป็นรูปรีหลอดรวงนางพญาอยู่ด้านล่างของรัง
• ชีวิตและการเจริญเติบโตของรังผึ้ง ผึ้งแต่ละวรรณะมีระยะการเจริญเติบโตในแต่ละขั้นตอนที่ใช้เวลาแตกต่างกัน
ขึ้นกับวิถีการดำรงชีวิตและอาหารที่ตัวอ่อนได้รับ ระยะเวลาที่ใช้ในการเจริญจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย
อาจสรุปได้ดังตารางที่แสดงการเจริญเติบโต ดังนี้
ผึ้งงานกำลังป้อนอาหารให้ผึ้งนางพญา

ตารางแสดงจำนวนวันที่ผึ้งโพรงและผึ้งพันธุ์แต่ละวรรณะเจริญจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัย
ขั้นตอนการเจริญจากไข่เป็นตัวเต็มวัย ไข่ของผึ้งทุกวรรณะมีอายุ ๓ วัน
ตัวอ่อนผึ้งงานมีขั้นตอนการเจริญเติบโตต่างจากตัวอ่อนผึ้งนางพญาและผึ้งเพศผู้
ในช่วงระยะเวลาและอาหารที่ได้รับ อาจแบ่งขั้นตอนการเจริญเป็นดังนี้
ภาพ ๑ วันที่ ๑ ไข่จะติดแน่นกับฐานของหลอด และตั้งตรงอยู่ที่กลางหลอดรวง ขนานกับผนังหลอดรวง
วันที่ ๒ ไข่จะเอนประมาณ ๔๕ องศา
วันที่ ๓ ไข่จะเอนนอนราบกับฐานหลอดรวง
ภาพ ๒ วันที่ ๔ หนอนจะเจริญขึ้นและฟักออกมาจากไข่
ภาพ ๓ วันที่ ๕-๖ ผึ้งงานพี่เลี้ยงจะผลิตนมผึ้ง
(royal jelly) ออกมาให้เป็นอาหารป้อนหนอน เป็นเวลา ๓ วันติดต่อกัน และพบว่าผึ้งงานพี่เลี้ยงจะเวียนมาดูบ่อยกว่า ๑,๐๐๐ ครั้งต่อวัน หรือ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ระหว่างชั่วชีวิตของมัน ตัวหนอนก็จะว่ายอยู่ในนมผึ้งและใช้กินเป็นอาหารด้วย ตัวอ่อนจะมีการงดตัวทางด้านหนึ่ง อาจทางด้านซ้ายหรือขวา จนกว่าเจริญเต็มที่เกือบเต็มหลอดรวง หลังจาก ๓ วันไปแล้ว ผึ้งงานจะหยุดให้นมผึ้ง แต่ให้เกสรและน้ำผึ้งแทน ตัวหนอนจะกินจนเริ่มเข้าสู่ระยะดักแด้เมื่ออายุได้ ๘ วัน ก็หยุดกินอาหาร ในระยะที่เป็นตัวหนอนมีการลอกคราบ ๔ ครั้ง
ภาพ ๕ วันที่ ๙ (นับจากระยะที่เป็นไข่) ตัวหนอนจะปั่นปลอกหุ้มอยู่ภายใน และลอกคราบเป็นครั้งสุดท้ายกลายเป็นดักแด้
ภาพ ๖ วันที่ ๑๐ ลำตัวจะเหยียดยาว ส่วนหัวชี้ไปทางปากหลอดรวง
ภาพ ๗ วันที่ ๑๓ จะเกิดสารสีที่ตาก่อน โดยตอนแรกเป็นสีชมพู ต่อมาจะเป็นสีแดงม่วง และเป็นสีน้ำตาลในที่สุด ตัวเต็มวัยกัดหลอดรวงออกมา
ระหว่างการเจริญจะลอกคราบทั้งหมด ๕ ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจะกลายเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเจริญสมบูรณ์เปลือกดักแด้จะแยกออก ผึ้งตัวเต็มวัยอาศัยกรามกัดฝาปิดหลอดรวงออกมา โดยส่วนหัวออกมาก่อน รวมเวลาทั้งหมดนับจากวางไข่ ๒๑ วัน สำหรับในผึ้งโพรง พบว่า ระยะการเจริญเติบโตของผึ้งงานจากไข่ถึงตัวเต็มวัยอายุเพียง ๒๐ วัน เท่านั้น
ส่วนผึ้งนางพญาเมื่อตัวหนอนออกจากไข่ (วันที่ ๓) ระยะนี้ไม่มีความแตกต่างจากตัวหนอนผึ้งงานเลย แต่จะได้รับนมผึ้งทุกวันเป็นปริมาณมากกว่าผึ้งงาน และจะเริ่มฟักตัวเข้าดักแด้ในวันที่ ๘ ดังนั้น ผึ้งนางพญามีระยะที่เป็นตัวหนอนเพียง ๕ วัน และเข้าดักแด้อีก ๘ วัน รวมอายุจากไข่ถึงระยะตัวเต็มวัยเพียง ๑๖ วัน สำหรับในผึ้งพันธุ์ ส่วนผึ้งโพรงใช้เวลาประมาณ ๑๕-๑๖ วัน
ผึ้งเพศผู้ในผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรงมีระยะเป็นตัวหนอนนานประมาณ ๖-๖.๕ วัน เท่านั้น แต่ในระยะดักแด้ของผึ้งโพรงนาน ๑๓ วัน และในผึ้งพันธุ์นาน ๑๔.๕ วัน รวมอายุจากไข่ถึงตัวเต็มวัยของผึ้งโพรงเพศผู้ ๒๒ วัน และของผึ้งพันธุ์นานประมาณ ๒๔ วัน
• ลักษณะทั่วไปของผึ้งลำตัวของผึ้งแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง
ส่วนหัว เป็นที่ตั้งของหนวด ตา และปาก
หนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกและสัมผัสโดยเฉพาะการดมกลิ่นแทนจมูก
ตา มีตาประกอบใหญ่ ๑ คู่ ช่วยให้มองเห็นได้ในระยะไกลและเป็นบริเวณกว้าง สามารถมองเห็นดอกไม้สีต่างๆ ได้ในระยะไกล ผึ้งมองเห็นสีได้เกือบเหมือนคน นอกจากสีแดงซึ่งผึ้งจะเห็นเป็นสีดำ ตาของผึ้งเพศผู้ใหญ่กว่าตาผึ้งงานและผึ้งนางพญา
ปาก เป็นแบบกัดเลีย ประกอบด้วยอวัยวะเล็กๆ หลายส่วน คือ ปากบนมีกรามแข็งแรง ๑ คู่ ด้านข้างเป็นฟัน ตรงกลางเป็นงวงใช้ดูดน้ำหวาน ปากของผึ้งเพศผู้และผึ้งนางพญาสั้นมากเพราะไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากผึ้งงานจะช่วยป้อนอาหารให้ผึ้งทั้งสองวรรณะ
ส่วนอก เป็นส่วนรวมของกล้ามเนื้อเป็นที่ตั้งของขาและปีก
ขา มี ๓ คู่ ขาหลังมีอวัยวะพิเศษสำหรับเก็บเกสรดอกไม้ (ละอองเรณู) เรียกว่า ตะกร้าเก็บเกสร ซึ่งมีเฉพาะในผึ้งงานเท่านั้น ส่วนผึ้งเพศผู้และนางพญาไม่มีอวัยวะนี้ เพราะไม่มีหน้าที่ออกหาอาหาร
ปีก มี ๒ คู่ เป็นปีกบางใส คู่แรกใหญ่กว่าคู่หลังเล็กน้อย ปีกคู่แรกและคู่หลังเกี่ยวกันด้วยตะขอเรียงกันเป็นแถว เรียกว่า ฮามูไล (hamuli)
ส่วนท้อง ผึ้งงานมี ๖ ปล้อง ส่วนผึ้งเพศผู้มี ๗ ปล้อง ด้านข้างแต่ละปล้องมีรูหายใจ ปล้องละ ๑ คู่ ที่ปลายท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญามีเหล็กใน แต่ผึ้งเพศผู้ไม่มีเหล็กใน
อวัยวะวางไข่ อยู่ที่ปล้องสุดท้ายในผึ้งงานและผึ้งนางพญา บางส่วนของอวัยวะวางไข่ถูกแปลงเป็นเหล็กใน มีลักษณะเป็นเข็มแหลม
รูหายใจ เป็นรูเปิดที่ด้านข้างส่วนอกและส่วนท้อง มีทั้งหมด ๑๐ คู่ ๓ คู่แรกอยู่ที่ส่วนอก อีก ๗ คู่อยู่ที่ส่วนท้อง รูหายใจปิดเปิดตลอดเวลา เพราะผึ้งหายใจเข้าออกทางรูเหล่านี้ รูหายใจอยู่ติดต่อกับท่อลมและถุงลม ผึ้งมีถุงลมใหญ่มากอยู่ภายในลำตัวช่วยพยุงตัวขณะที่บิน ทำให้สามารถบินได้เร็วและไกลด้วย
ภาพ ๑ รังผึ้งมิ้มเล็ก (บน) มีขนาดเล็กกว่ารังผึ้งมิ้ม (ล่าง)
ภาพ ๒ ภาพวาดแสดงลักษณะหลอดรวงแต่ละหลอดเป็นรูปหกเหลี่ยม

ต่อมไขผึ้งผลิตไขออกมาสร้างหรือซ่อมแซมรัง
• ลักษณะของรังและหลอดรวงรังผึ้ง หรือ รวงผึ้ง (comb) ของผึ้งทุกชนิดประกอบด้วยหลอดรวง (cell) รูปหกเหลี่ยมด้านเท่าจำนวนพันๆ หลอดรวง ขนาดของหลอดรวงขึ้นอยู่กับชนิดของผึ้ง เช่น ผึ้งหลวงตัวใหญ่ ขนาดของหลอดรวงก็ใหญ่ด้วย ผึ้งมิ้มมีขนาดเล็กที่สุด ดังนั้น ขนาดหลอดรวงผึ้งมิ้มจึงมีขนาดเล็กที่สุด จำนวนหลอดรวงในรังผึ้งขึ้นอยู่กับขนาดของรัง เช่น รังผึ้งหลวงรังใหญ่ๆ อาจมีจำนวนมากถึงหมื่นๆ หลอดรวง เช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง โดยเฉพาะผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรมากที่สุด เพราะในครอบครัวของรังผึ้งรังเดียว (colony) อาจมีหีบซ้อนกันได้ถึง ๓-๔ หีบ แต่ละหีบมีรังผึ้ง ๘-๑๐ รวง ดังนั้น ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถจัดการให้มีประชากรผึ้งงานมากกว่าแสนตัวได้
รวงรังของผึ้งเปรียบเหมือนบ้าน หลอดรวงต่างๆ คือห้องของตัวอ่อน ผึ้งนางพญาจะวางไข่ลงที่ฐานแต่ละหลอดรวง ตัวอ่อนหรือตัวหนอนเจริญในหลอดรวงจนถึงระยะเข้าดักแด้ เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้าย ผึ้งตัวเต็มวัยจะคลานออกจากหลอดรวง รวงรังผึ้งชนิดเดียวกันมีขนาดหลอดรวงไม่เท่ากัน เพราะขนาดของผึ้งแต่ละวรรณะไม่เท่ากัน เช่น หลอดรวงผึ้งงานมีขนาดเล็กที่สุด รังผึ้งโพรงไทยหลอดรวงผึ้งงานกว้าง ๐.๑๘ นิ้ว ส่วนหลอดรวงผึ้งเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่า คือ กว้าง ๐.๒๑ นิ้ว หลอดรวงของผึ้งนางพญามีลักษณะพิเศษคือใหญ่ที่สุด เป็นหลอดยาวอยู่ทางด้านล่างของรวงรังในลักษณะที่ห้อยหัวลง ผึ้งทุกวรรณะเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในหลอดรวงอีก แต่เกาะอาศัยห้อมล้อมรอบๆ รวงรัง หลอดรวงตัวอ่อนนี้อาจใช้สำหรับเก็บน้ำผึ้งและเกสรดอกไม้ได้ด้วย โดยเฉพาะในฤดูดอกไม้บาน ปกติหลอดรวงเก็บน้ำผึ้งจะอยู่บนสุด เรียกว่า “หัวรวง” หรือ “หัวน้ำผึ้ง” ต่ำลงมาเป็นหลอดรวงเก็บเกสรและหลอดรวงตัวอ่อน
การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรังโดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น
การสร้างหรือซ่อมแซมรัง เป็นหน้าที่ของผึ้งงานโดยใช้ไขผึ้งจากต่อมไขผึ้ง ๔ คู่ ซึ่งอยู่ที่ด้านล่างของส่วนท้องของผึ้งงานอายุ ๑๒-๑๘ วัน ผึ้งผลิตไขผึ้งออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมรัง โดยจะเขี่ยแผ่นไขผึ้งออกจากท้องเอามาเคี้ยวผสมกับน้ำลายให้อ่อนตัวลง แล้วนำไปเชื่อมต่อๆ กันเป็นหลอดรวงรูปหกเหลี่ยมหลายๆ หลอด ก่อให้เกิดรวงรังขึ้น







