ภาพวาด : ครูเหม เวชกร”...ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ | | จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ |
มิได้พิจารณาข้าไท | | เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา |
มิรู้รอบประกอบในราชกิจ | | ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา |
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา | | จะตั้งแต่งเสนาธิบดี |
ไม่ควรอย่าให้อรรคฐาน | | จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี |
เพราะไม่ฟังตำนานบุราณมี | | จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา |
เสียยศเสียศักดิ์นคเรศ | | เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา |
เสียทั้งตระกูลนานา | | เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร |
สารพัดจะเสียสิ้นสุด | | ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน |
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร | | เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม |
อันจะเป็นเสนาธิบดี | | ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์ |
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น | | ป้องกันปัจจาอย่าได้มี |
ที่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่ | | เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี |
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี | | ไม่มีที่จะสู้สักประการ |
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที | | มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน |
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน | | เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป |
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่ | | ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา |
ครั้นทัพเขากลับยกมา | | จะองอาจอาสาก็ไม่มี |
เลี้ยงลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ | | จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่ |
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี | | เมืองยับอัปรีย์จนทุกวัน...” |
เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า พระบวรราชนิพนธ์ เพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เป็นงานเขียนอีกเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อความวิจารณ์ชนชนนำช่วงปลายสมัยอยุธยาค่อนข้างชัดเจน โดยอธิบายสาเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยา ว่า มีปัจจัยสำคัญมาจากชนชั้นปกครอง พระมหากษัตริย์ตลอดจนกลุ่มชนชั้นปกครองเดิมมุ่งแสวงหาแต่อำนาจจนปล่อยปละละเลยราชการแผ่นดิน และระบบบริหารราชการงานเมืองยามศึกสงครามที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งการที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงชุบเลี้ยงและเลือกใช้แต่บรรดาข้าหลวงเดิมที่ไม่เหมาะสมกับงานราชการโดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถ แม้จะมีข้อคิดสุภาษิตโบราณเน้นย้ำว่าคนเหล่านี้ไม่ควรที่จะนำมารับราชการ รวมถึงการที่ชนชั้นปกครองมุ่งคำนึงถึงเรื่องยศศักดิ์ มิได้ใส่ใจในข้อราชการงานเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสงครามให้อ่อนกำลังลงไป กล่าวคือ ไม่มีการฝึกซ้อมยุทธวิธีการรบ เมื่อเกิดสงครามก็แตกทัพล่าถอยโดยง่าย
สอดคล้องกับงานนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรื่อง สังคีติยวงศ์ และ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ที่เรียบเรียงขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๒ และ พ.ศ.๒๓๓๘ ตามลำดับ ปรากฎเนื้อความที่กล่าววิจารณ์พระราชจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ภาพความแปรปรวนของสังคม รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพในการรบอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกัน
"...สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสวยราชย์ได้ ๘ ปีเศษ มีปรีชาน้อย มักหลงใหล ปราศจากความสมบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ ไม่มีวิจารณ์ในราชกิจทั้งหลาย ไม่มีใคร่ครวญในคุณแลโทษ ครั้งนั้นเสนาบดีแลอำมาตย์เป็นต้นก็ดี ชาวพระนครก็ดี พากันตั้งอยู่ในอสัตย์อธรรม ต่างก็เป็นคนทุจริตเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ชาวชนบทแลชาวคามนิคมก็ได้บังเกิดความคับแค้น ด้วยเหตุทั้งหลายต่างๆ ชนทั้งปวงในบ้านในเมืองใหญ่เหล่านั้นก็พากันเสวยทุกข์มากมาย บังเกิดโรคมาก เกิดอุปัทวมาก ได้รับความโทมนัส อุปายาสเปนอันมาก ก็พากันมีอายุสั้น มหาภูติดินน้ำไฟลมทั้ง ๔ ก็วิปริตต่างๆ ผลหมากรากไม้ก็มีรศวิปริตไปหมด น้ำก็ปรากฏสีแดงดังเลือดนก..."๑
"...ลำดับนั้น มหาสุรโยธาก็พาพลนิกายมากมายมายังกรุงอโยธนคร ได้รบด้วยชาวพระนครทั้งหลาย แต่ชาวพระนครไม่รู้จักรบ ขี้ขลาดไม่เปนน้ำหนึ่งกัน ไม่เปนใจเดียวกัน ไม่ปลงงานเดียวกัน มีใจต่างๆ กัน ต่างพากันหนีเสีย..."๒๑ สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย สมเด็จพระวนรัตนวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ ๑ แต่งภาษามคธ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) เปรียญ แปลเปนภาษาไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, ๒๔๖๖, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ณะพระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ.๒๔๖๖), หน้า ๔๐๒-๔๐๓.
๒ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๐๗.
ที่มา : ปกิณกศิลปวัฒนธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๕)