[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
12 พฤษภาคม 2567 19:21:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 150 151 [152] 153 154 ... 274
3021  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เฉลว : ความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น เมื่อ: 07 กันยายน 2559 14:24:02


ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

หากพิจารณาถึงคุณลักษณะของเฉลวที่ใช้กันอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วจะเห็นว่า เฉลว มีรูปแบบการใช้ที่หลากหลายตามคติความเชื่อและคตินิยมของคนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นๆ คือ

๑.การใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงการบอกขาย
    การใช้เฉลวในลักษณะดังกล่าวนี้ผู้ใช้มิได้เพ่งถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใช้ต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายบางสิ่งบางประการ ที่ต้องการสื่อให้สังคมได้รับรู้ การใช้เฉลวในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมท้องถิ่นนั้นๆ สามารถเข้าใจและรับรู้ร่วมกันได้ เช่น การบอกขายเรือน การใช้เฉลวเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกการขายนี้เข้าใจว่าจะเป็นของเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งต่อมาใช้เข่งปลาทูปักแทนเฉลวก็มี (เรียกกันว่า เฉลวเข่งปลาทู)

๒.ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า เป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษี
    สมัยก่อนเรือที่บรรทุกสินค้าจากภายนอกเพื่อจะเข้ามาขายในเมืองหลวง จะต้องเสียภาษีค่าผ่านด่านคือเสียภาษีจังกอบ ซึ่งจะมีด่านเก็บภาษีจังกอบอยู่ตามลำน้ำสายหลักๆ ทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า “ขนอน” หรือ “ด่านขนอน” คือ ด่านหรือสถานที่ที่เก็บภาษีจากสินค้าและผลิตผลที่เป็นสินค้าพื้นเมืองและสินค้าจากต่างประเทศนั่นเอง ดังปรากฏในโคลงนิราศนรินทร์ ความว่า
     มาด่านด่านบ่ร้อง      เรียกพัก พลเอย
     ตาหลิ่งตาเหลวปัก     ปิดไว้
     ตาเรียมหลั่งชลตัก     ตวงย่าน
     ไฟด่านดับแดไหม้      มอดม้วยฤามี

๓.ใช้บอกอาณาเขตการจับจองพื้นที่
    การจับจองพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรมของชาวชนบทในสมัยก่อน มีการใช้เฉลวปักไว้เพื่อบอกอาณาเขตของสถานที่ที่ได้จับจองไว้ เช่น พื้นที่ที่เป็นที่นาก็จะปักเฉลวไว้ที่มุมนาทั้งสี่ด้าน ทราบว่าอาณาเขตพื้นที่นี้มีคนจับจองเป็นเจ้าของไว้แล้ว ซึ่งบุคคลทั่วไปเมื่อเห็นเฉลวที่ปักไว้ก็สามารถทราบได้ทันที
    การใช้เฉลวในลักษณะนี้ คล้ายๆ กับการใช้เครื่องหมายปักกำของชาวใต้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อแสดงเจตจำนงการหวงห้าม เช่น การนำไม้ปักกำไปปักไว้ที่หนองน้ำ ก็เพื่อบอกเจตจำนงว่าห้ามจับปลาในบริเวณนี้ หรือการนำปักกำไปปักไว้ที่สวนที่มีหญ้าเขียวชอุ่มก็เพื่อบอกเจตจำนงว่า ห้ามบุคคลมาตัดหญ้าหรือนำวัวควายเข้ามากินหญ้าในบริเวณนี้ เป็นต้น

๔.ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นเขตหรือพื้นที่ต้องห้าม
    ในการประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั้น ส่วนมากจะมีเฉลวผูกติดไว้กับรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งภายในรั้วราชวัตินั้น พระสงฆ์จะประกอบพิธีพุทธาภิเษก หรือนั่งปรกปลุกเสก จัดว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ การปักเฉลวไว้ที่รั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศนั้น ก็เพื่อกันบุคคลภายนอกเข้าไปในขณะกระทำพิธีกรรมนั่นเอง อีกอย่างหนึ่งท่านว่า เพื่อกันภูต ผี ปิศาจ หรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ
     การปักเฉลวเพื่อแสดงว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามนี้ ปรากฏใช้ในชาวเขากลุ่มต่างๆ โดยมีธรรมเนียมการใช้เฉลวปักเป็นเครื่องหมายห้ามไม่ให้ผ่านเข้าไปด้วย เช่น พวกกะเหรี่ยงโปที่อาศัยอยู่แถบแม่สะเรียงนั้นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ในเวลานวดข้าว เพื่อเตือนให้ทราบและห้ามบุคคลผู้ใดเข้าไปเรียกหรือชวนพูดคุย เพราะการนวดข้าวเป็นงานที่สำคัญที่ต้องทำให้เสร็จไปโดยเร็วก่อนที่จะลงมือทำงานอย่างอื่นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าไปรบกวนการทำงาน จะต้องถูกลงโทษโดยการให้ช่วยนวดข้าว และอาจจะต้องเสียค่าปรับเป็นไก่หรือไข่ไก่อีกด้วย
     กลุ่มชนพื้นเมืองในลาวตอนเหนือ ทำเฉลวเป็นเครื่องหมายป้องกันสิ่งอัปมงคลและวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาทำให้คนเจ็บป่วย ซึ่งก็มีทั้งแบบชั้นเดียว ปักไว้ตามทางเข้าบ้านหรือหลายแบบหลายขนาด ประกอบเป็นซุ้มประตูศักดิ์สิทธิ์บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เช่น ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านของชนเผ่า kho Pouly ทำเฉลวไว้เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลและกันบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในบริเวณพื้นที่ของตน
     ชาวเย้ามีความเชื่อว่า ป่าเป็นที่อยู่ของพวกภูต ผี ปิศาจ และวิญญาณร้ายต่างๆ ส่วนหมู่บ้านนั้นเป็นที่อยู่ของคนบ้านกับป่าจึงต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ประตูหมู่บ้านคือบริเวณที่แบ่งเขตบ้านกับป่า การปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผีจากป่าเข้ามาในหมู่บ้านนั่นเอง
     ชาวล้านนาบางท้องถิ่นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านหรือที่บันได หากคนในครอบครัวต้องทิ้งบ้านไปนานหลายๆ เดือน จุดประสงค์เพื่อห้ามปรามบุคคลภายนอกไม่ให้เข้ามาในเรือนนั่นเอง อีกประการหนึ่งก็คงใช้กันภูต ผี ปิศาจและสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ ด้วย
     ความเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบได้ในกลุ่มชนชาวเขาอื่นๆ เช่น อาข่าและชาวเผ่าข่า โดยที่เป็นประเพณี และความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนาน ทั้งกรณีกระทบกับความผาสุกของทุกคนในหมู่บ้าน  ดังนั้น ชาวเขากลุ่มต่างๆ จึงถือเป็นประเพณีต้องทำตามข้อปฏิบัติที่จะละเลยไม่ได้ และเพื่อเป็นการห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด บางกลุ่มจึงใช้เลือดสัตว์เซ่นบูชาผีและอารักษ์ทาเฉลว แล้วนำไปปักไว้ที่ทางเข้าประตูบ้าน





ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๕.การใช้เฉลวเพื่อการขับไล่ภูตผีและสะกดวิญญาณภูตผี
     ประเพณีชาวพายัพและชาวอีสานมีการใช้เฉลวในพิธีเกี่ยวกับคนตายด้วย โดยเมื่อเสร็จพิธีสวดศพ และจัดเคลื่อนศพไปป่าเร่ว ในขณะที่เคลื่อนขบวนไปนั้น ผู้ประกอบพิธีจะทิ้งเฉลวไปตามทางที่ขบวนเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงป่าเร่ว เพื่อปิดทางป้องกันมิให้วิญญาณของผู้ตายที่ติดตามร่างของตนไปนั้นกลับมาบ้าน เพราะเมื่อทำพิธีเผาหรือฝังแล้ว เมื่อวิญญาณหาร่างกายของตนไม่พบจะวนเวียนกลับมาบ้านอีก การทิ้งเฉลวลงตามทางจึงเป็นการป้องกันการกลับมารบกวนของวิญญาณ ในกรณีของการฝังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าวิญญาณของผู้ตายจะกลับไปเข้าในร่างกายไม่ได้อีก ผู้ทำพิธีจะวางเฉลวไว้เหนือหลุมศพอีกด้วย”

๖.ใช้เฉลวในพิธีแรกนาและทำขวัญข้าว
     โดยทั่วไปก่อนที่จะลงมือทำนานั้น ชาวนาจะทำพิธีเชิญขวัญข้าวหรือพิธีแรกนาในบริเวณที่นาของตนเอง เพื่อเสี่ยงทายและขอต่อเจ้าหน้าที่และแม่โพสพ เพื่อให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี ไม่มีภัยพิบัติมารบกวนและให้ผลดี ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ชาวนาถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่โบราณคือ ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าว เชื่อว่าการทำขวัญข้าวจะทำให้การทำนาในปีต่อไปจะได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ในยุ้งฉางก็จะมีพอกินตลอดปี ชาวนาจะทำตาเหลวหรือเฉลวขนาดใหญ่มาปักไว้พร้อมด้วยเครื่องสังเวยเรียกว่า “ตาเหลวแรกนา” หรือ “ตาเหลวหลวง” มีลักษณะเป็นเฉลวพิเศษที่ใช้ในพิธีแรกนา โดยเฉพาะตาเหลวชนิดนี้ทำขึ้นให้มีลักษณะคล้ายว่าวใหญ่ผูกติดกับไม้ไผ่ซึ่งจะตัดมาใช้ทั้งลำ ใช้เชือกเป็นโซ่ทำรูปปลาห้อยลงมาสองตัว รูปปลาอาจทำด้วยแผ่นไม้หรือไม้ไผ่สานก็ได้
     ตาเหลวชนิดนี้ เจ้าของนาจะติดตั้งขึ้นเป็นพิเศษในพิธีกรรมแรกนา โดยการกันเอาที่มุมคันนาด้านหัวนาเป็นปริมณฑลสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วกั้นรั้วราชวัติกว้างยาวประมาณ ๑ เมตร ล้อมรอบอยู่ ๓ ด้าน ที่มุมทั้งสี่จะมีตาเหลวขนาดปกติตั้งอยู่พร้อมภาชนะสำหรับใส่เครื่องบัตรพลีไว้ด้วย บางสถานที่อาจจะไม่กระทำราชวัติก็ได้ เพียงแต่ปักส้อหล้อ (ส้อหล้อ คือ เครื่องจักสานที่ทำขึ้นเพื่อรองรับสิ่งอื่น อาจใช้รองรับหม้อน้ำดื่มหรือวางเครื่องบูชาอย่างในพิธีแรกนา) บรรจุเครื่องบัตรพลี ๕ ชุด เป็นปริมณฑลรอบแท่นบัตรพลีแทน
     ต่อจากนั้น ภายหลังเก็บเกี่ยวและข้นข้าวมายังลานนวดข้าวแล้ว เพื่อคุ้มครองข้าวเปลือกที่กองอยู่และยังไม่ได้ขนขึ้นยุ้งฉางนั้น ชาวนาจะทำเฉลวขนาดใหญ่เรียก “เฉลวหลวง” มาปักไว้ในทิศต่างๆ รอบกองข้าวเปลือก เพื่อกันคนและผีขโมยข้าวเปลือก
     ตาเหลวหลวงนี้บางครั้งก็จะใช้ในงานสืบชะตาบ้านชะตาเมือง สืบชะตาหลวงหรือใช้สำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านใต้เฉลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งหลาย

๗.ใช้เฉลวปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร
     การนำเฉลวมาปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพรของหมอพื้นบ้านนั้น มีคติความเชื่อที่หลากหลาย แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ส่วนมากก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกันคือ
        ๗.๑ เชื่อว่าเป็นการห้ามคนธรรพ์ วิทยาธร หรือภูตผีข้ามหม้อยา ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพไป
        ๗.๒ เพื่อกันคนเปิดดูหม้อยา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ยาเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ (หมอพื้นบ้านมักจะหวงวิชาของตัวเอง การนำเฉลวมาปักที่หม้อยาก็เพื่อกันไม่ให้เปิดหม้อยาแล้วล่วงรู้ถึงตัวยาที่ตัวเองประกอบขึ้นนั่นเอง)
        ๗.๓ เชื่อว่าหม้อยาที่ไม่ลงคาถาอาคมหรือปักเฉลวกันไว้ เมื่อถือหม้อยานั้นผ่านบ้านหมอคนอื่น จะทำให้สรรพคุณทางตัวยาเสื่อมคุณภาพ
        ๗.๔ เพื่อกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับหม้อยา เช่น การใส่อะไรลงไปในหม้อยา ตลอดถึงการจับต้องเคลื่อนย้ายหม้อยา หม้อยาที่มีเฉลวปักไว้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการห้ามปรามซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้
        ๗.๕ เฉลวนั้น ท่านว่าเป็นเสมือนตัวแทนของหมอยา เพราะหมอยานอกจากจะให้เครื่องยาแล้ว ก็ยังบริกรรมปลุกเสกเครื่องยาเหล่านั้นด้วย การปักเฉลวไว้ที่หม้อยาเป็นการกำกับคาถาอาคมที่เสกยาให้อยู่ที่หม้อยานั่นเอง อีกอย่างท่านว่าเป็นการให้กำลังใจให้ผู้เจ็บป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยมีกำลังใจดีแล้ว โรคาพยาธิก็อาจจะระงับได้เร็วกว่าปกติ

๘.ใช้เฉลวปิดหน้าเพื่อประจานความผิด
     โบราณใช้เฉลวปิดหน้าประจานความผิดเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งผู้ที่ถูกเอาเฉลวปิดหน้าแล้วนำออกประจานให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังปรากฏในหนังสือกฎหมายตราสามดวง บทพระไอยการลักษณะผัวเมีย มาตรา ๖ กล่าวโทษลักษณะหญิงมีชู้ว่า “หญิงใดดุจดังอำแดงอูนี้ก็ดี ผัวรู้ด้วยประการใดๆ  พิจารณาเป็นสัจไซร้ ท่านให้ผจานหญิงและชายนั้นด้วยไถ ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะและคอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถ ๓ วัน ถ้าแลชายผู้ผัวนั้นยังรักเมียอยู่ มิให้ผจานไซร้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย”
     ในวรรณกรรมภาคใต้ เรื่อง “พระวรวงศ์คำกาพย์” ตอนหนึ่งกล่าวถึงนางกาไวยว่า ถูกทำโทษโดยการเอากะหลิว (เฉลว) ปะหน้าทัดและสวมมาลัยดอกชบาแล้วเอาเข้าเทียมแอกเพื่อประจาน ก่อนที่จะถูกฝังทั้งเป็นเหลือเพียงคอแล้วถูกไถด้วยไถจนถึงแก่ความตาย ดังประพันธ์ว่า
     สานกะหลิว สามชั้น     รัดเกล้าสุวรรณ     ปะหน้าเทวี
     แล้วเอาน้ำมัน           ยางใส่ส่าดี          ทาหัวเทวี
     เอานุ่นซัดลง    
     แล้วสูเอาฆ้อง            ตีไปหม่องๆ          ป่าวร้องประจาน
     ให้มันว่าไป              ทุกแดนสถาน       ร้องทุกหน้าร้าน
     หน้าบ้านทุกแห่ง

๙.ใช้เฉลวเป็นวัตถุมงคลหรือเครื่องราง เพื่อการคุ้มครองป้องกันตัว
     พระเกจิอาจารย์สมัยโบราณได้นำรูปแบบเฉลวมาประดิษฐ์เป็นแบบยันต์ซึ่งเรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” ลงในวัตถุมงคลประเภทต่างๆ เช่น เหรียญผ้ายันต์ เสื้อยันต์ พระปิดตา หรือตะกรุด เป็นต้น  ต่อจากนั้นก็ได้ประจุพลังความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลงในวัตถุมงคลเหล่านั้น เพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พุทธบริษัทผู้มีความเคารพเลื่อมใสใช้พกพาติดตัวเป็นเครื่องรางเพื่อป้องกันอุปัทวะอันตรายและสิ่งอัปมงคลต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้ยันต์เฉลวเพชรประทับหลังพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม ซึ่งพุทธคุณที่ปรากฏในพระปิดตาหลวงพ่อทาก็คือ คงกระพัน เมตตา และแคล้วคลาด



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๑๐.ใช้ปัดรังควานและป้องกันโรคระบาดต่างๆ
     ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ผลิตเงินพดด้วงเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ อาทิ เงินพดด้วงตราเฉลว เป็นพดด้วงเงินมีราคาเดียว คือ ชนิดราคาหนึ่งบาท ประทับตราเฉลวอยู่ด้านบน ด้านหน้าไม่มีตราประทับ ปรากฏความว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดไปทั่วทั้งเมืองหลวงในพุทธศักราช ๒๓๙๒ มีผู้คนล้มตายราวสี่หมื่นคนรวมทั้งพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วย  ศพลอยเป็นแพตามแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง   พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า เมื่อเดือน ๗ แรม ๑ ค่ำ เกิดความไข้ป่วงทั้งแผ่นดิน ไข้นั้นเป็นมาแต่ประเทศฝ่ายทะเล เป็นมาแต่เมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นมาก่อน ไข้นั้นเป็นขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานคร เป็นขึ้นไปจนถึงเมืองฝ่ายเหนือ เสียพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์องค์ ๑ พระองค์เจ้าจินดาองค์ ๑ พระราชธิดา พระองค์เจ้าพวงแก้วองค์ ๑ เสนาบดี เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ๑  พระองค์โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่และนิมนต์พระสงฆ์ให้สวดมนต์ขับไล่ความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วโปรดให้ประชาชนถือศีลสร้างกุศล หลังจากนั้นจึงมีฝนตกลงมาห่าใหญ่ช่วยชำระสิ่งสกปรกให้หมดไป ไม่นานความไข้ก็หายไป จึงเชื่อกันว่าโปรดให้ผลิตพดด้วงตราเฉลวขึ้นและแจกให้ประชาชนไว้เพื่อป้องกันโรคระบาด
     ลักษณะดังกล่าวนี้ เช่นเดียวกับการสร้างเงินตรานะโมของเมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานเล่าว่าพระยาศรีธรรมโศกราช ซึ่งเดิมเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ชื่อว่า พราหมณ์มาลี ได้อพยพมาจากอินเดียหนีข้ามเขาสกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ แต่เนื่องจากภูมิประเทศบ้านน้ำรอบอยู่ในระหว่างภูเขาห้วยธารป่าดง ประกอบทั้งผู้อพยพเป็นพวกอยู่ใกล้ทะเล ครั้นมาอยู่ในที่ๆ ผิดอากาศก็เกิดไข้ห่าขึ้นในหมู่พวกอพยพ ต้องย้ายไปทางฝั่งทะเลตะวันออก พบหาดทรายแก้วจึงได้ตั้งมั่นลงที่นั้น แม้จะเกิดไข้ห่าขึ้นอีกก็มิได้รื้อถอนอพยพอีก ต่อมาพระยาศรีธรรมโศกราชจึงปรึกษาด้วยมหาเถรผู้เป็นอาจารย์และอธิบดีพราหมณ์ให้หาอุบายป้องกันโรคห่าซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ให้หายขาด พระมหาเถรและอธิบดีพราหมณ์จึงเห็นพ้องกันประกอบพิธีทำเงินตรานโมขึ้นแล้วนำไปกระทำพิธีอาถรรพ์เวท ฝังไว้ที่ประตูเมืองทั้ง ๙ และตามใบเสมากำแพงเมืองโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทั้งยังโปรยปรายเงินตรานโมและพรมน้ำมนต์ไปทั่วนคร ที่เหลือก็แจกให้ประชาชนทั่วไป นับแต่นั้นมาไข้ห่าก็มิได้เกิดขึ้นอีกเลย
     สำหรับไข้ห่านั้นถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรง การระบาดแต่ละครั้งจะก่อความเสียหายต่อชีวิตของสมาชิกในชุมชนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในแต่ละคราวจะมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก หมอพื้นบ้านทั่วไปก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยได้ วิธีที่จะสู้กับโรคนี้ได้คือการอพยพหนีจากแหล่งระบาดไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านเรียกการระบาดของโรคนี้ว่า “ห่าลง” หรือ “บาดลง” แต่หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ไข้ยมบน” เพราะหมายความถึงว่า ความเจ็บป่วยที่มาจากพระยายมผู้เป็นเทพแห่งความหายนั่นเอง"



ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
3022  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 05 กันยายน 2559 17:33:59



เก๋งเรือ กว้าง ๑๖๑ ซม. ยาว ๒๗๘ ซม. สูง ๒๒๒ ซม. ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕  
ทำจากไม้จำหลักลายพันธุ์พฤกษา ลงรักปิดทองและเขียนสี (การลงรัก เรียกอีกอย่างหนึ่่งว่า "สมุก")


ผนังด้านในตอนบนเหนือกรอบประตูหน้าต่าง มีภาพเขียนเป็นลายมงคลศิลปะจีน
เก๋งเรือนี้สันนิษฐานว่า คงจะเป็นเก๋งของเรือแหวต ซึ่งเป็นเรือขุดที่มีขนาดใหญ่ ใช้ฝีพายราว ๗-๘ คน  

เรือแหวตนี้เป็นเรือที่บ่งบอกฐานะของเจ้าของเรือได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเรือหลวงพระราชทาน
สำหรับเจ้านายที่ทรงกรม ตั้งแต่กรมพระขึ้นไปหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ไม่ต่ำกว่าเจ้าพระยา
และพระสงฆ์ระดับพระราชาคณะชั้นสมเด็จ
ปัจจุบันเก๋งเรือดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ : ๔ กันยายน ๒๕๕๙





ครุฑโขนเรือ ประดิษฐ์จากไม้ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ได้จาก แม่น้ำลพบุรีเก่า พระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
ภาพ : ๔ กันยายน ๒๕๕๙
3023  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เฉลว : ความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น เมื่อ: 05 กันยายน 2559 17:05:25


ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

เฉลว
กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน
Chalew : Ancestor's Rule or Myth

ความเชื่อของบรรพชนไทยในอดีต ส่วนมากจะยึดติดอยู่กับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็ยากแก่การพิสูจน์ได้ ในบรรดาความเชื่อของบรรพชนที่เกี่ยวเนื่องด้วยความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ จะต้องมีเรื่องของ “เฉลว” รวมอยู่ด้วยเรื่องหนึ่งเสมอ

เฉลว สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อของบรรพชนไทยซึ่งปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นความเชื่อที่มีองค์ประกอบ และมิติที่หลากหลายตามคตินิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน บางอย่างได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรม ค่านิยม จารีตประเพณีที่แฝงไว้ด้วยระบบความเชื่อและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังและเร้นลับ  บางอย่างแฝงไว้ด้วยค่านิยมทางสังคม ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี สังคม และศาสนา

ความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้ว่าในสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบันจะได้เลือนหายไปบ้างในสังคมเมือง แต่ว่าในสังคมชนบทความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่ายังมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ อยู่มากพอสมควร

จากการศึกษาจะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องเฉลวนั้นมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยตลอดจนในถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทในประเทศต่างๆ และในกลุ่มชนอื่นๆ เช่น ในกลุ่มชนกะเหรี่ยงและกลุ่มมอญเขมรเป็นต้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีความเชื่อและกระบวนการปฏิบัติที่จะนำไปใช้นั้นแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็จะเห็นว่ามีจุดมุ่งหมายเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าการเรียกชื่อจะแตกต่างกันไปบ้าง คือ ภาคกลางจะเรียกว่า เฉลว ภาคเหนือเรียก ตาแหลว หรือตาเหลว เช่นเดียวกับภาคอีสาน ส่วนภาคใต้เรียก เหลว บางท้องถิ่นเรียก เหลวเพชร



ภาพจาก : kornbykorn.blogspot.com

จากยมบาศ ถึง เฉลว
เทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมนุษย์เกรงกลัวกันมาก คือ พระยมหรือท้าวมัจจุราช เหตุว่าพระยมเป็นเทพเจ้าแห่งความตายนั่นเอง ทุกสรรพชีวิตบนพื้นปฐวีดลย่อมมีความสะดุ้งกลัวต่อความตายด้วยกันทั้งนั้น

พระยมนั้นมีเมืองเป็นของตัวเองชื่อว่า ยมปุระ หรือยมโลก อยู่นอกขอบจักรวาลไปทางทิศทักษิณ รูปลักษณ์ของพระยมกล่าวกันว่า เป็นผู้มีรูปร่างใหญ่โต หน้าตาดุร้าย ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า พระยมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดๆ และบังคับโจทก์แลจำเลยนั้นด้วยสัจซื่อและชอบธรรมทุกอันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พญายมราชก่อน สีกายของพระยมราชนั้นเลื่อมประภัสสร หรือสีพระอาทิตย์แรกขึ้น แต่ในบางแห่งว่าผิวกายสีเขียว คือสีใบไม้ ใช้เครื่องนุ่งห่มสีแดง มีกระบือเป็นพาหนะ ถือคทาใหญ่เรียกว่า กาลทัณฑ์หรือยมทัณฑ์ มีนัยน์ตาเป็นอาวุธเรียกว่า นยนาวุธ มีบ่วงสำหรับคล้องและมัดสัตว์ผู้มีบาปเรียกว่า “ยมบาศ” พระยมมีนามเรียกกันหลายชื่อ เช่น พระยม ยมเทพ ธรรมราช ท้าวมัจจุราช พระกาล มฤตยู ปาศี (ผู้ถือบ่วง) เป็นต้น

ด้วยเหตุที่มนุษย์เกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มาก โดยเฉพาะมนุษย์ที่ประกอบแต่อกุศลกรรมทำแต่ความชั่ว ย่อมเกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มากเป็นพิเศษ เมื่อตายไปแล้วก็ไม่อยากจะไปรับโทษในยมโลก เป็นวิญญาณที่เร่ร่อนอยู่ในมนุษย์โลก มีลักษณะเป็นเปรต ภูต ผี ปิศาจ เที่ยวหลอกหลอนชาวมนุษย์

พวกมนุษย์เมื่อถูก ภูต ผี ปิศาจ หรือเปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นวิญญาณเร่ร่อนหลอกหลอนก็เกิดความหวาดกลัว จึงได้คิดหาวิธีการป้องกัน โดยได้คติความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย ย่อมเกรงกลัวต่อพญายมราช โดยเหตุที่พญายมราชมีของวิเศษซึ่ง ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย หวาดหวั่นสะพรึงกลัวคือ “ยมบาศ” พระเกจิอาจารย์ยุคโบราณจึงได้นำเอาลักษณะยมบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นอักขระเลขยันต์เรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” เพื่อใช้ป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ ดังปรากฏตัวอย่างในพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม และยันต์รูปเฉลวที่ประทับด้านหลังเหรียญหลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก พัทลุง ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

มนุษย์ทั้งหลายใช้จินตนาการจากบ่วงบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นรูปลักษณะคล้ายดาว เรียกกันต่อมาว่า “เฉลว” ซึ่งชั้นต้นจริงๆ คงใช้เพื่อกัน ภูต ผี ปีศาจ เปรต อสุรกาย และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เท่านั้น ต่อมาปรากฏว่ามีการประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นมากหลากหลายรูปแบบ และมีคติสำหรับการนำไปใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ บางท้องถิ่นก็ผูกเป็นตำนาน นิทาน เพื่อสื่อและอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองด้วย




ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ลักษณะที่เรียกว่า เฉลว
เฉลว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เฉลว น.เครื่องทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุมๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป สำหรับปักหม้อยา ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของ ซึ่งจะขายหรือปักบอกเขต

พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมให้ความหมายเฉลว ว่า เครื่องหมายอย่างหนึ่ง ทำด้วยตอก นำมาหักขัดเป็นมุมตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป มีที่ใช้หลายอย่าง แล้วแต่ลักษณะและประโยชน์ใช้สอย ดังเช่น

เฉลวขนาดเล็ก หักขัดเป็น ๕ มุม ใช้สำหรับปักบนใบตองหรือผ้าขาวบางที่มัดปิดปากหม้อยาต้มของแพทย์แผนไทย

เฉลวขนาดใหญ่ ใช้ปักบนพื้นดินเป็นเครื่องหมายบอกเขตห้ามล่วงล้ำละเมิดสิทธิ์เหมือนรั้ว หรือใช้เป็นเครื่องหมายบอกขายที่ผืนนั้น เช่นเดียวกับที่ใช้ปักบนสิ่งของอื่นๆ เช่น เรือ แพ บ้าน เป็นต้น เพื่อบอกความประสงค์ให้รู้ว่าต้องการขายสิ่งนั้นๆ

พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้ความหมายเฉลวว่า เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ใช้ตอกสานขัดกันเป็นแฉกๆ อาจมีห้าแฉก หกแฉก หรือมากกว่านั้น เฉลวเป็นเครื่องสานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ เช่น มีการปักเฉลวไว้บนเครื่องเซ่นพลีตามริมทางหรือทางแยก เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ภูต ผี และวิญญาณมารับเครื่องเซ่นพลีนั้น

พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่องให้ความหมายว่า เฉลว ก.เครื่องกั้นห้าม ห้ามแตะต้อง ห้ามล่วงสิทธิ์ ใช้ปักฝาหม้อยาเพื่อป้องกันผู้อื่นเปิด หากปักอยู่ตามสิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านเรือน แพ ฯลฯ ก็หมายถึงห้ามละเมิดสิทธิ์  ข.สิ่งใดที่ประสงค์จะแจ้งขายก็ใช้เฉลวปักหรือแขวนไว้เช่นกัน  ค.เครื่องป้องกันรังควานหรือเครื่องอาถรรพ์”

“เฉลว” ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายหลากหลายรูปแบบ ตัวเฉลวนั้นโบราณจะสานด้วยตอกไม้ไผ่หรือหวาย สานหักขัดเป็นมุมๆ ทำให้เกิดเป็นตาเหมือตาชะลอม มีหลายรูปแบบ เฉลวนี้ บางทีก็เรียกว่า “ตาแหลว” หรือ “ตาเหลว”

ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกประทาน กล่าวถึงเรื่องเฉลวเป็นใจความว่า เฉลว ก็คือ รั้วนั่นเอง  ยังเห็นได้อยู่ว่าเป็นตาคือรั้ว ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ตะเหลว แล้วเรียกเพี้ยนกันไปต่างๆ  ตะเหลวมาแต่ ตาแหลว แล้วมาเป็น ตาเหลว แล้วเป็น ตะเหลว เฉลว อะไรต่อไป

ภาคพายัพและภาคอีสานตลอดจนชาติไทบางกลุ่มเรียก เฉลว ว่า “ตาแหลว” ถือว่าเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใช้แทนตาของเหลว คำว่า “แหลว” หมายถึง เหยี่ยวซึ่งเป็นสัตว์ที่มีตาดีมาก สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้จากที่ไกลๆ

ในภาคเหนือ ดินแดนล้านนาในอดีต มีการใช้เฉลวในพิธีกรรมต่างๆ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องรางชองชาวนาแล้วยังใช้เฉลวแบบตาเหยี่ยวกำหนดขอบเขตที่คุ้มครองให้ปลอดจากผีอีกด้วย โดยมีตำนานความเป็นมาของเฉลวซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองเชียงตุงว่า พระเจ้าเทิง กษัตริย์แห่งเมืองเงินยวงโปรดการประพาสป่าล่าสัตว์มาก วันหนึ่งเสด็จไปเที่ยวป่าล่าสัตว์นั้นได้เสด็จเข้าไปลึกมากทรงพบนางไม้ผู้หนึ่ง พระองค์พอใจในความงามของนางมากจึงได้อยู่ร่วมกันในถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลานาน จนในที่สุดก็เป็นห่วงบ้านเมือง จึงขอลานางกลับ และก่อนที่พระองค์จะเดินทางกลับ นางได้สำรอกทารกซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าเทิงมอบให้มาด้วย ทารกผู้นั้นได้ชื่อว่า เจ้าชายตุง ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้น เจ้าชายตุงก็ชอบเที่ยวป่าเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์และได้พบพระมารดาของพระองค์อีกด้วย เจ้าชายตุงได้มีโอกาสช่วยถอนคำสาปบรรพบุรุษของพระองค์ตามที่มารดาแจ้งให้ทราบ แล้วทรงเห็นว่าบริเวณใกล้เคียงกันนี้อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งเป็นเมืองใหญ่ได้ และเมื่อได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นแล้วก็ให้ชื่อเมืองตามชื่อของพระองค์ว่า เชียงตุง พร้อมทั้งห้ามประชาชนของเมืองนี้ล่าสัตว์ แต่โดยที่สัตว์ทั้งหลายได้เข้ามากัดกินพืชผลที่ปลูกไว้เสียหายเป็นที่เดือดร้อน พระองค์จึงให้เหยี่ยวบินตรวจตรารักษาไร่นาเอาไว้ไม่ให้เป็นอันตรายไปมาก พระองค์จึงให้ประชาชนทำรั้วป้องกัน โดยเอาไม้ไผ่มาขัดกันเป็นรูปตาเหยี่ยวที่เรียกว่า ตาเหลว หรือเฉลว ทุกวันนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

รูปแบบของเฉลว
เฉลวนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายก็จริง แต่เมื่อพิจารณาคุณลักษณะของการนำไปใช้แล้วจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก รูปแบบของเฉลวที่พบเห็นโดยทั่วๆ ไป เช่น
๑)เฉลว ๓ มุม หรือเฉลว ๓ แฉก ลักษณะคล้ายรูปดาว บางท่านว่า ใช้หมายถึง พระไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำเฉลว ๓ มุมนั้น ท่านว่า เมื่อหักมุมที่ ๑ ให้ว่า มะ  มุมที่ ๒ ให้ว่า อะ  และมุมที่ ๓ ให้ว่า อุ  เฉลวสามมุมนี้หมอพื้นบ้านนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรแผนโบราณ หมายถึงว่า ขอให้อำนาจพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย ซึ่งเดิมเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ (อะ อุ มะ มาจาก โอม ในศาสนาฮินดู  อะ หมายถึง พระศิวะ  อุ หมายถึงพระวิษณุ  และ มะ หมายถึงพระพรหม)

๒)เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างของคนและสัตว์ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ หรือมหาภูตรูป ๔ ก็เรียก)

๓) เฉลว ๕ มุม ท่านว่า หมายถึง พระเจ้า ๕ พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ   นะ หมายถึง พระกกุสันธพุทธเจ้า  โม หมายถึง พระโกนาคมนพุทธเจ้า  พุท หมายถึง พระกัสสปพุทธเจ้า  ธา หมายถึง พระโคตม พุทธเจ้า  ยะ หมายถึง พระศรีอริยเมตไตรย  เมื่อหักมุมที่หนึ่งว่า นะ  มุมที่สอง โม  มุมที่สามว่า พุท  มุมที่สี่ ว่า ธา  และมุมที่ห้าว่า ยะ ตามลำดับ

๔)เฉลว ๘ มุม หรือ ๘ แฉก เวลาหักมุมแต่ละมุมให้ว่า คาถา อิติปิโส ๘ ทิศ (อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ)

เฉลวที่ใช้ในภาคใต้
เฉลว ภาคใต้เรียกชื่อแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น คือเรียก กะหลิว ฉะหลิว เหลว หรือ เหลวเพชร ใช้สำหรับปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร จากการศึกษารูปแบบและบริบทของเฉลวในภาคใต้พบว่า นิยมใช้เฉลวลักษณะรูปดาวสานด้วยตอกหักขัดกันเป็นมุมหรือเป็นแฉก มี ๓ แบบคือ
    ๑.เฉลว แบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก
     ๒.เฉลว แบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก
     ๓.เฉลว แบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก
สำหรับรูปแบบที่นิยมใช้กันเป็นพื้นโดยทั่วไปคือแบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก และแบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก ส่วนแบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก ปรากฏพบเห็นค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เพราะว่า กรรมวิธีการสานค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน

เฉลวที่ใช้ปักหม้อยาสมุนไพรนั้น ปกติตัวหมอยาจะเป็นคำทำเองไม่นิยมให้บุคคลอื่นทำให้ ซึ่งเข้าใจว่าหมอพื้นบ้านทุกคนนอกจากจะเรียนเกี่ยวกับการบริบาลรักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องเรียนกรรมวิธีการทำเฉลวควบคู่กันไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้เฉลวในภาคใต้จะนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ในบริบทหรือพิธีกรรมอื่นใดนอกจากนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ล้านนาปรากฏว่ามี เฉลว เรียกชื่อตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ตาเหลว” ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น คือ
๑) ตาเหลวหลวง เป็นตาเหลวที่มีขนาดใหญ่ มีขนาด ๖ แฉก หรือ ๘ แฉก มักใช้ในพิธีสืบชะตาเมือง สืบชะตาหลวง หรือสำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านตาเหลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ

บางท้องถิ่นเรียกตาเหลวหลวงว่า ตาเหลวแรกนา ซึ่งจะใช้ในพิธีการแรกนาของชาวนา โดยการนำเฉลวไปปักไว้ที่นาของตนเองพร้อมทั้งจัดเครื่องบัตรพลีต่างๆ เพื่อบูชาแม่โพสพ

๒) ตาเหลว ๗ ชั้น ปกติจะใช้ตอกจำนวน ๔๒ เส้น สานขัดกันเป็นชั้นๆ จำนวน ๗ ชั้น เมื่อสานเสร็จแล้วสามารถกางออกได้ ถ้าสานผิดเวลากางออกตอกจะหลุดออกจากกัน

ตาเหลวชนิดนี้นิยมใช้กันมากทางล้านนาโดยมีความเชื่อว่า เมื่อผูกหรือแขวนไว้ที่ประตูบ้านเรือนจะสามารถกันภูต ผี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในเรือนหรือสถานที่นั้นๆ ได้ บ้านที่ไม่มีคนอยู่ถูกทิ้งไว้นานๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ก็จะใช้ตาเหลวเจ็ดชั้นนี้แขวนไว้ที่ประตูเรือนเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ เข้าบ้านเรือนนั่นเอง

๓) ตาเหลวคาเขียว ลักษณะเป็นตาเหลว ๗ ชั้น เพื่อเพิ่มให้มีพลังความเข้มขลังมากขึ้นไปอีก จึงเอาคาเขียวมาพันเข้ารอบๆ จึงเรียกว่า ตาเหลวคาเขียว ใช้ในพิธีกรรมพื้นเมือง เช่น พิธีสืบชะตา หรือผูกร้อยด้วยด้าย ๗ เส้น แขวนไว้ตรงประตูทางเข้าบ้านหรือหน้าบ้านเพื่อกัน ภูต ผี และสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ เชื่อว่าหากใครได้ลอดผ่านก็สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวได้ ตาเหลวคาเขียวมี ๒ ประเภท คือ
     ๓.๑)ตาเหลวคาเขียวขนาดเล็ก อาจจะมีขนาดตั้งแต่ ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ใช้ติดหรือแขวนที่ประตูเรือน เพื่อกัน ภูต ปี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เช่นเดียวกับตาเหลว ๗ ชั้น
     ๓.๒)ตาเหลวเขียวขนาดใหญ่ ช่องที่กึ่งกลางตัวตาเหลวสามารถลอดผ่านได้ ตาเหลวชนิดนี้มีลักษณะการใช้ในพิธีการหลักๆ ๑ ลักษณะด้วยกันคือ
           ๑.ใช้ในพิธีกรรมสำหรับตัดโรคาพยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนที่ตายเพื่อไม่ให้ตกทอดมาถึงคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้สิ้นสูญไปกับผู้ตาย
           ๒.ใช้เพื่อสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ทำพิธีกรรมสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ตายๆ ก็อาจจะกลับมาเอาคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้ตายตามไปด้วย ซึ่งวิญญาณดังกล่าวนี้โดยมากจะเป็นวิญญาณของผู้ที่ตายแบบไม่ปกติ เช่น วิญญาณของผู้ตายโหง ตายพราย  เป็นต้น  ตาเหลวคาเขียวขนาดใหญ่นี้ บุคคลที่เข้าพิธีจะต้องลอดผ่านช่องตรงกึ่งกลางของตาเหลวออกไป ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายๆ กับพิธีการทำหมากหย่าก่อนเผาศพสามีหรือภรรยาของชาวใต้

๔) ตาเหลวแม่ม่าย ลักษณะคล้ายกงจักร ใช้ตอก ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกัน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดเขตแดนการครอบครองพื้นที่ทำกิน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและห้ามบุคคลอื่นแย่งชิง


ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

โปรดติดตามตอนต่อไป
3024  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ปูม้าผัดผงกะหรี่ สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 04 กันยายน 2559 10:55:29



ปูม้าผัดผงกะหรี่

• ส่วนผสม
- ปูม้า 400 กรัม
- กระเทียมไทย ½  หัว (สับหยาบ)
- ไข่ไก่ 2-3 ฟอง
- ผงกะหรี่ 2 ช้อนชา
- ต้นหอมและใบคึ่นไช่ หั่นท่อน 1 ถ้วย
- พริกสดสีแดง 2-3 เม็ด เลาะเมล็ดออกแล้วหั่นเป็นเส้นยาว
- ซอสปรุงรส
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
- ผงปรุงรส
- น้ำตาลทราย


• วิธีทำ
1.ล้างปูให้สะอาด ตัดส่วนขาและก้ามออกจากตัวปู แล้วผ่า 4  ส่วน
2.ตีไข่กับผงกะหรี่ผสมน้ำเล็กน้อยให้เข้ากัน พักไว้
3.เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่ปูลงไปผัด ใส่น้ำซุปครึ่งถ้วย พอน้ำเดือดใส่ไข่ไก่
   ปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ผงปรุงรส และน้ำตาลทราย พอปูและไข่ใกล้สุก ใส่ต้นหอม ใบคึ่นไช่ และพริกแดง


ปูม้า น้ำหนัก 400 กรัม


เครื่องปรุงที่ต้องเตรียม : ปูม้า ไข่ไก่ผสมผงกะหรี่และน้ำสะอาด 1 ช้อนโต๊ะ ตีให้เข้ากัน และต้นหอม ใบคึ่นใช่ พริกแดงหั่นเส้นยาว


เพื่่อความสะดวกในการรับประทาน ตัดส่วนขาและก้ามปูออกจากลำตัว
แล้วเลาะส่วนเปลือกแข็งที่หุ้มขาและก้ามปูออกครึ่งหนึ่ง


เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่ปูลงไปผัด เติมน้ำซุปครึ่งถ้วย


พอน้ำเดือด ปูเกือบสุก โรยไข่ไก่ที่ตีผสมกับผงกะหรี่
ผัดให้เข้ากัน แล้วปรุงรสด้วยปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ผงปรุงรส และน้ำตาลทราย

3025  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 02 กันยายน 2559 14:42:26


ผ้าหลังคาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ผนังอาคารภายในพิพิธภัณฑ์เรือพระที่นั่ง เป็นที่เก็บรักษาอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี
พู่ห้อย ที่หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งทำด้วยขนจามรีจากประเทศเนปาล
เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย และสิ่งของเครื่องใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

องค์ความรู้
อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี

จากอดีตที่ผ่านมา ผ้ามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย เป็นทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม เพื่อปกปิดและประดับร่างกายให้สวยงามในโอกาสต่างๆ  นอกจากนี้ยังสามารถนำผ้ามาทำเป็นของใช้ เช่น ผ้าห่ม ย่ามของชาวเขา ที่นอนของชาวไทครั่งในภาคอีสาน  และผ้ายังถือเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา เช่น วัฒนธรรมการใช้ผ้าห่อคัมภีร์ของชาวไทยลื้อ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของชาวน่าน หรือนำมาใช้ในพิธีกรรม เช่น ตุงของชาวจังหวัดเชียงราย เป็นต้น

การปักผ้า เป็นการสร้างลวดลายบนผ้าพื้น โบราณใช้เข็มปักสอดเส้นด้าย เส้นไหม หรือดิ้นเงิน ดิ้นทอง ลงไปในเนื้อผ้าแล้วสอดขึ้นๆ ลงๆ ตามลวดลายที่ร่างไว้ เช่น ลายดอกไม้ ใบไม้ ลายไทย ส่วนมากใช้เป็นผ้าห่ม ผ้าปูลาดเครื่องราชูปโภคต่างๆ มีทั้งที่เป็นฝีมือช่างไทยและฝีมือชาวต่างประเทศที่ส่งมาขาย เช่น ผ้าสุจหนี่ หักทองขวางที่ปักด้วยดิ้นทอง  ปัจจุบันการปักผ้าไม่เป็นที่นิยม ยังมีปักบ้างในหมู่ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ และผ้าที่ใช้ในราชสำนักหรืองานพระราชพิธีต่างๆ

ผ้าที่ใช้ในราชสำนักนั้น จะเป็นเครื่องกำหนดยศ กำหนดตำแหน่งของผู้สวมใส่  ผ้าบางประเภทใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ทั้งนี้ ผ้าที่ใช้ในราชสำนักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมและยุคสมัย บางส่วนยังคงยึดถือตามแบบแผนดั้งเดิม ตามโบราณราชประเพณีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ผ้าทอและผ้าปักที่ใช้ในฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ นายเรือ นายท้าย และเครื่องอาภรณ์ภัณฑ์ประกอบเรือพระราชพิธี อาทิเช่น ผ้าดาดหลังคากัญญา ผ้าหน้าจั่ว ผ้าม่าน ผ้าหน้าโขนเรือพระราชพิธี เป็นต้น
 
ในเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทเรือพระที่นั่ง โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งประเภทเรือกิ่ง จะปรากฏงานทองแผ่ลวดที่ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่ง ผ้าม่าน ผ้าหน้าโขนเรือ ฉัตร ธงงอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานทองแผ่ลวดที่ใช้กับเรือพระราชพิธีประเภทเรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เรืออีเหลือง เรือทองขวานฟ้าอีกด้วย ซึ่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธีเป็นอีกส่วนที่เสริมความวิจิตร และสง่างามให้กระบวนเรือพระราชพิธี



ผ้าลายทองแผ่ลวด จะใช้ผ้าสักหลาด (ผ้าทอด้วยขนสัตว์ เนื้อหนา ภาษาเปอร์เซีย เรียกว่า Sakalat หมายถึง ผ้าเนื้อดี) ผ้าตาด ผ้าโทเร และผ้ากำมะหยี่ นำมาทำเป็นผ้าพื้นเพื่อวางลวดลาย โดยเริ่มจากเขียนแบบลายหรือคัดลอกลายเดิม ตอกกระดาษ ปิดทองประดับกระจกแล้วจึงวางลายบนผืนผ้าแต่ละผืน สุดท้ายนำไปเย็บประกอบกับเรือพระราชพิธีแต่ละลำ

ทองแผ่ลวด หมายถึง กระดาษที่ใช้ตกแต่งเครื่องสูง การตกแต่งด้วยทองแผ่ลวดจึงเป็นการใช้กระดาษทองตกแต่งบนเครื่องสูง เช่น ฉัตร บังสูรย์ บังแทรก สำหรับพระราชวงศ์ที่ต่ำกว่าชั้นเจ้าฟ้า

งานช่างลายทองแผ่ลวด เป็นงานช่างแขนงหนึ่งในหมู่งานช่างสนะไทย (สะ-หนะ) หรือช่างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องภูษาอาภรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนา ไม่นิยมใช้กับสามัญชน ได้แก่ ชุดฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ ฉัตรเครื่องสูงต่างๆ ตาลปัตรที่ทำด้วยผ้าปักลายในพิธีสำคัญมาแต่โบราณ ผ้าม่าน ผ้าดาดหลังคาเรือพระที่นั่งองค์ต่างๆ เป็นต้น  เทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการสร้างงานลายทองแผ่ลวดคือ เทคนิคการสลักกระดาษหรือตอกกระดาษ เพื่อให้ได้ลวดลายตามรูปแบบที่สวยงามและเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน

กระดาษทองแผ่ลวด ทำจากกระดาษข่อยหรือกระดาษสา ซ้อนกันหลายๆ ชั้นให้หนาพอสมควร โดยใช้น้ำยาที่ทำจากพืชบางชนิดทาอาบให้กระดาษชื้น ใช้ค้อนเขาควายทุบพอให้เนื้อกระดาษประสานเป็นแผ่นเดียวและเรียบ แล้วผึ่งให้แห้งสนิท จากนั้นจึงทาผิวหน้าด้วยยางรัก ปิดด้วยทองคำเปลวจนเต็มหน้ากระดาษ เมื่อจะนำไปตกแต่งที่เครื่องสูง จะตัดเป็นแถบเล็กๆ เย็บด้วยมือ ติดริมขอบใบฉัตรที่เป็นพื้นขาว หรือสลักฉลุเป็นลวดลายเย็บตรึงประดับบนพื้นผ้าสี เห็นเป็นลวดลายทองบนพื้นสีต่างๆ

การสลักกระดาษหรือการตอกกระดาษ เป็นงานศิลปกรรมที่จัดอยู่ในจำพวกประณีตศิลป์ เป็นงานที่ช่างใช้กระดาษชนิดต่างๆ มาสลักทำให้เป็นรูปภาพหรือลวดลาย แล้วนำไปปิดประดับเป็นงานตกแต่งสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งถาวรอยู่ได้นาน เช่น ปิดเป็นลวดลายบนระใบฉัตรทองแผ่ลวด หรือเป็นสิ่งที่ต้องการใช้งานชั่วคราว เช่น ปิดลวดลายตกแต่งพระเมรุ ตกแต่งฐานเบญจา ตกแต่งเครื่องจิตกาธาน เป็นต้น



บุษบกบัลลังก์เรือพระที่นั่ง

งานสลักกระดาษโดยประเพณีนิยมที่ได้สร้างหรือทำขึ้นในโอกาส วาระ และการใช้สอยต่างๆ เช่น
๑) งานสลักกระดาษประดับเครื่องแสดงอิสริยายศ ได้แก่ ฉัตรทองแผ่ลวด ฉัตรปรุ บังสูรย์ บังแทรก จามร
๒) งานสลักกระดาษประดับเครื่องอุปโภค ได้แก่ พานแว่นฟ้า พานพุ่มขี้ผึ้ง ตะลุ่ม กระจาดเครื่องกัณฑ์เทศน์
๓) งานสลักกระดาษประดับเครื่องตกแต่ง ได้แก่ ม่าน ฉาก หน้าบันพลับพลา เพดานปรำ
๔) งานสลักกระดาษประดับเครื่องศพ ได้แก่ ประดับลูกโกศ เมรุราษฎร พระเมรุของหลวง จิตกาธาน เป็นต้น

วิธีการสลักกระดาษ จะนำเอาตั้งกระดาษที่ได้วางแม่แบบและใส่หมุดไว้มาวางลงบนเขียงไม้ ใช้สิ่วหน้าต่างๆ และขนาดต่างๆ ตอกเจาะ หรือสลักเดินไปตามลายเส้นแม่แบบ ตอนใดที่ต้องการให้เป็นรู เป็นดวง จะใช้ตุ๊ดตู่เจาะปรุ หรือหากต้องการทำเป็นเส้น แสดงส่วนละเอียดเป็นเส้นไข่ปลา ก็ต้องใช้เหล็กปรุตอกดุนขึ้นมาข้างใต้ตัวลายหรือรูปภาพ ซึ่งต้องทำภายหลังจากสลักทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพครบถ้วนแล้ว

ลวดลายที่ปรากฏจะมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น รูปแบบลวดลายไทย ทั้งประเภทกนกหรือประเภทพันธุ์พฤกษา รวมทั้งรูปแบบลวดลายจากอิทธิพลทางศิลปะภายนอกที่เข้ามาปะปนอยู่ในศิลปะของไทย มีทั้งรูปแบบจีนและรูปแบบตะวันตก ทั้งนี้สามารถสังเกตลวดลายได้ ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑.ลักษณะลวดลายแบบลายติด คือ ตัวลวดลายทั้งหมดจะเชื่อมโยงติดต่อเนื่องกันโดยตลอด หากมีกรอบนอก ลวดลายทุกตัวจะมีส่วนที่เกาะอยู่กับกรอบโดยรอบด้วยเสมอ ส่วนที่ทะลุขาดออก จะเป็นส่วนพื้นหลัง
๒.ลักษณะลวดลายแบบขาด จะมีรูปแบบตรงกันข้ามกับแบบแรก คือ ลวดลายทุกตัวจะไม่เชื่อมติดกัน และจะเป็นส่วนที่ทะลุขาดออกจากพื้นหลัง

ในการทำลายทองแผ่ลวดนี้ จะต้องอาศัยความชำนาญจากช่างฝีมือหลายแขนงร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ช่างเขียน ดำเนินการออกแบบลวดลาย โดยกำหนดรายละเอียดของลวดลายที่จะใช้ กำหนดขนาดผ้า สีผ้า สีกระจก เพื่อให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ลวดลายที่เขียนลงบนงานทองแผ่ลวดจะเป็นลวดลายแบบลายติด จึงทำให้ปลายของลายเป็นปลายตัด ไม่แหลมคมเหมือนลายที่เขียนในงานอื่นๆ มีช่องสำหรับใส่กระจก  ดังนั้น การจัดช่องไฟจึงมีความสำคัญ นอกจากจะช่วยให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจนขึ้น

ช่างแกะสลัก ดำเนินการฉลุกระดาษหรือตอกกระดาษ เพื่อให้ได้ลายตามแบบที่สวยงามและเพียงพอต่อการใช้งาน

ช่างปิดทอง ดำเนินการปิดทองกระดาษลายให้สวยงาม โดยทาเชลแลค (Shellac) บนกระดาษที่ตอกลายไว้แล้ว ทารักหรือสีทองปิด ผึ่งให้แห้งพอหมาด จึงจะปิดทองคำเปลวทั่วทั้งแผ่น โดยใช้ทองแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ช่างประดับกระจก ดำเนินการตัดกระจกสีต่างๆ ตามขนาดและลักษณะของลวดลายเพื่อใช้เป็นไส้ของลวดลาย โดยจะติดกระจกที่ด้านหลังของแผ่นกระดาษลาย ให้ด้านเงาหันออกด้านหน้าของกระดาษลายที่ปิดทองไว้แล้ว

ช่างสนะ ดำเนินการเย็บลวดลายกระดาษที่ปิดทองและประดับกระจกแล้วลงบนผ้าที่เลือกใช้ โดยขึงผ้าบนสะดึงไม้ วางลวดลายลงบนผ้า จากนั้นจึงเย็บด้วยการเดินเส้นด้ายเส้นใหญ่สีเหลืองทอง (เดิมใช้ดิ้นทอง) ล้อขอบลวดลาย แล้วจึงเย็บตรึงด้วยด้ายเส้นเล็กสีเดียวกัน เมื่อเย็บชิ้นงานเรียบร้อยแล้วจะนำมาประกอบเข้ากับเครื่องประกอบเกียรติยศ

การทำงานของช่างเหล่านี้จะต้องกลมกลืนกัน เพื่อให้ชิ้นงานออกมาประณีตสวยงาม ซึ่งในปัจจุบันงานเย็บผ้าลายทองแผ่ลวดเหลือน้อยลง เนื่องจากต้องอาศัยกระบวนช่างที่ซับซ้อนและละเอียดประณีตอย่างมาก ทังนี้ กรมศิลปากรยังคงดำเนินงานช่างแขนงนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง โดยการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมงานทองแผ่ลวดที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ โดยยึดเทคนิคและวัสดุอุปกรณ์อย่างช่างโบราณ


ผ้าปัก อาภรณ์ภัณฑ์สำคัญ
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี


เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์


๑.ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๓๗๐ เซนติเมตร ยาว ๔๖๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๔ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สามปักลายประจำยามก้ามปูบนพื้นสีแดง ชั้นที่สี่ปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว




๒.ผ้าหน้าจั่วเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด สูง ๑๑๒ เซนติเมตร ยาว ๑๖๐ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๔ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สามปักลายประจำยามก้ามปูบนพื้นสีแดง ชั้นที่สี่ปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว



๓.ผ้าม่านเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๒๓๓ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุงเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีแดง ชั้นที่สามปักลายประจำยามใบเทศ (ยืดลายด้านข้างออก) บนพื้นสีเขียว



๔.ธงสามชายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๖๕ เซนติเมตร สูง ๒๔๑ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ปักดิ้นทั้งสองด้าน เป็นลายเครือเถาใบเทศทั้งผืน คั่นด้วยลายกรุยเชิงในกรอบสามเหลี่ยมบนพื้นสีน้ำเงิน มีลายประจำยามก้ามปูล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ชายธงแหลมมีสามชาย



เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙


๑.ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด กว้าง ๓๙๒ เซนติเมตร ยาว ๕๓๖ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายหน้าอิฐคั่นด้วยลายกระจังบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายเกลียวออกลายสลับหัวสลับหางบนพื้นสีแดง (โดยมีการตั้งตัวกลางแล้วออกลายไปสองข้าง) ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว


 
๒.ผ้าหน้าจั่วเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด สูง ๘๑ เซนติเมตร ยาว ๑๖๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีแดง ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว



๓.ผ้าม่านเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด กว้าง ๑๓๐ เซนติเมตร ยาว ๒๓๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายหน้าอิฐคั่นด้วยลายกระจังบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายเกลียวออกลายสลับหัวสลับหางบนพื้นสีแดง (โดยมีการตั้งตัวกลางแล้วออกลายไปสองข้าง) ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว


* ผู้สนใจสามารถหาความรู้ "อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี" ลำอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี

การแต่งกายของพนักงานประจำเรือพระราชพิธี
(The Royal Barge’s officer Uniforms)


ชุดพนักงานเห่ขานยาวประจำเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช


ชุดนายเรือพระที่นั่ง


ชุดฝีพายเรือพระที่นั่ง (ยกเว้นเรืออนันตนาคราช)


ชุดนายท้ายเรือ


ชุดฝีพายเรือรูปสัตว์

ส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีประกอบการเห่เรือ
ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค












ผู้เรียบเรียง : kimleng
อ้างอิง : - บทความ เรือพระที่นั่งในอดีต โดย นิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ด้านช่างสิบหมู่) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร
          - บทความ ๗๐ ปี พิพิธภัณฑสถานไทย ก้าวไปภายใต้ร่มพระบารมี โดย พัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร
          - หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          - หนังสือผ้าปักโบราณเรือพระราชพระราชพิธี, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่
          - จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม (Journal du Voyage de Siam) โดย บาทหลวง เดอ ชัวซีย์, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร
          - เว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
          - เว็บไซต์ .finearts.go.th
3026  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 01 กันยายน 2559 17:22:25


สมัยอยุธยา กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคของไทย ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฝรั่งที่เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรี ที่ท่านทูตนิโคลัส แชแวส์ เขียนถึงกระบวนเรือที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดมารับราชทูตจากฝรั่งเศสใน “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ว่า  “ไม่สามารถเปรียบเทียบความงามใดๆ กับกระบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ เรือพระที่นั่งใช้ฝีพายพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะ  พายนั้นก็เป็นทองเช่นกัน เสียงพายกระทบทำเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน...”

และจาก “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม”  ที่บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด บันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ เล่าถึงการจัดเรือมารับเครื่องบรรณาการว่า “มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่มาสี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อน...ลำแรกหัวเรือเหมือนม้าน้ำ ปิดทองทั้งลำ เห็นมาแต่ไกลในลำน้ำ เหมือนมีชีวิตชีวา...”  และในวันที่บาทหลวงตาชาร์ดเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ก็ได้เห็นการส่งที่ใหญ่โตอย่างที่ท่านไม่เคยพบเห็นอีกเช่นกัน  “...ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวงซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย มีเรือถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรืออื่นๆ อีกก็แน่นเต็มแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมของสยาม คล้ายการรุกไล่ประชิดข้าศึกก้องไปสองฟากฝั่งแม่น้ำ จึงมีผู้คนล้นหลามมืดฟ้ามาคอยชมขบวนพยุหยาตราอันมโหฬารนี้...”

บันทึกของชาวต่างชาติทั้งสองยืนยันได้ว่า เรือหลวงในสมัยอยุธยามีมากกว่า ๑๐๐ ลำ และยังบันทึกแผนที่แจ้งไว้ด้วยว่า โรงเรือพระที่นั่ง ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเกาะเมือง คือบริเวณระหว่างวัดเชิงท่า และวัดพนมยงค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเยื้องกับพระราชวัง และยังมีอู่เรือเดินทะเลอยู่ใกล้ป้อมเพชรตรงข้ามวัดพนัญเชิงอีกแห่งหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เรือพระที่นั่งและเรือในกระบวนพยุหยาตราของกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากสงครามกับพม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอลองพญารุกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๓ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงเล็งเห็นว่า บรรดาเรือหลวงที่อยู่ในอู่ริมพระนครนั้นอาจเป็นอันตราย จึงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งกิ่ง เรือไชย เรือศรี เรือกราบ เรือดั้ง เรือกัน เรือศีรษะสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งเรือรบต่างๆ ลงไปเก็บไว้ที่ท้ายคู ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมา ต่อมาพม่าก็ตามไปตีท้ายคูแตก แล้วเผาทำลายเรือ ส่วนใหญ่เสียหาย  ครั้นเสียกรุงแล้ว แม่ทัพพม่ายังนำเรือพระที่นั่งกิ่งของกรุงศรีอยุธยาลำหนึ่งส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ ส่วนปืนที่ติดตั้งบริเวณโขนเรือพระที่นั่งกิ่ง พม่าเห็นว่าใหญ่และเคลื่อนย้ายลำบาก จึงจุดเพลิงระเบิดเสียที่วัดเขมา  

สรุปว่าเรือขนาดใหญ่หรือเรือสำคัญในกรุงศรีอยุธยาไม่เหลือมาถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์  ส่วนหลักฐานของความยิ่งใหญ่ที่ฝรั่งหลายคนบันทึกไว้ ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันและปรากฏในสมุดไทย  ภาพกระบวนเรือที่คัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โขนเรือไม้สลักที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเก็บมาบูชาในศาลเทพารักษ์ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา



เรือพระที่นั่งและเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคมิได้เป็นเรือที่ใช้ในราชการทั่วไป แต่ใช้ในการพระราชพิธี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และอื่นๆ  หลังจากการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ ก็ไม่เคยจัดอีกเลย จนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นปีฉลองพระนครครบรอบ ๒๕ ปีพุทธศตวรรษ ได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้นมา  เหตุที่มีพระราชหฤทัยในการฟื้นฟู ก็ด้วยพระองค์ได้เสด็จมายังโรงเก็บเรือพระราชพิธี ที่บางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะโปรดให้มีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคขึ้น ก็คงไม่เป็นการสิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้ของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้เป็นแรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในด้านศิลปกรรมเหล่านี้จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติแต่กาลก่อนให้ดำรงคงอยู่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ บำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภูมิใจของคนไทย ที่สำคัญเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศทั่วโลกสืบไป

พิพิธภัณสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าชม ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์  ปิดเฉพาะวันขึ้นปีใหม่และเทศกาลวันสงกรานต์

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม : ชาวไทย ๒๐ บาท  ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท และผู้มีความประสงค์ถ่ายภาพเรือพระราชพิธี เสียค่าถ่ายภาพ กล้องละ ๑๐๐ บาท

สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี : ปากคลองบากกอกน้อย แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ  สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๔๒๔-๐๐๐๔


ต่อไป ความรู้เรื่อง อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี
โปรดติดตาม
3027  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: การสวดพระอภิธรรมในงานศพ เมื่อ: 01 กันยายน 2559 15:32:10


พระอภิธรรม
"กุสลา ธัมมา"

"กุสลา ธัมมา..." เป็นบทสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ประกอบด้วย 

"พระสังคิณี" เริ่มว่า กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา กะตะเม ธัมมา...แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤต ธรรมเหล่าไหนเป็นกุศล ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณเกิดขึ้น ปรารภอารมณ์ใดๆ จะเป็นรูปารมณ์ก็ดี สัททารมณ์ก็ดี คันธารมณ์ก็ดี รสารมณ์ก็ดี โผฏฐัพพารมณ์ก็ดี ธรรมารมณ์ก็ดี ในสมัยนั้น ผัสสะ ความฟุ้งซ่านย่อมมี อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ธรรมเหล่าใดแม้อื่น มีอยู่ เป็นธรรมที่ไม่มีรูป อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
 
"พระวิภังค์" แปลบทสวดว่า ขันธ์ห้าคือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ บรรดาขันธ์ทั้งหมด รูปขันธ์เป็นอย่างไร รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุปัน ภายในก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม เลวก็ตาม ประณีตก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม นั้นกล่าวรวมกันเรียกว่ารูปขันธ์

"พระธาตุกถา" คำแปลคือ การสงเคราะห์ การไม่สงเคราะห์ คือสิ่งที่ไม่ให้สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ สิ่งที่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ได้ สิ่งที่ไม่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ การอยู่ด้วยกัน การพลัดพรากคือ การพลัดพรากจากสิ่งที่อยู่ด้วยกัน การอยู่ร่วมกับสิ่งที่พลัดพรากไปจัดเป็นสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้

"พระปุคคะละบัญญัติ" คำแปลคือ บัญญัติหกคือ ขันธบัญญัติ อายตนบัญญัติ ธาตุบัญญัติ สัจจบัญญัติ อินทรีย์บัญญัติ บุคคลบัญญัติ บุคคลบัญญัติของบุคคลมีเท่าไร มีการพ้นจากสิ่งที่ควรรู้ การพ้นจากสิ่งที่ไม่ควรรู้ ผู้มีธรรมที่กำเริบได้ ผู้มีธรรมที่กำเริบไม่ได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมไม่ได้ ผู้มีธรรมที่ควรแก่เจตนา ผู้มีธรรมที่ควรแก่การรักษา ผู้ที่เป็นปุถุชน ผู้รู้ตระกูลโคตร ผู้เข้าถึงภัย ผู้เข้าถึงอภัย ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ควร ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ไม่ควร ผู้เที่ยง ผู้ไม่เที่ยง ผู้ปฏิบัติ ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหันต์

"พระกถาวัตถุ" คำแปลคือ (ถาม) ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือความหมายที่แท้จริงหรือ (ตอบ) ใช่ ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายที่แท้จริง (ถาม) ปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ ค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงอันนั้นหรือ (ตอบ) ท่านไม่ควรกล่าวอย่างนี้ ท่านจงรู้นิคคะหะเถิด ว่าท่านค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงแล้ว ท่านก็ควรกล่าวด้วยเหตุนั้นว่าปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้น คำตอบของท่านที่ว่าปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้นจึงผิด

"พระยะมะกะ" คำแปลคือ ธรรมบางเหล่าเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีกุศลเป็นมูล อีกอย่าง ธรรมเหล่าใดมีกุศลเป็นมูล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอันเดียวกับธรรมที่มีกุศลเป็นมูล อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใดมีมูลอันเดียวกับธรรมที่เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล

"พระมหาปัฏฐาน" คำแปลคือ ธรรมที่มีเหตุเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอารมณ์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีอธิบดีเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัยหาที่สุดมิได้ ธรรมที่มีปัจจัยมีที่สุดเสมอกัน ธรรมที่เกิดพร้อมกับปัจจัย ธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน ธรรมที่มีนิสัยเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดก่อนเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดภายหลังเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการเสพเป็นปัจจัย ธรรมที่มีกรรมเป็นปัจจัย ธรรมที่มีวิบากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอาหารเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอินทรีย์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีฌานเป็นปัจจัย ธรรมที่มีมรรคเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการประกอบเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ไม่ปราศจากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัย ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัย
...นสพ.ข่าวสด
3028  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 01 กันยายน 2559 14:40:58
ภาพเก่า…เล่าตำนาน
ร่ายดาบประหารชีวิตในสยาม



(ภาพบน) ทำพิธีบวงสรวงก่อนการประหาร (ภาพล่าง) การประหารนักโทษ

ภาพชุดนี้มิได้ระบุว่าเกิดขึ้น วัน เดือน ปี อะไร มีข้อความสั้นๆ หลังภาพว่า โรงพักพลตำรวจภูธร มณฑลนครชัยศรี

ผู้เขียนได้รับความกรุณาภาพชุดนี้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ผู้เขียนไปค้นคว้าหามาเล่าสู่กันครับ

ประวัติศาสตร์สยามบันทึกว่าตั้งแต่ยุคสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามมีวิธีการประหารนักโทษ ๒๑ วิธี แต่จะใช้ดาบประหารชีวิตนักโทษเป็นหลัก สถานที่ประหารต้องห่างไกลจากชุมชน แต่การประหารทุกครั้งก็จะมีชาวสยามตามไปมุงดูแบบคึกคัก ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเคยใช้วัดโคก หรือวัดพลับพลาชัย เป็นลานประหาร เมื่อมีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงขยับไปวัดมักกะสัน และถอยออกไปไกลถึงวัดบางปลากดอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการโน่น



การพิจารณาคดีในชั้นศาล

หลังจากศาลตัดสิน กระบวนการประหารจะเริ่มจากไปสร้างศาลเพียงตาเล็กๆ ใกล้ลานประหารเพื่อสักการะเจ้าที่เจ้าทาง นำนักโทษไปนั่งกลางลาน พนมมือด้วยดอกไม้ธูปเทียน เอาปูนสีไปเขียนเป็นเส้นไว้รอบคอตรงที่จะลงดาบ เพชฌฆาตสองนายจะนุ่งผ้าเตี่ยวสีแดง เสื้อกั๊กสีแดงลงยันต์มหาอำนาจ บางรายจะคาดผ้ารอบศีรษะสีแดง


โรงพักพลตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ ๓๑ ส.ค. ร.ศ.๑๒๐

เสียงปี่หลวงที่โหยหวนในพิธีจะกังวานไปทุกทิศ เพชฌฆาตทั้งสองจะเข้าไปขอขมานักโทษ แล้วออกมาร่ายเพลงดาบ วนซ้ายของตัวนักโทษเสมอ เพื่อให้เกิดอัปมงคลแก่นักโทษพร้อมทั้งท่องคาถาอาคมข่มวิชาของนักโทษ ด้วยท่าทางเพลงดาบที่มองไม่ออกว่าใครจะลงดาบก่อน พระสงฆ์สวดประกอบเพลงดาบระคนกันไป

เพชฌฆาตที่จะลงดาบแรกจะฟันจากด้านข้างของตัวนักโทษ ด้วยท่าย่างสามขุม โดยมากจะไม่พลาด ในขณะที่ดาบสองจะรำดาบอยู่ด้านหน้า แต่ถ้าฟันแล้วศีรษะไม่ขาดกระเด็น เพชฌฆาตดาบที่สองจะต้องเข้าไปจับศีรษะแล้วเชือดส่วนที่เหลือให้ขาดทันที





นายบุญเพ็ง หีบเหล็ก ฆาตกรมนต์ดำ


ภาพเก่าขาว-ดำที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านทั้งหมด คือเหตุฆาตกรรมที่สะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยฆาตกรคือ นายบุญเพ็ง ที่ฆ่าหั่นศพชายหญิงอย่างโหดเหี้ยม ต่อเนื่องถึง ๗ ศพเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา

บุญเพ็งมีพ่อเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวลาว เกิดปีขาล ที่เมืองท่าอุเทน มณฑลอุดร พออายุ ๕ ปี ญาตินำพาเข้ามาอยู่บ้านญาติในย่านบางขุนพรม กรุงเทพฯ มอบให้ตาสุกและยายเพียร เลี้ยงดู

บุญเพ็งไม่สนใจอาชีพการงานทั้งปวง ไปสนิทกับ “ตาไปล่” อาชีพเป็นสัปเหร่อในวัด มีวิชาอาคมกำจัดภูตผีปีศาจ ทำเสน่ห์ยาแฝดและหมอดู

เมื่ออายุครบบวช บุญเพ็งไปบวชเป็นพระที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ด้วยความที่เป็นพระสงฆ์หน้าตาดี พูดจานุ่มนวล มีลูกล่อลูกชนสารพัด ลูกศิษย์ลูกหามากโขทั้งชาย-หญิง ที่ใกล้ชิดสนิทแนบ คือกลุ่มหญิงสาวร่ำรวย แต่ขาดความรัก วิชาอาคมของพระบุญเพ็งเป็นสุดยอดเสน่หาที่สาวน้อยสาวใหญ่หลงใหลได้ปลื้มและต้องการสัมผัสด้วยตัวเอง ทำเอาหัวกระไดกุฏิพระบุญเพ็งไม่เคยแห้ง



นายยบุญเพ็ง, หีบเหล็กใส่ศพ

สีกามากหน้าหลายตาปรารถนาจะได้รับความเมตตาจากพระบุญเพ็ง แม้ค่ำมืดดึกดื่นกุฏิพระบุญเพ็งก็มิได้ว่างเว้น หญิงสาวทุกรายจะเต็มใจปรนเปรอพลีร่างของเธอให้พระบุญเพ็งพร้อมด้วยทรัพย์สินแบบหน้ามืดตามัว งมงายในลีลาของพระบุญเพ็ง เธอทั้งหลายตกเป็นทาสราคะแบบถอนตัวไม่ขึ้นด้วยคาถาอาคมของพระบุญเพ็ง ยิ่งนานวันพระบุญเพ็งยิ่งมีชีวิตที่แสนจะร่ำรวยด้วยทรัพย์สินที่ปอกลอกจากเหยื่อ

ชาวบ้านเริ่มติฉินนินทาส่งเสียงขับไล่ไสส่ง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า หญิงสาวทาสกามของพระบุญเพ็งค่อยๆ ทยอยหายไปทีละคนพร้อมกับหีบเหล็กที่อยู่ในกุฏิของพระบุญเพ็ง

พระบุญเพ็งย้ายที่อยู่จากวัดในนนทบุรีมาอยู่วัดแห่งใหม่แถวบางลำพู (เอกสารบางฉบับระบุว่าวัดสุทัศน์เทพวราราม) พระบุญเพ็งเป็นพระสงฆ์ที่ละเมิดข้อปฏิบัติของสงฆ์ทั้งสิ้นเป็นนิจสิน เสพสุรา เล่นการพนัน มั่วสีกา ก่อความรำคาญแก่ผู้คนทั่วไปจึงถูกบังคับให้สึก

เอกสารบางชิ้นระบุว่า สึกแล้วจึงมาก่อเวรสร้างกรรม ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าทำผิดคิดชั่วมั่วโลกีย์ขณะอยู่ในผ้าเหลือง

ปลายปี พ.ศ.๒๔๖๐ ในสมัยในหลวง ร.๖ ชาวบ้านในคลองบางกอกน้อยได้พบหีบเหล็กในลำคลอง เมื่อเปิดออกมามีศพที่เน่าเปื่อยของชายกลางคนที่สืบทราบภายหลังว่า คือนายล้อม พ่อค้าเพชรพลอยผู้มั่งคั่ง

ต่อมาเมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑ หีบโลหะใบหนึ่งลอยไปติดแถวหน้าวัดไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ในหีบนั้นมีศพสุภาพสตรีถูกมัดมือมัดเท้าแล้วห่อด้วยมุ้ง และยังมีก้อนอิฐอยู่ในหีบอีก ๘ ก้อน






ประกวดนางสาวสยามคนแรก ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ภาพเก่าตอนนี้ ลองแวะมาดูตำนานเรื่องสวยๆ งามๆ ของสุภาพสตรีสยามเมื่อครั้งเก่าก่อนในรัชสมัยในหลวง ร.๗ ซึ่งสยามประเทศจัดประกวดนางสาวไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า การประกวดนางสาวสยามในปี พ.ศ.๒๔๗๗

สยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อใช้รัฐธรรมนูญจะครบ ๒ ปี รัฐบาลต้องการสร้างสีสันฉลองการมีรัฐธรรมนูญสำหรับปวงชนชาวสยาม จึงมอบให้กระทรวงมหาดไทยไปคัดสาวงามจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาประชันความงาม มีสาวงามที่มาเข้าประกวด ๕๐ คน เพื่อคัดเลือกสาวที่สวยที่สุดในแผ่นดินสยาม

การประกวดสาวงามในปี พ.ศ.2๒๔๗๗ เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองรัฐธรรมนูญสยามประเทศ

สถานที่ที่ใช้ประกวดสาวงาม คือ บริเวณอุทยานสราญรมย์ ข้างๆ วัดโพธิ์ ถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครที่โก้หรู สาวงามทั้งปวงต้องเดินผ่านสายตากรรมการรอบแรกเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ ๑๐ ธันวาคม (ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ) ในที่สุดกรรมการลงความเห็นคัดเลือกสาวงามที่สุดเพียงคนเดียว ที่เรียกว่านางสาวสยาม อย่างเป็นเอกฉันท์ในคืนวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗

เธอคือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง อายุ ๒๑ ปี นางงามจากจังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ)

ไม่มีตำแหน่งรองนางสาวสยาม ต้องใจแข็งคัดเลือกเอาคนเดียวเท่านั้นครับ

นางสาวกันยา เทียนสว่าง ชื่อเดิมคือ เจียเป็งเซ็ง ชื่อเล่นคือ ลูซิล เป็นลูกคนโตของนายสละ นางสนอม เกิดเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๕๗ ที่ปากเกร็ด นนทบุรี ทำงานเป็นครูโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ เป็นชาวพระนคร นางสาวกันยามีใบหน้าคมค่อนไปทางฝรั่ง จมูกโด่ง ริมฝีปากเรียวงาม สูงสมส่วน ผิวขาวสวย มีแมวมองไปพบความงามของครูสาวคนนี้จึงชักชวนให้มาขึ้นเวที

ไม่มีรายละเอียดว่า ในการประกวดสาวงามจะต้องใส่ชุดอะไรเดินโชว์บ้าง หรือว่าต้องไปเก็บตัวที่ไหน ใครส่งเข้าประกวด ใช้เครื่องสำอางยี่ห้ออะไร เสื้อผ้าจากร้านไหน?

มงกุฎของนางสาวสยาม ตัวโครงทำด้วยเงิน หุ้มด้วยกำมะหยี่ปักด้วยดิ้นเงินและเพชร แถมด้วยขันเงินสลักชื่อนางสาวสยาม ๒๔๗๗ และเธอยังได้รับล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ เข็มกลัดทองคำลงยาสลักว่ารัฐธรรมนูญ ๗๗ พร้อมเงินสด ๑ พันบาท

สยามมีนางงามเป็นครั้งแรก สังคมในพระนครมีเรื่องพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ลงภาพประโคมข่าวอย่างตื่นเต้น

เธอสวยประทับใจชาวสยามด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ

ไม่มีรายละเอียดว่าในตำแหน่งของเธอ ๑ ปี เธอต้องไปโชว์ตัวที่ไหนอย่างไร แต่เมื่อเธอพ้นจากตำแหน่งนางสาวไทย เธอเข้าทำงานที่หอสมุดแห่งชาติ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๖ แต่งงานกับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ มีบุตรธิดา ๕ คน

คุณกันยา นางสาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์สยาม เสียชีวิตเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ เมื่ออายุ ๔๖ ปี สาเหตุจากมะเร็งปากมดลูก

เธอคือปฐมบทของการประกวดสาวงามมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา (ภาพ-ข้อมูล): ภาพเก่า…เล่าตำนาน โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หนังสือพิมพ์มติชน





หมอปลัดเล.. หมอเทวดาที่มาทำงานในสยาม

แพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิต ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามว่าเข้ามาทำงานเป็นแพทย์คนแรกๆ และโดดเด่นที่สุด คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) เป็นชาวอเมริกันครับ โดยเข้ามาในปลายรัชสมัยในหลวง ร.๓

บรัดเลย์ เกิดเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๔๕ ที่เมืองมาเซลลัส (Marcellus) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อตอนอายุ ๒๐ ปี แดน บรัดเลย์ ป่วยหนักและเกิดอาการหูหนวกไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส แดน บรัดเลย์ ใช้เวลาสวดมนต์ภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย เขาทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่ออุทิศตนให้พระคริสต์ ต่อมาราว ๒ ปี แดน บรัดเลย์ กลับหายเป็นปกติราวกับปาฏิหาริย์ เขามุมานะสุดชีวิตอ่านหนังสือแล้วไปสอบเข้าเรียนแพทย์ เพื่อจะอุทิศชีวิตให้พระคริสต์ แดน บรัดเลย์ จบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย นิวยอร์ก เมื่อเมษายน พ.ศ.๒๓๗๖

หมอบรัดเลย์ แต่งงานและเดินทางพร้อมภรรยาชื่อ Emilie Royce ลงเรือข้ามมหาสมุทรมาขึ้นที่เกาะสิงคโปร์ และต้องพักบนเกาะสิงคโปร์นาน ๖ เดือน เนื่องจากมีพายุคลื่นลมแรงเป็นอันตราย และเมื่อมีเรือโดยสาร หมอและภรรยาจึงออกเดินทางจากสิงคโปร์มุ่งหน้ามาสยาม

เคราะห์ร้ายตามมารังควาน เรือลำนั้นโดนโจรสลัดปล้นในทะเลระหว่างทางจนหมอหมดตัว ลูกเรือที่เดินทางมาโดนฆ่าทิ้งทะเล ๔ คน หมอบรัดเลย์ เข้ามาถึงบางกอก เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ ขอพักอาศัยอยู่กับมิชชันนารีอเมริกันชื่อจอห์นสัน แถวๆ วัดเกาะ สัมพันธวงศ์

หมอหนุ่มอเมริกันจัดตั้ง “โอสถศาลา” เพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค แจกหยูกยาสารพัดโดยไม่คิดมูลค่า ขอเพียงคนไข้นำเอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาติดมือกลับไปด้วยก็ชื่นใจแล้ว

หมอบรัดเลย์ ขยันขันแข็ง มีคนไข้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในย่านวัดเกาะ และชุมชนใกล้เคียงเป็นคนไข้หลัก

ชาวสยามออกเสียงเรียกหมอคนนี้ถนัดปากเรียกว่า “หมอปลัดเล”






ต้องเชื่อ…ผบ. ตำรวจคนแรกในสยามเป็นฝรั่งอังกฤษ

ภาพเก่าที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านขณะนี้ เป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามว่าจ้างให้มาวางโครงสร้างจัดตั้งหน่วยงานตำรวจแบบยุโรปในสยาม เป็นปฐมบทของกิจการตำรวจมาจนถึงปัจจุบัน ท่านรับราชการในสยามนาน ๓๒ ปี จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น หลวงรัถยาภิบาลบัญชา หรือที่ชาวสยามเรียกกันในสมัยในหลวง ร.๔ ว่า กับปิตันเอม ถือได้ว่าท่านเป็นตำรวจคนแรกและเป็นผู้วางรากฐานหน่วยงานตำรวจของสยาม

ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ สยามประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาปรากฏตัวพัวพันติดต่อค้าขายอย่างคึกคัก เรือสำเภาบรรทุกสินค้าวิ่งเข้า-ออกตามลำน้ำเจ้าพระยากันขวักไขว่ ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ทะลักทลายหนีตายลงเรือแห่กันมาตั้งรกรากในสยามนับหมื่น ชาวตะวันตกผิวขาวที่เรียกว่า ฝรั่ง มาจัดตั้งสถานกงสุลในบางกอก ฝรั่ง แขกอาหรับ เข้ามาขอทำสัญญาทางการค้า บ้างก็มาตั้งรกรากในแผ่นดินอันเขียวขจี เมื่อมีค้ามีขาย ก็เกิดกระทบกระทั่ง ลักขโมย ฉ้อโกง ทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนใหญ่เกิดในย่านการค้าของคนจีนในบางกอก

บางกอกในยุคนั้นมีคดีความ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น สุราเถื่อนมีแหล่งอบายมุขครบครันหวย บ่อน ซ่อง โรงยาฝิ่น

ระบบราชการของสยามยังไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับคดีความทั้งปวง ในหลวง ร.๔ ทรงทราบปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังวิกฤต จึงทรงให้ติดต่อว่าจ้าง กัปตัน เอส. เจ. เบิร์ด เอมส์ (Capt. S. J. Bird Ames) ชาวอังกฤษ เพื่อให้มาจัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “กองโปลิศ” ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพระนครบาล

กับปิตันเอม (ตามที่ชาวสยามออกเสียงแบบง่ายๆ) มียศ-ชื่อเดิมว่า Captain Samuel Joseph Bird Ames เกิดที่เมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ เคยทำอาชีพค้าขาย ต่อมาผันตัวเองไปเป็นกัปตันเรือสินค้า

ในช่วง พ.ศ.๒๓๙๖ กัปตันเดินเรือมาแถวอินเดีย ลังกา สิงคโปร์ และบางกอก นานวันผ่านไปกัปตันเกิดเบื่อทะเล จึงขอขึ้นบกปักหลักพร้อมครอบครัว ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจบนเกาะสิงคโปร์

กัปตันเอมส์ จัดตั้ง “กองโปลิศ” ในหลวง ร.๔ โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นผู้บังคับหน่วยตำรวจคนแรก พร้อมกับพระราชทานยศร้อยเอก ซึ่งแต่เดิมสยามมีหน่วยที่ทำหน้าที่แบบตำรวจ ชื่อว่าข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวา

ในยุคนั้น ชาวสยามไม่สนใจที่จะเข้ารับราชการในกองโปลิศที่ตั้งขึ้นใหม่ กับปิตันเอม ไม่มีลูกน้อง จึงต้องไปติดต่อจ้างลูกน้องเก่าที่เป็นตำรวจในสิงคโปร์มารับราชการเป็นโปลิศในสยาม

ความชุลมุน วุ่นวาย ตลกร้าย ในสยามยามยุคนั้น คือ โปลิศที่มาจากสิงคโปร์เหล่านี้คือแขกอินเดีย แขกมลายู (บางคนมีผ้าโพกศีรษะ) ชาวสยามมองเห็นว่าโปลิศแขกโพกหัว มีหนวดเครารุงรัง เป็นตัวตลกประจำเมือง เมื่อเดินไปตรวจพื้นที่ใดก็จะถูกล้อเลียนเยาะเย้ยจากชาวสยาม แถมยังพูดจากันไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก เมื่อเกิดการจับกุมคุมขั ต้องขึ้นโรงพัก ต้องขึ้นศาล เลยเกิดความโกลาหลป่นปี้

ปัญหาหลัก คือพูดกับชาวสยามไม่รู้เรื่องและไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสยาม

กับปิตันเอมเครียดหนัก ท่านได้ใช้ความเป็นผู้นำอบรมกวดขันระเบียบวินัยให้โปลิศแขกที่มาจากสิงคโปร์ อดทนต่ออุปสรรคทั้งปวง รีบเร่งสร้างผลงานให้ชาวสยามมั่นใจ เมื่อมีเหตุทะเลาะตบตี โปลิศแขกรูปร่างสูงใหญ่เข้าระงับเหตุ จับคนร้ายได้เกือบทุกคดี ชาวสยามเริ่มประจักษ์ในผลงาน ต่อมาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย กับปิตันเอมกำหนดให้มีเครื่องแบบของโปลิศ เพื่อให้สง่างามน่ายำเกรงแม้จะต้องมีผ้าโพกศีรษะ เรื่องการล้อเลียนเสียดสีจากชาวสยามจึงค่อยๆ จางหายไป

โรงตำรวจพระนครบาลแห่งแรกตั้งขึ้นในย่านชาวจีนแถวตลาดโรงกระทะ (ปัจจุบันคือที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์) เพื่อดูแลย่านสำเพ็ง พาหุรัด ที่ขโมยชุกชุมมากที่สุดในบางกอก

ผลงานของโปลิศภายใต้การบังคับบัญชาของกับปิตันเอม เริ่มเป็นที่ประทับใจ ได้รับคำชมเชยจากชาวต่างชาติและชาวสยาม มีคดีความมากขึ้น จึงย้ายสถานีไปตั้งโรงตำรวจนครบาลแห่งใหม่ บริเวณสามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า โรงพักสามแยก ถนนหนทางในบางกอกยังไม่มีชาวสยามเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ทรัพย์สินที่โดนขโมยมากที่สุดคือ เรือ

ชาวสยามมีมุมมองโปลิศแขกเหล่านี้แบบดูแคลน เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ต้องทำงานหนัก โปลิศเป็นงานของพวกแขกยาม กับปิตันเอม วางระบบงานให้พลตระเวนเดินด้วยเท้าเข้าถึงชุมชนชาวจีน และจัดให้โปลิศตระเวนทางเรือในแม่น้ำลำคลอง ยืนยามเฝ้าตรวจ ตามตรอกซอกซอย ภารกิจของโปลิศในบางกอกเป็นรูปเป็นร่าง เป็นระบบมากขึ้นได้รับการยอมรับ ชาวสยามเริ่มสนใจทยอยไปสมัครเป็นโปลิศ ทำงานกับ กับปิตันเอม

ต่อมาในรัชสมัยในหลวง ร.๕ ได้มีการขยายงานตำรวจจากเขตนครหลวงไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ยิ่งนานวัน ในหลวง ร.๕ ยิ่งทรงพอพระทัยในความสามารถของผู้บังคับหน่วยตำรวจชาวอังกฤษท่านนี้ยิ่งนัก จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงรัถยาภิบาลบัญชา” ถือศักดินา ๖๐๐

นางแคทเธอรีน ภรรยาชาวอังกฤษที่ติดตามมาบางกอกด้วยในตอนแรก มาป่วยเสียชีวิตในสยามในปี พ.ศ.๒๔๐๕ กับปิตันเอมแต่งงานใหม่กับหญิงไทยมีลูกด้วยกัน ๖ คน

เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ ในรัชสมัยในหลวง ร.๖ โปรดเกล้าฯ ให้ควบรวม “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” เป็นหน่วยเดียวกันเป็น “กรมตำรวจ” ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย นับแต่นั้นจึงถือกันว่า วันที่ ๑๓ตุลาคมของทุกปี คือ “วันตำรวจ”



กับปิตันเอม รับราชการด้วยความซื่อสัตย์จนกระทั่งปลดเกษียณในปี พ.ศ.๒๔๓๕ รวมรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองโปลิศซึ่งถือว่าเป็นตำรวจคนแรกของสยามนาน ๓๒ ปี (พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๓๕) หลังเกษียณท่านใช้ชีวิตสงบเรียบง่ายในสยาม เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เมื่ออายุ ๖๙ ปี ศพถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์ เขตยานาวา กรุงเทพฯ (ตามภาพ ที่ผู้เขียนเดินทางไปค้นหา)

คุณความดีที่กับปิตันเอม สร้างไว้ให้กับกรมตำรวจ ในหลวง ร.๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้ว่า “เอมซ์บุตร” ซึ่งลูกหลานที่สืบตระกูลมาจนถึงปัจจุบันภาคภูมิใจยิ่งนัก


ที่มา (ภาพ-ข้อมูล): ภาพเก่า…เล่าตำนาน โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หนังสือพิมพ์มติชน

3029  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / หลู้คั่ว สูตร/วิธีทำ - อร่อย สุก สะอาด ปลอดภัย ได้คุณค่าทางอาหาร เมื่อ: 31 สิงหาคม 2559 13:33:56
.


 
หลู้คั่ว

ส่วนผสม
- เนื้อหมูสับ 150 กรัม
- เครื่องในหมู (ตับ ไส้อ่อน ไส้ตัน ปอด ฯลฯ) 100 กรัม
- เลือดหมูสด 3/4 ถ้วย
- เครื่องหลู้ 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมดองซอยละเอียด 1-2 หัว
- น้ำกระเทียมดอง 2 ช้อนชา
- เครื่องเทศบดละเอียด ½ ช้อนชา
- น้ำปลาดี
- ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ผักชีฝอย หั่นหยาบ


เครื่องหลู้
- พริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเมล็ดทิ้ง 5 เม็ด
- ตะไคร้หั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ข่าหั่นละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
- หอมแดง 3 หัว
- กระเทียมไทย 1 หัว
วิธีทำ : นำส่วนผสมทั้งหมด ไปคั่วจนสุกหอม
     ...โขลกให้ละเอียด แล้วใส่เครื่องเทศป่นละเอียดลงผสมให้เข้ากัน


วิธีทำ
1.ต้มไส้อ่อน ไส้ตัน (และปอดหมู ฯลฯ)  จนสุกเปื่อยนิ่ม แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก
2.ล้างตับหมูให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก
3.ผสมเนื้อหมูสับกับเครื่องหลู้ คนให้เข้ากัน
4.ใส่เครื่องในต้มสุก เลือดหมูสด กระเทียมดองซอย คนให้เข้ากัน
   แล้วใส่ในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟ (ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ใส่น้ำกระเทียมดอง ผัดด้วยไฟปานกลาง จนสุก
5.ใส่ต้นหอมซอย ใบผักชีฝรั่งและผักชีฝอยซอย คนให้เข้ากัน
* ขั้นต้น ยังไม่แนะนำให้ใส่น้ำปลาปรุงรส เพราะเลือดหมูสดมีส่วนผสมของเกลือมาก
   คงป้องกันการเน่าเสียง่าย จึงควรชิมรสชาติก่อนใส่น้ำปลาดี


ส่วนผสมเครื่องหลู้ นำไปคั่วให้สุกหอม


โขลกให้ละเอียด


ใส่เครื่องเทศบดละเอียด (มีขายตามตลาดสดท่ั่วไป) ผสมกับเครื่องหลู้


ผสมเนื้อหมูสับกับเครื่องหลู้ คนให้เข้ากัน


ใส่เครื่องในต้มสุก เลือดหมูสด กระเทียมดองซอย คนให้เข้ากัน


ใส่ในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟ (ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ใส่น้ำกระเทียมดอง ผัดด้วยไฟปานกลาง จนสุก
ใส่ต้นหอมซอย ผักชีซอย คนให้เข้ากัน




ผู้โพสท์ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นๆ ของสัตว์ที่ยังดิบๆ (ยกเว้นกะปิ)
จึงไม่อาจแนะนำวิธีการปรุงหลู้ดิบให้แก่สมาชิก หรือผู้เข้ามาอ่านเว็บไซต์นี้ได้ค่ะ

3030  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 29 สิงหาคม 2559 13:39:42





เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
(The Suphannahongse Royal Barge)

โขนเรือเป็นรูปหงส์  จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หมายถึง เรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เป็นเรือพระที่นั่งลำดับชั้นสูงสุด สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ เรียกว่า “เรือพระที่นั่งทรง” มีโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับเป็นแต่บางครั้ง  โปรดฯ ให้เป็นเรือทรงผ้าไตรหรือผ้าทรงสะพักพระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้

ปรากฏหลักฐานการสร้างมาแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ลำปัจจุบันสร้างทดแทนเรือลำเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๔ โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งสุพรรณหงส์”

ลักษณะ : โขนเรือเป็นรูปหงส์ จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ลำเรือด้านนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง
ขนาด : ความยาว ๔๖.๑๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๔ เมตร
กำลัง : ๓.๕๐ เมตร (กำลัง หมายถึง ระดับจังหวะความเร็วของการพายในแต่ละครั้ง)
เจ้าพนักงานเรือ : ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ถือว่ามีแห่งเดียวในโลกที่งดงามในด้านศิลปกรรม และยังใช้ประกอบพระราชพิธีมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของโลกด้วย  ดังนั้น องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรจึงมอบรางวัลเกียรติยศมรดกทางทะเลประจำปี พ.ศ.๒๕๓๕ (ค.ศ.๑๙๙๒) (THE WORLD SHIP TRUST MARITIME HERITAGE AWARD “SUPHANNAHONG ROYAL BARGE”)









เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
(Narai Song Suban H.M. King Rama IX Royal Barge)

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ เป็นเรือลำแรกที่สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยรัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือร่วมกับกรมศิลปากรและสำนักพระราชวัง จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ.๒๕๓๙ พระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙”

เรือพระที่นั่งที่มีโขนเรือเป็นรูปครุฑ มีมาแต่สมัยอยุธยา แต่ที่มีหลักฐานเป็นเรือพระที่นั่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานนามว่า “เรือมงคลสุบรรณ” และรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างองค์พระนารายณ์เสริม ได้รับพระราชทานนามว่า เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี

ลักษณะ : โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คทา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ทรงยืนเหนือหลังพญาครุฑไม้จำหลักลงรักปิดทองล่องชาดประดับกระจกสีน้ำเงิน พื้นลำเรือทาสีแดงชาด ลำเรือแกะสลักประดับกระจก ลานก้านขดกระหนกเทศ
ขนาด : ความยาว ๔๔.๓๐ เมตร กว้าง ๓.๒๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๑๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๕๐ นาย นายท้าย ๒ นาย










เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
(Anekkachatphutchong Royal Barge)

โขนเรือจำหลักลายปิดทองรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก เป็นเรือพระที่นั่งลำแรกและลำเดียว ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  

จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรีในลำดับชั้นรอง ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน ต่อมาภายหลังได้จัดเข้ากระบวนพยุหยาตราชลมารค เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง
ลักษณะ : โขนเรือทวนสูงจำหลักลายนาคเกี้ยวกระหวัดนับพันตัว ส่วนบนสลักรูปนาคจำแลง ๗ เศียร ปิดทองประดับกระจก ลำเรือตกแต่งด้วยลายจำหลักนาคเกี้ยวตลอดลำ ภายนอกลำเรือทาสีชมพู ภายในทาสีแดง
ขนาด : ความยาว ๔๕.๖๗ เมตร กว้าง ๒.๙๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๑ เมตร
กำลัง : ๓.๕๐ เมตร
เจ้าหน้าที่ประจำเรือ : ฝีพาย ๖๐ นาย นายท้าย ๒ นาย











เรือพระที่นีั่งอนันตนาคราช
(Anantanakkharat  Royal Barge)

ชื่อเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อนนฺตนาคราชะ มาจากคำ ๓ คำ คือ อนนฺตะ (แปลว่า ไม่สิ้นสุด นิรันดร) นาคะ (แปลว่า นาค หรือ งู) ราชะ (แปลว่า เจ้านาย หรือพระราชา) ดังนั้นคำนี้จึงแปลได้ว่า อนันตะ ราชาแห่งนาค หรืองูทั้งหลาย

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ (พุทธศักราช ๒๓๖๗-๒๓๙๔) แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ (พุทธศักราช ๒๔๕๓-๒๔๖๘) และพระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช”

จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ หรืออัญเชิญผ้าพระกฐิน หรือประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ เรียกว่า เรือพระที่นั่งรอง

ลักษณะ : โขนเรือเป็นรูปพญานาคเจ็ดเศียร ไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก ท้องเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีเขียว กลางลำเรือเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปหรือผ้าพระกฐิน

ขนาด : ความยาว ๔๔.๘๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๔ เมตร
กำลัง : ๓.๐๒ เมตร
พนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๕๔ นาย นายเรือ ๒ นาย








เรือเอกไชยเหินหาว
(Ekkachai Hoen Hao Barge)

เป็นเรือชักลากเรือพระที่นั่ง เช่น ชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาถูกระเบิดได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรมอู่ทหารเรือและกรมศิลปากร จึงสร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยใช้โขนเรือและท้ายเรือเดิม

จัดเป็นเรือประเภทเรือรูปสัตว์ ทำหน้าที่เป็นเรือสำหรับชักลากเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราชลมารค หัวเรือเป็นรูปดั้งเชิดสูงงอนขึ้นไป ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำรูปเหรา (อ่านเห-รา) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนาน ลักษณะคล้ายมังกรแต่มีหัวเป็นงูหรือนาค

ลักษณะ : โขนเรือเป็นทวนไม้รูปดั้งเชิงสูง เขียนลายทองรูปเหรา หรือจระเข้
ขนาด : ความยาว ๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๒.๐๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๖๐ เมตร
กำลัง : ๓.๐๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๓๘ นาย นายท้าย ๒ นาย











เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
(Krabi Prap Muang Man Barge)

ชื่อเรือนี้สะท้อนความรับรู้วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ (พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๕๒) เป็นวรรณกรรมที่ดำเนินเรื่องตามมหากาพย์รามายณะของอินเดีย

จัดเป็นเรือรูปสัตว์ประเภทเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ระหว่างสงครามโลกครั้ง ๒ ถูกระเบิดได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรสร้างตัวเรือขึ้นใหม่โดยใช้โขนเรือเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐

ลักษณะ : โขนเรือสลักรูปขุนกระบี่สีขาว ปิดทองประดับกระจก ลำเรือทาสีดำ เขียนลายดอกพุดตานสีทอง
ขนาด : ความยาว ๒๘.๘๕ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๕๖ เมตร
กำลัง : ๒.๖๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๓๖ นาย นายท้าย ๒ นาย









เรืออสุรวายุภักษ์
(Asura Wayuphak Barge)

จัดเป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือกระบวนเขียนลายทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีการซ่อมแซมตกแต่งเรืออสุรวายุภักษ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔

ลักษณะ : โขนเรือสลักเป็นรูปยักษ์ กายเป็นนกสีครามปิดทองประดับกระจก เครื่องแต่งกายสีม่วง ด้านหลังสีเขียว ลำเรือภายนอกทาสีดำ เขียนลายดอกพุดตานสีทอง
ขนาด : ความยาว ๓๑.๐๐ เมตร กว้าง ๒.๐๓ เมตร กินน้ำลึก ๐.๖๒ เมตร
กำลัง : ๒.๖๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๓๐ นาย นายท้าย ๒ นาย











เรือครุฑเหินเห็จ
(Khrut Hoen Het Barge)

ชื่อเรือลำนี้สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรมไทย ตามคัมภีร์ปุราณะครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิน ซึ่งผูกพันกับพระวิษณุ เพราะพระวิษณุทรงท่องไปในสวรรค์โดยมีครุฑเป็นพาหนะ

จัดเป็นเรือรูปสัตว์ ในประเภทเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกระเบิดได้รับความเสียหาย กรมศิลปากรและกองทัพเรือจึงสร้างตัวเรือขึ้นใหม่โดยใช้โขนเรือเดิมเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑

ลักษณะ : โขนเรือเป็นรูปพญาครุฑยุดนาคสีแดง ปิดทองประดับกระจก ตัวเรือภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลายดอกพุดตานสีทอง
ขนาด : ความยาว ๒๘.๕๘ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร กินน้ำลึก ๒.๖๐ เมตร
กำลัง : ๒.๖๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๓๔ นาย นายท้าย ๒ นาย




          โขนเรือสุพรรณหงส์
          ภาพจาก : เว็บไซต์วิกิพีเดีย
สุพรรณหงส์เหินเห็จฟ้า   ชมสินธุ์
ดุจพ่าห์พรหมมินทร์บิน   ฟ่องฟ้อน
จตุรมุขพิมานอินทร์       อรอาสน์
เป็นที่นั่งรองร้อน           ทุเรศร้างวังเวง

จาก ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)

ความหมายของโขนเรือพระราชพิธี

โขนเรือ หมายถึง ส่วนที่ต่อเสริมหัวเรือให้งอนเชิดขึ้นไปเป็นลักษณะรูปสัตว์ จะเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือสัตว์หิมพานต์ก็ได้




พระนารายณ์ทรงครุฑ

พระนารายณ์ หรือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู ซึ่งได้รับการนับถือในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องโลก ตามตำนานกล่าวว่า ตามปกติพระวิษณุประทับอยู่กลางเกษียรสมุทร เมื่อเกิดทุกข์ภัยขึ้นจะทรงอวตารมายังโลกมนุษย์เพื่อปราบทุกข์เข็ญ ลักษณะสำคัญของรูปพระวิษณุคือ เป็นบุรุษมีสี่กร ถือตรี คฑา จักร สังข์ และทรงครุฑ (สุบรรณ) เป็นพาหนะ

สังคมไทยในอดีตมีความเชื่อในคติสมมติเทพที่รับมาจากศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอวตารของพระวิษณุ การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ จึงสอดคล้องกับความเชื่อนี้ และการสร้างรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นโขนเรือพระที่นั่งในปัจจุบันเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจน คือ โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙



หงส์

เป็นสัตว์จำพวกนกที่ปรากฏในตำนานอินเดียว่าเป็นพาหนะของพระพรหม เทพเจ้าผู้ได้รับการนับถือในฐานะผู้สร้างโลก ส่วนในพุทธศาสนา เรื่องของหงส์ได้มีกล่าวไว้ในชาดก ซึ่งบอกเล่าถึงชาติกำเนิดในอดีตของพระพุทธองค์  หงส์ในสังคมไทยเป็นเครื่องหมายแสดงความสง่างาม สิ่งสูงส่ง และบุคคลมีชาติตระกูล

โขนเรือรูปหงส์ของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งหมายถึงหงส์อันเป็นพาหนะของพระพรหมตามคติฮินดู ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนเครื่องหมายของความสง่างามที่ควรคู่กับพระราชฐานของพระมหากษัตริย์




นาค

ปรากฏในตำนานของอินเดียว่าเป็นสัตว์จำพวกงูอาศัยอยู่ในโลกบาดาล ทำหน้าที่ปกปักรักษาผืนน้ำ พญานาคที่สำคัญคือ เศษนาค หรือ อนันตนาคราชผู้แผ่ร่างเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ขณะบรรทมเหนือเกษียรสมุทร ในช่วงเวลาที่โลกถูกสร้างขึ้นใหม่ หลังจากเวลากัลป์หนึ่งได้สิ้นสุดลง และอนันตนาคราชถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นนิรันดร

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ทำโขนเรือเป็นรูปอนันตนาคราช สะท้อนถึงความเชื่อของสังคมไทยที่มีต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นอวตารแห่งพระนารายณ์ เมื่อพระองค์ได้เสด็จประทับในเรือพระที่นั่งเปรียบเสมือนพระนารายณ์ประทับเหนือพญาอนันตนาคราช

ส่วนเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ซึ่งสลักเป็นลวดลายนาคเกี่ยวกระหวัดนับร้อยนับพัน หรือที่เรียกว่านาคเกี้ยว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่านาคผู้มีถิ่นที่อยู่ในน้ำและเป็นผู้พิทักษ์ผืนน้ำ




ครุฑ

ปรากฏในตำนานของอินเดียว่าเป็นพาหนะของพระนารายณ์ เป็นอมนุษย์ที่มีศีรษะ ปีก กรงเล็บ และจะงอยปากอย่างนกอินทรี มีส่วนร่างกายและแขนขาอย่างมนุษย์ ในงานศิลปะมักปรากฏรูปครุฑคู่กับนาค ซึ่งสร้างตามเรื่องราวที่กล่าวว่าครุฑและนาคเป็นอริกัน เนื่องจากมารดาของครุฑแพ้พนันมารดาของนาค จึงถูกนำไปคุมขังไว้ใต้บาดาล ครุฑจึงตามไปช่วยมารดา และเกิดการต่อสู้กับพวกนาค บางตำนานกล่าวว่ามารดาของครุฑขอพรจากบิดาให้ครุฑจับนาคกินเป็นอาหารได้

รูปครุฑยุดนาคที่ใช้เป็นโขนเรือครุฑเหินเห็จอาจสร้างขึ้นตามตำนานนี้




อสุรวายุภักษ์

เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง มีร่างกายท่อนบนเป็นอสูร ร่างกายท่อนล่างเป็นนก กำเนิดจากบิดาที่เป็นยักษ์และมารดาที่เป็นนก ปรากฏเรื่องราวในรามเกียรติ์ว่า คราวหนึ่งบินไปเห็นพระราม พระลักษมณ์ ก็จะโฉบเอาไปกิน หนุมานและสุครีพตามไปช่วยไว้ได้ และฆ่าอสุรวายุภักษ์เสีย



กระบี่ หรือ ลิง

เป็นทหารฝ่ายพระรามที่ต่อสู้กับทศกัณฑ์ ตามเรื่องราวในมหากาพย์รามยณะ หรือรามเกียรติ์ของไทย กระบี่กายสีขาว หมายถึง หนุมาน ผู้เป็นบุตรของวายุ เทพเจ้าแห่งลม หนุมานมีชื่อเสียงในความปราดเปรียวว่องไว ความมีพละกำลังมหาศาลและความสามารถในการเหาะเหินเดินอากาศได้

รูปหนุมานที่ใช้เป็นโขนเรือกระบี่ปราบเมืองมาร แสดงถึงหนุมานในฐานะนายทหารผู้จงรักภักดีต่อพระราม (อวตารของพระวิษณุ) ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญในกองทัพที่ยกไปตีเมืองมาร หรือกรุงลงกาของทศกัณฑ์




เหรา

เป็นสัตว์หิมพานต์ประเภทหนึ่ง อาจมีที่มาจากมกรที่ปรากฏในตำนานอินเดียทำเป็นรูปสัตว์ที่มีส่วนหัวคล้ายจระเข้ มีหางเป็นปลา ไทยอาจรับรูปแบบมกรที่พัฒนาไปจากต้นแบบเดิมแล้ว คือ รับรูปแบบมกรที่มีลำตัวยาว มีขา ๔ ขา มาจากศิลปะอินเดียโบราณดังปรากฏในศิลปะทวารวดีและศิลปะลพบุรี เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เหรา

ตัวเรือด้านนอกของเรือเอกชัยเหินหาว เขียนลายเป็นรูปเหรา อาจเทียบเคียงได้กับเรือในภาพสลักที่ปราสาทบายนของเขมรโบราณ ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือกว่า ๘๐๐ ปีมาแล้ว





การประกอบกงเข้ากับกระดูกงูเรือ

ความหมายส่วนต่างๆ ของเรือพระราชพิธีที่สำคัญ ประกอบด้วย
๑.โขนเรือพระราชพิธี หมายถึง ส่วนที่ต่อเสริมหัวเรือให้งอนเชิดขึ้นไปเป็นลักษณะรูปสัตว์ จะเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือสัตว์หิมพานต์ก็ได้
๒.หางเรือพระราชพิธี หมายถึง ส่วนท้ายของเรือ ลักษณะคล้ายหางหงส์
๓.กงเรือ หมายถึง ไม้ท่อนหนาทำให้เป็นรูปโค้งวางตามขวางลำทำเป็นโครงเรือ
๔.กระดูกงูเรือ หมายถึง แกนโครงสร้างของเรือที่วางตลอดความยาว ตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ
๕.เปลือกเรือ หมายถึง ไม้ที่เป็นแผ่นที่ใช้ต่อประกอบยึดติดกับกงเรือตลอดแนวของลำเรือ
๖.กระทงเรือ หมายถึง ไม้ยึดกาบเรือ ตอนบนปูกระดานใช้เป็นที่รองนั่ง
๗.โกลนเรือ หมายถึง กรรมวิธีการขึ้นรูปงานประติมากรรมแกะสลัก ซึ่งใช้วัสดุที่เป็นหิน ไม้   การโกลนคือ การตัด สกัด ถาก หรือสับ และฟันส่วนที่ไม่ต้องการออก ให้เหลือรูปร่างลักษณะหยาบๆ เพื่อแกะสลักเก็บรายละเอียดขั้นสุดท้าย










3031  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / อรรถาธิบาย คำ "กุลีจีน กับ จับกัง" เมื่อ: 28 สิงหาคม 2559 15:18:29


ภาพคนจีนช่างทำรองเท้าแตะ ไว้ผมเปียอย่างชาวแมนจู
ภาพจาก : เว็บไซท์ rangsit.org

กุลีจีน กับ จับกัง

ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต อรรถาธิบายไว้ว่า คำว่า จับกัง และ กุลี เป็นคำเรียกกรรมกรแบกหามชาวจีนหรือคนไทยที่ทำงานกับคนจีน กรรมกรแบกหามงานหนักอย่างนี้บางคนเรียกว่า กุลี บางคนเรียกว่า จับกัง

คำว่า จับกัง เป็นคำจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า งาน ๑๐ อย่าง จับกัง หมายถึงผู้ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง แต่มักเน้นงานที่ต้องใช้กำลังกายหรืองานช่าง ปัจจุบันมักเข้าใจว่าจับกังเป็นกรรมกรแบกหามเท่านั้น

ส่วนคำว่า กุลี เป็นคำมาจากคำภาษาอังกฤษว่า coolie เป็นคำที่อังกฤษรับมาจากคำว่า guli ในภาษาฮินดีอีกทอดหนึ่ง

guli เป็นคำที่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำ goli ซึ่งเป็นชื่อ ชนเผ่าหนึ่งหรือวรรณะหนึ่งในแคว้นคุชราต เป็นพวกที่รับจ้างทำงานขนถ่ายสิ่งสกปรกที่น่ารังเกียจ

สำหรับประวัติของคนจีนที่เข้ามาขายแรงงานเป็นกุลีในประเทศ ไทย (สยาม) ได้ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ห้องจัดแสดง ๒ กุลีจีน ว่า

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาสู่ระบบทุนนิยม ชาวสยามยังเป็นแรงงานบังคับในระบบไพร่ไม่มีอิสระที่จะไปรับจ้าง จึงใช้แรงงานจีนหรือกุลีจีน ซึ่งเป็นแรงงานต่างชาติ แรงงานจีนถือเป็นแรงงานรับจ้างรุ่นแรก

ในการทำงานบุกเบิกสังคมไทย โดยต้องผูกปี้ครั่งที่ข้อมือเป็นสัญลักษณ์การเสียภาษีให้รัฐไทยราวปีละ ๒ บาท แลกกับอิสระในการเดินทางและทำงานรับจ้าง

แรงงานจีนขยันขันแข็ง ทำงานหลากหลายประเภท เช่น เป็น กุลีลากรถ ขุดคลอง แรงงานอู่ต่อเรือ กะลาสีเรือ ก่อสร้าง สร้างถนน เป็นคนงานในโรงงานน้ำตาล โรงสี โรงเลื่อย คนงานเหมืองแร่ แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับงานที่หนักมาก ขาดหลักประกันในการทำงาน และจำนวนมากต้องกลายเป็นคนติดอบายมุข สูบฝิ่น เพราะรู้สึกสบายหายปวดเมื่อย

นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า อั้งยี่ ขึ้นมา และอาศัยองค์กรประเภทนี้ดูแลพิทักษ์ผลประโยชน์ แต่อั้งยี่ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสมาคมลับ เมื่อมีการออกกฎหมายอั้งยี่ขึ้นมาในปี พ.ศ.๒๔๔๐

ยังมีข้อมูลจากบทความเรื่องกำเนิดและวิถีชีวิตของชุมชนแรงงานรับจ้างในประเทศไทย โดย รศ.ดร.พรรณี บัวเล็ก แห่งมหาวิทยาลัยเกริก ระบุว่า กุลีที่อพยพมาในประเทศไทยมี ๒ ลักษณะ คือ อพยพอย่างอิสระ และอพยพโดยผ่านระบบตั๋วสัญญา

การค้ากุลีในประเทศจีนดำเนินโดยบริษัทของชาติมหาอำนาจที่ร่วมกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น รัฐบาลชิงไม่สามารถยับยั้งได้ และในที่สุดจำเป็นต้องยอมรับการทำสนธิสัญญาปักกิ่งใน พ.ศ.๒๔๐๓

ผลของสัญญาทำให้รัฐบาลต้องอนุญาตให้ชาวจีนเดินทาง ออกนอกประเทศได้ และเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการห้าม ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศเป็นนโยบายคุ้มครองแรงงานคนจีนที่ไปทำงานต่างประเทศไม่ให้ถูกขูดรีดจากพ่อค้ากุลีมากเกินไป

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลชิงนี้ ทำให้ชาวจีนที่เคยลักลอบเดินทางออกนอกประเทศ เดินทางออกนอกประเทศได้สะดวกมากขึ้น ไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากอยู่ในภาวะที่ถูกบีบบังคับให้ยอมรับการค้ากุลีของชาติมหาอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเห็นข้อดีจากชาวจีนโพ้นทะเลว่าเป็นพวกที่มีศักยภาพสามารถช่วยเหลือประเทศในด้านการเงินได้อย่างดี

การเปลี่ยนแปลงทันทีและนโยบายของรัฐบาลชิงต่อชาวจีนโพ้นทะเลทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกประเทศจีนมีมากขึ้น



ภาพกุลีจีนขุดเหมืองแร่ที่ภูเก็ต จะนุ่งกางเกงขาก๋วย เสื้อคอจีนแขนยาว
ภาพจาก : เว็บไซท์ rangsit.org

ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3032  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ผงกะหรี่ ยอดยาดี เมื่อ: 28 สิงหาคม 2559 15:05:09




ผงกะหรี่ ยอดยาดี

จากเอกสารของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของผงกะหรี่ ว่า ผงกะหรี่เป็นเครื่องเทศชูรสที่มีกลิ่นในอาหารอินเดีย คนอินเดียมักบดเครื่องแกงกันสดๆ และผสมเครื่องแกงขึ้นใช้เป็นครั้งคราวไป เมื่ออังกฤษเข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมเมืองขึ้น ก็เกิดติดอกติดใจเครื่องแกงอินเดียนี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมจึงหลงใหลเฉพาะแกงที่มีชื่อว่าแกงกะหรี่ โดยอังกฤษเรียกแกงของอินเดียว่า เคอรี่-Curry

ทั้งนี้ คำ กะหรี่ เป็นภาษาทมิฬที่ชาวอินเดียใต้ใช้เรียกแกงประเภทเผ็ดชนิดหนึ่งที่มีน้ำ ซึ่งนอกจากแกงเผ็ดประเภทน้ำมากแล้ว อินเดียใต้ยังมีแกงเผ็ดประเภทน้ำข้น และประเภทแกงแห้งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผงกะหรี่ก็เป็นเครื่องเทศที่ครัวของหลายชาติใช้ทำแกงกะหรี่ สูตรเครื่องแกงจึงมีหลากหลาย เช่น ผงกะหรี่อินเดีย เป็นผงกะหรี่ที่มาจากแผ่นดินต้นกำเนิดมีกลิ่นหอม รสเครื่องเทศแรง ผงกะหรี่อินเดียสูตรโบราณมีเครื่องเทศป่นผสมที่ต่างกันไปจากผงกะหรี่อินเดียทั่วไปเพราะจะใช้เพียงแค่โรยหน้าในสตูต่างๆ เท่านั้น

ขณะที่ผงกะหรี่แบบญี่ปุ่น สี กลิ่น รส อ่อนมาก มีทั้งแบบเป็นผงและเป็นก้อน ส่วนผงกะหรี่แบบจีนมีสีเหลืองสวย รสอ่อน กลิ่นหอม ผงกะหรี่แบบไทย สีออกเหลืองเข้ม รสแรง กลิ่นหอม

และผงกะหรี่แบบพื้นบ้านของไทย เรียกชื่ออย่างแขกอินเดียว่า มัสล่า อยู่ทางแม่ฮ่องสอน ซึ่งถึงแม้ว่าที่มาของผงกะหรี่จะหลากหลาย แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือผงกะหรี่จากอินเดีย

ผงกะหรี่มีเครื่องเทศหลายชนิดบดผสมเข้าด้วยกัน เครื่องเทศหลักได้แก่ ขมิ้น, ลูกผักชี, ยี่หร่า และลูกซัด ที่เหลือนอกนั้นเป็นเครื่องเทศที่ใช้ปรับปรุงรสและกลิ่นเพิ่มเติมได้แก่ ขิง, กานพลู, อบเชย, ลูกกระวาน, เปลือกพริกเผ็ด, เปลือกพริกแดง, พริกไทย, ลูกจันทน์, ดอกจันทน์, กระเทียม, ใบกะหรี่, เมล็ดเทียน, ตาตั๊กแตน (เมล็ดผักชีลาว), อบเชยเทศ, อบเชยจีน, เมล็ดพันธุ์ผักกาด (เมล็ดมัสตาร์ด), เมล็ดป๊อบปี้, ดอกอบเชย, เมล็ดขึ้นฉ่าย และเกลือ

รวมแล้วผงกะหรี่มีเครื่องเทศที่มาบดผสมกันหลายประเภท และเครื่องเทศแต่ละประเภทมีสรรพคุณต่างๆ อีกมากมาย

นอกจากใช้ประกอบอาหาร ผงกะหรี่จึงยังใช้เป็นยา ด้วยประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์พบสารเคอร์คูมินในผงกะหรี่เป็นสารที่จะช่วยเพิ่มพลังสมองให้กับคนชรา

เคอร์คูมินเป็นสารประกอบที่อยู่ในขมิ้น มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวการก่อมะเร็ง ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์หลายอย่าง ไม่ว่าจะแก้อักเสบ, ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร, ฆ่าเชื้อรา, ใช้บำรุงผิวให้สดใส ลดความหมองคล้ำ

และก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่กล่าวถึงคุณสมบัติยับยั้งการสะสมโปรตีนอะมีลอยด์ในสมอง ตัวการโรคหลงลืม รวมทั้งยับยั้งการสร้างเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งบางชนิดและโรคอักเสบอย่างเรื้อรัง นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดจากขมิ้นสามารถลดการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมที่เกิดจากการเปลี่ยนของสารเคมีได้

คณะนักค้นคว้ามหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าแกงที่ผสมด้วยผงกะหรี่นอกจากกินแล้วอิ่มยังแก้โรคสมองเสื่อมได้ และเชื่อว่าหัวขมิ้นชันอาจเป็นส่วนผสมที่มีสรรพคุณช่วยขัดขวางไม่ให้อาการโรคทรุดหนักลงเร็ว

คณะนักค้นคว้ายังมีความเห็นว่า แกงเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนอินเดียไม่ค่อยเป็นโรคสมองเสื่อมกันมากเหมือนกับคนชาติตะวันตก ชาวอินเดียวัยเกิน 65 ปีขึ้นไป บางหมู่บ้านมีอัตราป่วยสมองเสื่อมเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น



ข้อมูล หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3033  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 26 สิงหาคม 2559 17:56:15



เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ (ลำเก่า)
ภาพจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี กรุงเทพมหานคร

เรือพระที่นั่งในอดีต
(Royal Barges in the Past)
โดย นิยม กลิ่นบุบผา
นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ด้านช่างสิบหมู่) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

เรือพระที่นั่งในปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เฉพาะที่ใช้ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เท่าที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ พอจะจัดเข้าเป็นประเภทได้ดังนี้

๑.เรือพระที่นั่งกิ่ง
เป็นเรือพระที่นั่งที่สวยงามเป็นพิเศษ มีศักดิ์สูงสุดในบรรดาเรือพระที่นั่งและสูงสุดในขบวนเรือพยุหยาตรา  มีเรื่องกล่าวไว้ในพงศาวดารสมัยพระเจ้าทรงธรรม (น่าจะหลังพุทธศักราช ๒๑๕๓ ลงมา) เสด็จขึ้นไปทอดพระเนตรรอยพระพุทธบาททางชลมารคโดยขบวนเรือ ในเวลาที่เสด็จกลับ มีเรื่องเล่าว่าจะเป็นฝีพายหรือนายท้ายเรือเอาดอกเลาปักตรงปัถวีเรือไชย เมื่อเรือเคลื่อนไปดอกเลาพลิ้วลมไสว มีพระราชดำรัสว่างามดี เมื่อถึงพระนครฯ เรียบร้อยแล้ว ทรงมีรับสั่งให้แปลงปัถวีเรือไชยเป็นเรือกิ่ง เข้าใจว่าในการเสด็จฯ ครั้งนั้นจะไม่ได้เสด็จประทับเรือไชย คงจะประทับเรือพระที่นั่งอีกลำหนึ่งซึ่งตามหลังเรือไชย จึงทอดพระเนตรเห็นท้ายปัถวีเรือไชยได้ถนัดและตรัสว่างามดี จึงโปรดฯ ให้แกะสลักลายประดับท้ายเรือไชยแทนดอกเลาเป็นการถาวร และลายสลักที่ท้ายเรือหรือปัถวีเรือไชยนี้คงจะมีทรงเป็นช่อลายคล้ายพลิ้วลมอย่างดอกเลา แลดูเป็นกิ่งลายหรือกิ่งช่อลาย จึงเรียกเรือพระที่นั่งที่แก้แปลงประดับลายใหม่นี้ว่าเรือกิ่ง และคงจะทรงโปรดเรือพระที่นั่งลำนี้มากด้วย จึงได้ขึ้นระวางเป็นเรือชั้นสูงสุด

ในสมัยต่อมา เรือพระที่นั่งกิ่งมีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกหลายลำดับปรากฏชื่อในขบวนเรือพยุหยาตราเพชรพวง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขบวนพยุหยาตราเพชรพวงนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเป็นลิลิตเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๐ ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งกิ่งหลายลำ เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุนทรไชยคู่กับเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรจักร เรือพระที่นั่งกิ่งศรีพิมานไชย เรือพระที่นั่งกิ่งไกรหิรัญญทอดบุษบกบัลลังก์ เรือพระที่นั่งกิ่งศรพรหมไชยทอดบุษบกพิมาน เรือพระที่นั่งกิ่งศรีสามรรถไชยทอดพิมานบัลลังก์ (เหมพิมานบรรยงก์) เรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุขทอดจัตุรมุขพิมาน เหล่านี้เป็นต้น เรือพระที่นั่งกิ่งจะมีทั้งพระที่นั่งกิ่งเอก มักเรียกเรือต้น เช่น เรือพระที่นั่งศรีสามรรถไชยหรือศรีสมรรรถไชย



ภาพเรือต่างๆ ในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา
วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗


นายนิยม กลิ่นบุบผา เขียนอย่างลักษณะไทย และรูปลักษณ์ที่ควรจะเป็น


นายนิยม กลิ่นบุบผา เขียนอย่างลักษณะไทย และรูปลักษณ์ที่ควรจะเป็น

๒.เรือพระที่นั่งเอกไชย เป็นเรือพระที่นั่งที่มีศักดิ์เป็นลำดับสองรองจากเรือพระที่นั่งกิ่ง ในตำราเรือโบราณกล่าวไว้ว่า “เรือพระที่นั่งเอกไชยเป็นเรือโบราณกล่าวไว้ว่า “เรือพระที่นั่งเอกไชย เป็นเรือที่มีรูปลักษณ์ ลวดลายงามที่สุดในขบวนเรือพยุหยาตรา จะเป็นรองก็แต่เรือพระที่นั่งกิ่งเท่านั้น” จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเรือพระที่นั่งเอกไชยน่าจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายใกล้เคียงกับเรือพระที่นั่งกิ่งมากที่สุด เพียงแต่มีขนาดรองลงมา การผูกลายประดับแสดงฐานานุศักดิ์รองลงมาจากเรือพระที่นั่งกิ่งเท่านั้น และเรือเอกไชยนี้น่าจะมาจากเรือไชยเดิม แต่เมื่อประดับให้งดงามขึ้นจึงเป็นเรือไชยเอกแล้วเรียกเรือเอกไชย แม้เป็นเรือพระที่นั่งก็เรียกเรือพระที่นั่งเอกไชยตามที่ชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในภาพที ๕ ลำบนน่าจะเป็นเรือไชยลำล่างน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งเอกไชยหรือเรือพระที่นั่งกิ่งรอง

เรือพระที่นั่งเอกไชยนี้ มี ๒ ประเภท ได้แก่เรือพระที่นั่งเอกไชยใหญ่และเรือพระที่นั่งเอกไชยน้อย เรือพระที่นั่งเอกไชยน้อยนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงในการเสด็จประพาสเมืองสาครบุรี เพื่อทรงเบ็ดแล้วเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางเสด็จฯ ที่คลองโคกขาม ทำให้พันท้ายนรสิงห์ต้องโทษประหารชีวิต

๓.เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์ คือ เรือพระที่นั่งที่โขนเรือมีรูปสัตว์หิมพานต์ประดับอยู่ เช่น เรือพระที่นั่งโขนมีรูปครุฑ รูปนาค และรูปหงส์ประดับอยู่ ซึ่งปัจจุบันเรียกเรือพระที่นั่งเหล่านี้ว่าเรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพระที่นั่งลักษณะนี้ ในหนังสือตำราเรือของเก่าเรียก หินครุฑ หินหงส์ ในที่เดียวกันนั้นก็กล่าวถึงทินกิ่งด้วย แสดงให้เห็นชัดว่า หินครุฑ หินหงส์ ไม่ใช้หินกิ่ง อีกทั้งเรือโขนรูปสัตว์นี้ พัฒนาขึ้นมาจากเรือแซ (มาจากคำว่า เซ หมายถึงเรือแม่น้ำ) ของเก่าแต่เรือกิ่งและเรือเอกไชยพัฒนาขึ้นมาจากเรือไชยของเดิม เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์นี้ ในสมัยอยุธยามักมีเป็นคู่ เช่น เรือไชยสุพรรณหงส์คู่กับเรือวรสุพรรณหงส์ เรือนาคจักรคฑาทองคู่เรือนาคถของรัตน์ เหล่านี้เป็นต้น และมักใช้เชิญพระราชสาสน์และใช้เป็นเรือพระที่นั่งรองในขบวน

เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์เหล่านี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มักสร้างอย่างละลำ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ สร้างเรือโขนรูปนาคเจ็ดเศียร ขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นกว่าของโบราณ โดยมีขนาดความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง สมัยรัชกาลที่ ๕ สร้างเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ ซึ่งเรือแบบนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่าเป็นเรือที่ได้รูปแบบมาจากเขมร ขยายให้มีความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง  สมัยรัชกาลที่ ๖ สร้างเรือโขนรูปหงส์ ให้มีขนาดความยาวเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง สมัยรัชกาลที่ ๙ สร้างเรือโขนรูปนารายณ์ทรงครุฑ ขยายขนาดความยาวให้เท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง ทำให้เข้าใจว่าเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ความจริงเรือพระที่นั่งกิ่งไม่ได้ใช้ขนาดของเรือเป็นกฎเกณฑ์ แต่ใช้รูปลักษณะและลวดลายเป็นกฎเกณฑ์ รวมถึงมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดด้วย



ภาพเรือพระที่นั่งรองในขบวน ในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา
วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗


นายนิยม กลิ่นบุบผา เขียนอย่างลักษณะไทย และรูปลักษณ์ที่ควรจะเป็น

๔.เรือพระที่นั่งศรี คือ เรือที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายแล้ว มีรูปลักษณะอย่างเดียวกับเรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ก็ควรเป็นเรือพระที่นั่งศรีด้วย  เรือพระที่นั่งศรีนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระราชดำริว่า “เรือศรีจะหมายความว่าอย่างไร สิริ หรือสีเขียว สีแดง นึกว่าไม่ใช่สิริ เพราะมีเรือศรีสักหลาดเป็นคู่เทียบอยู่ แม้ว่าสีแดงเขียวก็ยังเป็นไปได้อีกสองทาง คือ ลำเรือทาสีอย่างหนึ่ง หลังคาคาดสีอีกอย่างหนึ่ง และที่ชื่อว่าเรือศรีนั้น จะเป็นอย่างเดียวกับเรือศรีสักหลาดหรือมิใช่ คาดดูน่าจะหมายถึงหลังคาดาดสีเสียแหละมาก เพราะเป็นยศอยู่ที่หลังคา เช่นกลอนว่า ทรงพระวอช่อฟ้าหลังคาสี อันชื่อว่าเรือศรีสักหลาดนั้น บอกชัดว่าเป็นผ้าศรีก็มีทางอย่างเดียว แต่หุ้มหลังคาจะเป็นได้หรือไม่ว่าก่อนโน้นคาดสีหลังคาด้วยผ้าทำในเมืองไทย มีผ้าแดงยอ เป็นต้น ซึ่งเป็นสีแดงมัว ครั้นมีสักหลาดเข้ามาสีสดใส จึงเปลี่ยนใช้สักหลาดคาดหลังคาแทนผ้าเมืองไทย ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นได้หรือไม่ว่า ถ้าคาดหลังคาด้วยผ้าเมืองไทยจะเรียกว่าเรือสี แม้คาดหลังคาด้วยผ้าสักหลาด ซึ่งมาแต่นอกจะเรียกว่าเรือศรีสักหลาด ข้อที่จะหมายถึงเรือทาสีนั้นเห็นห่างไกลอยู่มาก

แนวพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ชวนให้น่าคิดพิจารณาอยู่มาก แต่เรือพระที่นั่งศรีนี้ ในบัญชีของเรือพระที่นั่งศรี ปรากฏว่ามีหลายชนิดด้วยกัน เช่น เรือพระที่นั่งศรีประกอบ เรือพระที่นั่งศรีเขียน เรือพระที่นั่งศรีเขียนทอง เรือพระที่นั่งศรีประดับกระจกลายยา จากในบัญชีของเรือพระที่นั่งศรีของนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี นี้ ปรากฏเรือพระที่นั่งศรีประกอบ หมายถึงแกะสลักลายเข้าประดับปิดทองประดับกระจก เรือพระที่นั่งศรีเขียนทองก็คือเขียนลายรดน้ำ พระที่นั่งศรีประดับกระจกลายยา คือ ปิดทองพื้นผิวด้านนอกของเรือและขุดลายอย่างลายฝังมุก แล้วประดับกระจกลงในหลุมลาย ดูได้จากทวนเรือเอนกชาติภุชงค์ เมื่อลำเรือวิจิตรแพรวพราวดังนี้ หลังคาจะมีแค่เพียงคาดผ้าสีเห็นจะไม่เข้ากัน และไม่เหมาะสมจะเป็นเรือพระที่นั่งด้วย เพราะหลังคากัญญาเรือและคฤห์เรือขุนนาง ยังมีลายที่ทรงอ้างถึง สีผ้าสักหลาดนั้น อาจจะหมายถึง เดิมผ้าพื้นลาย อาจเป็นผ้าไทยอย่างแนวพระดำริจริง ภายหลังใช้สักหลาดก็จริงอีก แต่คงจะไม่ได้หมายความว่าเป็นผ้าสีไทยหรือผ้าสักหลาดเกลี้ยงๆ ตามธรรมดาคนไทยและยิ่งเป็นช่างด้วยแล้ว มักไม่พูดประโยคยาว รู้กันอยู่ว่าหลังคาประทุนกัญญาเรือพระที่นั่งมีลาย แต่ผ้าเดิมเป็นผ้าสีอย่างไทย เมื่อมีสักหลาดเข้ามาและเพิ่งเริ่มใช้ลำแรกในจำนวนเรือพระที่สีหลายลำ ช่างจึงมักเรียกเรือศรีสักหลาดสั้นๆ เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ช่าง ต่อมาเลยเรียกกันแพร่หลายขึ้นจนเข้าใจว่าเป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำนั้น แท้จริงเรือพระที่นั่งศรีที่ใช้ผ้าสักหลาดลำนั้น น่าจะมีชื่อเฉพาะอยู่ แต่ด้วยเรือศรีมีหลายแบบลวดลาย เช่น ศรีประกอบ ศรีเขียนทอง ศรีกระจกลายยา ถามถนัดปากของช่าง จะเรียกศรีสักหลาดอีกลำหนึ่งจะเป็นไรไป หากความจริงเป็นดังที่ได้วิเคราะห์มานี้ คำว่าศรีก็น่าจะหมายถึงสิริดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เข้าพระทัย และพระองค์เคยเสด็จไปเขมรได้ทอดพระเนตร เห็นเรือชาวบ้านที่ชาวเขมรใช้กันในท้องน้ำเมืองเขมรมีรูปลักษณะอย่างเดียวกับเรือที่ปัจจุบันเรียกเรือดั้ง มีรูปทรงอย่างเดียวกับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งศรีนี้เดิมทอดพระแท่นกัญญา ซึ่งกัญญานั้น หมายถึงนางงาม นางสาวน้อย ก็น่าจะเป็นเรือที่เจ้านายฝ่ายในทรง หากเรือพระที่นั่งกิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรง หมายถึง พระอิศวรทรงเรือพระที่นั่งหงส์ หมายถึงพระพรหมทรงเรือพระที่นั่งครุฑ หมายถึงพระนารายณ์ทรงแล้วละก็ เรือพระนั่งศรี หมายถึงพระศรีหรือพระลักษมีทรงก็จะลงกันได้พอดี ตรงตำแหน่งเจ้านายฝ่ายในอีกด้วย



โขนเรือรูปม้า หัวเรือรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ปรากฎในกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค
สมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ พบที่พระนครศรีอยุธยา
(ภาพจากพิพิธภัณฑ์จันทรเกษม จ.พระนครศรีอยุธยา - ๖ สิงหาคม ๒๕๕๙)

๕.เรือพระที่นั่งกราบ เป็นลักษณะเรือไทยไม่มีภาพประดับโขนเรือและมีขนาดเล็กกว่าเรือพระที่นั่งประเภทอื่น ลักษณะเด่นคือ ไม้กระดานทวนหัว ทวนท้ายตัด ไม่สูงอย่างเรือศรี เรือกราบนี้หากเป็นเรือเหล่าแสนยากร คือ เรือขุนนาง ข้าราชการแล้ว จะไม่มีลวดลาย เป็นเรือทาน้ำมันเฉยๆ แต่เรือพระที่นั่งกราบจะมีลวดลายหรือไม่ ไม่เหลือหลักฐานทางวัตถุ เพราะปัจจุบันไม่มีเรือพระที่นั่งกราบ แม้ชิ้นส่วนชำรุดก็ไม่ปรากฏให้เห็น แต่ด้วยเป็นเรือพระที่นั่งอย่างน้อยก็ควรจะทาสี ถ้าอย่างดีควรจะเขียนลายทองบางส่วน เรือพระที่นั่งกราบนี้ ว่ากันว่า ทอดพระที่นั่งกง เป็นลักษณะโถงซึ่งบางครั้งก็เรียกเรือพระที่นั่งโถงด้วย หากเป็นดังว่าก็จะต้องกั้นพระกลดและบังสูรย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เรือก็คงจะเรียบเกลี้ยงไม่ได้ เพราะไม่รับกับพระที่นั่งกง พระกลดและบังสูรย์ หากไม่มีพระกลดและบังสูรย์ พระมหากษัตริย์ก็จะต้องตากแดด ยิ่งเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่ง

เรือพระที่นั่งกราบนี้ ปัจจุบันพอจะเห็นเค้าโครงรูปร่างลักษณะได้ คือ ภาพเขียนสีผนังพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระยาอนุศาสตร์จิตรกร เขียนเรื่องพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวร ตอนทรงเรือพระที่นั่งพายตามจับพระยาจีนจันตุ ในภาพเห็นหัวเรือกราบห้อยพู่ หัวเรือน่าจะเป็นเรือพระที่นั่งทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่มีรับสั่งให้ฝีพายนำเรือพระที่นั่งของพระองค์เข้าบังเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร ด้วยเกรงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะได้รับอันตรายจากศัตรู ถัดจากเรือที่เข้าใจว่าจะเป็นเรือพระที่นั่งทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ห่างออกไปยังมีเรือกราบอีก ๒ ลำ และเรือพระที่นั่งกราบในภาพนี้ ทอดพระแท่นกัญญา ทั้งผ้าม่าน ผ้าดาษหลังคาและผ้าจั่วเป็นลักษณะผ้าลายทองแผ่ลวด

จึงมีหลักสังเกตรูปลักษณะของเรือพระที่นั่งประเภทต่างๆ ดังนี้
๑.เรือพระที่นั่งกิ่ง มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือเอกไชย แต่มีขนาดใหญ่ยาวกว่า และมีความสวยงามยิ่งกว่าเรือเอกไชย และเรือพระที่นั่งเอกไชย
๒.เรือพระที่นั่งเอกไชย มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือไชย แต่มีขนาดใหญ่ยาวและงดงามเป็นเอกกว่าเรือไชยอื่นๆ จึงเรียกเรือไชยเอกหรือเรือเอกไชย
๓.เรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์ เช่น ทินครุฑ ทินหงส์ มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือแซ หรือเรือเซ คือเรือแม่น้ำของเดิมผสมผสานกับรูปแบบศิลปกรรมขอม เกิดเป็นเรือพระที่นั่งโขนรูปสัตว์หิมพานต์
๔.เรือพระที่นั่งศรี มีการพัฒนารูปแบบมาจากเรือเขมรตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย
๕.เรือพระที่นั่งกราบ เป็นแบบเรือไทย พัฒนาจากเรือมาดที่ชาวบ้านใช้

ก็พอจะเข้าใจรูปร่างลักษณะของเรือพระที่นั่งต่างๆ และอาจสามารถแยกแยะรูปแบบชนิด ประเภทการใช้งาน การวางตำแหน่งในริ้วขบวน ตลอดจนฐานานุศักดิ์ของเรือได้





สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย   งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์   ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

จาก กาพย์เห่เรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
มรดกเรือพระราชพิธี
(Heritage of the Royal Barges)

“พิพิธภัณฑสถาน” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “พิพิธ” แปลว่า ต่างๆ “ภัณฑ์” แปลว่า สิ่งของเครื่องใช้ และ “สถาน” แปลว่า ที่ตั้งหรือแหล่ง  ราชบัณฑิตยสถานของไทยให้ความหมายว่า “สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ” สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ (International Council of Museums หรือ ICOM) ให้ความหมายว่า “สถาบันหรือองค์กรให้บริการและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ตั้งขึ้นอย่างถาวรโดยไม่แสวงหากำไร เปิดกว้างสำหรับสาธารณะ มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงวัตถุที่เป็นหลักฐานเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จุดหมายเพื่อการเรียนรู้ ให้การศึกษา และความเพลิดเพลิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีสำคัญๆ ตามโบราณราชประเพณีหลายอย่าง ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานมีสองพระราชพิธีคือ พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค และพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เริ่มจากการเสด็จฯ ทอดพระเนตรโรงเก็บเรือพระราชพิธี บริเวณปากคลองบางกอกน้อย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงมีพระราชดำริให้ ๓ หน่วยงาน คือ กองทัพเรือ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ร่วมกันอนุรักษ์เรือที่มีสภาพทรุดโทรม พร้อมฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินทางชลมารคในพุทธศักราช ๒๕๐๒

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เดิมเป็นโรงเก็บเรือรบและเรือพระที่นั่ง อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ เมื่อคราวเกิดสงครามโลกครั้ง ๒ โรงเก็บเรือและเรือพระราชพิธีถูกระเบิดได้รับความเสียหาย และในปีพุทธศักราช ๒๔๙๐ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซมดูแลรักษาเรือพระราชพิธีที่มีประวัติความสำคัญมาแต่โบราณ ที่ยังคงความสวยงามจากฝีมือช่างอันล้ำเลิศและทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม ประการสำคัญยังสามารถนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเรือพระที่นั่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่มีแห่งเดียวในโลก

กรมศิลปากรได้ดำเนินการซ่อมแซมเรือพระราชพิธีเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อการศึกษาแล้ว จึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระราชพิธีต่างๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมกับยกฐานะโรงเก็บเรือขึ้นเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้นมา โดยจัดแสดงเรือพระที่นั่ง ๔ ลำ และเรือสำคัญในพระราชพิธี ๔ ลำ พร้อมเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ เรือพระราชพิธี มีพื้นที่จำกัด สามารถจัดแสดงเรือพระราชพิธีที่นั่งได้เพียง ๘ ลำ จากเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จำนวน ๕๒ ลำ ซึ่งประกอบไปด้วยเรือรูปสัตว์ ๖ ลำ นำไปฝากเก็บไว้ที่ท่าวาสุกรี เรือดั้ง เรือแซง จำนวน ๓๘ ลำ เก็บรักษาไว้ที่แผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กองทัพเรือ เป็นผู้ดูแลรักษา

เรือพระราชพิธี
เรือพระราชพิธีคือเรือที่สร้างขึ้นสำหรับใช้ในกิจการของราชสำนักหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ใช้เป็นเรือรบยามศึกสงคราม เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีและโอกาสสำคัญต่างๆ ลำเรือจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่และยาวกว่าเรือทั่วไป ใช้พายแล่นกินน้ำตื้น บรรจุคนได้จำนวนมาก โขนเรือ (หัวเรือ) นิยมทำเป็นรูปลักษณ์ในตำนานปรัมปรา บางครั้งเรียกรวมๆ กันว่า “เรือรูปสัตว์” ลักษณะเรือเช่นนี้ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น รูปนูนบนกลองมโหระทึกสำริด พบหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมามีหลักฐานการใช้เป็นเรือสัญจรสำหรับผู้สูงศักดิ์และเรือรบ เช่น ภาพสลักบนทับหลังเหนือกรอบประตูหนึ่งของปราสาทพิมาย นครราชสีมา (พุทธศตวรรษที่ ๑๗) ภาพสลักหินบนผนังระเบียงปราสาทบายน เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) สันนิษฐานว่า เรือพระราชพิธีของไทยอาจมีต้นแบบมาจากเรือดังกล่าว

กระบวนเรือพระราชพิธีของไทย ที่มีความยิ่งใหญ่อลังการงดงามตระการตาอย่างหากระบวนเรือใดเทียบเทียมได้ ปรากฏแก่สายตาชาวต่างชาติเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พุทธศักราช ๒๑๙๙-๒๒๓๑) กล่าวคือ
๑.เรือแต่ละลำทำจากซุงท่อนเดียว ลำยาวและแคบ บางลำจุฝีพายได้มากกว่า ๑๐๐ คน แล่นได้รวดเร็วแม้กระทั่งทวนกระแสน้ำ
๒.เรือแต่ละลำแกะสลักตกแต่งและปิดทองประดับกระจกงามจับตา ส่วนใหญ่มีโขนเรือบ่งบอกลักษณะที่เรียกว่า “เรือรูปสัตว์”
๓.กระบวนเรือเป็นระเบียบ มีความพร้อมเพรียง สอดประสานกันทั้งการพายและการร้องเห่เรือ

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๓๑๐ เรือพระราชพิธีได้รับความเสียหายเกือบหมด แม้ว่ามีการสร้างขึ้นใหม่อีกหลายลำหลังจากการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แต่เรือส่วนใหญ่ถูกทำลายในคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พุทธศักราช ๒๔๘๒-๒๔๘๘)

ต่อมาสำนักพระราชวัง กองทัพเรือและกรมศิลปากรได้อนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานการสร้างเรือพระราชพิธี รวมทั้งแบบแผนขบวนพยุหยาตราชลมารคสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบัน ไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ กล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในโลกที่ธำรงไว้ซึ่งราชประเพณีว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำด้วยเรือของสถาบันพระมหากษัตริย์จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

เรือพระราชพิธีที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ จำนวน ๘ ลำ ได้แก่
๑.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
๒.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
๓.เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
๔.เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
๕.เรือครุฑเหิรเห็จ
๖.เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
๗.เรืออสุรวายุภักตร์
๘.เรือเอกไชยเหินหาว

3034  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / ต้นตระกูลหมาสิงห์โต หรือ หมาปักกิ่ง เมื่อ: 25 สิงหาคม 2559 18:15:10


ต้นตระกูลหมาสิงห์โต หรือ หมาปักกิ่ง

หมาสิงห์โต (Lion dogs) ตัวกระจ้อยร่อย ขนยาวรุงรังที่เราเรียกกันว่า “หมาปักกิ่ง” แม้ตัวมันจะกระจิริด แต่ใจเติบกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวนัก สมกับที่เป็นสุนัขของจักรพรรดินีจีนในสมัยโบราณ ประวัติและความเป็นมาของต้นตระกูลมันก็พิลึกกึกกือเป็นที่สุด

ในปี ๑๘๖๐ เมื่อกองทหารอังกฤษและกองทหารฝรั่งเศสบุกนครปักกิ่ง อันเนื่องมาจากกรณีพิพาททางการค้านั้น ทหารจีนสู้รบป้องกันนครหลวงของตนด้วยสรรพาวุธบรรดามีอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่อาจต่อกรกับอาวุธสมัยใหม่ เช่น ปืนไรเฟิล และปืนใหญ่ของชาติมหาอำนาจผิวขาวได้ ก็แตกพ่ายกระเจิงไป องค์จักรพรรดิเสด็จหนีจากนครหลวง ทิ้งพระราชวังและทรัพย์สินเหลือคณนานับไว้เบื้องหลัง ทหารผิวขาวบุกเข้าไปในพระราชวังอันเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิอย่างเหิมเกริม ไม่ประสบพบใครในวังเลยสักคนเดียว บุกไปจนกระทั่งถึงห้องๆ หนึ่งซึ่งกั้นไว้ด้วยม่านไม้ไผ่อันวิจิตรก็แหวกม่านมองเข้าไป

ภายในห้องอันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ องค์จักรพรรดินีบรรทมอยู่กลางกองเลือด ฉลองพระองค์ชุ่มโชกด้วยพระโลหิต พระนางทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม นายทหารผิวขาวทั้งหลายยืนสงบนิ่ง เป็นการถวายความคารวะแก่จอมนารีผู้กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว นายทหารคนหนึ่งก้าวเข้าไปในห้อง แต่ก็ต้องถอยออกมาโดยพลัน สุนัขหน้าหัก ตัวกระจ้อยร่อย ขนยาว ๕ ตัว ยืนแยกเขี้ยวขู่คำรามล้อมพิทักษ์พระบรมศพของปิ่นนารีผู้เป็นนายของมันอยู่ สุนัขน้อย ๕ ตัวนี้ตัวหนึ่งชื่อลูท ได้ถูกนำไปถวายควีนวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ

หมาสิงห์โตหรือหมาปักกิ่งมีบทบาทอยู่ในราชสำนักจีนอักโขอยู่ บางตัวได้รับพระราชทานตำแหน่งเสนาบดี บางตัวได้รับบรรดาศักดิ์เป็นชั้นดยุ๊คก็ยังมี กษัตริย์จีนสมัยโบราณทรงโปรดปรานสุนัขพันธุ์นี้จนออกจะเลยเถิด จักรพรรดิ์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า หลิงไถ่ ถึงกับพระราชทานตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์แก่สุนัขปักกิ่งตัวหนึ่ง  เจ้าสุนัขน้อยตัวนั้นคงไม่ชอบใจที่จะต้องสวมหมวกยศประจำตำแหน่ง ซึ่งสูงเกือบฟุต และกว้าง ๑ ฟุต บนหัวน้อยๆ ของมันแน่

ทีนี้เรามาฟังพื้นเพต้นตระกูลเดิมของเจ้าหมาสิงห์โตกันดูบ้าง

อดีตกาล นานแสนนานมาแล้ว สิงห์โตแสนสุภาพตัวหนึ่งตระเวนร่อนเร่อยู่ในป่าดงพงไพรของประเทศเกาหลี สิงห์ตัวนี้กำลังหนุ่มฉกรรจ์   อยู่มาวันหนึ่ง สิงห์หนุ่มเห็นลิงมาโมเซ็ทสวยงามตัวหนึ่ง ก็เกิดรักใคร่นางวานรขึ้นมาอย่างแรง นางมาโมเซ็ทนั่นก็รักตอบ แต่รักของมันทั้งสองออกจะมีปัญหายุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องขนาดที่ผิดกันลิบลับ สิงห์ตัวนั้นมีสหายคนหนึ่งเป็นนักพรตในพุทธศาสนาซึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำแถบนั้น นักพรตผู้นี้เชี่ยวชาญในเวทย์มนต์กลคาถา รู้ภาษาสัตว์ทุกชนิด สิงห์โตก็นำเรื่องของตนไปเล่าสูสหายเฒ่าฟัง ขอให้ตะแกช่วยเหลือ

“แกรักเจ้ามาโมเซ็ทอันต่ำศักดิ์อย่างจริงใจ จนยอมที่จะต้องเผชิญกับความเสื่อมเกียรติเพื่อนางหรือ?” นักพรตชราถาม
“ข้ารักนางด้วยใจจริง” สิงห์โตว่า
“ถ้างั้นเจ้าจะยอมสูญเสียอำนาจความเป็นเจ้าป่าและกลายสภาพเป็นสัตว์ตัวกระจิริดเพื่อนางไหม?”
“ข้ายอม” สิงห์หนุ่มตอบอย่างหนักแน่น

นักพรตชราผู้เรืองฤทธิ์เห็นใจในรักแท้ของมัน จึงสำรวมจิตตั้งสมาธิร่ายพระเวทย์อันศักดิ์สิทธิ์ เป่าพรวดลงที่หัวสิงห์โต

อะโห! ดูนั่นซิ ร่างของสิงห์เจ้าป่าตัวมหึมาหดเล็กลงทุกทีๆ ในที่สุดก็มีขนาดเท่ากับนางลิงมาโมเซ็ทตัวนั้น

สิงห์น้อยผงกศีรษะกระทำคารวะนักพรตเฒ่าแล้วก็กระโจนเข้าป่าไปหานางวานรแสนโสภาผู้เป็นขวัญใจทันที

สิงห์น้อยผู้มั่นในรักแท้ เสพสุขกับนางวานรมาโมเซ็ทคู่ชีวิตจนกระทั่งสุดท้ายแห่งชีวิตมาถึง ลูกของมันที่เกิดมามีขนาดเท่ามาโมเซ็ทผู้เป็นแม่ แต่ได้เลือดกล้าและความสง่าองอาจจากสิงห์ผู้พ่อ นี่คือต้นตระกูลของหมาสิงห์โต (Lion dogs) หรือนัยหนึ่งหมาปักกิ่ง (Pekingese) แห่งมหาอาณาจักรจีนซึ่งสืบพันธุ์ติดต่อกันมาจนกาลบัดนี้.


โดย จารึก จตุรภุช
3035  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: เรื่องแมวๆ เมื่อ: 25 สิงหาคม 2559 17:30:00

   แมวกวัก

จากบทความเสริมความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่น โรงเรียนสอนภาษาเจซีซี เขียนถึง แมวกวัก ว่า มาเนะคิเนโคะ (Manekineko) คือชื่อของแมวกวักที่ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าจะนำความสุข โชคลาภ ทรัพย์สินเงินทองมาให้

จากความเชื่อดังกล่าว จึงพากันนำมาเนะคิเนโคะมาทำเป็นตุ๊กตาแมวตั้งไว้ในบ้าน โดยเฉพาะในร้านค้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้การค้าขายดีเจริญร่ำรวย

ประวัติเป็นมาของแมวกวัก ค้นพบว่าปรากฏขึ้นครั้งแรกในตอนปลายสมัยเอโดะ (ค.ศ.๑๖๐๓-๑๘๖๗) โดยพบจากหลักฐานเอกสารที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปี ๑๘๗๐ (ยุคเมจิ) ซึ่งระบุว่า มีการแจกแมวกวักในศาลเจ้าแห่งหนึ่งที่เมืองโอซากา และมีการลงโฆษณาเกี่ยวกับแมวกวักในหนังสือพิมพ์เมื่อปี ๑๙๐๒ ด้วย

ส่วนลักษณะของแมวกวัก สันนิษฐานว่ามีที่มาจากท่าทางของแมวที่ทำความสะอาดหน้าตนเองก่อนฝนจะตก เนื่องจากธรรมชาติของแมวมักกระวนกระวายเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มันจึงใช้เท้าป้ายไปตามหน้าตา

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดความเชื่อต่างๆ อาทิ จีนมีความเชื่อว่าเมื่อแมวล้างหน้า ฝนจะตก ขณะที่ญี่ปุ่นเชื่อว่าใครเห็นแมวทำความสะอาดหน้า จะมีแขกมาหา จึงทำให้มีความเชื่อต่อไปอีกว่า หากเห็นแมวทำความสะอาดหน้าของตนเองเมื่อไหร่ จะมีลูกค้าเข้าร้าน นี่จึงอาจเป็นต้นกำเนิดของมาเนะคิเนโคะ

เชื่อกันอีกว่า หากมาเนะคิเนโคะ กวักขวา หมายถึงโชคลาภ เงินทอง, กวักซ้าย หมายถึงโชคดีด้านการงาน ความรัก, กวักทั้งสองข้าง หมายถึงโชคดีสองเด้ง คือได้ครบหมดทั้งการเงิน การงาน ความรัก

นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออีกว่า ถือลูกแก้ว หรือ แมวพนมมือ หมายถึง การขอพร, ถือถุง หมายถึง ร่ำรวยเงินทอง เก็บตังค์อยู่ ค้าขายเจริญก้าวหน้า, ถือปลา หมายถึง รวยๆ, ถือมะเขือ หมายถึง ปราศจากโรคภัย และ ความโชคดี

มีเรื่องเล่าขานตำนานแมวกวักอยู่ ๓ เรื่อง คือ

เรื่องแรก เศรษฐีคนหนึ่งบังเอิญไปหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใกล้กับวัดโกโตกุจิ วัดนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ในขณะที่หลบฝนอยู่นั้น ได้เห็นแมวตัวหนึ่งกวักเรียกเชื้อเชิญให้เข้าไปในวัด และเมื่อเศรษฐีเดินเข้าไป ทันใดฟ้าก็ผ่าลงที่ต้นไม้นั้น เศรษฐีเชื่อว่ารอดตายมาได้เพราะแมวกวักเรียกเขา ด้วยสำนึกในบุญคุณจึงบูรณะวัดให้กลับมางดงาม และเมื่อแมวตัวนั้นตายลง เขาก็ได้สร้างมาเนะคิเนโคะขึ้นด้วยความเคารพระลึกถึง

เรื่องที่ ๒ มีโสเภณีชื่ออึสุกุโมะ เธอเก็บแมวตัวหนึ่งมาเลี้ยงด้วยความรัก ดูแลทะนุถนอมเป็นอย่างดี คืนหนึ่ง แมวตัวนั้นดึงชุดกิโมโนของเธอ แต่เธอก็ไม่ได้ว่าอะไร นานวันไปแมวตัวนั้นยังทำพฤติกรรมเหมือนเดิมจนเจ้าของสำนักเห็น และเชื่อว่ามันเป็นแม่มด จึงตัดหัวมัน หัวของแมวกระเด็นไปถึงเพดานไปกระแทกงูที่ซ่อนอยู่บนเพดานตาย

อึสุกุโมะเศร้าโศกเสียใจมาก จนลูกค้าคนหนึ่งเห็นใจ ให้ของขวัญเธอเป็นแมวที่เขาแกะสลักขึ้น เชื่อกันว่าแมวนั้นคือมาเนะคิเนโคะ

เรื่องที่ ๓ หญิงชราคนหนึ่งมีฐานะยากจนมาก แต่ก็พยายามเจียดอาหารเท่าที่มีแบ่งเลี้ยงแมวที่รัก แต่วันหนึ่งไม่สามารถเลี้ยงแมวตัวนั้นต่อไปได้อีก จึงนำมันไปปล่อย คืนนั้นเธอนอนร้องไห้ด้วยความเศร้าโศกเสียใจจนหลับไป แมวตัวนั้นมาเข้าฝันบอกให้ปั้นรูปแมวด้วยดินเหนียว เมื่อเธอตื่นขึ้นมาและปั้นตามความฝัน ในวันนั้นมีแขกมาหาและขอซื้อแมวตัวนั้นไป

ยิ่งหญิงชราปั้นแมวมากเท่าใด ก็มีคนมาขอซื้อมากขึ้นเท่านั้น จนที่สุดก็มีเงินมากพอที่จะเลี้ยงแมวที่รักตลอดไป

ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสีของมาเนะคิเนโคะด้วยว่า แมวลำตัวสีขาว มีจุดดำอยู่บนพื้นสีส้ม เป็นสีแห่งโชคลาภ และเป็นที่นิยมมากที่สุด ลักษณะคล้ายคลึงกับ Japanese Bobtall Cat หรือแมวหางกุดสายพันธุ์โบราณของญี่ปุ่น

ส่วน แมวกวักสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์, สีดำ มีความหมายเกี่ยวกับ สุขภาพดี ขับไล่สิ่งชั่วร้าย, สีทอง มั่งคั่งร่ำรวย, สีแดง เป็น สีแห่งความคุ้มครอง ป้องกันปีศาจร้าย และความเจ็บป่วย, สีเขียว จะนำพาความสำเร็จในด้านการศึกษา,

สีชมพู สีนี้ที่ไม่ได้มีมาแต่ดั้งเดิม แต่เป็นที่นิยมว่าจะให้โชคเกี่ยวกับความรัก และสีม่วง ให้พลังแห่งศิลปะ
...ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3036  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: คุณค่าของพืชผักในครัวไทย เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 17:50:48

หัวผักกาด แห่งวิตามินซีที่ไม่เปรี้ยว

หัวผักกาด หรือ CHINESE RADISH RAPNANUS SATIVUS LINN. อยู่ในวงศ์ BRASSICACEAE มีวิตามินซีสูงกว่าแอปเปิ้ลและสาลี่ถึง 10 เท่า จัดเป็นแหล่งวิตามินซีที่ไม่มีรสเปรี้ยวถ้ากินสด แต่หากนำไปผ่านความร้อนวิตามินซีจะไม่เหลือเลย กินสดขูดเป็นฝอยราดน้ำสลัด ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคสูง ช่วยทำให้กระเพาะอาหารลำไส้บีบตัวได้ดี มีสารฆ่าเชื้อโรคบางชนิด มีฤทธิ์แก้ไอ ขับเสมหะและชะล้างฝุ่นจากภายใน “หัวผักกาด” สด 1 หัว ปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ปั่นผสมน้ำผึ้งพอประมาณจนละเอียด ใส่โหลเก็บตู้เย็นกินก่อนนอนครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ทั้งน้ำและเนื้อ สามารถแก้โรคริดสีดวงทวาร ที่เพิ่งเริ่มมีอาการใหม่ๆให้หายได้ มีหัวสดขายทั่วไป


ฟักทอง คลังแห่งสารอาหาร

ฟักทอง หรือ CUCURBITA PEPO LINN. อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลาง อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีน ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการนำ ไปสร้างวิตามินเอเพื่อลดโอกาสการเกิดมะเร็ง เนื้อ “ฟักทอง” ไม่เป็นอริต่อสุขภาพมนุษย์ ทั้งโซเดียมและคอเลสเทอรอล หากกินทั้งเปลือกจะกระตุ้นการหลั่งของอินซูลินช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต บำรุงตับ ไต นัยน์ตา ควบคุมสมดุลร่างกาย ช่วยสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายได้ เมล็ด “ฟักทอง” ร้อยละ 40 เป็นไขมัน มีกรดอะมิโนบางชนิดป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากผู้ชายโตหรือใหญ่ขึ้น ปรับระดับฮอร์โมนเพศชายที่ได้จากลูกอัณฑะให้อยู่ในระดับปกติ เมล็ด “ฟักทอง” มีฟอสฟอรัสสูง ซึ่งสารดังกล่าวออกฤทธิ์ขับพยาธิตัวตืดดีมาก


หัวหอมแดง ดับพิษไฟ น้ำร้อนลวก

เวลามีใครถูกไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวกตามร่างกาย แต่ไม่ใช่ว่าถูกไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวกมากมาย ทำให้เกิดปวดแสบปวดร้อนแทบทนไม่ไหว ในยุคสมัยก่อน หมอยาพื้นบ้านมีวิธีช่วยได้โดย ให้เอา “หัวหอมแดง” ที่ใช้ปรุงอาหารหาได้ในครัวเรือน ตำละเอียดพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือถูกน้ำร้อนลวก จะช่วยดับพิษปวดแสบ ปวดร้อนให้หายได้ทันทีแบบเหลือเชื่อ

หัวหอมแดง หรือ ALLIUM ASCALONI-CUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE มีขายทั่วไป คุณค่าทางอาหารให้แคลเซียมและฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่เหมาะสมกับการดูดซึมของร่างกาย มีเบต้าแคโรทีน และยังมีสารจำพวก “ฟลาโวนอยด์” โดยเฉพาะ “เควอซิทีน” ที่เป็นเกราะป้องกันมะเร็งให้กับคนได้ เหมือนกับที่พบใน ไวน์แดง ดังนั้นกิน “หัวหอมแดง” นอกจากจะได้ “ฟลาโวนอยด์” แล้วยังมีสารอาหารมากกว่า 10 ชนิด พร้อมด้วยกากใยอาหารสูงด้วย



มะกรูด  ทำยาทาแก้ปวดอักเสบ

สูตรดังกล่าว ให้เอาผล “มะกรูด” สด 10 ผล ผ่าครึ่งกับเหล้าขาว 40 ดีกรี 1 ขวด แล้วเอาผล “มะกรูด” ที่ผ่าไว้ดองกับเหล้าขาวหมดขวดในโหลแก้วปิดฝาทิ้งไว้ 15 วัน เมื่อครบกำหนดสามารถเปิดฝาใช้น้ำทาบริเวณที่เกิดอาการปวดหรืออักเสบตามร่างกายเนื่องจากทำงานหนักหรือเข่าอักเสบ แต่ไม่ใช่เกิดจากหัวเข่าเสื่อมกระดูกเสื่อมให้หายปวดได้ ใช้แล้วบิดฝาโหลแก้วเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดไม่อันตรายอะไร

มะกรูด หรือ LEECH LIME CITRUS HYSTRIN DC. อยู่ในวงศ์ RUTACEAE น้ำมีวิตามินซีใช้ถูฟันแก้โรคเลือดออกตามไรฟันดีมาก เปลือกผลปรุงเป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ผลดองเปรี้ยวหรือเค็มกินบำรุงโลหิตระดูสตรี มีต้นขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักรทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ผลมีขายตามตลาดสด



"กระเทียมโทน–น้ำมะนาว" คุมเบาหวาน เกาต์

สูตรดังกล่าวให้เอา “กระเทียมโทน” สดปอกเปลือกครึ่งกิโลกรัมกับ “น้ำมะนาว” คั้นจากผลสด 15-20 ผลแล้วปั่นรวมกันจนละเอียดใส่โหลแก้วปิดให้ดี หมักไว้ 15 วัน จากนั้นจึงเปิดกินหลังอาหารเย็นทุกวันครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะจนหมดโหล จะช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดหรือเบาหวานกับโรคเกาต์ให้ดีขึ้น หากกินแล้วถูกทางยา สามารถทำกินได้เรื่อยๆ แต่กินแล้วไม่ได้ผล หยุดกินได้เลยไม่มีอันตรายอะไร

กระเทียมโทน หรือ ALLIUM SATIVUM LINN. อยู่ในวงศ์ ALLIACEAE สรรพคุณลดไขมันในเส้นเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่ม ป้องกันหัวใจขาดเลือด ฯลฯ “น้ำมะนาว” หรือ LIME CITRUS AURANTIFOLIA (CHRISTM– PANZ) SWING อยู่ในวงศ์ RUTACEAE น้ำคั้นผลดองแห้งเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอดีมาก



สะระแหน่กลิ่นตะไคร้ หอมอร่อยมีสรรพคุณ

สะระแหน่กลิ่นตะไคร้ เป็นพืชผักกินได้ที่มีถิ่นกำเนิด จากประเทศเวียดนาม ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า MENTHA PULEGIUM อยู่ในวงศ์ LABIATAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มล้มลุกอายุหลายปี แตกกิ่งก้านเยอะ ลำต้นมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ต้นสูงประมาณครึ่งเมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีกว้าง ปลายใบเกือบมน โคนใบมน ก้านใบยาวไม่สั้นเหมือนสะระแหน่ไทย ผิวใบมีรอยย่นเหมือนกับใบสะระแหน่ทั่วไป ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวคือ กลิ่นจะหอมแรงคล้ายกลิ่นของต้นตะไคร้แกงที่นิยมปรุงอาหารทั่วไป

ซึ่ง “สะระแหน่กลิ่นตะไคร้” ดังกล่าว ชาวเวียดนามนิยมกินเป็นผักสดกับอาหารคาวหลายอย่าง โดยเฉพาะกินกับขนมจีนเวียดนาม จะเพิ่มกลิ่นหอมให้รับประทานอร่อยยิ่งขึ้น ใครที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศเวียดนามและชอบเดินตลาดเช้า จะพบว่า “สะระแหน่กลิ่นตะไคร้” ที่ว่านี้จะมีวางรวมกับผักสดชนิดต่างๆบนถาดให้ลูกค้าหยิบกินตามใจชอบ เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

ประโยชน์ของ “สะระแหน่กลิ่นตะไคร้” นอกจากใบและยอดอ่อนมีกลิ่นหอมรับประทานเป็นผักสดได้อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรเหมือนกับสะระแหน่ทั่วไปทุกอย่างคือ ใบมีกลิ่นหอมร้อนกินเป็นยาขับผายลม ขับเหงื่อ ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง ใบสดขยี้ดมกลิ่นช่วยลดอาการหืดหอบ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ใบแห้งชงกับน้ำร้อนดื่มช่วยย่อยอาหารได้ ใบสดขยี้ทาขมับแก้ปวดหัว แก้ลม ใบสดขยี้ทาบริเวณที่ฟกบวมช่วยให้ดีขึ้นระดับหนึ่ง มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 2 ราคาสอบถามกันเองครับ.

3037  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ อนามัย / Re: สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 17:48:48
.


“เหง้ากะทือ” ดูดพิษเข่าเสื่อม

ทุกอย่าง แบบแห้งน้ำหนักอย่างละ 30 กรัมเท่ากันดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ปิดฝาทิ้งไว้ 3 เดือน จากนั้นกรองเอาน้ำใช้สำลีชุบพอเปียก พอกหัวเข่าที่เพิ่งจะมีอาการใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นมานานแล้ว โปะไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำทุกวัน วันละครั้ง เวลาไหนก็ได้ตามสะดวกจนกว่าจะหาย นอกจากดูดพิษเข่าเสื่อมแล้วยังแก้ช้ำในอักเสบ ลดบวมได้ด้วย

กะทือ หรือ ZINGIBER ZERUMBET ขิง หรือ ZINGIBER OFFICINALE ROSC ผักเสี้ยนผี หรือ PLANISIA VICOSA ว่านน้ำ หรือ ACORUS CALAMUS, L., ไพล หรือ ZINGIBER CASSUMUNAR เปราะหอม หรือ KAEMPFERIA GALANGA แต่ละอย่างมีสรรพคุณเฉพาะต่างกัน เมื่อนำทั้งหมดดองเหล้าเอาน้ำปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น จะมีสรรพคุณดูดพิษเข่าเสื่อมได้




“รากยอป่า” แก้ผื่นคันผิวพรรณดี

โรคผิวหนัง เป็นแล้วจะทำให้ผิวพรรณดูไม่ดี โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะเป็นปมด้อยไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ทางสมุนไพรให้เอา “รากยอป่า” แบบแห้งหั่นบางๆประมาณหยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร จนเดือด 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่นวันละครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว ต้มดื่มเรื่อยๆ จะทำให้เม็ดผื่นคันตามตัวค่อยๆ ยุบและหายได้ เมื่อหายแล้วผิวพรรณจะเปล่งปลั่งเองเป็นธรรมชาติ

ยอป่า หรือ MORINDA ELLIPTICA RIDL. อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ดอกสีขาว “ผล” ค่อนข้างกลม มีชื่อเรียกอีกคือ “ยอเถื่อน” รากแก้เบาหวาน แก่นต้มน้ำดื่มบำรุงเลือด ผลสุกขับระดู ขับลม ใบอังไฟพอสลบปิดหน้าอกหน้าท้องแก้ไอแก้จุกเสียด หรือตำพอกศีรษะฆ่าเหา มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ




“สเปียร์มิ้นท์” ประโยชน์สรรพคุณดี

สเปียร์มิ้นท์ เป็นพืชตระกูลมิ้นท์คล้ายๆ สะระแหน่ทั่วไป มีถิ่นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา มีชื่อเฉพาะคือ SPEARMINT หรือ MENTHA SPICATA เป็นพืชล้มลุก สูง 1 ฟุต ใบตรงกันข้าม ปลายแหลม โคนมน ผิวใบคล้ายสะระแหน่ ดอกสีขาวขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบและปลายยอด “ผล” กลม มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น ทางอาหาร ใบสดใช้โรยหน้าอาหารดับกลิ่นคาว มีกลิ่นหอมเย็นเหมือนใบสะระแหน่ ทางยา ใบสดจำนวนเล็กน้อยต้มน้ำพอประมาณจนเดือด จะมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยโชยขึ้นจมูก สูดดมเป็นยาแก้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด วิงเวียน ท้องอืดได้ หรือใบสดขยี้ดมทำให้รู้สึกสดชื่นดีมาก แต่ไม่เหมาะที่จะขยี้ทาผิวเพราะจะทำให้ระคายเคือง สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมลูกควรหลีกเลี่ยง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 21 ราคาสอบถามกันเอง



บัวหลวง แก้ร้อนในกระหายน้ำ

สูตรดังกล่าว เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณและได้ผลดีมาก โดยให้เอา เหง้า ของ “บัวหลวง” แบบสดจำนวนตามต้องการ ฝานเป็นแว่นบางๆ ต้มกับน้ำให้ท่วมเนื้อจนเดือดแล้วใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปเล็กน้อยไม่ต้อง หวานนัก กินทั้งน้ำและเนื้อวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยทำให้อาการร้อนในกระหายน้ำ ปากแห้ง ริมฝีปากแตกประจำหายได้ สามารถต้มกินได้เรื่อยๆ ไม่มีอันตรายอะไร

บัวหลวง หรือ NELUMBO NUCIFERA GAERTN. อยู่ในวงศ์ NELUMBONACEAE เหง้า ไหล ใบอ่อน และเมล็ดเป็นอาหาร ใบใช้ห่อของ ดอกใช้ในพิธีทางศาสนา กลีบดอกเป็นยาฝาดสมาน เหง้าเป็นยาเย็น “ดีบัว” ต้นอ่อนในเมล็ดออกฤทธิ์ขยายเส้นเลือดไปเลี้ยงสมอง หัวใจ เกสรใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในเกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 และทั้ง 9




บวบขม กับสรรพคุณน่ารู้

สมัยก่อน ใครมีรังแคและคันหนังศีรษะ หมอยาแผนไทยจะใช้รังสดของ “บวบขม” ไปฟอกหรือขยี้เส้นผมบนศีรษะครั้งละ 1 รัง 2–3 วันติดต่อกัน รังแคจะไม่มีและหายคันศีรษะ ส่วนรัง “บวบขม” แบบแห้ง หั่นเป็นฝอยๆ ผสมยาเส้นมวนด้วยใบตองแห้งจุดสูบ เป็นยาฆ่าเชื้อริดสีดวงจมูกน้ำมูกมีกลิ่นเหม็นดีมาก ผลสดตำพอละเอียด พอกฆ่าตัวโลนในที่ลับ เมล็ดสดกินเล็กน้อยขับเสมหะแก้หืด แก้ไอ ใบสดขยี้ทาแก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน รากสด 1 กิโลกรัม ต้มน้ำจนเดือด ดื่มขณะอุ่นเรื่อยๆ แก้ไมเกรนได้

บวบขม หรือ LUFFA ACUTANGULA อยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE เป็นไม้เถาล้มลุกพบขึ้นเองตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ไม่นิยมปลูกและนิยมรับประทาน เพราะมีรสขมมาก ส่วนใหญ่มีปลูกเฉพาะชาวเขาบนดอยสูงและสวนสมุนไพรบางแห่งเท่านั้น เพื่อใช้เป็นยาตามที่กล่าวข้างต้น




ตะลิงปลิง กับวิธีรักษาโรคคางทูม

ในยุคสมัยก่อน คนเป็นโรคคางทูมกันเยอะ เป็นแล้วบริเวณลำคอใต้คางจะนูนขึ้นมองเห็นอย่างชัดเจน ซึ่งในยุคนั้น คนที่มีอาการของโรคดังกล่าวจะเดินทางไปพบแพทย์เฉพาะทางลำบากมาก เนื่องจากบ้านอยู่ห่างไกลโรงหมอหรือสุขศาลา ส่วนใหญ่จึงอาศัยหมอพื้นบ้านให้เจียดสมุนไพรรักษาให้ โดยเอาใบสดของ “ตะลิงปลิง” ประมาณ 1 กำมือล้างนํ้าให้สะอาด ตำหรือโขลกพอละเอียดใส่นํ้าลงไปเล็กน้อย จากนั้นเอาทั้งนํ้าและเนื้อพอกบริเวณที่เป็นคางทูม 2 เวลา เช้าเย็น พร้อมเปลี่ยนตัวยาไปเรื่อยๆทุกวัน ประมาณ 1 อาทิตย์จะหายได้ ปัจจุบันโรคคางทูมแทบไม่พบอีกแล้ว แนะนำให้เป็นความรู้

ตะลิงปลิง หรือ AVERRHOA BILIMBI LINN. ชื่อสามัญ BILIMBI, CUCUMBER TREE อยู่ในวงศ์ AVERRHOACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 12 เมตร ใบประกอบ ออกสลับ มีใบย่อย 25-35 ใบ เป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบและมีขนนุ่มทั้งใบ ดอก ออกเป็นช่อตามโคนต้นและกิ่งแก่ มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีแดงอมม่วง ใจกลางดอกเป็นสีนวล ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. มีเกสรตัวผู้ 10 อัน สั้นยาวอย่างละ 5 อัน “ผล” รูปกลมรีกว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 4 ซม. ผลแบ่งเป็นพูตื้นๆ 5 พู เนื้อผลฉ่ำนํ้า รสเปรี้ยวจัด ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ด มีดอกและติดผลเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย อเมริกาเขตร้อน ในประเทศไทยมีปลูกมาแต่โบราณแล้ว จนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อเรียกอีกคือปลีมิง (มาเลเซีย-นราธิวาส) และหลิงปลิง (ภาคใต้)

ทางอาหาร ผลสดปรุงอาหารที่ต้องการให้มีรสเปรี้ยว แปรรูปเป็นผลไม้แห้ง แช่อิ่ม ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพร ใบสดรักษาโรคผิวหนัง ขับเสมหะครับ.




กะทกรก ฆ่าตัวหิด

โรคหิด เป็นกันเยอะในยุคสมัยก่อน เป็นแล้วผิวหนังตามร่างกายดูน่าเกลียดมาก สังคมไม่ต้อนรับเนื่องจากเป็นโรคติดต่อกันได้ ในทางสมุนไพร ให้เอาใบสดของ “กะทกรก” ตามต้องการล้างน้ำให้สะอาด ตำจนละเอียดใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 1 อาทิตย์จะแห้งหายได้ เพราะตัวหิดจะตายเกลี้ยง

กะทกรก หรือ PASSIFLORA FOETIDAL. อยู่ในวงศ์ PASSIFLORACEAE เป็นไม้เลื้อยล้มลุก มีมือเกาะ คนส่วนใหญ่จะรู้จักดี เพราะมีขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป ใบเป็น 3 แฉก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน “ผล” รูปทรงกลมและพองลมสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดจำนวนมากกินได้ รสเปรี้ยวปนหวาน ยอดอ่อนเป็นอาหาร ประโยชน์ทั้งต้นเป็นยาแก้เหน็บชา โดยให้เอาไปสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดพอสลบหรือสดก็ได้ ใช้ 1 กำมือต้มกับน้ำ 4 แก้ว เคี้ยวจนเหลือ 2 แก้ว กินเช้า เย็น อาการเหน็บชาจะหายได้




ผักคราดหัวแหวน กับวิธีแก้ปวดฟัน

การปวดฟัน ที่เกิดจากฟันเป็นรูเพราะถูกแมงกินฟัน เป็นแล้วทรมานมาก กินอะไรไม่ได้ มันปวดร้าวไปหมดถึงน้ำตาร่วงเลยทีเดียว ในทางสมุนไพรช่วยได้คือให้เอาต้นสดของ “ผักคราด หัวแหวน” 2 ต้นไม่รวมรากตำให้ละเอียด ใส่เกลือป่นลงไป 1 ช้อนชา ใช้ผ้าขาวบางห่อบีบคั้นเอาน้ำแล้วใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันจุ่มกับน้ำดังกล่าวให้เปียก นำไปอุดรูฟันที่ปวดจะหายปวดทันที ทำวันละ 2–3 ครั้ง อาการปวดจะดีขึ้นและอาจหายได้

ผักคราดหัวแหวน หรือ PARA CRESS SPILANTHES ACMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAI ต้นสดตำผสมเหล้าขาวหรือผสมกับน้ำสมสายชูเล็กน้อย อมแก้ฝีในลำคอ ใช้อุดรูฟันที่ถูกแมงกินฟัน แก้ปวดฟันได้ ช่อดอก ก้านช่อดอกมีสาร SPILANTHOL มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สารสกัดจากต้นสดด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา LIDOCAINE ได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะออกฤทธิ์สั้นกว่า




พีพวนน้อย ผลอร่อย สรรพคุณดี

ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสาน ระบุว่า รากของต้น “พีพวนน้อย” เอาไปผสมกับรากหญ้าคา เหง้าต้นเอื้องหมายนา และลำต้นของอ้อยแดงจำนวนเท่ากันตามต้องการต้มกับนํ้ามากหน่อยจนเดือดดื่ม สำหรับสตรีที่ผอมแห้งแรงน้อย เป็นยาบำรุงเลือดทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งมีนํ้ามีนวล รากของต้น “พีพวนน้อย” สดหรือแห้งก็ได้จำนวนตามต้องการต้มกับนํ้าจนเดือดดื่มก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน 2 เวลา ครั้งละ 1 แก้ว รักษาโรคไตพิการที่เพิ่งจะเป็นใหม่ๆดีมาก โรคดังกล่าวเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะขุ่นเหลืองหรือแดง และมีอาการแน่นท้องกินอาหารไม่ได้ ต้มดื่มแล้วอาการจะค่อยๆกระเตื้องและดีขึ้นเรื่อยๆ

พีพวนน้อย หรือ UVARIA RUTA BLUME ชื่อพ้อง UVARIA RIDLEYI KING อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถาใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบเดี่ยวออกสลับรูปรี ปลายแหลมโคนเว้าเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อสั้นตามซอกใบ มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง “ผล” เป็นกลุ่มและเป็นช่อห้อยลง แต่ละช่อประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก ผลรูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลือง สุกเป็นสีแดงอมส้ม เปลือกผลมีขนละเอียดทั่ว เนื้อหุ้มเมล็ดนํ้า รสหวานปนเปรี้ยว รับประทานได้ สมัยก่อนนิยมกันอย่างกว้างขวาง มีเมล็ดเยอะ ดอกออกเดือนเมษายน-มิถุนายน ทุกปี และจะติดผลแก่หรือสุกหลังจากนั้น 4 เดือน คนหาของป่าจะรู้เวลาดีและจะเข้าไปเก็บผลออกมาวางขายตามตลาดสดในชนบททั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่อเรียกอีกเยอะคือ นมแมว, บุหงาใหญ่, นมควาย, นมแมวป่า, หำลิง, ติงตัง, ตีนตั่งเครือ, พีพวนน้อย และ สีม่วน


ปัจจุบัน “พีพวนน้อย” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 18 ในชื่ออื่นคือ นมวัว นมควาย ราคาสอบถามกันเองครับ


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
3038  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / เขาพระสุเมรุ เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 16:18:10



เขาพระสุเมรุ

ตามคติพราหมณ์ เขาพระสุเมรุ คือภูเขาที่เป็นหลักของโลก ภูเขานี้ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาลอันยิ่งใหญ่ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ

ตำนานกล่าวว่า พระอิศวรทรงสร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) ของพระองค์ (บางตำนานว่าทรงสำรอกพระมังสะในพระอุระออกมาบันดาลให้เป็นแผ่นดิน) และด้วยมีพระประสงค์จะประดิษฐานภูเขาใหญ่ให้เป็นหลักของโลก จึงทรงเอาพระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ปักลงที่ใจกลางของพื้นภพ บันดาลให้เป็นเขาพระสุเมรุ แล้วเอาพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขาสวมรอบเขาพระสุเมรุอีก ๗ ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี ให้เป็นที่อาศัยของทวยเทพ

เขาพระสุเมรุตั้งอยู่เหนือพื้นน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ เบื้องล่างมีปลาอานนท์หนุนอยู่ และมีภูเขารองรับเป็นฐาน ๓ ลูก เรียกว่า ตรีกูฏ มีภูเขาล้อมรอบ ๗ ทิว เรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี แต่ละทิวมีความสูงลดหลั่นกันลงไปทีละครึ่ง เป็นที่สถิตของเทวดาจตุมหาราชิกและบริวาร

ดังนี้ ทิวเขายุคนธร (ขอบเขาพระสุเมรุ เป็นที่ของพระอาทิตย์และพระจันทร์), กรวิก (นกกรวิก), อิสินธร (มหิสรเทวบุตร), สุทัศนะ (ว่านยาวิเศษ), เนมินธร (ปทุมชาติขนาดใหญ่), วินันตก (มารดาพญาครุฑ) และอัสกัณ (ไม้กำยาน) แต่ละทิวเขาคั่นด้วยแม่น้ำทั้งเจ็ด ถัดออกไปเป็นมหานทีสีทันดร ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบ เรียกว่าขอบจักรวาล พ้นไปเป็นนอกขอบจักรวาล

มีมหาทวีปอยู่ตรงทิศทั้งสี่ของเขาพระสุเมรุ (แต่ละมหาทวีปมีทวีป น้อยๆ เป็นบริวารอีก ๒,๐๐๐ ทวีป) ได้แก่ อุตรกุรุทวีป ทิศเหนือ มีมหาสมุทรชื่อ ปิตสาคร มีน้ำสีเหลือง, ปุพพวิเทหทวีป ทิศตะวันออก มีมหาสมุทรชื่อ ขีรสาคร เกษียรสมุทร มีน้ำสีขาว, ชมพูทวีป ทิศใต้ มีมหาสมุทรชื่อ นิลสาคร มีน้ำสีเขียว และ อมรโคยานทวีป ทิศตะวันตก มีมหาสมุทรชื่อ ผลิกสาคร มีน้ำใสสะอาดเหมือนแก้วผลึก

ชมพูทวีป รูปเหมือนเกวียน มีต้นหว้ามาก ด้านตะวันออกมีต้นชมพู่ (บ้างเรียกไม้หว้า) สูง ๑,๐๐๐ โยชน์ กว้าง ๑,๐๐๐ โยชน์ น้ำของชมพู่ไหลลงมาเป็นน้ำกายสิทธิ์ ถูกสิ่งใดสิ่งนั้นกลายเป็นสีทอง เรียก พังครนที ผู้คนกินน้ำนี้แล้วจะไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีกลิ่นตัว ไม่เหนื่อย ไม่ชรา, ปุพพวิเทหทวีป รูปเหมือนพระจันทร์เต็มดวง กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ มีเกาะ ๔๐๐ เกาะ คนหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์, อมรโคยานทวีป รูปเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก กว้าง ๙,๐๐๐โยชน์ ประกอบด้วยเกาะและแม่น้ำใหญ่น้อย และมีไม้กระทุ่ม คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม

และอุตรกุรุทวีป กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบมีต้นไม้นานา คนรูปร่างงาม และมีต้นกัลปพฤกษ์ อยากได้อะไรก็ไปนึกเอาที่ต้นไม้นี้

เหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครแห่งเทพชื่อ นครไตรตรึงษ์ พระอินทร์เป็นผู้ปกครอง ทำหน้าที่เป็นเทวราชผู้อภิบาลโลกและพิทักษ์คุณธรรมให้มนุษย์

ตรงกลางไพชยนต์มหาปราสาทเป็นที่ประดิษฐานแท่นบัณฑุกัมพลอันเป็นทิพยอาสน์ ยามที่โลกเกิดความเดือดร้อน ทิพยอาสน์จะแข็งดั่งศิลาเพื่อบอกให้พระอินทร์ทราบและลงมาช่วยเหลือมนุษย์

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่งของฉกามาพจร (สวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก) ประกอบด้วย

๑.จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ มี ท้าวกุเวร (ท้าวเวสสุวรรณ) รักษาทิศอุดร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร, ท้าวธตรฐ รักษาทิศบูรพา มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร, ท้าววิรุฬหก รักษาทิศทักษิณ มีพวก กุมภัณฑ์ (อสูรจำพวกหนึ่ง) เป็นบริวาร และ ท้าววิรุฬปักษ์ รักษาทิศประจิม มีฝูงนาคเป็นบริวาร

๒.ดาวดึงส์ พระอินทร์เป็นใหญ่

๓.ยามา มีท้าวสยามเทวราชปกครอง

๔.ดุสิต ท้าวสันนุสิตเป็นใหญ่ เป็นที่เกิดแห่งพระโพธิสัตว์ในชาติที่กำลังบำเพ็ญบารมี และยังเป็นสวรรค์ชั้นที่พุทธบิดามารดา และผู้มีบุญวาสนาอื่นๆ เคยถือกำเนิดเป็นเทวดา

๕.นิมมานรดี ท้าวสุนิมมิตปกครอง เทวดาผู้สถิตในสวรรค์ชั้นนี้มีบุญญานุภาพมาก มีความประสงค์สิ่งใดก็เนรมิตได้สมความปรารถนา

๖.ปรนิมมิตวสวัสดี ท้าวปรินิมมิตวสวัสดีปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีความเป็นอยู่สุขสบายกว่าทุกชั้น จะเนรมิตอะไรก็มีเทวดาชั้นที่ ๕ เนรมิตให้ มีป่าหิมพานต์ เป็นที่อยู่ของสัตว์ชนิดต่างๆ มีสระอยู่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต มันทากินี กุณาล สหัปปดาต กัณมุณฑ์ รดาการ ฉัททันต์

มีภูเขาล้อมรอบ ๕ ลูก คือ เขาสุทัศนกูฏ ล้วนไปด้วยทอง, เขาจิตรกูฏ ล้วนไปด้วยแก้ว, เขากาลกูฏ ล้วนไปด้วยนิลมณี, เขาไกรลาส ล้วนแล้วด้วยเงิน ที่สถิตของพระอิศวร และคันธมาทกูฏ ล้วนแล้วด้วยแก้วมณีและไม้หอม


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3039  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / Re: เสน่ห์ปลายจวัก ตามตำรับโบราณ เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 15:42:11
.



การเลือกเนื้อสัตว์ประกอบอาหาร

เนื้อสัตว์แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.เนื้อสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว หมู ไก่ ไก่งวง กระต่าย เป็ด ห่าน
๒.เนื้อสัตว์ล่าต่างๆ ได้แก่ กวาง เก้ง ไก่ป่า นก ฯลฯ ตามปกติ สัตว์ล่าต่างๆ เหล่านี้มักจะไม่ใช้บริโภคสด เพราะเนื้อแข็งกระด้าง ฉะนั้นจึงต้องทิ้งไว้ให้นุ่มเสียก่อน แต่ต้องระวังอย่าให้เน่า

วิธีสังเกตเนื้อสัตว์ที่ดี
ไก่ ไก่งวง นกพิราบ เป็ด ห่าน ต้องเลือกตัวที่สด ตาแจ่มใส ลูกตาไม่ลึกลงไปมากและไม่เป็นฝ้าฟางขาว ขาและเท้าอ่อนงอพับได้ง่าย หน้าอกเนื้อแข็ง กระดูกอ่อนเกาะกันแน่นจับดูไม่รู้สึกหยุ่นเหมือนวุ้น เวลาผ่าไม่เป็นริ้วรอยสีเขียว  ถ้าจะดูไก่อ่อน สำหรับตัวผู้ตัวเมียผิวอ่อนเกลี้ยง เท้านุ่ม และเดือยสั้น ใต้ผิวหนังมีมันสีเหลืองติดในท้อง ถ้าผ่าออกจะเห็นมีมันและรอยตัดจะไม่เป็นสีเขียวสด  ถ้าตัวใดที่คอมีรอยช้ำ ตาลึก และท้องมีรอยช้ำเป็นสัตว์ที่ไม่สดแท้ ไก่ที่ขาสีขาว เนื้อจะขาว เหมาะสำหรับใช้ต้มเป็นอาหาร ไก่ที่ดีขาดำหรือเหลือง เนื้อจะดำ ถ้าเป็นไก่แก่ เหมาะสำหรับทอดหรืออบ แต่ไม่ควรเลือกที่แก่เกินไป เนื้อจะเหนียวมาก  ไก่แก่ที่ไม่มีมันมากเหมาะสำหรับต้ม ทอดหรืออบ และต้มเคี่ยวไว้ทำน้ำซุปได้ดี  ไก่งวง เป็ด ห่าน ต้องเลือกอายุกลางๆ จึงจะรับประทานดี โดยดูที่เท้า ถ้าเท้าคายมากเป็นตุ่มๆ แหลมๆ ออกมาที่เท้า และกระดูกหน้าอกแข็งมาก แสดงว่าแก่เกินไป

ไก่งวง เนื้อสีขาวย่อยง่าย การสังเกต ไก่อ่อนขานิ่ม เดือยสั้นและสีดำ เนื้อจะขาว อกเต็มและคอยาว

เป็ดและห่าน  ถ้าอ่อน จะงอยปากและเท้าสีเหลือง ถ้าแก่สีจะดำ

นกพิราบ ถ้าอ่อน ขาเล็กเป็นสีชมพู แก่ตาใหญ่และดำ

เนื้อวัว เนื้อวัวที่ดีควรจะมีสีแดงสด เนื้อแน่นละเอียด มีน้ำขัง มีเนื้อมันเกาะแน่นหนา มันสีเหลือง เนื้อที่ซีดขาวเขียวดำเป็นเนื้อที่ใช้ไม่ได้ ส่วนเนื้อลูกวัว เนื้อที่ดีย่อมมีสีค่อนข้างขาวหรือชมพูอ่อน แต่ไม่ใช่แข็งกระด้าง ส่วนที่เหมาะในการทำน้ำซุปคือเนื้อตอนขา  เนื้อจำพวกนี้ย่อยยาก ผู้ที่มีการย่อยอาหารไม่ปกติไม่ควรรับประทาน  เนื้อที่จะใช้ทำซุปจงเลือกซื้อเอาส่วนขาและคอ ถ้าจะทำอย่างสะเต๊ะหรืออบให้เลือกตรงส่วนบนใต้กระดูกสันหลัง และถ้าจะทำสตูควรใช้เนื้อส่วนตรงคอ

ข้อสังเกต
-ลิ้นวัวมักมีพยาธิ เช่น ตัวตืดอยู่ที่โคนต้นลิ้น ฉะนั้นจะต้องทำให้สุกมากที่สุด มิฉะนั้นอาจเกิดโทษได้

-เนื้อที่ดีนั้นคือ เนื้อตะโพก เนื้อสันนอก เนื้อสันใน เนื้อหน้าขา เนื้อขาหลัง เนื้อคอ เนื้อหัวไหล่ เนื้อหน้าอก เนื้อซี่โครง

-เครื่องใน คือ อวัยวะบางส่วนของสัตว์ซึ่งเราใช้ประกอบอาหารบริโภคได้ ได้แก่
    ไขในกระดูก มีไขมันมากให้ประโยชน์ในไขข้อ เข่าถึงเท้าได้ดีมาก
    ตับ เป็นอาหารที่ดี ย่อยง่ายแต่ต้องทำให้สุกดี มิฉะนั้นจุลินทรีย์ซึ่งอยู่ในตับอาจไม่ตาย ทำให้เกิดอันตรายได้
    ไต จากสัตว์ตัวอ่อนและสัตว์กินหญ้า เป็นอาหารที่ดี ถ้าเป็นไตของสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารที่ไม่ดี
    เลือด เลือดหมูมีเฮโมโกลบิน เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ต้องทำให้สุกดี
    ปอดและม้าม ใช้ประกอบอาหาร ไม่ดีต่อสุขภาพ
    หัวใจ มีธาตุไข่ขาวและไขมัน ให้ประโยชน์แก่ร่างกายมาก

เนื้อแกะ  เนื้อที่ดีต้องละเอียด สีชมพู หนังลอกออกได้ง่าย เนื้อลูกแกะมีเนื้อเหมือนเนื้อแกะใหญ่ ต่างกันที่กระดูกมีสีชมพูอยู่ทั่วไป

เนื้อควาย  มีลักษณะคล้ายเนื้อวัว สังเกตได้ที่เนื้อหยาบกว่าและมันมีสีขาว เวลาปรุงอาหารเนื้อเหนียวกว่าเนื้อวัว

เนื้อหมู  ที่นิยมกันว่าดีนั้น ต้องเลือกเนื้อสีแดงอ่อนนุ่ม มันขาวและแข็ง หนังหนานุ่ม ต้องมีมันมาก มันสีขาว เนื้อสามชั้นต้องมีเนื้อเป็นชั้นๆ จริงๆ ไม่มีพังผืดระหว่างเนื้อ  ถ้าเนื้อหมูสีดำหรือเข้มมากและมีมันสีเหลือง เป็นหมูแก่ ถ้าเนื้อขาวเปื่อยยุ่ยหรือมีกลิ่นไม่ดี เป็นหมูที่มีเชื้อโรค  ถ้าหมูหนังหนาและแข็งมันน้อย เนื้อสีแดงเข้มมักจะเป็นหมูเลี้ยงตามบ้านนอก เป็นเพราะเลี้ยงอาหารไม่พอต้องปล่อยให้หากินตามลำพังนอกคอกมาก จึงมีหนังหนามันน้อย และโตช้า เนื้อรับประทานสู้หมูเลี้ยงในฟาร์มหรือคอกไม่ได้

ข้อระวัง เนื้อหมูต้องทำให้สุกดี เนื้อหมูดิบอาจมีเชื้อวัณโรค และเนื้อหมูย่อยยาก ไม่สมควรให้คนป่วยรับประทาน

เคล็ดลับในการประกอบอาหาร
-การทำซุปจากไก่
ล้างไก่ทั้งชิ้นใหญ่ๆ ก่อน อย่าล้างภายหลังที่สับกระดูกแล้ว เพราะจะทำให้เลือดไก่ภายในกระดูกหายไปกับน้ำเสียหมด เหลือแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์   การเตรียมต้องทุบเนื้อไก่ให้ช้ำ แล้วบุบกระดูกจนทั่ว ใส่ลงในหม้อเคลือบ ใส่น้ำสะอาดกับเกลือป่น (๑ ช้อน) กานพลู (๓-๕ ดอก) พริกไทยเม็ด (๗-๙ เม็ด) บุบๆ พอแตก  หอมหัวใหญ่ (๒-๓ หัว) ปอกเปลือกแข็งออก จะใช้ทั้งหัวหรือผ่า ๒ ซีกยกขึ้นตั้งไฟต้ม โดยใช้ไฟรุมอ่อนๆ ถ้าจะทำซุปน้ำใส ใช้ไก่ทั้งตัวล้างทำให้สะอาดแล้วเอาลงหม้อ ใส่น้ำตั้งไฟเคี่ยวจนเนื้อไก่เปื่อยยุ่ยและหลุดออกจากกระดูกเอง

-การทำซุปจากเนื้อวัว (เนื้อ ๑-๒ กิโล) ล้างน้ำทั้งชิ้นให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบแกง ตักน้ำสะอาดใส่ลงในหม้อให้ท่วมเนื้อก่อนที่จะยกขึ้นตั้งไฟ  ใช้ความร้อนอ่อนๆ รุมๆ ต้มเคี่ยวไป (คอยช้อนฟองทิ้ง) จนเนื้อเปื่อยยุ่ย น้ำข้นและใส

-แกงจืด  ก่อนที่จะทำน้ำแกงจืด ต้องเอากระดูกไก่ กระดูกหมู ล้างน้ำให้สะอาดแล้วเอาสันมีดทุบและบุบๆ ให้แตก ใส่ลงในหม้อเคลือบแกง ใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟเคี่ยวไปให้น้ำหวานในกระดูกออก จนน้ำต้มข้นเป็น “น้ำเชื้อ” แล้วจึงใช้ผ้ากรอง กรองน้ำเชื้อใส่ลงในหม้อเคลือบใหม่อีกหม้อหนึ่ง ยกขึ้นตั้งไฟ เวลาจะแกงต้องให้น้ำเชื้อเดือดพล่านแล้วจึงใส่เนื้อใส่ผัก ผักที่จะใช้ต้องเลือกว่าอย่างไหนสุกเร็วหรือจะต้องเคี่ยวนาน ถ้าเป็นผักที่ต้องเคี่ยวให้เปื่อยก็ใส่รวมลงต้มพร้อมกับเนื้อก็ได้ ผักที่สุกง่ายเช่น ตังโอ๋ ผักกาดหอม ฯลฯ ใส่ทีหลัง พอใส่ลงแล้วจึงปลงลงจากเตาทันที

-แกงปลาต่างๆ ต้องปรุงเครื่องแกงโขลกไว้ให้เสร็จเสียก่อน ใช้ผัดให้หอมหรือละลายน้ำสะอาดเทใส่หม้อยกขึ้นตั้งไฟ พอเดือดจึงใส่เนื้อปลา อย่าคน เนื้อจะสุกแหลกและทำให้เหม็นคาว  สำหรับปลาสดที่นำมาปรุง มีคาวจัด ต้องเคล้ากับน้ำเกลือ ๒-๓ ครั้งเสียก่อน แล้วจึงล้างให้สะอาดและหมดกลิ่นคาว

-อาหารจำพวกผัด ต้องเตรียมซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรส น้ำปลาญี่ปุ่น น้ำปลาไทย (อย่างดี) เต้าเจี้ยวอย่างดี พริกไทยป่น ผงปรุงรสหรือผงชูรส  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำเชื้อ” (น้ำต้มกระดูกไก่ กระดูกขา คอ ปีกไก่ และกระดูกหมู) ควรตั้งหม้อต้มเคี่ยวไว้ประจำ เพื่อใช้เป็นน้ำเชื้อหรือทำเป็นน้ำแกงจืด

-เนย เมื่อนำไปผัดหรือทอดอาหารมักมีกลิ่น ควรซอยหอมลงเจียวพอเหลืองเสียก่อน
3040  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / หอยแมลงภู่ผัดใบโหระพา สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 19 สิงหาคม 2559 17:32:13



หอยแมลงภู่ผัดใบโหระพา

• ส่วนผสม
- หอยแมลงภู่ต้มแกะเปลือก 200 กรัม
- ใบโหระพาเด็ดเอาแต่ใบ
- ต้นหอมหั่นท่อนยาว  2 ต้น
- พริกสดสีแดงหั่นแฉลบ 5-6 เม็ด
- กระเทียมไทย 6-7 กลีบ (สับหยาบ)
- ซอสปรุงรส
- ซอสหอยนางรม
- น้ำปลาดีหรือซีอิ๊วขาว
- น้ำตาลทราย


• วิธีทำ
1.นำหอยแมลงภู่ต้มแกะเปลือกแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
   แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง (หอยต้มแกะเปลือกซื้อสำเร็จ มีความเค็มมาก เพราะผู้ขายใส่เกลือไม่ให้เน่าเสียง่าย)
2.ตั้งกระทะใส่น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ พอร้อนใส่กระเทียมสับลงไปเจียวจนเหลือง ใส่หอยแมลงภู่ ใบโหระพา พริกแดงหั่นแฉลบ
   และใบโหระพา ลงไปผัดพร้อมๆ กัน
3.ปรุงรสด้วยซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม น้ำปลา และน้ำตาลทรายเล็กน้อย ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟ







หน้า:  1 ... 150 151 [152] 153 154 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.058 วินาที กับ 24 คำสั่ง

Google visited last this page 3 ชั่วโมงที่แล้ว