[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 มิถุนายน 2567 16:24:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 168 169 [170] 171 172 ... 277
3381  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ เมื่อ: 04 ธันวาคม 2558 19:12:51
.


       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๗ ปุพเพปณิธาน

ภิกษุทั้งหลายทูลถามถึงบุพพกรรมของพระอัครสาวกทั้งสองว่า มีปณิธานมาอย่างไร พระศาสดาได้ตรัสเล่าว่า

ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐ พระสารีบุตรเกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมานพ ส่วนพระโมคคัลลานะเกิดในสกุลคหบดีมหาศาล มีนามว่า สิริวัฒกุฎุมพี ท่านทั้งสองเป็นสหายรักกัน

วันหนึ่ง สรทมานพอยู่ในที่เงียบสงัด ไตร่ตรองเรื่องของชีวิต เกิดความคิดขึ้นว่า “เราสามารถรู้เรื่องของชีวิต และอัตตภาพในโลกนี้เท่านั้น แต่มืดมนต่อปัญหาชีวิตและอัตตภาพในโลกหน้าเหลือเกิน สัตว์ผู้เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี เราจักต้องตายแน่แท้ ชีวิตในโลกหน้าของเราจักเป็นอย่างไรหนอ?”

เพื่อตอบปัญหาชีวิตนี้ให้ได้ สรทมานพต้องการออกบวชแสวงหาโมกขธรรม จึงไปชวนสิริวัฒกุฎุมพีผู้สหาย แต่สิริวัฒไม่พร้อมจะทำได้ จึงปฏิเสธ สรทมานพคิดว่า “ผู้ไปสู่ปรโลก คือโลกหน้าจะชวนสหายหรือญาติมิตรไปด้วยไม่ได้ โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน บุคคลต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำนั่นแหละเป็นของเรา และจะติดตามเราไปในโลกหน้า” คิดดังนี้แล้ว จึงบริจาคทรัพย์เท่าที่มีเป็นทานแล้วออกบวชเป็นชฏิล มีผู้ออกบวชตามเป็นอันมาก

สรทดาบสทำ กสิณบริกรรม จนได้อภิญญา ๕ และมาสมาบัติ ๘  ชฎิลบริวารก็ได้คุณสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน

เช้าวันหนึ่ง พระอโมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ หรือพระมหากรุณาสมบัติ ทรงพิจารณาอุปนิสัยแห่งสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรทดาบสพร้อมด้วยบริวารว่า สรทดาบสอาศัยพระองค์แล้วจักปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก ดังนี้แล้วเสด็จไปยังสำนักของสรทดาบส เสด็จไปทางอากาศ ทรงอธิษฐานพระทัยว่าขอให้สรทดาบสรู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นเองเสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนภาคพื้น

สรทดาบสเห็นอานุภาพแห่งอาคันตุกะ และเพ่งพินิจสง่าราศีแห่งพระพุทธสรีระแล้วระลึกถึงวิชาดูลักษณะคนที่ตนช่ำชองอย่างดี ก็ได้ทราบด้วยปัญญาญาณว่า อาคันตุกะผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถอดถอนกิเลสทั้งปวงออกจากจิตได้แล้วจึงถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จัดอาสนะถวาย ตนเองนั่งบนอาสนะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้น้อยกว่า

ขณะนั้นชฏิลบริวารของสรทดาบสจำนวนมาก กลับจากหาผลาผลได้เห็นอาจารย์ของตนนั่งแสดงความเคารพอาคันตุกะผู้หนึ่งอยู่เกิดความประหลาดใจ จึงกล่าวว่าพวกเราเข้าใจว่า ในโลกนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มี บุรุษผู้นี้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์หรือ?

สรทดาบสตอบว่า “ท่านทั้งหลายอย่านำเม็ดทรายไปเทียบภูเขาสิเนรุราชเลย เราเป็นเสมือนเม็ดทราย ส่วนท่านผู้นี้เป็นเสมือนสิเนรุราชบรรพต พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า”

บริวารของสรทดาบสแน่ใจว่า อาคันตุกะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แท้จริง มิฉะนั้นแล้ว ไฉนเล่าอาจารย์ของพวกตนจึงแสดงอาการกายและวาจาเช่นนั้น จึงพร้อมพันหมอบลงแสดงความเคารพ

สรทดาบสล้างมืออย่างดีแล้วนำเอาผลไม้ที่มีรสดีวางลงในบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่พระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้ากำลังทรงทำภัตตกิจ ท่ามกลางการแวดล้อมของชฎิลบริวารของสรทดาบส และทรงปราศรัยอยู่กับสรทดาบสนั่นเอง ทรงดำริว่า “ขอให้อัครสาวกของเราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงมา”

พระอัครสาวกทั้งสองทราบพระดำริของพระศาสดาด้วยโทรจิต แล้วรีบมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร ยืนถวายบังคมอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง

สรทดาบสสั่งให้ชฏิลบริวารผู้ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ไปนำดอกไม้จากป่าใหญ่มาทำอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้า พระอัครสาวกและภิกษุสงฆ์ทั้งมวลทำอาสนะดอกไม้สำเร็จโดยรวดเร็ว ด้วยอำนาจฤทธิ์ของผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย

ภราดา! วิสัยสามารถแห่งเด็กเล็กกับวิสัยสามารถแห่งผู้ใหญ่ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ และกำลังปัญญา ย่อมแตกต่างกันมากฉันใด วิสัยสามารถแห่งสามัญชนกับท่านผู้สำเร็จแล้วทางอภิญญาสมาบัติก็แตกต่างกันมากฉันนั้น ท่านจึงเตือนไว้ว่าสามัญชนไม่ควรคิดมากในเรื่องต่อไปนี้คือ
๑.วิสัยสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พุทธวิสัย)
๒.วิสัยสามารถแห่งผู้ได้ฌานสมาบัติ (ญาณวิสัย)
๓.วิสัยแห่งกรรมและผลของกรรม (กัมมวิปากวิสัย)
๔.ความคิดถึงความเป็นมาของโลก (โลกจินตา)

ท่านว่าเรื่องทั้ง ๔ นี้เป็น อจินไตย ใครคิดมากต้องการรู้ด้วยเหตุผล อาจเป็นบ้าได้

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? คำตอบก็คือว่า บางอย่างเรารู้ได้ด้วย ประสาทสัมผัส๗ ธรรมดาเช่น รูปที่หยาบรู้ด้วยตาเนื้อ เสียงที่หยาบรู้ด้วยหูเนื้อ สัมผัสที่หยาบรู้ด้วยกายเนื้อเป็นต้น, บางอย่างเรารู้ได้ด้วยเหตุผล เช่น ความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว เป็นต้น, แต่บางอย่างเราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและด้วยเหตุผล แต่รู้ได้จริงๆ ด้วย ญาณวิเศษ ของท่านผู้ที่มีจิตใจประณีตจนมีญาณเกิดขึ้นเช่นทิพจักษุญาณ เป็นต้น สามารถเห็นกายทิพย์ที่จักษุธรรมดาเห็นไม่ได้

ภราดา! สรุปว่า สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งผัสสะเรารู้ได้ด้วยผัสสะสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งเหตุผล เรารู้ได้ด้วยเหตุผล ส่วนสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งญาณก็ต้องรู้ด้วยญาณ

แม้ในเรื่องผัสสะนั่นเองก็ต้องจับให้ถูกคู่ของมันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ผิดคู่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เอาตาไปชิมแกง เอาลิ้นไปดูรูป เป็นต้น

ตลอดเวลา ๗ วันที่พระอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ สำนักของสรทดาบสนั้น สรทดาบทได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้ถวายด้วยปีติปราโมช มีความสุขตลอด ๗ วัน และ ๗ วันนั้น พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกรวมทั้งพระสาวกอรหันต์ได้เข้านิโรธสมาบัติ เพื่อให้สักการะของสรทดาบสและชฏิลบริวารมีอานิสงส์มาก

ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ รับสั่งให้อัครสาวกนามว่าพระนิสภะอนุโมทนา และรับสั่งให้พระอัครสาวกอีกรูปหนึ่งคือ พระอโนมเถระแสดงธรรม แต่ไม่มีใครได้สำเร็จมรรคผลเลย พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมเอง ชฏิลบริวารของสรทดาบสได้สำเร็จอรหัตผลหมด ส่วนท่านสรทะไม่ได้สำเร็จเพราะมีจิตฟุ้งซ่านอยู่ตั้งแต่เริ่มฟังอนุโมทนาของพระอัครสาวกจนถึงฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า จิตของท่านวนเวียนอยู่ว่า “ไฉนหนอเราจะพึงได้รับภาระเช่นนี้บ้างจากพระพุทธเจ้าซึ่งจะบังเกิดขึ้นในอนาคต”

สรทดาบสจึงตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า “พระเจ้าข้า, ด้วยกุศลกรรมครั้งนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะหรือความเป็นพรหม แต่ข้าพระองค์ปรารถนาเป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระ”

พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปในอนาคต ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า “ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคต ท่าจักเป็นอัครสาวกที่หนึ่ง นามว่าสารีบุตร จักเป็นผู้สามารถหมุนธรรมจักรได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า จักเป็นผู้มีปัญญามาก บรรลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีญาณ”

เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้ว สรทดาบสรีบไปหาสิริวัฒผู้สหายเล่าเรื่องทั้งปวงให้ฟัง และขอร้องสิริวัฒปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

สิริวัฒเชื่อท่านสรทดาบส จึงเตรียมหาทานถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วันแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องปุพพจริยาของอัครสาวกทั้งสองจบลงแล้ว ตรัสเพิ่มเติมว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! นี่คือความปรารถนาที่บุตรของเราตั้งไว้แล้วในครั้งนี้ บัดนี้ เธอทั้งสองได้ตำแหน่งนั้นตามปรารถนาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่”

ภราดา! ความพยายามและความปรารถนาของบุคคลผู้ทำความดี สั่งสมกรรมดีนั้นไม่เคยไร้ผล มันจะคอยจังหวะให้ผลในโอกาสอันควรอยู่เสมอ แต่เนื่องจากคนบางคนขณะพยายามเพื่อทำกรรมดี สั่งสมกรรมดีอยู่นั้นก็ให้โอกาสแห่งความชั่วแทรกแซงเข้ามาเป็นระยะๆ เมื่อเป็นดังนี้ผลแห่งกรรมดีก็ถูกขัดขวางเป็นระยะๆ เหมือนกัน, ไม่มีโอกาสให้ผลได้เต็มที่

อนึ่ง ความพยายามเพื่อเอาชนะความชั่วในตนนั้น จัดเป็นความพยายามที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ เราจะต้องพยายามไปตลอดชีวิต ชีวิตเดียวไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ต้องพยายามกันชาติแล้วชาติเล่า โดยหาวิธีให้จิตค่อยเจริญขึ้นทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า “มหาสมุทร๑๑ ลึกลงโดยลำดับ ลาดลงโดยลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาด ฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น มีการศึกษาตามลำดับ (อนุปุพพสิกขา) มีการกระทำตามลำดับ (อนุปุพพกิริยา) มีการปฏิบัติตามลำดับ (อนุปุพพปฏิปทา)”

ความเจริญที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ นั้นจะช่วยให้เราเอาชนะความคิดและนิสัยที่ชั่วช้าได้ทีละน้อย ถ้าเร่งเกินไป อาจทำให้ฟุ้งซ่านเกิดภาวะความขัดแย้งมากมายในใจ

ความรู้หรือการให้อาหารแก่ใจก็ทำนองเดียวกับการให้อาหารแก่ร่างกายต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยทีละขั้น อาหารที่ย่อยดีจึงจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ความรู้ความเข้าใจที่ย่อยดีแล้วจึงจะเป็นประโยชน์แก่ดวงจิต ในการนี้ความอดทนเป็นคุณธรรมที่จำเป็นจริงๆ ปราศจากความอดทนเสียแล้วก็ทำไปได้ไม่ตลอด อาจทอดทิ้งเสียกลางคัน

ช่างฝีมือบางพวก เมื่อจะทำงานสำคัญบางชิ้น เขาจะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตทีเดียวเพื่องานนั้น นักปราชญ์ผู้แสวงหาปัญญาจะใช้ชีวิตทั้งชีวิตเหมือนกันเพื่อให้รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเพื่อให้ชีวิตก้าวไปสักขั้นหนึ่งในทางปัญญา แม้จะเป็นขั้นเล็กๆ ก็ตามแล้วไปต่อเอาชาติหน้าอีก ความพยายามของเราจะต้องเป็นไปติดต่อ (วิริยารัมภะ) ซื่อสัตว์และเอาจริง ผลจะต้องมีอย่างแน่นอนแม้จะช้าสักหน่อยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ โชคชาตาของแต่ละคนจึงเป็นผลรวมแห่งการกระทำในอดีตของเขา ความสามารถทางจิต สภาพทางกาย อุปนิสัยทางศีลธรรม และเหตุการณ์สำคัญในชาติหนึ่งๆ ย่อมเป็นผลรวมแห่งความปรารถนา ความคิด ความตั้งใจของเราเองในอดีต ความต้องการในอดีตของเราเป็นสิ่งกำหนดโอกาสในปัจจุบันให้เรา ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ สภาพปัจจุบันของเราจึงเป็นผลแห่งการกระทำ, ความคิดและความต้องการของเราในอดีต ไม่เฉพาะแต่ในชาติก่อนเท่านั้น แต่หมายถึงในตอนต้นๆ แห่งชีวิตในชาตินี้ของเราด้วย

จึงสรุปได้ว่า ทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลแห่งสิ่งที่เราเคยคิดไว้

“สิ่ง๑๑ทั้งปวงมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ ถ้าใจเศร้าหมอง การทำและการพูดก็เศร้าหมอง ความทุกข์จะตามมา ถ้าใจผ่องแผ้ว การทำและการพูดก็สะอาดบริสุทธิ์ ความสุขจะตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค หรือเหมือนเงาตามตัว”

ภราดา! พระตถาคตเจ้าตรัสไว้อีกว่า
“จิต๑๒ที่ตั้งไว้ถูกย่อมอำนวยผลดีให้สุดจะคณนาอย่างที่มารดาบิดาหรือญาติไม่อาจมอบให้ได้ ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมทำให้บุคคลนั้นย่อยยับป่นปี้ยิ่งเสียกว่าศัตรูคู่เวรทำให้”

ดังนั้น การบำรุงรักษาใจให้ดีจึงมีคุณแก่บุคคลผู้บำรุงรักษายิ่งกว่าบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพราะใจเป็นสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์
 
 
บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๗

กสิณบริกรรม การเพ่งกสิณ เช่น เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ หรือสีเหลือง สีเขียว สีขาว สีแดง เป็นต้น พร้อมกับบริกรรมว่า ดินๆ เป็นต้น  กสิณ ๑๐ เป็นทางให้เกิดอภิญญาสมาบัติ
อภิญญา คือความรู้ยิ่ง ความรู้เหนือสามัญชน เหนือธรรมดา (Supernatural knowledge) ผู้ได้อภิญญา ย่อมได้อำนาจเหนือธรรมชาติ (Supernatural power) สามารถทำสิ่งทีสามัญชนทำไม่ได้ เราอาจเทียบให้เห็นได้กับช่างอิเล็คโทรนิคที่สามารถทำกับเครื่องไฟฟ้าที่คนผู้ไม่ได้เรียนไม่ได้ฝึกฝนมาทำไม่ได้ หรือแม้นักกายกรรมก็สามารถทำอะไรได้แปลกๆ ชนิดที่สามัญชนทำไม่ได้เหมือนกัน ผู้ฝึกทางจิตก็ย่อมมีอำนาจจิตพิเศษเป็นรางวัลตอบแทนความพยายาม
สมาบัติ ๘ คือฌาน ๗ นั่นเอง เป็นความละเอียดประณีตของดวงจิตเป็นขั้นๆ ฌานที่เองเป็นบาทฐานอันสำคัญของอภิญญา
นิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติลำดับที่ ๙ เหนือสมาบัติ ๘ ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ในขั้นนี้ผู้เข้าดับสัญญาและเวทนาหมดสิ้น ไม่หายใจเหมือนคนตาย แต่ยังมีไออุ่นอายุยังไม่สิ้น การหมุนเวียนของโลหิตในร่างกายยังมีพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี และอรหันต์ที่ได้สมาบัติ ๘ เท่านั้น จึงจะเข้าได้ต่ำกว่านั้นเข้าไม่ได้ เพราะสมาธิไม่พอ เข้านิโรธสมาบัติอย่างน้อย ๗ วัน อย่างมาก ๑๕ วัน
เบญจางคประดิษฐ์ การแสดงความเคารพที่ประกอบด้วยองค์ ๕ คือศีรษะ ๑ มือ ๒ เท้า ๒ ทั้งหมดราบลงกับพื้น เป็นการหมอบลงราบกับพื้น เห็นชาวธิเบตทำเป็นประจำที่พุทธคยาในอินเดีย
โทรจิต (Telepathy) การส่งความคิดให้ผู้อื่นทราบโดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายหรือคำพูดใดๆ (The passing  of thought from one person to another without the use of signs or words) เป็นวิสัยของท่านผู้ฝึกจิตจนเกิดความชำนาญแล้ว
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Empiricism เชื่อว่าบุคคลรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยประสาทสัมผัสหรือประสบการณ์ทางอายตนะ
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Rationalism เชื่อว่าบุคคลได้รับความรู้ด้วยผ่านทางเหตุผล
ลัทธิปรัชญาที่เรียกว่า Intuitionism เชื่อว่าบุคคลจะได้รับความรู้ผ่านทางญาณ เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงภายใน
๑๐-๑๑-๑๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๕๒, ๑๔ ๒๐ ข้อ ๑๑๗, ๑๑, ๑๓ ตามลำดับ

3382  สุขใจในธรรม / พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า / Re: ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เมื่อ: 04 ธันวาคม 2558 13:06:17


สามเณรสุมน (๑)


มีสามเณรอีกรูปหนึ่ง ประวัติความเป็นมาค่อนข้างน่าอัศจรรย์ : อัศจรรย์อย่างไรลองอ่านดูก่อนนะครับ

สามเณรน้อยรูปนี้นามว่า สามเณรสุมน เรื่องราวบันทึกอยู่ในธัมมปทัฏกถาภาค ๘

ในอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระมาตรัส คนใช้ทำหน้าที่ขนหญ้าให้เศรษฐีคนหนึ่ง ได้ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าในเช้าวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าออกนิโรธสมาบัติพอดี ซึ่งตำราบอกว่าเป็นทานที่อำนวยผลทันตาเลยทีเดียว

เศรษฐีทราบเรื่องเข้าก็ขอ “ซื้อ” บุญทั้งหมดที่คนขนหญ้าทำ (พูดยังกับบุญมันซื้อขายกันได้เนาะ)

นายคนนี้แกก็ไม่ยอม เศรษฐีจึงขอว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้แบ่งส่วนบุญให้ได้ไหม ฉันขออนุโมทนาด้วย

นายคนใช้แกไม่ทราบว่า จะแบ่งส่วนบุญให้กันได้ไหม จึงขอไปปรึกษาพระท่านก่อน แกจึงไปเรียนถามท่าน ท่านยกอุปมาให้ฟังว่า เหมือนกับหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีหลายหลังคาเรือน หลังแรกจุดตะเกียงไว้ เพื่อนบ้านมาขอต่อไฟจากตะเกียงนั้นไป แสงไฟจากตะเกียงแรกก็ยังสว่างไสวอยู่เหมือนเดิม ไม่ลดน้อยลงไปเลย แถมยังเพิ่มแสงสว่างให้มากกว่าเดิมอีก

การทำบุญแล้วแบ่งส่วนบุญให้คนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน

กระทาชายนายขนหญ้าดีใจ รีบมาแบ่งส่วนบุญให้เศรษฐี พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง อยากได้ส่วนบุญบ้าง จึงรับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าขอส่วนบุญด้วย แล้วพระราชทานทรัพย์สินจำนวนมากแก่เขา เพิ่มจากที่เศรษฐีเคยให้แล้ว

ตกลงด้วยผลทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งเดียว บันดาลผลทันตาเห็น ทำให้กระยาจกกลายเป็น “เสี่ย” ภายในสองสามวัน

เขาได้รับสถาปนาจากพระราชาให้เป็นเศรษฐีใหม่อีกคนหนึ่งของเมืองและได้เป็นเพื่อนซี้กับเศรษฐีเจ้านายเก่าของตนต่อมาจนสิ้นอายุขัย

หลังจากเวียนว่ายอยู่ในภพต่างๆ ตามแรงกรรมดี-ชั่วที่ทำไว้ในชาติสุดท้าย เขาก็มาเกิดในราชสกุลศากยะ เป็นโอรสองค์ที่สองของเจ้าอมิโตทนะ (เชษฐาคือเจ้าชายมหานาม)

ด้วยอานิสงส์แห่งทานที่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าคราวนั้น และด้วยแรงอธิษฐานที่คนขนหญ้าตั้งไว้ว่า เกิดชาติใดฉันใดอย่าได้พบคำว่า “ไม่มี” อีกเลย

เจ้าชายน้อยองค์นี้ซึ่งมีพระนามว่า “อนุรุทธะ” จึงไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มีเลย อยากได้อะไร อยากกินอะไร สั่งเดี๋ยวเดียวก็ได้มารวดเร็วทันใจ

เจ้าชายน้อยมีพระสหายวัยเดียวกันหลายองค์ วันหนึ่งกำลังเล่นตีคลีกัน (ถ้าสมัยนี้ก็คงเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นยังไม่มี) โดยเอาขนมพนันกัน เจ้าชายอนุรุธะเล่นแพ้จนขนมหมด ส่งคนไปขอขนมจากเสด็จแม่

เสด็จแม่ส่งมาให้หลายเที่ยว เพราะเล่นแพ้อยู่เรื่อย จนขนมหมด บอกว่า ตอนนี้ขนมไม่มี เมื่อคนรับใช้มารายงานว่า เสด็จแม่บอกว่าขนม “ไม่มี” เจ้าชายน้อยจึงบอกว่า “ขนมไม่มีนั่นแหละเอามาเร็ว”

เสด็จแม่ได้ยินดังนั้น จึงคิดว่า ลูกเราไม่เคยรู้จักคำว่า ไม่มี และมีพระประสงค์จะสอนให้โอรสรู้จักคำว่าไม่มีเสียบ้าง จึงเอาถาดทองคำเปล่าใบหนึ่งมา เอาอีกใบครอบไว้ แล้วให้คนนำไปให้เจ้าชาย

ว่ากันว่า ร้อนถึงเทพยดาต้องนำขนมทิพย์มาใส่ไว้เต็มถาด พอเจ้าชายรับถาดมา เปิดฝาครอบออกเท่านั้น ขนมทิพย์ส่งกลิ่นหอมหวนน่ารับประทานอย่างยิ่ง เจ้าชายน้อยเกิดน้อยพระทัย ว่าเสด็จแม่ไม่รักตน ขนม “ไม่มี” อร่อยปานนี้ เสด็จแม่ไม่เคยให้เสวยเลย จึงไปต่อว่าพระมารดา

พระมารดาก็แปลกพระทัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงตรัสถามมหาดเล็กที่นำถาดเปล่าไปให้ มหาดเล็กกราบทูลเรื่องราวแปลกประหลาดที่ตนเห็นมาให้ทรงทราบ

พระมารดาทรงเข้าใจว่า คงเป็นเพราะบุญแต่ปางก่อน โอรสน้อยของตนเองจึงไม่เคยรู้รสชาติของ “ความไม่มี”

เมื่อเจ้าชายโตขึ้น ได้ออกผนวชพร้อมกับเจ้าชายจากศากยวงศ์ ๖ องค์พร้อมกับอุบาลี นายภูษามาลาอีก ๑ คน รวมเป็น ๗  หลังจากอุปสมบทแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น “เอตทัคคะ” (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางมีทิพยจักษุ (ตาทิพย์)  



สามเณรสุมน (๒)

พระอนุรุทธะผู้ตาทิพย์ วันดีคืนดีก็นั่งเข้าฌานดูว่า เศรษฐีสหายเก่าของตนเมื่อครั้งกระโน้น บัดนี้เกิดเป็นใครอยู่ที่ไหน

ก็ทราบว่า นิคมชื่อมุณฑนิคม อยู่เชิงเขาแห่งหนึ่ง หัวหน้านิคมชื่อมหามุณฑะ มีบุตรชายอยู่ ๒ คน ชื่อ มหาสุมน กับ จูฬสุมน

สหายเก่าของท่านเกิดเป็นจูฬสุมน หวังจะสงเคราะห์สหายเก่า จึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังนิคมนั้น

หัวหน้านิคมเห็นพระเถระก็นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นิคมของตน เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านก็รับนิมนต์เพราะมีความประสงค์เช่นนั้นอยู่แล้ว

ถึงวันออกพรรษา มหามุณฑะก็นำไทยธรรม (ของถวายพระ) จำนวนมากมายมาถวาย พระเถระบอกว่า จะให้อาตมารับได้อย่างไร อาตมาไม่มีสามเณรผู้เป็น “กัปปิยการก

นายนิคมจึงว่า ถ้าอย่างนั้นผมจะให้บุตรชายคนโตบวชรับใช้ท่าน พระเถระบอกว่า ขอให้คนเล็กบวชดีกว่า ผู้เป็นพ่อก็ยินยอมให้จูฬสุมนบวช ในขณะนั้นเธอมีอายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น

อ้อ คำว่า “กัปปิยการก” แปลว่าผู้ทำให้ควร ทำให้ถูกตามพระวินัย เช่น เวลาเอาส้มถวายพระฉัน จะต้องปอกเปลือกหรือไม่ก็เฉาะตรงขั้วก่อน เพื่อป้องกันมิให้พระท่านผิดวินัยข้อห้ามทำลายพีชคาม (พืชพรรณ) ผู้มีหน้าที่อย่างนี้แหละ เรียกว่า “กัปปิยการก”

แปลกันง่ายๆ ว่า เด็กรับใช้ หรือเด็กวัด

สามเณรสุมนได้บรรลุพระอรหัตผลคือ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีที่บวชเสร็จ ไม่ใช่แค่หมดกิเลสอย่างเดียว ยังบรรลุอภิญญา (ความสามารถพิเศษ) เช่น อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์) อีกด้วย ท่านพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปอยู่ในป่าหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) บังเอิญโรคลมจุกเสียด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของพระเถระกำเริบ ทำให้ได้รับทุกขเวทนา

พระเถระบอกสามเณรสุมนให้ไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาให้ดื่ม เพื่อระงับโรคลม สั่งว่าพญานาคชื่อ ปันนกะ รู้จักกับท่าน ให้ไปขอน้ำจากพญานาค

สามเณรเหาะไปด้วยอิทธิฤทธิ์มุ่งตรงไปยังสระอโนดาต ขณะนั้นปันนกะกำลังจะพาประดาอีหนูทั้งหลายลงเล่นน้ำในสระอโนดาตพอดี เห็นสมณะน้อยเหาะข้ามศีรษะมาก็โกรธ หาว่าสมณะโล้นน้อยนี้มาโปรยฝุ่นที่เท้าลงบนศีรษะตน

แกคงโกรธที่มาขัดจังหวะกำลังจะเล่นโปโลน้ำกับอีหนูทั้งหลายมากกว่า จึงหาว่าสามเณรโปรยขี้ตีนใส่หัว ทั้งๆ ที่ไม่มีแม้แต่นิดเดียว

สามเณรอ้างนามพระอุปัชฌาย์ซึ่งพญานาครู้จัก ขอน้ำไปทำยาเพราะท่านกำลังป่วย พญานาคไม่สนใจ ไล่กลับท่าเดียว แถมยังแผ่พังพานใหญ่ปิดสระน้ำทั้งหมด ดุจเอาฝาปิดหม้อข้าว ฉันใดฉันนั้น ร้องท้าว่า ถ้าสามเณรเก่งจริงก็มาเอาได้เลย

สามเณรถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว จึงแปลงกายเป็นพรหมสูงใหญ่ เหยียบลงตรงพังพานของพญานาค พังพานยุบลง เปิดช่องให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำ สามเณรเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไป

พญานาคทั้งเจ็บทั้งอายที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวแบน จึงตามไปทันที่สถานที่อยู่ของพระเถระ ฟ้องว่าสามเณรเอาน้ำมาโดยไม่ชอบธรรม

พระเถระหันมามองสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า น้ำนี้กระผมนำมาโดยชอบธรรมแล้ว พญานาคร้องบอกอนุญาตแล้ว

พระเถระเชื่อว่าพระอรหันต์ย่อมไม่พูดเท็จ จึงฉันน้ำนั้น และโรคในกายท่านก็สงบระงับ

พระเถระขอให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคก็ยอมขอขมา

และปวารณาว่าถ้าสามเณรต้องการน้ำเมื่อใด เพียงแต่สั่งเท่านั้น ตนจะนำมาให้เอง



สามเณรสุมน (จบ)

เมื่อพระอนุรุทธะพาสามเณรไปพระวิหารเชตวัน พระภิกษุอื่นๆ เห็นสามเณรน้อยน่าเอ็นดู ก็จับหูบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ด้วยความเอ็นดู หยอกล้อว่าเจ้าเด็กน้อย บวชแต่อายุยังน้อย เจ้าไม่คิดถึงแม่ดอกหรือ หย่านมหรือยังจ๊ะ อะไรทำนองนี้

พระพุทธองค์ทรงเกรงว่า พระปุถุชนจะละลาบละล้วงล่วงเกินพระอรหันต์มากกว่านี้ เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ

ทรงต้องการให้พระสงฆ์ทราบว่าสามเณรเป็นใคร จึงรับสั่งให้ประชุมสามเณร นัยว่ามีถึง ๕๐๐ รูป ตรัสว่าพระองค์ต้องการน้ำจากสระอโนดาตในเร็วพลัน สามเณรรูปใดจะอาสาเหาะไปเอามาถวายได้

สามเณรอื่นที่เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญามีอิทธิปาฏิหาริย์ก็มี แต่ทราบว่า “พวงดอกไม้” นี้ พระพุทธองค์ทรงร้อยไว้เพื่อสามเณรสุมานเท่านั้น (เป็นสำนวน หมายความว่า เรื่องนี้ต้องการให้เป็นหน้าที่ของสามเณรสุมน) จึงไม่เสนอตัว

เมื่อไม่มีใครอาสา สามเณรสุมนก็รับอาสาถวายบังคมพระพุทธองค์ แล้วถือบาตรเหาะลิ่วๆ ไปในอากาศบ่ายหน้าไปยังป่าหิมพานต์ทันที

ว่ากันว่าแสดงตัวให้พระสงฆ์เห็นกับตาเลยทีเดียว ต่างก็ร้อง โอ้โฮๆ น่าชื่นชมแท้ๆ ว่ากันอย่างนั้น

ขากลับก็ปรากฏตัวให้เห็นกลางนภากาศลิ่วๆ ลงมายังลานพระวิหารแล้วก็นำน้ำไปถวายพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่าอายุเท่าไหร่

สามเณรกราบทูลว่า อายุ ๗ ขวบพระเจ้าข้า

พระพุทธองค์ตรัสว่าตั้งแต่วันนี้ไปเธอเป็นพระภิกษุได้

คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า การอุปสมบทที่ทรงประทานให้สามเณรครั้งนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสมบท” เป็นกรณีพิเศษที่บวชเณรอายุ ๗ ขวบเป็นพระ

นัยว่ามีสามเณร ๒ รูปเท่านั้นที่ได้รับพระมหากรุณานี้คือ สามเณรสุมนกับสามเณรโสปากะ

เรื่องราวของสามเณรสุมนค่อนข้างพิลึกกว่าสามเณรรูปอื่น คือ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ ความจริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องประหลาดหรือลึกลับอะไร

ผู้สำเร็จอรหัตผลพร้อมอภิญญาสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้ นับว่าเป็น “ธรรมดาของพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา” ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร

ถ้าท่านเข้าในคำว่า “ธรรมดา” ก็จะหมดสงสัย ธรรมดาของนกมันย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมแหวกว่ายในน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามพิเศษอะไร

เวลาเราเห็นนกบิน เห็นปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำทั้งวันเราอัศจรรย์ไหม

เปล่าเลย เห็นเป็นของธรรมดาฉันใด พระอรหันต์ที่ท่านได้อภิญญา (อรหันต์บางประเภทก็ไม่ได้อภิญญา) ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ เช่น เหาะได้ดุจนก เพราะนั่นเป็น “ธรรมดา” ของท่าน

พญานาคที่พูดถึงนี้จะเชื่อตามนิยายว่า เป็นสัตว์พิเศษชนิดหนึ่ง อยู่ในนาคพิภพจำแลงกายเป็นคนได้ ดังนาคที่แปลงกายเป็นคนมาบวช (ในพระวินัยปิฎก) ก็ตามใจครับ ไม่ว่ากัน

แต่ถ้ามองในแง่มานุษยวิทยา นาคในที่นี้ก็คือมนุษย์เผ่าหนึ่งที่ยังไม่ศิวิไลซ์นัก ชื่อเผ่านาคา มีอยู่ทั่วไปตามป่าเขาในชมพูทวีป

ตามรูปศัพท์ นาค แปลว่า “ผู้อยู่ในภูเขา” หรือชาวเขา (นค=ภูเขา, นาค=บุคคลผู้อยู่ในภูเขา) มนุษย์เผ่านี้คงบูชางูใหญ่ด้วย คำว่า นาค จึงแปลกันว่า งู ได้ด้วย

ส่วนนาคที่ไปเกี่ยวกับน้ำ ไปเกี่ยวกับใต้บาดาลนั้นน่าจะเป็นความเชื่อของทางฮินดูที่ว่า นาคเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ

และเป็นความเชื่อประจำถิ่นของบางภูมิภาคครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรสุมน (๑), (๒) และ (จบ) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๐-๑๘๔๒ ประจำวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน - ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๘





สามเณรบัณฑิต


มีสามเณร ๒ รูป ประวัติคล้ายกันมาก ยังกับเรื่องของคนคนเดียวกันคือ เรื่องสามเณรบัณฑิตกับสามเณรสุข

รูปแรกมีเรื่องเล่าอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔  รูปหลังมีประวัติอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ คล้ายกันอย่างไร ขอเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ

บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรเถระ พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์

พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต

พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก

บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร  พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน

รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน

วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ

ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น

พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า
   น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้
   ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ  
   ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ  

ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า  คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

พระเถระบอกกับสามเณรว่าตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว

ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย)  พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน (ไม่ได้ไปจ่ายตลาดนะจ๊ะ)

สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด

พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”

พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด

เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว

ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว

แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น

พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง

ดีนะที่ไม่กล่าวหาว่า สามเณรศิษย์พระสารีบุตรฉันเย็น

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า
   ชาวนาไขน้ำเข้านา
   ช่างศรดัดลูกศร
   ช่างไม้ถากไม้
   บัณฑิตย่อมฝึกตน

เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ผมตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง

ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น

คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้น เกิดเป็นชายทุคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง

หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน  ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร

ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ

นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ประทานบาตรให้นายทุคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน

เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง

หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ (ทำไมแค่ ๗ ไม่ใช่ ๙ ก็ไม่รู้สิครับ) เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า

พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครบ้านในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป

เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรในบัดนี้

ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ

คนใช้ประเภทนายบอกว่า “อย่าลืมเอาแอปเปิ้ลแช่ตู้เย็นนะ” แล้วก็เอาลูกเจ้านายที่ชื่อ “แอปเปิ้ล” ยัดตู้เย็นจนตาย ถ้าไปอยู่บ้านพ่อแม่เด็กชายบัณฑิต ก็จะฉลาดหมดเลยครับ

สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตยครับ คนธรรมดาสามัญอย่าคิดสงสัย คิดจนหัวแทบแตกก็ไม่เข้าใจดอก ขืนคิดมากเดี๋ยวจะเป็นอย่างที่พระบาลีว่า อุมฺมาทสฺส ภาคีอสฺส =เขาพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า

แค่คิดเรื่องว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมันเป็นมรดกตกทอดที่ใครจะยกให้ใครได้ตั้งแต่เมื่อใด คนอายุ ๖๔ เป็นนายกฯ ยังถูก “อัด” แทบกระอักแล้ว คนอายุ ๘๔ เดินยังไม่ค่อยไหว จะทนทานได้หรือ หรือคิดว่าปากว่าไม่อยากเป็นนายกฯ แต่ทำไมวิ่งล็อบบี้กันพล่าน แม้ที่เป็นแล้วยังไม่อยากเลิกเป็น

คิดแค่นี้ยังจะเป็นบ้าเลยครับ


ข้อมูล : บทความพิเศษ สามเณรบัณฑิต โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หน้า ๗๑ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๔๓ ประจำวันที่๑๑-๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘




สามเณรสุข (๑)


เรื่องราวของสามเณรสุข คล้ายกับสามเณรบัณฑิต แม้กระทั่งแรงบันดาลใจให้บรรลุธรรมก็อย่างเดียวกัน พุทธวจนะที่ตรัสสอนพระภิกษุเนื่องมาแต่สามเณรเป็นเหตุก็คล้ายกับที่ตรัสในเรื่องสามเณรบัณฑิต ความคล้ายกันอาจเกิดจากการเอาอย่างกันก็ได้

สามเณรบัณฑิตอาจเป็นแรงบันดาลใจให้สามเณรสุขก็เป็นได้

ที่พูดถึงนี้นึกถึงสามเณรประยุทธ์ สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร และจบพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย

โยมพ่อของสามเณรอีกรูปหนึ่งมีลูกชายก็ตั้งชื่อเลียนแบบสามเณรประยุทธ์ว่า “ประยูร” ตั้งใจว่าจะให้ลูกจบเปรียญ ๙ ประโยคเช่นเดียวกัน จึงให้ลูกชายบวชหลังจากจบประถมศึกษา สามเณรประยูรก็สามารถสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณรเช่นกัน จบพุทธศาสตรบัณฑิตเช่นกัน

ที่น่ามหัศจรรย์ก็คือต่างก็เป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ดำรงสมณเพศยืนยาวมาจนเป็นพระราชาคณะ เจริญวัฒนาในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

สามเณรประยูรบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลแห่งการ “เลียนแบบ” อันเกิดจากแรงจูงใจเป็นสำคัญ (ตอนแรกโยมพ่ออยากให้ทำ แต่ตอนหลังเห็นคุณค่าด้วยตนเอง จึงทำตามด้วยความเต็มใจ)

สามเณรสุขที่กล่าวถึงนี้ อาจเกิดแรงบันดาลใจอยากเอาอย่างสามเณรบัณฑิตก็เป็นได้ จึงมีอะไรคล้ายกับสามเณรบัณฑิต

สามเณรสุข เกิดในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระในเมืองสาวัตถี ตอนแม่ตั้งครรภ์เกิดแพ้ท้องอยากกินอาหารที่เป็นเดนของภิกษุสงฆ์ นางจึงนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมภิกษุจำนวนมากไปฉันภัตตาหารที่บ้านตนเอง นุ่งผ้าย้อมฝาด นั่งท้ายอาสนะ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็กินอาหารที่เป็นเดนของพระสงฆ์

ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ ไม่มีใครมีความทุกข์เลย มีแต่ความสุขความสบายกันถ้วนหน้า

เมื่อคลอดออกมา บุตรน้อยคนนี้จึงมีชื่อว่าเด็กชายสุข เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เด็กชายสุขก็พูดกับแม่ว่าอยากบวชอยู่กับพระเถระ

แม่ก็ไม่ขัดใจ จัดแจงให้บวชเป็นสามเณรรับใช้พระสารีบุตร

โยมบิดามารดาบวชให้ลูกชายแล้วก็อยู่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่วัดเป็นเวลา ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับบ้าน

พระสารีบุตรได้พาสามเณรไปบิณฑบาตที่บ้านโยมในวันที่ ๘ ขณะเดินผ่านท้องนา สามเณรน้อยเห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างศรดัดลูกศร เห็นช่างไม้ถากไม้ จึงเรียนถามอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับสามเณรบัณฑิตและก็ได้คำตอบเช่นเดียวกัน

สามเณรสุขคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ไม่มีจิตใจ แต่คนสามารถบังคับให้มันเป็นไปตามความต้องการได้ เราเองมีจิตใจ มีความคิด ไฉนจะบังคับตัวเองไม่ได้เล่า

คิดดังนี้แล้ว จึงกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ถ้าท่านจะรับบาตรและอนุญาตให้กระผมกลับไปบำเพ็ญกรรมฐานที่วัดก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

พระเถระรับบาตรจากมือสามเณรและอนุญาตให้กลับวัดตามประสงค์ สามเณรสั่งอุปัชฌาย์ว่า ถ้าจะกรุณานำอาหารที่มีรส ๑๐๐ (สงสัยว่าอาหารอร่อยมาก) มาฝากก็จะเป็นพระคุณมาก พระเถระว่าจะไปเอาที่ไหน

สามเณรบอกว่าถ้าไม่ได้ด้วยบุญท่านก็ด้วยบุญของกระผมขอรับ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

บังเอิญว่าพอฉันเสร็จญาติโยมก็ฝากอาหารมีรส ๑๐๐ มากับพระเถระ พระเถระรีบนำอาหารนั้นกลับวัด เพื่อให้ทันก่อนเที่ยง

พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยพระญาณ ทรงทราบต่อไปว่าขณะที่สามเณรกำลังเข้าฌานแน่วดิ่งอยู่นั้น สารีบุตรอาจมา “ขัดจังหวะ” ทำให้เป็นอันตรายแก่การบรรลุมรรคผล พระองค์จึงเสด็จไปดักพระสารีบุตรที่หน้าซุ้มประตูพระเชตวัน

ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ พระสารีบุตรก็ถวายวิสัชนาได้อย่างถูกต้องทั้ง ๔ข้อ (ปัญหาก็เช่นเดียวกับที่ถามในเรื่องสามเณรบัณฑิต) เมื่อทรงเห็นว่าสามเณรได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระองค์จึงตรัสให้พระสารีบุตรรีบนำอาหารไปให้สามเณร

ว่ากันว่าขณะที่สามเณรฉันข้าว พระอาทิตย์ก็ยังไม่เที่ยงวัน หลังจากสามเณรฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว เงาพระอาทิตย์ก็เอียงวูบบ่ายคล้อยไปอย่างรวดเร็ว  พระภิกษุทั้งหลายจึงโจษขานกันเซ็งแซ่ว่า เมื่อกี้นี้ยังเช้าอยู่เลย พอสามเณรฉันเสร็จก็บ่ายคล้อยทันที ทำไมเวลาเช้ามีมาก เวลาเย็นมีน้อย แปลกแท้ๆ

พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า เวลาผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมมักจะเป็นเช่นนี้แหละ แล้วก็ตรัสพระคาถาว่า
   ชาวนา ไขน้ำเข้านา
   ช่างศร ดัดลูกศร
   ช่างไม้ ถากไม้
   คนดี ย่อมฝึกตน

พระคาถาที่ตรัสก็คล้ายที่ตรัสเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เปลี่ยนเพียง “บัณฑิตย่อมฝึกตน” มาเป็น “คนดีย่อมฝึกตน” เท่านั้น


3383  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระพุทธคันธารราษฎร์ - พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เมื่อ: 02 ธันวาคม 2558 15:45:23



พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

(จบ)

พระพุทธคันธารราษฎร์ถือเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระปฏิมาคันธารราษฎร์เนื้อเงิน ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะอย่างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา คือประทับขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวาเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับฝน พระพักตร์ค่อนข้างกลม ไม่มีพระเกตุมาลา ปรากฏเฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ใบพระกรรณสั้น ครองจีวรห่มเฉียง จีวรเป็นริ้วแบบธรรมชาติ สังฆาฏิเป็นแถบกว้าง ชายผ้าทิพย์มีตราพระเกี้ยวประจำรัชกาลที่ ๕ ฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีเกสรบัว ต่อด้วยฐานเขียงมีท้องไม้สูง สำหรับจารึกข้อความซึ่งทรงพระราชอุทิศ

แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ประกอบการพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระราชพิธีพรุณศาสตร์ คงได้หล่อพระคันธารราษฎร์ยืนองค์ใหญ่ขนาดใหญ่ขึ้นในการพิธีองค์หนึ่ง ด้วยสังเกตฝีมือสร้างในรัชกาลนั้น ต่อมาเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ส่งมาให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เก็บรักษา พร้อมตู้แปดเหลี่ยมสลักปิดทอง ลักษณะเป็นพระปฏิมาคันธารราษฎร์ยืน พระศกยาวเกล้าเป็นมุ่นโมลี เช่นเดียวกับพระคันธารราษฎร์ สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ แต่รูปทรงคลี่คลายเป็นแบบไทยประเพณียิ่งขึ้น คือ พระพักตร์เป็นแบบไทย พระวรกายเรียบรื่นไม่แสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์สามัญ ทรงผ้าชุบสรงบางแนบพระองค์เป็นริ้วอย่างธรรมชาติ สบงมีชายพับจีบเป็นริ้วทางด้านหน้า พระพักตร์แหงนเงย เหลือบพระเนตรสู่เบื้องบนท้องฟ้า พระหัตถ์ขวายกขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน ประทับยืนบนฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีเกสรบัว ซ้อนบนแข้งสิงห์และหน้ากระดานย่อไม้ยี่สิบ กึ่งกลางฐานตกแต่งด้วยหน้ากาลหรือหน้าสิงห์ แบบศิลปะรัชกาลที่ ๖



พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตักกว้าง ๗.๒๐ ซม. สูงรวมฐาน ๑๑.๒๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๔๖.๒๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมา ในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๓๖,๔๓๘.




พระปฏิมาคันธารราษฎร์ กระทรวงเกษตราธิราช ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖
เก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน


ในรัชสมัยนี้ เจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดี กระทรวงเกษตราธิราช ได้หล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล พุทธศักราช ๒๔๖๘ และถวายประดิษฐานยังหัวเมือง มีจำนวนอีก ๘๓ พระองค์ เพื่อส่งไปประดิษฐานยังหอทะเบียนที่ดินจังหวัดต่างๆ สำหรับสักการบูชาและกระทำพิธีพรุณศาสตร์ พระพุทธรูปชุดนี้ องค์หนึ่งยังคงพบเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน ถนนพระพิพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เดิมประดิษฐาน ณ หอทะเบียนที่ดินกลาง เป็นพระปฏิมายืนหล่อด้วยทองเหลือง แบบไทยประเพณี พระพักตร์รูปไข่ เม็ดพระศกเป็นขมวดก้นหอย มีพระเกตุโมลีและพระรัศมีรูปเปลว พระขนงโค้ง พระเนตรรูปกลีบบัว พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น ครองผ้าอุทกสาฎกเฉวียงพาดพระอังสาซ้าย รวบชายพันไว้กับข้อพระกรซ้าย สบงมีชายทบจีบเป็นริ้วทางด้านหน้า พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน ฐานบัวคลุ่มทรงกลม ขนาดสูงเฉพาะองค์พระ ๒๘ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๓๓ เซนติเมตร และฐานกว้าง ๘.๕ เซนติเมตร

พระคันธารราษฎร์ลักษณะและขนาดเดียวกันยังพบเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (วิหารพระศรีศาสดา) ข้อมูลทะเบียนวัตถุไม่มีบันทึกประวัติที่มา แต่สันนิษฐานได้ว่าเดิมคงประดิษฐานที่หอทะเบียนที่ดินจังหวัดพิษณุโลกมาแต่เดิม ต่อมาคงได้รวบรวมถวายไว้ยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

พระคันธารราษฎร์กระทรวงเกษตราธิราช ซึ่งส่งไปตามหัวเมือง เพื่อการบวงสรวงขอฝนเพื่อผลในการทำนา ก่อให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพของพระพุทธรูปปางขอฝนแพร่หลายไปในท้องถิ่นต่างๆ มีการบริจาคทรัพย์และขออนุญาตกระทรวงเกษตราธิราช จัดสร้างพระพุทธปฏิมาคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปขอฝนประจำตำบลต่างๆ อีกหลายแห่ง การสร้างพระคันธารราษฎร์ตามขนบการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ของหลวง จึงเกิดเป็นความนิยมในหมู่ราษฎรต่อมาด้วยเหตุนั้น



พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง ตักว้าง ๕.๖๐ ซม. สูงรวมฐาน ๑๙.๕๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๓๖.๒๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๕๒.

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา แต่ทำยักเยื้องต่างจากพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๕ โดยทำพระพุทธรูปปางขอฝนประทับห้อยพระบาทบนพระแท่น พระบาททั้งสองวางบนฐานกลีบบัวหงาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระพักตร์ค่อนข้างกลม มีอุณาโลมที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระเกศายาวรวบเกล้าเป็นมวยแบบพระคันธารราษฎร์ของอินเดีย มีพระรัศมีรูปเปลวไฟต่อจากมุ่นพระเกศา ทรงครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วแบบธรรมชาติ พาดชายเหนืออังสาซ้ายพับซ้อนยาวลงมาจรดพระนาภี จำนวนรวม ๔๒ พระองค์ ไม่มีฉัตรกั้น ๓๒ พระองค์ เท่าพระชนมพรรษาเมื่อยังมิได้เสวยราช ด้านหลังแท่นจารึกพระนามย่อ ปศ (ประชาธิปกศักดิเดช) และกั้นฉัตร จำนวน ๑๐ พระองค์ เท่าจำนวนปีที่เสวยราชสมบัติ ด้านหลังแท่นจารึกพระปรมาภิไธย ปปร (ประชาธิปก ปรมราชา)

เมื่อทรงสละราชสมบัติวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ แล้ว ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าให้กรมศิลปากรสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนประทับห้อยพระบาท องค์พระพุทธรูปกั้นด้วยฉัตรทองปรุ ๕ ชั้น ประดิษฐานเหนือฐานเขียงสูง มีจารึกประกอบทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗



พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เงิน กะไหล่ทอง สูงรวมฐาน ๑๖.๘๐ ซม. สูงรวมฉัตร ๔๐ ซม.
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๔๘๑.


ระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าใจว่ามีการหล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ทองคำ สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลและการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ปัจจุบันประดิษฐานภายในหอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำเป็นพระพุทธรูปยืนขอฝน พระหัตถ์ขวายกขึ้นกวักขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายเป็นกิริยารองรับน้ำฝน พุทธลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ตามแบบศิลปกรรมในช่วงเวลานี้ คือ พระรัศมีรูปดอกบัวตูม เม็ดพระศกขมวดเวียนขวาขนาดใหญ่ พระเกตุมาลาเตี้ย พระพักตร์ค่อนข้างกลม เงยพระพักตร์ขึ้นเล็กน้อย พระขนงโก่ง มีอุณาโลมกึ่งกลางพระขนง พระเนตรเหลือบขึ้นด้านบน พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หยักเป็นคลื่น พระหนุเป็นปม ใบพระกรรณค่อนข้างสั้น ครองผ้าอุทกสาฎกพาดเฉวียงเหนืออังสาซ้าย ปล่อยชายพับซ้อนยาวจรดพระนาภี เป็นริ้วเสมือนจริงตามธรรมชาติ ส่วนล่างนุ่งสบงจีบเป็นริ้ว ทบชายพับซ้อนทิ้งลงเป็นจีบหน้านาง ประทับยืนตรงบนก้านดอกบัว มีกลีบบัวหงายซ้อน ๓ ชั้น และเกสรบัว ผุดขึ้นจากฐานที่หล่อเป็นภาพสระโบกขรณีแห้งขอดเต็มด้วยสัตว์น้ำฝูงปลาดิ้นรนอยู่ในเปือกตม ตามพระประวัติที่ปรากฏในมัจฉชาดก



(ซ้าย) พระพุทธคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๗ ทองคำ สูง ๔๕.๗๕ ซม. สูงรวมฐาน ๖๐.๙๐ ซม.  
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๕๖๒.
(ขวา) พระพุทธคันธารราษฎร์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๗๓
โลหะผสม สูง ๔๐ ซม. วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ปั้นหล่อ
สมบัติของวัดมงกุฏกษัตริยาราม ภาพจากหนังสือศิลปวัตถุวัดมกุฏกษัตริยาราม หน้า ๒๕


ปัจจุบันพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ของหลวงที่สร้างขึ้นและอัญเชิญสักการบูชาสำหรับการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีรวมทั้งสิ้น ๕ พระองค์ คือ พระคันธารราษฎร์ใหญ่ และพระคันธารราษฎร์จีนหล่อสัมฤทธิ์ในรัชกาลที่ ๑ กะไหล่ทองในรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๒ พระองค์ พระคันธารราษฎร์ประทับยืนบนฐานขั้นบันได หล่อในรัชกาลที่ ๔ พระองค์หนึ่ง พระคันธารราษฎร์เงิน นั่งขัดสมาธิเพชร สร้างในรัชกาลที่ ๕ พระองค์หนึ่ง และพระพุทธคันธารราษฎร์ทองคำประทับยืนเหนือสระโบกขรณี สร้างในรัชกาลที่ ๗ พระองค์หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่ผูกพันกับทุกข์สุขการทำมาหากินของอาณาประชาราษฎร โดยอาศัยพระพุทธานุภาพเป็นกุศโลบายในการสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยผ่อนภัยพิบัติจากน้ำด้วยประการต่างๆ ยังดำรงแบบแผนสืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พระพุทธคันธารราษฎร์ ยังพบสร้างและประดิษฐานอยู่ตามพระอาราม ซึ่งมีหมายเกณฑ์ให้พระสงฆ์ทำพิธีขอฝนหรือสวดขอฝน และเริ่มปรากฏการสร้างพระพุทธรูปปางขอฝนแพร่กระจายในชุมชนท้องถิ่นที่ทำการกสิกรรมเพาะปลูก ทำนา ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อต้นรัชกาลที่ ๗ สืบต่อเนื่องจากการประดิษฐานพระพุทธคันธารราษฎร์ของกระทรวงเกษตราธิการยังหัวเมืองต่างๆ พระพุทธคันธารราษฎร์จึงได้รับความนับถือสักการบูชาเป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์เป็นสิริแก่การเพาะปลูก ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ ยังความผาสุกสวัสดีแก่ชุมชนบ้านเมืองตราบเท่าถึงทุกวันนี้



ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร  ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๔ ก.ค.-ส.ค.๒๕๕๖ หน้า ๑๑๐-๑๒๖.

3384  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / เสาเฉลียง ประติมากรรมหินทรายอันทรงคุณค่า และน่าทึ่ง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เมื่อ: 30 พฤศจิกายน 2558 16:43:32
.




เสาเฉลียง  (Rock Pillars)
ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

เสาเฉลียง แผลงมาจาก “สะเลียง” เป็นภาษาส่วย หมายถึง “เสาหินที่มีลักษณะแปลก”  

มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งขึ้น มีส่วนบนเป็นแผ่นวางอยู่โดยไม่ติดกัน มองดูคล้ายดอกเห็ด เกิดขึ้นเองตามความปรวนแปรของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จากการกัดเซาะของน้ำ สายลม และแสงแดด

เสาเฉลียงประกอบด้วยหินสองส่วน เกิดจากกระบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติที่ยาวนานหลายล้านปี อันมีสาเหตุมาจากกระแสน้ำ แรงลม อากาศ และการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของเปลือกโลกครั้งสำคัญ (การเคลื่อนตัว การโก่งตัว และการทรุดตัว)  

หินส่วนบนเกิดจากการสะสมตะกอนของหินทรายในแนวนอน ช่วงปลายยุค ครีเตเซียส มีอายุประมาณ ๑๓๐ ปี ลักษณะคล้ายดอกเห็ด  และหินทรายยุค “ไดโนเสาร์” มีอายุประมาณ ๑๘๐ ล้านปี เป็นชั้นหินส่วนล่างที่เหลือจากการกัดกร่อน ซ้อนอยู่ในแนวดิ่ง เป็นส่วนของต้นเสาท่อนล่าง ซึ่งผ่านกระบวนการชะล้างพังทลายของดินอันเกิดจากสภาพอากาศ ฝน และลมพายุเป็นเวลาหลายล้านปี  

คุณสมบัติทางธรณีวิทยาของหินทรายนั้นง่ายต่อการสึกกร่อนกว่าหินชนิดอื่น ที่จัดอยู่ในกลุ่มหินชั้นเดียวกัน และเมื่อผ่านการสึกกร่อนไปได้ระยะหนึ่ง กระบวนการต้านทานทางธรรมชาติ และแรงกดทับของเม็ดฝนทำให้หินทรายแข็งยิ่งขึ้นเป็นผลให้สามารถรักษาสภาพให้คงรูป เป็นประติมากรรมหินทรายอันทรงคุณค่า และน่าทึ่งไว้ให้เราได้ชมได้ดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้








เสาเฉลียง อยู่ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ก่อนถึงผาแต้มประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร



3385  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เมืองจำลอง ดุสิตธานี - The Model City of Dusit Thani เมื่อ: 30 พฤศจิกายน 2558 15:14:31
.


เมืองจำลอง “ดุสิตธานี”
ภาพจาก : เว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติ

เมืองจำลอง ดุสิตธานี
The Model City of Dusit Thani

เมืองจำลองดุสิตธานี มีนามเต็มว่า “ดุสิตธานี : เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

สถานที่จัดแสดง อยู่ภายในอาคารหอวชิราวุธานุสรณ์ ชั้น ๔ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โปรดให้พลตรี หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดดุสิตธานี : เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๓

อาคารจำลองภายในดุสิตธานี : เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงประกอบภูมิทัศน์เมืองจำลอง มีถนนหนทาง สะพาน เสาไฟฟ้า และน้ำพุ โดยมีอาคาร ๑๒ หลัง ดังนี้
๑.พระที่นั่งเทวอาสน์จำรูญ
๒.พระที่นั่งบรมราชพิมาน
๓.พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท
๔.พระที่นั่งจันทรกานต์มณี
๕.หอพระพุทธรัตนสถาน
๖.พระที่นั่งสุทไธสูรย์ปราสาท
๗.พระที่นั่งวายุสุขไสยาสน์
๘.พระวัชรเจดีย์
๙.พระที่นั่งสมุทาภิมุข
๑๐.พระปรางค์วัดอรุณ
๑๑.วัดพระพุทธบาท
๑๒.วัดสุขสมาวาส

ประวัติความเป็นมาของดุสิตธานี
ดุสิตธานี เป็นชื่อเมืองจำลองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๑ มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง ตั้งอยู่บริเวณพระที่นั่งอุดรภาคใต้กับอ่างหยกด้านทิศเหนือในพระราชวังดุสิต และตั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนถึงเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ หลังจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีพันปีหลวงสวรรคต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายดุสิตธานีไปตั้งอยู่ภายในบริเวณพระราชวังพญาไท และขยายพื้นที่ให้มีขนาด ๔ ไร่ เนื่องจากดุสิตธานีแห่งแรกคับแคบ เมืองจำลองดุสิตธานีจึงตั้งอยู่ที่พระราชวังพญาไท จนสิ้นรัชกาล

การสร้างเมืองจำลองดุสิตธานี มีเหตุผลเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในสยามประเทศ ดังปรากฏกระแสพระราชดำรัสครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิต เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒ ความว่า
“...วิธีการที่ดำเนินเป็นไปนี้ เป็นการทดลองว่า จะเป็นประโยชน์ได้เพียงใด เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับธานีให้แน่ชัดเสียก่อน...วิธีการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่า จะให้ประเทศสยามกระทำเช่นเดียวกัน...”

เมืองจำลองดุสิตธานีที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ เป็นเมืองย่อส่วนให้เล็กลงเหลือประมาณ ๑ ใน ๒๐ เท่าของของจริง ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูนหรือสร้างด้วยไม้ตามลักษณะของบ้านเมืองในสมัยนั้น และมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนบ้านเมืองจริง เช่น พระราชวัง บ้านเรือน โรงละคร วัดวาอาราม สถานที่ราชการ โรงทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ใช้ชื่อว่า วัชรพยาบาล ตลาด ร้านค้า ธนาคาร ธรงแรม สำนักงาน ถนนหนทาง สวน แม่น้ำ ลำธาร คลอง น้ำตก น้ำพุ สะพาน และบ้านพักอยู่อาศัย โดยพระองค์ทรงวางข้อกำหนดสำหรับบุคคลที่จะเข้ามาเป็นราษฎรของดุสิตธานีนั้น ต้องยื่นใบสมัครและต้องได้รับใบอนุญาตก่อน จึงจะสามารถจับจองที่ดินสร้างบ้าน และอาคารพาณิชย์ ตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยช่างฝีมือเป็น “ทวยนาคร” หรือสมาชิกเมืองจำลองดุสิตธานีได้ แม้ว่าเมืองจำลองดุสิตธานีนี้จะเข้าอยู่อาศัยไม่ได้จริง แต่ก็มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต ยานพาหนะ ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา และมีการเก็บค่าน้ำค่าไฟจากบ้านแต่ละหลัง รวมทั้งทรงวางระเบียบปฏิบัติหรือกติกาพิเศษ คือ ผู้ที่เป็นราษฎรในเมืองดุสิตธานีจะต้องดูแลบ้านเรือนให้สะอาด หากมีการตรวจตราพบว่าบ้านเรือนใดไม่สะอาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะชักธงดำขึ้นเหนือบ้านหลังนั้น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนของการเตือน ส่วนโทษร้ายแรงก็คือราษฎรผู้นั้นจะถูกคัดชื่อออกจากบัญชีทวยนาคร

นอกจากนั้นยังมีการประกวดให้รางวัลบ้านที่มีการดูแลรักษาดีเยี่ยม และมีการปรับไหมเจ้าของบ้านในราคาแพงค่าทำผิดกฎธานิโยปการ ละเลยให้บ้านเรือนรกร้าง รายได้ของเมืองจำลองดุสิตธานีจึงมีมาก เพราะทรงกำหนดเวลาย่อให้เหลือ ๑ ใน ๑๒ คือ หนึ่งปีของดุสิตธานีเท่ากับ ๑ เดือนธรรมดา ดังนั้นภาษีอากรซึ่งควรจะเสียปีละครั้งก็จึงต้องเสียทุกเดือน แต่รายได้จำนวนมากที่ได้มานั้นนำมาใช้จ่ายสำหรับเมืองจำลองบ้าง ส่งสมทบทุนซื้อ “เรือรบพระร่วง” บ้าง ส่งสมทบทุนซื้อปืนให้เสือป่าบ้าง เป็นต้น

การปกครองในเมืองจำลองดุสิตธานี
เมืองจำลองดุสิตธานีมีข้อกำหนดเพื่อใช้ในการควบคุมและปกครองทวยนาครในดุสิตธานี ชื่อ ธรรมนูญดุสิตธานีลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล ธรรมนูญนี้ได้ทดลองใช้ที่ดุสิตธานีก่อนจะนำไปใช้ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีพระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) เป็นผู้อ่านประกาศธรรมนูญลักษณะปกครอง เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้วโปรดให้มีการเลือกตั้งเชษฐบุรุษ และนคราภิบาล ตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบดำเนินงานการปกครองในดุสิตธานี ทรงตั้งและสังกัดคณะแพรแถบสีน้ำเงิน ให้ทำหน้าที่คล้ายกับพรรคฝ่ายค้าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ ขณะเดียวกันก็ทรงสนับสนุนมหาดเล็กอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือพิมพ์ ให้ตั้งคณะแพรแถบสีแดงขึ้นมาต่อสู้กัน ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๕ จึงได้ออกกฏธานิโยปการ เพื่อวางระเบียบและอัตราพิกัดภาษีสำหรับดุสิตธานี เพื่อฝึกราษฎรให้รู้จักปกครองตนเองด้วยเสรีภาพหรือประชาธิปไตยในสมัยปัจจุบัน

นอกจากนี้ภายในเมืองจำลองดุสิตธานียังมีการออกหนังสือพิมพ์สำหรับทวยนาครแห่งนี้ ๓ ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ๒ ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย และหนังสือพิมพ์ดุสิตสักขี หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ๑ ฉบับ ชื่อหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต หนังสือพิมพ์รายวันออกเพื่อนำเสนอข่าวสารความเป็นไปในดุสิตธานี ข่าวต่างธานี สุภาษิต คำสั่งสอน และเขียนโจมตีเรื่องส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งนับว่าผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นยังไม่มีทักษะเพียงพอ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสอนวิธีนำเสนอข่าวด้วยการตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ ดุสิตสมิต ขึ้นแล้วทรงฝึกให้แสดงความคิดเห็น มีการประท้วงและติชมเพื่อตักเตือน โดยไม่เฉพาะเจาะจง จะได้ไม่เกิดความอับอายหรือเสียหน้า รวมทั้งยังทรงวาดภาพล้อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ด้วยภาพเหล่านี้ สะท้อนพระอัจฉริภาพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงจดจำลักษณะเด่นของแต่บุคคลมาแสดงด้วยภาพได้อย่างชัดเจน  ปัจจุบันยังมีหนังสือพิมพ์เหล่านี้เหลือเป็นหลักฐานให้ศึกษาเรียนรู้ ณ ห้องสมุดภายในหอวชิราวุธานุสรณ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติด้วย



ภาพจาก : เว็บไซต์ 2.bp.blogspot.com

การกำหนดขอบเขตและผังเมือง
แม้ว่าระยะเริ่มแรกของเมืองจำลองดุสิตธานี ภายในพระราชวังดุสิตจะมีเพียง ๓ อำเภอ คือ อำเภอดุสิต อำเภอปากน้ำ และอำเภอดอนพระราม ต่อมาทรงกำหนดให้มีอำเภอต่างๆ ๖ อำเภอ ดังนี้ อำเภอดุสิต อำเภอปากน้ำ อำเภอดอนพระราม อำเภอบึงพระราม อำเภอบางไทร และอำเภอเขาหลวง โดยมีทวยนาครเป็นชายล้วน ในปีแรกมีจำนวนประมาณ ๒๕๐ คน แต่จำนวนอาคารบ้านเรือนในเมืองดุสิตธานีมีมากกว่า ๑,๐๐๐ หลัง เพราะสถานที่บางแห่ง เช่น พระราชวังและวัด มีอาคารแห่งละหลายหลัง อาคารส่วนใหญ่เป็นอาคาร ๒ ชั้น บางอาคารสร้างเป็น ๓ ชั้น บางบ้านก็มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบแปลกๆ เพราะต่างก็พยายามสร้างบ้านให้สวยงามที่สุดและมีรูปร่างหลากหลายวิจิตรพิสดารแปลกประหลาดอลังการอย่างมาก เช่น พระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) รู้สึกว่าบ้านเล็กเกินไป ไม่สมฐานะเสนาบดี...เลยต้องให้ทำใหม่เป็นตึกทำด้วยไม้อย่างงดงาม สิ้นค่าทำกว่า ๓,๐๐๐ บาท

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการดำเนินงานของเมืองจำลองดุสิตธานีจะประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะสำหรับแขกที่ได้รับเชิญ โดยโปรดให้มีมัคคุเทศก์คอยชี้แจงแนะนำสถานที่ต่างๆ ซึ่งมัคคุเทศก์เหล่านี้ต่างก็มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการนำชมอย่างดี เพราะปรากฏหลักฐานว่ามีการสอบมัคคุเทศก์ของเมืองดุสิตธานีถึง ๑๒ ครั้ง แต่เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘ มีการย้ายสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในเมืองจำลองดุสิตธานี ไปยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งผู้เป็นเจ้าของอาคารบ้านเรือนในเมืองดุสิตธานี ต่างก็ย้ายสิ่งก่อสร้างของตนเองกลับไปอยู่ในความดูแลของตนเอง เหลือเพียงอาคารที่เป็นพระราชวังและวัดต่างๆ อยู่ภายในความดูแลของกรมศิลปากร จำนวน ๑๔ หลัง เท่านั้น ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการซ่อมแซมอาคารทุกหลังเก็บรักษาไว้ที่กองหัตถศิลป์ และส่งมอบอาคารทั้ง ๑๔ หลังนี้ ให้แก่หอวชิราวุธานุสรณ์เป็นผู้ดูแล โดยได้รับเงินบริจาคน้อมเกล้าฯ ถวายจากผู้มีอุปการคุณจำนวน ๕ ราย เพื่อจัดสร้างเป็นนิทรรศการถาวร ชื่อ ดุสิตธานี : เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อาคารหอวชิราวุธานุสรณ์ ชั้น ๔ จำนวน ๑๒ หลัง อีก ๒ หลัง จัดแสดงภายในพระบรมราชะประทรรศนีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณชั้น ๓ อาคารหอวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งพันตรี คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ ขยายความชื่อพระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า นิทรรศการหุ่นจำลองพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิทรรศการถาวรเมืองจำลองดุสิตธานี จัดแสดงบนฐานไม้ขนาดพื้นที่ ๒๑๕ ตารางเมตร มีการจัดระบบแสง สี เสียง และคำบรรยายนำชม ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น เปิดให้ชมวันละ ๔ รอบ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ค่าเข้าชมสำหรับนักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ คนละ ๑๐ บาท ประชาชนทั่วไป คนละ ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศคนละ ๔๐ บาท

นิทรรศการถาวร ดุสิตธานี : เมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะแสดงความงดงามอลังการในเชิงช่าง สะท้อนงานศิลปะในรัชสมัยแล้ว เมื่อศึกษาในรายละเอียดของพระราชดำริให้ลึกซึ้งก็จะพบว่าทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพัฒนาประชาชนและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ อันเปรียบเสมือนแบบฝึกหัด เพื่อก้าวสู่โลกของความเป็นจริงต่อไป


ที่มา : นิตยสารศิลปากร
3386  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 30 พฤศจิกายน 2558 15:10:45
.


รัชกาลที่ ๖ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๕๔



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเปิดพระบรมรูปทรงม้า



ตุ๊กตาจีนรูปคนชาวยุโรป เป็นอับเฉาสำหรับถ่วงน้ำหนักเรือสำเภา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่วัดโพธิ์



พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ทรงฉายกับกล้องถ่ายรูป


เรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์สำหรับเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑


สะพานพระพุทธยอดฟ้า


ภาพถ่ายทางอากาศพระบรมหาราชวัง ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๖


ภาพถ่ายทางอากาศวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร(วัดโพธิ์) พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๑


บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา ปี พ.ศ.๒๔๔๕ มองเห็นพระบรมหาราชวัง


พิธีคล้องช้างในเพนียด


งานประชุมรถยนต์ในสมัยรัชกาลที่ ๕


ย่านการค้าบริเวณถนนเยาวราช


“ป้อมมหากาฬ” ชื่อใหม่
เดิมคือ “บ้านสาย-ตรอกพระยาเพชร”

ข้อมูล-ภาพ : มติชนออนไลน์


วิกลิเกพระยาเพชรปาณี ที่ตรอกพระยาเพชร บริเวณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ในสมัยรัชกาลที่๕
ยืนยันการเป็นชุมชนเก่าแก่ของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกเรียกในภายหลัง จึงถูกมองจากภาครัฐว่าไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์
(ภาพถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง)


ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ตั้งแต่ก่อน ร.๔ มีในภาพถ่ายเก่าจากภูเขาทอง สมัยปลาย ร.๔ ต้น ร.๕
(ซ้าย) เห็นป้อมมหากาฬ (กลาง) สะพานไม้ คือจุดที่สร้างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ


บ้านสาย ชุมชนทอสายรัดประคดพื้นที่ต่อเนื่องชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งล้วนมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตไม่มีขาดสาย
(ภาพจาก ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม ๑ โดย ปราณี กล่ำส้ม, เมืองโบราณฉบับพิเศษ พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๔๙)


กรุงเทพฯมุมสูง มองเห็นเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ถัดมาด้านหน้าเป็นวัดราชนัดดา วัดเทพธิดาราม
และแนวใบเสมากำแพงเมืองที่ทอดยาวต่อเนื่องถึงป้อมมหากาฬ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชานกำแพงพระนคร
(ภาพโปสการ์ดสมัย ร.๖ พ.ศ.๒๔๖๒ ของสินชัย เลิศโกวิทย์)


ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ
(ซ้าย) ภูเขาทอง (ขวา) เห็นคลองมหานาค เชื่อมคลองโอ่งอ่างและสะพานผ่านฟ้า
[ภาพถ่ายทางเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ (Peter Williams Hunt)
นักบินฝ่ายพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ หรือ พ.ศ.๒๔๘๙]


เริ่มที่ประเด็นชื่อชุมชนป้อมมหากาฬที่ไม่เคยพบพานในเอกสารโบราณใดๆ ต่างจากบ้านบาตร บ้านดอกไม้ บ้านพานถม ฯลฯ

เรื่องนี้ต้องผายมือไปที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้มีผลงานมากมายเกี่ยวกับ “กรุงเทพฯ” ซึ่งตอบทันควัน ว่าชื่อชุมชนป้อมมหากาฬจะมีได้อย่างไร เพราะมันเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเรียกกันภายหลัง แต่เดิมนั้น รู้จักกันในชื่อ “ตรอกพระยาเพชร” เพราะเป็นที่ตั้งของวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ยุครัชกาลที่ ๕ ของพระยาเพชรปาณี โดยแต่งตัวเลียนแบบละครพันทางของเจ้าคุณมหินทร์ วิกปรินซ์เธียเตอร์ ท่าเตียน แต่แหกคอก นอกกรอบละคร ชาวบ้านจึงนิยมมาก เพราะดูรู้เรื่องและสนุก

นอกจากนี้เมื่อเขยิบออกไปอีกนิด ก็มีชุมชนยุคต้นรัตนโกสินทร์ชื่อว่า “บ้านสาย” เพราะทำสายรัดประคดของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน ชาวบ้านก็เป็นพวกเดียวกันไม่อาจแยกขาดจากกันได้ แล้วจะบอกว่าป้อมมหากาฬไม่ใช่ชุมชนประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

“จะมีชื่อชุมชนป้อมมหากาฬในประวัติศาสตร์ได้ยังไง เพราะมันเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเรียกกัน จะโดยสื่อมวลชนหรือใครก็แล้วแต่ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นชุมชนใหม่ เพราะมีหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรียกตรอกพระยาเพชร มีวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ของพระยาเพชรปาณี เขยิบไปนิดเดียวเป็นบ้านสาย ชุมชนทำสายรัดประคด อยู่ติดกัน แล้วจะไปแยกกันยังไง จะบอกว่ามีบ้านสาย แต่ตรงป้อมไม่มีชุมชนมันเป็นไปไม่ได้ ตอนเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นเด็กวัดเมื่อปี ๒๔๙๗ คนบ้านสายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดก็มาใส่บาตรที่วัดเทพธิดารามนี่แหละ” สุจิตต์เล่าอย่างออกรส


‘ลาว’ สร้างกำแพงเมืองกรุงเทพฯ
๒๓๔ ปี กรุงรัตนโกสินทร์


คนลาวในอีสาน และเวียงจันทน์เป็นผู้สร้างกำแพงเมือง
และป้อมปราการในกรุงเทพฯ (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕)

เมษายน ๒๓๒๕ รัชกาลที่ ๑ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีกรุงเทพเป็นราชธานี บัดนี้ ครบรอบ ๒๓๔ ปีของมหานครแห่งนี้ ซึ่งไม่ได้ถูกเนรมิตขึ้นในชั่วข้ามคืน หากแต่สร้างขึ้นโดยบรรพชนที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ลาว’ ซึ่งมีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นผู้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการอันแข็งแกร่ง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ จดจารไว้ว่า ให้ตั้งกองสักเลกไพร่หลวงสมกำลัง และเลกหัวเมืองทั้งปวง แล้วให้เกณฑ์ทำอิฐขึ้นใหม่บ้าง ให้ไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง ลงมือก่อสร้างพระนคร ทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล

โปรดให้เกณฑ์ลาวทางภาคอีสานของไทย ลาวจากเวียงจันทน์ ตลอดจนหัวเมืองลาวริมแม่น้ำโขงฟากตะวันตก เข้ามาขุดรากก่อกำแพงพระนคร และสร้างป้อมเป็นระยะๆ รอบพระนคร

ลาวที่ถูกเกณฑมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้กลับถิ่นเดิม เพราะการสร้างแปลงเมืองไม่ได้เสร็จในคราวเดียว แต่ทำต่อเนื่องหลายรัชกาล ชาวลาวเหล่านี้ จึงตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในกรุงเทพฯ กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนกรุงเทพที่มีลูกหลานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ชัดเจนว่า คนลาวเป็นผู้สร้างกำแพงเมืองกรุงเทพรวมถึงป้อมปราการต่างๆ โดยถูกเกณฑ์มาจากลุ่มน้ำโขง เนื่องจากหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แรงงานไพร่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหลือน้อย หากไม่มีแรงงานลาว คงใช้เวลาสร้างนานกว่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างมาก

“ผลจากปัญหาสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ คนในลุ่มน้ำภาคกลางเหลือน้อย เพราะฉะนั้น พอต้องมีการก่อกำแพงพระนคร อำนาจราชสำนักแผ่ถึงลุ่มน้ำโขง จึงเกณฑ์ลาวมาช่วยสร้างพระนครเป็นการใหญ่ ถ้าไม่ได้แรงงานเหล่านี้ ๓ ปีก็ก่อกำแพงไม่เสร็จ ที่ต้องเน้นกำแพงเพราะใช้เตรียมรับศึก” ผศ.ดร. รุ่งโรจน์กล่าว



ยุคแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คนลาวถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงและป้อมปราการในกรุงเทพฯ
(ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕)


แม่หญิงลาวมณฑลอุดร

ที่มา (ภาพ-ข้อมูล): มติชนออนไลน์
3387  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ปลานิลนึ่ง เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2558 19:06:28
.



ปลานิลนึ่ง

เครื่องปรุง
- ปลานิล 1 ตัว
- ตะไคร้ 3 ต้น หั่นเป็นท่อนยาวประมาณ 3 นิ้ว ทุบให้แตก
- ใบเตยหอม 3 ใบ ฉีกแล้วขมวดเป็นปม
- เกลือป่น ½ ช้อนชา
- น้ำมันพืช 1 ช้อนชา


วิธีทำ
1. ทำความสะอาดปลานิล แล้วล้างให้สะอาด
2. นำตะไคร้และใบเตยยัดในช่องท้องและในปากของปลา
3. ทาน้ำมันพืชที่ตัวปลา แล้วโรยด้วยเกลือป่น ให้ทั่วตัวปลาทั้งสองด้าน
4. วางปลาบนใบตองที่รองรังถึง นำไปนึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 10-15 นาที หรือจนปลาสุก
5. รับประทานกับน้ำพริก แนมด้วยผักนึ่ง ผักลวก 


วิธีทำน้ำพริกจิ้มปลา
ส่วนผสม : พริกขี้หนูสวนสด 25-30 เม็ด กระเทียมไทยแกะกลีบ ½ หัว หอมแดง 2 หัว  น้ำปลาดี และน้ำมะนาว
วิธีทำ : คั่วพริก หอม และกระเทียมจนสุกหอม นำไปโขลกพอหยาบๆ
         ผสมกับน้ำปลาดีและน้ำมะนาว ชิมรสตามชอบ



ทาผิวปลาด้วยน้ำมันพืชให้ทั่ว (หนังปลาจะไม่ติดภาชนะและเป็นมันสวย)
แล้วโรยด้วยเกลือป่นเกลี่ยให้ทั่วตัวปลา


นำตะไคร้ใบเตย ยัดในช่องท้องและในปากปลา


พลิกปลาคว่ำลง วางบนใบตองที่รองรังถึง


นำไปนึงด้วยไฟแรง จนปลาสุก


พริกน้ำปลา : คั่วพริก หอม และกระเทียมจนสุกหอม
นำไปโขลกพอหยาบๆ ตักใส่ถ้วย ผสมน้ำปลาดีและน้ำมะนาว ชิมรสตามชอบ


รับประทานคู่กับพริกน้ำปลา และผักลวก ผักนึ่ง


เห็ดนางฟ้านึ่ง : ล้างเห็ดให้สะอาด วางในภาชนะทนไฟ
โรยเกลือป่นเล็กน้อย นำไปนึ่ง 5 นาที)

 
3388  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2558 18:08:25
    กระบองเพชรสว่าน   ไม้สวยแปลกที่หายไป
ผมเคยแนะนำต้น “กระบองเพชรสว่าน” ไปหลายปีแล้ว โดยในขณะนั้นผู้ขายบอกได้เพียงว่าเป็นต้นกระบองเพชรสายพันธุ์เดียวกับกระบองเพชรชนิดที่มีต้นสูงใหญ่และคนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดีนั่นเอง แต่กระบองเพชรชนิดนี้ผู้ขายบอกต่อว่าเป็นกระบองเพชรกลายพันธุ์จากต้นดั้งเดิมแล้วมีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ลำต้นจะเล็กลงโตหรืออ้วนประมาณท่อนแขนของเด็ก และลำต้นจะบิดเป็นเกลียวคลายเกลียวสว่าน (ตามภาพประกอบคอลัมน์) ซึ่งผู้ขายบอกว่าจำชื่อวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการด้วย เป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จึงพร้อมใจเรียกกระบองเพชรดังกล่าวตามลักษณะต้นว่า “กระบองเพชรสว่าน”

กระบองเพชรสว่าน หากเป็นไม้กลายพันธุ์จากต้นกระบองเพชรชนิดที่มีต้นสูงใหญ่และคนทั่วไปรู้จักตามที่ผู้ขายบอกข้างต้น พอจะระบุได้ว่า เป็นกระบองเพชรในกลุ่ม CE-REUS HEXAGONUS (LINN.) MILL อยู่ในวงศ์ CACTACEAE มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ต้นดั้งเดิมสูง ๓-๕ เมตร แต่ “กระบองเพชรสว่าน” สูงแค่ ประมาณ ๑ ฟุต ลำต้นกลม อวบน้ำ มีรอยหยักเป็นร่องลึกและมีสันสูงบิดเป็นเกลียวเหมือนสว่าน โดยส่วนที่เป็นสันสูงจะมีหนามแหลมแข็งออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๕-๗ หนาม เว้นระยะห่างกันประมาณ ๑.๕-๒ นิ้วฟุต เรียงตลอดแนวสันของต้น ต้นเป็นสีเขียว นอกจากต้นจะดูคล้ายเกลียวสว่านแล้วยังดูเหมือนกับ “เทียนวันเกิด” ที่ใช้ปักบนขนมเค้กแล้วจุดเป่าฉลองวันเกิดอีกด้วย  

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อ ๑-๓ ดอกบริเวณปลายยอด ดอกขนาดใหญ่ กลีบดอกเป็นสีเขียว มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมักจะบานตอนกลางคืน ดอกสามารถออกได้เรื่อยๆ เมื่อต้นสมบูรณ์เต็มที่ ขยายพันธุ์ด้วยต้น

ปัจจุบันต้น “กระบองเพชรสว่าน” ไม่พบมีขายหรือหายไปจากวงการไม้สวยแปลกหลายปีแล้ว สมัยก่อนเคยมีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๓ ครับ.ไทยรัฐ


    ปาล์มเจ้าชาย  สวยพลิ้ว
ปาล์มชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๑๐ ปีแล้ว โดยในช่วงแรกๆมีต้นวางขายได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันไม่พบว่ามีต้นขายอีกแล้ว ซึ่งต้น “ปาล์มเจ้าชาย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ARCHONTOPHOENIX ALEXANDRAE (F.J.MUELL.) H.A. WENDL.–DURDE อยู่ในวงศ์ PALMAE มีชื่อสามัญ KING PALM มีชื่อเรียกในท้องถิ่น ปาล์มสามเหลี่ยมเขียว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ทั่วไป ลำต้นสูง ๑๑-๑๓ เมตร อาจสูงได้ถึง ๒๐ เมตร ลำต้นเห็นปล้องชัดเจน ลำต้นตั้งตรง สีของลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล ขนาดลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐-๑๕ ซม. ใบเป็นรูปขอบขนานคล้ายทางมะพร้าว ใบยาว ๓-๕ ฟุต ใบย่อยออกเรียงสลับ มี ๓๐-๔๐ คู่ ปลายใบแหลมแผ่กางออก สีใบเป็นสีเขียวเป็นมัน หลังใบเป็นสีเทาเงินดูงดงามมาก

ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ตามซอกใบช่วงปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก เป็นสีขาวครีม “ผล” กลมรียาวประมาณ ๑ นิ้วฟุต ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีแดง ๑ ผล จะมีเพียง ๑ เมล็ด ดอกและผลจะมีเรื่อยๆอยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

นิยมปลูก ประดับตามสำนักงาน สวนสาธารณะและปลูกริมถนนสองข้างทางเป็นแถวยาว เวลาต้นเจริญเติบโตใบของต้นจะพลิ้วไหวน่าชมยิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดดจัดตลอดทั้งวัน เป็นปาล์มที่ปลูกแล้วเติบโตได้เร็วกว่าปาล์มชนิดใดๆ ใครต้องการต้นไปปลูกต้องเสาะหากันเอง เพราะที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ที่เปิดขายเฉพาะไม้ดอกไม้ผลเพียงอย่างเดียวทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ไม่พบมีวางขายอีกแล้วตามที่กล่าวข้างต้นครับ.ไทยรัฐ


    ปาล์มกะพ้อ  ใบอ่อนห่อตูป๊ะ
ปาล์มกะพ้อ พบทั่วไปตามริมทะเลที่ความสูง ๒๕๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และขึ้นได้หลายรูปแบบทั้งริมบึงที่ราบ มีเขตกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชายแดนไทยมาเลเซีย หมู่เกาะอันดามัน มาเลเซีย เกาะนิโคบา เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอเนียว และฟิลิปปินส์ ส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งในที่ร่มและกลางแจ้ง คนท้องถิ่นภาคใต้ของไทยและมาเลเซียนิยมตัดเอาใบอ่อนที่ยังไม่คลี่มาฉีกออกเอาเฉพาะใบ นำไปห่อข้าวเหนียวผัดใส่ถั่วขาว หรือถั่วดำนึ่งเป็นข้าวต้มมัดใต้ หรือเรียกชื่อตามภาษายาวีว่า “ตูป๊ะ” หมายถึงข้าวต้มมัดใบกะพ้อรับประทานเฉพาะถิ่นอร่อยมาก

ปาล์มกะพ้อ หรือ LICUALA SPINOSA THUNB เป็นปาล์มกอ ต้นสูงได้ ๕ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น ๕ ซม. เป็นกอรวมกันหนาแน่นจนหนาทึบ จัดเป็นไม้พื้นล่างของป่า ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือตั้งขึ้นและแผ่ออก ๑๐-๑๕ ทาง กาบใบแยกออกจากกัน แต่จะมีใยหยาบๆสานกันชัดเจน ก้านใบยาว ๒-๓ เมตร ขอบก้านใบมีหนามรูปสามเหลี่ยมแคบๆและงอยาว ๑-๒ ซม. ตลอดทั้งก้าน ใบเรียงกันเกือบกลม ขนาด ๘๐-๑๕๐ ซม. ฉีกเป็นแฉกลึกถึงกลางใบ ๑๕-๒๕ แฉก แต่ละแฉกมีขนาด ๓.๕-๑๔ คูณ ๔๐-๗๕ ซม. แฉกกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด ปลายใบตัดและหยักไม่เท่ากัน

ดอก ออกเป็นช่อตั้งขึ้น โค้งและแผ่ออก ๒-๓ ช่อ มักมีความยาวกว่าใบ ช่อดอกรวมสามารถยาวได้ถึง ๓ เมตร แตกกิ่งย่อย ๗-๑๐ กิ่ง ยาว ๕๐ ซม. กิ่งแขนงย่อยอีก ๔ กิ่ง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. “ผล” รูปทรงกลม เมื่อผลสุกเป็นสีส้มหรือสีแดง ๑ ผล มี ๑ เมล็ด ดอกและผลทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและแยกต้น

ปัจจุบันมีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แต่ละแผงราคาต่างกันต้องเดินสำรวจก่อนตัดสินใจซื้อไปปลูกประดับครับ.ไทยรัฐ


    กันภัยมหิดล  ดอกสวยกับที่มาชื่อและพันธุ์
ไม้ต้นนี้ถูกค้นพบโดยเจ้าหน้าที่ของกองพืชฯ กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ย.๑๐ บริเวณเขาหินปูนเตี้ยๆ หลังสถานีรถไฟวังโต จ.กาญจนบุรี เป็นไม้เถาเลื้อยสกุลเดียวกับถั่วแปบช้าง แต่สีสันของดอกไม่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่จึงเก็บเอาเมล็ดจากฝักไปปลูกที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๕ พ.ย. ปีเดียวกันพร้อมกับนำตัวอย่างส่งไปพิสูจน์ชื่อที่ประเทศสกอตแลนด์ ได้รับการยืนยันว่าเป็นคนละต้นกับถั่วแปบช้าง แต่อยู่ในสกุลเดียวกันและเป็นพันธุ์ใหม่ จึงได้ทำเรื่องขอพระราชทานชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่พระชนนีศรีสังวาลย์ในขณะนั้น โดยมีคำแนะนำให้ใช้คำว่า ศรีสังวาลย์ หรือมหิดล เลยได้ชื่อว่า “กันภัยมหิดล” ดังกล่าวและเรียกกันเรื่อยมาจนปัจจุบัน

กันภัยมหิดล หรือ SCIENTIFIC NAME, AFGEKIA MAHIDOLAE BURTTET CHERMSIRIXATHANA อยู่ในวงศ์ FABACEAE, LEGUMINOSAE, PAPILIONOIDEAE เป็นไม้เถาเลื้อยมีขนนุ่มหนาแน่น ใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๙-๑๑ ใบ เป็นรูปไข่กลับ ปลายมนเป็นติ่ง โคนมน ใบดกและเยอะมาก

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาว ๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนซ้อนกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเป็นสีม่วง ลักษณะดอกคล้ายกับดอกถั่วแปบช้าง เวลามีดอกดกดอกจะชูตั้งขึ้นสวยงามน่าชมยิ่งนัก มีเกสรตัวผู้ ๑๐ อัน โคนเชื่อมกัน ๙ อัน “ผล” เป็นฝักแบน มีหลายเมล็ด ดอกออกช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ปัจจุบันต้น “กันภัยมหิดล” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากันหรืออยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับให้ต้นหรือเถาเลื้อยพันรั้วและไต่ซุ้มดอกเห็ดทำม้านั่งรอบโคนต้น เวลามีดอกดกตามฤดูกาลจะดูสวยงามมากครับ. ไทยรัฐ


    พุดกุหลาบฮอลแลนด์
พุดกุหลาบฮอลแลนด์ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ นำเข้ามาปลูกขยายพันธุ์ในบ้านเรานานแล้ว มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวคือ มีกลีบดอกเรียงซ้อนกันหลายชั้นจนทำให้ดูคล้ายดอกกุหลาบสีขาวสวยงามมาก จึงถูกตั้งชื่อภาษาไทยว่า “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” และที่สำคัญดอกจะมีกลิ่นหอมแรงมาก เวลามีดอกดกเต็มต้นและดอกบานพร้อมกันจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ชื่นใจยิ่งนัก

ส่วนพุดสายพันธุ์ที่มีดอกลักษณะใกล้เคียงกับ “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” คือ พุดฮาวายกับพุดเวียดนาม ทั้ง ๒ ชนิดนี้มีข้อแตกต่างกับ “พุดกุหลาบฮอลแลนด์” คือ มีกลีบดอกเรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น หรือไม่เกิน ๓ ชั้น ขนาดของดอกใหญ่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเสมอว่าเป็นพุดต้นเดียวกัน

พุดกุหลาบฮอลแลนด์ หรือ GRADENIA JASMINOIDES อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้พุ่มสูง ๑.๕-๒ เมตร ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนสอบ สีเขียวสด ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆที่ปลายยอด มีกลีบดอก ๕-๗ กลีบ เรียงซ้อนกันหนาแน่นหลายชั้นเกินกว่า ๕-๖ ชั้น เนื้อกลีบดอกหนาแข็ง เป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมแรง โดยเฉพาะตอนพลบค่ำ ดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกบานได้ทนนาน ๕ วัน เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ นิ้วฟุต ดอกออกได้เรื่อยๆ และดกมาก ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่งและตอนกิ่ง
มีกิ่งตอนรุ่นใหม่ขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ    ไทยรัฐ


    "อโศกขาว" ใบอ่อนสวยเหมือนดอก

อโศกชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจาก นิวกินี ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยบ้านเรานานหลายปีแล้ว  “อโศกขาว” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ MANILTOA GRANDIFLORA SCHEFF., WHITE HAND- KERCHIEF อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม ต้นสูงเต็มที่เฉลี่ยระหว่าง ๔-๕ เมตรเท่านั้น ไม่ผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มหนาแน่น

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ มีใบย่อย ๑-๓ คู่ เป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบหรือป้าน ใบยาวประมาณ ๙-๑๗ ซม. และที่เป็นจุดเด่นคือเมื่อแตกใบอ่อน ใบอ่อนดังกล่าวจะเป็นพู่ หรือเป็นจีบเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบยาวห้อยลงเป็นระย้า และเป็นสีขาวหรือสีชมพูทำให้ดูเหมือนดอก เวลาแตกยอดอ่อนทั้งต้นยอดอ่อนห้อยลงลองหลับตานึกภาพดูว่าจะสวยงามน่าชมขนาดไหน ผู้นำเข้าจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “อโศกขาว” ดังกล่าว ซึ่งหลังจากใบอ่อนแก่ขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวตามธรรมชาติ จากนั้นก็จะแตกยอดอ่อนเป็นสีขาวหรือสีชมพูให้ ชื่นชมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดต้น

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆที่ปลายยอด หรือออกตามกิ่งก้านใกล้ก้านใบ มีใบประดับหุ้มหลายชั้น มีกลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดเล็กไม่เท่ากัน มีเกสรตัวผู้สีขาวจำนวนมาก “ผล” เป็นฝักยาว ภายในมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “อโศกขาว” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ หลายแผงหลายเจ้า มีทั้งต้นขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เวลาแตกยอดอ่อนจะดูสวยงามมากครับ   ไทยรัฐ


    โมกหลวงสีชมพู สวยหอม อมตะ
โมกหลวงชนิดนี้ เกิดจากการเอาเมล็ดของโมกหลวงพันธุ์ดั้งเดิมที่มีดอกเป็นสีขาวไปเพาะเป็นต้นกล้าหลายเมล็ดและหลายต้น จากนั้นก็ปลูกเลี้ยงจนต้นโตมีดอก ปรากฏว่ามีอยู่ ๒-๓ ต้นที่สีสันของดอกเป็นสีชมพูแตกต่างจากสีสันของดอกโมกหลวงพันธุ์แม่ที่เป็นสีขาวอย่างชัดเจน ผู้ขยายพันธุ์เชื่อว่าเป็นไม้กลายพันธุ์ จึงทำการขยายพันธุ์ปลูกทดสอบความนิ่งของพันธุ์หลายวิธีและหลายครั้ง ปรากฏว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม คือ สีสันของดอกยังคงเป็นสีชมพูไม่กลับไปเป็นสีขาวเช่นโมกหลวงพันธุ์แม่อีก ทำให้มั่นใจว่าได้กลายพันธุ์ถาวรอย่างแน่นอนแล้ว จึงตั้งชื่อว่า “โมกหลวงสีชมพู” พร้อมขยายพันธุ์ตอนกิ่งวางขายได้รับความนิยมปลูกอย่างแพร่หลายขณะนี้

โมกหลวงสีชมพู หรือ HOLARRHENA ANTIDYSENTERICA WALL อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๘-๑๕ เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้ม ทุกส่วนมียางขาวข้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนมน หน้าใบสีเขียว ท้องใบมีขนสีขาวละเอียด ขอบใบเรียบ

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปรียาว ปลายกลีบมน เนื้อกลีบค่อนข้างหนา กลีบดอกเป็นสีชมพูอ่อนจนถึงชมพูเข้ม ดอกมีกลิ่นหอมแรงเหมือนกับดอกโมกหลวงชนิดดอกสีขาวที่เป็นพันธุ์แม่ทุกอย่าง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมมากแบบเป็นอมตะไม่เสื่อมคลาย “ผล” เป็นฝักยาว มีเมล็ดแบน มีปีกสีขาวคล้ายปุยนุ่นติดที่บริเวณส่วนปลายของเมล็ดด้านหนึ่ง ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้าน เวลามีดอกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจครับ. ไทยรัฐ


    เหลืองอินเดีย อร่ามตาฤดูร้อน
ในช่วง ระหว่างเดือน มีนาคม ต่อเนื่องไปจน ถึงเดือนเมษายน ของทุกๆปี ใครที่เป็นคนช่างสังเกตจะพบว่าตามริมถนนหลายสายทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดบางจังหวัดที่ปลูกต้น “เหลืองอินเดีย” ๒ ข้างทางเป็นแนวยาวตลอดทั้งถนนจะมีดอกบานสะพรั่งเป็นสีเหลืองอร่ามสวยงามน่าชมมาก ซึ่งหลายคนอยากทราบว่าต้น “เหลืองอินเดีย” เป็นอย่างไร มีถิ่นกำเนิดจากที่ไหน และหาซื้อต้นไปปลูกได้จากแหล่งใด

เหลืองอินเดีย มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเม็กซิโกถึงตอนเหนือของประเทศเวเนซุเอลา จากนั้นมีผู้นำพันธุ์ไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่ถูกนำเข้ามาปลูกประดับตั้งแต่โบราณแล้วในชื่อว่า “เหลืองอินเดีย” มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะว่า TABEBUIA CHRY-SANTHA (JACQ.) NICHOLS ชื่อสามัญ GOLDEN TREE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง ๕-๙ เมตร ใบเป็นประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย ๕ ใบ รูปรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานปลายเรียวแหลมและเป็นติ่งสั้นๆ โคนมนด้านล่างใบมีขนสีขาว

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๓-๑๐ ดอก กลีบเลี้ยงมีขน ส่วนกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๔-๗ ซม. ปลายแยกเป็นรูปปากแตรหรือเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีเหลืองสดใส ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน โคนก้านเกสรมีขน เวลามีดอกจะทิ้งใบหมดทั้งต้น เหลือเพียงดอกเป็นสีเหลืองอร่ามงดงามจับใจมาก ดอกออกช่วงฤดูร้อนตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

ปัจจุบันต้น “เหลืองอินเดีย” มีทั้งต้นขนาดเล็กและต้นขนาดใหญ่วางขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป ทนแล้งได้ดี นิยมปลูกประดับในบริเวณบ้านสำนักงาน สวนสาธารณะ ริมถนนสองข้างทางเวลามีดอกจะทิ้งใบหมดเหลือเพียงดอกเหลืองอร่ามงดงามยิ่งครับ.  ไทยรัฐ


    “บอทเทิลทรี” ต้นกักน้ำดอกสวย
ไม้ต้นนี้ มีวางขายมีภาพถ่ายของต้นและดอกจริงแขวนโชว์ให้ชมด้วย และยังมีป้ายชื่อภาษาไทยติดไว้ว่า “บอทเทิลทรี” กับชื่อภาษาอังกฤษ BRACHYCHITON POPULNEUS, BOTTLE TREE แต่ผู้ขายบอกลักษณะทางพฤกษศาสตร์ไม่ได้ รู้เพียงว่าเป็นไม้นำมาจากประเทศออสเตรเลีย มีดอกสีสันงดงามมากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้จากเพื่อน ช่วยเหลือมอบให้พอจะบอกได้ว่า ต้น “บอทเทิล-ทรี” มีถิ่นที่พบจากรัฐควีนส์แลนด์ นิวเซาท์เวลส์ ของประเทศออสเตรเลีย และมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ BRACHYCHITON POPULNEUS ชื่อสามัญ LACEBARK KURRATONG หรือ “ต้นไม้ขวด” อยู่ในวงศ์ STERCULIACEAE เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐-๑๕ เมตร พบขึ้นตามธรรมชาติหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่แห้งแล้งหรือทะเลทรายทั่วไป

บอทเทิลทรี หรือ “ต้นไม้ขวด” จะมีความเป็นพิเศษคือ ลำต้นสามารถเก็บกักเอาน้ำไว้ในลำต้นเพื่อใช้หล่อเลี้ยงตัวเองได้ในช่วงที่เจอสภาพอากาศแห้งแล้งจัด โดยในช่วงที่ลำต้นกักเก็บน้ำนั้นจะมีลักษณะอ้วนป่องขนาดใหญ่ทำให้ดูคล้ายขวดโบราณ จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะดังกล่าวว่า “ต้นไม้ขวด” ส่วนปลายของลำต้นจะแตกกิ่งก้านสาขาเช่นต้นไม้ทั่วไป ใบมี ๒ แบบ คือใบกลมรีขนาดใหญ่และใบเรียวแหลมขนาดเล็ก ดอก ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอกรูประฆัง ๕ แฉก แต่ละแฉกแหลม ภายในหลอดดอกมีเกสรสีเหลืองเป็นกระจุก กลีบดอกเป็นสีชมพูเข้ม หรือสีชมพูอ่อน เวลามีดอกเต็มต้นและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก “ผล” รูปทรงกลม ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียนิยมเอาเมล็ดไปคั่วก่อนกินเป็นอาหาร
มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเองครับ.  ไทยรัฐ


    “ไดโนซอรัส” ไม้ประดับใบสวย
ต้น “ไดโนซอรัส” หรือ ไดโนเสาร์ ที่เคยแนะนำไปนั้น เป็นไม้นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ผู้ขายบอกไม่ได้ว่าเป็นประเทศอะไร มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก มีเหง้าใต้ดิน เถาสามารถเลื้อยหรือพาดพันต้นไม้อื่นได้ยาวกว่า ๓ เมตร เถารูปทรงกลม มีขนละเอียดทั่ว แตกกิ่งก้านน้อย เถาเป็นสีแดงอมม่วง เถาอ่อนจะเป็นสีเขียวก่อนเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงเมื่อแก่ขึ้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับห่างๆ ก้านใบยาวเป็นสีแดงอมม่วง ใบเป็นรูปนิ้วมือ ปลายใบเว้าหรือหยักเป็น ๓ แฉก ปลายแต่ละแฉกแหลม แฉกตรงกลางจะยาวกว่า ๒ แฉกที่อยู่ด้านข้างอย่างชัดเจน โคนใบมน แผ่นใบอ่อนเป็นสีเขียว มีลายสีขาวแทงขึ้นจากโคนใบไปจนจดปลายแฉกทั้ง ๓ แฉก ทำให้ดูเหมือนกับรอยเท้าของตัวไดโนเสาร์สวยงามมาก หลังใบเป็นสีม่วงเข้ม ใบเมื่อแก่ขึ้นหน้าใบจะเป็นสีแดงอมม่วง จึงเป็นที่มาของชื่อที่ผู้นำเข้าตั้งให้คือ “ไดโนซอรัส” และ “ไดโนเสาร์” เวลาเถาเลื้อยพาดพันโครงหรือห้อยเป็นสายยาวและมีใบดกจะงดงามแปลกตาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนดอก ผู้ขายบอกไม่เคยพบเห็น จึงไม่มั่นใจว่าต้น “ไดโนซอรัส” หรือไดโนเสาร์จะมีดอกหรือไม่ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น เหมาะจะปลูกทั้งลงดินทำโครงให้เถาไต่ หรือปลูกลงกระถางแขวนให้เถาห้อยลงเป็นสายยาว เวลามีใบจะสวยงามมากครับ.   ไทยรัฐ


    “สตรอเบอรี่แคคตัส” สวยแปลก
ผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมากที่ชอบปลูกไม้ประดับจำพวกต้นกระบองเพชร อยากทราบว่าต้น “สตรอเบอรี่แคคตัส” เป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นต้นกระบองเพชรชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นเฉพาะพันธุ์คือ ขนาดของต้นเล็ก แตกต้นเป็นกอกระจายหลายสิบต้นต่อกอ ลำต้นเป็นสีม่วงอมแดง เวลาแตกต้นเป็นกอจำนวนหลายๆต้นทำให้ดูคล้ายผลสตรอเบอรี่เป็นกระจุกสวยงามน่าชมมาก จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะว่า “สตรอเบอรี่แคคตัส” ดังกล่าว เป็นไม้นําเข้าจากต่างประเทศนานกว่า ๒ ปีแล้ว ระบุไม่ได้ว่าเป็นพันธุ์ลูกผสมใหม่หรือพันธุ์แท้ กำลังนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน

สตรอเบอรี่แคคตัส มีชื่อเฉพาะคือ SULCOREBUTIA RAUSCHII ลำต้นเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก ต้นสูงไม่เกิน ๒-๒.๕ นิ้วฟุต ตามลำต้นมีหนามแหลมสั้นกระจายทั่ว แตกต้นเป็นกอเบียดกันหนาแน่นจำนวนมากกว่า ๒๐-๓๐ ต้น
ขึ้นไป ลำต้นเป็นสีแดงอมม่วง

ดอก ออกบริเวณปลายยอดของต้น กลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง เวลามีดอกพร้อมๆกันหลายๆ ต้น จะมีสีสันสวยงามน่าชมยิ่งนัก “ผล” กลมขนาดเล็ก มีเมล็ด ดอกออกได้เรื่อยๆ อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และเสียบยอดกับตอต้นแก้วมังกร

การปลูก “สตรอเบอรี่แคคตัส” เป็นไม้ชอบแดดจัด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ชอบนํ้ามากนักจะทำให้รากเน่าตาย หลังปลูกรดนํ้า ๗-๑๐ วันครั้ง ในช่วงฤดูฝนต้องยกหลบไม่ให้โดนฝน เพราะไม่ชอบฝน บำรุงปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ ๓-๔ เดือนครั้ง จะทำให้ต้น “สตรอเบอรี่แคคตัส” แตกเป็นกอจำนวนมากและมีดอกสวยงาม
ปัจจุบัน “สตรอเบอรี่แคคตัส” กำลังเป็นที่นิยมปลูกอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นแคคตัสหรือต้นกระบองเพชรขนาดเล็กสามารถยกไปตั้งประดับบนโต๊ะทำงานหรือเคลื่อนย้ายได้ง่ายนั่นเอง

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณตรงกันข้ามกับโครงการ ๑๓ หรือโครงการ ๑๕ ผู้ขายมีวิธีปลูกแนะนำให้ด้วย ราคาสอบถามกันเองครับ   ไทยรัฐ


    พวงแก้วกุดั่น ดอกสวยหอมแรง
หลายคนอยากทราบว่า “พวงแก้วกุดั่น” เป็นอย่างไรและจะหาซื้อต้นไปปลูกประดับได้จากที่ไหน ซึ่ง “พวงแก้วกุดั่น” ถูกระบุว่าเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย แล้วกระจายพันธุ์ปลูกในเขตร้อนไปทั่วโลก ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาปลูกแพร่หลายช้านานแล้วจนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย ส่วนใหญ่จะปลูกให้ต้นหรือเถาเลื้อยพันรั้วหน้าบ้านหรือปลูกให้เลื้อยซุ้มประตูทางเข้าบ้าน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันตามฤดูกาลนอกจากจะดูสวยงามแล้ว ดอกยังส่งกลิ่นหอมแรงฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง

พวงแก้วกุดั่น หรือ CLEMATIS SMILACIFOLIA WALL. อยู่ในวงศ์ RANUNCULACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งอายุหลายปี ต้นหรือเถาสามารถเลื้อยได้ยาวกว่า ๕ เมตร ลำต้นกลมสีเขียวหรือสีคลํ้าดำเกือบม่วง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบและขอบใบเรียบเป็นมัน สีเขียวสด ใบดกน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๒-๓ ดอกต่อช่อ ออกตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง ๔-๖ แฉก รูปแถบยาว ปลายแฉกแหลม สีม่วงแดง ปลายกลีบเลี้ยงจะม้วนงอลงชัดเจน กลีบดอกไม่มี ส่วนที่เป็นฝอยๆ สีขาวจำนวนมากนั้นคือเกสรไม่ใช่กลีบดอก ดอกจะทยอยบานไม่พร้อมกัน ดอกมีกลิ่นหอมแรงตลอดทั้งวัน จะส่งกลิ่นจัดจ้านยิ่งขึ้นในช่วงพลบคํ่า ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันหลายๆ ดอก นอกจากจะดูงดงามแล้ว ดอกยังส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” รูปทรงกลม มีขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดเยอะ ดอกออกช่วงระหว่างเดือนมกราคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและปักชำต้น มีชื่อเรียกในประเทศไทยอีกคือ เครือจางหลวง และจางน้อย

มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาอยู่ที่ขนาดของต้น เป็นไม้ชอบแดดจัด ไม่ชอบนํ้าท่วมขังครับ.  ไทยรัฐ


    บัวรัตติกาล บานกลางคืนสีสวย
บัวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานแล้ว จัดเป็นบัวสายชนิดหนึ่งที่ดอกจะบานสะพรั่งตอนกลางคืนตั้งแต่พลบคํ่าเรื่อยไปจนถึงรุ่งเช้าประมาณสิบโมงเช้าดอกจะหุบลง จึงถูกตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า “บัวรัตติกาล” หรืออีกชื่อหนึ่ง “บัวราตรี” ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกันกับบัวเรดแฟร์ ที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว เวลามีดอกบานยามคํ่าคืนถูกแสงจันทร์ในคืนพระจันทร์เต็มดวงหรือแสงไฟสาดส่องกระทบสีสันของกลีบดอกจะดูสวยงามยิ่งนัก

บัวรัตติกาล หรือ บัวเรดแฟร์ อยู่ในวงศ์ MYMPHAEACEAE เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินคล้ายหัวเผือก ใบเดี่ยวออกสลับลอยเหนือผิวนํ้าเรียงเป็นวงกว้าง แผ่นใบค่อนข้างกลม โคนเว้าลึก ขอบจัก ผิวใบเป็นสีแดงอมม่วงเกือบดำ มีขนนุ่ม ก้านใบหรือเรียกว่าสายบัวเป็นสีแดงเข้ม เมื่อหักจะมีใยสีขาวยาวยืดเรียกว่า “ใยบัว” ที่คนมักจะเอาไปเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยว่า “ตัดบัวแล้วยังเหลือเยื่อใย” ซึ่งก็หมายถึง “ตัดไม่ขาด” นั่นเอง

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ บานเหนือนํ้าเล็กน้อย มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ด้านหลังกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว ด้านในเป็นสีเดียวกับกลีบดอก ซึ่งกลีบดอกจะมีจำนวนมากเรียงซ้อนกันหลายชั้น เป็นสีแดงเข้มหรือสีแดงอมม่วงตามภาพประกอบคอลัมน์ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกบัวสายสายพันธุ์ไทยทั่วไป ดอกจะบานเฉพาะตอนกลางคืนและจะหุบตอนเช้าประมาณสิบโมงเช้าตามที่กล่าวข้างต้น ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ

ปัจจุบัน “บัวรัตติกาล” หรือบัวเรดแฟร์ และ “บัวราตรี” มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง นิยมปลูกลงกระถางบัวตั้งประดับในที่แจ้ง บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ห่อด้วยกระดาษชำระ ๕-๗ เม็ด กดลงใต้ดินในกระถางเดือนละครั้งจะทำให้ “บัวรัตติกาล” มีดอกสวยงามยามราตรีครับ.  ไทยรัฐ


    บัวคิงออฟสยาม ชื่อมงคลสวยหอม
ผู้อ่านไทยรัฐจำนวนมาก อยากทราบว่า “บัวคิงออฟสยาม” มีความเป็นมาอย่างไร ซึ่ง บัวดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มของ บัวผัน ที่มีการเจริญจากหัวหรือเหง้าใต้ดินในแนวตั้ง เป็นบัวที่เกิดจากการขยายพันธุ์โดยฝีมือของ อ.ชัยพล ธรรมสุวรรณ มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์คือ สีสันของดอกสวยงามน่าชมยิ่ง และดอกยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อีกด้วย จึงตั้งชื่อเป็นมงคลว่า “บัวคิงออฟสยาม” หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “บัวฉลองขวัญ” ดังกล่าว

บัวคิงออฟสยาม หรือ “บัวฉลองขวัญ” อยู่ในสกุล NYMPHAEA และอยู่ในวงศ์ NYMPHAEACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวหรือเหง้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่ลอยบนผิวน้ำ เป็นวงกลม แผ่นใบเป็นรูปไข่ โคนเว้า ฐานใบเปิดครึ่งหนึ่ง ขอบเรียบและเป็นคลื่น ด้านบนสีเขียวมัน ด้านล่างสีม่วงอมน้ำเงิน ในก้านใบมีน้ำยางใส เมื่อหักจะเป็นใยติดยาวยืด เรียกว่า “ใยบัว” ซึ่งคนมักจะนำไปเปรียบเปรยว่า “ตัดบัวแล้วยังมีเยื่อใย” หมายถึงยังตัดไม่ขาดนั่นเอง

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ บานเหนือน้ำ ปลายกลีบดอกแหลมเรียงซ้อนกันหลายชั้น เป็นสีม่วงเข้มหรือสีม่วงอมชมพู ใจกลางดอกมีเกสรจำนวนมากเป็นสีเหลืองสด ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐-๑๒ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เวลามีดอกบานเหนือน้ำหลายๆดอกจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมโชยเข้าจมูกเมื่อเข้าไปใกล้ๆ เป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” ค่อนข้างกลม อยู่ในน้ำ มีเมล็ด จำนวนมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและหน่อ นิยมปลูกประดับ ทั้งลงกระถางบัวและปลูกลงสระน้ำจำลองที่มีน้ำไม่สูงนัก เนื่องจาก “บัวคิงออฟสยาม” หรือ “บัวฉลองขวัญ” เป็นสายพันธุ์ที่ชอบน้ำตื้นและลึกปานกลาง ชอบแดดจัด ๕-๖ ชั่วโมงต่อวัน บำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอจะมีดอก สวยงามและส่งกลิ่นหอมประทับใจยิ่ง

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒  ราคาสอบถามกันเองครับ.  ไทยรัฐ

3389  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: "เกษตรน่ารู้" สารพัดสารพันเรื่องพันธุ์ไม้ เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2558 20:03:53
.

 
     แคบ้าน
แคบ้าน หรือ SESBAN–SESBANIA GRANDIFLORA (L.) PERS. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูง ๕-๑๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนานออกตรงกันข้าม สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๓-๕ ดอก ลักษณะดอกเป็นรูปดอกถั่ว มีด้วยกัน๒ สี คือ ชนิดดอกสีขาว กับ ชนิดดอกสีแดง ซึ่งชนิดดอกสีขาวมีวางขายมากมายตามตลาดสดทั่วไป ชนิดดอกสีแดงนานๆจะมีวางขายไม่มากนัก ชนิดดอกสีขาวนิยมปรุงเป็นแกงส้มหรือต้มลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ชนิดดอกสีแดงจะลวกหรือต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆอย่างเดียว ไม่นิยมปรุงเป็นแกงส้ม เพราะจะทำให้น้ำแกงเป็นสีม่วง ยอดอ่อนต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้อร่อยเช่นเดียวกัน “ผล” เป็นฝักยาว มีเมล็ดจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ประโยชน์อื่น ใบสดตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำใช้ย้อมผ้า เปลือกต้นแบบสดต้มน้ำเดือดมีรสฝาดจัดใช้ย้อมแหอวน หรือหนังดีมาก สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย ต้น “แคบ้าน” ปลูกจำนวนหลายๆ ต้นจะช่วยทำให้ดินที่ไม่ดีหรือดินเสื่อมคุณภาพกลาย เป็นดินดีขึ้นมาได้ในเวลาอันรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ

ชาวอินเดีย นิยมเอาน้ำที่คั้นได้จากดอกหรือใบ สูบเอาน้ำเข้าจมูกเป็นยารักษาโรคริดสีดวงจมูกทุกระดับ ทำให้มีน้ำมูกไหลออกมาและหายได้ในที่สุด นอกจากนั้น ชาวอินเดียยังนิยมต้มเอาน้ำจากเปลือกต้นเป็นยาสมานแผลได้ดีอีกด้วย  ปัจจุบัน “แคบ้าน” ทั้งสองชนิด มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ต้องสำรวจราคาก่อนซื้อไปปลูกครับ.  
  นสพ.ไทยรัฐ – พฤหัสบดีที่ ๑๕/๕/๕๗


     แคดอกแดง
แคดอกแดง เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๓-๖ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาขรุขระแตกเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับ ใยย่อยรูปรีขอบขนาน ยาว ๓-๔ ซม. ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว  ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ๒-๔ ดอก  ดอกสีแดงมีกลิ่นหอม ก้านเกสรเพศผู้สีขาว ๖๐ อัน ผลเป็นฝัก ยาว ๘-๑๕ ซม. ฝักแก่แตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด

เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางสมุนไพรไทย โดยเปลือกต้มหรือฝนรับประทาน แก้โรคบิดมีตัว แก้มูกเลือด แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุ ใช้ชะล้างบาดแผล ดอกและใบรับประทานแก้ไข้ เปลี่ยนอากาศ เปลี่ยนฤดู ชาวอินเดีย ใช้สูดดมน้ำที่คั้นได้จากดอกหรือใบแคเข้าจมูกรักษาโรคริดสีดวงในจมูก และทำให้มีน้ำมูกออกมา แก้ปวดและหนักศีรษะ ลดความร้อน ลดไข้ ใบสด ทำให้ระบาย นำมาตำละเอียดพอกแก้ช้ำชอก
  นสพ.เดลินิวส์



     ลูกยอ
ยอ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ขนาดเล็ก เป็นไม้พื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีผู้นำไปแพร่พันธุ์จนกระจายไปทั่วอินเดียและตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกและหมู่เกาะอินดัสตะวันตก ต้นยอขึ้นได้ทั้งในป่าทึบหรือตามชายฝั่งทะเลที่เป็นโขดเขาหรือพื้นทราย ต้นโตเต็มที่เมื่ออายุครบ ๑๘ เดือน และให้ผลซึ่งมีน้ำหนักรวมกันระหว่าง ๔-๘ กิโลกรัมต่อเดือน ตลอดทั้งปี ทนทานต่อดินเค็ม สภาวะแห้งแล้ง และดินทุติยภูมิ จึงพบแพร่หลายทั่วไป

ผลยอเป็นผลรวม กลิ่นฉุนเมื่อสุก แม้จะมีกลิ่นแรงและรสขม แต่ก็มีการบริโภคผลยอกันมาก ทั้งดิบๆ หรือปรุงแต่ง บางหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก กินผลยอเป็นอาหารหลัก ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวพื้นเมืองออสเตรเลียกินผลยอดิบจิ้มเกลือ หรือปรุงกับผงกะหรี่ เมล็ดของยอคั่วรับประทานได้

ทางการแพทย์แผนไทยระบุไอระเหยจากลูกยอใช้รักษากุ้งยิง ลูกยอดิบใช้รักษาอาการเจ็บ หรือแผลตกสะเก็ดรอบปากหรือข้างในปาก ลูกยอสุก ใช้รับประทาน ลูกยอบดละเอียดใช้กลั้วคอแก้คอเจ็บ ลูกยอบดใช้ทาเท้าแก้เท้าแตก ใช้ทาผิวฆ่าเชื้อโรค หรือรับประทานเพื่อฆ่าพยาธิในร่างกาย รักษาบาดแผลและอาการบวม แก้ปากและเหงือกอักเสบ แก้ปวดฟัน กระตุ้นความอยากอาหารและสมอง ใช้ทำอาหารหมู ทำยาพอก ใช้แก้หัวสิว ตุ่ม ฝีฝักบัว แก้วัณโรค อาการเคล็ด แผลถลอกลึก โรคปวดในข้อ น้ำมันสกัดจากลูกยอใช้แก้ปวดกระเพาะ แก้ความดันโลหิตสูง
  นสพ.เดลินิวส์



     เปลือกหมากสด   กำจัดคราบหินปูนฟัน
คนส่วนใหญ่พอมีคราบหินปูนเกาะตามซอกฟันมักไม่ชอบไปพบทันตแพทย์หรือหมอฟัน เพราะกลัวเจ็บและกลัวเสียวฟัน ซึ่งในยุคสมัยก่อนใครมีคราบหินปูนเกาะตามซอกฟัน มีวิธีกำจัดแบบง่ายๆ คือ เอา “เปลือกหมากสด” ผ่าเป็นซีกเอาเนื้อหมากออกแล้วตัดขวางระหว่างกลางซีกแล้วทุบให้ส่วนปลายที่ตัดพอให้แตกและนิ่มถู บริเวณที่มีคราบหินปูนเกาะวันละครั้ง ถูต่อเนื่อง ๒-๓ วัน จะพบว่าคราบหินปูนที่เกาะอยู่หลุดหายไปได้

หมาก หรือ ARECA CATECHU LINN. อยู่ในวงศ์ ARECACEAE ราก ของต้น “หมาก” นำไปแช่เหล้าขาว ๔๐ ดีกรี ดื่มแก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น ราก ต้มน้ำดื่มแก้พิษร้อนภายใน สมานลำไส้ ใบ ต้มน้ำดื่มและอาบแก้ไข้ แก้หวัด ผื่นคันตามตัว ป้องกันสารพิษทำลายตับ ราก ต้มน้ำเดือดอมขณะอุ่นแก้ปากเปื่อย ถอนพิษถูกสารปรอทในฟันได้ดีมาก สมัยก่อนนิยมกันอย่างแพร่หลาย
  นสพ.ไทยรัฐ



     ข้าวเย็น
ข้าวเย็นเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลงหัว เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น หรือตามพื้นดิน ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนาม กระจายห่างๆ หัวมีเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ถึงรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายกลมหรือเว้าตื้น และเป็นติ่งแหลมสั้น โคนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบหลัก ๕-๗ เส้น มี ๓ เส้นกลาง ที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง  เชื่อมกับเหนือโคนใบ มือจับยาวได้ถึง ๑๒ เซนติเมตร ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ๑-๓ ช่อดอก ออกที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ดอกแยกเพศต่างต้น ใบประดับย่อยรูปไข่กว้าง ดอกสีเขียว กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มี ๒๐-๔๐ ดอกต่อช่อ เกสรเพศผู้มีจำนวน ๖ อัน ผลทรงกลม มีเนื้อ เกิดตามป่าโปร่ง ป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ออกดอกและผล ราวเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม หัวที่มีเนื้อสีแดงเข้ม เนื้อละเอียด มีรสมัน มักเกิดทางภาคเหนือและอีสาน เรียกว่าข้าวเย็นเหนือ อีกชนิดมักส่งมาจากเมืองแต้จิ๋ว หัวมีเนื้อสีขาว เรียกว่า ข้าวเย็นใต้

ในตำรายาพื้นบ้านจะใช้ หัว ต้มน้ำกิน เพื่อลดปวด สำหรับหญิงอยู่ไฟหลังคลอดบุตร ใช้หัวในยาตำรับ นำมาต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็ง โดยบดยาหัวให้ละเอียด ผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้ง แล้วผสมกับน้ำผึ้ง กินวันละ ๑ เม็ด หัวต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือดตำรายาไทย  ใช้หัวมีรสมันกร่อยหวานเล็กน้อย แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค เข้าข้อออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้เม็ดผื่นคัน แก้ปัสสาวะพิการ แก้อักเสบในร่างกาย นิยมใช้คู่กันทั้งข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ เรียกว่า ข้าวเย็นทั้งสองต้น รสจืดเย็น แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวร้อน ใบรสจืดเย็น แก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต ผล รสขื่นจัด แก้ลมริดสีดวงตำรายาพื้นบ้านแถบประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง.
  นสพ.เดลินิวส์



     หมากเม่าภูพาน
เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ความสูงประมาณ ๑๒-๑๕ เมตร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม–พฤษภาคม และผลจะสุกในช่วงเดือนสิงหาคม–กันยายน ในผลดิบสีเขียวอ่อน นำมาประกอบอาหารได้ ผลแก่สีแดงมีรสเปรี้ยว ส่วนผลแก่จัดสีดำม่วง จะมีรสหวานอมเปรี้ยว รับประทานเป็นผลไม้สด ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบายและบำรุงสายตา ใบสดนำมาอังไฟเพื่อใช้ประคบแก้อาการฟกช้ำดำเขียว เปลือกต้นหมากเม่าใช้เป็นส่วนประกอบของลูกประคบ ผลหมากเม่าสุกมีกรดอะมิโน ๑๘ ชนิด แคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินบี ๑ บี ๒  ซี และ อี ผลิตภัณฑ์แปรรูปเช่น น้ำผลไม้ ไวน์หมากเม่า แยมกวน สีธรรมชาติผสมอาหาร ฯลฯ น้ำหมากเม่าสกัดเข้มข้น ๑๐๐% มีสารอาหาร วิตามินหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ไวน์หมากเม่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง.   นสพ.เดลินิวส์



     ใบชะมวง
สถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) ได้ศึกษาวิจัยคุณสมบัติที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจากใบชะมวง พบเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีจึงนำมาแยกสารที่ต้องการ สามารถได้สารมีฤทธิ์ในระดับดี เป็นสารที่มีค่าความเข้มข้นต่ำสามารถยับยั้งเชื้อได้ประมาณ๗.๘ ไมโครกรัมต่อมิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นสารตัวใหม่ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน ทั้งนี้ ยังได้ศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวร์ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่พบบ่อยในภาคใต้ของประเทศไทย พบว่าสารจากชะมวง สามารถยับยั้งโปรโตซัวร์ได้ดี จึงนำไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว พบว่ามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้เช่นกัน ทั้งนี้จะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมก่อนนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อการรักษาที่ได้ผลและลดอาการข้างเคียงจากการใช้ต่อไป.   นสพ.เดลินิวส์



     คำหด
คำหดเป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง๒๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ลำต้นคดงอ เปลือกหนาสีเทาแตกเป็นร่องลึก ใบ เป็นใบประกอบ ช่อใบเรียงเวียนสลับ ใบย่อย ๑-๖ คู่ ใบอ่อนมีขนสาก ส่วนใบแก่เกลี้ยง ขอบใบเรียบ จะทิ้งใบหมดก่อนออกดอก ดอก เพศผู้และดอกเพศเมียอยู่แยกช่อกัน ดอกเพศผู้รวมกันอยู่เป็นช่อสั้นๆ แบบหางกระรอก ส่วนดอกเพศเมียอยู่รวมกันเป็นช่อยาวห้อยย้อยลง แต่ละดอกมีกาบบางๆ รูปสามเหลี่ยมสีเหลืองอ่อนรองรับ และกาบนี้จะเจริญเป็นกาบของผลต่อไป ผล กลมแข็ง โตไม่เกิน ๑ ซม. มีขนแข็งคลุมแน่น มีแฉกกาบเป็นรูปสามง่ามติดอยู่ ง่ามกลางจะยาวที่สุดประมาณ ๔ ซม.

พบขึ้นตามป่าดิบเขา และป่าเบญจ พรรณทั่วไป ยกเว้นทางภาคใต้ ตั้งแต่ระดับ ๕๐๐-๑,๕๐๐ เมตร จากน้ำทะเลปานกลาง เป็นไม้เบิกนำที่ทนต่อความแห้งแล้งและไฟป่า เนื้อไม้ทำสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ดี มีสรรพคุณด้านการแพทย์แผนไทย เปลือกต้นรักษาอาการปวดฟัน หรือให้หญิงหลังคลอดบุตรต้มอาบช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วและต้มอาบ เพื่อรักษา ตุ่มคันในเด็ก เปลือกต้นไปผิงไฟอุ่นๆ แล้วนำมาทาแผล ช่วยสมานแผลอักเสบ.
  นสพ.เดลินิวส์



     กระไดลิง   สรรพคุณน่ารู้
ในประเทศอินโดนีเซีย นิยมเอาน้ำเลี้ยงหรือน้ำที่ตัดได้จากเถาหรือต้นสดๆของ “กระไดลิง” ที่ไหลซึมออกมา แล้วใช้ภาชนะรอง จิบบ่อยๆ เป็นยาบรรเทาอาการไอได้อย่างชะงัดนัก และนิยมใช้กันมาแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ ส่วนในประเทศไทย ระบุว่า เถาหรือต้น “กระไดลิง” มีรสเบื่อเมาใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษทั้งปวง (กะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำดื่ม) แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ แก้ไข้ แก้พิษฝี แก้ไข้เซื่องซึม ตำรายาพื้นบ้านภาคอีสานของไทย เถาหรือต้นต้มกับน้ำหรือฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด เมล็ด กินเป็นยาขับพยาธิ แก้ไข้เซื่องซึม มีอาการหน้าหมองเนื่องมาจากพิษไข้ แก้ร้อนในได้ดีมาก

กระไดลิง หรือ BAUHINIA  SCAN DENSL, HORSFIELDII อยู่ในวงศ์ CAESAPINIOIDEAE เป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ เถาที่แก่จัดจะแข็ง เหนียว และแบน โค้งไปมาเป็นลอนสม่ำเสมอเป็นขั้นๆคล้ายบันได จึงเรียกว่า “กระไดลิง” ใบออกเรียงสลับรูปไข่หรือรูปพัด ปลายแหลมหรือเว้าลึกเป็น ๒ แฉก

ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงช่อที่ปลายยอด กลีบเลี้ยงคล้ายรูปถ้วย แยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกมี ๕ กลีบ เป็นสีขาวอมเหลือง กลีบแยกกันคล้ายรูปพัด มีเกสรตัวผู้ ๓ อัน เกสรตัวเมียไม่สมบูรณ์เพศ ๒ อัน “ผล” เป็นฝักแบน รูปรี มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด เมื่อฝักแก่จะเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีชื่ออีกคือ กระไดวอก, มะลืมดำ, บันไดลิง, ลางลิง, เครือกระไดเต่า, โชคหนุ่ย และ ปอกระไดลิง พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณในประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีเขตกระจายพันธุ์ อินโดนีเซีย อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน

ปัจจุบัน “กระไดลิง” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเองครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



     ละหุ่ง   มีทั้งประโยชน์และโทษ
ละหุ่ง พบมีขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าราบและที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เฉพาะว่า CASTOR OIL PLANT—CASTER BEAN RICINUS COMMUNIS LINN. อยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๑-๔ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหนาแน่นบริเวณช่วงปลายกิ่ง ใบเป็นรูปฝ่ามือ กว้างและยาวประมาณ ๑๕-๓๐ ซม. เป็นแฉก ๘-๑๐ แฉก ก้านใบเป็นสีเขียวยาวติดบริเวณก้นกลางใบ ใบเป็นสีเขียวเข้ม

ดอก ออกเป็นช่อแบบเชิงลดที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกขณะยังตูมเป็นรูปทรงกลมสีเขียว เมื่อบานจะแตกอ้าไม่มีกลีบดอก แต่จะมีเกสรสีเหลืองเป็นกระจุกมองเห็นชัดเจน เป็นดอกแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นกระจุกจำนวนมาก รอบผลมีหนามสีเขียวคล้ายผลเงาะ ผลโตเต็มที่ประมาณลูกปิงปอง เมื่อผลแห้งจะแตกได้แบ่งเป็น ๓ พูชัดเจน ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด เปลือกเมล็ดเป็นสีน้ำตายประขาว ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชนิดดอกสีเหลืองและกิ่งก้านเป็นสีเขียวเรียกว่า “ละหุ่งขาว”  อีกชนิดหนึ่ง ดอกจะเป็นสีแดง ลำต้นกิ่งก้านเป็นสีแดงด้วย ชนิดนี้นิยมเรียกกันมาแต่โบราณว่า “ละหุ่งแดง”

การใช้ประโยชน์ทั่วไปเหมือนกันคือ ตำรายาไทยใช้ใบแก้ช้ำรั่ว (อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่) รากสุมไฟให้เป็นถ่านใช้เป็นยาแก้พิษ แก้ไข้เซื่องซึม น้ำมันจากเมล็ดซึ่งบีบโดยวิธีไม่ใช้ความร้อนเป็นยาระบายสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ หมายเหตุ ถ้าบีบโดยใช้ความร้อนจะมีโปรตีนที่เป็นพิษ ชื่อ RICIN ออกมาด้วย จึงไม่ใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ดของ “ละหุ่ง” ที่ผ่านความร้อนเป็นยา ส่วนใหญ่จะใช้เป็นน้ำมันหยอดเครื่องจักรเรียกว่าน้ำมันละหุ่ง ซึ่งในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายเพื่อเก็บผลแกะเมล็ดขาย ปัจจุบันต้น “ละหุ่ง” ทั้ง ๒ ชนิด หายากมาก แนะนำเพื่อเป็นความรู้เท่านั้นครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



     หนาด   กับความเชื่อดีๆ มีสรรพคุณ
โบราณ มีความเชื่อว่า ใบของต้น “หนาด” สามารถป้องกันภูตผีปีศาจได้ โดยให้เด็ดเอาใบสด ๑-๒ ใบ พกใส่กระเป๋าติดตัวเดินทางไปไหนต่อไหน ภูตผีปีศาจจะไม่เข้าใกล้หรือคอยหลอกหลอนได้อย่างเด็ดขาด และในการทำพิธีเกี่ยวกับเรื่องผีๆ หรือพิธีไล่ผี หมอผีผู้ประกอบพิธีจะต้องนำเอาใบ “หนาด” ใช้ร่วมในพิธีแบบขาดไม่ได้ทุกครั้ง ในยุคสมัยนั้น ชาวบ้านนิยมปลูกต้น “หนาด” ในบริเวณบ้านกันเกือบทุกครัวเรือน เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจตามความเชื่อดังกล่าว ปัจจุบันในชนบทบางพื้นที่ยังคงเชื่อถือและปลูกต้น “หนาด” กันอยู่แต่ไม่แพร่หลายนัก

สรรพคุณทางสมุนไพร ใบสดของต้น “หนาด” หั่นเป็นฝอยตากแห้งอย่าให้มีราเกาะ แล้วหยิบเพียงเล็กน้อยชงกับน้ำร้อน จะมีกลิ่นหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย ดื่มเรื่อยๆเป็นน้ำชา จะช่วยป้องกัน ไม่ให้เป็นไข้หวัดหัวลมหลังสิ้นฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวได้ ใบสดดังกล่าวมีสารชื่อ CRYTOMERIDION นำไปกลั่นเป็นน้ำมันแล้วทำให้แห้งตกผลึกเป็น “พิมเสน” มีกลิ่นหอมเย็น ใบสดยังหั่นเป็นฝอยตากแดดพอสลบผสมยาเส้นหรือยาฉุนมวนด้วยใบตองแห้งสูบ เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกให้แห้งและหายมีกลิ่นเหม็นดีมาก

นอกจากนั้น ใบสด สามารถกินครั้งละ ๑-๒ ใบ เป็นยาขับผายลม แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะได้ ใบแห้ง นำไปบดเป็นผงผสมเนื้อไม้ต้นข่อย แก่นต้นก้ามปู ต้นพิมเสน การบูร แห้งแล้ว มวนด้วยใบตองแห้งสูบเป็นยารักษาโรคหืดดีระดับหนึ่ง รากสดของต้น “หนาด” กะจำนวนเล็กน้อยต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับนิ่ว ขับปัสสาวะ และไตพิการ

หนาด มีหลายชนิด บางชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกันหมดคือวงศ์ COMPOSITAE ต้นใบและดอกแตกต่างกันด้วย ส่วนใหญ่สรรพคุณทางสมุนไพรใช้ได้เหมือนกันหมด ชาวจีนเรียกต้น “หนาด” ว่า เฉ่าฮวนเกี๊ย และตั้วโองเช่า มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเองครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ



     ข่อย   กับสรรพคุณยา
ข่อย หรือ STREBLUS ASPER LOUR. อยู่ในวงศ์ MORACEAE ชื่อสามัญ SIAMESE ROUGH BUSH, TOOTH BRUSH TREE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร กิ่งอ่อนมีขนสากมือ ใบเดี่ยวออกเรียงสลับรูปรีแกมรูปไข่กลับ ปลายและโคนสอบมน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ เนื้อใบหนา ผิวทั้ง ๒ ด้านสากมือเหมือนผิวกระดาษทราย ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกตามซอกใบและกิ่งก้าน เป็นดอกแยกเพศอยู่ต้นเดียวกัน ดอกตัวเมียออกตามซอกใบสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบคงอยู่จนดอกกลายเป็นผล ดอกตัวผู้ออกตามกิ่งก้านเป็นสีเขียวอ่อน เป็นช่อเล็กๆ มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน “ผล” กลม เป็น ๒ พู เมื่อสุกเป็นสีเหลือง มีเมล็ดเดียว ดอกออกเกือบทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป

ชาวบ้าน ใช้ใบสดถูผิวปลาไหลทำให้หมดเมือก เปลือกต้นทำกระดาษเรียกว่า “กระดาษข่อย” หรือทำเป็นสมุดไทยเรียกว่า “สมุดข่อย” ซึ่งกระดาษและสมุดที่ทำจากเปลือกต้นข่อยสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นร้อยปีไม่ถูกสัตว์กัดแทะ เพราะเปลือกต้นข่อยมีรสเบื่อเมาอาจฆ่าแมลงได้ กระดาษข่อยใช้มวนยาสูบเป็นยาแก้ริดสีดวงจมูกโดยเอาแก่นข่อยหั่นเป็นฝอยเล็กๆ แล้วมวนสูบเรียกว่า “ไชโย หรือ ขี้โย” คนอินเดียเอากิ่งข่อยสดทุบปลายให้แตกถูฟันทุกเช้าฆ่าแลงกินฟันทำให้ฟันทนแข็งแรงขาวด้วย ใบปิ้งไฟให้เหลืองกรอบชงน้ำร้อนดื่มเป็นยาระบายอ่อนๆ เมล็ดกินเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ รากสดฝนน้ำทารักษาแผลได้ เปลือกต้นรสเบื่อเมาดับพิษในกระดูกและในเส้นเอ็น ต้มน้ำทาแก้โรคผิวหนัง

ปัจจุบัน “ข่อย” มีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑  ราคาสอบถามกันเองครับ.
  นสพ.ไทยรัฐ

sp.
3390  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ เมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2558 16:11:18



       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๖ กรรมบังไว้

ภราดา! ข้าพเจ้าได้พูดแล้วว่า คนจำนวนไม่น้อยแบกก้อนหินแห่งชีวิตคือความหนักอกหนักใจวิ่งฝ่ากองไฟคือความทะยานอยากไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า

ภราดา! สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่ง กลิ้งหินอันแสนหนักขึ้นสู่ยอดเขาแล้วปล่อยให้หินนั้นตกลงมายังภาคพื้น ตามลงมากลิ้งขึ้นไปอีกแล้วปล่อยลงมาเขากลิ้งหินขึ้นยอดเขาอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อบุคคลผู้นั้น เขาถูกบังคับให้เข็นก้อนหินโดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องเข็นทำไม

บุคคลสมมติดังกล่าวนั้นฉันใด คนส่วนมากในโลกนี้ก็ฉันนั้น ได้ลงทุนลงแรงเป็นอย่างมาก เข็นก้อนหินคือภาระอันหนักของตนเพื่อไปสู่ยอดเขาแห่งความว่างเปล่า ต่างคนต่างก็กลิ้งขึ้นไป ถูกความทะยานอยากของตนผลักดันให้กลิ้งขึ้นไปด้วยเข้าใจว่าบนยอดเขานั้นจะมีอะไร บางพวกก็กลิ้งหินกระทบกันแย่งทางกันแล้วทะเลาะกัน เบียดเบียนฆ่าฟันกัน แข่งกันว่าใครจะถึงยอดเขาก่อน เมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร คนทั้งหมดต้องนั่งลงกอดเข่ารำพันว่า ‘เหนื่อยแรงเปล่า’

ท่านผู้แสวงสัจจะ! มนุษย์จะถูกลงทัณฑ์ให้ประสบชะตากรรมคือการลงแรงที่สิ้นหวังและไร้ผลตอบแทนอันคุ้มเหนื่อย ก็เพราะความเขลาของมนุษย์เอง แม้มนุษย์จะพอฉลาดบ้างแล้วในเรื่องอื่นๆ ในสาขาวิชาการมากหลาย แต่มนุษย์ยังเขลาต่อเรื่องราวแห่งชีวิต มนุษย์ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชีวิตควรจะต้องการ และขึ้นให้ถึง ส่วนใหญ่ยังถือเอา กาม กิน และเกียรติ เป็นจุดหมายของชีวิต นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมมนุษย์ ตามความเป็นจริงแล้ว การงานทุกอย่างของมนุษย์ควรเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาตนให้ขึ้นสู่ฐานะอันสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ นั่นคือความสะอาดแจ่มใสแห่งดวงจิต ข้ามแดนแห่งความมืดมนของชีวิตเสียได้

ขอกล่าวถึงปุพพกรรมของสหาย ๕๕ คน มีพระยสะเป็นต้น พระตถาคตเจ้าตรัสว่า บุคคล ๕๕ คน มีพระยสะเป็นประมุขนั้นได้ปรารถนาอรหัตคุณ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ชวนกันทำบุญเป็นอันมาก ต่อมาในช่วงหลัง เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น (พุทธันดร) ทั้ง ๕๕ คนเป็นสหายกันเที่ยวจัดแจงศพอนาถา วันหนึ่งพวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงนำไปป่าช้า ให้ ๕ คนทำหน้าที่เผา อีก ๕๐ คนเที่ยวตรวจดูศพไม่มีญาติอื่นๆ

นายยสะซึ่งเป็นหัวหน้าได้เอาหลาวเหล็กแทงศพนั้นพลิกกลับไปกลับมา ขณะที่กำลังเผาอยู่นั่นเองได้อสุภสัญญา คือความสำคัญหมายว่า ไม่งาม เขาชี้ให้สหายอีก ๔ คนดูว่า “จงดูศพนี้ หนังลอกออกแล้ว ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เหมือนรูปโคค่าง ไม่สะอาด เหม็น พึงรังเกียจ”

สหายทั้ง ๔ คนก็ได้อสุภสัญญาเหมือนกัน เมื่อกลับเข้าไปในบ้านได้บอกเรื่องนั้นแก่สหายทั้ง ๕๐ คน สหายเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา ยสกุลบุตรเมื่อกลับไปบ้านได้บอกแก่มารดาบิดาและภริยา ท่านเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา

เพราะเหตุที่มี บูรพูปนิสัย ทางอสุภสัญญานี่แล เรือนซึ่งเกลื่อนกล่นด้วยสตรีงามบำรุงบำเรอให้เพลิดเพลินอยู่ จึงปรากฏแก่ยสกุลบุตรประดุจป่าช้า และด้วยอุปนิสัยนั้นเหมือนกัน เขาจึงได้บรรลุคุณวิเศษคืออรหัตผล พวกเขาได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้ว

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ถ้าไม่มีอุปนิสัยทางนี้แล้ว ความรู้สึกอย่างนั้นจะเกิดแก่ยสกุลบุตรไม่ได้ ยสะเป็นบุตรเศรษฐีมั่งคั่งมากในเมืองพาราณสี มีสตรีที่สวยงามบำรุงบำเรออย่างดี คืนหนึ่งยสะนอนหลับไปก่อน เมื่อตื่นขึ้นตอนดึกขณะที่ไฟสว่างอยู่ เขาเห็นสตรีเหล่านั้นนอนด้วยอาการพิกลต่างๆ บางนางพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ บางนางสยายผม บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อพก หญิงเหล่านั้นปรากฏแก่ยสะประดุจซากศพที่เขาทิ้งเกลื่อนกล่นอยู่ในป่าช้า เกิดความสลดจิต เบื่อหน่าย ออกอุทานด้วยความสลดใจว่า “ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” จึงลงมาสวมรองเท้าออกจากเรือนไป ออกประตูเมืองเดินไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนะ เวลานั้นใกล้รุ่งแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่โล่งแจ้ง ทรงได้ยินเสียงของยสกุลบุตรว่า “ที่นี่ขุดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” จึงตรัสเรียกและว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” ยสกุลบุตรได้ฟังดังนั้น จึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้า พระศาสดาทรงแสดงธรรมให้ฟัง ตรัสถึงเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม (กามาทีนพ) และความสุขความโปร่งใจของผู้ออกจากกามแล้ว (เนกขัมมะ) โดยใจความย่อว่า มนุษย์ผู้อยู่ร่วมกันควรต้องมีการเสียสละให้กัน, ไม่เบียดเบียนกัน จึงจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข แต่ความสุขชั้นกามนั้นเจือด้วยโทษ เป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ สุขโสมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือคุณของกาม ทุกข์โทมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือโทษของกาม แต่กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก มีพิษมาก มีความเดือดร้อนมาก มีรสอร่อยน้อย มีความขมขื่นปวดร้าวมาก ผู้เห็นโทษของกามจึงชักกายชักใจออกจากกาม ได้ความโปร่งใจ มีความสุขอันประณีต นั่นคือเนกขัมมสุข ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องหวาดระแวงภัยเพราะกาม

ยสกุลบุตรผู้หน่ายกามอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์อันชี้ให้เห็นโทษของกามและคุณของการออกจากกาม จิตก็แล่นไปสู่เนกขัมมสุข พระศาสดาทรงทราบว่า จิตของยสะห่างจากความพอใจในกาม ควรรับพระธรรมเทศนาที่สูงขึ้นไปได้แล้ว จึงแสดงอริยสัจ ๔ เสมือนช่างย้อมผู้ฉลาด ฟอกผ้าให้สะอาดควรแก่การย้อมก่อน แล้วจึงย้อมด้วยสีที่ต้องการ ยสกุลบุตรฟังพระธรรมเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ต่อมาภายหลังจึงได้สำเร็จอรหัตตผล

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ข้อความที่น่าสะกิดใจอย่างยิ่งก็คือคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเศรษฐีผู้เป็นบิดาของพระยสะ บิดาของท่านยสะบอกว่ามารดาเศร้าโศก รำพันถึงบุตรนักหนา จงให้ชีวิตแก่มารดาโดยการกลับไปเรือนเถิด พระยสะมองดูพระศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “...จิตของยสะหลุดพ้นจากอาสวะ มิได้ยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้ว ควรหรือที่ยสะจะกลับไปบริโภคกามคุณอีกเหมือนแต่ก่อน?” บิดาของพระยสะทูลตอบว่า “ไม่อย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า, เป็นลาภแล้ว ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ดีแล้ว”

ภราดา! เมื่อเศรษฐีบิดาของท่านยสะทราบว่าบุตรของตนบรรลุอรหัตตผล สิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว พูดออกมาว่า “ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ดีแล้ว” ดังนี้ เป็นการยืนยันถึงความเข้าใจของท่านว่า “การได้ดีสูงสุดของมนุษย์นั้นคือการสิ้นกิเลส” ดังนั้นภาวะแห่งการสิ้นกิเลสจึงควรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์ และต้องเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดทุกๆ ชาติที่เกิด แต่จะไปสำเร็จเอาชาติใดนั้นก็สุดแล้วแต่บารมีที่สั่งสม ผู้มีจุดมุ่งหมายของชีวิตอย่างนี้เท่านั้นจึงจะพบกับความสงบสุขของชีวิต มิฉะนั้นแล้ว ถึงจะได้อะไรมาก็หาพอใจไม่ ชีวิตจะต้องระหกระเหินต่อไป จิตใจจะดิ้นรนร่านหาของใหม่ๆ แปลกๆ ที่เข้าใจเอาว่าจะให้ความสุขความสมหวังแก่ตนได้

พระภัทรวัคคีย์ผู้สำเร็จมรรคผลที่ไร่ฝ้าย และท่านชฎิลมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น ก็ล้วนแต่ได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่ออรหัตตผลเท่านั้นหาได้ปรารถนาตำแหน่งใดๆ ไม่

อนึ่ง ชฎิลสามพี่น้องมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น มีชีวิตเกี่ยวพันกับพระเจ้าพิมพิสารเพียงในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเกี่ยวพันกันมาแล้ว ได้ทำบุญกุศลร่วมกันมา พระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า
“นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๒ กัปป์ ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะและปุสสะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๐ และ ๒๑ พระเจ้าพิมพิสารเกิดเป็นสมุห์บัญชีของพระราชกุมาร ๓ พระองค์ คือ ชฏิล ๓ พี่น้องเวลานี้ได้ร่วมกันทำบุญทำทานในสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชกุมาร ๓ พระองค์ได้รับศีล ๑๐ นุ่งห่มผ้ากาสายะ ๒ ผืน ตลอดเวลา ๓ เดือน มอบพระราชภาระในการบำรุงพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตให้แก่สมุห์บัญชีของพระองค์คือพระเจ้าพิมพิสารเวลานี้ แต่บริวารของสมุห์บัญชีอันเป็นทาสบ้าง กรรมกรบ้างได้กินของที่เขาอุทิศสงฆ์เองบ้าง ให้บุตรหลานกินบ้าง เพราะไม่อาจระงับความอยากได้เมื่อเห็นของดีๆ ของนั้นมิใช่เหลือจากสงฆ์ แต่เป็นของที่เขาอุทิศถวายสงฆ์และสงฆ์ยังมิได้ฉัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นจึงเกิดเป็นเปรตอยู่นานถึง ๔ พุทธันดร ได้ถามพระพุทธเจ้าถึง ๓ พระองค์ว่า เมื่อใดพวกตนจึงจะพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสตอบว่าจักพ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคดม”

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันแก่พระศาสดาแล้ว เพราะอำนาจแห่งกรรมชั่วของเปรตเหล่านั้นปิดบังไว้ จึงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารมิได้ทรงระลึกที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ใครเลย ในราตรีนั้น เปรตทั้งหลายจึงไปเปล่งเสียงอันน่ากลัวในพระราชวังของพระราชา แสดงตนให้ปรากฏ จอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ทรงสะดุ้งตกพระทัยเป็นอันมาก รุ่งเช้าจึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามเรื่องนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “มหาบพิตร นับถอยหลังจากกัปป์นี้ไป ๙๒ กัปป์ ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ พวกเปรตเหล่านั้นเป็นญาติของพระองค์ กินอาหารที่เขาเตรียมไว้ถวายสงฆ์ เกิดในเปรตโลกแล้ว หวังได้รับส่วนบุญจากพระองค์มาตลอดกาลช้านาน......”

“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าหม่อมฉันถวายทานในบัดนี้ เปรตเหล่านั้นจักได้รับหรือ?”
“ได้รับ มหาบพิตร” พระศาสดาตรัสตอบ

พระราชาพิมพิสารทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทานในวันรุ่งขึ้นแล้วได้พระราชทานส่วนบุญว่า “ด้วยอานุภาพแห่งมหาทานนี้ ขอข้าวน้ำอันเป็นทิพย์จงสำเร็จแก่เปรตเหล่านั้น” ข้าวน้ำอันเป็นทิพย์เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้นแล้ว

คืนต่อมา เปรตเหล่านั้นเปลือยกายแสดงตนแก่พระราชา พระเจ้าพิมพิสารทูลถามความนั้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ตรัสให้ถวายผ้าแก่พระสงฆ์ พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายจีวรแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วทรงอุทิศส่วนบุญว่า “ด้วยอานุภาพแห่งจีวรทานนี้ ขอผ้าอันเป็นทิพย์จงเกิดขึ้นแก่เปรตทั้งหลาย” ขณะนั้นเอง ผ้าทิพย์อันเกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น พวกมันละอัตตภาพแห่งเปรตดำรงอยู่ในอัตตภาพอันเป็นทิพย์แล้ว

พระศาสดาทรงอนุโมทนาบุญของพระราชาพิมพิสารโดยนัยว่า
“เปรตทั้งหลายมายืนอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่งบ้าง มาสู่เรือนของตนแล้วยืนอยู่นอกฝาประตูบ้าง เมื่อข้าวน้ำและของควรเคี้ยวควรบริโภคเป็นอันมากมีอยู่ ใครสักคนหนึ่งก็มิได้นึกถึงเปรตเหล่านั้น เพราะกรรมของสัตว์ (คือเปรต) นั่นเองปิดบังไว้ ผู้มีใจอนุเคราะห์เมื่อให้ทาน จึงควรระลึกถึงญาติบ้างว่า ‘ขอกุศลผลทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า’ ญาติทั้งหลายผู้ไปบังเกิดเป็นเปรตมาประชุมกันอนุโมทนาด้วยความเคารพ ตั้งจิตให้ญาติผู้ทำบุญไปให้ได้มีอายุยืนนาน ทายกผู้ทำบุญก็ไม่ไร้ผล ในเปตโลกนั้นไม่มีกสิกรรม โครักขกรรมก็ไม่มี ไม่มีพานิชกิจ หรือการซื้อขายใดๆ เปรตทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยทานที่มนุษย์ทำบุญอุทิศไปให้เท่านั้น น้ำตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด ขอทานที่ท่านให้แล้วจากโลกนี้ จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้น เหมือนห้วงน้ำหรือห้วยหนองคลองบึงเต็มแล้วหลั่งลงสู่สาคร

“ผู้มีใจกรุณาระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วแก่ตนมาก่อนว่า ‘ผู้นี้ได้เคยให้สิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้ได้เคยทำสิ่งนี้แก่เรา ผู้นี้เป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนของเรา’ แล้วทำบุญให้ทานอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งหลายด้วยความสำนึกคุณนั้น อันนี้เป็นประโยชน์ ส่วนการร้องไห้เศร้าโศกคร่ำครวญไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับ เขาคงอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

“ทักษิณาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญนี้ ชื่อว่าทรงตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับตามควรแก่ฐานะ”
“พระองค์ทรงแสดงญาติธรรมให้ประจักษ์แล้วในคราวนี้ ทรงทำการบูชาอันโอฬารแก่พระญาติผู้ล่วงลับ ทรงให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยแล้ว ชื่อว่าได้ทรงขวนขวายในบุญเป็นอันมาก”

พระคาถาอนุโมทนานี้ ยังความปลาบปลื้มพระทัยให้เกิดแก่พระเจ้าพิมพิสารเป็นที่ยิ่ง เพราะมีพระทัยจดจ่อในการบุญกุศลอยู่แล้ว เมื่อทรงทราบว่าพระราชกุศลที่ทรงทำอุทิศให้พระญาติในอดีตสำเร็จประโยชน์เช่นนั้น ก็ทรงปราโมชขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ภราดา! กรรมดีกรรมชั่วมีจริง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง บุคคลมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง เป็นที่พึ่งอาศัย คนทำดีหาความสุขได้ง่าย ส่วนคนทำชั่วหาความสุขได้ยาก
 

บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๖

๑.พุทธธันดร คือระยะกาลที่ว่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็เกิดในระยะนี้
๒.บูรพูปนิสัย คืออุปนิสัยในกาลก่อน หมายถึงได้เคยอบรมบ่มนิสัยมาอย่างไร เมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งนั้นหรือสิ่งคล้ายคลึงกันในชาติต่อมา บูรพูปนิสัย จะกระตุ้นเตือนให้มีความรู้สึกนึกคิดอย่างที่เคยรู้สึกมาแล้ว
๓.จงกรม คือการเดินกลับไปกลับมา เพื่อพิจารณาอารมณ์กัมมฐาน หรือพิจารณาหัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
๔.ทั้ง ๕ อย่างมีทานเป็นต้นนี้เรียกอนุปุพพิกถา
๕.นัยติโรกุฑฑสูตร
๖.จูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ หน้า ๓๗๖ ข้อ ๕๘๑
๗. น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฎการินา
3391  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2558 16:58:08
.
     (ต่อ)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๒๐)
ภิกษุเก็บจีวรที่ไม่ได้ทำเป็นสองเจ้าไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
ถ้าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์


    ๑๐.อธิบายการวิกัปจีวร
     วิกัปมี ๒ อย่าง คือ วิกัปต่อหน้า ๑ วิกัปลับหลัง ๑
     ภิกษุพึงทราบว่า จีวรมีผืนเดียวหรือมากผืน และจีวรนั้นอยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ (อยู่ในหัตถบาส หรือนอกหัตถบาส) แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ-จีวรผืนนี้บ้าง ว่า อิมานิ จีวรานิ-จีวรเหล่านี้บ้าง ว่า เอตํ จีวรํ-จีวรนั่นบ้าง ว่า เอตานิ จีวรานิ-จีวรเหล่านั้นบ้าง แล้วพึงกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺเปมิ-ข้าพเจ้าวิกัปแก่ท่าน ดังนี้
     วิกัปต่อหน้านี้มีอยู่อย่างเดียว วิกัปแล้วจะเก็บไว้สมควรอยู่, จะใช้สอย จะสละหรืออธิษฐาน ไม่ควร, แต่หากภิกษุผู้รับวิกัป กล่าวคำว่า มยฺหํ สนฺตกํ สนฺตกานิ ปริภุญฺช วา วิสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ-จีวรนี้หรือจีวรเหล่านี้ เป็นของข้าพเจ้า ท่านจงใช้สอย จงจำหน่าย จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิด ดังนี้ชื่อว่า ปัจจุทธรณ์ (ถอนวิกัป) จำเดิมจากนี้ แม้จะบริโภคเป็นต้น ย่อมสมควร
     อีกนัยหนึ่ง ภิกษุพึงรู้ว่าจีวรผืนเดียว หรือมากผืน อยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ แล้วกล่าวว่า อิมํ จีวรํ, อิมานิ จีวรานิ, เอตํ จีวรํ, เอตานิ จีวรานิ ดังนี้ ในสำนักของภิกษุนั้นนั่นแหละ ระบุชื่อสหธรรมิก ๕ รูปใดรูปหนึ่งที่ตนชอบใจแล้ว พึงกล่าวว่า ติสฺสสฺส ภิกฺขุโน วิกปฺเปมิ-เข้าพเจ้าวิกัปแก่ภิกษุติสสะ หรือว่า ติสฺสาย ภิกฺขุนิยา, ติสฺสาย สิกฺขมานาย, ติสฺสสฺส สามเณริยา วิกปฺเปมิ-ข้าพเจ้าวิกัปแล้วแก่ติสสาภิกษุณี แก่ติสสาสิกขมานา แก่ติสสสามเณร ติสสสามเณรี ดังนี้ นี้เป็นวิกัปต่อหน้า, วิกัปแล้วจะเก็บไว้สมควรอยู่ แต่ในการใช้สอยเป็นต้น ย่อมไม่ควร แต่เมื่อภิกษุนั่นกล่าวคำว่า จีวรนี้ของภิกษุชื่อติสสะ...ท่านจงบริโภคก็ตาม จงจำหน่ายก็ตาม ชื่อว่าเป็นอันถอน, จำเดิมแต่นี้ไปแม้การใช้สอยเป็นต้น ก็สมควร
     -ภิกษุพึงทราบว่า จีวรผืนเดียวหรือมากผืน อยู่ใกล้หรือมิได้อยู่ใกล้ กล่าวว่า อิมํ จีวรํ-ซึ่งจีวรนี้ หรือว่า อิมานิ จีวรานิ-ซึ่งจีวรทั้งหลายนี้ว่า เอตํ จีวรํ-ซึ่งจีวรนั่น หรือว่า เอตานิ จีวรานิ-ซึ่งจีวรทั้งหลายนั้น ดังนี้ แล้วกล่าวว่า ตุยฺหํ วิกปฺปนตุ ถาย ทมฺมิ-ข้าพเจ้าให้แก่ท่าน เพื่อประโยชน์แก่การวิกัป
     ภิกษุผู้รับวิกัปนั้น พึงกล่าวว่า ใครเป็นมิตร หรือเป็นเพื่อนเห็น หรือเป็นเพื่อนคบกันของท่าน ภิกษุผู้วิกัปกล่าวว่าภิกษุชื่อติสสะ หรือว่า ฯลฯ สามเณรชื่อติสสา โดยนัยที่กล่าวแล้ว ภิกษุนั้นพึงกล่าวอีกว่า อหํ ติสฺสสฺส ภิกขุโน ทมฺมิ-ข้าพเจ้าให้แก่ภิกษุชื่อติสสะ ฯลฯ หรือว่า อหํ ติสฺสาย สามเณริยา ทมฺม ข้าพเจ้าให้แก่สามเณรีชื่อติสสา ดังนี้ อย่างนี้ชื่อว่าวิกัปลับหลังด้วยการวิกัปเพียงเท่านี้ การเก็บไว้สมควรอยู่, ส่วนในการใช้สอยเป็นต้น กิจแม้อย่างเดียวก็ไม่สมควร, แต่หากภิกษุ (ผู้วิกัป) กล่าวคำว่า อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน สนฺตกํ ปริภุญฺช วา วิสฺสชฺเชหิ วา ยถาปจฺจยํ วา กโรหิ-(จีวร) ของภิกษุชื่อนี้ ท่านจงใช้สอยก็ได้ จงจำหน่ายก็ได้ จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยก็ได้ โดยนัยดังกล่าวแล้วในวิกัปต่อหน้าอย่างที่สองนั้นแล, ชื่อว่าเป็นอันถอนจำเดิมแต่นั้น กิจทั้งหลายมีการใช้สอยเป็นต้น ย่อมควร
     ถามว่า การวิกัปทั้ง ๒ อย่างต่างกันอย่างไร?
     ตอบว่า ในการวิกัปต่อหน้า ภิกษุวิกัปเองแล้วให้ผู้อื่นถอนได้, ในวิกัปลับหลัง ภิกษุให้คนอื่นวิกัปแล้วให้คนอื่นนั่นเองถอน นี้เป็นความต่างกัน, ในเรื่องวิกัปทั้ง ๒ นี้ ก็ถ้าวิกัปแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่ฉลาดในพระบัญญัติ ไม่รู้จะถอน พึงถือจีวรนั้นไปยังสำนักสหธรรมิกอื่นผู้ฉลาด วิกัปใหม่แล้วพึงให้ถอน นี้ชื่อว่าการวิกัปบริขาร ที่วิกัปไปแล้ว ควรอยู่
     ๑๑.เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่คืนให้ ด้วยสำคัญว่า ภิกษุนี้ให้แล้วแก่เรา แต่ภิกษุผู้รู้ว่าเป็นของภิกษุนั้นต้องการชิงเอาด้วยเลศ พระวินัยธรพึงให้ตีราคาสิ่งของปรับอาบัติ
     ๑๒.สิกขาบทนี้ชื่อว่า มีกฐินเป็นสมุฏฐาน เกิดทางกายกับวาจา และทางกายวาจากับจิต, เป็นอกิริยา เพราะต้องด้วยการไม่อธิษฐานและไม่วิกัป, เป็นอจิตตกะ (แม้ไม่รู้ก็ต้องอาบัติ) ปัณณัติติวัชชะ, กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ (อกุศลจิต กุศลจิต กิริยาจิต, พระอรหันต์ก็ต้องได้)
     ๑๓.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์
     กฐิน
-ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร, ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว เพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของภิกษุที่ได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน โดยให้พวกเธอพร้อมใจกันยกมอบผ้าผืนหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งในหมู่พวกเธอที่เป็นผู้มีคุณสมบัติสมควร แล้วภิกษุรูปนั้นนำผ้าที่ได้รับมอบไปทำเป็นจีวร (จะทำเป็นอันตรวาสก หรืออุตราสงค์ หรือสังฆาฏิ ก็ได้ และพวกเธอทั้งหมดจะต้องช่วยภิกษุนั้นทำ) ครั้นทำเสร็จแล้ว ภิกษุรูปนั้นแจ้งให้ที่ประชุมสงฆ์ซึ่งได้มอบผ้าแก่เธอนั้นทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์ คือที่ประชุมแห่งภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาแล้ว ก็ทำให้พวกเธอได้สิทธิพิเศษที่จะขยายเขตทำจีวรให้ยาวออกไป (เขตทำจีวรตามปกติ ถึงกลางเดือน ๑๒ ขยายต่อออกไปถึงกลางเดือน ๔),  ผ้าที่สงฆ์ยกมอบให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน,  สงฆ์ผู้ประกอบกฐินกรรมต้องมีจำนวนภิกษุอย่างน้อย ๕ รูป, ระยะเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ประกอบกฐินกรรมได้ มีเพียง ๑ เดือน ต่อจากสิ้นสุดการจำพรรษา เรียกว่า เขตกฐิน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
     ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑) เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา  ๒) จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ  ๓) ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้  ๔) เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา  ๕) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ
     อานิสงส์ ๕ นี้ หากจำพรรษาแล้ว ย่อมได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่งนับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒, เมื่อกรานกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ นี้ ออกไปอีก ๔ เดือน (ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๔) และได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอด ๔ เดือนนั้น
     เดาะ-(ในคำว่าการเดาะกฐิน) เสียหาย คือ กฐินใช้ไม่ได้ หมดประโยชน์ หมดอานิสงส์ ออกมาจากคำว่า อุพฺภาโร. อุทฺธาโร แปลว่า ยกขึ้น หรือรื้อ เข้ากับศัพท์กฐิน แปลว่า รื้อไม้สะดึง คือ หมดโอกาสได้ประโยชน์จากกฐิน


.
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๒
(พระวินัยข้อที่ ๒๑)
ภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง
ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้สมมติ

    ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายฝากผ้าสังฆาฏิไว้กับภิกษุทั้งหลายแล้ว มีแต่ผ้าอุตราสงค์และผ้าอันตรวาสก หลีกไปจาริกในชนบท ผ้าสังฆาฏิเหล่านั้นถูกเก็บไว้นานก็ขึ้นรา ภิกษุทั้งหลายจึงผึ่งผ้าสังฆาฏิเหล่านั้น พระอานนท์เที่ยวตรวจดูเสนาสนะ พบเข้า จึงถามว่าจีวรที่ขึ้นราเหล่านี้ของใคร ภิกษุเหล่านั้นแจ้งแก่ท่านพระอานนท์แล้ว พระอานนท์เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูล...
     ทรงมีพระบัญญัติว่า “จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
     สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธอยู่ในพระนครโกสัมพี พวกญาติส่งทูตไปนิมนต์ให้ท่านไปยังบ้านญาติเพื่อพยาบาล แต่ภิกษุรูปนั้นกล่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ภิกษุไม่พึงอยู่ปราศจากไตรจีวร ผมกำลังอาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรีจีวรไปด้วยได้ ผมจักไม่ไป”
     ภิกษุทั้งหลายกราบทูล... รับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุผู้อาพาธ ก็สงฆ์พึงให้สมมติอย่างนี้ว่า

วิธีสมมติจีวราวิปวาส
     ภิกษุผู้อาพาธพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอาพาธไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอสมมติ เพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ดังนี้ พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓
     จากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
     ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อผู้นี้อาพาธ ไม่สามารถจะนำไตรจีวรไปด้วยได้ เธอขอสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ การให้สมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวรแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ควรแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
     การสมมติเพื่อไม่เป็นการอยู่ปราศจากไตรจีวร อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุมีชื่อนี้ ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้” แล้วทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
    “จีวรของภิกษุสำเร็จแล้ว กฐินเดาะเสียแล้ว ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย

     -บทว่า จีวร...สำเร็จแล้ว และคำว่า กฐินเดาะเสียแล้ว พึงทราบคำอธิบายจากสิกขาบทที่ ๑ ที่ผ่านมา
     -คำว่า ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร แม้สิ้นราตรีหนึ่ง ได้แก่ ถ้าภิกษุอยู่ปราศจากไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิก็ดี ผ้าอุตราสงค์ก็ดี ผ้าอันตรวาสกก็ดี แม้คืนเดียว
     -บทว่า เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ คือ ภิกษุผู้ได้รับสมมติสามารถอยู่ปราศจากได้
     -บทว่า เป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำจะสละ พร้อมกับเวลาอรุณขึ้น ต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีเสียสละแก่สงฆ์
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าอยู่ปราศจากและล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรนั้นด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้าปราศจากแล้วล่วงราตรี เป็นของจำจะสละ เว้นแต่ได้รับสมมติ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรนั้นด้วยญัตติกรรมวาจาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวว่า... ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ พึงคืนให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้
     -เขตที่กำหนดไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร มีอยู่มากมาย เช่น บ้าน เรือน โรงเก็บของ ป้อม เป็นต้น,  “บ้าน” ที่ชื่อว่ามีอุปจารเดียว คือ เป็นบ้านของสกุลเดียวและมีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในบ้าน ต้องอยู่ภายในบ้าน; บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือไม่ละจากหัตถบาส
     -ที่ชื่อว่า อุปจารต่าง คือ เป็นบ้านของต่างสกุล และมีเครื่องล้อม ภิกษุเก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือในห้องโถง หรือที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส เมื่อจะไปสู่ห้องโถงต้องเก็บจีวรไว้ในหัตถบาส แล้วอยู่ในห้องโถง หรืออยู่ที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส, บ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม เก็บจีวรไว้ในเรือนใด ต้องอยู่ในเรือนนั้น หรือไม่ละจากหัตถบาส,  “เรือ” ของสกุลเดียว ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเรือ ต้องอยู่ภายในเรือ เรือของต่างสกุล มีห้องเล็กห้องน้อยต่างๆ เก็บจีวรไว้ในห้องใด ต้องอยู่ในห้องนั้น หรือที่ริมประตู หรือไม่ละจากหัตถบาส
     “โคนไม้” ของสกุลเดียว กำหนดเอาเขตที่เงาแผ่ไปโดยรอบในเวลาเที่ยง ภิกษุเก็บจีวรไว้ภายในเขตเงา ต้องอยู่ภายในเขตเงา, โคนไม้ต่างสกุลไม่พึงละจากหัตถบาส
     “ที่แจ้ง” ที่ชื่อว่า อุปจารเดียว, มีอุปจารต่าง คือ ในป่าหาบ้านมิได้ กำหนด ๗ อัพภันดร โดยรอบจัดเป็นอุปจารเดียว, พ้นนั้นไป จัดเป็นอุปจารต่าง
     คำอธิบายเขตไม่อยู่ปราศจากของเรือน วิหาร โรงเก็บของ ป้อม เป็นต้น พึงทราบทำนองเดียวกับบ้านและเรือ เป็นต้น
    
อาบัติ
     ๑.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุรู้ว่าอยู่ปราศจาก เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุสงสัย... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๓.จีวรอยู่ปราศจาก ภิกษุคิดว่าไม่อยู่ปราศจาก... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๔.จีวรยังไม่ได้ถอน ภิกษุสำคัญว่าถอนแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๕.จีวรยังไม่ได้สละให้ไป ภิกษุคิดว่าสละให้ไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๖.จีวรยังไม่หาย ภิกษุคิดว่าหายไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๗.จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุสำคัญว่าฉิบหายแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๘.จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุคิดว่าถูกไฟไหม้แล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
     ๙.จีวรยังไม่ถูกโจรชิงไป ภิกษุคิดว่าโจรชิงไปแล้ว... เป็นนิสสัคคีย์ ต้องปาจิตตีย์
    ๑๐.ภิกษุไม่สละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์ บริโภค ต้องทุกกฎ
    ๑๑.จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุคิดว่าอยู่ปราศจาก บริโภค (ใช้สอย) ต้องทุกกฎ
    ๑๒.จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     จีวรไม่อยู่ปราศจาก ภิกษุรู้ว่าไม่อยู่ปราศจาก บริโภค ไม่ต้องอาบัติ ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  ในภายในอรุณ ภิกษุถอนเสีย ๑  จีวรหาย ๑  ฉิบหาย ๑  ถูกไฟไหม้ ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  ภิกษุได้รับสมมติ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนฺตปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๔๒-๗๕๓
     ๑.อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ตรัสเรียกว่า อันตระ, อุตราสงค์ (ผ้าห่ม) ตรัสเรียกว่า อุตตระ, ผ้าห่มกับผ้านุ่ง ชื่อว่า สันตรุตตระ
     ๒.ภิกษุอาพาธผู้ได้รับสมมติ
       สมมติในการไม่อยู่ปราศจาก (ไตรจีวร) ชื่อว่า อวิปปวาสสมมติ, ก็อวิปปวาสสมมตินี้ มีอานิสงส์อย่างไร?  ตอบว่า ภิกษุผู้อยู่ปราศจากจีวรผืนใด จีวรผืนนั้นย่อมไม่เป็นนิสสัคคีย์ และภิกษุผู้อยู่ปราศจาก ไม่ต้องอาบัติ, อยู่ปราศจากได้สิ้นเวลาเท่าไร? พระมหาสุมเถระกล่าวว่า ชั่วเวลาที่โรคยังไม่หาย แต่เมื่อโรคหายแล้ว ภิกษุพึงรีบกลับมาสู่สถานที่เก็บจีวร, ก็ภิกษุยังแสวงหาพวกเกวียน หรือว่าทำความผูกใจอยู่ว่า เราจะไป จำเดิมแต่กาลนั้นจะอยู่ปราศจาก ก็ควร,  แต่เมื่อภิกษุทำการทอดธุระว่า เราจักยังไม่ไปในเวลานี้ พึงถอนเสีย ไตรจีวรที่ถอนแล้วจักอยู่ในฐานะเป็นอดิเรกจีวร ดังนี้
     ถ้าว่าโรคของเธอกลับกำเริบขึ้น เธอจะทำอย่างไร?  ตอบว่า พระปุสสเทวเถระกล่าวว่า ถ้าโรคนั้นนั่นเองกลับกำเริบขึ้น อวิปปวาสสมมตินั้นนั่นแล ยังคงเป็นสมมติอยู่ ไม่มีกิจที่จะต้องสมมติใหม่, ถ้าโรคอื่นกำเริบ พึงให้สมมติใหม่ ดังนี้, พระอุปติสสะเถระกล่าวว่า โรคนั้นหรือโรคอื่นก็ตาม จงยกไว้ ไม่มีกิจที่จะต้องให้สมมติใหม่ ดังนี้
     ๓.พระราชวังของพระราชาพระองค์หนึ่ง หรือบ้านของนายบ้านคนหนึ่งชื่อว่า บ้านของตระกูลเดียว, ล้อมแล้วด้วยกำแพง ด้วยรั้ว หรือด้วยคูน้ำ อย่างใดอย่างหนึ่ง
     ภิกษุอยู่ ณ ที่ใด ไม่พึงละที่นั้น จากหัตถบาสโดยรอบ ไม่พึงละให้ห่างจากที่นั่นประมาณ ๒ ศอกคืบไป; ก็การอยู่ใน ๒ ศอกคืบ ย่อมสมควร, ล่วงเลยประมาณนั้นไป ถ้าแม้นภิกษุมีฤทธิ์ยังอรุณให้ตั้งขึ้นในอากาศ ก็เป็นนิสสัคคีย์เหมือนกัน
     -ที่ชื่อว่า โรงเก็บของ ได้แก่ โรงเก็บสิ่งของ มียวดยาน เป็นต้น
     -ที่ชื่อว่า ป้อม ได้แก่ ที่อาศัยพิเศษ ซึ่งเขาก่อด้วยอิฐ เพื่อป้องกันพระราชาจากข้าศึกเป็นต้น มีฝาผนังหนา มีพื้น ๔-๕ ขั้น
     -ปราสาท ๔ เหลี่ยมจัตุรัส อันสงเคราะห์เข้าด้วยยอดเดียวกัน ชื่อว่า เรือนยอดเดียว, ปราสาทยาวชื่อว่า ปราสาท, ปราสาทที่มีหลังคาตัด (ปราสาทโล้น) ชื่อว่า ทิมแถว, อัพภันดรท่านกล่าวไว้ในคำว่า ๗ อัพภันดรนี้มีประมาณ ๒๘ ศอก
     -ถ้าหมู่เกวียนไปหยุดพักโอบหมู่บ้านหรือไม่น้ำ เนื่องเป็นอันเดียวกันกับหมู่เกวียนที่เข้าไป ภายในกระจายอยู่ตลอดไปทั้งฝั่งในฝั่งนอก ย่อมได้บริหารว่า หมู่เกวียนแท้, ถ้าหมู่เกวียนยังเนืองกันอยู่ที่บ้านหรือว่าที่แม่น้ำ, หมู่เกวียนที่เข้าไปภายในแล้ว ย่อมได้บริหารว่าบ้าน และบริหารว่าแม่น้ำ, ถ้าหมู่เกวียนหยุดพักอยู่เลยวิหารสีมาไป จีวรอยู่ภายในสีมา พึงไปยังวิหารแล้วอยู่ภายในสีมานั้น, ถ้าจีวรอยู่ในภายนอกสีมา พึงอยู่ในที่ใกล้หมู่เกวียนนั่นแล, ถ้าหมู่เกวียนกำลังเดินทาง เมื่อเกวียนหักหรือโคหาย ย่อมขาดกันในระหว่าง จีวรที่เก็บไว้ในส่วนไหนพึงอยู่ในส่วนนั้น, หัตถบาสแห่งจีวรนั่นแล ชื่อว่า หัตถบาสในไร่นาของตระกูลเดียว, หัตถบาสแห่งประตูไร่นา ชื่อว่า หัตถบาสในไร่นาของตระกูลต่างกัน, หัตถบาสแห่งจีวรเท่านั้น ชื่อว่าหัตถบาสในไร่นาที่ไม่ได้ล้อม
     -โคนไม้ เก็บจีวรไว้เฉพาะภายในโอกาสที่เงาแผ่ไปถึง แต่จีวรที่ภิกษุเก็บไว้ในโอกาสที่แดดถูกต้นไม้มีกิ่งโปร่ง เป็นนิสสัคคีย์แท้ เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเก็บจีวรไว้ที่เงาแห่งกิ่งไม้ หรือที่เงาแห่งลำต้นของต้นไม้เช่นนั้น ถ้าจะเก็บไว้บนกิ่งหรือบนคาคบ พึงวางไว้ในโอกาสที่เงาแห่งต้นไม้ต้นอื่นข้างบนแผ่ไปถึงเท่านั้น เงาของต้นไม้เตี้ยย่อมแผ่ทอดไปไกล พึงเก็บไว้ในโอกาสที่เงาแผ่ไปถูก ควรจะเก็บไว้ในที่เงาทึบเท่านั้น, หัตถบาสแห่งโคนไม้นี้ ก็คือ หัตถบาสแห่งจีวรนั่นเอง
     -ลาน ท่านเรียกว่า ธัญญกรณ์ (ลานนวดข้าวเปลือก), ส่วนดอกไม้หรือสวนผลไม้ท่านเรียกว่า สวนในลานนวดข้าว และสวนดอกไม้ สวนผลไม้ มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับที่กล่าวในไร่นา, บทว่า วิหาร ก็มีวินิจฉัยเช่นเดียวกับเรือนพักนั่นเอง
     ๔.อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ถ้าภิกษุผู้ประกอบความเพียร บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่งใฝ่ใจว่า เราจักสรงน้ำในเวลาใกล้รุ่ง แล้วออกไป วางจีวรทั้ง ๓ ผืนไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ ลงสู่แม่น้ำ เมื่อเธออาบอยู่นั่นเอง อรุณขึ้น เธอพึงกระทำอย่างไร? ด้วยว่า ถ้าขึ้นมาแล้วนุ่งห่มจีวร ย่อมต้องทุกกฎเพราะไม่เสียสละจีวรที่เป็นนิสสัคคีย์แล้วใช้สอยเป็นปัจจัย ถ้าเธอเปลือยกายไป แม้ด้วยการเปลือยกายไปอย่างนั้นก็ต้องทุกกฎ
     ตอบว่า เธอไม่ต้อง เพราะว่าเธอตั้งอยู่ในฐานแห่งภิกษุผู้มีจีวรหาย เพราะจีวรเหล่านั้นเป็นของไม่ควรบริโภค ตราบเท่าที่ยังไม่พบภิกษุรูปอื่นแล้วกระทำวินัยกรรม, และชื่อว่าสิ่งที่ไม่สมควรแก่ภิกษุผู้มีจีวรหาย ไม่มี เพราะฉะนั้นเธอพึงนุ่งผืนหนึ่ง เอามือถือสองผืน ไปสู่วิหารแล้วกระทำวินัยกรรม, ถ้าว่าวิหารอยู่ไกล ในระหว่างทางมีพวกชาวบ้านสัญจรไปมา เธอพบชาวบ้านเหล่านั้น พึงนุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง วางผืนหนึ่งไว้บนจะงอยบ่า แล้วพึงเดินไป, ถ้าหากไม่พบภิกษุที่ชอบพอกันในวิหาร ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวภิกษาจารเสีย เธอพึงวางผ้าสังฆาฏิไว้ภายนอกบ้าน ไปสู่โรงฉันด้วยผ้าอุตราสงค์กับอันตรวาสกแล้วกระทำวินัยกรรม, ถ้าในภายนอกบ้านมีโจรภัยพึงห่มสังฆาฏิไปด้วย ถ้าโรงฉันคับแคบ มีคนพลุกพล่าน เธอไม่อาจเปลื้องจีวรออกทำวินัยกรรมในด้านหนึ่งได้ พึงพาภิกษุรูปหนึ่งไปนอกบ้านกระทำวินัยกรรม แล้วใช้สอยจีวรทั้งหลายเถิด
     -ถ้าภิกษุทั้งหลายให้บาตรและจีวรไว้ในมือแห่งภิกษุหนุ่มทั้งหลายผู้กำลังเดินทางไป มีความประสงค์จะนอนพักในปัจฉิมยาม พึงกระทำจีวรของตนๆ ไว้ในหัตถบาสก่อนแล้วจึงนอน, ถ้าเมื่อภิกษุหนุ่มมาไม่ทัน อรุณขึ้นไปแก่พระเถระทั้งหลายผู้กำลังเดินไปนั่นแล จีวรทั้งหลายย่อมเป็นนิสสัคคีย์ ส่วนนิสัยไม่ระงับ, เมื่อพวกภิกษุหนุ่มเดินล่วงไปก่อนก็ดี พระเถระทั้งหลายเดินตามไม่ทันก็ดี มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
     เมื่อภิกษุทั้งหลายพลัดทางไม่เห็นกันและกันในป่าก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน, ก็ถ้าพวกภิกษุนุ่มเรียกว่า ท่านขอรับ พวกกระผมจักนอนพักสักครู่หนึ่ง จักตามไปทันพวกท่านในที่โน้น ดังนี้ แล้วนอนอยู่จนอรุณขึ้น จีวรเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย, แม้เมื่อพระเถระทั้งหลายส่งพวกภิกษุหนุ่มไปก่อนแล้วนอน ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน พบทางสองแพร่ง พระเถระทั้งหลายบอกว่า ทางนี้ พวกภิกษุหนุ่มเรียนว่าทางนี้ ไม่เชื่อถือถ้อยคำของกันและกันไปเสีย (แยกทางกันไป) พร้อมกับอรุณขึ้น จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ และนิสัยย่อมระงับ
     ถ้าพวกภิกษุหนุ่มแวะออกจากทางกล่าวว่า พวกเราจักกลับมาให้ทันภายในอรุณ แล้วเข้าไปยังบ้านเพื่อต้องการเภสัช เมื่อกำลังเดินมาและอรุณขึ้นก่อนพวกเธอผู้กลับมายังไม่ถึงนั่นเอง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยไม่ระงับ, ก็ถ้าว่าพวกเธอกล่าวว่า พวกเรายืนอยู่สักครู่หนึ่งแล้วจักไป แล้วยืนหรือนั่ง เพราะกลัวแม่โคนม (โคแม่ลูกอ่อน) หรือเพราะกลัวสุนัข แล้วจึงเดินไป เมื่ออรุณขึ้นในระหว่างทาง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ด้วย นิสัยก็ระงับด้วย, เมื่อภิกษุทั้งหลาย (เมื่ออาจารย์และอันเตวาสิก) เข้าไปสู่บ้านภายในสีมาด้วยใส่ใจว่า เราจักมาในภายในอรุณขึ้นนั่นเทียว อรุณขึ้นในระหว่าง จีวรทั้งหลายไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยก็ไม่ระงับ, ก็ถ้าว่าภิกษุทั้งหลายนั่งอยู่ด้วยไม่ใส่ใจว่า ราตรีจะสว่างหรือไม่ก็ตามที แม้เมื่ออรุณขึ้นแล้ว จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยย่อมระงับ
     ก็ภิกษุเหล่าใดเข้าไปสู่โรงในภายนอกอุปจารสีมาด้วยทั้งที่ยังมีอุตสาหะว่า เราจักมาในภายในอรุณนั่นแล เพื่อประโยชน์แก่กรรมมีอุปสมบทกรรมเป็นต้น อรุณตั้งขึ้นที่โรงนั้นแก่พวกเธอ จีวรเป็นนิสสัคคีย์แต่นิสัยไม่ระงับ, ภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู่โรงนั้นนั่นแลภายในอุปจารสีมา เมื่ออรุณตั้งขึ้น จีวรไม่เป็นนิสสัคคีย์ นิสัยไม่ระงับ, แต่ภิกษุเหล่าใดยังมีอุตสาหะไปยังวิหารใกล้เคียง เพื่อประสงค์จะฟังธรรม ตั้งใจว่าจักมาให้ทันภายในอรุณ แต่อรุณขึ้นในระหว่างทางนั่นเอง จีวรทั้งหลายเป็นนิสสัคคีย์ แต่นิสัยยังไม่ระงับ. ถ้าพวกเธอนั่งอยู่ด้วยเคารพในธรรมว่า พวกเราฟังจนจบแล้วจึงจักไป พร้อมกับอรุณขึ้นนั้น จีวรทั้งหลายก็เป็นนิสสัคคีย์ ทั้งนิสัยก็ระงับ
     พระเถระ เมื่อจะส่งภิกษุหนุ่มไปสู่ละแวกบ้าน เพื่อต้องการซักจีวร พึงปัจจุทธรณ์จีวรของตนก่อน แล้วจึงให้ไป แม้จีวรของภิกษุหนุ่มก็พึงให้ปัจจุทธรณ์แล้วเก็บไว้ ถ้าภิกษุหนุ่มไปด้วยไม่มีสติ พระเถระพึงถอนจีวรของตนแล้วถือเอาจีวรของภิกษุหนุ่มด้วยวิสาสะ พึงเก็บไว้, ถ้าพระเถระระลึกไม่ได้ แต่ภิกษุหนุ่มระลึกได้ ภิกษุหนุ่มพึงถอนจีวรของตน แล้วถือเอาจีวรของพระเถระด้วยวิสาสะ แล้วไปเรียนว่า ท่านขอรับ ท่านจงอธิษฐานจีวรของท่านเสียแล้วใช้สอยเถิด จีวรของตนเธอก็พึงอธิษฐาน, แม้ด้วยความระลึกได้ของภิกษุรูปหนึ่งอย่างนี้ ก็ย่อมพ้นอาบัติได้แล
     ๕.สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานเป็นต้น เหมือนสิกขาบทที่ ๑ แห่งจีวรวรรค, แปลกกันแต่สิกขาบทนี้เป็นอกิริยา คือ ไม่ปัจจุทธรณ์ (จึงต้องอาบัติ)




อนิกฺกสาโว กาสาวํ   โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน   น โส กาสาวมรหติ ฯ ๙ ฯ

คนที่กิเลสครอบงำใจ  ไร้การบังคับตนเองและไร้สัตย์
ถึงจะครองผ้ากาสาวพัสตร์ ก็หาคู่ควรไม่

whosoever, not freed from defilements, Without self-control and truthfulness,
Should put on the yellow robe- He is not worthy of it.
.
 ... ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

คัดจาก คัดจาก พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก,
          ธรรมสภา และ สถาบันบันลือธรรม จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา
          (ฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า)
3392  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: พระวินัย ๒๒๗ พุทธบัญญัติจากพระไตรปิฎก (ปาราชิก ๔ สิกขาบท) เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2558 16:52:22
.


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ มี ๓ วรรค วรรคละ ๑๐ สิกขาบท ว่าด้วย
วรรคที่ ๑ จีวรวรรค   วรรคที่ ๒ โกสิยวรรค  วรรคที่ ๓ ปัตตวรรค
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นอาบัติปาจิตตีย์อันทำให้ต้องสละสิ่งของ
ภิกษุใดซึ่งต้องอาบัติประเภทนี้ จะต้องสละสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติก่อน
จึงจะปลงอาบัติตก


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ จีวรวรรคที่ ๑ สิกขาบทที่ ๑
(พระวินัยข้อที่ ๒๐)
ภิกษุเก็บจีวรที่ไม่ได้ทำเป็นสองเจ้าไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
ถ้าเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

    พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวรแล้ว จึงครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่ง อยู่ในอารามอีกสำรับหนึ่ง สรงน้ำอีกสำรับหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเพ่งโทษติเตียนว่า ใช้จีวรเกินหนึ่งสำรับ แล้วกราบทูล...ทรงมีพระบัญญัติว่า “อนึ่ง ภิกษุใดทรงอดิเรกจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”
     สมัยต่อมา อดิเรกจีวรเกิดแก่พระอานนท์ ท่านต้องการจะถวายแก่พระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต ท่านจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า...ตรัสถามว่า อีกนานเท่าไร พระสารีบุตรจึงจักกลับมา พระอานนท์ทูลว่าจักกลับมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า แล้วทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระอนุบัญญัติว่า
     “จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว พึงทรงอดิเรกจีวรได้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อรรถาธิบาย
     -บทว่า จีวรสำเร็จแล้ว ความว่า จีวรของภิกษุทำสำเร็จแล้วก็ดี หายเสียก็ดี ฉิบหายเสียก็ดี ถูกไฟไหม้เสียก็ดี หมดหวังว่าจะได้ทำจีวรก็ดี
     -คำว่า กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว คือ เดาะเสียแล้วด้วยมาติกาอันใดอันหนึ่งในมาติกา ๘ อันสงฆ์เดาะเสียในระหว่าง
     -บทว่า ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ ทรงไว้ได้ ๑๐วันเป็นอย่างมาก
     -ที่ชื่อว่า อดิเรกจีวร ได้แก่ จีวรที่ยังไม่ได้อธิษฐาน ยังไม่ได้วิกัป
     -ที่ชื่อว่า จีวร ได้แก่ ผ้า ๖ ชนิด ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าองค์กำหนดแห่งผ้าวิกัปเป็นอย่างต่ำ จีวร ๖ ชนิด ได้แก่ ผ้าที่ทอด้วยเปลือกไม้, ผ้าฝ้าย, ผ้าไหม, ผ้าขนสัตว์ (ยกเว้นผมมนุษย์), ผ้าป่าน, ผ้าผสมกันด้วยของ ๕ อย่างข้างต้น
     -คำว่า ให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่ออรุณที่ ๑๑ ขึ้นมา จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ คือ เป็นของจำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล

วิธีสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ แล้วพึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้
     “ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้...เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่คณะ ( ๒-๓ รูป)
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระโหย่ง ประนมมือกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจาว่า
     “ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อว่า...เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่านทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้”

วิธีเสียสละแก่บุคคล
     ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประนมมือกล่าวว่า “ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน”
     ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้รับสละนั้น พึงรับอาบัติแล้วพึงคืนจีวรที่เสียสละให้ด้วยคำว่า “ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน” ดังนี้
     สมัยต่อมา พระฉัพพัคคีย์ ไม่ให้คืนจีวรที่ภิกษุเสียสละ ภิกษุทั้งหลายต่างพากันติเตียนแล้วกราบทูล ทรงติเตียน แล้วรับสั่งว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จีวรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฎ”

อาบัติ
     ๑.จีวรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุรู้ว่าล่วงแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๒.จีวรล่วงแล้ว ๑๐ วัน ภิกษุสงสัย เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๓.จีวรล่วง ๑๐ วันแล้ว ภิกษุเข้าใจว่ายังไม่ล่วง เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๔.จีวรยังไม่ได้อธิษฐาน ภิกษุเข้าใจว่าอธิษฐานแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๕.จีวรยังไม่ได้วิกัป ภิกษุเข้าใจว่าวิกัปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๖.จีวรยังไม่ได้สละ ภิกษุเข้าใจว่าสละแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๗.จีวรยังไม่หาย ภิกษุคิดว่าหายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๘.จีวรยังไม่ฉิบหาย ภิกษุเข้าใจว่าฉิบหายแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
     ๙.จีวรยังไม่ถูกไฟไหม้ ภิกษุคิดว่าถูกไฟไหม้แล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ๑๐.จีวรยังไม่ถูกชิงไป ภิกษุคิดว่าถูกชิงไปแล้ว เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
    ๑๑.จีวรเป็นนิสสัคคีย์ ภิกษุยังไม่ได้เสียสละ บริโภค (นุ่งห่มเป็นต้น) ต้องทุกกฎ
    ๑๒.จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุเข้าใจว่าล่วงแล้ว บริโภค ต้องทุกกฎ
    ๑๓. จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุสงสัย บริโภค ต้องทุกกฎ

อนาบัติ
     จีวรยังไม่ล่วง ๑๐ วัน ภิกษุรู้ว่ายังไม่ล่วง บริโภค ไม่ต้องอาบัติ ๑  ในภายใน ๑๐ วัน ภิกษุอธิษฐาน ๑  ภิกษุวิกัปไว้ ๑  ภิกษุสละให้ไป ๑  จีวรหาย ๑  จีวรฉิบหาย ๑  จีวรถูกไฟไหม้ ๑  โจรชิงเอาไป ๑  ภิกษุถือวิสาสะ ๑  วิกลจริต ๑  อาทิกัมมิกะ ๑

สมนตฺปาสาทิกาอรรถกถา วินย.มหาวิ.๑/๓/๗๐๒-๗๒๙
     ๑.พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต จีวร ๓ ผืน คือ อันตรวาสก ๑  อุตราสงค์ ๑  สังฆาฏิ ๑ ไว้ในเรื่องหมอชีวกโกมารภัทท์ในจีวรขันธกะ
     -พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่ง ต่างหากจากสำรับที่ใช้ครองอยู่ในวัด และสำรับที่ใช้ครองสรงน้ำ ใช้จีวรวันละ ๙ ผืน ทุกวัน ด้วยอาการอย่างนี้
     ๒.ได้ยินว่า ท่านพระอานนท์นับถือท่านพระสารีบุตร โดยนับถือความมีคุณของท่านว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว บุคคลอื่นที่มีคุณวิเศษเห็นปานนี้ ไม่มีเลย เมื่อท่านได้จีวรที่ชอบใจมา จึงซักแล้วกระทำพินทุกัปปะแล้ว ถวายแก่พระสารีบุตรทุกคราว, ในเวลาก่อนฉันได้ยาคูและของเคี้ยวหรือบิณฑบาตอันประณีตแล้ว ย่อมถวายแก่พระเถระเหมือนกัน, ในเวลาหลังฉัน แม้ได้เภสัช มีน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็ถวายแก่พระเถระนั่นเอง, เมื่อพาเด็กทั้งหลายออกจากตระกูลอุปัฏฐากก็ให้บรรพชา ให้ถืออุปัชฌายะในสำนักพระเถระแล้ว กระทำอนุสาวนากรรมเอง, ฝ่ายท่านพระสารีบุตรนับถือพระอานนท์เหลือเกิน ด้วยทำในใจว่า ธรรมดาว่ากิจที่บุตรจะพึงกระทำแก่บิดา เป็นภาระของบุตรคนโต  เพราะฉะนั้น กิจใจที่เราจะพึงกระทำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กิจนั้นทั้งหมดพระอานนท์กระทำอยู่ เราอาศัยพระอานนท์ จึงได้เพื่อเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย แม้พระเถระได้จีวรที่ชอบใจแล้ว ก็ถวายแก่พระอานนท์เหมือนกันเป็นต้น พระอานนท์นับถือมากเช่นนี้ จึงเป็นผู้มีความประสงค์จะถวายจีวรนั้นแม้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แก่ท่านพระสารีบุตร
     ๓.ท่านพระอานนท์ทราบการมาของพระสารีบุตรได้ ก็เพราะได้ยินว่า พระสารีบุตรเถระเมื่อจะหลีกจาริกไปในชนบท มักบอกลาพระอานนท์เถระแล้วจึงหลีกไปว่า ผมจักมาโดยกาลเช่นนี้ ประมาณเท่านี้ ในระหว่างนี้ท่านอย่าละเลยพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้, ถ้าแม้นว่าท่านไม่บอกลาในที่ต่อหน้า ก็ต้องส่งภิกษุไปบอกลาก่อนจึงไป, ถ้าว่าท่านอยู่จำพรรษาในอาวาสอื่น และภิกษุเหล่าใดมาก่อน ท่านก็สั่งภิกษุเหล่านี้ว่า พวกท่านจงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา และจงเรียนถามถึงความไม่มีโรคของพระอานนท์ แล้วบอกว่า เราจักมาในวันโน้น และพระเถระย่อมมาในวันที่ท่านกำหนดไว้แล้วเสมอๆ
     อีกอย่างหนึ่ง ท่านพระอานนท์ย่อมทราบได้ด้วยการอนุมานบ้าง ย่อมทราบได้โดยนัยว่าท่านพระสารีบุตรเมื่อทนอดกลั้นความวิโยค (พลัดพราก) จากพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่สิ้นวันมีประมาณเท่านี้ บัดนี้นับแต่นี้ไป จักไม่เลยวันชื่อโน้น ท่านจักมาแน่นอน, เพราะชนทั้งหลายผู้ซึ่งมีปัญญามาก ย่อมมีความรักและความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก, พระเถระย่อมทราบได้ด้วยเหตุหลายอย่างด้วยประการเหล่านี้ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกราบทูลว่า จักมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐ พระพุทธเจ้าข้า
     เมื่อพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว เพราะสิกขาบทมีโทษทางพระบัญญัติ มิใช่โทษทางโลก เพราะเหตุนั้นเมื่อจะทรงทำวันที่ท่านพระอานนท์กราบทูลนั้นให้เป็นกำหนด จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง ดังนี้, ถ้าหากว่า พระเถระนี้จะพึงทูลแสดงขึ้นกึ่งเดือนหรือเดือนหนึ่ง แม้กึ่งเดือน หรือเดือนหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพึงทรงอนุญาต
     ๔.บทว่า นิฏฺฐิตวีวรสฺมึ ได้แก่ เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว โดยการสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งถึงเพราะจีวรนี้ ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้วด้วยการกระทำบ้าง ด้วยเหตุมีการเสียหายเป็นต้นบ้าง
     -กรรมมีสูจิกรรมเป็นที่สุด ได้แก่ การทำกรรมที่ควรทำด้วยเข็มอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการติดรังดุมและลูกดุมเป็นที่สุด แล้วเก็บเข็มไว้ (ในกล่องเข็ม)
     -จีวรถูกพวกโจรเป็นต้นลักเอาไป ท่านเรียกว่า สำเร็จแล้ว ก็เพราะความกังวลด้วยการกระทำนั่นเองสำเร็จลงแล้ว (ไม่มีกิจต้องทำอีก)
     -หมดความหวังในจีวรซึ่งบังเกิดขึ้นว่า เราจักได้จีวรในตระกูลชื่อโน้นก็ดี อันที่จริงควรทราบด้วยความที่จีวรแม้เหล่านี้สำเร็จแล้ว เพราะความกังวลด้วยการกระทำนั่นแลสำเร็จลงแล้ว
     -สองบทว่า อพฺภตสฺมํ กฐิเน คือ (เมื่อจีวรสำเร็จแล้ว) และเมื่อกฐินเดาะเสียแล้ว, ด้วยบทว่า อุพฺภตสฺมึ กฐิเน นี้ ทรงแสดงความไม่มีแห่งปลิโพธิที่ ๒, ก็กฐินนั้นอันภิกษุทั้งหลายย่อมเดาะด้วยมาติกาอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดามาติกา (หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน) ๘ หรือด้วยการเดาะในระหว่าง
     -วินยฺ มหา.ข้อ ๙๙ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาติกาเพื่อเดาะกฐิน ๘ ข้อนี้ คือกำหนดด้วยหลีกไป ๑ กำหนดด้วยจีวรทำเสร็จ ๑ กำหนดด้วยตกลงใจ ๑ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย ๑ กำหนดด้วยได้ยินข่าว ๑ กำหนดด้วยสิ้นหวัง ๑ กำหนดด้วยล่วงเขต ๑ กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน ๑
     ๕.จีวรที่ชื่อว่า อดิเรก เพราะไม่นับเข้าในจำพวกจีวรที่อธิษฐานและวิกัปไว้
     -จีวร ๖ ชนิด มีจีวรที่เกิดจากผ้าเปลือกไม้ เป็นต้น เพื่อจะทรงแสดงขนาดแห่งจีวร จึงตรัสว่า จีวรอย่างต่ำควรจะวิกัปได้ขนาดแห่งจีวรนั้น ด้านยาว ๒ คืบ ด้านกว้างคืบหนึ่ง ในขนาดแห่งจีวรนั้น มีพระบาลีดังนี้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรอย่างต่ำ ด้านยาว ๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วพระสุคต”
     -เมื่อภิกษุยังจีวรมีกำเนิดและประมาณตามที่กล่าวแล้วนั้น ให้ล่วงกาลมี ๑๐ วัน เป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อไม่ทำโดยวิธีที่จะไม่เป็นอดิเรกจีวรเสียในระหว่างกาลมี ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่งนี้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์  อธิบายว่า จีวรนั้นเป็นนิสสัคคีย์ด้วย เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุนั้นด้วย อีกอย่างหนึ่ง การเสียสละชื่อว่านิสสัคคีย์  คำว่า นิสสัคคีย์ เป็นชื่อของวินัยกรรมอันภิกษุพึงกระทำในกาลเป็นส่วนเบื้องต้น, การเสียสละมีอยู่แก่ธรรมชาติใด เหตุนั้นธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า นิสสัคคีย์,  นิสสัคคีย์นั้นคืออะไร? คือปาจิตตีย์ “เป็นปาจิตตีย์ มีการเสียสละเป็นวินัยกรรม แก่ภิกษุผู้ให้ล่วงกาลนั้นไป”
     ๖.อธิบายวิธีเสียสละและวิธีแสดงอาบัติ
     พึงแสดงเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขันธกะ ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ กระทำอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่ทั้งหลายแล้ว นั่งกระโหย่ง ประนมมือ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ (ท่านเจ้าข้า กระผมต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้ ขอแสดงคืนอาบัตินั้น)
     ถ้าจีวรมีผืนเดียว พึงกล่าวว่า เอกํ นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ...(ต้องแล้ว)  ซึ่งนิสสัคคิยปาจิตตีย์ตัวหนึ่ง ถ้าจีวร ๒ ผืน พึงกล่าวว่า เทฺว...ซึ่งอาบัติ ๒ ตัว, ถ้าจีวรมากผืนพึงกล่าวว่า สมฺพหุลา...ซึ่งอาบัติหลายตัว
     แม้ในการเสียสละ ถ้าว่าจีวรมีผืนเดียว พึงกล่าวตามสมควรแก่บาลีนั่นแลว่า อิทํ เม ภนฺเต จีวรํ ท่านเจ้าขา จีวรของกระผมผืนนี้ เป็นต้น, ถ้าหากว่าจีวร ๒ ผืนหรือมากผืน พึงกล่าวว่า อิมานิ เม ภนฺเต จีวรานิ ทสาหาติกฺกนฺตานิ นิสฺสคฺคิยานิ อิมานาหํ สงฺฆสฺส นิสฺสชฺชามิ (ท่านเจ้าข้า จีวรของกระผมเหล่านี้ ล่วง ๑๐ วัน เป็นนิสสัคคีย์ กระผมเสียสละจีวรเหล่านี้แก่สงฆ์, เมื่อไม่สามารถจะกล่าวบาลีได้ พึงกล่าวโดยภาษาอื่นก็ได้, ภิกษุพึงรับอาบัติโดยนัยดังกล่าวไว้ในขันธกะนั่นแลว่า ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงเผดียงสงฆ์ว่า ท่านเจ้าขา ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้ ระลึกได้ เปิดเผย กระทำให้ตื้น ย่อมแสดงซึ่งอาบัติ ถ้าความพรั่งพร้อมแห่งสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุมีชื่ออย่างนี้ ดังนี้
     ภิกษุผู้แสดง  อันภิกษุรับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (เธอเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (เธอพึงสำรวมต่อไป)    
     ผู้แสดง  สาธุ สุฏฺฐุ สํวริสฺสามิ (ดีละ ผมจะสำรวมให้ดี)
     -ก็ในอาบัติ ๒ ตัว หรือหลายตัวด้วยกัน ผู้ศึกษาพึงทราบความต่างแห่งวจนะโดยนัยก่อนนั่นแล แม้ในการให้จีวรคืน ก็พึงทราบความแตกต่างแห่งวจนะด้วยอำนาจแห่งจำนวน คือ สงฺโฆ อิมํ จีวรํ อิมานิ จีวรานิ...สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้...พึงให้จีวรทั้งหลายเหล่านี้...ถึงในการเสียสละแก่คณะและแก่บุคคลก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน
     -ในการแสดงและการรับอาบัติ (แก่คณะ) มีบาลีดังต่อไปนี้, เตน ภิกฺขเว ภิกฺขุนา ฯเปฯ เอวมสฺสุ วจนียา อหํ ภนฺเต อิตฺถนฺนามํ อาปาตฺตึ อาปนฺโน ตํ ปฏิเทเสมิ  แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาภิกษุมากรูป กระทำผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ไหว้เท้าทั้งหลายแห่งภิกษุแก่ทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ ขอแสดงคืนซึ่งอาบัตินั้น
     อันภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ พึงเผดียงสงฆ์ให้ทราบว่า สุณาตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา อยํ อิตฺถนฺนาโม ภิกฺขุ อาปตฺตึ สรติ วิวรติ อุตฺตานี กโรติ เทเสติ ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ อหํ อิตฺถนฺนามสฺส ภิกฺขุโน อาปตฺตึ ปฏิคฺคณฺเหยฺยํ แปลว่า ท่านเจ้าข้า! ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่ออย่างนี้ รูปนี้ ย่อมระลึก ย่อมเปิดเผย ย่อมกระทำให้ตื้น ย่อมแสดงอาบัติ ถ้าว่าความพรั่งพร้อมแห่งท่านผู้มีอายุทั้งหลายถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุชื่อนี้
     ภิกษุผู้แสดง  อันภิกษุผู้รับอาบัตินั้น พึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)  
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป)
     -ภิกษุ (ผู้ต้องเสียสละ) พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง (บุคคล) ทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า แล้วนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโส ข้าพเจ้าต้องอาบัติมีชื่ออย่างนี้แล้ว จะแสดงคืนอาบัติภิกษุผู้แสดง อันภิกษุผู้รับอาบัตินั้นพึงกล่าวว่า ปสฺสสิ (ท่านเห็นหรือ)
     ผู้แสดง  อาม ปสฺสามิ (ขอรับ ผมเห็น)
     ผู้รับ  อายตึ สํวเรยฺยาสิ (ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป)
     -ในการแสดงและรับอาบัติ พึงทราบการระบุชื่ออาบัติและความต่างแห่งวจนะ โดยนัยก่อนนั่นแหละ และพึงทราบบาลีแม้ในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูป เหมือนการสละแก่คณะฉะนั้น เพราะถ้าจะมีความแปลกกัน, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะพึงตรัสบาลีไว้แผนกหนึ่ง เหมือนอย่างที่พระองค์ตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๓ รูป โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๓ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุทั้งหลายก็แลภิกษุเหล่านั้น พึงทำอุโบสถเหล่านั้นอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถพึงเผดียงให้ภิกษุเหล่านั้นทราบ แล้วตรัสปาริสุทธิอุโบสถแก่ภิกษุ ๒ รูปอีกแผนกหนึ่งต่างหาก โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุ ๒ รูป ทำปาริสุทธิอุโบสถ ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุเหล่านั้นพึงทำอุโบสถนั้นอย่างนี้ ภิกษุเถระพึงทำอุตราสงค์เฉวียงบ่า ดังนี้  ฉะนั้น ก็เพราะไม่มีความแปลกกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ตรัสไว้ เพราะฉะนั้นบาลีในการสละแก่ภิกษุ ๒ รูปนี้ เป็นบาลีที่ตรัสไว้แก่คณะเหมือนกัน
     -ส่วนในการรับอาบัติมีความแปลกกัน ดังนี้ บรรดาภิกษุ ๒ รูป ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง อย่าตั้งญัตติเหมือนภิกษุผู้รับอาบัติตั้งญัตติ ในเมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติสละแก่คณะแล้วแสดงอาบัติ พึงรับอาบัติเหมือนบุคคลคนเดียวรับฉะนั้น, แท้จริง ชื่อว่าการตั้งญัตติสำหรับภิกษุ ๒ รูป ย่อมไม่มี, ก็ถ้าหากจะพึงมีจะไม่พึงตรัสปาริสุทธิอุโบสถไว้แผนกหนึ่ง
     สำหรับภิกษุ ๒ รูป แม้ในการให้จีวรที่เสียสละแล้วคืน จะกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต เทม พวกเราให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน, เหมือนภิกษุรูปเดียวกล่าวว่า อิมํ จีวรํ อายสฺมโต ทมฺมิ ผมให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้ก็ควร, จริงอยู่ แม้ญัตติทุติยกรรมซึ่งหนักกว่านี้ ตรัสว่า ควรอปโลกน์ทำก็มี, วินัยกรรมมีการสละนี้สมควรแก่ญัตติทุติยกรรมเหล่านั้น แต่จีวรที่สละแล้ว ควรให้คืนทีเดียว จะไม่ให้คืนไม่ได้ ก็การให้คืนจีวรที่สละเสียแล้วนี้ เป็นเพียงวินัยกรรม จีวรนั้นจะเป็นอันภิกษุนั้นให้แก่สงฆ์ หรือแก่คณะ หรือแก่บุคคลหามิได้ทั้งนั้นแล
     ๗.จีวรที่ควรอธิษฐานและวิกัป มีพระบาลี (วิ.มหา.) ดังต่อไปนี้
     ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า จีวรทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ คือ ไตรจีวรก็ดี คือ วัสสิกสาฎกก็ดี นิสีทนะก็ดี คือปัจจัตถรณะ (ผ้าปูนอน) ก็ดี คือ ภัณฑุปฏิจฉาทิ (ผ้าปิดแผล) ก็ดี คือ มุขปุญฺฉนโจลก (ผ้าเช็ดหน้า) ก็ดี ปริขารโจลกะ (ท่อนผ้าใช้เป็นบริขารเช่นผ้ากรองนี้ ถุงบาตร ย่าม ผ้าห่มของ) ควรอธิษฐานทั้งหมดหรือว่าควรจะวิกัปหนอแล? ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตว่า ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้อธิษฐานไตรจีวร ไม่อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานวัสสิกสาฎก ตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน พ้นจากฤดูฝนนั้นอนุญาตให้วิกัปไว้ อนุญาตให้อธิษฐานนิสีทนะ ไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษฐานกัณฑุปฏิจฉาทิชั่วเวลาอาพาธ พ้นจากกาลอาพาธนั้น อนุญาตให้วิกัป, อนุญาตให้อธิษบานมุขปุญฺฉนโจล (ผ้าเช็ดหน้า) ไม่อนุญาตให้วิกัป อนุญาตให้อธิษฐานบริขารโจล ไม่อนุญาตให้วิกัป ดังนี้
     ๘.การอธิษฐานไตรจีวร เป็นต้น
     บรรดาจีวรเป็นต้นเหล่านั้น อันภิกษุเมื่อจะอธิษฐานไตรจีวรย้อมแล้ว ให้กัปปะพินทุ พึงอธิษฐานจีวรที่ได้ประมาณเท่านั้น, ประมาณแห่งจีวรนั้น โดยกำหนดอย่างสูง หย่อนกว่าสุคตจีวร (จีวรของพระสุคต) จึงควร, และโดยกำหนดอย่างต่ำ ประมาณแห่งสังฆาฏิและอุตราสงค์ ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้าง ๓ ศอกกำ จึงควร, อันตรวาสก ด้านยาว ๕ ศอกกำ ด้านกว้างแม้ ๒ ศอก ก็ควร เพราะอาจเพื่อจะปกปิดสะดือ ด้วยผ้านุ่งบ้าง ผ้าห่มบ้างแล ก็จีวรที่เกินและหย่อนกว่าประมาณดังกล่าวแล้ว พึงอธิษฐานว่าบริขารโจล
     การอธิษฐานจีวรมี ๒ อย่าง คือ อธิษฐานด้วยกายอย่างหนึ่ง อธิษฐานด้วยวาจาอย่างหนึ่ง ฉะนั้นภิกษุพึงถอนสังฆาฏิผืนเก่าว่า อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ (เราถอนสังฆาฏิผืนนี้) แล้วเอามือจับสังฆาฏิใหม่ หรือพาดบนส่วนแห่งร่างกาย กระทำการผูกใจว่า อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฐามิ (เราอธิษฐานสังฆาฏินี้) แล้วพึงทำกายวิการ (มีการเอามือจับจีวรเป็นต้น) อธิษฐานด้วยกายนี้ ชื่อว่า การอธิษฐานด้วยกาย, เมื่อไม่ถูกต้องจีวรนั่นด้วยส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง การอธิษฐานนั้นไม่ควร
     ส่วนในการอธิษฐานด้วยวาจา พึงเปล่งวาจาแล้วอธิษฐานด้วยวาจา มีการอธิษฐาน ๒ วิธี, ถ้าผ้าสังฆาฏิอยู่ในหัตถบาส พึงเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิฐานสังฆาฏิผืนนี้, ถ้าอยู่ภายในห้องในปราสาทชั้นบน หรือในวัดใกล้เคียง พึงกำหนดที่เก็บสังฆาฏิไว้แล้วเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าอธิฐานสังฆาฏินั่น, ในอุตราสงค์ และอันตรวาสก ก็มีนัยอย่างนี้, พึงอธิษฐานจีวรทั้งหมดโดยชื่อของตนเท่านั้น อย่างนี้ว่า สงฺฆาฏึ อุตฺตราสงฺคํ อนฺตรวาสกํ ดังนี้
     ถ้าภิกษุกระทำจีวรสังฆาฏิเป็นต้น ด้วยผ้าที่อธิษฐานเก็บไว้ เมื่อย้อมและกัปปะเสร็จแล้ว พึงถอนว่า ข้าพเจ้าถอนผ้านี้ แล้วอธิษฐานใหม่ แต่เมื่อเย็บแผ่นผ้าใหม่หรือขัณฑ์ใหม่ เฉพาะที่ใหญ่กว่าเข้ากับจีวรที่อธิษฐานแล้ว ควรอธิษฐานใหม่, ในแผ่นผ้าที่เท่ากันหรือเล็กกว่า ไม่มีกิจด้วยการอธิษฐานใหม่
     -ผ้าอาบน้ำฝนที่ไม่เกินประมาณ อันภิกษุพึงระบุชื่อแล้วอธิษฐานสิ้น ๔ เดือนแห่งฤดูฝน โดยนัยดังกล่าวแล้ว ต่อจากนั้นพึงถอนแล้ววิกัปไว้, ผ้าอาบน้ำฝนนี้ แม้ย้อมพอทำให้เสียสี ก็ควร, แต่สองผืนไม่ควร
     -ผ้านิสีทนะพึงอธิษฐานโดยนัยดังกล่าวแล้ว ก็แลผ้านิสีทนะมีได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น สองผืนไม่ควร
     -แม้ผ้าปูนอนก็ควรอธิษฐานเหมือนกัน; ผ้าปูนอนนี้ถึงใหญ่ก็ควร แม้ผืนเดียวก็ควร แม้มากผืนก็ควร มีลักษณะเป็นต้นว่าสีเขียวก็ดี สีเหลืองก็ดี มีชายก็ดี มีชายเป็นลายดอกไม้ก็ดี ย่อมควรทุกประการ ภิกษุอธิษฐานคราวเดียว ย่อมเป็นอันอธิษฐานแล้วทีเดียว
     -ผ้าปิดฝีที่ได้ประมาณพึงอธิษฐานชั่วเวลาที่ยังมีอาพาธอยู่ เมื่ออาพาธหายแล้ว พึงถอนแล้ววิกัปเก็บไว้ผืนเดียวเท่านั้น จึงควร
     -ผ้าเช็ดหน้าพึงอธิษฐานเหมือนกัน ภิกษุจำต้องปรารถนาผืนอื่น เมื่อต้องการใช้ในเวลาที่ยังซักอีกผืนหนึ่งอยู่ เพราะฉะนั้น สองผืนก็ควร
     -ในบริขารโจล ชื่อว่าการนับจำนวนไม่มี พึงอธิษฐานได้เท่าจำนวนที่ต้องการนั่นเทียว, ถุงย่ามก็ดี ผ้ากรองน้ำก็ดี มีประมาณเท่าจีวรที่ควรวิกัปเป็นอย่างต่ำ พึงอธิษฐานว่าบริขารโจลเหมือนกัน แม้จะรวมจีวรมากผืนเข้าด้วยกันแล้วอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าอธิษฐานจีวรเหล่านี้เป็นบริขารโจร ดังนี้ก็สมควรเหมือนกัน แม้ภิกษุจะเก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่เภสัช นวกรรมและมารดา เป็นต้น ก็จำต้องอธิษฐาน แต่ในมหาปัจจรีว่า ไม่เป็นอาบัติ
     -ส่วนในเสนาสนบริขารเหล่านี้คือ ฟูกเตียง ๑ ฟูกตั่ง ๑ หมอน ๑ ผ้าปาวาร ๑ ผ้าโกเชาว์ ๑  และในเครื่องปูลาดที่เขาถวายไว้เพื่อประโยชน์แก่เสนาสนบริขาร ไม่มีกิจที่ต้องอธิษฐานเลย
     ๙.เหตุให้ขาดอธิษฐาน
     ถามว่า จีวรอธิษฐานแล้ว เมื่อภิกษุใช้สอยอยู่ จะละอธิษฐานไปด้วยเหตุอย่างไร? ตอบว่า ย่อมละด้วยเหตุ ๙ อย่างนี้ คือ ด้วยให้บุคคลอื่น ๑ ด้วยถูกชิงไป ๑ ด้วยถือเอาโดยวิสาสะ ๑ ด้วยหันไปเป็นคนเลว (เข้ารีตเดียรถีย์) ๑ ด้วยลาสิกขา ๑ ด้วยกาลกิริยา (ตาย) ๑ ด้วยเพศกลับ ๑ ด้วยถอนอธิษฐาน ๑ ด้วยความเป็นช่องทะลุ ๑
     บรรดาเหตุ ๙ อย่างนั้น จีวรทุกชนิดย่อมละอธิษฐานด้วยเหตุ ๘ อย่างข้างต้น, แต่เฉพาะไตรจีวรละอธิษฐานด้วยความเป็นช่องทะลุ อรรถกถาทุกแห่งกล่าวว่า ช่องทะลุประมาณเท่าหลังเล็บแห่งนิ้วก้อย และช่องทะลุเป็นช่องโหว่ทีเดียว ถ้าภายในช่องทะลุมีเส้นด้ายเส้นหนึ่งยังไม่ขาด ก็ยังไม่ละอธิษฐาน
     “บรรดาไตรจีวรนั้น สำหรับสังฆาฏิและอุตราสงค์ ช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่มีประมาณเพียง ๑ คืบ จากชายด้านยาว, มีประมาณ ๘ นิ้ว จากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน แต่สำหรับอันตรวาสก ช่องทะลุจากด้านในแห่งเนื้อที่ มีประมาณเพียง ๑ คืบ จากชายด้านยาว, มีประมาณ ๔ นิ้ว จากชายด้านกว้าง ย่อมทำให้ขาดอธิษฐาน ช่องทะลุเล็กลงมาไม่ทำให้ขาดอธิษฐาน....เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดเป็นช่องทะลุ จีวรนั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานแห่งอดิเรกจีวร, ควรกระทำสูจิกรรมแล้ว อธิษฐานใหม่”. (สูจิกรรม-การเย็บ)
     ก็ภิกษุใดดามผ้าปะลงในที่ชำรุดก่อนแล้ว เลาะที่ชำรุดในภายหลัง การอธิษฐานของภิกษุนั้นยังไม่ขาดไป, แม้ในการเปลี่ยนแปลงกระทงจีวรก็มีนัยนี้เหมือนกัน สำหรับจีวร ๒ ชิ้น เมื่อชิ้นหนึ่งเกิดเป็นช่องทะลุหรือขาดไป อธิษฐานยังไม่ขาด, ภิกษุกระทำจีวรผืนเล็กให้เป็นผืนใหญ่ หรือกระทำผืนใหญ่ให้เป็นผืนเล็ก อธิษฐานยังไม่ขาด เมื่อจะต่อริมสองข้างเข้าที่ตรงกลาง ถ้าว่าตัดออกก่อนแล้วภายหลังเย็บติดกัน อธิษฐานย่อมขาด ถ้าเย็บต่อกันแล้วภายหลังจึงตัด อธิษฐานยังไม่ขาด, แม้เมื่อใช้พวกช่างย้อมซักให้เป็นผ้าขาว อธิษฐานก็ยังคงเป็นอธิษฐานอยู่ทีเดียว

3393  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: นาฏกรรมในวังหน้า - หุ่นกระบอกไทย เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2558 13:03:26



หุ่นกระบอกไทย
จากผลงานของ ภูวนารถ สังข์เงิน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการกลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าความเป็นมาของ "หุ่นกระบอก" ไว้ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำนิยามไว้ว่า "หุ่นชนิดหนึ่ง มีแต่ส่วนหัวและมือ ๒ ข้างลำตัว ทำด้วยไม้กระบอก มีผ้าเย็บเป็นถุงคลุม เวลาเชิดใช้มือสอดเข้าไปจับไม้กระบอกนั้นเชิด" ทั้งนี้ลักษณะทั่วไปของหุ่นกระบอกไทยสูง ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ผู้เชิดจะอยู่ด้านล่างของตัวหุ่น คล้ายกับหุ่นกระบอกของเวียดนาม หากแต่หุ่นกระบอกเวียดนามใช้ผู้เชิดแสดงหุ่นอยู่ใต้น้ำ เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงนิยมเรียกหุ่นกระบอกเวียดนามว่า "หุ่นน้ำ"

ประวัติจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยพบว่า มีการเล่นหุ่นเป็นมหรสพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยปรากฏมีการเล่นหุ่นในหมายรับสั่ง สมุดไทย และวรรณคดีเรื่องต่างๆ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เรื่อยมาจนถึงสมัยธนบุรี ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์พบระบุว่า มีการเล่นหุ่นในงานฉลองและสมโภชในพิธีหลวง เช่น การออกพระเมรุ ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นการเล่นหุ่นหลวง และพบว่า หุ่นกระบอกแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงมา

สำหรับหุ่นหลวง จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ให้นิยามเอาไว้ว่า "หุ่นหลวงเป็นศิลปะการแสดงชนิดหนึ่งที่ใช้วัสดุมาประดิษฐ์ให้มีรูปร่างท่าทางเหมือนคน มีขนาดใหญ่ สูงถึง ๑ เมตร มีคนเชิดและชักให้เคลื่อนไหว หุ่นหลวงเป็นมหรสพของหลวงที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา"

ลักษณะของหุ่นหลวง ตัวหุ่นทำด้วยไม้คว้านให้เบาลง ที่ส่วนเอวของตัวหุ่นใช้เส้นหวายขดซ้อนกันเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ มีเชือกร้อยจากนิ้วมือผ่านลำแขนเข้าสู่ลำตัวของหุ่นเพื่อให้มือและแขนขยับได้ ส่วนเท้าติดกับแข้งและขาเคลื่อนไหวไม่ได้ ภายในลำตัวมีแกนไม้ยาวสำหรับคนเชิดจับยื่นออกมาจากส่วนก้นของหุ่น แม้หุ่นหลวงจะมีขนาดใหญ่กว่าหุ่นกระบอก แต่มีน้ำหนักเบากว่ามาก

การประดิษฐ์และรายละเอียดของหุ่นมีความประณีตมาก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับมีลักษณะคล้ายกับเครื่องแต่งกายของโขนละคร ส่วนวิธีเชิดหุ่นหลวง นายจักรพันธุ์สันนิษฐานว่า ผู้เชิดคงจะเชิดหุ่นให้อยู่ในระดับเหนือศีรษะ โดยยืนจับแกนไม้ที่ใช้บังคับหุ่นยกชูขึ้นด้วยมือข้างหนึ่ง และใช้มืออีกข้างบังคับสายชักที่ร้อยจากอวัยวะต่างๆ ของหุ่นออกมาทางก้น โดยห้อยลงมารวมกันที่แป้นไม้ที่ตรึงติดอยู่กับแกนไม้ชิ้นที่สำหรับจับเชิด

นอกจากหุ่นหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้ทรงประดิษฐ์หุ่นที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เรียกว่า หุ่นเล็ก แล้วเรียกหุ่นหลวงที่มีมาแต่เดิมว่า หุ่นใหญ่ โดยหุ่นเล็กที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมี ๒ แบบ คือ
๑.หุ่นจีน เป็นหุ่นมือ ใช้นิ้วเชิดบังคับให้เคลื่อนไหว หัวและหน้าเขียนสีต่างๆ เครื่องแต่งกายเหมือนอย่างงิ้ว ใช้เล่นเรื่องวรรณคดีของจีน เช่น ซวยงัก สามก๊ก และ
๒.หุ่นไทย ลักษณะของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย รวมถึงวิธีชักเหมือนกับหุ่นหลวง ใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เรียกกันโดยทั่วไปว่า หุ่นวังหน้า

หุ่นวังหน้ามีความสูง ๒๘-๓๐ มตร โครงหุ่นแกะเหลาด้วยไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบา คว้านเจาะให้กลวงตลอดลำตัวเพื่อร้อยเชือกสำหรับชักให้อวัยวะบางส่วนเคลื่อนไหวได้ หัวหุ่นโกลนด้วยไม้เนื้ออ่อนเช่นเดียวกับตัวหุ่น แล้วปั้นเสริมรายละเอียดบนใบหน้าด้วยรัก ปิดกระดาษเขียนสีตัดเส้นวิธีเดียวกับหัวโขน ส่วนคอของหุ่นมีก้านไม้เล็กๆ ต่อยาวลงไปทางช่องกลวงกลางลำตัวสำหรับบังคับหุ่นให้หันหน้าไปมาได้ขณะที่เชิด

หุ่นทุกตัวมีแกนไม้สำหรับให้ผู้เชิดถือเชิดอยู่ต่อจากส่วนล่างของโครงลำตัว มีสายเชือกร้อยต่อจากมือ ขาและแขน สำหรับชักให้ส่วนต่างๆ เคลื่อนไหว หุ่นบางตัวมีสายเชือกสำหรับชักมากถึง ๑๘ เส้น โดยสายเชือกสำหรับชักหุ่นจะโยงจากตรงกลางข้อมือ สอดร้อยเข้าไปในลำแขนมายังต้นแขนช่วงต่อกับไหล่ แล้วร้อยผ่านรูเล็กๆ เข้าไปยังช่องกลางลำตัวหุ่น ลงมายังแกนไม้สำหรับถือเชิดซึ่งทำเป็นแป้นเจาะรูเพื่อจัดสายชักให้เป็นระเบียบ ปลายสายชักมีห่วงสำหรับคนเชิดสอดนิ้วบังคับให้หุ่นเคลื่อนไหว


เรื่อง-ภาพ: หนังสือพิมพ์ข่าวสด น.๒๔ พุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
3394  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2558 12:51:17
.



ปางโปรดพุทธมารดา (๑)
พุทธมารดา ที่ถูกต้องเรียกว่า อดีตพุทธมารดา เพราะพระนางสิริมหามายาได้สวรรคตไปอุบัติเป็นเทพแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปโปรดเหล่าเทพยดาบนดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุขนั้น สันดุสิตเทพบุตรซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป ได้ลงมาสดับพระธรรมเทศนา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ด้วย

คนชอบสงสัยมักจะถามว่า พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงส์สวรรค์และทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาจริงหรือ คำถามนี้ ท่านผู้รู้ยืนยันว่าจริง ถ้าถามต่อว่ารู้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ ก็ท่านรู้ และผู้ที่รู้ด้วยกันก็ย่อมรู้ว่ารู้ได้อย่างไร

ตอบอย่างนี้มิใช่ยวน (ไทยแท้ๆ เลย ไม่ใช่ญวน) สมมติง่ายๆ อย่างนี้ คนตาบอดสองข้างสงสัยว่าสีแดง สีขาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ มีหรือไม่ คนดีตอบว่ามี คนตาบอดซึ่งมองไม่เห็นซักว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่ามี คนตาดีตอบว่า รู้แล้วกัน และคนอื่นๆ ที่ตาดีเหมือนเขาก็รู้ว่ามี ฉันใด ฉันนั้นแล โยม

แม้ว่าจะมีการตีความการเสด็จไปโปรดพุทธมารดา เป็นภาษาสัญลักษณ์ และเป็นการตีความที่มีเหตุผลน่ารับฟังก็ตาม มิได้หมายความว่าการแปลความตามตัวอักษรจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ความต่างแห่งเงื่อนเวลาระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์เป็นเรื่องน่าสังเกต พระพุทธเจ้าทรงหายไปสามเดือนไปแสดงธรรมโปรดเทวดา แต่เวลาบนสวรรค์นั้นแค่เพียงไม่กี่นาทีเอง พูดอีกนัยหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จแวบไปเทศน์บนสวรรค์เดี๋ยวเดียว ไม่รบกวนเวลาของเทวดาสักเท่าไร แต่นับตามเวลาของมนุษย์ตั้งสามเดือนแน่ะ

คัมภีร์อรรถกถาเล่าว่า หลังจากทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จแล้ว พระพุทธองค์ทรงรำพึงว่า บัดนี้ได้เวลาจะไปโปรดพุทธมารดา ซึ่งเคยอยู่บนดุสิตสวรรค์แล้ว จึงทรงยกพระบาทขวาขึ้นจากจงกรมแก้ว ก้าวขึ้นเหยียบยอดเขายุคันธร แล้วยกพระบาทซ้ายก้าวขึ้นเหยียบยอดเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) แล้วเสด็จขึ้นประทับยังแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ร่มไม้ปาริชาตบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตำราท่านพูดอย่างนี้ ก็ทำให้เราวาดภาพว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ขณะพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไป ก็ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งหลาย จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่ความเป็นจริง สวรรค์จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนยอดเขา ซ้อนๆ อยู่ในโลกเรานี้แหละ หากแต่เพียงอยู่คนละมิติ มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้

พระพุทธองค์ไปสวรรค์ก็อาจแวบไปชั่ววินาทีเดียว ดุจเราหมุนคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์ จากคลื่น ก. ไปหาคลื่น ข. เดี๋ยวเดียวเท่านั้น เดี๋ยวเดียวแค่มือกดจริงๆ และเสียงหรือภาพก็เปลี่ยนไป



ปางโปรดพุทธมารดา (จบ)
ทันที ที่คัมภีร์บรรยายให้เห็นภาพพระพุทธองค์เสด็จก้าวพระบาทเหยียบยอดเขาขึ้นไปสวรรค์ เพียงแต่บรรยายให้เห็นในแง่รูปธรรมเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมว่าของผมอย่างนี้แหละ คุณจะว่าอย่างไร ยินดีรับฟังครับ

ท้าวสักกเทวราช ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธองค์ขึ้นมาประทับบนพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ก็มีความยินดี ป่าวประกาศให้บรรดาเทพยดาบนสรวงสวรรค์ทราบ เหล่าเทพยดาก็พากันมาเฝ้า พุทธมารดาซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตก็ทราบข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้าด้วย จึงมาเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรม กล่าวกันว่าอย่างนั้น แก่ประชุมเทพยดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีท้าวสักกเทวราชเป็นประมุข

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ประชุมเทพยดาทั้งหลายฟัง ว่ากันว่าทรงแสดงพระอภิธรรม ว่ากันอย่างนั้น คำกล่าวนี้กล่าวตามคัมภีร์อรรถกถา เช่น ธัมมปทัฏฐกถา และอัตถสาลินี แต่ไม่มีหลักฐานใดในพระไตรปิฎก จึงเชื่อกันว่าเป็นความคิดยุคหลัง

เพราะถ้าเชื่อตามอรรถกถา ก็แสดงว่า พระไตรปิฎกมีมาตั้งแต่พุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอภิธรรมปิฎกมีมาตั้งแต่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโน่นแน่ะ เพราะมีพูดถึงพระพุทธองค์ทรงพิจารณาพระอภิธรรม ในเรือนแก้วในสัปดาห์ที่สี่หลังตรัสรู้ ความเชื่อเช่นนี้ไม่เป็นที่รับรองกันนักในวงวิชาการพระพุทธศาสนา ฝากไว้ให้พิจารณาด้วย

เล่ากันอีกแหละว่า ได้เวลาเช้าพระพุทธองค์ก็เสด็จลงมาให้พระสารีบุตรเฝ้า ใกล้สระอโนดาต ป่าหิมพานต์ พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมให้พระสารีบุตรฟังอีกทอดหนึ่ง ในขณะที่เสด็จลงมายังมนุษย์โลก พระพุทธองค์ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตแสดงธรรมแทนพระองค์ โดยที่เหล่าเทพยดาไม่รู้ว่าพระองค์ไม่อยู่ นึกว่าพุทธนิรมิตเป็นพระองค์จริง

พระสารีบุตรเมื่อได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้นำไปถ่ายทอดให้ภิกษุสงฆ์และประชาชนฟังในเวลาต่อมา

ตรงนี้คือที่มาของระบบความเชื่อของชาวพุทธนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม นิกายอภิธรรมนี้ ระบุว่า พระอภิธรรมปิฎกเป็นเถรภาษิต คือเป็นเทศนาของพระสารีบุตร และพระมหากัจจายนะ หาใช่พระพุทธองค์โดยตรงไม่

เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่บนดาวดึงส์สวรรค์ครบสามเดือนแล้ว ก็เสด็จลงยังมนุษย์โลกตามเดิมต่อไป




ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๑)

พระพุทธรูปปางนี้ มักจะอธิบายรวมกันกับปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ส่วนมากอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวา-ซ้ายเหยียดลงตามปกติ เหมือนปางทรงยืน (ไม่อยากใช้คำว่าประทับยืน) แต่แบพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า ทำท่าเปิดโลก

แต่ท่านเหม เวชกร ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับวาดเป็นภาพประทับท่าสมาธิ แต่เบื้องหน้าวาดภาพสัตว์ทั้งสามโลกปรากฏอยู่ในมิติเดียวกัน มองเห็นกันและกัน ชัดแจ๋วแหววเหมือนนั่งอยู่ข้างๆ กัน

โลกทั้งสามที่ว่านี้คือ เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก เทวโลกคือโลกเทวดา ตั้งแต่พรหมโลกลงมา จนถึงสวรรค์ทุกชั้น มนุษย์โลกก็คือโลกมนุษย์เดินดินทั้งหลายนี้แล ส่วนยมโลกก็คือนรกทั้งหลาย กี่ขุมๆ ปรากฏให้เห็นหมด

พระพุทธองค์ ขณะเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทอดพระเนตรดูเบื้องบน โลกทั้งมวลตั้งแต่มนุษย์ก็สว่างโล่งไปหมด เมื่อทรงเหลียวดูไปรอบทิศก็สว่างไปทั่ว เมื่อทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ ความสว่างก็ปรากฏไปทั่วนรกทุกขุม

สัตว์ทั้งหลายต่างก็แลเห็นกันและกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดาเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นมนุษย์และเทวดา เป็นที่น่าอัศจรรย์

คัมภีร์ปฐมสมโพธิบรรยายว่า "ครั้งนั้นเทพยดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉาน กำหนดที่สุดมดดำมดแดง ซึ่งเห็นพระชินสีห์ แลสัตว์คนใดคนหนึ่งซึ่งจะมิได้ปรารถนาพุทธภูมินั้น มิได้มีเป็นอันขาด"

แปลไทยเป็นไทยว่า ทุกคนปรารถนาอยากเป็นพระพุทธเจ้า อยากทำได้เหมือนพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่คนเลย กระทั่งมดดำมดแดงก็อยากเป็นเลย สำนวนบรรยายท่านอาจจะ "เว่อร์" ไปบ้าง แต่สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าใครเมื่อเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้แล้ว ต่างก็อัศจรรย์ใจและเลื่อมใสในพุทธานุภาพ

ฉากนี้จะ "ถอดความ" หรือแปลภาษาสัญลักษณ์ก็น่าจะได้ความว่า มาถึงตอนนี้ (ประมาณ ๗ ปีหลังตรัสรู้) พระพุทธองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนาได้ผล ประชาชนทุกชาติชั้นวรรณะ ตั้งแต่สูงลงมาหาต่ำ ต่างก็เลื่อมใส และเข้ามาบวชเป็นสาวกของพระองค์มากขึ้น พรมแดนระหว่างวรรณะสูงกับวรรณะต่ำไม่มีอีกต่อไป ไม่ว่ามาจากวรรณะไหน เมื่อมาบวชแล้วก็ถูกหลอมลงเป็น "สมณะศากยบุตร" เหมือนกัน ถือศีลวินัย มีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนๆ กัน

นี้เท่ากับพระพุทธองค์ทรงเปิดโลกทุกโลกให้มาอยู่ในมิติเดียวกันนั้นแล อย่างนี้ไม่เรียกว่าปาฏิหาริย์จะเรียกว่าอะไรเล่าครับ



ปางปาฏิหาริย์เปิดโลก (๒)
บังเอิญ ขณะเขียนต้นฉบับนี้ พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ส่งพุทธประวัติภาคหลากบทกวี มาให้อ่าน จึงเปิดผ่านๆ ไปถึง "ทรงเปิดโลก" ท่านแต่งได้ไพเราะดี ขออนุญาตคัดลอกบางตอนมาลงไว้ดังนี้

ทรงทำโลกวิวรณ์ปาฏิหาริย์
โอ้..ตระการน่าตระหนกไม่ผกผัน
โลกาเกิดเปิดกระจ่างสว่างพลัน
ทุกแห่งนั้นเตียนโล่งแลโปร่งทาง
ทั่วทุกทิศทั้งทุกหนจนทุกที่
หาได้มีสิ่งสรรพ์มากั้นขวาง
นรกเปิดสวรรค์เผยไม่เลยราง
แลสว่างอย่างไสวให้เห็นมอง
มนุษย์มองจ้องตาเทวาจ้อง
สบตามองต้องตากันนั่นสนอง
นรกเห็นสวรรค์อ้าช่างน่าปอง
ทั่วทั้งผองต้องตะลึงอึ้งตะไล
พุทธองค์ทรงย่างเยื้องยุรยาตร
ค่อยลีลาศลงมางามตามวิสัย
โดยบันไดแก้วพราวแวววาวไว
เพื่อลงไปให้ชโยแก่โลกัน
มีท้าวเทพอมรินทร์องค์ปิ่นฟ้า
อยู่เบื้องขวาบันไดทองประคองขวัญ
ท้าวสหัมบดีพรหมอุดมวรรณ
ค่อยผายผันลงมาจากฟ้าคราม
อยู่บันไดเงินเบื้องซ้ายพราวพรายพร่าง
แลสว่างอย่างสง่าน่าเกรงขาม
ปัญจสิขรคนธรรพ์เทวัญงาม
ไม่ครั่นคร้ามอยู่หน้าเริงร่าสราญ
ดีดพิณเหลืองเสียงใสฟังไพเราะ
โสตเสนาะเพราะเสมอเสนอหวาน
มธุรถ้อยร้อยเรียงเสียงกังวาน
ขับผสานขานผสมกลมกลืนไป...

แค่นี้คงพอครับ คัดมาให้อ่านมาก เดี๋ยวมดจะขึ้นเต็มห้อง แต่งได้หวานจริงครับ


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3395  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / วิธีทำ ลาบปลาดุกย่าง เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2558 15:00:20
.





ลาบปลาดุกย่าง

เครื่องปรุง
- ปลาดุกย่าง 1 ตัว (ขนาดน้ำหนักตัวละ 6 ขีด)
- หอมแดง 5 หัว
- ข่าคั่ว 2 ช้อนชา
- พริกคั่วป่น 1 ช้อนโต๊ะ (นำไปผัดกับน้ำมันพืชให้หอม)
- ข้าวคั่ว (ข้าวเหนียว) 2 ช้อนโต๊ะ
- มะนาว 6 ผล
- น้ำปลาดี 2 ช้อนโต๊ะ
- ใบมะกรูดหั่นละเอียด 3 ใบ
- ผักชีฝรั่งซอย (ผักชีใบยาว)


วิธีทำ
1. คั่วข้าวสารให้สุกเหลืองหอม แล้วโขลกให้ละเอียด
   (ถ้าใช้ข้าวเหนียว จะให้ความหอมและอร่อยกว่าใช้ข้าวสารเจ้า)
2 หั่นข่าเป็นแว่นบาง นำไปคั่วให้สุกเหลืองหอม แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
3. แกะเนื้อปลาดุกย่าง แล้วนำไปสับรวมกับข่าให้ละเอียด ใส่ในชามผสม ใส่มะนาว น้ำปลาดี และหอมแดงซอย
    คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมให้ได้รสชาติเปรี้ยวนำ
4. ใส่ข้าวคั่วป่น ใบมะกรูดซอย และผักชีซอย คลุกให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวเหนียว







คั่วข้าวสารเจ้าหรือข้าวสารเหนียวให้สุกเหลือง นำไปโขลกให้ละเอียด


ข่าหั่นแว่นบาง นำไปคั่วจนสุกเหลืองหอม แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ


แกะก้างปลาทิ้ง เอาแต่เนื้อไปสับรวมกับข่า


ใส่น้ำปลา น้ำมะนาว หอมแดงซอย และพริกป่นคั่วผัด ชิมรสชาติตามชอบ
วิธีทำพริกคั่วผัด : ใส่น้ำมันในกระทะครึ่งช้อนโต๊ะ รอให้น้ำมันร้อนจัดจึงปิดแก๊ส
แล้วใส่พริกคั่วป่น ผัดให้เข้ากันกับน้ำมัน จะได้พริกที่หอมกว่าพริกคั่วธรรมดา


ใส่ใบมะกรูดซอย ผักชีฝรั่งซอย และข้าวคั่ว คลุกให้เข้ากัน
(ข้าวคั่วควรใส่หลังสุดก่อนเสิร์ฟ..ข้าวคั่วจะกรุบกรอบ...ยังไม่ได้ดูดความชื้นจากส่วนผสมอื่นๆ)


จัดใส่จานเสิร์ฟ รับประทานกับผักสดต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี ใบโหระพา ถั่วฝักยาว ฯลฯ

3396  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / พระพุทธคันธารราษฎร์ - พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เมื่อ: 19 พฤศจิกายน 2558 11:44:17
.


พระพุทธคันธารราษฎร์  พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์
พระคันธารราษฎร์ เลขทะเบียน ร.ส.๙๗
อายุสมัย/แบบศิลปะ : สมัยรัตนโกสินทร์ แบบศิลปะคันธารราษฎร์
ชนิด : สัมฤทธิ์ กะไหล่ทอง
ขนาด : สูงพร้อมฐาน ๗๓.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๒๓.๕ x ๒๓.๕ เซนติเมตร
ประวัติ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี ช่างชาวอิตาเลียนปั้น
โดยอนุโลมตามพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓
ราชบัณฑิตยสภารับมาจากพระที่นั่งมหิศรปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
สถานที่เก็บรักษา : ห้องศิลปะรัตนโกสินทร์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร


พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
พระปฏิมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์

จากนิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร พิมพ์-เผยแพร่

“พระพุทธคันธารราษฎร์” คือพระพุทธรูปปางขอฝน สร้างขึ้นโดยอาศัยมูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ที่มีมาในพระไตรปิฎก ครั้งแรกสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์ นับถือเป็นพระพุทธรูปที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเดือนหก พระราชพิธีพรุณศาสตร์ หรือพระราชพิธีขอฝนเดือนเก้า และพระราชพิธีไล่เรือ หรือพระราชพิธีไล่น้ำ (ออกจากไร่นาในฤดูเก็บเกี่ยว) เดือนอ้าย เป็นการพึ่งพิงอาศัยพระพุทธานุภาพบันดาลสิริสวัสดิ์แก่การพระราชพิธีให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพียงพอหล่อเลี้ยงข้าวกล้าอาหาร ยังความอุดมสมบูรณ์แก่การกสิกรรมในถิ่นฐานบ้านเมือง สืบต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาถึงปัจจุบัน

มูลเหตุเรื่องพระพุทธเจ้าบันดาลให้ฝนตกใหญ่ ปรากฏในอรรถกถามัจฉชาดก ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก กล่าวปรารภเหตุชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝนว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอยู่พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดภัยพิบัติ ฝนไม่ตกลงเลย ข้าวกล้าทุกตำบลก็เหี่ยวแห้งไป บึงบ่อสระโบกขรณีใหญ่น้อยทุกแห่ง น้ำแห้งจนพื้นแตกระแหง แม้แต่สระโบกขรณีเชตวัน ซึ่งมีน้ำใสเย็นเป็นพุทธบริโภคก็เหือดแห้ง เหล่านกกาต่างพากันมาจิกกินฝูงปลาและเต่าที่หลบซ่อนอยู่ในเปือกตม พระศาสดาทอดพระเนตรเห็น ก็เกิดความกรุณา ดำริจะให้ฝนตกบรรเทาความทุกข์เดือดร้อนให้สิ้นไป จึงเสด็จมาทรงสถิตที่บันไดขั้นแรกสระโบกขรณีเชตวัน ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎก (ผ้าชุบสรง) จากพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากเพื่อจะสรงน้ำ พระเถระกราบทูลว่าสระโบกขรณีน้ำแห้งขาดเสียแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคำอยู่ เมื่อพระเถระเชิญผ้ามาถวายแล้ว พระศาสดาทรงนุ่งผ้าอุทกสาฎกด้วยชายข้างหนึ่ง ชายอีกข้างหนึ่งทรงห่มคลุมพระสรีระ ขณะนั้นท้าวสักกเทวราชทรงทราบเหตุ จึงมีเทวบัญชาเรียกวลาหกเทวราชเจ้าแห่งฝน บันดาลให้เกิดมหาเมฆและห่าฝนตกลงในแคว้นโกศล ครู่เดียวน้ำก็ท่วมท้นเต็มสระโบกขรณีและที่อันควร มีน้ำขังทุกแห่ง พระบรมศาสดาจึงลงสรงน้ำแล้วเสด็จกลับยังพระคันธกุฎี มหาชนและสัตว์ทั้งหลายจึงรอดพ้นจากความพินาศ ได้ความสุขจากน้ำฝนโดยทั่วกัน

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธารราษฎร์ผู้เลื่อมใสศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ได้สดับเรื่องพระพุทธองค์ทรงบันดาลให้ฝนตกใหญ่ในแคว้นโกศล ปรารถนาคุณพระพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกในแว่นแคว้นของตน จึงให้สร้างพระพุทธปฏิมากรทรงนั่ง พระกรหนึ่งทรงกวักเมฆเรียกฝน พระกรหนึ่งหงายรองรับน้ำฝน เมื่อปีใดเกิดฝนแล้งก็เชิญพระพุทธปฏิมาออกตั้งสักการบูชา ขอพระพุทธเดชานุภาพให้ฝนตกลงในเขตแคว้นของตน ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้สร้างพระพุทธรูปแสดงปางขอฝนว่า “พระพุทธคันธารราษฎร์” เพราะสร้างขึ้นในแคว้นคันธารราษฎร์เป็นต้นแบบมาแต่เดิม

การตั้งบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์เพื่ออำนวยให้ฝนตก มีเค้ามูลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ระบุว่ามีการอัญเชิญพระพุทธรูปสมาธิองค์หนึ่ง และรูปปลาช่อนมาตั้งในโรงพิธีแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๒๐ รูป มาสวดคาถาว่าด้วยชาดกเรื่องพญาปลาช่อนตั้งสัจจาธิษฐานขอฝน (มัจฉชาดก) ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ๓ วัน และป่าวร้องให้ราษฎรนำน้ำมารดสรงพระพุทธรูปและรูปปลา เพื่อให้ฝนตก





ตามหนังสือคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมกล่าวว่า พระนครศรีอยุธยามีพระพุทธรูปที่ทรงพุทธานุภาพอันเป็นหลักพระนคร ๘ พระองค์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระพุทธคันธารราษฎร์ ลักษณะเป็นพระปฏิมานั่งสมาธิ หน้าตักศอกหนึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประวัติว่าลอยน้ำมาจากปักษ์ใต้ อัญเชิญขึ้นไว้ยังพระวิหารวัดธรรมมิกราช มีพุทธานุภาพมาก ขอฝนให้ตกได้ เป็นต้นเค้าแสดงถึงประเพณีการสร้างพระพุทธรูปขอฝนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

พระพุทธคันธารราษฎร์รุ่นเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา สร้างเป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งตามธรรมเนียมสืบมาแต่แคว้นคันธารราษฎร์ อาทิ พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะพระปฏิมานั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกขึ้น งอนิ้วพระหัตถ์เป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา แบบศิลปะจีนปนไทย คือครองจีวรคลุมพาหาทั้งสอง แหวกพระอุระกว้าง คาดรัดประคดที่พระอุทร แบบพระจีนญวนหรือพระจีน พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีรูปเปลวเพลิง พระเกตุมาลาทรงมะนาวตัด เม็ดพระศกเป็นขมวดเล็ก พระขนงโค้งเป็นสันคม พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เหยียดกว้าง ใบพระกรรณยาว ประทับบนฐานบัวหงายซ้อนเหนือแข้งสิงห์ ลักษณะฐานแอ่นโค้ง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ เป็นต้นแบบพระพุทธรูป ซึ่งเจ้าจอมเอิบในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้หล่อขยายอุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่ภายในระเบียงพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ปัจจุบัน





ภาพถ่ายเก่าพระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๖




พระคันธารราษฎร์ วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี
ภาพจากสมุดภาพวัดใหญ่สุวรรณาราม หน้า ๑๑๒




พระคันธารราษฎร์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ภาพจากหนังสือพระพุทธรูปที่พระระเบียงพระอุโบสถ
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หน้า ๑๑๓


------------------------------------------------
”แจ้งความราชบัณฑิตยสภา” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๔๔ ตอน๐ง, วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๗๐ : ๔๙๗.
จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ เลขที่ ๖๘ มัดที่ ๑๒๘, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ ; พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๕๔),๔๔,๒๘๓,๓๗๖
พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒ (กรุงเทพฯ : ศิวพร,๒๕๕๖.มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์เนื่องในวโรกาสครบ ๒๐๐ ปี แห่งพระราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๒๕), ๒๐๔-๒๑๐.
พระราชพิธี ๑๑๒ เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๘๘-๒๘๙
จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๑ จ.ศ.๑๑๔๘ (พ.ศ.๒๓๒๙) เลขที่ ๒, พิธีว่าด้วยพิธีพิรุณศาสตร์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ.
คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๕๕), ๔๐-๔๑.
ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดพระพุทธรูปคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาและชาติกำเนิด เจ้าจอมเอิบ เกิดที่เมืองเพชรบุรี



ภาพพระคันธานุราชจาก "ตำราพระพุทธรูป ว่าด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ"
เลยที่ ๕๐ มัด ๗ ตู้ ๑๑๗ ชั้น ๔/๑ ภาพจากหนังสือตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ
ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส หน้า ๘๖

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นสมัยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมตามแบบอย่างครั้งบ้านเมืองดีในสมัยอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำริถึงโบราณราชประเพณี อันเอื้อประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีพิบัติกังวลเพราะฝนแล้ง จึงโปรดให้ช่างหล่อพระปฏิมาคันธารราษฎร์สำหรับพระราชพิธีพรุณศาสตร์ ๒ พระองค์ ตามรูปทรงสัณฐานพระปฏิมาโบราณซึ่งเคยทอดพระเนตร มีลักษณะเป็นพระนั่งขัดสมาธิ ถ่ายแบบจากศิลปะอยุธยา เป็นการถ่ายทอดความศักดิ์สิทธิ์ของพระปฏิมาคันธารราษฎร์แต่โบราณ คือ พระคันธารราษฎร์ใหญ่องค์ ๑ และพระคันธารราษฎร์จีนองค์ ๑

พระคันธารราษฎร์องค์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้หล่อสำเร็จเมื่อปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช ๑๑๔๕ (พ.ศ.๒๓๒๖) ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๗.๔๐ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๖๓.๑๐ เซนติเมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ พระพักตร์เป็นแบบไทย พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาว ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ไม่มีสังฆาฏิบนพระอังสาซ้าย จีวรจีบเป็นริ้วคล้ายพระพุทธรูปแบบจีน เดิมหล่อสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง มีแต่องค์ไม่มีแท่นฐาน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้นายช่างหล่อพุทธอาสน์ และให้กะไหล่ทองคำทั้งองค์ และติดเพชรเม็ดใหญ่เป็นพระอุณาโลมที่พระนลาฏ ปัจจุบันประดิษฐานที่หอพระคันธารราษฎร์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายในพระบรมมหาราชวัง

สำหรับพระคันธารราษฎร์จีน ขนาดตักกว้าง ๒๙.๓๐ เซนติเมตร สูง ๓๗.๘๐ เซนติเมตร และสูงรวมฐาน ๔๘.๑๐ เซนติเมตร ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์และการครองจีวรเป็นแบบจีน พระหัตถ์ขวายกขึ้น แสดงดรรชนีมุทรา (พระดรรชนียกสูงขึ้น เป็นท่าตักเตือนหรือข่มขู่ มีความหมายถึงการป้องกันอันตราย) พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำจอกน้ำมนต์วางในพระหัตถ์ซ้าย และช้อนตักน้ำมนต์ลงยันต์สอดไว้ในระหว่างนิ้วพระหัตถ์ขวา และโปรดให้กะไหล่ทองทั้งองค์พระพุทธรูปและเครื่องประดับ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ทรงตรวจสอบคัดเลือกพระพุทธอิริยาบถที่ปรากฏในคัมภีร์ รวบรวมไว้เป็นตำราได้ ๔๐ ปาง  ครั้งนั้นได้รวมพระพุทธคันธารราษฏร์ไว้ในสมุดภาพตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียกในตำราว่า “พระคันธานุราช” ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายกวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ขวาวางหงายเหนือพระชงฆ์รองรับน้ำฝน ตามรูปแบบที่สืบมาจากครั้งรัชกาลที่ ๑



(ซ้าย) พระคันธารราษฎร์ใหญ่ รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๖ สูงรวมฐาน ๘๗.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง
(ขวา) พระคันธารราษฎร์จีน รัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒
ภาพจากนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง


สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อการพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์เป็นอย่างมาก ดังโปรดให้สร้างหอพระคันธารราษฎร์ ฉางข้าวหลวง พลับพลาและมณฑลพิธีสำหรับประกอบการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ไว้ในท้องสนามหลวงแห่งหนึ่ง ทรงปรับปรุงการพระราชพิธีให้มีบัณฑิตอ่านประกาศการพระราชพิธีและทรงผูกพระคาถาสำหรับพระสงฆ์สวดในพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีพรุณศาสตร์ขึ้นใหม่ นอกจากนี้ทรงโปรดให้กะไหล่ทองพระพุทธคันธารราษฎร์ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ พระองค์ และโปรดให้หล่อพระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔ เป็นองค์ขนาดย่อมองค์หนึ่ง โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยไต่สวนเนื้อความตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า เมื่อเวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงในสระโบกขรณีนั้น เสด็จประทับยืนที่ปากสระ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อเป็นพระพุทธรูปเสด็จประทับยืนอยู่บนฐานบัวแข้งสิงห์ ที่ฐานมีขั้นอัฒจันทร์ลงไป ๓ ขั้น หมายถึงขั้นบันไดลงในสระ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงสอบสวนพระพุทธลักษณะในคัมภีร์ต่างๆ มีความใกล้เคียงกับมนุษย์สามัญมากขึ้น คือ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ไม่มีพระเกตุมาลา ใบพระกรรณสั้นแบบหูมนุษย์ พระพักตร์ตรง พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจับชายลูกบวบหงายพระหัตถ์ขึ้นรองรับน้ำฝน ครองจีวรเฉียง ห่มเป็นริ้วผ้าเสมือนจริงตามธรรมชาติ แบบอิทธิพลแนวสัจนิยมตะวันตก จึงเกิดมีพระพุทธคันธารราษฎร์ประทับยืน บูชาร่วมกับพระพุทธคันธารราษฎร์นั่ง สำหรับการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ อันเป็นผลจากการสอบความจริงตามพระไตรปิฎกขึ้นในครั้งนั้น

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เนื่องจากพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดให้คัดเลือก และสร้างตำราไว้ ๔๐ ปาง ทรงให้หล่อพระปฏิมาไว้ด้วยแร่ทองแดง ปางละ ๑ องค์ เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงอุทิศถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ๓๓ พระองค์ กรุงธนบุรี ๑ พระองค์ และกรุงรัตนโกสินทร์ ๓ พระองค์ คงเหลือพระพุทธรูปจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนแต่ ๒ ปาง คือ พระพุทธรูปปางลองหนาว และพระคันธารราษฎร์ ประกอบกับเหตุที่มีมาในพระราชประวัติว่า เมื่อปีฉลูเบญจศกอันเป็นปีพระราชสมภาพ ต้นปีฝนแล้งติดต่อเนื่องมาจากปีชวดจัตวาศก ทำให้ข้าวในนาเสียหายมาก เมื่อทรงประสูติ เกิดฝนตกใหญ่ตามชาลาในพระบรมมหาราชวังมีน้ำท่วมถึงเข่า เป็นอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์มีหน้าที่ประกอบการพระราชพิธีขอฝนมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยทรงเป็นสิริแห่งการเกิดฝน จึงโปรดให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระประจำพระชนมพรรษาของพระองค์ ในรัชสมัยนี้จึงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นเป็นจำนวนมาก



พระคันธารราษฎร์ รัชกาลที่ ๔
สูงรวมฐาน ๕๗ เซนติเมตร ภาพจากหนังสือ
พระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๔๙

พระพุทธคันธารราษฎร์ประจำพระชนมพรรษา สร้างขึ้นเท่าจำนวนพระชนมายุ ๕๘ พระองค์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรตามแบบแผนอย่างโบราณ พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบเป็นกิริยากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายจีบวางหงายรองรับฝนบนพระเพลา ดวงพระพักตร์เป็นอย่างใหม่ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๔ ไม่มีพระเกตุมาลา มีแต่เฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ สังฆาฏิเป็นแถบกว้าง จีวรเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับขัดสมาธิเพชร ฐานบัวคว่ำบัวหงายมีเกสรบัวอย่างโบราณ แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีฉัตรทองกั้น จำนวน ๑๕ พระองค์ เท่ากับพระชนมพรรษาเมื่อยังมิได้เสวยราชย์ และที่มีฉัตรทองปรุกั้น จำนวน ๓๔ พระองค์เท่าพระชนมพรรษาตั้งแต่เสวยราชสมบัติจนเสด็จสวรรคต


พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปางขอฝน ตักกว้าง ๗.๑๐ เซนมิเตร สูงรวมฐาน ๑๔.๖๐ เซนติเมตร สูงรวมฉัตร ๓๑.๕๐ เซนติเมตร
ภาพจากหนังสือพระพุทธปฏิมาในพระบรมมหาราชวัง หน้า ๓๗๖,๓๗๘.

พระพุทธคันธารราษฎร์ประทับขัดสมาธิเพชรอย่างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์โปรดมาก จึงกราบบังคมทูลขอหล่อขึ้นด้วยเงินอีกองค์หนึ่ง ทรงนำไปตั้งในพิธีขอฝนหลายครั้ง มีคุณดีวิเศษ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มาตั้งในการพระราชพิธีพรุณศาสตร์ของหลวงต่อมาด้วย

นอกจากนี้โปรดให้หล่อพระพุทธคันธารราษฎร์ประดิษฐานภายในซุ้มมณฑปหน้าพระอุโบสถ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา สำหรับราษฎรประกอบพิธีฝน โดยให้จารึกพระคาถาและวิธีสวดบูชาพระพุทธคันธารราษฎร์ไว้บนแผ่นศิลาอ่อนติดไว้ที่ฐานพระพุทธรูปด้วย พุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระคันธารราษฎร์สมัยรัชกาลที่ ๔ คือมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ ประทับยืนตรง มีเฉพาะพระรัศมีรูปเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา เม็ดพระศกเล็ก เป็นแนวหย่อนลงที่กึ่งกลางพระนลาฏ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโค้ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว ใบพระกรรณสั้นอย่างหูมนุษย์ พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอังสาจีบ เป็นกิริยาเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นระดับบั้นพระองค์ จีบนิ้วพระหัตถ์หงายรองรับน้ำฝน ครองจีวรเป็นริ้ว ขมวดชายลูกบวบยาวตลอดถึงชายจีวรแบบธรรมชาติ ฐานบัวแข้งสิงห์ประดับลวดลายเทศ



(ซ้าย) ซุ้มพระคันธารราษฎร์ หน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
จารึกแผ่นหินอ่อนความว่า "พระคันธารราษฎร์สำหรับขอฝน"
(ขวา) พระคันธารราษฎร์ยืน สมัยรัชกาลที่ ๕ วัดนิเวศธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา



ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๙๑๐) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ยืนองค์หนึ่ง ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ มีลักษณะเหมือนมนุษย์สามัญ ตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๕ โดยโปรดให้นายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน ปั้นหล่อ เป็นพระพุทธปฏิมายืนปางขอฝนบนฐานบันไดสระโบกขรณี ตามเนื้อความในอรรถกถามัจฉชาดก รูปแบบศิลปกรรมเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราษฎร์ อันเป็นพุทธศิลป์ที่เจริญขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ในดินแดนที่ชาวกรีกเคยครอบครองเป็นใหญ่ มีความงามตามสุนทรีภาพของกรีก-โรมัน พระพักตร์เป็นแบบเทพเจ้ากรีก พระศกยาว เกล้าเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ คอรงผ้าสาฎกเป็นริ้วหนาตามแบบธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือขั้นบันไดสระโบกขรณี ทำขั้นบันได ๓ ขั้น มีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษยนาค (นาคแปลง) มีความหมายถึงน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์ พระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน ทำอาการดุจเรียกฝน ฐานและพระองค์ถอดออกจากันได้เป็น ๓ ส่วน

พระพุทธรูปพระองค์นี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวิจารณ์ฝีมือสร้างไว้ในลายพระหัตถ์ ซึ่งมีไปประทานหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล ดังนี้ “พระคันธารราษฎร์ องค์ที่เป็นฝรั่งนั้น กรมพระนเรศรรับสั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จัดให้ นายโตนาเรลี ช่างอิตาเลียนในกรมศิลปากรปั้น ที่เปนเช่นนั้นก็ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดพระฝีมือกรีกที่เสด็จพ่อเอามาแต่อินเดีย พระกรีกนั้นอาว์ก็ชอบเหมือนกัน แต่ไม่ชอบพระที่นายโตนาเรลีปั้น เหตุใดจึ่งเป็นเช่นนั้น เหตุด้วยกลับกันไปทางช่างกรีกเขาทำเอางามเปนที่ตั้ง เอาเหมือนคนเข้าประกอบ ซึ่งมาโดนทางเดียวกันเข้ากับที่อาว์พยายามจะทำ คือเอารูปทรงงามของรูปภาพตัวท้าวตัวพญาของไทยเปนที่ตั้ง เอาสิ่งที่เหมือนคนเข้าประกอบ ส่วนที่นายโตนาเรลีทำนั้น เอาเหมือนคนเปนที่ตั้ง อาว์ไม่ชอบที่เห็นว่าเปนพระเจ้าหาได้ไม่ชอบกลนักหนา จะว่าไทยไม่รู้จักจะทำรูปให้เหมือนคนก็ไม่ได้ เขาพยายามทำให้เหมือนคนก็มี แต่เขาเรียกว่า “ภาพกาก” ไม่ทำในภาพ ตัวท้าวตัวพญา ฐานพระองค์นั้นที่เปนกะไดก็ด้วยกรมพระนเรศรออกความคิดให้ตาฝรั่งนั้นทำ โดยหลักว่าพระเจ้าเสด็จยืนที่หัวกะไดสระน้ำในเมืองสาวัตถี ซึ่งสระนั้นน้ำแห้ง ตรัสเรียกผ้าชุบสรงมาทรงแล้วตรัสเรียกฝน เทวดา จึ่งบันดาลให้ฝนตกลงมาตามพระประสงค์จนเต็มสระ ตาฝรั่งแกไม่เข้าใจว่ากะไดสระควรเปนอย่างไร แกก็ทำเปนกะไดฝรั่ง มีพนักข้างเดียว อย่างกะไดที่ลงจากรักแร้ตึกฝรั่ง ก็เอาดีแหละ เพราะฝรั่งเขาทำ เรื่องพระคันธารราษฎร์ขอฝนนั้นเปนของที่คิดผิดคาด ที่แท้เปนพระเจ้าปางเทศนาธรรมจักรของบุราณมีแต่นั่งห้อยพระบาทกับพับพะแนงเชิงไม่มียืน ที่ทำยืนก็เพื่อจะให้ต้องตามอาการที่ได้คิดคาด เปนของใหม่ทั้งนั้น




พระพุทธรูปคันธารราษฎร์
ฝีมือนายอัลฟอนโซ ทอร์นาเรลลี (Alfonso Tornarelli) ช่างชาวอิตาเลียน
ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



ฐานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ตกแต่งภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมและภาพมนุษย์นาค
มีความหมายถึงน้ำและความอุดมสมบูรณ์
3397  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2558 16:18:44

 คูณแดง
ไม้ต้นนี้ เพิ่งพบมีกิ่งตอนวางขายเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีภาพถ่ายของดอกจากต้นจริงโชว์ให้ชมด้วย และ มีชื่อ วิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ว่า RED SHOWER TREE CASSIA MARGINATA  พร้อมบอกวงศ์ว่า CAESALPINIACEAE ไม่มีรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ของลักษณะต้นและดอกแจ้งไว้ ผู้ขายบอกเพียงว่า “คูนแดง” มีถิ่นกำเนิดจาก ประเทศออสเตรเลีย เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่นมาก

ใบ ดูจากต้นกล้าที่วางขาย  เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยออกตรงกันข้ามเป็นคู่ๆไม่ต่ำกว่า ๑๐-๑๒ คู่ ใบเป็นรูปรีคล้ายใบของต้น กระพี้จั่น คือ ปลายและโคนใบมน หรือเกือบแหลม สีเขียวสด ใบดกให้ร่มเงาดียิ่ง

ดอก ดูจากภาพถ่ายที่โชว์ไว้แต่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งพอจะบรรยายได้คือ ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นตามซอกใบใกล้ปลายยอด และที่ปลายยอด  แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากลักษณะดอกมองไม่ออกว่าเป็นแบบไหน  จากภาพเป็นสีแดงสดใส  เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นตามภาพถ่ายจะดูงดงามมาก “ผล” ผู้ขายบอกว่าเป็นฝักยาว ภายในมีเมล็ด ดอกออกช่วงเดือนไหนของปีผู้ขายบอกไม่ได้อีกเช่นกัน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “คูนแดง” มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ที่บริเวณโครงการ ๙  เป็นกิ่งพันธุ์ที่เพาะด้วยเมล็ด ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เหมาะจะปลูกประดับทั่วไปโดยเฉพาะตามสวนสาธารณะ ปลูกเป็นแถวตามริมถนนตลอดแนว หรือปลูกประดับตามรีสอร์ตเชิงเขา รีสอร์ตชายทะเล เมื่อต้นเติบโตเต็มที่ นอกจากจะให้ร่มเงาสร้างบรรยากาศร่มรื่นแล้ว เวลาถึงช่วงมีดอกบานสะพรั่งพร้อมๆ กันทั้งต้นจะดูสวยงามมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ

  มะยมแดง
มะยมแดง มีถิ่นกำเนิดจากประเทศบราซิล ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายได้รับความนิยมจากผู้ปลูกอย่างแพร่หลาย มาช้านานแล้ว และ “มะยมแดง” มีชื่อเรียกในบ้านเราอีกว่า “เชอร์รี่สเปน” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ EUGENIA UNIFLORA LINN. ชื่อสามัญ SURINAM CHERRY, CAYENNE CHERRY, PITANGA อยู่ในวงศ์ MYTACEAE

มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๓-๘ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรูปไข่ หรือรูปใบหอก ปลายแหลม โคนมน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพู มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เวลามีดอกจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมโชยเข้าจมูกตอนยืนใกล้ๆ เป็นที่ชื่นใจยิ่ง

ผล รูปทรงกลมแป้นคล้ายผลมะยม รอบผลแบ่งเป็นพูย่นๆ ๗-๘ พู ภายในมี ๑ เมล็ด ผลดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลืองและแดงตามลำดับ ผลสุกรับประทานได้ รสชาติเปรี้ยวปน หวานชุ่มคออร่อยดี ส่วนใหญ่นิยมนำเอา ผลสุกไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม หรือ ปั่นใส่นํ้าเชื่อมนํ้าแข็งอร่อยมาก ติดผลอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง เวลาติดผลจะดกเต็มต้นดูสวยงามยิ่งนัก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “มะยมแดง” หรือ “มะยมฝรั่ง”-“เชอร์รี่สเปน” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามกับโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป ชอบแดดไม่ชอบนํ้าท่วมขัง หลังปลูกรดนํ้าพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสม่ำเสมอเดือนละครั้งจะติดผลดกเต็มต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 มังตาล ทะโล้
มังตาล ทะโล้ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงสูงประมาณ ๑๕-๒๕ เมตร ขนาดวัดรอบลำต้นได้ถึง ๑.๕ เมตร เปลือกนอกขรุขระและมักแตกเป็นร่องลึกตามยาว สีเทาปนน้ำตาลอ่อน เปลือกในสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนละเอียดสีขาว เป็นพิษต่อผิวหนัง ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกตามปลายกิ่งสลับกันไปและมักติดเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง โคนและปลายใบสอบเรียว ขอบใบเรียบหรือบางมีหยักตื้นๆ ตามขอบ หลังใบมักมีสีเขียวเข้ม ท้องใบและเส้นกลางใบมีขนขึ้นประปราย

ดอกสีขาวหรือขาวนวล ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ กลิ่นหอม ก้านดอกยาว กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีจำนวนเท่ากันอย่างละ ๕ กลีบ กลีบดอกล่างมักเล็กกว่ากลีบอื่น เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก สีเหลือง เกสรตัวเมียมีอันเดียวสั้น ผลค่อนข้างกลม ผิวแข็งโตประมาณ ๒.๕-๓ ซม. เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลเข้มและจะแตกออกตามรอยประสาน เป็น ๔-๕ ส่วน แต่ละส่วนมีเมล็ด ๔-๕ เมล็ดสรรพคุณทางแพทย์แผนไทย ต้นและรากนำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคนิ่วชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นิยมนำมารักษา เนื้อไม้ ใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้าน เช่น ไม้กระดาน ฝาบ้าน ลำต้นชาวลั้วะนิยมเอามาทำฟืนสำหรับนึ่งเมี่ยง. นสพ.เดลินิวส์  


 ขิงจีน
โดยปกติต้นขิงที่นิยมปลูกเพื่อเก็บเหง้าหรือหัวขายนำไปปรุงเป็นอาหารอย่างแพร่หลายนั้นมี ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากประเทศอินเดีย ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ZINGIBER OFFICINALE ROSCOE ชื่อสามัญ GINGER อยู่ในวงศ์ ZINGI-BERACEAE ออกดอกช่วงระหว่างเดือน ตุลาคม-ธันวาคม ทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าหรือหัว ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารแล้วยังใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรด้วย และขิงชนิดนี้ใบจะเรียบเป็นมัน

ส่วน “ขิงจีน” ที่พบมีต้นวางขายทีแรกคิดว่าเป็นเฟิร์น แต่ผู้ขายบอกว่าเป็นขิงชนิดหนึ่งนำเข้าจากยูนนาน ประเทศจีน นอกจากชื่อที่เรียกในประเทศ ไทยว่า “ขิงจีน” แล้ว ผู้ขายบอกว่ามีชื่อเรียกอีกคือ “ขิงไหหลำ” มีชื่อภาษาอังกฤษเฉพาะว่า ALPINIA RUGOSA อยู่ในวงศ์เดียวกับขิงที่กล่าวข้างต้นคือ ZINGIBERACEAE

มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่ผู้ขายบอกว่าเหมือนกับขิงชนิดแรกทุกอย่าง จะแตกต่างกันที่ใบของ “ขิงจีน” หรือ “ขิงไหหลำ” จะย่นและหยักเป็นคลื่นชัดเจนดูสวยงามแปลกตามาก ผู้นำเข้าจึงขยายพันธุ์ออกจำหน่ายเป็นไม้ปลูกประดับโชว์ความงามของใบ กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอยู่ในเวลานี้ ส่วนเหง้าหรือหัวของ “ขิงจีน” จะรับประทานได้หรือไม่นั้น ผู้ขายให้คำตอบไม่ได้

ขิงจีน หรือ “ขิงไหหลำ” เป็นไม้ ล้มลุก ลำต้นเป็นเหง้าสีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อนอยู่ใต้ดิน ชูใบเหนือดินสูงกว่า ๑ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปแถบ เนื้อใบหนา ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบย่นและเป็นคลื่นตามภาพ ประกอบคอลัมน์ เป็นสีเขียวและเป็นมันสวยงามมาก ปัจจุบันมีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๔  ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 รากหญ้าคา-หนวดข้าวโพด-หญ้าหนวดแมว แก้วปวดข้อนิ้วมือข้อเท้า
แก้ปวดข้อนิ้วมือข้อเท้าอาการ ปวดตามข้อนิ้วมือและข้อเท้าอันเกิดจากมีกรดยูริกในเลือดสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเกาต์ มีวิธีแก้ โดยให้เอา “รากหญ้าคา” ชนิดแห้ง ๓ กำมือ กับ “หนวดข้าวโพด” แห้ง ๖ กำมือ และต้น “หญ้าหนวดแมว” แห้งเช่นกัน จำนวน ๒ กำมือ ต้มน้ำรวมกันจนเดือดแล้วดื่มแทนน้ำ ครั้งละ ๑ แก้ว ๓ เวลา เช้า กลางวัน เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ จะช่วยให้อาการปวดตาม ข้อนิ้วมือและข้อเท้าตามที่กล่าวข้างต้นหายได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากดื่มยาตามสูตรนี้แล้ว ผู้ดื่มจะต้องงดกินอาหารจำพวกที่มีกรดยูริกสูงควบคู่ไปด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสัตว์ปีกและยอดผักชนิดต่างๆ  ถ้าปฏิบัติได้ จะไม่เป็นอีก

หญ้าคา หรือ IMPERATA CYLINDRICA BEAUV. อยู่ในวงศ์ GRA-MINAE รากหรือเหง้าเป็นยาขับปัสสาวะ แก้กระเพาะปัสสาวะ อักเสบ ปัสสาวะแดง บำรุงไต ขับระดูสตรี มีชนิดแห้งขายตามร้านยาแผนไทยทั่วไป

หญ้าหนวดแมว หรือ CAT’S WHISKER ORTHOSIPHON GRANDI- FLORUS BOLDING อยู่ในวงศ์ LABIATAE ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะแก้โรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว ใบเป็นยารักษาโรค เบาหวาน และลดความดันโลหิต มีการทดลองใช้ใบแห้งเป็นยาขับปัสสาวะ ขับกรดยูริก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์และรักษาโรคนิ่วในไตกับผู้ป่วย โดยใช้ใบแห้ง ๔ กรัม ชงกับน้ำเดือด ๗๕๐ ซีซี ดื่มต่างน้ำตลอดทั้งวัน ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ใบมีเกลือโปแตสเซียมสูง ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรใช้

ข้าวโพด หรือ ZEA MAYS LINN. อยู่ในวงศ์ GRAMINAE เมล็ดฝาดสมาน บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร ต้น ใบ และ “หนวดข้าวโพด” ตากแห้ง ต้มน้ำดื่มรักษานิ่วได้ ข้าวโพดที่เป็นฝักสดสามารถไปซื้อได้ที่แหล่งขายใหญ่ๆ เช่น ตลาดไท นำไปปอกเปลือกนำเอา “หนวดข้าวโพด” ตากแห้งใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ดาเลีย
ดาเลีย เป็นไม้ดอกเมืองหนาวที่มีรูปลักษณ์และสีสันที่สะดุดตา เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็นทั่วไป เป็นไม้ดอกซึ่งเป็นที่รู้จัก และปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเป็นเวลานานแล้ว คาดว่ามีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ดาเลียส่วนใหญ่เป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง ภายในลำต้นมีลักษณะกลวง บางชนิดเป็นไม้เลื้อย ในต่างประเทศนิยมปลูกเป็นไม้ประดับสวน ไม้กระถาง หรือใช้เป็นไม้ตัดดอก ซึ่งมีความนิยมมากขึ้น. นสพ.เดลินิวส์  


 
ต้นพะยอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูง ๑๕-๓๐ เมตร และมีเนื้อไม้แข็ง สีเหลืองอ่อนแกมสีเขียว ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว แผ่นใบรูปมนรี เรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ท้องใบเป็นเส้นแขนงใบนูนมองเห็นชัด ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ สีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ผลเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปีกคล้ายผลยาง

พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับจันทน์กะพ้อมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายหลายชื่อเช่น พะยอมดง พะยอมทอง กะยอม ขะยอม ขะยอมดง เชี่ยว เชียง แคน และยางหยวก พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สีน้ำตาล ผิวแตกเป็นร่องยาวแคบ เรือนยอดเป็นพุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวลู่ลง เรียงตัวแบบสลับ รูปใบรีแกมรูปใบหอก ยาว ๘-๑๒ ซม. กว้าง ๓-๔ ซม. ปลายและโคนใบมน เนื้อใบเหนียว ผิวใบด้านบนเขียวและมัน ด้านล่างเขียวนวล

เป็นไม้ผลัดใบ แต่แตกใบชุดใหม่เร็ว ใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลิใบใหม่ก่อนช่อดอกเล็กน้อย ดอกดกออกเป็นช่อใหญ่แทบทุกกิ่ง สีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ขนาดดอกประมาณ ๒ ซม. กลีบดอกมี  ๕ กลีบ โคนกลีบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบแต่ละกลีบกางออกจากกัน ม้วนเรียวแคบลงและบิดเล็กน้อย  ผลมีกลีบเลี้ยงคลุมและส่วนปลายของกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ยาว ๓ ปีกช่วยในการกระจายพันธุ์  ช่วงฤดูออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะสังเกตเห็นต้นพะยอมได้ง่าย โดดเด่นจากพืชอื่นเนื่องจากมักจะมีดอกดกเต็มต้นสีขาวนวลและมีใบสีเขียวอ่อนสวยงามขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด  เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องมือ เปลือกมีรสฝาดใช้กันบูด ฟอกหนังและเป็นยา ยางหรือชันใช้ยาเรือและเป็นยา ดอกใช้ประกอบอาหารและเป็นสมุนไพร แก้ไข้ เปลือกใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูด ฟอกหนังและกินแทนหมากแก้ลำไส้อักเสบ ท้องร่วงคนโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีอุปนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะพะยอม คือ การยินยอม ตกลง ผ่อนผันประนีประนอม นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่า จะไม่ขัดสน เพราะบุคคลทั่วไปมีความเห็นใจและยอมให้สิ่งที่ดีงาม.
 นสพ.เดลินิวส์  


 กระพังโหม
กระพังโหม เป็นต้นเดียวกันกับต้นตูดหมูตูดหมา ต่อมาชื่อ ตูดหมูตูดหมา ฟังแล้วหยาบคายไม่น่าฟัง จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อในปทานุกรมใหม่ว่า “กระพังโหม” มีด้วยกัน ๒ ชนิด แตกต่างกันที่ลักษณะของใบเท่านั้นคือ เรียวแหลมและยาว กับเรียวแหลมและสั้นกว่า ทั้ง ๒ ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PAEDERIA TOMENTOSA, BLUME, VAR GLALAR, KURZ- PAEDERIA FOETIDA อยู่ในวงศ์ RUSIACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปเรียวยาว ปลายแหลม โคนสอบ ใบสดมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากมีสาร METHGL–MEAREAPTAN เป็นสารระเหยได้ บางพื้นที่นิยมรับประทานเป็นผักสด เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ ลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ อินเดีย ปรุงในซุปให้คนชราที่ฟื้นไข้กินดีมาก ดอก เป็นช่อออกตามซอกใบ เป็นสีชมพูอมม่วง “ผล” รูปกลม ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
 
ประโยชน์ ใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็นตามที่กล่าวข้างต้น กินแก้ตานซาง แก้ดีรั่ว เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน เป็นยาขับไส้เดือนในเด็ก “กระพังโหม” ทั้ง 2ชนิด ทั้งต้นรวมรากแบบสดบดละเอียดทาหรือพอกบาดแผลที่ถูกงูกัดเป็นยาถอนพิษ ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปให้แพทย์ช่วยเหลือ ในบางพื้นที่ใช้ใบสดตำอุดรูฟันแก้รำมะนาด รากสดฝนกับน้ำหยอดตาแก้พิษ ตาฟาง ตาแฉะ ตามัวดีมาก สมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเกือบทุกจังหวัด
 
เป็นพืช ที่มีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป มีชื่อ เรียก ในประเทศไทยอีกคือ กระพังโหม ตูดหมูตูดหมา (ภาคกลาง) ตดหมา หญ้าตดหมา ตืดหมา ขี้หมาคารั้ว (ภาคเหนือ, พายัพ, อีสาน) พาโหมต้น ย่าน (ภาคใต้) และ ย่านพาโหม (สุราษฎร์ธานี)
 
ปัจจุบัน “กระพังโหม” ไม่มีต้นขายที่ไหน ส่วนใหญ่จะหาปลูกตามบ้านกันเองเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารและเป็นยาตามที่กล่าวข้างต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ตะคร้อ กับประโยชน์น่ารู้
คนรุ่นใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักต้น “ตะคร้อ” แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบทจะรู้จักดี เพราะ ผลแกะเปลือกจะมีเนื้อในฉ่ำน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวจัดนำไปปรุงเป็นส้มตำ รับประทานอร่อยมาก หรือเอาเนื้อฉ่ำน้ำติดเมล็ดแช่ซีอิ๊วหมักไว้ ๑-๒ อาทิตย์กินกับข้าวต้มร้อนๆ สุดยอดมาก ประโยชน์ทางยา แก่นของต้นต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง เปลือกผลเป็นยาสมานแผลในลำไส้ เปลือกต้นบดละเอียดเป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด ขูดเปลือกต้นตำใส่มดแดงมะม่วงกินแก้ท้องร่วง ใบขยี้พอกศีรษะหรือหลังเท้าแก้ปวดหัวได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ทำครกกระเดื่องทนทานมาก
 
ตะคร้อ หรือ SCHLEICHERA OLEOSA MERR. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๒๐ เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๔ ใบ เนื้อใบหยาบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เวลาแตกใบอ่อนทั้งต้นจะสวยงามน่าชมยิ่งนัก ใบแก่เป็นสีเขียวสด
 
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นสีเหลือง “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นพวงจำนวนมาก เปลือกผลเรียบและหนา สีเขียวคล้ำ หรือสีเขียวปนน้ำตาล ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ เนื้อในหุ้มเมล็ดเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีแดง ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดสีน้ำตาลเป็นรูปโค้งงอ ตอนเป็นเด็กบ้านนอกนิยมนำเอาเมล็ดดังกล่าวเสียบบริเวณติ่งหูทำเป็นต่างหูดูสวยงามและสนุกตามสไตล์ของเด็กชนบทในยุคนั้น ซึ่ง “ตะคร้อ” จะมีดอกและติดผลแก่จัดในช่วงฤดูฝนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเกือบทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกคือ เคาะจ้ก, มะจ้ก, มะโจ้ก (ภาคเหนือ) หมากค้อ (ภาคอีสาน) ปั้นรัว (สุรินทร์) ปั้นโรง (บุรีรัมย์) และตะคร้อไข่ (ภาคกลาง) มีต้นขายทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเองครับ  นสพ.ไทยรัฐ  


 กุหลาบมอญสุโขทัย
กุหลาบชนิดนี้ไม่มีใครระบุได้ว่ามีที่มาของสายพันธุ์เป็นเช่นไร ผู้ขายกิ่งตอนบอกได้เพียงว่าเป็นกุหลาบโบราณชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกทั่วไปมาช้านานแล้ว และมีชื่อเรียกว่า “กุหลาบมอญสุโขทัย” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีลักษณะประจำพันธุ์ครองใจผู้ปลูกคือ ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง สีสันของดอกสวยงาม เวลามีดอกบานพร้อมกันหลายๆดอก จะส่งกลิ่นหอมกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง ทำให้ผู้ปลูกรู้สึกสดชื่นเมื่อเข้าไปยืนใกล้ๆ เป็นที่ประทับใจยิ่งนัก
 
กุหลาบมอญสุโขทัย หรือ ROSA DAMAS CENA MILL. ชื่อสามัญ DAMASE ROSE SUMMER DAMASE ROSE อยู่ในวงศ์ ROSA CEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับกุหลาบทั่วไปคือ เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ รูปไข่ ปลายแหลม โคนมนหูใบแนบติดกับก้านใบ สีเขียวสด ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีดอกย่อย ๑-๓ ดอก อาจมีมากกว่านั้นได้อยู่ที่ความสมบูรณ์ของต้น ลักษณะดอกมีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย มีกลีบดอกหลายชั้น เป็นรูปกลมมน กลีบดอกชั้นนอกสุดจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกที่อยู่ในชั้นถัดไปอย่างชัดเจน เมื่อแรกบานเป็นสีชมพูอ่อน หลังจากนั้นเมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มขึ้นหรือเป็นสีชมพูอมม่วงสวยงามมาก ดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕.๗-๖ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรงตามที่กล่าวข้างต้น “ผล” รูปไข่ เมื่อผลสุกเป็นสีแดง มี ๑ เมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอด
 
มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการเก่า ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 จำปีแดง
ไม้ต้นนี้ มีกิ่งตอนวางขายพร้อมมีภาพถ่ายของดอกจากต้นจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขาย บอกว่า “จำปีแดง” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย เป็นลูกผสมระหว่างไม้ดอกสวยงามในวงศ์แมกโนเลียด้วยกัน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นระหว่างตัวไหนกับตัวไหน ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานหลายปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกดกสีสันงดงามมากในทุกสภาพอากาศของบ้านเรา
 
โดยเฉพาะ ผู้ขายบอกต่อว่า “จำปีแดง” ปลูกได้ทั้งลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวันและปลูกลงดินกลางแจ้ง เป็นไม้ดูแลง่ายเพราะ “จำปีแดง” ไม่ชอบน้ำเยอะหรือน้ำท่วมขัง เนื่องจากจะทำให้รากเน่า ต้นตายยืน เป็นไม้ชอบแดดจัดและ “จำปีแดง” เป็นสายพันธุ์ที่แตกใบอ่อนพร้อมมีดอกได้ตลอดเวลาหรือบ่อยที่สุด ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบาน พร้อมกันทั้งต้นดูสีสวยงามมาก
 
จำปีแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ตามที่ผู้ขายกิ่งตอนเขียนติดไว้คือ MAGNOLIA LILIIFLORA อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้ต้น สูงเพียง ๒-๔ เมตรเท่านั้น ไม่ได้สูงใหญ่เหมือนกับไม้สกุลเดียวกันที่จะสูงกว่า ๕ เมตรขึ้นไป ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนเกือบมน สีเขียวสด ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ดอกตูมรูปกระสวย มีกลีบดอกหลายชั้น รูปกลีบรีกว้าง สีชมพูเข้ม ดอกมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดอกออกทั้งปีขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบัน “จำปีแดง” มีกิ่งตอนขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑ เป็นกิ่งที่ขยายพันธุ์ด้วยระบบเสียบยอดกับตอจำปาพื้นเมืองของไทย มีรากแก้วแข็งแรงทุกต้น เมื่อนำไปปลูกจะทำให้เติบโตเร็ว แข็งแรงและมีดอกดกสวยงามตามภาพ ประกอบคอลัมน์ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 ลิตเติ้ลเจมส์
ไม้ต้นนี้ มีต้นวางขายมีภาพถ่ายดอกจริงโชว์ให้ชมด้วย ผู้ขายกิ่งตอนบอกว่า “ลิตเติ้ลเจมส์” เป็นไม้ในวงศ์ MAGNOLIACEAE อยู่ในกลุ่มเดียวกับจำปี จำปา มณฑา และยี่หุบ ซึ่ง “ลิตเติ้ลเจมส์” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกประดับในประเทศไทยบ้านเรานานแล้ว สามารถเจริญเติบโตและมีดอกได้ดีไม่แพ้ปลูกในประเทศบ้านเกิด มีข้อโดดเด่นคือ ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมแรง ขนาดของต้นไม่สูงใหญ่นัก ดอกดกไม่ขาดต้น จึงทำให้เป็นที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวางเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
 
ลิตเติ้ลเจมส์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้พุ่มต้น สูง ๒-๓.๕ เมตร แตกกิ่งก้านกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบรูปใบหอก ปลายแหลม โคนสอบ ขนาดใบใหญ่ ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนาและกรอบ ขอบใบเรียบ
 
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ลักษณะดอกตูมทรงกลมป้อม มีกลีบรองดอก ๓ กลีบ หนาและแข็ง กลีบดอกมี ๖-๑๒ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒-๔ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปกลมมนหรือแหลมเล็กน้อย กลีบดอกสีขาว ดอกขนาดใหญ่ มีดอกดกเต็มต้น มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” เป็นผลกลุ่ม สีเขียว มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปีและดอกดกเต็มต้นโดยธรรมชาติ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง และเสียบยอดกับตอแมกโนเลียพันธุ์พื้นเมือง
 
ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๑  ปลูกได้ในดินทั่วไปและทุกพื้นที่ในประเทศไทย เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เดือนละครั้ง จะทำให้มีดอกดกเต็มต้นสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมาก ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 พุดบุญรักษา
ไม้ต้นนี้ มีต้นวางขาย ผู้ขายบอกว่าชื่อ “พุดบุญรักษา” มีถิ่นกำเนิดจาก เกรนาด้า ในแถบหมู่เกาะทะเลแคริบเบียน ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๓-๔ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีดอกสวยงามในสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา โดยผู้ขายบอกต่อว่า “พุดบุญรักษา” เป็นชื่อไทยที่ถูกผู้นำเข้าตั้งขึ้น มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะคือ POSOGNERIA LATIPOLIA อยู่ในตระกูลพุดทั่วไป
 
มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ประจำพันธุ์คือ เป็นไม้พุ่มต้น สูงเต็มที่ไม่เกิน ๒.๕-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มโปร่งๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันตามข้อ ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ เนื้อ ใบค่อนข้างหนาและแข็ง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบสีเขียวหม่นทั้งต้นใบ และดอกคล้ายต้นสาวสันทราย
 
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอดและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ช่อดอกมีทั้งตั้งขึ้นและห้อยลง ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูปรี ปลายกลีบดอกมน สีขาวสดใส ดอกมีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตัว เวลามีดอกช่อดอกจะดูคล้ายทั้งดอกเข็มและดอกปีบ แต่ไม่ใช่ไม้ในวงศ์เข็มและปีบ เวลามีดอกดกและดอกบานทั้งต้นจะดูสวยงามแปลกตาและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” ผู้ขายไม่ได้บอกว่าเป็นอย่างไร ดอกออกตลอดทั้งปีไม่ขาดต้น ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
 
ปัจจุบันต้น “พุดบุญรักษา” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้งและลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งในที่มีแดดส่องทั้งวัน เวลามีดอกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 เหลืองจันทน์
ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศ ไทย พบมากที่สุดทางภาคเหนือและภาคใต้ มีชื่อ วิทยาศาสตร์เฉพาะคือ POLYALTHIA SP. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ระหว่าง ๓-๕ เมตรเท่านั้น เปลือกต้นเป็นสีเทาหรืออมน้ำตาลแดง แตกกิ่งก้านน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนสอบ ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวสด เวลามีใบดกจะดูแปลกตายิ่งนัก
 
ดอก ออกเป็นช่อกระจุก ๓-๕ ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยวตามลำต้นและกิ่งก้านบริเวณเหนือรอยแผลใบที่ร่วงไป ดอกห้อยลง ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวจำนวน ๓ กลีบ เป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายกลีบเลี้ยงมักกระดกขึ้น ส่วนกลีบดอกมี ๖ กลีบ เรียงซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ขณะดอกยังอ่อนจะเป็นสีเหลืองอมเขียว เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสวยงามน่าชมมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงเฉพาะในช่วงสายๆ จากนั้นกลิ่นหอมจะจางลงเป็นธรรมชาติ กลีบดอกชั้นนอกจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบดอกที่อยู่ชั้นในอย่างชัดเจน ดอกบานทนได้ประมาณ ๒-๓ วัน จึงร่วงโรย “ผล” เป็นกลุ่ม มีผลย่อยจำนวนมากประมาณ ๑๐-๒๐ ผลต่อช่อ ผลเป็นรูปกลมรี ใน ๑ ผล จะมีเมล็ด ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง
 
ปัจจุบันต้น “เหลืองจันทน์” มีขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑  ราคาอยู่ที่ขนาดของต้นหรือสอบถามต่อรองกันเอง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน เป็นไม้ไม่ชอบน้ำท่วมขัง จึงต้องทำทางระบายน้ำก้นกระถางให้ดีอย่าให้มีน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด รดน้ำพอชุ่มวันละครั้ง บำรุงปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นเล็กน้อย เดือนละครั้งสลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ครึ่งเดือนครั้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งประจำ จะทำให้ “เหลืองจันทน์” มีดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมไม่ขาดต้นครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

    ถังทอง  สวยกับความเชื่อดีๆ
ถังทอง เป็นกระบองเพชรชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบทิศตะวันออกของประเทศเม็กซิโก ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้สูง ที่เกิดตามธรรมชาติและจัดอยู่ในจำพวกไม้หายากในธรรมชาติ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ECHINOCACTUS GRUSONII ชื่อสามัญ GOLDEN BARREL CACTUS ลำต้นเป็นรูปทรงกลมดูคล้ายถัง มีหนามแหลมเป็นสีเหลืองทองกระจายทั่วทั้งต้นสวยงามน่าชมยิ่ง

ในประเทศไทยถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์นานหลายปีแล้ว มีต้นวางขายทั้งต้นขนาดกะทัดรัดปลูกในกระถางเล็ก ยกเคลื่อนย้ายได้ง่าย และต้นขนาดใหญ่ปลูกในกระถางใหญ่ โดย ผู้ขายบอกว่า ปัจจุบันนักจัดสวนนิยมนำเอาต้นขนาดใหญ่ไปปลูกจัดสวนในบริเวณบ้าน สำนักงาน บริษัทห้างร้านอย่างแพร่หลาย ใช้ดินปลูกแคคตัสเฉพาะมีขายทั่วไปลงก่อนที่จะนำต้น “ถังทอง” ลงปลูก เวลาต้นมีขนาดใหญ่และมีหนามแหลมเป็นสีเหลืองทองทั้งต้นจะดูงดงามยิ่งนัก หากปลูกเลี้ยงไปนานๆ ต้นสามารถสูงได้ถึง ๑ เมตร และถ้ามีอายุได้ ๒๐ ปี จะมีดอกบริเวณส่วนยอดของลำต้น กลีบดอกเป็นแฉกสีเหลืองทอง ขอบกลีบเป็นสีน้ำตาลดูคล้ายแสงอาทิตย์รุ่งอรุณสดใสมาก การปลูกต้นขนาดเล็กลงกระถาง เครื่องปลูกจะต้องโปร่งระบายน้ำได้ดีทั้งดินที่ผสมเอง หรือดินปลูกแคคตัสโดยเฉพาะ เป็นไม้ชอบแดด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หลังปลูกรดน้ำให้ชุ่ม ๕ วันครั้ง นอกจากปลูกเพื่อความสวยงามแล้ว “ถังทอง” ยังมีความเชื่อว่าปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้มีโชคลาภ เพราะต้นคล้ายถังและหนามสีเหลืองทองช่วยป้องกันเภทภัยต่างๆ ด้วย

มีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ ๔ ราคาสอบถามกันเองครับ.   ไทยรัฐ


3398  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: พรรณไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้มงคล เมื่อ: 18 พฤศจิกายน 2558 15:05:45
 สร้อยมณีแดง
ไม้ชนิดนี้ เป็นไม้ในตระกูลเดียวกับสร้อยฟ้าชนิดที่มีดอกเป็นสีม่วงและนิยมปลูกประดับอย่างกว้างขวางมาช้านานแล้ว ซึ่งสร้อยฟ้าดอกสีม่วงดังกล่าว มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอังกฤษเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง PALATA กับ PCAERULEA ไม่ใช่พันธุ์แท้

ส่วน “สร้อยมณีแดง” มีถิ่นกำเนิดจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดอกเป็นสีแดง บางคนเรียกว่า สร้อยฟ้าฮาวาย ที่สำคัญถือเป็นจุดเด่นของ “สร้อยมณีแดง” ได้แก่ ดอกจะมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแป้งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้สูดดมแล้วจะรู้สึกชื่นใจยิ่ง

สร้อยมณีแดง หรือ PASSIFLORA X ALA- TO–CAERULEA LINDL. อยู่ในวงศ์ PASSI-FLORACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เถาเป็นเหลี่ยม มีมือออกตามซอกใบเลื้อยได้ไกลกว่า ๕-๗ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ รูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนมน ซึ่งจะแตกต่างกับใบของสร้อยฟ้าอังกฤษที่จะเป็นแฉกลึกรูปนิ้วมือ

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยง๕ แฉก กลีบดอกมี ๑๐ กลีบ คล้ายกลีบบัว ด้านหน้ากลีบเป็นสีแดงอมม่วง หลังกลีบเป็นสีขาวหม่น มีระยางเป็นเส้นจำนวนมาก เป็นสีม่วงเข้ม มีสีขาวแต้ม ซึ่งจะแตกต่างจากระยางของสร้อยฟ้าอังกฤษอย่างชัดเจน บริเวณใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้ ๕ อัน ปลายเกสรตัวเมียเป็น ๕ แฉก ดอกมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นแป้งตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” เป็นรูปรี ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่งและตอนกิ่ง

มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวน จตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการ  นสพ.ไทยรัฐ  

 นมแมว
ไม้ต้นนี้พบขึ้นตามป่าทุกภาคของประเทศไทย ในยุคสมัยก่อนนิยมปลูกประดับกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแถบชนบทเพื่อสูดดมกลิ่นหอมจากดอกในตอนพลบค่ำ ซึ่งดอกของ “นมแมว” จะส่งกลิ่นหอมแรงมากคล้ายกลิ่นน้ำหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงให้ลมพัดโชยเข้าบ้านยามค่ำคืนเป็นที่รัญจวนใจยิ่งนัก และจากกลิ่นหอมดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในไม้ดอกหอมของไทยที่ถูกนำไปใส่ไว้ในบทเพลง “ชมสวน” ขับร้องโดยนักร้องหญิงชื่อดังในอดีตคือ “คุณวงษ์จันทร์ ไพโรจน์” โดยคนที่มีอายุระหว่าง ๕๐ ปีปลายๆ ขึ้นไปจะจำเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะในยุคสมัยก่อนนิยมเปิดตามสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นประจำทุกวัน แต่ปัจจุบันหาฟังได้ยากแล้ว และคนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จักต้น “นมแมว” หรือบทเพลงดังกล่าว
 
นมแมว หรือ MELODORUM SIAM-ENSE (SCHEFF.) BAN. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๒.๕ เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ปลายแหลมโคนป้าน ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม สีเขียวอ่อน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น เป็นสีเหลืองนวล กลีบดอกเป็นรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมแรงตั้งแต่พลบค่ำเรื่อยไปจนกระทั่งรุ่งเช้ากลิ่นจะจางลงเป็นธรรมชาติ “ผล” รูปกลมรี ผลสุกเป็นสีเหลืองมีเมล็ดสีดำแข็ง ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง
 
ประโยชน์ รากสด “นมแมว” ตำผสมกับน้ำปูนใสทาถอนพิษแมลงกัดต่อย รากสดกะจำนวนพอประมาณต้มกับน้ำท่วมยาจนเดือดดื่มขณะอุ่นครั้งละ ๑ แก้ว แก้ประจำเดือนสตรีไม่ปกติ นอกจากนั้น รากสดของ “นมแมว” ยังนำไปผสมกับรากสดต้นไส้ไก่ และรากสดต้นหนามพรมจำนวนเท่ากันต้มน้ำเดือดดื่มขณะอุ่นวันละ ๑-๒ แก้ว แก้ริดสีดวงจมูกดีมาก
 
มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๘ ราคาสอบถามกันเองครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

 บุหงาส่าหรี
“บุหงาสาหรี” มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมจากหมู่เกาะเวสต์อินดีส ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๕๐-๖๐ ปี แล้ว โดยมีการเรียกชื่อเป็นภาษาไทยหลายชื่อคือ “บุหงาสาหรี” บุหงาบาหลี และ บุหงาแต่งงาน เป็นต้น

บุหงาสาหรี มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ CITHA-REXYLUM SPINOSUM LINN. อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นรูปแท่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ กลีบ ดอกเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้ ๔ อัน ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมแรง เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจมาก ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

สมัยก่อน “บุหงาสาหรี” นิยมปลูกประดับกันอย่างกว้างขวางทั้งตามบ้านและตามสถานที่ราชการทั่วไป ปัจจุบัน ค่านิยมที่มีต่อ “บุหงาสาหรี” ได้ลดน้อยลงไปตามกาลเวลาทำให้มีกิ่งตอนหรือต้นพันธุ์วางขายน้อยมาก จนเชื่อว่าอีกไม่นาน “บุหงาสาหรี” จะกลายเป็นไม้ที่ถูกลืมเหมือนกับไม้ดอกหอมโบราณหลายชนิดที่หาดูได้ยากแล้วในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม “บุหงาสาหรี” ยังพอมีต้นขายประปราย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงตรงกันข้ามโครงการ ๑๕ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ไม่ชอบนํ้าท่วมขังครับ. นสพ.ไทยรัฐ  

 สายหยุด
โดยปกติของสายหยุดที่คนทั่วไปรู้จักและนิยมปลูกประดับมาแต่โบราณ เป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีนตอนใต้ ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานมากจนกลายเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า DESMOS CHINENSIS LOUR. อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อย หรือไม้กึ่งเลื้อย  ยอดมักเกาะพาดพันได้ไกล ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตรงกันข้าม ใบดอกห้อยลง มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ๓ กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีกลีบดอก ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ ดอกขณะยังตูมจะเป็นสีเขียว เมื่อบานหรือแก่จัดเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะตอนเช้าพอสายกลิ่นหอมจะหายไป จึงถูกตั้งชื่อว่าสายหยุด “ผล” เป็นกลุ่ม ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายทั่วไป

ส่วน “สายหยุดต้น” ที่เพิ่งพบกิ่งตอนวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้พุ่มต้น ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อยหรือรอเลื้อย ต้นสูงประมาณ ๓ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลมเป็นติ่งสั้น โคนมน หรือเว้าเล็กน้อย สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ดอกห้อยลง มีกลีบดอก ๖ กลีบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบเหมือนกับชนิดแรก แต่ขนาดของดอก “สายหยุดต้น” จะมีขนาดใหญ่และหนากว่าอย่างชัดเจน ดอกเมื่อบานเต็มที่หรือแก่จัดเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะช่วงเช้าเหมือนกัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมประทับใจมาก “ผล” เป็นกลุ่ม ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “สายหยุดต้น” มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ—พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑  ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้าน เวลามีดอกดกจะสวยงามส่งกลิ่นหอมมากครับ นสพ.ไทยรัฐ  


 การเวก
ลักษณะของการเวกที่นิยมปลูกประดับกันแพร่หลายมาช้านานแล้วนั้น เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่พม่า อินโดนีเซีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ARTABOTRYS SIAMENSIS MIQ อยู่ในวงศ์ ANNONACEAE นิยมปลูกให้ต้นไต่หรือเลื้อยพันซุ้มประตูหน้าบ้านและพันรั้วบ้าน เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียง เป็นที่ประทับใจมาก ซึ่งการเวกชนิดเถาเลื้อยนี้จะมีดอกช่วงเดือนมีนาคมเท่านั้น

ส่วน “การเวกต้น” ที่พบวางขาย ผู้ขายบอกว่าเป็นไม้พุ่มไม่ใช่ไม้เถาเลื้อยเหมือนชนิดที่กล่าวข้างต้น สูง ๒-๓ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีกว้างและใหญ่ ปลายใบแหลม โคนใบมน สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก ๑-๓ ดอก ออกตามกิ่งก้านหรือตามซอกใบ มีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็กสีเขียวอ่อน กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบด้านนอกรูปขอบขนาน ปลายกลีบแหลม กลีบด้านในเล็กกว่า ดอกอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงมาก เวลามีดอกดกและดอกสุกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม พร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ชื่นใจยิ่ง “ผล” กลมรี ผลย่อย ๑๐-๑๕ ผล มีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด ดอกของ “การเวกต้น” ออกทั้งปี แตกต่างจากการเวกเถาออกตามฤดูกาลปีละครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

การเวกต้น มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ แผงหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ทั้งลงดินกลางแจ้งและลงกระถางขนาดใหญ่ เวลามีดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงชื่นใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 จำปีอะมาวะสี
จำปีชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดจากรัฐอะมาวะสี ประเทศอินเดีย มีลักษณะเด่นคือ “จำปีอะมาวะสี” ต้นจะไม่สูงมากนัก เวลามีดอกจะดกกว่าจำปีทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอมแรง ที่สำคัญกลีบดอกของ “จำปีอะมาวะสี” จะหนากว่าจำปีทั่วไป ทำให้กลีบดอกไม่ร่วงง่าย สามารถบานได้ทนกว่าจำปีสายพันธุ์อื่น ซึ่ง “จำปีอะมาวะสี” ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว ผู้นำเข้าเห็นว่า “จำปีอะมาวะสี” เติบโตได้ดีและมีดอกดกเหมือนกับปลูกในถิ่นกำเนิดเดิม จึงขยายพันธุ์ตอนกิ่งออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อตามแหล่งนำเข้าว่า “จำปีอะมาวะสี” กำลังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปลูกไม้ดอกหอมอยู่ในขณะนี้

จำปีอะมาวะสี มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับจำปีทั่วไปคือ MICHELIA ALBA DC. ชื่อสามัญ WHITE CHAMPAK อยู่ในวงศ์ MAGNOLIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๕-๑๐ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายและโคนใบแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา หน้าใบเรียบ สีเขียวสดเป็นมัน หลังใบสีเขียวด้าน ใบจะ ดกและหนาแน่นในส่วนปลายกิ่ง

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบใกล้ปลายยอด ลักษณะดอกเมื่อยังตูมอยู่จะเป็นรูปกระสวย ยาวประมาณ ๓-๕ ซม. มีกลีบดอก ๘-๑๒ กลีบ เนื้อกลีบดอกจะมีความหนามากกว่ากลีบดอกจำปีทั่วไป จึงทำให้เวลาดอกบานจะอยู่ได้ทนนานกว่าจำปีทั่วไป คือ บานได้ทนประมาณ ๒-๓ วัน กลีบดอกจึงจะร่วง เป็นสีขาวนวล มีกลิ่นหอมแรง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก เกสรตัวเมีย ๑๐-๑๒ อัน ดอกเมื่อบานจะมีขนาดใหญ่เท่ากับจำปีทั่วไป  เวลามีดอกจะดกเต็มต้น  และดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ชื่นใจยิ่ง ดอกออกตลอดปี  ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและเสียบยอด

โดยเฉพาะ ในช่วงที่ “จำปีอะมาวะสี” มีดอกกำลังตูมใกล้จะบานสามารถเก็บไปร้อยปลายมาลัยดอกมะลิ หรือเก็บดอกขายเพิ่มรายได้ดีมาก เพราะกลีบดอกจะไม่เหี่ยวหรือร่วงง่ายนั่นเอง

สรรพคุณทางสมุนไพรของจำปีทั่วไป ใบสดต้มน้ำเดือดดื่มขณะอุ่นเป็นยาระงับอาการไอเรื้อรัง และแก้อาการหลอดลมอักเสบได้ ปัจจุบันต้น “จำปีอะมาวะสี” มีขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณแผงหน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง เหมาะจะปลูกประดับทั่วไป เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงาม และส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายเป็นที่ประทับใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ  


 พุดจีบ
พุดจีบเป็นไม้พุ่มเตี้ย ทรงพุ่มแน่น ใบมีรูปร่างมนรี สีเขียวเข้ม ปลายใบแหลมเป็นติ่งยาวตามลำต้นและใบมียางสีขาว มีกลีบดอกซ้อนกัน ๓ ชั้น ชั้นละ ๕ กลีบ กลีบดอกมีรอยยับย่นบิดเป็นริ้วๆ มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี ไม้-เป็นยาเย็น  ลดไข้  น้ำจากต้นขับพยาธิ ใบ-ในมาเลเซียนำมาชงกินกับน้ำตาลแก้ไอ  ในอินเดียนำน้ำตามใบใส่แผล ดอก-น้ำคั้นจากดอกผสมน้ำมัน ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ราก-ขับพยาธิ เคี้ยวแก้ปวดฟัน ใช้เป็นยาบำรุง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบสารสกัดจากต้นพุดจีบว่ามีสรรพคุณแก้โรคอัลไซเมอร์ในหนูทดลองพบว่าสารสกัดในต้นพุดจีบที่มีฤทธิ์เพิ่มสารสื่อประสาท และมีสรรพคุณใกล้เคียงกับยารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเป็นการทดลองในระดับเซลล์  ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์คือการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซติลโคลีน เอสเทอเรสและเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท ซึ่งสารสกัดจากต้นพุดจีบสามารถให้ผลเช่นเดียวกับตัวยากาเลนทามินที่รับประทานแก้โรคอัลไซเมอร์เมื่อทดลองในหนูทดลองและนำเซลล์สมองมาวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งการศึกษานี้จะมีการต่อยอดเพื่อการพัฒนาขบวนการผลิตยาที่สกัดมาจากพุดจีบต่อไป. นสพ.เดลินิวส์  


 ปัญจขันธ์
“เจียวกู่หลาน” ชื่อภาษาอังกฤษคือ Miracle grass, Southern ginseng หรือ 5-Leaf ginseng หรือภาษาไทยเรียกว่า “ปัญจขันธ์” มีสารที่มีฤทธิ์ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยให้นอนหลับลดระดับไขมันในเลือดเสริมระบบภูมิคุ้มกัน  โดยปัญจขันธ์เป็นพืชล้มลุกชนิดเถาเลื้อยขนานกับพื้นดิน รากงอกออกจากข้อเป็นประเภทแตง น้ำเต้า มีใบ ๓-๕ ใบ ด้านบนและด้านล่างใบมีขนอ่อนสีขาวปกคลุมส่วนที่นำมาใช้คือส่วนเหนือดินของพืชที่มีอายุ ๔-๕ เดือนขึ้นไป

ตอนนี้ปัญจขันธ์แพร่หลายมากขึ้น  มีหลายหน่วยงานนำพืชชนิดนี้ไปวิจัยมากขึ้น คนที่นิยมสมุนไพรก็รู้จักสมุนไพรชนิดนี้กันมาก มีการนำปัญจขันธ์มาทำเป็นผลิตภัณฑ์กันหลากหลาย เช่น ชาปัญจขันธ์ ปัญจขันธ์แคปซูลหรือบางทีก็นำเอาสารสกัดจากปัญจขันธ์นี้ไปผสมกาแฟก็มี  มีคนบอกว่า ปัญจขันธ์เป็นสมุนไพรอมตะ บางคนว่าเป็นยาอายุวัฒนะก็มี แสดงว่ามีสรรพคุณดีแน่นอน ฉะนั้น ปัญจขันธ์จึงได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นพืชสมุนไพรแห่งชาติปี ๒๕๔๘

มีผู้คนบอกว่า...ปัญจขันธ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้นอนหลับ ช่วยคลายเครียด ช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ซ่อมแซม DNA ที่ถูกทำลายจากสารพิษ บุหรี่ แอลกอฮอล์ รักษาสมดุลของฮอร์โมนและเอนไซม์ ช่วยปกป้องหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต  ช่วยรักษาความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นของผิวพรรณ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายและทางเพศ ปัญจขันธ์มี สารยิเพ็นโนไซด์ (Gypenosides) ที่พบในโสมแต่ในปัญจขันธ์มีมากกว่าโสม ๓-๔ เท่า เป็นสารที่ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเซลล์ ยับยั้งเซลล์มะเร็งต้านการอักเสบ ยับยั้งการก่อตัวของเกล็ดเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลด LDL (ไขมันเสีย) เพิ่ม HDL (ไขมันดี ) ช่วยเพิ่มขบวนการเผาผลาญ แก้ปวด แก้ไอ  ขับเสมหะ  รักษาแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถแก้ปวด-บวม ฟกช้ำดำเขียว ทำให้ผิวหนังเต่งตึง แก้ท้องผูก ลำไส้อักเสบ  โรคตับ  เชื้อราที่เท้า ผมหงอก ผมร่วง  ปวดหัว ไมเกรน  ความจำเสื่อม   คางทูม  ทอนซิล  หวัด ขับเสมหะ แก้ไอ หอบหืด  ลดกรด….เห็นไหมมีสรรพคุณที่ครอบคลุมและครอบจักรวาลดี

แต่ข้อมูลจากจดหมายข่าวผลิใบของกรมวิชาการเกษตร คอลัมน์ขอคุยด้วยคนโดย “มธุรส วงษ์ครุฑ” เขียนถึงการดื่มชาปัญจขันธ์ไว้ว่าห้ามดื่มติดต่อกันนานเกิน ๗ วัน โดยเมื่อดื่มครบ ๗ วันก็ให้หยุดดื่ม ๑-๒ วัน แล้วค่อยเริ่มต้นดื่มใหม่หรือถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มึนงง ปวดศีรษะ ตาพร่าลายก็ต้องหยุดดื่มเช่นกัน...อันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำตามนะครับ

ปัญจขันธ์ หรือเจียวกู่หลาน ปัจจุบันมีจำหน่ายตามร้านสมุนไพรทั่วไป หาซื้อได้ง่ายสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางเสาะแสวงหาเฉกเช่นแต่ก่อนเก่าดังที่เล่ามา. นสพ.เดลินิวส์  


 ขนนก หรือ แผ่บารมีมหาเศรษฐี
ไม้ต้นนี้ พบมีต้นขายมีป้ายชื่อเขียนติดไว้ชัดเจนว่าต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” และชื่อรองว่า “ขนนก” ซึ่งทั้ง ๒ ชื่อ ผู้ขายเป็นคนตั้งขึ้นเอง เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ซื้อไปปลูกประดับ ผมเองเห็นว่าลักษณะต้นและใบมีความแปลกตาและสวยงามมาก จึงสอบถามผู้ขายได้รับคำตอบว่า ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีถิ่นกำเนิดจากประเทศแอฟริกา ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว แต่ผู้ขายไม่มีชื่อภาษาอังกฤษและชื่อวงศ์เฉพาะ บอกได้เพียงว่า ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีความพิเศษคือ ใบดก และใบ จะมีความอ่อนนุ่มมาก เมื่อทดลองใช้ฝ่ามือลูบรู้สึกได้อย่างชัดเจนเลยว่านุ่มสบายมือจริงๆ ไม่แข็งเหมือนใบไม้ทั่วไป ถ้าได้ลูบแล้วอยากจะลูบอีก เนื่องจากทำให้สบายฝ่ามือนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เท่าที่ดูจากสายตาที่เห็นคล้ายต้นหูกระจง แต่ผู้ขายบอกว่าต้นไม่สูง โตเต็มที่ไม่เกิน ๒ เมตร แตกกิ่งแขนงแผ่กว้างเป็นวงกลมเหมือนกับต้นหูกระจงและเป็นชั้นๆ ใบออกสลับหนาแน่นตามกิ่งแขนง รูปกลมรี ปลายแหลม โคนมน สีเขียวสด ใบมีความเป็นพิเศษและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือจะนุ่มไม่กระด้างตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีใบดกใช้ฝ่ามือลูบจะทำให้รู้สึกสบายมือดีมาก ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

ปัจจุบัน ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบนํ้าท่วมขัง นิยมปลูกประดับทั้งแบบลงดินกลางแจ้ง และปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับบ้านอาคารในมุมที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน หลังปลูกรดนํ้าพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ เล็กน้อยเดือนละครั้ง จะทำให้ต้น “ขนนก” หรือต้น “แผ่บารมีมหาเศรษฐี” มีใบดกสวยงามและนุ่มมือครับ นสพ.ไทยรัฐ  


 ลดาวัลย์ออสเตรเลีย
โดยปกติลดาวัลย์ที่นิยมปลูกประดับตามบ้านมาแต่โบราณเป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า และ มาเลเซีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PORANA VOLUBILIS BURM.F. ชื่อสามัญ  BRIDAL CREEPER, SNOW CREE-PER, BRIDAL WREATH. อยู่ในวงศ์ CONVOLVULACEAE

มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง สามารถเลื้อยได้ไกลกว่า ๘ เมตร ดอก ออกเป็นช่อ ตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยงสีเหลืองอ่อนแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ รูประฆัง สีขาวนวล เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕-๐.๘ ซม. ดอกมีกลิ่นหอมเย็น เวลามีดอกจะดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ประทับใจยิ่ง “ผล” กลม มี ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายทั่วไป

ส่วน “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” ที่เพิ่งพบมีต้นวางขาย มีดอกบานเต็มต้นสวยงามมาก ผู้ขายบอกว่าเป็นสายพันธุ์นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียนานกว่า ๒-๓ ปีแล้ว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับลดาวัลย์ที่กล่าวข้างต้นทุกอย่าง แตกต่างกันที่ดอกของ “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” ช่อใหญ่และดอกย่อยมีขนาดใหญ่กว่าอย่างชัดเจน ที่สำคัญ ดอกจะดกไม่ขาดต้น ดอกมีกลิ่นหอมเย็นเหมือนกัน ทำให้เวลามีดอกบานสะพรั่งดูงดงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” รูปทรงกลม มีเมล็ด ๑ เมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

ปัจจุบัน “ลดาวัลย์ออสเตรเลีย” มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบนํ้าท่วมขัง เหมาะจะปลูกให้ต้นเลื้อยซุ้มต่างๆ เวลามีดอกดกจะสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจมากครับ. นสพ.ไทยรัฐ


   กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น  ดอกหอมแรง
กุหลาบชนิดนี้ มีต้นวางขายมีดอกสีสันเข้มข้นสวยงามน่าชมยิ่ง ขนาดของดอกไม่ใหญ่โตนัก คิดว่าเป็นกุหลาบยี่สุ่นไทยที่เคยแนะนำในคอลัมน์ไปแล้ว แต่ผู้ขายบอกว่าเป็นคนละต้นกันมีชื่อภาษาไทยว่า “กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น” นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นนานหลายปีแล้ว มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์คือ ดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากุหลาบยี่สุ่นของไทยอย่างชัดเจน และที่สำคัญผู้ขายยืนยันต่อว่า ดอกของ “กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น” จะมีกลิ่นหอมแรงกว่าด้วย สามารถสูดดมพิสูจน์กลิ่นได้เนื่องจากมีต้นกุหลาบยี่สุ่นไทยวางขายใกล้ๆ กัน ซึ่งเมื่อสูดดมกลิ่นแล้วเป็นอย่างที่ผู้ขายบอกทุกอย่างจริงๆ

กุหลาบยี่สุ่นญี่ปุ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือน กับกุหลาบทั่วไปทุกอย่างคือ ROSA SPP AND HYBRID ชื่อสามัญ ROSE อยู่ในวงศ์ ROSA- CEAE เป็นไม้พุ่ม ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑-๑.๕ เมตร ต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๕-๗ ใบ เป็นรูปไข่ ปลายแหลมโคนมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย หูใบแนบติดกับก้านใบ ใบอ่อนสีน้ำตาลแดงน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ ๑-๓ ดอก ที่ปลายกิ่ง ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย มีกลีบเลี้ยง ๕ แฉก กลีบดอกหลายชั้นเรียงซ้อนกันเป็นระเบียบ รูปกลมกว้าง ปลายกลีบเกือบมนหรือแหลมเล็กน้อย กลีบดอกเป็นสีชมพูเข้ม มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอมแรงตามที่กล่าวข้างต้น เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามสดใสและส่งกลิ่นหอมกระจายเป็นที่ประทับใจมาก “ผล” รูปไข่ เมื่อสุกเป็นสีแดง มีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และติดตามีต้นขายที่ ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๘ ราคาสอบถามกันเองครับ.


  ชงโคแคระดอกม่วง  ปลูกประดับสวย
ชงโคชนิดนี้ ผู้ขายต้นพันธุ์บอกว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า ๔-๕ ปีแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดี และมีดอกสีสันงดงามมาก กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินปนสีคราม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน ๑.๕-๒.๕ เมตร เท่านั้น ผู้นำเข้าจึงตั้งชื่อเป็นภาษาไทยตามลักษณะต้นและสีสันของดอก ว่า “ชงโคแคระดอกม่วง” มีชื่อเฉพาะเรียกในประเทศออสเตรเลียว่า BLUE ORCHID กำลังเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยเวลานี้

ชงโคแคระดอกม่วง อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยรวมเหมือนกับชงโคดั้งเดิมเกือบทุกอย่าง แต่ต้นจะเตี้ยกว่า (ปกติชงโคดั้งเดิมต้นจะสูง ๕-๑๐ เมตร) ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปค่อนข้างกลม ปลายเว้าลึก โคนมนหรือเว้าเหมือนกัน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยไม่น้อยกว่า ๓-๕ ดอกขึ้นไป มีกลีบดอก ๕ กลีบ เช่นเดียวกับดอกชงโคดั้งเดิม กลีบดอกเมื่อบานจะกางออกเห็นแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นดอกชงโค กลีบดอกเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินปนสีครามอย่างชัดเจน ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้หลายอันยื่นยาวพ้นกลีบดอก ปลายเกสรเป็นสีเหลืองเข้ม เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น สีสันของกลีบดอกจะตัดกับสีสันของสีเกสรดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบนและยาว ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ผลแก่แตกอ้าเป็น ๒ ซีก ดอกออกช่วงระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมทุกปี ขยายพันธุ์ทั่วไปด้วยเมล็ด

ปัจจุบันมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑ ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป เหมาะจะปลูกประดับในบริเวณบ้านทั้งปลูกลงดินกลางแจ้งและปลูกลงกระถางตั้งในที่มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น ใส่ปุ๋ยมูลสัตว์เดือนละครั้ง เวลามีดอกจะสวยงามมากครับ.   ไทยรัฐ


  นีออน
นีออน หรือ LEUCOPHYLLUM FRU-TESCENS (BERL.) L.M. ชื่อสามัญ JOHNST., BAROMETER BUSH, ASH PLANT. อยู่ในวงศ์ SCROPHULARIACEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเม็กซิโก ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ขายในประเทศไทยนานมากแล้ว เป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๑-๒ เมตร แตกกิ่งก้านหนาแน่นเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับจำนวนมาก รอบกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้นเรื่อยไปจนถึงปลายยอด ใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี สีเขียวอมเทา มีขนยาวและนุ่มปกคลุม ใบมักบิดหรือห่อขึ้นเล็กน้อย เวลาใบดกจะน่าชมยิ่งนัก ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยหลายดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ หลอดดอกเป็นสีม่วงจางๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วงสดถึงสีชมพูอมม่วงแดง ดอกออกทั้งปี เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน สีสันของดอกจะตัดกับสีของใบที่เป็นสีเขียวอมเทาสวยงามแปลกตามาก ขยายพันธุ์ปักชำกิ่ง

ปัจจุบันต้น “นีออน” มีขาย ทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาแต่ละแผงไม่เท่ากัน หรืออยู่ที่ขนาดของต้น ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดดจัด ไม่ชอบน้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งลงดินกลางแจ้ง และปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับในที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน และมีลมพัดโกรกดีตลอดเวลา รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกโรยรอบโคนต้นเล็กน้อยเดือนละครั้ง สลับกับใส่ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ ครึ่งเดือนครั้ง ครั้งละ ๕-๗ เม็ด จะทำให้ต้นแข็งแรงมีดอกและใบดกสวยงามครับ.
3399  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2558 16:02:06

ชุดภาพประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี
(จบ)



























































จบ ภาพเมืองลพบุรีในอดีต
3400  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดสิงห์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ชมศาสนสถานโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2558 18:07:02
.



วัดสิงห์
ตำบลสามโคก  อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

วัดสิงห์ เป็นวัดตั้งอยู่ริมคลองไม่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกบริเวณคุ้งน้ำที่กว้างใหญ่ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ซึ่งขุดลัดเตร็ดใหญ่ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ตรงหน้าวัดไก่เตี้ย

ที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากริมแม่น้ำลึกเข้าไปประมาณ ๕๐๐ เมตร โดยมีลำคลองสำหรับเรือเข้าออก เรียกว่า “คลองวัดสิงห์” อยู่ทางทิศใต้ของวัด แผ่นดินบริเวณนี้เรียกว่า “บ้านสามโคก”

“วัดสิงห์” เป็นวัดโบราณเก่าแก่คู่เมืองสามโคกมานาน  สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เดิมเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งกรุงอยุธยาเป็นราชธานี สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

 
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพม่ารบกับจีน ในปี พ.ศ.๒๐๒๒ ชาวมอญที่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมในกองทัพพม่า ได้พากันหลบหนีจากกองทัพพม่า โดยพาครอบครัวประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ออกจากแว่นแคว้นเมืองเมาะตะมะ มาทางเมืองสมิ ถึงด่านพระเจดีย์ ๓ องค์  ในปีระกา นพศกนั้น จึงสมิงนายอำเภอทั้ง ๑๑ นาย ก็แต่งหนังสือบอกให้รามัญ ถือเข้ามาแจ้งกิจการแก่พระยากาญจนบุรีว่าจะเข้ามาสวามิภักดิ์เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยากาญจนบุรีก็ส่งหนังสือบอกเข้ามาถึงอัครมหาเสนาธิบดี ให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือกให้ทรงทราบเหตุ  ก็ทรงพระโสมนัสดำรัสให้สมิงรามัญเก่าในกรุงถือพลพันหนึ่ง ออกไปรับครัวเมืองเมาตะมะเข้ามายังพระมหานคร แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้พวกครัวมอญใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่สามโคกบ้าง ที่คลองคูจามบ้าง ที่ใกล้วัดตองปุบ้าง โดยพระภิกษุที่อพยพหนีศึกพม่ามาด้วยกันได้อยู่พักจำพรรษาที่วัดแห่งนี้  ดังนั้น วัดสิงห์จึงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสามโคกที่มีมาก่อนชาวรามัญจะอพยพเข้ามาอยู่บ้านสามโคก

ต่อมาราวสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้มีชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนชุมชนบริเวณอำเภอสามโคกมากขึ้น และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จนเป็นวัดมอญดังเช่นปัจจุบัน
 

ด้วยความที่วัดสิงห์เป็นวัดเก่าแก่โบราณ
ทำให้สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างล้วนสะท้อนศิลปะอยุธยา
ไม่ว่าจะเป็นวิหารโถง หรือที่เรียกว่าศาลาดิน วิหารน้อย โกศพญากราย ฯลฯ











วิหารน้อย เป็นวิหารทรงไทยก่อด้วยอิฐไปจรดอกไก่ มุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบู
ด้านหน้ามีพาไลยื่นออกมา ฐานของอาคารทำเป็นท้องสำเภาก่ออิฐเป็นฐานปัทม์แอ่นโค้ง
ผนังเจาะเป็นช่องลูกกรงแทนหน้าต่าง มีประตูเข้าช่องทางเดียว วงกบประตูทำด้วยไม้สักทอง
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชีประดับกระจกสีเขียว
ด้านข้างมีพระพุทธรูปยืนพนมมือ


วิหารโถง หรือที่เรียกว่าศาลาดิน เป็นอาคารทรงไทยจั่วลูกฟักหน้าพรหม
มีมาลัยโดยรอบ มุงด้วยกระเบื้องกาบู กระเบื้องเชิงชายทำเป็นบันแถลงรูปสามเหลี่ยม
ปลายเรียวโค้งรูปเทพนมสลับกับดอกบัวอ่อนช้อยสวยงาม  




หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทอง ปางมารวิชัย
ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว อายุมากกว่า ๓๒๐ ปี ประดิษฐานในวิหารโถง หรือ ศาลาดิน


หลวงพ่อเพชร  พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (ปางสุบินนิมิต)
ขนาดยาว ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว อยู่ด้านหลังซุ้มเรือนแก้วหลวงพ่อโต


มีพระยิ้มและพระหน้าบึ้ง ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า
ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปกันมาก


โกศพญากราย ก่อด้วยอิฐฉาบปูนรูปแบบโกศโถทรงกระบอกกลมปากผาย
บรรจุอัฐิพระเถระมอญที่อพยพเข้ามาจากเมืองเมาะตะมะ เมื่อราว ๒๐๐ ปีก่อน  
ลักษณะโกศมีขนาดใหญ่ สร้างตามรูปแบบศิลปะแบบมอญผสมไทย
ประดับลวดลายปูนปั้นและประดับกระจกอย่างประณีตงดงาม
สะท้อนถึงความเป็นอริยสงฆ์ ศูนย์รวมแห่งศรัทธาสักการะของผู้คนในสมัยนั้นเป็นอย่างดี


เมื่อคราวที่เมือง "สามโคก" นี้จะได้รับพระราชทานนามว่า “ประทุมธานี”
จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
พระสุนทรโวหาร (ภู่) กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พรรณนาถึงพระองค์
ดังความปรากฏในนิราศภูเขาทอง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๑ ว่า
“ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า
พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี
ชื่อปทุมธานีเพราะมีบัว”

นิราศข้างต้นเกิดขึ้นหลังแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่นาน
และ กล่าวถึง “สามโคก” ซึ่งเป็นนามเมืองเก่า อันมีรากเหง้าความเป็นมาอย่างยาวนานกว่า ๓๘๕ ปี
ก่อนที่จะได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “ประทุมธานี” ด้วยเหตุที่เมืองนี้มีดอกบัวเหลือคณนา
และมีส่วนสำคัญต่อการรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันประณีตลุ่มลึกและหลากหลาย
ในสังคมเมืองหลวงจนสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแก่ลูกหลานในปัจจุบัน
หน้า:  1 ... 168 169 [170] 171 172 ... 277
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.895 วินาที กับ 22 คำสั่ง