[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 เมษายน 2567 11:49:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 273
1  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 21 ชั่วโมงที่แล้ว
               
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นต่อมาพระขวัญราชโอรสพระราเมศวรมีพระชนม์ได้ ๑๔ ปี คิดร้ายต่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ตั้งซ่องสุมผู้คนไว้เปนอันมาก กิติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ จึงรับสั่งให้เชิญพระขวัญเข้ามาเฝ้าในพระราชวัง แล้วรับสั่งถามว่า เจ้าตั้งซ่องสุมผู้คนจะคิดร้ายต่อเราจริงฤๅ พระขวัญรับว่าการที่ตั้งซ่องสุมผู้คนนั้นจริง แต่ไม่ได้ประสงค์จะทำร้ายต่อพระองค์ ประสงค์จะป้องกันบ้านเมือง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงพระราชดำริห์เห็นอาการพิรุธ จึ่งทรงปฤกษากับข้าราชการทั้งปวง ๆ จึ่งยกบทพระไอยการขึ้นพิพากษาว่า ผู้ที่ตั้งซ่องสุมผู้คนจะประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ชอบให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็รับสั่งให้เอาตัวพระขวัญไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี ๚

​๏ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระราชโอรสด้วยพระมเหษีใหญ่ ๓ องค์ องค์ที่ ๑ พระนามว่า สุรินทกุมาร องค์ที่ ๒ พระนามว่า วรราชกุมาร องค์ที่ ๓ พระนามว่า อนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก วันหนึ่งรับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป ที่มีกำลังน้อยจมตายบ้างก็มี กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น ๚

๏ แลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีราชบุตรอันเกิดด้วยพระสนมอิก ๓ พระองค์ นามว่า เจ้ากุมารอินทร์องค์ ๑ เจ้ากิ่งองค์ ๑ เจ้าติ่งองค์ ๑ ๚

๏ ครั้นต่อมาพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีให้สร้างมณฑปพระพุทธบาทมียอดสูง ๒๕ ศอก หุ้มทองแดงลงรักปิดทอง แล้วให้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลโพธิ์ช้างล้ม ๒ วัด พระราชทานนามว่า พระอารามบรมกษัตรวัด ๑ ทุพิยารามวัด ๑ ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์ ๑ ลงรักปิดทองให้งดงาม พระราชทานนามว่า สุขวัญโพธิเพ็ชรเจดีย์ แล้วให้เอาโลหะทั้ง ๕ มาสร้างพระปฏิมากรองค์ ๑ สูง ๑๖ ศอก พระราชทานนามว่า สยัมภูทุตกามาลี ๚

๏ ในปีนั้นเจ้าเมืองกาญจนบุรีจับได้ช้างเผือกพังช้าง ๑ ช้างเผือกพลายช้าง ๑ นำมาถวาย จึงพระราชทานนามช้างเผือกพังว่า อินทไอยรา พระราชทานนามช้างเผือกพลายว่า บรมจักรบุปผาทันต์ ๚

​๏ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิ ชำนาญในทางเวทมนต์กายสิทธิมาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาศฟังกิจศุขทุกข์ของราษฎร แลทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนต์ให้เปนมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนต์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เปนอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เปนข้าราชการ ผู้ใดที่โอ่อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก เต่าปลามัจฉาชาติในน้ำแต่พอแลเห็นเงาก็ยิงถูก แลทรงชำนาญในทางโหราสาตร รู้คำนวณฤกษ์ยามชตาบ้านเมือง ได้ทรงพยากรณ์กาลอนาคตเปนพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ว่า น้ำในแม่น้ำแลคลองทั้งปวงจะแดงเปนโลหิต เมฆแลท้องฟ้าจะแดงเปนแสงไฟ แผ่นดินจะไหวโดยมาก ยักษ์แลผีป่าจะเข้าเมือง เสื้อเมืองทรงเมืองจะหลีกเลี่ยง ฤดูหนาวจะเปนฤดูร้อน โรคไภยจะเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ทั้งปวง โอชาว่านยาแลผลไม้จะถอยรศ เทพยดาที่รักษาพระสาสนาจะรักษาแต่คนพาล พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ มิตรจะกลับเปนศัตรู เมียจะคิดทรยศต่อผัว คนต่ำตระกูลจะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย ศิษย์จะสู้ครู พวกพาลจะมีอำนาจ พวกปราชญ์จะตกต่ำ น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะลอย ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย จะเกิดเข้ายากหมากแพง ​ฝูงมนุษย์จะอดอยาก ผีแลเปรตจะปนอยู่กับคน สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจ จะเกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุม ที่ลุ่มจะกลับดอน ที่ดอนจะกลับลุ่ม พระพุทธสาสนาจะเศร้าหมอง คนที่สนุกเฮฮาจะได้ครองสมบัติ คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเปนเจ้านายดังนี้ ๚

(เข้าความฉบับหลวง)

๏ อันพระสุริเยนทราธิบดีเมื่อครั้งนั้น มีทหารคนดีสองคน ชื่อพานศรเพลิงคน ๑ ดำเกิงณรงค์คน ๑ เปนเกณฑ์สำหรับได้อยู่ข้างที่พระองค์ มีวิชาการเชี่ยวชาญชำนาญนักหนา ทั้งอยู่คงกะพันแลล่องหนทั้งอึดใจก็ได้ ทั้งรู้วิชาปืนก็หลักแหลม อันแยบคายปืนกลนี้ดีนักหนา รู้จักที่จึ่งยิงได้ดังใจหมาย ได้ยินแต่เสียงสำเนียงมาก็ยกปืนขึ้นยิงแล้วไม่รู้ผิด ถึงจะแอบจะบังอยู่ให้มิดก็ยิงถูกได้ดังใจ ที่ในว่าไว้นั้น จนแต่จรเข้อยู่ที่ในน้ำก็ยิงให้ตายอยู่กับที่ก็ได้ ยิงให้ว่ายวิ่งอยู่บนน้ำก็ได้ ยิงให้จมไปก็ได้ อันในแผ่นดินพระสุริเยนทราธิบดี อันสองคนนี้เปนยอดทหาร กับเหล่าชาญณรงค์องครักษ์ของพระองค์มีอยู่สองร้อย เปนทหารสำหรับรักษาข้างพระองค์ ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่ง จึ่งอ้ายธรรมเถียรบัณฑิต มันทำจริตกิริยาอาการมาให้เหมือนพระขวัญ คือตรัสน้อยใจที่พระองค์ลงโทษ ฝ่ายอาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้น เลื่องฦๅกันว่าพระขวัญนี้มีบุญญาธิการนักหนา ถึงฆ่าเสียแล้วก็ไม่ตาย เพราะเหตุฉนี้อ้ายธรรมเถียรมันจึ่งทำมาให้แทนที่ มันจึ่งติดไฝที่แก้มแล้ว ทำ​เปนพูดจาพาทีให้เหมือน ว่าตัวนี้เปนผู้มีบุญ อันคนในแว่นแคว้นแดนประสักนั้นจงรักภักดีแล้วเข้าอุดหนุนเข้าเกลี้ยกล่อม บ้างก็ยอมลงทุน บ้างก็อุดหนุนตกแต่งให้ทั้งเครื่องอุปโภคต่าง ๆ นา ๆ ด้วยสัญญาว่าองค์ตรัสน้อย แต่เกลี้ยกล่อมได้คนสองพัน จึ่งซ่องสุมพลไว้พระนครหลวง จนแต่หลวงเทพราชาที่รักษาวังอยู่ที่พระนครหลวงนั้น ก็เอาเครื่องสูงเกณฑ์แห่มาได้ครบครัน กับขุนศรีคชกรรม์กองช้างที่อยู่ป่าอรัญญิกนั้น ก็เอาพลายมงคลรัตนาศน์ไปกำนัน ช่างพากันไปด้วยคนร้าย อันอ้ายธรรมเถียรนั้นมันคิดผิดผลที่มันจักตาย แต่งตัวขึ้นขี่ช้างแล้ว แห่แหนมาด้วยอภิรุมชุมสายเปนอันมาก เมื่อยกทัพมากลางทางที่คนรู้ก็ไปเข้าด้วย ลางคนแต่มือเปล่าก็เข้ามาหา ลางคนก็ได้แต่พร้าวิ่งตามไป แล้วจึ่งข้ามศาลาเดิมบ้านทานทุน แล้วจึ่งยกมาตามถนนใหญ่ ครั้นถึงรอจึ่งหยุดพลไว้ ฝ่ายขุนนางข้างในครั้นรู้ก็เข้าไปทูลกับพระองค์ว่า ราชศัตรูเข้ามาถึงรอแล้ว ยังหยุดพลไว้ที่ตำบลอันนั้น ครั้นพระองค์ทราบเหตุก็เสด็จออกมาโดยพลัน พระองค์จึ่งเสด็จขึ้นอยู่บนป้อมมหาไชย จึ่งตรัสห้ามพลทั้งนั้น ว่าใครอย่าออกรบพุ่ง ไว้นักงานกู ตามทีให้มันเข้ามา ครั้นประจุพระแสงปืนแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นยืนอยู่ต่อสู้ อันเหล่าราชศัตรูทั้งนั้น ก็กรูกันข้ามมาตามตะพานใหญ่ จึ่งทรงยิงด้วยพระแสงมหาไชย ก็ถูกอกธรรมเถียรเข้ากระเด็นตกลงไปทันที อันผู้คนทั้งนั้นก็กระจัดพลัดพราย บ้างล้มตายบ้างวิ่งหนี ชาวกรุงจึ่งไล่ตามตีก็จับตัวได้ บ้างวิ่งหนีซุกซนไป ที่เปน​ไพร่ก็ไม่ตาย แต่ตัวนายจึ่งฆ่าเสียให้ถึงแก่มรณา อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้นองอาจมีอำนาจนักหนา ทั้งทรงทศพิธราชธรรมมิได้เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองใด จนถึงพระยาสามนต์อันเปนใหญ่อยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เลื่องฦๅชาไปว่าพระองค์นี้ตั้งอยู่ในธรรม ทั้งมีฤทธิวิทยาแลอาคม ทั้งพระเดชเดชาก็กล้าหาญนักหนา จึ่งแต่งพระราชธิดา มีพระนามเรียกพระตรัสนายกัลยาณีมาถวาย อันพระบุตรีนั้นมีโฉมประโลมโสภางามนักหนา พระชันษานั้นได้สิบห้าปี กับพระราชสาสนแลเครื่องบรรณาการเปนอันมาก มาถวายด้วยใจจงรักภักดี ทั้งมีสวามิภักดิสมัคสมาคม จักเปนที่พึ่งโพธิสมภารสืบไปเบื้องน่า ครั้นมาถึงจึ่งถวายพระราชธิดา ทั้งเครื่องบรรณาการแลราชสาสน อันพระองค์นั้นก็ทรงยินดีปรีดา จึ่งแต่งรับพระธิดาแล้วตั้งไว้เปนที่มเหษีตามที่ตามเมืองน้อยใหญ่ พระองค์ก็ประพฤติตามโดยดีตามสวัสดีอันเปนธรรมอันดี แต่บรรดาพระยาแสนท้าวเหล่าลาวเมืองล้านช้างซึ่งมาเปนการพระราชไมตรีนั้น แต่บรรดาอำมาตย์ราชเสนาที่มาทั้งสิ้น แลไพร่พลทั้งนั้น ทั้งเหล่าผู้คนข้าไททั้งหญิงชาย อันเปนบริวารของพระบุตรีทั้งสิ้น พระองค์ก็ประทานบำเหน็จรางวัลทั้งเงินทองเสื้อผ้าแลสิ่งของทั้งปวงเปนอันมาก ประทานให้ครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึ่งตอบเครื่องบรรณาการโดยราชประเพณี ให้ไปกับพระเจ้าล้านช้างเปนอันมาก อันพระราชบุตรีนั้นพระองค์ปลูกตำหนัก แลเรือนหลวงให้อยู่ตามถิ่นตามฐาน จึ่งเรียกว่าเจ้าตำหนักใหม่ อันบรรดาสมัคพรรคพวกผู้คนข้าไทของพระบุตรีทั้งสิ้น พระองค์ให้​ถิ่นฐานเย่าเรือน ทั้งวัวควายไร่นาแลเรือกสวน อันที่บ้านนั้นเรียกว่าม่วงหวาน ครั้งนั้นพระเกียรติยศปรากฎฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทุกประเทศเขตรขัณฑ์ ก็ชื่นชมพระสมภารของพระองค์ยิ่งนัก อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น พระองค์พอพระไทยเล่นกาพย์โคลงฉันท์ ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ดี จึ่งมีมหาดเล็กคนหนึ่งเปนนักปราชญ์ช่างทำกาพย์โคลงฉันท์ดีนัก พระองค์โปรดปรานแล้ว พระราชทานชื่อเสียงเรียกว่าศรีปราชญ์ เปนผู้สำหรับได้ทำโคลงหลวง ครั้นอยู่มาศรีปราชญ์นั้น ทำโคลงให้กันกับพระสนมข้างใน ครั้นพระองค์ทราบก็ทรงพระโกรธ แต่ไม่ลงโทษทัณฑ์ จึ่งส่งไปไว้เมืองนคร ศรีปราชญ์จึ่งต้องไปอยู่เมืองนครตามรับสั่ง ศรีปราชญ์จึ่งไปทำโคลงให้กันกับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ไปว่าศรีปราชญ์นี้ ทำโคลงให้กันกับเมียน้อยของตัวนั้น จึ่งขึ้งโกรธแล้วจึ่งเอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย เมื่อจักฆ่าศรีปราชญ์นั้น ศรีปราชญ์จึ่งว่าเรานี้เปนนักปราชญ์หลวง แล้วก็เปนลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตรยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เปนเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องน่าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด ครั้นศรีปราชญ์แช่งไว้ดังนั้นแล้ว ศรีปราชญ์ก็ตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร ที่ศรีปราชญ์แช่งไว้นั้นเปนคำโคลงเขียนลงกับแผ่นดินให้เปนทิพพยาน ​ครั้นอยู่มาพระองค์มีรับสั่งให้เรียกหาตัวศรีปราชญ์ก็ไม่ได้ดังประสงค์ เสนาจึ่งกราบทูลว่าพระยานครฆ่าเสีย อันว่าตัวศรีปราชญ์นั้นบัดนี้ถึงแก่ความตายแล้ว พระองค์จึ่งตรัสถามเสนาว่า ศรีปราชญ์นี้มีโทษประการใดจึ่งฆ่ามันเสีย เสนาจึ่งทูลว่า ศรีปราชญ์ทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ก็โกรธจึ่งฆ่าศรีปราชญ์เสีย พระองค์ก็ทรงพระโกรธแล้วจึ่งตรัสว่า ศรีปราชญ์นี้เปนนักปราชญ์ แล้วก็เปนคนสำหรับเล่นกาพย์โคลงกับกู โทษมันแต่เพียงนี้ แต่กูยังไม่ฆ่ามันให้ตาย อ้ายเจ้าเมืองนครมันไม่เกรงกู มันฆ่าศรีปราชญ์เสียให้ตายมันทำได้ จึ่งมีรับสั่งกับเสนาให้เร่งออกไป แล้วให้เอาดาบเจ้าเมืองนครที่ฆ่าศรีปราชญ์เสียนั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียให้ตาย เสนาก็ถวายบังคมลาแล้ว จึ่งออกไปเมืองนคร ครั้นถึงจึ่งเอาดาบที่เจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์เสียนั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียตามมีรับสั่ง อันเจ้าเมืองนครนั้นถึงแก่ความตายด้วยพระราชอาญา อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น ได้เสวยราชสมบัติมาช้านาน อันชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น แลทั้งอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็อยู่เปนศุขทั้งสิ้น อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้นวันอังคารได้เสวยราชสมบัติมาแต่เมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๖๒ ปีมเสงโทศก พระชนม์ได้ ๔๙ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๗ ปี เปน ๕๖ ปีสวรรคต เมื่อศักราชได้ ๑๐๖๙ ปี ๚

๏ ครั้นพระสุริเยนทราธิบดีสวรรคตแล้ว พระราชโอรสาอันชื่อพระสุรินทรกุมาร อันเปนพระเชษฐานั้น ได้ผ่านพิภพธานี​สืบไป ในเมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๖๙ ปีชวดนพศก จึ่งทำราชาภิเศกตามประเพณี จึ่งถวายนามเรียกว่าพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก ทรงเบ็ดก็เรียก อันพระมเหษีนั้นพระนามเรียกเจ้าท้าวทองสุก จึ่งมีพระราชบุตรแลพระราชธิดาในเจ้าท้าวทองสุกนั้นหกองค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่นั้น พระนามเรียกเจ้าฟ้านเรนทร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้าอไภย แล้วถัดมาชื่อเจ้าฟ้าปรเมศร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้า ถัดพระกุมาร ๔ องค์ยังพระราชธิดาอิกสององค์ องค์หนึ่งพระนามเรียกเจ้าฟ้าเทพ พระธิดาสุดพระครรภ์นั้น ชื่อเจ้าฟ้าประทุม ในพระครรภ์เจ้าท้าวทองสุกนั้น ทั้งพระราชบุตรีเปนหกองค์ด้วยกัน แล้วมีในพระสนมเอกนั้นองค์หนึ่ง พระนามเรียกพระองค์เชษฐาเปนกุมาร ยังพระราชนัดดาชื่อหม่อมเจ้าเพชหึงกุมาร ยังบุตรี ๔ องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าฝรั่ง ๑ หม่อมเจ้าปุก ๑ หม่อมเจ้าหงษ์ ๑ หม่อมเจ้าอิง ๑ อันพระราชนัดดาทั้งกุมารแลบุตรีทั้งสิ้น ๔ องค์ด้วยกัน ทั้งพระราชบุตรแลพระราชธิดา ทั้งพระนัดดาสิ้นทั้งเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าทั้งสิ้น เปน ๑๑ องค์ด้วยกัน พระองค์จึ่งตั้งพระอนุชา อันชื่อพระวรราชกุมารนั้น ให้เปนที่พระมหาอุปราช อันเจ้าฟ้านเรศร์เชษฐานั้น พระมหาอุปราชขอมาเลี้ยงไว้เปนพระราชโอรส อันสมเด็จพระบิดานั้นเสน่หาในพระราชโอรสสองพระองค์ยิ่งนัก พระองค์หมายจะให้ครอบครองราชสมบัติแทนที่ พระองค์จึ่งสร้างวัดมเหยงค์อารามหนึ่ง จึ่งสร้างพระพุทธไสยาศน์พระองค์ใหญ่ที่ป่าโมกองค์ ๑ ยาวได้เส้นห้าวา ครั้นอยู่มาเมื่อครั้ง​จุลศักราชได้ ๑๐๗๖ ปีมแมฉศก ญวนใหญ่จึ่งยกทัพมาหนักหนา อันตัวนายที่เปนใหญ่มานั้นชื่อนักพระแก้วฟ้า มารบเมืองเขมร กษัตรเมืองเขมรจึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระเดชในกรุง อันที่ชื่อนักเสด็จนั้นเปนผู้ผ่านธานี ทั้งหกนางผู้เปนมเหษี อันนักองค์เอกนั้นเปนอนุชา นักพระศรีธรรมราชานั้นเปนที่มหาอุปราช อันพระโอรสในมเหษีนั้นชื่อพระรามาธิบดีองค์ ๑ พระศรีไชยเชษฐองค์ ๑ ชื่อพระสุวรรณกุมารองค์ ๑ นักพระองค์อิ่มองค์ ๑ นักพระองค์ทององค์ ๑ นักพระอุไทยองค์ ๑ กุมารของบุตรี ๒ องค์ คือพระสุภากษัตรีองค์ ๑ พระศรีสุดาองค์ ๑ ทั้งบุตรแลธิดาเปน ๘ องค์ด้วยกัน ยังหลานสององค์คือนักองค์ปาน นักองค์ตน อันนี้เหล่ากษัตร ยังเสนาสองคือ ฟ้าทลหะนั้นฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายนั้นฝ่ายกลาโหมเปนต้น บรรดาอำมาตย์ทั้งปวงน้อยใหญ่เปนหลายคน กับพลห้าร้อยปลาย กับช้างเผือกพังตัว ๑ ชื่อบรมรัตนากาศไกรลาศคิรีวงษ์ อันช้างเผือกพังตัวนี้ นักเสด็จก็พาเอามาแล้ว จึ่งถวายกับพระเจ้าภูมินทราชา แล้วตัวนักเสด็จกับพี่น้องลูกหลานทั้งสิ้น ก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแล้วสงสารกับนักเสด็จยิ่งนัก ๚

๏ ครั้นต่อมาพระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวร มีพระอาการหนัก เจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์จึ่งปฤกษากันว่า พระบิดาเราทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เห็นจะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน ถ้าพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วราชสมบัติจะไปตกอยู่กับพระมหาอุปราช ควร​เราซึ่งเปนราชโอรสจะซ่องสุมผู้คนไว้ให้มาก เวลาพระบิดาสวรรคตแล้วจะได้ต่อสู้รักษาราชสมบัติไว้ มิให้ตกไปเปนของพระมหาอุปราช แลถึงในเวลานี้ก็ควรจะเกียจกันอย่าให้พระมหาอุปราชเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนทราบพระอาการได้ เมื่อปฤกษาเห็นพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็ตั้งซ่องสุมผู้คนช้างม้าเปนกำลังไว้เปนอันมาก แลอ้างรับสั่งห้ามมิให้ใครเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการของพระเจ้าภูมินทราชาได้ ถึงพระมหาอุปราชก็ให้เข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการได้แต่เปนบางคราว พระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวรหนักลงก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระเจ้าภูมินทราชาได้เสวยราชย์พระชนม์ได้ ๓๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๔ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษาก็เสด็จสวรรคต เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๓ ปี ๚

๏ เจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ปิดความมิให้แพร่งพรายให้ใครรู้ว่าพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ให้ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธแลผู้คนตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง ๚

๏ ฝ่ายพระมหาอุปราชทรงสังเกตได้ระแคะระคายว่าเจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์เกียจกันจะเอาราชสมบัติ เห็นว่าจะเกิดเปนข้าศึกกันเปนแน่แล้ว จึ่งเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากรุงกัมพูชาแลคนอื่นๆ ได้เปนอันมาก ตั้งมั่นอยู่ยังมิได้ทำการรบพุ่งประการใด เพราะไม่ทรงทราบว่าพระเชษฐาธิราชสวรรคต ครั้นจะลงมือรบพุ่งในเวลานั้นกลัวจะเปนคิดกบฏต่อพระเชษฐาธิราช ฝ่ายเจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเอาพระมหาอุปราช ๆ ให้สืบว่าพระเชษฐาธิราชมีพระอาการเปนประการใด ก็ยังไม่ได้ความ จึ่งให้ตั้ง​สงบไว้มิได้ทำการสู้รบโต้ตอบ เปนแต่ให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ผู้คนที่ถูกเจ็บป่วยเพื่อจะรักษาน้ำใจไว้ เมื่อข้าราชการทั้งหลายทราบว่าจะเกิดสงครามในเมืองเปนแน่ ก็พากันไปเข้ากับพระมหาอุปราชเปนอันมาก เพราะเห็นว่าพระไทยโอบอ้อมอารี ในขณะนั้นมีผู้เขียนหนังสือลับบอกข่าวที่พระเจ้าภูมินทราชาเสด็จสวรรคตแล้ว ผูกติดกับช้างต้นพระเกษยเดชปล่อยไปจากพระราชวัง เพื่อจะให้พระมหาอุปราชทรงทราบความจริง ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระมหาอุปราช ช้างนั้นก็ข้ามน้ำตรงไปยังสำนักพระมหาอุปราช เหมือนดังมีคนขี่ขับไป พวกข้าราชการในพระมหาอุปราชเห็นดังนั้นก็พากันจับ เห็นหนังสือผูกติดกับช้างดังนั้น ก็นำไปถวายพระมหาอุปราช ในเวลานั้นม้าทรงของพระมหาอุปราชตัว ๑ หลุดพลัดออกจากโรง เที่ยวเตะถีบขบกัดหญิงชายเปนอลหม่าน พวกชาวเมืองกลัวม้านั้นเปนกำลัง พากันโจทย์อื้ออึงไปว่า พระมหาอุปราชให้ทหารหายตัวขี่ม้าเที่ยวปราบปรามข้าศึก กิติศัพท์ทราบไปถึงเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์แลไพร่พลของเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ ต่างก็พากันย่อท้อตกใจกลัวเปนอันมาก ๚

๏ ในขณะนั้นมหามนตรีจางวางแลพระยาธรมาเสนาบดีกรมวัง กับนายสุจินดามหาดเล็กเชิญพระแสง ๓ คน จึ่งเขียนหนังสือลับมีใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่เวลาปฐมยาม เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ คิดการลับจะทำร้ายพระองค์ บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหน่ายเอาใจออกหาก แลย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เปนอันมาก ​ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ ครั้นเขียนแล้วก็ส่งให้คนสนิทลอบไปถวายพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความดังนั้นก็ทรงยินดี เวลาย่ำรุ่งก็ตระเตรียมไพร่พลเปนอันมาก ยกเข้ามายังพระราชวัง เจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาอุปราชยกเข้ามาแล้ว ก็เอาพระแสงชื่อพระยากำแจกที่กำจัดไภย เปนของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก กับพระธำมรงค์ค่าควรเมืองแลแก้วแหวนเงินทองภูษาอาภรณ์ของดี ๆ มีราคา ทั้งเสบียงอาหารเปนอันมากให้คนขนลงบรรทุกเรือ พาข้าราชการที่สนิทชิดใช้หนีไปยังตำบลบ้านตาลาน ๚

๏ ในขณะนั้น ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหาอุปราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระมหาธรรมราชา เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชย์แล้วทรงทราบว่า เจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์เอาพระธำมรงค์กับพระแสงสำหรับพระนครแลพาข้าราชการไปมาก จึ่งให้อำมาตย์คุมพลทหารออกเที่ยวตามจับ เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาธรรมราชาให้คนออกเที่ยวตามจับ จึ่งเก็บเอาสิ่งของแต่พอกำลังแล้วให้ล่มเรือจมน้ำเสีย พระธำมรงค์กับพระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น แล้วก็พากันหนีซุกซ่อนกระจัดกระจายไป เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ ได้นายบุญคงมหาดเล็กตามไปด้วยคน ๑ เที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ในป่า ครั้นหลายวันเข้า เสบียงอาหารก็หมดลง นายบุญคงเปนคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้านายของตน ก็อุสาหะเที่ยวแสวงหาอาหารมาถวาย พวกอำมาตย์ของพระมหาธรรมราชาที่เที่ยว​ติดตามไปพบนายบุญคงในกลางป่า สงไสยจึ่งจับมาเฆี่ยนถาม นายบุญคงได้ความเจ็บปวดเปนสาหัสทนไม่ได้ ก็รับเปนสัตย์ พวกอำมาตย์จึ่งให้นำไปจับเจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ได้ทั้ง ๒ องค์นำมาถวายพระมหาธรรมราชา ๆ จึงรับสั่งให้เอาเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษเสีย พวกพ้องของเจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ ซึ่งหนีซุกซ่อนไปในทิศต่างๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตรเสียสิ้น แต่นายบุญคงนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เลี้ยงไว้ ด้วยรับสั่งว่าเปนคนซื่อสัตย์กตัญญูต่อเจ้านาย ๚

๏ พระมหาธรรมราชานี้มีพระมเหษี ๓ องค์ พระมเหษีใหญ่มีพระนามว่า กรมหลวงอไภยนุชิต พระมเหษีที่ ๒ พระนามว่า กรมหลวงพิจิตรมนตรี พระมเหษีที่ ๓ พระนามว่า อินทสุชาเทวี กรมหลวงอไภยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์ คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์ ๒ เจ้าฟ้าหญิงบรม ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงษ์ ๖. เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี ๗. เจ้าฟ้าหญิงสุริยา กรมหลวงพิจิตรมนตรีมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑ มีพระราชธิดา ๖ พระองค์ พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยบุรพาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสัตรีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑ อินทสุชาวดีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่า ​เจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑ พระมหาธรรมราชามีพระราชโอรสเกิดแต่นางนักสนมอีกเปนอันมากรวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์

๏ ครั้นต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงตั้งเจ้าฟ้านราธิเบศร์เปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าฟ้านุ่มเปนพระมเหษี แต่เจ้าฟ้านุ่มไม่มีพระโอรสธิดา ๚

๏ แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เปนพระมหาอุปราชนั้น เจ้าฟ้านราธิเบศร์ มีเจ้าหญิงมิตร เจ้าหญิงชื่น เจ้าชายฉัตร เกิดแต่หม่อมเหญก มีเจ้าชายสีสังข์เกิดแต่หม่อมจัน มีเจ้าหญิงดาราเกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงสร้อย มีเจ้าชายมิ่งเกิดแต่หม่อมด่วน มีเจ้าหญิงชี เจ้าหญิงชาติ เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม ๘ องค์ ๚

๏ ในปีนั้น เจ้าฟ้านักกายฟ้าเจ้าเขมรนำช้างเผือกพังมาถวายพระมหาธรรมราชาช้าง ๑ พระมหาธรรมราชาพระราชทานนามว่า วิไชยหัศดี เจ้าฟ้านักพระอุไทยพระเจ้ากรุงกัมพูชาให้นำช้างเผือกพลายมาถวายช้าง ๑ พระราชทานนามว่า พระบรมราชไทยศวร ช้างเผือกตัวนี้มีข้างเบื้องซ้ายขาวมากกว่าข้างเบื้องขวา พระยานครศรีธรรมราชจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมคชลักษณสุประดิษฐ เจ้าเมืองเพ็ชรบุรีจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมนาเคนทร กรมการจับช้างเผือกเข้าพเนียดเมืองนครไชยศรีได้ ๔ ช้างมาถวาย พระราชทานนามว่า ​บรมคชช้าง ๑ บรมพิไชยช้าง ๑ บรมจักรช้าง ๑ จอมพลสำเนียงช้าง ๑ แล้วให้มีการมหรศพสมโภชเปนอันมาก ๚

๏ ครั้นลุศักราช ๑๐๙๕ ปี พระมหาอุปราชทิวงคต พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าท้าวต่อยธิดาของพระมหาอุปราชที่ทิวงคตให้เปนพระมเหษี ๚

(เข้าความฉบับหลวง)

๏ ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๙๖ ปีเถาะฉศก จึ่งพระเจ้าลังกาอันได้ครองเมืองศิริวัฒนบุรี จึ่งมีพระประสงค์ที่จะบำรุงพระสาสนาในเมืองสิริวัฒนบุรีอันเศร้าหมองไป จึ่งให้แต่งพระราชสาสนใส่ในแผ่นสุพรรณบัตรเปนสำเนา จึ่งให้การะอำมาตย์เปนอุปทูต ศิริวัฒนอำมาตย์เปนราชทูต อันเครื่องบรรณาการนั้น คือสังข์ทักขิณาวัฏปากเลี่ยมทอง กับเครื่องบรรณาการทั้งปวงเปนอันมาก จึ่งให้อุปทูตราชทูตถือพระราชสาสน ทั้งคุมเครื่องบรรณาการทั้งปวงกับผู้คนเปนอันมาก ลงสำเภาแล้วใช้ใบเข้ามากรุงศรีอยุทธยา เปนทางพระราชไมตรี ครั้นสำเภาเข้ามาจอดแล้ว อุปทูตราชทูต จึ่งเข้าแจ้งความกับอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ คือเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ฝ่ายกรมท่า ส่วนเสนาผู้ใหญ่ครั้นแจ้งความแล้ว ก็เข้าไปกราบทูลฉลองกับพระมหาบรมราชา พระองค์จึ่งมีรับสั่งให้เบิกราชทูตเข้ามาในพระราชวังใหญ่ เสนาผู้ใหญ่รับพระราชโองการแล้วก็ออกมา จึ่งสั่งกับกรมเมืองให้ตกแต่งบ้านเมืองให้งามให้​สอาด กรมเมืองจึ่งให้นครบาลไปป่าวร้องให้ทำทางแล้ว ให้พ่อค้าทั้งปวงมาตั้งร้านรวงค้าขายกัน ทั้งผ้าผ่อนแพรพรรณต่าง ๆ นา ๆ ทั้งเครื่องสิ่งของดี ๆ ครบครัน แล้วให้มานั่งค้าขายกันที่ตามถนนหนทางที่แขกเมืองจะเข้ามาเฝ้า แล้วให้เอาช้างลงน้ำทุกประตูเมือง ตามทางแขกเมืองที่จะมานั้น ครั้นตกแต่งบ้านเมืองแล้ว ส่วนเจ้าพระยากรมท่านั้น จึ่งปลูกโรงรับแขกเมืองตามที่ตามทาง แล้วก็เลี้ยงดูตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา แล้วพระยากรมท่าให้ราชมนู, เทพมนู, นำแขกเมืองลังกาเข้ามา ครั้นแขกเมืองเข้ามาแล้ว จึ่งรับแขกเมืองยั้งไว้บนศาลหลวง แล้วจึ่งให้ล่ามแปลสำเนาพระราชสาสนที่มาทั้งสิ้น ๚

๏ พระองค์เสด็จออกนั่งแขกเมืองนานาประเทศตามอย่างธรรมเนียมที่มีในนี้ อันน่าฉานซ้ายขวานั้น ตั้งเสวตรฉัตรอันคันนั้นหุ้มทองประดับ อันยอดแลกำภูขอบระบายนั้นทอง จึ่งตั้งตรงน่าฉานซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน แล้วรองมาจึ่งมยุรฉัตรข้างซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว แต่บรรดาเครื่องสูงนั้นคือจามร บังสูรย์ อภิรุม พัชนี อันเครื่องสูงเหล่านี้ล้วนทองประดับทั้งสิ้น จึ่งตั้งตรงน่าฉานซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว อันน่าเครื่องสูงนั้นจึ่งตั้งเตียงทองประดับกระจกแล้วปูสุจนี่ทั้งซ้ายขวา สำหรับตั้งพานพระราชสาสน อันพานที่รองพระราชสาสนนั้น พานทองประดับ อันที่พระมหาอุปราชเสด็จนั่งนั้น ตั้งเครื่องมหาอุปโภคพานทอง ประดับใส่พระศรีแลพานพระศรี แล้วพระเต้าครอบทองประดับ แลพระสุพรรณศรีประดับ แล้วรอง​พระมหาอุปราชมา จึ่งถึงที่ลูกหลวงเอก คือเจ้าฟ้าเสด็จนั่งซ้ายขวา ตั้งเครื่องมหาอุปโภคนั้นลดลงมากับพระมหาอุปราช แล้วจึ่งที่ลูกหลวงโท คือพระองค์เจ้าต่างกรม อันเครื่องอุปโภคนั้นลดลงมากับเจ้าฟ้า แล้วจึ่งพระราชวงษาแลราชนิกูล คือพระพิเรนทรเทพ พระเทพวรชุน พระอไภยสุรินทร์ พระอินทรอไภย แล้วจึ่งถึงที่อรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ คือที่เจ้าพระยามหาอุปราชแล้ว เจ้าพระยาจักรี กลาโหม ที่อรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งนั่งซ้ายขวากัน แล้วถึงพระยามหาเสนา พระยามหาอำมาตย์ซ้ายขวา สองคนนี้รองเจ้าพระยาลงมา แล้วจึ่งพระยาอไภยราชา พระยาอไภยมนตรีเปนซ้ายขวากัน แล้วจึ่งจัตุสดมภ์ทั้งสี่ คือกรมเมือง พระยายมราช กรมวัง พระยาธรมา กรมคลัง พระยาราชภักดี กรมนา พระยาพลเทพ แล้วจึ่งพระยารัตนาธิเบศร์ พระยาธิเบศร์บริรักษ์ สองคนนี้นั่งที่ซ้ายขวากัน แล้วจึ่งพระยาราชสงคราม พระยาเดโชนั่งซ้ายขวากัน แล้วจึ่งพระมหาเทพ พระมหามนตรี ราชรินทร์ อินทรเดชะ อันสี่คนนี้กรมวัง ทั้งสี่ที่หัวหมื่นตำรวจใน ก็นั่งตามตำแหน่งเปนซ้ายขวากัน แล้วพระเทพโยธา พระสมบัติธิบาล พระพิพัฒน์ พระอำมาตย์ พระบำเรอภักดิ พระชำนิ พระกำแพง พระยาราชวังเมือง สองคนนี้กรมช้าง พระศรีเสาวภักดิ หลวงทรงพล อันสองคนนี้กรมม้า นั่งเฝ้าซ้ายขวากันตามที่ตามทาง ยังเหล่ามหาปโรหิตราชครู คือพระครูพิราม พระครูมโหสถ พระครูวิเชต พระครูมเหธร พระครูสังฆาราม พระครูกฤษณา ​พระกฤษณราช อันมหาปโรหิตทั้งแปดคนนี้ก็นั่งเฝ้าอยู่เปนซ้ายขวากันตามที่ แต่บรรดาเจ้าพระยา แลพระยา แลราชนิกูล พระ หลวง ขุน หมื่น ทั้งขุนนางพราหมณ์ ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง ขุนนางเจ๊ก ขุนนางมอญ ขุนนางลาว แลทั้งเศรษฐีคหบดีทั้งปวง นั่งเฝ้าตามที่ตามตำแหน่ง ซ้าย ๘ แถว ขวา ๘ แถว เบ็ดเสร็จเปนมุขอำมาตย์ ๔๐๐ อันเจ้าพระยานั้นตั้งเครื่องอุปโภคพานทองเจียดทองเครื่องทั้งปวง เปนชั้นเปนหลั่นกันลงมาตามที่ อันพระหลวงขุนหมื่นนั้นมิได้มีเครื่องบริโภค อันน่าพระลานน่าฉานนั้นตั้งกองโยนร้อยหนึ่ง ฆ้องแตรสำหรับรับเสด็จส่งเสด็จ อันน่าพระลานซ้ายขวานั้นมีทหารข้างละ ๑๐๐ ใส่หมวกทองใส่เสื้อเสนากุฎ สัพสรรพอาวุธครบมือกันทั้งสิ้น อันข้างปราสาทซ้ายขวานั้น มีได้โกลาอานบังสำหรับผูกช้างต้น ช้างเผือกแลช้างเนียม อันเครื่องช้างนั้นทองประดับฝรั่งเศส มีข่ายทองปักน่า ภู่ผ้าปักหลัง กรองเชิงประดับ ๔ เท้า อันเครื่องกินนั้นแต่ของทองเงินมีฝาใส่หญ้ากล้วยอ้อย แล้วมีสัปทนแส้กะตักคันเงิน มีเครื่องกินรองกระยาหารเงิน ๚

๏ อันเหล่าช้างจลุงรายซ้าย ๘ เชือก ขวา ๘ เชือกนั้นตกแต่งประดับประดาเปนหลั่นกันตามที่ อันม้าต้นซ้ายขวาน่าฉานนั้น ผูกอานพระมหาเนาวรัตน อันเครื่องกินนั้นมีตะคองน้ำทอง มีถาดเงินรองหญ้าถั่วเข้า แล้วมีสัปทนแลไม้เตือนคันเงิน อันเหล่าม้าที่นั่งรองซ้าย ๘ ขวา ๘ นั้น ผูกเครื่องทองรองเปนหลั่นกันตามที่ ๚

​๏ อันฝ่ายข้างบนพระที่นั่งนั้น มีเครื่องราชาอุปโภค มีพานพระขันหมาก ๒ ชั้นเชิงครุธถมราชาวดีประดับตั้งซ้าย ๔ ขวา ๔ แล้วมีพระสุพรรณศรี ทั้งพระสุพรรณราช พระคันทีทองประดับพระเต้าครอบทองประดับ จึ่งตั้งซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว แล้วจึ่งตั้งเครื่องเบญจกุกกุภัณฑ์ทั้ง ๕ คือพระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร ฉลองพระบาท ทั้งเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง ๕ คือ พระมาลา ศร พระแสงง้าว พระแสงหอก พระแสงขอ เปน ๕ สิ่งด้วยกัน จึ่งตั้งซ้ายขวา แล้วจึ่งหัวหมื่นมหาดเล็ก เกณฑ์นั่งหลังเครื่องสูง น่าราชบัลลังก์นั้น คือจมื่นสารเพธภักดี จมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นไวยวรนารถ จมื่นเสมอใจราช อันสี่คนนี้เปนนายมหาดเล็กทั้งสิ้น แล้วจึ่งบำเรอภักดิ หมื่นจง อันสองคนนี้เปนปลัดวัง รองหัวหมื่นมหาดเล็กลงมา จึ่งนั่งซ้ายขวากัน ๚

2  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 21 ชั่วโมงที่แล้ว
               
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นอยู่มาพระนารายน์จึ่งทรงพระปรารภว่า แต่ได้เสวยราชสมบัติมานี้ก็นานหนักหนาแล้ว อันการเล่นสงครามกษัตรนี้ยังมิได้สำแดงเดชชาญไชย แต่กูรู้ความมานี้เปนช้านาน ว่าโบรีช้างสารนี้เปนคนหาญ ได้ผ่านเชียงใหม่ภารา ได้ของวิเศษอย่างหนึ่ง คือพระพุทธสิหิงค์องค์หนึ่ง แต่เมื่อพระเจ้าเข้าสู่พระนิพพาน พระยานาคนั้นสำแดงฤทธิ์ให้พระมหาเถรอุปคุตดู จึ่งเอานาคเนาวโลหะนั้นมาหล่อทำเปนพระพุทธรูปไว้ ยังมีอยู่ในชมพูทวีปไม่มีเสมอ อันแก่นจันทน์แดงที่ทำเสาเชิงตะกอน เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้านั้น พระยาเพ็ชรเจ้าจึ่งเอามาทำเปนพระพุทธรูปไว้ก็ยังมีอยู่ อันพระพุทธสิหิงค์นั้นเปนพระสมาธิ์เพ็ชร อันพระแก่นจันทน์แดงนั้นเปนพระนาคปรกสองตัว อยู่ในเมืองเชียงใหม่ทั้งสององค์ กูจะใคร่ไปชนช้างชิงไชยลองฤทธิ์ดู ครั้นทรงพระดำริห์ดังนั้นแล้วจึ่งตรัสสั่งเสนาให้กะเกณฑ์ผู้คนแลทหารในโยธาทัพ ทั้งช้างม้ารถคชสาร​อาชา ทั้งเรือแพนาวาให้ครบครัน เสนาอันชื่อเจ้าพระยาจักรีจึ่งรับพระโองการแล้ว จึ่งให้เรียกแต่บรรดาเจ้าหมู่เจ้ากรมมาทุกหมวดตามรับสั่งแล้ว จึ่งกะเกณฑ์ทัพบกทัพเรือทั้งปวง แล้วให้จัดกันเปนกระบวนมหาพยุหบาตราทัพใหญ่ จึ่งตั้งเจ้าพระยาโกษาธิบดีให้เปนใหญ่ ให้คุมโยธาเปนแม่ทัพไปเปนทัพน่า อันทัพหนุนนั้นเกณฑ์เจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนีเปนแม่ทัพ อันทัพปีกซ้ายนั้น เกณฑ์พระยาสีหราชเดโชเปนแม่ทัพ อันทัพปีกขวานั้นพระยาเสียนขันเปนแม่ทัพ อันเจ้าพระยาโกษาซึ่งเปนแม่ทัพใหญ่นั้นเปนคนดีมีความรู้ เปนคนรู้ครบในการทหารนั้นดีนัก ทั้งตำราพิไชยสงคราม ทั้งยามยาตราก็มีภาษี แต่แต่งตัวนุ่งผ้าขึ้นม้าแล้ว อันว่าไพรีทั้งปวงก็หนีไปด้วยเกรงนาม อันเจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนีนั้น ดีข้างฟันมีภาษี รู้ว่าวันนั้นให้ผู้นั้นออกไปชิงไชยจะมีไชยก็รู้ จะเสมอก็รู้ อันพระยาสีหราชเดโชนั้น ดีข้างล่องหนแลอึดใจ ได้ทั้งอยู่คงกะพันชาตรี อันในแผ่นดินพระนารายน์นี้ สามนายนี้เปนยอดชายในสนาม เปนทหารเอกอยู่ในสงคราม ฦๅชื่อทุกเขตรขัณฑ์ธานี อันว่านายทัพนายกอง ทั้งยกรบัตรแลเกียกกายปีกซ้ายปีกขวา ทั้งทัพหนุนทัพรองทั้งปวงนั้น สี่เสนาจึ่งกะเกณฑ์ตั้งให้สมควรกัน ตามที่ตามทางกระบวนมหาพิไชยสงคราม เปนกระบวนมหาพยุหบาตราอย่างใหญ่ เร่งให้ผู้รั้งกรมการทุกหัวเมืองกะเกณฑ์กันแล้ว ให้มาเข้าตราทัพใหญ่ตามกระบวนทัพบกแลทัพเรือ เปนคนสองแสนกับหกหมื่น ในเกณฑ์ทหารใหญ่ตามบาญชี อันเจ้าพระยาสุรสีห์​นั้นเกณฑ์ให้เฝ้าเมือง ในมหาพยุหบาตราเรืออย่างใหญ่นั้น พระนารายน์ทรง คือเรือพระที่นั่งครุธพาห อันเรือกิ่งนำนั้นคือไกรแก้วจักรรัตนซ้าย แล้วมาถึงนาวาศรีพิมานไชยขวา อันที่นั่งกิ่งแข่งเคียงข้างนั้น คือศรีสมรรถวิไชยอยู่ซ้าย ไกรสรบวรฤทธิ์อยู่ขวา อันเรือที่นั่งกิ่งเกณฑ์รองนั้น มีรัตนบัลลังก์นั้นคือ เกณฑ์เรือที่นั่งกิ่งดั้งน่าหกลำ คือกิ่งทิพยาตราขวา ลองฤทธินาวานั้นซ้าย แล้วถัดมาจึ่งถึงพิมานไชยรัตนาศน์ขวา พิมานไชยราชวัตรนั้นซ้าย แล้วถัดมาจึ่งถึงสุรสีหพิมานนั้นขวา สุรกาญจน์พิมลนั้นซ้าย แล้วจึ่งถึงกิ่งบัลลังก์รัตนานั้นขวา ราชาทิพอาศน์นั้นซ้าย แล้วถัดมาจึ่งถึงเหล่าเรือที่นั่งเอกไชยศรี ชั้นนั้นก็เปนน่าหลังกัน ศรีไชยสวัสดิซ้าย ไชยรัตนพิมานนั้นขวา แล้วมาถึงไชยเหินหาว ไชยหลาวทอง สองลำนั้นเปนซ้ายขวากัน แล้วจึ่งถึงเรือที่นั่งประตู เรือรูปสัตว์เปนคู่ๆ ซ้ายขวาน่าหลังกันไป แล้วจึ่งมาถึงนาคเหรา นาควาสุกรี สองลำเปนซ้ายขวากัน แล้วจึ่งถึงสิงหนาท สิงหานาวา ซ้ายขวาสองลำนี้เปนคู่กัน แล้วถัดมาจึ่งถึงมังกรมหรรณพ มังกรจบภพไตร เปนซ้ายขวากันไปตามที่ แล้วจึ่งถึงนรสิงห์วิสุทธิ์สายสินธุ์ นรสิงห์ถวิลอากาศ สองลำนี้เปนซ้ายขวากัน แล้วถัดมาจึ่งถึงโตมหรณพ โตจบสายสินธุ์ เปนซ้ายขวากันไปตามกระบวนแห่ แล้วจึ่งถึงสุวรรณหงส์ดั้งชั้นน่านั้นขวา กาญจนรัตนานั้นซ้าย แล้วถัดมาจึ่งถึงเรือตลุบปุบพัง สี่ลำเปนซ้ายขวากันไป ชื่อเรือนพเสรกลำหนึ่ง ลังกาลำหนึ่ง อันเรือสองลำนี้เปนซ้ายขวากัน ​แล้วถัดมาจึ่งถึงสุวรรณลำหนึ่ง สารพิมานลำหนึ่ง เปนซ้ายขวากันไป เกณฑ์เหล่ากรมลุกลังได้พาย แล้วแห่แหนไปตามที่ แล้วจึ่งถึงเรืออาสาวิเศษลำพังนั้นเปนดั้งนอกสี่ลำนั้นนำไป อันเรือที่นั่งครุธพาหนั้นที่นั่งทรง ยังเรือเอกไชยสี่ลำ ถัดลงมานั้นก็ยังมีอยู่ลำหนึ่งนั้นเชิญพระไชยไปน่า ลำหนึ่งนั้นเกณฑ์ทรงข้างวังน่า มีจตุรมุขหลักเกยลา ยังสองลำนั้นมีหลังคาเปนสองตอน สำหรับเกณฑ์ตำแหน่งลูกหลวงทรงตามเสด็จ เปนคู่เคียงกันซ้ายขวาตามที่ตำแหน่ง แต่บรรดาเรือนอกนี้จะได้มีนายนั่งขี่ไปกลางเรือนั้นหามิได้ เปนเรือรองพระที่นั่งทรงของพระองค์ จึ่งใส่ปืนหลักมีทหารประจำลำมา ชื่อปราบเมืองลุ ปรุบาดาล เปนซ้ายขวากัน แล้วชื่อตระกองเมืองมาร ตระการอาสา สองคนเปนซ้ายขวากัน แล้วยังอยู่ชื่อยอดมือไฟ ไกรมือเพ็ชร สองคนนี้เปนซ้ายขวากัน แล้วยังอยู่ชื่อเดชาณรงค์ ทรงเดชฤทธิ เปนซ้ายขวากันสองคน แล้วชื่อสิทธิโยธารักษ์ ศักดิโยธาหาญ แล้วถึงโยธาสุรศักดิ โยธาสุรสีห์ แล้วจึ่งถึงโยธารณรุด โยธารณรงค์ อันทหารเอกเหล่านี้ ได้ถือดาบทองของพระนารายน์ แล้วยังทหารอันมีชื่ออิกเหล่าหนึ่ง เรียกว่าโยธาหาญ เปนคนดีไม่มีไภยในที่ราชอาญา แล้วยังมีเรือประตูรูปสัตว์ เกณฑ์ทหารคนดีขี่ไปน่าเรือ แล้วตะพายดาบนั่งน่าเรือมาตามที่ คือทหารเอกอาสาชื่อไกรสรสีห์ กรีธายุทธ สุทธเดชา สาธิการไชย ยังอยู่กำจายศรศรี อัคนีศร แล้วอำนาจจำเริญ เจริญสวัสดิ ศักดิฤทธิ สิทธิเดช สาตราแผลง แสงอัคนี ​อันทหารเหล่านี้ ได้ขี่ไปน่าแคร่ แล้วถือธนูดาบสพายแล่ง เรียกว่าหมู่องครักษ์จักรนารายน์ อันสิบสองหมู่นี้บรรดาตัวนายนั้นประทานพระแสงขององค์พระนารายน์เกณฑ์อภัย อันมหาธงไชยกระบี่ธุช แล้วธงไชยครุธอัดนั้นเกณฑ์คนมีชื่อได้ถือคือ พิเศษอาวุธ พิสุทธโยธา สองคนนี้ถือธง แล้วจึ่งลงเรือสุวรรณหงษ์มาน่า อันทหารที่ชื่อพิเศษโยธานั้นได้ถือฆ้องมหาไชยสำหรับตีเปนสำคัญนั้น ได้ลงเรือที่นั่งกิ่งลำน่า อันเรือสีหพิมานไชยนั้นมีคนขี่นั่งไปซ้ายขวา ชื่อพลรงค์ พลรุด สองคนนี้นั่งประจำมาในเรือกิ่ง อันพระแสงปืนใหญ่อันมีชื่อมหาฤกษ์ มหาไชย สองกระบอกนั้นใส่ในเรือกิ่งลำแข่ง เปนคู่เคียงกันมาซ้ายขวา อันคนที่เกณฑ์ยิงนั้นเรียกชื่อว่า อภัยศรเพลิง ดำเกิงรณภพ อันสองคนนี้ทหารใหญ่ แล้วจึ่งถึงเรือแห่น่าแห่หลัง แล บรรดาเจ้ากรมปลัดกรมทั้งสิ้นนั้น ก็ไปตามชั้นหลั่นกันมาทั้งสิ้น อันเรือราชสีห์ใหญ่นั้น คือพระยาจักรีได้ขี่ไป อันพระยากระลาโหมนั้นได้ขี่เรือคชสีห์ใหญ่ อันจัตุสดมภ์ทั้งสี่นั้นได้ขี่เรือไชยจำนำใส่กูบก้านแย่งมีแมงดา ยังหมู่เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงนั้น ก็ขี่เรือไชยไปซ้ายขวากัน บ้างก็มีแต่กูบก้านแย่งไม่มีแมงดา บ้างก็มีแต่ดาวราย เปนชั้นหลั่นกันมาตามที่ตำแหน่งกันไป ยังเหล่ากรมราชมนตรีกรมเศรษฐีนั้น ก็มีชั้นหลั่นกันมาตามที่ ขี่เรือแซแล้วแห่เปนคู่คู่กันไป แล้วถัดนั้นมาจึ่งถึงขุนโรงขุนศาล เหล่าขี่เรือพิฆาฏตามราชนุกรมซ้ายขวา อันพระมหาอำมาตย์นั้นขี่เรือราชสีห์น้อย อันพระสุรเสนานั้นขี่เรือคชสีห์น้อย ​อันเรือสองลำนี้สำหรับสารวัดเกณฑ์ได้ตรวจตรา บรรดาเรือทั้งปวงให้ยกแลถอย ยังราชนิกูลสี่คนนั้นคือสีหเทพดา วรชุน เทพนรินทร์ อินทรอภัย สี่คนนี้มีธนูซ้ายขวา ขี่เรือม้าแลเรือเลียงผาเปนซ้ายขวาคู่กัน ได้ตระเวนคอยดูแลตรวจตราว่ากล่าวเรือทั้งปวง แล้วถัดมาจึ่งถึงเรือราชสิทธิ์ราชมัน อันสองคนนี้ได้มีเครื่องจำจองแลเครื่องฆ่าทุกประการทั้งซ้ายขวา เปนเกณฑ์ได้ราชอาญาสิทธิฆ่าคนผิดตัดน่าฉาน แล้วถัดมาจึ่งถึงเรือกรมสนมกลางเปนจางวางซ้ายขวาเต็มที่ ถือธงสามชายเหล่านั้นมีหอก อันกลางเรือนั้นมีไหใส่ไชยบาน ขวาชื่อภูเบนทร์สิงหนาท ซ้ายชื่ออเรนทรชาติสังหาร ถัดมาจึ่งมีเรืออาสาจามสี่ลำทหารใหญ่สี่คน อันมีชื่อสุรเสนี สีหราชา ลักษณมานา เทวาสรไกร อันอาสาจามเหล่านี้ มีค่ายวิหลันกันน่าหลังทั้งสี่ลำ แล้วถัดมาจึ่งถึงนายเพชฌฆาฎสองคน ชื่อธำมะรง ธำมะฤทธิ ได้ขี่เรือเสือมีโลงใส่มาในท้องเรือ จึ่งถือดาบแดงแลยืนง่ามาน่าเรือแล้ว จึ่งมีธงแดงเปนรูปหณุมานแผลงฤทธิสามชายปักมากลางเรือ อันคนนั้นเรียกกรมนครบาล ยังเหล่าเกณฑ์เรือทหารน้อยก็เปนอันมาก เปนเรือแปดร้อยปลาย อันไพร่เกณฑ์ในกระบวนพยุหบาตราตามบาญชีจ่ายนั้นได้คนสี่หมื่นกับแปดพัน ๚

๏ จะกล่าวถึงเรือพระที่นั่งครุธลำทรงนั้น มีพระมณฑปกลางลำ มีอภิรุมมาน่าเรือสามคัน ท้ายเรือสองคัน ปักเรียงกันมาตามที่ ถัดอภิรุมมานั้นมีพระแสงหอกใหญ่คั่น แล้วจึ่งถึงบังแทรกสองคู่ แล้วจึ่งมาถึงอภิรุมเก้าชั้นสองคู่ แล้วถัดมาถึงจามรสองคู่ ​ก็พอถึงพระที่นั่งใหญ่ อันริมพระที่นั่งใหญ่นั้นมีอภิรุมซ้ายขวาคั่นไปตามที่ อันข้างริมพระที่นั่งนั้นใส่พระแสง คือพระแสงหอกซัด พระแสงธนูทรง เปนพระแสงแอบข้างริมพระองค์ อันน่าพระที่นั่งนั้นมีมยุรฉัตรซ้ายขวา แล้วถัดออกมาจึ่งมีอภิรุมแลจามรบังแทรก ปักน่าพระที่นั่งสิ่งละคู่ ถัดมาจึ่งมีมหาดเล็กถือพระแสงง้าวทรงของพระองค์ แล้วถัดมามีมหาดเล็กถือพระแสงดาบเขน แล้วจึ่งราชสุริยวงษ์ถือพระแสงดาบทรงของพระองค์ นั่งประนมมือคุกเข่าเฝ้าอยู่บนเตียงลา จึ่งมีมหาดเล็กนั่งเฝ้าอยู่สี่คนนั้น เรียกว่ารายตีนตอง คือศักดิ สิทธิ ฤทธิ เดช เกณฑ์นายเวรสี่คนนี้นั่งตามที่ซ้ายขวากันข้างละสองคน แล้วจึ่งถึงจ่านั่งรองลงมาข้างละสี่คน ซ้ายขวาข้างละสองคน คือจ่าเรศ จ่ารง จ่ายง จ่ายวด อันสี่คนนี้นั่งขัดดาบประนมมือมาน่าที่นั่งโยง เหล่ามหาดเล็กหุ้มแพรนั้น นั่งปลายเชือก เกณฑ์เลือกนั้น ถือพระแสงนั่งน่าตามหว่างคนพายนั่งรายกันออกตามที่ จักว่าชื่อไว้ คือไชยขรรค์ เล่ห์อาวุธ พลพัน พลพ่าย เปนสี่คน เกณฑ์ถือพระแสง ยังเกณฑ์ถือฟูกสำหรับตีเปนสำคัญนั้นนั่งไปน่าเรือสอง ท้ายเรือสอง เปนสี่คน สำหรับเปนสัญญาพายถวายลำ สำคัญเสียงฟูกเปนสัญญา เมื่อจะพายกรายก็ดี พายนกบินก็ดี จะเหโห่ก็ดี มิว่าพายกรายพายไหว เมื่อได้ฤกษ์จะออกจากที่คนตีฟูกก็เยื้องทำท่าออกนั้นทีเปนเพลงมา อันคนตีฟูกนั้น วิธีนาเวศ วิเศษนาวา เปนซ้ายขวากันสองคน แล้วจึ่งมีจ่านั้นสองคนเปนซ้ายขวากัน ชื่อจ่างอนเนตร จ่าเจตนาวา อันสองคนนี้อยู่น่าเรือ​คนหนึ่ง อยู่ท้ายเรือคนหนึ่ง สำหรับให้สัญญาโห่ร้อง แล้วยังมีชื่อราชสนิท ราชเสน่ห์ อันตำรวจใหญ่ซ้ายขวาสองคนนี้ ผลัดกันนั่งบนบัลลังก์ผินหลังให้ครุธ แล้วนั่งประนมมือถือธงเจ็ดชายอยู่หัวเรือ แล้วรำกรายอยู่ อันธงที่เปนสำคัญสัญญานั้น จะเลี้ยวซ้ายขวาก็โบกไป อันบรรดาเรือพระที่นั่งทรงทั้งสิ้นนั้นปิดทองทึบ แต่บรรดาเรือพระที่นั่งรองนั้นพายปิดทองเปนเชิงชาย บรรดาเรือจำนำในกระบวนทั้งปวงนั้นพายทาแดง อันอำมาตย์ราชเสนาทั้งสิ้นนอกจากไพร่นั้น นุ่งสองปักแล้วใส่สนับเพลาชั้นใน แล้วใส่เสื้อครุยใส่ลำพอกพื้นชมพู บ้างก็มีเกี้ยวลาย บ้างก็มีเกี้ยวดอกไม้ไหว ตามที่ตามตำแหน่งน้อยใหญ่เปนซ้ายขวากัน อันที่นอกจากอำมาตย์แลเสนา แลเกณฑ์เหล่าทหารของพระองค์นั้น ตั้งแต่นายทัพนายกอง แลนายกองสารวัดใหญ่ทั้งปวงนั้น ใส่หมวกใส่เสื้อเครื่องเกราะ อันที่ใส่ชั้นในนั้นมีฉู่ฉา อันเหล่าพลโยธาทั้งปวงนั้นใส่เสื้อแดงครอบหัวใส่หมวกแดงทุกคน ทั้งทัพน่าทัพหลังทัพหนุนทัพรอง ทั้งทัพปีกซ้ายปีกขวา ทั้งอาทมาตกองร้อยกองตระเวน แลกองซุ่มกองแล่นทั้งปวงนั้น มีดาบสพายแล่งทุกตัวคน ดาษดาไปล้วนเรือดูงามไสวไปทั้งสิ้น ครั้นแล้วก็มาประทับที่น่าฉนวนน้ำแล้ว จอดเปนชั้นหลั่นกันไปตามกระบวนตามที่ครบครัน ๚

๏ ครั้นพร้อมแล้วอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ จึ่งเข้าไปกราบทูลฉลองกับองค์พระนารายน์ จึ่งองค์สมเด็จพระนารายน์ผู้เปนเจ้านั้น สระสรงแต่งองค์ทรงเครื่องมหาพิไชยสงคราม จึ่งทรงพระสนับเพลา​ทองเชิงงอนสองชั้น แล้วจึ่งทรงพระภูษาพื้นแดงปักทองจีบโจงแล้ว จึ่งใส่ฉลองพระองค์อย่างใหญ่สังเวียนปักแล้ว จึ่งทรงชายไหวชายแครงตาบทิศแลตาบน่า ทั้งสังวาลประดับ จึ่งทรงพระธำมรงค์เพชรเก้ายอดแล้ว ทรงพระมหามงกุฎประดับเพ็ชรแล้ว จึ่งเหน็บพระแสงกั้นหยั่นที่บั้นพระองค์ แล้วทรงถือพระแสงสาตราใจเพ็ชร จึ่งเสด็จมาทรงเรือพระที่นั่งครุธพาห ครั้นได้มหาพิไชยฤกษ์แล้ว ข้างขุนโหรก็ลั่นฆ้องไชย ประดาตีดังโครมครื้น ยิงปืนมหาฤกษ์มหาไชยสองนัดแล้ว พลไกรก็โห่ร้องก้องกึกไปทั้งแม่น้ำ เสียงฆ้องกลองศึกก็ดังครึกครื้นครั่นสนั่นไป ทั้งเสียงเส้านั้นก็ดังสนั่นหนักหนา ทั้งเรือตลุบปุบพังก็ประดังดากัน อันน้ำในแม่น้ำนั้นก็เปนฟองพรายกระจายไป ครั้นพายไปได้เต็มพักแล้วก็โห่เห่เอาไชย แล้วก็พายนกบินแลพรายกราย แม่น้ำนั้นก็เปนละลอกกระฉอกฉานไปทั้งสิ้น เปนควันไปทั้งคงคา ล้วนเรือแน่นประดากันไปทั้งแม่น้ำ เสด็จมาทางฝ่ายเหนือทั้งผู้คนทัพบกทัพเรือเปนหนักหนา ทั้งสองฟากน้ำล้วนทัพแซงก็ยกมาเปนมากหลาย ยกมาตามลำน้ำกำแพงเพ็ชรแล้ว จึ่งเสด็จมาเมืองตากตามลำน้ำใหญ่แล้ว ขึ้นไปตามแถวเมืองนครเถินแล้ว ขึ้นไปตามแม่น้ำเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึ่งสั่งให้ยาตราค่ายหลวงตั้งอยู่ที่บ้านช้างแล้ว จึ่งทำพิธีประหารดัษกร ตัดไม้ข่มนามตามประสงค์ ครั้นการพิธีแล้วพระองค์จึ่งสั่งกับจตุรงคเสนาทั้งปวง ให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี กับพระยาราชวังสรรค์เสนี ทั้ง​พระยาเดโชทหารใหญ่ ให้เร่งยกทัพเข้าไปตั้งประชิดแล้ว ให้เข้ารบเมืองเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่จึ่งแต่งทหารลาวอันเข้มแขงให้กระทบออกมาต้านทานสู้รบ อันทัพน่าต่อทัพน่าก็เข้าต่อสู้รบกัน ทัพปีกซ้ายต่อปีกซ้ายก็เข้าตีกัน อันทัพปีกขวาต่อปีกขวาก็เข้าประจันต่อสู้รบกัน อันเหล่าทัพน่านั้นก็เข้าไล่แทงกันด้วยทวนแลหอกซัด ฝ่ายทัพช้างต่อช้างก็เข้ารบกัน แล้วก็ประจันยิงกันด้วยปืนหลังช้างอยู่วุ่นวาย เหล่าพลปืนต่อปืนก็ยิงกันเปนควันมืดไปทั้งป่า พลหอกต่อหอกก็เข้าไล่แทงกัน พลดาบต่อดาบกระชั้นฟันกัน บ้างก็ล้มตาย พลทวนต่อทวนก็รำเพลงทวนแล้วก็แทงกันด้วยทวน พลง้าวต่อง้าวก็รำเพลงง้าวแล้วก็ง่าฟันกันทั้งสองฝ่าย พลตะบองต่อตะบองก็ไล่ตีกัน พลเขนต่อพลเขน พลโล่ห์ต่อพลโล่ห์ก็สู้รบกัน พลธนูต่อพลธนูก็ยิงกันด้วยธนู พลน่าไม้ต่อพลน่าไม้ก็ยิงกันไปด้วยน่าไม้ พลกฤชต่อพลกฤชก็เข้าไล่แทงกัน ทหารกระบี่ต่อกระบี่ก็เข้าไล่ฆ่าฟันกันตามเพลงกระบี่ บ้างก็ยิงด้วยเกาทัณฑ์ บ้างก็ฟันด้วยดาบ บ้างก็ถือหอกแลทวนแล้ว ก็เข้าไล่ประจันทิ่มแทง เจ็บป่วยทั้งสองฝ่าย ล้มตายเปนหนักหนา ทั้งเสียงช้างม้าแลเสียงอาวุธทั้งเสียงปืนน้อยแลปืนใหญ่ เสียงโห่ร้องทั้งฆ้องไชยแลกลองไชยก็ดังอื้ออึงครื้นเครงสนั่นไปทั้งป่าใหญ่ อันควันปืนนั้นมืดคลุ้มกลุ้มตลบบดบังไปทั้งเวหา แต่ทัพไทยทัพลาวประฝีมือกันอยู่เปนหนักหนา จนผ้านุ่งไม่มีอยู่กับตัว บ้างก็ยังอยู่แต่กางเกง ลงราฝีมือกันทั้งสองฝ่าย ทั้งไทยก็ชมฝีมือลาวว่าเข้มแขง ทั้งลาว​ก็ชมฝีมือไทยว่ากล้าหาญ อันพระยาสีหราชเดโชคนรู้ขี่ม้าขาวยืนอยู่แล้วก็แย้มหัวเห็นรบกันจนสิ้นฝีมือไม่หนีตัว จนลงมัวอยู่ทั้งลาวไทย จึ่งตีกลองศึกแล้วก็โห่ขยายพล จึ่งให้ร่นถอยเข้ามาอยู่ที่น่าทัพใหญ่ ฝ่ายข้างลาวก็ตีกลองไชยแล้วก็ยกถอยไปพร้อมกัน อันพระยาเดโชนั้นขี่ม้าขาวแล้วออกยืนอยู่หว่างทัพลาวทั้งนั้น จึ่งร้องเรียกพระยาเสนาท้าวทั้งนั้นไปแล้ว จึ่งว่าพลขันธ์ทั้งสองฝ่ายก็ตายเปลืองไปเปนอันมาก ถ้าท่านมีทหารคนดีก็ให้ออกมาตีตามธรรมยุทธ จะได้ฦๅชาปรากฎทั้งลาวไทย ครั้นแสนท้าวลาวทั้งนั้นแลเห็น ก็รู้ว่าพระยาเดโชนี้เปนทหารใหญ่ อันพระยาแสนหาญก็มิอาจจะออกรบได้ ก็นิ่งไปมิได้ตอบคำมา ครั้นพระยาเดโชเห็นลาวไม่ตอบคำ ก็รู้ว่าไม่มีคนดี พระยาเดโชจึ่งสำแดงฤทธิให้ลาวดู จึ่งขี่ม้าแล้วออกรำดาบอยู่ที่กลางแปลงแล้ว จึ่งอึดอัดใจมิให้เห็นตัว ๚


(ต่อนี้ฉบับขาด ใช้ความในฉบับคำให้การชาวกรุงเก่าแทน)

๏ พวกลาวเห็นดังนั้นก็สดุ้งตกใจกลัว พากันแตกหนีไม่เปนขบวน พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้รวบรวมผู้คนที่แตกกระจัดกระจายได้แล้ว ก็ล่าทัพกลับเข้าพระนคร ให้ปิดประตูลงเขื่อนแน่นหนา ขับพลขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินเปนสามารถ ให้คั่วทรายหลอมตะกั่วเคี่ยวชันน้ำมันยาง สำหรับเทสาดเมื่อข้าศึกเข้าตีปล้นกำแพง ฝ่ายนายทัพนายกองข้างกรุงศรีอยุทธยาเห็นลาวแตกกระจัดกระจายไปดังนั้น ก็ขับพลเข้าล้อมเมืองไว้ทั้ง ๔ ด้าน ๚

​๏ ตกเวลากลางคืน พวกลาวพากันตีฆ้องขานยาม เสียงฆ้องได้ยินไปถึงพระกรรณพระนารายน์ ๆ จึ่งตรัสถามเจ้าพระยาโกษาธิบดีว่า เสียงฆ้องที่ไหน เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึ่งกราบทูลว่า เสียงฆ้องขานยามในเมืองเชียงใหม่ พระนารายน์จึ่งตรัสว่า เหตุใดพวกเจ้าจึ่งตั้งค่ายใกล้ชิดกับเมืองเชียงใหม่ดังนี้เล่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า ระยะทางตั้งแต่เมืองเชียงใหม่มาถึงค่ายหลวงนี้ห่างกันถึงโยชน์ ๑ พระนารายน์จึ่งรับสั่งให้ไปวัดชัณสูตรดูก็ห่างโยชน์ ๑ จริงดังเจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูล จึ่งรับสั่งว่า ทางไกลกันถึงโยชน์ ๑ เหตุใดจึ่งได้ยินเสียงฆ้องยามดังนี้เล่า เจ้าพระยาโกษาธิบดีกราบทูลว่า ซึ่งได้ยินเสียงฆ้องขานยามดังนี้ เปนนิมิตรดีที่พระองค์จะตีได้เมืองเชียงใหม่ แลฆ้องนั้นจะมาสู่โพธิสมภารของพระองค์ ได้ทรงฟังก็ทรงยินดีเปนอันมาก จึ่งรับสั่งว่าใครจะอาสาไปเอาฆ้องนั้นได้บ้าง ในขณะนั้นพวกที่ทำผิดล่วงพระราชกำหนดกฎหมายต้องโทษจำขังอยู่ ๒๐ คน จึ่งรับอาสาทำทัณฑ์บนถวายว่าจะไปเอาฆ้องมาถวายให้ได้ ถ้าไม่ได้ให้ประหารชีวิตรเสีย พระนารายน์ก็โปรดให้นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นพ้นโทษ นักโทษทั้ง ๒๐ คนนั้นก็เตรียมเครื่องสาตราวุธครบมือแล้ว พากันไปถึงกำแพงเมืองเชียงใหม่ เศกเวทมนต์สะกดพวกรักษาน่าที่เชิงเทินแล้ว ลอบเข้าไปลักเอาฆ้องใหญ่นั้นได้ นำมาถวายพระนารายน์ ๆ ก็ให้ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นักโทษทั้ง ๒๐ คนเปนอันมาก แล้วรับสั่งให้ลงรักปิดทองฆ้องนั้นเปนอันดี ๚

​๏ อยู่มาสองสามวันพระนารายน์ไม่เห็นกองทัพเชียงใหม่ยกออกมารบ จึ่งรับสั่งปฤกษากับข้าราชการทั้งปวงว่า บัดนี้พวกเชียงใหม่ตั้งรักษาเมืองมั่นไว้ มิได้ยกทัพออกมารบให้เห็นแพ้แลชนะ แลไม่นำเครื่องบรรณาการมาถวายตามธรรมเนียม ท่านทั้งปวงจะคิดประการใด ข้าราชการทั้งปวงจึงกราบทูลว่า ควรจะมีพระราชสาสนเข้าไปถึงพระเจ้าเชียงใหม่ให้ออกมารบกันตามธรรมเนียม มิฉนั้นให้ออกมาอ่อนน้อมเสียโดยดี พระนารายน์ก็ทรงเห็นชอบด้วย จึ่งให้อาลักษณจาฤกพระราชสาสนมีใจความว่า

๏ พระราชโองการ มานพระบัณฑูร สุรสิงหนาท ราโชวาท อมรฤทธิ มโหฬาราดิเรก อเนกบุญญาธิบดินทร์ หริหรินทรธาดา อดุลยคุณาธิบดี ตรีโลกเชษฐ ธิเบศวรดิลกศรีประทุมสุริยวงษ์ องค์เอกาทศรถ จักรพรรดิราชา ชยันตมหาสมมติวงษ์ พระเจ้ากรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมยราช ประสาสน์สุนทรธรรมแถลง มาถึงพระเจ้าเชียงใหม่ ด้วยเรายกพยุหโยธามาครั้งนี้ มิได้มีจิตรยินดีที่จะชิงเอาราชสมบัติบ้านเมืองแก้วแหวนเงินทองผู้คนช้างม้าของท่านโดยโลภเจตนา เรามีจิตรศรัทธาเลื่อมใส จะใคร่เชิญพระพุทธปฏิมากร พระพุทธสิหิงค์ กับพระพุทธปฏิมากรซึ่งแกะด้วยไม้จันทน์แดงทั้ง ๒ พระองค์ ขอให้พระเจ้าเชียงใหม่ส่งพระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นั้นออกไป เมืองเชียงใหม่กับกรุงศรีอยุทธยาก็จะได้เปนทองแผ่นเดียวกัน มิฉนั้นให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกพลโยธาหาญ ออกไปทำ​ยุทธนาการตามราชประเพณี โดยวิธียุทธสงครามช้างม้าฤๅขบวนยุทธอย่างไรก็ตามที ครั้นให้จาฤกพระราชสาสนแล้ว ก็ให้ทูตนำไปถวายพระเจ้าเชียงใหม่ ๆ จึ่งให้อาลักษณจาฤกพระราชสาสนตอบ มีใจความว่า มหามหิศรราชภูมิบาล สุรสุรินทร ปรมินทราทิตย ขัติยมหาสาล ผู้ผ่านพิภพเชียงใหม่ ถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ด้วยพระไอยกาเราได้ผ่านพิภพศรีสัตนาคนหุต พระบิดาเราก็ได้ผ่านพิภพจันทบุรี ตัวเรานี้ก็ได้ผ่านพิภพเชียงใหม่ พระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์นี้ไซ้ ได้ด้วยบุญบารมีของเรา ๆ ก็มีจิตรเลื่อมใสทำสักการบูชาอยู่เปนนิตย์ ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยายกพยุหโยธามาทำสงคราม ให้ได้ความเดือดร้อนแก่สมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร เพื่อจะใคร่ได้พระปฏิมากรนั้นเราไม่ยอมให้แล้ว เรายอมถวายชีวิตรแก่พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ เมื่อจาฤกเสร็จแล้วให้ทูตนำไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา พระนารายน์ทรงทราบพระราชสาสนของพระเจ้าเชียงใหม่ดังนั้น จึ่งทรงจาฤกพระราชสาสนด้วยพระองค์เองมีใจความว่า กิจของสมณะชีพราหมณ์ก็คือพยายามตั้งหน้ารักษาศีลเจริญภาวนา กิจของพระมหากษัตรก็มีการทำสงครามเปนราชประเพณี ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่จะมานั่งงอมืองอเท้าอยู่ฉนี้ ดูกิริยาเหมือนสัตรีมีชาติอันขลาด ถ้าไม่ยอมให้พระปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์แล้ว จงรักษาพระนครไว้ให้มั่นคง เราจะเข้าปล้นหักเอาให้ได้ ทรงจาฤกแล้วให้ทูตเชียงใหม่นำไปถวายเจ้านายของตน พระเจ้าเชียงใหม่ก็มิได้ตอบประการใด เปนแต่ให้รักษาพระนครมั่นไว้ ๚

​๏ พระยาสีหราชเดโชจึ่งทูลรับอาสาว่าจะตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ แล้วพระยาสีหราชเดโชจึ่งขึ้นม้าถือทวนนำน่าพาทหารทั้งปวงเข้าไปใกล้กำแพงเมืองเชียงใหม่ แล้วร้องด้วยเสียงอันดังว่า กูชื่อพระยาสีหราชเดโช เปนทหารเสือของพระนารายน์ ใครมีฝีมือดีจงออกมารบกับกู แล้วพระยาสีหราชเดโชก็ขับพลเข้าประชิดกำแพงเมือง พวกพลทหารลาวที่รักษาน่าที่เชิงเทิน ก็พุ่งสาตราวุธแหลนหลาวระดมปืนลงมาดังห่าฝน เทสาดตะกั่วทรายชันน้ำมันยางอันคั่วเคี่ยวไว้ลงมาเปนอันมาก พลทหารไทยก็มิได้ย่อท้อถอยหลัง พากันเข้าขุดทำลายกำแพงเมืองเปนสามารถ พระยาสีหราชเดโชก็ถือดาบปีนกำแพงเมืองเข้าไปได้ ไล่ฆ่าฟันพวกรักษาน่าที่เชิงเทินแตกกระจัดกระจาย พลทหารก็ทำลายกำแพงเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเปนอันมาก พระโพธิสารเจ้าเมืองเชียงใหม่ถูกอาวุธพิราไลยในที่รบ พวกทหารไทยจับได้นางทิพลีลามเหษีพระเจ้าเชียงใหม่ กับเจ้าวงษ์โอรสพระเจ้าเชียงใหม่ แลพอริลังสาอำมาตย์แลขุนนางข้าราชการทั้งปวงได้เปนอันมาก เก็บริบแก้วแหวนเงินทองได้เปนอันมากแล้วนำมาถวายพระนารายน์ ครั้นพระนารายน์มีไชยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว จึ่งให้เชิญพระพุทธสิหิงค์กับพระแก่นจันทน์แดงมาประดิษฐานที่พลับพลา ให้มีการมหรศพสมโภชเปนอันมาก แล้วตรัสถามพระยาแสนหลวงอำมาตย์ของพระเจ้าเชียงใหม่ว่า เราได้ทราบข่าวว่า พระพุทธสิหิงค์นี้มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้จริงฤๅ พระยาแสนหลวงกราบทูลว่า แต่เดิมเมื่อพระพุทธสิหิงค์​ยังประดิษฐานอยู่ที่เมืองปาตลีบุตรนั้นเหาะเหินเดินอากาศได้จริง แต่มีคนทุจริตมาควักเอาแก้วมณีที่ฝังเปนพระเนตรไปเสีย แต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ก็เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้ ต่อมาเจ้าเมืองสรรคบุรีเชิญไปจากเมืองปาตลีบุตร ไปประดิษฐานที่เมืองสรรคบุรี ต่อนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองล้านช้าง ต่อนั้นไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่นี้ ๚

๏ เมื่อพระนารายน์จะเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ จึ่งตั้งเจ้าวงษ์ซึ่งเปนโอรสพระเจ้าโพธิสาร เปนพระเจ้าเชียงใหม่ พระมเหษีแลขุนนางข้าราชการทั้งปวงนั้น ก็ให้คงอยู่เมืองเชียงใหม่ตามเดิม แล้วให้เชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ลงประดิษฐานณเรือเอกไชย เสด็จยกทัพกลับยังพระนครศรีอยุทธยา เมื่อเรือเอกไชยมาถึงพระฉนวนน้ำแล้ว ทรงประกาศให้ขุนนางข้าราชการแลราษฎรทั้งปวงเล่นมหรศพสักการบูชา หนทางที่จะเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นนั้นก็ให้โปรยทรายปักราชวัตรผูกต้นมะพร้าวต้นกล้วยต้นอ้อยเปนต้น แล้วเชิญพระพุทธปฏิมากรทั้ง ๒ พระองค์ขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศ กั้นพระกลดขลิบทอง ๔ คัน เสวตรฉัตร ๔ คัน เชิญไปประดิษฐานไว้ที่หอพระในพระราชวัง แล้วให้ทำการสมโภชเปนอันมาก ในขณะนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ทำปาฏิหารต่าง ๆ แลฆ้องไชยซึ่งได้มาแต่เมืองเชียงใหม่นั้น พระนารายน์ก็ให้นำไปไว้สำหรับตีขานยามในพระราชวัง พวกเมืองเชียงใหม่ซึ่งลงมากับขบวนทัพหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้กลับคืนไปยังเมืองเชียงใหม่​ทั้งสิ้น แต่นั้นมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็นำเครื่องบรรณาการมาถวายเปนนิตย์มิได้ขาด ๚

๏ แลพระนารายน์นี้ได้ทรงศึกษาวิทยาคมในสำนักพระอาจารย์พรหม ๆ นี้มีอายุมาก เปนผู้เฒ่า ใบหูทั้ง ๒ ข้างยานถึงบ่า เปนผู้ชำนาญในทางเวทมนต์ มีอานุภาพเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะฉนั้นพระนารายน์จึ่งมีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิมาก วันหนึ่งเสด็จทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยในเวลาน้ำขึ้น รับสั่งว่าให้น้ำลด แล้วทรงพระแสงฟันลง น้ำก็ลดลงตามพระราชประสงค์ ครั้นน้ำลดลงแล้ว จึ่งรับสั่งให้น้ำขึ้น แล้วทรงพระแสงฟันลงอิก น้ำก็ขึ้นตามพระราชประสงค์ พระนารายน์มีพระราชประสงค์อย่างไรก็เปนไปตามทั้งสิ้น พระเกียรติยศของพระนารายน์นั้นแผ่ไปทั่วทุกทิศ มีชาวต่างประเทศ เมืองแขกอรวง เมืองโครส่าน ฝรั่งเมืองฝรั่งเศส นำเครื่องบรรณาการดอกไม้เงินทองมาถวายขอเปนพระราชไมตรี เมื่อพระนารายน์เสวยราชย์พระชนม์ได้ ๑๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๕ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๔๐ พรรษาก็เสด็จสวรรคต พระนารายน์สมภพวันอังคาร ๚

๏ เมื่อพระนารายน์เสด็จสวรรคตแล้ว ข้าราชการทั้งปวงเห็นว่าพระนารายน์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบพระวงษ์ ปฤกษากันว่าควรจะยกราชสมบัติถวายแก่ใคร พวกที่รู้ประวัติเจ้าพระยาศรีสรศักดิจึ่งพูดขึ้นว่า พระราชโอรสของพระนารายน์มีอยู่ คือเจ้าพระยา​ศรีสรศักดิ บุตรนางกุสาวดี ที่พระราชทานไปแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ด้วยพระนารายน์ได้ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกิดแต่นางนักสนม ครั้นนางกุสาวดีมีครรภ์ขึ้นจึ่งแกล้งยักย้ายถ่ายเทไปเสีย เพราะฉนั้น ควรจะยกสมบัติให้แก่เจ้าพระยาศรีสรศักดิ เมื่อปฤกษาเห็นชอบพร้อมกันดังนี้แล้ว จึ่งเชิญเจ้าพระยาศรีสรศักดิให้ขึ้นครองราชสมบัติ แต่เจ้าพระยาศรีสรศักดิไม่รับ ว่าบิดาของเรายังมีอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชิญบิดาของเราขึ้นครองราชสมบัติเถิด ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็เชิญเจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาสุรสีห์มีพระนามเปน ๒ อย่าง ๆ ๑ ว่าสมเด็จพระธาดาธิบดี พระนาม ๑ ว่าพระราเมศวร ๆ ทรงตั้งนางอุบลเทวีเปนพระมเหษีฝ่ายขวา ทรงตั้งพระสุดาเทวีราชธิดาพระนารายน์เปนมเหษีฝ่ายซ้าย พระสุดาเทวีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าพระขวัญ ในเวลาที่พระขวัญประสูตรจากครรภ์พระมารดานั้น มีเหตุเปนนิมิตรต่างๆ เปนต้นว่าแผ่นดินไหว ประชาชนพากันเลื่องฦๅว่าผู้มีบุญมาเกิด ๚

๏ แลพระราเมศวรนั้นไม่ใคร่พอพระไทยในทางยศศักดิ แม้จะเสด็จประพาศที่ใด ๆ ก็ไม่มีขบวนแห่แหน ให้แต่องครักษ์ตามเสด็จเล็กน้อยเท่านั้น พอพระไทยที่จะบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุขอย่างเดียว จึ่งทรงตั้งเจ้าพระยาศรีสรศักดิเปนพระมหาอุปราช ดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระองค์ ในเวลานั้นพระมหาอุปราชถืออาญาสิทธิ สำเร็จราชการบ้านเมืองต่างพระองค์พระราเมศวรทั้งสิ้น พระราเมศวรให้สร้างวัดขึ้น ๔ วัด คือ วัดบุรบาริมวัด ๒ วัด​รัตนาปราสาทวัด ๑ วัดบรมราสัตย์วัด ๑ วัดชังคะยีวัด ๑ แล้วให้ปฏิสังขรณ์วัดสุมังคลารามวัด ๑ เมื่อพระราเมศวรเสวยราชย์ พระชนม์ได้ ๕๕ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๖๙ พรรษาก็เสด็จสวรรคต พระราเมศวรสมภพวันศุกร ๚

๏ ข้าราชการทั้งปวงจึงเชิญพระมหาอุปราชขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อณวัน ๗ ๔ฯ ๖ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๖๓ ในวันเมื่อทำการราชาภิเศกนั้นเกิดมหัศจรรย์มีแสงสว่างทั่วไปทั้งพระราชวัง ข้าราชการทั้งปวงถือเอานิมิตรนั้นเปนเหตุ ถวายพระนามว่า พระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ภายหลังปรากฎพระนามอิกอย่าง ๑ ว่า นรามรินทร์ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระมเหษีทรงพระนามว่า พระพันปีหลวง ๚

3  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 21 ชั่วโมงที่แล้ว

               
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นอยู่มาพระรามาธิเบศร์ทรงพระสุบินนิมิตรว่า อันจอมปลวกที่เล่นเมื่อยังย่อมอยู่นั้น มีปราสาททองอันงามวิจิตรอยู่ที่ในใต้จอมปลวกนั้น ครั้นเช้าพระองค์จึ่งเสด็จไป แล้วก็พิจารณาดูที่ตำบลอันนั้น จึ่งให้ขุดลงที่จอมปลวกนั้น จึ่งเปนมหัศจรรย์อยู่​หนักหนา เสียงนั้นดังครื้นเครงไปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไปจึ่งได้ปราสาททองเปนจตุรมุข อันทองนั้นสุกแล้วมีลายอันงามประเสริฐ แต่ต้นจนยอดปราสาทนั้นสูงประมาณได้ศอกเศษ พระองค์จึ่งเอาปราสาททองนั้นไว้แล้ว จึ่งเชิญพระธาตุบรรจุไว้แล้ว จึ่งเอาไว้อยู่ที่ในสรรเพ็ชญ์ปราสาท อันปราสาททองนี้อยู่มาจนครั้งหลัง จึ่งสมมุตินามเรียกว่าเจ้าปราสาททองมาแต่ครั้งนั้น อันเจ้าปราสาททองนั้น มีพระราชโอรสาเปนกุมารทั้งเจ็ดองค์ พระองค์นั้นรักใคร่ปฐมโอรสาที่ชื่อว่าพระองค์ไชยกุมารนั้น พระองค์จึ่งจินดาว่าจักให้ผ่านธานี แต่ว่าพระองค์ก็ยังสงไสยบุญญาธิการที่จักได้ครอบครองธานี ฤๅจักไม่คู่ควรครอบครองกรุง พระองค์จึ่งลองบุญญาธิการในกุมารทั้งเจ็ดองค์นั้น จึ่งเอาพระขรรค์มาเจ็ดเล่มแล้ว จึ่งเสี่ยงทายพระขรรค์เล่มหนึ่งอันที่จักได้เปนกษัตรนั้น ถ้ากุมารองค์ใดจักได้เปนกษัตรแล้วก็ขอให้ได้พระขรรค์อันที่เปนกษัตรเถิด ครั้นพระองค์เสี่ยงทายแล้วจึ่งเอาพระขรรค์นั้นวางเรียงลงไว้ทั้งเจ็ดเล่มแล้ว พระองค์จึ่งตรัสเรียกพระองค์ไชยกุมารให้เข้าเลือกเอาก่อน อันพระองค์ไชยกุมารนั้นก็เข้าไปเลือกเอาพระขรรค์ตามที่ชอบพระไทย จักได้พระขรรค์ที่พระบิดาเสียงทายนั้นหามิได้ แล้วพระองค์เรียกกุมารทั้งหกนั้นให้เข้าเลือกเอาตามที่ชอบใจ อันกุมารทั้งหกองค์ก็เข้าไปเลือกเอาตามรับสั่งพระบิดา ก็ได้พระขรรค์ไปทั้งสิ้น ยังอยู่สุดท้ายนั้นคือนรินทกุมาร ได้เข้าไปเอาพระขรรค์ตั้งทีหลังกุมารทั้งปวง จึ่งได้​พระขรรค์ที่เปนสำคัญ ที่พระบิดาเสี่ยงทายนั้นมา สมเด็จพระบิดาก็เห็นในนิมิตรที่พระองค์เสี่ยงทาย แต่มิได้มีพจนาดถ์ประการใด พระองค์ยังสงไสยในพระไทยอยู่ ว่ายังจักไม่เที่ยงแท้ จึ่งจักเสี่ยงทายให้ครบสามครั้ง จึ่งจะประจักษ์ทักแท้ แล้วพระองค์จึ่งเอาช้างพระที่นั่งมาเจ็ดช้างแล้ว พระองค์จึ่งเสี่ยงทายช้างเปนสำคัญดังพระขรรค์ แล้วพระองค์จึ่งเจาะเรียกให้พระองค์ไชย ให้เข้ามาเลือกเอาช้างพระที่นั่งก่อนกุมาราทั้งหกองค์ พระองค์ไชยก็เข้ามาเลือกเอาช้างพระที่นั่งตามมีรับสั่งพระบิดา ก็จักได้ช้างสำคัญที่พระบิดาเสี่ยงทายนั้นหามิได้ พระบิดาจึ่งเรียกกุมารทั้งหกองค์ ให้เข้ามาตามหลั่นกันแล้ว จึ่งให้เลือกเอาช้างพระที่นั่งตามที่ชอบใจ อันกุมารทั้งหกองค์ก็เข้ามาทั้งนั้น ก็เข้ามาตามรับสั่งพระบิดา แล้วเข้าเลือกเอาช้างตามที่ชอบใจไป ก็จักได้ช้างสำคัญที่พระองค์เสี่ยงทายนั้นหามิได้ ได้แต่ช้างอื่นนั้นไป แต่ยังนรินทกุมารนั้นอยู่สุดท้ายกุมารทั้งหกองค์ จึ่งเข้าไปทีหลังคน ก็ได้ช้างสำคัญที่พระบิดาเสี่ยงทายนั้นมา อันสมเด็จพระบิดานั้น ก็ทราบในนิมิตรที่พระองค์สำคัญไว้ทั้งสิ้น แต่ยังอยู่อิกครั้งหนึ่งจึ่งจักครบสามครั้ง ครั้นมาอิกครั้งหนึ่งพระองค์เสี่ยงทายม้าพระที่นั่งแล้วก็ทำดังนั้น พระนรินทกุมารก็ได้ม้าพระที่นั่งที่พระองค์เสี่ยงทายไว้ แต่เปนดังนั้นมาถึงสามครั้งแล้ว อันพระปราสาททองนั้นก็หมายมาดว่าพระนรินทกุมารจักได้ครอบครองราชสมบัติ แต่พระองค์มิได้ตรัสประการใด พระองค์สงสารกับพระองค์ไชยกุมารยิ่งนัก แล้วพระองค์จึ่งมีพระราชโองการ​ตรัสเรียกพระราชโอรสทั้งเจ็ดองค์เข้ามาแล้ว พระองค์จึ่งสั่งสอนว่ากล่าวทั้งเจ็ดองค์ด้วยกัน ว่าพี่น้องให้รักใคร่กัน อย่าให้คิดร้ายต่อกัน พระองค์สั่งพระนรินทกุมารก็รับสั่งเปนเสร็จแล้ว จึ่งสั่งสอนกุมารทั้งปวงไปตามที่มีพระไทยกรุณากับพระราชโอรสทั้งหกองค์ด้วยกันทั้งสิ้น พระนรินทกุมารก็รับสั่งตามคำพระบิดาสั่งสอนว่ากล่าว ๚

๏ ครั้นอยู่มาพระองค์จึ่งสร้างปราสาทชื่อ สุริยาศน์อมรินทร์ แล้วสร้างวิไชยปราสาทที่ตำหนักใหม่ แล้วจึ่งสร้างตำหนักที่เกาะบางนางอินชื่อ ไอสวรรย์ทิพอาศน์ แล้วสร้างปราสาทพระนครหลวง แล้วจึ่งสร้างเรือที่นั่งกิ่งแลมหาพิไชยราชรถ แล้วจึ่งสร้างวัดไชยวัฒนาราม แล้วสร้างวัดราชหุลาราม แต่บรรดาเครื่องอุปโภคแลเงินทองทั้งสิ้น แต่เมื่อยังเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์อยู่นั้น จึ่งเอามาจำหน่ายแล้วสร้างพระปรางค์กระทำทั้งสิ้น จึ่งทำรูปภรรยาเก่าทั้งสองคนที่ตายไปแล้วนั้น ทำรูปไว้ที่ในวัดราชหุลาราม แล้วจาฤกชื่อไว้ที่ในฐานนั้น แล้วพระองค์จึ่งตั้งกฐินบกพยุหบาตราใหญ่มีมาแต่ครั้งนั้น ๚

๏ ครั้นอยู่มาจึ่งไฟฟ้าลงที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท จึ่งพระโอรสาธิราชเสด็จขึ้นไปดับเพลิง แต่บรรดาคนทั้งปวงจึ่งเห็นเปนสี่กรทั้งสิ้น ก็เปนนิมิตรใหญ่หลวงหนักหนา อันพระรามาธิเบศร์นั้น ก็ได้เสวยราชสมบัติ เมื่อจุลศักราชได้ ๙๙๘ ปีชวดอัฐศก พระชนม์ได้ ๒๐ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๕ ปี เปน ๔๕ ปีสวรรคต เมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๒๓ ปี ๚

​๏ ครั้นพระเจ้าปราสาททองสู่สวรรคตแล้ว พระราชโอรสอันชื่อพระนรินทกุมารได้เสวยราชสมบัติ จึ่งถวายพระนามตามนิมิตรเมื่อครั้งไฟฟ้าลงพระที่นั่งมังคลาภิเศกมหาปราสาท พระองค์เสด็จขึ้นไปดับเพลิง คนทั้งปวงเห็นเปนสี่กรทั้งสิ้นนั้น จึ่งสมมุติเรียกว่าพระนารายน์ อันพระนารายน์นั้น พระพรหมเปนอาจารย์ มีพระมเหษีนามชื่อ พระกษัตรี เปนหลานพระเจ้าปราสาททองฝ่ายข้างมารดา แลพระกษัตรีมเหษีขวานั้น มีแต่พระราชธิดาองค์หนึ่ง พระนามเรียกพระสุดาเทวี อันพระราชมเหษีซ้ายนั้น พระนามเรียก พระพันปี มิได้มีพระราชบุตรแลธิดา มีพระสนมนั้นเปนอันมาก อันพระนารายน์นั้นมิได้มีราชบุตรเปนกุมาร จึ่งกุมารผู้หนึ่งชื่อหม่อมเตี้ย พระนารายน์เอามาเลี้ยงไว้เปนที่ (พระปิย์) ลูกหลวง ยังหลานองค์หนึ่ง ชื่อพระศรีศิลป์ เปนลูกพระไชยาทิตย์ผู้เปนเชษฐา แล้วพระองค์จึ่งสร้างอ่างแก้วแลน้ำพุทั้งวังหลวงวังน่า แลปราสาทในวังทั้งปวงจึ่งแปลงให้ก่ออิฐ แลผนังทั้งสิ้นนั้นปิดทองประดับกระจก เสวยราชย์อยู่ในกรุงทวาราวดีนั้นได้ ๑๐ ปี แล้วเสด็จไปสร้างเมืองอยู่ที่เมืองเก่าอันหนึ่ง ชื่อเมืองละโว้ จึ่งสมมุตินามเรียกว่าเมืองลพบุรี มีกำแพงแลป้อม แลสร้างปราสาทชื่อดุสิตมหาปราสาท แล้วมีพระที่นั่งฝ่ายขวา ชื่อสุธาสวรรย์ ฝ่ายซ้ายชื่อจันทพิศาล มีพระปรัศซ้ายขวา แล้วมีน้ำพุอ่างแก้ว มีน้ำดั้นน้ำดาษ แล้วจึ่งสร้างทเลชุบศรแลสระแก้ว แล้วจึ่งสร้างวัดทรางวัด ๑ วัดมหาธาตุวัด ๑ จึ่งสร้างพระปรางค์สามยอดองค์ ๑ แล้วจึ่งสร้างเครื่องต้นแลพระมาลา ​ทั้งเส้าสูงเส้าสเทิน แลพระยี่ก่า แลฉลองพระองค์อย่างเทศอย่างยี่ปุ่นมีมาแต่ครั้งนั้น ๚

๏ พระองค์มีช้างเผือกลูกบ้านตัวหนึ่งทั้งกล้าหาญ แล้วก็มีรูปอันงามยิ่งนัก พระองค์ปล่อยไว้ที่ในพระราชวัง จึ่งประทานชื่อว่าพระบรมรัตนากาศ ไกรลาศคิรีวงษ์ อันการศิลปสาตรช้างของพระองค์นี้ดียิ่งนักไม่มีผู้ใดเสมอ ถึงจะเปนช้างร้ายหยาบช้าแลช้างน้ำมันก็ดี พระองค์ทรงเล่นกลางพระนครในที่ชุมนุมคนเปนอันมาก จึ่งไว้ทางกว้างสี่ศอกแล้ว พระองค์จึ่งทรงไปในกระบวนแห่ แต่งวงจะสอดคว้าก็หาบมิได้ ครั้งหนึ่งแขกเมืองโครส่านเข้ามาเฝ้าในเมืองลพบุรี พระองค์จึ่งทรงพลายส้อม อันพลายส้อมนี้ร้ายรองหยาบช้านักหนา ต่อเปนคนโทษจึ่งให้ขึ้นขี่ เปนยอดช้างอยู่ในกรุง ประทานชื่อเรียกว่าโจมจักรพาฬ ทั้งน้ำมันอยู่ พระองค์ไสให้ไล่แล้วปราไสโครส่าน ให้เหยียบพรมอยู่ริมพานราชสาสนแล้วก็กลับมายังเกยไชย แสนมหาแต่ช้างเถื่อนที่ติดโขลงมาเข้าพะเนียดใหม่ พระองค์ก็ใส่ชนักแลซองหางรัตคนแล้ว ก็ทรงออกแขกเมืองฝรั่งเศส พระองค์ก็สำแดงเดชทุกแห่งหน อันช้างเถื่อนนั้นก็ไม่ป่วนปั่นไปมาดุจหนึ่งช้างบ้าน อันการช้างของพระองค์นี้ยกเปนยอดยิ่งนัก เปนอรรคมหากษัตร ในพงษาวดาร ไม่มีกษัตรองค์ใดในการวิชาช้างนี้ จักได้เสมอพระองค์นี้หามิได้ เมื่อครั้งหนึ่งไฟฟ้าลงยอดปราสาทมังคลาภิเศกเปนอัศจรรย์ยิ่งนัก ไฟนั้นลุกโพลงพลุ่งขึ้นมาดังไฟกาล คนผู้ใดจะขึ้นไปก็บมิได้ พระองค์จึ่งขึ้นไปดับเพลิง อันเพลิงนั้นก็ดับ​ไปสิ้น คนทั้งปวงจึ่งเห็นเปนสี่กร จึ่งถวายพระนามเรียกว่า องค์พระนารายน์มาแต่เมื่อครั้งนั้น ๚

๏ มีพระราชนัดดาองค์หนึ่งเปนโอรสของพระเชษฐา ซื่อพระศรีศิลป์กุมาร ชัณษาได้ ๑๕ ปี จึ่งคิดเปนขบถกับพระบิตุฉา จักมาสังหารชีวิตรให้บรรไลย เอาพระแสงจะแทงพระนารายน์ พระองค์จึ่งฉวยปลายกั้นหยั่นไว้ได้ทันที จึ่งจับตัวไว้ที่ทิมดาบ พระองค์ทรงแต่กำราบมิให้ตาย พระองค์สงสารกับกุมารนั้นว่าไร้บิตุเรศมารดา แล้วเห็นแก่พระไชยาทิตย์ด้วยรักใคร่สนิทกัน เพราะเปนเชษฐาได้ฝากพระศรีศิลป์ไว้แต่เมื่อจะใกล้สิ้นชีพพิราไลย จึ่งสั่งให้ออกจากโทษ พระองค์โปรดเลี้ยงไว้ตามที่ ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระศรีศิลป์จึ่งคิดร้ายอิกครั้งหนึ่ง เมื่อพระนารายน์เสด็จออกว่าราชการเมืองอยู่ที่สีหบัญชร จึ่งพระศรีศิลป์ใจหาญนั้น ถือพระแสงแล้วแฝงใบบานประตูอยู่ที่ห้อง เสด็จเข้าไป ผู้ใดมิได้ล่วงรู้เห็น อันพระนารายน์นั้นออกไปว่าราชการ จึ่งเรียกช้างพระที่นั่งเข้ามาดู พระองค์ก็เสด็จทรงช้างแล้วเสด็จเข้ามาทางหนึ่ง อันพระศรีศิลป์นั้นยืนแอบประตูอยู่จนพนักงานนั้นเชิญเครื่องเข้ามา จึ่งเห็นพระศรีศิลป์ถือพระแสงแลแฝงประตูอยู่ อันพนักงานเครื่องนั้นจึ่งกราบทูลตามที่เห็น พระองค์จึ่งเสด็จตรงออกมาแล้วก็จับตัวกุมารได้ทันใด จึ่งตรัสสั่งนายเพชฌฆาฏให้สังหารเสียให้ตักไษย นายเพชฌฆาฏจึ่งให้คุมตัวพระศรีศิลป์ไป จึ่งเอาตัวนั้นมัดผูกพันแล้วใส่ลงไปในแม่ขันสาคร แล้วจึ่งเอาใส่ลงในถุงแดงแล้วก็แห่หามไปยังวัดกะชาย แล้วจึ่งขุดหลุมฝังเสียทั้งเปน อันนี้เปนตามธรรมเนียม​กษัตรแต่ก่อนทำสืบกันมาเปนอย่างนี้ แล้วจึ่งมีคนเฝ้ารักษาอยู่ได้ครบเจ็ดวันแล้วจึ่งไป แต่พระศรีศิลป์นี้ไม่ตาย ด้วยมหาดเล็กที่พระศรีศิลป์รักนั้นมีใจภักดีต่อกุมาร ครั้นผู้รักษามาสิ้นแล้ว ก็ไปขุดดินขึ้นดูตามปราถนา ก็พบพระศรีศิลป์นั้นยังไม่ตาย จึ่งเอาขึ้นมาแล้วก็พาเอาซ่อนไว้ที่ในบ้านตลาดบัวขาว จึ่งได้ชาวเพ็ชรบุรีเปนไส้ศึก แล้วจึ่งกลับซ่องสุมทหารชาญไชย ครั้นได้คนดีแล้วก็ยกมา จึ่งค่อยลอบผ่อนเข้าในกรุง พระศรีศิลป์นั้นจึ่งลอบเข้าไปหาพระกำแพง พระกำแพงจึ่งเข้ารับเปนสมัคพรรคพวกในกุมาร แต่บรรดาขุนนางข้างในนั้นก็เข้าเปนพวกด้วยพระศรีศิลป์เปนอันมาก พญานันทยอแฝงนายโขลงนี้ก็เลือกเอาช้างโรงมาถวาย ทั้งหมื่นราชแลนายทรงบาศทั้งซ้ายขวา ทั้งเทพโยธาแลนายพลพัน ทั้งหลวงจ่าแสนบดี ทั้งราชาบาลด้วยกัน จึ่งคิดอ่านทำการเปนกวดขัน ครั้นได้ฤกษ์นามอันดีแล้ว เพลาพลบค่ำก็ยกเข้ามา อันพระศรีศิลป์นั้นทรงช้างพลายพิศณุพงษ์ แล้วยกมาทางถนนเจ้าพรหม แล้วจึ่งเข้าประตูปราบไตรจักร จึ่งมาในถนนน่าจักรวรรดิ หักประตูแดงแล้วตรงเข้ามา ก็เข้าได้ในวังชั้นใน จึ่งหลวงเทพสมบัติกับหมื่นไวย ครั้นรู้ก็เข้าไปปลุกพระประธมถึงที่ พระนารายน์นั้นก็ทรงนำทางข้างในออกมาทางประตูมหาโภคราช ทั้งตำรวจในแลมหาดเล็ก ทั้งขุนนางบรรดาที่นอนเวรทั้งสิ้นก็ตามเสด็จห้อมล้อมออกมา พระองค์เสด็จเข้าอยู่ในวังหลวงแล้ว จึ่งตั้งค่ายรายขวากเปนมั่นคง บ้างก็กะเกณฑ์ทัพ บ้างก็จับคนปลอม บ้างก็หาคนดีเข้ามาบ้าง บ้างเกณฑ์ช้างม้าผู้คนให้เข้า​ตาทัพ บ้างตั้งรับอยู่ทางตรอกแลถนนใหญ่ ครั้นรุ่งสว่างแล้วพระองค์ก็ยกทัพเข้าไป จึ่งทรงช้างพลายกุญชรจำนง พอรู้ว่าราชศัตรูมาน่าหลัง จึ่งเสด็จยืนช้างพระที่นั่งอยู่ที่น่าวังด้านทิศบูรพา จึ่งตรัสสั่งกับทหารเสนาให้เร่งยกพลเข้าล้อมไว้ อันพระศรีศิลป์นั้นจะตกแต่งป้องกันตัวก็หาไม่ แต่เหล่าที่เข้าพวกด้วยมันจึ่งออกเที่ยวตรวจตราบรรดาการทั้งปวง ก็ได้รบกันอยู่ไม่นาน พระนารายน์จึ่งยกทัพหักโหมเข้าไปแล้วก็ทลายประตูเข้าไปได้ บ้างก็ยิงปืนน้อยแลปืนใหญ่ บ้างโห่ร้องประโคมฆ้องกลองอื้ออึงสนั่นครั่นครื้นดังไปทุกทิศา อันเหล่าประจามิตรนั้นต้านทานมิได้ ด้วยเดชาอานุภาพพระนารายน์ ก็กราบแล้วร้องขอโทษ ก็มิได้ยากลำบากใจที่จะพิจารณา โยธาทั้งปวงจึ่งล้อมแล้วก็จับเอาตัวไว้ อันพระศรีศิลป์นั้นพระองค์สั่งให้ทำโทษอย่างใหม่ ให้ทุบด้วยท่อนจันทน์ให้ตายแล้วจึ่งใส่ในขันสาคร แล้วให้ใส่ในลุงแดงแล้วให้ฝังเสีย นายเพชฌฆาฏก็ทำตามรับสั่ง การมีมาแต่ครั้งนั้นก็เปนอย่างมาจนบัดนี้ อันสมัคพรรคพวกพระศรีศิลป์ทั้งนั้น พระองค์สั่งให้ฆ่าเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร พระพรหมจึ่งทูลขอครัวไว้มิให้ตาย ให้จ่ายตามโทษที่มี อันชาวเพ็ชรบุรีเปนต้นเหตุ จึ่งให้จ่ายหญ้าช้างที่ในกรุง เหตุฉนี้ตะพุ่นหญ้าช้างก็มีมาแต่ครั้งนั้น ๚

๏ อันพระนารายน์นั้นได้ขัดเคืองพระศรีศิลป์กุมารแต่ครั้งนั้นมาว่าเปนขบถ เพราะเหตุว่ามิใช่ลูกของพระองค์ อันเกิดในครรภ์พระมเหษี จึ่งขอพระที่นั่งจะใคร่ได้โอรสอันเกิดในครรภ์พระมเหษีจึ่งจะไม่เปนขบถ เพราะพระองค์ทรงพระโกรธพระศรีศิลป์นัก จึ่ง​สั่งนั้นผิดไปในทางธรรม เพราะหลงไปมิได้รู้บุญอานุภาพแห่งกุมารอันเกิดมานั้นจะเปนประการใด ในกุศลหนหลังอันจะตกแต่งมานั้น พระองค์ก็มิได้พิจารณาดูในพระไทย เพราะเหตุแค้นพระศรีศิลป์ยิ่งนัก อันพระมเหษีนั้นก็มีแต่พระราชธิดา มิได้มีราชบุตรเปนกุมาร พระองค์จึ่งรักษาศีลาจารวัตรปฏิบัติโดยธรรมสุจริต จะขอให้ได้พระโอรสอันเกิดในพระครรภ์พระมเหษี ก็มิได้ดั่งพระไทยปราถนาจึ่งทรงพระโกรธ ครั้นเมื่อทรงพระโกรธขึ้นมา จึ่งตรัสกับพระสนมกำนัลทั้งปวงว่า ถ้าใครมีครรภ์ขึ้นมาแล้วก็จะให้ทำลายเสีย กูมิให้ได้สืบสุริยวงษ์ต่อไป ต่อเมื่อเกิดในครรภ์พระมเหษี กูจึ่งจะมอบโภไคสวรรย์ทั้งปวงให้ตามใจกูปรารภ ครั้นพระสนมกำนัลรู้ตัวว่ามีครรภ์ก็ต้องทูลพระองค์ ครั้นทราบก็ให้ทำลายเสียอย้างนั้นเปนหนักหนา ครั้นเหตุเมื่อจะมีพระกุมารในครรภ์พระสนมเอก อันชื่อพระราชชายาเทวี ชื่อเดิมนั้นชื่อเจ้าจอมสมบุญ ๆ คนนี้เปนคนโปรดของพระองค์ ครั้นอยู่มาพระองค์จึ่งทรงพระสุบินนิมิตรฝัน จึ่งปิดเปนกวดขันมิให้ผู้ใดรู้ แล้วพระองค์รัญจวนป่วนปั่นพระไทยยิ่งนัก จึ่งสั่งให้ไปนิมนต์พระพรหมผู้เปนอาจารย์เข้ามา ครั้นพระมหาพรหมเข้ามา พระองค์จึ่งแก้นิมิตรฝันกับพระมหาพรหม ส่วนพระมหาพรหมผู้เปนอาจารย์จึ่งว่า อันทรงสุบินนิมิตรนี้ดีนักหนา พระองค์จะได้พระราชโอรสเปนกุมาร แต่กูนี้ไม่ชอบใจอยู่สิ่งหนึ่ง ว่ามีพระราชโอรสกับพระสนมกำนัลแล้วก็ให้ทำลายเสีย อันนี้กูไม่ชอบใจ​ยิ่งนัก พระองค์มาทำดังนี้ก็เปนบาปกรรมนั้นประการหนึ่ง ถ้าในพระอรรคมเหษีแลมิได้มีพระราชโอรส มีแต่พระราชโอรสในพระสนมนี้ พระองค์ก็จะทำประการใด ที่จะได้สืบศรีสุริยวงษ์ต่อไป ถ้าแลพระองค์จะไม่มีพระราชบุตรแลพระราชธิดา แลสืบไปเบื้องน่าแลพระองค์ทิวงคตแล้ว แลจะได้ผู้ใดมาสืบศรีสุริยวงษ์ต่อไป อันว่าน้ำพระไทยนี้ จะให้เสนาแลเศรษฐีคหบดีแลพ่อค้า ให้ขึ้นเสวยราชย์สืบศรีสุริยวงษ์ฤๅประการใด ถึงจะเปนพระราชโอรสในพระสนมก็ดี ก็ในพระราชโอรสาของพระองค์ที่จะได้สืบศรีสุริยวงษ์ต่อไป อันนี้สุดแต่กุศลจะคู่ควรแลไม่ควร ถ้าแลพระองค์ไม่ฟังกูว่า ดีร้ายกรุงศรีอยุทธยาจะสูญหาย จะเปนเมืองโกลัมโกลีมั่นคง ถ้าแลทำดั่งคำกูว่า กรุงศรีอยุทธยาจะได้เปนศุขสุภาพต่อไป ครั้นพระองค์ได้ฟังพระอาจารย์ว่าดังนั้น พระองค์ก็แสนโสมนัศยินดีในพระไทยยิ่งนัก แต่มาขัดอยู่แต่มีพระบัญชาออกพระวาจาไว้ ก็จำจะยักย้ายถ่ายเทคิดอุบายแก้ไขตามคำพระอาจารย์ว่ากล่าวสั่งสอน สุดแต่มิให้เสียที ครั้นพระอาจารย์กลับไปแล้ว จึ่งให้ไปหาตัวเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเข้ามา อันเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเปนบุตรของพระนม แล้วก็เปนครูช้างของพระองค์ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์เข้ามา จึ่งตรัสเรียกเข้าไปในที่ พระองค์จึ่งบอกคดีเปนความลับ จึ่งเอาพระสนมอันชื่อเจ้าจอมสมบุญนั้นมาพิทักษ์รักษาไว้ ครรภ์นางนั้นทศมาสเข้า จึ่งประสูตรกุมารมีรูปอันงาม ประกอบไปด้วยลักษณราษีอันดี จึ่งเอาเหตุเข้าไปกราบทูลกับพระองค์ พระนารายน์จึ่งประทานของขวัญ​ออกมา ทั้งแก้วแหวนเงินทองแลผ้าผ่อนแพรพรรณเปนอันมาก ทั้งผู้คนช้างม้าเรือกสวนไร่นาครบครัน อันของขวัญนั้นเกลื่อนกลาดบริบูรณ์ อันพวกพ้องพี่น้องฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์นั้น ก็เอาเข้าของมาทำขวัญแก่กุมารก็เปนอันมาก ทั้งผู้คนช้างม้าเรือกสวนไร่นาครบครัน อันของขวัญนั้นเกลื่อนกลาดบริบูรณ์ อันพวกพ้องพี่น้องฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นก็เอาเข้าของมาทำขวัญกับกุมารนั้นทุกหน้า ยังฝ่ายข้างมารดากุมารนั้น ก็เอาเงินทองเข้าของมาทำขวัญกับกุมารนั้นก็เปนอันมาก อันเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นก็ทำด้วยยินดี เจียนจะเปนเศรษฐีในคราวนั้น ๚

๏ ครั้นอายุศมกุมารได้เจ็ดปี พระนารายน์จึ่งให้กุมารนั้นเข้ามาในพระราชฐานแล้ว จึ่งมีรับสั่งให้เข้าออกในพระราชวังอยู่อัตราอย่าให้ขาด แล้วจึ่งประทานให้ชื่อเจ้าพระยาศรีสุรศักดิ อรรคราชมนตรีศรีสงคราม อันเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวงนั้น จะเปนอย่างลูกหลวงก็หาไม่ จะเปนอย่างขุนนางก็เกินไป อยู่ที่ระวางพระราชวงษ์พงษา อันที่เฝ้านั้นนั่งน่าเสนาอำมาตย์ อันเจ้าพระยาสุรศักดินั้นฉลาดเฉลียวคมสัน ทั้งห้าวหาญไชยใจฉกรรจ์ ทั้งร้ายกาจอาจองดุดันไม่กลัวใคร ทั้งได้ทีแล้วปากว่ามือถึง ทั้งหยิกทึ้งถีบชกต่อยตี แล้วเที่ยวเกี้ยวลูกสาวชาวกรุงทุกภาษาแต่บรรดาที่มี เจ้าพระยาสุรศักดิมิได้ไว้ ถึงพ่อแม่จะพิทักษ์รักษาอยู่ก็ดี ก็ลอบลักไปมาหาได้ ไม่ว่าผู้ดีเข็ญใจ แล้วก็ให้แหวนแลเงินทองตามที่รักน้อยแลรักมาก ถึงมียากก็ทั่วหน้า ครั้งหนึ่ง​เจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนา รู้ว่าเจ้าพระยาสุรศักดิรักลูกสาวนักจะเอาลักเอาให้ได้ ครั้นมาพบกันที่ในวังทั้งสองคนจึ่งปราไสกัน เจ้าพระยาราชวังสรรค์จึ่งว่ากับเจ้าพระยาสุรศักดิว่า จริงฤๅเขาฦๅเขาว่า เจ้านี้ขันจะมาลักลูกเรา เปนคนดีมีฝีมืออย่าให้เขาฦๅเล่นเปล่า ๆ น้าจะขอแต่งบ้านไว้รับเจ้าในวันนี้ อันเจ้าพระยาราชวังสรรค์นั้นก็เปนคนดีอยู่ที่ในกรุง เพราะจะใคร่ลองความรู้ดูสักทีหนึ่ง จึ่งขันพระยาสุรศักดิว่า ทั้งเจ้าเปนคนดีมีความรู้ ลูกคนหนึ่งเราจะเสียให้ ถ้าจับได้จะได้รำคาญใจ ที่เขาฦๅชื่อไว้จะไม่งาม อันเจ้าพระยาสุรศักดินั้นก็แจ้งในเหตุที่กลางสนาม จึ่งยิ้มแล้วก็ตอบความว่าสุดแต่น้าจะปรานี แต่ผู้ใหญ่อย่าได้ถอยคำ เมื่อเปนกรรมจะไม่ได้นางแล้ว ก็จะต้องทนให้น้าตี แต่ว่าอย่าทำเศรษฐีพาโล ทีน้านั้นว่าได้คล่อง ๆ ทีหลานจะลองก็อย่าร้องว่าให้ อันลูกสาวนี้ใครจะโห่ร้องเข้าไปให้รู้ ใครดีวันนี้จะได้เห็นกัน ถึงหลานก็พานจะพรั่นใจอยู่ ด้วยน้าก็เปนคนมีความรู้ ถ้าเคยคู่กันก็จะได้นางมา ท่อยทีท่อยโต้ตอบกันแล้ว ก็สำรวลสรวลกันทั้งสองข้าง พร้อมหน้าเหล่าขุนนางทั้งปวง ก็ต่างคนต่างจะไปดู ครั้นเจ้าพระยาราชวังสรรค์ออกมาจากวังแล้ว จึ่งสั่งผู้คนแลทนายทั้งปวงให้พร้อมกันอยู่ บรรดาที่เปนบ่าวอยู่นั้นให้เรียกทั้งสิ้น ให้มาพร้อมกันในค่ำวันนี้ จึ่งให้มีหนังแลมอญรำก็ครื้นเครงอื้ออึงไปทั้งบ้าน จึ่งตามคบเพลิงไว้เปนหนักหนา สว่างไปทั้งบ้าน จึ่งให้เร่งใส่ไต้ไฟเปนกวดขัน แต่บรรดาญาติวงษ์ทั้งปวงก็ให้มาอยู่ห้อมล้อมเปนอัน​มาก อันลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสรรค์นั้นก็มานั่งดูงานอยู่ที่นั้น ครั้นเวลาสักสองยามเศษ จึ่งเจ้าพระยาศรีสุรศักดินั้นกับบ่าวที่รักใคร่สนิทกันจึ่งเข้าไปดูแยบคาย ครั้นได้ทีแล้ว จึ่งเศกกรวดแล้วก็ปรายเข้าไป อันผู้คนทั้งนั้นก็หลับไปทั้งสิ้น เจ้าพระยาสุรศักดิจึ่งเข้าไปดับไฟแล้ว ก็เข้าไปอุ้มลูกสาวมา ครั้นได้จึ่งเอานางนั้นใส่แคร่แล้วหามมา แล้วโห่ร้องอื้ออึงมาตามทางถนนใหญ่ ครั้นเวลาเช้าจึ่งเจ้าพระยาราชวังสรรค์นั้นก็เข้าไปในวัง ส่วนเจ้าพระยาสุรศักดิจึ่งตกแต่งตัวแล้วก็เข้าไปในวัง ครั้นออกมาจากที่เฝ้าแล้ว เห็นเจ้าพระยาราชวังสรรค์เข้า จึ่งให้ดูแหวนที่นิ้วก้อย แล้วจึ่งถามว่า อันราคาแหวนนี้สักเท่าใด น้าช่วยดูน่อยหนึ่ง ส่วนเจ้าพระยาราชวังสรรค์เห็นแหวนเข้าก็สรวลสันต์กันไป จึ่งว่าเจ้านี้ดีจริงแล้ว อันน้านี้เปนทหารใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุทธยาไม่มีผู้ใดเสมอ แต่นี้แพ้เจ้าจริงแล้ว จึ่งเล่าความที่ข้อขันท้าทายทั้งสิ้นมิได้อำพราง เราหมายว่าตัวเรามีภาษีกว่าคนทั้งปวง ควรแล้วพ่อมิได้เสียที เพราะน้านี้ยังแคลงใจอยู่จึ่งต้องลอง ทีนี้เห็นประจักษ์ทักแท้แล้ว จึ่งสรรเสริญเจ้าพระยาสุรศักดิด้วยมีบุญเปนเอก จึ่งว่าตั้งแต่วันนี้ไป ไม่หาญที่จะสู้รบพระยาสุรศักดิได้ ทั้งแกล้วกล้าในวิทยาแลนรลักษณ พ่อจะเปนเสิศโลกทหารในโลกีย์ เจ้าพระยาสุรศักดิจึ่งว่า พระยาน้าก็เปนคนดี ที่หลานจะไม่รู้ก็มิใช่ แต่ว่าน้าท้ามาก่อนในวันนั้น ก็พานจะพรั่นขยั้นขยาดอยู่ แต่ทว่ารักน้อง ทั้งจะใคร่ลองความรู้ เปนบุญมาหนุนด้วย จึ่ง ช่วยให้ได้เปนคู่กัน อันว่าธิดาของน้านี้ ​หลานก็มีจิตรคิดมาแต่ปฐม สิ่งใดพระยาน้าอย่าได้ปรารมภ์ จะตั้งไว้ให้เปนปฐมชายาใหญ่ อันข้อที่หลานทำจู่ลู่ความนี้จงอดโทษเถิด คิดว่าจะขอสู่กันตามธรรมดา เพราะน้าท้าทายจึ่งต้องเปนไป อันเสนาทั้งปวงที่ฉลาดรู้อัธยาไศรย ก็พากันสำรวลสรวลสันต์กันไป เปนคนในพรรคพวกด้วยกัน อันที่เรื่องราวอันนี้รู้ทั่วทั้งกรุงทั่วหน้ากัน จนทราบถึงพระนารายน์ บรรดาที่ใครมีบุตรีแต่น้อย ๆ ก็ต้องแต่งให้มีผัวเสีย จะเอาไว้ก็กลัวพระยาศรีสุรศักดิจะมาลักเอาบุตรีไป ด้วยฤทธากล้าหาญชาญไชย ลางทีสัตรีมีคู่เพิ่งจะเข้าหอใหม่ ถ้ารู้ว่ารูปงามทรามไวย ก็ไปลักล่วงประเวณี ถึงเจ้าผัวจะรู้ก็กลัวไม่อาจที่จะว่าได้ มีแต่จะเอาตัวพาหนีไป ถ้าแลรูปทรงส่งสัณฐานนั้นพานจะพอดี พระยาศรีสุรศักดิไม่ลักไป เสนหาแต่ลูกสาวพระยาราชวังสรรค์ เปนคนขยันแล้วลักเอาไปได้ ๚

๏ อันพระยาศรีสุรศักดินี้กล้าหาญชาญไชยดีมีความรู้ จนถึงพระยาวิชเยนทร์เธอเกินโปรดขององค์พระนารายน์ เปนสมุหนายกจักรี พระยาศรีสุรศักดิยังไม่กลัว ในเมื่อขณะกลางคนเข้าไปเฝ้า ยังแกล้งแกว่งเท้าถีบให้ถูกหัว จนช้างพลายส้อมแสนร้ายยังไม่กลัว ยังแขวนตัวปีนขึ้นไปบนงาแล้วก็ขึ้นขี่ อันว่าพลายส้อมตัวนี้ ขี่ได้แต่ในหมอ นอกนี้ผู้อื่นไม่ขี่ได้ ร้ายรองหยาบคายนักหนา ครั้งหนึ่งจึ่งเสด็จไปประพาศป่า เจ้าพระยาศรีสุรศักดินั้นขี่ม้าร้ายอยู่ที่กลางแปลง อันม้านั้นโลดโผนโจนเวียนวนไปต่างๆ พระองค์จึ่งร้องตรัสไปว่า ม้าใหญ่นี้หนักหนา กำลังยังไกล​กว่ามันนัก มาขี่ช้างด้วยกันกับกูเถิด พระยาศรีสุรศักดิจึ่งร้องสนองทูลมาทันใดว่า ม้าใหญ่ม้าร้ายก็แจ้งอยู่ จะได้ลองกำลังจึงสาวมือดู นานไปก็จะได้รู้กำลังกัน แล้วก็กลับควบมาทเลชุบศร จึ่งย้อนมาตามทางสวน (สระ) แก้วแล้ว พอถึงวัดน่าพระธาตุเข้า ก็บันดาลให้เปนพยุใหญ่มา อันว่ากำแพงวัดนั้นสูงประมาณสักหกศอก โดยหนาสักสี่ศอก ม้านั้นตกใจจึงโจนข้ามกำแพงเข้าไป อันพระยาศรีสุรศักดินั้นก็ไม่เปนอันตราย แต่ที่นั่งจะขยายก็ไม่มี พระนารายน์จึ่งตรัสสั่งเสนาให้วิ่งไปดูพระยาศรีสุรศักดิว่าดีอยู่ฤๅประการใด แล้วเองจงเร่งให้ออกมาตามทางประตูใหญ่ เสนาวิ่งมาแล้วก็บอกว่า รับสั่งให้ออกมาทางประตูใหญ่ พระองค์หยุดช้างพระที่นั่งคอยอยู่ไม่เสด็จไป พระยาศรีสุรศักดิจึ่งสั่งให้ทูลกับพระองค์ว่า ม้านั้นพาเข้ามาทางไหนก็จะออกไปทางนั้น จึ่งลงแส้แล้วลงเท้ากระทืบส่งก็ควบเวียนวนไปมา ครั้นถึงที่นั้นเข้าม้าก็พาโจนข้ามกำแพงออกมาได้ บรรดาคนทั้งปวงนั้นเห็นประหลาดอัศจรรย์ยิ่งนัก จึ่งสรรเสริญทั้งลักษณแลราษี ทั้งเข้มแขงแกล้วกล้าหาญชาญไชยยิ่งนัก เห็นจะได้เสวตรฉัตรเปนมั่นคง ๚

๏ อันองค์พระนารายน์สบเสียโปรดปรานวิชเยนทร์เปนฝรั่งเศสนั้นหนักหนา จึ่งพระราชทานชื่อเรียกพระยาวิชเยนทร์ เปนสมุหจักรีนายก อันพระยาวิชเยนทร์นั้นมีปัญญาฉลาดสารพัดจะรู้การช่างต่าง ๆ ทั้งการจักรแลการยนตร์ก็สารพัดจะทำได้ ทำได้ทั้งนาฬิกาแลกล้องส่องทั้งเข็ม สารพัดจะรู้ทำ อันว่าพระนารายน์นั้น จะใคร่​รู้ว่าปืนใหญ่นั้นหนักเบาสักเท่าไร พระนารายน์จึ่งถามเสนาทั้งปวง ผู้ใดก็มิอาจที่จะคิดชั่งได้ พระนารายน์จึ่งตรัสถามพระยาวิชเยนทร์ พระยาวิชเยนทร์จึ่งรับสั่งแล้ว ก็ทำได้ตามมีพระประสงค์ ครั้นอยู่มาพระยาวิชเยนทร์นั้นคิดร้ายต่อพระองค์เปนช้านาน จนเสนาอำมาตย์ทั้งปวงรู้แยบคาย ก็เข้าไปกราบทูลกับพระองค์ อันพระนารายน์นั้นก็มิได้ว่าขานประการใด พระองค์เชื่อบุญญาธิการแลอานุภาพของพระองค์ พระองค์ก็มิได้ว่าวุ่นวาย ครั้งหนึ่งพระยาวิชเยนทร์เข้าไปเฝ้า พระองค์จึ่งส่งพระแสงให้ถือแล้ว ก็ยุดมือพระยาวิชเยนทร์นั้นเสด็จเดินไปมาเปนหลายกลับ พระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิอาจที่จะทำร้ายได้ พระองค์มิได้ทรงพระวิตกว่าพระยาวิชเยนทร์นี้คิดร้าย ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่งพระยาวิชเยนทร์จึ่งคิดขุดอุโมงค์ คิดขุดดินที่ในตึกตัวอยู่นั้น ขุดรุกเข้าไปจะให้ถึงในพระราชวัง อันความทั้งนี้มิได้ลับ จึ่งรู้ไปถึงเสนาบดีผู้ใหญ่ เจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนีกับพระยาเสียนขัน (ฮุเซนข่าน) ทั้งสองคน จึ่งพากันเข้าไปทูลความที่วิชเยนทร์คิดอ่านทำการทั้งปวง พระนารายน์จึ่งมีรับสั่งให้พระยาเสียนขันไปเรียกตัวมาจะไต่ถาม อันพระยาเสียนขันก็ไปตามมีรับสั่ง พระยาเสียนขันนั้นเปนทหารแขก เปนคนดีมีความรู้แล้วกล้าหาญยิ่งนัก พระยาเสียนขันแต่งตัวแล้วเอากระบี่เหน็บเข้ากับบั้นเอวแล้ว จึ่งเข้าไปในตึกที่วิชเยนทร์อยู่นั้น พระยาเสียนขันจึ่งยุดมือพระยาวิชเยนทร์เข้าแล้ว ก็นั่งลงบนเก้าอี้ทั้งสองคนด้วยกัน พระยาเสียนขันจึ่งบอกความทั้งปวงกับวิชเยนทร์ว่า บัดนี้มีพระโองการให้หา ​อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็มิได้มาตามรับสั่ง พระยาเสียนขันจึ่งถอดเอากระบี่ออกแล้ว จึ่งตัดศีศะวิชเยนทร์เสีย อันพระยาวิชเยนทร์นั้นก็ถึงแก่ความตาย ครั้นพระยาวิชเยนทร์ตายแล้ว พระยาเสียนขันจึ่งเข้ามากราบทูลตามเรื่องราวที่มีมาทั้งสิ้น พระนารายน์ครั้นทราบดังนั้น ก็มิได้มีพจนาดถ์ประการใด อันเจ้าพระยาราชวังสรรค์กับพระยาเสียนขันทหารแขกสองคนนี้ พระองค์ก็รักใครัแล้วสบเสียไว้ใจยิ่งนัก ๚

4  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 21 ชั่วโมงที่แล้ว
               
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ซึ่งพระนเรศร์กลับมานี้ เหตุรู้ถึงกรุงศรีอยุทธยา จึ่งพระเอกาทศรถอันเปนพระอนุชานั้น ก็แต่งพลทัพแล้วยกหนุนมา แต่เสบียงลำเลียงนั้นให้ไปก่อน ด้วยเปนการร้อนจักได้ช่วยพระเชษฐา แล้วพระองค์จึ่งยกพลโยธาเร่งรีบมาให้ทันทัพ อันเสบียงลำเลียงที่ล่วงมานั้นหลงทางไป ฝ่ายมอญนั้นจับได้ อันพระเอกาทศรถนั้น ก็ยกไปทันพระพี่ยาที่ตำบลเล่นแต่เขางาม ทั้งสองพระองค์โสมนัศาทรงพระยินดียิ่งนัก พระเอกาทศรถจึ่งกราบลงกับพระบาทพระพี่ยา พระเชษฐานั้นก็สร้วมกอดเอาทันใจ ทั้งสององค์ปรีดิ์เปรมเกษมศรี แล้วมีพระไทยยินดียิ่งนัก ไม่มีสิ่งจักเปรียบได้ แล้วพระเอกาทศรถจึ่งถามถึงพระพี่นาง พระพี่ยาจึ่งเล่าไปตามความคดีที่มีมาทั้งสิ้น พระเอกาทศรถจึ่งกราบลงแล้วก็ทูลอาสา พระนเรศร์จึ่งตรัสว่าพระน้องยานี้ยังเยาว์อยู่นัก อันประทุมราชานั้นเขากล้าหาญหนักหนา แลชัณษานั้นก็แก่กว่าเจ้า ​พี่เองจักหักอุปราชา แต่น้องยาจงช่วยหนุนรองป้องกันเถิด พลขันธ์พี่นี้บอบมาหนักหนา ครั้นตรัสดังนั้นแล้วก็จัดแจงโยธาทัพให้เปนปีกซ้ายขวากัน ทั้งทัพหนุนทัพรองก็แน่นหนา ด้วยได้พลโยธามาใหม่ ครั้นเกณฑ์สำเร็จแล้ว ทั้งสองพระองค์ก็ทรงช้างพระที่นั่ง แล้วยืนอยู่กลางพล แล้วก็ยกพลทัพตีรุกเข้าไป เหล่าโยธาก็โห่ร้องเอาไชย ทั้งเสียงฆ้องไชยกลองไชยก็ดังครื้นเครงไปทั้งป่าใหญ่ ก็เข้ารบพุ่งประจันกันเปนหนักหนา จึ่งเหล่าทัพน่าเสนารามัญก็ประจันสู้ พระนเรศร์จึ่งเอาช้างเข้าไล่แทง ช้างข้างรามัญก็หนี พระองค์จึ่งตีด้วยพระแสงขอ ก็ถูกท้ายช้างมอญเข้า ก็ล้มตะแคงอยู่ทับที่ พระเอกาทศรถก็ไล่มาทันเสนามอญผู้หนึ่งเข้าไม่ถอยหนี ก็กลับหน้ามาสู้กันกับพระองค์ ก็หักโหมกระโจมสู้กันเปนหนักหนา พระเอกาทศรถจึ่งแทงด้วยทวน ก็ถูกกลางช้างข้างมอญนั้นก็ตายตกช้างลงมาอยู่กับที่ ฝ่ายช้างพระนเรศร์นันก็มาทันเข้า ทั้งสองพระองค์ก็ประจันกันเข้าเหยียบค่าย ฝ่ายทัพข้างมอญก็ล้มตายหน่ายหนีเปนหนักหนา จนถึงน่าช้างอุปราชา อุปราชาครั้นเห็นช้างพระนเรศร์ จึ่งจับเอาลูกคลีจักทิ้งเอาพระนเรศร์ พระนเรศร์จึ่งสรวลพลางแล้วก็ร้องว่ามา ว่าดูกรอุปราชา ท่านก็เปนเชื้อกษัตร ฝ่ายเราก็เปนเชื้อขัติยวงษา จักทิ้งกันด้วยลูกคลีนั้นดูเหมือนเด็กเล่น ควรที่ท่านกับเราจักชนช้างชิงไชยกัน ให้เสนาทั้งปวงดูเล่นเปนขวัญตาจึ่งจักสมควรกับเรา​ทั้งสอง จักให้เสนาแลอาณาราษฎรมาพลอยตายด้วยไม่ต้องการ ควรแต่ท่านกับเราเปนชายขัติยะเชื้อกษัตรต่อกษัตร จักชนช้างชิงไชยกันจึ่งจักสม นานไปเบื้องน่านี้ไม่มีกษัตรองค์ใดแล้วที่จักชนช้างชิงไชยกันดังนี้ ส่วนอุปราชาครั้นได้ยินพระนเรศร์ว่าดังนั้นก็ชอบอัชฌาไศรย จึ่งว่าเจ้าว่ามานี้เราชอบใจเปนหนักหนา ครั้นสององค์ตรัสดังนั้นแล้ว จึ่งห้ามทหารโยธาทั้งปวงว่าอย่าให้รบพุ่งกันทั้งสิ้น จึ่งตั้งเปนกระบวนปีกซ้ายปีกขวา แล้วจึ่งปักธงไชยลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย แล้วก็ตีฆ้องไชยกลองไชยทั้งสองฝ่าย อันเหล่าทหารก็รำแพนอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนพระนเรศร์กับอุปราชาก็เข้าชนช้างชิงไชย แล้วสู้รบฟันแทงกันด้วยพระแสงของ้าวตามกระบวนเพลงขอ ก็รำรอรับกันประจันสู้กันไปตามเพลง ส่วนช้างพระนเรศร์นั้นเล็ก ก็ถอยทางพลางสู้ชน ครั้นถอยไปอุปราชาจึ่งฟันพระนเรศร์ด้วยพระแสงของ้าว พระนเรศร์จึ่งหลบ ก็ถูกพระมาลาบี้ไปประมาณได้สี่นิ้ว ครั้นช้างพระนเรศร์ถอยไป จึ่งได้ที่ประจันหนึ่ง เรียกว่าหนองขายันแลพุดทรากะแทก ก็ยังมีที่ที่อันนั้นจนทุกวันนี้ ช้างพระนเรศร์นั้นยันต้นพุดทราอันนั้นเข้าได้แล้วจึ่งชนกะแทกขึ้นไป ก็ค้ำคางช้างอุปราชาเข้า ฝ่ายข้างช้างอุปราชาก็เบือนหน้าไป พระนเรศร์ได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ก็ถูกอุปราชาพระเศียรก็ขาดออกไปกับที่บนฅอช้าง กลางช้างจึ่งเข้าประคองไว้ ฝ่ายไทยก็โห่เอาไชยสามลา ก็ดังครื้นเครงอื้ออึงสนั่นไปทั้งป่า ฝ่ายมอญก็กราบถวาย​บังคมอยู่สลอน พระนเรศร์จึ่งชักช้างพระที่นั่งแล้วก็ยืนอยู่ในกลางพล แล้วพระนเรศร์จึ่งกรายกรกวักเรียกเสนารามัญ จึ่งตรัสว่าดูกรสมิงพลรามัญทั้งปวง จงชวนกันกลับไปหงษาเถิด เราไม่เอาโยธา ด้วยธรรมยุทธสัญญากันไว้ ถึงอุปราชากับเราก็ชอบอัชฌาไศรยกันอยู่ ตัวท่านก็ย่อมแจ้งอยู่ในใจ ควรฤๅมาดูหมิ่นกันได้ แต่เรียกว่าขุนชเลยน้อยแล้วมิสา ยังมาจับบ่าสั่นกันได้ เปนเชื้อชาติชายเหมือนกัน เพราะสำคัญว่าเปนชเลย เราเจ็บใจจึ่งคิดการทั้งนี้ จักมาลองฝีมือกันให้ได้ ซึ่งอุปราชาตามมาชิงไชย ก็ตายไปด้วยฝีมือเรา ก็สมดังใจที่เราปราถนาแล้ว เราก็จักกลับคืนไปกรุงศรีอยุทธยาดังเก่า อันเปนที่ถิ่นฐานบ้านเมืองของเรา ท่านจงเอาความทั้งนี้ไปทูลกับพระเจ้าหงษาเถิด แล้วพระนเรศร์ก็กรีพลมายังกรุงศรีอยุทธยา ๚

๏ ฝ่ายรามัญจึ่งเชิญพระศพอุปราชานั้นใส่บนราชยานแล้ว ก็กลับมาสู่ยังเมืองหงษา แล้วก็เข้าไปกราบทูลเรื่องราวซึ่งข้อที่อุปราชากับพระนเรศร์ได้รบกันจนบรรไลยนั้น ส่วนพระเจ้าหงษาก็มิขอฟังความที่เสนามาทูลดังนั้นได้ จึ่งมีพระโองการตรัสสั่งกับนายเพชฌฆาฏ ให้เอาเสนามอญเหล่านี้กับทั้งเจ็ดชั่วโคตรด้วยกันทั้งสิ้น ให้เอาไม้ลำทำตับเข้าแล้วให้ปิ้งเพลิงเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร แล้วให้ทำพลีกรรมเทวดา นายเพชฌฆาฏก็เอาตัวเสนาทั้งปวงไปแล้วก็ทำตามมีรับสั่งทั้งสิ้น ส่วนพระเจ้าหงษาก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐาน จึ่งเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประธม​อยู่ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงษาจึ่งฟันด้วยพระแสงก็ถูกทั้งพระมารดาแลพระราชโอรสทั้งสององค์ ก็ถึงแก่ความพิราไลยไปด้วยกันทั้งสององค์ ด้วยพระเจ้าหงษาทรงพระโกรธยิ่งนัก มิทันที่จะผันผ่อนได้ ๚

๏ ส่วนพระนเรศร์นั้นก็เข้าไปกรุงศรีอยุทธยา ก็เสด็จขึ้นสู่บนพระราชฐาน อันอรรคมหาเสนาบดีแลมหาปโรหิตทั้งปวง จึ่งทำการปราบดาภิเศก แล้วเชื้อเชิญขึ้นให้เสวยราชสมบัติ จึ่งถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้ว จึ่งถวายเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ทั้งห้า แล้วเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้งห้า ทั้งเครื่องราชาอุปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึ่งถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา แล้วฝ่ายกรมในจึ่งถวายพระมเหษีพระนามชื่อนั้น พระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราชได้ ๙๕๒ ปี อันพระเอกาทศรถนั้นก็เปนที่มหาอุปราช อันพระนเรศร์นั้นมีบุญญาธิการแลเดชาอานุภาพกล้าหาญ มีตะบะเดชะเข้มแขงเรี่ยวแรงยิ่งนัก พระนเรศร์จึ่งให้ตกแต่งบ้านเมืองแล้วก็ให้ยกกำแพงก่อออกมา ให้ถึงขอบริมน้ำทั้งรอบกรุง แล้วพระนเรศร์จึ่งสร้างพระองค์หนึ่ง จึ่งถวายนามเรียก พระบรมไตรโลกนารถ สมาธิน่าตัก ๒ ศอก ทำด้วยทองเหลืองหล่ออยู่วัดเจ้าพระแนงเชิง พระนเรศร์ให้ช่างรามัญทั้งปวงทำฝีมือมอญ ฝ่ายมอญจึ่งเรียกวัดพระแนงเชิงอยู่ทางทิศใต้เมือง แล้วจึ่งทำการฉลองเปนหนักหนา ครั้นแล้วพระนเรศร์จึ่งซ่องสุมทำนุบำรุงทหารแลโยธาบรรดาที่มาแต่หงษา อันมีความชอบจงรักภักดี​ต่อพระองค์นั้น พระนเรศร์ก็ประทานบำเหน็จรางวัลทั้งไพร่แลผู้ดีทั้งสิ้น บ้างก็ได้เลื่อนที่เลื่อนทาง แล้วประทานชื่อเสียงเรียงตัวกันทั้งสิ้น อันเหล่าทหารแลพลรบเมื่อครั้งนั้นดั่งหมู่มาร เก่าใหม่หักสท้านทุกบ้านเมือง อันพระแสงของ้าวเล่มนั้นที่ฟันอุปราชหงษา แล้วใช้กลางโยธาแสนหนึ่งนั้น จึ่งตรานามกรชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย กับพระมาลาเบี่ยงบิ่นของพระองค์ อันพระแสงที่ตีช้างมอญล้มลงนั้น จึ่งเรียกว่า (พระแสงขอตีช้างล้ม) พระแสงที่คาบปีนค่ายขึ้นไปนั้น เรียกพระแสงขึ้นค่าย อันพระมาลาแลพระแสง สามองค์นี้อยู่จนเสียกรุง อันช้างทรงที่พระองค์ชนมีไชยกับอุปราชานั้น ชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ เปนมหาคชสาร อันยันคันหนองเมื่อชนช้างกันนั้น เรียกว่าหนองขายันมาจนบัดนี้ อันถิ่นฐานนั้นก็มีอยู่จนทุกวัน อันที่ที่ช้างชนกันที่ต้นพุดทรานั้น เรียกพุดทรากะแทก ก็ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ ๚

๏ ครั้นอยู่มาพระนเรศร์ จึ่งให้ซ่องสุมทหารโยธาแลช้างมันคชสารอาสา แลทหารถืออาวุธเปนอันมาก แล้วพระนเรศร์จึ่งยกทัพไปรบเมืองน้อยใหญ่ จึ่งไปรบเมืองล้านช้าง เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงแสน เมืองจำปาศักดิ อันเมืองลาวเหล่านี้ ฝ่ายทิศเหนือ ยังเมืองปากใต้ เมืองนคร ไชยา ตานี พัทลุง สงขลา ออกไปจนกระทั่งเกาะเมืองเรียก (เรียว?) แดนชวา แลได้เมืองน้อยใหญ่นอกนี้เปนอันมาก ครั้นมีไชยกลับมาแล้ว พระองค์จึ่งตั้งหมู่ทหารต่างๆ คือหมู่ทศโยธา จตุรงคเสนา แลหมู่องครักษ์​จักรนารายน์ แลอาสาหกเหล่า แลอาสายี่ปุ่น อาสาจาม แลอาสาต่างๆ มีกระบวนช้างพิไชยสงคราม แล้วธงไชยกระบี่ธุชครุธธวัช แลพระเสมาธิปัติฉัตรไชยเกาวพ่าย สำหรับกระบวนมหาพิไชยสงคราม ครั้นตั้งพร้อมแล้วจึ่งเกณฑ์ช้างที่นั่งเอก ที่นั่งรอง แลช้างระวางนอกระวางในทั้งข้างซ้ายขวา ทั้งดั้งทั้งกัน มีทั้งช้างเขนช้างแพน อันช้างเหล่านี้มีชื่อต่างๆ จึ่งผูกเครื่องพระที่นั่งนั้นก็ต่างๆ ทั้งช้างพังช้างพลายมีทั้งเขนแลแพน ทั้งปืนน้อยแลปืนใหญ่ ทั้งหอกแลทวนหลังช้างก็ครบตัวช้างทั้งสิ้น อันช้างตัวหนึ่ง มีคนขี่สามคนมีอาวุธครบตัวคน ยังเหล่าม้าพระที่นั่งเอก ที่นั่งรอง โรงนอกโรงใน ม้าซ้ายม้าขวา ทั้งม้าอาสาเกราะทอง ทั้งม้าหอกม้าทวนแลม้าไชย อันม้าเหล่านี้ผูกเครื่องต่างๆ กัน มีทวนธนูแลน่าไม้ทั้งหอกซัดแลเขน อันคนขี่นั้นใส่หมวกใส่เสื้อเสนากุฏ มีอาวุธครบมือกันต่างๆ ทั้งสิ้น แล้วจึ่งถึงเหล่าทหารขี่รถต่างๆ มีทั้งรถดั้งรถกันรถเขนรถแทงแพน อันคนเดินถืออาวุธต่างๆ กัน ยังเหล่าปืนใหญ่เกณฑ์มีชื่อต่าง ๆ อันเหล่าทหารปืนใหญ่นั้นล้วนเหล่าฝรั่งเศสเกณฑ์มีชื่อแลมีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึ่งเกณฑ์ทหารใหญ่ให้เปนยกรบัตร เกียกกาย ปีกซ้าย ปีกขวา ทัพน่า ทัพหลัง ทัพหนุน ทัพรอง ทัพเสือป่าแมวเซา แต่บรรดาอาทมาตแลทหารพลทัพเหล่านี้มีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น เปนคนสี่แสน จึ่งให้พระเอกาทศรถเปนแม่ทัพน่า อันองค์พระนเรศร์นั้นเปนทัพหลวง แล้วจึ่งขึ้นไปจักรบเมืองหงษา จึ่งยกทัพไปทางเมืองพิศณุโลก จึ่งหยุดทัพพล​ไปในป่า แล้วจึ่งตัดไม้ข่มนามตามที่พิไชยสงคราม ครั้นยกไปถึงเมืองเรียว จึ่งเข้ารบลาวเมืองเรียว ฝ่ายลาวเมืองเรียวก็ออกสู้รบต้านทานเปนหนักหนา แล้วตั้งค่ายคูเปนมั่นคง ฝ่ายลาวก็ออกสู้รบประจันกันเปนอันมาก ฝ่ายไทยก็เข้าโจมทัพรุกรบกันกลางแปลง แต่ไทยกับลาวเมืองเรียวนั้นสู้รบกันอยู่เปนหลายวัน ฝ่ายลาวเมืองเรียวนั้นยกทัพมาช่วยเมืองเรียว แต่รบพุ่งกันอยู่นั้นเปนหนักหนา พระนเรศร์กับโยธาทั้งปวง จึ่งเข้าตีประดากันเข้าไป แล้วพระองค์จึ่งจับพระแสงแล้วก็ปีนค่ายขึ้นไป พระเอกาทศรถจึ่งปีนขึ้นไปกับเหล่าโยธาทหารทั้งปวง ก็เข้าได้ในค่ายลาว ก็ฟันแทงลาวล้มตายพ่ายพังไปทั้งสิ้น ครั้นพระนเรศร์มีไชยกับลาวได้เมืองเรียวทั้งสองเมืองแล้ว จึ่งยกทัพไปตีเมืองกงศรีละลายก็ได้ง่ายงาม ครั้นได้เมืองกงศรีละลายแล้ว พระนเรศร์จึ่งยกทัพไปรบเมืองห่าง ฝ่ายลาวเมืองห่างก็ทานสู้รบมิได้ก็แตกหนี พระนเรศร์ก็มีไชยกับเมืองห่าง อันว่าเมืองห่างนี้เปนเมืองบุรีบุราณเขามาช้านานหนักหนา แต่นับกษัตรได้ถึงร้อยชั่ว แต่คราวเมืองปาตลีบุตรนั้นมา มีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา เรียกเขารังรุ้ง แต่ก่อนตั้งพระสาสนา พร้อมด้วยพระรัตนไตรย พระนเรศร์จึ่งทำพิธีเข้าเหยียบกรุงจักให้รุ่งเรืองเดชา อันที่พระพุทธบาทนั้นก็เสด็จไปนมัสการ พระองค์จึ่งเปลื้องเครื่องทรงทั้งสังวาลแลภูษา แลทรงไว้ในรอยพระพุทธบาท แล้วทำสักการบูชาธงธูปเทียนเข้าตอกดอกไม้ มีเครื่องทั้งปวงเปนอันมาก แล้วจึ่งทำการพิธีสมโภชอยู่เจ็ดราตรี จึ่ง​ให้มหาอุปราชเปนทัพน่ายกไปเมืองหงษาก่อน อันองค์พระนเรศร์นั้นเสด็จอยู่เมืองห่าง เพราะเหตุฉนี้จึ่งถวายพระนามเรียกองค์พระนารายน์เมืองห่าง เปนกรุงหยุดพักอยู่กลางทางของพระองค์ ครั้นเสร็จการมงคลพิธีแล้วพระองค์ก็ยกไปเมืองหงษา จึ่งทรงช้างพระที่นั่งสุวรรณปฤษฎางค์ ก็พ้นเมืองทางไกลได้เจ็ดวัน จึ่งพ้นไปน่าเขาเขียวดงตะเคียนใหญ่ จึ่งมีศาลนางเทพารักษ์อยู่ที่ต้นตะเคียนใหญ่ มีอานุภาพศักดิสิทธิยิ่งนัก เสนาจึ่งทูลเชิญเสด็จให้ลงจากช้างพระที่นั่ง เมื่อจักมีเหตุมานั้น พระนเรศร์จึ่งถามเสนาว่า เทพารักษ์นี้เปนเทพารักษ์ผู้ชายฤๅผู้หญิง เสนาจึ่งทูลว่า อันเทพารักษ์เปนนาง ศักดิสิทธิยิ่งนัก พระนเรศร์จึ่งตรัสว่าอันเทพารักษ์นี้เปนแต่นางเทพารักษ์ดอก ถ้าจักเปนเมียเราก็จักได้ เราไม่ลงจากช้าง ครั้นพระนเรศร์ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงช้างพระที่นั่งผ่านน่าศาลนางเทพารักษ์นั้นไป จึ่งเห็นเปนตัวแมลงภู่บินตรงมาน่าช้างแล้วก็เข้าต่อยเอาที่อุณาโลม องค์พระนเรศร์นั้นก็สลบอยู่กับหลังช้างพระที่นั่ง แล้วก็เสด็จสู่สวรรคตที่ตรงน่าเขาเขียว เสนาทั้งปวงจึ่งเชิญพระศพ แล้วก็กลับมายังพลับพลาเมืองห่าง ส่วนพระเอกาทศรถนั้นก็ยกพลไปถึงแดนเมืองหงษา จึ่งตีบ้านกว้านกวาดได้มอญลาวหญิงชายเปนอันมาก แล้วจักยกเข้าตีเมืองหงษา ก็พอเสนาอำมาตย์ให้ม้าใช้เร่งรีบไปทูลความพระนเรศร์สวรรคต พระองค์ครั้นทราบดั่งนั้นก็เร่งรีบยกพลโยธาทัพกลับมายังเมืองห่าง ครั้นถึงแล้วก็เสด็จเข้าไปสู่ยังสถานพระเชษฐา จึ่งกอดพระบาทพระพี่ยาเข้าแล้ว ก็ทรงพระ​กรรแสงโศกาอาดูรร่ำไรไปต่าง ๆ พระองค์ก็กอดพระเชษฐาเข้าแล้วก็สลบลงอยู่กับที่ แต่ทรงพระกรรแสงแล้วสลบไปถึงสามครั้ง ครั้นพระองค์ก็ได้สมฤดีคืนมาแล้ว พระองค์จึ่งมีพระบัณฑูรตรัสสั่งให้หาพระโกษฐทองทั้งสองใบที่ใส่พระศพ แล้วจึ่งเชิญขึ้นสู่บนพระราชรถ แล้วก็แห่แหนเปนกระบวนมหาพยุหบาตราอย่างใหญ่มาจนถึงกรุงอยุทธยาธานี แล้วจึ่งสั่งให้ทำพระเมรุทองอันสูงใหญ่ยิ่งนัก อันการพระบรมศพครั้งนั้นเปนการใหญ่หลวงหนักหนา เกินที่เกินทางแต่ก่อนมา ทั้งเครื่องไทยทานก็มากมายหนักหนา แล้วให้ชุมนุมกษัตรทุกประการอันน้อยใหญ่ทั้งสิ้น จึ่งเชิญพระศพแห่แหนไปแล้ว จึ่งถวายพระเพลิงที่วัดสบสวรรค์ ๚

๏ อันพระนเรศร์นั้นวันพฤหัศบดีได้ครองกรุงมาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๙๖๐ ปี พระชนม์ได้ ๑๕ ปี อยู่ในสมบัติได้ ๒๐ เปน ๓๕ ปี สวรรคต เมื่อสวรรคตนั้นจุลศักราชได้ ๙๖๐ ปีสัมฤทธิศก ๚

๏ ครั้นพระนเรศร์สวรรคตแล้ว พระเอกาทศรถจึ่งครอบครองกรุงฉลองพระเชษฐาสืบไป จึ่งทำการราชาภิเศกอันครบครัน จึ่งถวายพระมเหษี พระนามชื่อพระสวัสดี พระองค์จึ่งสร้างวัดไว้ที่ถวายพระเพลิงพระนเรศร์ แล้วจึ่งสมมุตินามเรียกวัดสบสวรรค์ พระองค์จึ่งสร้างวัดไว้ที่สวนฉลององค์พระเชษฐาวัดหนึ่ง จึ่งสมมุตินามที่เรียกว่าวัดวรเชษฐาราม แล้วพระองค์จึ่งถวายที่เขตรอาราม จึ่งจาฤกไว้ในแผ่นศิลา อันเหล่าบรรดาทหารทั้งนั้น พระองค์ปูน​บำเหน็จหนักหนา ให้เปนชั้นหลั่นกันลงมา ทั้งบุตรแลภรรยาได้ดี อันทหารห้าร้อยคนเดิมนั้นพระองค์เพิ่มบำเหน็จมีภาษี ให้ทั้งโคควายไร่นาแลที่ถิ่นฐานบ้านเรือน ทั้งทาสีทาษา แล้วให้มีตราพระราชสีห์คุ้มห้ามด่านขนอนอากรทั้งปวงเบ็ดเสร็จ มิให้เบิกจ่ายทุกกระทรวงจนต้องคดีโรงศาล ประทานให้ทั้งพิไนยหลวง ที่พระองค์ประทานทั้งปวงนี้มิให้ล่วงพระโองการที่พระเชษฐาสั่งไว้ อันเมืองกรุงศรีอยุทธยานี้มีมอญแลลาวมากมาแต่ครั้งนั้น จึ่งเอาจ่ายในการเมือง แล้วให้เลี้ยงช้างทั้งกรุงทั้งหมู่โขลงแล่น มียศทั้งสิ้น ก็มีมาแต่ครั้งนั้น อันมอญแลลาวเหล่าชเลยจึ่งมีหนักหนา ด้วยพระนเรศร์เธอกวาดต้อนเอามาทุกบ้านเมือง จึ่งมีมากมาแต่ครั้งนั้น กรุงศรีอยุทธยาเมื่อครั้งนั้น มีเดชาอานุภาพเลื่องฤๅชาปรากฎหนักหนา แล้วพระองค์จึ่งสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึ่งสมมุตินามเรียกพระศรีสรรเพชญ์ ใหญ่สูงสิบแปดศอก หล่อด้วยสังกะสีเปนชั้นใน ข้างนอกนั้นหุ้มทองคำ หนักทองร้อยเจ็ดสิบสามชั่งที่จำได้ แล้วพระองค์จึ่งทำเปนรูปพระเชษฐาธิราช คือรูปพระนเรศร์ จึ่งเอาไว้ในโรงแสงขวา แล้วพระองค์จึ่งสร้างปราสาท ชื่อบรรยงก์รัตนาศน์ แล้วจึ่งขุดสระล้อมรอบ แล้วจึ่งสร้างวัดราชบุรณะวัดหนึ่ง อยู่ในกรุงทิศตวันออกเฉียงใต้ วัง วัดโพธารามวัดหนึ่ง อยู่นอกกรุงทิศตวันตกเฉียงเหนือเมือง แล้วจึ่งสร้างพระเจดีย์เรียกพระมหาคาราเจดีย์องค์หนึ่ง อยู่วัดกุฎีดาวนอกเมืองอยู่ทิศตวันออก อันพระเอกาทศรถนั้น รักพระนเรศร์เชษฐายิ่งนัก อันดาบทรงของพระนเรศร์ที่คาบแล้วปีน​ค่ายขึ้นไปในวันนั้น ก็ยังปรากฎเปนรอยพระทนต์คาบนั้นมีอยู่ตัวคาบ อันด้ามนั้นทำด้วยนอแล้วประดับพลอยแดงอยู่ในโรงแสงซ้าย อันชาวแสงนั้นเชิญออกชำระที่ใดแม้นมิบาดก็ไม่ได้ อันพระแสงองค์นี้กินเลือดคนอยู่อัตราแต่ไรมา อยู่จนเสียกรุงเมื่อครั้งนี้ อันพระแสงง้าวที่ฟันอุปราชาขาดฅอช้าง ซื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่ายนั้น ก็เอาไว้ในโรงแสงซ้าย อันพระแสงที่ตีช้างมอญล้มนั้น เรียกพระแสงช้างตีล้มก็ไว้ในโรงแสงซ้าย อันพระมาลาที่อุปราชฟันถูกเข้าบิ่นไปนั้น ก็ไว้ในโรงแสงซ้าย อันรูปพระนเรศร์นั้นไว้ในโรงแสงขวา อันพระเอกาทศรถนั้น จักได้ไปรบพุ่งบ้านใดเมืองใดนั้นหามิได้ ตั้งอยู่ในธรรมสิบประการ ทั้งอาณาประชาราษฎรก็อยู่เย็นเปนศุข ทั้งสมณชีพราหมณ์ก็จำเริญศีลาบารมีก็เปนศุข อันพระเอกาทศรถนั้น ได้เสวยราชสมบัติมาแต่เมื่อจุลศักราช ๙๖๐ ปี พระชนม์ได้ ๒๐ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๑๙ ปี ๓๙ ปีสวรรคต เมื่อจุลศักราชได้ถึง ๘๗๙ ปี ๚

๏ ครั้นอยู่หลายชั่วกษัตรมา จึ่งมีกษัตรองค์หนึ่งเปนเชื้อพระสุธรรมราช ได้ครองราชสมบัติต่อมาในกรุงศรีอยุทธยา จึ่งอรรคมหาเสนาบดีแลมหาปโรหิตผู้ใหญ่แลเสนาทั้งปวง จึ่งตั้งการราชาภิเศกตามประเพณีกษัตริย์แต่ก่อนมา จึ่งถวายพระนามเรียกว่าพระไตรโลกนารถ พระองค์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม อาณาราษฎรทั้งปวงจึ่งเรียกว่า พระเจ้าทรงธรรมอันมหาประเสริฐ อันพระอรรคมเหษีนั้นพระนามชื่อพระจันทชายา อันราชมเหษีนั้นพระนามเรียกพระขัติยเทวี จึ่งมีพระราชธิดาในพระอรรคมเหษีนั้นสี่องค์ ที่​เปนพระราชธิดาเดิมนั้นพระนามเรียกว่า พระประทุมาองค์หนึ่ง แล้วถัดมาชื่อพระสุริยา ถัดมาชื่อพระจันทเทวี อันพระธิดาน้อยนั้นชื่อพระศิริกัลยา อันในพระอรรคมเหษีนั้นสี่องค์ จึ่งมีในราชมเหษีนั้นก็สี่องค์ องค์พี่นางนั้นชื่ออุบลเทวี ถัดมานั้นชื่อพระประภาวดี ถัดมาชื่อพระไวยบุตรี สุดพระครรภ์นั้นชื่อพระกนิษฐาเทวี ในมเหษีซ้ายนั้นสี่องค์ จึ่งเปนแปดองค์ด้วยกันทั้งสิ้น อันพระไตรโลกนารถนั้นมิได้มีพระราชบุตรเปนกุมาร มีแต่พระราชนัดดาองค์หนึ่ง เปนหน่อเนื้อฝ่ายข้างพระมารดา ชื่อพระสุริยวงษ์กุมาร อันพระสุริยวงษ์กุมารนั้นแต่เมื่อยังเยาว์อยู่นั้นเห็นเปนอัศจรรย์ยิ่งนัก จักเล่นกับทารกทั้งปวงก็ปลาดในกิริยาอาการ อันจอมปลวกที่เล่นนั้นทำเปนอาศน์แล้วให้เด็ก ๆ เข้ามาเฝ้าเล่า ทำเปนขุนนาง แล้วจึ่งว่าราชการงานกรุง ทำปลาดต่าง ๆ เห็นเปนฉนี้มีอัศจรรย์ยิ่งนัก อันพระไตรโลกนารถนั้นเธอทรงทศพิธราชธรรมหนักหนา พระองค์ตั้งอยู่ในศีลาแลอุโบสถศีลมิได้ขาด แล้วพระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสิบประการ พระองค์ชำนาญในคันถธุระ ทรงบำรุงพระสาสนาโดยสุจริต ในเดือนหนึ่งสี่อุโบสถ พระองค์บำรุงศีลาพรหมจรรย์มิได้ขาด แล้วงหาฝ่ายสวรรค์แลการพระนิพพาน พระองค์มิได้รอนสัตว์ให้ตักไษย เปนราชประเพณีจำเปนจำเสด็จออกพระโรง แล้วว่าราชการตามกิจประเพณีกษัตรแต่ก่อนมา ใครชอบก็ประทานรางวัล ใครผิดก็ให้พิพากษาโทษตามกฎพระไอยการ ถ้าโทษใหญ่แลลูกขุนพิพากษาใส่ในพระไอยการมา พระองค์ขอโทษไว้มิให้ตาย พระ​องค์จึ่งเอาพระราชนัดดา ที่ชื่อสุริยวงษ์กุมารนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชฐาน จึ่งประทานชื่อให้เรียกว่าเจ้าพระยาสุริยวงษ์ ว่าที่จักรีกระลาโหม กรมท่า แล้วประทานเครื่องสูงต่างๆ มีพานทองสองชั้น กระโถนทอง ทั้งพระแสงก็ประทานมา นั่งแคร่จมูกสิงห์ พิงหมอนที่บนศาลกลางชุมนุมที่ปฤกษา อันที่เฝ้านั้นอยู่น่าเสนา ปูพรมมีผ้าลาดบน ขี่เรือเอกไชยเข้าเฝ้าอัตรา แล้วประทานอาญาสิทธิเปนต้น มีทนายมหาดเล็กนุ่งสองปักอัตรา ให้รับพระประสาทในบาดหมาย แล้วลอยชายเข้าเฝ้าฝ่ายน่า อันตำแหน่งนั้นที่เจ้าพระยามหาอุปราช เปนสิทธิ์ขาดอยู่แต่ในผู้เดียวนี้ อันพระองค์นั้นมิได้เปนภารธุระในกรุง พระองค์แสวงหาแต่ทางสวรรค์แลนิพพาน พระองค์ชำนาญในการพระธรรมแลคันถธุระ วิปัสนาธุระ ทั้งพระสูตรแลพระปรมัตถ์ พระองค์ก็บอกหนังสือพระสงฆ์อยู่อัตรา พระองค์ทรงแต่งมหาเวสสันตรชาฎกมาแต่เมื่อครั้งนั้น แล้วจึ่งทรงแต่งกาพย์โคลงฉันท์แลคำพากย์ก็ได้ปลาดต่าง ๆ ทั้งสวดสำรวจประสานเสียงโอดพันคร่ำครวญต่างๆ ก็มีมาแต่ครั้งนั้น พระองค์ก็แต่งเปนศัพท์แสงเปนคำหลวง แลพระราชนิพนธ์ก็มีมาแต่ครั้งนั้น อันบรรดากษัตรทั้งปวงแต่ก่อนมา เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาททุกปีมิได้ขาด พระไตรโลกนารถนั้นเสด็จขึ้นไปนมัสการแต่ครั้งเดียวก็มิได้เสด็จขึ้นไปอิกเปนอันขาด ด้วยทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวงที่ไปตามเสด็จนั้น ได้ลำบากหาบคอนเหนื่อยยาก พระองค์เมตตาแก่อาณาราษฎรทั้งปวงจักต้องลำบาก จึ่งไม่​เสด็จขึ้นไปอิก พระองค์นี้ทรงพระเมตตากับอาณาราษฎรยิ่งนัก อันอาณาราษฎรเมื่อครั้งนั้นได้อยู่เย็นเปนศุขทั้งกรุงแลทั้งขอบขัณฑเสมาทั้งสิ้น อันเครื่องอุปโภคที่มีในพระราชฐานอันที่พระองค์จักทรงนั้น พระองค์บูชาพระรัตนไตรยก่อนแล้ว จึ่งไถ่เอาตามค่าแล้วจึ่งทรงจนเรือพระที่นั่งที่ทรงนั้น พระองค์เชิญเสด็จพระขึ้นทรงก่อนแล้ว พระองค์จึ่งทรง อันการสิ่งนี้เปนนิจสินมิได้ขาด ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่ง จึ่งมีคนร้ายเปนเสนาข้างฝ่ายทหารขวา ครั้นสำเภายี่ปุ่นเข้ามาค้าขาย แต่บรรดาสินด้าทั้งปวงที่มีมา ขุนนางผู้นั้นเข้ากวาดกว้านจำหน่ายเอาเองว่าเปนภาษีหลวง แล้วจึ่งเอาเงินทองแดงแต่งไปฉ้อฬ่อลวงนั้น อันยี่ปุ่นพ่อค้านั้นก็สำคัญสัญญาเอาเปนมั่นว่าพระองค์คิดกันมาทำดั่งนี้ ยี่ปุ่นจึ่งแต่งทหารสี่คนให้ลอบเข้าไปในกรุงแล้วจึ่งเข้าไปในพระราชวัง วันนั้นพระองค์เสด็จอยู่ที่น่าจักรพรรดิพิมานไชย ทรงฟังสวดสำรวจคำหลวงอยู่ ยี่ปุ่นมันล่วงเข้าไปได้จนถึงพระองค์ ผู้ใดมิได้ทักทาย ครั้นถึงยี่ปุ่นถอดกฤช อันกฤชนั้นก็ติดฝักอยู่ ถอดออกมิได้ดังใจหมาย ก็ยืนจังงังอยู่ที่ตำบลอันนั้น ก็พอพระองค์ทอดพระเนตรแลมาเห็นยี่ปุ่นสี่คนอยู่ที่นั้น พระองค์จึ่งตวาดด้วยสีหนาทภูมี อันยี่ปุ่นทั้งสี่คนนั้นก็ซวนซบสลบอยู่ทันที พระองค์จึ่งให้จับตัวแล้วไต่ถาม ขุนล่ามจึ่งแปลคำทันที ญี่ปุนจึ่งว่าเอาเงินทองแดงแต่งไปลวงกันบอกว่าเงินดีที่ในคลัง เปนกษัตรมาฉ้อพ่อค้า ยี่ปุ่นจึ่งขัดอัชฌาไศรย อันคนดีที่มาสี่คนบัดนี้จักมาสังหารพระองค์มรณา พระองค์ได้ฟังคำสำนวนยี่ปุ่นว่ากล่าวให้การดังนี้ก็ทรงพระ​สรวลแล้ว จึ่งตรัสสั่งให้หาเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์เข้ามาบัดนี้ จึ่งสั่งให้พิจารณาหาตัวคนร้าย แล้วให้เอาเงินดีตีให้มัน อย่าให้ลงโทษทัณฑ์ชีวิตรให้ฉิบหาย ถึงยี่ปุ่นก็อย่าทำมันให้วุ่นวาย มันไม่ร้ายเราร้ายไปฉ้อมัน จึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์รับสั่งแล้วก็ลงมาขมีขมัน จึ่งเรียกยี่ปุ่นทั้งสี่คนออกมาทันใด ก็ส่งตัวให้นายกำปั่นทันที อันที่ฉ้อยี่ปุ่นนั้นก็ลงโทษทัณฑ์ประจานตามที่ แล้วให้ยี่ปุ่นรู้ว่าคนนี้เปนคนร้าย แล้วก็ปล่อยเสียดุจมีพระโองการ อันที่ผิดทั้งนี้ควรที่จักทำโทษ พระองค์ก็โปรดมิได้สังหารชีวิตรให้ฉิบหาย พระองค์ถือศีลาจารสมาทานอธิวาศนขันตีบารมี อันว่ากรุงศรีอยุทธยาเมื่อครั้งนั้น ก็สำเริงสำราญเปนศุขทั้งกรุง แล้วพระองค์จึ่งสร้างวัดพุทไธสวรรย์วัดหนึ่ง วัดธรรมมิกราชวัดหนึ่ง จึ่งปฏิสังขรณ์อารามในเมืองพิไชยบุรี คือวัดพระรัตนมหาธาตุ แล้วจึ่งสร้างปราสาทแว่นฟ้าที่น่าจักรวรรดิ ชื่อจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท สำหรับในพระวรรษาสามเดือนนั้น เสด็จออกไปศึกษาบอกหนังสือพระสงฆ์มิได้ขาด อันนอกพระวรรษานั้นแต่วันพระ พระองค์เคล่าคล่องว่องไวที่ในธรรม พระองค์ชำนิชำนาญเปนหนักหนา อันพระไตรโลกนารถนั้นวันเสาร์ได้เสวยราชสมบัติมา แต่เมื่อจุลศักราชได้ ๙๗๙ ปีมเสงเดือนหก พระชนม์ได้ ๒๐ ปี อยู่ในสมบัติได้ ๑๙ ปี ๓๙ ปี สวรรคต เมื่อจุลศักราช ๙๙๘ ปี ๚

๏ ครั้นพระไตรโลกนารถเสด็จสู่สวรรคตแล้ว เสนาทั้งปวงจึ่งพร้อมใจกันทั้งสิ้นแล้ว จึ่งเชิญเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ขึ้นครองกรุง​แล้วจึ่งตั้งทำการราชาภิเศกตามประเพณีกษัตรแต่ก่อนๆ จึ่งถวายพระนามเรียกว่า พระรามาธิเบศร์ พระองค์จึ่งเอาพระราชธิดาของพระไตรโลกนารถมาตั้งเปนมเหษีทั้งแปดองค์ อันพระราชธิดาในพระอรรคมเหษีขวาสี่องค์นั้นตั้งเปนฝ่ายขวา อันพระราชธิดาในราชมเหษีซ้ายสี่องค์นั้น จึ่งเอามาตั้งเปนฝ่ายซ้าย อันพระอรรคมเหษีใหญ่นั้น พระนามเรียกพระประทุม จึ่งถัดมานั้นชื่อพระสุริยา ถัดมาองค์หนึ่งชื่อพระจันทเทวี แล้วถัดมาชื่อพระศิริกัลยา ฝ่ายขวาสี่องค์ด้วยกัน ยังฝ่ายซ้ายสี่องค์นั้น พระนามชื่อพระอุบลเทวีองค์หนึ่ง พระประภาวดีองค์หนึ่ง ถัดมาชื่อพระไวยบุตรีองค์หนึ่ง อันสุดพระครรภ์นั้นชื่อพระกนิษฐาเทวี พระราชธิดาฝ่ายซ้ายสี่ จึ่งเปนแปดองค์ด้วยกัน อันพระมเหษีขวาที่ชื่อพระประทุมานั้น มีพระราชโอรสสี่องค์ อันพระเชษฐานั้นชื่อพระองค์ไชย แล้วพระไตรภูวนารถ แล้วพระอภัยชาติ แล้วพระไชยาทิตย์ ในอรรคมเหษีขวาสี่องค์ อันในพระราชมเหษี ที่พระนามเรียกว่าพระอุบลเทวีนั้น มีพระราชโอรสสามองค์ อันพระเชษฐานั้นชื่อพระขัติยวงษา แล้วพระไตรจักร องค์สุดพระครรภ์นั้น ชื่อพระสุรินทกุมาร ทั้งสองฝ่ายจึ่งเปนเจ็ดองค์ด้วยกันทั้งสิ้น ๚

5  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 21 ชั่วโมงที่แล้ว

เว็บไซต์ กรมศิลปากร (ที่มาภาพ)


คำนำ

​ด้วยนายพลตรี พระยาเทพาธิบดี (เจิ่น บุนนาค) จ.ม, ท.จ, ภ.ช, ว.ป.ร, ๓ ร.จ.ม. ตำแหน่งสมุหพระธรรมนูญทหารบก จะทำการปลงศพสนองคุณ นายพันตรี หลวงพิทักษ์นฤเบศร์ (จร บุนนาค) ผู้บิดา มาแจ้งความต่อกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณว่า มีความศรัทธาจะสร้างหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เปนของแจกในงานศพเรื่องหนึ่ง ขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องให้ แลพอใจจะให้เปนเรื่องข้างโบราณคดี เมื่อข้าพเจ้ารับเลือกเรื่องหนังสือนึกได้ถึงเรื่องโบราณคดีเรื่องหนึ่งซึ่งกรรมการหอพระสมุดฯ อยากจะให้พิมพ์มานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาศ คือหนังสือเก่าเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด หนังสือเรื่องนี้เปนที่นับถือของท่านผู้ศึกษาโบราณคดีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ว่า เปนถ้อยคำของท่านผู้รู้แบบแผนการงานครั้งกรุงเก่าได้บอกให้จดไว้ ต้นฉบับเดิมจะมีกี่เล่มทราบไม่ได้ ได้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธเปนครั้งแรก เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้น เปนที่นิยมนับถือกันครั้งหนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ด้วยยังไม่มีใครได้เห็นฉบับเดิมอยู่โดยมาก แต่ครั้นล่วงกาลนานมา เมื่อมีผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นใหม่เอาใจใส่สอบสวนหนังสือมากขึ้น จึงตรวจเห็นว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์นั้น มีผู้อื่นได้แต่งเติมแทรกแซงลงใหม่มาก ไม่ใช่ตัวฉบับเดิมครั้งรัชกาลที่ ๔ แลยังมีข้อปัณหาต่อไปถึงเรื่องหนังสือที่เรียกว่า คำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเอง ได้เคยวินิจฉัยกันในโบราณคดีสโมสร ข้าพเจ้าเองเปนผู้นำปัณหาขึ้นกราบบังคมทูลแด่​พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สงไสยว่าหนังสือเรื่องนี้จะเปนหนังสือที่แต่งขึ้นในเมืองไทย มิใช่คำของขุนหลวงหาวัด (คือพระเจ้าอุทุมพรราชา ที่ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุทธยาต่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ) ไปให้การแก่พม่า เหตุที่ทำให้สงไสยนั้น

ข้อ ๑ คือ เรื่องราวทั้งพงษาวดารแลทำเนียบต่างๆ ที่เล่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ เมื่อมาสอบสวนดูในชั้นนี้ รู้ได้เปนแน่ว่า ผิดความจริงในที่สำคัญหลายแห่งมาก ถ้าเปนคำให้การขุนหลวงหาวัด พระองค์ย่อมทรงทราบราชการบ้านเมือง จะเล่าผิดอย่างนั้นไม่ได้

ข้อ ๒ ลักษณถามคำให้การชาวต่างประเทศถึงการบ้านเมืองนั้นๆ เปนประเพณีที่มีมาแต่ก่อนเหมือนกันทุกประเทศ คือถ้าได้ชนต่างชาติมาไว้ในอำนาจก็ดี ฤๅแม้ชนชาติเดียวกันเองได้ไปเมืองต่างประเทศใดมาก็ดี ถ้าเห็นว่าได้รู้เห็นการงานบ้านเมืองนั้น ๆ ก็เรียกตัวมาให้ข้าราชการซึ่งเปนเจ้าน่าที่หลาย ๆ คนพร้อมกันเปนทำนองกรรมการซักไซ้ไต่ถาม แลจดคำให้การไว้เปนความรู้ในราชการ ในเมืองไทยเราก็เคยถามคำให้การอย่างนี้ เช่นถามแม่ทัพนายกองพม่าที่เราจับตัวมาได้เปนต้น เรื่องพงษาวดารพม่าที่ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร โดยมากรู้ได้ด้วยกระบวนถามคำให้การอย่างว่านี้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ากรุงธนบุรีตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพม่าได้ไทยไป พระเจ้าอังวะก็คงจะตั้งข้าราชการ​พม่า ซึ่งรู้แบบแผนขนบธรรมเนียมเปนกรรมการถามคำให้การทำนองเดียวกัน แต่การถามคำให้การอย่างนี้ ผู้ถามกับผู้ตอบพูดไม่เข้าใจภาษากัน ต้องใช้ล่ามแปลทั้งคำถามแลคำตอบ แล้วแต่ล่ามจะแปลว่ากะไร เมื่อล่ามแปลได้ความอย่างไร ก็จดลงเปนภาษาพม่าอย่างเราจดคำให้การพม่าลงเปนภาษาไทย เพราะฉนั้นหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ถ้ามีจริงต้นฉบับเดิมคงเปนภาษาพม่า มิใช่ภาษาไทยที่หมอสมิธเอามาพิมพ์

ข้อ ๓ ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ถ้ามีคงจะมีอยู่ในหอหลวงเมืองพม่า ถ้าจะมีนอกจากฉบับหอหลวง ก็คงจะมีสำเนาอยู่ในกระทรวงเสนาบดีที่ได้มีน่าที่ถามคำให้การ เช่นกระทรวงมหาดไทยฤๅกระทรวงกระลาโหมของพม่า ว่าอย่างมากจะมีไม่เกิน ๔-๕ ฉบับ ทำไมจึงจะเข้ามาได้ถึงเมืองไทย แลมากลายเปนภาษาไทยอย่างวิปลาศเลอะเทอะเช่นหมอสมิธพิมพ์ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงสงไสยว่า หนังสือที่เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นี้ น่าจะเปนเรื่องราวที่ชาวกรุงเก่าผู้มีอายุอยู่มาจนในกรุงรัตนโกสินทร เรียบเรียงขึ้นไว้ตามรู้ตามเห็น ต่อมาเมื่อไม่รู้ว่าใครแต่ง จึงไปเหมาให้เปนคำให้การของขุนหลวงหาวัดดอกกระมัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้ว่า หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้น ฉบับเดิมจะได้มาอย่างไรแลได้มาเมื่อไรไม่ทรงทราบ แต่ฉบับหอหลวงของเรามีจริง ได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน แต่ไม่​เหมือนฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ แลทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อว่าเปนหนังสือมีหลักฐาน ในพระราชนิพนธ์หลายแห่ง คือในจาฤกฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าเปนต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้พระนามพระเจ้าแผ่นดินตามที่เรียกในหนังสือคำให้การของขุนหลวงหาวัดหลายพระองค์ หนังสือเรื่องนี้ทรงพระราชดำริห์ว่า ฉบับเดิมคงมีหลักฐานอยู่อย่างไรเปนแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเชื่อถือ แต่ฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ มีผู้ใดได้แทรกแซงเพิ่มเติมจนเลอะเทอะเต็มทีเสียแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดไว้ดังนี้

ครั้นต่อมาถึงรัชกาลปัตยุบันนี้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดที่เปนตัวฉบับหลวงมาเล่มสมุดไทย ๑ ลายมืออาลักษณเขียนตัวรงรู้ได้เปนแน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ ๔ ชื่อเรื่องก็ไม่ได้เรียกว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เรียกว่า “พระราชพงษาวดารแปลจากภาษารามัญ” ต่อมาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ประทานสมุดหนังสือเรื่องต่าง ๆ อันเปนของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร มีเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดอยู่ในหนังสือพวกนั้น ๔ เล่ม มีรอยตกแก้ เข้าใจว่าเปนลายพระหัดถ์กรมหลวงวงษา ฯ ได้เอาฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ ได้มาเหล่านี้สอบกับฉบับที่​หมอสมิธพิมพ์ ก็ปรากฎแน่นอนว่า ฉบับพิมพ์นั้นมีผู้ใดแทรกแซงข้อความลง ตรงตามที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสัง ในชั้นแรกจึงรู้ความได้เพียงว่าหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีฉบับเดิมจริง แลฉบับเดิมแปลมาจากภาษารามัญ

ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ กรรมการหอพระสมุดฯ ได้ทราบความว่า มีหนังสือพงษาวดารไทยภาษาพม่าอยู่ในหอสมุดของรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้งฉบับ ๑ ได้ขอคัดมาแปลออกเปนภาษาไทย ได้ความว่าหนังสือเรื่องนั้น เปนเรื่องเดียวกับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเอง ได้ความมาจากเมืองพม่าว่า เมื่อเสียกรุงเก่า พระเจ้าอังวะจับพระเจ้าอุทุมพรแลข้าราชการไทยไปได้ ให้ถามคำให้การถึงพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมเมืองไทย จดเก็บรักษาไว้ในหอหลวง อังกฤษได้ต้นฉบับมาเมื่อตีเมืองมันดะเล หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับแปลจากภาษาพม่า พระยาโชดึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) ได้พิมพ์แจกในงานศพท่านอิ่มผู้มารดาแล้ว เปนอันได้ความอิกชั้น ๑ ว่า เรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีมูลเปนความจริง แลรู้ได้ว่าเหตุใดฉบับเดิมเรื่องราวจึงคลาศเคลื่อน เพราะพวกไทยที่พม่าได้ตัวไปให้การได้ไปแต่ตัว ให้การเพียงเท่าที่จำได้ ทั้งเรื่องพระราชพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ให้การหลายคนด้วยกัน รู้มากบ้างน้อยบ้าง ซ้ำขุนนางพม่าซึ่งไม่รู้อะไรเลย เอาไปรวบรวมเข้าเรื่องอิกชั้น ๑ กรรมการจึงได้ให้เรียกชื่อหนังสือฉบับที่พระยาโชดึก ฯ พิมพ์ว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า”

​เดี๋ยวนี้ในเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด เปนอันได้พิมพ์แล้ว ๒ ฉบับ คือฉบับที่แปลจากภาษาพม่าฉบับ ๑ กับฉบับที่แปลจากภาษารามัญ แต่ผู้ใดในไทยเราได้เอาไปแก้ไขแทรกแซงเสียจนเลอะเทอะนั้นฉบับ ๑ แต่ฉบับที่ถูกต้องตามที่แปลจากภาษารามัญยังหาได้พิมพ์ไม่ จึงเห็นว่ายังบกพร่องอยู่ แลอยากจะให้พิมพ์ให้บรรดาผู้ศึกษาโบราณคดีเวลานี้ได้สอบสวนทั่วกัน ถ้าหากพระยาเทพาธิบดีพิมพ์หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๔ จะเปนการให้เกิดประโยชน์ในทางโบราณคดีถึง ๒ ประการ คือ ทำหนังสือซึ่งยังไม่เคยพิมพ์ให้ได้พิมพ์รู้กันแพร่หลาย แลรักษาฉบับไว้ให้ถาวรประการ ๑ ช่วยโบราณคดีสโมสร ที่ทำให้การวินิจฉัยหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดสำเร็จบริบูรณ์ประการ ๑ ข้าพเจ้าได้ชี้แจงความเห็นทั้งนี้แก่พระยาเทพาธิบดี พระยาเทพาธิบดีเห็นชอบด้วย จึงได้รับพิมพ์สมุดเล่มนี้

กรรมการมีความเสียดายอยู่น่อย ที่หาหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด ความฉบับหลวงครั้งรัชกาลที่ ๔ ไม่ได้ครบทีเดียว เพราะหนังสือเดิมมีน้อย แลแตกกระจัดกระจายไปเสียหมด ตรงไหนขาด ได้เอาความที่แปลจกฉบับหลวงภาษาพม่ามาลงไว้แทน แลได้บอกไว้เปนสำคัญทุกแห่ง

ข้าพเจ้ามีความยินดีเปนส่วนตัวที่ได้โอกาศจัดการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ช่วยในงานศพหลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ด้วยได้เปนเพื่อนทหารมากับข้าพเจ้า ตั้งแต่รับราชการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็กด้วยกัน ​ได้คุ้นเคยแลชอบอัชฌาไศรยกันมาแต่ครั้งนั้น หลวงพิทักษ์นฤเบศร์มีประวัติดังนี้

หลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ชื่อจร บุนนาค เปนบุตรพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ แย้ม เปนหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เกิดวัน ๕ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ ปีขาลฉศก จุลศักราช ๑๒๑๖ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๗ ที่บ้านบิดาตำบลปากคลองขนอน จังหวัดธนบุรี

เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยกับนายสิน ต่อมาได้ศึกษาวิชาเลขแลวิชาหนังสือไทยในสำนักพระสมุห์หลำวัดพิไชยญาติการาม

ปีฉลูสัปตศก พ.ศ.๒๔๐๘ ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศษในรัชกาลที่ ๔ อยู่เวรฤทธิ

ถึงรัชกาลที่ ๕ ปีมะเมียโทศก พ.ศ.๒๔๑๓ รับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้เปนพลทหารอยู่ในหมวดที่ ๓ ได้ศึกษาวิชาทหารในสำนักนายพันตรี หลวงรัตนรณยุทธ (เล็ก)

ปีมะแมตรีศก พ.ศ.๒๔๑๔ ได้รับยศทหารเปนนายสิบโท ในกองร้อยที่ ๕

ปีวอกจัตวาศก พ.ศ.๒๔๑๕ ได้เลื่อนยศทหารเปนนายสิบเอก คงรับราชการอยู่ในกองนั้น

ปีจอฉศก พ.ศ.๒๔๑๗ ได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทเปนภิกษุ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) แต่เมื่อยังดำรงสมณะศักดิในที่​พระพิมลธรรม วัดโสมนัศวิหาร เปนพระอุปัชฌาย์ พระพรหมมุนี (เหมือน) แต่ยังเปนพระอริยมุนี วัดบรมนิวาศ พระพุทธวิริยากร (น้อย) วัดพิไชยญาติการาม เปนพระกรรมวาจาจารย์ อยู่ในสำนักวัดพิไชยญาติการามพรรษาหนึ่ง

ปีขาลสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเปนนายร้อยตรีประจำกองร้อยที่ ๕ แลได้ไปศึกษาวิชาแผนที่ในสำนักพระวิภาคภูวดล (แมกกาตี) ณพระราชวังบางปอิน

ปีมะเมียจัตวาศก พ.ศ.๒๔๒๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเลื่อนขึ้นเปนนายร้อยโท ประจำกองร้อยที่ ๕ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์นั้น

ปีชวดสัมฤทธิศก พ.ศ.๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเลื่อนขึ้นเปนนายร้อยเอกในกรมทหารบก แลย้ายมารับราชการในตำแหน่งปลัดกอง ๆ ทหารราบนอก “รักษาพระองค์”

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบันดาศักดิเปนหลวงพิทักษ์นฤเบศร์ ศักดินา ๖๐๐

ปีมะเสง พ.ศ.๒๔๓๖ ได้ว่าที่นายพันตรี แลย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารเมืองนครนายก

ณเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ นั้น ได้ไปราชการทัพ แลรับราชการในตำแหน่งปลัดกองทัพในกองทัพพระยาอนุชิตชาญไชย (สาย สิงห์เสนี) แต่ยังเปนนายพลจัตวา พระพิเรนทรเทพ ยกไปทางเขตรลาวกาว

​ณวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๗ กองทัพกลับมาถึงกรุงเทพฯ คงมียศเปนว่าที่นายพันตรี รับราชการในตำแหน่งปลัดกอง ๆ ทหารราบนอก “รักษาพระองค์” ตามเดิม

ณวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ เหรียญชื่อจักรมาลา แลเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา

ปี พ.ศ.๒๔๓๘ ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการกองทหารมณฑลพิศณุโลก

ปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ทิพยาภรณ์ แลเหรียญประพาศมาลา

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเปนนายพันตรี

ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ออกจากประจำการเปนกองหนุน

ปี พ.ศ.๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๕

ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๕๔ ป่วยเปนลมอำมพาต มีอาการเรื้อรัง ทรุดบ้าง ทรงบ้าง

วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๘ ถึงแก่กรรม อายุได้ ๖๒ ปี หลวงพิทักษ์นฤเบศร์มีบุตรชายคน ๑ คือ นายพลตรี พระยาเทพาธิบดี ที่เปนเจ้าภาพงานศพแลพิมพ์หนังสือนี้

​ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษี ซึ่งพระยาเทพาธิบดี ผู้อยู่ในฐานะที่โบราณบัณฑิตนับว่าเปนอภิชาตบุตร บำเพ็ญสนองคุณบิดาด้วยความกตัญญูกตเวที ตามสมควรแก่วิไสยแห่งสาธุชนผู้เปนสัปปรุส แลเชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ได้รับแลอ่านหนังสือนี้คงจะอนุโมทนาเหมือนกันทั่วไป


               
                 จังหวัดพิศณุโลก
                 วันที่ ๒๔ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๙



คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ พระเจ้าหงษาเอาแต่คนดี อันพระยาจักรีนั้นพระเจ้าหงษาปูนบำเหน็จรางวัลหนักหนา เพราะว่ามีความชอบจึ่งตั้งทวีให้เกินแต่ก่อนมา ครั้นเลี้ยงไว้ได้ครบเจ็ดวันแล้ว พระเจ้าหงษาจึ่งสั่งให้บั่นเกล้าเกษาเสียแล้ว จึ่งสั่งให้เสียบไว้ที่กลางเมืองตามบทพิพากษาที่มีมา แล้วจึ่งเรียกเอาพระมหินทรซึ่งเปนพระราชโอรสของพระมหาจักรพรรดิ พระปกพระพี่นางพระนเรศร์ อันชื่อนางสุวรรณกัลยานั้นขึ้นมาหงษา กับองค์พระนเรศร์อันเปนพระราชโอรสของพระสุธรรมราชา อันพระเอกาทศรถนั้นให้ไว้เปนเพื่อนพระบิดา แล้วจึ่งเอาช้างเผือกทั้งห้าช้างนั้นมา กับนายช่างต่าง ๆ ที่ชำนาญในการช่างใหญ่ กับฝีพายสกรรจ์สรรเอาห้าร้อยที่มีฝีมือ กับช้างใหญ่คัดกวาดแล้ว แต่ที่ใหญ่กว่ากัน อันหนึ่งกับรูปสิบสองนักษัตรที่ไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์อยู่นั้น อันรูปเหล่านี้เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงแล้ว จึ่งสั่งให้ช่างพราหมณ์ปั้นรูปแล้วจึ่งหล่อไว้ด้วยทองสำริดเปนรูปสิบสองนักษัตร ทั้งรูปมนุษย์เปนรูปพราหมณ์ มีรูปช้างเอราวรรณ รูปม้าสินธพ รูป​คชสีห์ รูปราชสีห์ รูปนรสิงห์ รูปสิงโต รูป โคอุศุภราช๑ รูปกระบือ รูปกระทิง รูปหงษ์ รูปนกยูง รูปนกกะเรียน อันสัตว์เหล่านี้สิ่งละคู่ พระเจ้าอู่ทองทำถวายไว้ที่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระเจ้าหงษาเห็นรูปเหล่านี้ก็ชอบพระไทย จึ่งแบ่งเอามาตามที่ชอบพระไทย คือรูปช้างเอราวรรณ๒ รูปม้าสินธพ รูปราชสีห์ รูปคชสีห์ รูปสิงห์ รูปมนุษย์ อันนอกนี้มิได้เอาสิ่งใดมา แล้วพระเจ้าหงษาจึ่งสร้างพระเจดีย์ไว้ที่ทุ่งภูเขาทอง จึ่งสมมุตินามเรียกพระภูเขาทอง แล้วจึ่งทำการฉลองเปนการใหญ่หนักหนา แล้วพระเจ้าหงษาจึ่งยกทัพกลับไป

ครั้นกลับไปยังมิทันถึงเมือง อันพระมหินทรราชานั้นไม่สุภาพดั่งพระยาราชสีห์ ไม่มีความครั่นคร้ามขามใจ เจรจาทำนององอาจ รามัญนั้นจับคำประหลาดได้ จึ่งทูลกับพระเจ้าหงษา พระเจ้าหงษาจึ่งให้ล้างเสียแล้ว จึ่งถ่วงน้ำเสียที่หน้าเมืองสถัง แล้วจึ่งยกทัพกลับมาเมืองหงษา อันพระพี่นางพระนเรศร์นั้น พระองค์ก็เอาไว้ในปราสาทเปนที่มเหษี จึ่งมีพระราชโอรสองค์หนึ่งเปนกุมาร อันพระนเรศร์นั้น พระเจ้าหงษาประทานที่บ้านแลตำหนักให้อยู่ตามที่ อันองค์พระเจ้าหงษานั้นรักใคร่พระนเรศร์เหมือนหนึ่งพระราชโอรส เลี้ยงไว้จนจำเริญไวยใหญ่มา ๚

​๏ ส่วนพระสุธรรมราชานั้น วันพุฒได้ครองกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยามาแต่เมื่อจุลศักราชได้ ๙๒๕ ปี พระชนม์ได้ ๒๐ ปีอยู่ในราชสมบัติได้ ๑๕ ปี เปน ๓๕ ปีสำเร็จ เมื่อสำเร็จนั้นจุลศักราชได้ ๙๔๐ ปี ๚

๏ จึ่งพระราชบุตรน้อย พระนามชื่อพระเอกาทศรถนั้น ขึ้นว่าราชการงานกรุงแทนที่พระบิดา เปนแต่ที่มหาอุปราชรักษาธานีไว้ ด้วยพระนเรศร์เชษฐายังมีอยู่พระองค์หนึ่ง จึ่งไม่ภิเศกศรี ด้วยพระองค์นั้นรักใคร่พระเชษฐายิ่งนัก จึ่งว่าราชการงานกรุงทั้งปวงแทนที่แล้วรักษาธานีเขตรขัณฑ์ไว้ท่าพระเชษฐาธิราช ๚

๏ ส่วนพระเจ้าหงษานั้น อยู่นานมาพระองค์ก็ได้ยินข่าวเลื่องฦๅมาว่า ยังมีพระมหามุนีองค์หนึ่งเสด็จอยู่เมืองพม่าใหญ่ เรียกเมืองยะไข่ เปนพระพุทธรูปสร้างไว้แต่เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังเสด็จอยู่นั้น มีพุทธานุภาพยิ่งนัก ปาฏิหารได้ ให้มีพระรัศมีนั้นเปนต่างๆ ถ้าแลบุคคลผู้ใดจะปราถนาสิ่งใดๆ ก็ดี ทูลขออธิฐานแล้วก็ได้ดั่งใจปราถนา อันพระมหามุนีองค์นี้มีพุทธานุภาพยิ่งนัก พระเจ้าหงษาจึ่งมีพระไทยศรัทธาขึ้นมาตั้งพระมหามุนีเปนหนักหนา จึ่งสั่งให้จัดแจงแต่งเครื่องสักการบูชาเปนอันมาก มีทั้งผ้าทรงแลไตรจีวรทอง ทั้งธูปเทียนทอง แลเข้าตอกดอกไม้ทอง แลมีทั้งฉัตรวงแลธงทองทั้งปวงต่างๆ เปนอันมาก กับรูปสิบสองนักษัตรที่พระเจ้าหงษาแบ่งเอามาแต่เมืองกรุงศรีอยุทธยานั้น คือรูปมนุษย์ รูปช้างเอราวรรณ รูปม้าสินธพ รูปราชสีห์ รูปคชสีห์ รูปนรสิงห์ ครุธ โคอุศุภราช แต่บรรดารูปทองหล่อเหล่านี้กับเครื่องสักการบูชาทั้งปวง​เปนอันมาก พระเจ้าหงษาจึ่งบูชาแล้วก็ทำการฉลองเปนอันมาก แล้วจึ่งหลั่งน้ำทักษิโณทก แล้วก็ให้อำมาตย์คุมเครื่องบูชาเหล่านี้ลงสำเภาแล้วก็ไปถวายไว้กับพระมหามุนีเมืองยะไข่ เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๙๓๐ ปีตั้งแต่ครั้งนั้นมา ๚

๏ ส่วนพระนเรศร์นั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าหงษามีรับสั่งให้หาพระนเรศร์เข้ามาในพระราชวัง พระนเรศร์ก็เข้าไปตามรับสั่งพระเจ้าหงษา ครั้นพระนเรศร์ขึ้นไปบนปราสาทใหญ่ปราสาทไหว ครั้นเสนาเห็นเปนอัศจรรย์จึ่งทูลกับพระเจ้าหงษา พระเจ้าหงษาจึ่งทำนายทายไว้ว่านานไปเบื้องน่า มอญเมืองหงษาจักได้ไปเกี่ยวหญ้าช้างเมืองกรุงไทย ครั้นตรัสทำนายดังนั้นแล้ว ก็มิได้มีพจมานประการใด พระนเรศร์ก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษา แล้วก็กลับมาสู่ยังบ้านเรือนหลวงดังเก่า ๚

๏ ครั้นอยู่มาพระนเรศร์คิดจะสร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จึ่งสั่งให้หานายช่างได้แล้ว จึ่งให้ช่างนั้นทำพระพุทธรูปเปนอย่างที่พระไทยแล้วก็ทำเปนพิหารแลอารามแล้ว จึ่งเชิญพระพุทธรูปไว้ในนั้น อันพระพุทธรูปที่พระนเรศร์สร้างนี้อยู่ที่ในป่าเมืองสราง ก็ยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ อันพระนามนั้นมิได้ปรากฎ ๚

๏ อันพระนเรศร์กุมารกับพระประทุมราชาอันเปนที่มหาอุปราชนั้นชอบพอรักใคร่ต่อกัน สัญญาว่าพี่น้องพระครรภ์เดียวกัน มิได้มีความรังเกียจเดียดฉันต่อกัน เปนที่ปรึกษาหารือต่อกัน เล่นชนไก่กันอยู่อัตรา พระนเรศร์เมื่อแรกมาแต่กรุงไทยนั้นพระชนม์ได้ ๑๐ ปี ​มาอยู่หงษาได้ ๕ ปี เปน ๑๕ ปี มาเมื่อจะมีเหตุใหญ่นั้น พระนเรศร์กับอุปราชาชนไก่กัน ไก่ข้างอุปราชานั้นแพ้ไก่พระนเรศร์ ในเพลานั้นมิได้มีไชย ฝ่ายข้างอุปราชานั้นทั้งอายทั้งขัดอัชฌาไศรย จึ่งทำจริตแกม จึ่งจับไหล่พระนเรศร์สั่นพลาง จึ่งว่ามาว่าไก่ขุนชเลยนี้มีไชยกับเราหนักหนา พระนเรศร์จึ่งอัชฌาไศรย เพราะว่าตัวนี้พลัดมาต่างเมืองจึ่งทำกันได้ที่กลางสนาม แล้วจึ่งจำใจพูดไปตามเรื่องว่าไก่นี้ราคาค่าเมือง ก็คุมเคืองแค้นกันมาแต่วันนั้น จึ่งคิดว่าเปนชายเหมือนกัน จักได้เห็นกัน พระนเรศร์จึ่งหมายมั่นกับอุปราชาหงษามาแต่ครั้งนั้น แล้วก็หาพลโยธา จึ่งได้โจรป่ากับหมอเฒ่าเหล่าพรานป่า ๆ จึ่งถวายช้าง ชื่อมงคลคชานั้น มีฝีเท้าฝีงากล้าหาญหนักหนา ถวายทั้งพวกพลเหล่าพรานล้วนกล้าหาญชาญไชย ครั้นเตรียมพลพร้อมแล้ว พระนเรศร์จึ่งลอบส่งสารลับให้เข้าไปถึงพระพี่นางข้างใน จึ่งบอกความว่าน้องจักหนีไปภารา ฝ่ายพระพี่นางนั้นกลัวพระเจ้าหงษาจักรู้ จึ่งว่าถ้าหนีได้ก็จักไม่มรณา ถ้าไม่พ้นก็จักพากันบรรไลย จึ่งตรัสว่าอย่าเปนห่วงด้วยพี่เลย เจ้าจักไปก็ตามอัชฌาไศรยเถิด จึ่งอธิฐานแล้วประทานพรให้เจ้าจงไปดี ให้พ้นมือไพรีเถิด ครั้นพระนเรศร์ได้ฟังพระพี่นางว่าดังนั้น ก็ตรอมพระไทยหนักหนา ถ้าแม้นมิได้เตรียมการแล้วก็ทำเนาเถิด นี่เตรียมพร้อมแล้ว เราจักไม่หนีก็เกลือกความจักรู้ไปเมื่อภายหลัง ดั่งแกล้งสังหารตัวเสียให้บรรไลย จำเปนก็จำจักต้องไป จำใจจำจักจากกัน แล้วพระองค์จึ่งกำหนดเพลากับพรานป่าทั้งปวง กับพลของพระองค์​ด้วยกันได้หกร้อยเศษ ครั้นเพลาพลบลงแล้วก็ลอบหนี แล้วออกจากเมืองหงษา จึ่งกวาดต้อนทั้งมอญแลลาวไป ทั้งพลเก่าพลใหม่ได้เก้าพัน แล้วจึ่งยกมาทางเมืองจิตตอง แล้วมาทางเมืองมัตตมะ แล้วจึ่งมาถึงท่าข้ามน้ำพลัน จึ่งยกมาทางอัทรัญ ครั้นถึงสะมิแล้ว ก็รีบมาจนถึงพระเจดีย์สามองค์ แล้วจึ่งยกมาตั้งคอยท่าอยู่ที่ซอยหน้าภูม ๚

๏ ฝ่ายมอญก็อื้ออึงคนึงกันขึ้น จึ่งรู้ไปถึงอุปราชา พระอุปราชาจึ่งเข้าไปในพระราชวัง แล้วก็กราบทูลกับพระบิดาว่า บัดนี้พระนเรศร์ยกพลหนี ไป ลูกจักยกทัพไปจับให้ทันที จักเอาตัวไพรีมาจงได้ พระเจ้าหงษาวดีจึ่งตอบพระราชโอรสว่า อันว่านเรศร์กุมารนี้ไชยชาญยิ่งนัก เจ้าอย่าทนงใจ วันหนึ่งพ่อนี้ให้หาขึ้นมาบนปราสาทปราสาทไหว พ่อทำนายไว้ว่าเขาจักได้เปนใหญ่ในโลกา จักมีฤทธิยิ่งกว่าอุปราชา ถึงรามัญที่ในหงษาก็จักได้ไปเลี้ยงช้างที่เมืองกรุงศรีอยุทธยา เจ้าอย่าไปตามเลย จงฟังคำพระบิดาเถิด แม้นเจ้ามิฟังคำพ่อห้ามดีร้ายจักเกิดสงครามใหญ่ อุปราชาจึ่งทูลทัดขัดไว้ มิได้ฟังในพระโองการ ว่าเปนชเลยมาอยู่ในเนื้อมือแล้ว ควรฤๅจักให้มันโวหาร ดั่งเรานี้มิใช่ชายชาญ ลูกจักขอยกพลตามไป ส่วนพระเจ้าหงษาจึ่งอนุญาตแล้ว จึ่งมีคำบังคับกับเสนาผู้ใหญ่ ว่าลูกกูจักยกทัพไปอย่าให้มีอันตรายมา ถ้าแม้นอุปราชามีเหตุเภทไภยสิ่งใด มึงจักบรรลัยทั้งวงษา จึ่งเกณฑ์ทัพสรัพสรรพโยธาก็ได้แสนหนึ่งแต่ในตาทัพ อุปราชาจึ่งเร่งยกทัพขับพลมา จึ่งทันที่ในป่าใหญ่ที่​ในแดนพระเจดีย์สามองค์เข้ามา ก็ไล่รุกบุกบันกันเปนหนักหนา พระนเรศร์จึ่งถอยพลางสู้รบไม่ต้านทานอยู่ได้ ด้วยพลรบข้างหงษานี้มากนัก หักโหมกระโจมแล้วไล่มา ฝ่ายไทยนั้นรบรามาในไพร ส่วนพระนเรศร์จึ่งมึสิงหนาทกับเหล่าอาทมาตทหารใหญ่ทั้งหกร้อยอันร่วมพระไทย ว่ากูจักเข้าโจมทัพในบัดนี้ ให้ เร่งกะเกณฑ์กันให้ครบทั้งช้างแลพลทหารตามที่ ส่วนพระนเรศร์จึ่งแต่งองค์แล้วก็เสด็จขึ้นยืนอยู่บนเกยไชย อันช้างพระที่นั่งอยู่ที่ริมเกยกับนายควาญช้าง เมื่อจักมีบรมโพธิสมภาร จึ่งบันดาลให้ประจักษ์ในทัพขันธ์ ในเวลากลางวันก็บันดาลให้มีอัศจรรย์มา พระอาทิตย์นั้นก็ทรงกลด อันแดดนั้นก็มิได้ต้องพระองค์ ร่มอยู่สักศอกปลาย ส่วนที่นอกนั้นก็สว่างเปนแสงแดดอยู่ ก็เห็นเปนอัศจรรย์ทั่วกันไปสิ้นทั้งทัพ แล้วแลเห็นพระบรมธาตุเสด็จมาบนกลางอากาศ มีพระรัศมีเปนอันมาก ปาฏิหารแล้วผ่านมาที่น่าพลับพลาไป ก็เห็นเปนมหาพิไชยฤกษ์ใหญ่หนักหนา พระองค์จึ่งตัดปลอกคชสาร แต่กลางช้างกับควาญนั้นขึ้นได้ทันเปนสามทั้งพระองค์ด้วยกัน ก็เข้าไปโจมทัพไล่ไพรี จัตุลังคบาทสี่คนนั้นวิ่งมาพอทันช้างพระที่นั่ง อันว่าพหลมนตรีนอกนี้มิได้ทันพระองค์ แต่ช้างพระองค์เข้าหักโหมกระโจมตี ทัพมอญก็ยับย่อยพ่ายพังไปไม่นับได้ บ้างก็ล้มตายเจ็บปวด บ้างก็วิ่งหนีซอกซอนไปในป่า อันทัพรามัญนั้นไม่เปนสมฤดี บ้างซมซานกราบไหว้ บ้างก็บรรไลยลำบากแตกหนี พระองค์ก็ไสช้างเข้าไล่หักโหมกระโจมแทงแล้วเหยียบค่ายให้พังไปทั้งสิ้น ฝ่ายข้างทหารพลรามัญก็เข้มแขง ฟันแทงแย้งยิง​ด้วยปืนน้อยแลปืนใหญ่เปนนักหนา อันควันปืนนั้นมืดไปทั้งในป่า พระองค์เข้าไล่หักค่ายประทุมราชา ทั้งทัพปีกซ้ายปีกขวาก็พังไปทั้งสิ้น ทั้งทัพหนุนทัพน่าก็แตกแพ้อปราไชยไป อันเหล่ามอญนั้นครั้นคุมกันเข้าได้แล้ว ก็กลับคืนเข้ามารุมกันรบกันเปนหนักหนา แล้วก็กลับคืนตระหลบแตกไปเปนหลายครั้ง ครั้นเต็มพักช้างแล้วก็ถอยมา พระองค์ก็คืนเข้าในค่าย ทั้งกลางช้างแลท้ายช้าง จักได้เปนอันตรายก็หามิได้ ทั้งแรงเชิงสารทหารในก็มิได้มีอันตรายสิ่งใด แต่โลหิตรามัญที่บรรไลยนั้นติดแดงไปทั้งพลแลช้างก็เห็นเปนยิ่งนัก ๚
6  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วยแบบพม่า เมื่อ: 22 ชั่วโมงที่แล้ว

ขนมจีนน้ำยาหยวกกล้วยแบบพม่า หอมกลิ่นสมุนไพรเครื่องแกงแบบไทยๆ มีกลิ่นกระชายนำ รสชาติแทบไม่มีความเผ็ด
แต่อร่อยมากๆ จนนึกว่าอีกเมื่อไรจะมีโอกาสได้กินอีก



ขนมจีนน้ำยาพม่า (มอญ)

ในกลุ่มชนหลายเชื้อชาติในพม่า นิยมกินขนมจีนกับน้ำยาอย่างที่บ้านเรา เรียกว่า น้ำยาป่า โดยจะกินขนมจีนกับน้ำยาหยวกกล้วย (เหง้าของต้นกล้วย)  วิธีปรุงคล้ายแกงป่า แต่ไม่เผ็ดจัด เพราะใส่พริกเล็กน้อย น้ำยาเคี่ยวจนเข้าเนื้อ เคี้ยวหนึบ  เครื่องปรุงได้แก่ หยวกกล้วยผสมเนื้อปลาต้มสุกแกะเอาแต่เนื้อ หรือน้ำต้มปลา กระชาย ตะไคร้ ข่า หัวหอม กระเทียม พริกแห้ง เม็ดใหญ่ กะปิ เกลือ น้ำปลา

จากบทความ "ข้างสำรับมอญ" ของ องค์ บรรจุน ได้เขียนคำว่า "ขนมจีน" ภาษาพระของมอญเรียก "ปิณฑะปัตหะเลิ่ญย์" แปลว่า อาหารเส้นยาว ส่วนภาษาชาวบ้านเรียก "คะนอม" หมายถึง เส้นสีขาวทำจากแป้ง

มีเรื่องเล่าในทำนองว่า ขณะที่มอญกำลังทำ "คะนอม" ในที่ซึ่งน่าจะเป็นงานเทศกาลงานบุญใหญ่ๆ ที่มีทั้งไทยจีนมอญปนกัน  การทำขนมจีนน้ำยานี้ต้องใช้สรรพกำลังมาก เสียงตะโกนสั่งการ ถามหาสิ่งของคงดังโหวกเหวก รวมทั้งคำถาม "คะนอม-จิน-ระฮา" แปลว่า "เส้นสีขาวทำจากแป้งสุกหรือยัง?" แขกเหรื่อหิวกันแล้ว!!! คำสำคัญในบริบทอาหารชนิดนี้คือ "คะนอม" กับบริบทของความหิว (เมื่อไหร่จะสุกเสียที-วะ) นั่นคือ "จิน"

คนสองชาติสื่อสารกันด้วยทฤษฎีคำซ้อนสองภาษา ดังนั้น คนไทยจึงรู้จักอาหารชนิดนี้ในชื่อ "คะนอมจิน" กระทั่งกลายเป็น "ขนมจีน" อย่างปัจจุบัน
7  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๐ โกสิยชาดก : พราหมณ์ดัดนิสัยพราหมณี เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๐ โกสิยชาดก
พราหมณ์ดัดนิสัยพราหมณี

          ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี
          ในครั้งนั้นได้มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เปิดสำนักศึกษาศิลปศาสตร์อยู่ในเมืองตักสิลา
          สำนักการศึกษานี้มีชื่อโด่งดัง จึงมีบุตรของชนชั้นนำ เช่น กษัตริย์และพราหมณ์พากันไปเรียนเป็นจำนวนมาก ยังมีพราหมณ์คนหนึ่งมาหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เล่าเรื่องของนางพราหมณีให้อาจารย์ฟังว่า มีความประพฤติชั่วร้ายหยาบช้าอย่างไร นางพราหมณีชอบหลอกเขาว่าป่วยเป็นโน่นเป็นนี่ประจำ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ป่วย จึงขอให้อาจารย์ช่วยแก้ไขให้หน่อย
          อาจารย์แนะนำให้โขลกใบไม้ ๕ อย่าง ผลไม้อีก ๓ อย่าง ผสมกับขี้วัวใส่ไว้ในภาชนะทองแดง และบังคับให้นางกินแก้โรค ถ้านางไม่ยอมกินก็เอาไม้เฆี่ยนโดยไม่ต้องนับ จิกผมกระชากตีเข่าเขย่าศอกซัดลงไปที่ชายโครงปลายคาง เดี๋ยวนางก็จะรู้สึกเปลี่ยนชีวิตซะใหม่ พราหมณ์ดีใจกับข้อแนะนำนั้นจึงรีบไปดำเนินการทันที
          นางถามว่า “ใครบอกยานี้ให้พี่”
          เขาตอบว่า “อาจารย์ให้มา”
          นางไม่ยอมดื่ม เขาจึงขู่นางว่า “ถ้าเธอไม่ดื่ม ฉันก็จะตีไม่นับ”
          นางรู้สึกว่าเราคงไม่อาจหลอกเขาได้อีกแล้ว จึงเลิกแกล้งป่วย เปลี่ยนเป็นคนขยันขันแข็ง เห็นงานมือไม้สั่นอยากจะทำร่ำไป
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนเราไม่ควรเกียจคร้าน เพราะความเกียจคร้านนำมาแต่ทางเสื่อม”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
นิทฺทาสีสี สภาสีลี อนุฏฺฐาตา จ โย นโร
อลโส โกธปญฺญาโณ ตํ ปราภวโต มุขํ

คนใดชอบนอน ชอบมั่วสุม ไม่เอางานเกียจคร้าน เอาแต่โกรธ งุ่นง่าน
นั่นคือปากทางของความเสื่อม (๒๕/๓๐๔)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
8  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๙ เวนสาขชาดก พรหมทัตกุมารกับปุโรหิตชั่ว เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๙ เวนสาขชาดก
พรหมทัตกุมารกับปุโรหิตชั่ว

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
          อาจารย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักสอนศิลปศาสตร์อยู่ในเมืองตักสิลา มีกุลบุตรจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์และตระกูลเศรษฐีไปเล่าเรียนกันมาก พระโอรสของพระเจ้าพรหมทัต พระนามว่า พรหมทัตกุมาร ก็ทรงไปศึกษาที่นั่น 
          ระหว่างที่ศึกษาอยู่อาจารย์รู้ดีว่าพรหมทัตกุมารเป็นผู้กักขฬะหยาบ จักทารุณ ถ้าได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อใดก็จะดำรงอยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน จึงสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในเมตตากรุณาธรรม ให้มองเห็นผลดีของการทำความดี ผลชั่วของการทำชั่ว ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ไม่ให้ทำตัวให้ล่มจม เหมือนคนเรือแตกอยู่กลางทะเลไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ก็จะจมน้ำตายอย่างแน่นอน
          ภายหลังที่พรหมทัตกุมารสำเร็จการศึกษาแล้ว อาจารย์ก็ยังสั่งสอนกำชับนักหนา พรหมทัตกุมารก็ดูเหมือนจะตั้งอยู่ในโอวาทของอาจารย์ แต่พอกลับนครพาราณสี ได้สืบราชสมบัติต่อจากบิดา ทรงได้ปุโรหิตชื่อปริงคิยะ เป็นคนหยาบช้า โลภจัด ยุยงให้พระราชารุกรานประเทศต่างๆ เพื่อจะได้เป็นจอมจักรพรรดิแห่งโลก
          พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงหยาบช้ากล้าแข็งขึ้น ทรงดำเนินการตามแผนร้ายของปุโรหิต ยกทัพไปล้อมเมืองต่างๆ ถึง ๑,๐๐๐ เมือง จับพระราชามาได้ ๑,๐๐๐ พระองค์ ยึดพระราชสมบัติในชมพูทวีปมาไว้ในเงื้อมพระหัตถ์ ยังเหลืออีกเมืองเดียวเท่านั้น คือ เมืองตักสิลา
          ที่เมืองตักสิลานี้ได้อาจารย์ทิศาปาโมกข์มาเป็นที่ปรึกษา อาจารย์ทิศาปาโมกข์รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตจึงแนะนำให้พระราชาแห่งนครตักสิลาซ่อมแซมพระนครเป็นการใหญ่ สร้างกำแพงเมืองอย่างแข็งแรง สร้างป้อมปราการสำหรับป้องกันศัตรูไว้พร้อมสรรพ
          อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัตเห็นว่าจะต้องตีเมืองตักสิลาให้แตกซะที จึงยกกองทัพใหญ่ล้อมไว้โดยนำพระราชาเชลยศึก ๑,๐๐๐ พระองค์ไปด้เวย แต่พอสั่งกองทัพโจมตีเมืองตักสิลาก็ไม่อาจเข้าตีและยึดเมืองไว้ จึงตรัสถามปุโรหิตปริงคิยะว่าจะทำอย่างไร ปุโรหิตผู้โง่เขลาแนะนำให้ควักนัยน์ตาพระราชา ๑,๐๐๐ พระองค์ แล้วปลงพระชนม์เสีย ให้เอาลำไส้ของกษัตริย์ ๑,๐๐๐ พระองค์ต่อกัน เจิมด้วยเลือดสดๆ นำไปพันรอบต้นไทร ด้วยวิธีการอย่างนี้ก็จะเข้ายึดเมืองตักสิลาได้แน่นอน
          พระราชารับสั่งให้ทหารที่มีร่างกายกำยำ ทำตามนั้นแล้วให้เอาศพทิ้งในแม่น้ำคงคา เมื่อทำพิธีเสร็จให้ลั่นกลองรบ
          ทันใดนั้นเองมียักษ์ตนหนึ่งชื่ออัชชิสกตะมาควักเอาพระเนตรของพระเจ้าพรหมทัตออกไป พระองค์ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส จึงไปบรรทมใต้ต้นไทร ขณะนั้นแร้งตัวหนึ่งได้คาบชิ้นเนื้อมาเกาะอยู่บนต้นไทร แล้วทิ้งกระดูกตกลงมาถูกพระเนตรซ้ายของพระราชาจนแตก
          ทุกขเวทนาที่ได้รับอย่างรุนแรงนี้ ทำให้พระองค์คิดถึงคำสอนของอาจารย์ที่สอนให้กระทำแต่ความดี แต่พระองค์ทรงรู้สึกว่า ความชั่วที่พระองค์ทำไปนั้น สาหัสสากรรจ์นัก ไม่รู้จะถ่ายทอดได้อย่างไร ทรงเห็นว่าชีวิตคงไม่มีโอกาสกลับเนื้อกลับตัวได้อีก ทรงคร่ำครวญถึงอัครมเหสี พระองค์ทรงบ่นเนิ่นนาน จนกระทั่งเสด็จสวรรคตไปเกิดเป็นสัตว์นรก
          ฝ่ายปุโรหิตชั่วไม่อาจจะนำทัพได้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินของตนเสด็จสวรรคต กองทัพก็แตกกระเซ็นซ่านไป
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ผู้ใดทำกรรมให้แก่ผู้อื่น กรรมนั้นย่อมเกิดกับตน”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ยานิ  กโรติ  ปุริโส  ตานิ  อตฺตนิ  ปสฺสติ
คนทำกรรมใดไว้ย่อมเห็นกรรมนั้นในตนเอง (๒๒/๒๙๔)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
9  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๘ คชกุมภชาดก : ตัวกระพองช้าง เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๘ คชกุมภชาดก
ตัวกระพองช้าง

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ที่กรุงพาราณสี
          พระเจ้าพรหมทัตพระองค์นึ้ทรงมีนิสัยเกียจคร้าน พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอำมาตย์พยายามคิดอุบายแก้ไข วันหนึ่งสบโอกาสเมื่อตามเสด็จไปยังพระราชอุทยานพบตัวกระพองช้าง สัตว์เกียจคร้านเฉื่อยช้าเดินต้วมเตี้ยมอยู่ พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่านี่เป็นสัตว์อะไร พระโพธิสัตว์ทรงบอกว่าเป็นตัวกระพองช้าง เป็นสัตว์เดินช้าที่สุด
          กราบทูลดังนั้นแล้วพระโพธิสัตว์ถามตัวกระพองช้างว่า “เมื่อเจ้าเดินช้าแบบนี้ ถ้าเกิดไฟป่าขึ้นมาจะหนีทันรึ”
          ตัวกระพองช้างกล่าวต่อว่า “ถ้าข้าไปไม่ถึงโพรงไม้ หรือหลบเข้าช่องแผ่นดินไม่ทัน ก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้น”
          พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้นแล้วก็กล่าวขึ้นว่า “ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดรีบด่วนทำเสียเร็ว ในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ กลับทำช้าไป ผู้นั้นย่อมตัดรอนประโยชน์ของตนเอง เหมือนคนเหยียบใบตาลแห้งให้แหลกละเอียดไปฉะนั้น
          ในเวลาที่จะต้องทำช้าๆ ผู้ใดทำช้า และในเวลาที่จะต้องรีบด่วนทำ ก็รีบด่วนทำ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์กำจัดมืดเต็มดวงอยู่ฉะนั้น”
          พระราชาได้ทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ตั้งแต่นั้นก็มิได้ทรงเกียจคร้าน
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อย่ามัวเกียจคร้านปล่อยเวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โย  ทนฺธกาเล  ทนฺเธติ  ตรณีเย  จ  ตีรเย
ที่ควรช้าก็ช้า ที่ควรเร่งก็เร่ง ผลที่หมายจึงสำเร็จบริบูรณ์ (๒๗/๖๘๑)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
10  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๗ วัฏฏกดก : นกกระจาบกับกาเหลวไหล เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๗ วัฏฏกชาดก
นกกระจาบกับกาเหลวไหล

          ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกกระจาบ มีหญ้าและพืชที่หยาบๆ เป็นอาหาร อาศัยอยู่ในป่า
          ในเมืองพาราณสีมีกาเหลวไหลตัวหนึ่งไม่อิ่มด้วยซากศพ กินทั้งม้าทั้งช้างก็ยังไม่พอ จึงคิดว่าเราจักได้รับอาหารมากยิ่งไปกว่านี้ จึงเข้าป่าไปกินผลไม้น้อยใหญ่ เห็นนกกระจาบจึงคิดว่านกกระจาบตัวนี้มีร่างอวบอ้วนเหลือเกิน เห็นจะกินเหยื่ออร่อย แล้วจึงเกาะอยู่ที่กิ่งไม้เบื้องบน แล้วถามนกกระจาบว่า “เจ้านกกระจาบผู้เจริญ เจ้ากินอาหารที่มีประโยชน์หรือไร จึงได้มีร่างอวบอ้วน”
          นกกระจาบจึงกล่าวว่า “พ่อลุงกา ลุงกินอาหารประณีตกับเนยใสและน้ำมัน แต่เหตุไรเล่าหนอลุงจึงผอม”
          กาได้ฟังคำของนกกระจาบนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า “นกกระจาบ เมื่อกาอยู่ในท่ามกลางศัตรู แสวงหาเหยื่อในหมู่มิตร มีจิตใจหวาดระแวงเป็นนิตย์ จะมีความอ้วนมาจากไหน กาทั้งหลายหวาดระแวงอยู่เป็นนิตย์ ก้อนข้าวที่กาได้มาด้วยกรรมอันเลวทราม ไม่ทำให้กาเอิบอิ่มด้วยเหตุนั้น เราจึงผอม   ส่วนเจ้ากินแต่หญ้าและพืชที่หยาบๆ มีรสอร่อยน้อย แต่เหตุไรเล่าหนอ เจ้าจึงอ้วน”
          นกกระจาบฟังคำนั้นแล้ว ก็บอกถึงเหตุที่ตนอ้วน จึงกล่าวว่า “ลุงกา ข้าพเจ้ายังอัตตภาพให้เป็นไปเลี้ยงชีพด้วยเหยื่อที่ได้มาแล้ว เพราะมักน้อย คิดน้อย และไปหากินไม่ไกล จึงอ้วน  เพราะว่าคนผู้มักน้อยมีความสุขแบบพระอริยเจ้าผู้คิดน้อย มีประมาณอาหารที่รับพอดีแล้ว ย่อมมีพฤติกรรมที่ควรอวดอ้างได้ดี”
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เป็นอยู่พอดี ไม่โลภอยากได้ ชีวิตเป็นสุข”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อนฺธตมํ  ตทา  โหติ  ยํ  โลโภ  สหเต  นรํ
เมื่อความโลภเข้าครอบงำ เวลานั้นมีแต่ความมืดตื้อ (๒๕/๒๗๓)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
11  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๖ สุงสุมารชาดก : ลิงกับจระเข้ เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๖ สุงสุมารชาดก
ลิงกับจระเข้

          ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นวานรในป่าหิมพานต์ มีกำลังดุจช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ร่างกายใหญ่ มีความงามพร้อม อาศัยอยู่ที่ราวป่าตรงคุ้งแม่น้ำ
          ในเวลานั้นจระเข้ผัวเมียคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ในแม่น้ำคงคา ภรรยากำลังตั้งท้อง แล้วเกิดแพ้ท้องอยากกินเนื้อหัวใจของพญาวรนร จึงบอกสามีว่า “ผัวจ๋า น้องอยากกินเนื้อหัวใจของพญาลิงนั้น”
          ผัวบอกว่า “น้องจ๋า เราเป็นสัตว์เที่ยวไปในน้ำ ลิงเป็นสัตว์เที่ยวไปบนบก เราจะจับลิงนั้นได้อย่างไรเล่า”
          เมียบอกว่า “พี่จระเข้ต้องหาอุบายจับมาให้ได้ หากจับมาไม่ได้น้องขอตาย”
          ผัวปลอบว่า “อย่าคิดมากไปเลยน้อง พี่จะให้น้องกินหัวใจพญาวานรนั้นให้จงได้”
          จึงเข้าไปหาพญาวานรในเวลาที่กำลังดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา แล้วนั่งพักอีกฝั่งของแม่น้ำ แล้วกล่าวว่า “ท่านพญาวานร ท่านหากินผลไม้อยู่ที่เดียวซ้ำๆ ทุกวันไม่เบื่อหรือ ทื่ฝั่งโน้นมีผลไม้อร่อยๆ ท่านไม่ลองเปลี่ยนรสชาติไปหากินฝั่งโน้นบ้างหรือ?”
          พญาวานรตอบว่า “ท่านพญาจระเข้ แม่น้ำคงคามีน้ำมาก ทั้งกว้างใกญ่ ข้าจะข้ามไปได้อย่างไรเล่า?”
          จระเข้กล่าวว่า “หากท่านจะไป ข้าจะให้ท่านขึ้นหลังเราไป”
          พญาวานรเชื่อจึงยอมตกลง
          จระเข้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมาขึ้นหลังเรา”
          พญาวานรจึงขึ้นหลังจระเข้ จระเข้พาไปได้สักพักหนึ่งก็พาพญาวานรดำน้ำจมลง พญาวานรกล่าวขึ้นว่า “สหายท่านแกล้งทำให้เราจมน้ำทำไมกัน”
          จระเข้ตอบว่า “เรามิได้พาท่านไปส่งที่ฝั่งโน้นหรอก แต่เมียของเราเกิดแพ้ท้อง อยากกินหัวใจท่าน เราประสงค์จะให้เมียของเรากินหัวใจท่านต่างหาก”
          พญาวานรกล่าวว่า “สหายที่ท่านบอกมาก็ดีแล้ว หากหัวใจเราอยู่ในท้องของเราเมื่อเรากระโดดไปตามยอดไม้ หัวใจก็จะพึงแหลกลาญหมด”
          จระเข้ถามว่า “ก็ท่านเอาหัวใจไปไว้ที่ไหนเล่า?”
          พญาวานรชี้ให้ดูต้นมะเดื่อต้นหนึ่งไม่ไกลนัก มีผลสุกเป็นพวง
          จระเข้กล่าวว่า “หากท่านให้หัวใจข้า ข้าจะไม่ฆ่าท่าน”
          พญาวานรกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนำเราไปที่นั่นเถิด เราจะให้หัวใจที่แขวนอยู่บนต้นมะเดื่อแก่ท่าน”
          จระเข้จึงพาพญาวานรไปที่ต้นมะเดื่อนั้น พญาวานรจึงกระโดดจากหลังจระเข้ไปนั่งบนต้นมะเดื่อ กล่าวว่า สัตว์โง่เราจึงลวงเจ้าได้ ผลาผลของเจ้าก็เป็นของเจ้าเถิด เจ้าก็ใหญ่แต่ตัวเท่านั้น แต่หามีปัญญาไม่”
          แล้วกล่าวว่า “เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลชมพู่ และขนุนทั้งหลาย ที่ท่านเห็นฝั่งสมุทร ผลมะเดื่อของเราต้นนี้ดีกว่า ร่างกายของท่านใหญ่โตก็จริง แต่ปัญญาไม่สมกับร่างกายเลย จระเข้อย่างเจ้าถูกเราลวงเสียแล้ว บัดนี้ เจ้าจงไปตามสบายเถิด
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คนฉลาดย่อมเอาตัวรอดได้”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ปฺญญา  เจนํ  ปสาสติ
ปัญญาเป็นเครื่องปกครองตัว (๑๕/๑๗๕)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
12  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๕ สังวรชาดก : ราชาผู้มีศีลาจารวัตรงาม เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๗๕ สังวรชาดก
ราชาผู้มีศีลาจารวัตรงาม

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี เนื่องจากพระราชาองค์นี้ทรงมีพระโอรสมากมายถึง ๑๐๐ พระองค์ อำมาตย์จึงไม่รู้ว่าพระราชาจะทรงมอบราชสมบัติให้ใครสืบต่อ
          ๒-๓ วันต่อมา พระเจ้าพรหมทัตก็เสด็จสวรรคต หลังจากงานพระราชทานเพลิงศพได้ ๗ วัน เหล่าอำมาตย์ก็ประชุมกันเพื่อสถาปนาพระกุมารขึ้นเป็นพระราชา ในที่สุดที่ประชุมตัดสินใจจะยกราชสมบัติถวายแก่เจ้าสังวรกุมาร พระโอรสองค์สุดท้อง  พระกุมารทั้ง ๙๙ องค์ที่เหลือจึงไม่พอพระทัย มีหนังสือไปถึงเจ้าสังวรกุมารว่า “ราชสมบัติของบิดา จะต้องตกเป็นของผู้พี่ แต่ว่าน้องไม่ยอมร้องรบกัน” แล้วก็นำกำลังทหารไปล้อมวังของพระอนุชาไว้ เจ้าสังวรกุมารรับสาส์นจากพระเจ้าพี่แล้วก็ไปปรึกษาพระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ อาจารย์แนะนำให้บอกบรรดาพระเจ้าพี่ให้แบ่งราชสมบัติออกเป็น ๙๙ ส่วนสำหรับพระเจ้าพี่ทุกพระองค์ แล้วก็ไม่ต้องทำการรบ เจ้าสังวรกุมารเป็นเจ้าชายทรงธรรม ไม่อยากได้ใคร่ดีอะไร ส่งสาส์นตอบพวกพี่ๆ มีใจความว่า “พระราชสมบัติของพระบิดาขอให้เสด็จพี่ทั้งหมดทรงรับไว้เถอะ และขอให้แบ่งเท่าๆ กัน ส่วนหม่อมฉันไม่ต้องการแม้แต่ส่วนเดียว”
          พระเจ้าพี่ทั้งหลายได้รับสาส์นของพระราชาแล้วก็ปรึกษากันว่า ผู้ที่ควรเป็นพระราชาที่สุดเป็นเจ้าสังวรกุมาร หาใช่เจ้าพี่องค์ใดไม่ พระเจ้าสังวรกุมารเป็นผู้มีคุณธรรม แม้พระราชบิดาก็ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ที่ประชุมนั้นจึงให้ราชสมบัติตกเป็นของพระเจ้าสังวรกุมาร
          เจ้าสังวรกุมารได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ มีพระนามว่า พระเจ้าสังวรมหาราช ภายหลังการขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ประทานยศอันยิ่งใหญ่แด่เจ้าพี่ทุกพระองค์อย่างเท่าเทียมกัน 
     

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ย่อมได้ดีมีความเจริญรุ่งเรืองเสมอ”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อนตฺถชนโน  โลโภ
ความละโมบโลภมาก ก่อให้เกิดความฉิบหาย (๒๕/๒๘๖)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
13  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: บำเพ็ญกุศล : "รู้และใช้" ภาษาไทยให้ถูกต้อง เมื่อ: 20 เมษายน 2567 18:01:40

youtube (ที่มาภาพประกอบ)

บำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล ถวายพระกุศล มีหลักเกณฑ์การใช้คำอย่างไร

คำว่า บำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล ถวายพระกุศล มีหลักเกณฑ์การใช้คำอย่างไร เป็นคำถามที่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านพระพุทธศาสนาสอบถามมา ซึ่งคำตอบก็คือราชาศัพท์ของคำว่า ทำบุญ มีใช้ทั้งคำว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงบำเพ็ญพระกุศล และ ทรงบำเพ็ญกุศล ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้แก่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ในพระยศชั้นใด

หากใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ราชาศัพท์ของคำกริยา ทำบุญ ใช้ว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล หากใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงบำเพ็ญพระกุศล และหากใช้แก่พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงบำเพ็ญกุศล แต่หากสามัญชนทำบุญทำกุศลเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ควรใช้วลีว่า บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศล หรือ บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลแด่…  และหากสามัญชนทำบุญทำกุศลเพื่อถวายเป็นพระกุศลของพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ใช้วลีว่า บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศล หรือ บำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระกุศลแด่…  ซึ่งหากทำบุญทำกุศลถวายเป็นกุศลของพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้วลีว่า บำเพ็ญกุศลถวายเป็นกุศล หรือ บำเพ็ญกุศลถวายเป็นกุศลแด่… หรือจะใช้ถ้อยคำกลางๆ  แก่พระมหากษัตริย์จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ว่า บำเพ็ญกุศลถวาย (ระบุพระนาม) บำเพ็ญกุศลถวายแด่ (ระบุพระนาม) ก็ได้ โดยวลีเหล่านี้ใช้ในกรณีที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ยังมีพระชนมชีพอยู่

หากสามัญชนทำบุญทำกุศลถวายพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ใช้ว่า บำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย บำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่…  และหากพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำบุญถวายพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ใช้ราชาศัพท์ว่า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย หากพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าทรงทำบุญถวายพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ใช้ราชาศัพท์ว่า ทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวาย หากพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าทรงทำบุญถวายพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วหรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ราชาศัพท์ใช้ว่า ทรงบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย.



ที่มาข้อมูล : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา Office of the Royal Society
14  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / มะม่วงสดแช่อิ่ม ง่ายๆ สะอาด อร่อย : สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 20 เมษายน 2567 17:35:31


มะม่วงแช่อิ่มสดๆ สะอาด อร่อย ชุ่มคอ ชื่นใจ
มะม่วงแช่อิ่มโดยทั่วไป จะใช้มะม่วงดองที่หั่นเป็นชิ้นยาวๆ ผสมสีเหลือง (มีขายในตลาดสด)
มาล้างน้ำดองออก แล้วนำไปแช่ในน้ำเชื่อม  ซึ่งสุ่มเสี่ยงกับการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ 
เมื่อรับประทานไปแล้วอาจทำให้ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ


มะม่วงแช่อิ่มสด

ส่วนผสม    
- มะม่วงแก้ว (ผลใหญ่ๆ)          3 ผล
- เกลือป่น     2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย         2-3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
   1. ใช้มีดปอกเปลือกผลไม้ ปอกเปลือกและฝานมะม่วงให้เป็นแผ่นบางๆ นำไปล้างให้สะอาด 
   2. ใส่เกลือป่นเคล้าให้ทั่ว (ให้ความเปรี้ยวลดลง) ประมาณ 20 นาที นำไปล้างน้ำเกลือออก
   3. ใส่น้ำตาลทรายคลุกให้ทั่วมะม่วง ชิมรสหวาน/เค็มตามชอบ
   4. ใส่กล่องมีฝาปิด แช่ตู้เย็นรับประทานได้หลายวัน


มะม่วงแก้ว


มะม่วงแก้ว ค่อนข้างเปรี้ยว ต้องนำไปหมักเกลือให้ความเปรี้ยวลดลง แล้วล้างน้ำเกลือออก
(ถ้าใช้มะม่วงที่เปรี้ยวไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องนำไปหมักเกลือ)



ใส่น้ำตาลทราย เคล้าให้ทั่ว ถ้าอ่อนเค็มก็เติมเกลือป่น ชิมรสชาติตามชอบ 


เนื้อมะม่วงจะอ่อนนิ่ม รับประทานอร่อย ชุ่มคอ ชื่นใจ



"Segoe Print" : 800/22
15  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) - จบบริบูรณ์ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:33:01


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (จบ)

การซ้อมช้างรบ ๔ อย่างที่พรรณนามานี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จะได้เคยมีช้างบำรูงาหรือไม่ สงสัยอยู่ ช้างแทงหุ่นถ้าว่าตามตาเห็นก็เคยมีครั้งเดียว ได้ดูกันมากแต่ล่อแพนกับผัดพาน ถึงสองอย่างนั้นก็ผลัดกันมีแต่ปีละครั้งในเดือน ๕ เมื่อวันแห่คเชนทรัสวสนาน แต่มีการซ้อมช้างอีกอย่างหนึ่งซึ่งโปรดให้เป็นกีฬาสำหรับชาวพระนคร คือ “ล่อช้างตกน้ำมัน” มีบ่อยๆ แทบทุกปี ด้วยถึงฤดูหนาวในระหว่างเดือนอ้ายกับเดือนสาม มักมีช้างพลายตกน้ำมัน บางตัวเป็นช้างดุชอบไล่แทงคน เวลาช้างเช่นนั้นตกน้ำมัน กรมช้างไม่เอาไปลงน้ำแต่เช้าตรู่เหมือนช้างอื่น รอไว้จนถึงเวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา เมื่อคนจ่ายตลาดกันเสร็จแล้ว จึงเอาช้างตกน้ำมันตัวนั้นไปลงน้ำ และอนุญาตให้คนเข้าผัดล่อได้ ก็เกิดเป็นการสนุก ชอบใจคนทั้งหลายทั้งพวกอยากดูและพวกคะนองที่อยากเสี่ยงภัยล่อช้างเล่นให้สนุก คงมีช้างพลายบางตัวที่ตกน้ำมันทุกปี และชอบไล่คนจนขึ้นชื่อลือนามมาทุกรัชกาล ว่าตามที่ฉันเคยได้ยินชื่อ เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีพลายสิงห์ทองตัวหนึ่ง กับพลายแก้วที่เล่ามาแล้วตัวหนึ่ง ในรัชกาลที่ ๔ มีพระบรมไอยเรศตัวหนึ่ง กับอีกตัวหนึ่งขึ้นระวางชื่อพลายอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว แต่คนชอบเรียกกันว่า “อ้ายห้าว” เขาว่ามันเป็นช้างชอบสนุก ไล่คนทันก็เป็นแต่คลึงเลีย ไม่แทงใครให้ตาย ฉันเคยรู้จักตัวคนที่ถูกอ้ายห้าวคลึงคนหนึ่ง แต่ก็บอบช้ำเจ็บป่วยอยู่นานจึงกลับเป็นปรกติ ในรัชกาลที่ ๕ มีพลายศักดิ์ตัวหนึ่ง กับพลายชมพูอยู่ในโรงวังหน้าตัวหนึ่ง ฉันได้เคยแต่ดูสองตัวที่ออกชื่อข้างหลังเมื่อฉันยังเป็นนักเรียนนายร้อยทหารมหาดเล็ก

สมัยนั้น ถนนหน้าพระลานทางฟากข้างเหนือ มีโรงช้างเรียงกันมาแต่ตรงป้อมเผด็จดัสกร จนถึงหัวถนนหน้าพระธาตุ เป็นโรงเดี่ยวไว้ช้างพลายที่ขึ้นระวางแทบทั้งนั้น ทางถนนหน้าพระธาตุทางฟากตะวันออกก็มีโรงช้าง เป็นโรงเดี่ยวบ้างกับโรงยาวสำหรับไว้ช้างพังบ้าง เรียงกันไปจนตลอดสถานกรมศิลปากรบัดนี้ ช้างพลายศักดิ์อยู่โรงต้นแถวตรงป้อมเผด็จดัสกร ไปลงน้ำต้องเดินทางถนนหน้าพระลาน จนถึงท่าพระซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า “ท่าช้าง” เพราะฉะนั้นเวลาพลายศักดิ์ตกน้ำมัน ถนนหน้าพระลานจึงเป็นสนามกีฬา สำหรับคนล่อพลายศักดิ์ตอนสาย แต่พอรู้กันว่าพลายศักดิ์ตกน้ำมัน เวลาเช้าแต่ ๗ นาฬิกาก็มีคนมาคอยดูมากมาย ที่เป็นชั้นผู้ดีก็ขึ้นดูบนป้อมหรือกำแพงพระราชวังบ้าง ที่บนกำแพงวังกรมสมเด็จฯ ซึ่งอยู่หน้าประตูวิเศษชัยศรีบ้าง ที่วังท่าพระบ้าง แอบดูอยู่ตามโรงช้าง หรือตามร้านหรือโรงแถวที่ท่าพระบ้าง แต่ที่อื่นไม่แลเห็นได้ไกลเหมือนป้อมบนกำแพง คนดูโดยมากขึ้นบนป้อมบนกำแพงวังไม่ได้ จึงต้องดูอยู่ในท้องถนน คอยหลบหลีกหาที่แอบแฝงต่อเมื่อช้างไล่มาใกล้ มีคนเกลื่อนเต็มถนนแต่เช้าทุกวัน มีคนหนุ่มคะนองอีกพวกหนึ่งชอบเล่นล่อช้างตกน้ำมัน พวกนี้ไปคอยอยู่ใกล้ๆ กับโรงช้างตกน้ำมัน ก่อนเวลาช้างน้ำมันลงน้ำสักครึ่งชั่วนาฬิกา กรมช้างเขาให้เอาช้างพลายตัวอื่นที่โรงอยู่ในหนทางช้างน้ำมันจะผ่านหลบไปไว้เสียที่อื่น พอจวนจะถึงเวลาช้างตกน้ำมันจะออกจากโรง เขาให้ช้างพังมีหมอควาญขี่ตัวหนึ่งเดินล่วงหน้าไปก่อน คนขี่ช้างพังตีฆ้องกระแตไปตามทาง เป็นสัญญาณให้คนทั้งหลายรู้ว่าช้างตกน้ำมันจะตามมาข้างหลัง พวกเจ้าของโรงร้านที่อยู่ริมทางก็พากันปิดประตูหน้าถังและพากันหลบซ่อนตัว ช้างพังผ่านไปสักครู่หนึ่งแล้วจึงให้ช้างตกน้ำมันออกจากโรง หมอควาญที่ขี่ช้างตกน้ำมันแต่งตัวนุ่งกางเกงสีแดงคาดผ้าไม่ใส่เสื้อ หมอถือขอสั้นควาญถือขอยาว พอช้างออกพ้นประตูโรง พวกคนผัดกองหนึ่งก็เข้าล่อข้างหน้าให้ไล่มาพักหนึ่ง พอช้างรอ พวกคนผัดกองหลังก็เข้าล่อให้ช้างหวนกลับไปไล่ย้อนทางข้างหลัง ช้างวิ่งไล่ไปทางไหน พวกคนดูอยู่ในถนนทางนั้นก็พากันวิ่งหนี พวกที่วิ่งหนีอยู่ก่อนกลับหันหน้ามาเดินตามช้าง ครั้นช้างกลับหน้าไล่ไปทางนั้นอีกก็วิ่งหนีอีก เหมือนนัดผลัดกันวิ่งหนีอยู่ทั้งสองข้าง ดูขันอยู่ การล่อช้างตกน้ำมันผิดกับผัดพาน เพราะคนล่อช้างตกน้ำมันไม่ได้ฝึกหัดเลือกสรรมาล่อช้างเหมือนคนผัดพาน แล้วแต่ใครอยากจะล่อก็เข้าไปล่อเป็นหมู่ใหญ่ เสี่ยงภัยเอาเองตามชอบใจ เคยมีคนล่อคนหนึ่งขาเป๋วิ่งกะเผลกๆ แต่วิ่งเร็วและใจก็กล้า ถึงเวลาช้างตกน้ำมัน เป็นมาล่อทุกปี จนคนดูรู้จักหน้าได้หมด หนีไล่หวุดหวิดกันทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ยินว่าใครล้มตาย หมอช้างที่ขี่พลายศักดิ์เวลาตกน้ำมันนั้นชื่อสุข จะเป็นขุนหมื่นชื่อใดในทำเนียบฉันไม่รู้ เรียกกันแต่ว่า “ตาสุข” หรือ “หมอสุข” พวกคนดูและคนล่อช้างชอบทั้งนั้น เพราะโดยปรกติหน้าที่ของแกมีเพียงขี่ช้างออกจากโรงไปลงน้ำที่ท่าพระ เมื่อช้างกินน้ำอาบน้ำแล้วก็ขี่กลับไปเข้าโรง ถ้ามีคนล่อ ก็ให้ช้างวิ่งไล่ เมื่อขาไปลงน้ำเที่ยวหนึ่ง กับไล่เมื่อขากลับอีกเที่ยวหนึ่ง แต่ตาสุขแกมักขับช้างไล่ย้อนไปย้อนมาวันละหลายเที่ยว ให้ดูกันวันละสักชั่วโมงหนึ่งแล้วจึงให้ช้างเข้าโรง แต่สังเกตดูแกให้ช้างไล่มากบ้างน้อยบ้างไม่เหมือนกันทุกวัน ภายหลังจึงรู้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เขาว่าถ้าวันไหนแกได้เหล้าของกำนัลของคนดูพอแก่ใจ ช้างก็เล่นสนุก ถ้าวันไหนได้เหล้าน้อยไปช้างก็เข้าโรงเร็ว นัยว่าตลอดเวลาที่พลายศักดิ์ตกน้ำมัน ตาหมอสุขกับควาญไม่ต้องซื้อเหล้ากินทีเดียว แต่ธรรมดาช้างตกน้ำมัน คลั่งน้ำมันถึงไล่คนแต่ในเวลาน้ำมันชุก พอน้ำมันเหือดแห้งก็ไม่ไล่ ถึงหน้าหนาวจึงเป็นฤดูกีฬาสำหรับเล่นช้างน้ำมัน เพียงปีละ ๑๕ วัน แต่ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์อื่นเสด็จออกทอดพระเนตร มีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ถึงโปรดให้สร้างพลับพลาน้อยขนาดสองห้องไว้บนหลังคาป้อมขันเขื่อนเพชรที่ริมประตูวิเศษชัยศรีหลังหนึ่ง สำหรับทอดพระเนตรล่อช้างตกน้ำมัน แต่เมื่อสร้างนั้นฉันยังเด็กไม่ทันเห็นเสด็จออก เคยเห็นแต่พลับพลานั้น ยังอยู่มาจนรื้อหลังคาป้อมจึงสูญไป แต่การที่เอาช้างน้ำมันออกขี่ให้คนล่อ มีแต่ช้างหลวงในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่อื่นแม้จนในอินเดียที่ฉันได้ไปเห็น ณ เมืองชัยปุระ ดังเล่าในนิทานที่ ๕ ถ้าช้างตกน้ำมันเป็นแต่เอาล่ามแหล่งไว้กับที่ หาเอาออกขับขี่ไปไหนๆ ไม่ ล่อช้างน้ำมันจึงเข้าลักษณะเป็นกีฬาหลวงอย่างหนึ่ง ด้วยประการฉะนี้.


จบบริบูรณ์
16  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) - ต่อ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:29:10


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ)

ครั้งที่ ๔ จับช้างคราวรับซาร์วิช รัชทายาทประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ถึงสมัยนี้กรมสมเด็จฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ หลวงคชศักดิ์ ล่วงลับไปหมดแล้ว กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ทรงบัญชาการกรมพระคชบาล พระยาเพทราชา (เอี่ยม) ซึ่งเป็นพระยาราชวังเมืองอยู่ก่อนเป็นผู้อำนวยการ คนสำคัญในการคล้องช้างยังเหลือแต่ขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) อายุเห็นจะกว่า ๖๐ ปีแล้วแต่ยังแข็งแรง ฝีมือคล้องก็ยังแม่นไม่มีตัวสู้ คล้องช้างคราวรับซาร์วิชนี้น่าดูกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งฉันได้เคยเห็นมาทั้งหมด เพราะมีเวลาเตรียมนาน และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกำชับกรมช้าง ให้จัดอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ เพนียดก็ให้ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด และขุดล่องคลองเพนียดให้เรือไฟเล็กขึ้นไปได้จนถึงท่า แล้วมีรถเทียมม้ารับคนขึ้นไปถึงเพนียด ดูเหมือนพระยาเพทราชา (เอี่ยม) จะออกไปปกโขลงเอง ทั้งเป็นผู้ซักซ้อมช้างต่อหมอควาญด้วย ช้างเถื่อนที่ต้อนเข้ามาคราวนี้ ช้างโขลงเชื่องกับช้างโขลงเถื่อนพอได้ส่วนกัน มีทั้งช้างพลายและแม่แปรกที่ดุร้าย เข้ามาอาละวาดให้เห็นฤทธิ์ และมีช้างเชื่องพอนำโขลงมิให้แตกกระแชงเหมือนเช่นพรรณนามาในครั้งที่ ๓ ว่าโดยย่อประสงค์จะให้สนุกด้วย เรียบร้อยด้วย รวมกันทั้ง ๒ อย่าง เอาช้างงาตัวใหญ่แทบเท่าช้างต่อเข้ามาตัวหนึ่ง สำหรับจะจับในเพนียด ช้างตัวนั้นแต่แรกเข้าเพนียดมันก็หลบเลี่ยงช้างต่ออยู่กลางโขลง เหมือนอย่างช้างใหญ่ตัวอื่นๆ แต่เมื่อถูกคล้องตีนหลังติดเชือกบาศข้างละ ๒ เส้น พอมันรู้ว่าภัยถึงตัวก็อาละวาดขนานใหญ่ วิ่งเลาะวงภาคหมายจะปีนข้ามคอกออกไป ครั้นปีนไม่ได้ก็ตั้งหน้าจะหักเสาแหกคอกออกไปไม่หยุด แต่พอระบายช้างโขลงออกจากเพนียดไปหมด เหลือแต่ตัวมันก็คลั่งจะชนช้างต่อ แต่ตีนหลังติดเชือกบาศรั้งไว้ทั้ง ๒ ข้าง และหมอควาญช้างต่อเขาก็รั้งช้างต่อไว้เสียให้ห่าง มันชนไม่ถึงก็ได้แต่ฟาดเนื้อฟาดตัว เห็นผู้คนวี่แววข้างไหนก็ไล่ ช้างต่อจะเข้าไปเทียบสองข้างโยนทามผูกคอเหมือนเช่นช้างตัวอื่นไม่ได้ ก็ต้องรออยู่จนเห็นมันเหนื่อยอ่อนกำลังแล้วจึงให้คนล่อให้ไล่เข้าประตูซอง เลยติดอยู่ในนั้น ให้คนผูกทามตามแบบจับช้างใหญ่เกินขนาด กว่าจะเอาไปผูกเสาตะลุงที่โรงคู่แขกได้ ก็พอสิ้นเวลา วันแรกคล้องแต่ช้างงาตัวใหญ่ตัวเดียวเท่านั้น ช้างพลายตัวนั้นเลยได้ชื่อเรียกกันว่า “พลายซาร์วิช” ถึงวันคล้องกลางแปลงก็มีสนุกต่างๆ อย่างเช่นเคยมีมาในหนหลัง เป็นแต่ไม่เกินขนาด แต่มีแปลกอย่างหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน เมื่อคล้องช้างได้สักสองสามตัวแล้ว พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามซาร์วิช ว่าจะประทานลูกช้างเล็กๆ ไปเล่นในเรือรบสักตัวหนึ่ง จะโปรดหรือไม่ ซาร์วิชทรงยินดีที่จะได้ จึงโปรดให้ขุนพิชัยกุญชรเลือกคล้องลูกช้างที่รูปร่างงามดี คล้องได้ตัวหนึ่งขนาดเพิ่งหย่านม สูงสัก ๒ ศอกเศษ ดูเหมือนพวกกรมช้างเขาคิดจะให้คนเข้าช่วยกันผูกทาม จูงเอามาถวายในเวลานั้น แต่เกิดขัดข้องด้วยช้างตัวที่เป็นแม่ไม่ยอมทิ้งลูก แม้จะขับไล่อย่างไรๆ จนที่สุดเอาช้างต่อเข้ารุมมันก็ไม่ยอมพรากไปจากลูก จนคนดูพากันสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี พากันนั่งจ้องคอยดูอยู่ทั้งนั้นว่ากรมช้างจะทำอย่างไร ดูเหมือนเขาคิดจะคล้องช้างแม่แล้วโยนทามผูกลากพรากเอาไปเสีย แต่แม่ช้างตัวนั้นมันคิดได้ก่อน พอมีความคิดมันก็รุนลูกให้ถอยหลังเข้าไปทางต้นเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสาปอง พอเชือกบาศหย่อน มันฉวยเอาเข้าใส่ในปากของมันแล้วเอางวงตีให้ลูกวิ่ง ตัวมันคาบเชือกบาศตามติดมา พอเชือกบาศตึงมันก็กัดเชือกบาศขาด แล้วเลยคาบปลายเชือกพาลูกไปหาโขลง แต่พอออกห่างจากช้างต่อไปได้แล้ว มันเหลียวหลังกลับมาแลดู ดูเหมือนกับเยาะเย้ยช้างต่อ คนดูฮากันก้องไปทั้งสนาม แม้ซาร์วิชก็ทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าขอให้พระราชทานคืนลูกช้างตัวนั้น เป็นบำเหน็จแก่ช้างแม่เถิด ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้ปล่อยไป พอใจบรรดาคนดูด้วยกันหมด

ลักษณะคล้องช้างแต่โบราณมี ๒ อย่าง คือใช้ “ทิ้ง” บ่วงเชือกบาศไปให้คล้องตีนช้าง ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า “แลสสู” (Lasso) อย่างหนึ่ง เอาบ่วงเชือกบาศติดปลายไม้คันจาม “ทอด” ดักให้ช้างเหยียบก้าวลงไปในบ่วงอย่างหนึ่ง คล้องด้วยทิ้งเชือกบาศเห็นจะยากมาก วิธีนั้นจึงสูญไป ยังใช้กันแต่คล้องด้วยคันจามอย่างเดียว แต่สังเกตดูในหนังสือเก่า หรือแม้ในรูปภาพที่เขียนกันมาแต่ก่อน บุคคลชั้นสูงเช่นท้าวพระยา คือผู้ที่เชี่ยวชาญการคล้องช้าง ชอบคล้องด้วย “ทิ้งเชือกบาศ” ดังกล่าวมาในภาคต้นว่ามีกฎมนเทียรบาลบทหนึ่ง ว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะทรงคล้องช้างเถื่อนที่เติบใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง “มิให้คนกลางช้างถวายเชือกบาศ” ดังนี้ ส่อให้เห็นว่าคงทรงคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จึงมีคนกลางช้างและไม่กล่าวถึงไม้คันจาม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัสไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน ตอนพิธีทอดเชือกดามเชือก ว่าเคยทรงได้ยินว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พระเจ้าลูกเธอต้องหัดทรงช้างทรงม้า ยังหัดให้ทิ้งเชือกบาศอยู่จนสมัยนั้น แต่ก็เห็นจะเป็นแต่หัดเท่านั้น ที่ใช้จริงน่าจะสูญเสียแต่ก่อนรัชกาลที่ ๑ แล้ว



หัดช้าง

ช้างเป็นสัตว์ฉลาด รู้ง่ายจำง่าย ถึงจับเมื่อเป็นช้างใหญ่แล้วก็อาจจะฝึกหัดให้เชื่อง ใช้การงานได้ไม่ยากนัก เพราะฉะนั้นวิธีวังช้างจึงจับช้างที่เข้าคอกทั้งหมด ไม่เลือกว่าจะเป็นช้างใหญ่หรือช้างเล็ก แต่ช้างเป็นสัตว์โตใหญ่เหลือกำลังที่คนจะเข้าฉุดคร่าผูกรัดได้เองโดยลำพังตน เหมือนอย่างวัวควาย การฝึกหัดช้างชั้นต้นจึงต้องอาศัยใช้ช้างด้วยกัน คือช้างต่อควบคุมและเป็นตัวอย่างชักนำให้ช้างที่หัดใหม่ทำตามใจคน แต่ก็เหมาะแก่ธรรมดาของช้างอันชอบอยู่กับเพื่อนและทำอะไรตามกัน พอคุ้นกับช้างต่อแล้วเห็นช้างต่อชอบกับคน ก็ยอมให้คนเข้าใกล้ชิดสนิทขึ้นโดยลำดับ จนถึงคนอาจจะฝึกหัดได้เอง ในที่สุดเมื่อฝึกหัดเชื่องราบแล้วถึงรักและเชื่อคำคน ยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉานอย่างอื่นหมด เว้นแต่หมาอย่างเดียว

วิธีหัดช้างเถื่อนที่จับได้ พิเคราะห์ดูก็คล้ายกับการสอบเด็กในโรงเรียนคือสอนความรู้เป็นชั้น ประถม มัธยม และอุดมเป็นขั้นๆ โดยลำดับขึ้นไป ความรู้ชั้นประถมและชั้นมัธยม หัดช้างที่จับได้ทุกตัวหมด แต่ความรู้ชั้นอุดมนั้นจะใช้ช้างตัวไหนสำหรับทำการอย่างใด ก็ฝึกหัดช้างตัวนั้นให้ชำนิชำนาญการอย่างนั้นโดยเฉพาะ

วิธีฝึกหัดชั้นประถมนั้น เมื่อแรกคล้องได้ช้างเถื่อนพาไปถึงที่หัดแล้วเอาเชือกที่ผูกกับทามที่คอช้างเถื่อนพาไปผูกโยงไว้กับเสาตะลุงหรือต้นไม้ข้างหน้าทางหนึ่ง เอาปลายเชือกบาศที่ยังติดตีนช้างอยู่ไปผูกไว้กับเสาหรือต้นไม้ข้างหลังอีกทางหนึ่ง เหมือนอย่างขึงช้างไว้ตรงกลาง เอาไว้อย่างนั้นจนสงบดิ้นรน เป็นแต่เอาน้ำสาดตัวช้างบ่อยๆ ให้ชุ่มชื่น ครั้นเห็นค่อยสงบกระวนกระวายแล้ว จึงให้ช้างต่อเข้าไปเทียบข้าง ปลดสายเชือกข้างหน้าออกจากเสาหรือต้นไม้ มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ แล้วแก้ปลายเชือกบาศมาไว้กับตัวช้างต่อ ให้ช้างต่อพาช้างเถื่อนไปลงน้ำและกินหญ้า วันละครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง จนช้างเถื่อนคุ้นกับช้างต่อที่คนขี่มีกิริยาเริ่มเชื่อง จึงเอาแปรสถานไปผูกไว้แต่กับเสาตะลุงที่ในโรง และปลดเชือกบาศออกจากตีน ถึงตอนนี้คนเลี้ยงเริ่มเอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน แต่เมื่อถึงเวลา ช้างต่อยังเข้าผูกพาไปลงน้ำกินหญ้าอยู่ทุกวันตามเคย เมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนเลี้ยงที่เอาน้ำและหญ้าเข้าไปให้กิน จนเห็นสิ้นกิริยาปองร้าย คนเลี้ยงก็ค่อยเข้าใกล้ชิดจนถึงลูบคลำตัวและเกาให้ชอบใจช้าง และลองให้คนขึ้นหลังในเวลาเมื่อเดินติดข้างไปกับช้างต่อ ลองขี่กลางหลังดูวันละครู่ละยาม จนเห็นเคยไม่สะบัดสะบิ้งแล้ว ก็ค่อยเลื่อนที่นั่งออกไปจนถึงขี่คอ เมื่อคนขี่คอได้เสมอแล้ว ก็หย่อนสายโยงทามยาวออกไปให้ช้างเถื่อนเดินสะดวกยิ่งขึ้นโดยลำดับ คนขี่คอก็ฝึกหัดให้รู้วิธีที่คนขี่ใช้เท้าและขอบังคับช้างยิ่งขึ้น เขาว่าการฝึกหัดชั้นนี้เพียงสัก ๓ เดือน ก็อาจจะขี่ช้างที่จับได้ใหม่ให้เดินตามช้างต่อโดยลำพังได้ ดูเป็นสำเร็จการศึกษาชั้นประถมเพียงนี้

ฝึกหัดชั้นมัธยมนั้น เริ่มเมื่อช้างเถื่อนคุ้นกับคนจนคนอาจจะหัดได้โดยลำพังแล้ว สอนให้ลงหมอบและลุกขึ้นตามคำสั่งของคนขี่อย่างหนึ่ง สอนให้งอขาหน้าส่งคนขึ้นขี่คออย่างหนึ่ง สอนให้เอางวงจับเชิงใส่ปลอกตีนข้างหน้าของตนอย่างหนึ่ง กับผูกเครื่องสัปคับบรรทุกของบนหลังอย่างหนึ่ง เขาว่าหัดผูกเครื่องสัปคับยากกว่าอย่างอื่น เพราะช้างรำคาญหลังมักสะบัดไม่ใคร่ยอมให้บรรทุกง่ายๆ นอกจากนี้ก็เห็นจะมีอย่างอื่นอีก เช่นหัดให้หักกิ่งไม้หรือถอนต้นไม้ที่กีดขวางทางเดินเป็นต้น อันจำต้องให้ช้างทำได้ในเวลาเมื่อใช้การงาน เขาว่าฝึกหัดชั้นมัธยมก็เป็นเวลาราว ๓ เดือน รวมเวลาฝึกหัดช้างตั้งแต่จับได้ไปราว ๖ เดือนก็ใช้การงานได้

แต่ในระหว่างเวลาที่ฝึกหัดอยู่นั้น ถ้าช้างยังไม่เชื่องสนิท หลุดไปได้ ก็กลับไปเข้าโขลงอยู่กับช้างเถื่อนอย่างเดิม ช้างเช่นนั้นเรียกว่า “ช้างอุทาม” ลืมความรู้ซึ่งคนได้ฝึกหัด และนิสัยกลับไปเป็นช้างเถื่อนยิ่งขึ้นตามเวลา แต่ผู้ชำนาญการจับช้างอาจจะรู้ด้วยสังเกตกิริยา มีเรื่องเล่ากันมา ว่าคล้องช้างที่เพนียดครั้งหนึ่งเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ คล้องได้ช้างพลายใหญ่ตัวหนึ่งที่ในเพนียด ล่อเอาเข้าซองได้แล้ว คนกำลังผูกทาม กรมหลวงรักษ์รณเรศซึ่งบัญชาการกรมพระคชบาล ทรงสังเกตกิริยาช้างตัวนั้น ตรัสแก่พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นแต่หมอช้างมีฝีมือ ว่า “อ้ายเอี่ยม ช้างตัวนี้ดูจะเป็นช้างอุทาม” หมอเอี่ยมได้ฟังตรัสก็ฉวยขอปีนขึ้นขี่คอช้างตัวนั้น ลองขยับขาบังคับช้างตัวนั้นเห็นทำตาม รู้ว่าเป็นช้างอุทาม ก็ทูลขอให้เปิดประตูซอง ขี่ช้างตัวนั้นทั้งมีเชือกบาศติดตีน พาไปโรงหัดได้โดยลำพังตัว ก็ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าหมอเอี่ยมกล้าหาญมาแต่ครั้งนั้น เพราะช้างอุทามตัวนั้นจะกลับใจไปเป็นช้างเถื่อนเสียเพียงไรก็ไม่รู้ เมื่อขี่ออกนอกซองแล้ว ถ้าเอาไว้ไม่อยู่ หมอเอี่ยมก็ต้องตาย จึงชมกันว่ากล้าหาญนัก หมอเอี่ยมก็ได้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับแต่นั้นมาจนได้เป็นพระยาเพทราชา แต่ช้างที่หัดจนเชื่องราบ เคยอยู่กับคนช้านานแล้ว ถึงจะปล่อยก็ไม่กลับไปเป็นช้างเถื่อน มีเรื่องตัวอย่างปรากฏในเรื่องพงศาวดารรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ว่ามีช้างงาสั้นตัวหนึ่งซึ่งลักษณะเข้าตำราว่าเป็นช้างวิเศษ ขึ้นระวางเป็นช้างต้นชื่อว่า “พระบรมจักรพาล” ถูกตัดแต่งปลายงามาหลายครั้งจนทะลุถึงโพรงไส้งา เห็นกันว่าจะตาย พระเจ้าบรมโกศจึงโปรดให้พาช้างตัวนั้น ตามเสด็จขึ้นไปยังพระพุทธบาท ให้ทำเครื่องด้วยดอกไม้สดแต่งพระบรมจักรพาล แล้วทรงอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาปล่อยไปในป่าที่เขาพระพุทธบาทนั้น แต่ช้างตัวนั้นเคยอยู่กับคนมาเสียช้านาน ไม่ชอบอยู่ป่า เที่ยวหากินไปถึงเมืองลพบุรี เห็นบ้านเมืองก็เข้าไปนอนที่หน้าศาลากลางเสมอทุกคืน เจ้าเมืองกรมการบอกมากราบทูล พระเจ้าบรมโกศทรงสงสาร ก็โปรดให้ไปรับกลับเข้ามาเลี้ยงไว้ดังเก่า

ฝึกหัดช้างชั้นอุดมนั้น คือหัดให้รู้จักทำการเฉพาะบางอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อช้างมีความรู้ชั้นมัธยมแล้ว ดังเช่นประสงค์จะให้ช้างตัวนั้นเป็นช้างต่อ ก็ฝึกหัดให้ทำการไปด้วยกันกับช้างต่อจนชำนาญ ถ้าจะใช้ช้างตัวนั้นทำป่าไม้ ก็หัดให้ลากขนไม้ซุงไปด้วยกันกับช้างที่ทำป่าไม้เป็นทำนองเดียวกัน ผู้จับช้างเถื่อน เป็นพนักงานหัดชั้นประถมและมัธยม เพราะจะขายช้างได้ต่อเมื่อหัดแล้ว แต่การหัดความรู้ขั้นอุดม ผู้ทำการนั้นๆ หัดเอาเอง

ที่พรรณนามานี้เป็นการฝึกหัดช้างที่ใช้กันในพื้นเมือง แต่การฝึกหัดช้างหลวง เป็นระเบียบหนึ่งต่างหาก ในทำเนียบกรมพระคชบาล มีพนักงานฝึกหัดเรียกว่า “ครูช้าง” เป็นแผนกหนึ่ง ตัวหัวหน้าเป็นที่ขุนสิทธิกรรมอนันต์พระคชศาสตร์คนหนึ่ง ขุนศรีชัยทิศสิทธิพระคชศาสตร์คนหนึ่ง แต่ตำราหัดช้างหลวงจะเป็นอย่างไรฉันไม่เคยพบ ได้แต่สันนิษฐานตามเค้าที่สังเกตดูในทำเนียบบ้าง ในเรื่องพงศาวดารบ้าง กับที่ได้เห็นประเพณีที่ยังมีอยู่ชั้นหลังบ้าง การฝึกหัดช้างหลวงเบื้องต้น ก็คงฝึกหัดความรู้ชั้นประถมและมัธยม เหมือนอย่างช้างสามัญ แต่เห็นจะเพิ่มฝึกหัดมิให้ตื่นไฟหรือตื่นเสียงและตื่นของแปลกตาต่างๆ อันจะต้องพบเมื่อใช้ราชการ ต่อจากนั้นถึงชั้นอุดม เห็นจะหัดช้างเป็น ๔ ประเภท คือ ช้างรบประเภทหนึ่ง ช้างต่อประเภทหนึ่ง สองประเภทนี้ล้วนเป็นช้างพลาย ช้างหลัง (หัดให้เดินเรียบในเวลาผูกสัปคับให้คนนั่ง หัดแต่ช้างพัง) ประเภทหนึ่ง กับช้างบรรทุกอีกประเภทหนึ่ง อย่างนี้มีทั้งช้างพลายและช้างพัง จะว่าแต่ด้วยหัดช้างรบ ช้างรบแต่โบราณเห็นจะมี ๓ อย่าง (ในตำราจะเรียกต่างกันอย่างไร ฉันไม่รู้แน่ จะเรียกต่อไปตามคำของฉันเอง) คือ “ช้างชน” อย่างหนึ่ง “ช้างไล่” (น่าจะตรงกับที่เรียกในหนังสือเก่าว่า “ช้างดั้ง”) อย่างหนึ่ง “ช้างเขน” อย่างหนึ่ง ช้างชนนั้นเป็นช้างงา สำหรับขุนพลทั้งสองฝ่ายขี่คอขับให้ชนกัน และตัวเองก็รบกันบนคอช้าง เป็นการชิงชัยกันตัวต่อตัวทั้งช้างที่ชนและคนที่ขี่ แต่โบราณนับถือกันว่าเป็นวิธีรบยากกว่าอย่างอื่นเรียกว่า “ยุทธหัตถี” ขุนพลคนไหนชนะก็ขึ้นชื่อลือเกียรติว่าเป็นนักรบอย่างวิเศษ ต้องเลือกช้างขนาดใหญ่ที่กล้าหาญว่องไวดีถึงชั้นที่สุด หัดเป็นช้างชน แต่ช้างชนนั้นคนขี่อย่างไรและผูกเครื่องอย่างไร มีปัญหาอยู่ ด้วยสังเกตดูรูปภาพชนช้างที่เขียนไว้เก่าก่อนรัชกาลที่ ๔ เขาเขียนช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า ขุนพลขี่คอมีแต่ควาญท้ายอย่างเดียวกับขี่ช้างตกน้ำมัน แต่รูปภาพเขียนชั้นหลังตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เช่นรูปภาพสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้าง ที่เขียนไว้ ณ หอราชกรมานุสรณ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นต้น เขียนช้างชนผูกเครื่องคชาธารปักเศวตฉัตร มีคนนั่งอยู่บนคชาธารอีกคนหนึ่ง เหมือนกันทั้งช้างของสมเด็จพระนเรศวรฯ และของพระมหาอุปราชาหงสาวดี จึงเกิดปัญหาว่า ที่จริงช้างชนผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า คนขี่ ๒ คน หรือผูกเครื่องคชาธารมีคนขี่ ๓ คน ฉันคิดดู เห็นว่าการทำยุทธหัตถีขี่ช้างชนกันนั้น เหมือนขุนพลฝากชีวิตไว้กับช้างด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าช้างชนเพลี่ยงพล้ำลงอย่างใด ขุนพลก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นต้องอยากให้ช้างของตนชนได้คล่องแคล่ว ปราศจากอะไรที่ขัดขวางเป็นธรรมดา ก็คชาธาร(อย่างเช่นผูกหุ่นไว้ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพฯ) เป็นของหนัก เอาขึ้นไปบรรทุกหลังช้างตั้งโงงเงงไว้เช่นนั้น ย่อมเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ช้างชนได้คล่องแคล่ว ถ้าไปเจอช้างข้าศึกผูกเครื่องมั่นตัวเปล่า ก็จะแพ้แต่แรก ถึงแม้ชนกันด้วยช้างผูกคชาธารทั้งสองฝ่าย ถ้าเผอิญเชือกผูกคชาธารฝ่ายไหนขาดหรือเพียงแต่หย่อน ทำให้คชาธารเอนเอียงลงมาห้อยอยู่ข้างช้างๆ ก็ต้องแพ้ ใครเลยจะสมัครขี่ช้างชนด้วยมีเครื่องเสี่ยงภัยถึงเพียงนั้น ฉันเห็นว่าที่จริงเครื่องผูกช้างชนคงเป็นเครื่องมั่นหลังเปล่าเช่นนั้นจึงจะชนได้ถนัด เหตุใดจึงมาเขียนรูปช้างชนให้ผูกเครื่องคชาธารขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ คิดดูก็เหมือนจะได้เค้า ด้วยในเรื่องพงศาวดารปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ชนช้างกับพระมหาอุปราชาเมืองหงสาวดีนั้น ช้างพระที่นั่งมีเจ้ารามราฆพขี่กลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ ช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็มีหมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ และว่านายมหานุภาพกับหมื่นภักดีศวรถูกปืนตายเมื่อชนช้าง ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารเห็นความที่กล่าวว่า ช้างทรงมีคนขี่กลางช้างเหมือนอย่างคชาธาร ผิดกับช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าอย่างสามัญ ก็เขียนลงว่าผูกเครื่องพระคชาธาร อันเป็นของมีจริงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบัญชาการรบในสนาม มิใช่สำหรับทรงเมื่อชนช้าง ช่างเขียนเขียนตามคำที่ว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร รูปภาพช้างชนจึงกลายมาเป็นผูกคชาธาร เห็นว่าจะพลาดไปด้วยเหตุอย่างนี้ คิดต่อไปถึงข้อที่ช้างสมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ มีคนขี่กลางช้างในเวลาที่ชนนั้น เห็นว่าช้างชนแต่โบราณอาจจะผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่ ๓ คนเช่นนั้น เป็นแบบใช้ทั่วไปก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะมีแต่ช้างพระที่นั่งก็อาจจะเป็นได้ เช่นเดียวกับช้างต่อที่พระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง ก็มีคนกลางช้างเพิ่มขึ้นผิดกับช้างคนอื่นขี่ ถึงมีในกฎมนเทียรบาลบทหนึ่งว่า “ถ้าพระเจ้าแผ่นดินตรัสเรียกเชือกบาศจะคล้องช้างเถื่อนที่โตใหญ่กว่าช้างพระที่นั่ง ห้ามมิให้คนกลางช้างส่งเชือกบาศถวาย” ช้างชนก็จะเป็นอย่างเดียวกันได้ดอกกระมัง ฉันจึงไม่กล้าลงความเห็นยืนยันว่าช้างชนคนขี่ ๓ คน หรือ ๒ คน ที่เอาปัญหามากล่าวไว้ ประสงค์แต่จะคัดค้านข้อที่ว่าช้างชนผูกเครื่องคชาธารเป็นสำคัญ เพราะรูปภาพที่เห็นกันทุกวันนี้ เขียนมีคชาธาร ชวนให้เข้าใจผิดอยู่โดยมาก

“ช้างไล่” นั้น สำหรับจู่โจมไล่แทงข้าศึกให้แตกฉาน หรือบุกรุกเข้าไปทำลายค่ายเขื่อนของข้าศึก เลือกช้างที่คล่องแคล่วรวดเร็ว เห็นจะเป็นชนิดที่เรียกว่า “ช้างระวางเพรียว” ในทำเนียบ ผูกเครื่องมั่นหลังเปล่ามีคนขี่คอกับควาญท้าย (อาจจะมีคนกลางช้างด้วยก็เป็นได้) ช้างไล่ได้ใช้รบศึกมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงหเสนี) รบญวนที่เมืองเขมรเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทร์ฯ ตั้งอยู่ที่เมืองอุดง เป็นเวลาฤดูน้ำ ญวนได้เปรียบด้วยมีเรือมาก จึงยกกองทัพเรือขึ้นไปจากเมืองพนมเปญหมายจะตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทร์ฯ มีแต่กองทัพบก จึงให้รวมพลจัดขบวนทัพซุ่มไว้ข้างในเมือง ปล่อยให้พวกญวนขึ้นบกได้ตามชอบใจ พอเห็นพวกญวนขึ้นจากเรือแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์ฯ ก็ให้กองทัพช้างไล่รายกันเป็นแนวออกนำหน้าทหารราบ ให้ช้างเข้าไล่แทงพวกญวนล้มตายแตกตื่นจนรวนเร แล้วให้ทหารราบตามเข้าตีซ้ำ กองทัพญวนก็แตกพ่ายหนีกลับไป ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดซึ่งใช้ช้างรบในเมืองไทย

“ช้างเขน” นั้น สำหรับนำพลเข้าตีประชันหน้ากองทัพข้าศึก ล้วนช้างงาขนาดใหญ่อย่างที่เรียกว่า “ระวางใหญ่” ผูกเครื่องมั่นมีสัปคับสำหรับทหารปืนอยู่บนนั้นอีก ๒ คนนอกจากหมอควาญ เคยเห็นแต่ในขบวนแห่ แต่คิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นช้างรบแบบเก่าก่อนอย่างอื่น มีแต่สมัยเมื่อยังใช้หอกซัดและธนู ก่อนมีช้างไล่และช้างชน

วิธีหัดช้างรบ จะทำอย่างไรบ้างฉันไม่เคยพบในตำรา แต่ยังมีตำราขี่ช้างแต่งครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งหอสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๕ ปรากฏอยู่ ในตำรานั้นว่าถึงการซักซ้อมช้างรบหลายอย่าง มีซ้อมชนเป็นต้น สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรคล้ายกับการกีฬา และยังมีเป็นประเพณีสืบมาจนกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ฉันได้ทันเห็นหลายอย่าง สังเกตดูพอเป็นเค้าได้ว่าการฝึกหัดช้างรบนั้น หัดให้กล้าอย่างหนึ่ง หัดให้อดทนต่อบาดเจ็บอย่างหนึ่ง และหัดให้ทำตามคนขี่บังคับในทันทีอย่างหนึ่ง ลักษณะการซ้อมช้างรบมีหลายอย่าง เรียกว่า “บำรูงา” อย่างหนึ่ง “ล่อแพน” อย่างหนึ่ง “ผัดพาน” อย่างหนึ่ง “แทงหุ่น” อย่างหนึ่ง “ล่อช้างน้ำมัน” อย่างหนึ่ง (ฉันไม่เคยเห็นช้างบำรูงา แต่นอกจากนั้นเคยเห็นทั้ง ๔ อย่าง) เดี๋ยวนี้สูญไปหมดแล้ว จึงจะพรรณนาไว้ในนิทานนี้

ที่เรียกว่า “ช้างบำรูงา” นั้น คือฝึกซ้อมช้างชน เลือกช้างรบที่กำลังตกน้ำมันทั้ง ๒ ตัว ผูกเครื่องมั่นมีหมอควาญขี่ให้ซ้อมชนกัน เหตุใดจึงเลือกช้างกำลังตกน้ำมัน อธิบายว่าธรรมดาช้างพลายมักเป็นสัดปีละครั้งหนึ่ง ในเวลาเป็นสัดนั้น ที่ตัวช้างมีน้ำมันตกทั้งข้างหน้าข้างท้าย จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า “ช้างตกน้ำมัน” ช้างกำลังตกน้ำมันมักดุร้ายและมีกำลังมากกว่าเวลาอื่น ช้างที่ไม่ตกน้ำมันมักกลัวเกรงไม่กล้าสู้ เพราะฉะนั้นช้างที่ขี่ทำยุทธหัตถี จึงใช้ช้างกำลังตกน้ำมัน เมื่อซักซ้อมก็ใช้ช้างกำลังตกน้ำมันเหมือนกัน แต่ช้างตกน้ำมันคนขี่บังคับยาก เพราะกำลังคลั่งน้ำมัน ไม่ทำร้ายแต่ช้างพัง นอกจากนั้นอะไรเข้าไปยั่วก็เกิดโทสะ อยากแต่จะแทง คนขี่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบังคับช้างจึงอาจขี่ช้างตกน้ำมันได้ เวลาจะให้ช้างบำรูงา ต้องเลือกสรรหมอควาญที่ดีทั้งสองข้าง ในตำราว่าให้แต่งตัวอย่างโอ่โถง นุ่งผ้าตามแบบในคชศาสตร์ หมอใส่เสื้อตาระกำใส่พวงมาลัยสวมศีรษะกับทั้งคอและข้อมือทั้งสองข้าง ควาญก็ใส่พวงมาลัยเช่นนั้นเหมือนกัน (แต่ไม่ใส่เสื้อ) ที่สนามบำรูงาหน้าพลับพลานั้นปัก “เสาปอง” (เป็นเสาอย่างเตี้ยๆ) สองแถว เรียงกันเป็นระยะสัก ๕ วาไว้ข้างหลังช้างชนทั้งสองฝ่าย สำหรับวัดเชือกบาศซึ่งผูกตีนหลังช้างรั้งไว้ ให้ชนกันได้เพียงปลายประถึงกันมิให้ถึงแพ้ชนะ เพราะธรรมดาของช้างถ้าชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เมื่อจะบำรูงา ให้ช้างพังตั้ง ๑๐ ตัวเดินนำบังตาช้างชนมิให้แลเห็นกัน ให้ช้างชนไปยืนอยู่ที่หน้าเสาปอง เอาเชือกปาศคล้องตีนหลังทั้งสองข้าง คลี่ปลายเชือกบาศไปวัดกับเสาปองไขว้กันไปจนตลอดแนว ผูกไว้ระยะแต่ปลายงาช้างชนประกันดังกล่าวแล้ว เมื่อล่ามช้างแล้ว หมอควาญต้องทำพิธีบูชาก่อน คือประนมมือยกขอขึ้นถึงศีรษะ เสกบูชาพระรัตนตรัย แล้วลดขอลงมาเพียงบ่า เสกบูชาครูปัทยาย แล้วลดขอลงมาวางถึงกะพองและหลังช้าง ก้มหัวลงถึงขอแทนถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่สุด เสร็จบูชาแล้วสั่งให้เหล่าช้างพังที่บังหน้าถอยออกไป แล้วหมอควาญทั้งสองฝ่ายก็ไสช้างเข้าชนกัน วิธีชนนั้นมีคำในตำรากล่าวว่า “ให้ผู้ขี่ช้างแก้ไขช้างให้ ชน ขวิด ค้อนโยน ป้องกัน ให้เป็นท่วงทีทั้งสองฝ่าย” ดังนี้ ชวนให้เข้าใจว่าผู้ขี่จะให้ช้างชนอย่างไร อาจจะแนะได้ แต่ช้างนั้น ชนกันเต็มกำลังจริงๆ ข้อนี้เห็นได้ในเรื่องพงศาวดาร เมื่อสมเด็จพระยอดฟ้า (บางฉบับเรียกพระแก้วฟ้า) ราชบุตรสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทอดพระเนตรช้างบำรูงา ว่าครั้งนั้นงาช้างพระยาไฟหักเป็น ๓ ท่อน ก็เพราะชนกันเต็มกำลังนั่นเอง ดูก็สมกับที่ถือกันมาแต่โบราณว่า การชนช้าง ต้องเก่งทั้งคนทั้งช้างจึงจะเอาชัยชนะได้ แต่ช้างบำรูงาเห็นจะให้ชนกันไม่ช้านัก พอสมควรแก่เวลาแล้ว เมื่อจะเลิกในตำราว่าให้คนขี่รั้งช้างให้ถอยออกไปทั้งสองฝ่าย เมื่อช้างถอยไปถึงเสาปอง ให้หมอควาญรำขอและเล่นหน้าเยาะเย้ยกันทั้งสองฝ่าย และทำพิธีบูชาอีกครั้งหนึ่งเหมือนเมื่อก่อนชน แล้วจึงเรียกเหล่าช้างพังให้เข้าไปบังหน้า พาช้างชนกลับไปโรงทั้งสองตัว เป็นเสร็จกระบวนช้างบำรูงา

ซ้อมช้างอย่าง “ล่อแพน” นั้น สำหรับซ้อมช้างไล่ เวลารบไม่จำต้องใช้ช้างตกน้ำมันเหมือนช้างชน แต่ซ้อมถวายทอดพระเนตรอย่างกีฬา ใช้ช้างตกน้ำมันเสมอ มีที่ท้องสนามชัย ทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หมอควาญขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่า มายืนอยู่ที่หัวสนามทางด้านเหนือ กรมม้าเลือกม้าตัวดีที่คล่องแคล่วและใจกล้าตัวหนึ่ง ผูกเครื่องแผงอย่างเต็มยศให้ขุนม้าผู้เชี่ยวชาญขี่ ขุนม้านั้นก็แต่งตัวเต็มยศโพกผ้าสีทับทิมขลิบทอง มือถือ “แพน” ทำด้วยไม้รวกยาวสัก ๖ ศอก ผูกผ้าสีเป็นปล้องๆ ในจนพู่ที่อยู่ปลายรำแพน ขับม้าสะบัดย่างเข้าไปจนถึงหน้าช้าง ชักม้าหันหน้ากลับแล้วยื่นปลายแพนเข้าไปล่อใกล้ๆ ช้าง พอช้างขยับไล่ก็ขับม้าวิ่งล่อมาในสนาม แต่มิให้ห่างช้าง ถือแพนเอาปลายล่อให้ช้างฉวย ดูเหมือนถือกันว่าถ้าช้างฉวยเอาแพนได้ก็เป็นช้างชนะ ถ้าฉวยไม่ได้ก็เป็นม้าชนะ ไล่กันมาหวิดๆ จนคนดูออกเสียวไส้ เห็นได้ว่าม้าและคนขี่ดีหรือเลว ด้วยมีม้าบางตัวไม่กล้าเข้าใกล้ช้าง และคนขี่บางคนพอช้างไล่ก็ขับม้าหนีเตลิดเปิดเปิง ชวนให้เห็นว่าขลาดเกินไป ในตำราว่าถ้าช้างฉวยได้แพน ให้หมอควาญหยุดไล่และรำขอเล่นหน้าเยาะเย้ย ถ้าช้างไม่ได้แพน ก็ให้ไล่ตลอดจนถึงปลายสนามแล้วหยุดไล่เป็นเสร็จการล่อแพน บางทีเปลี่ยนช้างเปลี่ยนม้าให้ล่อสองเที่ยวหรือสามเที่ยวก็มี

มีเรื่องเล่ากันมาว่าเมื่อรัชกาลที่ ๓ มีช้างงาของหลวงตัวหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ขึ้นระวางชื่อว่า “พลายไฟภัทธกัลป์” แต่คนเรียกกันเป็นสามัญตามชื่อเดิมว่า “พลายแก้ว” เป็นช้างฉลาดแต่ดุร้ายตกน้ำมันทุกปี แทงคนที่ไปล่อตายหลายคนจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ถึงมีรูปภาพเขียนไว้ (อยู่ที่ในพิพิธภัณฑสถาน) ช้างพลายแก้วตัวนั้นอยู่มาจนถึงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง ขึ้นระวางเป็น “เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด” เป็นม้าขี่คล่องแคล่วฝีตีนดี ทั้งเต้นน้อยและวิ่งใหญ่ก็รวดเร็ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ถึงเกิดอยากทรงม้าสายฟ้าฟาดตัวนั้นล่อแพนช้างพลายแก้วเวลาตกน้ำมัน ตรัสสั่งให้มีการล่อแพนพลายแก้วที่สนามในวังหน้า เสด็จทรงม้าสายฟ้าฟาดสะบัดย่างเข้าไปถึงหน้าช้างแล้วชักตลบหลัง ทรงยื่นแพนล่อช้างตามตำรา พอพลายแก้วขยับตัวจะไล่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็ทรงกระทบพระบาทขับม้าจะให้วิ่ง แต่อย่างไรม้าสายฟ้าฟาดเข้าใจว่าโปรดให้เต้นก็เต้นน้อยย่ำอยู่กับที่ไม่วิ่งหนีช้าง แต่หมอช้างที่ขี่พลายแก้ววันนั้นปัญญาไว คงเป็นคนสำคัญที่กรมช้างเลือกสรรไป เขาแก้ไขด้วยใช้อุบายก้มตัวลงเอามือปิดตาพลายแก้วทั้งสองข้าง แล้วขับเบนให้วิ่งไล่เฉไปเสียทางอื่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงพ้นอันตราย เล่ากันมาอย่างนี้

ซ้อมช้างอย่าง “ผัดพาน” นั้น ดูเหมือนจะสำหรับซ้อมช้างให้ทำลายเรือน ซ้อมถวายทอดพระเนตรที่สนามชัยอย่างเช่นล่อแพน แต่ลักษณะผัดพานนั้นปลูกปะรำไม้ไผ่ทางหัวสนามปะรำหนึ่ง ทางท้ายสนามปะรำหนึ่ง เป็นปะรำยาว ๕ ห้องกว้างสัก ๒ เท่าตัวช้าง สูงแต่เพียงเหนือตาช้าง หลังคาปะรำทอดรำไม้ไผ่ขวางเรียงกันไป ไม่ผูกติดกับแปเหนือเสา แล้วดาดกระแชงเหมือนกันทั้งสองปะรำ หมอควาญขี่ช้างน้ำมันไปยืนอยู่ในสนามตรงกลางระหว่างปะรำทั้งสองข้าง ทำพิธีบูชาและถวายบังคมแล้วจึงบ่ายหน้าช้างไปทางปะรำด้านหนึ่งก่อน ขณะนั้นคนผัด (ในตำราเรียกว่า “คนพาน” เพราะถือพัดใบตาลรูปอย่างวาลวิชนี) ก็ออกมาจากปะรำ คนผัดนั้นแต่งตัวนุ่งกางเกงสั้นเหนือเข่า หัวสวมมงคลเหมือนอย่างคนชกมวย ถือด้ามพัดมือหนึ่ง ถือขอบพัดมือหนึ่ง เป็นท่าป้องหน้าเดินเข้าไปหาช้าง จนใกล้ได้ระยะพอจะวิ่งหนีพ้นก็ลดพัดลงถือมือเดียว ย่างเท้า “ออกพักสามท่า” (คล้ายย่างสามขุม) แล้วตบมือกับใบพัดร้องว่า “ผัดพ่อ” ทำเหมือนหนึ่งจะยื่นพัดให้ช้าง พอช้างไล่ก็วิ่งหนี แต่มือถือพัดยื่นให้ช้างล่อไปใกล้ๆ อย่างหวุดหวิด เห็นได้ว่าต้องเป็นคนใจกล้าและได้ฝึกหัดคล่องแคล่วชำนิชำนาญ ในตำราว่าช้างอาจจะฉวยพัดได้ แต่ฉันไม่เคยเห็นถึงอย่างนั้น เห็นแต่คนผัดวิ่งหนีเข้าไปในปะรำ ช้างไล่กำลังตามมุ่งคนล่อ ถึงปะรำหัวช้างก็เกยรำไม้ไผ่ที่ทอดไว้เป็นขื่อกับกระแชงที่มุง ดันเอากระจุยไปสักครึ่งปะรำ หมอจึงเหนี่ยวช้างให้ถอยหลังออกมา พอพ้นปะรำหมอควาญก็เล่นไหล่ใส่หน้าเยาะเย้ยตามตำรา แล้วขับช้างกลับไปยืนอยู่กลางสนามหันหน้าไปทางปะรำอีกข้างหนึ่ง คนผัดในปะรำนั้นก็ออกมาผัดล่ออย่างเดียวกัน ในเวลานั้นคนขึ้นทอดไม้มุงกระแชงปะรำแรกให้ดีดังเก่า ล่อช้างทางปะรำที่ ๒ แล้วก็กลับมาล่อทางปะรำที่ ๑ อีกซ้ำสองเที่ยวสามเที่ยวแล้วเป็นเสร็จ เปลี่ยนตัวคนผัดทุกครั้ง แต่คนผัดช้าง เห็นจะหาได้ไม่ยาก เพราะพวกคนคะนองเห็นเป็นการกีฬาอย่างสนุก ด้วยต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าการอย่างอื่น

ซ้อมช้าง “แทงหุ่น” นั้น ในตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่กล่าวถึง ตัวฉันเองก็ได้เคยเห็นครั้งเดียวเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ซ้อมขู่พวกจีนอั้งยี่แต่ต้นรัชกาลที่ ๕ ดังกล่าวไว้ในนิทานที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่ แต่เห็นได้ว่าสำหรับซ้อมช้างหักค่ายข้าศึก ด้วยทำเป็นค่ายขึ้นที่หัวสนาม มีหุ่นรูปคนรายประจำอยู่ในนั้น เมื่อหมอควาญขี่ช้างมายืนอยู่ในสนาม คน(จริงๆ) พวกที่แอบอยู่ในค่ายยิงปืนออกมา พอช้างแลเห็นไฟได้ยินเสียงปืน หมอควาญก็ขับให้วิ่งสวนควันเข้าไปรื้อค่ายแทงรูปหุ่นคนที่รักษาค่าย ต่อช้างหัดได้ดีถึงขนาดจึงทำได้เช่นนั้น

17  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) - ต่อ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:27:02


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ)

วิธีคล้องช้างที่เพนียด

การจับช้างที่เพนียดเป็นงาน ๓ วัน วันที่หนึ่งต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด วันที่สองคล้องช้างใหญ่ในเพนียด วันที่สามคล้องช้างย่อมที่กลางแปลง ถึงวันที่สี่ก็ต้อนช้างกลับไปปล่อยป่า เป็นเช่นนี้มาเป็นนิจ พอรู้กำหนดวันจับช้าง คนทั้งหลายทั้งชาวกรุงเทพฯ และชาวหัวเมือง ดูเหมือนว่าถ้าใครพอสามารถจะไปได้ ก็พากันไปดูจับช้าง ผู้คนมากมายเหมือนอย่างว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” เป็นนิจ เพราะสนุกจริงๆ ดูครั้งหนึ่งแล้วก็ยังอยากดูอีกไม่รู้จักเบื่อ ในสมัยเมื่อยังไม่มีรถไฟ พวกผู้ดีชาวกรุงเทพฯ มักไปเรือแหวดเก๋ง ๖ แจว ๘ แจว นอนค้างได้ในเรือนั้น ไปหาที่จอดนอนในคลองเพนียดทั้งสองฟาก พวกที่ไม่มีพาหนะก็ไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัดตามบ้านใกล้ๆ เพนียด แม้ชาวกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ไกลจะเดินไปมาไม่ทันดู ก็มาเที่ยวอาศัยเขาค้างอยู่เช่นนั้น ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเรือไฟขึ้นไปประทับแรมที่วังจันทร์เกษม แล้วใช้เรือพระที่นั่งพายไปมากับเพนียด ถึงรัชกาลที่ ๕ ชั้นแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปอย่างเดียวกัน แต่เมื่อสร้างพระราชวังที่เกาะบางปะอินแล้ว ประทับแรมที่บางปะอิน ทรงเรือไฟเล็กขึ้นไปจนถึงวังจันทร์ แล้วจึงทรงเรือพายต่อไป เพราะคลองเพนียดน้ำตื้น แต่ท่าเพนียดทรงพระราชยาน นางในขึ้นวอไปยังพลับพลาเชิงเทินเพนียดที่พรรณนามาแล้ว กั้นม่านปันเขตข้างในอยู่ทางเหนือ ข้างหน้าอยู่ทางใต้ เจ้านายอยู่บนพลับพลา ขุนนางดูหน้าพลับพลา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ชอบดูจับช้าง ไปเสมอทุกคราวไม่ขาด ท่านนั่งหน้าพลับพลาตรงที่ประทับลงไปเพ็ดทูลได้ตลอดเวลาที่จับช้าง แต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลไม่เสด็จขึ้นบนพลับพลา โปรดประทับที่ท้ายพลับพลา ต่อกับประตูซองเวลาคล้องช้างในเพนียด ถึงวันคล้องกลางแปลงเสด็จไปประทับที่บันไดเชิงเทิน ริมโรงคู่แขก อย่างนี้เป็นนิจ คงเป็นเพราะทรงบัญชาการได้สะดวก ฉันเคยได้ยินพวกทหารมหาดเล็กเขามาเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเมื่อท่านเสด็จประทับอยู่ที่บันไดนั้น ทหารมหาดเล็กตั้งแถวยืนพักอยู่ข้างหลัง ทหารคนหนึ่งยืนอยู่แถวหลัง ทหารคนแถวหน้าบังไม่แลเห็นกรมสมเด็จฯ แลข้ามไปเห็นขุนพิชัยกุญชร (แจ้ง) ขี่คอช้างต่อเข้ามาเฝ้า ออกปากพูดกับเพื่อนทหารว่า “แหม อ้ายตาหมอช้างคนนั้น หัวช่างล้านนี่กระไร” กรมสมเด็จฯ ทรงได้ยิน หันมาตรัสว่า “เออ กรมช้างละหัวล้านทั้งนั้นแหละ” ทหารคนที่พูดตกใจจนแทบสลบ เพื่อนทหารที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กันก็เต็มกลั้นหัวเราะ ด้วยเกรงพระบารมี เรื่องที่เล่านี้เห็นจะจริง ด้วยกรมสมเด็จฯ ไม่ทรงละอายในส่วนพระองค์ และโปรดตรัสล้อคนหัวล้าน ได้เคยเห็นกันอยู่เนืองๆ บนเชิงเทินต่อพลับพลาเลี้ยวไปทางด้านใต้ เป็นที่ข้าราชการและชาวต่างประเทศดู ทางด้านเหนือเป็นที่พวกสตรีมีบรรดาศักดิ์ดู กรมช้างปลูกปะรำตั้งเก้าอี้หรือยกพื้นให้นั่งทั้งสองด้าน ที่ว่างต่อปะรำออกไปแล้วแต่กรมช้างจะยอมให้ผู้ใดขึ้นไปยืนดู แต่อยู่ในชั้นผู้ดีทั้งนั้น พวกชั้นราษฎรได้ดูแต่เวลาช้างเข้าเพนียด กับเมื่อจับกลางแปลง วันจับในเพนียดได้เห็นแต่ระบายช้างโขลง และโยงช้างเถื่อนที่จับได้ออกมานอกเพนียด พวกที่เป็นคนคะนอง เข้าเล่นผัดช้างเถื่อนได้บ้าง

ถึงวันที่ ๑ พอบ่ายพวกกรมช้างต้อนโขลงมาพักไว้ห่างเพนียดระยะทางเดินราวสักครึ่งชั่วนาฬิกา แต่แลไปไม่เห็นได้จากเพนียด พอได้สัญญาณว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ก็ต้อนโขลงเดินมายังเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาบ่ายราว ๑๖ นาฬิกา เสด็จไปประทับที่บนเชิงเทินด้านตะวันออกตรงทางที่ช้างจะเข้าเพนียด ผู้ที่ตามเสด็จก็พากันไปดูทางด้านนั้น แต่กรมช้างเขาขอว่าอย่าให้ใครเข้าไปดูถึงใกล้ประตูซอง และอย่าให้พูดจากันอึกทึก เพราะเกรงช้างเถื่อนจะตื่น เลยไม่เข้าเพนียด แต่ข้างนอกเพนียดนั้นเขาไล่คนหมด ไม่ให้ใครเข้าไปดูใกล้เสาปีกกา หรือใกล้ทางที่โขลงช้างจะเดินมาเลยทีเดียว ถึงกระนั้นแลดูไปจากเพนียดก็เห็นคนเต็มไปตามทุ่งท่า ตลอดจนบนต้นไม้นอกเขตที่ห้ามแทบทุกแห่ง เสด็จไปถึงแล้วไม่ช้าก็แลเห็นโขลงช้างเดินมาในท้องทุ่ง ทางฟากคลองข้างโน้นแต่ไกลๆ ถ้าใครไม่เคยดูมาก่อนก็ต้องตื่นตา เมื่อแลเห็นช้างเถื่อนทั้งใหญ่น้อยทุกขนาดมากมายหลายร้อย เดินมาด้วยกันเป็นโขลงใหญ่ มีช้างต่อนำมาข้างหน้าตัวหนึ่ง และมีช้างต่อซึ่งเรียกว่า “ช้างค่าย” ล้วนเป็นช้างงาแซงมาทั้งสองข้างตั้ง ๕๐ ตัว ข้างท้ายโขลงมีช้างงาขนาดใหญ่ซึ่งเรียกว่า “ช้างค้ำ” สัก ๑๐ ตัว เดินเรียงกันเป็นหน้ากระดานต้อนมาข้างหลัง ดูเป็นขบวนช้างอย่างแปลกตา ไม่มีที่ไหนเหมือนก็ต้องพิศวงทุกคน เมื่อช้างโขลงลงข้ามลำน้ำคลองเพนียด เขารอให้ช้างกินน้ำจนอิ่มหนำแล้วจึงต้อนมาขึ้นที่ปากปีกกา นำโขลงเข้ามายังเพนียด ตอนนี้พวกช้างค่ายหยุดอยู่ข้างนอกปีกกา มีแต่ช้างต่อตัวที่นำมาข้างหน้า กับพวกช้างค้ำต้อนมาข้างหลัง ช้างสีดอตัวนำโขลงนั้นเป็นช้างฉลาดถึงเลื่องลือ เดิมคงมีชื่ออื่นแต่เรียกกันว่า “สีดอขโมย” เพราะครั้งหนึ่งไปปกโขลง มันไปลอบลักหม้อข้าวของคนอื่นหิ้วมาให้คนเลี้ยงมันกิน จึงขึ้นชื่อว่าสีดอขโมย ตัวไม่ใหญ่โตเท่าใดนักแต่ใช้เป็นนำโขลงเป็นนิจ เพราะช้างนำโขลงต้องเดินนำใกล้ๆ ให้ช้างโขลงตาม ถ้าเผลออาจจะถูกแม่แปรกวิ่งเข้าชนเอาข้างหลัง สังเกตดูกิริยาช้างสีดอขโมยมันรู้สึกที่เสี่ยงภัย เวลาเดินมันระวังตัวเหลียวหน้าชำเลืองดูช้างโขลงทุกฝีก้าว ควาญขี่ท้ายก็ต้องระวังตัวอยู่เสมอเหมือนกัน ด้วยกลัวจะถูกแม่แปรกเอางวงกวาดลงจากหลังช้าง ฉันได้เคยเห็นครั้งหนึ่ง พอแม่แปรกวิ่งออกจากโขลงจะมาชน ช้างสีดอขโมยมันกลับตัวหันหน้าสู้ทันที ก็ไม่ทำอะไรได้ เห็นจะเคยถูกปองร้ายเช่นนั้นมาหลายครั้ง หมอที่ขี่คอช้างนำโขลงก็ต้องเป็นคนสำคัญ คนที่ขี่ช้างสีดอขโมยชื่อ “หมอค้อง” ดูเหมือนจะเป็นหมอเฒ่า เห็นขี่ช้างนำโขลงเป็นนิจ มือถือหอกข้างหนึ่ง ถือกิ่งไม้ชูมาข้างหนึ่ง ดูเหมือนสำรวมใจร่ายมนตร์บริกรรม ให้ช้างโขลงแลเห็นกิ่งไม้ที่แกถือเป็นป่าดงตามมาไม่เกรงภัย แต่สติแกดี พอเห็นทีจะมีภัยแก่ช้างนำแกแก้ทันทุกที พอช้างโขลงถึงประตูซองสังเกตดูก็รู้ได้ว่า ช้างเถื่อนพวกไหนเป็นช้างเชื่อง เพราะแม่แปรกพาช้างโขลงของตนเดินตามช้างนำเข้าประตูไปง่ายๆ เหมือนกับไม่เห็นเป็นที่แปลกประหลาดอันใด แต่พวกโขลงเถื่อนพอแลเห็นก็ชะงัก มักไม่ใคร่เข้าประตู แต่เมื่อช้างโขลงเข้าถึงคอกปีกกาชั้นในแล้ว กรมช้างเขาให้คนช่วยต้อนโขลง เสียงร้อง “จั๋วะๆ” แซ่ไป จะเป็นคำภาษาไหน หมายความว่ากระไรก็ไม่รู้ เคยเห็นแต่ใช้ในการต้อนช้างโขลงอย่างเดียว ต้อนอยู่สัก ๒ ชั่วนาฬิกา ช้างจึงเข้าเพนียดหมด ได้ยินว่าบางครั้ง ถ้ามีช้างโขลงเถื่อนมากก็ต้องต้อนอยู่จนกลางคืน แต่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับเวลาพอใกล้พลบค่ำ

วันที่ ๒ ซึ่งเป็นวันจับช้างใหญ่ในเพนียดนั้น พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกา ประทับที่พลับพลาข้างด้านใน มีโต๊ะใส่กล้วยอ้อยตั้งไว้ที่ในพลับพลา สำหรับทรงทิ้งพระราชทานช้างเถื่อน เป็นของชอบของพวกลูกช้างเล็กๆ แต่ช้างใหญ่ไม่ใคร่กล้าเข้ามาใกล้พลับพลา สักครู่หนึ่งก็เปิดประตูซองทางด้านตะวันตก ให้ช้างต่อเข้าไปในเพนียดสัก ๔ ตัว ช้างต่อและหมอควาญที่เข้าไปคล้องช้างใหญ่ในเพนียด เลือกล้วนแต่ที่ชำนิชำนาญ เพราะคล้องช้างในเพนียดเป็นที่จำกัด และช้างที่จะคล้องล้วนเป็นช้างใหญ่ ต้องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าคล้องนอกเพนียด ช้างต่อที่เข้าไปในเพนียดนั้นเป็น ๒ อย่างต่างกัน เรียกว่า “ช้างค้ำ” สำหรับสู้ช้างเถื่อนป้องกันช้างต่อที่เข้าคล้องอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ช้างเชือก” สำหรับคล้องช้างเถื่อนอย่างหนึ่ง ช้างค้ำเข้าไปก่อนแล้วช้างเชือกตามติดเข้าไป และเข้าไปถึงคนขี่ช้างค้ำพิจารณาว่าช้างพลายที่อาจจะสู้ช้างต่ออยู่ตรงไหนบ้าง ช่วยกันไล่ช้างชนิดนั้นให้เข้าคละอยู่เสียกับช้างอื่นที่ในโขลง สังเกตดูช้างพลายเถื่อน เมื่อแรกเห็นช้างต่อตัวที่เข้าไปก่อน กิริยาก็ทำทีจะสู้ แต่เมื่อเห็นเป็นช้างงาหลายตัวด้วยกันก็ขยั้นไม่กล้าออกมาห่างโขลง พวกหมอช้างเขารู้ว่าถ้าช้างงาอยู่ในโขลงไม่สามารถจะชนได้ เพราะกีดช้างอื่นมะรุมมะตุ้มอยู่รอบตัว พอเห็นช้างงาหลบเข้าโขลง เขาก็ขับช้างค้ำเข้าต้อนโขลง ให้เดินวนเวียนเบียดเสียดกันไปในวงภาค จนช้างตัวที่ต้องการเดินล้าลงมาอยู่ข้างท้ายโขลง หรือออกมาอยู่ข้างริมโขลง ช้างเชือกก็เข้าคล้องตีนหลังด้วยเชือกบาศ ๒ เส้นบ้าง ๔ เส้นบ้าง ตามขนาดช้างเถื่อน คล้องติดแล้วพวกกรมช้างที่แอบเสาคอกอยู่กับแผ่นดิน ก็ช่วยกันวัดปลายเชือกบาศผูกไว้กับโคนเสาวงภาค หรือเสาคอกที่กลางเพนียด สุดแต่ให้ช้างเถื่อนติดอยู่ใกล้ๆ เสา ไม่สามารถจะแล่นไปทำร้ายช้างต่อได้ เมื่อคล้องช้างที่ต้องการได้หมดแล้ว ก็เปิดประตูซองทางช้างออกข้างด้านตะวันตก ให้ช้างนำเข้าไปนำช้างโขลงออกจากเพนียดแล้วพวกช้างค่ายก็รายล้อมต้อนช้างโขลงไปลงน้ำในลำน้ำโพธิ์สามต้น ให้ช้างโขลงได้กินน้ำแช่น้ำตามสบาย การต้อนโขลงช้างออกจากเพนียดดูน่าจะยาก ด้วยช้างต้องออกประตูซองเรียงตัวเหมือนเมื่อเข้าเพนียด แต่ที่จริงกลับง่ายไม่ต้องขับไล่ลำบากอย่างไร เพราะพวกช้างโขลงเชื่อง เคยเดินทางนั้นมาแต่ก่อน มันจำได้จนเห็นขัน แต่พอในเพนียดหยุดต้อนโขลง มันก็พากันไปยืนจ้องอยู่ที่หลังประตู ช้างนำออกมันก็ตามไปทันที ช้างโขลงอื่นกำลังระอาที่ถูกต้อนในเพนียด ก็ตามกันออกไปโดยสะดวก ไม่ช้าเท่าใดช้างโขลงก็ออกจากเพนียดไปหมด ยังเหลือแต่ช้างที่ติดเชือกบาศ ช้างต่อก็ออกจากเพนียดไปผูกทามที่คอ สำหรับจะจูงช้างเถื่อนไปยังโรงฝึกหัด ตอนนี้การจับอยู่ข้างลำบาก ด้วยช้างเถื่อนพอถูกคล้องก็คลั่ง มีกิริยาอาละวาดไปต่างๆ พอเห็นช้างต่อกลับเข้าไปก็ตั้งท่าจะสู้ เหมือนอย่างว่า “ด้วยจนตรอก” แต่ไม่สามารถจะชนได้ ด้วยตีนหลังติดเชือกบาศ พอช้างต่อเข้าไปเคียงสองข้างจะโยนทามผูกคอ ก็ได้แต่เอางาแว้งขวิดฟาดเอาช้างต่อโดยความโกรธ ตอนนี้น่าชมช้างต่อ ดูเหมือนไม่รู้จักโกรธเสียเลย ถึงช้างเถื่อนจะทำอย่างไรก็เฉย หรือเป็นแต่ปัดป้อง ถ้าไม่หยุดก็เอางารับพอให้รู้สึกเจ็บ เมื่อโยนทามผูกคอช้างเถื่อนได้แล้ว เอาสายเชือกล่ามมาผูกผนึกไว้กับทามช้างต่อข้างหนึ่ง พวกกรมช้างที่อยู่กับแผ่นดินก็แก้ปลายเชือกบาศที่ผูกไว้กับเสา เอามาควบกันเป็นเส้นเดียว เอาตอกรัดเป็นปล้องๆ ช้างต่อสองตัวที่เคียงข้างก็พาช้างเถื่อนออกเดินมา มีช้างต่ออีกตัวหนึ่งตามหลัง ถ้าช้างเถื่อนไม่เดิน หรือบางทีลงนั่งเสีย ก็เอางารุนและงัดให้ต้องลุกขึ้นเดินมา พวกพนักงานเชือกบาศก็ถือเส้นเชือกบาศตามมา ครั้นถึงประตูซองซึ่งจะออกได้แต่เรียงตัว เอาปลายเชือกบาศผูกกับเสาวงภาค กะระยะให้เชือกบาศที่ติดตีนช้างเถื่อน ยาวพอประมาณให้ออกไปได้เพียงนอกประตู หมอช้างต่อแก้เชือกที่ล่าม แล้วรุนช้างเถื่อนให้ออกประตูไปแต่ตัวก่อน แล้วจึงตามออกไปเคียงข้างผูกเชือกล่าม พาช้างเถื่อนไปยังโรงหัด ทำเหมือนอย่างว่ามานี้ทีละตัวจนหมด แต่ถ้าช้างเถื่อนเป็นช้างใหญ่มากถึงไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะเอาช้างต่อเข้าเคียงข้างในเพนียดไม่ได้ ก็ใช้วิธีอื่นอีกอย่างหนึ่ง ให้คนเข้าไปล่อให้ช้างเถื่อนไล่เข้าประตูซอง พอช้างเข้าประตูมิดตัว ก็ปล่อยเสาโตงเตงปิดซองทั้งข้างหน้าข้างหลังเข้ามาชิดกัน แล้วลั่นกลอนผูกไว้ให้ช้างติดอยู่ในซองพอครือตัว ทำอะไรใครไม่ได้ แล้วให้คนเข้าผูกทามและผูกเชือกสำหรับล่ามเสร็จ ถ้าช้างเถื่อนงายาว ทำปลอกเป็นปล้องๆ ร้อยเชือกถึงกันตลอด สวมงาด้วยอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยปลายเชือกให้ช้างต่อดึงข้างหน้า กะเชือกบาศที่ติดตีนให้ยาวพอช้างออกประตูไปได้เพียงเสาตะลุงในโรงคู่แขกที่อยู่ข้างเพนียด แล้วเปิดประตูซองข้างหน้าให้ช้างเถื่อนออกไป เมื่อไปยืนอยู่ข้างเสาตะลุง ช้างต่อสองตัวจึงเข้าเทียบ เอาเชือกโยงทามผูกกับแป้นที่ปลายเสาให้ช้างเดินวนเวียนได้ แต่จะลงนอนไม่ได้ เอาไว้เช่นนั้นจนหย่อนกำลังลง เห็นว่าไม่กล้าสู้ช้างต่อแล้ว จึงปลดเอาไปเลี้ยงยังโรงฝึกหัด

ช้างที่จับในเพนียดนั้นเพียงครั้งละสี่ห้าตัว ถึงกระนั้นก็เปลืองเวลาช้ามาก เพราะต้องโยนทามและเอาออกไปจากเพนียดทีละตัว จนเวลาเย็นจึงเอาช้างออกหมด พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ในเวลาเมื่อกำลังโยนทามผูกเชือกที่ในเพนียดนั้น ให้ช้างโขลงลงน้ำพอให้สบายแล้วก็ต้อนไปให้กินหญ้าที่ในทุ่งทะเลหญ้าอยู่จนเวลาเย็น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับแล้ว จึงต้อนช้างโขลงกลับเข้าเพนียดอีกครั้งหนึ่ง ตอนช้างเข้าเพนียดวันที่ ๒ มักมีช้างแตกโขลงหนีไปได้บ้าง บางทีมีลูกช้างซึ่งเพิ่งหย่านมพลัดแม่ไปได้หน่อยหนึ่ง มันรู้ว่าแม่ยังอยู่ในเพนียดก็หวนกลับมา มาถึงคลองเพนียดเวลาค่ำ เมื่อพวกผู้ดีที่ไปดูจับช้างถอยเรือขึ้นไปจอดนอนเรียงกันอยู่ริมตลิ่งทั้งสองฟาก พอคนในเรือลำหนึ่งเห็นช้างเถื่อนลงข้ามน้ำใกล้ๆ เรือ ก็ตกใจร้องขึ้นว่า “ช้างมา” คนในเรือลำอื่นไม่เห็นตัวช้างว่าอยู่ที่ไหน สำคัญว่าช้างเถื่อนตัวใหญ่ก็ตกใจร้องว่า “ช้าง” ขึ้นตามกัน ต่างจุดไต้ไฟโห่ร้องไล่ช้างเพรียกไปตลอดคุ้งทั้ง ๒ ฟาก จนช้างตื่นหนีหายไปเป็นนานแล้วจึงสงบ ก็เลยเป็นสนุกกันไปอย่างหนึ่ง

วันที่ ๓ เป็นวันสนุกของพวกคนดู เพราะจับช้างกลางแปลงคนดูได้ทั่วหน้า ไม่จำกัดเหมือนกับคล้องในเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเพนียดเวลาเช้าราว ๑๐ นาฬิกาเหมือนวันก่อน แต่วันนี้เสด็จพลับพลาทางด้านตะวันตกริมสนามที่คล้องช้าง พอเสด็จขึ้นพลับพลาแล้ว ช้างต่อพวกช้างค้ำและช้างเชือก ก็มายืนรวมอยู่ที่ทางข้างท้ายพลับพลา พวก “ช้างค่าย” ก็มายืนรายกันรอบสนามหน้าเพนียดทั้ง ๓ ด้าน และห้ามคนมิให้เข้าไปในวงช้างค่าย ถึงกระนั้นแลไปจากบนเชิงเทินเพนียด เห็นคนล้นหลามยืนมุงเข้ามาจนติดหลังช้างค่าย แม้บนต้นไม้ก็มีคนขึ้นนั่งเกาะอยู่ตามค่าคบแทบทุกต้น พอตั้งกระบวนช้างต่อแล้ว ก็เปิดประตูซอง ให้พลายสีดอขโมยเข้าไปนำช้างโขลงออกมายังสนาม วิธีคล้องช้างกลางแปลง ก็อย่างเดียวกันกับที่คล้องในเพนียด แต่ง่ายขึ้นด้วยคล้องช้างพลายขนาดย่อมสูงเพียง ๔ ศอกลงมากับช้างพัง ไม่ใคร่มีช้างต่อสู้ช้างต่อ แต่คล้องช้างมากกว่าในเพนียด จึงใช้ช้างเชือกเพิ่มขึ้นหลายตัว เป็นเหตุให้ได้เห็นฝีมือคนคล้องช้างว่ายิ่งหย่อนผิดกันอย่างไรในวันที่คล้องกลางแปลงนี้ ฉันได้เคยเห็นฝีมือคนคล้องช้างแม่นจนขึ้นชื่อลือเลื่อง ๒ คน คือหลวงคชศักดิ์ ซึ่งภายหลังได้เลื่อนเป็นที่พระศรีภวังค์ (เป็นลูกพระยาเพทราชา ที่อยู่เพนียด) คนหนึ่ง อายุกว่า ๕๐ ปี รูปร่างผอมกริงกิวหลังก็คด ดูไม่น่าจะขี่ช้างไหว แต่คล้องรวดเร็วฝีมือแม่นไม่เคยเห็นพลาดเลยสักที เขาว่าแกมีควาญร่วมใจคนหนึ่ง ถ้าไม่ได้ควาญคนนั้นก็ไม่คล้อง คนคล้องแม่นอีกคนหนึ่งเป็นที่ขุนพิชัยกุญชร ชื่อแจ้ง อยู่มาจนได้คล้องช้างคราวรับซาร์วิช (ซึ่งต่อมาเสวยราชย์เป็นพระเจ้านิโคลัสที่ ๒ เอมเปอเรอรัสเซีย) เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ซาร์วิชโปรดฝีมือถึงประทานแหวนเพชรวงหนึ่งเป็นบำเหน็จ ฝีมือคล้องช้างดีและเลว ผิดกันอย่างไรเห็นได้ในวันคล้องกลางแปลง คนที่มีฝีมือไม่สู้ดีบางทีก็คล้องติด แต่บางทีวางบ่วงบาศรับตีนช้างไม่ตรง ช้างเหยียบเชือกบาศหลุดจากคันจาม ต้องลากแต่เชือกบาศเปล่ากลับออกมา อย่างนี้อยู่ข้างจะขายหน้า บางคนคล้องบ่วงบาศสวมตีนช้างได้แล้ว แต่ไม่กระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดตีนช้างให้แน่นเชือกบาศหลุดจากตีนช้างก็มี บางคนต้องตามช้างเถื่อนอยู่นานกว่าจะคล้องได้ ที่คนคล้องแม่นหาพลาดพลั้งอย่างนั้นไม่ นอกจากดูฝีมือคนคล้องช้าง ยังมีสนุกอย่างอื่นอีก ด้วยคล้องกลางแปลงไม่มีเสาวงภาค มีแต่ช้างค่ายยืนรายล้อมโขลงอยู่ห่างๆ กัน พอเปิดระบายโขลงออกมาจากเพนียด ก็มักมีช้างเถื่อนแตกโขลงออกไปทางคนดูสักสี่ห้าตัว พวกคนดูวิ่งกระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ บางทีหวิดๆ น่ากลัวจะล้มตาย แต่ก็ไม่ยักมีใครเป็นอันตราย พอช้างต่อออกไปต้อนเอาช้างเถื่อนกลับมาเข้าโขลงแล้วคนก็กลับมาดูอย่างเดิม กลับเห็นกันเป็นสนุก ที่เป็นพวกคนคะนองถึงเข้าล่อช้างเถื่อนจะให้ไล่แตกโขลงไปอีก หมอควาญช้างค่ายต้องคอยห้ามอยู่เสมอๆ วันคล้องกลางแปลงคล้องเป็น ๒ พัก ตอนเช้าคล้องได้สักครึ่งจำนวนช้างที่ต้องการแล้ว ระบายช้างโขลงไปลงน้ำเสียทีหนึ่ง เพื่อจะโยนทามผูกช้างที่คล้องได้พาเอาไปโรงหัด ตอนนี้ก็มีสนุกหลายอย่าง ด้วยทางที่ต้อนไปลงน้ำนั้น ให้ช้างโขลงเดินเลียบชายเนินขอบสนามทางด้านตะวันตก ไปจนพ้นชายเนินแล้วจึงให้เลี้ยงลงลำน้ำโพธิ์สามต้น บนเนินขอบสนามจึงเป็นที่คนดูชอบไปอยู่ เพราะดูคล้องช้างได้ใกล้ๆ ที่ยืนดูอยู่กับแผ่นดินก็มาก ที่ปีนขึ้นไปนั่งดูอยู่บนต้นไม้ก็มี ถึงวันที่ ๒ ช้างโขลงบางเหล่ามันรู้ว่าเดินอ้อมเนินไปลงน้ำไกลเปล่าๆ มันพากันขึ้นบนเนินหมายจะลัดทางไปลงน้ำ พวกคนดูอยู่กับแผ่นดินต้องวิ่งหนีตกน้ำตกท่าเอาชีวิตรอด พวกที่อยู่บนต้นไม้ใครลงทันก็วิ่งหนีตามเขาไป ที่ลงไม่ทันก็เกาะนิ่งไม่ติงตัวอยู่บนต้นไม้ ภาวนาขออย่าให้ช้างเห็นเพราะอยู่ห่างหลังช้างเถื่อนเพียงสัก ๒ ศอกเท่านั้น ถ้ามันเห็นก็อาจจะเอางวงคว้าลงมาได้ง่ายๆ เล่นเอาคนอื่นที่แลเห็นเป็นห่วงใจหายใจคว่ำไปด้วย แต่ก็ไม่เคยมีใครเป็นอันตราย ยังน่าดูอีกอย่างหนึ่ง ด้วยช้างเถื่อนที่คล้องกลางแปลงเป็นช้างขนาดย่อม มักมีแม่และพี่น้องมาด้วย เวลาต้อนโขลงไป ช้างลูกติดเชือกบาศดิ้นรนร้องเรียกแม่ๆ มักวิ่งฝ่าช้างต่อกลับมาหา บางทีก็มีช้างพี่น้องมาด้วยมาช่วยกันแก้ช้างลูก ช้างต่อไล่ก็ไม่ทิ้งไปง่ายๆ บางทีไปแล้วกลับหวนมาหาลูกอีกเล่า ดูน่าสงสารถึงผู้หญิงร้องไห้ก็มี ถึงตอนบ่ายต้อนโขลงช้างกลับมาสนามคล้องอีกครั้งหนึ่ง แล้วต้อนโขลงลงน้ำ เลยพาไปกินหญ้าที่ทะเลหญ้าเหมือนวันก่อน แต่วันนี้ล้อมโขลงไว้ที่ทะเลหญ้าตลอดคืน ไม่ต้อนกลับมาเข้าเพนียดอีก พอโยนทามจับช้างที่คล้องตอนบ่าย เอาไปโรงหมดแล้ว ถึงเวลาเย็นพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จกลับ ผู้อื่นที่ขึ้นไปดูจับช้างก็พากันกลับบ้านในวันนี้

ถึงวันที่ ๔ พอรุ่งเช้ากรมช้างก็ต้อนโขลงกลับไปปล่อยป่า เขาว่าต้อนโขลงกลับนั้นง่าย เพราะช้างเถื่อนรู้ทิศทางที่จะไปป่าและรนอยากกลับอยู่ด้วยกันทุกตัว ช้างต่อเป็นแต่คอยระวังอย่าให้ช้างโขลงไปเที่ยวเข้าบ้านผู้คน พอพ้นถิ่นบ้านช่องแล้วช้างต่อก็กลับ ปล่อยให้ช้างโขลงเถื่อนแยกย้ายกันไปตามใจ เป็นเสร็จการจับช้างที่เพนียดเท่านั้น

ฉันเคยดูจับช้างที่เพนียดมาแต่ยังเป็นเด็ก นับครั้งไม่ถ้วน ได้เคยเห็นการจับช้างที่เป็นอย่างแปลกประหลาด ๔ ครั้งจะเล่าไว้ด้วย

ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสวยราชย์ได้ ๘ ปี ตัวฉันอายุได้ ๑๕ ปี ยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นปีถึงกำหนดที่จะจับช้าง หลวงคชศักดิ์ออกไปปกโขลง ทราบจากพวกกรมโขลงว่า มีช้างเผือกพลายเป็นลูกช้างโขลงในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง หลวงคชศักดิ์ตามไปตรวจพบที่ทุ่งไม้รังนก เห็นจริงดังว่าได้บอกเข้ามากราบบังคมทูล พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ต้อนเข้ามาคล้องหน้าพระที่นั่งที่เพนียด ใครๆ ได้ยินข่าวว่าจะคล้องช้างเผือกที่เพนียดก็อยากเห็น มีคนขึ้นไปดูกันมาก พากันตั้งตาคอยดูช้างเผือกตั้งแต่ต้อนโขลงเข้ามาเพนียดก็ไม่เห็น เพราะวิสัยช้างโขลงพอขึ้นจากน้ำก็เอาฝุ่นพ่นตัวทั่วตัว แลเห็นเป็นสีเดียวกันไปหมด ทั้งช้างเผือกตัวนั้นก็ยังเล็กสูงเพียงสัก ๓ ศอกเศษ เดินแซงช้างใหญ่อยู่ในโขลงกับลูกช้างขนาดเดียวกันอีกหลายตัว ก็มีแต่เสียงถามกันแพร่ว่า “ตัวไหนช้างเผือก” ก็ไม่มีใครชี้ให้ดูได้ พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้งดจับช้างในเพนียด ด้วยเกรงช้างเผือกจะถูกเบียดบอบช้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็ระบายโขลงออกกลางแปลง เพื่อจะคล้องแต่ช้างเผือกตัวเดียวในตอนเช้า เมื่อโขลงอยู่กลางแปลง คนดูก็ไม่มีใครสังเกตได้ ว่าตัวไหนเป็นช้างเผือก แต่พวกกรมช้างเขาสังเกตรูปร่างแต่เมื่อต้อนโขลงมา เขาจำได้ ถึงกระนั้นเมื่อก่อนหลวงคชศักดิ์จะเข้าคล้อง แกก็ยังเรียกพวกกรมช้างให้ช่วยพิจารณาอีก ๒ คน จนแน่ใจหลวงคชศักดิ์จึงเข้าคล้อง ก็คล้องได้ในเวลาไม่ถึง ๕ นาที แล้วต้อนโขลงไปลงน้ำ เหลือแต่ช้างเผือกติดเชือกบาศอยู่ตัวเดียว ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นช้างเผือก จนเอาช้างต่อเข้าเทียบโยนทามล่ามกับช้างต่อแล้ว เขาเอาน้ำรดจากหลังช้างต่อ ล้างฝุ่นหมด จึงแลเห็นสีผ่องเป็นช้างเผือก ดูเหมือนบรรดาผู้ที่ไปดู พอแลเห็นเป็นช้างเผือกก็ปลื้มใจกันหมด เมื่อพาช้างเผือกไปเข้าโรงหัดซึ่งปลูกขึ้นใหม่โดยเฉพาะแล้ว ก็ต้อนโขลงกลับมาคล้องช้างสามัญในตอนบ่าย คราวนั้นจับแต่กลางแปลง ๒ วัน แล้วก็ตอนโขลงไปปล่อยป่า โปรดให้ปลูกโรงสมโภชช้างเผือกซึ่งคล้องได้ใหม่ที่เพนียดนั้น พร้อมกันกับช้างเผือกพลายอีกตัวหนึ่งซึ่งได้มาจากเมืองยโสธร พระราชทานนามตัวคล้องได้ที่เพนียดว่า “พระเศวตวรสรรพางค์” ตัวที่มาจากเมืองยโสธรพระราชทานนามว่า “พระเศวตวิสุทธิเทพามหาพิคเณศร” เพราะเป็นช้างงาเดียว แล้วเอาลงแพมากรุงเทพฯ ทั้ง ๒ ตัว การคล้องได้ช้างเผือกหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือคล้องช้างเผือกได้ที่เพนียดก็ดี ไม่เคยมีในพงศาวดารมาแต่ก่อนทั้งสองอย่าง จึงเป็นการจับช้างอย่างแปลกประหลาด

ครั้งที่ ๒ ดูเหมือนจะเป็นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ มีการจับช้างให้แขกเมืองดู เมื่อเจ้าเยอรมัน ดุ๊กโยฮันอันเบรต เมืองเมกเลนเบิกชวรินมาเฝ้า ครั้งนั้นจะเป็นใครในกรมช้างไปปกโขลงไม่ปรากฏ แต่ชะรอยจะไปเห็นช้างพลายได้ขนาดที่จะจับ มีอยู่ในเหล่าโขลงช้างเชื่องมากพอแก่การแล้ว ก็ต้อนแต่ช้างโขลงเชื่องเข้ามา ไม่มีช้างโขลงเถื่อนปน ตั้งแต่วันต้อนโขลงเข้าเพนียด ใครเคยดูจับช้างมาแต่ก่อนแล้วก็เห็นแปลกตา ด้วยช้างโขลงเรียบร้อยราวกับได้ฝึกหัด เดินเป็นหมู่มุ่งหน้าตรงมาเข้าเพนียด ไม่มีตัวใดดื้อดึงหรืออาละวาดอย่างใด ถึงเพนียดก็เดินตามกันเข้าประตูซองโดยดี ไม่ต้องขับต้อนลำบากเหมือนคราวก่อนๆ เพราะช้างโขลงเชื่องรู้ทางเข้าออกด้วยเคยมาทุกคราว สักครู่เดียวช้างเถื่อนก็เข้าเพนียดหมดทั้งโขลง ถึงวันจับช้าง ทั้งจับในเพนียดและจับกลางแปลง ช้างต่อจะทำอย่างไรก็ทำได้ ด้วยช้างโขลงไม่ต่อสู้หรืออาละวาดอย่างใด แขกเมืองไม่เคยเห็นจับช้าง ได้เห็นแต่เพียงนั้นก็ชอบ แต่คนที่เคยดูจับช้าง บ่นกันทั่วหน้าว่าจับช้างครั้งนั้นไม่สนุกน่าดูเลย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงกับโกรธกรมช้าง กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าถ้าปล่อยให้กรมช้างทำเล่นได้ตามชอบใจอย่างนี้เสียพระเกียรติยศ เมื่อแขกเมืองไปแล้วขอเชิญเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอินสัก ๑๕ วัน ให้พระยาเพทราชา (เอี่ยม) เวลานั้นยังเป็นพระยาราชวังเมือง ออกไปปกโขลงเอง เอาช้างโขลงอื่นเข้ามาจับอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเอาแต่ช้างเชื่องเข้ามาเหมือนครั้งนี้ ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามกรมสมเด็จฯ ๆ เกรงสมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็รับจะให้พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงเข้ามาใหม่ใน ๑๕ วัน

ครั้งที่ ๓ เป็นเรื่องเนื่องมาจากครั้งที่ ๒ พระยาราชวังเมืองออกไปปกโขลงด้วยหวาดหวั่นเกรงพระราชอาญา ก็เลือกต้อนแต่เหล่าโขลงเถื่อนเข้ามา และเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาด้วยอีก ๒ ตัว มีช้างโขลงเชื่องมาเพียงพอนำทางช้างโขลงเถื่อนบ้างเล็กน้อย จับช้างครั้งนี้เรียกไว้ว่า “สนุกสะใจ” ตั้งแต่วันช้างโขลงมาถึงเพนียด แลดูไปจากเชิงเทินเมื่อโขลงช้างเดินมาแต่ไกล เห็นสันหลังช้างสีดอใหญ่สูงเทิ่งพ้นหลังช้างอื่น ขนาดช้างสีดอตัวใหญ่เห็นจะสูงกว่า ๖ ศอก ช้างสีดอที่รองลงมาอีกตัวหนึ่งสูงสัก ๕ ศอกเศษ สูงกว่าช้างต่อหมดทั้ง ๒ ตัว เวลาเดินมากับโขลง พอมันเดินชายออกไปนอกโขลงทางไหน ช้างต่อที่เป็นช้างค่ายทางนั้นก็ต้องถอยหนีให้ห่างออกไป ไม่กล้าขับไล่ให้มันกลับเข้าโขลงเหมือนช้างอื่น พวกช้างพังแม่แปรกที่นำโขลงมาครั้งนี้ก็มักดุร้าย ถ้าเป็นทีเมื่อไร ก็จะชนท้ายช้างนำและช้างต่อ แม้ช้างในโขลงเวลาเดินมา มันก็เพียรจะแตกโขลงอยู่เสมอ ต้อนมาลำบากกว่าคราวก่อนๆ มาถึงเพนียดจะต้อนเข้าปากช่อง “ปีกกา” ก็แสนยาก ต้อนทางนี้มันแตกไปเสียทางโน้น บางเหล่าก็ย้อนลงน้ำจะกลับไป พวกคนดูต้องแตกตื่นวิ่งหนีกันไม่หยุด ช้างค้ำต้องเที่ยวไล่ต้อนนับครั้งไม่ถ้วนจึงเอาโขลงเข้าปีกกาได้ ถึงกระนั้นก็ต้อนเข้าเพนียดไม่ได้หมดจนกลางคืน พระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จกลับก่อน ถึงวันคล้องในเพนียดคราวนี้ พวกคนดูกลับหวาดหวั่นกัน ว่าช้างสีดอตัวใหญ่จะชนช้างต่อเมื่อเข้าไปในเพนียด แต่หมอควาญช้างต่อเขาก็ระวังตัวมาก แต่ไม่เป็นดังคาด เพราะช้างสีดอเห็นช้างต่อเป็นช้างงาหลายตัว คอยช่วยกัน ก็ไม่กล้าออกมาชน คอยแต่หลบบังตัวอยู่ในกลางโขลง กรมช้างเขาคงเคยรู้นิสัยช้างเถื่อนว่าตัวเดียวไม่สู้ช้างหลายตัว จึงกล้าเอาช้างสีดอใหญ่เข้ามาอย่างนั้น วันคล้องกลางแปลงก็สนุก ด้วยช้างโขลงอาละวาดแตกโขลงร่ำไป พวกคนดูต้องวิ่งหนีมิใคร่หยุดอยู่ได้นาน และมีเหตุอย่างแปลกเกิดขึ้นด้วยช้างพลายตัวหนึ่ง สูงสัก ๔ ศอกติดเชือกบาศ ๒ เส้น เขาผูกปลายเชือกบาศไว้กับเสาปองที่ในสนาม มันดิ้นรนมาจนตรงปากทางเสด็จขึ้นเพนียด ก็ทางนั้นทำลาดเป็นอย่างเชิงสะพานช้างดังกล่าวมาแล้ว สองข้างทางมีผนังเป็นฉนวน ที่ปากทางปักเสาคู่ทอดเสาวางขวาง ๒ ชั้นกันมิให้ช้างเถื่อนเข้าไปได้ และมีคนกรมช้างรักษาอยู่ข้างใน แต่ดูเหมือนจะมีพวกคนตามเสด็จแอบลงไปผสมดูอยู่ที่นั่นด้วยเป็นกลุ่ม พอช้างที่ติดเชือกบาศมันเหลือบเห็นคนอยู่ในฉนวน มันก็วิ่งเข้าชนเสาเขื่อนหมายจะเข้าไปแทงคนจนเสาเขื่อนท่อนบนหัก เชือกบาศก็ขาดไปเส้นหนึ่ง ช้างข้ามเขื่อนอันล่างเข้าไปคาอยู่ครึ่งตัว เชือกบาศยังติดตีนอยู่แต่เส้นเดียว ถ้าเชือกบาศขาดก็คงขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา เวลานั้นคนตกใจกันอลหม่านทั้งข้างหน้าข้างใน ถึงให้ทหารมหาดเล็กหมวดหนึ่งบรรจุปืนยืนคอยอยู่ตรงทางขึ้น ถ้าเชือกบาศขาด ช้างพ้นเขื่อนเข้าไป ก็ให้ยิงเสียให้ตาย ซ้ำมีเหตุในเวลากำลังคุมช้างเถื่อนอยู่นั้น ได้ยินเสียงถ้วยชามตกโฉ่งฉ่าง ผู้หญิงตื่นร้องเพรียกขึ้นทางข้างในอีก ไม่รู้ว่าจะเกิดภัยอย่างไรก็ตกใจกันอีก จนเห็นเขาปลดม่านให้ช้างต่อซึ่งขึ้นทางด้านเหนือเพนียดมาไล่ช้างเถื่อนที่อาละวาด จึงรู้ว่าพวกผู้หญิงตื่นช้างต่อตัวนั้นเมื่อแรกเห็นแต่งาโผล่ขึ้นมาลงปลายก็เลยสนุกกันไปทั้งเรื่อง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็พอใจ พระยาราชวังเมืองเลยรอดตัว แต่พวกกรมช้างเขากระซิบบ่นกันว่าในการจับช้างเถื่อน พวกเขาเป็นผู้ต้องเอาชีวิตเสี่ยงภัย ยิ่งจะให้สนุก พวกเขาก็ยิ่งใกล้ตายหนักขึ้น

18  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) - ต่อ : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:14:13


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) (ต่อ)

วิธีโพนช้าง

การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “โพน” นั้น ดูเหมือนแต่โบราณจะใช้กันทั่วไปเป็นสามัญ สำหรับหาช้างใช้สอยกันเป็นส่วนตัว เพราะจับช้างแต่ทีละตัวสองตัว รัฐบาลไม่รังเกียจกลัวช้างจะหมดเหมือนกับจับอย่างวังช้าง ถึงกระนั้นก็มิใช่ใครๆ จะไปเที่ยวโพนจับเอาได้เองตามปรารถนา เพราะการจับช้างเถื่อนเป็นการยาก กอปรด้วยภัยอันตรายแก่ผู้จับมาก ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีช้างต่อที่ฝึกหัดไว้คล่องแคล่ว จึงสามารถโพนช้างได้ จึงมีพวกเชี่ยวชาญเรียกกันว่า “หมอโพนช้าง” หาเลี้ยงชีพด้วยโพนช้างขาย ตั้งอยู่ตามถิ่นที่มีช้างโขลงเป็นแห่งๆ และฝึกหัดลูกหลานของตนให้หากินด้วยการโพนช้างสืบต่อกันมา ในบัดนี้ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ หลายมณฑล เป็นต้นแต่มณฑลพิษณุโลก นครสวรรค์ ลงมาจนเมืองชัยบาดาล ในมณฑลอยุธยาและมณฑลปราจีน แต่ในมณฑลราชบุรีจะมีหรือไม่ฉันไม่ทราบแน่ ฝ่ายตะวันออกในมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดรและอีสาน ก็จับช้างด้วยวิธีโพน ยังมีพวกหมอโพนช้างอยู่ทั้งนั้น ว่าโดยย่อ การจับช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีโพนเป็นพื้น นานๆ จะได้ยินว่ามีการวังช้างสักครั้งหนึ่ง และมีแต่ในหัวเมืองทางแหลมมลายูและมณฑลพายัพเท่านั้น

ตามแหล่งที่พวกหมออยู่แต่ละแหล่ง มีหมอช้างหลายคน ต่างคนต่างมีช้างต่อและคนลูกมือของตน แยกกันโพนหรือรวมกันโพนได้ทั้งสองอย่าง ในแหล่งหนึ่งๆ พวกหมอช้างสมมตหมอช้างด้วยกันเอง ซึ่งมีอายุเป็นอาวุโส และกำหนดว่าต้องเคยคล้องช้างเถื่อนได้แต่ ๕ ตัวขึ้นไปเป็น “หมอเฒ่า” คนหนึ่ง เป็นที่เคารพนับถืออย่างครูบาอาจารย์ ด้วยพวกโพนช้างถือกันเป็นคติว่าผู้จะคล้องช้างต้องได้เข้าพิธีให้หมอเฒ่าครอบก่อน แล้วจึงจะเป็น “หมอ” คล้องช้างได้ ก็เป็นทำนองต้องสอบวิชาก่อนรับปริญญานั่นเอง พึงเข้าใจได้ว่าโดยปรกติ พวกหมอช้างคงใช้ลูกหลานเป็นผู้ช่วยทำการอย่างอื่นในการโพนช้างไปก่อน จนรู้และคุ้นกับกระบวนการจนถึงขนาดอาจคล้องช้างได้ จึงขอให้หมอเฒ่า “ครอบ” แล้วก็เรียกว่าเป็น “หมอช้าง” ต่อไป หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง พวกโพนช้างก็เป็นเหมือน “สมาคม” อันหนึ่ง ซึ่งหวงอาชีพมิให้คนภายนอกเข้าไปแย่ง จึงสามารถรักษาวิชาอาชีพของพวกตนไว้ได้ตลอดมา แต่พวกโพนช้างที่อยู่ในมณฑลพิษณุโลก มณฑลนครสวรรค์ มณฑลปราจีน และมณฑลอยุธยา นับเป็นข้าราชการสังกัดขึ้นอยู่ในกรมพระคชบาลทั้งนั้น ถ้ามีการจับช้างของหลวงเมื่อใด พวกหมอเฒ่ากับหมอช้างทุกแหล่งต้องเอาช้างต่อมาสมทบกับกรมพระคชบาลของหลวงเสมอเป็นนิจ

ลักษณะการโพนช้างที่จะกล่าวต่อไปนี้ ฉันเก็บเนื้อความที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) พรรณนามาเขียน เป็นแต่ถือวิสาสะแก้ไขบ้างเล็กน้อย วิธีที่นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เรียง กระบวนความแยกเป็น ๒ ตอนเข้าใจง่ายดี ฉันจึงคงไว้อย่างรูปเดิม



ตอนเตรียมการ

๑. ถ้าจะโพนช้าง ต้องปรนปรือช้างต่ออันล้วนเป็นช้างพลายให้อ้วนพีมีกำลังก่อน เพราะธรรมดาช้างเถื่อนย่อมมีกำลังกว่าช้างบ้าน ซึ่งเจ้าของใช้การงานอยู่เสมอ ต้องหยุดงานทอดช้างต่อให้กินนอนอิ่มหนำอยู่สักเดือนหนึ่ง ในระหว่างนั้นเจ้าของก็ตระเตรียมเชือกบาศและเครื่องใช้ กับทั้งเสบียงอาหารไปด้วยกัน

๒. เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ต้องทำพิธี “ยกครู” (มักเรียกกันเป็นสามัญว่า “พิธีไหว้ครู”) ถ้าหมอเฒ่าเป็นผู้อำนวยการ และมีหมอช้างที่เป็นชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ช่วยอีก ๒ คน ลักษณะพิธียกครูนั้น ปลูกโรงพิธีด้วยเครื่องไม้ (ที่ในลานบ้านหมอเฒ่า) กลางโรงพิธีมีที่บูชาตั้งเทวรูปกับเครื่องทำพิธีมีหม้อน้ำมนตร์เป็นต้น ข้างหน้าพระ ตั้งเครื่องสักการะและเครื่องสังเวยเทวดา ต่อออกมาข้างหน้าที่บูชา วางเชือกบาศไว้ขดหนึ่งและกองไฟรายกันไว้ ๓ กอง หมอเฒ่าเป็นผู้หาวันฤกษ์ดี แล้วนัดบรรดาผู้ที่จะไปโพนช้างมาประชุมกันที่โรงพิธี หมอเฒ่านั่งกลางโรงตรงหน้าที่บูชา หมอผู้ช่วยอีก ๒ คนนั่งสองข้าง คนอื่นนั่งเรียงกันเป็นวงล้อมรอบ เริ่มการพิธีด้วยจุดธูปเทียนบูชาเทวดาและครูปัทยายรายตัวหมดทุกคน เมื่อบูชาแล้วหมอเฒ่าทำพิธีครอบผู้ที่จะขึ้นครูเป็นหมอช้าง คนเหล่านั้นแต่ละคนต้องมีขันล้างหน้าใบหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่ง กับเงิน ๖ สลึง (บาทหนึ่งกับ ๕๐ สตางค์) เป็นของกำนนให้หมอเฒ่าผู้เป็น “ครูบา” (อุปัชฌายาจารย์) ครูบาว่า “คำยกหมอ” ให้พวกคนเข้าใหม่ว่าตามพร้อมๆ กันทีละวรรค เป็นคำบูชาครูปัทยาย ขอให้มาครอบงำอยู่ให้ชำนาญการคล้องช้าง ให้ปราศจากอันตรายและเสนียดจัญไรทั้งปวง ลงท้ายหมอเฒ่าให้คนเหล่านั้นปฏิญาณว่าจะโพนช้างเป็นอาชีพต่อไป จะไม่ฆ่าช้างยิงช้าง และจะปฏิบัติตามโอวาทของครูบาเป็นนิจ เมื่อปฏิญาณแล้วครูบาพรมน้ำมนตร์ให้ทุกคน แล้วให้คนเหล่านั้นอมน้ำอันเจือมูลช้าง พ่นลงที่เชือกบาศ ทุกคนเหมือนกัน เป็นเสร็จการ “ครอบ” แล้ว (หมอช้าง ๒ คนที่เป็นผู้ช่วย) ขึ้นขี่ช้างจับเดินรอบโรงพิธี ตัวเองทำท่าทางคล้องช้างและกล่าวคำเป็นโชคชัยให้พรต่างๆ แล้วหุงข้าวที่กองไฟในโรงพิธีทั้ง ๓ กองนั้น หุงข้าวแล้วเป็นเสร็จการพิธียกครู

๓. พวกโพนช้าง ก็เชื่อเสนียดจัญไรทำนองเดียวกันกับพวกวังช้าง เป็นต้นแต่ถือกันว่าเวลาออกไปเที่ยวโพนช้าง จะแต่งตัวให้โอ่โถงไม่ได้ ต้องใช้เครื่องนุ่งห่มแต่ที่เก่าคร่ำคร่า ใครไม่มีก็ทำเครื่องแต่งตัวที่ใช้อยู่ให้ชำรุดขาดวิ่นเสียบ้างแล้วจึงไป ในเวลาไปอยู่ในป่าห้ามมิให้ตัดผม แม่ลูกเมียอยู่ทางบ้านก็ห้ามมิให้ใส่น้ำมันหรือตัดผมแต่งตัวให้สวยงามอย่างไร ถือว่าถ้าทำเช่นนั้น เป็นเสนียดจัญไรพาให้เกิดภัยอันตรายแก่ผู้ไปโพนช้าง



ตอนเข้าป่า

๔. เมื่อถึงวันฤกษ์ตามนัด พวกโพนช้างออกเดินเป็นขบวนไปด้วยกัน ช้างต่อทุกตัวมีหมอขี่คอควาญขี่ท้าย กลางหลังช้างปูหนังวัวหลายผืนพับซ้อนกัน เชือกบาศม้วนแยกเป็น ๒ วงวางบนหนังนั้น มีไม้รวกเหมือนกับถ่อเรียกว่า “คันจาม” สำหรับสอดกับบ่วงบาศถือคล้องช้าง ผูกไปข้างช้างที่ริมเชือกบาศ และมีไม้ “งก” รูปเหมือนกับ “ไม้ค้อน” แต่ที่ตรงหัวเหลาเป็นปุ่มแหลม สำหรับควาญใช้ตีท้ายช้างเวลาต้องการจะให้วิ่ง ผูกติดไปกับเชือกบาศอันหนึ่ง เสบียงอาหารก็ใส่กระเช้าผูกห้อยไปบนหลังช้าง เป็นอันมีคนและเครื่องใช้ครบครันประจำทุกตัวช้างต่อ

๕. เมื่อยกไปถึงชางดงที่จะโพนช้าง หมอเฒ่าสั่งให้หยุดพักทำ “พิธีเบิกไพร” คือบวงสรวงเจ้าป่าและเส้นเชือกบาศก่อน การพิธีนั้นเอาเชือกบาศทั้งหมดวางรวมกันไว้กลางวง พวกหมอช้างจุดธูปเทียนบูชาและถวายเครื่องกระยาหารบวงสรวง อธิษฐานขอให้ทำการสำเร็จดังปรารถนา แล้วเสี่ยงทายด้วยถอดกระดูกคางไก่เครื่องเส้นตัวหนึ่งมาดู ถ้าได้กระดูกยาวเรียวอย่างงาช้างและมีข้อถี่ ถือกันว่าโชคดี ถ้าได้กระดูกหักหรือข้อห่าง ถือกันว่าเป็นอัปมงคล

๖. ทำพิธีเบิกไพรแล้ว จึงเลือกหาที่ตั้งชมรมสำหรับพวกโพนช้างพัก ให้เป็นที่ใกล้หนองน้ำและมีหญ้าหรือใบไม้พอเลี้ยงช้างต่อ และให้ห่างทำเลที่ช้างเถื่อนอยู่ พอไปและกลับมาถึงได้ในวันเดียว ตัวชมรมนั้นทำเครื่องหมายขอบเขตเป็นบริเวณอันหนึ่ง ห้ามมิให้คนอื่นนอกจากพวกโพนช้างด้วยกันเข้าไป “เข้ากรรม” แล้วปลูกพะเพิงเป็นที่อาศัยของพวกโพนช้างอยู่ในบริเวณนั้น เพิงหลังกลางเป็นที่ตัวนายอยู่ มีกำหนดว่าให้หมอเฒ่าที่เป็นครูบานอนข้างขวา หมอช้างนอนข้างซ้าย ควาญนอนทางปลายตีน และต้องให้ครูบานอนก่อนแล้ว ผู้อื่นจึงนอนได้ อนึ่งในเวลาที่ไปอยู่ในชมรมนั้น พวกโพนช้างต้องพูดกันด้วย “ภาษาโพน” (นายแม้น) สังเกตว่าคล้ายภาษามอญหรือเขมร ได้ถามจดมาไว้เป็นตัวอย่างบางคำ เช่น

เชือกบาศ   เรียกว่า   ปะกรรม
ขอช้าง   เรียกว่า   บังคลอง
ข้าว           เรียกว่า   กรวด
น้ำ           เรียกว่า   อวน

ดั่งนี้เป็นต้น

น่าจะแทรกวินิจฉัยลงตรงนี้สักหน่อยหนึ่ง เพราะว่า เหตุใดเมื่อพวกโพนช้างเข้ากรรม จึงพูดกันด้วย “ภาษาโพน” อันมิใช่ภาษาไทยของตนเอง และที่ว่าภาษาโพนคล้ายกับภาษามอญและเขมรนั้น ฉันเห็นเป็นเค้าสำคัญในทางโบราณคดี ส่อว่าพวกชาวอินเดียได้พาวิชาจับช้างเข้ามาถึงเมืองไทยนี้แต่ในสมัยเมื่อละว้ายังเป็นเจ้าของเมือง พวกละว้าเป็นศิษย์เดิมของชาวอินเดีย ครั้นไทยลงมาเป็นเจ้าของเมือง มาเรียนวิชาจับช้างจากพวกละว้าอีกต่อหนึ่ง ภาษาที่พูดกันในเวลาไปโพนช้างจึงเป็น ๒ ภาษาขึ้น คงมีละว้าบางพวกที่ไม่อยากทำการปะปนกับไทย เลือกเอาแต่พวกละว้าที่รู้ภาษาเดิมไปโพนช้างด้วยกัน แต่นานมาละว้ากับไทยร่วมพงศ์วงศ์วารกันยิ่งขึ้นโดยลำดับ การที่ใช้ภาษาละว้าเมื่อไปโพนช้างเป็นแต่ทำตามเคย ก็เลยเป็นแต่อย่างพิธีสืบมา ที่ว่านี้มีหลักอย่างอื่นที่จะอ้างประกอบอีก ด้วยในพวกกรมช้างเองก็ถือตัวว่าต่างกันเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูมอญ บางคนก็เรียกว่าครูลาว (คือพวกละว้า) ครอบ พวกหนึ่งเป็นศิษย์ครูไทยครอบ ชวนให้เห็นว่าคติอย่างครูละว้าเป็นแบบเก่า คติอย่างครูไทยเป็นแบบใหม่ ฉันใคร่จะสันนิษฐานว่า พราหมณ์พฤฒิบาศพาเข้ามา เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมาเป็นต้นตำราหลวง



ตอนตามช้าง

๗. พอตั้งชมรมแล้ว รุ่งเช้าครูบาก็ให้หมอควาญขี่ช้างไปเที่ยวสอดแนมช้างเถื่อน ธรรมดาช้างเถื่อนเวลากลางวันย่อมหากินอยู่แต่ในดง ต่อกลางคืนจึงออกเที่ยวหากินตามที่แจ้ง การที่สอดแนมนั้นไปเที่ยวตรวจดูตามชายดง ตรงที่มีหนองน้ำหรือป่าหญ้า ดูรอยตีนช้างออกหากินใหม่ๆ มีที่ตรงไหน ก็จะได้ดักโพนที่ตรงนั้น

๘. เมื่อสอดแนมรู้ตำแหน่งที่ช้างเถื่อนออกมาหากินแล้ว พอเวลาพลบค่ำหมอควาญก็พากันผูกช้างต่อ ปลดสิ่งซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ในการคล้องช้างออกหมด เพิ่มแต่เชือกสายทามอันผูกติดไว้กับต้นเชือกบาศ สำหรับผูกช้างเถื่อนที่คล้องได้จูงกลับมา ผูกสวมกับคอช้างต่อทุกตัวแล้วพากันไป

๙. ช้างเถื่อนที่อยู่ด้วยกันเป็นโขลง มีจำนวนช้างมากบ้างน้อยบ้าง มีช้างพังตัวใหญ่เรียกว่า “แม่แปรก” เป็นนายโขลง แต่ช้างพลายตัวใหญ่ทั้งที่เป็นช้างงาและเป็นสีดอไม่มีงา อยู่ในโขลงถูกช้างเด็กเล็กรบกวนรำคาญ จึงมักออกเที่ยวหากินโดยลำพังอยู่นอกโขลง เวลาหมอควาญขี่ช้างต่อไปตามช้างโขลง ต้องคอยหลบเลี่ยงช้างใหญ่ เพราะมันมีกำลังมากกว่าช้างต่อ แต่บางทีก็หลบไม่พ้น เพราะช้างใหญ่มันเข้ามาไล่ตามลำพังใจของมันเอง ถ้าช้างต่อหนีก็อาจจะเป็นอันตราย ต้องเรียงตัวกันหันหน้าสู้ ช้างใหญ่บางตัวเห็นช้างต่อมากกว่าก็หนีไป แต่บางตัวเป็นช้างดุก็เข้าชน หมอควาญก็ต้องขับช้างต่อเข้ารุมกันชน และคนบนหลังช่วยกันเอาหอกแทงจนมันหนีไปจึงพ้นภัย

๑๐. พวกตามช้างต้องพยายามเข้าทางใต้ลมที่ช้างโขลงอยู่ เพราะวิสัยช้างได้กลิ่นไกลและช้างโขลงชำนาญวิธีหนีภัย ถ้าเข้าทางเหนือลม พอช้างแม่แปรกได้กลิ่นแปลก ก็ทิ้งงวงดังป๋องเป็นสัญญาณ บรรดาช้างลูกโขลงได้ยินก็ระวังตัว ถ้าแม่แปรกคาดว่าจะมีภัยก็ร้องแปร๋ขึ้นเป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ช้างลูกโขลงต่างก็พากันมารวมกันอยู่กับแม่แปรก พอแม่แปรกรู้แน่ว่าจะมีภัย ให้สัญญาณร้องแปร๋อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็นำโขลงหนีเข้าดงไปให้พ้นภัย เป็นธรรมดาของช้างโขลงดังนี้ทุกแห่ง ถ้าพวกตามช้างเข้าทางใต้ลม พอช้างต่อได้กลิ่นช้างโขลงก็ยกงวงขึ้นชี้ไปทางที่โขลงอยู่ เป็นเครื่องสังเกตของหมอควาญให้ขับช้างเข้าไปทางนั้น บางทีเข้าไปได้จนใกล้ๆ โขลง ด้วยเป็นเวลากลางคืน



ตอนคล้องช้าง

๑๑. ถ้าไปพบช้างโขลงกำลังหากินอยู่นอกดงในที่แจ้ง พอพวกตามเข้าไปถึงโขลงก็ขับช้างต่อไล่ การไล่นี้จำจะต้องให้ช้างต่อวิ่งเร็วทันช้างเถื่อน ต้องอาศัยไม้ “งก” รูปเหมือนค้อนที่ควาญถือ ตีตะโพกช้างต่อให้เจ็บ ช้างต่อทุกตัวเคยถูกตีรู้รสไม้งก จนเห็นเข้าก็กลัว ควาญจึงอาจขับให้วิ่งทันช้างเถื่อนได้ ในเวลาที่ไล่นั้นหมอช้างตรวจดูช้างที่จะคล้องไปด้วย มักชอบคล้องช้างพลายขนาดสูงราวสัก ๓ ศอกและมีงางอกพ้นพรายปาก หมอช้างคนไหนหมายจะคล้องช้างตัวไหน ก็ขับช้างต่อมุ่งตามช้างตัวนั้นไป การที่ตามนี้บางทีก็ลำบาก ด้วยแม่ช้างมักให้ช้างเล็กวิ่งไปข้างหน้า ตัวเองวิ่งป้องกันไปข้างหลัง เวลาช้างต่อไปทันแม่ช้างก็มักขวางเสียมิให้เข้าถึงตัวที่ปรารถนาจะคล้อง หมอช้างต้องให้ช้างต่องัดแม่ช้าง หรือทำอย่างไรให้เจ็บจนต้องหลีกหนีไป ใช่แต่เท่านั้น เวลาไล่โขลงช้างๆ เถื่อนวิ่งไปทางไหน ช้างต่อต้องวิ่งตามติดไป บางแห่งช้างวิ่งลอดต้นไม้ หมอควาญต้องคอยระวังตัวหลบหลีกกิ่งไม้ไปกับช้าง ถ้าหลบหลีกไม่ทันก็ตกช้างทั้งหมอทั้งควาญ

๑๒. เมื่อไล่ทันช้างตัวที่หมายจะคล้อง หมอช้างถือไม้คันจามอันติดบ่วงบาศอยู่ที่ปลายไม้ สอดปลายไม้ลงไปใต้ท้องช้างเถื่อน กะวางบ่วงบาศกับแผ่นดินให้พอเหมาะเวลาช้างเถื่อนก้าวขาหลังตีนเหยียบลงตรงในบ่วงบาศ แล้วกระชากเชือกบาศให้บ่วงติดตีนช้าง เป็นการยากอย่างยิ่ง ด้วยต้องคล้องในเวลาช้างกำลังวิ่งทั้ง ๒ ตัว และต้องวางบ่วงบาศให้ถูกที่และทันเวลา จึงคล้องติด ตอนนี้สำคัญอยู่ที่ควาญต้องขับช้างต่อให้วิ่งเคียงอยู่กับช้างเถื่อน ได้ระยะที่เหมาะแก่การคล้อง เขาว่าหมอกับควาญต้องเป็นคนเคยกัน จึงจะคล้องได้สะดวก พอคล้องเชือกบาศติดตีนช้างแล้ว หมอยังต้องกระตุกเชือกบาศให้บ่วงรัดติดตีนช้างให้แน่น แล้วไสช้างให้เบนไปข้างซ้ายจนขวางตัว จึงผลักขดเชือกบาศให้ตกลงดินแล้วเบนหน้าช้างขับออกไปจากช้างเถื่อน เพื่อดึงเชือกบาศให้คลี่จนตึงถึงปลายเชือกที่ผูกไว้กับทามที่คอช้างต่อ ถ้าคล้องช้างขนาดใหญ่ขึ้นไปเกรงเชือกบาศเส้นเดียวจะขาด ต้องให้ช้างต่อตัวอื่นเข้าคล้องอีกตีนหนึ่งให้เป็น ๒ เส้น จึงจะเอาไว้อยู่ เมื่อคล้องช้างติดเชือกบาศแล้วยังมีความลำบากอยู่อีก ด้วยช้างแม่แปรกหรือแม่ช้างที่ลูกถูกคล้อง มักกลับมาช่วยรังควานช้างต่อด้วยประการต่างๆ หรือมาวิ่งเวียนอยู่รอบๆ ไม่ทิ้งไป ต้องเอาช้างต่อตัวเปล่าไสเข้าไล่แม่ช้างจนหนีไปหมดแล้วจึงปลดปลายเชือกบาศจากคอช้างต่อให้คนเอาไปผูกไว้กับต้นไม้

๑๓. เมื่อคล้องช้างผูกเชือกบาศไว้แล้ว ต้องให้ช้างต่อและคนเฝ้าอยู่ ณ ที่คล้อง คอยไล่แม่ช้างที่จะมาช่วยอีกคืนหนึ่ง จนช้างโขลงหายไปหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อ ๒ ตัวเข้าเทียบข้างช้างเถื่อนที่คล้องได้ เอาเชือกสายทามคล้องคอช้างเถื่อนผูกล่ามกับสายทามที่คอช้างต่อ จูงมายังที่ชมรมหมอเฒ่ารดน้ำมนตร์ปัดรังควานแล้ว เอาผูกไว้กับต้นไม้เริ่มฝึกหัดต่อไป

นายแม้น วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) เคยเห็นโพนช้างเมื่อยังเป็นที่พระเฑียรคราช ปลัดมณฑลนครสวรรค์ ได้เป็นข้าหลวงคุมโพนช้างกองหนึ่ง ออกไปค้นหาช้างเผือกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ไปอยู่ในป่ากับพวกโพนช้างกว่า ๒ เดือน จนพบช้างเผือก “พระเศวตวชิรพาหะ” คล้องได้ที่ตำบลเนินโพธิ์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน จึงได้ความรู้มาเขียนอธิบายดังพรรณนามา



วิธีจับช้างอย่างราชกีฬา


วิธีจับช้างตำราหลวง ใช้สำหรับจับช้างพลายขนาดใหญ่ สูงกว่า ๔ ศอกขึ้นไปจนถึง ๕ ศอก ซึ่งจะใช้ฝึกหัดใช้เป็นช้างรบศึก ช้างขนาดนั้นมีกำลังไล่เลี่ยกับช้างต่อ จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้จึงต้องใช้วิธีจับอย่างนี้ ว่าโดยย่อคือต้อนโขลงช้างโขลงจากป่ามาเข้าเพนียดที่ราชธานี เลือกคล้องช้างขนาดที่ต้องการได้หมดแล้ว ปล่อยช้างโขลงกลับไปอยู่ป่าตามเดิม ผิดกับวิธีจับช้างอย่างอื่น ซึ่งพรรณนามาแล้ว เรียกกันเป็นสามัญว่าวิธี “จับเพนียด” แต่ฉันเห็นควรเรียกว่า “วิธีตำราหลวง” เพราะไม่มีผู้อื่นทำได้ นอกจากเป็นการหลวงกรมพระคชบาล หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” เป็นเจ้าหน้าที่จัดการทั้งปวง กรมช้างมีแหล่งแยกกันอยู่เป็น ๓ แห่ง พวกพนักงานช้างรบและทำพิธีคชกรรมอยู่ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง พวกพนักงานคล้องช้างอยู่ที่เพนียด ณ พระนครศรีอยุธยาแห่งหนึ่ง พวกพนักงานรักษาช้างเถื่อนเรียกว่า “กรมโขลง” อยู่ที่บ้านนาแขวงจังหวัดนครนายกแห่งหนึ่ง ขึ้นอยู่ในเจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่ เช่นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงบัญชาการกรมพระคชบาลทั้ง ๓ พวก ถ้าจะมีการจับช้างเมื่อใด ต้องตระเตรียมกว่าเดือน ด้วยต้องปรนปรือช้างต่อและเรียกระดมคนกรมช้าง มาซ่อมแซมเพนียดและเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเกณฑ์ช้างต่อหมอควาญพวกโพนช้างที่ได้กล่าวมาก่อน มาสมทบกับช้างต่อของหลวงที่บ้านนา พร้อมกันแล้วจึงเริ่มปกโขลงช้างเถื่อน



ลักษณะปกโขลง

ธรรมดาของช้างเถื่อน ย่อมอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากตัวบ้างน้อยตัวบ้าง แต่ละโขลงมีช้างพังใหญ่เป็นแม่แปรกนายโขลงตัวหนึ่ง และมักมีช้างพลายใหญ่เป็นช้างงาบ้าง ช้างสีดอไม่มีงาบ้าง ติดตามอยู่นอกโขลงตัวหนึ่งหรือหลายตัวแทบทุกโขลง ช้างเถื่อนที่เอามาคล้อง ณ เพนียด ล้วนเป็นช้างโขลงหลวงอยู่ในทุ่งหลวง แยกย้ายกันหากินอยู่ตามที่ต่างๆ แต่พวกกรมโขลงเขาคอยสอดแนมอยู่เสมอ รู้ว่าโขลงไหนอยู่ที่ไหน มีทะเบียนเรียกชื่อโขลงตามชื่อซึ่งเขาเรียกช้างตัวแม่แปรกหมดทุกโขลง เช่นเรียกว่า “โขลงพังหมู” และ “โขลงพังนกยูง” เป็นต้น แต่ช้างโขลงในทุ่งหลวงมีวิสัยต่างกันเป็น ๒ พวก พวกที่หากินอยู่ใกล้ถิ่นที่คนอยู่ เช่นอยู่ตามที่ชายทุ่งชายนาดังกล่าวมาแล้ว ได้เคยพบปะคนเนืองๆ จนไม่ตื่นคน และมิใคร่มุ่งร้ายต่อคน เรียกกันว่า “โขลงเชื่อง” พวกหนึ่ง แต่โขลงที่หากินอยู่ที่เปลี่ยว มิใคร่จะได้พบปะผู้คนมักดุร้าย หมายทำอันตรายคน และมิใคร่เกรงกลัวช้างต่อ ดูเหมือนเรียกกันว่า “โขลงเถื่อน” อีกพวกหนึ่ง

การปกโขลง ต้องมีผู้ใหญ่ในกรมช้างชั้นเจ้ากรมหรือปลัดกรมออกไปถึงบ้านนา สืบถามที่อยู่ของช้างโขลง รู้แล้วก็คุมพวกช้างต่อไปเที่ยวตรวจเห็นโขลงช้างใดมีช้างได้ขนาดที่ปรารถนาจะจับมาก ก็ล้อมไล่โขลงนั้นมาเข้าคอกที่บ้านนา ซึ่งเป็นคอกเสาไม้ซุง สร้างไว้สำหรับรวมช้างโขลงก่อนต้อนมาเข้าเพนียด ถ้าพลช้างใหญ่มีอยู่ที่โขลงใด สังเกตดูขนาดเห็นว่าช้างต่อพอจะสู้ได้ก็ต้อนให้ติดโขลงมา ถ้าเป็นช้างใหญ่กำลังตกน้ำมัน หรือเป็นช้างใหญ่ถึงขนาดที่ตำราห้ามว่า “มิให้คล้องช้างเถื่อนเท่าช้างต่อ” ก็เอาปืนยิงไล่ให้แตกไปเสียจากโขลง ไม่เอาเข้ามา ถ้าโขลงใดไม่มีช้างได้ขนาดที่จะคล้อง ก็ไม่เอาเข้ามาเหมือนกัน แต่พวกช้างโขลงเชื่องนั้นจำเป็นต้องเอาเข้ามาด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นพวกเคยรู้หนทางและเคยคุ้นกับการเข้าเพนียด เอามาชักนำช้างโขลงอื่นให้ติดตามต้อนง่ายขึ้น จำนวนช้างเถื่อนที่ต้อนมาเข้าเพนียดแต่ละครั้ง อยู่ในระหว่างตั้งแต่ ๒๐๐ จน ๓๐๐ ตัว คุมช้างเถื่อนไว้มากเช่นนั้นเป็นการลำบาก จะจับช้างตำราหลวงจึงต้องมีกำหนดวันรู้ล่วงหน้าเป็นแน่นอน พอรวมช้างโขลงพร้อมแล้วในวันหนึ่งหรือสองวัน ก็ต้อนโขลงออกจากบ้านนา การที่ต้อนโขลงมานั้นก็มีช้างต่อนำหน้าโขลงตัวหนึ่ง มักใช้ช้างสีดอให้ช้างเถื่อนสำคัญว่าช้างพัง ให้ช้างต่อที่เป็นช้างงาขนาดย่อม คือช้างต่อของพวกโพนช้างเดินแซงห่างๆ ทั้งสองข้างโขลงเรียกว่า “ช้างค่าย” ให้ช้างโขลงกลัวงาไม่แตกออกไปนอกทาง และให้ช้างต่อขนาดใหญ่อันเรียกว่า “ช้างค้ำ” ตามต้อนมาข้างหลัง ก็วิสัยของช้างเวลาเหน็ดเหนื่อยหรือร้อนแดด ถ้าถึงลำน้ำชอบลงแช่ตัว หรือถ้าถึงทำเลหญ้าบริบูรณ์ ก็ชอบหยุดกินหญ้าให้หายหิว เพราะฉะนั้นการต้อนโขลงช้างมาเพนียด แม้จำนวนช้างถึงหลายร้อยก็ต้อนมาได้ไม่ยากนัก ด้วยค่อยต้อนมาช้าๆ ให้มีเวลาพักกินน้ำกินหญ้ามาตลอดทาง เวลากลางคืนใช้กองไฟรายล้อมห่างๆ ช้างโขลงก็ไม่กล้าแหกหักออกไป



เพนียด

ตรงนี้จะพรรณนาว่าถึงเพนียดที่คล้องช้างก่อน ที่จริงตัวเพนียดก็ยังอยู่ไม่น่าจะต้องพรรณนา แต่เดี๋ยวนี้เพนียดชำรุดทรุดโทรมเสียมาก เพราะไม่ได้มีการจับช้างที่เพนียดมากว่า ๓๐ ปีแล้ว ผู้อ่านนิทานนี้ที่ไม่เคยเห็นเพนียดเมื่อยังดีคงมีมาก จึงจะพรรณนาถึงเพนียดไว้ด้วยตามที่ฉันจำได้

เพนียด อยู่ปลายทุ่งทะเลหญ้าทางข้างใต้ ที่ตั้งเพนียดมีลำน้ำอยู่ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ลำน้ำทางด้านตะวันออกเรียกว่า “คลองเพนียด” เป็นท่าคนขึ้นและเป็นทางช้างโขลงข้ามมาเข้าเพนียด ลำน้ำทางด้านตะวันตกเรียกว่า “ลำน้ำโพธิ์สามต้น” สำหรับช้างโขลงลงอาบน้ำเมื่อระบายออกจากเพนียด ตัวเพนียดนั้นเป็นคอกใหญ่ ๒ ชั้น ชั้นนอกก่ออิฐถือปูนเป็นเชิงเทินสูง......ศอก วงเป็นฐาน ๔ เหลี่ยมยาวด้านละ......วา บนหลังเชิงเทินนั้นถมดินเป็นพื้นและมีพนักทั้งข้างนอกข้างใน หลังเชิงเทินทางด้านตะวันตกกว้างกว่าด้านอื่น มีพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรคล้องช้างอยู่เชิงเทิน ทั้งด้านข้างในและด้านข้างนอกเพนียด พลับพลาด้านข้างในสำหรับทอดพระเนตรจับช้างในเพนียด เป็นพลับพลาหลังเดียวยาวตลอดทั้งด้าน ตรงกลางเป็นที่เสด็จประทับ มุขเหนือสำหรับนางใน มุขใต้สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า ทางด้านข้างนอกมีพลับพลาสำหรับทอดพระเนตรคล้องช้างกลางแปลงสองหลัง หลังข้างใต้เป็นที่เสด็จประทับ หลังข้างเหนือสำหรับนางใน ตรงกลางระหว่างพลับพลาเป็นทางเสด็จขึ้นเพนียด ทางเสด็จขึ้นบนเชิงเทินเพนียดนั้นทำเป็นทางลาด เหมือนเช่นเชิงสะพานช้างมีกำแพงสองข้าง ทรงช้างขึ้นก็ได้ หรือถ้าทรงพระราชยานและวอพระประเทียบขึ้นไปได้จนถึงพลับพลา ทางขึ้นเชิงเทินข้างด้านเหนือและด้านใต้มีแต่บันไดทำแนบกำแพงเพนียดสำหรับคนเดินขึ้นลงด้านละ ๒ บันได และมีทางถมดินสำหรับช้างราชพาหนะขึ้นลงทางด้านเหนือได้อีกแห่งหนึ่ง แต่ทางด้านตะวันออก อันเป็นด้านช้างโขลงเข้าเพนียด หามีทางขึ้นเชิงเทินไม่ คอกเพนียดนั้นมีประตูทางช้างโขลงเข้าอยู่ตรงกลางทางด้านตะวันออกประตูหนึ่ง ประตูทางช้างโขลงออกอยู่ตรงมุมเชิงเทินข้างใต้ทางด้านตะวันตกประตูหนึ่ง และมีประตูช่องกุด เจาะทะลุเชิงเทินสำหรับพวกกรมช้างเข้าไปถึงเพนียดชั้นใน อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ด้านละ ๒ หรือ ๓ ช่อง ประตูทางช้างโขลงเข้าออกนั้นเรียกว่า “ซอง” เป็นช่องยาวกว่าตัวช้าง ปักเสาซุงเรียงทั้งสองข้างมีแม่แคร่ยึดปลายเสาข้างบน แต่ซุงเสาประตูคู่ที่ปากซองทั้งสองข้าง แขวนปลายเสาไว้เป็นโตงเตง โคนเสานั้นผูกเชือกไปติดกับกว้าน ขันให้เปิดออกเป็นทางเดินได้ หรือหย่อนเชือกให้โคนเสาเข้ามาติดกัน แล้วหย่อนปลอกถักหวายสวมเสาทั้งสองข้างลงมาจากข้างบนยึดเสาไว้ให้ชิดกัน แปลงประตูให้เป็นคอกพอจุตัวช้างใหญ่ตัวหนึ่ง ขังไว้ในซองนั้นได้

ข้างในวงเชิงเทิน มีคอกปักเสาไม้ซุงสูงสัก ๖ ศอก รายห่างกันพอคนลอดได้ ล้อมเป็นคอกอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “วงภาค” ห่างเชิงเทินเข้าไปขนาดพอคนเดินไปมาได้ในระหว่างเสาวงภาคกับเชิงเทิน ไม่ต้องกลัวช้างเถื่อน ที่กลางวงภาคมีศาลเทพารักษ์ เครื่องไม้หลังคาเป็นยอดมณฑปหลังหนึ่ง ยกพื้นสูงเสมอปลายเสาคอก รอบศาลนั้นปักเสาล้อมเช่นเดียวกับเสาวงภาค และมีเสาปักเรียงกันตรงออกไปสัก ๔ ศอกเป็น ๔ แฉก คอกเล็กนี้เป็นที่อาศัยของพวกพนักงานวัดปลายเชือกบาศ อยู่กลางช้างโขลง

นอกเพนียดทางด้านตะวันตกทางที่ช้างโขลงเข้าเพนียดปักเสาสองข้าง ตั้งแต่ประตูซองเรียงเป็นปีกกา ขยายกว้างออกไปโดยลำดับจนใกล้ฝั่งลำน้ำคลองเพนียด ปีกกานั้นดูเหมือนเป็นสองตอนๆ ต่อเพนียดมีแนวเสาสกัด อาจจะกั้นเป็นคอกนอกเพนียดได้อีกคอกหนึ่ง สำหรับเวลายังมีช้างโขลงที่ไม่ยอมเข้าเพนียดก็ปิดขังไว้ในคอกนั้น จนกว่าจะไล่เข้าเพนียดได้หมด ทางด้านตะวันตกของเพนียด ตรงประตูซองออกไปมีโรงโถงหลังหนึ่ง ปักเสาตะลุงมีแป้นหมุนได้บนปลายเสาไว้ตรงกลาง เรียกว่า “โรงคู่แขก” สำหรับผูกช้างใหญ่เกินขนาดที่จะพาไปยังโรงหัดได้ในวันแรกจับ ต่อออกไปเป็นสนาม สำหรับคล้องช้างกลางแปลงตลอดทั้งด้าน ถมดินเป็นคันไว้ทางริมสนามด้านนอก บังตามิให้ช้างโขลงเมื่ออยู่ในสนามแลเห็นลำน้ำทางด้านนั้น บนคันนั้นมีศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนเป็นกุฎีอยู่หลังหนึ่ง และยังมีศาลเจ้าอยู่ริมเพนียดทางด้านเหนืออีกศาลหนึ่ง สร้างอุทิศต่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์ เรียกกันว่า “กรมหลวงเฒ่า” พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพระคชบาลแต่ในรัชกาลที่ ๑ มาจนรัชกาลที่ ๓ ด้วยได้ทรงบูรณะเพนียดให้คืนดีขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางข้างใต้เพนียด พ้นทางเดินออกไปมีโรงช้างต่อ และโรงสำหรับหัดช้างที่จับได้อีกหมู่หนึ่ง ลักษณะเพนียดตามที่ฉันจำได้เป็นดังพรรณนามานี้

19  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย) : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 15:10:46


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคปลาย)

วิธีจับช้าง
(๑)
อธิบายเบื้องต้น

นิทานภาคปลายของเรื่องจับช้างนี้ ผู้อ่านเห็นจะแปลกใจ ด้วยเห็นกระบวนความต่างไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่แต่งติดต่อเป็นรูปเรื่องเดียวกับนิทานภาคต้น จะเลยนึกว่าเมื่อฉันแต่งมาถึงภาคนี้เกิดหลงด้วยแก่ชรา จึงเลยไถลไปไม่รู้ตัว อันที่จริงมิได้เป็นเช่นนั้นดอก จึงขอบอกเหตุไว้ให้รู้ การแต่งหนังสือ ถ้าจะเรียกเป็นนามศัพท์ของวรรณคดีก็ได้หลายอย่าง เรียกว่า “สำนวนเทศนา” (Indicative) อย่างหนึ่ง “สำนวนบรรยาย” (Narrative) อย่างหนึ่ง และ “สำนวนพรรณนา” (Descriptive) อีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่จะเลือกแต่งด้วยสำนวนอย่างไหนให้เหมาะแก่เรื่อง ฉันแต่งนิทานภาคท้ายนี้แต่เมื่อยังอยู่ที่เมืองปีนัง โดยประสงค์จะเล่าถึงการจับช้างที่ฉันได้เคยเห็นด้วยตาตนเอง ให้ลูกฟัง เมื่อเล่าต่อไปถึงวิธีจับที่ฉันไม่เคยเห็นเอง ก็ขออนุญาตเพื่อนฝูงเก็บความที่เขาได้แต่งพิมพ์พรรณนาวิธีนั้นไว้ มาเป็นโครงประกอบกับความรู้ของฉัน แต่งให้เป็นเรื่องขึ้น ถ้าว่าโดยย่อก็คือ “แต่งเล่นตามชอบใจ” เมื่อแต่งภาคท้ายใกล้จะหมดอยู่แล้ว ฉันกลับมากรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ จะแต่งนิทานเรื่องจับช้างต่อไป จึงนึกขึ้นว่าการจับช้าง เป็นวิชาสำคัญของไทยเราอย่างหนึ่ง ซึ่งชนชาติอื่นๆ เคยนับถือว่าไทยชำนิชำนาญ และวิธีจับช้างของไทยเป็นกิจน่าชมยิ่งอย่างหนึ่งในโลก แต่ตัวฉันเองกับทั้งไทยที่เป็นผู้รู้ๆ อยู่ว่าเป็นวิชาที่จะสูญเสียในไม่ช้านักแล้ว ฉันคิดเสียดายขึ้นมา จึงเห็นควรจะเล่าเรื่องจับช้างให้พิสดารกว่าที่ได้แต่งไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลามาอยู่กรุงเทพฯ ใกล้แหล่งหนังสือเก่า เช่นหอพระสมุดฯ เป็นต้น อาจจะหาหนังสือสอบความทรงจำง่ายกว่าเมื่ออยู่เมืองปีนัง แต่ต้องรับสารภาพว่าเพราะเกียจคร้าน ไม่อยากรื้อนิทานภาคที่ได้แต่งแล้วออกแต่งใหม่ จึงแต่งเพิ่มขึ้นอีกภาคหนึ่ง ว่าด้วยตำนานการจับช้างในเมืองไทยเพิ่มลงข้างหน้า เป็นนิทานเรื่องเดียวกัน ๒ ภาคเช่นพิมพ์ไว้นี้

(๒)
ช้างเถื่อนในเมืองไทย

ในเมืองไทยนี้มีช้างเถื่อน (คือช้างป่า) อยู่มากมาแต่ดึกดำบรรพ์ ถึงเดี๋ยวนี้ที่ไหนช้างเถื่อนยังอยู่ได้ ก็ยังมีช้างเถื่อนแทบทุกมณฑล ในมณฑลกรุงเทพฯ นี้ แต่ก่อนก็ยังมีช้างเถื่อนอยู่ในทุ่งหลวงทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แขวงจังหวัดนครนายก ตลอดลงมาจนทุ่งบางกะปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เมื่อฉันบวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ.๒๔๒๖ ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางปะอิน ในเวลาเย็นๆ เคยขึ้นไปดูบนพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ยังแลเห็นโขลงช้างเถื่อนเข้ามาหากินอยู่ตามปลายนา ราวที่สร้างวัดวิเวกวายุพัดเมื่อภายหลัง แต่ต่อมามีคนถางป่าพงที่ช้างอาศัยทำนารุกเข้าไป ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีไปอยู่ห่างแม่น้ำออกไปโดยลำดับ ยิ่งเมื่อถึงสมัยขุดคลองรังสิตและคลองนาสายอื่นๆ ในทุ่งหลวง ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีห่างออกไป จนมักพากันขึ้นไปอยู่ในทุ่งหลวง ตอนแขวงจังหวัดนครนายกโดยมาก ตอนข้างใต้ใกล้กรุงเทพฯ มีน้อยลง เมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยไปเมืองนครนายกครั้งหนึ่ง จอดเรือพักแรมอยู่ที่อำเภอบางอ้อ เวลาจวนค่ำ เห็นช้างเถื่อนอยู่ที่ปลายนา ทางฟากตะวันออกโขลงใหญ่ แต่พอพลบ พวกชาวบ้านเขาก็กองไฟรายตามแนวปลายนา เขาบอกว่าถึงฤดูทำนาตั้งแต่ข้าวตั้งกอใกล้จะออกรวง ช้างเถื่อนเข้ามากวนเสมอ ต้องกองไฟอย่างนั้นทุกคืน เพราะช้างกลัวไฟไม่กล้าผ่านกองไฟใกล้ๆ แต่มันฉลาด กลางวันหลบหายไปหมด ไม่รู้ว่าพากันไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน แต่พอพลบค่ำจึงย่องเข้ามา ถ้าคนเผลอ มันถอนกอข้าวในนากินเสียคืนละหลายๆ ไร่ พอรุ่งสว่างก็หายไปอีก ถึงฤดูข้าวตั้งกอ จึงต้องกองไฟเช่นนั้นทุกปี ต่อมาอีกปีหนึ่งฉันไปเมืองปราจีนบุรีทางคลองรังสิต เมื่อเรือไฟจูงเรือฉันไปถึงลำน้ำองครักษ์ เวลากลางวันผ่านที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบโขลงช้างเถื่อนสักสี่ห้าตัวกำลังว่ายข้ามลำน้ำผ่านหน้าเรือไปใกล้ๆ จนคนถือท้ายเรือไฟต้องรอเรือเปิดแตรไล่ตะเพิ่น มันก็รีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งวิ่งหนีไปแลเห็นตัวใกล้ๆ แต่ฉันเพิ่งรู้แต่เมื่อภายหลังมาอีกหลายปี ว่าธรรมดาของช้าง ขึ้นบกได้แล้วจึงเตรียมตัวจะต่อสู้ ถ้าลงว่ายอยู่ในน้ำตีนหยั่งไม่ถึงดินแล้วสิ้นฤทธิ์เดช ทำอะไรใครไม่ได้ทีเดียว ฉันได้เคยเห็นแก่ตาเมื่อจับช้างที่เพนียดครั้งหนึ่ง มีช้างพังเถื่อนตัวหนึ่งขนาดสูงสัก ๓ ศอกเศษ แตกโขลงลอยน้ำลงมาถึงบางปะอินเวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นั่น ช้างตัวนั้นเดิมเห็นจะตั้งใจว่ายข้ามแม่น้ำกลับไปถิ่นในทุ่งหลวง แต่พวกชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำพากันลงเรือไปดู มีเรือลอยแซงมาทั้งสองข้าง ช้างไม่กล้าเข้าใกล้ใกล้เรือ ก็เป็นแต่เอาปลายงวงโผล่ขึ้นหายใจบนหลังน้ำ ปล่อยตัวให้ลอยลงมากับสายน้ำ พอรู้ถึงพวกคนตามเสด็จก็พากันไปดู ฉันก็ลงเรือลำหนึ่งไปดูกับเขาด้วย ใครไปถึงต่างก็ลอยเรือล้อมดูอยู่ห่างๆ ขวางทางช้างว่ายขึ้นตลิ่งไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะทำอย่างไร ช้างกับเรือลอยเป็นแพลงมาจนถึงบ้านแป้ง มีนายตำรวจภูธรคนหนึ่งคิดจะจับ ให้พายเรือเข้าไปใกล้ๆ ตัวช้าง เห็นมันนิ่งเฉยก็เอาเรือเข้าไปเทียบถึงข้างตัวมันก็นิ่งเฉย พลตำรวจคนหนึ่งใจกล้าโดดขึ้นขี่หลัง เห็นช้างนิ่งอยู่ไม่อาละวาดสะบัดสะบิ้งอย่างไร ได้ใจก็ค่อยเขยื้อนตัวขึ้นไปจนถึงขี่คอ ช้างก็ยังนิ่งอยู่ ยกแต่ปลายงวงโผล่พ้นน้ำขึ้นหายใจอย่างเดียวเท่านั้น จึงรู้ว่าเพราะตีนมันหยั่งไม่ถึงดิน จึงทำอะไรไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะเหตุนั้นเอง ช้างจึงชอบลงน้ำแต่เพียงที่หยั่งถึง และมักมีช้าง แม้ที่ฝึกหัดเชื่องแล้วไม่ยอมว่ายน้ำ ถึงกับมีตำราสำหรับลวงช้างให้ว่ายข้ามน้ำอยู่ในคัมภีร์คชศาสตร์เป็นหลายอย่าง

แต่ช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ผิดกับช้างเถื่อนในที่อื่น ด้วยเป็นช้างโขลงของหลวง สำหรับแต่จับใช้ราชการ และเคยอยู่ในทุ่งหลวงสืบพงศ์พันธุ์กันมาหลายร้อยปี มีกำหนดต้อนเข้ามาเลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งเป็นคราว ดังจะพรรณนาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ช้างที่ไม่จับ ก็ปล่อยกลับออกไปอยู่ในทุ่งหลวงอย่างเดิม เป็นประเพณีสืบมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา จนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ช้างเถื่อนในทุ่งหลวงจึงเหมือนกับเลี้ยงไว้สำหรับจับที่เพนียด และต้องมีไว้ให้มากพอแก่การ หาไม่ก็มีการจับช้างที่เพนียดไม่ได้ อนึ่งการจับช้างที่เพนียดนั้น เป็นแบบตำราหลวง ผิดกับวิธีจับช้างอย่างสามัญ ด้วยเป็นการเลือกหาช้างมีลักษณะสำหรับใช้ในการรบพุ่ง และฝึกซ้อมพวกผู้เชี่ยวชาญในการขี่ช้าง ตลอดจนฝึกซ้อมช้างต่อซึ่งได้ฝึกหัดขึ้นไว้นั้นด้วย เห็นจะถือว่าเป็นการสำคัญมาช้านาน ตามเมืองโบราณที่เคยเป็นราชธานี จึงมีเพนียดอยู่ใกล้ๆ พระนคร ในเวลามีการจับช้างที่เพนียด พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกทรงบัญชาการเอง บางพระองค์ถึงโปรดทรงคล้องเอง พวกเจ้าหน้าที่ก็ทำการอย่างแข็งขันกันเต็มฝีมือ จึงเป็นการที่คนนิยมอยากดู มีการจับช้างเมื่อใดใครไปได้ก็ไปดูทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ที่ว่านี้ตามฉันได้เคยเห็น แต่คงเป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ แต่เมื่อย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ห่างเพนียด พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรจับช้างที่เพนียดไม่สะดวก จึงโปรดให้แต่เจ้านายต่างกรม ผู้บัญชากรมพระคชบาลไปทรงบัญชาการจับช้าง ได้ยินว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ กรมหลวงรักษ์รณเรศทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงบัญชาการเมื่อรัชกาลที่ ๔ แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ มีเรือไฟใช้เป็นราชพาหนะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรเสมอ ดูเหมือนมีกำหนดจับ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรอย่างเดียวกัน แต่เมื่อมีเจ้านายฝรั่งต่างประเทศเป็นแขกเมืองเข้ามาเฝ้าเนืองๆ โปรดให้มีการจับช้างให้แขกเมืองดู พวกแขกเมืองก็พากันชอบ สรรเสริญว่าการจับช้างของไทยเป็น “กีฬา” (Sport) ถึงชั้นวิเศษสุดอย่างหนึ่งในโลก หามีเหมือนในประเทศอื่นไม่ จนกิตติศัพท์เลื่องลือไปตามนานาประเทศ การจับช้างจึงเปลี่ยนมาเป็นสำหรับมีรับแขกเมืองที่สูงศักดิ์ แม้เช่นนั้นการจับช้างก็เสื่อมทรามลงโดยลำดับ เพราะเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองในอย่างอื่น เป็นต้นแต่การบำรุงกสิกรรม ด้วยช้างโขลงอยู่ในทุ่งหลวงกีดขวางแก่การทำนา แต่ยังพอผ่อนผันกันมาได้หลายปี จนถึงสมัยเมื่อสร้างทางรถไฟผ่านไปในทุ่งหลวง ก็เกิดลำบากแก่การที่จะต้อนช้างโขลงผ่านทางรถไฟมายังเพนียดเพิ่มขึ้น และมามีเหตุร้ายเพิ่มขึ้นเป็นที่สุดเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ในเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง คืนวันหนึ่งมีช้างเถื่อนในทุ่งหลวงตัวหนึ่ง เห็นจะเป็นเวลาตกน้ำมัน ขึ้นไปยืนอยู่บนทางรถไฟที่ย่านเชียงราก พอรถไฟบรรทุกสินค้าแล่นขึ้นไป ก็ตรงเข้าชนรถไฟ ช้างก็ตายรถไฟก็ตกรางทั้งสาย พอฉันรู้ก็ขึ้นไปดู แต่ช้าไปไม่ทันเห็นตัวช้าง เพราะมีคนแล่เนื้อเถือหนังไป และฝังโครงกระดูกเสียหมดแล้ว เห็นแต่รถไฟนอนกลิ้งอยู่ในท้องนา เนื่องจากเหตุครั้งนั้นจึงต้องกวาดต้อนช้างเถื่อนในทุ่งหลวง ให้ไปอยู่เสียในป่าทางเชิงเขาใหญ่ในแขวงจังหวัดนครนายกหมด การจับช้างที่เพนียดก็เลิกขาด และช้างเถื่อนก็ไม่มีในมณฑลกรุงเทพฯ แต่นั้นมา แต่ในมณฑลอื่นยังมีช้างเถื่อนอยู่ทุกมณฑลจนทุกวันนี้



ลักษณะจับช้างเถื่อน

ปรกติของช้างเถื่อนชอบอยู่ด้วยกันเป็นโขลงๆ ละมากบ้างน้อยบ้าง ในระหว่างตั้งแต่ ๑๐ ตัวขึ้นไปถึง ๒๐-๓๐ ตัว คล้ายกับมนุษย์ที่ชอบอยู่ด้วยกันในครัวเรือนหรือในวงศ์ญาติ มีตัวหัวหน้าทุกโขลง มักเป็นช้างพังใหญ่เรียกกันว่า “แม่หนัก” หรือ “แม่แปรก” ก็เรียกสำหรับนำโขลงเที่ยวหากิน และพาหลีกหนีภัยอันตราย แม่โขลงชักนำอย่างไร ลูกโขลงก็ทำตาม อยู่ที่ไหนอยู่ด้วยกัน ไม่เที่ยวเตร็จเตร่แยกย้ายกันไปตามอำเภอใจ เว้นแต่ช้างพลายตัวใหญ่ถึงขนาดตกน้ำมันได้นั้น ต้องอยู่รายรอบนอกมิให้เข้าไปปะปนอยู่ในโขลง ช้างอยู่ด้วยมีประเพณีเช่นว่านี้ วิสัยช้างจึงชอบไปไหนด้วยกันเป็นหมู่ อีกประการหนึ่ง ช้างเป็นสัตว์ขนบางดังกล่าวมาแล้ว กลัวร้อนแสงแดด ต้องมีเวลาลงแช่น้ำหรือหมกโคลนเหมือนกับควาย เพราะฉะนั้นช้างโขลงจึงมักอยู่แต่ในที่อันมีอาหาร กับทั้งห้วยน้ำลำธารหรือปลักแปลงและมีหมู่ไม้ให้ร่มเงา บางโขลงจึงชอบอยู่ในดงภูเขาก็มี บางโขลงก็ชอบหากินชายดงใกล้ที่ราบอันเป็นที่มีป่าหญ้า ออกมาเที่ยวหาหญ้ากินในเวลากลางคืนก็มี วิธีหากิน ทำให้ช้างโขลงเป็นช้างชอบอยู่ในดงบนภูเขาชนิดหนึ่ง เป็นช้างอยู่ชายดงใกล้ที่ราบชนิดหนึ่ง แต่มนุษย์มีปัญญาสามารถสังเกตนิสัยของช้าง จึงคิดวิธีจับช้างให้เหมาะกับภูมิลำเนาที่ช้างเถื่อนอยู่ได้ทั้งสองชนิด

วิธีจับช้างในเมืองไทยมี ๓ อย่าง เรียกว่า “วังช้าง” อย่างหนึ่ง “โพนช้าง” อย่างหนึ่ง “จับเพนียด” แต่ฉันจะเรียกต่อไปให้ตรงความว่า “จับตำราหลวง” อย่างหนึ่ง พิจารณาดูเค้าเงื่อนที่ยังพอสังเกตได้ เห็นว่าวิธีจับช้างอย่าง “วังช้าง” คือตั้งคอกจับช้างหมดทั้งโขลงในคราวเดียวกันก็ดี วิธีจับอย่าง “โพนช้าง” คือขี่ช้างต่อออกไล่ช้างเถื่อนแต่ทีละตัวก็ดี เห็นจะใช้ในเมืองไทยมาแต่พวกลาว (คือละว้า) ยังปกครองบ้านเมือง แต่วิธีจับช้างอย่าง “ตำราหลวง” เช่นที่จับเพนียดในชั้นหลัง ฉันเห็นว่าเป็นวิธีประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังกล่าวมาในภาคต้น

การจับช้างไม่ว่าอย่างไหนๆ ย่อมเป็นการเสี่ยงภัยแก่ผู้จับ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ถ้าพลาดพลั้งผู้จับก็ถึงสิ้นชีวิต ทั้งเป็นการยาก และต้องใช้คนมาก แบ่งหน้าที่กันทำการต่างๆ พนักงานจับช้างหลวงจึงตั้งเป็น “กรมพระคชบาล” หรือที่เรียกกันตามสะดวกปากว่า “กรมช้าง” ส่วนพวกพลเมืองที่หาเลี้ยงชีพด้วยการจับช้างก็ต้องมี “หมอเฒ่า” หรือ “ครูบา” ผู้เชี่ยวชาญในการจับช้างเป็นผู้บัญชาการสิทธิ์ขาด รองลงมาต้องมี “หมอช้าง” ซึ่งหมอเฒ่าได้ฝึกสอนให้รู้จักสังเกตกิริยาอาการช้าง และคล่องแคล่วชำนิชำนาญการคล้องช้าง รองลงมาจากนั้นอีกถึงชั้นพวกบริวารที่เป็นแต่แรงงาน ก็ต้องรักษาวินัยทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เหนือตนอย่างสิทธิ์ขาด หาไม่ก็อาจเป็นอันตรายเหมือนกัน การจับช้างจึงเป็นวิชาอย่างหนึ่งซึ่งรักษาสืบกันมาในเมืองไทยช้านาน ตัวฉันเคยเห็นแต่การจับช้างอย่างตำราหลวง พอจะเล่าให้ฟังได้ว่าเป็นอย่างไร แต่จับอย่างวังช้างและโพนช้าง ฉันไม่เคยเห็น จะต้องอาศัยอธิบาย ซึ่งพระยาอินทรมนตรี (ไยลส์) ได้อุตส่าห์สืบสวนมาพรรณนาพิมพ์ไว้เป็นภาษาอังกฤษที่ในหนังสือวารสาร ของสมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย ฉันจึงขออนุญาตเก็บเนื้อความมาแปลลงในนิทานนี้ ส่วนอธิบายการโพนช้าง นาย ม.พ. วสันตสิงห์ (พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์) ก็ได้อุตส่าห์พรรณนาตามที่เคยไปเห็น พิมพ์ไว้เป็นภาษาไทยในหนังสือ “รื่นระลึก” ฉันขออนุญาตเก็บความมาเหมือนกัน



วิธีวังช้าง

การจับช้างเถื่อนด้วยวิธี “วังช้าง” ต่างประเทศยังชอบใช้กันในปัจจุบันนี้ ซึ่งในอินเดียอันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “เด็กเลี้ยงช้าง” (Elephants Boy) ก็ใช้วิธีวังช้าง ในเกาะลังกาและเมืองมลายูก็จับแต่อย่างวังช้าง แต่ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ใช้วิธีวังช้างแต่ทางหัวเมืองในแหลมมลายู เช่นที่จังหวัดชุมพร กับตามหัวเมืองทางลานนา เช่นเมืองน่านเป็นต้น อันพึงเห็นได้ในหนังฉายเรื่อง “ช้าง” ซึ่งเคยเลื่องลือทั่วโลกครั้งหนึ่ง แต่หัวเมืองทางอื่นในเมืองไทยนี้ เช่นในมณฑลนครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา ปราจีน ใช้วิธีโพนช้างทั้งนั้น คงเป็นเพราะลักษณะถิ่นที่ช้างเถื่อนอยู่ผิดกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงใช้วิธีจับต่างกันมาแต่โบราณ คนจับช้างในท้องถิ่นเคยจับด้วยวิธีอย่างใด ก็เลยรู้แต่วิธีอย่างเดียวที่ใช้จับอยู่ในถิ่นของตนจนทุกวันนี้ เรื่องวังช้างทางเมืองชุมพร ตามที่ฉันรู้มาแต่เมื่อเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น เมืองชุมพรเขตแดนต่อกับเมืองมะริดของอังกฤษที่สันเขาบรรทัดแหลมมลายู ช้างโขลงเถื่อนรู้จักทางข้ามเขาไปมาอยู่เนืองนิจ ถ้าทางเมืองมะริดมีการจับช้างบ่อยเข้า ช้างโขลงก็หนีข้ามเขามาอยู่ในแขวงเมืองชุมพร ถ้ามาถูกคนที่เมืองชุมพรจับบ่อยเข้า ก็หนีกลับไปอยู่ทางแดนเมืองมะริด ไม่มีช้างโขลงอยู่ประจำที่ทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องคอยสอดแนมอยู่เสมอ ถ้าได้ข่าวว่าช้างโขลงเข้าแดนเมื่อใดก็เตรียมการจับ แต่จับคราวหนึ่ง ก็ได้ช้างได้เงินพอใช้ไปนาน จึงยังมีผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตั้งแต่หมอเฒ่าเจ้าตำรา ที่เป็นผู้อำนวยการ และหมอช้างครูช้างที่เป็นตัวรองอยู่ที่เมืองชุมพรสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ แต่การวังช้างต้องลงทุนมาก ตั้งแต่ค่าทำค่ายพรางและค่ากำนนผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนค่าจ้างพวกกรรมกร จึงต้องอาศัยพวกมีทรัพย์ เป็นผู้เริ่มริและไปหาหมอเฒ่าอำนวยการ และทำการต่างๆ ดังพระยาอินทรมนตรีพรรณนาเป็นลำดับไป

เมื่อมีผู้ไปขอให้วังช้าง หมอเฒ่าก็เข้าพิธีบูชาครู นั่งสำรวมใจร่ายมนตร์ขอสุบินนิมิตต่อครูปัทยาย ให้มาเข้าฝันว่าจะจับช้างได้สมประสงค์หรือไม่ เมื่อในสุบินนิมิตดีแล้ว หมอเฒ่าจึงเลือกตัวหมอช้างกับทั้งพวกที่จะทำการอย่างอื่นๆ มาจัดเป็นพนักงานทำหน้าที่ต่างๆ จนครบครัน ในการที่ออกไปจับช้างนั้น บรรดาผู้ไปต้องจัดการทางบ้านเรือนของตน ตามข้อบังคับในตำราคชศาสตร์ คือห้ามมิให้ผู้หญิงเช่นลูกเมียที่อยู่ทางบ้าน เอาน้ำมันใส่ผม หรือทาตัว หรือแม้แต่ทอดของกิน เพราะถือว่าจะทำให้ผู้ชายที่ไปจับช้างขึ้นต้นไม้ลื่น และห้ามมิให้เมียแต่งเครื่องประดับหรือแต่งตัวให้สวยงามอย่างใด เพราะถ้าเมียทำนอกใจทางบ้านผัวอาจจะเป็นอันตรายที่ในป่า และห้ามมิให้ผู้หญิงวิวาทบาดทะเลาะกันหรือแม้จนตีลูกเด็ก เพราะผีป่าจะดูหมิ่นชายคนนั้นว่ามีครอบครัวลามก เลยไม่คุ้มครอง และห้ามมิให้ใครๆ ที่อยู่ทางบ้านนั่งหรือยืนคาประตูเรือน เพราะจะพาให้ช้างไม่เข้าคอก แต่ข้อบังคับเหล่านี้มีข้อไขว่าถ้าเมียไม่ยอมทำตามข้อบังคับ ก็ให้ผัวหย่าเสียชั่วคราว จนเสร็จกิจกลับมาถึงบ้าน จึงถือว่าเป็นผัวเมียกันต่อไปอย่างเดิม เมื่อจัดคนสำเร็จแล้วหมอเฒ่าหาฤกษ์ทำการพลีกรรม ไหว้ครูพร้อมกันวันหนึ่งก่อน แล้วจึงพากันออกไปป่า ไปเที่ยวเลือกหาที่ซึ่งจะตั้งคอกดักช้างตามทางที่ช้างโขลงมักเดินไปมาที่ในดง เมื่อหมอเฒ่าเห็นว่าที่ตรงไหนเหมาะ ยังต้องทำพิธีพลีกรรมร่ายมนตร์ขอนิมิตต่อครูปัทยายอีกครั้งหนึ่งว่าตั้งคอกตรงนั้นจะสำเร็จประโยชน์หรือไม่ ต่อได้นิมิตดีจึงสั่งให้ตัดไม้ทำเสาคอก และตัดเถาวัลย์และหวายสำหรับผูกมัดรัดคอกให้มั่นคง เมื่อได้สรรพสัมภาระพร้อมแล้ว หมอเฒ่าทำพิธีร่ายมนตร์เชิญครูปัทยายมาช่วย และรดน้ำมนตร์ตามแนวที่จะตั้งคอก กับทั้งร่ายมนตร์ขับผีร้ายที่จะขัดขวางให้ไปเสียจากที่นั่นก่อน แล้วปลูกศาลเพียงตาทั้ง ๔ ทิศ เชิญเทพารักษ์มาช่วย และทำหนังสือบนวางไว้ทุกศาล ว่าถ้าจับช้างได้มากกว่าเท่านั้นตัว จะถวายสินบนอย่างนั้นๆ แล้วจึงให้ลงมือตั้งคอก

ลักษณะคอกจับช้างนั้นมีแบบเป็น ๓ อย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” หรือ “คอกน้ำเต้า” อย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกพาลี” อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “คอกแม่วี” สำหรับจับช้างจำนวนมากและน้อยโดยลำดับกัน ล้วนปักเสาไม้แก่นสูงท่วมหลังช้างรายไว้เป็นระยะ มีช่องระหว่างเสาพอตัวคนลอดเข้าออกได้สะดวก ข้างนอกมีคร่าวและขาทรายค้ำ ปลายเสาผูกสายเถาวัลย์รัดต่อติดกันมั่นคงมิให้ช้างทำลายได้ ทำเป็นคอกทึบ ๓ ด้าน ด้านหน้าทางช้างเข้ามีประตูยนต์แขวนบานไว้กับขื่อ พอช้างเข้าในคอกแล้วอาจตัดเชือกให้บานเลื่อนลงมาปิดประตูไว้ ต่อคอกออกไปข้างหน้าปักเสาไม้แก่น ผายเป็นชังนางต่อออกไปทั้งสองข้างตอนหนึ่ง แล้วปักเสาต้ายไฟทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ตั้งแต่ปากชังนางรายต่อออกไป เป็นชังนางอีกข้างละหลายเส้น ก็ถึงที่สุดมีเสาต้ายเช่นนั้นปักขวางอีกแนวหนึ่ง จนปากชังนางทั้งสองข้างต่อกัน มีห้างขัดบนต้นไม้ข้างนอกแนวเสาต้ายเป็นระยะ สำหรับคนขึ้นไปคอยดูเมื่อเวลาช้างมาเข้าคอก บอกสัญญาณให้คนภายในรู้และคอยจุดชะนวนที่ล่ามไปจุดไฟตามเสาต้าย ให้ลุกล้อมโขลงช้าง และมีห้างต่างหากสำหรับหมอเฒ่า ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ให้สัญญาณตัดเชือกปิดประตูคอกด้วย คอกทำอย่างเดียวกันทั้งนั้น ที่เรียกชื่อต่างกันเพราะแผนผังผิดกันเท่านั้น คอกอย่างเรียกว่า “คอกเหลี่ยม” เป็นคอกสองห้องสำหรับจับช้างมาก อีกสองอย่างเป็นแต่คอกห้องเดียว คอกอย่าง “แม่วี” เป็นขนาดเล็กกว่าเพื่อน แม้ประตูยนต์คอกแม่วีก็ทำบานปิดอย่างประตูสามัญ ไม่ทำบานตกเหมือนสองอย่างที่ว่ามาก่อน

เมื่อทำคอกเสร็จแล้ว ยังมีพิธีฉลอง ซึ่งหมอเฒ่าทำที่ในคอกอีกหลายอย่าง เป็นต้นแต่พลีกรรมขอบคุณเทวดา และครูปัทยาย ที่ได้คุ้มครองให้ทำคอกนั้นสำเร็จ แล้วทำพิธีเบิกไพรร่ายมนตร์ขออนุญาตเจ้าป่าเพื่อจะเข้าไปต้อนช้าง และร่ายมนตร์เพื่อไล่ “อ้ายราน” (เห็นจะตรงกับ “รังควาน”) ที่อยู่กับตัวช้าง ทำพิธีเหล่านี้แล้วจึงลงมือจัดการต้อนช้าง ในการต้อนช้างนั้น โดยปรกติตัวหมอเฒ่าอยู่ที่คอก ไม่ต้องออกไปต้อนด้วย คงเป็นเพราะหมอเฒ่ามักเป็นคนสูงอายุ แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น ก็ต้องออกไปแก้ไข

การต้อนช้างเข้าคอกนั้น เริ่มด้วยให้คนออกไปสอดแนมดูให้รู้ก่อน ว่าในเวลานั้นช้างโขลงหากินอยู่ที่ตำบลไหน เมื่อรู้แล้วหมอเฒ่าจึงแบ่งคนต้อนช้างจัดเป็นหมวดๆ แต่ละหมวดมีหมอช้างเป็นหัวหน้าคนหนึ่งกับบริวารสี่ห้าคน เลือกสรรหมอช้างคนที่ชำนาญท้องที่ถิ่นที่ช้างอยู่นั้นเป็นผู้นำขบวน เรียกว่า “หมอไล่” เมื่อไปถึงถิ่นที่ช้างอยู่ หมอไล่ต้องเล็ดลอดเข้าไปทางใต้ลมมิให้ช้างได้กลิ่น จนแลเห็นตัวช้าง พิจารณาดูว่าจำนวนช้างโขลงนั้นมีสักเท่าใด มีช้างพลายกี่ตัวช้างพังกี่ตัวๆ ไหนเป็นนายโขลง และพิจารณาดูหนทางที่ช้างโขลงนั้นชอบไปมาหากิน เมื่อเห็นประจักษ์หมดแล้วถอยออกมา ประชุมปรึกษากันว่าจะต้อนโขลงไปทางไหนให้ถึงคอก และกะที่ซึ่งจะต้องวางคนสำหรับดักทางคอยช่วยต้อนสักกี่แห่ง เพื่อมิให้ช้างโขลงแตกแยกไปเสียทางอื่น แล้วปันหน้าที่ให้หมอช้างคุมบริวารหมวดของตน แยกกันไปดักทางอยู่ตามถิ่นที่กะทุกแห่ง และมีพวกสำหรับต้อนไล่ทางข้างหลังช้างโขลงอีกพวกหนึ่ง พวกนี้ตัวหมอไล่เป็นผู้คุม ในพวกต้อนช้างมีวิธีที่จะส่งอาณัติสัญญาณต่างๆ ให้รู้ถึงกัน และเข้าใจกันได้ทุกพวก เครื่องมือสำหรับต้อนช้างโขลงนั้น โดยปรกติ “ตะขาบ” คือไม้ไผ่ลำยาวสองปล้อง ปล้องหนึ่งเป็นแต่ผ่ากลางให้แยกออกไป เอากลับเข้ากระทบกันให้เกิดเป็นเสียงได้ อีกปล้องหนึ่งต่อลงมา ผ่าเพียงถึงข้อแล้วเจียนไม้ให้เป็นด้ามมือถือทั้งสองซีก สำหรับจับปล้องที่ผ่ากระทบกันให้เกิดเสียง แต่ปล้องล่างทิ้งไว้ให้ยึดตะขาบทั้งหมดไม่ผ่า การต้อนช้างโขลง ใช้แต่เสียงตะขาบเป็นพื้น ต่อมีการฉุกเฉิน เช่นช้างจะแหกออกนอกทางทั้งโขลง จึงใช้จุดคบไฟรายขวางทาง

วิธีต้อนช้างนั้น ผู้เชี่ยวชาญการจับช้างแต่โบราณ เขาสังเกตรู้นิสัยช้างเถื่อน ซึ่งย่อมมีช้างตัวนายโขลงเป็นผู้คอยระวังภัยทุกโขลง ถ้าช้างนายโขลงเห็นสิ่งใดหรือได้ยินเสียงอันใดแปลกประหลาด ระแวงว่าจะ “เกิดภัย” ก็ทิ้งงวงดัง “ป๋อง” เป็นเสียงสัญญาณบอกแก่ลูกโขลง เขาว่าพอช้างลูกโขลงได้ยินเสียงสัญญาณของนายโขลงครั้งแรก ก็หยุดยืนนิ่งเตรียมตัวหมด ถ้าได้ยินเสียงร้อง “แปร๋” เป็นสัญญาณครั้งที่ ๒ ก็พากันมารวมอยู่กับตัวนายโขลง มีสัญญาณครั้งที่ ๓ ด้วยตัวนายโขลงออกเดินนำ ช้างลูกโขลงก็พากันตามติดไป พวกต้อนช้างเขารู้อย่างนั้น พอจัดหน้าที่วางคนระวังทางแล้ว พวกกองหมอไล่ก็ไปรายกันทางด้านหลัง เริ่มการต้อนด้วยหมอไล่ให้สัญญาณ สั่งให้ตีตะขาบให้ดังขึ้นที่ในดงเป็นนัดแรก ตัวหมอไล่เองต้องพยายามอยู่ให้ใกล้พอเห็นตัวช้างนายโขลง สังเกตว่าจะทำอย่างไร และให้อาณัติสัญญาณแก่พวกตีตะขาบให้ตีเมื่อไร ให้เหมาะแก่กิริยาอาการของช้าง ก็วิสัยช้างนายโขลงนั้น ได้ยินเสียงตะขาบเกิดขึ้นทางไหนก็พาโขลงหนีออกไปเสียจากทางนั้น คนจึงสามารถใช้เสียงตะขาบซึ่งรายกันอยู่ ต้อนช้างโขลงให้ไปทางไหนๆ ได้ตามปรารถนา แต่ค่อยๆ ต้อนโขลงมาช้าๆ และมีเวลาหยุดพักให้ช้างรู้สึกว่าปลอดภัยไม่ตื่นเต้น เพราะถ้าช้างตื่นทั้งโขลงแล้ว ทำอย่างไรๆ ก็เอาไว้ไม่อยู่ เวลาต้อนโขลงช้างนั้นต้องระวังอยู่เสมอ มิให้ช้างเห็นตัวหรือได้ยินเสียงคน ถ้าโขลงช้างเดินตรงมาตามทางที่ประสงค์ คนก็เป็นแต่ตามมาห่างๆ ถ้าช้างหยุดยั้งอยู่นานเกินไปก็ส่งเสียงตะขาบทางข้างหลังเตือน ถ้าโขลงช้างจะเชือนไปเสียทางอื่น คนพวกที่รายทางดักกันอยู่ด้านนั้นก็ส่งเสียงตะขาบหนัก ช้างได้ยินก็หันกลับมาเดินทางเดิม ด้วยสำคัญว่าปลอดภัย ถ้าจะต้อนโขลงช้างผ่านทุ่งหรือข้ามลำน้ำ ต้องต้อนในเวลากลางคืน เพราะคนอาจเข้าไปใกล้กว่าต้อนกลางวัน ต้อนแต่ด้วยเสียงตะขาบอย่างนั้นมาได้จนถึงคอก แต่ต้องกะให้ถึงเวลามืดค่ำ อย่าให้ช้างเห็นแนวเสาปีกกาที่ปักต้าย จนโขลงช้างผ่านพ้นแนวเสาปีกกาถึงปากคอก จึงจุดต้ายไฟที่รายไว้ปิดทางข้างหลัง และโห่ร้องรุกไล่ให้ช้างตื่นวิ่งหนีเข้าคอก แล้วปิดประตูขังไว้ในคอกหมดทั้งโขลง

การจับช้างเถื่อน ใช้เอาเชือกหนังทำเป็นบ่วงคล้องตีนหลังของช้างอย่างเดียวกันทุกวิธี เชือกหนังที่คล้องนั้นคำหลวงเรียกว่า “เชือกบาศ” แต่พวกหมอคล้องช้างเชลยศักดิ์ทั้งทางแหลมมลายูและทางข้างเหนือเรียกว่า “เชือกปะกรรม” (ข้อนี้ก็ส่อให้เห็นว่าเดิมเป็นศิษย์ละว้าด้วยกัน) ถ้าช้างขนาดย่อมคล้องเส้นเดียวก็อยู่ ถ้าขนาดเขื่องต้องคล้องสองตีนข้างละเส้น ถ้าเป็นช้างขนาดใหญ่ ต้องคล้องทั้งสองตีน ข้างละสองเส้น แต่การที่คล้องนั้นผิดกัน เพราะจับอย่างโพนช้าง หรือจับอย่างตำราหลวงที่เพนียด คนคล้องขี่คอช้างต่อไล่คล้อง แต่จับอย่างวังช้าง คล้องเมื่อช้างเถื่อนอยู่ในคอกแล้ว คนคล้องอยู่กับแผ่นดินข้างนอกคอก เอาบ่วงบาศติดปลายไม้คันจามเหมือนกับถ่อ สอดเข้าไปคล้องทางช่องเสาคอก เลือกคล้องช้างพลายที่ดุร้ายก่อน แล้วคล้องช้างพลายขนาดย่อมต่อลงมา จนหมดช้างพลายแล้วจึงคล้องช้างพัง เมื่อคล้องได้หมดแล้วค่อยขันเชือกบาศกับโคนเสาคอก ฉุดตัวช้างมาจนอยู่ติดกับเสาคอก แล้วโยนเชือก “ทาม” ผูกคอช้างเถื่อนที่ติดเชือกบาศนั้น ตอน “โยนทาม” นี้ที่ลำบากมาก ด้วยช้างเถื่อนกำลังเป็นบ้าอาละวาด ไม่ยอมให้ผูกทามได้ง่ายๆ ต้องมีคนพวกหนึ่งยืนอยู่กับแผ่นดิน อีกพวกหนึ่งอยู่บนสะพานยาวที่ทำไว้ข้างคอก คอยช่วยกัน ถ้าเป็นช้างดุร้ายต้องมีคนล่อให้ช้างนั้นมุ่งไปเสียทางอื่น คนลอบเข้าผูกทามอีกทางหนึ่ง แต่โดยปรกติมักเอาใบไม้ผูกเป็นแผงบังตาช้างเถื่อน มิให้เห็นคนผูกทาม พยายามจนผูกได้หมดทุกตัว การวังช้างผิดกับจับด้วยวิธีอื่นเป็นข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่ใช้ช้างต่อต้อนหรือคล้องช้างเถื่อน จนคนจับช้างเถื่อนผูกทามไว้ในคอกหมดแล้ว จึงเอาช้างต่อเข้าไปผูกเชือกล่ามจากทามที่คอช้างเถื่อน มาผูกกับทามที่คอช้างต่อ จูงช้างเถื่อนให้ลากเชือกบาศออกจากคอก เอาไปผูกไว้ ณ ที่หัดช้างทีละตัวจนหมดคอก วิธีหัดช้างเป็นอย่างไร จะพรรณนาเป็นตอนหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า

การจับช้างอย่างวิธี “วังช้าง” ที่พรรณนามา พิเคราะห์ดูแต่โบราณ เห็นจะใช้แต่สำหรับจับช้างใช้ราชการบางครั้งบางคราว หาอนุญาตให้ใครๆ ตั้งคอกวังช้าง เพื่อประโยชน์ของตนเองตามชอบใจไม่ มีในเรื่องพงศาวดารว่าครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสด็จไปเที่ยววังช้างทางมณฑลนครสวรรค์และที่อื่นๆ ได้ช้างคราวละสี่สิบห้าสิบตัวเป็นหลายครั้ง จับครั้งหนึ่งช้างเถื่อนก็หมดไปโขลงหนึ่ง และทำให้ช้างโขลงอื่นที่ยังเหลืออยู่ทิ้งภูมิลำเนา ไม่เหมือนกับจับด้วยวิธีโพนช้าง ซึ่งเลือกจับเอาแต่ทีละตัวสองตัว ช้างนอกจากนั้นยังเหลืออยู่ทั้งโขลง และช้างพอเกิดทันให้จับใช้ ถ้าหากท้องที่ที่ช้างอยู่จะจับด้วยวิธีโพนไม่ได้ ก็คงอนุญาตด้วยมีจำกัด ถึงเดี๋ยวนี้ถ้าใครจะตั้งคอกจับช้างที่ไหน ก็ต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลก่อน จับช้างได้กี่ตัว รัฐบาลตีราคาช้างแล้วชักภาคหลวง (ฉันเข้าใจว่าร้อยละ ๑๐ ในราคาช้าง แต่หาจำกัดจำนวนช้างที่จับไม่) การวังช้างในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ ได้ยินว่ามีแต่ที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน นอกจากนั้น จะมีที่จังหวัดไหนอีกบ้าง ฉันหาทราบไม่


20  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น) : นิทานโบราณคดี เมื่อ: 19 เมษายน 2567 14:51:48


นิทานโบราณคดี
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นิทานที่ ๒๐ เรื่องจับช้าง (ภาคต้น) (จบ)

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสในแขวงจังหวัดราชบุรีและกาญจนบุรี เวลานั้นตัวฉันอายุได้ ๑๒ ปียังไม่ได้โกนจุก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันไปตามเสด็จด้วย ทางเสด็จประพาสครั้งนั้นจะต้องเดินป่าไปจากเมืองราชบุรี ประทับแรมทาง ๒ คืนจนถึงตำบลท่าตะคร้อริมแม่น้ำไทรโยคในแขวงจังหวัดกาญจนบุรี จัดราชพาหนะที่เสด็จไปมีทั้งขบวนม้าและขบวนช้าง พระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จด้วยขบวนม้า จึงใช้พาหนะช้างเป็นขบวนพระประเทียบ ซึ่งกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรทรงเป็นประมุข ก็ขบวนช้างนั้นเป็นช้างหลวง กรมพระคชบาลคุมไปจากเพนียดสัก ๑๐ เชือก มีช้างพลายผูกสัปคับกูบสี่หน้าลายทอง เป็นช้างพระที่นั่งทรงนำหน้าเชือกหนึ่ง แล้วถึงเหล่าช้างพังผูกสัปคับกูบสองหน้า สำหรับนางในตามไปเป็นแถว มีพวกกรมช้างและกรมการหัวเมือง เดินแซงสองข้างช้างขบวนหนึ่ง ต่อนั้นถึงขบวนช้างเชลยศักดิ์ซึ่งเกณฑ์ในเมืองนั้นเอง มีทั้งช้างพลายและช้างพังผูกสัปคับสามัญ สำหรับพวกผู้หญิงพนักงานและจ่าโขลนข้าหลวง ตามไปเป็นขบวนหลังกว่า ๑๐ เชือก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ กับตัวฉันเป็นเด็ก เขาจัดให้ขึ้นช้างพลายตัวที่เตรียมเป็นช้างพระที่นั่งไปในขบวนพระประเทียบ หลวงคชศักดิ์ (ค้าง วสุรัตน์ ภายหลังได้เป็นที่พระศรีภวังค์) ตัวหัวหน้าผู้คุมขบวนช้างหลวงเป็นหมอขี่คอ หลวงคชศักดิ์คนนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนตลอดชีวิต ว่าเป็นคนขี่ช้างแข็ง และคล้องช้างแม่นอย่างยิ่ง เวลานั้นอายุเห็นจะราว ๔๐ ปี แต่รูปร่างผอมกริงกริว ดูไม่น่าจะมีแรงสมกับฝีมือที่ลือกันว่าเชี่ยวชาญ แต่แกชอบเด็กๆ เวลาสมเด็จกรมพระนริศฯ กับฉันนั่งไปบนหลังช้าง ไต่ถามถึงป่าดง ฟังแกเล่าไปจนคุ้นกันแต่วันแรก ถึงวันที่ ๒ เมื่อเดินขบวนไปจากที่ประทับแรม ณ ตำบลหนองบัว ค่าย (ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีรบพม่า) ได้สัก ๒ ชั่วโมง เกิดเหตุด้วยลูกช้างเชลยศักดิ์ที่เดินตามแม่มาข้างท้ายขบวนตัวหนึ่ง ตื่นไฟวิ่งร้องเข้าไปในขบวน พาช้างเชลยศักดิ์ที่อยู่ในขบวนพลอยตื่น วิ่งเข้าป่าไปด้วยสักสี่ห้าตัว บางตัวสัปคับไปโดนกิ่งไม้ ผู้หญิงตกช้างก็หลายคน ช้างขบวนข้างหน้าก็พากันขยับจะตื่นไปด้วย แต่พอช้างพลายตัวที่ฉันขี่ตั้งท่าออกจะวิ่ง หลวงคชศักดิ์แกเอาขอฟันทีเดียวก็หยุดชะงัก ยืนตัวสั่นมูตรคูถทะลักทะลายไม่อาจก้าวเท้าไปได้ ช้างพังข้างหลังเห็นช้างหน้าอยู่กับที่ ก็ยืนนิ่งอยู่ เป็นแต่หันเหียนบ้างเล็กน้อย อลหม่านกันอยู่สัก ๕ นาทีก็เดินขบวนต่อไปได้โดยเรียบร้อย ตัวฉันก็ตกใจอยู่เพียงประเดี๋ยว แต่พอสงบเงียบเรียบร้อยกลับไปนึกสงสารช้างที่ถูกหลวงคชศักดิ์ฟันเลือดไหลอาบหน้าลงมาจนถึงงวง แต่ได้ยินพวกที่เขาเดินกำกับไปพากันชมหลวงคชศักดิ์ ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดร้ายกว่านั้นได้ เรื่องช้างตื่นครั้งนั้นโจษกันในขบวนเสด็จอยู่พักหนึ่ง พอเสด็จกลับแล้วก็เงียบหายไป แม้ตัวฉันเองก็หวนนึกขึ้นถึงเรื่องช้างตื่นครั้งนั้น เมื่อเป็นสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ด้วยอ่านพบอธิบายลักษณะฟันขอบังคับช้าง มีอยู่ในตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เขียนรูปหน้าช้างไว้ในสมุดและมีจุดหมายตรงที่ “เจ็บ” ของช้าง สำหรับฟันขอให้ช้างเป็นได้ต่างๆ ตามประสงค์ มีชื่อเรียกทุกแห่ง มีกล่าวในตำราแห่งหนึ่งว่า “ถ้าจะฟันให้ตระหนักมิให้ยกเท้าก้าวไปได้ ให้ฟันที่ “บันไดแก้ว” ก็ได้ หรือที่ “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ก็ได้ (ฟันตรงแห่งใดแห่งหนึ่งนี้) ช้างตระหนักทั้งตัว เท้ามิยกก้าวไปได้เลย” ดังนี้ เมื่อเห็นตำราจึงเข้าใจว่าหลวงคชศักดิ์ แกคงเรียนตำราขี่ช้างของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ช่ำชอง วันนั้นคงฟันขอที่ตรง “บันไดแก้ว” หรือตรง “เต่าผุดสบตะเมาะแอก” ฟันทีเดียวก็เอาช้างไว้อยู่ได้ ชวนให้เห็นว่ากัลเม็ด “กล” ในตำราของสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น คงเลือกมาแต่ที่ทดลองได้จริงแล้วทั้งนั้น แต่ก็มีกัลเม็ดบางอย่างที่กรรมการผู้แต่งตำราไม่แน่จริง ดังเช่นในตอนขี่ช้างข้ามแม่น้ำ เมื่อได้พรรณนาวิธีต่างๆ ซึ่งจะลวงให้ช้างที่รังเกียจน้ำลึก ยอมข้ามเป็นหลายอย่างแล้ว ที่สุดกล่าวว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วช้างยังไม่ยอมข้ามน้ำ “ท่านว่าให้แก้ไข (ด้วยใช้) เป็นยากัลเม็ดอย่างขึ้นต้นไม้ช่วยแรงคาถาประกอบกัน ก็เคยได้ราชการ” คือสำเร็จได้บ้าง ที่กรรมการว่า “ยากัลเม็ด” นั้น ให้เอายอดไม้ต่างๆ คือ น้ำนองจิงจ้อ มะอึกโทน ผักบุ้ง เลือกดูแต่ยอดที่ชี้ไปทางฟากข้างโน้น และเมื่อก่อนจะตัดยอดไม้เหล่านั้น ให้เอาหมาก ๓ คำทำพลีครู อุทานว่า “ครูบาธิยายเจ้าเหย ช้างมิข้ามน้ำ ข้าขอเชิญครูบาธิยายเจ้ามาช่วยให้ช้างข้ามไปจงง่ายเถิด” แล้วจงกลั้นใจเด็ดเอายอดไม้ ๔ อย่างนั้น กลับตรงมาอย่างเหลียวแล เมื่อมาถึงช้างแล้วให้ร่ายมนตร์ว่า “โอม นรายน ภูตานริสฺสยา ภูมิพาตรํ สหปติ  นรเทวดา จ สาคร อุทก ภูตลนร วรเทวดา   วิมติยา เทวา จ สมุตหิมวนฺตย”

แล้วกลั้นใจเอายอดไม้เหล่านั้นขยี้กับฝ่ามือ แล้วเอาทาตาช้างข้างขวา ๓ ทีข้างซ้าย ๓ ที แล้วจึงขี่ช้างลงไปถึงชายน้ำ เอากากยาที่เหลือวางบนหัวช้างแล้วประนมมือร่ายมนตร์นี้ ว่า  “โอม พุทฺธ กนฺตํ มารยํ กนฺตํ สวาห”

แล้วหยิบเอากากยาขึ้นทูนหัวออกอุทานว่า “ครูบาธิยาย ช่วยข้าพเจ้าด้วย” แล้วเอากากยานั้นซัดไปตรงหน้าช้างและขับช้างตามไป “ช้างนั้นข้ามน้ำไปแล” อธิบายเรื่อง “ยากัลเม็ด” ส่อให้เห็นว่าพวกผู้แต่งตำราขี่ช้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ยังเชื่อฤทธิ์เดชของเวทมนตร์ เป็นแต่ประสงค์จะให้ผู้ศึกษาอาศัยฝีมือของตนเองเป็นสำคัญก่อน ต่อเมื่อสิ้นฝีมือ จึงให้หันเข้าพึ่งคาถาอาคม

เมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึงทีเดียว ว่าได้ทรงจัดการกรมช้างอย่างไรบ้าง แต่กรมช้างเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเพทราชา ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์มาด้วยกันกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ และได้ช่วยทรงจัดการกรมช้างอย่างเป็นคู่พระราชหฤทัยมา จนได้เป็นที่สมุหพระคชบาลมียศศักดิ์ยิ่งกว่าผู้อื่น เมื่อได้เสวยราชย์ กรมช้างเป็นอย่างข้าหลวงเดิม คงสนิทสนมกับพระองค์ยิ่งกว่ากรมอื่น เพราะฉะนั้นคงทรงทำนุบำรุงกรมช้าง ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ฯ สืบมา จะผิดกันก็แต่ไม่ทรงช้างไปเที่ยวไล่โพนช้างเถื่อนที่ในป่า หรือทรงคล้องช้างเองที่เพนียด เพราะเมื่อเสวยราชย์พระชันษาถึง ๕๕ ปีแล้ว ไม่เหมือนกับพระเจ้าเสือซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระเจ้าท้ายสระกับพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชนัดดาที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อมา ทั้งสามพระองค์นั้น แต่ยังทรงพระเยาว์ก็ได้ฝึกหัดอบรมมาในกรมช้างตั้งแต่ก่อนเป็นเจ้า เมื่อเสวยราชย์ก็ยังกำลังฉกรรจ์ จึงโปรดเที่ยวโพนช้างและคล้องช้างเองเป็นการกีฬา เพื่อสำราญพระราชหฤทัยทั้ง ๓ พระองค์ แบบแผนกรมช้างซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงจัดไว้ จึงอยู่มาจนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๑๑



(๖)

การต่างๆ ที่เนื่องกับใช้ช้างในเมืองไทย เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามาหลายอย่าง ถึงกับตั้งกรมช้างขึ้นเมื่อสมัยกรุงธนบุรี และทำนุบำรุงต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่เหมือนแต่ก่อนได้ ข้อสำคัญอันเป็นมูลเหตุให้ผิดกับแต่ก่อนนั้น เป็นด้วยย้ายราชธานีลงมาตั้งใหม่ที่บางกอก จะเอาการกรมช้างที่เคยรวมอยู่ด้วยกัน ณ พระนครศรีอยุธยา ย้ายลงมาบางกอกหมดไม่ได้ เพราะที่บางกอกอยู่ใกล้ทะเลพื้นที่เป็นดินเหนียว มีหล่มเลนและร่องน้ำลำคลองมาก ยากที่จะทอดช้างหรือใช้ไปมาเหมือนพื้นที่ทรายทางฝ่ายเหนือ

ดังมีเรื่องปรากฏในพงศาวดาร ว่าเมื่อสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าทางด้านใต้ต้านตะวันตากและด้านเหนือพระนคร มีแม่น้ำเป็นคูอยู่มั่นคงแล้ว แต่ทางด้านตะวันออกมีแต่คลองเป็นคูพระนคร ต่อคูออกไปยังเป็นสวน จึงโปรดให้โค่นต้นไม้เกลี่ยท้องร่องทำลายสวนเสีย แปลงที่ให้เป็นหล่มเรียกว่า “ทะเลตม” สำหรับกีดกันมิให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงคลองคูพระนครได้สะดวกโดยทางบก ต่อมาทรงพระดำริว่าช้างหลวงจะเข้าออก ต้องหาช่องทางลุยเลนข้ามทะเลตมลำบากนัก ใคร่จะให้มีถนนกับสะพาน สำหรับช้างหลวงเดินข้ามคูเข้าพระนครทางด้านนั้นสักแห่งหนึ่ง วันเมื่อเสด็จไปทรงเลือกที่ทำสะพาน พระพิมลธรรม (ซึ่งภายหลังได้เป็น สมเด็จพระพนรัตน์) วัดพระเชตุพนฯ ไปทูลทัดทานว่าเป็นการประมาทมากนัก ก็เลยระงับพระราชประสงค์ ชานพระนครทางด้านตะวันออก (แถวอำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายบัดนี้) ก็เลยเป็นที่พวกชาวนาอาศัยเป็นปลักสำหรับเลี้ยงควาย เรียกกันว่า “ตำบลสนามควาย” มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อสร้างถนนออกไปสวนดุสิต

เมื่อจะเอาสำนักงานกรมช้างมารวมอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ จึงต้องจัดการกรมช้างแยกออกเป็น ๒ ภาค ภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมช้างต้น” ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ สำหรับเลี้ยงรักษาช้างทรง กับฝึกหัดการขับขี่ช้างศึกและอำนวยการพิธีคชกรรมต่างๆ อีกภาคหนึ่งเรียกว่า “กรมโขลง” คงตั้งสำนักงานอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา และมีสาขาอยู่ ณ นครนายก สำหรับดูแลรักษาช้างโขลงหลวงและเลี้ยงช้างต่อ กับทั้งอำนวยการจับช้างเถื่อนและฝึกหัดช้างที่จับได้ด้วย เมื่อกรมช้างแยกเป็น ๒ ภาคตั้งสำนักงานอยู่ห่างไกลกันเช่นนั้น ก็เป็นปัจจัยไปถึงกาลต่างๆ ในกรมช้างเปลี่ยนแปลง เป็นต้นว่าการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเที่ยวโพนช้าง หรือทรงคล้องช้างที่เพนียดก็เลิก แม้เพียงเสด็จไปทอดพระเนตรคล้องช้างที่เพนียดก็มิได้เสด็จไป เพราะทางไกลจะต้องประทับแรม จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวังจันทร์เกษมขึ้นใหม่แล้ว ถึงเวลาจับช้างที่เพนียดจึงเสด็จขึ้นไปประทับแรมวังจันทร์ฯ ทอดพระเนตรจับช้างต่อมา การกรมช้างต้นที่มาตั้งราชธานีใหม่ก็ลดลง คงมีช้างเพียงสัก ๓ เชือกเหมือนอย่างสำหรับประดับพระเกียรติยศ เพราะการไปมาใช้พาหนะเรือเป็นพื้น มิใคร่มีกิจที่จะต้องใช้ช้าง การทำพิธีคชกรรมก็หมดตัวพวกพราหมณ์พฤฒิบาศชาวอินเดีย ที่รู้ภาษาสันสกฤต ยังมีแต่พราหมณ์ชั้นเชื้อสายซึ่งเคยทำพิธี และร่ายมนตร์ได้ด้วยไม่รู้ภาษาของมนตร์ แต่ไทยที่รู้คชศาสตร์จนชำนิชำนาญ ตลอดจนช้างที่จะใช้ในการศึกสงคราม ยังมีอยู่ในเมืองไทยมาก เพราะครั้งนั้นเสียแต่พระนครศรีอยุธยากับหัวเมืองที่อยู่รอบราชธานี หัวเมืองใหญ่น้อยที่อยู่ห่างออกไปทั้งทางปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือยังมีกำลัง พระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงสามารถรวบรวมกำลังรบชนะข้าศึก จนกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระได้อย่างเดิม แต่ต้องทำการศึกอยู่ตลอดสมัยกรุงธนบุรี และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกหลายปี จึงถึงเวลาเป็นโอกาสที่จะจัดแบบแผนปกครองบ้านเมืองด้วยประการต่างๆ พึงเห็นได้ดังสังคายนาพระไตรปิฎก และตั้งพระราชกำหนดกฎหมายเป็นต้น

เรื่องตำนานกรมช้างที่ตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฏว่าเมื่อรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ข้าราชการเก่าที่ชำนาญคชศาสตร์ ๒ คน ชื่อว่า “บุญรอด” อันเป็นต้นสกุล “บุณยรัตพันธ์” บัดนี้คนหนึ่ง เป็นบุตรพระยามนเทียรบาล จตุสดมภ์กรมวังวังหน้า สกุลเป็นเชื้อพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ศึกษาวิชาคชกรรมแต่ยังหนุ่ม จนฐานะเป็นหมอเฒ่า แล้วจึงไปรับราชการกรมวัง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เป็นพระยาธรรมาฯ จตุสดมภ์กรมวัง ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาฯ แต่ไปเกิดผิดด้วยความประมาทเมื่อไปตั้งขัดตาทัพพม่าอยู่ ณ เมืองราชบุรี ถูกถอดจากที่เจ้าพระยาธรรมาฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่าเป็นผู้ชำนาญคชกรรม จึงทรงตั้งให้เป็นพระยาเพทราชา สมุหพระคชบาลซ้ายคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ต่อมาโปรดให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช กลับไปรับราชการกรมวังอย่างเดิม เพราะเป็นผู้ชำนาญแบบแผนราชสำนักไม่มีตัวเสมอ อีกคนหนึ่งชื่อ “จันทร์” ต้นสกุล “จันทโรจน์วงศ์” บัดนี้ เป็นบุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ รั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ ได้ศึกษาวิชาคชศาสตร์แล้ว จึงได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวรในกรมมหาดเล็ก เมื่อเสียพระนครศรีอยุธยา หนีรอดได้ไปอาศัยหลวงนายสิทธิ์ซึ่งเป็นปลัดผู้รั้งราชการอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช เพราะภรรยาเป็นหลานหลวงนายสิทธิ์ ครั้นหลวงนายสิทธิ์ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) ให้เป็นเจ้าอุปราชอาณาเขตนครศรีธรรมราช เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช จับได้ทั้งหลวงนายสิทธิ์และหลวงนายฤทธิ์ แต่ทรงพระกรุณาตรัสว่า ถึงได้รบพุ่งกันก็หามีความผิดต่อพระองค์ไม่ เพราะต่างคนต่างตั้งตัวเป็นใหญ่เมื่อเวลาบ้านแตกเมืองเสียอย่างเดียวกัน เมื่อยอมอ่อนน้อมแล้วก็โปรดให้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ทรงตั้งหลวงนายฤทธิ์ (จันทร์) เป็นพระยาราชวังเมืองเจ้ากรมพระคชบาล ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เห็นจะเป็นเมื่อเลื่อนพระยาเพทราชา (บุญรอด) เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระยาราชวังเมือง (จันทร์) ขึ้นเป็นพระยาสุรินทราชาฯ ตำแหน่งสมุหพระคชบาลขวา ซึ่งเป็นคู่กับพระยาเพทราชาตามทำเนียบ แต่ต่อมาหัวเมืองทางแหลมมลายูจะส่งดีบุกเข้ามาไม่ทันใช้ราชการ ทรงพระราชดำริว่าพระยาสุรินทราชา เคยรู้การบ้านเมืองทางแหลมมลายู จึงโปรดให้เป็นข้าหลวงใหญ่ (ทำนองเดียวกับสมุหเทศาภิบาล) ลงไปกำกับการส่งส่วยดีบุกอยู่ที่เมืองถลาง ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี (ปลี) ถึงอสัญกรรม จะโปรดให้พระยาสุรินทราชา เลื่อนขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม แต่พระยาสุรินทราชากราบทูลขอตัว ด้วยว่าแก่ชราปลกเปลี้ยเสียมากแล้ว จึงโปรดให้เลื่อนยศขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชา อยู่ที่เมืองถลางตามใจสมัครจนถึงอสัญกรรม

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) กับเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) เป็นต้นของกรมช้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ และปรากฏว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ ทรงศึกษาวิชาคชกรรมทุกพระองค์ ก็ทรงศึกษาต่อเจ้าพระยาทั้งสองคนที่กล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าในพระเจ้าลูกยาเธอ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งทรงศึกษาคชศาสตร์นั้น พระองค์เจ้าอภัยทัต ทรงรอบรู้ยิ่งกว่าพระองค์อื่น จนถึงได้ครอบเป็น “หมอช้าง” ด้วยความสามารถ เมื่อทรงสถาปนาให้เป็นกรม “กรมหมื่นเทพพลภักดิ์” (ถึงรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเป็นกรมหลวง) แล้วโปรดให้เสด็จขึ้นไปเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์เพนียด และจัดบำรุงการจับช้างที่พระนครศรีอยุธยา ถึงรัชกาลที่ ๒ ก็เลยได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้เจ้านายกำกับราชการต่างๆ มาแต่ต้นรัชกาลที่ ๒ จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ ตามคำชาวพระนครศรีอยุธยาเล่าสืบกันมา ว่ากรมหลวงเทพพลภักดิ์ เอาเป็นพระธุระบำรุงการกรมช้างมาก ให้สร้างตำหนักขึ้นที่เพนียดและเสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่นั่นเนืองๆ จนนับถือกันทั่วไปว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในคชศาสตร์ เรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า “กรมหลวงเฒ่า” และสร้างเทวาลัยเฉลิมพระเกียรติขึ้นไว้ข้างด้านเหนือเพนียด เรียกว่า “ศาลกรมหลวงเฒ่า” เป็นที่พวกกรมช้างบูชาขอพรเมื่อจะมีการจับช้างสืบมาจนบัดนี้ แบบแผนในการจับช้างที่เพนียดเช่นใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนเป็นของกรมหลวงเทพพลภักดิ์ได้ทรงปรับปรุงไว้ทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไกรสร ซึ่งได้เป็นกรมหมื่นรักษ์รณเรศ (และเลื่อนเป็นกรมหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๓) เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ทรงศึกษารู้วิชาคชศาสตร์อีกพระองค์หนึ่ง ถึงรัชกาลที่ ๓ มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ กับเจ้าฟ้ากลาง (คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เป็นพระโอรสร่วมพระชนนีกัน) และพระองค์เจ้าอิศราพงศ์ ราชบุตรของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ (ซึ่งเลื่อนเป็นเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๔ เพราะพระชนนีเป็นราชธิดาของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๑) ทรงศึกษาวิชาคชศาสตร์จากกรมหลวงเทพพลภักดิ์ ต่อมาอีก ๔ พระองค์ เมื่อกรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์ กรมหลวงรักษ์รณเรศได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาล เจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นผู้ช่วย แต่สิ้นพระชนม์เสียเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้ง ๒ พระองค์ ถึงรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา (คือเจ้าฟ้ากลาง ซึ่งภายหลังเป็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์) ก็ได้เป็นอธิบดีกรมพระคชบาลมาจนสิ้นพระชนมายุในรัชกาลที่ ๕ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ก็ได้เป็นอธิบดีกรมช้างวังหน้าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่จนสิ้นพระชนม์ในรัชกาลนั้น

ลักษณะการจับช้างหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะผิดกับสมัยกรงศรีอยุธยาอย่างไรบ้าง รู้ไม่ได้หมด เพราะกรมช้างเดิมกระจัดกระจายหมดเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา มารวบรวมจัดขึ้นใหม่เมื่อตั้งกรุงธนบุรี ฉันสงสัยว่าวิธีคล้องช้างอย่างเก่า ก็จะสูญไปในสมัยนั้นอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” ด้วยเคยเห็นรูปภาพและคำพรรณนาในหนังสือเก่า วิธีคล้องช้างแต่ก่อนมามี ๒ อย่าง เรียกว่า “ทิ้งเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ว่า “วางเชือกบาศ” อย่างหนึ่ง ฉันไม่เคยเห็นทิ้งเชือกบาศ แต่เข้าใจว่าวิธีทิ้งเชือกบาศนั้น คือหย่อนหรือขว้างบ่วงเชือกบาศไปจากคอช้างต่อให้สวมติดตีนหลังช้างเถื่อนคล้ายกับที่เช่นฝรั่งเรียก Lassoing ที่พวกอเมริกันคล้องม้าและวัวเถื่อน วิธีวางเชือกบาศนั้น เอาเงื่อนบ่วงเชือกบาศสอดกับปลายไม้รวกอันหนึ่ง ยาวสัก ๖ ศอก เรียกว่า “คันจาม” เมื่อจับอย่าง “วังช้าง” อันมีเสาค่ายพรางบังตัวคน คนคล้องอยู่กับแผ่นดินถือคันจาม ยื่นปลายบ่วงบาศสอดหว่างเสาค่ายเข้าไปวางดักให้ช้างเถื่อนเหยียบลงในวงบ่วง ก็กระชากเงื่อนให้บ่วงเชือกบาศสวมติดข้อตีนช้าง ถ้าโพนช้าง คนคล้องจะอยู่บนคอช้างต่อ ใช้วิธีวางเชือกบาศถือคันจาม ให้ควาญท้ายขับช้างต่อวิ่งติดท้ายช้างเถื่อน คนขี่คอสอดปลายคันจามลงไปวางบ่วงเชือกบาศตรงที่ช้างเถื่อนเหยียบแผ่นดิน แล้วทิ้งคันจามเสียก็ได้ หรือใช้วิธีทิ้งเชือกบาศก็ได้ตามถนัด สังเกตดูในหนังสือเก่าซึ่งว่าด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงคล้องช้าง กิริยาที่คล้องก็ใช้แต่ว่า “ทรงบาศ” หรือให้ “ถวายเชือกบาศ” ไม่มีกล่าวถึงไม้คันจามเลย แม้จนในหนังสือชั้นหลังมา ซึ่งว่าด้วยเจ้านายหัดทรงช้างในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ก็ว่า “หัดทรงทิ้งเชือกบาศ” ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เวลาเย็นๆ ทุกวัน ดังนี้ แต่ถึงสมัยตัวฉันเกิดทันได้เห็นก็เห็นแต่คล้องอย่าง “วางเชือกบาศ” อย่างเดียว แม้พวกผู้เชี่ยวชาญในกรมช้างคล้องช้างในเพนียด ก็คล้องแต่ด้วยใช้ไม้คันจาม จึงนึกว่าวิธีทิ้งเชือกบาศ จะหมดตัวคนทิ้งแม่นเสียแล้วแต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา เพราะคงคล้องยากกว่าวางเชือกบาศ และต้องทำเชือกบาศให้อ่อนนุ่มกว่า แต่เหนียวเท่ากับเชือกบาศทำด้วยหนังวัวควายที่ใช้กันเป็นสามัญ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายที่สูงศักดิ์ไม่ทรงคล้องช้างเองแล้ว ก็เลยเลิกคล้องอย่างทิ้งเชือกบาศ จะเป็นอย่างนั้นดอกกระมัง วิชาใช้ช้างมีเสื่อมลงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่ค่อยเสื่อมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วช้านาน คือวิธี “รบบนหลังช้าง” ดังเช่นขี่ช้างชนกันตัวต่อตัวซึ่งเรียกกันว่า “ยุทธหัตถี” อันนับถือว่ามีเกียรติอย่างสูงสุดในวิชาขี่ช้างก็ดี วิธีขี่ช้างผูกเครื่องมั่นหลังเปล่าเข้าไล่แทงรี้พล และรื้อค่ายของข้าศึกก็ดี วิธีให้ทหารถือธนูขึ้นอยู่ในสัปคับช้างเขนไล่ยิงข้าศึกก็ดี วิธีรบเหล่านี้เริ่มเสื่อมลงด้วยมีอาวุธปืนไฟเกิดขึ้นในโลก ช้างทนปืนไฟไม่ไหวก็ต้องเลิกใช้ช้างสู้ปืน แต่เมื่อมีปืนขึ้นแล้ว กว่าคนจะรู้จักใช้ยังช้านานมาก การรบกันบนหลังช้างจึงค่อยเสื่อมมาโดยลำดับ ข้อนี้มีอุทาหรณ์จะพึงสังเกตได้ในเรื่องพงศาวดารเมืองไทยนี้เอง เมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงฯ ชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ในเรือน พ.ศ.๑๘๐๐ ปืนไฟยังไม่เกิด ชนช้างกันตามแบบโบราณ แพ้ชนะกันตัวต่อตัว ต่อมาอีก ๓๐๐ ปี สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชเมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๕ เป็นเวลามีปืนไฟแล้ว แม้มีแต่ปืนเล็กอยู่ในสนามรบ ควาญท้ายช้างพระที่นั่งทรงและคนกลางช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ถูกปืนตาย แม้ที่สุดพระองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอง ก็ถูกปืนที่พระหัตถ์ เป็นบุญที่ถูกปืนเมื่อฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว จึงได้ชัยชนะ สังเกตดูในหนังสือพงศาวดาร ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนช้างครั้งนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครได้ทำยุทธหัตถีกันอีกทั้งในเมืองไทยหรือประเทศที่ใกล้เคียง แต่ประหลาดอยู่ที่ไทยเรายังมีโอกาสได้รบด้วยช้างมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๘ ไทยรบกับญวนที่เมืองเขมร เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงหเสนี) แม่ทัพไทยตั้งอยู่ ณ เมืองอุดง ให้กองทัพหน้าลงไปตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ พอถึงฤดูน้ำ ญวนใช้เรือรบได้สะดวก ก็ยกกองทัพเรือเป็นขบวนใหญ่ขึ้นมาจากเมืองไซ่ง่อน ตีได้เมืองพนมเปญอันอยู่ที่ลุ่ม แล้วยกขึ้นมาตีเมืองอุดง เจ้าพระยาบดินทรไม่มีเรือรบพอจะต่อสู้กับกองทัพญวน จึงคิดอุบายให้รวมช้างรบบรรดามีกับพลราบตั้งซุ่มไว้ที่ในเมือง ปล่อยให้ญวนจอดเรือส่งทหารขึ้นบกได้โดยสะดวก พอญวนขึ้นอยู่บนบกแล้วก็เปิดประตูเมือง ให้ช้างรบออกเที่ยวไล่แทงข้าศึก (ดูเป็นทำนองเดียวกับที่ฝรั่งคิดใช้ “ถัง” Tank) ให้ทหารราบตามติดท้ายช้างไป ก็ตีทัพญวนแตกในเวลากำลังหนีช้าง ที่เหลือตายลงเรือได้ก็เลยถอยกองทัพเรือล่าหนีไป ดูเหมือนเมืองอุดงได้ชื่อต่อท้ายว่า “เมืองอุดงลือชัย” มาแต่ครั้งนั้น

ไม่แต่ในเมืองไทย ถึงในประเทศไหนๆ ที่เคยใช้ช้างในการรบมาแต่โบราณ ตั้งแต่มีปืนไฟ การใช้ช้างรบก็เสื่อมลงทุกประเทศ เปลี่ยนการใช้ช้างเป็นพาหนะเป็นพื้น ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน วิชาจับช้างใช้จึงเป็นดังจะพรรณนาโดยพิสดารในนิทานเรื่องจับช้างภาคหลังต่อไป.

หน้า:  [1] 2 3 ... 273
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.771 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 21 เมษายน 2567 17:56:05