การย่ำยาม การย่ำยาม หมายถึง การให้สัญญาณ โดยใช้เครื่องดนตรีบรรเลง มีการปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
ย่ำ คือ การตีกลองหรือฆ้องถี่ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลาหรือกำหนดเปลี่ยนเวรยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง หรือย่ำยาม
ยาม คือ ชื่อส่วนแห่งวัน
การย่ำยามที่ใช้ในพระบรมมหาราชวังของไทยในสมัยโบราณ มีระยะห่างกันตามเวลาดังนี้ คือ ๖.๐๐ น. (ย่ำรุ่ง) ๑๒.๐๐ น. (ย่ำเที่ยง) ๑๘.๐๐ น. (ย่ำค่ำ) ๒๑.๐๐ น. (ยามหนึ่ง) ๒๔.๐๐ น. (ยามสอง) ๓.๐๐ น. (ยามสาม)
ในบาลี แบ่งคืนออกเป็น ๓ ยาม มีระเวลาห่างกันยามละ ๔ ชั่วโมง เรียกว่า
ปฐมยาม คือ ยามแรก กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมงตั้งแต่ย่ำค่ำ หรือ ๑๘ นาฬิกา ถึง ๔ ทุ่ม หรือ ๒๒ นาฬิกา
มัชฌิมยาม คือ ยามกลาง กำหนดเวลาตั้งแต่ ๔ ทุ่ม หรือ ๒๒ นาฬิกา ถึงตี ๒ หรือ ๒ นาฬิกา
ปัจฉิมยาม คือ ยามหลัง หรือยามสุดท้าย กำหนดเวลาตั้งแต่ตี ๒ หรือ ๒ นาฬิกา ถึงย่ำรุ่ง หรือ ๖ นาฬิกา.เรื่องห้ามไม่ให้เจ้านายไปสุพรรณ มีคติโบราณเชื่อถือกันว่า ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปสุพรรณบุรี ถ้าขืนไปจะเกิดเหตุอาเพศต่างๆ เช่น ทำให้เสียพระจริต เป็นต้น ไม่ทราบแน่นอนว่าห้ามมาตั้งแต่เมื่อไร และมีสิ่งใดเป็นตัวการให้เกิดอาเพศเหล่านั้น เพียงแต่พูดกันไปต่างๆ นานา และเจ้านายก็ไม่เสด็จไปสุพรรณบุรีมาช้านาน
จนถึง ปี พ.ศ.๒๔๓๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจหัวเมืองฝ่ายเหนือ ครั้งเที่ยวกลับก็รับสั่งให้เตรียมการไปสุพรรณ เพื่อพิสูจน์และเลิกถอนความเชื่อนั้น โดยมิทรงฟังคำทูลทัดทานของผู้ใด
เมื่อเสด็จถึงเมืองสุพรรณ พระยาสุนทรสงครามเจ้าเมือง หลบหน้าหนีเข้ากรุงเทพฯ เพราะมีความผิดที่กดขี่เอาเงินจากราษฎร พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ปลดพระยาสุนทรสงคราม ออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองทันที เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ในระหว่างที่ประทับอยู่เมืองสุพรรณ พระองค์ได้เสด็จชมโบราณสถานต่างๆ และเสด็จไปทำพลีกรรมเทพารักษ์ หลักเมือง ทรงพิจารณาเห็นว่า ศาลเทพารักษ์ทรุดโทรมมาก จึงทรงเป็นหัวหน้าชักชวนให้ช่วยกันสมทบทุนสร้างศาลขึ้นใหม่ ก็มีประชาชนโดยเฉพาะคนจีนร่วมบริจาคเงินทองเป็นอันมาก เมื่อพระองค์ทรงจัดการสิ่งต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็เสด็จกลับโดยปลอดภัย
ตั้งแต่นั้นมา เจ้านายก็เริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีแล้ว ความเชื่อถือก็หมดไป ที่มา (โดยสรุป) :
นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์พระบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ภาพ : แม่น้ำโขง
เรื่องแม่น้ำโขง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องแม่น้ำโขงที่ทรงรู้เห็นเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรและอีสาน ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ สรุปเรื่องได้ดังนี้
ลักษณะแม่น้ำโขง
เป็นแม่น้ำที่แปลกกว่าแม่น้ำอื่นในเมืองไทยหลายสถานกล่าวคือ ใหญ่กว่าแม่น้ำใดๆ ในเมืองไทย ในฤดูที่เสด็จพอพลบค่ำหมอกก็ลง เรือจะเดินได้ต่อเมื่อแดดแจ้งหมอกจางแล้ว มีเกาะที่เป็นดอนอยู่ใต้น้ำหลายแห่ง ในฤดูน้ำหลากเกาะนี้จะอยู่ใต้น้ำ พอหน้าแล้ง จึงจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ท้องน้ำเป็นดินอุดมใช้เพาะปลูกได้ดี ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงนอกจากบริเวณที่เป็นเมืองแล้ว มักจะเป็นป่าที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เพราะเป็นที่ดอนเฉพาะริมตลิ่งเท่านั้น ถัดตลิ่งเข้าไปเป็นลำลาบ๑ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำก็ท่วมลึก เพาะปลูกไม่ได้ ราษฎรจึงมักไม่ค่อยตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง นอกจากริมฝั่งตรงที่มีเกาะกลางน้ำเพาะปลูกพืชล้มลุกเป็นสินค้าได้เท่านั้น
เรือที่ใช้ในแม่น้ำโขง ราษฎรใช้กันแต่เรือพายอย่างขุดมาดไม้ต้นเดียว เพราะมีเกาะแก่งมากจะใช้เรือกระดานต่อ หรือเรืออื่นๆ ไม่สะดวก การขนส่งสินค้าก็ใช้เรือสองลำผูกติดกัน หรือใช้แพ ในเวลานั้นมีเรือกลไฟของบริษัทฝรั่งเศสมาเดินประจำทาง ระหว่างสุวรรณเขตกับเวียงจันทน์ กิจการก็ไม่เจริญ รัฐบาลฝรั่งเศสต้องช่วยเหลือจึงดำรงอยู่ได้ การขึ้นล่องในแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยอันตราย คือมีเกาะแก่งน้ำตื้นมากมาย สัตว์ร้าย เช่น จระเข้ เงือก๒ ชุกชุม นอกจากนั้นก็มีหินนอนวันใต้น้ำ ซึ่งคนล่องเรือไม่เห็นด้วยน้ำขุ่น และมีหาดทรายลอย คือทรายที่พัดมากับสายน้ำ มาตกพอกพูนขึ้นเป็นหาดพื้นชั่วคราว ซึ่งคนเดินเรือไม่รู้ได้ว่าอยู่ที่ใด สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดอันตรายขึ้นเนืองๆ
แก่งในแม่น้ำโขงก็ผิดกับแก่งในแม่น้ำเมืองไทย ด้วยแม่น้ำเมืองไทยจะมีแก่งเฉพาะบริเวณภูเขา แต่แม่น้ำโขงแม้บริเวณที่ไม่มีภูเขาเลยก็มีแก่งมากมาย และบางแก่งก็ร้ายแรง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญนำเรือผ่านแก่งจึงจะไปได้ ทรงเล่าว่าแก่งในเมืองไทยที่พอจะเปรียบกับแก่งในแม่น้ำโขงก็มีแก่งเชียงใหม่เท่านั้น และทรงเล่าถึงการล่องแก่งที่เชียงใหม่ฝากไว้ในเรื่องนี้อย่างพิสดารด้วย
การล่องแก่งในแม่น้ำโขงนั้น นอกจากจะมีอันตรายจากการกระทบกับแก่งหินแล้ว ยังมีน้ำวนร้ายที่ชาวบ้านเรียกว่า “เอิบ” ซึ่งชาวเมืองกลัวกันมากกว่าแก่งหินเสียอีก และนอกจากแก่งแล้วในแม่น้ำโขงยังมี “เรียว” คือชายหาดทรายสองฟากยื่นมาใกล้กัน ทำให้ร่องน้ำแคบและคดเคี้ยว ถ้าเรือล่องหลีกไม่พ้นก็เกยล่ม
เนื่องจากความยากลำบากและมีอันตรายในการขึ้นล่อง ดังนั้น การค้าขายตามลำแม่น้ำโขงจึงมีน้อย มักขนสินค้ากันทางบกเป็นส่วนมาก ที่มา : นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ พระบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ-----------------------------------------------
๑ ลำลาบ ที่ลุ่มไหล่เนินดอนซึ่งเป็นคันยาว มักมีน้ำขังตลอดปีหรือบางฤดู
๒ เงือก ตามที่ทรงอธิบาย คงจะตรงกับที่เรียกกันทั่วไปว่า ปลาไฟฟ้า ซึ่งปลาชนิดนี้ ในท้องน้ำเมืองไทยก็มี ปลาไฟฟ้ามักอยู่ตามหนองบึง น้ำเงียบๆ (แต่ทรงกล่าวว่าเงือกชนิดที่มีในแม่น้ำโขงไม่มีในเมืองไทย)
เรื่อง เส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว
เส้นแบ่งเขตแดนไทย–ลาว ตามลำแม่น้ำโขง เป็นผลสืบเนื่องจากหนังสือสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ค.ศ.๑๘๙๓) ซึ่งกำหนดให้สยาม (ไทย) สละข้ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้าย รวมทั้งเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการทำอนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๙ (ค.ศ.๑๙๒๖) ซึ่งว่าด้วยแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับนี้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทย – ลาว ในแม่น้ำโขง โดยระบุว่า ในตอนที่แม่น้ำโขงไม่แยกออกเป็นหลายสายเพราะมีเกาะตั้งอยู่ ให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนในตอนที่แยกออกเป็นหลายสาย ให้ใช้ร่องน้ำลึกของสายแยกที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แม้ภายหลังร่องน้ำลึกดังกล่าวจะตื้นเขินจนเชื่อมเกาะติดกับฝั่ง ก็ยังคงให้ถือร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขินนั้นเป็นเส้นแบ่งเขตแดนตลอดไป หากจะย้ายเส้นแบ่งเขตแดนก็ให้เป็นหน้าที่ของคณะข้าหลวงใหญ่ประจำแม่น้ำโขงเป็นผู้พิจารณา โดยย้ายไปได้เพียงร่องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุด ถัดจากร่องน้ำเดิมที่ตื้นเขินเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ระบุชื่อเกาะ ๘ เกาะให้เป็นดินแดนของไทยด้วย เช่น ดอนเขียว ดอนเขียวน้อย ดอนน้อย ดอนบ้านแพงที่มา :“เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ” : หนังสือสารานุกรมไทยฯ โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม ๓๒ หน้า ๑๖๒-๑๖๔พิธีอัศวเมธ ในอินเดียโบราณมีพิธีประกาศความเป็นใหญ่เป็นโตของพระราชาอยู่พิธีหนึ่งเรียกว่าพิธี “อัศวเมธ” คือการฆ่าม้าบูชายัญ
พิธีนี้ คุณสุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าไว้ในหนังสือคุณลักษณะพิเศษแห่งศาสนาพุทธว่า “ได้มีการเลือกม้าตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องดูแลประคบประหงมเป็นพิเศษตลอดเวลาสามปี มีการบูชาเทวดา ๓ องค์ คือพระอินทร์ เพื่อให้ดูแลลูกม้าตัวนั้น พระยมเพื่อให้ป้องกันม้านั้นจากความตายและอุบัติเหตุต่างๆ พระวรุณเทพเจ้าแห่งฝนเพื่อให้ฝนตกลงมายังความชุ่มชื้นให้แก่พื้นดิน เพื่อจะได้มีหญ้าดีๆ ให้ลูกม้านั้นกิน”
“ภายหลังที่ลูกม้านั้นอายุเกิน ๓ ปีแล้ว ก็มีการปล่อยให้เที่ยวไปตามชอบใจ มีผู้คนติดตามไปเป็นอันมากและมีกองทัพยกตามไปด้วย เข้าบ้านเมืองไหนถ้าเขายอมแพ้ก็แล้วไป ถ้าไม่ยอมแพ้ก็รบกัน คราวนี้มีผู้ใดต้องการทำลายพิธีนี้ ผู้นั้นก็ยกทัพมาไล่จับม้า ถ้าจับได้ก็ทำลายพิธีสำเร็จ แต่โดยมากผู้ที่จะทำพิธีนี้มักแน่ใจในชัยชนะ คือได้เตรียมการรุกรานไว้แล้ว” และมีเรื่องเล่าเพิ่มเติมในหนังสือเล่มอื่นว่า “เจ้าชายแห่งประเทศต่างๆ ที่ม้านี้ผ่านไป ถ้ายอมแพ้ก็ต้องร่วมไปในขบวนทัพที่ติดตามม้านี้ด้วย เมื่อครบปีแล้วจึงพาม้ากลับเมืองแล้วฆ่าม้านั้นบูชายัญ” พูดง่ายๆ ก็ว่าพิธีอัศวเมธนี้เป็นวิธีการล่าเมืองขึ้นชนิดหนึ่งของจักรพรรดิ์โบราณหาเหตุอะไรไม่ได้แล้ว ก็หาเหตุปล่อยม้ายกทัพผ่านเมืองชาวบ้านเล่นอย่างนั้นแหละ
พิธีอัศวเมธ มีอธิบายในเรื่องศุนหเศป บ่อเกิดรามเกียรติ์ และลิลิตนารายณ์สิบปาง ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ดังนี้ว่า
พิธีอัศวเมธเป็นพิธีสำคัญอันมีกำหนดไว้ว่า ให้ทำเพื่อขอพรพระเป็นเจ้าในเรื่องปรารถนาอะไรสำคัญๆ พิธีอัศวเมธนี้เฉพาะพระราชาธิบดีจึงจะทำได้ และในโบราณกาลเป็นพิธีขอลูกเท่านั้น แต่ต่อๆ มากลายเป็นพิธีแผ่อำนาจไป เริ่มต้นลงมือทำพิธีเรียกว่า “อัคนิษโฎม” คือพิธีบูชาไฟและฉลองม้าตัวสำคัญ แล้วปล่อยม้านั้นให้เดินทางไปในแคว้นต่างๆ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อม้าไปถึงแห่งใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นต้องทำการเคารพ หรือมิฉะนั้นก็ต้องสู้รบกับกองทัพที่ตามม้านั้นไป เมื่อม้าได้เที่ยวครบหนึ่งปีแล้วจึงพากลับพระนคร และพระราชาผู้เป็นเจ้าของม้าทำพิธีฉลองเป็นการใหญ่ แล้วฆ่าม้าสำคัญนั้นบูชายัญ พระอัครมเหสีของพระราชาต้องเป็นผู้ลงมือฆ่าม้า แล้วต้องเผาศพม้าอยู่ตลอดคืน พร้อมด้วยมเหสีรองและสนมกำนัล เช้าขึ้นจึงสรงชำระพระกายแล้วขึ้นเฝ้าพระราชสามี ทางไสยศาสตร์นิยมกันว่า แม้พระราชาองค์ใดกระทำพิธีอัศวเมธให้ได้ร้อยครั้งจักได้เป็นพระอินทร์ ครอบครองเทวดาแลมนุษย์ทั่วไป ที่มา :
-
นารายณ์สิบปาง สี่สำนวน, รศ.ประจักษ์ ประภาพิทยากร สำนักพิมพ์ บริษัท พี.วาทิน.พับลิเคชั่น จำกัด
- เว็บไซต์
silpathai.netนกหัสดี หรือ หัสดีลิงค์ (
Hussadee bird) ลักษณะตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์
มีงวงและงาแบบช้าง มีปีกและลำตัวใหญ่โต พลังมหาศาล
นกหัสดีลิงค์ ในทางธรรมะ เปรียบนกหัสดีลิงค์เหมือนกิเลส
เมื่อตามองเห็น เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้ดมกลิ่น เมื่อลิ้นกระทบรส เมื่อกายได้สัมผัส ใจ ก็ตอบรับ... ด้วยรัก-ชัง จึงเป็นที่มาของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ
ผู้รู้เล่นคำผวนให้จำง่ายๆ เมื่อ “ตาหัน ก็เกิด ตัณหา”
ผู้ที่ยิงธนูฆ่านกหัสดีลิงค์ ชื่อนางสีดา ธิดาเจ้านครตักกะสิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เรื่องในตำนาน หลายพันปีที่แล้ว
เมื่อเจ้านครตักกะสิลาสวรรคต ตามประเพณีต้องแห่พระศพไปถวายพระเพลิงที่ทุ่งหลวง ไกลพระนคร ระหว่างทางเจ้านกยักษ์จากหิมพานต์ สักกะไดลิงค์ หรือหัสดีลิงค์ ก็บินมาโฉบเอาพระศพไป
นกหัสดีลิงค์ หัวเป็นช้าง หางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างสารห้าเชือกรวมกัน เมื่อมหาเทวีตักกะสิลานครเกณฑ์คนไปสู้ก็ถูกนกฆ่าตายไม่เหลือ
แต่เมื่อนาง “สีดา” พระราชธิดา อาสายิงด้วยศรอาบยาพิษ ปักกลางอก นกหัสดีลิงค์ก็ตาย
พระมหาเทวีสั่งให้ทำหอแก้ว หรือพระเมรุบนหลังนกหัสดีลิงค์ ประกอบพิธีถวายพระเพลิงจ้านคร ประเพณีสืบทอดต่อๆ กันมา จนเป็นหนึ่งในอารยะประเพณีวิถีอีสาน
เมื่อผู้ใหญ่หรือพระสงฆ์ที่นับถือตาย การทำเมรุเป็นนกหัสดีลิงค์ ด้วยความเชื่อว่านกหิมพานต์นี้ สามารถนำดวงวิญญาณผู้ตายไปสู่สวรรค์ ... ข้อมูลจากคอลัมน์ "ชักธงรบ" น.๒ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒