[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 21:07:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 150 151 [152] 153 154 ... 275
3021  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: เรื่องแมวๆ & ตำราดูลักษณะแมว เมื่อ: 13 กันยายน 2559 20:14:14


ตำราดูลักษณะแมวไทย
จากสมุดข่อยโบราณ
Kimleng

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงซุกซน น่ารัก เลี้ยงง่าย เล่าสืบต่อกันมาว่า แมวอยู่กับคนมานานนับเป็นเวลาพันๆ ปี จึงเรียกได้ว่าเป็นสัตว์ป่าชนิดเดียวที่ไม่กลัวคนและอยู่ใกล้ชิดคนมากที่สุด แมวมาอาศัยอยู่บ้านคนนั้้นเพราะเหตุเดียวคือในบ้านคนมีอาหารมากที่สุด ได้แก่หนู ซึ่งแมวจะจับกินเอง

แมวเป็นสัตว์รักอิสระเสรีภาพ เวลาคนส่งเสียงเรียกให้มาหา แมวชอบใจก็จะมา ไม่ชอบใจก็ไม่มา นึกสนุกขึ้นมาก็ไปเที่ยวที่อื่นเสียหลายวัน และนึกจะกลับบ้านเมื่อไรก็กลับ สรุปแล้วแมวก็มีลักษณะดึงดูดให้คนได้หามาเลี้ยงดูสืบต่อเรื่อยมาจนปัจจุบัน  อย่างน้อยๆ ก็ไว้เป็นเพื่อนแก้เหงา ดังบทดอกสร้อยว่า "...ร้องเรียกเหมียวๆ เดี๋ยวก็มา เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู" และที่เคล้าแข้งเคล้าขานั้นก็ไม่รู้ว่าแมวว่าง่าย หรือแมวรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ทำกิริยาเช่นนั้น ถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่าไม่มีขาคน แมวก็จะเคล้าขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้

ในหนังสือโบราณของหอสมุดแห่งชาติ มีสมุดข่อยโบราณ เรียกว่า ตำราดูลักษณะแมว แสดงประเภทแมวดี ๑๗ ชนิด และแมวร้าย ๖ ชนิด เป็นข้อพิจารณาในเบื้องต้นแก่ผู้รักแมวและกำลังมองหาแมวมาอุปการะเลี้ยงดู เพื่อจักได้บังเกิดผลประโยชน์ต่อกัน เพราะคนไทยมีความเชื่อว่า การเลี้ยงแมวลักษณะดีย่อมเป็นมงคล จะนำสิ่งดี มีโชคลาภ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตนและครอบครัว ในทางตรงกันข้ามเชื่อว่า หากได้แมวลักษณะไม่ดี หรือแมวร้ายมาเลี้ยงไว้ เปรียบดังเงาร้าย ครอบครัวจะหาความสุขไม่ได้  มีทุกข์ภัยที่ประดังเข้ามาอย่างไม่คาดฝัน เป็นต้น


ตำราดูลักษณะแมว จากสมุดข่อยโบราณ
แมวดี ๑๗ ชนิด ได้แก่




๑.แมว “วิลาศ” "แม้ใครใคร่เลี้ยงโดยหมาย จักได้เป็นนายผู้ใหญ่เลื่อนที่ถานา ศฤงคารโภคา ทรัพย์สินจักมาเนืองๆ บริบูรณ์พูลมี"  
       ราวคอทับถงาดท้อง      สองหู
       ขาวตลอดหางดู          ดอกฝ้าย
        มีเสวตรสี่บาทตรู        สองเนตร์ เขียวแฮ
       งามวิลาศงามคล้าย       โภคพื้น กายดำ
แมววิลาศ ลักษณะตั้งแต่คอถึงท้องและสองหู ตลอดถึงหางและขาทั้ง ๔ มีสีขาวตลอดเหมือนดอกฝ้าย ลูกตาสองตามีสีเขียว ลำตัวส่วนอื่นๆ เป็นสีดำ ลักษณะสวยงาม
 



๒.แมว “นิลรัตน์"  ถ้าเลี้ยงไว้ย่อมมีคุณเอนกา ศฤงคารโภคา จะเนื่องเป็นนิจบริบูรณ์
       สมยานามชาติเชื้อ       นิลรัตน์
       กายดำสิทธิสามรรถ      เลิศพร้อม
       ฟันเนตรเล็บลิ้นทัต       นิลคู่ กายนา
       หางสุดเรียวยาวน้อม      นอบโน้มเสมอเศียร
“นิลรัตน์” แปลว่า มณีสีดำ ลักษณะขนสีดำสนิท ฟัน นัยน์ตา เล็บและลิ้นก็เป็นสีดำ หางยาวเรียวยกตวัดได้ถึงหัว




๓.แมว “นิลจักร”   กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงเกิดผลทรัพย์สินสมบัติมากมี
       นิลจักรบอกชื่อช้อย     ลักษณา
       กายดุจกลปีกกา         เทียบแท้
       เสวตรอบรัดกรรฐา      โดยที่
       เนาประเทศได้แม้         ดั่งนี้ควรถนอม
แมวนิลจักร ลักษณะสีกายดำเหมือนสีปีกของกา รอบลำคอมีสีขาว ดูเหมือนกับสวมปลอกคอสีขาว เป็นแมวดีที่ควรเลี้ยงรักและถนอมรักษา




๔.แมว “เก้าแต้ม” ใครได้แมวเก้าแต้มไว้เลี้ยงดูก็จะทำให้การค้าขายรุ่งเรือง ร่ำรวย
       สลับดวงคอโสตรัตต้น       ขาหลัง
       สองไหล่กำหนดทั้ง           บาทหน้า
       มีโลมดำบดบัง               ปลายบาท สองแฮ
       เก้าแห่งดำดุจม้า             ผ่าพื้นขาวเสมอ
แมวเก้าแต้ม ลักษณะลำตัวเป็นสีขาว มีดวงตาสีดำ แต้มตามลำตัวที่คอ หู สองไหล่ ปลายเท้าหน้าทั้งสองข้าง รวม ๙ แห่ง ลักษณะแต้มสีดำนี้จะเป็นวงกลมหรือปื้นเหลี่ยมก็ได้ ปลายหางเรียวยาว สีขาว




๕.แมว “มาเลศ” หรือ “ดอกเลา”  ใครพบเร่งให้อุปถัมภ์ แมวนั้นจักนำสุขสวัสดิ์มงคล
       วิลามาเลศพื้น            พรรณกาย
       ขนดังดอกเลาราย        เรียบร้อย
       โคนขนเมฆมอปลาย      ปลอมเสวตร
       ตาดั่งน้ำค้างย้อย          หยาดต้องสัตบง
แมวมาเลศ หรือแมวดอกเลา ลักษณะลำตัวมีสีดอกเลา คือขนสีเทามอๆ เหมือนเมฆสีเทายามฟ้าพยับฝน มีนัยน์ตาขาวใสหยาดเยิ้มเหมือนสีหยดน้ำค้างบบกลีบดอกบัว




๖.แมว “แซมเสวตร
       ขนดำแซมเสวตรสิ้น     สรรพภางค์
       ขนคู่โลมกายบาง        แบบน้อย
       ทรงระเบียบสำอาง        เรียวรุ่นห์ งามนา
       ตาดั่งแสงหิ่งห้อย         เปรียบน้ำทองทา
แมวแซมเสวตร ลักษณะตลอดลำตัวมีขนสีดำแซมด้วยสีขาว ขนเส้นเล็กบาง ละเอียด และค่อนข้างสั้น รูปร่างบางรูปทรงสวยเพรียว ดวงตาสีเขียวเป็นประกายสดใสเหมือนแสงหิ่งห้อย หรือเปรียบเสมือนทาด้วยน้ำทอง




๗.แมว “รัตนกำพล” "ใครเลี้ยงจักมียศถา มีเดชานุภาพแก่คนเกรงกลัว"
       สมยากาเยศย้อม      สีสังข์
       ชื่อรัตนกำพลหวัง     ว่าไว้
       ดำรัดรอบกายจัง       หวัดอก หลังนา
       ตาดั่งเนื้อทองได้        หกน้ำเนียรแสง
แมวรัตนกำพล ลักษณะ ขนสีขาวนวลเหมือนสีหอยสังข์  ช่วงอกถึงหลังมีสีดำรอบลำตัว สีนัยน์ตาเหมือนสีทองน้ำหกเป็นประกายดูเนียนตา  




๘.แมว “วิเชียรมาศ” "มีคุณยิ่งล้ำนัก จักนำโภคาพิพัฒน์สมบัติเพิ่มพูล"  
       ปากบนหางสี่เท้า        โสตสอง
       แปดแห่งดำดุจปอง       กล่าวไว้
       ศรีเนตรดั่งเรือนรอง      นาคสวาดิ ไว้เอย
       นามวิเชียรมาศไซร้       สอดพื้นขนขาว
แมววิเชียรมาศ ลักษณะขนสีขาว แต่ที่ปากส่วนบน หาง เท้าทั้งสี่ และหูทั้งสองข้าง รวม ๘ มีสีดำ(สีเข้ม) มีนัยน์ตาประกาย สดใส




๙.แมว “ศุภลักษณ์” หรือ “ทองแดง”  ใครเลี้ยงจักได้ยศถา ยิ่งพ้นพรรณนาเป็นที่อำมาตย์มนตรี
       วิลาศุภลักษณ์ล้ำ           วิลาวรรณ
       ศรีดังทองแดงฉัน            เพริศแพร้ว
       แสงเนตรเฉกแสงพรรณ     โณภาษ
       กรรษสรรพโทษแล้ว         สิ่งร้ายคืนเกษม
แมวศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง ลักษณะร่างกายสวยงามมาก สีขนเหมือนสีทองแดงตลอดทั้งตัว นัยน์ตาเป็นประกายแวววาว แมวชนิดนี้ให้คุณ ช่วยให้สิ่งที่เป็นโทษหรือสิ่งร้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ดีได้




๑๐.แมว “มุลิลา” แมวชนิดนี้ ตำราว่าให้เลี้ยงได้เฉพาะพระสงฆ์ ไม่ควรเลี้ยงตามบ้าน
       มุลิลาปรากฏแจ้ง         นามสมาน
       ใบโสตสองเสวตรปาน     ปักล้วน
       ศรีตาผกาบาน            เบญจมาศ เหลืองนา
       หางสุดโลมดำถ้วน         บาทพื้นกายเศียร
แมวมุลิลา ลักษณะ ขนเรียบ เป็นมัน สีพื้นลำตัวตลอดถึงหางเป็นสีดำ บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนสีดอกดอกเบญจมาศเหลืองบาน




๑๑.แมว “กรอบแว่น” หรือ “อานม้า”  ตีค่าแสนตำลึงทอง ใครเลี้ยงจักนำเกียรติยศมาให้เจ้าของ
       นามกรอบแว่นพื้น     เสวตรผา
       ขนดำเวียนวงตา       เฉกย้อม
       เหนือหลังดั่งอานอา    ชาชาติ
       งามดั่งวงหมึกพร้อม     อยู่ด้าวใดแสวง
แมวกรอบแว่นหรือแมวอานม้า ลักษณะพื้นกายสีขาว มีขนสีดำรอบดวงตาทั้งสองข้างเหมือนกรอบแว่นตา และมีสีดำที่หลังของลำตัว  เหมือนอานหรือที่นั่งบนหลังม้า เป็นแมววดีมีลักษณะดีมีมงคล ซึ่งผู้คนจะเสาะแสวงหามาเลี้ยงกันมาก




๑๒.แมว “ปัศเวต” หรือ “ปัดตลอด” (อ่านว่า แมว "ปัด-ศะ-เวด") หนึ่งดั่งปัดตลอดสอดสี ตำราว่าแมวดี ใครเลี้ยงจักยิ่งตระกูล
       ปัศเวตลักษณนั้น      ปลายนา ษาฤๅ
       ขาวตลอดหางหา      ยากพร้อม
       รลุมเฉกสลับตา        กายเฟพ เดียวแฮ
       ตาดั่งคำชายล้อม       บุศน้ำพลอยเหลือง
แมวปัศเวต หรือ ปัดตลอด ลักษณะขนสีดำ ขนที่ปลายจมูก ผ่านศีรษะ หลัง ตลอดจนจรดปลายหาง (ด้านบน) เป็นริ้วทางยาวสีขาวตลอด นัยน์ตาเป็นประกายสีเหลืองเหมือนสีบุษย์น้ำพลอย และมีขนสีเหลืองเหมือนทรายทองล้อมรอบดวงตา สวยงามมาก แมวปัศเวต เป็นแมวที่หายากมาก




๑๓.แมว “การเวก”  ถ้าได้เลี้ยงจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของเปลี่ยนฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ
       มีนามการเวกพื้น        กายดำ
       ศรีศรลักษณนำ         แนะไว้
       สองเนตรเลื่อมแสงคำ    คือมาศ
       ด่างที่ณาษาไซร้         เสวตรล้วนรอบเสมอ
แมวการเวก ลักษณะพื้นกายสีดำ แต่ไม่ดำหมดทั้งตัว ที่ปลายจมูกมีแต้มสีขาวเล็กน้อย ดวงตาเป็นประกายเลื่อมแสงสีเหลืองอำพันทองสดใส




๑๔.แมว “จตุบท”  หนึ่งสี่เท้าด่างขบขัน ท่านว่าควรกัน ให้เลี้ยงแต่ราชินิกูล แมวนั้นย่อมจะให้คุณ
       จตุบทหมดเฟศน้อม        นามแสดง ไว้นา
       โลมสกลกายแสง           หมึกล้าย
       สี่บาทพิศเล่ห์แลง           ลายเสวตร
       ตาเลื่อมศรีเหลืองคล้าย     ดอกแย้มนางโสรน
แมวจตุบท ลักษณะขนสีหมึก คล้ายเอาหมึกมาไล้ไว้ทั่วร่าง ยกเว้นแต่บริเวณเท้าทั้งสี่และส่วนท้องของลำตัวมีขนเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลืองเหมือนดอกโสน



 
๑๕.แมว “โสงหเสพย” (อ่านว่า โสง-หะ-เสพ-ยะ) กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงไว้เกิดผล ทรัพย์สินสมบัติมากมี"
       เสนาะโสงหเสพยชื่อเชื้อ    ดำกาย
       ขาวที่ริมปากราย           รอบล้อม
       เวียนเถลิงสอสังข์ปลาย      ณาษิก อยู่แฮ
       ตาดั่งศรีรงย้อม              หยาดน้ำจางแสง
แมวโสงหเสพย หรือบางตำราเขียนเป็น "สิงหเสพย์"  ลักษณะขนกายป็นแมวขนสีดำ แต่จะมีสีขาวบริเวณริมฝีปาก เวียนไปรอบคอจนถึงปลายจมูก นัยน์ตาเป็นประกายสีเหลืองเหมือนย้อมด้วยน้ำรงสีจาง  




๑๖.แมว “กระจอก”  แมวนี้ถ้าเลี้ยงไว้... "จะได้ที่แดนไร่นา ทรัพย์สินโภคา ถ้าเป็นไพร่ก็จักได้เป็นนาย"
       มีนามกระจอกนั้น        ตัวกลม งามนา
       กายดำศรีสรรพสม       สอดพื้น
       ขนขาวเฉกเมฆลม       ลอยรอบ ปากแฮ
       ตาประสมศรีชื้น          เปรียบน้ำรงผสาน
แมวกระจอก ลักษณะตัวกลมสวยงาม ขนสีดำตลอดทั้งตัว รอบปากเป็นขนสีขาวเหมือนสีเมฆ นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนน้ำรง




๑๗.แมว “โกนจา”   แมวนี้เลี้ยงดีมีคุณหนักหนา จงเร่งหามาเลี้ยงเทอญอย่าแคลงสงสัย
       กายดำคอสุดท้อง         ขาขนเลเอียดเฮย
       ตาดั่งศรีบวบกล           ดอกแย้ม
       โกนจาพจนิพนธ์          นามกล่าว  ไว้นา
       ปากแลหางเรียวแฉล้ม     ทอดเท้าคือสิงห์
แมวโกนจานี้ มีขนสีดำละเอียด ตั้งแต่คอไปจนถึงท้องและขา ปากและหางมีรูปลักษณะเรียวงาม นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม เท้าเหมือนเท้าสิงห์ ท่าทางเดินสง่าเหมือนสิงห์โต





ตำราดูลักษณะแมวไทย
จากสมุดข่อยโบราณ (ต่อ)


แมวร้าย ๖ ชนิด ได้แก่



๑.แมวร้ายชื่อ “ทุพลเพศ”  ใครเลี้ยงไว้จะให้โทษไม่เป็นสุข เกิดความเดือดร้อนแรงผลาญ
       ตัวขาวตาเล่ห์ย้อม       ชานสลา
       หนึ่งดั่งโลหิตทา          เนตรไว้
       ปลอมลักคาบมัศยา      ทุกค่ำ คืนแฮ
       ชื่อทุพลเพศให้           โทษร้อนแรงผลาญ
แมวทุพลเพศ ลักษณะลำตัวสีขาว มีดวงตาสีแดงเหมือนย้อมด้วยชานหมากหรือมีดวงตาเหมือนถูกทาด้วยเลือด มักออกไปหากินยามค่ำคืน และชอบขโมยปลามากิน  แมว “ทุพลเพศ” ชื่อ ทุพล หมายถึง ไม่ดี  ลักษณะโดยรวมไม่สวยงาม เลี้ยงไว้จะให้โทษร้ายแรง จึงไม่ควรนำมาเลี้ยง
 



๒.แมวร้ายชื่อ “พรรณพยัฆ หรือ ลายเสือ”    
       มีพรรณพยัฆเพศพื้น      ลายเสือ
       ขนดั่งชุบครำเกลือ          แกลบกล้อง
       สีตาโสตรแสงเจือ           เจิมเปือก ตาแฮ
       เสียงดั่งผีโป่งร้อง            เรียกแคว้นพงไสล
แมวพรรณพยัฆเพศ หรือแมวลายเสือ เป็นแมวร้ายที่มีขนกายเป็นลายเสือ ลักษณะขนหยาบเหมือนชุบด้วยเกลือหรือหยาบเหมือนแกลบ มีนัยน์ตาเป็นประกายเหมือนสีของแสงสว่างจนถึงเปลือกตา เวลาร้องเสียงเหมือนเสียงผีโป่งที่ร้องอยู่ตามป่าเขา เป็นแมวร้าย ถือเป็นแมวให้โทษอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ควรเลี้ยง
 



๓.แมวร้ายชื่อ “ปีศาจ”      
       ปิศาจจำพวกนี้       อาจินต โทษนา
       เกิดลูกออกกิน       ไป่เว้น
       หางขดดั่งงูดิน        ยอบขนด
       ขนสยากรายเส้น     ซูบเนื้อยานหนัง
แมวปีศาจ เป็นแมวร้ายอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะขนสาก หยาบ ตัวผอม หนังยาน ชอบกินลูกของตัวเอง ออกลูกมากี่ตัวก็กินลูกหมด โบราณจัดเป็นแมวร้าย ห้ามได้นำมาเลี้ยง
 



๔.แมวร้ายชื่อ “หิณโทษ
       หิณโทษโหจชาติเชื้อ      ลักษณา
       เกิดลูกตายออกมา        แต่ท้อง
       สันดานเพศกายปรา      กฎโทษ อยู่แฮ
       ไภยพิบัติพาลต้อง         สิ่งร้ายมาสถาน
แมวหิณโทษ เป็นแมวนำมาอันตรายและสิ่งชั่วร้าย  นำภัยพิบัติมาสู่บ้าน ใครเลี้ยงไว้จะไม่เป็นมงคล ออกลูกมามักจะมีลูกตายตั้งแต่อยู่ในท้อง  
 



๕.แมวร้ายชื่อ “เหน็บเสนียด  ”  
       เหน็บเสนียดโทษร้าย     เริงเข็ญ
       ด่างที่ทุยหางเห็น         โหดร้าย
       ทรงรูปพิกลเบญ          จาเพศ
       แมวดั่งนี้อย่าไว้          ถิ่นบ้านเสียศรี
แมวเหน็บเสนียด ลักษณะคล้ายค่าง ชอบเอาหางขดซ่อนไว้ใต้ก้น มีรูปร่างผิดปกติพิกลพิการ ใครลี้ยงไว้ในบ้านจะทำให้เสียชื่อเสียงเกียรติยศ
 



๖.แมวร้ายชื่อ “กอบเพลิง”      
       มักนอนยุ้งอยู่ซุ้ม           ขนกาย อยู่นา
       เห็นแต่คนเดินชาย         วิ่งคล้าย
       กอบเพลิงกำหนดหมาย     นามบอก ไว้เอย
       ทรลักษณชาติค่างร้าย      โทษแท้พลันถึง
แมวกอบเพลิง เป็นแมวที่ลึกลับชอบซ่อนตัว กลัวคน พอเห็นคนมักวิ่งหลบหนี ใครเลี้ยงไว้ไม่ดี จะมีโทษถึงตัว
 
 
3022  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 12 กันยายน 2559 17:36:10
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย



เจดีย์ ปราสาท มณฑป

คงเป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่า เจดีย์คือ สถูป หรือสิ่งก่อสร้างที่มุ่งหมายหรือสัญลักษณ์ที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแยกประเภทของเจดีย์เป็น ๔ ประเภท คือ
     ธาตุเจดีย์ สิ่งก่อสร้างบรรจุพระบรมธาตุพระ พุทธเจ้า
     บริโภคเจดีย์ สังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
     ธรรมเจดีย์ สิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมในพระพุทธศาสนาหรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก
     อุเทสิกเจดีย์ ของที่สร้างขึ้นโดยหมายแทนพระพุทธเจ้า เช่น ธรรม จักร พระพุทธรูป เป็นต้น

ในทางสถาปัตยกรรมการสร้างเจดีย์บางแห่ง มุ่งหมายที่แสดงถึงสัญลักษณ์ที่สื่อรูปแบบบางประการ หมายถึงเจดีย์ ทั้ง ๔ ประเภทข้างต้น

สิ่งสำคัญที่พบในสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบคล้ายเจดีย์ก็คือ สถาปัตยกรรมที่เรียกกันว่าปราสาท นั้น บางแห่งเป็นทั้งรูปทรงที่เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท คือ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเรือนยอดเป็นชั้นๆ แต่บางปราสาทในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู มีฐานะเท่ากับ กู่ ทั้งใช้เป็นที่เก็บหรือฝังพระมหากษัตริย์ที่สวรรคต เช่น ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา หรือเป็นเทวสถานหรือศาสนสถาน เช่น ปราสาทนครธมที่เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มิได้ประดิษฐานพระธาตุของพระพุทธเจ้าจึงไม่นับว่าเป็นเจดีย์

ในประเทศไทยมีปราสาทอยู่หลายหลังที่เป็นโบราณสถาน เช่น ปราสาทศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ที่เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ปราสาทสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ คือ โลหะปราสาท ที่เริ่มต้นก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สร้างปราสาทหลังนี้ในแนวความคิดที่เรียกว่า ธรรมเจดีย์ คือ เป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอดเจดีย์รายล้อม ๓๗ องค์ อันมีความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (พจนานุกรมพุทธศาสนาฉบับประมวลศัพท์ของท่านประยุทธ ปยุตโต ให้หมายถึงธรรมอันเป็นฝักฝ่ายเท่าการตรัสรู้ ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘)

มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง จนถึงปี ๒๕๐๖ จึงได้มีการบูรณะโลหะปราสาทจนแล้วเสร็จ และได้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ จึงเป็นเจดีย์ปราสาทโลหะที่สมบูรณ์

เหตุที่เรียกโลหะปราสาทก็เนื่องจากวัสดุและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดง สำริดดำ





มณฑป

มณฑป เป็นสถาปัตยกรรมไทยรูปแบบหนึ่งที่ก่อสร้างเป็นศาสนสถานที่ บางครั้งก็เป็นธาตุเจดีย์ บางครั้งก็เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า เช่น มณฑปพระพุทธบาทสระบุรี ลักษณะสำคัญของมณฑปก็คือ รูปทรงหรือรูปแบบอาคารที่มีผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หมายถึง โลก ตามความคิดในความเชื่อตามทางจักรวาลทัศน์ ๔ โดยมีปลายยอดเป็นลูกแก้ว หมายถึง นิพพาน

ในภาพนี้เป็นพระมณฑป วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เพื่อเก็บพระไตรปิฎกฉบับทองที่โปรดให้สังคายนาขึ้น

หลังคาของมณฑปนี้เป็นทรงกรวย เช่นเดียวกับยอดของพระมหาปราสาท เป็นชุดชั้นลาดลดหลั่นจากยอดแหลมตั้งบนแบบแปลน ผังห้องเป็น ๔ เหลี่ยม หลังคาแต่ละชั้นที่ซ้อนกันเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละชั้นเรือนที่ไม่แสดงตัวเรือน จำนวนชั้นเรือนแสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ของผู้สร้าง

พระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งอยู่บนฐานไพที (ฐานสูงด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ) เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก จึงมีฐานะเป็นธรรมเจดีย์ ฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้สร้างมณฑปในฐานะของหน่อพุทธางกูร คือ พระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต





คติทางตัวเลข

ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่มีการใช้ตัวเลขเป็นตัวกำกับหัวข้อธรรมต่างๆ ภายหลังในการสรุปรวบรวมธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงลงเป็นพระไตรปิฎก ตัวเลขการจัดลำดับหมวดหมู่ของธรรม ในหัวข้อต่างๆ จึงเกิดขึ้น

ต่อเมื่อมีการสร้างอนุสรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา สถาปนิกได้ใช้คติทางตัวเลขเป็นแนวทางการออกแบบที่เป็นรูปทรงเพื่อใช้บอกหรือแสดงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณ์บางประการ ตัวเลขที่แสดงถึงหัวข้อธรรมหรือสัญลักษณทางรูปธรรมต่างๆ จึงมีความหมายที่จะแสดงให้ผู้คนได้ศึกษาว่ารูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมนั้น กำลังแสดงธรรมในเรื่องใดบ้าง ตัวเลขส่วนใหญ่ทางพุทธศาสนาซึ่งสถาปนิกผู้รังสรรงานสถาปัตยกรรม เช่น เลข ๓ หมายถึงอะไรบ้าง

ในทางธรรม เลข ๓ อาจจะหมายถึง ไตรสรณาคม หรือรัตนตรัย ได้แก่ ที่พึ่งแห่งจิตใจ ๓ ประการ คือ
     พระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง
     พระธรรม เป็นที่พึ่ง
     พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

หรือความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก ได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

ในกรณีของสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงองค์ประกอบโลก เช่น สถูป หรือเจดีย์จะนำความหมายของภูมิหรือภพของสัตว์โลก มาแสดงเป็นสัดส่วน ๓ ชั้น ได้แก่

ชั้นฐาน ก็คือ กามภพ ที่จะมีการขยาย รูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นลำดับชั้น ของความเป็นสัตว์โลกในระดับต่างๆ ที่เรียกว่า กามภพ หรือภพของผู้ที่ยังข้องติดอยู่ ในกาม อันได้แก่ ความยินดี ยินร้าย ตามยึดมั่น ถือมั่น ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมย์อีก เป็นต้น

ชั้นที่ ๒ คือ รูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกในลำดับชั้นสูงขึ้นไปจากกามภพ เป็นภาวะของผู้มีจิตหรือความคิดที่เป็นสมาธิบรรลุถึงญาณ ที่สงบนิ่งแนบแน่นโดยใช้รูป เป็นที่ตั้งและอยู่ในสติในการพิจารณา

ส่วนชั้นที่ ๓ คือ อรูปภพ ได้แก่ ภาวะจิตของสัตว์โลกที่มิได้ใช้รูป เป็นที่กำหนดความคิดพิจารณา แต่ใช้การตั้งจิตที่อยู่โดยปราศจากรูป เช่น เพ่งพิจารณา แสงสว่าง ที่ว่าง วิญญาณ เป็นหลัก

ในตอนต่อไปจะยกรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทั้งสัมพันธ์กับตัวเลขในความหมายมาแสดง





เลข ๔ ในพุทธศานา

ในพระไตรปิฎก หัวข้อธรรมะเป็นจำนวนหลายบทที่จำแนกหมวดธรรมะที่แบ่งรายละเอียดเป็น ๔ หัวข้อ เช่น อริยสัจ๔ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ อวิชชา ๔ อุปาทาน ๔ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก

แต่เลข ๔ ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในทางสถาปัตยกรรมก็คือ พรหมวิหาร ๔ ที่มีรูปลักษณ์เป็นเทวดา ๔ หน้า เรียกพระพรหม ซึ่งซ้อนทับอยู่กับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์

พระพรหมในศาสนาพุทธมีความหมายเป็น ๒ นัย ความหมายหนึ่งแปลว่า ผู้อยู่เดียวดาย (คือการไม่ข้องและเกี่ยวข้องกับกามคุณ คือ ความพอใจ ยินดี ทั้งหลาย) และหมายถึงจิตใจของผู้ที่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เมตตา หมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข ซึ่งหากความหมายลึกไปกว่าคำพูดธรรมดาก็คือ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ อันได้แก่การพ้นไปจากสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด

กรุณา หมายถึง ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์หรือความหมายที่หมายไปถึงการช่วยเหลือ การแสดงความจริงของชีวิต อันได้แก่ ความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และความดับทุกข์

มุทิตา หมายถึง ความมีจิตยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น หรือความยินดีในความสุขที่แท้จริงของผู้อื่น อันได้แก่ ความสุขในคำที่ว่า นิพพานํ ปรมิสุขํ

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉยอยู่ ความเที่ยงธรรม ความวางตัวเป็นกลางหรือหมายถึงการพ้นจากข้อสงสัยในสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งเมื่อไม่มีสิ่งใดที่น่าสงสัยแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะไปข้องติดอยู่กับความสงสัยนั้น มีแต่ความเบิกบานอยู่

ส่วนพรหมทางศาสนาพุทธในอีกความหมาย หมายถึงผู้ที่สถิตอยู่ในสถานที่ที่สูงกว่าสวรรค์และยังอยู่ในกามภพ เรียกว่า กามาวจรภพ มีการเวียนว่ายตายเกิดตามสภาวะของการจุติและการปฏิสนธิจิต แบ่งเป็น ๒ แบบ คือรูปพรหมมี ๑๖ ลำดับ และพรหมไม่มีรูป เรียกอรูปพรหม ๔ อันดับ อย่างไรก็ตามพระพรหมในที่นี้ก็ยังหมายถึงผู้อยู่เดียวดาย คือการไม่ข้องและอยู่กับกามคุณ

ส่วนพรหมในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู แบ่งความหมายได้มากมาย เช่น เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้างสรรค์ เทพเจ้าแห่งความเมตตา เป็นผู้สร้างโลกและให้กำเนิดสิ่งต่างๆ ในจักรวาล เป็นสภาวะอันสูงสุด ไม่มีเบื้องต้นไม่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ ไม่มีความยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งหลาย อยู่เหนือความดีและความชั่ว

ในคติของการสร้างเทวรูป ทั้งใน พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เพื่อเป็นตัวแทนของพระพรหม จึงสร้างเป็นเทวดาที่มี ๔ หน้า

ในทางพุทธศาสนาหน้าทั้ง ๔ จึงมีความหมายเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์ พระพรหมจะมีฐานะเป็นเทพเจ้าของความเมตตา เทพเจ้าของการสร้างสรรค์ สร้างโลกและกำเนิดคัมภีร์พระเวท





ซุ้มคูหา ๔ ทิศ

ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกล่าวถึงสัญลักษณ์ ของเลข ๔ ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปของพระพรหม อันหมายถึงพรหมวิหาร ๔ นั้น เลข ๔ ที่ใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมทางศาสนาอีกรูปแบบก็คือ ซุ้มคูหาที่หมายถึงซุ้ม ๔ ทิศที่รอบพระปรางค์หรือพระเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปหรือเทวดาผู้รักษาทิศอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในภาพเป็นซุ้มคูหาของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี เป็นซุ้มคูหา ๔ ทิศ สำหรับประดิษฐานเทวดารักษาทิศหรือรักษาโลก ๔ ทิศ หรือท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ได้แก่ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก รูปปั้นในซุ้มคูหาของพระปรางค์ทำเป็นรูปเดียวกัน โดยใช้รูปของพระอินทร์ที่เป็นหัวหน้าของเทวดาในชั้นจาตุรชิกมหาราชหรือท้าวสักกะที่เป็นเทวดารักษาทิศตะวันออกแทนรูปจตุโลกบาลทั้งหมด

ในกรณีที่เป็นซุ้มคูหาของพระเจดีย์ที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น พระพุทธรูปทั้ง ๔ องค์เป็นสัญลักษณ์ของตัวแทนพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ซึ่งได้อุบัติแล้วในภัทรกัปนี้ ได้แก่ พระกกุสันโธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระสมณโคตมพุทธเจ้า หรือพระโคดมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน




วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ความหมายของเลข ๖

มีธรรมะที่แยกหัวข้อเป็น ๖ หัวข้อจำนวนหนึ่ง เช่น คารวตา ๖ หรือการปฏิบัติตามความเชื่อ คือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจ เพื่อความหนักแน่นและจริงใจ ได้แก่ การเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือสัญเจตนา ๖ ได้แก่ ความจำนงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

ตัณหา ๖ ความทะยานอยาก ได้แก่ อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะ และอยากได้ในธรรมารมณ์

หรือทิศ ๖ ได้แก่ บุคคลประเภทต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ เป็นต้น

แต่ความหมายของเลข ๖ ในส่วนของศาสนสถาน หรือทางสถาปัตยกรรมมิได้หมายความถึงหัวข้อธรรม หากแต่หมายถึงสัญลักษณ์ของสถานที่ เรียกว่า จักรวาลทัศน์

ในส่วนหนึ่งหมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจรสุข ได้แก่ ลำดับชั้นของสวรรค์ดังนี้ ๑.จตุมหาราชิกา ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิตา ๕.นิมมานรดี ๖.ปรนิมมิตวสวัตดี

ในทางสถาปัตยกรรม สัญลักษณ์ของสวรรค์ทั้ง ๖ กำหนดลงในสถูปหรือเจดีย์ โดยอยู่บนส่วนบนของสถูปหรือเจดีย์ ตั้งซ้อนอยู่บนเรือนธาตุที่เป็นสัญลักษณ์ของโลก หรือเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นต้น ตามรูปเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน จะเห็นส่วนบนของเจดีย์มี ๖ ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ชั้นฉกามาพจรสุข

คติในส่วนนี้ก็คือ ความหมายของสวรรค์ทั้ง ๖ คือที่อยู่ของเทวดาในระดับชั้นความดีทางจริยธรรมที่ได้เสวยสุขเมื่อจุติจากโลก แต่ติดอยู่ในความสุขจนไม่อาจบรรลุนิพพานได้ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นั้นต้องจุติมาปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในโลกที่จะประสบความสุขและความทุกข์ จึงจะเห็นความจริงของสรรพสิ่งทั้งปวง





ความหมายของเลข ๗

เลข ๗ ที่แสดงในรูปแบบสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่มิใช่การแสดงหลักธรรมที่รายละเอียดของธรรมะแยกเป็น ๗ หัวข้อ เช่น ธรรมที่ว่าด้วย กัลยาณมิตรธรรม ๗ แปลว่าคุณสมบัติของมิตรแท้ที่คบหาแล้วทำให้เกิดความดีงามความเจริญ ได้แก่ มิตร ที่มีลักษณะ ๗ ประการ คือ ปิโย (น่ารัก) ครุ (น่าเคารพ) ภาวนีโย (น่าเจริญใจ น่ายกย่อง เป็นผู้มีความรู้และปัญญา) วิตตา (รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ) วะจะนักขโม (พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา) คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา (อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ) และข้อสุดท้ายก็คือ โน จัฏฐาเน นิโยชเย (ไม่ชักนำหรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย)

โพชฌงค์ ๗ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ (ความระลึกได้) ธัมมวิจยะ (ความเห็นธรรม สืบค้น) วิริยะ (ความเพียรพยายาม) ปีติ (ความอิ่มใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์) และอุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง)

รวมถึงหัวข้อธรรมอื่นๆ ได้แก่ วิสุทธิ ๗ ความหมดจด ความบริสุทธิ์ ที่สูงขึ้นไปเป็นชั้นๆ สัปปุริสธรรม ๗ ธรรมของสัตบุรุษ อปริหานิยธรรม ๗ ธรรมอันไม่ตั้งแห่งความเสื่อม ฯลฯ

การใช้สัญลักษณ์ของเลข ๗ ในทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏขึ้นในศาสนสถานของไทย มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ แสดงถึงความเชื่อในจักรวาลทัศน์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยมีทะเลและภูเขาล้อมอยู่ ๗ ชั้น นำไปแสดงเป็นรูปแบบของฐานสถูปหรือเจดีย์ที่มีฐานสูง ๗ ชั้น ที่มีชื่อของแนวเขาทั้ง ๗ ได้แก่ เขายุคนธร เขาอิสินธร เขากรวิก เขาสุทัศนะ เขาเนมินธร เขาวินตกะ เขาอัสกัณ โดยมีทะเลสีทันดรกั้นระหว่างเขาทั้ง ๗ มีความสูงต่ำไล่ลำดับขึ้นไปเป็นชั้นๆ

ในอีกรูปแบบก็คือ การสร้างบริโภคเจดีย์ ๗ องค์ เพื่อระลึกถึงสถานที่และเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วได้ประทับอยู่ในพื้นที่นั้นหรือบริเวณนั้น บริเวณละ ๗ วัน เพื่อเสวยวิมุติสุขและทบทวนธรรมที่พระองค์ได้ค้นพบ

ตัวอย่างของบริโภคเจดีย์ทั้ง ๗ นี้ ปรากฏชัดเจนที่บริเวณนอกวิหารคดของพระวิหารศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ริมกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก และสิ่งก่อสร้าง ๗ สิ่งที่อยู่รายรอบเจดีย์วัดเจ็ดยอด เมืองเชียงใหม่ โดยก่อสร้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแตกต่างกัน เพื่อแสดงเหตุการณ์และ พระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่ประทับอยู่ ณ ที่นี้





ความหมายของเลข ๘

ในทางพุทธศาสนาที่นำตัวเลข ๘ มาใช้อธิบายความหมายของธรรมะหลายประการ สัญลักษณ์สำคัญที่แสดงด้วยความหมายเลข ๘ รูปแบบหนึ่งก็คือ รูปธรรมจักร ที่มีลักษณะเป็นรูปวงกลมที่มีกงล้ออยู่ ๘ ซี่

ในความหมายของธรรมจักรจะแสดงออกเป็นนัยยะสำคัญ ๒ รูปแบบ คือ เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าในอดีตกาลที่ยังไม่มีการสร้างรูปเคารพที่เหมือนมนุษย์หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าพระพุทธรูป สัญลักษณ์ที่เป็นองค์พระพุทธรูปที่เป็นธรรมจักรนี้จะมีรูปกวางหมอบอยู่ด้านข้าง ข้างละ ๑ ตัว ที่หมายถึงสัตว์โลกผู้ปรารถนาในนิพพาน

ในอีกสัญลักษณ์หนึ่งก็คือ ตัวธรรมจักรที่หมายถึง มรรค อันมีองค์ ๘ โดยใช้ซี่กงล้อ ๘ ซี่ เป็นสัญลักษณ์ของมรรคทั้ง ๘

มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการ อันประเสริฐ) องค์ ๘ ของมรรค (มัคคังคะ) มีดังนี้

๑.สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท)

๒.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์)

๓.สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔)

๔.สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓)

๕.สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)

๖.สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัปมัปปธาน ๔)

๗.สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔)

๘.สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔)

หรือรวมความของรูปแบบในสัญลักษณ์นั้นคือการประกาศพระศาสนาของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันเป็นภาษาพระว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร





ความหมายของเลข ๑๐

ความหมายของเลข ๑๐ ในพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระยาน ที่นับถือกันอยู่ในทิเบต ภูฏาน กิเลสเป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งชีวิต ที่เพิ่มเติมจากกิเลส ๓ ประการที่พุทธศาสนิกชนที่นับถือฝ่ายเถรวาทรู้จักกันดี

กิเลสทั้ง ๓ ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ

ในฝ่ายมหายานได้อธิบายกิเลสเพิ่มเติมโดยนับเอาความหมายของนิวรณ์ ๕ ที่หมายถึงความเสื่อม รวมเข้ากัน เป็นกิเลส ๑๐ ประการ ได้แก่
     ๑.ทิฏฐิกิเลส คือ ความเห็นผิดที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบได้ดั่งโมหะ)
     ๒.วิจิกิจฉากิเลส ความลังเลสงสัยที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งกิเลส (เปรียบได้คือโมหะ)
     ๓.โทสกิเลส ความขุ่นข้อง ความ ขุ่นมัว ความโกรธ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต (เปรียบก็คือโทสะ)
     ๔.โลภกิเลส ความติดข้อง ต้องการ ที่ทำให้จิตหรือใจเศร้าหมอง (เปรียบได้คือโลภะ)
     ๕.โมหกิเลส ความหลงลืม ความไม่รู้ความเป็นจริง เป็นเครื่องเศร้าหมอง ของจิต
     ๖.ถีนกิเลส ความหดหู่ ท้อถอย ซึมเซา เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๗.อุทธัจจกิเลส ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๘.อหิธกกิเลส ความไม่ละอายต่อบาป เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
     ๙.มานกิเลส ความสำคัญตน การเปรียบเทียบ ทำให้ใจเศร้าหมอง
    ๑๐.อโนตัปปกิเลส ความไม่เกรงกลัวต่อบาปทำให้ใจเศร้าหมอง

ที่น่าสนใจคือ บรรดารูปปั้นของพระอมิตยุส พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ คุรุริมโปเช ทั้งภาคสวยงามและภาคดุร้าย ในวิหารอมิตยุส วัดเขาทักซัง ประเทศภูฏาน รูปปั้นเป็นเทพเหยียบมาร โดยมีพระโพธิสัตว์ภาคปางดุร้าย สวมสังวาลรอบเอวที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ ๑๐ หัว

บรรดาใบหน้าของมารที่อยู่ที่ฐานของพระโพธิสัตว์และสังวาลรอบเอวของเทพหรือธรรมบาลที่เป็นศีรษะมนุษย์ ๑๐ หัว ที่หมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งภาคสวยงามหรือภาคดุร้ายได้ตัดกิเลสทั้ง ๑๐ ได้หมดแล้วนั้นเป็นใบหน้าเหลี่ยมคล้ายอดีตผู้นำไทย





ความหมายของเลข ๑๒

ธรรมจักร ๑๒ ซี่ เป็นรูปธรรมจักรที่มี "กงกำ" หรือ "ซี่ล้อ ๑๒ ซี่" มีความหมายที่แตกต่างจากธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่

ธรรมจักรที่มีซี่ล้อ ๘ ซี่ หมายถึงอริยมรรค ๘ แต่ ๑๒ ซี่ มีความหมายถึงธรรมในหัวข้อธัมมจักกัปปวัตนสูตร ดังนี้

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่านประยุทธ์ ปยุตโต)

ในความเห็นอีกประการของท่านพุทธทาส ก็คือ ธรรมจักรที่มี ๑๒ กงกำ หรือซี่ล้อ หมายถึง การปริวัต ๓ ของอริยสัจ ๔ รวมเป็น ๑๒ อันหมายถึงการหยั่งรู้อริยสัจ ๔ ในหลักการ ๓ ประการคือ
     ๑.สัจญาณ หยั่งรู้สัจจะ คือ หยั่งรู้ความจริงว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเป็นอย่างนี้ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ ซึ่งเห็นตรงสภาพความจริง
     ๒.กิจญาณ หยั่งรู้กิจ คือ หยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าควรทำอย่างไร เห็นว่าควรปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ
     ๓.กตญาณ หยั่งรู้การทำสำเร็จ คือหยั่งรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าได้ทำสำเร็จแล้ว เห็นว่าได้ปฏิบัติต่อทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ สมุทัยด้วยการละ นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง มรรคด้วยการเจริญ

(จากพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๓)





ความหมายของเลข ๑๖

ความหมายของเลข ๑๖ ที่ปรากฏอยู่ในรูปแบบทางสถาปัตยกรรม มี ๒ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ คือ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ มีผู้ให้ความหมายว่าหมายถึง ญาณ ๑๖ หรือโสพัสญาณ

รูปแบบที่ ๒ หมายถึง พรหมโลกหรือ ที่สถิตของพรหมทางพุทธศาสนา มี ๑๖ ชั้น หรือ ๑๖ ลำดับ

ในรูปแบบที่ ๑ ธรรมจักรที่มีกง ๑๖ ซี่ ที่หมายถึง ญาณ ๑๖ ในคำอธิบายจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ของ ท่านประยุทธ์ ปยุตโต ได้อธิบายความหมายไว้ดังนี้

๑.นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลาย มีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนด แยกได้ว่าอะไรเป็นรูปธรรมอะไรเป็นนามธรรม

๒.ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฎแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ ๓ ก็ดี เป็นต้น

๓.สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน

๔.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็น ความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด

๕.ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด

๖.ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใดก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

๗.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไปเป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่องจะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

๘.นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้วย่อมเกิดความหน่ายไม่เพลิดเพลินติดใจ

๙.มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๑๐.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสียจึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

๑๑.สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริงว่ามีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพานเลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้

๑๒.สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายไม่พะวงและญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปเป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลางแล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป
๑๓.โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล

๑๔.มรรคญาณ (มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น

๑๕.ผลญาณ ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

๑๖.ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรคผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่



 
ความหมายของเลข ๒๔

ความหมายของเลข ๒๔ ที่ปรากฏในรูปกง ๒๔ ซี่ ในธรรมจักร มีความหมายเป็น ๒ นัยๆ

ในความหมายแบบที่ ๑ หมายถึง ธรรมะในหัวข้อของปัจจยาการหรือปฏิสมุจปบาท ๑๒ ในทั้งสองด้านคือ ทั้งทางด้านเกิดและ ด้านดับ ดังรายละเอียดในทางเกิดหรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า การแสดงจากต้นไปหาปลาย เรียกอนุโลมเทศนา ซึ่งมีลักษณะดังนี้

เพราะอวิชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยนามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัยตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัยชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัยชรามรณะจึงมี

ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีด้วยประการฉะนี้

ในความหมายของด้านดับ เรียกว่า ด้านปฏิโลมเทศนา ก็คือการเริ่มต้นว่า ชรา มรณะ มีเพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชาติมีอยู่เพราะมีภพเป็นปัจจัย ภพมีอยู่เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย อุปาทานมีอยู่เพราะตัณหาเป็นปัจจัย ตัณหามีอยู่เพราะเวทนาเป็นปัจจัย เวทนามีอยู่เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ผัสสะมีอยู่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย สฬายตนะมีอยู่เพราะนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีอยู่เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย วิญญาณมีอยู่เพราะสังขารเป็นปัจจัย และสังขารมีอยู่เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย

ในความหมายที่สอง หมายถึง องค์ธรรมที่เรียกว่ามหาปัฎฐาน ๒๔ เป็นการอธิบายปัจจัย ๒๔ อย่างละเอียดที่แสดงถึงความสัมพันธ์อิงอาศัยกันเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในด้านต่างๆ

ปฏิฐาน ๒๔ นี้มักจะใช้ในงานสวดอภิธรรมตามวัดต่างๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นพระธรรมที่กล่าวว่ามีความละเอียดลึกซึ้งและเข้าใจยากที่สุด


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด

3023  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: 'อาเซียน' เรื่องน่ารู้..ที่คนไทยควรรู้ เมื่อ: 12 กันยายน 2559 14:05:30
    ปีนักษัตร บรูไน-ไทย

แม้บรูไนจะเป็นอีกประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็มีชุมชนชาวจีนและชาวบรูไนที่ผสมผสานเชื้อสายจีน ซึ่งในกลุ่มนี้จะยึดถือธรรมเนียมการนับปีนักษัตรแบบจีน คำเรียกจะถอดแบบภาษาจีนต้นฉบับ ยกเว้นบางพื้นที่ที่ใช้ภาษาจีนฮากกาของชาวจีนแคะ

ปีชวดเรียกว่า "ฉู่" ปีฉลูคือ "แหง่ว" ปีขาลเป็น "ฝู่" ปีเถาะตรงกับ "ถู่" ปีมะโรง-งูใหญ่ คือ "หลุง" ปีมะเส็งใช้คำว่า "สา" ปีมะเมีย-ม้า เรียกว่า "มา" ปีมะแม-แพะแบ๊ะๆ คือ "หยอง" ปีวอกใช้คำว่า "แห็ว" ปีระกา-ไก่ เป็น "แก" หรือ "ไก" ส่วนปีจอคือ "แกว" และปีกุนเรียกว่า "จู"

ปิดท้ายปีนักษัตรอาเซียนที่ไทยเราซึ่งได้รับอิทธิพลการนับปีนักษัตรหรือนักขัต ผสมผสานระหว่างจี และอารยธรรมขอม ปีชวดหมายถึงปีหนู ฉลูคือวัว ขาล-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ แต่บางครั้งก็ใช้พญานาคตามความศรัทธาของอาเซียนตอนบน หรือมังกรแบบจีน มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้ามะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-สุนัข กุน-หมู แต่บางพื้นที่เช่นภาคเหนือของไทยใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสัญลักษณ์แทน

ธรรมะอาสา-มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ กทม. จัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท ครั้งที่ ๔๓ ตามโครงการ "ความรู้สู่เด็กชนบท" เพื่อเผยแผ่ธรรมะและช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในชนบท โดยมีพระวิทยากรเผยแผ่ธรรมะและครูอาสาร่วมกิจกรรม



    ปีนักษัตรเวียดนาม

ชาวเวียตมีวันขึ้นปีใหม่หรือที่เรียกว่า "เต๊ตเงวียนด๊าน" หรือ "วันเต๊ต" ตรงกับวันที่ ๑ เดือนที่ ๑ ตามปฏิทินจันทรคติแบบเดียวกับจีน อีกอย่างที่เวียดนามมีเหมือนจีนคือปีนักษัตร ต่างแค่การเรียกชื่อและสัตว์บางชนิดเท่านั้น

เริ่มที่ปีแรก "ตี๊" ตรงกับปีชวดของไทย มี "จวด" หรือหนูในภาษาเวียดนามเป็นสัญลักษณ์, "สิ่ว" ตรงกับปีฉลู มี "เจิ่ว" ซึ่งหมายถึงควายเป็นสัตว์ประจำปี, "เหยิ่น" ปีขาล มาพร้อม "โห่" หรือเสือ, "หม่าว" ตรงกับปีเถาะ-กระต่าย แต่เวียดนามนับถือ "แหม่ว" หรือแมวเป็นสัตว์ประจำปี, "ถิ่น" ปีมะโรง มี "หร่ง" หรือมังกรเป็นสัตว์สัญลักษณ์

"ติ" คือปีมะเส็ง มี "หรั้น" หรืองูเป็นสัตว์ประจำปี, "หง่อ" ปีมะเมีย มี "เหงื่อะ" ซึ่งหมายถึงม้า, "หมุ่ย" ปีมะแม ใช้ "เซ" หรือแพะเป็นสัญลักษณ์, "เทิน" คือปีวอก สัตว์มงคล คือ "ขี่" หรือลิงนั่นเอง, "เหย่า" ปีระกา มี "ก่า" ซึ่งก็คือไก่เป็นสัญลักษณ์, "ต๊วด" คือปีจอที่มี "จ๋อ" หรือสุนัขเป็นสัตว์มงคล และสุดท้าย "เห่ย" หรือปีกุน กับ "เลิน" ที่หมายถึงหมูเป็นสัตว์ประจำปี



    ปีนักษัตรพม่า

ปีนักษัตรพม่าหรือเมียนมาต่างจากปีนักษัตรทั้ง 12 ที่เพื่อนบ้านอาเซียนตอนบนอย่างกัมพูชา เวียดนาม ลาว และไทย ได้รับอิทธิพลจากจีน ปีนักษัตรพม่าจึงมีเพียง ๘ ปี อิงกับทิศทั้ง ๘ ทิศ และ ๘ วัน ในรอบสัปดาห์ (นับแบ่งวันพุธกลางวันและ พุธกลางคืน)

เริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงกับวันอาทิตย์ หรือ ตะเนงกะหนุ่ยในภาษาพม่า มีดวงอาทิตย์ และ "ครุฑ" หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า "กะโหล่ง" เป็นสัญลักษณ์, ทิศตะวันออกตรงกับวันจันทร์ ภาษาพม่าคือ ตะเหนหล่า มีดวงจันทร์ และ "จา" หรือ "เสือ" เป็นสัตว์ประจำทิศ, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตรงกับวันอังคาร หรือ เองกา มีดาวอังคาร-มาร์ และ "สิงโต" หรือ "ชีงเต๊ะ" เป็นสัญลักษณ์, ทิศใต้ตรงกับวันพุธกลางวัน หรือโบ๊ะดะฮู มีดาวพุธ-เมอร์คิวรี และ "ฉิ่น" ที่หมายถึง "ช้างมีงา" เป็นสัตว์ประจำทิศ ขณะที่ "ช้างไร้งา" หรือ "ฮาย" เป็นสัตว์ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งตรงกับวันพุธกลางคืน หรือยาฮู

ส่วนทิศตะวันตกซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี หรือจ่าต่าบ่าเต่ มีสัญลักษณ์คือดาวพฤหัสบดี- จูปิเตอร์ และ "จแวะ" ที่หมายถึงหนูในภาษาพม่า, ทิศเหนือตรงกับเต๊าจ่า หรือวันศุกร์ มีสัญลักษณ์เป็นดาวศุกร์-วีนัส และ "หนูตะเภา" หรือ "ปู" สุดท้ายคือทิศตะวันตกเฉียงใต้ตรงกับวันเสาร์ หรือสะเหน่ มีดาวเสาร์-แซทเทิร์น และ "นาค" ซึ่งชาวพม่าเรียกว่า "นะกา" เป็นสัตว์ประจำทิศ



    ปีนักษัตรเขมร

ปัจจุบันปีนักษัตรนำไปใช้กันแพร่หลายทั้งฝั่งเอเชียและตะวันตก เป็นวิธีนับหรือการกำหนดรอบปีโดยมีสัตว์เป็นเครื่องหมาย ปีนักษัตรซึ่งรู้จักกันดีเป็นอิทธิพลที่มาจากการนับรอบปีของจีน ส่วนในภูมิภาคอาเซียนผ่านการผสมผสานกับอารยธรรมขอมและกลายเป็นปีนักษัตรที่กลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนใช้กัน

ขอประเดิมการนับรอบปีนักษัตรของกัมพูชาเป็นประเทศแรก ปีนักษัตรลำดับที่ ๑ ของกัมพูชา คือ "จูด" ตรงกับปีชวดของไทย และมีสัญลักษณ์เป็น "กอนดล" ซึ่งหมายถึงหนู ปีต่อไปคือ "ชโลว" ตรงกับปีฉลู สัตว์ประจำปีคือ "โก" หรือวัว, "คาล" ตรงกับปีขาล สัญลักษณ์เป็น "คลา" นั่นคือเสือ, "เทาะฮ์" ตรงกับปีเถาะ มี "ต็วน ซาย" หรือกระต่ายเป็นสัตว์ประจำปี, "โรง" คือปีมะโรง งูใหญ่ หรือ "ปัวะฮ์โทม" ในภาษาเขมร, "มซัญ" ตรงกับปีมะเส็ง สัตว์ประจำปีคือ "ปัวะฮ์โตจ" หมายถึงงูเล็ก,

"โมมี" คือปีมะเมีย ม้า หรือ "แซะฮ์", "โมเม" ตรงกับปีมะแม สัตว์ประจำปีคือ "โปเป", "โวก์" คือปีวอก ลิง หรือที่เรียกว่า "ซวา", "โรกา" ตรงกับปีระกา สัญลักษณ์เป็น "เมือน" นั่นก็คือ ไก่, "จอ" แน่นอนว่าตรงกับปีจอ สัตว์ประจำปีเป็น "ชแก" ซึ่งหมายถึงสุนัข และ "กุร" ตรงกับปีกุน มี "จรูก" หรือหมูเป็นสัญลักษณ์



    ปีนักษัตรลาว

ปีนักษัตรที่ใช้ในสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยนั้น จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สถานกงสุลลาว จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า ทั้งไทยและลาวเรียกปีนักษัตรเหมือนกัน จะต่าง ก็แค่สำเนียงการออกเสียง

สัตว์สัญลักษณ์ปีนักษัตร ปีชวด คือ "หนู" ปีฉลูเป็น "งัว" หมายถึงวัวในภาษาไทย คำว่า "เสือ" ใช้เหมือนกันในปีขาล เช่นเดียวกับ "กระต่าย" ปีเถาะ "งูใหญ่" หรือ "นาค" เป็นสัตว์ประจำปีมะโรง "งู" ปีมะเส็ง ปีมะเมียใช้ "ม่า" หรือม้า ปีมะแมเป็น "แบะ" ซึ่งก็คือแพะ ปีวอกใช้ "ลิ่ง" หรือลิง ปีระกา คือ "ไก" หมายถึงไก่ ปีจอใช้ "หมา" เหมือนกัน และปีกุนคือ "หมู"

ขณะที่ชาวไทลื้อซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงน้ำทา หลวงพูคา บ่อแก้ว ไซยะ บูลี และหลวงพะบางของลาว บางส่วนเรียกปีนักษัตรต่างออกไป โดยปีชวดเรียกว่า "ไจ้" ปีฉลู คือ "เป้า"ปีขาล "ยี่" ส่วนปีเถาะเป็น "เม้า" ปีมะโรงเรียก "สี" ปีมะเส็งคือ "ไส้" ปีมะเมียเรียกว่า "สะง้า" ปีมะแม คือ "เม็ด" ปีวอก คือ "สัน" ปีระกาเป็น "เล้า" ปีจอ คือ "เส็ด" และปีกุนเรียกว่า "ไก้"


    ปีนักษัตรฟิลิปปินส์

แม้ฟิลิปปินส์จะอยู่ห่างออกไปจากเพื่อนสมาชิกชาติอาเซียน และยังได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตกมากกว่า แต่ฟิลิปปินส์ก็รับเอาความเชื่อเรื่องปีนักษัตรแบบจีนมาผสมผสานกับวิถีชีวิตหลากวัฒนธรรมของตน

ส่วนใหญ่นิยมเรียกปีนักษัตรด้วยภาษาอังกฤษตามสากล แน่นอนว่าชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนก็จะเรียกเป็นภาษาจีนตามสายใยเชื้อชาติที่ถ่ายทอดสืบกันมา

สำหรับภาษาฟิลิปปินส์ และตากาล็อก อีกภาษาราชการ เรียกปีนักษัตรจีนว่า "อินต์ ซิก โซดีแอก" โดยปีชวดมีหนู หรือ "ดากา" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ ปีฉลู-วัว คือ "บากา" หรือ "อุนกา" ปีขาลที่หมายถึงเสือ ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า "ติเกร" ปีเถาะ-กระต่าย คือ "คูเนโฮ" หรือ "โคเนโฮ"

ปีมะโรงมีมังกรเป็นสัตว์มงคล ที่ฟิลิปปินส์เรียกเหมือนฝรั่ง คือ "ดรากอน" ถ้าเป็นภาษาตากาล็อกจะใช้ "นากา" ที่แปลว่านาค แบบพญานาคบ้านเรา ปีมะเส็ง-งูเล็ก หรืองูธรรมดา เป็น "อาฮาส"

ปีมะเมีย-ม้า ใช้ "คาบาโย" ปีมะแมที่มีแพะแบ๊ะๆ คือ "คัมบิง" ปีวอก-ลิง เรียกว่า "ซองโก" ปีไก่ระกา คือ "ตันดัง" ปีจอ-สุนัข คือ "อะโซ" และปีกุน-หมู ใช้คำว่า "บาบอย"

นอกจากนี้ ภาษาสเปนเป็นอีกหนึ่งภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในฟิลิปปินส์มีคำเรียกสัตว์ที่เป็น ๑๒ สัญลักษณ์นักษัตร แตกต่างออกไป มีเพียงไม่กี่คำที่คล้ายหรือเหมือนกัน หนู คือ "ราโตน" วัว เรียกว่า "วากา" เสือ คือ "ติเกร" คำนี้เหมือนภาษาถิ่น กระต่ายเรียกว่า "โกเนโฆ" งู คือ "เซอร์เปียนเต" ม้า คือ "กาบาโญ" แพะ คือ "กาบรา" ลิงเรียกว่า "โมโน" ไก่ คือ "กัลโญ" สุนัขเป็น "เปรโร" และหมู คือ "แซรโด"



   ปีนักษัตรอินโดนีเซีย

ว่ากันด้วยเรื่องปีนักษัตรในภูมิภาคอาเซียนกันต่อ พาล่องใต้ไป "อินโดนีเซีย" แดนอิเหนา เหตุที่กระโดดข้ามสิงคโปร์ไปนั่นเป็นเพราะสิงคโปร์ได้รับอิทธิพลผสมผสานจากมาเลเซีย ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภาษา ปีนักษัตรในสิงคโปร์จึงเรียกด้วยภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษแบบสากล

ขณะที่อินโดนีเซียนั้นแม้จะมีภาษา บาฮาซา อินโดนีเซีย ซึ่งละม้ายคล้ายมลายูของมาเลเซีย แต่ก็มีบางคำที่แตกต่างออกไป โดยปีนักษัตรของชาวอิเหนาเรียกว่า "ชีโอ"

"ชีโอตีกุซ" ตรงกับปีชวดซึ่งมีหนู หรือ "ตีกุซ" ในภาษา บาฮาซา เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ชีโอเกอร์เบา" มี "เกอร์เบา" ที่แปลว่ากระบือ หรือควายเป็นสัตว์ประจำปี

ปีขาล-เสือ เป็น "ชีโอมาจัน" คำว่า "มาจัน" หมายถึงเสือ, "ชีโอเกอลินจี" ตรงกับปีเถาะ มีกระต่าย หรือ "เกอลินจี" เป็นสัญลักษณ์, ปีมะโรงคือ "ชีโอนากา" มี "นากา" ซึ่งหมายถึงมังกรเป็นนักษัตร, "ชีโอ อูลาร์" ตรงกับปีมะเส็ง- งูเล็ก หรือ "อูลาร์" ในภาษาบาฮาซา

ปีมะเมีย เป็น "ชีโอกูดา" มาพร้อมกับ "กูดา" ที่แปลว่าม้า, "ชีโอกัมบิง" ตรงกับปีมะแม มีสัญลักษณ์คือแพะ หรือ "กัมบิง", ปีวอก เรียกว่า "ชีโอโมแยต" มีลิง หรือ "โมแยต" เป็นสัตว์มงคล, ปีระกา-ไก่ คือ "ชีโออายัม", ปีจอตรงกับ "ชีโออันยิง" คำว่า "อันยิง" หมายถึงสุนัข และสุดท้าย "ชีโอบาบี" คือ ปีกุน มี "บาบิ" หรือหมูเป็นสัตว์ประจำปีนั่นเอง



   ปีนักษัตรมาเลย์ (แบบจีน)

มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่รับเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษามาจากจีน ขณะที่ประชากรชาวมาเลย์เชื้อสายจีนมีจำนวนมากกว่าร้อยละ ๓๓

ปีนักษัตรของมาเลเซียจึงได้รับถ่ายทอดตามต้นฉบับ ๑๒ นักษัตรจีนที่เรียกว่า "สู่เซี่ยง"

ปีแรกคือ "สู่เหนียน" ตรงกับปีชวดของไทย มีหนู หรือ "เหลาสู่" ในภาษาจีน เป็นสัตว์สัญลักษณ์, ปีฉลูเรียกว่า "หนิว เหนียน" มี "หนิว" ซึ่งหมายถึงวัว เป็นสัตว์ประจำปี, ปีขาล ตรงกับ "หู่เหนียน" มีสัญลักษณ์ "หู่" ซึ่งแปลว่าเสือในภาษาจีน, "ทู่เหนียน" คือปีเถาะ มาพร้อมกระต่าย หรือ "ทู่จื่อ"

ปีมะโรงตรงกับ "หลงเหนียน" เป็นปี งูใหญ่ หรือมังกรตามอย่างจีน ซึ่งเรียกว่า "หลง", ปีมะเส็ง-งูเล็ก คือ "เสอ เหนียน" มี "เสอ" ที่แปลว่างูเป็นสัตว์ประจำปี

"หม่าเหนียน" ตรงกับปีมะเมีย มีสัญลักษณ์เป็นม้า หรือ "หม่า", ปีมะแมคือ "หยางเหนียน" นักษัตรคือ แพะ ในภาษาจีนเรียกว่า "หยาง", ปีวอก-ลิง เรียกว่า "โหวเหนียน" และใช้ "โหวจื่อ" หรือลิง เป็นสัญลักษณ์, "จีเหนียน" ตรงกับปีระกา และมีไก่ หรือ "จี" เป็นนักษัตร, ปีจอ คือ "โก่วเหนียน" แน่นอนว่าสัญลักษณ์เป็น "โก่ว" หรือสุนัข และปีกุน-หมู เรียกว่า "จูเหนียน" และมี "จู" ซึ่งหมายถึงหมูอู๊ดๆ เป็นสัตว์สัญลักษณ์

ส่วนปีนักษัตรในสไตล์มลายูเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อ ตอนหน้า

    ปีนักษัตรมาเลย์ (มลายู)

นอกจากมาเลเซียจะใช้ปีนักษัตรแบบจีนแล้ว ชาวมลายูซึ่งเป็นประชากรหลักในมาเลเซียยังมีชื่อเรียกปีเหล่านี้ต่างออกไปด้วย

เริ่มจากปีชวด "ตาฮนตีกุส" มีหนู หรือ "ตีกุส" เป็นสัญลักษณ์, ปีฉลู คือ "ตาฮนลูมู" มาพร้อมนักษัตรเคี้ยวเอื้องอย่างวัว ซึ่งภาษามลายูเรียกว่า "เลิมบู" หรือ "ลือมู"

"ตาฮนรีเมา" ตรงกับปีขาล มี "ฮารีเมา" ที่แปลว่าเสือเป็นสัตว์ประจำปี ปีเถาะ คือ "ตาฮนอัรนะ" ใช้ "อัรนับ" หรือกระต่ายเป็นสัญลักษณ์

ปีมะโรง-งูใหญ่ ชาวมาเลย์เรียกว่า "ตาฮนอูลาบือซา" สัตว์ประจำปี คือ "มาฆอ" หรือมังกร ส่วนปีมะเส็ง-งูเล็ก ที่มี "อูลา" หรืองูเป็นสัญลักษณ์ เรียกว่า "ตาฮนอูลากจิ"

"ตาฮนกูดอ" ตรงกับปีมะเมีย-ม้า หรือ "กูดา" ปีมะแมเรียกว่า "ตาฮนกาเม็ง" กับสัตว์ประจำปีเป็นแพะ "กัมปิง" หรือ "กาเม็ง" ปีวอก คือ "ตาฮนกือรอ" ใช้ลิง หรือ "กือรอ" เป็นสัญลักษณ์

"ตาฮนอาแย" ตรงกับปีระกา-ไก่ ในภาษามลายูเรียกว่า "อาแย" หรือ "อายัม" ปีจอ คือ "ตาฮนอายิง" มีสุนัข "อันยิง" หรือ "ฮาญิง" เป็นนักษัตร และปีกุนเรียกว่า "ตาฮนบาบี" มี "บาบี" ที่แปลว่าหมูเป็นสัญลักษณ์



ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
3024  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เรือนไทย ๔ ภาค และคติความเชื่อเรื่องการปลูกสร้างบ้าน เมื่อ: 12 กันยายน 2559 13:51:46


บ้านกระเหรี่ยง

บ้านดั้งเดิมในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ลักษณะเด่นของบ้านชาวกะเหรี่ยงคือสร้างจากไม้ไผ่และไม้ท่อนเป็นหลัก ส่วนใหญ่มีใต้ถุนสูง หลังคาลาดเอียงแต่ไม่สูงแหลมแบบบ้านท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

บ้านชาวกะเหรี่ยงช่วงแรกเริ่มสร้างตั้งแต่ ๑,๑๒๕ ปีก่อนคริสตกาล ยาวมาจนถึงปี ค.ศ.๑๙๑๑ ระยะแรกนี้เรียกได้ว่าเป็นบ้านโบราณชาวกะเหรี่ยงของจริง

ส่วนยุคใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๑๑ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นบ้านที่ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพ

โครงสร้างบ้านของ "กะเหรี่ยงสะกอ" นิยมทำเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหนึ่งมีเฉลียง ระเบียง หรือนอกชานขนาดกว้างสำหรับทำอาหาร บันไดขึ้นเรือนต้องวางไว้เฉพาะทิศตะวันออกหรือตก

ขณะที่บ้าน "กะเหรี่ยงโปว์" มีรูปทรงไม่สมมาตร นิยมสร้างลานโล่งแจ้งไว้ในบ้าน ส่วนบ้าน "กะเหรี่ยงแบ" จะตั้งบันไดขึ้นเรือนไว้กลางบ้าน ต่างจากกะเหรี่ยงสะกอที่วางไว้ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

ความคล้ายคลึงของบ้านชาวกะเหรี่ยงทั้ง ๓ ชนเผ่าหลัก คือมีหน้าต่างน้อยมาก เพียง ๒-๓ บานหรือแค่บานเดียว สันนิษฐานว่าเพื่อความปลอดภัยในทรัพย์สินรวมถึงป้องกันภัยจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุก
  ข้อมูล-ภาพ : ข่าวสดออนไลน์
3025  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: คติ-สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย เมื่อ: 11 กันยายน 2559 18:01:47
.
            
คติ - สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมไทย

http://i1081.photobucket.com/albums/j359/pipat55/DSC_000421232.jpg


สำนักสงฆ์

นายอุดมศักดิ์ ชูโตชนะ นักวิชาการศาสนาปฏิบัติการ สถาบันสังฆาธิการ อธิบายคำว่า สำนักสงฆ์ไว้ดังนี้

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๕๐๔ แก้ไข ๒๕๓๕ มาตรา ๓๑ กำหนดให้วัดมี ๒ อย่าง คือ วัดที่มีวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ แต่มิได้บัญญัติคำว่าสำนักสงฆ์หมายถึงสิ่งใด

แต่ในพระราชบัญญัติลักษณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๒ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ว่า วัดมี ๓ อย่าง

พระอารามหลวง อารามสงฆ์ (หรือที่เราเรียกกันว่าวัดราษฎร์) และสำนักสงฆ์

สำนักสงฆ์หมายถึงวัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (หรือหมายถึงว่า ที่พำนักสงฆ์ หมายถึงสถานที่พำนักพักพิงชั่วคราวของภิกษุสามเณร ซึ่งยังมิได้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่พักสงฆ์ มิได้หมายถึงสำนักสงฆ์)

ดังนั้นจึงดูสับสนระหว่างคำว่า สำนักสงฆ์กับที่พักสงฆ์ อยู่ตรงที่ว่าสำนักสงฆ์คือที่อยู่ของสงฆ์ซึ่งกำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นวัดจากกระทรวงศึกษาฯ และเมื่อได้รับวิสุงคามสีมาก็เรียกว่าวัด

ส่วนที่พักสงฆ์เป็นที่พักชั่วคราว เช่น พำนักอยู่ตามถ้ำ ตามเรือนว่าง

ปัจจุบันมีสำนักสงฆ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งถูกต้องไม่ถูกต้อง ตั้งอยู่ในป่าเขา ท้องทุ่ง ที่สาธารณะ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติก็มี และเมื่อมิได้ขอตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นเพียงที่พักพิงของสงฆ์ สถาปัตยกรรมหรือรูปแบบก็แตกต่างไปตามมโนคติ ความเชื่อปนเปกันไป พุทธบ้างผีบ้าง อาจริยวาท บ้าง

ไม่มีคติสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นที่สังเกตชัด





พระธาตุ กู่

คําว่าธาตุ ในความ หมายของผู้คนในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน หมายถึง พระอัฐิพระพุทธเจ้า ในพจนานุกรมฉบับมติชนให้ความหมายว่า ธาตุ หมายถึง กระดูกพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ เรียกโดยรวมว่า พระธาตุ พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ

เพราะฉะนั้น พระธาตุในทางสถาปัตยกรรมก็คือเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิของพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ และพระบรมธาตุหรือพระมหาธาตุบ่งชัดว่าหมายถึงที่บรรจุพระอัฐิพระพุทธเจ้า โดยส่วนที่บรรจุพระอัฐินั้น เรียกว่า ธาตุตรรถา ซึ่งมักจะอยู่ภายในโครงสร้างส่วนที่อยู่เหนือฐานหรือส่วนกลางที่บัลลังก์หรือแท่น หรือความหมายคือส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างโลกและสังสารวัฏ

ส่วนคำว่า กู่ หมายถึงสถูปที่บรรจุอัฐิของพระมหากษัตริย์ หรือพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี หรือบุคคลสำคัญ

นอกจากพระธาตุที่เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ อัฐิธาตุของพระอรหันต์และรวมทั้งบางครั้งเป็นสถูปที่เก็บอัฐิของพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ในคติและความหมายในทางสถาปัตยกรรมแล้ว พระธาตุยังหมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์หรือโครงสร้างของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุ (คือตัวองค์สถูปหรือเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) ส่วนกุฏิน่าจะหมายถึงอนุทวีปที่ล้อมรอบศูนย์กลางของจักรวาล

การสร้างพระธาตุหรือกู่ก็มุ่งหมายถึงทัศนคติว่า อัฐิของพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้เก็บบรรจุไว้ในศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือในความเชื่อทางฝ่ายมหายานก็คืออยู่ในศูนย์กลางของพุทธเกษตรหรือมันดาละ

ส่วนคำว่า ธาตุ ที่ชาวบ้านในภาคอีสานเรียกขาน ธาตุคือ สถูปที่ใช้เก็บอัฐิของบุคคลธรรมดา อาจสร้างให้มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ มีโครงสร้างเป็นก่ออิฐถือปูนหรือทำด้วยไม้เป็นทรงสี่เหลี่ยม แกะสลักให้มียอด ส่วนกลางแกะเป็นช่องสำหรับเก็บโถหรือโกศไว้ภายในสำหรับชาวบ้านทั่วไป





วัดร้าง

จากแนวคติตรีกายของพระพุทธเจ้า ในฝ่ายมหายานที่ศิลปินหรือผู้สร้างพระพุทธรูปได้สร้างพระพุทธรูปเป็น ๓ องค์ ที่มีความหมายของความเป็นพระพุทธเจ้าที่ประกอบด้วยธรรมกายหรือสภาวะธรรม สมโภคกายหรือกายที่เป็นทิพยภาวสำหรับการแสดงธรรมแก่พระโพธิสัตว์ และกายที่เป็นสังขารของมนุษย์ ๓ องค์ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของฝ่ายมหายานที่บางครั้งมีผู้แปลความว่า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือบางครั้งก็จะแปลความหมายของพระพุทธรูป ทั้ง ๓ องค์ ประกอบด้วย พระอมิตาภพุทธ พระสมณโคดม และพระไภสัชยคุรุ หรือพระศรีอารยเมตไตรย

ในฝ่ายเถรวาท ปรากฏว่าพระอุโบสถบางแห่งก็ปรากฏพระประธาน ๓ องค์ เช่น พระอุโบสถวัดพนัญเชิง วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา

พระประธานในพระอุโบสถ วัดพนัญเชิงนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ ๓ องค์ คือ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปูน และพระพุทธรูปนาก พระพุทธรูปทองเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำจากทองสัมฤทธิ์ มีสีทองอร่ามใส องค์กลางเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา ส่วนพระพุทธรูปนากเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยจะมีสีออกแดงๆ

ประเด็นความเห็นในพระประธาน ๓ องค์ ของฝ่ายเถรวาท ที่ปรากฏอาจจะสืบทอดมาจากแนวคิดฝ่ายมหายาน เพราะมหายานนั้นเข้ามาในสุวรรณภูมิก่อนเถรวาท แต่ภายหลังเมื่อฝ่ายเถรวาทตั้งมั่นในสุวรรณภูมิแล้วคติตรีกายดังกล่าวน่าจะเปลี่ยนไปเพราะคำว่า ตรีกายไม่มีอยู่ในเถรวาท

ดังนั้นพระประธานทั้ง ๓ องค์ ในพระอุโบสถ น่าจะเป็นคติ ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า ๓ จำพวก ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองและสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้ด้วยตนเองแต่มิได้สอนผู้อื่น พระอนุพุทธเจ้า คือ บุคคลที่ตรัสรู้เนื่องด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม





ราชวรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับที่ ๑ ได้แก่วัดที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรมหาวิหาร ซึ่งบรรยายไว้ในสัปดาห์ก่อน

ในสัปดาห์นี้จึงบรรยายวัดพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๒ คือ พระอารามหลวงที่มีนามต่อท้ายชื่อวัดว่า ราชวรวิหาร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๕ วัด ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และวัดราชโอรสาราม

พระอารามหลวงลำดับราชวรวิหารก็มีความหมายเช่นเดียวกับพระอารามหลวงลำดับราชวรมหาวิหาร คือ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ หรือมี ผู้สร้างถวายเป็นวัดหลวงหรือเป็นวัดที่ผู้สร้างขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง

ต่างกับพระอารามหลวงลำดับที่ ๑ ราชวรมหาวิหาร คือ พระอารามหลวงชั้นราชวรวิหารมีสิ่งปลูกสร้างเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นเอกลำดับที่ ๑ ส่วนใหญ่เป็นวัดที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์วัดเก่าขึ้นเป็นวัดใหม่ ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา

ฐานานุรูปฐานานุศักด์ของวัด ดูจากหลังคา อาจมีหลังคาซ้อนกัน ๔ ชั้น หรือ ๔ ตับ หรือ ๓ ชั้น ๓ตับ ก็ได้

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ แผนผังของวัดจะสะท้อนความคิดของจักรวาลทัศน์ในส่วนของพุทธาวาส อันมีเขาพระสุเมรุ คือพระเจดีย์เป็นศูนย์กลางล้อมรอบด้วยอนุทวีปทั้ง ๔ และพระอุโบสถมักจะอยู่ทิศใต้ อันหมายถึงชมพูทวีป อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น





ลำดับชั้นวัด

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในไทย แบ่งลำดับชั้นของวัดไว้หลายลำดับ ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดระเบียบพระอารามหลวง

จากข้อมูลในวิกิ พีเดีย บันทึกไว้ดังนี้ พระอารามหลวงชั้นเอก แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ
๑.ราชวรมหาวิหาร
๒.ราชวรวิหาร
๓.วรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ ๑.ราชวรมหาวิหาร ๒.ราชวรวิหาร ๓.วรมหาวิหาร ๔.วรวิหาร

พระอารามหลวงชั้นตรี แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑.ราชวรวิหาร ๒.วรวิหาร ๓.สามัญ ไม่มีสร้อยต่อท้ายชื่อ

การลำดับชั้นของวัดนอกจากเป็นลำดับตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลำดับไว้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอารามหลวงชั้นเอก ซึ่งหมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ สิ่งปลูกสร้างมีขนาดใหญ่โตสมพระเกียรติ และหมายถึงวัดที่มีเจติยสถานสำคัญ เป็นวัดที่บรรจุพระบรมอัฐิหรืออัฐิที่มีเกียรติอย่างสูง และมีเจ้าอาวาสเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่

๔ วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นวัดที่อยู่ในเขตฝั่งกรุงเทพมหานคร และสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนวัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่มีมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่เขตฝั่งธนบุรี มีพระปรางค์วัดอรุณเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า วรมหาวิหาร

วัดลำดับราชวรมหาวิหารอีก ๒ วัด ได้แก่ วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรม เมื่ออยุธยาเป็นราชธานี ส่วนวัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็นวัดเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ มีพระปฐมเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า มหาวรวิหาร เช่นเดียวกับวัดอรุณราชวราราม

ลักษณะสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่บ่งชี้ชัดลักษณะของพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร นอกจากมีขนาดใหญ่โตแล้ว ก็คือการสร้างหลังคาซ้อนกัน ๔ ตับ หรือ ๔ ชั้น และ ๔ ระดับ เป็นลักษณะสำคัญตามรูปที่นำมาประกอบ คือ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ มีหลังคาซ้อนกันตามลำดับดังกล่าว



ลำดับชั้นของวัด

เรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาอันเป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือเรื่องของการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การจะแต่งตั้งพระสังฆราชมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าเป็นอย่างไร จะนับสมณศักดิ์ก่อนหรือจะนับพรรษาก็ว่ากันไป การประชุมมหาเถรสมาคมก็ได้ข้อสรุปกันไปแล้วว่าเป็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง)

มีคำถามว่า พระอารามหลวงหมายความว่าอย่างไร วัดในพระพุทธศาสนามีลำดับชั้นกันอย่างไร

ลำดับชั้นของวัดในพระพุทธศาสนาในประเทศไทยกำหนดลำดับไว้หลายระดับ โดยที่แต่เดิมยังไม่มีการแบ่งพระอารามหลวงอย่างเป็นทางการ

ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ (๑๐๐ ปีผ่านมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระอารามหลวงอย่างเป็นระบบ)

ในวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี มีเรื่องราวของการจัดลำดับชั้นของวัดไว้ว่า "ในครั้งนั้น วัดที่จัดว่าเป็นพระอารามหลวงนั้น คือวัดอันสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้าง ทรงปฏิสังขรณ์ เป็นส่วนพระองค์หรือในนามท่านผู้อื่น และอารามอันพระบรมวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ สร้างปฏิสังขรณ์ทรงรับไว้ในความบำรุงของแผ่นดิน ภายหลังจึงหมายรวมถึงวัดราษฎร์ที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์แล้วทรงพิจารณาเห็นสมควรยกย่องเป็นพิเศษก็ทรงรับไว้เป็น พระอารามหลวง"

ในทางสถาปัตยกรรมนั้น วัดหรือพระอารามหลวงนั้นจะมีรูปแบบที่เรียกว่าฐานานุรูปฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป

ตอนต่อไปจะอธิบายประกอบรูปวัด โบสถ์ วิหารที่แสดงฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรม ของลำดับชั้นของวัด





ลำดับชั้น วัดพระอารามหลวง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร ความหมายของคำว่า วรมหาวิหาร

   วร - พจนานุ กรมไทย แปลว่า ยอดเยี่ยม ประเสริฐ เลิศ
   มหา - ยิ่งใหญ่
   วิหาร - วัด หรือที่อยู่ของพระสงฆ์ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป

เพราะฉะนั้น วรมหาวิหาร จึงมีความหมายรวมว่า วัดหรือที่อยู่ของพระสงฆ์หรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ยอดเยี่ยมอันประเสริฐยิ่ง

พระอารามหลวงชั้นเอก ลำดับ ๓ ชนิดวรมหาวิหาร มีรายชื่อในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อยู่ ๗ วัด คือ
๑.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
๒.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
๓.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
๔.วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
๕.วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร
๖.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
๗.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

คติสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การแปลความหมายของคำว่า มหาธาตุ หรือบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง อัฐิของพระพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานในที่นั้น ซึ่งมักจะสร้างเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่แล้วจึงกำหนดลำดับของวัดให้วัดที่มีเจดีย์ขนาดใหญ่และงดงามว่า วรมหาวิหาร

ตัวอย่างในภาพข้างบนนี้ คือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่มีพระธาตุเป็นพระปรางค์เจดีย์สีทองที่อยู่กลางวิหารและประดิษฐานพระพุทธรูปและวิหารคด ในคติพระมหาธาตุเป็นดั่งเขาพระสุเมรุล้อมเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์





วัดพระอารามหลวง ชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับราชวรวิหาร คือ พระอารามหลวง เป็นวัดที่มีเจดียสถาน (ที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า) หรือมีพระพุทธรูปสำคัญ

ปัจจุบันมี ๑๘ วัด ได้แก่ ๑.วัดมกุฏกษัตริยาราม ๒.วัดราชบูรณะ ๓.วัดราชาธิวาสวิหาร ๔.วัดเทพศิรินทราวาส ๕.วัดโสมนัสวิหาร ๖.วัดปทุมคงคา ๗.วัดบรมนิวาส ๘.วัดโมลีโลกยาราม ๙.วัดหงส์รัตนาราม ๑๐.วัดราชสิทธาราม ๑๑.วัดสุวรรณาราม ๑๒.วัดชัยพฤกษมาลา ๑๓.วัดพระธาตุดอยสุเทพ ๑๔.วัดเขมาภิรตาราม ๑๕.วัดชุมพลนิกายาราม ๑๖.วัดคงคาราม ๑๗.วัดมหาสมณาราม ๑๘.วัดไพชยนต์พลเสพย์

ทั้งหมดนี้เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๕ วัด อยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๑ วัด ที่เหลือเป็นวัดเก่าที่มีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ ๑๒ วัด อยู่ฝั่งธนบุรี ๕ วัด เช่น วัดโมลีโลกยาราม ฝั่งธนบุรี และวัดหงส์รัตนารามที่มีมาสมัยอยุธยา และเป็นพระอารามหลวงประจำพระบรมราชวัง พระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน

คติและสัญลักษณ์ของพระอารามหลวงชั้นโท นอกจากจะเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่แล้ว ยังแบ่งส่วนของพุทธาวาสกับสังฆาวาสอย่างชัดเจน ตัวพระอุโบสถหรือวิหารก็ยังคงมีหลังคา ๓ ตับ ๓ ระดับ เช่นพระอารามหลวงชั้นโททั่วไป

ข้อสังเกตสำคัญก็คือ วัดพระอารามหลวงชั้นโทยังคงมีรูปแบบของจักรวาลทัศน์ที่ชัดเจนคือ มีเจดีย์เป็นศูนย์กลางอยู่ด้านหลังพระวิหารและมีพระอุโบสถอยู่ด้านหลังของพระเจดีย์ เช่น วัดมกุฏกษัตริย์ และวัดโสมนัสวิหาร





พระอารามหลวงชั้นโท

พระอารามหลวงชั้นโท แบ่งเป็น ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร วรวิหาร

วัดพระอารามหลวงชั้นโท ระดับราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีพระอารามหลวง มีรายชื่อเพียง ๒ วัด คือ วัด สระเกศราชวรมหาวิหาร และ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร

ทั้งสองวัดเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา และได้บูรณะเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่สำคัญก็คือ มีเจดีย์สถานที่สำคัญ เช่น วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มีเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ขุดพบจากประเทศอินเดีย และรัฐบาลอังกฤษได้ถวายให้สมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การบูรณะวัดสระเกศเริ่มในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่อจากชื่อเดิมชื่อ วัดสระแก เป็นวัดสระเกศ เพราะได้จัดพิธีมุทธาภิเษกที่วัดนี้ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างภูเขาทองหรือสุวรรณบรรพตขึ้น กำหนดให้มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ย่อมุมสิบสอง แต่มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างฐานราก จึงเริ่มต้นปรับรูปแบบและปรับโครงสร้างใหม่เป็นการสร้างเป็นภูเขาและมีเจดีย์เป็นส่วนยอด ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้มีการซ่อมบำรุงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มฐานของภูเขาทองขึ้นใหม่

ส่วนวัดชนะสงคราม เดิมชื่อวัด กลางนา อยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นชุมชนชาวมอญ เรียกอีกชื่อว่าวัดตองปุ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่และถวายวัดนี้ให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สมญานามว่าวัดชนะสงคราม เพราะทุกครั้งก่อนออกรบ กรมพระราชวังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จมาสักการะพระประธานในพระอุโบสถวัดนี้ และได้รับชัยชนะทุกครั้ง

คติและสัญลักษณ์วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังคงมีลักษณะเช่นวัดหลวงทั่วไป ต่างกันกับวัดหลวงอื่นที่องค์ภูเขาทองที่หมายถึงศูนย์กลางของจักรวาลทัศน์ หรือสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ด้านนอกกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถ และพระวิหารขนาดใหญ่จึงมีรูปแบบของหลังคาที่ยังคงมี ๔ ตับเช่นเดียวกับวัดหลวงทั่วไป

ส่วนคติและสัญลักษณ์วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารก็คือ ความใหญ่โตของพระอุโบสถที่ยังคงมีหลังคาพระอุโบสถอยู่ ๔ ตับเช่นเดียวกัน





พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร

คําว่า วรวิหาร มีความหมายดังนี้

วร ประเสริฐวิหาร อาคารหรือที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันสำคัญหรืออาคารที่ใช้เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า หรือพระสงฆ์

วรวิหาร ก็คือ ที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญ เช่น วิหารวัดสุทัศน์ เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี หรือเป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้าหรือพระสงฆ์ทั่วไป เช่น วัดเชตวันวรวิหาร เป็นต้น

พระอารามลำดับวรวิหารนี้หมายถึง พระอารามหรือวัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่น หรือหมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสที่มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป

ปรากฏนามชื่อพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหารมีดังนี้ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดบรมธาตุวรวิหาร (จังหวัดชัยนาท) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร (จังหวัดราชบุรี) วัดทรงธรรมวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดกลางวรวิหาร (จังหวัดสมุทรปราการ) วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร (จังหวัดสมุทรสงคราม)

 คติและสัญลักษณ์ของลักษณะวัดพระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรวิหาร เนื่องจากวัดในลำดับนี้มีพื้นที่และพระอารามมีขนาดเล็กกว่าพระอารามหลวงชั้นโทที่สูงกว่า ลำดับของตับหลังคาจึงลดลงเป็นหลังคาที่มีตับหลังคาไม่เกิน ๓ ตับ

ตามตัวอย่างพระอารามหลวงชั้นโทลำดับวรวิหาร ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นต้น




พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงชั้นโท ลำดับวรมหาวิหาร เป็นวัดหลวงที่มีรูปแบบคล้ายกับพระอารามหลวงชั้นโทลำดับราชวรวิหาร ปัจจุบันมีพระอารามหลวงลำดับนี้อยู่ ๓ วัด คือ

๑.วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดนางปลื้มมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาเรียกว่าวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ มีมาแต่สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และจัดให้มีสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการขุดพบระฆังโบราณในวัด จึงเรียกกันว่าวัดระฆัง

ในวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ พระอุโบสถและหอไตรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง และตำหนักทองที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)  หอไตรเป็นเรือนไม้แฝด ๓ หลัง ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ สิ่งสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนก็คือ เป็นวัดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี จำพรรษา ณ วัดนี้ และได้สร้างพระสมเด็จอันเป็นพระเครื่องที่เป็นที่พุทธศาสนิกชนอยากมีเก็บไว้บูชามากที่สุด

๓.วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต แซ่อึ่ง หรือโต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้าน ที่ดินและ ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงอุทิศถวายเป็นวัดให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่ได้ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษคือมีหลังคา ๔ ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ พร้อมสร้างพระประธานพระราชทาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ พระพุทธรูปไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง อยุธยา

ตัวพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคา ๓ ตับ หน้าบันประดับปูนปั้นลายดอกไม้ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวในประเทศ

บริเวณรอบวัดปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตริมน้ำที่สำคัญ



 

พระอารามหลวง ชั้นตรี

พระอารามหลวงชั้นตรี ขึ้นเป็นวัดที่ได้รับพระราชทานให้เป็นพระอารามหลวง หมายถึงวัดที่มีเกียรติ หรือวัดสามัญที่เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไปในลำดับพระครูสัญญาบัตร ซึ่งมี ๔ ระดับคือ พระครูชั้นพิเศษ ถึงลำดับพระครูสัญญาบัตร (ชั้นผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดราษฎร์) มีอยู่ ๓๕ ลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากจะยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นวัดหลวงจำเป็นต้องดำเนินการโดยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะดำเนินการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรเป็นเจ้าการ ปฏิบัติการตามระเบียบปฏิบัติกรรมการวัดราษฎร์เป็นวัดหลวง เพื่อขอให้กระทรวงศึกษาธิการขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวงต่อไป

พระอารามหลวงชั้นตรี ยังคงมีลำดับชั้น ราชวรวิหาร วรวิหาร และชั้นสามัญ

ในปัจจุบันพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารจะเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสี หรือรัชทายาททรงสร้างหรือพระราชทานให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมี ๔ วัด ได้แก่ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชววิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

คติและสัญลักษณ์ที่นับเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ลำดับราชวรวิหารก็คือ เช่น มีตับหลังคาพระอุโบสถหรือวิหารได้ตั้งแต่ ๓ ตับ ถึง ๔ ตับ เช่น มีกำแพงแก้วหรือวิหารคดล้อมรอบเขตพุทธาวาสชัดเจน เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร





พระอารามหลวงชั้นตรี

เพิ่มเติมพระอารามหลวงชั้นตรีระดับราชวรวิหาร จากวันอาทิตย์ที่แล้ว นอกจากวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร วัดบวรมงคลราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร ยังมีอีก ๑ วัด คือ วัดกวิศรารามราชวรวิหาร จ.ลพบุรี

สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของพระอารามหลวงชั้นตรีลำดับวรวิหาร หมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีหรือสมเด็จพระยุพราชทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานเป็นเกียรติแก่ผู้อื่นและมีเจ้าอาวาสเป็นพระครูชั้นสูงขึ้นไป สมณศักดิ์ระดับพระครูมีสัญญาบัตรเป็นเครื่องกำหนดราชทินนาม

พระครูสัญญาบัตรมี ๔ ชั้น คือ ๑.ชั้นพิเศษ ๒.ชั้นเอก ๓.ชั้นโท ๔.ชั้นตรี ซึ่งทุกระดับชั้นมีฐานะที่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงได้ทั้งสิ้น

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ปัจจุบันมีอยู่ ๓๙ วัด ตัวอย่างพระอารามหลวงระดับนี้ เช่น วัดราชนัดดาวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างและพระราชทานเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

คติสัญลักษณ์ก็คือ พระอารามหลวงชั้นตรีระดับวรวิหาร ถ้าเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์จะมีพระอุโบสถหรือพระวิหารขนาดใหญ่ หลังคา ๓ ตับ หรือ ๔ ตับ แต่จะไม่เคร่งครัดในแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์ในการวางผังนัก

แต่ถ้าเป็นวัดราษฎรซึ่งขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง จะมีพระอุโบสถหรือวิหารไม่ใหญ่และมักจะไม่ถือแนวความคิดเรื่องจักรวาลทัศน์เป็นสำคัญ เช่น วัดมณีบรรพตวรวิหาร จ.ตาก



 

พระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ

พระอารามหลวงลำดับสุดท้าย ที่เรียกว่าพระอารามหลวงชั้นตรี ระดับสามัญ ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ หรือวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญ หรือวัดประจำหัวเมืองที่มิใช่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี หรือพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์หรือวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และพระมหากษัตริย์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง ยกเป็นเกียรติและมีลักษณะที่มิใช่วัดที่มีพระอารามใหญ่โตหรือก่อสร้างใหญ่โต

พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญมีกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีประมาณ ๖๙ วัด ชื่อวัดหลวงระดับนี้จะไม่มีสร้อยต่อท้าย เช่น วัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่เสนาบดี ๓ ท่าน สมัยรัชกาลที่ ๓ ปฏิสังขรณ์ วัดเดิมชื่อวัดสัก แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ และได้รับพระราชทานรับไว้เป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑

คติสัญลักษณ์พระอารามหลวงชั้นตรีระดับสามัญ ส่วนใหญ่จะมีอุโบสถหรือวิหารขนาดเล็กย่อม หลังคา ๒ ตับหรือ ๓ ตับ แต่จะแบ่งแยกบริเวณพุทธาวาสกับสังฆาวาสออกจากกันเด่นชัด

ลำดับการตั้งพระอุโบสถกับเจดีย์จะไม่นับเอาคติจักรวาลทัศน์ (ที่พระเจดีย์เป็นศูนย์กลาง) อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นเรื่องสำคัญ


โดย ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
หนังสือพิมพ์ข่าวสด


3026  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:51:14



แก้ปัญหาด้วยปัญญา

สมัยเป็นเณรน้อยเรียนนักธรรมบาลี อ่านคัมภีร์ชาดกเรื่อง "มโหสถชาดก" รู้สึกประทับใจในความเฉลียวฉลาดของเด็กน้อยโพธิสัตว์ นามว่า "มโหสถ" จนบัดนี้ก็ยังจำได้ไม่ลืม

มาถึงยุคลูกชายยังเล็กอยู่ มีการ์ตูนเณรน้อย "อิกคิวซัง" ของญี่ปุ่นออกมา เด็กๆ ติดเป็นแถว ต่างยกนิ้วให้ว่าเณรน้อยอิกคิวซังฉลาดเหลือเกิน

แต่ความฉลาดของมโหสถ เป็นการให้เหตุผลพิจารณาเรื่องราวตามเป็นจริง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตามควรแก่เหตุการณ์นั้นๆ วิธีการแก้ปัญหามีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แล้วแต่ลักษณะของปัญหา ทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น

เรื่องมโหสถนั้น ชี้ไปที่การรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน เกิดอะไรขึ้นให้มองตามเป็นจริง สืบสาวหาต้นตอและพยายามหาทางแก้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นการฝึกปัญญาอย่างดียิ่ง

ยกตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่งมีหญิงชาวบ้านอุ้มลูกเล็กเดินไปพบนางยักษิณีปลอมมาในร่างมนุษย์ ขออุ้มเด็กบ้าง พอได้เด็กจากมือแม่แล้วก็วิ่งหนี

แม่เด็กร้องโวยวาย ชาวบ้านช่วยกันรุมล้อมนางยักษิณีนั้นไว้ ทั้งสองคนต่างเถียงกันว่าเด็กน้อยเป็นลูกของตน

ชาวบ้านไม่มีใครตัดสินได้ มโหสถน้อยผ่านมาพบเข้า จึงอาสาช่วยตัดสิน มโหสถถามว่า ท่านทั้งสองต่างก็อ้างว่าเป็นแม่เด็ก ท่านทั้งสองจะพิสูจน์ความจริงไหม หญิงทั้งสองตกลงให้มโหสถตัดสิน

มโหสถบอกให้หญิงทั้งสองแย่งเด็กเอาเอง คนหนึ่งจับหัว อีกคนหนึ่งจับแขนแล้วให้ดึง ถ้าใครดึงชนะก็แสดงว่าคนนั้นเป็นแม่เด็ก

ทั้งสองดึงเด็กน้อยไปมาคนละทางอยู่พักหนึ่ง เด็กน้อยร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวด หญิงชาวบ้านผู้เป็นแม่เด็กปล่อยมือ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอย่างน่าสงสาร

นางยักษิณีในร่างมนุษย์แย่งได้เด็ก ยิ้มกริ่มด้วยความดีใจ ร้องบอกฝูงชนว่า เห็นไหมๆ ข้าบอกว่าเด็กน้อยคนนี้เป็นลูกของข้าก็ไม่มีใครเชื่อ

มโหสถน้อยกล่าวว่า "ข้านี่แหละ ไม่เชื่อเจ้า"

"อ้าว ท่านบอกแต่แรกแล้วมิใช่หรือว่า ใครแย่งเด็กได้คนนั้นคือแม่เด็ก ก็ข้าแย่งได้แล้วนี่ พิสูจน์เห็นแล้ว" นางยักษิณีกล่าว

มโหสถกล่าวว่า "นั่นเป็นกุศโลบายของข้า เพื่อลวงให้ "ธาตุแท้" ของแต่ละคนปรากฏออกมา บัดนี้ความจริงก็ได้ปรากฏแล้ว ผู้หญิงคนที่ปล่อยมือแล้วยืนร้องไห้อย่างน่าสงสารนั้น คือแม่ที่แท้จริงของเด็ก

มโหสถอธิบายว่า แม่ย่อมรักและสงสารลูก เมื่อเห็นลูกร้องไห้จ้าด้วยความเจ็บปวดทรมาน เพราะถูกแย่งดึงไปมา แม่อดสงสารลูกไม่ได้จึงปล่อยมือ ร้องไห้

ส่วนคนที่มิใช่แม่ไม่มีความผูกพันลึกซึ้งเช่นนั้น จึงมิได้มีแม้ความสงสาร อาจเป็นยักษ์มารที่ไหนปลอมมาก็ได้

ได้ยินดังนั้น นางยักษ์จำแลงก็สำแดงร่างจริงให้ปรากฏ จริงดังมโหสถทำนายไม่ผิดเพี้ยน

ยกเรื่องมโหสถขึ้นมากล่าวนี้เพื่อจะบอกว่า การดำเนินชีวิตนั้นต้องใช้ปัญญามิใช่น้อยจึงประสบความสำเร็จ เพียงความขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน สร้างเนื้่อสร้างตัวอย่างเดียวหาเพียงพอไม่

ขาดปัญญาเสียแล้ว ถึงจะขยันอย่างไรก็ยากที่จะสำเร็จ หรือสำเร็จก็สำเร็จไม่เต็มที่

มีคนเห็นพระหนุ่มรูปหนึ่ง ขึ้นไปนั่งกรรมฐานบนต้นไม้ทุกวัน ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง หวังจะได้บรรลุธรรม อาจารย์กรรม ฐานชื่อดังรูปหนึ่งผ่านมาพบเข้า

ร้องบอกว่า "ถึงคุณจะขยันนั่งบนต้นไม้จนกลายเป็นลิง ก็ไม่มีทางบรรลุดอก" พระหนุ่มก็ได้สติในความโง่เขลาของตน

ครับ ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดด้วย





สู้ด้วยความพากเพียร

มีคนนิยามความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ผมขอแถมอีกนิดว่า สู้แล้วต้องให้ชนะด้วย

จริงอยู่ในสังเวียนแห่งการต่อสู้ ย่อมมีทั้งแพ้และชนะแต่นักสู้ต้องมุ่งเป้าไปที่ชัยชนะ แพ้น่ะได้ แพ้บ่อยๆ ก็ได้อีกเหมือนกัน แต่ในที่สุดเราต้องเอาชัยชนะให้ได้!

ทุกคนมีสิทธิ์สะดุดล้ม แต่ล้มแล้วนอนเป็นเรื่องน่าตำหนิ ล้มแล้วรีบลุกขึ้นเดินต่อไปสิ คนเขายกย่องสรรเสริญ

ในประเทศญี่ปุ่น เขามีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่ง คือเขาจะนำ "ตุ๊กตาล้มลุก" ไปมอบให้แก่กัน ในโอกาสสำคัญๆ เช่นวันเกิด หรือปีใหม่อะไรนี่ผมก็จำไม่ถนัด แต่จำได้ว่า เขามอบตุ๊กตาล้มลุกให้กัน

ตุ๊กตานั้นเดินไปได้หน่อยแล้วก็ล้ม แล้วก็ลุกเดินต่อไป ล้มลุก ล้มลุก อยู่อย่างนี้ ดูกันเล่นสนุกๆ ก็ได้ ดูให้ดีให้เกิดปรัชญาชีวิตก็ได้

คือเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่ายอมหยุดหรือเลิกรา ล้มแล้วให้ลุกเดินต่อไป อย่านอนแผ่หลาอย่างคนหมดท่าในชีวิต เพราะญี่ปุ่นเขามี "ปรัชญาชีวิต" อย่างนี้ เขาจึงพัฒนาก้าวไกลไปสุดกู่ เมื่อคราวแพ้สงคราม ญี่ปุ่นย่อยยับไม่มีดี แต่ไม่กี่ปีให้หลังก็ฟื้นตัวและพัฒนาล้ำหน้าประเทศอื่นๆ เดี๋ยวนี้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่น่ากลัวที่สุดในโลกไปแล้ว

เพราะพี่ยุ่นแกถือปรัชญา ล้มแล้วลุก ดังเช่นตุ๊กตาล้มลุกนั่นแหละครับ

การล้มแล้วลุกแล้วๆ เล่าๆ ถ้าถอดเป็นธรรมะก็ได้แก่ความพากเพียรนั่นเอง พระท่านเรียกว่า "วิริยะ" บ้าง "วิริยา-รัมภะ" บ้าง

ความพากเพียร ไม่ได้หมายถึงทำอะไรหามรุ่งหามค่ำ ไม่รู้จักพักผ่อน อย่างคนเรียนหนังสือ นั่งอ่านนั่งท่องอยู่นั่นแล้วตั้งแต่เช้ายันดึก ไม่กิน ไม่นอน อย่างนี้เขาเรียกว่า "หัก-โหม" มิใช่ความพากเพียร ขืนทำอย่างนี้ ไม่เกินสี่ห้าวันโรคประสาทกินตาย

ความพากเพียรไม่ต้องทำมาก ไม่ต้องหักโหม ทำทีละน้อยๆ แต่ทำบ่อยๆ อย่าง ต่อเนื่อง

ท่านเคยเห็นแมงมุมไหม แน่นอนทุกคนคงรู้จักมันดี แต่น้อยคนที่จะสังเกตดูมันอย่างถี่ถ้วน ลองสังเกตดูมันสิครับเวลามันถักใย มันจะไต่จากมุมนี้ไปยังมุมนั้น มันมักจะตกสู่พื้นอยู่บ่อยๆ ไต่แล้วตก ไต่แล้วตก แต่มันก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาถักใยต่อไป ผลที่สุดมันก็ได้ใยแมงมุมที่สวยงามไว้ดักเหยื่อกินตามประสงค์

คนที่พากเพียรไม่ต่างจากแมงมุมถักใย ไม่ว่าจะทำกิจการอะไร จะพากเพียรทำด้วยจิตใจแน่วแน่มั่นคง ไม่เลิกล้ม ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ

"คนจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" พระท่านพูดไว้ไม่ผิดดอกครับ ทำอะไรล้มเหลวเพียงครั้งสองครั้ง อย่าได้ท้อแท้ ผิดหวังเลย ทำต่อไป สู้ต่อไป ถ้าหากการกระทำการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องถูกต้อง สุจริต ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

ส่วนเรื่องผิดเรื่องชั่ว ไม่ต้องพากเพียรทำมัน เพียงหลงทำครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว





โง่อย่าขยัน

ตอนที่แล้วผมได้พูดว่า ถ้าเรามีความพากเพียรเสียอย่าง ต่อให้เทวดาก็หยุดเราไม่ได้ ขอให้พากเพียรจริงๆ เถอะ งานหนักงานใหญ่แค่ไหนก็สำเร็จ ทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็เอาชนะได้

เป็นความจริงครับ แต่บางครั้งเพียรอย่างเดียวยังไม่พอจะต้องมีปัญญาประกอบด้วย เรียกว่า ต้องขยันอย่างฉลาดด้วย ความเพียรนั้นจึงจะไม่สูญเปล่า

ความขยันที่ไม่ใช้ปัญญากำกับอาจขยันผิดทาง ยิ่งขยันก็ยิ่งสร้างเรื่องยุ่ง แทนที่จะแก้ปัญหา กลับกลายเป็นสร้างปัญหาก็ได้

ดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็จะเห็นชัด นานมาแล้ว (นานแค่ไหนช่างเถอะ) มีชายคนหนึ่ง (ชื่ออะไรก็ช่างเถอะ ไม่ชื่อชวนก็แล้วกัน) มีอาชีพปลูกสมุนไพรขายอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กระทาชายที่ไม่ได้ชื่อชวนคนนี้ แกเลี้ยงลิงไว้หลายตัว ตามประสาคนรักสัตว์ แกพยายามฝึกลิงจนสามารถสื่อสารกับมันรู้เรื่อง จะพูดว่าสามารถพูดภาษาลิงได้ก็จะ "เว่อร์" ไป เอาแค่สื่อสารด้วยภาษาใจรู้เรื่องก็แล้วกัน

วันหนึ่ง แกมีธุระจะต้องไปทำในเมืองสักสี่ห้าวัน จึงฝากให้หัวหน้าลิงช่วยรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่ง "ลง" ใหม่ๆ ให้ด้วย เจ้าจ๋อ ทหารเอกพระรามก็ร้องเจี๊ยกๆ รับปากรับคำอย่างดี

เมื่อเจ้านายไปแล้ว เจ้าจ๋อก็พาลูกน้องรดน้ำต้นไม้อย่างขยันขันแข็ง พวกมันเอากระป๋องไปตักน้ำมารดกันพรึ่บพรั่บๆ

เจ้าจ๋อผู้เป็นหัวหน้าตะโกนว่า "เฮ้ยๆ พวกเอ็งดูหรือเปล่าว่ารากไม้มันชุ่มน้ำ หรือยัง"

"จะรู้ได้ยังไงว่ารากมันชุ่มน้ำหรือไม่ชุ่ม" บริวารลิงตัวหนึ่งย้อนถาม

"ไอ้โง่ เอ็งก็ถอนขึ้นมาดูรากมันซิวะ ถ้ามันยังไม่เปียกน้ำก็ราดลงไปเยอะๆ ถอนขึ้นมาดู เมื่อเปียกน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่" เจ้าหัวหน้าอธิบายยกตีนเกาขี้กลากไปพลาง

และแล้วสมุนพระรามทั้งหลายก็พากันถอนต้นไม้ขึ้นมาดู รู้ว่าชุ่มน้ำแล้วก็ยัดลงดินใหม่ ถอน-ยัด-ถอน-ยัด อย่างนี้ทุกวันอย่างพร้อมเพรียง โดยการควบคุมอย่างเข้มงวดของหัวหน้าจ๋อ

สี่ห้าวันให้หลังเจ้าของสวนกลับมาแทบลมจับ เมื่อเห็นสมุนไพรทั้งสวนเฉาตายหมดเกลี้ยง

นี่เพราะโง่ขยัน หรือขยันอย่างโง่ๆ ของพวกลิงแท้ๆ

รถดีมีประสิทธิภาพนั้นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งเร็วอย่างเดียวไม่พอดอกครับ ห้ามล้อหรือเบรกต้องดีด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ปลอดภัยดีไม่ดีพาวิ่งลงเหว ในชีวิตเราก็เช่นเดียวกัน มีความเพียรอันเป็นพลังสร้างสรรค์ แล้วจะต้องใช้ปัญญากำกับ พูดง่ายๆ ขยันแล้วต้องฉลาดด้วย จึงจะประสบชัยชนะในการต่อสู้ชีวิต




ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังหนึ่งเรื่อง เกี่ยวกับคนทำมาหากิน อ่านแล้วลองนำไปพินิจพิจารณาดูเอาเองครับ

สมชาย (ชื่อสมมติ) กับ สมเกียรติ (ชื่อสมมติ) เป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน เรียนวิชาเดียวกันด้วย คือวิชาเครื่องยนต์ ที่โรงเรียนสารพัดช่างแห่งหนึ่ง พอจบออกไปทั้งสองก็ไปสมัครเป็นลูกจ้างอู่ซ่อมรถเหมือนกัน แต่คนละอู่

สมชายอยู่ทำงานที่อู่ดังกล่าว จนมีประสบการณ์พอสมควรแล้วก็ออกไป ตั้งอู่ของตนเอง ร่วมกับเพื่อนที่มีนิสัยเหมือนกันสองสามคน ทั้งสามทำงานไม่ถึงสามปีก็ร่ำรวยผิดหูผิดตา ขยายกิจการใหญ่โต

ฝ่ายสมเกียรตินึกสงสัยว่า ทำไมสมชายเพื่อนเก่าของตนจึงรวยเร็วขนาดนั้น กิจการอู่ซ่อมรถก็ทำรายได้ไม่กี่มากน้อยรู้ๆ กันอยู่ สมชายไปได้เงินได้ทองมาจากไหน

ในที่สุดก็ทราบว่า สมชายและพวกตั้งอู่หลอกต้มประชาชน ที่ทราบก็เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทั้งสามก็ถูกตำรวจจับฐานตั้งแก๊งขโมยรถยนต์ ถูกจำคุกคนละหลายปี

ทั้งสามต้มตุ๋นลูกค้าที่เอารถมาซ่อม โดยบอกว่าชิ้นส่วนชิ้นนั้นชิ้นนี้เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ ทั้งๆ ที่มันดีอยู่ แต่เจ้าของไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ก็เชื่อ ยอมให้เปลี่ยน สามสหายจะถอดเอาเครื่องเครารถที่ดีๆ แล้วเอาของเก่าที่เสื่อมคุณภาพใส่แทน โดยวิธีนี้ทั้งสามมีรายได้เดือนละจำนวนมากๆ

แค่นั้นยังไม่พอ คบคิดกันขโมยรถยนต์ที่จอดอยู่ตามศูนย์การค้าบ้าง ตามที่จอดรถต่างๆ บ้าง เอามาถอดชิ้นส่วนแปลงโฉมแล้วก็ขายต่อ ทำอย่างนี้ไม่นานเงินทองก็ไหลมา แต่ในที่สุดทั้งสามคนก็ถูกจับได้

ส่วนสมเกียรติ ทำงานเป็นลูกจ้างเขาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตกินแค่ค่าจ้างประจำเดือน อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ได้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วออกมาทำอู่เป็นของตนเองกับเพื่อนคนหนึ่ง สมเกียรติเป็นคนซื่อสัตย์ต่อลูกค้ามาก เมื่อลูกค้าขับรถเป็นอย่างเดียวไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์เอารถมาซ่อม แกจะบอกว่าเครื่องเคราอย่างไหนควรเปลี่ยน อย่างไหนยังดีอยู่ไม่ควรเปลี่ยน ค่าแรงก็คิดไม่แพง ทำให้ลูกค้าไว้ใจ

ปัจจุบันนี้ สมเกียรติยังคงบริการซ่อมรถให้ลูกค้าอยู่อย่างมีความสุขกับอาชีพของตน ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ที่เคยเอารถมาซ่อมแล้วประทับใจในผลงาน และอัธยาศัยไมตรีของสมเกียรติแนะนำกันมา ฐานะของเขาถึงจะไม่ร่ำรวยนัก ก็คงไม่มีวันตกต่ำแน่นอน

คำพังเพยโบราณว่า ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน นั้นยังใช้ได้ คนทำมาค้าขายมักจะคิดกันว่า ถ้าไม่โกหกแล้วจะค้าขายไม่เจริญ ไม่จริงดอกครับ คุณอาจขายของได้ กำไรมากๆ ในตอนแรกเพราะโกหกให้เขาเชื่อ แต่ในระยะยาวจะไม่มีใครเข้าร้านคุณเมื่อเขารู้ความจริงว่าเขาถูกคุณหลอก แต่ถ้าคุณซื่อตรงไม่เอาเปรียบลูกค้า ตรงไปตรงมา มีความจริงใจ ไม่ต้องหา "นางกวัก" มาตั้งหน้าร้านดอกครับ ความดีของคุณจะ "กวัก" เงินกวักทองไหลมาเทมาเอง

ใครคิดจะทำมาค้าขาย ขอให้จำคติบทนี้ไว้เตือนใจว่า "คุณหลอกลูกค้าเพียงคนเดียว เท่ากับคุณหลอกคนทั้งโลก"


ความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎก [/center]

มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ขอให้เล่าความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎกในเชิงวิชาการ (หน่อยๆ) "โดยไม่ต้องเอ่ยถึงสำนักนั้นสำนักนี้" อยากทราบว่าที่มีผู้พูดกันว่า พระอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธวจนะ จริงหรือไม่

สิ่งที่ท่านอยากทราบนี้แหละครับ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นขัดแย้งทางความคิดเห็นไม่ได้ จำเป็นอยู่เองต้องเอ่ยถึง "สำนัก" หรือ "ฝ่าย" ทั้งสองที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่อย่างนั้นก็จะได้ความรู้แง่เดียว

ก่อนอื่นขอเท้าความถึงความเชื่อดั้งเดิมของชาวพุทธว่า พระไตรปิฎกนั้นเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า (และของสาวกสำคัญบางท่าน รวมถึงคำสุภาษิตที่กล่าวโดยเทวดาเป็นต้น) สมัยพระพุทธเจ้าไม่มี "พระไตรปิฎก" พระพุทธเจ้าทรงสอนสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม และวินัย" เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว (นานเท่าใดยังถกเถียงกันอยู่ มติส่วนมากกำหนดเอาราวพุทธศตวรรษที่ ๓) "ธรรมและวินัย" นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๓ หมวด เรียกว่า "ปิฎก" คำว่า "พระไตรปิฎก" จึงเกิดขึ้นมาแต่บัดนั้น

พระไตรปิฎกประกอบด้วย พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของภิกษุและภิกษุณีรวมถึงสังฆกรรม พิธีกรรม ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ ตลอดถึงวัตรปฏิบัติ มารยาท เพื่อความงามของพระสงฆ์ พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในที่ต่างๆ รวมถึงคำสอนของสาวก และเทวตาภาษิตบางส่วน พระอภิธรรมไตรปิฎก ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมต่างๆ ในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบุคคลและเหตุการณ์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายนี้ ก็เอามาจากพระสุตตันตปิฎก นั้นเอง

พูดอีกทีเพื่อเข้าใจชัด ธรรมวินัยนั้นแหละต่อมากลายเป็น พระไตรปิฎก โดย "วินัย" กลายมาเป็นพระวินัยปิฎก "ธรรม" กลายมาเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

เฉพาะส่วนที่เป็นอภิธรรมปิฎก มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์ที่ ๕ เรียกว่า "กถาวัตถุ" มีหลักฐานชี้ชัดว่า แต่งขึ้นสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ พุทธศตวรรษที่ ๓ พระโมคคัลลี บุตรติสสเถระ เป็นผู้แต่ง นอกนั้นเป็น ของเก่า

นักปราชญ์ส่วนมากเชื่อตรงกันว่า เฉพาะส่วนที่เป็น "มาติกา" หรือแม่บทสั้นๆ (ที่พระนำมาสวดในงานศพนั้นแหละ) มีมาแต่เดิม ส่วนรายละเอียดมากมายที่มีปรากฏดังในปัจจุบันนี้ แต่งเติมเอาภายหลัง ว่ากันอย่างนั้น

ปัญหาที่ว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะหรือไม่ เถียงกันมานานแล้วครับ สมัยที่โต้แย้งรุนแรงที่สุดถึงขนาดแช่งชักหักกระดูกให้อีกฝ่ายที่ไม่เชื่อ ตกนรกหมกไหม้ ก็ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ผมขอยกเหตุผลทั้งสองฝ่ายมาให้ดูพอเป็น "แซมเปิล" (ใครอยากรู้ละเอียดให้ไปอ่านหนังสือ "เพลงรักจากพระไตรปิฎก" ของ เสถียรพงษ์ วรรณปก พี่ชายผม-โฆษณาให้แล้วนะพี่)

ฝ่ายที่ยืนยันว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะแน่นอน อ้างเหตุผลน่าฟังดังนี้

๑.มีหลักฐานแสดงว่า พระพุทธองค์ขึ้นไปแสดงอภิธรรมโปรด (อดีต) พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๒.ในพระวินัยและพระสูตรหลายแห่งพูดถึง "อภิธรรม" เช่น เล่าถึงพระกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกันที่โรงธรรม เล่าถึงภิกษุณีขอโอกาสพระถามพระวินัยพระสูตร แต่กลับถามอภิธรรมขอโอกาสถามอภิธรรมแต่กลับถามพระวินัย พระสูตร ในกรณีเช่นนี้ปรับอาบัติปาจิตตีย์ (คือมีความผิดทางวินัยระดับหนึ่ง)

ฝ่ายที่ปฏิเสธอภิธรรมก็ให้เหตุผล (น่าฟังอีกเหมือนกัน) ดังนี้

๑.หลักฐานที่อ้างพระพุทธองค์ทรงแสดงอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรด (อดีต) พุทธมารดานั้น เขียนขึ้นภายหลังไม่มีในพระไตรปิฎก คนเขียนคือ พระพุทธโฆสาจารย์ อาจารย์สำนักอภิธรรม

๒.คำว่า "อภิธรรม" ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรและพระวินัยนั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมไตรปิฎก แต่หมายถึง "โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ"

๓.ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้ว่า ธรรมและวินัยจะเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ หลังจากพระองค์ล่วงลับไปแล้ว มิได้ทรงเอ่ยถึง "พระอภิธรรม" เลย

๔.พิจารณาสำนวนภาษา ภาษาในพระอภิธรรมไตรปิฎกเป็นภาษา "เขียน" หรือ "ภาษาหนังสือ" ที่ผจงแต่งอธิบายหลักธรรมในแง่วิชาการ ต่างจากภาษาในพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นภาษาพูด

สำหรับตัวผมเองนั้น ค่อนข้างจะเชื่อว่าพระอภิธรรมไตรปิฎกที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเพิ่มเติมภายหลัง ส่วนที่เก่าแก่จริงๆ มีมาแต่สมัยพุทธกาลคือ บทมาติกา ภาษาพระอภิธรรมไตรปิฎกฟ้องอยู่แล้ว (ในฐานะนักภาษาบาลียืนยันจุดนี้ได้)

และโปรดเข้าใจด้วยว่า ที่ใครก็ตามพูดว่า พระอภิธรรมไตรปิฎกมิใช่พุทธวจนะทั้งหมดก็ดี "ไม่อยู่ในรูปเป็นพุทธวจนะ" ก็ดี มิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมมิใช่คำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เพียงแต่ต้องการบอกว่า พระอภิธรรมไตรปิฎก "แต่งเพิ่มเติมภายหลัง" เท่านั้น




ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด





3027  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 11 กันยายน 2559 11:05:31

ปางทรงพิจารณาชราธรรม (๑)

พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ที่ไม่ธรรมดาเหมือนมนุษย์ทั่วไปก็คือ ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) แล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ( ปี ก็ได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ เป็น "พระสัมมาสัมพุทธ" = ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

พอมาถึงตรงนี้ พระพุทธองค์มิใช่เพียงมนุษย์ธรรมดาแล้วครับ หากเป็นมนุษย์พิเศษ ความเป็นมนุษย์พิเศษย่อมมีสัมฤทธิผลที่คนทั่วไปไม่มี ทางพระท่านเรียกว่า มี "ธรรมดา" แตกต่างจากคนทั่วไป เอาแค่ตอนเป็นพระราชกุมารก็จะเห็นชัด เวลาประสูติออกมาแล้ว เสด็จดำเนินได้ ๗ ก้าว ทรงเปล่ง อาสภิวาจาว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก ประเสริฐสุดของโลก เป็นใหญ่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไปแล้ว"

ถามว่าเป็นไปได้อย่างไร ตอบว่าเป็นไปได้ มิใช่เรื่องมหัศจรรย์ หากเป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว คำว่า "ธรรมดา" นี่แหละช่วยไขข้อข้องใจของคนขี้สงสัยได้

ธรรมดาของนกย่อมบินได้ ธรรมดาของปลาย่อมอยู่ใต้น้ำนานๆ ไม่ขาดใจตาย ถามว่าเราอัศจรรย์ไหมที่เห็นนกบินได้ เห็นปลาดำน้ำอึดเหลือหลาย ตอบแทนก็ได้ ไม่อัศจรรย์ มันเป็นธรรมดาของนก ของปลามัน ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์พูดได้ เดินได้ หลังจากเกิดใหม่ๆ เราจะไปอัศจรรย์อะไรเล่า มันเป็น "ธรรมดา" ของพระโพธิสัตว์ท่าน

เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีธรรมดาอีกหลายประการที่คนทั่วไปไม่มี (พระอรหันต์มีเหมือนกัน แต่ไม่เท่าพระพุทธเจ้า) เช่น พระพุทธเจ้าไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ นอกจากจะทรงดับสนิทไปเองตามกฎธรรมชาติ เป็นต้น (ยกมาเพียงข้อเดียว ข้ออื่นยังนึกไม่ออก)

แต่เมื่อทรงเป็นมนุษย์ ถึงจะมีธรรมดาไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป พระพุทธเจ้าก็ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ เช่น มีอายุขัยตามกำหนดของมนุษย์ในยุคนั้นๆ มีเจ็บป่วยทางร่างกาย มีชราไปตามกาลเวลา อิทธิฤทธิ์ถึงจะทรงทำได้มากมาย ก็มิได้ใช้พร่ำเพรื่อ มิได้ใช้เพื่อฝืนกฎธรรมชาติ

ประโยคหลังนี้ เพื่อดักคอคนที่ชอบถามว่า ในเมื่อพระพุทธเจ้าของผมทรงมีสัมฤทธิผลมากมายเหนือคนอื่นๆ ทำไมไม่ใช้อิทธิฤทธิ์ต่อพระชนมายุให้อยู่เป็นอมตะ ไม่ตายเลยเล่า ก็บอกแล้วอย่างไรว่า ไม่ฝืนกฎธรรมชาติ


ปางทรงพิจารณาชราธรรม (จบ)
ในช่วงท้ายพระชนมายุ พระพุทธองค์ทรงมีพระกำลังถดถอย แถมทรงประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายเป็นเลือด) ซึ่งเป็นโรคประจำพระวรกาย ผมเข้าใจเอาว่าเป็นผลจากการทรงบำเพ็ญตบะเคร่งครัดต่างๆ ตลอดถึงการทรงอดพระกระยาหาร (ทุกรกิริยา) ทำให้ระบบลำไส้รวนเร ไม่คงคืนปกติเหมือนเดิม (เดานะครับ เมื่อเดาก็ไม่จำเป็นต้องถูก)

พระอานนท์เห็นพระวรกายของพระพุทธองค์อ่อนแอก็ใจหาย แต่ก็ชื้นใจอยู่นิดว่าพระผู้มีพระภาคคงจักไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจนกว่าจะได้ตรัสสั่งความสำคัญอะไรบางอย่างแก่พระสงฆ์ก่อน จึงเข้าไปกราบทูลพระพุุทธองค์ตามนั้น

พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ พระสงฆ์จะมาหวังอะไรจากเราตถาคต ตถาคตก็ได้สอนธรรมทุกอย่างอย่างไม่ปิดบัง ไม่มี "กำมือ" ของอาจารย์ (ไม่มีความลับ ไม่มีไม้ตาย) เราตถาคตเองก็ไม่เคยคิดจะปกครองสงฆ์ ร่างกายตถาคตก็แก่หง่อม ล่วงกาลมายาวนานอายุตถาคตก็ ๘๐ ปีแล้ว จะอยู่ต่อไปอีกไม่นาน

"อานนท์ เกวียนเก่า ที่เขาซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ จะไปได้ไม่นาน ฉันใด ร่างกายของตถาคตก็ฉันนั้น ยังพอเป็นได้ คล้ายกับเกวียนเก่า ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่..."

ทรงเตือนให้ภิกษุสงฆ์พึ่งตนเอง โดยยึดธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง แล้วเสด็จมุ่งตรงไปยังกุสินาราเพื่อปรินิพพาน ผ่านหมู่บ้านตำบลต่างๆ ในเขตแคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์ แล้วเสด็จไปยังกูฏาคารป่ามหาวัน รับสั่งให้เรียกภิกษุทุกรูปที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ มาเฝ้า ทรงแสดง อภิญญาเทสิตธรรม - ธรรมที่ทรงแสดงเพื่อความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ เพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติของภิกษุสงฆ์





ปางปลงอายุสังขาร (๑)

ตามความในพระไตรปิฎกและอรรถกถา พระพุทธทรงเข้าจำพรรษาสุดท้ายแล้วก็เสด็จนิวัติไปยังพระนครสาวัตถีอีกครั้ง เพื่อรอรับพระสารีบุตรอัครสาวกไปทูลลา นิพพาน จากนั้นก็เสด็จไปยังพระนครราชคฤห์อีก พระเกิดเหตุการณ์พระโมคคัลลานะนิพพานพอดี จากนั้นจึงเสด็จกลับมายังเมืองไพศาลีอีกครั้ง

เช้าวันนั้น ทรงถือบาตรเสด็จโคจรบิณฑบาตในเมืองไพศาลี ตามเสด็จโดยพระอานนท์พุทธอนุชา เสด็จกลับจากเมืองไพศาลีแล้วไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถในเวลากลางวัน มีพระอานนท์เฝ้าอยู่ใกล้ๆ

พระองค์ทรงมีพุทธประสงค์จะให้พระอานนท์รู้ความนัยและทูลอัญเชิญให้เสด็จอยู่ชั่วอายุกัปหนึ่งหรือเกินกว่า ทรงแสดงนิมิตโอภาสให้ปรากฏโดยตรัสว่า "ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่สมบูรณ์ ผู้นั้นผิประสงค์จะยืดอายุออกไปถึงกัปหนึ่งหรือเกินกว่าย่อมสามารถทำได้" แต่พระอานนท์ไม่ทราบความหมายจึงมิได้กราบทูลอัญเชิญ

จากนั้นมารได้โอกาส จึงเข้าเฝ้าทวง "สัญญา" ว่าบัดนี้ถึงเวลาปรินิพพานแล้ว เพราะบริษัทสี่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ทรงประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงรับคำอาราธนาของมาร ทรง "ปลงอายุสังขาร" ทันที วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะพอดี

การ "ปลงอายุสังขาร" ก็คือตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า ขณะนั้นเกิดแผ่นดินสะเทือนสะท้านหวั่นไหว พระอานนท์อยู่ในที่ไม่ไกล เห็นปรากฏการณ์นั้นแล้วตกใจเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ทำนองทูลถามว่าเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินจะไหวด้วยเหตุ ๘ ประการคือ ไหวด้วยลม ไหวด้วยผู้มีฤทธิบันดาล ไหวเพราะพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์มารดา ประสูติ ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก พระพุทธเจ้าปลงอายุสังขาร และพระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ปางปลงอายุสังขาร (จบ)
พระอานนท์ทูลอาราธนาว่า ขอพระผู้มีพระภาคทรงยืดพระชนมายุไปอีกเถิด พระพุทธองค์ตรัสว่า สายเสียแล้วอานนท์ เราได้กระทำ "นิมิตโอภาส" ทำนองบอกใบ้ให้เธอตั้ง ๑๖ ครั้ง คือที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่เมืองไพศาลี ๖ ครั้ง ครั้งที่ ๑๖ ก็เพิ่งทำเมื่อตะกี๊นี้เอง เธอก็มิได้รับรู้และเชิญ เราอยู่ต่อ บัดนี้เราตถาคตรับคำเชิญของมารแล้ว

มารที่ว่านี้คือ วสวัตตีมาร เคยทูลขอให้พระองค์ปรินิพพานตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ตรัสว่า จะยังไม่ปรินิพพานจนกว่าบริษัททุกหมู่เหล่าของพระองค์จะมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง ๓ ด้าน คือ
   ๑.รู้พระธรรมจนเชี่ยวชาญและปฏิบัติตามจนได้สัมผัสผล
   ๒.มีความสามารถในการถ่ายทอด
   ๓.และปกป้องพระพุทธศาสนาเมื่อถูกย่ำยี

บัดนี้บริษัททั้งสี่มีคุณสมบัตินั้นครบถ้วน มารได้มาเชิญเราปรินิพพาน เราได้รับคำเชิญของมารแล้ว ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราตถาคตจะปรินิพพาน

พระพุทธวจนะที่ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "อานนท์ ผู้ใดเจริญอิทธิบาทสี่จนสมบูรณ์แล้ว ผิว่าผู้นั้นพึงประสงค์จะยืดอายุออกไป ดำรงชีวิตอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือเกินกว่านั้นย่อมสามารถทำได้" นั่น มิได้หมายถึงพระพุทธองค์ หากหมายรวมถึงคนอื่นที่เจริญอิทธิบาทจนสมบูรณ์ด้วย

ที่ว่ายืดอายุไปได้กัปหนึ่งนั้น หมายเอา "อายุกัป" หรืออายุขัยของมนุษย์ (อายุขัยของมนุษย์ในยุคนี้ ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่านั้นหน่อยหนึ่งก็ประมาณ ๑๒๐ ปีเป็นอย่างมาก

ในกรณีพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ถ้าจะยืดออกไปอีกเป็น ๑๐๐ ปี หรือ ๑๒๐ ปี ก็ย่อมจะทำได้ ถ้าพระอานนท์เฉลียวใจและกราบทูลอาราธนา แต่บังเอิญว่าทรงรับคำอาราธนาของมารก่อนแล้วดังกล่าวข้างต้น




ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (๑)

หลังจากทรงปลงอายุสังขารที่ปาวาลเจดีย์แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปตามลำดับจุดหมายปลายทางคือเมืองกุสินารา ทรงรับภัตตาหารที่นางอัมพปาลีถวาย แล้วเสด็จต่อไปตามลำดับ เข้าเขตเมืองปาวา ทรงรับนิมนต์เพื่อเสวยพระกระยาหารที่บ้านนายจุนทะ กัมมารบุตร ในวันรุ่งขึ้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว นายจุนทะจึงไปตระเตรียม ขาทนียะอย่างพอเพียง โภชนียะอย่างพอเพียง และ "สูกรมัททวะ" อย่างพอเพียง โดยได้ใช้เวลาทั้งคืนในการเตรียมการดังกล่าว

เมื่อรุ่งเช้าขึ้นมา พระพุทธองค์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก นายจุนทะน้อมถวายขาทนียะ และโภชนียะแก่ภิกษุสงฆ์ ส่วน "สูกรมัททวะ" นาย จุนทะได้น้อมถวายแด่พระพุทธองค์เท่านั้น

เมื่อเสวยเสร็จ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไฟธาตุของพระองค์เท่านั้นที่จะย่อยสูกรมัททวะนี้ได้ แล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังดินเสีย

หลังจากเสวย "สูกรมัททวะ" แล้วไม่นาน พระอาการประชวรด้วยโรคปักขันทิกาพาธก็กำเริบ แต่พระองค์ก็ทรงระงับทุกขเวทนาไว้ด้วยพลังสมาธิ ทรงเป็นห่วงว่านายจุนทะเองจะเดือดร้อนใจ หรือประชาชนอาจเข้าใจนายจุนทะผิด ว่าถวายอาหารอันเป็นพิษแด่พระพุทธองค์ จนเป็นเหตุให้ปรินิพพานในเวลาต่อมา พระพุทธองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะพึงทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตร ว่า นี่แน่ะ จุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านแล้ว เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน อานนท์ พวกเธอพึงดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะ จุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน บิณฑบาตสองครั้งมีวิบากเสมอกัน มีอานิสงค์มากกว่าอย่างอื่น คือตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณะ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สร้างสมไว้แล้ว"


ปางเสวยสูกรมัททวะ ของนายจุนทะ (จบ)
เป็นการตรัสป้องกันความเข้าใจผิด และตรัสความจริงว่า พระพุทธองค์มิได้ปรินิพพานด้วยการเสวย สูกรมัททวะที่นายจุนทะถวาย มิได้ปรินิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธที่ทรงประชวร หากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตามวันเวลาที่ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

พึงสังเกตพุทธวจนะที่ตรัสสรรเสริญบิณฑบาตสองครั้ง มีผลมากเท่ากันคือ บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ กับบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายก่อนปรินิพพาน

บิณฑบาตทั้งสองนี้ เสวยแล้วก็ "ปรินิพพาน" ทั้งสองครั้ง คือ
ครั้งแรก (ที่นางสุชาดาถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพานแล้ว ด้วยสอุปาทิเสสนิพพาน หรือ "กิเลสนิพพาน" พูดให้เข้าใจง่าย เสวยแล้วดับกิเลส

ครั้งสุดท้าย (ที่นายจุนทะถวาย) พระองค์เสวยแล้ว ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หรือ "ขันธนิพพาน" พูดง่ายๆ ว่า เสวยแล้วดับขันธ์

สูกรมัททวะ คืออะไร อธิบายกันไว้ ๓ นับคือ
   ๑.ข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี
   ๒.เนื้อสุกรอ่อน   
   ๓.สมุนไพรชนิดหนึ่ง (บางมติว่าได้แก่เห็ด)

พุทธศาสนิกฝ่ายเถรวาท นิยมแปลกันว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่ฝ่ายมหายานค่อนข้างจะเชื่อว่า ได้แก่สมุนไพร ชาวพุทธจีนเชื่อว่าเป็นเห็ดที่เกิดจากไม้จันทน์ เรียกว่า "จันทัน ฉิ่วยื้อ"

แต่จะเป็นอะไรก็ตาม มิใช่สาเหตุแห่งการปรินิพพานดังที่ตรัสไว้ข้างต้นแล้ว และนายจุนทะผู้ถวายก็ได้บุญกุศลมากด้วย





ปางปรินิพพาน (๑)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรทมเหนือปรินิพพานปัญจถรณ์ (พระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน) ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ท่ามกลางภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท และอุบาสิกาบริษัท (แม้พระบาลีจะพูดถึงเฉพาะบริษัทแรก แต่ข้อเท็จจริงต้องมีบริษัททุกหมู่เหล่าแน่นอน)

ตรัสถามว่าใครๆ มีข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือหลักปฏิบัติใดๆ ให้ถามเสีย จะได้ไม่ร้อนใจภายหลังว่าเมื่อเราตถาคตยังอยู่ไม่ได้ถาม พุทธบริษัททั้งปวงนั่งเงียบ ไม่มีใครทูลถามอะไร จึงตรัสว่า พระองค์ก็ทรงคาดอย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว เพราะบริษัทของพระองค์เป็นผู้รู้แจ้งธรรมหมดอย่างต่ำที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน

จากนั้นก็ตรัสปัจฉิมโอวาทว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามัน ตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ = ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ความหมายก็คือ พวกเธอจงอย่าประมาท ให้รีบเร่งทำประโยชน์ตนให้สมบูรณ์ และประโยชน์สังคมให้สมบูรณ์ อย่าทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าดำเนินชีวิตแบบชาวโลก ก็ขยันทำมาหาเลี้ยงชีพในทางสุจริตชอบธรรม ได้ทรัพย์สินเงินทองมาแล้วก็เลี้ยงตนเอง ครอบครัว และคนพึงเลี้ยง ที่เหลือก็จุนเจือสังคม ทำบุญทำกุศลตามสมควร ถ้าดำเนินชีวิตเป็นนักบวช ก็ศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลที่ตนปรารถนา เมื่อทำตนให้พร้อมแล้ว ก็มีกรุณาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้แจงแสดงธรรม แนะนำแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่ชาวบ้าน

หลังจากนั้น ก็ไม่ตรัสอะไรอีก ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้านิโรธสมาบัติ

จากนั้นทรงออกจากนิโรธสมาบัติ เข้าฌานถอยหลังลงมายังเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน



ปางปรินิพพาน (จบ)

จากนั้นทรงถอยกลับเข้าไปใหม่คือ ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงดับสนิทในระหว่างนั้นเอง

เป็นการดับสนิทระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้เรื่อง ถ้าไม่มีพระอนุรุทธะ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ในมหาสันนิบาตนั้น เข้าฌานตามพระพุทธองค์ไป จึงรู้ว่าพระองค์ทรงดับสนิท ณ จุดใด

พระธัมมสังคาหกาจารย์ (พระอาจารย์ผู้ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ได้บันทึกวาทะแสดงธรรมสังเวช ในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ได้ดังนี้

ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวโศลกว่า "สัตว์ทั้งปวง ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก แม้แต่พระตถาคตศาสดาผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนเปรียบปาน ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ยังดับสนิทแล้ว"

ท้าวสักกเทวราชกล่าวว่า "สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา การดับสังขารทั้งหลายได้ เป็นความสุข"

พระอนุรุทธเถระกล่าวว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระทัยมั่นคง คงที่ ไม่หวั่นไหว ทรงหมดลมหายใจแล้ว พระมุนีเจ้าทรงทำกาละอย่างสงบแล้ว พระองค์มีพระทัยไม่หดหู่ ทรงระงับทุกขเวทนาได้ ทรงดับสนิทดุจเปลวประทีป"

พระอานนท์พุทธอนุชากล่าวว่า "เมื่อพระพุทธเจ้า ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมทุกประการ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้เกิดความสะพรึงกลัวขนพองสยองเกล้าแล้ว"

พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่นำมาเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบนี้ ส่วนมากดำเนินตามแนวที่โบราณาจารย์ได้กำหนดไว้ มีเพียงบางปางเท่านั้น ที่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมเข้ามา โดยกำหนดเอง ตั้งชื่อเอง ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระจริยาวัตรตอนนั้นๆ น่าจะยกมาเพื่อเป็นแบบอย่าง และเพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์


ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ"
โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3028  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: "เกษตรน่ารู้" สารพัดสารพันเรื่องพันธุ์ไม้ เมื่อ: 09 กันยายน 2559 16:21:34

มะขามเนื้อแดงฝักตรง เปรี้ยวจัดราคาดี
มะขามเนื้อแดงมีหลายสายพันธุ์ ทั้งฝักใหญ่อ้วนและฝักโค้งงอ ส่วน “มะขามเนื้อแดงฝักตรง” เป็นพันธุ์โบราณ นิยมปลูกกันมาช้านาน ในแถบ จ.ชัยนาท เพื่อใช้ประโยชน์ทั่วไปเหมือนกับมะขามเนื้อธรรมดาทุกอย่าง มีลักษณะประจำพันธุ์คือ เนื้อในจะเป็นสีแดงตั้งแต่เริ่มติดผลเป็นฝักอ่อนเล็กๆ จนกระทั่งฝักสุก สามารถเก็บผลสุกแกะเอาเฉพาะเนื้อทำเป็นมะขามเปียกปั้นเป็นก้อนๆ หรือชั่งกิโลขายได้ราคากิโลกรัมหลายบาท รสชาติเปรี้ยวจัดสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแพร่หลาย

มะขามเนื้อแดงฝักตรง อยู่ในวงศ์ CAESALPINICEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับมะขามทั่วไปทุกอย่างคือ เป็นไม้ยืนต้น สูง ๑๐-๑๕ เมตร ใบเป็นใบประกอบออกเป็นคู่ตามก้านใบ ๑๐-๑๘ คู่ ใบรูปขอบขนาน ปลายและโคนมน ใบอ่อนและใบแก่รสเปรี้ยวปนฝาดกินได้ นิยมทำต้มส้มใส่ปลานํ้าจืดหรือใส่ไก่ปรุงรสรับประทานอร่อยมาก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ดอกเป็นสีเหลือง มีประสีแดงกลางดอก ดอกมีรสเปรี้ยวรับประทานได้ “ผล” รูปกลมแบนเล็กน้อยยาวเกือบตรง ไม่โค้งงอเหมือนมะขามเนื้อแดงสายพันธุ์อื่น เปลือกผลค่อนข้างหนา สีนํ้าตาลเทา เนื้อในเป็นสีแดงตั้งแต่ติดผลเป็นฝักอ่อนจนกระทั่งฝักสุก จึงถูกตั้งชื่อว่า “มะขามเนื้อแดงฝักตรง” ดังกล่าว ติดผลเป็นพวงและติดผลดกทั้งต้นตามฤดูกาล มีเมล็ด รสชาติเปรี้ยวจัดตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อนจนฝักสุก ออกดอกช่วงฤดูฝน ติดผลจนฝักแก่ในช่วงฤดูหนาว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัส
...นสพ.ไทยรัฐ


มะเขามเปรี้ยวฝักโค้ง ใหญ่ยาวเนื้อเยอะคุ้ม
กระแสการปลูกมะขามรสเปรี้ยวยังคงเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมะขามเปรี้ยวที่มีผลหรือฝักใหญ่ยาวจะได้รับเลือกไปปลูกเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากจะให้เนื้อเยอะเมื่อนำผลสุกไปแกะเอาเนื้อแปรรูปทำเป็นมะขามเปียกได้จำนวนมากและได้ราคาดี ซึ่ง “มะขามเปรี้ยวฝักโค้ง” เป็นสุดยอดของมะขามเปรี้ยวที่มีดอกและติดผลดกเต็มต้นตามฤดูกาลจนเป็นสายพันธุ์ มะขามเปรี้ยวยอดนิยมของผู้ปลูกเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

มะขามเปรี้ยวฝักโค้ง หรือ TAMARINDUS INDICA LINN. ชื่อสามัญ TAMARIND, INDIAN DATE อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้น สูง ๘-๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่น เนื้อไม้เหนียว ใบเป็นใบประกอบออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๑๐-๒๐ คู่ รูปขอบขนานค่อนข้างยาว ดอกเป็นสีเหลืองแกมส้ม ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน มีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ ๓ อัน “ผล” เป็นฝักใหญ่และยาวโค้งไม่เป็นฝักตรงเหมือนสายพันธุ์อื่น เปลือกผลหนา แข็ง เปราะ สีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเทา เนื้อดิบและสุกมีรสเปรี้ยวจัด เนื้อหนาแน่นละเอียด แต่ละฝักจะมีเมล็ดตั้งแต่ ๑๕-๑๗ เมล็ด มีดอกและติดผลช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๑๗  เหมาะจะปลูกเพื่อเก็บผลใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือมีที่ว่างมากๆ ปลูกหลายๆต้นเก็บผลดิบและผลสุกแกะเอาเนื้อแปรรูปทำเป็นมะขามเปียกขายได้ราคาดีและคุ้มค่ามาก

ประโยชน์ เปลือกต้นต้มน้ำหรือต้มกับน้ำปูนใสดื่มแก้ท้องเดิน เนื้อไม้เหนียวทำเขียงทนทานใช้ได้นาน ใบต้มน้ำดื่มช่วยย่อยและขับปัสสาวะ ใบผลและดอกเป็นอาหาร เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ขับเสมหะ เมล็ดคั่วสุกเอาเปลือกหุ้มเมล็ดทิ้งกินเฉพาะเนื้อ ขับพยาธิไส้เดือนดีมาก ซึ่งมะขามทั่วไปมีถิ่นกำเนิดเอเชียและแอฟริกาเขตร้อนครับ.
...นสพ.ไทยรัฐ ขี้



มะขามแขก ใบฝักมีประโยชน์
สมัยก่อนใบกับฝัก “มะขามแขก” เป็นสินค้านำเข้าเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาเท่านั้น คือทั้งใบและฝัก ปรุงเป็นยาถ่ายสำหรับคนที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง โดยใช้เป็นครั้งคราว ใบจะมีฤทธิ์มากกว่าฝัก และยังมีคุณสมบัติพิเศษ  สำหรับคนเป็นริดสีดวงทวารด้วย ฝักจะออกฤทธิ์กับลำไส้ใหญ่ ดังนั้นสตรีที่มีครรภ์จึงไม่ควรใช้ยานี้ ยาพื้นบ้านบางแห่งเอาใบ “มะขามแขก” เคี่ยวกวนกับมะขามเปียกและฝักของต้นคูนใส่น้ำตาลเล็กน้อยรับประทาน เป็นยาระบายอ่อนๆ ปัจจุบันใบของ “มะขามแขก” ยังถูกนำไปเข้าตำรับยาลดอ้วน ชงน้ำร้อนดื่มเป็นชาหลายยี่ห้อ

มะขามแขก หรือ CASSIA ANGUSTI FOLIA VAHL. ชื่อสามัญ INDIAN SENNA, TINNEYELLY SENNA. อยู่ในวงศ์ LEGUM INOSAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศ อาระเบีย โซมาลีแลนด์ เขตร้อน ในประเทศไทยมีต้นขายและปลูกกันอย่างแพร่หลาย เป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑.๕ เมตร ใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย ๓-๗ คู่ รูปใบหอก ปลายเรียวแหลม โคนแหลม สีเขียวอมเหลือง ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีเหลืองทอง ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อขึ้นไปจนถึงปลายช่อ มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ มีเกสรตัวผู้ ๕-๑๐ อัน เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้นจะดูสวยงามมาก “ผล” เป็นฝักแบน โค้งเล็กน้อย มีหลายเมล็ด ดอกออกช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  ประโยชน์ ใบและฝัก มีสารสำคัญ ANTHRAQUINONE ชื่อสาร SENNO SIDES เอและบี ใช้ใบหรือฝักจำนวน ๒ กรัม ต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย แต่ควรเติมเปลือกต้นอบเชยหรือผลกระวานลงไปเล็กน้อยเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียน ปัจจุบัน มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ ๒๑
...นสพ.ไทยรัฐ


เพกาเตี้ย ฝักใหญ่ยาวดกทั้งปีคุ้ม
ต้นเพกา ที่ปลูกด้วยวิธีเพาะเมล็ด จะสูงใหญ่ ๕-๑๓ เมตรขึ้นไปทำให้เวลาติดฝักเก็บได้ยาก แต่ “เพกาเตี้ย” ที่เกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยการเอารากของต้นเพกาที่เป็นพันธุ์เตี้ยอยู่แล้วไปปักชำ จนแตกต้นขึ้นมานำไปปลูกเลี้ยงจนต้นโต ปรากฏว่าต้นเตี้ยแจ้กว่าเดิมเยอะคือสูงแค่ ๒-๔ เมตรเท่านั้น มีลักษณะเด่นประจำพันธุ์ได้แก่ ฝักมีขนาดใหญ่และยาวมาก ติดฝักดก ที่สำคัญมีดอกและติดฝักได้เร็วขึ้นหลังปลูกแค่ ๖-๘ เดือนแค่นั้น เป็นเพกาพันธุ์ใหม่ที่เป็นพันธุ์แท้แบบถาวรแล้วจึงถูกตั้งชื่อว่า “เพกาเตี้ย” ดังกล่าว เป็นเพกาที่มีดอกและ ติดฝักตลอดทั้งปี เหมาะจะปลูกเพื่อเก็บฝักรับประทานในครัวเรือนหรือเก็บฝักขายได้คุ้มค่ามาก

เพกาเตี้ย หรือ OROXYLUM INDICUM (LINN.) KURZ. อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูงไม่เกิน ๒-๔ เมตร ใบเป็นใบประกอบ ๒-๓ ชั้น ออกตรงกันข้ามแบบถี่ๆบริเวณปลายกิ่งมีใบย่อย ๓-๗ ใบ เป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนสอบเว้าลึกหรือเบี้ยวเล็กน้อย ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอดและที่ปลายยอด ดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ปลายแยกเป็นกลีบดอก ๕ กลีบ เป็นสีน้ำตาลคล้ำ หรือสีแดงอมม่วง “ผล” หรือฝักแบนยาวคล้ายดาบ ห้อยลงเป็นพวง ผลหรือฝักกว้างประมาณ ๗-๑๐ ซม. ยาว ๔๕-๑๒๐ ซม. มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดรูปแบน โดยทั่วไปดอกออกช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม ดอกจะบานเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ “เพกาเตี้ย” มีดอกและฝักเรื่อยๆ ขยายพันธุ์โดยทั่วไปด้วยเมล็ด ผลหรือฝักเผาไฟให้ผิวนอกไหม้แล้วขูดผิวที่ไหม้ออกหรือต้มจิ้มน้ำพริก ทำยำอร่อยมาก
...นสพ.ไทยรัฐ



3029  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: แกลเลอรี 'ปักษี' ในดินสอดำบนกระดาน เมื่อ: 09 กันยายน 2559 14:02:11


นกจับแมลงป่าพรุ
Malaysian Blue Flycatcher
Cyomis turcosus

นกจับแมลงป่าพรุ ลำตัวส่วนบน หัว จนถึงขนคลุมหางและปีก สีน้ำเงินสด หน้าผากเหนือคิ้ว
สีฟ้า คางใต้คอสีน้ำเงินเข้ม อกสีส้ม ท้องสีขาว สีข้างเหลืองอ่อน ปากสีดำ ตาสีน้ำตาล ชอบอยู่เป็นคู่
แต่ห่างๆ เกาะนิ่งอยู่ตามกิ่งก้านต้นไม้ รอแมลงบินผ่านมา จึงบินโฉบจับแล้วกลับมาเกาะที่เดิม นกหายาก
พบได้เฉพาะที่พรุโต๊ะแดง นราธิวาส
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกชนหิน
Helmeted Hornbill
Rhinoplax vigil

นกชนหิน นกเงือกขนาดใหญ่ หน้าตาแปลกกว่าเพื่อน ตัวผู้หน้าและคอเป็นหนังเปลือย
สีแดง ตัวเมีย หน้าและคอสีฟ้าอ่อน ปากไม่ยาวมาก เหนือโคนถึงกลางปาก มีโหนกตั้งสูง ขอบมน
ทึบตัน ภายในไม่เป็นโพรงอากาศ ขณะต่อสู้เพื่อชิงการครอบครองอาณาเขตต่างพุ่งเข้าหาโดยใช้
โหนกกระแทกกันเสียงดังสนั่นเหมือนหินกระทบกัน โหนกตันแข็งแกร่ง ทำให้มันถูกล่า เอาโหนก
ไปแกะสลักแทนงาช้าง!
 
มติชนสุดสัปดาห์



ไก่จุก
Crested Wood Partridge
Rollulus rouloul

ไก่จุก ลำตัวกลม หางสั้น หน้าผากขาว มีจุกหงอนแผ่เป็นแผงใหญ่สีแดง ลำตัวสีน้ำเงินเข้ม
ดำเป็นมัน ปีกสีน้ำตาล หางและโคนหางด้านบนสีเขียวคล้ำ หนังรอบตาสีแดง ตัวเมียไม่มีหงอน
ลำตัวสีเขียวหม่น หัวสีเทาเข้ม ปีกสีน้ำตาลแดง หากินตัวเดียว หรือเป็นคู่ ตามพื้นป่ารก ลูกไม้
ผลไม้หล่นจากต้น เมล็ดพืช หนอนและแมลง ทำรังบนพื้น ซ่อนตัวตามเศษซากใบไม้
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกจาบคาคอสีฟ้า
Blue-throated Bee-eater
Merops viridis

นกจาบคาคอสีฟ้า หัว ท้ายทอย จรดหลังสีน้ำตาลแดง คอสีฟ้าอ่อนมีแถบสีดำ คาดจาก
โคนจากใต้ตาถึงแก้ม ลำตัวสีเขียว ตะโพกและหางสีฟ้าสด มีขนหางกลางยาวแหลมยื่นออกมา  
นกอพยพ บินรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เกาะกันเป็นก้อน จำนวนมาก  นกประจำถิ่นส่วนใหญ่
อาศัยทางภาคใต้และภาคตะวันออก
 
มติชนสุดสัปดาห์



Red Avadavat
Amandava amandava

นกกระติ๊ดแดง หัว คอ หลัง ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล โคนหางสีแดง ลำตัวด้านล่างสีแดง
มีจุดสีขาวกระจาย ท้องสีดำ ปีกสีน้ำตาลเข้ม มีจุดสีขาว ตัวเมียสีน้ำตาล ปากสีแดง มักรวมตัว
กันเป็นฝูงเล็กๆ หากินเมล็ดหญ้า เมล็ดข้าว และแมลงตัวเล็ก จากสีสันที่สวยงามในฤดูผสมพันธุ์
ทำให้ถูกจับไปขาย (ลงในเน็ตขายคู่ละ ๒,๕๐๐ บาท!) ฝรั่งเรียก ‘สตรอว์เบอร์รี่แห่งท้องทุ่ง’
ไทยเรียก ‘ชมพูดง’
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกกระเรียนไทย
Eastern Sarus Crane
Grus antigone

นกกระเรียนไทย นกน้ำขนาดใหญ่ ในอดีตมีจำนวนมาก พบเห็นตามทุ่งนาและหนองน้ำทั่วไป
มีบันทึกการทำรังวางไข่จำนวนนับหมื่นตัวในบริเวณทุ่งมะค่า นครราชสีมา ช่วง ๔๐ ปีถัดมา
กระเรียนไทยถูกล่าจนลดจำนวนลงมาก ภาพฝูงสุดท้าย บันทึกไว้ในปี ๒๔๘๘ จากนั้นก็สูญพันธุ์
ไปจากประเทศไทยนานกว่า ๓๐ ปี กำเนิดใหม่กระเรียนไทย สวนสัตว์นครราชสีมาเป็นศูนย์เพาะ
ขยายพันธุ์ฟื้นฟูประชากรนกกระเรียนไทย และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ  วันนี้เราสามารถพบเห็น
ได้ที่ทุ่งกระมัง ชัยภูมิ และห้วยจระเข้มาก บุรีรัมย์
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกแต้วแล้วธรรมดา
Blue-winged Pitta
Pitta moluccensis

นกแต้วแล้วธรรมดา หัวและหน้าสีดำ มีแถบสีน้ำตาลอ่อนจากโคนปากเหนือตาไปถึงท้ายทอย
หลังสีเขียว ไหล่ ตะโพก และหางสีฟ้าสด คอขาว ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลเหลือง กลางท้องถึงก้นสีแดง
ปีกสีดำ มีแถบขาว หากินหนอน แมลง ตามพื้นดินที่ร่มครึ้ม ส่งเสียงร้อง ‘แต้วแล้ว แต้วแล้ว’
อีกชื่อเรียก ‘นกกอหลอ’
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกอินทรีหางขาว
White-tailed Eagle
Haliaeetus albicilla

นกอินทรีหางขาว นกอินทรีกินปลาขนาดใหญ่ หัวสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม
แซมด้วยน้ำตาลอ่อน หางสีขาวสั้นรูปลิ่ม ปีกยาวและกว้างรูปสี่เหลี่ยมคางหมู หากินตาม
ชายฝั่งทะเล บึงน้ำ แม่น้ำใหญ่ จับปลา นกเป็ดน้ำ นกยางเป็นอาหาร จัดเป็นนกพลัดหลง
หายากมากพบเพียงครั้งเดียวที่นครสวรรค์

มติชนสุดสัปดาห์



ไก่น้ำ
Common Coot
Fulica atra

ไก่น้ำ นกน้ำที่มีรูปร่างเหมือนแม่ไก่ แต่ว่ายน้ำหากินในน้ำเหมือนเป็ด ลำตัวอวบ
คอยาว ปากหนาสั้น โคนปากบนมีกระบังหน้าสีขาวคลุมหน้าผาก สีดำทั้งตัว
ขนปกคลุมลำตัวเป็นเส้นขนเล็กๆ ที่เป็นต่อมน้ำมัน ขาค่อนข้างยาว นิ้วเท้าแต่ละนิ้ว
มีพังผืดแผ่ออกข้างนิ้วเป็นลอนคล้ายพาย เพื่อใช้พุ้ยน้ำขณะว่ายน้ำและดำน้ำ
รวมตัวกันเป็นฝูง ๖-๑๐ ตัว จิกกินพืชน้ำ และสัตว์น้ำ กุ้ง ปลา ลูกอ๊อด กบ หอย
นกอพยพที่พบได้น้อย เป็นประปรายทุกภาคยกเว้นภาคใต้
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกโพระดกเขาหลวง
Turquoise – throated Barbet
Psilopogan chersonesus

นกโพระดกเขาหลวง มีแถบคิ้วดำเหนือตา หน้าผากและท้ายทอยมีแต้มแดง
คอสีฟ้าอมเขียว ขึ้นทะเบียนเป็นนกชนิดใหม่ของโลกเมื่อไม่นานมานี้เอง
จากเดิมเคยเป็นชนิดย่อยของนกโพระดกคอสีฟ้า พบได้เฉพาะบนเขาหลวง
นครศรีธรรมราช และภูเขาสูงในเขตสุราษฎร์ธานีที่เชื่อมต่อกับเทือกเขาหลวงเท่านั้น
นกเฉพาะถิ่นอีกชนิดหนึ่งของไทย
 
มติชนสุดสัปดาห์



เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ
Hen Harrier
Circus cyaneus

เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ เหยี่ยวขนาดใหญ่ ปีกยาวและกว้าง ตัวผู้ หัว อก
ลำตัวด้านบนสีเทา ตะโพกและลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกสีดำปลายแหลม
ตัวเมีย ลำตัวสีน้ำตาลมีลายประสีเข้ม หนังคลุมจมูกและม่านตาสีเหลือง
เป็นเหยี่ยวอพยพที่พบเห็นยากมาก มีรายงานพบในฝูงรวมกับเหยี่ยวทุ่งอื่น
ที่เชียงราย และอพยพผ่านชุมพรในฤดูหนาว
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกเงือกคอแดง
Rufous-necked Hornbill
Aceros nipalensis

นกเงือกคอแดง ปากหนาเรียว สีงาช้าง ไม่มีโหนก หนังรอบตาสีฟ้า
โคนปากหยักเป็นลอนเฉียง ๒-๘ ร่องตามอายุที่มากขึ้น หัว คอ ลำตัว
ด้านล่างสีน้ำตาลส้ม ลำตัวด้านบน ปีก และหางสีดำ ปลายปีกและหาง
ครึ่งล่างสีขาว ถุงใต้คอสีแดง หากินผลไม้และลูกไม้ระดับเรือนยอดในป่า
บางครั้งลงมาหากินตามพื้นดิน ไทร ยางโอน ตาเสือ ฯลฯ รวมทั้งสัตว์
แมลงต่างๆ  เป็นนกเงือกหายาก สถานภาพใกล้สูญพันธ์
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกขมิ้นหัวดำใหญ่
Black-hooded Oriole.
Oriolus xanthornus

นกขมิ้นหัวดำใหญ่ นกขนาดเล็ก หัวและคอสีดำ ลำตัวสีเหลืองสดใส
ปีกดำมีแถบสีเหลือง หางดำ ส่วนปลายสีเหลือง ตาแดง ปากแดง ชอบหากิน
ตามลำพัง โดดเดี่ยว การรวมฝูงเล็กๆ มักเป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน หากิน
ตามต้นไม้ที่มีลูกไม้ ดอกไม้ กินหนอน แมลง และน้ำหวาน ส่งเสียงร้อง
ดังกังวาน ‘เปี้ยวววว...’ นกประจำถิ่น
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกยางโทนใหญ่
Eastern Great Egret
Ardea modesta

นกยางโทนใหญ่ มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดานกยางยาว ๖ ชนิดของไทย
ปากยาวสีเหลืองเข้ม หนังส่วนหน้าสีเขียวอ่อน คอยาวสามารถพับเป็นรูป
ตัว s ได้  ขนสีขาวปกคลุมทั่วทั้งตัว ช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปากจะเปลี่ยนเป็นสีดำ
หนังหน้าเป็นสีเขียว ขาสีแดง มีขนประดับแซมขึ้นจากส่วนหลังแผ่ออก
ทั้งสองข้าง สีขาวสะอาด ชอบหากินตัวเดียว ตามหนองน้ำทุ่งนา ทุ่งหญ้า
ที่เจิ่งน้ำ ฤดูฝนจับคู่สร้างรังวางไข่ รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ทำรังอยู่ใกล้ๆ กัน
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกแว่นตาขาวสีทอง
Oriental White-eye
Zosterops palpebrosus

นกแว่นตาขาวสีทอง นกขนาดเล็กมาก หน้าผากเหลือง วงรอบตาสีขาว
เด่นชัด ลำตัวด้านบนสีเหลืองแกมเขียว คอและก้นเหลือง ท้องสีเทา ชอบอยู่
รวมกันเป็นฝูง เวลาเคลื่อนที่ไปตามต้นไม้ มักไปเป็นกลุ่ม ตามเรือนยอดของ
พุ่มไม้ หากินแมลง หนอน น้ำหวานจากดอกไม้ เมล็ด และยอดพืชอ่อน
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกพรานหอย
Eurasian Oystercatcher
Haematopus ostralegus

นกพรานหอย นกพบใหม่ของไทย ชนิดแรกของฤดูกาลอพยพ เมื่อตุลาคม ๒๕๕๙
ในโลกมีเพียง ๗ ชนิด ลำตัวส่วนบนสีดำ ปากสีแดงสด หนาเหยียดตรง แข็งแรง
ปีกมีแถบสีขาว ลำตัวส่วนล่างใต้อกลงไปถึงโคนหางสีขาว ขาสีส้ม ยังไม่มีการ
ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ เรียกกันไปตามชอบ นกกินหอย
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกคุ่มอกดำ
Rail Quail
Coturnix coromandelica

นกคุ่มอกดำ รูปร่างป้อมกลมคล้ายนกกระทาแต่เล็กกว่า คิ้วขาวยาว
คอขาว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาล มีลายสีดำและขีดสีเนื้อตั้งแต่หลังไปถึงโคนหาง
ตาสีน้ำตาล ตัวผู้หน้าอกดำเป็นปื้นขนาดใหญ่  อาศัยตามทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ
พงหญ้ารก เดินหากินเมล็ดพืชและแมลงตามพื้นหญ้าที่ขึ้นสั้นๆ ยืดตัวยืนสูง
โก่งคอส่งเสียงร้องดัง ประกาศอาณาเขต
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกเอี้ยงหงอน
White-vented Myna
Acridotheres grandis

นกเอี้ยงหงอน ลำตัวสีดำสนิท ขนหน้าผากยาวตั้งเป็นหงอนปลายแหลม
ตาสีน้ำตาลแดง ปากและขาสีเหลือง ปีกมีแถบขาว โคนหางด้านล่างและปลายหาง
สีขาว  อาศัยหากินตามชานเมือง ท้องไร่ ทุ่งนา แต่ปรับตัวเข้ามาในย่านชุมชน
ชอบหากินใกล้ฝูงวัว ควาย โดยเดินตาม  บางครั้งบินขึ้นไปเกาะบนหลังวัวหรือควาย
คอยจิกกินแมลงที่บินขึ้นมาจากพื้น เป็นสำนวน ‘นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า’
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกลุมพูขาว
Pied Imperial Pigeon
Ducula bicolor

นกลุมพูขาว นกในวงศ์นกเขา ขนทั้งตัวสีขาวนวล ปลายปีกและครึ่งปลายหาง
สีดำ ม่านตาสีน้ำตาล ขอบตาและปากสีเทาฟ้า ขาสีเทา  อาศัยตามเกาะต่างๆ
รอบทะเลอันดามัน บริเวณป่าชายหาดและป่าชายเลน รวมตัวกันเป็นฝูงเล็กๆ
และรวมเป็นฝูงใหญ่ในบริเวณแหล่งอาหารสมบูรณ์ หากินตามยอดไม้ ลูกไม้
ไทร จันทน์เทศ  บินย้ายแหล่งหากินเวลากลางคืน
 
มติชนสุดสัปดาห์



นกกระทาดงจันทบูร
Chestnut-headed Partridge
 Arborophila combodiana

นกกระทาดงจันทบูร หัว ตัวด้านบน สีน้ำตาลปนเหลือง ลำตัวสีน้ำตาล
มีลายดำสลับขาวเป็นแถบใหญ่ที่ปากและลายที่ท้อง  นกประจำถิ่นของไทย
อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น บนภูเขา เฉพาะพื้นที่  ประชากรกระทาดงจันทบูร
มีจำนวนน้อยมาก อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์  ในโลกมีไม่เกิน ๒๐๐ ตัว!
เป็นนกถิ่นเดียว พบเฉพาะในไทยและกัมพูชา ในไทยพบเฉพาะที่จันทบุรีเท่านั้น!
 
มติชนสุดสัปดาห์

แกลเลอรี
ดินสอดำบนกระดาน
โดย คุณกรินทร์ จิรัจฉริยกุล
(พิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์)
3030  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / “สลักดุน” ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีต สู่ปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อ: 08 กันยายน 2559 17:11:47



ชมนิทรรศการ “สลักดุน
ภูมิปัญญาเชิงช่าง จากอดีต สู่ปัจจุบัน
ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ
๒๖ กรกฎาคม - ๔ กันยายน ๒๕๕๙

เงิน เป็นโลหะธาตุชนิดหนึ่ง เนื้อสีขาวทึบ เงินบริสุทธิ์เนื้อค่อนข้างอ่อน มีความแข็งมากกว่าทองคำเล็กน้อย ถ้านําเงินไปขัดเงาจะมีประกายเป็นเงาวับ  

เงินจัดเป็นธาตุลำดับที่ ๔๗ มีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า อาเยนตูม (Argentum) สัญลักษณ์หรือเขียนเป็นตัวย่อในสูตรทางเคมี คือ Ag คำสามัญเรียกว่า ซิลเวอร์ (Silver) มีคุณสมบัติเป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดีมาก

ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (หมายถึง ระยะเวลาในอดีตที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร)  “เงิน” จัดว่าเป็นโลหะธาตุที่มีค่าเป็นอันดับสองรองจากทองคํา  มนุษย์รู้จักนำเงินมาทำเป็นเครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เครื่องประดับ และภาชนะเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  ในยุคปัจจุบันยังใช้แร่เงินทำเหรียญตรา เสื้อผ้า เครื่องดนตรี ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ งานอุตสาหกรรม การแพทย์ ฯลฯ   ในสมัยก่อนใช้โลหะเงินเป็นยาอีกด้วย ฮิปโปเครติสเขียนไว้ว่าโลหะเงินสามารถป้องกันและรักษาโรคภัยได้หลายอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของคนสมัยนี้ที่สวมใส่แหวนเงิน-แหวนทอง เพื่อเป็น “โลหะบำบัด” ไว้ที่นิ้วต่างๆ ว่าจะสามารถรักษาความผิดปกติหรือความเจ็บป่วยของร่างกายได้ เช่น ใส่แหวนเงินที่นิ้วโป้ง ช่วยดูดสารพิษที่อยู่ในปอด เป็นการบำรุงปอดให้แข็งแรง  ใส่แหวนเงินที่นิ้วชี้ ช่วยขจัดสารพิษบริเวณม้าม แก้โรคเกาต์ เบาหวาน น้ำเหลืองเสีย และช่วยลดความอ้วน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า “เงิน” เป็นวัตถุอาถรรพ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว ในยุโรปตะวันออกมีความเชื่อลึกลับเกี่ยวแร่เงิน ว่ามีอํานาจป้องกันภูตผีปีศาจ โดยเฉพาะผีดูดเลือดและมนุษย์หมาป่า โดยการใช้เงินทําเป็นกระจกเงาเพื่อพิสูจน์ว่าใครเป็นผีดูดเลือดหรือมนุษย์หมาป่า หรือใช้เงินมาทําเป็นอาวุธ เช่น กระสุนเงินฆ่าพวกมนุษย์หมาป่าซึ่งเป็นที่มาของคําว่า Silver bullet  ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่า เงินมีสีขาว เงางาม ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียถือว่าเป็นสีของความบริสุทธิ์ สงบ และศักดิ์สิทธิ์

เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามาในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีน ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรทวารวดี และแว่นแคว้นต่างๆ ก่อนสมัยสุโขทัย เริ่มมีการผลิตเงินเหรียญเป็นสื่อกลางค้าขายและชำระหนี้เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์  ทั้งนี้ สังเกตได้จากอัตราเงินตราสมัยก่อน ว่า เบี้ย* ๘,๐๐๐ เบี้ย เท่ากับเงิน ๑ เฟื้อง  เบี้ย ๖,๔๐๐ เบี้ย เท่ากับ ๑ บาท (หรือ ๘ เฟื้อง)  จะพึงเห็นได้ว่า เงิน ๑ บาท ตีค่าเป็นเบี้ยถึง ๖,๔๐๐ เบี้ย จึงเป็นราคาสูงสำหรับค่าในสมัยโบราณและเป็นทรัพย์ที่มีความสำคัญอยู่แล้วตั้งแต่สมัยนั้น  (*“เบี้ย" เป็นเปลือกหอยน้ำเค็มชนิดหนึ่ง ที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาจากหมู่เกาะมัลดีฟ และได้ใช้เป็นเงินตราในสมัยโบราณ) นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับ เช่น ต่างหู และกำไล ทำด้วยเงิน ซึ่งทำขึ้นในสมัยทวารวดีอีกจำนวนมาก จึงแสดงอย่างชัดเจนว่าการผลิตเครื่องเงินของไทยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี

สมัยกรุงสุโขทัย อาศัยหลักฐานจากศิลาจารึกวัดบางสนุก ว่า “พระงาสอง ทั้งขันหมากเงิน ขันหมากทอง จ้อง ธง” ทำให้ทราบได้ว่า นอกจาก เงิน เป็นสื่อกลางการใช้จ่ายหรือซื้อขายแล้ว ยังใช้เงินทำสิ่งของใช้สอยอีกด้วย  

สมัยอยุธยาตอนต้น เครื่องเงินคงเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่เฉพาะในหมู่เจ้านายหรือขุนนาง มีการนำ “เงิน” มาทำเครื่องยศ สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชสำนัก ที่ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐  จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย มีปรากฏค่อนข้างชัดเจนในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑ โดยในรัชกาลของพระองค์ได้ตรากฎหมายทำเนียบศักดินาข้าราชการ จัดเป็นลำดับชั้นกันเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย และมีข้อความในกฎหมายตอนหนึ่งว่า  “ขุนนางศักดินา นา ๑๐,๐๐๐  กินเมือง กินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม”   คำว่า เจียด นั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า “เป็นภาชนะชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายตะลุ่ม มีฝาคล้ายรูปฝาชี เป็นเครื่องยศขุนนางโบราณ สำหรับใส่ของ เช่น ผ้า มักทำด้วยเงิน”

เมื่อถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป บ้านเมืองเริ่มมีความเจริญในด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ประชาชนพลเมืองมีฐานะมั่งคั่ง สามารถจะซื้อหาหรือจ้างช่างที่มีฝีมือทำเครื่องเงิน หรือสิ่งของต่างๆ ไว้ใช้สอยขยายเป็นวงกว้างออกไป ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในราชสำนัก วังเจ้านายหรือขุนนาง  พึงทราบได้จากเอกสารจากหอหลวง เรื่อง คำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ตอนที่ว่าด้วยตลาดในพระนครศรีอยุธยา ดังต่อไปนี้  “ถนนย่านป่าขันเงิน มีร้านขายขัน ขายผอบ ตลับ ซองเครื่องเงินแลถมยาดำ กำไลมือแลท้าว ปิ่นซ่นปิ่นเข็ม กระจับปิง พริกเทศ ขุนเพ็ด สายสอิ้ง สังวาลทองคำขี้รักแล สายลวด ชื่อตลาดขันเงิน

ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช่างเครื่องเงินยังคงไว้ซึ่งฝีมือประณีตวิจิตร ได้มีการพัฒนารูปแบบเครื่องเงิน ได้แก่ ขันเงิน พาน กระเป๋าถือ และเครื่องประดับอื่นๆ เช่น แหวน กำไล ปิ่นปักผม สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ตุ้มหู เข็มขัด โดยการนำเอาศิลปะของไทยมาประดิษฐ์ตกแต่งลวดลายให้ดูสวยงาม มีความหลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจาก ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินยังไม่เสื่อมความนิยมในคนหมู่ใหญ่ และมีผู้ประสงค์จะใช้เครื่องใช้ดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นแม้จะมีราคาค่อนข้างสูง  




กำไลเงินประดับเทอร์คอยส์  ฝีมือช่างชาวบ้านเชียงใหม่
ของใช้ส่วนตัว

ประวัติเครื่องเงินในภาคเหนือ
เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ พระองค์ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองในด้านศิลปกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมมาสู่แคว้นล้านนาเป็นอเนกประการ โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างทอง ช่างเงิน ช่างเขิน และช่างเหล็ก ชาวพุกาม มาไว้ยังเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่างเหล่านั้นจะได้ฝึกฝน สอนสรรพวิชาแก่ชาวล้านนาไทย  จึงเข้าใจว่าศิลปต่าง ๆ ของพุกามที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันน่าจะเริ่มมาแต่นั้น  

ต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑ อาณาจักรล้านนาสมัยราชวงศ์มังรายต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเรื่อยมา ในยุคนั้นพม่ากำลังเรืองอำนาจเพราะสามารถรบชนะกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ความเสียหายของกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นมากมายเสียจนไม่สามารถบูรณะบ้านเมืองให้ดีเหมือนเดิมได้  เมื่อพระเจ้าตากสินกู้อิสรภาพคืนได้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงมาสร้างขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรี  และทรงมีพระราชประสงค์จะกำจัดอำนาจของพม่าให้หมดไปจากแผ่นดินไทย  ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๒๐ กองทัพของพระเจ้าธนบุรีโดยความร่วมมือของกองทัพของเจ้ากาวิละสามารถขับไล่กำลังพม่าออกจากเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ การศึกครั้งนั้นทำให้เชียงใหม่ต้องตกเป็นเมืองร้างอยู่ร่วม ๒๐ ปี เนื่องจากผู้คนหนีภัยสงครามไปอยู่ตามป่าตามเขากันหมด  พระเจ้ากาวิละจึงดำเนินนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง"  คือรวบรวมกำลังคนเผ่าต่างๆ ประกอบด้วย หมอโหรา และสล่า (ช่างฝีมือ) ทุกประเภท ให้มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองเชียงใหม่ดังเดิม โดยช่างฝีมือจะได้รับการจัดที่อยู่ให้อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองชั้นนอกกับกำแพงเมืองชั้นใน  ปัจจุบันยังมีชื่อหมู่บ้านช่างหล่อ ช่างเงิน และช่างคำ อยู่รายรอบตั้งแต่บริเวณแจ่งศรีภูมิ ถึงแจ่งกู่เรือง โดยเฉพาะการทำเครื่องเงินบ้านวัวลาย มีช่างตีขันเงินที่อดีตเคยเป็นช่างในคุ้มหลวงในอดีตอาศัยอยู่และถ่ายทอดศิลปหัตถกรรมเครื่องเงินของไทยทั้งที่เป็นศิลปะชั้นสูงและฝีมือประดิษฐ์ของชาวบ้านให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป

 
ผู้เรียบเรียง : Kimlehg




ผลงาน "สลักดุน"
จากนิทรรศการ “สลักดุน”
ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร


งานสลักดุนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Lao People's Democratic Republic


พาน

ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างเมืองหลวงพระบาง หรือเมืองเวียงจันทน์
แหล่งที่มา : เมืองหลวงพระบาง หรือเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๖๐-๒๔๘๐
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ : ใช้เป็นภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนในพุทธศาสนาหรือใช้ใส่สิ่งของที่สำคัญ
พาน หรือที่ชาวลาวเรียกว่า “ขันแอว” ตกแต่งลวดลายด้วยการสลักดุนลายกลีบบัว
และตรงกลางของกลีบบัวสลักดุนเป็นลายช่อดอกไม้ ตามรูปแบบของสกุลช่างล้านช้าง
เมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง รูปแบบน่าจะได้รับอิทธิพลของล้านนาผสมผสาน
แต่ช่างสลักดุนได้ปรับรูปทรงให้สูงยาวยิ่งขึ้นกว่า ลวดลายเป็นของท้องถิ่นมากกว่า







แอ่บใส่นวด (ขี้ผึ้ง) หรือ เขนงยา (ยาเส้น) หรือ เขนงดิน(ดินปืน)

ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างเมืองหลวงพระบาง
แหล่งที่มา : เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๐-๒๔๘๐
วัสดุ : โลหะเงิน และเขาสัตว์
ประโยชน์ : ใช้สำหรับใส่นวด (ภาษาลาว) คือใส่สีผึ้งหรือขี้ผึ้ง สำหรับสีปาก
หรือใช้สำหรับใส่ยาเส้น หรือใส่ดินปืน
แอบใส่นวด มีการตกแต่งด้วยการสลักดุนเป็นลายเกสรบัว ลายกลีบบัว
ลายลูกประคำ ลายฟันปลา เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ ส่วนด้านล่างหรือก้นของภาชนะ
จะไม่ดัดตรงตามแบบรูปทรงตลับโดยทั่วไป หากแต่จะนำของมีค่าหรือของป่าหายาก
รวมทั้งวัตถุมงคลที่ตนเองเลื่อมใส่ศรัทธามาฝังไว้เป็นเครื่องประดับ เช่น นอแรด
เขาของตัวเยืองหรือเลียงผา เขาของตังฟาง หรือตัวฟานคือเขาเก้ง หรือหินกัด
ที่ใช้สำหรับตรวจสอบแร่โลหะทองคำ รวมทั้งก้อนหินที่มีรูปทรงแปลกๆ
จากแม่น้ำโขง เป็นต้น เพื่อแสดงฐานะทางสังคม


ซองพลู

ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างเมืองซำเหนือ และช่างสลักดุนสกุลช่างเมืองไชยบุลี
แหล่งที่มา : เมืองซำเหนือ และเมืองไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๑๐-๒๔๕๐
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ : ใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่พลูที่จีบเป็นคำแล้ว
ซองพลู รูปแบบเฉพาะของชาติพันธุ์ บางท้องที่ก็เรียก “ซองพลูลั๊วะ”
บางที่ก็เรียก “ซองพลูเงี้ยว” หากพบในรูปแบบในสกุลช่างพื้นเมืองในสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณเมืองซำเหนือ เมืองไชยบุรี ลักษณะคล้าย
เขาควายงอนที่ปาก บานออกคล้ายปากแตร นิยมสลักดุนเป็นลายเถาเครือไม้


ชุดขันหมาก หรือ สำรับหมาก

ฝีมือช่าง : ช่างสลักดุน-สกุลช่างเมืองหลวงพระบาง
แหล่งที่มา : เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
อายุ : ประมาณพุทธศักราช ๒๔๔๐-๒๔๖๐
วัสดุ : โลหะเงิน
ประโยชน์ : ใช้เป็นภาชนะใส่ชุดเชี่ยนหมาก
ขันหมากสำหรับ (ถาดรอง) ชาวลาวเรียก กระบุงหมาก เป็นรูปแบบสกุลช่างหลวงพระบาง
ที่ใช้ทั่วไปในหลวงพระบาง สลักดุนบริเวณส่วนกลางเป็นลายช่องกระจกรูปราชสีห์ (สีโห)
อยู่ในกรอบลาย ขนาบด้วยลายกันหอหรือลายขดปลิง และ ใบสน

3031  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ผัดชะครามน้ำพริกปลาทู สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 07 กันยายน 2559 16:44:54
 .



ผัดชะครามน้ำพริกปลาทู

เครื่องปรุง
- ผักชะคราม 1 ถ้วย
- พริกหนุ่ม 7-8 เม็ด
- กระเทียมไทย 2 หัว
- หอมแดง 5-7 หัว
- ปลาทู 1 ตัว
- น้ำปลาดี หรือน้ำปลาร้าต้มสุก
- มะม่วงเปรี้ยว สับหรือซอย
- น้ำมะนาว


วิธีทำน้ำพริกปลาทู
1.เผาพริก หอมแดง กระเทียม จนสุกหอม
2.ย่างปลาทูด้วยไฟอ่อนๆ จนสุกระอุ แกะเอาแต่เนื้อ
3.ลอกเปลือกพริก กระเทียม และหอมแดง โขลกรวมกับเนื้อปลาทูย่าง
   ใส่มะม่วงสับ ปรุงรสด้วยน้ำปลาดีหรือน้ำปลาร้าต้มสุก และน้ำมะนาว
4.รับประทานคู่กับผักชะครามผัดน้ำมัน ฯลฯ


วิธีทำผักชะครามผัดน้ำมัน
1.ใบชะครามมีรสเค็มอยู่ในตัว เพื่อให้ความเค็มเจือจาง ให้แช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วใส่ตะแกรงผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2.ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชเล็กน้อย รอให้น้ำมันร้อนจัด จึงใส่ใบชะครามลงไปผัดให้สุก
3.จัดเสิร์ฟคู่กับน้ำพริกปลาทู หรือน้ำพริกกะปิ ฯลฯ






ปิ้ง หรือย่าง หรือทอด ปลาทู พริกชี้ฟ้า หอมแดง และกระเทียมจนสุกหอม
แล้วนำไปโขลกรวมกัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี มะนาว และมะม่วงเปรี้ยวซอย


มีผู้แนะนำเรื่องการปรุงอาหารจากใบชะคราม ให้นำใบชะครามไปลวกหรือต้มแล้วบีบน้ำทิ้ง
เพื่อคลายความเค็มที่มีอยู่ในใบชะคราม  แต่ครัว "สุขใจ ดอทคอม" แนะนำให้นำไปแช่ในน้ำสะอาดแทนการต้ม
เพื่อให้คงประโยชน์จากคุณค่าของสารอาหารไว้ให้ครบถ้วน ซึ่งได้ผลดีเช่นกัน


มื้อแรกเป็นขั้นทดลองกิน อยู่ในอาการกลัวๆ กล้าๆ...ไม่กล้าชิม...
จึงหยิบมาทดลองผัดน้ำมันชิมเพียงเล็กน้อย และเอาหน่อไม้ลวกมาเคียงคู่
กลัวน้ำพริกจะไม่มีผักจิ้ม หากกินผักชะครามไม่ได้


จานนี้กินคู่กับน้ำพริกปลาทู วันถัดไปผัดน้ำมันอีก 1 จาน กินคู่กับน้ำพริกปลาร้าผัด...สุดยอดจริงๆ  


มีเรื่องมาเล่า

เจ้าของเว็บไซต์สุขใจดอทคอม ไปเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หิ้ว “ชะคราม” มาฝาก 1 ถุง (ประมาณ 2 ขีด) บอกว่าแช่อยู่ในตู้เย็นเอาไว้ทำกับข้าว  จึงทำให้ได้มีโอกาสรู้จัก “ชะคราม” เป็นครั้งแรกในชีวิต  

จับถุงชะครามพลิกไปพลิกมา ใบอะไรก็ไม่รู้เป็นฝอยๆ ค่อนข้างแข็งคล้ายใบสน...ไม่รู้จะทำอะไรกิน และไม่กล้าจะทดลองกินพืชผักแปลกๆ ที่ไม่เคยลิ้มลองมาก่อนด้วย จะทิ้งก็สงสารไอ้เจ้าคนหิ้วมาฝาก หมกๆ ไว้กะรอให้ผักเน่าจะได้เป็นข้ออ้างนำทิ้งถังขยะ จนเกือบสองสัปดาห์ผ่านไป ถูกนายเจ้าของเว็บไซต์กระตุกต่อมเครียด ยิงคำถามว่าป้ากิมเล้งเอาใบชะครามไปทำกับข้าวหรือยัง...ยัง!

เป็นเหตุให้ต้องค้นหาข้อมูลเจ้าผักใบเป็นฝอยเหมือนใบสน จึงทำให้ทราบว่าใบของชะคราม ทำอาหารได้หลายเมนู เช่น ยำใบชะคราม  แกงเผ็ดใบชะครามกับปูหรือกุ้ง แกงส้มใบชะคราม ใบชะครามลวกราดกะทิ หรือชุบแป้งทอด หรือทอดกับไข่กินคู่กับน้ำพริก ฯลฯ...ลองๆ ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงแล้ว มาได้ข้อสรุปให้ตนเองด้วยการเลือกปรุง “ใบชะครามผัดน้ำมัน + หน่อไม้ลวก กินคู่กับน้ำพริกปลาทู”  คือถ้าถึงขั้นต้องเททิ้งเพราะกินไม่ได้แล้ว ยังจะนับได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีต้นทุนต่ำที่สุด คือเสียเพียงค่าน้ำมันพืชไม่กี่สตางค์เท่านั้นเอง ส่วนน้ำพริกปลาทูยังไงเสียก็ยังมี “หน่อไม้ลวก” ไว้สำรองให้กินแกล้ม

ณ บัด Now เพียงคำแรกที่ได้ลิ้มลองรสชาติอันแปลกใหม่ของใบชะครามผัดน้ำมัน ก็ทำให้รู้สึกหลงรักในรสชาติของใบชะครามเข้าให้ซะแล้ว คงไม่ต้องบอกว่าเอร็ดอร่อยแค่ไหน เจอหน้านายเจ้าของเว็บไซต์ คำแรกที่เอ่ยปากคือ คราวหน้าถ้าแกไปเที่ยวทะเล อย่าลืมซื้อชะครามมาฝากป้ากิมเล้งสักสองเข่ง!...เกิดมาไม่เคยกินผักอะไรที่เอร็ดอร่อยเท่าใบชะคราม รสชาติมันๆ หวานนิด เค็มหน่อย ที่สำคัญไม่มีกลิ่น จึงเหมาะสำหรับนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู




ชะคราม
ภาพจาก : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

ชะคราม

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ถูกจัดอันดับ: Angiosperms
ไม่ถูกจัดอันดับ: Eudicots
ไม่ถูกจัดอันดับ: Core eudicots
อันดับ: Caryophyllales
วงศ์: Amaranthaceae
วงศ์ย่อย: Suaedoideae
สกุล: Suaeda
สปีชีส์: S.maritima

ชะครามเป็นพืชล้มลุก ประเภทพืชสมุนไพร มีขึ้นอยู่ทั่วไปของพื้นที่ป่าชายเลนตามชายฝั่งทะเลที่น้ำเค็มขึ้นถึง  ในไทยพบมากที่ป่าโกงกาง ที่รกร้างรอบๆ นาเกลือ บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ เป็นพืชทนเค็ม ขยายพันธุ์ได้ง่าย กิ่งก้านอวบน้ำ ใบแคบยาว พองกลม ปลายแหลมมีนวลจับขาวจำนวนมาก สีเขียวอมฟ้า ใบมีรสเค็ม ออกดอกตามซอกใบ

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ชะคราม Suaeda maritima (L.) Dumort. Chenopodiaceae
ชื่อพ้อง Chenopodium maritimum L. (basionym)
ชื่ออื่น ส่าคราม (สมุทรสาคร) ชักคราม
ชื่อวงศ์ CHENOPODIACEAE

ลำต้น ไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปีเมื่ออายุมากขึ้นจะพัฒนาจนลำต้นมีเนื้อไม้เป็นพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ลำต้นแก่มีผิวหยาบจากรอยแผลที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว

ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปทรงกระบอกแคบๆ โค้งเล็กน้อย ยาว 2-5 มม. ปลายเรียวแหลม ไร้ก้าน เรียงสลับ เบียดกันแน่น ไม่มีก้านใบ ใบรูปแถบยาว 1-6 เซนติเมตร. ใบอวบน้ำมีนวลสีเขียวสดหรือสีเขียวอมม่วงในฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอ่อนๆ

ดอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 15 ซม. แต่ละแขนงดอกออกเป็นกระจุก 3-5 ดอกเรียงยาวตามช่อแขนง มีใบประดับคล้ายใบ ลดรูปตามช่อกระจุกช่วงปลายช่อ ประดับย่อยขนาดเล็ก มี 2-3 อัน ติดใต้กลีบรวม ยาว 0.5-1 มม. ติดทน ลักษณะคล้ายใบ และมีขนาดเล็กลงไปทางปลายช่อ ใบประดับย่อยที่ฐาน วงกลีบรวม มี 2-3ใบรูปขอบขนานมนโปร่งใสและติดคงทนวงกลีบรวม สีเขียว หรือสีเขียวอมม่วง

ผล มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5เซนติเมตร. อยู่ภายในวงกลีบรวม แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมาก
 
สรรพคุณตามตำรับยาไทย
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แห่งประเทศอินเดีย พบว่า ชะครามมีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถนำมาสกัดสารเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรยับยั้งหรือฆ่าเซลล์มะเร็ง อันเป็นความหวังของผู้วิจัยและผู้ป่วยมะเร็งอีกทางหนึ่ง

และเนื่องจากเป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่เค็ม จึงดูดซับเกลือไว้ในลำต้น ทำให้มีธาตุไอโอดีนสะสมอยู่จำนวนมาก จึงสามารถป้องกันโรคคอพอกได้ นอกจากนี้ทั้งต้นยังรักษารากผม แก้ผมร่วงได้อีกด้วย  ราก ใช้รากรับประทานเป็นยาบำรุงกระดูก แก้พิษฝีภายใน ดับพิษในกระดูก น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน โรคผิวหนัง และเส้นเอ็นพิการ

ใบของชะครามทำอาหารได้อร่อยหลายเมนู โดยที่ใบของชะครามจะดูดเอาความเกลือจากดินมาเก็บไว้จึงทำให้ใบมีรสเค็ม ดังนั้นในการปรุงอาหารจึงใช้ใบอ่อนนำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วต้มคั้นน้ำทิ้งไป 2-3 ครั้ง เพื่อให้ลดความเค็มลง





สูตร/วิธีทำ ไข่เจียวใบชะคราม
กดอ่านที่ภาษาอังกฤษด้านล่างค่ะ
http://www.sookjai.com/index.php?topic=197253.msg228413#msg228413




สูตร/วิธีทำ แกงไก่ใบชะคราม
กดอ่านที่ภาษาอังกฤษด้านล่าง
http://www.sookjai.com/index.php?topic=197251.msg228411#msg228411


3032  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: เฉลว : ความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น เมื่อ: 07 กันยายน 2559 14:24:02


ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

หากพิจารณาถึงคุณลักษณะของเฉลวที่ใช้กันอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วจะเห็นว่า เฉลว มีรูปแบบการใช้ที่หลากหลายตามคติความเชื่อและคตินิยมของคนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นๆ คือ

๑.การใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงการบอกขาย
    การใช้เฉลวในลักษณะดังกล่าวนี้ผู้ใช้มิได้เพ่งถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใช้ต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายบางสิ่งบางประการ ที่ต้องการสื่อให้สังคมได้รับรู้ การใช้เฉลวในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมท้องถิ่นนั้นๆ สามารถเข้าใจและรับรู้ร่วมกันได้ เช่น การบอกขายเรือน การใช้เฉลวเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกการขายนี้เข้าใจว่าจะเป็นของเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งต่อมาใช้เข่งปลาทูปักแทนเฉลวก็มี (เรียกกันว่า เฉลวเข่งปลาทู)

๒.ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า เป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษี
    สมัยก่อนเรือที่บรรทุกสินค้าจากภายนอกเพื่อจะเข้ามาขายในเมืองหลวง จะต้องเสียภาษีค่าผ่านด่านคือเสียภาษีจังกอบ ซึ่งจะมีด่านเก็บภาษีจังกอบอยู่ตามลำน้ำสายหลักๆ ทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า “ขนอน” หรือ “ด่านขนอน” คือ ด่านหรือสถานที่ที่เก็บภาษีจากสินค้าและผลิตผลที่เป็นสินค้าพื้นเมืองและสินค้าจากต่างประเทศนั่นเอง ดังปรากฏในโคลงนิราศนรินทร์ ความว่า
     มาด่านด่านบ่ร้อง      เรียกพัก พลเอย
     ตาหลิ่งตาเหลวปัก     ปิดไว้
     ตาเรียมหลั่งชลตัก     ตวงย่าน
     ไฟด่านดับแดไหม้      มอดม้วยฤามี

๓.ใช้บอกอาณาเขตการจับจองพื้นที่
    การจับจองพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรมของชาวชนบทในสมัยก่อน มีการใช้เฉลวปักไว้เพื่อบอกอาณาเขตของสถานที่ที่ได้จับจองไว้ เช่น พื้นที่ที่เป็นที่นาก็จะปักเฉลวไว้ที่มุมนาทั้งสี่ด้าน ทราบว่าอาณาเขตพื้นที่นี้มีคนจับจองเป็นเจ้าของไว้แล้ว ซึ่งบุคคลทั่วไปเมื่อเห็นเฉลวที่ปักไว้ก็สามารถทราบได้ทันที
    การใช้เฉลวในลักษณะนี้ คล้ายๆ กับการใช้เครื่องหมายปักกำของชาวใต้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อแสดงเจตจำนงการหวงห้าม เช่น การนำไม้ปักกำไปปักไว้ที่หนองน้ำ ก็เพื่อบอกเจตจำนงว่าห้ามจับปลาในบริเวณนี้ หรือการนำปักกำไปปักไว้ที่สวนที่มีหญ้าเขียวชอุ่มก็เพื่อบอกเจตจำนงว่า ห้ามบุคคลมาตัดหญ้าหรือนำวัวควายเข้ามากินหญ้าในบริเวณนี้ เป็นต้น

๔.ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นเขตหรือพื้นที่ต้องห้าม
    ในการประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั้น ส่วนมากจะมีเฉลวผูกติดไว้กับรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งภายในรั้วราชวัตินั้น พระสงฆ์จะประกอบพิธีพุทธาภิเษก หรือนั่งปรกปลุกเสก จัดว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ การปักเฉลวไว้ที่รั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศนั้น ก็เพื่อกันบุคคลภายนอกเข้าไปในขณะกระทำพิธีกรรมนั่นเอง อีกอย่างหนึ่งท่านว่า เพื่อกันภูต ผี ปิศาจ หรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ
     การปักเฉลวเพื่อแสดงว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามนี้ ปรากฏใช้ในชาวเขากลุ่มต่างๆ โดยมีธรรมเนียมการใช้เฉลวปักเป็นเครื่องหมายห้ามไม่ให้ผ่านเข้าไปด้วย เช่น พวกกะเหรี่ยงโปที่อาศัยอยู่แถบแม่สะเรียงนั้นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ในเวลานวดข้าว เพื่อเตือนให้ทราบและห้ามบุคคลผู้ใดเข้าไปเรียกหรือชวนพูดคุย เพราะการนวดข้าวเป็นงานที่สำคัญที่ต้องทำให้เสร็จไปโดยเร็วก่อนที่จะลงมือทำงานอย่างอื่นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าไปรบกวนการทำงาน จะต้องถูกลงโทษโดยการให้ช่วยนวดข้าว และอาจจะต้องเสียค่าปรับเป็นไก่หรือไข่ไก่อีกด้วย
     กลุ่มชนพื้นเมืองในลาวตอนเหนือ ทำเฉลวเป็นเครื่องหมายป้องกันสิ่งอัปมงคลและวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาทำให้คนเจ็บป่วย ซึ่งก็มีทั้งแบบชั้นเดียว ปักไว้ตามทางเข้าบ้านหรือหลายแบบหลายขนาด ประกอบเป็นซุ้มประตูศักดิ์สิทธิ์บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เช่น ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านของชนเผ่า kho Pouly ทำเฉลวไว้เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลและกันบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในบริเวณพื้นที่ของตน
     ชาวเย้ามีความเชื่อว่า ป่าเป็นที่อยู่ของพวกภูต ผี ปิศาจ และวิญญาณร้ายต่างๆ ส่วนหมู่บ้านนั้นเป็นที่อยู่ของคนบ้านกับป่าจึงต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ประตูหมู่บ้านคือบริเวณที่แบ่งเขตบ้านกับป่า การปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผีจากป่าเข้ามาในหมู่บ้านนั่นเอง
     ชาวล้านนาบางท้องถิ่นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านหรือที่บันได หากคนในครอบครัวต้องทิ้งบ้านไปนานหลายๆ เดือน จุดประสงค์เพื่อห้ามปรามบุคคลภายนอกไม่ให้เข้ามาในเรือนนั่นเอง อีกประการหนึ่งก็คงใช้กันภูต ผี ปิศาจและสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ ด้วย
     ความเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบได้ในกลุ่มชนชาวเขาอื่นๆ เช่น อาข่าและชาวเผ่าข่า โดยที่เป็นประเพณี และความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนาน ทั้งกรณีกระทบกับความผาสุกของทุกคนในหมู่บ้าน  ดังนั้น ชาวเขากลุ่มต่างๆ จึงถือเป็นประเพณีต้องทำตามข้อปฏิบัติที่จะละเลยไม่ได้ และเพื่อเป็นการห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด บางกลุ่มจึงใช้เลือดสัตว์เซ่นบูชาผีและอารักษ์ทาเฉลว แล้วนำไปปักไว้ที่ทางเข้าประตูบ้าน





ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๕.การใช้เฉลวเพื่อการขับไล่ภูตผีและสะกดวิญญาณภูตผี
     ประเพณีชาวพายัพและชาวอีสานมีการใช้เฉลวในพิธีเกี่ยวกับคนตายด้วย โดยเมื่อเสร็จพิธีสวดศพ และจัดเคลื่อนศพไปป่าเร่ว ในขณะที่เคลื่อนขบวนไปนั้น ผู้ประกอบพิธีจะทิ้งเฉลวไปตามทางที่ขบวนเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงป่าเร่ว เพื่อปิดทางป้องกันมิให้วิญญาณของผู้ตายที่ติดตามร่างของตนไปนั้นกลับมาบ้าน เพราะเมื่อทำพิธีเผาหรือฝังแล้ว เมื่อวิญญาณหาร่างกายของตนไม่พบจะวนเวียนกลับมาบ้านอีก การทิ้งเฉลวลงตามทางจึงเป็นการป้องกันการกลับมารบกวนของวิญญาณ ในกรณีของการฝังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าวิญญาณของผู้ตายจะกลับไปเข้าในร่างกายไม่ได้อีก ผู้ทำพิธีจะวางเฉลวไว้เหนือหลุมศพอีกด้วย”

๖.ใช้เฉลวในพิธีแรกนาและทำขวัญข้าว
     โดยทั่วไปก่อนที่จะลงมือทำนานั้น ชาวนาจะทำพิธีเชิญขวัญข้าวหรือพิธีแรกนาในบริเวณที่นาของตนเอง เพื่อเสี่ยงทายและขอต่อเจ้าหน้าที่และแม่โพสพ เพื่อให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี ไม่มีภัยพิบัติมารบกวนและให้ผลดี ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ชาวนาถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่โบราณคือ ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าว เชื่อว่าการทำขวัญข้าวจะทำให้การทำนาในปีต่อไปจะได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ในยุ้งฉางก็จะมีพอกินตลอดปี ชาวนาจะทำตาเหลวหรือเฉลวขนาดใหญ่มาปักไว้พร้อมด้วยเครื่องสังเวยเรียกว่า “ตาเหลวแรกนา” หรือ “ตาเหลวหลวง” มีลักษณะเป็นเฉลวพิเศษที่ใช้ในพิธีแรกนา โดยเฉพาะตาเหลวชนิดนี้ทำขึ้นให้มีลักษณะคล้ายว่าวใหญ่ผูกติดกับไม้ไผ่ซึ่งจะตัดมาใช้ทั้งลำ ใช้เชือกเป็นโซ่ทำรูปปลาห้อยลงมาสองตัว รูปปลาอาจทำด้วยแผ่นไม้หรือไม้ไผ่สานก็ได้
     ตาเหลวชนิดนี้ เจ้าของนาจะติดตั้งขึ้นเป็นพิเศษในพิธีกรรมแรกนา โดยการกันเอาที่มุมคันนาด้านหัวนาเป็นปริมณฑลสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วกั้นรั้วราชวัติกว้างยาวประมาณ ๑ เมตร ล้อมรอบอยู่ ๓ ด้าน ที่มุมทั้งสี่จะมีตาเหลวขนาดปกติตั้งอยู่พร้อมภาชนะสำหรับใส่เครื่องบัตรพลีไว้ด้วย บางสถานที่อาจจะไม่กระทำราชวัติก็ได้ เพียงแต่ปักส้อหล้อ (ส้อหล้อ คือ เครื่องจักสานที่ทำขึ้นเพื่อรองรับสิ่งอื่น อาจใช้รองรับหม้อน้ำดื่มหรือวางเครื่องบูชาอย่างในพิธีแรกนา) บรรจุเครื่องบัตรพลี ๕ ชุด เป็นปริมณฑลรอบแท่นบัตรพลีแทน
     ต่อจากนั้น ภายหลังเก็บเกี่ยวและข้นข้าวมายังลานนวดข้าวแล้ว เพื่อคุ้มครองข้าวเปลือกที่กองอยู่และยังไม่ได้ขนขึ้นยุ้งฉางนั้น ชาวนาจะทำเฉลวขนาดใหญ่เรียก “เฉลวหลวง” มาปักไว้ในทิศต่างๆ รอบกองข้าวเปลือก เพื่อกันคนและผีขโมยข้าวเปลือก
     ตาเหลวหลวงนี้บางครั้งก็จะใช้ในงานสืบชะตาบ้านชะตาเมือง สืบชะตาหลวงหรือใช้สำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านใต้เฉลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งหลาย

๗.ใช้เฉลวปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร
     การนำเฉลวมาปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพรของหมอพื้นบ้านนั้น มีคติความเชื่อที่หลากหลาย แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ส่วนมากก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกันคือ
        ๗.๑ เชื่อว่าเป็นการห้ามคนธรรพ์ วิทยาธร หรือภูตผีข้ามหม้อยา ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพไป
        ๗.๒ เพื่อกันคนเปิดดูหม้อยา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ยาเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ (หมอพื้นบ้านมักจะหวงวิชาของตัวเอง การนำเฉลวมาปักที่หม้อยาก็เพื่อกันไม่ให้เปิดหม้อยาแล้วล่วงรู้ถึงตัวยาที่ตัวเองประกอบขึ้นนั่นเอง)
        ๗.๓ เชื่อว่าหม้อยาที่ไม่ลงคาถาอาคมหรือปักเฉลวกันไว้ เมื่อถือหม้อยานั้นผ่านบ้านหมอคนอื่น จะทำให้สรรพคุณทางตัวยาเสื่อมคุณภาพ
        ๗.๔ เพื่อกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับหม้อยา เช่น การใส่อะไรลงไปในหม้อยา ตลอดถึงการจับต้องเคลื่อนย้ายหม้อยา หม้อยาที่มีเฉลวปักไว้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการห้ามปรามซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้
        ๗.๕ เฉลวนั้น ท่านว่าเป็นเสมือนตัวแทนของหมอยา เพราะหมอยานอกจากจะให้เครื่องยาแล้ว ก็ยังบริกรรมปลุกเสกเครื่องยาเหล่านั้นด้วย การปักเฉลวไว้ที่หม้อยาเป็นการกำกับคาถาอาคมที่เสกยาให้อยู่ที่หม้อยานั่นเอง อีกอย่างท่านว่าเป็นการให้กำลังใจให้ผู้เจ็บป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยมีกำลังใจดีแล้ว โรคาพยาธิก็อาจจะระงับได้เร็วกว่าปกติ

๘.ใช้เฉลวปิดหน้าเพื่อประจานความผิด
     โบราณใช้เฉลวปิดหน้าประจานความผิดเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งผู้ที่ถูกเอาเฉลวปิดหน้าแล้วนำออกประจานให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังปรากฏในหนังสือกฎหมายตราสามดวง บทพระไอยการลักษณะผัวเมีย มาตรา ๖ กล่าวโทษลักษณะหญิงมีชู้ว่า “หญิงใดดุจดังอำแดงอูนี้ก็ดี ผัวรู้ด้วยประการใดๆ  พิจารณาเป็นสัจไซร้ ท่านให้ผจานหญิงและชายนั้นด้วยไถ ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะและคอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถ ๓ วัน ถ้าแลชายผู้ผัวนั้นยังรักเมียอยู่ มิให้ผจานไซร้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย”
     ในวรรณกรรมภาคใต้ เรื่อง “พระวรวงศ์คำกาพย์” ตอนหนึ่งกล่าวถึงนางกาไวยว่า ถูกทำโทษโดยการเอากะหลิว (เฉลว) ปะหน้าทัดและสวมมาลัยดอกชบาแล้วเอาเข้าเทียมแอกเพื่อประจาน ก่อนที่จะถูกฝังทั้งเป็นเหลือเพียงคอแล้วถูกไถด้วยไถจนถึงแก่ความตาย ดังประพันธ์ว่า
     สานกะหลิว สามชั้น     รัดเกล้าสุวรรณ     ปะหน้าเทวี
     แล้วเอาน้ำมัน           ยางใส่ส่าดี          ทาหัวเทวี
     เอานุ่นซัดลง    
     แล้วสูเอาฆ้อง            ตีไปหม่องๆ          ป่าวร้องประจาน
     ให้มันว่าไป              ทุกแดนสถาน       ร้องทุกหน้าร้าน
     หน้าบ้านทุกแห่ง

๙.ใช้เฉลวเป็นวัตถุมงคลหรือเครื่องราง เพื่อการคุ้มครองป้องกันตัว
     พระเกจิอาจารย์สมัยโบราณได้นำรูปแบบเฉลวมาประดิษฐ์เป็นแบบยันต์ซึ่งเรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” ลงในวัตถุมงคลประเภทต่างๆ เช่น เหรียญผ้ายันต์ เสื้อยันต์ พระปิดตา หรือตะกรุด เป็นต้น  ต่อจากนั้นก็ได้ประจุพลังความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลงในวัตถุมงคลเหล่านั้น เพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พุทธบริษัทผู้มีความเคารพเลื่อมใสใช้พกพาติดตัวเป็นเครื่องรางเพื่อป้องกันอุปัทวะอันตรายและสิ่งอัปมงคลต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้ยันต์เฉลวเพชรประทับหลังพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม ซึ่งพุทธคุณที่ปรากฏในพระปิดตาหลวงพ่อทาก็คือ คงกระพัน เมตตา และแคล้วคลาด



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๑๐.ใช้ปัดรังควานและป้องกันโรคระบาดต่างๆ
     ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ผลิตเงินพดด้วงเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ อาทิ เงินพดด้วงตราเฉลว เป็นพดด้วงเงินมีราคาเดียว คือ ชนิดราคาหนึ่งบาท ประทับตราเฉลวอยู่ด้านบน ด้านหน้าไม่มีตราประทับ ปรากฏความว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดไปทั่วทั้งเมืองหลวงในพุทธศักราช ๒๓๙๒ มีผู้คนล้มตายราวสี่หมื่นคนรวมทั้งพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วย  ศพลอยเป็นแพตามแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง   พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า เมื่อเดือน ๗ แรม ๑ ค่ำ เกิดความไข้ป่วงทั้งแผ่นดิน ไข้นั้นเป็นมาแต่ประเทศฝ่ายทะเล เป็นมาแต่เมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นมาก่อน ไข้นั้นเป็นขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานคร เป็นขึ้นไปจนถึงเมืองฝ่ายเหนือ เสียพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์องค์ ๑ พระองค์เจ้าจินดาองค์ ๑ พระราชธิดา พระองค์เจ้าพวงแก้วองค์ ๑ เสนาบดี เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ๑  พระองค์โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่และนิมนต์พระสงฆ์ให้สวดมนต์ขับไล่ความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วโปรดให้ประชาชนถือศีลสร้างกุศล หลังจากนั้นจึงมีฝนตกลงมาห่าใหญ่ช่วยชำระสิ่งสกปรกให้หมดไป ไม่นานความไข้ก็หายไป จึงเชื่อกันว่าโปรดให้ผลิตพดด้วงตราเฉลวขึ้นและแจกให้ประชาชนไว้เพื่อป้องกันโรคระบาด
     ลักษณะดังกล่าวนี้ เช่นเดียวกับการสร้างเงินตรานะโมของเมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานเล่าว่าพระยาศรีธรรมโศกราช ซึ่งเดิมเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ชื่อว่า พราหมณ์มาลี ได้อพยพมาจากอินเดียหนีข้ามเขาสกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ แต่เนื่องจากภูมิประเทศบ้านน้ำรอบอยู่ในระหว่างภูเขาห้วยธารป่าดง ประกอบทั้งผู้อพยพเป็นพวกอยู่ใกล้ทะเล ครั้นมาอยู่ในที่ๆ ผิดอากาศก็เกิดไข้ห่าขึ้นในหมู่พวกอพยพ ต้องย้ายไปทางฝั่งทะเลตะวันออก พบหาดทรายแก้วจึงได้ตั้งมั่นลงที่นั้น แม้จะเกิดไข้ห่าขึ้นอีกก็มิได้รื้อถอนอพยพอีก ต่อมาพระยาศรีธรรมโศกราชจึงปรึกษาด้วยมหาเถรผู้เป็นอาจารย์และอธิบดีพราหมณ์ให้หาอุบายป้องกันโรคห่าซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ให้หายขาด พระมหาเถรและอธิบดีพราหมณ์จึงเห็นพ้องกันประกอบพิธีทำเงินตรานโมขึ้นแล้วนำไปกระทำพิธีอาถรรพ์เวท ฝังไว้ที่ประตูเมืองทั้ง ๙ และตามใบเสมากำแพงเมืองโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทั้งยังโปรยปรายเงินตรานโมและพรมน้ำมนต์ไปทั่วนคร ที่เหลือก็แจกให้ประชาชนทั่วไป นับแต่นั้นมาไข้ห่าก็มิได้เกิดขึ้นอีกเลย
     สำหรับไข้ห่านั้นถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรง การระบาดแต่ละครั้งจะก่อความเสียหายต่อชีวิตของสมาชิกในชุมชนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในแต่ละคราวจะมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก หมอพื้นบ้านทั่วไปก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยได้ วิธีที่จะสู้กับโรคนี้ได้คือการอพยพหนีจากแหล่งระบาดไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านเรียกการระบาดของโรคนี้ว่า “ห่าลง” หรือ “บาดลง” แต่หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ไข้ยมบน” เพราะหมายความถึงว่า ความเจ็บป่วยที่มาจากพระยายมผู้เป็นเทพแห่งความหายนั่นเอง"



ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
3033  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 05 กันยายน 2559 17:33:59



เก๋งเรือ กว้าง ๑๖๑ ซม. ยาว ๒๗๘ ซม. สูง ๒๒๒ ซม. ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕  
ทำจากไม้จำหลักลายพันธุ์พฤกษา ลงรักปิดทองและเขียนสี (การลงรัก เรียกอีกอย่างหนึ่่งว่า "สมุก")


ผนังด้านในตอนบนเหนือกรอบประตูหน้าต่าง มีภาพเขียนเป็นลายมงคลศิลปะจีน
เก๋งเรือนี้สันนิษฐานว่า คงจะเป็นเก๋งของเรือแหวต ซึ่งเป็นเรือขุดที่มีขนาดใหญ่ ใช้ฝีพายราว ๗-๘ คน  

เรือแหวตนี้เป็นเรือที่บ่งบอกฐานะของเจ้าของเรือได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเรือหลวงพระราชทาน
สำหรับเจ้านายที่ทรงกรม ตั้งแต่กรมพระขึ้นไปหรือขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ไม่ต่ำกว่าเจ้าพระยา
และพระสงฆ์ระดับพระราชาคณะชั้นสมเด็จ
ปัจจุบันเก๋งเรือดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์จันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ : ๔ กันยายน ๒๕๕๙





ครุฑโขนเรือ ประดิษฐ์จากไม้ ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓
ได้จาก แม่น้ำลพบุรีเก่า พระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
ภาพ : ๔ กันยายน ๒๕๕๙
3034  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / เฉลว : ความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น เมื่อ: 05 กันยายน 2559 17:05:25


ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

เฉลว
กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน
Chalew : Ancestor's Rule or Myth

ความเชื่อของบรรพชนไทยในอดีต ส่วนมากจะยึดติดอยู่กับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็ยากแก่การพิสูจน์ได้ ในบรรดาความเชื่อของบรรพชนที่เกี่ยวเนื่องด้วยความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ จะต้องมีเรื่องของ “เฉลว” รวมอยู่ด้วยเรื่องหนึ่งเสมอ

เฉลว สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อของบรรพชนไทยซึ่งปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นความเชื่อที่มีองค์ประกอบ และมิติที่หลากหลายตามคตินิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน บางอย่างได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรม ค่านิยม จารีตประเพณีที่แฝงไว้ด้วยระบบความเชื่อและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังและเร้นลับ  บางอย่างแฝงไว้ด้วยค่านิยมทางสังคม ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี สังคม และศาสนา

ความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้ว่าในสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบันจะได้เลือนหายไปบ้างในสังคมเมือง แต่ว่าในสังคมชนบทความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่ายังมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ อยู่มากพอสมควร

จากการศึกษาจะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องเฉลวนั้นมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยตลอดจนในถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทในประเทศต่างๆ และในกลุ่มชนอื่นๆ เช่น ในกลุ่มชนกะเหรี่ยงและกลุ่มมอญเขมรเป็นต้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีความเชื่อและกระบวนการปฏิบัติที่จะนำไปใช้นั้นแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็จะเห็นว่ามีจุดมุ่งหมายเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าการเรียกชื่อจะแตกต่างกันไปบ้าง คือ ภาคกลางจะเรียกว่า เฉลว ภาคเหนือเรียก ตาแหลว หรือตาเหลว เช่นเดียวกับภาคอีสาน ส่วนภาคใต้เรียก เหลว บางท้องถิ่นเรียก เหลวเพชร



ภาพจาก : kornbykorn.blogspot.com

จากยมบาศ ถึง เฉลว
เทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมนุษย์เกรงกลัวกันมาก คือ พระยมหรือท้าวมัจจุราช เหตุว่าพระยมเป็นเทพเจ้าแห่งความตายนั่นเอง ทุกสรรพชีวิตบนพื้นปฐวีดลย่อมมีความสะดุ้งกลัวต่อความตายด้วยกันทั้งนั้น

พระยมนั้นมีเมืองเป็นของตัวเองชื่อว่า ยมปุระ หรือยมโลก อยู่นอกขอบจักรวาลไปทางทิศทักษิณ รูปลักษณ์ของพระยมกล่าวกันว่า เป็นผู้มีรูปร่างใหญ่โต หน้าตาดุร้าย ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า พระยมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดๆ และบังคับโจทก์แลจำเลยนั้นด้วยสัจซื่อและชอบธรรมทุกอันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พญายมราชก่อน สีกายของพระยมราชนั้นเลื่อมประภัสสร หรือสีพระอาทิตย์แรกขึ้น แต่ในบางแห่งว่าผิวกายสีเขียว คือสีใบไม้ ใช้เครื่องนุ่งห่มสีแดง มีกระบือเป็นพาหนะ ถือคทาใหญ่เรียกว่า กาลทัณฑ์หรือยมทัณฑ์ มีนัยน์ตาเป็นอาวุธเรียกว่า นยนาวุธ มีบ่วงสำหรับคล้องและมัดสัตว์ผู้มีบาปเรียกว่า “ยมบาศ” พระยมมีนามเรียกกันหลายชื่อ เช่น พระยม ยมเทพ ธรรมราช ท้าวมัจจุราช พระกาล มฤตยู ปาศี (ผู้ถือบ่วง) เป็นต้น

ด้วยเหตุที่มนุษย์เกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มาก โดยเฉพาะมนุษย์ที่ประกอบแต่อกุศลกรรมทำแต่ความชั่ว ย่อมเกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มากเป็นพิเศษ เมื่อตายไปแล้วก็ไม่อยากจะไปรับโทษในยมโลก เป็นวิญญาณที่เร่ร่อนอยู่ในมนุษย์โลก มีลักษณะเป็นเปรต ภูต ผี ปิศาจ เที่ยวหลอกหลอนชาวมนุษย์

พวกมนุษย์เมื่อถูก ภูต ผี ปิศาจ หรือเปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นวิญญาณเร่ร่อนหลอกหลอนก็เกิดความหวาดกลัว จึงได้คิดหาวิธีการป้องกัน โดยได้คติความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย ย่อมเกรงกลัวต่อพญายมราช โดยเหตุที่พญายมราชมีของวิเศษซึ่ง ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย หวาดหวั่นสะพรึงกลัวคือ “ยมบาศ” พระเกจิอาจารย์ยุคโบราณจึงได้นำเอาลักษณะยมบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นอักขระเลขยันต์เรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” เพื่อใช้ป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ ดังปรากฏตัวอย่างในพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม และยันต์รูปเฉลวที่ประทับด้านหลังเหรียญหลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก พัทลุง ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

มนุษย์ทั้งหลายใช้จินตนาการจากบ่วงบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นรูปลักษณะคล้ายดาว เรียกกันต่อมาว่า “เฉลว” ซึ่งชั้นต้นจริงๆ คงใช้เพื่อกัน ภูต ผี ปีศาจ เปรต อสุรกาย และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เท่านั้น ต่อมาปรากฏว่ามีการประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นมากหลากหลายรูปแบบ และมีคติสำหรับการนำไปใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ บางท้องถิ่นก็ผูกเป็นตำนาน นิทาน เพื่อสื่อและอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองด้วย




ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ลักษณะที่เรียกว่า เฉลว
เฉลว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เฉลว น.เครื่องทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุมๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป สำหรับปักหม้อยา ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของ ซึ่งจะขายหรือปักบอกเขต

พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมให้ความหมายเฉลว ว่า เครื่องหมายอย่างหนึ่ง ทำด้วยตอก นำมาหักขัดเป็นมุมตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป มีที่ใช้หลายอย่าง แล้วแต่ลักษณะและประโยชน์ใช้สอย ดังเช่น

เฉลวขนาดเล็ก หักขัดเป็น ๕ มุม ใช้สำหรับปักบนใบตองหรือผ้าขาวบางที่มัดปิดปากหม้อยาต้มของแพทย์แผนไทย

เฉลวขนาดใหญ่ ใช้ปักบนพื้นดินเป็นเครื่องหมายบอกเขตห้ามล่วงล้ำละเมิดสิทธิ์เหมือนรั้ว หรือใช้เป็นเครื่องหมายบอกขายที่ผืนนั้น เช่นเดียวกับที่ใช้ปักบนสิ่งของอื่นๆ เช่น เรือ แพ บ้าน เป็นต้น เพื่อบอกความประสงค์ให้รู้ว่าต้องการขายสิ่งนั้นๆ

พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้ความหมายเฉลวว่า เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ใช้ตอกสานขัดกันเป็นแฉกๆ อาจมีห้าแฉก หกแฉก หรือมากกว่านั้น เฉลวเป็นเครื่องสานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ เช่น มีการปักเฉลวไว้บนเครื่องเซ่นพลีตามริมทางหรือทางแยก เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ภูต ผี และวิญญาณมารับเครื่องเซ่นพลีนั้น

พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่องให้ความหมายว่า เฉลว ก.เครื่องกั้นห้าม ห้ามแตะต้อง ห้ามล่วงสิทธิ์ ใช้ปักฝาหม้อยาเพื่อป้องกันผู้อื่นเปิด หากปักอยู่ตามสิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านเรือน แพ ฯลฯ ก็หมายถึงห้ามละเมิดสิทธิ์  ข.สิ่งใดที่ประสงค์จะแจ้งขายก็ใช้เฉลวปักหรือแขวนไว้เช่นกัน  ค.เครื่องป้องกันรังควานหรือเครื่องอาถรรพ์”

“เฉลว” ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายหลากหลายรูปแบบ ตัวเฉลวนั้นโบราณจะสานด้วยตอกไม้ไผ่หรือหวาย สานหักขัดเป็นมุมๆ ทำให้เกิดเป็นตาเหมือตาชะลอม มีหลายรูปแบบ เฉลวนี้ บางทีก็เรียกว่า “ตาแหลว” หรือ “ตาเหลว”

ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกประทาน กล่าวถึงเรื่องเฉลวเป็นใจความว่า เฉลว ก็คือ รั้วนั่นเอง  ยังเห็นได้อยู่ว่าเป็นตาคือรั้ว ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ตะเหลว แล้วเรียกเพี้ยนกันไปต่างๆ  ตะเหลวมาแต่ ตาแหลว แล้วมาเป็น ตาเหลว แล้วเป็น ตะเหลว เฉลว อะไรต่อไป

ภาคพายัพและภาคอีสานตลอดจนชาติไทบางกลุ่มเรียก เฉลว ว่า “ตาแหลว” ถือว่าเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใช้แทนตาของเหลว คำว่า “แหลว” หมายถึง เหยี่ยวซึ่งเป็นสัตว์ที่มีตาดีมาก สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้จากที่ไกลๆ

ในภาคเหนือ ดินแดนล้านนาในอดีต มีการใช้เฉลวในพิธีกรรมต่างๆ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องรางชองชาวนาแล้วยังใช้เฉลวแบบตาเหยี่ยวกำหนดขอบเขตที่คุ้มครองให้ปลอดจากผีอีกด้วย โดยมีตำนานความเป็นมาของเฉลวซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองเชียงตุงว่า พระเจ้าเทิง กษัตริย์แห่งเมืองเงินยวงโปรดการประพาสป่าล่าสัตว์มาก วันหนึ่งเสด็จไปเที่ยวป่าล่าสัตว์นั้นได้เสด็จเข้าไปลึกมากทรงพบนางไม้ผู้หนึ่ง พระองค์พอใจในความงามของนางมากจึงได้อยู่ร่วมกันในถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลานาน จนในที่สุดก็เป็นห่วงบ้านเมือง จึงขอลานางกลับ และก่อนที่พระองค์จะเดินทางกลับ นางได้สำรอกทารกซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าเทิงมอบให้มาด้วย ทารกผู้นั้นได้ชื่อว่า เจ้าชายตุง ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้น เจ้าชายตุงก็ชอบเที่ยวป่าเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์และได้พบพระมารดาของพระองค์อีกด้วย เจ้าชายตุงได้มีโอกาสช่วยถอนคำสาปบรรพบุรุษของพระองค์ตามที่มารดาแจ้งให้ทราบ แล้วทรงเห็นว่าบริเวณใกล้เคียงกันนี้อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งเป็นเมืองใหญ่ได้ และเมื่อได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นแล้วก็ให้ชื่อเมืองตามชื่อของพระองค์ว่า เชียงตุง พร้อมทั้งห้ามประชาชนของเมืองนี้ล่าสัตว์ แต่โดยที่สัตว์ทั้งหลายได้เข้ามากัดกินพืชผลที่ปลูกไว้เสียหายเป็นที่เดือดร้อน พระองค์จึงให้เหยี่ยวบินตรวจตรารักษาไร่นาเอาไว้ไม่ให้เป็นอันตรายไปมาก พระองค์จึงให้ประชาชนทำรั้วป้องกัน โดยเอาไม้ไผ่มาขัดกันเป็นรูปตาเหยี่ยวที่เรียกว่า ตาเหลว หรือเฉลว ทุกวันนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

รูปแบบของเฉลว
เฉลวนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายก็จริง แต่เมื่อพิจารณาคุณลักษณะของการนำไปใช้แล้วจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก รูปแบบของเฉลวที่พบเห็นโดยทั่วๆ ไป เช่น
๑)เฉลว ๓ มุม หรือเฉลว ๓ แฉก ลักษณะคล้ายรูปดาว บางท่านว่า ใช้หมายถึง พระไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำเฉลว ๓ มุมนั้น ท่านว่า เมื่อหักมุมที่ ๑ ให้ว่า มะ  มุมที่ ๒ ให้ว่า อะ  และมุมที่ ๓ ให้ว่า อุ  เฉลวสามมุมนี้หมอพื้นบ้านนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรแผนโบราณ หมายถึงว่า ขอให้อำนาจพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย ซึ่งเดิมเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ (อะ อุ มะ มาจาก โอม ในศาสนาฮินดู  อะ หมายถึง พระศิวะ  อุ หมายถึงพระวิษณุ  และ มะ หมายถึงพระพรหม)

๒)เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างของคนและสัตว์ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ หรือมหาภูตรูป ๔ ก็เรียก)

๓) เฉลว ๕ มุม ท่านว่า หมายถึง พระเจ้า ๕ พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ   นะ หมายถึง พระกกุสันธพุทธเจ้า  โม หมายถึง พระโกนาคมนพุทธเจ้า  พุท หมายถึง พระกัสสปพุทธเจ้า  ธา หมายถึง พระโคตม พุทธเจ้า  ยะ หมายถึง พระศรีอริยเมตไตรย  เมื่อหักมุมที่หนึ่งว่า นะ  มุมที่สอง โม  มุมที่สามว่า พุท  มุมที่สี่ ว่า ธา  และมุมที่ห้าว่า ยะ ตามลำดับ

๔)เฉลว ๘ มุม หรือ ๘ แฉก เวลาหักมุมแต่ละมุมให้ว่า คาถา อิติปิโส ๘ ทิศ (อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ)

เฉลวที่ใช้ในภาคใต้
เฉลว ภาคใต้เรียกชื่อแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น คือเรียก กะหลิว ฉะหลิว เหลว หรือ เหลวเพชร ใช้สำหรับปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร จากการศึกษารูปแบบและบริบทของเฉลวในภาคใต้พบว่า นิยมใช้เฉลวลักษณะรูปดาวสานด้วยตอกหักขัดกันเป็นมุมหรือเป็นแฉก มี ๓ แบบคือ
    ๑.เฉลว แบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก
     ๒.เฉลว แบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก
     ๓.เฉลว แบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก
สำหรับรูปแบบที่นิยมใช้กันเป็นพื้นโดยทั่วไปคือแบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก และแบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก ส่วนแบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก ปรากฏพบเห็นค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เพราะว่า กรรมวิธีการสานค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน

เฉลวที่ใช้ปักหม้อยาสมุนไพรนั้น ปกติตัวหมอยาจะเป็นคำทำเองไม่นิยมให้บุคคลอื่นทำให้ ซึ่งเข้าใจว่าหมอพื้นบ้านทุกคนนอกจากจะเรียนเกี่ยวกับการบริบาลรักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องเรียนกรรมวิธีการทำเฉลวควบคู่กันไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้เฉลวในภาคใต้จะนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ในบริบทหรือพิธีกรรมอื่นใดนอกจากนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ล้านนาปรากฏว่ามี เฉลว เรียกชื่อตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ตาเหลว” ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น คือ
๑) ตาเหลวหลวง เป็นตาเหลวที่มีขนาดใหญ่ มีขนาด ๖ แฉก หรือ ๘ แฉก มักใช้ในพิธีสืบชะตาเมือง สืบชะตาหลวง หรือสำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านตาเหลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ

บางท้องถิ่นเรียกตาเหลวหลวงว่า ตาเหลวแรกนา ซึ่งจะใช้ในพิธีการแรกนาของชาวนา โดยการนำเฉลวไปปักไว้ที่นาของตนเองพร้อมทั้งจัดเครื่องบัตรพลีต่างๆ เพื่อบูชาแม่โพสพ

๒) ตาเหลว ๗ ชั้น ปกติจะใช้ตอกจำนวน ๔๒ เส้น สานขัดกันเป็นชั้นๆ จำนวน ๗ ชั้น เมื่อสานเสร็จแล้วสามารถกางออกได้ ถ้าสานผิดเวลากางออกตอกจะหลุดออกจากกัน

ตาเหลวชนิดนี้นิยมใช้กันมากทางล้านนาโดยมีความเชื่อว่า เมื่อผูกหรือแขวนไว้ที่ประตูบ้านเรือนจะสามารถกันภูต ผี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในเรือนหรือสถานที่นั้นๆ ได้ บ้านที่ไม่มีคนอยู่ถูกทิ้งไว้นานๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ก็จะใช้ตาเหลวเจ็ดชั้นนี้แขวนไว้ที่ประตูเรือนเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ เข้าบ้านเรือนนั่นเอง

๓) ตาเหลวคาเขียว ลักษณะเป็นตาเหลว ๗ ชั้น เพื่อเพิ่มให้มีพลังความเข้มขลังมากขึ้นไปอีก จึงเอาคาเขียวมาพันเข้ารอบๆ จึงเรียกว่า ตาเหลวคาเขียว ใช้ในพิธีกรรมพื้นเมือง เช่น พิธีสืบชะตา หรือผูกร้อยด้วยด้าย ๗ เส้น แขวนไว้ตรงประตูทางเข้าบ้านหรือหน้าบ้านเพื่อกัน ภูต ผี และสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ เชื่อว่าหากใครได้ลอดผ่านก็สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวได้ ตาเหลวคาเขียวมี ๒ ประเภท คือ
     ๓.๑)ตาเหลวคาเขียวขนาดเล็ก อาจจะมีขนาดตั้งแต่ ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ใช้ติดหรือแขวนที่ประตูเรือน เพื่อกัน ภูต ปี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เช่นเดียวกับตาเหลว ๗ ชั้น
     ๓.๒)ตาเหลวเขียวขนาดใหญ่ ช่องที่กึ่งกลางตัวตาเหลวสามารถลอดผ่านได้ ตาเหลวชนิดนี้มีลักษณะการใช้ในพิธีการหลักๆ ๑ ลักษณะด้วยกันคือ
           ๑.ใช้ในพิธีกรรมสำหรับตัดโรคาพยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนที่ตายเพื่อไม่ให้ตกทอดมาถึงคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้สิ้นสูญไปกับผู้ตาย
           ๒.ใช้เพื่อสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ทำพิธีกรรมสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ตายๆ ก็อาจจะกลับมาเอาคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้ตายตามไปด้วย ซึ่งวิญญาณดังกล่าวนี้โดยมากจะเป็นวิญญาณของผู้ที่ตายแบบไม่ปกติ เช่น วิญญาณของผู้ตายโหง ตายพราย  เป็นต้น  ตาเหลวคาเขียวขนาดใหญ่นี้ บุคคลที่เข้าพิธีจะต้องลอดผ่านช่องตรงกึ่งกลางของตาเหลวออกไป ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายๆ กับพิธีการทำหมากหย่าก่อนเผาศพสามีหรือภรรยาของชาวใต้

๔) ตาเหลวแม่ม่าย ลักษณะคล้ายกงจักร ใช้ตอก ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกัน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดเขตแดนการครอบครองพื้นที่ทำกิน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและห้ามบุคคลอื่นแย่งชิง


ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

โปรดติดตามตอนต่อไป
3035  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ปูม้าผัดผงกะหรี่ สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 04 กันยายน 2559 10:55:29



ปูม้าผัดผงกะหรี่

• ส่วนผสม
- ปูม้า 400 กรัม
- กระเทียมไทย ½  หัว (สับหยาบ)
- ไข่ไก่ 2-3 ฟอง
- ผงกะหรี่ 2 ช้อนชา
- ต้นหอมและใบคึ่นไช่ หั่นท่อน 1 ถ้วย
- พริกสดสีแดง 2-3 เม็ด เลาะเมล็ดออกแล้วหั่นเป็นเส้นยาว
- ซอสปรุงรส
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
- ผงปรุงรส
- น้ำตาลทราย


• วิธีทำ
1.ล้างปูให้สะอาด ตัดส่วนขาและก้ามออกจากตัวปู แล้วผ่า 4  ส่วน
2.ตีไข่กับผงกะหรี่ผสมน้ำเล็กน้อยให้เข้ากัน พักไว้
3.เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่ปูลงไปผัด ใส่น้ำซุปครึ่งถ้วย พอน้ำเดือดใส่ไข่ไก่
   ปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ผงปรุงรส และน้ำตาลทราย พอปูและไข่ใกล้สุก ใส่ต้นหอม ใบคึ่นไช่ และพริกแดง


ปูม้า น้ำหนัก 400 กรัม


เครื่องปรุงที่ต้องเตรียม : ปูม้า ไข่ไก่ผสมผงกะหรี่และน้ำสะอาด 1 ช้อนโต๊ะ ตีให้เข้ากัน และต้นหอม ใบคึ่นใช่ พริกแดงหั่นเส้นยาว


เพื่่อความสะดวกในการรับประทาน ตัดส่วนขาและก้ามปูออกจากลำตัว
แล้วเลาะส่วนเปลือกแข็งที่หุ้มขาและก้ามปูออกครึ่งหนึ่ง


เจียวกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่ปูลงไปผัด เติมน้ำซุปครึ่งถ้วย


พอน้ำเดือด ปูเกือบสุก โรยไข่ไก่ที่ตีผสมกับผงกะหรี่
ผัดให้เข้ากัน แล้วปรุงรสด้วยปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ผงปรุงรส และน้ำตาลทราย

3036  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 02 กันยายน 2559 14:42:26


ผ้าหลังคาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ผนังอาคารภายในพิพิธภัณฑ์เรือพระที่นั่ง เป็นที่เก็บรักษาอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี
พู่ห้อย ที่หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งทำด้วยขนจามรีจากประเทศเนปาล
เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย และสิ่งของเครื่องใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค

องค์ความรู้
อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี

จากอดีตที่ผ่านมา ผ้ามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย เป็นทั้งเครื่องแต่งกาย เครื่องนุ่งห่ม เพื่อปกปิดและประดับร่างกายให้สวยงามในโอกาสต่างๆ  นอกจากนี้ยังสามารถนำผ้ามาทำเป็นของใช้ เช่น ผ้าห่ม ย่ามของชาวเขา ที่นอนของชาวไทครั่งในภาคอีสาน  และผ้ายังถือเป็นตัวแทนของความเชื่อ ความศรัทธา เช่น วัฒนธรรมการใช้ผ้าห่อคัมภีร์ของชาวไทยลื้อ ผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของชาวน่าน หรือนำมาใช้ในพิธีกรรม เช่น ตุงของชาวจังหวัดเชียงราย เป็นต้น

การปักผ้า เป็นการสร้างลวดลายบนผ้าพื้น โบราณใช้เข็มปักสอดเส้นด้าย เส้นไหม หรือดิ้นเงิน ดิ้นทอง ลงไปในเนื้อผ้าแล้วสอดขึ้นๆ ลงๆ ตามลวดลายที่ร่างไว้ เช่น ลายดอกไม้ ใบไม้ ลายไทย ส่วนมากใช้เป็นผ้าห่ม ผ้าปูลาดเครื่องราชูปโภคต่างๆ มีทั้งที่เป็นฝีมือช่างไทยและฝีมือชาวต่างประเทศที่ส่งมาขาย เช่น ผ้าสุจหนี่ หักทองขวางที่ปักด้วยดิ้นทอง  ปัจจุบันการปักผ้าไม่เป็นที่นิยม ยังมีปักบ้างในหมู่ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ และผ้าที่ใช้ในราชสำนักหรืองานพระราชพิธีต่างๆ

ผ้าที่ใช้ในราชสำนักนั้น จะเป็นเครื่องกำหนดยศ กำหนดตำแหน่งของผู้สวมใส่  ผ้าบางประเภทใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูง ทั้งนี้ ผ้าที่ใช้ในราชสำนักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมและยุคสมัย บางส่วนยังคงยึดถือตามแบบแผนดั้งเดิม ตามโบราณราชประเพณีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือ ผ้าทอและผ้าปักที่ใช้ในฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ นายเรือ นายท้าย และเครื่องอาภรณ์ภัณฑ์ประกอบเรือพระราชพิธี อาทิเช่น ผ้าดาดหลังคากัญญา ผ้าหน้าจั่ว ผ้าม่าน ผ้าหน้าโขนเรือพระราชพิธี เป็นต้น
 
ในเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทเรือพระที่นั่ง โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งประเภทเรือกิ่ง จะปรากฏงานทองแผ่ลวดที่ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่ง ผ้าม่าน ผ้าหน้าโขนเรือ ฉัตร ธงงอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานทองแผ่ลวดที่ใช้กับเรือพระราชพิธีประเภทเรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เรืออีเหลือง เรือทองขวานฟ้าอีกด้วย ซึ่งอาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธีเป็นอีกส่วนที่เสริมความวิจิตร และสง่างามให้กระบวนเรือพระราชพิธี



ผ้าลายทองแผ่ลวด จะใช้ผ้าสักหลาด (ผ้าทอด้วยขนสัตว์ เนื้อหนา ภาษาเปอร์เซีย เรียกว่า Sakalat หมายถึง ผ้าเนื้อดี) ผ้าตาด ผ้าโทเร และผ้ากำมะหยี่ นำมาทำเป็นผ้าพื้นเพื่อวางลวดลาย โดยเริ่มจากเขียนแบบลายหรือคัดลอกลายเดิม ตอกกระดาษ ปิดทองประดับกระจกแล้วจึงวางลายบนผืนผ้าแต่ละผืน สุดท้ายนำไปเย็บประกอบกับเรือพระราชพิธีแต่ละลำ

ทองแผ่ลวด หมายถึง กระดาษที่ใช้ตกแต่งเครื่องสูง การตกแต่งด้วยทองแผ่ลวดจึงเป็นการใช้กระดาษทองตกแต่งบนเครื่องสูง เช่น ฉัตร บังสูรย์ บังแทรก สำหรับพระราชวงศ์ที่ต่ำกว่าชั้นเจ้าฟ้า

งานช่างลายทองแผ่ลวด เป็นงานช่างแขนงหนึ่งในหมู่งานช่างสนะไทย (สะ-หนะ) หรือช่างที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องภูษาอาภรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนา ไม่นิยมใช้กับสามัญชน ได้แก่ ชุดฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ ฉัตรเครื่องสูงต่างๆ ตาลปัตรที่ทำด้วยผ้าปักลายในพิธีสำคัญมาแต่โบราณ ผ้าม่าน ผ้าดาดหลังคาเรือพระที่นั่งองค์ต่างๆ เป็นต้น  เทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการสร้างงานลายทองแผ่ลวดคือ เทคนิคการสลักกระดาษหรือตอกกระดาษ เพื่อให้ได้ลวดลายตามรูปแบบที่สวยงามและเพียงพอต่อการนำไปใช้งาน

กระดาษทองแผ่ลวด ทำจากกระดาษข่อยหรือกระดาษสา ซ้อนกันหลายๆ ชั้นให้หนาพอสมควร โดยใช้น้ำยาที่ทำจากพืชบางชนิดทาอาบให้กระดาษชื้น ใช้ค้อนเขาควายทุบพอให้เนื้อกระดาษประสานเป็นแผ่นเดียวและเรียบ แล้วผึ่งให้แห้งสนิท จากนั้นจึงทาผิวหน้าด้วยยางรัก ปิดด้วยทองคำเปลวจนเต็มหน้ากระดาษ เมื่อจะนำไปตกแต่งที่เครื่องสูง จะตัดเป็นแถบเล็กๆ เย็บด้วยมือ ติดริมขอบใบฉัตรที่เป็นพื้นขาว หรือสลักฉลุเป็นลวดลายเย็บตรึงประดับบนพื้นผ้าสี เห็นเป็นลวดลายทองบนพื้นสีต่างๆ

การสลักกระดาษหรือการตอกกระดาษ เป็นงานศิลปกรรมที่จัดอยู่ในจำพวกประณีตศิลป์ เป็นงานที่ช่างใช้กระดาษชนิดต่างๆ มาสลักทำให้เป็นรูปภาพหรือลวดลาย แล้วนำไปปิดประดับเป็นงานตกแต่งสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งถาวรอยู่ได้นาน เช่น ปิดเป็นลวดลายบนระใบฉัตรทองแผ่ลวด หรือเป็นสิ่งที่ต้องการใช้งานชั่วคราว เช่น ปิดลวดลายตกแต่งพระเมรุ ตกแต่งฐานเบญจา ตกแต่งเครื่องจิตกาธาน เป็นต้น



บุษบกบัลลังก์เรือพระที่นั่ง

งานสลักกระดาษโดยประเพณีนิยมที่ได้สร้างหรือทำขึ้นในโอกาส วาระ และการใช้สอยต่างๆ เช่น
๑) งานสลักกระดาษประดับเครื่องแสดงอิสริยายศ ได้แก่ ฉัตรทองแผ่ลวด ฉัตรปรุ บังสูรย์ บังแทรก จามร
๒) งานสลักกระดาษประดับเครื่องอุปโภค ได้แก่ พานแว่นฟ้า พานพุ่มขี้ผึ้ง ตะลุ่ม กระจาดเครื่องกัณฑ์เทศน์
๓) งานสลักกระดาษประดับเครื่องตกแต่ง ได้แก่ ม่าน ฉาก หน้าบันพลับพลา เพดานปรำ
๔) งานสลักกระดาษประดับเครื่องศพ ได้แก่ ประดับลูกโกศ เมรุราษฎร พระเมรุของหลวง จิตกาธาน เป็นต้น

วิธีการสลักกระดาษ จะนำเอาตั้งกระดาษที่ได้วางแม่แบบและใส่หมุดไว้มาวางลงบนเขียงไม้ ใช้สิ่วหน้าต่างๆ และขนาดต่างๆ ตอกเจาะ หรือสลักเดินไปตามลายเส้นแม่แบบ ตอนใดที่ต้องการให้เป็นรู เป็นดวง จะใช้ตุ๊ดตู่เจาะปรุ หรือหากต้องการทำเป็นเส้น แสดงส่วนละเอียดเป็นเส้นไข่ปลา ก็ต้องใช้เหล็กปรุตอกดุนขึ้นมาข้างใต้ตัวลายหรือรูปภาพ ซึ่งต้องทำภายหลังจากสลักทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพครบถ้วนแล้ว

ลวดลายที่ปรากฏจะมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น รูปแบบลวดลายไทย ทั้งประเภทกนกหรือประเภทพันธุ์พฤกษา รวมทั้งรูปแบบลวดลายจากอิทธิพลทางศิลปะภายนอกที่เข้ามาปะปนอยู่ในศิลปะของไทย มีทั้งรูปแบบจีนและรูปแบบตะวันตก ทั้งนี้สามารถสังเกตลวดลายได้ ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑.ลักษณะลวดลายแบบลายติด คือ ตัวลวดลายทั้งหมดจะเชื่อมโยงติดต่อเนื่องกันโดยตลอด หากมีกรอบนอก ลวดลายทุกตัวจะมีส่วนที่เกาะอยู่กับกรอบโดยรอบด้วยเสมอ ส่วนที่ทะลุขาดออก จะเป็นส่วนพื้นหลัง
๒.ลักษณะลวดลายแบบขาด จะมีรูปแบบตรงกันข้ามกับแบบแรก คือ ลวดลายทุกตัวจะไม่เชื่อมติดกัน และจะเป็นส่วนที่ทะลุขาดออกจากพื้นหลัง

ในการทำลายทองแผ่ลวดนี้ จะต้องอาศัยความชำนาญจากช่างฝีมือหลายแขนงร่วมกัน เริ่มตั้งแต่ช่างเขียน ดำเนินการออกแบบลวดลาย โดยกำหนดรายละเอียดของลวดลายที่จะใช้ กำหนดขนาดผ้า สีผ้า สีกระจก เพื่อให้เกิดความสวยงามและเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ลวดลายที่เขียนลงบนงานทองแผ่ลวดจะเป็นลวดลายแบบลายติด จึงทำให้ปลายของลายเป็นปลายตัด ไม่แหลมคมเหมือนลายที่เขียนในงานอื่นๆ มีช่องสำหรับใส่กระจก  ดังนั้น การจัดช่องไฟจึงมีความสำคัญ นอกจากจะช่วยให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังทำให้เห็นลวดลายได้ชัดเจนขึ้น

ช่างแกะสลัก ดำเนินการฉลุกระดาษหรือตอกกระดาษ เพื่อให้ได้ลายตามแบบที่สวยงามและเพียงพอต่อการใช้งาน

ช่างปิดทอง ดำเนินการปิดทองกระดาษลายให้สวยงาม โดยทาเชลแลค (Shellac) บนกระดาษที่ตอกลายไว้แล้ว ทารักหรือสีทองปิด ผึ่งให้แห้งพอหมาด จึงจะปิดทองคำเปลวทั่วทั้งแผ่น โดยใช้ทองแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ช่างประดับกระจก ดำเนินการตัดกระจกสีต่างๆ ตามขนาดและลักษณะของลวดลายเพื่อใช้เป็นไส้ของลวดลาย โดยจะติดกระจกที่ด้านหลังของแผ่นกระดาษลาย ให้ด้านเงาหันออกด้านหน้าของกระดาษลายที่ปิดทองไว้แล้ว

ช่างสนะ ดำเนินการเย็บลวดลายกระดาษที่ปิดทองและประดับกระจกแล้วลงบนผ้าที่เลือกใช้ โดยขึงผ้าบนสะดึงไม้ วางลวดลายลงบนผ้า จากนั้นจึงเย็บด้วยการเดินเส้นด้ายเส้นใหญ่สีเหลืองทอง (เดิมใช้ดิ้นทอง) ล้อขอบลวดลาย แล้วจึงเย็บตรึงด้วยด้ายเส้นเล็กสีเดียวกัน เมื่อเย็บชิ้นงานเรียบร้อยแล้วจะนำมาประกอบเข้ากับเครื่องประกอบเกียรติยศ

การทำงานของช่างเหล่านี้จะต้องกลมกลืนกัน เพื่อให้ชิ้นงานออกมาประณีตสวยงาม ซึ่งในปัจจุบันงานเย็บผ้าลายทองแผ่ลวดเหลือน้อยลง เนื่องจากต้องอาศัยกระบวนช่างที่ซับซ้อนและละเอียดประณีตอย่างมาก ทังนี้ กรมศิลปากรยังคงดำเนินงานช่างแขนงนี้ไว้อย่างต่อเนื่อง โดยการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมงานทองแผ่ลวดที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ โดยยึดเทคนิคและวัสดุอุปกรณ์อย่างช่างโบราณ


ผ้าปัก อาภรณ์ภัณฑ์สำคัญ
ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี


เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์


๑.ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๓๗๐ เซนติเมตร ยาว ๔๖๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๔ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สามปักลายประจำยามก้ามปูบนพื้นสีแดง ชั้นที่สี่ปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว




๒.ผ้าหน้าจั่วเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด สูง ๑๑๒ เซนติเมตร ยาว ๑๖๐ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๔ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สามปักลายประจำยามก้ามปูบนพื้นสีแดง ชั้นที่สี่ปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีเขียว



๓.ผ้าม่านเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๒๐๐ เซนติเมตร ยาว ๒๓๓ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุงเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายดอกซีกดอกซ้อนบนพื้นสีแดง ชั้นที่สามปักลายประจำยามใบเทศ (ยืดลายด้านข้างออก) บนพื้นสีเขียว



๔.ธงสามชายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
       ขนาด กว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร ยาว ๑๖๕ เซนติเมตร สูง ๒๔๑ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ปักดิ้นทั้งสองด้าน เป็นลายเครือเถาใบเทศทั้งผืน คั่นด้วยลายกรุยเชิงในกรอบสามเหลี่ยมบนพื้นสีน้ำเงิน มีลายประจำยามก้ามปูล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ชายธงแหลมมีสามชาย



เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙


๑.ผ้าดาดหลังคาพระแท่นกัญญาเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด กว้าง ๓๙๒ เซนติเมตร ยาว ๕๓๖ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายหน้าอิฐคั่นด้วยลายกระจังบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายเกลียวออกลายสลับหัวสลับหางบนพื้นสีแดง (โดยมีการตั้งตัวกลางแล้วออกลายไปสองข้าง) ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว


 
๒.ผ้าหน้าจั่วเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด สูง ๘๑ เซนติเมตร ยาว ๑๖๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายกรุยเชิงบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีแดง ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว



๓.ผ้าม่านเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
       ขนาด กว้าง ๑๓๐ เซนติเมตร ยาว ๒๓๒ เซนติเมตร
       ผ้าสักหลาดพื้นสีแดง ลายทองแผ่ลวด ท้องผ้าปักลายโคมพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง มีกรอบ ๓ ชั้น ล้อมโดยรอบท้องผ้า ชั้นที่หนึ่งปักลายหน้าอิฐคั่นด้วยลายกระจังบนพื้นสีเขียว ชั้นที่สองปักลายเกลียวออกลายสลับหัวสลับหางบนพื้นสีแดง (โดยมีการตั้งตัวกลางแล้วออกลายไปสองข้าง) ชั้นที่สามปักลายลูกฟักประจำยามก้ามปูใบเทศบนพื้นสีเขียว


* ผู้สนใจสามารถหาความรู้ "อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี" ลำอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี

การแต่งกายของพนักงานประจำเรือพระราชพิธี
(The Royal Barge’s officer Uniforms)


ชุดพนักงานเห่ขานยาวประจำเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช


ชุดนายเรือพระที่นั่ง


ชุดฝีพายเรือพระที่นั่ง (ยกเว้นเรืออนันตนาคราช)


ชุดนายท้ายเรือ


ชุดฝีพายเรือรูปสัตว์

ส่วนหนึ่งของเครื่องดนตรีประกอบการเห่เรือ
ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค












ผู้เรียบเรียง : kimleng
อ้างอิง : - บทความ เรือพระที่นั่งในอดีต โดย นิยม กลิ่นบุบผา นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ด้านช่างสิบหมู่) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร
          - บทความ ๗๐ ปี พิพิธภัณฑสถานไทย ก้าวไปภายใต้ร่มพระบารมี โดย พัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร
          - หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          - หนังสือผ้าปักโบราณเรือพระราชพระราชพิธี, กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
          - สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เผยแพร่
          - จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม (Journal du Voyage de Siam) โดย บาทหลวง เดอ ชัวซีย์, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร
          - เว็บไซต์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
          - เว็บไซต์ .finearts.go.th
3037  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / Re: นำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ "เรือพระราชพิธี" เมื่อ: 01 กันยายน 2559 17:22:25


สมัยอยุธยา กระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคของไทย ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฝรั่งที่เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรี ที่ท่านทูตนิโคลัส แชแวส์ เขียนถึงกระบวนเรือที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดมารับราชทูตจากฝรั่งเศสใน “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ว่า  “ไม่สามารถเปรียบเทียบความงามใดๆ กับกระบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ เรือพระที่นั่งใช้ฝีพายพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะ  พายนั้นก็เป็นทองเช่นกัน เสียงพายกระทบทำเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน...”

และจาก “จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม”  ที่บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด บันทึกไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ เล่าถึงการจัดเรือมารับเครื่องบรรณาการว่า “มีเรือบัลลังก์ขนาดใหญ่มาสี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อน...ลำแรกหัวเรือเหมือนม้าน้ำ ปิดทองทั้งลำ เห็นมาแต่ไกลในลำน้ำ เหมือนมีชีวิตชีวา...”  และในวันที่บาทหลวงตาชาร์ดเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ก็ได้เห็นการส่งที่ใหญ่โตอย่างที่ท่านไม่เคยพบเห็นอีกเช่นกัน  “...ขบวนอันยืดยาวของเรือบัลลังก์หลวงซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย มีเรือถึงร้อยห้าสิบลำ ผนวกกับเรืออื่นๆ อีกก็แน่นเต็มแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามนักหนา เสียงเห่แสดงความยินดีตามธรรมเนียมของสยาม คล้ายการรุกไล่ประชิดข้าศึกก้องไปสองฟากฝั่งแม่น้ำ จึงมีผู้คนล้นหลามมืดฟ้ามาคอยชมขบวนพยุหยาตราอันมโหฬารนี้...”

บันทึกของชาวต่างชาติทั้งสองยืนยันได้ว่า เรือหลวงในสมัยอยุธยามีมากกว่า ๑๐๐ ลำ และยังบันทึกแผนที่แจ้งไว้ด้วยว่า โรงเรือพระที่นั่ง ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเกาะเมือง คือบริเวณระหว่างวัดเชิงท่า และวัดพนมยงค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเยื้องกับพระราชวัง และยังมีอู่เรือเดินทะเลอยู่ใกล้ป้อมเพชรตรงข้ามวัดพนัญเชิงอีกแห่งหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เรือพระที่นั่งและเรือในกระบวนพยุหยาตราของกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากสงครามกับพม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอลองพญารุกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๓ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงเล็งเห็นว่า บรรดาเรือหลวงที่อยู่ในอู่ริมพระนครนั้นอาจเป็นอันตราย จึงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งกิ่ง เรือไชย เรือศรี เรือกราบ เรือดั้ง เรือกัน เรือศีรษะสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งเรือรบต่างๆ ลงไปเก็บไว้ที่ท้ายคู ซึ่งอยู่ทางใต้ลงมา ต่อมาพม่าก็ตามไปตีท้ายคูแตก แล้วเผาทำลายเรือ ส่วนใหญ่เสียหาย  ครั้นเสียกรุงแล้ว แม่ทัพพม่ายังนำเรือพระที่นั่งกิ่งของกรุงศรีอยุธยาลำหนึ่งส่งไปถวายพระเจ้าอังวะ ส่วนปืนที่ติดตั้งบริเวณโขนเรือพระที่นั่งกิ่ง พม่าเห็นว่าใหญ่และเคลื่อนย้ายลำบาก จึงจุดเพลิงระเบิดเสียที่วัดเขมา  

สรุปว่าเรือขนาดใหญ่หรือเรือสำคัญในกรุงศรีอยุธยาไม่เหลือมาถึงกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์  ส่วนหลักฐานของความยิ่งใหญ่ที่ฝรั่งหลายคนบันทึกไว้ ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันและปรากฏในสมุดไทย  ภาพกระบวนเรือที่คัดลอกมาจากจิตรกรรมฝาผนังวัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โขนเรือไม้สลักที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเก็บมาบูชาในศาลเทพารักษ์ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา



เรือพระที่นั่งและเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคมิได้เป็นเรือที่ใช้ในราชการทั่วไป แต่ใช้ในการพระราชพิธี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และอื่นๆ  หลังจากการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ ก็ไม่เคยจัดอีกเลย จนปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นปีฉลองพระนครครบรอบ ๒๕ ปีพุทธศตวรรษ ได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้นมา  เหตุที่มีพระราชหฤทัยในการฟื้นฟู ก็ด้วยพระองค์ได้เสด็จมายังโรงเก็บเรือพระราชพิธี ที่บางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้าจะโปรดให้มีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคขึ้น ก็คงไม่เป็นการสิ้นเปลืองอะไรนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้ของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้เป็นแรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในด้านศิลปกรรมเหล่านี้จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ เป็นการรักษาสมบัติอันมีค่าของชาติแต่กาลก่อนให้ดำรงคงอยู่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ บำรุงขวัญและก่อให้เกิดความภูมิใจของคนไทย ที่สำคัญเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของชาวต่างประเทศทั่วโลกสืบไป

พิพิธภัณสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าชม ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์  ปิดเฉพาะวันขึ้นปีใหม่และเทศกาลวันสงกรานต์

ค่าธรรมเนียมการเข้าชม : ชาวไทย ๒๐ บาท  ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท และผู้มีความประสงค์ถ่ายภาพเรือพระราชพิธี เสียค่าถ่ายภาพ กล้องละ ๑๐๐ บาท

สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี : ปากคลองบากกอกน้อย แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ  สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๔๒๔-๐๐๐๔


ต่อไป ความรู้เรื่อง อาภรณ์ภัณฑ์เรือพระราชพิธี
โปรดติดตาม
3038  สุขใจในธรรม / เกร็ดศาสนา / Re: การสวดพระอภิธรรมในงานศพ เมื่อ: 01 กันยายน 2559 15:32:10


พระอภิธรรม
"กุสลา ธัมมา"

"กุสลา ธัมมา..." เป็นบทสวดพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ประกอบด้วย 

"พระสังคิณี" เริ่มว่า กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา กะตะเม ธัมมา...แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤต ธรรมเหล่าไหนเป็นกุศล ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณเกิดขึ้น ปรารภอารมณ์ใดๆ จะเป็นรูปารมณ์ก็ดี สัททารมณ์ก็ดี คันธารมณ์ก็ดี รสารมณ์ก็ดี โผฏฐัพพารมณ์ก็ดี ธรรมารมณ์ก็ดี ในสมัยนั้น ผัสสะ ความฟุ้งซ่านย่อมมี อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ธรรมเหล่าใดแม้อื่น มีอยู่ เป็นธรรมที่ไม่มีรูป อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
 
"พระวิภังค์" แปลบทสวดว่า ขันธ์ห้าคือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ บรรดาขันธ์ทั้งหมด รูปขันธ์เป็นอย่างไร รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุปัน ภายในก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม เลวก็ตาม ประณีตก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม อยู่ใกล้ก็ตาม นั้นกล่าวรวมกันเรียกว่ารูปขันธ์

"พระธาตุกถา" คำแปลคือ การสงเคราะห์ การไม่สงเคราะห์ คือสิ่งที่ไม่ให้สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ สิ่งที่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ได้ สิ่งที่ไม่สงเคราะห์เข้ากับสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้ การอยู่ด้วยกัน การพลัดพรากคือ การพลัดพรากจากสิ่งที่อยู่ด้วยกัน การอยู่ร่วมกับสิ่งที่พลัดพรากไปจัดเป็นสิ่งที่สงเคราะห์ไม่ได้

"พระปุคคะละบัญญัติ" คำแปลคือ บัญญัติหกคือ ขันธบัญญัติ อายตนบัญญัติ ธาตุบัญญัติ สัจจบัญญัติ อินทรีย์บัญญัติ บุคคลบัญญัติ บุคคลบัญญัติของบุคคลมีเท่าไร มีการพ้นจากสิ่งที่ควรรู้ การพ้นจากสิ่งที่ไม่ควรรู้ ผู้มีธรรมที่กำเริบได้ ผู้มีธรรมที่กำเริบไม่ได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมได้ ผู้มีธรรมที่เสื่อมไม่ได้ ผู้มีธรรมที่ควรแก่เจตนา ผู้มีธรรมที่ควรแก่การรักษา ผู้ที่เป็นปุถุชน ผู้รู้ตระกูลโคตร ผู้เข้าถึงภัย ผู้เข้าถึงอภัย ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ควร ผู้ไม่ถึงสิ่งที่ไม่ควร ผู้เที่ยง ผู้ไม่เที่ยง ผู้ปฏิบัติ ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ปฏิบัติเพื่อพระอรหันต์

"พระกถาวัตถุ" คำแปลคือ (ถาม) ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือความหมายที่แท้จริงหรือ (ตอบ) ใช่ ค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายที่แท้จริง (ถาม) ปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ ค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงอันนั้นหรือ (ตอบ) ท่านไม่ควรกล่าวอย่างนี้ ท่านจงรู้นิคคะหะเถิด ว่าท่านค้นหาบุคคลไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงแล้ว ท่านก็ควรกล่าวด้วยเหตุนั้นว่าปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้น คำตอบของท่านที่ว่าปรมัตถ์คือความหมายอันแท้จริงอันใดมีอยู่ เราค้นหาบุคคลนั้นไม่ได้โดยปรมัตถ์คือโดยความหมายอันแท้จริงนั้นจึงผิด

"พระยะมะกะ" คำแปลคือ ธรรมบางเหล่าเป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีกุศลเป็นมูล อีกอย่าง ธรรมเหล่าใดมีกุศลเป็นมูล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดก็เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอันเดียวกับธรรมที่มีกุศลเป็นมูล อีกอย่างหนึ่ง ธรรมเหล่าใดมีมูลอันเดียวกับธรรมที่เป็นกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล

"พระมหาปัฏฐาน" คำแปลคือ ธรรมที่มีเหตุเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอารมณ์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีอธิบดีเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัยหาที่สุดมิได้ ธรรมที่มีปัจจัยมีที่สุดเสมอกัน ธรรมที่เกิดพร้อมกับปัจจัย ธรรมที่เป็นปัจจัยของกันและกัน ธรรมที่มีนิสัยเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดก่อนเป็นปัจจัย ธรรมที่มีธรรมเกิดภายหลังเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการเสพเป็นปัจจัย ธรรมที่มีกรรมเป็นปัจจัย ธรรมที่มีวิบากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอาหารเป็นปัจจัย ธรรมที่มีอินทรีย์เป็นปัจจัย ธรรมที่มีฌานเป็นปัจจัย ธรรมที่มีมรรคเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการประกอบเป็นปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ไม่ปราศจากเป็นปัจจัย ธรรมที่มีปัจจัย ธรรมที่ไม่มีปัจจัย ธรรมที่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัย ธรรมที่ไม่มีการอยู่ปราศจากเป็นปัจจัย
...นสพ.ข่าวสด
3039  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 01 กันยายน 2559 14:40:58
ภาพเก่า…เล่าตำนาน
ร่ายดาบประหารชีวิตในสยาม



(ภาพบน) ทำพิธีบวงสรวงก่อนการประหาร (ภาพล่าง) การประหารนักโทษ

ภาพชุดนี้มิได้ระบุว่าเกิดขึ้น วัน เดือน ปี อะไร มีข้อความสั้นๆ หลังภาพว่า โรงพักพลตำรวจภูธร มณฑลนครชัยศรี

ผู้เขียนได้รับความกรุณาภาพชุดนี้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ผู้เขียนไปค้นคว้าหามาเล่าสู่กันครับ

ประวัติศาสตร์สยามบันทึกว่าตั้งแต่ยุคสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สยามมีวิธีการประหารนักโทษ ๒๑ วิธี แต่จะใช้ดาบประหารชีวิตนักโทษเป็นหลัก สถานที่ประหารต้องห่างไกลจากชุมชน แต่การประหารทุกครั้งก็จะมีชาวสยามตามไปมุงดูแบบคึกคัก ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเคยใช้วัดโคก หรือวัดพลับพลาชัย เป็นลานประหาร เมื่อมีชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงขยับไปวัดมักกะสัน และถอยออกไปไกลถึงวัดบางปลากดอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการโน่น



การพิจารณาคดีในชั้นศาล

หลังจากศาลตัดสิน กระบวนการประหารจะเริ่มจากไปสร้างศาลเพียงตาเล็กๆ ใกล้ลานประหารเพื่อสักการะเจ้าที่เจ้าทาง นำนักโทษไปนั่งกลางลาน พนมมือด้วยดอกไม้ธูปเทียน เอาปูนสีไปเขียนเป็นเส้นไว้รอบคอตรงที่จะลงดาบ เพชฌฆาตสองนายจะนุ่งผ้าเตี่ยวสีแดง เสื้อกั๊กสีแดงลงยันต์มหาอำนาจ บางรายจะคาดผ้ารอบศีรษะสีแดง


โรงพักพลตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ ๓๑ ส.ค. ร.ศ.๑๒๐

เสียงปี่หลวงที่โหยหวนในพิธีจะกังวานไปทุกทิศ เพชฌฆาตทั้งสองจะเข้าไปขอขมานักโทษ แล้วออกมาร่ายเพลงดาบ วนซ้ายของตัวนักโทษเสมอ เพื่อให้เกิดอัปมงคลแก่นักโทษพร้อมทั้งท่องคาถาอาคมข่มวิชาของนักโทษ ด้วยท่าทางเพลงดาบที่มองไม่ออกว่าใครจะลงดาบก่อน พระสงฆ์สวดประกอบเพลงดาบระคนกันไป

เพชฌฆาตที่จะลงดาบแรกจะฟันจากด้านข้างของตัวนักโทษ ด้วยท่าย่างสามขุม โดยมากจะไม่พลาด ในขณะที่ดาบสองจะรำดาบอยู่ด้านหน้า แต่ถ้าฟันแล้วศีรษะไม่ขาดกระเด็น เพชฌฆาตดาบที่สองจะต้องเข้าไปจับศีรษะแล้วเชือดส่วนที่เหลือให้ขาดทันที





นายบุญเพ็ง หีบเหล็ก ฆาตกรมนต์ดำ


ภาพเก่าขาว-ดำที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านทั้งหมด คือเหตุฆาตกรรมที่สะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยฆาตกรคือ นายบุญเพ็ง ที่ฆ่าหั่นศพชายหญิงอย่างโหดเหี้ยม ต่อเนื่องถึง ๗ ศพเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา

บุญเพ็งมีพ่อเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวลาว เกิดปีขาล ที่เมืองท่าอุเทน มณฑลอุดร พออายุ ๕ ปี ญาตินำพาเข้ามาอยู่บ้านญาติในย่านบางขุนพรม กรุงเทพฯ มอบให้ตาสุกและยายเพียร เลี้ยงดู

บุญเพ็งไม่สนใจอาชีพการงานทั้งปวง ไปสนิทกับ “ตาไปล่” อาชีพเป็นสัปเหร่อในวัด มีวิชาอาคมกำจัดภูตผีปีศาจ ทำเสน่ห์ยาแฝดและหมอดู

เมื่ออายุครบบวช บุญเพ็งไปบวชเป็นพระที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี ด้วยความที่เป็นพระสงฆ์หน้าตาดี พูดจานุ่มนวล มีลูกล่อลูกชนสารพัด ลูกศิษย์ลูกหามากโขทั้งชาย-หญิง ที่ใกล้ชิดสนิทแนบ คือกลุ่มหญิงสาวร่ำรวย แต่ขาดความรัก วิชาอาคมของพระบุญเพ็งเป็นสุดยอดเสน่หาที่สาวน้อยสาวใหญ่หลงใหลได้ปลื้มและต้องการสัมผัสด้วยตัวเอง ทำเอาหัวกระไดกุฏิพระบุญเพ็งไม่เคยแห้ง



นายยบุญเพ็ง, หีบเหล็กใส่ศพ

สีกามากหน้าหลายตาปรารถนาจะได้รับความเมตตาจากพระบุญเพ็ง แม้ค่ำมืดดึกดื่นกุฏิพระบุญเพ็งก็มิได้ว่างเว้น หญิงสาวทุกรายจะเต็มใจปรนเปรอพลีร่างของเธอให้พระบุญเพ็งพร้อมด้วยทรัพย์สินแบบหน้ามืดตามัว งมงายในลีลาของพระบุญเพ็ง เธอทั้งหลายตกเป็นทาสราคะแบบถอนตัวไม่ขึ้นด้วยคาถาอาคมของพระบุญเพ็ง ยิ่งนานวันพระบุญเพ็งยิ่งมีชีวิตที่แสนจะร่ำรวยด้วยทรัพย์สินที่ปอกลอกจากเหยื่อ

ชาวบ้านเริ่มติฉินนินทาส่งเสียงขับไล่ไสส่ง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า หญิงสาวทาสกามของพระบุญเพ็งค่อยๆ ทยอยหายไปทีละคนพร้อมกับหีบเหล็กที่อยู่ในกุฏิของพระบุญเพ็ง

พระบุญเพ็งย้ายที่อยู่จากวัดในนนทบุรีมาอยู่วัดแห่งใหม่แถวบางลำพู (เอกสารบางฉบับระบุว่าวัดสุทัศน์เทพวราราม) พระบุญเพ็งเป็นพระสงฆ์ที่ละเมิดข้อปฏิบัติของสงฆ์ทั้งสิ้นเป็นนิจสิน เสพสุรา เล่นการพนัน มั่วสีกา ก่อความรำคาญแก่ผู้คนทั่วไปจึงถูกบังคับให้สึก

เอกสารบางชิ้นระบุว่า สึกแล้วจึงมาก่อเวรสร้างกรรม ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าทำผิดคิดชั่วมั่วโลกีย์ขณะอยู่ในผ้าเหลือง

ปลายปี พ.ศ.๒๔๖๐ ในสมัยในหลวง ร.๖ ชาวบ้านในคลองบางกอกน้อยได้พบหีบเหล็กในลำคลอง เมื่อเปิดออกมามีศพที่เน่าเปื่อยของชายกลางคนที่สืบทราบภายหลังว่า คือนายล้อม พ่อค้าเพชรพลอยผู้มั่งคั่ง

ต่อมาเมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑ หีบโลหะใบหนึ่งลอยไปติดแถวหน้าวัดไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ในหีบนั้นมีศพสุภาพสตรีถูกมัดมือมัดเท้าแล้วห่อด้วยมุ้ง และยังมีก้อนอิฐอยู่ในหีบอีก ๘ ก้อน






ประกวดนางสาวสยามคนแรก ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

ภาพเก่าตอนนี้ ลองแวะมาดูตำนานเรื่องสวยๆ งามๆ ของสุภาพสตรีสยามเมื่อครั้งเก่าก่อนในรัชสมัยในหลวง ร.๗ ซึ่งสยามประเทศจัดประกวดนางสาวไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า การประกวดนางสาวสยามในปี พ.ศ.๒๔๗๗

สยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อใช้รัฐธรรมนูญจะครบ ๒ ปี รัฐบาลต้องการสร้างสีสันฉลองการมีรัฐธรรมนูญสำหรับปวงชนชาวสยาม จึงมอบให้กระทรวงมหาดไทยไปคัดสาวงามจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศมาประชันความงาม มีสาวงามที่มาเข้าประกวด ๕๐ คน เพื่อคัดเลือกสาวที่สวยที่สุดในแผ่นดินสยาม

การประกวดสาวงามในปี พ.ศ.2๒๔๗๗ เป็นส่วนหนึ่งของการฉลองรัฐธรรมนูญสยามประเทศ

สถานที่ที่ใช้ประกวดสาวงาม คือ บริเวณอุทยานสราญรมย์ ข้างๆ วัดโพธิ์ ถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครที่โก้หรู สาวงามทั้งปวงต้องเดินผ่านสายตากรรมการรอบแรกเริ่มตั้งแต่คืนวันที่ ๑๐ ธันวาคม (ตรงกับวันรัฐธรรมนูญ) ในที่สุดกรรมการลงความเห็นคัดเลือกสาวงามที่สุดเพียงคนเดียว ที่เรียกว่านางสาวสยาม อย่างเป็นเอกฉันท์ในคืนวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗

เธอคือ นางสาวกันยา เทียนสว่าง อายุ ๒๑ ปี นางงามจากจังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ)

ไม่มีตำแหน่งรองนางสาวสยาม ต้องใจแข็งคัดเลือกเอาคนเดียวเท่านั้นครับ

นางสาวกันยา เทียนสว่าง ชื่อเดิมคือ เจียเป็งเซ็ง ชื่อเล่นคือ ลูซิล เป็นลูกคนโตของนายสละ นางสนอม เกิดเมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๕๗ ที่ปากเกร็ด นนทบุรี ทำงานเป็นครูโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ เป็นชาวพระนคร นางสาวกันยามีใบหน้าคมค่อนไปทางฝรั่ง จมูกโด่ง ริมฝีปากเรียวงาม สูงสมส่วน ผิวขาวสวย มีแมวมองไปพบความงามของครูสาวคนนี้จึงชักชวนให้มาขึ้นเวที

ไม่มีรายละเอียดว่า ในการประกวดสาวงามจะต้องใส่ชุดอะไรเดินโชว์บ้าง หรือว่าต้องไปเก็บตัวที่ไหน ใครส่งเข้าประกวด ใช้เครื่องสำอางยี่ห้ออะไร เสื้อผ้าจากร้านไหน?

มงกุฎของนางสาวสยาม ตัวโครงทำด้วยเงิน หุ้มด้วยกำมะหยี่ปักด้วยดิ้นเงินและเพชร แถมด้วยขันเงินสลักชื่อนางสาวสยาม ๒๔๗๗ และเธอยังได้รับล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ เข็มกลัดทองคำลงยาสลักว่ารัฐธรรมนูญ ๗๗ พร้อมเงินสด ๑ พันบาท

สยามมีนางงามเป็นครั้งแรก สังคมในพระนครมีเรื่องพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ลงภาพประโคมข่าวอย่างตื่นเต้น

เธอสวยประทับใจชาวสยามด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ

ไม่มีรายละเอียดว่าในตำแหน่งของเธอ ๑ ปี เธอต้องไปโชว์ตัวที่ไหนอย่างไร แต่เมื่อเธอพ้นจากตำแหน่งนางสาวไทย เธอเข้าทำงานที่หอสมุดแห่งชาติ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๖ แต่งงานกับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ มีบุตรธิดา ๕ คน

คุณกันยา นางสาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์สยาม เสียชีวิตเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ เมื่ออายุ ๔๖ ปี สาเหตุจากมะเร็งปากมดลูก

เธอคือปฐมบทของการประกวดสาวงามมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา (ภาพ-ข้อมูล): ภาพเก่า…เล่าตำนาน โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หนังสือพิมพ์มติชน





หมอปลัดเล.. หมอเทวดาที่มาทำงานในสยาม

แพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิต ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามว่าเข้ามาทำงานเป็นแพทย์คนแรกๆ และโดดเด่นที่สุด คือ นายแพทย์ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley M.D.) เป็นชาวอเมริกันครับ โดยเข้ามาในปลายรัชสมัยในหลวง ร.๓

บรัดเลย์ เกิดเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๔๕ ที่เมืองมาเซลลัส (Marcellus) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อตอนอายุ ๒๐ ปี แดน บรัดเลย์ ป่วยหนักและเกิดอาการหูหนวกไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส แดน บรัดเลย์ ใช้เวลาสวดมนต์ภาวนาในโบสถ์ขอให้หายจากอาการป่วย เขาทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่ออุทิศตนให้พระคริสต์ ต่อมาราว ๒ ปี แดน บรัดเลย์ กลับหายเป็นปกติราวกับปาฏิหาริย์ เขามุมานะสุดชีวิตอ่านหนังสือแล้วไปสอบเข้าเรียนแพทย์ เพื่อจะอุทิศชีวิตให้พระคริสต์ แดน บรัดเลย์ จบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย นิวยอร์ก เมื่อเมษายน พ.ศ.๒๓๗๖

หมอบรัดเลย์ แต่งงานและเดินทางพร้อมภรรยาชื่อ Emilie Royce ลงเรือข้ามมหาสมุทรมาขึ้นที่เกาะสิงคโปร์ และต้องพักบนเกาะสิงคโปร์นาน ๖ เดือน เนื่องจากมีพายุคลื่นลมแรงเป็นอันตราย และเมื่อมีเรือโดยสาร หมอและภรรยาจึงออกเดินทางจากสิงคโปร์มุ่งหน้ามาสยาม

เคราะห์ร้ายตามมารังควาน เรือลำนั้นโดนโจรสลัดปล้นในทะเลระหว่างทางจนหมอหมดตัว ลูกเรือที่เดินทางมาโดนฆ่าทิ้งทะเล ๔ คน หมอบรัดเลย์ เข้ามาถึงบางกอก เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๘ ขอพักอาศัยอยู่กับมิชชันนารีอเมริกันชื่อจอห์นสัน แถวๆ วัดเกาะ สัมพันธวงศ์

หมอหนุ่มอเมริกันจัดตั้ง “โอสถศาลา” เพื่อเป็นสถานที่รักษาโรค แจกหยูกยาสารพัดโดยไม่คิดมูลค่า ขอเพียงคนไข้นำเอกสารเผยแพร่คริสต์ศาสนาติดมือกลับไปด้วยก็ชื่นใจแล้ว

หมอบรัดเลย์ ขยันขันแข็ง มีคนไข้ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในย่านวัดเกาะ และชุมชนใกล้เคียงเป็นคนไข้หลัก

ชาวสยามออกเสียงเรียกหมอคนนี้ถนัดปากเรียกว่า “หมอปลัดเล”






ต้องเชื่อ…ผบ. ตำรวจคนแรกในสยามเป็นฝรั่งอังกฤษ

ภาพเก่าที่ปรากฏต่อสายตาท่านผู้อ่านขณะนี้ เป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามว่าจ้างให้มาวางโครงสร้างจัดตั้งหน่วยงานตำรวจแบบยุโรปในสยาม เป็นปฐมบทของกิจการตำรวจมาจนถึงปัจจุบัน ท่านรับราชการในสยามนาน ๓๒ ปี จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น หลวงรัถยาภิบาลบัญชา หรือที่ชาวสยามเรียกกันในสมัยในหลวง ร.๔ ว่า กับปิตันเอม ถือได้ว่าท่านเป็นตำรวจคนแรกและเป็นผู้วางรากฐานหน่วยงานตำรวจของสยาม

ในปี พ.ศ.๒๔๐๓ สยามประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาปรากฏตัวพัวพันติดต่อค้าขายอย่างคึกคัก เรือสำเภาบรรทุกสินค้าวิ่งเข้า-ออกตามลำน้ำเจ้าพระยากันขวักไขว่ ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ทะลักทลายหนีตายลงเรือแห่กันมาตั้งรกรากในสยามนับหมื่น ชาวตะวันตกผิวขาวที่เรียกว่า ฝรั่ง มาจัดตั้งสถานกงสุลในบางกอก ฝรั่ง แขกอาหรับ เข้ามาขอทำสัญญาทางการค้า บ้างก็มาตั้งรกรากในแผ่นดินอันเขียวขจี เมื่อมีค้ามีขาย ก็เกิดกระทบกระทั่ง ลักขโมย ฉ้อโกง ทะเลาะเบาะแว้ง ส่วนใหญ่เกิดในย่านการค้าของคนจีนในบางกอก

บางกอกในยุคนั้นมีคดีความ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น สุราเถื่อนมีแหล่งอบายมุขครบครันหวย บ่อน ซ่อง โรงยาฝิ่น

ระบบราชการของสยามยังไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับคดีความทั้งปวง ในหลวง ร.๔ ทรงทราบปัญหาของบ้านเมืองที่กำลังวิกฤต จึงทรงให้ติดต่อว่าจ้าง กัปตัน เอส. เจ. เบิร์ด เอมส์ (Capt. S. J. Bird Ames) ชาวอังกฤษ เพื่อให้มาจัดตั้งกองตำรวจสำหรับรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตนครหลวงตามแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “กองโปลิศ” ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพระนครบาล

กับปิตันเอม (ตามที่ชาวสยามออกเสียงแบบง่ายๆ) มียศ-ชื่อเดิมว่า Captain Samuel Joseph Bird Ames เกิดที่เมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ เคยทำอาชีพค้าขาย ต่อมาผันตัวเองไปเป็นกัปตันเรือสินค้า

ในช่วง พ.ศ.๒๓๙๖ กัปตันเดินเรือมาแถวอินเดีย ลังกา สิงคโปร์ และบางกอก นานวันผ่านไปกัปตันเกิดเบื่อทะเล จึงขอขึ้นบกปักหลักพร้อมครอบครัว ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าตำรวจบนเกาะสิงคโปร์

กัปตันเอมส์ จัดตั้ง “กองโปลิศ” ในหลวง ร.๔ โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นผู้บังคับหน่วยตำรวจคนแรก พร้อมกับพระราชทานยศร้อยเอก ซึ่งแต่เดิมสยามมีหน่วยที่ทำหน้าที่แบบตำรวจ ชื่อว่าข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวา

ในยุคนั้น ชาวสยามไม่สนใจที่จะเข้ารับราชการในกองโปลิศที่ตั้งขึ้นใหม่ กับปิตันเอม ไม่มีลูกน้อง จึงต้องไปติดต่อจ้างลูกน้องเก่าที่เป็นตำรวจในสิงคโปร์มารับราชการเป็นโปลิศในสยาม

ความชุลมุน วุ่นวาย ตลกร้าย ในสยามยามยุคนั้น คือ โปลิศที่มาจากสิงคโปร์เหล่านี้คือแขกอินเดีย แขกมลายู (บางคนมีผ้าโพกศีรษะ) ชาวสยามมองเห็นว่าโปลิศแขกโพกหัว มีหนวดเครารุงรัง เป็นตัวตลกประจำเมือง เมื่อเดินไปตรวจพื้นที่ใดก็จะถูกล้อเลียนเยาะเย้ยจากชาวสยาม แถมยังพูดจากันไม่รู้เรื่องอีกต่างหาก เมื่อเกิดการจับกุมคุมขั ต้องขึ้นโรงพัก ต้องขึ้นศาล เลยเกิดความโกลาหลป่นปี้

ปัญหาหลัก คือพูดกับชาวสยามไม่รู้เรื่องและไม่ได้รับการยอมรับจากชาวสยาม

กับปิตันเอมเครียดหนัก ท่านได้ใช้ความเป็นผู้นำอบรมกวดขันระเบียบวินัยให้โปลิศแขกที่มาจากสิงคโปร์ อดทนต่ออุปสรรคทั้งปวง รีบเร่งสร้างผลงานให้ชาวสยามมั่นใจ เมื่อมีเหตุทะเลาะตบตี โปลิศแขกรูปร่างสูงใหญ่เข้าระงับเหตุ จับคนร้ายได้เกือบทุกคดี ชาวสยามเริ่มประจักษ์ในผลงาน ต่อมาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย กับปิตันเอมกำหนดให้มีเครื่องแบบของโปลิศ เพื่อให้สง่างามน่ายำเกรงแม้จะต้องมีผ้าโพกศีรษะ เรื่องการล้อเลียนเสียดสีจากชาวสยามจึงค่อยๆ จางหายไป

โรงตำรวจพระนครบาลแห่งแรกตั้งขึ้นในย่านชาวจีนแถวตลาดโรงกระทะ (ปัจจุบันคือที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์) เพื่อดูแลย่านสำเพ็ง พาหุรัด ที่ขโมยชุกชุมมากที่สุดในบางกอก

ผลงานของโปลิศภายใต้การบังคับบัญชาของกับปิตันเอม เริ่มเป็นที่ประทับใจ ได้รับคำชมเชยจากชาวต่างชาติและชาวสยาม มีคดีความมากขึ้น จึงย้ายสถานีไปตั้งโรงตำรวจนครบาลแห่งใหม่ บริเวณสามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า โรงพักสามแยก ถนนหนทางในบางกอกยังไม่มีชาวสยามเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ทรัพย์สินที่โดนขโมยมากที่สุดคือ เรือ

ชาวสยามมีมุมมองโปลิศแขกเหล่านี้แบบดูแคลน เพราะเห็นว่าคนพวกนี้ต้องทำงานหนัก โปลิศเป็นงานของพวกแขกยาม กับปิตันเอม วางระบบงานให้พลตระเวนเดินด้วยเท้าเข้าถึงชุมชนชาวจีน และจัดให้โปลิศตระเวนทางเรือในแม่น้ำลำคลอง ยืนยามเฝ้าตรวจ ตามตรอกซอกซอย ภารกิจของโปลิศในบางกอกเป็นรูปเป็นร่าง เป็นระบบมากขึ้นได้รับการยอมรับ ชาวสยามเริ่มสนใจทยอยไปสมัครเป็นโปลิศ ทำงานกับ กับปิตันเอม

ต่อมาในรัชสมัยในหลวง ร.๕ ได้มีการขยายงานตำรวจจากเขตนครหลวงไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ยิ่งนานวัน ในหลวง ร.๕ ยิ่งทรงพอพระทัยในความสามารถของผู้บังคับหน่วยตำรวจชาวอังกฤษท่านนี้ยิ่งนัก จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงรัถยาภิบาลบัญชา” ถือศักดินา ๖๐๐

นางแคทเธอรีน ภรรยาชาวอังกฤษที่ติดตามมาบางกอกด้วยในตอนแรก มาป่วยเสียชีวิตในสยามในปี พ.ศ.๒๔๐๕ กับปิตันเอมแต่งงานใหม่กับหญิงไทยมีลูกด้วยกัน ๖ คน

เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๔๕๘ ในรัชสมัยในหลวง ร.๖ โปรดเกล้าฯ ให้ควบรวม “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” เป็นหน่วยเดียวกันเป็น “กรมตำรวจ” ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย นับแต่นั้นจึงถือกันว่า วันที่ ๑๓ตุลาคมของทุกปี คือ “วันตำรวจ”



กับปิตันเอม รับราชการด้วยความซื่อสัตย์จนกระทั่งปลดเกษียณในปี พ.ศ.๒๔๓๕ รวมรับราชการในตำแหน่งผู้บังคับกองโปลิศซึ่งถือว่าเป็นตำรวจคนแรกของสยามนาน ๓๒ ปี (พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๓๕) หลังเกษียณท่านใช้ชีวิตสงบเรียบง่ายในสยาม เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เมื่ออายุ ๖๙ ปี ศพถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนต์ เขตยานาวา กรุงเทพฯ (ตามภาพ ที่ผู้เขียนเดินทางไปค้นหา)

คุณความดีที่กับปิตันเอม สร้างไว้ให้กับกรมตำรวจ ในหลวง ร.๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้ว่า “เอมซ์บุตร” ซึ่งลูกหลานที่สืบตระกูลมาจนถึงปัจจุบันภาคภูมิใจยิ่งนัก


ที่มา (ภาพ-ข้อมูล): ภาพเก่า…เล่าตำนาน โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หนังสือพิมพ์มติชน

3040  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / หลู้คั่ว สูตร/วิธีทำ - อร่อย สุก สะอาด ปลอดภัย ได้คุณค่าทางอาหาร เมื่อ: 31 สิงหาคม 2559 13:33:56
.


 
หลู้คั่ว

ส่วนผสม
- เนื้อหมูสับ 150 กรัม
- เครื่องในหมู (ตับ ไส้อ่อน ไส้ตัน ปอด ฯลฯ) 100 กรัม
- เลือดหมูสด 3/4 ถ้วย
- เครื่องหลู้ 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมดองซอยละเอียด 1-2 หัว
- น้ำกระเทียมดอง 2 ช้อนชา
- เครื่องเทศบดละเอียด ½ ช้อนชา
- น้ำปลาดี
- ต้นหอม ผักชีฝรั่ง ผักชีฝอย หั่นหยาบ


เครื่องหลู้
- พริกแห้งเม็ดใหญ่แกะเมล็ดทิ้ง 5 เม็ด
- ตะไคร้หั่นฝอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ข่าหั่นละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
- หอมแดง 3 หัว
- กระเทียมไทย 1 หัว
วิธีทำ : นำส่วนผสมทั้งหมด ไปคั่วจนสุกหอม
     ...โขลกให้ละเอียด แล้วใส่เครื่องเทศป่นละเอียดลงผสมให้เข้ากัน


วิธีทำ
1.ต้มไส้อ่อน ไส้ตัน (และปอดหมู ฯลฯ)  จนสุกเปื่อยนิ่ม แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก
2.ล้างตับหมูให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก
3.ผสมเนื้อหมูสับกับเครื่องหลู้ คนให้เข้ากัน
4.ใส่เครื่องในต้มสุก เลือดหมูสด กระเทียมดองซอย คนให้เข้ากัน
   แล้วใส่ในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟ (ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ใส่น้ำกระเทียมดอง ผัดด้วยไฟปานกลาง จนสุก
5.ใส่ต้นหอมซอย ใบผักชีฝรั่งและผักชีฝอยซอย คนให้เข้ากัน
* ขั้นต้น ยังไม่แนะนำให้ใส่น้ำปลาปรุงรส เพราะเลือดหมูสดมีส่วนผสมของเกลือมาก
   คงป้องกันการเน่าเสียง่าย จึงควรชิมรสชาติก่อนใส่น้ำปลาดี


ส่วนผสมเครื่องหลู้ นำไปคั่วให้สุกหอม


โขลกให้ละเอียด


ใส่เครื่องเทศบดละเอียด (มีขายตามตลาดสดท่ั่วไป) ผสมกับเครื่องหลู้


ผสมเนื้อหมูสับกับเครื่องหลู้ คนให้เข้ากัน


ใส่เครื่องในต้มสุก เลือดหมูสด กระเทียมดองซอย คนให้เข้ากัน


ใส่ในกระทะ ยกขึ้นตั้งไฟ (ไม่ต้องใส่น้ำมัน) ใส่น้ำกระเทียมดอง ผัดด้วยไฟปานกลาง จนสุก
ใส่ต้นหอมซอย ผักชีซอย คนให้เข้ากัน




ผู้โพสท์ไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือส่วนอื่นๆ ของสัตว์ที่ยังดิบๆ (ยกเว้นกะปิ)
จึงไม่อาจแนะนำวิธีการปรุงหลู้ดิบให้แก่สมาชิก หรือผู้เข้ามาอ่านเว็บไซต์นี้ได้ค่ะ

หน้า:  1 ... 150 151 [152] 153 154 ... 275
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.116 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 13 ชั่วโมงที่แล้ว